[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
25 เมษายน 2567 22:59:30 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระพลเทพถือคันไถ สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล  (อ่าน 1529 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5461


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 15 มิถุนายน 2561 15:06:19 »


พระพลเทพถือคันไถ
สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล
เลขทะเบียน ๖๑

ขนาด ฐานกว้าง       ๒๕.๒ เซนติเมตร  
ฐานยาว       ๔๑ เซนติเมตร  
ฐานสูง           ๒๖ เซนติเมตร  
ศิลปะ   รัตนโกสินทร์ตอนต้น         พุทธศตวรรษที่ ๒๔  
ไม้จำหลักทาสีปิดทอง
จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระพลเทพถือคันไถ
สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล


ลักษณะพระพลเทพถือคันไถ ไม้จำหลักเป็นภาพนูนต่ำทาสีปิดทอง กรอบทรงเจว็ดคล้ายใบสีมาทรงสูง เป็นภาพเทพยดาประดิษฐานบนแท่นสำหรับเชิญออกในการพระราชพิธีจรดพระนังคัล เทพยดาฉลองพระองค์ทรงภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ทรงสนับเพลาขายาว ทรงพระภูษาโจงทับ พระเศียรทรงมงกุฎคล้ายพระชฎาเดินหน ประดับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ เช่น กรรเจียกจร กรองศอ สังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร ทองข้อพระบาท ไม่ทรงฉลองพระบาท ดำเนินบนพื้นดิน พระหัตถ์ซ้ายทรงถือดอกบัวและรวงข้าว พระหัตถ์ขวาทรงถือคันไถ พื้นหลังเป็นภาพต้นข้าวในนาที่ออกรวงเหลืองอร่าม ด้านบนสลักลายเส้นเป็นลายเมฆแบบจีน เมฆฝนและสายฝน กรอบทั้ง ๒ ด้านสลักภาพดอกบัว กอบัว และไม้น้ำ มีพญานาคสองตนร้อยรัดให้น้ำอยู่ด้านบนทั้งสองด้าน บนฟ้าเต็มไปด้วยเมฆฝนและสายฝน ส่วนยอดกรอบสลักลายกลีบบัวซ้อนกัน ๓ ชั้น คล้ายฉัตรยอดบนสุดรูปดอกบัว ภาพพระพลเทพตั้งบนแท่นฐานสี่เหลี่ยมทึบ ด้านหน้าแท่นสลักภาพกระบือ ๒ ตัว เดินบนพื้นนาที่มีพืชไม้น้ำขึ้นอยู่เต็ม แท่นด้านข้าง ๒ ด้าน สลักภาพโค ด้านละ ๑ ตัว ขอบแท่นและขาแท่นเป็นขาคู้สลักลายดอกพุดตานเครือเถาว์ ซึ่งเป็นลายที่นิยมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

จากลักษณะเทพยดาดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระพลเทพ เทพยดาที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางด้านเกษตรกรรม พระองค์เป็นเทพยดาองค์หนึ่งที่อัญเชิญเข้ากระบวนแห่ ซึ่งเดิมเป็นรูปพระพลเทพแบกไถมาพลีบูชาบวงสรวงในพิธีศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว โดยเฉพาะในการพระราชพิธีจรดพระนังคัล พร้อมกับเทวรูปพระอิศวร (พระศิวะ) พระอุมา ภควดี พระนารายณ์ (พระวิษณุ) และพระมหาวิฆเนศวร (พระคเณศ) ด้วยเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ จัดขึ้นในเดือน ๖ ของทุกปีซึ่งเป็นเวลาต้นฤดูฝนที่จะเริ่มการทำนา การจัดพระราชพิธีเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่แผ่นดินและเป็นขวัญกำลังใจแก่ราษฎรที่จะได้ทำนาปลูกข้าวกับทั้งเป็นการเสี่ยงทายในฤดูทำนาของแต่ละปี  



พระพลเทพ : เทพารักษ์ เทวดาที่ครอบครองรักษา
การพระราชพิธีจรดพระนังคัล หรือพระราชพิธีแรกนาลงไถนา
เตรียมดินเพื่อเริ่มการปลูกข้าว ทรงยืนบนผืนนา พระหัตถ์ซ้าย
ทรงถือดอกบัวและรวงข้าว พระหัตถ์ขวาจับด้ามคันไถ พื้นหลัง
เป็นภาพต้นข้าวและสายฝน


กรอบเจว็ดสลักภาพพญานาค ๒ ตัวร้อยรัด และให้น้ำอยู่ภายใต้
กลุ่มเมฆ พายุฝน และสายฝน ยอดเจว็ดรูปกลีบบัวซ้อนเป็นชั้นๆ

ความสำคัญ
ลักษณะของพระพลเทพ จัดเป็นรูปแบบของเทพารักษ์ที่เรียกเป็นสามัญว่า เจว็ด หรือพระภูมิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปสลักจากไม้ หรือเขียนลายรดน้ำ นำไปประดิษฐานไว้ในศาล เพื่อสักการะ เซ่นสรวงบูชา ส่วนใหญ่ออกแบบเป็นภาพเทวดาถือพระขรรค์ แต่พบว่ามีทำเป็นรูปเทวดา ๒ พระหัตถ์ พระหัตถ์หนึ่งถือหนังสือแบบสมุดไทยดำ อีกพระหัตถ์หนึ่งถือแส้ หรือถือพระขรรค์ เทพารักษ์นี้คนไทยเคารพนับถือว่าเป็นพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้รักษาทะเบียนมนุษย์ที่อยู่ในท้องที่ของพระภูมิ ถ้าพบตั้งบูชาอยู่ในศาล เรียกว่า เจว็ดศาลพระภูมิ

