[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 20:55:36 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สังคมประเพณีของกัมพูชาโบราณ "เจวิ้นถาน" พิธีเบิกพรหมจรรย์โดยพระสงฆ์  (อ่าน 2007 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 31 มีนาคม 2563 16:23:09 »




"เจวิ้นถาน"
พิธีเบิกพรหมจรรย์ โดยพระสงฆ์  

อาณาจักรกัมพูชา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย เคยเป็นประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรือง สามารถแผ่อำนาจเข้ามาในดินแดนลาว มอญ รวมถึงประเทศไทยในพื้นที่ส่วนใหญ่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมทั้งเมืองลพบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เมื่อรวบรวมอำนาจไว้ได้ ก็ได้ให้ช่างที่มีฝีมือดีเริ่มก่อสร้างศาสนสถานต่างๆ ตามแบบปฏิมากรรมเขมรไว้เพื่อสำหรับการเคารพบูชาเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังคงปรากฎหลักฐานอยู่มากมายหลายแห่งในประเทศไทย

อาณาจักรกัมพูชามีความเจริญสูงสุดอยู่ได้ไม่นาน ในไม่ช้าก็ตกไปสู่ความเสื่อม

ใน พ.ศ.๑๘๓๘ ราชทูตจีนชื่อ เฉาเตากวน ได้เข้ามาเยี่ยมอาณาจักรกัมพูชา โดยเฉพาะ ณ พระนครหลวง เขาและคณะได้รับอนุญาตให้เข้านอกออกในพระราชวัง แต่ไม่รวมถึงฝ่ายใน เขาบันทึกพรรณนาปราสาทราชมนเทียร วัดวาอาราม ตึกรามบ้านช่อง ทั้งในเมืองนอกเมือง พิธีกรรมและขบวนแห่ต่างๆ รวมถึงชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งได้เที่ยวท่องไปตลอดเมืองและชนบท ในช่วงที่เขาอยู่ ณ เมืองพระนครนี้ เขาพักอยู่ ณ เรือนแห่งหนึ่งใกล้กับประตูทางทิศเหนือของเมือง

บันทึก“จดหมายเหตุ” ของเฉาเตากวนจึงเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษา คว้าทางโบราณคดีของชาวเขมรโบราณ

เฉาเตากวนได้บันทึกเกี่ยวกับ “สังคม ประเพณี และขนบธรรมเนียม” ของชาวกัมพูชาในสมัยปี พ.ศ.๑๘๓๘ ไว้อย่างน่าฟังว่า

ในประเทศนี้ มีเสนาบดี ขุนพล โหรา และขุนนางอื่นๆ ถัดลงมา จัดตั้งขุนนางชั้นผู้น้อย แต่ชื่อตำแหน่งแตกต่างกับของจีน ส่วนใหญ่เอาราชนิกูลเป็นขุนนาง หรือมิฉะนั้นก็พวกพระเจ้าแผ่นดินทรงรับบุตรีไว้เป็นพระสนม เมื่อขุนนางออกไปนอกบ้านนั้นก็มีระเบียบพิธี และผู้ติดตามตามลำดับยศ พวกที่มียศสูงใช้คนหาม ที่มีคานหามเป็นทองคำกับสัปทนด้ามทองคำ ๔ คัน ยศรองลงมาใช้คานหามที่มีคานเป็นทองคำสัปทนด้ามทองคำ ๒ อัน ยศรองลงมาอีกใช้คานหามที่มีคานเป็นทองคำ และสัปทนด้ามทองคำ ๑ คัน ที่ใช้สัปทนด้ามทองคำอย่างเดียวก็ยิ่งรองลงมาอีก พวกยศต่ำๆ ใช้แต่เพียงสัปทนด้ามเงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ที่ใช้คานหามที่มีคานเป็นเงินก็มีเหมือนกัน พวกที่ใช้สัปทนด้ามทองคำเป็นขุนนางชั้นสูง เรียกว่า “ปาติง” หรือ “อ้านติง” ส่วนพวกที่ใช้สัปทนด้ามเงิน เรียกว่า “ซือลาเตจ” สัปทนทั้งหมดทำด้วยผ้าแพรดิบสีแดงของเมืองจีนมีระบายลงมาเรี่ยดิน ส่วนสัปทนแบบร่มกระดาษน้ำมันทำด้วยผ้าแพรดิบสีเขียวแต่ระบายนั้นสั้น

ทุกคนนับตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินลงมาทั้งชายและหญิง มุ่นมวยและเปลือยท่อนบนใช้ผ้าพันเอว เมื่อออกไปนอกบ้านก็เพิ่มผ้าผืนใหญ่หนึ่งผืนพันผ้าผืนเล็กเข้าไว้ เรื่องผ้าที่นุ่งนั้นมีชั้นอันดับอยู่มาก ภูษาของพระเจ้าแผ่นดินมีมูลค่าเป็นเงิน ๓ ถึง ๔ ตำลึงเป็นภูษาที่สวยงามและปราณีตที่สุด แม้ว่าในประเทศจะทอผ้าได้เอง แต่ก็ยังมีมาจาก “เสียมหลอ” และ “จ้านเฉิง” ที่มาจากทะเลตะวันตกมักจะเป็นชนิดเลิศ เพราะเนื้อละเอียดและฝีมือปราณีต

