[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 21:40:39 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  [1] 2 3   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  (อ่าน 11040 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 20 มิถุนายน 2561 15:56:08 »



พระราชพิธีสิบสองเดือน
พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชนิพนธ์คำนำ พระราชพิธีสิบสองเดือน

พระราชพิธีซึ่งมีสำหรับพระนคร ที่ได้เคยประพฤติมาแต่ก่อนถึงปัจจุบันนี้ อาศัยที่มาเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งมาตามตำราไสยศาสตร์ที่นับถือพระเป็นเจ้า อิศวร นารายณ์ อย่างหนึ่งมาตามพระพุทธศาสนา แต่พิธีที่มาจากต้นเหตุทั้งสองอย่างนี้ มาคละระคนกันเป็นพิธีอย่างหนึ่งขึ้นก็มี ด้วยอาศัยเหตุที่แต่เดิมพระเจ้าแผ่นดินและชาวพระนครถือศาสนาพราหมณ์ การใดๆ ซึ่งนับว่าเป็นศรีสวัสดิมงคลแก่พระนครตามคัมภีร์ไสยศาสตร์ก็ประพฤติเป็นราชประเพณีสำหรับพระนครตามแบบอย่างนั้น ครั้นเมื่อภายหลังพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรนับถือพระพุทธศาสนา ถึงว่าพระพุทธศาสนาที่เป็นต้นเดิมแท้ไม่มีฤกษ์ภาพิธีรีตองอันใด ด้วยพระพุทธเจ้าย่อมตรัสว่าฤกษ์ดี ยามดี ครู่ดี ขณะดี การบูชาเซ่นสรวงดี ทั้งปวงย่อมอาศัยความสุจริตในไตรทวาร ถึงแม้ว่าการซึ่งจะเป็นมงคลและเป็นอวมงคลก็ดี ก็อาศัยที่ชนทั้งปวงประพฤติการสุจริตทุจริตเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น การพระราชพิธีใดๆ ซึ่งเกี่ยวข้องเจือปนในอยู่ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีคำอ้างมาว่าตามทางพุทธศาสนานับเอาเป็นคู่ไสยศาสตร์นั้น จะอ้างว่าพระพุทธเจ้าบัญญัติหรือแนะนำไว้ให้ทำนั้นไม่ได้ มีอย่างเดียวแต่การพระราชพิธีทั้งปวง บางอย่างต้องกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ บางอย่างต้องกับคำที่พระพุทธเจ้าตรัสติเตียน เมื่อว่าโดยย่อแล้ว การอันใดที่เป็นสุจริตในไตรทวาร พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรรเสริญการสิ่งนั้นว่าเป็นดี การสิ่งใดที่เป็นทุจริตก็ย่อมทรงติเตียนว่าการสิ่งนั้นเป็นการชั่ว เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีที่อ้างว่าตามพระพุทธศาสน์นั้นควรจะต้องเข้าใจว่า เป็นแต่ตัวอย่างประพฤติของผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาได้ประพฤติมาแต่ก่อน การที่ประพฤตินั้นไม่เป็นการมีโทษที่พระพุทธเจ้าจะพึงติเตียน การพระราชพิธีเช่นนี้นับว่าเป็นการมาตามทางพุทธศาสน์

แต่ส่วนพระราชพิธีซึ่งคละปะปนกันทั้งพุทธศาสน์และไสยศาสตร์นั้น ก็เกิดขึ้นด้วยเดิมทีพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรนับถือศาสนาพราหมณ์ดังว่ามาแล้ว ครั้นเมื่อได้รับพระพุทธศาสนามาถือ พระพุทธศาสนาไม่สู้เป็นปฏิปักษ์คัดค้านกันกับศาสนาอื่นๆ เหมือนศาสนาพระเยซูหรือศาสนามะหะหมัด พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์อย่างเดียว แต่ที่จะแสดงเหตุที่เป็นจริงอยู่อย่างไร และทางที่จะระงับดับทุกข์ได้ด้วยอย่างไร ตามซึ่งพระองค์ตรัสรู้ด้วยพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ไม่พยากรณ์กล่าวแก้ในถ้อยคำความเห็นของชนทั้งปวงที่กล่าวแก่งแย่งกันอยู่ต่างๆ ด้วยเห็นไม่เป็นประโยชน์อันใด เมื่อว่าโดยอย่างที่สุดแล้ว ผู้ที่ถือพระพุทธศาสนาแท้ก็ไม่มีเหตุอันใดซึ่งสมควรจะนับถือลัทธิไสยศาสตร์ แต่ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาในชั้นหลังซึ่งยังไม่ได้บรรลุมรรคผล ย่อมมีความหวาดหวั่นสะดุ้งสะเทือนด้วยภัยอันตรายต่างๆ และมีความปรารถนาต่อความเจริญรุ่งเรืองแรงกล้า เมื่อได้เคยประพฤตินับถือกลัวเกรงพระเป็นเจ้าและเทพยดา ซึ่งว่ามีฤทธิ์อำนาจอาจจะลงโทษแก่ตนและผู้อื่นได้ในเหตุซึ่งมิใช่เป็นความยุติธรรมแท้ คือบันดาลให้เกิดไข้เจ็บต่างๆ โดยความโกรธความเกลียดว่าไม่เคารพนบนอบบูชาตน หรืออยู่ดีๆ สบใจร้ายขึ้นมาก็ทำพิษสงให้คนทั้งปวงลำบากด้วยความเจ็บไข้กันดารด้วยเสบียงอาหารเป็นต้น จึงได้คิดทำการบูชาเซ่นสรวงให้เป็นเครื่องป้องกันความผิด อันผู้มีอำนาจมีใจเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทไม่เคารพนบนอบ หรือประจบประแจงไว้จะได้สบายๆ ใจไม่มีใจร้ายขึ้นมา ความเชื่อถือมั่นหมายในการอย่างนี้มีฝังอยู่ในใจคนทั้งปวงสืบลูกหลานมาหลายสิบชั่วคน และอาศัยเหตุผลซึ่งเป็นการเผอิญเป็นไปเฉพาะถูกคราวเข้ามีอยู่เนืองๆ เป็นเครื่องประกอบให้คิดเห็นว่าเป็นเพราะผีสางเจ้านายกริ้วโกรธเช่นกล่าวมาแล้ว จึงทำให้ความหวาดหวั่นกลัวเกรงนั้นไม่ขาดสูญไปได้ เมื่อมีความกลัวอันตรายอยู่ดังนี้แล้ว ส่วนความปรารถนาจะอยากดีอยากสบายนั้นแรงกล้า ก็ชักพาให้หันเข้าหาความอ้อนวอนขอร้องเซ่นสรวงบูชาให้ช่วยแรงเข้าอีก ตามความปรารถนาอันแรงกล้า ด้วยเหตุดังนี้แล ถึงแม้ว่าคนไทยถือพระพุทธศาสนาก็ยังหาอาจที่จะละทิ้งการบูชาเซ่นสรวงไปได้ไม่ การพระราชพิธีตามไสยศาสตร์จึงไม่ได้เลิกถอน เป็นแต่ความนับถือนั้นอ่อนไป ตกอยู่ในทำไว้ดีกว่าไม่ทำ ไม่เสียหายอันใดนัก

แต่การพิธีทั้งปวงนั้นก็ย่อมเลือกฟั้นแต่การสุจริตในไตรทวาร ไม่รับลัทธิซึ่งเป็นการทุจริตของพวกพราหมณ์ฮินดูบางพวกซึ่งมีลัทธิร้ายกาจ เช่นฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นต้น มาถือเป็นธรรมเนียมบ้านเมืองให้เป็นการขัดขวางต่อพระพุทธศาสนา และการพระราชพิธีอันใดซึ่งมีแต่พิธีพราหมณ์อย่างเดียว ก็ย่อมเพิ่มเติมการพระราชกุศลซึ่งเป็นส่วนทานมัย ศีลมัย ภาวนามัย เจือปนเข้าในพระราชพิธีนั้นยกเป็นต้นเหตุ การบูชาเซ่นสรวงเทพยดาพระอิศวร พระนารายณ์เป็นต้น เปลี่ยนลงไปเป็นปลายเหตุ ทำไปตามเคย ตกอยู่ในเคยทำมาแล้วก็ทำดีกว่าไม่ทำ และการที่ทำนั้นก็ไม่เป็นการมีโทษอันใด และไม่เปลืองเบี้ยหอยเงินทองอันใดมากนัก ซึ่งกล่าวมาทั้งปวงนี้เพื่อจะแสดงให้ทราบชัดในเบื้องต้นว่าพระราชพิธีทั้งปวงนั้นทำสำหรับประโยชน์อันใด และเพื่อว่าผู้มีความสงสัยว่าพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรก็ถือพระพุทธศาสนา เหตุใดจึงทำพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์อยู่ความดำริของท่านผู้ที่ปกครองแผ่นดินมาแต่ก่อนคิดเห็นการดังเช่นกล่าวมานี้แล จึงยังได้ทำการพระราชพิธีทั้งปวงซึ่งเป็นการสำหรับพระนครสืบมา

ก็แหละพระราชพิธีที่มีมาในพระราชกำหนดกฎมนเทียรบาล ซึ่งได้ตั้งขึ้นแต่แรกสร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ แสดงพระราชพิธีประจำเดือน ๑๒ เดือนไว้ ว่าเป็นการซึ่งพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงทำ ว่าเป็นการเป็นมงคลสำหรับพระนครทุกปีมิได้ขาดนั้น คือ

          
เดือนห้าการพระราชพิธีเผด็จศก ลดแจตรออกสนาม
เดือนหก พิธีไพศาขย์ จรดพระราชนังคัล
เดือนเจ็ด ทูลน้ำล้างพระบาท
เดือนแปด เข้าพรรษา
เดือนเก้า ตุลาภาร
เดือนสิบ ภัทรบทพิธีสารท
เดือนสิบเอ็ด อาศยุชยแข่งเรือ
เดือนสิบสอง      พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม
เดือนอ้าย ไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย
เดือนยี่ การพิธีบุษยาภิเษก เฉวียนพระโคกินเลี้ยง
เดือนสามการพิธีธานยเทาะห์
เดือนสี่ การพิธีสัมพัจฉรฉินท์

การพระราชพิธีที่กล่าวมา ๑๒ อย่างนี้ คงได้ทำอยู่ที่กรุงเทพฯ นี้แต่เดือนห้า เดือนหก เดือนสิบ เดือนสิบสอง เดือนสี่ แต่พิธีเดือนอ้ายเปลี่ยนมาเป็นเดือนยี่ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า เปลี่ยนมาแต่กรุงเก่าแล้ว ด้วยเหตุว่าเดือนอ้ายพึ่งเป็นเวลาน้ำลด ถนนหนทางเป็นน้ำเป็นโคลนทั่วไป ย้ายมาเดือนยี่พอให้ถนนแห้ง แต่พระราชพิธีเดือนเจ็ด เดือนเก้า เดือนสิบเอ็ด เดือนยี่ ที่เปลี่ยนขึ้นไปเป็นเดือนอ้าย และพิธีเดือนสามนั้นตำราสูญเสีย ไม่ได้ทำที่กรุงเทพฯ ถึงที่กรุงเก่าก็ทำบ้างเว้นบ้าง ไม่เป็นการเสมอทุกปีตลอดไป แต่พิธีเดือนแปดนั้นเป็นการส่วนการพระราชกุศลในพระพุทธศาสนา เห็นจะเป็นส่วนเกิดขึ้นใหม่เมื่อถือพระพุทธศาสนา แต่พิธีพราหมณ์เดิมนั้นสาบสูญไม่ได้เค้าเงื่อนเลย ถึงพิธีที่ว่าสูญเสียไม่ได้ทำในกรุงเทพฯ นี้ ก็ได้เค้าเงื่อนทุกๆ พิธี เว้นแต่เดือนแปด หรือชะรอยจะเป็นพิธีซึ่งไม่เป็นการสุจริตในไตรทวารอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่สมควรแก่ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาจะทำ จึงได้ยกเลิกเสียตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินถือพระพุทธศาสนามา เปลี่ยนเป็นพิธีตามพุทธศาสน์จึงได้สูญไป ที่ว่านี้เป็นแต่การคาดคะเน ส่วนการพระราชพิธีที่กรุงเทพฯ นี้ คงตามอย่างเก่าแต่เดือนห้า เดือนหก เดือนสิบ เดือนสิบสอง เดือนยี่ เดือนสี่ เท่านั้นก็ดี ยังมีพระราชพิธีที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมขึ้นใหม่ จนเกือบจะครบสิบสองเดือนเหมือนของเก่า ซึ่งคิดจะกล่าวต่อไปในเบื้องหน้านี้

การซึ่งคิดจะเรียบเรียงพระราชพิธีสิบสองเดือน ลงในหนังสือวชิรญาณครั้งนี้ ด้วยเห็นว่าคำโคลงพระราชพิธีทวาทศมาส ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ทรงแต่งขึ้นไว้ กรรมสัมปาทิกกลายนี้ ได้นำมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณเกือบจะตลอดอยู่แล้ว แต่คำโคลงนั้นท่านก็ทรงไม่ทันจบครบสิบสองเดือน และในสำเนาความนั้นว่าความละเอียดทั่วไปจนการนักขัตฤกษ์ ซึ่งเป็นส่วนของราษฎร ข้อความที่ว่าพิสดารมากกว่าตัวโคลงที่จะทำ จึงต้องประจุถ้อยคำลงให้แน่น บางทีผู้ซึ่งไม่สู้สันทัดในการกาพย์โคลงก็อ่านไม่เข้าใจ และในครั้งนี้ได้คิดที่จะช่วยกันแต่ง เรียบเรียงข้อความในความประพฤติของราษฎรประชาชนในกรุงสยาม ซึ่งได้เล่นการนักขัตฤกษ์ตามฤดูปีเดือน เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ที่ให้คนภายหลังทราบการงาน ซึ่งเราได้ประพฤติเป็นประเพณีบ้านเมืองอยู่ในบัดนี้ หรือในชั้นพวกเราทุกวันนี้ที่ยังไม่ได้ทราบได้เห็นการประพฤติทั่วไปของชนทั้งปวงก็จะได้ทราบ เหมือนอย่างช่วยกันสืบสวนมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนในการพระราชพิธีประพฤติเป็นไปอยู่ในราชการนี้

ก็เป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการพร้อมกันคราวหนึ่ง ครั้นจะรวบรวมลงเป็นเรื่องเดียวกันกับการนักขัตฤกษ์ของราษฎร ก็จะเป็นความยืดยาวปะปนฟั่นเฝือกันไป จึงได้คิดแยกออกไว้เสียต่างหาก คิดกำหนดแบ่งข้อความเป็น ๑๒ ส่วนส่วนละเดือน กำหนดจะให้ได้ออกในวันสิ้นเดือนครั้งหนึ่งไปจนตลอดปี แต่เดือนหนึ่งจะมากบ้างน้อยบ้างตามการที่มีมากและน้อย หวังใจว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ซึ่งจะใคร่ทราบเวลาประชุมราชการได้ ตามสมควรแก่เรื่องราวซึ่งนับว่าเป็นแต่พระราชพิธี ดังนี้ ๚





เดือน ๑๒  
• พระราชพิธีจองเปรียง • พิธีกะติเกยา
• การพระราชกุศลฉลองไตรปี    • การลอยพระประทีป
• พระราชกุศลกาลานุกาล • การพระราชกุศลแจกเบี้ยหวัด
• พระราชพิธีฉัตรมงคล
-----------------------------------


เดือนสิบสอง
พระราชพิธีจองเปรียง

๏ การพระราชพิธีในเดือน ๑๒ ซึ่งมีมาในกฎมนเทียรบาลว่าพิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคม ตรวจดูในความพิสดาร ในกฎหมายนั้นเองก็ไม่มีข้อความใดกล่าวถึงเสาโคมและการจุดโคมอย่างหนึ่งอย่างใดชัดเจน หรือจะเป็นด้วยเป็นการจืด ผู้ที่แต่งถือว่าใครๆ ก็เห็นตัวอย่างอยู่แล้วไม่ต้องกล่าว มีความแปลกออกไปนิดเดียว แต่ที่ว่าการพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม และเติม “ลงน้ำ” เข้าอีกคำหนึ่ง คำที่ว่า “ลงน้ำ” นี้จะแปลว่ากระไรก็สันนิษฐานยาก จะเข้าใจว่าเอาโคมที่เป็นโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าที่ชักอยู่บนเสามาแต่ต้นเดือนลดลงแล้วไปทิ้งลงน้ำก็ดูเคอะไม่ได้การเลย หรืออีกอย่างหนึ่งจะเป็นวิธีว่าเมื่อลดโคมแล้ว ลอยกระทง สมมติว่าเอาโคมนั้นลอยไปตามลัทธิพราหมณ์ ที่พอใจลอยอะไรๆ จัดอยู่เช่นกับลอยบาปล้างบาป จะถือว่าเป็นลอยเคราะห์ลอยโศกอย่างใดไปได้ดอกกระมัง การก็ตรงกันกับลอยกระทง ลางทีจะสมมุติว่าลอยโคม ข้อความตามกฎมนเทียรบาลมีอยู่แต่เท่านี้

ส่วนการพระราชพิธี ซึ่งได้ประพฤติอยู่ในปัจจุบันนี้นับว่าเป็นพระราชพิธีพราหมณ์ มิได้เกี่ยวข้องด้วยพระพุทธศาสนาสืบมา กำหนดที่ยกโคมนั้น ตามประเพณีโบราณว่า ถ้าปีใดมีอธิกมาสให้ยกโคมตั้งแต่วันขึ้นค่ำหนึ่งไปจนวันแรมสองค่ำเป็นวันลดโคม ถ้าปีใดไม่มีอธิกมาสให้ยกโคมขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนอ้ายขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันลดโคม อีกนัยหนึ่งว่ากำหนดตามโหราศาสตร์ว่า พระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤษภเมื่อใด เมื่อนั้นเป็นกำหนดที่จะยกโคม อีกนัยหนึ่งกำหนดด้วยดวงดาวกฤติกาคือดาวลูกไก่ ถ้าเห็นดาวลูกไก่นั้นตั้งแต่ค่ำจนรุ่งเมื่อใด เป็นเวลายกโคม การที่ยกโคมขึ้นนั้นตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม การซึ่งว่าบูชาพระเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนา ก็กล่าวว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณีในดาวดึงสพิภพ และบูชาพระพุทธบาท ซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายเรียกว่านะมะทานที เป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่ แต่ถึงว่าโคมชัยที่อ้างว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธบาทดังนี้แล้ว ก็ยังเป็นพิธีของพราหมณ์พวกเดียว คือตั้งแต่เริ่มพระราชพิธี พราหมณ์ก็เข้าพิธีที่โรงพิธีในพระบรมมหาราชวัง และเวลาเช้าถวายน้ำพระมหาสังข์ตลอดจนวันลดโคม เทียนซึ่งจะจุดโคมนั้นก็ทาเปรียง คือไขข้อพระโคซึ่งพราหมณ์นำมาถวายทรงทา การที่บูชากันด้วยน้ำมันไขข้อโคนี้ก็เป็นลัทธิพราหมณ์แท้ เป็นธรรมเนียมสืบมาจนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าการพระราชพิธีทั้งปวงควรจะให้เนื่องด้วยพระพุทธศาสนาทุกๆพระราชพิธี จึงโปรดให้มีการสวดมนต์เย็นฉันเช้าก่อนเวลาที่จะยกเสาโคม พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น พระราชาคณะไทย ๑ พระครูปริตรไทย ๔ พระราชาคณะรามัญ ๑ พระครูปริตรรามัญ ๔ รวมเป็น ๑๐ รูป เวลาทรงศีลแล้วก่อนสวดมนต์ มีอาลักษณ์อ่านคำประกาศแสดงเรื่องพระราชพิธี และพระราชดำริซึ่งทรงจัดเพิ่มเติม และพระราชทานแผ่พระราชกุศลแก่เทพยดาทั้งปวง แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดมนต์ต่อไป เวลาเช้าพระฤกษ์ทรงรดน้ำสังข์และเจิมเสาโคมชัยแล้วจึงได้ยก พระสงฆ์สวดชยันโตในเวลายกเสานั้นด้วย ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้วถวายไทยทานขวดน้ำมัน, ไส้ตะเกียง, โคม ให้ต้องเรื่องกันกับพระราชพิธี การสวดมนต์เลี้ยงพระยกโคมนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกไม่ใคร่จะขาด เสาโคมชัยประเทียบนั้นตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์แต่เดิมมา มีโคมชัยสามต้น โคมประเทียบสามต้น เสาใช้ไม้แก่นยาว ๑๑ วา เสาโคมชัยที่ยอดเสามีฉัตรผ้าขาวโครงไม้ไผ่ ๙ ชั้น โคมประเทียบ ๗ ชั้น เสาและตะเกียบทาปูนขาวตลอด มีหงส์ลูกพรวนติดชักขึ้นไปให้มีเสียงดัง ตัวโคมโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาว โคมบริวารเสาไม้ไผ่ ๑๐๐ ต้น ฉัตรยอด ๓ ชั้นทำด้วยกระดาษ ปลายฉัตรเป็นธง ตัวโคมโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษ โคมชัยโคมประเทียบเป็นพนักงานสี่ตำรวจ โคมบริวารเป็นพนักงานตำรวจนอกตำรวจสนม รอบพระราชวังมีโคมเสาไม้ไผ่ ตัวโคมข้างในสานเป็นชะลอม ปิดกระดาษเป็นรูปกระบอกตรงๆ เป็นของกรมล้อมพระราชวังทำปักตามใบเสมากำแพงมีจำนวนโคม ๒๐๐ ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีเติมขึ้นที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม[] โคมชัย ๒ ต้น โคมบริวาร ๑๐ ต้น แต่ใช้โคมแก้วกระจกสีเขียว, สีแดง, สีน้ำเงิน, สีเหลือง, สีขาว อย่างละคู่ การพระราชพิธียกเสาโคมชัยนี้ เมื่อเวลาเสด็จประทับอยู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ก็ทำที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ เมื่อเวลาเสด็จไปประทับอยู่ในพระที่นั่งฝ่ายบุรพทิศ ก็ทำที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์บ้าง ด้วยมีเสาโคมชัยขึ้นในที่นั้น และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสตามหัวเมือง มีพระราชวังแห่งใด ก็โปรดให้ยกเสาโคมชัยสำหรับพระราชวังนั้น คือที่วังจันทรเกษม วังนารายณ์ราชนิเวศน์ และพระนครคิรี และที่วังปฐมเจดีย์ทุกแห่ง เทียนซึ่งสำหรับจุดโคมชัยคืนละ ๒๔ เล่ม (หรือมีเสาโคมชัยทางพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เป็น ๓๒ เล่ม) ฟั่นที่ห้องมนัสการเล่มยาวๆ พอจุดได้ ๓ ชั่วโมง ยังเหลือเศษ ในเวลาสวดมนต์ยกโคมชัย เจ้าพนักงานนำเทียนนี้ไปเข้าพิธีด้วย แล้วจึงเก็บไว้ถวายวันละ ๒๔ เล่มหรือครบสำรับหนึ่ง เวลาพลบเสด็จพระราชดำเนินออกประทับที่เสาโคมชัย มหาดเล็กนำพานเทียน ๒๔ เล่มกับเทียนชนวนซึ่งเสียบอยู่กับเชิงเล่ม ๑ วางมาในพานเล่ม ๑ ขึ้นถวายพระมหาราชครูพิธีจึงนำตลับเปรียงขึ้นถวาย บ่ายพระพักตร์สู่ทิศศรีของวันนั้น แล้วทรงเจิมทั้งมัดนั้นด้วยเปรียง เป็นรูปอุณาโลมด้วยคาถา “อรหํ สัมมาสัมพุทโธ” แล้วจึงทรงทาเปรียงทั่วทุกเล่มเทียน ชักเทียนออกจากมัด ๖ เล่ม พระมหาราชครูจึงจุดเทียนชนวนซึ่งมีมาแต่โรงพิธี จากโคมซึ่งตามเพลิงพิธีมานั้นถวาย ทรงเทียนชนวนซึ่งเสียบมากับเชิงจุดเพลิงจากเทียนชนวนพราหมณ์ แล้วทรงบริกรรมคาถา “ทิวา ตปติ อาทิจ์โจ” จนถึง “มังคลัต์ถํ ปสิท์ธิยา” แล้วจึงทรงจุดเทียน ๖ เล่มนั้น เมื่อติดทั่วกันแล้วทรงอธิษฐานด้วยคาถา “อรหํ สัมมาสัมพุทโธ” จนตลอดแล้วจึงได้พระราชทานเทียนเล่ม ๑ ให้กรมพระตำรวจรับไปปักในโคมชัยต้นที่หนึ่ง ที่เหลือนั้นอีก ๕ เล่ม พระราชทานพระเจ้าลูกเธอไปทรงจุดในโคมชัยโคมประเทียบ ในเวลาเมื่อทรงชักสายโคมชัย เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์จนสิ้นเวลาที่ยกโคม มีแต่ยามแรกยามเดียว เมื่อยกโคมเสร็จแล้วจึงพระราชทานเทียนสำหรับโคมชัยโคมประเทียบ ที่ยังเหลืออยู่อีก ๑๘ เล่ม สำหรับไว้เปลี่ยนอีก ๓ ยาม และเทียนชนวนที่เสียบอยู่บนเชิง ให้กรมพระตำรวจรับไปจุดโคมบริวาร เทียนชนวนซึ่งเหลืออยู่อีกเล่มหนึ่งนั้น พระราชทานพระมหาราชครูพิธีสำหรับจะได้นำมาเป็นชนวนจุดเพลิงถวายในคืนหลังๆ ต่อไป

การจุดโคมชัยนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงจุดเองไม่ใคร่จะขาด แต่ครั้งเมื่อมีเสาโคมทางหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมขึ้น ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงยกโคมทางพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์นี้ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอเสด็จมาทรงยกโคมที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคมเอง ตลอดจนโคมบริวารทั้ง ๑๒ ต้นโดยมาก แต่การซึ่งยกโคมนี้ได้ความว่า เมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลายกโคมยามแรกเป็นเวลาเข้าที่พระบรรทม ไม่ได้เสด็จออกทรงยกโคมเลย ต่อคราวที่ ๒ เวลาเสด็จออกทรงธรรม มหาดเล็กจึงได้นำเทียนถวายทรงจุดพระราชทานให้กรมพระตำรวจออกเปลี่ยน แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้เสด็จออกบ้างไม่ออกบ้าง ถ้าไม่เสด็จออกพราหมณ์ต้องส่งเปรียงและเพลิงเข้าไปข้างใน ทรงจุดพระราชทานพระเจ้าลูกเธอออกมายกโคม เหมือนอย่างในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ในเวลาที่ไม่ได้เสด็จออกนั้น และมีเสาโคมในพระบรมมหาราชวังปักประจำทุกตำหนักเจ้านาย ถ้าเป็นตำหนักเจ้าฟ้าใช้เสาไม้แก่นทาขาว ฉัตรผ้าขาว ๕ ชั้น โคมโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาวอย่างเดียวกันกับโคมประเทียบมีครบทุกพระองค์ ถ้าเป็นตำหนักพระองค์เจ้าหรือเรือนข้างในใช้เสาไม้ไผ่ โคมโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษอย่างโคมบริวารมีทั่วทุกตำหนัก แต่โคมทั้งปวงนี้ใช้ตามตะเกียงด้วยถ้วยแก้วหรือชามทั้งสิ้น เหมือนโคมบริวารข้างนอก ตามวังเจ้านายซึ่งอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่พระราชวังบวรฯ เป็นต้นลงไปมีเสาโคม แต่ในพระราชวังบวรฯ เท่านั้น มีโคมชัย, โคมประเทียบ, โคมบริวาร คล้ายในพระบรมมหาราชวัง วังเจ้าฟ้ามีเสาโคมเหมือนโคมชัยแต่ใช้ฉัตร ๕ ชั้น เจ้านายนอกนั้นตามแต่เจ้าของจะทำ

ในการพระราชพิธีจองเปรียงนี้ มีหน้าที่ของกรมมหาดเล็กซึ่งมักจะลืมหรือไม่รู้สึกบ่อย คือเวลาเย็นพลบพนักงานนำเทียนออกมาส่ง ลางทีก็ไม่มีใครรับ เวลาจะทรงก็ต้องเรียกกันเวยวายอย่างหนึ่ง หรือถ้ารับเทียนมาแล้ว เวลาจะนำเข้าไปถวายมักจะจุดเทียนชนวนเข้าไปถวาย การที่มหาดเล็กทำดังนี้เป็นการไม่ระวังในหน้าที่ของตัวและไม่รู้จักจำ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเสด็จออกพระราชทานเทียนให้พระเจ้าลูกเธอ หรือไม่ได้เสด็จออกพระราชทานเทียนให้พระเจ้าลูกเธอออกไป ก็เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กที่จะเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอไปทรงจุดโคมทุกๆ เสา และช่วยชักสายในเวลาที่ทรงชักโคมนั้นด้วย

ส่วนพนักงานของกรมพระตำรวจนั้น เป็นหน้าที่เจ้ากรมปลัดกรมจ่าเจ้าของเวร ต้องมาคอยรับเทียนไปติดในโคมชัยใบแรกที่จะทรงชัก เมื่อเวลาทรงชักต้องคอยโรยหางเชือก หรือถ้าเวลาฝนตกลงมาเชือกเปียกชื้นชักฝืด ก็ต้องเข้ามาช่วยสาวเชือกชักโคมนั้นด้วยอีกคนหนึ่ง แล้วรับเทียนสำหรับเปลี่ยนโคมและเทียนชนวนไปจุดโคมบริวาร ในการพระราชพิธีจองเปรียงมีการที่สำหรับจะไม่เรียบร้อยพร้อมเพรียงอยู่เพียงเท่านี้ ๚


[๑] พระที่นั่งอนันตสมาคมในพระราชนิพนธ์นี้หมายว่าองค์แรก สร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๔ อยู่หลังพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว


เดือนสิบสอง
พิธีกะติเกยา

๏ การพระราชพิธีกะติเกยา ตามคำพระมหาราชครูพิธี[] ได้กล่าวว่าการพระราชพิธีนี้แต่ก่อนได้เคยทำในเดือนอ้าย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เลื่อนมาทำในเดือนสิบสอง การซึ่งจะกำหนดทำพระราชพิธีเมื่อใดนั้น เป็นพนักงานของโหรต้องเขียนฎีกาถวาย ในฎีกานั้นว่าโหรมีชื่อได้คำนวณพระฤกษ์ พิธีกะติเกยากำหนดวันนั้นๆ พระมหาราชครูพิธีจะได้ทำพระราชพิธีเช่นนั้นๆ ลงท้ายท้าว่าจะมีคำทำนาย แต่ไม่ปรากฏว่าได้นำคำทำนายขึ้นมากราบเพ็ดกราบทูลอันใดต่อไปอีก ชะรอยจะเป็นด้วยทำนายดีทุกปีจนทรงจำได้ แล้วรับสั่งห้ามเสีย ไม่ให้ต้องกราบทูลแต่ครั้งใดมาไม่ทราบเลย การซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนพิธีมาทำในเดือนสิบสองนั้น คือกำหนดเมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์กฤติกาเต็มบริบูรณ์เวลาไร เวลานั้นเป็นกำหนดพระราชพิธี การซึ่งทรงกำหนดเช่นนี้ก็จะแปลมาจากชื่อพิธีนั้นเอง การที่พระมหาราชครูพิธีว่าเมื่อก่อนทำเดือนอ้ายนั้น เป็นการเลื่อนลงมาเสียดอก แต่เดิมมาก็ทำเดือนสิบสอง ครั้งเมื่อพิธีตรียัมพวายเลื่อนไปทำเดือนยี่แล้ว การพิธีนี้จึงเลื่อนตามลงไปเดือนอ้าย เพราะพิธีนี้เป็นพิธีตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าจะเสด็จลงมา ดูเป็นพิธีนำหน้าพิธีตรียัมพวาย ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กลับขึ้นไปทำเดือนสิบสองนั้น ก็เพราะจะให้ถูกกับชื่อพิธีดังที่ว่ามาแล้ว พระราชพิธีนี้คงตกอยู่ในระหว่างกลางเดือนสิบสอง เคลื่อนไปข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้างเล็กน้อย คงจะเกี่ยวกับพระราชพิธีจองเปรียงอยู่เสมอ การที่ทำนั้น คือปลูกเกยขึ้นที่หน้าเทวสถานสามเกย สถานพระอิศวรเกย ๑ สถานมหาวิฆเนศวรเกย ๑ สถานพระนารายณ์เกย ๑ เกยสูง ๔ ศอกเท่ากัน ที่ข้างเกยเอามูลโคกับดินผสมกันก่อเป็นเขาสูงศอกหนึ่งทั้ง ๔ ทิศ เรียกว่าบัพโต แล้วเอาหม้อใหม่ ๓ ใบถักเชือกรอบนอกเรียกว่าบาตรแก้ว มีหลอดเหล็กวิลาดร้อยไส้ด้ายดิบเก้าเส้น แล้วมีถุงข้าวเปลือกถั่วงาทิ้งลงไว้ในหม้อนั้นทั้ง ๓ หม้อ แล้วเอาไม้ยาว ๔ ศอก เรียกว่าไม้เทพทัณฑ์ปลายพันผ้าสำหรับชุบน้ำมันจุดไฟ ครั้นเวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีบูชาไม้เทพทัณฑ์และบาตรแก้ว แล้วอ่านตำรับจุดไฟในบาตรแก้ว แล้วรดน้ำสังข์จุณเจิมไม้นั้น ครั้นจบพิธีแล้วจึงได้นำบาตรแก้วและไม้เทพทัณฑ์ออกไปที่หน้าเทวสถาน เอาบาตรแก้วตั้งบนหลักริมเกยเอาปลายไม้เทพทัณฑ์ที่หุ้มผ้าชุบน้ำมันจุดไฟพุ่งไปที่บัพโตทั้ง ๔ ทิศเป็นการเสี่ยงทาย ทิศบูรพาสมมติว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทิศทักษิณสมมติว่าเป็นสมณพราหมณ์ ทิศประจิมว่าเป็นอำมาตย์มนตรี ทิศอุดรว่าเป็นราษฎร พุ่งเกยที่หนึ่งแล้วเกยที่สองที่สามต่อไป จนครบทั้งสามเกยเป็นไม้สิบสองอัน แล้วตามเพลิงในบาตรแก้วไว้อีกสามคืน สมมติว่าตามเพลิงคอยรับพระเป็นเจ้าจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลก เมื่อพุ่งไม้แล้วกลับเข้าไปสวดบูชาข้าวตอก บูชาบาตรแก้วที่จุดไฟไว้หน้าเทวสถานทั้ง ๓ สถาน ต่อนั้นไปอีกสองวันก็ไม่มีพิธีอันใด วันที่สามนำบาตรแก้วเข้าไปในเทวสถาน รดน้ำสังข์ดับเพลิง เป็นเสร็จการพระราชพิธี

การพระราชพิธีกะติเกยานี้ เป็นพิธีพราหมณ์แท้ และเหตุผลก็เลื่อนลอยมาก จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่รู้ที่จะทรงเติมการพิธีสงฆ์หรือแก้ไขเพิ่มเติมอันใด ได้แต่เปลี่ยนกำหนดให้ถูกชื่ออย่างเดียว คงอยู่ด้วยเป็นพิธีราคาถูกเพียง ๖ บาทเท่านั้น ๚


-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] พระมหาราชครูคนนี้ ชื่ออาจ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 กรกฎาคม 2561 15:53:07 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2561 16:08:25 »

เดือนสิบสอง
การพระราชกุศลฉลองไตรปี

๏ การฉลองไตรนี้ ไม่ปรากฏว่าเป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งกรุงเก่าหรือประการใด แต่เป็นธรรมเนียมมีมาในกรุงรัตนโกสินทรนี้แต่เดิม ไม่นับว่าเป็นพระราชพิธี เป็นการพระราชกุศลประจำปีซึ่งนำมากล่าวในที่นี้ด้วย เพราะเหตุว่าการฉลองไตรนี้เนื่องอยู่ในพระราชพิธีจองเปรียง และลอยพระประทีป ความประสงค์ของการฉลองไตรนั้น คือว่าพระสงฆ์ซึ่งได้รับยศเป็นราชาคณะฐานานุกรมเปรียญพิธีธรรมบางองค์ หรือคิลานภัตร พระทรงรู้จัก พระช่าง สามเณรเปรียญ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชเป็นภิกษุก็ดี สามเณรก็ดี เกินกว่าพรรษาหนึ่งขึ้นไป ท่านทั้งปวงนี้ได้พระราชทานไตรจีวรสำรับหนึ่งในเวลาเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐินทุกปี มิใช่เกี่ยวในการกฐิน พระสงฆ์และสามเณรทั้งปวงเหล่านี้มีจำนวนทั้งในกรุงและหัวเมืองปีหนึ่งอยู่ใน ๕๐๐ เศษขึ้นไปถึง ๖๐๐ รูป ทั้งที่ได้รับกฐินหลวงด้วย เมื่อผ้าไตรที่ได้พระราชทานไปแก่พระสงฆ์เป็นอันมากดังนี้ ก็ควรจะเป็นที่ชื่นชมยินดีในการพระราชกุศลที่ได้ทรงบริจาคไปเป็นอันมากนั้น จึงได้มีการพระราชกุศลขึ้นในกลางเดือนนั้น กำหนดวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ให้นิมนต์พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญทั้งปวง บรรดาซึ่งได้รับพระราชทานไตรปีมาประชุมพร้อมกันในพระบรมมหาราชวัง ทั้งในกรุงหัวเมือง ยกเสียแต่หัวเมืองไกล ถ้าการสวดมนต์ฉลองไตรนี้ทำที่หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระสงฆ์ไทยสวดมนต์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทั้งสิ้น พระสงฆ์รามัญสวดมนต์ที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ถ้าทำข้างพระที่นั่งฝ่ายบุรพทิศ พระสงฆ์ไทยคณะมหานิกายสวดมนต์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม คณะธรรมยุติกนิกายสวดมนต์ที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทในปัจจุบันนี้ แต่ครั้นเมื่อภายหลังรื้อพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ทำใหม่ ก็ยกมาสวดมนต์รวมกันในพระที่นั่งอนันตสมาคมทั้ง ๒ คณะ แต่คณะรามัญนั้นคงสวดอยู่ที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ การสวดมนต์มีแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำวันเดียว ต่อนั้นไปแบ่งพระสงฆ์ออกเป็นสามส่วน มาฉันในท้องพระโรงวันละส่วน เข้าบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังวันละ ๒ ส่วน เปลี่ยนกันไปตลอดทั้ง ๓ วัน คือในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วันแรมค่ำ ๑ การทรงบาตรในพระบรมมหาราชวังจัดอย่างนักขัตฤกษ์ คือมีผ้าลาดตามทางที่พระสงฆ์เดิน และมีเครื่องนมัสการพานทองน้อยเครื่องห้าตั้งที่ทรงบาตร มีของปากบาตรทวีขึ้นกว่าแต่ก่อน เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมข้างในแต่งตัวตักบาตรฉลองไตรนี้ ห่อผ้าห่มนอนตาดและเยียรบับแพรเขียนทองหรือแต่งตัวต่างๆ ไปอีกก็มีเป็นคราวๆ แต่ไม่เป็นการเสมอตลอดไป ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ เวลากลางคืนมีทรงธรรม พระราชาคณะผู้ใหญ่ถวายเทศนากฐินทาน อนุโมทนาการพระราชกุศลที่ได้เสด็จไปพระราชทานพระกฐินกัณฑ์ ๑ จีวรทาน อนุโมทนาพระราชกุศลที่ได้พระราชทานไตรปีแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงกัณฑ์ ๑ ปฏิสังขรณทาน อนุโมทนาที่ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอารามทั้งปวงกัณฑ์ ๑ เครื่องกัณฑ์เทศน์ทั้ง ๓ กัณฑ์ นับในจำนวนเทศนา ๓๐ กัณฑ์ ซึ่งเป็นจำนวนการพระราชกุศลประจำปี คือมีเครื่องกัณฑ์คล้ายๆ บริขารพระกฐิน คือมีตะบะยาเป็นต้น มีเงินติดเทียน ๑๐ ตำลึง และขนมต่างๆ ที่เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเป็นเจ้าของกัณฑ์

การฉลองไตรนี้ ในรัชกาลก่อนๆ ก็สวดมนต์เลี้ยงพระและเทศนาที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยตลอดมา ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ย้ายสวดมนต์เลี้ยงพระไปพระที่นั่งฝ่ายบุรพทิศ แต่ยังคงมาทรงธรรมที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เพราะเป็นทางที่จะได้เสด็จลงทรงลอยพระประทีปในเวลาเมื่อทรงธรรมแล้ว ในปัจจุบันนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่กว้างขวาง ใหญ่กว่าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย จึงโปรดให้การฉลองไตรทั้งปวงคงอยู่เหมือนเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

คำตักเตือนในการฉลองไตรนี้ เมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำพระสงฆ์ที่สวดมนต์ถึง ๕๐๐ เศษหรือ ๖๐๐ รูป เทียนซึ่งถวายพระสงฆ์ในเวลาสวดมนต์จบนั้นมาก มหาดเล็กควรจะต้องคอยรับ และเวลาที่พระเจ้าลูกเธอจะไปถวายควรต้องคอยยกตาม อย่าให้ต้องรั้งรอกันเนิ่นช้าไป

อนึ่ง จะต้องเตือนอย่างจืดๆ อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเวลาพระสงฆ์ฉันแล้วจำจะต้องยถา จำจะต้องทรงพระเต้าษิโณทก ไม่มีเหตุการณ์อันใดที่จะยกเว้นพระเต้าษิโณทกได้เลยในเวลาพระสงฆ์ฉันแล้ว ซึ่งมหาดเล็กบางคนทำอึกๆ อักๆ ไม่แน่ใจว่าจะทรงหรือไม่ทรง หรือทอดธุระเสียว่าไม่ทรงนั้นเป็นการเซอะแท้ ไม่มีข้อทุ่มเถียงอย่างไรเลย

อนึ่ง ในเวลาเมื่อสวดมนต์จบและเวลาเลี้ยงพระแล้ว มีเสด็จออกขุนนางข้าราชการเฝ้าทูลใบบอกและข้อราชการต่างๆ ได้เหมือนออกขุนนางตามเคย

อนึ่ง ในเวลาค่ำที่ทรงธรรมนั้น พอเสด็จออกมหาดเล็กก็ต้องนำเทียนชนวนเข้าไปตั้ง ทรงจุดเครื่องบูชาเทวดาแล้วต้องคอยรับเทียนที่บูชาพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งจะปล่อยให้ทรงจุดทรงวางในตะบะอย่างเช่นมหาดเล็กเคยทำมาบ่อยๆ นั้นไม่ถูก เมื่อรับเทียนนั้นไปแล้วเคยไปติดที่บัวหลังพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งไม่เห็นมหาดเล็กไปติดมาช้านานแล้ว จะไม่มีใครรู้หรือประการใดสงสัยอยู่ เมื่อทรงจุดเทียนเทวดาแล้วทรงจุดเทียนดูหนังสือ ไม่ต้องรอคอยจนทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้วจึงยกไปให้เป็นการช้ายืดยาว พอทรงจุดแล้วก็ยกไป ถ้าธรรมาสน์กว้างตั้งบนธรรมาสน์ทั้งเชิง ถ้าธรรมาสน์แคบมีจงกล ถอนเทียนออกปักที่จงกล ถ้าธรรมาสน์แคบมีม้าตั้งข้างๆ ให้ตั้งบนม้า การที่ถอนเทียนออกติดกับกงธรรมาสน์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด ได้กริ้วมาหลายครั้งแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ก็ดูมีรายๆ อยู่บ้างไม่สู้หนานัก ขอให้เข้าใจว่าไม่โปรดเหมือนกัน ๚



เดือนสิบสอง
การลอยพระประทีป

๏ การลอยพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วกัน ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ให้มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์อันใดเกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่าตรงกับคําที่ว่าลอยโคมลงน้ำเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ควรนับว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ เมื่อตรวจดูในกฎมนเทียรบาลซึ่งได้ยกมาอ้างในเบื้องต้น ต่อความที่ว่าพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำไป มีความต่อไปว่า “ตั้งระทาดอกไม้ในพระเมรุ ๔ ระทา หนัง ๒ โรง” การเรื่องนี้ก็คงจะตรงกันกับที่มีดอกไม้เพลิงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และที่ชลาทรงบาตรบูชาหอพระในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยการลอยประทีป การลอยประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มีเนื้อความเข้าเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งว่าท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นท้าวพระสนมเอก แต่ครั้งพระเจ้าอรุณมหาราชคือพระร่วง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามตั้งแต่กรุงตั้งอยู่ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่า ในเวลาฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาเสด็จลงประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายใน ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้เข้ามารับราชการ จึงได้คิดอ่านทํากระทงถวายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล และคิดคําขับร้องขึ้นขับถวายให้พระเจ้าแผ่นดินทรงพระดําริจัดเรือพระที่นั่ง เทียบขนานกันให้ใหญ่กว้าง สำหรับพระสนมฝ่ายในจะได้ตามเสด็จประพาสได้มากๆ ขึ้นกว่าแต่ก่อน และพระสนมที่ตามเสด็จประพาสในการพระราชพิธีนั้น ย่อมตกแต่งประดับประดากายเป็นอันมาก เมื่อพระสนมทั้งปวงได้ตามเสด็จด้วยกันโดยมากดังนั้น พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องพระราชทานเครื่องวัตถาภรณ์ต่างๆ ทั่วไปเป็นที่ชื่นชมยินดีทั่วกัน มีข้อความพิสดารยืดยาว เนื้อความก็คล้ายคลึงกันกับจดหมายถ้อยคําขุนหลวงหาวัด ซึ่งได้กล่าวว่า พระเจ้าแผ่นดินกรุงเก่า หรือเป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นเอง เสด็จลงเรือพระที่นั่ง ทรงพระภูษาขาว เครื่องราชอาภรณ์ล้วนแต่ทําด้วยเงิน แล้วล่องลงไปตามลําน้ำ มีจุดดอกไม้เพลิงที่หน้าพระอารามต่างๆ ข้อความยืดยาวอีก แต่ไม่รับประกันว่าฉบับที่ตีพิมพ์ไว้นั้นเป็นความจริงทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้าได้อ่านฉบับเดิมนั้นช้านานมาแล้ว จะถูกต้องกันหรือไม่ถูกต้องไม่ได้ตรวจตราละเอียด แต่ข้อความก็ลงเป็นรอยเดียวกันกับที่มีอยู่ในกฎมนเทียรบาลได้ความว่า ในฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาที่น้ำในแม่น้ำใสสะอาดและมากเต็มฝั่ง ทั้งเป็นเวลาที่สิ้นฤดูฝน ในกลางเดือนนั้นพระจันทร์ก็มีแสงสว่างผ่องใส เป็นสมัยที่สมควรจะรื่นเริงในลำน้ำในเวลากลางคืน พระเจ้าแผ่นดินจึงได้เสด็จลงประพาสตามลำน้ำพร้อมด้วยพระราชบริพารฝ่ายใน เป็นประเพณีมีมาแต่กรุงสุโขทัยฝ่ายเหนือโน้นแล้ว

การเก่ายกไว้ จะขอว่าแต่ที่กรุงเทพฯ นี้ การลอยประทีปในเดือน ๑๒ เป็นการใหญ่กว่าลอยประทีปในเดือน ๑๑ ด้วยอากาศปราศจากฝน และการพระราชกุศลก็เป็นการกลางวันมากกว่ากลางคืน นับว่าเป็นเวลาว่างกว่าเดือน ๑๑ ที่ในพระบรมมหาราชวังหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีดอกไม้พุ่มบูชา ๑๐ พุ่ม แต่ไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินไปทรงจุด ชาวที่นำเทียนชนวนมาถวายทรงจุดในเวลาทรงธรรมกลางคืน แต่ส่วนซึ่งบูชาหอพระในพระบรมมหาราชวังปักพุ่มดอกไม้ย่อมๆ ที่ชลาที่ทรงบาตรข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสด็จพระราชดําเนินทรงจุดดอกไม้ก่อนที่จะออกทรงธรรม มีแตรสังข์พิณพาทย์ผู้หญิงประโคมด้วย

การลอยพระประทีปเป็นเวลาที่เสด็จออกนอกกําแพงพระราชวัง และกําแพงพระนครเวลากลางคืน จึงได้จัดการป้องกันรักษาแข็งแรง การที่จัดทั้งปวงนี้ก็เป็นธรรมเนียมเดิม ในเวลาที่บ้านเมืองไม่ปรกติเรียบร้อย และจะให้เป็นการครึกครื้นในแม่น้ำ ถ้าจะว่าตามอย่างโบราณที่เป็นการเสด็จพระราชดําเนินประพาสลำน้ำก็เป็นการสมควรกันอยู่ ด้วยเรือที่ทอดทุ่นรักษาราชการนั้นก็เป็นเรือในกระบวนเสด็จพระราชดําเนินทั้งสิ้น แต่ถ้าจะเทียบกับการชั้นหลังในปัจจุบันนี้ ที่เสด็จไปวังเจ้านายในเวลากลางคืน หรือเสด็จลงทอดพระเนตรโคมในเวลาเฉลิมพระชนมพรรษา การป้องกันรักษาน้อยกว่าลอยพระประทีปมากหลายเท่า ก็เป็นไปตามเวลาที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป แต่การลอยประทีปนี้ยังคงอยู่ตามแบบเดิมเหมือนอย่างเสด็จพระราชดําเนินพระราชทานพระกฐินและเสด็จประพาสตามธรรมเนียมฉะนั้น ที่แพลอยหน้าท่าราชวรดิษฐ์ มีเรือบัลลังก์สองลำจอดขนานกัน ในเรือบัลลังก์นั้นแต่เดิมลำในกั้นม่านเป็นที่พระบรรทม, ที่สรง, ที่ลงพระบังคน ดูเหมือนว่าจะเป็นที่ประทับอยู่นานๆ ตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึก เครื่องที่สำหรับตั้งนั้นก็มีพระสุพรรณราช และมีขันพระสุธารสอย่างเช่นเสวยพระกระยาหาร การป้องกันรักษา ห้ามเรือที่ไม่ให้เดินในทุ่นตั้งแต่หัวค่ำไปจนดึกเวลาเสด็จขึ้น ดูเหมือนว่าในครั้งใดครั้งหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จลงไปประทับอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนสิ้นเวลาลอยพระประทีป สรงเสวยในที่นั้น แต่ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ารับสั่งให้เลิกที่สรงที่พระบรรทมเสีย คงแต่เครื่องพระสุธารสซึ่งเจ้าพนักงานยังจัดอยู่ตามเคย ในเรือบัลลังก์ทั้งสองลํานั้นกั้นม่านสกัดทั้งหัวเรือท้ายเรือ ข้างหัวเรือท้ายเรือเป็นข้างหน้า ที่ตรงม่านสกัดหัวเรือท้ายเรือมีม่านยืดออกไปในน้ำ บังมิให้เจ้าพนักงานที่อยู่หัวเรือท้ายเรือแลเห็นเข้ามาข้างใน ต่อเมื่อเวลาจะปล่อยเรือกระทงจึงได้ชักม่าน ข้างเหนือมีม่านทองสกัดเสมอแนวพนักข้างในอีกชั้นหนึ่งเพราะใกล้ที่ประทับ ในระหว่างม่านนั้นเป็นที่สำหรับท้าวนางเถ้าแก่ประจำคอยรับเรือกระทง ข้างใต้เป็นที่สำหรับเจ้าคุณท้าวนางเถ้าแก่หรือเจ้านายซึ่งไม่ต้องจุดกระทงเฝ้าในเรือบัลลังก์ลำนอก เรือบัลลังก์ลำในเป็นที่พนักงานนั่งนอกพนัก ในพนักเป็นที่เจ้าจอมอยู่งานนั่ง ส่วนในพนักเรือบัลลังก์ลำนอกนั้นทอดพระยี่ภู่ตั้งพระแสงเป็นที่ประทับ มีเจ้าจอมอยู่งานเฝ้าอยู่ในนั้นแต่เฉพาะที่เชิญเครื่อง กับพระเจ้าลูกเธอที่ตามเสด็จ ชานเรือบัลลังก์ลำนอกตรงช่องพนักทอดที่ประทับเป็นที่ทรงจุดกระทง ต่อนั้นไปเป็นที่เจ้านายและเจ้าจอมจุดกระทง ที่หัวเรือบัลลังก์นอกม่านมีเจ้าพนักงานลงประจำคือกรมวัง ๑ กรมทหารในจางวางเจ้ากรมปลัดกรมขุนหมื่น ๘ กรมพระแสงต้น ๑ กรมพระตำรวจนายเรือ ๒ รวมหัวเรือ ๑๒ ท้ายเรือบัลลังก์กรมวัง ๑ จางวางหัวหมื่นมหาดเล็ก ๖ กรมทหารในเจ้ากรมปลัดกรมขุนหมื่น ๗ กรมพระแสงต้น ๑ กรมตํารวจนายเรือ ๑ ภายหลังเติมราชเอดเดอแกมป์คน[] ๑ บ้าง ๒ คนบ้าง และเติมทหารปืนแคตตลิงกัน[] ๑ ข้างหัวเรือบัลลังก์มีโขลนลงเรือสำปั้น มีโคมเพชรจอดประจําอยู่เสมอแนวที่เจ้าคุณนั่งลำ ๑ ข้างท้ายเรือบัลลังก์มีเรือทหารในลำ ๑ เรือพันพรหมราชสำหรับปล่อยกระทงลํา ๑ การล้อมวงในลําน้ำทอดทุ่นเป็นสามสาย สายในมีแพหยวกรายเป็นระยะ มีไต้ประจําทุกแพตลอดหน้าเรือบัลลังก์ เรือประจําทุ่นสายในข้างเหนือน้ำ กรมกองตระเวนขวา ๑ กรมกองกลางขวา ๑ ประตูกรมพระกลาโหม ๑ เจ้ากรมพระตํารวจนอกขวา ๑ เจ้ากรมพระตํารวจสนมขวา ๑ เรือกรมสรรพากรในสรรพากรนอก ๑ ใต้น้ำหัวเรือบัลลังก์ทุ่นสายในกรมกองตระเวนซ้าย ๑ เรือประตูกรมมหาดไทย ๑ กรมกองกลางซ้าย ๑ เจ้ากรมพระตํารวจนอกซ้าย ๑ เจ้ากรมพระตำรวจสนมซ้าย ๑ เรือทุ่นกรมท่ากลาง ๑ ภายหลังนี้เติมเรือทหารทอดสมอสกัดเหนือน้ำท้ายน้ำขึ้นอีก ข้างเหนือน้ำกรมทหารหน้า ๔ ลํา ข้างใต้น้ำทหารหน้า ๒ ลํา

ทุ่นสายกลางเหนือน้ำ เรือทุ่นกรมอาสาจาม ๒ ลํา เรือทุ่นกรมเรือกันขวา ๑ เรือสิงโตกรมอาสาใหญ่ขวา ๑ เรือสางกรมทวนทองขวา ๑ เรือเหรากรมอาสารองขวา ๑ เรือกิเลนกรมเขนทองขวา ๑ เรือทุ่นสามพระคลังทอดเชือก ๑ ข้างใต้น้ำ เรือกรมอาสาจาม ๒ ลํา เรือกรมเรือกันซ้าย ๑ เรือสิงโตกรมอาสาใหญ่ซ้าย ๑ เรือสางกรมทวนทองซ้าย ๑ เรือเหรากรมอาสารองซ้าย ๑ เรือกิเลนกรมเขนทองซ้าย ๑ เรือทุ่นสามพระคลังทอดเชือก ๑

ที่ทุ่นกลางตรงหน้าบัลลังก์ มีเรือดอกไม้เพลิง ๒ ลํา เรือพิณพาทย์เหนือน้ำ ๑ ลํา ท้ายน้ำ ๑ ลํา เรือกลองแขกเหนือน้ำ ๑ ลํา ท้ายน้ำ ๑ ลํา มีเรือเจ้ากรมพระตํารวจในซ้าย ๑ ใหญ่ซ้าย ๑ อยู่ใต้น้ำ เรือเจ้ากรมตํารวจในขวา ๑ ใหญ่ขวา ๑ อยู่เหนือน้ำ จับทุ่นสายกลางทั้งสิ้น มีเรือทหารปืนใหญ่เติมใหม่อยู่นอกทุ่นสายกลางเหนือน้ำ ๑ ลํา ท้ายน้ำ ๑ ลํา

ทุ่นสายนอกเหนือน้ำ มีเรือกรมกองตระเวนขวา ๑ เรือประตูกรมมหาดไทย ๑ เรือทุ่นกรมอาสาวิเศษขวา ๑ กรมทําลุขวา ๑ กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งขวา ๑ กรมคู่ชักขวา ๑ ท้ายน้ำกรมกองตระเวนซ้าย ๑ เรือประตูกรมพระกลาโหม ๑ เรือกรมอาสาวิเศษซ้าย ๑ กรมทําลุซ้าย ๑ กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งซ้าย ๑ กรมคู่ชักซ้าย ๑

บรรดาเรือที่ทอดทุ่นทั้งปวงมีปืนหลักทอง ปืนจ่ารงค์ มีโคมเพชรโคมสานประจําทุกลําเรือ แต่เจ้ากรมพระตํารวจนั้นแห่เสด็จลงไปถึงท่าราชวรดิษฐ์แล้วจึงได้ลงเรือไปจับทุ่นตามหน้าที่ เวลาเสด็จขึ้นเจ้ากรมพระตำรวจไม่ได้แห่เสด็จ ในเวลาเมื่อลอยพระประทีปนั้นมีเรือคอนปักโคมกลีบบัวพายขึ้นล่องอยู่ทั้งข้างนอกข้างในทุ่นสายในจนตลอดเวลาเสด็จขึ้น บนฝั่งข้างฝั่งตะวันตกมีเจ้ากรมปลัดกรมไพร่หลวงประจํารักษาตรงหน้าเรือบัลลังก์ ๕ กอง ข้างฝั่งตะวันออกบนชลาพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยมีพิณพาทย์ผู้หญิงสำรับ ๑ โขลนนั่งรายตามชลาเจ้าจอมอยู่งานประจําโมงยามและเถ้าแก่รับเสด็จบนพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ทหารรักษาป้อม ๒ ป้อมและรายทางตลอดเข้ามาจนในพระบรมมหาราชวัง เจ้ากรมปลัดกรมไพร่หลวงตั้งกองอีก ๒ กอง คือข้างใต้ฉนวนกอง ๑ ท่าขุนนางกอง ๑

กระทงหลวงซึ่งสำหรับทรงลอยที่มีมาแต่เดิมนั้น คือเรือรูปสัตว์ต่างๆ เรือศรี เรือชัย เรือโอ่ เรือคอน และมีเรือหยวกติดเทียน ๒ เล่มธูปดอก ๑ ห้าร้อย แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าโปรดให้ลดเรือหยวกลงเสีย เหลืออยู่สี่สิบห้าสิบลำ และเรือที่ลอยประทีปนั้นของหลวงชำรุดทรุดโทรมไป โปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทําขึ้นทุกกรม เรือหลวงที่ยังเหลืออยู่ เรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่สิ้นพระชนม์ส่งมาเป็นหลวงถวายทรงจุดก่อนตอนหนึ่ง แล้วจึงถึงเรือสำเภาซึ่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐีเป็นผู้แต่ง แล้วจึงถวายเรือพระบรมวงศานุวงศ์ต่อไป แต่เรือข้าราชการนั้นเป็นเรือกระบวน เมื่อรับสั่งให้ปล่อยเมื่อใดจึงจุดเทียนปล่อยมาตามกลางน้ำหว่างทุ่นชั้นในกับเรือบัลลังก์ เคยปล่อยอยู่ในเวลาจุดดอกไม้

เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีระกาสัปตศก ๑๑๘๗ ปีจออัฐศก ๑๑๘๘ โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการทํากระทงใหญ่ถวาย เจ้าพระยาทิพากรวงศ์จดหมายไว้ว่า “ครั้นมาถึงเดือนสิบสองขึ้นสิบสี่ค่ำ สิบห้าค่ำ แรมค่ำหนึ่ง พิธีจองเปรียงนั้นเดิมได้โปรดให้ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน และข้าราชการมีกําลังพาหนะมากทํากระทงใหญ่ ผู้ต้องเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทําเป็นแพหยวกบ้าง กว้างแปดศอกบ้าง เก้าศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอดสิบศอกสิบเอ็ดศอก ทําประกวดประขันกันต่างๆ ทําอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง ๔ บ้าง และทําเป็นกระจาดชั้นๆ บ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทําก็นับร้อย คิดในการลงทุนทํากระทง ทั้งค่าเลี้ยงคนเลี้ยงพระช่างเบ็ดเสร็จก็ถึงยี่สิบชั่งบ้าง ย่อมกว่ายี่สิบชั่งบ้าง กระทงนั้นวันสิบสี่ค่ำเครื่องเขียว สิบห้าค่ำเครื่องขาว แรมค่ำหนึ่งเครื่องแดง ดอกไม้สดก็เลือกหาตามสีกระทง และมีจักรกลไกต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็มีบ้าง เหลือที่จะพรรณนาว่ากระทงท่านผู้นั้นทําอย่างนั้นๆ คิดดูการประกวดประขันจะเอาชนะกัน คงวิเศษต่างๆ กัน เรือมาดูกระทงตั้งแต่บ่าย ๔ โมง เรือชักลากกระทงขึ้นไปเข้าที่แต่บ่าย ๕ โมง เรือเบียดเสียดสับสนกันหลีกไม่ใคร่จะไหวดูเป็นอัศจรรย์ เรือข้าราชการและราษฎรมาดูเต็มไปทั้งแม่น้ำ ที่ต้องขอแรงทำกระทงนั้น ในพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ คือ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ๑ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ (คือหม่อมไกรสร) ๑ กรมหมื่นเดชอดิศร (คือกรมสมเด็จพระเดชาดิศร) ๑ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ (คือกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) ๑ ขุนนาง ท่านเจ้าพระยาอภัยภูธร ๑ ท่านเจ้าพระยาพระคลัง (คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่) ๑ ท่านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย) ๑ พระยาพิชัยวารี (คือเจ้าพระยานิกรบดินทร์) ๑ พระยาราชมนตรี (ภู่) ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) ๑ รวม ๑๐ กระทง”

คำเล่าถึงกระทงใหญ่ ๒ ปีนี้มีพิสดารเรื่องราวยืดยาวมาก ครั้นจะว่าก็จะยืดยาวหนักไป เห็นว่าที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าไว้นี้ก็พอสมควรอยู่แล้ว แต่กระทงใหญ่เช่นนี้ไม่มีต่อไป เพราะทรงทราบว่าต้องลงทุนมาก จึงให้เลิกเสีย เจ้านายข้าราชการฝ่ายในจึงรับทํากระทงใหญ่แทน กระทงใหญ่ฝ่ายในเช่นที่ทำกันนี้น่าสงสัยว่าจะมีมาแต่รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ แล้ว แต่ไม่ปรากฏในจดหมายแห่งใด และไม่มีตัวผู้ที่จะบอกเล่า จึงไม่สามารถที่จะกล่าวว่าเป็นธรรมเนียมเดิมได้ กระทงข้างในนั้นขนาดย่อมลงมาเพียง ๓ ศอก ๔ ศอก จนถึง ๖ ศอก ในชั้นหลังลงมาตัวผู้ที่ทํานั้น คงเป็นผู้ทํายืนที่ประจําทั้ง ๓ วันอยู่แต่กรมขุนกัลยาสุนทร กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ และเจ้าคุณปราสาท นอกนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอเข้ากันทําวันละกระทง พระเจ้าน้องนางเธอเข้ากันทําวันละกระทงหนึ่งบ้างสองกระทงบ้าง พระองค์เจ้าดวงเดือนมีวันหนึ่ง พระองค์เจ้าวังหน้าซึ่งเสด็จลงมาอยู่ในพระบรมมหาราชวังทําวันหนึ่ง คงอยู่ในมีกระทงวันหนึ่งเจ็ดกระทงแปดกระทง ใช้ประดับด้วยเครื่องสด รูปภาพฟักทองมะละกอ ไม่มีเครื่องกลไกอันใด รูปกระทงก็ยืนที่ไม่ได้เปลี่ยน ผู้ใดเคยทําอย่างใดก็ทําตามเคย ประกวดประขันกันแต่รูปภาพเครื่องสดและดอกไม้ที่ร้อยประดับตกแต่ง กระทงหนึ่งก็สิ้นอยู่ในสองชั่งสามสิบตำลึง มีมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ รูปกระทงเหล่านี้เขียนอยู่ที่วัดยานนาวารามหลายอย่าง

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ มีติดต่อมาอีก ๒ ปี ทรงทราบว่าเป็นการเปลืองเงิน พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในมีผลประโยชน์น้อยจึงโปรดให้เลิกเสีย เกณฑ์เรือพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเติมขึ้นตามที่กล่าวมาแล้ว และภายหลังจึงโปรดให้มีเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือชัยแต่งแทนกระทงใหญ่สองลํา บรรดาเครื่องสูงที่ประจําตามกระทงเปลี่ยนเป็นฉัตรเทียน หว่างฉัตรมีบังแทรก ธงที่นักสราชถือหัวเรือท้ายเรือก็มีเทียนประจํา ตามกระทงเรือตั้งเชิงเทียนใหญ่ มีเทียนเล่มยาวๆ จุดทุกกระทง ในบุษบกเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชตั้งพระพุทธสิหิงค์น้อย หน้าบุษบกตั้งเครื่องนมัสการทองทิศ แต่เรือชัยลำหลังตั้งพานพุ่มไม่มีเครื่องนมัสการ ทรงจุดเทียนเรือพระที่นั่งสองลำก่อน แล้วจึงได้จุดเทียนเรือกระทงต่อไป เรือพระที่นั่งนั้นพายร้องเห่ล่องลงไปตามลำน้ำ แล้วจึงทวนน้ำกลับขึ้นมาในระหว่างทุ่นสายกลางกับสายนอก

ครั้นถึงในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เรือชัยลำหลังเปลี่ยนเป็นเรือสุพรรณหงส์ซึ่งชำรุดทรงซ่อมแซมขึ้นใหม่บ้าง พระพุทธรูปพุทธสิหิงค์น้อย ยกเป็นพระพุทธรูปประจําพระชนมพรรษาวันรัชกาลที่ ๔ จึงได้เปลี่ยนพระไชยวัฒน์ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ลงในเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชแทน ส่วนกระทงใหญ่นั้นทรงพระปรารภว่ายังไม่เคยทอดพระเนตรมาแต่เดิม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบําราบปรปักษ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน จึงได้พร้อมกันทําถวายทอดพระเนตร กระทงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอนั้นมีเครื่องจักรกลไกอย่างกระทงข้างหน้าแต่ก่อน แต่กระทงพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเป็นอย่างกระทงข้างใน เมื่อได้ทอดพระเนตรแล้ว ก็ไม่ได้โปรดให้มีต่อไปทุกปี นานๆ จึงจะมีคราวหนึ่ง จนในครั้งหลังที่สุดนี้ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี พระนางเจ้าพระราชเทวี ได้ทําถวายเป็นอย่างกระทงข้างหน้า มีเครื่องจักรกลไกทั้งสามกระทงอีกคราวหนึ่ง กระทงใหญ่นั้นทรงจุดภายหลังเมื่อสิ้นเรือลอยประทีปทั้งปวง ถ้าปีใดมีกระทงใหญ่ก็เป็นการครึกครื้นเอิกเกริกยิ่งกว่าทุกปี

อนึ่ง การลอยพระประทีปนั้น แต่เดิมมาข้าราชการซึ่งเข้ามาเฝ้าในพระบรมมหาราชวัง สิ้นเวลาแล้วก็ต่างคนต่างกลับไปบ้าน อยู่แต่ที่ต้องประจําราชการในหน้าที่ แต่ครั้นเมื่อปีที่มีกระทงใหญ่ ท่านเสนาบดีผู้ซึ่งถูกเกณฑ์กระทง ทึ่งหรือเหวกระทงของตัวลงไปคอยรับเสด็จอยู่ที่หลังตำหนักแพ ครั้นเมื่อเสด็จพระราชดําเนินลงไปถึงที่นั้น ก็ได้ทรงทักทาย เวลาเสด็จขึ้นก็พระราชทานส่วนพระราชกุศลและชมเชยกระทงต่างๆ บ้าง ครั้นภายหลังมาถึงว่าการที่เกณฑ์กระทงใหญ่นั้นเลิกแล้ว ท่านผู้ใหญ่ทั้งปวงก็ปรึกษากันเห็นว่าการซึ่งข้าราชการตามเสด็จลงไปอยู่หลังตําหนักแพนั้นเป็นการสมควร ด้วยประเพณีจะเสด็จออกจากพระราชวังไปในที่แห่งใด มีเสด็จพระราชดําเนินเยี่ยมไข้ และพระราชทานเพลิงเป็นต้น ท่านเสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ต้องไปรับเสด็จพระราชดําเนินทุกแห่ง การลอยพระประทีปนี้เป็นเวลาเสด็จออกจากพระราชวังเวลากลางคืน ก็สมควรจะมีข้าราชการลงไปรักษาอยู่ด้านหลังให้เป็นการมั่นคงแข็งแรงยิ่งกว่าเวลาอื่น เมื่อท่านผู้ใหญ่ปรึกษาพร้อมกันดังนี้แล้วก็ได้มาคอยเฝ้าประจำอยู่จนเวลาเสด็จขึ้นทุกวัน ทั้งเดือนสิบเอ็ดเดือนสิบสอง จนตลอดอายุของท่านผู้ต้นปรึกษาทั้งปวงนั้น ครั้นตกมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเสนาบดีสำรับเก่ายังอยู่บ้าง สำรับใหม่ก็ทําตามกันเป็นธรรมเนียมยั่งยืนมา ในฤดูเดือนสิบเอ็ดมักจะยังไม่ขาดฝน ข้าราชการที่มาคอยรับเสด็จต้องเปียกฝน จึงโปรดให้ต่อเฉลียงเป็นหลังคาเก๋งออกมาจากฉนวน เป็นที่สำหรับข้าราชการเฝ้า แต่เฉลียงนั้นเป็นอย่างเตี้ยๆ สำหรับหมอบ ครั้นแผ่นดินปัจจุบันนี้เปลี่ยนเป็นยืน ข้าราชการเข้าไปยืนในนั้นก็ไม่แลเห็นหน้า ครั้นเมื่อปีจออัฐศกกีดทางแห่ลงสรงจึงได้รื้อเสีย ยังหาได้ทําขึ้นใหม่ไม่ แต่ท่านเสนาบดีที่มาเฝ้าอยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ครั้นภายหลังลงมาเสด็จลงลอยพระประทีปดึกๆ หนักเข้า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นหัวหน้าเสนาบดีอยู่ในเวลานั้น นอนหัวค่ำเว้นไม่ได้ มาบ้างไม่มาบ้าง จนปลายๆ ลงมา พอเกิดเลิกธรรมเนียมเสนาบดีเข้าวังก็เลยหายสูญไปด้วยกันทั้งหมด คงมาอยู่แต่ปลัดทูลฉลองและข้าราชการที่หมั่นๆ เฝ้าประจำอยู่ จนตลอดมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้[]

กำหนดที่หมายในการเสด็จลงลอยพระประทีป พอเสด็จพระราชดำเนินถึงเกย ก็ชักโคมสัญญาณขึ้นที่เสาธง เมื่อโคมขึ้นแล้วจึงประโคมพิณพาทย์กลองแขกและแตรวงทั่วกัน เมื่อเสด็จลงประทับในเรือบัลลังก์แล้วรออยู่จนเรือตํารวจออกจับทุ่น จึงได้เสด็จพระราชดําเนินออกประทับที่ชานเรือบัลลังก์ พระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเยาว์บางองค์ออกประทับด้วย แต่มักใช้รัดตะคดรัดบั้นพระองค์ไว้กับเสาพนัก ข้างขวาเป็นที่สมเด็จพระบรมราชเทวี พระราชเทวี ประทับจุดเทียนข้างตอนท้ายเรือกระทงข้างซ้าย ธรรมเนียมในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า มีพระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งบ้างสองพระองค์บ้าง คือกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นต้น ต่อนั้นไปเจ้าจอมอยู่งานที่เป็นคนโปรดผลัดเปลี่ยนกันอีก ๔ คน ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า แต่แรกเจ้าจอมอยู่งานจุด แต่ครั้นเมื่อมีเหตุการณ์ถ้อยความขึ้น ก็เปลี่ยนเป็นพระเจ้าน้องนางเธอ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอจุด แล้วก็กลับเป็นเจ้าจอมอยู่งานบ้าง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระเจ้าน้องนางเธอจุดเสมอตลอดมา คงอยู่อย่างเช่นเมื่อในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอันใด เมื่อจุดเรือกระทงไปถึงเรือสำเภามาเป็นกําหนดจุดดอกไม้ จึงทรงจุดดอกไม้ชนวน เมื่อเรือดอกไม้เห็นดอกไม้ชนวนที่เรือบัลลังก์ จึงได้จุดดอกไม้มีพุ่ม, กระถาง, ระทา, พุ่มตะไล, พะเนียงมะพร้าว, กรวด, พลุ, มะพร้าว และมีเรือทหารในจุดดอกไม้น้ำในทุ่นชั้นในไปกว่าจะเสด็จขึ้น ในเรือบัลลังก์มีดอกไม้น้ำถวายทรงจุดสองตะลุ่ม

อนึ่ง ในเดือนสิบสองนี้ มีเรือผ้าป่าของหลวงเรียกว่าผ้าป่าบรรดาศักดิ์คืนละ ๘ ลํา ยึดทุ่นสายกลางอยู่ข้างเหนือน้ำ ผ้าป่านี้พระราชทานแด่พระราชาคณะ พระครูหัวเมือง ที่เข้ามาในการฉลองไตรเปลี่ยนไปวันละ ๘ รูป เวลาลอยพระประทีปแล้วทรงพระเต้าษิโณทกแล้วเสด็จขึ้น ลดโคมสัญญาณเป็นกําหนด

อนึ่ง การทอดผ้าป่าวิเศษซึ่งเป็นของหลวง แต่ก่อนเคยมีมาบ้างเป็นครั้งเป็นคราว แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีผ้าป่าวัดปทุมวันติดๆ กันไปหลายปี พึ่งมาขาดตอนในปลายแผ่นดิน ในการผ้าป่านั้นเสด็จพระราชดําเนินโดยเรือกระบวนอย่างพระราชทานพระกฐิน เวลาบ่ายพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ มีเรือกระจาดผ้าป่าจอดเรียงรายอยู่ในน้ำหน้าพระอุโบสถ มีเครื่องประโคมพิณพาทย์และการเล่นคือเพลงและลาวขับแพนเป็นต้น เล่นในเรือเวลาสวดมนต์จบ ประทับแรมที่พระที่นั่งเก๋งที่ริมสระนั้นคืนหนึ่ง เวลารุ่งเช้าพระสงฆ์รับบิณฑบาตเรือในสระ ๓๐ รูป เวลาเพลรับพระราชทานฉันแล้ว เสด็จพระราชดําเนินกลับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 12:29:11 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2561 16:11:27 »

เดือนสิบสอง
การลอยพระประทีป (ต่อ)

ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ มีที่วัดปทุมวันครั้งหนึ่ง เป็นการเอิกเกริกโกลาหลยิ่งใหญ่ ขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการแต่งเรือผ้าป่า ตามแต่ผู้ใดจะแต่งอย่างไร บ้างก็ทําเป็นรูปยักษ์รูปสัตว์ต่างๆ บ้างก็เป็นกระจาดซ้อนกันสามชั้นห้าชั้น ประกวดประขันกันโดยความคิด แล้วมีเรือการเล่นต่างๆ ละคร มอญรำ ขับแพน เพลง เสภารำ พิณพาทย์หลายสำรับ ชักผ้าป่าผ่านหน้าพระที่นั่งชลังคณพิมาน[]เป็นกระบวนแห่ มีเรือราษฎรมาช่วยแห่ผ้าป่าหลายร้อยลํา ชักผ้าป่าแต่เวลากลางวันจนเวลาค่ำ จึงได้ถึงปทุมวัน แล้วจอดเรือผ้าป่าเรียงรายอยู่ตามในสระตอนข้างหน้าวัด วางเรือการเล่นเป็นระยะไปรอบสระ มีเรือราษฎรเข้าไปขายของกินต่างๆ ตามแต่ผู้ใดจะไป ในเวลาค่ำวันนั้นเรือราษฎรที่ไปดูผ้าป่าเต็มแน่นไปทั้งสระ จนเวลาจวนสว่างจึงได้ทอดผ้าป่า ประทับแรมคืนหนึ่ง และสวดมนต์เลี้ยงพระเหมือนอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ้าป่าวัดปทุมวันนี้คงได้ทอดอยู่ในข้างแรมเดือน ๑๒ เวลาฉลองไตรปีแล้วทุกครั้ง ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับอยู่บางปะอินเนืองๆ เมื่อยังไม่ได้สร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ก็ได้มีการผ้าป่าวัดชุมพลนิกายาราม มีกระบวนแห่บ้างไม่มีบ้าง เสด็จพระราชดําเนินเข้าในกระบวนแห่ก็มี เป็นการเบ็ดเตล็ดนอกธรรมเนียม เครื่องของไทยทานเป็นของหลวงบ้าง ของกรมพระตํารวจและมหาดเล็กที่ตามเสด็จพระราชดําเนินจัดถวายช่วยในการพระราชกุศล คนละสิ่งสองสิ่งบ้าง ครั้นเมื่อมีวัดนิเวศน์ธรรมประวัติก็เพิ่มจํานวนของผ้าป่ามากขึ้นพอทั้งสองวัด เวลาค่ำมีการฉลองผ้าป่าในสระ มีเรือการเล่นต่างๆ ตามสมควร และเรือราษฎรที่อยู่ในหมู่บ้านเหล่านั้นเข้ามาดูการเล่นเป็นอันมาก ครั้นเวลาดึกก็ชักผ้าป่าไปทอดทั้งสองวัด เสด็จพระราชดำเนินบ้าง ไม่ได้เสด็จบ้าง มีแต่การทรงบาตร ไม่ได้สวดมนต์เลี้ยงพระ ถ้าปีใดเสด็จพระราชดําเนินพระราชทานพระกฐินเดือน ๑๑ ก็มีผ้าป่าเดือน ๑๑ ถ้า พระราชทานพระกฐินเดือน ๑๒ ก็มีผ้าป่าเดือน ๑๒ ถ้าไม่ได้เสด็จพระราชดําเนิน การผ้าป่านั้นก็เลิก ถ้ามีที่เสด็จพระราชดําเนินขึ้นไปเมืองลพบุรี ก็มีผ้าป่าวัดมณีชลขันธ์ เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ราษฎรชักผ้าป่าแห่ไปตามลําน้ำตั้งแต่เวลาเช้า ตามแต่พวกใดจะพาไปแห่งใดไม่มีกําหนด ต่อเวลาค่ำจึงได้มาจอดเรือที่หน้าแพที่ประทับในท้องพรหมาศ มีการเล่นและจุดดอกไม้เพลิงเป็นการฉลอง จนเวลาดึกจึงได้ชักผ้าป่าไปทอด การทอดผ้าป่าตามวัดต่างๆ เช่นนี้ไม่เป็นการมีเสมอ เป็นการนอกแบบ แล้วแต่จะโปรดให้มีแห่งใดก็มีขึ้นเป็นครั้งเป็นคราว วัดอื่นๆ ที่ไม่เคยมีผ้าป่า เช่นวัดราชบพิธเป็นต้นก็มี จะพรรณนาก็จะยืดยาวไป ๚

-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] คือราชองครักษ์ เมื่อทรงพระราชนิพนธ์ยังเรียกกันว่า ราชเอดเดอแกมป์
[๒] คือ ปืนกล
[๓] ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงจัดสภาเสนาบดีแล้ว มีการประชุมเสนาบดีไม่ขาด ถึงไม่ใช่วันประชุม เสนาบดีต้องเข้ามาเฝ้าทุกวัน คราวมีราชการก็ต้องผลัดเปลี่ยนกัน หรือพร้อมกันนอนประจํา
ในพระบรมมหาราชวัง
[๔] พระที่นั่งองค์นี้อยู่ในหมู่พระที่นั่งท่าราชวรดิษฐ์ เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว

 

เดือนสิบสอง
พระราชกุศลกาลานุกาล

๏ การพระราชกุศลซึ่งเรียกว่า กาลานุกาลตามเคย เป็นการเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพิเศษขึ้นกว่าเก่าที่เคยมีแต่สงกรานต์ครั้งหนึ่ง มีเดือนเว้นอยู่ห้าเดือน คือเดือนเจ็ด เดือนเก้า เดือนอ้าย เดือนยี่ เดือนสาม เดือนนอกนั้นมีต่อท้ายการพระราชพิธี หรือการพระราชกุศลทุกๆ เดือน ในเดือนสิบสองนี้กาลานุกาลควรจะตกอยู่ในวันแรมค่ำหนึ่งเหมือนเดือนสิบเอ็ด แต่เพราะเวลาเช้ายังติดเลี้ยงพระสงฆ์ฉลองไตร ซึ่งปันเปลี่ยนกันฉันเป็นสามพวก เป็นพระสงฆ์มีจำนวนมาก จึงได้แยกไปทำเสียในวันแรมสองค่ำ ต่อการฉลองไตร อนึ่งพระสงฆ์ซึ่งต้องนิมนต์สดับปกรณ์กาลานุกาลตามรายองค์พระอัฐิในจำนวนเดือนสิบสองนี้ ก็ใช้พระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญหัวเมืองซึ่งต้องแบ่งฉันในวันแรมค่ำหนึ่งนั้นด้วย การพระราชกุศลกาลานุกาลในเดือนสิบสองนี้ทำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ไม่ได้ยกไปพระที่นั่งอนันตสมาคมตามการฉลองไตร ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดให้เชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิไปตั้งที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแต่เดิมมา เมื่อติดการตกแต่งหรือซ่อมแซมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ก็ได้ทำที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทบ้าง พระที่นั่งสุทไธศวรรย์บ้าง จำนวนพระบรมอัฐิพระอัฐิซึ่งสดับปกรณ์ในวันกาลานุกาลทั้งปวงเท่ากันทุกๆ เดือน เว้นไว้แต่สงกรานต์ พระสงฆ์นั้นใช้พระอารามซึ่งเป็นที่พระอัฐินั้นได้ทรงปฏิสังขรณ์หรือสร้างขึ้นใหม่ ถ้าพระอัฐิใดไม่ได้ทรงปฏิสังขรณ์และทรงสร้างพระอาราม ก็ใช้พระอารามซึ่งเป็นที่พระญาติวงศ์อันใกล้ชิดได้ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์ หรือที่พระสงฆ์องค์นั้นนับเนื่องในพระวงศ์ทางหนึ่งทางใด ก็ใช้ได้บ้าง ในการกาลานุกาลอื่นๆ พระสงฆ์มักจะคงเหมือนกันทุกๆ คราว ไม่ใคร่เปลี่ยนแปลง แต่ในเดือนสิบสองนี้เปลี่ยนเป็นหัวเมือง มีพระนามและรายชื่อวัดตามที่ได้จดหมายต่อไปนี้

๑.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก วัดสุวรรณดาราราม
๒.พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วัดชัยพฤกษ์มาลา
๓.พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดศาลาปูน
๔.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดเสนาสนาราม
๕.สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี วัดสุวรรณดาราราม
๖.กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี วัดพนัญเชิง
๗.กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ วัดปฐมเจดีย์
๘.สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี วัดอัมพวันเจติยาราม
๙.กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ วัดอัมพวันเจติยาราม
๑๐.กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ วัดเสนาสนาราม
๑๑.กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย วัดคงคาราม
๑๒.กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๑๓.สมเด็จพระปฐมบรมอัยยิกาเธอ วัดอัมพวันเจติยาราม
๑๔.สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ วัดบรมวงศ์อิศรวราราม
๑๕.สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดี วัดเจ้าคณะใหญ่ในเมืองราชบุรี
๑๖.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ วัดมหาสมณาราม
๑๗.สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๑๘.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๑๙.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๒๐.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๒๑.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๒๒.สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ วัดปรมัยยิกาวาส
๒๓.สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี วัดชุมพลนิกายาราม
๒๔.พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ
๒๕.พระชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย วัดศาลาปูน
๒๖.พระชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ วัดกระวิศราราม
๒๗.พระชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย วัดศาลาปูน
๒๘.พระชนนีในกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ

พระพุทธรูปซึ่งตั้งในการกาลานุกาลนี้ ใช้พระชนมพรรษาวันในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปอุ้มบาตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นด้วยทองคำ แล้วทรงพระราชอุทิศถวายทั้ง ๒ พระองค์ พระห้ามสมุทรสำหรับรัชกาลที่ ๓ ทรงสร้างขึ้นด้วยทองคำในแผ่นดินปัจจุบันนี้ แล้วทรงพระราชอุทิศถวาย พระพุทธสิหิงค์จำลองประจำรัชกาลที่ ๔ พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรตามพระชนมพรรษาวันกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระพุทธรูปยืนถวายเนตรตามพระชนมพรรษาวันกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ทรงหล่อด้วยทองคำในรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชอุทิศถวาย พระพุทธรูปสมาธิทรงหล่อด้วยทองคำในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงพระราชอุทิศถวายกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เป็นพระพุทธรูป ๗ องค์ด้วยกัน

เวลาเช้าเสด็จออกพระสงฆ์ฉัน เมื่อทรงประเคนแล้วเจ้าพนักงานกรมภูษามาลา จึงได้เชิญพระบรมอัฐิพระอัฐิ ทรงพระราชยานกงสี่ คือพระราชยานกงองค์หนึ่งพระบรมอัฐิ และพระอัครมเหสี และพระญาติวงศ์อันสนิทในรัชกาลนั้นรวมกันไป แล้วจึงมีพระเสลี่ยงเชิญพระอัฐินอกนั้นต่อไปอีก พระบรมอัฐิพระอัฐิที่ตั้งบนพระที่นั่งเศวตฉัตร[] คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสี่พระองค์ สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ สมเด็จพระศรีสุลาลัย สมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ สมเด็จพระเจ้าปฐมบรมอัยยิกาเธอ สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงศรีสุนทรเทพ กรมหลวงเทพวดี สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์[] ตั้งที่ชั้นลดพระที่นั่งเศวตฉัตร สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย เจ้าฟ้าตรีเพชรุตม์ธำรง เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ตั้งที่โต๊ะจีนข้างพระที่นั่งเศวตฉัตร สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ พระชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระชนกในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระชนนีในกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์[] มีเครื่องทองน้อย ตั้งที่ฐานเคียงพระที่นั่งเศวตฉัตรด้านตะวันออก สำหรับทรงนมัสการพระบรมอัฐสี่สำรับ พระสงฆ์ฉันแล้วทรงทอดผ้าห่มนอนสองชั้น มีฉลากพระนามพระอัฐิสดับปกรณ์ แล้วถวายไทยธรรมหมากพลูธูปเทียนร่มรองเท้า แล้วมีสดับปกรณ์อีก ๕๐๐ รูป พระสงฆ์ที่มาฉันขึ้นไปสดับปกรณ์ในพระราชวังบวรฯ ๕ รูป คือกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วัดสุวรรณดาราราม กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ วัดทรงธรรม กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ วัดไพชยนต์พลเสพ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดสมุหประดิษฐ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ วัดศาลาปูน แล้วมีสดับปกรณ์รายร้อยอีก ๑๐๐ รูป พระราชทานสดับปกรณ์พระอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์ในหอพระนาค ๑๐๐ รูป

อนึ่ง ในการฉลองไตร สามเณรเปรียญที่ได้รับไตรปีได้เข้ามาบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังทั้ง ๓ วัน แต่ไม่ได้ฉัน จึงได้เคยยกมาฉันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พร้อมกับวันพระราชกุศลกาลานุกาลนี้ด้วยแถวหนึ่งต่างหาก

การซึ่งมักจะขาดในการพระราชกุศลกาลานุกาลนี้ คือหุ้มแพรไม่ได้เป็นธุระในการตั้งเครื่องนมัสการ ให้แต่มหาดเล็กเวรไปตั้ง ครั้นเมื่อถวายเทียนชนวนทรงจุดตะบะถมแล้วก็นึกว่าเป็นพอ สิ้นธุระ ครั้นเมื่อจะทรงจุดเครื่องนมัสการทองน้อย ต้องเรียกเทียนชนวนวิ่งเวยวายอยู่เนืองๆ

อีกอย่างหนึ่งอาลักษณ์ขาดไม่มาถวายฉลากสดับปกรณ์ ทรงทอดผ้าไปได้กึ่งกลางแล้วจึงวิ่งกระหืดกระหอบมาภายหลัง ต้องเสด็จพระราชดำเนินกลับขึ้นมาทอดฉลากอีกเที่ยวหนึ่ง นอกนั้นก็ไม่ใคร่จะมีการขาดอันใด ด้วยเคยมีอยู่เนืองๆ เว้นไว้แต่โรคของมหาดเล็ก ซึ่งเป็นโรครักษาไม่หายเหมือนโรคกระสาย คือพระเต้าษิโณทก คงจะนั่งพูดพล่ามหรือนั่งหลับตาเสีย ต้องเรียกเอะอะเนืองๆ ๚


-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] พระแท่นเศวตฉัตรองค์นั้น ในรัชกาลปัจจุบันนี้ย้ายไปตั้งท้องพระโรง ตั้งพระบรมอัฐิบนพระที่นั่งบุษบกมาลา
[๒] ภายหลังเพิ่มพระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระองค์ ๑ พระอัฐิสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์พระองค์ ๑ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตน
ราชประยูร พระองค์ ๑
[๓] พระอัฐิที่ตั้งชั้นลด และที่ตั้งโต๊ะจีน ต่อมา ตั้งรวมบนพระแท่นเศวตฉัตร ๗ ชั้น อีกองค์ ๑



เดือนสิบสอง
การพระราชกุศลแจกเบี้ยหวัด

๏ การแจกเบี้ยหวัดไม่มีกำหนดแน่ว่าวันใด แต่คงอยู่ในวันจันทร์หรือวันพุธข้างแรมเดือนสิบสอง ธรรมเนียมการแจกเบี้ยหวัดนี้แต่เดิมก็ไม่มีการมงคลอันใด พึ่งมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงพระปรารภเรื่องเจ้านายที่ทรงผนวชแต่ก่อนมาเคยได้เบี้ยหวัดตามกรมเหมือนอย่างฝ่ายคฤหัสถ์ ผู้ซึ่งมารับเบี้ยหวัดแทนเจ้าซึ่งทรงผนวชนั้น ไม่ได้สลักสำคัญอันใดมาจากเจ้านายเป็นคำอนุญาตให้รับ เมื่อรับไปแล้วไปนุ่งเสียก็มีโดยมาก ไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ผู้ที่ได้ ครั้นจะว่ากล่าวทวงถามขึ้นก็เป็นการขัดอยู่ด้วยสิกขาบท อีกประการหนึ่งการซึ่งพระราชทานเบี้ยหวัด ขึ้นชื่อว่าเป็นพระราชทานเงินแด่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชโดยตรงๆ พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชทรงปฏิบัติตามวินัยโดยเคร่งครัด ก็เป็นที่รังเกียจว่าเงินนั้นเป็นอกัปปิยไม่ควรรับ พระราชทรัพย์ซึ่งต้องจำหน่ายไปเป็นอันมากนั้น ก็ไม่เป็นประโยชน์แด่พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวชโดยมาก พระราชทรัพย์หลวงก็เป็นอันเสียเปล่า เพราะพระองค์ได้ทรงผนวชอยู่นาน ได้ทรงทราบการทั้งปวงเหล่านี้แล้ว จึงได้ทรงคิดแก้ไขเสียใหม่ ทำเป็นตั๋วทรงพระราชอุทิศต่อสิ่งซึ่งควรแก่สมณบริโภค ตามจำนวนเงินเบี้ยหวัด มีพระราชหัตถเลขาและพระราชลัญจกรประจำเป็นสำคัญ พระราชทานแด่พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งได้รับเบี้ยหวัดนั้น มอบให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งเป็นกัปปิยการก มารับเงินจากเจ้าพนักงาน และในท้ายตั๋วสำคัญนั้น มีพระบรมราชานุญาตว่า ถ้ากัปปิยการกปฏิบัติไม่บริบูรณ์ตามสมควร ก็ให้มาร้องต่อพระยาราชภักดีได้ด้วย

