[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
18 เมษายน 2567 07:36:08 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระเก้าอี้ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (อ่าน 2360 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 28 พฤศจิกายน 2562 16:13:46 »




พระเก้าอี้ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว    
King Vajiravudh’s Personal Chairs

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้เก็บรักษาพระเก้าอี้แบบตะวันตกและพระโธรนองค์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ไว้หลายองค์ด้วยกัน เช่น พระเก้าอี้ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเก้าอี้ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

การเสด็จออกว่าราชการหรือประทับในการพระราชพิธีต่างๆ พระมหากษัตริย์จะประทับบนพระแท่นราชบัลลังก์ ซึ่งจัดเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศที่สำคัญอย่างหนึ่ง แสดงถึงพระราชอำนาจและพระเกียรติยศอันเกริกไกรของพระองค์ เป็นสุดยอดงานศิลปกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นองค์สมมุติเทพ ที่จุติลงมายังโลกมนุษย์ จึงเป็นที่รวมของงานช่างชั้นสูง ที่แสดงฐานานุศักดิ์ของผู้ใช้เป็นสำคัญ โดยเฉพาะงานจำหลักไม้ปิดทองประดับกระจก ซึ่งมีการประดับลวดลาย เช่น ลายกลีบบัวคว่ำ กลีบบัวหงาย ลายรักร้อย ลายสิงห์ ลายลูกแก้ว รวมทั้งลายเทพพาหนะ เช่น ครุฑ นาค เป็นต้น

เมื่อสยามเปิดประตูต้อนรับชาติตะวันตกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้อิทธิพลจากตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมไทย หนึ่งในผลกระทบของการเปิดประเทศคือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม พระองค์ทรงปรับเปลี่ยนประเพณีบางอย่าง มีการยกเลิกธรรมเนียมต่างๆ ที่ไม่เข้ากับยุคสมัย เช่น สวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้าฯ การให้ชาวต่างประเทศยืนหรือนั่งเก้าอี้เวลาเข้าเฝ้าฯ ได้ตามธรรมเนียมตะวันตก เสด็จออกเยี่ยมเยียนราษฎร และโปรดฯ ให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด  นอกจากนี้การดำเนินชีวิตประวันก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

 
พระราชอาสน์อย่างฝรั่งในราชสำนักสยาม    
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เครื่องเรือนแบบตะวันตกเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ไม่เว้นแม้แต่ในพระราชสำนัก จึงมีการสร้างพระราชอาสน์อย่างฝรั่งไว้ใช้ในพิธีต่างๆ ได้แก่ พระโธรน และพระเก้าอี้

พระโธรน พระโทรน หรือพระที่นั่งโธรน มีลักษณะเป็นเก้าอี้แบบตะวันตกมีพนักสูง มีที่วางแขนสองข้าง ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง ตอนบนของพนักจำหลักลวดลายอาจเป็นตราแผ่นดินหรือตราประจำพระองค์ ใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์ คำว่า โธรน มาจาก คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Thron ในหนังสือราชกิจจานุกเบกษารัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบันทึกการใช้พระที่นั่งโธรนหลายครั้งด้วยกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าพระองค์เลือกใช้พระที่นั่งโธรนเมื่อทรงรับราชทูตหรือพิธีการที่ต้องใช้ธรรมเนียมแบบฝรั่ง  “...จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้หาท่านผู้ซึ่งจะได้รับตำแหน่งที่ปรีวีเคานฯ ซิลนั้นมาเฝ้าพร้อมกัน ในพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร... เมื่อขึ้นไปนั้น พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวทรงยืนคอยรับอยู่น่าพระที่นั่งโทรน...ทรงจับมือทุกท่านทุกนายต่อพระหัถ โดยลำดับทั่วกันแล้ว จึ่งมีพระบรมราชานุญาตโปรดเกล้าฯ ให้นั่งเก้าอี้ที่จัดไว้นั้น แล้วทรงปราไศรยด้วยท่านปรีวีเคาฯ ซิลทั้งหลายตามธรรมเนียม...”   ได้กล่าวถึงหน้าที่ของมหาดเล็กในการตั้งเครื่องเพื่อเตรียมการพระราชพิธีรับพระราชอาคันตุกะ ดังนี้  “...ถ้าเสด็จออกแขกเมือง เครื่องทั้งนี้ทอดที่โต๊ะ คือ พานพระขันหมาก ๑ กับพระสุพรรณศรี ๑ ทอดที่บนโต๊ะพระโธรนข้างขวา พระมณฑป ๑ ทอดที่บนโต๊ะพระโธรนข้างซ้าย พระสุพรรณราช๑ ทอดเชิงพระแท่นข้างซ้าย ที่พระแท่นเสวตฉัตรข้างพระแท่น ทอดพระแสงง้าวประดับพลอยข้างละองค์...”   นอกจากนี้กรมพระราชวังบวรได้สร้างพระโธรนขึ้นด้วยเช่นกัน มีข้อความปรากฏในหนังสืออธิบายว่า ด้วยหอพระสมุดวชิรญาณแลพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร “เก้าอี้โธรนกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงสร้างขึ้นในขั้นแรก ใช้ธรรมเนียมยืนเฝ้าฯ เมื่อปีระกา พ.ศ.๒๔๑๖ มีอยู่ในพระราชวังบวรฯ ๒ ตัว จะได้ใช้ในการอย่างใดหาทราบไม่”

