[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 16:05:37 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ความเป็นมาของพระอภิธรรม  (อ่าน 1410 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 27 ธันวาคม 2561 15:45:18 »




ความเป็นมาของพระอภิธรรม
เรียบเรียงโดย วิศิษฐ์ ชัยสุวรรณ
พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานทอดกฐิน ณ วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา
๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

เมื่อกล่าวถึงคำว่า พระอภิธรรม ก็มักจะถูกถามเสมอว่าพระอภิธรรมคืออะไร พระอภิธรรมเรียนเกี่ยวกับอะไร ใครเป็นผู้แต่งพระอภิธรรม เรียนพระอภิธรรมแล้วได้ประโยชน์อะไร ทำไมต้องนำพระอภิธรรมมาสวดในงานศพทั้งๆ ที่ไม่มีใครฟังรู้เรื่อง

พระอภิธรรม เป็นธรรมะชั้นสูงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ๔ ประการ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน  พระอภิธรรมเปรียบเสมือนแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาสุขุมล้ำลึกอันนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของชีวิต  เรื่องของกรรมและการส่งผลของกรรม เรื่องภพภูมิต่างๆ เรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด และเรื่องของการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเป็นจุดหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา

วิชาการทั้งหลายทางโลกที่เราได้เคยเรียนเคยฟังและเคยอ่านกันมา มิใช่แต่เพียงในภพนี้เท่านั้น ในภพก่อนๆ ที่เราเวียนว่ายตายเกิดกันมาจนนับไม่ถ้วนนั้น เราก็คงได้เคยเรียน เคยฟัง และเคยอ่านกันมามากแล้ว แต่ก็ไม่เห็นว่าจะทำให้เราพ้นจากความทุกข์ พ้นจากความลำบาก หรือพ้นจากกิเลสไปได้เลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าวิชาการต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ทำให้เราเกิดปัญญาอันถูกต้องอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงแค่ความรู้ทางโลกเพื่อใช้ในการดำรงชีพไปภพหนึ่ง ชาติหนึ่ง เท่านั้นเอง  


พระอภิธรรม คืออะไร
หลังจากที่สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลายาวนานถึง ๔๕ พรรษา คำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ทั้งหมดรวบรวมได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เรียกว่า พระไตรปิฎก ซึ่งบรรจุคำสอนและเรื่องราวของพระพุทธศาสนาไว้โดยละเอียด แบ่งออกเป็น ๓ ปิฎก หรือ ๓ หมวด ด้วยกันคือ
๑. พระวินัยปิฎก
๒. พระสุตตันตปิฎก
๓. พระอภิธรรมปิฎก

พระวินัยปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระวินัย เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับศีลหรือสิกขาบท (บทบัญญัติ) ตลอดจนพิธีกรรมและธรรมเนียมของสงฆ์ อันเป็นกฎระเบียบที่พระภิกษุสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์จะต้องปฏิบัติ รวมถึงพุทธประวัติบางตอนและประวัติการทำสังคายนา มีทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า อา. ปา. มะ. จุ. ปะ. (หัวใจพระวินัย) ได้แก่
๑. คัมภีร์อาทิกัมมิกะ ว่าด้วยอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส อนิยต และ ต้นบัญญัติในสิกขาบทต่างๆ
๒. คัมภีร์ปาจิตตีย์ ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นอาบัติอย่างเบา
๓. คัมภีร์มหาวรรค ว่าด้วยพุทธประวัติตอนปฐมโพธิกาล และพิธีกรรมทางพระวินัย
๔. คัมภีร์จุลวรรค ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัยต่อจากมหาวรรค ตลอดจนความเป็นมาของภิกษุณี และประวัติการทำสังคายนา
๕. คัมภีร์ปริวาร ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย

พระสุตตันตปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระสูตร เป็นหมวดที่ประมวลพระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรม และเรื่องเล่าต่างๆ อันยักเยื้องตามบุคคลและโอกาส เป็นธรรมที่แสดงโดยใช้สมมติโวหาร คือ ยกสัตว์ บุคคล กษัตริย์ เทวดา เป็นต้น มาแสดง  มีคำสอนทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ นิกาย เรียกโดยย่อว่า ที. มะ. สัง. อัง. ขุ. (หัวใจพระสูตร) ได้แก่
๑. ทีฆนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดยาว จำนวน ๓๔ สูตร
๒. มัชฌิมนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดปานกลาง จำนวน ๑๕๒ สูตร
๓. สังยุตตนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดเป็นหมวดหมู่ เรียกว่า สังยุตต์ มีชื่อตามเนื้อหา เช่น เกี่ยวกับแคว้นโกสล เรียกว่า โกสลสังยุตต์ เกี่ยวกับมรรคเรียกว่า มรรคสังยุตต์ มีจำนวน ๗,๗๖๒ สูตร
๔. อังคุตตรนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดหมวดหมู่ตามจำนวนข้อของหลักธรรม เรียกว่า นิบาต เช่น เอกนิบาต ว่าด้วยหลักธรรมที่มีหัวข้อเดียว จนถึงหลักธรรมที่มี ๑๑ หัวข้อที่เรียกว่า เอกาทสกนิบาต ในนิกายนี้มีพระสูตร ๙,๕๕๗ สูตร
๕. ขุททกนิกาย ประกอบด้วยภาษิตเบ็ดเตล็ด ประวัติและนิทานต่างๆ นอกเหนือจากที่จัดไว้ในนิกายทั้ง ๔ ข้างต้น แบ่งออกเป็นหมวดได้ ๑๕ หมวดคือ
         ๑) ขุททกปาฐะ แสดงบทสวดเล็กๆ น้อยๆ โดยมากเป็นบทสวดสั้นๆ
         ๒) ธรรมบท แสดงคาถาพุทธภาษิต ประมาณ ๓๐๐ คาถา
         ๓) อุทาน แสดงพระพุทธดำรัสที่เปล่งอุทานเป็นภาษิตโดยมีเนื้อเรื่องประกอบตามสมควร
         ๔) อิติวุตตก แสดงคำอ้างอิงว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นอย่างนี้
         ๕) สุตตนิบาต เป็นหมวดที่รวบรวมพระสูตรเบ็ดเตล็ดไว้ด้วยกัน
         ๖) วิมานวัตถุ แสดงเรื่องราวของผู้ได้วิมานและแสดงเหตุที่ทำให้ได้วิมานไว้ด้วย
         ๗) เปตวัตถุ แสดงเรื่องราวของเปรตที่ได้ทำบาปกรรมไว้
         ๘) เถรคาถา แสดงภาษิตต่างๆ ของพระอรหันตสาวก
         ๙) เถรีคาถา แสดงภาษิตต่างๆ ของพระอรหันตสาวิกา
        ๑๐) ชาดก เป็นหมวดที่ประมวลคาถาธรรมภาษิตเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธองค์
        ๑๑) นิทเทส เป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่องนิทเทส (การชี้แจง, การแสดง, การจำแนก) แบ่งเป็นมหานิเทส และจุลนิทเทส
        ๑๒) ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวถึงการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความมีปัญญาอันประเสริฐ
        ๑๓) อปทาน หมวดนี้จะกล่าวถึงอัตตชีวประวัติของพระพุทธองค์และพระอรหันตสาวกและอรหันตสาวิกา
        ๑๔) พุทธวงศ์ แสดงประวัติของอดีตพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์
        ๑๕) จริยาปิฎก แสดงเรื่องราวการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า

พระอภิธรรมปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระอภิธรรม เป็นหมวดที่ประมวลพุทธพจน์อันเกี่ยวกับหลักธรรมที่เป็นวิชาการว่าด้วยเรื่องของปรมัตถธรรม ล้วนๆ ยกตัวอย่างเมื่อกล่าวถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในพระอภิธรรมถือว่าบุคคลนั้นไม่มี มีแต่การประชุมรวมกันของจิต เจตสิก รูป เท่านั้น  ดังนั้นธรรมะในหมวดนี้จึงไม่มีเรื่องราวของบุคคล เหตุการณ์ หรือสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งสมมติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย

