[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 17:12:39 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ศาลหลักเมืองพิษณุโลก - ความเป็นมาในการก่อสร้าง  (อ่าน 1619 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 03 มิถุนายน 2562 12:11:14 »




"จังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองเก่าแก่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพหลากหลายอย่าง
หลักเมืองนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่กันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เพื่อให้เป็นไปตาม
ธรรมเนียมประเพณี และให้ประชาชนให้เคารพบูชาเป็นสิริมงคลและมั่นคงสืบไป"

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร


แปลนอาคารศาลหลักเมือง ออกแบบโดยกรมศิลปากร แบบอกปรางค์ มีฐานกว้าง ๑๖.๖๐ เมตร สูง ๑๐.๖๕ เมตร



ศาลหลักเมืองพิษณุโลก
บริเวณริมแม่น้ำน่าน ตรงข้ามวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

ความเป็นมาในการก่อสร้างศาลหลักเมืองพิษณุโลก

ความคิดในการจัดสร้างศาลหลักเมืองจังหวัดพิษณุโลก ตามคำบอกเล่าจากหลายท่าน  บ้างก็ว่าจังหวัดพิษณุโลกมีเสาหลักเมืองเป็นลักษณะศิลาจารึก เดิมฝังอยู่ใต้ดินริมแม่น้ำน่าน  บริเวณหัวกำแพงหักหรือกำแพงขาดในกรมทหาร ไม่ห่างจากพระราชวังจันทน์เท่าใดนัก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพุทธชินราช หรือก็ว่าหลักเมืองจมอยู่ในลำน้ำน่าน รวมถึงมีการกล่าวว่าเคยมีการวางศิลาฤกษ์ เพื่อสร้างศาลหลักเมืองบริเวณหน้าวัดนางพญา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความคิดในการจัดสร้างศาลหลักเมืองจังหวัดพิษณุโลกอย่างจริงจังเริ่มขึ้นปี พ.ศ.๒๕๓๐ นายสุวรรณ อุบลเจริญ นายกเทศมนตรีเมืองพิษณุโลกในขณะนั้น ได้ดำริจะสร้างศาลหลักเมืองพิษณุโลก บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลก และจังหวัดได้เรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการ  ตัวแทนพ่อค้า และตัวแทนกรมศิลปากร โดยสรุปผลการประชุมในแต่ละครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ ๑ เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๐ สรุปได้ว่า ที่ประชุมคัดค้าน เพราะ
         ๑.๑ การสร้างศาลหลักเมืองต้องขอพระบรมราชานุญาต
         ๑.๒ ผู้สร้างและวางศิลาฤกษ์ คือ พระมหากษัตริย์
         ๑.๓ ไม่รู้ความเป็นมาว่าจังหวัดพิษณุโลกมีศาลหลักเมืองหรือไม่ แต่มีวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมหาวิหาร เป็นศูนย์รวมจิตใจเช่นเดียวกับเมืองเก่าสุโขทัย

ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ ผ.ศ.ปราณี แจ่มขุนเทียน ดำเนินการศึกษาหลักฐานเรื่องศาลหลักเมือง เพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมโอกาสต่อไป
  
