[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 10:45:18 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หุ่นหลวง ประณีตศิลป์จากงานช่างหุ่นไทย  (อ่าน 1554 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5461


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 03 ธันวาคม 2561 15:25:51 »



หุ่นหลวง
ประณีตศิลป์จากงานช่างหุ่นไทย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ มีความสนพระราชหฤทัยในงานศิลปะ ทรงตระหนักถึงคุณค่าในงานศิลปะของไทยจึงมีพระราชดำริในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูงานศิลปะของไทยหลายแขนงที่เกือบสูญหายให้กลับฟื้นคืนสู่สังคมไทย สมดังพระราชสมัญญา “อัคราภิรักษ์ศิลปิน” (Pre-eminent Protector of Art and Crafts) อันมีความหมายว่า “ศิลปินยิ่งใหญ่ผู้ปกปักรักษางานศิลปะ” ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมทูลเกล้าฯ ถวายเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวาระมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔พรรษา กรมศิลปากรจึงได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่และสำนักการสังคีต ร่วมกันศึกษารวบรวมข้อมูลสำหรับจัดสร้างหุ่นหลวงขึ้นอีกครั้งเพื่อฟื้นฟู เผยแพร่และสืบสานกระบวนการงานหุ่นหลวงอันเป็นศิลปวัฒนธรรมที่เกือบสูญหายไปจากสังคมไทย ตามพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ในการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทยให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทย การดำเนินงานครั้งนี้สำนักช่างสิบหมู่รับผิดชอบในเรื่องของโครงสร้างและงานประณีตศิลป์ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้าง กลไกบังคับ และเครื่องประดับ สำนักงานสังคีตรับผิดชอบดำเนินการเรื่องเครื่องแต่งกายและการแสดงของหุ่นหลวง โดยจัดสร้างหุ่นจำนวน ๕ แบบ ประกอบด้วย หุ่นตัวพระ หุ่นตัวนาง หุ่นยักษ์ หุ่นลิง และลิงป่า

หุ่นหลวง เป็นการละเล่นโบราณของไทยที่จัดแสดงในงานมหรสพเนื่องในวาระสำคัญต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีโสกันต์ งานพระบรมศพ งานพระศพ นับว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าและแสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างวิจิตรทั้งในด้านศิลปกรรมและนาฏยศิลป์ หุ่นหลวงมีประวัติความเป็นมายาวนานนับแต่แผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ตามข้อมูลที่สืบค้นได้จากหนังสือสมุดไทยและบันทึกของนายซิมอน เดอ ลาลูแบร์ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการละเล่นโดยอธิบายลักษณะและรูปแบบของการละเล่นนี้ในงานมหรสพสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช รวมถึงบันทึกอื่นในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถของวัดทองธรรมชาติ ซึ่งเป็นภาพฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่๓ ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า วัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภาพจิตรกรรมบางส่วนแสดงรูปแบบการจัดแสดงมหรสพ ซึ่งปรากฏเวที การแสดงหุ่นหลวงให้ได้เห็นในงานสมโภชนั้นด้วย

หุ่นหลวง เป็นผลงานศิลปกรรมที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อความบันเทิง ลักษณะเป็นหุ่นโครงสร้างไม้ที่มีรูปร่างเหมือนคนย่อส่วน แต่งกายอย่างผู้แสดงโขนละคร การเคลื่อนไหวเกิดจากการบังคับเชือกหลายเส้น ที่ร้อยโยงชิ้นส่วนต่างๆ และซ่อนไว้ภายในโครงสร้างของหุ่น เชือกเหล่านี้จะร้อยโยงมายังแป้นด้านล่าง ผูกปลายเชือกแต่ละเส้นด้วยห่วงที่ใหญ่กว่าเส้นรอบนิ้วเล็กน้อยสำหรับเกี่ยวชักบังคับ เชือกแต่ละเส้นกำหนดการเคลื่อนไหวที่แตกต่างมีหลายท่าทาง ซึ่งต้องอาศัยเชือกหลายเส้นในการควบคุม การละเล่นนี้ ได้รับการสืบทอดและยังคงเล่นเรื่อยมาจนในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยหุ่นหลวงในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นหุ่นหลวงชุดสุดท้ายที่ปรากฏการแสดง หลังจากกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตแล้ว ก็ไม่ปรากฏการแสดงอีก ปัจจุบันหุ่นชุดดังกล่าวได้จัดเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

