[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 21:47:44 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บ้านของใจ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี  (อ่าน 827 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 79.0.3945.130 Chrome 79.0.3945.130


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 27 กุมภาพันธ์ 2563 15:09:29 »



บ้านของใจ

กัมมัฏฐานนี่มีอยู่ ๔๐ ชนิดด้วยกัน ที่เราสามารถใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นเครื่องมือให้สร้างสติขึ้นมา เพื่อที่จะหยุดความอยากหยุดความคิดได้ กัมมัฏฐานที่เราจะได้ยินบ่อยๆ ที่เราใช้กันทั่วไปที่เหมาะกับคนทั่วไปก็คือ คำบริกรรม “พุทโธ พุทโธ” อันนี้เราเรียกว่า “พุทธานุสสติ” ให้มีสติอยู่กับชื่อของพระพุทธเจ้า แต่อันนี้ไม่ใช่เป็นอันเดียว มีการสร้างสติอีกหลายแบบ เช่น เวลาเรานั่งเฉยๆ ถ้าเราไม่ใช้พุทโธเราใช้ดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ อันนี้เราก็เรียกว่า “อานาปานสติ” ให้มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก “อานา” แปลว่าลมเข้า “ปานะ” แปลว่าลมออก “สติ” ก็คือให้รู้อยู่กับลมเข้าลมออก ก็เรียกว่า “อานาปานสติ” หรือถ้าไม่ใช้อานาปานสติเวลาที่เราทำงาน เราก็ใช้ “กายคตาสติ” กายคตาสติก็ให้มีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย “กายคตา” แปลว่าร่างกาย ให้รู้ว่าตอนนี้ร่างกายกำลังทำอะไรอยู่ กำลังยืนกำลังเดินกำลังนั่ง กำลังหันหน้าไปทางซ้าย กำลังหันหน้าไปทางขวา กำลังยกแขนยกมือ กำลังอาบน้ำ กำลังแปรงฟัน ไม่ว่าทำอะไรให้มีสติอยู่กับงานที่กำลังทำอยู่ ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่น เรียกว่าเป็นการสร้างสติด้วยการเฝ้าดูร่างกาย

ฉะนั้น กัมมัฏฐานนี้มีหลายรูปแบบหลายชนิดด้วยกัน และเราอาจจะต้องเปลี่ยนไปตามโอกาส เช่น เวลาที่เราเคลื่อนไหวนี้ เราใช้ดูลมหายใจลำบาก มันยากเพราะลมมันละเอียด สู้ดูร่างกายง่ายกว่า ดูเท้ากำลังเดินง่ายกว่า ดูมือที่กำลังยกขึ้นยกลงหรือดูงานที่กำลังทำอยู่ ที่ให้ดูเพื่อที่จะไม่ให้ใจคิดถึงอดีตคิดถึงอนาคต คิดถึงคนนั้นคิดถึงคนนี้ ถ้าขณะที่ดูร่างกายมันยังหนีไปคิดได้ เราอาจจะต้องใช้คำบริกรรมดึงกลับมาก็ได้ ใช้พุทโธ พุทโธ ดึงกลับมา ถ้าเดินไปมันยังคิดถึงคนนั้นคนนี้อยู่ เราก็ต้องเดินไปแล้วก็พุทโธ พุทโธ ไปด้วยก็ได้ เพื่อให้มันหยุดคิดให้ได้ ให้มันกลับมาอยู่ที่ปัจจุบัน ให้มาอยู่ที่ร่างกาย ถ้าเราฝึกสติแบบนี้ต่อไปสติเราจะมีกำลังมากขึ้นๆ แล้วต่อไปความคิดจะน้อยลงๆ พอเราสั่งให้มันหยุดคิดมันก็จะหยุดคิด ถ้าเราไม่สั่งมันก็จะคิด ทีนี้ถ้าเรามีสติแล้ว ถ้าเราอยากจะให้ใจเข้าข้างในเราก็สามารถทำได้ เราก็ไปนั่งหลับตา แล้วก็มีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือมีสติอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ พุทโธ ถ้าเราไม่ไปคิดอะไร ภายใน ๕ นาที ๑๐ นาทีนี้จิตก็จะเข้าข้างในได้ จิตก็จะเหมือนตกหลุมตกบ่อ บางทีเหมือนเข้าไปในถ้ำแหละ หรือตกหลุมลงไปในบ่อลึก ร่างกายหายไปจากความรู้สึกเลย ตอนนั้นจะมีแต่ความว่างความสงบความเย็นความสบายใจ แล้วใจก็เป็นกลาง ใจจะรู้สึกเฉยๆ ไม่มีความรักความชังความกลัวความหลงอยู่ในใจ อันนี้คือการเข้าไปสู่ “บ้านของใจ” หรือเข้าไปสู่ “ฐานของใจ” เรียกว่า “ฐาน” สมาธิคือฐานของใจ เป็นบ้านของใจ แล้วใจก็จะรู้จักตัวเองว่า “อ๋อ นี่คือเรา เราคือผู้รู้” ตอนนี้เราหยุดคิดแล้ว แล้วก็เลยเหลือแต่ผู้รู้ หยุดคิดหยุดจำ หยุดรับรู้ความรู้สึกที่เข้ามาทางตาหูจมูกลิ้นกายต่างๆ ก็เหลือแต่ผู้รู้ผู้คิดอยู่ ผู้คิดก็หายไปเหลือแต่ผู้รู้ แล้วก็จะอยู่ในนั้นนานไม่นานก็อยู่ที่กำลังของสติ

