[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 20:56:11 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระธรรมเทศนา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  (อ่าน 3729 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 08 มิถุนายน 2563 10:08:25 »





บันทึกพระธรรมเทศนา
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๙
-----------------------------------------

วันมหาปวารณา*
สีลํ สมาธิ ปญฺญา จ     วิมุตฺติ จ อนุตฺตรา
อนุพุทฺธา อิเม ธมฺมา     โคตเมน ยสสฺสินา

ตอนต้นท่านแสดงพระพุทธคุณบทว่า ภควา อธิบายเป็น ๓ คือ พระผู้หักวัฎฎะ ๑ พระผู้มีบุญควรคบ ๑ พระผู้จำแนกแยกบุญ ๑ ท่านแสดงถึงความรู้ว่า ความรู้กาย เป็นความรู้ทางโลก ความรู้จิต เป็นความรู้ทางธรรม

ท่านเข้าคาถา แปลว่า ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันเยี่ยม ธรรมะเหล่านี้ พระโคดมผู้มียศตรัสรู้แล้ว ท่านอ้างว่าผู้ฟัง ได้ยิน ได้ฟังเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา มาช่ำชองแล้ว จึงแสดงธรรมะทั้ง ๓ นี้แต่เพียงยกหัวข้อขึ้น แล้วแสดงวิมุตติว่า เมื่อมีศีลก็พ้นจากกิเลสอย่างหยาบด้วยศีล เมื่อมีสมาธิ ก็พ้นจากกิเลสอย่างกลางด้วยสมาธิ เมื่อมีปัญญา ก็พ้นจากกิเลสอย่างละเอียดด้วยปัญญา ความพ้นจากกิเลสอย่างหยาบ กลาง ละเอียด เป็นวิมุตติโดยลำดับ

ต่อแต่นี้ ท่านปรารภถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ต้นวงศ์ธรรมยุต แสดงประวัติพระศาสนา ชี้เหตุให้เกิดธรรมยุต พร้อมทั้งผลดีที่มีแก่การพระศาสนาในเมื่อเกิดธรรมยุตขึ้นแล้ว เช่นทำให้พระสงฆ์ฝ่ายเดิมดีตามขึ้น และแสดงถึงการคณะสงฆ์อันเนื่องด้วย พ.ร.บ. ปัจจุบันในที่สุด ขอให้พร้อมกันถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ


* พระธรรมเทศนา กัณฑ์เช้า วันมหาปวารณา วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๗

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2563 16:11:32 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 15 มิถุนายน 2563 16:15:07 »





บันทึกพระธรรมเทศนา
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๙
-----------------------------------------

บันทึกพระธรรมเทศนา*


เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีชนมายุครบ ๖ รอบปีบริบูรณ์ วันนี้โดยสุริยคติกาล ท่านปรารภเหตุนี้ บำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน คือ

พระสงฆ์ ๑๐ รูป สวดมนต์เจ็ดตำนานย่อ นิมนต์จากวัดธรรมยุตวัดละหนึ่ง นิยมวัดที่เกี่ยวกับพระราชบุพพการี บุพพการินีของท่าน เว้นแต่วัดบางขวางวัดเดียว นิยมพระที่นิมนต์ คือพระครูสีลาภิรม มีลำดับดังนี้

๑. พระศาสนโศภน     วัดมกุฏกษัตริยาราม
๒.พระวินัยมุนี     วัดราชบพิธ
๓. พระศรีวิสุทธิวงศ์     วัดเทพศิรินทราวาส
๔. พระอมราภิรักขิต     วัดบรมนิวาส
๕. พระเขมาภิมุขธรรม     วัดเขมาภิรตาราม
๖. พระครูปทุมธรรมธาดา         วัดปทุมวัน
๗. พระครูสีลาภิรม     วัดบางขวาง
๘. พระมหานิยม     วัดราชประดิษฐ์
๙. พระมหาจับ     วัดโสมนัสวิหาร
๑๐. พระมหาเจริญ     วัดบวรนิเวศวิหาร

เริ่มสวดมนต์เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกาเศษ สวดเจ็ดตำนานย่อ ถวายพรพระต่อแล้วฉันเพล เลี้ยงพระโต๊ะฝรั่ง ๒๔ รูป เสด็จพระองค์อาทรฯ รับ อาหารไทยอีก ๓๐ รูป เจ้านายและผู้มีศรัทธาอื่นๆ รับเป็นทำนองแกงหม้อ ขนมหม้อ นอกจากนี้ตักแจกพระเณรทั้งวัด ทำพิธีที่ตำหนักเพชร ฉันที่หอสหจร ชั้นล่าง ฉันเสร็จแล้ว พระสวดมนต์แยกไปตำหนักเพชร พระที่ฉันนอกนั้น ทำอนุโมทนา ณ ที่ฉัน เสร็จแล้วเจ้าพระคุณฯ ถวายไทยธรรม พระสวดมนต์ แล้วอนุโมทนา ต่อจากนี้ เลี้ยงเจ้านาย พระ เณรวัดบวรนิเวศ และพระต่างวัดที่มาฉัน (เว้นพระสวดมนต์) จับสลาก

เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา พอเลี้ยงและจับสลากเสร็จ พระอมรมุนี วัดราชาธิวาส แสดงธรรมเทศนา สังฆโสภณกถา ยกคาถา


โย โหติ พฺยตฺโต จ วิสารโท จ
พหุสฺสุโต ธมฺมธโร จ โหติ
ธมฺมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ส ตาทิโส วุจฺจติ สงฺฆโสภโณ (องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๗/๑๐)


ปรารภบุพพเปตพลีว่า ท่านปรารภความที่มีชนมายุเจริญมาครบ ๖ รอบบริบูรณ์ จึงบำเพ็ญกุศลถวายพระราชกุศลแด่พระอดีตมหาราช มหาราชินี แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ และถวายพระราชกุศลแด่พระญาติสายสกุลโดยตรง ตั้งต้นแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมเหศวร (ต้นสกุลนภวงศ์) ตลอดถึงสายบุรพสตรีที่เนื่องมาแต่พระเจ้ากรุงธนบุรี สืบขึ้นไปตลอดถึงกัน ดำเนินความพรรณาพระราชกรณีย์พระอดีตมหาราชที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ประเทศชาติศาสนา เป็นพระราชประวัติพระจอมฯ ทางด้านศาสนา เพราะทรงก่อตั้งคณะธรรมยุตแล้วเข้าคาถา แล้วก็ลงตามธรรมเนียม

เวลา ๑๗.๐๐ น. ประชุมสวดมนต์ถวายในพระอุโบสถ มีพระต่างวัดเข้าร่วมด้วยหลายรูป ท่านเจ้าพระคุณฯ นำทำวัตรแล้ว พระธรรมปาโมกข์ วัดราชบพิธ นำสวดมนต์ถวายพระเทพเวที วัดมกุฏฯ ขัดชุมนุมเทวดา สวดต้นสวดมนต์แล้วขัดธรรมจักร เริ่มด้วย เย สนฺตา สวดธรรมจักร แล้วสวดปริตตกรณปาฐ ธมฺมคารวาทิคาถา สุนกฺขตฺตํ ลงด้วย โส อตฺถลทฺโธ ๓ จบ เทวตาทีนํ ปตฺติทานคาถา (แทนส่งเทวดา) โหตุ สพฺพํ เป็นจบ สวดจบแล้ว ท่านเจ้าพระคุณฯ ว่าเมื่อได้สวดมนต์ให้ท่านแล้ว บัดนี้ ท่านจักให้พร แล้วกล่าวคำอวยพรดังต่อไปนี้

บัดนี้ พระเถรานุเถระได้มาประชุมสวดมนต์ให้ ด้วยความตั้งใจดี และแสดงคารวะในคราวที่ได้มีอายุครบหกรอบสิบสองปีบริบูรณ์ เป็นการสืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนานั้น คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้นเดิมก็เป็นคนสามัญ แต่เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ จึงได้นามว่าพระโพธิสัตว์ ท่านได้ประพฤติดีประพฤติชอบจนได้ตรัสรู้อมตธรรมด้วยธาตุรู้ จึงได้พระนามว่าพระสัมมาสัมพุทธะ อมตธรรมนั้นสามัญชนไม่อาจรู้ได้ด้วยตนเอง พระสัมมาสัมพุทธะจึงได้ทรงแสดงคำสั่งสอน หมู่บุคคลผู้ได้ฟังคำสั่งสอนนั้นแล้ว ปฏิบัติตามจนได้ตรัสรู้ตาม แล้วนำสืบมาจนถึงเราทุกวันนี้เป็นพระสงฆ์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ทั้ง ๓ นี้ จึงเนื่องกัน ดังคาถาว่า


อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ     อุตฺตมํ ธมฺมมชฺฌคา
มหาสงฺฆํ ปโพเธสิ     อิจฺเจตํ รตนตฺตยํ

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ได้ตรัสรู้ธรรมอันสูงสุดแล้ว ทรงปลุกสงฆ์หมู่ใหญ่ให้ตรัสรู้ตาม นี้เป็นพระรัตนตรัยดังนี้

ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนั้น และอานุภาพแห่งความปฏิบัติ ปฏิบัติชอบด้วยกาย วาจา ใจ ขอให้พระเถรานุเถระทั้งหลายจงปราศจากอุปสัคศัตรู อุปัทวะโรคาพาธทุกข โทมนัส พิบัติอันตราย มีความสุขแช่มชื่นผ่องใส ปลอดโปร่งกาย ปลอดโปร่งใจ ถึงพร้อมด้วยลาภ ยศ อายุ วรรณ สุข พละ เพื่อประพฤติดีปฏิบัติชอบในพระธรรมวินัยตลอดไปเทอญ

