[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 17:03:13 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วัชรยานหรือตันตรยาน:รากฐานพระพุทธศาสนาในทิเบต  (อ่าน 2046 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5062


ระบบปฏิบัติการ:
Linux Linux
เวบเบราเซอร์:
Chrome 64.0.3282.137 Chrome 64.0.3282.137


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 31 สิงหาคม 2561 20:51:57 »



วัชรยานหรือตันตรยาน:รากฐานพระพุทธศาสนาในทิเบต  

ปัจจุบันพระพุทธศาสนามีนิกายที่สำคัญอยู่สามนิกายคือเถรวาท มหายาน และวัชรยานหรือตันตรยาน  ในส่วนของนิกายเถรวาทและมหายาน พุทธศาสนิกชนส่วนมากมักจะรับรู้และมีความเข้าใจกันพอสมควร ประเทศไทยก็ได้จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยพระพุทธศาสนามาหลายครั้ง แต่อีกนิกายหนึ่งอยู่กึ่งๆระหว่างเถรวาทและมหายาน แต่มีข้อปฏิบัติที่แยกออกไปอีกอย่างหนึ่ง ที่มีคนรู้จักมากที่สุดคือพระพุทธศาสนานิกายตันตรยานแต่มักชอบเรียกตัวเองว่าวัชรยาน        

               ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะหายไปจากอินเดียประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 นั้น เท่าที่ปรากฏในเอกสารต่างๆระบุตรงกันว่า เพราพระพุทธศาสนาได้รับเอาการปฏิบัติแบบตันตระจากฮินดูเข้ามา จนเกิดความเสื่อมทางศีลธรรม จนกระทั่งกองทัพมุสลิมบุกเข้าเผาทำลายศาสนสถานของพระพุทธศาสนา ในขณะที่พระภิกษุผู้นิยมในลัทธิตันตระ พากันนั่งสาธยายมนต์ โดยไม่คิดจะต่อสู้กับมุสลิม ส่วนมากจึงถูกฆ่าตาย ส่วนผู้ที่ได้ฌานสมาบัติจริงก็เหาะหนีไปยังประเทศอื่นเมืองอื่น

       ในส่วนของศาสนิกชนถ้าใครต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ก็ต้องเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลามหรือไม่ก็ทำเฉยเสียโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับศาสนา ถ้าวิเคราะห์ตามนี้ก็จะเห็นได้ว่าทั้งฮินดูและพุทธถูกทำลายลงพร้อมกัน แต่ทำไมฮินดูจนยังคงมีอิทธิพลต่อชาวอินเดียอยู่ในปัจจุบันควบคู่ไปกับมุสลิม แต่พระพุทธศาสนาที่เคยเจริญรุ่งเรืองกลับต้องมาเจริญในต่างแดนเช่นไทย พม่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ทิเบต ในแต่ละประเทศก็ได้พัฒนาพุทธศาสนาผสมกับความเชื่อดั้งเดิมของตน จนกลายเป็นพระพุทธศาสนาในลักษณะที่มีต้นกำเนิดจากที่เดียวกัน แต่มีคำสอนและพิธีกรรมไม่เหมือนกัน

 

พระพุทธศาสนาแบบตันตระยานหรือวัชรยานหรือมันตรยาน เกิดขึ้นในอินเดียประมาณศตวรรษที่ 7 โดยได้ดัดแปลงเอาลัทธิฮินดูตันตระเพื่อเอาใจชาวฮินดู และได้นำเอาพิธีกรรมทางอาถรรพเวทเพื่อต่อสู้กับศาสนาฮินดู พุทธศาสนาแบบตันตระมีสาขาใหญ่ 2 สาขา เรียกว่าสาขามือขวากับ มือซ้าย นิกายมือขวาเคารพบูชาเทพฝ่ายชาย ส่วนนิกายมือซ้ายนิยมเรียกว่าวัชรยาน ถือเอาศักติหรือชายาของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก และทุ่มเทความสนใจหนักไปที่นางตารา หรือพระนางผู้ช่วยให้พ้นทุกข์                  