พระอภิธรรมปิฏกมีคำสอนทั้งสิ้น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า สัง. วิ. ธา. ปุ. กะ. ยะ. ปะ. (หัวใจพระอภิธรรม) ได้แก่
๑. คัมภีร์ธัมมสังคณี เป็นคัมภีร์ที่แสดงหัวข้อธรรมอันเป็นเนื้อหาหลักของพระอภิธรรม มีเนื้อหาแบ่งออกเป็น ๕ ตอน คือ
        ๑.๑ มาติกา ได้แก่หัวข้อที่เป็นกระทู้ธรรมหรือแม่บท แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ แม่บทฝ่ายพระอภิธรรม (อภิธรรมมาติกา) และแม่บทฝ่ายพระสูตร (สุตตันตมาติกา)
        ๑.๒ จิตตุปปาทกัณฑ์ แสดงเรื่องการจำแนกประเภทของจิตและธรรมชาติที่เป็นองค์ประกอบของจิต (เจตสิก)
        ๑.๓ รูปกัณฑ์ แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับรูปขันธ์
        ๑.๔ นิกเขปกัณฑ์ เป็นกัณฑ์ที่ขยายความติกมาติกา และทุกมาติกา ไว้อย่างสมบูรณ์
        ๑.๕ อัฎฐกถากัณฑ์ เป็นคำอธิบายบทมาติกาทั้งหมด (ยกเว้น สุตตันตมาติกา) ไว้โดยย่อในลักษณะการให้คำจำกัดความ

๒. คัมภีร์วิภังค์ เป็นคัมภีร์ที่วิเคราะห์ แยกแยะ และแจกแจงหลักธรรมสำคัญๆ เช่น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อริยสัจ และปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น โดยวิเคราะห์อย่างละเอียดทั้งในแง่ของพระสูตรและพระอภิธรรม มีทั้งหมด ๑๘ หัวข้อ ดังนี้

        
         ๑. ขันธวิภังค์ แจงเรื่องขันธ์ ๕
         ๒. อายตนวิภังค์ แจงเรื่องอายตนะ ๑๒
         ๓. ธาตุวิภังค์ แจงเรื่องธาตุ ๑๘
         ๔. สัจจวิภังค์ แจงเรื่องอริยสัจ ๔
         ๕. อินทริยวิภังค์ แจงเรื่องอินทรีย์ ๒๒
         ๖. ปัจจยาการวิภังค์           แจงเรื่องปัจจยาการ ๑๒ (ปฏิจจสมุปบาท)
         ๗. สติปัฏฐานวิภังค์ แจงเรื่องสติปัฏฐาน ๔
         ๘. สัมมัปปธานวิภังค์ แจงเรื่องสัมมัปปธาน ๔
         ๙. อิทธิปาทวิภังค์ แจงเรื่องอิทธิบาท ๔
        ๑๐. โพชฌังควิภังค์ แจงเรื่องโพชฌงค์ ๗
        ๑๑. มัคควิภังค์ แจงเรื่องมรรคมีองค์ ๘
        ๑๒. ฌานวิภังค์ แจงเรื่องฌาน ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน
        ๑๓. อัปปมัญญาวิภังค์ แจงเรื่องอัปปมัญญา ๔ (พรหมวิหาร ๔)
        ๑๔. สิกขาปทวิภังค์ แจงเรื่องสิกขาบท ๕
        ๑๕. ปฏิสัมภิทาวิภังค์ แจงเรื่องปฏิสัมภิทา ๔
        ๑๖. ญาณวิภังค์ แจงเรื่องญาณต่างๆ
        ๑๗. ขุททกวัตถุวิภังค์ แจงเรื่องเบ็ดเตล็ด เช่น อกุศลธรรมต่างๆ มีทิฐิ ๖๒ เป็นต้น
        ๑๘. ธัมมหทยวิภังค์ แจงเรื่องหลักธรรมที่สำคัญอื่นๆ

วิธีวิเคราะห์ธรรมเหล่านี้จะแยกอธิบายเป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑. วิเคราะห์แบบพระสูตร หรืออธิบายตามแนวพระสูตร เรียกว่า สุตตันตภาชนีย์
๒. วิเคราะห์แบบพระอภิธรรม หรือตามแนวพระอภิธรรม เรียกว่า อภิธรรมภาชนีย์
๓. วิเคราะห์แบบถาม-ตอบปัญหาตามแนวมาติกาในคัมภีร์ธัมมสังคณี เรียกว่าปัญหาปุจฉกะ

๓. คัมภีร์ธาตุกถา เป็นคัมภีร์ที่นำเนื้อหาจากคัมภีร์วิภังค์ และนำมาติกาจากคัมภีร์ธัมมสังคณีมาจัดเข้าในธรรม ๓ หมวด คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่าจัดเข้าได้หรือไม่ได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาบางท่านตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ชื่อเดิมของคัมภีร์นี้น่าจะเป็น “ขันธะ-อายตนะ-ธาตุกถา” แต่ต่อมากร่อนเสียงเรียกเหลือเพียง “ธาตุกถา” เท่านั้น

๔. คัมภีร์ปุคคลบัญญัตติ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยการบัญญัติหรือกำหนดธรรมชาติของบุคคล โดยวางหลักเกณฑ์ในการตัดสินเกี่ยวกับคุณสมบัติและธรรมชาติของบุคคลทั้งทางร่างกายและจิตใจไว้ ๖ ลักษณะ ดังนี้ คือ

        
        ๑. ขันธบัญญัติ กำหนดว่าบุคคลเป็นที่รวมของขันธ์ ๕
        ๒. อายตนบัญญัติ         กำหนดว่าบุคคลเป็นที่รวมของอายตนะ ๑๒
        ๓. ธาตุบัญญัติ กำหนดว่าบุคคลเป็นที่รวมของธาตุ ๑๘
        ๔. สัจจบัญญัติ กำหนดว่าบุคคลมีธรรมชาติตามแนวอริยสัจ ๔
        ๕. อินทริยบัญญัติ     กำหนดว่าบุคคลเป็นที่รวมของอินทรีย์ ๒๒
        ๖. ปุคคลบัญญัติ กำหนดประเภทบุคคลตามระดับจิตใจ ซึ่งได้จำแนกประเภทแห่งบุคคลไว้มากมาย

คัมภีร์กถาวัตถุ เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมการโต้วาทะเพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลให้เห็นว่า วาทกถา (ความเห็น) ของฝ่ายปรวาที (ภิกษุใน ๑๗ นิกาย ที่แตกไปจากเถรวาทในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) รวมทั้งสิ้น ๒๒๖ ข้อ ล้วนเป็นวิบัติแห่งทิฏฐิ เป็นเรื่องที่ภิกษุทั้ง ๑๗ นิกายนำไปเผยแผ่อย่างผิดๆ ในช่วงปี พ.ศ.๑๐๐-๒๗๑ วิธีการโต้วาทะใช้หลักตรรกศาสตร์ที่น่าสนใจมาก นับเป็นพุทธตรรกศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์นี้เท่านั้น