เฉพาะแต่พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้นที่ทรงภูษายกดอกล้วนได้ บนพระเศียรทรงสวมมงกุฎทองคำเหมือนกันกับสิ่งที่วัชธรสวมอยู่บนศีรษะ มีบางเวลาที่ไม่ทรงสวมมงกุฎแต่ใช้ด้ายร้อยดอกไม้หอม เช่นดอกมะลิล้อมรอบมวยเกศาของพระองค์ ที่พระศอทรงสวมสร้อยพระศอไข่มุกขนาดใหญ่หนัก ๓ ชั่งเศษ ข้อพระหัตถ์ ข้อพระบาทและนิ้วพระหัตถ์ทรงสวมกำไลและพระธำรงค์ฝังเพชรตาแมวทั้งสิ้น ท่อนล่างพระบาทเปล่า ฝ่าพระบาทและฝ่าพระหัตถ์ทั้งหมดย้อมสีแดงด้วยน้ำยาสีแดง เมื่อเสด็จออกทรงถือพระขรรค์ไว้ในพระหัตถ์

ในหมู่ราษฎรเฉพาะแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะย้อมฝ่ามือฝ่าเท้าได้ ส่วนพวกผู้ชายนั้นไม่กล้าย้อม ขุนนางผู้ใหญ่และเจ้านายแต่งกายด้วยผ้ายกดอกห่างๆ ขุนนางธรรมดาแต่งกายด้วยผ้ายกดอกสองชายได้ สำหรับหมู่ราษฎรผู้หญิงเท่านั้นที่ยอมให้แต่งได้ คนจีนที่มาถึงใหม่ถึงแม้จะแต่งกายด้วยผ้ายกดอกสองชาย คนก็ไม่ถือโทษเพราะถือว่าไม่เข้าใจระเบียบและแบบแผนของประเทศ

บุคคลทั่วไปในจีนรู้แต่เพียงว่าพวกคนป่าเถื่อนทางทิศใต้นั้นรูปร่างหยาบ หน้าตาน่าเกลียด ทั้งดำมาก แต่หารู้ไม่ว่าพวกที่อยู่ตามเกาะแก่งบ้านนอกและตรอกซอยเท่านั้นที่เป็นจริงดังกล่าว ส่วนพวกชาววังและพวกผู้ดีตามบ้านนั้น ที่เป็นผู้หญิงมีผิวขาวประดุจหยกทั้งนี้เนื่องจากไม่เห็นแสงตะวันกันเลย โดยทั่วๆ ไปแล้วผู้หญิงก็เหมือนกับผู้ชาย คือใช้ผ้าผืนเดียวนั้นเอง เปลือยอกที่ขาวนุ่มนวลดุจเนยเหลว เกล้ามวยและเดินด้วยเท้าเปล่า แม้แต่พระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระมเหสี ๕ องค์  องค์หนึ่งประทับอยู่ที่ปราสาท องค์กลางอีก ๔ องค์อยู่ที่พระมณเฑียร ประจำทิศทั้ง ๔ ที่ต่ำลงมาก็คือพวกสนมและนางกำนัลที่ราชทูตจีนได้ยินว่ามีอยู่ ๓ ถึง ๔ พันคน แบ่งออกเป็นชั้นอันดับ พวกนางไม่ค่อยได้ออกจากที่พักอาศัยง่ายนัก แต่ละครั้งที่ราชทูตเข้าไปในวังนั้น ท่านราชทูตเห็นพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกพร้อมด้วยพระอัครมเหสี และปรับทับนั่งอยู่กลางพระบัญชรทองคำของพระที่นั่ง พวกสตรีชาววังยืนเรียงตามลำดับสองฟากระเบียงใต้พระบัญชรด้านที่พิงฝาแอบมองเรา ท่านราชทูตจึงได้เห็นพวกเหล่านั้น ครอบครัวใดมีสตรีหน้าตาสะสวยจะมีรับสั่งเรียกตัวเข้าวัง ทางเบื้องล่างนั้นเป็นหญิงรับใช้งานเข้าออก เรียกว่าเฉินเกียหลาน มีอยู่ไม่ต่ำกว่าพันถึงสองพันนาง นางเหล่านี้มีสามีแล้ว และอาศัยปะปนอยู่กับราษฎรสามัญ  นางโกนผมเหนือหน้าผาก ลักษณะทำนองชาวเหนือเบิกร่องน้ำ และใช้ชาดสีแดงทาไว้ตรงนั้นแหละที่ขมับทั้งสองข้าง โดยถือเอาสิ่งนี้แสดงว่าเป็นเฉินเกียหลาน แตกต่างไปจากผู้อื่นเฉพาะแต่ผู้หญิงเหล่านี้เท่านั้นที่เข้าไปในพระราชวังได้ ผู้หญิงอื่นที่มีฐานะต่ำกว่านี้จะเข้าไปไม่ได้เลย

เบื้องหน้าและเบื้องหลังราชวัง มีผู้หญิงสามัญเดินไปมาบนถนนไม่ขาดสาย บ้างเอาไว้ผมมวยแต่ไม่มีปิ่นปักผมหรือหวี และไม่มีสิ่งประดับศีรษะหรือหน้า แต่ที่แขนมีกำไลทองคำ นิ้วสวมแหวนทองคำ ซึ่งพวกเฉินเกียหลานและพวกชาววังก็ใช้ด้วยเหมือนกันทั้งชายและหญิงมักใช้เครื่องหอมทาตามร่างกาย เครื่องนี้ปรุงสำเร็จด้วยแก่นจันทร์ ชะมดเชียงและของหอมอื่นๆ ทุกครอบครัวนับถือพุทธศาสนา   ในประเทศนี้มีพวกกะเทยอยู่มากมาย ทุกวันจะเดินตามตลาดเป็นหมู่ๆ ๑๐ คน มักจะชอบชักชวนชาวจีน

