[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
27 เมษายน 2567 01:40:55 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เชิงผาหิมพานต์ ภาค 1  (อ่าน 8821 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 15:56:42 »




{นิยายอิงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ}



ความมุ่งหมายสำคัญในการเขียนเรื่องนี้คือ เทิดทูนพระอานนทเถระผู้เป็นพระพุทธอนุชา ได้อุปฐากบำรุงรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ ท่านได้ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ เป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทมาจวบจนปัจจุบันนี้


แต่จะนำประวัติของท่านมากล่าวไว้โดยตรง ๆ ก็จะไม่เข้าชุดกับหนังสือบางเล่มที่ผู้เขียนทำมาแล้ว เช่นที่กล่าวถึงประวัติพระสารีบุตรเถรเจ้า ด้วยการผูกเรื่องกองทัพธรรมขึ้น ฉะนั้นจึงถือโอกาสผูกเนื้อเรื่องเกี่ยวกับฉันทสุภลิจฉวีผู้เป็นตัวเอกในเรื่องนี้ โยงเข้าหาประวัติของพระอานนทเถระ เป็นการเชื่อมความให้ธรรมะเดินได้




ภาค 2.................................http://www.sookjai.com/index.php?topic=22703.0



............................เชิงผาหิมพานต์.........................



สิ่งนั้นเป็นเพียงซากเจดีย์ร้างไม่มีคำพูด ไม่มีตัวอักษรที่จะป่าวประกาศแก่ใคร ๆ ว่าเจดีย์นี้มีกำเนิดเมื่อกี่พันปีมาแล้ว สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงใคร และใครผู้นั้นมีคุณงามความดีอย่างไร

สิ่งนั้นเป็นเพียงกองอิฐหักพัง ใครผ่านไปมาจะสนใจไยดีหรือไม่ก็ช่างใคร แม้ใครจะเข้าไปกราบแสดงคารวะอย่างสูง หรือใครจะเบือนหน้าหนีก็เป็นเรื่องของผู้นั้น ไม่มีอาการยินดียินร้ายปรากฏออกมาจากกองอิฐ

แต่ชายชราคนหนึ่ง กล่าวด้วยน้ำตานองหน้าท่ามกลางกลุ่มชนที่พากันไปแห่ห้อมพระเจดีย์ร้างนั้น ว่านี่แหละคือสิ่งอนุสรณ์ถึงท่านผู้หนึ่ง ผู้ชอบเดินตามหลัง ผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการรับใช้ เพื่อประโยชน์แห่งผู้ที่ท่านจงรัก อันมีผลสะท้อนมาถึงประโยชน์ของมหาชน ท่านคิดถึงประโยชน์ส่วนตน

ภายหลังประโยชน์ส่วนรวม ทำตนเป็นคนเล็กน้อย ไม่ชอบแสดงตนเป็นคนเด่น แต่เมื่อถึงคราวคับขัน ถึงคราวที่จะต้องสละชีวิต ท่านจะออกนำหน้าแม้ผู้ที่ท่านเคยตามหลัง พร้อมที่จะต่อสู้กับความตายอันกำลังมาถึงเฉพาะหน้า

ท่านเป็นยอดของผู้จงรักภักดีต่อผู้มีพระคุณ เป็นยอดของผู้รู้จักกาลเทศะ เป็นยอดของผู้มีความทรงจำดีเลิศ และในการปฏิบัติงานอันน่าสรรเสริญนั้น แม้บางครั้งจะถูกตำหนิโทษจากส่วนรวม โดยที่ท่านเห็นว่าท่านไม่ผิดเลย ท่านก็ยอมรับผิด โดยไม่เสียเวลานำทิฏฐิมานะมาต่อสู้ ท่านผู้นั้นคือใครเล่าถ้ามิใช่

บุคคลตัวอย่างผู้มิได้ฝากเกียรติประวัติไว้แก่เจดีย์หรือกองอิฐ มิได้ฝากไว้แก่อดีตกาลนานไกล ท่านไม่สนใจในเรื่องเกียรติประวัติของท่าน แต่ก็น่าแปลกที่สิ่งซึ่งท่านไม่สนใจนั้น กลับติดอยู่กับทุกริมฝีปากซึ่งถ่ายทอดถ้อยคำอันประเสริฐที่ท่านอุตส่าห์จดจำไว้ และกับทุกหัวใจที่ไตร่ตรองข้อความ ซึ่งท่านรับมาแล้ว ก็บอกกล่าวถ่ายทอดสืบต่อเป็นชั้น ๆ มาจวบจนปัจจุบัน


Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 กรกฎาคม 2554 17:41:27 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 15:59:47 »




จินตนิยายอิงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่องนี้ อาจจืดชืดไม่มีรสชาติ อาจขาดความสมบูรณ์ด้านนั้นและด้านนี้ อาจขาดความกระปรี้กระเปร่าที่จะชักจูงใจให้ฮึกฮัก อาจขาดความสดชื่นรื่นเริง แต่ถ้าความดีอันใด ซึ่งอาจมีแฝงอยู่บ้าง แม้เพียงนิดหนึ่ง จนมองเกือบไม่เห็น ความ

ดีนั้นย่อมเป็นประหนึ่งเครื่องสักการะของคนยาก เป็นดอกไม้ธูปเทียนที่ด้อยราคา แต่ไม่ด้อยในเรื่องความตั้งใจ และเต็มใจที่จะถวายเป็นเครื่องบูชาแด่ท่านผู้น่าเคารพรัก ท่านผู้เป็นบุคคลตัวอย่าง ท่านผู้ที่ซากหักพังแห่งพระเจดีย์ในเรื่องนี้มีความหมายถึง ท่านผู้ที่กาลเวลาไม่เคยทำให้เกียรติคุณของท่านลบเลือนไปเลย




๑.สำนักวิศวามิตร



เป็นเวลาสายปลายฤดูใบไม้ผลิ เมื่อมองไปทางทิศอุดรจะมองเห็นขุนเขาหิมพานต์ หรืออีกนัยหนึ่งหิมาลัยบรรพต ตั้งตระหง่านสูงขึ้นไปเกือบกึ่งฟ้า มีหิมะคลุมขาวดุจสีเงินยวง อาจจะเป็นยอดนั้นก็ได้ ที่คนทั้งหลายพากันเรียกว่า ผาเผือกหรือเขาไกรลาส มีบุราณประวัติในคัมภีร์พราหมณ์สืบมาว่า เป็นทิพยสถานที่ประทับแห่งพระศิวะผู้เป็นเจ้า และบางคัมภีร์ก็ว่าเป็นที่สถิตอยู่แห่งท้าวกุเวร ผู้เป็นบดีแห่งยักษ์ทั้งหลาย

เทือกเขาหิมพานต์นั้น ยาวเหยียดประหนึ่งปราการอันมั่นคง เป็นที่มาแห่งสายธารใหญ่น้อยทั้งปวง ซึ่งทอดลงสู่ที่ราบลุ่มภาคกลาง

เมื่อพ้นฤดูหิมะมาแล้ว แสงแดดแห่งฤดูใบไม้ผลิติดต่อกับฤดูร้อน ก็เริ่มทำให้หิมะซึ่งกองอยู่ ณ เชิงเขา สูงเรื่อยขึ้นไปตามแนวบรรพต ค่อย ๆ ละลายกลายเป็นอุทกธาราเยือกเย็นใสสะอาด ไหลลงสู่ทิศทักษิณ แล้ววกไปสู่ทะเลภาคบูรพา

มหาชนผู้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ราบสองฝั่งแม่น้ำสำคัญทั้งหลาย มีอาทิ คงคา ยมุนา และอจิรวดี แม้จะไม่เคยดั้นด้นฝ่าทิวเขาลำเนาไพรไปจนถึงเทือกหิมาลัยบรรพต แต่ก็รู้กันดีว่าเทือกเขาที่ตั้งอยู่ไกลจดขอบฟ้านั้นแหละ คือที่มาแห่งสายน้ำอันตนอาศัยอาบกินสืบต่อกันมา ตลอดกาลหาประมาณมิได้

จากเทือกเขาหิมพานต์นั้น มีลำน้ำสายหนึ่งนามว่าโรหิณี ไหลตรงมาเป็นเส้นปันเขตแดนแห่งกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ ราชธานีแห่งกษัตริย์ศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันทางสายโลหิตมาแต่แรกตั้งวงศ์กษัตริย์ทั้งสอง

เมื่อเดินทางเลียบลำน้ำนี้เรื่อย ๆ ไปทางเหนือ ก็จะพบว่ามีป่าไม้ไผ่ ป่าไม้มะม่วง ป่าไม้สาละสลับกันอยู่ แล้วก็ถึงป่าไม้ใหญ่ประกอบด้วยไม้สัก ไม้สีเสียด ประดู่ลาย และอินทนิลเป็นป่าดงทึบ ถ้าจะขึ้นสู่ที่สูงแล้วประมาณโดยสายตา ต้นน้ำคงจะไหลมาแต่เทือกผาผ่านดงดิบ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางด้วยความยากลำบากไม่น้อยกว่า ๓ วัน จึงจะเห็นธารน้ำชัดเจน ในป่าโปร่งสลับกับไม้เบญจพรรณ

พ้นจากดงทึบมาไม่ไกลนัก มีอาศรมหลายหลังตั้งอยู่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการเลือกภูมิประเทศที่ตั้งอาศรมเหล่านี้ ผู้สร้างได้พยายามพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เว้นระยะพอเหมาะสม มีท่าลงสู่ลำน้ำโรหิณี อันได้จัดทำไว้อย่างเป็นระเบียบงดงาม รอบ ๆ บริเวณนั้นมีไม้ป่าบางชนิด อันเป็นประเภทไม้ดอกสลับกับไม้ผลปลูกอยู่อย่างงดงามทั่วไป