พระเก้าอี้แบบตะวันตก เป็นที่นั่งอีกประเภทหนึ่งที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปในพระบรมวงศ์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป หากใช้สำหรับพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศ์ที่ได้รับพระราชทานฉัตร ๗ ชั้น จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระราชอาสน์ พระเก้าอี้มีลักษณะคล้ายกับพระโธรน แต่พนักพิงจะเตี้ยกว่า และใช้ในโอกาสที่หลากหลายกว่า เช่น ใช้ประทับในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ต่างๆ หรือในพระราชพิธีทั่วๆ ไป

แม้ว่าพระโธรนและพระเก้าอี้จะเป็นแบบตะวันตก แต่การผูกลายก็ยังคงมีความเป็นตะวันออกผสมผสานกันอย่างกลมกลืน ตอนบนของพนักพิงมักจำหลักตราประจำพระองค์ ลวดลายประกอบอาจเป็นลายพรรณพฤกษา ลายดอกไม้ เทพพาหนะ หรือนักษัตรประจำวันเกิด





พระเก้าอี้ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว    
ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง สูง ๑๓๑.๕ เซนติเมตร กว้าง ๗๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๕๒ เซนติเมตร  ลักษณะเป็นเก้าอี้แบบตะวันตก พนักพิงทรงสี่เหลี่ยม ตอนบนของพนักจำหลักเป็นตราประจำพระองค์ ว.ป.ร. จุลมงกุฎ (พระเกี้ยว) ขนาบด้วยนาคเกี้ยว ข้างละ ๗ ตัว เท้าแขนบุผ้า ส่วนปลายเท้าแขนต่อกับขาพระเก้าอี้สลักรูปนาคสามเศียร ใต้เบาะที่ประทับด้านหน้าสลักรูปนาคเกี้ยว ขาหน้า ๒ ขา เป็นขาสี่เหลี่ยมตรงสลักลายตกแต่งแบบตะวันตก ขาหลังเป็นขาสี่เหลี่ยมลาดเฉียงออกทางด้านหลังเล็กน้อย ปิดทองทึบไม่ตกแต่งลวดลาย ปัจจุบันจัดแสดง ณ ที่พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

การออกแบบลวดลายบนพระเก้าอี้    
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๒๔ เป็นพระราชโอรส พระองค์ที่ ๒๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพในปีมะโรง นักษัตรคืองูใหญ่ หรือนาคนั่นเอง  จึงมีการใช้ลายนาคประกอบในตราประจำพระองค์ หรือของใช้ส่วนพระองค์  พระเก้าอี้องค์นี้จึงตกแต่งด้วยลายนาคเกี้ยว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ายังไม่พบการใช้ตราประจำพระองค์ (ว.ป.ร.จุลมงกุฎ) แบบที่ปรากฎตอนบนของพนักพระเก้าอี้ในที่อื่นๆ 

โปรดติดตามตอนต่อไป

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : นิตยสารศิลปากร เดือนกรกฏาคม - สิงหาคม ๒๕๖๒ "ของชิ้นเอกในกรมศิลปากร - พระเก้าอี้ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว"

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 29 พฤศจิกายน 2562 15:25:41 »


 
การใช้พระเก้าอี้แบบตะวันตกในราชสำนัก สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ตราประจำพระองค์บนพนักพิงพระเก้าอี้  

ตลอดพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงใต้ตราประจำพระองค์หลายตราด้วยกัน ขึ้นอยู่กับการดำรงพระอิสริยยศ วาระและโอกาสต่างๆ พระบรมนามาภิไธย วชิราวุธ นั้น เป็นคำสมาสระหว่างคำ “วชิระ” กับคำว่า “อาวุธ”  คำว่า “วชิระ” แปลได้หลายความหมาย ได้แก่ สายฟ้า เพชร และอาวุธของพระอินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผูกตราประจำพระองค์พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวารวดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รูปเพชรเป็นสัญลักษณ์แทนพระนาม

ในพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พุทธศักราช ๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพัดรอง ปักตราประจำพระองค์เป็นอักษรพระนามาภิไธย ม.ว. ภายใต้มงกุฎจักรี เบื้องหลังเป็นเพชรเปล่งรัศมี

พุทธศักราช ๒๔๓๗ ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เติม “อุณาโลม” เหนือรูปเพชรที่พระราชทานไว้เดิม และทรงใช้ตราประจำพระองค์จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๔๔๕ เสด็จนิวัตพระนคร พบว่า ทรงใช้พระลัญจกรจุลมงกุฎขนนก ในบางโอกาส

วันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชันษาครบ “มโรงนักษัตร ๒ รอบ” ๒๔ พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพัดรองที่ระลึกในวโรกาสดังกล่าว ๒ เล่ม เล่มหนึ่งปักตราประจำพระองค์ เป็นรูปเพชรภายใต้จุลมงกุฎ (พระเกี้ยว) อีกเล่มปักตราประจำพระองค์เป็นอักษรพระนามาภิไธย ม.ว.ภายใต้จุลมงกุฎ

พุทธศักราช ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงคิดผูกตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นใหม่  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ ได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน รัตโกสินทรศก ๑๒๗ (พุทธศักราช ๒๔๕๑) ความตอนหนึ่งว่า “...ที่จะใช้รูปวชิราวุธอย่างอินเดียนั้นถูกดี ที่เดี๋ยวนี้ใช้รูปเพชรบริลเลี่ยนอย่างประดับเครื่องแต่งตัวนั้นผิด ด้วยไม่เปนอาวุธ จะเอาอะไรช้อนวชราวุธให้เปนยอดตราของท่านที่ใช้อยู่แล้ว มีอุณาโลมซ้อนบนเพชร อุณาโลมเปนตาที่สามของพระอิศวร ควรใช้เปนทีหมายเฉพาะแต่มหาราช อุปราชเอาไปใช้นั้นผิด ใช้ไม่ได้ ตราตำแหน่งมกุฎราชกุมารได้ตั้งแบบขึ้นไว้ เปนพระเกี้ยวมีขนนกการเวกแซมหลัง จะเอาพระเกี้ยวมาใช้จะเปน อย่างไร จะได้จะดีฤๅไม่ ต้องแปลตรามกุฎราชกุมารเสียก่อน... ถ้าเอาฉัตรกับวชิราวุธเปนหลัก จะผูกตราได้สามอย่าง คือ

๑. ตราตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอสราธิราช มกุฎราชกุมาร ทำเปนรูปฉัตรเจ็ดชั้น (อย่างแขวน ไม่มีคัน)

๒. ถ้าทำตราผสม คือ ตราสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร ควรทำรูปวชิราวุธมีคมสองข้างนอนไว้ข้างล่าง มีฉัตรเจ็ดชั้นกั้นเบื้องบน

๓. ถ้าทำตราฉเพาะพระองค์เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ควรใช้รูปวชิราวุธคมข้างเดียวตั้งขึ้น (แบบข้างอินเดียเขาทำคมข้างเดียวมีเหมือนกัน) มีรัศมีหว่านล้อมเปนรูปทรงเข้าบิณฑ์ ตรารูปนี้จะเห็นเหมือนตราตรี ซึ่งได้ตีเงินในชั้นแรกรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเรียกว่าตราซ่อม ความเห็นไปไกลเช่นนี้ จะเปนที่ใช้ได้ฤๅไม่ แล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ ถ้าตกลงจะใช้อย่างนี้ น่าที่โทษจะถึงต้องแก้พระราชบัญญัติ เข้าใจว่าในพระราชบัญญัติใช้ตราแผ่นดิน จะมีกล่าวด้วยตราตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชด้วย แต่ไม่แน่...”

