[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 22:30:56 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เมืองโบราณอู่ทอง จากการขุดค้นโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓  (อ่าน 1859 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 29 พฤศจิกายน 2561 12:08:50 »



แผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูป
เลขทะเบียน บศ.๓/๒๕๕๙
อายุสมัย/แบบศิลปะ     ทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕
ชนิด ดินเผา
ขนาด กว้าง ๓๒ เซนติเมตร สูง ๔๖.๕๐ เซนติเมตร
สภาพ ชำรุดแตกต่อไว้ ๙ ชิ้น ศิรประภา พระรัศมี และประภาวลีหักหายไปบางส่วน
ประวัติ ขุดค้นพบที่โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ หลุมขุดค้น N6E5

แผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา
เมืองโบราณอู่ทอง


พุทธศักราช ๒๕๕๘-๒๕๕๙ สำนักศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี ได้ขุดศึกษาโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ โบราณสถานแห่งใหม่ของเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณนอกเมืองในเขตปกครองของบ้านศรีสรรเพชญ์ หมู่ที่ ๙ ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ห่างจากคันดินคูเมืองด้านทิศตะวันตก ประมาณ ๑๐ เมตร โบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารดี ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีพื้นที่ใช้งานต่างเป็น ๒ ระดับ คือมุขด้านนอก ลึกจากระดับผิวดินปัจจุบัน ๕๐ เซนติเมตร ขณะที่พื้นภายในอาคารมีผนังก่ออิฐฝังลึกลงไปในแนวคันดินปัจจุบัน ๒.๗๐-๓ เมตร มีระดับต่างกันถึง ๒.๒ เมตร นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอาคารแห่งนี้น่าจะเป็นวิหารที่มีห้องใต้ดินหรือมีการสร้างทับซ้อนกันสองครั้ง

ภายในตัวอาคารโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ พบโบราณวัตถุสำคัญ คือ แผ่นพระพิมพ์ดินเผาขนาดใหญ่ มีสภาพแตกหักไม่สมบูรณ์ ปะปนอยู่ในชั้นดินทับถมเต็มด้วยเศษอิฐและเศษกระเบื้องมุงหลังคา มีพุทธลักษณะเป็นแบบเดียวกันทั้งสิ้น เนื่องจากใช้เทคนิคการขึ้นรูปโดยถอดจากแม่พิมพ์นำส่งเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จำนวนกว่า ๗๐๐ รายการ จากชิ้นส่วนที่พบคาดว่ามีจำนวนรวมกันประมาณ ๕๐-๑๐๐ องค์ สันนิษฐานว่าเดิมเคยประดับตกแต่งอยู่บนผนังภายในอาคาร บทบาทและความสำคัญของพระพิมพ์ดินเผาดังกล่าว จากลักษณะพุทธศิลป์ อาจช่วยกำหนดอายุโบราณสถานแห่งนี้ได้ใกล้เคียงกับระยะเวลาที่สร้างขึ้นจริง

ลักษณะแผ่นพระพิมพ์ดินเผา ทำเป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ นูนสูง ด้านหลังเรียบ เนื้อดินเผาเป็นแบบเนื้อดินธรรมดา (earthenware)

องค์ประกอบของเนื้อดินแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทคือ ประเภทแรกเนื้อดินมีส่วนผสมของแกลบข้าวหรือเส้นใยพืชมาก มีเนื้อพรุน ผิวสีนวลถึงสีส้ม เนื้อดินภายในมักเผาไม่สุก มีไส้สีดำ  ประเภทที่สอง เนื้อดินประกอบด้วยทรายละเอียดและเม็ดกรวด มักเผาสุกเสมอกัน ผิวและเนื้อดินออกสีส้มแดง เนื้อดินค่อนข้างแข็งแรง ประเภทที่ ๓ เนื้อดินมีองค์ประกอบของทรายหยาบจำนวนมาก จนกระทั่งแลเห็นซิลิกาแทรกอยู่ในเนื้อดิน

อาจเป็นไปได้ว่ามีกลุ่มช่างฝีมือหลายกลุ่มเป็นผู้ผลิตพระพิมพ์ชุดนี้ขึ้น โดยมีกรรมวิธีการผสมสัดส่วนของดินต่างกันไปในแต่ละกลุ่มช่างฝีมือ ส่วนแม่พิมพ์ซึ่งมีลักษณะเดียวกันทั้งหมด อาจประดิษฐ์จากช่างฝีมือเดียวกัน แต่มีมากกว่า ๑ ชิ้น แยกกระจายไปตามกลุ่มช่างผู้ผลิต