นอกจากนี้คำว่า เจ้า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๘๓ ให้ความหมายไว้ว่า เทพารักษ์ คือ ผีสางเทวดา ซึ่งท่านเสฐียรโกเศศได้อธิบายและจัดแบ่งผีออกเป็น ๒ พวก คือ ผีดี และผีร้าย ผีดีกล่าวว่าเป็นผีที่มีใจเป็นกลาง ไม่ให้ดีให้ร้ายแก่ผู้ใด เว้นไว้แต่ผู้ที่ทำให้โกรธ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความเคารพนบนอบ มีความกลัวเกรง มาขอความคุ้มครองหรือขอสิ่งที่ต้องการจากท่าน หรือให้ท่านช่วยให้ได้รับความสำเร็จตามที่ปรารถนา โดยประกอบพิธีขอ และทำถูกต้องตามตำราที่กำหนดไว้ ผีดีนี้คนไทยแต่โบราณเรียกว่า ผีฟ้า ภายหลังต่อมาเรียกว่า เทวดา ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตของอินเดีย คำเรียก ผีฟ้า ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหงโดยกล่าวเรียกขานนามกษัตริย์ขอมโบราณว่า ผีฟ้าเจ้าเมืองศรียโสธรปุระ เป็นการกล่าวนามที่แสดงว่าเป็นเทวดานั่นเอง คติความเชื่อเรื่องผีฟ้าหรือเทพเทวดา

ของไทย แบ่งออกเป็น ๓ พวก คือ
๑.วิสุทธิเทพ ได้แก่ พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ ผู้ซึ่งมีความงดงามและบริสุทธิ์เหมือนเทพยดา
๒. สมมติเทพ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ ผู้ซึ่งมีอำนาจดุจเทวดาหรือเท่ากับเป็นเทวดา
๓.เทพยดา หรือเทวดาที่อยู่บนฟ้าหรือสวรรค์ มีชั้นจุติตามบุญกุศลบารมีที่ปฏิบัติสั่งสมมา

อย่างไรก็ดียังมีผีอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเทวดาที่ไม่ได้อยู่บนสวรรค์ เป็นเทวดาที่บำเพ็ญกุศลบารมีชั้นสูง เทวดากลุ่มนี้เป็นผีที่สถิตอยู่ในอากาศอยู่ตามป่าเขา ในถ้ำ ในน้ำ อยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ อยู่ในเมือง และในที่บางแห่ง ซึ่งกล่าวว่าจะเป็นผีที่ดีหรือผีฟ้าก็ไม่เชิง จะเป็นผีร้ายก็ไม่เชิง ผีกลุ่มนี้เรียกว่า เจ้า เช่น เจ้าที่ เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขา และถ้าเป็นเจ้าของหรือเป็นใหญ่ในที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะ เรียกว่า เทวดาอารักษ์ เป็นเจ้าที่คุ้มครองรักษาที่นั้นๆ และมักจะเรียกสั้นๆ ว่า เทพารักษ์ จัดเป็นเทวดารักษาท้องที่หรือเทพารักษ์ประจำพื้นที่ของบ้านโดยมากเรียกว่า พระภูมิ หรือพระภูมิเจ้าที่ ตามปกติคนไทยเมื่อปลูกสร้างบ้านเรือนแล้ว มักจะตั้งศาลไว้ประจำบ้านเพื่อให้เป็นที่อยู่ของเทวดาที่ถือว่าเป็นเจ้าของที่นั้น และมีการประกอบพิธีพลีบูชาเซ่นสรวงตามกาลเวลา พระภูมิท่านจะให้ความคุ้มครองให้ได้รับความสุขความสบาย ผีหรือเทวดาซึ่งสถิตอยู่ที่ศาลในบ้านเรียกว่า พระภูมิเจ้าที่หรือพระภูมิบ้าน  นอกจากนี้ตามสถานที่สำคัญอื่นๆ ก็มีพระภูมิซึ่งมีศาลให้สถิตแยกออกไปในแต่ละสถานที่อีกเช่นกัน ซึ่งตามตำราพระภูมิกล่าวว่ามีพระภูมิ ๙ องค์ สถิตอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ความคุ้มครองรักษา คือ

๑. พระภูมิผู้ครอบครอง รักษาเคหสถานบ้านเรือน โรงร้านต่างๆ มีนามว่า พระชัยมงคล เป็นรูปทรงยืน พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือถุงเงินถุงทอง สถิตอยู่ที่ศาลที่สร้างไว้ ลักษณะศาลจะเป็นเรือนที่ปลูกอยู่บนเสาสูงใหญ่เพียงเสาเดียว

๒. พระภูมิผู้ครอบครองรักษาประตูป้อมค่าย หอรบ และบันได มีนามว่า พระนครราช ซึ่งตรงกับคำว่า ทวารบาล หรือทวารารักษ์ ในภาษาบาลี สันสกฤต เดิมวาดหรือสลักเป็นภาพเทวดาทรงยืนบนแท่น พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือช่อดอกไม้  สมัยหลังๆ นิยมทำเป็นภาพทหารหรือนักรบถืออาวุธยืนบนสัตว์พาหนะเช่น สิงโต ดังเช่นเซี่ยวกางแบบศิลปะจีน จึงมีการห้ามคนทั่วไปไม่ให้เหยียบธรณีประตู เพราะถือว่า ธรณีประตูนั้นเป็นที่สถิตของทวารบาล

๔. พระภูมิผู้ครอบครองผู้รักษาโรงโค กระบือ และคอกสัตว์ต่างๆ มีนามว่า พระเทเพนทรงยืนบนแท่น พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์และพระหัตถ์ซ้ายทรงถือสมุดไทย ซึ่งมีลักษณะคล้ายพระสรัสวดีที่ครอบครองรักษากรมกองทหารที่ควบคุมกำลังพล

๕. พระภูมิผู้ครอบครองรักษาเสบียงคลัง ฉางข้าว ยุ้งข้าว มีนามว่า พระชัยศพณ์ ทรงยืนบนแท่น พระหัตถ์ขวา ทรงถือพระแสงหอก

๖. พระภูมิผู้ครอบครองรักษาเรือกสวนไร่นา มีนาม พระธรรมโหรา ทรงยืนบนแท่นพระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์และพระหัตถ์ซ้ายทรงถือรวงข้าว