หุ่นหลวงที่จัดเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีความชำรุดลงตามกาลเวลา ทั้งในด้านโครงสร้างและกลไกบังคับ กระทั่งพุทธศักราช ๒๕๒๙ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ได้ซ่อมแซมในส่วนโครงสร้างหุ่นหลวง จำนวน ๕ หุ่น ประกอบด้วย หุ่นพระ หุ่นนาง หุ่นยักษ์ หุ่นลิง และโครงหุ่นอีก ๑ ตัว การซ่อมแซมครั้งนี้จัดทำเพียงทางกายวิภาคและเครื่องแต่งกายของหุ่นให้คงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยมิได้ร้อยเชือกบังคับหุ่น เนื่องจากเชือกได้ชำรุดลงตามเวลาจนไม่สามารถสืบความรู้เดิมจากหุ่นหลวงที่จัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติได้ รวมไปถึงไม่ปรากฏผู้สืบทอดตำราหรือบันทึกการสร้างที่ชัดเจนด้วย


ส่วนประกอบของหุ่นหลวงที่คงหลงเหลืออยู่นั้น นอกจากหุ่นจำนวน ๕ ตัว ที่ได้รับการซ่อมแซมแล้ว ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยังมีชิ้นส่วนของมือ แขน ขา และเศษชิ้นส่วนอื่นๆ ให้ศึกษาเป็นแนวทางจัดสร้างได้เพียงบางส่วน คณะทำงานจึงได้ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมประกอบคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องอีกหลายท่านก่อนลงมือปฏิบัติ โดยลองผิดลองถูกหลายครั้ง ส่วนที่ยากที่สุดคือเรื่องของกลไกการบังคับ หุ่นหลวงมีวิธีการบังคับเคลื่อนไหวด้วยการโยงเส้นเชือกจากส่วนต่างๆ ของหุ่นเริ่มจากนิ้ว ข้อมือ แขนท่อนล่าง แขนท่อนบน ผ่านช่องอก ลำตัว สะโพก ซ่อนเชือกไว้ภายในโครงสร้างโดยให้สายเชือกบังคับมารวมอยู่ที่แผ่นบังคับด้านล่างใต้เท้าหุ่น ดังนั้น เวลาแสดงผู้บังคับจึงต้องอยู่ต่ำกว่าหุ่น โรงเชิดหุ่นจึงต้องสร้างให้มีพื้นสูงช่วยอำพรางไม่ให้มองเห็นผู้เชิด จึงดูคล้ายว่าหุ่นนั้นขยับเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง


จิตรกรรมฝาผนัง พระอุโบสถวัดทองธรรมชาติ กรุงเทพมหานคร


หุ่นหลวงที่รับการซ่อมแซมโดย อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต  ปัจจุบันแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