วิธีกดพิมพ์ เข้าใจว่าใช้นิ้วกดดินให้แน่น ทั่วถึงทั้งแม่พิมพ์ แล้วใช้แผ่นไม้ปาดดินให้เรียบ เพราะมีรอยปาดของไม้ปรากฏอยู่ที่ด้านหลังของพระพิมพ์ เมื่อดินหมาดดีแล้ว คงใช้นิ้วช่วยแกะดินออกจากพิมพ์ เห็นได้จากร่องรอยนิ้วมือที่บริเวณริมขอบสองข้างของพระพิมพ์ของบางองค์

ในขั้นตอนการกดพิมพ์นี้ พบหลักฐานว่ามีการใช้ไม้วางเป็นแกนภายในองค์พระ ซึ่งอาจได้แก่ไม้ไผ่ขนาดกว้างราว ๑ เซนติเมตร หนาประมาณ ๐.๕ เซนติเมตร วางที่บริเวณกึ่งกลางตามยาวตั้งแต่ส่วนพระองค์ไปจนถึงส่วนพระศอและพระเศียร ซึ่งเป็นส่วนที่เปราะบางกว่าส่วนอื่นๆ เป็นการช่วยยึดเนื้อดินระหว่างองค์และพระเศียร ให้มีความมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น ในการถอดพิมพ์และการเผาพระพิมพ์ที่มีขนาดใหญ่ ไม่ให้แตกชำรุดได้ง่าย จึงปรากฏร่องรอยนูนที่แผ่นหลังและรูยาวในตำแหน่งที่วางไม้เป็นแกนภายใน แต่พระพิมพ์บางองค์ก็ไม่ปรากฏหลักฐานดังกล่าว

ขั้นตอนการเผา จากเนื้อวัสดุ แสดงว่าเผาไฟในอุณหภูมิต่ำไม่เกินกว่า ๑,๑๐๐ องศาเซลเซียส โดยเทคนิคการเผากลางแจ้งซึ่งไม่สามารถควบคุมไฟและความร้อนให้คงที่ได้ และเผาในระยะเวลาสั้น ทำไห้ผิวของพระพิมพ์โดยทั่วไปไม่สม่ำเสมอ เนื้อดินสุกไม่ทั่วถึง ผิวด้านนอกมีสีต่างๆ ตั้งแต่สีส้มแดง สีส้ม สีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลแก่ และสีเทาอ่อน และสีเทาแก่ ส่วนมากเป็นสีน้ำตาลแกมส้ม และสีเทาออกนวล เนื้อดินภายในเป็นสีดำคล้ำ ซึ่งเป็นผลจากการสัมผัสหรือรับออกซิเจนในการเผาไม่เพียงพอ ส่วนไม้แกนในองค์พระถูกความร้อนเผาไหม้จนสูญสลายไป หรือกลายเป็นถ่านฝังอยู่ในเนื้อดิน ดังมีหลักฐานเหลือติดอยู่ที่ชิ้นส่วนแผ่นพระพิมพ์ดินเผาแตกหักบางชิ้น

พุทธลักษณะแผ่นพระพิมพ์ดินเผา ประทับขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ (ธยานมุทรา) แสดงลักษณะต่างจากหลักประติมานวิทยาทั่วไป ซึ่งโดยปกติท่าประทับขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาจะวางทับอยู่เหนือหลังพระชงฆ์ (น่อง) ซ้าย แลเห็นฝ่าพระบาท (ฝ่าเท้า) เพียงข้างเดียว และพระหัตถ์ (มือ) ในปางสมาธิ พระหัตถ์ขวาจะวางหงายซ้อนอยู่เหนือพระหัตถ์ซ้าย วางหงายบนพระเพลา (ตัก) ขณะที่แผ่นพระพิมพ์ดินเผาพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ โดยวางซ้อนพระชงฆ์ซ้ายอยู่เหนือหลังพระชงฆ์ขวา และแสดงปางสมาธิโดยวางพระหัตถ์ซ้ายหงายซ้อนอยู่บนพระหัตถ์ข้างขวา

