[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 05:11:17 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บริขารพระป่าในปฏิปทาพ่อแม่ครูอาจารย์  (อ่าน 1047 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 72.0.3626.81 Chrome 72.0.3626.81


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 31 มกราคม 2562 10:09:10 »


บริขารพระป่าในปฏิปทาพ่อแม่ครูอาจารย์


            เกี่ยวกับเรื่องบริขารที่จำเป็นต้องใช้นั้น ในปฏิปทาของพระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็มีแบบอย่างที่ท่านพาปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมากท่านก็ยึดถือปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ค่อยจะมีอะไรแปลกประหลาด หรือพิสดารแหวกแนวออกนอกลู่นอกทาง  ปกติพ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ค่อยจะส่งเสริมให้พระเณรในวัดป่าบ้านตาด มาหมกมุ่นเกี่ยวกับการจัดทำบริขารต่างๆมากนัก เพราะองค์ท่านเอง เคยทำกลดเพียงคันหนึ่ง แล้วเป็นเหตุให้จิตเสื่อมไปเป็นปี กว่าจะรื๊อฟื้นจิตใจให้มีสมาธิกลับคืนมาได้ดังเดิม ก็ต้องผ่านความทุกข์ทรมานเพราะจิตเสื่อมมาอย่างสุดแสนสาหัส

          เพราะเหตุนั้น องค์ท่านจึงต้องเข้มงวดกวดขัน และคอยป้องกัน ไม่ให้มีการงานใดๆ มาเป็นภัยต่อจิตภาวนาของพระเณร อันจะเป็นเหตุทำให้จิตใจเหินห่างจาก "พุทโธ"  และอีกอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานของสมาธิจิตมั่นคงดีแล้ว ก็ยังเป็นเหตุให้สมาธิเสื่อมได้ เพราะการทำบริขารแม้เพียงการทำกลดคันเดียวยังไม่ทันแล้วเสร็จ สมาธิที่เคยเข้าได้ตลอดเวลา ก็เริ่มปรากฏเข้าได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จนถึงขั้นสมาธิอันตรธานไม่หลงเหลือเลย  ดังที่องค์ท่านได้เผชิญมาแล้ว และเห็นโทษของความที่จิตเสื่อมอย่างถึงใจ
 
           แต่ถึงกระนั้น องค์ท่านก็ไม่ได้ห้าม มิให้พระเณรจัดทำบริขารเสียเลยทีเดียว เพราะความสำคัญเกี่ยวกับบริขารที่จำเป็นต้องใช้ก็ยังคงมีอยู่ และเป็นสิ่งที่พระเณรต้องพึ่งพาอาศัยไปตลอดชีวิตนักบวช  ดังนั้น การศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ และฝึกหัดทำบริขารให้เป็นด้วยตนเอง ก็นับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน  องค์ท่านเคยปรารภว่า "พระเณรควรศึกษาและฝึกหัดทำบริขารให้เป็นบ้าง อย่างน้อยก็คนละอย่างสองอย่างก็ยังดี เพื่อช่วยกันรักษาแบบอย่างบริขารที่ถูกต้อง  และปฏิปทาอันดีงามของครูบาอาจารย์ ให้กุลบุตรผู้มาสุดท้ายภายหลังได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาในภายภาคหน้าต่อไป หากพระเณรพากันทอดธุระเสียแล้ว  ต่อไปใครจะมาทำบริขารที่ถูกต้องให้พระเณรได้ใช้กัน"
 