ผู้ผ่านมาถึงอาศรมสถานแห่งนี้ ถ้ามิใช่คนใจเหี้ยมจนมองไม่เห็นความงามตามธรรมชาติ อันผสมกลมกลืนกับฝีมือจัดระเบียบของมนุษย์ หรือมิใช่คนที่ถูกความโศกครอบงำอย่างหนักแล้ว ก็น้อยคนนักที่จะไม่หยุดตะลึงชม ชวนให้หายเหน็ดเหนื่อยที่ได้ตรากตรำเดินทางมา



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 กรกฎาคม 2554 17:42:02 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 16:01:38 »




อาศรมบทเหล่านี้ มิใช่ที่อยู่ของนักพรตผู้บำเพ็ญตบะอย่างที่น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่เป็นสำนักศึกษาศิลปศาสตร์ที่มีชื่อเสียงยิ่งแห่งหนึ่ง สืบสกุลอาจารย์มาแต่ท่าน วิศวามิตร นับด้วยจำนวน ๑๐ ชั่วบุรุษยุค

สำนักศิลปศาสตร์ วิศวามิตร นี้ มีอาจารย์ใหญ่ผู้ใช้นาม วิศวามิตร ตามลำดับสกุล และมีอาจารย์ผู้รองลงมา เป็นแหล่งประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาทุกสาขา ซึ่งมิใช่แต่ขัตติยราชกุมารแห่งศากยสกุลและโกลิยสกุล จะพากันมาศึกษาเท่านั้น แม้กุมารแห่งสกุลกษัตริย์ พราหมณ์ และแพศย์ที่อยู่ห่างไกล ก็พากันมาเป็นศิษย์แห่งสำนักนี้ด้วย แต่การศึกษาวิชารบย่อมมีเฉพาะผู้อยู่ในสกุลกษัตริย์เท่านั้น

สายวันนั้นมีการประชุมศิษย์แห่งสำนักวิศวามิตรที่ลานกว้าง ทุกคนสนใจใคร่รู้ว่าได้เกิดมีเรื่องอะไรขึ้น หรือมีข่าวสำคัญอะไรสักอย่าง เพราะโดยปกติถ้าไม่มีเรื่องสำคัญ ก็จะไม่มีการเรียกประชุมหมดทุกคนอย่างนี้ แต่ดูเหมือนบางคนหรือหลายคนรู้อยู่บ้างแล้ว

เมื่อศิษย์ทั้งหลายพร้อมด้วยอาจารย์รอง ๆ ลงไป มาพร้อมกันแล้ว ท่านอาจารย์วิศวามิตรก็เข้ามา ทุกคนยืนขึ้นต้อนรับและแสดงคารวะ ท่านอนุญาตให้นั่งลงได้ จึงพากันนั่งในที่ของตน ท่านอาจารย์นั่งเหนือตั่งซึ่งจัดไว้พิเศษด้วยสีหน้าปกติ แต่คนที่ช่างสังเกตกระซิบกันว่า ท่านซ่อนความกังวลใจและความไม่พอใจอะไรบางอย่างไว้อย่างยากเย็นที่สุด

เรามีความเสียใจที่สานุและวิกัลปะเป็นหัวหน้าของศิษย์แต่ละกลุ่ม ได้นัดหมายจะไปต่อสู้กันที่ป่าไม้สาละบ่ายวันนี้ ใครบ้างที่เกี่ยวข้องด้วย ขอให้ยืนขึ้นและเดินออกมา ให้สานุมายืนอยู่เบื้องซ้าย และให้วิกัลปะมายืนอยู่เบื้องขวาของเรา

สานุและวิกัลปะหน้าซีด และแปลกใจว่าเหตุไฉนความเรื่องนี้จึงทราบไปถึงท่านอาจารย์ แต่ก็ลุกขึ้นยืนและเดินมาสู่ที่ของตนตามคำสั่งอย่างว่าง่าย ต่อจากนั้นก็มีศิษย์อื่น ๆ ทะยอยกันยืนขึ้น และแยกย้ายมาสู่ทิศทางของตนตามลำดับ ประมาณว่ามีพรรคพวกที่เกี่ยวข้องในการนี้ ฝ่ายละไม่น้อยกว่า ๑๐ คน

เราจะไม่ถามว่าใครทำอะไรให้ใคร และเหตุไฉนจึงถึงกับนัดหมายจะประทุษร้ายกัน เพราะพอทราบเลา ๆ มาบ้าง ว่าทุกฝ่ายก็รุนแรงด้วยกันทั้งสิ้น แต่จะขอประกาศว่าถ้าใครล่วงละเมิดวินัยของสำนัก ในข้อต่อสู้ทำร้ายกัน เราก็จะให้เดินทางกลับหมดทุกคน แต่ความผิดในขั้นนัดหมายเพื่อต่อสู้กัน ยังไม่ถึงกับจะต้องให้ออก

เราจึงขอประกาศลงโทษทั้งกลุ่มสานุและกลุ่มวิกัลปะ ห้ามใคร ๆ พูดด้วย รวมทั้งห้ามพูดกันเองในระหว่างผู้ถูกลงโทษเป็นเวลา ๗ วัน ถ้าใครมีเรื่องสำคัญจะต้องพูดกับผู้ถูกลงโทษ หรือผู้ถูกลงโทษมีความจำเป็นจะต้องพูดกับใครก็ขอให้มาหาเรา และพูดกับเราเพียงคนเดียว ในเวลาศึกษาศิลปวิทยาก็ให้ศึกษาตามปกติ แต่ห้ามพูดและห้ามถาม แม้เมื่อมีความสงสัยใครมีความอยากรู้หรือสงสัยในเรื่องอะไร ก็ให้รอจนกว่าจะพ้นกำหนดโทษ จึงถามได้

ทุกคนเงียบ เพราะทุกคนรู้ว่าท่านอาจารย์ไม่ชอบพูดมากไม่เคยบ่นอะไรซ้ำ ๆ ซาก ๆ เมื่อสั่งการอย่างไรแล้ว ก็จะต้องเป็นไปตามนั้นอย่างเฉียบขาด ท่านอาจารย์พยายามไม่แสดงแม้อาการนิ่วคิ้วขมวดให้ใครเห็น ท่านพยายามแสดงแต่อาการยิ้มแย้ม แต่ทุกคนก็พากันกลัวเกรงอย่างยิ่งคล้ายกับว่า เป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ฉะนั้น..................................................................


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กรกฎาคม 2554 16:47:26 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 16:06:15 »




๒.พรหมทัณฑ์



ตลอดเวลา ๗ วันที่ถูกลงโทษมิให้พูดกับใครสานุวิกัลปะพร้อมด้วยผู้ร่วมใจทั้งสองฝ่าย ต่างรู้สึกอึดอัดเดือดร้อนเหมือนต้องถูกกักอยู่ในที่คุมขังเป็นเวลาแรมเดือน เพราะต้องฝืนใจทำเป็นใบ้ทั้งที่พูดจาได้ ครั้งจะล่วงละเมิดเล่าก็มีความเกรงกลัวเป็นพื้นอยู่ ด้วยเป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านอาจารย์ผู้ที่ไม่ค่อยจะดุหรือลงโทษใครนี้ ถ้าสั่งการอะไรแล้ว จะติดตามดูแลให้คำสั่งของท่านได้ผลเสมอ ท่านมิได้สั่งด้วยความโกรธ แต่สั่งเพื่อให้ได้ผลดีในการปกครอง ผู้ใดก็ตามที่ฝ่าฝืน ก็จะต้องเดินทางกลับ

และคนที่ถึงกับถูกสั่งให้เดินทางกลับนั้น ถือกันว่ามักจะมีอันเป็นไปต่าง ๆ และเข้ากับใครไม่ค่อยได้ ด้วยบุคคลชั้นสูงในเขตใกล้ไกล ล้วนเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์ โดยมากต่างมีความเคารพเกรงกลัว และเชื่อในความรู้ความสามารถ และอำนาจจิตของท่านอาจารย์กันอยู่ทั่วไป จนกระทั่งมีคำกล่าวว่า คนที่ท่านอาจารย์วิศวามิตรสั่งไล่ ก็คือคนที่ถูกประหารชีวิตนั่นเอง

อนึ่งผู้ที่จะเข้าศึกษานั้น โดยทั่วไปอยู่ได้เพียงปีเดียว ส่วนผู้ที่จะอยู่ศึกษาต่อไปอีก ก็เฉพาะผู้ที่ท่านอาจารย์คัดเลือกแล้วเท่านั้น และมีจำนวนไม่มาก ถ้าใครไม่ดีจริง ไม่ตั้งใจศึกษา มีความประพฤติไม่เรียบร้อย ก็เป็นอันอยู่ได้เพียงปีเดียว ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร และไม่ว่าผู้ฝากให้เข้าศึกษาจะยิ่งใหญ่สักเพียงไร

นี้ก็อีกข้อหนึ่ง ที่ทำให้ศิษย์ทั้งหลายพากันเกรงกลัวท่านอาจารย์อย่างยิ่ง แต่ก็มีหลายคนที่อยู่ศึกษาเพียงปีเดียว แล้วได้รับผลบางอย่างซึ่งไม่เคยได้รับมาเลย ตลอดเวลา ๑๗ ถึง ๓๐ ปีล่วงมาแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้ประสบความสำเร็จแห่งชีวิตเพราะอยู่ศึกษาเพียงปีเดียว จึงมีเป็นอันมากที่เคารพนับถือ และสำนึกในคุณูปการของท่านอาจารย์

เรื่องระเบียบรับคนเข้าสำนักยังมีอยู่อีกมาก แต่จะขอยกไว้เพียงเท่านี้ก่อน

กล่าวถึงท่านอาจารย์วิศวามิตร เมื่อสั่งลงโทษสานุและวิกัลปะพร้อมทั้งผู้เป็นฝักฝ่ายแล้ว ก็พิจารณาเหตุการณ์ด้วยความรอบคอบ ครั้นแล้วความสงสัยก็เพ่งเล็งไปว่า คงจะมีใครสักคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งในคณะศิษย์นั้นเอง ได้รับคำแนะนำจากบุคคลภายนอก ให้ปั้นเรื่องยุยงสานุและวิกัลปะเพื่อประโยชน์บางอย่างในอนาคตกาลนานไกล

