[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 17:37:45 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประเพณีสารทจีน  (อ่าน 1093 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 23 พฤศจิกายน 2561 15:39:01 »



สารทจีน

สารทจีนเป็นเทศกาลสำคัญทั้งของลัทธิขงจื๊อ พุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และชาวบ้าน เทศกาลนี้มีชื่อเป็นทางการว่า "จงหยวนเจี๋ย" แต้จิ๋วว่า ตงง้วงโจย แต่ชื่อทั่วไปนิยมเรียกว่า ชิกงวยปั่ว (แต้จิ๋ว) แปลว่า (เทศกาล) กลางเดือนเจ็ด นอกจากนี้ยังมีที่นิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "กุ่ยเจี๋ย" แปลว่า เทศกาลผี

จงหยวนที่เป็นชื่อของเทศกาล ได้มาจากชื่อเทพจงหยวน เทพประจำเทศกาลนี้ของศาสนาเต๋า ส่วนชื่อเทศกาลที่แปลว่ากลางเดือนเจ็ดก็มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นจนถึงสิ้นเดือนเจ็ด คือ วัน ๑ ค่ำ เป็นวันเปิดยมโลกให้ผีทั้งหลายออกมารับการเซ่นสังเวย, วัน ๑๕ ค่ำ เป็นวันไหว้ใหญ่ทั้งผีบรรพชนและผีไม่มีญาติ และวันสิ้นเดือนเจ็ด (๓๐ ค่ำ หรือแรม ๑๕ ค่ำ) เป็นวันปิดประตูยมโลก ผีที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดต้องกลับเข้ายมโลก ทั้งนี้วันต้นเดือน สิ้นเดือน มีพิธีไหว้ด้วย และมีพิธีทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้ เปตชนครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของเดือนเจ็ด

กิจกรรมทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวกับผี คนจีนจึงถือว่าเดือนเจ็ดเป็นเดือนผี และเทศกาลกลางเดือนเจ็ดคือเทศกาลผี แต่ที่คนไทยเรียกสารทจีนเพราะวันนี้ใกล้กับวันสารทไทย อีกทั้งอยู่ในช่วงต้นฤดูสารท หรือชิวเทียน ของจีนอีกด้วย

ตามความเชื่อจีนโบราณ เดือนเจ็ดเป็นทั้งเดือนดีและเดือนร้าย เพราะข้าวเริ่มเก็บเกี่ยวได้ นำผลแรกได้ (ข้าวใหม่) ไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษก่อน แต่เทพประจำเดือนเจ็ดเป็นเทพแห่งความตาย จึงต้องเซ่นสรวงต่างหากออกไป ทั้งยังมีความเชื่ออีกว่ามี ผีร้ายร่อนเร่ เรียกว่า ลี่ ไม่มีญาติเซ่นไหว้ พอถึงฤดูสารทซึ่งผู้คนนำผลแรกได้เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ผีพวกนี้จะคอยมาแย่งกินของไหว้หรือไม่ก็ทำร้ายผู้คนด้วยความหิวโหย ฉะนั้นพอถึงฤดูสารทจึงต้องเซ่นไหว้บรรพชนและผีไม่มีญาติแยกกัน

ต่อมาอิทธิพลของพุทธศาสนาทำให้การเซ่นไหว้เดือนเจ็ดมีพัฒนาการไป สมัยราชวงศ์จิ้นมีผู้แปล "อุลลัมพนสูตร" (อ่านว่า อุน-ลัม-พะ-นะ-สูด) ของนิกายโยคาจาร เรื่องในพระสูตรนี้มีอิทธิพลต่อเทศกาลไหว้บรรพบุรุษในเดือนเจ็ดมาก โดยความตอนหนึ่งในพระสูตรกล่าวว่า พระโมคคัลลาน์เห็นมารดาเกิดเป็นเปรตอดอยากหิวโหย จึงใช้ฤทธิ์นำบาตรข้าวไปส่งให้ เปรตมารดาเปิบข้าว แต่ยังไม่ทันจะเข้าปากก็กลายเป็นถ่านไปสิ้น พระเถระเจ้าจึงนำความกราบทูลพระพุทธเจ้า