จบแล้ว พระธรรมปาโมกข์นำรับว่า สาธุ ภนฺเต แล้วพร้อมกันกราบท่านเจ้าพระคุณฯ สามครั้ง แล้วเลิกประชุม เป็นเสร็จพิธี
 

ข้อควรสังเกต

๑. ท่านต้องการพระเทศน์วัดราชา เพราะวัดนั้นเป็นวัดเกิดธรรมยุตทีแรก ถัดมาก็วัดบวรนิเวศฯ วัดบรมนิวาส ส่วนพระสวดมนต์ ก็ต้องการที่เกี่ยวข้องดังกล่าวแล้ว

๒. งานที่ทำวันนี้ เป็นส่วนบุพพเปตพลีที่ท่านทำ ส่วนศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือจะพึงทำถวายเป็นส่วนฉลองอายุ พระองค์ภาณุฯ ทรงคิด ทราบว่า ทรงรวบรวมทุนเพื่อน้อมเข้าองค์การกุศลอันใดอันหนึ่ง และจะทรงนัดประชุมวันต่อไป ทีแรก ก็มีผู้คิดจะทำถวายตามทำเนียม เมื่อทราบว่าพระองค์ชายจะทรงเป็นหัวหน้าคิดทำแล้วก็เงียบรออยู่ จนเมื่อใกล้วันงาน จึงทราบว่าไม่มีทำอะไรในวันนั้น จึงต่างก็ขวนขวายช่วยท่านเจ้าพระคุณฯ ไปตามเรื่อง ทางฝ่ายพระครูปลัดฯ เป็นหัวหน้า ขึ้นกราบเรียนปฏิบัติจัดงานให้เป็นไปโดยเรียบร้อยตามบันทึกข้างต้น ทางพระ บางรูป ได้ถวายไตรช่วยท่าน และได้ตกลงรวบรวมทุน เพื่อจัดทำวัตถุที่ระลึกท่านเจ้าพระคุณฯ เป็นส่วนรวมในโอกาสอันควรต่อไป ทางฝ่ายคฤหัสถ์เจ้านายรับอาหารและจัดของถวายพระสวดมนต์เพิ่มขึ้นอีก เจ้านายบางองค์และศิษยานุศิษย์ผู้เคารพนับถือบางท่าน ก็ได้ปวารณาด้วยจตุปัจจัยเป็นการช่วย พระองค์ชายจัดหล่อพระกริ่ง ๓๕๐ พระชัย ๘๐๐ ถวายท่านสำหรับแจกในงาน
 
๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๗


* บันทึกพระธรรมเทศนา วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 มิถุนายน 2563 16:21:41 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 17 มิถุนายน 2563 13:44:26 »





บันทึกพระธรรมเทศนา
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๙
-----------------------------------------

บันทึกพระธรรมเทศนา*  

ธมฺมาราโม ธมฺมรโต     ธมฺมํ อนุวิจินฺตยํ
ธมฺมํ อนุสฺสรํ ภิกฺขุ     สทฺธมฺมา น ปริหายติ

ท่านแสดงว่าธรรมะมีในตน แยกธรรมะเป็น ๓ คือ กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม ท่านแสดงอัพยากตธรรมว่า ท่านกล่าวว่า ได้แก่การทำ การพูด การคิด ที่เป็นไปเพื่อทำนุบำรุงกาย ไม่จัดว่าเป็นดีเป็นชั่วอย่างหนึ่ง ธรรมะที่เป็นกลางๆ อันอาจน้อมไปเป็นส่วนดีก็ได้ส่วนชั่วก็ได้ เช่น สติ ความระลึก น้อมไปเป็นส่วนดี เป็นสัมมาสติ  น้อมไปเป็นการชั่ว เป็นมิจฉาสติ  ความเพียร น้อมไปเป็นส่วนดี เป็นสัมมาวายามะ น้อมไปเป็นส่วนชั่วเป็นมิจฉาวายามะ ความตั้งใจ น้อมไปเป็นส่วนดี เป็นสัมมาสมาธิ น้อมไปเป็นส่วนชั่วเป็นมิจฉาสมาธิ  ลำพังสติ วิริยะ สมาธิ ที่ยังไม่ได้น้อมไปเป็นดีหรือชั่ว ก็จัดเป็นกลางๆ ไม่เป็นดีเป็นชั่วอย่างหนึ่ง ธรรมทั้ง ๓ นี้มีในตน เมื่อเพ่งพิจารณาเฟ้นลงไป อกุศลย่อมเสื่อมส่วนกุศลย่อมปรากฏชำระฟอกจิตให้ผ่องแผ้วเห็นธรรม เป็นสนฺทิฏฺฐิโก  ธรรมะ อันพึงเห็นเองและธรรมะที่มีอยู่นี้ ต้องการดูเมื่อใดก็ได้ ไม่กำหนดเวลา  จึงเป็น “อกาลิโก ไม่กำหนดกาล” และอาจเรียกให้มาดูได้  เพราะมีอยู่ เป็น เอหิปสฺสิโก กล่าวได้ว่า ท่านจงมาดู และควรน้อมเข้ามาในตนหรือน้อมตนเข้าไปในธรรมะ เป็น โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

ก็การน้อมเข้ามานั้น ย่อมทำได้ด้วยการยินดีในธรรมะ ไตร่ตรองธรรมะ ระลึกธรรมะ ดังพระพุทธภาษิตว่า ธมฺมาราโม ธมฺมรโต เป็นต้น แปลความว่า ภิกษุ คือผู้เห็นภัยมีธรรมเป็นที่ยินดี ยินดีในธรรมะ ไตร่ตรองธรรมะ ระลึกถึงธรรมะอยู่เนืองๆ ย่อมไม่เสื่อมจากสัทธรรมะ  ดังนี้ ในคาถานี้ ได้คำว่า ธรรมะ อย่างหนึ่ง  สัทธรรมะอย่างหนึ่ง  ธรรมะ หมายถึง ธรรมะ ๓ อย่าง ดังกล่าว สัทธรรมะหมายถึงเฉพาะธรรมะที่ดี ระลึกถึงธรรมะ ก็หมายถึงระลึกถึงธรรมะทั้ง ๓ อย่างนั้น เช่นในสติปัฏฐาน ท่านสอนให้ระลึกถึงธรรมะส่วนดีก็มี เช่น โพชฌงค์ ธรรมส่วนชั่วก็มี เช่นนิวรณ์ ธรรมส่วนกลางๆ ก็มี เช่นขันธ์ อายตนะ อันเป็นส่วนวิบากความระลึกถึงธรรมะเป็นสติ และเมื่อระลึกก็ไตร่ตรองให้รู้ว่าส่วนไหนเป็นส่วนไหน

๑) บางคราว แต่ก่อนท่านแสดงว่าอุปการธรรม เช่น สติ วิริยะ เป็นอัพยากตธรรม ความเป็นอันเดียว

๒) ได้อัพยกตธรรม อีกอย่างหนึ่ง ธรรมวิจยะและเพียรระลึก เพียรไตร่ตรอง เป็นวิริยะ เมื่อเป็นเช่นนี้ ธรรมะส่วนชั่วก็เสื่อม ธรรมะส่วนดีก็เจริญเพิ่มพูนความยินดีในธรรมะ จึงเป็นผู้ไม่เสื่อมจากธรรมะส่วนดีด้วยประการฉะนี้

และธรรมะนี้เป็น “ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันผู้รู้ทั้งหลาย พึงรู้เฉพาะตน” เปรียบเหมือนเดินทางจนถึงสุดทาง ผู้ใดเดินก็ถึงเอง จะเดินจะถึงให้กันแทนกันไม่ได้ และธรรมะนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว เป็น สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสบอกดีแล้ว แต่ก็ทรงเป็นเพียงผู้บอก บุคคลต้องปฏิบัติด้วยตนเอง จึงจะได้จะถึง ดังพระพุทธภาษิตว่า ตมฺเหหิ กจฺจํ อาตปฺปํ ความเพียรอันท่านทั้งหลายพึงทำ อกฺขตาโร ตถาคตา พระตถาคตเป็นแต่ผู้บอก ปฏิปนฺนา ปโมกฺขนฺติ ฌายิโน มารพนฺธนา ผู้ปฏิบัติเพ่งพินิจอยู่ ย่อมพ้นจากเครื่องผูกของมาร  ดังนี้  ต่อแต่นี้ ท่านแสดงให้สาธุชนอบรมธาตุรู้ของตนให้รู้ดี รู้ชอบ เตือนให้ฟังธรรมมากๆ หรือท่องจำไว้เพ่งด้วยใจ ขบหรือตัดสินด้วยทิฏฐิ

๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๘๗

*พระธรรมเทศนา กัณฑ์เช้า วันพระสิ้นเดือน ๑๑ (ตามแบบเดือน ๘ สองหน) หรือสิ้นเดือน ๑๒ (ตามแบบเดือน ๘ หนเดียว) วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 25 มิถุนายน 2563 13:31:29 »





บันทึกพระธรรมเทศนา
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๙
-----------------------------------------

บันทึกพระธรรมเทศนา*  

ปมาทํ อปฺปมาเทน         ยทา นุทติ ปณฺฑิโต
ปญฺญาปาสารทมารุยฺห         อโสโก โสกินึ ปชํ
ปพฺพตฏฺโฐว ภุมฺมฏฺเฐ     ธีโร พาเล อเวกฺขติ