กล่าวคือ สานุเป็นโอรสแห่งหัวหน้ากษัตริย์แคว้นมัลละภาคเหนือ อันมีกรุงกุสินาราเป็นราชธานี ส่วนวิกัลปะเป็นโอรสแห่งหัวหน้ากษัตริย์แคว้นมัลละภาคใต้ อันมีกรุงปาวาเป็นราชธานี ทั้งสองฝ่ายเป็นชนแคว้นเดียวกัน มีเชื้อสายแห่งมัลลกษัตริย์ซึ่งเกี่ยวดองกัน ต่างเพียงว่ามีราชธานีอยู่แยกกันระหว่างเหนือกับใต้ แคว้นนี้แม้จะไม่ใหญ่ แต่ด้วยมีสามัคคีธรรมดี ก็ยากที่จะแคว้นอื่นจะรุกรานไว้ในอำนาจได้

จึงอาจเป็นไปได้ว่า อาจมีกษัตริย์สักพระองค์หนึ่งแห่งแคว้นใกล้เคียง ต้องการให้พระราชโอรสได้รับศิลปวิทยาด้วยได้มีหวังในอนาคตด้วยว่า เมื่อแคว้นมัลละเกิดแตกกันเองแล้ว โอรสของพระองค์ก็จะนำทัพเข้ายึดแคว้นมัลละ โดยไม่ต้องเสียทหารเลย เพราะทั้งสองฝ่ายได้ต่อสู้กันย่อยยับลงไปทั้งคู่แล้ว

เมื่อคิดมาถึงเพียงนี้ ท่านอาจารย์วิศวามิตรก็ปลงใจว่าจะสอบสวนสาเหตุ แล้วหาทางแก้ให้ทั้งสานุและวิกัลปะรักใคร่กัน อย่างอาจจะตายแทนกันได้ในกาลต่อไป

ครั้นครบกำหนดที่สานุวิกัลปะและพวกพ้องถูกลงโทษแบบ พรหมทัณฑ์ อันเป็นการลงโทษอย่าง ผู้ดี ซึ่งท่านอาจารย์วิศวามิตรได้เลียนแบบมา จากวิธีการของพระตถาคตเจ้าผู้บรมศาสดาแล้ว ท่านอาจารย์จึงเรียกสานุและวิกัลปะเข้าพบทีละคน เพื่อสอบสวนสาเหตุ ในที่สุดก็ได้ทราบว่าผู้ยุยงฉลาดหาวิธีให้ตนเองเป็นผู้ปลอดภัย เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น เพราะไม่มีผู้ใดยืนยันถูกต้องว่าใครเป็นผู้ยุยง

กล่าวคือมีแต่ข่าวลือผ่านเข้ามา ในกลุ่มของพวกมัลละภาคใต้กับภาคเหนือว่า ฝ่ายใต้หาว่าฝ่ายเหนือเป็นคนขลาด ถ้ามองหน้าแล้วจะพยายามหลบสายตาเสมอ แล้วก็มีข่าวคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นว่า ฝ่ายเหนือหาว่าฝ่ายใต้ไม่สู้ใครเลย คอยแต่จะหลบตาต่ำเมื่อถูกมองหน้า เมื่อข่าวเช่นนี้เกิดขึ้น ต่างฝ่ายก็คอยจับดูความเคลื่อนไหวของกันและกัน ถ้าเผอิญมองสบตากันก็ไม่มีใครหลบ เพราะเกรงจะถูกหาว่าเป็นคนขลาดไม่สู้ใคร เมื่อเกิดการมองตากันโดยไม่ยอมหลบทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ ผลที่เกิดก็คือการท้าทายกันดังกล่าวมาแล้ว

ความก็กระจ่างขึ้น สมจริงตามความคาดหมายของท่านอาจารย์วิศวามิตร แต่ที่เกินความคาดหมายของท่านก็คือ ความสามารถในการทำให้เรื่องขยายตัวไปเอง โดยผู้ยุแหย่ไม่ต้องทำอะไรเลย

สานุและวิกัลปะได้ทราบความจริงด้วยความตกใจ และเสียใจในการไม่ทันพิจารณาให้รอบคอบของตน เมื่อต่างฝ่ายนำข้อความมาบอกเล่าแก่มิตรสหายของตนแล้ว ท่านอาจารย์ก็ให้ทั้งสองฝ่ายขอขมากันและกัน และให้ปฏิญาณที่จะสมัครสมานกันด้วยดีสืบไป ทั้งนี้ได้กระทำเป็นการภายใน ไม่เป็นที่เอิกเกริกแก่ศิษย์ทั้งหลาย

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กรกฎาคม 2554 16:48:55 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 16:09:32 »




รุ่งขึ้นเวลาเช้า ขณะที่ลมหนาวจากเทือกผาหิมพานต์ยังพัดอยู่อ่อน ๆ หมอกบาง ๆ ยังทำให้มองเห็นสิ่งทั้งปวงไม่กระจ่างชัด ท่านอาจารย์ก็สั่งให้สานุและวิกัลปะ พร้อมด้วยผู้มีส่วนในการวิวาททั้งหมด เตรียมตัวออกเดินทางเมื่อเสร็จจากอาหารเช้าแล้ว โดยมิได้แจ้งว่าจะนำไปสู่สถานที่แห่งไร

เมื่อได้เวลา ท่านอาจารย์ก็ออกเดินนำหน้า เป็นการเดินทางเลียบลำน้ำโรหิณีบ่ายหน้าไปตามทักษิณทิศ

ศิษย์ทั้งหลายก็ติดตามไป เพิ่งได้สังเกตเต็มที่บัดนี้เองว่า ภูมิประเทศริมธารน้ำโรหิณีนี้น่ารื่นรมย์เพียงไร พรรณไม้น้อยใหญ่ที่ขึ้นเขียวชอุ่ม มีนกเริงร้องบินจากต้นนี้ไปต้นโน้น เนินผาเตี้ย ๆ หลายแห่งลาดขึ้นลง ทำให้การเดินทางเปลี่ยนสภาพบ่อย ๆ เสียงสัตว์ป่าเล็ก ๆ ร้องสลับกับเสียงนก และเสียงน้ำที่ไหลลงจากโขดหินบางแห่งเพื่อไหลต่อไปไม่หยุดยั้งตามลำน้ำ จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางคือมหาสมุทร ทำให้คณะผู้เดินทางซึ่งในขณะนี้มีใจปลอดโปร่ง เพราะหมดข้อข้องใจอันเนื่องจากความพยาบาทมาดร้าย รู้สึกว่าตนเองมองข้ามความงามตามธรรมชาตินี้มาช้านาน

ท่านอาจารย์มิได้กล่าวถ้อยคำใด ๆ คงเดินนำหน้าเรื่อยไปอย่างผู้จัดเจนภูมิประเทศ จนบางครั้งศิษย์ทั้งหลายรู้สึกว่าตนต้องเร่งฝีเท้าในการเดินอยู่บ้าง จึงรักษาระยะติดตามท่านอาจารย์ได้พอดี ไม่ชิดหรือห่างเกินไป จนกระทั่งเวลาสายแสงแดดกล้าขึ้นโดยลำดับ ท่านอาจารย์ก็ยังเดินนำอยู่อย่างนั้น โดยไม่บอกว่าจะไปที่ไหนและทำไม แต่ก็เดากันอยู่ข้อหนึ่งว่า คงจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนทะเลาะวิวาทกันไม่มากก็น้อย

ครั้งแล้วก็ผ่านหมู่บ้านย่อม ๆ แห่งหนึ่ง นายบ้านพอเห็นท่านอาจารย์ก็รีบเข้ามาหา เอามือแตะเท้าของท่านอาจารย์แล้วยกขึ้นจรดหน้าผาก เป็นการแสดงคารวะอย่างสูง

ท่านอาจารย์คงจะมีความคุ้นเคยกับนายบ้านดี จึงกล่าวขึ้นว่า สังกิจจ์ ! เธอสบายดีหรือ เราจะพาศิษย์ไปตรงคุ้งน้ำโรหิณีข้างหน้า และจะพักอยู่ที่นั่นจนถึงบ่าย

คณะศิษย์ผู้ติดตามไม่มีใครเข้าใจความหมายพิเศษอะไรในการกล่าวเช่นนั้น พากันคิดว่าเป็นการทักทายอย่างธรรมดา แต่คนที่ท่านอาจารย์เรียกชื่อว่าสังกิจจ์เข้าใจอะไรมากกว่านั้น รีบแสดงคารวะอีกครั้งหนึ่ง แล้วถอยออกไปยืนห่างอย่างอ่อนน้อม มองดูท่านอาจารย์และศิษย์เดินผ่านไปด้วยท่าทางแสดงความชื่นชม

อีกครู่ใหญ่ ทุกคนจึงได้เห็นว่าลำน้ำโรหิณีเริ่มคดเป็นคุ้ง เพราะมีเนินผาใหญ่ขวางอยู่กลาง ท่าทีของคุ้งน้ำตอนนี้ก็คือการหาทางเลี่ยงอุปสรรค เพื่อจะไหลไปสู่จุดหมายปลายทางของน้ำซึ่งไม่มีหัวใจ แต่ก็แสดงลักษณะคล้ายมีความสำนึกในหน้าที่ว่า จะต้องไหลลงสู่ที่ต่ำข้างหน้าโน้นให้จงได้

