[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 20:41:03 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: จากบางกอกสู่เบอร์ลิน บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  (อ่าน 1120 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5462


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 19 พฤษภาคม 2563 21:03:48 »



จากบางกอกสู่เบอร์ลิน
บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

         เนื่องในวาระครบ ๒๕๐ ปี แห่งการสถาปนากรุงธนบุรี พุทธศักราช ๒๕๖๐ กรมศิลปากรได้จัดพิมพ์เผยแพร่บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้จัดทำบทนำอธิบายการตรวจสอบชำระ อักขรวิธี และตรวจสอบชำระตัวบทวรรณคดี และได้นำหนังสือสมุดไทยบทละครเรื่องรามเกียรติ์ฯ ฉบับที่เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันมารวมพิมพ์เผยแพร่ด้วย ซึ่งมีคุณูปการต่อวงวิชาการเป็นอย่างมาก บทความนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอประวัติความเป็นมาของเอกสารว่า หนังสือสมุดไทยเล่มสำคัญนี้ได้เดินทางจากสยามมาสู่เบอร์ลินได้อย่างไร เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
          เรื่องรามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันกษัตริย์ไทย และมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏการนำเรื่องรามเกียรติ์มาแต่งเป็นวรรณคดีประเภทต่างๆ ทั้งเป็นบทพากย์โขน บทละคร วรรณคดีคำสอน เช่น ราชาพิลาปคำฉันท์ หรือนิราศษีดา โคลงทศรถสอนพระราม พาลีสอนน้องคำฉันท์ และบทละครเรื่องรามเกียรติ์ครั้งกรุงเก่า ตอนพระรามประชุมพล จนถึงองคตสื่อสาร เป็นต้น
          บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เป็นบทละครที่แต่งขึ้นเพื่อใช้สำหรับเล่นละครในตามขนบราชสำนักไทยในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรวบรวมบทละครครั้งกรุงเก่าที่หลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ทรงเลือกตอนที่มีแนวคิดสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการปกครองบ้านเมือง หากตอนใดไม่สมบูรณ์ก็ทรงพระราชนิพนธ์เพิ่มเติมและให้อาลักษณ์คัดลอกไว้เป็นฉบับหลวง