หุ่นหลวงมีความสูงเมื่อสวมศิราภรณ์แล้วประมาณ ๑ เมตร จัดเป็นหุ่นประเภทร้อยสาย ท่าทางการเคลื่อนไหวนั้นเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของมุมเหลี่ยมของข้อต่อประกอบกับกลไกการร้อยเส้นเชือกบังคับ การออกแบบโครงสร้างมีความแตกต่างตามบุคลิกภาพและลักษณะท่ารำของหุ่นแต่ละตัว การสร้างจึงมีรายละเอียดมากและต้องทำอย่างพิถีพิถันและให้ความสำคัญเรื่องน้ำหนักที่ต้องมีความเบา เพื่อให้สะดวกแก่ผู้บังคับที่จะต้องคล้องหุ่นไว้กับตัวเวลาแสดง และเน้นแสดงกิริยาอาการต่างๆ ตามแบบนาฏยศิลป์เป็นสำคัญ เช่น อาการดีใจ เสียใจ เศร้า และโกรธ ด้วยลีลาการร่ายรำ การรำประกอบบทร้อง บทพากย์ และการรำประกอบทำนอง หุ่นหลวงนั้นมีข้อจำกัดในการขยับส่วน กล่าวคือ หุ่นหลวงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วและโลดโผนได้อย่างการแสดงหุ่นประเภทอื่นๆ การจัดสร้างหุ่นหลวงจึงเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของช่างศิลปกรรมว่าจะสามารถวางกลไกเชือกบังคับให้หุ่นไม้ขยับเคลื่อนไหวอย่างคนที่ร่ายรำได้สมจริง และสวยงามเพียงใด

นอกจากโครงสร้างที่สวยงามสมส่วนแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้หุ่นหลวงแสดงท่วงท่าได้ดุจดังมีชีวิต คือ ศาสตร์ของการแสดง กล่าวได้ว่าผู้เชิดหุ่นต้องมีความรู้และเข้าใจในเรื่องนาฏยศิลป์ คีตศิลป์ เป็นอย่างดี ประกอบกับความชำนาญในการแสดงสามารถเคลื่อนไหวไปพร้อมกับหุ่น และจดจำเส้นสายที่ร้อยโยงบังคับส่วนต่างๆ ของหุ่นได้แม่นยำโดยบังคับเชือกที่แบ่งออกเป็นซีกซ้ายและขวา บางท่าจะต้องดึงเชือกหลายเส้นประกอบกันเป็นลำดับเพื่อให้เกิดเป็นท่วงท่าที่สวยงามถูกต้อง สามารถสื่ออารมณ์ให้สอดคล้องไปตามจังหวะดนตรี บทเจรจา และบทร้องตามท้องเรื่องที่แสดงได้อย่างสวยงาม

โครงสร้างของหุ่นหลวง สามารถแบ่งออกเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ๗ ส่วน ดังนี้
- ส่วนศีรษะ (ส่วนของเกี้ยวประดับศีรษะลงมาถึงคอ)
- ส่วนช่วงอก
- ส่วนสะโพก
- ส่วนแขนทั้ง ๒ ข้าง (ท่อนแขนส่วนบนและล่าง)
- ส่วนขาและเท้าทั้ง ๒ ข้าง (ท่อนขาส่วนบนและล่าง)
- ส่วนมือ
- แกนและแป้นบังคับ

ขั้นตอนการสร้างส่วนต่างๆ ของหุ่นอยู่บนพื้นฐานของงานไม้เป็นหลัก ได้แก่ การโกรก โกลน กลึง และแกะไม้ นอกจากนี้ยังมีการคว้านเซาะเนื้อไม้ภายในออกเพื่อลดทอนน้ำหนักของหุ่น ศีรษะหรือหัวหุ่นภายหลังจากการขุดเอาเนื้อไม้ด้านในออกจะนำแผ่นไม้ลักษณะเดิมมาปิดและขัดแต่งให้มีลักษณะกลมกลืนไปกับพื้นผิวให้เหมือนเดิม แล้วจึงปั้นเสริม ส่วนรายละเอียดด้วยรักสมุก ปิดกระดาษสาและเขียนสีเช่นเดียวกับหัวโขน ส่วนลำตัวของหุ่นหลวงแบ่งออกเป็นส่วนอกและสะโพก ทำด้วยไม้โดยคว้านเนื้อไม้ด้านในจนกลวงและมีน้ำหนักเบา ส่วนเอวทำด้วยเส้นหวายนำมาขดเป็นวงซ้อนกันเพื่อให้หุ่นสามารถเคลื่อนไหวได้ ส่วนแขนหุ่นหลวงจะแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน คือ ส่วนต้นแขนถึงข้อศอกส่วนหนึ่ง ส่วนท่อนแขนถึงข้อมือส่วนหนึ่ง ส่วนข้อต่อข้อมือส่วนหนึ่ง โดยในแต่ละส่วนกลึงให้ได้รูปทรง จากนั้นขุดกลวงให้มีน้ำหนักเบา และมีพื้นที่สำหรับร้อยสายเชือกกลไกในการบังคับท่าทาง ส่วนของนิ้วมือที่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้มีแค่ ๓ นิ้ว คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ส่วนของนิ้วโป้งและนิ้วก้อยจะเป็นไม้ท่อนเดียวกับช่วงฝ่ามือ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ส่วนขาหุ่นหลวงแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ จากต้นขาถึงเข่าส่วนหนึ่ง และจากหัวเข่าถึงเท้าส่วนหนึ่ง ในส่วนของหุ่นตัวพระจะแกะส่วนของปลายเท้าในลักษณะสวมรองเท้า ปลายงอน โดยคว้านเนื้อไม้ให้กลวงเช่นเดียวกัน

