[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 13:26:53 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กฐิน : ประเภทของกฐิน  (อ่าน 1281 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 03 กันยายน 2561 17:21:28 »



กฐิน

คำว่า กฐิน หรือ กฐินะ เป็นคำภาษาบาลี แปลว่าไม้สะดึง ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับขึงผ้าเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อขึงผ้าให้ตึง สำหรับเย็บทำเป็นจีวร ซึ่งสมัยโบราณเครื่องเย็บปักถักร้อยยังไม่มีเครื่องจักรเช่นปัจจุบัน จึงเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “ไม้สะดึง”  หรือไม้แบบที่ลาดหรือกางออกไปเพื่อขึงเย็บจีวร ที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาลใช้สำหรับกะตัดเย็บและย้อมเป็นผ้านุ่ง หรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่า ไตรจีวร  ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า สบง ผ้าห่ม ว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อน ว่า สังฆาฏิ

กฐินเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่งซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตไว้เพื่อขยายระยะเวลาในการทำจีวรให้ยาวออกไป โดยปกติระยะเวลาที่ทำจีวรมีเพียงท้ายฤดูฝน ถ้าได้กรานกฐินแล้ว ระยะเวลาย่อมขยายออกไปตลอดฤดูหนาว ต่อมาได้กำหนดเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา

มูลเหตุที่จะให้เกิดเรื่องกฐินนั้น ในคัมภีร์พระวินัยปิฎกกกฐินขันธกะ พูดถึงความเป็นมาของการทอดกฐินว่า ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐารัฐ หรือ ปาไถยรัฐ จำนวน ๓๐ รูป ได้เดินทางจากเมืองปาฐาเพื่อไปเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี แต่เมื่อมาถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถี ระยะทางประมาณ ๖ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ ก.ม.) หรือประมาณ ๙๖ กิโลเมตร ก็เข้าฤดูฝนจึงต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่นก่อน เมื่อออกพรรษาแล้วก็รีบเดินทางต่อไปยังเมืองสาวัตถี ระหว่างทางต้องกรำฝนทนแดดไปตลอดทาง สบงและจีวรเปียกชุ่ม พระพุทธองค์ทรงเห็นความลำบากตรากตรำของพระภิกษุเหล่านั้นจึงเรียกประชุมภิกษุสงฆ์ และยกเรื่องราวของพระภิกษุทั้ง ๓๐ รูปนั้นเป็นเหตุ แล้วตรัสอนุญาตให้ภิกษุรับผ้ากฐินก่อน เพราะแม้จะออกพรรษาแล้วฝนก็ยังไม่ขาดเสียทีเดียว ถ้าไม่มีความจำเป็นมากก็ให้อยู่รับผ้ากฐินเสียก่อนแล้วจึงเดินทางไปยังที่อื่น แล้วทรงกำหนดเวลาอันเป็นเขตของกฐินไว้ว่าตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ สามารถรับผ้ากฐินได้ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำกลางเดือน ๑๒ หรือประมาณไม่เกิน ๑ เดือน หลังจากออกพรรษา

ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยโบราณ เท่าที่มีหลักฐานทราบได้ว่ามีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังมีปรากฏในศิลาจารึก หลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่กล่าวถึงการทำบุญกฐินของชาวสุโขทัย ดังนี้

“คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ขาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วย มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษา กรานกฐินเดือนณื่งจึ่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่ง หมอนโนน บริพารกฐินโอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัติกฐินเถิงอรัญญิกพู้น”

โดยความเป็นจริงแล้วเรื่องผ้ากฐินนั้นเป็นเรื่องของพระภิกษุสงฆ์อย่างเดียวในการทำผ้า เมื่อพระภิกษุไปได้ผ้ามาจากที่ต่าง ๆ แล้วนำมารวมกันเย็บให้เป็นผืนเดียวแล้วตกลงกันว่าจะมอบจีวรชุดนี้ให้แก่พระภิกษุรูปใด (ซึ่งในสมัยพุทธกาลนั้นผ้าส่วนใหญ่เป็นผ้าบังสุกุล หรือผ้าที่พิจารณามาจากผ้าห่อศพ ผ้าจึงมีจำนวนน้อยและหายากการจะทำเป็นจีวรจึงทำได้เพียงผืนเดียว) และยอมมอบผ้าที่ทำเป็นจีวรนั้นให้แก่พระภิกษุที่มีผ้าเก่าที่สุดนำไปใช้นุ่งห่ม