ครั้นมาถึงคุ้งน้ำ ท่านอาจารย์ก็เดินนำเลียบเนินผาไปอีกแถบหนึ่ง ซึ่งมองตามลำน้ำที่เลี้ยวตรงไปทางใหม่นี้ เห็นชัดว่าสองฟากลำน้ำเป็นนาและไร่ มีลักษณะเป็นที่ราบอย่างประหลาด ท่านอาจารย์หยุดพักนั่งห้อยเท้าบนหินก้อนหนึ่ง แล้วสั่งให้คณะศิษย์เลือกหาที่นั่งกันตามสบาย

เมื่อสังเกตเห็นว่า ทุกคนได้พักผ่อนตามสมควรแล้ว ท่านอาจารย์จึงกล่าวขึ้นว่า เราพาท่านทั้งหลายมาสู่ที่นี้ เพื่อให้เห็นสถานที่ด้วยตนเองว่า ครั้งหนึ่งคุ้งน้ำตรงนี้เกือบจะกลายเป็นสมรภูมิไป เพราะความวู่วามไม่รอบคอบแห่งกษัตริย์ศากยวงศ์และโกลิยวงศ์

ท่านอาจารย์ได้ชี้ให้ดูตรงที่น้ำคดคุ้งว่า เป็นสถานที่เหมาะแก่การกั้นให้กระแสน้ำไหลเอ่อเข้าลำรางไปสู่ที่นา อันจำเป็นต้องพึ่งน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว

เดิมทีเดียว กษัตริย์ศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ก็ใช้เครื่องกั้นน้ำร่วมกัน ให้น้ำไหลไปตามเหมืองทั้งสองฟาก น้ำก็ได้ช่วยให้การทำนาทำไร่เกิดผลดีตลอดมา คราวหนึ่งคนรับใช้ของทั้งสองฝ่ายเกิดทะเลาะกันขึ้น เดิมก็เป็นเรื่องส่วนตัว แต่แล้วก็กลายเป็นด่ากันกระทบเจ้านายของแต่ละฝ่าย

เมื่อเจ้านายทราบก็เข้าใจว่า กษัตริย์อีกฝ่ายหนึ่งยุยงให้คนรับใช้กล่าววาจากระทบมาถึงฝ่ายตน เรื่องซึ่งเกิดขึ้นจากต้นเหตุเพียงเล็กน้อย ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดต่างตระเตรียมกองทัพทั้ง ๔ เหล่าเพื่อทำสงครามแย่งน้ำกัน ซึ่งความจริงแม้ไม่ต้องแย่ง ก็มีพอให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์ได้อย่างเพียงพอ แต่เพราะเหตุหลงเชื่อถ้อยคำของผู้ไม่ชอบกันด้วยเรื่องอื่น แต่หาทางกล่าวว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะมิให้ตนได้ใช้น้ำที่กักไว้เข้าสู่เหมือง สงครามแย่งน้ำก็ทำทีว่าจะเกิดขึ้นจริง ๆ

ขณะที่ทุกฝ่ายคอยทีอยู่ว่า ใครจะเป็นฝ่ายใช้อาวุธก่อนกันนั้น ท่านผู้หนึ่งซึ่งทุกฝ่ายยอมก้มกราบแสดงคารวะก็ปรากฏพระองค์ขึ้นท่านผู้นี้คือ สมเด็จพระบรมศาสดา ผู้มีพระญาติฝ่ายพระพุทธบิดาเป็นศากยวงศ์ พระญาติฝ่ายพระพุทธมารดาเป็นโกลิยวงศ์

ทุกฝ่ายยอมวางอาวุธเข้ามากราบด้วยความเคารพรักในพระผู้มีพระภาค ผู้ไม่เคยสร้างความทุกข์ยาก เจ็บแค้นให้แก่ใคร ผู้ทรงยอมสละทุกอย่าง เพื่อความผาสุกของคนทั้งหลาย คนอื่นบางครั้งก็พอใจและภูมิใจที่ทำให้ใครต่อใครต้องร่ำไห้โศกาดูร แต่พระบรมศาสดาทรงทำในทางตรงกันข้าม คือทรงช่วยเช็ดน้ำตาให้แก่คนทั้งหลาย ด้วยพระพุทธโอวาทอันชวนให้ใฝ่สันติ ให้รู้จักให้อภัยกัน และให้รู้เท่าทันความจริงแห่งชีวิต

พระองค์ได้ตรัสถามถึงมูลเหตุที่จะทำสงครามกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายก็กราบทูลอย่างไม่ค่อยกระจ่างชัดนัก เพราะผู้กราบทูลไม่ได้สอบสวนต้นเหตุอย่างแท้จริง ว่าเป็นเรื่องทะเลาะวิวาทกันของคนรับใช้ทำนา แต่ละฝ่าย ตกลงมูลเหตุที่ยกขึ้นกราบทูลสมเด็จพระบรมศาสดา ก็กลายเป็นเรื่องอีกฝ่ายหนึ่งจะแย่งน้ำไว้ใช้โดยไม่ยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ใช้บ้าง

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ระหว่างน้ำกับชีวิตของกษัตริย์ที่ทำสงครามกันนี้ อะไรมีค่ามากกว่ากัน ทุกฝ่ายยอมรับว่าชีวิตของตนมีค่ามากกว่าน้ำ พระองค์จึงทรงยกอดีตประวัติของการสงครามและการรู้จักปรองดองกัน และได้ทรงสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความสงบ ให้สมัครสมานสามัคคีกัน ทำให้ทุกฝ่ายโล่งใจที่ไม่ต้องสละชีวิตของตน เพื่อสิ่งที่มุ่งหมายอันมีค่าน้อยกว่าชีวิต ความเป็นญาติกันระหว่างศากยะกับโกลิยะก็ดำรงมั่นด้วยดีสืบมา

บัดนี้ท่านทั้งหลาย ผู้เป็นชาวกุสินาราฝ่ายหนึ่งกับชาวปาวาอีกฝ่ายหนึ่ง เพียงหลงเชื่อคำยุก็จะประหัตประหารฆ่าฟันกัน เพียงเพื่อจะให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าตนนั้นสู้คน ไม่หลบตาคน ไม่ใช่คนขลาด ท่านก็จงตรองดูเองเถิด ว่าเป็นการสมควรหรือไม่เพียงไร

ขอให้ทราบเถิดว่า ท่านทั้งหลายมาเพื่อศึกษาศิลปศาสตร์ แต่ศิลปศาสตร์ที่จะยังประโยชน์ให้สำเร็จนั้น จำเป็นจะต้องมีคุณงามความดี หรือธรรมจริยาผสมอยู่ด้วย มิเช่นนั้นก็จะเป็นเหมือนเชื้อไฟที่ไม่มีเตาไฟเป็นขอบเขต คงจะใช้ประโยชน์ได้น้อยกว่าและมีโทษมากกว่า เพราะอาจลุกลามก่อความเสียหายได้โดยง่าย


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กรกฎาคม 2554 16:50:30 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 16:12:54 »




๓.ชีวิตกับธารน้ำ



ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! เราเองเมื่อยังรุ่นจำเริญวัยก็มิได้เป็นคนดีกว่าท่านทั้งหลายในทางใดเลย คงมีความรู้สึกรุนแรงวู่วามทุกอย่างเท่าที่คนหนุ่มจะมีได้ บางครั้งก็ดูเหมือนจะเกินหน้าเพื่อน ๆ ไปด้วยซ้ำ เรายินดีทะเลาะวิวาทกับทุกคน แม้ในเรื่องเล็กน้อยที่สุด ใครจะชวนไปโต้เถียงกันที่ไหนเมื่อไหร่ ไม่เคยนึกเบื่อหน่ายหรือพรั่นพรึง และถ้าโต้เถียงด้วยเหตุผลสู้ไม่ได้ แม้จะต้องดึงดันไปด้วยทิฏฐิมานะ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผิด เราก็ยินดีจะสู้ นอกจากจะเก่งกล้า จนบางครั้งถึงกับเป็นคนเกเรแล้ว เรายังชอบการต่อสู้ทุกชนิด จะสู้กันตัวต่อตัว จะนัดสู้กันเป็นกลุ่มเป็นพวก เราก็ยินดี !

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! เรามีอัธยาศัยเสียอีกอย่างหนึ่ง คือทนฟังใครพูดผิด หรือขัดจากความรู้และความเข้าใจของเราไม่ได้ แม้จะรู้ว่าเขาพูดผิดเพราะพลั้งเผลอ ด้วยปากพูดไปเสียอย่างหนึ่ง แต่ใจนั้นคิดไปอย่างหนึ่ง ก็ไม่ยอม จะต้องคัดค้านขึ้นมาทันที บางครั้งขณะที่คนอื่นกำลังเล่าเรื่องอะไรสนุกอยู่ ไปทักท้วงคำผิดพลั้งเข้า เขาโกรธถึงไม่เล่าให้ฟังต่อไปก็เคยมี แต่เราไม่เคยวิตกกังวลในเรื่องเหล่านี้

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! เราเคยนึกว่าแม้จะโกรธกับคนอื่นหมดทั้งโลก โดยไม่ต้องพูดกับใครเลย เราก็ไม่กลัวและไม่ทุกข์ร้อน เป็นคนมีความคิดแข็งแกร่งในเรื่องไม่ง้อใคร ไม่กลัวใครเห็นปานนี้ ท่านทั้งหลายจงนึกดูเองเถอะว่า เรามีความเป็นอยู่ทุกวันในระหว่างเวลานั้นด้วยอาการอย่างไร ?


