[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 16:29:49 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: “ฮาเร็ม” ของ “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” จากบันทึกแหม่มแอนนา  (อ่าน 1430 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2321


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 28 เมษายน 2563 19:42:12 »


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

“ฮาเร็ม” ของ “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” จากบันทึกแหม่มแอนนา
จริงหรือที่สภาพ “น่าเวทนานัก”

ในบรรดาขุนนางของราชสำนักสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ปรากฏในบันทึกและการรับรู้ของผู้คนส่วนใหญ่ว่าเป็นผู้มีอำนาจในวงราชการแผ่นดิน ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทในด้านราชการของขุนนางคนสำคัญในราชสำนักไทยมีบันทึกไว้มากมาย แต่หากจะเอ่ยถึงเรื่องราวหลังม่านวงราชการอาจต้องไปค้นจากหลักฐานอื่น และที่น่าสนใจคือข้อมูลซึ่งปรากฏในบันทึกของแอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonovens) สตรีต่างชาติที่เข้ามารับหน้าที่ครูสอนภาษาอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4 ผู้ซึ่งบันทึกหลากหลายเรื่องราวในราชสำนักเอาไว้

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กำเนิดในช่วงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ช่วง พ.ศ.2351 หลังจากการถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็รับราชการต่อเนื่องมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยความอาวุโสและตำแหน่งทำให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กลายเป็นขุนนางที่มีอิทธิพลและอำนาจอย่างมาก โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 รับตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม ถือว่ามีอำนาจมากในราชการแผ่นดินแทบจะเรียกได้ว่าผูกสิทธิ์ขาดในราชการทั้งหลายเอาไว้ก็ว่าได้ เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในช่วงที่รัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์อีกด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีความสัมพันธ์กับต่างชาติมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งสยามทรงหาครูพี่เลี้ยงเพื่อสอนพระโอรสพระธิดาให้ได้เตรียมตัวรับมือกับตะวันตก ในช่วงเวลานั้นเอง แอนนา เลียวโนเวนส์ สตรีลูกผสมที่เกิดในอินเดีย เกิดมาในสถานะเด็กยากจนเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ.1862 พร้อมลูกชายวัย 6 ขวบ (บางแห่งว่า 7 ขวบ) มารับงานเป็นครูพี่เลี้ยงในราชสำนักสยาม

ในระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่แหม่มแอนนาใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมของราชสำนักสยาม นอกจากมีโอกาสให้การศึกษากับเจ้าจอมและพระราชโอรสและพระธิดาของพระองค์ หรือแม้แต่ความใกล้ชิดกับราชสำนักฝ่ายอันมีหลักฐานจากจดหมาย 8 ฉบับที่ “คิงมงกุฎ” เขียนถึงแอนนาย่อมเป็นหลักฐานอีกชิ้นที่บ่งบอกในแง่สถานะของแอนนาได้อย่างชัดเจน

ภายหลังเดินทางออกจากสยามเมื่อ ค.ศ.1867 (พ.ศ.2410) แอนนาจึงนำ “ประสบการณ์” มาบันทึกลงในผลงานอย่างเช่น “The English Governess at the Siamese Court” และ “The Romance of the Harem

หนังสืออันอื้อฉาวของแหม่มแอนนาไม่เพียงสร้างชื่อเสียงให้เธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่จนถึงทุกวันนี้ ผลงานของแอนนายังถูกวิจารณ์ว่ามีหลายส่วนที่เขียนเกินจริงไป การอ่านบันทึกของบุคคลในอดีตที่มีลักษณะผสมข้อมูลเชิงประจักษ์เข้ากับความคิดเห็นส่วนตัวย่อมต้องระมัดระวัง แต่องค์ประกอบบางอย่างของหลักฐานที่เป็นบันทึกลักษณะนี้ อย่างน้อยยังสะท้อนบริบทและบรรยากาศโดยรวมเป็นข้อมูลประกอบการอ้างอิงกับหลักฐานชิ้นอื่นได้ โดยเฉพาะเรื่องเกร็ดหลังม่านภารกิจหน้าที่อย่างเป็นทางการ