เรื่องที่โต้วาทะกันระหว่างฝ่ายปรวาที (ผู้เห็นผิด) กับฝ่ายสกวาที (ฝ่ายเถรวาทผู้เห็นถูก) ใน ๒๒๖ ประเด็นปัญาหานี้ สามารถจัดหมวดหมู่เป็นเรื่องใหญ่ๆ ได้ ๑๘ เรื่องดังนี้
 ๑. เรื่องพระพุทธเจ้า
 ๒. เรื่องพระอรหันต์
 ๓. เรื่องพระอริยบุคคล
 ๔. เรื่องแนวทางปฏิบัติธรรมของพระอริยะ
 ๕. เรื่องเกี่ยวกับปุถุชน
 ๖. เรื่องเกี่ยวกับเวลา
 ๗. เรื่องคณะสงฆ์
 ๘. เรื่องสาระสำคัญของคำสอน
 ๙. เรื่องสภาวธรรม
๑๐. เรื่องอภิญญา
๑๑. เรื่องการตรัสรู้
๑๒. เรื่องอสังขตธรรม
๑๓. เรื่องราคะ
๑๔. เรื่องฌาน
๑๕. เรื่องโลกและจักรวาล
๑๖. เรื่องกรรม
๑๗. เรื่องทุกข์
๑๘. เรื่องคุณธรรม

๖. คัมภีร์ยมก ว่าด้วยการปุจฉา-วิสัชนา สภาวธรรม ๑๐ หมวด ด้วยวิธีการยมก คือการถาม-ตอบเป็นคู่ๆ ซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะของคัมภีร์ยมก

สภาวธรรม ๑๐ หมวด ได้แก่ (๑) หมวดมูล (สภาวธรรมที่เป็นเหตุ)  (๒) หมวดขันธ์  (๓) หมวดอายตนะ  (๔) หมวดธาตุ  (๕) หมวดสัจจะ  (๖) หมวดสังขาร  (๗) หมวดอนุสัย  (๘) หมวดจิต  (๙) หมวดสภาวธรรม ในกุสลติกะ เรียกสั้นๆ ว่า หมวดธรรม (๑๐) หมวดอินทรีย์ สภาวธรรม ๑๐ หมวดนี้ทำให้แบ่งเนื้อหาของคัมภีร์ยมกออกเป็น ๑๐ ยมก เรียกชื่อตามหมวดสภาวธรรมที่เป็นเนื้อหา คือ (๑) มูลยมก  (๒) ขันธยมก  (๓) อายตนยมก  (๔) ธาตุยมก  (๕) สัจจยมก  (๖) สังขารยมก  (๗) อนุสยยมก  (๘) จิตตยมก  (๙) ธัมมยมก  (๑๐) อินทริยยมก

๗. คัมภีร์ปัฏฐาน ว่าด้วยการสงเคราะห์สภาวธรรมแม่บท หรือ มาติกา ทั้ง ๒๖๖ บท (๑๒๒ หมวด) ในคัมภีร์ธัมมสังคณี ด้วยอำนาจปัจจัย ๒๔ ประการ อันได้แก่

        
         ๑. เหตุปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นเหตุ
         ๒. อารัมมณปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นอารมณ์
         ๓. อธิปติปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นอธิบดี
         ๔. อนันตรปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความติดต่อกัน ไม่มีระหว่างคั่น
         ๕. สมนันตรปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความติดต่อกัน ไม่มีระหว่างคั่นทีเดียว
         ๖. สหชาตปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเกิดพร้อมกัน
         ๗. อัญญมัญญปัจจัย          ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความแก่กันและกัน
         ๘. นิสสยปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นที่อาศัย
         ๙. อุปนิสสยปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นที่อาศัยที่มีกำลังมาก
        ๑๐. ปุเรชาตปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเกิดก่อน
        ๑๑. ปัจฉาชาตปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ            โดยความเกิดทีหลัง
        ๑๒. อาเสวนปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเสพบ่อยๆ
        ๑๓. กัมมปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความปรุงแต่งเพื่อให้กิจต่างๆ สำเร็จลง
        ๑๔. วิปากปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นวิบาก คือเข้าถึงความสุกงอมและหมดกำลังลง
        ๑๕. อาหารปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นผู้นำ
        ๑๖. อินทริยปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นผู้ปกครอง
        ๑๗. ฌานปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นผู้เพ่งอารมณ์
        ๑๘. มัคคปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นหนทาง
        ๑๙. สัมปยุตตปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นผู้ประกอบ
        ๒๐. วิปปยุตตปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นผู้ไม่ประกอบ
        ๒๑. อัตถิปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นผู้ยังมีอยู่
        ๒๒. นัตถิปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นผู้ไม่มี
        ๒๓. วิคตปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นผู้ปราศจากไป
        ๒๔. อวิคตปัจจัย    ธรรมที่ช่วยอุปการะ      โดยความเป็นผู้ยังไม่ปราศจากไป


เนื้อหาของคัมภีร์นี้แสดงให้เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลายปรากฏเกิดขึ้นตามเหตุ ตามปัจจัยทั้งสิ้น มิได้เกิดจากการบงการของผู้ใด แต่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติที่เรียกว่า จิตตนิยาม กรรมนิยาม และธรรมนิยาม

สรุปแล้ว พระอภิธรรมก็คือธรรมะหมวดที่สาม ในพระไตรปิฎก ที่สอนให้รู้จักธรรมชาติอันแท้จริงที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลาย อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และรู้จักพระนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ธรรมชาติทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพานนี้รวมเรียกว่า ปรมัตถธรรม
หากแปลตามศัพท์ คำว่า อภิธัมม หรือ อภิธรรม แปลว่า ธรรมอันประเสริฐ, ธรรมอันยิ่ง, ธรรมที่มีอยู่แท้จริงปราศจากสมมุติ

เนื้อความในพระอภิธรรมเกือบทั้งหมด จะกล่าวถึงปรมัตถธรรมล้วนๆ โดยไม่มีบัญญัติธรรม (สมมติโวหาร) เข้ามาเกี่ยวข้อง  ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า ปรมัตถธรรม และ บัญญัติธรรม นั้นต่างกันอย่างไร



ปรมัตถธรรม มี ๔ ประการ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
ขันธ์ หมายถึง ขัน๕ อันประกอบด้วยรูปขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
     รูปขันธ์ ก็คือ รูป
     เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ รวมเรียกว่า เจตสิก
     วิญญาณขันธ์ ก็คือ จิต
     ดังนั้น ขัน ๕ ก็คือ จิต+เจตสิก+รูป นั่นเอง


ต่อไป "ความหมายของ ปรมัตถธรรม"
โปรดติดตาม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 ธันวาคม 2561 15:56:33 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 02 มกราคม 2562 16:34:46 »

http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/81339154599441_133_320x200_.jpg
ความเป็นมาของพระอภิธรรม


ความหมายของปรมัตถธรรม

ปรมัตถธรรม คือ ธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้แน่นอน ที่ดำรงลักษณะเฉพาะของตนไว้โดยไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมที่ปฏิเสธความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตนโดยสิ้นเชิง มี ๔ ประการ คือ
๑. จิต
๒. เจตสิก
๓. รูป
๔. นิพพาน
ซึ่งมีความหมายโดยย่อดังนี้

จิต คือธรรมชาติที่ทำหน้าทิ่เห็น, ได้ยิน, รับกลิ่น, รับรส, รู้สัมผัส ถูกต้อง ตลอดจนธรรมชาติที่ทำให้เกิดการคิด นึก  สภาวะของจิตมีทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ อย่าง (โดยพิสดาร) แต่เมื่อกล่าวโดยลักษณะแล้วมีเพียง ๑ เท่านั้น คือ รู้อารมณ์ (อารมณ์ในที่นี้หมายถึง รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สภาพเย็น ร้อน อ่อน แข็ง และเรื่องราวต่างๆ ที่จิตไปรับรู้)

จิตเป็นนามธรรม และมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น วิญญาณ, มโน, มนัส มนินทรีย์, มโนธาตุ, มโนวิญญาณธาตุ และมนายตนะ เป็นต้น