ในธรรมบทภาค ๔ กล่าวว่าในครั้งพุทธกาลมีการประชุมใหญ่ในการทำผ้า เมื่อครั้งพระอนุรุทธะได้ผ้าบังสุกุลมา จะทำจีวรเปลี่ยนผ้าครองสำรับเก่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบจึงพร้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูป เสด็จไปประทับเป็นประธานในวันนั้น พระอสีติมหาสาวก ก็ไปร่วมประชุมช่วยทำผ้ากฐิน พระมหากัสสปะนั่งอยู่ต้นผ้า พระสารีบุตร นั่งอยู่ท่ามกลางผ้า พระอานนท์นั่งอยู่ปลายผ้า พระภิกษุสงฆ์ช่วยกันกรอด้ายสำหรับเย็บ พระบรมศาสดาทรงสนเข็ม พระโมคคัลลานะเป็นผู้อุดหนุนกิจการทั้งปวง ประชาชนต่างนำสิ่งของไปถวาย เมื่อผ้าทำเสร็จแล้ว จึงมีการประชุมสงฆ์ทำสังฆกรรมเกี่ยวกับผ้ากฐิน ต่อมาด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ของสังคมในอินเดีย  และผู้ได้ถวายผ้ากฐินเป็นคนแรกที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระบรมพุทธานุญาต ได้แก่ นางวิสาขามหาอุบาสิกา

ผ้าที่ควรทำเป็นผ้ากฐินมี ๕ ชนิด คือ
๑.ผ้าใหม่
๒.ผ้าเทียมใหม่
๓.ผ้าเก่า
๔.ผ้าบังสุกุล
๕.ผ้าตกตามร้าน

องค์แห่งพระภิกษุผู้ควรกรานกฐินมี ๘ คือ
๑.รู้จักบุพกรณ์
๒.รู้จักถอนไตรจีวร
๓.รู้จักอธิษฐานไตรจีวร
๔.รู้จักการกราน
๕.รู้จักมาติกา
๖.จักปลิโพธกังวล
๗.รู้จักการเดาะกฐิน
๘.รู้จักอานิสงส์กฐิน

บุพกรณ์มี ๗ คือ
๑.ซักผ้า
๒.กะผ้า
๓.ตัดผ้า
๔.เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว
๕.เย็บเป็นจีวร
๖.ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว
๗. กัปปะ คือ พินทุ (หรือเครื่องหมายบนผ้า)