บทละครเรื่องรามเกียรติ์
พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

         เมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีตีเมืองนครศรีธรรมได้ ทรงนำละครผู้หญิงของเจ้านครศรีธรรมราชเข้ามาสมทบกับพวกละครที่มีชีวิตรอดจากการเสียกรุงศรีอยุธยา เข้ามาฝึกหัดเป็นละครหลวงของกรุงธนบุรี และทรงพระราชนิพนธ์ซ่อมบทละครเรื่องรามเกียรติ์ของเก่าบางตอนให้สมบูรณ์ขึ้นดังปรากฏหลักฐานจากข้อความในบานแพนกของหนังสือสมุดไทยเรื่องนี้ว่า
          “เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ จุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขาลโทศก พระราชนิพนธ์ทรงแต่งชั้นต้นเป็นประถม ยังทราม ยังพอดีอยู่” วันที่เริ่มทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ตรงกับวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๑๓ หนึ่งปีหลังจากกลับศึกที่เมืองนครศรีธรรมราช และเป็นปีที่ ๓ ในรัชกาลของพระองค์ อย่างไรก็ดีอาลักษณ์ได้คัดลอกเสร็จหลังจากวันที่ทรงเริ่มถึง ๑๐ ปี ดังตอนท้ายหนังสือสมุดไทยเขียนว่า
          เดิมทีพบต้นฉบับสมุดไทยบทละครเรื่องรามเกียรติ์ฯ นี้เพียง ๕ เล่ม ได้แก่ เล่ม ๑ ตอนพระมงกุฎ เล่ม ๒ ตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินจนท้าวมาลีวราชมา  เล่ม ๓ ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษาความ  เล่ม ๔  และ ๕ ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษณ์ต้องหอกกระบิลพัท (ซึ่งหนังสือสมุดไทย ๒ ฉบับนี้ เป็นฉบับชุบเส้นทอง ๑ เล่ม และฉบับเส้นหรดาล ๑ เล่ม มีข้อความเหมือนกัน) ทั้งหมดเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
          ต่อมา พบว่ามีหนังสือสมุดไทยบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกเล่มหนึ่ง เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดประจำรัฐแห่งกรุงเบอร์ลิน ซึ่งหนังสือสมุดไทยเล่มนี้นับเป็นเล่มที่ ๑ เนื่องจากตอนท้ายหนังสือสมุดไทยมีข้อความว่า “พระสมุด ๑ หา ๒” เนื้อความในสมุดไทยเล่มนี้เป็นพระราชนิพนธ์ตอน ศึกสัทธาสูรและวิรุญจำบังจนถึงตอนผูกผมทศกัณฐ์กับนางมณโฑ ซึ่งเมื่อพิจารณาเนื้อความแล้ว ความจะสอดคล้องต่อกับหนังสือสมุดไทยตอนหนุมานเกี้ยวนางวานรินพอดี ปัจจุบันจึงมีบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับกรุงธนบุรี รวมทั้งหมด ๕ ตอนด้วยกัน
          บทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สำนวนนี้ แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอนบทละคร ซึ่งสืบทอดขนบกลอนบทละครจากสมัยอยุธยา บทหนึ่งมี ๔ วรรค มักขึ้นต้นคำกลอนว่า เมื่อนั้น บัดนั้น และ มาจะกล่าวบทไป คำขึ้นต้นคำกลอนดังกล่าวยังไม่มีกฎเคร่งครัดเหมือนบทละครสมัยรัตนโกสินทร์ กล่าวคือ ในบทละครรามเกียรติ์ สมัยธนบุรี จะใช้ เมื่อนั้น บัดนั้น กับตัวละครที่สูงศักดิ์และต่ำศักดิ์ ไม่แยกกันชัดเจน ซึ่งต่างจากบทละครสมัยรัตนโกสินทร์มักจะใช้ ‘เมื่อนั้น’ กับตัวละครสูงศักดิ์ เช่น พระราม พระลักษณ์ นางสีดา ท้าวมาลีวราช เป็นต้น ส่วน ‘บัดนั้น’ จะใช้กับตัวละครต่ำศักดิ์กว่า เช่น เสนาอำมาตย์ เป็นต้น แต่ละคำกลอนจะมีเพลงหน้าพาทย์กำกับอยู่ เช่น ตระ เชิด โทน เซ่นเหล้า เป็นต้น และบางคำกลอนมีกำหนดชื่อตัวละครไว้ท้ายบทด้วย ด้านสำนวนโวหาร บทละครเรื่องรามเกียรติ์ฉบับนี้ ใช้ถ้อยคำธรรมดาเป็นส่วนมาก จำนวนคำน้อย จังหวะกลอนกระชับ ทำให้การดำเนินเรื่องกระชับฉับไว