๗. พระภูมิผู้ครอบครองรักษาพืชพันธุ์ธัญธัญญาหารต่างๆ มีนามว่า พระธรรมมิกราชทรงยืนบนแท่น พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ และพระหัตถ์ซ้ายทรงถือพวงดอกไม้หรือพวงมาลัย

๘. พระภูมิผู้ครอบครองรักษาห้วยหนอง คลองบึง บ่อ ลำธาร มีนามว่า พระทาษธารา ทรงยืนบนแท่น พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ ซึ่งลักษณะนี้จะพบมากไม่เฉพาะพระทาษธารา โดยเฉพาะสมัยรัตนโกสินทร์ รูปเทพยดาที่ทรงถือพระขรรค์ ดังเช่น พระสยามเทวาธิราช เทพยดาศักดิ์สิทธิ์ ทรงคุ้มครองรักษาดินแดนแผ่นดินสยาม ราชอาณาจักรไทย และพระภูมิที่หอแก้วในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือปัจจุบันคือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และที่หอเชือก กรมศิลปากร และมักเรียกสั้นๆ เป็นคำสามัญว่าเจว็ด

๙. พระภูมิผู้ครอบครองรักษาวัดวาอารามและปูชนียสถาน มีนามว่า พระเทวเถร ทรงยืนบนแท่น พระหัตถ์ขวาทรงถือปฎัก



พระพลเทพฉลองพระองค์ทรงเครื่องใหญ่ ทรงพระชฎาเดินหน
ประดับกรรเจียกจร ทรงกรองศอเป็นแถบกว้าง ทับทรวงสังวาล
พาหุรัด ทองข้อพระกร ทรงสนับเพลาทับด้วยพระภูษาโจง คาด
ปั้นเหน่ง ประดับชายไหว ชายแครง ทรงสุวรรณกัณฐอพก์
ปัจจุบันเรียกสุวรรณกระถอบ และทรงทองข้อพระบาท


พระพลเทพทรงถือคันไถ ดำเนินไปบนพื้นนา

คติความเชื่อเกี่ยวกับพระภูมิเทพารักษ์ผู้คุ้มครอง
จากตำนานพระภูมิทำให้ทราบว่า พระเจ้าทศราช ทรงมีพระมเหสีทรงพระนามว่า พระนางสันทาทุกข์ ครองกรุงพาลี มีพระโอรส ๙ องค์ คือ พระชัยมงคล พระนครราช พระเทเพน พระชัยศพณ์ พระคนธรรพ์ พระธรรมโหรา พระเทวเถร พระธรรมมิกราช และพระทาษธารา เมื่อพระโอรสทั้ง ๙ องค์ เจริญพระชันษา มีพระปรีชาสามารถ พระเจ้าทศราชทรงมอบให้ไปครอบครองภูมิสถานที่ต่างๆ ต่อมาพระเจ้ากรุงพาลี มิได้อยู่ในทศพิธราชธรรม ทำให้ราษฎรเดือดร้อน พระนารายณ์ทรงอวตารเป็นพราหมณ์น้อย มาขอที่กับพระเจ้ากรุงพาลี ๓ ก้าว สำหรับบำเพ็ญพรต พระเจ้ากรุงพาลีมิได้ตรึกตรองก็ทรงอนุญาตหลั่งน้ำอุทิศให้ ครั้งนั้นพระศุกร์ผู้เป็นอาจารย์ของพระเจ้ากรุงพาลีทราบว่าพราหมณ์น้อยคือพระนารายณ์แปลงมา จึงเนรมิตตัวให้เล็กลงไปนอนขวางอยู่ในคอปากพระเต้า เพื่อมิให้น้ำหลั่งออกมาได้ พระนารายณ์ทรงหยั่งด้วยญาน ทรงทราบว่าพระศุกร์นอนขวางอยู่จึงเอาหญ้าคาแทงเข้าไปในคอ ปาก พระเต้าถูกนัยน์ตาของพระศุกร์ทำให้ได้รับความเจ็บปวดมาก ทนไม่ได้จึงหนีออกไป น้ำในพระเต้าจึงหลั่งออกมาเป็นการแสดงกิริยาว่ายกให้ พราหมณ์น้อยอวตารจึงแปลงร่างกลับเป็นพระนารายณ์ แล้วเริ่มย่างก้าวเพียงก้าวครึ่งก็หมดเขตพระธรณี แล้วจึงขับไล่พระเจ้ากรุงพาลีให้ออกไปอยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์ พระเจ้ากรุงพาลีได้รับความทุกข์อดอยาก จึงกลับมาทูลขอที่ดินจากพระนารายณ์คืน พระนารายณ์ทรงอนุญาตว่า ผู้ที่จะทำการมงคลทั้งปวง ต้องบูชาสังเวยพระเจ้ากรุงพาลีและพระภูมิเจ้าที่เสียก่อน เพราะเป็นเจ้าของที่ดิน เมื่อบูชาสังเวยแล้วจะเกิดความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นธรรมเนียมนิยมปฏิบัติกันต่อมาจนปัจจุบัน แต่สำหรับพระภูมิหรือเทพารักษ์ที่อัญเชิญมาประดิษฐานภายในบริเวณที่ประกอบการพระราชพิธีต่างๆ  หรือรักษาหน่วยงานของหลวงจะมีลักษณะท่าทางและเครื่องอุปโภคที่ทรงถือจะเป็นไปตามภาระที่รับผิดชอบ เช่น พระภูมิที่ประดิษฐานในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลมีนามว่า พระพลเทพ ทรงยืน มีเครื่องอุปโภค คือคันไถที่ทรงจับด้วยพระหัตถ์ขวาและอยู่ในท่ากำลังไถนาตามภาระของงาน พระหัตถ์ซ้ายทรงถือดอกบัวและรวงข้าว นับว่าเป็นรูปเจว็ดที่มีลักษณะสวยงามเป็นพิเศษอย่างมาก และเพียบพร้อมด้วยความหมายที่เป็นมงคลอย่างยิ่ง


ฐานเจว็ดคั่นด้วยแนวลายกลีบบัวหงายและแนวลายประแจจีน
ตัวแท่นกรอบฐานและขาสลักลายดอกพุดตานเครือเถา ตรงกลาง
สลักภาพกระบือ ๒ ตัว


