[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 02:18:23 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ศกุนตลา พระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (อ่าน 5457 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 25 พฤษภาคม 2563 19:09:27 »



ศกุนตลา
ของ กาลิทาสรัตนกะวี
ฉบับภาษาไทย
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชนิพนธ์

ประกอบด้วยคำนำและอภิธานอธิบายศัพท์

-------------------------------

คำนำ

เรื่องศกุนตลานี้ ต้นเรื่องอยู่ในมหาภารต เป็นเรื่องเกร็ดอันหนึ่ง (ฤๅเรียกตามภาษาสังสกฤตว่า “อุปาข๎ยาณ”) มีนามปรากฏว่า “ศกุน์ตโลปาข๎ยาณ” เป็นข้อความที่มีอยู่ในมหาภารต เพราะสมมติว่าเป็นเรื่องราวของกษัตริย์จันทรวงศ์องค์ ๑ ซึ่งเป็นชนกแห่งกษัตริย์โกรพและปาณฑพซึ่งทำสงครามกันที่ตำบลกุรุเกษตร์ อันเป็นตัวเรื่องแห่งหนังสือมหาภารต ที่ว่าเรื่องศกุนตลาเป็นเรื่องของชนกแห่งกษัตริย์ผู้กระทำมหาภารตยุทธ์นั้น คือท้าวทุษยันต์ผู้เป็นพระเอกในเรื่องนี้ นับว่ามีนามปรากฎในหมู่กษัตริย์จันทรวงศ์ เพราะเป็นบิดาแห่งท้าวภรต ผู้เปนพระเจ้าจักรพรรดิองค์ที่ ๑ ในมัธยมประเทศ และนามประเทศนี้ที่เรียกว่ามหาภารตวรรษ ก็คือเรียกตามท้าวภรตนี้อีก ส่วนศกุนตลานางเอกนั้น ตามเรื่องว่าเป็นบุตรีพระวิศวามิตร์มุนี ซึ่งมีนามว่าพระเกาศิก (คือเชื้อกุศิก) ส่วนมารดาแห่งนางศกุนตลานั้นคือ นางฟ้าชื่อเมนกา ซึ่งพระอินทร์จัดให้ลงมาทำลายพิธีของเกาศิก

ต่อมาภายหลังยุคมหาภารตนั้น มีจินตกวีชื่อกาลีทาสได้เก็บความมานิพนธ์ขึ้นเป็นเรื่องลครชนิดที่เรียกว่า “นาฏะกะ” คือเป็นคำพากย์และเจรจา คล้ายๆ บทโขนของเราแต่มีแบ่งชุดฤๅบริเฉทเป็น ๗ ชุด คำที่แต่งเป็นคำฉันท์คณะต่างๆ ตามแต่จะเหมาะแก่คำพูดของตัวละคร เพราะในนาฏะกะ ตัวใดที่เป็นกษัตริย์หรือฤษีชีพราหมณ์พูดภาษาสังสกฤต ผู้หญิงพูดปรากฤต (ซึ่งเป็นภาษาสามัญของสังสกฤต) ฉนี้เป็นต้น

ส่วนวิธีเล่นละครชนิดนาฏะกะนี้ ก็เหมือนลครของเรานั้นเอง คือมีฉากกั้นหลังโรง มีประตูออก ที่หลังฉากเรียกว่า “เนปัถย์” เป็นที่แต่งตัว วิธีใช้บทก็เห็นจะเป็นอย่างโขน ส่วนบทนั้นตัวลครร้องเองเจรจาเอง เว้นเสียแต่ตอนที่มิใช่คำพูด เปนดำเนินเรื่อง คงมีคนพากย์เจรจาอย่างโขนของเรา ในการแต่งเรื่องนี้ข้าพเจ้าจึ่งจัดไว้เช่นนั้นบ้าง คือในตอนใดควรจะพูดได้ก็ให้ตัวละครพูดเอง ต่อเป็นตอนที่จะไม่สะดวกแก่จะทำเช่นนั้นจึงให้คนอื่นเจรจาแทน

ในที่นี้อธิบายด้วยนาฏะกะโดยย่อพอเปนสังเขป แต่ถ้าผู้ใดอยากทราบข้อความพิศดารก็จงดูในภาคผนวกว่าด้วยนาฏะกะ ซึ่งอยู่ท้ายหนังสือนี้เถิด

ส่วนกาลีทาสจินตกะวีผู้แต่งบทละครศกุนตลานี้ เป็นกะวีมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้ ๑ ในนวรัตนะกวีผู้อยู่ในราชสำนักนิ์พระเจ้าวิกรมาทิตย์ ราชาผู้ครองนครอุชชยินี แต่ศักราชไม่สู้จะแน่นอนนัก เป็นข้อถุ้มเถียงกันอยู่ เพราะเหตุว่าราชาผู้ทรงนามว่าวิกรมาทิตย์มีหลายองค์ และกะวีชื่อกาลิทาสก็มีหลายคน ข้าพเจ้าอยากจะใคร่สันนิษฐานว่า ชื่อกาลิทาสจะเป็นราชทินนามสำหรับตำแหน่งรัตนะกวี ไม่ใช่เป็นนามบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉภาะ จริงอยู่บางทีในชั้นต้นก็จะมีจินตกะวีสำคัญคน ๑ ชื่อเช่นนั้น แล้วต่อมาภายหลังใครมีฝีปากดี ก็ได้ว่าที่กาลิทาสรัตนะกวี ดังนี้ดูเข้าทีอยู่กว่าอย่างอื่น

ศกุนตลาเป็นนาฏะกะ ซึ่งชาวยุโรปตื่นเต้นกันมากกว่าทุกเรื่อง มีแปลแล้วเป็นหลายภาษา แต่นอกจากศกุนตลายังมีนาฏะกะของกาลิทาสที่มีชื่อเสียงอยู่อีก ๒ เรื่อง คือ เรื่องวิกรโมรวศี ๑ มาลวิภาคนิมิตร ๑ และยังมีหนังสือกาพย์ที่ว่าเป็นของกาลิทาสอีก คือ ระฆุวํศะ ๑ กุมารสัมภว ๑ เมฆทูต ๑ ฤติสังหาร ๑ กับได้แต่งตำรับแบบฉันท์ ชื่อศรุตโพธ

ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขออธิบายว่า การแต่งบทลครเรื่องศกุนตลาเป็นภาษาไทยนี้ ข้าพเจ้าตั้งรูปตามใจของข้าพเจ้าเอง คือให้เหมาะแก่การที่จะเล่นเป็นลครอย่างไทยได้ ไม่ได้เดินตามแบบนาฏะกะฉบับเดิม แต่หาได้คิดเพิ่มเติมข้อความอันใดลงไปโดยอำเภอใจนอกเรื่องไม่ ทั้งเนื้อเรื่องและเนื้อความ ถ้าผู้ใดจะสนใจสอบกับต้นฉบับคงจะเห็นว่า ข้าพเจ้ามิได้ยักย้ายนอกคอกไปปานใดนักเลย ถ้าหากว่าจะมีข้อที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ก็จะเป็นเพราะข้าพเจ้าอ่านภาษาสังสกฤตเองไม่เปน ต้องอาไศรยฉบับอังกฤษซึ่งเซอร์วิลเลียม โยนส์ เปนผู้แปล และได้อาศัยฉบับของเซอร์โมเนียร์วิลเลียมส์ เทียบเคียงบ้าง เพราะฉนั้นก็เห็นมีทางที่จะคลาดเคลื่อนมีความเพี้ยนอยู่บ้างก็เป็นได้ แต่คงจะไม่ผิดมากเท่าเรื่องรามเกียรติ์ฤๅอนิรุทธ์ (“อุนรุท”) ที่ได้แต่ง ๆ กันมาแล้ว และเชื่อว่าจะมีผู้ติได้ก็แต่นักปราชญ์ผู้รู้ภาษาสังสกฤต และพอใจแปลหนังสืออย่างเปรียญเท่านั้น

อนึ่งในท้ายหนังสือนี้ ข้าพเจ้าได้แถมบทกล่าวด้วยนาฏกะไว้บท ๑ ซึ่งกล่าวถึงการเล่นลครในมัธยมประเทศ และแสดงว่าวิชาลครนั้นได้เดินมาถึงเมืองไทยเราอย่างไร ไทยเราได้มาแก้ไขไปอย่างไรๆ บ้าง กับมีอภิธานสังเขป คือรวบรวมนามศัพท์ต่างๆ ที่ได้ใช้ในหนังสือเล่มนี้ ศัพท์หนึ่งๆ อธิบายน้อยบ้างมากบ้าง แล้วแต่ที่เปนศัพท์สำคัญมากหรือน้อย และเก็บข้อความเพื่ออธิบายได้มากหรือน้อย ตอนอภิธานนี้ ความตั้งใจของข้าพเจ้าสำหรับเผื่อผู้อ่านที่เปนนักเลงหนังสือและโบราณคดี จะได้ค้นพอได้คำอธิบายพิศดารยิ่งกว่าที่จะเข้าใจได้ในเมื่อพอตัวศัพท์ ที่ใช้อยู่ในประโยคในเนื้อเรื่องศกุนตลา หรือในตอนกล่าวด้วยนาฏะกะ เช่นพบนาม “กฤษณ” อยากจะทราบข้อควาามพิศดารขึ้นกว่าที่มีอยู่ในตอนที่อ่านอยู่นั้น พลิกไปดู “กฤษณ” ในอภิธานก็คงได้สมปราถนา แต่การรวบรวมอภิธานเปนของที่ยากและมักจะบกพร่องได้ง่าย เพราะฉนั้นถ้าผู้อ่านพบบกพร่องอยู่ก็ต้องขออภัย


วชิราวุธ ปร

เครื่องแต่งตัวลคร

มนุษ     .
ท้าวทุษยันต์     เครื่องนายโรง ใส่ชฎา เว้นแต่ในตอนทีแรกพบนางนั้น สมมุติว่าเปลื้องชฎา เพราะฉนั้น
.      ควรใช้หมวกทรงประภาศปักทอง ผัดหน้าถือศร เว้นแต่ในตอนที่ถอดชฎานั้นถือพัชนี
กุมาร (โอรสท้าวทุษยันต์)       ยืนเครื่อง หัวจุก ผัดหน้า
วาตายน (กรมวัง)      เครื่องเสนา ผ้าโพกกับสุวรรณมาลา ผัดหน้า ถือไม้เท้ายอดทอง
นายสารถี      เครื่องเสนา ผ้าโพกกับสุวรรณมาลา ผัดหน้า ถือแพนคู่ แส้จามรีเหน็บเข็มขัด
เสนา       เครื่องเสนา หมวกทรงประพาศโหมดหรือตาด ผัดหน้า
กุมภิล (ชาวประมง)      นุ่งถกเขมร เสื้อแขนสั้น ผมยาวประบ่า ไม่ผัดหน้า และติดหนวดดำ ถือคันเบ็ด
.      ย่ามสพาย มีแหวนด้วยวง ๑
ราชบุรุษ (จำอวด)      แต่งอย่างจำอวด โพกผ้า ถือพลอง
นางศกุนตลา      ตอนต้นเครื่องขาวล้วน กระบังหน้าและเครื่องแต่งดอกไม้สดล้วน ช้องเกล้ามวย
.     ตอนกลางแต่งเครื่องนางเอก ใส่มงกุฎกษัตรี ตอนปลายนุ่งขาวห่มขาว
.     เครื่องแต่งผม เปนดอกไม้ขาว ช้องถักเปีย
นางอนูสูยาและปิยวาท      เครื่องขาว เครื่องแต่งผมดอกไม้
นางกำนัล       เครื่องนางกำนัล
.      .
.      .
ฤๅษีและพราหมณ์     .
พระกัณวะดาบส     ผ้าขาวขลิบแดง ผ้านุ่งห้อยชายโจงชายเสื้อแขนสั้น ผ้าห่มเฉียงบ่า
.      ชฎาผ้าขาวขลิบแดง แต่งดอกไม้ขาว ไม่ผัดหน้า ติดหนวดเคราหงอกขาว
.      ถือพัดใบตาลด้ามตรงสั้น ๆ
ฤษี (ที่ห้ามท้าวทุษยันต์ -       เครื่องฤษีขาว คล้าย ๆ ที่พระกัณวแต่ง แต่ชฎาไม่แต่งดอกไม้ ไม่ผัดหน้า
ไม่ให้ยิงกวาง และที่เปนบริวารพระกศป)       เคราดำ และฤษีที่ห้ามท้าวทุษยันต์นั้นถือพร้าหรือขวานสำหรับตัดไม้
โสมราต (ปุโรหิต)      เครื่องพราหมณ์ชั้นสูง คือนุ่งยกขาวโจงกระเบน (ไม่ใส่สนับเพลา) เสื้อขาว ห่มเสื้อครุย
.      เฉียงบ่า ผมมวย ไม่มีเครื่องแต่งผม ไม่ผัดหน้า ติดหนวดและเคราสั้น ๆ หงอกมีดำแซม
โคตมีพราหมณี       แต่งขาวล้วน มีกระบังหน้าและผ้าโปร่งขาวคลุมหัวปิดผม และยาวลงไปข้างหลังบ้าง
.      กอง ๆ ไว้ที่บ่าบ้าง ผัดหน้าบาง ๆ เขียนเส้นให้เห็นย่นบ้างเล็กน้อย
พราหมณ์บริวาร     นุ่งผ้าขาวโจงกระเบน ห่มผ้าขาวเฉียงบ่า โพกผ้าขาวทับเมาลี ไม่ผัดหน้า
.      ติดหนวดเคราหรือไม่ติดตามแต่จะเหมาะ
.      .
.      .
เทวดา     .
พระเทพบิดร      นุ่งยกขาวนุ่งชายโจงชาย เสื้อขาวแขนสั้น ห่มผ้าสใบเฉียงขาวโรยทองขลิบทอง
.       ทับทรวงเพ็ชร กำไลเพ็ชร มงกุฎน้ำเต้า ไม่ผัดหน้า ผมหงอกขาว
     ติดหนวดเคราหงอกขาว ถือพัชนี
พระอทิติเทพมารดา      เครื่องขาวล้วน มงกุฎกษัตรี ผัดหน้า
พระอินทร      ยืนเครื่อง ชฎา ผัดหน้า ถือวัชระ
พระมาตุลี      ยืนเครื่อง หัวผ้าโพกสุวรรณมาลา ผัดหน้า ถือแพนคู่
ท้าวธตรฐ       ยืนเครื่อง ชฎาหางไก่ ผัดหน้า เขียนพรายปาก ถือพระขรรค์
ท้าววิรุฬหก     ยืนเครื่อง ชฎามนุษ ผัดหน้า ถือหอก
ท้าวกุเวร      ยืนเครื่องยักษ์ มงกุฎน้ำเต้าสี่เหลี่ยม ผัดหน้าบาง ๆ และติดคิ้วให้ขมวด
.      ติดหนวดและเคราน้อย ๆ สีดำ ถือตะบอง ใช้กิริยาอย่างยักษ์
ท้าววิรูปักษ์       ยืนเครื่อง ชฎายอดหัวนาค ผัดหน้า ถือศร
เทวดาบริวาร (พลท้าววิรุฬหก)      เครื่องเสนา ใส่ชฎา ผัดหน้า (หรือจะใช้หัวโขนหน้าสีต่าง ๆ มีชฎาก็ได้)
.      ถืออาวุธยาว เช่น หอก หอกกับโล่ห์ ฯลฯ
.      .
.      .
เบ็ดเตล็ด     .
คนธรรพ (พลธตรฐ)       เครื่องเสนา หัวผ้าโพกสุวรรณมาลา ไม่ผัดหน้า เขียนคิ้วขมวด พรายปาก
.      (หรือจะใช้หัวโขนอย่างมนุษหัวโล้น หน้าสีต่าง ๆ ก็ได้)
.       ถืออาวุธสั้น เช่นดาบเขน ดาบสองมือ ฯลฯ
ยักษ์ (พลท้าวกุเวร)      เครื่องเสนายักษ์ กระโหลกหัวยักษ์ ไม่ผัดหน้า ติดคิ้วขมวดและดก
.      หนวดเคราตามควร (หรือจะใช้หัวโขนหน้าเสนายักษ์ก็ได้) ถือตะบอง ใช้กิริยาอย่างยักษ์
นาค (พลท้าววิรูปักษ์)       เครื่องนาคแบบโขนหลวง ผัดหน้า ถือธนู และดาบ
นก (บริวารพระเทพบิดร)       เครื่องเสนา ใส่หัวนก
วานร (บริวารพระเทพบิดร)      เครื่องสิบแปดมงกุฎ ขาวตัว ๑ ดำตัว ๑
ท้าวกาลเนมี      ยืนเครื่องยักษ์ หัวโขนหน้าดำมงกุฎหางไก่ ถือศร
ทานพ (บริวารกาลเนมี)       เครื่องเสนายักษ์ หัวโขนหน้าต่าง ๆ ถือตะบอง
กวางดำ      เครื่องกวาง มีเสื้อกางเกงติดกัน สรวมหัวกวาง




Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 25 พฤษภาคม 2563 19:15:52 »


.     ศกุนตลา      .

ช้า ๏ เมื่อนั้น องค์ท้าวทุษยันต์นาถา บรรทมร่มไม้ในพนา ศุขาภิรมย์ฤดี เมื่อยล้าล่าเนื้อตลอดวัน แรมกลางไพรสัณฑ์ศุขี จนจวนจะสิ้นราตรี ภูมีพลิกฟื้นตื่นนิทรา ฯ ๔ คำ ฯ

แขกมอญ ๏ แลดูอรุณไขแสง แสงแดงเรื่อเรืองเวหา ดูแชล่มเหมือนแก้มกัญญา โสภาแรกรุ่นดรุณราม ดาวเดือนเลื่อนลับเวหน สุริยนผ่องพื้นภูมิสาม แสงจับยอดไม้ใบงาม วาม ๆ น้ำค้างเคลือบใบ แสงจับรถแก้วแวววับ แสงจับเกราะทหารน้อยใหญ่ ดูพลสพรั่งพร้อมไป ผ่องใสราวพลเทวัน ฯ ๖ คำ ฯ

ร่าย ๏ จึ่งแต่งองค์ทรงเครื่องเรืองอร่าม แง่งามดังหนึ่งจอมสวรรค์ กรกุมศรงามด้ามสุวรรณ ผายผันมาขึ้นรถทรง ฯ เสมอ ๒ คำ ฯ

๏ ตรัสสั่งเสนาทั้งหลาย ให้แยกย้ายกันเข้าไพรระหง ไล่ต้อนมฤคในพง มาให้ทรงยิงเล่นเช่นวันวาน ทรงรถจรดเลี้ยวไป ตามทางที่ในไพรสาณฑ์ ออกกลางทุ่งแจ้งแหล่งลาน เปนที่สำราญวิญญา ฯ เชิดฉิ่ง ๔ คำ ฯ

(สัตว์ต่าง ๆ วิ่งผ่านไป ท้าวทุษยันต์ยิงตายบ้าง หนีรอดไปบ้าง ในที่สุดมีกวางดำวิ่งออกมา)

กาเรียนทอง ๏ เหลือบเห็นกวางขำดำขลับ งามสรรพสพรั่งดังเลขา งามเขาเปนกิ่งกาญจนา งามตานิลรัตน์รูจี คอก่งเป็นวงราววาด รูปสอาดราวนางสำอางศรี เหลียวหน้ามาดูภูมี งามดังนารีชำเลืองอาย ยามวิ่ง ๆ เร็วดังลมส่ง ตัดตรงทุ่งพลันผันผาย ปิ่นกษัตริย์เร่งรัถพรรณราย กระทั่งถึงชายไพรวัน ฯ ๖ คำ ฯ

ร่าย ๏ พระศะศิพงศ์ลงจากรถราช ยูรยาตร์ตามไปในไพรสัณฑ์ กวางล้าราชาดำเนินทัน กางกั้นหวังจับมฤคิน ฯ เชิดฉาน ๒ คำ ฯ

(ท้าวทุษยันต์ตามกวาง รถสมมตว่าขับตามหลังพระราชานั้นไปห่าง ๆ เมื่อจบน่าพาทย์ลงลา ฤษีตน ๑ ออกมากับศิษย์อีก ๒ คน ฤษียกมือห้าม)

เจรจา

ฤษี  – มหาบพิตร์ อย่า อย่า ข้าขอเสียที กวางตัวนี้ได้หนีเข้ามาจนถึงที่เคยพึ่งพำนัก ถ้าทรงศักดิ์จะแผลงศรต้องมฤคนี้ไซร้ ก็เหมือนหนึ่งว่าวางเพลิงลงไปบนกองสำลี เปลวอัคคีคงจะลุกลามไหม้ไปในพริบตาฉันใด กวางอันอ่อนตัวนี้ไซร้แม้ถูกศรก็จะต้องม้วยมรณ์ไปฉันนั้น เก็บลูกศรเสียเถิดทรงธรรม์เอาไว้สังหารเหล่าร้าย เอาไว้ปราบผู้มุ่งหมายทำอันตรายแก่พราหมณาจารย์ ดีกว่าที่จะใช้เพื่อสังหารสัตว์อันหาผิดมิได้

ทุษยันต์ – ข้าขอไหว้พระทรงพรต ลดศรลงตามวาที

ฤษี – ดีแล้วเทวะ เออฉนี้ละชื่อว่าสมเปนบรมกษัตร์ ควรเปนเชื้อปุรุรัตน์ชาติอาชาไนย ขอพระองค์จงทรงมีไชยเจริญอิศริยยศ จงมีโอรสทรงคุณธรรมเปนจักรพรรดิครองปัถพี

ทุษยันต์ – ข้าขอรับพรด้วยยินดีไว้เหนือเกศา อนึ่งขอพระคุณจงกรุณาชี้แจงให้แจ้งใจ พระคุณนี้อยู่แห่งใด ใครเปนคณาจารย์

ฤษี – อาตมะนี้อยู่สำราญณอาศรมในป่านี้ โน่นลำน้ำมาลินีเปนที่โสดสรงองค์พระดาบส นามกัณวะจอมพรตกาศยปพันธุ์ เธอกรุณาแก่สัตว์ทั้งนั้นไม่เลือกหน้า นิ่มนางศกุนตลายอดสงสาร พระมุนีท่านเลี้ยงมานานรักเหมือนดวงใจ นางเอาใจใส่แก่ฝูงสัตว์ที่ในป่า จนนางนั้นเหมือนมารดาเปนที่นิยมรักใคร่ ถ้าแม้พระองค์ไม่มีกิจอันใดก็ขอเชิญสู่อาศรม คงจะได้ต้อนรับตามนิยมอย่างประเพณี เมื่อพระภูมีทอดพระเนตรเห็นแน่ชัด ว่าบริษัทพระดาบสนั้นล้วนสัมมาจารี ก็จะมีพระกมลสันดานเบิกบานเปนยิ่งนัก ว่าพระองค์เปนผู้พิทักษ์รักษาข้าแผ่นดินอันประพฤติงาม

ทุษยันต์ – ดูกรมหาพราหมณ์ ข้าขอถามอีกสักคำ พระมุนีผู้เลิศล้ำในพราหมณวิไสย ท่านอยู่อาศรมฤาไฉน ข้าจะได้รีบไปนมัสการ

ฤษี – พระกัณวาจารย์ผู้ณานกล้าหาอยู่ไม่ เธอได้ไปบูชาพระเปนเจ้าณโสมเตียรถ์ เพื่อบำเพ็ญเพียรเสดาะเคราะห์ร้ายอันจะมากล้ำกลายนางศกุนตลา แต่พระมุนีได้มีบัญชาสั่งนางไว้ให้คอยต้อนรับแขกตามประเพณี ขอเชิญพระภูบดีเสด็จไปยังอาศรมร่มไม้ใหญ่ ฝ่ายตูข้ามีกิจจะตัดไม้ไปทำฟืนเพื่อกองอัคคี ขอทูลลาไปทางนี้เพื่อทำกิจให้สำเร็จ (เข้าโรง)

(ท้าวทุษยันต์ขึ้นทรงรถ)

ร่าย ๏ เมื่อนั้น พระปิ่นโปรพรังสรรค์ ให้เคลื่อนรถทองผ่องสุวรรณ มิชำพลันก็ถึงขอบไพร ฯ ๒ คำ ฯ

โยนดาบ ๏ แลดูที่อยู่พระดาบส งามงดหาที่ติมิได้ ดูน่าภิรมย์ร่มไม้ น้ำใสไหลเย็นเปนขวัญตา โน่นเข้าปลูกไว้ใช้พลี ริมนี้สนามตัดหญ้า ควันไฟที่กูณฑ์บูชา หอมชื่นนาสากลิ่นสุคันธ์ ฝูงกวางย่างเยื้องชำเลืองเห็น ไม่หลีกเร้นเฉยอยู่ดูไม่พรั่น ดูน่าสบายใจครัน ทุกสิ่งสรรพ์ควรแก่พระมุนี ฯ ๖ คำ ฯ

ร่าย ๏ ชมพลางทางสั่งให้หยุดรถ เผยพจน์แด่นายสารถี เข้าเขตร์สถิตย์โยคี ควรมีเคารพแด่มุนินทร์ จำกูจะเปลื้องเครื่องทรง ถ่อมลงซึ่งยศศักดิ์สิ้น เหมือนกูเคารพพรหมินทร์ คงสมถวิลจินดา ว่าพลางลงจากรถราช ยาตร์สู่ร่มไม้ใบหนา ปลดเปลื้องเครื่องทรงอลงการ์ แล้วมาอาศรมพระโยคี ฯ เสมอ ๖ คำ ฯ (ทุษยันต์และสารถีเข้าโรง) ฯ

(นางศกุนตลาและนางพี่เลี้ยงทั้ง ๒ ออก นั่งตามที่)

ช้า ๏ เมื่อนั้น โฉมศกุนตลามารศรี ถึงยามรุ่งแจ้งแสงระวี พลิกฟื้นจากที่ไสยา ฯ ๒ คำ ฯ

หรุ่ม ๏ กลางไพรไก่แก้วแจ้วเสียง ส่งศัพท์สำเนียงก้องป่า ฝูงนกต่างตื่นนิทรา โกกิลากู่ก้องกังวาฬ แก้วกู่เรียกคู่ที่พลัดพราก จากระวากส่งเสียงสำเนียงหวาน กระเวนไพรเริงร้องก้องพนานต์ เสียงนกประสานเสนาะกรรณ แหวกม่านมองดูเวหา เห็นแสงอุษาฉายฉัน แสงอ่อนไม่ร้อนเหมือนตวัน สมกันกับผิวนวลลออง ฯ ๖ คำ ฯ

ร่าย ๏ ลงจากเตียงน้อยค่อยไป ปลุกพี่ทรามไวยทั้งสอง ล้างหน้านุ่งผ้าคากรอง เดินออกจากห้องที่นิทรา ฯ เพลงช้า ๒ คำ ฯ

(เมื่อน่าพาทย์ลงลา ท้าวทุษยันต์ออก ท้าวทุษยันต์ในตอนนี้ถอดชฎา คงมีแต่ผ้าโพกกับเครื่องแต่งผมและมาไลยดอกไม้สด ในระหว่างที่ท้าวทุษยันต์ชมโฉม นางทั้งสามต่างรดต้นไม้)

ร่าย ๏ เมื่อนั้น พระจอมหัสดินนาถา แลเห็นโฉมเฉลาเยาวพา ดูไม่วางตาจับใจ ฯ ๒ คำ ฯ

ชมโฉม ๏ นี่ฤาบุตรีพระดาบส งามหมดหาใครจะเปรียบได้ อนิจจาบิดาท่านแสร้งใช้ มารดต้นไม้พวนดิน ดูผิวสีนวลลอองอ่อน มลิซ้อนดูดำไปหมดสิ้น สองเนตร์งามกว่ามฤคิน นางนี้เปนปิ่นโลกา งามโอฐดังใบไม้อ่อน งามกรดังลายเลขา งามรูปเลอสรรขวัญฟ้า งามยิ่งบุบผาแบ่งบาน ควรฤามานุ่งคากรอง ควรแต่เครื่องทองไพศาล ควรแต่เปนยอดนงคราญ ควรคู่ผู้ผ่านแผ่นไผท ฯ ๘ คำ ฯ

ร่าย ๏ เมื่อนั้น โฉมเยาวนารีศรีใส เดินชมบุบผาทั่วไป อรไทยเรื่อยร้องรำพรรณ ฯ ๒ คำ ฯ

ลมพัดชายเขา ๏ รื่น ๆ ชื่นกลิ่นมัลลิกา หอมชื่นนาสาเกษมสันต์ รื่นๆสุระภีผสมกัน กลิ่นสุคันธ์เย็นฉ่ำช่ำใจ เรื่อย ๆ ลมพัดมาอ่อน ๆ โชยกลิ่นเกษรเข้ามาใกล้ เรื่อย ๆ รศเร้าเย้าฤทัย พาให้ปลื้มเปรมฤดี งามเอยบุบผชาติสอาดครัน ถึงยามวสันต์เปล่งศรี ต่างศุขเกษมเปรมปรีย์ ประหนึ่งว่ามีกิจวิวาห์ ฯ ๖ คำ ฯ

เจรจา

ปิยวาท (พี่เลี้ยง) – นี่แน่ะหล่อนรู้ไหม ว่าเหตุไรแม่ศกุนตลาจึงร้องลำเล่นเช่นนั้น

อนุสูยา (พี่เลี้ยง) – ทำไมเล่าจ๊ะ

ปิยวาท – หล่อนนึกอยู่ในใจ ว่านี่ก็เปนยามวสันต์อันเปนฤดูน่ายินดี ดูแต่ดอกไม้ยังมีวิวาห์กันได้ เหตุไฉนตัวหล่อนเองจะไม่ได้พบได้เห็นคู่รักร่วมใจ

ศกุนตลา – (พูดสอด) นี่หล่อนพูดวุ่นอะไรกันก็ไม่รู้ได้ ช่างกระไรไม่มียางอาย

ปิยวาท – ก็ที่นี่ไม่มีผู้ชาย จะต้องอับต้องอายทำไมกันนะน้องเอ๋ย อันที่จริงก็น่าเสียดายเสียนี่กระไรเลยละเจ้าประคุณ ผู้หญิงงาม ๆ กำลังรุ่นเหมือนแม่ศกุนตลา มาตกค้างอยู่กลางป่า ในหมู่ฤษีชีพราหมณ์ มีแต่สิงห์สาราสัตว์ได้ชมความงามของแม่สาวน้อย

อนุสูยา – จริงนะหล่อน ฉันคอย ๆ อยากให้ใครมาเห็นน้องเรา ฉันเชื่อว่าพอเห็นเข้าคงจับใจ

ปิยวาท – อุ๊ยหล่อนจ๋า นั่นอะไรอยู่หลังพุ่มไม้ เสียงสวบสาบอยู่ตรงนั้น (นางทั้งสามต่างตกใจทำท่าจะหนี)

ร่าย ๏ เมื่อนั้น องค์ท้าวทุษยันต์แกล้วกล้า ออกจากที่แฝงกายา แล้วมีวาจาว่าไป ฯ ๒ คำ ฯ

ขอมกล่อมลูก ๏ ข้าขอโทษอย่าโกรธเลยสาวศรี ความมุ่งร้ายจะมีก็หาไม่ ตูข้าเดินมาหนทางไกล หมายใจจะเข้ามาขอพัก มาเห็นโฉมนางสำอางองค์ คิดชรอยเผ่าพงศ์ผู้มีศักดิ์ แต่ครั้นจะกล่าวถามทัก เกรงว่านงลักษณ์จะรำคาญ ตูข้าเปนเชื้อชาติกษัตริย์ อยู่หัสดินไพศาล ตัวนางผู้ยอดเยาวมาลย์ มีนามขนานฉันใด ฯ ๖ คำ ฯ

ร่าย ๏ บัดนั้น นางอนุสูยาอัชฌาไศรย เห็นศกุนตลายาใจ นิ่งอยู่มิได้ตอบความ จึ่งพูดแทนนางสอางค์ศรี อันที่ท่านมีกระทู้ถาม ข้าจะอธิบายขยายความ เล่าเรื่องนงรามตามท่านซัก ฯ ๔ คำ ฯ

เขนง ๏ นางชื่อศกุนตลา เปนธิดาเกาศิกทรงศักดิ์ กับนางเมนะกายอดรัก จงรู้จักไว้เถิดกำเหนิดดี พระวิศวามิตร์บำเพ็ตพรต ร้อนหมดกระทั่งโกศี จึงใช้เมนะกาเทวี มาทำลายพิธีทรงธรรม์ พะเอินประจวบฤดูกาล บุบผชาติเบิกบานยามวสันต์ เมื่อเห็นนางฟ้าวิลาวรรณ์ ราชันชื่นชมสมฤทัย เมนะกาไม่ช้าคลอดบุตรี ราษีนวลลอองผ่องใส พระกัณวะมุนีเลี้ยงไว้ เทวีกลับไปฟากฟ้า ฯ ๘ คำ ฯ

ร่าย ๏ เมื่อนั้น องค์พระโสมพันธุ์นาถา ชื่นชมสมถวิลจินดา ทราบว่านางเปนกษัตรี สมควรจะเปนคู่ครอง ร่วมห้องวนิดามารศรี จำจะรั้งยั้งใจไว้ที จนมีโอกาสอีกสักวัน คิดพลางทางลานิ่มอนงค์ ตรงกลับเข้าไปในไพรสัณฑ์ เข้าประทับพลับพลาพนาวัน เพื่อผันพักผ่อนอ่อนใจ ฯ เชิด ๖ คำ ฯ

๏ มาจะกล่าวบทไป ถึงพราหมณาจารย์น้อยใหญ่ ตั้งแต่ดาบสเธอไกล มิได้เปนศุขสำราญ ปิศาจชล่ากล้าแขง รุนแรงสามารถอาจหาญ ตั้งหน้าล้างกิจพิธีการ รุกราญข่มเหงคะเนงร้าย จึงปฤกษากันว่าจำเรา ไปเฝ้าภูวนารถฦๅสาย ทูลปิ่นโปรพยอดชาย มอบถวายอาศรมทรงครอง คิดพลางทางแต่งกายา ครองผ้าเรียบร้อยทั้งผอง รีบรัดตัดไปดังใจปอง ถึงที่พลับพลาทองผ่องพรรณ ฯ เชิด ๘ คำ ฯ

(ท้าวทุษยันต์ออกนั่งเตียงเครื่องแต่งผมคงอยู่อย่างเดิม มีเสนาเฝ้าพร้อมตามระเบียบ พราหมณ์พากันวิ่งเข้ามา)

เจรจา

พวกพราหมณ์ – โปรดก่อนเจ้าข้า เจ้าข้าโปรดก่อน ฯลฯ

ทุษยันต์ – อะไรกัน ขอท่านทั้งหลายจงชี้แจงให้เราแจ้งคดี

หัวน่าพราหมณ์ – ข้าพระองค์ทั้งปวงนี้มีความเดือดร้อนเหลือประมาณ ด้วยพระกัณวะคณาจารย์เธอจากสถานนี้ไป พวกอสุรีผีไพรมันทนงองอาจ สามารถมารบกวนเหล่าข้าในเวลาทำพิธี ขออัญเชิญจอมปัถพีผู้ทรงศักดิ์ เสด็จเข้าไปครองสำนักที่พึ่งพักของข้าทั้งหลาย พอให้รากษสใจร้ายยำเกรงพระบารมี ไม่เหิมหาญทำลายพิธีเหล่าข้านี้อีกต่อไป

ร่าย ๏ เมื่อนั้น พระจอมหัสดินรังสรรค์ ได้ฟังระบอบชอบครัน ทรงธรรม์จึ่งตอบวาที อันพราหมณ์ทั้งหลายเชิญเรา เข้าไปช่วยคุ้มกันผี ตัวเรารับเชิญด้วยยินดี สนองคุณมุนีทรงญาณ ว่าพลางทางจับศรทรง ฤทธิรงค์สามารถอาจหาญ พร้อมด้วยพวกพราหมณาจารย์ ไปสู่สถานพระมุนี ฯ เพลงช้า ๖ คำ ฯ

(พราหมณ์เดินเปนกระบวนนำหน้าท้าวทุษยันต์ กับเสนาสนิทรวม ๔ คนเดินตามหายเข้าโรง)

(นางศกุนตลากับพี่เลี้ยงทั้ง ๒ ออกรำพอสมควร แล้วลงลา)

เจรจา

อนุสูยา – แม่ศกุนตลา ดูท่าทางหล่อนจะเหนื่อยกระมัง มาเถิดหล่อนมานั่งเล่นใต้ร่มไม้ พี่ทั้งสองจะโบกพัดให้เย็นสบายดี (สองนางพี่เลี้ยงพัดศกุนตลา)

ศกุนตลา – ฉันขอบใจละคะพี่ทั้งสอง ช่างเอาใจใส่ในตัวน้องดีเหลือใจ แต่ตัวน้องนี้เหมือนเปนไข้ไฟมาสุมอยู่ในอุรา ยามนอนไม่เปนอันนิทราราวกับจะเปนบ้าในครั้งนี้ น้องเคราะห์ร้ายโรคมีดูอกใจไม่อยู่กับตัว ใจหรือสั่นระริกระรัวสุดที่จะพรรณา ถึงจะหาหยูกยามากินมาทาก็ไม่รู้หาย ก็ได้แต่นั่งคอย ๆ จนกว่าจะถึงเวลาตายไปเท่านั้น (โอด)

(ในระหว่างโอด ท้าวทุษยันต์ออกมาแฝงอยู่ที่ต้นไม้ แอบดูและแอบฟังนางทั้งสาม)

ปิยวาท – (พูดกับอนุสูยา) หล่อนจ๋า น้องเรามีอาการป่วยไข้ ฉันมีความสงไสยว่าไม่ใช่โรคธรรมดา เจ้าศกุนตลาเห็นจะต้องศรพระกามเทพเปนแน่แท้

อนุสูยา – อุ๊ยแน่ละหล่อน ฉันเห็นเปนแน่อย่างหล่อนว่า ตั้งแต่ได้ประสบพบพระราชาเจ้านายของเรา แม่น้องน้อยนั่งแต่เศร้าโศกสร้อยละห้อยไห้ ถามหล่อนดูเองเปนไรให้รู้แน่กันเสียสักที (พูดกับศกุนตลา) นี่แน่แม่ศกุนตลาหล่อนบอกพี่จริง ๆ สักหน่อยเถิด โรคของหล่อนนี้บังเกิดแต่ความรักจริงฤาไม่จริง หล่อนจะมานิ่งอยู่ทำไมไม่เปนการ ถ้าเปนจริงพี่จะได้ช่วยคิดอ่านช่วยน้องให้ได้สมถวิลยินดี

ร่าย ๏ เมื่อนั้น เกาศิกสุดามารศรี ได้ฟังทั้งสองนารี จึงตอบพาทีด้วยจริงใจ ฯ ๒ คำ ฯ

พัดชา ๏ พอได้ประสบพบเนตร ทรงเดชโปรพเปนใหญ่ เหมือนศรศักดิ์มาปักกลางหทัย ดวงใจจอดอยู่ที่ภูบาล งามทรงเหมือนองค์เทวราช องอาจสมชายชาติทหาร ซ้ำเสนาะเพราะรศพจมาน อ่อนหวานชื่นใจไม่จืดจาง นึก ๆ ก็อยากเข้าชิด แต่จิตคิดอายอางขนาง ดูไปไม่แลเห็นหนทาง จำใจต้องห่างเหินรัก ทำไฉนจะให้รู้ได้ ถึงดวงหฤทัยทรงศักดิ์ บางทีพระจะไม่จงรัก พระจะไม่พักนำภา ฯ ๘ คำ ฯ

ร่าย ๏ เมื่อนั้น พระปิ่นพงศ์จันทร์หรรษา จึ่งค่อยดำเนินออกมา เผยพจน์วาจาตอบไป ฯ ๒ คำ ฯ

ลินลากระทุ่ม ๏ โฉมนางแน่งน้อยช้อยชด งามหมดหาที่ติมิได้ ฤทธิ์รักจู่จอดยอดใจ คือไฟเผาดวงหัทยา กามเทพทนงองอาจ ผาดแผลงศรแกมบุบผา ศรศักดิ์ปักอยู่แทบอุรา หอมชื่นนาสาน่ายินดี ตั้งแต่ประสบพบสมร จิตพี่นี้ร้อนดังไฟจี้ กลัวแต่เจ้าจะไม่ใยดี พี่จึ่งไม่กล้ามาวอน ถ้ารู้ว่าน้องรักสมัคบ้าง ที่ไหนพี่จะห่างดวงสมร ขอเชยพอวายหายร้อน บังอรอย่าตัดอาไลย ฯ ๘ คำ ฯ

เจรจา

อนุสูยา – ขอเชิญเสด็จประทับ พักผ่อนพระกายให้สบายก่อน พอให้คลายความร้อนในพระวรกาย บนแท่นสิลานั่นแน่เพคะสบาย เย็นไม่มีที่ไหนจะสู้ จึงได้จัดให้เปนที่แม่โฉมตรูมานอนพักอยู่ที่นี้

ทุษยันต์ – (นั่งบนแท่น แล้วพูดยิ้ม ๆ) ขอบใจ จริงของหล่อนสบายดีทั้งร่มทั้งเย็น แต่ทำไมถึงต้องล้อเล่นเช่นนี้ให้น้องหล่อนอาย หล่อนเองก็ยังสาวแส้ แต่ไม่เคยรักผู้ชายบ้างฤาอย่างไร

อนุสูยา – อุ๊ยที่นี่ไม่มีใคร มีแต่พวกฤษีชีป่า ดูแต่แม่ศกุนตลาสิเพคะยังไม่เคยรักผู้ชาย จนพระองค์สิเสด็จกล้ำกลายเข้ามาที่นี้ นางก็จับไข้ไปทันทีจนไม่มียาจะรักษา เห็นอยู่แต่พระจอมภารานั่นแหละจะเปนแพทย์พิเศษพอรักษาได้

ปิยวาท – หล่อนละก็พูดมากเกินไปไม่เข้าเรื่อง ประเดี๋ยวเจ้านายเราก็จะทรงขุ่นเคืองกริ้วเราไม่เข้าการ ที่จริงเราก็มีงานที่ยังจะควรทำต่อไป ไปเถอะหล่อน ไปรดต้นหมากรากไม้กันทางโน้น (สองนางพี่เลี้ยงพากันเข้าโรง)

ร่าย ๏ เมื่อนั้น พระองค์ทรงฤทธิ์อดิศัย นั่งแนบแอบองค์อรไทย ภูวนัยรับขวัญกัลยา ฯ ๒ คำ ฯ

ชาตรีใน ๏ โฉมเฉลา นงเยาว์ยั่วยวนเสนหา กามเทพแผลงศรบุษบา ต้องอุราเรียมไหม้ดังไฟกัลป์ ยามพี่แรกเห็นอนงค์นาง พี่เหมือนกวางต้องศรแทบอาสัญ ยืนนิ่งพินิจพิศพรรณ เลอสรรรูปเรี่ยมเอี่ยมอุไร หอมกลิ่นมัลลิกาจำปาทอง หอมสู้กลิ่นน้องพี่ไม่ได้ หอมกลิ่นบุหงาซาไป หอมกลื่นอรไทยไม่ลาลด รื่น ๆ ชื่นจิตร์ติดอารมณ์ มิได้ชมจิตร์ช้ำแสนกำสด ขอเชิญน้องน้อยช้อยชด เผยพจน์ให้เรียมได้ยินดี ฯ ๘ คำ ฯ

ร่าย ๏ เมื่อนั้น โฉมศกุนตลามารศรี ทำจริตกิริยาท่าที เชิงเช่นนารีผู้มีอาย ลุกจากที่แท่นแผ่นผา แล้วจึงตอบราชาฦๅสาย พระปิ่นโปรพยอดชาย ข้าหรือจะหมายเป็นคู่ครอง ในพระนิเวศน์เขตร์วัง พร้อมพรั่งพระสนมทั้งผอง รู้จักแต่งแป้งผัดนวลลออง เครื่องประดับแก้วทองวราภรณ์ ต่างตนรู้จักปรนิบัติ สารพัดชั้นเชิงเริงสมร ข้านี้ชาวป่าพนาคร ไหนจะสู้บังอรที่วังใน ฯ ๘ คำ ฯ

โอ้โลมใน ๏ ขวัญฟ้า ไฉนหล่อนแสร้งว่าฉนี้ได้ แสนสาวสุรางค์ช่างเปนไร ตัวพี่นี้ไซร้ไม่นำภา ขอแต่ภิรมย์ชมชิด จุมพิศแต่แก้วกนิษฐา เปนคู่สามีภิริยา จนกว่าจะสิ้นชีวัน เจ้าจะหนีพี่ใยไม่เมตตา เหมือนจะแกล้งเข่นฆ่าให้อาสัญ ขอเชิญนั่งเตียงเคียงกัน พอสันต์เกษมเปรมปรีย์ ช่างกระไรใจคอจะเพิกเฉย จะไม่ยอมให้เชยหรือโฉมศรี พี่เหมือนภุมรินขอยินดี ที่กลิ่นเกษรสุมณฑา ฯ ๘ คำ ฯ

ร่าย ๏ เมื่อนั้น นวลนางเยาวยอดเสนหา รศรักรึงรัดหัทยา ฟังคำราชาก็จับใจ ตอบว่าพระองค์ทรงภพ เธอช่างประจบหาน้อยไม่ อนิจจาราชาไม่เกรงใจ เหตุไฉนไม่รอขอมุนี มาลามลวนชวนชักสมัคชม ร่วมภิรมย์กันเองไม่ควรที่ เหมือนผู้หลักผู้ใหญ่นั้นไม่มี มาพูดเองเช่นนี้ไม่ควรการ ฯ ๒ คำ ฯ

