[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 23:33:40 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธบุษยรัตน์ พระแก้วผลึกที่ร.4-กรมดำรงฯ ทรงชม “งาม-หาที่เปรียบไม่ได้”  (อ่าน 1511 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2303


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 02 เมษายน 2563 16:00:54 »

.


พระพุทธบุษยรัตน์ (ภาพจาก Facebook /กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)

พระพุทธบุษยรัตน์
พระแก้วผลึก ที่ร.4-กรมดำรงฯ ทรงชม “งาม-หาที่เปรียบไม่ได้” 


พระพุทธรูปสำคัญในไทยล้วนแต่มีความงามอันเป็นเอกลักษณ์ แต่หากจะพูดถึงพระพุทธรูปแก้วผลึกที่สำคัญและงดงามจนเป็นที่หมายปองของชนชั้นนำหลากหลายดินแดน ต้องมีพระพุทธบุษยรัตน์ หรือ “พระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย” พระแก้วผลึกซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า “…งามยิ่งนักหนา หาที่เปรียบไม่ได้… “ ขณะที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเห็นว่า “…ทำงามยิ่งกว่าพระแก้วอย่างเดียวกันแม้ขนาดย่อมๆ ที่ได้เคยมีมา”

ในปัจจุบัน พระแก้วเป็นของ “คู่บ้านคู่เมือง” ของสยาม ในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ ล้วนเกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกต อย่างไรก็ตาม พระแก้วสำคัญในสยามยังมีชื่อพระพุทธบุษยรัตน์ ซึ่งอาจพอกล่าวได้ว่าเป็นพระแก้วผลึกที่สำคัญแทบจะเทียบเท่าพระแก้วมรกต ดังเหตุการณ์เมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 “หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำพระเบญจาตั้งบุษบกสูงเพื่อประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตแล้ว ในการพระราชพิธีใหญ่ต่างๆ โปรดให้อัญเชิญพระแก้วผลึกหมอกตั้งเป็นประธานในพิธีแทนพระแก้วมรกต” (กรมศิลปากร, 2545, น. 186)

ลักษณะโดยคร่าวของพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย กรมศิลปากร บรรยายว่ามีลักษณะเป็น “ปางสมาธิขนาดหน้าตักกว้าง 7.5 นิ้ว สูงเฉพาะองค์ 15.2 นิ้ว สูงจากฐานถึงพระรัศมี 20.4 นิ้ว ฐานรองด้วยดอกบัวทองคำเป็นกลีบ 3 ชั้น เกสรประดับด้วยเนาวรัตน์ ฐานแข้งสิงห์ทำด้วยทองคำจำหลักลายประดับพลอยสี” เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนา (กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร, 2560)

ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ว่า

“พระพุทธบุษยรัตน์พระองค์นี้ เปนพระแก้วผลึกอย่างที่ช่างเรียกว่าเพ็ชรน้ำค้าง หรือบุษย์น้ำขาว เนื้อแก้วสนิทแลเปนแท่งขนาดใหญ่ยังไม่เคยมีเหมือน ทรวดทรงพระพุทธปฏิมาทำงามยิ่งกว่าพระแก้วอย่างเดียวกัน แม้ขนาดย่อมๆ ซึ่งได้เคยมีมา วัดขนาดมีประมาณสูงแต่ที่สุดทับเกษตรขึ้นไปจนสุดปลายพระจุฬาธาตุ 12 นิ้ว 2 กระเบียดอัษฎางค์ น่าตักวัดแต่พระชาณุทั้ง 2 เก้านิ้ว กับ 4 กระเบียดอัษฎางค์ ระหว่างพระกรรปุระทั้งสอง 6 นิ้ว 4 กระเบียดอัษฎางค์ ระหว่างพระอังสกูฏ 4 นิ้วกับ 7 กระเบียดอัษฎางค์ ประมาณพระเศียรแต่ปลายพระหณุขึ้นไปถึงที่สุดพระจุฬาธาตุ 4 นิ้วกึ่งกับ 2 กระเบียดอัษฎางค์ กว้างพระภักตร์วัดในระหว่างพระกรรณทั้ง 2 ข้าง 2 นิ้วกับ 7 กระเบียดอัษฎางค์…”