ขอบกรอบเจว็ดสลักลายลำตัวพญานาคร้อยรัด สลับลายกอบัวและพืชน้ำ


ลายขอบฐานสลักลายกลีบบัวซ้อน กลีบบัวขอบหยัก มีแนวเส้นกลาง
เป็นเส้นนูน มีแนวลายประแจจีนแทรกอยู่บนแนวช่อดอกพุดตาน


ขอบล่างของกรอบสลักลายช่อดอกพุดตาน


ฐานด้านข้าง ๒ ด้านสลักลายภาพโค
สัตว์สำคัญในการประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัล

ความเป็นมาของพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล
พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล พระราชพิธีดังกล่าว มีชื่อแบ่งได้เป็นสองชื่อ ด้วยเป็นการพระราชพิธีที่ต่อเนื่องจัดเป็นพิธีเดียวกันได้ แต่มีความแตกต่างกันที่พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพระราชพิธีทำขวัญพืชพรรณต่างๆ มีข้าวเปลือก เป็นต้น เป็นพิธีสงฆ์ประกอบพิธีที่ท้องสนามหลวงในพระนคร ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัล (นังคัล แปลว่า คันไถ) ประกอบพิธีเริ่มทำเวลาเช้า คือลงมือไถ ปัจจุบันเรียกว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ทำที่ทุ่งส้มป่อยนอกพระนคร (ปัจจุบันคือบริเวณราชตฤณมัยสมาคมหรือสนามม้านางเลิ้ง) พิธีทั้งสองนั้นทำพร้อมกันในคืนเดียววันเดียวกันจึงเรียกชื่อติดกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล”

การพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ ต้องหาฤกษ์ดีเป็นพิเศษกว่าฤกษ์อื่นๆ โดยกำหนดหลักสี่อย่างคือไม่ให้ตรงกับวันผีเพลียต้องให้ได้ศุภดิถี ให้ได้บุรณฤกษ์ และให้ได้วันสมภเคราะห์ ตำราหาฤกษ์นี้เป็นตำราเกร็ดสำหรับใช้เฉพาะพิธีเริ่มที่จะลงมือแรกนาหว่านข้าว ดำข้าว เกี่ยวข้าว ขนข้าวขึ้นยุ้ง นอกจากนี้ฤกษ์จรดพระนังคัล ต้องประกอบฤกษ์ดีตามธรรมเนียมด้วยอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้โหราจารย์จะเป็นผู้คำนวณฤกษ์ โดยต้องร่วมคำนวณกับวันสมภเคราะห์ ซึ่งคือ วันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ กับกำหนดธาตุ ตามวันที่โหรแบ่งเป็น ปถวี อาโป เตโช วาโย ให้ได้ส่วนสัดกันแล้วเป็นใช้ได้ กล่าวได้ว่าเป็นการคำนวณฤกษ์ที่ยาก โหร ผู้คำนวณฤกษ์ต้องมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง จึงจะได้ฤกษ์ที่ดีเป็นมงคล ดังที่ต้องการ

มูลเหตุของการพระราชพิธีจรดพระนังคัล
การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัล เป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณ ดังเช่นจากพระพุทธประวัติได้กล่าวว่า เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะมีพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาได้ประกอบมงคลพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ด้วยพระองค์เองและทรงนำเจ้าชายสิทธัตถะโดยเสด็จไปด้วย หรือเช่นในประเทศจีน ก็มีตำนานว่าเมื่อสี่พันปีล่วงมาแล้วพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงไถนาเองเป็นคราวแรกก่อนเมื่อย่างเข้าฤดูฝน กล่าวได้ว่าประเทศเกษตรกรรมนั้น หากพระเจ้าแผ่นดินทรงเริ่มไถนาเองก่อนที่ฝนจะลงแล้วเช่นนี้ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีกำลังใจมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์ของประเทศชาติ

สำหรับในประเทศไทยมีธรรมเนียมการแรกนา ซึ่งต่อมาเรียกว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือปฏิบัติมาแต่โบราณ การพระราชพิธีจรดพระนังคัลเป็นปฐมนั้นมีปรากฏในหนังสือเรื่องนางนพมาศครั้งกรุงสุโขทัย ดังความสรุปว่า ในเดือนหก พระราชพิธีไพศาขจรดพระนังคัล พราหมณ์ประชุมกันผูกพรต เชิญเทวรูปเข้าโรงพิธี ณ ท้องทุ่งละหานหลวงหน้าพระตำหนักห้าง กำหนดฤกษ์แรกนาว่าใช้วันอาทิตย์ พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องต้นอย่างเทศ ทรงม้าพระที่นั่งพยุหยาตราเป็นกระบวนเพชรพวง พระอัครชายาและพระราชวงศานุวงศ์ พระสนมกำนัลเลือกแต่ที่ต้องพระราชหฤทัย ขึ้นรถประเทียบตามเสด็จไปในกระบวนหลัง ประทับที่พระตำหนักห้าง จึงโปรดให้ออกญาพลเทพธิบดีแต่งตัวอย่างลูกหลวง มีกระบวนแห่ประดับด้วยกรรชิง บังสูรย์ พราหมณ์เป่าสังข์โปรยข้าวตอกนำหน้า ถึงมณฑลท้องละหาน ก็นำพระโคอุสุภราชมาเทียมไถทอง พระครูพิธีมอบยามไถและประตักทองให้ ออกญาพลเทพเป็นผู้ไถที่หนึ่ง พระศรีมโหสถซึ่งเป็นบิดาของนางนพมาศแต่งตัวเครื่องขาวอย่างพราหมณ์ถือไถเงินเทียมด้วยพระโคเศวต พระพรเดินไถเป็นที่สอง พระวัฒนเศรษฐีแต่งกายอย่างคหบดีถือไถหุ้มด้วยผ้ารัตกัมพลแดงเทียมด้วยโคกระวิน ทั้งให้ไม้ประตัก พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมดุริยางคดนตรี ออกเดินไถเวียนซ้ายไปขวา ชีพ่อพราหมณ์โปรยข้าวตอกดอกไม้ บันลือเสียงสังข์ไม้บัณเฑาะว์นำหน้าไถ ขุนบริบูรณ์ธัญญา นายนักงานนาหลวงแต่งตัวนุ่งเพลาะ คาดรัดประคต สวมหมวกสาน ถือกระเช้าโปรยปรายหว่านพืชธัญญาหารตามทางไถจรดพระนังคัลถ้วนสามรอบ ขณะนั้นมีการมหรสพ ระเบง ระบำ โมงครุ่ม หกคะเมน ไต่ลวด ลอดบ่วง รำแพน แทงวิสัย ไก่ป่าช้าหงส์ รายรอบปริมณฑลที่แรกนาขวัญ แล้วจึงปล่อยพระโคทั้งสามออก กินเลี้ยงเสี่ยงทายของห้าสิ่ง แล้วโหรพราหมณ์ก็ทำนายตามตำรับไตรเพท ขณะนั้นพระอัครชายาดำรัสสั่งพระสนมให้เชิญเครื่องพระสุพรรณภาชน์มธุปายาสขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัวเสวย ราชมัลก็ยกมธุปายาสเลี้ยงลูกขุนทั้งปวงเป็นเสร็จการพระราชพิธี