ประเพณีทอดกฐิน มีกำหนดฤดูกาลที่จะทำตามวินัยว่าต้องทำภายในกำหนด ๑ เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษาไปแล้ว คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ภายในกำหนดเวลานี้ โดยทั่วไปเรียกว่ากฐินกาล เทศกาลกฐิน หน้ากฐิน หรือฤดูกฐิน ก่อนถึงวันทอดกฐิน ผู้ประสงค์จะทอดกฐินต้องเลือกวัดที่จะทอด โดยหาวัดที่เหมาะแก่กำลังของตนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ว่าวัดที่สามารถรับกฐินได้นั้นต้องมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาอย่างน้อย ๕ รูป และพระเหล่านั้นต้องไม่ขาดพรรษาคือจำพรรษาในวัดนั้นตลอดไตรมาสครบ ๓ เดือน โดยมากจะเลือกวัดหมู่บ้านอื่นเพื่อได้มีโอกาสแห่กฐินไปอย่างครึกครื้นสนุกสนาน และยังเป็นโอกาสได้เที่ยวเตร่เปลี่ยนภูมิประเทศ ได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ไปในตัว เมื่อตกลงใจจะทอดกฐินวัดใดแล้วก็ต้องเผดียง คือแจ้งความจำนงให้พระสงฆ์ในวัดนั้นรู้แต่เนิ่นๆ แล้วเขียนประกาศติดไว้ในที่เปิดเผยในวัดนั้น เรียกว่า จองกฐิน  การจองกฐินนี้จองได้แต่เฉพาะวัดราษฎร์ วัดหลวงจองไม่ได้ เพราะวัดหลวงจะต้องรับกฐินหลวงเท่านั้น วัดใดที่มีผู้จองกฐินแล้วคนอื่นจะมาทอดซ้ำไม่ได้ เว้นแต่เจ้าภาพจะตกลงกันเอง ครั้นถึงกาลกฐินผู้ที่จองกฐินไว้ก็จะเตรียมข้าวของโดยเฉพาะผ้าซึ่งจะทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง อย่างน้อยก็พอที่จะทำเป็นสบงได้ ผ้านี้จะเป็นผ้าขาวที่ยังไม่ได้เย็บ หรือเย็บแล้วแต่ยังไม่ได้ย้อมเหลือง หรือจะย้อมเหลืองแล้วก็ได้ ผ้าดังกล่าวนี้เป็นของสำคัญหรือเป็นหัวใจของกฐินที่ขาดไม่ได้ เรียกว่า องค์กฐิน ส่วนเครื่องไทยธรรมและของถวายพระอื่นๆ เช่น รองเท้า พัด ย่าม มุ้ง หมอน ผ้าห่ม ปิ่นโต เป็นเพียงบริวารกฐิน ไม่มีกำหนดตายตัว แล้วแต่ศรัทธา เสร็จแล้วจึงนำผ้ากฐินไปถวายพระภิกษุสงฆ์ เรียกว่า “ทอดกฐิน” ก่อนที่จะนำกฐินไปทอด ถ้ามีพิธีฉลองจะเรียกว่า “ฉลองกฐิน”

การเดินทางไปทำบุญทอดกฐินในสมัยก่อนมีทั้งทางบกและทางน้ำ ถ้าบนทางบกก็ไปโดยเกวียน ข้าง หรือม้า ถ้ามีช้างมักตั้งองค์กฐินในกูบบนหลังช้าง ถ้าไม่มีก็ตั้งไว้ในเกวียนและตกแต่งประดับประดาเกวียนให้งดงาม แต่งเป็นบุษบกสำหรับตั้งองค์กฐิน หรือถ้าไม่ใส่เกวียนก็ใช้หาบไป โดยมีขบวนร้องรำทำเพลง เป่าปี่ตีกลองนำหน้าขบวน ถ้าไปทางน้ำก็ไปด้วยเรือพายเรือแจว หรือที่เป็นองค์กฐินนั้น จัดแต่งเป็นพิเศษมีคาดผ้าสีมีธงทิวตามแต่จะแต่ง และหากมีพิธีแห่ ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางน้ำ ก็เรียกว่าแห่กฐิน มีประเพณีอย่างหนึ่งคือ ผู้ทอดกฐินต้องนำธงผ้าเขียนเป็นรูปสัตว์ เช่น จระเข้หรือเต่าไปด้วย เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็นำไปปักไว้ที่ศาลาวัด หน้าโบสถ์ หรือหน้าวัดที่เห็นได้ชัดเพื่อเป็นเครื่องหมายว่าวัดนี้ทอดกฐินแล้ว

กฐินที่นิยมทอดในหมู่พุทธศาสนิกชนไทยภาคกลาง มีผู้แบ่งไว้เป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

กฐินหลวง คือกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินทอดถวาย ณ พระอารามหลวงที่กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษ ปัจจุบันมี ๑๖ วัด ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวาราม วัดอรุณราชวราราม วัดเทพศิรินทราวาส วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดราชาธิวาส วัดราชโอรสาราม วัดนิเวศธรรมประวัติ วัดสุวรรณดารามราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

กฐินต้น คือกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชศรัทธาพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดถวายตามพระอารามที่ทรงพอพระราชหฤทัย จะเป็นอารามหลวงหรืออารามราษฎร์ สุดแต่พระราชอัธยาศัย