๏ เมื่อนั้น จอมกษัตริย์ตรัสตอบคำหวาน อันองค์กัณวะสิทธาจารย์ พี่เชื่อว่าท่านไม่ขัดใจ ประเพณีคนธรรพ์ในชั้นฟ้า ก็เลือกคู่สู่หากันเองได้ แม้เราปรองดองต้องใจ ควรจะใช้อย่างเยี่ยงคนธรรพ์ น้องจะทำอิดเอื้อนเชือนไฉน ฤาว่าไม่เต็มใจเกษมสันต์ เสียแรงพี่สมัครักครัน น้องฤาจะยืนยันไม่ยินดี สังเกตนางท่าทางไม่ข้องขัด กรกระหวัดวนิดามารศรี ค่อย ๆ ประคองอินทรีย์ มาที่แผ่นผาน่าสำราญ ฯ ๘ คำ ฯ

บุล่ง ๏ คลึงเคล้าเล้าโลมโฉมยง อิงองค์กรกอดยอดสงสาร เหมือนแมลงภู่จู่ดมบุหงาบาน รักสร้านทราบทรวงดวงกมล ลมพัดกลิ่นผกามากลั้ว ฟ้ารั่วโปรยปรอยเปนฝอยฝน มาลินีน้ำใสไหลวน ทั่วทั้งสากลยินดี ฯ โลม แล้วตระนอน ๔ คำ ฯ

ร่าย ๏ เมื่อนั้น พระปิ่นโปรพเรืองศรี แสนศุขเกษมเปรมปรีย์ ภูมีภิรมย์ชมน้อง จนนึกถึงเวลาต้องคลาไคล จำไปเริศร้างห่างห้อง จุมพิศทรามสงวนนวลลออง ตระกองกอดไว้มิใคร่วาง ยากจริง ๆ ต้องทิ้งน้องไว้ ครั้นจะอยู่ต่อไปก็ขัดขวาง พี่ขอให้แหวนไว้แก่นวลนาง เพื่อดูต่างหน้าผัวผู้ตัวไกล เมื่อถึงกรุงแล้วพี่จะจัดแจง แต่งทูตมารับอย่าสงไสย ครั้นจะด่วนชวนเจ้าเข้าไป เหมือนสิ้นความเกรงใจสิทธาจารย์ ตรัสเสร็จรับขวัญกัลยา อนิจจาจำจากยอดสงสาร ค่อยจรจากมิ่งเยาวมาลย์ ภูบาลมาขึ้นรถทรง ฯ โอด แล้ว ทยอย ฯ ๑๐ คำ ฯ

(นางศกุนตลาเข้าโรง แล้วเขนและเสนาของทุษยันต์ออกมาตั้งแถวพร้อมด้วยรถ)

ร่าย ๏ ให้คลาขบวนพยุหบาตร์ ลีลาศเข้าสู่ไพรระหง ตวันรอนอ่อนแสงอัษฏงคต์ พระศศิพงศ์ว้าเหว่ในฤดี ฯ ๒ คำ ฯ

ม้าย่อง ๏ เดินทางมากลางป่าชัด จอมกษัตริย์คำนึงถึงโฉมศรี กลิ่นหอมกระหลบอบอินทรีย์ หอมไหนไม่มีจะเปรียบนาง ต้องมาคนเดียวเปลี่ยวอก หนาวสทกกลางไพรใหญ่กว้าง เจ้ามาด้วยจะได้ช่วยกันชมทาง พูดเล่นกันพลางพอสำราญ ยิ่งคิดยิ่งยอกทรวงโศก วิโยคใจจอดยอดสงสาร รีบเร่งพลไกรมิได้นาน คืนเข้าสถานธานี ฯ เชิด ๖ คำ ฯ (หายเข้าโรง)

(เสมอเถร พระกัณวะออกนั่งเตียง)

ช้า ๏ เมื่อนั้น พระกัณวาจารย์มุนีศรี สถิตย์ยังฝากฝั่งมาลินี พระโยคีนิ่งนึกตรึกไตรฯ ๒ คำ ฯ

ตามกวาง ๏ วันนี้ฤกษดีเปนศรีวัน สุริยันเรืองรองผ่องใส ควรศกุนตลายาใจ จะเข้าไปเฝ้าพระภัศดา นึกอาไลยลูกน้อยกลอยสวาดิ์ ไม่เคยคลาดแคล้วไปไกลเคหา สู้ถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา คิดไปชลนาก็หลั่งริน ธิดาไกลใจพ่อจะโศกเศร้า จะเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวไปหมดสิ้น ครั้นจะหน่วงลูกไว้ดังใจจินต์ ก็เหมือนสิ้นเมตตาปราณี ธรรมดานารีต้องมีผัว จะมามัวหวงไว้ไม่ควรที่ จำเราจะส่งบุตรี ไปสู่ที่นัคเรศนิเวศน์วัง ฯ ๘ คำ ฯ

ร่าย ๏ คิดแล้วจึ่งเรียกโคตมี มาพาทีกำชับสรรพสั่ง ให้แต่งตัวธิดาอย่ารอรั้ง พาไปส่งที่ยังวังใน ฯ ๒ คำ ฯ

เจรจา

กัณวะ – (เรียก) โคตมี

โคตมี – (ขานจากในโรง) เจ้าขา

กัณวะ – ออกมานี่หน่อยเถิด

(นางโคตมีพราหมณี ออกมา)

กัณวะ – นี่แน่โคตมี วันนี้กูไปนั่งดูศิษย์บำเรอกูณฑ์ เอาท่อนฟืนเพิ่มพูนจนเปนควันกลุ้มไป แต่ถึงกระนั้นก็หยอดเปรียงลงได้เหมาะตรงกลาง กูคิดดูก็เห็นท่าทางเปนลางดี ไม่ควรให้ศกุนตลานารีเจ้าลห้อยคอยอีกต่อไป เจ้าจงพาเจ้าหล่อนเข้าสู่วังในให้ได้บำเรอพระภัศดา สมดังประเพณีการอาวาห์อย่างมหามงคล เจ้าจงไปแต่งตัวนฤมลให้งามงด ให้สมเปนนารีมียศผู้บริจาพระจอมไผท กูจะให้มิศระพราหมณ์คุมไปกระทั่งถึงมหานคร ไปเถิดไปอย่าเพ่อให้ทันร้อน จะได้เดินทางไปสบาย ฯ

ร่าย ๏ บัดนั้น โคตมีเคารพนบไหว้ กราบลาพระสิทธาคลาไคล เข้าไปหามิ่งนารี ฯ เสมอ ๒ คำ ฯ

(พระกัณวะเข้าโรง นางอนุสูยากับนางปิยวาทออกมานั่งจัดดอกไม้)

เจรจา

โคตมี – เออแม่สาว ๆ แม่ศกุนตลาอยู่ไหน

ปิยวาท – หล่อนไปไหว้พระภควดีที่ในกุฏิแน่ะคะป้า

โคตมี – ดีแล้ว หล่อนมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระภควดี วันนี้พระมุนีท่านว่าฤกษดี ท่านว่าจะให้ส่งแม่ศกุนตลาเข้าไปในวังใน

ปิยวาท – (พูดกับอนุสูยา) อุ๊ยตายจริงหล่อน จะว่ากระไร กรรม ๆ จริงเจียวละ

โคตมี – หล่อนทำไมพูดเช่นนั้น น่าอัศจรรย์นักหนา แล้วก็ทำไมต้องทำหน้าตาตื่นเช่นนั้น มีเรื่องราวอะไรกัน เล่าให้ป้าฟังสักที

ปิยวาท – เรื่องนะมี แต่ไม่ใช่เรื่องของดิฉันดอกคะป้า ถามแม่อนุสูยาหล่อนดูดีกว่ากระมัง

อนุสูยา – เอาเถอะคะ ฉันจะเล่าให้ฟัง เพราะป้าก็เปนผู้หลักผู้ใหญ่ เมื่อพลาดพลั้งในข้อใดก็ขออภัยเถิด เมื่อหลายเวลามานี้ได้เกิดเหตุร้ายอันน่าหวาดหวั่น

โคตมี – เอ๊ะ เกิดเหตุการอะไรกัน ทำไมไม่มีใครรู้

อนุสูยา – เพราะเวลานั้นเปนเวลาเช้าตรู่ยังไม่มีแสงตวัน ตัวดิฉันกับปิยวาทถือกระจาดไปเก็บดออกไม้ เดินไปไม่ได้ถึงไหนก็ได้ยินเสียงสำเหนียก เสียงผู้ชายมาร้องเรียกที่น่าบรรณศาลา เวลานั้นแม่ศกุนตลาหล่อนเปนน่าที่รับรอง แต่หล่อนนอนอยู่ในห้องเพราะหล่อนไม่สบาย ใจดิฉันจึงรีบไปหมายจะต้อนรับแทนสักที ยังมิทันจะไปถึงที่ พระฤษีก็เปล่งสิงหนาท

โคตมี – ฤษีไหน ?

อนุสูยา – พระทุรวาส

โคตมี – อุ๊ยเจ้าประคุณร้อนราวกับไฟ

อนุสูยา – จริงละเจ้าคะ เมื่อดิฉันไปจนเกือบจะถึงที่ ได้ยินเสียงพระมุนีประกาศแช่งด้วยเสียงอันดัง

โคตมี – กรรมจริง!

อนุสูยา – ดิฉันได้ฟังก็ขนลุกขนพอง สงสารแม่นิ่มน้องนอนแน่วอยู่ห้องใน

โคตมี – พระมุนีท่านว่ากระไร หล่อนจำได้ก็จงว่ามา

อนุสูยา – ท่านแช่งว่า “แม้เวลานี้มึงใฝ่ฝันถึงผู้ใด ผู้ที่ใจมึงมัวพะวงหลงรักอยู่ณบัดนี้ จนไม่เอาใจใส่ไยดีต่อโยคีผู้ทรงพรต จนลืมหมดซึ่งน่าที่ต้อนรับแขกผู้แปลกมา ขอผู้นั้นจงลืมหน้าถึงแม่เห็นก็อย่าจำได้ เหมือนคนเมาสุราซึ่งพูดอะไรไว้เมื่อยามเมา รุ่งขึ้นเช้าส่างแล้วก็ลืมหมดฉนั้นเถิด”

โคตมี – อนิจจา ว่าตะพัดตะเพ็ดไปไม่คิดสงสาร แต่องค์พระสิทอาจารย์องค์นี้ท่านเจ้าโทโสหาที่สุดมิได้ เออก็แล้วหล่อนทำอย่างไร ?

อนุสูยา – ดิฉันก็รีบไปวิงวอน แต่เธอกริ้วโกรธเหมือนไฟฟอนเดินดุ่มไปไม่ดูหน้า ดิฉันสู้ตามไปวันทาขอโทษแทนแม่น้องรัก ในชั้นต้นเธอก็กึกกักจะไม่ยอมฟังเสียให้ได้ ดิฉันเข้ากอดตีนท่านไว้จนท่านค่อยวายหายโกรธลง

โคตมี – เออแล้วก็อย่างไร ?

อนุสูยา – ดิฉันเรียนตรง ๆ ว่าแม่ศกุนตลาโฉมตรู จะตั้งจิตร์ลบหลู่ดูแคลนก็หามิได้ หล่อนมีโรครักหนักใจแสนจะละห้อยสร้อยเศร้า ไม่ทราบเลยว่าพระผู้เปนเจ้ามาถึงบรรณศาลา ถ้ารู้แล้วคงออกมาวันทาด้วยความเคารพอย่างดี เพราะหล่อนนับถือองค์พระมุนีนั้นเปนยอดยิ่ง

โคตมี – เออหล่อนช่างพูดจริง ๆ และท่านตอบว่ากระไร

อนุสูยา – ว่า “ไม่แกล้งก็แล้วไป กูพอจะให้อภัยสักที แต่คำพูดของกูตะกี้ลั่นไปแล้วจะคืนมิได้ แต่เอาเถอะถ้าเมื่อใดนางไปพบกับสามี เมื่อเขาเห็นแหวนมณีที่ให้ไว้เมื่อจากกัน เมื่อนั้นแลให้เขารู้สึกรำฦกถึงเมื่อร่วมรัก แล้วก็รู้จักจำได้รักใคร่กันมั่นคง”

โคตมี – ก็นางได้พระธำมรงค์ของราชาไว้ฤๅเปล่า

อนุสูยา – ได้เจ้าคะ เดี๋ยวนี้นงเยาว์ก็สรวมอยู่ทุกคืนวัน

โคตมี – ถ้าเช่นนั้นจะเปนไรไป ไม่ต้องวิตกวิจารณ พอพระภูบาลเห็นพระธำมรงค์ก็คงทรงจำได้ แล้วศกุนตลานั้นอย่างไรรู้เรื่องหรือเปล่า

อนุสูยา – ไม่รู้เจ้าคะ ดิฉันไม่ได้เล่าให้หล่อนฟัง กลัวว่าทราบแล้วก็จะนั่งแต่วิตกวิจารณไม่เข้าที

โคตมี – ดีแล้ว ไม่รู้ก็ดี จะได้ไม่หนักอกหนักใจ แต่เมื่อเดินทางไปกลางไพรป้าจะคอยป้องกัน มิให้ธำมรงค์วงนั้นไปตกหาย จะเกิดความ เออก็นี่แม่โฉมงามเมื่อไรหล่อนจะมา

ปิยวาท – อุ๊ยคุณป้า แม่ศกุนตลาอายุจะยืนตั้งหมื่นปี พอพูดถึงก็มานี่ ดูหน้าตาก็เบิกบาน

(ศกุนตลาออกมา เห็นนางโคตมีก็ไหว้)

โคตมี – นี่แน่แม่หลาน ป้านำข่าวอันดีมา เดี๋ยวนี้องค์พระบิดาจะให้พาเจ้าเข้าไปวัง มาเถิดอย่ารอรัง รีบจัดแจงแต่งตัว ให้งามตลอดตั้งแต่หัวทั่วถึงเท้า จึงควรแก่พระผ่านเผ้าผู้เปนพระปิยสามี

ศกุนตลา – (ไหว้แล้วพูด) นี่ก็เห็นชัดว่าพระลักษมีทรงการุญ ตัวหลานนี้มีบุญจึงได้เปนบาทบวริจา พระจอมกษัตริย์ราชาปิ่นจันทรวงศ์ ดิฉันตั้งใจจะปรนิบัติพระองค์ให้สมที่ทรงเมตตา

โคตมี – ดีแล้วแม่ศกุนตลา ป้าก็พลอยดีใจ นี่แน่แม่เล็ก ๆ อย่าร่ำไรช่วยกันหยิบแป้งน้ำมันหอม

อนุสูยา – ดิฉันเตรียมไว้พรั่งพร้อมทุกสิ่งทุกอย่าง

โคตมี – ถ้าเช่นนั้นมาช่วยกันแต่งนางอย่าให้เนิ่นนานต่อไป

ชมตลาด ๏ ชำระสระสนานสำราญองค์ ขัดศรีโฉมยงผ่องฉวี สุคนธ์ทาลูบไล้อินทรีย์ หอมกลิ่นมาลีที่ปรุงปน จัดแต่งเกศาผกาแซม ผัดหน้าแชล่มด้วยแป้งป่น อัญชันทาคิ้วนฤมล ใครยลก็ย่อมพึงใจ นุ่งผ้ายกทองผ่องพรรณ ซึ่งนางฟ้าจัดสรรเอามาให้ ห่มผ้าปักทองผ่องอุไร วิไลยเหมือนอย่างนางฟ้า ประดับรัตนาวราภรณ์ ทองกรธำมรงค์มีค่า งามลม่อมพร้อมพรั่งทั้งกายา ดวงสุดาไปเฝ้าพระทรงพรต ฯ เพลง ๘ คำ ฯ (พระกัณวะออกมานั่งเตียง)

ร่าย ๏ เมื่อนั้น พระกัณวาจารย์ดาบส เห็นศกุนตลามาประณต จึ่งมีมธุรศวาที ฯ ๒ คำ ฯ

จีนขวัญอ่อน ๏ ดูก่อนเจ้าศกุนตลา ผู้ยอดเสนหามารศรี ขอเจ้าจงได้อยู่ดี ทั้งมีความสุขทุกคืนวัน ขอให้ปิ่นโปรพภพนารถ บำรุงเลี้ยงสุดสวาดิ์เกษมสันต์ จงมีโอรสเดชอนันต์ เปนจอมจักรพรรดิ์ฤๅไชย ดูก่อนเทวาทุกราษี พระพนัสบดีเปนใหญ่ ข้าขอฝากองค์อรไทย อย่าให้มีภัยแผ้วพาล จงคุ้มครองนางหว่างวิถี จนถึงธานีไพศาล ขอองค์ลักษมีนงคราญ ช่วยภิบาลเอื้อเฟื้อทุกเวลา ฯ ๘ คำ ฯ

พราหมณ์เข้าโบถ ๏ อนึ่งพึงจำคำสอน บังอรผู้ยอดเสนหา จงเฝ้าปรณิบัติภัศดา อย่าทำให้ข้องขัดใจ ถึงแม้เธอมีเมียอื่น สักพันหมื่นตัดหึงให้จงได้ อย่าปากจัดคัดง้างกับผู้ใด ตั้งใจมั่นอยู่ด้วยภักดี จงตั้งจิตรเมตตาแก่ข้าทาส อย่าตวาดอย่าบ่นจู้จี้ ใครผิดค่อยสอนค่อยตี ใครดีบำเหน็จให้ควรการ อย่าเห็นแก่ตัวมัวหาศุข ท่านทุกข์เจ้าทุกข์ด้วยกับท่าน เมียดีเปนที่ชื่นบาน เมียคร้านเปนเสนียดครอบครัว ฯ ๘ คำ ฯ

ร่าย ๏ เมื่อนั้น เยาวมาลย์นบนิ้วเหนือหัว อาไลยใจสั่นระรัว เนื้อตัวเยือกเย็นทั่วไป แขงใจกราบลาสิทธาจารย์ แสนสงสารชลเนตร์หลั่งไหล แขงขืนฝืนจิตรอรไทย ออกไปนอกบรรณศาลา ฯ โอดแล้วเสมอ ๔ คำ ฯ (พระกัณวะเข้าโรง)

ปราสาททอง ๏ โอ้อกเอ๋ยอกฟกอนาถ จำนิราศจากแหล่งเสนหา จำจากพี่รักหักอุรา จำจากเคหาที่เคยนอน ให้อาไลยกวางน้อยกลอยสวาดิ์ ไม่เคยขาดยามกินมาให้ป้อน โอ้อาไลยบุบผาอรชร มลิซ้อนสุรภีที่เคยชม เมื่อยามศุขเคยศุขด้วยสองพี่ ช่วยกันเก็บมาลีมาแต่งผม ที่เหลือผูกเปนช่อพอไว้ดม พอรื่นรมย์ริมฝั่งมาลินี ยิ่งคิดไปอาไลยไปทุกอย่าง จนไม่อยากเหินห่างไปจากที่ สร้วมสอดกอดสองภคินี แล้วตามโคตมีลีลา ฯ เชิดฉิ่งโอด ๘ คำ ฯ

(นางศกุนตลากอดนางพี่เลี้ยงทั้งสองล่ำลากัน แล้วนางศกุนตลาไปกับนางเถ้าโคตมี พรามณ์สองคนเดินนำทาง นางพี่เลี้ยงเข้าโรงไปก่อน แล้วพวกศกุนตลาเดินรอบ แล้วจึงหายเข้าโรง)

(ท้าวทุษยันต์ออกนั่งเตียง มีเสนาเฝ้าตามระเบียบ แล้ววาตายนผู้เป็นมณเฑียรบาลจึงคลานเข้ามาถวายบังคม)

เจรจา

วาตายน – ขอเดชะ บัดนี้มีพราหมณ์สองตนกับนารี ว่ามาจากสำนักนิ์พระมุนีที่ริมเขาหิมาลัย จะขอเผ้าพระภูวนัยโดยรับฉันทะพระกัณวาจารย์ ทั้งนี้สุดแท้แต่พระภูบาลจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า

ทุษยันต์ – เออ ก็บอกโสมราตปุโรหิตของเราให้ต้อนรับตามประเพณี แล้วเชื้อเชิญให้เข้ามาในนี้ รีบไปอย่าช้า

วาตายน – พิจะค่ะ (เข้าโรงไป)

(เสมอ วาตายนนำโสมราตปุโรหิต นางโคตมี นางศกุนตลา และมิศระพราหมณ์ทั้งสองมาสู่ที่เฝ้า)

ร่าย ๏ เมื่อนั้น พระจอมหัสดินนาถา ปราไสยสองพราหมณ์ตามอัชฌา แล้วมีวาจาถามไป ตัวท่านเปนทูตพระดาบส พระทรงพรตอยู่ดีหรือไฉน ฤาว่ามีเหตุเภทภัย ร้ายดีอย่างใดแจ้งคดี ฯ ๔ คำ ฯ

โปรดติดตามตอนต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 มิถุนายน 2563 18:57:50 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 26 พฤษภาคม 2563 18:01:50 »



.......ฯ........     ทิ้งข้าคอยสร้อยเศร้าทุกเช้าค่ำ
เด็ดดอกไม้ไปดมชมจนช้ำ     ไม่ต้องจดต้องจำนำพา
เหมือนผู้ร้ายย่องเบาเข้าลักทรัพย์         กลัวเขาจับวิ่งปร๋อไม่รอหน้า
จงทรงพระเจริญเถิดราชา               ข้าขอลาแต่บัดนี้ไป.
จากเรื่อง ศกุนตลา
พระราชนิพนธ์ ใน สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

.     ศกุนตลา      .

๏ บัดนั้น สองพราหมณ์ตอบจอมบุรีศรี องค์พระกัณวะมุนี เธอนั้นอยู่ดีไม่มีภัย เธอให้พาธิดาโฉมฉาย มาถวายทรงฤทธิ์อดิศัย อิกทั้งสั่งทูลพระทรงไชย ขอให้ทรงสดับวาจา ฯ ๔ คำ ฯ

สามไม้ใน ๏ พระจันทรวงศ์ทรงขรรค์ กับนางนวลจันทร์เสนหา ได้ร่วมรักสมัคสมานมา พระสิทธายินยอมด้วยยินดี พระภูมินทร์เปนปิ่นโปรพ เกียรติกระหลบทั่วธรณีศรี โฉมศกุนตลานารี คือสัตรีผู้ยอดนงคราญ พระพราหมาเมตตาทั้งสองศรี จึงบันดาลสวัสดีสองสมาน ขอพระองค์จงรับเยาวมาลย์ ไว้ฐานชายาร่วมฤทัย ฯ ๖ คำ ฯ

ร่าย ๏ เมื่อนั้น องค์ท้าวทุษยันต์เปนใหญ่ ทอดพระเนตร์โฉมงามทรามไวย ภูวนัยฉงนสนเท่ห์นัก เดชะคำแช่งทุรวาส ภูวนารถพิศดูไม่รู้จัก จึ่งตรัสว่าโฉมยงนงลักษณ์ ผ่องภักตร์ผิวพรรณดังจันทรา แต่กษัตร์ฤาว่าจะเปนชู้ ชิงคู่ชายอื่นเสนหา ที่จริงนางงามครันเปนขวัญตา แต่จะเคยเห็นหน้านั้นไม่มี ตัวเราเปนเผ่าพงศ์กษัตริย์ จะรับนางเซซัดไม่ควรที่ ไฉนพราหมณ์ตู่เล่นกันเช่นนี้ ข้ามิใช่สามีของนวลจันทร์ ฯ ๘ คำ ฯ

เจรจา

ทุษยันต์ – นี่แน่พราหมณ์ ท่านมีพยานของท่านอย่างไร ว่าตัวเรากับนางนี้ไซร้ได้ร่วมรักสมัคกัน

โคตมี – – กระหม่อมฉันจะทูลเตือนพระองค์ บางทีจะค่อยคลายความงวยงงทรงจำได้ พระองค์เสด็จไปประพาศไพรริมฟากฝั่งมาลินี พระองค์ประสบพบแม่สาวนี้ก็ทรงเปนที่พอพระไทย

ทุษยันต์ – เอ๊ะ นี่อย่างไร ดูเรื่องราวน่าอัศจรรย์

มิศระพราหมณ์ผู้ ๑ – พระองค์ทรงธรรม์วายพระเมตตาต่อนางนี้ แล้วจะเลยขับไล่ไม่ใยดีไม่รับรอง ดูจะผิดทำนองคลองราชธรรมจริยา

ทุษยันต์ – ขออภัยเถิดพราหมณ์ ท่านพูดบ้าจะปราถนาผลอะไร

พราหมณ์ – เช่นนั้นสิ ผู้เปนใหญ่ก็มัวเมาแต่ในอำนาจ จนพระไทยก็สามารถจะพลิกจะหันไปรอบข้าง

ทุษยันต์ – เออ ท่านนี้พูดขวาง แต่ท่านเปนพราหมณ์เราต้องตามใจ ท่านจะพลิกแพลงแสร้งว่าอย่างไรก็ตามแต่ใจจะว่า

พราหมณ์ – – นี่แน่แม่ศกุนตลา หล่อนทูลเองบ้างเถิดเปนไร

ร่าย ๏ เมื่อนั้น เกาศิกานารีมีขวัญ เพ่งตรงองค์ท้าวทุษยันต์ รำพรรณตัดพ้อพาที ฯ ๒ คำ ฯ

คำหวาน ๏ โอ้ว่าทรงภพโปรพราช องอาจดังพระยาราชสีห์ เสด็จยังฟากฝั่งมาลินี แทบที่สำนักสิทธาจารย์ รื่น ๆ ชื่นจิตร์ติดนาสา หอมกลิ่นมัลลิกาอ่อนหวาน ภุมรินกลั้วกลิ่นสุคนธาร กลิ่นประสานรสรักสมัคกัน โอ้ว่าบุษบากลิ่นหอมโหย มาราโรยราวสิ้นยามวสันต์ โอ้รักหักได้ในเร็วพลัน ยังมิทันจะได้กี่เดือน ฯ ๖ คำ ฯ

โอ้ปี่ ๏ โอ้ศกุนตลานิจจาเอ๋ย กระไรเลยอาภัพยิ่งกว่าเพื่อน เสียแรงรักมั่นใจไม่แชเชือน รักมาเลือนลับไปไม่นำภา ฯ โอด ๒ คำ ฯ

ร่าย ๏ เมื่อนั้น จอมกษัตริย์ตรัสตอบคำว่า นางนี้ช่างพูดเต็มประดา กลางป่าใครฝึกฝนนาง ดูดู๋ชุลมุนวุ่นวาย ช่างไม่นึกลอายแก่ใจบ้าง ขอเลิกเพียงนี้ทีเถิดนาง จะเปนอย่างเยี่ยงชั่วต่อไป ฯ ๔ คำ ฯ

๏ เมื่อนั้น โฉมงามจึ่งแจ้งแถลงไข ข้ามีธำมรงค์ทรงไชย ประทานไว้เพื่อเปนพยานรัก แต่ครั้นมองดูที่นิ้วหัตถ์ ไม่เห็นแหวนเพ็ชร์รัตน์ของทรงศักดิ์ หน้าเผือดเลือดหมดจากผิวภักตร์ นงลักษณ์ปิ้มว่าจะวายปราณ ฯ ๔ คำ ฯ

เจรจา

ศกุนตลา – ป้าคะ พระธำมรงค์หายเสียแล้ว จะทำอย่างไร

โคตมี – ป้ายังเห็นหล่อนใส่อยู่ตลอดเวลาที่เดินทาง มาตลอดเมื่อกลางป่าป้าคอยระวัง จนกระทั่งถึงศจิเตียรถ์ที่หยุดพักหล่อนวักน้ำพระยมุนาที่น่าเทวสถาน แหวนคงตกอยู่ที่ศักราวตารนั้นแน่ละหล่อน

ร่าย ๏ เมื่อนั้น พระทรงภพตบหัดถ์ฉาดฉาน ชะ ๆ เก่งแท้แม่ตัวการ องค์พยานของเจ้าลืมเอามา เจ้าอยากได้ราชาเปนสามี จึ่งแสร้งแต่งวาทีเหิมกล้า รูปร่างกระทัดรัดไม่ขัดตา เสียนแต่บ้ากามาไม่มีอาย ฯ ๔ คำ ฯ

๏ เมื่อนั้น วนิดากล่าวตอบพระฦๅสาย พระองค์เองไม่มียางอาย พูดง่ายย้อนยอกกลอกคำ มาหลอกชมดมเล่นเสียเปล่า ๆ ทิ้งข้าคอยสร้อยเศร้าทุกเช้าค่ำ เด็ดดอกไม้ไปดมชมจนช้ำ ไม่ต้องจดต้องจำนำภา เหมือนผู้ร้ายย่องเบาเข้าลักทรัพย์ กลัวเขาจับวิ่งปร้อไม่รอหน้า จงทรงพระเจริญเถิดราชา ช้าขอลาแต่บัดนี้ไป ฯ ๖ คำ ฯ

เจรจา

ทุษยันต์ – เออนางคนนี้วาจาจัดจ้านเกินประมาณเต็มที นี่แน่นางเถ้าพราหมณีและพราหมณ์ทั้งสอง นางนี้เรามิได้มุ่งปองปราถนาเอามาไว้ จงรีบพากันกลับไป ถ้าหาไม่จะเกิดเคืองกัน

โสมราต – ช้าก่อนพระทรงธรรม์ ข้าขอทูลเตือนพระภูบาล ด้วยราชครูโหราจารย์ได้กล่าวทำนายถวายไว้ ว่าพระองค์ผู้ทรงไชยจะมีพระราชโอรส อันฦๅชาปรากฏเปนจักรพรรดิครองปัถพี ข้าขอรับนางนี้ไปไว้ยังเรือนข้า บัดนี้นางศกุนตลาก็ทรงครรภ์ ถ้าแม้กุมารที่คลอดมานั้นต้องลักษณมหาบุรุษ มีลวดลายวงจักร์ผุดขึ้นที่หัดถ์และบาท ข้าจะถวายอภิวาทน์ยอมรับนางเปนเทวี จะอันเชิญมาด้วยดีจนกระทั่งมณเฑียรทอง แต่ถ้าแม้กุมารนั้นไม่ต้องด้วยลักษณพระจักรพรรดิ ข้าก็จะได้จัดส่งตัวนางนี้คืนไป

ทุษยันต์ – ทั้งนี้ก็ตามแต่ใจ แล้วแต่ท่านจะเห็นชอบ เราขอมอบให้ท่านจัดการตามแต่ท่านปราถนา

ร่าย ๏ บัดนั้น โสมราตธชีผู้ใหญ่ บังคมลาพระองค์ทรงไชย พานางไปจากปรางค์รัตนา ฯ พราหมณออก ๒ คำ ฯ (ท้าวทุษยันต์และคนอื่นๆ เข้าโรงหมด คงเหลือแต่โสมราตกับนางศกุนตลา)

เจรจาโขน ๏ โสมราตผู้มีปัญญาเห็นศกุนตลานั้นร่ำไห้ สงสารนางนี่กะไรแสนอาภัพอับจน ถ้าแม้นิ่มนฤมลนี้กล่าวมาเปนความสัตย์ ขอให้มีลางปรากฏชัดแก่นัยนาในครานี้ พอขาดคำเถ้าธชีก็เห็นถนัดมหัศจรรย์ เวหาคลุ้มชอุ่มควันเหมือนเมฆฝนบังทินกร แล้วมีเทพอับศรลงมาจากบนฝากฟ้า โอบอุ้มศกุนตลาขึ้นสู่สวรรค์ในทันใด บัดนั้น ฯ รัว ฯ (นางฟ้ามาอุ้มศกุนตลาไป โสมราตตกใจยืนตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง แล้ววิ่งเข้าโรง)

(คราวนี้มีตอนตลกเล่น ดำเนินเรื่องด้วยคำพูดต่อไป คือพอจบน่าพาทย์มีราชบุรุษ ๒ คน ลากตัวกุมภิลชาวประมงออกมา แลคำพูดต่อไปนี้ ถึงแม้ตัวลครจะจำไม่ได้ขึ้นใจ ก็ควรให้ได้เนื้อความ เพราะถ้ามิฉนั้นจะเสียเนื้อเรื่อง)

ราชบุรุษที่ ๑ – (ตีพลางลากพลาง) เดินเร็ว ๆ หน่อยไม่ได้

กุมภิล – โอย ไม่ต้องตีดอกพ่อเจ้าประคุณ ฉันจะไปดี ๆ นี่จะพาฉันไปไหน

ร,บ, ๑ – ก็พาไปหานายน่ะสิ (ตะโกน) นายขอรับ

เสนา (พูดจากในโรง) ใครมาร้องเรียก (ออกมาจากในโรง)

ร,บ, ๑ – ผมเองขอรับ ผมจับผู้ร้ายมาได้คนหนึ่ง

เสนา – ผู้ร้ายอะไร

ร,บ, ๑ – นั่นแหละจะฉกชิงวิ่งราวหรือตัดช่องย่องเบาอย่างไรผมก็ทราบไม่ได้ถนัด แต่ข้อสำคัญคือจับของกลางได้คามือ นี่แน่ขอรับแหวนวงอ้ายกะโต เรือนเก็จเพ็ชร์ออกเป้ง แล้วมีพระนามเจ้านายของเราจาฤกอยู่ด้วยขอรับ

กุมภิล – ขอประทานโทษทีเถอะขอรับ กระผมไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอย่างฉกรรจ์อะไรเลย

ร,บ, ๑ – อ้อ ท่านมหาพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้นแกได้ทำความชอบอย่างไร เจ้านายจึ่งได้โปรดปรานถึงแก่ถอดพระธำมรงค์ประทานแก

กุมภิล – ฟังผมก่อนเถิดขอรับ ผมชื่อกุมภิล อยู่ที่บ้านศักราวตาร

ร,บ, ๒ – ก็นี่ใครไต่ใครถามถึงชื่อถึงเสียง หรือถิ่นถานบ้านช่องของแก

เสนา – ช่างเถอะ ปล่อยให้มันเล่าเรื่องของมันเอง ข้าอยากฟังดูที ว่าไปสิ อย่าปิดอย่าบังอะไรนะ

กุมภิล – กระผมเปนคนทำมาหาเลี้ยงบุตรภรรยาโดยทางจับปลา ทอดแห ตกเบ็ด ดักลอบ

เสนา – (หัวเราะ) ฮะ ๆ หากินดีจริงนะ ปาณาติบาตทั้งเรื่อง

กุมภิล – ใต้เท้าอย่าติเตียนกระผมเลยขอรับ การสิ่งใดที่ปู่ย่าตายายได้เคยกระทำมาแล้ว ลูกหลานจะละทิ้งเสียไม่เปนการสมควร และคนที่ฆ่าสัตว์ขายเลี้ยงชีพก็อาจจะเปนคนที่มีใจกรุณาได้เหมือนกัน

ร,บ, ๑ – หรือขะโมยก็ได้เหมือนกัน

เสนา – เล่าต่อไปสินา อย่าเสียเวลา

กุมภิล – วันหนึ่งผมจับปลาเทโพตัวใหญ่ได้ตัวหนึ่ง พอชำแหละออกก็พบแหวนวงนี้อยู่ในท้อง ผมเอามาขายก็พอนายทั้งสองนั้นมาพบเข้า ก็จับเอาตัวมา จะว่าผมมีความผิดคิดร้ายอย่างไร ผมไม่ใช่ขะโมยขะโจรเลย เป็นความสัตย์จริงเช่นนี้แหละขอรับ

เสนา – (ดมแหวน) จริงอยู่ แหวนนี้ได้อยู่ในท้องปลา ยังมีกลิ่นคาวติด ข้าจะลองไปถามท่านกรมวังดูสักที คุมตัวชาวประมงนี้ไว้ก่อนนะ

ร,บ, ๑ – อย่ากลัวขอรับ ผมไม่ให้หนีได้ (เสนาเข้าโรง)

ร,บ, ๒ – นายเราน่ากลัวจะอีกนานกว่าจะกลับออกมา

ร,บ, ๑ – แน่ละ การเข้าเฝ้าเข้าแหนมิใช่จะเข้าไปถึงง่าย ๆ

ร,บ, ๒ – เบื่อจริง ๆ ต้องมานั่งคุมอ้ายตานี่อยู่ กูละคัน ๆ มืออยากจ้ำมันเสียให้เสร็จกันไปให้รู้แล้วรู้รอด

กุมภิล – โอ๊ย โอ๊ย อะไรนายจะฆ่าคนเล่นง่ายๆ ผมไม่มีความผิดเลย

ร,บ, ๑ – ดูเอาสิ ตานี่มารยาพิลึก ยังไม่ทันจะทำอะไรร้องเสียก่อนแล้ว

กุมภิล – ก็นายว่าจะฆ่าผมก็ร้องสิ

ร,บ, ๒ – ก็เอาไว้ให้ฆ่าเสียก่อนถึงค่อยร้องไม่ได้ฤา

กุมภิล – ตายแล้วจะร้องแร้งอะไรออกล่ะนาย

ร,บ, ๑ – เออ นี่ก็จริงของแก อ้อนันแน่นายกลับออกมาแล้ว เอาละพ่อตัวการ ประเดี๋ยวก็ได้รู้กันว่าแกจะได้กลับบ้านฤาจะต้องเปนเหยื่ออีแร้ง

เสนา – (ออก) เฮ้ย ตาประมงนั่นอยู่ไหน

กุมภิล – ตายกู ตายแน่ (สั่นเทิ้ม)

เสนา – แกไม่ต้องสทกสท้าน แกไม่มีความผิด (สั่งราชบุรุษ) ปล่อยตัวตาประมง เจ้านายของเรารับสั่งว่าข้อความที่เล่าเห็นจะเปนความจริง

ร,บ, ๒ – พ้นนรกไปทีหนึ่งละแก (แก้มัดกุมภิล)

กุมภิล – ใต้เท้าขอรับ ขอบพระเดชพระคุณจริง ๆ ถ้าไม่ได้ใต้เท้าผมก็คงไม่รอดตัวในครั้งนี้

เสนา – แกมันเคราะห์ดีมาก นี่แน่ะ โปรดเกล้า ฯ ให้กูนำเงินมาพระราชทานเท่าราคาค่าพระธำมรงค์ที่แกนำมา แกเลยมั่งมีใหญ่ละ (ส่งห่อเงินให้)

กุมภิล – แหม ผมดีใจจนพูดไม่ออก (นั่งลงถวายบังคมสามคาบ)

ร,บ, ๑ – แกน่ะมันเหมือนผู้ร้ายที่เขาเอาลงจากขาหยั่ง แล้วมิหนำซ้ำให้ขี่ช้างกูบทอง

ร,บ, ๒ – นายขอรับ พระธำมรงค์นั้นเห็นจะเปนของมีราคามากนะขอรับ

เสนา – ส่วนราคาค่างวดดดูเหมือนจะไม่สำคัญ แต่ดูเหมือนจะเปนของที่เจ้านายเราโปรดปรานมาก พอนำไปถวายทอดพระเนตร์เห็นดูทรงตลึงอยู่ครู่ใหญ่ ๆ แล้วจึงได้มีพระดำรัสให้กูนำเงินมาประทานตาประมง (พูดกับกุมภิล) แกจะไปก็ไปสิ (เสนาเข้าโรง)

ร,บ, ๑ – ชะๆ ตาช่างหาปลา มาวันเดียวได้เปนเสรฐี ทีกูทำราชการวันยังค่ำ จนกรอบอยู่อย่างนี้เอง

กุมภิล – นายอย่าโกรธอย่าขึ้งเลย วันนี้ฉันมีลาภแล้วก็อยากให้เพื่อนฝูงได้สนุกสบายด้วยเชิญนายทั้งสองไปหาเหล้ากินกันเล่นพอสบายบ้างประไร

ร,บ, ๑ – เออ พูดยังงี้มันค่อยน่าฟังหน่อย กันรู้จักที่ดีอยู่แห่งหนึ่ง มาไปด้วยกันเถอะ (เชิด เข้าโรง) ฯ

(ท้าวทุษยันต์ออกนั่งเตียง มีนางกำนัลนั่งเฝ้าตามตำแหน่ง ท้าวทุษยันต์ถือแหวนวง ๑)


ช้า ๏ เมื่อนั้น พระจอมอาณาจักร์เปนใหญ่ พิศธำมรงค์แก้วแววไว ภูวนัยโศกศัลพรรณา ฯ ๒ คำ ฯ

ปี่แก้วน้อย ๏ โอ้ศกุนตลาเมียขวัญ ยิ่งกว่าชีวันเสนหา เสียแรงรักสมัคสมานมา ควรฤาพี่ยาลืมอนงค์ ชรอยผีร้ายหมายรังแก จึ่งดลใจให้แลพะวงหลง แกล้งทำให้ลืมโฉมยง งวยงงเหมือนหลับสนิทนอน ป่านนี้เทวีจะอยู่ไหน ใครจะพิทักษ์ดวงสมร ฤาอยู่กลางป่าพนาดร อกอ่อนอ้างว้างอยู่กลางไพร ฤาว่ากัลยาจะโกรธพี่ เจ้าหลบลี้ไปซ่อนอยู่หนไหน พี่นี้สิร้อนเหลือใจ ราวไฟเผาผลาญปานตาย ฯ ๘ คำ ฯ

อกทเลสองชั้น ๏ ยิ่งแลดูแหวนที่แทนรัก ทรงศักดิ์ยิ่งคนึงถึงโฉมฉาย ร้อนกลุ้มรุมทั่ววรกาย พระฦๅสายคลั่งคลุ้มกลุ้มกมล ผุดลุกจากเตียงไปเมียงมอง ทั้งในห้องนอกห้องทุกแห่งหน เห็นเงาคิดว่าเจ้านฤมล กล่าวยุบลเชิญชวนนวลนาง เห็นสาวสรรกำนัลที่นั่งเฝ้า พระผ่านเผ้าข้องจิตรคิดขัดขวาง สำคัญว่านินทากันอยู่พลาง กริ้วผางทางไล่ไม่ปราณี ฯ เชิดฉิ่ง ๖ คำ ฯ

(ท้าวทุษยันต์คลั่งถึงนางศกุนตลา เที่ยวค้นคว้าหานางและชวนนางกำนัลไปชมเชย โดยสำคัญว่าเปนนางศกุนตลา แล้วภายหลังกริ้ว หาว่านางกำนัลพากันมาล้อบ้าง ว่าหึงหวงแกล้งเอานางศกุนตลาไปซ่อนไว้บ้าง ในที่สุดก็ไล่ตีนางกำนัล หายเข้าโรง)

(พระอินทร์ออกนั่งน่าวิมาน มีพระมาตุลีเฝ้า)

ยานี ๏ มาจะกล่าวบทไป ถึงท้าวศักรินทร์นาถา ทิพอาศน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังสิลาน่าอัศจรรย์ จึ่งเลงทิพเนตร์แลดู ก็รู้เหตุการณ์ทุกสิ่งสรรพ์ จำเราจะช่วยทุษยันต์ ให้พลันได้สมอารมณ์รัก อีกหนึ่งทานพเนมี หมู่นี้กำเริบเอิบหนัก จะเชิญเธอบำราบปราบยักษ์ แล้วให้พบนงลักษณ์ผู้ยาใจ คิดแล้วตรัสสั่งสารถี มาตุลีดูราอย่าช้าได้ รีบไปหัสดินเวียงไชย แล้วรับจอมไผทขึ้นมา ฯ ๘ คำ ฯ

กระบอก ๏ บัดนั้น มาตุลีรับสั่งใส่เกศา รีบไปผูกรถรัตนา ขับสู่พสุธาไม่ช้าที ฯ เชิด ๒ คำ ฯ (ท้าวทุษยันต์ออกนั่งเตียง)

เจรจา โขน ๏ ถึงหัสดินบุรีธานีใหญ่ พระมาตุลีมองไปเห็นทุษยันต์ ประทับอยู่ในสวนขวัญใต้ร่มพฤกษา จึ่งเข้าไปทูลราชาว่า บัดนี้ท้าวมัฆวาน เธอได้ความเดือดร้อนรำคาญเปนเนืองนิตย์ เพราะทานพทุจริตอิ่มเอิบกำเริบใหญ่ เที่ยวข่มเหงไม่เกรงใจทั้งเทพบุตร์และนางฟ้า ขอเชิญเสด็จราชาปิ่นโปรพ ไปทรงสังหารทานพกาละเนมี ให้สิ้นเสียนไพรีจะเปนที่ยินดีทั่วกัน ฯ

๏ ปิ่นโปรพรังสรรค์ได้ฟังคำพระมาตุลี ก็ชื่นชมยินดีหาที่สุดมิได้ ดำรัสเรียกเสนาผู้ใหญ่ออกมาสั่งการ บัดนี้ท้าวมัฆวานตรัสให้หาเรา อยู่ทางนี้ท่านจงเฝ้านครไว้ เมื่อเสร็จกิจจอมภพไตรเราจึงจะกลับมา ว่าแล้วก็รีบลีลาขึ้นสู่รถวิมาน ขับลอยขึ้นสู่เทวสถานในชั่วพริบตา บัดนั้น ฯ เชิด ฯ

๏ องค์ศักรินทร์ปิ่นโลกาครั้นเห็นพระยาทุษยันต์ ก็มีความเกษมสันต์โสมนัศ จึงตรัสว่านี่แน่กษัตร์ยอดจันทรวงศ์ กาลเนมีมันองอาจทนงศักดิ์ กวนเทวาสุรารักษ์ให้ร้อนรำคาญ ขอเชิญเธอไปสังหารผลาญอ้ายทานพ อย่าให้มันอยู่กวนไตรภพได้อีกต่อไป ขอจงสวัสดีมีไชยสัตรูกษัยอย่าทานกร เลยนะท่าน ฯ

๏ ท้าวทุษยันต์รับพระพรใส่เกศา ทูลว่าเทวราชาอย่าสงไสย ข้ารับอาสาไปชิงไชยจนสุดกำลังและชีวาตม์ ว่าแล้วบังคมลาลีลาศจากวิมานรัตนมณี บัดนั้น ฯ เสมอ ฯ