ลักษณะเช่นนี้อาจเกิดจากความผิดพลาดสลับข้างในการแกะพิมพ์ หรือผู้สร้างอาจไม่เข้าใจ หรือไม่ให้ความสนใจในหลักประติมานวิทยา หรือตั้งใจสร้างขึ้นในคติความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งยังไม่เป็นทราบกันก็เป็นได้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้เป็นลักษณะที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในบรรดาพระพุทธรูปค้นพบที่บริเวณเมืองโบราณอู่ทอง แม้กระทั่งในประติมากรรมลอยตัว เช่น พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ๓ องค์ ค้นพบจากโบราณสถานหมายเลข ๑๓ ก็ประทับขัดสมาธิราบโดยพระชงฆ์ซ้ายวางทับอยู่เหนือหลังพระชงฆ์ขวา พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ขุดพบที่โบราณสถานพุหางนาค หมายเลข ๒ แสดงปางสมาธิโดยวางพระหัตถ์ซ้ายซ้อนเหนือพระหัตถ์ขวา เป็นต้น

จากหลักฐานที่กล่าวมา ลักษณะการแสดงประติมานวิทยากลับข้าง อาจเป็นแบบแผนความนิยมเฉพาะถิ่นของศิลปกรรมแบบทวารวดีที่เมืองโบราณอู่ทอง

แผ่นพระพิมพ์ดินเผา ลักษณะเป็นภาพนูนสูงสร้างในพุทธศิลป์แบบทวารวดีตอนปลาย พระพักตร์ (หน้า) แบบพื้นเมือง โดยรับพื้นฐานแรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดียแบบอมราวดี คุปตะ หลังคุปตะและปาละ คือ พระรัศมี (แสงที่เปล่งออกจากศีรษะ) เป็นรูปดอกบัวตูม ซ้อนอยู่เหนือเส้นลวดบัว ๒ ชั้น   พระอุษณีษะ (ส่วนนูนสูงขึ้นของกะโหลกศีรษะดุจมวยผม แสดงลักษณะของมหาบุรุษ) ทรงกรวยสูงเด่นชัด พระศกเป็นเม็ดกลม วางเป็นแนวตรง ที่กึ่งกลางเม็ดพระศกมีขนาดใหญ่ ไล่ลำดับขนาดเล็กลงทางด้านล่างและด้านข้าง และทำเป็นเม็ดกลมนูนเฉพาะด้านหน้า ส่วนด้านข้างเป็นร่องยาวเรียงซ้อนกันขึ้นไป มองจากด้านตรงแลเห็นคล้ายเม็ดพระศกเรียงซ้อนกันเป็นลำดับ

พระพักตร์ (หน้า) รูปสี่เหลี่ยมรี พระนลาฏ (หน้าผาก) แคบ พระขนง (คิ้ว) เป็นเส้นนูนโค้งจดกัน ที่ดั้งพระนาสิก (จมูก) ต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตร (ตา) โปนเหลือบต่ำ เปลือกพระเนตรหนา ขอบพระเนตรด้านบนและด้านล่างเป็นแนวเส้นโค้ง ปลายพระเนตรชี้ขึ้น มีลักษณะดังนกนอน พระนาสิกโด่ง ปลายพระนาสิกใหญ่ พระปรางค์ (แก้ม) หนา ริมพระโอษฐ์ (ริมฝีปาก) บนบาง หยักโค้งลงที่กึ่งกลางเล็กน้อย ริมพระโอษฐ์ล่างหนา แย้มพระโอษฐ์ (ยิ้ม) โดยยกมุมพระโอษฐ์ (ปาก) ขึ้นเล็กน้อย ระหว่างพระนาสิกและริมพระโอษฐ์บนร่องกว้าง พระหนุ (คาง) สั้น พระกรรณ (หู) ยาว มนกลม เจาะเป็นร่องกว้าง แลเห็นทางด้านหน้า ปลายติ่งพระกรรณแหลม ปัดออกทางด้านข้างเล็กน้อย พระศอ (คอ) กลมเป็นปล้อง มีเส้นนูนซ้อนกัน ๓ เส้น เป็นเส้นแสดงความงามตามสุนทรียภาพของอินเดีย เส้นโค้งรอบพระศอกเป็นขอบหนา อาจได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปห่มคลุม ซึ่งเส้นขอบจีวรพันรอบพระศอเป็นขอบหนา ในศิลปะอินเดียสกุลช่างคุปตะ หลังพระเศียรมีศิรประภา (แสงที่เปล่งออกจากศีรษะ) ล้อมรอบพระเศียร (ศีรษะ) เป็นทรงรีรูปไข่ ขนาดใหญ่กว่าพระเศียรเล็กน้อย ลักษณะเรียบเกลี้ยงไม่มีลวดลายตกแต่ง เชื่อมต่อเนื่องไปกับประภาวลี (แสงที่เปล่งออกโดยรอบกาย) ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นรองรับพระวรกาย