           ก็จริงอย่างนั้นทีเดียว หากพระเณรทำบริขารกันเองไม่ได้แล้ว ก็คงจะต้องไปพึ่งบริขารจากร้านค้า ซึ่งก็ทำมาผิดบ้าง ถูกบ้าง ใช้ได้บ้าง ใช้ไม่ได้บ้าง อย่างที่เห็นๆกันอยู่ เพราะคนทำก็ทำมา เพียงเพื่อพอให้ขายได้ บางเจ้าก็ทำดี บางเจ้าก็ทำไม่ดี ส่วนคนซื้อก็สักแต่ว่าซื้อ เพียงเพื่อให้มีของได้ถวายพระ เรียกว่ามีศรัทธาเต็มเปี่ยม แต่ขาดปัญญาใคร่ครวญ ส่วนผู้ใช้คือพระเณร ก็ไม่ได้ซื้อหามาเอง  เขาเอามาถวายก็จำต้องฉลองศรัทธากันไปตามมีตามได้  ใช้ได้บ้าง  ใช้ไม่ได้บ้าง ก็ทนๆกันไป  เรื่องมันก็เข้าตำราว่า "คนซื้อก็ไม่ได้ใช้ คนใช้ก็ไม่ได้ซื้อ คนทำก็สนุกขายกันไปเรื่อยๆ" นี่คือ ความจริงในยุคปัจจุบัน

          ดังนั้น การที่พ่อแม่ครูอาจารย์ไม่ถึงกับส่งเสริมพระเณรในเรื่องนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นที่ต้องฝึกหัดทำบริขารให้เป็น แม้องค์ท่านเอง พวกลูกศิษย์ก็ทราบกันดีว่า องค์ท่านมีฝีมือในการตัดเย็บจีวรที่ทั้งรวดเร็วและสวยงามไม่ธรรมดาเลย ดังนั้น การที่องค์ท่านไม่ส่งเสริม แต่ก็ไม่ถึงกับห้าม และยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการจัดทำบริขารอีกด้วย  จึงน่าจะเป็นอุบายที่มุ่งสอนให้พระเณรรู้จักรักษาตนเอง มิให้เรื่องบริขารอันเป็นของภายนอก มาทำลายสาระสำคัญทางด้านภายในคือจิตภาวนานั่นเอง

          จะเห็นได้จากการที่วัดป่าบ้านตาดรับกฐินในแต่ละปี พ่อแม่ครูอาจารย์จะพาพระเณรกรานกฐิน และอนุโมทนากฐินทุกครั้งไป การกรานกฐินนั้น ต้องได้เอาผ้ากฐิน มา กะ ตัด เย็บ ย้อมให้ได้สี และเสร็จทันในวันนั้น ให้เป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง โดยมากก็ใช้เย็บเป็นสบง เพื่อให้ทันกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด  และต้องได้ภิกษุผู้มีความสามารถ มีความชำนาญการ กะ ตัด เย็บ ย้อม จึงจะสำเร็จประโยชน์ ใช้ได้ทันกับเวลา
 
           เมื่อกรานกฐินแล้ว ก็เป็นช่วงที่พระเณรจะออกเดินธุดงค์ เพื่อหาที่สงบสงัดบำเพ็ญเพียรภาวนาในป่าในเขาตามอัธยาศัย และถือเป็นช่วงจีวรกาลสมัย สำหรับภิกษุที่ต้องการด้วยจีวรผืนใดผืนหนึ่ง  ก็ช่วยกันตัดเย็บจีวร ในครั้งพุทธกาลนั้น ถือว่า การตัดเย็บจีวรแต่ละครั้ง เป็นงานใหญ่ที่พระเณรต้องช่วยกันทั้งวัดเลยทีเดียว แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังได้เสด็จมาช่วยพระภิกษุสงฆ์ทำจีวรในครั้งนั้นด้วย

          ส่วนที่วัดป่าบ้านตาดนั้น เมื่อรับกฐินแล้ว พ่อแม่ครูอาจารย์ก็อนุญาตให้พระเณรตัดเย็บจีวรกันได้ โดยใช้ศาลาด้านใน ชั้นบน แต่องค์ท่านก็เข้มงวดกวดขันให้ตัดเย็บเป็นเวล่ำเวลา พอถึงเวลาทำข้อวัตรปัดกวาดก็ต้องหยุดทันที  และหากมีทีท่าว่าจะยืดเยื้อไปนานหลายวัน ก็จะพูดเตือนสติให้พระเณรได้คิด และรู้จักความพอเหมาะพอดีในการจัดทำบริขาร  เพื่อไม่ให้พระเณรเหินห่างจากจิตภาวนานานมากเกินไป