The English Governess at the Siamese Court

ในบันทึกฉบับหนึ่งที่สร้างชื่อให้แหม่มแอนนา คือ “The English Governess at the Siamese Court” บันทึกฉบับนี้เป็นบันทึกเกี่ยวกับสยามเล่มแรกของแอนนา ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1870 (พ.ศ.2413) หลังจากเธอออกจากสยามไปแล้ว 3 ปี สิ่งที่บอกเล่าผ่านบันทึกมีแหล่งที่มาหลากหลาย ทั้งจากการรับรู้ของแอนนาเอง จากการค้นคว้าเพิ่มเติม และจากการบอกเล่าของบุคคลอื่น

ข้อมูลส่วนหนึ่งที่น่าสนใจมีพูดถึงแง่มุมหนึ่งของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในแง่บรรยากาศในวัง และความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตของท่าน ช่วงที่แอนนา เอ่ยถึงเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เริ่มขึ้นมาจากช่วงหลังเชิญภิกษุ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ขึ้นสู่บัลลังก์แล้ว แอนนา เล่าว่า เหตุการณ์นี้ “ทำลายความหวังลับๆ ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้เป็นมหาเสนาบดีคนปัจจุบันจนไม่เหลือดี”

แอนนา ถึงกับเล่าเหตุการณ์ในวัน “เถลิงราชย์” ที่เธอนิยามว่า “ไม่มีชาวพื้นเมืองคนใด ไม่ว่าเจ้านายหรือชาวไร่ชาวนากล้าเสี่ยงพูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผย” ข้อความที่แอนนา เล่ามีว่า

“ในวันเถลิงราชย์ มหาเสนาบดีหลบไปเก็บตัวอยู่ในเรือนด้วยความโทมนัสและทุกข์ใจอยู่ 3 วัน ในวันที่ 4 มหาเสนาบดีในเครื่องแบบราชสำนักพร้อมบริวารติดตามจำนวนมากมาปรากฏตัวร่วมงานเฉลิมฉลองพิธีบรมราชาภิเษกในพระราชวัง

กษัตริย์หนุ่มทรงปัญญาผู้มีบุคลิกแบบผู้ทรงศีลซึ่งรับรู้กลซ่อนเร้นมากมายในราชสำนัก เป็นฝ่ายเข้ามาทักทายเขาด้วยเป้าหมาย 2 ชั้น ทั้งเพื่อซื้อใจและทดสอบความจงรักภักดีของบุตรชายผู้คับข้องใจและสองจิตสองใจของสมเด็จองค์ใหญ่ผู้จงรักภักดี พระองค์แต่งตั้งเขา ณ ที่นั้นให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพภายใต้ทินนามว่าพระยาพระกลาโหม”

(เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยากลาโหม อัครมหาเสนาบดีแทนบิดา (หลังสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ที่ถึงแก่พิราลัย)

แอนนา แสดงความคิดเห็นว่า “เกียรติยศที่ได้รับยกย่องนี้แม้จะไม่ได้ลวงล่อให้เขาสิ้นความขุ่นเคืองได้ทันทีทันใด แต่ก็ช่วยหันเหความเพ้อฝันอันตรายของเขาไปสู่ความกระตือรือร้นในหน้าที่และเขาก็ค้นพบหนทางปลอดภัยเพื่อระบายความรำคาญใจให้แปรเป็นความทุรนทุรายที่มีประโยชน์…”

เห็นได้ว่า แอนนาบอกเล่าสภาพอารมณ์ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะที่บรรยากาศในช่วงรัชกาลที่ 4 นั้น เป็นที่ทราบกันว่า มีความกังวลเรื่องคิดการกบฏเพื่อแย่งชิงราชสมบัติดำเนินมาตลอดรัชกาลที่ 4 อย่างไรก็ตาม ไกรฤกษ์ นานา ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่คร่ำหวอดในวงวิชาการแสดงความคิดเห็นว่า “ไม่ปรากฏว่ารัชกาลที่ 4 ทรงปักพระทัยเชื่อว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะเป็นผู้ต้องสงสัย จึงทรงปฏิบัติพระองค์เป็นปกติต่อท่านเรื่อยมา และไม่เคยลิดรอนอำนาจของท่านลงแม้แต่น้อย เพื่อมิให้กระทบกระเทือนจิตใจฝ่ายขุนนาง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าท่านเหล่านั้นกุมอำนาจในตำแหน่งสำคัญๆ อยู่ ถึงกระนั้นก็ทรงไม่สามารถลบล้างความกินแหนงแคลงใจให้สูญสิ้นไปได้”