ปริศนาที่ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ชัดเจนคือต้นกำเนิดและผู้สร้างพระพุทธรูปซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน มีแต่เป็นตำนานที่เล่ากันมา โดยในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ว่าด้วย “ตำนานพระพุทธบุษยรัตน์” กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าตำนานที่สอดคล้องกับพงศาวดารเมืองจำปาศักดิ์ทั้ง 3 ฉบับว่า

“ตำนานที่สืบรู้ต้นเรื่องได้เพียงว่า พระพุทธปฏิมาแก้วผลึกพระองค์นี้ มีผู้พาหนีภยันตรายไปซ่อนไว้ในถ้ำเขาส้มป่อยนายอน แขวงเมืองนครจำปาศักดิ ข้างฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีพราน 2 คน ชื่อพรานทึง พรานเทิง ไปเที่ยวยิงสัตว์ป่า ไปพบพระแก้วนี้อยู่ในถ้ำ ในตอนปลายสมัยเมื่อกรุงเก่าเปนราชธานี พรานทึง พรานเทิงรู้ว่าเปนของวิเศษ แต่สำคัญว่าเปนเทวรูป จึงไปเส้นสรวงบวงบนตามวิไสยพรานมาเนืองๆ ภายหลังพรานทั้ง 2 นั้นเห็นว่าพระแก้วอยู่ในที่เปลี่ยว เกรงว่าใครมาพบเข้าก็จะลักไปเสีย คิดกันจะเชิญมารักษาไว้เส้นสรวงที่บ้านเรือนตน จึงเอาเชือกผูกพระแก้วแขวนห้อยมากับคันน่าไม้ ในเวลาที่เดินมานั้น แก้วตรงพระกรรณเบื้องขวากระทบคันน่าไม้ลิไปน่อย 1 พรานทึงพรานเทิงรักษาพระแก้วไว้ที่บ้านต่อมา เวลาไปยิงได้สัตว์ป่าสำคัญว่าได้ด้วยอำนาจที่บนบานพระแก้ว จึงเอาโลหิตแต้มเส้นเปนนิจมา

ต่อมาในสมัยเมื่อกรุงธนบุรีเปนราชธานี เจ้าไชยกุมารเปนเจ้านครจำปาศักดิ ได้ทราบความจากพ่อค้าที่ไปเที่ยวซื้อหนังซื้อเขาสัตวป่าตามบ้านพราน ว่าพรานทึงพรานเทิงมีพระแก้วเปนของวิเศษอยู่องค์ 1 เจ้าไชยกุมารจึงให้ไปว่ากล่าวแก่พรานทึงพรานเทิงได้พระแก้วผลึกมา เห็นว่าเปนพระพุทธปฏิมาอันวิเศษจริง จึงให้สร้างวิหารประดิษฐานไว้เปนที่สักการบูชาในเมืองนครจำปาศักดิ

ข่าวที่เจ้านครจำปาศักดิมีพระแก้วผลึกวิเศษองค์นี้ ไม่ได้ทราบเข้ามาถึงกรุงธนบุรี แม้เมื่อกองทัพไทยยกไปถึงเมืองนครจำปาศักดิ เมื่อครั้งตีกรุงศรีสัตนาคนหุต คราวได้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกฏ ก็มิได้ทราบความเรื่องพระแก้วผลึกพระองค์นี้ ด้วยพวกเมืองนครจำปาศักดิพากันซ่อนเร้นปิดบังเสีย เจ้าไชยกุมารพิราไลย เจ้าน่าได้เปนเจ้านครจำปาศักดิ ตรงสมัยในรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร ย้ายเมืองนครจำปาศักดิมาตั้งฝั่งตวันตกแม่น้ำโขง ก็สร้างวิหารเปนที่ประดิษฐานพระแก้วผลึกในเมืองใหม่ แต่ความก็ไม่ทราบเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ตลอดรัชกาลที่ 1

จนเจ้าน่าพิราไลยในรัชกาลที่ 2 โปรดให้ข้าหลวงออกไปปลงศพเจ้าน่าเมื่อปีมแมตรีศกจุลศักราช 1173 พ.ศ. 2354 ข้าหลวงไปเห็นพระแก้วผลึกองค์นี้เข้า จึงบอกแก่พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิว่า พระแก้วผลึกนี้เปนของวิเศษ ไม่ควรจะเอาไว้ที่เมืองนครจำปาศักดิ ซึ่งอยู่ชายเขตรแดนพระราชอาณาจักร แลเคยมีเหตุโจรผู้ร้ายเข้าปล้นเมือง ถ้ามีเหตุเช่นนั้นอิกของวิเศษอาจจะเปนอันตรายหายสูยไปเสีย พวกท้าวพระยาเมืองนครจำปาศักดิเห็นชอบด้วย จึงมีใบบอกเข้ามาให้กราบบังคมทูลฯ ถวายพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกนั้น จึงโปรดให้ข้าหลวงออกไปรับแห่พระแก้วผลึก แลมีการสมโภชตามหัวเมืองรายทางตลอดมาจนถึงกรุงเทพฯ…”