อวค์พระพุทธรูป ลักษณะพระอังสาค่อนข้างตรง พระอุระ (อก) แบน  บั้นพระองค์ (เอว) เล็ก พระโสณี (สะโพก) ผาย พระอุทร (ท้อง) นูน แสดงกระดูกเชิงกรานชัดทั้ง ๒ ข้าง อันเป็นลักษณะทั่วไปของพระพุทธรูปในศิลปะทวารวดี ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากศิลปะคุปตะและปาละ ทรงครองจีวรห่มเฉียง เปิดอังสา (บ่า) ซ้าย จีวรเรียบบางแนบพระองค์ ขอบจีวรที่เฉวียงจากอังสาซ้ายไปยังพระปรัศว์ (สีข้าง) ขวา มีขอบหน้าเว้าลึกเป็นวงโค้งอยู่ใต้พระถัน (นม) มีชายจีวรสั้นพาดอยู่บนอังสาซ้าย พับเป็นริ้วซ้อน ๒ ชั้น ชายเป็นริ้วเขี้ยวตะขาบใต้พระอุระ อันเนื่องจากการครองจีวร โดยเริ่มจากห่มคลุมอังสาซ้ายเฉวียงผ่านพระอุระลงมาเบื้องขวา วกผ่านพระปฤษฎางค์ (หลัง) และนำชายจีวรกลับมาพาดอังสาซ้ายอีกครั้งหนึ่ง หากไม่แต่ปรากฏชายขอบจีวรต่อเนื่องจากริ้วที่อังสาลงมาคลุมปิดข้อพระกรข้างซ้าย เนื่องจากห่มจีวรคลุมพระอังสาซ้ายดังที่ควรจะเป็น แต่กลับปรากฏชายขอบจีวรหนาเริ่มจากข้อพระกรซ้ายพาดผ่านพระอูรุ (ต้นขา) และพระชงฆ์ คลุมปิดพระชานุ (เข่า) และพระเพลาซ้ายลงมาถึงปลายพระบาท (เท้า) ขวา แสดงว่าช่างขาดความเข้าใจในศิลปะต้นแบบจากอินเดียแล้ว ชายจีวรที่ตกจากข้อพระหัตถ์ซ้ายนี้ แสดงริ้วบางๆ เป็นริ้วคู่อันเป็นลักษณะเฉพาะซึ่งไม่ปรากฏในศิลปะทวารวดีในที่แห่งอื่น

ส่วนขอบสบงหรือผ้านุ่ง ลักษณะเป็นเส้นโค้งเว้าใต้พระอุทร ที่หน้าพระเพลาปรากฏชายผ้าพับเป็นริ้วซ้อน ๓ ชั้น ห้อยลงมาในแนวตั้ง ผ้าชิ้นนี้อาจได้แก่ชายจีบผ้าพับซ้อนด้านหน้าของสบงหรือชายผ้าหน้านาง ที่ยาวลงมาตามแนวตั้ง เมื่อประทับนั่งผ้าจีบหน้านางจึงยาวลงมาทับข้อพระบาท (ข้อเท้า) ทั้ง ๒ ข้าง หากแต่ไม่ปรากฏชายผ้าต่อเนื่องที่ขอบสบงตามที่ควรมีแต่อย่างใด ชายผ้าดังกล่าวนี้ เป็นลักษณะพิเศษซึ่งไม่พบทั่วไปในศิลปะทวารวดี โดยเฉพาะเมื่อพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ ทั้งนี้อาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากชายผ้าสบงและจีวรระหว่างข้อพระบาทจากการประทับขัดสมาธิเพชรที่ปรากฏอยู่เสมอในศิลปะอินเดียแบบคุปตะและปาละก็เป็นได้ ส่วนพระเพลาของพระพิมพ์ทำเสมือนแลเห็นจากทางด้านบน ปลายพระชานุจดลงถึงพื้นทั้งสองข้าง พระชงฆ์ซ้ายที่ทับอยู่เหนือพระเพลาขวา แลเห็นฝ่าพระบาทซ้ายบริบูรณ์ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการมองเห็นทางด้านข้าง ไม่มีฐานหรือแท่นบัลลังก์รองรับ พระวรกายมีแผ่นหลังหรือประภาวลี (แสงสว่างแผ่จากกาย) ล้อมรอบเป็นเส้นรอบนอกองค์พระพุทธรูป เชื่อมต่อไปกับศิรประภาทรงรีเบื้องบนพระเศียร  



โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ผนังอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนฟ้า พื้นภายในอาคารลึกกว่ามุขด้านนอกอาคาร
ประมาณ ๒.๒ เมตร สันนิาฐานว่าเป็นอาคารประเภทวิหาร ภายในค้นพบวัตถุจำนวนมาก จำพวกอิฐ
เศษกระเบื้อง ตะคันดินเผา แผ่นพระพิมพ์ดินเผา แผ่นดินเผารูปบุคคล เศษภาชนะดินเผา ชิ้นส่วนเหล็ก ฯลฯ


พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ศิลปะทวารวดีตอนปลาย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ได้จากโบราณสถานหมายเลข ๑๓
บริเวณนอกเมืองโบราณอู่ทอง ด้านทิศตะวันตก ใกล้กับโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ประทับขัดสมาธิราบ
โดยพระชงฆ์ซ้ายทับอยู่เหนือหลังพระชงฆ์ขวา เช่นเดียวกับแผ่นพระพิมพ์ดินเผาเมืองอู่ทอง


(ซ้าย) พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ศิลปะทวารวดีตอนปลาย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕
ได้จากโบราณสถานพุหางนาคหมายเลข๒ บนยอดเขารางกะปิด บ้านเขาพระ ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง
จังหวัดสุพรรณบุรี แสดงปางสมาธิกลับข้าง พระหัตถ์ข้างซ้ายวางหงายเหนือพระหัตถ์ข้างขวา
(กลาง-ขวา) เศียรพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕
ขนาดกว้าง ๑๔ เซนติเมตร สูง ๑๗ เซนติเมตร ขุดค้นพบที่โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ หลุมขุดค้น N7E5


เศียรพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา ศิลปะทวารดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ขนาดกว้าง ๑๑ เซนติเมตร
สูง ๑๘ เซนติเมตร สภาพชำรุด ศิรประภาหักหายไป ขุดค้นพบที่โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ หลุมขุดค้น N5E5


(ซ้าย) ชิ้นส่วนท่อนบนแผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ขนาด
กว้าง ๒๔ เซนติเมตร สูง ๑๘ เซนติเมตร ชำรุด ศิรประภา พระรัศมี และพระอุษณีษะหักหายไป แตกต่อไว้เป็น ๔ ชิ้น
ขุดค้นพบที่โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ หลุมขุดค้น N6E5
(ขวา) ลายเส้นเศียรพระพิมพ์ดินเผา ภาพจากรายงานการขุดศึกษาทางด้านโบราณคดี โบราณสถาน
บ้านศรีสรรเพชญ์ ๑,๒ และ ๓ แนวพระศกด้านข้างทำเป็นร่องยาว มองจากด้านตรงคล้ายกับเม็ดพระศกเรียงซ้อนกัน
อันเป็นเทคนิคเฉพาะของช่างเมืองอู่ทอง


(ซ้าย) ชิ้นส่วนองค์แผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ขนาด
กว้าง ๓๐ เซนติเมตร สูง ๒๗ เซนติเมตร สภาพชำรุด ขุดค้นพบที่โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓
(ขวา) ชิ้นส่วนองค์แผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา ศิลปะทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ขนาด
กว้าง ๓๑ เซนติเมตร สูง ๓๐ เซนติเมตร สภาพชำรุด ขุดค้นพบที่โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓


พระพิมพ์บางองค์ มีร่องรอยการทาสีแดง หรือมีร่องรอยลูบน้ำปูนสีขาวแกมเหลือง ที่บริเวณสบง จีวร และประภามณฑล บางชิ้นพบคราบสีติดอยู่ที่ส่วนพระวรกาย เป็นการตบแต่งภายหลังจากการเผาเช่นเดียวกับแผ่นพระพิมพ์แบบเดียวกันที่พบจากโบราณสถานหมายเลข ๕ เพื่อให้พระพิมพ์มีความงามโดดเด่นขึ้น