ขณะที่ท่านอาจารย์กำลังเล่าความไม่ดีไม่งามของท่านเมื่อสมัยเป็นเด็กรุ่นหนุ่มยังค้างอยู่นั้น สังกิจจ์นายบ้านก็พาพวกลูกบ้านหาบข้าวของ เลี้ยวเชิงผาตรงคุ้งน้ำเข้ามา เมื่อได้แสดงคารวะท่านอาจารย์แล้ว ก็จัดแจงแบ่งสิ่งที่เตรียมมาน้อมเข้าไปให้ท่านอาจารย์ส่วนหนึ่ง จัดให้คณะศิษย์อีกส่วนหนึ่ง ไม่ปนกัน

สังกิจจ์ ช่างรู้ใจศิษย์ทั้งหลายอะไรอย่างนั้น การเดินทางตั้งแต่เช้าถึงกลางวัน ทำให้เกิดความหิวกระหายไม่น้อยเลย ราชกุมารทั้งหลายรู้สึกพอใจ และขอบคุณสังกิจจ์โดยทั่วกัน

แต่ความจริงสังกิจจ์มิได้รู้ใจศิษย์ทั้งหลายเลย เขารู้ใจท่านอาจารย์ต่างหาก เพราะเพียงได้ยินคำว่าท่านอาจารย์จะพักจนถึงเวลาบ่าย เขาก็รู้ทันทีว่าควรจัดอาหารมื้อกลางวันมาให้

ท่านอาจารย์กล่าวอนุญาตให้ศิษย์ทั้งหลายบริโภคอาหารได้ ต่างก็รับกระบอกน้ำมาทำความสะอาดมือ เพื่อเตรียมบริโภคต่อไป แต่ทุกคนก็อดแปลกใจไม่ได้ว่า กระบอกน้ำมีครบสำหรับบุคคลทุกคนไม่ขาดไม่เกิน

อาหารที่สังกิจจ์พร้อมด้วยชาวบ้านนำมาเลี้ยง แม้จะต้องเป็นของง่าย ๆ แบบชาวไร่ชาวป่า แต่ทุกคนก็ดูเหมือนจะพอใจและรู้สึกว่ามีรสดีที่สุดในหลายเดือนที่ผ่านมา มีเผือกและมันต้มสุก มีข้าวนึ่งในกระบอกไม้ และมีน้ำผึ้งใส่กระบอกมาเพื่อบริโภคกับเผือกมันและข้าวนึ่งนั้น มีแตงเนื้อแน่นขนาดใหญ่ซึ่งมีรสหวานในตัว มีผลมะทราง มะหาด มะพลับป่า และมะพร้าวอ่อนอันได้เตรียมไว้เพื่อเปิดฝาบริโภคได้ง่าย มีของอีกอย่างหนึ่งที่นับว่ามีค่ามากในอาหารมื้อนี้คือ เกลือซึ่งใส่ภาชนะมาให้ ใช้จิ้มเผือกมันและข้าวนึ่งในกระบอกไม้ เกลือเป็นของหายากที่สุดในภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลจากทะเล ชาวบ้านต้องรู้แหล่งแสวงหาจากดินโป่ง และรู้สถานที่พิเศษ เพื่อนำดินนั้นมาตำละลายน้ำตากแห้งให้ได้ผงเกลือ

สังกิจจ์เข้าไปสนทนาใกล้ชิดกับท่านอาจารย์อย่างสนิทสนม ซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้สนทนาด้วย บริโภคผลไม้เผือกมันไปด้วย สานุลอบชำเลืองดูท่านอาจารย์ผู้ประกาศตนแก่ศิษย์ทั้งหลายว่า เคยเป็นคนเกเรมาแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ กิริยาอาการที่พูดจาปราศรัยลักษณะอันนุ่มนวลอ่อนโยนเต็มไปด้วยเมตตากรุณา และการบริโภคอาหารช้า ๆ เรียบร้อยน่าดู ไม่บ่งหรือมีเค้าเลยว่า ท่านผู้นี้ในสมัยหนึ่งจะเป็นผู้ชวนทะเลาะ ทนฟังใครพูดผิดไม่ได้

ศิษย์ทุกคนไม่มีใครกล้าแสดงอาการคะนองมือเท้า หรือลุกลี้ลุกลนในการบริโภคอาหาร ทั้งที่อยากหยอกล้อเพื่อนกันซึ่งกำลังนั่งอยู่ในที่ใกล้ ทุกคนบอกไม่ถูกว่าท่านอาจารย์มิใช่คนดุ มิใช่คนใช้วาจาก้าวร้าว รวมทั้งมิใช่คนที่ชอบบ่นเมื่อรู้แล้ว เหตุไฉนพวกตนจึงเกรงใจและกลัวท่าน

เมื่อบริโภคอาหารเป็นที่อิ่มหนำแล้ว ท่านอาจารย์ได้กล่าวขอบใจสังกิจจ์และพวกชาวบ้านที่นำของมาเลี้ยงและได้แนะนำให้ศิษย์ทั้งหลายรู้ว่า สังกิจจ์คือเด็กของท่านอาจารย์ เคยตกทุกข์ได้ยากร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาแต่อดีต แต่เมื่อท่านอาจารย์มาอยู่ประจำ ณ สำนักสั่งสอนศิลปศาสตร์แห่งนี้ สังกิจจ์จึงขอแยกมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ต้นทางที่จะมีใครผ่านเข้าไปหาท่านอาจารย์

ครั้นสังกิจจ์และชาวบ้านทำคารวะลาท่านอาจารย์จากไปแล้ว ท่านอาจารย์จึงอนุญาตให้ศิษย์ทั้งหลายพักผ่อน หรือใครจะไปเดินเล่นในบริเวณใกล้เคียงก็ได้ แต่จะต้องกลับมาเมื่อตะวันคล้อยไปทางตะวันตกประมาณ ๑ ศอก ทั้งนี้ให้วัดเงาจากต้นไม้สังเกตดู


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กรกฎาคม 2554 16:51:20 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 16:16:01 »




ทุกคนซึ่งเคยเป็นศัตรูกัน แต่เข้าใจเรื่องราวดีแล้วกลับกลมเกลียว และชวนกันเดินเลี่ยงไปไกลจากท่านอาจารย์ ทั้งเพื่อพักผ่อนและปรึกษาหารือกัน ทุกคนได้มีโอกาสยืน เดิน หรือนั่งอย่างไม่ต้องสำรวมระวัง

สานุกล่าวขึ้นว่า เป็นไปได้หรือที่คนอย่างท่านอาจารย์มีประวัติในสมัยรุ่นจำเริญวัยเป็นคนชอบหาเรื่องทะเลาะ และชอบการต่อสู้กับคนทั้งหลาย พวกเราเห็นจะต้องขอฟังประวัติของท่าน บางทีจะช่วยให้ความสงสัยกระจ่างขึ้นมาได้

วิกัลปะตอบว่า พวกเราถ้าไม่ได้ท่านอาจารย์ ก็คงจะตีกันถึงบาดเจ็บหรืออาจถึงตายก็ได้ เราจึงน่าจะเรียนรู้ประวัติของท่านอย่างที่สานุกล่าว แต่ประวัติของท่านคงยาวมาก ถ้าท่านจะเล่าจนเย็นค่ำและถึงกับต้องค้างคืนในบริเวณนี้ ใครจะยินดีอยู่ตากน้ำค้างทนลมหนาวจากหิมาลัยบรรพตบ้าง

ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าจะต้องค้างสักสองคืนก็ยินดี และแต่ละคนก็รู้จักวิธีต่อสู้ความหนาวโดยไม่มีผ้าห่มหนาอยู่แล้ว คือการหาใบไม้ขนาดใหญ่มาซ้อน ๆ กันทาบอก แล้วใช้ผ้าธรรมดาคาดทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนั้น ฤดูนี้ก็ย่างเข้าสู่สมัยใกล้ฤดูร้อนแล้ว อากาศก็คงจะไม่หนาวรุนแรงเหมือนเมื่อสองเดือนก่อน

เมื่อได้สรวลเสหยอกล้อและพักผ่อนกันตามสมควร จนสังเกตเห็นเงาไม้ทอดมาทางตะวันออกประมาณ ๑ ศอกแล้ว ทุกคนก็ลุกขึ้นเดินกลับไปหาท่านอาจารย์ แสดงคารวะแล้ว เลือกที่นั่งซึ่งควรแก่ตนภายใต้ชะง่อนผาอันร่มรื่น


สานุจึงแสดงคารวะอีกครั้งหนึ่ง กล่าวขอให้ท่านอาจารย์ได้โปรดเล่าความอันเนื่องด้วยประวัติความเป็นมาของท่าน ที่กล่าวค้างไว้ในเวลาก่อนเที่ยง

ท่านอาจารย์ยิ้ม แล้วชี้ให้ดูกระแสธารในแม่น้ำโรหิณี ถามว่าลำน้ำโรหิณีนี้ตรงหรือคด สานุกล่าวตอบว่าคดเคี้ยวโดยมาก ท่านอาจารย์จึงถามต่อไปว่า เหตุไฉนจึงคดเคี้ยวโดยมากเช่นนั้น

ตอนนี้ศิษย์ทั้งหลายมองดูหน้ากัน แล้วสานุจึงกล่าวขึ้นอีกว่า ข้าแต่ท่านอาจารย์ ! ที่ใดเป็นที่ลุ่ม น้ำก็อาศัยที่นั้นเป็นทางเดินไหลต่อไป และเนื่องจากที่ลุ่มมิได้มีติดต่อกันเป็นเส้นตรง น้ำก็หาทางลดเลี้ยวไปตามที่ลุ่มเท่าที่จะมีได้ ลำน้ำจึงคดเคี้ยวด้วยประการฉะนี้

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! เราได้เดินทางข้ามสะพานเหมือง ที่ไขน้ำจากแม่น้ำโรหิณีเข้าไปใช้ในไร่นามาแล้ว ลำเหมืองหรือลำรางมีลักษณะต่างจากลำน้ำโรหิณีอย่างไรบ้าง ?