ลงสรงโทน ๏ พระจึ่งชำระสระสนาน สำราญกายาชูราษี ทรงสุคนธ์ปนปรุงมาลี ทรงแป้งอย่างดีของเทวัน สนับเพลาเชิงมาศเรืองรอง ภูษาแดงเขียนทองฉายฉัน ฉลององค์ตัวดำดูสำคัญ แขนสีสุพรรณพรายตา สอดทรงเนาวรัตน์สังวาลย์ ตาบจันทรกานต์มีค่า ประคำล้วนแก้วมุกดา วไลยรัตนาโกมิน ทรงมงกุฎของท้าวเทวราช งามวิลาศเหมือนเทพโกศินทร์ กุมศักรธนูมณีจินต์ ภูมินทร์มาทรงรถสุวรรณ ฯ บาทสกุณี ๘ คำ ฯ

(กลม ตรวจพลเทวดา ทัพน่าคนธรรพ ปีกขวาเทวดา ปีกซ้ายยักษ์ ทัพหลังนาค)

พากย์ ๏ งามทรงองค์ท้าวทุษยันต์ เหมือนจอมเทวัน ผู้ทรงมหิทธิ์ฤทธา ๏ ทรงรถวิมานรัตนา มาตุลีเทวา ขึ้นขับละลิ่วปลิวไป ๏ ทัพน่าคนธรรพ์ชาญไชย ธตรฐยศไกร พระขรรค์ทนงคงกร ๏ ปีกขวาวิรุฬหกเริงรอน คุมหมู่อมร ผู้ฤทธิรุทยุทธนา ๏ ปีกซ้ายกุเวรราชา คุมยักขะเสนา กำแหงด้วยแรงเริงรณ ๏ วิรุปักษ์ทัพหลังยังพล นาคนาคานนต์ กระเหิมประยุทธ์ราวี ๏ ได้ฤกษ์เลิกพลโยธี ดั้นเมฆเมฆี มายังสมรภูมิไชย ฯ เชิด ฯ

(ยกพลเดินรอบ แล้วเข้าโรง ทัพฝ่ายทานพออกตั้ง ทัพเทวดาออกมาประทะ รบกันทีเดียว พวกเสนาทานพล้ม ท้าวกาลเนมีเข้าประจันบานกับพวกเทวดา ท้าวทุษยันต์โดดลงจากรถ เข้าไปประจันบานแล้วแผลงศร เปลี่ยนน่าพาทย์เป็นศรทนง ท้าวกาลเนมีล้มแล้ว เชิดอีก ทัพเทวดายกเข้าโรง แล้วท้าวทุษยันต์ขึ้นรถมากับมาตุลีสองต่อสอง)

เชิดฉิ่ง ๏ เลื่อนลอยมาโดยนภากาศ โอภาศผ่องเพียงแขไข เสร็จปราบอสูรจัญไร โสมพงศ์ทรงไชยแสนยินดี ทูลลาสมเด็จอมเรศร์ เพื่อคืนเข้าเขตร์กรุงศรี ล่องลอยเวหนด้นเมฆี ชมเทพวิถีทางจร งามเมฆใหญ่เยี่ยมมหิมา ดูราวภูผายอดสิงขร สีแดงแสงจับทินกร ภูธรชมเพลินจำเริญตา ลิ่ว ๆ ประหนึ่งลมพัด รถรัตน์แล่นกลางหว่างเวหา เรื่อย ๆ รถตรงลงมา ยังผาเหมกูฎคีรี ฯ เชิด ๘ คำ ฯ (สองคำรับที ท่อนท้ายรับด้วยเชิดกลอง)

เจรจา

ทุษยันต์ เขายอดนี้คือเขาอะไรนะพระมาตุลี

มาตุลี เขาลูกนี้ชื่อเหมกูฎที่สำนักสโมสร แห่งพระกศปเทพบิดรและพระอทิติแม่เจ้า

ทุษยันต์ ถ้าเช่นนั้นควรเราจะไปเผ้านมัสการ

มาตุลี ดีแล้วท่านมาพากันไป ฯ เสมอ ฯ

(พระกศปเทพบิดรและพระอทิติเทพมารดาออกนั่งเตียง มีบริวารเปนเทวดา ๑ คู่ ฤษี ๑ คู่ พราหมณ์ ๑ คู่ มนุษ ๑ คู่ นก ๑ คู่ วานร ๑ คู่ นาค ๑ คู่ ยักษ ๑ คู่)

ร่าย ๏ ก้มเกศอภิวาทน์วันทา องค์ประชาบดีเรืองศรี กับองค์พระเทพชนนี ด้วยความภักดีจงรัก ฯ ๒ คำ ฯ

๏ เมื่อนั้น พระเทพบิดรทรงศักดิ์ เมตตาราชาเห็นน่ารัก เห็นประจักษ์เปนยอดขัตติยา ดูกรทุษยันต์โปรพ ท้าววาสพผู้เปนลูกข้า ได้บอกเรื่องราวข่าวมา ว่าราชาไปช่วยราวี ปราบกาลเนมีห้าวหาญ แรงลานแพ้ฤทธิ์ป่นปี้ ตัวกูก็พลอยยินดี เธอมีความชอบจะตอบแทน กูมีนางงามทรามสวาดิ์ จะประสาทให้เธอไม่หวงแหน จะหาไหนไม่สู้ในดินแดน ถึงแม้ในเมืองแมนไม่เทียมทัน ดูกรอทิติเสนหา จงตามแก้วกัลยาเลอสรร เราจะยกให้ทุษยันต์ เพื่อครองกันเกษมเปรมปรีย์ ฯ ๑๐ คำ ฯ

เจรจา

พระกศป – นี่แน่แม่อทิติ หล่อนจงไปพานางโฉมงามออกมาบัดนี้

พระอทิติ – เพคะ (เข้าโรง)

(อีกครู่ ๑ พระอทิติจึงจูงนางศกุนตลากับกุมารคน ๑ ออกมา นางศกุนตลากับทุษยันต์ต่างตกตลึงอยู่ครู่ ๑ แล้วนางจึงเข้าไปหาผัว โอด)

พระกศป – ราชะ เธอจะว่าอย่างไร นางคนนี้ต้องใจของเธอแลฤา

ทุษยันต์ – (ถวายบังคม) พระเจ้าข้า พระกรุณาแห่งพระเทพบิดร เปรียบเหมือนมหาสาครใหญ่กว้างฦกซึ้งหาที่สุดมิได้ ข้าพระองค์นี้ชั่วช้าเสียเหลือใจ เมื่อพบนางจึงไม่รู้จัก จนเห็นแหวนให้แทนรักจึ่งได้หายความเคลือบแคลง

พระกศป – นั้นก็เพราะอำนาจแช่งของทุรวาสดาบส แต่เคราะห์ของเธอก็เปลื้องปลดหมดไปแล้วจงยินดี จงรับมิ่งมเหษีกลับไปอยู่ยังขอบขัณฑ์ และครอบครองปรองดองกันทุกทิวาราตรี

นางนาค ๏ ขอกษัตร์โปรพภพนารถ ทรงราชย์เกษมศุขี ไชยะไชยชำนะไพรี อย่ามีเหตุร้ายบีฑา อนึ่งนางเกาศิกามารศรี เทวีผู้ทรงเสนหา จงเจริญศิริศุขทุกทิวา อย่ามีเวลาอนาทร ฝ่ายเยาวกุมารโอรส จงพูลเพิ่มเสริมยศสโมสร เปนใหญ่ในปวงประชากร เปนเอกอดิศรสมพันธุ์ ราชันจงหมั่นดำริห์การ อภิบาลรอบคอบขอบขัณฑ์ บำรุงไพร่ฟ้าประชานันท์ ทศธรรม์ถือเที่ยงเยี่ยงยง จงละอคติทั้งสี่ อย่ามีความโลภโกรธหลง เช่นนี้จะมีความมั่นคง ธำรงอยู่สิ้นดินฟ้า ฯ ตะบองกรร ๑๐ คำ ฯ


๏ จบเรื่องศกุนตลา ๚ะ๛
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 มิถุนายน 2563 19:00:12 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 04 มิถุนายน 2563 15:47:42 »




ภาคผนวก ๑ กล่าวด้วยนาฏกะ
(คือลครอย่างมัธยมประเทศ)
นาฏกะ
คือลครที่เล่นในมัธยมประเทศ อันเปนแผนแห่งลครไทย

----------------------------

การเล่นลครนี้ ที่จริงก็น่ารู้อยู่ว่า เริ่มขึ้นอย่างไร แต่ก็ย่อมจะเปนการยากอยู่เองที่จะรู้ได้เปนแน่นอน เพราะได้เริ่มมาเสียช้านานเต็มทีแล้ว ตามความเห็นของนักปราชญ์ยุโรป ซึ่งเอาใจใส่ในโบราณคดีและวรรณคดี (ค้นหนังสือเก่าใหม่) กล่าวว่า ในชั้นต้นการเล่นเต้นรำหรือลคร ที่สำหรับบำรุงความเพลิดเพลินอย่างเดียวนั้นไม่มี ย่อมหวังประโยชน์อย่างใดอย่าง ๑ ด้วย ก่อนอื่นคงเกิดมีการขับร้องเปนบทกลอน และบทกลอนคงแบ่งได้เปนสามประเภท คือ

๑) บทกลอนกล่าวด้วยสิ่งซึ่งเปนไปในโลกโดยอำนาจอันเข้าใจไม่ได้ จึ่งเปนที่น่าพิศวง บทกลอนเหล่านี้ก็คงจะกล่าวด้วยคุณแห่งดินน้ำลมไฟและอากาศ คนเราได้อาไศรยอย่างไรเปนผลดีอย่างไร และเมื่อนึกไปเช่นนั้นแล้วก็ต้องเลยนึกต่อไปว่า การที่เปนไปโดยธรรมดาเอง เช่น ฝนตก แดดออก กลางวัน กลางคืน เปนต้น เหล่านี้ น่าจะมีผู้บันดาลให้เปนไปจึ่งเปนไปได้ จึ่งเกิดมีความเชื่อถือในเทวดาผู้มีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกแดดออกหรือไฟลุกลมพัดเปนต้น และเมื่อเชื่อเช่นนั้นแล้วก็ต้องสรรเสริญด้วยวาจาอันดี สำเนียงอันไพเราะ หรือพูดกันตรงๆ ต้องยอให้พอใจ นี้เปนต้นเหตุแห่งคีตาหรือฤก คือบทสรรเสริญหรือยอต่างๆ บทเหล่านี้​รวบรวมกันเข้าเปนสํหิตา และเปน ฤคเวท ยัชุรเวท สามเวท และอถรรพเวท เปนต้น แล้วก็แตกกิ่งก้านสาขาสยายมากออกทุกๆ ที บทกลอนประเภทนี้ คงเปนอันสรุปความได้ว่า (ก) สำหรับสรรเสริญพระผู้เปนเจ้าเปนใหญ่ ผู้เปนบุพการี เพื่อให้ปรากฎความกตัญญูและภักดี แล (ข) เปนวิธีรวบรวมลักษณะบูชาและสรรเสริญ ตลอดจนถึงลัทธิและธรรมวินัยกิจวัตร์ต่างๆ หนังสือข้างฝ่ายพระพุทธศาสนาก็มีโดยมากที่แต่งเปนกาพย์ โดยเนื่องมาจากประเพณีเดิมของพวกพราหมณ์อันกล่าวมาแล้วนี้เอง

๒) บทกลอนกล่าวเชิดชูเกียรติคุณแห่งวีรบรุษ เล่าถึงกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำมาแล้วเปนอย่างไรบ้าง ความมุ่งหมายก็คือจะให้เตือนใจผู้ที่ฟัง ให้มีมานะตั้งใจเอาอย่างวีรบุคคลนั้นๆ หรืออย่างน้อยให้มีความภาคภูมิในใจ ว่าได้มีคนที่กล้าหาญอดหนและเก่งเช่นนั้นอยู่ในตระกูลหรือคณะของตน หนังสือรามายณและมหาภารตเปนตัวอย่างแห่งหนังสือชนิดนี้

๓) บทกลอนขับร้องเพื่อให้ยั่วยวนใจ บำรุงความสำราญ เช่น กล่อมให้นอนหลับ หรือยั่วในทางความรักใคร่เปนต้น บทกลอนชนิดนี้ บังเกิดมีขึ้นเมื่อเกิดกวีช่างประพันธ์ถ้อยคำที่ใช้พูดให้เปนกาพย์ ทำให้น่าฟังน่าจับใจมากขึ้นกว่าที่จะพูดไปตามปรกติ

ตามข้อความที่ได้กล่าวมาแล้ว จะแลเห็นได้ว่า บทกลอนเริ่มด้วยใช้ในกิจการอันสูงแล้วค่อยๆ หย่อนลงมาเปนลำดับตามเลข ๑-๒-๓ นั้น จนในที่สุดการร้องขับลำเปนสิ่งซึ่งแยกไม่ออกจาก​การบำรุงความเพลิดเพลินในกามคุณารมณ์แล้ว พระพุทธศาสนาจึ่งเลยห้ามส่งมิให้ผู้บวชร้องขับลำ และสอนคฤหัสถ์อยู่เสมอๆ ว่า การขับลำเปนของไม่ดีอันหนึ่ง ซึ่งถ้ากระทำให้ห่างและน้อยได้เท่าใดเปนดี ข้อนี้อุปรมาฉันใด ในส่วนการฟ้อนรำหรือเล่นลครก็เปนฉันนั้น เพราะไม่ต้องสงสัยเลยว่าบทลครมีกำเนิดมาจากการขับร้องต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น คือเริ่มจากเปนบทสรรเสริญปลีกๆ แล้วจึ่งเกิดมีเปนเรื่องราวติดต่อกันยืดยาวขึ้น มีเปนเรื่องราวแทรกอยู่ในตำหรับตำรา อย่างเช่นเรื่องปุรูรพและอูรวศีในฤคเวทเปนต้น เรื่องแทรกชนิดนี้เรียกว่า “อาข๎ยาณ” หรือ “อุปาข๎ยาณ” แล้วต่อลงมาพวกเรื่องเกร็ดเหล่านี้ มีผู้ชอบฟังมากขึ้น ทั้งพวกพราหมณ์ผู้เปนอาจารย์สังเกตเห็นว่า การสั่งสอนคติใดๆ ถ้าเล่าให้ศิษย์ฟังเปนนิยายก็มักจะทำให้จับใจจำแม่นยำ ฝังอยู่ดีกว่าที่จะให้ท่องไปเปล่าๆ จึ่งเกิดมีพวกเรื่องชนิดหนึ่ง ซึ่งฝ่ายพุทธศาสน์ของเราเรียกว่า “ชาดก” แต่ซึ่งเปนนิทานที่มีอยู่แต่ก่อนพุทธกาลแล้ว ต่อๆ มานิทานชนิดชาดกนั้นยาวออกทุกที จนถึงมีหลายๆ บรรพ เช่น มหาเวสสันตรชาดกเป็นตัวอย่าง และข้างพราหมณ์ยังเดินต่อไปเปนหนังสือจำพวกที่เรียกรวมว่า “ปุราณ” และเปนรามายณและมหาภารตเปนต้น

ส่วนที่การเล่นลครจะเกิดขึ้นต่อมาอย่างไรนั้น ตรองดูนิดเดียวก็จะแลเห็นได้ เพราะไม่ต้องแลดูให้ไกลไปปานใด ดูเพียงในเมืองเราเองก็พอแล้ว แรกก็เริ่มด้วยการอ่านหนังสือเปนคำโต้​ตอบกัน อย่างเทศน์มิลินทปัญหาและมโหสถเปนต้น ที่จริงเทศน์มโหสถนั้น ถ้าพิจารณาดูแล้ว ก็คล้ายๆ ละครชนิดที่ชอบเล่นกันอยู่ในสมัยนี้ คือลครพูดนั้นเอง ขาดอยู่ก็แต่ยังไม่ได้ออกท่าเท่านั้น ถ้าต่างว่าไม่มีพระวินัยบัญญัติห้ามมิให้พระภิกษุเล่นลครแล้ว ข้าพเจ้าจะไม่รู้สึกประหลาดใจเลยในการที่จะได้ดูลครเรื่องพระมโหสถ หรือแม้เรื่องพระเวสสันตรชาดก เพราะเรื่องกากี ซึ่งเปนเรื่องชาดกอัน ๑ ชื่อ “กากาติชาดก” ก็เล่นลครได้แล้ว เพราะฉนั้น ดูไม่มีที่ควรสงไสยเลยว่า การเล่นลครได้เดินมาจากการกล่อมสรรเสริญพระเปนเจ้า แล้วถึงสวดหรือเทศน์ซ้อน จนถึงออกท่ารำเปนที่สุด

การรำเฉยๆ นอกจากที่รำเปนเรื่องเปนราวน่าจะมีต่างหาก คือมีอยู่แล้วแต่ก่อนนำการรำเข้ามาผสมกับเรื่องเปนลคร และการรำก็น่าจะแบ่งเปน ๒ ประเภท คือรำบูชาประเภท ๑ รำบำเรอประเภท ๑ แต่จะได้แยกกันออกเมื่อใด และอะไรจะเกิดก่อนเกิดหลังก็ให้การไม่ได้

โปรเฟสเซอร์ อาว์เธอร์ เอ. แมคคอนเนลล์ อาจารย์สังสฤตณมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอด ได้แต่งหนังสือไว้เล่ม ๑ ชื่อ “ตำนานวรรณคดีสังสกฤต” (History of Sanskrit Literature By Arthure A Macdonnell, M. A., Ph. D., Corpus Christi College. Oxford: Boden Professor of Sanskrit and Fellow of Balliol College) บริเฉทที่ ๑๓ มีข้อความกล่าวด้วยบทลครภาษาสังสกฤตโดยพิศดาร ดังข้าพเจ้าจะได้เก็บข้อความลงไว้ในที่นี้บ้างดังต่อไปนี้

​ในข้อว่าด้วยกำเนิดแห่งลคร อาจารย์แมคดอนเนลล์ได้อธิบายไว้ว่า คำว่า นักรำ (นฏะ) และบทลคร (นาฏกะ) มีมูลมาจากคำว่า “นัฏ” เปนคำปรากฤตฤๅภาษาสามัญอันเนื่องจากคำสังสกฤตว่า “น๎ฤต” แปลว่า รำ ตรงกับคำภาษามคธว่า “นัจจ” และซึ่งตามภาษาฮินดี (คือภาษาที่พูดกันในอินเดียในปัตยุบันนี้) ใช้อยู่ว่า “นาจ” หรือ “นอจ” การรำนี้เอง อาจารย์แมคดอนเนลล์เห็นว่าเปนประถมมูลแห่งนาฏกะแห่งมัธยมประเทศ ข้าพเจ้าขอคัดความเห็นของท่านอาจารย์นั้มาลงต่อไปดังนี้

“ในชั้นต้นคงจะมีแต่การออกท่าทางอย่างง่ายๆ มีการเอี้ยวเอนร่างกาย ผสมกับการทำท่าเลียนด้วยมือและหน้า ไม่ต้องสงสัยเลย การขับรำคงจะได้ใช้เปนเครื่องประกอบการรำเช่นนี้มาแต่ในชั้นต้น ศัพท์ว่า ภรต อันเปนนามแห่งผู้ที่สมมติว่าเปนผู้คิดนาฏกะขึ้น ซึ่งในภาษาสังสกฤตแปลว่านักรำนั้น ในภาษาอื่นๆ ใช้แปลความว่า นักร้อง เช่นคำ “ภโรต” ในภาษาคูชรตีเดี๋ยวนี้เปนต้น การเพิ่มเติมคำพูดขึ้นนั้นเปนชั้นที่สุดในความจำเริญ ซึ่งเปนไปในอินเดียคล้ายๆ ในประเทศกรีซ ชั้นตัน (แห่งการเล่นลคร) นี้ ยังมีตัวอย่างอยู่ คือ ยาตรา ในแคว้นปังกลี และ คีตโควินท์ นี้ เปนหัวต่อที่นำไปถึงนาฏกะสังสกฤต ชนิดที่มีกาพย์และคำเจรจาผสมกัน (เรื่องคีตโควินท์ดูในอภิธานต่อไป)

“ข้อความที่กล่าวถึงลครที่เล่นเปนชั้นแรกที่สุด มีอยู่ในหนังสือมหาภาษย์ ซึ่งกล่าวถึงการเล่นเรื่อง กํสวัธ (“การฆ่าพญากงส์”) ​และพลิพันธ์ (มัดท้าวพลี) อันเปนเรื่องในตำนานพระกฤษณ ข้างประเทศอินเดียมีข้อบอกเล่ากันต่อๆ มาว่า พระภรตได้จัดเรื่องลครรำถวายพระเปนเจ้าทั้งหลายเรื่อง ๑ เปนเรื่องสวยัมพรพระลักษมีผู้เปนมเหษีพระพิษณุ คำเล่ายังมีต่อไปว่า พระกฤษณและเหล่าโคปี (นางเลี้ยงโค) ทั้งหลายเปนผู้ริการสังคีต คือการเล่นชนิดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ลำ เพลง และรำ เรื่องคีตโควินท์ เปนเรื่องเนื่องด้วยพระกฤษณ และลครยาตราอย่างใหม่นี้ ก็มักจะเปนเรื่องเนื่องด้วยส่วน ๑ ส่วนใดในตำนานแห่งพระกฤษณนั้น อาไศรยเหตุเหล่านี้จึ่งน่าจะคะเนว่า การลครในอินเดียจะได้เกิดขึ้นโดยเนื่องแต่การบูชาพระกฤษณาวตาร และลครรำที่ได้มีเปนครั้งแรก น่าจะเปนลครอันเนื่องด้วยศาสนา เหมือนอย่างลครมัธยมสมัยแห่งศาสนาคฤสตัง จะเปนลครที่เล่นเรื่องส่วนใดส่วน ๑ อันเนื่องด้วยพระเปนเจ้า โดยใช้ร้องและรำเปนพื้น มีคำเจรจาเปนร้อยแก้วซึ่งตัวลครคงคิดพูดเอาเอง”

ตามความเห็นและข้อความที่อาจารย์แมคดอนเนลล์กล่าวมา ซึ่งได้นำมาลงไว้ข้างบนนี้ ขอเชิญให้ท่านผู้อ่านสังเกตว่า มีข้อความอันเนื่องมาถึงลครไทยเรา ๒ ประการ กล่าวคือ

๑) ตามความนิยมในมัธยมประเทศเขาว่า พระภรตมุนีเปนประถมาจารย์แห่งลคร เปนผู้คิดการเล่นลครขึ้น ท่านผู้นี้ปรากฎว่าเปนผู้แต่งตำหรับอันหนึ่งซึ่งเรียกว่า คานธรรพเวท อีกนัย ๑ เรียกว่า นาฏยศาสตร์ (ตำรารำ) หรือ ภรตศาสตร์ ตามชื่ออาจารย์ ที่เรียกคานธรรพเวทนั้น เพราะพวกคนธรรพเปนพวกนักร้องนักรำ​อย่างเก่ง และที่เรียกยกย่องเปนเวทนั้น เพราะเห็นว่าเปนวิชา (ไซเอนซ์) สำคัญอย่างยิ่งอัน ๑ ในเมืองไทยเราพวกที่เปนโขนเปนลคร ถึงแม้ที่เปนชั้นครูบาอาจารย์ในวิชารำก็ดี ข้าพเจ้ายังไม่พบเลยที่บอกได้ว่าประถมครูของลครนั้นคือใครชื่ออะไร บอกได้แต่ว่า เวลาไหว้ครูต้องเอาหัวฤษีตั้ง เพราะฉนั้นแปลว่าฤษีคือตัวครูเถ้าครูใหญ่ แต่ถ้าจะไล่เลียงต่อไปว่า ทำไมจึงถือเอาฤษีเปนครูใหญ่เช่นนั้น ก็ชักจะโมโยโมเย ทำทีเหมือนหนึ่งว่ารู้ดอกแต่จะบอกคนที่ไม่ใช่พวกพ้องและมิได้เปนละเม็งลครก็จะเอาไปดูถูกเล่นฉนี้ แต่แท้จริงข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่รู้ เพราะคงเลือนกันมาเสียหลายชั่วคนแล้ว เพราะฉนั้นในที่นี้ข้าพเจ้าผู้มิใช่ลครจึงจะขอบอกแทนว่า ฤษีตัวครูที่นับถือกันนักนั้นไม่ใช่คนอื่น คือพระภรต นี้แล

อนึ่งไหนๆ ก็ได้อวดรู้เรื่องครูลครมาราย ๑ แล้ว ข้าพเจ้าขอเลยอวดรู้เรื่องครูปี่พาทย์เสียด้วยอีกราย ๑ ท่านครูปี่พาทย์นั้นนักเลงปี่พาทย์ว่าชื่อ “พระประโคนธรรพ” ข้าพเจ้าขอบอกกล่าวว่า ตัวพระประโคนธรรพไม่มี ศัพท์ว่า “ประโคนธรรพ” นี้ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเลือนมาจากศัพท์ “ปรคนธรรพ” แปลว่ายอดคนธรรพ และถ้าเปนเช่นนี้แล้วก็รับบอกตัวได้ทันที คือ พระนารท (ซึ่งปากตลาดชอบเรียกว่า “นารอด”) นั้นเอง เพราะท่านผู้นี้ในว่าๆ เปนผู้คิดพิณขึ้น และเปนนักร้องนักดนตรีจึงได้นามว่า เทพยคนธรรพบ้าง คนธรรพราชบ้าง ปรคนธรรพบ้าง เพราะเปนผู้ชำนาญเก่งในวิชาของคนธรรพ คือการขับร้องและดีดสีตีเป่าดังนี้ เปนอันลงรอยหมด

​๒) ข้อที่ว่าลครอินเดียโบราณ จะเปนลครอันมีบทร้องเปนพื้น รำใช้บท และมีเจรจาเปนตอนๆ นั้น ก็คือเปนอย่างมโนราที่ยังคงเล่นอยู่ที่ทางมณฑลปักษ์ใต้นั้นเอง คือตัวลครเห็นจะร้องเอง มีลูกคู่รับ แบบมโนรานั้นเชื่อว่าได้มาจากมัธยมประเทศเปนแน่ ถ้ายิ่งพิจารณาดูเรื่องที่ใช้เล่นลครในเมืองไทยเรานี้ จะเห็นได้เปนพยานชัดว่า เรื่องมาจากมัธยมประเทศทั้งสิ้น ข้อนี้ไม่เปนที่น่าอายอันใด เพราะไทยเราเปนพวกนักรบแท้ จึ่งไม่มีเวลาจะคิดแต่งบทกลอนหรือคิดแบบละเม็งลครอะไร จนลงมาทางทิศใต้จึ่งมาประสบพบความรุ่งเรืองอันมาจากทางมัธยมประเทศ ก็รับเอาของเขามาทั้งสิ้น ไม่ได้พยายามคิดใหม่ ไม่ใช่แต่มโนราเท่านั้นที่จะเปนของที่ไทยเราเอาอย่างอินเดีย ถึงโขนและลครร้องก็ได้เขาเปนครูเหมือนกัน ดังข้าพเจ้าจะแสดงให้ปรากฎต่อไป

วิชาเล่นลครในมัธยมประเทศ หรือเรียกตามภาษาของเขาว่า นาฏยวิทยา นั้น ได้มีความจำเริญรุ่งเรืองขึ้นเปนลำดับในระหว่าง ๑๐๐๐ ถึง ๑๓๐๐ ปีล่วงมานี้แล้ว นาฏวิทยาถึงซึ่งความรุ่งเรืองอย่างสูงแล้ว ดังมีพยานปรากฎอยู่ที่หนังสือบทลครต่างๆ ซึ่งยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้ ทั้งมีตำหรับตำราว่าด้วยวิธีประพันธ์กาพย์กลอนบทลคร ตลอดจนมีกำหนดวิธีผูกเรื่องและบอกประเภทแห่งนาฏกะต่างๆ เช่นมีตำราฉบับ ๑ ชื่อ สาหิตยทรรปนะ (แปลว่ากระจกเงาแห่งการแต่งหนังสือ) ซึ่งแบ่งนาฏกะเปนประเภทใหญ่ ๒ ประเภท เรียก รูปะกะ ประเภท ๑ ซึ่งเปนลครชั้นสูง อรูปะกะ อีกประเภท ๑ เปนลครชั้นต่ำ ประเภทรูปะกะนั้นมี ๑๐ ชนิด อรูปกะ ๑๘ ชนิด

​ลักษณะอันหนึ่ง ซึ่งเรื่องลครสังสกฤตเปนอย่างเดียวกับลครไทย คือไม่มีเลยที่จะจบร้าย ถึงแม้ว่าจะมีเหตุร้ายแรงต้องเศร้าโศกเสียใจ หรือพลัดพรากจากกันไปอย่างไรๆ ก็ตาม ในที่สุดพระเอกกับนางเอกคงต้องได้มีความสุข แต่ของเขายังไปแรงกว่าของเราไปอีก คือของเขาไม่มีเลยที่จะเล่นกิจการอันใดที่นับว่าร้ายกาจหรือรุนแรงต่อหน้าคนดู เช่นรบกันฆ่าฟันกันตายเปนต้น เขาสมมติเอาว่ากิจนั้นๆ ได้เปนไปข้างหลังโรง คงมีแต่ตัวลครตัวใดตัว ๑ มาเล่าเรื่องเท่านั้น บางทีก็มีแต่เสียงร้องหรือพูดจาหลังฉากด้วยซ้ำ การใช้วาจาอันรุนแรง เช่นแช่งด่าหรือขับไล่เขาก็ไม่ใช้ เช่นในเรื่องศกุนตลา ตอนฤษีทุรวาสมาแช่งนางนั้น ตัวฤษีมิได้ออกมาเลย ได้ยินแต่เสียงพูดจากในโรงเท่านั้น ถึงแม้ตอนสังวาสหรือเข้าห้องก็มิได้เล่นกลางโรงเลย

ส่วนบทลครนั้น อาจารย์แมคดอนเนลล์อธิบายว่า ต้องแต่งให้ภาษาพูดต่างๆ กัน ตามที่สมควรแก่ชั้นแห่งบุคคล บรรดาพระเอก กษัตริย์ พราหมณ์ และคนชั้นสูงพูดภาษาสังสกฤต นางและผู้ชายชั้นต่ำพูดปรากฤต (คือภาษาสามัญไม่ใช่ภาษานักเรียน) แต่แม้ในหมู่คนที่พูดปรากฤตนั้นก็ยังมีต่างๆ กันไปอีก คือ นางใช้ภาษามหาราษฏรีในที่เปนบทลำ แต่ในบทร่ายใช้ภาษาเศารเสนี และเด็กกับนางกำนัลก็ใช้เศารเสนี เสนาใช้ภาษามคธ คนจรจัดและนักเลงเล่นเบี้ยใช้ภาษาอวันตี โคบาลใช้ภาษาอภีรี คนเผาถ่าน​ใช้ภาษาไปศาจี (ภาษาผี คือ ภาษาต่ำ) และคนไพร่และเลวๆ กับพวกคนป่าคนดงใช้ภาษาอัปะภรังศะ

ส่วนเรื่องที่ใช้เล่นลครนั้น มักเก็บจากหนังสือพงศาวดารหรือตำนานหรือชาดก ในข้อนี้ก็ตรงกับของเรา ส่วนพระเอกนางเอกมักเปนกษัตวีย์ ซึ่งตกทุกข์ได้ยากต่างๆ และเพื่อมิให้คนดูเบื่อ จึ่งมักมีตัวลครตัวหนึ่งเรียกว่า “วิทูษก” เปนตลกหลวง สำหรับเปนผู้ติดต้อยห้อยตามพระเอกไป และคอยสอดเล่นตลกอะไรๆ เรื่อยๆ ไป แต่คำพูดนั้น อ่านเข้าแล้วก็ไม่ใครจะออกรสขบขันอะไรเลย เช่นในเรื่องศกุนตลาก็มีวิทูษกตัว ๑ ชื่อมาฐัพย์ (แต่ข้าพเจ้าตัดออกเสีย เพราะเห็นไม่จำเป็นอันใด และตัดออกแล้วก็ไม่ได้ทำให้ความในเรื่องเสียไปเลย) ข้อควรสังเกตอันหนึ่ง คือตัววิทูษกนั้นมักเปนพราหมณ์ ซึ่งถ้าจะคิดไปดูพวกพราหมณ์ไม่น่าจะยอมให้เปนไป เพราะดูออกจะเสียรัศมีเต็มที

เรื่องลครสังสกฤตทุกเรื่องต้องเริ่มด้วยคำให้พร เรียกว่า นานที แล้วจึ่งมีตัวผู้จัดการโรงออกมาพูดโต้ตอบกับตัวลครสักคน ๑ หรือ ๒ คน ความประสงค์คือจะเล่าว่าบทนาฏกะนั้นใครเปนผู้แต่ง และพยายามที่จะให้คนดูชอบ พูดจาชมเชยคนดูว่าเปนผู้ที่ฉลาดไหวพริบดี คงจะรู้จักดูของดี และอธิบายถึงเรื่องที่จะเล่นพอสมควร แล้วจึ่งลงมือจับเรื่องต่อไป ลครเรื่อง ๑ ๆ มักแบ่งเปนชุดๆ และชุด ๑ ๆ สมมตว่ากล่าวด้วยกิจการงานอันเปนไปในสถานใดสถาน ๑ จนตลอดจบชุดจึ่งแปรสถาน ในเมื่อจะเปลี่ยนชุดใหม่บางทีก็มีชุดแทรก เรียกว่า ​วิษกัมภะ หรือ ประเวศะกะ จะมีตัวลครออกมาพูดคนเดียว หรือจะเปนพูดกันหลายๆ คน อย่างเช่นชุดจับชาวประมงในเรื่องศกุนตลานั้นก็ได้ ในชุดแทรกนี้มักกล่าวถึงกิจการที่ได้เปนไปแล้วในระว่างชุดที่จบลงแล้วกับชุดที่จะเล่นต่อไป เพื่อเชื่อมหัวต่อระหว่างชุด ในที่สุดแห่งเรื่องจึ่งมีบทสรรเสริญเทวดาองค์ใดองค์ ๑ ตัวลครตัวสำคัญตัว ๑ เปนผู้กล่าวคำสรรเสริญนั้น

การให้พรข้างต้นนั้น ตรงกับบทไหว้ครูของพวกมโนรา เปนธรรมเนียมพวกมโนรา ถ้าไม่ได้ไหว้ครูก่อนแล้วไม่ลงมือเล่น จึ่งเข้าใจว่าคงจะจำอย่างครูเขามานั้นเอง ส่วนการสรรเสริญในสุดท้ายนั้น คือเนื่องมาจากการเล่นเปนเทพบูชา การเล่นลครเปนเทพบูชานี้ ก็ยังมีติดมาในเมืองเราจนบัดนี้ คือการมีลครสังเวยแก้สินบนหรือในงานมงคล เช่นโกนจุกและทำบุญบ้าน ซึ่งเปนงานอันสมมุติว่าเชิญเทวดามาสโมสรสันนิบาตด้วย จึ่งต้องมีลครถวายเพื่อท่านเห็นเรื่องราวของท่านหรือพวกพ้องของท่าน ท่านจะได้รื่นรมย์ และการฉลองอะไรๆ ทั้งนั้นก็มักต้องมีลคร กับเมื่อกล่าวมาถึงการเล่นลครในการมงคลต่างๆ พาให้ข้าพเจ้านึกถึงข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า อันมีข้อความอยู่ว่า “ศักราช ๘๓๘ ปีวอกอัฐศก ท่านประพฤติการเบญจาเพส พระองค์ให้เล่นการดึกดำบรรพ์” (ในต้นแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒) ฉนี้จะมุ่งความว่าทำอะไรกัน ได้เคยโจทย์ๆ กันอยู่ในหมู่นักเลงโบราณคดีคงลงความเห็นกันว่า เห็นจะเล่นลครเรื่องรามเกียรติ์ ข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเปนจริงเช่นนั้น คือ คงเล่นลครตามแบบดึก​ดำบรรพ์อย่างแบบโบราณที่เขาเล่น และเรื่องนั้นถ้าไม่เปนรามเกียรติ์ก็คงอนิรุทธ์ (อุนรุท) อันเปนเรื่องเนื่องด้วยตำนานพระกฤษณาวตาร เปนอันเข้าแผนข้างครูที่เขาเล่นยอพระเกียรติพระนารายน์ปางใดปางหนึ่ง คงไม่ใช่เล่นเรื่องเบ็ดเตล็ดอันไม่เกี่ยวแก่เรื่องของพระเปนเจ้า แต่วิธีเล่นเห็นจะไม่เปนอย่างโขน ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเปนอย่างมโนรา คือหัวโขนคงไม่ใส่ หากจะมีอย่างมากก็เพียงหน้ากากครึ่งหน้าอย่างพรานของมโนรา ซึ่งไม่กีดแก่การร้องหรือเจรจาเอง ส่วนข้อที่ลครอย่างดึกดำบรรพ์เดินมาเปนโขนและลครรำอย่างไร ขอพักไว้อธิบายข้างหน้า ในที่นี้จะขอต่อถึงเรื่องนาฏกะของมัธยมประเทศให้สิ้นกระแสความก่อน

การแบ่งเรื่องลครเปนชุดๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น อาจารย์แมคดอนเนลล์กล่าวว่ามีต่างๆ กัน มีตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ ชุด แล้วแต่ลักษณะแห่งเรื่อง เช่นเรื่องชนิดที่เรียกว่า นาฏิกา มี ๔ ชุด และชนิดที่เรียกว่า ประหัสนะ (ลครตลก) มีชุด ๑ ฉนี้เปนต้น ส่วนโรงแลวิธีเล่นนั้น ก็เปนอย่างลครไทยเรา คือไม่มีโรงปลูกเปนสถานประจำ มักเล่นในสังคีตศาลาในวังเจ้านาย มีฉากกั้นเปนน่าโรงหลังโรง หลังฉากเรียกว่า “เนปัถย์” ซึ่งเปนที่แต่งตัวแลพักตัวละคร ถ้าเมื่อใดตัวลครจะต้องออกโดยกิริยาอันรีบร้อน มีคำแนะนำไว้ว่า ให้ “ปัดม่าน” ส่วนเครื่องโรงก็มีเตียงและรถเปนสำคัญ รถก็ใช้คนแต่งเปนม้าลาก

​ตามข้อความเหล่านี้เห็นได้ว่า ทั้งโรงแลวิธีเล่นก็เปนไปเหมือนลครไทยเรานี้เอง เปนพยานแน่ชัดว่าเขาเปนครูเรา มโนรานั้นแหละน่าจะใกล้แบบเดิมของเขามาก แต่ขาดฉากไปเท่านั้น แต่วิชาลครของเราก็มีเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปบ้างเหมือนกัน เพื่อให้เหมาะแก่ความพอใจของเจ้าของลครและคนดู ทางที่ดำเนินจากแบบเดิมมาเปนโขนและลครรำนั้นน่าจะเปนดังนี้ คือเมื่อวิชาช่างทำหน้ากากเจริญขึ้น ทำหัวโขนได้ดีขึ้น จนสรวมหัวได้แล้ว ตัวโขนจะร้องหรือเจรจาเองก็ย่อมจะเปนการขัดขวางอยู่เอง จึงเกิดต้องมีคนพากย์และเจรจาแทน ตัวโขนเปนแต่เพียงทำบทไปตามคำ ภายหลังถึงแม้มีร้องเปนร่ายเปนลำ ก็ใช้คนอื่นร้องแทนต่อมา และถึงแม้ลครที่เปิดหน้าพอจะร้องได้เองก็เห็นว่า การรำก็เหนื่อยพออยู่แล้ว ยิ่งจะต้องร้องด้วยก็เหนื่อยมากขั้น จึงเปนอันให้คนอื่นร้องแทนไป เปนการสดวกดี มีบางท่านกล่าวว่า โขนจะเกิดมาจากหนัง คือเล่นหนังจืด ไม่กระดิกกระเดี้ยอะไร จึ่งให้คนแต่งตัวออกมาเล่นหน้าจยอ แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าจะเปนตรงกันข้าม คือโขนหรือลครอย่างดึกดำบรรพ์นั้นจะมีก่อน ต่อมาเมื่อหาคนเล่นลครให้มากๆ ไม่ได้ จึงคิดหนังขึ้นแทน แต่คราวนี้ยอมรับว่าเข้ารอยตามความคิดเรื่องเบื่อหนัง จึ่งกลับให้เล่นอย่างดึกดำบรรพ์ตามเดิม

ส่วนลครที่เปนผู้ชายหรือผู้หญิงนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าในชั้นต้นไม่มีเล่นผสมโรงกันเลย ใช่แต่เท่านั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้เล่นลครน่าจะเปนผู้ชายทั้งนั้น ส่วนผู้หญิงจะเปนแต่นางระบำ คือรำเล่น​เฉภาะในบ้านไม่ไปออกโรงที่อื่น และคงจะรำเฉภาะบำเรอผู้เปนนายบ้านและแขกที่จะเชิญมากินเลี้ยงบ้างเท่านั้น ในกฎมณเฑียรบาลตอนที่กล่าวด้วยการมหรสพมีเจียรในไว้ว่า มีลคร ระบำ ระเบง กุลาตีไม้ ฯลฯ มีปัญหาว่า “ลคร” กับ “ระบำ” นั้นผิดกันอย่างไร ข้าพเจ้าจะใคร่ตอบว่า ลคร คือผู้ชายรำเล่นเปนเรื่อง ตรงกับคำว่า นาฏกะ หรือ นาฏย์ และ ระบำ คือนางรำ มีแต่ท่าทางงามๆ ไม่ใช่รำเปนเรื่องเปนราว เช่นในงานโสกันต์เขาไกรลาศ มีผู้หญิงรำต้นไม้เงินทองอยู่ริมเกยนี้คือระบำ กับมีระเบ็ง (โอละพ่อ) และกุลาตีไม้อยู่หน้าเกย ดังนี้ ต่อมาภายหลังจึ่งได้เกิดมีผู้หญิงรำเล่นเปนเรื่องราวขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้ผสมโรงกันอีก จึงเกิดมีลครเปนสองชนิด เรียกว่า ลครนอกชนิด ๑ ลครในชนิด ๑ มีอธิบายกันว่าลครนอกเปนลครผู้ชาย ลครในเปนลครผู้หญิง ซึ่งเมื่อพิจารณาดูก็เห็นว่าจะสมจริงเช่นนั้น ไม่ต้องหาอื่นไกล เพียงวิธีร้องก็เปนพยานอยู่แล้ว คือการร้องอย่างลครนอกเหมาะแก่เสียงผู้ชาย การร้องอย่างลครในเหมาะแก่เสียงผู้หญิง ไม่เชื่อใครๆ ลองดูก็คงเห็นจริงเช่นนี้

ในที่สุดนี้ข้าพเจ้าขอแสดงความเห็นส่วนตัวสันนิษฐานด้วยเรื่องยักษ์กับมนุษย์ในลครไทยเราสักหน่อย ในชั้นต้นที่จะจับพิจารณาดูและรู้สึกขึ้นนั้น คือรู้สึกอยู่ว่า มนุษย์นั้นแต่งตัวตามแบบที่ไทยเราแต่งอยู่แต่โบราณนั้นเปนแน่แล้ว แต่ยักษ์หาได้แต่งเช่นนั้นไม่ ถ้าเช่นนั้นยักษ์แต่งเอาอย่างใครเล่า ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบดูตามรูปภาพและลายต่างๆ ข้างมัธยมประเทศ ก็เห็นชัดว่าไม่ใช่เอาอย่างจากที่​นั้น เพราะยักษ์กับมนุษเขาแต่งเหมือนกันทุกประการ ใช่แต่เท่านั้น หน้าตายักษ์กับมนุษก็ไม่ผิดแผกแปลกกันปานใด หากจะผิดกันอยู่บ้าง ก็แต่ยักษ์มักมีเขี้ยวขาวออกมานอกปากบ้าง และบ้างก็มีหนวดหนาดัดโง้ง แลคิ้วขมวด เห็นได้ว่าเปนคนอย่างดุๆ แลถ้าไปโดนตัวที่มีหัวมีแขนมากๆ ก็เห็นง่ายหน่อยเท่านั้น เมื่อทราบแน่ว่าไม่ใช่เอาอย่างจากมัธยมประเทศแล้ว จึ่งหันมาตรวจทางชวา ก็เห็นได้อีกว่าไม่ใช่ จนเดินต่อมาถึงเขมร จึ่งถึง “บางอ้อ” ยักษ์คือขอมนั้นเอง เหมาะมาก เพราะถ้าจะเทียบกับครูเดิม เขาเรียกพวกตัวเขาเองว่า อริยกะ เปนพวกพระอินทร์ ส่วนพวกชนที่เคยอยู่ในพื้นเมืองมัธยมประเทศเดิมซึ่งพวกอริยกะได้รบพุ่งขับเขี้ยวกันอยู่มากนั้น เขาเรียกว่า ทัสยุหรืออสูร เปรียบไทยเราก็ได้แก่พวกอริยกะ เปรียบขอมได้แก่พวกทัสยุหรืออสูร ดูสมเหตุสมผลกันดี ใช่แต่เท่านั้น เครื่องแต่งตัวและหน้าก็เปนพยานอยู่ คือ

๑) มนุษย์และเทวดานุ่งหางหงษ์จีบทับสนับเพลาอย่างแบบไทย ยักษ์นุ่งถกเขมรอย่างขอม ผ้าปิดก้นคือชายกระเบนที่ชักขึ้นไปแลปล่อยห้อยลงไปข้างหลัง ผ้านุ่งยาวไม่พอ จึ่งทำเปนอีกผืน ๑ ต่างหาก ผูกเข้าแทนชายกระเบน

๒) ชฎาชนิดที่เรียกว่าชฏามนุษนั้น พิจารณารูปดู จะเห็นได้ว่ามีรูปเดียวคือเปนอย่างลำพอกไทย ที่ชฎายักษ์มียอดอุตตริต่างๆ แต่ครั้นไปดูรูปภาพนครธมก็พบชฎายอดอุตตริต่างๆ นั้นอยู่บริบูรณ จึ่งเห็นได้ว่ายักษ์ก็ใส่ชฎาขอมนั้นเอง