ท่านชี้ว่า ธรรมะ คือคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา แสดงของจริงที่มีในตนให้สำเร็จเป็นนาถะ คือที่พึงของผู้ปฏิบัติตามได้ ต่อแต่นี้ ท่านแสดงไปโดยลำดับว่า ผู้ไม่มีที่พึ่งย่อมว้าเหว่ใจ เปรียบเหมือนแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทร ส่วนผู้มีที่พึ่งย่อมไม่ว้าเหว่ใจ เปรียบเหมือนมีเกาะเป็นที่อาศัย พระพุทธศาสนาแสดงที่พึ่งไว้ว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน หมายความว่า ตนเองทำที่พึ่งให้แก่ตน แสดงว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ตามนัยธชัคคสูตร ทั้ง ๒ นัยนี้ดูเหมือนค้านกัน แต่เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว ไม่ค้านกัน ตนจะเป็นที่พึ่งของตนได้ ก็ด้วยพยายามถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เปรียบเหมือนผู้ตกอยู่ในมหาสมุทรต้องพึ่งตน คือต้องพยายามช่วยตนให้ถึงเกาะ ตนจึงเป็นที่พึ่งส่วน ๑  พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งส่วน ๑

พระพุทธเจ้า ชั้นเดิม เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้ทรงมีความไม่ประมาทในวัย ในความไม่มีโรค ในชีวิต ในทรัพย์สมบัติ ในพระรูปโฉม จึงเสด็จออกแสวงหาโมกขธรรม คือธรรมะที่ทำให้ไม่ประมาทอย่างหนึ่ง เมื่อทรงบรรลุธรรมะอันสูงสุดแล้ว ทรงเล็งเห็นสามัญชนเป็นผู้ประมาทในวัยเป็นต้น เหมือนไม่ต้องแก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องพลัดพรากจากทรัพย์สมบัติและรูปกาย จึงมีพระกรุณาแสดงธรรมะสั่งสอนให้ไม่ประมาท ดังพระพุทธภาษิตข้างต้นแปลว่า เมื่อใด บัณฑิตคือผู้ดำเนินกิจด้วยปัญญาพิจารณาเห็นจริง บรรเทาความประมาทด้วยความไม่ประมาท เมื่อนั้นก็ขึ้นสู่ปราสาทคือปัญญาหรือปัญญาดังปราสาท เป็นผู้ไม่มีโศก เห็นหมู่สัตว์ผู้มีโศก ปราชญ์ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องทรง ย่อมเห็นหมู่คนเลวเหมือนผู้อยู่บนภูเขา เป็นผู้อยู่บนพื้นดิน

พระพุทธภาษิตนี้ แสดงธรรมะเป็น ๓ คู่ แต่ตรงกันข้ามคู่ที่ ๑ คือความประมาทและความไม่ประมาท ความประมาท คือความวางใจ เพลิดเพลินไปในวัย เป็นต้น  ความไม่ประมาท คือความไม่วางใจ เพลิดเพลินไปอย่างนั้น บรรเทา คือทำให้น้อยลงจนหมดไป เมื่อบรรเทาอยู่ ย่อมอาจรู้ได้ด้วยปัญญาที่พิจารณาว่าตนเองเป็นผู้ประมาท หรือไม่ประมาทอย่างไร ถ้ายังประมาทอยู่เต็มที่ ก็ไม่อาจรู้ตนเองได้ว่าเป็นผู้ประมาท ต่อเมื่อมีความไม่ประมาท จึงอาจรู้ตนเองได้ตามเป็นจริง ปัญญานี้ รู้ตนเองก่อนว่า เป็นผู้ประมาทหรือไม่ประมาทอย่างไร แล้วจึงรู้ยิ่งขึ้นไปถึงการทำความไม่ประมาทให้ยิ่งขึ้น ละความประมาทให้น้อย และการที่จะอาศัยความไม่ประมาท ปฏิบัติอธรรมะให้ยิ่งขึ้นไป ปัญญาจึงมีเป็นชั้นๆ ขึ้นไป เปรียบเหมือนปราสาท เมื่อบุคคลขึ้นสู่ปราสาท ย่อมอาจเห็นผู้ที่อยู่ต่ำกว่าได้  ฉันใด ผู้ขึ้นสู่ปราสาทคือปัญญาก็ฉันนั้น เมื่อพิจารณาเห็นจริงจนเป็นผู้ไม่มีโศกได้แล้ว ก็อาจเห็นผู้ที่ยังมีโศกอยู่ได้ (เป็นคู่ที่ ๒)

ต่อแต่นี้ ท่านย้ำอีกว่า ธรรมะมีในตน บุคคลเป็นคนดี ก็เพราะมีกุศลธรรมอยู่ในตน เป็นคนชั่ว ก็เพราะมีอกุศลธรรมอยู่ในตน ที่ชื่อว่าคนดีหรือคนชั่ว เมื่อสาวเข้าไปก็จะพบกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม พึงพิจารณาดูในตนให้รู้ว่ามีกุศลธรรมหรืออกุศลธรรมตามเป็นจริง และพึงอาศัยความไม่ประมาท และอกุศล อบรมกุศลให้ยิ่งขึ้น ในข้อนี้ต้องอาศัยการรวบรวมจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ที่ดีที่ชอบ ไม่ให้ซัดส่ายฟุ้งซ่านในอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ชื่อว่าอารมณ์คือ เรื่องที่คิดยึดหน่วง ดังพระบาลีว่า ยญฺจ เจเตติ ยญฺจ ปกฺปปติ ยญฺจ อนุเสติ อารมฺมณเมตํ โหติ วิญฺญาณสฺส ฐิติยา แปลว่า คิดเรื่องใด ดำริเรื่องใด นอนตามคือหมกมุ่นเรื่องใด เรื่องนั้นเป็นอารมณ์เพื่อความตั้งอยู่ของวิญญาณธาตุ คือธาตุรู้ ในเทวธาวิตกฺกสูตร ท่านสอนให้ทำวิตกเป็น ๒ ส่วน คือ กุศลวิตกส่วน ๑ อกุศลวิตกส่วน ๑ เมื่อตรึกอยู่ในวิตกส่วนไหน ก็ให้รู้ตามเป็นจริง เมื่อคอยรู้อยู่เช่นนี้ อกุศลวิตก ก็จักสงบ คงอยู่แต่กุศลวิตก จะตรึกกุศลวิตกอยู่ตลอดวันตลอดคืน ก็เป็นการดี แต่ถ้านานนัก จิตก็ล้า กายก็ล้า ทำให้ฟุ้งซ่าน เพราะมีอารมณ์มาก จึงให้สงบกุศลวิตกเสียอีก รวบรวมจิตให้ตั้งอยู่แต่ในอารมณ์เดียว เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่ ก็อาจรู้ตามเป็นจริง ข้อที่รู้นั้นเป็นสัจธรรม เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาด้วยจิตตั้งมั่น ก็อาจรู้ได้  ต่อไปนี้ ท่านเข้าอริยสัจจว่ากายที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ส่วน ๑  ธาตุรู้ที่ยื่นออกไปยึดกาย จึงเกิดโสกปริเทว โทมนัส อุปายาส เพราะประจวบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก พลัดพรากสิ่งเป็นที่รัก ประมวลเข้าว่าปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นสมประสงค์ เป็นทุกข์อีกส่วน ๑ ปัญญาที่รู้ผิดเป็นเหตุให้ดิ้นรนกระวนกระวายเพื่อให้ได้ ให้เป็น ให้เสื่อมเสีย ความดิ้นรนกระวนกระวายนี้เป็นทุกขสมุทัย สงบความดิ้นรนกระวนกระวายเสียได้ เป็นทุกขนิโรธ ปัญญาที่พิจารณาให้รู้ตามเป็นจริง เป็นเหตุให้สงบความดิ้นรนกระวนกระวายเสียได้เป็นมรรค

ครั้นเข้าอริยสัจแล้ว ท่านหันกลับไปหาความประมาทและไม่ประมาทว่า ความประมาทเปรียบเหมือนมารที่เคยกดตนให้ต่ำทรามลงไป ความไม่ประมาทเหมือนเป็นบารมี คุณความดีที่ได้อบรมไว้ เป็นเครื่องยกตน พยุงตน อุปถัมภ์ตนให้สูงขึ้น และให้เห็นผู้ที่ยังเขลาซึ่งวิ่งวนอยู่เพราะความประมาท เปรียบเหมือนผู้อยู่บนภูเขา เห็นผู้อยู่บนพื้นดินเบื้องล่างฉะนั้น (เป็นคู่ที่ ๓) ผู้อยู่บนพื้นดินซึ่งเป็นข้อเปรียบของดินนั้นย่อมวิ่งแข่งกันไปรอบเขา คนอยู่หลัง ก็พยายามวิ่งให้ทันคนอยู่หน้า คนอยู่หน้าก็วนไปตาม คนอยู่หลังอีกเพราะเป็นวงกลม ความประมาท เป็นเหมือนมารที่คอยหมุนให้วนอยู่อย่างนี้ ส่วนความไม่ประมาทเป็นเหมือนบารมีที่ยกตนให้สูงขึ้นจนถึงยอด เป็นผู้ไม่ต้องวน ทั้งเห็นผู้ที่วิ่งวนอยู่ได้

ในที่สุด ท่านเตือนให้ทำที่พึ่งให้แก่ตน ด้วยทำความไม่ประมาทในวันเป็นต้นโดยสามารถ

๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๘๗

*พระธรรมเทศนา กัณฑ์เช้า วันพระเพ็ญ ชุณหปักษ์ กัตติกมาส (ดูด้วยตาเห็นจันทร์เสวย มิคสิรฤกษ์เป็นเดือนมิคสิรมาสแล้ว) วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗





สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศ ที่ สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์
สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงแสดงพระธรรมเทศนาศราทธพรตในพระราชพิธีถวายพระเพลิง
พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ณ พระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศท้องสนามหลวง
วันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๓
ขอขอบคุณที่มาภาพ :  f.โบราณนานมา

บันทึกพระธรรมเทศนา
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๙
-----------------------------------------

บันทึกพระธรรมเทศนา*  

นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส     ปญฺญา นตฺถิ อฌายโต
ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญา จ         น เว นิพฺพานสนฺติเก

ท่านดำเนินอารัมภกถาว่า บัดนี้ จักได้แสดงธรรมะคือคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย เพื่อประดับปัญญาความรู้ เพิ่มพูนปัญญาบารมี ความฉลาดเป็นไปในทางธรรมะ เพื่อทำบุคคลให้เป็นคนดี และทำบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องไม่ให้ถูกเบียดเบียนจากกันและกัน ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระบรมศาสดานั้น แสดงสัจธรรมอันมีที่บุคคลไม่ใช่ที่อื่น  โดยนัยหนึ่ง แสดงความดี ความสุข และความชั่ว ความทุกข์ว่ามีที่ตนหรือที่บุคคล เมื่อบุคคลทำดี ก็ได้สุข  เมื่อบุคคลทำชั่ว ก็ได้ทุกข์ ด้วยตนเองทั้ง๒ อย่าง ไม่มีผู้อื่นยกย่องหรือทับถมได้

พระบรมศาสดา (ชั้นแรก เมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้) ก่อนแต่ตรัสรู้ ก็ทรงแสวงความดีและความสุขเพื่อพระองค์เอง ชั้นแรก ทรงแสวงหาที่สำนักของผู้อื่น เมื่อเห็นว่าไม่ใช่ทางก็ทรงแสวงหาด้วยพระองค์เอง ทรงทำจิตให้ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ดีเป็นอันเดียว ทรงทำจิตที่ตั้งมั่นให้เป็นภพที่ไม่หวั่นไหว อันเรียกว่าอเนญชาภิสังขาร ทรงน้อมไปพิจารณาสัจธรรม ก็ทรงเห็นตามเป็นจริง เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความเห็นชอบจะมีได้ก็ต้องอาศัยความตั้งใจมั่นโดยชอบคือสัมมาสมาธิอุดหนุน เมื่อพิจารณาสัจธรรมด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ จึงจะสามารถเห็นตามเป็นจริงเป็นสัมมาทิฏฐิได้ และเมื่อความเห็นความตั้งใจมั่นเป็นสัมมาทิฏฐิสัมมาสมาธิขึ้นแล้ว มรรคข้ออื่น มีสัมมาสังกัปปะเป็นต้น ในระหว่างก็เกิดพร้อมกันเป็นมรรคสมังคี เมื่อเกิดมรรคสมังคีขึ้นแล้ว ความรู้แจ่มแจ้งตามเป็นจริงก็เกิดปรากฏเป็นวิชชา เมื่อมีความรู้แจ่มแจ้งตามเป็นจริงก็พ้นจากความรู้ชั่วรู้ผิด เป็นวิมุตติ พระบรมศาสดาจึงทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาพร้อมทั้งเหตุเครื่องดำเนินถึงวิชชาคือจรณะเป็นวิชฺชาจรณสมฺปนฺโน ด้วยประการฉะนี้

พระบรมศาสดา เมื่อทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะแล้ว ก็ทรงแสดงคำสั่งสอนแสดงเหตุผลฝ่ายดีส่วน ๑ ฝ่ายชั่วส่วน ๑ เพื่อว่าบุคคลปรารถนาผลอย่างใดก็จักได้ปฏิบัติในเหตุอันเป็นไปเพื่อผลอย่างนั้น รวมเรียกว่า ธรรมะ ธรรมะแปลว่าสภาพที่ทรงไว้ คือธรรมะส่วนกุศล ก็ทรงตนเองเป็นกุศล เมื่อบุคคลปฏิบัติ ก็ทรงผู้ปฏิบัติให้เป็นคนดี ธรรมะส่วนอกุศลก็ทรงตนเองเป็นอกุศล เมื่อบุคคลปฏิบัติ ก็ทรงผู้ปฏิบัติให้เป็นคนชั่ว ยังมีธรรมอีกส่วน ๑ เป็นเครื่องอุดหนุนให้บุคคลทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ อันเรียกว่าอุปการธรรมะ ธรรมส่วนนี้ เรียกว่า อัพยากตธรรม ธรรมเหล่านี้มีที่บุคคล เมื่อกุศลธรรมมีอยู่ บุคคลเป็นดีและมีสุข เมื่ออกุศลธรรมะมีอยู่ บุคคลก็เป็นคนชั่ว และมีทุกข์ บุคคลต่างปรารถนาผลดีหรือสุขอยู่ด้วยกัน แต่ถ้าประพฤติเหตุอย่างอื่น ก็จักได้รับผลอย่างอื่น และเมื่อได้รับผลอย่างใดแล้ว ถ้าคิดเห็นว่าเกิดจากผู้อื่นยกย่องหรือทับถม หรือเกิดจากเหตุอื่นที่ไม่ตรงกับผลนั้น และประพฤติไป ก็จักได้ผลอย่างอื่นต่อไปอีก บุคคลอยู่ด้วยความคิด ความประพฤติและผลอย่างนี้ ต่อเมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตาม จึงจักได้รับผลตามปรารถนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น แสดงให้ประพฤติทางกาย วาจาด้วยความตั้งใจ เป็นปฏิปักษ์ต่อความประพฤติชั่วทางกายวาจาด้วยความตั้งใจ เมื่อประพฤติดีทางกายวาจาด้วยความตั้งใจแล้ว ก็เป็นอันกำจัดความประพฤติชั่วทางกายวาจาด้วยความตั้งใจ เป็นชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ แสดงให้ทำใจให้ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ดีให้เป็นอันเดียว เป็นปฏิปักษ์ต่อความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ เมื่อมีใจตั้งมั่นเป็นอันเดียวแล้ว ก็เป็นอันกำจัดความฟุ้งซ่านเสียได้  ชั้นที่ ๓ แสดงให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นตามเป็นจริง เป็นปฏิปักษ์ต่อความรู้ชั่วรู้ผิด เมื่อพิจารณาให้รู้เห็นตามเป็นจริงแล้ว ก็เป็นอันกำจัดความรู้ชั่วรู้ผิด ปัญญาคือความรู้ถูกต้องตามเป็นจริง ย่อมมีแก่ผู้เพิ่ง ไม่มีแก่ผู้ไม่เพ่ง ความเพ่งย่อมมีแก่ผู้มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เพ่ง ความเพ่งและปัญญามีในผู้ใด ผู้นั้นอยู่ในที่ใกล้นิพพาน ดังนี้


นิพพาน แปลว่า ความดับ ดังพระพุทธภาษิตว่า
ปชฺโชตสฺเสว นิพฺพานํ วิโมกฺโข เจตโส อหุ

ในที่นี้ หมายถึงดับความรู้ผิด และความชั่ว  นิพพานนี้ มักเข้าใจกันว่าสูงเกินจะปฏิบัติให้ถึงได้ แต่ไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อบุคคลดับความรู้ผิดและความชั่วได้เพียงใด ก็เป็นนิพพานเพียงนั้น แต่ยังอาจเป็นนิพพานชั้นต้นชั้นต่ำ เมื่อบุคคลดับความรู้ผิดได้หมด ดับความชั่วได้หมด เพราะมีความดีเต็มที่ จึงเป็นนิพพานชั้นสูงสุด และนิพพานนี้ย่อมเกิดแต่เหตุคือ ฌาน ความเพ่งและปัญญาความรู้ บุคคลย่อมมีความเพ่งและปัญญาอยู่โดยปรกติ เช่นเพ่งด้วยตา ทำให้เป็นรูปถูกต้อง เงี่ยหูฟัง ชื่อว่าเพ่งด้วยหู ทำให้ได้ยินเรื่องถูก ดมกลิ่นด้วยจมูกบ่อยๆ ลิ้มรสด้วยลิ้น เช่นชิมแกง ถูกต้องด้วยกาย เช่นจับชีพจร หรือเอานิ้วจิ้มน้ำให้รู้ว่าร้อนหรือเย็น คิดทบทวนให้รู้เรื่อง ด้วยมนะ ชื่อว่าเพ่งด้วยจมูก ลิ้น กาย และมนะ ให้รู้กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องความเพ่งย่อมให้เกิดความรู้อย่างนี้ ผู้ที่ไม่มีปัญญา คือไม่รู้ว่าความเพ่งทำให้เกิดปัญญา ย่อมไม่มีความเพ่ง (เพราะเมื่อเพ่งเข้าก็กลายเป็นผู้มีปัญญาไป) จึงทรงแสดงว่า “ความเพ่งย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา” และเมื่อไม่เพ่ง ก็ไม่รู้ ดังที่ทรงแสดงต่อไปว่า “ปัญญาคือความรู้ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เพ่ง” ต่อเมื่อมีฌานคือความเพ่ง จึงจักเกิดปัญญาคือความรู้ เมื่อมีความรู้ถูก ก็เป็นเครื่องดับความรู้ผิด และความชั่วให้เสื่อมสิ้นไปโดยลำดับ ผู้มีความเพ่งและความรู้ จึงชื่อว่าอยู่ในสำนักหรือในที่ใกล้ของพระนิพพานคือความดับความรู้ผิดและความชั่ว ดังพระพุทธภาษิตต่อไปว่า “ความเพ่งและปัญญามีในผู้ใด ผู้นั้นอยู่ในที่ใกล้นิพพาน” ดังนี้