              พิธีกรรมที่สำคัญของตันตรยานคือการสาธยายมนตร์ที่ลึกลับต่างๆ และมีการปฏิบัติโยคะท่าทางต่าง ๆ พร้อมด้วยการเจริญสมาธิ จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติเพื่อบรรลุความหลุดพ้น เชื่อกันว่าในทันทีที่มีความชำนาญได้บรรลุฌานชั้นที่ 1แล้ว กฏความประพฤติด้านศีลธรรมปกติธรรมดาก็ไม่จำเป็นสำหรับผู้นั้นตลอดไป และเชื่อว่าการฝ่าฝืนโดยเจตนา ถ้าหากทำด้วยความเคารพแล้ว ก็จะทำให้เขาบรรลุธรรมขั้นสูงต่อไป ดังนั้นจึงมักผ่อนผันในเรื่องการเมาสุรา การรับประทานเนื้อสัตว์ และการสับสนในทางประเวณี (จำนงค์ ทองประเสริฐ 2540:197)

                 เมื่อบรรลุฌานขั้นที่ 1 กฎแห่งความประพฤติก็ไม่จำเป็น นี่กระมังที่ทำให้ใครๆก็อ้างว่าตนเองบรรลุฌารนขั้นที่ 1 เพื่อที่ตนเองจะได้ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ นักบวชตันตระบางคนจึงเมาสุรา เสพเมถุนกันอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะได้บรรลุศักติ นั่นเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อทำความชั่ว โดยอ้างหลักการบนพื้นฐานของความดี คนที่ทำชั่วในคราบของนักบุญ นับเป็นคนบาปที่ไม่ควรให้อภัย

               พุทธศาสนานิกายตันตระ ถูกนำมารวมเข้าไว้ในการปฏิบัติพิธีรีตองที่เป็นความลับ ครูอาจารย์ในนิกายนี้มักจะเขียนหนังสือที่มีปรัชญาลึกซึ้ง เพราะตันตรยานมีความลึกลับ และมีวิธีการที่พิสดารที่เอง จึงมีผู้ให้คำอธิบายไว้ว่า “ตันตรยาน บางครั้งเรียกว่าลัทธิคุยหยาน ซึ่งแปลว่าลัทธิลับ เป็นนิกายที่มีลักษณะแปลกประหลาดกว่านิกายพุทธศาสนาอื่น ๆ ที่รับเอาพิธีกรรมและอาถรรพเวทของพราหมณ์ เข้ามาสั่งสอนด้วย แต่แก้ไขให้เป็นของพุทธศาสนาเสีย เช่น แทนที่จะบูชาพระอิศวรก็บูชาพระพุทธเจ้าแทน เกิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 (เสถียร โพธินันทะ 2541:172)

เมื่อชาวพุทธรับเอาลัทธิตันตระจากฮินโมาปฏิบัติเพื่อต่อสู้กับฮินดู พระสงฆ์มักจะเน้นที่พิธีกรรมที่แปลกๆและพิสดาร ยิ่งมีความลึกลับเท่าไร ก็ยิ่งทำให้คนเลื่อมใสมากขึ้น และนั่นทำให้เกิดลาภสักการะ พระสงฆ์จึงละทิ้งการปฏิบัติทางจิต หันไปเน้นการประกอบพิธีกรรมที่ลึกลับ ผู้คนก็ชอบใจเพราะไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแต่เข้าร่วมพิธีก็สามารถเข้าถึงพุทธภาวะได้ ตันตระเจริญมากเท่าไร ศีลธรรมก็ยิ่งเสื่อมลงมากเท่านั้น “เพราะอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ของลัทธิตันตริกหรือวัชรยานนี้ ประชาชนอินเดียในสมัยนั้นต่างหมดความเคารพในศีลธรรม แต่กลับนิยมชมชื่นในความวิปริตนานาชนิด” (กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย 2537:437)