ถ้าใหม่ๆ นี้ถ้าเข้าไปแป๊บเดียวก็จะถอยออกมา เพราะกำลังของสติที่จะให้อยู่นานๆ ยังไม่มี มีพอที่จะดึงเข้าไป พอดึงเข้าไปก็หมดกำลัง พอหมดกำลังกิเลสตัณหาความโลภความอยากที่มีอยู่ในใจมันก็จะดันใจออกมาให้คิดทันที แต่ถ้าเราหมั่นฝึกสติเรื่อยๆ หมั่นนั่งสมาธิเรื่อยๆ ต่อไปจิตก็จะเข้าไปข้างในและอยู่ได้นานขึ้นๆ ตอนต้นก็ได้ไม่กี่วินาที ต่อไปก็จะได้ ๑ นาที ๒ นาที ๓ นาที ฝึกไปเรื่อยๆ ต้องฝึกสติตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะตอนที่มานั่ง ต้องฝึกสติตั้งแต่ลืมตาขึ้นมาจนถึงเวลานอนหลับเลย ถึงจะสร้างสติขึ้นมาได้มาก ถ้าไม่ฝึกไม่สร้างสตินั่งสมาธิยังไงก็ไม่มีวันที่จะเข้าถึงความสงบ เข้าถึงฐานของจิตได้ จะไม่รู้จักตัวของจิตว่าเป็นอย่างไร จะไม่เห็นเวลาจิตทุกข์จิตสุขเป็นอย่างไร งั้นถ้าเข้าไปข้างในแล้วนี่ เวลาจิตคิดไม่ดีปั๊บนี่จะรู้เลยว่าจิตไม่สบายใจขึ้นมาทันที เวลาจิตคิดดีปั๊บจิตจะเย็นจะสบายขึ้นมาทันที จะเห็นกฎแห่งกรรมอย่างชัดเจน อยู่ภายในจิตนี้ จิตเป็นผู้กระทำและจิตเป็นผู้รับผลของการกระทำของจิตเอง ไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องของทางร่างกายว่าจะได้รับโทษหรือไม่ได้รับโทษ อันนั้นไม่ได้เป็นปัญหาอะไร ปัญหาอยู่ที่ใจ ถ้าเรามีสติเราเข้าถึงตัวจิตนี้แล้ว เราจะเห็น ทีนี้ เราจะระมัดระวังแล้วว่า “ต่อไปนี้เราจะไม่คิดไม่ดีแล้ว คิดแต่ดีดีกว่า คิดดีแล้วมันทำให้เราสบายใจ หรือถ้าไม่คิดดีแต่ก็อย่าไปคิดไม่ดี ให้อยู่เฉยๆ แบบไม่คิดก็แล้วกัน ไม่คิดก็สงบก็มีความสุข คิดดีก็มีความสุข แต่ถ้าคิดไม่ดีก็จะมีความทุกข์