ในที่สุด  ท่านเจ้าคุณเตือนพุทธศาสนิกให้ทำลายมาร คือความที่คิด โลภ โกรธ และหลงงมงายติดอยู่ อันเกิดจากกิเลสเสวยที่มีอยู่ของบุคคลทุกคนด้วยความหมั่นเพ่งให้รู้ตามเป็นจริง เพื่อดับความรู้ผิดและความชั่ว แม้ผู้ปรารถนาจะแต่งตัวให้สวยงาม ก็ยังต้องเพ่งดูตัวที่กระจกเงา จึงจะสามารถแต่งตัวให้สวยงามได้ ในทางธรรมะก็จำต้องเพ่งให้รู้ตามเป็นจริงเช่นเดียวกัน บุคคลทำชั่วก็เพราะรู้ชั่ว ทำดี ก็เพราะรู้ดี เมื่อเพ่งพิจารณาก็ทำให้รู้ดี เป็นเหตุให้ทำดี ทุกคนจึงสมควรเพ่งให้รู้ดีคือรู้ตามเป็นจริงดับความรู้ชั่วรู้ผิดตามสามารถ

๘ ธันวาคม ๒๔๘๗

*พระธรรมเทศนา กัณฑ์เช้า วันพระกึ่งกาฬปักษ์ มิคสิรมาส วันศุกร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 กันยายน 2563 09:24:23 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 13 กรกฎาคม 2563 16:13:24 »




สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ภาพจาก : พิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

บันทึกพระธรรมเทศนา
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๙
-----------------------------------------

บันทึกพระธรรมเทศนา*

วันนี้ ท่านพระคุณสมเด็จฯ ลงโบสถ์ แต่โปรดให้พระมหาเจริญ ป.๙ ขึ้นแสดงธรรมเทศนา ผู้แสดงยกคาถา

โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ     สงฺฆญฺจ สรณํ คโต
จตฺตาริ อริยสจฺจานิ         สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ
ทุกขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ     ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ
อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ     ทุกฺขูปสมคามินํ
เอตํ โข สรณํ เขมํ           เอตํ สรณมุตฺตมํ
เอตํ สรณมาคมฺม     สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจตีติ

ผู้แสดงเริ่มชี้อรรถของศัพท์ว่าภัยก่อนว่า ภัยได้แก่ความกลัวอย่าง ๑ สิ่งที่พึงกลัวอย่าง ๑ กิริยาที่สะดุ้ง หวาดเสียว มีขนพองสยองเกล้าเป็นความกลัว สิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวอย่างนั้นเป็นสิ่งที่พึงกลัว ความกลัวย่อมมีแก่สัตว์โลกทั่วไป แต่มีมากน้อย หยาบละเอียดต่างกัน รู้ต่ำก็กลัวหยาบ เช่น สัตว์ดิรัจฉานบางจำพวก ปรากฏว่ารู้จักแต่กลัวเจ็บ ไม่รู้จักกลัวตาย รู้สูงก็กลัวละเอียด เช่น มนุษย์รู้สูงกว่าสัตว์ รู้จักกลัวตาย อีกอย่างหนึ่ง รักน้อย ก็กลัวน้อย รักมาก ก็กลัวมาก เช่น รักชีวิตมากก็กลัวภัยของชีวิตมาก รักสิ่งใดๆ อันเนื่องด้วยชีวิตน้อยลงมาโดยลำดับ ก็กลัวภัยของสิ่งนั้นๆ น้อยลงโดยลำดับ ข้อนี้มีพระพุทธภาษิตแสดงว่า เปมโต ชายเต ภยํ ปิยโต ชายเต ภยํ แหละทีแรกเห็นว่าภัยเกิดแต่สิ่งภายนอก เช่นเกิดแต่ไฟน้ำ ผู้เป็นใหญ่ โจร เป็นต้น ก็แสวงหาที่พึ่งที่ต้านทาน เช่นวัตถุหรือบุคคลดังพระพุทธภาษิต ว่า
พหุ เว สรณํ ยนฺติ     ปพฺพตานิ วนานิ จ
อารามรุกฺขเจตฺยานิ     มนุสฺสา ภยตชฺชิตา
 

แต่ทางพระพุทธศาสนาปฏิเสธว่า
เนตํ โข สรณํ เขมํ           เนตํ สรณมุตฺตมํ
เนตํ สรณมาคมฺม     สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ

และสอนให้รู้จักหลบหลีกภัยและบำบัดภัยอันเกิดแต่เหตุต่างๆ ตามนัยที่แสดงไว้ในอาทิยสูตรและพระวินัยนั้นๆ

เมื่อความรู้เจริญขึ้น มนุษย์ก็เห็นว่าภัยอีกอย่างหนึ่งเกิดแต่เหตุภายใน คือ อกุศลกรรม กรรมนี้เองเป็นเหตุสำคัญ เมื่อกุศลกรรมยังให้ผล ก็เป็นอันให้พ้นภัยต่างๆ แต่เมื่ออกุศลกรรมจะให้ผลก็มีอันจะเป็นให้ได้ประสบภัยต่างๆ ทั้งนี้แม้ที่ปรากฏแก่ตาโลกว่าบังเอิญ แต่ที่แท้ เพราะกรรมนั่นเอง ทางลัทธิศาสนาอื่น ก็คงจะเห็นเหตุเช่นนี้ จึงมีสอนให้ล้างบาป แต่ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ละชั่ว ทำดี หรือทำดีแก้ ดังว่า

ยสฺส ปาปํ กตํ กมฺมํ           กุสเลน ปหิยฺยติ

และสอนให้มีหิริโอตตัปปะ เมื่อได้กล่อมเกลาความกลัวโดยธรรมชาติให้เป็นโอตตัปปะขึ้นได้ ก็นับว่าสูงขึ้นมากแล้ว

แม้เช่นนี้ เมื่อมีภัยมาปรากฏเฉพาะหน้า ก็อดพรั่นพรึงไม่ได้ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อไปสู่ป่าโคนไม้เรือนว่าง ซึ่งเป็นที่เงียบ หรือมืด แม้จะรู้ว่าไม่มีสัตว์ร้ายอะไร ก็อดพรั่นพรึงไม่ได้ น่าจะเป็นเพราะเคยกลัวมานาน และแต่เดิม ภัยต่างๆ คงเกิดในที่เงียบหรือที่มืด หนสมัยเมื่อยังเป็นชาวป่า จึงเข็ดมาจนทุกวันนี้ เหมือนอย่างกลัวงู เมื่อเห็นสิ่งที่คล้ายกับงูก็อดกลัวไม่ได้ บางที แม้จะอยู่ในที่ๆ พ้นภัยแล้วก็ยังกลัวตัวสั่นงันงก เมื่อพิจารณาเข้ามาก็อาจพบว่าความกลัวอยู่ที่อารมณ์กับใจนั่นเอง เมื่อใจปลุกอารมณ์ที่กลัวก็เกิดกลัว ถ้าไม่ปลุกอารมณ์ที่กลัว ก็คงไม่กลัว ทางพระพุทธศาสนาจึงสอนให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นพุทธานุสสติเป็นต้น เพื่อให้ใจหลบอารมณ์กลัว เข้าปลุกอยู่แต่ในอนุสสติเหล่านี้ เปรียบเหมือนเข้าที่ห้วงภัยโดยนัยธชัคคสูตร หรือที่ตรัสไว้ว่า

โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญจ         สงฺฆญฺจ สรณํ คโต

ข้อว่าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะนั้น ก็คือระลึกถึงเป็นอนุสสตินั่นเอง  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ย่อมปรากฏโดยพระคุณ จะระลึกถึงได้ก็โดยระลึกถึงพระคุณ และเมื่อระลึกถึงพระคุณก็ชื่อว่าระลึกถึงพระคุณ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อระลึกถึงพระพุทธ ๆ ก็เป็นสรณะของผู้ระลึก พระธรรม พระสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน และเมื่อมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ใจก็หลบเข้าอยู่ในอนุสสติเหล่านี้ อารมณ์กลัวก็เข้าปลุกใจไม่ได้ เปรียบเหมือนเข้าที่หลบภัย ภัยถูกต้องไม่ได้ฉะนั้น นี้เป็นสรณะชั้นอนุสสติ วิธีระลึก โดยปกติระลึกพิจารณาพระคุณให้เห็นจริงตามอรรถของพระคุณบทนั้นๆ แต่ถ้าต้องการเพียงผูกใจ จะไม่ระลึกพิจารณา เพียงผูกใจบริกรรมว่า พุทฺโธ หรือ ธมฺโม หรือ สงฺโฆ หรือบริกรรมในพระคุณบทใดบทหนึ่งที่พอใจก็ได้ เพียงบริกรรมเพื่อผูกใจ อาจทำใจให้ถึงอัปปนาสมาธิได้ ส่วนระลึกพิจารณาพระคุณ ก็พาใจให้เป็นสมาธิได้เพียงชั้นอุปจาร และบำรุงศรัทธาให้ตั้งมั่นยิ่งขึ้น บำรุงปสาทะให้ทวี เมื่อศรัทธาตั้งมั่นเพียงใด พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เป็นสรณะที่มั่นใจเพียงนั้น การที่ใจยังซัดส่ายไปหาที่พึ่งต้านทานอย่างอื่น ก็เพราะศรัทธายังไม่ตั้งมั่นนั่นเอง จึงทำให้ยังไม่มั่นใจ จึงควรปลูกศรัทธาให้ตั้งมั่น ด้วยหมั่นระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้เป็นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เช่นนี้ จักเจริญศรัทธาและเป็นผู้ได้สรณะอันเกษม อันอุดม เป็นสรณะขั้นอนุสสติ ด้วยประการฉะนี้