เจตสิก คือ ธรรมชาติที่ประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิต ทำให้เกิดความรู้สึก นึก คิด ที่แตกต่างกัน ทั้งทางที่ดีและไม่ดี มีทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ  เจตสิกเป็นนามธรรม ที่เกิดร่วมกับจิต คือเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดเดียวกันกับจิต สภาพของจิตเป็นเพียงประธานในการรู้อารมณ์ แต่การที่จิตโกรธ หรือจิตโลภ เป็นเพราะมีเจตสิกเข้าประกอบปรุงแต่งให้เกิดความโกรธหรือความโลภนั่นเอง จิตเปรียบเสมือนเม็ดยา เจตสิกเปรียบเสมือนตัวยาที่อยู่ในเม็ดยา จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกเกิดโดยไม่มีจิตก็ไม่ได้เช่นกัน

เนื่องจาก จิต และเจตสิก เป็นสิ่งที่ต้องเกิดร่วมกันตลอดเวลา  ดังนั้น การอธิบายบางแห่งในหนังสือเล่มนี้จึงเขียนว่า  จิต+เจตสิก เพื่อให้ระลึกไว้อยู่เสมอว่าจิตและเจตสิกนั้นเป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดร่วมกัน ต้องอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และไม่สามารถแยกออกจากกันได้

รูป คือ ธรรมชาติที่แตกดับ ย่อยยับ สลายไปด้วยความเย็นและความร้อน ในร่างกายของคนเราและสัตว์ทั้งหลายนั้นมีรูปประชุมกันอยู่ทั้งหมด ๒๘ ชนิด และรูปที่ประชุมกันอยู่นี้แต่ละรูปต่างก็แตกดับย่อยยับสลายไปตลอดเวลา หาความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้เลย

นิพพาน เป็นธรรมชาติที่พ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด นิพพานโดยปริยายมี ๒ ลักษณะคือ

๑. สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ยังเป็นไปกับขันธ์ ๕ หมายถึงการที่ประหาณกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว (กิเลสนิพพาน) แต่ขันธ์ ๕ ยังมีการเกิดดับสืบต่ออยู่ (ยังมีชีวิตอยู่)

๒. อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ปราศจากขันธ์ ๕ ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์ (ผู้หมดจดจากกิเลส) และสิ้นชีวิตไปแล้ว (คือ กิเลสก็ไม่เหลือ ขัน ๕ ก็ไม่เหลือ) หรือที่เรียกว่า ปรินิพพาน (ปริ = ทั้งหมด) เมื่อปรินิพพานแล้ว จิต + เจตสิก และรูปจะหยุดการสืบต่อและดับลงโดยสิ้นเชิง (คือเมื่อปรินิพพานไปไปแล้วก็จะไม่มีการเกิดอีก หรือไม่มีภพชาติอีกต่อไปอีก)

นิพพาน เป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะต้องพยายามเข้าถึงให้จงได้จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธสาวก เป็นอริยบุคคล และเป็นทายาทผู้รับมรดกธรรมในพุทธศาสนานี้  



ความหมายของบัญญัติธรรม

บัญญัติธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้น เพื่อสื่อสารให้เข้าใจความหมายซึ่งกันและกัน เช่น ชื่อ นายมี  นางมา  สีเขียว  สีแดง  ทิศเหนือ  ทิศใต้  วันจันทร์  วันอังคาร  เดือน ๘  เดือน ๑๐  ปีชวด  ปีฉลู  เวลาเช้า เวลาเย็น  เวลา ๒๔.๐๐ น.  พลเอก  อธิบดี  รัฐมนตรี  เหรียญ ๕๐ สตางค์  ธนบัตร ๑๐๐ บาท  ระยะทาง ๑ กิโลกเมตร  น้ำหนัก ๑ กิโลกรัม  เนื้อที่ ๑ ไร่  ล้วนเป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ท่านเรียกว่า บัญญัติธรรม หรือ สมมติบัญญัติ

แม้แต่ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หนังสือ ปากกา นาฬิกา บ้าน โต๊ะ เก้าอี้ แก้วน้ำ ช้อน ชาม พัดลม วิทยุ เกวียน เรือ รถยนต์ คน และสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ ก็จัดเป็นบัญญัติธรรม เช่นกัน



ปรมัตเป็นธรรมที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติ

หากไม่มีมนุษย์เกิดขึ้นในโลกนี้ ความหมายของสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์บัญญัติขึ้นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มีชื่อเรียกอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ย่อมไม่เกิดขึ้นเช่นกัน แม้แต่ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ พื้นดิน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฯลฯ ก็เป็นเพียงธรรมชาติ ที่ปราศจากความหมาย ปราศจากชื่อ คือเป็นแต่เพียงสภาวะที่เกิดจากการประชุมกันของมหาภูตรูปทั้ง ๔ อันเป็นรูปธรรม (รูป ที่ปราศจากนามธรรม (จิต+เจตสิก) และเป็นสภาวะปรมัตถ์ (ปรมัตถธรรม) ที่พ้นจากสมมติบัญญัติโดยสิ้นเชิง

ส่วนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนั้น หากกล่าวในแง่ปรมัตถธรรมแล้ว ถือว่าไม่มีตัวตน ไม่มีนายมี ไม่มีนางมา มีแต่รูปธรรม (รูป) และนามธรรม (จิต+เจตสิก) มาประชุมกันเท่านั้น

ดังนั้น ไม่ว่าตัวเราหรือผู้อื่นซึ่งรวมถึงสัตว์ทั้งหลายด้วยนั้น เมื่อกล่าวในแง่ปรมัตถธรรมหรือธาตุแท้ตามธรรมชาติแล้ว จะมีส่วนประกอบอยู่ ๓ ส่วนเท่านั้น คือ

๑. จิต    คือ         ธรรมชาติที่รู้อารมณ์
๒. เจตสิก        คือ         ธรรมชาติที่ประกอบปรุงแต่งจิต มี ๕๒ ลักษณะ
๓. รูป    คือ         องค์ประกอบ๒๘ ชนิดที่รวมกันขึ้นเป็นกาย

จะเห็นได้ว่า คนเราทุกคนและสัตว์ทั้งหลายนั้น มีส่วนประกอบเหมือนกัน คือ
เราก็มี จิต เจตสิก รูป
เขาก็มี จิต เจตสิก รูป
สัตว์ทั้งหลายก็มี จิต เจตสิก รูป

จะมีความแตกต่างกันก็ตรงที่รูปร่างหน้าตาผิวพรรณ ซึ่งถูกจำแนกให้แตกต่างกันด้วยอำนาจของกรรมที่กระทำไว้ในอดีต


จิต + เจตสิก และรูป มีลักษณะสามัญตามธรรมชาติ (สามัญลักษณะ) อยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อนิจจลักษณะ คือมีลักษณะที่ไม่เที่ยงไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
๒. ทุกขลักษณะ คือมีลักษณะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เกิดขึ้นแล้วต้องดับไปอยู่ตลอดเวลา
๓. อนัตตลักษณะ คือมีลักษณะที่มิใช่ตัว มิใช่ตน ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ สามัญลักษณะทั้ง ๓ นี้ เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน เป็นกฎธรรมชาติ เรียกว่า ไตรลักษณ์

โดยสรุปแล้ว จิต + เจตสิก และรูป ที่ประกอบขึ้นเป็นบุคคลหรือเป็นสัตว์ใดๆ ก็ตามนั้น แท้จริงแล้วไม่ได้มีแก่นสารอะไรเลย เป็นเพียงการประชุมกันของส่วนประกอบที่มีความไม่เที่ยง เกิดดับ เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว (ชั่วลัดนิ้วมือ จิตมีการเกิดดับแสนโกฏิขณะ หรือหนึ่งล้านครั้ง เป็นสภาพที่หาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของผู้ใด ว่างปล่าจากความเป็นคนนั้นคนนี้ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ว่างเปล่าจากความเป็นนั้นเป็นนี่ตามที่สมมติกับขึ้นมา แต่เป็นสภาวธรรมอันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ขึ้นกับเหตุ ขึ้นกับปัจจัย พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ปรมัตถธรรมเหล่านี้ก็คงมีอยู่ตามธรรมชาติ พระพุทธองค์เป็นแต่เพียงผู้ทรงค้นพบ และนำมาเปิดเผยให้เราทั้งหลายได้ทราบเท่านั้น