นี่คือการเข้าไปทำความรู้จักกับตัวเรา นี่แหละคือตัวเรา คือตัวที่พาให้เรามาเวียนว่ายตายเกิดนี่ เรามากับมัน แล้วเราก็จะมารู้จักตัวเราว่า ตัวเราจริงๆ นี้ไม่ใช่ตัวที่เราคิดกัน ตัวที่เราคิดนี่เป็นตัวปลอม เพราะว่าเวลาเราหยุดคิดมันก็หายไป เวลาที่เราเข้าสมาธิไปตัวที่เราคิดว่าเป็นตัวเราหายไป พอเราหยุดคิดหยุดสร้างตัวนี้ขึ้นมา ตัวนี้เกิดจากความคิด แต่พออกมาปั๊บเราจะคิดทันทีว่าเราเป็นนาย ก นาย ข เป็นหญิงเป็นชาย เป็นลูกของคนนั้นเป็นพี่ของคนนี้ อันนี้เป็นเรื่องของความคิดเท่านั้นเอง แต่พอมันเข้าไปข้างในแล้วมันหยุดคิดปั๊บ ความคิดที่ว่าเป็นเราเป็นเขาเป็นพี่เป็นน้องเป็นอะไรนี่หายไปหมด มีแต่ตัวรู้ตัวเดียว เราก็จะรู้ว่าจิตของทุกคนเหมือนกันหมด จิตของใครก็ตามไม่ว่าของพ่อของแม่ของพี่ของน้อง ของภรรยาของใครนี่เหมือนกันหมด เป็นตัวรู้ตัวคิด พอไม่คิดก็เหลือแต่ตัวรู้ พอไม่คิดแล้วจิตก็สงบ จิตก็มีความสุข พอจิตเริ่มคิดแล้วเดี๋ยวก็วุ่นวายแล้ว ถ้าคิดไปในทางที่ไม่ดี ส่วนใหญ่ที่คิดไปในทางที่ไม่ดีก็เพราะความหลงพาให้ไปคิดในทางที่ไม่ดี ความหลงจะให้เราคิดว่าถ้าได้สมบัติได้ข้าวของเงินทองมาแล้ว จะทำให้เรามีความสุข แต่ความคิดแบบนี้มันจะเป็นตัวบีบรัดให้จิตต้องไปทำงาน ต้องไปหาสิ่งต่างๆ มา การหาสิ่งต่างๆ มันก็ยุ่งยากมีปัญหา บางทีก็ได้บางทีก็ไม่ได้ เวลาได้มาแล้วเดี๋ยวก็หมดไป แล้วก็ต้องมาเสียใจเวลาที่เสียสิ่งที่ได้มาไป

ผู้ที่เข้าถึงตัวความสงบของจิตแล้ว ทีนี้จะรู้แล้วว่าการไปหาอะไรต่างๆ ในโลกนี้เป็นการไปหาความทุกข์ ไม่ใช่เป็นการไปหาความสุข ใครได้เข้าสู่สมาธิแล้วนี้จะไม่อยากจะไปหาอะไรแล้ว อยากจะเข้าสู่ข้างในอย่างเดียว อยากจะเข้าสู่ความสงบ และปลอดภัยเพราะไม่ไปทำบาปทำกรรมกับใคร แต่ถ้าออกมาข้างนอกมาทางร่างกาย มาหาสิ่งนั้นสิ่งนี้เดี๋ยวจะต้องไปแย่งกับคนนั้นแย่งกับคนนี้ เดี๋ยวต้องไปทะเลาะกับคนนั้นกับคนนี้ แล้วดีไม่ดีเดี๋ยวก็ต้องไปฆ่าฟันกัน ผู้ที่เข้าข้างใน ดึงจิตเข้าข้างในได้เห็นความสุขที่ได้จากความสงบ รู้จักตัวเองว่าเป็นใครแล้ว ทีนี้ก็จะไม่ค่อยอยากจะออกมายุ่งกับเรื่องภายนอก แต่เนื่องจากว่าใจตอนนั้นยังมีภาระต้องดูแลร่างกายอยู่ ก็อยู่ข้างในได้ไม่ตลอดเวลา อยู่ได้เป็นพักๆ เดี๋ยวก็ต้องออกมาเพราะร่างกายมันบอก “ปวดท้องฉี่แล้ว หิวน้ำแล้ว หิวข้าวแล้ว ต้องเปลี่ยนท่านั่งแล้ว นั่งนานๆ มันก็เมื่อยมันก็เจ็บ” ก็เลยเข้าสมาธิไม่ได้ไปตลอดเวลา ก็ต้องออกมาจากสมาธิ ทีนี้ออกมาถ้าไม่มีอะไรคอยรักษาใจ ใจก็อาจจะคิดไปตามกิเลสได้ เพราะกิเลสยังไม่ได้ถูกทำลายจากการเข้าไปในสมาธิ เพียงแต่ทำให้กิเลสหยุดทำงาน เวลาจิตหยุดคิดกิเลสก็ต้องหยุดทำงาน แต่พอออกจากสมาธิมา พอเริ่มคิด ถ้าไม่คอยควบคุมความคิด เดี๋ยวกิเลสมันจะดึงความคิดไปคิดทางกิเลส พอเห็นกาแฟก็อยากจะได้ เห็นขนมก็อยากจะกิน เห็นอะไรก็อยากจะได้ขึ้นมา เกิดความโลภเกิดความอยากขึ้นมา พอเกิดความโลภก็จะทำให้ใจเริ่มสั่นแล้ว ใจเริ่มร้อนใจเริ่มหิวขึ้นมา ใจเมื่อก่อนออกมาใหม่ๆอิ่มสบายไม่หิวกับอะไร แต่พอไปคิดไปอยากนี้ความหิวเกิดขึ้นมาทันที งั้นขั้นต่อไปเวลาออกจากสมาธิมา ก็ต้องมาคอยควบคุมความคิดไม่ให้มันคิดไปในทางความอยาก