๓) มนุษย์และเทวดาเขียนหน้าไม่มีเคราเลย หากจะมีก็แต่​หนวดซึ่งเขียนเปนอย่างพรายปากไว้นั้นเท่านั้น ทียักษ์สิมีหนวดมีเคราออกรุงรัง ดังปรากฎอยู่ที่กระหนกที่ปากและคางเปนแผ่นหนาๆ ทั้งสองแห่ง ทั้งคิ้วก็ดกมาก คราวนี้ไปดูรูปภาพของนครธมจะเห็นได้ว่า ผู้ชายทุกคนมีคิ้วดกหนวดเคราดก หน้าตาใกล้หัวโขนยักษ์เปนอันมาก

๔) ยักษ์ตัวท้าวพญาใส่ชฎา แตเสนายักษ์หัวโล้นมีแต่กรอบหน้าและสุวรรณมาลา ตรวจรูปขอมนครธมดูก็จะเห็นว่า ตัวที่เปนท้าวพญาใส่ชฎา แต่ตัวเปนเสนาข้าเฝ้าผมข้างบนตัดสั้น มีกรอบหน้าและสุวรรณมาลาทุกคน เหมือนเสนายักษ์

โดยหลักถานพยานเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึ่งลงเนื้อเห็นว่า ยักษ์ของเราแต่งเอาอย่างขอม ซึ่งเปนคนที่เราเกลียดชังเห็นเปนข้าศึกนั้นเปนแน่แล้ว

อนึ่งบางทีจะมีท่านช่างรู้บางคนจะร้องว่า ลครขององค์พระศรีสวัสดิ์เจ้านครกัมพูชานั้น พระกับยักษ์ก็แต่งอย่างของไทยเรา หัวโขนยักษ์ก็เปนอย่างของเรา เหตุไฉนเขมรเขาจะดูถูกพวกเขาเองให้เปนยักษ์เปนมารแลยกย่องไทยเปนเทวดาฉนี้ไซร้ ข้าพเจ้าขอตอบว่า เครื่องที่ลครของเจ้ากรุงกัมพูชาแต่งอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่แบบเขมร เปนแบบไทย ถึงวิธีรำก็เปนแบบไทย แม้บทร้องก็ใช้ภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาเขมรหามิได้ เมื่อเจ้านครกัมพูชามาเอาแบบลครไทยไปเล่น ก็เอาอย่างตลอดจนเครื่องแต่งตัว เพราะฉนั้นจะว่าเขมรเขาตั้งใจดูถูกพวกขอมโบราณในการที่แต่งยักษ์เปนขอมนั้นหามิได้เลย
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 04 มิถุนายน 2563 18:41:10 »



ภาคผนวก ๒ อภิธานสังเขป
อธิบายศัพท์ต่าง ๆ เฉภาะที่มีใช้อยู่ในหนังสือนี้
(โดยลำดับอักขรานุกรม)

หมายเหตุ – คำใดที่เขียนเปนไทยไม่ตรงกับที่เขียนในภาษาสังสฤตได้มีเขียนอย่างสังสฤตกำกับไว้ในวงเล็บเหลี่ยม [ ] อย่างนี้ด้วยเพื่อเทียบกัน

----------------------------

อถรรพเวท [อถร๎วเวท] – คือพระเวทคัมภีร์ที่ ๔ (ดูที่ เวท)

อทิติ –แปลว่า “ ไม่มีที่สุด” มุ่งความว่าสวรรค์อันหาที่สุดมิได้ สมมติเปนตัวขึ้น นับว่าเปนพระเทพมารดา บ้างก็ว่าเปนมารดาพระทักษประชาบดี บางก็ว่าเปนธิดาพระทักษ ตามพระไตรเพทว่า พระอทิติมีโอรส ๘ องค์แต่รับเพียง ๗ องค์ ซึ่งมีนามปรากฎต่อมาว่าอาทิตย์ (ดู อาทิตย์ ต่อไป) ในวิษณุปุราณกล่าวว่า พระอทิติเปนธิดาพระทักษ และเปนชายาพระกศป และพระวิษณุได้อวตารเปนคนค่อม เรียกว่าพระวามนาวตาร มาเข้าครรภ์พระอทิติ (พระวิษณุจึ่งมีนามว่าอาทิตย์ด้วยองค์ ๑) พระกศปและพระอทิติทั้ง ๒ นี้ ว่าเปนชนกชนนีแห่งพระอินทรด้วย จึ่งได้นามว่าพระเทพมารดาบ้าง พระโลกมารดาบ้าง อนึ่งนางเทวกีผู้เปนชนนีแห่งพระกฤษณาวตารนั้น ก็กล่าวว่าคือพระอทิติแบ่งภาค

อนุสูยา [อนสูยา] – เปนนางพี่เลี้ยงของนางศกุนตลา (ที่ถูกควรเขียนว่า อนสูยา แต่ฉบับปังกลีเรียกว่าอนุสูยา และอนุสูยาเข้าบทกลอนร้องได้เหมาะดีกว่า จึ่งตกลงใช้เช่นนั้น)

อัปะภรังศะ [อปภ๎รังศ] – เปนภาษาขี้ข้า จัดเข้าในภาษาจำพวกปรากฤต แต่เปนอย่างเลวที่สุด (ดู ปรากฤต)

อัปศร [อัป๎ศร] – แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กระดิกในน้ำ” รามายณกล่าวว่า เมื่อพระเปนเจ้าทั้งหลายได้กวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอำมฤตนั้น ก่อนที่จะได้น้ำอำมฤตขึ้นมา มีอื่นๆ ขึ้นมาก่อนหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือ อับศร ซึ่งผุดขึ้นมานับด้วยหมื่นด้วยแสน ล้วนเปนหญิงที่มีรูปงามๆ และประดับด้วยเครื่องสนิมพิมพาภรณอย่างงาม แต่ทั้งเทวดาและอสูรไม่รับไปเปนคู่ครอง เพราะฉนั้นพวกอับศรจึ่งเลยตกอยู่เปนของกลาง จึ่งได้นามว่าสุรางคนา (เมียเทวดาทั่วๆ ไป) และ สุมทาตมชา (สัตรีผู้เต็มไปด้วยความมัวเมา หรือในความเพลิดเพลิน)

ในหนังสือพวกปุราณต่างๆ แบ่งอับศรเปนคณาหลายคณาอันมีนามต่างๆ กัน วายุปราณว่ามี ๑๔ คณา แต่ตำหรับหวิวํศะว่ามี ๗ คณา กับยังมีแบ่งเปน ๒ จำพวก คือเปน]ไทวิกะ (นางฟ้า) จำพวก ๑ เลากิกะ (นางดิน)จำพวก ๑ ในว่าๆ ไทวิกะอับศรมี ๑๐ นาง เลากิกะอับศรมี ๓๔ นาง พวกอับศรเหล่านี้ที่สำหรับมีเรื่องรักใคร่กับวีรบุรุษ เช่นนางอุรวศีซึ่งรักกับท้าวปุรูรพ (ดังมีเรื่องนาฏกะซึ่งกาลิทาสแต่งไว้อีกเรื่อง ๑ ชื่อเรื่อง “วิกรโมรวศี” และกล่าวถึงในภาคผนวกที่กล่าวถึงนาฏกะนั้น) หรือมิฉนั้นก็ทำลายพิธีผู้บำเพ็ญตบะ อย่างเช่นนางเมนะกากับพระวิศวามิตร์ เปนต้น

สรุปรวมความว่า อับศรเปนนางฟ้าจำพวกหนึ่ง ซึ่งมีรูปงามเปนที่น่าพึงใจ และช่างยั่วยวน แต่ความประพฤติไม่สู้จะเปนอย่างสัตรีที่สุภาพนัก และช่างมารยาจำแลงแปลงตัวได้หลายอย่าง ไม่รู้จักรักใครได้ยั่งยืน มีเสน่ห์ซึ่งทำให้ชายหลง จนในพระอถรรพเวทต้องมีมนตร์หรืออาถรรพณ์ไว้กัน หรือแก้เสน่ห์ของอับศร

อิภีรี – เปนภาษา ๑ ในพวกปรากฤต (ดูที่ ปรากฤต)

อรุณ – แปลว่า “แดงเรื่อ” คือตะวันแรกขึ้น ตามเรื่องว่าเปนลูกพระกศปกับนางกัทรุ และเปนสารถีพระอาทิตย์ อรุณนี้พึ่งเกิดขึ้นในยุคหนังสือปุราณะ ในยุคไตรเพทนั้น แสงตะวันแรกขึ้นเรียกว่า อุษา (ดู อุษา ต่อไป)

อรูปกะ – ชื่อประเภทแห่งลครสังสกฤต เปนประเภทต่ำ

อวันตี – (๑) เปนชื่อแห่งแคว้นอัน ๑ ในมัธยมประเทศ ซึ่งมีกรุงอุชชยินีเปนนครหลวง ที่สถิตพระเจ้าวิกรมาทิตย์มหาธรรมราช

(๒) ชื่อภาษาที่ใช้พูดกันในแคว้นอวันตี จัดไว้ในจำพวกปรากฤต

อสูร [อสุร] – แต่เดิมคำนี้ใช้เรียกพระเปนเจ้า เช่นในฤคเวทมีบทสรรเสริญอยู่หลายบท ที่เรียกพระวรุณบ้าง พระอินทร์บ้าง ว่า “อสุร” แต่ในชั้นหลัง ๆ มาใช้กันเปนนามเรียกบรรดาผู้ที่เปนอริกับเทวดา (สุร)

อาขยาณ [อาข๎ยาณ] – แปลว่า “เรื่อง” เปนศัพท์สำหรับใช้ผสมกับชื่อของเรื่อง เช่น “เศานห๎เศปาข๎ยาณํ” เรื่องศุนหเศป ดังนี้เปนต้น มุ่งความว่าเปนเรื่องราวที่เล่ากันมา ซึ่งถ้าเปนในสูตรสวดมนตร์ของเราก็ขึ้นว่า “ภูตปุพ์พํ” คำว่า อาขยาณใช้เรียกเรื่องใหญ่ ถ้าเปนเรื่องน้อยซึ่งแทรกอยู่ในเรื่องอิกเรื่อง ๑ เรียกว่า “อุปาขยาณ” เช่นเรื่องศกุนตลา เรียกว่า “ศกุน์ตโลปาข๎ยาณํ” เพราะเปนเรื่องแทรกอยู่ในเรื่องมหาภารต ดังนี้เปนต้น

อาทิตย์ [อาทิต๎ย] – ในพระไตรเพทมีพระอาทิตย์ ๗ องค์ มีพระวรุณาทิตย์เปนอาทิ เปนโอรสแห่งพระอทิติ ๆ นั้นมีโอรส ๘ องค์ แต่ทอดทิ้งพระมรรตตาณฑะเสียองค์ ๑ คงนำไปเฝ้าพระเปนเจ้าแต่ ๗ องค์ แต่ภายหลังไกล่เกลี่ยกันอย่างไร จึ่งเปนอันตกลงรับพระมรรตตาณฑะนั้นเปนอาทิตย์ด้วย พระอาทิตย์ทั้ง ๘ คือ (๑) วรุณาทิตย์ (๒) มิตราทิตย์ (๓) อริยมนาทิตย์ (๔) ภคาทิตย์ (๕) องศาทิตย์ (๖) อินทราทิตย์ (๗) ธาตราทิตย์ (๘) สุริยาทิตย์ พระสุริยาทิตย์นี้แล คือพระมรรตตาณฑะ ที่พระชนนีไม่รับและไม่พาไปเฝ้าเทวดา เพราะฉนั้นจึ่งมิได้ไปอยู่ในเทวโลกอย่างพระอาทิตย์อีก ๗ องค์ คงเที่ยวขับรถอยู่ระหว่างเทวโลกกับมนุษยโลกจนทุกวันนี้ (ดู สุริย ต่อไป)

อินทร์ [อิน์ท๎ร] – ในยุคไตรเพทพระอินทร์เปนเทวดาอันเปนที่นับถือมาก แต่ไม่ใช่เทวดาที่เปนสวยัมภูว คือไม่ได้สร้างตนเอง มีเทวดาและเทวีเปนชนกชนนี ในว่าๆ ผิวเปนสีแสดหรือสีทอง (เหตุไรมาถึงเราจึ่งกลายเปนเขียวไปก็หาทราบชัดไม่ แต่ข้าพเจ้าได้พยายามตรวจค้นดู เห็นรูปที่เขียนๆ มาจากอินเดียก็ทาเขียว เพราะฉนั้นไม่ใช่มาเปลี่ยนสีในเมืองเรา คงเปลี่ยนมาแต่ถิ่นเดิมเอง – ว.ป.ร.) กับมีกล่าวว่ามีแขนยาวมาก แต่ในว่าๆ เปลี่ยนรูปได้หลายอย่างตามใจ ยานที่โปรดทรงคือรถทอง เทียมม้าแคงคู่ ๑ มีขนคอและหางยาว หัดถ์ขวาถือวัชระซึ่งเปนอาวุธของโปรดกว่าอย่างอื่น แต่นอกจากนั้นยังมีอาวุธอย่างอื่นอีกคือศร ขอร่างแหสำหรับใช้ตลบศัตรู โปรดเสวยน้ำโสม ซึ่งทำให้มีความกล้าหาญในการสงคราม เปนเจ้าเปนใหญ่แห่งอากาศ เปนผู้กำกับฤดูกาลและให้ฝน พระอินทร์นั้นใช้วัชระ (คือสายฟ้า) รบกับพฤตาสูรอยู่เปนเนืองนิตย์ พฤตาสูร [ว๎ฤต๎ร] นั้น คือตัวผีร้ายอันเปนองค์แห่งความแห้งแล้ง และความไม่ดีแห่งฤดูกาล พระอินทร์จึ่งต้องคอยรบและกำหราบเพื่อให้ปล่อยฝนให้ตก จึ่งได้ฉายว่าพฤตหน [ว๎ฤต๎รหน] กับมีเรื่องว่าครั้ง ๑ มีอสูรชื่อปาณีหรือวลาสูร [วล] ได้ขะโมยโคของพวกฤษีเจ้าไปทั้งฝูง พระอินทร์ไปตามโคนั้นได้และฆ่าวลาสูร จึ่งได้ฉายาว่า วัลภิท [วลภิท] ในเทวาสุรสงคราม พระอินทร์เปนผู้นำเทวดาไปปราบอสูร (คือสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ในดินฟ้าอากาศ) ได้ทำลายเวียงผาของอสูรเสียเปนอันมาก จึ่งได้ฉายาว่าปุรันทร [ปุรัน์ทร] คือผู้ทำลายเวียง ในพระไตรเพทมีบทสรรเสริญพระอินทร์เปนอันมาก เพราะชนอริยกะถือกันว่า พระอินทร์เปนเทพารักษ์ของพวกตนโดยเฉภาะ เปนผู้นำพวกอริยกะรบกับพวกทัสยุ ซึ่งอยู่ในแดนมัธยมประเทศก่อนที่พวกอริยกะได้อพยพเข้าไป ตามไตรเพทปรากฎว่าพระอินทร์มีมเหษีองค์ ๑ ซึ่งเรียกว่า อินทราณี [อิน์ท๎ราณี] บ้าง เอนทรี [ไอน์ท๎รี] บ้าง ศจี บ้าง ซึ่งทำให้พระอินทร์มีฉายาขึ้นว่า ศจิบดี [ศจิปติ] คือผัวนางศจี

ต่อลงมาในชั้นหลังๆ พระอินทร์อยู่ข้างจะตกต่ำลงมามาก คือ ลงมาเปนรองพระเปนเจ้าทั้งสาม แต่ก็คงเปนใหญ่ในเทวดาชั้นดาวดึงษ์สวรรค์ จึ่งได้มีนามว่า เทวินทร์ เทเวศร์ เทวบดี สุรินทร์ อมรินทร์ ฯลฯ ยังคงทรงคุณวิเศษต่างๆ อย่างเช่นที่เคยมีมาแล้วในชั้นไตรเพท แต่สังเกตได้ว่าอิทธิฤทธิ์น้อยลงบ้าง เพราะมีเวลาแพ้อสูร (เช่นแพ้เมฆนาทลูกทศกัณฐ์ อันได้นามว่าอินทรชิต) และสู้อสุรไม่ได้ ต้องไปวานกษัตร์มนุษย์ไปช่วย (เช่นวานท้าวทศรถในเรื่องรามเกียรติ์และวานท้าวทุษยันต์ในเรื่องศกุนตลาเปนต้น) ทั้งความประพฤติของพระอินทร์ก็ดูทรามลงมาก มีเที่ยวทำชู้กับเมียใคร ๆ บ่อย ๆ จนเกิดความใหญ่หลายครั้ง เช่นในมหาภารตมีเรื่องเล่าว่า พระอินทร์ทำชู้กับนางอหลยา ชายาพระโคดมดาบส จนถูกสาปให้บังเกิดมีเปนรูปโยนีผุดขึ้นเต็มตัว และเลยได้ฉายาว่า สะโยนี แต่ภายหลังวิงวอนกันอย่างไรอย่างหนึ่ง รูปโยนีที่ตามตัวนั้นจึ่งกลายเปนตาไป เลยได้ฉายาว่า เนตรโยนิ และ สหัสรากษะ [สหัส๎ราก์ษ] หรือ สหัสนัย (พันตา) และการที่ต้องแพ้ท้าวราพณาสูรจนอินทรชิตจับไปได้นั้น ก็เปนส่วน ๑ แห่งทัณฑกรรมในการที่ทำชู้กับชายาพระโคดม กับในมหาภารตว่าพระอินทร์เปนพระบิดาพระอรชุน (เรื่องนี้ดูที่ ปาณฑพ ต่อไป)

พระอินทร์ในชั้นหลังๆ นี้ บอกรูปกันว่า เปนคนผิวนวล ขี่ม้าขาว หรือขี่ช้าง ถือวัชระ หรือศรบ้าง พระขรรค์บ้าง

นามพระอินทร์ที่เรียกกันอยู่บ่อยๆ (นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) คือ มเหนทร์ ศักระ มัฆวาน วาสพ มีฉายาที่ใช้บ่อยๆ (นอกจากที่กล่าวมาแล้ว) คือ เพชรปาณี [วัชร์ปาณี] แปลว่า ผู้ถือวัชระ เมฆวาหน แปลว่า ขี่เมฆ ศัตกระตู [ศตก๎รตุ] แปลว่า ผู้ได้ทำพิธีร้อยครั้ง (คือทำพิธีอัศวเมธร้อยครั้ง จึ่งได้ผลานิสงส์เปนใหญ่ในเทวดา) มรุตวาน แปลว่าเปนเจ้าลม สวรรคหบดี เปนใหญ่ในสวรรค์ เหล่านี้เปนต้น

โอรสพระอินทร์ชื่อ ไชยันต์ [ชยัน์ต] เมืองชื่ออมราวดี [อมราวติ] ปราสาทชื่อ เวชยันต์ หรือ ไพชยนต์ [ไวช๎ยันต] สวนชื่อนันทน์ [นัน์ทน] ๑ จิตรลดา [จิตร๎ลตา] ๑ ปารุสก หรือ ปารุษย์ [ปารุษ๎ย] ๑ ช้างชื่อไอราพต [ ไอราวต] หรือ เอราวัน [ไอราวัน] ม้าชื่ออุจไฉศรพ [อุจไฉห๎ศ๎รวัส์] รถชื่อวิมาน (หรือเวชยันต์ก็็เรียก) สารถีชื่อมาตุลี [มาตลิ] ศรชื่อศักรธนู พระขรรค์ชื่อปรัญชะ

อิศวร [อิศ๎วร] – ดูที่ ศีวะ

อุชชยินี – เปนพระนครหลวงแห่งแคว้นอวันติ ที่สถิตย์พระเจ้าวิกรมาทิตย์มหาราช และเปนนครอันเคารพแห่ง ๑ ของพวกถือไสยศาสตร์ ในภาษามคธเรียกว่า อุชเชนี และในปัตยุบันนี้เรียกว่า อุชเชนี (เขียนตัวโรมันว่า Ujjein)

อุปาขยาณ – (ดูที่ อาขยาณ)

อุรวศี [อุร๎วศี] – เปนนางเทพอับศร ซึ่งรักกับท้าวปุรูรพ ดังมีเรื่องปรากฎอยู่ในหนังสือศัตบถพราหมณะ และต่อมากาลิทาสได้แต่งเรื่องขึ้นไว้เปนนาฏกะชื่อเรือง “วิกรโมรวศี” (ดูที่ ปุรูรพ ต่อไป)

อุษา [อุษัส์] – คือแสงเงินแสงทอง ในพระเวทกล่าวว่า เปนธิดาแห่งพระโทยส [เท๎ยาส์] คือฟ้า และเปนภคินีแห่งพระอาทิตย์ทั้งหลาย นางเทวีนี้มีความเมตตากรุณาแก่มนุษย์มาก ยิ้มแย้มอยู่เปนนิตย์ราวกับหญิงสาวที่ได้สามีใหม่ นางมิได้มีเวลาผิดแผกแปลกเปลี่ยน เปนอมฤตย์ (ไม่ตาย) ไม่แก่ จึ่งมีนายาว่า เยาวน์เทวี

ฤคเวท [ฤค์เวท] – คือพระเวทคัมภีร์ที่ ๑ (ดูที่เวท)

ฤษี – แปลว่า ผู้มีปัญญาอันได้มาจากพระเปนเจ้า ฤษีมีเปนหลายชั้น เช่น ราชรรษี (เจ้าฤษี) พราหมณรรษี (พรหมฤษี) เทวรรษี (เทพฤษี) มหรรษี (มหาฤษี) เปนต้น และมีความรอบรู้สูงต่ำต่างๆ กัน มีอยู่ทั่วไป นับว่าเปนพราหมณ์อย่างสูง

กัณวะ [กัณ๎ว] – คือพระมุนีผู้ทีได้เก็บนางศกุนตลาได้ในกลางป่า และเลี้ยงไว้ตั้งแต่กำเนิดจนเติบใหญ่ ได้เปนมเหษีท้าวทุษยันต์ เธอเปนคณาจารย์ ตั้งสำนักอยู่ริมฝั่งน้ำมาลินี ในบ่าหิมพานต์ (ฤษีชื่อกัณวะมีนอกนี้อีกหลายตน)

กศป [กัศ๎ยป] – เปนเทพมุนี ผู้มีนามปรากฎมาตั้งแต่สมัยไตรเพท และสมมติว่าเปนผู้แต่งพระเวทบางตอนด้วย ทุกๆ ตำหรับคงมีความเล่าอยู่เหมือนกันว่า พระกศปเปนผู้สร้างผู้หนึ่ง จึ่งได้นามว่า พระประชาบดี ตามหนังสือรามายณ มหาภารต และปุราณะบางฉบับ กล่าวไว้ว่าพระกศปนี้เปนโอรสพระมรีจิมุนี ผู้เปนมานัสบุตร์ (ผู้เกิดแต่มโน) แห่งพระพรหมา (ดูที่ประชาบดีต่อไป) และว่าเปนพระบิดาแห่งพระวิวัสวัต (พระสุริยาทิตย์) ผู้เปนพระบิดาแห่งพระมนูไววัสวัตๆ เปนมหาชนกแห่งมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ เพราะฉนั้นพระกศปจึ่งเปนที่นับถือยกย่องเปนอันมาก มหาภารตและหนังสืออื่นๆ ที่รุ่นราวคราวกันกล่าวไว้ว่า พระกศปได้พระอทิติเปนอรรคมเหษี และได้ธิดาพระทักษประชาบดีเปนชายาอีก ๑๒ องค์ โดยพระอทิตินั้น พระกศปได้เปนชนกแห่งพระอาทิตย์ทั้งหลาย มีพระอินทร์เปนอาทิ (ในเรื่องศกุนตลานี้ พระกศปจึ่งพูดถึง “ท้าววาสพลูกข้า”) รามายณและวิษณุปุราณว่า “พระวิษณุเมื่ออวตารเปนวามน (คนเตี้ย) นั้น ธเปนบุตร์แห่งพระอทิติและพระกศป” โดยชายาอีก ๑๒ องค์นั้น พระกศปได้เปนชนกสัตว์ต่างๆ ทุกอย่าง จึ่งเรียกว่าพระเทพบิดรบ้าง โลกบิดรบ้าง มหาบิดรบ้าง ประชาบดีบ้าง

กาพย์ [กาว๎ย] – จากมูล “กะวี” ซึ่งแปลว่าเจ้าบทเจ้ากลอน หนังสือที่ประพันธ์ขึ้นเปนบทกลอนฤาโคลงฉันท์ รวมเรียกว่า “กาพย์” ได้ทั้งนั้น

กามเทพ [กามเทว] – ในชั้นต้นๆ กามเทพไม่ได้ถือกันว่าเปนเทวดาผู้ ๑ ซึ่งมีน่าที่ยั่วยวนหรือบันดาลให้ชายหญิงรักกันในทางประเวณีเท่านั้น “กาม” แปลตามศัพท์ว่า “ความใคร่” คือใคร่ในกิจใดๆ ทั่วๆ ไป ไม่เฉภาะส่วนการเสพเมถุน จึ่งไม่รู้สึกกันว่าเปนของที่ต่ำช้าเลวทราม เช่นในฤคเวทมีข้อความปรากฎอยู่แห่ง ๑ ว่า ครั้นเมื่อสวยัมภูพรหม (นปุํสกลึงค์) ได้มีกำเหนิดขึ้นเองแล้ว “ธรรมอันแรกที่ได้เกิดมีขึ้นในพรหมนั้นคือกาม อันเปนประถมพืชแห่งมโน และซึ่งพระมุนีทั้งหลายได้ตรวจสอบดูแล้วด้วยปรีชาญาณ ทราบแน่ชัดแล้วในใจว่า นั้น (กาม) คือเครื่องเชื่อมระหว่างสิ่งซึ่งเปนอยู่และซึ่งหาไม่” ดังนี้ อนึ่งในอถรรพเวทมีบทสรรเสริญพระกามซึ่งอธิบายว่า “ไม่ใช่ความใคร่ในทางเมถุนธรรมฝ่ายเดียว แท้จริงเปนธรรมทั่วๆ ไป” ในพระเวทอันเดียวกันนี้มีข้อที่กล่าวไว้ว่า พระกามก็คือพระอัคนีนั้นเอง ในไตต์ติรียพราหมณะมีกล่าวไว้ว่ากามเทพนั้นเปนโอรสพระธรรมราช (พระยม) และนางศรัทธาผู้ชายา แต่หนังสือหริวํศกล่าวว่าเปนลูกพระลักษมี อีกแห่ง ๑ กล่าวว่าเกิดมาจากพระหทัยแห่งพระพรหมา (พระผู้สร้าง เปนปุํลึงค์ ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกับพรหมะซึ่งเปนนปุํสกลึงค) อีกนัยหนึ่งว่ามีกำเหนิดมาแต่น้ำ จึ่งมีนามว่าอิราชะ อีกนัยหนึ่งว่าเปนอาตมภู (คือเปนขึ้นเอง) จึ่งมีนามว่า อชะ (ไม่มีกำเหนิด) บ้าง อนันยชะ (มิได้เกิดแต่ใคร) บ้าง ในหนังสือปุราณะกล่าวว่ามีชายาชื่อรติหรือเรวา และมีมิตรคู่ใจอยู่ตน ๑ ชื่อ วสันต์ (ดูที่ วสันต์)

อนึ่งในปุราณมีเรื่องว่า ตั้งแต่เมื่อพระสตีเทวีได้สิ้นชนม์ชีพไปเพราะพระทักษ์ผู้เปนบิดาได้สบประมาทพระอิศวรผู้เปนพระสามีของนางนั้น พระอิศวรมีความเสียพระทัยยิ่งนัก จึ่งเสด็จไปเข้าฌานประพฤติพระองค์เปนสันยาสี (คำอธิบายเรื่องสันยาสี มีอยู่ที่อธิบายศัพท์พราหมณ์) ต่อมาพระสตีได้มีกำเหนิดใหม่เปนบุตรีท้าวหิมาลัย ทรงนามว่า พระอุมาเหมวดี หรือบรรพตีก็เรียก เทวดาทั้งหลายคบคิดกันจะให้พระอุมาได้เปนพระมเหษีพระอิศวร จึ่งแต่งให้กามเทพเปนผู้ไปจัดการ กามเทพจึ่งให้วสันต์ผู้เปนสหายนฤมิตร์ดอกไม้ให้ผลิขึ้นเต็มต้น และเชิญพระอุมาไปคอยยอยู่ณที่อันควรแล้ว กามเทพจึ่งยิงพระอิศวรด้วยบุษปศร (คือศรทำด้วยดอกไม้) พระอิศวรถูกศรก็ลืมพระเนตรที่ ๓ ขึ้น ซึ่งบันดาลไห้เกิดเปนเพลิงไหม้กามเทพสูญไป จึ่งได้นามว่า อนังค (ไม่มีตัว) แต่ภายหลังพระอิศวรคลายความพิโรธ จึ่งโปรดให้กามเทพได้เกิดใหม่ เปนพระประทยุมน์โอรสพระกฤษณาวตารกับนางรุกมิณีหรือมายา และพระประทยุมน์นี้เปนพระบิดาแห่งพระอนิรุทธ์ (อุนรุท) กามเทพนั้นว่าเปนอธิบดีในหมู่อับศรทั้งหลาย มีอาวุธคือ ธนูทำด้วยต้นอ้อย มีสายเปนตัวผึ้งต่อๆ กัน ลูกศรมีปลายเปนดอกไม้แทนเหล็ก ตามรูปมักทำเปนชายหนุ่มรูปงาม ขี่นกแก้ว มีอับศรเปนบริวาร มีธงพื้นแดงลายรูปมังกร

นามของกามเทพมีเรียกกันอีกคือ อิษม กันชนะ กึกิร มัทรมณ์ และ สมร มีฉายาว่า ภวัช และ มโนช (เกิดมาแต่ใจหรือมโน) ในส่วนที่เปนพระประทยุมน์นั้น มีฉายาว่ากรรษณี (เกิดแต่กฤษณ) บ้าง กรรษณะสุต (ลูกกฤษณ) บ้าง (นามนี้ที่เลือนๆ กันมาจนกลายเปน “ไกรสุต” ในเรื่องอุนรุทของเรา) ส่วนที่เปนลูกนางมายานั้น ได้ฉายาว่ามายีหรือมายาสุต และส่วนที่เปนลูกพระลักษมีได้ฉายาว่า ศรีนันท์ นอกจากนี้มีฉายาอีกว่า อภิรูป (งาม) ทรรปกะ และ ทีปกะ (ผู้จดไฟ) คัทยิตนุ คฤธุ และ คฤตส (มักมากหรือแหลมคม) กามน และ ขรุ (กำหนัด) กันตุ (สบาย) กลาเกลี (สนุกและวุ่นมาก) มาร (ผู้ผลาญ) มายี (ผู้ลวง) มธุทีป (ตะเกียงน้ำผึ้งหรือตะเกียงวสันต์) มุหิระ (ผู้ทำให้ฉงน) มุรมุร (ไฟลั่นเปรี๊ยะๆ) ราคพฤนต์ [ ราคว๎ฤน์ต] คือก้านแห่งราค รูปัสตร์ (เครื่องประหารของความงาม) รัตนารีจ (มักมากในราค) ศะมานตก (ผู้ล้างความสงบ) สังสารคุรุ (เปนครูโลก) สมร (ความจำได้) ศฤงคารโยนี (บ่อเกิดแห่งความรัก) ติถ (ไฟ) วาม (งาม) และโดยเหตุที่มีศรเปนดอกไม้จึ่งได้ฉายาว่า กุสุมาวุธ [กุสุมายุธ] ว่าปุษปธนุ (ธนูดอกไม้) และปุษปศร (ศรดอกไม้) เธอมีธงเปนมังกร จึ่งได้ฉายาว่า มกรเกตุ และเพราะเหตุที่มักถือดอกไม้อยู่ในมือ จึ่งได้ชื่อว่า ปุษปเกตน์

กาลเนมี – เปนนามอสูรซึ่งในเรื่องศกุนตลาว่ายกไปรบกวนพระอินทร์และเทวดา จนพระอินทร์ต้องวานท้าวทุษยันต์ไปปราบ กาลเนมีตนนี้ตามที่เข้าใจได้จากข้อความในเรื่องศกุนตลาว่าไม่ใช่ตัวสำคัญ เปนแต่ลูกหลานของท้าวกาลเนมี ซึ่งเปนลูกท้าววิโรจนาสูรและหลานท้าวหิรัณยะกศิปุ (ตัวที่ถูกพระนรสิงหาวตารสังหาร)

กาลิทาส – เปนนามแห่งรัตนะกวีผู้แต่งเรื่องศกุนตลา (เรื่องราวพิศดารมีอยู่ในคำนำแล้ว และจงดูที่นวรัตนะกวีด้วย)

กาศยป [กาศ๎ยป] – แปลว่าเชื้อกศป เปนนามใช้เรียกพระกัณวะมุนี

กุมภิล – เปนชื่อชาวประมงผู้หนึ่ง ซึ่งตั้งบ้านอยู่ตำบลศักราวตาร อันเปนตำบลอยู่ใกล้ศาลเทพารักษ์อันมีนามว่าศจิเตียรถ์ ตามเรื่องศกุนตลาว่า เมื่อนางศกุนตลาเดินทางจากอาศรมพระกัณวะไปนครหัสดิน ได้แวะนมัสการที่ศจิเตียรถ์ และเมื่อวักน้ำรดหัวนั้นแหวนได้ตกลงไปในแม่น้ำ ปลาตัว ๑ กลืนแหวนเข้าไป กุมภิลไปจับปลานั้นได้ ชำแหละปลาพบแหวนในท้องปลา จึ่งนำไปขายในกรุงหัสดิน ถูกราชบุรุษจับว่าเปนผู้ร้าย แต่ภายหลังกลับได้บำเหน็จรางวัลดังแจ้งอยู่ในบทลครนั้นแล้ว

กุรุ – เปนมหากษัตริย์จันทรวงศ์ เปนโอรสท้าวสังวรณและนางตปะตีสุริยวงศ์ ท้าวกุรุครองนครหัสดิน ภายหลังท้าวทุษยันต์หลายชั่วคน เปนบรรพบุรุษแห่งกษัตริย์ที่เรียกว่าโกรพและปาณฑพ ผู้กระทำสงครามต่อกันเปนการใหญ่ ได้นามว่ามหาภารตยุทธ อันมีเรื่องราวอยู่ในมหาภารต

กุเวร – อีกนัย ๑ เรียกว่าท้าว เวสสวัณ [ไวศ์รวน] โดยเหตุที่สมมตกันว่าเปนโอสรพระวิศรวัสมุนี ในพระเวทว่าเปนอธิบดีในหมู่อสูร ต่อมาว่าเปนเจ้าแห่งทรัพย์และราชาแห่งยักษ์และคุยหกะ (พวกคุยหกะเปนอสูรจำพวก ๑ ซึ่งเปนผู้เฝ้าทรัพย์ที่ฝังไว้ในแผ่นดินอย่างปู่โสมของไทยเราเปนต้น) นัย ๑ ว่าท้าวกุเวรเปนโอรสพระวิศรวัสกับนางอิฑาวิฑา แต่อีกนัย ๑ ว่าเปนโอรสแห่งพระปุลัสตย์มุนี ผู้เปนบิดาพระวิศรวัสอีกชั้น ๑ ข้อนี้มหาภารตอธิบายว่า ท้าวกุเวรนั้นเปนโอรสพระปุลัสตย์ และพระบิดาโกรธเพราะกุเวรมักฝักใฝ่แต่ที่พระพรหมา ไม่เอาใจใส่แก่บิดา พระปุลัสตย์จึ่งได้แบ่งภาคออกเปนพระวิศรวัสและได้นางนิกะษาบุตรีท้าวสุมาลีรากษสเปนชายา จึ่งมีโอรสอีก คือท้าวราพณาสูร กุมภกรรณ และวิภีษณ์ (พิเภษณ์) และมีธิดาคือ ศูรปนขา

ในรามเกียรติฉบับไทยเราเรียกท้าวกุเวรว่า “ท้าวกุเรปัน” ข้อนี้คงจะเปนด้วยผู้จดคำให้การของพราหมณ์ผู้เล่าเรื่องนั้นฟังพราหมณ์เรียกชื่อว่า “กุเพรัม” และจดลงไปว่า “กุเบรัม” (เพราะตัว “ พ ” ออกเสียงตามมคธหรือสังสกฤตก็เปนเสียงคล้าย “บ” ของเรา) ต่อมาหางตัว “บ” นั้นยาวออก ตัว " ม ” สะกดกลายเปน "น” ไปก็ได้การเท่านั้น ส่วนกำเหนิดนั้น ว่าเปนลูก “ท้าวลัสเตียนพรหม” นี้ก็จดผิดอีก คือวิศรวัสมุนีนั้น โดยเหตุที่มีกำเหนิดมาจากปุลัสตย์จึ่งเรียกว่า “เปาลัสต๎ยัม์” เมื่อจดตก “เปา” คงเหลืออยู่แต่ “ลัสตยัม ” และตัว “ม” กลายเป็นตัว “น” ไป จึ่งเปน “ลัสตยัน” ส่วนที่ในที่สุดกลายเปน “เตียน” ไปได้นั้น เดาไม่ยาก เพราะคำว่า “พยัญชนะ” เราก็อ่านออกสำเนียงกันอยู่ว่า “เพียนชนะ” ดังนี้เปนตัวอย่าง

นอกจากที่ผิดเพี้ยนอยู่ด้วยวิธีเขียนนามดังกล่าวมาแล้วนั้น เรื่องราวในรามเกียรติ์ฉบับไทยก็เปนอันตรงกับรามายณเดิม คือท้าวกุเวรกับท้าวราพนาสูรเปนพี่น้องร่วมบิดากัน แต่ต่างมารดา และทั้งรามายณและมหาภารตเล่าความตรงกันต่อไปว่า เดิมท้าวกุเวรครองนครลงกา ซึ่งพระวิศวกรรมได้เปนผู้สร้างให้ แต่นางนิกะษาได้ยุยงให้ท้าวราพนาสูรผู้เปนบุตรมีความฤศยาท้าวกุเวร ท้าวราพน์จึ่งแย่งเอานครลงกาจากท้าวกุเวรได้ และบุษบกที่พระพรหมาประทาน ท้าวราพน์ก็แย่งเอาเสียด้วย แต่ท้าวกุเวรนั้นพระพรหมาโปรดปรานมาก จึ่งสร้างนครประทานใหม่ชื่อ อละกา หรือเรียกว่า ประภาบ้าง วสุธราบ้าง วสุสถลีบ้าง อยู่ที่เขาหิมาลัย มีสวนชื่อเจตรรถ [ใจต๎รรถ] อยู่ที่เขามันทรคีรี อันเปนกิ่งแห่งเขาพระสุเมรุ อีกนัย ๑ ว่าที่อยู่ของท้าวกุเวรอยู่ที่เขาไกรลาศ และพระวิศวกรรมเปนผู้สร้างวิมานให้ รามายณและมหาภารตเล่าต่อไปว่า ท้าวกุเวรได้บำเพ็ญตบะหลายพันปี เปนที่โปรดปรานแห่งพระพรหมา จึ่งขอประทานพรให้เปนอมฤตย์ (ไม่มีตาย) ให้เปนโลกบาลและเปนเจ้าแห่งทรัพย์ ด้วยอำนาจพรนั้นจึ่งได้เปนผู้อภิบาลทิศอุดร และได้เปนเจ้าของทองและเงินแก้วต่างๆ ทรัพย์แผ่นดินทั่วไป กับมีทรัพย์เก้าประการ เรียกว่า นวนิธิ ซึ่งไม่สู้จะได้ความชัดนักว่าเปนของอย่างไรและใช้ทำอะไรบ้าง

นามที่ใช้เรียกท้าวกุเวรมีอยู่เปนอันมาก ที่นับว่าใช้อยู่บ่อยๆ นอกจากกุเวรคือ กตนุ (ตัวขี้ริ้ว) ธนัท (ผู้ให้ทรัพย์) ธนบดี (เปนใหญ่ในทรัพย์) ธเนศวร (เจ้าแห่งทรัพย์) อุจฉาวสุ (มั่งมีได้ตามใจ) ยักษราช (ขุนแห่งยักษ์) มยุราช (ขุนแห่งกินนร) รากษเสนทร (เปนใหญ่ในหมู่รากษส) รัตนครรภ (พุงแก้ว) ราชะราช (ขุนแห่งขุน) นรราช (ขุนแห่งคน) เปาลัสตย์ (ลูกปุลัสตย์) ไอฑาวิฑะ (ลูกอิฑาวิฑา) ในส่วนที่เปนสหายพระอิศวร (อีศะ) นั้น ได้นามว่า อีศะสขี

รูปท้าวกุเวรที่อินเดียมักเขียนเปนเนื้อสีขาว รูปพิการ “มีขาสามขา” ฟัน ๘ ซี่ ตกแต่งเครื่องอาภรณ์อย่างพิจิตร์ (ที่เราเขียนกันเปนรูปยืนแย่เท้าตะบองยาวนั้น ก็เข้าใจว่าจะตั้งใจเขียนให้เปนคนพิการขาโกง และตะบองยาวนั้นกระมังจะเปนขาที่ ๓ แต่ของเราทำไมทาสีเปนเขียวไปก็ไม่ทราบ)

มเหษีท้าวกุเวรเปนยักษินีชื่อ จารวี หรือ ฤทธี บุตรีมุราสูร มีโอรส ๒ คือ มณีครีพ หรือ วรรณกวีนลกุพร หรือ มยุราช ๑ มีธิดา ๑ ชื่อ มีนากษี (ตาปลา)

กฤษณ์ [ก๎ฤษ๎ณ] – แปลศัพท์ว่า “ดำ” เปนนามเรียกคนหลายคน และที่ว่าเปนอสูรก็มีเปนอันมาก แต่ผู้ที่มีชื่อเสียงเปนที่นับถือมากที่สุดของชาวมัธยมประเทศ คือพระกฤษณยาทพ ซึ่งนับถือกันว่าเปนพระนารายน์อวตารปางที่ ๘ หรือว่าเปนตัวพระนารายน์เองลงมาสถิตในมนุษยโลกชั่วคราว ๑ ด้วยซ้ำ พระกฤษณนี้คือที่ไทย ๆ เรารู้จักกันอยู่แล้วในเรื่องพระอนิรุทธ์ (อุนรุท) คือเปนปู่พระอนิรุทธ์ เรียกว่าท้าวบรมจักรกฤษณ์

พระกฤษณ์เปนกษัตริย์เกิดในสกุลยาทพ อันเปนสาขาแห่งจันทรวงศ์ สืบสายโลหิตจากท้าวยะยาติราช ลงทางท้าวยทุ พระบิดาพระกฤษณคือพระ วสุเทพ โอรสท้าวศูรราชผู้ครองนครมถุรา พระมารดาพระกฤษณคือนาง เทวกี บุตรีพระเทวกผู้เป็นโอรสท้าวอุคระเสนผู้ครองนครมถุราภายหลังท้าวศูรราชนั้น ในเมื่อก่อนที่จะกำเหนิดนั้น พญากงส์ [กํส] ได้เปนขบถถอดท้าวอุคระเสนผู้เปนราชบิดาจากราชสมบัติแล้ว ขึ้นทรงราชย์เอง มีโหรทำนายว่าจะมีผู้วิเศษมาเกิดในครรภ์นางเทวกี (ผู้เปนหลาน ลูกของอนุชาพญากงส์) พญากงส์จึ่งได้จับพระวสุเทพกับนางเทวกีขังไว้ และเมื่อมีลูกก็จับทารกฆ่าเสียทุกครั้ง แต่ทำเช่นนี้ได้ ๖ ครั้ง ครั้นเมื่อนางเทวกีทรงครรภ์ครั้งที่ ๗ เทวดาจึ่งย้ายกุมารไปเข้าครรภ์นางโรหิณีผู้เปนมเหษีซ้ายของพระวสุเทพ จึ่งไปคลอดจากครรภ์นางโรหิณี กุมารนี้ได้นามว่า พระพลราม หรือ พลเทพ นางเทวกีทรงครรภ์อีกเปนครั้งที่ ๘ จึ่งประสูตรพระกฤษณ มีสีกายดำ มีขนที่หน้าอกต้องตัวยมหาบุรษลักษณะ พระวสุเทพจึ่งพาพระกฤษณกุมารนั้น หนีข้ามแม่น้ำยมุนาไปฝากไว้แก่นายโคบาลชื่อนั้นทะกับนางยโศธา ขอแลกเอาลูกของนางยโศธาไปแทน แต่พญากงส์ทราบว่าเปลี่ยนตัวกันแล้ว ส่งให้ราชบุรษจับบรรดากุมารที่เกิดใหม่ฆ่าให้หมด นันทโคบาลกับนางยโศธาจึ่งพาพระกฤษณ พระพลเทพ และนางโรหิณีพร้อมด้วยพรรคพวกอพยพหนีจากริมนครมถุรานั้น ไปตั้งอยู่ที่ตำบลโคกูลก่อน และอพยพต่อไปอีก ไปตั้งอยู่ตำบลพฤนทาพน