การซึ่งจะพระราชทานตั๋วสำคัญเช่นนี้ ก็เป็นเหตุที่ควรจะต้องให้มีเวลาที่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชได้เข้ามาทรงรับต่อพระหัตถ์ อีกประการหนึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่า พระราชทรัพย์ซึ่งจะจับจ่ายไปเป็นอันมาก ก็ควรจะเริ่มจำหน่ายในการพระราชกุศลในพระพุทธศาสนาก่อนจำหน่ายไปแก่ผู้อื่น อนึ่งก็ควรจะมีการสมโภชให้เป็นมงคลแก่สิริราชสมบัติ เมื่อทรงพระราชดำริดังนี้แล้ว จึงโปรดให้มีการมงคลในวันแรกแจกเบี้ยหวัด ให้เชิญเฉพาะแต่พระราชวงศานุวงศ์ บรรดาที่ทรงผนวชเข้ามารับพระราชทานฉัน สำรับต้นเป็นสำรับหลวง ต่อนั้นไปเป็นของเจ้าพนักงานกรมพระคลังมหาสมบัติหามาคนละสำรับ และให้ตั้งโต๊ะเชิญพระสยามเทวาธิราช มีเครื่องสังเวย ตั้งแร่ทองคำซึ่งเกิดในพระราชอาณาเขต อันก่อเป็นเขามออย่างย่อมๆ และเงินซึ่งจะแจกเบี้ยหวัด ทั้งสมุดบัญชีและกระดานสำหรับแจกเบี้ยหวัด ตั้งบายศรีแก้วทองเงิน พระสงฆ์ฉันแล้วทรงจุดเทียนเครื่องสังเวยเทวดา โหรว่าบูชาเทวดาแล้วอาลักษณ์อ่านคำประกาศกระแสพระราชดำริดังซึ่งกล่าวมาแล้ว แต่มีข้อความเติมพิสดารออกไปอีกข้อหนึ่ง ว่าพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวชไม่ได้ช่วยราชการแผ่นดินอันใด ก็ชอบที่จะยกเบี้ยหวัดเสียเหมือนข้าราชการที่กราบถวายบังคมลาบวชล่วงพรรษาหนึ่งไปแล้ว แต่ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวช ก็นับว่าเป็นผู้มีความชอบอยู่ ที่ได้นำให้พระบรมราชวงศ์เป็นญาติในพระพุทธศาสนา ความในคำประกาศข้อนี้ ข้าพเจ้าไม่สู้เห็นชอบด้วย เพราะเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งมิได้ทรงผนวช แต่มิได้ช่วยราชการแผ่นดินอย่างหนึ่งอย่างใด และที่ซ้ำประพฤติความชั่วให้เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ เช่นพระองค์เจ้าลำยอง ก็เห็นแต่สูบฝิ่นอยู่กับวังก็ยังได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดถึง ๕ ชั่ง และเงินขึ้น ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่าเงินกลางปี ก็ยังคงได้ไม่ได้ลดทอนอันใด นี่เป็นตัวอย่างว่าไม่เป็นแต่ไม่ได้ช่วยราชการ ซ้ำประพฤติความชั่วด้วย ที่ไม่ได้ช่วยราชการอยู่เฉยๆ เปล่าๆ เช่นเจ้าวังหน้า มีพระองค์ทัดทรงเป็นต้น ก็มีเป็นอันมาก ถ้าจะเทียบกันในหม่อมเจ้าพระกับหม่อมเจ้าที่เป็นคฤหัสถ์นั้นเล่า หม่อมเจ้าที่รับราชการมีหลายองค์จริงอยู่ แต่ที่ไม่ได้รับราชการมีโดยมาก ที่สุดจนที่สูบฝิ่นก็ยังได้เบี้ยหวัดอยู่ปีละ ๖ บาท ถ้าจะว่าไม่ได้ช่วยราชการควรตัดเบี้ยหวัดแล้วต้องนับว่าควรตัดทั้งสิ้น ถ้าจะว่าไปพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชต้องเข้ามาราชการในการพระราชพิธีต่างๆ มากกว่าพระองค์เจ้าหม่อมเจ้าที่อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรโดยมาก ความข้อนี้ดูไม่น่าจะยกขึ้นประกาศ แต่ไม่อาจแก้ไข ด้วยเห็นว่าคำข้างต้นเป็นการยกโทษพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงผนวชอยู่หน่อยๆ ก็จริง แต่ยกโทษขึ้นเพื่อจะแสดงความชอบที่ได้นำให้พระบรมราชวงศ์เป็นญาติกับพระพุทธศาสนา ความยกย่องอันนี้ จะเป็นที่ต้องพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวช ไม่มีผู้ใดนึกระแวงรังเกียจข้อต้นที่กล่าว ถ้ายกความข้อนี้เสีย บางทีก็จะเป็นที่วิตกกินแหนงของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวช ซึ่งเคยทรงฟังคำประกาศนี้มาแต่ก่อน ว่าข้าพเจ้าไม่นับถือยกย่องความชอบของท่านเหมือนอย่างเช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่อง อีกประการหนึ่ง การใดๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้แล้วถ้าไม่เป็นการขัดข้องต่อกาลสมัยอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าก็ไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแปลงรื้อถอนอย่างหนึ่งอย่างใดเลย เพราะฉะนั้นจึงได้คงคำประกาศนั้นไว้ ครั้นจะไม่ว่าไว้ในที่นี้ ผู้ซึ่งมักสังเกตตรวจตราละเอียดก็จะสงสัยว่าข้าพเจ้าเก็บข้อความในคำประกาศนั้นไม่หมด หรือถ้าผู้ซึ่งมักตริตรองจะคิดเห็นเหตุซึ่งไม่ควรจะกล่าวในคำประกาศซึ่งข้าพเจ้าคิดเห็น ก็จะกล่าวคัดค้านต่างๆ จึงกล่าวไว้เพื่อจะให้เห็นว่าคำประกาศข้อนี้ได้เห็นเหตุแล้วว่ามีทางที่จะคิดได้ แต่ยังเป็นที่ชอบพระทัยของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชที่เป็นเจ้าของพระนามอยู่ จึงมิได้ยกถอนเปลี่ยนแปลง ด้วยการเคยเป็นมาแล้วไม่อยากจะก่อให้เป็นที่วิตกสงสัยต่างๆ ในท้ายประกาศนั้นก็เป็นทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลแก่เทพยดาเป็นต้น เมื่ออ่านประกาศจบแล้ว เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ ทรงรดน้ำพระมหาสังข์ทรงเจิมเทวรูปและทองคำเงิน พราหมณ์รดน้ำสังข์เจิมภายหลัง แล้วพระราชทานตั๋วสำคัญแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชทุกพระองค์ แล้วทรงพระเต้าษิโณทก พระสงฆ์ยถาสัพพี แล้วสวดคาถาทานัญจะ ปิยะวาจาจะ แล้วอติเรกถวายพระพรลา เมื่อพระไปแล้วจึงได้เริ่มแจกเบี้ยหวัดกัปปิยการกของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชนำตั๋วเข้ามารับเงินแจกเสร็จแล้ว จึงได้พระราชทานเบี้ยหวัดพราหมณ์โหร ต่อนั้นไปจึงถึงทหารในช่างสิบหมู่ตามธรรมเนียม

คำเตือนในการเริ่มแจกเบี้ยหวัดนี้ เทียนชนวนซึ่งสำหรับทรงจุดเครื่องสังเวยนั้น เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กไม่ควรจะเหลียวเล่อล่าอย่างหนึ่งอย่างใดเลย อนึ่ง เงินพระคลังข้างในซึ่งเคยพระราชทานเติมเบี้ยหวัดพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ๑๐ ชั่ง เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กต้องรับมาจากเถ้าแก่นำไปส่งเจ้าพนักงานคลัง อาลักษณ์ต้องคอยถวายตั๋วสำคัญตั้งแต่เวลาที่ทรงเจิมเงินแล้วไป พระเต้าษิโณทกต้องทรง เว้นไม่ได้ ๚



เดือนสิบสอง
พระราชพิธีฉัตรมงคล

๏ ธรรมเนียมแต่ก่อนมีมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปลี่ยนปีใหม่ถึงเดือนหกพนักงานข้างหน้าข้างในบรรดาซึ่งรักษาเครื่องราชูปโภคและรักษาตำแหน่งหน้าที่มีพระทวารและประตูวังเป็นต้น ต้องทำการสมโภชเครื่องราชูปโภคและตำแหน่งซึ่งตนรักษาคราวหนึ่ง ข้างฝ่ายหน้าแต่ก่อนมาถึงมีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วยก็มี แต่ข้างฝ่ายในนั้นมีแต่เครื่องสังเวยเครื่องประโคม แล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายอุบะมาลัยแขวนตามกำลังมากและน้อย เป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำเอง หาได้เกี่ยวข้องเป็นการหลวงไม่ ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกในวันพฤหัสบดีเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ จึงทรงพระราชดำริว่าวันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองย่อมนับถือวันนั้นว่าเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามนี้เฉยๆ อยู่มิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้การบรมราชาภิเษกของพระองค์เฉพาะตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานเคยสมโภชเครื่องสิริราชูปโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล ซึ่งพระราชทานชื่อว่าฉัตรมงคลนี้ขึ้น แต่ข้อความซึ่งจะอธิบายในพระราชดำริให้เข้าใจกันในเวลานั้นว่า เป็นการทำบุญวันบรมราชาภิเษก เป็นการเข้าใจยากของคนในเวลานั้น หรือจะเป็นข้อทุ่มเถียงท้วงติงไปว่าเป็นการไม่เคยมี จึงได้ทรงพระราชดำริให้ปรากฏว่า เป็นการสมโภชเครื่องราชูปโภคอย่างเก่าซึ่งไม่มีผู้ใดจะทุ่มเถียงได้ จนผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครทราบว่าฉัตรมงคลแปลว่าทำบุญอะไร ยกไว้แต่กรมสมเด็จพระเดชาดิศรซึ่งข้าพเจ้ามิได้ฟังรับสั่งท่านเอง แต่สังเกตได้ในคำฉันท์กล่อมพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งรู้ได้ว่าท่านเข้าพระทัย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ซึ่งได้สนทนากัน เพราะฉะนั้น การพระราชพิธีฉัตรมงคลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการสวดมนต์ในวันเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้น ๑๔ ค่ำสวดมนต์ ๑๕ ค่ำฉันที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ขึ้น ๑๕ ค่ำสวดมนต์ แรมค่ำ ๑ ฉันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ การพระราชพิธีฉัตรมงคลท่านผู้บัญชาการก็ให้คงทำอยู่เดือนหกเช่นนั้น ข้าพเจ้าได้ทักท้วงขึ้นก็ไม่ตลอดไปได้ ด้วยกรมหลวงวงศาธิราชสนิท และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นด้วย เถียงไปตามทางที่เป็นสมโภชพระที่นั่ง อ้างคำฉันท์ก็ไม่อ่าน ข้าพเจ้าเป็นเด็กมีน้ำหนักน้อย และดูก็เป็นการไม่พอที่จะวิวาทกันด้วยเหตุไม่เป็นเรื่องจึงได้นิ่งระงับเสีย มีผู้เห็นด้วยแต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอองค์เดียว แต่ท่านก็เถียงไม่ขึ้นหรือไม่สู้อยากเถียงเป็นธรรมดา การจึงได้ทำเดือน ๖ เรื่อยมาจนถึงปีระกาเบญจศก เมื่อสร้างตราจุลจอมเกล้าเปลี่ยนได้ด้วยพาโลเป็นทำบุญตามพระราชบัญญัติวันประชุมตราจุลจอมเกล้า ก็นับได้อยู่ว่าเพราะเครื่องราชอิสริยยศจุลจอมเกล้า พาให้เป็นที่ยินยอมพร้อมใจกันเปลี่ยนมาเดือน ๑๒ ได้โดยไม่มีใครทักท้วงว่ากระไร ลืมการที่ได้เถียงกันในปีมะเส็งเอกศกนั้นเสียสิ้น ในปีจอฉศกเป็นปีแรกทำการฉัตรมงคลในเดือน ๑๒ เป็นการเรียบร้อยเหมือนไม่ได้เคยมีการฉัตรมงคลมาแต่ก่อนเลยทีเดียว

การฉัตรมงคลนี้คงทำตามแบบอย่างซึ่งได้ทำมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเต็มตามตำราทุกอย่าง เพิ่มขึ้นแต่อาลักษณ์อ่านคำประกาศ ยิงสลุตในวันแรม ๑๒ ค่ำ พึ่งเกิดมีขึ้นเมื่อปีมะเมียจัตวาศก ๑๒๔๔ กับการที่ประชุมถวายบังคมพระบรมรูปซึ่งมีขึ้นตามกฎหมายตราจุลจอมเกล้า ตั้งแต่ปีจอฉศกมาจนปีมะเส็งตรีศกถวายบังคมพระบรมรูปที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ต่อถึงปีมะเมียจัตวาศกจึงได้ย้ายมาพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท กับพระที่นั่งซึ่งมีการสมโภชนั้นยักย้ายไปบ้าง คือเวลาต่อมุขพระที่นั่งอนันตสมาคม ย้ายมาทำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย การแล้วก็กลับไปทำที่พระที่นั่งอนันตสมาคมตามเดิม เวลาซ่อมพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ย้ายมาทำที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท การที่ย้ายไปย้ายมาเช่นนี้ เป็นแต่ตามเหตุผลครั้งหนึ่งคราวหนึ่งแล้วก็คงที่ไปตามเดิม การพระราชกุศลนั้นดังนี้ คือพระราชาคณะ พระครูมีนิตยภัตวันละ๓๐ รูปสวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้าฉัน สำรับที่เลี้ยงพระเป็นของหลวงสำรับหนึ่ง นอกนั้นขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองเป็นต้น หาสำรับคนละสำรับถวายพระสงฆ์ ในวันแรม ๑๑ ค่ำวันหนึ่ง แรม ๑๓ ค่ำวันหนึ่ง วันแรม ๑๒ ค่ำเป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ผู้ซึ่งต้องเกณฑ์สำรับมีของไทยทานเล็กน้อย ถวายพระซึ่งได้ฉันสำรับตัวด้วย ที่นมัสการตั้งพระชัยสำหรับแผ่นดินห้ารัชกาล ที่พระแท่นเศวตฉัตร ตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระแสงประจำแผ่นดิน มีเครื่องนมัสการทองน้อยทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า และตั้งต้นไม้ทองเงิน ๒ คู่ เวลาเช้าตั้งเครื่องเสวย ตั้งบายศรีแก้วทองเงิน มีแว่นเวียนเทียน เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แล้วอาลักษณ์อ่านคำประกาศเป็นกลอนลิลิต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ทรงแต่ง แสดงพระราชดำริเรื่องพิธีตลอดจนถึงกฎหมายตราจุลจอมเกล้า ลงปลายขอพรตามธรรมเนียมคำประกาศทั้งปวง แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้าทรงประเคน พระสงฆ์ฉันแล้วถวายเครื่องไทยทาน ยถาสัพพี สวดยานีและคาถารัตนสูตรแล้วจึงถวายอติเรก แต่ในวันกลางคือแรม ๑๒ ค่ำ ซึ่งเป็นวันพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายฉันนั้น มีตั้งครอบพระกริ่ง จุดเทียนดับเทียนในเวลาสวดคาถารัตนสูตรด้วย น้ำปริตนี้ถวายสรงในเวลาเย็นวันนั้น แต่วันแรม ๑๑ ค่ำ ๑๓ ค่ำไม่มี พระสงฆ์กลับไปแล้วทรงจุดเทียนเครื่องสังเวย โหรบูชา พราหมณ์อ่านดุษฎีคำฉันท์ซึ่งกรมสมเด็จพระเดชาดิศรทรงแต่งจบแล้ว จึงได้จุดแว่นเวียนเทียนพระบรมวงศานุวงศ์เคยมีธูปเทียนจุดบูชาพระมหาเศวตฉัตรในเวลานั้นด้วย เวลาเวียนเทียนมีขับไม้ เวียนเทียนแล้วทรงเจิมพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์และพระแสงแล้ว พราหมณ์จึงได้รดน้ำสังข์จุณเจิม โหรผูกผ้าสีชมพูที่พระมหาเศวตฉัตรต่อไป เป็นเสร็จการสมโภชเวลาหนึ่งๆ ทั้งสามวัน

การพิเศษในวันแรม ๑๒ ค่ำ คือเวลาเช้า ๒ โมง เวลาเที่ยง เวลาบ่าย ๕ โมง ทหารบกทหารเรือยิงสลุตตำบลละ ๑๐๑ นัด แบ่งเป็น ๓ เวลา เวลาบ่าย ๕ โมง พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินสวมเสื้อเยียรบับเข้มขาบอัตลัดชั้นใน ประดับด้วยเครื่องอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน สวมเสื้อครุยชั้นนอก ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานสายสร้อยตราจุลจอมเกล้าสวมสายสร้อยด้วย เสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์และมหาดเล็กเฝ้าประจำที่อยู่ก่อน ข้าราชการเดินเข้ามาเฝ้าเป็นลำดับแล้วไปประจำตามที่ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ผู้ซึ่งควรจะได้รับตามกฎหมายแล้ว พระราชทานพรผู้ซึ่งได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เก่าใหม่และข้าราชการทั่วกัน แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินสู่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท ทรงจุดเครื่องนมัสการทองทิศสี่สำรับ ถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสี่พระองค์ เจ้าพนักงานประโคมแตรสังข์มโหรทึกกองชนะ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงจุดเครื่องทองน้อยสี่เครื่อง พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยจุดเทียนติดที่ราวถวายบังคมพระบรมรูปต่อไปตามลำดับ พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในและภรรยาข้าราชการ บรรดาที่ได้รับพระราชทานกล่องและหีบจุลจอมเกล้า ประชุมที่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทมุขตะวันตก จุดธูปเทียนถวายบังคมพระบรมรูปเหมือนข้างหน้า เป็นเสร็จการประชุมตามกฎหมายตราจุลจอมเกล้าในวันเดียวนั้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 11:46:21 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 20 มิถุนายน 2561 16:15:55 »

เดือนสิบสอง
พระราชพิธีฉัตรมงคล (ต่อ)

คำตักเตือนในการฉัตรมงคล พระสงฆ์ที่จะมาสวดมนต์และรับพระราชทานฉัน ควรจะใช้ตาลิปัตรรองและฝาบาตรเชิงบาตร ในการบรมราชาภิเษกในปีระกาเบญจศก และถ้าพอจะมาได้ไม่ควรจะบิดเบือนเชือนแชไปเที่ยวสวดมนต์เที่ยวฉันเสียที่อื่น เช่นพระธรรมเจดีย์ วัดอรุณ และพระธรรมภาณพิสาศวัดประยูรวงศ์[]  เพราะเป็นการสำคัญคล้ายถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ถ้าไม่ป่วยไข้มากก็ไม่ควรจะขาด ในเวลาถวายบังคมพระบรมรูปซึ่งเป็นการแสดงความเคารพนับถือต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งห้าพระองค์ปีละครั้ง ถ้าอยู่ดีๆ ก็ควรที่จะมาเวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งเป็นหน้าที่ของตนจะต้องพิทักษ์รักษาโดยความซื่อสัตย์กตัญญูทุกเวลา มหาดเล็กอย่างลืมเทียนชนวนเครื่องทองน้อย ทั้งเวลาเช้าเวลาค่ำและเวลาจุดเครื่องสังเวย กับทั้งโรคสำคัญ คือพระเต้าษิโณทก ภูษามาลามักจะไม่ใคร่จำได้ในการที่จะเชิญพระครอบพระกริ่งมาตั้งในวันสวดมนต์วันแรม ๑๑ ค่ำ และไม่ใคร่จะคอยเชิญพระครอบขึ้นตั้งที่ ในเวลาพระสงฆ์กลับไปแล้ว ในวันแรม ๑๒ ค่ำ และซ้ำเซอะไม่ได้เตรียมที่จะเข้ามาตั้งถวายในที่สรง และเจ้าเข่ง[]ผู้สำหรับรับเข้ามาก็เคยโคมทุกปีมิได้ขาดเลย

อนึ่ง ขึ้นชื่อว่าผู้หญิงแล้วดูจืดง่ายเป็นธรรมดาโดยมาก เพราะไม่ใคร่มีผู้ใดที่จะใส่ใจตรวจตรานัก ถือน้ำก็ไม่ใคร่มา ว่าไม่ได้อะไรก็แล้วไป แต่ถวายบังคมพระบรมรูปนี้ อยากได้กล่องอยากได้หีบจนตัวสั่น แต่ครั้นได้ไปแล้วก็เกียจคร้านไม่ใคร่มีใครมาถวายบังคมพระบรมรูปตามแบบอย่าง
การพระราชพิธีและพระราชกุศล ในเดือนสิบสองเป็นเสร็จสิ้นเพียงฉัตรมงคลเพียงเท่านี้ ๚


-------------------------------------------------------------------------------------
[๑] พระธรรมเจดีย์ ชื่อทอง ต้องลดยศลงเป็นพระเทพมุนี ภายหลังกลับได้เป็นพระธรรมไตรโลก; พระโพธิวงศ์ ชื่อผ่อง เป็นพระโพธิวงศ์ (เสมอเทพ) ต้องลดลงเป็นพระธรรมภาณพิลาศ ภายหลังได้พระราชทานพัดแฉกประดับพลอยอย่างเดิม
[๒] พระวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงยี่เข่งในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอชั้น ๑ พระองค์เจ้าเพชหึง

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 11:47:31 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2561 16:35:18 »



พระราชพิธีเดือนอ้าย
• การพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง
• การพระราชกุศลเทศนามหาชาติ
-----------------------------------

๏ การพระราชพิธีในเดือนอ้าย ตามที่มาในกฎมนเทียรบาลว่าไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย เช่นได้นับและอธิบายในคำนำนั้นว่าเป็นพิธีเปลี่ยนกันกับเดือนยี่ แต่การที่เปลี่ยนกันนั้นประสงค์ว่าแต่ตรียัมพวายซึ่งยังเป็นพิธียังคงทำอยู่ในกรุงเทพฯ แต่พิธีไล่เรือซึ่งอยู่หน้าพิธียัมพวายนั้นคงยังเป็นเดือนอ้ายอยู่ พิธีนี้เป็นพิธีไล่น้ำตามคำที่กล่าวกันมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งอยู่เนืองๆ เป็นต้นว่าการที่ยกโคมชัยในพิธีจองเปรียงนั้น ถือกันว่าถ้าเสาโคมยังไม่ได้ลดแล้ว น้ำยังไม่ลด นัยหนึ่งว่าถ้าไม่ยกเสาโคมแล้วน้ำจะลด การที่ยกเสาโคมนั้นเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งให้น้ำอยู่เลี้ยงต้นข้าวให้แก่ทั่วถึงก่อน เป็นพิธีอุปการะแก่การนาอยู่ด้วย และมีคำกล่าวว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าเวลายังไม่ได้ลดโคมชัย ถึงว่าจะหนาวเท่าหนาวอย่างไร ที่จะสวมเสื้อเข้าเฝ้านั้นไม่ได้ กริ้วว่าแช่งให้น้ำลด รับสั่งให้ไปวิดน้ำเข้านาท้องสนามหลวง แต่ข้อที่ว่าโคมชัยเป็นทำนบปิดน้ำนี้ ถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าเขาว่าเขาว่าอยู่ ก็ไม่เห็นลงในประกาศพระราชพิธีจองเปรียง จะเป็นด้วยทรงเห็นช่างเถอะหนักหรืออย่างไร แต่นับว่าเป็นพิธีที่กระวนกระวายขวนขวายจะให้น้ำอยู่เลี้ยงต้นข้าวให้นานหน่อยหนึ่ง

ส่วนการพระราชพิธีไล่เรือนั้นเป็นพิธีข้างจะให้น้ำลดเร็วๆ คือถึงเดือนอ้ายแล้วน้ำยังมากไม่ลด เมล็ดข้าวในรวงแก่หล่นร่วงลงเสียในน้ำ ถึงโดยว่าจะค้างอยู่ก็เป็นข้าวเมล็ดหักละเอียดไป เพราะเกี่ยวไม่ได้ด้วยน้ำมาก จึงต้องกระวนกระวายขวนขวายที่จะให้น้ำลด การพิธีนี้คงจะต้องทำในเดือนอ้าย จะเลื่อนไปเดือนยี่ก็เป็นเวลาเกินต้องการไป ตามในกฎมนเทียรบาลกล่าวไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี พระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ และพระสนม แต่งอย่างเต็มยศโบราณลงเรือพระที่นั่ง เจ้าพระยามหาเสนาตีฆ้อง มีจดหมายไว้ว่า ครั้นถึงท้ายบ้านรุนเสด็จออกยืนทรงพัชนี ครั้นถึงประตูชัยทรงส้าว ดูอยู่ข้างจะทำธุระเหลือเกินมาก แต่การที่ทำอย่างนี้ คงจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งมีพระอัธยาศัยและพระอาการที่ประพฤติว่องไวเช่นนั้นเป็นปรกติพระองค์ เหมือนอย่างแผ่นดินพระเพทราชาที่ทรงถือพัชนีฝักมะขามเสมอๆ เสด็จออกในการชักพระบรมศพทรงโบกพัชนีสามครั้งให้ทิ้งทาน ก็คงจะไม่เป็นตำแหน่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดินที่จะต้องทรงโบกพัชนีเช่นนั้นทั่วไปทุกพระองค์ เป็นแต่เฉพาะพระอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นเป็นเช่นนั้น ซึ่งจะเอามาเรียบเรียงหนังสือในครั้งอื่นคราวอื่น ว่าทรงโบกพัชนีฝักมะขามเช่นนั้นก็เป็นการไม่จริง และเป็นการไม่ควรด้วย เหมือนทรงส้าวนี้ก็คงจะเป็นเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งได้เคยทรงทำเช่นนั้นแล้วจดหมายไว้ เหมือนอย่างพระเพทราชาโบกพัชนีฝักมะขาม ที่จะว่าถ้าตั้งพระราชพิธีไล่เรือแล้วจะต้องทรงส้าวอี๋ ทรงส้าวอี๋ไปเสมอนั้นไม่ได้ และพิธีไล่เรือนี้ก็เห็นได้ชัดว่าไม่เป็นพิธีที่ทำเสมอ ใช่ว่าแต่ไม่เสมอทุกปี ไม่เสมอทุกแผ่นดินด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรสันนิษฐานว่า ซึ่งอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเช่นนั้นเป็นการเฉพาะพระองค์ต้องเข้าใจว่าไม่เป็นพิธีทำทุกปี ทำแต่ปีใดจะต้องการที่จะให้น้ำลด

พิธีนี้ได้ทำที่กรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งเมื่อปีเถาะ[] ตรีศก ๑๑๙๓ เป็นการที่รู้แน่ชัดว่าได้ทำ แต่เมื่อปีมะเส็งสัปตศก ๑๑๔๗ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จะได้ทำหรือไม่ได้ทำไม่มีผู้ใดเล่าให้ฟัง สังเกตได้แต่ในคำประกาศเทวดาซึ่งมีอยู่เป็นสำนวนครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า แต่ฉบับนั้นคงจะเป็นเขียนคัดลอกใหม่เมื่อปีเถาะตรีศก พอจะสังเกตสำนวนและลายมือในสองรัชกาลได้ จึงควรเข้าใจว่าการพิธีนี้คงจะทำในปีมะเส็งสัปตศก แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งหนึ่ง ในปีเถาะตรีศกแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้เรียกว่าพิธีไล่เรือ เรียกว่าพิธีไล่น้ำ ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ปีมะแมตรีศก ๑๒๓๓ น้ำมากเกือบจะเท่ากับที่น้ำมากมาแต่ก่อนก็ไม่ได้ทำ เป็นอันเลิกสูญกัน

บัดนี้จะยกแต่รายการพระราชพิธีไล่น้ำเมื่อปีเถาะตรีศกมาว่าไว้พอเป็นตัวอย่าง ด้วยพิธีนี้คงจะไม่มีอีกต่อไปภายหน้า การที่ทำนั้นว่าขึ้นไปตั้งประชุมกันที่วัดท้ายเมืองแขวงเมืองนนทบุรี มีอาลักษณ์หรือราชบัณฑิตอ่านคำประกาศตั้งสัตยาธิษฐานนมัสการพระรัตนตรัยและเทพยดา และพระเจ้าแผ่นดินซึ่งนับเป็นสมมติเทพยดา แล้วอ้างความสัตย์ซึ่งได้มีความนับถือต่อเทพยดาทั้งสาม คือวิสุทธิเทพยดา อุปปาติกเทพยดา สมมติเทพยดา ขอให้น้ำลดถอยลงไปตามความประสงค์ ข้อใจความในคำประกาศมีอยู่เพียงเท่านี้

แต่พระพุทธรูปซึ่งใช้ในการพระราชพิธีไล่น้ำนี้ ที่ปรากฏในคำประกาศ มีชื่อแต่พระชัย พระคันธารราษฎร์ หามีพระห้ามสมุทรไม่ แต่ได้ทราบจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ว่าเมื่อเวลาปีเถาะตรีศกนั้นท่านพึ่งทรงผนวชได้ ๓ พรรษา ทราบว่าเกิดมีข้อเถียงกันด้วยเรื่องพระห้ามสมุทรซึ่งจะเชิญไปไล่น้ำ ว่าจะเป็นอย่างที่ยกพระหัตถ์เดียวหรือสองพระหัตถ์เป็นห้ามสมุทรแน่ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตัดสินไว้ว่ายกสองพระหัตถ์ เป็นเหตุให้พอสันนิษฐานได้ว่าพระสำหรับไล่น้ำตามคำประกาศ ซึ่งอ้างถึงว่าพระคันธารราษฎร์ดูไม่เข้าเรื่องกันกับที่จะให้น้ำน้อยนั้น ถ้าจะได้ใช้คงจะได้ใช้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยเป็นเวลาที่แรกทรงสร้าง อยู่ข้างจะโปรดปรานมาก การที่เอามาใช้ในการไล่น้ำ ก็คงจะถือว่าพระพุทธปฏิมากรอย่างนั้น เป็นที่ทำให้น้ำฝนตกลงมาได้ ก็คงจะทำให้แห้งได้ ด้วยในเวลานั้นตำรับตำราอันใดก็สูญหาย เป็นแต่ทำไปตามอัตโนมัติ หาเหตุผลที่จะเกณฑ์ให้พระพุทธเจ้าทำพิธีมีเค้าเงื่อนอันใดก็ยกหยิบเอามา พอเป็นเหตุที่ตั้งให้การพระราชพิธีเนื่องในพระพุทธศาสนาซึ่งถือว่าเป็นที่ตั้งแห่งความสวัสดิมงคลยิ่งใหญ่กว่าเทพยดา ครั้นตกมาแผ่นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะไปเห็นเค้าเรื่องที่ทรมานชฎิล พระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ในที่มีน้ำท่วมโดยรอบก็ไม่ท่วมถึงพระองค์ เป็นเค้ามูลดีกว่าพระคันธารราษฎร์ จึงได้เปลี่ยนพระห้ามสมุทร การซึ่งโจษเถียงกันนั้นก็จะเป็นด้วยไม่เคยใช้มา แต่พอรู้ได้ว่าคงใช้พระห้ามสมุทรเป็นแน่

แต่การพิธีที่ขึ้นไปทำอย่างไรต่อไป ก็ไม่ได้ตำราชัดเจนเป็นแต่ได้ทราบตามคำบอกเล่าว่ามีกระบวนแห่คล้ายเสด็จพระราชดำเนินพระกฐิน เชิญพระพุทธปฏิมากรลงเรือพระที่นั่งมาหน้า แล้วมีเรือศรีโขมดยาสำหรับพระสงฆ์ตามมาภายหลัง เรือลำหนึ่งมีพระราชาคณะรูป ๑ มีฐานานั่งสองข้าง กลางตั้งเครื่องนมัสการแต่เวลาที่มาตามทางนั้นพระสงฆ์จะสวดคาถาอันใดก็ไม่ได้ความ ได้ทูลถามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ก็ไม่ทรงทราบ ด้วยเวลานั้นยังมิได้ทรงเกี่ยวข้องในการพระราชพิธี การทั้งปวงนี้ตกอยู่วัดพระเชตุพนทั้งสิ้น จะหาเค้ามูลอันใดที่ควรจะใช้ในการพระราชพิธีนี้ก็ไม่เห็นมี บางทีจะเป็นคาถาเก็บเล็กประสมน้อย ทำขึ้นใหม่คล้ายคาถาสวดหล่อพระชัย ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงแจกให้สวดในรัชกาลที่ ๔ เป็นคาถาที่มีคำไชยะไชยะบ่อยๆ เห็นว่าจะยกมาจากมหาชัย คาถาไล่น้ำนี้ถ้าโดยจะมีวิเศษ ก็คงจะเป็นของทำใหม่คล้ายเช่นนั้น

การซึ่งมีกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน อย่างพิธีไล่เรือครั้งกรุงเก่านั้น ในปีเถาะตรีศกนี้ทราบว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เสด็จขึ้นไปแทนพระองค์ มีกระบวนเรือดั้งเรือกันเรือตามเหมือนอย่างกระบวนกฐิน ไปตั้งกระบวนมาแต่เมืองนนทบุรี ลงไปจนถึงปากน้ำเหมือนกัน แต่เชื่อได้แน่ว่าไม่ทรงส้าวเป็นแน่ การพระราชพิธีไล่เรือหรือไล่น้ำเก็บความได้เพียงเท่านี้

ส่วนพิธีเดือนยี่ที่มีมาในกฎมนเทียรบาล ซึ่งว่ายกขึ้นมาเดือนอ้าย คือพิธีบุษยาภิเษกอย่างหนึ่ง พิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยงอย่างหนึ่ง ทั้ง ๒ นี้พิธีก็ไม่ได้ทำที่กรุงเทพฯ เลย พิธีบุษยาภิเษกนั้นถ้าจะเทียบชื่อกับพิธีกะติเกยาก็เป็นชื่อพิธีสำหรับเดือนยี่ แต่ครั้งกรุงเก่าจะยกมาทำเดือนอ้ายหรือไม่ยกมาก็ยังว่าแน่ไม่ได้ ด้วยพิธีกะติเกยาที่เป็นชื่อพิธีเดือนสิบสองยังยกไปเดือนอ้ายได้ แต่ถ้าพิธีนี้ยังคงอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะโปรดให้ไปทำเดือนยี่เป็นแน่ ได้พบในจดหมายคำให้การขุนหลวงหาวัดว่าไว้ในเดือนยี่ เพราะฉะนั้นจึงจะต้องยกพิธีบุษยาภิเษกไปว่าในเดือนยี่ แต่เฉวียนพระโคกินเลี้ยงนั้นคงจะยกมาทำในเดือนอ้ายแน่ การพระราชพิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยงนั้น มีในกฎมนเทียรบาลว่านำพระโคอุสุภราชซึ่งแต่งตัวเขาบุทองประดับเนาวรัตน์ มีเครื่องประดับกีบตาบหูสายสะพายใช้ไหม ขึ้นยืนบนแท่นสูง ๒ ศอก มีเงินทองแก้วแหวนและแพรพรรณต่างๆ กองอยู่ใต้ท้อง ตั้งพานทองรองหญ้า คนโททอง พระโคนั้นแปรหน้าไปทางทิศอุดร ตั้งกุณฑ์คือกองเพลิงพิธี ตรงหน้าพระโค มีบายศรีสมโภช พระราชครูประจำที่สี่มุม ทำพิธีบูชากุณฑ์ตลอดคืนยังรุ่ง พระราชกุมารป้อนหญ้า ครั้นเวลารุ่งเช้ามีกระบวนแห่เสด็จ พระเจ้าแผ่นดินทรงถือดอกบัวทอง พระอัครมเหสีทรงถือดอกบัวเงิน แห่ประทักษิณพระโคอุสุภราชเก้ารอบแล้วมีสมโภชเลี้ยงลูกขุน พระราชพิธีนี้ทำในพระราชวัง แต่เห็นจะเลิกมาเสียช้านานทีเดียว จนในคำให้การขุนหลวงหาวัดก็ไม่มีปรากฏ พิธีเฉวียนพระโคนี้ เป็นพิธีใบโตเต็มที จึงไม่ตั้งอยู่ได้ช้านาน ซึ่งเก็บมาว่านี้เพราะในเดือนอ้ายไม่มีพิธีอันใด มีแต่การพระราชกุศลประจำปี ๚
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[] ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๗๔ นี้ ที่เรียกว่าปีเถาะน้ำมาก ในรัชกาลที่ ๓


เดือนอ้าย
การพระราชกุศลเลี้ยงขนมเบื้อง
๏ กำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้ ว่าเมื่อพระอาทิตย์ออกสุดทางใต้ตกนิจเป็นวันที่หยุด จะกลับขึ้นเหนือ อยู่ในองศา ๘ องศา ๙ ในราศีธนู เป็นถึงกำหนดเลี้ยงขนมเบื้อง ไม่กำหนดว่าเป็นกี่ค่ำวันใด การเลี้ยงขนมเบื้องนี้ ไม่ได้มีสวดมนต์ก่อนอย่างเช่นพระราชพิธีอันใด กำหนดพระสงฆ์ตั้งแต่เจ้าพระ พระราชาคณะ ๘๐ รูปฉันในพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ขนมเบื้องนั้นเกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ท้าวนาง เจ้าจอมมารดาเก่า เถ้าแก่ พนักงานดาดปะรำตั้งเตาละเลงข้างท้องพระโรง การซึ่งกำหนดเลี้ยงขนมเบื้องนี้นับเป็นอย่างตรุษคราวหนึ่ง และเฉพาะต้องที่กุ้งมีมันมากจึงเป็นเวลาที่เลี้ยงขนมเบื้อง แต่การเลี้ยงขนมเบื้องในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ไม่ได้เสด็จออกมาหลายปีแล้ว ค่อนอยู่ข้างจะเป็นการมืดๆ ๚  


เดือนอ้าย
พระราชกุศลเทศนามหาชาติ
๏ มีการพระราชกุศลในเดือนอ้ายนี้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการประจำปีอยู่ แต่เป็นการซึ่งเลือนๆ มา มิใช่แบบกำหนด คือเทศนามหาชาติ

เทศนาสำหรับแผ่นดิน เป็นพระราชกุศลนิจสมัยมีมาแต่เดิมนั้น ๓๓ กัณฑ์ ซึ่งมีกำหนดเครื่องกัณฑ์คล้ายบริขารกฐิน คือผ้าไตรแพร เงิน ๑๐ ตำลึง ขนมต่างๆ ดังเช่นกล่าวมาในเทศนาเดือน ๑๒ นั้น ธรรมเนียมแต่เดิมเคยเป็นเทศนามหาชาติ ๒ จบ ๒๖ กัณฑ์ อริยสัจ ๔ กัณฑ์ เดือนสิบสอง ๓ กัณฑ์ รวมเป็นเทศนาวิเศษสำหรับแผ่นดิน ๓๓ กัณฑ์

ในรัชกาล ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ในเดือนสิบเอ็ดวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำมีมหาชาติ แรมค่ำ ๑ มีอริยสัจ ครบทั้ง ๓๐ กันฑ์ เมื่อเทศนาจบแล้วจึงเสด็จลงลอยพระประทีป แต่ในรัชกาลที่ ๓ นั้น ถ้าปีใดมีพระองค์เจ้าหม่อมเจ้าทรงผนวชเป็นภิกษุและสามเณรมาก ปีนั้นก็มีมหาชาติ ปีใดไม่ใคร่มีพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าทรงผนวชก็เปลี่ยนเทศนาปฐมสมโพธิแบ่งวันละ ๑๐ กัณฑ์ ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กลางเดือนสิบเอ็ดต้องกับการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา ซึ่งทรงทำการเติมขึ้น ในเมื่อรัชกาลที่ ๓ แรกมีพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษานั้น เคยฉลองในวันเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ด้วยวันเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ ๓ นั้น คงตกอยู่ในเดือน ๔ ข้างแรม เดือน ๕ ข้างขึ้น พระพุทธรูปหล่อในเดือน ๔ ข้างขึ้น ถึงเดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ก็ได้ฉลองทุกปี ครั้นมาถึงในรัชกาลที่ ๔ วันประสูติเดิมอยู่ในเดือน ๑๑ จึงได้โปรดให้เลื่อนการหล่อพระชนมพรรษามาหล่อในเดือน ๑๐ การฉลองพระชนมพรรษา จึ่งได้มาฉลองในเดือนสิบเอ็ดขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เทศนามหาชาติก็ต้องเลื่อนไป มีเทศนาวิเศษเปลี่ยนแทนวันละกัณฑ์ การเทศนามหาชาตินั้นคงไปตกอยู่ในเดือน ๑๒ ข้างขึ้นบ้าง ข้างแรมบ้าง ไม่กำหนดแน่ แต่มักจะโปรดให้มีแต่จบเดียว แล้วมีอริยสัจรวมเป็น ๑๗ กัณฑ์ ยกมหาชาติ ๑๓ กัณฑ์นั้นไปเป็นเทศน์วิเศษ ในกลางเดือนสิบเอ็ด ๓ กัณฑ์ ในการเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ กัณฑ์ ยังคงเหลือเทศน์วิเศษอยู่อีก ๖ กัณฑ์ ไว้สำหรับรายใช้ไปในการพระราชกุศลต่างๆ ไม่ให้ต่ำกว่าจำนวนเดิม ๓๓ กัณฑ์ ถ้าบางปีมีเจ้าพระเจ้าเณรบ้าง อย่างเช่นปีข้าพเจ้าบวชก็มีมหาชาติ ๒ จบเต็ม ๓๐ กัณฑ์บ้าง ถ้าเป็นเช่นนั้นเทศน์วิเศษก็คงเป็นอันเติมขึ้นอีก ๗ กัณฑ์ รวมเป็น ๔๐ กัณฑ์ แต่ครั้นตกมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ถ้าว่าการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษาไม่ตกเดือนสิบเอ็ดก็จริง แต่ต้องทำบุญวันประสูติวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกลางเดือน ๑๑ จึงเลื่อนมหาชาติมามีตามเดิมไม่ได้ ยังซ้ำเดือน ๑๒ เมื่อเลื่อนฉัตรมงคลมาทำในเดือน ๑๒ ก็ทำให้การในเดือน ๑๒ มากจนไม่ใคร่มีเวลาว่าง เทศนามหาชาติจึงต้องเลื่อนต่อไปเดือนอ้าย ซึ่งเป็นเดือนว่าง แต่ถึงกระนั้นก็ถูกคราวเสด็จหัวบ้านหัวเมืองเสียไม่ได้มีเนืองๆ และเจ้านายที่ทรงผนวชก็ไม่ใคร่มีใครอยู่ถึงเดือนอ้าย จึ่งไม่ชวนจะให้มีด้วย เพราะฉะนั้นเทศน์มหาชาติจึ่งได้มีบ้างไม่ได้มีบ้าง บางปีก็มี ๒ จบ บางปีมีจบเดียว สุดแท้แต่มีเวลาพอสมควรเท่าใด แต่มีจบเดียวโดยมาก

การเทศนามหาชาติแต่ใน ๓ รัชกาลก่อนนั้น เทศน์บนพระที่นั่งเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยแห่งเดียว ยกไว้แต่มีพระบรมศพอยู่บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึ่งได้ยกขึ้นไปเทศนาบนพระแท่นมุก พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เคยยกไปมีที่พระที่นั่งอนันตสมาคม แต่แรกข้างในฟังไม่ได้ยิน จึงได้ย้ายเข้าไปมีที่พระที่นั่งทรงธรรมข้างใน ข้าราชการที่เข้าไปในการเทศนานั้น เฉพาะแต่เจ้านาย เจ้าพนักงานกรมพระตำรวจและมหาดเล็ก บนพระที่นั่งทรงธรรมเป็นข้างในฟังทั้งสิ้น ครั้นแผ่นดินปัจจุบันนี้ย้ายกลับมาเทศน์ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยไปตามเดิม เพราะเสด็จอยู่ทางนี้ เมื่อพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยต้องซ่อมแซมใหม่ จึงได้ยกมาเทศน์ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

การตกแต่งเครื่องบูชาเทศนานั้น แบบที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย หลังพระที่นั่งเศวตฉัตรผูกกิ่งไม้ มีดอกไม้ร้อยห้อยย้อยเป็นพวงพู่ผูกตามกิ่งไม้ทั่วไป บนพระแท่นถมตั้งพานพุ่มดอกไม้พานทองสองชั้นขนาดใหญ่ขนาดเล็กเรียงสองแถว ตะบะถมตั้งหญ้าแพรก ข้าวตอก ดอกมะลิ ถั่ว งา และมีพานเครื่องทองน้อยแก้วห้าสำรับ ตั้งตะเกียงแก้วแทรกตามระหว่างเครื่องทองน้อยตรงหน้าพระที่นั่งเศวตฉัตรออกไป ตั้งหมากพนมพานทองมหากฐินสองพาน หมากพนมใหญ่พานแว่นฟ้าสองพาน แล้วพานนี้เปลี่ยนเป็นโคมเวียน มีต้นไม้เงินทองตั้งรายสองแถว กระถางต้นไม้ดัดลายคราม โคมพโอมแก้วรายตลอดทั้งสองข้าง หน้าแถวมีกรงนกคีรีบูน ซึ่งติดกับหม้อแก้วเลี้ยงปลาทองตั้งปิดช่องกลาง ปลายแถวตั้งขันเทียนคาถาพัน ตามตะเกียงกิ่งที่เสาแขวนฉากเทศน์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ หน้าท้องพระโรงมีซุ้มตะเกียง ๔ ซุ้ม มีราชวัติฉัตรธงผูกต้นกล้วยต้นอ้อยตามธรรมเนียม เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นเวลาเล่นเครื่องแก้วกำลังมีราคามากนั้น ในห้องฉากซึ่งเป็นที่ประทับในพระเฉลียงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยนี้ ตั้งเครื่องแก้วเป็นเครื่องนมัสการโต๊ะหมู่ และมีเครื่องประดับต่างๆ งดงามยิ่งนัก เจ้านายข้าราชการฝ่ายในก็มีตะบะเครื่องบูชาเป็นเครื่องแก้ว เครื่องทอง เครื่องถม ประกวดประขันกันเป็นการสนุกสนานมาก แต่ชั้นหลังมานี้ ในพระฉากมีแต่เครื่องนมัสการแก้วโต๊ะประดับกระจกสำรับเดียวเท่านั้น แต่เจ้านายข้าราชการฝ่ายในยังมีเครื่องบูชา ชั้นแก่ๆ จึงใช้ตะบะอย่างเก่าๆ ชั้นสาวๆ ก็เป็นโต๊ะเป็นพานย่อๆ ลงไป เล่นแต่สีดอกไม้ ดอกไหล้ ไม่แข็งแรงเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่ถ้าเทศน์ที่พระที่นั่งทรงธรรม จัดม้าหมู่ตรงหน้าธรรมาสน์ มีเครื่องแก้วต่างๆ ฝรั่งบ้างจีนบ้างมากกว่าที่เทศน์ท้องพระโรง แต่ยกต้นไม้เงินทอง ใช้ตั้งต้นไม้สดรายออกไปถึงที่ตั้งเครื่องกัณฑ์

ในเทศนามหาชาติหลวง ได้มีเป็นการใหญ่ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เกณฑ์พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ ทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศนาคราวหนึ่ง มาเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าบวชเป็นเณรได้ถวายเทศน์ มีกระจาดใหญ่เป็นรูปเรือสำเภา ทำที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เป็นกัณฑ์เทศน์เฉพาะตัวคนเดียวคราวหนึ่ง

ธรรมเนียมเสด็จออกมหาชาติ กัณฑ์แรกทศพร เจ้ากรมปลัดกรมพระตำรวจต้องนำตะเกียงที่ซุ้มเข้ามาถวายทรงจุดซุ้มละตะเกียง ต่อไปไม่ต้องถวายอีก มหาดเล็กต้องคอยเปลี่ยนเทียนเครื่องนมัสการ ในเวลาที่เสด็จไปทรงประเคนเครื่องกัณฑ์ให้แล้วเสร็จ ทันเสด็จกลับมาประทับทุกครั้ง เวลาทรงจุดเทียนแล้วต้องรับเทียนประจำกัณฑ์ และเทียนคาถาพันทุกคราว ไม่มีเวลายกเว้น นอกนั้นไม่มีการอันใดซึ่งจะต้องขาดเหลือ ๚
 




พระราชพิธีเดือนยี่
• การพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย
• การพระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษา
-----------------------------------

๏ การพระราชพิธีในเดือนยี่นี้ คงนับพระราชพิธีบุษยาภิเษกมาไว้ เพราะเหตุผลอันได้กล่าวไว้แล้วในเดือนอ้าย ในคำให้การขุนหลวงหาวัดได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินเสด็จขึ้นประทับบนกองดอกไม้เจ็ดสีแล้วจำเริญพระนขา พราหมณ์ทั้ง ๘ คนถวายพร แต่ในคำที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ทรงเล่าให้ฟังนั้น ว่าทำเป็นมณฑปดอกไม้สด พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องถอดอย่างสรงมุรธาภิเษก ประทับในมณฑปดอกไม้สดนั้นแล้วสรงมุรธาภิเษก เมื่อสอบกับกฎมนเทียรบาลในการพระราชพิธีบุษยาภิเษกนี้ ก็ไม่ได้กล่าวพิสดารในที่แห่งใด แต่ไปสมกันกับคำที่กล่าวว่าสรงมุรธาภิเษกนี้อยู่แห่งหนึ่ง ในจำนวนพระราชพิธีมีสนาน ๑๗ อย่าง มีชื่อบุษยาภิเษกในจำนวนนั้นด้วย จะหาข้อความให้ละเอียดขึ้นไปกว่านี้ไม่ได้ ด้วยเป็นพระราชพิธีโพยมยานอย่างเขื่อง เหมือนพิธีเฉวียนพระโคกินเลี้ยงจึงได้สูญเร็ว ๚  


เดือนยี่
การพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย

๏ การพระราชพิธีตรียัมพวาย ซึ่งเปลี่ยนมาแต่เดือนอ้าย การพิธีนี้ซึ่งกำหนดทำในเดือนอ้าย คงจะเป็นเหตุด้วยนับเปลี่ยนปีเอาต้นฤดูหนาวเป็นปีใหม่ของพราหมณ์ตามเช่นแต่ก่อนเราเคยใช้มา แต่การที่เลื่อนเป็นเดือนห้านั้นจะไว้ชี้แจงต่อเมื่อว่าถึงสงกรานต์ การที่เลื่อนมาเป็นเดือนยี่นี้ก็ได้กล่าวแล้วในคำนำ บัดนี้จะขอกล่าวตัดความแต่เพียงตรียัมพวายตรีปวายนี้เป็นพิธีปีใหม่ของพราหมณ์ ตรงกันกับพิธีมะหะหร่ำจองพวกแขกเจ้าเซ็น นับเป็นทำบุญตรุษเปลี่ยนปีใหม่ จึงเป็นพิธีใหญ่ของพราหมณ์

พราหมณ์พวกซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ บัดนี้ ก็เป็นเทือกเถาของพราหมณ์ซึ่งมาแต่ประเทศอินเดีย แต่ในขณะแต่ก่อนเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองใหญ่ข้างฝ่ายใต้ เรือลูกค้าไปมาค้าขายอยู่ทั้งสองฝั่งทะเล คือข้างฝั่งนี้เข้าถึงเมืองนครศรีธรรมราช ข้างฝั่งตะวันตกเข้าทางเมืองตรัง พราหมณ์จึงได้เข้ามาที่เมืองนครศรีธรรมราชมาก แล้วจึงขึ้นมากรุงเทพฯ เป็นการสะดวกดีกว่าที่จะเดินผ่านเขตแดนพม่ารามัญ ซึ่งเป็นปัจจามิตรของกรุงเทพฯ ตั้งสกัดอยู่ข้างฝ่ายเหนือ เพราะฉะนั้นเชื้อพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราชไม่มีสิ้นสุดจนถึงบัดนี้ มีเทวสถาน มีเสาชิงช้าซึ่งพราหมณ์ยังคงทำพิธี แต่เป็นอย่างย่อๆ ตามมีตามเกิด เช่นพิธีตรียัมพวายเอาแต่กระดานขึ้นแขวนเป็นสังเขปเป็นต้น ที่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในชั้นหลังๆ นี้ก็มีโดยมาก จนพูดสำเนียงเป็นชาวนอกอยู่ก็มี เช่นพระครูอัษฎาจารย์บิดาหลวงสุริยาเทเวศร์[] เดี๋ยวนี้เป็นต้น ลัทธิเวทมนตร์อันใดก็ไม่ใคร่ผิดแปลกกัน เป็นแต่เลือนๆ ลงไปเหมือนพระสงฆ์ในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ชะรอยหัวเมืองข้างใต้ตั้งแต่เมืองนครศรีธรรมราชขึ้นมา จะเป็นเมืองที่มีพราหมณ์โดยมาก จนเมืองเพชรบุรีก็ยังมีบ้านพราหมณ์ตั้งสืบตระกูลกันมาช้านานจนถึงเดี๋ยวนี้

ลัทธิของพราหมณ์ที่นับถือพระเป็นเจ้าต่างๆ บางพวกนับถือพระอิศวรมากกว่าพระนารายณ์ บางพวกนับถือพระนารายณ์มากกว่าพระอิศวร บางพวกนับถือพรหม บางพวกไม่ใคร่พูดถึงพรหม บัดนี้จะว่าแต่เฉพาะพวกพราหมณ์ที่เรียกว่าโหรดาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ทำพระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวายอันเป็นต้นเรื่องที่จะกล่าวแต่พวกเดียว พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้เป็นพราหมณ์ที่สำหรับใช้การพระราชพิธีในกรุงสยามทั่วไป ตั้งแต่การบรมราชาภิเษกเป็นต้น เว้นไว้แต่ที่เกี่ยวข้องด้วยช้าง จึงเป็นพนักงานพราหมณ์พฤฒิบาศ พราหมณ์โหรดาจารย์พวกนี้นับถือพระอิศวรว่าเป็นใหญ่กว่าพระนารายณ์ นับถือพระอิศวรคล้ายพระยะโฮวา หรือพระอ้าหล่าที่ฝรั่งและแขกนับถือกัน พระนารายณ์นั้นเป็นพนักงานสำหรับแต่ที่จะอวตารลงมาเกิดในมนุษยโลก หรืออวตารไปในเทวโลกเอง คล้ายกันกับพระเยซูหรือพระมะหะหมัด แปลกกันกับพระเยซูแต่ที่อวตารไปแล้วย่อมทำร้ายแก่ผู้กระทำผิด คล้ายมะหะหมัดซึ่งข่มขี่ให้มนุษย์ทั้งปวงถือศาสนาตามลัทธิของตน ควรจะเห็นได้ว่าศาสนาทั้งสามนี้มีรากเง่าเค้ามูลอันเดียวกัน แต่ศาสนาของพราหมณ์เป็นศาสนาเก่ากว่าสองศาสนา ชะรอยคนทั้งปวงจะถือศาสนามีผู้สร้างโลกเช่นนี้ทั่วกันอยู่แต่ก่อนแล้ว เพราะความคิดเห็นว่าสิ่งใดจะเป็นขึ้นเองไม่ได้ ย่อมมีผู้สร้าง การที่มนุษย์ทั้งปวงจะได้รับความชอบความผิดต้องมีผู้ลงโทษและผู้ให้บำเหน็จ เมื่อเห็นพร้อมใจกันอยู่อย่างนี้จึงเรียกผู้มีอำนาจนั้นว่า ศิวะ หรือยะโฮวะ หรืออ้าหล่า ตามสำเนียงและภาษา ก็เพราะศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาเก่า ได้กล่าวถึงพระนารายณ์อันรับใช้พระอิศวรลงมาปราบปรามผู้ซึ่งจะทำอันตรายแก่โลกเนืองๆ เมื่อมีผู้คิดเห็นขึ้นว่าความประพฤติของมนุษย์ทั้งปวงในเวลานั้นไม่ถูกต้อง ก็เข้าใจว่าตัวเป็นพระนารายณ์ผู้รับใช้ของพระอิศวรลงมาสั่งสอน หรือปราบปรามมนุษย์ แต่กระบวนที่จะมาทำนั้นก็ตามแต่อัธยาศัยและความสามารถของผู้ที่เชื่อตัวว่าอวตารมา หรือแกล้งอ้างว่าตัวอวตารมาด้วยความมุ่งหมายต่อประโยชน์ซึ่งจะได้ในที่สุด อันตนเห็นว่าเป็นการดีการชอบนั้น พระเยซูมีความเย่อหยิ่งยกตนว่าเป็นลูกพระยะโฮวา คือพระอิศวร แต่ไม่มีกำลังสามารถที่จะปราบปรามมนุษย์ด้วยศัสตราวุธ ก็ใช้แต่ถ้อยคำสั่งสอนจนถึงอันตรายมาถึงตัว ก็ต้องรับอันตรายกรึงไม้กางเขน พวกศิษย์หาก็ถือว่าเป็นการรับบาปแทนมนุษย์ ตามอาการกิริยาซึ่งพระเยซูได้ประพฤติเป็นคนใจอารีมาแต่เดิมตามความนับถือที่จะคิดเห็นไป ฝ่ายมะหะหมัดเกิดภายหลังพระเยซู เพราะไม่สู้ชอบใจในคำสั่งสอนของพระเยซู จนคิดจะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วนั้น จึงสามารถที่จะเห็นได้ว่าซึ่งพระเยซูอ้างว่าเป็นลูกพระยะโฮวานั้นเป็นการเย่อหยิ่งเกินไปและไม่สู้น่าเชื่อ ทั้งการที่จะป้องกันรักษาชีวิต ตามทางพระเยซูประพฤติมานั้นก็ไม่เป็นการป้องกันได้ จึงได้คิดซ่องสุมกำลังศัสตราอาวุธปราบปรามด้วยอำนาจแล้วจึงสั่งสอนภายหลัง อ้างตัวว่าเป็นแต่ผู้รับใช้ของพระอ้าหล่า ให้อำนาจและความคิดลงมาสั่งสอนมนุษย์ทั้งปวง การซึ่งมนุษย์ทั้งปวงเชื่อถือผู้ซึ่งอ้างว่ารับใช้พระอิศวรหรือพระยะโฮวาพระอ้าหล่าลงมาเช่นนั้น ก็ด้วยอาศัยในคัมภีร์ของพราหมณ์ได้กล่าวไว้ว่าพระนารายณ์ได้รับใช้พระอิศวรลงมาเป็นคราวๆ นั้นเอง จนถึงปัจจุบันเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่สิ้นความคิดเห็นอย่างนี้ ยังมีมะหะดีอวตารลงมาตามคำทำนายของมะหะหมัด มุ่งหมายจะประกาศแก่มนุษย์ทั้งปวงว่าเป็นอวตารตามอย่างเก่า แต่เป็นเวลาเคราะห์ร้ายถูกคราวที่มนุษย์ทั้งปวงเจริญขึ้นด้วยความรู้ไม่ใคร่มีผู้ใดเชื่อถือ จนเราอาจทำนายได้เป็นแน่ว่า สืบไปภายหน้าพระอิศวรคงจะไม่อาจใช้ใครลงมาได้อีก ถึงลงมาคงจะไม่มีผู้ใดเชื่อถือ

แต่ถึงว่าศาสนาทั้งสามเป็นศาสนาเดียวกันก็ดี ข้อความที่ลงกันอยู่ก็แต่เหตุผลที่เป็นรากเง่า แต่วิธีที่จะบูชาเซ่นสรวงและอาการความประพฤติของพระเป็นเจ้านั้น ย่อมเปลี่ยนแปลงยักเยื้องกันไปตามความประพฤติที่จะเข้าใจง่ายในประเทศนั้น และตามสำนวนคนในประเทศนั้นๆ ตกแต่งเรียบเรียงขึ้น ก็บรรดาคัมภีร์สร้างโลกทั้งปวงย่อมกล่าวกิจการซึ่งพระเป็นเจ้าได้ทำนั้นแปลกประหลาดต่างๆ ตามแต่จะว่าไป ที่ไม่น่าทำไปทำก็มี ที่ควรจะทำได้เร็วไปทำช้า การที่เห็นว่าน่าจะต้องทำช้าไปทำได้เร็วๆ การที่ไม่พอที่จะวุ่นวายก็วุ่นวายไปได้ต่างๆ การที่ไม่พอที่จะเพิกเฉยก็เพิกเฉย จะยกหยิบเรื่องมาอ้างก็ชักจะยืดยาวหนักไป จะขอย่นย่อข้อความลงตามความประสงค์ในเหตุที่จะกล่าวบัดนี้ว่า บรรดาหนังสือเรื่องใดๆ ซึ่งเป็นของแต่งไว้แต่โบราณ ผู้แต่งย่อมมีความรู้และวิชาน้อย ด้วยยังไม่มีเวลาที่ได้ทดลองสืบสวนเทียบเคียงการเท็จจริงให้ตลอดไป มุ่งหมายแต่ความดีอย่างหนึ่ง แล้วก็แต่งหนังสือเรื่องราวตามชอบใจของตน ซึ่งคิดเห็นว่าจะเป็นเหตุชักล่อใจคนให้นับถือมากขึ้น แล้วจะได้เชื่อฟังคำสั่งสอนในทางที่ดีซึ่งเป็นที่มุ่งหมาย มิใช่จะกล่าวมุสาโดยไม่มีประโยชน์ จึงเห็นว่าไม่เป็นการมีโทษอันใด เมื่อคิดเห็นเช่นนั้นแล้วจะเรียบเรียงหนังสือลงว่ากระไรก็เรียงไปตามชอบใจ ไม่คิดเห็นว่าคนภายหลังจะมีวิชาความรู้มากขึ้นจะคัดค้านถ้อยคำของตน หรือแม้แต่เพียงนึกสงสัยประการใดไม่ ความคิดของคนแต่ก่อนเช่นนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นการผิดไปทีเดียว ด้วยเหตุว่ามนุษย์ทั้งปวงในเวลานั้น ก็ย่อมมีความรู้ความเห็นน้อยกว่าผู้ที่แต่งหนังสือนั้น ต้องเชื่อถือหนังสือนั้นว่าเป็นความจริงความดีสืบลูกหลานต่อๆ มา ถึงว่าลูกหลานต่อลงมาภายหลังจะนึกสงสัยสนเท่ห์บ้าง ก็เป็นความผิดใหญ่ที่จะหมิ่นประมาทต่อความประพฤติของพระเป็นเจ้า แต่ผู้ซึ่งจะไม่คิดเลยเพราะเคยนับถือเสียตั้งแต่เกิดมานั้นมีโดยมาก น้อยก็คงต้องสู้มากไม่ได้อยู่เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นคัมภีร์ศาสนาพราหมณ์ หรือพระยะโฮวา หรือพระอ้าหล่า จึงได้มีเรื่องราวและถ้อยคำที่ไม่น่าเชื่ออยู่ในนั้นทุกๆ ฉบับ คำซึ่งข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปภายหน้านั้น บางทีจะดูเหมือนล้อๆ พระเป็นเจ้าไปบ้าง จึงขอแสดงความประสงค์ไว้เสียแต่เบื้องต้นว่า ข้าพเจ้าไม่ได้คิดจะยกข้อทุ่มเถียงว่าพระเป็นเจ้ามีหรือไม่ในเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นอันยกเว้นเสียไม่กล่าวถึงในข้อนั้นทีเดียว เพราะใช่กาละที่จะกล่าวถึงและจะทุ่มเถียงกันในเวลานี้ ถ้าจะเป็นคำหมิ่นประมาทบ้างก็ไม่ได้คิดหมิ่นประมาทพระเป็นเจ้าอันจะมีอยู่จริงหรือไม่จริงนั้น เป็นแต่เห็นประหลาดในถ้อยคำของผู้ที่แต่งเรื่องราวอันไม่ยุติด้วยเหตุด้วยผล เพราะเป็นการล่วงเวลาที่ควรจะใช้จึงเป็นการขบขันไปบ้างเท่านั้น เมื่อท่านทั้งปวงได้จำถ้อยคำที่กล่าวนี้ไว้แล้วจงอ่านเรื่องราวต่อไปนี้เถิด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 15:39:33 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2561 16:41:02 »

เดือนยี่
การพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย (ต่อ)

เมื่อจะว่าด้วยความประพฤติของพระเป็นเจ้าทั้งปวง ซึ่งผู้อยู่ในประเทศใดแต่งคัมภีร์ พระเป็นเจ้าก็ประพฤติพระองค์เป็นคนชาตินั้น ดังเช่นกล่าวมาแล้วนั้น พระอิศวรของพราหมณ์ที่อยู่ในกรุงสยามนี้ประพฤติพระองค์เป็นอย่างชาวอินเดีย คือไม่เสวยเนื้อสัตว์ โปรดข้าวเม่า, ข้าวตอก, กล้วย, อ้อย, มะพร้าว, เผือก, มัน, นม, เนย ตามที่พวกพราหมณ์ในประเทศอินเดียกินเป็นอาหารอยู่ และถือกันว่าพระอิศวรนั้นเป็นพระคุณ คือเป็นผู้ที่จะสงเคราะห์เทพยดามนุษย์ยักษ์มารทั่วไป ไม่มีที่จะลงโทษแก่ผู้ใด โดยจะต้องทำบ้างก็เป็นการจำเป็นโดยเสียไม่ได้ หลงๆ ลืมๆ เช่นครั้งปราบตรีบุรำเป็นต้น เมื่อแผลงศรไปไม่สำเร็จแล้วก็ไม่ตั้งความเพียรที่จะทำต่อไป มอบธุระให้พระนารายณ์เสียทีเดียว โดยว่ามักจะทรงกริ้วโกรธสนมกำนัลที่มีความผิดเล็กน้อยในการปฏิบัติวัดถาก มีจุดตะเกียงเป็นต้น จะสาปสรรให้ลงมาทนทุกข์ทรมานโดยกำลังกริ้วครั้งหนึ่ง ก็ยังทรงพระเมตตาให้มีกำหนดพ้นโทษ และให้เป็นประโยชน์แก่การเรื่องอื่น มีให้เป็นเมียหนุมานเป็นรางวัล และบอกหนทางพระรามเป็นต้น เพราะพระอิศวรเต็มไปด้วยความกรุณา ไม่เลือกว่าคนดีหรือคนชั่ว เพราะใครไปตั้งพิธีรีตองจะขออันใดก็ได้สมปรารถนา จะไปดีหรือไปชั่วตามแต่ตัวผู้ได้ไป เพราะพระทัยดีมีพื้นอันใหม่อยู่เป็นนิตย์ดังนี้ จึงได้มีพระนามปรากฏว่าพระคุณ

ส่วนพระนารายณ์มีพระอาการตามที่กล่าวว่า เมื่ออยู่ปรกติเสมอย่อมบรรทมอยู่ในกลางทะเลน้ำนมเป็นนิตย์ ต่อเมื่อเวลาใดมีการอันใดซึ่งพระอิศวรจะต้องการ รับสั่งใช้ให้ไปปราบปรามผู้ซึ่งประทุษร้ายแก่โลกทั้งปวงจึงได้ปลุกขึ้น เพราะฉะนั้นพระนารายณ์จึงเป็นแต่ผู้ทำลาย ที่สุดโดยปลุกขึ้นเพื่อการมงคลเช่นโสกันต์พระขันธกุมาร ก็ทรงขัดเคืองบริภาษจนพระเศียรพระขันธกุมารหายไป พระอิศวรต้องซ่อมแซมแก้ไขด้วยศีรษะช้าง เพราะเหตุฉะนั้นจึงมีคำกล่าวว่าพระนารายณ์ย่อมไม่ประสิทธิพรอวยสวัสดิมงคลแต่สักครั้งหนึ่งเลย ที่สุดจนเครื่องบูชาในเวลาพระราชพิธีตรีปวายก็ห้ามไม่ให้นำมาถวายด้วยกลัวพิษ จะแจกให้แก่ผู้ดีมีหน้าก็ไม่ได้ ต้องแจกให้แก่ยาจกวณิพก และถือกันว่าถ้าวันแรม ๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันส่งพระนารายณ์นั้นต้องวันพิษ มักจะเกิดเหตุตีรันฟันแทงกันชุกชุม (เพราะเดือนมืดคนไม่ใคร่ไปดู) พราหมณ์ทั้งปวงจึงต้องระวังกันเป็นกวดขัน เพราะพระนารายณ์เป็นพนักงานแต่ล้างผลาญเช่นนี้ จึงได้มีนามปรากฏว่าพระเดช เป็นคู่กันกับพระคุณ

ส่วนพระมหาวิฆเนศวรนั้น คือพระขันธกุมารซึ่งพระเศียรเป็นช้าง เป็นโอรสพระอิศวร เป็นครูช้าง พราหมณ์ย่อมนับถือโดยฤทธิเดชของพระองค์เองบ้าง โดยจะให้ถูกพระทัยพระอิศวรเป็นการสัพพีบ้าง จึงเป็นพระเป็นเจ้าอีกองค์หนึ่ง
เทวสถานซึ่งเป็นของสำหรับพระนครจึงทำเป็นสามสถาน สถานหนึ่งพระอิศวร สถานกลางพระมหาวิฆเนศวร อีกสถานหนึ่งพระนารายณ์ การพระราชพิธีตรียัมพวายและตรีปวายนี้ ทำที่เทวสถานทั้งสามนั้น

ความมุ่งหมายของการพิธีตรียัมพวายที่ทำนี้ ว่าพระอิศวรเป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลกปีละครั้ง ครั้งหนึ่งกำหนด ๑๐ วัน วันเดือนอ้ายขึ้น ๗ ค่ำเป็นวันเสด็จลง แรมค่ำ ๑ เป็นวันเสด็จกลับ ต่อนั้นในวันค่ำ ๑ พระนารายณ์เสด็จลง แรม ๕ ค่ำเสด็จกลับ การที่เลื่อนมาเดือนยี่เกินกำหนดซึ่งเสด็จลงมาแต่ก่อนก็จะไม่เป็นการยากอันใด ด้วยพราหมณ์ย่อมถือตัวว่าเป็นผู้ถือประแจสวรรค์คล้ายกันกับโป๊ป เมื่อไม่อ่านเวทเปิดประตูถวายก็เสด็จไม่ได้อยู่เอง การซึ่งรับรองพระอิศวรนั้นก็จัดการรับรองให้เป็นการสนุกครึกครื้นตามเรื่องราวที่กล่าวไว้ คือมีเทพยดาทั้งหลายมาเฝ้าประชุมพร้อมกัน เป็นต้นว่าพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี พระคงคา ซึ่งพราหมณ์ทำเป็นแผ่นกระดานมาฝังไว้หน้าชมรม โลกบาลทั้งสี่ก็มาเล่นเซอคัสโล้ชิงช้าถวาย พระยานาคหรือเทพยดาว่ากันเป็นสองอย่างอยู่ ก็มารำเสนงพ่นน้ำหรือสาดน้ำถวาย บรรดาในการพระราชพิธีตรียัมพวายส่วนพระอิศวรนั้น เป็นการครึกครื้น มีผู้คนไปรับแจกข้าวตอกข้าวเม่าที่เหลือจากสรวงสังเวยเป็นสวัสดิมงคล แต่ส่วนการพระราชพิธีตรีปวายของพระนารายณ์นั้นทำเป็นการเงียบ ด้วยพระองค์ไม่โปรดในการโซไซเอตี มีพื้นเป็นโบราณอยู่ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ความมุ่งหมายของการพระราชพิธีมีความนิยมดังกล่าวมานี้

มีความพิสดารในกฎมนเทียรบาลแต่เฉพาะว่าด้วยเรื่องสนาน คือสรงมุรธาภิเษกอย่างเดียว ลงท้ายไปว่าด้วยเรื่องถวายอุลุบ ก็เป็นบรรยายแต่ชื่อพนักงานผู้รับ หาได้ความชัดเจนอย่างไรไม่ แต่ข้อซึ่งว่าพิธีตรียัมพวายมีสรงมุรธาภิเษกด้วยนี้เป็นการเลื่อนลอยไม่ได้ยินในที่อื่น ถึงในพระราชพิธีที่นับว่ามีสนาน ๑๗ อย่างก็ไม่มีพิธีตรียัมพวาย แต่ถ้าจะคิดดูตามเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือไสยศาสตร์มาก อย่างเช่นพระนารายณ์มหาราช ทีจะเป็นด้วยทรงรื่นรมย์ในพระนามว่าเป็นพระเป็นเจ้าจนคนเห็นปรากฏว่าเป็นสี่กร หรือเป็นด้วยทรงเล่นวิชาช้างม้าอยู่คงกระพันชาตรีเพลิดเพลินไปอย่างใด จนมีจดหมายแห่งหนึ่งได้กล่าวไว้โดยคำชัดเจนว่า สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าทรงนับถือไสยศาสตร์มากกว่าพุทธศาสน์ดังนี้ เมื่อจะเทียบดูเหตุผลซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารที่คนเป็นอันมากได้อ่านก็จะพอเห็นได้ว่า คำที่กล่าวด้วยเรื่องทรงนับถือไสยศาสตร์นั้นจะไม่เป็นคำที่กล่าวโดยไม่มีมูลทีเดียวนัก คือได้ทรงสร้างเทวรูปหุ้มด้วยทองคำทรงเครื่องลงยาราชาวดีประดับหัวแหวน สำหรับตั้งในการพระราชพิธีเป็นหลายองค์ และในการพระราชพิธีตรียัมพวายก็เป็นอันปรากฏชัดว่าได้เสด็จไปส่งพระเป็นเจ้าถึงเทวสถานทุกปีมิได้ขาด จนถึงเวลาที่มีเหตุอันเข้าใจว่าพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ คิดจะประทุษร้ายในวันซึ่งเสด็จส่งพระเป็นเจ้าเป็นแน่ชัดแล้วก็ยังรับสั่งว่าจะทำอย่างไรก็ตามเถิด แต่จะไปส่งพระเป็นเจ้าให้ถึงเทวสถานจงได้ มีพยานเจือคำกล่าวไว้ดังนี้จะพอสันนิษฐานได้ว่าพระนารายณ์เป็นเจ้าทรงนับถือไสยศาสตร์ (ถึงไม่ยิ่งกว่าตามที่เขาว่าก็คงจะ) มาก ก็ประเพณีพระเจ้าแผ่นดินซึ่งจะทำการบรมราชาภิเษก เบื้องหน้าแต่รับพระสุพรรณบัฏแล้วก็ต้องทรงรับสังวาลพราหมณ์ อันมหาราชครูพิธีประสิทธิถวายทรงก่อนที่จะรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งปวง นับว่าเหมือนบวชเป็นพราหมณ์สามเส้นครั้งหนึ่งทุกพระองค์ ก็ในพิธีตรียัมพวายนี้พราหมณ์ทั้งปวงต้องสนานกายสระเกล้าเพื่อจะรับพระเป็นเจ้าทั่วกัน ถ้าพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงรู้สึกพระองค์ว่าเป็นพราหมณ์อยู่หน่อยๆ หนึ่งเช่นนั้นจะสรงมุรธาภิเษกจริงดังว่าได้ดอกกระมัง

ในจดหมายคำให้การขุนหลวงหาวัด ที่ตรงนี้ดูเลอะๆ ไม่ได้ออกชื่อพิธีตรียัมพวาย แต่พรรณนาถึงเรื่องเสาชิงช้าถีบชิงช้า และพระยาพลเทพยืนชิงช้าต้องยืนตีนเดียว ยืนสองตีนถูกริบเป็นต้น ไม่มีข้อความละเอียดว่าด้วยแห่แหนหรือการพิธีในเทวสถานประการใด แต่การสรงมุรธาภิเษกตามซึ่งกล่าวไว้นั้นไม่ได้มีในกรุงรัตนโกสินทรนี้เลย การที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้คงดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

แต่ก่อนมาเป็นแต่พิธีพราหมณ์ พระราชทานเงินและสีผึ้งช่วยและมีการแห่แหนตามสมควร แต่ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนับว่าพิธีนี้เป็นเหมือนพิธีมะหะหร่ำของแขกเจ้าเซ็น และวิสาขบูชาในพระพุทธศาสนา เป็นพิธีใหญ่สำหรับพระนครอยู่ข้างจะทรงเป็นพระราชธุระมาก จึงได้โปรดให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มเติมขึ้นด้วย พระสงฆ์รับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ในวัน ๗ ค่ำเวลาเช้าซึ่งเป็นวันทอดพระเนตรแห่กลับ เสด็จออกเลี้ยงพระเสร็จแล้วพอทันเวลาแห่กลับ พระสงฆ์ฉันพร้อมกันทั้ง ๑๕ รูป คือพระราชาคณะ ๓ รูป พระพิธีธรรม ๑๒ รูป มีเครื่องไทยทานสบง, ร่ม, รองเท้า, หมากพลู, ธูปเทียน และมีกระจาดข้าวเม่า, ข้าวตอก, เผือก, มัน, กล้วย, อ้อย, มะพร้าว, น้ำตาลทราย ถวายให้ต้องกันกับการพิธี เวลากลางคืนในวันขึ้น ๗ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๙ ค่ำ แบ่งสวดมนต์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามวันละ ๕ รูป พระราชาคณะรูป ๑ พิธีธรรม ๔ รูป ทุกคืน ในชั้นแรกเสด็จพระราชดำเนินออกทุกคืน แต่ภายหลังมาก็จืดๆ ไป การที่เสด็จออกนั้นดูเป็นแทนเสด็จเทวสถานซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในกรุงเก่าเสด็จทุกปี ที่หน้าพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต มีพานข้าวตอก มะพร้าว กล้วย อ้อย ตั้งบูชาเหมือนเช่นพราหมณ์ตั้งที่หน้าเทวรูปในเทวสถาน ทรงจุดเครื่องนมัสการแล้วราชบัณฑิตอ่านคำบูชา แสดงพระราชดำริในเบื้องต้นที่ทรงเห็นว่าการพระราชพิธีนี้ควรจะเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา แล้วจึงได้ว่าสรรเสริญพระพุทธคุณ ถวายข้าวเม่า ข้าวตอก ผลไม้ต่างๆ เป็น ๓ ครั้ง มีข้อความต่างๆ กัน ถ่ายอย่างที่พราหมณ์ยกอุลุบถวายพระเป็นเจ้า เมื่อจบคำบูชาถวายข้าวตอกนั้นแล้วจึงได้สวดมนต์ต่อไปทั้งสามวัน ครั้นวันแรม ๕ ค่ำ เริ่มพระราชพิธีตรีปวายก็มีพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน พระราชาคณะไทย ๑ รามัญ ๑ พระครูปริตรไทย ๕ รามัญ ๔ ถวายเครื่องไทยทานเหมือนอย่างพระราชพิธีตรียัมพวาย เวลาค่ำสวดมนต์ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ไม่มีคำบูชาเจือ อยู่ข้างจะบำบัดพิษหน่อยๆ การพิธีสงฆ์ที่เกี่ยวในสองพิธีมีอยู่เท่านี้

ในการพระราชพิธีนี้ต้องมีข้าราชการผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งรับที่สมมติว่าเป็นพระอิศวรเป็นเจ้าลงมาเยี่ยมโลก ตามที่พราหมณ์คอยอยู่นั้น ตำแหน่งผู้ซึ่งรับสมมตินี้ แต่ก่อนเคยคงอยู่ในเจ้าพระยาพลเทพซึ่งเป็นเกษตราธิบดีผู้เดียว เป็นตำแหน่งเดิมแต่ครั้งกรุงเก่ามาจนตลอดถึงรัชกาลที่ ๓ ในกรุงรัตนโกสินทรนี้ข้างตอนต้น ครั้นตกมาตอนปลายเจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) ถึงแก่อสัญกรรม ไม่ทรงตั้งเจ้าพระยาพลเทพต่อไป โปรดให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ ซึ่งยังเป็นพระยาราชสุภาวดียืนชิงช้าแทนปีหนึ่ง ต่อไปก็เปลี่ยนเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) ซึ่งยังเป็นพระยาราชนิกูลเป็นผู้ยืน มีคำเล่าว่ารับสั่งให้ข้าราชการออกมาแห่ ครั้นเวลาเสด็จออกขุนนางรับสั่งถามว่างามอย่างไรบ้าง มีผู้ทูลว่างามเหมือนห่อพระอังคาร ต่อไปเป็นเจ้าพระยายมราช (ศุข) เมื่อยังเป็นพระยาสุรเสนายืนชิงช้า แต่ไม่เปลี่ยนทุกปี ยืนปีหนึ่งแล้วก็ซ้ำๆ ไป ต่อถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริเห็นว่าเจ้าพระยาพลเทพต้องแห่ทุกปี ปีละสองครั้งก็เฝือนักจนกระบวนแห่ก็กรองกรอย เป็นการโกโรโตเตไปไม่ครึกครื้น แต่ก่อนมาท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่อื่นๆ ยังมีช่องมีคราวที่ต้องถูกแห่สระสนานใหญ่ ครั้นเมื่อเกิดพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานขึ้นแทนการสระสนาน ท่านเสนาบดีและข้าราชการทั้งปวงก็เป็นอันไม่มีที่จะได้โอกาสแห่แหนอันใดให้เป็นเกียรติยศอย่างแต่ก่อน อนึ่ง บางทีก็เป็นที่บ่นกันว่าต้องถูกแห่ทุกปี ต้องแจกบ่ายเลี้ยงดูกระบวนเปลืองเงินทองไปมาก จึงทรงพระราชดำริเห็นว่าข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้รับพระราชทานพานทอง เป็นผู้ได้รับยศประโคมกลองชนะมีบโทนแห่ ควรจะให้ได้แห่ให้เต็มเกียรติยศเสียคนละครั้งหนึ่งๆ จึงได้โปรดให้ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองเปลี่ยนกันยืนชิงช้าปีละคน บางท่านที่มีคุณพิเศษต่างๆ ก็พระราชทานเสลี่ยงบ้าง กลดบ้าง ลอมพอกโหมดเกี้ยวลงยาบ้าง เป็นการเพิ่มเติมวิเศษขึ้นกว่าสามัญ จึงเป็นธรรมเนียมติดต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบันนี้

ข้าราชการผู้ซึ่งต้องยืนชิงช้านั้นต้องกราบทูลถวายบังคมลาเข้าพิธีก่อนหน้าที่จะไปยืนชิงช้า คนที่เข้ากระบวนเป็นคนจ่ายกำหนดอยู่ใน ๘๐๐ คือตำรวจสวมเสื้อคาดรัตคดถือหวายเส้น ๑๖ ดาบเขน ๓๐ ดาบโล่ ๓๐ ดาบดั้ง ๓๐ ดาบสองมือ ๓๐ พร้าแป๊ะกัก ๓๐ ดาบเชลย ๓๐ สวมกางเกงริ้วเสื้อแดงหมวกหนัง สารวัตรสวมเสื้ออัตลัดโพกผ้า ๑๘ คน บโทน ๓๐๐ เป็นคนในตัว นุ่งตาโถงคาดผ้าลายริ้ว เสื้อปัศตูแดงปัศตูเขียว ตะพายกระบี่เหล็ก ขุนหมื่น ๒๐๐ เสื้ออย่างน้อยแพรสีต่างๆ นุ่งม่วงโพกแพรขลิบทองตะพายกระบี่ฝักทองเหลือง สารวัตรขุนหมื่น ๕๐ นุ่งยกเสื้อเข้มขาบ โพกแพรขลิบทอง ตะพายกระบี่ฝักเงิน กลองชนะ ๑๐ คู่ สวมเสื้อแดง จ่าปี่ ๑ เสื้อริ้วตุ้มปี่แดง กรรเชิงแดงหน้า ๒ คัน หลัง ๒ คัน สวมเสื้อมัสรู่ กางเกงปูม คนหามเสลี่ยงโถงไพร่หาม ๑๒ คน กางเกงปัศตู เสื้อขาว คาดเกี้ยว คู่เคียง ๘ คน หลวงในกรมท่า ๒ กรมเมือง ๒ กรมวัง ๒ กรมนา ๒ แต่งตัวนุ่งสนับเพลา นุ่งยก เสื้อเข้มขาบ โพกตาด อภิรมกั้นสัปทนแดง ๑ บังตะวัน ๑ สวมเสื้อมัสรู่ริ้ว กางเกงแดง ริ้วหลังขุนหมื่น ๕๐ แต่งตัวเป็นอย่างข้างหน้า หว่างริ้วทนายของตัวเองตับละ ๖ คน นุ่งผ้าไหมจีน เสื้อเข้มขาบอัตลัด ตับที่หนึ่งที่สองถือดาบกระบี่ ตับที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ถือเครื่องยศ ต่อนั้นไปถือหอกง้าวทวนเป็นตับๆ ต่อไปเป็นทหารเลวอีก ๒๐๐ ตามแต่จะมี  ริ้วนอกถือปิไสหวาย ๓๐ ถือง้าว ๓๐ ตระบองหุ้มปลาย ๓๐ ถือทิว ๑๐๐ ทิวนี้เคยมีมาแต่โบราณไม่เคยขาดเลย สมมติกันว่าถุงปืน แต่ที่จริงดูถูกลมสะบัดปลิวก็งามดีอยู่ กระบวนที่เกณฑ์กำหนดเพียงเท่านี้ แต่ผู้ซึ่งต้องแห่คิดแต่งกระบวนตามกำลังของตัวเอง เพิ่มเติมเป็นกระบวนหน้าบ้างกระบวนหลังบ้าง ถึงสองพันสามพันจนสี่พันคนก็มี

อนึ่งมีธรรมเนียมเกิดใหม่ คือใครเป็นผู้ต้องแห่ได้รับราชการอยู่กรมใด ก็ทำธงเป็นรูปตราตำแหน่งเย็บลงในพื้นปัศตูแดงนำไปหน้ากระบวน เป็นของเกิดขึ้นเมื่อมีทหารแห่เสด็จถือธงนำหน้าก็ลงเป็นตำราใช้กันมา ตลอดจนถึงขบวนที่เป็นของเจ้าของหามาเองนั้น ถ้าผู้ใดอยู่กรมใดก็มักจะจัดเครื่องแห่นั้นให้เข้าเรื่องกัน เป็นต้นว่าได้ว่าการคลังก็มีคนถือกระดานแจกเบี้ยหวัด เป็นสัสดีก็มีคนถือสมุด เป็นอาสาหกเหล่าก็มีคนหาบโพล่แฟ้มเป็นต้น ไม่มีกำหนดนิยมว่าอย่างไร แต่ลงท้ายแล้วคงเป็นโค้งๆ โฉ่งฉ่างเป็นอยู่ธรรมดาทุกๆ กระบวน

ตัวพระยาผู้ยืนชิงช้าแต่งตัวนุ่งผ้าเยียรบับ แต่วิธีนุ่งนั้นเรียกว่าบ่าวขุน มีชายห้อยอยู่ข้างเบื้องหน้า สวมเสื้อเยียรบับ คาดเข็มขัด สวมเสื้อครุยลอมพอกเกี้ยวตามบรรดาศักดิ์ การแห่ชิงช้านี้เป็นหน้าที่ของกรมเกษตราธิการ หรือจะเรียกว่ากรมนา เป็นต้น หมายและจัดกระบวนทั่วไป การซึ่งหน้าที่ยืนชิงช้าตกเป็นพนักงานของกรมนาอยู่นี้ ก็ชะรอยจะติดมาจากจรดพระนังคัล ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมนาแท้ การยืนชิงช้านี้ถ้าจะว่าข้างหน้าที่ที่ใกล้เคียงแล้ว น่าจะเอาเจ้าพระยายมราชมากกว่า แต่เห็นจะเป็นมาเพราะง่ายที่ได้เคยแล้วจึงได้รวมอยู่คนเดียว