พระชัยมงคล
พระภูมิผู้รักษาเคหสถานบ้านเรือน โรงร้านต่างๆ


พระนครราช
พระภูมิผู้รักษาประตู ป้อมค่าย หอรบ และบันได


พระคนธรรพ์
พระภูมิผู้รักษาเรือนหอของเจ้าบ่าวเจ้าสาวคู่แต่งงาน


พระเทเพน
พระภูมิผู้รักษาโรงโคกระบือและคอกสัตว์ต่าง ๆ


พระชัยศพณ์
พระภูมิผู้รักษา เสบียงคลัง ฉางข้าว ยุ้งข้าว


พระธรรมโหรา
พระภูมิผู้รักษาเรือกสวนไร่นา


พระธรรมมิกราช
พระภูมิผู้รักษาพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ


พระทาษธารา
พระภูมิผู้รักษาห้วยหนองคลองบึง


พระเทวเถร
พระภูมิผู้รักษาวัดวาอาราม และปูชนียสถาน

การประกอบพระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พระราชพิธีจรดพระนังคัลหรือการแรกนาสมัยรัตนโกสินทร์นี้ ไม่ได้เป็นการประกอบพิธีหน้าพระที่นั่ง เว้นไว้แต่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเมื่อใด ก็เสด็จทอดพระเนตร อย่างเช่นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชวราราม ครั้นเมื่อถึงเวลาประกอบการพระราชพิธีจรดพระนังคัล พระองค์จะใคร่ทอดพระเนตร จึงโปรดให้ยกการพระราชพิธีมาตั้งที่ปรกหลังวัดอรุณราชวราราม ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นทุ่งนา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง ภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่พระนครศรีอยุธยา และที่เพชรบุรี  รัชกาลที่ ๔ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระยาเพชรบุรี (บัว) แรกนาที่เขาเทพนมขวดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง พระราชพิธีจรดพระนังคัลนี้ แต่เดิมมีแต่พิธีพราหมณ์ไม่มีพิธีสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ รวมทั้งพระราชพิธีจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพระราชพิธีหนึ่งต่างหากเรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคล และโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่หน้าท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ประดิษฐานพระคันธารราษฎร์ สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคล และพิธีพรุณศาสตร์ แต่ก่อนมา พระยาผู้จะปฏิบัติหน้าที่เป็นพระยาแรกนาก็มิได้ฟังสวดเป็นแต่กราบถวายบังคมลาไปเข้าพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ การพิธีนี้เดิมใช้เจ้าพนักงานกรมนาหาบกระเช้าข้าวโปรย ไม่ได้มีนางเทพีหาบเหมือนปัจจุบัน เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้น ทรงให้มีนางเทพีสี่คนโดยคัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอน พาหนะ พอจะแต่งตัวและมีเครื่องใช้สอยให้หากระเช้าข้าวโปรย วันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล ก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาผู้จะแรกนา และให้กรมราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเต้า ที่รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างใหม่ ประพรมพื้นดินนำหน้าพระยาแรกนา ให้เป็นสวัสดิมงคลขึ้นอีกชั้นหนึ่ง