กฐินพระราชทาน คือกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชบริพารหรือหน่วยราชการต่างๆ นำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงต่างๆ แทนพระองค์ เช่น วัดราชโอรสาราม วัดอนงคาราม วัดกัลยาณมิตร เป็นต้น

กฐินราษฎร์ คือกฐินที่ราษฎรจัดขึ้นเป็นส่วนตัวหรือเป็นหมู่คณะ แล้วนำไปทอดถวายตามวัดต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด กฐินราษฎร์นี้ แยกเรียกกันออกเป็น ๒ อย่าง คือ จุลกฐินและมหากฐิน จุลกฐิน คือกฐินที่จัดทำตั้งแต่เริ่มเก็บฝ้ายมาปั่นกรอให้เป็นด้าย แล้วทอจนเป็นผืนผ้า เย็บย้อมเสร็จแล้วทอดในวันนั้น มีกำหนดเวลาให้ทำเสร็จภายใน ๒๔ ชั่วโมง ส่วนมหากฐิน คือ กฐินที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ เพราะมีเวลาตระเตรียมได้นานวัน

กฐินสามัคคี คือกฐินที่พุทธศาสนิกชนร่วมแรงร่วมใจกันจัดขึ้นเป็นหมู่คณะ

กฐินทรงเครื่อง คือกฐินที่มีผ้าป่าไปทอดสมทบด้วย เรียกว่าผ้าป่าหางกฐิน

กฐินโจรหรือกฐินตกค้างหรือกฐินจร คือกฐินที่เจ้าภาพนำไปทอดโดยไม่แจ้งให้ทางวัดรู้ล่วงหน้า ผ่านไปวัดใดที่ยังไม่มีใครจองและใกล้จะหมดกาลกฐินแล้ว ก็จู่โจมเข้าไปทอดถวายคล้ายโจรบุกปล้น การทอดกฐินประเภทนี้ถือว่าได้บุญได้อานิสงส์แรงกว่าทอดกฐินธรรมดา

ผู้ที่ได้ทำบุญกฐินถือว่าเป็นผู้ได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืดยาวออกไป ได้เป็นผู้สงเคราะห์พระสงฆ์ตามพระธรรมวินัยและได้ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญมหาทาน นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาประเพณีที่ดีไว้มิให้เสื่อมสูญ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นอานิสงส์ที่ผู้ทำบุญกฐินได้รับทั้งสิ้น พระภิกษุสงฆ์ที่รับกฐินก็จะได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน

ประเพณีทอดกฐินในภาคกลางมีทั้งที่เป็นประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ นับเป็นพระราชประเพณีอย่างหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นธุระ บำเพ็ญพระราชกุศลมาตั้งแต่สมัยโบราณ การเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินสมัยก่อน มีการเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราทั้งทางสถลมารคและชลมารค เป็นการแห่พระกฐิน ปัจจุบันการไปทำบุญทอดกฐินสำหรับชาวบ้าน นอกจากจะไปทางน้ำโดยขบวนเรือและทางบกด้วยขบวนรถยนต์แล้ว ยังมีทางอากาศด้วยเครื่องบิน ซึ่งบางครั้งจะเป็นไปในรูปของทัวร์กฐินหรือเที่ยวกฐินด้วย คือ นอกจากจะไปทำบุญทอดกฐินแล้ว ยังมีการพาเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 30 ตุลาคม 2564 19:44:05 »



อานิสงส์ของการทอดกฐิน
โดย หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
๕ ตุลาคม ๒๕๓๓

จะอธิบายเรื่อง อานิสงส์ของการทอดกฐิน ทำไมจึงได้อานิสงส์มาก ได้บุญมากเสียเหลือเกิน คนที่ทำบุญทอดกฐินนี้

การทานผ้าผ่อนท่อนสไบ เครื่องนุ่งห่ม เปลี่ยนผ้าให้แก่พระภิกษุนั้น อานิสงส์ที่จะได้เกิดชาติใดภพใดย่อมได้มีร่างกายสวยงามหนึ่ง และได้ผ้าผ่อนท่อนสไบเครื่องนุ่งห่มไม่อดไม่อยาก