ครั้งที่ ๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๓๐ สรุปได้ ดังนี้
         ๒.๑ ผ.ศ.ปราณี แจ่มขุนเทียน ได้เสนอผลการศึกษาเรื่องศาลหลักเมืองจากข้อมูลที่ศึกษาได้จากพระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ เอกสารที่นักวิชาการ  ผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก และการบอกเล่า ซึ่งสามารถประมวลได้ว่าการศึกษาความเป็นมาของศาลหลักเมือง มีดังนี้
               ๒.๑.๑ ศึกษาจากเอกสาร และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น
               ก. หนังสือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อนุสรณ์ดอนเจดีย์ เรื่องศาลเทพารักษ์ กล่าวว่า ศาลเทพารักษ์ตั้งอยู่ทางด้านหลังพระราชวังจันทน์  เรียกกันในปัจจุบันว่า “ศาลอดีตมหาราช” แต่มักเรียกทั่วไปว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง”
               ข. หนังสือเรื่อง พิษณุโลก โอฆบุรี เมืองพุทธชินราช กล่าวว่า หลังอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมีต้นโพธิ์ขึ้นอยู่ต้นหนึ่ง เดิมมีศาลเทพารักษ์ตั้งอยู่ บางท่านเรียกว่า “ศาลอดีตมหาราช” และบางท่านเรียกว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง”
               ค. ตำนานเมืองพิษณุโลกหลวงเชื้อ ชำนาญเกณฑ์ กล่าวถึงศาลเทพารักษ์ว่าศาลเทพารักษ์ตั้งอยู่ภายในบริเวณพระราชวังจันทน์ทางด้านหลัง  เรียกกันในปัจจุบันว่า “ศาลอดีตมหาราช” แต่มักเรียกกันทั่วไปว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง”
               ง. พระนิพนธ์เรื่อง เมืองพิษณุโลก และพระราชปรารภ เรืองพระพุทธชินราชของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า “... เดี๋ยวนี้ยังมีสระข้างพระราชมณเฑียรกับเนินดิน และมีศาลเทพารักษ์ที่พวกชาวเมืองไปบูชาปรากฏอยู่สิ่งอื่นหามีไม่”
               ๒.๑.๒ ศึกษาจากภาคสนาม (การบอกเล่า) โดยสัมภาษณ์ผู้อาวุโสหลายท่านซึ่งสรุปได้ว่า ไม่เคยเห็นศาลหลักเมือง แต่เคยได้ยินบรรพบุรุษพูดเสมอๆ ว่า เมืองพิษณุโลกไม่มีศาลหลักเมืองและได้ยินบุคคลอีกหลายท่านพูดว่า เดิมเมืองพิษณุโลกมีศาลหลักเมืองตั้งอยู่บริเวณหน้าค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช บ้างตั้งอยู่ตรงบริเวณหน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แต่ได้พังลงแม่น้ำน่านไปแล้ว

จากการศึกษาความเป็นมาของศาลหลักเมืองหรือศาลเทพารักษ์ในจังหวัดพิษณุโลก ทั้งจากเอกสารและการบอกเล่า พอสรุปได้ว่า   ๑. ไม่พบที่ตั้งศาลหลักเมือง  ๒. ไม่พบหลักฐานว่า มีการสร้างศาลหลักเมืองในสมัยใด รู้แต่ว่าชาวพิษณุโลกในอดีตรู้จัก และให้ความสำคัญเฉพาะศาลเทพารักษ์ ที่ตั้งอยู่ในพระราชวังจันทน์เท่านั้น

         ๒.๒ ที่ประชุมอภิปรายอย่างกว้างขวางโดยตกลงให้สืบหาความเป็นมาว่าหากมีศาลหลักเมืองอยู่ที่ตั้งเดิมอยู่ที่ไหนหากหาพบจะได้สร้างที่นั่นและมติที่ประชุมขอให้ระงับการสร้างศาลหลักเมืองไว้ก่อนจนกว่าจะหาหลักฐานพบ  

ครั้งที่ ๓ เดือนธันวาคม ๒๕๓๕ คณะชาวพิษณุโลกในกรุงเทพฯ ได้นำเรื่องการดำเนินการก่อสร้างศาลหลักเมืองมาปรึกษาหารือกับชมรมผู้สนใจ ประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลกและมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางโดยสรุปความคิดเห็นแตกต่างกันออกเป็น ๓ ฝ่ายดังนี้
         ๑. ฝ่ายแรกสนับสนุนให้สร้างศาลหลักเมือง เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพิษณุโลก
         ๒. ฝ่ายที่สองไม่เห็นด้วยโดยอ้างว่าชาวพิษณุโลกมีหลวงพ่อพุทธชินราช และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นศูนย์จิตใจอยู่แล้ว
         ๓. ฝ่ายที่สามมีความเห็นว่า สร้างหรือไม่สร้างก็ได้ กรณีถ้าไม่สร้างขอให้ พลเอกศิริ ทิวะพันธุ์ แม่ทัพภาคที่ ๓ ในขณะนั้น นำเงินบริจาคของคณะชาวพิษณุโลก กรุงเทพฯ บริจาคนั้นมาอนุรักษ์พระราชวังจันทน์

ซึ่งการอภิปรายดังกล่าว ไม่สามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการสร้างศาลหลักเมืองได้ รศ.ดร.มังกร ทองสุกดี ประธานชมรมผู้สนใจประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก จึงมอบให้เลขานุการชมรมฯ ดำเนินการสำรวจประชามติจากชาวพิษณุโลก