                คัมภีร์ตันตระในลัทธิฮินดูสอนว่า “มนุษย์มีความไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นกฏพิธีจึงต้องกระทำต่าง ๆ กันตามสภาพของมนุษย์ มนุษย์มีลักษณะ 3 ประการ คือ ปศุ (สัตว์) วีระ (กล้าหาญ) และทิพยภาวะ ลักษณะ 3 ประการนี้ มักจะหมายถึงวัยของมนุษย์คือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย และสอนว่า ถ้าจะข่มราคะ โทสะ โมหะ ให้หมดไป ก็อาศัยราคะ โทสะ โมหะ นั้นเองเป็นเครื่องบำราบ (หนามยอกเอาหนามบ่ง) คือต้องกินอาหาร ต้องดื่มน้ำเมา ต้องเสพเมถุน เป็นต้นแต่ละอย่างให้เต็มที่ สิ่งเหล่านี้แหละจะเป็นเครื่องดับมันเอง” (เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป 2537:109)

               พระพุทธศาสนาแบบตันตระเน้นในเรื่องเกี่ยวกับการประกอบพิธีกรรม การสาธยายมนตร์ และมีคำสอบที่เป็นรหัสนัยอันลึกลับ จนทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย ดังที่เสถียรโพธินันทะแสดงความเห็นไว้ว่า “ลัทธิมันตรยาน ถ้าจะเทียบด้วยเปอร์เซ็นต์แล้ว ก็มีความเป็นพระพุทธศาสนาเหลือสัก 10 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นรับเอาลัทธิฮินดูตันตระมาดัดแปลง ความประสงค์เดิมก็เพียงเพื่อเอาใจชาวฮินดู จึงได้นำลัทธิพิธีกรรมทางอาถรรพเวทมาไว้มาก และได้ผลเพียงชั่วแล่น แต่ผลเสียก็เป็นเงาตามทีเดียว คือถูกศาสนาพราหณ์กลืนโดยปริยายนั่นเอง (เสถียร โพธินันทะ2541:198)

 

การปฏิบัติตันตระในพุทธตันตรยานในพุทธศตวรรษที่ 17 นั้นมีอธิบายไว้ว่า (1)ถือว่าการพร่ำบ่นมนตร์และลงเลขยันต์ซึ่งเรียกว่าธารณีเป็นหนทางรอดพ้นสังสารทุกข์ได้เหมือนกัน การทำจิตให้เพ่งเล็งถึงสีสันวรรณะหรือทำเครื่องหมายต่างๆด้วยนิ้วมือซึ่งเรียกว่ามุทรา จะให้ให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ให้ลุทางรอดพ้นได้ ลัทธินี้เรียกสวว่า มนตรยานหรือสหัชญาณ, (2) เกิดมีการนับถือฌานิพุทธและพระโพธิสัตว์อย่างยิ่งยวด มีการจัดลำดับพระพุทธเจ้าเป็นลำดับชั้น ในยุคนี้เกิดมีการนำเอาลัทธิศักติเข้ามาบูชาด้วย จนทำให้พระฌานิพุทธะและพระโพธิสัตว์มีพระชายาขนาบข้าง เหมือนพระอุมาเป็นศักติของพระศิวะ พระลักษมีเป็นศักติของพระวิษณุ ผูเข้าสู่นิพพานคือเข้าอยู่ในองค์นิราตมเทวี ลัทธิอย่างนี้เรียกว่าวัชรยาน ผู้อยู่ในลัทธิเรียกว่าวัชราจาร (3) มีการเซ่นพลีผีสาง โดยถือว่าถ้าอ้อนวอนบูชาจะสำเร็จผลประพสบความสุขได้ และเติมลักษณะพระฌานิพุทธให้มีปางดุร้ายอย่างนางกาลี ซึ่งเป็นเหมือนพระนางอุมาที่ดุร้าย ลัทธินี้เรียกว่ากาลจักร” (เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป 2537:166)

                ฟังคำอธิบายของนิกายตันตรยานแล้วก็น่าสงสารพระพุทธศาสนา ที่ถูกนักการศาสนากระทำปู้ยี่ปู้ยำ คิดถึงการที่พระสัมสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงเหนื่อยอย่างแสนสาหัสกว่าที่จะทรงตั้งศาสนจักรขึ้นได้ แต่กลับอยู่ในดินแดนอันเป็นถิ่นกำเนิดได้ไม่ถึง 2,000 ปี