(หากต้องการทราบเนื้อหาอันลึกซึ้งของปรมัตถธรรมทั้ง ๔ ก็ต้องศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียดต่อไป)


ประวัติพระอภิธรรม

ในสัปดาห์ที่ ๔ หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับพระอภิธรรมซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับปรมัตถธรรม (จิต เจตสิก รูป นิพพาน) อันเป็นแก่นของธรรมะในพระพุทธศาสนาอยู่ตลอด ๗ วัน ในขณะที่ทรงพิจารณาเรื่องของเหตุ เรื่องของปัจจัยในปรมัตถธรรม อันเป็นที่มาของคัมภีร์ปัฏฐานอยู่นั้น ก็ปรากฏฉัพพรรณรังสี (รัศมี ๖ ประการ) มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีม่วง และสีเลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก แผ่ออกจากพระวรกายอย่างน่าอัศจรรย์

ในช่วง ๖ พรรษาแรกของการประกาศศาสนา พระพุทธองค์ยังมิได้ทรงตรัสสอนพระอภิธรรมแก่ผู้ใด เพราะพระอภิธรรมเป็นธรรมะที่เกี่ยวข้องกับปรมัตถธรรมล้วนๆ ยากแก่การที่จะอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่าย บุคคลที่จะรับอรรถรสของพระอภิธรรมได้นั้นต้องเป็นบุคคลที่ประกอบด้วยศรัทธาอันมั่นคงและได้เคยสั่งสมบารมีอันเกี่ยวกับปัญญาในเรื่องนี้มาบ้างแล้วแต่กาลก่อน แต่ในช่วงต้นของการประกาศศาสนานั้นคนส่วนใหญ่ยังมีศรัทธาและมีความเชื่อในพระพุทศาสนาน้อย ยังไม่พร้อมที่จะรับคำสอนเกี่ยวกับปรมัตถธรรมซึ่งเป็นธรรมอันลึกซึ้งได้ พระองค์จึงยังไม่ทรงแสดงให้ทราบเพราะถ้าทรงแสดงไปแล้วความสงสัยไม่เข้าใจหรือความไม่เชื่อย่อมจะเกิดแก่ชนเหล่านั้น เมื่อมีความสงสัยไม่เข้าใจหรือไม่เชื่อแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดการดูหมิ่นดูแคลนต่อพระอภิธรรมได้ ซึ่งจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

ล่วงมาถึงพรรษาที่ ๗ พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงพระอภิธรรมเป็นครั้งแรก โดยเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทดแทนคุณของพระมารดาด้วยการแสดงพระอภิธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดาซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ประสูติพระองค์ได้ ๗ วัน และได้อุบัติเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตมีพระนามว่า สันดุสิตเทพบุตร ในการแสดงธรรมครั้งนี้ได้มีเทวดาและพรหมจากหมื่นจักรวาลจำนวนหลายแสนโกฏิ มาร่วมฟังธรรมด้วย โดยมีสันดุสิตเทพบุตรเป็นประธาน ณ ที่นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมแก่เหล่าเทวดาและพรหมด้วย วิตถารนัย คือแสดงโดยละเอียดพิสดาร ตลอดพรรษากาล คือ ๓ เดือนเต็ม

สำหรับในโลกมนุษย์นั้นพระองค์ได้ทรงแสดงแก่พระสารีบุตรเป็นท่านแรก คือในระหว่างที่ทรงแสดงธรรมอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นพอได้เวลาบิณฑบาต พระองค์ก็ทรงเนตมิตพุทธนิมิตขึ้นแสดงธรรมแทนพระองค์แล้วพระองค์ก็เสด็จไปบิณฑบาตในหมู่ชาวอุตตรกุรุ เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้วก็เสด็จไปยังป่าไม้จันทน์ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าหิมวันต์ใกล้กับสระอโนดาตเพื่อเสวยพระกระยาหาร โดยมีพระสารีบุตรเถระมาเฝ้าทุกวัน หลังจากที่ทรงเสวยแล้วก็ทรงสรุปเนื้อหาของพระอภิธรรมที่พระองค์ได้ทรงแสดงแก่เหล่าเทวดาและพรหมให้พระสารีบุตรฟังวันต่อวัน เสร็จแล้วพระองค์จึงเสด็จกลับขึ้นสู่ดาวดึงส์เทวโลกเพื่อแสดงธรรมต่อไป ทรงกระทำเช่นนี้ทุกวันตลอด ๓ เดือน เมื่อการแสดงพระอภิธรรมบนเทวโลกจบสมบูรณ์แล้ว การแสดงพระอภิธรรมแก่พระสารีบุตรก็จบสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน เมื่อจบพระอภิธรรมเทศนาเทวดาและพรหม ๘๐๐,๐๐๐ โกฏิ ได้บรรลุธรรมและสันดุสิตเทพบุตร (พุทธมารดา) ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคล

เมื่อพระสารีบุตรได้ฟังพระอภิธรรมจากพระบรมศาสดาแล้ว ก็นำมาสอนให้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านโดยสอนตามพระพุทธองค์วันต่อวันและจบบริบูรณ์ในเวลา ๓ เดือนเช่นกัน การสอนพระอภิธรรมของพระสารีบุตรที่สอนแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้เป็นการสอนชนิดไม่ย่อเกินไป ไม่พิสดารเกินไป เรียกว่า นิติวิตถารนาติสังเขปนัย

ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนี้ เคยมีอุปนิสัยมาแล้วในชาติก่อน คือในสมัยศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนี้เป็นค้างคาวอาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรม ๒ รูปที่อาศัยอยู่ในถ้ำแห่งนั้นเช่นกัน กำลังสวดสาธยายพระอภิธรรมอยู่ เมื่อค้างคาวทั้ง ๕๐๐ ตัวได้ยินเสียงพระสวดสาธยายพระอภิธรรมก็รู้เพียงว่าเป็นพระธรรมเท่านั้น หาได้รู้ความหมายใดๆ ไม่ แต่ก็พากันตั้งใจฟังตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อสิ้นจากชาติที่เป็นค้างคาวแล้วก็ได้ไปเกิดอยู่ในเทวโลกเหมือนกันทั้งหมดจนกระทั่งศาสนาของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นจึงได้จุติจากเทวโลกมาเกิดเป็นมนุษย์และได้บวชเป็นภิกษุในศาสนานี้ ตลอดจนได้เรียนพระอภิธรรมจากพระสารีบุตรดังกล่าวแล้ว นับแต่นั้นมาการสาธยายท่องจำและการถ่ายทอดความรู้เรื่องพระอภิธรรมก็ได้แพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง

ภายหลังที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากถวายพระเพลิงได้ ๕๒ วัน ท่านมหากัสสปเถระ พระอุบาลีเถระ พระอานนทเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์รวมทั้งสิ้น ๕๐๐ องค์ ซึ่งล้วนเป็นปฏิสัมภิทัปปัตตะ ฉฬภิญญะ และเตวิชชะ ได้ช่วยกันทำสังคายนาพระธรรมวินัย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา กรุงราชคฤห์ (ปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร) ประเทศอินเดีย โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก การสังคายนานในครั้งนี้ยังไม่ปรากฏเป็นพระไตรปิฎก เพราะได้แบ่งพระพุทธพจน์เป็นพระธรรมกับพระวินัยเท่านั้น รวมเรียกว่า พระธรรมวินัย เช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล

ต่อมาในปี พ.ศ.๑๐๐ ได้มีการทำสังคายนาครั้งที่๒ ที่วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี (รัฐพิหาร) ประเทศอินเดีย โดยมีพระยสกากัณฑกบุตร เป็นประธาน  พระเจ้ากาลาโศกราช กษัตริย์เมืองไพศาลีเป็นศาสนูปถัมภก มีพระอรหันต์ ๗๐๐ รูปเป็นองค์ประชุม แต่ก็ยังไม่ปรากฏเป็นพระไตรปิฎกเพราะยังคงเรียกว่า พระธรรมวินัย อยู่เช่นเดิม

ในปี พ.ศ.๒๓๔ มีการทำสังคายนาเป็นครั้งที่ ๓ ที่อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร (ปัจจุบันคือเมืองปัตนะ รัฐพิหาร) ประเทศอินเดีย โดยมีพระมหาเถระ ๑,๐๐๐ รูปเป็นองค์ประชุม พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์เมืองปาฏลีบุตรเป็นองค์อุปถัมภ์  การทำสังคายนาครั้งนี้ได้แยกพระธรรมและพระวินัยออกจากกัน นอกจากนี้ส่วนที่เป็นพระธรรมยังแยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกมีท้องเรื่อง (มีบุคคล มีเหตุการณ์ และสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เรียกว่า พระสูตร ส่วนที่สองกล่าวถึงหลักธรรม (ปรมัตถธรรม) ล้วนๆ เรียกว่า พระอภิธรรม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีคำกล่าวที่ว่า “พระอภิธรรมเกิดขึ้นหลังพุทธกาลและมิใช่พุทธพจน์”  เรื่องนี้ต้องขออธิบายว่าถึงแม้พระไตรปิฎก (พระวินัย, พระสูตร, พระอภิธรรม) จะปรากฏขึ้นจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ก็จริงอยู่ แต่เนื้อหาของพระอภิธรรมก็มีอยู่แล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เพียงแต่ผนวกอยู่ในหมวดพระธรรม (ในพระธรรมวินัย) โดยที่มิได้แยกออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนเป็นพระอภิธรรมปิฎกเท่านั้น   



พระอภิธัมมัตถสังคหะคืออะไร

ราวพุทธศักราชที่ ๑๕ มีพระเถระผู้ทรงความรู้ในพระไตรปิฎกท่านหนึ่งนามว่า พระอนุรุทธเถระ (พระอนุรุทธาจารย์) ท่านเป็นชาวกาวิลกัญจิ แขวงเมืองมัทราช ภาคใต้ของประเทศอินเดีย ท่านได้มาศึกษาพระอภิธรรมอยู่ที่สำนักวัดตุมูลโสมาราม เมืองอนุราธบุรี ประเทศลังกา จนมีความแตกฉานและได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางพระอภิธรรมท่านหนึ่ง ต่อมาท่านได้รับอาราธนาจากนัมพะอุบาสกผู้เป็นทายกให้ช่วยเรียบเรียงพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีความละเอียดลึกซึ้ง และยากแก่การทำความเข้าใจให้สั้นและง่ายเพื่อสะดวกแก่การศึกษาและจดจำ พระอนุรุทธาจารย์จึงได้เรียบเรียงพระอภิธรรมฉบับย่อขึ้นและเรียกชื่อคัมภีร์นี้ว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ

อภิธัมมัตถสังคหะ แยกออกเป็น อภิ+ธัมมะ+อัตถะ+สัง+คหะ

อภิ     =        อันประเสริฐยิ่ง
ธัมมะ            =        สภาพที่ทรงไว้ไม่มีการผิดแปลกแปรผัน
อัตถะ     =        เนื้อความ
สัง     =        โดยย่อ
คหะ     =        รวบรวม

อภิธัมมัตถสังคหะ จึงหมายถึง คัมภีร์ซึ่งรวบรวมเนื้อความของพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ ไว้โดยย่อ อันเปรียบเสมือนแบบเรียนเร็วพระอภิธรรม แบ่งเป็น ปริจเฉท (๙ ตอน) แต่ละปริจเฉทมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้ 

ปริจเฉทที่ ๑ จิตตสังคหวิภาค แสดงเรื่องธรรมชาติของจิต ประเภทของจิต ทั้งโดยย่อและโดยพิสดาร ทำให้เข้าใจถึงจิตประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต มหัคคตจิต และโลกุตตรจิต

ปริจเฉทที่ ๒ เจตสิกสังคหวิภาค แสดงเรื่องเจตสิก คือ ธรรมชาติที่ประกอบกับจิตเพื่อปรุงแต่งจิตให้มีสภาพต่างๆ กันทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ แบ่งเป็น เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทุกประเภท เจตสิกฝ่ายกุศล และเจตสิกฝ่ายอกุศล

ปริจเฉทที่ ๓ ปกิณณกสังคหวิภาค แสดงการนำจิตและเจตสิกมาสัมพันธ์กับธรรม ๖ หมวด ได้แก่ ความรู้สึกของจิต (เวทนา) เหตุแห่งความดีความชั่ว (เหตุ) หน้าที่ของจิต (กิจ) ทางรับรู้ของจิต (ทวาร) สิ่งที่จิตรู้ (อารมณ์) และที่ตั้งที่อาศัยของจิต (วัตถุ)

ปริจเฉทที่ ๔ วิถีสังคหวิภาค แสดงวิถีจิต อันได้แก่กระบวนการทำงานของจิตที่เกิดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ  เมื่อได้ศึกษาปริจเฉทนี้แล้วจะทำให้รู้กระบวนการทำงานของจิตทุกประเภท บุญบาปไม่ได้เกิดที่ไหน เกิดที่วิถีจิตนี้เอง ก่อนที่จะเกิดจิตบุญหรือจิตบาป มีจิตขณะหนึ่งเกิดก่อน คอยเปิดประตูให้เกิดจิตบุญหรือจิตบาป จิตดวงนี้เกี่ยวข้องกับการวางใจอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) หรือการวางใจอย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) หากเราได้เข้าใจก็จะมีประโยชน์ในการป้องกันมิให้จิตบาปเกิดขึ้นได้

ปริจเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหวิภาค แสดงถึงการทำงานของจิตขณะใกล้ตาย ขณะตาย (จุติ) และขณะเกิดใหม่ (ปฏิสนธิ) กล่าวถึงเหตุแห่งการตาย การเกิดของสัตว์ในภพภูมิต่างๆ โดยแบ่งได้ถึง ๓๑ ภพภูมิ (มนุษย์ภูมิเป็นเพียง ๑ ใน ๓๑ ภูมิ) ขณะเวลาใกล้จะตายภาวะจิตเป็นอย่างไร ควรวางใจอย่างไรจึงจะไปเกิดในภพภูมิที่ดี พระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าตายแล้วต้องเกิดทันที มิใช่ตายแล้ววิญญาณ (จิต) ต้องเร่ร่อนเพื่อไปหาที่เกิดใหม่ และยังได้อธิบายเรื่องของกรรม ลำดับแห่งการให้ผลของกรรมไว้อย่างละเอียดลึกซึ้งอีกด้วย

ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาค และนิพพาน เมื่อได้ศึกษาทำความเข้าใจเรื่องจิต และเจตสิก อันเป็นนามธรรมมาแล้ว ในปริจเฉทที่ ๖ นี้พระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นั่นก็คือเรื่องของรูป ร่างกาย (รูปธรรม) โดยแบ่งรายละเอียดออกเป็นรูปต่างๆ ได้ ๒๘ ชนิด และอธิบายถึงสมุฏฐาน (เหตุ) ในการเกิดรูปต่างๆ ไว้อย่างละเอียดพิสดาร

ในตอนท้ายได้กล่าวถึงเรื่องพระนิพพานว่ามีสภาวะอย่างไร อันจะทำให้เข้าใจเรื่องของพระนิพพานได้อย่างถูกต้องชัดเจน

ปริจเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค เมื่อได้ศึกษาปรมัตถธรรม ๔ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน มาจากปริจเฉทที่ ๑ ถึง ๖ แล้ว ในปริจเฉทนี้จะแสดงธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ซึ่งให้ผลเป็นความสุข และธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศลซึ่งให้ผลเป็นความทุกข์ในสภาวะความเป็นจริงแล้วกุศลจิต (จิตบุญ) และอกุศลจิต (จิตบาป) จะเกิดสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนจะเกิดจิตชนิดไหนมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับคุณธรรมและจริยธรรมของแต่ละบุคคล คนเราทั่วไปมักไม่เข้าใจและไม่รู้จักกับกุศลและอกุศลเหล่านี้ จึงทำให้ชีวิตตกอยู่ในวัฏฏทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น ในปริจเฉทที่ ๗ นี้ได้แสดงธรรมที่ควรรู้ที่สำคัญๆ ได้แก่อุปาทานขันธ์ (ขันธ์ที่ถูกอุปาทานยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น), อายตนะ ๑๒ (สิ่งเชื่อมต่อเพื่อให้รู้อารมณ์), ธาตุ ๑๘ (ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งสภาพของตน), อริยสัจ ๔ (ความจริงของพระอริยะ) และโพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่เกื้อกูลการตรัสรู้, ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค) มี ๓๗ ประการคือ สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔ อินทรีย์,๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘

ปริจเฉทที่ ๘ ปัจจยสังคหวิภาค ในปริจเฉทนี้ ท่านได้แสดงเรื่องปฏิจจสมุปบาท (เหตุและผลที่ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์) และปัจจัยสนับสนุน ๒๔ ปัจจัย ในตอนท้ายยังได้แสดงความหมายของบัญญัติธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ใช่เป็นความจริงแท้ แต่เป็นจริงตามสมมุติ (สมมุติสัจจะหรือสมมุติโวหาร) ตามกติกาของชาวโลก
ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค ในปริจเฉทนี้ ท่านกล่าวถึงความแตกต่างของสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เห็นว่าสมถกรรมฐานหรือการทำสมาธินั้นเป็นการปฏิบัติเพื่อให้จิตเกิดความสงบและเกิดอภิญญา (เกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ) เท่านั้น ซึ่งมิใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะผลของการทำสมาธิหรือสมถกรรมฐานนั้นเป็นการข่มกิเลสไว้ชั่วขณะเท่านั้น ไม่สามารถทำลายกิเลสได้ ถึงแม้จะเจริญสมถกรรมฐานถึงขั้นอรูปฌานจนได้เสวยสุขอยู่ในอรูปพรหมภูมิเป็นเวลาอันยาวนาน แต่ในที่สุดก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น

จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า จิต+เจตสิกและรูป ซึ่งเป็นองค์ประกอบของชีวิตต่างก็มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่-ดับไป ต่อเนื่องกันไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน อะไรของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงเช่นนี้ เมื่อมีกำลังแก่กล้าก็จะสามารถประหาณกิเลสและเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด




มหาภูตรูปทั้ง ๔ ได้แก่ ๑.รูปที่มีความอ่อนและแข็งเป็นลักษณะ (ปฐวี)  ๒.รูปที่มีอาการไหลและเกาะกุมเป็นลักษณะ (อาโป)  ๓.รูปที่มีความร้อนและเย็นเป็นลักษณะ (เตโช) ๔.รูปที่มีการเคลื่อนไหวและเคร่งตึงเป็นลักษณะ (วาโย)
  แท้จริงแล้วยังมีรูปอีก ๔ อย่าง คือ รูปารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และอาหารรูป แฝงอยู่ในมหาภูตรูปทั้ง ๔ รวมเรียกว่า อวินิพโภครูป ๘ แต่ในที่นี้ยกเฉพาะ มหาภูตรูป ๔ ขึ้นแสดงเท่านั้น เพราะถือว่าอวินิพโภครูป ๘ มีมหาภูตรูป ๔ เป็นประธาน
พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระสารีบุตรด้วย สังเขปนัย คือแสดงอย่างย่นย่อ
ปฏิสัมภิทัปปัตตะ = ผู้ที่ได้ปฏิสัมภิทา ๔ คือผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจธรรมะอย่างแตกฉาน สามารถแยกแยะและขยายความได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง มีปฏิภาณไหวพริบ มีโวหารและวาทะทีจะทำให้ผู้อื่นรู้ตามเข้าใจตามได้โดยง่าย
ฉฬภิญญะ = ผู้มีอภิญญา ๖ อันได้แก่ ๑.แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ ๒.มีหูทิพย์ ๓.ทายใจผู้อื่นได้ ๔.ระลึกชาติได้ ๕. มีตาทิพย์ ๖.สามารถทำลายอาสวะกิเลสให้สิ้นไป
เตวิชชะ = ผู้ที่ได้วิชชา ๓ อันได้แก่ ๑.ระลึกชาติได้ ๒.รู้การจุติและการอุบัติของสัตว์ ๓.มีปัญญาที่ทำอาสวะกิเลสให้สิ้นไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มกราคม 2562 11:41:33 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 07 มกราคม 2562 11:42:54 »

.
http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/81339154599441_133_320x200_.jpg
ความเป็นมาของพระอภิธรรม


การสวดพระอภิธรรมในงานศพ

ทุกท่านคงจะพบคำว่า สวดพระอภิธรรม หรือ ตั้งศพสวดพระอภิธรรม ในบัตรเชิญหรือในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อเชิญไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลแด่ท่านผู้วายชนม์อยู่บ่อยๆ ที่ว่า สวดพระอภิธรรม นั้น เมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้ย่อมทราบดีแล้วว่าหมายถึงอะไร

ตามหลักฐานของท่านผู้รู้กล่าวว่ามีการนำเอาพระอภิธรรมมาสวดในพิธีศพของพุทธศาสนิกชนชาวไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และท่านได้ให้ความเห็นไว้ว่าการบำเพ็ญกุศลในงานศพเพื่ออุทิศให้ผู้วายชนม์นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรัก ความกตัญญูต่อผู้วายชนม์ซึ่งจากไปไม่มีวันกลับ การที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยนำเอาคัมภีร์พระอภิธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีนั้น ตามข้อสันนิษฐานคงจะเกิดจากเหตุผลประการต่างๆ ดังนี้

ประการแรก เป็นเพราะพระอภิธรรม ไม่กล่าวถึงสัตว์ ไม่กล่าวถึงบุคคล ไม่มีตัวตน เรา เขา แต่ทรงจำแนกธรรมออกเป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤต (ธรรมที่ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล) ทรงกระจายสรีระกายซึ่งเป็นกลุ่มก้อนออกเป็นขันธ์ ๕ บ้าง อายตนะ ๑๒ บ้าง ธาตุ ๑๘ บ้าง อินทรีย์ ๒๒ บ้าง อันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยซึ่งต้องมีการเสื่อมสลายไปตามสภาวะมิสามารถตั้งอยู่ได้ตลอดไป การได้ฟังพระอภิธรรมจะทำให้ผู้ฟังน้อมนำมาเปรียบเทียบกับการจากไปของผู้วายชนม์ ทำให้เห็นสัจจธรรมที่แท้จริงของชีวิต ท่านโบราณบัณฑิตคงจะเห็นว่าในงานเช่นนี้เป็นโอกาสอันดีที่ท่านผู้ฟังและท่านผู้ร่วมบำเพ็ญกุศลในงานศพจะสามารถพิจารณาเห็นความจริงของชีวิตได้โดยง่าย จึงได้นำเอาพระอภิธรรมมาแสดงให้ฟัง