ทีนี้ถ้าเราทานบาตร ถ้าหากเราทำใหญ่ เกิดชาติใดภพใดจะเหมือนได้หม้อข้าวทิพย์ มีอาหารการกินบริบูรณ์ ไม่อดไม่อยากเหมือนกัน นี่พูดถึงการที่เราทำเหมือนกับการบวชพระภิกษุองค์หนึ่ง

บุคคลใดพากันบริจาคทานมีดโกนและหินลับมีดโกน บุคคลนั้นจะได้สติปัญญาแก่กล้า เฉลียวฉลาดแหลมคม ถ้ามีดโกนนั้นปลงผมให้หมดจดสะอาด สติปัญญานั้นเองจะกำจัดกิเลสให้หมดให้สิ้นจากดวงใจนั้นในทางที่สุด ได้รับอานิสงส์

บุคคลทานด้ายทานเข็มก็เช่นกันจะเป็นบุคคลที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมแทงทะลุปรุโปร่งเข้าไปในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอานิสงส์

บัดนี้ บุคคลจะทานเตียงนอนหรือหมอนมุ้งก็ดีเป็นที่อยู่ที่นอน ก็เรียกว่าให้ได้ที่พักพาอาศัยที่อยู่ที่นอนเสื่อสาดอาสนะนั้น สะดวกสบายไปอยู่ที่ไหน เกิดชาติใดภพใดก็ดีก็ย่อมได้อานิสงส์สิ่งนั้น

บุคคลพากันทานเรื่องอาหารการกิน เกิดชาติใดภพใดก็จะได้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ และมีอาหารการกินสมบูรณ์ ไปเกิดอยู่ประเทศไหนแห่งหนตำบลใด ไม่อดไม่อยาก ไม่เขียมอาหารการกินสมบูรณ์ ไม่ทุกข์ยากเหมือนอย่างบางประเทศที่เขาไม่ได้ทำบุญ เขาอดเขาอยากยากแค้นเหมือนอย่างที่เราพูดกันอยู่ ไม่ไปเกิดในสถานที่อย่างนั้น คนทำบุญเรื่องบริจาคทานอาหารการกินถวาย

บุคคลทานยารักษาโรคภัยไข้เจ็บมาร่วมกฐิน เกิดชาติใดภพใดจะเป็นผู้ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนร่างกายตั้งแต่เล็กจนถึงหนุ่มสาว จนถึงเฒ่าแก่ ไม่ได้ไปโรงพยาบาลสักที ร่างกายจะมีพลานามัยสมบูรณ์อยู่ตลอด เป็นอานิสงส์ของผลบุญ

บุคคลทานธูปทานเทียน ดอกไม้ก็ดีมาร่วมงานกฐิน เกิดชาติใดภพใดจะได้ดวงตาแจ่มใส หรือไฟฟ้าไฟฉายก็ตามแต่มาร่วมงานนั้น ก็เหมือนอย่างเดียวกัน จะทำให้ดวงตาสว่างไสว ตาไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เป็นอานิสงส์ของผลบุญ

บุคคลที่ทานจอบทานเสียมก็ดีเป็นเครื่องพัฒนาสิ่งของต่างๆ ก็ทำให้เรามีพื้นที่ มีสวนลำไย มีสวนลิ้นจี่ สวนอะไร หรือทำถนนหนทางด้วยจอบด้วยเสียมให้คนเดินไปมาอย่างสะดวกสบาย บุคคลนั้นก็จะได้อานิสงส์ เดินไปไหนก็ได้ทางเดินสะดวกสบาย สะอาดสะอ้านเป็นอานิสงส์ผลบุญ