          สำหรับพระป่านั้น เรื่องบริขารท่านมักจะจัดทำกันเอง เพราะจะมีพระที่เก่งในการทำบริขารแต่ละอย่าง ตามจริตนิสัย บางองค์ก็เก่งเย็บจีวร บางองค์ก็เก่งทำขาบาตร บางองค์ก็เก่งทำกลด เป็นต้น ซึ่งบริขารแต่ละอย่างนั้น กว่าที่จะทำได้ สำเร็จ ก็ต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกหัดมาเป็นอย่างดี และต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างมากมายเลยทีเดียว สำหรับผู้ที่มีฝีมือในการทำบริขาร ส่วนใหญ่ท่านก็นิยมทำถวายครูบาอาจารย์ หรือสงเคราะห์แก่หมู่คณะที่ขาดแคลนตามโอกาสอันควร  และถ่ายทอดวิชาสืบต่อกันมาในวงพระกรรมฐานด้วยกัน

          สำหรับบริขารที่พระป่านิยมทำกันเองนั้น ก็มี การตัดเย็บ สบง จีวร สังฆาฏิ  ผ้าอังสะ ผ้าปูนั่ง  ผ้าอาบน้ำ การทำถลกบาตร (สบบาตร)  ขาบาตร ถุงบาตร  ย่าม  กลด  มุ้งกลด  และเครื่องใช้ต่างๆ เช่น การทำไม้สีฟัน (ไม้เจีย)  ทำไม้กวาดสำหรับกวาดลานวัด  เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งบางอย่างจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัย  และบางอย่างก็จำเป็นต้องศึกษากรรมวิธีเป็นการเฉพาะ  และมีครูบาอาจารย์เป็นผู้ถ่ายทอด จึงจะสามารถทำได้โดยถูกต้องและเหมาะกับการใช้งาน ดังนั้น หากพระเณรไม่ตั้งอกตั้งใจศึกษากันอย่างจริงๆจังๆ  ก็ไม่อาจจะรักษาปฏิปทาในส่วนนี้ไว้ได้

          ในลำดับนี้ ก็จักแสดงบริขารต่างๆที่นิยมทำกันในสายพระป่า พอให้เป็นแนวทางปฏิบัติโดยสังเขป และเป็นแบบอย่างแก่กุลบุตรผู้มาสุดท้ายภายหลังได้เรียนรู้ และสืบทอดปฏิปทาอันดีงาม และถูกต้องตามพระวินัย ดังต่อไปนี้ :-


การกะ ตัด เย็บ ย้อม จีวร

จีวร เป็นบริขารสำคัญของพระที่จำเป็นต้องมี และต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัยด้วย  สำหรับใช้นุ่งห่มปกปิดร่างกาย ประกอบด้วยผ้า ๓ ผืน เรียกว่า ไตรจีวร ดังนี้
          ๑. สังฆาฏิ คือ ผ้าพาดหรือผ้าทาบไหล่ (สำหรับธรรมยุต ใช้ผ้า ๒ ชั้น)
           ๒. อุตราสงค์ คือ ผ้าสำหรับห่ม ที่เราเรียกกันว่า จีวร
          ๓. อันตรวาสก คือ ผ้านุ่ง ที่เรียกกันว่า สบง

สำหรับงานตัดเย็บจีวรนั้น ค่อนข้างเป็นงานที่สลับซับซ้อนพอสมควรทีเดียว หากมิได้ตั้งใจศึกษา ฝึกหัดกันอย่างจริงๆจังๆแล้ว คงทำสำเร็จได้ยากมาก

         เริ่มต้นจากการกะขนาดให้นุ่งห่มได้พอดีเสียก่อน  ซึ่งก็มีมาตรฐานของแต่ละบุคคลดังนี้ ให้ผู้สวมใส่ งอข้อศอกตั้งฉาก แล้ววัดจากส่วนปลายข้อศอกถึงปลายนิ้วกลาง ว่ายาวเท่าไร
         สมมติว่า ศอกยาว ๔๕ ซม.