เส้นทางของหนังสือสมุดไทยสู่เบอร์ลิน
         เมื่อพิจารณาหนังสือสมุดไทยซึ่งอยู่ที่เบอร์ลิน (เอกสารเลขที่ Ms.or.fol.333) ได้พบข้อความที่เป็นกุญแจสำคัญซึ่งจะเปิดเผยเส้นทางของเอกสารตัวเขียนฉบับนี้ ปกหน้าของหนังสือสมุดไทยมีฉลาก ซึ่งเป็นลายมือของบรรณารักษ์บันทึกข้อมูลผู้มอบหนังสือสมุดไทยนี้ให้แก่หอสมุดฯ ว่า
          ชื่อ Röttger บนฉลากนั้นอาจไม่คุ้นหูคนไทยหรือนักวิชาการไทยศึกษานัก เขาเป็นมิชชันนารีชาวเยอรมันที่มาเผยแผ่ศาสนาในอินโดนีเซียและไม่เคยเดินทางมาสยามเลยสักครั้ง แต่นับเป็นความโชคดีที่หอสมุดหลวงแห่งปรัสเซียได้เก็บรักษาจดหมายโต้ตอบระหว่างบรรณารักษ์และนายรึตเกอร์ไว้ ทำให้ทราบว่านอกจากนายรึตเกอร์แล้วยังมีมิชชันนารีอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักในการส่งมอบหนังสือสมุดไทย คือ นายคาร์ล กุตสลาฟฟ์ มิชชันนารีที่เคยพำนักในสยามเป็นเวลาถึง ๓ ปี
          รายละเอียดในจดหมายกล่าวว่าพุทธศักราช ๒๓๗๗ นายคาร์ล กุตสลาฟฟ์ (Karl Gützlaff) ได้พบกับนายเอแบร์ฮาร์ต รึตเกอร์ (Eberhard Röttger) ที่สิงคโปร์ นายกุตสลาฟฟ์ มิชชันนารีได้มอบหีบเอกสารซึ่งภายในมีหนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลานจำนวนหนึ่งให้แก่นายรึตเกอร์ และขอให้เขาส่งเอกสารเหล่านี้ต่อไปยังกรุงเบอร์ลิน ในหีบดังกล่าวมีหนังสือสมุดไทยชุบเส้นทองหนึ่งเล่ม ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครทราบว่าเป็นเล่มหนึ่งในชุดบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีติดไปด้วย อีกทั้งในจดหมายนั้นยังแสดงรายชื่อหนังสือสมุดไทยเรื่องอื่น ได้แก่ พระอภัยมณี ประถม ก กา และจันโครพ ทั้งยังมีเอกสารตัวเขียนซึ่งเขียนด้วยอักษรอื่นๆ เช่น ขอม มอญ และลาว ส่งไปพร้อมกันด้วย
          หลังจากที่ได้รับหีบบรรจุเอกสารจากนายกุตสลาฟฟ์แล้ว วันที่ ๒๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๓๗๗ นายรึตเกอร์ได้ส่งต่อหีบดังกล่าวให้แก่กัปตันชิลด์คเนคท์ (Captain Schildknecht) กัปตันเรือกำปั่น ‘มาทาดอร์’ (Matador) ซึ่งเป็นเรือที่เดินทางระหว่างยุโรปและเอเชีย ในปีดังกล่าวระหว่างทางไปยุโรปเรือต้องเผชิญกับโจรสลัด ต่อมา ขณะที่แล่นจากยุโรปมาเอเชียได้เกิดอุบัติเหตุชนเรือลำอื่นจนอับปางลงแถวชายฝั่งประเทศจีน อย่างไรก็ตามหนังสือสมุดไทยและเอกสารล้ำค่าจากเอเชียก็ได้ส่งไปถึงหอสมุดแห่งกรุงเบอร์ลินในวันที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๓๗๗ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
          ต่อมาวันที่ ๖ พฤศจิกายน ดร.ฟรีดริค วิลเคน (Dr.Fridrich Wilken) นักตะวันออกวิทยาและบรรณารักษ์หอสมุดแห่งกรุงเบอร์ลินได้รับหีบเอกสารดังกล่าว พร้อมทั้งได้ระบุเลขทะเบียนหนังสือสมุดไทยดังกล่าวคือ รามเกียรติ์ (Ramakien) เลขทะเบียน ๔๘๖ ทั้งยังขอให้มิชชันนารีทั้งสองส่งเอกสารจากเอเชียมาให้ทางหอสมุดอีก โดยหอสมุดเสนอว่าพร้อมที่จะมีค่าตอบแทนให้ หลังจากนั้น ดร. วิลเคน ได้แจ้งแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาแห่งปรัสเซียในขณะนั้นว่า ได้รับเอกสารซึ่งมาจากเอเชียจากนายกุตสลาฟฟ์ และนายรึตเกอร์ ซึ่งรายงานนี้ได้นำขึ้นกราบบังคมทูลพระเจ้าฟรีดริค วิลเฮล์มที่สาม (Friedrich Wilhelm lll, King of Prussia) กษัตริย์แห่งปรัสเซียด้วย
          จากนั้นเป็นต้นมา หนังสือสมุดไทยบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ฉบับพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเล่มดังกล่าวก็เลือนหายไปจากความทรงจำและไม่มีผู้ใดกล่าวถึงอีกเลย จนกระทั่งศาสตราจารย์เคลาส์ เวงก์ (Klaus Wenk)ได้รวบรวมบัญชีรายชื่อเอกสารไทยในเยอรมันขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖ และปรากฏชื่อหนังสือสมุดไทยเล่มนี้เก็บรักษาอยู่ที่เบอร์ลิน หนังสือสมุดไทยฉบับดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญที่เก็บรักษาเนื้อความไว้อย่างสมบูรณ์และไม่เคยมีใครเคยศึกษาหรือแม้แต่จะเข้าถึงหนังสือสมุดไทยเล่มนี้มาก่อน
          ลำดับต่อไปผู้เขียนจะนำเสนอประวัติของมิชชันนารีทั้งสองคน เพื่อให้เข้าในถึงภูมิหลังและร่องรอยการเดินทางของหนังสือสมุดไทยบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี


ชีวิตของแฮร์มันน์ รึตเกอร์ :
มิชชันนารีแห่งรีเยา

         เอแบร์ฮาร์ด แฮร์มันน์ รึตเกอร์ (Eberhard Herrmann Röttger) เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๓๔๓ ที่เมือง Lengerich ในครอบครัวยากจนและอาศัยอยู่ในชนบท ครั้งเยาว์วัยเขาแทบจะไม่ได้เข้าโรงเรียนได้แต่เรียนรู้วิชาช่างไม้ ต่อมาเมื่ออายุ ๒๒ ปีได้รับคำสั่งให้ไปรับราชการทหารเป็นเวลา ๓ ปี เพราะเหตุที่มีรูปร่างสูงโดดเด่น รึตเกอร์เริ่มรับราชการทหารเมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๕ ในกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (guards regiment) ประจำกรุงเบอร์ลิน เขาได้พบกับคู่รักคือ นางเอมิลี ไบยาร์เฮาส์ (Emilie Beyerhaus) นางเอมิลีทำงานในวังโดยมีหน้าที่รับผิดชอบห้องเครื่อง นางจึงเป็นที่รู้จักในหมู่ราชวงศ์ปรัสเซียและชนชั้นสูง กล่าวได้ว่า สถานะทางสังคมของทั้งคู่นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
          ต่อมา พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๗๒ นายรึตเกอร์ ได้เข้าฝึกหัดเป็นผู้สอนศาสนาที่กรุงเบอร์ลิน สันนิษฐานว่าคือสถานบัน Jänicke จากนั้นได้ไปฝึกต่อเพิ่มเติมที่รอตเตอร์ดัมระหว่างพุทธศักราช ๒๓๗๒-๒๓๗๕ เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาที่หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ (Dutch East Indies) ขณะนั้นครอบครัวของนางเอมิลีไม่อนุญาตให้ลูกสาวเดินทางไปกับนายรึตเกอร์ เป็นเหตุให้ทั้งคู่ต้องแยกจากกันเป็นเวลาหลายปี
          รึตเกอร์ออกเดินทางจากรอตเตอร์ดัมมาถึงถึงปัตตาเวีย (Batavia) เมื่อพุทธศักราช ๒๓๗๕ และได้เริ่มเรียนภาษาจีนกับภาษามาเลย์ ทั้งได้สำเร็จวิชาการแพทย์จากโรงพยาบาลที่ดำเนินการโดยกระทรวงอาณานิคมของดัตซ์ (Dutch colonial administration) และตั้งแต่พุทธศักราช ๒๓๗๗ เป็นต้นมา งานของรึตเกอร์มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะรีเยา (Riau) ในอินโดนีเซีย แต่เขาก็ได้เดินทางไปตามหมู่เกาะต่างๆ จากการพำนักและเดินทางในอินโดนีเซียนั้น ทำให้เขาบันทึกข้อสังเกตต่างๆ เกี่ยวกับคนและธรรมชาติที่ได้พบเห็น
          ในเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๓๗๗ รึตเกอร์เดินทางไปสิงคโปร์และได้พบกับนายกุตสลาฟฟ์ ครั้งวนั้นเขาได้รับหนังสือสมุดไทยบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รึตเกอร์ส่งเอกสารทั้งหมดไปยังกรุงเบอร์ลินในปลายเดือนพฤษภาคม พร้อมกับเชียนจดหมายไปถวายเจ้าหญิงมารีอานน์แห่งออรังค์-นัซเซา (Princess Marianne of Orange-Nassau) พระชายาในเจ้าชายอัลแบร์ตแห่งปรัสเซียในจดหมายฉบับนั้น บรรยายถึงความภาคภูมิในงานมิชชันนารี และการส่งเอกสารจากเอเชียไปยังหอสมุดหลวงแห่งปรัสเซีย และเล่าปัญหาที่ต้องพลัดพรากจากคนรักเป็นเวลานาน เจ้าหญิงมารีอานน์ ทรงช่วยรึตเกอร์โดยนำความขึ้นกราบทูลกษัตริย์แห่งปรัสเซีย เมื่อกษัตริย์ทรงทราบเรื่องที่มิชชันนารีทั้งสองคนมอบเอกสารโบราณให้แก่หอสมุดหลวงแห่งปรัสเซียแล้ว ทั้งนายรึตเกอร์และกุตสลาฟฟ์จึงได้รับคำสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง
          คุณูปการของนายรึตเกอร์ครั้งนั้นได้รับผลตอบแทนอย่างดี กล่าวคือ กษัตริย์แห่งปรัสเซียได้พระราชทานทุนจำนวนหนึ่งแก่คู่หมั้นของรึตเกอร์เพื่อเดินทางไปยังอินโดนีเซีย หรือ “หมู่เกาะอินเดียตะวันออกแห่งดัตช์”๑๐ ในที่สุด นางเอมิลี คู่หมั้นของนายรึตเกอร์ได้เดินทางมาถึงอินโดนีเซีย และทั้งคู่ได้แต่งงานกันเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๗๘ ณ รีเยา (Riau) หลังจากที่พลัดพรากจากกันนานเกือบหกปี
          ด้านงานสอนและเผยแผ่ศาสนาคริสต์ รึตเกอร์ได้ช่วยเหลือชาวบ้านรวมถึงงานของกระทรวงอาณานิคมของดัตช์ เช่น สร้างโบสถ์คริสต์ โรงพยาบาล เป็นต้น  นอกจากนี้เขาช่วยเรื่องการศึกษาแก่เด็กๆ ท้องถิ่นอีกด้วย ต่อมารึตเกอร์หันมาเน้นความสำคัญแก่การสอนศาสนาให้ชาวจีนบนเกาะรีเยาเป็นหลัก เนื่องจากความพยายามให้ชาวมุสลิมเปลี่ยนศาสนานั้นไม่เป็นผล
          ครอบครัวรึตเกอร์เดินทางกลับเยอรมนีเมื่อพุทธศักราช ๒๓๘๕ ต่อมาได้ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยพระธรรมเทศนาที่เมือง Lengerick ในพุทธศักราช ๒๓๙๐ และดำรงตำแหน่งนี้เรื่อยมาเป็นเวลาสิบปี จนกระทั่งถึงพุทธศักราช ๒๔๐๐ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นคุณพ่ออธิการประจำโบสถ์ (parich priest) ที่เมือง Lotte ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะถึงแก่มรณกรรม ในวันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๑๑๑  