ณที่นี้พระกฤษณและพระพลเทพก็ได้จำเริญไวยขึ้นในหมู่โคบาล พระกฤษณชอบเที่ยวชอบเล่นอยู่กับพวกโคบาลเปนอันมาก ในสมัยนี้ที่กล่าวว่าพระกฤษณได้คิดจัดการสํคีตขึ้นในหมู่นางเลี้ยงโค และได้คิดระบำชนิด ๑ ซึ่งเรียกว่า “มณฑลนาฏย์” [มัณ์ฑน๎ฤต๎ย] หรือ “ราสะมณฑล” (ซึ่งตามชื่อน่าจะเปนรำกลม) ได้นางโคปีเปนชายาเปนอันมาก แต่ตัวโปรดซึ่งสำหรับรำคู่กันคือนางราธา ในชั้นหลังๆ ชาวมัธยมประเทศบางคณะ จึ่งบูชาพระกฤษณและนางราธาพร้อมกัน และเมื่อบูชามักเล่นลครเรื่อง ๑ เรียกนามว่า คีตโควินท์ (ซึ่งได้อธิบายไว้อีกแห่ง ๑ ในอภิธานนี้ ดูที่ คีตโควินท์) พระกฤษณเปนหัวหน้าของพวกเลี้ยงโค และได้อนุเคราะห์ครอบงำพวกเหล่านี้ จึ่งได้นามว่า พระโควินท์ หรือ พระโคบาล ครั้งหนึ่งได้ช่วยพวกโคบาลให้พ้นจากอันตรายด้วยห่าฝนและสายฟ้า โดยยกภูเขาอัน ๑ ชื่อโควรรธนะคีรีขึ้นชูกั้นเปนร่ม จึ่งได้นามว่าโควรรธนธร การที่ทำเช่นนี้ นับว่าชำนะพระอินทร์ เพราะพระอินทร์ปรารถนาจะทำร้ายพวกโคบาลก็ไม่สำเร็จ จึ่งได้ชื่อว่าอุเปนทร (“ดีกว่าพระอินทร์”) และในระหว่างนี้ได้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์อีกมากมาย จะเล่าก็ยืดยาวเกินไป ฝ่ายพญากงส์นั้นก็พยายามโดยอาการต่างๆ เปนหลายครั้งที่จะผลาญพระกฤษณ แต่หาสำเร็จไม่ ในที่สุดจึ่งให้เชิญไปเล่นสรรพกิฬาในนครมถุรา และพญากงส์ได้สั่งคนมวยปล้ำสำคัญไว้ให้ฆ่า พระกฤษณให้จงได้ แต่พระกฤษณกลับฆ่าคนมวยนั้น แล้วเลยฆ่าพญากงส์ตายสมคำทำนายและยกท้าวอุครเสนขี้นทรงราชยตามเดิม (หมายเหตุ–ขอเชิญผู้อ่านเทียบเรื่องนี้กับเรื่อง “พญากงส์พญาพาณ” ในพงศาวดารเหนือ)

ต่อนี้ไปมีศึกมาติดนครมถุรา เพราะท้าวชราสันธ์ ราชาครองมคธราษฎร์ เปนพระบิดาแห่งมเหษีพญากงส์ ยกทัพมาเพื่อแก้แค้นในการที่พระกฤษณได้ฆ่าพญากงส์ ท้าวชราสันธ์ได้ยกมาถึง ๑๕ ครั้ง หักเอานครมถุราไม่ได้จริงอยู่แล แต่พระกฤษณเห็นว่าจะรักษาเมืองมถุราต่อไปเปนการลำบาก จึ่งอพยพพวกยาทพกษัตริย์และไพร่บ้านพลเมืองชาวสุรเสนนั้น ไปสร้างเมืองขึ้นใหม่ที่ริมฝั่งทเล ในแว่นแคว้นประเทศซึ่งเรียกว่าคูชชระ (เดี๋ยวนี้เรียกว่า “คูชะรัต” อังกฤษเรียกว่า Gujarat) ให้นามนครใหม่นี้ว่า ทวารกา หรือ ทวาราวดี

เมื่อไปอยู่นครทวารกานั้นแล้ว พระกฤษณก็ได้กระทำการรบพุ่งอีกหลายครั้ง เช่นครั้ง ๑ พระอนิรุทธ์ผู้เปนนัดดาพระกฤษณได้ไปลอบรักกับนางอุษา บุตรีพญาพาณ ผู้เป็นอสุรราชครองโสนิตปุระ พญาพาณจับพระอนิรุทธ์มัดไว้ยอดปราสาท พระกฤษณจึ่งไปช่วยแก้หลาน พร้อมด้วยพระพลเทพและพระประทยุมน์ (ผู้เปนพระบิดาพระอนิรุทธ์) พญาพาณขึ้นไปเชิญพระอิศวรกับพระขันทกุมารมาช่วยรบ ก็สู้พระกฤษณไม่ได้ พญาพาณถูกศรแขนขาดไป ๙๙๘ แขน พระอิศวรขอโทษไว้ พระกฤษณจึ่งยอมไว้ชีวิตร์ แต่นอกจากนี้พระกฤษณได้รบอีกหลายราย รบทั้งยักษ์ทั้งมนุษย์ มากมายเกินที่จะเก็บมาพรรณนาในที่นี้

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 04 มิถุนายน 2563 18:46:17 »


ภาคผนวก ๒ อภิธานสังเขป
อธิบายศัพท์ต่าง ๆ เฉภาะที่มีใช้อยู่ในหนังสือนี้
(โดยลำดับอักขรานุกรม)

หมายเหตุ – คำใดที่เขียนเปนไทยไม่ตรงกับที่เขียนในภาษาสังสฤตได้มีเขียนอย่างสังสฤตกำกับไว้ในวงเล็บเหลี่ยม [ ] อย่างนี้ด้วยเพื่อเทียบกัน

----------------------------


พระกฤษณเป็นมิตร์ชอบพอสนิทสนมกับพวกกษัตร์ปาณฑพ คือลูกท้าวปาณฑุ ซึ่งทำสงครามกับพวกกษัตร์โกรพ มีเรื่องราวเล่าไว้พิศดารในหนังสือมหาภารต ที่ชอบกันกับกษัตร์พวกนี้ เพราะนางกุนตีผู้เปนแม่พระยุธิษเฐียร พระภีมเสน และพระอรชุนนั้น เปนน้องสาวพระวสุเทพ จึ่งเปนอาพระกฤษณ พระกฤษณมีกิจการเกี่ยวข้องกับพวกกษัตริย์ปาณฑพนั้นเปนอันมาก ดังมีข้อความพิศดารอยู่ในหนังสือมหาภารต ในที่สุดเมื่อพวกโกรพกับปาณฑพเกิดรบกันขึ้นแล้ว พระกฤษณไม่ยอมเข้าข้างฝ่าย ๑ ฝ่ายใด แต่ได้ไปเปนสารถีของพระอรชุนในสนามรบ จึ่งได้นามว่า ปรรถะสารถี (พระอรชุนมีนามว่า “ปรรถะ” เพราะเปนลูกนางปฤถาหรือกุนตี) ในเมื่อก่อนจะทำสงครามกันนั้น ในว่าๆพระกฤษณได้อนุศาสน์พระอรชุนในธรรมะต่างๆ ซึ่งรวบรวมเปนเรื่องเรียกว่า ภาควัทคีตา (ดูที่ ภาควัทคีตา ต่อไป) และเมื่อเสร็จการมหาภารตยุทธ์นั้นแล้ว ได้เข้าไปช่วยงานพิธีอัศวเมธของพระยุธิษเฐียรในนครหัสดิน

เมื่อกลับจากพิธีอัศวเมธแล้ว ไปนครทวารกา เห็นชาวเมืองพากันเมาสุรามากนัก จึ่งประกาศห้ามการดื่มสุรา แต่ชาวเมืองไม่พอใจ จึ่งมีเหตุไม่สงบต่าง ๆ จนพระกฤษณต้องจัดตั้งการบวงสรวงใหญ่ และอนุญาตให้เล่นนักขัตฤกษ์และ ดื่มสุรากันวัน ๑ แต่ในวันนั้นเมามายกันใหญ่ เกิดตีรันกันตายยุ่งในหมู่กษัตร์ยาทพ พระกฤษณและพระอรชุน ซึ่งพระกฤษณเชิญให้ไปช่วยว่ากล่าวในหมู่กษัตร์ยาทพให้ปรองดองกันนั้น ช่วยกันพยายามระงับเหตุก็หาสำเร็จไม่ พระพลเทพหนีพ้นจากในที่นั้นได้ แต่ก็ไปตายใต้ต้นไม้อัน ๑ พระกฤษณเองหนีเข้าไปในป่า ไปถูกนายพรานยิงตาย ต่อนั้นไปอีก ๗ วัน เมืองทวารกาก็จมทเลสูญไป

พระกฤษณมีเมียและลูกมากจนนับไม่ถ้วน ที่นับว่าเปนเมียและลูกสำคัญคือ (๑) รุกมิณี บุตรีราชาวิทรรภ มีโอรสด้วยนางนี้ ๑๐ คน ธิดา ๑ โอรสองค์ใหญ่ คือ พระประทยุมน์ ผู้เปนพ่อพระอนิรุทธ์ (๒) สัตยภามา บุตรีท้าวสาตราชิตสกูลยาทพ มีโอรสด้วยกัน ๑๐ (๓) ชามพวดี บุตรีท้าวชามพวาน ราชาแห่งหมี (คือ “ชมพูพาน” หรือ “ชามพูวราช” ที่มีชื่ออยู่ในรามเกียรติ์) มีโอรสด้วยนางนี้องค์ ๑ ชื่อศามพะ ส่วนนางราธาซึ่งกล่าวถึงแล้วนั้น จะเรียกว่าเปนชายาหรือมเหษีไม่ได้ เพราะนางมีผัวอยู่แล้วเมื่อรักกับพระกฤษณ

พระกฤษณมีจักรชื่อวัชรนาภ (“พุงเพชร”) คทาชื่อเกาโมทกี ศรชื่อ ศตฆนี (“ฆ่าได้ตั้งร้อย”) มีศังข์ชื่อ ปาญจะชันยะ มีครุฑเปนพาหน

นามของพระกฤษณมีมากมาย แต่ที่ใช้อยู่โดยมากคือ วาสุเทพ (“ลูกวสุเทพ”) โคบาล และ โควินท์ (“เลี้ยงโค”) อุเปนทร์ (“ดีกว่าพระอินทร์”) ทาโมทร (“พุงเช็อก” เพราะเมื่อเล็กๆ ซนแม่เลี้ยงเอาเชือกผูกพุงล่ามไว้กับอ่าง กลับลากอ่างไปได้) จักรี หรือ จักริน (“ถือจักร์”) กับมีอีกหลายชื่อซึ่งเรียกตามกิจการที่ได้กระทำเช่น กงสะชิต (“ชำนะพญากงส์”) เปนต้น กับมีที่เรียกตามชื่อพระนารายน์ก็มาก เพราะนิยมกันว่าเปนตัวนารายน์ แม้ในกาลปัตยุบันนี้ก็ยังมีผู้นับถืออยู่เปนอันมาก

โกกิลา หรือ โกกิล – คือนกกะเหว่า

โกรพ (เการ๎ว) – กษัตริย์จันทรวงศ์ ซึ่งสืบสกุลจากท้าวกุรุราช แต่นามว่าโกรพนี้โดยมากมักใช้เรียกพวกโอรสท้าวธฤตราษฎร์ มีพระทุรโยธน์เปนอาทิ เพื่อให้ผิดกันกับพวกโอรสท้าวปาณฑุ ที่เรียกว่า ปาณฑพ ซึ่งทำสงครามกันในมหาภารต

โกศี [โกศี] หรือ โกศินทร [โกศินท๎ร] – เปนนามพระอินทร์ แปลว่าเปนผู้มีคลัง (โกศ) เปนผู้มั่งมี

เกาศิก – แปลว่าเปนเชื้อกุศิก (ดูที่ วิศวามิตร์)

เกาศิกสุดา เกาศิกา } – คือ ศกุนตลา ผู้เปนบุตรีพระเกาศิก

กษัตร์ – นักรบ ไม่ใช่เฉภาะที่เปนเจ้าเปนขุน ผู้ที่เปนเจ้าเรียกว่า ราชัน หรือ ราชันยกุล (ดูที่ ราชัน)

กษัตริย์ – ชาตินักรบ เปนวรรณอัน ๑ ในจัตรุวรรณ (ชน ๔ ตระกูล)

คนธรรพ [ คัน์ธร๎ว ] – เปนภูษณ์ (ผู้มีกำเหนิด) จำพวก ๑ ซึ่งเข้าพวกเทวดาก็ได้ เข้าพวกมนุษย์ก็ได้ เพราะมีทั้งที่อยู่สวรรค์และอยู่มนุษโลก หรืออีกนัย ๑ ว่ามีโลกของเขาอัน ๑ ต่างหาก เรียกว่าคนธรรพโลก อยู่ระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษ ซึ่งเข้าใจว่าจะมุ่งความว่าเปนชาวเขา มักตั้งถิ่นอยู่บนเขา ส่วนน่าที่ของคนธรรพนั้น ว่าเปนผู้รักษาโสม เปนผู้ชำนาญในการปรุงโอสถ เปนผู้อำนวยการนักษัตร์ และเปนหมอดูรอบรู้กิจการต่างๆ ที่เปนไปในโลกทั้งอดีตปัตยุบันและอนาคต อธิบดีแห่งคนธรรพชื่อท้าวจิตรรถ (ซึ่งเรียกกันข้างฝ่ายเราว่าท้าวจิตรราชบ้าง ท้าวจิตุราชบ้าง) หรือจิตรเสน

อภินิหารของพวกคนธรรพมีที่สำคัญอยู่อีกอย่าง ๑ คือเปนผู้ชำนาญในการขับร้องและดนตรีปี่พาทย์ เปนพนักงานขับร้องและทำดนตรีบรรเลงพระเปนเจ้าและเทพยนิกร

ผู้ที่เปนครูเฒ่าของการข้บร้องและดนตรีคือพระนารทมุนี ผู้คิดทำพิณขึ้นแรก พระมุนีนี้ ได้นามว่ามหาคนธรรพบ้าง เทพคนธรรพบ้าง ปรคนธรรพบ้าง นามปรคนธรรพนี้ที่ใช้โดยมากในการเนื่องด้วยดนตรีปี่พาทย์ เพราะนับถือกันว่าเปนครูใหญ่ ต่อๆ มานามนั้นเรียกเพี้ยนๆ กันมา จึ่งกลายเปน “พระประโคนธรรพ” การที่เปนไปเช่นนี้เพราะคนอ่านหนังสือไม่เปนเท่านั้น (ข้อนี้มีอธิบายไว้ในเรื่อง “กล่าวด้วยนาฏกะ” อันเปนภาคผนวกอยู่ต่างหากข้างน่านี้แล้ว)

อนึ่งคนธรรพทั้งปวงเขากล่าวว่ามีนิสัยเปนเจ้าชู้ทุกคน (แม้ตัวพระนารทมุนีเองก็อยู่ข้างจะฝักใฝ่ในกามคุณมาก) เขาว่ามีเสน่ห์ล่อใจให้ผู้หญิงรัก ถ้าคิดไปเสน่ห์นั้นก็จะอยู่ในการขับร้องและดนตรีนั่นเองกระมัง

การขับร้อง การรำและการเล่นดนตรี ชาวมัธยมประเทศนับถือเปนวิชาสำคัญอัน ๑ จึ่งยกย่องถึงให้เทียมพระเวท มีตำหรับเรียกว่า คานธรรพเวท แต่อันที่จริงเปนหนังสือบริวารแห่งพระสามะเวท ซึ่งเปนตำหรับรวบรวมบทสรรเสริญต่าง ๆ ที่ใช้ในพิธีไสยศาสย์ คานธรรพเวทนั้นว่าเปนตำหรับรวบรวมเรื่องขับร้อง เรื่องดนตรีปี่พาทย์และวิธีรำ ว่าพระภรตมุนีเปนผู้เรียบเรียง พระภรตมุนีตนนี้เปนปฐมาจารย์ครูเถ้าแห่งวิชารำ ซึ่งเรียกว่านาฏยศาสตร์ หรือภรตศาสตร์ตามชื่ออาจารย์ (เรื่องวิชารำนี้ กล่าวไว้พิศดารในภาคผนวก อันจ่าหน้าว่า “กล่าวด้วยนาฏกะ” นั้นแล้ว)

คีตโควินท์ – เปนบทกลอนกล่าวด้วยเรื่องพระกฤษณกับนางราธา เรื่องไม่มีอะไรนอกจากการรักกันระหว่างกฤษณและราธา โกรธกันและดีกันใหม่ แต่งเปนเทือกลคร มีตัว ๓ ตัวเท่านั้น คือพระกฤษณ ๑ นางราธา ๑ กับโคบาลอีกคน ๑ ผู้แต่งชื่อชัยเทพ ชาวองคราษฎร์ (เบงคอล) ในรัชสมัยแห่งท้าวลักษมณะเสนผู้ครององคราษฎร์ ราว ๘๐๐ ปีล่วงมานี้แล้ว เรื่องคีตโควินท์นี้ แม้ในปัตยุบันนี้ก็ยังมีเล่นอยู่บ้างเปนอย่างลคร ดูท่าทางก็จะไม่สนุกนัก เพราะมีตัวน้อย แต่ถ้อยคำว่าเต็มไปด้วยบทที่ตามภาษาหนังสือไทยเราเรียกกันว่า “บทสังวาศ” เพราะฉนั้นคนบางพวกก็อาจจะชอบได้

โคตมี [เคาตมี] – ชื่อนางพราหมณีผู้ที่รับใช้พระกัณวะดาบส ให้พานางศกุนตลาเข้าไปส่งท้าวทุษยันต์

จักรพรรดิ [จัก๎รวร๎ติ] – โมเนียร์ วิลเลียมส์ แปลว่า ราชาผู้ชับรถไปได้ทั่วไปโดยหาที่เกียจกันมิได้” (คือเปนผู้ทรงอำนาจยิ่งกว่าผู้อื่น) หรือ “โลกาธิบดี” หรือ “ผู้ครองจักร” (คืออาณาเขตอันแผ่ไปตั้งแต่มหาสมุท ๑ ถึงมหาสมุทอีกแห่ง ๑) ในมัธยมประเทศนิยมกันว่า ได้เคยมีจักรพรรดิมาแล้ว ๑๒ องค์ ท้าวภรตเปนองค์ที่ ๑ วิษณุปุราณะกล่าวว่าผู้ที่จะเปนจักรพรรดิกำเหนิดมาก็มีวงจักรผุดขึ้นที่ฝ่ามือ ในเรื่องศกุนตลา โสมราตปุโรหิตจึ่งทูลท้าวทุษยันต์ว่าขอผัดดูลักษณะพระกุมารก่อน ถ้าแม้เห็นวงจักรที่ฝ่ามือ จึ่งจะเชื่อว่าเปนโอรสท้าวทุษยันต์ เพราะจะต้องตามทำนายของโหร

จันทร์ [จัน์ท๎ร] – ตามเรื่องราวในหนังสือพวกปุราณะโดยมากว่าพระจันทร์เปนโอรสพระอัตริมุนีกับนางอนะสูยา และหริวํศก็กล่าวเช่นกัน พระจันทร์ได้บุตรีพระทักษะเปนชายา ๒๗ องค์ (นี้คือนักษัตรทั้ง ๒๗) แต่พระจันทร์มีความลำเอียงรักนางโรหิณีมากกว่าผู้อื่น นางอื่นๆ พากันไปฟ้องพระทักษะ พระทักษะไปว่ากล่าวก็ไม่มีผลอันใด พระฤษีมีความโกรธจึ่งแช่งให้พระจันทร์เปนหมัน และให้เปนฝีในท้องด้วย แต่พวกบุตรีช่วยกันวิงวอนขอโทษ พระทักษะจึ่งผ่อนผันว่า โรคนั้นให้เปนแค่พักๆ เพราะฉนั้นพระจันทร์จึ่งไม่คงเต็มดวงอยู่อย่างพระอาทิตย์ แต่มีเวลา “ซูบ” ลงและกลับเต็มขึ้นอีกเสมอ ๆ ไป

พระจันทร์ได้ทำพิธีราชสูยะครั้ง ๑ ซึ่งทำให้มีความกำเริบมาก จนได้ไปพานางดาราผู้เปนมเหษีพระพฤหัสบดีไป และแม้เมื่อพระพฤหัสบดีขอดีๆให้คืนก็ไม่ฟัง พระพรหมาว่ากล่าวก็ไม่เชื่อ จึ่งเกิดเปนเหตุให้วิวาทกันใหญ่จนถึงรบกัน พระศุกรซึ่งไม่ชอบกับพระพฤหัสบดีมาก่อนแล้วนั้นเข้าข้างพระจันทร์ และบรรดาทานพ แทตย์แลอสูรอื่น ๆ ซึ่งเปนศิษย์พระศุกรก็เข้าข้างพระจันทร์ พระอินทร์และเทวดาอื่น ๆ เข้าข้างพระพฤหัสบดีผู้เปนอาจารย์ (พระพฤหัสบดีและพระศุกรเปนฤษีทั้งคู่) การเทวาสุรสงครามครั้งนั้นว่า “เสียงเสทือนไปทั่วไตรภพ” พระอิศวร (ซึ่งอยู่ข้างพระพฤหัส) ได้เอาตรีฟันพระจันทร์ขาดกลางตัว พระจันทร์จึ่งได้นามว่า ภัคนาตม ในที่สุดพระพรหมาได้ห้ามการสงคราม และบังคับให้พระจันทร์ส่งนางดาราคืนแก่พระพฤหัสบดี นางดารานั้นมีบุตรติดท้องไปคนหนึ่ง ซึ่งในที่สุดนางจึ่งรับว่าเปนลูกพระจันทร์ กุมารนี้ได้นามว่าพระพุธ และเปนปฐมชนกแห่งจันทรวงศ์ (ดู จันทรวงศ์ ต่อไป) ส่วนพระจันทร์นั้นถูกห้ามมิให้ไปในที่ชุมนุมเทวดาอีก พระจันทร์ไปวิงวอนพระอิศวร ๆ เอาพระจันทร์ทำเปนปิ่นเข้าไปในที่ชุมนุม จึ่งเข้าไปได้

นามและฉายาพระจันทร์มีอยู่มาก ที่ใช้บ่อยๆ คือ โสมอินทุ (“หยาด” เช่นหยาดน้ำ ชื่อนี้เรียกเนื่องมาจากโสม ดูที โสม ต่อไป) ศะศี (“ลายเหมือนกระต่าย”) ศะศิธร (“ทรงไว้ซึ่งกระต่าย”) นิศากร รัชนิกร รัชนิกฤต (“ผู้สร้างกลางคืน”) นักษัตรนาถ (“เปนใหญ่ในนักษัตร”) ศีตมารีจิ (“มีแสงเย็น”) สิตางศุ (“มีแสงขาว”) มฤคางกะ (“ลายเหมือนกวาง”) ศิวเศขร (“ปิ่นพระศิวะ”) กุมุทบดี (“เปนใหญ่ในดอกบัว”) เศวตวาชี (“มีม้าขาว”)

ตำหรับปุราณะว่า รถพระจันทร์มีสามล้อ ม้าสิบตัวที่เทียมนั้นสีเหมือนดอกมลิและที่เทียมนั้นเปนน่ากระดาน คือข้างขวาแห่งคาน ๕ ตัว ซ้าย ๕ ตัว

จันทรกานต์ – เปนแก้วชนิดหนึ่งซึ่งนิยมกันว่าแสงจันทร์รวมกันเข้าแล้วเกิดเปนก้อน เปนแก้วที่ทำให้เย็น ในว่าๆ ถ้าถูกแสงจันทร์บางทีก็ละลายได้ อีกนัย ๑ เรียกมณีจัก แก้วจันทรกานต์นี้เปนคู่กันกับ]แก้วสูรยกานต์ ซึ่งนิยมกันว่าเกิดจากแสงสูรย์ แก้วสูรยกานต์นั้นก็เย็นเหมือนกัน เว้นเสียแต่ถ้าถูกแดดจึ่งจะร้อน

จันทรวงศ์ [จัน์ท๎รวํศ] – คือวงศ์กษัตริย์ซึ่งนับสกุลเนื่องจากพระจันทร์ลงมาทางพระพุธ ซึ่งว่าเปนโอรสพระจันทร์กับนางดาราผู้เปนมเหษีพระพฤหัสบดี หรืออีกนัย ๑ ว่าเปนโอรสนางโรหิณีมเหษีเอกของพระจันทร์เอง (ดูที่จันทร์) มเหษีพระพุธคือนางอิลา (หรืออิฑา) ผู้เปนธิดาพระมนูไววัสวัต พระมนูไววัสวัตนี้เปนลูกพระสุริยาทิตย์และเปนมหาชนกแห่งกษัตริย์สุริยวงศ์ เพราะฉนั้นสุริยวงศ์กับจันทรวงศ์จึ่งนับว่าเปนญาติกัน พระพุธนั้นมีโอรสชื่อปุรูรพ (ดูที่ปุรูรพ) เปนมหากษัตริย์ครองประดิษฐานนคร ท้าวปุรูรพได้นางฟ้านาง ๑ ชื่อนางอุรวศีเปนมเหษี (ดูอุรวศี) และมีโอรสชื่ออายุ ท้าวอายุมีโอรสชื่อนหุษ ท้าวนหุษมีโอรสชื่อยยาตีผู้เปนมหาราชและวีรบุรุษมีชื่อเสียงโด่งดังมาก ต่อท้าวยยาตีลงไปจันทรวงศ์แบ่งเปนสาขาใหญ่ ๒ สาขา คือ ยาทพโปรพ ๑ (ดูที่ ยาทพ และ โปรพ ต่อไป)

สาเหตุที่จะแบ่งเปน ๒ สาขาเช่นนี้ คือ ท้าวยยาตีนั้นมีมเหษี ๒ นาง นาง ๑ ชื่อเทวยานี เปนธิดาพระศุกร อีกนาง ๑ ชื่อสรรมิษฐา เปนธิดาพญาทานพตน ๑ ชื่อพฤษบรรพ์ นางเทวยานีมีโอรส ๒ องค์ คือยทุตุรวสุ ๑ นางสรรมิษฐามีโอรส ๓ องค์ คือ ท๎รุย๎หุอนุปุรุ ๑ เรื่องที่นางทั้ง ๒ จะได้มาเปนมเหษีท้าวยยาตีนั้นคือเดิมนางเทวยานีรักกับกจะบุตร์พระพฤหัสบดี ผู้เปนศิษย์ของพระศุกร แต่กจะไม่ยินยอมพร้อมใจด้วย นางเทวยานีโกรธจึ่งแช่งกจะๆ ก็แช่งให้บ้างว่าขอให้นางได้ผัวเปนกษัตริย์ (ซึ่งนับว่าเปนข้อเสียหาย เพราะนางเปนลูกพราหมณ์ได้กับกษัตริย์ผิดชาติกัน) นางเทวยานีนั้นเปนพี่เลี้ยงของนางสรรมิษฐา ผู้เปนบุตรีท้าวพฤษบรรพ์ (เพราะพระศุกรเปนปุโรหิตและอาจารย์ของท้าวพฤษบรรพ์) วัน ๑ นางทั้ง ๒ ไปอาบน้ำ พระพายสับผ้านุ่งห่มกันเสีย นางทั้ง ๒ จึ่งเกิดวิวาทกันด้วยเรื่องแย่งผ้านุ่งห่ม และนางเทวยานีทำปากจัดมากนัก นางสรรมิษฐามีความเคืองจึ่งตบหน้าและผลักตกเหวไป ท้าวยยาตีไปพบช่วยนางเทวยานีขึ้นจากเหวได้ จึ่งพาไปยังพระศุกร นางเทวยานีไปพูดตัดพ้อต่อว่าบิดาต่างๆ จนบิดาต้องไปฟ้องท้าวพฤษบรรพ์ ท้าวพฤษบรรพ์รับว่าพระศุกรจะลงโทษนางสรรมิษฐาอย่างไรก็ตามใจ พระศุกรจึ่งขอว่า เมื่อใดนางเทวยานีมีสามีจะขอนางสรรมิษฐาไปเปนสาวใช้ ท้าวพฤษบรรพ์ขัดอาจารย์ไม่ได้ก็ต้องยอมตาม แล้วนางเทวยานีจึ่งไปเปนมเหษีท้าวยยาตี (สมดังคำแช่งว่าให้ได้ผัวเปนชาติกษัตริย์) และนางสรรมิษฐาก็ต้องไปเปนสาวใช้นางเทวยานี แต่ท้าวยยาตีนั้นรักใครกับนางสรรมิษฐาจนได้เสียกันมีลูกด้วยกัน นางเทวยานีหึง จึ่งกลับไปหาพระบิดา พระศุกรกริ้วจึ่งแช่งท้าวยยาตีให้ชราภาพมาถึงก่อนสมัย แต่ภายหลังพระศุกรผ่อนผันให้ว่า ถ้าโอรสองค์หนึ่งองค์ใดจะรับชราภาพของพระบิดาไปไว้แทน พระบิดาจะรอดพ้นได้ พระยทุและลูกอื่นๆ ไม่ยอมรับชราภาพของพระบิดา พระบิดาจึ่งกริ้วแช่งว่าขออย่าให้วงศ์วารมีบ้านมีเมืองเปนหลักฐานได้ แต่พระปุรุผู้เปนโอรสสุดท้องยอมรับชราภาพแทน ท้าวยยาตีจึ่งให้พรให้มั่นคงตลอดชั่วลูกชั่วหลาน และท้าวยยาตีได้สมมตพระปุรุเปนทายาทด้วย เหตุฉนี้ท้าวปุรุจึ่งได้ครองราชสมบัติสืบสันตติวงศ์พระบิดาในประดิษฐานนคร และเปนมหาชนกแห่งกษัตริย์ที่ได้นามต่อมาว่าโปรพ (เกิดแต่ปุรุ) และวงศ์โปรพนี้ นับว่าเปนผู้ดำรงจันทรวงศ์โดยตรง ฝ่ายพระยทุนั้น ถึงแม้ได้ถูกแช่งแล้วก็จริง แต่ก็มีกษัตริย์สืบสกุลจากท่านผู้นี้เปนอันมาก ได้นามว่า กษัตริย์ยาทพ (เกิดแต่ยทุ) พระกฤษณและพระพลเทพก็เปนเชื้อสกุลยาทพนี้ (ดูที่ กฤษณ) ส่วนกษัตริย์โปรพที่มีนามโด่งดังมากในสมัยต่อลงมาก็มีท้าวทุษยันต์และท้าวภรตเปนต้น ต่อลงมาอีกกษัตริย์โปรพจึ่งมาแยกออกอีกเปน ๒ พวก คือ โกรพ กับ ปาณฑพ ซึ่งทำสงครามกันใหญ่เรียกว่า มหาภารตยุทธ (ดูที่ มหาภารต ต่อไป)

จากรวาก [จัก๎รวาก] – เปนนกชนิด ๑ ซึ่งกล่าวว่าในเวลากลางคืนเปนต้องพรากคู่กัน จึ่งได้ยินเสียงเรียกร้องหากัน เปนที่น่าสงสารยิ่งนัก เหตุนี้กะวีผู้แต่งเรื่องที่เกี่ยวแก่สังวาศหรือพลัดพรากจากกันจึ่งชอบกล่าวถึง กับในหนังสือบทกลอนไทย ๆ เรามักชอบเขียนว่า “จากพราก” เพื่อเล่นสำเนียงให้เปรียบเทียบคำ “จาก” และ “พราก” ภาษาไทยเราอีกชั้น ๑

ดาบส [ตาปส] – ผู้บำเพ็ญตะบะ คือทรมานกายและจิตโดยหวังโลกุตรศุข

เตียรถ์ [ติร๎ถ] – ท่าน้ำ ซึ่งมีเทวสถานหรือที่เคารพอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อมาคำว่าเตียรถ์นั้นมาใช้ว่าสำนักผู้สอนลัทธิอย่างใดอย่าง ๑ ผู้ที่อยู่ในสำนักเช่นนั้นจึ่งได้นามว่า “เดียรถี” [ตีร๎ถิ]

ไตรเพท – ดูที่ เวท

ทานพ [ทานว] – เปนพวกอสูรเชื้อสกุลแห่งทนุ ทนุเปนบุตรพระกศป

ทุรวาส [ทุร๎วาสส] – แปลว่า “นุ่งห่มปอน” เปนมุนีผู้ ๑ เปนบุตรพระอัตริมุนีกับนางอนสูยา หรืออีกนัย ๑ ว่าเปนภาคของพระอิศวร พระทุรวาสเปนคนโทโสร้ายและได้แช่งใครๆ เสียมาก เช่นในเรื่องศกุนตลานี้ พระทุรวาสเดินทางมาถึงอาศรมพระกัณวะ เรียกให้เปิดประตู ไม่มีใครเปิดรับ จึ่งแช่งผู้มีน่าที่รับแขก ซึ่งพะเอินเวลานั้นตกอยู่แก่นางศกุนตลา ความที่เปนคนช่างแช่ง ถ้ามีเหตุร้ายอันใดบังเกิดขึ้นแก่ใครๆ ก็ซัดว่าถูกพระทุรวาสแช่ง เช่นพระกฤษณที่ต้องเสียชนมชีพโดยอาการอันทราม (ดูที่ กฤษณ) ก็มีข้ออธิบายไว้ในมหาภารตว่า ครั้ง ๑ พระทุรวาสไปหาพระกฤษณๆ ก็ได้ต้อนรับอย่างแขงแรงแล้ว แต่พะเอินเมื่อพระทุรวาสบริโภคอาหารแล้ว พระกฤษณลืมเชิดเศษอาหารที่ตกเปื้อนตีนพระทุรวาสๆ โกรธจึ่งแช่งให้พระกฤษณต้องตายด้วยมือพรานผู้ ๑ และหนังสือวิษณุปุราณะก็กล่าวว่า พระกฤษณได้สิ้นชนมชีพลงโดยถูกยิง “ตามคำแช่งแห่งพระทุรวาส” (การที่กล่าวเช่นนี้ก็เพื่อจะแก้หน้าในเรื่องที่พระกฤษณผู้เปนเอกอรรควีรบุรุษตายอย่างทรามเต็มที จึ่งซัดว่าเปนเพราะถูกทุรวาสแช่ง แต่การแก้เช่นนี้ถึงแม้ว่าจะทำให้ยังชั่วทาง ๑ ก็ดูทำให้ร้ายอีกทาง ๑ คือแสดงให้เห็นความเลวของพราหมณ์ผู้ควรจะเปนที่นับถือ คือทุรวาสนั้นกินมูมมามเองแล้วเหตุไฉนจะไปโกรธเอาคนอื่น ดูไม่มีศีลมีธรรมที่ตรงไหน – ว.ป.ร.)

ทุษยันต์ [ทุษ๎ยัน์ต] – เปนกษัตริย์จันทรวงศ์ สกุลโปรพ ครองนครหัสดิน เปนสามีนางศกุนตลา เปนพระเอกในเรื่องลครศกุนตลาของกาลิทาส ทุษมันต์ ก็เรียก

เทพบิดร – ดูที่ กศป

เทพมารดา – ดูที่ อทิติ

แทตย์ [ไทต๎ย] – อสูรจำพวก ๑ ซึ่งเกิดแต่นางทิติกับพระกศป พวกแทตย์กับพวกทานพมักเข้าเปนพวกเดียวกัน (และดูปนๆ กันอยู่) เปนผู้ที่มักทำลายพิธีของเทวดาและรบกับเทวดาอยู่ไม่ได้หยุดหย่อน

ธตรฐ [ธ๎ฤตราษฎ๎ร] – เปนนามเรียกท้าวโลกบาลผู้รักษาทิศบุรพา และเปนอธิบดีแห่งภูตหรือคนธรรพ (ตามความสันนิษฐานว่าคือตัวพระอินทร์นั้นเอง เพราะคำว่า ธตรฐ ก็แปลว่ารั้งเมือง หรือใช้ตามภาษาไทยโบราณว่า “งำเมือง” และในตำหรับที่กล่าวด้วยโลกบาลก็ว่าทิศบุรพาเปนของพระอินทร์ ดูที่ โลกบาล ต่อไป)

นวรัตนกะวี – คือกะวีทั้ง ๙ ซึ่งอยู่ณราชสำนักพระเจ้าวิกรมาทิตย์ นครอุชชยินี และมีนามปรากฎว่า

(๑) ธันวันตรี [ธัน๎วัน์ตรี]
(๒) กษัปณกะ [ก๎ษปณก]
(๓) อมรสิงห
(๔) ศังกุ
(๕) เวตาลภัต [เวตาลภัต์ต]
(๖) ฆัฏกรรปร [ฆฏกร๎ปร]
(๗) กาลิทาส
(๘) วาราหะมิหิระ
(๙) วรรุจิ

นาฏกะ – ลครสังกฤต

นาฏยะศาสตร์ – วิชารำ

นารายน์ – ดูที่ พิษณุ

เนมี – ชื่อทานพ (ดูที่ กาละเนมี)

ปาณฑพ – [ปาณ์ฑว] – โอรสท้าวปาณฑุ ผู้ที่ทำสงครามกับพวกโกรพแย่งนครหัสดินกัน เปนการสงครามใหญ่เรียกว่ามหาภารตยุทธ์ มีเรื่องราวพิศดารอยู่ในหนังสือมหาภารต ตามเรื่องกำเหนิดนั้นมีว่า ท้าวปาณฑุถูกแช่งจึ่งสมพาศไม่ได้ ต้องอนุญาตให้นางกุนตีกับนางมัทรีมีลูกกับเทวดา เมื่อมีลูกแล้วท้าวปาณฑุรับเปนลูกทั้ง ๕ คน จึ่งได้นามว่าปาณฑพ กษัตรปาณฑพทั้ง ๕ นั้นคือ

๑. พระยุธิษเฐียร [ยุธิษ๎ฐีร] เปนโอรสนางกุนตีกับพระยม (ธรรมเทพ) ซึ่งมีนามเรียกว่า ธรรมบุตรบ้าง ธรรมราชบ้าง เมื่อทำสงครามมีชัยชนะแก่พวกโกรพแล้ว ได้เปนราชาธิราชครองนครหัสดิน ทรงนามว่ามหาธรรมราชา

๒. พระภีมเสน เปนโอรสนางกุนตีกับพระพายุ เปนผู้ที่มีกำลังเข้มแขงใจคอดุร้ายเหี้ยมโหด และเปนคนกินจุ

๓. พระอรชุน (มูลแห่งนาม “พระยาเทพอรชุน”) เปนโอรสนางกุนตีกับพระอินทร์ เปนผู้ที่เปนนักรบเก่งในพวกปาณฑพ ตัวพระอรชุนเองไม่ได้เปนเจ้าบ้านผ่านเมือง แต่มีลูกเปนเจ้าเมืองคน ๑ คือท้าวภัพรุวาหน ราชาครองนครมณีปุระ กับมีนัดดาเปนราชาคน ๑ คือท้าวปะรีกษิต ซึ่งได้ครองราชสมบัติในนครหัสดินต่อพระมหาธรรมราชา

๔. พระนกูล (มูลแห่งนาม “พระยาราชนกูล” ซึ่งภายหลังมาเขียนผิดเปน “ราชนิกูล” บ้าง “ราชนุกูล” บ้าง) เปนโอรสนางมัทรี กับพระนาสัตยะอัศวิน

๕. พระสหเทพ (มูลแห่งนาม “พระยาศรีสหเทพ”) เปนโอรสนางมัทรีกับพระทัสร์อัศวิน (พระนกูลกับพระสหเทพนั้นเปนลูกแฝด พ่อก็เปนเทวดาแฝด)

เรื่องราวของกษัตรทั้ง ๕ นี้ มีพิศดารเกินที่จะเก็บมาเล่าในที่นี้ได้แม้แต่โดยย่อ แต่ควรจดไว้ข้อ ๑ คือกษัตรทั้ง ๕ นี้แลคือผัวทั้ง ๕ แห่งนางกฤษณา บุตรีทำวท๎รุปัท ผู้ครองปัญจาลชนบท (นางนี้สมมตว่าได้เปนผู้กล่าวภาษิตที่เรียกว่า “กฤษณาสอนน้อง” แต่แท้จริงภาษิตนั้นเปนชิ้นใหม่กว่ายุคของนางนั้นเปนอันมาก) ใน ๕ องค์นั้น ชาวมัธยมประเทศนับถือพระยุธิษเฐียรธรรมราชว่าเปนแผนแห่งบรมกษัตรผู้ปกครองดี และนับถือพระอรชุนเปนมหาวีรบุรษ คือเข้มแขงในกระบวนยุทธสงคราม (ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Hero) พระภีมเสนไม่ใคร่มีใครชอบเพราะดุร้ายและกักขละนัก ส่วนพระนกูลนั้นนับถือว่าเก่งในทางฝึกหัดม้า พระสหเทพเปนโหร

ปิยวาท [ป๎ริยํวาทา] – ชื่อพี่เลี้ยงนางศกุนตลาคน ๑

ปิศาจ – (อิถีลึงค์ ปีศาจิ) – เปนผี ซึ่งชั้นต่ำกว่ารากษสและอสูรอื่นๆ บางตำหรับก็ว่าพระพรหมาสร้างขึ้นพร้อมกับพวกอสูร พระมนูสํหิตาว่าปิศาจเกิดแต่พระประชาบดีองค์ ๑ ปุราณว่าเปนลูกพระกศปกับนางโกรธวศา (ขี้โกรธ) หรือ ปิศาจา หรือ กปิศา ก็เรียก พวกปิศาจมีที่อยู่เปนแดนอัน ๑ เรียกว่าปิศาจโลก อันเปนภูมิที่ต่ำที่สุด

ปุราณะ – แปลว่า “เก่า” เปนนามใช้เรียกหนังสือจำพวก ๑ ซึ่งได้มีพราหมณ์เก็บรวบรวมแต่งขึ้นภายหลังยุคหนังสือจำพวกที่เรียกว่าอิติหาส (เช่นรามายณและมหาภารตเปนต้น) หนังสือตำหรับต่างๆ ของพราหมณ์ แบ่งได้เปน ๓ ยุค เรียกนามตามลักษณแห่งหนังสือคือ

(๑) ยุคไตรเพท – เปนยุคที่แต่งตำหรับที่ออกนามว่าพระเวทพร้อมด้วยตำหรับอื่น ๆ อันเปนบริวาร มีข้อความอันกล่าวด้วยการบูชายัญสรรเสริญพระเปนเจ้า โดยวิธีอย่างเก่าที่สุด ไม่ใคร่จะมีเรื่องราวเล่าเปนอย่างนิยายหรือประวัติพิศดาร เพราะในสมัยนั้น ยังมิได้มีเวลาคิดประดิษฐประดอยเรื่องราวมากปานใด (ดูที่ เวท ต่อไป)

(๒) ยุคอิติหาส – เปนยุคที่เกิดมีวีรบุรษ (คือคนเก่งในสงครามเปนต้น ตรงศัพท์อังกฤษว่า “เฮียโร” = Hero นั้น) ขึ้นแล้ว จึ่งมีผู้คิดรวบรวมเรื่องราวอันเปนตำนานเนื่องด้วยวีรบุรุษเหล่านี้ขึ้น รจนาเปนกาพย์เพื่อให้จำง่าย แล้วและสอนให้ศิษย์สาธยายในกาลอันควร แล้วก็จำกันต่อๆมา เรื่องชนิดนี้มีพระรามายณและมหาภารตเปนอาทิ แต่ก็ยังมิได้มีผู้ใดจดลงเปนลายลักษณ์อักษร จนต่อมาภายหลังอีกหลาย ๆ ร้อยปี จึ่งได้มีจดลงเปนหนังสือ เพราะฉนั้นหนังสืออิติหาสเหล่านี้ จึ่งมักมีข้อผนวกหรือแก้ไขเกินไปกว่าเรื่องเดิม เช่นนับถือพระรามและพระกฤษณในส่วนที่เปนวีรบุรุษก่อน แล้วจึ่งเลยเกณฑ์ให้เปนพระนารายน์อวตารต่อไปทีเดียว และโดยเหตุที่จะต้องหาพยานหลักฐานประกอบให้จงได้ จึ่งต้องประดิษฐ์ข้อความเพิ่มเติมขึ้นอย่างพิศดาร เช่นในเรื่องรามายณเพิ่มเติมเสริมต่อลงไปในต้นเรื่องเองก็มากแล้ว แต่ยังเห็นไม่ใคร่จะละเอียดพอ จึ่งถึงแก่ต้องมีแถมอีกทั้งกัณฑ์ เรียกว่า “อุตตรกาณฑ์” หรือมี “ภาควัทคีตา” ขึ้นเปนตอนแทรกกลาง ๆ มหาภารต ฉนี้เปนตัวหย่าง แต่ถึงอย่างไร ๆ ก็ดี วีรบุรุษเหล่านี้ยังคงเปนมนุษย์อยู่

(๓) ยุคปุราณ – เมื่อยกยอวีรบุรุษต่างๆ มากขึ้นทุกที หนุน ๆ กันขึ้นไปจนถึงยอดแล้ว ก็ต้องเลยกลายเปนเทวดากันเท่านั้นเอง จึงเกิดมีตำหรับชุดปุราณขึ้น สำหรับเปนพยานหลักฐานว่า ท่านพระเปนเจ้าและเทวดาองค์นั้น ๆ ได้ทรงมีอภินิหารอย่างนั้น ๆ และเสด็จลงมาเอื้อแก่มนุษโดยอวตารหรือแบ่งภาคเปนอย่างนั้น ๆ ยิ่งแต่งก็ยิ่งเพลินเหลิงเจิ้งสนุกมากขึ้นทุกที และลักษณะสั่งสอนวิธีเล่าเปนนิทานห่อธรรม ก็เปนวิธีที่พวกอาจารย์สังเกตเห็นอยู่ว่าเปนที่พอใจผู้ศึกษา เปนผลอันดีทำให้จดจำคำสอนไว้ได้ดีขึ้น (ถึงแม้ข้างฝ่ายท่านผู้เปนอาจารย์สอนฝ่ายพุทธศาสน์ของเราก็ต้องใช้วิธีเช่นนั้นเหมือนกัน) ข้างฝ่ายไสยศาสตร์จึ่งเกิดมีตำหรับตำราพวกที่เรียกว่าปุราณะ คืออ้างว่ารวบรวมเรื่องเก่า ๆ มาตกแต่งขึ้นไว้เพื่อให้เปนหลักฐาน (ข้างฝ่ายพุทธศาสน์ก็มีหนังสือคล้าย ๆ ปุราณะนี้อยู่มากเหมือนกัน) และหนังสือตำหรับเหล่านี้ เปนที่ถูกใจผู้ศึกษามากก็จำกันได้มาก จนมาในที่สุดทั้งพราหมณ์และชนสามัญที่ถือไสยศาสตร์มีเปนจำนวนน้อยที่รู้จักไตรเพทอันแท้จริง โดยมากถือเอาหนังสือชุดปุราณะเปนตำหรับสำคัญของลัทธิไสยศาสตร์ทีเดียว ความรู้ในทางไสยศาสตร์ที่ได้เคยมีมาในประเทศสยามนี้ จึ่งเปนไปตามข้อความในปุราณะเปนพื้น และโดยมากผู้ที่พูดๆ ถึงพระเวทหรือพระไตรเพทก็พูดกันพล่อย ๆ ไปอย่างนั้นเอง จะได้มีความรู้สึกซึ้งไปถึงพระเวทจริง ๆ นั้นหามิได้