ครั้งที่ ๔ การขอประชามติจากผู้เข้าร่วมสัมมนาประวัติศาสตร์เมืองพิษณุโลก ระหว่างวันที่ ๘-๙ มกราคม ๒๕๓๖ณ โรงแรมไพลิน พิษณุโลก ผลการลงประชามติมีความคิดเห็นเป็น ๓ กลุ่ม (ผู้ตอบแบบสอบถาม ๒๘๕ คน) ดังนี้
         ๑. เห็นสมควรสร้างศาลหลักเมืองจำนวน ๑๙๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๘.๗๓
         ๒. เห็นไม่สมควรสร้าง จำนวน ๕๗ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๒.๒๔
         ๓. ไม่ออกความคิดเห็น จำนวน ๒๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๐.๐

อย่างไรก็ดี ไม่มีผู้ใดริเริ่มจัดสร้างศาลหลักเมืองขึ้นแต่อย่างใด จนกระทั่ง นายสวัสดิ์ ส่งสัมพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ในขณะนั้น (พ.ศ.๒๕๓๖-๒๕๓๙) ได้มอบหมายให้ที่ทำการปกครองจังหวัดพิษณุโลก (ฝ่ายปกครอง) ศึกษารายละเอียดขั้นตอนดำเนินการก่อสร้างศาลหลักเมือง และตรวจสอบประวัติศาสตร์ว่า จังหวัดพิษณุโลกเคยมีศาลหลักเมือง และเสาหลักเมืองมาก่อนหรือไม่ หากจะสร้างศาลหลักเมืองจะเป็นการเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งฝ่ายปกครองได้ทำหนังสือจังหวัด ที่ พล ๐๐๑๖/๒๑๕๑๓ ลงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ ถึงกรมศิลปากร เพื่อตรวจสอบความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว และกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรได้ตอบหนังสือ ที่ ศธ ๐๗๐๙/๒๕๖๗ ลง วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๓๗ ว่า  ได้ตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีแล้ว ไม่ปรากฏว่าจังหวัดพิษณุโลกมีการสร้างศาลหลักเมืองมาก่อน และการดำริจะสร้างนั้นขอให้อยู่ในดุลยพินิจของจังหวัดเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้าง มีดังนี้
๑. ก่อนการดำเนินการก่อสร้าง (เตรียมการ)
๒. การดำเนินการก่อสร้าง
๓. การดำเนินการหลังการก่อสร้างอาคารศาลหลักเมืองแล้วเสร็จ

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่า พิษณุโลกเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นเมืองที่ประทับของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ ประกอบกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ที่จะให้จังหวัดต่างๆ มีศาลหลักเมืองเป็นสิ่งร่วมใจของประชาชน และในวโรกาสมหามงคลปีกาญจนาภิเษก จังหวัดจึงได้ประชุมปรึกษาหารือและลงมติที่จะจัดสร้างศาลหลักเมือง เพื่อเป็นหลักชัย หลักใจ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดพิษณุโลก โดยพิจารณาเห็นว่าที่ราชพัสดุหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลก มีความเหมาะสมในการจัดสร้าง

๑. การเตรียมการก่อสร้างศาลหลักเมือง  จังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานสร้างศาลหลักเมืองขึ้นตามคำสั่งจังหวัดพิษณุโลกที่ ๙๙๓/๒๕๓๘ ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๓๘ประกอบด้วยคณะกรรมการ ๗ คณะ คือ
         ๑. คณะที่ปรึกษาในการดำเนินการก่อนสร้างศาลหลักเมือง (ฝ่ายสงฆ์) มีสมเด็จพุฒาจารย์ วักสระเกศ, เป็นประธาน
         ๒. คณะที่ปรึกษาในการดำเนินก่อสร้างศาลหลักเมือง (ฝ่ายฆราวาส) มี พลโท ถนอม วัชรพุทธ แม่ทัพภาคที่ ๓ เป็นประธานที่ปรึกษา
         ๓. คณะกรรมการอำนวยการก่อสร้างศาลหลักเมืองมี นายสวัสดิ์ ส่งสัมพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ในขณะนั้น เป็นประธานกรรมการ และปลัดจังหวัดพิษณุโลก เป็นกรรมการ และเลขานุการ
         ๔. คณะกรรมการฝ่ายจัดหารายได้และการเงินมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก (๑) เป็นประธานกรรมการ และคลังจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ
         ๕. คณะกรรมการจัดพิธีวางศิลาฤกษ์มี ปลัดจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานกรรมการ และผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น เป็นกรรมการเลขานุการ
         ๖. คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์มี ผู้อำนวยประชาสัมพันธ์เขต ๔ เป็นประธานและประชาสัมพันธ์จังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
         ๗. คณะกรรมการฝ่ายเลขานุการมี ปลัดจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานกรรมการและจ่าจังหวัดพิษณุโลก เป็นกรรมการและเลขานุการ