ขั้นตอนและวิธีการสร้างหุ่นหลวง
๑. ร่างแบบและเขียนแบบ
การร่างแบบและเขียนแบบตามขนาดเท่าจริงเพื่อกำหนดสัดส่วนและโครงสร้างที่ชัดเจน โดยสร้างทั้งแบบด้านหน้า ตรง และมุมมองแบบด้านข้างด้วย แล้วจึงคัดลอกแบบเฉพาะส่วนเพื่อนำไปใช้งานจริงในขั้นตอนการโกลนไม้

๒. การโกรกไม้
การโกรกในเชิงช่างไม้ หมายถึงการเลื่อยไม้ออกไปตามแนวตรงให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ เป็นการสร้างรูปทรงโดยรวมไม่เน้นรายละเอียดของงานทั่วไป นิยมโกรกเอาเนื้อไม้ออกในแนวตรง เป็นการตัดทอนเนื้อไม้อย่างหยาบ แต่ในส่วนที่มีความโค้ง ช่างจะใช้เทคนิคซอยไม้ โดยการเลื่อยตัด เป็นเส้นตรงเว้นระยะห่างกันเล็กน้อยเพื่อลดระยะที่ใบเลื่อยจะเข้าตัด แล้วจึงตัดตามเส้นโค้งที่กำหนดไว้

๓. การโกลนหุ่น
หลังจากโกรกไม้ให้ได้รูปทรงโดยรวมแล้ว นำไปโกลนเพื่อให้ได้รูปร่างที่ใกล้เคียงกับแบบ การโกลนไม้ คือ การเอาเนื้อไม้ออกเพื่อให้ได้รูปทรงด้วยเครื่องมือประเภทต่างๆ ส่วนใหญ่นิยมใช้สิ่วที่มีหน้าตัดลักษณะต่างๆ เพื่อโกลนไม้ให้ได้รูปทรงที่ชัดเจนขึ้นตามแบบที่ร่างไว้ โดยช่างจะใช้เครื่องมือวัดขนาดที่ต้นแบบ หรือแบบที่ร่างไว้ แล้วนำมาวัดลงบนชิ้นงาน จากนั้นใช้สิ่วและค้อนตอกไล่ไปตามเนื้อไม้ เพื่อนำเนื้อไม้ส่วนที่ไม่ต้องการออกจนได้รูปทรง และเริ่มปรากฏรายละเอียดให้เห็นมากกว่าขั้นตอนการโกรกไม้