เมื่อการเปนอยู่เช่นนี้แล้ว ก็สมควรที่จะเล่าถึงตำหรับปุราณะนั้นต่อไปพอเปนสังเขป ดังต่อไปนี้

พราหมณ์อมรสิงห์ ผู้เปนรัตนกะวีผู้ ๑ ซึ่งอยู่ณราชสำนักพระเจ้าวิกรมาทิตย์ กรุงอุชชยินี (ดูที่ นวรัตนกะวี) ได้กล่าวไว้ในหนังสืออมรโกษ (ซึ่งเปนอภิธานภาษาสังสกฤตที่เก่าที่สุด) ว่า “หนังสือซึ่งชื่อว่าปุราณะนั้นไซร้ ควรมีลักษณพร้อมด้วยองค์ห้า กล่าวคือ (๑) กล่าวด้วยการสร้างโลก (๒) กล่าวด้วยการล้างโลกและกลับสถาปนาขึ้น (๓) กล่าวด้วยกำเหนิดแห่งพระเปนเจ้าและพระบิดาทั้งหลาย (๔) กล่าวด้วยกัลป์แห่งพระมนูทั้งหลาย ผู้บันดานให้กาลแบ่งเปนมันวันตะระ (๕) กล่าวด้วยพงษาวดารกษัตริย์สุริยวงศ์และจันทรวงศ์ เมื่อหนังสือใดมีบริบูรณ์เช่นนี้จึ่งเรียกว่าบริบูรณ์ด้วยเบญจลักษณแห่งปุราณะคัมภีร์” แต่ตามที่นักปราชญ์ผู้เอาใจใส่ในวรรณคดีได้ตรวจดูได้ความว่า ไม่มีปุราณะคัมภีร์ใดเลยที่จะบริบูรณ์ด้วยเบญจลักษณ์ ที่มีต้องตามลักษณบ้างแต่ไม่บริบูรณ์ก็มี ที่ห่างไกลลักษณก็มี

หนังสือปุราณะทุกฉบับแต่งเปนกาพย์ คือมีฉันท์กับโศลกคละกัน ส่วนรูปหนังสือนั้นมักเปนปุจฉาวิสัชนา และมีคนอื่น ๆ พูดแทรกบ้างบางแห่ง อายุของหนังสือไม่ใช่เปนสมัยเดียวกันหมด แม้ในเล่มเดียวกันก็มีข้อความบางตอนที่เห็นว่ามีผู้แต้มเติมเข้าใหม่ภายหลัง เชื่อมหัวต่อไม่สนิท หนังสือปุราณะทุกคัมภีร์มักอ้างว่าเปนของมุนีตนใดตน ๑ รับมาจากพระเปนเจ้า มาสอนให้ศิษย์อันมีนามว่าอย่างนั้น ๆ อีกชั้น ๑ เช่นวิษณุปราณะพระปุลัสตยมุนีรับมาจากพระพรหมา แล้วมาบอกเล่าให้ศิษย์ชื่อปะราศร และปะราศรบอกให้แก่ศิษย์ชื่อเมไตรย [ไมเต๎รย] อีกชั้น ๑ ฉนี้เปนตัวอย่าง ตำหรับปุราณะนั้นมีอยู่ ๑๘ คัมภีร์ แบ่งเปน ๓ นิกาย ตามลักษณะแห่งเรื่อง ดังต่อไปนี้

(ก) สาตตวิกนิกาย คือที่มีลักษณเต็มไปด้วยความเที่ยงธรรม หรืออีกนัย ๑ เรียกว่า ไพษณพ [ไวษ๎ณว] นิกาย เพราะกล่าวด้วยพระพิษณุเปนเจ้าเปนอาทิ มี ๖ คัมภีร์ คือ: (๑) วิษณุปุราณ (๒) นารท หรือ นารทียะปุราณ (๓) ภาควัตปุราณ (๔) ครุฑปุราณ (๕) ปทมปุราณ (๖) วราหปุราณ

(ข) ตามัสนิกาย เป็นตำหรับกล่าวด้วยสมัยเมื่อโลกยังขุ่น (ตม = ขุ่นหรือข้น ในภาษาไทยเราก็เก็บเอาคำนี้มาใช้ คือ “น้ำเปนตม ” นั้นเปนอาทิ) อีกนัย ๑ นิกายนี้เรียกว่า ไศพย [ ไศว๎ย ] นิกาย เพราะกล่าวด้วยพระศีวะเปนเจ้าเปนอาทิ มี ๖ คัมภีร์ คือ: (๑) มัตสยปุราณ (๒) กรมะปุราณ (๓) ลิงคปุราณ (๔) ศีวะปุราณ (๕) สกันทะปุราณ (๖) อัคนิปุราณ หรือ วายุปุราณ

(ค) ราชัสนิกาย คือตำหรับกล่าวด้วยสมัยเมื่อโลกเต็มไปด้วยความมืด [รัชส] และกล่าวด้วยพระพรหมา (หรือสมมุติว่าพระพรหมาเปนผู้แสดงบ้างบางเรื่อง) มี ๖ คัมภีร์ คือ: (๑) พรหมปุราณ (๒) พรหมาณฑะปุราณ (๓) พรหมไววรรตปุราณ (๔) มรรกัณเฑยปุราณ (๕) ภวิษยปุราณ (๖) วามนปุราณ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 มิถุนายน 2563 18:48:32 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 04 มิถุนายน 2563 18:51:51 »


ภาคผนวก ๒ อภิธานสังเขป
อธิบายศัพท์ต่าง ๆ เฉภาะที่มีใช้อยู่ในหนังสือนี้
(โดยลำดับอักขรานุกรม)

หมายเหตุ – คำใดที่เขียนเปนไทยไม่ตรงกับที่เขียนในภาษาสังสฤตได้มีเขียนอย่างสังสฤตกำกับไว้ในวงเล็บเหลี่ยม [ ] อย่างนี้ด้วยเพื่อเทียบกัน

----------------------------

นอกจากปุราณะทั้ง ๑๘ นี้ ยังมีอุปะปุราณอิก ๑๘ แต่มีข้อความซ้ำๆ กับปุราณะ และเปนหนังสือที่หาไม่ใคร่ได้เสียแล้ว

ปุรุ – เปนราชาองค์ที่ ๖ แห่งจันทรวงศ์ เปนโอรสสุดท้องแห่งท้าวยยาติและนางสรรมิษฐา ได้รับสมมติเปนรัชทายาทสืบสันตติวงศ์เพราะมีความกตัญญูกะตะเวที ยอมรับถูกสาบแทนพระบิดา (ดูที่ จันทรวงศ์) กษัตร์ที่เปนเชื้อราชาองค์นี้ได้นามว่าโปรพ (ดูที่ โปรพ ต่อไป)

ปุรูรพ [ปุรูรวัส์] – มีนามปรากฎมาแต่ในพระเวท เปนบุคคลที่เนื่องด้วยดวงตวันและอุษา และกล่าวว่าสถิตย์อยู่ในอากาศภูมิ ตามพระเวทว่าเปนลูกนางอิลา และเปนราชันผู้อยู่ในศีลในธรรม ต่อมาในมหาภารตกล่าวว่าปุรูรพเปนโอรสพระพุธกับนางอิลา บุตรีพระมนูไววัสวัต (ผู้เปนโอรสพระสุริยเทพ และเปนมหาชนกแห่งสุริยวงศ์) และพระปุรูรพนี้ได้ครองนครประดิษฐาน ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตวันออกแห่งที่แหลมระหว่างลำน้ำคงคากับยมุนาต่อกัน (อยู่ตรงข้ามฟากเมืองอัลลาหบัดเดี๋ยวนี้) ประดิษฐานเปนนครหลวงของกษัตริย์จันทรวงศ์ก่อนหัสดินบุระ การที่ปุรูรพซึ่งในยุคไตรเพทเปนนามแห่งบุคคลไม่มีตัว มาเกิดเปนผู้มีเนื้อมีตัวและเปนมหาชนกแห่งจันทรวงศ์ขึ้นดังนี้ ก็ลงรอยเข้าแบบแผนแห่งตำนานโปราณทั้งปวง คือในเมื่อแต่งพงษาวดารจันทรวงศ์ (ซึ่งในขณะที่แต่งพงษาวดารนั้นเปนกษัตริย์ครองอาณาจักร์) จะต้องเล่าเรื่องสืบสกูลขึ้นไปให้ไกลๆ จึ่งต้องโยงขึ้นไปให้ถึงผู้ ๑ ผู้ใดที่มีชื่อเสียงปรากฎอยแล้วในโบราณกาล และจำจะต้องให้ปรากฎว่าวงศ์นั้นเกิดขึ้นด้วยปาฏิหาร อย่างเช่นเรื่องวงศ์เชียงรายของเรา ก็ต้องเล่าสาวขึ้นไปจนถึงที่สุดแห่งความรู้เพียงใด ก็เอาปาฏิหารเข้าตรงนั้น จึ่งมีเรื่องพญาแสนปมและอินทรเภรีขึ้น แท้จริงนั้นพญาแสนปมจะไม่มีตัวเลยก็ได้ฉันใด ท้าวปุรูรพก็อาจจะไม่มีตัวเลยได้เหมือนกัน

ท้าวปุรูรพนี้เปนตัว “วิกรม” คือพระเอก ในเรื่องลครของกาลิทาสเรียกว่า เรื่อง “วิกรโมรวศี” (“วิกรมกับอุรวศี”) แต่เรื่องราวของท้าวปุรูรพและนางอุรวศีนั้น กาลิทาสไม่ได้คิดขึ้น เปนเรื่องโบราณอันมีอยู่แล้วในพระฤคเวท มีเปนคำสนทนาระหว่างปุรูรพกับนางอุรวศี และในหนังสือศัตบถพราหมณะซึ่งเปนตำหรับกำหนดกิจการของพราหมณ์ผู้กระทำน่าที่อัธวรยุ (คือผู้ลงมือทำการบูชายัญทั้งปวง) มีเล่าเรื่องปุรูรพกับอุรวศีที่รักใคร่ได้เสียกันอย่างไร และในหนังสือพวกปุราณก็มีอีก ภาควัตปุราณมีข้อกล่าวไว้ว่า “จากปุรูรพนั้นไซร้ได้บังเกิดซึ่งพระไตรเพทในต้นไตรดายุค”

ปุโรหิต – คือพราหมณ์ผู้มีน่าที่ประจำในราชสำนักแห่งราชา เพื่อแนะนำในกิจพิธีบูชาพระเปนเจ้า และในกิจการอื่นๆทั่วๆไป

โปรพ [เปารว] – กษัตร์ที่สืบสกุลจากท้าวปุรุจันทรวงศ์ ครองนครประดิษฐานและหัสดิน ต่อมากษัตร์โปรพแยกเปน ๒ พวก คือโกรพพวก ๑ ปาณฑพพวก ๑ วิวาทแก่งแย่งกันจนในที่สุดทำสงครามกันที่ตำบลกุรุเกษตร์ (ดู มหาภารต ต่อไป)

ไปศาจี – “ภาษาผี” เปนภาษาจัดเข้าในจำพวกปรากฤต (ดู ปรากฤต)

ประชาบดี – “เปนใหญ่ในประชา” เปนบิดาหรือผู้สร้างสัตว์ทั้งหลาย ในพระเวทเปนศัพท์ใช้เรียกพระอินทร์ พระสวิตฤ (ตวัน) พระโสม (น้ำโสม) พระหิรัณยครรภ (พรหม) และเทวดาอื่น ๆ มนูสํหิตา ใช้เรียกท้าวธาดาพรหมผู้สร้างและค้ำจุนโลก และพระมนูสวายัมภูว (ผู้แสดงมานวธรรมนั้นเอง) ก็เรียกว่าประชาบดี เพราะเปนลูกพระพรหมาและเปนชนกแห่งทศฤษี ซึ่งเปนชนกแห่งมนุษ (คำว่า “มนุษ” นั้น ก็คือแปลว่าเกิดแต่มนู) แต่โดยมากเมื่อกล่าวถึงประชาบดี ย่อมเข้าใจกันว่ามุ่งถึงท่านฤษี ๑๐ ตนผู้เปนชนกแห่งมนุษย์นั้นเอง

ทศฤษี ผู้ที่เรียกว่าพระประชาบดีนั้น ในมานวธรรมศาสตร์ได้ระบุนามไว้ คือ (๑) มรีจิ (๒) อัตริ (๓) อังคีรส (๔) ปุลัสตยะ (๕) ปุลหะ (๖) กระตุ (๗) วสิษฐ (๘) ประเจตัส หรือทักษะ (๙) ภฤคุ (๑๐) นารท แต่บางอาจารย์ว่ามีแต่ ๗ ซึ่งเรียกว่าสัปตฤษี หรือ มานัสบุตร์ (“ลูกเกิดแต่มโน”) ตำหรับศัตบถพราหมณะระบุนามไว้ คือ (๑) โคดม [โคตม] (๒) ภรัทวาช (๓) วิศวามิตร์ (๔) ชมัทอัคนี (๕) วสิษฐ (๖) กศป [กัศ๎ยป] (๗) อัตริ มหาภารตระบุไว้คือ (๑) มรีจิ (๒) อัตริ (๓) อังคีรส (๔) ปุลัสตยะ (๕) ปุละหะ (๖) กระตุ (๗) วสิษฐ ส่วนพระกศปนั้น มหาภารตเรียกว่า “มาริจี” คือเปนลูกพระมรีจิประชาบดีอีกชั้น ๑ แต่ก็ยังคงยกย่องให้เกียรติยศเรียกว่าประชาบดีเหมือนกัน เพราะเปนชนกแห่งเทวดาและมนุษย์และสัตว์หลายอย่าง (ดูที่ กศป)

เมื่ออธิบายมาเพียงเท่านี้แล้วก็พอจะสังเกตได้แล้วว่า ศัพท์ “ประชาบดี” นั้น ใช้เปนคำเรียกใครๆ หลายราย และเมื่อพบศัพท์นี้เข้าในหนังสือแห่งใดแล้ว ที่จะรู้ได้ว่ามุ่งเอาใครก็ได้แต่โดยพิจารณาประกอบกับความในเนื้อเรื่องเท่านั้น เช่นในธชัคคสูตร์ที่กล่าวว่า “อถ ปชาปติส์ส เทวราชัส์สธชัค์คํ อุล์โลเกย์ยาถ” ให้ดูธงท้าวประชาบดีเทวราชนั้น ต้องเข้าใจว่ามุ่งหมายตัวพระอินทร์เอง ฉนี้เปนตัวอย่าง

ประเวศกะ – ชุดแทรกในนาฏกะ (ลครสังสกฤต)

ประหัสน์ – ลครตลกสังสกฤต

ปรากฤต [ป๎ราก๎ฤต] – เปนภาษาสามัญของภาษาสังสกฤต คือภาษาที่ประชาชนพูดกันในพื้นเมือง แคว้น ๑ ๆ ก็พูดแปลกไปอย่าง ๑ ๆ แต่ก็คงจะอยู่ในจำพวกเดียวกับภาษาสังสกฤตนั้นเอง เช่นภาษาที่ไทยชาวบางกอกพูด กับไทยเหนือในมณฑลพายัพพูดก็ผิดกัน แต่ก็เข้าใจกันได้ หรือชาวบางกอกกับพวกไทยใหญ่ (อย่างเชียงตุงเปนต้น) ก็พูดคนละอย่างแต่เข้าใจกันได้ ดังนี้เปนต้น ภาษาจำพวกที่เรียกว่าปรากฤตนั้นต่างกิ่งก็ต่างมีนามเรียกตามชื่อชนบทบ้าง เช่น มคธี (ภาษามคธ) อวันตี (ภาษาอวันติราษฎร์) มหาราษฎรี (ภาษามหาราษฎร์) หรือมิฉนั้นก็เรียกโดยความดูถูก เช่นอัปะภรังศะ (ผิดเพี้ยน) ไปศาจี (ภาษาผี) ฉนี้เปนตัวอย่าง

พนัสบดี [วนัส๎ปติ] – แปลว่า “เปนใหญ่ในป่า” ในชั้นตัน เช่นในตำหรับยุคไตรเพท ใช้เรียกต้นไม้ใหญ่ๆ ทั้งปวง และเครื่องมือต่างๆ ที่ทำด้วยไม้ต้นไม้ใหญ่ เช่นครกและสากตำเข้าเปนต้น ก็เรียกว่าพนัสบดี ต่อมาในชั้นหลังเกิดมีความนิยมกันขึ้นว่า ต้นไม้ใหญ่มักเปนที่อาไศรยแห่งรุกขเทวดา จึ่งเรียกเทวดานั้น ๆ เปนคำย่อว่าพนัสบดี ไม่ใช่เปนนามเทวดาองค์ใดองค์ ๑ โดยเฉภาะ ถ้าจะเทียบศัพท์ให้ใกล้ควรใช้ว่า “เจ้าป่า”

พิษณุ [วิษ๎ณุ] – คือพระเปนเจ้าซึ่งมักใช้นามเรียกว่าพระนารายน์ ในยุคไตรเพท พระพิษณุเปนสหายพระอินทร์ แต่พระอินทร์เปนใหญ่กว่า ต่อมาในชั้นยุคปุราณะ พระพิษณุจึ่งมาเกิดเปนใหญ่เปนโตขึ้น จนเปนองค์ ๑ ในพระเปนเจ้าทั้ง ๓ ที่นับถือสูงสุดของพราหมณ์ ได้รับแบ่งน่าที่ให้เปนผู้สงวนโลก (หริ) หรือกู้โลก คือเมื่อบาปกรรมมีหนาแน่นในโลกเมื่อใดก็อวตารลงมาช่วยสงเคราะห์เสียครั้ง ๑ เพื่อดับเข็ญให้เย็นในโลกทั้งสาม

อวตารหรือปางของพระพิษณุนั้น มีมากหลายปาง แต่ที่นิยมนับกันว่าเปนปางใหญ่มีสิบปาง ดังต่อไปนี้

ปางที่ ๑ มัตสยาวตาร เปนปลา (ตรงกับของเรา แต่เราลำดับเปนปางที่ ๓)

ปางที่ ๒ กูรมาวตาร เปนเต่า (ของเราก็เปนเต่า แต่เรียกว่า “กัจฉปาวตาร” และเปนปางที่ ๒ ตรงกัน)

ปางที่ ๓ วราหาวตาร เปนหมู (ตรงกับของเรา แต่เราลำดับเปนปางที่ ๑)

ปางที่ ๔ นรสิงหาวตาร เปนนรสิงห์ (ตรงกัน แต่ของเรา ลำดับเปนที่ ๖)

สี่ปางนี้อวตารมาในกฤดายุค (ยุคที่ ๑ แห่งโลก)

ปางที่ ๕ วามนาวตาร เปนคนเตี้ย (ของเราเรียกว่า “ทวิชาวตาร” และลำดับเปนปางที่ ๗)

ปางที่ ๖ ปรศุรามาวตาร เปนปรศุราม (คือที่เราเรียกว่า “รามสูร” ของเราไม่นับเปนนารายน์อวตาร กลับไพล่ไปเปนยักษ์ ผิดถนัดใจ)

ปางที่ ๗ รามาวตาร เปนพระราม (ของเราลำดับเปนปางที่ ๑๐)

สามปางนี้อวตารในไตรดายุค (ยุคที่ ๒ แห่งโลก)

ปางที่ ๘ กฤษณาวตาร เปนพระกฤษณ (ของเรามีอยู่แต่นิดเดียว คือเปนท้าวบรมจักรกฤษณปราบท้าวกรุงพาณในเรื่องอุนรุท แต่ลำดับเปนปางที่ ๘ ตรงกัน) ปางนี้อวตารในทวาบรยุค (ยุคที่ ๓ แห่งโลก)

ปางที่ ๙ พุทธาวตาร เปนพระสมณโคดมบรมศาสดาจารย์ (ของเราไม่นับ) ปางนี้อวตารในกลียุค (ยุคที่ ๔ แห่งโลก)

ปางที่ ๑๐ กัลกิยาวตาร เปนมหาบุรุษขี่ม้าขาว (ของเราไม่มี) ปางนี้ยังจะมีมาในอนาคตกาล คือที่สุดแห่งกลียุค คล้ายพระศรีอารย์ของเรา คือเมื่อถึงปางท่านผู้นี้โลกจะมีศุขทั่วไป

พระนารายน์มีพระมเหษีทรงพระนามว่าพระลักษมี หรือพระศรี ก็เรียก (ไม่ใช่มีมเหษี ๒ องค์อย่างที่มักเข้าใจกัน และอยากให้มี) ที่สถิตของพระนารายน์เรียกว่าไวกูณฐ (ไม่ใช่ไวยกูณฐ) พาหนะคือพญาครุฑ รูปพระนารายน์มักเขียนเปนชายหนุ่มรูปร่างสละสลวย สีกายนิลแก่ ทรงเครื่องอย่างมหากษัตร์ มีสี่กร ถือศังข์ชื่อปาญจะชันยะ จักรชื่อสุทรรศน์ หรือวัชรนาภะ คทาชื่อเกาโมทกี และ ดอกประทุม มีธนูชื่อศารนคะ พระขรรค์ชื่อนนทก บนอธุระมีขนเรียกว่าศรีวัตสะ มีแก้วทับทรวงชื่อเกาสตุภ มีวไลยฝังด้วยแก้วชื่อสัยมนตก ในรูปบางทีก็เขียนนั่งบนดอกบัวกับพระลักษมี หรือบรรทมบนใบบัว บางทีก็บรรทมเหนือพญานาค ชื่อ เศษนาคราช หรืออนันตนาคราช บางทีก็ขี่เวนตัยครุฑราช

พระนารายน์มีนามตั้งพัน จึ่งเรียกว่าสหัสรนาม นามที่ใช้ๆ อยู่มากคือ อัจยุต (ไม่ตกไม่สูญ) อนันต (ไม่มีที่สุด) อนันตไศยน (นอนบนอนันตนาค) จัตุรภูช (สี่แขน) ทาโมทร (พุงทาม เมื่อเปนกฤษณ) โควินท์ หรือ โคบาล (เมื่อเปนกฤษณ) หริ (ผู้สงวน) หฤษีเกศ (ยอดแห่งความรู้สึกทั้งปวง) ชลไศยิน (นอนน้ำ) ชนรรท์ทนะ (ผู้ซึ่งชนไหว้) เกศวะ (ผมงาม) กิรีติน (ใส่มงกุฎ) ลักษมิบดี (ผัวลักษมี) มธุสูทน์ (สังหารมธุอสูร) มาธพ (เกิดแต่มธุ) มุกุนท์ (ผู้ช่วยให้พ้น) นร (คน) นารายน์ (ผู้กระดิกในน้ำ) ปัญจายุธ หรือ ปัญจาวุธ (ถืออาวุธ ๕) ปทมนาภะ (สดือดอกบัว) ปิตามพร (นุ่งเหลือง) บุรุษ (ผู้ชายหรือดวงวิญญาณ) ปุรุโษดม (ยอดชาย) ศารนคิน หรือ ศารนคิปาณี (ถือธนูศารนคะ) วาสุเทพ (ลูกวสุเทพ คือกฤษณ) ไวกูณฐนาถ (จอมไวกูนฐ) ยัญเญศ หรือ ยัญเญศวร (เปนใหญ่ในยัญกรรม)

เพท – ดูที่ เวท

ไพชยนต์ [ไวช๎ยันต] – ชื่อวิมานพระอินทร์ ในภาษาไทยเราเขียนว่า “เวชยันต์” ตามภาษามคธก็มี กับธงของพระอินทร์ก็เรียกว่า ไพชยนต์ (แต่รถนั้นเปนที่สงสัย ดูที่ วิมาน)

พรหมา [พ๎รห๎มา] – พระเปนเจ้าผู้สร้างโลก มีกำเหนิดจากไข่ เปนมหาประชาบดี ยอดแห่งฤษีทั้งหลาย

เมื่อพระพรหมาได้สร้างโลกขึ้นแล้ว โลกจะคงอยู่ได้มีกำหนด ๑ วันของพระพรหมา คิดเปนปีมนุษย์ได้สองร้อยสิบหกโกฏิปี (เขียนเปนตัวเลข ๒,๑๖๐,๐๐๐,๐๐๐) เมื่อสิ้นวัน ๑ ของพระพรหมาแล้ว มีไฟบรรลัยกัลปไหม้โลกและสรรพสัตว์วัตถุทั้งปวง เว้นแต่พระมหาฤษีทั้งหลาย เทวดาทั้งหลาย และธาตุทั้ง ๕ (คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ) พระพรหมาบรรทมหลับตื่นขึ้นแล้วจึ่งจะสร้างโลกใหม่ อันจะคงอยู่ไปได้อีกวัน ๑ ของพระพรหมา และจะวนเวียนไปเช่นนี้จนบรรจบครบ ๑๐๐ ปีของพระพรหมา (ซึ่งถ้าจะคำนวณเปนปีมนุษย์จะต้องเขียนด้วยเลข ๑๕ ตัวจึ่งจะพอ) จึ่งจะถึงเวลามหาประลัย คือเวลากระจัดกระจายอันใหญ่ยิ่ง พระพรหมาเองก็ดี พระฤษีก็ดี เทวดาก็ดี และทุกสิ่งทุกอย่างจะกระจัดกระจายแยกออกเปนธาตุต่างๆ อย่างที่เปนอยู่แต่เดิมที

พระพรหมานี้ ออกนามบ่อยๆ ในพิธี แต่มีเทวสถานสำหรับพระพรหมาโดยเฉภาะเพียงแห่งเดียว คือที่ตำบลบุษกร แคว้นอาชมีร์ มัธยมประเทศ ซึ่งเปนพยานปรากฎว่าพราหมณ์มิได้บูชาพระพรหมาโดยลำพังเลย มักบูชาพร้อมกับพระอิศวรหรือพระนารายน์ (ทั้งนี้น่าจะเปนเพราะเห็นว่าพระพรหมพระไทยเย็นๆ และไม่ใคร่จะอวตารลงมาตึงตังในโลก จึ่งไม่ใคร่ต้องประจบประแจงนัก รวบรวมความก็แปลว่าไม่กลัว จึ่งไม่ต้องประจบ ซึ่งเปนธรรมดาโลกฉนี้อยู่)

พระพรหมานั้น ว่าสีกายแดง (ไม่ใช่ขาว) มีสี่หน้า จึ่งเรียกว่า จัตุรานน หรือ จัตุรมุข และ อัษฎกรรณ (แปดหู) มีสี่กร เครื่องถือมีธารพระกร ช้อน (สำหรับหยอดเนยในไฟ) กับมีประคำ มีธนูชื่อ ปริวีตะ มีหม้อน้ำและ (ในชั้นหลังๆ) คัมภีร์ มเหษี คือพระสรัสวดี เปนเทวีผู้อุปถัมภ์การศึกษา และเรียกว่าพระพราหมี ก็เรียก พาหนะคือหงส์ (ท่าน) จึ่งมีนามว่า หงสวาหน ที่สถิตย์เรียกว่า พรหมพฤนทา

พระพรหมานี้ ถูกแย่งอภินิหารไปให้พระอิศวรและพระพิษณุเสียมาก จนกระทั่งชื่อก็ถูกแย่ง เช่นนารายน์เดิมก็เปนชื่อพระพรหมา แต่ถูกแย่งไปให้พระพิษณุ หนังสือพวกปุราณะนั้นแลอยู่ข้างจะดูถูกพระพรหมามาก จึ่งมีถูกพระอิศวรลงโทษก็มี เกิดในดอกบัวจากนาภีพระพิษณุก็มี ถึงในรามายณก็ดูถูกพอใช้อยู่ และพระพรหมานั้นดูมีอัธยาศัยที่ขัดใครไม่ได้ ใครขอพรก็ให้ทั้งนั้น ยักษ์มารที่กำเริบก็มักเปนเพราะได้พรพระพรหมา (ที่ฝ่ายเราว่าพระอิศวรเปนผู้ให้พรนั้น เห็นจะหลงไปโดยเหตุที่ตกอกตกใจว่าพระอิศวรเปนยอดอย่าง ๑ และฉวยเอาศัพท์ว่า “โลเกศ” และ “ปรเมษฏ์” ซึ่งเปนนามพระพรหมไปยกให้พระอิศวรนั้นอีกอย่าง ๑ ซึ่งที่จริงไม่ควรจะให้เปนไป เพราะพระอิศวรไม่ใช่เทวดาที่มักใจเย็น หรือมีลักษณเปนคนแก่อย่างพระพรหม ไม่เชื่อขอให้เทียบกันดูเถิด ดูที่ ศีวะ ต่อไป)

นามพระพรหมานอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีที่ใช้กันอยู่อีกบ่อยๆ คือ วิธิ เวธา ท๎รุหิณ และ สรัษฏฤ แปลว่าผู้สร้าง ธาดา [ธาต๎ฤ] และ วิธาดา [วิธาต๎ฤ] แปลว่าผู้ทรงไว้ ปิตามหา (บิดาใหญ่) โลเกศ (จอมโลก) ปรเมษฏ์ (เป็นใหญ่ยิ่งในสวรรค์) สนัต (เก่า) อาทิกะวี (กวีแรก)

พราหมณ์ [พ๎ราห๎มณ] – เปนชนชาติ (หรือวรรณ) ที่ ๑ ตระกูลนักบวช แต่ไม่จำจะต้องบวชทุกคน

มานวธรรมศาสตร์จัดพราหมณ์เปน % ชั้น [อาศ๎รม] คือ:–

๑ – พรหมจารี – นักเรียนมีน่าที่เปนผู้ปฏิบัติและศึกษาพระเวทในสำนักคณาจารย์คนใดคน ๑ (เทียบกับทางพุทธศาสน์คือ สามเณรและนวกะ)

๒ – คฤหัสถ์ – ผู้ครองบ้าน มีภรรยาแลครอบครัว เปนหัวน่าในบ้าน อ่านและสอนพระเวท ทำการยัญบูชาเองหรือช่วยผู้อื่นกระทำยัญกรรม ให้ทานและรับทักษิณา

๓ – วานปรัสถ์ – ผู้อยู่ป่า ละเคหสถานแลครอบครัว เข้าป่าไปเพื่อทรมานตน มักน้อยในอาหารและเครื่องนุ่งห่ม กระทำทุกรกิริยาต่างๆ สมาธิ และมั่นคงในกิจวัตร (พวกดาบสและโยคีอยู่ในจำพวกนี้)

๔ – สัน์น๎ยาสี – เที่ยวภิกขาจาร เลี้ยงชีพด้วยการขอเขากิน และตั้งจิตมุ่งอยู่ตรงพระปรพรหมและนฤพาน อีกนัย ๑ เรียกว่า ภิกษุ (แต่คำภิกษุหรือภิกขุในสมัยนี้ ใช้เรียกแต่นักบวชในพระพุทธศาสนาเปนพื้น พราหมณ์ที่ประพฤติอย่างภิกขุคงเรียกว่าสันนยาสีอย่างเดียว)

/*ชาติพราหมณ์มีแบ่งเปนตระกูลเล็กตระกูลน้อยเปนอันมากเหลือที่จะพรรณาได้หมด ที่นับว่าเปนตระกูลหรือคณอันมีชื่อเสียงมากที่สุดคือคณเหนือกับคณใต้ ดังนี้ :

ปัญจโคท (คณเหนือ) อยูในแคว้นองคราษฎร์ (Bengal) มี ๕ เหล่า คือ

๑ กานยกุพชะ อยู่เมืองกันยกุพช์ (Kanauj)
๒ สารัสวัต อยู่ตามริมฝั่งน้ำสรัสวดี (Sarsuti River)
๓ โคทะ (Gauda, Bengal)
๔ มิถิลา (North Bihar)
๕ อุตกล (Orissa)

ปัญจท๎ราวิท (คณใต้) คือคณพราหมณ์ทมิฬ มี ๕ เหล่า คือ
๑ มหาราษฎร์ (Mahratta Country)
๒ เตลิงคะ (Telegu Country)
๓ ท๎ราวิท หรือ ทมิฬ (Tamil Country)
๔ กรรนาฎ (Canarese Country)
๕ คูร๎ชระ (Gujerat)

(ข้าพเจ้าได้เขียนนามตำบลเปนภาษาอังกฤษกำกับไว้ เพราะเห็นว่าถ้ามิฉนั้นผู้ที่ศึกษาภูมิศาสตร์ตามตำราฝรั่งจะฉงน จะบ่นว่าไม่รู้ว่าที่ไหนเปนที่ไหน เช่นเมืองมหาราษฎร์เปนต้น เคยได้ยินแต่ครูเขาเรียกอย่างอังกฤษว่า “มาแร๊ตต้า” จะให้รู้จักอย่างไร เมื่อมาเห็นเขียนเปนไทยว่า “มหาราษฎร์”)

ภรต [ภรต] – (อ่านว่า “ภะรต” ไม่ใช่ “ภ๎รต” ดังนี้) มีหลายคนที่มีชื่อเช่นนี้ ที่พอจะเก็บมาระบุได้ คือ

(๑) เปนราชาผู้หนึ่ง ในโบราณสมัย มีนามมาในพระเวท เปนวีรบุรุษและมหาชนกของชนชาติ ๑ ซึ่งมีชื่อในพระเวทเรียกว่า “ภารต” (เกิดแต่ภรต) นามท่านภรตผู้นี้มักไปปนกับพระวิศวามิตร เพราะเหตุที่ลูกท้าวภรตนี้ชื่อวิศวามิตร และลูกพระวิศวามิตรชื่อภรต

(๒) เปนราชาผู้ ๑ อยู่ในมันวันตระหรือมนูยุคที่ ๑ เปนผู้ที่มีความศรัทธาในพระพิษณุเปนอันมาก ได้ละราชสมบัติเพื่อจะได้สมาธิรำฦกถึงพระพิษณุเปนเนืองนิตย์ แต่พะเอินมีเหตุที่ทำให้เสียความมุ่งแน่วอันนั้น จึ่งต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีกนาน กว่าจะได้ถึงที่สูญสุด (นิรพาน)

(๓) โอรสท้าวทศรถกับนางไกเกยี (ไกยเกษี) อนุชาพระราม (ซึ่งในรามเกียรติของเรามาเรียกว่า “พระพรต” นั้นผิดถึง ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ คืออ่าน “ภะรต” เปน “ภ๎รต” ชั้นที่ ๒ ไม่รู้หนังสือ เอา “พ” แทน “ภ” ตัว “พ” กับ “ภ” ๒ ตัวนี้ที่ไทยๆเรามักใช้ปนกันเลอะเทอะมาก เพราะอ่านออกสำเนียงเหมือนกัน) เรื่องราวของพระภรตองค์นี้ มีละเอียดอยู่ในรามเกียรติของเราแล้ว ไม่ต้องเล่าซ้ำในที่นี้ เปนแต่จะขอให้ท่านผู้อ่านสังเกตไว้หน่อย ๑ ว่า ในหนังสือรามเกียรติของเรามีข้อว่าพระภรตไม่ได้ถวายเพลิงท้าวทศรถ เพราะท้าวทศรถกริ้วจึ่งห้ามไว้มิให้นางไกยเกษีกับพระภรตถวายเพลิง แท้จริงในรามายณมิได้มีข้อความเช่นนั้น มีกล่าวชัดว่าพระภรตเปนผู้จัดการถวายเพลิงท้าวทศรถ (ธรรมเนียม “ห้ามไม่ให้ดูผี” หรือห้ามมิให้เผาศพไม่ใช่ธรรมเนียมของชาวมัธยมประเทศ ดูท่าทางสมจะเปนธรรมเนียมจีน เพราะจีนมักชอบลงโทษกันแปลก ๆ ต่างๆ ซึ่งคนชาติอื่นไม่ทำ) อีกข้อ ๑ ซึ่งควรกล่าวในที่นี้ คือเมื่อพระรามเสร็จศึกลงกากลับเข้ามาครองกรุงศรีอโยธยาแล้ว พระภรตได้ไปทำศึกกับ “คนธรรพอันดุร้ายอันมีจำนวนนับได้ตั้งสามโกฏิ” และเมื่อมีไชยแล้ว ได้ตั้งตนเปนใหญ่ในแว่นแคว้นแดนคนธรรพเหล่านั้น นี่เองคือเรื่องศึกพระภรตพระศัตรุฆน์ ซึ่งมีอยู่ในรามเกียรติบั้นปลายของเรา แต่ “ คนธรรพอันดุร้าย” นั้น เรามาเกณฑ์ให้เปนยักษ์ เพื่อจะให้คล้าย ๆ ครั้งศึกลงกาของพระรามพระลักษณ์

(๔) พระภรตจันทรวงศ์ เปนโอรสท้าวทุษยันต์กับนางศกุนตลา เปนราชาครองนครหัสดิน และนิยมกันว่าท้าวภรตองค์นี้ เปนประถมจักรพรรดิ กษัตร์จันทรวงศ์ต่อท่านผู้นี้ลงไปเรียกว่าภารตกษัตร์ได้ทั้งนั้น แต่ที่ใช้กันอยู่มากที่สุดคือใช้เรียกกษัตร์ปาณฑพทั้ง ๕ มีพระยุธิษเฐียรเปนอาทิ (ดูที่ปาณฑพ) เหตุฉนี้การสงครามใหญ่ซึ่งกษัตริย์ปาณฑพทั้ง ๕ ได้กระทำจึ่งเรียกว่ามหาภารตยุทธ์ (ดูที่ มหาภารต ต่อไป)

(๕) เปนชื่อพระมุนีตน ๑ ซึ่งนิยมกันว่าเปนประถมาจารย์ครูเถ้าแห่งนาฏศาสตร์ คือวิชารำ (ดูในภาคผนวก “กล่าวด้วยนาฏกะ”)

นอกจากนี้มีผู้ที่ชื่อภรตอีกหลายคน เช่นตัวพระเอกในเรื่องนางเมรี ซึ่งเราเรียกกันว่า “พระรต” นั้น ก็ชื่อ “พระภรต

ภารต – “ผู้เกิดแต่ภรต” คือสกุลพระภรต มักใช้เรียกกษัตริย์ปาณฑพ

ภารตวรรษ – “แดนพระภรต” คือแดนมนุษที่รู้จักในโบราณสมัย. แบ่งเปน ๙ ขัณฑ์ กล่าวคือ (๑) อินทรทวีป (๒) กเศรุมัต (๓) ตามรวรรณ (๔) อภัสติมัต (๕) นาคทวีป (๖) เสามัยขัณฑ์ (๗) คานธรรพขัณฑ์ (๘) วรุณขัณฑ์ กับ ภารตขัณฑ์ รวมเปน ๙ ด้วยกัน

มคธ – เปนชื่อแคว้นอัน ๑ ซึ่งบัดนี้รวมอยู่ในแคว้นพิหาร (Bihar) ภาษาที่ใช้ในแคว้นนี้เรียกมคธี หรือบาฬี จัดเข้าไว้ในจำพวกภาษาปรากฤตอัน ๑ (ดูที่ ปรากฤต)

มัฆวาน – แปลว่า “ผู้มั่งมี” เปนนามพระอินทร

มัลลิกา – คือดอกมลิ

มหาภารต – เปนเรื่องราวกล่าวด้วยมหาภารตยุทธ์ คือการสงคราม ซึ่งภารตกษัตร์ (ปาณฑพทั้ง ๕) ได้กระทำกับกษัตร์โกรพ หนังสือนี้เปนหนังสือยาวมาก แบ่งเปน ๑๘ บรรพ และตามที่ผู้พิจารณาในวรรณคดีและโบราณคดีได้ตรวจสอบแล้วโดยละเอียด ลงความเห็นว่า เรื่องราวต่างๆ ที่รวบรวมอยู่ในเรื่องมหาภารตนั้น มีเปนเรื่องอันมีมาแต่ยุคไตรเพทหลายเรื่อง แต่ที่มีผู้แต่งแต้มเติมหรือผนวกลงไปทั้งๆ ก้อนใหญ่ก็มีเปนอันมาก

เรื่องมหาภารตนี้ในชั้นต้นก็เปนแต่เรื่องซึ่งพราหมณ์ท่องจำขึ้นใจและสาธยายด้วยปาก ต่อมาในชั้นหลังจึ่งได้ลงเปนลายลักษณ์อักษร ผู้ที่รวบรวมขึ้นเปนรูปนั้นเปนฤษี มีนามเต็มว่าก๎ฤษ๎ณไท๎วปายนว๎ยาส แต่มักเรียกกันว่าพระวยาสมุนี (ท่านผู้นี้กล่าวกันว่าเปนผู้ที่จัดพระไตรเพทลงระเบียบด้วย) พระวยาสมุนีได้สอนให้แก่ศิษย์ผู้ ๑ มีนามว่า ไวศัมปายน และพราหมณ์ผู้นี้ได้ไปสวตมหาภารตเปนครั้งแรก ถวายท้าวชนเมชัยราชาจันทรวงศ์ เมื่อครั้งทำพิธีราชสูยะณนครหัสดิน (ท้าวชนเมชัยนี้เปนโอรสท้าวปริกษิต ท้าวปริกษิตเปนโอรสพระอภิมันยุ จึ่งเปนนัดดาพระอรชุน)

เรื่องใหญ่แห่งมหาภารตนั้น ว่าด้วยกำเหนิดแห่งกษัตร์ปาณฑพและโกรพ ว่าด้วยวิวาทกัน ตลอดจนถึงการทำสงครามต่อกันที่ทุ่งกุรุเกษตร์ และพระยุธิษเฐียรเปนราชาธิราช แล้วทำพิธีอัศวเมธ (“ปล่อยม้าอุปการ”) จนกษัตร์ปาณฑพทั้ง ๕ ไปสู่สวรรค์ เปนเรื่องราวอันวิจิตรพิศดารมากมาย แม้แต่จะเก็บเรื่องมาเล่าโดยย่อพอเปนสังเขป ก็จะต้องการหน้ากระดาษมากหลายน่าจึ่งจำต้องงดไว้

นอกจากตัวเรื่องใหญ่ ยังมีเรื่องเกร็ดหรือแถม เช่นเรื่องศกุนตลา [ศกุน์ตโลปาข๎ยาณํ] ในอาทิบรรพ (บรรพที่ ๑) และเรื่องพระนล [นโลปาข๎ยาณํ] ในวันบรรพ (บรรพที่ ๓) เปนต้น กับยังมีหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลังแท้ ๆ แต่นิยมนับเข้าเปนส่วน ๑ แห่งมหาภารต คือ ภาควัทคีตา และ หริวํศ (ซึ่งมีอธิบายไว้ต่างหากในอภิธานนี้) เปนต้น

ส่วนอายุของมหาภารตนี้ ยากที่จะกล่าวเปนแน่นอนได้ ถ้าจะว่าในส่วนเรื่องนักปราชญ์มีความเห็นว่าได้รวบรวมขึ้นในสมัยกาลประมาณปีล่วงมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๕๐๐ ปี แต่ต้องเข้าใจว่าเหตุการณในเรื่องนั้นได้เปนไปแล้วช้านานก่อนกาลนั้น (คือเมื่อจับรวบรวมเปนรูปเข้านั้น เรื่องราวเปนเรื่องโบราณอยู่แล้ว) แต่ถึงเมื่อรวบรวมขึ้นแล้วก็ยังมิได้ลงเปนลายลักษณ์อักษรจนต่อมาอีก ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ ปี เพราะฉนั้นอายุของมหาภารต นับจำเดิมแต่ได้ลงเปนลายลักษณ์อักษรมาแล้วนั้น ได้ประมาณ ๒๓๐๐ ถึง ๒๒๐๐ ปี หนังสือมีเปนหลายฉบับ คัดลอกกันต่อๆ มา เปนที่เคารพนับถือในหมู่ชนชาวมัธยมประเทศว่าเปนพระคัมภีร์สำคัญ ซึ่งแม้ผู้ใดได้อ่านหรือได้ฟังก็จะเปนสวัสดิมงคลอย่างยิ่ง

มหาภาษย์ – ชื่อหนังสืออัตถะกะถาของอาจารย์ชื่อปตัญชลีว่าด้วยปาณินีไวยากรณ ซึ่งเปนหนังสือสำคัญเพราะเปนแบบแผนภาษาสังสกฤต ตังแต่ปาณินีได้แต่งไวยากรณนี้แล้ว ก็มีผู้แต่งอัตถะกะถาอธิบายมาหลายราย มีปตัญชลีนี้ราย ๑ กับกาตยายนาจารย์อีกราย ๑ เปนอาทิ

มหาราษฎรี – เขียนตามภาษาพื้นเมืองว่า “มหารัฏ์ฐี” เปนภาษาที่พูดกันในแดนมหาราษฎร์ หรือตามภาษาพื้นเมืองนั้นเองเรียกว่า “มหารัฎ์ฐ” จัดเข้าในจำพวกภาษาปรากฤตอัน ๑ ซึ่งไม่เพี้ยนจากสังสกฤตมากนัก

แคว้นมหาราษฎร์นี้ คือที่เรียกตามภาษาภูมิศาสตร์ อังกฤษว่า “มาหแร๊ตต้า” (Mahratta)

มาตุลี [มาตลิ] – สารถีของพระอินทร์

มาลินี – ชื่อลำน้ำ ซึ่งกล่าวถึงในเรื่องศกุนตลา (ศัพท์แปลว่า “พวงดอกไม้”)

มิศระ – ชื่อสกุลพราหมณ์ ๒ คน ผู้รับใช้พระกัณวะให้พานางศกุนตลาเข้าไปถวายท้าวทุษยันต์ ชื่อตัวพราหมณ์ทั้ง ๒ นั้น ชื่อ ศรัทวัต คน ๑ ศรรนคะรพ คน ๑