อีกประการหนึ่ง เพราะเห็นว่าในการตอบแทนพระคุณพุทธมารดาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ท่านได้เสด็จขึ้นไปทรงแสดงพระอภิธรรมเทศนาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดาซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  ดังนั้น เมื่อบุพการีอันได้แก่ มารดา บิดา ถึงแก่กรรมลง ท่านผู้เป็นบัณฑิตจึงได้นำเอาพระอภิธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการบำเพ็ญกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ โดยถือว่าเป็นการสนองพระคุณมารดา บิดา ตามแบบอย่างพระจริยวัตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาแม้ว่าท่านผู้วายชนม์จะมิใช่มารดาบิดาก็ตาม แต่การนำเอาพระอภิธรรมมาแสดงในงานศพก็ถือเป็นประเพณีไปแล้ว

ประการสุดท้าย เพราะเชื่อว่าพระอภิธรรมเป็นคำสอนขั้นสูงที่มีเนื้อหาละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ๔ ประการ หากนำมาแสดงในงานบำเพ็ญกุศลให้แก่ผู้วายชนม์แล้ว ผู้วายชนม์จะได้บุญมาก

การสวดพระอภิธรรมก็คือการนำเอาคำบาลีขึ้นต้นสั้นๆ ในแต่ละคัมภีร์ของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์มาเรียงต่อกัน การสวดพระอภิธรรมนี้บางทีเรียกว่า สวดมาติกา ถ้าเป็นงานพระศพบุคคลสำคัญในราชวงศ์เรียกว่า พิธีสดับปกรณ์ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า สัตตปกรณ์ อันหมายถึงพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์นั่นเอง (สัตต = เจ็ด,  ปกรณ์ = คัมภีร์, ตำรา)

ต่อมาภายหลังมีผู้นำเอาคาถาในพระอภิธรรมมัตถสังคหะ ของพระอนุรุทธาจารย์มาสวดเป็นทำนองสรภัญญะ (คือการสวดเป็นจังหวะ สั้น-ยาว) เรียกว่า สวดสังคหะ โดยนำเอาคำบาลีในตอนต้นและตอนท้ายของแต่ละปริจเฉท ซึ่งมีทั้งหมด ๙ ปริจเฉทมาเรียงต่อกันเป็นบทสวด 



ประโยชน์จากการศึกษาพระอภิธรรม

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาพระอภิธรรมมีอยู่มากมายหลายประการ แต่ที่สำคัญมีโดยสังเขปดังนี้

๑.การศึกษาพระอภิธรรมจะทำให้เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา เพราะพระอภิธรรมเกิดจากพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์ การเข้าถึงพระอภิธรรมจึงเท่ากับเข้าถึงพระปัญญาคุณของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง

๒.การศึกษาพระอภิธรรม ก็คือศึกษาธรรมชาติการทำงานของกายและใจซึ่งเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องจิต (วิญญาณ), เรื่องเจตสิก, เรื่องอำนาจจิต, เรื่องวิถีจิต, เรื่องกรรมและการส่งผลของกรรม, เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด, เรื่องสัตว์ในภพภูมิต่างๆ และเรื่องกลไกการทำงานของกิเลส ทำให้รู้ว่าชีวิตของเราในชาติปัจจุบันนี้มาจากไหนและมาได้อย่างไร มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย เมื่อได้คำตอบชัดเจนดีแล้วก็จะรู้ว่าตายแล้วไปไหนและไปได้อย่างไร อะไรเป็นตัวเชื่อมระหว่างชาตินี้กับชาติหน้า ทำให้หมดความสงสัยว่าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ นรก สวรรค์ มีจริงไหม ทำให้มีความเข้าใจเรื่องกรรมและการส่งผลของกรรม (วิบาก) อย่างละเอียดลึกซึ้ง

๓.ผู้ศึกษาพระอภิธรรมจะเข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม หรือสภาวธรรมอันจริงแท้ตามธรรมชาติ ในพระอภิธรรมจะแยกสภาวะออกให้เห็นว่าทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลอะไรทั้งนั้น คงมีแต่สภาวธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ที่วนเวียนอยู่ในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยอาศัยเหตุ อาศัยปัจจัยอุดหนุนซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นใหม่แล้วก็ดับไปอีก มีสภาพเกิดดับอยู่เช่นนี้ตลอดเวลานานแสนนานไม่รู้กี่แสนชาติ กี่ล้านชาติมาแล้วที่สืบต่อกันอยู่เช่นนี้โดยไม่รู้จักจบจักสิ้น แม้ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สภาวธรรมทั้ง ๓ นี้ก็ทำงานอยู่เช่นนี้โดยไม่มีเวลาหยุดพักเลย สภาวธรรมหรือธรรมชาติเหล่านี้มิใช่เกิดขึ้นจากพระผู้เป็นเจ้า พระพรหม พระอินทร์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เป็นผู้บันดาลหรือเป็นผู้สร้าง แต่สภาวธรรมเหล่านี้เป็นผลอันเกิดมาจากเหตุ คือ กิเลสตัณหานั่นเองที่เป็นผู้สร้าง

๔.การศึกษาพระอภิธรรมจะทำให้เข้าใจสภาวธรรมอีกประการหนึ่ง อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่ต้องการให้เข้าถึงนั่นก็คือ นิพพาน  นิพพาน หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา ผู้ที่ปราศจากกิเลสตัณหาแล้วนั้น เมื่อสิ้นชีวิตลงก็จะไม่มีการสืบต่อของจิต+เจตสิก และรูปอีกต่อไป ไม่มีการสืบต่อภพชาติ หยุดการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากทุกข์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง จึงกล่าวว่านิพพานเป็นธรรมชาติที่ปราศจากกิเลสตัณหา เป็นธรรมชาติที่ดับทุกข์โดยสิ้นเชิงและเป็นธรรมชาติที่พ้นจากขันธ์ ๕  นิพพานมิใช่เป็นแดนสุขาวดีที่เป็นอมตะและเพียบพร้อมด้วยความสุขล้วนๆ ตลอดนิรันดร์กาลตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

๕.การศึกษาพระอภิธรรมจะทำให้เข้าใจคำสอนที่มีคุณค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะแค่การให้ทาน รักษาศีล และการเจริญสมาธิ ก็ยังมิใช่คำสอนที่มีค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นเหตุให้ต้องเกิดมารับผลของกุศลเหล่านั้นอีก ท่านจึงเรียกว่า วัฏฏกุศล เพราะกุศลเหล่านี้ยังไม่ทำให้พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด คำสอนที่มีค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวมหาสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้เห็นว่าทั้งนามธรรม (จิต+เจตสิก) และรูปธรรม (รูป) มีสภาพที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ มีการเกิดดับๆ ตลอดเวลา หาแก่นสารหาตัวตน หาเจ้าของไม่ได้เลย เมื่อมีปัญญาเห็นแจ้งในสภาวธรรมตามความเป็นจริงเช่นนี้แล้วก็จะนำไปสู่การประหาณกิเลสและเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด

๖. การศึกษาพระอภิธรรม จะทำให้เข้าใจเรื่องอารมณ์ของวิปัสสนาซึ่งต้องมีนามธรรม (จิต+เจตสิก) และรูปธรรม (รูป) เป็นอารมณ์ เมื่อกำหนดอารมณ์ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ถูกต้อง การปฏิบัติก็ย่อมได้ผลตามที่ต้องการ

๗.การศึกษาพระอภิธรรม เป็นการสั่งสมปัญญาบารมีที่ประเสริฐที่สุด ไม่มีวิทยาการใดๆ ในโลกที่ศึกษาแล้วจะทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งโลกได้เท่ากับการศึกษาพระอภิธรรม

๘.การศึกษาพระอภิธรรม เป็นการช่วยกันรักษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังและเป็นการช่วยเหลือสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรตลอดไป

-----------------------------------------------
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.168 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 02 ตุลาคม 2566 20:43:20