งิ้วเรื่องหนึ่งมีเนื้อเรื่องที่แต่งตามเค้าเรื่องในอุลลัมพนสูตร ว่า พระโมคคัลลาน์ เดิมชื่อ ฟู่หลอปู่ ท่านและบิดามีศรัทธาในศาสนา เคารพนักบวช แต่มารดาเป็นคนบาปหยาบช้า เกลียดชังนักบวชมาก ครั้งหนึ่งก่อนออกไปค้าขายต่างเมืองได้ขอร้องมารดาให้มีศรัทธาเคารพภิกษุ ภิกษุณี นางรับปากแต่กลับร้ายต่อนักบวช ทั้งหลายเหมือนเดิม พอบุตรชายกลับมาถามว่าได้ทำตามที่รับปากไว้หรือไม่ นางสาบานว่าถ้าไม่ได้ทำขอให้ตกอเวจีนรก พญายมจึงส่งยมทูตมาเอาตัวลงนรกทันที

ส่วนบุตรชายเมื่อออกบวชมีนามว่าโมคคัลลาน์ รู้ว่ามารดาอยู่ในนรก จึงตามลงไป พอได้พบกันก็ส่งอาหารให้ นางรับไปยังไม่ทันได้กินก็ถูกเหล่าเปรตแย่งไปสิ้น ต่อมาท่านจัด อุลลัมพนสังฆทาน (ภัตตาหารหลากรส ผลไม้นานาชนิด น้ำปานะ ธูปเทียนแลเครื่องไทยทาน ใส่พานภาชนะเป็นสังฆทานถวายแด่พระสงฆ์จากทุกสารทิศเมื่อออกพรรษา) ตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ มารดาจึงพ้นจากนรก โดยพระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้กระทำในวัน ๑๕ ค่ำกลางเดือนเจ็ด

ตั้งแต่ราชวงศ์ถังเป็นต้นมา ชื่อ "จงหยวนเจี๋ย" (เทศกาลบูชาเทพจงหยวน) เป็นชื่อทางการของเทศกาลกลางเดือนเจ็ด หรือสารทจีน ตลอดมาจนปัจจุบัน




ประเพณีในเทศกาลจงหยวน

จงหยวนเจี๋ย มีที่มาจากประเพณีจีนโบราณ กับวันอุลลัมพนบูชาของพุทธศาสนา และความเชื่อของศาสนาเต๋าร่วมกันอย่างกลมกลืน สารทจีน หรือเทศกาลจงหยวน มีการไหว้บรรพบุรุษเป็นกิจกรรมสำคัญที่สุดเช่นเดียวกับวันเช็งเม้ง (ชิงหมิง) แต่ จุดมุ่งหมายต่างกัน ไหว้เช็งเม้งเป็นการแสดงความกตัญญูรำลึกถึงบรรพชน ไหว้สารทจีนเพื่อให้ท่านพ้นอบายภูมิและสรรพทุกข์ภัย ทั้งยังใจเกื้อกูลไหว้ผีไม่มีญาติอีกด้วย มีทั้งไหว้ที่บ้านและงานทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้

เทศกาลสารทจีนที่เต็มรูปแบบมีประเพณีสำคัญและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง คือ ไหว้เทพจงหยวน ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ผีไม่มีญาติ ลอยโคม ไหว้เทพารักษ์ประจำเมือง (เจ้าพ่อหลักเมือง) ทิ้งกระจาด ในอดีตบางแห่งมีการไหว้เทพแห่งนาด้วย ในวัดพุทธจัดงานอุลลัมพนสังฆทาน