ชีวิตของคาร์ล กุตสลาฟฟ์ :
มิชชันนารีแห่งสยามและจีน

         นายคาร์ล ฟรีดริค เอากุสต์ กุตสลาฟฟ์ (Karl Friedrich August Gützlaff) เกิดเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๔๖ ที่เมือง Pytiyz ขณะนั้นอยู่ในราชอาณาจักรปรัสเซีย (ปัจจุบันคือเมือง Pyrzyce ในประเทศโปแลนด์) กุตสลาฟฟ์เรียนจบชั้นประถมแล้วออกมาเรียนวิชาชีพช่างทำอานม้า ครั้งหนึ่งในพุทธศักราช ๒๓๖๓ พระเจ้าฟรีดรีค วิลเฮร์มที่สาม ได้เสด็จเยี่ยมเมือง Stettin (ปัจจุบันชื่อเมือง Szcecin ในประเทศโปแลนด์) เด็กชายกุตสลาฟฟ์มีโอกาสได้เฝ้ารับเสด็จและถวายบทกวีนิพนธ์ที่แต่งขึ้นเอง กวีนิพนธ์ดังกล่าวเป็นที่พอพระทัยของกษัตริย์ จึงพระราชทานทุนการศึกษาแก่เด็กชายกุตสลาฟฟ์ให้เรียนต่อในสถาบันฝึกหัดมิชชันนารีโยฮันเนส เยนิคเคอ (Missionary Institute of Johannes Jänicke) ในกรุงเบอร์ลิน หลังจากที่ได้ฝึกหัดที่เบอร์ลินระยะหนึ่ง กุตสลาฟฟ์ได้มีโอกาสมาศึกษาต่อที่เมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างพุทธศักราช ๒๓๖๖ ถึง ๒๓๖๙ และได้เริ่มเรียนภาษาอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ ภาษาดัตซ์ และภาษามาเลย์ เพื่อเตรียมตัวจะไปเป็นมิชชันนารีที่หมู่เกาะอินเดียตะวันออกแห่งดัตซ์ (อินโดนีเซีย) กุตสลาฟฟ์มาถึงปัตตาเวียในพุทธศักราช ๒๓๗๐ เขาเริ่มงานเผยแผ่ศาสนา พร้อมทั้งเริ่มต้นเรียนภาษาจีนอย่างจริงจัง
          ต่อมาปลายเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๗๑ กุตสลาฟฟ์ได้เดินทางมายังสยามและพำนักต่อมาเป็นเวลาเกือบ ๓ ปี จนถึงพุทธศักราช ๒๓๗๔ นอกจากเทศนาพระคริสตธรรมแล้ว กุตสลาฟฟ์อุทิศเวลาและกำลังกายให้แก่การแปลพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาไทย รวมถึงเป็นหมอรักษาโรคแก่คนทั่วไปโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ และเนื่องจากหอสมุดหลวงเคยขอไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ให้กุตสลาฟฟ์รวบรวมเอกสารจากดินแดนตะวันออกเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นเมื่อมีโอกาส เขาจึงพยายามเก็บรวบรวมหนังสือสมุดไทยและคัมภีร์ใบลานให้ได้มากที่สุด๑๒
          กุตสลาฟฟ์เดินทางออกจากสยามเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๓๗๔๑๓ หลังจากนั้นเขาเดินทางต่อไปยังดินแดนเอเชียตะวันออก คือ จีน และ เกาหลี ณ ที่นั่นเขาอุทิศตนเป็นล่าม แพทย์ และบาทหลวงให้แก่บริษัทพาณิชย์หลายแห่ง รวมทั้งทางการของอังกฤษในฮ่องกงด้วย กุตสลาฟฟ์มุ่งมั่นที่จะเผยแผ่ศาสนาคริสต์จนมีชื่อเสียง โดยเฉพาะงานสำคัญคือ การก่อตั้งสมาคมมิชชันนารีในฮ่องกง ซึ่งสำเร็จลุล่วงในพุทธศักราช ๒๓๘๗
          ช่วงระหว่างพุทธศักราช ๒๓๙๒-๒๓๙๓ กุตสลาฟฟ์เดินทางไปทั่วยุโรป และมักได้รับการขนานนามว่า “อัครทูตของชาวจีน (Apostle of the Chinese)” หลังจากไปจากยุโรปแล้วเขาก็เดินทางกลับมายังเอเชียอีกครั้ง กุตสลาฟฟ์ถึงแก่มรณกรรมที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๙๔๑๔