การพระราชพิธีจรดพระนังคัลนี้ ในวันสวดมนต์เวลาบ่ายมีกระบวนแห่พระพุทธรูปจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือ พระคันธารราษฎร์ ประทับนั่งกาไหล่ทององค์ใหญ่ จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระคันธารราษฎร์ยืนกาไหล่ทอง พระคันธารราษฎร์อย่างพระชนมพรรษาเงิน ในรัชกาลที่ ๕ พระทรมานเข้าอยู่ในครอบแก้ว สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ พระชัยประจำแผ่นดินปัจจุบัน พระชัยเนาวโลหะน้อย พระพุทธรูปทั้งนี้เชิญไปจากหอพระเจ้าในพระบรมมหาราชวัง  เทวรูปที่แห่ออกไปประดิษฐานที่โรงพระราชพิธี ทุ่งส้มป่อย เป็นธรรมเนียมมาแต่เดิมแล้ว ส่วนพระพุทธรูปเริ่มมีกระบวนแห่ในรัชกาลที่ ๔ สำหรับกระบวนแห่เทวรูป ๖ องค์ นั่งแท่นเดียวกัน ๑ พระโค ๑ ตั้งบนโต๊ะจีนในพระแท่นมณฑล ริ้วกระบวนเริ่มด้วยธงมังกร ๑๐๐ ธงตะขาบ ๑๐๐ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ จ่ากลอง แตรงอน ๑๐ แตรฝรั่ง ๘ สังข์ ๒ เครื่องสูง สำรับหนึ่ง คู่แห่ ๑๐๐ พิณพาทย์ ๒ สำรับ กลองแขก ๒ สำรับ ราชยานกง ๑ เสลี่ยงโถง ๑ คนหามพร้อม มีราชบัณฑิตประคองและเจ้าพนักงานภูษามาลาเชิญพระกลด แล้วเชิญพระพุทธรูปพระคันธารราษฎร์จีนกาไหล่ทองจากหอพระ ท้องสนามหลวงลงมาอีกองค์ ๑ พระพุทธรูปทั้งนี้ เชิญขึ้นตั้งบนโต๊ะทองใหญ่ในพระแท่นมณฑล องค์น้อย มีเชิงเทียนราย ๔ เชิง พานทองคำดอกไม้ ๒ พาน กระถางธูปหยก ๑ กระถาง ตามรอบม้าทองที่ตั้งพระบนพระแท่นมณฑลและใต้ม้าทองไว้พรรณพืชเพาะปลูกต่างๆ  คือ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้าต่างๆ ตามแต่จะหาได้ เมล็ด น้ำเต้า เมล็ดแมงลัก เมล็ดแตงต่างๆ ถั่วต่างๆ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ลูกเดือย งา ของทั้งนี้กำหนดสิ่งละ ๒ ทะนานโดยกรอกลงขวด เผือก มันต่างๆ สิ่งละ ๑๐ เง่า ตั้งเรียงรายไว้ มีเครื่องนมัสการทองเทศขนาดใหญ่สำรับ ๑ ที่พลับพลาโถงมุมกำแพงแก้วซึ่งเป็นที่ทอดพระเนตรนารอบโรงพระราชพิธี ปักราชวัติ ฉัตรกระดาษ วงสายสิญจน์ เวลาค่ำเสด็จออก ทรงถวายผ้าสบง จีวร กราบพระ พระสงฆ์ที่สวดมนต์ ๑๑ รูป พระสงฆ์รับผ้าไปครองเสร็จแล้วกลับขึ้นมานั่งที่ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แล้วทรงตั้งสัตยาธิษฐานในการพระราชพิธี แล้วทรงศีล พระยาแรกนานั่งที่ท้ายพระสงฆ์ มีพานธูปเทียนดอกไม้ ขึ้นไปจุดบูชาพระ รับศีลและฟังสวด เวลาที่สวดมนต์นั้นให้หางสายสิญจน์พาดที่ตัวพระยาแรกนาด้วย นางเทพี ๔ คน นั่งฟังสวดในม่านหลังพระแท่นมณฑล เมื่อทรงศีลแล้ว ทรงจุดเทียนพานเครื่องนมัสการที่พระแท่นมณฑล และที่หอพระที่พลับพลา ทรงสุหร่ายประพรมน้ำหอม และเจิมพระพุทธรูป เทวรูปทุกองค์ อาลักษณ์นุ่งขาวห่ม
ขาว รับหางสายสิญจน์พาดบ่า อ่านคำประกาศสำหรับพระราชพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล

คำประกาศเริ่มด้วยคาถาสวดเป็นทำนองสรภัญญะ ซึ่งใช้สำหรับสวดอธิษฐานในการพระราชพิธี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนิพนธ์ขึ้นใหม่ คำอธิษฐาน ๔ ประการ คือ คำอธิษฐานที่ ๑ สรรเสริญพระพุทธคุณที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรม อันเป็นเครื่องระงับความเศร้าโศกเพราะสละกิเลสทั้งปวงได้สิ้น ชนทั้งปวงซึ่งเร่าร้อนอยู่ด้วยตัณหาไม่ควรเป็นที่งอกแห่งผล ได้สดับธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนก็ให้อุบัติงอกงามขึ้นได้ กับทั้งพระธรรมพระสงฆ์เป็นเนื้อนาอันวิเศษ เหตุหว่านพืชเจริญผล  อนึ่งพืชคือกุศลอาจจะให้ผลในปัจจุบันและภายหน้า ขอจงให้ผลตามความปรารถนา เมื่อกำหนดการพระราชพิธีจรดพระนังคัลจะหว่านพืชในภูมินาก็ขอให้งอกงามด้วยดี อย่ามีพิบัติอันตราย

คำอธิษฐานที่ ๒ จากความในภารทราชสูตรว่า พราหมณ์กสิภารัทวาชะ ไปทำนาอยู่ในที่นาของตน พระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยว่าจะได้มรรคผล พระองค์เสด็จไปยังที่พราหมณ์ไถนาอยู่ ตรัสปราศรัย พราหมณ์จึงติเตียนว่าสมณะนี้ขี้เกียจ เที่ยวแต่ขอทานเขากิน ไม่รู้จักทำไร่ไถนาหาเลี้ยงชีวิต พระพุทธองค์จึงตอบว่า การทำนาเราก็เข้าใจ เราได้ทำนาเสร็จแล้ว แต่การนาของเราไม่เหมือนอย่างของท่าน เครื่องที่เป็นอุปการะในการนาของเรามีครบทุกสิ่ง คือ ศรัทธาความเชื่อ เป็นพืชข้าวปลูก ตบะธรรมเผากิเลสให้เร่าร้อน และอินทรียสังวร ความระวังรักษาอินทรีย์กับทั้งโภชนะมัตตัญญู รู้ประมาณในโภชนาหารเป็นน้ำฝน ปัญญาเป็นคู่แอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือกชัก สติเป็นประตักสำหรับเตือน ความสัตย์เป็นท่อสำหรับไขน้ำ ความเพียรที่กล้าหาญสำหรับชักแอกไถ ความสำรวมใจเป็นของสำหรับปลดแอกไถ นำไปบรรลุที่อันเกษมจากกิเลสเครื่องประกอบ สัตว์ย่อมไปยังสถานที่ไม่รู้กลับ เป็นสถานที่ไม่เศร้าไม่โศกมีแต่ความสุขสำราญ การไถของเราเช่นนี้ มีผลเป็นอมตะไม่รู้ตาย บุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์สิ้นทุกประการ พระสูตรนั้นยกมาอธิษฐานในคำประกาศพระราชพิธีว่าเป็นความจริงตามที่พระพุทธเจ้าตรัส ขออำนาจความสัตย์นั้นให้ข้าวที่หว่านงอกงามทั่วชนบทและให้ฝนอุดมดี