มีบันทึกเรื่องราวเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงเวลาการแห่ ดังที่ปรากฏในบทความ “ตํานาน “พระแก้วผลึกหมอก” : การเปรียบเทียบความหมายในบริบทวัฒนธรรมสยาม บรู และลาว” โดย เกียรติศักดิ์ บังเพลิง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เนื้อหาส่วนหนึ่งอ้างอิงพงศาวดารนครจาปาศักดิ์ฉบับพระพรหมเทวานุเคราะห์และเจ้าราชวงศ์เมืองนครจําปาศักดิ์ ซึ่งอธิบายว่า ระหว่างการแห่นั้น รัชกาลที่ 2 ทรงเห็นว่า พระพุทธรูปแก้วผลึกอยู่เมืองลาวมีเครื่องประดับ ปลอกทองคำประดับด้วยแก้วต่างๆ รับทับเกษตรอยู่โดยรอบกับเทริดดังศิลปะลาว และมีพระราชดำริว่า “เป็นฝีมือลาวรุงรังนัก กำบังเนื้อแก้ว ไม่งามเวลาแห่” ทรงมีพระราชโองการให้พนักงานนำเครื่องประดับเหล่านั้นออก

เมื่อมาถึงแล้ว รัชกาลที่ 2 ทรงบูรณะตามแบบพุทธรูป พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 มีใจความต่อมาว่า

“…โปรดให้เชิญพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกนั้นไปไว้ที่โรงที่ประชุมช่างข้างพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ให้ช่างจัดเนื้อแก้วผนึกที่เหมือนกับเนื้อแก้วในพระองค์พระพุทธรูป มาเจียนจรในเปนรูปปลายพระกรรณที่ลิอยู่นั้นต่อติดให้บริบูรณ์แล้ว ให้ขัดเกลาชักเงาชำระพระพุทธปฏิมาแก้วผลึกให้เกลี้ยงเกลามีเงาขึ้นสนิทเสมอกัน แล้วทรงพระราชดำริห์พระราชทานอย่างให้ช่างปั้นฐาน มีน่ากระดานชั้นสิงห์บัวหงาย แลน่ากระดานบนลวดทับหลัง ย่อเก็จเปนหลั่น แลมีน่ากระดานท้องไม้ชั้นรองรับบัวกลุ่มหุ้มรับทับเกษตรแก้วต่อองค์พระปฏิมา

โดยทรวดทรงสัณฐานที่พึงพอพระราชหฤไทยแล้ว ให้หล่อด้วยทองสัมริด แต่งให้เกลี้ยงเกลาสนิทแล้วหุ้มด้วยทองคำ ทำให้เกลี้ยงกวดขึ้นเงางาม ด้วยชอบพระราชหฤไทยว่าเนื้อแก้วเกลี้ยงใสบริสุทธิ ติดต่อกับเครื่องทองอันเกลี้ยงนั้นงามยิ่งนัก แต่ยอดพระรัศมีพระศกยังไม่มีต้องอย่างแบบแผนพระพุทธรูป จึงมีรับสั่งให้ช่างแผ่ทองคำหุ้มส่วนพระเศียรที่มีพระศกแล้วดุนเปนเม็ดพระศกเต็มตามที่ แล้วต่อกับพระรัศมีลงยาราชาวดีมีเพ็ชรประดับใจกลางน่าหลังแลกลีบต้นพระรัศมี

เมื่อเครื่องทองพระศกพระรัศมีเสร็จแล้วถวายสวมลง พื้นทองแลช่องดุนพระศกก็มาปรากฎข้างพระภักตร์เปนรวงผึ้งไป พระพักตร์ก็เห็นพรรณเหลืองคล้ำไม่ผ่องใสเหมือนสีพระองค์ จึงมีรับสั่งให้ประชุมนายช่างที่มีสติปัญญาปฤกษากันคิดแก้ไข จึงปฤกษาตกลงกันเอาเนื้อเงินไล่ขาวบริสุทธิแผ่หุ้มเสียชั้นหนึ่งก่อน ขัดเงินข้างในให้เกลี้ยงชักเงางามแล้ว จึงสวมพระศกทองคำลงชั้นนอกแผ่นเงิน ก็เห็นพระภักตร์ใสสอาดขาวนวลดีเสมอกับพระองค์