เมื่อชาวบ้านให้กำเนิดลูกหญิง ผู้ที่เป็นบิดามารดามักไม่เว้นที่จะอวยชัยให้พรว่า ขอให้เจ้ามีคนต้องการ ต่อไปในภายหน้าขอให้เจ้ามีผัวร้อยคนพันคนเถิด ลูกสาวของครอบครัวที่มั่งมีศรีสุขที่มีอายุได้ ๗-๘ ขวบ และที่มีอายุได้ ๑๑ ขวบ  สำหรับครอบครัวที่ยากจนจะต้องให้ภิกษุหรือดาบสทำพิธีทำลายพรหมจารี เรียกว่า “เจวิ้นถาน ทุกๆ ปีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองจะเลือกเอาวันใดวันหนึ่งของเดือนซึ่งตรงกับเดือนที่ ๔ ของจีน ป่าวประกาศให้ทราบว่าครอบครัวใดในประเทศนี้มีบุตรซึ่งจะเข้าพิธีเจวิ้นถานนั้น จะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อน แล้วเจ้าหน้าที่จะให้เทียนเล่มใหญ่ล่วงหน้าไป ๑ เล่ม และขีดสลักเทียนเป็นที่หมายไว้ ๑ แห่ง นัดหมายให้จุดเทียนตอนพลบค่ำของคืนวันนั้น พอละลายลงมาถึงที่หมายก็ได้เวลาประกอบพิธีเจวิ้นถาน ก่อนถึงกำหนดล่วงหน้า ๑ เดือน หรือครึ่งเดือน หรือ ๑๐ วัน บิดามารดาจะต้องเลือกพระภิกษุหรือดาบสรูปใดรูปหนึ่ง สุดแล้วแต่จะอยู่วัดหรืออาศรมแห่งใด พระภิกษุหรือดาบสมักจะมีขาประจำของตนอยู่  พระภิกษุที่ดีมีคุณธรรมสูงนั้นบ้านขุนนางและคหบดีมักจะจองตัวไว้ล่วงหน้า ส่วนพวกที่ยากจนก็ไม่มีเวลาว่างที่จะไปเลือกได้ ครอบครัวขุนนางและคหบดีถวายพวกเหล้า ข้าวสาร ผ้าแพร หมาก เครื่องเงินหนักถึงร้อยบาทมีมูลค่าเท่ากับสิ่งของ คิดเป็นเงินเมืองจีนสองสามร้อยตำลึง ของถวายที่น้อยกว่านั้นก็สามสิบสี่หาบ หรือยี่สิบหาบสุดแต่ครอบครัวจะมั่งมีหรือยากจน ฉะนั้นครอบครัวที่ยากจนต้องรอจนเด็กอายุ ๑๑ ขวบ จึงจะเริ่มดำเนินการเข้าพิธี นับเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก มีผู้เสียสละเงินทองให้เด็กหญิงจนๆ เมื่อได้เข้าพิธีเจวิ้นถาน เรียกว่าเป็นการทำบุญ เนื่องจากในปีหนึ่งๆ พระภิกษุรับเด็กหญิงเข้าพิธีได้เพียงคนเดียว เมื่อท่านยอมรับนิมนต์ผู้ใดไว้แล้วก็ไม่ยอมรับนิมนต์ผู้อื่นอีก  ในคืนนั้นเขาจัดการเลี้ยงใหญ่และมีดนตรีด้วย เป็นการรวมญาติและเพื่อนบ้าน นอกประตูปลูกเป็นร้านสูง บนร้านวางพวกตุ๊กตาดินปั้นเป็นรูปคนและสัตว์ ที่วางสิบกว่าตัวก็มีสามสี่ตัวก็มี สำหรับครอบครัวที่ยากจนก็ไม่มีเลย แต่ละอย่างเป็นไปตามเรื่องที่มีมาแต่โบราณครบเจ็ดวันก็ยกเอาออกไป  พอตกค่ำเขาก็นำคานหาม กลด และดนตรีไปรับพระภิกษุมา ใช้ผ้าแพรพรรณต่างๆ สร้างเป็นศาลาขึ้น ๒ หลัง หลังหนึ่งให้เด็กหญิงนั่งอยู่ อีกหลังหนึ่งให้พระภิกษุนั่ง  ท่านราชทูตไม่ทราบว่าปากเขาพูดว่ากระไรเพราะเสียงดนตรีและกลองอึกทึกเซ็งแซ่ คืนวันนั้นไม่ห้ามทำเสียงอื้ออึง ได้ยินว่าเมื่อถึงเวลาพระภิกษุและเด็กหญิงเข้าไปในห้อง พระภิกษุใช้มือทำลายพรหมจารีด้วยตนเอง แล้วนำเยื่อพรหมจารีนั้นใส่ลงในเหล้า เขายังเล่ากันอีกว่า บิดามารดาญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านต่างแต้มเหล้าที่หน้าผากของตนทุกคน  บางคนก็ว่าทุกคนใช้ปากชิมดู บ้างก็ว่าพระภิกษุประกอบทารุณกรรมกับเด็กหญิง บ้างก็ว่าไม่เป็นความจริงดังนั้นเลย  โดยเหตุที่เขาไม่ยอมให้คนจีนรู้เห็น จึงไม่ทราบเรื่องที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร  พอใกล้รุ่งอรุณก็เอาคนหาม กลด กลอง และดนตรีส่งพระภิกษุกลับวัด ต่อมาภายหลังจะเอาผ้าขาวไปให้ไถ่ตัวจากพระภิกษุ ไม่เช่นนั้นเด็กหญิงจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพระภิกษุตลอดไป และจะแต่งงานกับผู้ใดไม่ได้ ที่ราชทูตจีนเห็นนั้นเป็นปีติงหยิวศักราชต้าเต๊อะ เดือนสี่ คืนหกค่ำ (๒๘ เมษายน พ.ศ.๑๘๔๐) ก่อนวันพิธีบิดามารดาและเด็กหญิงจะนอนด้วยกัน หลังวันพิธีแล้วจะเฉดหัวออกนอกห้อง จะไปไหนมาไหนก็ได้ตามชอบใจ ไม่ต้องบังคับคอยระวังกันแล้ว เกี่ยวกับการมีสามีและภรรยา  แม้จะมีประเพณีรับผ้าไหว้ก็เป็นเพียงแต่กระทำลวกๆ พอเป็นพิธี  หญิงชายส่วนมากได้เสียกันมาแล้วจึงได้แต่งงานกันตามขนบธรรมเนียมและประเพณีของเขา ไม่ถือเป็นสิ่งที่อายและก็ไม่ถือเป็นเรื่องประหลาดด้วย ในคืนวันประกอบพิธีเจวิ้นถานในตรอกในซอกเดียวกันนั้น อาจมีครอบครัวที่ทำพิธีเจวิ้นถานจำนวนสิบกว่าครอบครัว ในนครนั้นคนที่ไปรับพระภิกษุหรือดาบสเดินสวนกันขวักไขว่อยู่บนท้องถนน ไม่มีที่ไหนเลยจะไม่มีเสียงกลองและเสียงดนตรี.




ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เว็บไซต์ matichon.co.th

ทาสในเรือน

พวกทาสในครัวเรือน เขาซื้อพวกคนป่ามาใช้งาน ผู้ที่มีมากก็ร้อยกว่าคน ผู้ที่มีน้อยก็มีสิบยี่สิบคน พวกที่ยากจนเหลือเกินจึงจะไม่มีทาสใช้ คนชาวป่านั้นเป็นมนุษย์ตามป่าเขา มีชาติพันธุ์ของตัวเอง เรียกกันตามภาษาพื้นเมืองว่า “โจรจ้วง” เมื่อเข้าอยู่ในเมืองแล้วก็ไม่กล้าเข้าบ้านคนเขา เมื่อคนในเมืองด่าทอกันและเรียกกันว่า “จ้วง” ก็หมายความว่าเกลียดชังจนเข้าไขกระดูก ที่คนเขาดูถูกดูหมิ่นกันก็เป็นดังที่กล่าวมานี้ ถ้าเป็นคนหนุ่มคนสาวที่แข็งแรง คนหนึ่งๆ มีค่าตัวเท่ากับผ้าร้อยผืน แต่ถ้าแก่เฒ่าไม่มีกำลังวังชา ก็หามาได้ด้วยผ้าเพียงสามสี่สิบผืน  เขายอมให้นั่งให้นอนได้แต่เฉพาะใต้ถุนเรือน ต่อเมื่อปฏิบัติงานจึงอนุญาตให้ขึ้นข้างบนได้ แต่จะต้องคุกเข่าพนมมือและค้อมหัวลง แล้วจึงก้าวเข้าไปในเรือน 

พวกทาสเรียกนายผู้ชายว่า “ปาถวอ” และเรียกนายผู้หญิงว่า “หมี่”  ปาถวอก็คือพี่  หมี่ก็คือแม่  ถ้าทำผิดก็โบยกัน มันจะก้มหัวรับตะพดโดยไม่กล้าเคลื่อนไหวแม้แต่น้อย ทั้งชายและหญิงได้เสียเป็นผัวเมียระหว่างพวกเดียวกันเอง ไม่มีนายผู้ชายที่ปรารถนาจะร่วมประเวณีด้วยกับนางทาส  หากชาวจีนที่ไปถึงที่นั่นและอยู่เดียวดายมาเป็นเวลาช้านานไม่เลือกเฟ้น ไปร่วมประเวณีกับนางทาส นายผู้ชายรู้เข้าในวันต่อมาก็จะไม่ยอมให้นั่งร่วมด้วย เพราะได้เคยร่วมประเวณีกับหญิงคนป่า  ถ้านางทาสไปร่วมประเวณีกับคนนอกบ้าน ตั้งครรภ์เกิดบุตรขึ้น นายผู้ชายก็จะไม่ถามความเป็นมา เพราะเขาถือว่านางทาสผู้เป็นแม่เป็นบุคคลคนละชั้นคนวรรณะกับพวกเขา กับทั้งเขาได้ประโยชน์จากการได้ลูกทาส ซึ่งจะตกเป็นทาสต่อไปวันข้างหน้า ถ้ามีผู้หลบหนีแล้วจับตัวกลับมาได้ เขาก็จะสักหน้าด้วยสีฟ้า หรือไม่ก็ใส่กำไลเล็กเข้าที่คอเพื่อสวมไว้ ที่ตีตรวนที่แขนและขาก็มีบ้างเหมือนกัน