แต่เมื่อใดไม่ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ๆ ก็ไม่เป็นสรณะเมื่อนั้น คือใจออกจากอนุสสติเหล่านี้ ก็กลัวพบอารมณ์กลัว กลายเป็นผู้กลัวตามเดิม แสดงว่าภัยยังไม่สิ้นไป เมื่อพิจารณาสาวหาต่อไป ก็อาจพบว่าความกลัวอยู่ที่ความรู้กับความยึดถือ ความรู้ในที่นี้หมายถึงความรู้ว่าสิ่งนี้เป็นภัย ถ้าไม่รู้อย่างนี้ จะต้องกลัวทำไม รู้ว่านี้เป็นยาพิษ จึงกลัวไม่ดื่ม ถ้าไม่รู้ คิดว่าเป็นน้ำหวาน ก็คงจะดื่ม เดินไปในที่แห่งหนึ่ง รู้ว่าเป็นป่าช้า ก็กลัว ถ้าไม่รู้ ก็คงจะไม่กลัว กลัวเกิดจากรู้อย่างนี้ ถึงจะรู้ว่าเป็นภัย แต่ถ้ารู้ว่าคนหรือสิ่งที่ตนรักไม่เกี่ยวข้อง ก็คงไม่กลัวเหมือนอย่างเกิดอุทกภัยที่เมืองจีน คนอยู่เมืองไทย ก็คงไม่กลัว เพราะไม่เกี่ยวข้อง  เหตุฉะนี้ ไม่มีตนอย่างเดียวเท่านั้น ก็หมดกลัว ตนอยู่ที่ไหน ไม่ใช่อยู่ที่มืด เท้า แขน ขา เป็นต้นเป็นแน่ เพราะถ้าอยู่ที่มือ คนมือด้วนก็คงไม่มีตน ตนอยู่ที่ความยึดถือนั่นเอง เพราะยึดถือสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา จะยึดถือ ก็เพราะรู้ยึด ถ้าไม่รู้อะไรเสียเลย ก็คงไม่ยึด และเมื่อยึดก็ดิ้นรนเพื่อให้ได้เป็น ให้เสื่อมเสียไปต่างๆ แต่เรา ของเรา ตัวตนของเรา จะเป็นไปตามที่ดิ้นรนก็หาไม่ ถึงจะไม่มีสิ่งใดมาทำให้ชำรุด ให้เจ็บ ให้ตาย ก็แก่ เจ็บ ตายเอง ภัยภายนอกเสียอีกยังอาจหลบพ้น ที่ท่านเรียกว่า สมาตาปุตติกภัย คือภัยที่แม่กับลูกยังจะช่วยกันได้ ยกตัวอย่างไฟไหม้ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ส่วนชราภัย พยาธิภัย มรณภัย เป็นอมาตาปุตติกภัย คือภัยที่แม่กับลูกช่วยกันให้พ้นไม่ได้เลย จึงควรดำริพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง ให้ปรากฏเป็นภยตูปัฏฐานญาณ เมื่อถอนความยึดถือเสีย ถอนได้ในสิ่งใด ตนก็ออกจากสิ่งนั้น จนถึงถอนได้ในเบญจขันธ์ ตนก็ออกจากเบญจขันธ์ ถึงจะมีภัยใดๆ มาตกที่เบญจขันธ์ก็ไม่ใช่ที่ตน เพราะไม่มีตนจะเกี่ยวข้อง จึงเป็นผู้ไม่กลัว ปัญญาที่พิจารณาเห็นตามเป็นจริงจนถอนความยึดถือเสียได้ เป็นสัมมัปปัญญา ดังที่ตรัสต่อไปว่า

จตฺตาริ อริยสจฺจานิ         สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ
ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ         ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ
อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ     ทุกฺขูปสมคามินํ

ภัยทั้งปวงย่อมตกที่เบญจขันธ์ๆ จึงเป็นตัวภัยใหญ่ นี้เป็นทุกข์ ตนหรือความยึดถือตัวภัยไว้ เป็นเหตุเกิดของทุกข์ ปล่อยยึดถือภัยได้ ภัยดับไปหมด เป็นความล่วงทุกข์ ส่วนมรรคมีองค์ ๘ จัดให้เนื่องมาจากอนุสสติข้างต้นคือ พุทธานุสสติ เป็นต้น เป็นสัมมาสติ ทำให้ใจตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ น้อมใจที่ตั้งมั่นนั้นดำริพิจารณาเป็นสัมมาสังกัปปะ จนเห็นตามเป็นจริง เป็นสัมมาทิฏฐิวิรัติ ในระหว่างนี้โดยไม่ต้องพูด ต้องทำ ต้องแสวงหาเลี้ยงชีวิตเป็นสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ความเพียรที่อุปการะองค์มรรคเหล่านี้ให้ดำเนินไปเป็นสัมมาวายามะ ปัญญาเห็นอริยสัจจ์ ๔ เหล่านี้ เป็นความรู้ปล่อยวาง เมื่อมีความรู้ปล่อยเสียเช่นนี้ รู้สิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน จึงพ้นทุกข์พ้นภัยด้วยประการทั้งปวง เป็นสรณะชั้นปัญญา เมื่อบุคคลใช้ปัญญาให้แล่นไปในอริยสัจจ์เหล่านี้ๆ ก็เป็นสรณะของบุคคลนั้น กำจัดภัยได้โดยสิ้นเชิง และเมื่อเข้าถึงสรณะชั้นนี้ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ก็ปรากฏเต็มที่ ทำให้สามารถเห็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ ในคำว่า ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ เมื่อเป็นเช่นนี้สัทธาก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เมื่อเป็นอจลสัทธา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็เป็นสรณะที่ไม่มีสรณะอื่นยิ่งกว่า ไม่ต้องขวนขวายหาเครื่องรางใดๆ ทั้งสิ้น ดังบท นตฺถิ เม สรณํ อญญํ

เอตํ โข สรณํ เขมํ         เอตํ สรณมุตฺตมํ
เอตํ สรณมาคมฺม         สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ
นี้แล เป็นสรณะอันเกษม เป็นสรณะอันอุดมของบุคคลนั้น บุคคลนั้นอาศัยอันนี้เป็นสรณะ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ด้วยประการฉะนี้

ในที่สุด ผู้แสดงเตือนพุทธศาสนิกให้รู้จักปฏิบัติต่อกันตามสมควรแก่ประเภทของภัย คือภัยภายนอกให้รู้วิธีหลบหลีกและบำบัดโดยสามารถ และให้ประพฤติเพื่อแก้ภัยที่อาจจะเกิดจากอกุศลเก่า และเพื่อคุ้มครองภัยภายนอกด้วย ดังที่เรียกว่า ผลกุศลช่วย  ส่วนภัยภายในให้เอาพุทธานุสสติเป็นต้นเป็นที่หลบภัยทางอารมณ์ และให้เอาปัญญาเป็นไปในอริยสัจเป็นเครื่องหลบภัยสภาวะ


* พระธรรมเทศนา กัณฑ์เช้า วันพระวันดับ มิคสิรมาส วันศุกร์ที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 11 กันยายน 2563 18:35:46 »




บันทึกพระธรรมเทศนา
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๙
-----------------------------------------

บันทึกพระธรรมเทศนา*  

วันนี้ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ประทานเทศนาอนุตตริย ๓ ยกบาลีบทอุทเทศว่า ตีณิ อนุตฺตริยานิ กตมานิ ตีณิ ทสฺสนานุตฺตริยํ ปฏิปทานุตฺตรยํ วิมุตฺตานุตฺตริยํ  เริ่มแสดงว่า ธรรมคือคำสั่งสอนของพระบรมศาสดานั้น แสดงสัจธรรมคือสภาพที่จริง เพื่อให้บุคคลน้อมเข้ามาในตนเป็น “โอปนยิโก” เพื่อเป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่งขึ้น พระบรมศาสดานั้นในชั้นต้น ก็ทรงมุ่งตนเป็นที่ตั้ง ที่เรียกว่าอัตตาธิปไตย คือ มุ่งให้พระองค์เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่งขึ้น เบื้องต้น ทรงศึกษาในสำนักคณาจารย์อื่นก่อน ทรงศึกษาจบ มีความรู้เท่าเทียมอาจารย์แล้ว ก็ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองต่อไป แสดงโดยนัยหนึ่งว่า ทรงทำวิตกเป็น ๒ ส่วนคือ กุศลวิตกส่วนหนึ่ง อกุศลวิตกส่วนหนึ่ง แม้เช่นนี้ก็ทรงเห็นว่ายังทำให้ฟุ้งซ่านได้ จึงทรงทำให้มีอารมณ์เดียว คือทรงกำหนดลมอัสสาสะปัสสาสะ ในที่สุดก็ได้ทรงรู้ตามเป็นจริง และทรงสั่งสอนถึงอธิปไตย ๓ คือ อัตตาธิไปไตย มีตนเป็นใหญ่  โลกาธิปไตย มีโลกเป็นใหญ่  ธัมมาธิปไตย มีธรรมะเป็นใหญ่  บุคคลแม้จะมีภาวะคือความเป็นได้แก่ชาติสกุล ทรัพย์ ยศเป็นต้นต่างกัน แต่ก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ความเป็นมนุษย์นั้นได้มาด้วยความดี ปรารภถึงภาวะอย่างนี้ของตนแล้วทำความดียิ่งๆ ขึ้น เรียกว่าอัตตาธิปไตย คือมีตนเป็นที่ตั้ง บุคคลเมื่อทำความชั่ว ตนเองก็ติเตียนตนเองได้ ผู้อื่นก็ติเตียนได้ มาปรารภว่า ถ้าทำชั่ว ผู้อื่นก็จักติเตียนได้ จึงทำดียิ่งขึ้น เรียกว่าโลกาธิปไตย คือมีผู้อื่นเป็นที่ตั้ง ธรรมะทั้งที่เป็นส่วนกุศล ทั้งที่เป็นส่วนอกุศลย่อมอยู่ที่บุคคล แต่ไม่ใช่ในขณะเดียวกัน ปรารภธรรมะอันมีอยู่ที่บุคคลนี้ เกียดกัน อกุศลธรรม อบรมแก่กุศลธรรมให้เจริญยิ่งขึ้น เรียกว่า ธัมมาธิปไตย คือมีธรรมะเป็นที่ตั้ง บุคคลจะประพฤติดียิ่งขึ้นด้วยมีตนเป็นใหญ่ก็ตาม มีโลกเป็นใหญ่ก็ตาม มีธรรมะเป็นใหญ่ก็ตาม ก็ต้องอาศัยการศึกษาเล่าเรียนให้มีความรู้เห็นธรรมและปฏิบัติจนมีความหลุดพ้น เพราะเหตุนี้ ท่านจึงแสดงอนุตตริยะ ๓ ไว้ ดังพระบาลีที่ว่าไว้เบื้องต้นแปลว่า “อนุตตริยะ ๓ คือ ทัสสนานุตริยะ ความเห็นหรือสิ่งที่เห็นเป็นเยี่ยม   ปฏิปทานุตตริยะ ปฏิบัติเป็นเยี่ยม  วิมุตตานุตตริยะ หลุดพ้นเป็นเยี่ยม