         ขนาดมาตรฐานของสบง คือ ยาว ๕ ศอก กับ ๑ คืบ ( ๑ คืบ = ๓๐ ซม.) จะได้ขนาดของสบง คือ ยาว (๔๕ x ๕) + ๓๐ =  ๒๕๕ ซม.   (คำว่า ศอกในที่นี้ คือความยาวศอกของผู้ใช้)  ส่วนกว้างมาตรฐาน  ๒ ศอก  ก็จะได้ส่วนกว้างคือ  ๔๕ x ๒  =  ๙๐ ซม.
 
          ขนาดมาตรฐานของจีวร คือ ยาว ๖ ศอก กับ ๑ คืบ ก็จะได้ขนาดของจีวร คือ ยาว (๔๕ x ๖) + ๓๐ = ๓๐๐ ซม.  ส่วนกว้าง (สูง) มาตรฐาน  = ๔ ศอก กับ ๑/๒ คืบ (ครึ่งคืบ = ๑๕ ซม.) ก็จะได้ความกว้าง(สูง) ของจีวร  =  (๔๕ x ๔) + ๑๕ = ๑๙๕ ซม.
   
          ส่วนสังฆาฏิ นั้น ใช้ขนาดเท่ากับจีวร โดยมาก เมื่อตัดเย็บเสร็จแล้ว สังฆาฏิจะขนาดใหญ่กว่าจีวรเล็กน้อย เผื่อเวลาเดินไปบิณฑบาต ต้องซ้อนจีวรเข้ากับสังฆาฏิแล้ว จีวรจะไม่เลยสังฆาฏิออกไป

 ขนาดมาตรฐานคือ รูปร่างคนปกติ ไม่อ้วนใหญ่เกินไป หรือสูงเกินไป ถ้าคนอ้วนใหญ่ จะต้องเพิ่มด้านยาวออกไปอีก  ส่วนคนสูงก็ต้องเพิ่มด้านกว้าง (สูง)ให้มากขึ้น
 
          เมื่อรู้จักขนาดมาตรฐานของจีวรดังนี้ แล้ว จากนั้นจึงทำการคำนวน หรือที่เรียกว่า กะขนาด โดยจีวร จะมีขนาดตั้งแต่  ๕, ๗, ๙ หรือ ๑๑ ขัณฑ์สูงสุด  แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้ จีวร ๙ ขัณฑ์ เป็นมาตรฐาน  ดังนั้น หากจะตัดจีวร ๙ ขัณฑ์ ก็ต้องคำนวนให้ได้ว่า แต่ละขัณฑ์จะกว้างเท่าไร และยาวเท่าไร เมื่อเย็บเข้ากันเป็นจีวรแล้ว จะต้องได้จีวรขนาดที่นุ่งห่มได้พอดี
 
          สำหรับการคำนวนขนาดของแต่ละขัณฑ์ ก็มีหลายวิธี แล้วแต่ว่า ใครจะถนัดแบบไหน  ขอให้ตัดเย็บออกมาแล้ว ได้ตามขนาดที่ต้องการก็เป็นอันใช้ได้  เมื่อคำนวนได้ขนาดของขัณฑ์จีวรเท่าไรแล้ว บวกเพิ่มเข้าไปอีกขัณฑ์ละ ๒ ซม. ก็จะเป็นขนาดขัณฑ์ของสังฆาฏิ เมื่อเย็บเสร็จแล้ว ก็จะได้สังฆาฏิขนาดพอดีกับจีวร โดยมากสังฆาฏิจะใหญ่กว่าจีวรเล็กน้อย





โครงสร้างจีวร ขนาด ๙ ขัณฑ์

         กรอบสี่เหลี่ยมโดยรอบเรียก อนุวาต โดยมาตรฐานนิยมใช้ กว้าง ๑๕ ซม. ที่เห็นเป็นเส้นคู่คั่นตามแนวตั้ง ของแต่ละขัณฑ์ เรียก กุสิ (หรือกุสิยาว)  และที่เป็นเส้นคู่ คั่นขวาง ขนานกับด้านยาวของจีวร ทั้งข้างบน ข้างล่างสลับกัน  เรียก อัฑฒกุสิ  (หรือกุสิขวาง)  ทั้งกุสิ และอัฑฒกุสิ ขนาดมาตรฐานนิยมใช้ กว้าง ๖ ซม.