-----------------------
ขนบธรรมเนียมประเพณีของเจินละ
เข้าใจว่าหมายถึงไทย
จีนเรียกชื่ออาณาจักรจัมปาซึ่งตั้งอยู่ในเขตเวียดนามเหนือ
พิธีนี้น่าจะเป็นพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในคติวัชรญาน

หมายเหตุ : บันทึกจดหมายเหตุของเฉาเตากวน แปลเป็นภาษาไทย โดย นายเฉลิม ยงบุญเกิด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 18 เมษายน 2563 15:33:37 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 09 เมษายน 2563 16:26:20 »




วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

คนเหล่านี้ถือเอาเดือน ๑๐ ของจีนเป็นเดือนแรกของปีใหม่เดือนนั้น ชื่อว่าเกียเต๋อ เบื้องหน้าพระราชวังเขาปลูกร้านใหญ่ไว้ ๑ ร้าน บรรจุคนได้พันกว่าคน ตามประทีปโคมไฟและประดับประดาด้วยดอกไม้ ข้างหน้าร้านนั้นห่างออกไป ๒๐ จ้าง ใช้ไม้ต่อกันเป็นร้านสูง รูปลักษณะคล้ายกับนั่งร้านที่ใช้ในการก่อสร้างสถูป มีความสูงกว่า ๒๐ จ้างเห็นจะได้ แต่ละคืนเขาจะปลูกร้านสามสี่ร้านหรือห้าหกร้าน บนบ้านเหล่านั้นเขาเอาดอกไม้ไฟและประทัดไฟวางไว้ซึ่งในการนี้ทางจังหวัดต่างๆ ในความปกครองและตามบ้านเรือนขุนนางเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย พอตกค่ำก็กราบทูลเชิญพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร เขาก็จุดดอกไม้ไฟและประทัดขึ้น ดอกไม้ไฟนั้นแม้จะอยู่ห่างนอกระยะ ๑๐๐ ลี้ ก็มองเห็นได้ทั่วทุกคน ส่วนประทัดใหญ่เท่ากับปืนใหญ่ยิงศิลาเสียงดังสะเทือนไปทั่วพระนคร พวกขุนนางและเจ้านายแต่ละคนได้แจกเทียนเล่มใหญ่และหมาก สิ้นค่าใช้จ่ายเป็นอันมาก พระเจ้าแผ่นดินทรงชวนพวกราชทูตไปชมด้วยเหมือนกัน เป็นดั่งนี้อยู่ครึ่งเดือนก็ยุติ แต่ละเดือนจะต้องมีงานใดงานหนึ่ง เช่นเดือน ๔ ทิ้งลูกกลม เดือน ๙ เป็นงานเอียละ  งานเอียละนั้นก็คือการชุมนุมราษฎรทั่วทั้งประเทศให้เข้ามาในพระนคร แล้วเดินไปตรวจแถวหน้าพระราชวัง เดือน ๕ เป็นงานสรงน้ำพระพุทธรูปทั้งที่อยู่ที่ใกล้และไกล แล้วนำเอาน้ำที่สรงพระพุทธรูปแล้วมาถวายพระเจ้าแผ่นดินสรงน้ำ และมีงานแล่นเรือบนบก ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จประทับทอดพระเนตรอยู่บนพลับพลาสูง เดือน ๗ เป็นงานเหาข้าว ในขณะนั้นข้าวใหม่สุกแล้ว เขานำเอาข้าวออกไปนอกทวารด้านทิศใต้แล้วเผาเป็นพุทธบูชา มีสตรีนั่งเกวียนและขึ้นช้างพากันไปชมจำนวนนับไม่ถ้วน แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่เสด็จพระราชดำเนิน เดือน ๘ เป็นงาน “ไอหลาน” ไอหลานนั้นก็คือการฟ้อนรำ เขากำหนดตัวนักแสดงและพวกดนตรีไว้ แต่ละวันให้ไปร่ายรำกันในพระราชวัง และยังมีงานกัดหนู ชนช้าง พระเจ้าแผ่นดินทรงชวนพวกราชทูตไปชมด้วยเหมือนกัน เป็นอยู่ดังนี้ถึง ๑๐ วัน   

บรรดาชาวขอมก็มีผู้ที่รู้ดาราศาสตร์สามารถคำนวณสุริยคราสและจันทรคราสได้ เดือนสั้นเดือนยาวของเขาไม่เหมือนกับของเมืองอื่นโดยสิ้นเชิง มีอธิกมาสเขาจะต้องวางอธิกมาสไว้ แต่วางไว้ที่เดือน ๙ คืนหนึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ยาม แต่ละเจ็ดวันเป็นหนึ่งรอบ ทำนองเดียวกันกับที่เมืองจีนเรียกว่า ได้ปี้เกี้ยนฉู  ชนชาติป่าเถื่อนเหล่านี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีชื่อแซ่อยู่แล้ว ยังไม่จดจำวันเกิดของตน ส่วนใหญ่ถือเอาชื่อของวันที่เกิดเป็นชื่อของตน มีอยู่ ๒ วัน (ในสัปดาห์) ที่เป็นมงคล ๓ วัน ไม่ดีไม่ร้าย ๒ วัน เป็นวันอุบาทว์ เรื่องวันใดจะไปทางทิศตะวันออกได้ และวันใดจะไปทางทิศตะวันได้นั้น แม้แต่สตรีก็ยังคำนวณได้ปี๑๒ นักกษัตริย์ก็เหมือนกันกับของเมืองจีน แต่เรียกชื่อต่างๆ กัน เช่น ม้า เรียกว่า ปู่ไซ สำเนียงที่เรียก ไก่เป็นหมาน สำเนียงที่เรียกหมูเป็น จี๊หลู เรียกวัวว่าเก้อ ฯลฯ