ศิษย์ทั้งหลายมองหน้ากันอีก เพราะนึกไม่เห็นว่าท่านอาจารย์จะมาตั้งปัญหาเช่นนี้เพื่อประโยชน์อะไร ทั้งตอบก็ไม่ง่ายนัก

วิกัลปะ จึงเป็นผู้ตอบบ้างว่าข้าแต่ท่านอาจารย์ ! ลำเหมืองหรือลำรางต่างจากแม่น้ำโรหิณีคือเล็กกว่า และเป็นของที่มนุษย์ขุดทำขึ้น ส่วนแม่น้ำโรหิณีนั้นเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ

ดีแล้ว ราชกุมารทั้งหลาย ! เรากำลังจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้อยู่แล้ว ความต่างกันอีกอย่างหนึ่งระหว่างลำรางที่มนุษย์ขุดขึ้นกับแม่น้ำโรหิณี ก็คือมนุษย์ขุดลำรางเป็นทางตรงโดยมาก จะลดเลี้ยวก็ต่อเมื่อมีความมุ่งหมายให้น้ำเดินทางไปที่อื่น แต่โดยปกติเขาขุดเป็นทางตรง แล้วทำเป็นลำรางน้อยซอยไปจากลำรางใหญ่อีกต่อหนึ่ง

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! ชีวิตของคนเราก็ฉันนั้น ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามสิ่งแวดล้อมเหมือนแม่น้ำ มันก็จะคดเคี้ยวไปตามสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าเราจะไม่ปล่อยไปตามบุญตามกรรม โดยการศึกษาและควบคุมชีวิตให้ดีก็จะเป็นเหมือนเราขุดลำราง เราอาจทำให้ตรงไม่คดเคี้ยว และอาจนำน้ำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้แม้ในที่ไกล

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! เรามองดูแม่น้ำก็ได้คติเตือนใจ เหมือนมองดูชีวิตของผู้ที่มิได้มีการควบคุม แต่เมื่อเราเห็นคลองหรือลำรางที่มนุษย์ขุดนั้น เราก็ได้ความคิดถึงชีวิตที่มีการควบคุมให้ตรง อาจใช้ประโยชน์ได้มิใช่น้อย

ชีวิตของเราเองในอดีตกาล เป็นชีวิตที่คดเคี้ยววุ่นวาย ต้องผจญกับความขัดข้องหมองใจอยู่เสมอ แต่พอเรารู้จักขุดทางให้ชีวิต เราก็ได้พบความสุข ความไม่วุ่นวาย แต่กว่าจะมารู้จักขุดทางได้ เราก็ต้องผ่านความเจ็บปวดร้าวระทมมาอย่างสุดประมาณ ในบางสมัยถึงกับถามตนเองว่า เราจะมีชีวิตอยู่ต่อไปทำไมกัน เมื่อสิ่งที่ระดมเข้ามาสู่เรานั้น ล้วนแต่ความเดือดร้อนวุ่นวาย ความพลาดหวัง ความระทมตรมตรอม ซึ่งอาจจะเรียกรวม ๆ ได้ว่าความทุกข์ครั้งแล้วครั้งเล่า”

เราเคยนึกยิ้มเยาะท่านอาจารย์วิศวามิตรคนก่อนหน้าเราในสมัยที่เรามาศึกษา ยิ้มเยาะในความคิดเห็นอย่างคนแก่ของท่าน ที่มุ่งแต่จะสั่งสอนอบรมให้คนอยู่ในศีลในธรรม และเรานึกในใจว่า ตามกฎเกณฑ์ของสำนักศิลปศาสตร์ที่ตั้งขึ้นรับศิษย์ไว้ศึกษาเพียงปีเดียว ส่วนบุคคลผู้จะได้รับคัดเลือกให้อยู่ศึกษา

ต่อคงจะเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่ง เรียบร้อยเหมือนใบไม้ที่ถูกของหนักทับให้ราบเรียบ ส่วนตัวเราถ้าอยู่ได้ตลอดปีไม่ถูกไล่ออก ก็น่าจะต้องฉลองชัยในการอยู่ครบปีกันอย่างเอิกเกริก

บางครั้งเราก็นึกถึงท่านอาจารย์ว่าสั่งสอนอบรมไปเถิด ข้าพเจ้าคงได้อยู่ฟังคำเตือนใจของท่านไปไม่เกินหนึ่งปี ก็คงจะได้กลับไปมีอิสระในบ้านเมืองของตน

แต่ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรแน่นอน ดูง่าย ๆ เพียงบัดนี้ว่า เราต้องมานั่งทำหน้าที่ของบุคคลที่เราเคยยิ้มเยาะท่านมาก่อน ก็พอแล้ว

ศิษย์ทั้งหลายมีความงุนงงในเรื่องราวของท่านอาจารย์ยิ่งขึ้น ต่างก็กระหายจะฟังต่อด้วยความสนใจ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กรกฎาคม 2554 16:53:00 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 16:18:55 »




๔.โอรสแห่งลิจฉวี



ท่านอาจารย์ได้เริ่มกล่าวถึงประวัติของท่านว่า........................................


ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! เราเป็นโอรสแห่งกษัตริย์ลิจฉวี กรุงไพศาลี ท่านทั้งหลายย่อมทราบดีว่า แคว้นวัชชีซึ่งมีกรุงไพศาลีเป็นราชธานีนั้น มีคณะกษัตริย์ลิจฉวีปกครองเช่นเดียวกับแคว้นมัลละทั้งภาคเหนือภาคใต้ของท่านเอง คณะกษัตริย์ผู้ร่วมกันรับผิดชอบในแคว้นวัชชี มีลิจฉวีสภาเป็นที่ปรึกษาหารือกันในกิจการทั้งปวงแห่งแว่นแคว้น

ครั้งแรกมีกฎเกณฑ์เพียงว่า ผู้เกิดมาในสกุลกษัตริย์ลิจฉวี ถ้าเป็นชายเมื่อครบอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในลิจฉวีสภา แต่เมื่อมีผู้เกิดเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็ต้องใช้วิธีจำกัด โดยเลื่อนอายุของผู้จะเข้าประชุมได้ให้สูงขึ้น แม้เช่นนั้น ต่อมาก็ต้องเปลี่ยนแปลงอีก โดยกำหนดให้สกุลหนึ่งมีผู้แทนเข้าประชุมได้เพียงคนเดียว แม้เช่นนั้น ก็ยังมีผู้เข้าประชุมนับจำนวนร้อย อันแสดงถึงความขยายตัวเติบใหญ่ของสกุลกษัตริย์{ลิจฉวี}

เรามีพี่ชายสองคน มีน้องหญิงสองคน ซึ่งท่านมารดาบิดาได้อบรมเลี้ยงดูด้วยความเมตตากรุณาอย่างดียิ่ง เมื่อถึงสมัยที่ควรส่งเข้าศึกษาอักษรสมัยและศิลปศาสตร์ ท่านก็ส่งไปสู่สำนักครู ซึ่งอยู่ในกรุงไพศาลีนั้นเอง เมื่อจบการศึกษาในสำนักครูแล้ว กล่าวโดยทั่วไปก็เป็นอันชื่อว่าหมดภาระในการศึกษาแล้ว

แต่มีประเพณีอยู่อย่างหนึ่งว่า สกุลกษัตริย์ลิจฉวีแต่ละสกุลจะต้องส่งโอรสคนใดคนหนึ่ง ไปศึกษา ณ กรุงตักกสิลา อันตั้งอยู่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือแห่งชมพูทวีป หรือ ณ สำนักอาจารย์วิศวามิตร ใกล้ป่าหิมพานต์ พี่ชายทั้งสองของเราปฏิเสธ ขออยู่แต่ไพศาลีเพราะไม่ชอบการเดินทาง ท่านมารดาบิดาจึงถามความสมัครใจของเราว่า จะออกเดินทางไปศึกษาต่างแคว้นหรือไม่ และถ้าไปจะเลือกไปที่ไหน เราได้ตอบตกลงจะเดินทางไปต่างแคว้น แต่การจะเลือกไปที่ไหนนั้นสุดแต่ท่านมารดาบิดาจะพิจารณา

ท่านทั้งสองตกลงเลือกสำนักอาจารย์วิศวามิตร ด้วยเหตุผลสองประการ คือข้อแรกโดยปกติใช้เวลาเพียงปีเดียวก็ได้กลับ เพราะเป็นระเบียบของสำนักนี้จะคัดเลือกคนไว้เรียนต่ออย่างเคร่งครัดมาก จากผู้ศึกษา ๑๐๐ คน อาจมีผู้ได้รับพิจารณาให้อยู่ศึกษาต่อไปอีกเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปีแล้ว ไม่เกิน ๑๐ คน บางครั้งก็อาจจะเป็นเพียง ๒ หรือ ๓ คนเท่านั้น เหตุผลประการที่สอง คือสำนักอาจารย์วิศวามิตรแม้จะให้ศึกษาเพียงปีเดียว แต่มีหลักการอบรมพิเศษ หล่อหลอมอัธยาศัยใจคอของศิษย์ให้นิยมในศีลธรรม มีวิธีปราบคนหนุ่มที่ชอบเกเรอยู่มากหลาย โดยไม่ต้องใช้อาญา เพียงให้อุบายอันแยบคายเท่านั้นก็ทำได้สำเร็จโดยมาก มีผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้วมิใช่น้อยที่ตีราคาเวลา ๑ ปีของสำนักวิศวามิตร ว่ามีค่าเสมอด้วย ๑๐ ปีหรือ ๒๐ ปีของชีวิต

ความเป็นมาและวิธีสืบสกุลแห่งอาจารย์วิศวามิตรนั้น เราจะเล่าให้ฟังพร้อมกันในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เพราะสำนักศิลปศาสตร์เราจะมีพิธีสำคัญในวันนั้น

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กรกฎาคม 2554 16:53:48 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 16:21:23 »