วิธีการคำนวน

         สมมติ  ผู้ใช้จีวร ศอกยาว ๔๕ ซม. ต้องการจีวร ๙ ขัณฑ์ ความยาว จีวรมาตรฐานก็คือ ๖ ศอก กับ ๑ คืบ

ดังนั้น จะได้ ความยาวจีวรที่ต้องการ   =  (๔๕ x ๖) + ๓๐   =   ๓๐๐ ซม.  (เผื่อรอยเย็บและเผื่อผ้าหดแล้ว)
เมื่อจะคำนวน ขนาดของแต่ละขัณฑ์ ก็ให้เอาความยาวของจีวร หักด้วยความกว้างของอนุวาตทั้งสองด้านๆละ ๑๕ ซม.  ( ๑๕ x ๒)  = ๓๐ ซม.  และหักความกว้างของ กุสิยาว ซึ่งมีทั้งหมด ๘ กุสิๆละ ๖ ซม. (๘ x ๖)  =  ๔๘ ซม. ออกไปก่อน  ก็จะเหลือพื้นที่สุทธิสำหรับคำนวนขนาดของแต่ละขัณฑ์ คือ ๓๐๐ - ๓๐ -๔๘  =  ๒๒๒  ซม.


ฉะนั้น จีวร ๙ ขัณฑ์ จะแบ่งได้พื้นที่สุทธิที่ไม่รวมกุสิ ไม่รวมอนุวาต ออกเป็น ๙ ชิ้น   =   ๒๒๒  หารด้วย ๙  ได้ชิ้นละ   ๒๔.๖๗  ปัดเศษเป็น  ๒๕ ซม.  เพื่อให้ง่ายต่อการตัดผ้า  จากนั้นก็บวกกุสิ และอนุวาต กลับคืนเข้าไป ดังนี้ :-

ขัณฑ์กลาง ๑ ขัณฑ์ มี    ๒ กุสิ จะได้ ขัณฑ์กลาง   กว้าง  =  ๒๕ + ๖ + ๖  =   ๓๗   ซม.
  ขัณฑ์ริม     ๒ ขัณฑ์ๆละ  ๑ อนุวาต จะได้ ขัณฑ์ริม กว้าง  =  ๒๕ + ๑๕      =   ๔๐   ซม.
  ขัณฑ์เล็ก   ๖ ขัณฑ์ๆละ  ๑ กุสิ จะได้ ขัณฑ์เล็ก     กว้าง  =   ๒๕ +  ๖       =   ๓๑   ซม.

ก็จะได้ขนาดความกว้างของแต่ละขัณฑ์ ตามต้องการ



เมื่อคำนวนขนาดของแต่ละขัณฑ์ได้แล้ว ก็ขีดเส้นกุสิ และอัฑฒกุสิ ให้ได้ตามรูปโครงสร้างจีวร  การขีดอัฑฒกุสิ หรือที่เรียกว่า กุสิขวางนั้น ก็ขีดเป็นเส้นคู่ขนานห่างกัน ๖ ซม. ให้ได้แนวตรงกันทุกขัณฑ์ โดยมากจะใช้วิธีพับสามส่วน แล้วขีดอัฑฒกุสิ เข้าหากึ่งกลางของแต่ละขัณฑ์  หรือขีดออกไปทางด้านริมผ้าก็ได้ หรือใช้วิธีพับครึ่ง แล้ววัดจากกึ่งกลางแต่ละขัณฑ์ แบ่งให้ได้ระยะอัฑฒกุสิ ด้านบน ด้านล่าง สลับให้เท่าๆกัน ตามรูปโครงสร้างจีวรก็ได้    จากนั้นจึงลงมือตัดผ้าออกเป็น ๙ ชิ้น โดยต้องกำหนดหมายไว้ด้วยว่า ชิ้นไหนเป็นขัณฑ์ไหน เสร็จแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนการเย็บ โดยเอาแต่ละขัณฑ์มาต่อกัน โดยเย็บแบบล้มตะเข็บ หรือล้มดูก ซึ่งต้องมีความชำนาญไม่ใช่น้อย จึงจะเย็บได้สวยงาม