ความเห็นเป็นเยี่ยม คือความเห็นธรรมะได้แก่ศึกษาจำทรงธรรมะ ให้เห็นทั้งธรรมะ ทั้งอรรถคือใจความของธรรมะปฏิบัติเป็นเยี่ยม คือปฏิบัติตามความเห็นนั้น  วิมุตตานุตตริยะ คือ หลุดพ้น เพราะปฏิบัตินั้น   การศึกษาจำทรงธรรมะก็เป็นปฏิบัติอย่างหนึ่ง ทำให้หลุดพ้นจากความที่จำทรงไว้ไม่ได้ การคิดพิจารณาธรรมะ ก็เป็นปฏิบัติอย่างหนึ่ง ทำให้หลุดพ้นจากความไม่รู้ เพราะไม่พิจารณาการปฏิบัติธรรมะ ก็เป็นปฏิบัติอย่างหนึ่ง ทำให้หลุดพ้นจากความไม่รู้เพราะไม่ปฏิบัติตลอดจนให้หลุดพ้นจากอวิชชาคือความไม่รู้ตามเป็นจริง

อีกอย่างหนึ่ง บุคคลย่อมเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมคือเรื่องด้วยมนะ อยู่โดยปกติ กำหนดรู้รูปที่เห็นเสียงที่ได้ยิน กลิ่นที่สูด รสที่ลิ้น โผฏฐัพพะที่ถูกต้อง ธรรมะคือเรื่องที่รู้นั้นๆ ให้ใจอยู่กับรู้ เมื่อเป็นเช่นนี้ รูปเป็นต้นนั้นๆ ก็ไม่เข้าทิ่มแทงใจได้ยินดีหรือยินร้ายได้ จึงเป็นผู้หลุดพ้นจากยินดียินร้าย

ในที่สุด ท่านเจ้าพระคุณได้เตือนพุทธศาสนิกให้ศึกษาปฏิบัติจนเป็นผู้หลุดพ้นโดยควรแก่ความปฏิบัติ

๑๓ มกราคม ๒๔๘๘

*พระธรรมเทศนา กัณฑ์เช้า วันพระกึ่งกาฬปักษปุสสมาส วันเสาร์ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๘


บันทึกพระธรรมเทศนา
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๙
-----------------------------------------

บันทึกพระธรรมเทศนา*  

วันนี้ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ประทานเทศนาธรรม ๖ ประการ ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้นหรือให้เจริญขึ้น ยกพระบาลีว่า “ฉหิ.....ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต ภิกฺขุภพฺโพ อนธิคตํ วา กุสลํ ธมฺมํ อธิคนฺตุํ อธิคตํ วา กุสลํ ธมฺมํ ผาติกาตุํ กตเมหิ ฉหิ...............อายกุสโล จ โหติ, อปายกุสโล จ โหติ, อุปายกุสโล จ โหติ, อนธิคตานํ กุสลานํ ธมฺมานํ อธิคมาย ฉนฺทํ ชเนติ อธิคเต กุสเล ธมฺเม สารกฺขติ สาตจฺจกิริยาย สมฺปาเทติ (มาในฉักกนิบาต เล่ม ๒๒ หน้า ๔๘๑)  ท่านแสดงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ชี้ส่วนที่ดีที่ชอบ ที่เรียกกุศลธรรมส่วน๑ ขึ้น ส่วนที่ชั่วที่ผิดเรียก อกุศลธรรมส่วน ๑ ธรรมทั้ง ๒ นี้มีอยู่ที่บุคคล เมื่อกุศลเกิด อกุศลก็เสื่อม  เมื่ออกุศลเกิด กุศลก็เสื่อม  บุคคลมีต่างๆ กัน บางพวกมักรับอกุศล สลัดกุศล  บางพวกมักรับกุศลสลัดอกุศล  ในการรับกุศล จำต้องอาศัยอุปการธรรม ดังพระบาลีเบื้องต้นแปลว่า “ภิกษุประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ ควรเพื่อบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุ หรือทำกุศลธรรมที่บรรลุแล้วให้เจริญ  ธรรม ๖ ประการ คือ ฉลาดในทางเจริญ ๑  ฉลาดในทางเสื่อม ๑  ฉลาดในทางหลีกทางเสื่อมเข้าถึงทางเจริญ ๑  ทำฉันทะให้เกิดเพื่อบรรลุกุศลธรรมที่ยังมิได้บรรลุ ๑  รักษากุศลธรรมที่บรรลุแล้ว ๑  ให้ถึงพร้อมด้วยการกระทำติดต่อ ๑

กุศลธรรม มีพระบาลีแสดงว่าทำให้เกิดขึ้น และเมื่อทำให้เกิดมีขึ้นแล้ว ก็เป็นไปเพื่อสุข ส่วนอกุศลธรรม มีพระบาลีแสดงว่าให้ละเสียและเมื่อละได้แล้ว ก็เป็นไปเพื่อสุข รวมกล่าว การประพฤติดีประพฤติชอบทุกอย่าง ซึ่งเมื่อประพฤติแล้ว ก็ทำตนให้เป็นคนดีและเป็นสุข และทำให้ผู้อื่นให้เป็นสุข ได้ชื่อกุศล การประพฤติชั่วประพฤติผิดทุกอย่าง ซึ่งเมื่อประพฤติแล้วก็ทำตนให้เป็นคนเลวและเป็นทุกข์และทำผู้อื่นให้เป็นทุกข์ ได้ชื่อว่าอกุศล การบำเพ็ญกุศล ถ้าทำด้วยตัณหา ก็มีโทษ ถ้ามีความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ไม่สำเร็จ เพราะการงานวาจา อาชีพเป็นต้นพลอยผิดไปหมด กุศล อกุศล ก็มีหลายชั้น ความประพฤติดีทางกาย วาจาด้วยความตั้งใจ ด้วยความเมตตา กรุณาต่อตนเองและผู้อื่นเป็นกุศล  ความประพฤติชั่วทางกายวาจาด้วยความตั้งใจเป็นอกุศล รักษาใจไม่ให้ฟุ้งซ่านเป็นกุศล  จิตวิกเขปเป็นอกุศล ความพิจารณาให้รู้จักอารมณ์ตามเป็นจริงเป็นกุศล ตรงกันข้าม เป็นอกุศลเมื่อตาเห็นรูป หู ได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ใจรู้เรื่อง ใจก็หน่วง ก็คิดถึงรูปเป็นต้น รูปเป็นต้นที่ใจคิดนั้นเป็นอารมณ์ ทำให้ยินดีในส่วนที่น่ายินดี ทำให้ยินร้ายในส่วนที่น่ายินร้าย ทำให้หลงงมงายติดอยู่ในส่วนที่ไม่พอจะให้ยินดีหรือยินร้าย เมื่ออาจพิจารณาให้รู้ตามเป็นจริงก็จักไม่เป็นอย่างนั้น อารมณ์ย่อมเกิดแล้วดับไป แต่ผู้พิจารณาก็เป็นผู้พิจารณา ไม่เกิดดับ การคิดหน่วงอารมณ์อาจมีประโยชน์ เช่นถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่ระลึก หรือระลึกถึงพระพุทธคุณ โดยยึดหน่วง แต่เมื่อพิจารณาจนพระคุณปรากฏแจ่มแจ้ง ความยึดหน่วงก็หายไปหมด ในการทำกุศลให้เกิดหรือให้เจริญนี้ ต้องอาศัยธรรมะ ๖ ประการข้างต้นแล

๒๑ มกราคม ๒๔๘๘

*พระธรรมเทศนา กัณฑ์เช้า วันธัมมัสสวนะ กึ่ง ชุณหปักษ์ ปุสสมาส วันอาทิตย์ที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๘
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 28 กันยายน 2563 15:21:35 »