ในส่วนของการจัดสร้างศาลหลักเมืองประจำจังหวัดนั้น จังหวัดได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อนำความเรื่องการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างศาลหลักเมืองจังหวัดพิษณุโลก ขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมากระทรวงมหาดไทยมีหนังสือ ที่ มท ๐๒๐๑/๓๐๙๑๓ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๓๘ แจ้งให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จังหวัดพิษณุโลกสร้างศาลหลักเมืองได้

๒. การดำเนินการก่อสร้างอาคารศาลหลักเมือง
จังหวัดได้รับความอนุเคราะห์จากสถาปัตยกรรม กรมศิลปากรออกแบบแปลนและจำทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารศาลหลักเมือง โดยกรมศิลปากรออกแบบแปลนอาคารศาลหลักเมือง แบบอกปรางค์ มีฐานกว้าง ๑๖.๖๐ เมตร สูง ๑๐.๖๕ เมตร และได้รับความร่วมมือด้วยดีจาเทศบาลเมืองพิษณุโลก และสำนักงานโยธาธิการจังหวัดพิษณุโลกออกแบบปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์รั้วรอบบริเวณ ระบบระบายน้ำ ทางเท้า และการจัดสวน

สำหรับงบประมาณในการดำเนินการประกอบด้วย
         ๑. การก่อสร้างอาคารศาลหลักเมือง ตามแบบแปลนของกรมศิลปากร ใช้งบประมาณโครงการพัฒนาจังหวัด สนับสนุนภูมิภาคและท้องถิ่นปีงบ ประมาณ ๒๕๓๘ เป็นเงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐บาท (สามล้านบาทถ้วน)
         ๒. การก่อสร้างรั้ว ประตูทางเข้า รางระบายน้ำและทางเข้า การจัดสวนเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณรอบอาคารศาลหลักเมือง ซึ่งจังหวัดได้ดำเนินการในส่วนนี้ โดยใช้จ่ายจากเงินบริจาคสมทบก่อสร้างศาลหลักเมืองของผู้มีจิตศรัทธา จำนวน ๑๙๔ ราย เป็นเงิน ๒,๖๒๔,๐๓๒ บาท ดังนี้
             ๒.๑ ค่าก่อสร้างรั้ว แระตูทางเข้า รางระบายน้ำและทางเท้าเป็นเงิน ๑,๒๕๕,๒๕๔ บาท
             ๒.๒ ค่าติดตั้งโคมไฟฟ้า เป็นเงิน ๑๓๕,๑๐๘ บาท
             ๒.๓ ค่าวัสดุสำหรับระบบประปาเพื่อใช้สำหรับการดูแลสวนเป็นเงิน ๔๖,๐๒๔ บาท
             ๒.๔ ค่าถมดินปรับพื้นสนามด้านล่าง เป็นเงิน ๔๘,๐๐๐ บาท
             ๒.๕ ค่าจัดซื้อต้นไม้สำหรับจัดสวน เป็นเงิน ๕๓๖,๔๓๐ บาท

นอกจากนี้จังหวัดได้ใช้จ่ายจากเงินบริจาคสมทบก่อสร้างศาลหลักเมืองเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดังนี้
         - ค่าใช้จ่ายในวันพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารศาลหลักเมือง เป็นเงิน ๙๙,๘๕๐ บาท
         - ค่าจัดทำเสาหลักเมืองจำลอง เป็นเงิน ๑๔,๓๒๐ บาท
         - ค่าใช้จ่ายในพิธีประดิษฐานเสาหลักเมืองบรรจุดวงเมือง และสวมยอดเสาหลักเมือง เป็นเงิน ๒๐๐,๔๓๕ บาท
         - ค่าใช้จ่ายในพิธีเข้าเฝ้า น้อมเกล้าฯถวายยอดเสาหลักเมือง และแผ่นทองดวงเมือง เป็นเงิน ๑๑,๓๒๐ บาท