ราชกุมารสกุลอื่นเลือกไปศึกษา ณ ตักกสิลากันโดยมาก เมื่อทราบว่าเราจะไปศึกษา ณ สำนักอาจารย์วิศวามิตร จึงพากันพูดยั่วเย้าว่าเราจะไปเรียนวิชาคนแก่ เพื่อจะได้เป็นคนเรียบร้อยเหมือนใบไม้ถูกหินทับ เรารู้สึกอายเพื่อนฝูงอยู่บ้าง ทั้งรู้จักตัวเองดีว่าไม่ชอบให้ใครมาจู้จี้สั่งสอน เพราะเข้าใจว่าสำนักวิศวามิตรคงมีการอบรมจุกจิกมาก แต่ก็ด้วยความเคารพในท่านมารดาบิดา เราก็หักห้ามใจไว้ ไม่แสดงอาการดื้อดึงในการคัดเลือกสถานศึกษาของท่าน

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! ตัวเราเองนั้นอาจเป็นคนตามใจตัว และวู่วามมากกว่าท่านทั้งหลาย แต่เราเคารพรักท่านมารดาบิดามาก ไม่อยากทำอะไรให้เป็นที่ขัดใจของท่านเลย ทั้งนี้มิใช่เพราะท่านอบรมสั่งสอนเรา ให้กลัว ให้รัก หรือให้เชื่อฟังท่าน แต่เป็นเพราะเราได้เห็นตัวอย่างภายในสกุลของเราเอง

ท่านบิดาของเราแม้จะเป็นผู้ใหญ่มีอายุพ้น ๔๐ ปีแล้ว แต่ท่านก็ปฏิบัติต่อท่านปู่และท่านย่าของเรา เสมือนหนึ่งท่านยังเป็นเด็ก ยอมอยู่ในโอวาท รู้จักเอาใจ และเกรงใจ จะพูดจาด้วยก็แสดงอาการอ่อนน้อม บางครั้งเราเคยเห็นท่านปู่และท่านย่าดุว่าท่านบิดาของเราด้วยเสียงอันดัง ทั้งที่ท่านบิดามิได้ผิด แต่ท่านยอมเงียบไม่เถียง รอจนสองท่านผู้เฒ่าคลายโทสะแล้วจึงชี้แจงให้เข้าใจ

ตัวอย่างนี้ทำให้เราจำ และนึกเคารพรักในท่านมารดาบิดา ไม่อยากทำอะไรให้เป็นที่ขัดใจท่าน แต่กับคนอื่น เราเป็นคนถือความเห็นของเราเป็นประมาณ

ในวันอำลาจากท่านทั้งสอง เพื่อเดินทางร่วมไปกับคณะราชกุมารอื่นไม่กี่คนที่มีผู้ใหญ่นำไป ท่านบิดาให้โอวาทสั้น ๆ ให้ตั้งใจเรียนและกลับมาเมื่อครบกำหนด แต่ท่านมารดาดูเหมือนจะพูดอะไรไม่ออก รั้งตัวเราเข้าไปกอดแล้วร้องไห้ ทำให้เราผู้แม้เป็นคนใจแข็ง ก็พลอยหลั่งน้ำตาไปกับท่านด้วย

เรานึกแต่เพียงว่าเรามาเรียนตามประเพณี ตามคำสั่งของท่านมารดาบิดา และนึกต่อไปว่า ท่านอาจารย์วิศวามิตรคงเป็นคนจู้จี้ขี้บ่นเหมือนอย่างคนแก่บาง
คน ที่มองเห็นเด็ก ๆ ทำอะไรผิดไปหมดทุกฝีก้าว นอกจากนั้น เมื่อกล่าวถึงศิลปศาสตร์ที่จะพึงศึกษา เราก็นึกเพียงว่าคงจะซ้ำ ๆ กับที่เราได้เล่าเรียนมาแล้ว ตกลงการมาศึกษา ณ สำนักอาจารย์วิศวามิตรก็คงเป็นเพียงให้ได้ชื่อว่า ได้ผ่านการศึกษาในแคว้นอื่น และศึกษาในสำนักอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงเท่านั้น

แม้เมื่อมาเข้าสำนักศึกษาใหม่ ๆ เราก็ยังคงคิดเช่นเดิม แต่ในวันหนึ่งท่านอาจารย์วิศวามิตรได้เรียกเราเข้าไปพบ แล้วพูดว่าท่านคอยเรามาประมาณไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีแล้ว ความมุ่งหมายของท่านที่คอยเราก็คือ จะมอบตำแหน่งผู้สืบสกุลวิศวามิตรให้ แต่ในขณะนั้นแม้ท่านจะพูดชี้แจงอย่างไรก็คงไม่ทำให้เราเข้าใจดีขึ้น จนกว่าเมื่อถึงเวลาแล้วจึงจะเข้าใจเอง ท่านกล่าวว่าเมื่อครบปีท่านจะให้เรากลับ แต่เมื่อกลับแล้วเราจะต้องมาหาท่านใหม่ ซึ่งท่านจะรับไว้ให้

ศึกษาต่อจนสำเร็จเมื่อสำเร็จแล้วก็จะอนุญาตให้เรากลับไปสู่ไพศาลีอีก ครั้นแล้วเมื่อถึงเวลาอันควรเราจะต้องย้อนกลับไปสำนักวิศวามิตรอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ท่านจะบอกความลับสำคัญให้ แต่ก็จะไม่รั้งตัวไว้ จะปล่อยให้ไปสู่ไพศาลีอีกเช่นเดิม ในวาระหลังสุดเราจะกลับไปสำนักวิศวามิตรด้วยความสมัครใจ ซึ่งท่านจะได้มอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์สืบแทนท่าน..............................................


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กรกฎาคม 2554 16:54:28 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« ตอบ #9 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 16:25:29 »




ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! เรารู้สึกว่าท่านอาจารย์วิศวามิตรพูดง่าย ๆ เหมือนนึกอยากจะพูดอะไรก็พูดออกมาดูไม่น่าเชื่ออะไรเลย ฉะนั้น เราจึงนึกยิ้มเยาะท่านต่อไปอีกว่า เมื่อถึงเวลาแล้วไม่เป็นอย่างนั้น ท่านจะว่าอย่างไร

ในเรื่องนิสัยไม่ดีของเราที่ชอบพูดขัดคน ไม่เกรงการทะเลาะวิวาท ไม่กลัวใครโกรธเป็นต้นนั้น ท่านอาจารย์วิศวามิตรได้สั่งสอนหรือแก้ไขอย่างไร ตลอดจนวิชาความรู้ตลอดเวลา ๑ ปีมีอะไรบ้าง ตรงกับที่เราคิดไว้เดิมหรือไม่ว่า คงจะซ้ำ ๆ กับที่เรียนมาแล้ว เราจะข้ามไปไม่เล่าในตอนนี้ แต่จะเล่าเมื่อครบกำหนดปีแล้ว ว่าเรามีความเข้าใจขึ้นว่า วิชาปกครองประเทศที่เราเดินทางมาเรียนแต่ที่ไกลนั้น ไม่มีอะไรตรงกับที่คิดไว้ เป็นเรื่องน่ารู้ น่าสนใจ และน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง”

ก่อนเดินทางกลับหลายวัน ท่านอาจารย์ได้เรียกเราเข้าไปพบ และได้สั่งสอนเราเป็นข้อ ๆ รวม ๓ ข้อด้วยกันคือ...................................

๑. จะต้องรู้จักอดทน ทำเป็นไม่รู้เท่าทัน ทำเป็นไม่เห็น ไม่ได้ยินกิริยาอาการ หรือถ้อยคำล่วงเกินของคนอื่น คนที่อดทนต่อเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ จะต้องจำ

ใจอดทนต่อความยากลำบาก อันจักเกิดขึ้นเนื่องจากขาดความอดทนในตอนแรกนั้นหลายสิบเท่า

๒. แม้จะมีความรู้ความสามารถสักเพียงไร ก็ไม่พึงตั้งอยู่ในความประมาท จงคิดให้ดีก่อนทำ ก่อนพูดอะไรที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น

๓. ถ้าเห็นอะไรเกินความสามารถ ก็ให้มาหาอาจารย์

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! ท่านอาจารย์วิศวามิตรเรียกเราไปซักซ้อมถึงขนาดให้ท่องจำคำสั่งสอน ๓ ข้อนี้ จนแน่ใจว่าเราจำได้แม่นยำแล้ว ในวันที่พวกเรากราบลาท่านเดินทางกลับ ท่านได้อวยชัยให้พรแก่ศิษย์ทุกคน และได้มอบของพิเศษแก่เราสามอย่าง และสั่งไว้ว่าสำหรับใช้เป็นเครื่องประกอบคำเตือนของท่านข้อที่สอง ของที่ท่านมอบให้นี้คือ เกราะพิเศษซึ่งมีน้ำหนักเบา และคันธนูพิเศษที่ท่านเคยให้เราทดลองยิง พร้อมด้วยลูกธนูพิเศษ

ท่านทั้งหลายคงสงสัยว่า เกราะพิเศษ คันธนูพิเศษ ลูกธนูพิเศษนั้นเป็นอย่างไร ในขณะนั้น เราเข้าใจเพียงว่าเกราะพิเศษเพราะมีน้ำหนักเบา คันธนูพิเศษเพราะเคยมือกับเรามา ส่วนลูกธนูพิเศษนี่สิเป็นเรื่องน่าหัวเราะ เพราะเป็นลูกธนูปลายหักทั้ง ๓ ดอก เรานึกในใจว่าลูกธนูพิเศษนี้คงให้ไว้สำหรับดูเล่น เพราะถ้าใช้จริง ๆ ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร ท่านอาจารย์อาจเห็นว่าเราอาจนำไปใช้ในทางที่ทำอันตรายก็ได้ จึงเตรียมหักปลายไว้ก่อน