แผ่นพระพิมพ์ดินเผา มีสภาพแตกชำรุดไม่สามารถต่อเป็นชิ้นสมบูรณ์ได้ ขนาดของแผ่นพระพิมพ์กว้างประมาณ ๓๒ เซนติเมตร สูงประมาณ ๔๗ เซนติเมตร หนา ๗.๕ เซนติเมตร เฉพาะองค์พระพุทธรูป ตักกว้างประมาณ ๓๐ เซนติเมตร

จากลักษณะพุทธศิลป์ดังกล่าวมา เห็นได้ว่าแผ่นพระพิมพ์ดินเผามีสุนทรียภาพตามแบบเฉพาะของศิลปะทวารดี โดยได้รับกระแสอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย ผสมผสานกันทั้งจากศิลปะอินเดียเหนือและศิลปะอินเดียใต้

ศิลปะอินเดียใต้ที่ส่งอิทธิพลให้แก่ศิลปะทวารวดี คือ ศิลปะอมราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๖-๑๐) ส่วนศิลปะอินเดียเหนือ ได้รับกระแสอิทธิพลจากแหล่งศิลปกรรมต่างๆ หลายแห่ง จากศิลปะแบบคุปตะสกุลช่างสารนาถ (พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑) ศิลปะวกาฏกะ – จาลุกยะตะวันตกแระยะแรก (พุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๓) และศิลปะปาละ (พุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๘) ซึ่งเจริญขึ้นก่อนหน้าและร่วมสมัยเดียวกันกับศิลปะทวารวดี

พุทธศิลป์ทวารวดี ส่วนใหญ่ประทับขัดสมาธิราบจากอิทธิพลศิลปะอมราวดี แต่การนั่งราบในศิลปะอมราวดีมักประทับขัดสมาธิราบอย่างหลวมๆ พระบาททั้งสองไขว้ากันที่ข้อพระบาท ซึ่งลักษณะดังกล่าวปรากฏอยู่ในศิลปะทวารวดีระยะแรก ต่อมาจึงพัฒนาประทับขัดสมาธิราบโดยซ้อนพระบาทกระชับขึ้น ดังที่ปรากฏในแผ่นพระพิมพ์ดินเผา หากแต่การประทับขัดสมาธิราบกลับด้านโดยซ้อนพระบาทซ้ายอยู่เหนือหลังพระชงฆ์ขวา เป็นลักษณะเฉพาะที่มักปรากฏอยู่บ่อยครั้งในศิลปะทวารวดีเมืองอู่ทอง

ลักษณะของพระอุษณีษะทรงสูง พระเนตรที่เหลือบลง ขอบพระเนตรโค้ง และการแย้มพระโอษฐ์อยู่เสมอเป็นกระแสอิทธิพลของศิลปะคุปตะ ในขณะที่พระพักตร์สี่เหลี่ยม พระขนงเป็นเส้นนูนต่อกันเป็นรูปปีกกา พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้างเป็นลักษณะพื้นถิ่น ที่พัฒนาขึ้นมีสุนทรียภาพเป็นของตนเองเด่นชัดในช่วงครึ่งหลังของศิลปะทวารวดี

การครองจีวรเรียบบางแนบพระวรกายเป็นลักษณะที่เกี่ยวข้องกับศิลปะคุปตะสกุลช่างสารนาถ อย่างไรก็ดี ศิลปะคุปตะนิยมพระพุทธรูปห่มคลุมทั้งพระพุทธรูปยืนและพระพุทธรูปนั่ง ดังนั้นการครองจีวรห่มเฉียงอาจได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปนั่งในศิลปะวกาฏกะ – จาลุกยะตะวันตกระยะแรก ที่นิยมครองจีวรห่มเฉียงทั้งพระพุทธรูปนั่งและยืน รวมถึงชายจีวรรูปเขี้ยวตะขาบที่ห้อยลงจากอังสาซ้ายก็ปรากฏอยู่ในพระพุทธรูปศิลปะวกาฎกะ-จาลุกยะตะวันตกระยะแรกบางองค์ เช่น บรรดาพระพุทธรูปภายในถ้ำเอลโลล่าที่ ๑๑-๑๒ (กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓) และคงให้อิทธิพลกับพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีเมืองอู่ทอง มากกว่าจะได้รับมาจากศิลปะปาละดังที่เคยเชื่อกัน เนื่องจากลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงตอนกลางของศิลปะปาละ ราวพุทธศตวรรษที่๑๖ อันเป็นเวลาที่ศิลปะทวารวดีเริ่มเสื่อมคลายลงแล้ว ส่วนริ้วจีวรบางๆ ที่ข้อพระหัตถ์ซ้ายของพิมพ์ดินเผาคงเป็นความนิยมเฉพาะถิ่นของศิลปะทวารวดีเมืองอู่ทอง