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ กำหนดพระนามาภิไธยย่อขึ้นใหม่ เดิมมีผู้กราบบังคมทูลเสนอให้ใช้ ม.ป.ร. แต่พระองค์ทรงเลือกใช้ ว.ป.ร. โดยได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ในพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ราชเลขานุการ วันที่ ๒๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ ว่า “...ตามที่ได้พูดกันในที่ประชุมเมื่อวันที่ ๒๕ เรื่องอักษรพระนามย่อจะให้ใช้เปน ม.ป.ร.ต่อไปนั้น ได้มาตริตรองดูอีกต่อไปแล้ว มาเกิดมีความคิดขลึกขลักในใจขึ้น คือประการ ๑ ตามที่ได้ใช้เซ็นชื่อมาตั้งแต่ปี ๑๒๕ (พ.ศ.๒๔๔๙ - วรชาติ) ได้เคยใช้ว่า “วชิราวุธ” ดังนี้ ได้งด “มหา” มาเสียหลายปีแล้ว ได้พยายามจะเซ็น “มหาวชิราวุธ” ใหม่ มือไปไม่คล่องเลย เพราะเคยอย่างโน้นมาเสียมากแล้ว...เพราะฉนั้นถ้าไม่เปนการขัดข้องมากมายอย่างไร อยากจะใคร่คงใช้เซ็นชื่อว่า “วชิราวุธ” อย่างเดิม และถ้าเช่นนั้น อักษรย่อก็คงต้องใช้เปน ว.ป.ร. ขอให้ปฤกษากรมหลวงเทววงศ์ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงษ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ – วรชาติ) และท่านองค์อื่นๆ ที่ได้มาประชุมวันนั้นด้วยกันว่าจะเห็นอย่างไร...”

พุทธศักราช ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัติพระราชลัญจกร รัตนโกสินทรศก ๑๓๐ (พุทธศักราช ๒๔๕๔) เพื่อสร้างพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน สำหรับประทับกำกับพระบรมนามาภิไธยในหนังสือสำคัญต่างๆ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ มีลักษณะเป็นรูปวชิราวุธ เปล่งรัศมีที่ยอด ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ๒ ชั้น มีฉัตรบริวารตั้งขนาบทั้ง ๒ ข้าง อยู่ในกรอบวงรี

จากการศึกษาพระราชลัญจกร และตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พบว่าการใช้พระนามาภิไธย ว.ป.ร. เริ่มใช้เมื่อแรกเสด็จเสวยสิริราชสมบัติ วันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ สอดคล้องกับตราประจำพระองค์บนพระเก้าอี้ แต่พิเศษที่พระนามาภิไธยนั้นอยู่ใต้จุลมงกุฎ (จุลมงกุฎ เป็นส่วนหนึ่งของตราประจำพระองค์ที่ใช้ในสมัยที่พระองค์ดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร)  สันนิษฐานว่าพระเก้าอี้องค์นี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวพุทธศักราช ๒๔๔๗ รูปแบบของจุลมงกุฎมีลักษณะเดียวกับพัดรองที่ระลึกงานฉลองพระชันษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร พุทธศักราช ๒๔๔๗ ประกอบกับเบื้องหลังพระนามาภิไธยมีรัศมีเป็นแฉกคล้ายกับรัศมีของเพชรที่ปักบนพัดรอง เป็นไปได้ว่าพระเก้าอี้อาจสั่งทำขึ้นในคราวเดียวกัน และพระองค์ยังคงใช้ต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงได้เพิ่มพระนามาภิไธย ว.ป.ร. บนตราประจำพระองค์เดิม

การใช้พระราชอาสน์แบบตะวันตก ทั้งพระโธรน และพระเก้าอี้ แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย ที่มีการปรับเปลี่ยนธรรมเนียมประเพณีบางประการในราชสำนักให้สอดคล้องกับชาติตะวันตก พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทรงเลือกรับปรับใช้ให้เข้ากับสภาพการณ์โดยคำนึงถึงความเหมาะสมหรือรูปแบบของสังคมไทยควบคู่กันไปด้วย ทำให้ยังคงธำรงความเป็นไทยไว้ได้อย่างเข้มแข็ง




(บน) พระเก้าอี้ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเก้าอี้
แบบตะวันตก จำหลักลายปิดทอง  เหนือพนักพิงมีตราพระราชลัญจกร
ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
(ล่าง) พระโธรนพร้อมแท่นรองพระบาท แบบตะวันตก จำหลักลายปิดทอง
รูปพญานาคไขว้   สร้างสำหรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ เดิมอยู่ที่พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน



(บน) ผ้ากราบในการพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
รัตนโกสินทรศก ๑๐๙  แสดงพระราชลัญจกรจุลมงกุฎขนนก สำหรับตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
สยามมกุฎราชกุมาร ด้านล่างเป็นแพรแถบมีอักษร ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ. ซึ่งย่อมาจาก เราจะบำรุงตระกูลวงษ์ให้เจริญ
(ล่าง) พัดรอง “มโรงนักษัตร ๒ รอบ” ๒๔ พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร



(บนซ้าย) ตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
(บนขวา) พระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
(ล่าง) ตราประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
แสดงอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร. พระมหามงกุฎ

ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : นิตยสารศิลปากร เดือนกรกฏาคม - สิงหาคม ๒๕๖๒ "ของชิ้นเอกในกรมศิลปากร - พระเก้าอี้ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 พฤศจิกายน 2562 16:11:01 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.316 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 15 เมษายน 2567 23:37:49