          ส่วนความกว้าง (สูง) ของจีวร เมื่อตัดเย็บแต่ละขัณฑ์ต่อกันเสร็จแล้ว ก่อนเข้าอนุวาต ก็ขึงเชือกตัดริมด้านบน และด้านล่าง ให้ได้ตามขนาดความกว้างมาตรฐานที่คำนวนไว้ โดยมากนิยมเว้าตรงขัณฑ์กลางเข้ามาประมาณ ๑ นิ้ว  จากนั้นจึงเย็บเข้าอนุวาตก็สำเร็จเป็นจีวร ขั้นตอนสุดท้ายก็ติดรังดุมชายจีวร และติดรังดุมคอ ทั้งด้านบน และด้านล่าง เพื่อให้นุ่งห่มสลับกันได้ทั้งสองด้าน ก็เป็นอันจบสิ้นขั้นตอนการเย็บที่สมบูรณ์

          สำหรับการติดรังดุมคอทั้งด้านบน ด้านล่าง และห่มคลุมจีวรสลับกัน วันหนึ่งเอาด้านบนขึ้น อีกวันหนึ่งเอาด้านล่างขึ้น ก็เป็นปฏิปทาที่ ท่านพระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์มาในยุคปัจจุบัน เหตุผลก็เพื่อ เมื่อห่มคลุมสลับกันทั้งสองด้าน ย่อมทำให้จีวรเปื่อยขาดพร้อมกันทั้งสองด้าน ไม่ใช่เปื่อยขาดอยู่เพียงด้านเดียว ก็เป็นเหตุยืดอายุจีวรให้ใช้ได้นานยิ่งขึ้นไปอีก  ก็เป็นความจริงอย่างนั้น หากท่านผู้ใดเคยใช้จีวรจนถึงขั้นเปื่อยขาด และเย็บปะไปเรื่อยๆแล้ว ก็จะเห็นความจริงในข้อนี้ และเกิดความซาบซึ้งอย่างถึงใจทีเดียว



          เมื่อผ่านขบวนการเย็บเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำไปสู่การย้อมแก่นขนุน โดยใช้เตาต้มแก่นขนุนขนาดใหญ่ เคี่ยวแก่นขนุนจนได้น้ำออกเป็นสีแดงคล้ำ จากนั้นจึงผสมสีย้อมผ้า โดยใช้ สีทอง สีกรัก สีแก่นขนุน สีแดง หรือใช้น้ำที่ฝนจากหินแดง  ต้องผสมให้ได้สัดส่วนกันพอดี สำหรับปริมาณการผสมนั้น ขึ้นอยู่กับผ้าที่จะย้อม ว่าจะย้อมกี่ผืน ผ้าหนาหรือผ้าบาง ปริมาณการผสมก็แตกต่างกันไป ทั้งนี้ต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์จึงจะสามารถผสมสี และย้อมออกมาได้สีมาตรฐานตามที่ใช้กัน หากผสมไม่เป็นก็อาจทำให้จีวรเสียสีได้ การผสมสีจึงกล่าวได้ว่า มีความสำคัญมิใช่น้อย  สำหรับสีจีวรที่ใช้กันในวงพระป่านั้น จะออกเป็นสีเหลืองแกมแดง (สีเหลืองหม่น)  หรือไม่ก็ สีวัวโทน ซึ่งเป็นสีที่ถูกต้อง และตรงตามปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์พาปฏิบัติมาแต่เดิม


          ดังนั้น จะเห็นได้ว่า กว่าจะทำการ กะ ตัด เย็บ ย้อมให้สำเร็จเป็นจีวรแต่ละผืนได้นั้น ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย และต้องใช้ฝีมือบวกกับความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวดเลยทีเดียว ฉะนั้น การที่พระเณรจะได้มีโอกาสนุ่งห่มผ้าจีวร ที่ผ่านการ กะ ตัด เย็บ ย้อม เช่นนี้ได้นั้น จึงไม่ใช่ของง่าย เพราะต้องอาศัยภิกษุผู้ฉลาด และมีความสามารถ อย่างยิ่งจริงๆ หากท่านผู้ใดมีโอกาสได้นุ่งห่มผ้าจีวรเช่นนี้แล้ว  ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจได้เลยทีเดียว
 