๔. การแกะเก็บรายละเอียด ขุดคว้านเนื้อไม้และขัดแต่งผิว  
ชิ้นส่วนหุ่นเมื่อโกลนหุ่นเสร็จแล้วช่างจะแกะเพื่อเก็บรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ส่วนคิ้ว ตา จมูก และปาก การแกะใช้เครื่องมือที่มีขนาดเล็กสำหรับเก็บรายละเอียดให้ได้รูปร่างสวยงามตามแบบพร้อมกับการขุดเอาเนื้อไม้ด้านในออก วัตถุประสงค์เพื่อให้ตัวหุ่นหรือชิ้นส่วนของหุ่นมีความกลวงและมีน้ำหนักเบา แล้วจึงขัดแต่งผิวให้เรียบเนียน โดยส่วนของศีรษะและเครื่องประดับศีรษะ (ศิราภรณ์) จะเขียนสีและประดับลวดลายภายหลังการเก็บรายละเอียดแล้วเสร็จ แล้วจึงประกอบโครงหุ่นเพื่อติดตั้งสายเชือกที่เป็นกลไกด้านใน

ส่วนอกและสะโพกที่ขัดแต่งผิวแล้วเสร็จ ปิดด้วยแผ่นไม้ที่เจาะช่องไว้สำหรับร้อยเส้นเชือก ส่วนอกจะปิดแผ่นไม้ที่บริเวณใต้อก ส่วนสะโพกจะปิดแผ่นไม้ที่บริเวณด้านบนสะโพก ในส่วนของข้อต่อต่างๆ ที่ต้องร้อยเส้นเชือก จะติดด้วยแผ่นกะลาที่นำมาขัดเจียรเป็นแผ่นบางให้ขนาดพอดีกับส่วนข้อต่อแล้วเจาะรู ส่วนข้อต่อที่สำคัญคือข้อต่อส่วนมือ ข้อมือ และแขน เพราะเป็นส่วนที่หุ่นต้องเคลื่อนไหวแสดงท่าร่ายรำต่างๆ ช่างจึงต้องปรับแต่งอาศาบริเวณข้อต่อให้เหมาะสมก่อนที่จะติดด้วยแผ่นกะลา กะลาที่นำมาใช้ต้องเป็นกะลาเน่า สาเหตุที่เรียก “กะลาเน่า” เพราะช่างจะคัดเลือกผลมะพร้าวที่แก่จัดร่วงจากต้นและผ่านการแช่น้ำมานานจนมีความอิ่มตัว และมีน้ำมันอยู่ในเนื้อกะลา ความมันในเนื้อกะลาจะช่วยลดการเกิดแรงเสียดสีระหว่างรูกับเส้นเชือก ทำให้เชือกไม่ขาดง่ายและคล่องแคล่วขึ้นเวลาแสดง

ส่วนลำตัวช่วงบน (ส่วนอก) ปิดพื้นด้วยแผ่นไม้ โดยเจาะช่องสำหรับร้อยเชือกจำนวน ๓ ช่อง ที่พื้นด้านในของแผ่นไม้จะติดเขาควายที่เหลาเป็นแท่ง จำนวน ๒ แท่ง เรียกว่า “คันแร้ว” สำหรับผูกมัดเชือกเพื่อรับน้ำหนักส่วนต้นแขนเอาไว้ คันแร้วจะมีความยืดหยุ่นสามารถโน้มไปมาได้ตามแรงน้ำหนัก จึงทำให้ท่าทางส่วนแขนของหุ่นดูอ่อนช้อยไม่แข็งกระด้าง จากนั้นติดประกอบแท่งไม้สำหรับเป็นคานพาดเชือก กลไกของตัวหุ่นระหว่างบริเวณอกด้านหน้าไปยังด้านหลังตัวหุ่นทั้งด้านซ้ายและขวาในตำแหน่งเดียวกัน จำนวนทั้งหมด ๖ จุด ด้านซ้ายขวาด้านละ ๓ จุด คานไม้ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นตัวถ่ายน้ำหนักของเชือกเวลาที่ผู้เชิดดึงรั้งเส้นเชือกในขณะบังคับท่าทางของหุ่น