ในบรรยากาศความสัมพันธ์แบบไม่แน่ชัดนี้ แหม่มแอนนา เสริมด้วยว่า “หลังจากเขาปรับเปลี่ยนรูปแบบและสร้างกองทัพให้สมบูรณ์ได้แล้ว เขาก็กลับสู่สภาพอารมณ์ซึมเศร้าจนผิดปกติ ซึ่งถูกกระตุ้นอีกครั้งโดยกษัตริย์ผู้เป็นนายเหนือหัวที่เชิญเขามาร่วมบริหารรัฐบาลพลเรือนในตำแหน่งสูงสุด นั่นคือมหาเสนาบดี เขาตอบรับและนับจากนั้นก็แสดงความสามารถในการบริหารจัดการกลไกต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนรายได้ สานความร่วมมือจากขุนนางทั้งปวง และรักษาอำนาจของตนไว้อย่างมั่นคง”

เนื้อหาจากการบอกเล่าของแอนนาในส่วนนี้สอดคล้องกับบันทึกของ เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ทูตอังกฤษที่เข้ามาติดต่อกับไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งกล่าวถึงความสามารถของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ด้วยว่า “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คนนี้ ถ้าไม่เป็นคนเจ้ามารยา หรือคนรักบ้านเมืองของตนก็ตาม ต้องยอมรับว่าฉลาดล่วงรู้การล้ำคนทั้งหลายที่เราได้พบในที่นี้ ทั้งมีกริยาอัชฌาสัยอย่างผู้ดี และรู้จักพูดจาเหมาะแก่การ”



ลักษณะภายนอกของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ : ในด้านลักษณะภายนอกของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แอนนา ยังบรรยายไว้อย่างละเอียด และถึงกับใช้คำว่า “เป็นผู้ปกครองตัวจริงของอาณาจักรกึ่งป่าเถื่อน” ข้อความส่วนหนึ่งที่แอนนา บรรยายความรู้สึกเมื่อพบเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ครั้งแรกมีว่า

“…มีราศีกษัตริย์ในตัวตนธรรมชาติของเขาแม้ถูกแวดล้อมท่ามกลางผู้คนไร้สง่าราศี เป็นผู้ปกครองตัวจริงของอาณาจักรกึ่งป่าเถื่อน และเป็นบุคคลสำคัญผู้วางนโยบายตามอำเภอใจอย่างเบ็ดเสร็จของประเทศ เขาผิวดำคล้ำ แต่หน้าตาดี กำยำ และกระฉับกระเฉง คอสั้นและหนา จมูกใหญ่และรูจมูกบาน สายตาสำรวจซอกแซก สติปัญญาสูงส่งดั่งผู้รอบรู้ ละเอียดรอบคอบ และมีระบบ

ลักษณะเด่นในคำพูดคำจาภาษาสยามคือเขามักแสดงความเห็นรุนแรงและมีอคติออกมาเป็นถ้อยคำตรงไปตรงมาและไม่ออมมือ ความทะนงตนประการเดียวของเขาคือภาษาอังกฤษที่เขาพูดปะปนกับภาษาแม่อยู่บ่อยๆ เพื่อสื่อถึงอารมณ์ขันอันคมคายในความคิดอ่านซึ่งมักเป็นเรื่องจริงจัง มีเหตุมีผล และน่าประทับใจ”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แอนนา เอ่ยถึงต่อไปนั้นคือบรรยากาศฝ่ายในที่พำนักของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งแอนนา บรรยายดังข้อความว่า “เราจะพบผู้ทรงปัญญา…อยู่ในฮาเร็มของเขากับบรรดานางคนโปรดชุดใหม่ล่าสุดที่คอยหยอกเย้าอยู่ใกล้ๆ” ซึ่งแอนนา ไม่ได้ระบุว่า ทราบได้อย่างไรว่าสตรีที่อ้างว่าพบเห็นเป็น “บรรดานางคนโปรดชุดใหม่” และไม่ได้บอกแหล่งที่มาของข้อมูลนี้