แล้วมีรับสั่งให้ทำพระสุวรรณกรัณฑ์น้อยพอจะสอดลงในช่องบนพระจุฬาธาตุ เปนที่บรรจุพระบรมธาตุไว้ให้สมควรเปนอุดมปูชนียวัตถุ แลให้ทำตัวทองน้อยเท่ากับช่องพระเนตร แล้วลงยาราชาวดีขาวดำตามที่พระเนตรขาวดำ แล้วฝังให้แนบพระเนตรให้งามดีขึ้น เพราะแต่ก่อนนั้นช่องพระเนตรเปนแต่ขุม แล้วแลแต้มหมึกแลฝุ่นเปนขาวดำเท่านั้น ไม่มีผิวเปนมันมั่นคงเหมือนผิวยาราชาวดี แลมีรับสั่งให้ช่างทองทำฉัตรทองคำ 5 ชั้น ๆ ต้นเท่าส่วนพระอังษา ลงยาราชาวดีประดับพลอยมีใบโพธิ์แก้วห้อยเปนเครื่องประดับ ปลายคันฉัตรปักลงกับฐานข้างเบื้องพระปฤษฎางค์พระพุทธปฏิมา แลให้ทำสันถัตห้อยน่าฐานพระพุทธปฏิมาด้วยทองคำจำหลักลายลงยาราชาวดีประดับเพ็ชรแลพลอย

ครั้นการสำเร็จจึงให้เชิญไปประดิษฐานไว้ในหอพระสุราไลยพิมาน ซึ่งประดิษฐานอยู่บ้างบุรพทิศพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เปนที่ทรงสักการบูชาวันละสองเวลาเช้าค่ำมิได้ขาด

ต่อมาโปรดให้ตกแต่งหอพระสุราไลยพิมานด้วยเครื่องแก้ว ล้วนแต่ของอย่างดีที่มีเข้ามาจากต่างประเทศ ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้”

ในเอกสารชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาคที่ 4 หมวดโบราณสถานและโบราณวัตถุ รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า “พระพุทธรูปแก้วองค์นี้งามยิ่งนักหนา หาที่เปรียบไม่ได้ ถึงแก้วผลึกที่มีในเมืองจีนและเกาะสิงหลลังกาที่เขาว่าทำเป็นแว่นตาหรือรูปพระพุทธปฏิมา และสิ่งอื่นที่ใช้อยู่นั้น เมื่อจะเอามาเทียบเข้าก็คล้ำไป คือเนื้อแก้วหยาบต่ำเลวสู้ไม่ได้เลย”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชโองการให้ช่างทำเครื่องประดับพระองค์และฐานใหม่ด้วยมีเพชรพลอยใหญ่มีราคา มีฉัตรกลาง ซ้าย และขวา ดังที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เรื่องสมโภชพระพุทธบุษยรัตน์ จักรพรรดิพิมลมณีมัย มีใจความว่า

“ทรงพระราชดำริว่า พระพุทธรูปแก้วผลึกซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มาแต่เมืองนครจำปาศักดิ์ ทรงทำเครื่องประดับพระองค์เสร็จแล้วประดิษฐานไว้ในหอพระเจ้า แต่ยังหาสู้มีเพ็ชรพลอยที่มีราคามากไม่ ครั้งนี้จะทรงทำฉลองพระเดชพระคุณใหม่ให้งามดียิ่งกว่าเก่า จึงให้ช่างกระทำเครื่องประดับพระองค์และฐานเสียใหม่ ล้วนเพ็ชรพลอยใหญ่ๆ มีราคาเป็นอันมาก มีฉัตรกลางและฉัตรซ้ายขวาด้วย ครั้นณวันพุธเดือน 7 ขึ้น 6 ค่ำ ได้ทำการฉลองสมโภชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ 20 รูป ได้ถวายไตรจีวรพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ 20 รุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี ขึ้น 7 ค่ำ พระสงฆ์รับพระราชทานฉัน เวลาบ่ายสวดอีก 20 รูป รุ่งขึ้นวันศุกร ขึ้น 8 ค่ำ พระสงฆ์ฉันแล้วได้ถวายพระนามว่า พระพุทธบุษยรัตน จักรพรรดิพิมลมณีมัย เวลาบ่ายตั้งบายศรีเงิน แก้ว ทอง เวียนเทียนสมโภชเวลา 1 วัน 9 ค่ำเว้น