หอสมุดหลวงแห่งปรัสเซีย
ที่มา : Antiquariat Clemens Paulusch, Berlin

๓ ปี ของกุตสลาฟฟ์ในสยาม
         กุตสลาฟฟ์มีผลงานสำคัญคือบันทึกความรู้เกี่ยวกับชีวิตชาวสยาม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ไทยสมัยต้นรัชกาลที่ ๓ เช่นเดียวกับนายยาคอบ ทอมลิน (Jacob Tomlin) เพื่อนมิชชันนารีผู้เขียนบันทึกประจำวันเล่าเรื่องราวความประทับใจระหว่าง ๙ เดือนที่พำนักในสยาม๑๕ บันทึกของกุตสลาฟฟ์ต่างจากของทอมลินคือ เขาได้สรุปประสบการณ์เรื่องระหว่างการพำนักในสยามเป็นประเด็นต่างๆ เช่น ศาสนา กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และลักษณะเฉพาะของแต่ละชาติพันธุ์ เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การค้าสำเภากับจีน และชนชั้นสูงชาวสยาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาสังเกตเห็นในตอนที่เป็นมิชชันนารี ระหว่างที่แจกพระคริสตธรรมคัมภีร์ เทศนา และเป็นหมอรักษาคนป่วย
          ประเด็นสำคัญที่นำเสนอในรายงานของกุตสลาฟฟ์คือเรื่องการสำรวจทางชาติพันธุ์ในดินแดนสยาม เช่น มอญ พม่า ลาวลุ่ม ลาวสูง เขมร รวมถึงชาวสยามด้วย ซึ่งแม้จะอยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์สยามเหมือนกันแต่ก็มีเรื่องราวและบริบททางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ในบันทึกของเขายังสะท้อนเรื่องความไม่เป็นมิตรที่ทางการสยามปฏิบัติต่อฝรั่งชาวตะวันตก กุตสลาฟฟ์กล่าวว่า กลุ่มชาวโปรตุเกสที่อยู่มานานเป็นชนวนให้ชาวสยามเกิดอคติและรู้สึกไม่เป็นมิตรกับฝรั่งตะวันตก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ได้เปลี่ยนไปหลังจากที่บริษัทอิสต์อินเดียชนะกองทัพพม่า เพราะชาวสยามเกรงว่าชาวยุโรปจะยกกองทัพมารุกรานสยามเหมือนที่พม่าถูกรุกราน
          นอกจากนี้เวลาว่างของกุตสลาฟฟ์นั้นมักจะอุทิศให้แก่ชาวจีนเพราะมีความสนในภาษาและวัฒนธรรมจีนอย่างลึกซึ้ง เขาไม่เห็นด้วยที่จะผสมผสานชาวจีนอพยพกับคนดั้งเดิม รวมถึงวัฒนธรรมจีนอันดั้งเดิมและเก่าแก่กำลังเสื่อมลง นอกจากนี้ชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากใหม่ต้องทำงานหนักเพื่อมูลนายและใช้ชีวิตด้วยความกลัวการกดขี่ข่มเหง แม้ว่าการค้าสำเภากับจีนยังคงดำเนินอยู่  


------------------------------------------

 ปัจจุบันไม่พบต้นฉบับสมุดไทย
 รายละเอียดเพิ่มเติมในคำชี้แจงการตรวจสอบต้นฉบับบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี, (กรุงเทพฯ, สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร),๒๕๖๑
 Staatsbibliothek Berlin, lll E17a 1834-1857, Acta betreffend die von dem Missionar Gützlaff gemachten Geschenke etc., fol.1-2; Röttger  1844:266; Westermann 2008;59-60.
 ขณะนั้นทำงานเป็นนักวิจัย ต่อมาพุทธศักราช ๒๕๑๓ ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์สาขาภาษาและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก
 Wenk 1963:28.
 ปัจจุบันคือหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย
 โรงเรียนฝึกหัดมิชชันนารีที่มีชื่อเสียง ซึ่งดำเนินการโดยบุคคลเพียงคนเดียว, ดูเพิ่มเติม ใน Motschmann 2015,246-50.
 ปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย
 เจ้าหญิงมารีอานน์ เป็นพระสุณิสาในพระเจ้าฟรีดริค วิลเฮล์มที่สาม กษัตริย์แห่งปรัสเซีย
๑๐  Röttger 1844: 266-7.
๑๑  Wesselmann 2008
๑๒  Wesselmann 2008: 59
๑๓  นันทา วรเนติวงศ์ และคนอื่นๆ, ประวัติและผลงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย, (กรุงเทพฯ, กรมศิลปากร, ๒๕๓๓), หน้า ๒๓
๑๔  Gutzlaff 1840: 49-57; Karl GÜtzlaffj’s Leben und Heimgang 1851.
๑๕  Tomlin 1831.

ขอขอบคุณที่มา : จากบางกอกสู่เบอร์ลิน บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปากร
บทความโดย : - Jan Dressler นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี
                 - สุธีรา สัตยพันธ์ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 พฤษภาคม 2563 21:09:15 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.935 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 24 เมษายน 2567 05:27:55