ห้องหับที่พบเห็น

แอนนา บรรยายละเอียดตั้งแต่บรรยากาศในห้องโถงที่พบ “เด็กสาวผิวสีมะกอกเรียงรายเป็นแถวยาวอยู่กลางห้อง” แต่ละนางมีสัดส่วนเรือนร่างและอายุแบบเด็กที่ผ่านการฝึกฝนให้เป็นหญิงสาวลักษณะนางละครที่คล่องแคล่ว

“เด็กสาวราว 20 คน ห่มผ้าโปร่งกับสายรัดเอวสีทอง แขนและทรวงอกเปลือยเปล่า สวมใส่เครื่องประดับทองคำแบบหยาบๆ ที่วิบวับยามพวกเธอเคลื่อนไหวย้ายยักค้อมศีรษะอย่างนอบน้อม ประนมมืออย่างเจียมตน สายตาหลุบต่ำอย่างขวยเขินใต้แพขนตายาว อาภรณ์ท่อนล่างชิ้นเดียวของพวกเธอที่พลิ้วไหวคลุมขาทำจากวัสดุสูงค่า ชายผ้าขลิบริมด้วยทองคำ ปลายนิ้วสวม ‘เล็บ’ ทองคำทรงเรียวแหลมเหมือนกรงเล็บนก ห้องสว่างด้วยโคมระย้าที่แขวนอยู่สูงมาก จนแสงที่ส่องลงมาตรงกลางห้อง และใบหน้าอ่อนเยาว์กับเรือนร่างอรชนอ่อนช้อยเบื้องล่างแลดูสลัว”

ครูสอนภาษาอังกฤษรายนี้ถึงกับบรรยายด้วยว่า “ภรรยาเอก” (ท่านผู้หญิงกลิ่น บุนนาค) เอนกายอยู่บนตั่ง ถูริมฝีปากด้วยขี้ผึ้งอย่างจริงจัง โดยมีหญิงรับใช้หลายนางคอยรับใช้

เมื่อเสียงขลุ่ยดังก็มีหญิงสาว 12 นางถือพัดสีเงินและทองเดินออกจากซอกเล็กๆ มานั่งเรียงรายปรนนิบัติพัดโบกให้กลุ่มที่อยู่ตรงกลาง ทันทีที่เพลงดัง นางรำทั้งหมดก็ยืนขึ้นตั้งเป็น 2 แถว ร่ายรำกรีดกรายมือ และร่ายรำด้วยท่วงท่าที่เชื่อว่า “ผ่านการฝึกฝนร่างกายระดับสูงสุดเท่านั้น” แอนนา บรรยายท่วงท่าเหล่านี้ว่า “ทุกท่วงท่าคือบทกวี การแสดงออกสื่อถึงความรัก”

ส่วน “ท่านกลาโหม” นั้น แอนนา บรรยายไว้ว่า

“ท่านกลาโหมนั่งอยู่ที่นั่นเหมือนเทวรูปสีดำขลับก่อนถูกภูตผีเข้าสิง! ขณะที่รอบกายเขา เหล่าผู้บวงสรวงแสนบอบบางเหล่านี้ แก้มแกงปลั่ง ตาเป็นประกาย แขวนแกว่งไกว หน้าอกกระเพื่อม เยื้องย่างร่ายรำระบำต้องมนตร์ เขาเป็นบุรุษน่าพิศวง หน้านิ่งและเคร่งขรึม มือใหญ่โตวางบนหัวเข่าในท่าแบบรูปปั้นราวกับพยุงน้ำหนักมหามงกุฎบนศีรษะให้สมดุล ขณะที่หญิงสาวเหล่านี้เปรียบเป็นใบไม้สีน้ำตาลสั่นสะทกอยู่แทบเท้า…

หุ่นกระบอกที่ยังมีชีวิตยังคงหมอบอยู่ตรงนั้น ไม่กล้าแหงนมองใบหน้าเทพเจ้าผู้เงียบงันของพวกนาง ใบหน้าที่ความเหยียดหยามกับความหลงใหลมารวมตัวกัน…ความปรารถนาไร้รูปลักษณ์ ความรู้สึกผิดไร้นิยาม! น่าเวทนา น่าเวทนานัก!