คดีพิพาทระหว่างราษฎรนั้น แม้จะเป็นเรื่องเล็กก็ต้องกราบบังคมทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบ พระองค์ไม่เคยลงโทษโบตีผู้ใดแต่มีการปรับเป็นเงินทองเท่านั้น ผู้ที่ทำผิดอุกฉกรรจ์ก็ไม่มีการตัดคอหรือตัดหัว แต่ที่นอกทวารด้านทิศตะวันตกนั้น เขาขุดเป็นหลุมแล้วเอาตัวอาชญากรใส่ลงไป แล้วเอาดินและหินกลบกระทุ้งให้แน่นเป็นเสร็จพิธี โทษรองลงมานั้น ที่ตัดนิ้วมือนิ้วเท้าก็มี และที่เฉือนจมูกกันก็มี แต่การเป็นชู้กับภรรยาเขาและการเล่นการพนันนั้นไม่มีข้อห้าม ถ้าสามีของหญิงมีชู้ทราบเรื่องเข้าก็จะเอาไม้สองท่อนประกบเข้าที่เท้าของชายชู้  และขันชะเนาะจนเจ็บปวดทนไม่ไหว ยอมยกทรัพย์สมบัติของตนให้ทั้งหมดแล้วจึงจะได้รับการยกเว้น แต่ที่เสกสรรปั้นเรื่องขึ้นเพื่อฉ้อโกงก็มีเหมือนกัน

ถ้ามีคนตายอยู่ที่ประตูบ้านของผู้ใด ผู้นั้นก็จะใช้เชือกลากออกไปทิ้งด้วยตนเอง ณ ชายทุ่งนอกเมือง ไม่มีการกระทำที่เรียกว่าชันสูตรสืบสาวราวเรื่อง ผู้ใดจับขโมยได้ก็มีสิทธิลงโทษกักขังและโบยตี ยังมีอีกอย่างหนึ่งซึ่งนำเอามาใช้ได้ กล่าวคือ ถ้าสิ่งของผู้ใดหาย สงสัยว่าคนนั้นคนนี้จะเป็นผู้ลักเอาไป และผู้นั้นไม่ยอมสารภาพ เขาก็จะเคี่ยวน้ำมันในหม้อให้ร้อน แล้วบังคับให้ผู้นั้นเอามือจุ่มลงไป ถ้าหากลักขโมยสิ่งของไปมือก็จะไหม้พอง มิฉะนั้นแล้วทั้งเนื้อทั้งหนังก็จะอยู่ตามเดิม กล่าวว่าชาวป่าเถื่อนก็มีกฎและระเบียบอย่างนี้แหละ

อนึ่ง ในกรณีที่คนสองคนมีคดีพิพาทกัน ไม่ทราบว่าฝ่ายใดตรงฝ่ายใดคดให้คู่พิพาทเข้าไปนั่งในปราสาทคนละหลัง ข้างนอกให้ญาติของทั้งสองฝ่ายต่างคอยเฝ้าระวังซึ่งกันและกัน ทั้งคู่จะนั่งในปราสาทคนละหลัง วันสองวันหรือสามสี่วันผู้ที่เป็นฝ่ายผิดเมื่อออกจากปราสาท บ้างก็เนื้อตัวเป็นฝีพุพอง บ้างก็ไอมีอาการทำนองไข้ตัวร้อน ผู้ที่เป็นฝ่ายถูกก็ไม่เป็นอะไรเลยแม้แต่น้อย การที่เอาวิธีการเช่นนี้มาตัดสินชี้ขาดความคดและความซื่อตรงนั้นเรียกว่า “คดีพิพาทแห่งสรวงสวรรค์” ทั้งนี้เนื่องจากแผ่นดินของเขานั้นศักดิ์สิทธิ์จริง จึงเป็นเช่นนั้น

คนตายที่ไม่มีโลงใส่ศพ แต่เขาใช้สิ่งของจำพวกเสื่อห่อหุ้มแล้วคลุมด้วยผ้า ในการเคลื่อนศพใช้ธงทิวและดนตรีนำหน้าขบวน  อนึ่ง เขาใช้ถาดสองใบใส่ข้าวตอกโปรยปรายไปตามถนนหนทาง เขาหามศพไปยังนอกเมือง ณ สถานที่เปลี่ยวไม่มีผู้คนอยู่อาศัย ทิ้งศพไว้ที่นั่นแล้วพากันกลับ รอคอยให้นกแร้ง สุนัข และปศุสัตว์มากิน ชั่วครู่เดียวก็หมดสิ้น เขาก็จะพูดว่าบิดามารดาของเขามีบุญจึงได้รับการตอบแทนเช่นนั้น ถ้าสัตว์เหล่านั้นไม่กินหรือกินแต่ไม่หมด เขาก็จะกลับพูดว่า บิดามารดาของเขาทำบาปจึงได้เป็นเช่นนั้น ในปัจจุบันได้มีการเผาศพกันขึ้นบ้างแล้ว มักจะเป็นบุคคลที่จะมีเชื้อสายมาจากชาวจีน ในการตายของบิดามารดา ไม่มีเครื่องแต่งกายไว้ทุกข์ แต่บุตรชายนั้นโกนศีรษะ บุตรหญิงจะตัดผมที่เหนือหน้าผากให้เป็นวงขนาดเท่าอีแปะเป็นการไว้ทุกข์ ส่วนพระเจ้าแผ่นดินนั้นได้รับการฝังไว้ภายในปราสาท แต่ไม่ทราบว่าเขาฝังศพหรือฝังพระอัฐิ