๕. การสร้างและประกอบส่วนมือ และนิ้ว
ลักษณะของมือและนิ้วในหุ่นพระอยู่ในลักษณะของการรำเป็นหลัก อาจมีการจับถืออาวุธในบางท่าทาง ส่วนประกอบสำคัญประกอบด้วย ส่วนข้อมือ อุ้งมือ และนิ้วทั้ง ๕ ที่ปลายนิ้วของนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย โดยมีเล็บรูปกรวยแหลมขนาดพอดีปลายนิ้วแต่ละนิ้ว และยาวดัดให้มีความโค้งอ่อนติดไว้ที่ปลายนิ้วทั้งสี่ข้างต้น

แกนตัวหุ่นทำจากไม้หลาวชะโอน ไม้หลาวชะโอนมีลักษณะและลวดลายคล้ายไม้ตาล แต่มีความเหนียวมากกว่าและมีเสี้ยนมากกว่า เป็นไม้ที่มีความแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นสูง สามารถดัดให้โค้งงอได้และคืนตัวกลับมาอยู่ในลักษณะตั้งตรงได้โดยไม่หัก จึงเหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เป็นแกนของตัวหุ่นหลวง

ส่วนของด้ามจับใช้ไม้ไผ่ขนาดพอเหมาะตัดเป็นท่อนขนาดประมาณ ๓๐ เซนติเมตร จำนวน ๒ ท่อน นำปลายท่อนไม้ไผ่ทั้ง ๒ ท่อน มาผูกติดกันโดยให้อยู่ในลักษณะปลายซ้อนกันอยู่ประมาณ ๑๐ เซนติเมตร บากช่วงด้านปลายของไม้ไผ่ทั้ง ๒ ท่อน ให้มีร่องสำหรับผูกเชือก ไม้ไผ่ท่อนล่างมีไว้สำหรับใส่แกนไม้หลาวชะโอนส่วนแกนตัวหุ่น จากนั้นมัดให้ติดกับแกนไม้หลาวชะโอนด้วยหวาย หรือเชือกให้แน่นเพื่อไม่ให้หลุดออกจากกัน นำแป้นร้อยเชือกที่เจาะรูแล้วมาติดกับท่อนไม้ไผ่ท่อนบนโดยให้ช่องที่เจาะเสมอกับหน้าตัดของไม้ไผ่ยึดติดด้วยอิพ็อกซี่ให้แข็งแรง รูไม้ไผ่ท่อนนี้มีไว้สำหรับใส่แกนไม้ที่ยึดติดกับส่วนศีรษะของหุ่นสามารถบังคับให้ศีรษะหุ่นหันหน้าไปมาได้อย่างอิสระโดยทำแกนสำหรับบังคับไว้ตรงปลายไม้ส่วนนี้

การติดตั้งกลไกภายในตัวหุ่น
กลไกการบังคับหุ่นคือการร้อยโยงเส้นเชือกจากส่วนประกอบย่อยเริ่มตั้งแต่นิ้วมือ ข้อมือ แขน ลำตัว สะโพก สิ้นสุดที่แป้นบังคับด้านล่างโดยใช้ห่วงโลหะที่มีขนาดพอเหมาะให้นิ้วสอดเข้าได้สะดวก ผูกรั้งไว้ เชือกเปรียบเสมือนเส้นเอ็นของหุ่น จำนวนของเส้นเชือกจะมีมากขึ้นเมื่อร้อยโยงผ่านส่วนต่างๆ คณะทำงานจึงใช้การย้อมสีเส้นเชือกให้มีความแตกต่างกันในการศึกษาและช่วยจำวิธีการดึงเชิดเส้นเชือกแต่ละเส้นได้ดีขึ้น