…เขาผงกศีรษะให้พวกท่าไร้ที่พึ่งเหล่านี้อย่างใจร้ายและปั้นปึ่งโดยจงใจ ไม่เคยมีรอยยิ้มยินดีหรือความพึงพอใจปรากฏบนสีหน้าหมองหม่น…เขาเบื่อหน่ายจึงลุกขึ้นปลีกตัวไปอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ส่วนพวกเด็กสาวอ่อนเยาว์ งดงามเปล่งปลั่ง หอบหายใจอยู่ตรงนั้นภายใต้อาภรณ์แสนงามที่ห่อหุ้มร่างซึ่งอาจไม่ใช่ความงามที่แท้จริง…”



ท่านผู้หญิงพัน บุนนาค
ไม่เพียงแค่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แอนนายังบรรยายลักษณะของท่านผู้หญิงพัน บุนนาค ภรรยาอีกท่านหนึ่งของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่า “เขาแต่งงานกับเธอหลังเลิกรากับคู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันมาหลายปี”

“คุณหญิงพันไม่ใช่ทั้งคนสวยหรือสง่างาม แต่เป็นแม่บ้านแม่เรือนและอารมณ์เย็นที่สุด ตอนเจอกันครั้งแรกเธอน่าจะอายุราว 40 ปี ตัวล่ำหนา ผิวคล้ำ เสน่ห์เดียวของเธอคือสายตากับวาจาที่อ่อนโยน…คุณหญิงพันรักดอกไม้เป็นชีวิตจิตใจซึ่งเธอถือว่าเป็นลูกรัก…สุภาพสตรีผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในครัวเรือนท่านมหาเสนาบดีมีความปรานีต่อบรรดาสาวน้อยในฮาเร็มสามีเธอ เธอใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของพวกนางอย่างฉันมิตรที่สุด ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกนางอย่างผาสุกเหมือนแม่กับลูกสาว ต่างไว้เนื้อเชื่อใจกัน และมักแก้ต่างให้พวกนางกับสามี ผู้ที่เธอต้องอาศัยการโน้มน้าวเชิงบวกอย่างละเอียดรอบคอบ”

สภาพความเป็นอยู่ในลักษณะของที่พำนักแบบขุนนางใหญ่ในราชสำนักสยามอาจไม่ค่อยเป็นที่คุ้นชินของแอนนา และอาจเป็นเรื่องความคิดเห็นส่วนตัวที่มองกิจกรรมการแสดงต่อหน้าขุนนางชั้นสูงของราชสำนักว่าเป็น “ฮาเร็ม” อันทำให้แอนนาบันทึกด้วยว่า เธอรู้สึกนับถือ รัก และยอมรับภรรยาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในฐานะ “แบบอย่างของความซื่อสัตย์อันเลอค่าสูงสุด”

ไม่มีหลักฐานใดที่จะเป็นข้อยืนยันคำบอกเล่าของแอนนา เกี่ยวกับสภาพที่บรรยายออกมานี้ได้มากนัก แน่นอนว่าการบอกเล่าส่วนหนึ่งดังที่ได้อ่านข้างต้นผสมความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัวของผู้บันทึกอันมาจากการสัมผัสภาพเบื้องหน้าโดยที่อาจยังไม่เข้าใจบริบทสภาพชีวิตขุนนางมาก่อน

คำว่า “เวทนา” ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของแหม่มแอนนา หากพิจารณาใต้สมมติฐานขั้นต่ำว่า ข้อมูลที่แอนนาเล่ามามีข้อเท็จจริงอยู่บ้าง ความรู้สึก “เวทนา” ย่อมเป็นปฏิกิริยาจากพื้นฐานมุมมองแบบชาวต่างชาติที่พบเห็นวิถีแบบขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในสยามไปเทียบกับคติที่อิงกับความเชื่อทางศาสนาและสังคมแบบตะวันตก