บัดนี้บุคคลจะทานพระพุทธรูปมาร่วมในงานกฐิน บริจาคพระพุทธรูปเป็นองค์แทนสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอาไปตั้งไว้ที่ไหนให้คนสักการะกราบไหว้บูชา จะนำมาเป็นพลานิสงส์แก่บุคคลผู้บริจาคทานนั้น เกิดชาติใดภพใดจะเป็นคนรูปสวยสดงดงาม เป็นอานิสงส์ผลบุญอย่างหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่งนั้นจะเป็นคนที่ชักชวนบุคคลอื่นให้เข้าใกล้พระพุทธศาสนา เพราะเราเอาพระพุทธรูปไปตั้งไว้บนศาลาหรือบนวิหารโบสถ์ก็ดี บุคคลทั้งหลายมาจากจาตุรทิศทั้งสี่ เมื่อมามองเห็นแล้วว่าพระพุทธรูปสวยสดงดงาม น่ากราบไหว้น่าบูชา เขาก็พากันมาดอกไม้มาบูชา พากันมากราบมาไหว้ เขาก็ย่อมได้บุญได้กุศล เพราะตนเองนั้นบริจาคทานพระพุทธรูปเอาไว้ นี่ก็ชักจูงคนอื่นให้เข้าทำคุณงามความดี เข้าใกล้พระพุทธศาสนา

อานิสงส์อีกข้อหนึ่งก็ดี เกิดชาติใดภพใดจะได้พบพระพุทธศาสนา ได้พากันทำคุณงามความดีสืบต่อไป เป็นอานิสงส์ผลบุญผู้บริจาคทานพระพุทธรูป
 
หากบุคคลทานพัดลมเครื่องพัดวีก็ดี เกิดชาติใดภพใดไปอยู่ที่ไหนก็ย่อมได้รับความร่มเย็นเป็นสุข มีพัดมีวี อยู่สถานที่สบาย ไม่ร้อน เพราะเป็นสิ่งที่คลายร้อน

บุคคลทานน้ำบริจาคน้ำเอาไว้เป็นน้ำดื่มก็ดี น้ำอาบน้ำใช้ก็ดี เกิดชาติใดภพใดก็จะมีน้ำใช้น้ำอาบสะดวกสบาย ไปเกิดในสถานที่มีน้ำอย่างสมบูรณ์ จะไปบ้านใดเมืองใดเราหิวน้ำ ย่อมมีคนเอาน้ำมาต้อนรับเวลาเราไป เราไม่ต้องเรียกดื่ม เขาจะเอามาต้อนรับ เพราะด้วยอานิสงส์ผู้บริจาคทานเอาไว้

บุคคลใดให้นั่งล้อนั่งเกวียนก็ดี นั่งรถนั่งเรือก็ดี เกิดชาติใดภพใดจะมีรถมีเรือนั่งไปสะดวกสบาย เป็นอานิสงส์ผลบุญ ถ้าหากไปเกิดอยู่บนสวรรค์ อยู่ในหอปราสาทราชมณเฑียรก็ดี บุคคลนั้นจะมียานทิพย์ลอยไปที่โน่นที่นี่ต้อนรับ ตั้งแต่เริ่มบุคคลนั่นล่วงลับดับกายไปก็จะมียานทิพย์มาคอยลงมารับวิญญาณของบุคคลนั้นขึ้นไปสู่สุคติ อันนั้นเรียกว่าทานยานพาหนะ

ทีนี้บุคคลจะทานอะไรไว้บ้าง มีหลายสิ่งหลายอย่าง ถ้าอาหารการกินก็รวมหมดแล้ว พริกเขือเกลือปลาร้าอะไร กระเทียมอะไร ผักกาดอะไร เครื่องอาหารทั้งหลาย รวมหมด ก็ย่อมได้อานิสงส์ดังที่กล่าวมาให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ มีอาหารการกินสมบูรณ์

องค์กฐินมีบริวารหลายสิ่งหลายอย่าง ใครจะทานผ้าผืนเล็กผืนน้อย ผ้าเช็ดหน้าก็แล้วแต่ เอาหมอนมาร่วมก็แล้วแต่ ใครจะเอาอะไร เอาสมุดดินสออะไร หนังสือธรรมะ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เช่น สมุดดินสอ หนังสือธรรมะ ก็ให้อานิสงส์ เกิดชาติใดภพใด เราบริจาคเอาไว้ จะเป็นคนรู้จักเรียนรู้หนังสือและเขียนหนังสือได้