วันขึ้น ๗ ค่ำเวลาเช้า ตั้งกระบวนแห่แต่วัดราชบุรณ ไปตามทางถนนรอบกำแพงพระนครเลี้ยวลงถนนบำรุงเมือง ในวันแรกหยุดพักโรงมานพ หรือ “มาฬก” ปลูกไว้ริมเชิงสะพาน นอกเฉลวกำหนดเขต พราหมณ์นำกระดานชิงช้าซึ่งสมมติว่าจะไปแขวนมารับพระยา เมื่อพระยามาถึงโรงมานพแล้ว ก็นำกระดานนั้นกลับคืนไปไว้ในเทวสถาน แล้วปล่อยกระดานซึ่งแขวนไว้ที่เสาชิงช้าเสร็จแล้ว เอาเชือกรัดให้ตั้งติดอยู่กับเสานั้นลง สมมติว่าเอากระดานแผ่นที่เอาไปเก็บไว้ในเทวสถานขึ้นไปแขวนแล้วจึงได้รดน้ำสังข์จุณเจิมเสร็จแล้ว นำพระยาไปที่ชมรม โรงชมรมนั้นทำเป็นปะรำไม้ไผ่ดาดผ้าขาวเป็นเพดานมีม่านสามด้าน กลางชมรมตั้งราวไม้ไผ่หุ้มขาวสำหรับนั่งราวหนึ่ง สำหรับพิงราวหนึ่ง นำพระยาเข้าไปนั่งที่ราว ยกเท้าขวาพาดเข่าซ้าย เท้าซ้ายยันพื้น มีพราหมณ์ยืนข้างขวา ๔ คน ข้างซ้ายเกณฑ์หลวงในกรมมหาดไทย ๒ คน กรมพระกลาโหม ๒ คนไปยืน มีพราหมณ์เป่าสังข์อยู่เบื้องหน้า ๒ คน เมื่อพระยาไปถึงชมรมแล้ว ส่งธูปเทียนไปบูชาพระศรีศากยมุนีในวิหารวัดสุทัศน์ทั้งเวลาเช้าเย็น เมื่อแต่ก่อนที่ข้าพเจ้าไปดูอยู่ เห็นตัวพระยาเข้าไปในวัดนมัสการพระถึงวิหารทีเดียวก็มี เวลาที่ไปนั้นมีกลองชนะตีนำหน้าเข้าไป และตีนำกลับออกมา แต่ภายหลังนี้ว่าไม่ได้เข้าไป เห็นจะเป็นย่อกันลง ด้วยเสด็จออกเย็นจะไม่ทันเวลาโล้ชิงช้าเป็นต้น จึงได้เลยเลือนไปทีเดียว นาลิวันขึ้นโล้ชิงช้ากระดานละ ๔ คน ๓ กระดาน มีเสาไม้ไผ่ปลายผูกถุงเงินปักไว้ กระดานแรก ๓ ตำลึง กระดานที่สอง ๑๐ บาท กระดานที่สาม ๒ ตำลึง นาลิวันซึ่งโล้ชิงช้านั้นแรกขึ้นไปนั่งถวายบังคม และนั่งโล้ไปจนชิงช้าโยนแรงจึงได้ลุกขึ้นยืน คนหน้าคอยคาบเงินที่ผูกไว้บนปลายไม้ คนหลังคอยแก้ท้ายให้ตรงเสาเงิน ครั้นโล้ชิงช้าเสร็จสามกระดานแล้ว ตั้งกระบวนกลับมาตามถนนบำรุงเมือง เลี้ยวลงถนนท้องสนามชัย เมื่อกระบวนแห่มาถึงหน้าพลับพลา กระบวนที่ถืออาวุธต้องกลับปลายอาวุธลง แต่ก่อนมาก็ไม่ได้มีเสด็จพระราชดำเนินออกทอดพระเนตรเลย พึ่งมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อเสลี่ยงมาถึงท้ายพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ พระยาลงจากเสลี่ยงเดินมา จนถึงหน้าพระที่นั่งที่ปูเสื่ออ่อนไว้ถวายบังคม พระราชทานผลกัลปพฤกษ์ ๒๐๐ ผล ถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วเดินไปจนสุดท้ายพระที่นั่ง ขึ้นเสลี่ยงกลับไปที่ชมรม วัน ๘ ค่ำเป็นวันเว้น มีแต่พิธีพราหมณ์ วัน ๙ ค่ำตั้งกระบวนแต่วัดราชบุรณมาคอยหน้าวัดพระเชตุพน เวลาเสด็จออกให้เรียกกระบวนแห่เมื่อใดจึงได้เดินกระบวน หยุดถวายบังคมและพระราชทานผลกัลปพฤกษ์ ๒๐๐ ผล เหมือนอย่างวัน ๗ ค่ำ กระบวนเดินเลี้ยวออกถนนบำรุงเมือง พักที่โรงชมรมที่หนึ่งข้างตะวันออกเหมือนวัน ๗ ค่ำแต่ไม่ต้องพักโรงมานพ และไม่ต้องมีกระดานมารับ ด้วยแขวนอยู่เสร็จแล้ว นาลิวันโล้ชิงช้า ๓ กระดาน เงินที่ผูกปลายไม้ก็เท่ากันกับวันแรก เมื่อโล้ชิงช้าแล้วนาลิวันทั้ง ๑๒ คนยกขันที่เรียกขันสาคร มีน้ำเต็มในขันมาตั้งหน้าชมรม รำเสนงสาดน้ำกันครบสามเสนง แล้วพระยาย้ายไปนั่งชมรมที่ ๒ ที่ ๓ นาลิวันก็ยกขันตามไปรำเสนงที่หน้าชมรม สาดน้ำแห่งละสามเสนงๆ เป็นเสร็จการ แห่กลับลงไปตามถนนบำรุงเมืองข้างตะวันออก เลี้ยวถนนริมกำแพงพระนครไปที่ประชุมหน้าวัดราชบุรณ ในการยืนชิงช้านี้มีเงินเบี้ยเลี้ยงของหลวงพระราชทานสิบตำลึง พระยาผู้ยืนชิงช้าเคยแจกคู่เคียงคนละตำลึงหนึ่ง ตัวนายคนละกึ่งตำลึงบ้างบาทหนึ่งบ้าง นายรองคนละสองสลึง ไพร่แจกคนละสลึงเสมอหน้า ถ้ามีกระบวนมากก็ต้องลงทุนรอนกันมากๆ ทั้งเงินที่เข้าโรงครัวเลี้ยงและเงินแจก และผ้านุ่งห่มเครื่องแต่งตัวกระบวนเพิ่มเติมบ้าง
ในการโล้ชิงช้านี้ เคยมีเจ้านายเสด็จไปทอดพระเนตรเนืองๆ เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเสด็จครั้งหนึ่ง เจ้านายฝ่ายในก็ตามไปมากด้วยกัน ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าลูกเธอเสด็จด้วยทุกปีมิได้ขาด เสด็จไปเป็นกระบวนช้าง บางคราวเวลาเย็นถึงทรงเกี้ยวทรงนวมก็มี แต่ที่เป็นปรกติและเวลาเช้านั้น ทรงยก คาดแพรสีติดขลิบทอง ทรงสร้อยประแจ ข้าพเจ้าเคยเป็นผู้ไปอยู่เสมอไม่ขาด ความที่อยากไปดูนั้นก็ใจเต้นเกือบนอนไม่หลับ แต่ความเหม็นเบื่อเครื่องแต่งตัวนั้นก็เป็นที่สุดที่แล้ว ยังเวลาแต่งตัวเช่นนั้น แต่ก่อนไม่ใช้สวมเสื้อ เล่นผัดฝุ่นกะเนื้อนั่งไปบนหลังช้าง ถ้าถูกปีที่หนาวขนชันไปตลอดทาง ยังจำกลิ่นอายรสชาติได้อยู่ ถ้าเวลาเจ้านายเสด็จเช่นนั้น ไปประทับที่ศาลาวัดสุทัศน์หลังตะวันออกแห่งประตูพระวิหาร ที่เป็นพลับพลาเปลื้องเครื่อง ผู้ซึ่งกำกับไปมักจะบังคับให้แหวกม่านหลังชมรมให้แลเห็นตัวพระยา และไล่คนที่ไปยืนมุงเป็นกลุ่มให้แหวกช่อง เมื่อถึงเวลารำเสนงมักจะให้เยื้องขันมาอยู่ข้างๆ ชมรม ด้วยศาลาที่ดูนั้นอยู่หลังชมรม ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ก็มีลูกเธอไปดูอยู่เนืองๆ เป็นกระบวนช้างบ้าง รถบ้าง วอบ้าง เป็นการปัจจุบันไม่ต้องเล่า

ส่วนการพระราชพิธีที่พราหมณ์ทำนั้น ตั้งแต่วันขึ้น ๖ ค่ำ บรรดาพราหมณ์ทั้งปวงก็ประชุมกันชำระกายผูกพรต คือคาดเชือกไว้ที่ต้นแขนข้างหนึ่งเป็นวันจะตั้งพิธี ตั้งแต่นั้นไปต้องกินถั่วงา ไม่กินเนื้อสัตว์และไม่อยู่ด้วยภรรยา พราหมณ์ทั้งปวงผูกพรตอยู่สามวัน คือตั้งแต่วันขึ้น ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๙ ค่ำ พ้นนั้นไปก็ออกพรต เว้นไว้แต่พระมหาราชครูพิธีที่เป็นผู้จะทำพิธีต้องผูกพรตไปตลอด ๑๕ วัน และนอนประจำอยู่ในเทวสถาน ไม่ได้กลับไปบ้าน ครั้นวันขึ้น ๗ ค่ำเวลารุ่งเช้า พระมหาราชครูอ่านเวทเปิดประตูเรือนแก้วไกรลาสศิวาลัยเชิญพระเป็นเจ้าเสด็จลง แล้วจึงได้ไปรับพระยาที่โรงมานพตามซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น เวลาค่ำเป็นเวลาทำพระราชพิธีเริ่มทำอวิสูทรชำระกายจุณเจิม และทำกระสูทธิ์อัตมสูทธิ์อ่านตำรับแกว่งธูปเป่าสังข์บูชาเสร็จแล้ว มีพราหมณ์คู่สวดยืนเรียงซ้อนต่อๆ กัน ๔ คน ยกพานข้าวตอกสวดคนละบท วรรคต้นชื่อมหาเวชตึก วรรคสองคนที่สองสวด เรียกโกรายะตึก วรรคสามคนที่สามสวด เรียกสาระวะตึก วรรคสี่คนที่สี่สวด เรียกเวชตึก เมื่อจบทั้ง ๔ คนแล้วจึงว่าพร้อมกันทั้ง ๔ คน เรียกลอริบาวาย ในเวลาว่าลอริบาวายนั้นเป่าสังข์ ว่าสามจบหยุดแล้วสวดซ้ำอย่างเดิมอีก ถึงลอริบาวายเป่าสังข์อีก เป่าสังข์ครบสิบสามครั้งเรียกว่ากัณฑ์หนึ่งเป็นจบ ต่อนั้นไป พระมหาราชครูยืนแกว่งธูปเทียนกระดึงเป่าสังข์บูชาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบแล้ววางธูปเทียนถวายแล้วบูชาพานดอกไม้ อ่านเวทถวายดอกไม้รายชื่อพระเป็นเจ้าทั้งปวงจบแล้ว คู่สวดทั้ง ๔ คนนั้น ยกอุลุบอย่างเช่นเข้ามาถวายในท้องพระโรงอีกคนละครั้งเป็นการถวายข้าวตอก แล้วจึงเอาข้าวตอกนั้นแจกคนที่ไปประชุมฟังอยู่ในที่นั้นให้กินเป็นสวัสดิมงคลกันเสนียดจัญไร เป็นเสร็จการในเทวสถานใหญ่ แล้วเลิกไปทำที่สถานกลางต่อไปอีก การพิธีที่สถานกลางคือสถานพระมหาวิฆเนศวรนั้นก็เหมือนกันกับสถานใหญ่ คือสถานพระอิศวร แต่สวดต้องมากขึ้นไปเป็นสิบเจ็ดจบจึงจะลงกัณฑ์ แล้วก็มีแจกข้าวตอกเหมือนสถานใหญ่ การพิธีนี้ทำเหมือนๆ กันอย่างที่กล่าวมาแล้วตลอดทั้งสิบคืน ที่หน้าเทวรูปทั้งสองเทวสถานนั้นตั้งโต๊ะกองข้าวตอก มัน เผือก มะพร้าวอ่อน กล้วย อ้อย สิ่งละมากๆ เป็นกองโตทุกคืน
การซึ่งคนพอใจพูดกันชุมๆ ว่า กระดานลงหลุมๆ เป็นเครื่องสำหรับทำให้หนาว หรือเขตของความหนาวอย่างไรก็ไม่เข้าใจชัด เห็นแต่ร้องกันว่ากระดานลงหลุมแล้วหนาวนัก บางทีก็พูดดังโก๋ๆ ไม่รู้ว่าเขาหมายเอาเหตุการณ์อันใด คือในเดือนยี่หนาวจัดแล้วมีคนบ่นขึ้นว่าหนาว มักจะมีคนผู้ใหญ่ๆ ว่านี่ยังกระดานลงหลุมเดือนสามจะหนาวยิ่งกว่านี้ พูดเป็นจริงเป็นจังไปไม่รู้ว่ากระดานอะไรลงหลุมในเดือนสาม แต่ที่มีกระดานลงหลุมอยู่เรื่องหนึ่งในพิธีนั้นลงเสียแต่ก่อนคำที่ว่านั้นแล้ว คือเมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำเวลาจวนรุ่ง พระมหาราชครูเชิญกระดานสามแผ่น แผ่นหนึ่งยาวสี่ศอก กว้างศอกหนึ่ง สลักเป็นรูปพระอาทิตย์พระจันทร์แผ่นหนึ่ง เป็นรูปนางพระธรณีแผ่นหนึ่ง เป็นรูปพระคงคาแผ่นหนึ่ง ทาสีขาว สมมติว่าเป็นพระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี พระคงคา ลงมาประชุมเฝ้าพระอิศวร บูชาในเทวสถานแล้ว จึงเชิญออกมาที่หลุมขุดไว้ตรงหน้าชมรม หลุมนั้นกว้างศอกสี่เหลี่ยม ลึกสี่นิ้ว ในนั้นปูอิฐวางขลังคือหญ้าคา ซึ่งพราหมณ์มักจะใช้รองอะไรๆ ในการพิธีทั้งปวง แล้วมีราวสำหรับพิงกระดาน เอากระดานนั้นวางลงในหลุมพิงอยู่กับราว มีชมรมสี่เสาดาดเพดานกั้นม่านลายรอบ ข้างนอกมีราชวัติ ๔ มุม ปักฉัตรกระดาษผูกยอดกล้วยยอดอ้อย พระอาทิตย์ พระจันทร์นั้น ลงหลุมที่หนึ่งข้างตะวันออก นางพระธรณีลงหลุมกลาง พระคงคาลงหลุมสุดท้ายข้างตะวันตก หน้ากระดานนั้นหันมาข้างใต้ตรงชมรมที่พระยานั่ง การที่เชิญกระดานลงหลุมนี้ ทำแล้วเสร็จในเวลาจวนรุ่งขึ้นวัน ๙ ค่ำ ซึ่งเป็นวันแห่เวลาเย็นนั้น แล้วกระดานนี้อยู่ที่หลุมสามวัน วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งเชิญกระดานขึ้นจากหลุมไปเก็บไว้ในเทวสถานตามเดิม

ในวันเดือนยี่ แรมค่ำหนึ่ง เป็นวันพิธีตรียัมพวายและตรีปวายต่อกัน เวลาเช้าตรู่พราหมณ์ประชุมกันที่สถานพระนารายณ์ พระมหาราชครูอ่านเวทเปิดทวารเหมือน  อย่างเช่นเปิดถวายพระอิศวร เวลาเย็นประชุมกันที่สถานพระนารายณ์อีกเวลาหนึ่ง สวดบูชาอย่างเช่นที่ทำในสองสถานก่อนนั้น เป็นแต่เปลี่ยนชื่อเป็นพระนารายณ์ คงสวดมหาเวชตึก แปลกกันแต่ว่าขึ้น  ศิวาสะเทวะ ต่อไปก็สวดโกรายะตึก สาระวะตึก เวชตึก แล้วสวดโลขัดตุโน พร้อมกัน ๔ คน เป่าสังข์สวด ๙ จบ เป็นกัณฑ์หนึ่งตามที่บังคับไว้ แต่เวลาสวด พราหมณ์คู่สวดยืนเรียงเป็นตับ เสมอหน้ากันทั้ง ๔ คน ต่อนั้นไปก็ทำเหมือนอย่างเช่นที่กล่าวมาแล้ว เสร็จการที่สถานพระนารายณ์แล้วมาทำที่สถานมหาวิฆเนศวร เหมือนอย่างเช่นที่เคยทำอยู่นั้นอีก พิธีทั้งสองสถานนี้ต้องรีบให้แล้วเสียแต่เย็นเพราะจะต้องเตรียมการที่จะทำที่สถานใหญ่ต่อไป เป็นวันเหนื่อยมากของพราหมณ์ เพราะทั้งรับทั้งส่ง ครั้นเวลาค่ำพอเดือนขึ้นเดินกระบวนแห่ซึ่งเรียกกันตามสามัญว่าแห่พระนเรศวร์ หรือที่ร้องกันว่าพระนเรศวร์เดือนหงายพระนารายณ์เดือนมืด แห่พระนเรศวร์นั้น คือแห่พระอิศวรเวลาจะเสด็จกลับจากโลกนี้  โปรดแสงสว่าง จึงให้แห่ในเวลาเดือนขึ้น กระบวนนั้นเกณฑ์ขุนหมื่นกรมม้าแซงนอกแซงในเกราะทอง และขอแรงเชลยศักดิ์ตามที่จะหาได้ ขี่ม้าถือเทียนเป็นกระบวนหน้า แล้วถึงตำรวจนำริ้วถือธงมังกรคู่ ๑ ตำรวจถือโคมบัว ๘๐ กลองแขกเดินหว่างกระบวนหาม ๔ ตี ๒ ปี่ ๑ ถัดมาพิณพาทย์หาม ๔ ตี ๓ ปี่ ๑ ต่อนั้นมากลองชนะ ๒๐ มีจ่าปี่จ่ากลอง สังข์ ๒ แตรงอน ๖ แตรฝรั่ง ๔ เครื่องสูงที่แห่พระนั้นใช้พื้นขาว เครื่องหน้าห้าชั้น ๖ เจ็ดชั้น ๗ บังแทรก ๔ พวกพราหมณ์ขุนหมื่นถือเทียนเดินสองแถว ต่อกลองชนะมาจนถึงหน้าเสลี่ยงหงส์ ฉัตรเทียน ๔ คัน เป็นของพราหมณ์ทำถวาย เดินหน้าเสลี่ยงหงส์ ๒ คัน เดินหลังเสลี่ยงเทวรูป ๒ คัน เสลี่ยงที่ตั้งหงส์และตั้งเทวรูปนั้นใช้เสลี่ยงโถง แต่เสลี่ยงหงส์ใช้เพดานตรงๆ เสลี่ยงเทวรูปเป็นฉัตรซ้อนๆ ขึ้นไปห้าชั้นระบายสีขาวทั้งสิ้น รอบเสลี่ยงมีราวติดเทียน เทวรูปซึ่งตั้งมานั้นมีรูปพระอิศวร พระอุมา พระมหาวิฆเนศวร มีพราหมณ์ถือสังข์เดินหน้า ๔ คน มีพัดโบก บังสูรย์ พระมหาราชครูและปลัดหลวงขุนเดินเป็นคู่เคียง นุ่งจีบชายหนึ่ง โจงชายหนึ่ง ถือเทียนเล่มใหญ่ๆ ไปข้างเสลี่ยงพระเครื่องหลังเจ็ดชั้น ๒ ห้าชั้น ๔ บังแทรก ๒ ต่อนั้นไปเกณฑ์ละครผู้หญิงสาวๆ แต่งเป็นพราหมณ์ถือเทียนเดินแห่สองแถวอยู่ในร้อยคน ต่อนั้นไปถึงโคมบัวตำรวจอีก ๔๐ แล้วถึงม้ากรมม้าและม้าเชลยศักดิ์ตามแต่จะหาได้ อยู่ภายหลังอีก เดินแห่แต่เทวสถานมาตามถนนบำรุงเมือง เลี้ยวลงถนนสนามชัย ในเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทุกปีมิได้ขาด โปรดให้ปักพุ่มดอกไม้เพลิงบูชาพระเป็นเจ้า ๑๐ พุ่ม พอเสลี่ยงพระมาถึงหน้าพระที่นั่ง บ่ายเสลี่ยงหันหน้าเข้าตรงพระที่นั่ง พราหมณ์เป่าสังข์โองการถวายชัย ทรงจุดดอกไม้เพลิงแล้ว จัดเทวรูปในห้องภูษามาลา ซึ่งเป็นเทวรูปสำหรับเข้าพิธี ในพระแท่นมณฑล องค์เล็กๆ สามองค์ คือ พระอิศวร พระอุมา มหาวิฆเนศวร ขึ้นบนพานทองสองชั้น มีดอกไม้สดประดับในพานนั้นเต็มทั้งสองชั้น กับธูปเทียนเครื่องนมัสการ ทรงเจิมและประสุหร่ายแล้วจุดเทียนนมัสการ ๒ คู่ เหลือไปสำหรับบูชาที่เทวสถาน ๒ คู่ แล้วภูษามาลาเชิญเทวรูปไปขึ้นเสลี่ยง กั้นกลดกำมะลอ ออกประตูเทวาพิทักษ์ไปส่งขึ้นเสลี่ยงโถงที่ตั้งพระเป็นเจ้าแห่มานั้นไปขึ้นหงส์ด้วย

แต่เทวรูป ซึ่งสำหรับส่งไปแห่นี้มีเรื่องราวที่จะต้องเล่าอยู่หน่อยหนึ่ง คือรูปมหาวิฆเศวรนั้นเป็นของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระราชทานพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ยังทรงพระเยาว์ ด้วยถือกันว่าถ้าบูชามหาวิฆเนศวรแล้วทำให้จำเริญสวัสดิมงคล แต่ผู้ซึ่งจะรับไปบูชานั้นถ้าไม่ได้รับจากผู้ที่เคยปฏิบัติบูชามาแต่ก่อน เอาไปไว้มักจะมีไข้เจ็บต่างๆ จึงต้องมอบกันต่อๆ ไป ครั้นเมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๙ ขวบ ทรงคิดชื่อเจ้ากรมให้เป็นหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ เวลาแห่เทวรูปเช่นนี้ จึงรับสั่งว่าไหนๆ ก็ไปเอาชื่อเอาเสียงท่านมาชื่อแล้ว จะให้พระองค์นี้ไปสำหรับบูชาเหมือนอย่างเช่นพระองค์ท่านได้เคยทรงบูชามาแต่ก่อน จึงพระราชทานน้ำสังข์ทรงเจิมแล้ว มอบพระองค์นั้นพระราชทาน เอาพระองค์อื่นไปขึ้นหงส์แทนจนตลอดรัชกาล ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าจึงได้นำบุษบกเล็กๆ บุทองคำตั้งเทวรูปนั้นไว้แล้ว จึงได้ใช้บุษบกทองคำนั้นตั้งบนพานทองสองชั้นอีกทีหนึ่ง สำหรับเชิญไปขึ้นหงส์ เทวรูปมหาพิฆเนศวร ก็เปลี่ยนเอาองค์ที่ได้พระราชทานนั้นไปขึ้นหงส์ตามเดิม

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 13:15:34 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2561 16:43:44 »

เดือนยี่
การพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย (ต่อ)

ที่หน้าเทวสถานนั้นมีหนังโรงหนึ่ง ทั้งวันแรมค่ำหนึ่ง และวันแรมห้าค่ำ หนังและดอกไม้เพลิงนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นการอนุโลมตามพระราชพิธีลดชุดลอยโคม ที่มีมาในกฎมนเทียรบาล ในคำซึ่งว่าที่หน้าพุทธาวาสตั้งระทา ๔ ระทา หนัง ๒ โรง เมื่อแห่กลับไปถึงเทวสถานแล้วทำพิธีต่อไป คือมีเตียงตั้งพระอิศวรเตียง ๑ ชั้นรองลงมาเรียกว่าภัทรบิฐ ทอดขลัง โรยแป้งอย่างเช่นที่พระที่นั่งภัทรบิฐซึ่งสำหรับบรมราชภิเษก เตียงหนึ่งตั้งเบญจคัพย์แล้วสังข์ตั้งข้างขวา กลดตั้งข้างซ้าย กลางเทวสถานตรงที่ตั้งหงส์ตั้งศิลาบดอันหนึ่ง เรียกว่าบัพโต คือต่างว่าภูเขา ท่านเก่าๆ ท่านก็พอใจบ่นกันว่าทำไมจึงไม่ใช้ก้อนหิน มาใช้ศิลาบด แต่ก็ไม่เห็นมีใครอาจแก้ไข เพราะเคยใช้มาแต่ก่อน พระมหาราชราชครูทำกระสูทธิ์อวิสูทธเจิมจันทน์ อ่านเวทสอดสังวาลพราหมณ์ ซึ่งเรียกว่าธุรำและแหวกเกาบิลแล้ว พราหมณ์คู่สวด ๔ คน สวดบุถุ ๑๓ จบ กัณฑ์หนึ่ง เหมือนเช่นอย่างสวดมาทุกคืน พระครูแกว่งธูปประน้ำอบ บูชาข้าวตอกดอกไม้ แล้วคู่สวดยกอุลุบเช่นทุกวัน แต่ในวันนี้ไม่แจกข้าวตอกแก่คนทั้งปวงที่ไป ยกไว้เป็นของส่วนถวายหลวง แล้วพระมหาราชครูอ่านเวทจบหนึ่งชื่อทรงสาร จบสองชื่อโตรพัด แล้วทักษิณบูชาศาสตร์  รินน้ำเบญจคัพย์ลงถ้วย ถวายธูปเทียนดอกไม้ บูชาสังข์กลด แล้วอ่านเวทสนานหงส์อีกจบหนึ่ง แล้วจึงเชิญพระอิศวร พระอุมา พระมหาพิฆเนศวร สรงน้ำด้วยกลดแล้วสังข์ แล้วจึงเชิญขึ้นภัทรบิฐ ทำศาสตร์อย่างบูชาอ่านเวท  ชื่อสารเหลืองจบแล้ว ที่สองชื่อมาลัย ที่สามชื่อสังวาล แล้วจึงเชิญเทวรูปตั้งบนพานทองขาว เดินชูประทักษิณไปรอบที่ตั้งหงส์  เมื่อถึงศิลาบดเรียกบัพโตนั้น ยกเท้าขวาก้าวเหยียบขึ้นบนศิลาครั้งหนึ่ง แล้วก็เดินเวียนต่อไป เมื่อมาถึงศิลาก็เหยียบอีกจนครบสามครั้งจึงเชิญเทวรูปขึ้นบนบุษบกหงส์ ในระหว่างนั้นเป่าสังข์ตลอดจนพระขึ้นหงส์แล้วจึงได้หยุด แล้วอ่านเวทบูชาหงส์ บูชาพระสุเมรุ แล้วจึงว่าสรรเสริญไกรลาส เหมือนพระเจ้าแผ่นดินขึ้นภัทรบิฐ พราหมณ์ก็ว่าสรรเสริญไกรลาสอย่างเดียวกัน แล้วอ่านเวทส่งพระอุมาจบแล้ว อ่านสดุดี แล้วอ่านสรงน้ำพิเนศ จุดเทียน ๘ เล่ม มีดอกไม้ตั้งไว้ ๘ ทิศ อ่านเวทเวียนไปตามทักษิณาวรรตทั้ง ๘ ทิศ เรียกว่าโตรทวาร ต่อไปพราหมณ์ ๒ คนจึงได้ว่าช้ากล่อมหงส์ อย่างเดียวกันกับกล่อมขึ้นพระอู่เจ้านาย ๓ บท เป่าสังข์ ๓ ลา แล้วอ่านเวทส่งสารส่งพระเป็นเจ้าบท ๑ แล้วจึงอ่านเวทปิดทวารศิวาลัยอีกจบ ๑ จึงได้เป็นเสร็จการในเวลาค่ำนั้น กว่าจะแล้วเสร็จคงอยู่ใน ๗ ทุ่มหรือ ๘ ทุ่มเศษ ทุกปีไม่ต่ำกว่านั้น

การช้าหงส์นี้ เป็นธรรมเนียมโบราณ ที่พระเจ้าแผ่นดินเคยเสด็จไปส่งพระเป็นเจ้าถึงเทวสถาน ตามเช่นที่กล่าวมาแล้ว แต่พระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้ ไม่ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินส่งพระเป็นเจ้าเช่นแต่ก่อนเลย พึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนช้างตามอย่างแต่ก่อนครั้งหนึ่ง การที่เสด็จส่งพระเป็นเจ้านี้ มีแบบแผนหรือเกือบจะว่าร่างหมายติดอยู่ในกรมช้างเข้าใจกันซึมซาบดี และเล่ากันต่อมาว่าเสด็จนั้นทรงช้างพระที่นั่งละคอ นายสารใหญ่เป็นควาญพระที่นั่ง ทรงพระแสงของ้าว เครื่องช้างพระที่นั่งใช้เครื่องแถบกลม เพราะเป็นเวลากลางคืน มีเจ้านายและขุนนางขี่ช้างพลายพังตามเสด็จด้วยหลายช้าง การซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยกระบวนช้างนั้นก็เป็นการลองเล่นตามอย่างเก่า ถ้าจะพูดตามโวหารเดี๋ยวนี้ ก็เรียกว่าอี๋ได้ ไม่ทรงเห็นเป็นการจำเป็นอย่างใดเป็นแน่ และมีครั้งเดียว ต่อมามีเสด็จพระราชดำเนินอีกก็เป็นกระบวนพระราชยาน อยู่ข้างเป็นการพาพระเจ้าลูกเธอไปทอดพระเนตรมากกว่าเป็นส่งพระเป็นเจ้า แต่พระเจ้าลูกเธอเสด็จไปทอดพระเนตรนั้นมีเนืองๆ เกือบจะแทบทุกปีก็ว่าได้ เหมือนอย่างพิธีเจ้าเซ็น จนพระมหาราชครูต้องหาของแจกพระเจ้าลูกเธอเตรียมไว้เป็นของประจำปี คือขวดปากกว้างอย่างย่อมๆ กรอกข้าวเม่าข้าวตอกลูกบัวถั่วลิสงเป็นต้นแจกให้ทั่วกัน ถ้าปีใดเจ้านายไม่ได้เสด็จไป ก็ตามเข้ามาถวายถึงในวังพร้อมกับวันถวายอุลุบ คล้ายกันกับของแจกในเวลาไปดูเจ้าเซ็น คือมีขวดแช่อิ่มและเครื่องหวานๆ ต่างๆ มีเปลือกส้มโอเป็นต้น แปลกกันแต่เจ้าเซ็นมีเทียนมัดและน้ำชะระบัดด้วยเท่านั้น ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ก็เคยเสด็จครั้งหนึ่งเป็นกระบวนรถ แต่ที่พระเจ้าลูกเธอไปทุกปีนั้นเลิกไป ด้วยเห็นว่าเป็นเวลาดึกมาก การซึ่งเสด็จพระราชดำเนินเก่าใหม่ และเจ้านายเสด็จไปนี้ ก็มีแต่เฉพาะวันแรมค่ำหนึ่งวันเดียว วัน ๕ ค่ำไม่มี ด้วยกลัวพิษดังกล่าวมาแล้ว

รุ่งขึ้นวันแรม ๒ ค่ำ พระมหาราชครูและพราหมณ์ทั้งปวงจัดของถวายเข้ามาตั้งในท้องพระโรง มีพาน ๒ ชั้น ข้าวตอก ๒ พาน นอกนั้นมีข้าวเม่า, กล้วย, มะพร้าวอ่อน, อ้อย เลยไปจนกระทั่งถึงขนมหลายสิบโต๊ะ เวลาเสด็จออกพระมหาราชครูถวายน้ำสังข์ พราหมณ์ ๒ คนเป่าสังข์ แล้วเจ้ากรมปลัดกรม ๓ คนยกพานข้าวตอกว่าอุลุบคนละครั้งครบ ๓ คราวแล้วเป็นเสร็จการ การที่ยกอุลุบนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ถ้าเจ้านายที่พระมารดาเป็นเจ้าควรรดน้ำพระเต้าเบญจคัพย์ และว่าสรรเสริญไกรลาสในเวลาเสด็จขึ้นพระอู่ได้แล้ว ก็ถวายอุลุบได้ เมื่อข้าพเจ้าเป็นพระเจ้าลูกเธออยู่ตั้งแต่เล็กมา ถ้าพราหมณ์มายกถวายอุลุบเมื่อใดก็โปรดให้ยกอุลุบให้ข้าพเจ้าครั้งหนึ่งทุกปีมิได้ขาด ในปีแรกที่จะยกพระมหาราชครูพิธี (พุ่ม) เป็นผู้ยกเอง ไม่ได้ตัดคำบรมราชาข้างท้าย รับสั่งว่าไม่ถูก ซึ่งเคยยกถวายพระองค์ท่านมาแต่ก่อน เคยตัดคำบรมราชาข้างท้ายออกเสีย แต่นั้นมาก็ยกอุลุบไม่มีคำบรมราชาตลอดมาจนข้าพเจ้าเป็นเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อลูกชายใหญ่โตขึ้น พระมหาราชครูพิธี (พุ่ม) ตายเสีย พระมหาราชครูเดี๋ยวนี้[] เป็นผู้ยกก็ว่าบรมราชาเรื่อยไป เห็นจะจำของเก่าไม่ได้ด้วยเลิกร้างมาเสียนาน เตือนก็รวมๆ ตกลงเป็นไหลกันอยู่จนบัดนี้ เมื่อเวลายกอุลุบถวายแล้วแจกเงินพระราชทานพระมหาราชครูปีหนึ่ง ๑๐ ตำลึงก็มี ๑๒ ตำลึงก็มี แต่ในเกณฑ์นั้น ๕ ตำลึง นอกนั้นเป็นรางวัลใช้ทุนที่เห็นของถวายมาก เจ้ากรมอีกคนหนึ่ง ๓ ตำลึง ปลัดกรม ๒ ตำลึง หลวงสุริยาเทเวศร์ตำลึงกึ่ง พราหมณ์นอกนั้นที่ทรงรู้จักคุ้นเคย ๔ บาทบ้าง กึ่งตำลึงบ้าง บาทหนึ่งบ้าง จนถึงสลึงหนึ่ง แล้วโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอที่รับอุลุบนั้นแจกด้วยคนละเล็กละน้อยอีกส่วนหนึ่ง ต่อนั้นไปพราหมณ์ไปถวายวังหน้าและเจ้านายและขุนนางทั้งปวง เขาจะแจกบ่ายกันอย่างไรไม่ทราบเลย แต่ปีหนึ่งก็จะได้มากๆ อยู่

ต่อนั้นไปก็ทำพิธีตรีปวายในสถานนารายณ์แห่งเดียว เช่นทำมาในวันแรมค่ำหนึ่งนั้นทุกวัน ตลอดจนถึงวันแรมห้าค่ำแห่พระนารายณ์อีกครั้งหนึ่ง กระบวนแห่ทั้งปวงก็เหมือนกันกับแห่พระอิศวร ยกเสียแต่เสลี่ยงหงส์ ในเสลี่ยงพระนั้นตั้งรูปพระนารายณ์ พระลักษมี พระมเหศวรี แห่ก่อนเวลาเดือนขึ้น เดินมาตามถนนบำรุงเมือง มาลงถนนสนามชัยเหมือนวันก่อน เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จพระราชดำเนินออกทรงจุดดอกไม้ และส่งเทวรูปน้อยมีแต่รูปพระนารายณ์องค์เดียว ตั้งบนพานทองสองชั้น แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้เสด็จออกบ้าง ไม่ได้เสด็จออกบ้าง ไม่ได้ออกเป็นพื้น ภูษามาลาก็นำเทวรูปมาถวายทรงเจิม และพรมสุหร่ายที่พระที่นั่งจักรี แล้วเชิญขึ้นเสลี่ยงกั้นกลดไปเหมือนอย่างแต่ก่อน การซึ่งทำพิธีในเทวสถานนั้นก็เหมือนกันกับที่สถานพระอิศวร แปลกแต่ตัวเวทมีถ้อยคำยักเยื้องกันไปบ้างเล็กน้อย และมีหนังด้วยเหมือนคราวส่งพระอิศวร การพระราชพิธีตรีปวายก็เป็นอันเสร็จลงในวันแรม ๕ ค่ำนั้น

ของพระราชทานในพระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวายสองพิธีนี้ พระมหาราชครูได้เงินทักษิณบูชาสถานละ ๖ บาท ทั้ง ๓ สถาน ค่ากุมภ์อีก ๒ สถานๆ ละบาทเฟื้อง คู่สวดสถานละ ๔ คน ได้คนหนึ่งวันละเฟื้อง สถานใหญ่ สถานกลาง มีพิธี ๑๐ วัน เป็นเงินสถานละ ๕ บาท สถานนารายณ์มีพิธี ๕ วัน เป็นเงิน ๑๐ สลึง ของบูชาเทวรูปสถานใหญ่ สถานกลาง สถานละ ๑๐ ตำลึง สถานนารายณ์ ๕ ตำลึง สีผึ้งหนัก ๕๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

อนึ่งในการพิธีตรียัมพวายตรีปวายนี้ พราหมณ์ได้มีการสมโภชเทวรูปและทำบุญตามทางพุทธศาสนาด้วย คือวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๒ เวลาบ่ายมีสวดมนต์ที่ในเทวสถาน ๑๑ รูป รุ่งขึ้นวันแรม ๖ ค่ำเวลาเช้าเลี้ยงพระที่สวดมนต์ สำรับที่เลี้ยงพระและไทยทานของพราหมณ์เอง ในเวลาเช้าวันเลี้ยงพระมีราษฎรพาบุตรหลานมาโกนจุกที่เทวสถาน มีจำนวนคนตั้งแต่ ๑๕๐ คนเศษขึ้นไปจน ๓๙๐ คน พระราชครูพิธีได้แจกเงินคนละเฟื้องทั่วกัน และแจ้งความว่ามีจำนวนมากขึ้นทุกปี ครั้นเวลาบ่ายมีเวียนเทียนเทวรูปของหลวงมีบายศรีตองซ้ายขวา แตรสังข์พิณพาทย์กลองแขกไปประโคมในเวลาเวียนเทียนด้วย ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[] พระครูอัษฎาจารย์คนนั้น ชื่อ เอียด หลวงสุริยาเทเวศร์ ชื่อ รุ่ง ต่อมาได้เป็นที่พระครูอัษฎาจารย์
[] พระมหาราชครูชื่อ อาจ เป็นบุตรพระมหาราชครูพุ่ม


เดือนยี่
การพระราชกุศลถวายผ้าจำพรรษา

๏ การพระราชกุศลอันนี้ เกิดมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาศัยเหตุที่ทรงพระปรารภเรื่องพระบรมอัฐิซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอารามบ้าง ด้วยพระราชประสงค์จะบำเพ็ญพระราชกุศลเพิ่มเติมให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ตามเยี่ยงอย่างผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาแต่โบราณได้ทำมาบ้าง จึงได้เกิดถวายผ้าจำพรรษาวัดอรุณราชวรารามและวัดราชโอรสขึ้น แต่วัดพระเชตุพนไม่มี ด้วยพระมาก เจ้านายในรัชกาลที่ ๑ ก็มีน้อยพระองค์เหลือเกินที่จะกะเกณฑ์ผู้ใด แต่กำหนดที่จะถวายเมื่อใดนั้นไม่แน่ สุดแต่ว่างราชการเวลาใดในเขตจีวรกาล คือตั้งแต่เดือน ๑๒ แรมค่ำหนึ่งไปจนถึงเดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำเป็นใช้ได้ทั้งสิ้น

การที่ทำนั้นเวลาค่ำก่อนวันที่จะเลี้ยงพระ พระสงฆ์สวดมนต์ในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม แต่ไม่ได้เป็นการเสด็จพระราชดำเนิน ครั้นรุ่งขึ้นจึงเสด็จพระราชดำเนินเลี้ยงพระ พระสงฆ์ฉันในพระอุโบสถสำรับหลวง ๒๐ รูป พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เคยเสด็จทรงเลี้ยงพระ เป็นส่วนในพระบวรราชวังที่พระวิหาร ๑๐ รูป ต่อมาว่างวังหน้าก็ไม่มีส่วนวังหน้า เมื่อวังหน้ามีก็เป็นส่วนวังหน้า ๑๐ รูป นอกนั้นแต่ก่อนเกณฑ์เจ้านายในรัชกาลที่ ๒ ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ไม่เกณฑ์เจ้านายสำรับอื่น ครั้นเมื่อท้ายรัชกาลที่ ๔ เจ้านายรัชกาลที่ ๒ บกพร่องไปบ้าง จึงโปรดให้เจ้านายลูกเธอบางองค์ที่ทรงพระเจริญแล้วช่วยด้วยบ้าง ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้เจ้านายในรัชกาลที่ ๒ ยิ่งน้อยลง ก็ต้องเกณฑ์เจ้านายราชวรวงศ์ และน้องเธอ และวรวงศ์เธอเข้าช่วย จนภายหลังมานี้ต้องเป็นอันรับสองบ่าทั้งเจ้านายราชวรวงศ์และน้องเธอ คือราชวรวงศ์ต้องถูกเลี้ยงพระวัดราชโอรสด้วย น้องเธอต้องถูกเลี้ยงพระวัดราชประดิษฐ์ด้วย ปีหนึ่งต้องถูกเกณฑ์เลี้ยงพระหลายๆ องค์ ของหลวงนั้นเลี้ยงพระแล้วถวายผ้าขาวเป็นของสงฆ์ ๒๐ พับ พระที่ฉันถวายสบง, ร่ม, รองเท้า, หมากพลู, ธูปเทียน และอ่างมังกรบรรจุข้าวสารผักปลา จ่ายเงินให้มหาดเล็กนายเวรหุ้มแพร ๔ เวรให้เป็นผู้จัดเป็นเงินอ่างละ ๑ บาท ในเย็นวันนั้นสวดมนต์วัดราชโอรส รุ่งขึ้นเลี้ยงพระเหมือนวัดอรุณ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเลย แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้เสด็จบ้างบางปี พระสงฆ์ที่ฉันส่วนของหลวงในวัดราชโอรสลดลงเป็น ๑๐ รูป ผ้าขาว ๑๐ พับ ของไทยทานก็เหมือนวัดอรุณ ส่วนเจ้านายนั้นในสองวัดนี้ท่านเคยสดับปกรณ์พระบรมอัฐิทุกปี แต่ไม่เป็นการมากมายอันใด คือองค์ละร้อยเฟื้องหรือร้อยสลึง หรือใบชาร้อยห่อ เป็นสดับปกรณ์สามัญแต่เฉพาะเจ้านายในแผ่นดินนั้น เจ้านายอื่นๆ ที่ขอแรงไปช่วยก็ไม่ได้มีผู้ใดทำ การซึ่งทรงพระราชดำริให้มีถวายผ้าจำพรรษาขึ้นแต่แรกนี้ ก็ดูเป็นที่นิยมยินดีของเจ้านายฝ่ายในที่ได้เป็นเวลาไปเที่ยวคราวหนึ่ง ได้พบปะกันกับเจ้านายผู้ชายที่เป็นพี่น้อง และพระญาติวงศ์ที่เป็นผู้ชายมาเฝ้าถวายข้าวของกันเป็นของเรือกของสวนต่างๆ เมื่อกลับมาแล้วก็นำของถวายที่ได้มานั้นขึ้นถวายทุกๆ พระองค์ และยังเล่ากันถึงวันนั้นไปได้นานๆ เป็นการสนุกหนุงหนิงรื่นเริงมาก แต่ครั้นภายหลังมาซ้ำทุกปีๆ เข้าก็จืด ชักให้เจ้านายทรงเกียจคร้านไม่ใคร่เสด็จ และการที่เกณฑ์สำรับนั้นก็มากขึ้นๆ ตามลำดับ ด้วยสิ้นพระชนม์ไปองค์หนึ่งผู้ยังอยู่ก็รับมรดก ถูกเข้าองค์หนึ่งถึง ๔ ถึง ๕ ทุนรอนก็บกพร่องเข้าไปจนเหลือสนุก ส่วนผู้ซึ่งเคยมาเฝ้ามาแหนก็ล้มตายหายจากหรือเบื่อหน่ายไปด้วยกัน ในชั้นหลังมานี้เป็นการฝืดเต็มที เห็นว่าการเรื่องถวายผ้าจำพรรษานี้ หน้าที่จะต้องเป็นการผลัดเปลี่ยนไปตามสมัย ด้วยมีตัวอย่างวัดพระเชตุพนก็เคยยกเว้นมาแล้ว ถ้าจะยืนอยู่เช่นนี้ต่อไปเจ้าแผ่นดินมากขึ้นๆ วัดก็คงจะต้องมีทุกองค์ เจ้านายในรัชกาลก่อนๆ หมดไป ต้องเกณฑ์เจ้านายที่ยังมีอยู่ไปใช้เนื้อแทนก็คงจะต้องเกณฑ์มากขึ้น จนถึงเจ้านายองค์หนึ่งต้องเลี้ยงพระเก้ารูปสิบรูปหรือยี่สิบรูปก็เห็นจะมากเกินไปนัก ถ้าเจ้านายในรัชกาลไหนสิ้นไปแล้วควรจะยกเว้นวัดนั้นได้ คงไว้แต่ผ้าขาวของหลวงที่เป็นส่วนของสงฆ์ก็เห็นจะดี แต่ถ้าจะทำเช่นนี้เข้า เขาจะนินทาว่าทำให้ผิดอัปริหานิยธรรมหรืออย่างไรก็ไม่แน่ใจ แต่เจ้านายคงเห็นด้วยโดยมาก จะเป็นก็แต่ที่อารามและในเวลานี้ก็ยังไม่ควรที่จะจัดด้วย จึงตกลงเอาเป็นพักไว้ที

แต่วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธสองวัดนี้ เป็นคนละอย่างกันอยู่กับวัดอรุณ วัดราชโอรส วัดราชประดิษฐ์นั้นคิดว่าถ้าธรรมเนียมที่มีสามัญสมาชิกในหอสมุดวชิรญาณยังคงอยู่ตราบใด การเลี้ยงพระถวายผ้าจำพรรษาคงยังมีอยู่ได้ไม่มีที่สุด ด้วยเหตุว่าส่วนเงินค่าเช่าตึกหน้าวัดประยูรวงศาราม ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอแบ่งเป็น ๔๔ ส่วน ตามพระราชประสงค์เดิมนั้น ข้าพเจ้าได้เอามาแบ่งเป็น (๕๘) ส่วนแจกให้แก่เจ้านายที่มีตัวอยู่พอให้ทั่วกัน แล้วมีข้อบังคับสำหรับที่จะเป็นส่วนแบ่งปันสืบไปภายหน้าไว้ว่า ส่วนซึ่งแบ่งไว้เป็น (๕๘) ส่วนนั้น ไปแบ่งเป็นส่วนเดิม ๔๔ ส่วนพิเศษ (๑๔) ถ้าเจ้านายซึ่งเป็นเจ้าของส่วนเดิมสิ้นพระชนม์ ยกส่วนเดิมให้แก่ผู้ซึ่งได้ส่วนพิเศษ ถ้าเจ้านายผู้ซึ่งได้รับส่วนเดิมเปลี่ยนส่วนพิเศษแล้ว หรือได้แต่ส่วนพิเศษอยู่สิ้นพระชนม์ไป ให้ยกส่วนพิเศษนั้นเสีย เมื่อต่อไปภายหน้าเหลือแต่ส่วนเดิม ๔๔ ส่วนแล้ว จะไม่แจกส่วนให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งซ้ำเป็นสองส่วนสามส่วนต่อไป จะเลือกคัดผู้ซึ่งเนื่องในพระราชวงศ์ หรือผู้ที่ได้มีอุปการะแก่ราชตระกูลอันสืบมาแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้รับส่วนให้คงอยู่ ๔๔ ส่วนเสมอ ผู้ซึ่งได้รับส่วนทั้ง ๔๔ นั้น นับเป็นสามัญสมาชิกในหอสมุดวชิรญาณ พระสงฆ์วัดราชประดิษฐ์คงไม่มีมากเกินกว่า ๔๙ รูป คือเป็นส่วนสำรับหลวง ๕ รูป ส่วนสามัญสมาชิก ๔๔ รูป สามัญสมาชิกคงต้องเกณฑ์เลี้ยงพระปีละครั้งเสมอคนละรูปเท่านั้น จึงเห็นว่าถ้าธรรมเนียมที่แจกเงินค่าเช่าตึกหน้าวัดประยูรวงศ์ และหอสมุดนี้ยังคงอยู่ตราบใด การเลี้ยงพระถวายผ้าจำพรรษาวัดราชประดิษฐ์ยังจะคงอยู่ได้ตราบนั้น

แต่การเลี้ยงพระถวายผ้าจำพรรษาวัดราชประดิษฐ์ในปัจจุบันนี้ ก็มีสวดมนต์ต่อกันกับวันเลี้ยงพระวัดราชโอรส รุ่งขึ้นเสด็จเลี้ยงพระ แต่พระสงฆ์มีน้อยไม่พอเจ้านายที่มีตัว ก็คงเป็นแต่ของหลวงและเจ้านายพี่นางน้องนางเธอต้องเกณฑ์ แต่ท่านพวกนี้ท่านเล่นกันใหญ่ มีของถวายพระองค์ละรูป ลงทุนลงรอนกันองค์ละมากๆ แล้วซ้ำมีสดับปกรณ์เหมือนอย่างเช่นท่านแต่ก่อนท่านทำกันมาในสองวัดนั้นด้วย ผ้าของสงฆ์ส่วนหลวง ๕ พับ

แต่ส่วนวัดราชบพิธนั้นเป็นคนละเรื่องคนละอย่างกับสามวัดนี้ เดิมก็ไม่ได้มีมา ครั้นเมื่อเกิดขึ้นก็ไม่มีสวดมนต์สวดพรอันใด ไม่เป็นราชการแท้ เหตุที่ปรารภมีขึ้นนั้นเพราะเวลาเช้าๆ ออกไปเที่ยวที่สวนสราญรมย์ในเขตจีวรกาล เกิดคิดพร้อมกันขึ้นอยากจะไปเที่ยวที่วัดอย่างหนึ่ง เพราะมีศพลูกเล็กๆ ที่ไม่ได้เผา ฝังทิ้งไว้ในวัด และมีกระดูกไปฝังไว้ในวัด เป็นโอกาสที่จะหาช่องไปทำบุญเยี่ยมเยือนที่ฝังศพฝังกระดูกอีกชั้นหนึ่งจึงได้มีขึ้น แต่ภายหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ[] ท่านทรงเห็นเป็นการเถื่อนๆ ไม่เข้าแบบเข้าอย่างไป ท่านก็ไปเกณฑ์ให้พระสวดมนต์คล้ายๆ กับสามวัด การที่เลี้ยงพระนั้นยังคงอยู่ตามเดิม เมื่อตอนแรกๆ ลูกน้อยกว่าพระก็เกณฑ์ให้หาสำรับเลี้ยงพระคนละองค์ เหลือนั้นเป็นของเจ้านายและเจ้าจอมมารดาที่ได้ผลประโยชน์มาก สุดแต่มีพระมากน้อยเท่าใดก็เกณฑ์ลงไปตามลำดับ ครั้นทีหลังลูกมากขึ้นเท่าพระก็คงเกณฑ์แต่ลูก เมื่อลูกมากไปกว่าพระก็เกณฑ์ท้องละคนหนึ่งบ้างสองคนบ้าง รวมกันเป็นสองคนต่อสำรับก็มีคนเดียวก็มี แต่เป็นสำรับเจ้าของหามาไม่ใช่ของหลวงทั้งสิ้น เมื่อฉันแล้วเจ้าของสำรับถวายไทยทานแก่พระสงฆ์ กำหนดให้มีเพียงจีวรหรือสบงผืนหนึ่ง กับไทยทานเล็กน้อย แต่ก็ไม่ฟังกัน หาไทยทานไปคนละมากๆ เกือบเป็นขึ้นกุฏิ มีผ้าไตรทุกคน คิดดูราคาของที่ซื้อคนหนึ่งอย่างแรงถึงสามชั่ง อย่างต่ำเพียงชั่งหนึ่ง ทำเช่นนี้มาหลายปี จนเมื่อปีกุนนพศกคิดเห็นว่าของซึ่งลงทุนซื้อมาเป็นราคามาก ส่วนพระสงฆ์ผู้ที่ได้รับไปนั้น ที่ชอบและต้องการใช้ก็มี ที่ไม่ชอบใจไม่ต้องการ จะไปเก็บตั้งทิ้งไว้ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด เหมือนอย่างเป็นของไม่มีราคา ก็มักจะเอาของนั้นไปเลหลังแลกเปลี่ยนเอาสิ่งของที่ต้องการใช้โดยราคาถูก ส่วนผู้ที่ลงทุนนั้นต้องลงทุนมาก แต่ประโยชน์ผู้ได้ได้น้อยไป มีประโยชน์อยู่แต่ผู้ขายของ จึงคิดเห็นว่าเสนาสนะซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ ก็เป็นเครื่องเกื้อกูลแก่ความสุขของพระสงฆ์ทั่วกัน ไม่เฉพาะหน้า และพระสงฆ์ที่ป่วยไข้ขัดสนก็มี ควรจะยกเงินค่าซื้อของนี้ ไว้เป็นสำหรับปฏิสังขรณ์เสนาสนะ และสำหรับเป็นคิลานภัตรพระสงฆ์ป่วยไข้เป็นต้น จึงได้ทูลปรึกษาพระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากรและพระสงฆ์ในวัดราชบพิธก็เห็นชอบด้วยพร้อมกัน จึงได้จัดการที่เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ในปีกุนนพศก ให้มีแต่สำรับและผ้าธูปเทียนหมากพลู แล้วให้เรี่ยไรเจ้าลูกเธอเสมอองค์ละชั่งทั่วกัน รวมเงินนั้นไว้เป็นของกลางสำหรับวัดเช่นกล่าวมาแล้ว ส่วนผ้าซึ่งถวายเป็นของทั่วไปนั้น คือบรรดาเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมอยู่งานมีผ้าสบงบ้างผ้าชุบอาบน้ำบ้าง คนหนึ่งตั้งแต่ ๒๐ ผืนลงมาจนผืนหนึ่ง ไปกองกลางโบสถ์แล้ว ว่าคำถวายตามธรรมเนียมถวายผ้าอย่างธรรมยุติกนิกาย ตามแต่พระสงฆ์จะแบ่งผ้ากันเอง ส่วนของหลวงมีแต่เบี้ยหวัด วัดราชประดิษฐ์ถวายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดราชบพิธถวายพระองค์เจ้าพระอรุณ เป็นการนอกธรรมเนียมส่วนพระคลังข้างที่ เมื่อเสร็จการเลี้ยงพระแล้วจึงออกไปทำบุญที่ๆ ฝังศพฝังกระดูกวางพวงมาลัยดอกไม้ ซึ่งเก็บจากในสวนสราญรมย์ทำไปสำหรับที่ทุกๆ แห่ง หรือผู้อื่นใครจะมีไปก็ตาม เที่ยววางตามชอบใจ แล้วทอดผ้าสดับปกรณ์ของหลวง ผ้าขาวพับเท่าจำนวนพระสงฆ์สามเณรในวัดนั้น เที่ยวทอดไว้ตามที่ฝังศพและฝังกระดูกไม่เป็นกำหนดแน่ว่าแห่งใดเท่าใดนัก ส่วนมารดาญาติพี่น้องของศพและกระดูกนั้น ก็มีของทำบุญไปทอดไว้ที่ๆ ฝังศพที่ฝังกระดูกตามแต่ใครจะมีมากน้อยเท่าใด แล้วพระสงฆ์จึงออกมาชักเป็นผ้าบังสุกุล ตามแต่จะแบ่งปันกัน เป็นเสร็จการทำบุญที่วัดราชบพิธ

การซึ่งเก็บเงินค่าของไทยทานรวมเป็นเงินกลางนี้ เจ้านายพี่นางน้องนางเธอ น้องยาเธอ คิดเห็นชอบด้วยหลายองค์ นัดกันไว้ว่าในปีชวด สัมฤทธิศกนี้ จะออกเงินเรี่ยไรสำหรับวัดราชประดิษฐ์บ้าง แต่คิดกำหนดกันว่า จะตั้งจำนวนเพียงองค์ละ ๕ ตำลึง ด้วยวัดราชบพิธนั้นจะลดจากจำนวนเดิมลงมามากนักไม่ควร จึงคงเป็นองค์ละชั่ง ถึงว่าจะเป็นเงินลดต่ำลงกว่าจำนวนเดิมบ้าง ก็ยังมีส่วนผู้ที่เกิดใหม่เพิ่มขึ้นใช้เนื้อ และผู้ซึ่งถูกเกณฑ์รวมกันเป็นสองคนต่อสำรับ ก็ต้องแยกกันออกไปเป็นคนละชั่ง เงินไม่ต่ำกว่าจำนวนราคาสิ่งของที่พระสงฆ์ได้อยู่แต่ก่อนนัก แต่เพราะลงทุนเดิมไว้แรงเสียแล้วเงินจึงได้สูงอยู่ ส่วนวัดราชประดิษฐ์นี้เจ้านายข้างหน้าไม่ได้ถูก จึงคิดเฉลี่ยที่เจ้านายข้างในเคยเสียอยู่แบ่งเฉลี่ยออกมาข้างหน้า ก็เห็นว่าจะไม่ต่ำกว่าแต่ก่อน แต่การซึ่งเรี่ยไรเงินสำหรับวัดนี้ ไม่เป็นหน้าที่ของผู้ซึ่งเป็นสามัญสมาชิกของหอสมุดซึ่งมิได้เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะต้องเสีย เป็นแต่จะขอแรงให้เลี้ยงพระอย่างเดียว เมื่อเจ้านายที่เป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหมดไปแล้ว เงินส่วนกลางนี้ก็ต้องเป็นอันหมดไปด้วยอยู่เอง

ส่วนวัดราชบพิธนั้น ในเรื่องเงินเรี่ยไรก็เหมือนกันกับวัดราชประดิษฐ์ แต่ไม่เป็นการจำเป็นที่สามัญสมาชิกในหอสมุดเดี๋ยวนี้จะต้องไปเลี้ยงพระเหมือนอย่างวัดราชประดิษฐ์ ได้คิดไว้ว่าจะหาประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด เป็นส่วนสำหรับให้แก่หอสมุดทำนองเดียวกันกับตึกหน้าวัดประยูรวงศ์ ให้มีสามัญสมาชิกขึ้นใหม่อีกพวกหนึ่ง เป็นการเกื้อกูลแก่หอสมุด และสำหรับเลี้ยงพระวัดราชบพิธต่อไปด้วย แต่การนี้ยังหาสำเร็จตลอดไปไม่

คำตักเตือนสำหรับถวายผ้าจำพรรษาที่วัดอรุณ วัดราชโอรส ถ้าเสด็จก็มีเครื่องสำหรับขาดต้องโวยวายอยู่ ๒ สิ่ง คือพานเทียนและพระเต้าษิโณทก แต่ที่วัดราชประดิษฐ์นั้นมีวิเศษออกไป คือมหาดเล็กต้องรับเบี้ยหวัดสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จากข้างในออกไปคอยถวายในเวลาเมื่อเลี้ยงพระแล้ว อาลักษณ์ต้องเขียนตั๋วเตรียมไว้ด้วย แต่ส่วนวัดราชบพิธนั้นเป็นกระบวนข้างใน อาลักษณ์ต้องส่งตั๋วเข้ามาข้างใน นอกนั้นก็ไม่มีการ ๚
 
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[] คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 15:41:46 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2561 16:44:53 »



พระราชพิธีเดือนสาม
• พิธีศิวาราตรี
• การพระราชกุศลมาฆบูชา
• การพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน
-----------------------------------

๏ การพระราชพิธีในเดือนสามนี้ กฎมนเทียรบาลจดบัญชีไว้ว่าพิธีธานยเทาะห์ แต่ในจดหมายขุนหลวงหาวัดจดไว้ว่าธัญเทาะห์ เนื้อความก็เป็นอย่างเดียวกัน คือพิธีเผาข้าว ซึ่งเรียกกันเป็นภาษาไทยก็เรียก แต่ในกฎมนเทียรบาลจำหน่ายตำราสูญว่าเผาข้าวไม่มี ในจดหมายคำให้การขุนหลวงหาวัดเล่าถึงตำราพระราชพิธีนี้ว่า พระจันทกุมารเป็นผู้ฉลองพระองค์ออกไปทำการพิธี ตั้งโรงพิธีที่ทุ่งนา เห็นจะเป็นทุ่งหันตราซึ่งเป็นทุ่งนาหลวง มีกระบวนแห่ออกไปเช่นแรกนา แล้วเอารวงข้าวมาทำเป็นฉัตรปักไว้หน้าโรงพิธี พระจันทกุมารนั่งที่โรงพิธี แล้วจึงเอาไฟจุดรวงข้าวที่เป็นฉัตรนั้นขึ้น มีคนซึ่งแต่งตัวเสื้อเขียวพวกหนึ่ง เสื้อแดงพวกหนึ่ง สวมเทริด ท่วงทีจะคล้ายๆ กับอินทร์พรหมหรือโอละพ่อ สมมติว่าเป็นพระอินทร์พวกหนึ่ง พระพรหมพวกหนึ่ง เข้ามาแย่งรวงข้าวกัน ข้างไหนแย่งได้มีคำทำนาย แต่คำทำนายนั้นก็คงจะอยู่ในเค้าพิธีกะติเกยาดีทั้งนั้น

การซึ่งทำพิธีเสี่ยงทายเช่นนี้มีบ่อยๆ หลายพิธี ผู้ซึ่งจะแรกคิดพิธีขึ้นนั้น คงจะเป็นคนที่มีใจหวาดหวั่นต่อภัยอันตราย อยากรู้ล่วงหน้าว่าจะดีจะร้ายอย่างใดอยู่เสมอๆ แต่ไม่มีท่าทางที่จะรู้ได้เช่นนั้นให้ได้ทันใจทุกคราว เพราะจะแหงนดูดาวดูฟ้าลางทีเฉยๆ อยู่ก็มีเหตุมีการได้ หรือไม่รู้ได้ทันใจก็ต้องเล่นเสี่ยงทายอย่างเดียวกันกับแทงพระบท[] เป็นการแก้กระหายไปคราวหนึ่งๆ ถ้าไม่ฉะนั้นก็จะเป็นอุบายซึ่งจะระงับใจคนที่ฟุ้งซ่านซึ่งเชื่อนิมิตเชื่อลาง แล้วคิดการทุจริตเป็นผีซ้ำด้ำพลอยให้เกิดการยุ่งยิ่งหยุกหยิกขึ้น เมื่อเห็นว่าเสี่ยงทายได้นิมิตดีอยู่ ก็จะไม่อาจคิดอ่านฟุ้งซ่านฝืนฟ้าและดินไปได้ จึงได้พอใจเสี่ยงทายให้คนเห็นมากๆ เป็นการแสดงน้ำใจฟ้าดินและพระบารมีของพระเจ้าแผ่นดินให้เป็นที่เกรงขามแก่คนทั้งปวง แต่ครั้นเมื่อการซ้ำเข้าทุกๆ ปีดีเหมือนกันเป็นตีพิมพ์ก็กลายเป็นจืดไปไม่ต้องถามถึง จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นโคมลอย แต่ในการพิธีเผาข้าวนี้มีจดหมายในพระราชพงศาวดารแผ่นดินพระบรมราชาธิราช ซึ่งเรียกกันตามปรกติของแผ่นดินที่ล่วงหน้าไปก่อนหน้าแผ่นดินปัจจุบันว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

ขออธิบายนอกเรื่องหน่อยหนึ่ง ว่าการที่เรียกพระบรมราชาธิราชพระองค์นี้ ว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศติดมาจนปัจจุบันนี้นั้น เพราะเป็นพระราชบิดาของเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต ที่เรียกกันว่าขุนหลวงหาวัด ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๒ และเจ้าฟ้าเอกทัศน์ ซึ่งเป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรีพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ที่สุดบรมราชวงศ์นั้น คำที่เรียกในพระบรมโกศ เรียกมาแต่แผ่นดินของพระองค์ที่ออกพระนามก่อนแต่อยู่ในราชสมบัติน้อยวัน และยังทรงพระชนม์อยู่ไม่ได้เป็นที่ในพระบรมโกศแทนพระองค์ก่อน ฉายาบรมโกศจึงได้ติดอยู่ในพระบรมราชาธิราชซึ่งเป็นผู้อยู่ในพระบรมโกศภายหลังใครๆ หมด การซึ่งเรียกติดต่อมาถึงที่กรุงเทพฯ นี้ก็ด้วยเหตุว่า เจ้านายและข้าราชการก็ล้วนแต่เป็นขุนนางเก่า เคยเรียกติดปากมาแต่กรุงยังไม่เสียแล้ว และพระเจ้าแผ่นดินซึ่งสิ้นพระชนม์ภายหลัง ก็เป็นพระองค์ที่สุดซึ่งไม่ได้ทรงพระบรมโกศ เป็นแต่ลงหีบฝังไว้ เมื่อจะถวายพระเพลิงก็ต่อลุ้งพอสังเขปถวายพระเพลิง ถ้าจะเรียกพระบรมหีบหรือพระบรมลุ้งก็ดูขัดอยู่ จึงได้ออกพระนามเฉไปเป็นพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ที่ว่านี้ในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้า แต่ครั้นเมื่อล่วงมาตั้งแต่แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้าลงมา พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดที่สวรรคตลงใหม่ ก็เรียกว่าในพระบรมโกศทุกพระองค์ แต่ในพระบรมโกศเก่าท่านไม่มีฉายาอื่น ก็คงเรียกในพระบรมโกศอยู่ตามเดิม แต่มักจะเข้าใจกันเฉๆ ไป มีผู้ถามข้าพเจ้าว่าทำไมท่านถึงชื่อโกศเช่นนั้น ถ้าชื่อแต่ยังมีพระชนม์อยู่ก็ดูเป็นการทักเต็มที ก็ต้องอธิบายตามเช่นกล่าวมานี้ ส่วนที่กรุงเทพฯ นี้ พระเจ้าแผ่นดินเคยไม่โปรดให้เรียกในพระบรมโกศมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓ แล้ว ครั้งนั้นเรียกพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๑ ว่า พระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศบ้าง แผ่นดินต้นบ้าง เรียกพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ ว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศบ้าง แผ่นดินกลางบ้าง จึงได้โปรดให้ออกพระนามตามพระนามพระพุทธปฏิมากรในวัดพระศรีรัตนศาสดารามว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นเสียชั้นหนึ่งแล้ว ครั้นพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๓ สวรรคต ก็กลับเรียกพระนามเป็นพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศขึ้นอีก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด จึงได้ถวายพระนามเสียเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนฉายาที่ว่าพระที่นั่งนี้พระที่นั่งนั้น และมีคำประกาศกริ้วไว้ก็มี ส่วนพระองค์เองก็ทรงตั้งพระนามเสียเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว เพื่อจะกันในพระบรมโกศ และจะกันพระที่นั่งนี้พระที่นั่งนั้นด้วย แต่ครั้นสวรรคตลงก็ไม่ฟัง ขืนเรียกกันไปทั้งแผ่นดินแผ่นทราย เรียกไม่ใช่เรียกเปล่าๆ ค่อนเป็นทักข้าพเจ้าอยู่ด้วย ตามกิริยาและเสียงที่เรียกกับทั้งเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานั้น ถ้าผู้ใดได้อ่านพระราชพงศาวดารในท่อนแผ่นดินพระบรมโกศกับแผ่นดินสุริยามรินทร์ก็พอจะคะเนเค้าได้บ้าง แต่ผู้ซึ่งเรียกไม่ได้คิดจะทัก เป็นแต่พูดตามเขาไปนั้นมีโดยมาก แต่ถึงจะนึกอย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าไม่ชอบใจในถ้อยคำที่จะเรียกเช่นนั้น ให้ออกรำคาญใจ เห็นเป็นเขาทักอยู่ร่ำไป จึงได้ฝืนแก้เสียจนสงบหายไปได้นานมาแล้ว ยังอยู่แต่คนแก่คนเฒ่าที่ซึมซาบไม่รู้หายเพ้อเจ้อไปบ้างไม่ควรจะถือ บัดนี้จะขอกล่าวถึงเรื่องความในพระราชพิธีนั้นต่อไป ในพระราชพงศาวดารแผ่นดินพระบรมโกศนั้นจดหมายไว้ว่า ถึงหน้านวดข้าวเสด็จออกไปที่นาหลวงทุ่งหันตรา บรรทุกข้าวลงในระแทะ แล้วให้พระราชวงศานุวงศ์และพระสนมกำนัลฝ่ายในเข็นข้าวเข้ามาในพระราชวัง แล้วเอาพวนข้าวทำฉัตรใหญ่ และยาคูไปถวายพระราชาคณะตามพระอารามหลวงทุกปีมิได้เว้น การเข็นข้าวตามที่ว่านี้ต่อกันกับพิธีเผาข้าว ในแผ่นดินพระบรมโกศนี้เล่นพิธีมาก ด้วยเป็นฤดูเวทมนตร์คาถาอยู่คงกระพันชาตรีหมอดูกระทำขลังนัก รวบรวมใจความลงว่า การพิธีเผาข้าวนี้เป็นการคู่กันกับพิธีจรดพระนังคัล เพื่อให้เป็นการสวัสดิมงคลแก่ธัญญาหาร ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับพระนคร ได้ข้อความตามพิธีเผาข้าวแต่เท่านี้ ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[] ตําราหมอดูโบราณสําหรับใช้เสี่ยงทายโดยวิธีเอาไม้แทง


เดือนสาม
พิธีศิวาราตรี

๏ ส่วนการพิธีของพราหมณ์  ซึ่งเรียกว่าศิวาราตรี ซึ่งเป็นพิธีมีมาแต่โบราณ จะขาดสูญเสียแต่ครั้งใดก็ไม่ปรากฏ ตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้มายังไม่เคยทำ พึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหมู่กริ้วพระสงฆ์ว่าไม่ทำปวารณาและไม่ทำอุโบสถในวันอุโบสถ เป็นการละเลยข้อสำคัญตามวินัยบัญญัติเสีย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในเดือนสิบเอ็ด

ส่วนพิธีศิวาราตรีนี้ เป็นพิธีลอยบาปของพราหมณ์คล้ายๆ มหาปวารณา จึงโปรดให้ทำตามธรรมเนียมเดิม พิธีนี้ทำในเดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ คือเวลาค่ำพระมหาราชครูทำพิธีเริ่มแต่กระสูทธิ์อัตมสูทธิ์ตามแบบเหมือนพิธีทั้งปวง แล้วเอาเสาปักสี่เสา เชือกผูกคอหม้อโยงเสาทั้งสี่ ภายใต้หม้อตั้งพระศิวลึงค์ เจาะหม้อให้น้ำหยดลงมาได้ทีละน้อย เอาขลังสอดไว้ในช่องหม้อที่เจาะนั้นเฉพาะตรงพระศิวลึงค์ ให้น้ำหยดลงถูกพระศิวลึงค์ทีละน้อยแล้วไหลลงมาตามรางซึ่งรองรับพระศิวลึงค์ ซึ่งพราหมณ์ในประเทศอินเดีย ซึ่งข้าพเจ้าเคยไปเห็นเรียกว่าโยนิ แล้วมีหม้อรองที่ปากรางนั่น เติมน้ำและเปลี่ยนหม้อไปจนตลอดรุ่ง เวลาใกล้รุ่งทำพิธีหุงข้าวหม้อหนึ่งในเทวสถาน เจือน้ำผึ้งน้ำตาลนมเนยและเครื่องเทศต่างๆ สุกแล้วแจกกันกินคนละเล็กคนละน้อยทุกคนทั่วกัน พอได้อรุณก็พากันลงอาบน้ำในคลอง สระผมด้วยน้ำที่สรงพระศิวลึงค์ ผมที่ร่วงในเวลาสระนั้นเก็บลอยไปตามน้ำ เรียกว่า ลอยบาป เป็นการเสร็จพิธีศิวาราตรีในวันเดียวนั้น แต่การพิธีนี้ไม่มีของหลวงพระราชทาน เป็นของพราหมณ์ทำเอง เมื่อพิเคราะห์ดูการที่ทำนี้เห็นว่าจะเป็นการย่อมาเสียแต่เดิมแล้ว

ในเมืองเบนนารีส คือเมืองพาราณสี ซึ่งข้าพเจ้าเคยไปเห็นเองในที่นั้น เบื้องหน้าแต่เวลาจวนอรุณ พราหมณ์ทั้งปวงนับด้วยพันคน มีหม้อทองเหลืองคนละใบทูนศีรษะเดินลงไปริมฝั่งแม่น้ำคงคา นั่งที่แท่นก่อบ้าง ก้อนศิลาในน้ำบ้าง เอาหม้อทองเหลืองตักน้ำขึ้นมาเสกบ่นแล้วบ้วนปากล้างหน้า เสกอะไรต่อไปอีกหน่อยหนึ่ง แล้วโดดลงในน้ำดำศีรษะลงในน้ำสามครั้ง แล้วควักดินที่ท่านั้นมาถูตัวแทนสบู่ เวลาจะถูก็บริกรรมคาถาอะไรอีกแล้วอาบน้ำล้างตัวหมดจดนุ่งผ้าห่มผ้า เอาหม้อทองเหลืองตักน้ำทูนศีรษะเดินมาที่วัดพราหมณ์ ในวัดนั้นมีที่ไว้เทวรูป สัณฐานเหมือนปรางค์อย่างโบราณ มีมุขยื่นออกมา ที่มุขนั้นพราหมณ์หรือฤๅษีกลายๆ ยืนอยู่ มีพวงมาลัยดอกดาวเรืองร้อยสวมดอกกองอยู่เป็นอันมาก ที่รอบบริเวณเทวสถานนั้นมีเป็นระเบียงคล้ายพระระเบียงล้อมรอบ ในระเบียงนั้นมีโคสีเทาๆ คล้ายกับที่เชระนี[] เอามาเล่นเซอคัส ล่ามแหล่งไว้หลายตัว ในลานตั้งแต่เทวสถานถึงระเบียงรอบนั้นประมาณสัก ๑๐ วาโดยรอบ เต็มไปด้วยศิวลึงค์ตั้งอยู่บนฐานที่เรียกว่าโยนิ สูงตั้งแต่ ๕ นิ้ว ๖ นิ้วขึ้นไปจน ๒ ศอก เศษ ๒ ศอก หลายร้อยจนนับไม่ถ้วน ที่อย่างเล็กๆ เพียงนิ้วหนึ่งสองนิ้ว ตั้งไว้บนฐานบัทม์ของเทวสถานก็มีโดยรอบ หล่อด้วยทองเหลืองก็มี ทำด้วยศิลาก็มี เมื่อคนที่เข้าไปพอถึงประตูเทวสถาน ท่านฤๅษีหรือพราหมณ์ผู้ใหญ่ที่อยู่บนมุขเทวสถานนั้นโยนพวงมาลัยดอกดาวเรืองมาเฉพาะสวมคอทุกครั้ง เมื่อข้าพเจ้าไปนั้นไม่รู้ตัวว่าจะเล่นกันอย่างไร เป็นแต่บอกว่าถ้าจะเข้าไปดูต้องถอดรองเท้า ขุนนางอังกฤษที่เป็นผู้พาไปนั้นก็ต้องยอมถอดรองเท้าเข้าไปเหมือนกัน พอโผล่ประตูเข้าไปรู้สึกว่าอะไรหวิวลงมาที่หัว แลดูเห็นพวงมาลัยดอกดาวเรืองสวมคออยู่แล้ว ยังไม่รู้ว่ามาจากแห่งใด ต่อคนที่ตามเข้าไปภายหลังได้รับพวงมาลัยนั้นอีก จึงได้เห็นว่าท่านฤๅษีคนนั้นขว้างแม่นอย่างเอก ถี่เร็วฉับๆ ไม่ได้ขาดมือเลย เห็นคนที่เข้าไปก่อนๆ นั้น เอาน้ำในหม้อทองเหลืองที่ทูนศีรษะไปรดศิวลึงค์ แล้วเอาหม้อใบนั้นเองรองน้ำที่ไหลทางรางแล้วเดินทูนศีรษะกลับออกมา ในพื้นลานเทวสถานนั้นเป็นน้ำนองเปรอะไปทั้งสิ้น บางคนจึงจะไปไหว้วัว แต่ที่เข้าไปรดน้ำแล้วกลับนั้นมีโดยมาก ถามได้ความว่าศิวลึงค์ที่มากแน่นเต็มไปเช่นนี้ สุดแต่เกิดมาเป็นพราหมณ์พวกนั้นแล้วต้องสร้างศิวลึงค์รูปหนึ่งๆ ทุกคนสำหรับที่จะรดน้ำสระหัว วัดหรือเทวสถานเช่นนี้ในเมืองเบนนารีสมีหลายสิบแห่ง มักจะตั้งอยู่ริมๆ น้ำ กว้างบ้างแคบบ้าง สูงบ้างต่ำบ้าง แต่ท่วงทีคล้ายๆ กันทั้งนั้น ครั้นเมื่อกลับออกมาจากที่นั้นแล้ว เห็นตามทางกำลังหุงข้าวเกือบจะทุกแห่ง หุงด้วยหม้อทองเหลืองใบนั้นเอง คนหนึ่งก็หุงหม้อหนึ่ง กินคนเดียวไม่ปะปนกับผู้ใด เรื่องที่อาบในแม่น้ำนี้ ถึงตัวมหารายาเบนนารีสเอง และสนมกำนัลก็ต้องลงอาบเหมือนกัน ตัวท่านมหารายาได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังเอง ที่จะอาบนั้นใช้เรือขนานศีรษะเป็นรูปสัตว์ คล้ายกับที่รับข้าพเจ้าข้ามฟากไปที่รามนครซึ่งเป็นที่วัง แต่ฟังดูตามเล่านั้นเห็นจะเป็นการนุ่งกันได้บ้างดังโรเรไม่ทุกวัน หรือจะใช้หนี้คล้ายอัชชะมะยาได้บ้างอย่างไรไม่ทราบเลย พิธีศิวาราตรีนี้คงจะมาจากเรื่องนี้นี่เอง ถึงเรื่องหุงข้าวก็เป็นอาหารอร่อยของชาวอินเดีย ซึ่งข้าพเจ้าได้เคยไปกินเลี้ยงแล้วนั้นเอง ได้ถามดูรสชาติที่พระมหาราชครูก็บอกว่ากลืนไม่ใคร่ลง เพราะพราหมณ์พวกนี้เป็นไทยเสียแล้ว จึงต้องย่อพิธีด้วยความประพฤติแปลกกัน จึงได้กลายเป็นพิธีตามที่คนชั้นใหม่ๆ เช่นเราเข้าใจว่าเป็นการต่างว่าหรือย่อๆ ดังนี้ ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[] เชระนี เป็นฝรั่งชาติอิตาลี เจ้าของละครม้า


เดือนสาม
การพระราชกุศลมาฆบูชา

๏ การมาฆบูชานี้ แต่เดิมก็ไม่ได้เคยทำมา พึ่งเกิดขึ้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตามแบบโบราณบัณฑิตได้นิยมไว้ว่า วันมาฆบุรณมีพระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะเต็มบริบูรณ์ เป็นวันที่พระอรหันต์พุทธสาวก ๑๒๕๐ ได้ประชุมกันพร้อมด้วยองค์สี่ประการ เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนาโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ เป็นการประชุมใหญ่ และเป็นการอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา นักปราชญ์จึงได้ถือเอาเหตุนั้นกอบการสักการบูชาพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ๑๒๕๐ พระองค์นั้นให้เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและสังเวช การพระราชกุศลนั้นเวลาเช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศน์และวัดราชประดิษฐ์ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัดแล้ว จึงได้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดธูปเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้มีเทศนาโอวาทปาติโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่างๆ เทศน์จบพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์รับสัพพีทั้ง ๓๐ รูป การมาฆบูชานี้เป็นเดือนสามบ้าง เดือนสี่บ้าง ตามวิธีปักษคณนาฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่คงอยู่ในเดือนสามโดยมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทุกปีมิได้ขาด แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เสด็จออกบ้าง ไม่ได้ออกบ้าง เพราะมักจะเป็นเวลาประสบกับที่เสด็จประพาสหัวเมืองบ่อยๆ ถ้าถูกคราวเสด็จพระราชดำเนินไปประพาสบางปะอินหรือพระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง ก็ทรงทำมาฆบูชาในสถานที่นั้นๆ ขึ้นอีกส่วนหนึ่งต่างหากนอกจากในพระบรมมหาราชวัง ๚  


เดือนสาม
การพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน

๏ การนี้เกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยทรงพระปรารภของซึ่งพวกจีนนำมาถวายในตรุษจีน เป็นของสดสุกรเป็ดไก่พร้อมกันหลายๆ คน มากๆ จนเหลือเฟือ ก็ควรที่จะให้เป็นไปในพระราชกุศล จึงได้โปรดให้มีเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยขึ้นทั้งสามวัน แต่ไม่มีสวดมนต์ พระสงฆ์ฉันวันละ ๓๐ รูปเปลี่ยนทุกวัน ตามคณะกลาง คณะเหนือ คณะใต้ โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และท้าวนางข้างในจัดเรือขนมจีนมาจอดที่หน้าตำหนักแพ พวกภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ๆ ที่ทรงรู้จักเคยเฝ้าแหนก็จัดเรือขนมจีนมาถวายผลัดเปลี่ยนเวรกันไปทั้งสามวัน ตัวก็มาเฝ้าด้วย แล้วให้ทนายเลือกกรมวังคอยรับขึ้นมาถวายพระสงฆ์ฉัน แล้วจึงได้เลี้ยงข้าราชการต่อไป พระสงฆ์ฉันแล้วถวายสบงผืนหนึ่ง หมากพลูธูปเทียนกับใบชาห่อหนึ่ง แต่วิธีอนุโมทนาของพระสงฆ์ในการตรุษจีนนี้ ไม่เหมือนกันทั้งสามวันแต่ไหนแต่ไรมา ลางวันก็มีสัพพะพุทธา ลางวันก็ไม่มี แต่เห็นว่าเป็นการพระราชกุศลตามธรรมเนียมเช่นนี้ โดยจะไม่มีสัพพะพุทธาก็ไม่เป็นการขาดเหลืออันใดทั้งมีและไม่มี และในการตรุษจีนนี้จ่ายเงินให้ซื้อปลาปล่อยวันละ ๑๐ ตำลึงบรรทุกเรือมาจอดอยู่ที่แพลอย เวลาทรงพระเต้าษิโณทกแล้วโปรดให้พระเจ้าลูกเธอนำลงไปรดที่เรือปลา แล้วตักปลานั้นปล่อยไปหน้าที่นั่ง

ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าการที่ทำบุญตรุษจีนเลี้ยงขนมจีนนั้นไม่ใช่ของจีน เป็นแต่สักว่าชื่อเป็นจีน ให้ทำเกาเหลาที่โรงเรือยกเข้ามาเลี้ยงพระสงฆ์แทนขนมจีน เป็นของหัวป่าก์ชาวเครื่องทำ แล้วทรงสร้างศาลหลังคาเก๋งขึ้นที่น่าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยศาลหนึ่ง ให้เชิญเทวรูปและเจว็ดมุกในหอแก้วลงไปตั้ง มีเครื่องสังเวยทั้งสามวัน อาลักษณ์อ่านประกาศเป็นคำกลอนลิลิตตามเนื้อความของคาถายานี และขอพรข้างปลายเป็นการเทวพลีให้เข้าเค้าอย่างเซ่นข้างจีน ที่พระพุทธรูปก็มีเครื่องเซ่นอย่างจีนตั้งเพิ่มเติมข้าวพระด้วย และให้มีโคผูกต่างบรรทุกของถวายตรุษจีน คือแตงอุลิด ขนมเข่ง กระเทียมดอง สิงโตน้ำตาลทราย ส้ม เป็นต้น วันละ ๓ โค ถวายพระราชาคณะผู้ใหญ่ซึ่งนำฉัน  โคนั้นบรรทุกของแล้วยืนถวายตัวที่โรงเรือริมทางเสด็จ แต่โคบางตัวก็บรรทุกได้ครึ่งหนึ่งบ้าง ค่อนหนึ่งบ้าง บางตัวก็บรรทุกไม่ได้เลย เป็นแต่ผูกต่างมายืนโคมๆ อยู่ ของก็กองอยู่หน้าโคเป็นพื้น การเลี้ยงพระที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยนั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์นั่งข้างตะวันออก ที่ประทับอยู่ข้างตะวันตกริมน้ำ เพื่อจะได้ทอดพระเนตรทางแม่น้ำได้สะดวก ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าธรรมเนียมซึ่งจะตั้งที่ประทับต้องอยู่ข้างพระราชวังสำหรับที่จะหนีง่ายตามแบบเก่าที่เตรียมหนีมากกว่าเตรียมสู้ ซึ่งเคยทรงเยาะเย้ยธรรมเนียมต่างๆ มีผูกพระคชาธารให้เป็นเงื่อนกระทกเป็นต้น แต่ธรรมเนียมเช่นนั้นลงเป็นแบบแผนใช้มาช้านานและธรรมดาเจ้าของบ้านเจ้าของเรือน ก็คงจะต้องรับแขกอยู่หน้าประตูที่จะเข้าเรือน หันหน้าออกข้างนอก ผู้ซึ่งมาหาก็ต้องมาจากภายนอก หันหน้าเข้าข้างใน จึงรับสั่งให้เปลี่ยนพระสงฆ์ไปนั่งทางตะวันตก ทอดที่ประทับทางตะวันออก ใช้มาจนตลอดรัชกาล ครั้นถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านเห็นว่า ซึ่งที่ประทับมาอยู่ข้างในนั้น ไม่เป็นทางที่จะเห็นน้ำเห็นท่าให้เป็นที่สบาย จึงได้ขอกลับเปลี่ยนไปอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอให้มีเรือขนมจีนขึ้นอย่างเก่า ให้ภรรยาของท่านและเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จัดขนมจีนมาถวายและมาเฝ้าเหมือนอย่างแต่ก่อน ในการตรุษจีนสมเด็จเจ้าพระยาอยู่ข้างจะเป็นธุระเห็นสนุกสนานมาก ตัวท่านเองก็อุตสาห์มาเฝ้าพร้อมกับขุนนางทั้ง ๓ วันทุกๆ ปีมิได้ขาดเลย เพราะเป็นการเวลาเช้าถูกอารมณ์ท่านด้วย เพราะฉะนั้นการเลี้ยงตรุษจีนจึงได้มีขุนนางผู้หลักผู้ใหญ่มาพรักพร้อมแน่นหนากว่าพระราชพิธีหรือการพระราชกุศลอื่นๆ แต่เรื่องเกาเหลาเลี้ยงพระนั้น เป็นของที่อันเหลือที่จะอัน, แล้วผู้ทำก็ล้มตายหายจาก กร่อยๆ ลงก็เลยละลายหายไปเอง คงอยู่แต่เรือขนมจีนจนทุกวันนี้ ที่พระสงฆ์นั่งนั้นภายหลังมาก็กลายเป็นอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยครั้งนั้นท่านทรงตัดสินธรรมเนียมทอดที่ลงไว้เป็นแบบอย่างเสียแล้ว ผู้จัดการทั้งปวงก็ต้องวนลงหาแบบนั้นเป็นหลักฐาน

การตรุษจีนนี้มีในเดือนยี่บ้าง เดือนสามบ้าง ตามอย่างประดิทินจีนเขาจะตัดสินวันใดเป็นปีใหม่ และการภายหลังนี้มีเพิ่มเติมขึ้นมาในพระยาโชฎึกราชเศรษฐี และพระยาสวัสดิวามดิษฐ์เดี๋ยวนี้[] จัดเครื่องโต๊ะอย่างจีนมาตั้งเลี้ยงเจ้านาย ปีแรกที่เก๋งพุทธรัตนสถาน ครั้นต่อมาก็เป็นอันเลี้ยงที่ท้องพระโรง ในเวลาบ่ายวันเชงเหมงนั้นตลอดมาจนทุกวันนี้

คำตักเตือนในการตรุษจีน ในการเลี้ยงพระตรุษจีนนี้ นอกจากพระเต้าษิโณทกที่เป็นโรคสำหรับตัวมหาดเล็ก ก็ยังมีเทียนชนวนที่สำหรับพระราชทานพระเจ้าลูกเธอไปจุดเทียนสังเวยเทวดา มหาดเล็กต้องคอยเชิญเสด็จหรือตามเสด็จไปด้วย อนึ่งเมื่อพระราชทานน้ำพระเต้าษิโณทก ให้พระเจ้าลูกเธอไปปล่อยปลา มหาดเล็กต้องเชิญเสด็จหรือตามเสด็จลงไปที่แพลอยระวังรักษาพระเจ้าลูกเธอ ภูษามาลาต้องถวายพระกลดองค์น้อย นอกนั้นก็ไม่สู้มีอันใดขาดเหลือนัก ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[] พระยาโชฎึกนี้ ชื่อเถียร พระยาสวัสดิวามดิษฐ์ ชื่อฟัก ภายหลังได้เป็นพระยาโชฎึก




พระราชพิธีเดือนสี่
• กาลานุกาล พิธีตรุษ
-----------------------------------

๏ ในกฎมนเทียรบาลบัญชีย่อพระราชพิธีว่า เดือนสี่การสัมพัจฉรฉินท์ แต่ครั้นเมื่อค้นดูความพิสดารที่นับเป็นรายเดือนไปละลายเสียไม่ได้ความชัดเจน จะเป็นด้วยเดือนสิบสอง เดือนอ้าย มีพิธีหลายอย่าง คือจองเปรียงลดชุดลอยโคม ไล่เรือ งานแจกดอกไม้ วงมงคล ผู้ที่เก็บฉบับมาเรียบเรียงเดิมนึกว่าจะเรียงเป็นเดือนๆ ให้ตลอดทั้งสิบสองเดือน ครั้นมีพิธีแทรกๆ เข้ามากเผลอไปว่าเป็นแต่เรียงพิธีทั้งปวง ว่าตรียัมพวาย แล้วจึงถึงเฉวียนพระโคแล้วบอกจำหน่ายเผาข้าวไม่มี ต่อไปพิธีเบาะพก ว่าพิสดารยืดยาวแต่มืดรวมอย่างยิ่งจนไม่รู้ว่าทำอะไร ลงปลายจึงได้เลยป่ายไปอินทราภิเษกวุ่นไป คงได้ความลอดออกมานิดหนึ่งแต่ว่า การพระราชพิธีเผด็จศกตั้งในปรัศว์ซ้ายพระที่นั่งกลางพระโรง และว่าเพ้อไปด้วยตำแหน่งเฝ้าแหนจนไม่ได้ความว่ากระไร พูดเหมือนรู้กันอยู่แล้ว เป็นแต่บอกว่าจะทำที่นั่นหนาที่นี่หนา แต่การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ ย่อมเป็นการติดต่อกันกับเดือนห้าทั้งแต่ก่อนมาและในปัจจุบันนี้ จะแยกเดือนกันให้ขาดก็ยาก จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงพิธีสัมพัจฉรฉินท์หรือตรุษนี้เลยไปจนกระทั่งถึงเดือนห้าก่อนหน้าสงกรานต์บ้าง

เมื่อว่าเช่นนี้ตามทางโบราณ มีพระราชพิธีอันหนึ่งซึ่งติดต่อกันกับสัมพัจฉรฉินท์เรียกว่า ลดแจตร  คำลดแจตรนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นรดเจตร คำลดนั้น เปลี่ยนตัว ร เป็น ล ไป คำแจตรนั้นเกินไม้หน้าไปอันหนึ่ง ถ้าเปลี่ยนตัว ล เป็นตัว ร อ่านว่า รด ลดไม้หน้าแจตรเสียอันหนึ่งอ่านว่า เจตร คงได้ความว่า รดน้ำเดือนห้า ตัวพิธี รดเจตรนี้ คงจะเป็นพิธีเดิม ที่สืบมาแต่ข้างลาวพุงดำ เพราะในทุกวันนี้ หัวเมืองลาวพุงดำ เช่นเมืองเชียงใหม่ เมืองนคร เมืองลำพูนเป็นต้น เจ้าเมืองยังต้องลงอาบน้ำในแม่น้ำเป็นพิธีเดือนห้า แต่เขาไว้ในหมู่สงกรานต์ มีอยู่จนทุกวันนี้ จะขอยกเรื่องราวในพิธีเมืองลาวไว้ไม่กล่าวในที่นี้ เพราะผู้ที่ไปเห็นมามีมากด้วยกัน จะเรียบเรียงได้ดีกว่าข้าพเจ้า ที่กล่าวเดี๋ยวนี้จะขออ้างเพียงว่าพิธีนี้เป็นอย่างของลาวพุงดำ ก็บรมราชวงศ์เชียงรายตั้งแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ลงมาเป็นเชื้อสายของเงี้ยวหรือลาว จึงได้มีธรรมเนียมนี้ติดต่อลงมาจนถึงกรุงเก่า แต่จะได้ทำลงมาเพียงแผ่นดินใดก็ไม่ปรากฏ มีเหตุพอที่จะเชื่อได้ว่าในรัชกาลหลังๆ ลงมาที่กรุงเก่าก็ไม่ได้ทำ จดหมายขุนหลวงหาวัดก็ไม่ได้พูดถึงเลย