คำอธิษฐานข้อที่ ๓ จากเตมียชาดก เตมียกุมารเมื่อยังทรงพระเยาว์ พระบิดาคือพระเจ้าพาราณสีอุ้มประทับบนพระเพลาในเวลาเสด็จออกว่าราชการ สั่งให้ลงราชทัณฑ์แก่ผู้มีความผิดต่างๆ พระเตมียกุมารได้ฟังก็มีพระราชหฤทัยท้อถอยไม่อยากจะรับราชสมบัติ จึงแกล้งทำเป็นใบ้เป็นง่อยเปลี้ยพิกลจริต จนทรงพระเจริญใหญ่ พระบิดาสั่งให้นายสุนันทสารถีเอาไปฝังเสียในป่า  พระเตมียกุมารจึงกล่าวคาถาแสดงผลที่บุคคลไม่ประทุษร้ายต่อมิตรสิบคาถา แต่พระราชพิธีนี้แสดงเพียงสองคาถา ว่า ศาสดาผู้เป็นใบ้และเป็นง่อยได้ภาษิตไว้ว่า ผู้ใดไม่ประทุษร้ายต่อมิตร โคที่จะเป็นกำลังไถหว่านของผู้นั้น จะมีแต่เจริญไม่รู้เป็นอันตราย พืชพรรณใดๆ ที่ผู้นั้นได้หว่านลงในไร่นาแล้ว ย่อมงอกงามดีมีผลให้สำเร็จประโยชน์ผู้นั้นย่อมได้บริโภคของพืชพรรณนั้นสมประสงค์ ไม่มีพิบัติอันตราย อีกพระคาถาหนึ่งว่าผู้ใดไม่ประทุษร้ายต่อมิตร ผู้นั้นจะไม่รู้เป็นอันตรายด้วยข้าศึก ศัตรูหมู่ปัจจามิตรจะคิดทำร้ายก็ไม่อาจจะครอบงำย่ำยีได้ เปรียบต้นนิโครธใหญ่ มีสาขากิ่งก้าน รากย่านหยั่งลงกับพื้นแผ่นดินมั่นคง แม้ถึงลมพายุใหญ่จะพัดต้องประการใด ก็ไม่อาจเพิกถอนต้นนิโครธให้กระจัดกระจายไปได้ฉะนั้น คาถานี้มาอธิษฐานด้วยอำนาจไมตรีจิต ขอให้ข้าวที่หว่านลงในภูมินาทั่วพระราชอาณาเขตงอกงามบริบูรณ์

คำอธิษฐานข้อที่ ๔ อ้างพระราชหฤทัยพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงพระเมตตากรุณาแก่ประชาราษฎร ตั้งพระราชหฤทัยจะบำรุงให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้าเป็นความสัตย์จริง ด้วยอำนาจความสัตย์นั้น ขอให้ข้าวงอกงามบริบูรณ์ทั่วพระราชอาณาเขต ต่อจากนั้นเป็นคำประกาศเทพยดา เมื่ออ่านประกาศจบแล้ว พระสงฆ์จึงได้สวดมนต์มหาราชปริตรสิบสองตำนาน แล้วต่อด้วยการสวดมนต์ เมื่อสวดมนต์จบแล้ว พระราชทานน้ำสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิมหน้าเจิมมือพระยาแรกนาและนางเทพีทั้งสี่ สำหรับพระยาแรกนานั้นได้ พระราชทานพระธำมรงค์มณฑปนพเก้าสองวงให้ไปสวมในเวลาแรกนาด้วย จากนั้นพระครูพราหมณ์พฤฒิบาศรดน้ำสังข์ให้ใบมะตูม ขณะเมื่อพระราชทานน้ำสังข์นั้น พระสงฆ์สวดชยันโต ประโคมพิณพาทย์ เป็นเสร็จการ ในเวลาค่ำรุ่งขึ้นเลี้ยงพระสงฆ์แล้วแห่พระพุทธรูปกลับ เป็นเสร็จการพระราชพิธีพืชมงคล

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2561 15:20:47 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5461


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 15 มิถุนายน 2561 15:15:48 »


ภาพเล่าเรื่องพระพุทธประวัติ ตอนพระเจ้าสุทโธทนะทรงประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัล
เพื่อให้ประชาชนเริ่มการทำนาปลูกข้าว  จากจิตรกรรมฝาผนังบนพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนเดือน ๖
พระราชพิธีจรดพระนังคัล และวันวิสาขบูชา
จากพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

การประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัล
พระราชพิธีจรดพระนังคัล เริ่มประกอบพระราชพิธีเวลาบ่ายของวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล มีกระบวนแห่ แห่พระพุทธรูป แห่เทวรูปต่างๆ ได้แก่ พระอิศวร พระอุมาภควดี พระนารายณ์ พระมหาวิฆเนศวร และพระพลเทพแบกไถ ริ้วกระบวนแห่ประกอบด้วยธง มีคู่แห่เครื่องสูง กลองชนะ ออกจากพระบรมมหาราชวังไปโดยทางบก เข้าโรงพิธีที่ทุ่งส้มป่อยนาหลวง เวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีทำการพระราชพิธีเหมือนอย่างพิธีทั้งปวง