คนทานหนังสือธรรมะ บริจาคทาน เกิดชาติใดภพใดเป็นคนมีสติปัญญาว่องไว เฉลียวฉลาด เพราะคนอื่นเขาอ่านแล้วเขาก็ย่อมมีปัญญาเกิดขึ้น ก็สามารถจะทำตนเองให้พ้นจากกองทุกข์ได้ด้วยสติปัญญาของตน เหมือนกับพระสารีบุตรท่านได้ทานพระไตรปิฎกเอาไว้ตั้งแต่ชาติอดีตที่ผ่านมา เมื่อสมัยพุทธกาลจึงเป็นผู้มีปัญญารององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อานิสงส์

บัดนี้ บางคนก็ทานปัจจัยเงินทอง เรียกว่าเงินบริจาคร่วมกันในการทำกฐิน จะทำมากทำน้อยก็แล้วแต่ เราก็ทำได้ เราอย่าไปคิดว่าเราทำน้อยเราไม่ทำ เราจะทำ ๒๕ สตางค์ ๕๐ สตางค์ บาทนึง สองบาท ตามกำลังของตน ถ้าเราไม่มี เรามีสิ่งอื่นเราก็ทำสิ่งอื่น เราทำบุญนั้น อย่าไปรังเกียจกองบุญของตนเอง ไม่ต้องไปละอายคนอื่น เรามีน้อยเราก็ทำไปตามน้อย เราก็ย่อมได้อานิสงส์ไปตามกำลังของตนที่ทำ เรียกว่ามีความพอใจที่จะทำ นี่เรียกว่าเราสร้างความดี


ขอขอบคุณที่มา Fb.พระพุทธศาสนา
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 04 พฤศจิกายน 2564 18:47:46 »



บาลี: กฐิน

บาลี : กฐิน เป็นศัพท์ในพระวินัยปิฎกเถรวาท เป็นชื่อเรียกผ้าไตรจีวรที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว สามารถรับมานุ่งห่มได้ โดยคำว่าการทอดกฐินหรือการกรานกฐินจัดเป็นสังฆกรรมประเภทหนึ่งตามพระวินัยบัญญัติเถรวาทที่มีกำหนดเวลาคือพระสงฆ์สามารถกระทำสังฆกรรมนี้ได้นับแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทรงคุณที่มีจีวรชำรุด ดังนั้นกฐินจึงจัดเป็นเรื่องเกี่ยวกับสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยจำเพาะ ซึ่งนอกจากในพระวินัยฝ่ายเถรวาทแล้วกฐินยังมีในฝ่ายมหายานบางนิกายอีกด้วยแต่จะมีข้อกำหนดแตกต่างจากพระวินัยเถรวาท

อปโลกน์กฐิน หมายถึง การที่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่าผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือการเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์ (อ่านว่าอะ-ปะ-โหลก) เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้วจึงต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์จึงนับเป็นสังฆกรรม

พิธีกรานกฐิน กรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะคือภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้นนำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งเย็บ ย้อมแห้ง เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร เสร็จแล้วภิกษุรูปหนึ่งขึ้นสู่ธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนากล่าวถึงเรื่องประวัติกฐิน

ประเพณีการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนไทยมีมาช้านาน โดยมีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ โดยการถวายผ้าพระกฐินของพระมหากษัตริย์จัดเป็นพระราชพิธีที่สำคัญประจำปี ในปัจจุบันถวายผ้ากฐินในแง่การสนับสนุนผ้าไตรจีวรเพื่อใช้ในสังฆกรรมสำคัญของคณะสงฆ์

ความสำคัญบริวารของกฐินทาน เช่น เงิน หรือวัตถุสิ่งของเพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาถาวรวัตถุและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดเป็นสังฆทานอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน

การได้มาของผ้าไตรจีวรอันจะนำมากรานกฐินตามพระวินัยบัญญัติของเถรวาทนี้พระพุทธองค์ไม่ทรงห้ามการรับผ้าจากผู้ศรัทธาเพื่อนำมากรานกฐิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้เกิดทานพิธีการถวายผ้ากฐินหรือการทอดกฐินของพุทธศาสนิกชนขึ้น และการถวายผ้ากฐินนั้นจัดเป็นสังฆทาน คือ ถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเพื่อให้คณะสงฆ์นำผ้าไปอปโลกน์ยกให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) และกาลทานที่มีกำหนดเขตเวลาถวายแน่นอน คณะสงฆ์วัดหนึ่งๆ สามารถรับได้ครั้งเดียวในรอบปี มีกำหนดระยะเวลาถวายเพียง ๑ เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือ ระยะเวลาทอดกฐินหรือเทศกาลทอดกฐินซึ่งเป็นทานที่ถวายได้ภายในเวลาที่มีพระพุทธานุญาตกำหนด จึงมีอานิสงส์เป็นพิเศษในการทอดกฐินทำให้ประเพณีการทอดกฐินเป็นบุญประเพณีนิยมที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

อานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐิน
๑.ทำให้เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์สินมาก และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้โดยง่าย
๒.ทำให้เป็นผู้มีจิตใจแช่มชื่น บริสุทธิ์และผ่องใสอยู่เสมอ
๓.ทำให้เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่น เป็นสมาธิและเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย
๔.ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถใช้ทรัพย์สมบัติให้เกิดเป็นบุญกุศลติดตัวไปในภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่
๕.ทำให้เป็นคนรูปงามผิวพรรณงามเป็นที่รักของคนทั่วไป
๖.ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณ น่ายกย่องสรรเสริญเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาน่าเคารพนับถือ

ทั้งนี้ยังเป็นการสงเคราะห์พระภิกษุที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพุทธบัญญัติ เป็นการเทิดทูนพระพุทธบัญญัติเรื่องกฐินให้คงอยู่สืบไป นับได้ว่าบูชาพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติบูชาส่วนหนึ่งและเป็นการสืบต่อประเพณีกฐินทานมิให้เสื่อมสลายไปจากวัฒนธรรมประเพณีของคนไทย อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างพลังสามัคคีขึ้นในสังคมอีกทางหนึ่งด้วย

การถวายผ้ากฐินเมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้วประธานองค์ผ้ากฐิน/เจ้าภาพอุ้มผ้ากฐิน นั่งหันหน้าตรงต่อพระประธาน ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วหันหน้ามาทางพระสงฆ์ กล่าวคำถวายผ้ากฐิน ๓ จบ

คำกล่าวถวายผ้ากฐิน
อิมัง มะยัง ภันเต / สะปะริวารัง / กะฐินะ จีวะระทุสสัง / สังฆัสสะ / โอโณชะยามะ / สาธุ โน ภันเต/ สังโฆ/อิมัง /สะปะริวารัง /กะฐินะจีวะระทุสสัง / ปะฏิคคันหาตุ / ปะฏิคคะ เหตตะวา จะ /อิมินา ทุสเสนะ / กะฐินัง/ อัตถะรัตตุ/ อัมหากัง / ทีฆะรัตตัง  / หิตายะ / สุขายะ  / นิพพานายะจะ ฯ

คำกล่าวถวายผ้ากฐิน (ไทย)
ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ / ข้าพเจ้าทั้งหลาย / ขอน้อมถวาย /  ผ้าจีวรกฐิน /พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้ / แด่พระภิกษุสงฆ์  / ขอพระภิกษุสงฆ์ / จงรับ / ผ้าจีวรกฐิน / พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้ / ครั้นรับแล้ว /จงกรานกฐิน / ด้วยผ้าผืนนี้ /เพื่อประโยชน์ / เพื่อความสุข / เพื่อมรรคผลนิพพาน / แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย /ตลอดกาลนาน เทอญฯ

 
ขอขอบคุณที่มา - เพจพระพุทธศาสนา
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.41 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 05 เมษายน 2567 19:26:09