               คิดถึงสถานการณ์พระพุทธศาสนาในเมืองไทย ซึ่งถือว่าเป็นนิกายเถรวาท แต่มีการพร่ำบ่นสาธยายมนตร์ ลงอักขระเลขยันต์ ปลุกเสกพระเครื่อง คล้ายๆกับตันตระในยุคเริ่มต้น อิทธิพลของตันตรยานแผ่คลุมพุทธอาณาจักรแทบทุกนิกาย เพียงแต่ว่าใครจะรับเอาไว้ได้มากน้อยเท่าใด และแปรสภาพไปสู่ยุคที่สองได้เร็วเท่าใด หากยังรักษาสถานภาพไว้แค่ขั้นที่หนึ่งก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เมืองไทยน่าจะรักษาพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทไว้ได้อีกนาน แต่ถ้าเริ่มเข้าสู่ยุคที่สองคือนับถือพระพุทธเจ้าในฐานะที่เป็นเทพเจ้า นิพพานเป็นอาณาจักร เป็นแดนสุขาวดีที่มีพระสงฆ์บางรูปอ้างว่าสามารถนำภัตตาหารไปถวายพระพุทธเจ้าได้ นี่คือสิ่งที่น่าเป็นห่วง

 

นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาต่างกล่าวโทษพระพุทธศาสนาแบบตันตระ ว่าเป็นความเสื่อมของพระพุทธศาสนา แต่ที่ทิเบตพระพุทธศาสนาแบบตันตระกลับเป็นเอกลักษณ์พิเศษ เพราะตันตระจึงทำให้มีทิเบต และชาวตะวันตกรู้จักพระพุทธศาสนาแบบตันตระมากว่านิกายอื่น ชาวทิเบตประเทศที่ไร้อิสรภาพ แต่ไม่ไร้ปัญญา พวกเขายังคงมีพระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักที่สำคัญที่สุดในประเทศ และที่สำคัญพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้ที่ทิเบตก็เพราะตันตระยานนี่เอง

               ร่องรอยของพระพุทธศาสนาในอินเดีย อาจกล่าวได้ว่าตันตรยานคือนิกายสุดท้ายที่เหลืออยู่ในอินเดียและสูญหายไปจากอินเดียประมาณศตวรรษที่ 17 แต่พระพุทธศาสนาไปเจริญรุ่งเรืองในประเทศอื่น ทั้งมหายานและเถรวาท



               ในคัมภีร์ฝ่ายมหายานถือว่าพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนาอันมหัศจรรย์สามครั้งคือครั้งแรกแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกะปปวัตนสูตร โดยทรงสอนเรื่องอริยสัจจ์ 4 แก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน จนกระทั่งอัญญาโกญฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ครั้งที่ 2แสดงปรัชญาปารมิตาสูตร บนยอดเขาคิชกูฏ นอกกรุงราชคฤห์ เป็นการขยายความของธรรมเทศนาครั้งแรกให้มีความลึกซึ้งและชัดเจนยิ่งขึ้น ครั้งที่ 3 แสดงตถาคตครรภ์สูตร ซึ่งเป็นการสอนเทคนิคและวิธีการที่จะเข้าถึงปรมัตถธรรม ต่อมาท่านนาครชุนได้นำมาอธิบายทัศนะว่าด้วยศูนยตา และต่อมาได้เกิดนิกายตันตระยานขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่จะเข้าถึงพุทธภาวะได้ง่ายกว่าวิธีอื่น

               คำว่า "ตันตระ" หมายถึงความสืบเนื่องของจิตหรือวิญญาณ ฝ่ายทิเบตมีความเห็นว่าตันตระเกิดขึ้นในครั้งที่พระพุทธองค์แสดงธรรมจักรครั้งที่ 2 พระองค์ได้ทรงประทานคำสอนตันตระเบื้องต้น ในคัมภีร์ฝ่ายทิเบต พวกลามะต่างยืนยันหนักแน่นว่า “การปฏิบัติตันตระเท่านั้นที่จะเข้าถึงพุทธภาวะได้ โดยรวมเอกภาพให้เกิดขึ้นระหว่างรูปกายและธรรมกาย โดยอ้างว่า “พระพุทธองค์ทรงยกตัวอย่างว่า อุจจาระนั้นถ่ายอยู่ในเมืองเป็นของสกปรก แต่ถ้าอยู่ในท้องทุ่งนาก็กลายเป็นปุ๋ย พระโพธิสัตว์สามารถใช้กิเลสให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ฉันใดก็ฉันนั้น” (ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ (ษัฏเสน)2538:102)