การเคลื่อนไหวของหุ่นหลวงนี้ ศึกษารูปแบบการเคลื่อนไหวของหุ่นเปรียบเทียบกับท่ารำตามตำราการรำของกรมศิลปากร ในส่วนงานช่างจะต้องทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างรูร้อยเชือก องศาของข้อต่อ เมื่อดึงเชือก เส้นเชือกสำหรับบังคับหุ่นนี้จะโยงจากส่วนมือ แขน และลำตัวมารวมกันไว้ที่แป้นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่บริเวณด้านล่างของแกนหุ่น ห่างจากบริเวณปลายเท้าหุ่นพอประมาณ เพื่อความสวยงามในมุมมองของการแสดงหุ่น เมื่อร้อยเชือกผ่านแป้นแล้วจะผูกปลายเชือกไว้กับห่วงทองเหลืองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ ๓ เซนติเมตร ให้ใหญ่พอสะดวกต่อการสอดนิ้วมือเข้าไปสำหรับดึงเชือกบังคับท่าทางหุ่น แป้นนี้จะเจาะรูไว้จำนวน ๒๐ รู แต่ละเส้นจะเป็นกลไกบังคับหุ่นให้เคลื่อนไหว หลายท่าทางที่ต้องบังคับด้วยเชือกพร้อมกันหลายเส้น

การประดับตกแต่งลวดลาย (ศิราภรณ์)
และการเขียนสี

ศิราภรณ์ในหุ่นหลวงมีกระบวนการสร้างแบบเดียวกับการสร้างศิราภรณ์หัวโขน หัวหุ่นหลวงที่เก็บรายละเอียดดีแล้วจะถูกนำไปขัดลบเสี้ยนไม้ หุ่นจะถูกปรับพื้นผิวให้สมบูรณ์ด้วยการโป๊วส่วนที่บกพร่องได้แก่ ร่อง หลุมต่างๆ ให้มีผิวเสมอกันด้วยการใช้ขี้เลื่อยผสมดินสอพองและกาวแป้งเปียก ทิ้งไว้จนแห้งแล้วจึงขัดให้เรียบเสมอกัน ปิดผิวพื้นด้วยกระดาษสาทากาวทับซ้อนกันประมาณ๒ ชั้น เมื่อแห้งจึงใช้ไม้กวดให้เรียบอีกครั้ง

การประดับลวดลาย
การประดับลวดลายบนศิราภรณ์นั้นใช้วิธีการกระแหนะรักสมุกลงบนพิมพ์หินสบู่ที่แกะลวดลายเตรียมไว้ แล้วจึงนำมาประดับให้เกิดลวดลายต่างๆ ตามแบบที่ได้เขียนไว้ในเบื้องต้น โบราณนั้นนิยมใช้รักสมุกใบตอง มากระแหนะเป็นลวดลายหัวโขนหรือหุ่นหลวง จากนั้นจึงนำมากดลงบนพิมพ์หินสบู่และใช้ไม้หรือโลหะปลายแหลมดึงลวดลายขึ้นมาเพื่อนำไปประดับลงบนส่วนที่ต้องการประดับ โดยใช้ยางรักเป็นวัสดุ ยึดติดลวดลาย หากปัจจุบันใช้วัสดุทดแทนจำพวกสีโป๊วแทนการใช้รักสมุก

การปิดทองและประดับกระจก
การปิดทองประดับกระจกเป็นกระบวนการตกแต่งศิราภรณ์ให้สวยงามสำหรับส่วนศีรษะหุ่น เริ่มจากการทาน้ำมันมะเกลือเพื่อเตรียมพื้นผิวให้มีความอิ่มตัว เมื่อแห้งแล้วทาซ้ำอีกครั้งก่อนการทาด้วยยางรักสำหรับการปิดทอง

การประดับตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความสวยงามให้แก่ศิราภรณ์ ด้วยการประดับเพชรหรือพลอย และการประดับกระจก การประดับกระจกเป็นการตกแต่งส่วนละเอียดในลวดลายของตัวกระจังไส้ลายต่างๆ ให้เกิดเป็นประกาย เมื่อแสงตกกระทบจะทำให้ดูแวววาวคล้ายประดับด้วยอัญมณี