ขั้นนี้เราเรียกว่า “วิปัสสนา” คือต้องเอาปัญญาความฉลาดของพระพุทธเจ้ามาใช้ให้หยุดความคิดที่จะคิดไปในทางความอยาก คิดอย่างไรจึงทำให้ไม่อยาก ก็ให้คิดว่าสิ่งที่เราอยากมันเป็นทุกข์นั้นเอง มันไม่เป็นสุข แต่เราถ้าไม่มีปัญญาเราจะไม่เห็นทุกข์ เราจะเห็นแต่สุข ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอยากได้นี้มันมี ๒ ด้าน มีด้านที่เป็นสุขและด้านที่เป็นทุกข์ แต่เรามักจะมองไม่เห็นด้านที่เป็นทุกข์กัน เราคิดว่ามันเป็นสุขทั้ง ๒ ด้าน มันจะไปเป็นสุขตลอดเวลา ได้อะไรมาแล้วสิ่งที่เราได้มาจะให้ความสุขกับเราตลอดเวลา แต่ที่ไหนได้ พอได้มาแล้วความสุขที่ได้มาแป๊บเดียวหายไปแล้ว ความทุกข์เริ่มเข้ามาโดยไม่รู้สึกตัว ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะรัก พอรักอะไรก็หวงแล้วใช่ไหม หวงไม่อยากให้ใครมาแตะ ไม่อยากให้ใครมายุ่งเกี่ยว ห่วงแล้วเวลาไม่เห็นของที่เรารักของที่เราได้มาก็กังวลแล้ว เอ๊ะเขาเป็นอะไรไปหรือเปล่า หายไปหรือเปล่า แล้วถ้าเขาตายไปหรือจากเราไปก็ทุกข์อีก อันนี้แหละคือส่วนที่เรามองไม่เห็นกัน เราจึงต้องอาศัยความรู้ของพระพุทธเจ้าที่เราเรียกว่าปัญญาหรือวิปัสสนา พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ได้พิจารณาได้ศึกษาจนเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้มาเป็นสมบัติของเรานี้มันเป็นตัวสร้างความทุกข์ให้กับเราโดยที่เราไม่รู้สึกตัว เพราะใจของเราพอได้อะไรมาแล้วเราจะหวงจะห่วงจะรักจะไม่อยากให้จากเราไป แต่เราไม่ศึกษาความจริงว่า ของต่างๆในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราไปได้ตลอดไป ไม่มีอะไรจะเป็นเหมือนเดิมเหมือนวันแรกที่เราได้มา ทุกสิ่งทุกอย่างมันอยู่ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ของที่เราซื้อมาใหม่ๆ ตอนซื้อมาใหม่ๆมันดีไปหมดใช้ได้ดี พอใช้ไปเรื่อยๆไม่กี่เดือนกี่ปีมันเริ่มเสียแล้ว ต้องเข้าโรงซ่อมแล้ว ถ้าใช้ไปนานๆต่อไปก็ซ่อมไม่ได้ต้องทิ้งไป