พิธีรดเจตรที่มีมาในกฎมนเทียรบาลนั้น ดูเหมือนหนึ่งจะปลูกโรงหรือจอดแพอยู่กลางแม่น้ำ แพนั้นถ้าจะทำก็คล้ายๆ กับที่ลงสรง ข้างลาวเขาใช้เป็นซุ้มใบไม้ปักกลางน้ำเพราะน้ำตื้น แต่ของเราน้ำลึกดีร้ายจะใช้เป็นแพ ในแพที่สรงนั้นกั้นเป็นข้างหน้าข้างในดูในว่านั้นปันเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นข้างหน้าสำหรับพระสงฆ์และเจ้านายขุนนาง ส่วนกลางเป็นที่สรง ส่วนข้างในเป็นที่สำหรับพระอัครมเหสีหรือในจดหมายนั้นเขาเรียกว่า สมเด็จพระภริยาเจ้าทั้งสอง และลูกเธอ หลานเธอ แม่เจ้าพระสนมออกเจ้าทั้งปวง ในที่สรงนั้นมีเรียกว่าไม้พุ่มปักไว้ ไม้นั้นหุ้มผ้าแดง ทีจะเช่นหลักโผในแพลงสรง เป็นยศชั้นสูงชั้นต่ำด้วย เวลาที่ลงสรงนั้นมีกำหนดถึงสามเวลา เวลาเช้าทรงลายทั้งสำรับ เวลากลางวันทรงไพรำทั้งสำรับ เวลาเย็นไม่ปรากฏว่าทรงอันใด เวลาสรงน้ำเช้าและกลางวันเสร็จแล้วมีเลี้ยงลูกขุน เวลาบ่ายมีการมหรสพโมงครุ่ม คุลาตีไม้ เล่นแพน ป่ายเชือกหนัง พุ่งหอก ยิงธนู ที่ออกสนามนั้นเป็นพลับพลาหรือมณฑปมีกำหนดยศเป็นชั้นๆ ว่า พระราชกุมารบนปราสาทสามชั้น พระราชนัดดาคูหาตอนเดียว นาหมื่นเอกมณฑปห้าชั้น นาหมื่นโทมณฑปสามชั้น นาห้าพันราชคฤห์สามตอน นาสามพันสองพันหกคฤห์สองตอน นาพันสี่พันสองคฤห์ตอนเดียวมีบังหา นาพันคฤห์ตอนเดียว นาแปดร้อยหกร้อยเพดานปะรำมีริม นาห้าร้อยสี่ร้อยปะรำเปล่า เป็นที่เฝ้าอย่างออกสนาม เทือกเบญจาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำขึ้น เพื่อประสงค์จะเปลี่ยนการออกสนามอย่างโบราณ ครั้นเวลาบ่ายสรงอีกครั้งหนึ่ง บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ต้องมีผ้านุ่งห่มสามสำรับสำหรับเปลี่ยนลงอาบน้ำ แต่เวลาเย็นนั้นมีจดหมายไว้ว่าเสด็จลงสรงแล้วทรงสำอางเสร็จ เสด็จลงเรือเข้ามา ท้าวพระยาลูกขุนนุ่งผ้าลงน้ำมาทีเดียว ในที่นี้จะว่าผลัดผ้าแล้วโดดน้ำว่ายตุ๋มตั๋มตามเสด็จมาทีเดียวหรือ หรือจะว่านุ่งผ้าที่ลงน้ำนั้นมาทั้งเปียกๆ ก็ไม่ได้ความชัด วิสัยคนโบราณหรือคนเก่าๆ ทุกวันนี้ก็มี ถ้าจะจดหมายเป็นตำรับตำราอันใดมักจะจดย่อๆ ให้ผู้ที่ไปอ่านนั้นไม่ใคร่จะเข้าใจ ต้องไต่ถามด้วยปากอีกทีหนึ่ง เมื่ออ่านไม่เข้าใจต้องถามดังนั้นแล้ว ก็มักจะยิ้มแย้มรื่นเริงไปว่าถ้อยคำที่ตัวกล่าวเป็นลึกซึ้ง จนนิดหนึ่งก็กินความมาก แต่ผู้ที่อ่านหากเป็นเด็กเล็กและไม่มีปัญญา ใจเร็วไม่ตริตรองเทียบเคียงจึงไม่เข้าใจ เมื่อเวลาแปลให้ก็ย่อมจะกล่าวว่าง่ายๆ นิดเดียว ลางทีก็บอกเป็นใบ้เป็นพรางให้คิดตีเอาเอง ถ้าผู้ที่ถามนั้นยังไม่เข้าใจก็เอาเป็นเซอะซะเสียคน ถ้าผู้ที่ถามนั้นตีใบ้ออกเข้าใจก็ไม่เป็นความฉลาดของผู้ที่คิดตีใบ้ออก เป็นความกรุณาของท่านผู้ที่บอกเล่า ต่อตีใบ้ให้ถึงได้แล้วหัวเราะสำทับว่าง่ายนิดเดียวต่อไปใหม่ กินทั้งขาขึ้นขาล่อง วิธีสั่งสอนของคนโบราณเช่นนี้ ท่านผู้อ่านคงจะได้เคยพบปะบ้างฉันใด จดหมายตำรับตำราอันใดก็มักจะทำย่อๆ ล่อให้คนปาคนทุ่มเช่นนี้โดยมาก เพราะฉะนั้นจะเอาข้อความอันใดในเรื่องรดเจตรนี้ก็ไม่มีหลักฐานต่อไปอีก ได้เนื้อความเพียงเท่านี้

มีแววชอบกลอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งปรากฏในร่างรับสั่งการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แต่ก็เป็นธรรมเนียมที่รวมเลิกไปเสียแล้ว แต่จะเข้าเค้าเรื่องรดเจตรนี้ได้บ้างดอกกระมัง ด้วยการพระราชพิธีรดเจตรนี้ได้ความตามกฎหมายนั้นชัดเจนว่า เป็นการที่ทำก่อนออกสนามใหญ่ คือสระสนาน หรือคเชนทรัศวสนาน ซึ่งสงกรานต์จะมีมาก่อนคเชนทรัศวสนานนั้นมีไม่ได้อยู่แล้ว จึงไม่ควรจะคิดเห็นว่า การรดเจตรนี้จะเป็นรดน้ำพระสงฆ์ในเวลาสงกรานต์ ถ้าจะเป็นในเดือนห้าก็คงเพียงวันขึ้นค่ำหนึ่งเท่านั้นเป็นแน่ เพราะฉะนั้นถ้าจะเทียบกับการที่ได้ทำอยู่ในกรุงเทพฯ คราวหนึ่งซึ่งยังปรากฏอยู่ในร่างหมายจะเข้าเค้าได้ดอกกระมัง คือในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ มีกำหนดให้ปลูกโรงที่พระสงฆ์สรงน้ำ มีตุ่มซึ่งเรียกว่านางเลิ้งไปตั้งหลายใบ มีขันเชิงคู่หนึ่ง มีกาลักน้ำบัวตะกั่วและผ้าชุบสรงพร้อม แล้วให้ภูษามาลารับน้ำอบแป้งสดไปสำหรับถวายพระสงฆ์ แลดูอยู่ข้างธุระมาก เกินกว่าที่จะเห็นว่าเป็นแต่สำหรับพระราชพิธี เพราะพระสงฆ์ต้องมาสวดอยู่วันยังค่ำคืนยังรุ่ง จะได้พักผ่อนอาบน้ำได้ คือเกณฑ์ให้มีพวงดอกไม้สดไปแขวนที่โรงพระสรงน้ำนั้นถึงวันละยี่สิบพวง ดูโรงก็จะไม่เล็กนัก จึงได้แขวนดอกไม้มากถึงเพียงนั้น เกินกว่าที่จะจัดไว้สำหรับพระสงฆ์เพียง ๕ รูป แต่ผู้ซึ่งรวมๆ เสียในชั้นหลังๆ ต่อมาเห็นจะเป็นเข้าใจว่าสำหรับพระสงฆ์ ๕ รูป ด้วยพระแล้วดูท่านไม่ใคร่อยากอาบน้ำกันโดยมาก จะไม่มีผู้ใดไปอาบ จัดไว้เก้อๆ จึงได้เลยเลิกไป ที่จริงของเดิมเห็นจะจัดสำหรับพระสงฆ์ที่มาฉันในการพระราชพิธีสรงทั้งหมด ถ้าการที่พระสรงน้ำนี้จะเป็นเรื่องรดเจตรแน่แล้ว ก็คงจะเป็นการย่อลงมากว่าแต่เดิมหลายย่อมาแล้ว เพราะการที่รดเจตรกันอย่างเดิมนั้น อยู่ข้างจะกาหลเหลือเกิน และต้องทําธุระมากวันยังค่ำไม่ได้หยุดได้หย่อน จึงได้ตกลงรวมๆ ลงมาจนเลยละลายไป เดี๋ยวนี้ถามใครก็ไม่มีใครรู้ถึงเรื่องโรงสรงน้ำพระนี้เลย ได้ความในเรื่องซึ่งจะเกี่ยวข้องในเรื่องรดเจตรหรือลดแจตรอยู่เพียงเท่านี้

แต่ในจดหมายคําให้การขุนหลวงหาวัด มีความแจ่มออกไปกว่านี้ เป็นธรรมเนียมชั้นหลัง มีว่าถึงตั้งอาฏานาฏิยสูตร สวมมงคล สมโภชพระ สมโภชเครื่อง แต่ว่าเรื่อยไปจนถึงทอดเชือกและสระสนาน ซึ่งเป็นการในเดือนห้าก่อนสงกรานต์ ที่นับว่าเป็นปลายตรุษด้วยในการชั้นหลังนี้คงจะไม่ผิดกับที่ได้ทำอยู่ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้นัก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 15:43:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2561 16:47:12 »

พระราชพิธีเดือนสี่ (ต่อ)

วิธีทําบุญปีอย่างเช่นทําอยู่ในพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ เป็นวิธีการบูชาของชาวลังกาเขาทําบุญปีใหม่ พร้อมกันจัดเครื่องสักการบูชาพระรัตนตรัย เป็นการนักขัตฤกษ์ใหญ่ นิมนต์พระสงฆ์มาสวดสามวัน วันที่สามจึงได้ประกาศเทวดาแผ่ส่วนบุญให้แก่เทพยดาและยักษ์ นาค กุมภัณฑ์ บรรดาอมนุษย์ทั้งปวงตลอดถึงสัตว์ดิรัจฉาน ขอพรให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข คําให้ส่วนบุญทั้งปวงเป็นภาษาลังกา ยังใช้ต่อมาจนถึงการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ทุกวันนี้ การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ซึ่งเป็นส่วนเนื่องในพระพุทธศาสนา แต่มิใช่ทําตามพุทโธวาท เป็นของคนที่ถือพุทธศาสนามาแต่ก่อนประกอบการทําขึ้นนี้ มีแต่แถบข้างล่างที่ริมๆ ทะเล สืบดูในหัวเมืองลาวทั้งฝ่ายตะวันออกตะวันตก ก็ไม่ได้ความว่าเมืองใดได้ทําการพิธีสำหรับเมืองคล้ายคลึงกันกับพิธีตรุษนี้ มีที่ปรากฏว่าได้ทําอยู่แต่เมืองนครศรีธรรมราช กับเมืองเขมรอีกสองแห่ง เมืองเขมรแต่ก่อนก็เป็นเมืองมีท่าลงทะเล และเมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นเมืองท่าค้าขายดังได้กล่าวมาแล้วในเดือนยี่ จึงเห็นว่าพิธีนี้มีเฉพาะแต่ที่เมืองลังกา ไม่ได้มีมาแต่ประเทศอินเดีย เป็นพิธีเกิดขึ้นใหม่เมื่อพระพุทธศาสนาตกมาอยู่ในลังกาทวีป[]

บรรดาการพระราชพิธีทั้งปวงซึ่งเนื่องด้วยพระพุทธศาสนาแล้ว พิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้อยู่ข้างกาหล และวุ่นวายมากกว่าทุกพิธี ด้วยเป็นความคิดของคนในชั้นหลังที่มีความรู้แล้ว ความเชื่อถือพระพุทโธวาทเสื่อมลง หวาดหวั่นต่อภัยอันตรายกล้าขึ้น จึงได้คิดอ่านแก้ไข หันเหียนลงหาการที่ถืออยู่เป็นปรกติบ้านเมือง ฝ่ายข้างประเทศอื่นๆ คือแถบเรานี้ ที่เป็นเมืองนับถือพระพุทธศาสนาและนิยมยินดีในความรู้ของชาวลังกา ประกอบด้วยความหวาดหวั่นต่อภัยทั้งปวง เมืองใดไปมาถึงกัน ทราบฉบับธรรมเนียมก็เลียนลอกถ่ายแบบมาทําบ้าง เพราะพิธีนี้มาทางทะเลข้างฝ่ายทิศตะวันตกข้างใต้ จึงไม่แผ่ขึ้นไปถึงหัวเมืองลาวข้างฝ่ายเหนือเหมือนลัทธิพิธีอื่นๆ และการที่รับพิธีมาทํานั้นคงจะเป็นเมืองนครศรีธรรมราชได้รับก่อน ด้วยเมืองนครศรีธรรมราชนี้ปรากฏเป็นแน่ชัดว่า เป็นเมืองประเทศราชใหญ่มาช้านาน มีหลักฐานที่ควรจะอ้างอิงหลายแห่ง มีจารึกที่ฐานพระในวัดพระมหาธาตุเป็นต้น คงจะเป็นใหญ่มาก่อนตั้งกรุงอยุธยาโบราณ เมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยาขึ้นแล้ว เมืองนครศรีธรรมราชก็ต้องอ่อนน้อมขึ้นกรุงศรีอยุธยา แต่เห็นยังจะเป็นเจ้าประเทศราชต่อมาช้านาน ด้วยระยะทางตั้งแต่กรุงออกไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยเรือใบเรือพายก็เป็นทางไกล ถ้าคิดตามกำหนดหนังสือวงศ์วงศ์ทั้งหลาย ที่เป็นหนังสือสำหรับอ่านกันอยู่ในไทยๆ ก็พอสมควรแก่ระยะที่จะเป็นเมืองพ่อตาหรือลูกเขย ซึ่งเป็นอย่างไกลที่สุดก็อยู่ในห่างกันสิบห้าวัน พอยักษ์มารจะขโมยได้กลางทางสบายดีอยู่แล้ว นับว่าเป็นเมืองไกลเกือบสุดหล้าฟ้าเขียวจึงต้องเป็นเมืองมีอํานาจมาก ที่สำหรับจะปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้และเมืองมลายูทั้งปวง แต่คงต้องถวายต้นไม้เงินทองกรุงเทพฯ ซึ่งยังมีเชื้อสายติดต่อมาจนทุกวันนี้ แต่ต้นไม้เงินทองทุกวันนี้เป็นอย่างเตี้ยๆ คือต้นไม้ทอง ๖ ต้น หนักต้นละบาท ต้นไม้เงิน ๖ ต้น หนักต้นละบาท ซึ่งเป็นต้นไม้เล็กไปอย่างนี้เห็นว่าจะเป็นขึ้นเมื่อเลิกไม่ให้เป็นประเทศราช แต่ก่อนมาเมืองสงขลา เมืองพัทลุง เมืองพังงา เป็นเมืองใหญ่ขึ้นเมืองนครศรีธรรมราชทั้งสามเมือง เพื่อจะให้กําลังเมืองนครศรีธรรมราชน้อยลง จึงได้ตัดเมืองทั้งสามนี้มาขึ้นกรุงเทพฯ เสีย ต้นไม้เงินทองเมืองนครศรีธรรมราชแต่ก่อนคงเป็นต้นไม้หนักต้นละ ๒๔ บาท เมื่อยกสามเมืองมาขึ้นกรุงเทพฯ เสียแล้ว จึงได้แบ่งออกเป็นสี่ส่วน ให้เมืองนครศรีธรรมราชคงทําส่วน ๑ เมืองสงขลาส่วน ๑ เมืองพัทลุงส่วน ๑ เมืองพังงาส่วน ๑ คงเท่าจํานวนเดิม แต่ครั้นภายหลังเมืองพังงาถูกแยกเมืองถลาง เมืองภูเก็ต เมืองตะกั่วป่าออกไป เมืองพังงาร่วงโรยลงเป็นเมืองน้อย จึงได้ยกต้นไม้เงินทองไปให้เมืองตะกั่วป่าทำ หัวเมืองทั้งสี่ยังส่งต้นไม้เงินทองอยู่จนทุกวันนี้ แต่ต้นไม้เงินทองสี่หัวเมืองนี้เป็นต้นไม้ปีละครั้ง ถ้าคิดว่าเมืองนครศรีธรรมราชส่งเมืองเดียวสามปีครั้งหนึ่งเหมือนเมืองประเทศราชทุกวันนี้ ก็จะเป็นต้นไม้เงินทองหนักต้นหนึ่งถึง ๗๒ บาท เป็นต้นไม้อย่างขนาดใหญ่ทีเดียว เพราะเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองประเทศราชใหญ่อยู่แต่เดิมดังนี้ คงจะมีพระราชพิธีใหญ่ๆคล้ายกับที่กรุง จึงได้รับพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้มาทํา แต่ที่กรุงจะไปรับต่อมาอีกเมื่อครั้งใดคราวใดไม่ได้ความปรากฏ เชื้อสายของการพิธีในเมืองนครศรีธรรมราชก็ยังมีติดต่อมาจนถึงในปัจจุบันนี้ เมื่อข้าพเจ้าไปเมืองนครศรีธรรมราชคราวนี้ก็ได้ลองให้พระสงฆ์ที่วัดหน้าพระลานสวดภาณวารและภาณยักษ์ฟังดู ทํานองภาณวารมีเสียงเม็ดพราย ทํานองครุคระมากขึ้นกว่าทํานองภาณวารในกรุงเทพฯ นี้มาก นโมขึ้นคล้ายๆ ภาณยักษ์ แต่ภาณยักษ์เองนั้นสู้ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ที่กรุงเทพฯ เอามาตกแต่งเพิ่มเติมเล่นสนุกสนานกว่ามาก แต่คงยังได้เค้าคล้ายๆ กันทั้งสองอย่าง

การที่มุ่งหมายในเรื่องทําพระราชพิธีตรุษสุดปีมีสวดอาฏานาฏิยสูตรซ้ำๆ ไปตลอดคืนยังรุ่งนี้ ด้วยประสงค์จะให้เป็นการระงับภัยอันตรายแก่มนุษย์ทั้งปวงทั่วพระราชอาณาเขต ตามพระบรมพุทธานุญาต แต่ตามที่เข้าใจกันโดยมากว่า ซึ่งพระสงฆ์สวดภาณยักษ์หรือภาณพระนั้นเป็นการขู่ตวาดให้ผีตกใจกลัว แล้วยิงปืนกระหน่ำสำหรับให้วิ่ง จนถึงคนแก่คนเฒ่าต้องหาขมิ้นกับปูนตั้งไว้ตามข้างที่หลับที่นอนในเหย้าในเรือน สำหรับผีญาติพี่น้องและผีเหย้าผีเรือน จะตกใจปืนเที่ยววิ่งปากแตกสีข้างหัก จะได้เอาขมิ้นกับปูนทา แล้วทําต้นไม้ผูกของกินเล็กๆ น้อยๆ มีกระบอกเล็กๆ กรอกน้ำแขวนกิ่งไม้ผูกไว้ที่บันไดเรือน เรียกว่าข้าวผอกกระบอกน้ำ สำหรับเจ้าพวกผีที่วิ่งตามถนน จะต้องวิ่งไปวิ่งมาเหน็ดเหนี่อยหิวโหยโรยแรง จะได้หยิบกินไปพลาง ห้ามไม่ให้ถ่ายปัสสาวะลงทางล่อง ด้วยเข้าใจว่าผีนั้นวิ่งชุลมุนอยู่ตามใต้ถุนรุนช่องจะไปเปียกไปเปื้อน บางทีที่เป็นโคมใบโตๆ จึงร้องไห้ร้องห่มสงสารคนนั้นคนนี้ที่ตัวรักใคร่ก็มี การซึ่งว่าขับผีเช่นนี้ ในตัวอาฏานาฎิยสูตรเองก็ไม่ได้ว่า พระสงฆ์ก็ไม่ได้ขู่ตวาดขับไล่ผี ตามความที่คาดคะเนไปมีความจริงอยู่อย่างหนึ่ง แตในคำประกาศเทวดาเวลาค่ำขับผีซึ่งมิได้นับถือพระพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฐิ มิอาจที่จะรักษาพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ราษฎรได้ให้ออกไปเสียนอกขอบเขาจักรวาล ชะรอยจะได้ยินคำประกาศอันนี้ส่อให้เข้าใจภาณยักษ์ภาณพระว่าเป็นขู่ตวาดไล่ผี ดูเข้าใจกันซึมซาบเกือบจะแปลได้ทุกคำตลอดทั้งภาณยักษ์ภาณพระ มงคลนั้นก็ถือลัทธิกันไปต่างๆ ไม่ถูกทั้งขึ้นทั้งล่อง คือพวกที่เข้าใจกันซึมซาบว่าวันนี้เป็นวันไล่ผี ถ้าไม่สวมมงคลและพิสมรถือกระบองเพชรหรือเอาวางไว้ใกล้ๆ ตัว ผีจะวิ่งมาโดนหกล้มหกลุกหรือจะมาแลบลิ้นเหลือกตาหลอก หรือจะทำให้ป่วยไข้อันตรายต่างๆ ข้างพวกที่ไม่เชื่อถือในเรื่องผีวิ่งผีเต้นนี้เล่าก็มักจะอดไม่ได้ อยากจะสำแดงอวดกึอวดเก่งอวดฉลาดว่าตัวเป็นคนไม่กลัวผี ไม่เชื่อว่าผีวิ่ง ไม่ยอมสวมมงคลพิสมร ไม่ยอมถือกระบองเพชร หัวเราะเยาะเย้ยผู้ซึ่งสวมซึ่งถือไปต่างๆ ความคิดทั้งสองอย่างนี้เป็นผิดทั้งสิ้น

การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นการพิธีประจําปีสำหรับพระนคร ทําเพื่อจะให้เป็นสวัสดิมงคลแก่พระนคร และพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในตลอดจนราษฎร การที่ให้สวมมงคลและพิสมรแจกจ่ายกระบองเพชรให้ถือ ก็เพื่อจะให้เป็นที่หมายว่า ผู้นั้นได้เข้าอยู่ในพระราชพิธี หรือให้แลเห็นว่า สิ่งซึ่งเป็นมงคลอันจะเกิดขึ้นด้วยคุณปริตรที่พระสงฆ์สวดนั้น ตั้งอยู่ในตัวผู้นั้นแล้ว เมื่อจะเปรียบดูอย่างง่ายๆ ว่าการบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร เวลาสวดมนต์พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระมหามงคล การโกนจุกลงท่าแต่งงานบ่าวสาว เจ้าตัวผู้ซึ่งจะรับสวัสดิมงคล อันพระสงฆ์จะมาเจริญปริตรให้เฉพาะผู้นั้นก็สวมมงคล ผู้ที่สวมมงคลซึ่งออกชื่อมาเหล่านี้ย่อมมีสายสิญจน์โยง ตั้งแต่แท่นหรือม้าเตียงที่ตั้งพระหรือใช้สายเดียวกับที่พระสงฆ์ถือผูกโยงติดไว้กับท้ายมงคล การซึ่งใช้สายสิญจน์ก็ดี ใช้มงคลก็ดี เป็นเครื่องให้สะใจของผู้ปรารถนา คือผู้ปรารถนาสวัสดิมงคลจากที่พระสงฆ์เจริญปริตร เมื่อนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญปริตรเปล่าๆ ก็เป็นสวัสดิมงคลอยู่แล้ว แต่ดูไม่เห็นจริงสะอกสะใจ จึงได้ทำมงคลสวมที่ศีรษะโยงสายสิญจน์มาให้ถึงเป็นสายโทรศัพท์ ให้สวัสดิมงคลนั้นแล่นมาทางนั้นเป็นเครื่องปลื้มใจอุ่นใจเจริญความยินดีมาก ในการบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรก็ดี การโกนจุกลงท่าแต่งงานบ่าวสาวก็ดี ก็ไม่ได้สวดภาณยักษ์ภาณพระ ไม่ได้อ่านคําประกาศเรื่องขับผีขับสางและไม่ได้ยิงปืนเวลาค่ำ ซึ่งจะเป็นเครื่องให้ผีตื่นตระหนกตกใจ เหตุใดจึงต้องใช้มงคล ก็เหตุด้วยประสงค์จะให้เป็นทางมาของความสวัสดิมงคล และเป็นเครื่องปลื้มใจว่าตัวได้รับสวัสดิมงคลอันเกิดจากปริตรคุณ เพราะฉะนั้นจึงต้องกล่าวว่าผู้ซึ่งเข้าใจว่ามงคลพิสมรกระบองเพชรเป็นเครื่องกันผีที่วิ่งวุ่นวายเฉพาะในวันนั้นวันเดียวนั้น เป็นการเข้าใจผิดกลัวมากเกินไป ข้างฝ่ายที่อวดกล้าอวดเก่ง อวดปัญญาไม่ยอมสวมมงคลพิสมรถือกระบองเพชรนั้น หมายว่าตัวพ้นกลัวผีพ้นเชื่อผี หรือที่แท้ไม่พ้นกลัวผีเชื่อผีจริง ยังอวดเก่งอวดฉลาดในการที่คนทั้งปวงกลัวตัวทำได้ ถึงจะพ้นกลัวก็ยังอยู่ในไม่พ้นเชื่อ โดยว่าจะไม่เชื่อได้จริงๆ ก็ยังไม่เป็นคนมีปัญญาตามที่อยากจะอวดทั้งสามประการ คือ อวดกล้าอวดเก่งรู้ไม่เชื่อ อวดปัญญา ถ้ามีปัญญาจริงย่อมจะคิดเห็นได้ว่าการที่พรรณนามาแล้ว คือการเฉลิมพระราชมนเทียร การโกนจุกลงท่าแต่งงานบ่าวสาวนั้น เขากลัวผีหรือไม่เขาจึงได้สวมมงคล ถ้ามีปัญญาจริงแล้วจะต้องพิจารณาเห็นว่าการซึ่งสวมมงคลนั้น เพื่อจะให้ปรากฏว่าตัวเป็นผู้ได้รับสวัสดี ในการพระราชพิธีใหญ่สำหรับพระนคร ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสู้ออกพระราชทรัพย์ให้ทํามงคลพิสมรกระบองเพชร สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงทั่วไป ไม่ได้ทรงทำโดยทรงตื่นเต้นเหมือนอย่างผู้ที่กลัวผีงกเงิ่นดังได้กล่าวมาแล้ว ถ้าจะเถียงว่าแต่ก่อนท่านจะกลัวกันบ้างดอกกระมัง จะเป็นพูดแก้แทนกันไปก็จะอ้างพยานให้เห็นได้ว่าสวดมนต์วันพระในท้องพระโรงหรือพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ซึ่งเป็นเวรประจําพระราชวังมาแต่โบราณนั้นก็สวดมนต์ตามลำดับอย่างเก่า มีภาณยักษ์ภาณพระเหมือนกัน ถ้าเช่นนั้นวันพระใดจะถึงภาณยักษ์ภาณพระ จะมิต้องแจกมงคลให้สวมกันหมดหรือ ควรจะต้องคิดเห็นว่า เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงพระมหากรุณาแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง จะให้ได้รับความสวัสดิมงคลทั่วกัน จึงแจกมงคลให้สวมตามบรรดาศักดิ์ แต่วิธีที่ถือว่ามงคลที่สวมเป็นเครื่องรองรับความสวัสดิมงคลนั้น เป็นลัทธิโบราณเคยถือมาอย่างเดียวกันกับทำน้ำมนต์ ต้องเอาเทียนคว่ำลงให้มีสีผึ้งหยดลงในน้ำเป็นดอกพิกุล ด้วยเสกเปล่าๆ ดูเป็นน้ำเฉยๆ ไป ไม่มีไม่เห็นเป็นก้อนเป็นดุ้นสะอกสะใจ เป็นธรรมเนียมที่ถือกันมา มิใช่ของพระเจ้าแผ่นดินชั้นหลังๆ คิดขึ้นใช้เป็นประเพณีบ้านเมืองทั่วไปตลอด ถึงผู้ที่จะเอะอะอวดเก่งไม่ยอมสวมมงคลนั้น ถ้าจะมีการทำบุญอันใดที่บ้านก็คงจะยังโยงสายสิญจน์ให้พระสวดอยู่ทุกแห่งไม่ใช่หรือ การซึ่งพระเจ้าแผ่นดินยังพระราชทานมงคลอยู่นั้น ก็เหมือนกันกับผู้ที่อวดเก่งยังใช้สายสิญจน์อยู่นั้นนั่นแหละ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดเข้ามาในวันพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ก็ไม่ควรเลยที่จะทํารังเกียจอวดดีหรืออับอายขายหน้า เอามงคลไปขยี้ขยําหัวเราะเยาะเย้ยเป็นการอวดดีต่างๆ ซึ่งน่าจะเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระเจ้าแผ่นดินและคนทั้งปวงว่าเซอะซะงุ่มง่ามไปหมด ฉลาดแต่ตัวคนเดียว การที่เพ้อเจ้อมาด้วยเรื่องมงคลนี้ ใช่ว่าจะตื่นเต้นโปรดปรานมงคลอย่างหนึ่งอย่างใด เว้นแต่เมื่อยังไม่เลิกเสียก็ยังไม่อยากให้ผู้ใดหมิ่นประมาท แต่ถ้าจะเลิกเมื่อใดก็จะยอมเลิกโดยง่าย ไม่เป็นข้อขัดขวางอันใด เพราะเหตุว่ามงคลทั้งปวงย่อมจะเกิดได้ด้วยกายวาจาใจอันตั้งอยู่ในความสุจริต การที่พระสงฆ์มาเจริญปริตรพุทธมนต์อันใดจะเป็นสวัสดิมงคลก็เป็นได้ทางหูทางใจ ไม่ได้มาทางสายสิญจน์ บัดนี้จะกล่าวถึงอาฏานาฏิยสูตรโดยสังเขป เพื่อให้เป็นเครื่องรับรองกับการที่จะกล่าวมาข้างต้นว่ามิได้ขู่ตวาดไล่ผีนั้น ความในอาฏานาฎิยสูตรนี้ว่าท้าวมหาราชทั้งสี่ลงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า บรรดาฝูงอมนุษย์ทั้งปวงที่นับถือพระพุทธเจ้าก็มี ที่ไม่นับถือก็มี เพราะพวกอมนุษย์เหล่านั้นเกลียดชังบัญญัติที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ละเว้นมีเบญจเวรวิรัติเป็นต้น เพราะฉะนั้นเมื่อสาวกของพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่ราวป่าที่เปลี่ยว พวกอมนุษย์ทั้งปวงเหล่านั้นย่อมจะมาเบียดเบียนต่างๆ ท้าวมหาราชทั้งสี่จึงได้ขออนุญาตต่อพระพุทธเจ้า ให้โปรดให้สาวกจําคาถานมัสการพระพุทธเจ้าทั้งเจ็ดพระองค์ มีวิปัสสิสสะนะมัตถุเป็นต้นนี้ไว้ เมื่อจะไปอยู่ในราวป่าหรือที่สงัดที่เปลี่ยว พวกอมนุษย์ทั้งปวงจะมาเบียดเบียนประการใดก็ให้สวดคาถานมัสการนี้ขึ้น อมนุษย์ทั้งปวงก็จะมีความกลัวเกรงหลบหลีกไปไม่ทำอันใดได้ พระพุทธเจ้าทรงรับด้วยดุษณีภาพ ท้าวมหาราชทั้งสี่ก็ลากลับไป นี่เป็นข้อใจความของภาณยักษ์ ภาณพระนั้นกล่าวถึงเวลารุ่งขึ้นเมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระสงฆ์ทั้งปวงแล้วก็ทรงเล่าเรื่องที่ท้าวมหาราชลงมาทูลนั้นตามเนื้อความเหมือนภาณยักษ์ และอนุญาตให้พระสงฆ์จําคาถาคํานมัสการนั้นไว้ มีข้อใจความในภาณพระเท่านี้

แต่วิสัยอาจารย์ผู้แต่งหนังสือคิดจะแต่งให้เพราะ ให้ความพิสดาร ก็ไปเก็บเอาเรื่องราวต่างๆ อย่างเช่นยกมาจากคาถามหาสมัยสูตรเป็นอันมาก ตามนิทานที่เล่าเป็นของเก่าแก่อยู่บ้างเพิ่มเติมลง เล่าถึงเรื่องบ้านเรื่องเมืองที่อยู่ของท้าวมหาราช ซึ่งพระภาณยักษ์มาสวดเรียกกันว่าร้อง ตามคนที่ไม่เข้าใจแปลกันว่าพระท่านปลอบผีให้ไปเสียดีๆ ส่วนคำที่ซ้ำๆ นั้นก็เป็นตำราของภาษามคธ จะแต่งหนังสืออันใดก็แต่งซ้ำๆ ซากๆ จนเขียนเป็นภาษาไทยไม่ได้ อย่าง เช่น ยัก์โข วา ยัก์ขินี วา ซึ่งเป็นแต่ออกชื่อยักษ์ผู้ชายยักษ์ผู้หญิงดีๆ ไม่ได้โกรธขึ้งเลยนั้น ก็เข้าใจกันว่าเป็นการขู่เข็ญขับไล่ ผู้ฟังไม่เข้าใจก็ว่าพระท่านขู่ผี เป็นอันทั้งขู่ทั้งปลอบให้ผีไป การที่ยืดยาวเลื้อยเจื้อยไปทั้งหลายนี้ เป็นสำนวนของอาจารย์ชาวลังกาผู้ที่แต่งหนังสือจะให้ไพเราะพิสดาร

แต่ยังส่วนตัวสูตรนี้เองที่อ้างว่าท้าวมหาราชลงมาเฝ้านี้ ถ้าเป็นผู้ที่มักจะคิดก็จะมีความสงสัยว่าจะเป็นการช่างเถอะอย่างไรอยู่ ความข้อนี้จะขอไกล่เกลี่ยได้ว่า สูตรนี้เห็นจะมาตามทางธชัคสูตรซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเอง เปรียบเอาเรื่องโบราณที่เล่าๆ กันอยู่เป็นพื้น แล้วมายกขึ้นเปรียบว่าเมื่อพระอินทร์รบกับยักษ์ มีกำหนดในหมายธงเทวดาที่เป็นแม่ทัพฉันใด สาวกของพระพุทธเจ้าที่ไปอยู่ในราวป่าที่เปลี่ยว ก็ให้ผูกใจมั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็จะเป็นเครื่องบําบัดความกลัวหวาดหวั่นสะดุ้งสะเทือน การที่พระพุทธเจ้ายกเอาเรื่องพระอินทร์รบกับยักษ์ขึ้นเป็นเหตุที่จะสั่งสอนสาวกนั้น ก็ใช่ท่านจะยืนยันว่าพระอินทร์รบกับยักษ์คราวหนึ่งเป็นแน่ละ ตถาคตได้เห็นเองรู้เองก็หาไม่ เป็นแต่ท่านว่าเขาเล่ากันมา เกือบจะเหมือนกับยายกับตาปลูกถั่วปลูกงาให้หลานเฝ้า ที่เล่ากันอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่เป็นเรื่องเหมาะที่จะยกมาเปรียบจึงได้ยกมาเปรียบ ส่วนคนภายหลังที่ได้ยินพระสูตรอันนี้ ไม่ประพฤติตามแต่พระพุทธเจ้าอนุญาตสั่งสอนให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยในเวลาอยู่ที่เปลี่ยว ไปเข้าใจผิดเชื่อเอาว่าพระอินทร์ได้รบกับยักษ์เป็นแน่เพราะพระพุทธเจ้าได้เล่า การซึ่งเป็นทั้งนี้ก็เพราะพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๔๐๐ ปีเศษ การซึ่งคนแต่ชั้น ๒๔๐๐ ปีพูดกันเป็นการจืดๆ อยู่สาบสูญไป คงอยู่แต่ในสูตรนี้ก็เข้าใจเอาเป็นการแปลกหูมา เหมือนไม่มีผู้ใดรู้ รู้แต่พระพุทธเจ้าซึ่งบรรลุวิชาสามารถจะระลึกกาลที่ล่วงมาแล้วได้ ชักให้เข้าใจเลอะเทอะไป ส่วนข้อที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้ระลึกคุณพระรัตนตรัยในเวลาอยู่ที่เปลี่ยว และเวลาตกใจด้วยภัยอันตรายนั้นเล่า ใช่ท่านจะตรัสว่า เออตกใจอะไรให้นึกถึงตถาคตเถิด ตถาคตจะไปช่วย เหมือนอย่างเช่นนิทานเล่าๆ กันว่ายักษ์หรือนาคและฤๅษีอะไรซึ่งพอใจจะสั่งไว้กับผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีคุณหรือเป็นที่รัก แต่หากเป็นคนที่จะเรียกว่ามีบุญหรือเคราะห์ร้ายอย่างยิ่งไม่ได้ เช่นกับตัวที่มีในเรื่องนิทานกลอนๆ ทั้งปวง มีฤทธิ์มีเดชมากเหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ไม่มีความสุขจนข้าวก็ไม่ใคร่ได้กิน เดินทอกแทกอยู่ในกลางป่า ซึ่งมีผู้อยากจะเป็นเช่นนั้นชุมๆ เพราะได้ฆ่าพ่อตาเอาลูกสาวเป็นเมีย ก็หาไม่ คำที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่สาวกเช่นนี้ประสงค์เพื่อจะอุดหนุนสาวกซึ่งยังไม่บรรลุมรรคและผล มีความหวาดสะดุ้งต่อภัยอยู่เป็นนิตย์ ให้มีความแกล้วกล้า โดยเชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้วออกไปอยู่ในที่สงัดบำเพ็ญเพียรให้ได้มรรคและผลตามประสงค์ วิสัยพระพุทธเจ้าจะตรัสเทศนาสั่งสอนผู้ใดย่อมตัดไปโดยทางตรง มุ่งหมายแต่ประโยชน์ ไม่ใช้ทางอ้อมค้อมซึ่งเป็นการจะทําให้เสียเวลา หรือไม่พอแก่วิสัยของปุถุชนจะเชื่อถือได้ เช่นกับจะนั่งแปลอยู่ว่าผีไม่มีดอก อย่าให้กลัวเลยดั่งนี้ จะต้องอธิบายยืดยาวเสียเวลา จึงได้ตัดเสียว่าให้เชื่อพระคุณความรู้ของพระพุทธเจ้าและหนทางอันดีของพระธรรมซึ่งจะนำให้ผู้ปฏิบัติตามบรรลุธรรมวิเศษ และให้เชื่อคุณความปฏิบัติของพระอริยสงฆ์ ซึ่งได้บรรลุวิชาเต็มที่ตามพระพุทธเจ้าตรัสสอนแล้วนั้นให้มั่นใจ ก็จะไม่มีภัยอันตราย ความมุ่งหมายที่จะต้องการ คือให้สาวกซึ่งเป็นปุถุชนหายกลัวผีนั้นก็ได้เหมือนกัน แต่เป็นทางลัดได้ง่ายเร็วกว่าที่จะอธิบายแก่ผู้ซึ่งมีปัญญาและความเชื่อยังอ่อน การซึ่งชนภายหลังเข้าใจพระสูตรต่างๆ เกินกว่าความต้องการไปเช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนากลายเป็นพิธีรีตองเสกๆ เป่าๆ ไปได้โดยมาก

ในเรื่องอาฏานาฏิยสูตรนี้ ถ้าจะพูดตามความเห็นที่คิดเห็นว่าจะเป็นการช่างเถอะแล้ว ก็เห็นว่าจะมาจากธชัคสูตรนี้เอง แต่วิสัยลังกาหรือลาวก็ดี ที่จะไหว้แต่พระพุทธเจ้าโคตมะพระองค์เดียว ดูจะไม่ใคร่จะพออิ่มไม่สะใจ อยากให้ท่านมาช่วยกันมากๆ หลายไม้หลายมือ เช่นสัมพุทเธไหว้พระพุทธเจ้าตั้งพันตั้งหมื่น อาฏานาฏิยสูตรนี้อยากจะให้พระพุทธเจ้ามากองค์ออกไปช่วยแรงกันให้มากขึ้น จึงได้แต่งขึ้นใหม่ เก็บธชัคสูตรบ้าง มหาสมัยสูตรบ้าง ผสมกันเข้าเป็นอาฏานาฎิยสูตรขึ้นตามความต้องการ ที่ยังไม่สะใจแท้ถึงเติมนโมเมสัพเข้าด้วย อย่างเช่นสวดมหาราชปริตรสิบสองตํานานก็มี แต่เมื่อจะไฉล่ไกล่เกลี่ยลงก็ควรจะกล่าวได้ว่า ข้อสำคัญทั้งสูตรก็อยู่เพียงคํานมัสการ ถ้าผู้ที่เชื่อถือมั่นในคุณพระรัตนตรัย มีภัยอันตรายคับขันสะดุ้งสะเทือนในใจ หรือเป็นแต่ใจอ่อนไปไม่กล้าหาญ เมื่อกล่าวคำนมัสการโดยความถือมั่นต่อพระคุณความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็คงจะให้ประโยชน์ต่อผู้ซึ่งกล่าวคาถานั้น ให้มีใจมั่นคงไม่หวาดหวั่นต่อภัยอันตราย คงเป็นการมีคุณอยู่บ้างเป็นแท้ แต่การที่เอามาเอะอะสวดซ้ำๆ ซากๆ กันนี้ก็อยู่ข้างจะมากสักหน่อย และวิธีที่สวดนั้นเลยเป็นเล่นไป เนื้อความนั้นก็จะเป็นสรภัญญะแต่ค่อยๆ มากขึ้นเพลินไปจึงชักให้ความเฟือน แต่ถึงอย่างไรก็ดีเป็นประเพณีบ้านเมืองที่ได้เคยประพฤติมา เมื่อยังไม่ได้เลิกถอนเสียก็ควรจะถือเอาตามสมควรแก่ที่พิจารณาเห็นว่าเป็นดีเพียงไร ตามใจของตนๆ


แต่ถึงว่าได้ปฏิเสธไว้ในข้างต้นว่า การที่สวมมงคลพิสมรถือกระบองเพชร ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินกลัวผีจะวิ่งมาโดนเป็นต้นก็จริง แต่จะปฏิเสธว่าผู้แรกตั้งตำราพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ขึ้นนี้ไม่เชื่อผีไม่ได้ ด้วยการที่ตระเตรียมทำทั้งปวงอยู่ข้างจะขับผี มีในคำประกาศที่กล่าวอ้างถึงขับผีมิจฉาทิฐิเป็นหลักอยู่อย่างหนึ่ง ยังปืนที่จะยิงเล่าหมอนก็ใช้ใบหนาด ใบสาบแร้งสาบกา ซึ่งถือว่าเป็นใบไม้ที่ผีกลัว มีถุงข้าวเปลือกข้าวสารเล็กๆ ๑๐๘ ถุงสำหรับบรรจุในปืนอย่างฟาดข้าวไล่ผีด้วย ถึงข้าวผอกกระบอกน้ำของหลวงก็มี แต่ไปมีที่วัดสระเกศ ไม่ได้มีในรั้วในวัง แต่ข้าวผอกกระบอกน้ำวัดสระเกศก็ได้เลิกมาเสียช้านาน จะเป็นด้วยเข้าใจว่าขับแต่ผีที่เป็นมิจฉาทิฐิ ก็ธรรมดาป่าช้าที่เป็นที่ไว้ศพปลงศพมากๆ เช่นนี้ คนที่ประพฤติตัวชั่วช้าเป็นมิจฉาทิฐิก็คงจะมีโดยมาก ที่ได้ไปไว้ไปฝังไปเผาในที่นั้น ผีมิจฉาทิฐิเหล่านั้นคงจะได้ความลําบาก จึงได้จัดเสบียงอาหารไปให้เป็นการให้ทาน เพราะธรรมดาผู้ซึ่งมีศรัทธาทำทานหรือตะกลามบุญในไทยๆ เรานี้มักจะหาช่องทําบุญเล็กๆ น้อยๆ ด้วยเชื่อว่าจะได้กำไรมาก ก็ข้าวผอกกระบอกน้ำนี้ไม่ต้องลงทุนรอนอันใด หักแต่กิ่งไม้มา เกลาไม้ไผ่เป็นกระบอกเล็กๆ แบ่งข้าวแบ่งปลาที่เหลือกินกรอกลงเล็กๆ น้อยๆ เศษผ้าผ่อนอันใดที่จะทิ้งเสียก็เอาแขวนกิ่งไม้ปักให้เป็นทาน ไม่ต้องลงทุนลงรอนอันใด แต่คงจะกลับได้ประโยชน์ในภายหน้ามาก ข้าวกระบอกหนึ่งบางทีก็จะได้เป็นกระบอกละเกวียน น้ำกระบอกหนึ่งบางทีก็จะบันดาลให้พระยาโชฎึกมีความรักใคร่นับถือ ยอมให้ใช้น้ำก๊อกเปล่าๆ สามวันเจ็ดวัน[] เศษผ้าเท่าฝ่ามือก็จะทำให้ได้ผ้าชิ้นละกุลีได้ดอกกระมัง เมื่อไม่ต้องลงทุนอะไรแต่คิดกำไรที่จะได้มากเช่นนี้ ถึงจะไม่สู้เชื่อถือผีสางอันใดนักก็ทำไว้ดีกว่าไม่ทำ เพราะได้กำไรมากจึ่งได้ทำตามๆ กันไป แต่ควรเห็นได้ว่าความคิดซึ่งจะเห็นญาติพี่น้องหรือผีในเหย้าในเรือนออกวิ่งด้วยนั้น ไม่เป็นความคิดที่มีในราชการมาแต่ก่อน ลัทธิทั้งหลายเหล่านี้ที่เจือปนเข้ามาในราชการด้วย ข้าพเจ้าขอปฏิเสธว่าไม่ได้มาทางพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุว่าอาฏานาฎิยสูตรที่ได้แสดงใจความย่อมานั้น ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาตริตรองอยู่ก็จะสงสัยว่าจะเป็นการช่างเถอะอยู่บ้างแล้วนั้นไม่ได้กล่าวถึงการเหล่านี้เลย วิธีที่ถือผีสางกระจุกกระจิกเหล่านี้จะมีมาก็ตามลัทธิพราหมณ์อย่างหนึ่งตามความเข้าใจผิด หรือกลัวสั่นเกินไปของคนทั้งปวงแต่โบราณจนตกลงเป็นธรรมเนียมที่เคยทําก็ทําไป เพราะเหตุว่าใบไม้ที่จะเป็นหมอนปืนและข้าวสารที่บรรจุในปืน ก็ต้องส่งไปที่โรงพิธีพราหมณ์เสกเป่ากันมาก่อน ไม่ได้เอามาเข้ามณฑลในส่วนพระพุทธศาสนาเหมือนอย่างมงคลพิสมรกระบองเพชร เพราะฉะนั้นการที่ปฏิเสธมาแต่ก่อนนั้น ปฏิเสธข้อหนึ่งว่าคําอาฏานาฏิยสูตรไม่ใช่คําพระพุทธเจ้าอนุญาตไว้สำหรับให้ขู่และปลอบผี อีกข้อหนึ่งว่าที่ให้สวมมงคลพิสมรและถือกระบองเพชร ไม่ใช่สำหรับกลัวผีหลอก เพราะปรารถนาความสวัสดิมงคล การซึ่งกล่าวแรงไปจนถึงว่าการที่กลัวผีเป็นผิดนั้น เป็นความเห็นของข้าพเจ้าเองผู้แต่งหนังสือ และว่าได้ว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนคงจะไม่ทรงกลัวผีสั่นไปเหมือนอย่างคนทั้งปวงกลัวดังเช่นกล่าวมา แต่ที่จะปฏิเสธว่าไม่ทรงเชื่อว่าผีมีอยู่ และขับได้อยู่ตามลัทธิโบราณที่ถือมานั้นปฎิเสธไปไม่ได้ เพราะใครๆ ในเวลานั้นก็ย่อมถือเช่นนั้นทั่วหน้ากัน แต่จะลงเอาเป็นแน่ว่าทรงเชื่อถือแท้ก็ว่าไม่ได้ บางทีจะเป็นแต่โบราณเคยทำมาก็ไม่ให้เสียโบราณ ด้วยคนทั้งปวงย่อมเชื่อถืออยู่ด้วยกันโดยมาก เป็นพระบรมราโชบายอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเครื่องระงับความกระวนกระวายร้อนใจของคนทั้งปวงให้เป็นที่เย็นอกเย็นใจได้ อย่างทําก็ไม่เสียหายอันใดมากนัก แต่ได้ประโยชน์ให้เป็นที่เย็นใจของคนทั้งปวงอันอาศัยในพระราชอาณาเขตเช่นนี้ก็จะมีบ้าง เหมือนอย่างพระราชพิธีอาพาธพินาศก็คือทําอย่างสัมพัจฉรฉินท์นี้เอง เป็นแต่เปลี่ยนชื่อ

พระราชพิธีอาพาธพินาศนี้ จะสืบสาวเอาเหตุผลให้ได้ความว่ามีมาแต่ก่อนหรือไม่ก็ไม่ได้ความ ได้พบแต่ร่างหมายพระราชพิธีอาพาธพินาศ เมื่อปีมะโรงโทศก ๑๑๘๒ อ้างถึงพระราชพิธีอาพาธพินาศที่ได้ทํามาแต่ก่อนเมื่อปีมะแมตรีศกศักราช ๑๑๗๓ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้นเองทั้งสองคราว แต่ไม่ได้ความว่าคราวแรกนั้นทําด้วยเหตุอันใด ตรวจดูในจดหมายเหตุก็ไม่ได้กล่าว ถึงท้ายปูมก็ไม่ได้แทงไว้ แต่การที่ทําขึ้นนั้นก็คงจะอาศัยเหตุที่เกิดโรคภัยที่เป็นมากๆ ทั่วกัน เช่นไข้ทรพิษหรืออหิวาตกโรค เพราะเมื่อเทียบเคียงดูกับประเทศอื่น ก็เห็นว่าจะเป็นอหิวาตกโรค เพราะในระยะนั้นอหิวาตกโรคเกิดขึ้นที่ประเทศอินเดียก่อนแล้วเป็นระรานต่อมา แต่จะสอบปีให้ตรงกันกับศักราชเท่านี้ว่าเป็นคราวเป็นใหญ่ก็ไม่ตรง แต่ไข้เจ็บเช่นนี้เป็นขึ้นที่แห่งหนึ่งแล้วก็ค่อยๆ แผ่ไป จะกำหนดเวลาให้ตรงกันเป็นแน่ก็ไม่ได้อยู่เอง อหิวาตกโรคเกิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อปีขาลโทศกจุลศักราช ๑๑๓๒ เป็นคราวแรก แล้วแผ่ไปทั้งประเทศยุโรปและประเทศเอเซีย คงจะมีเข้ามาถึงกรุงสยามนี้ด้วย แต่จะไม่ใหญ่โตมากมายเหมือนปีมะโรง จึงไม่มีผู้ใดจำผู้ใดเล่า การซึ่งเกิดทําพิธีกันขึ้นนั้นก็คงจะเป็นด้วยเหตุความตกใจหวาดหวั่น ในการที่เกิดโรคอันมีพิษร้ายแรงเสมอด้วยพิษงูขึ้นใหม่ๆ และเป็นมากๆ พร้อมกัน เมื่อจะคิดเสาะแสวงหาเหตุผลว่าเกิดขึ้นด้วยอันใด ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ในเวลานั้น ด้วยมิได้เคยทดลองสังเกตสังกามาแต่ก่อน ยาที่จะกินนั้นเล่าก็ต้องเป็นยาเดาขึ้นใหม่ทั้งสิ้น กินยาก็ต้องเป็นการลองไปในตัว คนจึงได้ตายมาก จนลงเห็นกันว่าเป็นไม่มียาอันใดจะแก้ไขได้ ความคิดที่เชื่อพระผู้สร้างโลก เชื่อผีผู้ดีคือเทวดา เชื่อผีไพร่คือปิศาจ ก็เข้าครอบงําความคิดคนทั้งปวงในเวลานั้นตามแต่ใครจะถนัดทางใด พวกที่ถือว่ามีพระผู้สร้างโลก คอยให้บําเหน็จคอยลงโทษก็ต้องว่าเป็นการที่พระผู้สร้างโลกนั้นลงโทษ พวกที่เชื่อผีก็ต้องว่าผีมาแขก ความคิดคนทั้งสองพวกนี้ก็เป็นความคิดอันเดียวกันนั้นเอง ใครจะหัวเราะเยาะใครก็ไม่ได้ ข้างฝ่ายแขกฝ่ายฝรั่งก็คิดอ่านแก้ไขตามทางที่ตัวคิดเห็น คืออ้อนวอนขอร้องออดแอดไปแก่พระผู้เป็นเจ้า จนถึงเขียนยันต์เขียนไม้กางเขนปิดประตูสัพพีพระเยซู ให้ถูกพระทัยพระเป็นเจ้า ข้างฝ่ายไทยเราออกเชื่อผีมาแต่เดิมแล้ว ก็ตกลงกันโทษเอาว่าผีมาแขก เล่ากันเป็นจริงเป็นจังไป ก็ต้องคิดอ่านสัพพีพวกผีนั้นต่างๆ ตามแต่ใครจะนึกทํา มีเสียกบาล เป็นต้น ส่วนผู้ซึ่งมีใจเชื่อถือในพระรัตนตรัยมากกว่าผีสางเทวดา แต่ความสะดุ้งหวาดหวั่นต่อภัยอันตรายอันมีมาใกล้ตัวเข้าครอบงําแรงกล้า จนไม่สามารถที่จะรักษาน้ำใจให้สงบระงับอยู่โดยพระพุทโธวาทในทางพิจารณาพระไตรลักษณ์เป็นต้น ก็คิดเสาะแสวงหาไปกว่าจะหาเหตุผลหนทางอันใดให้เป็นเครื่องป้องกันอันตรายเหล่านี้ ให้เจือในพระพุทธศาสนาได้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 13:35:14 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2561 16:49:52 »

พระราชพิธีเดือนสี่ (ต่อ)

ก็ความกลัวอันตรายเช่นนี้ ใช่ว่าจะพึ่งมีขึ้นในชั้นภายหลังนี้ก็หาไม่ ย่อมมีมาแต่ในเวลาใกล้ๆ ที่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ ผู้ซึ่งเคยคิดแก้ไขมาแต่ก่อนได้ทําเป็นตัวอย่างไว้มีมาแล้ว เช่นคาถารัตนสูตรสำหรับอธิษฐานบําบัดโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยอาศัยอ้างคุณพระรัตนตรัยเป็นต้นมีตัวอย่างมา เมื่อภัยเกิดขึ้นเช่นนี้ และซ้ำมีข้อสงสัยว่าเป็นด้วยผี ก็ไม่มีอะไรจะเหมาะยิ่งกว่าอาฏานาฏิยสูตร ซึ่งกล่าวมาว่าสำหรับปราบปรามพวกภูตปิศาจไม่ให้ทําร้ายมนุษย์ จึ่งได้คิดตั้งพระราชพิธีให้มีสวดอาฏานาฏิยปริตร แต่ตั้งชื่อว่าอาพาธพินาศตามความต้องการ ให้เป็นการที่เย็นใจของชนทั้งปวงซึ่งนับถือพระพุทธศาสนา แต่การพระราชพิธีนั้นเป็นการคาดคะเนทําขึ้น มิใช่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนไว้ให้ทำสำหรับแก้ไขโรคภัยเช่นนี้ และความเข้าใจที่คะเนเอาว่าโรคนี้เกิดขึ้นด้วยผี จึ่งได้คิดขับไล่ผีเป็นการผิดอีกชั้นหนึ่งด้วย เพราะโรคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยผี เกิดขึ้นด้วยดินฟ้าอากาศ และความประพฤติที่อยู่ที่กินของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีวิญญาณจะขับไล่ได้ เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีจึงไม่ได้มีประโยชน์อันใด คำซึ่งบอกเล่าในการพระราชพิธีที่ทำนี้ มีเรื่องราวอันเป็นที่พิลึกพึงกลัวเป็นอันมาก เป็นต้นว่าคนที่เข้ากระบวนแห่และหามพระพุทธรูป และพระสงฆ์เดินไปกลางทางก็ล้มลงขาดใจตาย ที่กลับมาถึงบ้านแล้วจึ่งตายก็มีมาก และตั้งแต่ตั้งพิธีแล้วโรคนั้นก็ยิ่งกำเริบร้ายแรงหนักขึ้น ด้วยอากาศยิ่งร้อนจัดหนักขึ้นตามธรรมดาฤดู คนทั้งปวงก็พากันลงว่าเพราะการพิธีนั้นสู้ผีไม่ได้ผีมีกําลังมากกว่า ตั้งแต่ทําพิธีอาพาธพินาศในปีมะโรงโทศกนั้นไม่ระงับโรคปัจจุบันได้ ก็เป็นอันเลิกกันไม่ได้ทําอีกต่อไป คงอยู่แต่พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ตามธรรมเนียม ถึงเมื่อปีระกาเอกศกในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโรคปัจจุบันหนามากก็ไม่อาจทําพิธีนี้ ใช่จะเป็นด้วยคิดเห็นว่าความคิดที่จะอาศัยพระพุทธวจนะ ซึ่งมาในอาฏานาฎิยสูตรไม่ต้องกันกับเหตุการณ์ที่เป็นขึ้นดังเช่นกล่าวมา เลิกยกเว้นเสียด้วยไม่เป็นที่ชอบใจคนทั้งปวง คนทั้งปวงถือว่าการที่ทําพิธีนั้น เหมือนไปยั่วไปผัดล่อให้ผีมีความโกรธคิดเอาชนะมากไป เท่ากับคนชั้นหลังๆ คิดเห็นว่ากินขนมจีนน้ำยาในเวลาที่โรคปัจจุบันชุกชุมเหมือนอย่างไปผัดไปล่อช้างน้ำมันฉะนั้น

การพระราชพิธีอาพาธพินาศที่เคยทํามานั้น ก็คล้ายคลึงกันกับพิธีสัมพัจฉรฉินท์ที่ทําอยู่ทุกปี เป็นแต่มีเพิ่มเติมขึ้นบ้างคือเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต มาตั้งเตียงพระมณฑลที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วย ในวันแรม ๑๕ ค่ำเวลาเช้า มีสรงพระมุรธาภิเษกที่ชาลาข้างตะวันออกแห่งพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งเวลานั้นเรียกว่าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานตลอดไป แล้วแบ่งพระสงฆ์เป็นพวกๆ มีกระบวนแห่พระพุทธรูปในฝั่งตะวันออกนี้เป็นสามกระบวน กระบวนที่หนึ่งพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตทรงยานมาศ มีรายกระบวนต่อไปดังนี้  ธงหน้า ๑ ธงนำริ้ว ๒ ธงฉาน ๒ ธงจีน ๓๐ นุ่งกางเกงแดง เสื้อเสนากุฎ หมวกหนัง คู่แห่นุ่งสองปักลาย เสื้อครุย ลอมพวก หน้า ๔๐ หลัง ๒๐ เครื่องสูงสำรับหนึ่ง ๑๐ บังสูรย์ ๑ บังแทรก ๖ นุ่งกางเกงยก เสื้อมัสรู่ คาดผ้าปัก คู่เคียง ๑๐ เกณฑ์ขุนนางผู้น้อยตลอดลงไปถึงหลวงป้อม แตรงอน ๑๐ แตรฝรั่ง ๔ สังข์ ๑ เป็น ๑๕ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ ปี่กลองมลายูสำรับหนึ่ง ๖ คน พิณพาทย์ ๓ วง หามสองผลัดเป็นคน ๓๖ คน ปืน ๕๐ กางเกงปัศตูแดงเสื้อดํา หมวกขาว ดาบ ๕๐ เสื้อเขียวตะแบงไหล่ ผ้าลาย หามยานมาศสองผลัด ๘๐ นุ่งกางเกงปัศตูแดง คาดผ้าลาย หามวอพระสงฆ์ ๕ วอ สองผลัด ๔๐ คน ยกบาตรน้ำบาตรทรายอย่างละ ๕ บาตร สองผลัด ๒๐ คน นุ่งกางเกงดำลำพู รวมคนในกระบวนที่หนึ่งนี้ ๔๔๓ คน พระราชาคณะขี่วอตามกระบวนประน้ำมนต์โปรยทราย ๕ รูป เดินกระบวนออกจากประตูวิเศษชัยศรี เลี้ยวลงไปออกประตูท่าพระ เลี้ยวขึ้นตามถนนริมกําแพงพระนครข้างนอก จนถึงป้อมพระสุเมรุทางหน้าบ้านพระยาบําเรอภักดิ์ แต่พระยาบําเรอภักดิ์ครั้งนั้นจะตั้งบ้านเรือนอยู่แห่งใดก็ไม่ได้ความ จะกลับเข้าในพระนครทางประตูใดก็ไม่ปรากฏ พิเคราะห์ความในหมายนั้นดูเหมือนว่าเมื่อถึงบ้านพระยาบำเรอภักดิ์แล้ว เดินตามถนนลงมาหน้าพระราชวังบวรฯ ศาลาสารบาญชีหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ไปหยุดที่วัดพระเชตุพน จะกลับเข้าพระราชวังทางใดก็ไม่ได้ความ สั่งสั้นกันอยู่เพียงเท่านั้น อีกกระบวนหนึ่งเป็นกระบวนพระชัย ก็มีกระบวนแห่คล้ายกันกับพระแก้วมรกต คือมีธงหน้าธงนำริ้วยกธงจีน คู่แห่ลดลง หน้า ๓๐ หลัง ๒๐ เครื่องสูงกลองชนะคงที่ คู่เคียงลดลงเพียง ๖ คน แตรงอนลดลงเพียง ๖ คน แตรฝรั่ง คู่ ๑ สังข์ ๑ พิณพาทย์ลดลงเป็น ๒ วง แต่ปืนกลับขึ้นไปเป็น ๖๐ กระบอก ดาบเท่ากัน เสลี่ยงพระพุทธรูปว่าใช้เสลี่ยงงาหามสองผลัด ๑๖ คน วอเท่ากัน คนยกบาตรน้ำบาตรทรายก็เท่ากัน รวมคนในกระบวนที่สองนี้ ๓๑๗ คน แต่พระสงฆ์ที่ตามมีจํานวนมากขึ้น คือพระราชาคณะขี่วอ ๕ รูป พระอันดับ ๑๕ รูป รวมเป็น ๒๐ รูป เดินออกประตูวิเศษชัยศรีเหมือนกัน ว่าเลี้ยวลงประตูท่าพระ ดูเหมือนหนึ่งว่าจะออกไปนอกกําแพง แต่อย่างไรหวนกลับมาเข้าประตูสกัดเหนือไปออกประตูสกัดใต้ แล้วเลี้ยวขึ้นถนนท้ายสนม เลี้ยวมาทางหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์กลับเข้าประตูวิเศษชัยศรี พิเคราะห์ดูจำนวนพระสงฆ์มากขึ้น แต่ระยะทางกลับสั้นไปกว่ากระบวนพระแก้วมรกต ไม่รู้ที่จะเอายุติอย่างไร อีกกระบวนหนึ่งนั้นเป็นกระบวนพระห้ามสมุทรเท่ากันเหมือนกับกระบวนพระชัยมาก แต่ยังไม่เว้นที่แปลกทีเดียว คือมีธงจีนเติมขึ้น ๑๐ คัน กลองชนะลดลงเป็น ๑๐ แตรงอนคงแต่ ๒ คู่ แตรฝรั่งและสังข์เท่ากัน นอกนั้นก็เหมือนกับกระบวนก่อนทั้งสิ้น เว้นแต่คนหามวอพระเลยสูญไปข้างไหนไม่ทราบ ไม่เห็นมีบัญชี รวมคนในกระบวนที่สามนี้ ๒๘๓ คน มีวอพระสงฆ์ ๕ วอ พระอันดับ ๑๕ รูป กระบวนแห่และพระสงฆ์เดินออกจากประตูวิเศษชัยศรีไปเลี้ยวที่ศาลาสารบาญชี คือที่ตรงศาลหลักเมืองออกมา แล้วลงถนนโรงม้าคือที่ศาลายุทธนาธิการเดี๋ยวนี้ แต่เดิมเป็นโรงม้าก้าวก่ายเกะกะกันไปทั้งสิ้น แล้วไปถนนเสาชิงช้า ถนนรี ถนนขวาง ที่เรียกถนนรี ถนนขวางนี้จะเป็นถนนอันใดก็ไม่ได้ความ เห็นจะเป็นบํารุงเมืองเฟื่องนครนั้นเอง ดูกระบวนนี้อยู่ข้างต้องเดินมากกว่ากระบวนอื่นหมด ยังอีกกระบวนหนึ่งสำหรับฟากข้างโน้น เกณฑ์ให้เจ้าสามกรม คือ กรมหมื่นนราเทเวศร์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสกรมพระราชวังหลังเป็นผู้จัดกระบวน เห็นจะเป็นข้าไทในกรมพระราชวังหลังทั้งสิ้น ด้วยในขณะนั้นกรมพระราชวังหลังพึ่งสิ้นพระชนม์ไม่ช้านัก เจ้าสามกรมซึ่งเป็นลูกก็เป็นคนมีกําลังและอํานาจใหญ่ คงจะรวบรวมผู้คนไว้ได้ไม่แตกแตนร่วงโรยไปได้มากนัก จ่ายแต่คนถือปืน ๕๐ ถือหอกดาบ ๕๐ เพิ่มเติมไปให้จำนวนพระสงฆ์พระราชาคณะ ๕ อันดับ ๑๔ รวมเป็น ๑๙ รูป ให้แห่ประน้ำมนต์ในพระราชวังหลัง และถนนในพระนครฟากตะวันตก เป็นจำนวนคนที่เข้ากระบวนแห่ทั้งสี่กระบวนพันร้อยสี่สิบสามคน พระสงฆ์ ๖๔ รูป แต่ครั้นเมื่อตรวจดูบัญชีรายเกณฑ์เลี้ยงพระเพลก็โคมไปอีกใบหนึ่งต่างหาก ว่าพระสงฆ์ฉันที่พระสังฆราช ๘ ที่ พระวันรัต ๗ ฉันที่ป้อมตรงวัดสระเกศ ๑๕ ฉันที่วัดระฆัง ๑๕ พระเหลือนั้นสูญหายไปไหนก็ไม่เห็นกล่าวถึง การพิธีกลางเมืองและปิดประตูเมืองก็เหมือนพิธีสัมพัจฉรฉินท์ทุกวันนี้ เป็นแต่มีกําหนดหม้อน้ำมนต์โรงละ ๙ ใบ โรงพิธี ๑๐ แห่ง เป็นหม้อน้ำมนต์ ๙๐ ใบ บังคับว่าวันแรม ๑๕ คํ่า ให้มาคอยพร้อมที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มงคลพิสมรกระบองเพชรก็ดูใช้น้อยกว่าหมายรับสั่งการพิธีสัมพัจฉรฉินท์ในปัจจุบันนี้ แต่มียันต์กระดาษไทยเติมขึ้นอีก ๓๕๐ แผ่น สำหรับเที่ยวปิดตามตําหนักในวัง มีแผ่นดีบุกบริสุทธิ์ในหมายว่าให้ส่งไปที่พระองค์เจ้าพระวัดพระเชตุพน คือกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ให้ราชบัณฑิตไปเป็นผู้ลง แล้วส่งมากรึงพระแกลพระทวาร มีสายสิญจน์วงรอบพระที่นั่งและตําหนักเจ้านายในพระบรมมหาราชวัง แต่ในท้ายร่างรับสั่งนี้มีเนื้อความว่า ให้ทําพระราชพิธีระงับความไข้อย่างปีมะแมตรีศกนั้น แต่ยิงปืนและแห่พระชัยพระสงฆ์ประน้ำโปรยทรายในพระราชวังหลวงนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเสีย การแต่ก่อนจะทํามากกว่านี้อีกอย่างไรไม่ทราบเลย แต่หมายพิธีสัมพัจฉรฉินท์ทุกวันนี้ใช้หมายกรมวัง พิธีอาพาธพินาศนี้ใช้หมายกรมเมือง เจ้าพระยายมราชรับพระราชโองการ จะเป็นด้วยมีแห่และเกณฑ์ให้ปราบลู่ปราบทางอย่างไร จึงได้กลายเป็นกรมเมืองไป การพิธีอาพาธพินาศนี้คงจะไม่มีสืบไปภายหน้า นับว่าเป็นพิธีที่เลิกแล้วจึงมิได้นับเข้าในพระราชพิธีประจําเดือนทั้งปวง

การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ซึ่งทําอยู่ในปัจจุบันนี้ เริ่มตั้งน้ำวงด้ายในวันแรม ๑๑ ค่ำ พราหมณ์ได้เข้าโรงพระราชพิธีแต่วันแรม ๑๑ ค่ำ แต่ที่จริงนั้นพราหมณ์ไม่ได้ทําพิธีวันแรม ๑๑ ค่ำ คงทํา ๑๒ ค่ำ หมายกันไปหลวมๆ อย่างนั้นเอง

แต่พิธีพราหมณ์ ในการสัมพัจฉรฉินท์นี้เป็นพิธีใหญ่ มีโหมกุณฑ์ พระมหาราชครูว่าแต่ก่อนเคยโหมกุณฑ์ทั้งพิธีจองเปรียงและพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้งดการโหมกุณฑ์ในพิธีจองเปรียงเสีย คงอยู่แต่พิธีสัมพัจฉรฉินท์ การที่ทําพิธีโหมกุณฑ์เดี๋ยวนี้ คงเป็นมีแต่บรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร กับพิธีสัมพัจฉรฉินท์ประจําปีละครั้ง และเมื่อลงสรงสยามมกุฎราชกุมารได้ให้มีโหมกุณฑ์อีกครั้งหนึ่ง โรงพระราชพิธีแต่ก่อนเคยปลูกที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สุดแต่จะทําพิธีอันใดก็ปลูกใหม่ทุกคราว ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างโรงพิธีขึ้นเป็นฝาก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องเคลือบขาว มีช่อฟ้าใบระกา พระราชทานชื่อว่าหอเวทวิทยาคม สำหรับทําพิธีไม่ต้องปลูกใหม่ ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ย้ายมาจากหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มาอยู่ที่มุมโรงกระษาปณ์เก่าจนทุกวันนี้ การที่จัดโรงพระราชพิธีนั้นมีคร่าวไม้ติดเสาถึงกันทุกเสาตามตําราพราหมณ์เรียกว่าพรหมโองการ แล้วจึงพาดผ้าโตรทวาร ในหอราชพิธีนั้นมีเตียงสามเตียง ตั้งลดเป็นลำดับลงมาตามแบบที่ตั้งพระของพราหมณ์คล้ายกันทุกพิธี ชั้นต้นตั้งพระอิศวร พระนารายณ์ พระมหาพิฆเนศวร และพระอิศวรทรงโค ซึ่งมีพระอุมาทรงอยู่ด้วย ม้ารองลงมาตั้งเทวรูปนพเคราะห์  ม้าที่สามตั้งเบญจคัพย์ กลด สังข์ เตาซึ่งสำหรับโหมกุณฑ์นั้นอยู่ที่พระคลังในซ้าย เป็นเตาทองแดง ตั้งในโรงพิธีนั้นด้วย แล้วมีหม้อกุมภ์ตั้ง ๙ ใบ หม้อกุมภ์นั้น หม้อข้าวเราไทยๆ นี้เอง ไม่แปลกประหลาดอันใด

การที่ทําน้ำมนต์ด้วยหม้อข้าวนี้  เป็นแบบมาจากอินเดียแน่แท้ ข้างพราหมณ์ก็คือหม้อทองเหลืองซึ่งหุงข้าวและตักน้ำที่ได้กล่าวแล้วในเดือนสาม ข้างส่วนพระสงฆ์ก็ใช้บาตรๆ นั้นก็คือหม้อข้าวเป็นลัทธิประเทศเดียวกัน เป็นแต่ไม่ใช้หุง ใช้สำหรับขอ ตามลัทธิที่ท่านค้นคว้าตำรับตำรากันก็ได้ความว่าเล็กๆ ขนาดหม้อข้าวใหญ่ๆ ที่โตขึ้นไปเดี๋ยวนี้สำหรับรับของที่ห่อใบตองเป็นต้น เหตุด้วยอาหารของเรากับประเทศอินเดียห่างไกลกันมาก ซึ่งจะเห็นว่าทําบาตรโตเพราะตะกลามนั้นก็คงจะเป็นบ้างในบางจําพวก แต่บาตรที่ท่านใช้กันแต่ก่อนก็ใช้ตักน้ำเหมือนกัน เช่นกับที่มีเรื่องปรากฏมาว่าพระพุทธเจ้าจะเสวยน้ำให้นำบาตรไปทรงตัก เมื่อบาตรใช้ตักน้ำฉันเช่นนั้นแล้วก็คงใช้ทําน้ำมนต์ด้วยบาตรได้ แต่บาตรนั้นยักลัทธิเสีย ไม่ใช้ทองเหลืองเหมือนฮินดูพราหมณ์ทั้งปวงซึ่งใช้กันอยู่เป็นพื้นเมือง ใช้ดินและเหล็กเป็นภาชนะที่พระสงฆ์จําจะต้องมีองค์ละใบเหมือนพวกฮินดูต้องมีหม้อข้าวคนละใบ จึงได้ใช้บาตรทําน้ำมนต์มาจนทุกวันนี้

หม้อกุมภ์ทั้ง ๙ ใบนั้นตั้งอยู่กลางใบหนึ่ง รอบ ๘ ใบ ในหม้อกุมภ์นั้นมีเงินเฟื้องหนึ่งทุกๆ หม้อ พิธีที่ทําทุกวันนั้น กําหนดทําตั้งแต่เวลา ๘ ทุ่ม การพิธีพราหมณ์ทั้งปวงที่จะทําแล้วมักจะทํากลางคืนดึกๆ ทุกพิธี เว้นไว้แต่ที่เป็นการจําเป็นจะต้องทํากลางวัน เช่นวันพิธีตรียัมพวายกับตรีปวายต่อกันเป็นต้น ชะรอยว่าท่านผู้ต้นตำราจะเป็นค้างคาวอย่างเอก ถ้าพระมหาราชครูเป็นกาจะได้ความเดือดร้อนหาน้อยไม่ เริ่มทําพิธีอวิสูทธ์อัตมสูทธ์ชำระตัว ตามแบบพิธีทั้งปวงและบูชา ๘ ทิศอ่านตํารับ เมื่อจบลงแล้วบูชาพระอิศวรแล้วจึงได้บูชาเบญจคัพย์เอาน้ำรินลงในถ้วย อ่านตํารับบูชากลดสังข์บูชากุมภ์แล้ว จึงได้เอาน้ำผสมกันกรอกในกลดในสังข์และในหม้อกุมภ์ทั้ง ๙ หม้อ หม้อกุมภ์ใบกลางนั้นเป็นของพระมหาราชครูไปเก็บน้ำนั้นไว้ถวายในวันทรงเครื่องใหญ่และวันพิธีทั้งปวง อีก ๘ หม้อก็แจกกันไปตามเจ้ากรมปลัดกรม เป็นน้ำที่ไปเก็บไว้สำหรับถวายและเที่ยวรดใครๆ ต่อนั้นไปก็บูชากุมภ์ใบไม้โหมกุณฑ์ที่เรียกว่าใบไม้สมมิทธิมีในหมายรับสั่งมากอย่าง คือ ใบรัก ใบมะม่วง ใบตะขบ ใบยอ ใบขนุน ใบมะเดื่อ ใบเงิน ใบทอง ใบเฉียงพร้านางแอ ใบมะผู้ ใบระงับ ใบพันงู สิ่งละ ๕๐ ใบ มะกรูด ๑๕ ผล ส้มป่อย ๑๕ ฝัก แต่ที่ได้ใช้โหมกุณฑ์อยู่เดี๋ยวนี้แต่สามอย่าง คือใบตะขบ ๙๖ ใบทอง ๓๒ ใบมะม่วง ๒๕ ใบตะขบนั้นสมมติว่าเป็นที่หมายแทนฉันวุติโรค ๙๖ ประการ ใบทองแทนทวดึงสกรรมกรณ ๓๒ ประการ ใบมะม่วงว่าแทนปัญจวีสมหาภัย ๒๕ ประการ จำนวนใบไม้ก็ไม่ถูกกันกับในหมายจะเป็นคนละเรื่องหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ใบไม้ที่กล่าวมาข้างต้นจะสำหรับทําพิธีอย่างหนึ่ง แต่พราหมณ์จะตื้นเสียเลยไม่มีตํารา ตกลงเป็นเก็บมากองไว้เปล่าๆ แต่ใบไม้สามอย่างซึ่งกล่าวทีหลังนั้นทําเป็นสามมัด ถ้าในเวลาการบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียร พระมหาราชครูนํามาถวายให้ฟาดพระองค์เวลาสวดมนต์เย็น แต่การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ไม่ได้นำมาถวาย เป็นแต่ทําไปตามเคย ที่เตากุณฑ์นั้นมีดินและมูลโครองในนั้น แล้วมีเต่าทองตัวหนึ่งหนักสองสลึงเฟื้อง สำหรับวางในกลางกองกุณฑ์ ฟืนที่สำหรับจะใช้โหมกุณฑ์นี้ใช้ไม้พุทรายาวดุ้นละ ๙ นิ้ว มัดละ ๙ ดุ้น วันละ ๒๐ มัด เมื่ออ่านเวทติดเพลิงถึงกําหนดแล้ว เอาใบไม้ชุบน้ำผึ้งรวงและน้ำมันดิบโหมกุณฑ์ เมื่อโหมกุณฑ์เสร็จแล้วก็เป็นเสร็จการพระราชพิธีส่วนวันนั้น แต่ยังไม่ได้ดับกุณฑ์ ต่อวันเสร็จพระราชพิธีจึงได้อ่านเวทดับกุณฑ์ด้วยน้ำสังข์ ประโยชน์ของพราหมณ์ที่ได้ในการพระราชพิธีนี้ คือเต่าทองสำหรับโหมกุณฑ์หนักทองสองสลึงเฟื้อง เงินทักษิณบูชา ๖ บาท เงินหม้อกุมภ์หม้อละเฟื้อง เป็นเงินบาทเฟื้อง ผ้าขาวห่อตํารับผืนหนึ่ง ผ้าพันหม้อกุมภ์ผืนหนึ่ง รองนพวรรคผืนหนึ่ง เบญจคัพย์ผืนหนึ่ง รองอาสนะพระผืนหนึ่ง รองอาสนะพราหมณ์ผืนหนึ่ง ผ้าโตรทวาร ๔ ผืน ผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าห่มผืนหนึ่ง หม้อข้าวเชิงกรานสำหรับหุงข้าวบูชาเทวดา หม้อคะนนใหญ่สำหรับน้ำใช้หม้อหนึ่ง หม้อน้ำมนต์จุ ๑๒ ทะนานหม้อหนึ่ง นมเนย ข้าวเปลือกรองหม้อ ข้าวสารสำหรับหุงบูชาเทวดา มะพร้าวอ่อน ส่วนเงินที่แบ่งปันกันในพราหมณ์ พระมหาราชครูได้กึ่งตําลึง พระครูอัษฎาจารย์ได้บาทเฟื้อง ปลัดสองคนๆ ละหนึ่งบาท ขุนหมื่นสี่คนๆ ละสองสลึง หมดเงินเจ็ดบาทเฟื้อง

ส่วนการพระราชพิธีสงฆ์ ทําที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นนิตย์ เว้นไว้แต่มีพระบรมศพหรือพระศพอยู่บนนั้น จึงได้ย้ายไปทําที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามก็มี พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ก็มี พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยบ้าง พระที่นั่งอนันตสมาคมได้เคยมีสองครั้ง การจัดตั้งพระแท่นพระมณฑลแต่ก่อนก็ดูโหรงๆ พระพุทธรูปก็อยู่ในใช้แต่พระบรมธาตุ พระชัย พระห้ามสมุทร พระปริยัติธรรม เว้นไว้แต่การอาพาธพินาศจึ่งเชิญพระแก้วมรกตมาตั้งด้วย พระเต้าน้ำพระพุทธมนต์ก็มีปรากฏอยู่แต่พระเต้าเบญจคัพย์ พระมหาสังข์ ๓ พระเต้าปทุมนิมิตของเก่า ๔ หม้อดินกลีบบัว พระเต้าทอง พระเต้าเงิน นอกนั้นก็เป็นหม้อทองเหลือง บาตรเหล็กและเต้าทองเหลืองสำหรับรดน้ำช้างม้า พระแสงที่ใช้ก็ดูน้อยกว่าเดี๋ยวนี้ เพราะพระแสงประจํารัชกาลยังไม่มีใช้ คงใช้แต่พระแสงสำหรับแผ่นดิน คือ อัษฎาวุธ จักร ตรี พระแสงหอก พระแสงง้าว ธงกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์ พระกรรภิรมย์และเครื่องต้นเครื่องพิชัยสงครามคงตัวยืนอยู่เหมือนทุกวันนี้ แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มเติมขึ้นมาก ดูเหมือนหนึ่งพระแท่นมณฑลจะเปลี่ยนไปคนละท่ากับแต่ก่อนทีเดียว พระบรมธาตุระย้ากินนรนั้นก็ทรงหล่อรูปพระเจดีย์ถมตะทองครอบ แต่ก่อนมาการพระราชพิธีเคยเชิญพระแก้วมรกตมาตั้งอยู่บ้างนั้น ทรงเห็นว่าแต่ก่อนพระแก้วตั้งอยู่ต่ำจะยกจะรื้อก็ค่อยง่าย แต่ถึงดังนั้นก็เป็นของหนักยกไปมาน่ากลัวเป็นอันตราย ครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทําพระเบญจาตั้งบุษบกสูงขึ้นไปแล้ว ก็เลยเป็นอันเลิกไม่ได้เชิญมาเข้าพระราชพิธีต่อไป ด้วยจะยกขึ้นลงลำบาก มีแต่สายสิญจน์โยงออกไปจากพระแท่นมณฑลถึงที่บุษบกด้วยทุกครั้ง ในการพระราชพิธีใหญ่ๆ จึงโปรดให้เชิญพระพุทธบุษยรัตนออกมาตั้งเป็นประธานในการพระราชพิธี แทนพระแก้วมรกต ส่วนพระสำหรับแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระนากสวาดิเรือนแก้วซึ่งได้มาแต่เมืองเวียงจันท์ พระในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้พระแก้วเชียงแสนเป็นพระของเดิม พระในแผ่นดินปัจจุบันนี้ใช้พระพุทธบุษยรัตนน้อย แต่การซึ่งตั้งพระแก้วประจำแผ่นดินนี้ไม่เป็นสลักสำคัญอันใด ไม่ได้ตั้งมาแต่แรกเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินโปรดพระองค์ใดถึงได้มาภายหลังก็ตั้งเพิ่มเติมขึ้น พระที่เป็นสำคัญในการพระราชพิธีนั้น คือพระชัยทั้ง ๕ รัชกาล และพระชัยเงินองค์น้อยของเดิมในพระพุทธยอดฟ้า พระชัยเนาวโลหะน้อยซึ่งสำหรับเสด็จประพาสหัวเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างแล้วพระราชทานข้าพเจ้าเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคต และพระเจดีย์ทองคําบรรจุพระบรมธาตุมาแต่เมืองลังกาใหม่ พระห้ามสมุทรทอง พระห้ามสมุทรเงิน พระธรรมสามคัมภีร์ พระเต้าที่ตั้งนั้นคือพระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ เบญจคัพย์น้อย เบญจคัพย์ห้าห้อง พระเต้าปทุมศิลาแดง พระเต้าปทุมยอดเกี้ยว พระเต้าศิลาลงอักษรสอง พระครอบพระกริ่ง พระมหาสังข์ห้า พระมหาสังข์สาม พระเต้าห้ากษัตริย์ พระขันหยกตั้งเชิงเทียนทองสำหรับพระราชพิธี พระเต้าปทุมนิมิต พระเต้าศิลากลีบบัว พระเต้าทองขาวชาวที่ พระเต้านพเคราะห์ พระเต้าเทวบิฐ พระเต้าไกรลาส พระมหามงกุฎ พระมหาชฎา เดิมใช้พระชฎาเดินหน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทูลขอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นไปตั้งพิธีในพระบวรราชวัง จึงได้ใช้พระชฎาพระกลีบแทน ครั้นเมื่อได้พระชฎาเดินหนคืนลงมาก็ไม่เปลี่ยนพระชฎาพระกลีบ คงใช้พระชฎาพระกลีบไปตามเดิม ฉลองพระองค์เครื่องต้น ฉลองพระองค์พิชัยสงคราม พระมาลาเส้าสูงประดับเพชร พระมาลาเบี่ยง หีบพระเครื่องพิชัยสงคราม ขวดน้ำมันพิชัยสงคราม ตลับพระธํามรงค์ หีบเทวรูป เทวดาเชิญหีบพระราชลัญจกร และเชิญธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ พระแสงกั้นหยั่น พระแสงศรสาม พระแสงจักร พระแสงตรีเพชร พระแสงปืนนพรัตน์ พระแสงคาบค่าย พระแสงใจเพชร พระแสงญี่ปุ่นฟันปลาประดับพลอยแดง พระแสงแฝด พระแสงทรงเดิม พระแสงฝักทองเกลี้ยงประดับเพชร พระขรรค์ชัยศรี พระขรรค์เนาวโลหะ พระแส้หางช้างเผือก พระแส้จามรี พระแสงของ้าว พระแสงขอไม้เท้าคร่ำทอง ชนักต้น พระแสงด่อน พระแสงหอกเพชรรัตน์ และพระแสงหอกอื่นอีกสามองค์ พระแสงง้าว พระแสงทวน พระแสงดาบโล่ถมตะทองอย่างละสี่ละสี่ พระแสงปืนคาบชุด ๑ พระแสงคาบศิลา ๑ พระแสงดาบ ๒ พระกรรภิรมย์เศวตฉัตร ๙ ชั้นที่สำหรับถวายในวันบรมราชาภิเษก ธงราชกระบี่ธุช ครุฑพ่าห์คู่ ๑ ธงบัวคู่ ๑ ทั้งนี้ผูกเสาพระแท่นทั้งสี่ ตรงหน้าพระพุทธรูปตั้งพระสุพรรณบัฏ ดวงพระชันษา และหีบเครื่องพิชัยสงครามอีก ๒ หีบ ที่ฐานเฉลียงรองพระแท่นมณฑลนั้นตั้งพระเต้าก้าไหล่ทอง พระเต้าเงินสำหรับสรงเจ้าโสกันต์ และพระเต้าน้ำเงิน น้ำสระแก้ว สระเกศ สระคา สระยมนา สำหรับสรงมุรธาภิเษก กับหม้อทองเหลืองที่สำหรับพระสงฆ์ทําน้ำมนต์ เมื่อดับเทียนชัยมีจํานวนหมายว่า ๓๐ แต่หายหกตกหล่นไปไหนเหลืออยู่เล็กน้อย เต้าทองเหลืองสามลอนสำหรับรดช้างม้า ในใต้ฐานเฉียงนั้นบรรจุกระบองเพชรมีจำนวน ๑๐๐๐ พิสมรดอกเล็ก ๑๐๐๐ สาย พิสมรใหญ่สำหรับช้าง ๑๐๐ สำหรับม้า ๑๐๐ มงคลเข้าบรรจุหีบไว้หลังพระแท่นตามจำนวนเจ้านาย ข้าราชการ มงคลเป็นชั้นๆ ตามบรรดาศักดิ์ ข้างเหนือพระแท่นมณฑลตั้งโต๊ะจีนไว้พระนิรันตรายทองคํา ข้างใต้พระแท่นมณฑลตั้งโต๊ะจีนไว้พระสยามเทวาธิราช กับเทวรูปอีก ๔ องค์ และพระมหาสังข์ พระเต้า ต่อโต๊ะพระนิรันตราย โต๊ะพระสยามเทวาธิราชออกไป ตั้งปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ทองเหลืองรางเกวียน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหล่อขึ้นเป็นสังเขป แทนปืนใหญ่ซึ่งมีชื่ออย่างเดียวกันนี้ สำหรับใช้ยิงและตั้งในการพระราชพิธีทั้งปวง มีการหล่อพระชัยวัฒน์และยกพระมหาเศวตฉัตรเป็นต้น

มุขตะวันตก ตรงหน้าพระแท่นมณฑลตั้งพระแท่นพระสงฆ์ สวดภาณวาร ตรงหน้าพระแท่นลงมาตั้งกระโจมเทียนชัย โยงสายสิญจน์ตั้งแต่พระแท่นมณฑลไปจนถึงเทียนชัย และพระแท่นพระสวดเป็นสองสาย สายสิญจน์ที่เรียงพระแท่นต่อพระแท่นถึงกันนี้ถือกันว่า ถ้าผู้ใดได้ลอดเป็นระงับเสนียดจัญไร เพราะฉะนั้นการเกศากันต์ในพิธีตรุษจึงไม่ต้องหาฤกษ์ ถึงจะต้องวันอุบาทว์ วันโลกาวินาศ ร้ายแรงประการใดก็ใช้ได้ทั้งสิ้น เทียนชัยนั้นฟั่นที่วัดพระเชตุพน เป็นพนักงานพระครูลงเครื่องได้ฟั่น และลงเลขยันต์ตามตำราหลวง กําหนดด้ายไส้เทียน ๑๐๘ เส้น สีผึ้งหนัก ๑๐ ชั่ง ยาว ๓ ศอก ที่ผนังด้านตะวันตกท้ายอาสน์ ตั้งเตียงโถงสำหรับพระราชาคณะนั่งปรกเตียงหนึ่ง ข้างเตียงนั้นโยงสายสิญจน์ลงไปสำหรับราชบัณฑิตนั่งภาวนาชักประคำ ตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง จนเสร็จการพระราชพิธี ที่เสากลาง[] ตรงมุขตะวันตกโยงสายสิญจน์ออกทั้งสองข้าง ปล่อยลงข้างเสากลางนั้นสองเส้น ที่เสามุมตรงรักแร้ข้างละเส้นสำหรับพระถือสวดมนต์ แต่ส่วนสายที่มาข้างรักแร้ตะวันตกเฉียงใต้นั้นเลี้ยวมาตามฉาก จนถึงเสากลางมุมตะวันตกสำหรับโยงมงคลเจ้าโสกันต์ และวงสายสิญจน์รอบพระราชมนเทียรทั่วทุกแห่ง และวงสายสิญจน์กรองด้วยหญ้าคารอบกําแพงพระราชวังและกําแพงพระนคร
พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้น มีจํานวน ๖๘ รูป เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่เรียกว่าแม่การ ๘ รูป พระราชาคณะยกและฝ่ายวิปัสสนาธุระสำหรับนั่งปรก ๑๒ รูป พระครูคู่สวดในกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ๒ ในกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ๒ สวดธรรมจักร ในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ที่พระสังฆราช ๒ ในสมเด็จพระวันรัต ๒ สวดมหาสมัยสูตร พระพิธีธรรม ๔๐ พระพิธีธรรมนี้แต่เดิมก็เป็นพระอนุจรถือตาลิปัตรใบตาลตามธรรมเนียม แต่เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในตอนกลางๆ แผ่นดินทรงพระราชดําริเห็นว่า พระพิธีธรรมต้องถูกราชการสวดพระราชพิธีในพระราชวังอยู่เสมอตลอดลงไปถึงสวดพระจัตุเวททุกวันพระ จึงโปรดให้ทําตาลิปัตรพื้นแพรติดริ้วไหมทอง ที่นมตาลิปัตรประดับมุกว่าพระพิธีธรรมเป็นสี่สี คือสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีขาว สำรับหนึ่งใช้สีต่างกันทั้งสี่ พระสงฆ์พิธีธรรมนั้นจ่ายไว้ตามวัด ให้จัดฝึกซ้อมกันสำหรับรับราชการเป็นเหมือนหนึ่งตําแหน่งฐานา คือเดิมมีวัดมหาธาตุสำรับ ๑ วัดหงส์สำรับ ๑ วัดพระเชตุพนสำรับ ๑ วัดสุทัศน์สำรับ ๑ วัดโมฬีโลกย์สำรับ ๑ วัดอรุณสำรับ ๑ วัดราชบุรณะสำรับ ๑ วัดระฆังสำรับ ๑ วัดสระเกศสำรับ ๑ วัดราชสิทธิ์สำรับ ๑ ภายหลังในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีสวดภาณยักษ์เปลี่ยนทํานองเป็นสรภัญญะวัดบวรนิเวศน์ขึ้นอีกสำรับ ๑ จึงได้ยกพระพิธีธรรมวัดโมฬีย์โลกออกเสียสำรับ ๑ แต่ยังไม่มีคู่ซึ่งจะสวดภาณพระ จึงโปรดให้ถามดูตามพระว่า วัดใดจะรับอาสาสวดภาณพระอย่างธรรมยุติกาให้เข้าคู่กันได้บ้าง ครั้งนั้นวัดสุทัศน์รับอาสาสวด วัดสุทัศน์จึงได้สวดอย่างธรรมยุติกาติดมาจนทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ข้างจะโปรดมาก ถ้าสวดภาณยักษ์ภาณพระจบที่ ๑ ที่ ๒ จบใดดีก็ได้รางวัล แล้วได้ขึ้นภาณยักษ์จบแรกเปลี่ยนกันอยู่ในสามวัด คือ วัดมหาธาตุ วัดระฆัง วัดหงส์ จบที่ ๓ ที่ ๔ เป็นวัดบวรนิเวศน์และวัดสุทัศน์ ทรงฟังอยู่จนถึงจบที่ ๕ ที่ ๖ บ้างทุกปี พระสงฆ์นั่งสวดมนต์ พระราชาคณะ ๒๐ รูปนั่งทางผนังมุขตะวันออกและมุขเหนือ พระครูและพระพิธีธรรมนั่งมุขตะวันตกเป็นสี่แถว แถวกลางหันหลังเข้าหากัน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 13:43:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2561 16:51:38 »