 

ในการการปฏิบัติตามหลักตันตระนั้นมีลำดับขั้นที่แตกต่างกัน ตามความยากง่าย ซึ่งสามารถแบ่งตามลำดับได้ 4 ระดับคือ

                              1. กิริยาตันตระ ว่าด้วยการกระทำ เป็นตันตระขั้นต้น ซึ่งให้ความสำคัญกับกิริยาท่าทาง ดังนั้นจึฝมีวิธีฝึกที่เรียกว่ามุทรา การที่จะเข้าถึงพุทธภาวะได้บางครั้งก็เพียงแต่ตรึกนึกเห็นภาพขององค์พุทธะจนเกิดเป็นแสงสว่าง การเข้าถึงทางวาจาก็เพียงแต่ได้ยินเสียงกระซิบมนต์เบาๆ หรือท่องสาธยายมนต์จนเกิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพุทธภาวะ อุปกรณ์ในการฝึกคือการเพ่งกสิณและฟังเสียงสาธยายมนต์

2. จรรยาตันตระ ว่าด้วยความประพฤติ เน้นที่การฝึกฝนทางกายและการฝึกฝนภายในคือการฝึกจิต การฝึกก็ให้นึกเห็นเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งจนเกิดเป็นนิมิตรประจำตัว ที่นิยมมากที่สุดคือพระไวโรจนะพุทธเจ้า

                               3. โยคะตันตระ ว่าด้วยโยควิธี เน้นการฝึกจิตภายในมากกว่าการฝึกกิริยาภายนอก มีวิธีการในการฝึกค่อนข้างจะพิเศษโดยการอธิบายถึงอาณาจักรแห่งวัชระและมรรควิธีในการชำระกายให้บริสุทธิ์

                               4. อนุตตรโยคะ ว่าด้วยโยควิธีอย่างยิ่งยวด โดยการฝึกฝนภายในจิตอย่างเดียวโดยไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องกิริยาภายนอก ซึ่งเป็นตันตระขั้นสูงสุด การฝึกจิตในระดับนี้จะต้องอาศัยอาจารย์ผู้ชำนาญ ซึ่งจะคอยถ่ายทอดคำสอนสำคัญ โดยการแสดงรหัสยนัย ซึ่งเป็นคำสอนที่ลี้ลับอาจารย์จะถ่ายทอดให้แก่ศิษย์ที่ผ่านการฝึกจิตจนถึงระดับแล้วเท่านั้น ลูกศิษย์จะต้องคอยตีความและนำเอามาฝึกจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ขึ้นในตน (Alex Waymann 1997:12)

 

วิธีการที่พุทธศาสนาแบตันตระสอนในทิเบตนั้น คนภายนอกอาจจะมองว่าเป็นเรื่องที่เรียนหรือศึกษาไม่ยาก ใครต้องการเข้าถึงพุทธภาวะก็เพียงแต่เข้าหาอาจารย์และคอยตีความรหัสนัยที่อาจารย์แสดงเท่านั้นก็จะเข้าถึงอนุตตรโยคะได้แล้ว หากศึกษาตามขั้นตอนนี้ ตันตระก็ไม่ใช่นิกายที่ลึกลับอะไร แต่ที่มาของคำว่าตันตระเป็นเรื่องที่ควรศึกษา เพราะตันตระถูกนักปราชญ์หลายท่านให้คำอธิบายไว้อย่างน้ากลัว ชาวพุทธเถรวาทจึงเกรงกลัวพระพุทธศาสนาแบบตันตระยานไปด้วย