รวมแล้วจังหวัดได้ใช้จ่ายเงินบริจาคสมทบก่อสร้างศาลหลักเมืองไปจำนวนทั้งสิ้น ๒,๓๕๑,๒๒๙ บาท คงเหลืออยู่ ๒๗๒,๘๐๓ บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จังหวัดจะต้องไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขั้นตอนต่อไปคือ
         - ค่าจัดทำหนังสือที่ระลึกในวันพิธีเปิดศาลหลักเมือง
         - ค่าใช้จ่ายในพิธีเปิดศาลหลักเมือง
         - ค่าดูแลรักษาส่วนและอาคารศาลหลักเมือง
         - ค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ/ค่าไฟฟ้า)

อนึ่งหากยังมีเงินบริจาคเหลืออยู่จังหวัดมีแนวทางที่จะจัดตั้งเป็นกองทุนศาลหลักเมือง เพื่อจะได้ใช้ดอกผลดังกล่าวไว้สำหรับเป็นค่าดูแลรักษา รวมทั้งเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ตามที่คณะที่ปรึกษาในการดำเนินการก่อสร้างศาลหลักเมืองประจำจังหวัดพิษณุโลกกำหนด

สำหรับการดำเนินการขอใช้พื้นที่บริเวณสวนสาธารณะ หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลก พื้นที่ประมาณ ๓-๓-๒๗.๕ ไร่ สำหรับก่อสร้างอาคารศาลหลักเมือง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวคือ สนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัดหลังเดิมเป็นที่ราชพัสดุและอยู่ในความครอบครองดูแลใช้ประโยชน์ของกระทรวงมหาดไทย จังหวัดจึงทำหนังสือที่ พล ๐๐๑๕.๑/๓๐๘๔ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการขอความเห็นชอบในการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุดังกล่าว ไปยังกรมธนารักษ์ และกรมธนารักษ์ได้ทำหนังสือกระทรวงการคลังที่ กค. ๐๔๐๗/๖๕๖๖ ลงวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๘ แจ้งกระทรวงมหาดไทยว่า ไม่ขัดข้องที่จังหวัดพิษณุโลกจะเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุจากสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น เป็นพื้นที่ก่อสร้างศาลหลักเมืองและอนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุดังกล่าวได้ และจังหวัดได้เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๘ และก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๓๙

ทั้งนี้จังหวัดได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ศาลหลักเมือง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๘เวลา ๑๙.๓๙ น. ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองพิษณุโลก มีนายสวัสดิ์ ส่งสัมพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีและประธานพิธีสงฆ์ คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วัดสระเกศ) พร้อมด้วยพระสังฆาธิการ ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ อีก ๘ รูป

๓. การดำเนินการหลังการก่อสร้างอาคารศาลหลักเมืองแล้วเสร็จ
๓.๑ การเข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายยอดเสาหลักเมืองพร้อมแผ่นทองดวงเมือง เพื่อทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมฯ

จังหวัดได้รับแจ้งจากสำนักราชเลขาธิการที่ รส ๐๐๐๓/๑๕๔๙๕ ลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๓๙ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกและคณะเข้าเฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายยอดเสาหลักเมืองพร้อมกับแผ่นทองดวงเมือง เพื่อทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมฯ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๓๙เวลา ๑๗.๓๐ น. ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ทั้งนี้ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมฯ ยอดเสาหลักเมืองพร้อมแผ่นทองดวงเมืองแล้ว ทรงมีพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลดังกล่าว ใจความว่า “จังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองเก่าแก่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพหลากหลายอย่าง หลักเมืองนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่กันกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น  เพื่อให้เป็นไปตามธรรมเนียมประเพณี และให้ประชาชนให้เคารพบูชาเป็นสิริมงคลและมั่นคงสืบไป”
  