สามัญชนนั้นนอกจากบ้านที่อยู่อาศัยแล้ว ไม่มีสิ่งของจำพวกโต๊ะ ม้านั่ง ชามอ่าง ถัง แต่การหุงข้าวใช้หม้อดิน และใช้หม้อดินเล็กๆ มีด้ามสำหรับต้มแกง ฝังหินไว้ในดินสามก้อน ใช้เป็นเตาไฟ และใช้กะลามะพร้าวทำเป็นกระจ่า เขาใช้จานกระเบื้องหรือจานทองเหลืองที่มาจากเมืองจีนสำหรับใส่ข้าว ใช้ใบไม้ทำเป็นกระทงใส่แกง ซึ่งถึงแม้ว่าจะใส่แกงจนเต็มก็ไม่รั่วไหล เขาใช้ใบจากทำเป็นช้อน สำหรับช้อนแกงเข้าปาก เมื่อใช้เสร็จก็โยนทิ้งไป แม้จะเป็นการเซ่นสรวงเทพยดา หรือถวายภัตตาหารแก่พระพุทธก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน เขามีภาชนะดีบุกหรือภาชนะดินใส่น้ำไว้ข้างๆ ตัว ใช้สำหรับจุ่มมือ เขาใช้มือหยิบข้าวรับประทาน เมื่อข้าวสุกติดมือถ้าไม่ใช้น้ำข้าวจะไม่หลุดออกจากมือ เขาดื่มสุราด้วยจอกจากตะกั่ว พวกคนจนๆ ก็ใช้จอกดิน ตามบ้านขุนนางและคหบดีใช้ภาชนะทำด้วยเงิน แต่ที่ใช้ภาชนะทำด้วยทองคำก็มี ในงานพระราชพิธีเฉลิมถวายพระพร ส่วนใหญ่เขาใช้ภาชนะทองคำซึ่งมีแบบรูปพรรณแตกต่างกันไป สิงที่ปูลาดลงกับพื้นดินใช้เสื่อที่ทำด้วยหญ้าฟางจากเมืองหมิงโจว บ้างก็ลาดด้วยหนังเสือโคร่งเสือดาว กระจง กวาง ฯลฯ และเสื่อหวาย เมื่อไม่นานมานี้เขามีเตียงเตี้ยๆ ซึ่งส่วนมากคนจีนเป็นผู้ต่อ เขาใช้ผ้าคลุมอาหาร ในพระราชวังเขาใช้ผ้าแพรผ้าไหมลายทองคลุมพระกระยาหารส่วนเป็นของถวายจากพ่อค้าชาวเรือทั้งสิ้น ข้าวเปลือกนั้นเขาไม่ใช้เครื่องสี คงใช้สากและกระเดื่องตำเท่านั้น

คานหามนั้นต่อขึ้นด้วยไม้แผ่นเดียวซึ่งทำให้โค้งตรงกลางปลายทั้งสองข้างตั้งขึ้น เขาแกะลวดลายคานหามเป็นลวดลายต่างๆ แล้วปิดทองหรือเงิน ที่เรียกกันว่าคานหามที่มีคานเป็นทองหรือเงินก็เพราะเหตุนี้เอง แต่ละด้านหัวท้ายในระยะหนึ่งฟุต (จีน) ลงมาเขาตอกเกี่ยวไว้ใช้ผ้าใหญ่ ๑ ผืน พับเข้าให้หนาเอาเชือกผูกเข้าที่ขอเกี่ยวทั้งสองด้าน คนนั่งๆ ขึงผ้า แล้วให้คน ๒ คนหามไป คานหามลางทีก็เพิ่มเติมสิ่งของอย่างหนึ่งคล้ายประทุนเรือแต่กว้างกว่าเข้าด้วย ประดับประดาด้วยผ้าแพรสีต่างๆ ใช้คน ๓ คนหาม และมีผู้วิ่งตามคานหามไปด้วย ถ้าหากไปไหนหนทางไกล ก็มีคนขึ้นช้างขี่ม้า ที่ใช้เกวียนก็มีเหมือนกัน รูปร่างก็เหมือนกับเกวียนของที่อื่นๆ ม้านั้นไม่มีอานใส่ ช้างก็ไม่มีกูบสำหรับนั่ง