นี่คือธรรมชาติของสิ่งต่างๆที่กิเลสตัณหาอยากได้กัน แต่กิเลสตัณหาจะไม่สอนให้เรามองว่ามันไม่เที่ยง ไม่สอนให้เรามองว่ามันจะทำให้เราทุกข์ ไม่สอนให้เรามองว่ามันจะไม่เป็นของเราไปตลอดไป มันจะต้องมีวันจากเราไป จึงต้องอาศัยคนฉลาดอย่างพระพุทธเจ้ามาศึกษาให้เห็นความจริงของธรรมชาติของสิ่งต่างๆที่เราอยากได้กันนี้ว่า มันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พอเราเห็นว่ามันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็จะไม่เอาดีกว่า ได้มาแล้วเดี๋ยวต้องมาวุ่นวายใจ เอามาทำไม ทุกวันนี้ที่เราทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์กับสิ่งที่มีหรือทุกข์กับสิ่งที่ไม่มี ส่วนใหญ่ทุกข์กับสิ่งที่มีใช่ไหม พอมีอะไรแล้วกังวลไหม ห่วงใยไหม กังวล มีสมบัตินี่ก็กังวลแล้ว มีบ้านก็กังวลแล้ว ตอนนี้ถ้ามีใครส่งข่าวมาว่าบ้านกำลังไฟไหม้นี้ เป็นอย่างไร ตอนนี้อยู่ตรงนี้ไม่ติดแล้ว แต่ถ้าไม่มีบ้านก็ไม่ต้องมากังวลกับบ้านกัน ไม่มีสมบัติก็ไม่ต้องมากังวลกับสมบัติ ไม่มีครอบครัวก็ไม่ต้องมากังวลกับครอบครัว นี่พอมีอะไรมันจะทุกข์ มันจะสร้างความทุกข์ให้กับใจทันที เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่มีมันจะต้องเปลี่ยนไปจะต้องหมดไป แต่เราไม่ยอมมองกัน เรามามองตอนที่เราได้มาแล้ว ถึงจะรู้ว่าเดี๋ยวเขาจะต้องจากเราไปแล้ว แต่เราก็ไม่ยอมให้เขาจากไป ทั้งๆที่รู้ว่ามันจะต้องจากกันก็ยังไม่ยอมให้จากไป นี้คือความดื้อของใจ เราจึงต้องอาศัยการปฏิบัติสมาธิและปัญญาเท่านั้น เราจึงจะสามารถสอนใจ แล้วก็สอนให้ใจเชื่อ ไม่ดื้อกับความจริง ถ้าไม่มีสติไม่มีสมาธิไม่มีปัญญานี้ เราจะไม่สามารถที่จะสอนใจให้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้ ไม่สามารถสอนใจให้หยุดความอยากได้สิ่งต่างๆได้ เมื่อไม่สามารถสอนให้มันหยุดได้ มันก็จะคอยไปหาสิ่งต่างๆมาสร้างความทุกข์ให้กับใจอยู่เรื่อยๆ นี่แหละคือวิปัสสนา พอเราได้สมาธิแล้ว ชำนาญในการปฏิบัติสมาธิแล้ว แล้วค่อยมาทางปัญญาพอออกจากสมาธิ ถ้าเรายังไม่ชำนาญทางสมาธิเราใช้สติรักษาใจไปก่อน ออกมาก็กลับมาพุทโธ พุทโธ พุทโธไป หรือคอยเฝ้าดูการกระทำต่างๆ ของร่างกายไป อย่าไปใช้ทางปัญญาเพราะว่าถ้าเราใช้เดี๋ยวเราคิดไปผิดทางมันจะกลายเป็นกิเลส แล้วมันจะทำให้ใจเราวุ่นวายฟุ้งซ่านขึ้นมา แล้วจะทำให้เราหยุดมันไม่ได้