เทพจงหยวนเป็นเทพประจำเทศกาลสารทจีน ท่านมีหน้าที่ตรวจดูโชคเคราะห์ของสรรพสัตว์ ตรวจบัญชีความดีความชั่วของมนุษย์ และให้อภัยโทษแก่ผู้รู้ผิด กระทำพลีบูชาท่าน ทุกวัน ๑๕ ค่ำเดือน ๗ ท่านจะลงมาตรวจบัญชีชั่วดีของมนุษย์แล้วประทานอภัยให้ นอกจากนี้ท่านยังต้องมาเป็นประธานดูแลการไหว้ผีไม่มีญาติ ผู้คนจึงกินเจ ทำพิธีเซ่นสรวงบูชาท่าน เซ่นไหว้บรรพชน เพื่อให้ท่านอภัยโทษให้ทั้งแก่ตนเองและวิญญาณบรรพชน

การเซ่นไหว้บูชาบรรพชนเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สุดของจีน เพราะถือระบบวงศ์ตระกูลเป็นเรื่องสำคัญ เป็นศูนย์กลางของสังคมและวัฒนธรรมจีน การไหว้บรรพชนเป็นกิจสำคัญที่สุดของลูกหลาน เจ้าอาจไม่ต้องไหว้ก็ได้ แต่ปู่ย่าตายายไม่ไหว้ไม่ได้ จีนเชื่อว่า วันสารทจีน วิญญาณบรรพชนที่ยังไม่ได้ไปเกิดจะกลับมาเยี่ยมบ้าน

ไหว้ผีไม่มีญาติ อีกกิจกรรมสำคัญของวันสารทจีน ผีพวกนี้โบราณเรียกว่า ลี่ ถือเป็นผีชั่วร้าย อิทธิพลของพุทธศาสนาทำให้ทัศนะต่อผีพวกนี้เปลี่ยนไปเป็นผีที่น่าสงสาร จนปัจจุบันเรียกว่า ฮอเฮียตี๋ แปลว่า พี่น้องที่ดี การไหว้ฮอเฮียตี๋เป็นการไหว้เพื่อเกื้อกูลผู้ยากไร้ ไร้ญาติขาดมิตร โดยต้องไปจัดไว้นอกธรณีประตู เพราะเทพบรรพชนในบ้าน (เกซิ้ง) และเทพทวารบาล (หมึ่งซิ้ง) จะไม่ยอมให้ผีอื่นเข้าบ้าน ของไหว้ทุกอย่างต้องปักธูปไว้ด้วย เพื่อแสดงการเชื้อเชิญ ก่อนไหว้ต้องไปจุดธูปเรียกผีเหล่านี้ในที่ต่างๆ บอกให้ตามควันธูปไปรับเครื่องเซ่นไหว้

การอุทิศส่วนกุศลให้ผีไร้ญาติ นอกจากการเซ่นไหว้ส่วนตัวของแต่ละครอบครัวแล้ว ยังมีพิธีกรรมของส่วนรวมแต่ละชุมชนอีกด้วย คือการทิ้งกระจาด เป็นการ ซีโกว คืออุทิศส่วนกุศลแก่ผีไม่มีญาติแบบหนึ่ง เป็นพิธีสำคัญคู่กับอุลลัมพนสังฆทานของวัดและพุทธศาสนิกชนจีน

"อุลลัมพนะ" เป็นคำสันสกฤตซึ่งปราชญ์ทางพุทธศาสนาของจีนแปลว่า "ช่วยผู้ที่ถูกแขวนห้อยหัวกลับขึ้นมา" โดยอธิบายว่าโทษทัณฑ์ในอบายภูมิทำให้ผู้รับเสวยทุกขเวทนาแสนสาหัส ดุจถูกแขวนห้อยหัวลงมา

ที่มา : รู้ไปโม้ด น้าชาติประชาชื่น : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 พฤศจิกายน 2561 15:40:59 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.343 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 26 มีนาคม 2567 09:32:30