ราชทูตจีนได้ฟังว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ มักจะทรงซ่อนพระองค์ไม่เสด็จออกจากพระราชวัง ทั้งนี้เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่คาดไม่ถึง พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นี้เป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้าแผ่นดินองค์เก่า เดิมมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหาร พระเจ้าแผ่นดินองค์พ่อตาทรงมีพระสิเน่หาในพระราชธิดา  พระราชธิดาทรงลักเอาพระขรรค์ทองคำไปให้พระสวามีเป็นเหตุให้โอรสาธิราชทรงสืบสันติวงศ์ต่อไปไม่ได้ จึงได้วางแผนยึดอำนาจ พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ทรงทราบเข้า จึงโปรดให้ตัดนิ้วเท้าเสียแล้วเอาตัวจำไว้ในห้องมืด พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นี้ทรงฝังเหล็กศักดิ์สิทธิ์ไว้ในพระวรกาย แม้มีดหรือลูกศรหากมาต้องพระวรกายก็มิอาจทำอันตรายได้ นอกจากทรงเชื่อมันในสิ่งนี้ จึงกล้าเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชวัง ราชทูตจีนได้อาศัยอยู่ที่นั่นปีเศษ ได้เห็นพระองค์เสด็จออกนอกพระราชวังสี่ห้าครั้ง เมื่อเสด็จออกมีกองทหารแน่นขนัดนำหน้า ขบวนธงทิวและขบวนดุริยางค์ตามมาข้างหลัง หญิงชาววังตั้งแต่ ๓๐๐ ถึง ๕๐๐ คน นุ่งผ้ายกออก ผมประดับดอกไม้ มือถือเทียนเล่มใหญ่รวมกันเป็นขบวนหนึ่งโดยเฉพาะ แม้จะเป็นกลางวันแสกๆ ก็จุดเทียนนั้น ยังมีขบวนหญิงชาววังทั้งหมดเชิญเครื่องราชูปโภคทำด้วยเงินและทองคำ และพระเครื่องที่ตกแต่งมีลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งท่านไม่ทราบว่าเขาใช้ทำอะไรบ้าง ยังมีหญิงชาววังถือหอกกับโล่ห์เป็นทหารฝ่ายในอีกขบวนหนึ่งโดยเฉพาะ มีรถเทียมแพะ รถเทียมม้า ประดับประดาด้วยทองคำทั้งสิ้น พวกขุนนางและเจ้านายขึ้นช้างอยู่เบื้องหน้า มองดูไกลๆ เห็นสัปทนสีแดงนับไม่ถ้วน ต่อมาก็เป็นมเหสีกับสนม บ้างก็นั่งสีวิกา บ้างก็นั่งเกวียน บ้างก็ขึ้นช้าง บ้างก็ขี่ม้า มีกรดประดับทองคำร้อยกว่าคัน เบื้องหลังก็คือพระเจ้าแผ่นดินประทับยืนอยู่บนหลังพระคชาธาร พระหัตถ์ก็ถือพระขรรค์กายสิทธิ์ งาของพระคชาธารสวมปลอกทองคำมีฉัตรสีขาวประดับทองคำกว่า ๒๐ คัน ล้วนแต่ด้ามทำด้วยทองทั้งสิ้น ทั้งสี่ด้านล้อมด้วยช้างมากมายแน่นขนัด และมีทหารม้าคอยรักษาพระองค์ โดยทั่วไปการเสด็จพระราชดำเนินจะต้องอัญเชิญพระสถูปและพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ไปด้วย ผู้ที่ยืนเฝ้าชมบารมีอยู่เบื้องหน้าจะต้องคุกเข่าลงกับพื้นทำเบญจางคประดิษฐ์ เรียกว่า “ซานป้า” มิฉะนั้นจะถูกพนักงานพิธีการจับตัว และจะไม่ปล่อยตัวเปล่าๆ เป็นอันขาด

แต่ละวัน พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกว่าราชการ ๒ ครั้ง การว่าราชการไม่มีระเบียบวาระที่แน่นอน ขุนนางและราษฎรที่ประสงค์จะเข้าเฝ้าล้วนนั่งเรียงรายอยู่กับพื้นคอยเสด็จ ชั่วครู่จะมีเสียงดนตรีดังแผ่วๆ มาจากข้างใน ข้างหน้าก็จะเป่าสังข์รับเสด็จ ท่านราชทูตจีนได้ยินว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้ราชยานทองคำคันเล็ก และเสด็จมาจากที่ไม่ไกลนัก สักครู่จะเห็นนางกำนัล ๒ คน ใช้มืออันเรียวเล็กและสวยงามม้วนพระสูตรขึ้น และพระเจ้าแผ่นดินก็ปรากฏพระองค์ประทับยืนระหว่างช่องพระบัญชรทองคำ พระหัตถ์ถือพระขรรค์ บรรดาขุนนางและราษฎรต่างพนมมือจรดศีรษะขึ้นได้ จากนั้นพระเจ้าแผ่นดินก็จะประทับนั่งที่พระราชอาสน์ มีหนังราชสีห์หนึ่งผืนซึ่งเป็นของแผ่นดินอันล้ำค่าตกทอดสืบต่อกันมา เมื่อทรงว่าราชการเสร็จสรรพแล้ว ก็ทรงหันพระวรกายกลับ นางกำนัลทั้งสองก็ปล่อยวิสูตรให้ห้อยลงมา บรรดาคนทั้งปวงก็ลุกขึ้น จากนี้จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นประเทศป่าเถื่อนก็มิเคยที่ไม่รู้ว่าตนมีพระเจ้าแผ่นดิน.
   

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.503 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 15 มีนาคม 2567 23:26:00