๓.๒ พิธีรับยอดเสาหลักเมืองและแผ่นทองดวงเมือง
วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๙ นายสวัสดิ์ ส่งสัมพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ในขณะนั้นและคณะได้อัญเชิญยอดเสาหลักเมืองและแผ่นทองดวงเมือง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมฯ แล้ว เพื่อมาประดิษฐาน ณ ห้องปฏิบัติราชการผู้ว่าราชการจังหวัด  ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก โดยพิธีในวันดังกล่าวนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก อัญเชิญยอดเสาหลักเมืองและแผ่นทองดวงเมือง เดินทางออกจากกรุงเทพฯ เวลา ๐๙.๐๙ น. ถึงบริเวณพิธีหน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร เวลา ๑๐.๐๐ น. และได้อัญเชิญยอดเสาหลักเมืองและแผ่นทองดวงเมืองประดิษฐานไว้บนรถอัญเชิญ เพื่ออัญเชิญยอดเสาหลักเมืองไปประดิษฐานที่ห้องปฏิบัติราชการผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก

๓.๓ พิธีประดิษฐานเสาหลักเมือง บรรจุดวงเมือง และสวมยอดเสาหลักเมือง
พิธีประดิษฐานเสาหลักเมือง บรรจุดวงเมืองและสวมยอดเสาหลักเมืองได้มีขึ้นในวันพุธที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๙ มีนายสวัสดิ์ ส่งสัมพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วัดสระเกศ) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระครูวามเทพมุนี เป็นหัวหน้า พราหมณ์ ทำพิธีฝ่ายพราหมณ์ ในพิธีสงฆ์มีพระสงฆ์สมณศักดิ์เข้าร่วมพิธี ดังนี้
         ๑. พระราชรัตนมุนี เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก
         ๒. พระโสภณปริยัติธรรม เจ้าคณะอำเภอเมืองพิษณุโลก
         ๓. พระครูประสาทธรรมวัตร เจ้าอาวาสวัดอรัญญิก
         ๔. พระครูวิธานศาสนกิจ เจ้าคณะตำบลในเมือง เขต ๑ (พระอาจารย์ไพรินทร์)
         ๕. พระครูโสภณเขมาภิวัฒน์ เจ้าคณะอำเภอวังทอง
         ๖. พระครูพิทักษ์พรหมคุณ เจ้าคณะอำเภอบางระกำ
         ๗. พระกิตติยาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอบางกระทุ่ม
         ๘. พระครูสถิตวีรธรรม เจ้าคณะอำเภอพรหมพิราม
         ๙. พระครูประพัฒน์ธรรมคุณ เจ้าคณะอำเภอนครไทย
 ขอขอบคุณที่มาข้อมูล : เว็บไซต์จังหวัดพิษณุโลก





เสาหลักเมืองจังหวัดพิษณุโลก เป็นเสาที่ทำจากไม้มงคลหลายชนิด ได้รับมอบจากหลวงปู่โง่น โสรโย
วัดพระพุทธบาทเขารวก โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ดังนี้  ส่วนที่เป็นลำต้น จากโคนลำต้นถึงลูกฟัก
ทำจากไม้ราชพฤกษ์เป็นของนายศักดิ์ เกียรติก้อง อธิการวิทยาลัยการปกครอง ถวายให้หลวงปู่โง่น -
โสรโย   ส่วนที่เป็นท่องลูกแก้วท่อนบน ทำจากไม้ชิงชัน เป็นของนายสมาน ภูแพร ป่าไม้เขต
พิษณุโลก นำมาถวายหลวงปู่โง่น โสรโย เพื่อสร้างยอดเสาหลักเมือง ส่วนยอดบน (ยอดบัวตูม)
ประกอบด้วยลูกแก้ว ทำจากไม้สักทองตายพราย เป็นของนายนันทศักดิ์ วงศ์วรกุลนักวิชาการกรมป่าไม้
นำมาถวายหลวงปู่โง่น โสรโย  ทั้งนี้ หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก ตำบลวังหลุม อำเภอ
ตะพานหิน จังหวัดพิจิตร เกจิอาจารย์ชื่อดัง และเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแกะสลักเสาหลักเมือง ได้
แกะสลักเสาหลักเมืองต้นนี้ตามแบบกรมศิลปากร ขนาดสูง ๓.๒๙ เมตร ลงรักปิดทองอบแห้ง เพื่อป้องกัน
การแตกร้าวและได้นำเสาหลักเมืองต้นนี้ เข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๘













Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 มิถุนายน 2562 12:20:15 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.591 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 24 มีนาคม 2567 13:42:05