รุ่งขึ้น 10 ค่ำ 11 ค่ำ 12 ค่ำ มีการฉลองพระพุทธบุษยรัตน์ ฉลองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยด้วย ทำเป็นส่วนในพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อีกส่วน 1 แล้วทรงพระราชอุททิศถวายสิริราชสมบัติแด่พระพุทธบุษยรัตน์ 3 วัน เวลาบ่ายพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ในพระอุโบสถ 108 รูป แบ่งพระสงฆ์ฉันในพระอุโบสถ 36 รูป หอพระนาค 15 รูป ศาลาราย 57 รูป ทั้ง 3 วัน ณวันพุธขึ้น 13 ค่ำ ตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน เวียนเทียนสมโภชอีกเวลา 1 มีธรรมเทศนาวันละ 4 กัณฑ์

มีการสมโภชตั้งแต่ณวันขึ้น 10 ค่ำ ไปจนถึงวันขึ้น 13 ค่ำ เวลาเช้าเวลาบ่ายมีมงครุ่มไม้ลอยญวนหก กะอั้วแทงควาย แทงพิไสย เวลาค่ำมีดอกไม้เพลิงต่างๆ ครบทุกสิ่ง สมโภช 4 วัน 4 คืน เมื่อมีงานสมโภชนั้น โปรดฯ ให้ขอแรงเจ้าและขุนนางผู้ใหญ่ตั้งโต๊ะที่หน้าพระอุโบสถด้วย เครื่องโต๊ะนั้นก็เปลี่ยนทุกวันประกวดประขันกันยิ่งนัก”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตเสร็จแล้ว ทรงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯ ไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน หลังพระองค์เสด็จสวรรคต มีการอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯ กลับไปประดิษฐาน ณ พระพุทธรัตนสถาน (พระวิหารศิลาในพระบรมมหาราชวัง สร้างตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 4)

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนฯ กลับไปประดิษฐานที่หอพระที่นั่งอัมพรสถานอีกครั้ง

นอกเหนือจากประวัติดังกล่าวแล้ว ยังมีคำอธิบายในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) จากต้นฉบับตัวเขียนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ มีเนื้อหาที่มีนัยยะว่า พระแก้วผลึกหมอกนี้เคยอยู่ไทยมาก่อน ซึ่งภายใต้สภาพความคลุมเครือ เกียรติศักดิ์ บังเพลิง ผู้วิจัยศึกษาเรื่องพระแก้วผลึกหมอก จึงมองว่า สภาพไม่สามารถบอกที่มาที่ไป และผู้สร้างที่แน่ชัดได้ ทำให้ชนชั้นนำไทยพยายามสร้างความชอบธรรมในการครอบครองพระแก้วผลึก ดังเนื้อหาในบทความตอนหนึ่งว่า

“โดยช่วงชิงความหมายและอธิบายว่า พระแก้วผลึกหมอกเป็นองค์เดียวกับพระแก้วขาวที่เคยเป็นของไทยตั้งแต่สมัยเมืองละโว้ แล้วถูกอัญเชิญมาไว้ที่เมืองเชียงใหม่ ก่อนที่พระไชยเชฏฐาธิราชจะอัญเชิญไปไว้ที่ลาว เมืองหลวงพระบาง และจะด้วยไรก็มิอาจทราบได้ ภายหลังพระแก้วผลึกหมอกจึงได้ถูกนำมา (โดยใครมิทราบ) ไว้ที่ถ้ำบนภูเขาแถบบ้านสัมป่อยนายอน (จำปาศักดิ์) จนข่ามาพบเข้า

โดยนัยนี้ พระแก้วผลึกหมอกเคยเป็นของไทย ตกไปอยู่ที่อื่น แต่แล้วก็กลับมาเป็นของไทย (มิได้เป็นการช่วงชิงมาแต่ประการใด)…”


ที่มา .silpa-mag.com

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.431 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 09 กุมภาพันธ์ 2567 20:05:16