บันทึกพระธรรมเทศนา
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
พ.ศ.๒๔๘๗ – ๒๔๘๙
-----------------------------------------

บันทึกพระธรรมเทศนา*  

สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺส               สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต
อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก         ปาณภูเตสุ สญฺญโม

เริ่มแสดงว่า จักแสดงธรรมเป็นเครื่องประดับปัญญา ความรู้ เพิ่มพูนปัญญาบารมีความฉลาดในทางธรรม ความรู้นั้น กำหนดด้วยสิ่งที่รู้ สิ่งที่รู้มากเพียงใดความรู้ก็มากเพียงนั้น สืบแต่ความรู้นั้นเป็นความฉลาด ซึมซาบ ประกอบอยู่ในจิตต์ ทางที่ให้เกิดความรู้มี ๓ คือ จินตา ความคิด ๑  อายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย มนัส เรียกว่า สุตา ๑ ภาวนา คือความทดลองปฏิบัติ ๑  เพียงคิด ๑  หรือดู คิดก็ให้เกิดความรู้ทางคิดและทางอายตนะ ยังไม่ให้เกิดความรู้ทางภาวนาเชื่อ ๑ คิดแล้วต้องปฏิบัติ จึงจักให้เกิดความรู้ทางปฏิบัติหรือภาวนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อก่อนแต่ตรัสรู้ ก็ได้ทรงอบรมในทางให้เกิดความรู้เป็นปัญญาบารมียิ่งขึ้นโดยลำดับจนเป็นปรมัตถบารมี ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังพระคุณบทว่า พุทโธ และทรงแสดงธรรมคือคำสั่งสอนไว้เป็นอันมาก เพื่อให้บุคคลสงบสงัดจากความชั่ว ดังพระพุทธภาษิตที่ยกไว้เบื้องต้นว่า สุโข วิเวโก ตุฏฺฐสฺส สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต วิเวกแห่งบุคคลยินดีในธรรม ได้ประสบธรรมเห็นอยู่เป็นสุขหรือนำสุขมา

วิเวกคือความสงัดสงบจากความชั่วหรืออธรรม ย่อมมีแต่ผู้ที่ยินดีในธรรม คำว่าธรรม โดยนัยพระองค์ได้แก่ส่วนที่ดี ส่วนที่ชั่วเรียกว่าอธรรม แต่โดยอภิธรรมนัยเป็นคำกลางๆ เมื่อต้องการให้เป็นส่วนดี ใส่คำว่ากุศลเป็นกุศลธรรม เมื่อต้องการให้เป็นส่วนชั่ว ใส่คำว่าอกุศล เป็นอกุศลธรรม เมื่อต้องการให้เป็นกลางๆ ไม่ยืนยันว่าดีหรือชั่วใส่คำว่า อัพยากฤต เป็นอัพยากตธรรรม กล่าวตามนัยพระสูตร ธรรมและอธรรมให้ผลไม่เสมอกัน ดังพระบาลีว่า


น หิ ธมฺโม อธมฺโม จ           อุโภ สมวิปากิโน
ธรรมและอธรรมทั้งสองมีวิบากไม่เสมอกัน
อธมฺโม นิรยํ เนติ         ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ
อธรรมนำไปสู่นิรยะคือที่ไร้ความเจริญ ธรรมะ ให้ถึงสุคติคือคติที่ดี

ธรรมะและอธรรมเป็นเหตุฝ่ายดีและชั่ว มีอยู่ที่บุคคล เพราะฉะนั้น จึงสามารถนำบุคคลไปสู่นิรยะหรือสุคติได้ และนิรยะหรือสุคตินี้ มักเข้าใจกันว่ามีอยู่ในปรโลก แต่โดยที่แท้มีอยู่แม้ในปัจจุบันนี้เอง เมื่ออธรรมมีอยู่ที่บุคคล บุคคลจะทำ ก็เป็นกายทุจริต จะพูดก็เป็นวจีทุจริต จะคิด ก็เป็นมโนทุจริต ที่ๆ บุคคลนั้นอยู่ ก็เป็นนิรยะ คือไร้ความเจริญ ประกอบด้วยทุกข์ มีบุคคลอื่นอยู่ร่วมด้วยก็เป็นทุกข์ไปด้วย แต่เมื่อมีธรรมะอยู่ที่บุคคล บุคคลจะทำ ก็เป็นกายสุจริต จะพูด ก็เป็นวจีสุจริต จะคิด ก็เป็นมโนสุจริต ที่ๆ บุคคลนั้นอยู่ ก็เป็นสุคติ คือคติที่ดี ประกอบด้วยสุข มีบุคคลอื่นอยู่ร่วมด้วย ก็เป็นสุขไปด้วย

ความสงัดสงบจากอธรรมเป็นวิเวก ชั้นแรก สงัดสงบจากความเบียดเบียนชีวิต จากความเบียดเบียนทรัพย์สมบัติ จากการประพฤติผิดประเพณีในทางกาม จากการพูดเท็จเป็นการตัดรอนประโยชน์และจากเครื่องมึนเมาอันทำให้ครองสติไว้ไม่ได้ ชั้นที่ ๒ สงัดสงบจากราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ที่เกิดกลุ้มรุมใจ บุคคลสามัญ ย่อมมีความยึดถืออยู่ ถ้ายึดถือทางดี ก็เป็นกุศล ถ้ายึดถือในทางชั่ว ก็เป็นอกุศล ยึดถือในทางดี เช่นระลึกยึดคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นอารมณ์ หรือระลึกยึดลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นอารมณ์  อีกนัยหนึ่ง เพ่งดูเรื่องที่ใจคิด และเพ่งดูใจที่คิดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ธาตุรู้ก็สามารถรู้ได้ เพราะเรื่องหรืออารมณ์ที่ใจคิดนั้น เป็นที่ตั้งของธาตุรู้ ดังพระบาลีว่า ยญฺจ เจเตติ ยญฺจ ปกปฺปติ ยญฺจ อนุเสติ อารมฺมณเมตํ โหติ วิญฺญาณสฺส ฐิติยา  คิดดำริ ส่งตามไปถึงเรื่องใจ เรื่องนั้นเป็นอารมณ์เพื่อความตั้งอยู่แห่งวิญญาณคือธาตุรู้ดังนี้ เมื่อยึดถืออยู่ในทางดีหรือเพ่งดูจนธาตุรู้สามารถรู้เช่นนี้ ราคะหรือโลภะเป็นต้น ที่เกิดกลุ้มรุมใจก็สงบเป็นวิเวกอีกชั้นหนึ่ง  ชั้นที่ ๓ กล่าวสั้น กำจัดราคะหรือโลภะเป็นต้นที่นอนเนืองอยู่ในจิตต์ให้สิ้นเชิง เป็นวิเวกชั้นสูงสุด  วิเวกนี้ย่อมมีแก่ผู้ยินดีในธรรมะ ได้ประสบธรรมะเป็นอยู่ เมื่ออบรมวิเวกชั้นใดให้เกิดขึ้น ก็ยินดีในธรรมะชั้นนั้น และประสบธรรมะชั้นนั้น เมื่อประสบธรรมะชั้นใด ก็เห็นธรรมชั้นนั้น และเมื่อวิเวกเกิดขึ้น ก็เกิดอวิหิงสา คือความไม่เบียดเบียน เป็นให้เกิดสุข ดังพระบาลีต่อไปว่า อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก ปาณภูเตสุ สญฺญโม ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย เป็นสุขในโลกดังนี้ ตนเองก็เป็นสัตว์มีชีวิตผู้หนึ่ง ความไม่เบียดเบียนกัน จึงเป็นเหตุให้ทั้งตนเองทั้งผู้อื่นอยู่เป็นสุขในโลก  ความทุกข์ในโลก ย่อมเกิดจากความเบียดเบียนกัน เช่นการทำสงครามฆ่ากันนั้น ทำให้เดือดร้อนทั่วไป ความเบียดเบียนกันย่อมเกิดจากความคิดเบียดเบียนก่อน เมื่อใจคิด ก็ทำให้กายวาจาทำพูดในทางเบียดเบียน ข้อนี้ต้องอาศัยวิเวก คือ สงัดสงบเสียตั้งต้นแต่คิดจะเบียดเบียนจนถึงทำพูด

ในที่สุด ท่านเจ้าพระคุณเตือนพุทธศาสนิกให้ปฏิบัติในวิเวกและอวิหิงสาตามสามารถ


๘ ธันวาคม ๒๔๘๗

*พระธรรมเทศนา กัณฑ์เช้า ในวันเพ็ญ ปุสสมาส วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๘
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระโอวาทพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
เอกสารธรรม
Kimleng 0 1900 กระทู้ล่าสุด 22 กรกฎาคม 2555 16:18:03
โดย Kimleng
อานุภาพแห่งความดี พระธรรมเทศนา สมเด็จพระญาณสังวรฯ
เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
มดเอ๊ก 0 1321 กระทู้ล่าสุด 25 ธันวาคม 2559 04:45:45
โดย มดเอ๊ก
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพO
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1200 กระทู้ล่าสุด 24 มกราคม 2561 13:58:33
โดย ใบบุญ
เรื่องเล่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
เกร็ดศาสนา
Kimleng 2 2267 กระทู้ล่าสุด 06 เมษายน 2566 19:31:53
โดย Kimleng
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 728 กระทู้ล่าสุด 07 กุมภาพันธ์ 2564 18:22:24
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.469 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 26 กุมภาพันธ์ 2567 16:22:59