สำหรับกระแสอิทธิพลศิลปะปาละ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงหลังสุด เป็นลักษณะสำคัญที่ช่วยกำหนดอายุของแผ่นพระพิมพ์ดินเผา คือ พระรัศมีรูปลูกแก้วหรือดอกบัวตูมขนาดเล็ก ซึ่งปรากฏขึ้นครั้งแรกในศิลปะอินเดียสมัยราชวงศ์ปาละ และคงให้อิทธิพลกับบรรดาพระพุทธรูปสมัยทวารดีที่สร้างขึ้นในสมัยหลัง รวมทั้งลักษณะศิรประภาทรงรี ขนาดใหญ่กว่าพระเศียรเล็กน้อย ก็ปรากฏความที่นิยมในศิลปะแบบปาละด้วย

จากลักษณะโดยรวมดังกล่าว จึงอาจกำหนดอายุแผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ และน่าจะเป็นระยะเวลาเดียวกันกับการสร้างโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓

การได้พบแผ่นพระพิมพ์ดินเผาเป็นจำนวนมากมีรูปแบบซ้ำๆ กันในโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ จากตำแหน่งที่ค้นพบแผ่นพระพิมพ์ดินเผา ซึ่งทั้งหมดพบในพื้นที่อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่า เคยประดับตกแต่งอยู่ที่บริเวณผนังภายในของอาคาร และน่าจะประดับอยู่ร่วมกับแผ่นประติมากรรมดินเผารูปบุคคลชาย ซึ่งได้แก่อุบาสก ที่อยู่ในท่านั่งพนมมือ แสดงการสักการบูชาพระพุทธรูป ซึ่งค้นพบที่โบราณสถานแห่งนี้เป็นจำนวนมากเช่นกัน ทั้งนี้อาจเกี่ยวข้องกับคติพระอดีตพุทธตามความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่นิยมนับถือพระอดีตพุทธเป็นจำนวนมากก็เป็นได้

แผ่นพระพิมพ์ดินเผารูปแบบนี้ ยังมีการค้นพบภายในเมืองโบราณอู่ทองจำนวนหลายองค์ บรรดาชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผารูปแบบเดียวกัน จัดแสดงและเก็บรักษาไว้ภายในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง โดยไม่ระบุที่มาแน่ชัด ตามหลักฐานทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ กล่าวแต่เพียงว่า ได้จากพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง ขนาดของแผ่นพระพิมพ์มีขนาดต่างกันบ้างเล็กน้อย รวมทั้งมีรายละเอียดต่างกันไปบ้าง เช่น ชิ้นส่วนพระพิมพ์ดินเผาบางชิ้น มีศิรประภาปลายยอดเรียวแหลม ต่างจากแผ่นพระพิมพ์ดินเผาที่ได้จากแหล่งโบราณคดีบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ซึ่งศิรประภาปลายยอดมนกลม แผ่นพระพิมพ์ดินเผาที่สมบูรณ์ที่สุดและมีที่มาที่แน่นอน โดยพบหลักฐานจากการขุดค้นได้จากโบราณสถานหมายเลข ๕ ซึ่งเป็นโบราณสถานประเภทวิหารเช่นเดียวกับโบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ และแผ่นพระพิมพ์ดินเผาจากแหล่งโบราณสถานพุหางนาค หมายเลข ๒ ซึ่งเป็นโบราณสถานประเภทสถูป (พบมีสภาพชำรุดแตกเป็นชิ้นส่วน ๓๗ ชิ้น ประกอบเข้าด้วยกันได้ จำนวน ๒ องค์) สันนิษฐานว่าตกแต่งบริเวณผนังภายนอก หลักฐานเหล่านี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า มีการทำซ้ำแผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา เพื่อใช้ในการสักการบูชา หรือประดับตกแต่งอาคารศาสนสถาน ต่างกรรมต่างวาระหลายแห่ง

จากรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของแผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผาที่สร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในเมืองอู่ทอง มีลักษณะเฉพาะซึ่งไม่ปรากฏในแหล่งวัฒนธรรมทวารวดีแห่งอื่นๆ สะท้อนว่ากลุ่มช่างเมืองอู่ทอง มีแบบแผนสกุลช่างเป็นของตนเอง ในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรมเนื่องในพระพุทธศาสนาเพื่อตอบสนองความศรัทธาของบรรดาพุทธศาสนิกชน สอดคล้องกับสุนทรียภาพ ความนิยมทางความงามของท้องถิ่น ตลอดจนคติความเชื่อในพุทธศาสนาอันเป็นรากฐานแก่นหลักของวัฒนธรรมทวารวดี

แผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผาเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวโดยสรุป จัดอยู่ในศิลปะทวารวดีตอนปลาย โดยได้รับกระแสอิทธิพลจากศิลปะอินเดียจากแหล่งศิลปกรรมหลายแห่งผสมผสานกัน โดยอาจสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ พบในแหล่งโบราณสถานเมืองอู่ทองหลายแห่ง สันนิษฐานว่าใช้ประดับตกแต่งตามผนังและฐานสถูปเจดีย์ อาจสร้างขึ้นตามคติพระอดีตพุทธ มีรูปแบบอันเป็นพิเศษ ซึ่งน่าจะสร้างขึ้นในท้องถิ่น สะท้อนถึงสกุลช่างอันมีเอกลักษณ์เป็นแบบเฉพาะของตนเอง


--------------------------------------------------
โบราณสถานแห่งนี้ สันนิษฐานว่าได้แก่โบราณสถานหมายเลข ๑๔ จากการสำรวจและจัดทำผังในพุทธศักราช ๒๕๐๗ เนื่องจากตั้งอยู่ที่ตำแหน่งเดียวกัน
พ.ศ.๒๕๕๘ การขุดค้นดำเนินการไปได้ราว ๒๐-๓๐% พบหลักฐานแผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา ที่เป็นชิ้นสำคัญ นำส่งเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง
     จำนวน ๙๔ รายการ ปีต่อมามีการขุดแต่งเพิ่มเติมจนแล้วเสร็จ ได้พบหลักฐานแผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปอีกเป็นจำนวนมาก นำส่งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จำนวน ๖๒๗ รายการ ๗๒๕ ชิ้น


พระพุทธรูปสมาธิ ศิลปะอินเดีย แบบวกาฏกะ – จาลุกยะตะวันตกระยะแรก
ภายในถ้ำเอลโลล่า อายุราวพุทธศตวรรษ ๑๒-๑๓ ชายจีวรเหนืออังสาซ้ายสั้น
ชายเป็นรูปเขี้ยวตะขาบ ซึ่งอาจส่งอิทธิพลให้กับแผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา ศิลปะทวารวดี


ชิ้นส่วนประติมากรรมรูปบุคคลชาย ดินเผา ศิลปะทวารวดี ขุดค้นพบที่
โบราณสถานบ้านศรีสรรเพชญ์ ๓ ลักษณะนั่งพนมมือ ได้แก่ รูปอุบาสก ผู้ศรัทธา
ในพระพุทธศาสนาสันนิษฐานว่า ประดับอยู่บนผนังอาคารร่วมกับแผ่นพระพิมพ์
พระพุทธรูปดินเผาประติมากรรมรูปแบบนี้ เคยพบภายในเมืองโบราณอู่ทอง
เช่นเดียวกับแผ่นพระพิมพ์ดินเผา


แผ่นพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา ศิลปะทวารวดี เลขทะเบียน ๖๙/๒๕๐๖
กว้าง ๓๐ เซนติเมตร สูง ๔๓.๕ เซนติเมตร พบที่โบราณสถาน
หมายเลข ๕ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จีวรและชายสบง
ทาสีแดงประดับตกแต่งภายหลังจากการเผา


(ซ้าย) แผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา ศิลปะทวารวดี เลขทะเบียน ๒๖๘/๒๕๐๕
กว้าง ๒๒ เซนติเมตร สูง ๒๘.๕ เซนติเมตร ไม่ปรากฏที่มา คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ลักษณะศิรประภา
เป็นแผ่นปลายเรียวแหลม
(ขวา) แผ่นพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา ศิลปะทวารวดี พบที่โบราณสถานพุหางนาคหมายเลข ๒ นอกเมือง
โบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : แผ่นพระพิมพ์พระพุทธรูปดินเผา เมืองโบราณอู่ทอง โดย เด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
                      พิมพ์ในนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๖๑ ฉบับที่๔ ก.ค.-ส.ค.๒๕๖๑

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 พฤศจิกายน 2561 12:31:37 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.777 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 09 ธันวาคม 2566 05:23:07