รุ่งขึ้นเวลาเช้าตั้งกระบวนแห่ๆ พระยาแรกนา กำหนดเกณฑ์คนเข้ากระบวนแห่ ๕๐๐ คน กระบวนนำด้วยธงตรา ตำแหน่งของพระยาแรกนา ถัดมา บโทนนุ่งตาโถง สวมเสื้อแดงสะพายดาบฝักแดงฝักเขียวสองแถว กระบวนสวมเสื้อเสนากุฎ กางเกงริ้ว จัดเป็นสองแถวๆ ละ ๑๕ คน ถัดมา บโทน ขุนหมื่นสวมเสื้อเข้มขาบอัตลัด สะพายดาบฝักเงินแถวละ ๑๕ คน กลองชนะ ๑๐ คู่ จ่าปี่ ๑ กรรชิงหน้า ๑ คู่ เสลี่ยงพระยาแรกนา สัปทน บังสูรย์ หลวงในมหาดไทย ๑ คู่ กลาโหม ๑ คู่ กรมท่า ๑ คู่ กรมนา ๑ คู่ กรมวัง ๑ คู่ กรมเมือง ๑ คู่ เป็นคู่เคียงรวม ๑๒ คน นุ่งผ้าไหม สวมเสื้อเยียรบับ กรรชิงหลัง ๑ คู่ บ่าวถือเครื่องยศและถืออาวุธตามหลังเสลี่ยง คู่แห่หลังถือดาบเชลยแถวละ ๑๕ คน ถือหอกคู่แถวละ ๑๕ คน ถือกระบองแถวละ ๑๕ คน พระยาแรกนาแต่งตัวเหมือนยืนชิงช้า เมื่อถึงโรงพระราชพิธีเข้าไปจุดธูปเทียนบูชาเทวรูปแล้วตั้งสัตยาธิษฐานจับผ้าสามผืน ผ้านั้นใช้ผ้าลายยาวหกคืบ ๑ ผืน ห้าคืบ ๑ ผืน สี่คืบ ๑ ผืน ถ้าจับได้ผ้าที่กว้างเป็นคำทำนายว่าน้ำจะน้อย ถ้าได้ผ้าที่แคบว่าน้ำจะมาก เมื่อจับได้ผ้าผืนใดก็นุ่งผ้าผืนนั้นทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุนออกไปแรกนา ราชบัณฑิตคนหนึ่งเชิญพระเต้าเทวบิฐประพรมน้ำพระพุทธมนต์นำหน้า  พราหมณ์คนหนึ่ง เชิญพระพลเทพ พราหมณ์เป่าสังข์ ๒ คน พระยาจับยามไถ พระมหาราชครูพิธียื่นประตักด้ามหุ้มแดง ไถดะไปโดยรีสามรอบ แล้วไถแปรโดยกว้างสามรอบ นางเทพีทั้ง ๔ คน หาบกระเช้าข้าวปลูก กระเช้าทอง ๒ คน กระเช้าเงิน ๒ คน ออกไปให้พระยาแรกนาโปรยหว่านข้าว แล้วไถกลบอีกสามรอบ จึงกลับเข้ามายังที่พัก ปลดพระโคออกกินเลี้ยงของเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า พระโคกินสิ่งไรก็มีคำทำนาย การเท่านี้เป็นเสร็จ

พระราชพิธีจรดพระนังคัล แห่พระยากลับ แล้วแห่เทวรูปกลับ พอพระยากลับแล้วประชาชนก็พากันเข้ามาแย่งเก็บข้าว จนไม่มีเหลืออยู่ในท้องนาเลย พรรณข้าวปลูกซึ่งเก็บไปนั้นไปใช้เจือในพรรณข้าวปลูกของตัวให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นาบ้าง ไปปนลงไว้ในถุงเงินให้เกิดประโยชน์งอกงามบ้าง การแรกนาจึงเป็นที่นิยมของประชาชนทั้งปวง นับว่าเป็นพระราชพิธีที่ต้องใจคนเป็นอันมาก หัวเมืองซึ่งมีการแรกนาของหลวงพระราชทาน เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คือ พระนครศรีอยุธยา เมือง ๑ เพชรบุรี เมือง ๑ แต่เมืองซึ่งทำแรกนามาแต่เดิม ไม่มีของหลวงพระราชทาน คือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา เมืองนี้เป็นเมืองมีพราหมณ์ ซึ่งเป็นธุระในการประกอบพิธี โดยผู้ว่าราชการเมืองไม่ได้ลงแรกนาเอง


สรุป
พระพลเทพถือคันไถ เทพยดาแห่งพระราชพิธีจรดพระนังคัล ซึ่งเดิมเรียกว่า พิธีแรกนา เป็นพิธีสำคัญของประเทศที่มีประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาปลูกข้าว เริ่มหน้าฝน พระเจ้าแผ่นดินจะทรงประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่แผ่นดิน อันก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เดิมเป็นพิธีพราหมณ์ ในการประกอบพิธีมีการแห่อัญเชิญเทวรูป ได้แก่ พระอิศวร พระอุมาภควดี พระนารายณ์ พระมหาวิฆเณศวร และพระพลเทพแบกไถ ออกไปยังโรงพระราชพิธี เพื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงประกอบพระราชพิธีบูชาและตั้งสัตยาธิษฐาน เสี่ยงจับผ้านุ่ง เพื่อพยากรณ์น้ำในปีนั้นว่าน้ำจะมากน้อย และมีความอุดมสมบูรณ์เพียงใด แล้วจึงประกอบพิธีเริ่มลงไถ ที่มีโคคู่ที่มีลักษณะดีเป็นมงคลเทียมไถในพื้นที่เตรียมไว้ โดยมีราชบัณฑิตประพรมน้ำเทพมนต์นำหน้าและตามด้วยพราหมณ์ผู้หนึ่งอัญเชิญพระพลเทพ มีพราหมณ์เป่าสังข์นำเสด็จทรงจรดพระนังคัล

พระราชพิธีจรดพระนังคัลของไทย ถือเป็นพระราชพิธีที่สำคัญยิ่งพระราชพิธีหนึ่งมาแต่โบราณ และสืบทอดตลอดมาซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีสงฆ์ขึ้น เพื่อประกอบพระราชพิธีพืชมงคลสมโภชเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะใช้หว่านในพระราชพิธีและเมล็ดธัญพืชที่จะให้พระโคกินเสี่ยงทาย คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา หญ้า น้ำ และเหล้า เพื่อความเป็นมงคลแก่แผ่นดิน การพระราชพิธีนี้จึงเป็นที่รู้จักในชื่อ “พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ซึ่งถือปฏิบัติจนปัจจุบัน


นิตยสารศิลปากร • ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๓
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2561 15:19:10 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.788 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 23 มีนาคม 2567 09:35:58