มุกดา [มุก์ตา] – คือแก้วชนิดที่เราเรียกกันในกาลปัตยุบันนี้ว่า “ไข่มุกต์” ตามความเข้าใจกันโดยมากนั้น มักว่าแก้วมุกดาคือพลอยสีขาวๆ ชนิด ๑ ซึ่งเปนพลอยอย่างเลว ที่พลอยชนิดนี้มาเกิดเปนมุกดาขึ้นนั้นก็เปนเพราะแก้วมุกดาแท้ หรือไข่มุกด์นั้น หายาก ในเมืองไทยเราแต่ก่อนๆ จะไม่ใคร่เคยเห็น ครั้นเมื่อจะทำแหวนนพเก้าก็ปฤกษาหารือครูบาอาจารย์ มีมุกดาอยู่ในพวกนพรัตน์อัน ๑ อาจารย์คงบอกว่า “เป็นแก้วสีขาวซึ่งงมมาจากในมหาสมุท” ก็คงร้องกันว่า “แก้วอะไรจะไปอยูในมหาสมุทช่างเถอะ” ดังนี้ แล้วก็เลยมองหาพลอยอะไรที่มีสีขาวมาได้และพูดว่า “นี่เองแหละนะแก้วมุกดา ตาอาจารย์แกพูดไว้วิจิตรพิศดารไปกระนั้นแองว่างมแง็มอะไรจากท้องทเล มันก็อยู่บนบกนี้แหละ” ทั้งถึงแม้ว่าจะไปเอาไข่มุกต์มาให้ก็ทีจะไม่ใคร่ชอบด้วยซ้ำ เพราะเห็นไม่เปนแก้วเปนพลอยไม่แวมๆ วาวๆ ไม่เปนลูกปัด ที่ไหนจะชอบ

มุนี – คือพราหมณ์ชั้นสูง ผู้มีความรอบรู้ชั้นสูง

เมนะกา – ชื่อนางฟ้า ซึ่งพระอินทร์ได้จัดให้ลงไปทำลายพิธีพระวิศวามิตร เมื่อพระวิศวามิตรบำเพ์ญตะบะจนร้อนทั่วไป นางเมนะกาล่อลวงพระเกาศิกมุนีนั้นจนพิธีแตกด้วยความหลง แล้วนางมีบุตรีคน ๑ คือนางศกุนตลา

ยัชุรเวท – ดูที่ เวท

โยคี – ผู้รู้หรือศึกษาในโยคกรรม มักใช้เรียกพราหมณ์ที่เที่ยวอยู่ในป่าและทรมานตนด้วยอาการต่างๆ

ยุธิษเฐียร – เปนนามมหาราชผู้ครองนครหัสดิน เปนพี่ใหญ่ในกษัตริย์ปาณฑพทั้ง ๕ (ดูที่ ปาณฑพ)

รัตนกะวี – ดูที่ นวรัตนกะวี

ระวิ หรือ ระพี – คือพระอาทิตย์ หรือ ดวงตวัน นามนี้มักใช้เรียกพระอาทิตย์ เมื่อกล่าวถึงอยู่ในหมู่เทวดาสัปตเคราะห์หรือนพเคราะห์ วันอาทิตย์จึ่งเรียกว่า “ระวิวาร” และถ้าจะทำเปนรูปจำลองแขวนในพิธีก็ทำเปนแผ่นสัมฤทธิ์กลมกว้างที่ตรงเส้นสูรย์ ๑๒ องคุลี (ดูที่ สุริย ต่อไป)

รากษส – (อิถีลึงค์เปน “รากษสี”) เปนอสูรจำพวก ๑ ซึ่งดีก็มีชั่วก็มี แต่โดยมากมักเปนศัตรูกับเทวดา อาไศรยอยู่ตามป่าช้า ชอบกวนพราหมณ์ในขณะทำพิธี มักกวนพราหมณ์ผู้ตั้งใจสมาธิ เข้าสิงในทรากศพ กินคน และรบกวนให้ร้ายแก่มนุษโดยอาการต่าง ๆ พวกรากษสเมื่อครั้งได้ท้าวราพนาสูรเปนราชาเที่ยวรังควานขนานใหญ่ จนพระรามปราบแล้วจึ่งค่อยสงบไปพัก ๑

ส่วนกำเหนิดแห่งรากษสนั้น มีเล่าไว้ต่างๆ กันในที่ต่างๆ บ้างก็ว่าเปนลูกหลานพระปุลัสตย์มุนี บ้างก็ว่าเกิดจากพระบาทพระธาดา วิษณุปราณะว่าเกิดแต่รากษะพราหมณ์ผู้เปนลูกพระกศปกับนางขศา และรามายณกล่าวว่าเมื่อพระพรหมาได้ทรงสร้างน้ำขึ้นแล้ว ได้ทรงสร้างภูตจำพวก ๑ ขึ้นไว้เปนผู้รักษาน้ำทั้งปวง และนาม “รากษส” นั้นว่ามีมูลจากคำว่า “รักษ” นั้นเอง ตามทางที่ควรสันนิษฐานคือรากษสคงจะเปนคนป่า ซึ่งพวกอริยกะได้เข้ามาพบอยู่ในมัธยมประเทศและได้รบพุ่งปราบปราม การรบนี้คือ “เทวาสุรสงคราม

พวกรากษสมีนามเรียกอีกหลายอย่าง ซึ่งมักเปนนามบอกลักษณะหรือความประพฤติ เปนต้นว่า อนุศร อัศร และ หะนูษ มุ่งความว่าผู้ฆ่าหรือทำร้าย อิษฏิปัจ ว่าผู้ขะโมยเครื่องสังเวย (อิษฏิ) สนธยาพล ว่า “แรงเวลาพลบ” กัษปาฏ นักตัญจร ราตรีจร และ ศมนีษัท ว่า “ผู้เที่ยวไปในเวลากลางคืน” นฤชัคธ์ หรือ นฤจักษ์ ว่า “กินคน” ปลาท ปลังกัษ และ กราพยาท ว่า “กินเนื้อ” อัศรป อัศฤกป เกานป กีลาลป และ รักตป ว่า “ผู้กินเลือด” ทันทะศุก ว่า “ผู้กัด” ปะฆัส ว่า “ตะกละ” มลินมุข ว่า “หน้าดำ” แต่นามเหล่านี้ที่มิใช่สำหรับใช้เรียกรากษสโดยเฉภาะก็มี เช่นปิศาจก็เปน “ราตรีจร” ได้ ยักษ์ก็เปน “นฤจักษ์” ได้ ฉนี้เปนต้น

ราชัน และ ราชันย์ – ศัพท์ว่า “ราชันยะ” ในไตรเพทใช้เปนนามชาติหรือวรรณนักรบ ต่อมาภายหลังชาตินักรบจึงเรียกว่า “กษัตริย์” ส่วนศัพท์ “ราชัน” ใช้เปนที่แปลว่า “เจ้า” และ “ราชันย์” เปนศัพท์ใช้เรียกบุคคล ซึ่งแปลตรงตามศัพท์ไทยเราว่า “เจ้านาย” คือที่เกิดในสกุลแห่งราชา ราชันย์ทุกคนมักเปนชาติกษัตริย์ แต่ชาติกษัตริย์ทุกคนไม่ได้เปนราชันย์

รามายณ – คือเรื่องที่ไทยเราเรียกว่า “รามเกียรติ์” เปนเรื่องโบราณยุคเดียวกับมหาภารต แต่ได้รวบรวมขึ้นก่อนมหาภารต เพราะในมหาภารตมีกล่าวถึงเรื่องพระรามอยู่ในวันบรรพ (บรรพที่ ๓) แต่ในรามายณไม่มีกล่าวถึงเรื่องพระกฤษณ์หรือตัวสำคัญใด ๆ ที่มีชื่อในมหาภารตนั้นเลย ผู้รจนาเรื่องรามายณขึ้นนั้น คือพระฤษีทรงนามว่า วาลมิกี (ซึ่งในรามเกียรติของเราเรียกเพี้ยนไปว่า “วัฑมฤคี” จะเปนด้วยอวดดีรู้มากกันมาอย่างไรก็ทราบไม่ได้แน่ จะลองเดาดูก็จะต้องกล่าวความยืดยาว จึ่งของดไว้ที) รามายณแบ่งเปน ๗ กัณฑ์ แต่กัณฑ์ที่เจ็ดนั้น เรียกว่า “อุตตรกัณฑ์ ” บอกตรงว่า “แถม” เปนของใหม่ หนังสือรามายณนั้น เปนที่เคารพนับถือแห่งชนชาวมัธยมประเทศเปนอันมาก จนทุกวันนี้มีความนิยมกันว่า “ผู้ใดได้อ่านและได้ท่องพระรามายณ อันเปนที่ควรเคารพและเปนกุศลนี้ จะได้รอดพ้นบ่วงบาปกรรม และจะได้ถึงซึ่งสวรรค์ชั้นสูงสุดพร้อมด้วยวงศาคณาญาติ”

รูปะกะ – ลครสังสกฤตชนิดชั้นสูง (ดูในภาคผนวกว่าด้วยนาฏกะ)


บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 04 มิถุนายน 2563 18:54:50 »


ภาคผนวก ๒ อภิธานสังเขป
อธิบายศัพท์ต่าง ๆ เฉภาะที่มีใช้อยู่ในหนังสือนี้
(โดยลำดับอักขรานุกรม)

หมายเหตุ – คำใดที่เขียนเปนไทยไม่ตรงกับที่เขียนในภาษาสังสฤตได้มีเขียนอย่างสังสฤตกำกับไว้ในวงเล็บเหลี่ยม [ ] อย่างนี้ด้วยเพื่อเทียบกัน

----------------------------

ลักษมี – เปนมเหษีของพระนารายน์ ซึ่งมีมเหษีองค์เดียวไม่ใช่ ๒ องค์อย่างที่มักเข้าใจกันอยู่ พระศรีนั้นไม่ใช่อีกองค์ แต่เปนนามแห่งพระลักษมีนั้นเอง เช่นภควดีก็เปนนามอีกนาม ๑ แห่งพระลักษมีเหมือนกัน และถ้าว่านาม ๑ จะให้เปนองค์ ๑ ฉนั้นไซร้ ก็จะเปนอันได้มเหษีให้พระนารายน์อีกหลายองค์ คือ (๑) พระลักษมี (๒) พระศรี (๓) พระภควดี (๔) พระกษีราพธิดนัยา (๕) พระปัทมา (๖) พระกมลา (๗) พระชลธิชา (๘) พระจันจลา (๙) พระโลลา (๑๐) พระโลกมาตา รวมเปน ๑๐ องค์ (ซึ่งถึงแม้พระนารายน์ก็จะเห็นพอแก่พระเกียรติยศกระมัง) แต่แท้จริงนั้นนามทั้ง ๑๐ ที่กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ เปนนามแห่งเทวืองค์เดียวทั้งสิ้น คือพระลักษมีนั้นเอง

ส่วนกำเหนิดของพระลักษมีนั้น ตามรามายณว่าเกิดจากฟองน้ำ จึ่งได้นามว่า ชลธิชา (“เกิดแต่น้ำ”) เมื่อเทวดาและอสูรกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอัมฤต นางได้ผุดขึ้นมาจากเกษียรสมุท จึ่งได้นามว่า กษีราพธธิดนัยา (“ลูกสาวแห่งเทลน้ำนม ”) และเมื่อผุดขึ้นมานั้นถือดอกบัว จึ่งได้นามว่า ปัทมา หรือ กมลา

ต่อๆ ไปในเมื่อพระนารายน์อวตารก็มักจะได้ไปกำเหนิดเปนเนื้อคู่หรือเปนญาติสนิท เช่นในปางวามนาวตารเปนนางกมลา ในปางปรศุรามาวตารเปนนางธรณี ในปางรามาวตารเปนนางสีดา ในปางกฤษณาวตารเปนนางรุกมิณี

พระลักษมีนั้น นับถือกันว่าเปนตัวอย่างแห่งนางที่งามทั้งรูปและกิริยา เปนผู้นำมาซึ่งความเจริญ (ภคะ) จึ่งเรียกว่าพระภควดี เปนผู้อุปถัมภ์บรรดาสัตรีทั้งปวงทุกชั้น รูปเขียนมักมีสีกายทอง นั่งบนดอกบัว ถือดอกบัว

โลกบาล – โลกนี้ตามความนิยมของพราหมณ์ว่ามีเทวดารักษาทั้ง ๘ ทิศ ดังต่อไปนี้ (๑) บุรพา พระอินทร์ ฤๅเรียกว่าท้าวธตรฐ (๒) อาคเณย์ พระอัคนี ทิศเรียกตามนามเทวดา (๓) ทักษิณ พระยม (๔) เนรดี พระสุริย หรืออีกนัย ๑ ว่าพระเนรดี [นิร๎ฤติ] (๕) ปรัศจิม พระวรุณ (๖) พายัพ พระพายุ ทิศเรียกตามนามเทวดา (๗) อุดร ท้าวกุเวร (๘) อีสาน [เอศาน] พระโสม หรืออีกนัย ๑ ว่าพระอีศาน (ภาค ๑ แห่งพระศีวะ)

ส่วนในหนังสือข้างพุทธศาสน์มีกล่าวไว้เปน ๒ อย่าง คือในท้ายอาฏานาติยปริตใน ๑๒ ตำนานกล่าวว่า บุริมทิศ ท้าวธตรฐจอมภูต ทักขิณทิศ ท้าววิรุฬหกจอมเทวดา ปัจฉิมทิศ ท้าววิรูปักห์จอมนาค อุตตรทิศ ท้าวกุเวรจอมยักษ์ แต่ในมหาสมัยสูตร์และภาณยักษ์กล่าวว่า บุริมทิศ ท้าวธตรฐจอมคนธรรพ ทักขิณทิศ ท้าววิรุฬหกจอมกุมภัณฑ์ ปัจฉิมทิศ ท้าววิรูปักษ์จอมนาค อุตตรทิศ ท้าวกุเวรจอมยักษ์ ดังนี้

เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกันเข้ากับข้างฝ่ายไสยศาสตร์ ดังกล่าวมาแล้วข้างบนนั้น จะเห็นได้ว่า บุรพา ท้าวธตรฐกับพระอินทร์พอนับว่าตรงกันได้ เพราะถ้าจะว่าพระอินทร์เป็นจอมภูตหรือจอมคนธรรพก็พอจะใช้ได้ และนาม “ธตรฐ” แปลว่า “รองเมือง” ก็พอควรเปนชื่อพระอินทร์ได้ ทักษิณ ข้างไสยศาสตร์ว่าพระยม ในท้ายอาฏานาติยปริตว่า วิรุฬหก “จอมเทวดา” ไม่ตรงพระยม แต่มหาสมัยสูตร์ว่า “อมกุมภัณฑ์” ฉนี้ ตรวจตูตามศัพท์ “กุมภัณฑ์” แปลว่า “มีอัณฑะเท่าหม้อ” และได้ความว่า “เปนอสูรจำพวก ๑ มีพระรุทระ (อิศวร) เปนอธิบดี” ฉนี้ ดูไขว้เขวไปใหญ่ ไม่ลงรอยกันเลยทีเดียว คราวนี้ลองตรวจศัพท์ “วิรุฬหก” ดูได้ความว่า “วิรูฬ๎โห” หรือ “วิรูฬ๎หโก” แปลว่างอก ก็ไม่เข้าเค้าพระยมอีก จึ่งเปนอันต้องลงเนื้อเห็นว่า โลกบาลทิศนี้ ข้างพุทธศาสน์และพราหมณ์ไม่ลงกันได้เปนแน่แท้ ปรัศจิม ข้างไสยศาสตร์ว่าเปนทิศของพระวรุณ ข้างพุทธศาสน์ว่าท้าววิรูปักษ์จอมนาค พระวรุณเปนเทวดาผู้มีน่าที่เกี่ยวแก่น้ำ เพราะฉนั้นเอาเปนลงรอยกันได้อีกทิศ ๑ อุดร เปนทิศของท้าวกุเวรตรงกันทั้งในพุทธศาสน์และไสยศาสตร์ ส่วนทิศเฉียงข้างพุทธศาสน์ไม่ได้ออกนามโลกบาล แต่สังเกตตามนามทิศก็ตรงกัน คือตวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า “อาค๎เณย” (ทิศของพระอัคนี) ตวันตกเฉียงใต้เรียก “เนรตี” (ทิศของพระนิรฤตี) ตวันตกเฉียงเหนือเรียกว่า “วายว” คือพายัพ (ทิศของพระวายุ) ตวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “เอสาน” (ทิศของพระอีศาน) ดังนี้

อนึ่ง ตามตำหรับไสยศาสตร์ ทิศทุกทิศย่อมมีช้างสำคัญประจำอยู่ เพื่อเปนพาหนะแห่งเทพยเจ้าผู้อภิบาลทิศนั้น มีนามกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

(๑) ทิศบูรพา ช้างสำคัญชื่อ ไอราพต [ไอราวต] หรือไอราวัณ นางช้างชื่อ อะภ๎รมู (๒) ทิศอาคเณย์ ช้างสำคัญชื่อบุณฑริก [ปุณ์ฑริก] นางช้างชื่อกปิลา (๓) ทิศทักษิณ ช้างสำคัญชื่อวามน นางช้างชื่อปิงคลา (๔) ทิศเนรดี ช้างสำคัญชื่อกุมุท นางช้างชื่ออนูปนา (๕) ทิศปรัศจิม ช้างสำคัญชื่ออัญชัน นางช้างชื่ออัญชันวดี (๖) ทิศพายัพ ช้างสำคัญชื่อบุษปทันต์ นางช้างชื่อ ศุภทันตี (๗) ทิศอุดร ช้างสำคัญชื่อ สรรพโภม (๘) ทิศอิสาน ช้างสำคัญชื่อ สุประติกะ ส่วนนางช้างสำหรับทิศอุดรและอิสานนั้นไม่แน่ ยังมีเหลือพังอยู่อีก ๒ คือ อัญชนา กับ ตามรกรรณี แต่พังใดจะอยู่ทิศใดไม่สู้จะแน่นัก ส่วนในหนังสือรามายณนั้น ระบุนามช้างประจำทิศไว้แต่สำหรับทิศใหญ่ ๔ ทิศ คือ (๑) บูรพา ชื่อพลายวิรูปากษ์ (๒) ปรัศจิม ชื่อพลายโสมนัศ (๓) ทักษิณ ชื่อพลายมหาปทม (๔) อุดร ชื่อพลายหิมปาณฑร

วสันต์ – ฤดูดอกไม้ผลิ ตรงกับที่อังกฤษเรียกว่า “สปริง” “(Spring)” ในเมืองเรามักมาเข้าใจกันเสียว่าเปนฤดูฝน ซึ่งเปนความเข้าใจผิดอันเกิดจากความรู้น้อย รู้จักฤดูเพียงสาม คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว นามแห่งฤดูทั้ง ๓ นี้เรียกตามสังสกฤต คือ:– (๑) ค๎รีษ๎มะ = ร้อน (๒) วรรษา = ฝน (๓) เหมันต์ = หนาว แต่ข้างมัธยมประเทศและประเทศที่เหนือๆ มักแบ่งฤดูเปน ๔ คือ:– (๑) วสันต์ = ใบไม้ผลิ (๒) ค๎รีษ๎มะ ร้อน (๓) ศารท = ใบไม้ร่วง (๔) เหมันต์ = หนาว

วาตายน – ชื่อกรมวังของท้าวทุษยันต์ในเรื่องศกุนตลา

(อนึ่งในที่นี้ข้าพเจ้าขอชี้แจงว่า การที่ข้าพเจ้าได้ลงไว้ในตอนกล่าวด้วยเครื่องแต่งตัวว่าให้วาตายนถือไม้เท้ายอดทองนั้น หาใช่กำหนดลงไปเช่นนั้นเพื่อจะให้เหมือนสมุหพระราชมณเฑียรในปัตยุบันนไม่ แท้จริงในบทลครเรื่องศกุนตลาของกาลิทาส มีคำพูดของวาตายนอยู่ชัดเจนว่า “อนิจจาเอ๋ย ! ตัวเรานี้ช่างมีชราภาพครอบงำมากจริงหนอ ไม้อันนี้ ซึ่งแต่เดิมได้เคยถือเพื่อตำแหน่งราชกิจ บัดนี้สิมากลายเปนเครื่องค้ำจุนตัวเรา” ดังนี้ เปนพยานชัดเจนอยู่ว่าผู้ที่ทำการตำแหน่งมณเฑียรบาลถือไม้เท้าเปนเครื่องหมายตำแหน่ง)

วาสพ [วาสว] – นามแปลว่า “เปนใหญ่ในหมู่วสุ” ใช้เรียกพระอินทร์ พวกเทวดาที่เรียกว่า วสุ ซึ่งว่าเปนบริวารพระอินทร์นั้น ตามไตรเพทนับเปนคณ ๑ ในหมู่เทวดา ๙ คณ พวกวสุเทพนั้นมี ๘ คือ ๑. ธร (ดิน) ๒. อาป (น้ำ) ๓. อนิล (ลม) ๔. อนล (ไฟ) ๕. ธรุวะ (ดาวเหนือ) ๖. โสม (ดวงเดือน) ๗. ปรัตยุษ หรือ ปัจจุส (รุ่ง) ๘. ประภาส (แสงสว่าง) ตามนามทั้ง ๘ นี้ก็แลเห็นได้ว่ามุ่งเอาสิ่งซึ่งคนในโบราณสมัยเห็นว่าเปนสิ่งสำคัญและอัศจรรย์ จึ่งยกย่องว่าเปนเทวดา

วิกรม – แปลว่า “กล้าหาญ” “เก่ง” จึ่งชอบใช้เปนชื่อกษัตร์

วิกรมาทิตย์ [วิก๎รมาทิต๎ย] – “กล้าหาญเหมือนอาทิตย์” เปนพระราชามหากษัตร์ผู้ครองนครอุชชยินี และเปนต้นเหตุแห่งวิธีนับปี ที่เรียกว่า “มาลวะสํวัต” หรือ “วิกรมสํวัต” ซึ่งเริ่มเมื่อพระพุทธศาสนายุกาลล่วงแล้วได้ ๔๘๖ พรรษา พระเจ้าวิกรมาทิตย์นี้นิยมกันว่าได้กระทำสงครามขับไล่พวกศัก แล้วได้เปนใหญ่ในอุดรเทศ คือภาคเหนือแห่งมัธยมประเทศ และกล่าวว่าเปนผู้อุปถัมภ์นักปราชญ์ราชบัณฑิตย์ มีนวรัตนกะวีเปนอาทิ เปนที่นิยมนับถือกันว่าเปนมหาราชผู้ทรงคุณธรรมอันมหาประเสริฐ จะวินิจฉัยคดีใดก็มิได้มีผู้ใดติดใจเลย ทั้งเปนมหาวีรบุรุษอันเข้มแขงในทางยุทธ์ด้วย เพราะฉนั้นมีเรื่องราวที่เล่าถึงพระราชาองค์นี้มากมายหลายประการ เช่นมีเรื่องวิกรมบัลลังก์ซึ่งชาวมัธยมประเทศชอบเล่ากันอยู่ และพอจะเก็บมาแสดงเปนตัวอย่างดังต่อไปนี้

ในกาลครั้ง ๑ ภายหลังสมัยแห่งพระเจ้าวิกรมาทิตย์ และเมื่อพระนครอุชชยินีชำรุดทรุดโทรมเปนเมืองร้างไปแล้วนั้น ยังมีพวกเด็กเลี้ยงโคพวก ๑ ได้ต้อนโคไปเลี้ยงในทุ่งใกล้เคียงเมืองร้าง วัน ๑ พวกเด็กเล่น ๆ อยู่ด้วยกัน มีเด็กคน ๑ ได้ขึ้นนั่งบนเนินอัน ๑ สมมุตตัวเปนตุลาการ ให้เด็กอื่นๆ นำคดีมาให้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของเด็กที่นั่งบนเนินนั้น เต็มไปด้วยสติปัญญาอย่างอัศจรรย์ ความทราบไปถึงพวกผู้ใหญ่ พวกผู้ใหญ่ก็พากันไปทดลอง เห็นปรากฎว่าเด็กนั้นเมื่อขึ้นนั่งบนเนินแล้ว ไม่ว่าคดียากปานใดเปนวินิจฉัยได้ทั้งสิ้น เปนที่น่าพิศวงอย่างยิ่ง กิตติศัพท์ทราบไปถึงพระกรรณพระยามหากษัตร์ผู้ครองมาลพชนบท ซึ่งในสมัยนี้ได้ย้ายนครหลวงไปตั้งห่างจากอุชชยินีแล้ว พระยามหากษัตร์ได้ทรงทราบเรื่องก็ตรัสว่า “ชรอยเด็กนั้นจะได้นั่งบนบัลลังก์พระเจ้าวิกรมาทิตย์กระมัง” นักปราชญ์ราชบัณฑิตย์ผู้อยู่ณราชสำนักนั้นจึ่งทูลว่า “ข้อที่พระองค์ตรัสมานั้นชอบอยู่ เพราะณทุ่งนั้นแลคือที่ตั้งพระนครอุชชยินีที่สถิตพระเจ้าวิกรมาทิตย์” พระยามหากษัตร์ได้ทรงฟังก็ชอบพระไทย จึ่งตรัสใช้ให้อำมาตย์คุมไพร่หลวงไปขุดค้นณที่ทุ่งนั้น ขุคไปก็พบสิ่งสำคัญอัน ๑ คือแผ่นสิลาดำมีรูปเทวดา ๒๕ ตน แบกอยู่ อำมาตย์นำพระแท่นนี้มายังราชสำนัก พระยามหากษัตร์ก็ให้จัดตั้งณที่อันควรภายในท้องพระโรง แล้วให้ชีพ่อพราหมณ์ทำพิธีบวงสรวงสามวันสามคืน กำหนดว่าในวันที่คำรบ ๔ เวลาเช้าพระยามหากษัตร์จะขึ้นประทับพระแท่นนี้ ครั้นถึงวันกำหนดนั้น เสนาพฤฒามาตย์สมณชีพราหมณ์ชุมนุมพร้อมกันแล้ว พระยามหากษัตร์จะเสด็จขึ้นประทับบนพระแท่น ทันใดนั้นเทวดาตน ๑ ซึ่งแบกแผ่นสิลาอาศน์จึ่งพูดขึ้นว่า “ช้าก่อนราชะ พระองค์สำคัญว่าพระองค์สมควรที่จะ ขึ้นประทับเหนือพระธรรมบัลลังก์แห่งพระเจ้าวิกรมาทิตย์มหาราชแลฤา พระองค์นี้ไม่เคยเลยฤๅที่จะปรารถนาเปนใหญ่ในดินแดนอันมิใช่ของพระองค์” พระยามหากษัตร์ได้ทรงฟังดังนั้น ก็มาคำนึงในพระไทยถึงความบกพร่องแห่งพระองค์ จึ่งตรัสตอบว่า “ตูข้านี้หาควรไม่ที่จะนั่งเหนือธรรมบัลลังก์แห่งพระเจ้าวิกรมาทิตย์มหาราช” เทวดาจึ่งกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นพระองค์บำเพ็ญบารมีสืบไปเถิด” ว่าเท่านั้นแล้วเทวดาก็อันตรธานไป พระยามหากษัตร์จึ่งตรัสสั่งชีพ่อพราหมณ์ให้ทำพิธีต่อไปอีกสามวันสามคืน และพระยามหากษัตร์เองก็เข้าฌานอดอาหารตามประเพณี จนถึงวันที่ ๔ จึ่งเสด็จสู่ท้องพระโรง เพื่อจะเสด็จขึ้นประทับบนวิกรมบัลลังก์ แต่ครั้งนี้ก็เปนเช่นหนที่ ๑ อีก คือเทวดาอีกตน ๑ ใน ๒๔ ที่ยังเหลืออยู่นั้น ตั้งปัญหาถามว่า “พระองค์ไม่เคยมักมากอยากได้สิ่งของของผู้อื่นบ้างเลยฤา พระยามหากษัตร์ก็รู้สึกพระองค์อีก เทวดาสอนให้บำเพ็ญบารมีต่อไป แล้วก็อันตรธานเหมือนหนที่ ๑ พระยามหากษัตริย์ก็ให้ตั้งพิธีอีกสามวันสามคืน แต่เปนอยู่เช่นนี้เหมือนกันทุก ๆ คราวไป จนในทิ่สุดยังเหลือเทวดาแบกแผ่นศิลาอยู่ตนเดียวเท่านั้น พระยามหากษัตร์จะขึ้นบัลลังก์ เทวดานั้นจึ่งถามว่า “ราชะ พระกมลแห่งพระองค์นั้นผ่องแผ้วหมดมลทินโทษแล้วแลฤา พระมโนแห่งพระองค์เปนประหนึ่งใจเด็กแล้วแลฤา ถ้าเปนเช่นนั้นแล้วพระองค์จึ่งจะควรประทับเหนือธรรมบัลลังก์แห่งพระเจ้าวิกรมาทิตย์” พระยามหากษัตร์นิ่งคำนึงอยู่ครู่ ๑ แล้วก็ตรัสตอบว่า “ตูข้านี้หาควรไม่ที่จะนั่งเหนือธรรมบัลลังก์แห่งพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ” ทันใดนั้นเทวดาก็แบกแท่นสิลาอันเปนธรรมบัลลังก์แห่งพระเจ้าวิกรมาทิตย์เหาะขึ้นสู่ฟากฟ้า

พระเจ้าวิกรมาทิตย์นั้น ตามตำนานบางรายก็ว่าได้เสียพระชนมชีพในสนามรบเมื่อทำสงครามกับท้าวศาลิวาหนศักราช ผู้เปนใหญ่ในทักษิณเทศ เมื่อปี ๓๐๔๔ แห่งกลียุค ซึ่งตรงกับปีที่ ๑ แห่งวิกรมสํวัตนั้นเอง (คือวิกรมส์วัตนับจำเดิมแต่วันสิ้นพระชนม์แห่งท้าววิกรมาทิตย์) แต่ราชาที่ทรงนามว่าวิกรม หรือวิกรมาทิตย์นั้นก็มีหลายองค์ (เหมือนพระร่วงของเราก็มีหลายองค์) เพราะฉนั้นไม่เปนที่แน่นอนได้ว่าจะเปนวิกรมองค์ไหนที่ตายในที่รบ แต่กษัตร์มาลพราชกับศักราชสองพวกนี้ได้เคี่ยวขับทำสงความต่อกันอยู่ช้านานนั้นเปนแน่นอน และได้รบกันหลายครั้งด้วย ผลัดกันแพ้ชนะ

อนึ่งในที่นี้มีข้อที่ควรกำหนดไว้อย่าง ๑ เพราะเกี่ยวเนื่องมาถึงการตรวจโบราณคดีและพงษาวดารของไทยเรา กล่าวคือในทักพิณเทศอันเปนแดนพระยาศาลิวาหนศักราชนั้น ไม่ยอมใช้มาลวสํวัตอันเนื่องจากพระเจ้าวิกรมาทิตย์ เพราะเปนอริกัน จึ่งใช้สํวัตของตัวเองต่างหาก เรียกว่า “ศักสํวัต” หรือ “ศักราชสํวัต” ซึ่งเริ่มเมื่อพระพุทธศาสนายุกาลล่วงแล้วได้ ๖๒๑ พรรษา สํวัตนี้แลได้ใช้แพร่หลายจนถึงเมืองเรา คือที่เรียกว่า “มหาศักราช” นั้นแล ข้าพเจ้าเคยได้ยินนักเลงโบราณคดีบ่นๆ อยากทราบมูลแห่งมหาศักราช ข้าพเจ้าจึ่งมีความยินดีเล่าไว้ในที่นี้ การที่ศักสํวัตเข้ามาถึงประเทศเรา ไม่เปนที่น่าอัศจรรย์อันใด เพราะพราหมณ์ที่มาทางนี้คงมาจากทักษิณเทศเปนแน่

วิทูษก – ตัวตลกในเรื่องลครสังสกฤต

วิมาน – เปนชื่อรถของพระอินทร์ รถนี้บ้างก็เรียกว่าเวชยันต จะเปนด้วยเอาชื่อวิมาน (ที่อยู่) มาปนกับชื่อรถ “วิมาน” กระมัง

วิรูปักษ์ – โลกบาลผู้รักษาทิศตวันตก เปนจอมนาค (ดูที่ โลกบาล ต่อไป)

วิรุฬหก – โลกบาลทิศทักษิณ จอมเทวา (ดูที่ โลกบาล ต่อไป)

วิศวามิตร์ [วิศ๎วามิต๎ร] – นามแปลว่า “เปนมิตร์ทั่วไป” (ในรามเกียรติ์ของเราเรียกว่า “พระสวามิตร์” แปลว่า เพื่อนของลิง ดูกระไรๆ อยู่)

โดยกำเหนิดพระวิศวามิตร์เปนชาติกษัตริย์ ในพระฤคเวทว่าเปนโอรสแห่งท้าวกุศิก แต่ต่อมากล่าวกันว่าเปนโอรสพระคาถิน หรือคาธิราชาครองนครกันยกุพช์และว่าเปนเชื้อจันทรวงศ์สกุลโปรพ เพราะฉนั้นหนังสือหริวํศจึ่งกล่าวว่า พระวิศวามิตร์เปนทั้งโปรพและเกาศิก บางครูก็ว่าท้าวคาธินั้น เปนโอรสท้าวกุศิก และพระวิศวามิตร์เปนลูกท้าวคาธิ จึ่งมีนามตามสกุลว่า เกาศิก มีนามตามบิดาว่า คาธิช และ คาธินนทน์ (“เกิดแต่คาธิ”)

เรื่องราวที่เล่าถึงพระวิศวามิตร์มียืดยาวพิศดารมาก ใจความมีอยู่ก็คือ พระวิศวามิตร์เปนกษัตริย์แต่อยากเปนพราหมณ์ พระวสิษฐมุนีผู้เปนเอกอรรคพรหมฤษีหัวน่าของชาติพราหมณ์ ได้เปนเจ้ากี้เจ้าการคัดค้านอย่างแข็งแรง มีแก่งแย่งกันอยู่วิวาทกันอยู่มิได้หยุดหย่อน และถึงรบกันด้วยกำลังกายและกำลังฤทธิ์ พระวิศวามิตร์บำเพ็ญบารมีขึ้นไปเปนลำดับ โดยมุ่งอยู่แต่จะได้เปนพรหมฤษีจงได้

ในระหว่างที่บำเพ็ญตะบะอยู่นั้น เปนที่เดือดร้อนแก่เหล่าเทวดา พระอินทร์จึ่งใช้นางเทพอับศรชื่อเมนะกาให้ลงมาทำลายพิธี นางได้มายั่วยวนพระวิศวามิตร์จนพิธีแตกและได้เสียกัน จนมีลูกเปนนางศกุนตลา พระวิศวามิตร์มีความละอายแก่ใจ พูดจาว่ากล่าวให้นางเมนะกากลับขึ้นไปสู่สวรรค์ แล้วพระองค์ก็ไปยังเขาจักรวาฬเพื่อบำเพ็ญตบะต่อไปอีกหลายพันปี

รามายณกล่าวว่า ในที่สุดเทวดาพากันไปอ้อนวอนพระวสิษฐพรหมมุนี พระวสิษฐจึ่งยินยอมรับรองว่าพระวิศวามิตร์ได้บำเพ็ญบารมีพอแล้ว ควรยกให้เปนพรหมฤษีได้ ฝ่ายพระวิศวามิตร์ได้สมปรารถนาแล้ว ก็กระทำการเคารพต่อพระวสิษฐตามสมควรแก่ผู้ที่มีอายุมากกว่าในฝ่ายพรหมฤษีด้วยกัน เมื่อสมัยกาลที่ท้าวทศรถครองนครศรีอโยธยานั้น พระวสิษฐมุนีเปนปุโรหิตของท้าวทศรถ แต่พระวิศวามิตร์ดีกันแล้ว จึ่งไปมาหาสู่กันอยู่เนืองๆ จนได้ขอพระรามและพระลักษมณ์ไปช่วยปราบกากนาสูรแล้ว พระวิศวามิตร์ก็เลยเปนครูกษัตริย์ทั้ง ๒ นั้นสืบไป จนพากันไปนครมิถิลาในการสวยัมพรนางสีดา และเมื่อพระรามได้นางสีดาแล้ว ท้าวทศรถยกไปรับกลับเมือง พระวิศวามิตร์ก็ได้ไปในกระบวนท้าวทศรถ จนถึงนครอโยธยาแล้วจึ่งได้ลากลับออกไปสู่สำนักกลางป่าตามเดิม

วิษณุ – ดูที่ พิษณุ

วีรบุรุษ – คือคนกล้าหาญเข้มแขงในการสงคราม คำว่า “วีร” หรือ “วีโร” นั้นแลเปนมูลแห่งภาษาลติน “Hero” (ซึ่งอ่านตามสำเนียงอังกฤษว่า “เฮียโร”)

เวท – แปลว่า “ความรู้” (จากมูลว่า วิท=รู้) พระเวทเปนต้นตำหรับแห่งไสยศาสตร์ คือศาสนาของพราหมณ์ แต่งเปนภาษาสังสกฤตโบราณ แต่งเปนฉันท์หรือกาพย์ จัดเปนบทสรรเสริญเรียกว่า “สูกต์” สูกต์ ๑ ๆ มีหลายบทเรียกว่า “ฤก” (ฤาเทียบหนังสือชั้นหลัง ฤกก็คือคาถา ๑ ๆ นั้นเอง) ส่วนอายุของพระเวทนั้น ไม่มีหลักอะไรที่จะตั้งเปนเกณฑ์เพื่อคำนวนได้ ข้างฝ่ายพราหมณาจารย์กล่าวว่า พระเวทนั้นได้ออกมาจากพระโอษฐ์พระพรหม พวกมหาพรหมฤษีได้สดับมาแล้ว จึ่งนำมาอนุศาสน์นรชนอีกต่อ ๑

ในชั้นต้นพระเวทมีอยู่สามคัมภีร์ คือ (๑) ฤคเวท (๒) ยัชุรเวท (๓) สามเวท ซึ่งรวมเรียกนามว่าพระไตรเพท ภายหลังจึ่งเกิดมีขึ้นอีกคัมภีร์ ๑ ชื่ออถรรพเวท พระมนูได้กล่าวไว้ในมานวะธรรมศาสตร์ว่า พระไตรเพทนั้น ประหนึ่งว่าได้รีดออกมาจากไฟ จากอากาศ และจากดวงตวัน ทีแท้นั้นเมื่อพิจารณาดูแล้วก็ปรากฎว่า ในชั้นเดิมก็มีพระฤคเวทคัมภีร์เดียว ยัชุรเวทและสามเวทเปนคัมภีร์ที่รวบรวมสูกต์ในพระฤคเวทนั้นเองมาจัดลงเปนระเบียบใหม่ ตามความประสงค์สำหรับประโยชน์ต่างๆ กัน คือสูกต์ในยัชุรเวทนั้น จัดไว้ตามลำดับที่จะต้องใช้ในการทำพิธีต่างๆ ของพราหมณ์ และเปนน่าที่ของพราหมณ์ที่เรียกว่าอัธวรยุ คือผู้เปนตัวการลงมือทำพิธีต่างๆ เช่นพลีกรรมเปนต้นนั้น เปนผู้บ่นมนตร์ในขณะทำกิจต่างๆ ดังนี้เปนต้น

พระเวททุกๆ คัมภีร์แบ่งเปน ๒ ภาค คือมนตร์ ภาค ๑ พราหมณะ ภาค ๑ มนตร์คือคำฉันท์ที่ใช้สวดหรือบ่นในเวลาทำพิธี พราหมณะคือคำอธิบายพรรณาด้วยกิจการที่จะพึงกระทำในพิธี กับมีนิทานเจือปนอยู่ด้วย แต่งเปนร้อยแก้ว พราหมณะเปนหนังสือซึ่งแต่งขึ้นสำหรับประกอบกับมนตร์ เพื่อเปนคำอธิบายอีกชั้น ๑ ถ้าจะเปรียบข้างฝ่ายพระพุทธศาสนาของเรา ภาคมนตร์เหมือนพระบาฬี ภาคพราหมณะเหมือนพระอัตถกถา (คำที่อธิบายเช่นนี้ ผู้ที่ได้เคยบวชแล้ว หรือได้เคยเอาใจใส่ในกิจข้างวัดอยู่บ้างคงจะเข้าใจพอแล้ว แต่ผู้ที่ไม่เคยบวชหรือไม่เอาใจใส่ในกิจข้างวัด เห็นการเช่นนี้เปนการเสียเวลาอยู่แล้ว ถึงแม้จะอธิบายให้ยาวกว่านี้ก็คงไม่เข้าใจ และจะไม่สู้ปราถนาจะรู้ต่อไปนักด้วย จึ่งเห็นว่าอธิบายเพียงนี้ก็พอแล้ว) นอกจากนี้ยังมีหนังสือเพิ่มเติมอีก ๒ จำพวก เรียกว่า อารัณยกะอุปนิษัท ๑ เปนหนังสือฉันท์กับร้อยแก้วสลับกัน เปนข้อความกล่าวด้วยพระเปนเจ้าและธรรม อารัณยทะเปนหนังสือสำหรับเอาไปท่องในป่า และไม่ผิดกับอุปนิษัทปานใดนัก

หนังสือพระเวททั้งปวงแบ่งเปน “กาณฑ์” หรือวิภาคใหญ่ ๒ วิภาค คือ กรรมกาณฑ์ หรือ กรรมวิภาคญานกาณฑ์ หรือ ณานวิภาค ๑ บรรดามนตร์ทั้งหลายจัดเปนกรรมวิภาค บรรดาพราหมณะ อารัณยกะ และอุปนิษัท จัดเปนฌานวิภาค

มนตร์ทั้งหลายจัดรวมกันเข้าแล้ว เรียกว่า สํหิตา พระฤคเวทและพระสามเวทมีคัมภีร์ละ ๑ สํหิตา แต่พระยัชุรเวทมี ๒ สํหิตา

บัดนี้จะได้อธิบายถึงพระเวททั้ง ๔ โดยสังเขป พอให้ผู้อ่านได้ทราบเค้าบ้าง ดังต่อไปนี้

(๑) พระฤคเวท เปนคัมภีร์ที่ ๑ และเก่าที่สุด มีสูกต์ (บทสรรเสริญ) อยู่ ๑๐๑๗ สูกต์ มีวาลขิลยะ (บทสรรเสริญเพิ่มเติม) อีก ๑๑ รวมทั้งสิ้นเปน ๑๐๒๘ บท จัดเปน ๘ อัษฎก หรือ ขัณฑ์ ขัณฑ์ ๑ แบ่งเปน ๘ อัธยาย จัดเปนวรรค ๒๐๐๖ วรรค มีจำนวนฤก (คาถา) ๑๐,๔๑๗ ฤก หรือ ๑๕๓,๘๒๖ บท อีกอย่าง ๑ จัดเปนมณฑล ๑๐ มณฑล และอนุวาก ๘๕ อนุวาก จำนวนฤกคงเท่ากัน

ส่วนข้อความในพระฤคเวทนี้ มีกล่าวด้วยเทวดาต่างๆ ซึ่งสรรเสริญและบนขอให้ช่วยกำจัดภัยต่าง ๆ มีอาทิคือ พระอินทร์ (คือผู้เปนหัวหน้าแห่งเทพยเจ้าทั้งหลาย และเปนใหญ่ในฝนฟ้าอากาศ) พระอัคนี (คือไฟ ซึ่งเปนที่นับถือมาก เพราะจะทำกิจพิธีใด ๆ ก็ขาดไฟไม่ได้ และทั้งเปนผู้ให้อาหารและความอบอุ่นและแสงสว่างด้วย) พระสูรย (คือตวัน อันเปนบ่อเกิดแห่งความอบอุ่น แต่มักสรรเสริญรวม ๆ กับพระอัคนี และบางทีก็เรียกว่า “ไฟฟ้า”) นอกจากนี้มีที่นับถือคือพระ “โท๎ยสบิดร” (“พระพ่อบนฟ้า” ผู้เปนใหญ่ในฟากฟ้าคือสวรรค์) พระอทิติ (“ผู้ไม่มีที่สุด”) พระวรุณ (“เจ้าฟ้า” ภายหลังนับว่าเปนเจ้าแห่งน้ำทั่วๆ ไป) พระอุษะ หรือ อุษา (“รุ่ง” เปนธิดาพระโท๎ยส) พระอัศวิน (ลูกแฝดแห่งพระสูรย) พระปฤถวี (“พระกว้าง” คือแผ่นดิน เปนมารดาโลก) พระมรุต (เทวดาลม) พระรุทระ (ผู้เปนใหญ่ในพยุ) พระยม หรือ ธรรมราช และพระโสม คือน้ำเถาโสมที่ดื่มในพิธีต่างๆ อันเปนที่พึงพระไทยเทวดาและพอใจพราหมณ์

บรรดาคำสรรเสริญในพระฤคเวททุกสูกต์ มีนามฤษีผู้ที่ได้สดับมาสอนต่อ มีพระวสิษฐ พระวิศวามิตร และพระภรัทวาช เปนอาทิ คำสรรเสริญเหล่านี้ได้ท่องจำกันต่อๆ ลงมาด้วยปากแต่ดึกดำบรรพ์ แต่จะได้มาเขียนลงเปนลายลักษณอักษรเมื่อไรก็หาปรากฎไม่ การสอนพระเวทโดยวิธีให้เล่าบ่นนั้น ทำให้เกิดมีสาขาขึ้นอีกเปนหลายสาขา คืออาจารย์ต่างคนต่างใช้ถ้อยคำสำนวนต่างๆกัน แต่ใจความก็คงลงกันทั้งนั้น