การเขียนสี
การเขียนสีเมื่อช่างปิดทองและประดับกระจกแล้วเสร็จ ช่างจะเขียนสีเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพราะถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้หุ่นเกิดความสวยงามและสมบูรณ์ การเขียนสีของหุ่นหลวงตัวพระ ใช้สีขาวเป็นสีพื้นตัว โดยเขียนแค่ส่วนที่ปรากฏให้เห็น คือใบหน้า มือ และขา เพราะส่วนอื่นจะถูกปกปิดด้วยเครื่องแต่งกาย

การเขียนสีเริ่มจากการขัดเตรียมพื้นผิวให้เรียบเสมอกันด้วยกระดาษทราย ทารองพื้นประมาณ ๒-๓ ครั้ง แล้วจึงลงสีอะคิลิคสีขาวในชั้นสุดท้าย ส่วนของใบหน้า เตรียมพื้นเช่นเดียวกับหัวโขนแล้วจึงสามารถทาสีและเขียนส่วนรายละเอียดต่างๆ บนใบหน้า กำหนดสัดส่วนของรายละเอียด ร่างเค้าโครงของเส้นด้วยดินสอสี เช่น เส้นขอบดวงตา เส้นคิ้ว เส้นจมูก เส้นฮ่อ เส้นพราย และใบหู ลักษณะเดียวกับการเขียนหน้าหัวโขน

เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องประดับ)
เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ หรือเครื่องประดับร่างกายของหุ่นหลวง สำนักช่างสิบหมู่ได้จัดสร้างจากโลหะชุบทองประดับเพชรเทียม ประกอบด้วย
- ทับทรวง
- จี้นาง
- ตาบทิศ
- ตาบหลัง
- สังวาล
- กำไลแผง มีลักษณะเหมือนการสวมกำไลกลมต่อเรียงกัน สวมที่ปลายข้อมือพอดีกับชายเสื้อ
- เข็มขัดและหัวเข็มขัด
- กำไลหัวบัว (กำไลข้อเท้า) กำไลกลมมีปุ่มที่ปลายทำเป็นรูปหยดน้ำ คล้ายดอกบัวทั้งสองข้าง สำหรับใส่ประดับข้อเท้าทั้งสองข้าง ใส่ได้ทั้งกับตัวพระและตัวนาง

ชุดหุ่นหลวงที่จัดสร้างขึ้นใหม่นี้ได้รับโอกาสให้เผยแพร่และจัดแสดงแก่สาธารณชนหลายครั้ง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ โดยการจัดเสวนาองค์ความรู้เรื่องหุ่นหลวง ณ ศูนย์ศิลปะและการช่างไทย สำนักช่างสิบหมู่ การจัดเสวนาเรื่อง หุ่นหลวง : นาฏยลักษณ์วิจิตรอันทรงคุณค่า ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) โดยสำนักการสังคีต และร่วมเผยแพร่ในการจัดนิทรรศการของกรมศิลปากรอีกหลายครั้ง ในเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ กรมศิลปากรจัดแสดงหุ่นหลวงในงานมหรสพสมโภชออกพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เรื่องรามเกียรติ์ ตอน หนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์



ยอดศิราภรณ์     ศีรษะ    ช่วงอก
สะโพก    ส่วนประกอบแขน     ส่วนประกอบขา      แกนและแป้นบังคับ



๑ การขุดเอาเนื้อไม้ด้านในออก๒ ส่วนข้อต่อที่ติดด้วยแผ่นกะลาเจาะรูสำหรับร้อยเส้นเชือก
๓ การสร้างส่วนมือของหุ่น๔ การร้อยเชือกบังคับหุ่น


การเขียนสีใบหน้าหุ่นพระ

ที่มา (ข้อมูล-ภาพ) : หุ่นหลวง  ประณีตศิลป์จากงานช่างหุ่นไทย, นิตยสารศิลปากร กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 ธันวาคม 2561 16:08:10 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.608 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 20 เมษายน 2567 04:05:28