พระราชพิธีเดือนสี่ (ต่อ)

และการพระราชพิธีนี้ มีโรงพิธีตั้ง ๘ ประตูเมือง และกลางพระนคร ๒ ตําบล คําที่ว่าพระนครในที่นี้ ไม่ได้กําหนดกําแพงที่กรุง ตั้งแต่ยกเมืองธนบุรีขึ้นเป็นกรุงเทพมหานคร ก่อกําแพงพระนครสองฟากน้ำ เอาแม่น้ำไว้กลาง อย่างเมืองพิษณุโลก โอฆบุรี ต่อมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยกวังข้ามมาอยู่ฝั่งตะวันออก ทรงพระราชดําริเห็นว่าการที่เอาแม่น้ำไว้กลางเมืองเป็นช่องกว้างใหญ่รักษายาก และต้องลัทธิเขากล่าวว่าเป็นเมืองอกแตกไม่ถาวรยืนยาว อีกประการหนึ่งที่ปลายแหลมซึ่งตั้งพระราชวังขึ้นใหม่นี้ เป็นที่แม่น้ำอ้อมโอบเป็นคูอยู่เกือบครึ่งหนึ่งเป็นชัยภูมิอันดี จึงโปรดให้รื้อกําแพงฝั่งตะวันตกยกมาต่อก่อฝั่งตะวันออกโดยรอบ ขุดคลองบางลําพู คลองโอ่งอ่างเป็นคูพระนคร ด้านตะวันออกบรรจบแม่น้ำทั้งสองข้าง จึงน่าที่จะเข้าใจว่าตั้งโรงพิธี ๘ ประตูเมือง และโรงพิธีกลางเมืองนั้น น่าจะอยู่ฝั่งตะวันออกนี้ทั้งสิ้น แต่การพระราชพิธีนี้ไม่ได้เปลี่ยนมาตามกําแพงเมือง คงทําเป็นเมืองสองฟากน้ำอยู่อย่างแต่ก่อน โรงพิธีกลางเมืองฟากตะวันออกนี้ ตั้งที่วัดสุทัศน์ซึ่งถือกันว่าเป็นกลางเมือง จึงได้ทำเทวสถานและปักเสาชิงช้าในที่นั้น และวัดสุทัศน์ที่จะสร้างนั้นก็ว่าเป็นศูนย์กลางเมืองจึ่งได้สร้างวัดขึ้น แต่ที่จริงทำแผนที่อย่างใหม่นี้เห็นว่าไม่ตรงศูนย์กลางเมืองเลย การวัดเส้นเชือกและวางที่แต่ก่อนนี้ดูไม่มีตรงเลย จนที่สุดที่จะก่อสร้างขึ้นก็เบี้ยวๆ บูดๆ ทุกแห่ง เช่นโรงแสงและโรงม้าเป็นต้น แต่ที่วัดสุทัศน์นี้นับว่าเป็นกลางเมือง เมื่อยังไม่ได้สร้างวัดสุทัศน์ขึ้นก็ต้องปลูกโรง ครั้นเมื่อมีวัดสุทัศน์แล้ว ก็อาศัยศาลาวัดสุทัศน์ได้ เมื่อวัดสุทัศน์ยังไม่มี ใช้พระสงฆ์วัดมหาธาตุมาสวดมนต์ในที่นั้น ๒๐ รูป แต่ครั้นมีวัดสุทัศน์ขึ้นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ยังคงพระวัดมหาธาตุต้องเดินไปสวดมนต์ถึงวัดสุทัศน์ตามเดิม ประตูเมืองฝั่งตะวันออก ๔ ประตูนั้น ไม่ได้สวดที่ประตู เป็นแต่ชื่อว่าประตูเมือง คงขึ้นสวดบนป้อม ด้านเหนือป้อมพระสุเมรุ พระสงฆ์วัดสังเวชสวดมนต์ ๑๐ รูป ด้านตะวันออกเหนือป้อมมหากาฬ พระสงฆ์วัดสระเกศสวดมนต์ ๑๐ รูป ด้านใต้ป้อมมหาชัย พระสงฆ์วัดราชบุรณะสวดมนต์ ๑๐ รูป ด้านตะวันตกป้อมมหาฤกษ์ พระสงฆ์วัดพระเชตุพนสวดมนต์ ๑๐ รูป และฝั่งตะวันตกนั้นต้องปลูกโรง เพราะไม่มีที่อาศัย กำหนดให้ปลูกโรงกลางเมือง ขื่อกว้าง ๖ ศอก ยาว ๓ วา ๒ ศอก มีพาไลเฉลียงรอบ ยกพื้นในประธานสูงศอกคืบ พาไลเฉลียงศอกหนึ่ง เป็นหน้าที่กรมพระนครบาลปลูก โรงประตูเมืองอีกสี่โรงนั้น ขื่อกว้าง ๕ ศอก ยาว ๙ ศอก มีพาไลเฉลียงรอบ ยกพื้นในประธานศอกคืบ พาไลเฉลียงศอกหนึ่ง โรงทั้งสี่นี้กรมท่าโรง ๑ กรมนาโรง ๑ กรมวังโรง ๑ กรมเมืองก็ถูกอีกโรง ๑ โรงกลางเมืองฝั่งตะวันตกนั้นปลูกที่ถนนอาจารย์ พระสงฆ์วัดระฆังสวดมนต์ ๒๐ รูป ประตูด้านตะวันออกปลูกที่วัดอรุณราชวราราม พระสงฆ์วัดอรุณสวดมนต์ ๑๐ รูป ประตูด้านใต้ปลูกที่วัดโมฬีย์โลก พระสงฆ์วัดโมฬีย์โลกสวดมนต์ ๑๐ รูป ประตูด้านตะวันตกปลูกที่ศาลหลวงเก่า พระสงฆ์วัดระฆังสวดมนต์ ๑๐ รูป ประตูด้านเหนือปลูกที่วัดอมรินทร์ พระสงฆ์วัดอมรินทร์สวดมนต์ ๑๐ รูป เวลาเย็นพระสงฆ์สวดมนต์ ตั้งแต่วันแรม ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ วัน ๑๔ ค่ำสวดอาฏานาฏิยสูตรคืนยังรุ่ง เมื่อสวดไปถึงกำหนดยิงปืนก็หยุดรอจนยิงปืนแล้ว จึ่งได้สวดต่อไปเป็นระยะ การเลี้ยงพระกําหนดเกณฑ์เจ้านายเลี้ยงอยู่หกแห่ง คือกลางเมืองทั้งสองฟากและประตูเมืองฟากตะวันออก เจ้านายองค์หนึ่งต้องเกณฑ์เลี้ยงพระวันหนึ่ง ตามที่ผู้ใดถูกตําบลพระมากพระน้อย ถ้าถูกตําบลพระมากก็ต้องเลี้ยงเช้า ๒๐ เพล ๕ รูป ถ้าตําบลพระน้อยก็ต้องเลี้ยงเช้า ๑๐ รูป เพล ๕ รูป แต่ที่ประตูเมืองฟากตะวันตกนั้นเกณฑ์กรมท่า กรมนา กรมวัง กรมเมือง เลี้ยงกรมละตําบล ต้องเลี้ยงเช้าเพล ๒ เวลาสามวัน เลี้ยงแต่เช้าเวลาเดียววันหนึ่ง พระพุทธรูปที่ตั้งตามโรงพิธีทั้งปวง ใช้พระห้ามสมุทรแล้วแต่จะหาได้ เป็นพนักงานของสังฆการี มีผ้าดาดเพดานผ้าขาวสำหรับตั้ง และราวเทียนเป็นราวเหล็กตามธรรมเนียม ตั้งหน้าพระสำหรับจุดเทียนบูชาราวหนึ่ง มีบาตรน้ำมนต์ ตั้งโรงพิธีกลางเมืองแห่งละ ๒ บาตร โรงประตูเมืองแห่งละบาตร หม้อคะนนใหญ่โรงพิธีกลางเมืองแห่งละ ๘ หม้อ โรงประตูเมืองโรงละ ๔ หม้อ

ในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์นี้ แต่เดิมมาก็ไม่มีเจ้านายเกศากันต์นอกจากพระเจ้าลูกเธอโสกันต์ ต่อตกมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าหลานเธอบ้าง หม่อมเจ้าในกรมซึ่งเป็นที่ทรงคุ้นเคยโปรดปรานบ้าง โปรดให้มาเกศากันต์พร้อมกับพระเจ้าลูกเธอนับว่าเป็นเกียรติยศใหญ่ ต่อตกมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้หม่อมเจ้าในวังหลวงเข้ามาโสกันต์ได้ในวังทั้งสิ้น แต่หม่อมเจ้าวังหน้านั้นในกรมซึ่งรับราชการอยู่ในวังหลวง ก็โปรดให้มาเกศากันต์ในวังหลวงบ้าง นอกนั้นไปเกศากันต์ในพระราชพิธีในพระบวรราชวังทั้งสิ้น การเกศากันต์ในพิธีวังหน้านี้มีมาแต่เดิมเป็นครั้งเป็นคราว ไม่เสมอและไม่ทั่วไป เมื่อไม่มีวังหน้า หม่อมเจ้าวังหน้าก็มาสมทบเกศากันต์ที่วังหลวง กําหนดฟังสวดเกศากันต์ตั้งแต่วันตั้งน้ำวงด้ายแต่แรม ๑๑ ค่ำไป ถ้าเป็นพระองค์เจ้าแต่ก่อนมาเคยมีตํารวจนําตามแต่เจ้าของจะหามามากบ้างน้อยบ้าง ตัวพระองค์เจ้าทรงเสลี่ยงงา กั้นพระกลดกํามะลอ มีพราหมณ์โปรยข้าวตอกคู่ ๑ โปรยข้าวสารดอกมะลิคู่ ๑ บัณเฑาะว์คู่ ๑ สังข์คู่ ๑ ข้าหลวงตามมากๆ หม่อมเจ้าทรงเสลี่ยงงา กั้นกลดกํามะลอ มีพราหมณ์โปรยข้าวตอกข้าวสารคน ๑ บัณเฑาะว์คน ๑ สังข์คน ๑ มีแต่ข้าหลวงตามไม่มีตํารวจ แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ โสกันต์รวมกับพิธีตรุษเช่นที่ว่านี้น้อยพระองค์[] คงเป็นหม่อมเจ้าเกศากันต์เป็นพื้น

การพระราชพิธี เริ่มสวดมนต์วันแรม ๑๑ ค่ำ พระราชาคณะ ๒๐ รูป รุ่งขึ้นวัน ๑๒ ค่ำ พระสงฆ์ฉันพร้อมกันทั้ง ๖๘ รูป จุดเทียนชัยนั้นมีฤกษ์ ถ้าฤกษ์เช้าก็จุดก่อนพระฉัน ถ้าฤกษ์สายก็จุดภายหลัง ไฟซึ่งจะจุดเทียนชัยนั้นใช้ไฟฟ้าส่องด้วยพระแว่นกรอบลงยาราชาวดี เวลาจะส่องไฟมีคาถาสำหรับจะส่องเหมือนกันกับจุดเทียนจองเปรียง เลี้ยงเพลิงไปจนถึงเวลาที่จะจุดเทียนชัย เมื่อเวลาจะจุดเทียนชัยนั้น พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงจุดเทียนทองซึ่งตั้งอยู่กลางพระขันหยกสำหรับพระราชพิธี ทรงตั้งสัตยาธิษฐานแล้วจึงส่งถวายแด่ท่านผู้เป็นประธานในการพระราชพิธี แต่ก่อนมาดูเป็นหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงจุด ตั้งแต่การบรมราชาภิเษกมาจนตลอดสิ้นพระชนม์ทุกๆ พระราชพิธี ต่อมากรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ได้ทรงจุดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในเวลาที่จุดเทียนชัยนั้น พระสงฆ์สวด พุทโธ สัพพัญญุตัญญาโณ บนพระที่นั่งที่ตั้งพิธี พราหมณ์เป่าสังข์คู่ ๑ ขับไม้บัณเฑาะว์คู่ ๑ ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์ พระสงฆ์ฉันและกลับแล้วทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการตระบะมุก และเทียนดูหนังสือเล่ม ๑ พระพิธีธรรมสำรับแรกขึ้นสวดภาณวาร พระราชาคณะนั่งปรก ราชบัณฑิตชักประคํา จนถึงเวลาเพล ฉันเพล ๕ รูป แล้วสวดต่อไปจนถึงเวลาเที่ยงเปลี่ยนสำรับใหม่ ผลัดกันสวดสำรับละ ๖ ชั่วโมงทั้งกลางวันกลางคืน เวลาค่ำพระสงฆ์สวดมนต์อีกทุกวัน จนถึงวันแรม ๑๔ ค่ำเวลาเช้า พระองค์เจ้าหม่อมเจ้าที่จะโสกันต์ แต่งเครื่องถอดออกไปนั่งรายเป็นแถวตรงหน้าพระสงฆ์ที่มุขตะวันออก ถ้ามากแถวก็ยาวออกไปถึงกลางปราสาท แบ่งพระเกศาเสร็จแล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ แล้วทรงพระธํามรงค์พระมหาวิเชียรบ้าง พระมหาเพชราวุธบ้าง แล้วทรงจรดกรรไตรกรรบิด โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ทรงบ้าง เวลานั้นพระสงฆ์สวดชยันโตบนพระที่นั่ง พราหมณ์เป่าสังข์คู่ ๑ ขับไม้บัณเฑาะว์คู่ ๑ ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์ ที่สรงแต่ก่อนนั้นปลูกเป็นร้านขึ้นที่รักแร้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทข้างตะวันตกเฉียงใต้ เสด็จพระราชดําเนินพระราชทานน้ำทางพระแกล ยังใช้มาเช่นนี้ช้านาน ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดในทางที่เข้าออกทางพระแกล และโปรดให้ทําเขาไกรลาสด้วยศิลาที่ชาลาด้านตะวันตกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จึ่งให้เจ้านายโสกันต์ไปสรงที่เขาไกรลาส เลิกพระแท่นสรงเสียทีเดียว ใช้เพดานพระแท่นสรงตั้งที่เขาไกรลาส ครั้นภายหลังการที่จะปิดน้ำเปิดน้ำกาหลมากนัก เวลาเสด็จพระราชดําเนินเข้าไปพระราชทานน้ำ ถ้าไม่ปิดน้ำเสียก่อนก็เปียก จึงได้เกิดที่สรงขึ้นที่รักแร้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตามเดิม แต่ลดพื้นเตี้ยลง เป็นที่สำหรับพระราชทานน้ำ ธรรมเนียมแต่เดิมมา ถ้าโสกันต์พระองค์เจ้าจึงได้พระราชทานพระมหาสังข์สาม ถ้าเป็นแต่หม่อมเจ้าก็ใช้แต่หม้อเงินหม้อทองและพระเต้าศิลากลีบบัว แต่ครั้นเมื่อหม่อมเจ้าเกศากันต์พร้อมกับพระองค์เจ้า ก็พลอยได้พระราชทานพระมหาสังข์สามด้วย ก็ตกลงเป็นธรรมเนียม ถึงเกศากันต์แต่หม่อมเจ้าก็คงได้พระราชทานพระมหาสังข์สามตลอดมา พระเต้าซึ่งพระราชทานอยู่ในบัดนี้ คือพระมหาสังข์สาม พระเต้าไกรลาส พระเต้าเทวบิฐ พระเต้าจารึกอักษร หม้อทอง หม้อเงิน พระสังข์อุตราวัฏของเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระมหาสังข์ประดับเพชรเป็นที่สุด ถ้าเป็นพระองค์เจ้าเคยพระราชทานพระเต้าห้ากษัตริย์บ้างก็มี แต่ดูไม่สู้ทั่วไป พระราชทานน้ำแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นต่างกรมผู้ใหญ่ และท่านเสนาบดีก็รดต่อไป ในเวลาสรงนั้นมีแต่เครื่องประโคมดังเช่นกล่าวมาแล้ว แต่พระสงฆ์สวดถวายพรพระ เมื่อพระราชทานน้ำแล้วเสด็จขึ้นมาทรงประเคน พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ในวันนี้สำรับพระสงฆ์ฉันทั้งเช้าทั้งเพล ไม่ได้ใช้เนื้อสัตว์ เป็นเครื่องกระยาบวชใช้ถั่วงาทั้งสิ้น เครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชก็เป็นเครื่องกระยาบวชเหมือนกัน ลัทธิที่พระสงฆ์ฉันบวชมีแต่เฉพาะวันพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์วันเดียว เห็นจะเป็นมาจากลัทธิพราหมณ์ที่ถือติดชินมาแต่ก่อน ถ้าจะทําอะไรให้ขลังดีวิเศษก็ไม่กินของสดคาว จนไม่รู้ว่ามาจากแห่งใด การที่เกิดขึ้นในพระราชพิธีนี้ก็เพื่อจะให้ขลังอย่างเดียว และในการเลี้ยงพระตรุษซึ่งนับว่าวัน ๑๔ ค่ำนี้เป็นวันต้นไป มีข้าวบิณฑ์ทั้งเครื่องนมัสการด้วย มีแต่เฉพาะวันแรม ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่งสามวัน พระสงฆ์ฉันแล้วประกาศเทวดา ตําแหน่งผู้ประกาศนี้เป็นหน้าที่ของพระพิมลธรรม อย่างเจ้าพระยาพลเทพสำหรับแรกนายืนชิงช้า ถ้าพระพิมลธรรมประกาศได้ก็เป็นพระพิมลธรรมประกาศองค์เดียว แต่พระพิมลธรรมมักจะชราเสียบ้าง เสียงไม่เพราะบ้าง ขัดข้องไป จึ่งต้องเปลี่ยนให้พระราชาคณะผู้อื่นว่าแทน คําประกาศนั้นไม่ได้อ่านหนังสือเหมือนประกาศทั้งปวง ใช้เล่าจนจําได้แล้วว่าปากเปล่า เพื่อจะมิให้พลาดพลั้ง จึ่งต้องมีผู้ทานหนังสือตามไปด้วยอีกองค์หนึ่ง ใช้พระราชาคณะผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชำนาญหนังสือไทยด้วย

ในคําประกาศเทวดา ที่ใช้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่เดิมมานั้นมาจากเมืองลังกา ภาษาที่ใช้ก็ใช้เป็นภาษาลังกาแปลเป็นไทยบ้างไม่ได้แปลบ้าง พระนามที่ใช้ในคําประกาศแต่ก่อนใช้พระนามรามาธิบดี แต่จะค้นหาฉบับเดิมก็ไม่ได้ พบแต่คำประกาศวังหน้าครั้งพระปิ่นเกล้าฯ ก็คงจะคล้ายคลึงกัน อยู่ข้างจะเร่อร่ากว่าที่ประกาศอยู่ทุกวันนี้สักหน่อยหนึ่ง คือไต่ถามเทวดาถึงรับศีลแล้วหรือยัง ชวนให้รับศีล และการขับไล่ผีสางก็เป็นจริงเป็นจังมากไปสักหน่อยเป็นต้น ทํานองที่ใช้ก็เป็นทำนองเทศน์มหาชาติหรือขัดตํานานบอกอนุศาสน์ตามแต่จะสนัดว่า แต่ครั้นตกมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเพิ่มเติมแก้ไขเสียมากตัดเป็นตอนๆ ภาษามคธ ภาษาไทย ภาษาลังกา แทรกสลับกันไปดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า พระนามนั้นก็ทรงเปลี่ยนพระนามใหม่ลง แต่สร้อยพระนามในภาษาลังกายังใช้สร้อยเดิมอยู่มาก พระนามนี้ทรงถือว่าพระบรมรามาธิบดีเดิมนั้นเป็นพระนามสำหรับกรุง เหมือนอย่างคําโคลงแช่งน้ำก็คงใช้ได้ไม่ผิด รับสั่งว่าถ้าใครเป็นเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็ต้องเป็นรามาธิบดีด้วย ถึงในสร้อยพระนามใหม่ก็มีรามาธิบดีไว้ด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพระนามในภาษาสิงหลนี้จึงได้คงใช้ปนๆ กันอยู่กับของเก่า เช่นว่า บรมบพิตรปะระมินทะ มะหาจุฬาลังกรณะ ปะตินทระเทพยะมะหามะกุฎ บุรุษยะรัตนะราชะระวิวังษะ วรุตตะมะพังษะปริพัทธะ วระขัติยะราชะนิกะโรตตะมะ จาตุรันตะปะระมะมหาจักรพัติราชาธิปรัตเตยยะ บุณะรุจจิริทธรามิศะเรยะมเหยยะมหิทธิริทธิเตโชเชยยะ ตรีโลกะเชษฐาธิมะหาพุทธางกุเลยยะ วะระธรรมิกะราชาธิราชะ รามาธิปรัตเตยยะมหาสวามินทะ ปะวะระรัตนะโกสินทะมหินทราโยทธะยามหานะคะรินทะนุวะระวะเสยยะ เป็นต้น  คําประกาศนั้นคงเป็นสามภาษาอยู่ตามเดิม ตัดแต่ที่รุงรังถามจู้ๆ จี้ๆ ออกเสียบ้าง ที่จะตัดออกไม่ได้เป็นท่อนยาวก็คงว่าแต่ภาษาลังกาไม่แปลเป็นไทย เวลาประกาศนั้น พระสงฆ์ผู้ประกาศกราบพระแล้วว่านโมสามหนที่หน้าพระแท่น แล้วออกมายืนบนอาสนะท้ายอาสนสงฆ์กลางพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หันหน้าไปทิศตะวันตก เริ่มคําประกาศเป็นภาษามคธ ตั้งแต่สุณันตุ ทิพพโสเตนะ จนจบ คุตติงสังมิทะหันตุจาติ แล้วจึงว่าคําแปลเป็นภาษาไทยออกชื่อท้าวมหาราชทั้งสี่และเทพยดา หมู่ยักษ์ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ นาค ขอให้มาประชุมกันในเวลาค่ำวันนี้ เพื่อจะอนุโมทนาในส่วนพระราชกุศล มีพระพุทธบูชาเป็นต้น ซึ่งทรงแผ่ส่วนพระราชกุศลให้ และขอให้ปลดเปลื้องสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ นำมาซึ่งความสิริสวัสดิ์แก่พระเจ้าแผ่นดิน และมหาชนอันอยู่ในพระราชอาณาเขต ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในสยามวงศ์ทรงชนะ แล้วต่อนั้นไปว่าเป็นภาษาลังกานำพระนามเจ้าแผ่นดินตั้งแต่มินยะปะฑินนะเป็นต้น แล้วจึงว่าพระนามเจ้าแผ่นดินเต็มตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ คือตลอดจนถึงชื่อกรุง ลงปลายสักทัติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ตามอย่างเก่า แล้วว่าตามภาษาลังกาอีกตอนหนึ่งแสดงพระราชอาณาเขต แล้วจึ่งออกชื่อหัวเมืองขึ้นกรุงเทพฯ ทั่วทุกหัวเมือง มีจํานวนนับรวมยอดข้างท้ายสี่ร้อยสามสิบแปดแล้วออกชื่อกรุงเต็มชื่อ จึ่งมีคําขอเทพยดาซึ่งรักษาพระราชอาณาเขต ออกนามพระกาฬชัยศรี พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระหลักเมือง ขอให้บริบาลรักษาพระเจ้าแผ่นดิน และพระมหานครขอบเขตประเทศราชทั้งสี่ทิศ ให้ปัจจามิตรยําเกรงอย่าให้คิดประทุษร้าย ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ราชพิริยโยธาผู้ใหญ่ผู้น้อย จงมีสมัคสโมสรซื่อสัตย์สุจริตต่อกันสิ้นกาลนาน และขออย่าให้มีอันตรายมาพ้องพานแก่มนุษย์และสัตว์จตุบททวิบาท ให้วัสโสทกตกตามฤดูกาล เป็นอุปการะแก่ธัญญาหารบริบูรณ์ทั่วพระราชอาณาเขต เมื่อจบคําประกาศตอนนี้แล้วพระสงฆ์ผู้ประกาศหันหน้าไปข้างทิศเหนือ มีสังฆการีสองคนเข้ามายืนรับคําสั่ง จึงสั่งเป็นภาษามคธว่า อัม์โภ เทวดา อาราธกะ เป็นต้น สังฆการีรับสาธุๆ คะมิส์สามิ ภัน์เต แล้วพระสงฆ์ผู้ประกาศจึงสั่งเป็นภาษาสยาม ให้รับสังฆาณัติไปเชิญเทพยดา อันเป็นที่มหาชนนับถือทั้งปวงมาประชุมกันในการพระราชพิธี เพื่อจะสดับพุทธภาษิตในเวลาค่ำวันนี้ สังฆการีรับว่าสาธุๆ พระพุทธเจ้าข้า แล้วท่านผู้ประกาศว่าภาษาสิงหลต่อไป ตั้งแต่วิหาระภูตุลูเป็นต้น ถึง อิยะยุต์ตะเยติ เป็นจบประกาศเวลาเช้า

และในเวลาที่พระสงฆ์ฉันและอ่านคําประกาศอยู่นั้น เจ้าที่เกศากันต์แต่งตัวเสร็จแล้ว ก็มานั่งเก้าอี้เรียงเป็นลำดับอยู่ที่มุขตะวันออกหันหน้าเข้าหาเตียงพระมณฑล เมื่อพระสงฆ์ประกาศเทวดาจบแล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูม และทรงเจิมเจ้าที่เกศากันต์ทุกองค์ แล้วพระสงฆ์ถวายยถา ในวันนี้มีสัพพพุทธาก่อนอติเรก เป็นส่วนให้พรแก่เจ้าที่เกศากันต์ ในการพระราชพิธีนี้ในวัน ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ไม่ต้องมีอนุโมทนาอย่างอื่น นอกจาก ยถา สัพพี อติเรก ภวตุสัพพ์ เมื่อพระสงฆ์อติเรกก็โปรดให้เจ้าที่เกศากันต์นั้นกลับ พระราชาคณะ ๒๐ รูป ซึ่งนับว่าเป็นสวดมนต์ในการเกศากันต์นั้น ได้รับกระจาดเครื่องบริโภคของแห้งตามธรรมเนียมการโสกันต์ด้วยในวันนี้องค์ละกระจาด เวลาบ่ายตั้งบายศรีแก้วทองเงินที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวียนเทียนสมโภช เจ้าที่เกศากันต์ทรงเสลี่ยงออกทางประตูสนามราชกิจ สมโภชแล้วขึ้นมาคอยเฝ้าบนพระที่นั่ง พระราชทานน้ำพระมหาสังข์อุตราวัฏของเดิมในรัชกาลที่ ๑ และทรงเจิม พระราชทานเงินสมโภชตามแบบ พระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวัง ๓ ชั่ง พระองค์เจ้าในพระราชวังบวรฯ ๒ ชั่ง หม่อมเจ้าในพระบรมมหาราชวังชั่ง ๑ หม่อมเจ้าในพระราชวังบวรฯ ๑๐ ตําลึง แต่ที่เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ หรือหม่อมเจ้าในพระเจ้าน้องยาเธอ ก็พระราชทานเงินพระคลังข้างที่เพิ่มเติมอีกบ้าง ไม่เป็นการเสมอหน้าทั่วไป

ครั้นเวลาเย็นพลบตั้งกระบวนแห่พระสงฆ์ แต่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีกําหนดกระบวนหน้ามีทหารในเกณฑ์ร้อยหนึ่ง บางทีก็มีทหารมหาดเล็กทหารเรือมาสมทบแห่บ้าง บางปีก็มีทหารล้อมวังลากปืนแคตลิงคันเข้ากระบวนด้วย แต่ไม่เป็นการแน่นอนลงได้ และมีม้าเกราะทอง ๑๒ ม้า ธงศึกคือธงยันต์ ๓๐ ปืนแดง ๓๐ ดาบสองมือ ๓๐ ดาบโล่ ๓๐ ดาบเขน ๓๐ ทวน ๓๐ ดั้ง ๓๐ กระบวนเหล่านี้เดิน ๒ แถว แล้วถึงพระแสงปืน พระทรงสวัสดิ พระสุบินบันดาล ขึ้นแคร่หาม เป็นพนักงานกรมแสงกำกับ แต่พระแสงสององค์นี้ในแผ่นดินปัจจุบันไม่ได้แห่ คงแห่แต่ปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ลากล้อ เป็นพนักงานกรมกองแก้วจินดา แล้วถึงแตรงอน ๑๐ แตรฝรั่ง ๖ สังข์ ๒ แล้วจึงถึงสังฆการีแต่งสวมเสื้อครุยลอมพอก ซึ่งเป็นพนักงานขานคำตอบพระสงฆ์ ต่อไปนั้นเป็นกระบวนพระสงฆ์ ที่หนึ่งพระวอกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ มีคนเชิญตาลิปัตรนำหน้า ที่ ๒ พระวอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ต่อไปวอสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์[] ต่อนั้นไปแคร่พระราชาคณะ ที่เป็นเจ้านายกั้นพระกลด ที่เป็นพระราชาคณะกั้นสัปทนแดง มีตาลิปัตรนำหน้าทุกองค์ เป็นแคร่ ๗ คู่ ขาดคู่อยู่แคร่หนึ่ง เพราะติดนั่งปรกบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต่อนั้นไปพระครู ๘ รูป พระพิธีธรรม ๓๖ รูป เดินถือตาลิปัตรเป็นตับๆ ละสี่รูป ๑๑ ตับ ต่อไปจึ่งถึงกระบวนหลัง คือคนถือกระบอง ๓๐ ถือง้าว ๓๐ ตรี ๓๐ ดาบเชลย ๓๐ การที่มีกระบวนแห่พระนี้ ก็เป็นการย่อมาจากอาพาธพินาศเทือกเดียวกันกับคเชนทรัศวสนาน เป็นการย่อของสระสนาน พอกระบวนแห่ถึงกำแพงแก้วก็ประโคม พระสงฆ์ขึ้นนั่งเรียบร้อยแล้วเสด็จออกทรงจุดเครื่องนมัสการ ในเวลาวันนี้มีเทียนเล่มหนึ่งหนัก ๖ บาท ฟั่นเล่มสั้นๆ ปิดทองคำเปลว ปักเชิงเทียนทองคำ ๔ เชิง เล่มที่หนึ่งทรงจุดเมื่อแรกพระสงฆ์สวดปริตรพร้อมกันแล้วตั้งไว้บนเตียงพระมณฑล เล่มที่สองจุดเมื่อสวดธรรมจักร เล่มที่สามจุดเมื่อสวดมหาสมัยสูตร เล่มที่สี่จุดเมื่อสวดอาฏานาฎิยสูตรภาณยักษ์จบแรก เทียนทั้งสามเล่มข้างหลังนี้จุดที่เตียงพระสวดทั้งสามเล่ม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 13:44:43 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2561 16:53:43 »

พระราชพิธีเดือนสี่ (ต่อ)

เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว มีประกาศเทวดาอีกคราวหนึ่ง แต่อาสน์สงฆ์ซึ่งสำหรับพระสงฆ์ยืนประกาศเทวดาในเวลาค่ำนี้ใช้ผ้าขาวพับหนึ่งให้พระสงฆ์ยืน เมื่อประกาศเทวดาเสร็จแล้ว ทรงประเคนผ้าขาวพับแก่พระสงฆ์ผู้ประกาศเทวดา ในเวลาค่ำวันนี้พระสงฆ์ยืนหันหน้าข้างเหนือ ถามสังฆการีซึ่งเป็นผู้รับสังฆาณัติไปเชิญเทพยดาด้วยภาษามคธก่อน เริ่มต้นตั้งแต่ โย โส อัช์ชะ ปพ์พัณ๎ห เป็นต้น สังฆการีตอบ อิทาหํ ภัน์เต อาคัน์ต๎วา ฐิโตม๎หิ ท่านผู้ประกาศจึงถามต่อไปว่า อัช์เฌสิตา นุ โข เต เป็นต้น สังฆการีตอบ อามะภัน์เต จนถึง อัย์ยัส์สะ วะจะนะสะวะนายะ เป็นที่สุดแล้วจึงถามเป็นภาษาไทยต่อไปว่า ราชบุรุษผู้ซึ่งเราได้สั่งไปเชิญเทพยดานั้นได้กลับมาแล้วหรือยัง สังฆการีรับว่า ได้มายืนอยู่ที่นี่แล้ว (คำที่ว่ายืนนี้ยืนจริงๆ มิใช่พึ่งยืน เมื่อก่อนยืนทั่วกันแต่เดิมก็ยืนมาแล้ว ทําตามลัทธิเทวดาที่มาหาพระตั้งแต่เฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นต้น มักจะมีเรื่องราวที่ว่ายืนมากกว่านั่งทุกแห่ง) ท่านผู้ประกาศจึงได้ถามว่า ได้อาราธนาเทพยดาแล้วหรือ สังฆการีตอบว่า ได้ไปบวงสรวงยกหนังสืออาราธนาแล้ว และกลับมาในที่นี้โดยความเข้าใจว่า ถ้าเทพยดานั้นเป็นสัมมาทิฐิ คงจะไม่ขัดอาณาสงฆ์ คงจะมาด้วยอทิสมานะกาย ในคําประกาศตอนนี้เป็นแปลกกว่าของเก่ามาก คนละทางกันทีเดียว ของเก่านั้นเอาสังฆการีสองคนนั้นต่างว่าเป็นเทวดาทีเดียว พระสงฆ์จึงได้ถามถึงรับศีลแล้วหรือยัง และอะไรต่างๆ เป็นเล่นฟัน[] กันแท้น่าหัวร่อ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงแก้เสียทั้งมคธ ภาษาไทยให้เป็นถามกันอย่างใหม่ดังกล่าวมานี้ ดูก็ไม่น่าหัวร่อต่อกระซิกอันใด แต่คนที่เข้าใจว่าสมมติว่าตาสองคนนั้นเป็นเทวดาตามอย่างเก่าไม่เอาหูฟัง ยังหัวเราะเพ้อๆ ไปบ้างก็มี ที่หัวเราะเพราะแก่ติดกระอึกกระอักบ้างก็มี ถ้าหัวเราะอย่างหลังแล้วก็ควรอยู่ แต่ถ้าหัวเราะอย่างก่อนแล้วเป็นเคาะเน้อ อย่าเพ้อต่อไป เมื่อสังฆการีตอบภาษาไทยแล้ว ผู้ประกาศจึงได้ถามเป็นภาษาลังกาตามแบบของเดิมต่อไปว่า เทวดา อาราธนา วัต์ตกิโย อาวุย์ยะ สามครั้ง สังฆการีตอบว่า อวิติน์ท๎รี วิตินัน์นะ สามครั้งเหมือนกันแล้วจึงถาม เทวุย์โย อาวุย์ยะ สังฆการีตอบ อามา จะ เทวุย์โย สยัม์ปริวาเรนะ พยัพ์ตะสิกี สามครั้งเหมือนกัน ต่อนั้นไปผู้ประกาศเทวดาได้ประกาศเทวดาเป็นภาษาไทย ตามเนื้อความในคำประกาศเดิมไม่ได้แก้ไข ออกชื่อเทพยดาซึ่งมาประชุมในสถานที่นั้น คือ ท้าวมหาราชทั้งสี่ ขอให้ตั้งโสตลงสดับพระธรรม และขออานุภาพพระรัตนตรัยให้สถิตในพระบรมธาตุ พระพุทธบุษยรัตน พระชัย พระห้ามสรรพอุปัทว พระแก้วเรือนทอง พระปิฎกธรรม ซึ่งเชิญมาไว้ในการพระราชพิธี ขอให้เป็นศรีสวัสดิมงคลกันสรรพภัยทั่วพระราชอาณาเขต และขออํานาจท้าวโลกบาลทั้งสี่ และเทพยดาทั้งปวง จงบันดาลให้เครื่องราชูปโภค คือพระสุพรรณบัฏ พระขรรค์ชัยศรี และเครื่องนานาสรรพวราวุธ ทั้งพระมหามาลา พระมหามงกุฎ ฉลองพระองค์ เครื่องสรรพาภรณ์พิชัยยุทธ์ ธงชัยกระบี่ธุชครุฑพ่าห์และพระกรรภิรมย์ พระมหาสังข์ พระธํามรงค์ พระราชลัญจกร อีกมงคลพิสมร น้ำพระพุทธมนต์ บรรดาที่ได้ตั้งไว้ในการพระราชพิธีให้มีฤทธิ์อํานาจ บรรดามนุษย์และอมนุษย์ซึ่งเป็นราชปัจจามิตร ให้คิดครั่นคร้ามขามขยาด มาตรแต่ว่าเห็นสิ่งของในพระราชพิธีก็อย่าให้มีจิตคิดประทุษร้ายได้ และขอให้นำทิพยวารีมาโปรยปรายในภาชนะที่เต็มด้วยปริตโตทก เมื่อประปรายต้องกายผู้ใด ก็ให้พ้นสรรพทุกข์โศกโรคภัยทุกประการเป็นจบตอนหนึ่ง ต่อนั้นไปเป็นคําประกาศว่า ถ้าเทพยดาหมู่ใดที่ถือสัมมาทิฐิ จงตั้งโสตลงสดับพระธรรมจักกัปปวัตนสูตร และมหาสมัยสูตรในเวลาค่ำวันนี้ แล้วจงพิทักษ์รักษาพระบรมราชาธิราช อันมีพระนามประกาศประกาศิต ออกพระนามเต็มเหมือนอย่างเวลาเช้า แต่ไม่ได้ออกนามกรุง ในคําประกาศพิธีตรุษนี้เรียงลำดับพระบรมวงศานุวงศ์แปลกกว่าที่เรียงลําดับในอื่นๆ ทั้งสิ้น เป็นของมีมาแต่โบราณ คือเมื่อลงท้ายพระนามว่า จุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม แล้วต่อไปว่าทั้งองค์พระอัครบรมรัตนราชนารี แต่ของเดิมเห็นจะเป็นมเหสี ซึ่งถือว่าเป็นคําไม่เพราะ แล้วต่อไปว่าสุรางคนิกรกัญญา พระบรมบุตรบุตรี พระราชนัดดา ทั้งพระประยูรวงศาเสนามาตยราชมนตรีกวีชาติ พฤฒามาตย์ราชปุโรหิต บัณฑิตสมณพราหมณ์ประชาราษฏรทั้งหลาย การที่นับพระนามพระราชวงศานุวงศ์ไม่มีแก่กว่าพระเจ้าแผ่นดินเลยเช่นนี้เป็นอย่างเก่าแท้ เช่นมีมาในกฎหมายตําแหน่งนาพลเรือน ต่อไปนั้นก็ขอพรให้บริบูรณ์ทุกประการ แล้วจึงรื้อความว่า อนึ่งเทวดาหมู่ใดถือมิจฉาทิฐินอกพระพุทธโอวาท มิอาจรักษาพระบรมราชาธิราช อันมีพระนามประกาศประกาศิต พระบาทบรมบพิตร สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎบุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ ทั้งองค์พระบรมรัตนราชนารีสตรีพระสนม และพระบรมราชบุตรบุตรีนัดดา พระญาติประยูรวงศา เสนามาตย์ราชกวีชีพราหมณชนทั้งหลายและสัตว์ทั้งปวงได้ไซร้ เทวดาหมู่นั้นจงเร่งถอยหนีออกไปนอกขอบเขตจักรวาลจงเร็วๆ พลันๆ อย่าให้ทันพระสงฆ์สวดอาฏานาฎิยสูตรอันวิเศษ อันท้าวเวสวัณไพสพมหาราชหากอาราธนาแด่สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าไว้ ให้สำทับขับภูตปิศาจชาติฝูงยักษ์ คนธรรพ์กุมภัณฑ์นาคนิกรสัตว์ โดยสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสบัณฑูรไว้ฉะนี้ ความตอนนี้ที่คัดมาลงไว้เป็นตัวการเรื่องขับผีของพิธีนี้มีอยู่เพียงเท่านี้ ที่เป็นต้นเหตุให้เห็นกันเป็นวิ่งชุลมุนชุลเกตามเช่นเล่าๆ กันนั้น ต่อนั้นไปตามที่จดหมายในตําราว่า เป็นคําเรียกเทวดาในกําพูฉัตร ให้มาช่วยขับยักษ์มิจฉาทิฐิ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า เป็นคำเขากรวดน้ำแผ่ส่วนบุญเป็นภาษาลังกา ยืดยาว ไม่มีคำแปลเป็นไทย ขึ้นต้นแต่ เมต์ตะยัน์ติ ไปจนถึง รุจ์จะติ สังฆัส์สาติ เป็นจบ การที่ไม่ได้แปลเป็นภาษาไทยนั้นก็เพราะยืดยาวเสียเวลาพรรณนาชื่อเทวดาต่างๆ ที่แผ่ส่วนบุญนั้นก็เป็นการเหลวๆ อยู่ จึงได้ยกไว้ ใช้แต่ภาษาลังกาพออย่าให้เสียธรรมเนียมเดิม เป็นเสร็จคําประกาศในเวลาค่ำเพียงเท่านี้

เมื่อประกาศเทวดาเสร็จแล้ว ทรงจุดเทียนทองตระบะมุกเทียนดูหนังสือ แล้วทรงทอดผ้าขาว ๔ พับ เฉพาะพระสงฆ์นั่งบนพระแท่น พระครู ๔ รูปขึ้นสวดตั้งนโมสรณาคมน์ แล้วพระราชาคณะที่ประกาศเทวดาขึ้นไปบนพระแท่นขัดตํานาน พระสงฆ์สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร แต่เดิมสวดลงสังโยคอย่างตามธรรมเนียม แต่เมื่อถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าช้านัก ถ้าเสด็จออกล่าไปหน่อยหนึ่งยามเศษก็ไม่ได้ยิงปืนตามกำหนด จึงโปรดให้สวดเสียอย่างธรรมยุติกา พระราชาคณะที่ขัดตํานานนั้นลงมานั่งปรกจนจบ แล้วเสด็จไปทรงจุดเทียนทองอีกเล่มหนึ่ง ทรงทอดผ้าอีก ๔ พับ พระครูอีก ๔ รูป ขึ้นบนพระแท่นตั้งนโมแล้ว พระราชาคณะที่นั่งปรกขึ้นไปขัดตํานานแล้วกลับลงมานั่งปรก พระครูสวดมหาสมัยสูตร ที่คาถาก็สวดเป็นสรภัญญะ ถึงมหาสมัยสูตรนี้แต่ก่อนก็สวดเป็นสังโยคเหมือนกัน เปลี่ยนพร้อมกันกับธรรมจักร เป็นสวดอย่างธรรมยุติกาถึงว่าฐานาสมเด็จพระปรมานุชิต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ สมเด็จพระวันรัต จะเป็นพระสงฆ์มหานิกาย ก็ต้องซ้อมสวดอย่างธรรมยุติกาให้เป็นการเร็วขึ้น ในระหว่างนั้น เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนแรกๆ เสด็จพระราชดําเนินลงไปพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ และทรงเจิมพระแสงปืน มหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ทั้ง ๔ กระบอก ครั้นภายหลังมาพระราชทานให้ข้าพเจ้าลงไปรดน้ำและเจิมทุกปีมิได้ขาด ทั้งพระทรงสวัสดิ พระสุบินบันดาล และพระแสงปืนหลักก็รดน้ำและเจิมด้วย ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ตำแหน่งนี้ตกอยู่ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ จนสิ้นพระชนม์ จึงได้ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จลงไปรดน้ำและเจิมพระแสง ต่อมาสวดสมัยสูตรจบแล้วทรงจุดเทียนทองอีกเล่มหนึ่ง พระสงฆ์พิธีธรรมสำรับแรกขึ้นพระแท่นตั้งนโมสรณาคมน์ นโมและสรณาคมน์ของภาณยักษ์อย่างเร็วอยู่ใน ๒๕ มินิต อย่างช้าก็ถึง ๓๐ มินิต เมื่อจบสรณาคมน์พระราชาคณะนั่งปรกขึ้นไปขัดตำนานแล้ว กลับมานั่งที่อาสนะในหมู่ตามเดิม พระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระไปนั่งปรกแทนต่อไป พระสงฆ์สวดภาณยักษ์ เมื่อจบแล้วก็เปลี่ยนกันไปตามลำดับ กำหนดที่ได้ยิงปืนคราวแรกอยู่ในยามเศษ ภาณยักษ์จบแรกยิงปืน ๓ ครั้งๆ ที่หนึ่งที่ ตายํเวลายํ ครั้นสวดไปถึงวิปัสสิสในคราวแรก พระสงฆ์ซึ่งนั่งอยู่ข้างล่างจับสายสิญจน์สวดคาถาวิปัสสิสจนตลอดจบหนึ่ง ต่อไปไม่ได้สวดอีก ในจบแรกยิงปืนครั้งที่สองที่อุชชาเปตัพพัง เรียกกันว่าอุชชาใน ยิงปืนอีกครั้งหนึ่งที่อุชชาเปตัพพังหลัง เรียกว่าอุชชานอก ต่อไปตั้งแต่จบที่สองภาณพระยิงจบละสองคราวปืน คือที่ตายํเวลายํคราวหนึ่ง ที่อุชชาในอีกครั้งหนึ่ง เป็นสองครั้งตลอดไปทุกจบ สวดตลอดคืนยังรุ่งอยู่ในสิบเอ็ดจบ ถ้าเสด็จออกหัวค่ำเป็นสิบสองจบบ้าง บางทียิงปืนอยู่ใน ๒๓ คราวปืนเป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นสิบสองจบก็เป็น ๒๕ คราวปืน

ปืนที่ยิงในวันยิงอาฏานานี้ แต่เดิมมาใช้สังฆการีตีฆ้อง เมื่อถึงกําหนดจะยิงใช้กรมพระแสงปืนต้นยิงปืนสัญญาณบนชาลาพระมหาปราสาท แล้วทนายปืนกรมพระตํารวจ ยิงปืนคาบศิลายิงเป็นตับเป็นสัญญาณแล้วจึงได้ยิงต่อๆ กัน ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดรักษาพระองค์ปืนทองปรายขึ้น ก็ให้รักษาพระองค์ปืนทองปรายยิง เมื่อเกิดเกณฑ์หัดปืนแดงขึ้น ก็ให้เกณฑ์หัดปืนแดงมายิงอีกพวกหนึ่ง ครั้นตกมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทหารปืนทองปรายคงยิงอยู่ตามเดิมพวกหนึ่ง ถอนเกณฑ์หัดปืนแดง เอาทหารเกณฑ์หัดปืนอย่างยุโรปยิงแทนอีกพวกหนึ่ง ครั้นเมื่อหล่อปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ขึ้นพร้อมกันกับที่ทรงสร้างพระแสงปืนนพรัตน์สำหรับเข้าพิธี ก็ทรงพระแสงปืนนพรัตน์ ซึ่งเป็นปืนอย่างที่เรียกว่าโก๊อย่างเก่าๆ ทรงยิงเองทางช่องพระแกลที่ ๒ ด้านเหนือมุขตะวันออก เป็นสัญญาณให้ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ พระแสงปืนนพรัตน์นั้นไม่สู้สะดวกนัก จึงได้โปรดให้จัดพระแสงปืนหลักที่สำหรับลงหน้าเรือพระที่นั่ง ขึ้นมาตั้งที่ชาลาหน้าพระมหาปราสาท ตรงช่องพระแกลที่กล่าวแล้ว ล่ามสายไหมเบญจพรรณถักติดกับไกปืนขึ้นมาผูกกับพนักพระแกล เจ้าพนักงานประจุปืนอยู่ข้างล่าง เมื่อเวลาถึงกําหนดยิง ก็ทรงกระตุกเชือกยิงพระแสงปืนหลักนั้นเป็นสัญญาณ ซึ่งให้เป็นสององค์ไว้นั้นเพื่อจะสับปลับเมื่อไม่สับปลับก็ทรงทั้งสององค์ ภายหลังมาเมื่อพระแสงปืนพระทรงสวัสดิเข้ามาถึง เป็นพระแสงปืนใหญ่บรรจุท้ายซึ่งได้เข้ามาถึงกรุงเทพฯ ในครั้งแรกโปรดยิ่งนัก ได้ทรงทดลองที่ปทุมวันและที่ลานเทหลายครั้ง ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีก็โปรดให้มาตั้งที่ตรงหน้าพระแกล โยงเชือกขึ้นมาทรงกระตุกเป็นสัญญาณ พระแสงปืนหลักทั้ง ๒ องค์นั้นก็คงไว้ด้วย ครั้นมาภายหลังเมื่อปลายๆ แผ่นดินทรงพระสุบินไป ว่ามีปืนอย่างหนึ่งซึ่งเป็นรูปปืนใหญ่แต่ยิงได้หลายๆ นัด มีครกหันเหมือนอย่างปืนที่เรียกกันว่าโก๊ตั้งไว้ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม มีเจ้านายหลายพระองค์เสด็จเข้ามาเฝ้า ทรงจําได้ว่ากรมขุนวรจักรองค์หนึ่ง ได้ทรงยิงปืนนั้นเป็นสลุตรับ จึงมีพระราชหัตถเลขาสั่งออกไปให้ทําตามกระแสพระสุบิน แต่ผู้ที่ทํานั้นจะคิดหันให้เป็นอย่างปืนโก๊ก็ไม่ไว้ใจ จึงทําเป็นรางบรรจุปัศตันยาวๆ สอดเข้าไปในช่องข้างท้ายบอกปืน เลื่อนไปทีละช่องยิงได้ตับละหลายๆ นัด เมื่อได้ทอดพระเนตรก็รับสั่งว่าไม่เหมือนที่ทรงพระสุบิน แต่ยิงได้หลายนัดคล้ายคลึงกัน จึงพระราชทานชื่อว่าพระสุบินบันดาล ให้ตั้งยิงในการพระราชพิธีนี้ด้วย ในปีแรกๆ ทรงเที่ยวหนึ่งๆ อยู่ใน ๖ นัด ครั้นภายหลังมาพระราชทานให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ยิงเนืองๆ สายล่ามไกนั้นโยงขึ้นมาที่พระแกลที่หนึ่ง ไม่ได้รวมอยู่ในพระแกลที่สองซึ่งเป็นที่ประทับ พระแสงปืนอย่างเช่นทรงพระสุบินนั้น ภายหลังก็ทรงสั่งมาอีกจนได้แต่พึ่งมาถึงภายหลังไม่ทันจะพระราชทานชื่อ การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระราชธุระในเรื่องยิงปืนมากนี้ ทรงเป็นการแปรกติสฝึกหัดให้คุ้นเคยในการยิงปืน ด้วยเวลาอื่นนอกจากยิงอาฏานาฏิยสูตรนี้แล้วก็ไม่ได้ทรงเลย ในเมื่อตอนแรกยังเสด็จอยู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเคยทรงพระแสงปืนเล็กทางสีหบัญชรเนืองๆ เอาหม้อข้าวกรอกน้ำเสียแล้วนั้นไปแขวนไว้บนต้นไม้ตามที่คลังและที่โรงหม้อ ทรงยิงหม้อข้าวนั้น เผอิญครั้งหนึ่งกระสุนปืนเข้าไปตกถึงพระที่นั่งวังจันทร์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรทุกวันนี้ ในขณะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเสด็จอยู่ก็เป็นที่ตกพระทัย เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพระราชทานทองคำสมโภชลิ่มหนึ่ง แต่นั้นมาก็ไม่ได้ทรงพระแสงปืนอีกเลย นอกจากเวลาพิธี ถ้าจะติดดินพระแสงองค์ใดลองก็รอไว้การพิธีทุกครั้ง แต่ถ้าจะติดกระสุนลองแล้วก็ไปลองที่ปทุมวันหรือที่ลานเท ที่ปทุมวันนั้นภายหลังก็เป็นอันเลิกไป เมื่อกระสุนไปถูกกระบือที่คนจูงมากระบือล้ม แต่คนไม่เป็นอันตราย แต่นั้นมาก็คงมีอยู่ที่ลานเทแห่งเดียว ต่อเมื่อพระแสงใหม่มีมาจึงได้ลอง เป็นการนานๆ มีทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงการพระราชพิธีตรุษนี้แล้วจึงได้ทรงยิงปืนเป็นการฝึกซ้อมให้ชำนาญทุกปีมิได้ขาด เมื่อมีทหารผู้หญิงอยู่แต่ก่อน ก็เคยโปรดให้มายิงที่ชาลาข้างพระที่นั่งวิมานรัถยาพร้อมกับคราวปืนข้างหน้ามาช้านานหลายปี ถ้าเวลาตั้งแต่ยิงปืนยกแรกไปแล้ว ไม่ใคร่จะได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับทางเจ้านายขุนนาง ประทับอยู่ที่ตรงพระแกล ตรัสกับกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์อยู่จน ๗ ทุ่ม ๘ ทุ่ม จึงได้เสด็จขึ้นทุกปี ถึงทหารก็เหมือนแต่ก่อนมา ไม่ได้เคยฝึกซ้อมติดดินในที่อื่น ต้องผลัดเปลี่ยนกันเข้ามายิงอาฏานา เป็นการหัดติดดินตลอดมาถึงทหารมหาดเล็กในแผ่นดินปัจจุบันนี้ก็ยังถือว่าเป็นการฝึกหัดเช่นนั้นเหมือนกัน แต่พระแสงปืนที่สำหรับยิงเป็นสัญญาณนั้นเลิก คงใช้สัญญาณระฆังตามเดิม จำนวนและตำบลลำดับที่ยิงปืน ดังจะว่าต่อไปนี้

ฝั่งตะวันออก คือในพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง ที่ชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทหารมหาดเล็ก ๓๐ คนยิงปืนอินฟินพวกหนึ่ง ทหารรักษาพระองค์ ๓๐ คน ทหารแคตลิงคัน ๓๐ คน ยิงปืนสามแหมทั้งสองพวก กรมกองแก้วจินดาเจ้ากรม ปลัดกรม ขุนหมื่น ๑๕ คน ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ พวกหนึ่ง เป็นสัญญาณใน

กรมทหารปืนใหญ่ ยิงปืนทองฟินลินปิด ๒ บอก ยิงที่หน้าประตูวิเศษชัยศรี เป็นสัญญาณนอก
กรมทวนทองซ้ายขวา กรมเขนทองซ้ายขวา คุมปืนทองอย่างไทร ๒ บอก ยิงที่ประตูมณีนพรัตน์
กองอาสารองซ้ายขวา ปืนทองฝรั่งเปิดหมวก ๒ บอก ยิงที่ถนนหน้าศาลพระหลักเมือง
กรมฝีพายคู่ชักซ้ายขวา ปืนทองรางแท่น ๒ บอก ยิงที่ถนนหน้าศาลพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง
กรมล้อมพระราชวัง คุมปืนเหล็กหามแล่น ๑๒ บอก ปืนคาบศิลา ๕ บอก ยิงบนป้อมรอบพระบรมมหาราชวัง ๑๒ ป้อม
กรมตํารวจและพลพันทหารใน คุมปืนหามแล่น ๑๘ บอก ยิงบนเขื่อนเพชรกำแพงวัง ๑๐ ตำบล คือ
กรมทหารในซ้ายขวา ยิงที่เขื่อนหน้าโรงทานบอก ๑ เขื่อนตรงท่ากระแซบอก ๑
กรมพลพันซ้าย ยิงที่เขื่อนด้านวัดพระเชตุพน
กรมพลพันขวา ยิงที่เขื่อนโรงไหม
กรมตำรวจสนมซ้าย ยิงที่เขื่อนริมอุโมงค์
กรมตำรวจสนมขวา ยิงที่เขื่อนบันไดตรงวัดพระเชตุพน
กรมพระตำรวจนอกซ้าย ยิงที่เขื่อนเหนือและใต้พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
กรมพระตำรวจนอกขวา ยิงที่เขื่อนบันไดริมป้อมสัญจรใจวิง
กรมพระตำรวจในซ้าย ยิงที่เขื่อนท้ายพระที่นั่งสุทไธสวรรย์
กรมพระตำรวจใหญ่ขวา ยิงที่เขื่อนริมป้อมสัญจรใจวิง พวกที่ว่ามานี้ปืนแห่งละ ๒ บอกทั้งสิ้น
กรมกองแก้วจินดา ปืนทองมนิลา ๒ บอก ยิงบนป้อมเหนือป้อมใต้พระที่นั่งสุทไธสวรรย์
กรมรักษาพระองค์ซ้ายขวา ปืนทองรางแท่น ๒ บอก ยิงที่ป้อมพรหมอํานวยศิลป์ ป้อมอินทร์อํานวยศร
กรมเรือดั้งทหารใน ปืนทองอย่างไทร ๒ บอก ยิงที่หน้าประตูศรีสุนทร ๑
กรมพระตำรวจนอกซ้าย ยิงที่ท่าพระ ๑ หน้าวัดมหาธาตุ ๑ ยิงที่ประตูดินพระราชวังบวร ฯ ๑
กรมพระตำรวจใหญ่ขวา ยิงที่ท่าช้างพระราชวังบวรฯ ๑ ประตูใหญ่หน้าบ้านเจ้าพระยามหาโยธา ๑
กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งซ้าย ยิงที่ประตูใหญ่หน้าวังกรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช ๑
กรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย ยิงที่หน้าบ้านพระยานาวานุโยค ๑ มุมบ้านเจ้าพระยาธรรมา คือประตูใหญ่ริมบ้านพระยานรรัตน ๑ ประตูใหญ่วัดบวรนิเวศ ๑
กรมพระตำรวจในขวา ยิงที่ประตูใหญ่วัดรังสีสุทธวาส ๑ ประตูใหญ่ป้อมมหากาฬ ๑
กรมพระตำรวจในซ้าย ยิงที่ประตูหน้าวัดเทพธิดา ๑ ประตูเหนือป้อมหมูหลวง ๑
กรมพระตำรวจสนมขวา ยิงที่หน้าประตูสำราญราษฎร์ ถนนบํารุงเมือง ๑ ประตูถนนเจริญกรุง ๑
กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่งขวา ยิงที่ประตูหน้าวังกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ คือวังบูรพาภิรมย์เดี๋ยวนี้
กรมพระตํารวจสนมซ้าย ยิงที่ประตูสะพานหัน ๑ ประตูใหญ่วัดราชบูรณะ ๑
กรมพระตำรวจนอกขวา ยิงที่ประตูวัดพระเชตุพน ๑ ประตูท่าเรือจ้างศาลต่างประเทศ ๑ ปืนหามแล่นแห่งละ ๒ บอกทั้งสิ้น

ฝั่งตะวันตกกรมอาสาวิเศษซ้าย ยิงที่ป้อมวิชัยประสิทธิตําบล ๑
กรมอาสาใหม่กรมท่าขวา ยิงที่ถนนวัดโมฬีย์โลกตำบล ๑
กรมอาสาใหม่กรมวังซ้าย ยิงที่ถนนวัดอมรินทร์ตำบล ๑
กรมอาสาใหม่กรมวังขวา ยิงที่ถนนวังกรมหมื่นเทวานุรักษ์ ตําบล ๑
กรมเรือกันซ้ายขวา ยิงที่ถนนอาจารย์ตำบล ๑ ปืนหามแล่นแห่งละ ๒ บอกเหมือนกัน

รวมตำบลซึ่งยิงปืนฝั่งตะวันออก สัญญาณใน ๑ สัญญาณนอก ๑ ประตูวัง ๒ ป้อมหมู่วัง ๑๖ เขื่อนเพชร ๑๐ ถนนใหญ่ ๒ ประตูใหญ่รอบพระนคร ๒๐ รวม ๕๒ ตําบล ฝั่งตะวันตกป้อม ๑ ถนน ๔ รวม ๕ ตําบล รวม ๕๗ ตําบล

จํานวนปืนที่จ่ายไปยิง ปืนอินฟิน ๓๐ ปืนสามแหม ๖๐ ปืนคาบศิลา ๕ ปืนทอง มหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ๔ ปืนฟินลินปิดสัญญาณนอก ๒ ปืนอย่างไทร ๔ ปืนฝรั่งเปิดหมวก ๒ ปืนทองมนิลา ๒ ปืนทองรางแท่น ๒ ปืนหามแล่น ๘๐ บอก รวมปืนเล็ก ๙๕ ปืนใหญ่ ๙๖ รวม ๑๙๑ บอก กำหนดที่ยิงปืนนั้นยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบก่อน แล้วจึงยิงปืนตับ เมื่อยิงปืนตับแล้วจึงยิงปืนสัญญาณนอกที่ประตูวิเศษไชยศรี แล้วปืนป้อมเขื่อนเพชรยิงไปเป็นลำดับ ประทักษิณรอบพระราชวังและพระนคร

อนึ่ง เมื่อเวลายิงปืนนั้น มีกรมพระตํารวจกับกรมต่างๆ ซึ่ง จะว่าต่อไปเป็นกองตรวจตําบลที่ยิงปืนตามประตูเมืองฝั่งตะวันออก ๔ กอง ฝั่งตะวันตก ๑ กอง คือพระยามหามนตรี พระราชโยธาเทพไปตรวจแต่ประตูใหญ่ศาลต่างประเทศถึงประตูสำราญราษฎร์ ๖ ตําบล พระยามหาเทพ หลวงราชมานู ไปตรวจแต่ประตูเหนือป้อมหมูหลวงถึงหน้าวัดรังสี ๔ ตําบล พระอินทรเทพ หลวงสุรินทรเดชะ ตรวจแต่หน้าวัดบวรนิเวศถึงมุมบ้านเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ ๕ ตําบล พระพิเรนทรเทพ หลวงเสนาภิมุข ตรวจแต่ท่าช้างพระราชวังบวรฯ ถึงท่าพระหน้าประตูศรีสุนทร ๕ ตําบล พระพรหมบริรักษ์ พระสุริยภักดี ไปตรวจฝั่งตะวันตกทั้ง ๕ แห่ง

การสวมมงคลธรรมเนียมแต่เดิม เจ้านายข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในต้องสวมมงคลตั้งสามวัน ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลาค่ำวัน ๑๑ ค่ำ ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเลย ถึงจะมีการโสกันต์พระเจ้าลูกเธอก็ไม่เสด็จ แต่เวลาเช้านั้นเสด็จทุกวันไม่ได้ขาด ด้วยการถวายสังฆทานและเลี้ยงพระ ในเวลานั้นถือว่าเป็นการสำคัญพระราชกุศลมาก แต่ถึงไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินอย่างนั้น เจ้าพนักงานก็ตั้งผอบพระมหามงคล และที่สรงพระพักตร์ตามแบบทั้งวัน ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ ส่วนเจ้านายและข้าราชการซึ่งจะเข้าไปเฝ้าในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ก็ต้องสวมมงคลทั้งสองคืน ต่อเวลาค่ำวันแรม ๑๔ ค่ำ จึงได้เสด็จพระราชดำเนิน ถ้าเจ้านายและข้าราชการสวมมงคลตั้งแต่เวลาเสด็จออกไป แต่ที่ทรงเองนั้นต่อเวลาสวดสมัยธรรมจักรจบแล้ว พอภาณยักษ์ขึ้นจึงได้เสด็จพระราชดําเนินขึ้นในม่าน ประทับราชอาสน์สรงพระพักตร์ ทรงพระมหามงคลซึ่งโยงสายสิญจน์ประทับอยู่จนภาณยักษ์จบแรกจบ ทรงพระมหามงคลคู่ผลัดแล้ว เสด็จพระราชดําเนินกลับ ไม่ได้ทรงฟังภาณยักษ์จบสองต่อไป ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินออกทั้งเช้าทั้งเย็นไม่ได้ขาดเลย แต่เจ้านายข้าราชการซึ่งเฝ้าในวัน ๑๒ ค่ำ ๑๓ ค่ำ โปรดให้ยกเลิกเสียไม่ต้องสวมมงคล พระมหามงคลซึ่งตั้งไว้นั้นก็พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอบ้าง พระเจ้าลูกเธอบ้างทุกวัน แต่พระเจ้าลูกเธอซึ่งทรงพระเยาว์อยู่นั้น อยู่ข้างจะตื่นทรงมงคลกันจู๋จี๋มาก ที่ได้ทรงวันเดียวไม่สะพระทัยบ่นออดแอดกันไปต่างๆ จึงโปรดให้มีมงคลมาสวมพระราชทานวันละสองพานแว่นฟ้าทั้งสามคืน การที่ทึ่งมงคลนี้ก็มีมาจนเจ้านายเล็กๆ ทุกวันนี้ ต้นเหตุที่จะทึ่งหนักทึ่งหนาเพราะอยากโสกันต์เป็นเบื้องหน้า เห็นเจ้านายเข้ามาฟังสวดและเข้ามาเกศากันต์เวลาเช้ามันให้อยากใจเต้นไปไม่หาย เป็นเช่นนี้ด้วยกันโดยมาก ได้สวมมงคลเข้าก็ดูค่อยสบายวางหน้าวางตาเป็นเจ้าโสกันต์ ถ้าถึงวันยิงอาฏานาได้ถือกระบองเพชรเข้าด้วยยิ่งคมคายขบขันขึ้นมาก ถึงจะหาวนอนให้หวอดๆ เท่าไรก็ทนได้ไม่เป็นไร ใครอยากดูให้เห็นจริงคอยดูพิธีตรุษปีนี้ได้ การทรงพระมหามงคลในวัน ๑๔ ค่ำนั้น เมื่อเวลาภาณยักษ์ขึ้นเสด็จขึ้นข้างในทรงพระมหามงคล แต่ทรงเด็ดเสียที่โยงสายสิญจน์ พระมหามงคลคู่ผลัดก็ทรงสวมพระกรออกไปด้วย บางทีก็พระราชทานผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งยังไม่ได้พระราชทานในสองวันล่วงมาแล้ว บางทีก็ไม่ได้พระราชทาน ทรงอยู่เพียงยิงปืนครั้งแรกแล้วก็เปลื้อง ด้วยประทับอยู่นาน เวลาจะเสด็จกลับทรงสวมพระกรทั้งสองข้าง ไม่ได้ทรงกลับมา กระบองเพชรและพิสมรจ่ายในเวลาภาณยักษ์ เป็นหน้าที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอทรงจ่ายมาแต่เดิม ถึงเวลาก็เสด็จขึ้นไปหลังพระแท่นกับเจ้าพนักงานหยิบถุงออกมา แล้วถวายกระบองเพชรทรงซึ่งจารึกคาถา อริโย อุต์ตโม มัค์โค เป็นต้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้จารึกใหม่แปลกกันกับกระบองเพชรสามัญซึ่งจารึก สัพเพเทวาปิสาเจวะ เป็นต้น แล้วจึงได้นำไปที่มุขเหนือส่งข้างในและแจกเจ้านายข้าราชการฝ่ายหน้า แต่คําที่เรียกว่าแจกนี้เป็นแต่สักว่าแจก น่าที่จะเรียกว่าแย่งมากกว่า และเวลาจ่ายแล้วเสียงดั่งเฮอลั่น แล้วกระทบกันดังกรอกแกรกๆ จนเกือบไม่ได้ยินภาณยักษ์ ถ้าโยนลงไปกลางหมู่คนสักมัดหนึ่งคงจะแย่งกันเหมือนแย่งติ้วเป็นแน่

ในวันยิงอาฏานานี้ เป็นประเพณีมาแต่เดิม เจ้านายและข้าราชการต้องเข้ามาประชุมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย ไม่ใคร่มีใครค่อยเว้นว่าง ด้วยเป็นพระราชพิธีซึ่งจะให้เป็นมงคลทั่วกัน และเป็นเวลายิงปืนกลางคืนค่อยจะอยู่ข้างขับขัน ถึงชั้นเสนาบดีนอนหัวค่ำก็ยังคงรักษาแบบอย่างเดิมอยู่ ไม่ใคร่จะขาดเหมือนการพระราชพิธีอื่นๆ

วันแรม ๑๕ ค่ำ ตั้งแต่เวลารุ่งไปพระสงฆ์ที่สวดภาณยักษ์หยุดแล้ว ขึ้นสวดแผ่เมตตาพรหมวิหารจนเวลาเสด็จออกเลี้ยงพระ เมื่อเลี้ยงพระเสร็จแล้วทรงจุดเทียนหลังครอบพระกริ่งถวาย กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ชาวที่ยกหม้อน้ำมนต์ทองเหลืองตั้งรายตามหน้าพระราชาคณะ แล้วสวดทําน้ำมนต์ตั้ง นโม นัต์ถิเม ยํกิญ์จิ รตนํ โลเก แล้วจึงสวดคาถารัตนสูตร แต่ก่อนสมเด็จพระพุฒาจารย์ ภายหลังสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ดับเทียนชัยด้วยใบพลู เมื่อถึงปลายคาถารัตนสูตร แล้วสวด สัพ์พโรควินิมุต์โต ลงท้าย ยถา ทีโป จ นิพ์พโต เป็นเสร็จการทำน้ำมนต์ พระสงฆ์ซึ่งเข้าพระราชพิธีทั้งที่พระมหาปราสาทและที่กลางเมืองและประตูเมือง ได้ผ้าสบงองค์ละผืนทั่วกัน การอนุโมทนาวันนี้มีสัพพพุทธาภายหลังอติเรกอีกวันหนึ่ง เป็นส่วนในพระเจ้าแผ่นดิน พระสงฆ์ไปแล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ แล้วทรงเจิมพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง แต่น้ำนั้นใช้ในน้ำพระพุทธมนต์ในครอบพระกริ่งที่เหลืออยู่อีกมากน้อยเท่าใด ภูษามาลานำเข้ามาตั้งถวายในที่สรงข้างใน เทียนชัยซึ่งดับแล้วเหลืออยู่นั้นส่งพนักงานพระศรีหุงสีผึ้งสีพระโอษฐ์
ในเวลาวันนี้พระสงฆ์ที่เข้าในพระราชพิธีนี้กลับไปแล้ว ต้องเที่ยวประน้ำมนต์กําหนดตามหมายรับสั่งของเดิมว่า ประน้ำโปรยทรายเข้าในพระบรมมหาราชวัง พระสงฆ์ ๑๐ รูป บาตรน้ำ ๘ บาตรทราย ๒ ชาวที่ใหญ่รับบาตร รอบพระบรมมหาราชวังชั้นกลาง พระสงฆ์ ๑๐ รูป บาตรน้ำ ๘ บาตรทราย ๒ เหมือนกันเป็นแห่ง ๑ ในโรงพิธีฝั่งตะวันออก พระสงฆ์วัดสุทัศน์ ๑๒ รูป หม้อน้ำ ๑๐ บาตรทราย ๒ ประแต่วัดสุทัศน์มาถึงถนนสี่ทิศ คือแยกถนนบํารุงเมือง ถนนเฟื่องนคร แล้วแยกไปข้างเหนือ ๖ รูป ข้างใต้ ๖ รูป จนถึงป้อมสุดถนนเฟื่องนครทั้งสองข้างแห่งหนึ่ง พระสงฆ์โรงพิธีป้อมพระสุเมรุ ๖ รูป หม้อน้ำ ๕ บาตรทราย ๑ ประไปจนถึงป้อมมหากาฬแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีป้อมมหากาฬ ๖ รูป มีหม้อน้ำบาตรทรายเท่ากันกับที่ป้อมพระสุเมรุ ประไปถึงป้อมมหาชัยแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีป้อมมหาชัย ๖ รูป ประไปถึงป้อมมหาฤกษ์แห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีป้อมมหาฤกษ์ ๖ รูป ประไปถึงป้อมพระสุเมรุแห่ง ๑ รวม ๕ แห่ง ผู้ถือบาตรน้ำบาตรทรายกรมพระนครบาล ในฝั่งตะวันตก พระสงฆ์ที่โรงพิธีวัดโมฬีย์โลก ๖ รูป ประไปถึงศาลหลวงเก่าแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีศาลหลวงเก่า ๖ รูป ประไปถึงโรงพิธีวัดอรุณแห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีวัดอรุณ ๖ รูป ประไปถึงโรงพิธีถนนอาจารย์แห่ง ๑ พระสงฆ์ที่โรงพิธีถนนอาจารย์ ๖ รูป ประไปถึงวัดอมรินทร์แห่ง ๑ พระสงฆ์วัดอมรินทร์ ๖ รูป ประรอบพระราชวังหลังแห่ง ๑ รวม ๕ แห่ง หม้อน้ำบาตรทรายก็เท่ากับโรงพิธีประตูเมืองฝั่งตะวันออก และเป็นธุระกรมพระนครบาลรับหม้อน้ำบาตรทรายด้วยเหมือนกัน แต่การที่ประทำน้ำมนต์นอกพระราชวังนี้ จะเลิกเสียแต่เมื่อครั้งใดก็ไม่ทราบ หรือจะเป็นแต่รวมๆ กันไปเอง แต่หมายยังคงขึงแต้อยู่ตามเดิม ที่ประอยู่ทุกวันนี้มีแต่ในพระบรมมหาราชวัง พระราชาคณะ ๔ รูป บาตรน้ำ ๒ บาตรทราย ๒ ขึ้นประบนพระราชมนเทียรทุกแห่งตลอดจนที่พระบรรทม ในเวลาเย็นเจ้าพนักงานเวียนเทียนพระแท่นมณฑลสมโภชพระพุทธรูปและเครื่องราชูปโภค เป็นเสร็จการพระราชพิธี

แต่ในส่วนตรุษนั้น มีการพระราชกุศลประจําปี คือมีการทรงบาตรพระสงฆ์มากขึ้นกว่าปรกติอย่างเทศกาล และมีน้ำอบที่เรียกกันว่าแป้งสด แต่เป็นคำที่เรียกกันอย่างโบราณ ทุกวันนี้ไม่มีใครเรียก ดูกลิ่นอายเหมือนกับจะหอมเย็นๆ แต่สันนิษฐานว่าเป็นอย่างดีหรืออย่างเลวทายไม่ถูก ต้องสืบถามจึงได้ความว่าแป้งสดนั้น คือน้ำอบที่อบด้วยตะคันอย่างเช่นใช้กันอยู่ธรรมดานั้นเอง ปรุงก็ปรุงด้วยแป้งรํ่า แต่เจือน้ำดอกไม้สดลงไปเพื่อจะให้หอมเย็นหรือจะให้เปลืองน้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คงใช้เป็นน้ำอบอย่างเลว แต่ก่อนมาพนักงานในพระบรมมหาราชวัง มีคนหนึ่งเรียกว่าพนักงานแป้งสด อยู่ในบัญชีต่อท้ายพนักงานพระสุคนธ์ พระสุคนธ์นั้นเป็นน้ำอบอย่างดี แป้งสดเป็นน้ำอบอย่างเลว หน้าที่ของพนักงานแป้งสด มีอยู่สองอย่างเท่านั้น คือทำน้ำอบสำหรับสรงพระศรีมหาโพธิในเวลาตรุษคราวหนึ่ง สงกรานต์คราวหนึ่ง ทําน้ำอบที่สำหรับพระราชทานรดเจ้านาย ข้าราชการ ในเวลาสงกรานต์อย่างหนึ่ง นอกนั้นไม่มีธุระอันใด ตัวพนักงานมีมาแต่เดิม ก็ปล่อยให้อยู่ไปจนสิ้นชีวิต ครั้นเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วก็โปรดให้เลิกเสีย แต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การแป้งสดตกอยู่ในพนักงานพระสุคนธ์เป็นผู้ทํา เมื่อเวลาเช้าทรงบาตรแล้ว เคยกรอกขวดคอปล้องขนาดใหญ่ ๕ ขวด ผ้าสีชมพู ๕ ผืน รองพานทอง หม้อน้าเงิน ๕ หม้อ มาตั้งถวายตัวที่ท้องพระโรงทุกวัน กําหนดมากน้อยเท่าใดนั้นจะเป็นตามจํานวนพระศรีมหาโพธิซึ่งทรงนับถือ คือวันที่หนึ่งไปสรงพระพุทธรูปและพระศรีมหาโพธิ วัดพระเชตุพนแห่ง ๑ วัดมหาธาตุ ซึ่งเรียกว่าวัดพระศรีสรรเพชญตามเดิมแห่ง ๑ วันที่สอง วัดอรุณราชวรารามแห่ง ๑ วัดสุทัศน์เทพวรารามแห่ง ๑ วันที่สาม วัดบรมนิวาสแห่ง ๑ วัดสระเกศแห่ง ๑ วัดบวรนิเวศวิหารแห่ง ๑
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 13:48:57 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 23 มิถุนายน 2561 16:59:26 »

พระราชพิธีเดือนสี่ (ต่อ)

อนึ่งในตรุษสามวันนี้ มีตั้งศาลาฉ้อทาน ๕ ตําบล คือหน้าวัดบวรนิเวศตําบล ๑ หน้าวัดมหาธาตุ ซึ่งยังคงเรียกอย่างเก่าว่า หน้าวัดพระศรีสรรเพชญตำบล ๑ วัดสุทัศน์เทพวรารามตำบล ๑ วัดพระเชตุพนตําบล ๑ วัดอรุณราชวรารามตําบล ๑ แต่เดิมว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีที่หน้าวัดราชโอรสด้วย จะเป็นเลิกที่หน้าวัดราชโอรสมาวัดบวรนิเวศหรือประการใดไม่ทราบ มีโรงปลูกขึ้นใหม่ทุกแห่ง วิเสทห้าโรง เป็นผู้ทําครัวและเป็นผู้เลี้ยง และมีผู้กํากับ คือกรมสัสดี มหาดไทย กลาโหม ชาววังตัวสี่ ชาวคลัง สรรพากร มหาดเล็ก วังนอกซ้ายขวา จ่ายข้าวสารโรงหนึ่งข้าวขาววันละ ๕ ถัง ข้าวแดงวันละ ๑๐ ถัง ห้าโรงเป็นข้าวขาววันละ ๒๕ ถัง ข้าวแดงวันละ ๕๐ ถัง สามวันเป็นข้าวขาว ๗๕ ถัง ข้าวแดง ๑๕๐ ถัง แต่ส่วนที่ซื้อกับข้าวนั้นเมื่อถึงกําหนดตรุษและสงกรานต์แล้ว ท้าวอินทร์สุริยาก็นำเงิน ๑๐ ชั่งมาถวายทรงจบพระหัตถ์ แล้วจึงไปจ่ายให้แก่นายวิเสททั้ง ๕ โรง และมีในหมายเกณฑ์ให้กรมแสงจัดมีดโกนและกรรไตรไปประจําอยู่ที่โรงทานทั้ง ๕ ตําบล สำหรับราษฎรจะได้ตัดผม ดูการที่จัดนั้นจะเป็นการสนุกอย่างศาลาฉ้อทานพระเวสสันดรอย่างเก่าๆ จะให้มีพรักพร้อมทุกอย่าง แต่การเลี้ยงทั้งปวงนั้นไม่ต้องสงสัยเลยคงเป็นอย่างสูง[] เป็นแน่ ของอาหารอย่างสูงเช่นนี้ต้องใช้ท้องเหล็กจึงจะพอรับรอง แต่มีที่พิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือเจ้านายขุนนางมักจะได้สำรับที่ท้าวอินทร์สุริยา ไปเที่ยวแจกถึงวังถึงตำหนัก ถ้าเป็นของเช่นนี้แล้วอยู่ข้างจะทำพอใช้ แต่เจ้านายที่ในวังนี้ บางแห่งก็เข้าใจกันว่าของที่ท้าวอินทร์สุริยาไปให้นั้นเป็นให้สำหรับทำบุญนำไปถวายพระสงฆ์เสียก็มี ที่จะเสวยเองนั้นมีน้อย ข้าหลวงกินนั้นมีมาก แต่ที่แท้นั้นสำหรับจะได้มาลงในริโปถหางว่าวถวายพระราชกุศล ซึ่งกรมวังสำหรับมาตะโกนตรงหน้าพระที่นั่งอย่างปลาปล่อย อ้างได้ว่าพระบรมวงศานุวงศ์เสวยเท่านั้นองค์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเท่านั้น พระสงฆ์และราษฎรเท่านั้น หางว่าวถวายพระราชกุศลนี้จะเหมือนกันทุกปีหรือแปลกกันก็แคลงอยู่ เพราะไม่ใคร่จะได้ฟัง แว่วๆ บ้างก็ไม่จํา ด้วยรู้ว่าเป็นการช่างเถอะโดยมาก ได้ขอจำนวนหางว่าวที่กรมวังมาเก็บยอดบัญชีลงไว้เป็นตัวอย่างปีหนึ่งมีจำนวนดังนี้ โรงทานทั้ง ๕ โรงมีคนกินเลี้ยง ๓ วัน พระสงฆ์ ๔๑๒ สามเณร ๒๘๓ ข้าราชการ ๒๔๑ ราษฎรชายหญิง ๓๓๓ นักโทษ ๒๒๕ รวม ๑๔๙๔ จำนวนสำรับที่เลี้ยง สำรับเอก ๓๑๓ สำรับโท ๒๕๙ สำรับตรี ๓๑๒ รวม ๘๘๔ สำรับ ๚  

-------------------------------------------------------------------------------------
[] เมื่อทรงพระราชนิพนธ์นี้เรื่องนี้แล้วช้านาน เสด็จประพาสชวาทวีปครั้งหลัง เมื่อประทับอยู่ที่เมืองโซโลราชธานีของสุรเขต สบเวลาเจ้านครสุรเขตทำพิธีปีใหม่ พิธีนั้นมียิงปืนขับไล่แม่มดแทนปิศาจ
    ทํานองเดียวกับแบบพิธีตรุษอย่างโบราณ ทรงพระราชดำริว่าพิธียิงปืนอาฎานาที่จริงเดิมเห็นจะเป็นพิธีในอินเดีย ลังกาเป็นแต่เอาพระพุทธศาสนาเข้ามาปนในพิธี

[] พระยาโชฎึก (เสถียร) เป็นผู้ทําน้ำประปาจําหน่ายในสําเพ็งก่อน
[] เสาในพระมหาปราสาท เอาออกเมื่อพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทั้ง ๔ เสา
[] เพราะโปรดให้จัดเป็นการพิเศษ และมีแห่เป็นพื้น
[] สมเด็จพระวันรัตไปเป็นประธานทำพิธี ในพระราชวังบวรฯ
[] เล่นฟัน หมายความว่า เล่นตลก
[] คําว่าสูงตรงนี้ มาแต่ภาษาอังกฤษ หมายความว่าจวนบูด


เดือนสี่
กาลานุกาล พิธีตรุษ

๏ การพระราชกุศลกาลานุกาล ที่เรียงลงในเรื่องพิธีสิบสองเดือนแต่ก่อนว่าเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งสิ้น ยกไว้แต่สงกรานต์นั้นเป็นการผิดไป บัดนี้ได้ความมาว่ากาลานุกาล ท้ายพระราชพิธีตรุษ พระราชพิธีสารท เข้าพรรษา ออกพรรษา และท้ายฉลองไตรปีนี้เป็นของมีมาแต่เดิม ท้ายวิสาขบูชาเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็กาลานุกาลท้ายพระราชพิธีตรุษนี้ ได้ทําในวันเดือน ๕ ขึ้นค่ำหนึ่ง ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีพิธีการพระราชกุศลทั้งปวงเหมือนเช่นได้กล่าวมาแล้วในการกาลานุกาลท้ายฉลองไตร แต่พระสงฆ์ใช้พระสงฆ์กรุงเทพฯ สดับปกรณ์ ใช้ผ้าสบงผืนหนึ่ง หมากพลู ธูป เทียน ร่ม รองเท้า จำนวนพระสงฆ์รายวัดประจำพระอัฐิซึ่งสดับปกรณ์นั้น เห็นว่าความในเดือนนี้มากแล้ว จะว่าก็จะยาวหนักไป การสดับปกรณ์กาลานุกาลเดือน ๖ มีจำนวนพระเหมือนกัน จึ่งจะของดไปไว้ว่าเดือน ๖ ต่อไป

ในการพระราชพิธีเดือน ๔ กับเดือน ๕ นี้ติดเนื่องกัน เพราะตัวนักขัตฤกษ์ ที่เรียกว่าตรุษเองนั้นก็คาบปี คือวันแรม ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ขึ้นค่ำหนึ่งเสียแล้ว การจึงต้องติดเนื่องพัวพันกันไป ครั้นจะตัดเอาสงกรานต์เป็นเดือน ๕ ก่อนสงกรานต์เป็นเดือน ๔ ตามความจริงซึ่งเป็นอยู่ดังนั้น คือถือน้ำในเดือน ๕ ก็เรียกว่าถือน้ำพระราชพิธีตรุษ เป็นต้น ก็จะต้องว่าตลอดจนคเชนทรัศวสนานซึ่งเป็นคู่กัน จะชักให้ยืดยาวเหลิงเจิ้งมากแล้วจะต้องฝืนชื่อเดือนอยู่ ครั้นจะตัดเอาแรม ๑๕ ค่ำ และขึ้นค่ำหนึ่งให้ขาดเป็นรายเดือนไป การพระราชกุศลในกระบวนตรุษก็ขนาบคาบเกี่ยวกัน จึงได้ขอแบ่งการวันใด ซึ่งเห็นว่าควรจะว่าในเดือน ๔ เสียให้เสร็จทีเดียวเช่นกาลานุกาล เพราะเป็นของต่อพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ก็จะว่าเสีย ที่เป็นเรื่องยืดยาวตั้งแต่การปีใหม่เป็นต้น ขอตัดไปไว้เดือน ๕

การที่ควรจะตักเตือนนั้น ที่เป็นข้อสำคัญยิ่งใหญ่เกือบจะว่าไม่ใคร่จะมีปีที่พร้อมเพรียงได้นั้น คือ วันแรม ๑๒ ค่ำ เวลาเช้าจุดเทียนชัย ถ้าไม่ทรงพระประชวรหรือไม่มีที่เสด็จพระราชดำเนินแห่งใด จะเสด็จพระราชดําเนินในการพระราชพิธีนั้นไม่ได้ขาดเลย แต่ก่อนมามหาดเล็กมักจะโรเรไม่ใคร่มีใครมา จะเรียกโคมไฟฟ้าซึ่งสำหรับจุดชนวนเทียนชัยไม่ใคร่จะได้ วิ่งกันตังตังตังเปล่าไป ขอให้จําไว้ว่าวันนั้นแล้วเป็นโคมไฟฟ้าขาดไม่ได้ และวัน ๑๔ ค่ำ เป็นหน้าที่ของมหาดเล็ก ซึ่งจะต้องถวายเทียนทอง ๔ เล่ม และโคมไฟฟ้าด้วยเหมือนกัน หน้าที่กรมภูษามาลาก็มีหลายแห่ง แต่อยู่ข้างจะดีไม่สู้จะขาดนัก คือในวัน ๑๔ ค่ำนั้น ต้องเชิญพระมหาสังข์และพระธํามรงค์มาตั้งไว้ที่ที่ทรงกราบ เมื่อเจ้าเกศากันต์แล้วต้องเชิญพระมหาสังข์ลงไปพระราชทานที่สรงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสรงแล้วต้องเชิญพระมหาสังข์ขึ้นมาตั้งไว้ที่โต๊ะข้างพระเก้าอี้ ต้องมีใบมะตูมด้วย แต่ใบมะตูมนี้ภูษามาลาค่อนอยู่ข้างจะเคอะเหลือที่จะเคอะ ถ้าได้จะเก็บใบอ่อนก็อ่อนจนเป็นสีแดงพับไปพับมา ถ้าได้จะแก่ก็เป็นเขียวแข็งกราก ถ้าได้จะโตก็โตจนกว้างเกือบนิ้วกึ่ง ถ้าได้จะเล็กก็จนพอผลิออกมาเป็นสามใบ เกิดมาเป็นภูษามาลาเห็นเก็บใบมะตูมเป็นอันอย่างยิ่งเป็นนิจนิรันดร์ ไม่ได้เคยเหมาะแต่สักครั้งเดียว ควรจะไปขอทานพราหมณ์หรือไปเรียนตำราเก็บใบมะตูมมาเสียให้ได้จะดีขึ้น เมื่อพระราชทานน้ำเจ้าซึ่งขึ้นมาเฝ้าบนพระมหาปราสาทแล้ว ต้องเก็บพระมหาสังข์และพระมหาธำมรงค์ขึ้นตั้งที่เดิม เวลาค่ำเมื่อสวดธรรมจักรและสมัยต้องเชิญพระมหาสังข์ถวายสำหรับทรงรดน้ำและเจิมปืน วัน ๑๕ ค่ำ เวลาเช้าต้องเชิญครอบพระกริ่งลงมาตั้งไว้ที่ที่ทรงกราบ และเชิญหรือคอยรับพระมหาสังข์ ซึ่งพระราชทานน้ำพระบรมวงศานุวงศ์แล้วขึ้นตั้งไว้ที่ ถ้าไม่ได้เสด็จพระราชดําเนินออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต้องเชิญพระครอบพระกริ่งถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงดับเทียน ในเวลาดับเทียนชัยแล้ว เชิญพระครอบและพระมหาสังข์มาคอยถวายที่ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ในวัน ๑๔ ค่ำเวลาเย็น เสด็จพระราชดำเนินออกทอดพระเนตรแห่พระ ข้าราชการตํารวจมหาดเล็กต้องสวมมงคลแต่เวลาเย็น แต่พระบรมวงศานุวงศ์ไปสวมต่อเสด็จขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท การอื่นๆ อันใดไม่ใคร่จะมีขาดนัก ถึงพระเต้าษิโณทกที่พระมหาปราสาทนี้มหาดเล็กอยู่ข้างจะดีกว่าทุกแห่ง เพราะมิใช่เวลาแต่งตัว ถ้าถูกเสื้อเยียรบับแล้วจะอยู่ข้างวุ่นๆ เสมอไป เพราะมัวมองดูหน้าอกเนืองๆ จึงได้เผลอ ๚

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 15:48:32 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 27 มิถุนายน 2561 19:56:42 »



พระราชพิธีเดือนห้า
• การสังเวยเทวดา สมโภชเครื่อง เลี้ยงโต๊ะปีใหม่ • พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล
• พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน • พิธีทอดเชือก ดามเชือก
• แห่สระสนานใหญ่ • คเชนทรัศวสนาน
• พิธีสงกรานต์ • การพระราชกุศลก่อพระทรายและตีข้าวบิณฑ์
• คำตักเตือนวันมหาสงกรานต์  

-----------------------------------

๏ การพระราชพิธีในเดือน ๕ ได้กล่าวไว้แล้วว่าจําเป็นจะต้องเกี่ยวท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ในเดือน ๔ เพราะการในวันขึ้นค่ำหนึ่งเดือน ๕ ซึ่งได้แบ่งว่าไปแล้วบ้าง เช่นการพระราชกุศลกาลานุกาล แต่ส่วนการซึ่งออกชื่อว่าเป็นสำหรับปีใหม่ที่เกี่ยวอยู่ในการพระราชพิธี คือการสังเวยเทวดาและเลี้ยงโต๊ะ กับทั้งการซึ่งอยู่ในเดือน ๕ แท้ แต่เรียกติดท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เช่นถือน้ำตรุษ ได้ยกมาไว้ในเดือน ๕