           และที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด  นี่คือ การสืบทอดปฏิปทาดั้งเดิมแห่งวงพระกรรมฐาน ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ได้พาปฏิบัติมา  หากยังมีภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ตราบใด ปฏิปทาเหล่านี้ ย่อมไม่มีวันเสื่อมสลายไปอย่างแน่นอน  ดังนั้น พระเณรจึงควรเห็นความสำคัญ และรักษาปฏิปทาในข้อนี้ไว้  ไม่ควรลืมตัว และมักง่าย  หวังพึ่งแต่บริขารจากร้านค้าโดยถ่ายเดียว

          จริงอยู่ แม้ในยุคปัจจุบัน โรงงานทอผ้าสำเร็จรูป สามารถย้อมสีผ้าจากโรงงานได้ใกล้เคียงกับสีผ้าจีวรที่พระกรรมฐานใช้อยู่  ด้วยเทคโนโลยีที่ดีกว่า  ทำให้สีติดทนนานกว่า และสามารถซักได้แม้กับน้ำเย็น หรือกับเครื่องซักผ้าสมัยใหม่ โดยที่สีไม่ลอก ไม่ต้องมาต้ม เคี่ยวแก่นขนุน ซัก ย้อมให้ยากลำบาก  ซึ่งก็เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับพระเณรได้ไม่ใช่น้อย ซึ่งก็น่าที่พระเณรจะควรยินดี   แต่ในขณะเดียวกัน  บนความสะดวกสบายเช่นนั้น ก็ไม่ผิดอะไร กับการเอาระเบิดนิวเคลียร์นิวตรอน   มากวาดล้างทำลายปฏิปทาในฝ่ายพระธุดงคกรรมฐานให้แตกสลายอย่างพินาศย่อยยับชนิดไม่เหลือซากเลยทีเดียว  จึงขอฝากเรื่องนี้ไว้เป็นคติเตือนใจแก่พระเณรผู้จะทรงไว้ซึ่งข้อวัตรปฏิปทาของครูบาอาจารย์ได้คิดอ่านใคร่ครวญให้รอบคอบ





รัดประคด หรือ ผ้ารัดเอว

รัดประคด หรือ ผ้ารัดเอว ถือเป็น ๑ ในบริขาร ๘ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งทีเดียว ที่พระเณรจะต้องใช้อยู่ตลอดเวลา จะไม่ใช้เฉพาะตอนสรงน้ำเท่านั้น  เวลาอื่นนอกนั้น ถ้าใครไม่ใช้รัดประคด อาจเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นก็เป็นได้  รัดประคดที่ทำใช้กันในวงพระกรรมฐานนั้น  ส่วนใหญ่จะถักทอด้วยไหมมีความประณีตสวยงามมาก นิยมทำถวายครูบาอาจารย์ และพระเถระผู้ใหญ่  ซึ่งวิธีการถักทอรัดประคดนี้ ต้องได้ศึกษาจากผู้ที่ทำเป็น และฝึกหัดทำไปด้วยจึงจะสามารถทำได้  เพราะมีกรรมวิธีที่ค่อนข้างละเอียดและซับซ้อนมาก กว่าจะถักได้รัดประคด  ๑ เส้น ก็ต้องใช้ความอุตสาหพยายามอย่างยิ่งยวดเลยทีเดียว

บริขารอื่นๆ ที่เป็นปฏิปทาในวงพระกรรมฐาน และสืบทอดกันมาในยุคปัจจุบัน

        -การทำขาบาตร ถลกบาตร ถุงบาตร ย่าม
        -การทำกลด มุ้งกลด
        -การย้อมสีหินแดง ผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าอาบน้ำ
        -ไม้เจีย หรือ ไม้สีฟัน
        -ไม้กวาด หรือ ไม้ตาด
        -การผ่าฟืน



ที่มา //www.doisaengdham.org

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.57 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 17 กุมภาพันธ์ 2567 20:53:06