อีกประการคือ การบันทึกข้อมูลจากสายตาชาวต่างชาติที่อาศัยในไทยระยะหนึ่งก็เป็นธรรมดาที่จะพบว่า ข้อมูลในบันทึกบ่งชี้หรือตีความเรื่องราวคลาดเคลื่อนได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งบันทึกของวันวลิต, ลาลูแบร์ หรือปาเลกัว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คงต้องยอมรับว่า การบอกเล่าภาพที่มาจากการรับรู้ของชาวต่างชาติผู้บันทึกเรื่องราวเหล่านี้มีข้อมูลบางส่วนที่สามารถสกัดออกมาใช้เป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการศึกษาเรื่องราวในอดีต

อย่างไรก็ตาม ในเนื้อหาบางส่วนของบันทึกแอนนา ยังบอกเล่าอีกแง่หนึ่ง ว่า “…ฉันประหลาดใจเหลือเกิน เพราะรู้มาว่าท่านมหาเสนาบดีเป็นผู้หยิบยื่นความยุติธรรมแทนกษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง”

บันทึกของนักประวัติศาสตร์ระบุว่า แอนนา มีปัญหาสุขภาพ โดยป่วยด้วยโรคอหิวาต์ 2 ครั้ง อลิซาเบธ มาฮอน ระบุว่า เธอถูกคนทำร้าย 2 ครั้งและถูกขู่มากกว่า 1 ครั้ง

แอนนา เล่าว่า ในช่วง ค.ศ.1866 สุขภาพของเธอเข้าขั้นย่ำแย่ถึงขั้นคิดว่าต้องตาย จึงตัดสินใจกลับอังกฤษ แต่ต้อง “รอถึงครึ่งปีกว่ากษัตริย์จะทรงยินยอม” แต่ในเช้าวันที่เธอจะเดินทางจากไปนั้น พระองค์หันมาตรัสว่า “แหม่ม! เธอเป็นที่รักของคนทั่วไปรวมทั้งทุกคนในวังและลูกๆ ของฉันนะ ทุกคนเป็นทุกข์ที่เธอต้องจากไป…ฉันเองก็โกรธและอารมณ์เสียใส่เธออยู่บ่อยๆ แต่ฉันก็เคารพยกย่องเธอมากถึงกระนั้นเธอก็ควรต้องรู้นะว่าเธอเป็นหญิงที่รั้นและรั้นเกินกว่าปกตินัก แต่เธอจงลืมและกลับมาทำงานให้ฉันอีก เพราะฉันไว้เนื้อเชื่อใจเธอมากขึ้นทุกวันนะ ลาก่อน!”


หลังรัชกาลที่ 4 สวรรคต
ภายหลังรัชกาลที่ 4 สวรรคต เมื่อ พ.ศ.2411 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหกลาโหมเรียกประชุม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระบรมมหาราชวังเพื่อคัดเลือกผู้ที่จะเถลิงราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีลำดับถัดไป ที่ประชุมเห็นชอบให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อไป จากนั้นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กล่าวต่อว่า รัชกาลที่ 4 ทรงหนักพระราชหฤทัยด้วยพระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ เกรงว่าจะปกครองไม่ได้

ดังนั้น กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ทรงเสนอต่อที่ประชุมให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการแผ่นดินไปจนกว่าพระเจ้าแผ่นดินจะมีพระชมมายุพอที่จะผนวชได้ คือ 20 พรรษา ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบ เจ้าพระยาฯ จึงรับหน้าที่นั้นไว้จึงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในราชการแผ่นดินประมาณ 5-6 ปี หลังจากท่านพ้นจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้ว ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ช่วงบั้นปลายชีวิตมีข้อมูลว่า ท่านมักพักที่เมืองราชบุรี และถึงแก่พิราลัยที่ปากคลองกระทุ่มแบน ราชบุรี อายุรวม 74 ปี


ที่มา silpa-mag.com

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 เมษายน 2563 19:43:50 โดย 自由人 » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
“ฮาเร็ม” ของ “เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์” จริงหรือที่สภาพ “น่าเวทนานัก"
สุขใจ ห้องสมุด
ใบบุญ 2 632 กระทู้ล่าสุด 19 มกราคม 2565 14:30:13
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.472 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 26 กุมภาพันธ์ 2567 11:23:26