การพระราชพิธีในเดือน ๕ ที่มีมาในกฎมนเทียรบาลไปเริ่มกล่าวถึงการออกสนามใหญ่ คือสระสนานหรือคเชนทรัศวสนานทีเดียว หาได้กล่าวถึงการเถลิงศกสงกรานต์ที่เป็นส่วนพระราชกุศลอย่างใดไม่ ส่วนจดหมายถ้อยคําขุนหลวงหาวัดซึ่งเป็นคู่ยันกัน ก็หาได้กล่าวถึงการพระราชพิธีทอดเชือกตามเชือก สระสนานหรือคเชนทรัศวสนานในเดือน ๕ ไม่ ไปกล่าวถึงแต่การพระราชกุศลสงกรานต์อย่างเดียว พิเคราะห์ดูโดยอนุมานเห็นว่ากฎมนเทียรบาลเป็นธรรมเนียมเก่า ชั้นต้นการพระราชกุศลอยู่ข้างจะห่างเหินไม่ใคร่จะมีมากนัก การพิธีอันใดยังไต่ตามทางลัทธิพราหมณ์มากกว่าที่เจือปนพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่าการบรมราชาภิเษก เมื่อสอบสวนดูโดยละเอียดตามพระราชพงศาวดาร ก็เห็นได้เป็นแน่ว่าตลอดลงมาจนแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถมหาราช การบรมราชาภิเษกหาได้เกี่ยวด้วยพระราชพิธีสงฆ์ไม่ แต่จะวินิจฉัยให้ละเอียดในที่นี้ก็จะชักให้ยาวความไป เพราะเป็นเหตุที่เพียงแต่ยกมาเปรียบ เมื่อมีโอกาสอื่นซึ่งสมควรจะอธิบายข้อความนั้นให้แจ่มแจ้งจึ่งจะอธิบายภายหลัง คงต้องการในที่นี้เพียงว่าการพระราชพิธีซึ่งเจือปนเป็นการพระราชกุศล พึ่งจะมามีชุกชุมขึ้นเมื่อเปลี่ยนบรมราชวงศ์เชียงรายแล้วโดยมาก เพราะฉะนั้นในกฎมนเทียรบาลจึงหาได้กล่าวการพระราชกุศลในเดือนห้านี้ไม่ ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัดซึ่งมิได้กล่าวถึงการสระสนาน หรือคเชนทรัศวสนานนั้นเล่า ก็เป็นด้วยหนังสือนั้นกล่าวถึงปัจจุบันกาล ในเวลาอายุของท่านผู้แต่ง การพระราชพิธีสระสนานในชั้นหลังลงมาตลอดจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เกือบจะมีแผ่นดินละครั้งคล้ายๆ กับสักกลับ[]  เดินสวนเดินนา ที่จะได้ซ้ำสองไม่มี มีแต่เว้นว่างไปไม่แห่ การคเชนทรัศวสนานซึ่งแห่กันอยู่ปรกติทุกวันนี้ เป็นการเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เพราะฉะนั้นก็น่าที่ขุนหลวงหาวัดจะไม่ได้เคยเห็นสระสนานหรือเห็นแต่จําไม่ได้เลย และถือว่าไม่เป็นพระราชพิธีประจำเดือน จึ่งได้ยกเสียมิได้กล่าว กล่าวถึงแต่การพระราชกุศลสงกรานต์ ซึ่งเป็นการใหม่ทำอยู่ในเวลานั้น

แต่การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาคงมีกล่าวทั้งสองแห่ง แต่ในกฎมนเทียรบาลหาได้กล่าวไว้ในพิธีประจำเดือนไม่ เห็นจะเป็นเพราะปีหนึ่งสองคราวเหมือนกัน จึงยกไปไว้เป็นเอกเทศต่างหาก แต่ข้อความที่มีอยู่นั้นก็สั้น ว่าแต่เพียงกําหนดตําแหน่งถือน้ำฝ่ายในหรือในราชตระกูล คือว่า “พระภรรยาเจ้าทั้งสี่ พระราชกุมาร พระราชนัดดา ถวายบังคมถือน้ำในหอพระ กว่านั้นนั่งในมังคลาภิเษก” ดูเป็นว่าด้วยธุระของกรมวังเป็นการในพระราชมนเทียรอย่างเดียว แต่ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัดนั้นก็ยกความเรื่องถือน้ำไปว่านอกพระราชพิธี มีเค้ารูปความคล้ายคลึงกับที่ได้ยินเล่ากันมาบ้าง แต่พิสดารฟั่นเฝือเหลือเกินจนจับได้ชัดเสียแล้วว่ามีผู้แทรกแซมความแต่งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนหาได้เสด็จพระราชดําเนินออกให้ข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาถึงวัดไม่ พึ่งจะมาเกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ก็เหตุใดในคําให้การขุนหลวงหาวัด จึงได้เล่าเหมือนหนึ่งเกิดในรัชกาลที่ ๔ ในกรุงรัตนโกสินทร์จนแต่งตัวแต่งตน และมีเสด็จโดยกระบวนพระยุหยาตราวุ่นวายมากไป ซึ่งไม่ได้เคยมีมาแต่ก่อนเลยดังนี้ ก็เห็นว่าเป็นอันเชื่อไม่ได้ในตอนนั้น พึ่งมีปรากฏในฉบับที่ตีพิมพ์นี้ฉบับเดียว[]สำนวนที่เรียงก็ผิดกับอายุขุนหลวงหาวัด ถ้าของเดิมขุนหลวงหาวัดได้กล่าวไว้ถึงเรื่องนี้จริง เมื่อเราได้อ่านทราบความก็จะเป็นที่พึงใจเหมือนหนึ่งทองคําเนื้อบริสุทธิ์ ซึ่งเกิดจากตำบลบางตะพาน เพราะท่านเป็นเจ้าแผ่นดินเอง ท่านกล่าวเองก็ย่อมจะไม่มีคลาดเคลื่อนเลย แต่นี่เมื่อมีผู้ส่งทองให้ดูบอกว่าทองบางตะพาน แต่มีธาตุอื่นๆ เจือปนมากจนเป็นทองเนื้อต่ำ ถึงว่าจะมีทองบางตะพานเจืออยู่บ้างจริงจะรับได้หรือว่าทองทั้งก้อนนั้นเป็นทองบางตะพาน ผู้ซึ่งทําลายของแท้ให้ปะปนด้วยของไม่แท้เสียเช่นนี้ ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวง ซึ่งควรจะได้รับแล้วเอาสิ่งที่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักไม่ควรเลยที่ผู้ใดซึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นผู้รักหนังสือจะประพฤติเช่นนี้ หนังสือนี้จะเคลื่อนคลาดมาจากแห่งใดก็หาทราบไม่ แต่คงเป็นของไม่บริสุทธิ์ซึ่งเห็นได้ถนัด

บัดนี้จะขอแยกข้อความออกว่าตามลำดับ ซึ่งได้เรียงมาตามอย่างแต่ก่อนนั้น แยกข้อความพิสดารของการเก่าใหม่ไว้เป็นหมวดๆ ตามรายวันของการพระราชพิธีและการพระราชกุศลนั้นๆ การในเดือน ๕ เริ่มต้น  :-

  
-------------------------------------------------------------------------------------
[] สักกลับ คือวิธีสักไพร่หมายหมู่ ถ้าแผ่นดิน ๑ สักท้องแขน ถึงแผ่นดินใหม่สักหลังแขน กลับกันให้สังเกตง่าย
[] คําให้การขุนหลวงหาวัดฉบับนี้พิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธ เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๒๔๕ พ.ศ.๒๔๒๖


เดือนห้า
การสังเวยเทวดา สมโภชเครื่อง เลี้ยงโต๊ะปีใหม่

๏ การสมโภชเครื่องในท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เป็นธรรมเนียมมีมาแต่เดิม แต่ครั้นเมื่อถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดําริเสาะหาแบบอย่างการพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งมีในกฎมนเทียรบาล มาประกอบกับธรรมเนียมใหม่ๆ แล้วตั้งขึ้นเป็นแบบอย่างย่อๆ ต่อมามีหลายอย่าง แต่ในการเรื่องเลี้ยงโต๊ะนี้ เกิดขึ้นด้วยการสมโภชเลี้ยงลูกขุน มีในพระราชพิธีเก่าๆ หลายแห่ง มีการบรมราชาภิเษกเป็นต้น ทรงเห็นว่าตรงกันกับเรื่องเลี้ยงโต๊ะอย่างฝรั่ง ก็ดูเป็นการน่าเล่นอยู่ เพราะได้ทั้งการเก่าการใหม่ เป็นเหตุให้เกิดความสมัคสโมสรพร้อมมูลกัน จึงได้ทรงตั้งแบบขึ้นในวันขึ้นค่ำหนึ่งเดือน ๕ นี้ เวลาเช้ามีการพระราชกุศลสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ยกไปทําที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำว่างอยู่ จึงให้เชิญพระสยามเทวาธิราชซึ่งตั้งอยู่ในพระราชพิธีแล้วนั้น ออกมาตั้งที่บุษบกมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และให้เชิญเจว็ดมุกกับทั้งเทวรูปที่หอแก้วมาตั้งด้วย ตั้งเครื่องสังเวยโต๊ะจีนเรียงติดๆ กันสามโต๊ะ ที่พื้นชาลาหน้ามุขเด็จตั้งพระแท่นเป็นราชอาสน์ตรงอัฒจันทร์ข้างตะวันออกมุขเหนือ แล้วกั้นฝาเฟี้ยมเสมอหน้าทิมคดเป็นฉากโรงละคร กั้นรอบทิมคดเป็นในโรง มีละครหลวงเล่นเรื่องต่างๆ คือจับต้นมีพระและนางออกจุดเทียนแล้วรําดอกไม้เงินทอง พระสองคราวหนึ่ง นางสองคราวหนึ่ง ต่อไปเป็นจับลิงหัวค่ำเป็นอย่างที่เล่นยืนเสมอทุกปี ต่อนั้นไปบางทีเป็นพระรามเข้าสวนพิราพบ้าง เป็นนนทุกบ้าง เรื่องสั้นๆ คล้ายๆ เรื่องเบิกโรง เปลี่ยนกันไปเป็นปีๆ เล่นกลางแจ้ง แล้วให้ตั้งโต๊ะเลี้ยงเครื่องต้นกับพระเจ้าลูกเธอ ตั้งบนพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ เจ้านายโต๊ะหนึ่ง ข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นเสนาบดีโต๊ะหนึ่ง ชั้นพระยาและพระที่สำคัญโต๊ะหนึ่ง หลวงโต๊ะหนึ่ง ขุนโต๊ะหนึ่ง แต่โต๊ะฝรั่งนั่นไม่แน่ เดิมก็มีโต๊ะเดียว เป็นโต๊ะยาวกว่าทั้งปวง ตั้งริมโรงละคร ดูก็เรียบร้อยกันมาได้หลายปี ภายหลังเกิดเหตุขึ้นที่มีกงสุลถือตัว ว่าต้องนั่งโต๊ะเจือปนกับคนเลวๆ พากันกลับไปเสียไม่ยอมนั่ง จึงได้แยกใหม่เป็นสองโต๊ะ โต๊ะหนึ่งเป็นสำหรับกงสุล โต๊ะหนึ่งสำหรับพ่อค้ามิชชันนารีบาทหลวง พวกพ่อค้าก็เกิดอาละวาดกันขึ้นอีก ว่าตัวเคยนั่งได้กับกงสุล ทําไมจึงต้องแยกย้ายกัน กลับไปเสียบ้าง คงอยู่บ้าง ข้างฝ่ายกงสุลกับกงสุลเองก็เกิดรังเกียจว่าเป็นกงสุลดิปโลมาติก กงสุลพ่อค้า บางคนก็ยอมนั่ง บางคนก็ไม่ยอมนั่ง ภายหลังแยกออกไปอีกเป็นสี่โต๊ะห้าโต๊ะ ก็วุ่นวายกันอยู่เสมอไม่มีที่สุดลงได้ ด้วยการที่เชิญนั้นไม่ได้เชิญเฉพาะว่าตัวผู้หนึ่งผู้ใด บอกไปตามกงสุลทุกๆ กงสุลตามแต่จะพาใครมาก็มากันหมดๆ เมืองทุกคราว แต่คําที่ว่าหมดเมืองนี้หน่อยจะเข้าใจกันว่ามากไป หมดที่มีในเมืองไทยประมาณสักหกสิบคนเท่านั้น แต่วิวาทกันเหลือเกินไม่ได้หยุดหย่อนเลย คงเรียบร้อยดีอยู่แต่พวกมิชชันนารีกับพวกบาทหลวง จึงต้องตกลงเป็นอันเลิกเสียด้วยความรำคาญก่อนสิ้นรัชกาลหลายปี คงเลี้ยงแต่เจ้านายขุนนางข้าราชการ เครื่องโต๊ะที่เลี้ยงนั้นก็เป็นอย่างเก่าๆ กับข้าวไทยบ้าง จีนบ้าง ฝรั่งบ้าง ทั้งหวานทั้งคาวตั้งพร้อมกันเต็มบนโต๊ะ มีมีดซ่อมช้อนตะเกียบสำรับเดียว ดูก็เป็นการอย่างเบื่อๆ กันอยู่ไม่สู้สนุกสนานอันใด เวลาเมื่อทรงจุดเทียนสังเวยแล้วทรงเจิมเครื่องที่พระแท่นและเจิมเทวรูปด้วย เสด็จขึ้นอยู่ใน ๕ ทุ่ม หรือ ๒ ยาม ครั้นเมื่อแผ่นดินปัจจุบันนี้ในปีแรกพระบรมศพอยู่บนพระมหาปราสาท การพระราชพิธีย้ายไปทำที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ท่านผู้เป็นประธานในราชการเวลานั้น ต่างคนต่างเบื่อเลี้ยงโต๊ะ ต้องอดตาหลับขับตานอน ก็ตกลงพร้อมใจกันขอให้เลิกเสีย การเลี้ยงโต๊ะใหญ่ตามซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาล ๔ จึงได้เป็นอันเลิกสูญไปแต่นั้นมา

ครั้นต่อมาภายหลัง เมื่อใช้ธรรมเนียมฝรั่งชุกชุมนั้น มีการเลี้ยงโต๊ะในวังเนืองๆ จนถึงปีจอ ฉศก ๑๒๓๖ เมื่อย้ายมาอยู่พระที่นั่งนี้[] จึงได้เกิดการเลี้ยงปีใหม่ขึ้นเป็นคราวแรก แต่เลี้ยงเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ประมาณหกสิบพระองค์ตลอดมา เว้นไว้แต่ปีใดซึ่งมีเหตุการณ์ขัดข้องก็เลื่อนไปเป็นสงกรานต์บ้าง ยกเสียทีเดียวบ้าง บางปีก็มีแต่งพระองค์ต่างๆ ตามซึ่งเรียกอย่างฝรั่งว่าแฟนซีเดรสส์ บางปีก็แต่งพระองค์ตามธรรมเนียม และมีการเล่นต่างๆ ต่อเวลาเลี้ยงโต๊ะแล้วเป็นอย่างเล่นโยนน้ำบ้าง เล่นกลบ้าง เล่นเธียเต้อร์บ้าง มีแฟร์ขายของครั้งหนึ่งเมื่อปีกุนนพศก ๑๒๔๙ มีละครที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในเวลาค่ำด้วยทุกคราว และในเวลาที่เลี้ยงปีใหม่นี้ มีฉลากของพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ที่มานั่งโต๊ะด้วยทุกๆ พระองค์ และมีขนมพระราชทานเจ้านายข้าราชการในหมู่กรมต่างๆ หลายแห่ง การบางปีก็สนุกครึกครื้นมาก บางปีก็ไม่สู้สนุกครึกครื้น บางปีก็ประชุมกันอยู่จนเวลารุ่งเช้า บางปีก็เลิกไปในเวลาดึก

อนึ่ง การสังเวยเทวดา ซึ่งเคยมีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแต่ก่อนนั้น ก็โปรดให้มีตามเคย แต่ย้ายไปทําเวลาเช้า ที่พระที่นั่งทรงธรรมในพระบรมมหาราชวัง มีเครื่องสังเวยและละครหลวงซึ่งยังเหลืออยู่ ออกมาจุดเทียนคู่หนึ่ง แล้วต่อไปก็หาละครผู้มีบรรดาศักดิ์มาเล่น จนตลอดเวลากลางวัน พอต่อกันกับการเลี้ยงเวลากลางคืน การปีใหม่เป็นเสร็จกันในวันเดียวนั้น
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[] คือย้ายมาประทับหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เวลานั้นเรียกว่าพระที่นั่งใหม่


เดือนห้า
พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล
(ถือน้ำพิพัฒน์สัจจา)

๏ เป็นพระราชพิธีใหญ่สำหรับแผ่นดินมีสืบมาแต่โบราณ ไม่มีเวลาเว้นว่าง มีคําอ้างถึงว่าเป็นพิธีระงับยุคเข็ญของบ้านเมือง กําหนดมีปีละสองครั้ง คือในเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำครั้งหนึ่ง เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำครั้งหนึ่ง

เมื่อจะคิดหาต้นเหตุการถือน้ำให้ได้ความว่า เหตุใดเมื่อให้คนอ่านคําสาบานทําสัตย์แล้วจึงต้องให้ดื่มน้ำชำระพระแสงด้วยอีกเล่า ก็เห็นว่าลัทธิที่ใช้น้ำล้างอาวุธเป็นน้ำสาบานนี้ ต้นแรกที่จะเกิดขึ้นด้วยการทหาร เป็นวิธีของขัตติย หรือกษัตริย์ ที่นับว่าเป็นชาติทหารในจำพวกที่หนึ่งของชาติ ซึ่งแบ่งกันอยู่ในประเทศอินเดีย คล้ายกันกับไนต์ของอังกฤษ หรือสมุไรของญี่ปุ่น ชาติขัตติยเป็นชาติที่ไม่ได้หากินด้วยการค้าขายไถหว่านปลูกเพาะ หรือรับไทยทานจากผู้ใดผู้หนึ่งให้ ย่อมหาเลี้ยงชีวิตด้วยคมอาวุธ แต่มิใช่เป็นผู้ร้ายเที่ยวลอบลักทําโจรกรรม ใช้ปราบปรามโดยตรงซึ่งหน้าให้ตกอยู่ในอำนาจ แล้วและได้ทรัพย์สมบัติโดยผู้ซึ่งกลัวเกรงกำลังอำนาจยกยอให้ แต่การที่ประพฤติเช่นนี้ เมื่อว่าโดยอย่างยิ่งแล้วก็อยู่ในเป็นผู้ร้ายนั้นเอง แต่เป็นผู้ร้ายที่มีความสัตย์ และคิดแบ่งการที่ตัวประพฤติ (ถึงแม้ว่าไม่เป็นธรรมแท้ของโลก) ออกเป็นสองภาค ภาคหนึ่งถือว่าการซึ่งตนจะกระทำเช่นนั้นไม่เป็นการผิดธรรม ภาคหนึ่งถ้าตนจะกระทำเช่นนั้นเป็นการผิดธรรม คำว่าธรรมในที่นี้เป็นธรรมของชาติขัตติย มิใช่ธรรมของโลก เมื่อว่าเท่านี้จะยังเข้าใจยาก จะต้องยกตัวอย่างให้เห็นหน่อยหนึ่ง ว่าตามลัทธิความประพฤติของชาติขัตติยโบราณ คือเหมือนหนึ่งว่าผู้มีอำนาจเป็นชาติขัตติยใต้ปกครองแผ่นดิน ทราบว่าลูกสาวของขัตติยเมืองอื่นมีอยู่สมควรแก่ตน ตนยังไม่มีคู่ซึ่งจะได้อภิเษก เมื่อไปขอบิดามารดาของหญิงนั้นไม่ยอมให้ ขัตติยผู้ที่ไปสู่ขอถือว่าการที่ตัวคิดนั้นเป็นการชอบธรรม ด้วยใช่ว่าจะเอามาทําอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด ประสงค์จะมายกย่องให้เป็นใหญ่โต บิดามารดาของหญิงที่ไม่ยอมให้นั้นหมิ่นประมาทต่อผู้ซึ่งไปสู่ขอ เป็นการประพฤติผิดธรรมประเพณี เพราะไม่รักษากิริยาอันดีต่อกัน ผู้ซึ่งไปสู่ขอสามารถที่จะประกาศแก่ทหารของตัว ว่าการซึ่งตัวประพฤตินั้นเป็นการชอบธรรม แต่บิดามารดาของหญิงประพฤติไม่ชอบธรรม จะต้องยกไปรบชิงเอานางนั้นให้จงได้ แล้วก็ยกกองทัพไปทําลายบ้านเมืองนั้นเสียได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการผิดธรรม หรือเมื่ออยู่ดีๆ เชื่อตัวว่ามีวิชาความรู้ กําลังวังชาแข็งแรง ยกไปชวนพระราชาที่เป็นชาติขัตติยอื่นซึ่งเสมอๆ กัน ให้มาต่อสู้ลองฝีมือกัน เมื่อผู้ใดแพ้บ้านเมืองก็เป็นสินพนัน ก็ถือว่าการซึ่งขัตติยผู้ไปชวนนั้นไม่ได้ประพฤติผิดธรรมเหมือนกัน

ก็ถ้าขัตติยนั้นไปพบลูกสาวชาวบ้านซึ่งเป็นชาติต่ำมีกําลังน้อยไม่สามารถที่จะต่อสู้ ฉุดชิงมาด้วยอำนาจและกําลังพวกมาก หรือเห็นคนยากไร้เดินอยู่ตามถนน เอาศัสตราวุธประหารให้ถึงแก่ความตายหรือป่วยลำบาก ขัตติยผู้ซึ่งประพฤติการทั้งสองอย่างนี้เป็นประพฤติผิดธรรม การยุติธรรมและไม่เป็นยุติธรรม หรือต้องด้วยธรรมและไม่ต้องด้วยธรรมของพวกขัตติยนั้นเป็นดังนี้ จึงกล่าวว่ามิใช่ยุติธรรมของโลก

เมื่อขัตติยทั้งปวงประพฤติในการซึ่งถือว่าเป็นธรรมและใช่ธรรมอยู่เช่นนี้ ผู้ใดมีวิชาชำนิชํานาญในการใช้ศัสตราวุธและพวกพ้องมาก พวกพ้องเหล่านั้น ก็ย่อมถือการชํานิชำนาญในศัสตราวุธเป็นที่ตั้ง ปราบปรามขัตติยทั้งปวงให้ตกอยู่ในใต้อำนาจได้มาก คนทั้งปวงก็ย่อมเป็นที่หวาดหวั่นกลัวเกรง จึงยกขึ้นให้เป็นพระราชาสำหรับที่จะได้ดูแลบังคับผิดและชอบในบ้านเมือง แล้วแบ่งสรรปันส่วนทรัพย์สมบัติอันตนหาได้ให้เป็นเครื่องเลี้ยงอุดหนุนแก่ขัตติยผู้เป็นพระราชานั้น ด้วยเหตุว่าขัตติยเป็นผู้ถือลัทธิว่าหาเลี้ยงชีวิตด้วยคมอาวุธเช่นนี้ จึงเป็นที่คนทั้งปวงยําเกรงมากกว่าตระกูลอื่นๆ คนทั้งปวงจึงมักจะเลือกตระกูลขัตติยขึ้นเป็นพระราชา ด้วยความเต็มใจหรือความจําเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง มากกว่าที่จะเลือกตระกูลอื่นๆ มีชาติพราหมณ์เป็นต้นขึ้นเป็นพระราชา จนภายหลังมาคําซึ่งว่าขัตติยหรือกษัตริย์ ในประเทศไทยเรามักจะเข้าใจกันว่าเป็นชื่อแห่งพระราชา หรือพระเจ้าแผ่นดิน แต่ที่แท้เป็นชื่อแห่งชาติตระกูลของคนพวกหนึ่ง มิใช่เป็นชื่อยศของพระราชาเลย เป็นเพราะเหตุที่ชาตินี้ตระกูลนี้ได้เป็นพระราชามากกว่าชาติอื่นตระกูลอื่น แล้วเป็นพระราชาสืบตระกูลต่อๆ กันไป ก็ยังคงเป็นชาติขัตติยอยู่ทุกชั่วทุกชั้น คําที่เรียกพระราชากับที่เรียกขัตติยจึงปนกันไปเท่านั้น

ก็เมื่อชาติขัตติยถือว่าคมอาวุธเป็นทางหากินเช่นนี้แล้ว ก็เป็นการจําเป็นที่จะเสาะแสวงหาศัสตราอาวุธที่เป็นอย่างดีวิเศษ สำหรับตัวที่จะได้ใช้ให้คล่องแคล่วสมดังประสงค์ อาวุธนั้นย่อมเป็นที่รักยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติอื่นๆ มีไม่วางห่างกายเลยเป็นต้น และเมื่อถืออาวุธนั้นไปทํายุทธสงครามกับผู้ใดได้ชัยชนะ ก็ย่อมถือว่าอาวุธนั้นเป็นของดีมีคุณวิเศษ เมื่อมีเหตุการณ์อันใดซึ่งควรจะประกอบให้เห็นได้เป็นอัศจรรย์ ก็พาให้เห็นได้ว่าอาวุธนั้นมีสิ่งซึ่งสิ่งรักษา เป็นเครื่องช่วยกําลังตัวที่จะประหัตประหารแก่ศัตรู เมื่อมีผู้ใดมาอ่อนน้อมยินยอมอยู่ในใต้อำนาจ จึงได้เอาอาวุธนั้นล้างน้ำให้กินเป็นคู่กับคําสาบาน เพราะเชื่อว่าอาวุธนั้นสามารถที่จะลงโทษแก่ผู้ซึ่งคิดประทุษร้ายตนอย่างหนึ่ง เพราะรักเกือบจะเสมอด้วยตนเองและวางอยู่ใกล้ๆ ตัวที่จะหยิบง่ายกว่าสิ่งอื่น จึงได้หยิบอาวุธนั้นออกให้ผู้ซึ่งมายินยอมอยู่ใต้อำนาจทำสัตย์ การซึ่งทำสัตย์กันเช่นนี้ในชั้นแรกคงจะได้ทำสัตย์กันในเวลาอยู่ที่สนามรบ มากกว่าเวลาที่อยู่ในบ้านเมืองโดยปรกติ เมื่อใช้ลงเป็นตัวอย่างครั้งหนึ่งแล้วก็ใช้ต่อๆ ไป จึงเห็นว่าการซึ่งถือน้ำด้วยอาวุธนี้คงจะเกิดขึ้นด้วยชาติขัตติยเป็นต้น ถ้าพราหมณ์เป็นพระราชาบางที่จะถือน้ำด้วยคัมภีร์เวทได้บ้างดอกกระมัง

แต่ยังมีเรื่องประกอบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในคำประกาศคเชนทรัศวสนาน ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในภายหน้า ว่าด้วยน้ำล้างพระแสงขรรค์ชื่อทีฆาวุ นับว่าผู้ได้กินนั้นได้รับความสวัสดิมงคลคล้ายน้ำมนต์ ซึ่งถือเช่นนี้เห็นจะเป็นเกิดภายหลังเหตุที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว เพราะฉะนี้การถือน้ำจึงต้องใช้พระแสงชุบน้ำให้บริโภคด้วย เป็นแบบมาแต่โบราณ

ครั้นเมื่อประเพณีการถือน้ำ ต้องการที่จะใช้ขึ้นในประเทศอื่นๆ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงประเทศอินเดีย รับธรรมเนียมอินเดียมาใช้เป็นประเพณีบ้านเมือง หรือบางเมืองก็มีเรื่องกล่าวว่า พวกขัตติยซึ่งได้เป็นพระราชาในประเทศอินเดียนั้น ด้วยหลบหลีกข้าศึกศัตรู มาสร้างพระนครใหม่บ้าง ด้วยคิดอ่านแผ่อาณาเขตออกมาตั้งอยู่นอกประเทศอินเดียบ้าง ก็ยกเอาแบบอย่างถือน้ำด้วยอาวุธนี้มาตั้งลงในประเทศที่ใกล้เคียงเป็นต้นเดิม เมื่อต่อมาถึงผู้มีบุญวาสนาจะตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ในแผ่นดิน โดยจะไม่ได้เป็นขัตติยสืบแซ่ตระกูลมาแต่ประเทศอินเดีย เมื่อมีอํานาจเป็นพระราชาปกครองแผ่นดินขึ้น คนทั้งปวงก็ย่อมสมมติตระกูลนั้นว่าเป็นขัตติยตระกูล จึงได้ประพฤติตามขัตติยประเพณี คือใช้อาวุธเป็นเครื่องล้างน้ำให้คนบริโภคแสดงความซื่อสัตย์สุจริต ลัทธิแสดงความสัตย์เช่นนี้ก็มีแต่ในประเทศทั้งปวง ซึ่งถือว่าพระราชากับราชตระกูลเป็นขัตติย ไม่ตลอดทั่วไปในประเทศอื่น เช่นเมืองจีนหรือเมืองแขกอื่นๆ ซึ่งถือศาสนามะหะหมัด เป็นต้น

การถือน้ำที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ นี้มีห้าอย่าง คือถือน้ำแรกพระเจ้าแผ่นดินได้รับราชสมบัติอย่างหนึ่ง ถือน้ำปรกติ ผู้ที่ได้รับราชการอยู่แล้วต้องถือน้ำปีละสองครั้งอย่างหนึ่ง ผู้ซึ่งมาแต่เมืองปัจจามิตรเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารอย่างหนึ่ง สามอย่างนี้เป็นถือน้ำอย่างเก่า ยังทหารซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธอยู่เสมอ ต้องถือน้ำทุกเดือนพวกหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการต้องถือน้ำพิเศษในเวลาแรกเข้ารับตำแหน่งอีกพวกหนึ่ง ในสองพวกนี้เป็นถือน้ำเกิดขึ้นใหม่ ในการถือน้ำของพวกที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๕ ไม่มีกําหนดว่าเมื่อใด แล้วแต่เหตุการณ์นั้นๆ และต้องอ่านคำสาบานตลอดทั่วหน้าไม่มียกเว้น แต่ถือน้ำอย่างที่ ๒ นั้น พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยแล้ว ไม่ต้องอ่านคําสาบาน เป็นแต่ดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัจจา การถือน้ำทั้งสามอย่าง คือ ที่ ๑ ที่ ๓ ที่ ๕ นั้น นับว่าเป็นการจร แต่ถือน้ำอย่างที่ ๒ ที่ ๔ นั้นเป็นการประจําปี ซึ่งจะนับเข้าในหมวดพระราชพิธี ๑๒ เดือน อันเป็นเรื่องที่จะกล่าวอยู่นี้

กําหนดที่ถือน้ำอย่างที่ ๒ ซึ่งเป็นการประจําปีปีละสองคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในวิธีอธิษฐานน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ซึ่งได้ลงในหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษเล่ม ๒ หน้า ๑๕๙ และหน้า ๑๖๗ มีเนื้อความพิสดารอยู่แล้ว จะย่นย่อแต่ใจความมากล่าวในที่นี้เป็นสังเขป เพื่อให้ผู้ซึ่งไม่อยากจะต้องขวนขวายค้นหาหนังสือวชิรญาณเก่า มาอ่านได้ทราบเค้าความว่า กําหนดถือน้ำแต่ก่อนนั้นเคยใช้กําหนดในท้ายพระราชพิธีสารทครั้งหนึ่ง ท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ครั้งหนึ่ง ใช้น้ำมนต์ซึ่งตั้งในการพระราชพิธีนั้น ทำน้ำพระพิพัฒน์สัจจา การพระราชพิธีสารทเริ่มแต่วันเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ไปเสร็จลงในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๕ ค่ำ เวลาเช้า การถือน้ำสารทคงอยู่ในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๕ ค่ำ หรือเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำหนึ่ง การพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เริ่มแต่วันเดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ไปเสร็จลงในวันเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำเวลาเช้า คงถือในวันเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ หรือเดือน ๕ ขึ้นค่ำหนึ่ง ว่าเป็นธรรมเนียมเดิมมาดังนี้ แต่เพราะเหตุที่เดือน ๔ ต้องกับนักขัตฤกษ์ตรุษ เป็นเวลาที่คนทั้งปวงเล่นการนักขัตฤกษ์ต่างๆ มีเล่นเบี้ยเป็นต้น และคนเมามายตามถนนก็ชุกชุม ต้องตั้งกองลาดตระเวนรักษาโจรผู้ร้าย ต่างคนต่างไม่เต็มใจที่จะมาถือน้ำในท้ายพระราชพิธีตามกำหนดเดิม จึงได้คิดเลื่อนกำหนดเสีย ซึ่งเลื่อนกำหนดไปจนถึงเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำปีใหม่นั้น เพราะตั้งแต่วันแรม ๑๓ ค่ำ มาถือว่าเป็นวันจ่ายตรุษ วันแรม ๑๔ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ ขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันตรุษ วันขึ้น ๒ ค่ำเป็นวันส่งตรุษ เมื่อตั้งวันขึ้น ๓ ค่ำเป็นวันถือน้ำ ก็เป็นอันพ้นเขตตรุษ ซึ่งถือน้ำปีหลังเกี่ยวเข้าไปในปีใหม่นั้น ถือว่ายังไม่เป็นปีใหม่ เพราะยังมิได้เถลิงศกเปลี่ยนศักราชใหม่ คงนับเป็นถือน้ำปีหลัง เมื่อถือน้ำตรุษเลื่อนวันไปเช่นนี้แล้ว จึงมีผู้คิดเลื่อนถือน้ำสารทเข้ามาเสียก่อนพระราชพิธี ให้ตกอยู่ในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ด้วยจะให้เป็นที่สังเกตง่าย ว่าเมื่อถือน้ำสารทนี้เป็นวันไร คือวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ ถือน้ำตรุษในปีนั้นก็คงเป็นวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ตรงกัน ที่ว่าดังนี้ต้องเข้าใจว่าถือน้ำสารทเป็นคราวแรก ถือน้ำตรุษเป็นคราวหลัง คือเหมือนอย่างถือน้ำจํานวนปีชวด สัมฤทธิศกนี้ เมื่อถือน้ำสารทเป็นวันพุธเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ถือน้ำตรุษในปีฉลู ยังเป็นสัมฤทธิศก ซึ่งนับว่าเป็นถือน้ำจํานวนปีชวด สัมฤทธิศก ก็คงตกในวันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ เป็นวันพุธต่อวันพุธตรงกันดังนี้
แต่ส่วนถือน้ำที่ ๔ ซึ่งเป็นส่วนถือน้ำประจำเดือนของทหารนั้นใช้วันขึ้น ๓ ค่ำ ทุกๆ เดือนไม่ได้เปลี่ยนแปลง ซึ่งกำหนดเอาวันขึ้น ๓ ค่ำนั้น ก็เพราะเหตุที่ทหารเปลี่ยนกันเข้ามารับราชการเป็นเดือนๆ กําหนดเช้าวันขึ้นค่ำหนึ่งไปจนวันขึ้น ๓ ค่ำเป็นกําหนด ถ้าพ้นขึ้น ๓ ค่ำไป ทหารไม่มาเข้าเวรเป็นกําหนดเกาะเหมือนกันกับเลขไพร่หลวงจ่ายเดือนทั้งปวง แต่ที่ต้องทําน้ำพระพิพัฒน์สัจจาสำหรับทหารต่างหากอยู่เพียงสิบเดือน ในเดือน ๔ กับเดือน ๑๐ ทหารคงถือน้ำพร้อมด้วยพระราชพิธีประจําปีเหมือนข้าราชการทั้งปวง การถือน้ำประจําเดือนเป็นการย่อๆ ลงกว่าถือน้ำสารทและตรุษ จะได้กล่าวภายหลัง

การพระราชพิธีถือน้ำสารทและตรุษที่จัดเป็นแบบอย่าง ก็เหมือนกันทั้งสองคราว แต่มีเหตุการณ์อื่นๆ มาบรรจบร่วมเข้าในเดือน ๕ ก็ทําให้เห็นว่าดูเหมือนถือน้ำตรุษจะเป็นใหญ่กว่าถือน้ำสารท การซึ่งเป็นเหตุมาบรรจบเข้านั้น คือเรื่องสมโภชพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาอย่างหนึ่ง การเสด็จพระราชดําเนินวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นกระบวนพยุหยาตราอย่างหนึ่ง เรื่องสมโภชพระพุทธรูปพระชนมพรรษานั้น ก็เพราะเป็นวันใกล้กับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงสร้างพระนั้นเป็นครั้งแรก จึงได้ตั้งการสมโภชไว้ในวันถือน้ำ ก็เลยติดต่อมามิได้ยกเว้น ส่วนการที่เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตรานั้น พึ่งเกิดมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะนั้นในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและในพระบรมมหาราชวังยังไม่มีท่อน้ำ หรือมีแล้วแต่ตื้นตันไปไม่ได้แก้ไข ถ้าเวลาฝนตกลงมาน้ำฝนย่อมจะขังนองทั่วไป ถึงคืบหนึ่งคืบเศษ วันหนึ่งสองวันจึงได้แห้ง และการถือน้ำสารทมักจะถูกเวลาฝนตก เมื่อเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราเป็นกระบวนเดินช้า ก็มักจะถูกฝนกลางทางและต้องลุยน้ำ ไม่เป็นที่งดงามและทำให้เครื่องอานเปียกฝน จึงได้ยกการเสด็จพยุหยาตราในถือน้ำสารทเสีย คงใช้อยู่แต่ถือน้ำตรุษซึ่งเป็นเวลาแล้ง แต่ถึงดังนั้นก็ไม่เป็นการประจําเสมอทุกปีนัก ต่อปีใดที่มีแขกเมืองประเทศราชหรือต่างประเทศมาอยู่ในพระนคร จึงได้เสด็จเป็นกระบวนพยุทยาตรา แต่อยู่ในคงเป็นปีที่พยุหยาตรามากกว่าที่ไม่ได้พยุหยาตรา ไม่เหมือนอย่างแผ่นดินปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นการตกแต่งตัวข้าราชการที่ต้องเข้ากระบวนเสด็จพระราชดําเนิน ก็ต้องตกแต่งมากขึ้นกว่าถือน้ำสารท จึงเห็นถือน้ำตรุษเป็นการครึกครื้นใหญ่กว่าถือน้ำสารท

การถือน้ำครั้งกรุงเก่า ซึ่งได้ความตามคำเล่าสืบมาก็ว่าเหมือนกันกับที่กรุงรัตนโกสินทร์นี้ เช่นแบบอย่างในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แปลกแต่ข้าราชการถือน้ำที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ แล้วย้ายไปที่วิหารพระวัดมงคลบพิตร เมื่อถือน้ำแล้วมีดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปถวายบังคมพระเชษฐบิดร ซึ่งเป็นพระรูปพระเจ้าอู่ทอง คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งได้สร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา แล้วจึงได้เข้าไปถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินพร้อมกัน แต่พระราชวงศานุวงศ์นั้นไม่ได้เสด็จไปถือน้ำวัด ดังกฎมนเทียรบาลซึ่งได้ยกมากล่าวไว้ข้างต้นแล้วนั้น

ครั้นในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ข้าราชการก็ไปพร้อมกันถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วมีธูปเทียนมาถวายบังคมพระบรมอัฐิ ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้ถวายบังคมพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีแทนพระเชษฐบิดร ในรัชกาลต่อๆ มาก็ถวายบังคมพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จสวรรคตล่วงไปโดยลําดับนั้นด้วย แล้วจึงพร้อมกันเฝ้ากราบถวายบังคมพระเจ้าแผ่นดินในท้องพระโรงเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่พระราชวงศานุวงศ์ตั้งแต่กรมพระราชวังเป็นต้นลงไป เจ้าพนักงานนำน้ำมาถวายให้เสวยในท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งเวลาที่เสด็จออกข้าราชการถวายบังคมนั้น

ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อประชุมพร้อมกันเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้นเป็นเวลาทรงผนวช เสด็จพระราชดําเนินมาประทับอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทําสัตยานุสัตย์ถวายครั้งแรก ก็ต้องทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไม่ได้มาทำที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เหมือนอย่างเมื่อเปลี่ยนรัชกาลที่ ๑ เป็นที่ ๒ รัชกาลที่ ๒ เป็นที่ ๓ รัชกาลที่ ๔ เป็นที่ ๕ จึงทรงพระราชดําริว่า การที่ประชุมพร้อมกันทําสัตยานุสัตย์ ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นพระฉลองพระองค์สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช สมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งสองพระองค์นี้ ดูเป็นการสวัสดิมงคลและพร้อมเพรียงกัน ดีกว่าที่แยกย้ายกันอย่างแต่ก่อน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเวลาถือน้ำต่อๆ มา ด้วยอ้างว่าเป็นเหตุที่ทรงเคารพต่อพระมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปฉลองพระองค์ทั้งสองพระองค์นั้น เมื่อเสด็จพระราชดําเนินออกวัดดังนี้ การเพิ่มเติมต่างๆ และเปลี่ยนแปลงการเก่าก็เกิดขึ้นหลายอย่างดังที่ได้เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 15:57:17 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 27 มิถุนายน 2561 19:59:54 »


พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล (ต่อ)

บัดนี้จะกล่าวด้วยเรื่องพระพุทธรูป อันเนื่องในการพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจานี้โดยย่อ พอให้เป็นเครื่องประกอบทราบเรื่องราวตลอดไป คือเริ่มต้นแต่พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตซึ่งมีตำนานเรื่องราวยืดยาว ที่ควรเชื่อได้ว่าเป็นพระพุทธปฏิมากรของโบราณ เป็นที่นับถือของมหาชนทั้งปวงเป็นอันมากนั้นด้วยพันปีล่วงมา พระพุทธปฏิมากรพระองค์นี้ได้ตกไปอยู่ในประเทศต่างๆ หลายแห่ง แต่มิได้เคยมาอยู่ในกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณนั้นเลย ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จขึ้นไปปราบปรามเมืองเวียงจันท์ได้ชัยชนะเชิญพระพุทธปฏิมากรพระองค์นี้ลงมา เจ้ากรุงธนบุรีซึ่งเป็นใหญ่ในเวลานั้น ก็เผอิญเกิดวิกลเสียจริตคลั่งคลุ้มไป ชนทั้งปวงพากันเชิญพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ปราบปรามยุคเข็ญทั้งปวงสงบเรียบร้อย ประดิษฐานพระนครขึ้นใหม่ ทรงพระราชดําริเห็นว่าพระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้เป็นสิริแก่พระองค์และพระนคร จึงได้ขนานนามกรุงใหม่ว่ากรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา เพราะเป็นที่ประดิษฐานและเป็นที่เก็บพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ เพราะเหตุฉะนั้นการพระราชพิธีอันใดซึ่งเป็นการใหญ่ ก็ควรจะทำในสถานที่เฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากรนั้นประการหนึ่ง

อนึ่ง เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรารภถึงพระราชพงศาวดารซึ่งมีปรากฏมาว่า สมเด็จพระราชาธิบดีที่ ๒ ทรงหล่อพระศรีสรรเพชญ์หุ้มด้วยทองคําสูงแต่พระบาทถึงยอดพระรัศมี ๘ วา ทองที่หล่อหนักห้าหมื่นสามพันชั่ง ทองคําหุ้มหนัก ๒๘๖ ชั่ง และพระเจ้าแผ่นดินภายหลังก็ได้ทรงหล่อพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ คือพระเจ้าอู่ทองซึ่งเป็นปฐมบรมราชาธิราชผู้สร้างกรุงขึ้นไว้เป็นที่นมัสการ ด้วยอาศัยปรารภเหตุสองอย่างนี้ จึงทรงพระราชศรัทธาจะสร้างพระพุทธรูปใหญ่หุ้มด้วยทองคําให้เป็นพระราชกุศลใหญ่ และเป็นพระเกียรติยศบ้าง แต่มีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นพระฉลองพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แทนพระเชษฐบิดรที่กรุงเก่านั้นด้วย จึงได้ทรงปรึกษาด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่เมื่อยังทรงผนวชอยู่ ในขณะนั้นเป็นเวลาที่คิดกะส่วนสืบค้นจะให้ได้ความว่าพระพุทธเจ้าสูงเท่าใดเป็นแน่ ไปตกลงกันว่าอยู่ในราวหกศอกช่างไม้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระพรด้วยเรื่องนี้ จนทรงเห็นชอบตกลงเป็นลดส่วนพระพุทธรูปนั้นให้ย่อมลง และเพราะเพื่อที่จะแบ่งให้เป็นสององค์ขึ้นทั้งที่ย่อมลงนั้น จะตกแต่งให้งดงามดีกว่าใหญ่โตเหมือนอย่างแต่ก่อน จึงได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราชสองพระองค์ หุ้มด้วยทองคำเครื่องต้นประดับด้วยเนาวรัตน์ เป็นฝีมือช่างอย่างวิจิตรประณีตยิ่งนัก น้ำหนักทองคําซึ่งหุ้มพระองค์ และเครื่องทรงพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้หนักถึงพระองค์ละหกสิบสามชั่งสี่ตำลึงเศษ แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเมาฬีทั้งสองพระองค์ และเพราะเหตุซึ่งไม่โปรดคำที่คนเรียกนามแผ่นดินว่า แผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ และพระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศอย่างหนึ่ง หรือเรียกว่าแผ่นดินต้นแผ่นดินกลางอย่างหนึ่ง จึงได้ทรงขนานพระนามถวายพระพุทธรูปองค์ข้างเหนือว่า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชจักรพรรดินาถบพิตร องค์ข้างใต้ถวายพระนามว่าพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย ซึ่งภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงเป็นนภาลัย ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถธรรมิกราชบพิตร และประกาศให้ออกนามแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ตามพระนามแห่งพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้สืบมา ด้วยเหตุผลซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดําริเริ่มการซึ่งจะสร้างพระพุทธรูป ๒ พระองค์นี้ขึ้น เพื่อจะเลียนอย่างพระเชษฐบิดรครั้งกรุงเก่า จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นการสมควร ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์นี้ ในวันพระราชพิธีศรีสัจจปานกาลให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้กราบถวายบังคมอย่างพระเชษฐบิดรตามพระราชดําริเดิมนั้นด้วย

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริถึงเรื่องสร้างพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ พระชาติ ซึ่งมีปรากฏมาในพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงสร้างขึ้นนั้น ทรงเห็นว่าเป็นสร้างรูปสัตว์รูปสิงห์เหมือนทำเครื่องเล่นอยู่ ไม่เป็นที่ชักชวนความเลื่อมใสยินดี จึงทรงพระราชดําริยักอย่างใหม่ ให้กรมสมเด็จพระปรมานุชิตทรงตรวจพระอิริยาบถของพระพุทธเจ้าซึ่งมีปรากฏมาในพระคัมภีร์ต่างๆ จะมีสักกี่อย่างกี่ปาง ในเวลานั้นตรวจกันได้ว่ามี ๓๗ ปาง เป็นเวลาที่แร่ทองแดงเมืองจันทึกเกิดขึ้นใหม่ จึงโปรดให้หล่อพระพุทธรูปปางต่างๆ นั้นไว้ทั้ง ๓๗ ปาง เมื่อเสร็จแล้วก็ตั้งไว้ที่หอพระปริตร

ภายหลังมาทรงพระราชศรัทธาสร้างพระพุทธรูปด้วยเงินเป็นน้ำหนักองค์ละชั่งห้าตําลึง เท่าพระชนมพรรษาปีละองค์ ทรงสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วยทั้งสองพระองค์ พระพุทธรูปนั้นก็เป็นขนาดเดียวกันกับที่ทรงหล่อพระปางต่างๆ ไว้แต่ก่อนทั้งสามสำรับ เปลี่ยนแต่พระอาการเป็นปางต่างๆ ในรัชกาลที่ ๑ นั้นเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรพระหัตถ์ห้อย ในรัชกาลที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปมารวิชัย ในรัชกาลปัจจุบัน (คือรัชกาลที่ ๓ นั้น) เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิพระหัตถ์ขวาซ้อนพระหัตถ์ซ้าย และพระพุทธรูปทั้งสามสำรับนี้มีพิเศษเพิ่มเติมขึ้น คือมีฉัตรเงินก้าไหล่ทองจําหลักปรุสามชั้นกั้น เท่าจํานวนที่ได้เสด็จดํารงสิริราชสมบัติ นอกนั้นซึ่งเท่าจํานวนพระชนมพรรษาเมื่อยังไม่ได้เสด็จดำรงราชสมบัตินั้นไม่มีฉัตรกั้น พระพุทธรูปทั้งสามสำรับนี้สำรับที่ ๑ ที่ ๒ ตั้งไว้ในช่องกระจกหอพระบรมอัฐิ แต่สำรับที่ ๓ ตั้งไว้ในหอพระเจ้า เป็นที่ทรงนมัสการเช้าเย็นเป็นนิตย์ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วยในพระราชดํารินี้ จึงได้ทรงสร้างพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษา มีอาการนั่งขัดสมาธิเพชรพระหัตถ์ขวาซ้อนพระหัตถ์ซ้าย แปลกกับปางเดิมไปอีกอย่างหนึ่ง และเปลี่ยนลักษณะอาการส่วนสัดตามพระราชประสงค์ และฐานนั้นก็ทําเป็นกลีบบัวคว่ำบัวหงายอย่างโบราณ ไม่เป็นฐานพระพิมพ์อย่างแต่ก่อน มีเลขหมาย ๑. ๒. ๓. ๔ ไปตามลำดับพระชนมพรรษาทุกพระองค์ และพระสำรับที่สามนั้นก็ย้ายไปไว้ที่หอพระบรมอัฐิ พระสำรับที่ ๔ นี้ ตั้งแทนที่กันในหอพระเจ้าต่อไป ครั้นมาถึงในรัชกาลปัจจุบัน ปางพระซึ่งได้ทรงหล่อไว้แต่ก่อน ๓๗ ปาง เป็น ๓๘ ทั้งพระชนมพรรษา ในรัชกาลที่ ๔ ก็ยังไม่สิ้น มีระลึกได้ขึ้นใหม่ซึ่งได้ละลืมไว้เสียอีกบ้าง เมื่อจะสร้างพระชนมพรรษาตามแบบที่เคยทำมา จึงได้ตกลงเลือกพระคันธารราษฎร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรวดทรงสัณฐานคล้ายคลึงกันกับพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ ๔ แปลกบ้างเล็กน้อย และภายหลังนี้สังฆาฏิกว้างขึ้นตามกาลเวลาที่ใช้ เมื่อถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระพุทธรูปสำหรับพระชนมพรรษาสำรับที่ ๔ ก็ย้ายไปอยู่พระที่นั่งบรมพิมาน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ สำรับที่ ๕ ตั้งในหอพระเจ้าแทนที่สืบมา และตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการสมโภชพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษานี้ ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณพร้อมกับการพระราชพิธีสัจจปานกาลเดือน ๕ ก็ยังคงเป็นแบบสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธรูปประจําพระชนมพรรษานี้จึงได้เป็นอันเกี่ยวข้องด้วยพระราชพิธีถือน้ำอีกอย่างหนึ่ง

ส่วนพระพุทธรูปปางต่างๆ ทั้ง ๓๗ อย่างซึ่งอยู่หอพระปริตรนั้น พระราชดําริเดิมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงประการใดก็หาทราบไม่ แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นเค้าเงื่อนชอบกลอยู่ จึงโปรดให้หล่อเป็นฐานเฉียงเติมขึ้นอีกชั้นหนึ่ง แล้วให้ก้าไหล่ทองคำทั้ง ๓๗ ปาง เมื่อเสร็จแล้วจึงได้โปรดให้จารึก ทรงพระราชอุทิศแด่พระเจ้าแผ่นดินในกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ และกรุงธนบุรี ๒๔ องค์ ในกรุงรัตนโกสินทร์สามพระองค์ คือ
 ๑. พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งกวักพระหัตถ์เรียกเอหิภิกขุ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑
(อู่ทอง)
 ๒. พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งพระหัตถ์ปกพระเพลาทั้งสองสำแดงชราธรรม ในคําจารึกนั้นว่าทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระเจ้าพฤฒิเดช นัยหนึ่งว่ามหาเดช ซึ่งทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพะงั่ว)
 ๓. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งมีนาคปรก ทรงพระราชอุทิศเฉพาะเจ้าทองจันทร์ นัยหนึ่งว่าเจ้าทองลั่น
 ๔. พระพุทธปฏิมากร ทรงนั่งยกพระหัตถ์ขวาเสยพระเกศ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระราเมศวรที่ ๑
 ๕. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งโบกพระหัตถ์กับพระวักกะลี ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระเจ้าราม (พระยาราม)
 ๖. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งรับผลมะม่วง ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระมหานครินทราธิราช (อินทราชาที่ ๑)
 ๗. พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งทําภัตกิจ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระเจ้าสามพระยา ซึ่งทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเป็นที่สอง
 ๘. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งชี้พระหัตถ์เดียว แสดงเอตทัคคฐาน พระอัครสาวก พระอัครสาวิกา ทรงพระราชอุทิศ ถวายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
 ๙. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งยกพระหัตถ์อธิษฐานบาตร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระอินทราชาธิราช (ที่ ๒)
๑๐. พระพุทธปฏิมากรทรงนั่งยกพระหัตถ์ขวาห้ามมาร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง
๑๑. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งรับน้ำด้วยบาตร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมราชามหาพุทธางกูร
๑๒. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งฉันมธุปายาส ทรงพระราชอุทิศเฉพาะพระรัษฎาธิราชกุมาร
๑๓. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งฉันผลสมอ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระชัยราชาธิราช
๑๔. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งยกพระหัตถ์ขวาปลงพระชนม์ ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระยอดฟ้า
๑๕. พระพุทธปฏิมากร นั่งยกพระหัตถ์ซ้ายสำแดงโอฬาริกนิมิต ทรงพระราชอุทิศถวายพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช
๑๖. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งสนเข็ม ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระมหินทราธิราช
๑๗. พระพุทธปฏิมากร ทรงยืนผันพระองค์ทรงแลด้วยอาการนาคาวโลก ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (เป็นพระนามเดิม พระนามราชาภิเษก คือ สรรเพชญที่ ๑)
๑๘. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองห้ามสมุทร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สรรเพชญที่ ๒)
๑๙. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนประสานหัตถ์ทั้งสองถวายพระเนตร ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระเอกาทศรถมหาราช (สรรเพชญที่ ๓)
๒๐. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ซ้ายห้ามแก่นจันทน์ ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระศรีเสาวภาคย์ (สรรเพชญที่ ๔)
๒๑. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาท ณ เรือขนาน ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม (บรมไตรโลกนาถที่ ๒ หรือบรมราชาที่ ๑)
๒๒. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาทแบพระหัตถ์ขวารับช้างปาลิไลยก์ ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระเชษฐาธิราช (บรมราชาที่ ๒)
๒๓. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ทั้งสองรับมธุปายาส ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระอาทิตยวงศ์
๒๔. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งลอยถาด ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระรามาธิเบศร์ปราสาททอง (สรรเพชญที่ ๕)
๒๕. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยื่นพระหัตถ์ขวารับกำหญ้าคา ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อเจ้าฟ้าชัย (สรรเพชญที่ ๖)
๒๖. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ทั้งสอง ประทับพระอุระรำพึงพระธรรม ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระศรีสุธรรมราชา (สรรเพชญที่ ๗)
๒๗. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระบาทซ้าย พระหัตถ์ทั้งสองประทับพระเพลาจงกรม ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาเอกาทศรถราช (รามาธิบดีที่ ๓)
๒๘. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนห้อยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ถือธารพระกรปลงพระกรรมฐาน ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระรามาธิเบศร์ (พระมหาบุรุษเพทราชา)
๒๙. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนยกพระหัตถ์ขวาลูบพระกายสรงน้ำ ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี (สรรเพชญที่ ๘ พระพุทธเจ้าเสือ)
๓๐. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนอุ้มบาตรด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระภูมินทรมหาราชา (สรรเพชญที่ ๙ ท้ายสระ)
๓๑. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนเหยียบรอยพระพุทธบาท ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมมหาราชาธิราชที่สาม (บรมโกศ)
๓๒. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนกางพระหัตถ์ทั้งสองเปิดโลก ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระอุทุมพรมหาพรพินิตราช (บรมราชาธิราชที่ ๔) (เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ)
๓๓. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงยืนลีลา ห้อยพระหัตถ์ซ้าย ยกพระบาทซ้าย ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อพระบรมเอกทัศอนุรักษ์มนตรีราช (บรมราชาที่ ๓ สุริยามรินทร์)
๓๔. พระพุทธปฏิมากร มีอาการทรงนั่งพระหัตถ์ทั้งสองประทับพระอุระทําทุกรกิริยา ทรงพระราชอุทิศเฉพาะต่อเจ้ากรุงธนบุรี (บรมราชาที่ ๔ ขุนหลวงตาก)

พระพุทธรูปทั้ง ๓๔ พระองค์นี้ไม่มีฉัตร แต่พระพุทธรูปยังอีก ๓ ปาง ซึ่งตรงกันกับพระพุทธรูปพระชนมพรรษาทั้งสามรัชกาลที่ล่วงไปแล้วนั้นโปรดให้มีฉัตรเพิ่มพิเศษขึ้น แล้วจารึกทรงพระราชอุทิศทั้งสามพระองค์ แต่พระนามซึ่งจารึกในฐานพระนั้นใช้ตามพระนามซึ่งทรงขนานถวายใหม่ สำหรับจารึกกล่องศิลาซึ่งบรรจุพระบรมอัฐิในพระบรมโกศซึ่งทรงสร้างขึ้นใหม่ เพื่อจะให้เป็นเครื่องป้องกันมิให้พระบรมอัฐิอันตรธานไป ด้วยต้องน้ำอบซึ่งสรงในเวลาสงกรานต์อยู่เสมอทุกปี เป็นต้น

พระนามซึ่งจารึกนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จารึกว่าทรงพระราชอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชา มหาจักรีบรมนาถ นเรศวรราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทโรดมบรมบพิตร

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จารึกว่าทรงพระราชอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระบรมราชพงศเชษฐมเหศวรสุนทร ไตรเสวตคชาดิศรมหาสวามินทร์ สยามรัชฎินทรวโรดม บรมจักรพรรดิราช พิลาสธาดา ราชาธิราช บรมนาถบพิตร

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จารึกว่าทรงพระราชอุทิศถวายฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสฐ มหาเจษฎาธิบดินทร์ สยามินทรวโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร

พระพุทธรูปทั้งปวงนี้ เมื่อทําเสร็จแล้ว โปรดให้เชิญเข้าไปตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งสิ้น แต่แบ่งเป็นสองพวก พวกกรุงเก่าและกรุงธนนั้นตั้งโต๊ะจีน อยู่หน้าลับแลบังฉากข้างเหนือ แต่อีก ๓ องค์นั้นตั้งโต๊ะจีนอยู่หน้าลับแลบังฉากข้างใต้ ต่อเมื่อใกล้จะเสด็จสวรรคตจึงโปรดให้สร้างหอพระขึ้นที่กําแพงแก้ว หลังพระอุโบสถสองหอ หลังข้างเหนือเป็นที่ไว้พระพุทธรูป ๓๔ องค์ ผนังเขียนเรื่องพระราชพงศาวดารกรุงทวาราวดี หลังบานหน้าต่างมีพระราชพงศาวดารย่อบอกเรื่องที่เขียน พระราชทานนามว่าหอราชกรมานุสร หลังข้างใต้ไว้พระพุทธรูปสามองค์ ผนังเขียนเรื่องพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์[] หลังบานมีพระราชพงศาวดารย่อบอกเรื่องที่เขียนเหมือนกัน พระราชทานนามว่าหอราชพงศานุสร ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ได้สร้างพระพุทธรูปขนาดเดียวกันกับสามองค์ก่อนนั้น มีพระอาการเหมือนอย่างพระพุทธรูปประจําพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ ๔ เพิ่มขึ้นอีกองค์หนึ่งเป็น ๔ องค์ และพระพุทธรูปทั้ง ๓๘ พระองค์นี้ เมื่อการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ก็มีธูปเทียนดอกไม้เครื่องนมัสการทรงบูชาตามส่วนองค์พระด้วยทั้งสองคราว จึ่งเป็นพระพุทธรูปซึ่งเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีถือน้ำอีกอย่างหนึ่ง

ในการจัดที่ถือน้ำอันเนื่องด้วยสมโภชพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาฝ่ายในนั้น ได้ทําที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณแต่เดิมมา เมื่อซ่อมแซมพระที่นั่งครั้งนี้จึงได้ย้ายมาที่พระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬารที่ห้องเหลือง ครั้นเมื่อการแล้วเสร็จ ก็ย้ายไปพระที่นั่งไพศาลทักษิณตามเดิม บุษบกที่ตั้งพระพุทธรูปนั้นตั้งข้างตอนตะวันออก นับแต่หอพระเจ้าเป็นต้นมา ถึงมุมตู้ลับแลที่ตั้งพระสยามเทวาธิราชได้ห้าบุษบก ที่ตั้งพระของเดิมเป็นเตียงเท้าคู่แปดเหลี่ยมเขียนลายน้ำมัน มีเสาดาดเพดานระบายเป็นตาข่ายดอกไม้สดข้างบนปักฉัตรดอกไม้ห้าชั้น มีฐานเฉียงรองเป็นแปดเหลี่ยมเหมือนกัน ตั้งถ้วยขนาดถ้วยแชรีอย่างเลวๆ ปักพุ่มดอกไม้สด มีขวดคอปล้องปักดอกไม้สดคั่น ที่พื้นล่างตั้งตะเกียงน้ำมันมะพร้าวรายรอบที่ตั้ง พระพุทธรูปเป็นเช่นนี้ อยู่สามสำรับ มีมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่สำรับที่ ๔ นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทำเป็นบุษบกลายจําหลักปิดทองประดับกระจก แต่คงใช้ระบายดอกไม้สดฉัตรดอกไม้สดอย่างเดิม เครื่องปักดอกไม้ที่ประดับก็เป็นอย่างเดียวกัน พระพุทธรูปสามสำรับก่อนนั้นใช้เครื่องทองทิศ สำรับที่ ๔ ใช้โต๊ะถมพานทองสองชั้น ครั้นเมื่อถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ทําที่ตั้งพระสำรับที่ห้าเหมือนที่สี่ใช้มาหลายปี ภายหลังเห็นว่าตั้งอยู่แถวเดียวกัน ไม่เหมือนกันก็ไม่งาม จึงได้ให้ทำบุษบกขึ้นอีกสามสำรับ ให้เหมือนกันทั้งห้า แต่เครื่องนมัสการโต๊ะถมย้ายลงมาเป็นสำรับที่ห้า สำรับที่สี่ใช้เครื่องทองทิศเหมือนสามสำรับก่อนนั้น การตกแต่งบุษบกและจัดพุ่มดอกไม้เครื่องประดับทั้งสิ้นนี้ เป็นหน้าที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุตรี ทรงทํามาแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นส่วนลงทุนรอนของท่านเอง ตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ฉัตรดอกไม้ยอดบุษบกนั้นจะเป็นดอกไม้สดทั้งห้าองค์ร้อยไม่ไหว จึงได้ใช้ดอกไม้สดแต่บุษบกที่ ๕ อีกสี่สำรับใช้ดอกไม้แห้ง บายศรีที่สำรับเวียนเทียนไม่ได้ตั้งตรงหน้าบุษบกพระพุทธรูป ใช้ตั้งที่หน้าตู้พระสยามเทวาธิราชที่หน้าตู้นั้นมีโต๊ะจีนตั้งโต๊ะของเดิมตั้งอยู่ตรงกลางโต๊ะหนึ่ง จัดไว้เป็นที่สำหรับตั้งพระแสง มีโต๊ะมาเทียบอีกข้างละโต๊ะ ข้างเหนือจัดไว้เป็นที่ตั้งพระพุทธรูปชัยวัฒน์และพระสุพรรณบัฏ ข้างใต้เชิญพระสยามเทวาธิราชลงมาจากวิมานตั้งไว้แต่ในเวลากลางคืนวันขึ้น ๒ ค่ำ ในบุษบกทั้งห้านั้นแต่เดิมก็ตั้งแต่พระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาปี ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระพุทธรูปพระชนมพรรษาวัน ทรงพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้น จึ่งโปรดให้เชิญมาตั้งอยู่ตรงกลางบุษบก พระพุทธรูปพระชนมพรรษาประจําปีตั้งรายล้อมรอบ ส่วนสำรับที่สามนั้นให้เชิญพระพุทธรูปห้ามสมุทร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างมาตั้ง แต่เขื่องไปไม่ได้ขนาดกัน ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ จึ่งได้สร้างถวายใหม่องค์หนึ่งได้ขนาดกัน สำรับที่สี่นั้นโปรดให้เชิญพระพุทธสิหิงค์น้อยมาตั้งก็ติดต่อมาจนแผ่นดินปัจจุบันนี้ สำรับที่ห้าก็ตั้งพระชนมพรรษาวันซึ่งทรงหล่อขึ้นใหม่ เป็นเรื่องเดียวกันทั้งห้าสำรับ ในเวลาค่ำนี้เจ้านายฝ่ายในมีดอกไม้ธูปเทียนขึ้นมานมัสการพระพุทธรูปพร้อมกัน เวลาก่อนที่จะเสด็จพระราชดําเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จทรงนมัสการก่อน มีดอกไม้สำหรับโปรยปรายบนบุษบกและสุหร่ายน้ำหอมประพรม เมื่อเสด็จออกแล้วท้าวนางผู้ใหญ่จุดแว่นเวียนเทียนสมโภชพระชนมพรรษา และพระสยามเทวาธิราชด้วย

ส่วนการที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใช้ธรรมาสน์ศิลาซึ่งตั้งอยู่สำหรับพระอุโบสถ เป็นพระแท่นมณฑลทั้งพระพุทธรูปชัยวัฒน์เงินรัชกาลที่ ๑ องค์หนึ่ง พระชัยแผ่นดินปัจจุบันองค์หนึ่ง พระชัยเนาวโลหะน้อยสำหรับนำเสด็จพระราชดําเนินองค์หนึ่ง พระปริยัติธรรมสามพระคัมภีร์ และเทวรูปพระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม พระแสงศรสาม พระแสงหอกเพชรรัตนหนึ่ง พาดบันไดแก้ว เทวรูปเชิญพระขรรค์ธารพระกรข้างหนึ่ง ที่เคยเชิญหีบพระราชลัญจกร เปลี่ยนให้เชิญหีบลุ้งพระสุพรรณบัฏข้างหนึ่ง พระแสงต่างๆ ซึ่งสำหรับจะทําน้ำนั้นบรรจุในหีบมุก ตั้งอยู่หน้าโต๊ะหมู่พระพุทธรูป มีพระขันหยก เทียนสำรับพระราชพิธี และพระถ้วยโมราจานรองกรอบทองคำประดับเพชรเครื่องต้นสำรับหนึ่ง ริมฐานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีม้าเท้าคู้ทองเหลืองตั้งหม้อน้ำเงินสิบสองหม้อ ขันสาครตั้งข้างล่างสองขัน โยงสายสิญจน์ถึงกันตลอด การสวดมนต์ถือน้ำแต่ก่อนใช้พระสงฆ์น้อย ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงพระราชดําริจารึกทรงพระราชอุทิศพระพุทธรูปประจําแผ่นดิน ๓๗ ปางนั้นแล้ว จึงให้เพิ่มพระสงฆ์สวดมนต์ขึ้นเป็น ๓๗ รูป ครั้นถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้เพิ่มขึ้นอีกรูป ๑ เป็น ๓๘ ใช้เจ้าพระพระราชาคณะผู้ใหญ่และพระราชาคณะที่เป็นเปรียญทั้งสิ้น เครื่องประโคมในพระราชพิธีนี้ ใช้พิณพาทย์ทั้งข้างหน้าข้างใน แต่ไม่มีมโหรี

เมื่อเสด็จออกทรงศีลแล้วอาลักษณ์อ่านคําประกาศ เริ่มความรัตนพิมพวงศ์ย่อ และกระแสพระราชดําริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงวินิจฉัยในฝีมือช่าง ซึ่งสร้างพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้แล้ว จึ่งสรรเสริญพระคุณของพระมหามณีรัตนปฏิมากรว่าเป็นเครื่องคุ้มกันอันตรายต่างๆ ดำเนินข้อความเป็นจดหมายเหตุย่อในการแผ่นดินซึ่งได้เกิดขึ้น จําเดิมตั้งแต่พระมหามณีรัตนปฏิมากรลงมาประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วสรรเสริญพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งห้าพระองค์ ลงปลายเป็นคําตักเตือนข้าราชการทั้งปวง ให้ทําราชการโดยซื่อสัตย์สุจริต แล้วอธิษฐานขอพรเทพยดาตามธรรมเนียมคําประกาศทั้งปวง เมื่อจบคําประกาศแล้วพระสงฆ์จึ่งได้สวดมนต์ ใช้มหาราชปริตรสิบสองตํานานเป็นแบบมา เมื่อสวดมนต์จบแล้ว พราหมณ์อ่านดุษฎีคําฉันท์ เป็นคําสรรเสริญพระแก้วและสรรเสริญพระเกียรติ และอธิษฐานตามการพระราชพิธี เมื่อเสร็จการดุษฎีคําฉันท์แล้ว ราชบัณฑิตจึงได้ทําอธิษฐานน้ำพระพิพัฒน์สัจจาต่อไป เป็นเสร็จการในเวลาค่ำ

รุ่งขึ้นเวลาเช้า แต่ก่อนมีการเลี้ยงพระสงฆ์ในพระอุโบสถ เสด็จพระราชดำเนินออกทรงปฏิบัติพระสงฆ์ก่อน แล้วจึงได้ทําน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ครั้นภายหลังมาการที่ยกสำรับเลี้ยงพระสงฆ์มักจะหกเปื้อนเปรอะที่ซึ่งข้าราชการจะเข้ามารับพระราชทานน้ำ และเป็นการสับสนอลหม่านด้วยข้าราชการอยู่หน้าพระอุโบสถมาก จึงได้ตกลงกันให้ย้ายไปเลี้ยงพระเสียที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เมื่อเสด็จออกเมื่อใด พราหมณ์ก็เข้ามาอ่านโองการแช่งน้ำทีเดียว[   ๓]

โองการแช่งน้ำนี้เรียกว่าโคลง เขียนเป็นหนังสือพราหมณ์แต่เมื่อตรวจดูจะกําหนดเค้าว่าเป็นโคลงอย่างไรก็ไม่ได้สนัด ได้เค้าๆ บ้างแล้วก็เลือนไป แต่เนื้อความนั้นเป็นภาษาไทย ถ้อยคำที่ใช้ลึกซึ้งที่ไม่เข้าใจบ้างก็มี ตามคําบอกเล่าว่าเป็นของเกิดขึ้นในแผ่นดินพระนารายณ์มหาราช แต่ข้าพเจ้ามีความสงสัยว่าจะช้ากว่านั้น ด้วยถ้อยคำในนั้นไม่คล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ เช่นสมุทโฆษคำฉันท์หรือพระลอลิลิตซึ่งว่าเกิดในรัชกาลนั้นเลย ถ้าจะเดาโดยพระนามซึ่งว่าเป็นสมเด็จพระรามาธิบดีก็น่าจะเป็นพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือที่ ๒ มากกว่ารามาธิบดีที่ ๓ คือพระนารายณ์ และถ้อยคําในโคลงนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่า คงจะตกหล่นและผิดเพี้ยนเสียเป็นอันมาก ถ้อยคํานั้นก็ลึกซึ้งจนฟังถ้าไม่ใส่ใจก็เกือบจะเป็นเสกคาถาภาษาอื่นได้ เรื่องที่ว่านั้นสรรเสริญพระนารายณ์ก่อน แล้วสรรเสริญพระอิศวร แล้วสรรเสริญพระพรหม ความต่อไปจึงเดินเรื่องสร้างโลก แล้วสรรเสริญพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดิน แช่งผู้ซึ่งทรยศคิดร้าย ให้พรผู้ซึ่งตั้งอยู่ในความสัตย์สุจริตจงรักภักดีเป็นจบความกัน พิเคราะห์ดูในคำโคลงแช่งน้ำนี้ ไม่มีเจือปนพระพุทธศาสนาเลย เป็นของไสยศาสตร์แท้ จนน่าสงสัยว่าจะมิใช่เกิดขึ้นในครั้งพระรามาธิบดีที่ ๑ ซ้ำไปอีก น่ากลัวจะแปลลอกคัดต่อๆ กันมาจากเมืองที่ถือไสยศาสตร์ ไม่ได้ถือพระพุทธศาสนาแต่โบราณ แต่การซึ่งจะชุบพระแสงศรสามองค์นี้ พึ่งเกิดขึ้นใหม่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้ทราบความจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบําราบปรปักษ์ ว่าเมื่อปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ พระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) นำหวายเทศมาถวายสามอัน เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยว่างดงามดี จึ่งทรงพระราชดําริว่าจะทําอะไร ครั้นจะทําเป็นธารพระกรก็มีอยู่แล้ว และมากหลายองค์นัก แต่ทรงพระราชดําริอยู่หลายวัน ภายหลังจึ่งดำรัสว่ากรุงเทพฯ นี้ก็อ้างชื่อว่าศรีอยุธยา เป็นเมืองนารายณ์อวตาร พระนามซึ่งใช้แช่งน้ำอยู่ก็ใช้นามรามาธิบดีเป็นการยุติลงกันอยู่แล้ว ควรจะสร้างพระแสงศรขึ้นไว้สำหรับใช้ในการพระราชพิธีถือน้ำจะได้เข้าเรื่องกัน จึงโปรดให้กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา เหล่ารูปพระแสงศรประกอบกับด้ามหวายเทศที่พระยาจุฬาถวาย ครั้นตกลงอย่างแล้ว จึ่งให้หาฤกษ์ตามตำราพิชัยสงคราม ตั้งโรงพระราชพิธีในโรงแสง รวมเหล็กตรอนตรีสินตีเป็นพระแสงศรสามองค์  ในขณะเมื่อตีนั้นมีประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัยตลอดจนแล้ว ภายหลังจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ปั้นเทวรูปพระพรหมทรงหงส์ พระนารายณ์ทรงครุฑ พระอิศวรทรงโค ให้ทําพิธีพราหมณ์หล่อที่วังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ แล้วติดกรึงที่ด้ามพระแสงศรทั้งสามองค์ แล้วจึ่งให้ขุดเหล็กฝังทองที่บ้องพระแสงเป็นตัวอักษรพราหมณ์ พระราชทานชื่อพระแสง องค์หนึ่งชื่อพรหมาสตร์ องค์หนึ่งประลัยวาต องค์หนึ่งอัศนิวาต ปลายด้ามถักผนึกด้วยลวดทองคำผูกขนนกหว้า เมื่อถึงเดือนสิบข้างขึ้นจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเสด็จขึ้นไปตั้งพิธีชุบพระแสงที่ทะเลชุบศรเมืองลพบุรี ตั้งโรงพระราชพิธีมีพระสงฆ์สวดภาณวาร เมื่อเวลาชุบพระแสงศรมีพระฤกษ์ประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัยยิงปืนใหญ่ ๔ ทิศ และยิงปืนเล็กจนตลอดเวลาชุบพระแสง แล้วเวียนเทียนสมโภชตั้งกระบวนแห่ไปที่ศาลวัดปืน ต่อยศิลาศรนารายณ์บรรจุในบ้องมียันต์พรหมโองการ อิศวรโองการ นารายณ์โองการ ห่อด้ามบรรจุทั้งสามองค์ แล้วตั้งกระบวนแห่กลับลงเรือศรีมากรุงเทพฯ ทันการพระราชพิธีถือน้ำสารทในปีฉลู เบญจศกนั้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 14:20:09 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 27 มิถุนายน 2561 20:05:09 »


พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล (ต่อ)

การที่ชุบพระแสงศรเป็นหน้าที่ของพระมหาราชครูพิธี ผู้อ่านโองการแช่งน้ำ เมื่อเวลาจะอ่านเชิญพระขันหยกมีรูปนารายณ์ทรงธนูตั้งอยู่ในกลางขัน เชิญพระแสงศรประนมมือว่าคําสรรเสริญพระนารายณ์ จบแล้วชุบพระแสงศรสามครั้ง แล้วจึงรับพระแสงองค์อื่นมาทําต่อไปจนครบทั้งสามองค์ แล้วประนมมือเปล่าว่าไปจนตลอด เมื่อจบแล้วพระอาลักษณ์จึ่งได้อ่านคําสาบานแช่งน้ำ ในคําประกาศนั้นเชิญเทพยดาทั้งปวงมาประชุมในที่มหาสมัยสโมสรอันอุดม ที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือน กรมฝ่ายหน้าฝ่ายใน หัวเมืองเอกโทตรีจัตวาปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ และเจ้าประเทศราช แต่ล้วนชื่นชมยินดีจะกระทําสัตยานุสัตย์ถวาย ออกพระนามเต็ม แล้วจึ่งสรรเสริญพระเดชพระคุณที่ได้มีแก่ชนทั้งปวง อธิษฐานน้ำพระพิพัฒน์ ขอให้มีฤทธิอำนาจอาจจะให้เป็นไปตามคําสาบาน แล้วจึ่งแช่งผู้ซึ่งคิดคดทรยศไม่ซื่อตรง ให้พรผู้ซึ่งตั้งอยู่ในความกตัญญูสุจริต เมื่อจบคําประกาศแล้วเจ้ากรมพราหมณ์พฤฒิบาศ จึ่งได้รับพระแสงจากเจ้าพนักงานกรมแสง มีผ้าขาวรองมือเชิญพระแสงออกจากฝัก ชุบน้ำในหม้อเงินและขันสาครทุกหม้อทุกขัน พระแสงซึ่งใช้ชุบน้ำอยู่ในปัจจุบันนี้ คือพระขรรค์ชัยศรี พระแสงหอกเพชรรัตน พระแสงคาบค่าย พระแสงดาบใจเพชร พระแสงเวียต ทั้งนี้เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๑ พระแสงญี่ปุ่นฟันปลาประดับพลอย เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๒ พระแสงแฝด พระแสงขรรค์เนาวโลหะ เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๓ พระแสงทรงเดิมฝักประดับมุก พระแสงตรีเพชร ธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ พระแสงกั้นหยั่น พระแสงปืนนพรัตน์ เป็นพระแสงในรัชกาลที่ ๔ พระแสงฝักทองเกลี้ยงเครื่องประดับเพชร เป็นพระแสงทรงเดิมในแผ่นดินปัจจุบันนี้ จัดเป็นลำดับกันตามสมควร เมื่อขณะพราหมณ์แทงน้ำอยู่นั้น พระสงฆ์สวดคาถา สจฺจํ เว อมตา วาจา เป็นต้น ประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ฆ้องชัยจนตลอดกว่าจะทําน้ำแล้ว ฝ่ายพระบรมวงศานุวงศ์นั้นตั้งแต่เสด็จพระราชดําเนินออกก็ขึ้นไปเฝ้าอยู่บนพระอุโบสถ แต่ข้าราชการอยู่หน้าพระอุโบสถ มีกําหนดว่าเมื่ออาลักษณ์อ่านคําประกาศจบแล้ว ข้าราชการจึงขึ้นไปอ่านคําสาบาน คําสาบานนี้เป็นคำสาบานย่อ รูปเดียวกันกับที่อาลักษณ์อ่าน เป็นแต่ตัดความให้สั้นลง เมื่อชุบพระแสงเสร็จแล้วพระมหาราชครูพิธีแบ่งน้ำที่ชุบพระแสงศรลงในพระถ้วยโมราเครื่องต้น เจือกับน้ำพระราชพิธีพราหมณ์ซึ่งอบมีกลิ่นหอม แล้วเจ้ากรมพฤฒิบาศจึงได้รับพระขันหยกไปเทเจือปนในหม้อเงินและขันสาคร

ธรรมเนียมเดิมมา พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ได้เสวยน้ำพระราชพิธี พึ่งมาเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงถือว่าน้ำชําระพระแสงศรนั้นเป็นสวัสดิมงคลอย่างหนึ่ง เพื่อจะแสดงพระราชหฤทัยเมตตากรุณาโดยเที่ยงธรรม ซึ่งได้ทรงปฏิบัติอธิษฐานในพระราชหฤทัยเป็นนิตย์ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวงได้ทราบ เป็นที่ชื่นชมยินดีทั่วหน้า จึงโปรดให้พระมหาราชครูพิธีนำน้ำซึ่งสรงเทวรูปและพระแสงศรมาถวายเสวยก่อน แต่ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อแรกๆ ท่านผู้บัญชาการในพระราชพิธีทั้งปวงก็ได้ยกเลิกน้ำที่ถวายพระเจ้าแผ่นดินเสวยเสีย จะเป็นด้วยตัดสินกันประการใด หรือเกรงใจว่าไม่ได้รับสั่งเรียกก็ไม่ทราบเลย ภายหลังมาเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเป็นอย่างไว้แล้ว เมื่อยกเลิกเสียโดยมิได้ปรากฏเหตุการณ์อย่างไร ก็ดูเหมือนหนึ่งไม่ตั้งใจที่จะรักษาความสุจริตกระดากกระเดื่องอย่างไรอยู่ จึ่งได้สั่งให้มีขึ้นตามแบบเดิม ตั้งแต่ปีบรมราชาภิเษกครั้งหลังมา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวยแล้วจึ่งได้แจกน้ำชำระพระแสงในหม้อเงินทั้งปวง แด่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการให้รับพระราชทานต่อไป ถ้ามีวังหน้าเจ้ากรมพฤฒิบาศเป็นผู้นำน้ำไปถวาย ใช้ขันสรงพระพักตร์ลงยาราชาวดี มีนพรัตน์ในกลางขัน แต่คงใช้น้ำในหม้อเงินเหมือนพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ขันซึ่งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์เสวยนั้นเป็นขันลงยาเชิงชายสำหรับข้าราชการขันทองขันถม ถ้วยที่สำหรับตวงเป็นถ้วยหูก้าไหล่ทองบ้างสำริดบ้าง จารึกคาถาเป็นอักษรขอมว่า สจฺจํ เว อมตา วาจา เป็นต้น

ผู้กํากับถือน้ำและแจกน้ำ ในพระอุโบสถนี้ คือพราหมณ์พฤฒิบาศ พราหมณ์โหรดาจารย์ สนมพลเรือน และพระยาผู้กํากับถือน้ำในกรมพระกลาโหมคนหนึ่ง ในกรมมหาดไทยคนหนึ่ง[] พระบรมวงศานุวงศ์เสวยน้ำฟากพระอุโบสถข้างใต้ตรงที่ประทับ พระบวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ ซึ่งเสด็จอยู่หน้าพระอุโบสถขึ้นประตูกลาง แต่มาเสวยน้ำข้างใต้ ส่วนหม่อมเจ้านั้น แต่เดิมไม่ได้ขึ้นไปถือน้ำบนพระอุโบสถ ภายหลังทรงพระราชดําริว่า ก็นับว่าเป็นหลานเธอของพระเจ้าแผ่นดิน มีศักดินาสูง ส่วนข้าราชการผู้น้อย ที่ต่ำศักดินากว่าก็ขึ้นไปถือน้ำบนพระอุโบสถได้ จึงโปรดให้ขึ้นไปถือน้ำบนพระอุโบสถในสองสามปีนี้ แต่แยกออกไปอีกสายหนึ่ง คือขึ้นทางประตูข้างใต้ กลับลงทางประตูข้างใต้ ข้าราชการขึ้นประตูเหนือ ถือน้ำฟากพระอุโบสถข้างเหนือ กลับลงประตูกลาง จางวางหัวหมื่น นายเวรมหาดเล็กขึ้นประตูกลาง แต่ไปถือน้ำข้างเหนือแล้วกลับลงประตูกลาง ในขณะเมื่อข้าราชการลงมือถือน้ำนั้น ทรงพระเต้าษิโณทก พระสงฆ์ยถา เมื่อพระสงฆ์กลับ ต้องเบียดเสียดข้าราชการที่มาถือน้ำออกไปอยู่ข้างจะเป็นการกันดารกันทุกปี[] แต่ก่อนมาเมื่อข้าราชการถือน้ำหมดแล้ว เจ้ากรมปลัดกรมกองมอญขึ้นมาอ่านคําสาบานเป็นภาษารามัญหน้าพระที่นั่ง ต่ออ่านคําสาบานจบแล้วจึ่งได้เสด็จขึ้น แต่ครั้นมาถึงในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ทีหลังๆ มานั่งคอยอยู่ก็หายไป ถามก็ว่ามี แต่อย่างไรจึงรวมๆ ไปอยู่ต่อเวลาเสด็จขึ้นแล้วก็ไม่ทราบ เวลาเมื่อข้าราชการถือน้ำเสร็จแล้วเสด็จขึ้นทางข้างใน เพื่อจะให้ท้าวนางและภรรยาข้าราชการที่มาถือน้ำข้างในได้เฝ้า มหาดเล็กเชิญพระแสงตามเสด็จพระราชดําเนินทางข้างในด้วย กําหนดผู้มีบรรดาศักดิ์ฝ่ายในได้ถือน้ำนั้น ว่าภรรยาข้าราชการที่มีศักดินาตั้งแต่ ๔๐๐ ขึ้นไปต้องมาถือน้ำ ท้าวนางนั้นแต่เดิมมาก็ไปถือน้ำวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งสิ้น แต่ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกเว้นท้าวนางที่เป็นเจ้าจอมมารดา ไม่ให้ต้องออกไปถือน้ำวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และข้างในต่างวังคือห้ามเจ้านายที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด และบุตรีท่านเสนาบดีซึ่งได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด และภรรยาข้าราชการซึ่งผัวตายแต่ยังคงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดอยู่ ก็โปรดให้เข้ามาถือน้ำข้างใน ภรรยาข้าราชการที่ถือน้ำนั้นมีพราหมณ์อ่านโคลงแช่งน้ำ อาลักษณ์อ่านคําสาบานอีกเที่ยวหนึ่ง เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว เมื่ออ่านคําสาบานจบแล้ว ยื่นหางว่าวบอกรายชื่อตัว ถ้าส่งการ์ดอย่างฝรั่งก็ใช้ได้ลงกัน แก่ท้าวนางผู้กํากับแล้วจึ่งได้รับพระราชทานน้ำ แต่หางว่าวนั้นตกลงเป็นรู้จักกันเสียโดยมาก ท้าวนางก็หลวมๆ ไปไม่เข้มงวดเหมือนอย่างแต่ก่อน ท้าวนางวังหลวงนั่งเรียงตามผนังด้านใต้ ท้าวนางวังหน้านั่งเรียงตามฐานพระด้านเหนือ ภรรยาท่านเสนาบดี นั่งต่อท้าวนางวังหลวง ต่อไปจึงเป็นภรรยาข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์สูงๆ ภรรยาข้าราชการผู้น้อยนั่งที่มุขหลังพระอุโบสถ ภรรยาพวกมอญนั่งตามเฉลียงพระระเบียง ตั้งแต่เลี้ยวประตูฉนวนมาจนตลอดถึงประตูหลังพระอุโบสถ แต่ก่อนนั่งรายเต็มตลอด แต่เดี๋ยวนี้ก็ร่วงโรยไปมาก

ทางเสด็จพระราชดําเนินตามพระระเบียง ตั้งแต่ประตูฉนวนเลี้ยวมาออกประตูด้านตะวันตก ถ้ากระบวนพยุหยาตราเสด็จพระราชดําเนินออกพระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเปลื้องเครื่องศาลาเรียนหนังสือ ขากลับประทับพลับพลาเปลื้องเครื่องที่ข้างประตูพระระเบียงข้างตะวันตก เสด็จกลับประทับเกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ กระบวนเสด็จพระราชดําเนินแห่สี่สายเหมือนพยุหยาตรากฐิน แต่ตำรวจมหาดเล็กนุ่งท้องขาวเชิงกรวย ทรงเครื่องขาว ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ทรงพระมหามงกุฎมหาชฎา แต่ไม่มีทรงโปรยเงินอย่างเช่นพยุหยาตรากฐิน

การแต่งตัวถือน้ำมีกําหนด ถ้าผู้ใดจะไปถือน้ำที่วัดจึงต้องนุ่งขาว ถ้าไม่ได้ไปถือน้ำที่วัดก็ไม่ต้องนุ่ง คือพระบรมวงศานุวงศ์แต่ก่อนถือน้ำในท้องพระโรง ก็ทรงผ้าลายอย่างและคาดทรงสะพักสีตามธรรมเนียม ข้าราชการที่ไปถือน้ำวัดต้องนุ่งขาว แต่ครั้นเมื่อจะกลับเข้ามาถวายบังคมในท้องพระโรง ก็นุ่งสองปักตามธรรมเนียม พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบรรดาที่ถือน้ำข้างในก็ไม่ต้องนุ่งขาวทั้งสิ้น ส่วนท้าวนางและภรรยาข้าราชการตลอดจ่าทนายเรือนโขลนที่ออกไปถือน้ำวัดพระศรีรัตนศาสดารามต้องนุ่งขาว เมื่อแรกๆ เสด็จพระราชดําเนินออกถือน้ำวัดพระแก้ว เจ้านายทรงผ้าลายพื้นขาวเขียนทองบ้าง ลายเปล่าบ้าง ยกท้องขาวเชิงชายบ้าง ฉลองพระองค์กระบอกผ้าขาวตามธรรมเนียม คาดฉลองพระองค์ครุย ภายหลังมาจะราวปีระกา ตรีศก[]หรือปีจอ จัตวาศกจึงโปรดให้เจ้านายต่างกรมทรงฉลองพระองค์ผ้าปักทองแล่งเย็บเป็นรูปเสื้อกระบอก ใช้มาจนตลอดรัชกาลที่ ๔ และในแผ่นดินปัจจุบันนี้ตอนแรกๆ ตั้งแต่ปีระกา เบญจศก[]แล้วมาจึงได้เปลี่ยนเป็นเยียรบับขาว ข้าราชการนั้นนุ่งสองปักท้องขาวเชิงกรวย สวมเสื้อผ้าขาวคาดเสื้อครุยเสมอมาจนปัจจุบันนี้ เป็นแต่เปลี่ยนรูปเสื้อไปตามกาลเวลา เจ้านายต่างกรมทรงพระวอ พระองค์เจ้าทรงเสลี่ยง ที่ได้รับพระราชทานพระแสงและเครื่องยศก็มีมาเต็มตามยศ ท้าวนางข้างในนุ่งผ้าม่วงพื้นขาวจีบ ห่มแพรชั้นใน ห่มผ้าปักทองแล่งชั้นนอก มีหีบทองหีบถมเครื่องยศพร้อมทั้งกาน้ำและกระโถน ออกไปตั้งตรงหน้าที่นั่งในพระอุโบสถด้วย ภรรยาท่านเสนาบดีบางคนที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศหีบทองเล็ก กา กระโถน และผ้าปักทองแล่ง ก็แต่งเต็มยศที่ได้พระราชทานตั้งเรียงต่อท้าวนางไป ภรรยาข้าราชการที่ถือน้ำนี้แต่ก่อนเล่ากันว่าเป็นการประกวดประขันกันยิ่งนัก ตัวผู้ที่เป็นภรรยาถือน้ำต้องนุ่งขาวห่มขาว แต่แต่งภรรยาน้อยที่มาตามห่มสีสัน ถือเครื่องใช้สอยต่างๆ กระบวนละมากๆ

ว่าในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ได้เสด็จออกวัดนั้น พวกมหาดเล็กคอยอยู่ที่ประตูข้างริมฉนวนแน่นๆ กันไป ภายหลังมาก็กร่อยๆ ลง ต่อเตือนเอะอะกันขึ้นจึงได้แน่นหนาขึ้นเป็นคราวๆ เจ้าประเทศราชหัวเมืองลาวและเจ้าเขมรซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงเทพฯ ถือน้ำในพระอุโบสถพร้อมด้วยข้าราชการทั้งปวง แต่เมืองแขกประเทศราชถือน้ำตามศาสนาแขกที่ศาลาถูกขุน ภายหลังย้ายมาที่มิวเซียม[] พวกฝรั่งเข้ารีตมีบาทหลวงมานั่งให้ถือน้ำ เดิมถืออยู่ที่ศาลกรมวังซึ่งเป็นตึกทหารมหาดเล็กเดี๋ยวนี้ ทำตามอย่างฝรั่ง คำสาบานก็เปลี่ยนแปลงไปตามที่นับถือทั้งแขกทั้งฝรั่ง ข้าราชการผู้น้อยและขุนหมื่นที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดถือน้ำหน้าพระอุโบสถเป็นอันมาก แต่ที่มีเวรอยู่ในพระบรมมหาราชวังรับน้ำมาถือที่ห้องที่คลังก็มีบ้าง

การถือน้ำในชั้นหลังๆ นี้ เมื่อต้องคราวที่ทรงพระประชวร จะเสด็จออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามไม่ได้ ก็มีแต่ข้าราชการไปถือนํ้าที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเข้ามาถวายบังคมในท้องพระโรง พระบรมวงศานุวงศ์มาเสวยน้ำในท้องพระโรง ทรงเครื่องสีตามปรกติเหมือนอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน

การถวายบังคมพระบรมอัฐิซึ่งมีในหมายเดิมนั้นว่า เมื่อเปิดพระแกลหอพระประโคมแตรสังข์กลองชนะครั้งหนึ่ง ให้ข้าราชการจุดธูปเทียนกราบถวายบังคมแล้วหมอบเฝ้าอยู่ครู่หนึ่ง ประโคมอีกครั้งหนึ่งปิดพระแกลว่าเป็นเสด็จขึ้น ถวายบังคมอีกครั้งหนึ่งจึงให้กลับออกมา แต่ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นดังเช่นหมายนั้น เป็นด้วยที่คับแคบแดดร้อนและกําหนดกลองชนะก็ไม่ถูกจังหวะอย่างเก่า เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อพระแกลเปิดจึงได้ประโคม เมื่อเสด็จถึงพระที่นั่งสนามจันทร์แล้วจึงรับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอขึ้นไปบอกให้พนักงานหอพระเปิดพระแกล ถ้าใครถูกเป็นผู้เข้าไปบอกให้เปิดพระแกลแล้วเป็นเคราะห์ร้ายอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าเคยถูกเกือบจะไม่ขาดสักคราวหนึ่ง แต่เป็นผู้เร่งที่ ๒ ที่ ๓ ดีกว่าเป็นผู้ไปที่ ๑ ถ้าเป็นผู้ไปที่ ๑ มักจะถูกกริ้วว่าไปเชือนแชเสีย ด้วยความลำบากในการที่จะไปบอกนั้น คือเวลาถือน้ำเช่นนี้ ถ้ามีพยุหยาตราก็ต้องถึงสวมเกี้ยวสวมนวม ถ้าไม่มีพยุหยาตราก็เพียงสร้อยประแจ มันสารพัดจะหนักไปหมดทั้งตัว พอเข้าพระทวารไปก็ต้องคลานตั้งแต่พระทวารจนถึงหอพระ เมื่อขึ้นไปถึงหอพระแล้วจะต้องไปส่งภาษากับคุณยายเฝ้าหอพระ แสนที่จะเข้าใจยาก ไก๋แล้วไก๋เล่ากว่าจะลุกขึ้นได้ ถ้าถูกเร่งหลายทอดหนักเข้าต้องไปกระชากเปิดเอาเองก็มี กว่าจะเปิดได้ต้องทรงคอยอยู่ในไม่ต่ำกว่าสิบมินิต แต่ในปัจจุบันนี้กําหนดสัญญาณกันเสียใหม่ว่า เมื่อพระราชยานประทับเกยก็ให้ประโคม เมื่อพนักงานได้ยินเสียงประโคมก็ให้เปิดพระแกลทีเดียว ดูค่อยรวดเร็วสะดวกดีขึ้น แต่เมื่อว่าตามตําราแล้วก็อยู่ข้างจะผิดท่าอยู่หน่อยหนึ่ง ที่ต้องเปิดพระแกลคอยอยู่สักครู่หนึ่งจึงได้จุดเทียนเครื่องนมัสการ เวลาซึ่งจะถวายบังคมพระบรมอัฐินั้นสวมเสื้อครุย ยังคงทําตามแบบอยู่แต่พระเจ้าแผ่นดิน คือเมื่อทรงฉลองพระองค์แล้วเสด็จขึ้นไปบนพระที่นั่งสนามจันทร์ถวายบังคมสามครั้ง ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้วถวายบังคมอีก เฝ้าอยู่ครู่หนึ่ง จึงถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เปลื้องเครื่องทรงเครื่องสีตามธรรมเนียม ด้วยเป็นการมิใช่ถือน้ำวัดตามซึ่งกล่าวมาแล้ว เจ้านายข้าราชการจึงได้เข้ามาจุดธูปเทียน ถวายบังคมสามครั้งแล้วถอยออกไป เมื่อหมดคนที่กราบถวายบังคมเมื่อใด ก็ปิดพระแกลหยุดประโคมเมื่อนั้น

การถือน้ำข้างในแต่ก่อนๆ มา มีกําหนดรับน้ำที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเข้ามาห้าหม้อ ตั้งที่ท้องพระโรงหน้า เวลาเสด็จขึ้นเสวยกลางวันแล้วเสด็จออกประทับที่ช่องพระที่นั่งไพศาลทักษิณ พนักงานพระสมุดอ่านคําสาบาน เนื้อความก็เหมือนกับที่อาลักษณ์อ่านที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างแต่อาการความประพฤติ คือเช่นเอาใจไปเผื่อแก่ไทต่างด้าวท้าวต่างแดน เปลี่ยนเป็นเอาใจไปเผื่อแผ่แก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าเป็นต้น แล้วเจ้านายและข้าราชการฝ่ายในรับพระราชทานน้ำหน้าพระที่นั่ง เจ้านายประทับที่หน้าเสาท้องพระโรงหน้า ข้างตะวันตกตอนข้างเหนือตลอดเข้าไปจนในเฉลียง ตอนข้างใต้ท้าวนางเจ้าจอมมารดาเก่าเถ้าแก่เฉลียงด้านตะวันออก หม่อมเจ้าต่างวัง แต่เจ้าจอมอยู่งานนั้นอยู่บนพระที่นั่งไพศาลทักษิณบ้าง อยู่บนพระมหามนเทียรบ้าง ต่อถึงเวลารับพระราชทานน้ำจึงได้ลงไปที่ท้องพระโรง ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดเพิ่มเติมใหม่ คือมีโต๊ะสามโต๊ะเช่นได้กล่าวมาแล้ว เมื่อเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลแล้วจึงให้เรียกเจ้าพนักงานเชิญพระชัย พระสุพรรณบัฏ พระแสง เข้ามาตั้ง ทรงนมัสการพระพุทธรูปพระชนมพรรษาเหมือนเวลาค่ำแล้ว จึงได้ทรงเครื่องนมัสการพระชัยและเทวรูป ที่ซึ่งอ่านคําสาบานนั้นมีเครื่องบูชาแก้วสำรับหนึ่งตั้ง แล้วโปรดให้อ่านโองการแช่งน้ำอย่างพราหมณ์อ่าน แต่ต้องเลือกผู้ซึ่งเป็นตระกูลพราหมณ์ให้เป็นผู้อ่าน ท้าวหนูมอญซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูธร เป็นพนักงานพระสมุดอยู่ในเวลานั้นเป็นเชื้อพราหมณ์ จึงได้โปรดให้เป็นผู้อ่านตลอดมา ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ท้าวหนูมอญถึงแก่กรรม จึงโปรดให้ท้าวสมศักดิ์บุตรเจ้าพระยาภูธราภัย ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันนั้นอ่านสืบต่อมา ผู้ซึ่งอ่านโองการแช่งน้ำและคำประกาศนี้ นุ่งขาวห่มขาวและพระราชทานให้ห่มผ้าปักทองแล่งด้วย

ที่นั่งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเปลี่ยนไปไม่เหมือนอย่างแต่ก่อน คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระเจ้าพี่นางเธอ พระเจ้าน้องนางเธอ นั่งรายริมช่องกบพระที่นั่งไพศาลทักษิณตลอดไปจนถึงหอพระเจ้า แล้วเจ้านายวังหน้าต่อด้านสกัดหุ้มกลองเลี้ยวมาจนริมผนังด้านเหนือ สมเด็จพระนางและพระเจ้าลูกเธอ ประทับรายตั้งแต่ช่องกบกลางไปตามริมช่องกบตลอดจนถึงที่สุด เป็นพระองค์เจ้า หม่อมเจ้าในสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอและในเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ต่อไปจนถึงหอพระอัฐิ ริมผนังข้างเหนือเป็นที่สำหรับเจ้าคุณท้าวนางผู้กํากับถือน้ำนั่ง ชานพักสองข้างเป็นที่หม่อมเจ้า ที่ท้องพระโรงเฉลียงด้านตะวันตก เป็นที่เจ้าคุณราชินิกุลบุตรภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่นั่ง ตอนข้างเหนือ ตอนข้างใต้เป็นที่เจ้าจอมอยู่งานนั่ง เฉลียงด้านตะวันออกตอนข้างใต้เป็นที่เจ้าจอมมารดาเก่าข้างในต่างวัง ข้างเหนือเป็นที่มโหรีละครนั่ง เจ้าจอมมารดาในพระราชวังบวรฯ และมารดาหม่อมเจ้านั่งที่เก๋งและชาลาด้านตะวันตก

เมื่ออ่านคําสาบานจบแล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองน้อยในหอพระบรมอัฐิอีกครั้งหนึ่ง เจ้านายก็มีธูปเทียนขึ้นไปถวายบังคมพระบรมอัฐิเหมือนกัน ข้าราชการผู้น้อยโขลนจ่าถือน้ำที่ศาลา

การถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาหัวเมือง บรรดาหัวเมืองทั้งปวงต้องถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาเหมือนอย่างในกรุงเทพฯ กําหนดวันถือน้ำนั้นตรงตามกรุงเทพฯ นี้โดยมาก ที่ยักเยื้องไปบ้างนั้นด้วยเหตุสองประการ คือที่คงถืออย่างเก่า ท้ายพิธีตรุษ ท้ายพิธีสารทนั้นอย่างหนึ่ง เป็นเมืองใหญ่ที่มีเมืองขึ้นหลายๆ เมือง เจ้าเมืองกรมการในเมืองขึ้นเหล่านั้นต้องเข้ามาถือน้ำในเมืองใหญ่ทั้งสิ้น บางเมืองที่มาล่าต้องรั้งรอกันไป กำหนดวันก็เคลื่อนออกไป แล้วก็เลยตั้งเป็นแบบเคลื่อนวันอยู่เช่นนั้น อาวุธซึ่งใช้ทำน้ำนั้นใช้กระบี่พระราชทานสำหรับยศเจ้าเมือง วัดที่ถือน้ำวัดใดวัดหนึ่งซึ่งเป็นวัดสำคัญในเมืองนั้น หรือเป็นวัดหลวง ต่อมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนครคิรีและพระราชวังจันทรเกษมขึ้น ก็โปรดให้ย้ายเข้าไปถือน้ำในพระราชวังนั้นๆ แต่การที่สวดมนต์เลี้ยงพระนั้นไม่เหมือนกันทุกเมือง บางเมืองก็ทํามากบ้าง เช่นเมืองสงขลา ถึงสวดมนต์สามวัน บางเมืองก็ทําน้อย ในหัวเมืองบรรดาที่เป็นไทย เรียกตามคําเก่าว่าเมืองนํ้าพระพิพัฒน์สัจจา เมืองนอกนั้นไม่เรียกว่าเมืองน้ำพระพิพัฒน์สัจจา การแต่เดิมมาจะอย่างไรยังไม่ทราบสนัด แต่ในปัจจุบันนี้ ถึงเมืองลาวเมืองแขก ก็ถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาเกือบจะทั่วกัน เช่นในเมืองแขก เมืองกลันตันเป็นทําการใหญ่กว่าทุกเมือง มีพระสงฆ์สวดมนต์ถึงสามวัน ที่หง่อยๆ อย่างเช่นเมืองตานี เมื่อถึงวันกําหนดถือน้ำก็พากันเอาน้ำไปที่วัด พระสงฆ์สวดพาหุงเสียจบหนึ่งแล้วก็ถือน้ำกันก็มี การซึ่งแบ่งเมืองเป็นเมืองถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และไม่ใช่เมืองน้ำพระพิพัฒน์สัจจานี้ดูไม่น่าจะแบ่งเลย

อนึ่ง ข้าราชการทั้งปวง บรรดาซึ่งไปราชการตามหัวเมือง เมื่อถึงกําหนดถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาที่เมืองใด ก็ต้องไปพร้อมด้วยเจ้าเมืองกรมการถือน้ำในเมืองนั้น ด้วยการพระราชพิธีถือน้ำนี้เป็นแบบอย่างอันเดียวกันตลอดพระราชอาณาเขต เป็นพิธีที่มีกฎหมายบังคับเช่นมีในกฎมนเทียรบาลเป็นต้น วางโทษไว้ว่าผู้ใดขาดถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาโทษถึงตาย เว้นไว้แต่ป่วยไข้ ถ้าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่สำคัญ เจ้าพนักงานก็ต้องนำน้ำไปให้รับพระราชทานที่วังและที่บ้าน ต้องมีของแจกบ่ายเจ้าพนักงานผู้ที่นำน้ำไป ที่สุดจนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรไม่ได้เสด็จมาถือน้ำได้หลายปี เจ้าพนักงานนำน้ำขึ้นไปถวาย ก็ต้องพระราชทานเสื้อผ้าเป็นรางวัลปีละมากๆ ทุกคราว แต่ซึ่งเป็นแบบใหม่มีในหมายรับสั่งนั้นว่าถ้าขุนหมื่นในเบี้ยหวัดผู้ใดขาดถือน้ำให้เอาตัวสักเป็นไพร่หลวง และข้อห้ามจุกจิกซึ่งยกเว้นเสียแล้ว ซึ่งมีมาในกฎมนเทียรบาล คือ “ห้ามถือ (คือสวม) แหวนนาก แหวนทอง และกินข้าวกินปลากินน้ำ ยา และข้าวยาคูก่อนน้ำพระพิพัฒน์ ถ้ากินน้ำพระพิพัฒน์จอกหนึ่ง และยื่นให้แก่กันกิน กินแล้วและมิได้ใส่ผม เหลือนั้นล้าง (คือเทเสีย) โทษเท่านี้ในระหว่างขบถ” การซึ่งห้ามเช่นนี้ ห้ามไม่ให้กินอยู่อันใดนั้น ก็จะเป็นด้วยถือน้ำแต่ก่อนเวลาเช้า ครั้นเมื่อถือน้ำสายๆ ลงมา ข้อห้ามปรามอันนี้ก็เป็นอันเลิก แต่ซึ่งกินน้ำแล้วรดศีรษะนั้นยังเป็นประเพณีที่ประพฤติเกือบจะทั่วกัน เป็นการแสดงความเคารพ ไม่มีผู้ใดซึ่งเป็นผู้ใหญ่หรือผู้รู้แบบอย่างจะได้ยกเว้นเสียเลย มีบ้างแต่คนที่เป็นเด็กหลุกๆ หลิกๆ หรือผู้ใหญ่ที่เถื่อนๆ กินแล้วก็ไป มีน้อยตัวทีเดียว เป็นจบเรื่องการพระราชพิธีศรีสัจจาปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาประจําปีเท่านี้ เดือนสิบก็เหมือนกันกับเดือนห้านี้ ยกเสียแต่ไม่มีตั้งพระพุทธรูปพระชนมพรรษาที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณเท่านั้น ในเดือนสิบจะไม่ต้องกล่าวถึงการพระราชพิธีถือน้ำต่อไป

คำตักเตือนในการถือน้ำนี้ เมื่อแต่ก่อนมาดูก็ไม่ใคร่จะมีอะไรขาดเหลือในหน้าที่อื่นนอกจากมหาดเล็ก จำเดิมตั้งแต่เครื่องโต๊ะตาภู่ตกมาอยู่ที่เด็กชาอย่างหนึ่ง ย้ายถือน้ำข้างในมาพระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ย้ายถวายบังคมพระบรมอัฐิไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อกลับไปพระที่นั่งอัมรินทรใหม่ก็เลอะใหญ่ลืมกันหมดไม่มีใครจําอะไรได้เลย โต๊ะที่เคยตั้งหน้าตู้พระสยามสามโต๊ะ เมื่อเดือนสิบก็ตั้งทั้งสามโต๊ะ แต่เอาเทวดาไว้กลาง พระพุทธรูปอยู่ตะวันตก พระแสงอยู่ตะวันออก เป็นการเซอะของภูษามาลา ของกรมแสง ของเด็กชา ครั้นถึงเดือนห้านี้ เด็กชาเลิกโต๊ะสองข้างเสีย ตั้งแต่โต๊ะกลางโต๊ะเดียว เอาม้าตั้งจะให้ไปประชันกันขึ้นบนนั้น ทั้งพระแสงและพระพุทธรูป และพระสุพรรณบัฏและเทวดา ครั้นต่อว่ากรมหมื่นประจักษ์เข้าไปจัดใหม่ ตกลงเป็นเทวดาไปอยู่กลางอีกเหมือนเมื่อปีกลายนี้ ต้องขนรื้อกันเวยวายในเวลาจะถือน้ำนั้น ขอให้ท่องไว้เสียให้จําได้ พระพุทธรูป พระสุพรรณบัฏตะวันออก พระแสงกลาง เทวดาตะวันตก อนึ่ง เทียนทองที่กลางขันหยกสำหรับพระราชพิธีนั้นไม่มีเหตุอันใดที่จะยกเว้น เทียนเครื่องนมัสการมีเทียนพานตามเคยพานหนึ่ง เทียนมัดบูชาพระ ๓๘ ปางอีกพานหนึ่ง คงจะทรงจุดเป็นแน่ อย่านึกว่าเผื่อจะไม่ทรงบ้าง อนึ่ง พวงมาลัยเปียสามพวง ที่มีออกไปนั้น คือแขวนที่ครอบแก้วหน้าพระสัมพุทธพรรณีพวงหนึ่ง พระพุทธยอดฟ้าพวงหนึ่ง พระพุทธเลิศหล้าพวงหนึ่ง อนึ่ง ขอเตือนไว้อีกอย่างหนึ่ง ในเวลานี้ก็ไม่สำคัญอันใด แต่เคยมีมาครั้งหนึ่ง คือพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี เมื่อไปถวายบังคมที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หาได้เชิญไปไม่นั้นเป็นการไม่สมควรแท้ ท่านได้เคยรับข้าราชการถวายบังคมมากว่าสองร้อยคราวถือน้ำมาแล้ว พึ่งจะมาขาดครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าต่อไปจะมีที่เชิญพระบรมอัฐิไปถวายบังคมในพระราชพิธีถือน้ำแห่งใด ขออย่าให้ลืมเป็นอันขาด

การถือน้ำประจำเดือนของทหาร ซึ่งได้กล่าวมาด้วยกำหนดวันว่าเคยพร้อมกันถือน้ำในวันขึ้นสามค่ำเดือนใหม่แล้วนั้น ไม่เป็นการพระราชพิธีมีพระสงฆ์สวดมนต์ เป็นแต่เมื่อถึงกําหนดวันนั้น กรมราชบัณฑิตเชิญพระชัยเงินองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งสำหรับใช้ในการพระราชพิธีอย่างกลางๆ มีคเชนทรัศวสนานเป็นต้น กับพระธรรมไปตั้งที่ธรรมาสน์มุก กรมแสงหอกดาบเชิญพระแสงรูปอย่างคาบค่ายสามองค์ขึ้นพานทองสองชั้นไปตั้ง สังฆการีนิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูปตามแต่จะได้มานั่ง อาลักษณ์อ่านคําสาบานจบแล้ว พราหมณ์เชิญพระแสงชุบน้ำ พระสงฆ์สวดคาถาสัจจังเว อมตา วาจา หรือชยันโตเป็นพื้น แล้วตัวนายขึ้นไปรับพระราชทานน้ำบนพระอุโบสถ แล้วมาเรียกให้ทหารเข้าแถวที่หน้าพระอุโบสถ นายอ่านคำสาบานจบแล้วตัวทหารจึงได้ถือน้ำ บรรดาผู้ซึ่งประจําการในพระบรมมหาราชวัง เช่นนายประตูเป็นต้น ก็ต้องถือน้ำเดือนด้วยทั้งสิ้น ผู้กํากับถือน้ำสี่กรม คือ มหาดไทย กลาโหม ชาววัง มหาดเล็ก นายทหารต้องยื่นหางว่าวแก่ผู้กํากับ เป็นการตรวจคนที่ได้มาเข้าเดือนรับราชการครบหรือไม่ครบด้วยอีกชั้นหนึ่ง เมื่อทหารถือน้ำแล้วหันหน้าเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง ทําอาวุธคํานับเป่าแตรแล้วเป็นเสร็จการ แต่การถือน้ำเดือนเช่นนี้ เดี๋ยวนี้ได้เลิกเสียไม่ได้ใช้แล้ว เปลี่ยนไปเป็นธรรมเนียมตัวทหารที่เข้ารับราชการใหม่ และนายทหารซึ่งจะได้รับตําแหน่งใหม่ต้องถือน้ำทุกครั้งที่ได้เปลี่ยนตำแหน่งนั้น แต่ถือน้ำเช่นนั้นเป็นถือน้ำจร มิใช่การพระราชพิธีประจําเดือน ซึ่งได้กล่าวอยู่ในบัดนี้ ๚
 
-------------------------------------------------------------------------------------
[] รูปเขียนทั้ง ๒ หอนี้ เป็นฝีมือ “ขรัวอินโข่ง” พระวัดราชบูรณะ นับถือว่าเป็นช่างเอกในสมัยนั้น
[] ตู้พระสยามเทวาธิราช เป็นตู้ลับแลทั้งตรงพระทวารเทวราชมเหศวร หลังตู้ทําวิมานตั้งพระสยามเทวาธิราช เดี๋ยวนี้เลิกตู้เปลี่ยนเป็นลับแลทําด้วยฝาเฟี้ยมรดน้ำตอน ๑
     ย้ายมาแต่พระมหาปราสาท พระสยามเทวาธิราชย้ายไปประดิษฐานไว้มหิศรปราสาท

[] ต่อมาทรงพระราชดําริว่าพระสงฆ์ต้องมาแต่เช้า คอยอยู่ช้านานนักลำบากแก่พระ จึงเลิกเลี้ยงพระในพิธีถือน้ำ
[] ตำแหน่งพระยากำกับถือน้ำมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ฝ่ายกลาโหมเป็นพระยาวิเศษสัจธาดา ฝ่ายมหาดไทยเป็นพระยาพฤฒาธิบดี ในรัชกาลที่ ๕ เติมพระยาจิรายุมนตรี พระยาวจีสัตยารักษ์ ขึ้นอีก ๒ คน
[] ตั้งแต่เลิกเลี้ยงพระ ไม่มียถา เป็นแต่ถวายอติเรก ถ้าไม่เสด็จออก สวดท้ายสัพพี แต่อภิวาทนสี ลิสฺสนิจฺจํ ไป และภวตุสัพ
[] ตั้งแต่เลิกเลี้ยงพระ ไม่มียถา เป็นแต่ถวายอดิเรก ถ้าไม่เสด็จออก สวดท้ายสัพพี แต่อภิวาทนสี ลิสฺสํ นิจฺจํ ไป และภวตุสัพ
[] ปีระกา จุลศักราช ๑๒๓๕ พ.ศ.๒๔๑๖
[] คือตึกใหญ่หน้าประตูพิมานชัยศรี
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 16:03:24 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 28 มิถุนายน 2561 15:25:14 »


พระราชพิธีเดือนห้า
พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน

๏ การพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก เป็นพิธีของพราหมณ์พฤฒิบาศ ได้ทําในเดือนห้าครั้งหนึ่ง เดือนสิบครั้งหนึ่ง เป็นกระบวนเรื่องคชกรรมการของหมอช้าง ว่าทําเพื่อให้เจริญสิริสวัสดิ์มงคลแก่ช้าง ซึ่งเป็นราชพาหนะและเป็นกําลังแผ่นดิน และบําบัดเสนียดจัญไรในผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ในการช้างทั้งปวงด้วย แต่การพระราชพิธีนี้ เฉพาะเหมาะกับคราวที่ควรจะประกอบการอื่นๆ หลายอย่าง คือเป็นต้นว่าเมื่อทําการจะให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ช้างม้าก็ต้องรดน้ำมนต์ช้างม้า เมื่อจะเอาไปรดเทซ่าๆ กับโรงเช่นนั้นก็ดูไม่เป็นประโยชน์อันใด และผู้รดจะเหน็ดเหนื่อยกว่าจะทั่ว จึงเห็นว่าถ้าปลูกเกยขึ้นแล้วจัดให้ช้างม้าเดินมาเป็นกระบวน พราหมณ์และราชบัณฑิตซึ่งเป็นผู้จะประน้ำมนต์นั่งคอยอยู่บนเกย เมื่อกระบวนมาถึงก็ประพรมไปจนตลอดกระบวนง่ายกว่า ทั้งจะได้ทอดพระเนตรตรวจตราชมเชยราชพาหนะทั้งปวงปีละสองครั้งด้วย อนึ่ง ธรรมดาพระมหานครใหญ่ ก็ต้องตระเตรียมให้พรักพร้อมด้วยเครื่องสรรพศัสตราวุธและพลทหารให้พร้อมมูลอยู่ เมื่อมีราชการศึกสงครามอันใด ก็จะได้จับจ่ายกะเกณฑ์ไปโดยง่ายโดยเร็ว เป็นการตรวจตราเครื่องศัสตราอาวุธและไพร่พลอย่างริวิ้วคราวหนึ่ง อนึ่ง ตามแบบอย่างแต่เดิม ซึ่งมีมาในเรื่องนพมาศ เป็นต้น จนถึงในกฎมนเทียรบาลความก็ลงกัน ว่าในการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกและสนานใหญ่นี้ เป็นเวลาที่ประชุมท้าวพระยา ข้าราชการทั้งในกรุงและหัวเมือง เอก โท ตรี จัตวา ทั้งเจ้าประเทศราชเข้ามาเฝ้า กําหนดถวายดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ เป็นการประชุมใหญ่ครั้งหนึ่ง เวลานั้นก็ควรที่จะประชุมพลโยธาทวยหาญทั้งปวงให้พรักพร้อมเป็นการป้องกันพระนครด้วย แสดงพระเดชานุภาพให้หัวเมืองประเทศราชทั้งปวงเป็นที่เข็ดขามยำเกรงพระบารมีด้วย เพราะฉะนั้นการสนานใหญ่นี้จึงได้มีทั้งกรุงสุโขทัยและกรุงทวาราวดี มิได้เว้นว่างเหมือนอย่างพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ที่มียิงอาฏานาบ้างไม่ได้ยิงบ้าง

วิธีออกสนาม ซึ่งมีการในหนังสือนพมาศนั้น ว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เสด็จออกมุขเด็จพระที่นั่งอินทราภิเษก พระศรีมโหสถซึ่งเป็นปุโรหิตใหญ่ขึ้นนั่งเหนือตั่งอันหุ้มด้วยเงิน ทูลเบิกท้าวพระยาและรับสนองพระโอษฐ์ตรัสปราศรัยสามนัดแล้วเสด็จขึ้น ต่อนั้นไปมีการฟ้อนรำและเลี้ยงท้าวพระยาทั้งปวง ในการประชุมนี้ข้างในร้อยดอกไม้เป็นรูปต่างๆ บรรจุเมี่ยงหมากถวายให้พระราชทานลูกขุนทั้งปวง ต่อรุ่งขึ้นพราหมณ์จึงได้ตั้งพระราชพิธีบูชาธนญชัยบาศ ที่สถานพระเทวกรรม บรรดาพระหลวงในกรมช้างกรมม้าโปรยข้าวตอกดอกไม้ รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งจึงได้เสด็จออกพระที่นั่งชัยชุมพล พร้อมด้วยพระอัครชายา พระราชวงศานุวงศ์สนมกํานัลนาง ส่วนข้าเฝ้าทั้งปวงนั้นนั่งบนร้านม้าห้าชั้น เป็นหลั่นลดตามผู้ใหญ่ผู้น้อย ภรรยาข้าราชการนั่งตามระหว่างช่องสีมาหน้าพระกาฬศาลหลวง ราษฎรทั้งปวงมาคอยดูกระบวนในรางเรียงท้องสนาม ได้เวลาสมควรจึงให้เดินกระบวน กระบวนช้างก่อนแล้วจึงถึงกระบวนม้า เดินสนานนั้นสามวัน วันแรกเดินพระยาช้างและม้าระวางต้น วันที่สองเดินช้างม้าระวางวิเศษ วันที่สามเดินช้างม้าระวางเพรียว เวลาเมื่อแห่แล้วมีการมหรสพขับร้อง เวลาค่ำมีหนัง จุดดอกไม้เพลิง สมโภชพระเทวกรรม ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ การที่เสด็จออกพระที่นั่งอินทราภิเษกคือต้องกันกับเรื่องที่ถือน้ำแล้วถวายบังคมสมโภชเลี้ยงลูกขุน การพระราชพิธีในเวลากลางคืนอีกคืนหนึ่งนั้น ก็คือทอดเชือกดามเชือก แห่ช้างม้าสามวันนั้นก็อย่างแบบสระสนาน ตามที่ว่านั้นดูเหมือนที่สุโขทัยจะมีทุกปีไปไม่มีเวลาขาด

ส่วนข้อความที่ได้จากกฎมนเทียรบาล ดูยุ่งยิ่งเข้าใจยากไปกว่าหนังสือเรื่องนพมาศ เห็นจะเป็นด้วยภาษาที่จดนั้นจะเจือคำเงี้ยวเป็นไทยเหนือมาก หนังสือนพมาศเป็นตัวไทยใต้ เมื่อพระนครลงมาตั้งอยู่ข้างใต้ ถ้อยคำที่พูดจากันภายหลังก็กลายเป็นสำนวนไทยใต้ไป กฎมนเทียรบาลซึ่งเป็นของไทยเหนือแต่ง ถึงแม้ว่าภายหลังหนังสือนพมาศซึ่งเป็นของไทยใต้แต่งก็ดี ยังต้องเป็นที่เข้าใจยากกว่าหนังสือนพมาศซึ่งแต่งไว้ก่อนแล้ว เพราะเปลี่ยนสำนวนที่พูดไปตามภูมิประเทศ ในกฎมนเทียรบาลนั้นลงกําหนดไว้ว่าเดือนห้าขึ้นห้าค่ำออกสนามใหญ่ ซึ่งบอกกําหนดว่าขึ้นห้าค่ำนี้ ดูยังคลาดกันอยู่กับวันที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ แต่ถ้าเป็นสระสนานแห่สามวันแล้ว ก็คงต้องเกี่ยวถึงวันห้าค่ำอยู่เอง ข้อความที่ว่าไว้นั้นมัวๆ รางๆ ดูว่าย้อนไปย้อนมา สังเกตดูก็จะเป็นสองเรื่องปนกัน แต่ผู้ที่คัดลอกต่อๆ กันมาไม่เข้าใจเนื้อความก็ลงปนกันเลอะไป เห็นจะเป็นเสด็จออกถวายบังคมเลี้ยงลูกขุนเสียนั้นครั้งหนึ่ง แล้วจึงได้ออกสนามแห่สระสนานอีกสามวันอย่างเช่นพระร่วง การที่เสด็จออกถวายบังคมเลี้ยงลูกขุนนั้น ว่าในพระบัญชรชั้นสิงห์ตั้งฉัตรเก้าชั้นเจ็ดชั้นห้าชั้นสามชั้นสองชั้น ชั้น ๑ ที่ ประทับสมเด็จหน่อพุทธเจ้าอยู่เฉียงฝ่ายซ้าย ที่ว่านี้เห็นจะเป็นฝ่ายซ้ายที่ประทับ คือถ้าเป็นมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท คงจะอยู่ตรงโรงถ่ายรูปกระจกออกมาได้แนวกับมุขเด็จ ส่วนสมเด็จพระอุปราชและเจ้านายอื่นๆ ไม่มีพลับพลา นั่งเฝ้าหน้าทิมดาบ แต่ทิมดาบนี้ไม่ปรากฏว่าคดหรือไม่คดอย่างไร บางทีจะเป็นโรงยาวๆ สองหลัง เช่น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำไว้ที่พระที่นั่งวิมานรัถยาที่วังจันทรเกษมก็ว่าเลียนอย่างเก่า หรือที่วังหน้าเมื่อยังไม่มีท้องพระโรงที่เรียกพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยก็มีทิมมหาวงศ์เป็นที่เฝ้า เพราะธรรมเนียมพระราชวังแต่ก่อนไม่มีท้องพระโรงอย่างเช่นพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เมื่อภายหลังมีพระที่นั่งทรงปืนใช้แทนท้องพระโรง ก็เป็นพระที่นั่งตั้งลอยออกมาต่างหาก เหมือนพระที่นั่งศิวโมกข์ในวังหน้า ทิมที่เฝ้านี้คงจะเป็นสองหลังซ้ายขวา มีระหว่างเป็นที่แจ้งอยู่กลางและคงจะไม่ยกพื้นสูงเหมือนอย่างทิมดาบคดที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนี้ด้วย จึงได้มีกำหนดว่าที่ประทับสมเด็จพระอุปราชสูงสองศอก มีหลังคามีม่านพนักอินทรธนู พระราชกุมารกินเมืองสูงศอกหนึ่ง มีหลังคาลดลงมาอีกชั้นหนึ่ง พระราชกุมารพระเยาวราชเตียงสูงคืบหนึ่ง แต่พระราชนัดดาออกชื่อไว้แต่ไม่ได้ความว่านั่งอย่างไร ไปว่าแต่หน้าหลังเฉยๆ หรือจะล้อมๆ กันอยู่เหล่านั้น ตรงหน้าพระที่นั่งตั้งเตียงสำหรับพระอาลักษณ์นั่งสนองพระโอษฐ์ สูงสิบศอก ต่อนั้นลงไปจึงมีผู้นั่งต่ออาลักษณ์ลงไปอีก ไม่ได้ความว่าจะเป็นปลัดทูลฉลองหรือใคร วิธีซึ่งใช้อาลักษณ์สนองพระโอษฐ์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลียนมาใช้ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้อาลักษณ์ทูลเบิกและรับพระบรมราชโองการคราวแรกในเวลาเสด็จออกท้องพระโรง แต่ไม่ต้องนั่งเตียง ถ้าเสด็จออกมุขเด็จพระมหาปราสาท ไม่นั่งเตียงก็เห็นจะเต็มตะโกน การที่เสด็จออกตามที่ว่ามานี้ ก็เห็นจะเป็นออกเฝ้าถวายบังคมเลี้ยงลูกขุน ส่วนการออกสนามก็มีเค้าที่เห็นได้ชัด เช่นมีขุนหาญทั้งสิบขี่ช้างยืนที่เป็นต้นเป็นอย่างแห่สระสนาน ครั้นจะแปลหรือพิจารณาข้อความในกฎมนเทียรบาลลงให้ชัดแจ้ง ก็จะเสียเวลาและผิดๆ ถูกๆ เพราะรัวๆ รางๆ เป็นโคลงจีนทีเดียว

ส่วนในจดหมายขุนหลวงหาวัด ในเดือนห้านี้ก็ไม่ได้พูดถึงสระสนานเช่นได้กล่าวมาแล้ว ไปพูดถึงเอาต่อเดือนสิบซึ่งไม่มีเรื่องอื่นจะว่า พูดย่อๆ แต่ว่า เดือนสิบจึงรําขอและรำทอดเชือกดามเชือกสนานช้างต้นม้าต้น เห็นว่าในตอนหลังนี้จะเลิกเสียไม่ได้แห่แหนอันใดแล้วทั้งสองคราว เพราะฉะนั้นธรรมเนียมที่กรุงรัตนโกสินทร์นี้ จึงยังไต่ตามแบบกรุงเก่าในท่อนปลายนี้สืบมา คือมีพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกทั้งสองคราว แต่ไม่มีการออกสนาม เว้นไว้แต่นานๆ แผ่นดินหนึ่งจึงได้มีเสียคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นพระเกียรติยศ หรือให้เป็นการสนุกเล่นแบบกันคราวหนึ่ง การซึ่งเลิกออกสนามแห่สระสนานเสียนี้ ก็ด้วยตําราที่แรกตั้งขึ้นประสงค์การอย่างหนึ่ง ครั้นต่อมาการกลายไปเป็นอย่างหนึ่ง แรกคิดนั้นเห็นเป็นประโยชน์ แต่ครั้นเมื่อการเคลื่อนคลายไปเสียก็กลับเป็นโทษ คือเมื่อพิเคราะห์ดูการแห่สระสนานในครั้ง ๑๒๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ในครั้งพระร่วงเมืองสุโขทัยนั้น เดินช้างเดินม้าเปลี่ยนกันทั้งสามวันเช่นกล่าวมาแล้ว ซึ่งเดินเช่นนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าช้างม้าพาหนะมีมาก ถ้าจะเดินวันเดียวให้หมดก็จะต้องเปลืองเวลามาก หรืออยากเล่นให้เป็นสามวันตามธรรมดาไทยๆ ชอบสามชอบห้าชอบเจ็ด ก็ยังคงจะมีช้างม้ามาก จึงได้แบ่งออกเป็นกระบวนได้สามกระบวนไม่ซ้ำกัน ศัสตราอาวุธที่จะใช้แห่ก็ต้องใช้มาก เป็นการตระเตรียมไพร่พลให้พรักพร้อมอยู่เสมอ ปีหนึ่งได้ริวิ้วใหญ่ถวายตัวเสียสองครั้ง พาหนะและไพร่พลจะทรุดโทรมเสื่อมถอยไปอย่างไร หรือบริบูรณ์ดีอยู่ก็ได้ทอดพระเนตรตรวจตราทุกปี บรรดาคนทั้งปวงซึ่งได้เห็นกําลังพลทหาร และพาหนะของพระเจ้าแผ่นดินพรักพร้อมบริบูรณ์อยู่ ก็เป็นที่ยําเกรงไม่ก่อเหตุการณ์อันใดขึ้นได้ จึงมีคํากล่าวมาแต่โบราณว่า พระราชพิธีนี้เป็นพิธีที่สำหรับทำให้ประชุมชนทั้งปวงมีใจสวามิภักดิ์รักพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นมงคลแก่ราชพาหนะ เป็นที่เกรงขามแก่ข้าศึกศัตรู การก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่ซึ่งกลับเป็นโทษไปจนต้องเลิกเสียนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าช้างม้าพาหนะที่มีอยู่ในกรุงไม่พอที่จะเข้ากระบวนแห่ อย่าว่าแต่สามผลัดเลย แต่ผลัดเดียวเต็มกระบวนสระสนานที่เคยมีมาแต่ก่อนก็ต้องเอาช้างหัวเมืองเข้ามา นั่นก็เป็นความลําบากเกิดขึ้นเพราะจะเล่นพิธีอย่างหนึ่งแล้ว ศัสตราอาวุธที่จะใช้ในกระบวนแห่ก็มีไม่พอ จะทำอาวุธเครื่องเหล็กขึ้นก็ไม่เป็นที่ไว้ใจกันหรือราคาจะแพงมาก ต้องทำอาวุธไม้ อาวุธไม้นั้นไม่มีประโยชน์อันใดนอกจากที่จะถือแห่ให้เห็นงามๆ ก็เป็นอันป่วยการเปลืองเงินเปล่ายิ่งกว่าทำเครื่องละครที่ยังได้เล่นหากินอยู่ได้เสมอ เครื่องอาวุธเหล็กเข้ากระบวนแห่พึ่งมามีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่า ทำเครื่องอาวุธไม้เป็นการป่วยการเช่นกล่าวมานี้ ส่วนคนที่จะใช้ในกระบวนแห่นั้นเล่า แต่โบราณมาเขาจะใช้คนที่เป็นหมู่ทหารซึ่งประจํารักษาพระนคร และระดมทหารนอกจากเวรประจํามาให้เข้ากระบวนทัพถือเครื่องศัสตราอาวุธเป็นการฝึกหัดใหญ่ปีละสองครั้ง เมื่อได้เข้ากระบวนฝึกหัดอยู่ทุกปี ก็คงจะเรียบร้อยคล่องแคล่วกว่าที่ทอดทิ้งไม่ได้ฝึกหัด และเวลาบ่ายที่เสด็จขึ้นแล้วก็มีมวยปล้ำกระบี่กระบองต่อไป เป็นการฝึกหัดศัสตราอาวุธในการทหารแท้ทั้งนั้น ตกมาภายหลังเมื่อสิ้นการศึกสงครามแล้ว ทหารประจําเมืองก็เอาลงใช้เป็นพลเรือนเสีย ไม่ได้เคยถูกต้องศัสตราอาวุธ ไม่ได้เคยเข้ากระบวนทัพ เอามาจัดเข้ากระบวนก็เป็นการกะร่องกะแร่งรุงรัง คนจ่ายเดือนประจําพระนครไม่พอ ต้องเกณฑ์เอาคนนอกเดือนเข้ามาแทนทหารระดมอย่างแต่ก่อน มาบ้างไม่มาบ้าง คนแห่ไม่พอ เดินไปพอพ้นหน้าพลับพลาแล้ว ก็ต้องกลับมาเดินกระบวนหลังต่อไปใหม่ ก็ไม่เป็นประโยชน์อันใดในการที่จะตรวจตราผู้คน และไม่เป็นพระเกียรติยศที่จะเป็นที่เกรงขามอันใด เพราะใครๆ ก็เห็นว่ากระบวนหน้าวิ่งมาเป็นกระบวนหลังกลับเสียพระเกียรติยศไป ส่วนขุนนางผู้ที่ต้องแห่นั้นเล่า แต่ก่อนตัวเสนาบดีจตุสดมภ์มนตรีทั้งปวง ล้วนแต่เป็นแม่ทัพชำนิชํานาญในการขี่ช้างขี่ม้า ทั้งมีบ่าวไพร่สมกําลังที่ได้เคยไปการศึกสงคราม เมื่อมาเข้ากระบวนเดินสนานก็ไม่เป็นการเดือดร้อนอันใด ภายหลังมาขุนนางไม่ชำนิชำนาญในการทัพศึก ประพฤติตัวเป็นพลเรือนไปหมด จะถูกขี่คอช้างเข้าก็กลัวกระงกกระเงิ่น จะไปขี่เฉยๆ ไม่ฝึกหัดก็กลัว จะฝึกหัดก็อาย ว่าเป็นผู้ใหญ่แล้วต้องฝึกหัด บ่าวไพร่สมกําลังก็เอามาใช้สอยอยู่ในบ้านบ้างเก็บเอาเงินบ้าง จะเรียกหาเป็นการจรก็ไม่ใคร่จะได้ และประกวดประขันกันไปจนเกินกว่าที่มีกําลังจริงๆ ต้องเที่ยวหยิบยืมบ่าวไพร่ผู้อื่น กระบวนหน้าต้องกลับลงมาตามกระบวนหลัง เมื่อเอาคนของผู้อื่นมาใช้อย่างนั้น ก็ต้องแจกบ่ายให้ปันเปลืองเงินเปลืองผ้าเข้าไปอีก ขุนนางก็พากันเบื่อหน่าย เห็นเป็นบ่อแห่งความฉิบหายเกิดขึ้น การสระสนานจึงได้ต้องเป็นอันเลิก คงได้มีอยู่แผ่นดินละครั้งพอเป็นพิธีหรือเป็นพระเกียรติยศ แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ได้มีสระสนาน อันที่แท้นั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดในการพระราชพิธีอย่างเก่าๆ มาก ได้ทรงลองหลายอย่าง จนถึงที่ไปส่งพระผู้เป็นเจ้าที่เทวสถานเป็นกระบวนช้างเป็นต้น แต่ทรงพระปรารภไม่สำเร็จอยู่สองเรื่อง คือเรื่องพิธีอาสวยุช ตําราพราหมณ์หายเสีย กําลังจะคิดจัดการใหม่ก็พอสวรรคตเสีย เรื่องหนึ่งสระสนานใหญ่ทรงอยู่เสมอไม่ขาด ว่าถ้าได้ช้างเผือกใหม่จะมีสระสนาน แต่ครั้นเมื่อทรงพระปรารภกับสมเด็จเจ้าพระยาเมื่อไร[]ท่านก็ออดแอดบิดเบือนไปทุกครั้ง เรื่องขี่ช้างเป็นต้น จนตกลงเป็นจะให้ขี่เสลี่ยงก็ยังบ่นตุบๆ ตับๆ อยู่ เผอิญช้างเผือกก็ไม่ได้มา เป็นอันเลิกกันไป

เมื่อว่าที่แท้การพระราชพิธีทั้งปวง ถ้าเป็นพิธีเก่าแท้มักจะมีเหตุที่เป็นการมีคุณจริงอยู่ในพระราชพิธีนั้น แต่เมื่อการรวมๆ ลงมา ก็กลายเป็นแต่การทำไปตามเคยเพื่อสวัสดิมงคล จนเป็นการที่เรียกกันว่าพิธีสังเขปหรือต่างว่า เลยขาดประโยชน์ที่ได้จากความคิดเดิมนั้นไป ความคิดเรื่องถือสวัสดิมงคลนี้มักจะเผลอไปถือเอาสิ่งที่ไม่มีคุณ หยิบยกออกมาเห็นได้ว่าเป็นมงคล เหมือนกลับกลัวจัญไรที่ไม่มีตัวหยิบยกออกมาเห็นได้ว่าเป็นจัญไร ไม่เลือกค้นหาสิ่งที่เป็นจริง ถึงมีอยู่ในอาการที่ประพฤติก็ไม่ใคร่จะรู้สึก ไปถือสิ่งที่ไม่ใช่ความจริงว่าเป็นความจริงเสียโดยมาก เหมือนอย่างเช่นเข้าในใต้ถุนถือว่าเป็นจัญไร ก็ถ้าเป็นเรือนฝากระดานหรือเรือนฝากระแชงอ่อนอย่างไทยๆ ปลูกอยู่กับที่เป็นพื้นโคลนฉำแฉะ คนอยู่บนเรือนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ และกวาดขยะฝุ่นฝอยทิ้งลงมาที่ใต้ถุนเรือน ผู้ใดเข้าไปในใต้ถุนเรือนเช่นนั้น ก็คงพบแต่สิ่งซึ่งโสโครกเปื้อนเปรอะไปทั้งสิ้น นับว่าเป็นจัญไร มิใช่จัญไรเพราะอยู่ภายใต้ผู้อื่นอยู่ข้างบน จัญไรเพราะเปื้อนเปรอะเห็นปานนั้น แต่ผู้ที่ถือนั้นไม่ถือแต่เฉพาะเรือนเช่นนั้น ถือทั่วไปไม่ว่าเรือนดีเรือนเลวอันใด เอาแต่ชื่อใต้ถุนเป็นตัวจัญไร ส่วนที่เป็นมงคลนั้นเล่าเช่นกับอาบน้ำรดน้ำมนต์ ถ้าผู้ใดอาบนํ้ารดน้ำชำระกายให้บริสุทธิ์ ก็ย่อมจะเป็นที่สบายตัวสบายใจรู้สึกความหมดจดดีกว่าที่เปื้อนเปรอะอยู่ แต่ผู้ซึ่งปรารถนามงคลเชื่อเสียว่าน้ำที่เสกเป่าแล้วนั้น ถูกตัวแต่นิดหน่อยหนึ่งก็เป็นสวัสดิมงคล ไม่ต้องคิดถึงการที่ชำระกายให้บริสุทธิ์ ที่ว่านี้เป็นแต่การภายนอก เมื่อพิจารณาตามคำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน เช่นมาในมงคลสูตร เป็นต้น สวัสดิมงคลย่อมมาด้วยความประพฤติของผู้ที่ปรารถนามงคล ไม่ได้มาโดยมีผู้ใดมาเสกเป่าให้ หรืออ้อนวอนขอร้องได้ ความจริงเป็นอยู่เช่นนั้น แต่หากผู้ซึ่งจะประพฤติตามทางมาของสวัสดิมงคลไม่ได้ตลอด ความปรารถนาตักเตือนเร่งรัดเข้า ก็ต้องโวยวายขวนขวายไปอย่างอื่น หรือทําแต่พอเป็นสังเขป เพราะการสิ่งใดที่เป็นการไม่จริง ย่อมง่ายกว่าการที่จริง คนทั้งปวงก็ลงใจถือเป็นแน่นอนเสียตามที่แก้ขัดไปนั้น ว่าเป็นการใช้ได้จริง แล้วก็บัญญัติเพ้อๆ ตามไป เช่นกับกินมะเฟืองกินน้ำเต้าเสียสง่าราศีอะไรวุ่นไป เป็นบัญญัติที่เกิดขึ้นใหม่จากผู้ที่เข้าใจซึมซาบในวิธีที่เขาลดหย่อนผ่อนผันลงมาว่าเป็นความจริง การออกสนามใหญ่ คือสระสนานนี้ เมื่อพิเคราะห์ดูตามความจริงก็เห็นว่าเป็นการมีคุณแก่พระนครมาก เป็นเหตุที่จะให้ข้าศึกศัตรูครั่นคร้ามขามขยาดได้จริง แต่ต้องทําอย่างเก่าให้มีตัวทหารมีช้างมีม้าจริงๆ ถ้าจะเป็นแต่การหยิบๆ ยืมๆ ร่องแร่งอย่างเช่นทํากันมาแล้ว ไม่แห่ดีกว่าแห่ พรรณนามาด้วยวิธีแห่สระสนานที่แห่ขึ้นเพราะเหตุใด และเลิกเสียเพราะเหตุใด ยุติเพียงเท่านี้ ๚

  
-------------------------------------------------------------------------------------
[] คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ แต่ยังเป็นเจ้าพระยาที่สมุหพระกลาโหม


เดือนห้า
พิธีทอดเชือก ดามเชือก

๏ บัดนี้จะได้กล่าวถึงการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก ซึ่งมีทําอยู่เสมอมิได้เว้นว่าง ถึงไม่ได้แห่สระสนานคเชนทรัศวสนานทั้งอย่างเก่าอย่างใหม่ พิธีทอดเชือกดามเชือกนี้ก็ยังทําเสมออยู่ เมื่อพิเคราะห์ดูคําว่าทอดเชือกอย่างหนึ่ง ดามเชือกอย่างหนึ่งนั้นจะแปลว่ากระไร วิธีที่เรียกว่าทอดเชือกนั้น คือเชือกบาศที่สำหรับคล้องช้างเป็นขดๆ อยู่ จับขึ้นทั้งขดแยกออกเป็นสองส่วนตั้งกางไว้ เรียกว่าทอดเชือก เชือกที่กางไว้นั้นกลับพับลงวางเป็นขดๆ ตามธรรมเนียม เรียกว่าดามเชือก บางทีคำว่าทอดเชือกนั้นจะตรงกันกับว่าคลี่เชือก ดามเชือกนั้นจะตรงกันกับว่าขดเชือก ดูเหมือนหนึ่งจะเป็นพิธีที่ถึงกำหนดตรวจเชือกบาศหกเดือนครั้งหนึ่งก่อนที่จะไปทำการ คลี่ออกดูเมื่อชำรุดเสียหายอันใด ก็จะได้ซ่อมแซมแก้ไข เมื่อดีอยู่ก็ขดเข้าไว้อย่างเดิม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีผู้ใดที่จะคิดเห็นเช่นนั้น เพราะเหตุว่าผู้ที่จะคลี่เชือกออกดูนั้น เชื่อเสียแล้วว่าเชือกดีอยู่ก็เอาออกตั้งกางๆ ไว้พอเป็นสังเขป ไม่ได้บอกเสียก่อนว่า “ไม่ต้องตรวจดอกหนาเชือกดีอยู่ทําเท่านี้ก็พอ” ลูกศิษย์ลูกหาที่เห็นต่อๆ มา ก็เข้าใจซึมซาบว่าการที่ทำสังเขปย่อๆ นั้นเป็นเต็มตําราแล้ว เมื่อนึกแปลไม่ออกว่าทําเช่นนั้นประสงค์จะเอาประโยชน์อย่างไร ก็ต้องไหลไปตามทางที่เป็นประโยชน์อันไม่มีรูป คือว่าเป็นสวัสดิมงคลเท่านั้น สวัสดิมงคลจะมาด้วยอะไรก็นึกไม่ออก และไม่ต้องนึก เพราะผู้ใหญ่ท่านทํามา การที่มีวิธีบูชาโปรยข้าวตอกรําพัดชาอันใดต่อไปนั้น ก็เป็นอยู่ในเรื่องบูชาครูไหว้ครู การพระราชพิธีนี้ ได้ลงมือทําการทอดเชือกในวันเดือนห้า แรมสามค่ำเวลากลางคืน ดามเชือกในวันแรมสี่ค่ำเวลาเช้าครั้งหนึ่ง ในเดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ เวลาค่ำทอดเชือก ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาเช้าดามเชือกอีกครั้งหนึ่ง การพระราชพิธีทั้งสองคราวนี้ ในกรุงรัตนโกสินทร์ทําที่หอเชือก ไม่ได้ไปทําที่เทวสถานเหมือนอย่างเช่นว่ามาในเรื่องนพมาศ ชะรอยที่กรุงเก่าก็คงจะทําที่หอเชือกเหมือนกันเช่นนี้ แต่หอเชือกที่กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่สนามหลวงตรงหน้าวังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เป็นที่รกเรี้ยวเหมือนอย่างตั้งอยู่ในกลางกองฝุ่นฝอย จึงเป็นที่ไม่สมควรที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จเข้าในพระราชพิธีนั้นด้วย ก็เคยยกมาทําที่อื่นได้ ได้เคยยกมาหลายครั้ง เหมือนอย่างในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อข้าพเจ้าฝึกหัดขี่ช้างไหว้ครู ก็ได้ยกมาทําที่โรงละครวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ถึงว่าเมื่อทำพิธีอยู่ที่โรงเชือกแต่ก่อนมา ก็ว่ามีเจ้านายเสด็จไปมิได้ขาด จนในร่างรับสั่งทุกวันนี้ก็ยังมีว่าให้จัดอาสนะ พระเจ้าพี่ยาเธอน้องยาเธอที่จะเสด็จไปเข้าพระราชพิธีไปทอดทั้งสองเวลาอย่าให้ขาดได้ การที่เจ้านายเสด็จนั้น พึ่งจะมาเลิกไม่ได้เสด็จในชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอหลังๆ และพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เพราะไม่ได้ฝึกหัดวิชาช้างม้าเหมือนอย่างแต่ก่อน ตามคําที่เล่าว่า เมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าลูกเธอต้องฝึกหัดทรงช้างให้ชำนิชำนาญทุกองค์ จนถึงฝึกทรงบาศทิ้งที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ในเวลาเย็นๆ ทุกวันมิได้ขาด เจ้านายซึ่งทรงฝึกหัดวิชาช้างเหล่านี้ต้องเข้าพระราชพิธีทั้งสิ้น ข้าราชการซึ่งจะต้องขี่ช้างยืนสนานปีใดจะมีสระสนาน ก็ต้องเข้าพระราชพิธีในวันแรมสามค่ำเวลากลางคืน ไม่ว่าผู้ใดเคยไหว้ครูแล้วหรือยังไม่ได้ไหว้ครูคงต้องไปเข้าพระราชพิธีทั้งสิ้น ลัทธิหมอช้างอย่างไทยถือเสนียดจัญไรจัดนัก มีวิธีหลายอย่างซึ่งถือว่าเป็นการอัปมงคลที่ผู้ซึ่งเขาว่า ครอบหมอมอญไม่ถือ เช่นหลวงคชศักดิ์เดี๋ยวนี้เป็นต้น ในการพระราชพิธีนี้หวงแหนอย่างยิ่ง ห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าไปในโรงพิธีเป็นอันขาด และไม่ให้คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการพระราชพิธีเข้าไปในโรงพิธี ด้วยกลัวว่าจะไปเลียนวิธีท่าทางออกมาทําเล่น ถือกันว่าทําให้เสียจริตได้ ดูก็อยู่ข้างจะจริง เช่นรำพัดชาถ้านั่งอยู่ดีๆ ใครลุกขึ้นรำก็บ้าแน่ ถ้าจะตั้งพระราชพิธีแห่งใดก็มีม่านผ้ากั้นวงรอบจนปี่พาทย์ราดตะโพนก็ไม่ให้เข้าไปอยู่ในโรงพิธี ใช้ตะโกนบอกหน้าพาทย์ออกมาข้างนอก แต่เมื่อว่าตามจริงแล้ว พระราชพิธีนี้อยู่ข้างจะน่าดูสนุกดีอยู่ การในโรงพิธีขึ้นตั้งเตียงเทวรูปและตั้งกลดสังข์เป็นบันไดสามคั่น ตามแบบพิธีพราหมณ์ทั้งปวงเช่นกล่าวมาแล้ว เตียงเพดานชั้นต้นตั้งรูปพระอิศวร พระนารายณ์ มหาวิฆเนศวร เตียงลดลงมาตั้งกลดสังข์เบญจคัพย์ที่หน้าเทวรูป ตั้งเตียงวางเชือกบาศที่ปิดทองสามเตียง เชือกบาศปิดเงินเตียงหนึ่ง มีเครื่องกระยาบวชที่หน้าเตียงนั้นทั้งสี่ ตรงหน้าเตียงเชือกบาศทั้งสี่นี้ออกมา มีอีกเตียงหนึ่งวางเครื่องช้างชนักขอเชือกรำพัดชา ตรงหน้าเตียงนั้นออกมามีบายศรีแว่นเวียนเทียน เวลาค่ำโหรต้องหาฤกษ์เวลาที่จะลงมือทําพิธีทุกครั้ง เริ่มแต่กระสูทธิ์ อัตมสูทธิ์ บูชาเบญจคัพย์ บูชากลดบูชาสังข์ตามแบบแล้ว จนถึงสรงน้ำพระประโคมพิณพาทย์เชิญพระขึ้นภัทรบิฐ จุดแว่นเวียนเทียนสมโภชเจิมพระเทวรูปแล้ว จึงได้รดน้ำสังข์บรรดาผู้ซึ่งไปประชุมอยู่ในโรงพิธีขึ้น แล้วอ่านเวทพรมน้ำเชือกบาศ เวลานั้นประโคมพิณพาทย์สาธุการถึงเจ็ดลา แล้วตัวพระครูพฤฒิบาศและเจ้ากรมปลัดกรม กรมช้างเข้าประจําหน้าเตียงเชือกคุกเข่ายกเชือกบาศขึ้นกางไว้เป็นทอดเชือก ต่อนั้นไปให้นายท้ายช้างคนหนึ่งมาหมอบที่กลางโรง พระครูพฤฒิบาศซึ่งเป็นหมอเฒ่าจึงเอาชนักมาวางคร่อมหลัง เอาด้ามขอสอดในพรมชนักปลายด้ามขอขึ้นข้างบน นายท้ายช้างที่หมอบนั้นมือกํายื่นขอไว้ จึงให้หราหมณ์พฤฒิบาศสองคนอ่านดุษฎีสังเวยอย่างเก่าที่ขึ้นว่า อัญขยมบังคมภูวสวะเป็นต้น จบลาหนึ่งเป่าสังข์ ในเวลาเมื่ออ่านดุษฎีจบเป่าสังข์นั้น บรรดาผู้ซึ่งประชุมในที่นั้นโปรยข้าวตอกดอกไม้อย่างเช่นไหว้ครูละคร ข้าวตอกดอกไม้นั้นมีพานทองสองพาน พานเงินสองพาน พานทองนั้นเป็นของสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงโปรย พานเงินเป็นของข้าราชการ ว่าเป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะท่านเสด็จเสมอไม่ขาด ถึงว่าพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์จะไม่เสด็จ ก็ยังมีพานข้าวตอกดอกไม้ทองคู่หนึ่ง เงินคู่หนึ่ง อยู่ดังนี้เสมอไม่ได้ขาดจนทุกวันนี้ ครั้นดุษฎีสังเวยจบสามลาแล้ว จึงสมมติเจ้ากรมปลัดกรมกรมช้างคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนรำพัดชาเป็นคล่องแคล่วชำนิชำนาญว่าเป็นพระนารายณ์เมื่อแปลงพระพักตร์เป็นช้าง ลงมาสอนวิชาคชกรรมให้แก่คนสี่คน เมื่อไปปราบช้างเอกทันต์แล้วมานั้น เมื่อแรกลงมือรํา พิณพาทย์ทําเพลงคุกพาทย์รัว กราบสามครั้ง กราบนั้นอยู่ข้างกระดุกกระดิกมาก ไม่ใช่กราบธรรมดา เข้าเพลงพิณพาทย์ แล้วจึงนั่งท่าเรียกว่าพุทธรา พิณพาทย์ตีเพลงตระบองกัน เมื่อเสร็จแล้วรัวกราบอีกสามครั้ง แล้วจึงลุกขึ้นยืนรําส่องแว่น พิณพาทย์ทําเพลงบาทสกุณี ส่องแว่นครบสามคราวแล้วทรุดลงนั่ง รัวกราบอีกเป็นคราวที่สาม แล้วจึงไปนั่งคุกเข่าข้างหนึ่งที่ข้างม้า ยกมือขึ้นจีบบนศีรษะเอนตัวเข้าไปที่เชือกบาศ เรียกว่าไหว้ครู พิณพาทย์ทําเพลงเหาะเสร็จแล้วรัวกราบอีกเป็นครั้งสี่ ต่อนั้นไปพิณพาทย์ทําเพลงชุบรําส่องแว่น แล้วแผลงกลับจับขอพายซ่นยินและฉะพายตามวิธีเพลง จะว่าให้เข้าใจนอกจากที่เห็นไม่ได้ เมื่อเสร็จแล้วคุกพาทย์รัวกราบอีกเป็นครั้งที่ห้า ต่อนี้ไปพิณพาทย์เปลี่ยนเป็นรุกร้นเดินส่องแว่นและออกแผลงอีก เปลี่ยนขอจับเชือกบาศใหม่ รำท่าซัดบาศเหวี่ยงเชือกให้พ้นตัวไปข้างหนึ่งสามรอบ แล้วคลายออกเหวี่ยงให้พันข้างหนึ่งอีกสามรอบแล้วให้คลายออก เป็นเสร็จการ ลงนั่งคุกพาทย์รัวกราบอีกครั้งหนึ่ง เป็นสิ้นวิธีรําพัดชา เมื่อเวลาที่รำเชือกบาศนั้น มีนายท้ายช้างอีกคนหนึ่งนั่งจับสายกระแชง คือท้ายเชือกบาศ สมมติว่าเป็นควาญช้างอยู่จนตลอดเวลารํา การที่รำพัดชานี้ ถือว่าถ้าผู้ใดได้เห็นเป็นสิ้นเสนียดจัญไร พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนๆ ที่ทรงชำนิชํานาญในการช้าง เช่นพระนารายณ์มหาราช พระมหาบุรุษเพทราชาเป็นต้น เสด็จขึ้นพระพุทธบาทก็ทรงรําพัดชาเหนือกระพองช้างต้น ถวายพระพุทธบาททุกครั้ง เป็นเสร็จการพระราชพิธีในเวลาค่ำ

การพระราชพิธีดามเชือก ในวันขึ้นสี่ค่ำเวลาเช้าก็เหมือนกันกับเวลาค่ำ แปลกแต่พับเชือกบาศที่กางไว้นั้นเรียกว่าดามเชือก แต่ไม่ได้มีการเสด็จหรือมีผู้ใดไปประชุมดังเช่นเวลาค่ำ แต่เดิมมาในการพระราชพิธีนี้มีเงินที่พราหมณ์จะได้ตําลึงเดียว นอกนั้นได้แต่ผ้าขาวที่รองอาสนะเทวรูป และรองเชือกทั้งของบูชาต่างๆ ๚



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 กรกฎาคม 2561 16:04:47 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #17 เมื่อ: 28 มิถุนายน 2561 15:28:42 »



เดือนห้า
แห่สระสนานใหญ่

๏ การแห่สระสนานใหญ่ในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ได้แบบอย่างไว้ว่าอย่างไร พบแต่ริ้วสระสนานในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีขาล โทศก ๑๑๙๒ เดินแห่ ๓ วัน คือวันขึ้น ๔ ค่ำ ๕ ค่ำ ๖ ค่ำ ตั้งกระบวนหน้าวัดชนะสงคราม ผ่านหน้าพระราชวังบวรฯ ลงมาทางถนนท้องสนามชัย กระบวนในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ก็คงเหมือนกันกับครั้งนี้ จะแปลกก็แต่กระบวนพระยาช้างพระยาม้าที่มีตามกาลตามเวลา กับเสนาบดีที่ไม่ชราก็คงจะขี่ช้าง ริ้วกระบวนนั้นดังนี้

ตํารวจถือธงห้าชายออกหน้า มีสารวัดธงคนหนึ่ง ต่อนั้นเป็นกระบวนพระยาช้าง กระบวนที่ ๑ พระยาช้าง พระเทพกุญชร ธงสามชายคู่หนึ่ง ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๒๐ สารวัตรธนู ๑ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๕ คู่ สารวัตรทวน ๑ แล้วแส้หวาย ๑๐ คู่ กระบองกลึง ๕ คู่ เดินสายนอก สายในธงฉาน ๒ คู่ กลองชนะ ๑๐ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ สารวัตรกลอง ๑ แตรงอน ๖ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ สังข์คู่ ๑ สารวัตรแตร ๑ สารวัตรกรมช้าง ๑ ช้างพังนำ ๑ ตัวพระยาช้างพระเทพกุญชรนั้นมีข่ายคนถือกั้นสี่ด้าน คนถือข่าย ๘ คน กระฉิ่งเกล็ด ๔ แส้หางม้าคู่ ๑ ถือเครื่องยศ ๖ คน คือกล้วยโต๊ะ ๑ อ้อยโต๊ะ ๑ มะพร้าวโต๊ะ ๑ หญ้าโต๊ะ ๑ หม้อน้ำสองหม้อ ใช้เครื่องเงินทั้งนั้น ต่อนั้นไปช้างพังผูกเกณฑ์ตะพัด คือมีเครื่องที่สำหรับหัดช้างให้เดินฝีเท้าเรียบช้างหนึ่ง ช้างพังตามคู่ ๑ ช้างพังทูนบาศเป็นช้างเชือกคู่ ๑ ต่อนั้นไปกระบวนพระบรมฉัททันต์ ลดลงกว่าพระเทพกุญชร คือมีธงสามชายคู่ ๑ สารวัตรธง ๑ ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๑๕ คู่ สารวัตรธนู ๑ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๐ คู่ สารวัตรทวน ๑ แส้หวาย ๘ คู่ กระบอกกลึง ๕ คู่ สายนอก สายในธงฉานคู่ ๑ กลองชนะ ๕ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ สารวัตรกลอง ๑ แตรงอน ๔ คู่ แตรฝรั่ง ๒ คู่ สังข์คู่ ๑ สารวัตรแตร ๑ สารวัตรกรมช้าง ๑ ช้างพังนำ ๑ คนถือข่าย ๘ กระฉิ่งเกล็ด ๔ แส้หางม้าคู่ ๑ เครื่องยศ ๖ ช้างพังผูกเครื่องเกณฑ์ตะพัด ๑ พังตามคู่ ๑ ช้างเชือกทูนบาศคู่ ๑  กระบวนที่ ๓ พระบรมคชลักษณ์เหมือนกันกับกระบวนที่ ๒ กระบวนที่ ๔ พระบรมไอยรา ลดธนูลงคง ๑๐ คู่ ทวน ๑๕ คู่ กลองชนะ ๕ คู่ มีแต่จ่าปี่ ไม่มีแตรสังข์ กระบวนที่ ๕ พระบรมนาเคนทร์ เหมือนกันกับกระบวนที่ ๔ กระบวนที่ ๖ พลายไอราพต ลดธงมังกรลงคงแต่สามคู่ แส้หวายคงแต่ ๖ คู่ กระบองกลึงคงแต่ ๔ คู่ ไม่มีกลองชนะ ช้างพังนํา ๑ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ พลายไอราพตเป็นช้างดั้ง มีกลางช้างถือเส้า มีแส้หางม้าและเครื่องยศสาม พังผูกเครื่องเกณฑ์ตะพัดตาม ๑ กระบวนที่ ๗ เจ้าพระยาปราบไตรจักร กระบวนที่ ๘ พลายมณีจักร กระบวนที่ ๙ พลายอัษฎาพงศ์ ในกระบวนที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ นี้เหมือนกันกับกระบวนที่ ๖ เป็นช้างดั้งทั้งสี่ กระบวนที่ ๑๐ พลายชัยนาเคนทร์ ธงมังกรคู่ ๑ ธนู ๑๐ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๑๐ คู่ สารวัตร ๑ กระบวนที่ ๑๑ พลายมงคลรัตนาศน์ กระบวนที่ ๑๒ พลายแสนพลพ่าย กระบวนที่ ๑๓ พลายศิลป์นารายณ์ กระบวนที่ ๑๔ พลายสกลฤทธิ์ กระบวนที่ ๑๕ พลายเอกราวุธ กระบวนที่ ๑๖ พลายประกายมาศ กระบวนที่ ๑๗ พลายศรพระกาล กระบวนเหล่านี้เหมือนๆ กันกับที่ ๑๐ ตัวช้างแต่งอย่างพระยาช้าง หมอควาญซึ่งขี่พระยาช้างนุ่งสองปักลาย คาดราดตะคดสวมเสื้อครุยลอมพอก ถ้าพระยาช้างพลายใช้สีชมพู พระยาช้างพังใช้สีขาว ต่อนั้นไปเป็นกระบวนพระยาเพทราชา บโทนขัดดาบ ๓๐ คู่ ตัวพระยาเพทราชาขี่ช้างพังมีสัปทนกั้น ทนายขัดดาบริ้วหลัง ๒๐ คู่ ทนายตามแถวละยี่สิบคน ๕ แถวเป็น ๑๐๐ คน ต่อนั้นไปถืออาวุธต่างๆ เดินเป็นสี่สายๆ ละสี่สิบคน รวมคนในกระบวนพระยาเพทราชา ๒๐๐ คน กระบวนพระยากําแพง บโทน ๒๕ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๑๕ คู่ ทนายตามแถวละ ๑๖ คน ๕ แถว ๘๐ คน อาวุธต่างๆ ตามหลัง ๔ แถวๆ ละ ๓๕ คน รวมกระบวนนี้ ๑๗๐ คน ที่ ๓ กระบวนพระยาพระกฤษณรักษ์ บโทนขัดดาบนำ ๒๐ คู่ ทนายขัดดาบตาม ๑๒ คู่ ทนายตามแถวละ ๑๒ คน ๕ แถว ๖๐ คน อาวุธต่างๆ สี่สายๆ ละ ๒๙ รวม ๑๑๖ คน ต่อนั้นไปกระบวนเจ้าพระยามหาเสนา บโทน ๖๐ คู่ กระฉิ่ง ๔ เจ้าพระยามหาเสนาขี่เสลี่ยงแปลง คนหาม ๘ มีบังตะวัน ทนายขัดดาบข้างหลัง ๔๐ ทนายตามแถวละ ๔๐ คน ๕ แถว ๒๐๐ คน อาวุธตาม ๔ แถวๆ ละ ๘๐ คน รวมกระบวนนี้ ๓๒๐ คน กระบวนเจ้าพระยาธรรมา เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยามหาโยธา เป็นกระบวนเสลี่ยงแปลงเหมือนกันทั้งสามกระบวน มีบโทน ๕๐ คู่ ทนายขัดดาบ ๓๒ คู่ ทนายตามแถวละ ๓๒ ห้าแถว ๑๖๐ คน อาวุธต่างๆ ตาม ๔ แถวๆ ละ ๖๙ รวมเป็นกระบวนละ ๒๗๖ คน ขุนนางที่ไปเสลี่ยงนี้สวมเสื้อครุยลอมพอก แต่ที่เป็นกระบวนช้างไม่ได้สวม ต่อกระบวนเสลี่ยงนี้ไปเป็นกระบวนช้าง ที่ ๑ เจ้าพระยาบดินทรเดชา กระบวนเท่ากันกับเจ้าพระยามหาเสนา มีสัปทนบังตะวัน กระฉิ่งเหมือนกัน กระบวนที่ ๒ เจ้าพระยาพระคลังเท่าเจ้าพระยาบดินทรเดชา กระบวนที่ ๓ พระยาศรีพิพัฒน์ ที่ ๔ พระยาราชสุภาวดี ที่ ๕ พระยาจ่าแสนยากร เท่าเจ้าพระยาธรรมา กระบวนที่ ๖ พระยาสุรเสนา บโทน ๔๐ คู่ ทนายขัดดาบ ๒๗ คู่ ทนายตามแถวละ ๒๖ คน ๕ แถว ๑๓๐ อาวุธตามแถว ๕๔ คน ๔ แถว รวม ๒๑๖ คน กระบวนที่ ๗ พระยามหาอำมาตย์ กระบวนที่ ๘ พระยาท้ายน้ำ กระบวนที่ ๙ พระยาสีหราชเดโช กระบวนที่ ๑๐ พระยาเพชรพิชัย กระบวนที่ ๑๑ พระพงศ์อมรินทร์ กระบวนที่ ๑๒ พระยาราชมนตรี กระบวนที่ ๑๓ พระยาเกษตรรักษา กระบวนที่ ๑๔ พระยาพิชัยบุรินทรา กระบวนที่ ๑๕ พระยาไกรโกษา กระบวนที่ ๑๖ พระยานครเขื่อนขันธ์ กระบวนที่ ๑๗ พระยาศรีสรไกร กระบวนที่ ๑๘ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี กระบวนเท่ากันกับพระยาสุรเสนา เมื่อกระบวนแห่เหล่านี้มาถึงหน้าพลับพลา ขุนนางผู้ขี่ช้างถวายบังคม แล้วเลี้ยวเข้าไปยืนเรียงประจําอยู่หน้าพลับพลา แล้วโปรดให้เรียกช้างน้ำมันมาผัดพาฬล่อแพนอยู่ในสามช้างสี่ช้าง ผู้ซึ่งขี่ช้างน้ำมันนั้น ใช้เจ้ากรมปลัดกรมในกรมช้าง มีพระยาราชวังเมืองเป็นต้น ต่อผัดพาฬล่อแพนแล้วจึงได้เดินกระบวน โคกระบือม้ารถต่อไป กระบวนโคธงเสือปีกนํากระบวน ๑ นำริ้วคู่หนึ่ง ประตัก ๑๐ คู่ ตะพด ๑๐ คู่ พิณพาทย์ตีสามหามสี่หว่างริ้วสำรับหนึ่ง คนจูงโคๆ ละ ๔ โค ๕ ตัว ๒๐ คน กระบวนกระบือก็เท่ากัน กระบวนม้าธงห้าชายนำกระบวน ๑ ธงสามชายนําริ้ว ๒ ธงตะขาบ ๑๐ คู่ สารวัตรธง ๑ ธนู ๑๐ สารวัตรธนู ๑ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ ทวน ๒๐ สารวัตรทวน ๑ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ แส้หวาย ๔ คู่ ธงตะขาบคั่นคู่ ๑ กระบองกลึงคู่หนึ่ง สายในปี่กลองมลายู ๑๘ คนสำรับ ๑ กลองชนะห้าคู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ ขุนหมื่นกรมม้าขี่ม้านํา ๑ ม้าต้นคนจูง ๔ สารวัตรกรมม้า ๑ ถือเครื่องยศ ๒ เจ้ากรมปลัดกรมกรมม้าขี่ม้าตามคู่ ๑ กระบวนม้าอีก ๑๙ กระบวน มีธงตะขาบคู่ ๑ แส้หวาย ๔ คู่ แล้วธงตะขาบคั่นอีกคู่ ๑ กระบองกลึง ๒ คู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ ขุนหมื่นม้านํา ๑ ม้าตาม ๒ จูงม้าต้น ๔ สารวัตร ๑ เครื่องยศ ๒ เหมือนกันทุกๆ กระบวนทั้ง ๑๙ แล้วถึงพิณพาทย์จีนคั่น ๑๔ คน ต่อนั้นไปเป็นกระบวนขุนนางขี่ม้า ที่ ๑ พระยาศรีสุริยพาห บโทนขัดดาบสองแถว ๓๐ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๒๐ คู่ ทนายตาม ๕ แถวๆ ละ ๒๐ คน อาวุธต่างๆ สี่แถวๆ ละ ๔๐ คน เป็น ๑๖๐ คน กระบวนที่ ๒ พระยาเทพวรชุน กระบวนที่ ๓ พระยาราชนิกูล กระบวนที่ ๔ พระยาพิชัยสงคราม กระบวนที่ ๕ พระยารามกําแหง กระบวนที่ ๖ พระยาราชโยธา กระบวนที่ ๗ พระยาเสนาภูเบศร์ กระบวนที่ ๘ พระยาณรงค์วิชัย กระบวนที่ ๙ พระยาอภัยสงคราม กระบวนที่ ๑๐ พระยาราชวังสรรค์ มีกระบวนเท่าๆ กันกับพระยาศรีสุริยพาห สวมเสื้อเข้มขาบกั้นสัปทนทั้งสิ้น ต่อนั้นไปกระบวนรถอีกสาม กระบวนที่ ๑ พระยาจุฬาราชมนตรีขี่รถเก๋งม้าคู่กั้นสัปทน มีคนจูงม้าชักรถ ๒ แขกวรเทศแทนบโทนนำหน้า ๓๐ คนตามเท่ากันกับขุนนางขี่ม้า ที่ ๒ พระยาศรีราชอากร ขี่รถจีนเรียกว่ารถเกี้ยวคนจูง ๒ กั้นสัปทน ๑ บโทนใช้จีน ๔๐ คู่ ทนายขัดดาบตามหลัง ๒๗ คู่ ทนายตาม ๕ แถวๆ ละ ๒๖ คน อาวุธต่างๆ สี่แถวๆ ละ ๕๔ คน เป็นคน ๒๑๖ คน ที่ ๓ พระยาวิเศษสงคราม ขี่รถฝรั่งสี่ล้อเทียมม้าคู่ คนจูง ๒ กั้นสัปทน ๑ ฝรั่งแทนบโทนแห่หน้า ๓๐ คู่ กระบวนตามเหมือนพระยาจุฬาราชมนตรี กระบวนม้ากระบวนรถนี้ไม่ได้ยืนหน้าที่นั่ง เมื่อผ่านพ้นไปแล้วจึงให้เรียกม้าห้อ ม้าห้อนั้นกําหนดว่า ๑๒๐ ม้า แต่จะเป็นม้าต่างหากหรือม้าในกระบวนที่เดินแห่แล้วกลับลงมาห้อ แล้ววนกลับมาอีกเล่านั้นไม่ทราบเลย รับประกันไม่ได้

การแห่สระสนานใหญ่เช่นนี้ ไม่ได้แห่เวลาเย็นเหมือนคเชนทรัศวสนาน ใช้แห่แต่เวลาเช้ากว่าจะสิ้นกระบวนเสด็จขึ้นเกือบตกบ่าย เวลาเสด็จขึ้นแล้วข้าราชการที่ต้องแห่สระสนาน ยืนช้างอยู่หน้าพลับพลานั้น ลงจากช้างมารับพระราชทานเลี้ยงที่ที่พัก แล้วมีมวยมีกระบี่กระบองไปจนเวลาเย็น เสนาบดีเป็นผู้ตกรางวัล ต่อเวลาเย็นเลิกการเล่นทั้งปวงแล้วจึงได้กลับไปบ้าน ตามที่เล่ากันมาว่าในเวลาแห่สระสนานนั้น คนดูเป็นผู้ชายน้อย ด้วยต้องเข้ากระบวนเสียโดยมาก เวลาแต่ก่อนนี้คนในกรุงเทพฯ ก็ยังไม่มากเหมือนอย่างทุกวันนี้ ดูคงจะบางตาไปได้บ้างจริง อาวุธเครื่องแห่ในรัชกาลที่ ๓ นี้ ที่ทําเป็นอาวุธเหล็กจริงขึ้นนั้น เมื่อเสร็จการสระสนานแล้วพระราชทานเงินหลวงให้ตามราคา รวบรวมมาไว้ในคลังสรรพยุทธ คงยังได้ใช้ราชการแห่แหนมาจนทุกวันนี้ เพราะการสระสนานต้องลงทุนรอนมาก และเป็นการเล่นพิธีเช่นนี้ จึงได้มีแต่แผ่นดินละครั้ง ภายหลังมาในสองรัชกาลนี้ก็ไม่ได้มี ๚
 


เดือนห้า
คเชนทรัศวสนาน

๏ เรื่องคเชนทรัศวสนานนี้ พึ่งมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นเหตุนั้นมีเป็นสองเรื่อง เรื่องหนึ่งคือในหนังสือนพมาศ ซึ่งกล่าวว่าในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอรุณมหาราชกรุงสุโขทัย ได้มีการแห่สนานช้างต้นม้าต้นปีละครั้ง ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว และการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือกที่ยังคงมีอยู่เป็นพิธีพราหมณ์ ไม่มีการอันใดซึ่งเกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนา ก็การพระราชพิธีอันใดซึ่งเป็นพิธีประจําพระนคร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มเติมให้เกี่ยวในพระพุทธศาสนาลงอีกหลายอย่าง การพระราชพิธีนี้ อยู่ข้างจะเป็นช่องเหมาะมีที่อ้างอิง ตัวอย่างว่าเป็นการพิธีมงคลมีมาแต่โบราณ จึงได้ทรงเทียบเคียงการเก่ามาตั้งเป็นแบบฉบับขึ้น

ข้อซึ่งนับว่าเป็นการเนื่องในพระพุทธศาสนานั้น คือได้มาจากทีฆาวุชาดก ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสยกเรื่องมาเป็นตัวอย่างเพื่อจะระงับความแตกร้าวกันในหมู่พระสงฆ์ มีเนื้อความตามนิทานชาดกนั้นว่า ในปางก่อน มีพระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ทรงพระนามพระเจ้าพรหมทัต ผ่านสมบัติในเมืองพาราณสี เป็นพระราชธานีนครใหญ่ มีกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามพระเจ้าทีฆีติโกศล ผ่านสมบัติในโกศลราฐ มีเขตแดนใกล้กับเมืองพาราณสี ด้วยจารีตของขัตติยซึ่งถือว่าการที่ไปปราบปรามกษัตริย์ผู้อื่น ถึงแม้ว่าจะไม่มีเหตุอันใดพอที่จะยกขึ้นกล่าว นอกจากที่ไม่ได้อ่อนน้อมยอมอยู่ในใต้อํานาจ ไม่เป็นการผิดธรรมนั้น พระเจ้าพรหมทัตได้ตระเตรียมกองทัพพรักพร้อมจะไปตีเมืองโกศลราฐ พระเจ้าทีฆีติโกศลทราบข่าวศึก เห็นว่ากำลังน้อยจะต่อสู้มิได้ ก็พาพระมเหสีหนีออกจากพระนครก่อนกองทัพยังไม่มาถึง แปรเพศเป็นปริพาชกเข้าไปอาศัยช่างหม้ออยู่ในเขตแดนเมืองพาราณสี ฝ่ายพระเจ้าพรหมทัตยกกองทัพไปถึงเมืองโกศลราฐไม่มีผู้ใดต่อสู้ ก็เก็บทรัพย์สมบัติกวาดครอบครัวกลับคืนพระนคร พระเจ้าทีฆีติโกศลกับพระมเหสีอาศัยอยู่กับนายช่างหม้อ ไม่นานพระมเหสีก็ทรงพระครรภ์ ด้วยอำนาจพระราชโอรสซึ่งปฏิสนธิในครรภ์มีบุญสมภารใหญ่ จึงบันดาลให้พระมเหสีปรารถนาจะใคร่ดูจตุรงคเสนาสี่เหล่าอันมีอาวุธพรักพร้อมอย่างในยุทธภูมิ และอยากจะดื่มน้ำล้างพระแสงทรงของพระเจ้าแผ่นดิน จึงทูลแก่พระราชสามี พระเจ้าทีฆีติโกศลก็ขัดข้องในพระหฤทัย ด้วยสิ้นอํานาจเสียแล้ว จึงไปแจ้งความแก่พราหมณ์ปุโรหิตซึ่งเป็นที่ไว้ใจ พราหมณ์ปุโรหิตผู้นั้นชำนาญในการสังเกตนิมิตเข้าใจว่าพระราชโอรสนั้นจะมีบุญญาธิการ จึงรับธุระมาทูลพระเจ้าพรหมทัตขอให้ประชุมพลจตุรงค์ และให้ชำระพระแสงเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่พระนคร พระเจ้าพรหมทัตก็โปรดให้จัดการตามคําปุโรหิตกราบทูล พระราชเทวีพระเจ้าทีฆีติโกศล ก็ได้เห็นพลจตุรงค์เสนาและได้ดื่มน้ำล้างพระแสงสมดังความปรารถนา อยู่มามินานพระราชเทวีก็ประสูติพระราชโอรสประกอบด้วยธัญญลักษณสมบัติ จึงขนานนามว่าทีฆาวุกุมาร ครั้นเจริญขึ้นแล้วพระบิดามารดามิได้ไว้พระหฤทัยด้วยอาศัยอยู่ในเมืองปัจจามิตร ถ้ามีผู้รู้เหตุผลภัยมาถึง ก็จะพลอยพาให้พระโอรสถึงความพินาศด้วย จึ่งได้พาทีฆาวุกุมารไปฝากนายหัตถาจารย์ไว้ นายหัตถาจารย์ก็บํารุงพระราชกุมารจนเจริญวัย

การที่พระเจ้าทีฆีติโกศลมาอาศัยอยู่ในเมืองพาราณสีนั้นไม่มิด มีผู้กราบทูลพระเจ้าพรหมทัต พระเจ้าพรหมทัตจึงสั่งให้พนักงานฆ่าโจรไปจับพระเจ้าทีฆีติโกศลและพระมเหสีผูกมัดมาจะพาไปยังที่สำเร็จโทษ เมื่อทีฆาวุกุมารได้ทราบเหตุก็รีบติดตามมาพบพระบิดามารดาที่กลางทาง เมื่อพระเจ้าทีฆีติโกศลเห็นโอรส ก็ทําเพิกเฉยเสียเหมือนไม่รู้จัก แล้วตรัสเปรยๆ ไปว่า ทีฆาวุเอ๋ยเจ้าอย่าเห็นแก่การสั้น และอย่าเห็นแก่การยาว เวรไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมสงบระงับไปด้วยไม่มีเวร ฝ่ายเจ้าพนักงานฆ่าโจรไม่ทันสังเกตเนื้อความนั้น ก็เข้าใจเสียว่าพระเจ้าทีฆีติโกศลตรัสเพ้อไปด้วยความกลัวภัยเป็นอย่างพิกลจริต แต่ทีฆาวุกุมารรู้ว่าพระบิดาให้โอวาท ก็กําหนดจําไว้มั่นคง ฝ่ายพวกพนักงานฆ่าโจรก็พาสองกษัตริย์ไปประหารด้วยอาวุธ บั่นเป็นท่อนๆ ไว้ในทิศสี่ตามธรรมเนียมฆ่าโจร เมื่อพวกฆ่าโจรสำเร็จโทษสองกษัตริย์เสร็จแล้ว ทีฆาวุกุมารจึงเก็บดอกไม้ไปบูชานบนอบประทักษิณพระศพเสร็จแล้ว ให้สินบนแก่พวกพนักงานฆ่าโจร ให้ช่วยเก็บศพพระบิดามารดาเผาเสียแล้วก็อาศัยอยู่กับนายหัตถาจารย์ต่อมาจนเจริญใหญ่ นายหัตถาจารย์จึงได้นำเข้าไปถวายตัวให้ทําราชการในพระเจ้าพรหมทัต ด้วยบุญญาภินิหารของทีฆาวุกุมารบันดาลให้พระเจ้าพรหมทัตโปรดปรานใช้สอยอย่างสนิทชิดชอบพระอัธยาศัยทุกประการ

ครั้งหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสด็จไปประพาสป่า โปรดให้ทีฆาวุกุมารเป็นสารถี ทีฆาวุกุมารขับรถพระที่นั่งไปโดยเร็วจนกระบวนล้าหมดตามเสด็จไม่ทัน เมื่อไปในราวป่าถึงต้นไทรใหญ่ร่มชิด พระเจ้าพรหมทัตจึงสั่งให้หยุดรถประทับพักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มไทร โปรดให้ทีฆาวุนั่งลง แล้วเอนพระเศียรพาดตักทีฆาวุกุมารบรรทมหลับไป ฝ่ายทีฆาวุกุมารคิดว่า พระเจ้าพรหมทัตฆ่านี้บิดามารดาเราเสีย ครั้งนี้เป็นช่องที่เราจะตอบแทนได้แล้ว เราจะประหารชีวิตพระเจ้าพรหมทัตเสียบ้าง คิดแล้วเอื้อมไปชักพระแสงออกจากฝักจะฟันพระเจ้าพรหมทัต แล้วได้สติคิดถึงโอวาทของพระบิดาว่า เวรไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมสงบระงับไปด้วยไม่มีเวร เราจะล่วงละเมิดคำสอนของบิดานั้นไม่ควร คิดแล้วสอดพระแสงเข้าไว้ในฝักดังเก่า แล้วกลับคิดอีกว่าเมื่อไรเล่าจะได้ช่องอย่างนี้ เราจะตอบแทนเสียให้ทันท่วงทีดีกว่า จึงชักพระแสงออกจากฝักจะประหารพระเจ้าพรหมทัตอีก แล้วมีสติระลึกถึงโอวาทพระบิดายั้งไว้ได้อีก สอดพระแสงเข้าไว้ในฝักดังเก่า แต่ทําดังนี้อยู่หลายครั้งจนพระเจ้าพรหมทัตบรรทมตื่นขึ้นตรัสถาม ทีฆาวุกุมารจึงกราบทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่ถือโทษโปรดให้ชีวิตข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจึงจะกราบทูลความเรื่องนี้ พระเจ้าพรหมทัตก็ทรงอนุญาตประทานความสัตย์แก่ทีฆาวุกุมาร ทีฆาวุกุมารก็ถวายสัตย์แก่พระเจ้าพรหมทัต ว่าจะไม่ประทุษร้ายกันแล้วจึงได้เล่าเหตุถวายตามที่เป็นนั้นทุกประการ พระเจ้าพรหมทัตก็มิได้มีพระหฤทัยรังเกียจ โปรดให้อภัยแก่ทีฆาวุ ให้ขับราชรถกลับคืนยังพระนคร แต่นั้นมาพระเจ้าพรหมทัตก็โปรดปรานทีฆาวุกุมารยิ่งขึ้น ชุบเลี้ยงให้มียศศักดิ์ศฤงคารคล้ายกับลูกหลวงเอก อยู่ไม่นานนักก็โปรดให้ทีฆาวุไปครองโกศลชนบท ซึ่งเป็นที่เดิมของบิดา ครั้นอยู่นานมาพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต ไม่มีพระราชโอรส ทีฆาวุกุมารก็ได้รับราชสมบัติในเมืองพาราณสี ดํารงพิภพทั้งสองพระนคร เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบวงศ์กษัตริย์ต่อไป

มีข้อความในทีฆาวุชาดกดังนี้ จึงถือว่าการซึ่งประชุมจตุรงคเสนาสี่หมู่ และชําระพระขรรค์เป็นการสวัสดิมงคลให้เจริญความสัตย์และระงับเวรแต่โบราณมา เป็นพระราชพิธีเนื่องกันทั้งถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา และการพระราชพิธีนี้ เรียกชื่อติดกันว่าขรรคโธวนพิธีศรีสัจจปานกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเพิ่มเติมการพระราชกุศลขึ้นเป็นพิธีสงฆ์ ตั้งที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทซึ่งเป็นที่ทอดพระเนตรกระบวนแห่ พระแท่นมณฑลที่ใช้ในการพระราชพิธีนี้ ใช้เครื่องช้างเครื่องม้าตั้งแทน คือตั้งม้าทองใหญ่เรียงติดๆ กันไปสามม้า ข้างเหนือตั้งพระที่นั่งกาญจนฉันท์ที่สำหรับทรงพระชัยนำเสด็จ พระที่ตั้งในการพระราชพิธีนี้ใช้พระชัยเงินองค์น้อย ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเคยใช้อยู่ในการช้างๆ เป็นอันมาก และพระชัยเนาวโลหะน้อยมีหม้อน้ำสำริดติดเทียนเล่มหนึ่งตั้งใบหนึ่ง หีบเครื่องพิชัยสงคราม ๒ หีบ ใต้กูบวางเครื่องช้างชนักต้น หลังพระที่นั่งกาญจนฉันท์นี้ผูกราวบันไดแล้วพาดพระแสงขอ คือ พระแสงเจ้าพระยาแสนพลพ่าย พระแเสงขอเกราะ พระแสงขอหอก พระแสงขอธารพระกร พระแสงของ้าวดับเพลิง พระแสงขอต่างๆ นี้อย่างละองค์หนึ่งบ้างสององค์บ้าง รวมด้วยกันเป็นพระแสงขอ ๑๑ องค์ มีม้ากลางตั้งพระคชาธารปักบวรเศวตฉัตร ๗ ชั้น ประดับด้วยเครื่องพระคชาธาร คือธงนารายณ์สองข้าง และตรงกลาง เป็นสามธงด้วยกัน มีราวพาดพระแสงสองข้าง คือพระแสงทวนคู่ ๑ พระแสงตรีด้ามยาวคู่ ๑ พระแสงง้าวคู่ ๑ พระแสงหอกซัดคู่ ๑ แพนหางนกยูงคู่ ๑ พระแสงซึ่งตั้งพระราชพิธีถือน้ำแล้วเชิญไปตั้งบนพระคชาธาร คือพระแสงศรสาม พระขรรค์ชัยศรี พระขรรค์เนาวโลหะ พระแสงเวียต พระแสงฟันปลาฝักประดับพลอยแดง พระแสงทรงเดิมฝักมุก พระแสงฝักทองเกลี้ยง เครื่องประดับเพชร พระแสงตรีเพชร พระแส้หางช้างเผือก พระแสงทั้งนี้ตั้งบนพานทองสองชั้น แต่ธารพระกรเทวรูป ธารพระกรศักดิ์สิทธิ์ ผูกควบคันพระเศวตฉัตร หีบพระแสงจีบกับพระแสงปืนสั้นวางอยู่กับพื้นพระคชาธาร มาข้างตะวันตกตั้งเครื่องม้าพระที่นั่ง คือพระที่นั่งอานเทพประณม ๑ อานครุฑกุดั่น ๑ อานฝรั่งปักทอง ๒ เป็น ๔ เครื่อง พระแส้สององค์ ตั้งเต้าลอนทองเหลืองสี่เต้า และบาตรน้ำมนต์ด้วย พระสงฆ์ที่สวดมนต์ใช้พระราชาคณะไทยนำ พระครูปริตรไทย ๔ พระราชาคณะรามัญนำพระครูปริตรรามัญ ๔

เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไม่ใคร่ขาด เพราะใกล้พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงจุดเครื่องนมัสการทรงศีลแล้ว อาลักษณ์อ่านคําประกาศ คําประกาศนั้นเริ่มว่า ขอประกาศแก่พระสงฆ์และเทพยดา ว่าพระเจ้าแผ่นดินได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงพระราชดําริถึงการแต่ก่อน เคยทําพระราชพิธีซึ่งเรียกว่าขรรคโธวนพิธีศรีสัจจปานกาล ชําระอาวุธและดื่มน้ำพระพิพัฒน์ ซึ่งเรียกว่าพระราชพิธีธรรมิกมงคล ให้เจริญความสามัคคีซื่อตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน ในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งปวง ช่วยกันปราบปรามหมู่ปัจจามิตรรักษาพระราชอาณาเขต เป็นการยั่วยวนใจให้หมู่ทหารทั้งปวงเกิดความกล้าหาญ เคยทําปีละสองครั้งเป็นกําหนด ทรงพระราชดําริถึงพระคุณพระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณสืบมา จึงได้ทรงบําเพ็ญพระราชกุศลและให้ตั้งการพระราชพิธี เพื่อจะให้บรมราชพาหนะทั้งปวงเป็นสุขสบายด้วยอำนาจที่ได้ทรงบําเพ็ญพระราชกุศล และการพระราชพิธีนี้บันดาลให้คชตระกูลทั้งปวงมาสู่พระบารมี คือช้างนั้นช้างนั้นออกชื่อพระยาช้างทั้งปวงเต็มตลอดสร้อย จนถึงพระยาปราบไตรจักร พลายปานพลแสน พลายเล็บครบ และช้างวิเศษพลายพังอยู่ในกรุง อีกช้างต่อช้างเถื่อนพลายพังทั้งปวงที่อยู่กรุงเก่าและกองนอกหัวเมือง ม้าก็ว่าชื่อม้าระวางบรรดาที่มีอยู่ จนตลอดถึงม้าเกราะทองซ้ายขวา ม้าแซงนอกซ้ายขวา แล้วจึงได้ว่าถึงเรื่องนิทานที่มาในขันธกวินัย คือทีฆาวุชาดกโดยย่อดังได้กล่าวพิสดารมาข้างต้นแล้วนั้น ลงท้ายก็เป็นคําขอพรตามแบบประกาศทั้งปวงแปลกบ้างเล็กน้อยตามเหตุผลของพระราชพิธี แล้วพระสงฆ์จึงได้สวดมนต์

รุ่งขึ้นเวลาเช้าพระสงฆ์รับพระราชทานฉัน ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปักปะรำ ปะรำละสามห้อง สี่ปะรำเรียงห่างกันเป็นระยะเป็นที่จตุรงคเสนาสี่หมู่มายืน วิธีจัดเสนาในเรื่องจตุรงค์สี่หมู่นี้จัดตามแบบซึ่งมีมาในวินัย ที่ว่าพระสงฆ์ดูกระบวนเสนาต้องอาบัติปาจิตตีย์ มีคําอธิบายว่าเสนานั้นคืออย่างไร จึงได้ชี้แจงวิธีซึ่งจัดทหารเข้ากองเป็น ทัพช้าง ทัพม้า ทัพรถ ทัพพลเดินเท้า ซึ่งกรมสมเด็จพระปรมานุชิตก็ได้ทรงยกมาว่าไว้ในหนังสือนครกัณฑ์อีกแห่งหนึ่ง เป็นวิธีจัดทหารเป็นหมู่เช่นกับเซกชัน แล้วรวมเป็นกัมปนี เป็นเรยิเมนต์ เป็นแบ็ดตะเลียนขึ้นไปตามลำดับ แต่ตำราที่ค้นได้กันนี้ คงจะไม่พอตลอดที่จะรู้ได้ทั่วถึงว่าวิธีจัดทหารอย่างโบราณนั้น เขาจัดหมวดจัดกองกันอย่างไร เพราะไม่ประสงค์ที่จะว่าให้เป็นตําราทหาร ประสงค์แต่จะว่า ว่าเมื่อภิกษุดูกองทหารเช่นนั้นเท่านั้น นับว่าเป็นกระบวนเสนาต้องอาบัติปาจิตตีย์เหมือนกับกําหนดว่าภิกษุถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ให้ ตั้งแต่ห้ามาสกหรือสองสลึงเฟื้องขึ้นไปเป็นต้องอทินนาทานปาราชิก แต่ฝ่ายเราที่ต้องการจะยกมาจัดเอาอย่างบ้างนั้น ด้วยความประสงค์ที่จะให้เหมือนกับจตุรงคเสนาที่พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติโกศลได้เห็นนั้นอย่างหนึ่ง และเป็นการพระราชพิธีอยู่ ถ้าเข้าบาล่ำบาลีอยู่บ้างดูเป็นมงคลมากขึ้น จึงจัดอย่างย่อๆ เพียงเซกชันหนึ่ง ตามที่มีปรากฏชัดเจน แต่ที่แท้พระมเหสีพระเจ้าทีฆีติโกศลคงจะได้ดูริวิ้วใหญ่ คงจะไม่ใช่ดูย่อๆ เช่นนี้เป็นแน่ ถ้าเรามีริวิ้วใหญ่ ประชุมทหารหมู่ใหญ่ได้เมื่อใด จะนับว่าเป็นสวัสดิมงคลยิ่งกว่าดูจตุรงคเสนานี้ได้เป็นแน่ จตุรงคเสนาที่จัดมายืนในเวลาเช้าสี่หมู่นี้ คือปะรําหนึ่ง พลช้างสามช้าง ผูกสัปคับเขน มีหมอควาญประจำ บนสัปคับมีทหารปืนนกสับนั่งช้างละสองคน พลล้อมเชิงถือดาบสองมือประจําเท้าช้างเท้าละสองคน เป็นแปดคน ปะรำที่ ๒ พลม้าสามม้า นายทหารม้าขี่สามคน พลล้อมเชิงถือง้าวสองคน เครื่องม้าผูกแพนหางนกยูง ปะรำที่ ๓ พลรถสามรถ รถนั้นเป็นรูปเกวียนทาเขียวๆ มีเพดาน เทียมโคผูกเครื่องอาวุธต่างๆ มีเสนารถคนหนึ่ง สารถีคนหนึ่ง คนล้อมรถถือดาบเขนรถละสี่คน ปะรำที่ ๔ พลเดินเท้าสามพวกๆ ละ ๑๒ คน พวกหนึ่งถือดาบเชลย พวกหนึ่งถือทวน พวกหนึ่งถือตรี รวมทั้งสี่ปะรำ เป็นคน ๙๓ คนนับเป็นกัมปนีหนึ่ง เมื่อใช้ทั้งสี่อย่างปนกันหรือเป็นอย่างละเซกชันในหมู่ทหารพวกหนึ่งๆ เมื่อเวลาเลี้ยงพระสงฆ์แล้วเคยโปรดให้กระบวนเสนาทั้งสี่หมู่นี้เดินไปเดินมาตามถนนหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์

เมื่อเสด็จขึ้นแล้ว พระพฤฒิบาศเชิญหม้อสำริดซึ่งตั้งอยู่ในพระราชพิธี ลงมาอ่านเวทพระอุเทน เป่าสังข์ถึงเจ็ดลา แล้วเชิญพระแสงซึ่งไปตั้งในพระราชพิธีนั้น ลงชุบในหม้อ น้ำในหม้อนี้สำหรับส่งข้างใน ถวายพระอัครมเหสีและพระสนมกํานัล เสวยและรับพระราชทาน แต่ภายหลังมานี้ดูรวมๆ กันไปอย่างไรไม่ทราบ ด้วยลัทธิที่ถือกันว่ามีครรภ์ กินน้ำมนต์แล้วลูกตกมีหนามาก อีกนัยหนึ่งที่เพ้อกันไปว่า เป็นน้ำล้างศัสตราอาวุธจะเข้าไปบาดลูกบาดเต้าหรือเป็นลูกของท่านไม่ต้องถือน้ำ ดูอุบๆ อิบๆ กันอยู่อย่างไรไม่เข้าใจชัด อยู่ในเป็นถ้าเวลาถือน้ำใครมีครรภ์ก็ไม่ไปถือน้ำโดยมาก จนคนนอกวังพลอยถือด้วยก็มีชุม ส่วนคนในวังที่เป็นคนดีๆ ไม่เชื่อถือตำรานี้ เวลามีครรภ์อ่อนๆ ไปถือน้ำ ก็ไม่มีผู้ใดเป็นอันตรายอย่างใด เว้นไว้แต่เวลาที่มีครรภ์แก่ ไม่งามที่จะเข้าประชุมจึงได้งดเว้นก็มีอยู่บ้าง อีกนัยหนึ่งพึ่งได้ทราบมาว่า มีผู้ถือกันว่าทารกที่เกิดมาในครรภ์นั้นเป็นสัตว์ไม่มีบาป ถ้ามารดามาถือน้ำมีใจทุจริตคิดประทุษร้ายอยู่อย่างหนึ่งอย่างใด ก็จะพาให้ทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีบาปนั้นพลอยเป็นอันตรายด้วย ความคิดอันนี้เป็นการผิดมากไปยิ่งกว่าที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นสองอย่างหรือสามอย่าง คือข้อซึ่งว่ามีครรภ์อยู่กินน้ำมนต์มักจะทําให้ลูกตก ที่ถือเช่นนี้ไม่เลือกว่าน้ำมนต์อันใด น้ำพระพิพัฒน์นี้ก็นับว่าเป็นน้ำมนต์ ซึ่งพระสงฆ์ได้สวดปริตรแล้วอย่างหนึ่งเหมือนกันจึงถือด้วย เหตุที่ถือกันขึ้นนี้คงจะเกิดขึ้นด้วยน้ำสะเดาะ ที่เวลาคลอดลูกขัดข้องไม่สะดวก ก็มักจะมีผู้หลักผู้ใหญ่หรือมดหมอเสกน้ำสะเดาะให้กิน คาถาที่เสกน้ำสะเดาะนั้นมักจะเป็น ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะชาติยา ชาโต เป็นต้น หรือมีคาถาที่เป็นภาษาไทยแต่งอย่างมคธซึมซาบต่างๆ ตามลัทธิที่เคยถือมา ก็สวดปริตรทั้งปวง เช่นสิบสองตำนาน เจ็ดตํานานก็คงมีบทว่า ยะโตหัง ภะคินิ ด้วย กลัวจะไม่รั้งรอจะไปช่วยผลักช่วยรุนออกมาเสียแต่ยังไม่ถึงกําหนด ก็เอาเถิดว่าเป็นคนขี้เชื่อก็เชื่อไป อีกอย่างหนึ่งซึ่งกลัวว่าเป็นน้ำศัสตราวุธจะไปบาดเด็กในท้องนั้นก็เป็นการถือยับถือเยินด้วยความขลาด ให้เสียวไส้ไป ดูก็ไม่กระไรนัก การที่ถือว่าเป็นลูกเป็นเต้าของท่านไม่ต้องถือน้ำนั้น ก็เป็นอย่างซึมซาบเซอะซะเหลวเลอะไป เพราะเจ้านายลูกเธอเขาก็ต้องถือน้ำด้วยกันทั้งสิ้น ดูก็เป็นเซอะซะไปเสียไม่สู้กระไรนัก แต่ข้อซึ่งกลัวว่ามารดามีใจทุจริตจะพาให้ทารกซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีบาปพลอยเป็นอันตรายด้วย จึงไม่ถือน้ำเป็นการทําวินัยกรรมแก้ไขหลีกเลี่ยงนั้นเป็นการโกงมาก และโกงก็ไม่รอดตัวด้วย ใครผู้ใดจะเป็นประกันได้ ว่าคำสาบานและน้ำพระพิพัฒน์ที่ได้ถวายสัตย์และดื่มไว้แล้วหกเดือนล่วงมานั้น จะจืดสิ้นพิษสงลงในหกเดือนเป็นแน่แล้ว หรือจะมีผู้ใดมารับประกันว่าให้คิดการทุจริตอย่างไรอย่างไรก็คิดไปเถิด แต่ให้เว้นดื่มน้ำพระพิพัฒน์เสียคราวหนึ่งแล้วจะไม่มีอันตรายอันใดเลย ก็ถ้าหากอันตรายที่ดื่มน้ำพระพิพัฒน์ในเวลามีครรภ์อยู่นั้น จะทำอันตรายแก่ตัวมารดาซึ่งมีใจทุจริตได้ น้ำพระพิพัฒน์ที่ดื่มมาแต่ก่อนๆ ก็คงจะตามมาทำอันตรายได้เหมือนกัน จึงเห็นว่าการที่ถืออย่างชั้นหลังนี้ใช้ไม่ได้ ถ้าพูดออกก็เห็นเป็นการโกงไม่งามเลย มีดีอยู่ท่าเดียวแต่เพียงว่าเวลามีครรภ์ไม่สมควรจะเข้าในที่ประชุม มีความอับอายเป็นสนิทกว่าอย่างอื่นหมด ก็แต่น้ำซึ่งทําในพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ซึ่งไม่มีผู้บริโภคนี้จะเป็นมาแต่ครั้งไรก็ไม่ทราบ คงจะเป็นด้วยเหตุที่ถือลัทธิเล็กน้อยเหล่านี้นั้นเอง ยังคงอยู่แต่ถ้าพระอัครมเหสี พระราชเทวี หรือเจ้าจอมอยู่งานคนใดมีครรภ์ ก็ออกไปที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ดูจตุรงคเสนาและรับน้ำสังข์ ซึ่งพราหมณ์พฤฒิบาศมารดให้เป็นธรรมเนียมสืบมาจนทุกวันนี้ เป็นเสร็จการในเวลาเช้า

ครั้นเวลาบ่ายจึงได้ตั้งกระบวนแห่เดินแห่คเชนทรัศวสนานก็อย่างสระสนานนั้นเอง เป็นแต่ย่อเตี้ยๆ ลงพอสมควร คือ
กระบวนแรกธงห้าชายนำ ๑ ธงมังกร ๑๕ คู่ ธนูหางไก่ ๕ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๕ คู่ แล้วธงมังกรอีก ๕ คู่ จึงถึงกลองชนะ ๕ คู่ มีแต่จ่าปี่ ไม่มีจ่ากลอง พระที่นั่งกาญจนฉันท์ผูกช้างพลายมีชื่อทรงพระเทวกรรม เดินข้างช้าง แส้หวาย ๑๐ คู่ กระบองกลึง ๖ คู่

กระบวนที่ ๒ ช้างดั้ง เมื่อยังไม่มีทหารช้างก็แต่งกระบวนมีพลล้อมเชิง เหมือนอย่างเช่นที่มายืนหน้าพลับพลาเวลาเช้า แต่ครั้นเมื่อมีทหารช้างแล้ว เปลี่ยนเป็นกระบวนทหาร มีธง แตร ออกหน้า ช้างทหาร ๖ ช้างผูกสัปคับเขน มีทหารประจํากลางสัปคับ ๒ หมอ ๑ ควาญ ๑ มีทหารเดินเท้าคั่น ๖ ตับๆ ละ ๒๔ คน เป็นกระบวนหนึ่ง

กระบวนที่ ๓ ธงห้าชายนํากระบวน ธงสามชายนำริ้ว ธงมังกร ๕ คู่ ธนูหางไก่ ๑๐ คู่ ธงมังกรคั่นคู่ ๑ ทวน ๑๐ คู่ ธงเสือปีก ๒ คู่ กลองชนะ ๑๐ คู่ มีจ่าปี่จ่ากลอง แตรงอน ๖ คู่ แตรฝรั่ง ๔ คู่ สังข์คู่ ๑ ช้างพังนำผูกเครื่องสักหลาด แส้หวายข้างช้าง ๘ คู่ กระบองกลึง ๖ คู่ กระฉิ่งเกล็ดคู่ ๑ จึงถึงพระยาช้าง เครื่องยศตาม กล้วยอ้อยมะพร้าวหญ้า หม้อน้ำสอง แส้หางม้าคู่หนึ่ง ช้างพังทูนบาศตามคู่หนึ่ง ต่อนั้นพระยาวานรเผือก คนหามไม้คานสอง สัปทนกั้นหนึ่ง มีโต๊ะเครื่องยศสอง เป็นกระบวนหนึ่ง กระบวนเช่นนี้พระยาช้างมีอยู่กี่ช้างในเวลานั้น ก็จัดกระบวนขึ้นตามรายตัว จํานวนคนก็เกือบๆ จะเท่ากัน ลดบ้างเล็กน้อย แต่พระยาวานรนั้น เฉพาะมีแต่กระบวนช้างเผือกพัง ที่ว่านี้อยู่ข้างจะเป็นอย่างหมาย แต่ที่จริงนั้นมักจะเห็นเต็มกระบวนอยู่เพียงสองกระบวนหรือสามกระบวน ที่พระยาช้างเหลือกว่านั้นมักจะเดินต่อๆ กันมาเปล่าๆ โดยมาก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 15:35:45 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #18 เมื่อ: 28 มิถุนายน 2561 15:43:33 »



เดือนห้า
คเชนทรัศวสนาน (ต่อ)

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนช้างอย่างโท เครื่องแห่ก็คล้ายๆ กันกับกระบวนก่อน เป็นแต่ลดน้อยลงไป ใช้กลองชนะเขียว ยกแตรสังข์จ่ากลอง คงแต่จ่าปี่ประโคมอย่างที่เรียกว่าสี่ไม้ กระบวนโทนี้ก็เกณฑ์เป็นรายตัวช้างอีก แต่ก็มีกระบวนเดียวเดินต่อๆ กันทุกครั้ง

ถัดนั้นจึงถึงพระที่นั่งละคอ ถ้าหน้าแล้งคือเดือน ๕ ผูกเครื่องแถบกุดั่น หน้าฝนคือเดือน ๑๐ ผูกเครื่องลูกพลูแถบกลม ผูกพนาศน์พระที่นั่งทั้งสองคราว

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนพระราชวังบวรฯ มีช้างพังสีประหลาดซึ่งพระราชทานไปแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวช้างหนึ่ง แต่งกระบวนอย่างโท ช้างพลายอีกช้างหนึ่ง ผูกพระคชาธารปักเศวตฉัตรห้าชั้น มีคนฟ้อนแพนกลางช้าง เป็นสิ้นกระบวนช้าง

ต่อนั้นไปกระบวนม้า มีธงห้าชายนำกระบวน ๑ ธงสามชายนำริ้วคู่ ๑ ธงตะขาบ ๑๐ คู่ ธนูหางไก่ ๑๐ คู่ ธงตะขาบคั่นทวน ๑๐ คู่ ปี่กลองมลายูเดินหว่างริ้ว กลอง ๔ ปี่ ๒ ฉาบ ๔ กลองชนะ ๕ คู่ มีแต่จ่าปี่ กระบองกลึง ๕ คู่ ทหารม้าเกราะทอง ๒๔ เดินสองแถว ตัวนายกรมม้าสวมเสื้อเยียรบับโพกสีขลิบทองนำคู่ ๑ แล้วจึงถึงม้าพระที่นั่งคนจูง ๔ กระฉิ่งสอง เครื่องยศ ๒ แส้ ๑ ม้าที่ใช้เดินอยู่ใน ๖ ม้าเป็นกําหนด ม้าพระที่นั่งตัวหนึ่ง มีเจ้ากรมปลัดกรมกรมม้าขี่ม้านําคู่ ๑ ทุกม้า แต่ไม่มีกระบวนธนูและทวน แยกเป็นกระบวนใช้เดินต่อๆ กัน มีแต่กระฉิ่งเกล็ดเครื่องยศคั่น

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนม้าวังหน้าสองม้า ปลายกระบวนพิณพาทย์จีนสำรับหนึ่ง

สิ้นกระบวนม้าแล้วถึงกระบวนโค ธงเสือปีกนำกระบวน ๑ นำริ้ว ๒ ประตัก ๑๐ คู่ ธงเสือปีกคั่นคู่ ๑ ตะพด ๑๐ คู่ กลองแขกหว่างกระบวนสำรับหนึ่ง จึงถึงโค ๖ โค คนจูงโคละ ๔ สิ้นกระบวนโคแล้ว กระบวนกระบือเหมือนกันกับกระบวนโค แต่มักจะควบเป็นกระบวนเดียวกันโดยมาก

ต่อนั้นไปเป็นกระบวนรันแทะเทียมโคเหมือนอย่างที่มายืนหน้าพลับพลาเวลาเช้าสามรันแทะ ต่อไปจึงเป็นรถพระที่นั่งทรงที่นั่งรองซึ่งใช้อยู่เป็นปรกติ

ต่อไปเป็นกระบวนทหารปืนใหญ่สามบอก มีธง ขลุ่ย กลอง หมดทหารปืนใหญ่แล้ว ถึงทหารปืนเล็ก มีแตรวง ทหาร ๒๐๐ กระบวนเหล่านี้เดินลงไปถึงท้ายป้อมมณีปราการ มีเกยข้างถนนสองเกย เกยข้างตะวันออกราชบัณฑิตคอยประน้ำพระพุทธมนต์ เกยข้างตะวันตกพราหมณ์สองคนคอยรดน้ำสังข์ กระบวนทั้งปวงเดินเลี้ยวทางถนนท้ายสนม แต่ทหารปืนเล็กเดินเวียนกลับเข้าไปในสนามมายืนรายหน้าพลับพลา

เมื่อเดินกระบวนสิ้นแล้ว ถ้าเป็นเดือน ๕ แต่ก่อนเคยมีผัดพาฬปักปะรําสองข้าง คนออกผัดพาฬบ้าง ขี่ม้าล่อแพนบ้าง บางปีก็มีช้างหนึ่ง บางปีก็มีสองช้าง แต่ก่อนๆ มีทรงโปรยทานเวลานั้นด้วย ใช้ทรงโปรยด้วยไม้ทานตะวันออกไปถึงกลางสนาม คนเข้ามาแย่งกันในเวลาผัดช้างดูมันช่างไม่กลัวเกรงกันเลย จนไปมีเหตุขึ้นครั้งหนึ่งกําลังคนเข้าไปแย่งทานอยู่ ครั้งนั้นพระบรมไอยเรศกําลังคลั่งมันจัด เห็นคนกลุ่มๆ อยู่ก็วิ่งผ่าเข้าไปในกลางคน คนก็ต่างคนต่างวิ่งหนีไป แต่คนหนึ่งนั้นกําลังคว้ามะนาวอยู่ล้มถลาไป พระบรมไอยเรศตรงเข้าเหยียบศีรษะแบนกับที่ แต่นั้นมาก็ไม่ได้ทรงโปรยทานในเวลาผัดช้างต่อไปอีก

เมื่อช้างน้ำมันกลับแล้ว จึงถึงม้าห้อ ม้าห้อนั้นใช้ม้าซึ่งเข้ากระบวนทั้งสิ้น ยกเสียแต่ม้าพระที่นั่ง มีจำนวนกำหนดว่า ๕๐ แต่ม้าในกระบวนก็ไม่ครบ ๕๐ เมื่อห้อไปถึงท้ายพระที่นั่งสุทไธสวรรย์แล้ว ก็เดินจูงม้ากลับมาทางห้างวิสหลุย[]มาห้อหน้าพลับพลาอีกจนครบจํานวน ๕๐ เป็นการเกรียวกราวเอิกเกริกสนุกสนานกันมากทั้งผัดช้างและม้าห้อ แต่เดือน ๑๐ เป็นฤดูฝน สนามเป็นหลุมเป็นโคลนไม่ได้มีผัดช้าง ม้าห้อนั้นบางปีก็ได้ห้อ บางปีก็ไม่ได้ห้อ

ครั้นวันเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ เจ้าพนักงานจัดบายศรีไปตั้งสมโภชเวียนเทียนพระยาช้างและช้างวิเศษ ช้างพระที่นั่ง ม้าพระที่นั่ง ทุกโรง เป็นเสร็จการพระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน

คําตักเตือนสำหรับการพระราชพิธีนี้ แต่ก่อนๆ มาเคยเสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ทุกๆ คราวมิได้ขาด แต่ในรัชกาลปัจจุบันนี้ เพราะที่ประทับห่างที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ จึงไม่ใคร่จะได้เสด็จพระราชดำเนิน แต่ถึงอย่างไรก็ดี ควรที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่จะมาเฝ้าตามปรกติจะเข้ามาแต่เย็นหน่อยหนึ่ง เผื่อว่าถ้าเสด็จออกจะได้เฝ้าหน้าพลับพลาและบนพลับพลาให้แน่นหนาตามแบบอย่าง การตักเตือนนอกนั้นก็ไม่มีอันใด นอกจากที่จะเตือนกรมยุทนาธิการว่า ถ้าจัดการริวิ้วให้ได้คนมากๆ จริงๆ จะเป็นการสวัสดิมงคลแก่พระนคร และเป็นที่เกรงขามแก่ศัตรูหมู่ปัจจามิตร เป็นเหตุให้ราษฎรมีความสวามิภักดิ์รักใคร่ในพระเจ้าแผ่นดิน ยิ่งกว่ามีพระราชพิธีสระสนานหรือคเชนทรัศวสนานเป็นแท้ ๚
 

-------------------------------------------------------------------------------------
[] นายหลุยซะเวีย ภายหลังได้เป็นขุนภาษาบริวัติ เรียกกันในรัชกาลที่ ๔ ว่าวิสหลุย ตั้งห้างขายของที่ตึกแถว ๒ ชั้นของหลวง อยู่ตรงกับมุมวังสราญรมย์ตึกยังอยู่จนทุกวันนี้


เดือนห้า
พิธีสงกรานต์

๏ การซึ่งกำหนดปีใหม่ของไทยเราเป็นสองขยัก คือเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่งนับว่าเป็นปีใหม่ เพราะเปลี่ยนชื่อปีตามสิบสองนักษัตรคือ ชวด ฉลู ขาล เถาะ เป็นต้นเสียชั้นหนึ่ง แต่ยังไม่เปลี่ยนศก คือท้ายศักราช เพราะศักราชนั้นยังไม่ได้ขึ้นปี ด้วยตามวิธีโหรของเรานับตามโคจรของพระอาทิตย์ ต่อพระอาทิตย์ยกขึ้นราศีเมษเมื่อใด จึงขึ้นศักราชในวันเถลิงศก ในระหว่างซึ่งยังไม่ได้ขึ้นศักราชจึงต้องใช้ปีใหม่ แต่ต้องจดหมายว่ายังเป็นศกเก่าอยู่ การที่ใช้ศกบอก เอก โท ตรี ไปจนกระทั่งถึงสัมฤทธิศกควบท้ายปีลงด้วยนั้น เพราะประสงค์จะจดหมายวันคืนเดือนปีให้สั้น ด้วยเหตุว่าถ้าจะเรียกแต่ปีมีชื่อสิบสองชื่อ เมื่อครบสิบสองปีเข้าแล้ว ต่อไปก็จะวนลงเก่า ถ้าจะจําอะไรมากๆ ยาวๆ ก็มักจะชวนให้เลอะเทอะ วิธีนับปีมีชื่อสิบสองปีนี้ เป็นของคนโบราณนับมีด้วยกันหลายประเทศตลอดจนเมืองจีนเมืองญี่ปุ่น ที่นับตลอดจนถึงเดือนถึงเวลาทุ่มโมง เป็นสิบสองนักษัตรก็มี คนโบราณไม่ใคร่จะสังเกตสังกาจําอันใดมากนัก นับแต่พอรู้อยู่ในเวลาที่ต้องการแล้วก็แล้วกัน แต่เป็นวิธีนับง่าย คนรู้จําได้ซึมซาบใจทั่วถึงกัน เพราะใช้มาช้านานเช่นเมืองจีน เห็นจะได้นับมากว่าสี่พันปีแล้ว จนเหมือนหนึ่งในปัจจุบันนี้ ถ้าจะไปถามคนเก่าๆ ว่าอายุเท่าใด คงจะบอกชื่อตามนักษัตรของปีนั้นทุกคน ที่จะบอกศักราชได้นั้นเกือบจะไม่มีเลยสักคนเดียว เว้นไว้แต่ผู้ที่เป็นโหร ถ้าจะสอบสวนให้รู้ว่าอายุเท่าใด ก็ได้แต่จะต้องคะเนหน้าเอาว่าทรวดทรงสัณฐานจะอยู่สักกี่รอบสิบสองปีมาแล้ว หรือบางคนจะบอกได้เองว่าอยู่มากี่รอบ เพราะนับสั้นสังเกตอันใดไม่ได้เช่นนี้ ครั้นจะนับศักราชก็ดูเป็นการยากที่จะจํากันอย่างยิ่ง และจะต้องเขียนหนังสือยาวไป จึงมีผู้คิดบอกศกลงไว้ข้างท้ายเมื่อปลายศักราช เป็นเศษ ๑ ก็ให้ใช้เอกศก เป็นเศษ ๒ ก็ให้ใช้โทศกไปตามลำดับจนถึงสัมฤทธิศกเป็นสิบปีรอบหนึ่ง ทำให้การที่นับวนๆ กันอยู่ยาวออกไปอีกได้เป็น ๖๐ ปี จึงจะลงเค้าซ้ำเดิม คือชวดสัมฤทธิศก ก็คงเป็นชวดสัมฤทธิศก ฉลูเอกศกก็คงเป็นฉลูเอกศก เมื่อจะใช้เขียนหนังสือก็เขียนได้สั้นๆ ไม่ต้องลงศักราช เหมือนอย่างปีฉลูเอกศกนี้ เลขข้างหน้าพันสองร้อยห้าสิบนั้น เป็นอันจําไว้ในใจไม่ต้องเอามานับ ลงแต่เศษ ๑ เป็นพอแล้ว ถ้าจะเขียนตามความคาดคะเนว่า เมื่อยังไม่เกิดบอกศกท้ายปีขึ้น ก็คงจะต้องเขียนว่าปีฉลูจุลศักราช ๑๒๕๑ (การที่ใช้ว่าปีฉลู ๑๒๕๑ เปล่าๆ เช่นนี้ เป็นของเกิดขึ้นใหม่เมื่อเลียนฝรั่งในเร็วๆ นี้ แต่ก่อนไม่มีใครนึกใช้กัน) การที่ลงเศษศกข้างท้าย จึงทําให้สั้นกว่าที่จะออกชื่อศักราชและเขียนตัวเลข แต่ที่ใช้ๆ กันอยู่ลงทั้งเศษศกทั้งศักราชด้วย เช่นกับปีฉลูเอกศกจุลศักราช ๑๒๕๑ ดูอยู่ข้างจะเฝือต้องทําธุระมากอยู่หน่อยหนึ่ง เพราะเหตุที่ชื่อปีเปลี่ยนเอาต้นเดือนห้าเป็นประมาณ เพื่อจะให้จําง่าย หรือเป็นของนับกันมาเก่าแก่ก่อนที่จะใช้ศักราช ซึ่งตัดเอาพระอาทิตยํขึ้นราศีเมษเป็นเปลี่ยนปี อันเลื่อนไปเลื่อนมาไม่ใคร่คงที่ เพราะสงกรานต์คือเปลี่ยนศักราชนับตามสุริยคติ ปีเดือนนับตามจันทรคติคลาดเคลื่อนกัน จึงได้ต้องเป็นปีใหม่สองหนต่อมา

ในเรื่องที่เปลี่ยนปีนี้ ตามพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงไว้ในคําประกาศแห่งหนึ่งได้นำมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณเล่ม ๒ ฉบับที่ ๑๓ จํานวนเดือน ๑๑ ปี ๑๒๔๗ มีข้อใจความซึ่งว่าด้วยแรกที่จะกําหนดปีนี้ โบราณคิดเห็นว่าฤดูหนาวเป็นเวลาพ้นจากมืดฝนสว่างขึ้นเปรียบเหมือนเวลาเช้า คนโบราณจึงได้คิดนับเอาฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูร้อนเป็นเวลาสว่างร้อนเหมือนกลางวัน จึงได้คิดว่าเป็นกลางปี ฤดูฝนเป็นเวลามืดคลุ้มโดยมาก และฝนพรำเที่ยวไปไหนไม่ใคร่ได้ จึงได้คิดเห็นว่าเป็นเหมือนกลางคืน คนทั้งปวงเป็นอันมากถือว่าเวลาเช้าเป็นต้นวัน กลางคืนเป็นปลายวันฉันใด คนโบราณก็คิดเห็นว่าฤดูเหมันต์ คือฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูคิมห คือฤดูร้อนเป็นกลางปี ฤดูวัสสานะ คือฤดูฝนเป็นปลายปี เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็น ๑ มาแต่เดือนอ้าย ข้อความอื่นๆ ถ้าผู้ใดอยากจะทราบ จงอ่านหนังสือวชิรญาณที่อ้างถึงมาข้างต้นนั้นเถิด ที่ยกมาว่าเดี๋ยวนี้เพื่อจะมาพิจารณาให้เห็น ว่าเหตุใดจึงไม่ตั้งปีใหม่ที่เดือนอ้าย ซึ่งแปลว่าเดือน ๑ มาตั้งปีใหม่ต่อเดือน ๔, เดือน ๖ คิดเห็นว่าความที่ตั้งเดือนอ้ายเป็นเดือน ๑ คงเป็นการถูกต้องตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไว้นี้ แต่วิธีนับเดือนเช่นนี้เห็นจะมีมาก่อนที่นับศักราชเป็นเรื่องเดียวกันกับนับปี เป็นชวด ฉลู ขาล เถาะ ครั้นเมื่อมีผู้ตั้งศักราชขึ้นใช้ อาศัยเหตุที่จะเริ่มต้นตั้งศักราช เช่นพระพุทธศักราช นับตั้งแต่วันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ต้องไปตั้งสงกรานต์เอาในวันวิสาขบุรณมี ซึ่งเป็นหัวรอบเหมือนอย่างกับนับเป็นเดือน ๑ ขึ้นใหม่นั้นอย่างหนึ่ง ด้วยมีเหตุที่จะสังเกตตัดวิธีกระบวนคิดอ่านได้ง่ายเช่นกับสงกรานต์ของจุลศักราช กำหนดเอาพระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษซึ่งเป็นราศีดาวที่ฤกษ์ขาดตอนไม่ขนาบคาบเกี่ยวกับราศีอื่นๆ เป็นต้นนี้อย่างหนึ่ง เพราะเหตุเหล่านี้จึงได้ทิ้งชื่อเดือนที่ ๑ เดิมเสีย ให้ไปตกอยู่กลางปีหรือปลายปีตามแต่จะเป็นไป แต่ชื่อเดือนเช่นนั้นเคยใช้เข้าใจกับซึมซาบมาแล้ว ก็ทิ้งให้เคลื่อนอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีผู้เรียกตาม

ศักราชต่างๆ ซึ่งใช้กันอยู่ในประเทศทั้งปวง ย่อมตั้งเอาตามเหตุตามเค้าที่มีเหตุซึ่งเป็นต้นจะนับศักราชนั้นอย่างหนึ่ง ตามที่จะคำนวณง่ายนั้นอย่างหนึ่ง ดังเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ที่ตั้งต้นปีอยู่ในฤดูหนาวมีมากกว่าที่ไปตั้งต้นปีในฤดูอื่น อย่างเช่นต้นปีฝรั่ง ถึงว่าศักราชเขาใช้ศักราชพระเยซูเกิดก็จริง แต่การนับวันคืนเดือนปีเขาไม่ได้อาศัยเหตุประจบรอบศักราช เหมือนอย่างพระพุทธศักราช เขาใช้กำหนดเอาพระอาทิตย์ปัดไปใต้ที่สุดเป็นอายันต์สงกรานต์ ถึงข้างเมืองจีนก็ใช้เช่นนั้น เป็นแต่เขาจะมีวิธีคํานวณตัดเวลาอย่างไรแปลกไป จึงไม่ตรงกันเข้ากับฝรั่ง ถอยคลาดมาจากเวลาที่พระอาทิตย์เป็นอายันต์สงกรานต์ ตกอยู่ในระหว่างที่พระอาทิตย์ยังไม่เป็นสามัญสงกรานต์ เห็นว่าเมื่อเรายังไม่ได้ใช้จุลศักราชคงจะใช้กำหนดเปลี่ยนปีอาศัยอายันต์สงกรานต์ใต้เหมือนกัน เพราะเป็นเวลาประสบช่องกับฤดูหนาว ซึ่งนับว่าเป็นเวลาเช้าที่กล่าวมาแล้ว เดือนอ้ายจึงเป็นเดือน ๑ แขวนอยู่เป็นพยาน

ศักราชเคยใช้มาในกรุงสยามนี้ เป็นสามศักราช คือพระพุทธศักราชซึ่งนับแต่พุทธปรินิพพานมานั้นอย่างหนึ่ง มหาศักราชซึ่งไม่ปรากฏของผู้ใดตั้งนั้นอย่างหนึ่ง จุลศักราชซึ่งว่าเป็นของพระร่วงซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม ณ กรุงสุโขทัยตั้งนั้นอย่างหนึ่ง ในศักราชสามอย่างนี้ พระพุทธศักราชใช้ในการซึ่งจะกล่าวถึงพุทธภาษิต หรือการที่เกี่ยวด้วยพระพุทธศาสนา แต่ในส่วนราชการที่คงใช้อยู่บัดนี้ เป็นประกาศใหญ่ๆ เช่นตั้งกรมก็ยังใช้อยู่ แต่ก่อนมาที่ใช้ในราชการอย่างอื่นอีกก็มีบ้าง เช่นกับพระราชสาส์นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ที่ได้สำเนามาแต่ประเทศยุโรปก็ใช้พระพุทธศักราช แต่พระพุทธศักราชก็ไม่ลบล้างเดือนซึ่งนับเป็น ๑, ๒, ๓, ๔ ของเก่า มีประหลาดอยู่แห่งหนึ่งในหนังสือลาโลแบร์ ที่เป็นราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งว่าด้วยเรื่องเมืองไทย ได้จดวันอย่างหนึ่งว่า วันแรมแปดค่ำ เดือนที่ ๑ (คือเดือนอ้าย) ปี ๒๒๓(๑/๒)๒ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๑ เดือนดิเซมเบอร์ คริสต์ศักราช ๑๖๘๗ ตามหนังสือนั้นเขาได้กล่าวว่า “ข้อนี้ดูเหมือนอาการที่ลงวันอย่างนี้หมายความว่าปีนั้นเมื่ออยู่ในเดือนนี้ จะเรียกว่าปี ๒๒๓๑ หรือ ๒๒๓๒ ก็ได้” เมื่อจะคิดดูตามข้อความที่เขาว่าเช่นนี้ จะถือว่าแต่ก่อนเขาจะเปลี่ยนปีในเดือนอ้ายตามอย่างเก่า แต่ศักราชไปขึ้นต่อเมื่อถึงกำหนดสงกรานต์ของศักราชนั้นจะได้บ้างดอกกระมัง แต่ในหนังสือนี้ไม่ได้ว่าถึงจุลศักราช กล่าวแต่ถึงพุทธศักราช สงกรานต์ของพุทธศักราชอยู่ต่อวันวิสาขบุรณมี แต่ปีเปลี่ยนที่เดือนอ้าย ครั้นจะเปลี่ยนศักราชไปเป็น ๒๒๓ ทีเดียวก็ยังไม่ถึงสงกรานต์ของพุทธศักราช จึงเขียนเป็นสองแปลงไว้ แต่ที่ไปมีเลข ๒ อยู่ข้างปลายอีกตัวหนึ่งนั้นดูกระไรอยู่ หรือจะเป็นเขียนควงอย่างไทยๆ เขียนเช่นนี้ ๒๒๓ ๑/๒ แต่วิธีเครื่องหมายควงเช่นนี้แปลกกันไปกับฝรั่ง เมื่อเวลาแปลจะเข้าใจผิดไปด้วยเครื่องหมายควงของไทย ถ้าขมวดหัวโตๆ จะอ่านเป็นเลขสองไปได้บ้างกระมัง เพราะเลข ๒ โบราณเขียนขี้มักใช้หางลาๆ คล้ายกับที่เราใช้คำซ้ำอยู่เดี๋ยวนี้ เช่น “ต่างๆ” ถ้าเป็นเช่นนั้นเลข ๒ ข้างปลายนั้น ก็จะเป็นทางที่เข้าใจผิดของผู้แปลได้ ถ้าลงศักราชเป็นสองแปลงเช่นนี้ ก็เป็นอันตรงกันกับที่ใช้เขียนการ์ดกันอยู่ในเร็วๆ นี้อย่างหนึ่ง เช่น ๑๒๔๘ - ๙ แต่วิธีเขียนเช่นนี้เป็นเอาอย่างฝรั่งโดยความเข้าใจโก๋นิดๆ ของคนชั้นใหม่ๆ คือ จะหมายความว่าตั้งแต่เตือน ๕ ขึ้นค่ำหนึ่ง มาศักราชยังเป็น ๔๘ อยู่ไม่ยกเป็น ๔๙ แต่คงจะเป็น ๔๙ เมื่อถึงวันเถลิงศกแล้ว ถ้าจะเขียน ๑๒๔ ก็จะเข้าใจได้เหมือนกันหรือง่ายกว่า เพราะดูไทยแท้ขึ้น ถ้าคำที่ลาโลแบร์ได้กล่าวไว้นี้เป็นคำแน่นอน และเราอ่านเข้าใจถูกต้องตามเนื้อความที่เขาหมาย ก็คงจะเป็นนับเปลี่ยนปีเช่นเดือนอ้าย ใช้ศักราชสองแปลงไปจนวิสาขบุรณมีจึงเปลี่ยนขึ้นศักราช ถ้าเช่นนั้นก็จะต้องเข้าใจว่า การซึ่งนับเวลาเปลี่ยนชื่อปีในเดือน ๕ นั้น จะเป็นภายหลังพระนารายณ์มหาราช

แต่มหาศักราชนั้น ไม่มีข้อความปรากฏว่าผู้ใดตั้ง และสงกรานต์ของมหาศักราชนั้นจะเป็นเมื่อใด เมื่อไปสอบค้นดูในหนังสือ ซึ่งใช้มหาศักราชเช่นคําจารึกเสาศิลาเมืองสุโขทัย ซึ่งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงแปลทั้งสองต้น ซึ่งได้ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณเดือน ฉบับที่ ๓ จํานวนเดือน ๒ ปี ๑๒๔๖ หน้า ๒๓๙ นั้นแล้ว มหาศักราชในนั้นก็แก่มาก สอบดูกับจุลศักราชก็ถึงเวลาที่พระเจ้าอู่ทองได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียแล้ว ไม่เป็นที่สันนิษฐานแน่นอนอย่างไรได้ มหาศักราชไม่มีผู้ใดที่จะรู้วิธีใช้ชัดเจนอย่างไร นอกจากที่จะรู้เกณฑ์บวก สอบที่ไหนก็เลอะทุกแห่ง แต่ตามการประมาณดูเห็นว่าจะเป็นศักราชที่ใช้กันอยู่ในตอนแผ่นดินสยามข้างใต้ ซึ่งในเวลานั้นเขมรมีอํานาจปกแผ่เข้ามามาก จะเป็นชั้นเดียวกันกับพระนครวัดนครธม ซึ่งเป็นคราวเล่นปราสาทศิลาตลอดเข้ามาจนเมืองพิมาย เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสิงห์ ข้างแควแม่น้ำน้อยเมืองกาญจนบุรี เมืองนครชัยศรี หรือเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ครั้นภายหลังพวกชาวสยามข้างเหนือซึ่งต้องอ่อนน้อมต่อชาวสยามข้างใต้ ได้พระร่วงเป็นผู้มีสติปัญญาเกิดขึ้นเห็นปรากฏชัด เช่นกับสานชะลอม (คือสานครุหรือกะละออมยาชัน) ตักน้ำไปส่งส่วย ไม่ต้องใช้ตุ่มใช้ไห ซึ่งเป็นภาชนะอันหนักอย่างแต่ก่อน เป็นต้น ก็มีความนิยมยินดีควบคุมพวกพ้องได้มีกําลังมากขึ้นคิดขับไล่พวกเขมร ซึ่งมีอํานาจปกแผ่เข้ามาในแผ่นดินสยามข้างใต้ให้อยู่ในอำนาจได้ ตั้งเมืองหลวงขึ้นฝ่ายเหนือแล้วจึงมาคิดเห็นว่าคงจะใช้มหาศักราชอยู่ตามเดิม ก็จะเหมือนหนึ่งเป็นพยานให้เห็นอยู่ว่าเคยอยู่ในอํานาจพวกข้างใต้ ด้วยมหาศักราชนั้นจะตั้งขึ้นตามกําหนดปีราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินข้างใต้องค์ใดองค์หนึ่ง หรือจะเป็นปีที่ปราบปรามพวกฝ่ายเหนืออยู่ในอำนาจเองก็ไม่ทราบ จึงเป็นที่รังเกียจด้วยศักราชนั้นยกเลิกเสีย ตั้งจุลศักราชขึ้นใช้แทน แต่มหาศักราชจะเปลี่ยนปีเมื่อใดไม่ได้ความชัดนั้น สงสัยว่าบางทีก็จะเปลี่ยนปีอาศัยพระอาทิตย์ที่สุดข้างใต้ เป็นอายันต์สงกรานต์คล้ายกับเมืองจีน หรือเปลี่ยนต้นเดือนอ้าย จึงไม่เป็นการประหลาดอันใดที่จะต้องมีผู้กล่าวไว้ เพราะเดือนอ้ายบอกหนึ่งชัดเจนอยู่แล้ว มหาศักราชนั้นถ้าจะนับมาจนถึงปีนี้เป็น ๑๘๑๑ แต่ยังติดใจสงสัยเกณฑ์บวกที่พวกโหรจำไว้กลัวว่าจะเลอะเทอะเสียหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะสอบอันใดไม่เห็นถูกต้องเลย บางอาจารย์ก็ว่า ๖๕๐ บางอาจารย์ก็ว่า ๕๖๐ แต่ในแสดงกิจจานุกิจตั้งเกณฑ์ไว้ถึง ๗๖๐ เลอะเทอะป้วนเปี้ยนกันอยู่แล้ว บางทีจะตกพันเสียอีกตัวก็จะได้[]

ส่วนจุลศักราชนั้นในพงศาวดารเหนือของเรากล่าวว่าพระร่วงซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม ณ กรุงสุโขทัยเป็นผู้ตั้ง ฝ่ายพม่าเขาก็ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินของเขาองค์หนึ่งชื่อสังฆราชาเป็นผู้ตั้งขึ้น แต่ศักราชนี้ได้ใช้ทั่วไปทั้งเมืองไทย เมืองพม่า เมืองมอญ เมืองเงี้ยว เมืองอาสัม ที่เรียกว่าไทยใหญ่ เมืองลาว ทั้งเฉียง ทั้งกาว หรือพุงขาว พุงดํา เมืองเขมร ถ้าจะคิดดูว่าข้อซึ่งต่างคนต่างเถียงกันเช่นนี้ ถ้าต่างคนต่างนับเหตุจึงจะตรงกันได้ หรือจะกล่าวว่าเมืองใดตกอยู่ในอํานาจเมืองใดที่บังคับให้ใช้ตามกันได้ ก็จะต้องตกอยู่ในบังคับกันช้านาน จนเกือบจะรวมเป็นชาติเดียวกัน ถ้าไม่ฉะนั้นก็คงจะกลับใช้ศักราชอื่นเสีย เมื่อเวลาตั้งตัวแข็งเมืองขึ้นได้ คือเช่นพระร่วงไม่ยอมใช้มหาศักราช หรือพม่าไม่ยอมใช้ศักราชซึ่งพระเจ้าปราสาททองลบ ถ้าจะคิดเดาเกลี่ยไกล่ดูอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นอย่างนี้ได้บ้างดอกกระมัง คือจะมีโหรหรือพราหมณ์ผู้รู้วิชาโหรผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่คนทั้งปวงนับถือมาก เที่ยวไปเที่ยวมาอยู่ในประเทศทั้งปวง ไม่ได้อยู่ในอํานาจผู้ใด ประพฤติตัวเป็นพระกลายๆ เมื่อคิดเห็นวิธีนับปีเดือนวันคืนอย่างใหม่ขึ้นได้ จะเที่ยวชี้แจงแก่เจ้าแผ่นดินทั้งปวงให้ลงเห็นชอบเป็นอันหนึ่งอันเดียว ยอมเปลี่ยนใช้จุลศักราชพร้อมกันทุกเมืองก็ดูเหมือนจะเป็นได้ ด้วยการที่จะคิดเห็นว่าจะมีการประชุม คองเกรส อย่างเช่นในประเทศฝรั่งเศสประชุมกันในระหว่างประเทศทั้งปวง ตั้งกฎหมายแบบอย่างอันใดลงแล้วถือใช้ทั่วกันไปนั้น ในประเทศตะวันออกข้างฝ่ายเรานี้มีไม่ได้ และไม่เคยมีตัวอย่างที่เล่าบอกกันมาเลย การซึ่งพม่า ลาว ไทย เขมร นับวัน คืน เดือน ปี เคลื่อนคลาดกันอยู่บ้างนั้น ก็เป็นแต่ผลของวิธีที่หนุนอธิกมาสอธิกวารผิดกันไป อย่าว่าแต่ประเทศซึ่งตั้งอยู่ห่างกันจะเป็นเลย แต่ในกรุงเทพฯ นี้เองก็ได้เคยเกิดวันคืนหลีกเลี่ยงกันด้วยตำราลงอธิกวารไม่ต้องกันเมื่อไม่สู้ช้านักนี้ครั้งหนึ่ง ประดิทินที่เถียงกันอยู่ก็ยังพอจะหาพบได้ ส่วนการที่จะลงต่อไปข้างหน้าก็ยังมีข้อเถียงกันอยู่ ดังเช่นได้กล่าวไว้ในประกาศใช้วันคืนซึ่งได้ออกใหม่ครั้งนี้ แต่ถึงว่าวันคืนจะหลีกเลี่ยงกันตั้งแต่วันหนึ่งถึงเดือนหนึ่งสองเดือน ศักราชก็ยังมีเวลาใช้ตรงเท่ากัน จึงเห็นว่าน่าที่จะมีครูผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แนะนําให้ตั้งขึ้น พม่าและไทยเป็นมหานครใหญ่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ต่างคนต่างไม่ยอมที่จะรับว่าทําตามกัน เพราะความจริงก็เป็นต่างคนต่างตั้ง เป็นแต่ร่วมอาจารย์เดียวกัน คําที่ว่านี้เป็นแต่อนุมาน แต่เห็นว่าพอจะยุติด้วยเหตุผลได้ ครั้นเมื่อเรียงหนังสือนี้แล้ว ได้พบอ่านความเห็นของผู้ซึ่งแปลพงศาวดารพม่าเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อว่าถึงสังฆราชาตั้งศักราช เขาเห็นว่าท่วงทีกิริยาที่คิดใช้ทั้งปวงในเรื่องศักราชนี้คล้ายกับฮินดูมาก เห็นจะมีโหรฮินดูผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามาช่วยคิดอ่านแนะนำในการตั้งศักราช ความเห็นของเขาเช่นนี้ก็เป็นอันลงกันกับความคิดเดาเช่นได้กล่าวมาแล้ว ถ้าพม่าได้โหรฮินดูผู้ใดเป็นครู ก็ดูเหมือนผู้นั้นเองจะเป็นครูของไทยด้วย เพราะเหตุว่าจุลศักราชนี้ไม่ปรากฏว่าต้องกันกับศักราชเก่าๆ ซึ่งใช้อยู่ในประเทศอินเดียที่มีเป็นหลายศักราชนั้น ถึงแม้ว่าแบบแผนที่คิดจะเป็นอย่างฮินดู ก็คงจะมาคิดตัดคิดลบตั้งขึ้นใช้ใหม่สำหรับประเทศที่ใกล้เคียงอินเดีย ถึงว่าพระร่วงและสังฆราชาจะไม่เป็นผู้ตั้งศักราชขึ้นได้เองโดยลำพังพระองค์ ก็คงจะเป็นผู้มีวิชาความรู้และสติปัญญาพอที่ผู้ที่มาแนะนํานั้นจะชี้แจงให้เข้าพระทัยเห็นดีได้ง่ายกว่าเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ จนอาจจะเล่าบอกชี้แจงวิธีคํานวณทั้งปวงได้ถ้วนถี่ จึงปรากฏว่าเป็นผู้ตั้งศักราชอยู่แต่สองประเทศ ไม่มีเจ้าแผ่นดินในเมืองอาสัม เมืองมอญ เมืองเงี้ยว เมืองลาว เมืองเขมร องค์อื่นที่ได้อ้างว่าเป็นผู้ตั้งศักราชอีก เป็นแต่ใช้ขึ้นเงียบๆ ตามที่เห็นชอบในคําแนะนำนั้น ผู้ที่คิดตั้งจุลศักราชขึ้นนั้น เป็นผู้มีความรู้มากคิดประกอบเหตุผลโดยรอบคอบ ถึงแม้ว่าแบบคํานวณวิธีนับจะยังไม่ละเอียดถึงที่ ก็เป็นอย่างดีมาก กว่าจะรู้ว่าเคลื่อนคลาดได้ก็ช้านาน แต่เพราะเหตุที่เห็นช่องดาวฤกษ์ว่าอยู่ที่ราศีเมษดังเช่นกล่าวมาแล้ว จึงได้ย้ายปีใหม่มาเสียไม่เอาตามอายันต์สงกรานต์ใต้ เปลี่ยนมาเอาสามัญสงกรานต์ขาเข้า คือเวลาพระอาทิตย์กลับมาตรงศีรษะเป็นเวลาสงกรานต์ เพราะฉะนั้นสงกรานต์จึงได้เลื่อนเข้ามาอยู่ในเดือนห้าหรือเดือนหก ไม่เร็วกว่าเดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ ไม่เกินเดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำออกไป สงกรานต์คงอยู่ในระหว่างเดือนหนึ่งนั้น เพราะเหตุดังนี้ปีใหม่จึงได้เป็นสองครั้ง คือเปลี่ยนชื่อปีครั้งหนึ่ง เปลี่ยนศักราชครั้งหนึ่ง

แต่การที่ตัดสงกรานต์ปีตามตำรานี้ ถึงว่าเป็นการละเอียดมากอยู่แล้วก็ยังไม่ถูกแท้ได้ เพราะปีหนึ่งคิดคติโคจรของพระอาทิตย์ ตามตําราที่โหรอย่างไทยคิดเป็น ๓๖๕ วัน ๖ โมง ๑๒ นาที ๓๖ วินาที เพิ่มอธิกมาส อธิกวารแล้วก็ยังไม่พอ ยังมีเศษน้อยๆ สะสมกัน เมื่อนานมาวันซึ่งคิดตามสุริยยาตร ว่าพระอาทิตย์ยกนั้นก็เคลื่อนคลาดจากที่พระอาทิตย์ยกจริงๆ ไป เหมือนอย่างในปัจจุบันนี้ วันสงกรานต์ก็เคลื่อนกับอาทิตย์ยกที่จริงแท้ถึง ๒๑ วันล่วงมาแล้ว แต่เพราะเคลื่อนทีละน้อยไม่ถึงเปลี่ยนฤดูกลับร้อนเป็นหนาวจึงไม่ใคร่มีผู้ใดรู้สึก แต่ถ้านานไปอีกหลายพันปีก็คงจะกลับร้อนเป็นหนาวได้ เพราะฉะนั้นจึงได้มีวิธีนับวันขึ้นใหม่ ซึ่งได้ออกประกาศไปให้ใช้ ซึ่งเห็นว่าเป็นอย่างใกล้กับความจริงที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าวันเช่นนั้นใช้ทั่วไปได้ทุกประเทศ ก็คงจะไม่เกิดเหตุที่เคลื่อนคลาดเดือนวันกัน เช่นเมืองไทย เมืองพม่า เมืองลาว เมืองเขมร เคลื่อนกันอยู่ในบัดนี้ ด้วยวิธีที่จะลงอธิกสุรทินเป็นการง่ายอย่างยิ่ง ไม่เหมือนวิธีลงอธิกมาสอธิกวารอย่างแต่ก่อน ซึ่งเกือบจะว่าไม่มีตำราใดจะตัดสินเป็นเด็ดขาดลงได้ และจะนับปีถอยหลังขึ้นไปให้พ้นปูมได้โดยยาก ซึ่งพรรณนามาด้วยสงกรานต์นี้ เพราะเห็นว่าวิธีนับอย่างใหม่เป็นการง่าย และเป็นการใกล้จริงคงจะอยู่ยืนยงแพร่หลาย วิธีนับอย่างเก่าจะมีแต่ยากไปทุกวัน บางทีจะลืมต้นสายปลายเหตุเลยไม่มีผู้ใดจดจำไว้ เพราะด้วยเวลานี้ต่างคนต่างเข้าใจอยู่ด้วยกันหมด จะจดจําไว้ก็เป็นการจืดๆ ครั้นนานไปเมื่อสิ้นชั้นผู้ที่เข้าใจชำนิชำนาญก็จะเลยสูญเสีย ไม่มีผู้ใดรู้เรื่องเหมือนอย่างมหาศักราช

แต่การซึ่งขึ้นชื่อว่าสงกรานต์นี้ มีเรื่องราวเป็นนิทานประกอบเกิดขึ้นด้วยความอดไม่ได้ของคนที่มักจะคิดเล่าสู่กันมา นำมาลงไว้พอฟังเล่นสนุกๆ บรรดาเด็กๆ ทั้งปวงคงจะได้ยินเล่าให้ฟังแทบจะทั่วทุกคน เรื่องราวนั้นก็ลงเค้าเดียวกัน ว่าพระมหาสงกรานต์นั้นไปพนันกับใครมักจะบอกว่าก็ไม่รู้ ถามปัญหาว่าเวลาไรราศีอยู่ที่ใด ผู้ที่เรียกว่าใครก็ไม่รู้นั้นทายถูก พระมหาสงกรานต์จึงเด็ดศีรษะให้ ศีรษะนั้นตกลงแผ่นดินก็เกิดเป็นไฟลุกขึ้น นางลูกสาวเจ็ดคนจึงผลัดกันมารับพานซึ่งรองศีรษะชูไว้ ปีหนึ่งออกเวรทีหนึ่ง คือเข้าเวรปีหนึ่ง ออกเวร ๖ ปี และมีคำทำนายที่พูดกันอยู่โดยมากว่าถ้าปีใดกินถั่วกินงาแล้วก็ร้องกันว่า “เออปีนี้ข้าวปลาจะสมบูรณ์” ถ้าปีใดกินเลือดแล้วสั่นหัวดิกๆ ไป ครางออดๆ แอดๆ ว่า “ปีนี้จะตีกันหัวร้างข้างแตกมาก” ถ้าปีใดถือปืนก็ว่าปีนั้นฟ้าจะคะนอง นัยหนึ่งว่าถ้าหลับตาแล้วคนมักจะเป็นตาแดงมาก นัยหนึ่งว่าถ้าลืมตาแล้วคนมักจะเป็นตาแดงมาก ถ้าจะถามไล่เลียงเอาแน่นอนให้เล่าให้ตลอดเรื่อง ก็มักจะบอกจําไม่ได้ไปแทบทุกคน เว้นแต่อย่างไรไม่ทราบ ช่างเชื่อถือกันแน่นหนามั่นคงทั่วทุกคน สุดแต่ถ้าถึงสงกรานต์แล้วเป็นโจษกันไปได้จนตลอดทั้งสามวัน บ่นตุบๆ ตับๆ เออๆ ออๆ ไป แล้วต้องอธิบายต่อ ว่าเรื่องสงกรานต์นี้มีมาแต่เมืองจีน เมืองจีนเขาเห็นก่อน ถ้าวันใดจะสงกรานต์แล้วเขาตระเตรียมช่างเขียนไปคอยอยู่ที่ริมทะเลหลายๆ คนด้วยกัน พอเวลาเช้ามืดพระสงกรานต์ขึ้นจากทะเลพอแลเห็นเขาก็วาดรูป คนหนึ่งวาดรูปตัวนาง คนหนึ่งวาดรูปตัวพาหนะ อีกคนหนึ่งวาดรูปบริวาร พูดเหมือนอย่างพระยะโฮวาสร้างโลก เพราะการที่พระยะโฮวาสร้างโลกนั้นมนุษย์คนเดียวต้องสร้างเสียวันยังค่ำ แต่สัตว์ทั้งหลายนับด้วยโกฏิด้วยล้านสร้างวันเดียว เท่ากันกับสร้างคนๆ หนึ่งฉันใด เจ๊กที่วาดรูปพระมหาสงกรานต์นี้ก็เหมือนกัน ตัวนางมหาสงกรานต์คนเดียวช่างเขียนคนหนึ่ง พาหนะตัวเดียวช่างเขียนคนหนึ่ง บริวารแสนโกฏิเขียนคนเดียวเหมือนกัน แต่ว่าช่างเถอะอย่าทักเลย ที่ต้องเขียนหลายคนออกไปเช่นนี้ เพราะเวลาที่เห็นนั้นน้อยนัก ถ้าผู้ที่จะคอยเขียนพริบตาลงเมื่อไรก็ไม่เห็นพระสงกรานต์แล้ว ถ้าคนกระพริบตาถี่ๆ เห็นจะให้เป็นช่างไปคอยเขียนไม่ได้ แต่ถ้าเวลานี้พวกจีนจะลงทุนซื้อเครื่องถ่ายรูปม้าห้อสักเครื่องหนึ่งไปตั้งไว้ พอสงกรานต์ขึ้นมาบีบปราดเดียวก็จะได้รูปเทวดาอันวิเศษมาขายมีกำไรมากกว่าที่ลงทุนซื้อเครื่องถ่ายรูปหลายร้อยเท่า เรื่องสงกรานต์มาแต่เมืองจีนนี้ยังไม่ได้เค้ามูลว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุใดเลย จะไต่ถามผู้ที่เล่าหาต้นเหตุก็จดไม่ติด เพราะเรื่องนี้แล้วไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ผู้ใดเล่าขึ้น ถ้าไปซักถามแล้วโกรธทุกคน ดูเป็นขนดหางของคนแก่โดยมากทั่วๆ ไป แต่พิเคราะห์ดูเห็นว่าท่านผู้ที่เล่าและที่โกรธนั้น ก็เห็นจะไม่รู้เหมือนกัน และคงจะเคยถามมาแต่เมื่อเด็กๆ และถูกโกรธมาแล้วเหมือนกัน จึงได้เอาอย่างมาโกรธบ้าง ว่าเป็นประเพณีที่เป็นผู้ใหญ่แล้วต้องโกรธ เพราะฉะนั้นเรื่องสงกรานต์เห็นที่เมืองจีนนี้ เห็นจะเป็นขนดหางของคนแก่แต่โบราณสืบมา จนไม่มีผู้ใดรู้ว่าต้นเหตุมาจากอันใด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 15:45:15 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #19 เมื่อ: 28 มิถุนายน 2561 15:49:23 »



เดือนห้า
พิธีสงกรานต์ (ต่อ)

ที่ว่ามาข้างต้นนี้ ตามคำเล่าบอก ส่วนที่จารึกแผ่นศิลาประจำรูปเขียนไว้ที่วัดพระเชตุพน อ้างว่าเรื่องมหาสงกรานต์นี้มีพระบาลีฝ่ายรามัญ ว่าเมื่อต้นภัทรกัลป์อันนี้ เศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา นักเลงสุรามีบุตรสองคน มีผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุรานั้นเข้าไปกล่าวคําหยาบช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึงถามว่าเหตุใดจึงมาหมิ่นประมาทต่อเราผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุราจึงตอบว่า ถึงท่านมีสมบัติก็ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติจะสูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่าท่าน เศรษฐีมีความละอายจึงบวงสรวงพระอาทิตย์พระจันทร์ตั้งอธิษฐานขอบุตรถึงสามปีก็มิได้มีบุตร อยู่มาถึงวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารไปยังต้นไทรอันเป็นที่อยู่แห่งฝูงนกทั้งปวงริมฝั่งน้ำ จึงเอาข้าวสารล้างน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงขึ้นบูชาพระไทร ประโคมพิณพาทย์ตั้งอธิษฐานขอบุตร พระไทรมีความกรุณาจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ขอบุตรให้เศรษฐี พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อคลอดแล้วจึงให้ชื่อธรรมบาลกุมาร ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น กุมารเจริญขึ้นก็รู้ภาษานก แล้วเรียนไตรเพทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่ง ว่าเป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบจึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมารสามข้อ สัญญาไว้ว่าถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ธรรมบาลกุมารผัดเจ็ดวัน ครั้นล่วงไปได้หกวันก็ยังคิดไม่เห็น จึงนึกว่าพรุ่งนี้จะตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหมไม่ต้องการ จําจะหนีไปซุกซ่อนตายเสียดีกว่า จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ในใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรีสองตัวผัวเมียทํารังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีถามสามีว่าพรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่าจะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลมหาพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่าปัญหานั้นอย่างไร สามีจึงบอกว่าเช้าศรีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า ข้อหนึ่งเวลาเที่ยงอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ข้อหนึ่งเวลาอัสดงศรีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นก็กลับไปปราสาท ครั้นรุ่งขึ้นท้าวกบิลมหาพรหมมาถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลมหาพรหมจึงตรัสเรียกเทวธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบริจาริกพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่าเราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้ทั่วโลกธาตุ ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในพระมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้บุตรทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะให้นางทุงษผู้บุตรใหญ่ นางทุงษจึงเอาพานรับพระเศียรบิดา แล้วแห่ทักษิณรอบเขาพระเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธธุลีเขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตโรงแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมูนาดมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ ครั้นถึงครบกําหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่าปีหนึ่งเป็นสงกรานต์ นางเทพธิดาเจ็ดองค์จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหมออกแห่ประทักษิณเขาพระเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ที่จารึกในวัดพระเชตุพนมีใจความดังนี้

ข้อซึ่งอ้างว่าเรื่องนี้มีในพระบาลี ดูไม่มีเค้ามูลอันใดที่จะเกี่ยวข้องเข้าไปได้ในพระพุทธศาสนาแต่สักนิดหนึ่งเลย แต่การที่อ้างไว้ว่าพระบาลีฝ่ายรามัญนั้นประสงค์จะให้รู้ว่าเป็นการชั่งเถอะ ด้วยมีเรื่องราวตัวอย่างที่ได้ฟังเล่าบอกมา ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเก็บหนังสือประเทศต่างๆ แต่งเป็นภาษามคธ สุดแต่อ้างว่าเป็นบาลีหรืออรรถกถาฏีกาโยชนาอย่างใดไม่ว่า มีอยู่แล้วให้มาถวายเทศนาเวรในคราวรอบใหญ่ตลอดทุกอย่าง แต่พระที่มาถวายนั้น ถ้าเป็นเรื่องสัพเพเหระเช่นนี้ก็มักจะใช้เปรียญมอญ เปรียญลาว เปรียญเขมร ครั้งหนึ่งเปรียญรามัญถวายเทศน์เรื่องสุวรรณเศียร เรียกชื่อว่าสุวรรณเซียน ท่านก็ทรงล้อเรื่องหนังสือรามัญเป็นเซียนไปทั้งนั้น ว่าที่สุดจนเรื่องเงาะกับนางรจนาก็มีในบาลีฝ่ายรามัญเช่นนี้ ก็ได้ถวายเทศน์ในท้องพระโรงเหมือนกัน แต่ไม่ทรงเชื่อถืออันใด เป็นเหมือนหามาเล่านิทาน แล้วดำรัสล้อๆ เล่น คำที่ว่ารามัญท้ายคำบาลีนั้น ถ้าจะแปลตามสำนวนทุกวันนี้ ก็ตรงกับคําชั่งเถอะ ซึ่งโปรดให้ไปเขียนไว้ที่ตามศาลาข้างหลังวัด ก็เพราะทรงเห็นว่าเป็นเรื่องที่คนรู้ซึมซาบทั่วถึงกัน พอจะได้ไปอ่านเออออกันให้เป็นที่สนุกรื่นเริงของผู้ที่ไปมาเที่ยวเตร่ในวัดเท่านั้น

เมื่อพิเคราะห์เรื่องราวตามที่ว่า ก็เห็นว่านิทานนี้จะเกิดขึ้นเมื่อภายหลังตั้งจุลศักราช เป็นไปตามนิสัยของคนโบราณไม่ว่าชาติใดภาษาใด ตลอดจนฝรั่ง มักจะคิดจะเขียนเรื่องที่นึกเดาๆ ขึ้นในใจให้เป็นที่พิศวงงงงวย ไม่ได้นึกว่าผู้ใดจะขัดคอเมื่อภายหลัง เพราะในเวลานั้นถ้าผู้ใดขัดคอก็ตวาดเอาเสียก็แล้วกัน แต่ที่คําเช่นนี้ยืนยาวมาได้ก็ด้วยอาศัยความรู้ของชนแต่ก่อนยังมีน้อยอยู่ ได้ลงเชื่อถือมั่นคงเสียแล้วก็รับเป็นผู้โกรธผู้ตวาดแทนกันต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องที่เล่าว่านักเลงสุรามีลูกสองคนผิวพรรณเหมือนทอง เด็กสองคนนั้นมีบุญสมภารประการใด ก็ดูหายเงียบไปไม่กล่าวถึง แต่นัยหนึ่งเล่ากันตามซึมซาบว่า นักเลงสุรานั้นเองเป็นผู้ทายปัญหาออก เมื่อพระมหาสงกรานต์คือกบิลมหาพรหมมาถามปัญหา ลูกเศรษฐีแก้ไม่ออก ฝ่ายเจ้าขี้เมาเมาเหล้าเดินโซเซไปนอนใต้ต้นไม้ จึงได้ยินนกอินทรีพูด แล้วมาบอกให้ลูกเศรษฐีอีกต่อหนึ่ง ลูกเศรษฐีจึงเอาไปทาย ที่ว่าเช่นนี้เพราะไม่รู้เรื่องที่ลูกเศรษฐีรู้ภาษานกเป็นการวิเศษกว่าคนทั้งปวง หมายว่าสัตว์พูดภาษาคนได้ ตามแบบที่เล่านิทานกันเป็นอันมาก ก็เมื่อว่าจะตามทางที่แก้ปัญหากัน ธรรมบาลกุมารจะได้ยินนกพูดก็ดี หรือคนขี้เมามาบอกก็ดี ก็ไม่ใช่ความคิดของตัวคิดเอง เอาไปหลอกพระพรหมว่า เป็นความคิดของตัวนั้นเป็นการนุ่งแท้ ส่วนพระพรหมนั้นเล่าก็มีหูทิพย์ตาทิพย์ จะเล็งจะเอียงฟังดูว่ามันจริงจังอย่างไรบ้าง ก็ไม่เล็งไม่เอียง ใจเบายอมให้ง่ายๆ ดูงุ่มง่ามเต็มที ในการที่จะตัดหัวว่าตกถึงแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้เป็นต้นนั้น ในเรื่องราวที่ว่านี้ เป็นเอาพานรองแล้วตั้งไว้ในมณฑปที่ถ้ำคันธธุลี แต่ตามซึมซาบเล่ากันว่านางธิดานั้นต้องมาถือชูอยู่เสมอ เพราะจะตั้งลงไปที่แผ่นดินกลัวไฟจะลุกฮือขึ้น เมื่อว่าไปตามที่จริง เรื่องเดิมจะชามากกว่าที่พวกซึมซาบเล่า เพราะตั้งที่พานแล้ว เอาพานตั้งบนมณฑป มณฑปตั้งที่แผ่นดิน ดูก็ไม่ห่างไกลอะไรกันนัก ใครจะเรียกว่าตั้งกับแผ่นดินหรือตั้งอยู่กับอะไร ถ้าไม่เรียกว่าตั้งอยู่กับแผ่นดินแล้ว คนเราเมื่อขึ้นอยู่บนเรือน ก็นับว่าไม่ได้อยู่บนแผ่นดินเหมือนกัน หรือว่าหัวนั้นเหมือนไฟ แผ่นดินเหมือนดินดำ ต่อเปลวถึงกันจึงจะลุก ถ้าเช่นนั้นเอาไม้เสียบไว้อย่างเช่นที่เขาตัดหัวคนโทษก็เห็นจะได้ หรือถ้าแผ่นดินไม่สู้ไวไฟเหมือนดินดำนัก เอาใบไม้หรือกระดาษรองเสียสักนิดหนึ่งวางที่ไหนก็วางได้ พออย่าให้แจะลงกับพื้นดินเป็นแล้วกัน ท่านพวกซึมซาบจะออกเห็นกระไรกระไรอยู่ จึงได้เข้าใจช่วยไปเสียตามอย่างหัวอินทรชิตคือให้นางลูกสาวมาถือพานชูไว้ ที่จะเหาะลอยอยู่เสมอด้วย ดูค่อยแยบคายขึ้น แต่ไม่เล่าว่าเจ็ดนางลูกสาวนั้นเป็นเมียพระอินทร์ ส่วนท่านตําราเดิมนั้นจะกลัวพระอินทร์หึงเมียหรืออย่างไรจึงต้องให้กลับขึ้นไปเสีย เอาแต่พานตั้งทิ้งไว้ แต่ที่แท้ถึงโดยจะให้อยู่ตามเรื่องซึมซาบว่า ก็ดูจะไม่สู้กระไรนัก ด้วยพระอินทร์ท่านไม่สู้จะหึงหวง จึงปล่อยให้อยู่ชั้นจาตุมหาราชิกา ไม่พาขึ้นไปดาวดึงส์ เรื่องเถาฉมูนาดที่สำหรับเอาไปเซ่นศพนั้น ดูเป็นกิ่งไม้แห้งๆ ไม่น่ากิน จึงได้ค้นหาดูได้ความจากในฎีกาสงกรานต์อย่างเก่าซึ่งโหรถวาย มีอธิบายยืดยาวออกไป เมื่อเอาไปล้างน้ำสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้ว เถาฉมูนาดนั้นละลายออกเป็นเหมือนน้ำมันเนย ทํานองก็จะเป็นเฉาก๊วยหรือเยลลี แต่เฉาก๊วยต้องเข้าไฟ เยลลี่ต้องแช่น้ำแข็งยังธุระมากไปกว่าหน่อยหนึ่ง เปลือกส้มโอหรือเปลือกมังคุดซึ่งเด็กๆ คั้นเล่นแล้วแข็งเป็นวุ้นเข้าเองเห็นจะใกล้กว่า ถ้าหวานๆ หน่อยหนึ่งก็เห็นจะพอเหวยได้ ดูก็น่ากินอยู่ เทวดาทําบุญสุนทันเลี้ยงดูกันด้วยเถาฉมูนาดคั้นนี้ จึงได้คุ้มกันอันตรายอันจะเกิดแต่สงกรานต์ได้ หน้าตาถ้ำคันธธุลีนั้นคล้ายถ้ำที่วัดบ้านถ้ำเมืองกาญจนบุรี แต่เดี๋ยวนี้ศาลาทลายเสีย ถ้าทําศาลาเสียให้ดีแล้วจะเป็นถ้ำอย่างมิเนียเอเชอของถ้ำคันธธุลีได้ทีเดียว พอเล่นขึ้นถ้ำคันธธุลีกันอย่างขึ้นพระบาทวัดบางว้าได้

ชื่อนางเทพธิดามหาสงกรานต์ และคําทํานายต่างๆ ตามตํารานั้นแต่ก่อนโหรถวายฎีกาสงกรานต์ มีว่าด้วยตําราเหล่านี้ตลอด คือตั้งต้นว่าพระอาทิตย์จะยกจากราศีมีนขึ้นราศีเมษในวันนั้นเวลานั้น ทางโคณวิถีใกล้พระเมรุมาศ ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามอย่างนั้นมาแต่จาตุมหาราชิกา ทรงพาหุรัดทัดดอกอันนั้น อาภรณ์แล้วด้วยอย่างนั้นๆ ภักษาหารอย่างนั้น พระหัตถ์ขวาทรงสิ่งนั้น พระหัตถ์ซ้ายทรงสิ่งนั้น ทําอาการอย่างนั้น มาด้วยพาหนะอย่างนั้น เป็นมรรคนายกนำอมรคณาเทพยดาแสนโภฏิ มารับเศียรท้าวกบิลมหาพรหม อันใส่พานทองประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธธุลีที่เขาไกรลาสแดนหิมวันตประเทศ ขณะนั้นเทพยดากระทําคารวบูชายาควิธีตามวิสัยจารีตโบราณ แล้วแห่ทักษิณาวรรตเขาพระเมรุราชคํารบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าประดิษฐานในถ้ำคันธธุลีดังเก่า ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยเรื่องเถาฉมูนาดและทําบุญสุนทันอะไรของเทวดาแล้ว จึงบอกวันนั้นเป็นมหาสงกรานต์ วันนั้นเป็นวันเนา วันนั้นเป็นวันเถลิงศกคือพระยาวันศักราชขึ้นในเวลานั้นๆ ต่อนั้นไปจึงว่าด้วยผลทํานายยกศัพท์มาว่า พสุ อาจินต์ สามัญสงกรานต์เป็นสามประการดังนี้ แล้วก็อธิบายไม่ออกว่าแปลว่ากระไร ไถลไปว่าอธิบายเป็นสามัญทั่วประเทศในสกลชมพูทวีป เป็นแต่ยกขึ้นมาอวดเล่นครึๆ เท่านั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้กริ้วในเรื่องข้อนี้ว่าไม่รู้แล้วยังยกขึ้นมาว่า ได้ทรงอธิบายไว้ในประกาศที่ได้อ้างถึงมาแต่ก่อนชัดเจนแล้ว จะยกมาว่าในที่นี้ก็จะยืดยาวไป จะขอเดินความในหมายสงกรานต์ที่พูดถึงบัดนี้ต่อไป เมื่อว่าด้วยสงกรานต์สามอย่างแล้วจึงบอกเกณฑ์พรุณศาสตร์ คือฝนจะตกมากน้อยเท่าใดตามปีอย่างหนึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณ บอกน้ำท่าจะมากน้อยเท่าใดตามปีอย่างหนึ่ง เกณฑ์ธัญญาหาร บอกข้าวในภูมินา จะได้กี่ส่วนเสียกี่ส่วนตามปีอย่างหนึ่ง บอกเข้าพรรษาออกพรรษาอย่างหนึ่ง ลงท้ายก็บอกเวลาสรงมุรธาภิเษกในวันเถลิงศก ฎีกาเช่นนี้ว่าแต่ก่อนโหรยื่นมหาดเล็ก มหาดเล็กมาอ่านถวาย แต่ในชั้นหลังตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โหรถวายพร้อมด้วยประดิทินทองในวันแรมสิบห้าค่ำ แต่ฎีกานั้นทรงแก้เสียหมด ให้คงบอกแต่ว่าวันนั้นเป็นวันสงกรานต์พระอาทิตย์ยก วันนั้นเป็นวันเนา วันนั้นเป็นวันเถลิงศก เสด็จสรงมุรธาภิเษกเวลานั้น แต่ฉากรูปสงกรานต์เคยเขียนแขวนที่ท้องพระโรงแผ่น ๑ แขวนที่ทิมดาบข้างหน้าแผ่น ๑ ที่ศาลาในพระบรมมหาราชวังแผ่น ๑ ทรงเห็นว่าคนยังชอบใจอยากรู้กันอยู่มาก จึงโปรดให้คงแขวนไว้ตามเดิม ถึงในประกาศสงกรานต์ไม่ทรงด้วยเรื่องนี้ ตัดเสียว่าให้ไปดูรูปฉากที่แขวนนั้นเถิด

นางสงกรานต์ตามตํารานั้น ถ้าวันอาทิตย์ชื่อทุงษ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค ภักษาหารผลมะเดื่อ อาวุธขวาจักร ซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ
วันจันทร์ชื่อโคราค ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายไม้เท้า พาหนะเสือ
วันอังคารชื่อรากษส ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต อาวุธขวาตรีศูล ซ้ายธนู พาหนะสุกร
วันพุธชื่อมัณฑา ทัดดอกจําปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธขวาเข็ม ซ้ายไม้เท้า พาหนะลา
วันพฤหัสบดีชื่อกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธขวาขอ ซ้ายปืน พาหนะช้าง
วันศุกร์ชื่อกิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายพิณ พาหนะกระบือ
วันเสาร์ชื่อมโหทร ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธขวาจักร ซ้ายตรีศูล พาหนะนกยูง

พิเคราะห์ดูชื่อเสียงนางทั้งเจ็ดคนนี้ อยู่ข้างจะเป็นยักษ์ๆ ความประสงค์เห็นจะอยากให้ดุให้กลัวกัน ก็สมกับที่เกณฑ์ให้อยู่ชั้นจาตุมหาราชิกา ด้วยเข้าใจว่าชั้นนั้นเป็นยักษ์มาก และยังมีคําเล่าบอกกันอย่างซึมซาบว่าที่ข้างจีนเขาเห็นรูปพรรณสัณฐานและศัสตราวุธนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าที่เขียนนี้ แต่เขากลัวคนจะตกใจ จึงได้เขียนลดหย่อนลงเสีย ไม่สู้ให้น่ากลัวเหมือนอย่างที่มาจริงๆ เห็นจะเป็นเหตุออกจากเรื่องชื่อนี้เองเป็นต้น แต่เครื่องประดับและดอกไม้ทัดนั้นทํานองจะแต่งตามวัน วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร ก็ดูถูกต้องเรียบร้อยมา แต่วันพุธ วันพฤหัสบดีนั้นไขว้กันไป ไพฑูรย์ควรจะอยู่วันพฤหัสบดี มรกตควรอยู่วันพุธ เห็นจะเป็นด้วยหลงฟั่นเฟือน ถึงดอกไม้ ดอกจำปาก็ดูเหมือนจะเป็นของวันพฤหัสบดี ดอกมณฑาจะเป็นของวันพุธ แต่ลืมดอกกระดังงาดอกขจรเสียหรือจะไม่รู้จัก จึงเห็นสามกลีบที่หุ้มดอกมณฑาเขียวๆ อยู่พอใช้ได้ แต่วันศุกร์นั้นประสงค์คําบุษอย่างเดียว บุษราคัมนั้นจะมากเกินไป ถ้ายกเสียก็จะลงร่องรอยกันดีตลอดจนวันเสาร์ แต่พาหนะและอาหารกับทั้งอาวุธนั้นไม่มีเค้ามูลว่าจะได้ร่องรอยมาจากอันใด อยู่ข้างจะเป็นอันไรเดเบอล อันอีเตบอล อันดริงเกบอล ทั้งสิ้น

ในท่านทั้งเจ็ดที่มานี้ อยู่ข้างจะทรงพาหนะนั้นแข็งๆ ด้วยกันทุกองค์ สู้คนขี่ม้าเซอคัสได้ เสด็จมาแล้วไม่ขี่ตามปรกติเลย ทรงแผลงท่าต่างๆ ไป คือพระอาทิตย์ยกตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ไม่ว่าองค์ใดมายืนทั้งสิ้น แต่ไม่ต้องทรงถือบังเหียนเหมือนเซอคัส ตั้งแต่เที่ยงไปจนค่ำนั่งทั้งสิ้น ตั้งแต่ค่ำไปจนเที่ยงคืน นอนลืมตาทั้งสิ้น ตั้งแต่เที่ยงคืนไปจนรุ่งนอนหลับตาทั้งสิ้น เพราะเหตุที่นางมหาสงกรานต์เล่นเซอคัสท่าต่างๆ คนละสี่ท่าสี่ท่าเช่นนี้ จึงเป็นยี่สิบแปดท่าเปลี่ยนกันไป จนคนที่ดูฉากเขียนนั้นเห็นมีแปลกๆ เสมอ น่าเชื่อว่าจีนเขาเขียนมาแต่เมืองจีนก่อนจริง เพราะว่าถ้าเขียนไว้เป็นตําราสำหรับแขวนวนๆ กันไปแล้วก็คงจะเหมือนกันบ่อยๆ หรือเป็นระเบียบเรียบร้อย นี่แปลกกันถึงยี่สิบแปด และลักๆ ลั่นๆ เช่นนี้ เห็นปีละครั้งก็พอเหลือที่จะจำได้ และวันใดเป็นวันมหาสงกรานต์ วันใดเป็นวันเนา วันใดเป็นวันเถลิงศกคือพระยาวัน และสงกรานต์ยืนนั่งนอนตื่นนอนหลับมีคําทํานายต่างๆ ในคําทํานายนั้น ถ้าวันใดถูกวันมหาสงกรานต์หรือวันเนาแล้วเป็นการไม่ดีทั้งสิ้น เป็นแต่เปลี่ยนกันทักไปตามวัน คือวันอาทิตย์ทักบ้านทักเมือง วันจันทร์ทักนางพระยาและเสนาบดี วันอังคารทักอะไรต่ออะไรต่อไปให้เป็นห่วงแม่ม่ายไร้ทานจะทุกข์จะร้อนต่างๆ ตามวิสัยคำทํานายของโหร ธรรมดาคําทํานายของโหรแล้ว มักจะห่วงอะไรขันๆ อยู่สองสามสิ่งพอใจพูดถึงร่ำไป คือทารกอย่างหนึ่ง แม่ม่ายอย่างหนึ่ง หมอยาอย่างหนึ่ง เรือสำเภาอย่างหนึ่ง ผีมาแขกอย่างหนึ่ง ปวดท้องอย่างหนึ่ง โรคในศีรษะอย่างหนึ่ง ถึงว่าจะไม่มีใครวานให้ช่วยดูช่วยแลให้ เขาให้ดูแต่เฉพาะตัวเขาก็พอใจบ่นถึงพวกเหล่านี้ จะเป็นทุกข์บ้าง จะได้ลาภบ้าง เป็นห่วงบ่วงใยกันอย่างยิ่ง เรื่องคําทํานายวันสงกรานต์วันเนานี้ จนพวกซึมซาบไม่มีใครจําได้ ว่าวันใดเป็นวันสงกรานต์ วันใดเป็นวันเนา จะมีเหตุมีผลอย่างใดที่เป็นการทั่วๆ ไป เพราะกลัวสะท้านเกินไปเสียจนกลายเป็นตำราว่า ถ้าวันเกิดของผู้ใดต้องวันเนา ให้เอาดินปั้นเท่าหัวไปถมโคนโพ ให้ตัดไม้ไผ่ทะลุปล้องเสียเอาเบี้ยกรอกในนั้นไปค้ำต้นโพ ได้ถามว่าเบี้ยนั้นสำหรับทําอะไร ผู้ใหญ่บอกว่าสำหรับให้เป็นทาน เมื่อถามเข้าไปอีก ว่าไม้ค้ำโพนั้นเพื่อจะค้ำไว้มิให้กิ่งโพหัก เป็นการปฏิสังขรณ์ต่ออายุก็ชอบอยู่แล้ว แต่ที่เอาเบี้ยไปกรอกไว้ให้เป็นทานในปล้องไม้นั้นด้วย ได้เจาะช่องไว้สำหรับให้คนล้วงหรือไม่ ถ้าไม่เจาะช่องไว้จะมิต้องไปแย่งเอาไม้ที่ค้ำโพไว้นั้น มาล้วงเอาเบี้ยหรือ ก็ได้คำตอบว่าเขาก็ปลดไม้นั้นมาเทเอาเบี้ย ได้ถามต่อไปว่าผู้ที่เทเอาเบี้ยนั้นมีอะไรบังคับ ที่เป็นการจำเป็นต้องให้เอาไม้นั้นขึ้นค้ำโพอีกหรือไม่ ก็ว่ามันเทเอาเบี้ยแล้วมันก็ทิ้งไม้ไว้ ได้ค้านว่าถ้าเช่นนั้นจะมิไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ต้นโพเลยหรือ ถ้าจะให้ทานต่างหากค้ำโพต่างหากจะดีกว่าดอกกระมัง พอเอ่ยขึ้นเท่านี้ก็เป็นประหารขนด โกรธฉิวขึ้นมาทีเดียว บ่นตุบตับไปว่าไม่ทําให้ผิดอย่างบุรมบุราณเขาไปได้ เลยไม่ต้องเล่าอะไรกันอีกต่อไป การที่คนกลัววันสงกรานต์วันเนายังทำเช่นนี้มีโดยมาก แต่ถ้าวันใดถูกวันเถลิงศก คือพระยาวันแล้วอยู่ข้างเรี่ยมตลอดทั้งนั้น วันอาทิตย์เป็นเจ้าแผ่นดิน วันจันทร์เป็นนางพระยาและพระสนม วันอังคารเป็นอำมาตย์ วันพุธเป็นข้าพเจ้าเองของท่านโหร วันพฤหัสบดีเป็นพระ วันศุกร์เป็นพ่อค้า วันเสาร์เป็นทหาร จะดีทั้งหลายแหล่ ในส่วนที่เล่นเซอคัสนั้นเล่าถ้ายืนๆ นั่งๆ แล้วเอาเป็นไม่ดี ถ้าเหยียดยาวไปแล้วเป็นใช้ได้ แต่ที่จะพรรณนาพิสดารไปนั้น ดูก็วุ่นวายเร่อร่านัก ไม่น่าจะมาว่าในหนังสือนี้ แต่ส่วนเกณฑ์พรุณศาสตร์ เกณฑ์ธาราธิคุณ เกณฑ์ธัญญาหาร ซึ่งมีในท้ายฎีกาของโหร ดูเป็นการคนละเรื่องอยู่ ไม่สู้เกี่ยวกันกับเรื่องสงกรานต์นัก จึงหาได้เก็บเอามาว่าในที่นี้ไม่ ๚

  
-------------------------------------------------------------------------------------
[]  เกณฑ์มหาศักราชสอบได้แน่นอนเมื่อทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้แล้ว

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 มิถุนายน 2561 15:53:14 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า:  [1] 2 3   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ภาษิตนักรบโบราณ พระราชนิพนธ์ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 0 6178 กระทู้ล่าสุด 04 กุมภาพันธ์ 2557 14:28:49
โดย Kimleng
ความเป็นชาติโดยแท้จริง-พระราชนิพนธ์ ความเรียง ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ห้องสมุด
Kimleng 0 3742 กระทู้ล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2557 16:10:02
โดย Kimleng
สีใดมีความหมายอย่างใร? ในธงไตรรงค์ : พระราชนิพนธ์ ใน ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ตลาดสด
Kimleng 0 1938 กระทู้ล่าสุด 05 มกราคม 2560 11:39:16
โดย Kimleng
สาวิตรี พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 1 1811 กระทู้ล่าสุด 20 พฤษภาคม 2563 14:57:40
โดย Kimleng
ศกุนตลา พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 8 5458 กระทู้ล่าสุด 04 มิถุนายน 2563 18:56:52
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.881 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 03 มีนาคม 2567 03:51:23