ฉะนั้น เราต้องฝึกหยุดใจให้ได้จนชำนาญก่อน พอเราต้องการจะหยุดมันเมื่อไรเราถึงจะหยุดมันได้ แล้วเราค่อยมาทางปัญญา ที่นี้พอใจอยากได้อะไรเราก็ใช้ปัญญามาสอนว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าอยากได้แฟนก็นอกจากเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ยังไม่สวยงามอย่างที่เราคิด เพราะร่างกายของคนเราทุกคนมันมีส่วนที่สวยงามและส่วนที่ไม่สวยงาม ทำไมเราไม่มองในส่วนที่ไม่สวยงามบ้าง ทำไมไม่มองเข้าไปใต้ผิวหนังบ้าง ใต้ผิวหนังนี้มีอะไรตั้งเยอะแยะที่เรามองไม่เห็นกัน โครงกระดูกก็อยู่ใต้ผิวหนัง ปอดหัวใจตับลำไส้อะไรต่างๆ เหล่านี้ก็อยู่ภายใต้ร่างกายที่สวยงามนี่แหละ ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้เรื่อยๆแล้วต่อไปเราจะไม่อยากได้ใครมาเป็นแฟน อยู่คนเดียวสบายกว่าไม่ต้องทุกข์กับแฟนไม่ต้องทุกข์กับครอบครัว นี่คือการปฏิบัติที่จะทำให้เรายุติการทำให้ดวงวิญญาณของเรานี้ไปเกิดอยู่เรื่อยๆ การที่มันไปเกิดอยู่เรื่อยๆเพราะมันยังมีความอยากอยู่ ยังอยากมีร่างกาย ยังอยากหาความสุขจากสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้อยู่ แต่พอเราสอนใจว่าการไปเกิดนี้เป็นการไปหาความทุกข์ มันก็ไม่เอาดีกว่า หยุดความอยากดีกว่า หยุดเกิดดีกว่า พอใจได้ทำลายความอยากไปแล้ว มันก็ไม่มีอะไรจะดึงใจให้ไปเกิดอีกต่อไป เพราะไม่รู้จะไปหาอะไร เพราะสิ่งต่างๆ ที่หาได้เป็นทุกข์ทั้งนั้น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น สู้ไม่หาดีกว่าอยู่เฉยๆ ดีกว่า อยู่กับความสงบดีกว่า ใจก็จะกลายเป็นนิพพานไป ใจที่ปราศจากความอยากต่างๆ เหลือแต่ความสงบก็เรียกว่านิพพานไป อยู่กับความว่าง “นิพพานัง ปรมัง สุญญัง” “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” “นิพพาน” คือใจที่ว่างเปล่าแต่เต็มไปด้วยความสุข นี้คือความหมาย “ปรมัง สุญญัง” ก็คือว่างเปล่า ๑๐๐% “ปรมัง สุขัง” ก็สุข ๑๐๐% นี่คือใจที่ว่างเปล่าแต่เต็มไปด้วยความสุข ว่างจากลาภยศสรรเสริญ ว่างจากสิ่งต่างๆ ที่คนที่มีความอยากยังมีกันอยู่ แต่ใจของผู้ที่ตัดความอยากไปหมดแล้วจะไม่มีอะไรอยู่ในใจอีกต่อไป ใจก็เลยอยู่อย่างนั้นไป ไม่มีวันสิ้นสุด ใจของพระพุทธเจ้าใจของพระสาวกก็อยู่แบบนี้อยู่ตั้งแต่วันที่ท่านได้เข้าไปถึงนิพพานแล้วไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป


สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๒
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
บรมสุข : พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 0 843 กระทู้ล่าสุด 23 สิงหาคม 2562 15:35:24
โดย Maintenence
โรคจิต โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 1 1493 กระทู้ล่าสุด 29 สิงหาคม 2562 16:58:03
โดย Maintenence
สัพเพธัมมาอนัตตา โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 0 1182 กระทู้ล่าสุด 29 สิงหาคม 2562 17:08:16
โดย Maintenence
เสบียงใจ - พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
สมถภาวนา - อภิญญาจิต
Maintenence 0 764 กระทู้ล่าสุด 15 ตุลาคม 2562 11:06:39
โดย Maintenence
สมอเรือของใจ พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ธรรมะจากพระอาจารย์
Maintenence 0 1033 กระทู้ล่าสุด 02 ตุลาคม 2563 10:31:22
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.477 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 11 เมษายน 2567 06:54:20