                ในกรณีของธรรมกาย หากนำเอาลัทธิมาอธิบายแล้ว การเพ่งลูกแก้วจนเกิดเป็นดวงใส ที่ชาวธรรมกายถือว่าได้ดวงตาเห็นธรรมนั้น แท้ที่จริงมีอธิบายไว้ในกิริยาตันตระ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติเบื้องต้นเท่านั้น ธรรมกายไม่ได้สอนผิด เพียงแต่สอนตามหลักของตันตระยานเท่านั้น ในขณะที่รอบๆข้างเป็นเถรวาท จึงถูกโจมตี จนทำให้การสอนเรื่องธรรมกายขาดความถูกต้อง ที่ผิดเพราะไม่ตรงกับเถรวาทเท่านั้น แต่ไปตรงกับตันตระ ถ้าเพียงแต่ธรรมกายบอกว่าพวกเขาสอนตามนิกายตันตระยานเท่านั้น ทุกอย่างก็จบ เพราะตันตระยานก็คือพุทธศาสนานิกายหนึ่งสังกัดมหายาน

                ทิเบตเจริญเพราะตันตระ เพราะในยุคแรกที่พระพุทธศาสนาเข้าไป ก็ด้วยการปราบผีของท่านปัทมะสัมภวะ เมื่อปราบผีราบคาบจนผียอมรับนับถือ จึงทำให้ผีเปลี่ยนศาสนา  พระพุทธศาสนาในทิเบตจึงเป็นเหมือนการครอบลงไปบนความเชื่อเก่า เพียงแต่เปลี่ยนผีมาเป็นพุทธเพราะพุทธมีพลังมากกว่า สักวันหนึ่งเมื่อผีมีพลังมากขึ้นพุทธอาจจะกลายเป็นผีไปก็ได้

 

การที่ตันตรยานเจริญในทิเบตได้นั้น นอกจากจะเป็นเพราะการผสมผสานระหว่างพุทธกับผีแล้ว ยังมีผู้ให้ความเห็นไว้อีกว่า “ตันตรยานนั้น ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเถรวาทด้วย และอาจารยวาทด้วย องค์ทะไลลามะทรงเป็นพระภิกษุ สมาทานสิกขาบทตามพระปาฏิโมกข์ ดุจดังสมณะในบ้านเรา การถือศีลนั้นไม่ใช่เพื่องดทำร้ายผู้อื่นและเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น หากฝึกให้งดแลเห็นสภาพต่างๆตามที่ปรากฏ รวมทั้งยอมรับสมมุติสัจจ์ อันเป็นที่ยอมรับกับอย่างทั่วๆไปในสังคมอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเข้าถึงปรมัตถสัจจ์นั่นเอง” (ส ศิวรักษ์ 2542: 2)

                ตันตรยานจะเป็นส่วนหนึ่งของเถรวาทหรือไม่นั้น เป็นปัญหาที่ควรศึกษาค้นคว้าต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการปฏิบัติตามแบบตันตรยานนั้นมีอยู่ในเถรวาท ใครจะได้รับอิทธิพลจากใครหรือไม่อย่างไรต้องหาคำตอบต่อไป ตันตระทำให้พุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย แต่ทำไมตันตระจึงทำให้พระพุทธศาสนาแบบทิเบตเจริญ

เอกสารอ้างอิง

กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย. ภารตวิทยา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยาม, 2516.

จำนงค์ ทองประเสริฐ. บ่อเกิดลัทธิประเพณีอินเดีย. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2540.

ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ (ษัฏเสน). พระพุทธศาสนาแบบทิเบต.กรุงเทพฯ: ส่องศยาม,2538.

เสถียร โพธินันทะ. ปรัชญามหายาน. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2541.

เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป. ลัทธิของเพื่อน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พิราบ, 2537.

สุลักษณ์ ศิวรักษ์. พุทธศาสนาตันตระหรือวัชรยาน. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2542.

วศิน อินทสระ. พุทธปรัชญามหายาน. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2530.

Alex Waymann. Tantric Buddhism. Delhi: Motilan, 1997.

จาก https://m.facebook.com/groups/783674078384718?view=permalink&id=1877897568962358

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.454 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 25 มีนาคม 2567 10:47:05