ฤกสํหิตา มีพราหมณะอยู่ ๒ คัมภีร์ คือไอตเรยะพราหมณะ ซึ่งอีกนัย ๑ เรียกว่า อาศวลายนเกาษีตกิพราหมณะ หรือ ศางขยายน ๑ เปนตำหรับสำหรับบอกน่าที่พราหมณ์ผู้กระทำน่าที่โหตฤ คือผู้สวดมนตร์กล่อมในการพิธีต่างๆ เช่นเวลาทำไฟฟ้าเพื่อใช้ในการพิธีเปนต้น (ในหนังสือไอตะเรยะพราหมณะมีอยู่ตอน ๑ ซึ่งกล่าวด้วยพิธีราชสูยะและราชาภิเษก) อนึ่งฤกสํหิตานี้ มีอุปนิษัท ๑ ชื่อไอตเรโยปนิษัท พ่วงอยู่ด้วยไอตเรยะพราหมณะ และมีอารัณยกะชื่อไอตเรยารัณยกะเกาษีตกยารัณยกะ

(๒) พระยัชุรเวท เปนคัมภีร์ที่ ๒ มีสูกต์ซึ่งคัดมาจากพระฤคเวทเปนพื้น แต่มีข้อความเปนร้อยแก้วบางตอนซึ่งแปลกกับพระฤคเวท พระยัชุรเวทนี้มีผู้เรียนมาก เพราะเปนต้นตำหรับสำหรับพราหมณ์ที่มีน่าที่ลงมือกระทำกิจพิธีต่างๆ คือพราหมณ์ผู้กระทำกิจในตำแหน่งที่เรียกว่าอัธวรยุ ซึ่งเปนผู้มีธุระมากกว่าผู้อื่น (เทียบกับในเมืองเราก็คือ เปนพระครูพราหมณ์พิธี)

เมื่อมีผู้เรียนมาก ก็เปนธรรมดาอยู่เองที่จะต้องแตกเปนสาขามากยิ่งกว่าพระเวทคัมภีร์อื่น ใช่แต่เท่านั้น มิหนำซ้ำมีแยกเปน ๒ สํหิตา คือ (๑) ไตต์ติรียะสํหิตา หรือ กฤษณะยัชุร (ดำ) (๒) วาชัสเนยีสํหิตา หรือ อรชุนยัชุร (ผ่อง) การที่เกิดมีเปน ๒ คัมภีร์ขึ้นฉนี้ ตามความสันนิษฐานอันควรเชื่อได้คือ ไตต์ติรียะสํหิตานั้น เปนหนังสือเก่ากว่า ยังจัดระเบียบไม่สู้ดี ข้อความเปะปะอยู่มาก จึ่งมีผู้มาจัดตั้งรูปขึ้นใหม่เรียกว่า วาชัสเนยีสํหิตา แต่คงจะมีบางอาจารย์ไม่ยอมใช้อย่างใหม่ คงใช้อย่างเดิม จึ่งคงมีเปน ๒ นิกายอยู่ต่อมา

ไตต์ติรียสํหิตา หรือ กฤษณยัชุร นั้น จัดเปน ๗ กัณฑ์ ๔๔ ปรัศนะ ๖๕๑ อนุวาก ๒๑๙๘ กัณฑิกา (กัณฑิกา ๑ มีประมาณ ๕๐ บาท) พราหมณะสำหรับกฤษณยัชุรนี้ ชื่อไตต์ติรียพราหมณะ และมีอุปนิษัทพ่วงท้ายพราหมณะนี้ ชื่อไตต์ติรีโยปนิษัท มีอารัณยกะชื่อไตต์ติริยารัณยกะ

วาชัสเนยีสํหิตา หรือ อรชุนยัชุร นั้น จัดเปน ๔๐ อัธยาย ๓๐๓ อนุวาก ๑๙๗๕ กัณฑิกา พราหมณะสำหรับอรชุนยัชุรนี้ ชื่อ ศัตบถพราหมณะ เปนตำหรับสำคัญและใช้มากกว่าตำหรับอื่น เพราะเปนตำหรับของพราหมณพิธี (มีเรื่องราชสูยะและราชาภิเษกอยู่ในนี้ด้วย) มีอุปนิษัทชื่ออิโศปนิษัท มีอารัณยกะ ชื่อพฤหัทอารัณยกะ

(๓) พระสามเวท เปนคัมภีร์ที่ ๓ (เรียกว่า “สาม” ไม่ใช่เพราะเปนที่ ๓ คำสามในที่นี้มาจากคำ “สามัน” เห่) รวบรวมเห่ต่างๆ สำหรับพราหมณ์ผู้กระทำน่าที่เรียกว่าอุทคาตฤ คือผู้มีน่าที่สวดเห่กล่อม (อย่างดุษฎีสังเวยเปนต้น) บทเห่โดยมากเก็บมาจากฤกสํหิตา แต่เอามาจัดระเบียบใหม่ไห้เหมาะแก่ความประสงค์ในกิจพิธี

สามสํหิตา แบ่งเปน ๒ ภาค (๑) บุรพารจิก หรือ ฉันโทครนถ์ มีบทเห่ ๕๙๕ บท จัดเปน ๕๙ ทศติ และแบ่งอีกเปนประปาฐะกะ และอรรถประปาฐกะ (๒) อุตตรารจิก หรือ อุตตราครนถ์ มีบทเห่ ๑๒๒๕ จัดเปน ๙ ประปาฐกะ แบ่งเปนอรรถประปาฐกะอีกด้วย และโดยมากจัดไว้เปนไตรยางค์ (คือชุดละ ๓ บท) ส่วนพราหมณะสำหรับพระสามเวทนี้มีถึง ๘ คัมภีร์ ที่สำคัญอยู่ ๓ คือ เปราธ หรือปัญจวึศพราหมณะตาเนฑัยพราหมณะษัทวึศพราหมณะ ๑ มีอุปนิษัท ๒ คือ เกโนปนิษัทฉานโทคโยปนิษัท

(๔) พระอถรรพเวท เปนพระเวทที่ ๔ หรือพระเวทใหม่ เพราะเปนคัมภีร์ซึ่งแต่งขึ้นภายหลังพระไตรเพท และพระมนูมิได้กล่าวถึงเลย คัมภีร์นี้โดยมากเปนร้อยแก้ว มีเปนฉันท์อยู่สักส่วน ๑ ใน ๖ เท่านั้น และในฉันทภาคนั้น ประมาณ ๑ ส่วนใน ๖ เปนฉันท์ที่เก็บมาจากฤกสํหิตา นอกนั้นใหม่ ตามที่นักปราชญ์ได้พิจารณาดูแล้วลงความเห็นไว้ว่า ผู้ที่แต่งพระไตรเพทก่อนนั้น มีความเคารพนับถือเทวดาคล้ายๆ มุลนายหรือบิดาผู้เมตตาจิตรมาก เพราะฉนั้นบทกลอนหรือคำสังเวยจึ่งเปนไปทางเชิญมาช่วยอนุเคราะห์ต่างๆ อย่างฐานผู้ไมตรี แต่ผู้ที่แต่งพระอถรรพเวทนั้นสังเกตได้ว่ามีความกลัวเทวดาอย่างกลัวผู้ที่ดุร้ายและใช้อำนาจโดยถือกำลังเปนใหญ่ จึ่งใช้ถ้อยคำอันมีไปทางติดสินบน และมีความเชื่อถือในมนตร์และของขลังต่างๆ อันนิยมกันว่าให้ร้ายผู้อื่นได้ และทำลายคุณของผู้อื่นได้ มนตร์และสิ่งของขลังเหล่านี้รวมอยู่ในศัพท์ว่า “อาถรรพ์” ที่ใช้ๆ กันอยู่ว่า “ฝังอาถรรพ์ ” นั้น คือฝังสิ่งของต่าง ๆ เพิ่อมุ่งดีแก่ผู้ฝังหรือมุ่งร้ายแก่ผู้เปนอมิตร์ และอถรรพเวทนี้ มีมนตร์สำหรับใช้ในกิจการทั้งปวง เช่นรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือกำจัดผลร้ายอันจะมีมาแต่พยาธิภัยและมรณภัย (คือกลบบาทว์สุมเพลิง) ทำร้ายแก่อมิตร์โดยเสกสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปเข้าในตัว หรือฝังรูปฝังรอย (คือกระทำ “คุุณ”) และทำให้ชู้มีความรักใคร่ (คือทำ “เสน่ห์”) เหล่านี้เปนต้น

พระอถรรพเวทนี้ อีกนัย ๑ เรียกว่า พราหมณเวท เพราะกล่าวว่าเปนตำหรับสำหรับพราหมณ์ผู้ใหญ่ผู้กำกับกิจพิธี ซึ่งเรียกว่า พรหมพราหมณ

พราหมณะสำหรับอถรรพเวทนี้ ชื่อโคบฐพราหมณ มีอุปนิษัทรวมเบ็ดเสร็จถึง ๕๒ เล่ม แต่ที่นับว่าสำคัญ คือ กโถปนิษัทปรัศโนปนิษัทมุณฑโกปนิษัท ๑ มาน์ทุกโยปนิษัท

อนึ่งนอกจากพระเวททั้ง ๔ นี้ ยังมีตำหรับจำพวก ๑ ซึ่งเรียกว่า อุปเวท ซึ่งกล่าวด้วยวิทยาศาสตร์ต่างๆ กล่าวคือ (๑) อายุรเวท หรือ แพทยศาสตร์ (วิชาหมอ) (๒) คานธรรพเวท หรือ สํคีตยศาสตร์ (ตำราขับร้องและดนตรี) กับนาฏยศาสตร์ (ตำรารำ) รวมกัน (๓) ธนุรเวท คือ วิชายิงธนูและยุทธศาสตร์ (๔) สถาปัตยเวท หรือสถาปัตยศาสตร์ (วิชาก่อสร้าง)

วิธีเรียนพระเวทให้เปนผลนั้น เรียกว่า เวทางค์ ประกอบด้วยองค์ ๖ คือ–

(๑) ศึกษา การเรียกออกสำเนียงให้ถูก ทั้งรู้จักครุละหุ และวิธีอ่านทั่วๆ ไป
(๒) ฉันท์ รู้จักคณฉันท์ และแต่งบ้างพอควร
(๓) วัยากรณ มีฉบับของปาณินีเปนอาทิ
(๔) นิรุกต์ แปลศัพท์มีฉบับของยาสกะเปนอาทิ
(๕) โช๎ยติษ คือโหราศาสตร์
(๖) กัลป คือตำรากระทำกิจพิธีต่างๆ ดังปรากฎอยู่ในสูตรต่างๆ

ศักร หรือ ศักรินทร์ – คือพระอินทร์ คำว่า “ศักร” แปลว่า “มีแรงมาก” “ขลัง” อนึ่งขอชี้แจงว่า “ศักร” กับ “ศัก” นั้นผิดกัน ศักร [ศัก๎ร] คือพระอินทร แต่ศัก หรือ “ศก” [ศก] เปนนามแห่งชนจำพวก ๑ ซึ่งมีชื่อเสียงควรกำหนดจดจำ เพราะวิธีนับปีที่ใช้อยู่ในเมืองเรา และเรียกว่า “มหาศักราช” นั้น คือเปนวิธีของพวกศักนี้ และคำว่า “ศก” ซึ่งใช้ในที่แปลความว่า “ปี” นั้น ก็มาจากมูลเดียวกัน (ดูที่วิกรมาทิตย์ตอนกล่าวด้วยเรื่องสํวัต)

ศักราวตาร – นามตำบล ซึ่งกล่าวในเรื่องศกุนตลาว่าเปนที่อยู่แห่งกุมภิลชาวประมงผู้พบแหวนท้าวทุษยันต์ (ดูที่กุมภิล)

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 04 มิถุนายน 2563 18:56:52 »


ภาคผนวก ๒ อภิธานสังเขป
อธิบายศัพท์ต่าง ๆ เฉภาะที่มีใช้อยู่ในหนังสือนี้
(โดยลำดับอักขรานุกรม)

หมายเหตุ – คำใดที่เขียนเปนไทยไม่ตรงกับที่เขียนในภาษาสังสฤตได้มีเขียนอย่างสังสฤตกำกับไว้ในวงเล็บเหลี่ยม [ ] อย่างนี้ด้วยเพื่อเทียบกัน

----------------------------

ศกุนตลา [ศกุนตลา] – เปนธิดาพระวิศวามิตร์มุนีกับนางเทพอับศร ชื่อ เมนะกา ซึ่งพระอินทร์ใช้ลงมาทำลายพิธี (ดูที่ วิศวามิตร์) เมื่อคลอดบุตรีแล้ว นางเมนะกากลับไปสู่สวรรค์ ได้ทอดทิ้งกุมารีน้อยไว้ในกลางป่า มีนกมาเลี้ยงดูอยู่พัก ๑ จึ่งได้นามว่า ศกุนตลา (จากคำ “ศกุนต”= นก) พระกัณวะดาบสไปพบที่กลางป่า จึ่งเก็บไปเลี้ยงไว้อย่างบุตรี จนเจริญวัยเปนสาวรุ่นแล้ว ท้าวทุษยันต์กษัตร์จันทรวงศ์ผู้ครองนครหัสดินจึ่งไปพบรักใคร่ได้เสียกัน และมีเรื่องราวพิศดารดังปรากฎอยู่ในบทลครนั้นแล้ว

เรื่องนางศกุนตลานี้ มีอยู่ในอาทิบรรพ (บรรพที่ ๑) แห่งมหาภารต เปนเรื่องเกร็ด เรียกว่า “ศกุน์ตโลปาข๎ยานํ” ภายหลังกาลิทาส รัตนกะวีจึ่งได้รจนาขึ้นเปนบทลครให้ชื่อเรียกว่า “อภิช๎ญานศกุน์ตลา” (“อภิช๎ญาน” แปลว่า “เครื่องเตือน” หรือ “จำได้โดยอาไศรยสิ่งใดสิ่ง ๑ เปนเครื่องเตือน”)

นางศกุนตลานี้ นอกจากที่มีชื่อเสียงว่าเปนนางเอกในเรื่องลครซึ่งกล่าวมาแล้วนั้น ยังมีชื่อเสียงทางพงษาวดารอีก เพราะเปนพระมารดาแห่งท้าวภรตจักรพรรดิราชาธิราช (ดูที่ ภรต. ๓.)

ศะศิ [ศะศี] – เปนนามพระจันทร์ (ดูที่ จันทร์)

ศะศิพงศ์ – คือวงศ์พระจันทร์

ศีวะ – คือพระเปนเจ้าซึ่งมักเรียกกันว่า พระอิศวร ในชั้นต้น คือในยุคไตรเพท นามศีวะไม่มีเลย มีแต่เทวดาองค์ ๑ ชื่อ รุทร ซึ่งในชั้นหลังมากลายเปนพระศีวะขึ้น เปนเทพเจ้าผู้มีอำนาจมากและดุร้าย จึ่งนับว่ามีน่าที่เปนผู้ล้างผู้ทำลาย ในยุคไตรเพทนั้นพระรุทรเปนเทวดาสำคัญ “เปนเจ้าเปนใหญ่เหนือการสรรเสริญและยัญกรรม เปนผู้บำบัดโรค ฯลฯ” แต่ส่วนอานาจก็มีมาก ถือวัชระ ถือธนูศร และดุร้ายอย่างยิ่งเปนผู้ทำลาย ในยัชุรเวทกล่าวถึงพระอิศวรว่า “ศอนิลกายแดง มีตาพันตา” แต่อีกแห่ง ๑ เรียกนามว่า “ไตรยัมพก” ซึ่งแปลว่าสามตา ในหนังสือพราหมณะต่างๆ มีเล่าเรื่องกำเหนิดพระรุทรไว้ว่า พอเกิดมาก็ร้องไห้ พระประชาบดีผู้เปนเทพบิดรถามเหตุผล ก็ตอบว่าเพราะยังไม่มีชื่อ พระประชาบดีจึ่งให้ชื่อว่า รุทร (จากมูล “รุท” = ร้องไห้) แต่อีกแห่ง ๑ มีว่า ได้ขอชื่อถึง ๘ ครั้ง และได้ชื่อเปนลำดับ ๘ ครั้ง คือ ภพ สรรพ ปศุบดี อุครเทพ มหาเทพ รุทร อีศาน และ อะศะนี ในชั้นอุปนิษัทพระรุทรสำคัญขึ้นอีก จึ่งเรียกว่ามเหศวร

ในชั้นรามายณและมหาภารตนั้น ก็ยังเปนใหญ่อยู่แลแต่ดูมีแพ้พระนารายน์บ่อย ๆ เช่นเมื่อครั้งไปช่วยท้าวพาณาสูรในเรื่องพระอนิรุทธ์เปนต้น และบางแห่งก็มีตั้งใจจะไกล่เกลี่ยระหว่างพระอิศวรกับพระนารายน์ ครั้นลงมาในชั้นหลัง ในหนังสือพวกปุราณะนั้น ก็แล้วแต่หนังสือนิกายไหน ถ้าเปนหนังสือไศพยนิภายก็ว่าพระอิศวรเปนใหญ่ยิ่งกว่าใคร ๆ แต่ถ้าเปนหนังสือไพษณพนิกายก็ชิงเอาความเปนใหญ่ไปให้พระนารายน์ ถึงแก่ให้พระอิศวรแสดงความเคารพก็มี

ถ้าจะกล่าวสรุปความคือ พระอิศวรนั้น นิยมกันว่าเปนผู้ล้างผู้ผลาญ ผู้ละลาย ในน่าที่ผู้ล้างและผู้ทำให้สูญนั้น เรียกว่าพระรุทรบ้าง พระมหากาลบ้าง แต่การล้างย่อมถือกันว่าเปนของดี เหมือนทำให้สะอาดปราศจากมลทินโทษแล้ว จึ่งจะได้มีกำเหนิดใหม่ จึ่งเรียกพระเปนเจ้าผู้บันดาลให้สอาดเช่นนี้ว่า พระศีวะ หรือ พระสังกร เปนมงคลนาม ๒ อย่าง และโดยเหตุที่ล้างแล้วก็กลับให้เกิดขึ้นใหม่เสมอไป จึ่งเรียกว่าพระอิศวร หรือ พระมหาเทพ คือพระผู้เปนเจ้าอันใหญ่ยิ่งสูงสุด เครื่องหมายแห่งพระอิศวรในน่าที่ผู้สร้างขึ้นใหม่นั้นคือพระศีวลึงค์ อันเปนเครื่องหมายแห่งความเกิด และพระโยนี คือศักดิ์หรือแรงของพระอิศวร เปนเครื่องหมายแต่งกำเหนิดเหมือนกัน จึ่งมักไว้รวมกัน อีกประการ ๑ พระอิศวรเปน มหาโยคี เปนที่มุ่งแห่งจิตของพราหมณ์ทั้งปวงในทางสมถะภาวนาและเข้าฌานสมาธิ เปนยอดแห่งธรรมปัญญา ในส่วนเปนมหาโยคีนั้น มีนามเรียกว่าทิคัมพร (“มีอัมพรเปนเครื่องนุ่งห่ม” คือเปลือยการ) และธุรชฎี (“มุ่นผมอันรุงรัง”) ถ้าจะกล่าวถึงในส่วนอภินิหารในทางทำลายให้แรงขึ้นอีก ก็เรียกว่าพระไภรพ (“ผู้ทำลายอย่างดุ”) อีกประการหนึ่ง พระอิศวรโปรดอยู่ตามสุสานหรือที่เผาศพและมีผีเปนบริวาร จึ่งเรียกว่าพระภูเตศวร บางทีก็มีเวลาโปรดจับระบำชนิดที่เรียกว่า “ตาณฑพ” (นี้เปนมูลแห่งคำ “ตันดั๊ก” ของชวา) และโดยเหตุที่มีสามตาจึ่งเรียกว่า พระตรีโลจนะ หรือ ไตรยัมพก ตาที่ ๓ นั้นมีอานุภาพมากอาจจะบันดาลให้เปนไฟสังหารได้ทุกอย่าง ครั้งเมื่อกวนน้ำอัมฤตในเกษียรสมุทนั้นได้น้ำพิษขึ้นมาก่อน พระอิศวรดื่มเข้าไปทำให้คอเขียวจึ่งได้นามนีลกัณฐ เมื่อพระจันทร์อ้อนวอนให้ช่วยพาเข้าไปในเทพสภาได้เอาพระจันทร์เปนปิ่นเข้าไป (ดูที่เรื่องพระจันทร์) จึ่งได้นามว่า จันทรเศขร และเมื่อพระคงคาจะลงจากสวรรค์มาสู่มนุษภูมิ พระอิศวรเกรงว่าน้ำจะท่วมโลกหมด จึ่งเอาเกศาทำทำนบกั้นไว้ จึ่งได้นามว่าคงคาธร

นอกจากนามที่กล่าวมาแล้วนี้ยังมีอีกเปนอันมาก นับด้วยพันแต่ที่สำคัญ ๆ คือ อโฆร (น่ากลัว) พัภรุ และ ภควัต (“พระเปนเจ้า”) คิรีษ (จอมเขา) หร (ผู้จับ) อีศาน (ผู้ครอง) ชฎาธร (ผู้มุ่นผม “ชฎา” แปลว่าผมที่มุ่นแล้ว) พระกาล (เวลา) กาลัญชร กปาลมาลิน (ใส่มาไลยหัวกระโหลก) มเหศร มฤตยุญชัย (ผู้ชำนะมฤตยู) ปศุบดี (เจ้าแห่งปศุสัตว์) สถานุ (มั่น) อุคร (ดุ) วิรูปากษ์ (ตาพิการหรือแปลก) และ วิศวนาถ หรือ วิศเวศวร (เปนใหญ่ครองทั่วไป)

รูปพระอิศวรมักทำเปนคนขาว มีตาสามตา ตาที่ ๓ อยู่ตรงหน้าผากมีจันทร์ครึ่งซีกอยู่เหนือหรือล้อมตาที่ ๓ เกศามุ่นเปนชฎา มีประคำหัวกะโหลก [มุณ์ฑมาลา] คล้องคอ และมีสังวาลย์เปนงู ศอสีนิล นุ่งหนังเสือ หนังช้าง หรือหนังกวาง มีอาศนะเปนหนังเสือ ถือตรีศุลชื่อปินากบ้าง ถือธนูชื่ออัชคพบ้าง ถือบัณเฑาะบ้าง ถือคทายอดหัวกระโหลกชื่อขัฏวางค์บ้าง ถือบาศบ้าง มีภูตเปนบริวาร สถานที่สถิตย์คือเขาไกลาศ (ที่เขียนว่า “ไกรลาศ” นั้น เปนอันแผลงเกินจากของเดิมไป)

พระมเหษีพระอิศวรคือพระอุมา ซึ่งเรียกว่าพระบรรพตีบ้าง พระมหาเทวี บ้าง หรือพระเทวี เฉยๆ บ้าง เป็นบุตรีท้าวหิมวัต (เขาหิมาลัย) เปนศักดิ์ของพระอิศวร เพราะฉนั้นจึ่งมีเครื่องหมาย คือพระโยนี อยู่ด้วยกันกับพระศีวะลึงค์ พระเทวีนั้นมีเปน ๒ ภาค ภาค ๑ ใจดี ภาค ๑ ดุและมีอิทธิฤทธิ์มาก มีนามหลายนาม ในส่วนภาคข้างดี ชื่อพระอุมา เปนนางงาม เคารี (เหลืองและกระจ่าง) บรรพตี [ปาร๎วติ] คือหญิงชาวเขา และ เหมวดี [ไหมวติ] คือลูกท้าวหิมวัต ชคันมาตา (มารดาโลก) และภพนี [ภวนิ] ในส่วนภาคข้างดุ ชื่อทุรคา (ผู้เข้าถึงมิได้) กาฬี และ ศยามา (ดำ) จัณฑี และ จัณฑิกา (ดุ) ไภระพี (น่ากลัว) ในภาคดุนี้มีผู้บูชามาก เพราะกลัวกันมาก วิธีบูชานั้นร้ายกาจ คือประการ ๑ สมมุติกันว่าโปรดเห็นเลือดหรือเห็นคนตาย เพราะฉนั้นจึ่งมีเอาคนไปฆ่าบูชายัญบ้าง หรือมีผู้เลื่อมใสศรัทธาไปทำร่ายรางกายตนเองถวายบ้าง เช่นเอาเบ็ดเกี่ยวหลังและไกวไปมาจนเนื้อหลุดฉนี้เปนต้น อีกประการ ๑ มีวิธีบูชาเรียกว่า “ตานตริก” คือ ทำให้พระเทวีมัวเพลิดเพลินทอดพระเนตรแต่การ “สร้าง” (คือการเสพเมถุน อันนับว่าเปนองค์ของการสร้างหรือให้กำเหนิด) จะได้ทรงลืมนึกถึงการอยากเห็นเลือดและความเจ็บความตาย วิธีบูชาทั้ง ๒ ประการนี้เปนวิธีที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง ๆ เมื่อความคิดของชนชาวมัธยมประเทศเลวทรามต่ำช้าลงกว่าชนชั้นยุคไตรเพทเปนอันมากแล้ว การบูชาด้วยวิธีอันร้ายกาจ เช่นฆ่าคนบูชายัญ หรือด้วยอาการอันลามกต่าง ๆ นั้น รัฐบาลอังกฤษในอินเดียได้ประกาศห้ามหมดแล้ว รูปพระเทวีโดยมากมักมี ๑๐ แขน ถืออาวุธต่าง ๆ ทุกมือ ในภาคทุรคามีสีกายเหลือง รูปร่างหมดจดงดงาม ขี่เสือ ในภาคกาลีมีสีกายดำ รูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว มีเลือดหยดตามปากและตัว งูเปนเครื่องแต่ง และมีหัวกระโหลกหรือหัวคนตัดใหม่ ๆ ห้อย หรือถือไว้ ส่วนนามและเรื่องราวยังมีอยู่อีกมากและพิศดารเหลือที่จะเก็บมาไว้ได้ในที่นี้ จึ่งงดไว้ก่อน

พระอิศวรกับพระเทวีมีโอรส ๒ องค์ คือ (๑) พระคเนศซึ่งเรียกว่า พระวิฆเนศ (เปนใหญ่ข้ามความขัดข้อง) คณบดี (เปนใหญ่ในคณ ชื่อเดียวกับคเณศนั้นเอง) อขุรถ (ขี่หนู) มีหัวเปนช้าง จึ่งได้นามว่าคชานน คชวัทน์ คชมุข และ กะรีมุข มีงาเดียว (เพราะถูกขวานปรศุรามหักไปเสียงา ๑) จึ่งได้นามว่าเอกทนต์ เปนผู้ที่มักอวด จึ่งเรียกว่าเหรัมพ์ นอกจากนี้มีเรียกว่า ลัมพะกรรณ (หูยาน) ลัมโพทร (ท้องยาน) ทวิเทห (ตัวสองลอน) เปนต้น (๒) พระขันทกุมาร [ส๎กัน์ท] เกิดมาสำหรับสังหารท้าวตารกาสูร ผู้ครองตรีปุระ (ซึ่งข้างเราเรียกว่าท้าวตรีบุรัม) เปนเทพเสนาบดี จึ่งเรียกว่า เสนาบดี บ้าง มหาเสนา บ้าง สิทธิเสน (ผู้นำสิทธา) และ ยุธรงค์ (รบเก่ง) มีนกยูงชื่อปรวาณีเปนพาหน จึ่งได้ชื่อว่ามยุรอาศน์ มยุรรถ (ขี่นกยูง) และ มยุรเกตุ (นกยูงเปนธง) ในส่วนที่เปนลูกพระอิศวรเรียกว่าพระกุมาร ถือหอกจึ่งเรียกว่าศักดิธร แต่นอกจากหอกมีธนูและศรด้วย ส่วนที่ชนะตารกาสูรได้ชื่อว่าตารกชิต มี ๑๒ แขน จึ่งเรียกว่าทวาทศกร มี ๖ หัว จึ่งเรียกว่าทวาศากษ์ (๑๒ ตา) และรูปตรงดีจึ่งชื่ออุชุกาย [ฤชุกาย]

พาหนของพระอิศวรคือโคอุศภราชเผือกผู้ อันมีนามว่านนทิ หรือ ศาลังกายน เปนเจ้าแห่งสัตว์จัตุบาททั้งหลาย แต่ไม่ใช่เปนโคอยู่เสมอทุกเวลา ถ้าเวลาอยู่ปรกติที่วิมานไกลาศ พระนนทิมีรูปอย่างมนุษ กระทำน่าที่เปนมณเฑียรบาล และหัวน่าพวกบริวารพระอิศวร มีไม้เท้าถือสำหรับตำแหน่งด้วย และในเมื่อพระอิศวรทรงระบำตาณฑพ เปนน่าที่พระนนทิตีตะโพน จึ่งได้นามว่านาทิเทห และ ตาณฑพตาลิก (คือผู้ให้จังหวะ)

หมายเหตุ – ข้าพเจ้าขอเชิญผู้อ่านสังเกตดูในที่นี้ว่า โคอุศภราชนนทินั้น เมื่อพระอิศวรจะเสด็จแห่งใดจึ่งจะเปนพาหนะให้ขี่ แต่เมื่ออยู่ปรกติก็ทำน่าที่เปนกรมวัง เพราะฉนั้นตรากระทรวงวังแต่เดิมนั่น ตราใหญ่ที่เรียกว่า “เทวดาทรงพระนนทิการ” น่าจะเปนรูปพระอิศวรทรงโคอุศภราช (นนทิ) แปลว่าเสนาบดีกระทรวงวัง (พระนนทิ) ดำเนินพระบรมราชโองการ (รับๆสั่งพระอิศวร) ตราน้อยที่เรียกว่า “พระนนทิการ” นั้น น่าจะเปนรูปโคอุศภราช (พระนนทิ) อยู่ลำพัง แปลว่าเปนคำสั่งเสนาบดีวังเอง เข้ารอยพระยมทรงสิงห์ (ใหญ่) กับสิงห์ (น้อย) ดังนี้ ที่มาทำรูปพระนนทิการเปนยักษ์ไปนั้น ถ้าจะว่าเหลวทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะพระนนทิเวลาอยู่ปรกติรูปเปนภูต และไม้เท้าสำหรับตำแหน่งนั้นจะเห็นเปนตะบองยักษ์ไปก็เปนได้ ในชั้นต้นผู้ที่คิดตราเขาคงรู้เรื่อง แต่มาชั้นหลังลืม ๆ กันไปแล้ว จึ่งเลยไม่มีใครรู้เค้า ที่จริงตราใหญ่น่าจะเรียกว่า “พระมหาเทพทรงพระนนทิการ” และทำเปนรูปพระอิศวรทรงโค ตราน้อยคงเรียกว่า “พระนนทิการ” และจะทำเปนรูปโคอยู่ลำพัง หรือถ้าจะอวดรู้ให้มากอีกหน่อย ทำพระนนทิการเปนคนถือไม้เท้าก็ใช้ได้ – ว.ป.ร.

เศารเสนี – เปนภาษาจำพวกปรากฤต ซึ่งใช้พูดในศูรเสนชนบท ตั้งอยู่ณดินแดนริมฝั่งน้ำยมุนา มีเมืองมถุราเปนนครหลวง

สังคีต [สํคีต] – การขับร้องรับดนตรี และบางทีก็มีรำด้วย

สังคีตจาลา – เปนศาลาอยู่ในวังเจ้านาย ใช้เปนที่มีการขับร้อง หรือลคร

สังสกฤต [สํส๎ก๎ฤต] – แปลว่า “ผสมกันเข้าแล้วอย่างดี” “เปนรูปอันระเบียบ” “เปนแบบแผนงดงาม” ใช้เรียกภาษาซึ่งนับว่าไพเราะเรียบร้อย ตรงกันข้ามกับภาษาจำพวกปรากฤต ที่ยุ่งไม่เปนระเบียบแบบแผน

สิทธา – เปนฤษีจำพวก ๑ ซึ่งทรงคุณธรรมอย่างประเสริฐสถิตยอยู่ณวิมานหรือกุฎีระหว่างพื้นดินกับพระอาทิตย์ แต่คำสิทธาในชั้นหลังมาใช้เปนศัพท์ยกยอฤษีในเมืองมนุษ ที่ทรงคุณธรรมมั่นคงอย่างสิทธา

สุร – คือเทวดา ตรงกันข้ามกับอสุร ในชั้นต้น ในไตรเพทใช้เรียกผู้เปนบริวารพระสุริยเทวราช ต่อมาใช้เรียกเทวดาทั่วๆไป

สุรภี – ดอกไม้ซึ่งมักเรียกว่า “สารภี”

สูรย์ หรือ สุริย – คือเทวดาที่มักเรียกกันว่าพระอาทิตย์ เพราะเปนลูกพระอทิติ (ดูที่ อทิติ และ อาทิตย์) ในพระเวทพระสูรย์เปนผู้ให้แสงและความอบอุ่น และบ้างก็เรียกว่า สวิตฤ [สวิต๎ฤ] ขี่รถเทียมม้าสีแดง ๗ ตัว

พระสูรย์นี้ กล่าวว่ามีชายาหลายนาง แต่ที่มีชื่อเสียงและมีเรื่องราวสนุกที่สุด คือ นางสัญญา ผู้เปนบุตรีพระวิศวกรรม มีลูกด้วยกันคือ พระมนูไววัสวัต หรืออีกนัย ๑ เรียกว่าท้าวสัตยพรต ๑ พระยม หรือธรรมราช ๑ นางยมี หรือยมุนา (ลำน้ำ) ๑ พระสูรยนั้นกายรุ่งโรจน์เหลือทน นางสัญญาจึ่งจัดให้นางฉายาไปเปนเมียแทน ตัวนางสัญญาเองหนีออกไปบวชเปนโยคินีอยู่ในป่า และเพื่อจะมิให้ผัวจำได้จึ่งจำแลงเปนนางม้า ได้นามว่าอัศวินี พระอาทิตย์ก็จำแลงเปนม้าไปเปนผัว เกิดลูกด้วยกัน คือ พระอัศวินแฝดคู่ ๑ กับพระเวรันต์ ๑ พระอาทิตย์พานางกลับมายังสำนักแล้ว พระวิศวกรรมผู้เปนพ่อตาจึ่งเอาพระอาทิตย์กลึงเพื่อขัดขูดผิวที่สว่างออกเสียส่วน ๑ ใน ๘ ผิวที่กลึงขูดออกแล้วนั้น พระวิศวกรรมได้เก็บเอาสร้างจักรถวายพระนารายน์ ๑ ตรีศูลถวายพระอีศวร ๑ คทาให้ท้าวกุเวร ๑ หอกให้พระขันทกุมาร ๑ และทำอาวุธแจกเทวดาอื่นๆ ได้อีกเปนอันมาก

พระสูรย์นั้น ในรามายณว่าเปนพ่อพญาสุครีพกะปิราชผู้ครองนครกีษกินธยา (ขีกขินธ์) ในมหาภารตว่าเปนพ่อท้าวกรรณะผู้ครองแคว้นองคราษฎร์ (เบ็งคอล) ผู้เปนเสนาบดีแม่ทัพฝ่ายโกรพ ในหริวํศว่าพระสูรยเปนพ่อพระมนูไววัสวัต พระมนูเปนพ่อท้าวอิกษวากุ ผู้เปนบรมชนกแห่งกษัตร์สุริยวงศ์ผู้ครองนครศรีอโยธยา และมิถิลา และพระมนูมีธิดาชื่อนางอิฬา ซึ่งได้ไปเปนมเหษีพระพุธเทวราช พระพุธกับนางอิฬามีโอรส คือท้าวปุรูรพบรมชนกแห่งกษัตร์จันทรวงศ์ กับมีความนิยมกันว่า พระสูรยเมื่อจำแลงเปนม้าอยู่นั้น ได้พบพระฤษีชื่อยาญวัลกย์ ได้บอกพระอรชุนยัชุรเวทให้แก่พระยาญวัลกย์ (ดูที่ เวท)

รูปพระสูรยมีสีกายแดง เปนคนร่างเล็กๆ ขี่รถเทียมม้า ๗ ตัว หรือตัวเดียว ๗ หัว มีรังษีรอบตัว มีสารถีชื่ออรุณ นครที่สำนักชื่อวิวัสวดี หรือภาสวดี นอกจากนางสัญญาผู้เปนมเหษี และนางฉายาผู้เปนสนม พระอาทิตย์มีชายาอีก ๓ นาง คือ สวรรณีสวาดีมหาวีรยา

นามพระสูรยาทิตย์มีที่ใช้อยู่บ่อย ๆ คือ สวิตฤ (ผู้เลี้ยง) วิวัสวัต (ผู้สว่าง) ภาสกร (ผู้ทำแสงสว่าง) ทินกร (ผู้ทำกลางวัน) อรหบดี (เปนใหญ่ในวัน) โลกจักษุ (ตาโลก) กรรมสากษี (พยานกรรม) เคราะหราช (เจ้าแห่งดาว) คภัสติมาน (มีแสง) สหัสรกิรณ (มีแสงพัน ๑ ) วิกรรตตนะ (ผู้ถูกตัดแสงสว่าง คือถูกขูด)

สุริยวงศ์ – คือวงศ์กษัตร์ซึ่งสืบวงศ์จากพระสุริยเทวราช (ดูข้างบนนี้) แลครองนครอโยธยากับมิถิลา

โสม – (๑) คือน้ำที่คั้นจากต้นไม้ชนิด ๑ เรียกว่าต้นโสม เปนไม้เถาเรียกชื่อตามภาษาละตินว่า “อัสเค๎ลปิอัสอซิดะ” (Asclepias acida) เถานี้เมื่อคั้นเปนน้ำขาว หมักไว้ก่อนแล้วจึ่งใช้เปนเครื่องสังเวยเทวดาและพราหมณ์ดื่มต่อไป เมื่อดื่มแล้วมีเมาและทำให้ใจร่าเริง พวกพราหมณ์ชอบกันมาก ถึงแก่กล่าวว่า ใครได้ดื่มโสมแล้วได้แลเห็นสวรรค์ ในพระฤคเวทมีกล่าวเรื่องน้ำโสมนี้เปนอันมาก มีคำสรรเสริญและกล่อม กับในหนังสือพราหมณะมีอธิบายพิธีโสมพลีไว้หลายอย่าง มีข้อความวิจิตร์พิศดารมาก โสมนั้นยกย่องเรียกว่า “ราชัน” และเปนเทวดาผู้มีอานุภาพมาก อาจจะบำบัดโรคได้ทุกอย่าง ให้ทรัพย์บังเกิดแก่ผู้นับถือ และเปนใหญ่ยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวง เพราะอาจจะบันดาลให้เทวดาทำอะไร ๆ ได้อย่างใจ (คือดื่มเข้าไปแล้วเมานั้นเอง) พระอินทร์เปนผู้ที่โปรดน้ำโสมมาก เพราะฉนั้นถ้าจะสังเวยอะไรก็ไม่โปรดเท่าน้ำโสม

(๒) คือพระจันทร์ ตั้งแต่ในยุคไตรเพทแล้วได้นามว่าโสมเทพ ชรอยจะเปนเพราะมีแสงขาวเหมือนน้ำโสมเมื่อแรกคั้น อภินิหารต่าง ๆ ของโสมนั้น ก็มายกให้พระจันทร์เปนอันมาก เช่นมีนามว่า โอสถิบดี (เจ้าแห่งยา) เปนผู้คุ้มเกรงรักษาพลีกรรมและการบำเพ็ญกุศล

อนึ่งโสมนั้นนิยมกันว่าเปนยาอันประเสริฐ เพราะเป็นยาอันเย็นระงับความโกรธปองร้ายได้ เพราะฉนั้นเมื่อระงับโกรธแห่งผู้อื่นได้ด้วยความดี จึ่งเรียกว่า “ชนะได้ด้วยโสม” และคำที่ใช้เช่นนี้ก็ติดมาจนถึงในพุทธศาสน์ของเรา จึงยังมีปรากฎอยูในคาถา “พาหุํ” ว่า สมเด็จพระมหามุนินทร์ทรงชำนะนางจิญจาได้ด้วยโอสถอันประเสริฐ คือโสมดังนี้

โสมเตียรถ์ – ชื่อสถานเทพารักษ์ ซึ่งกล่าวในเรื่องศกุนตลาว่าพระกัณวะไปนมัสการ

โสมราต – ชื่อปุโรหิตของท้าวทุษยันต์ในเรื่องศกุนกลา

หริวงศ์ [หริวํศ] – คือวงศ์พระหริ (นารายน์) เปนชื่อหนังสือ “พงษาวดารพระนารายน์” คือพงษาวดารแห่งกษัตร์สุริยวงศ์ ซึ่งเปนสกุลของพระนารายน์รามาวตาร และกษัตร์จันทรวงศ์ ซึ่งเปนสกุลของพระนารายน์กฤษณาวตาร หนังสือนี้แต่งเปนกาพย์มีฉันท์ถึง ๑๖,๓๗๔ คาถา ตามความปรารถนาของผู้แต่งนั้น จะให้ถือว่าเปนส่วน ๑ ของมหาภารต แต่นักปราชญ์ผู้รอบรู้ไนวรรณคดีสันนิษฐานว่าอายุจะอ่อนกว่ามหาภารตเปนอันมาก หนังสือนั้นแบ่งเปน ๓ ภาคๆ ที่ ๑ กล่าวด้วยการสร้างโลก และบอกพงษาวดารแห่งพรหมฤษีและกษัตร์สุริยวงศ์จันทรวงศ์ มีรายนามละเอียด ภาคที่ ๒ กล่าวด้วยพระกฤษณาวตาร เปนเรื่องราวพิศดาร ภาคที่ ๓ ว่าด้วยอนาคตกาลแห่งโลก และความเสื่อมทรามต่างๆ แห่งกลียุค คือเปนภาคทำนาย (อย่างข้างพวกเราก็มีนักเลงจำพวก ๑ ซึ่งชอบซัดอะไรๆ ให้เปน “พุทธทำนาย”)

หัสดิน [หัส๎ตินาปุร] – “เมืองช้าง” เปนนครหลวงของกษัตร์จันทรวงศ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำพระคงคาเก่า ห่างจากนครเดลหิไปประมาณ ๒๒๔๐ เส้น (๕๗ ไมล์) ทางทิศอิสาน ในว่าๆว่าพระราชาจันทรวงศ์องค์ ๑ ชื่อท้าวหัสดิน [หัส๎ติน] เปนผู้สร้าง แต่ในเรื่องศกุนตลากล่าวว่าท้าวทุษยันต์ครองนครหัส๎ดิน ก็ท้าวทุษยันต์นี้เกิดก่อนท้าวหัสดินหลายชั่วคน เพราะฉนั้นดูเปนข้อเถียงกันอยู่

หิมพาน [หิมวัต, หิมวาน] – คือ เขาหิมาลัย และป่าที่อยู่เชิงเขานั้นก็เรียกว่าป่าหิมพานด้วย

หิมาลัย
– ชื่อเขาใหญ่อันอยู่ทิศเหนือแห่งมัธยมประเทศ ตามภูมิศาสตร์อังกฤษเรียกว่า “Himalays” (อ่านตามสำเนียงอังกฤษว่า “ฮิมะเลส” แต่ในโรงเรียนเดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะให้อ่านตามสำเนียงเดิมแล้ว)

เหมกูฏ – แปลชื่อว่า “ยอดทอง” เปนชื่อเขาอัน ๑ ซึ่งอยู่เหนือเขาหิมาลัย เปนเขาเทือกยาวซึ่งเปนพรมแดนด้านเหนือแห่งกิมปุรุษวรรษ กิมปุรุษวรรษนี้เปนภูมิอัน ๑ ในตำรานวภูมิ (ตำราแผนที่โบราณ ซึ่งแบ่งโลกเปน ๙ วรรษ) กิมปุรุษวรรษ เปนที่อยู่ของพวกกิมปุรุษ หรือกินนร [กึนร] คือเปนพวกคนปลาดอย่าง ๑ ซึ่งรูปไม่เหมือนมนุษ (คำว่า “กึ” = อะไร “นร” = คน รวม “กึนร” = “คนอะไร” คืออะไรมิรู้ได้)

อนึ่งในเรื่องศกุนตลานั้น กล่าวว่าพระเทพบิดรตั้งสำนักอยู่บนยอดเหมกูฏ และท้าวทุษยันต์ได้ไปเฝ้าที่นี้ ได้พบนางศกุนตลา ซึ่งได้พรากกันไปเสียนาน และได้เห็นพระภรตผู้เปนโอรสเปนครั้งแรก พากันกลับมาจากเขานี้


----------------------------


.......ฯ........       ทิ้งข้าคอยสร้อยเศร้าทุกเช้าค่ำ
เด็ดดอกไม้ไปดมชมจนช้ำ      ไม่ต้องจดต้องจำนำพา
เหมือนผู้ร้ายย่องเบาเข้าลักทรัพย์           กลัวเขาจับวิ่งปร๋อไม่รอหน้า
จงทรงพระเจริญเถิดราชา                 ข้าขอลาแต่บัดนี้ไป.
จากเรื่อง ศกุนตลา
พระราชนิพนธ์ ใน สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


ขอขอบคุณที่มาเรื่อง : เว็บไซต์หอสมุดวชิรญาณ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 มิถุนายน 2563 19:02:04 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ภาษิตนักรบโบราณ พระราชนิพนธ์ ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 0 6178 กระทู้ล่าสุด 04 กุมภาพันธ์ 2557 14:28:49
โดย Kimleng
สีใดมีความหมายอย่างใร? ในธงไตรรงค์ : พระราชนิพนธ์ ใน ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ตลาดสด
Kimleng 0 1937 กระทู้ล่าสุด 05 มกราคม 2560 11:39:16
โดย Kimleng
พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว « 1 2 3 »
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 42 11036 กระทู้ล่าสุด 12 กรกฎาคม 2561 14:08:22
โดย Kimleng
สาวิตรี พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
สุขใจ ใต้เงาไม้
Kimleng 1 1810 กระทู้ล่าสุด 20 พฤษภาคม 2563 14:57:40
โดย Kimleng
ศกุนตลา : ตำนานความรักที่เกือบพินาศเพราะคำสาป
สุขใจ หนังสือแนะนำ
ฉงน ฉงาย 0 994 กระทู้ล่าสุด 11 มีนาคม 2564 10:12:13
โดย ฉงน ฉงาย
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.351 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 5 ชั่วโมงที่แล้ว