ครั้นแล้วผู้ใหญ่ทางไพศาลี ก็มารับตัวราชกุมารพากันเดินทางกลับ พวกเราเข้าไปกราบลาท่านเป็นครั้งสุดท้ายด้วยความอาลัยรักในเมตตากรุณาของท่าน และเนื่องจากท่านได้ตักเตือนซักซ้อมเราไว้เป็นพิเศษในคำสอนสามข้อนั้น เราจึงรู้สึกเสมือนหนึ่งมีคำสอนแว่วอยู่ในหูตลอดเวลาทั้ง ๆ ที่ไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไรนัก

พอกลับถึงกรุงไพศาลี กราบเท้าท่านมารดาบิดาทั้งสองแล้ว เราจึงได้ข่าวว่าคณะราชกุมารชุดก่อน ๆ ที่ไปศึกษาทางตักกสิลา เดินทางกลับมาก่อนหน้าเราหลายวันแล้ว และมีกำหนดจะให้ทุกคนที่กลับจากสำนักศึกษาต่างแคว้น แสดงความรู้ความสามารถในอีก ๑๕ วันข้างหน้า

ท่านมารดาบิดาได้พาเราไปเที่ยวกราบไหว้ญาติมิตรผู้ใหญ่มากมายหลายแห่ง เพื่อเป็นการแสดงคารวะตามประเพณี ระหว่างนั้นเราได้ยินแว่ว ๆ ในทางที่
ไม่ค่อยน่าฟังนัก คือคณะราชกุมารที่กลับจากตักกสิลา ชอบพูดข่ม หรือดูหมิ่นพวกเราจากสำนักวิศวามิตรในที่นั้น ๆ ว่าไม่มีความรู้อะไรแต่ทั้งนี้ก็เป็นเพียงข่าวที่พูดกัน

วันหนึ่งเราได้ไปในงานรื่นเริงของกษัตริย์ลิจฉวีผู้เป็นญาติ ซึ่งมีราชกุมารไปร่วมในงานนั้นมากมาย มีทั้งผู้ที่กลับมาจากตักกสิลา และพวกเราที่กลับมาจากสำนักวิศวามิตร นอกจากนั้นก็มีราชกุมารและราชกุมารีที่มิได้ไปศึกษาในแคว้นอื่น”

ราชกุมารคนหนึ่งกลับจากตักกสิลาพูดขึ้นว่า ในวันแสดงวิชาความรู้เราคงจะได้เห็น ผู้ชายแสดงศิลปศาสตร์เดินและนั่งเรียบร้อยแบบผู้หญิงเป็นแน่ เพราะได้ข่าวว่าสำนักวิศวามิตรถนัดสอนเรื่องเหล่านี้

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! พอได้ยินวาจาสบประมาทกันต่อหน้าคนทั้งหลายเช่นนั้น เราก็รู้สึกเสมือนใครเอาน้ำร้อนมาสาด แทบจะลืมตัวตรงเข้าประทุษร้ายราชกุมารผู้พูดดูหมิ่นพวกเราผู้นั้น แต่แล้วก็เหมือนมีใครมาสะกิดให้เรายับยั้งอยู่ เพราะในหูของเราเกิดได้ยินคำของท่านอาจารย์สั่งไว้
ซึ่งเราจำได้ขึ้นใจที่ว่า.............................................

จะต้องรู้จักอดทน ทำเป็นไม่รู้เท่าทัน ทำเป็นไม่เห็น ไม่ได้ยินกิริยาอาการ หรือถ้อยคำล่วงเกินของคนอื่น คนที่อดทนต่อเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ จะต้องจำใจอดทนต่อความยากลำบาก อันจักเกิดขึ้นเนื่องจากขาดความอดทนในตอนแรกนั้นอีกหลายสิบเท่า

ตกลงเราจะลองเชื่อคำของท่านอาจารย์ดู จะทำเป็นคนหูหนวกหรือคนที่ไม่สู้คนสักครั้งหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่เราเกลียดการไม่สู้คนที่สุด ปรากฏว่าพวกเราชาวสำนักวิศวามิตรไม่มีใครโต้ตอบเลย......................................

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กรกฎาคม 2554 16:56:38 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« ตอบ #10 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 16:28:25 »




แต่ก็เป็นที่น่าสนใจ เพราะเมื่อไม่มีใครในระหว่างพวกเราเป็นผู้ตอบนั้นเอง ราชกุมารก็พูดขึ้นว่า ข้าพเจ้าเห็นว่าแท้จริงเราก็เป็นญาติกันทั้งคณะ ควรจะสามัคคีกันดีกว่า คนเรานั้นคงไม่ดีไม่ชั่วเพราะเหตุไปเรียนในแคว้นนั้นแคว้นนี้ นอกจากนั้น ผู้ที่ไม่ได้ออกไปเรียนในต่างแคว้นเลยก็ยังมีมาก ซึ่งก็ล้วนสืบสายโลหิตลิจฉวีอย่างเดียวกัน ถ้าเราไม่กลมเกลียวกันไว้ให้ดี ก็น่าจะเกิดกรุงแตกเป็นครั้งที่สองอีก

ทันใดนั้น ราชกุมารอีกกลุ่มหนึ่งก็รีบจูงมือผู้พูดก้าวร้าวให้เลี่ยงไปทางอื่น

วันแสดงศิลปศาสตร์ผ่านมาถึง เป็นวันที่ทุกคนรอคอยด้วยความตื่นเต้น โดยเฉพาะพวกราชกุมารและราชกุมารี ต่างก็หมายมั่นไว้ว่าจะได้เห็นกันและกัน รวมทั้งเห็นลิจฉวีหนุ่ม ๆ ผู้สามารถทั้งหลาย

เป็นที่ตกลงกันว่า ผู้เรียนวิชาปกครองอย่างเดียวก็เพียงแต่ไปแสดงตัว ให้ผู้ประกาศออกนามตัวและนามแห่งสกุลตลอดจนสำนักที่ไปศึกษามา แต่ผู้เรียนวิชาอาวุธด้วย จะได้แสดงความสามารถตามความเหมาะสมที่ตนปรารถนาจะแสดงอย่างไร

พวกเราที่กลับจากสำนักวิศวามิตรตกลงกันว่า จะแสดงความสามารถร่วมกันเป็นกลุ่ม เพราะเราเรียนทั้งวิชาปกครองและวิชาอาวุธ การแสดงเป็นกลุ่มนั้น คือการบังคับช้างร่วมกันโดยไม่ต้องมีควาญ

เมื่อผู้ประกาศออกนามของพวกเราตามลำดับบุคคลจบลงแล้ว ก็ได้มีการปล่อยช้างศึกออกมาจากที่ซึ่งจัดไว้ พวกเรา ๘ คนวิ่งเข้าหาช้างนั้น บังคับให้ช้างหมอบลงหรือให้ยืนขึ้น ให้วิ่งให้หยุดได้ตามที่เคยเรียนมาแล้ว ซึ่งเป็นที่น่าสนใจของผู้ไม่เคยเห็นอยู่ไม่น้อย”

ส่วนราชกุมารจากตักกสิลา มีอยู่หลายคนที่แสดงความสามารถเป็นรายบุคคลในทางวิชาเพลงอาวุธได้อย่างดี ราชกุมารคนที่กล่าววาจาสบประมาทพวกเรานั้นแสดงวิชายิงธนู

เมื่อการแสดงเสร็จสิ้นแล้ว ก็มีประเพณีการแสดงอีกอย่างหนึ่ง คือการแข่งขันระหว่างบุคคลต่อบุคคล ปรากฏว่าผู้สำเร็จจากสำนักตักกสิลาสมัครกันมาก แต่ไม่ปรากฏผู้สำเร็จจากสำนักวิศวามิตรสมัครแม้แต่คนเดียว เพราะเหตุที่ถือกันว่าการแสดงอย่างหลังนี้ เป็นเรื่องของการช่วยให้เกิดความสนุกสนาน จึงใช้แต่บุคคลผู้สมัครใจจะแสดงฝืมือแข่งขันกันเท่านั้น ทั้งกฏเกณฑ์แข่งขันก็มีอยู่ในทางมิให้หักล้างกัน หากเพียงเพื่อให้ผู้ดูได้ชื่นชมในความสามารถของแต่ละฝ่าย มิใช่เพื่อเอาแพ้และชนะกัน

การแสดงการต่อสู้เป็นคู่ ๆ นี้ ได้เป็นไปอย่างน่าดู และได้รับความชมเชยเป็นอันมาก

ทันใดนั้นโดยที่มิได้มีใครคิดฝัน ราชกุมารผู้แสดงวิชายิงธนูได้กล่าวประกาศขึ้นว่า ข้าพเจ้าไม่มีคู่ต่อสู้ในเรื่องยิงธนูเลย จึงใคร่ขอเชิญศิษย์แห่งสำนักวิศวามิตร ให้ขึ้นมาแข่งขันกันเพื่อประสานสามัคคีในวันนี้"

เงียบไม่มีศิษย์สำนักวิศวามิตรคนใดแสดงตนจะแข่งขันกับราชกุมารผู้นั้น พวกเรามารู้กันภายหลังว่า ต่างคนต่างได้รับและจำคำสอนข้อหนึ่งข้อสองของท่านอาจารย์วิศวามิตรกันมาคล่อง ๆ ทั้งนั้น มีแปลกอยู่ข้าพเจ้าคนเดียวที่ได้ข้อสามมาด้วย

นี่แสดงว่า สำนักวิศวามิตรไม่มีคนดีมีฝีมือเลยหรือ จะได้เป็นที่รู้กันไว้ราชกุมารผู้ท้าได้กล่าวขึ้น

พวกเรามองหน้ากัน ในที่สุดตัวเราซึ่งมีความโกรธอย่างเหลืออด ก็เดินเข้าไปสู่ที่แข่งขัน

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23 กรกฎาคม 2554 16:57:28 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

時々๛कभी कभी๛
สมาชิกถูกดำเนินคดี
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +9/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Nepal Nepal

กระทู้: 1921


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 12.0.742.122 Chrome 12.0.742.122


ดูรายละเอียด
« ตอบ #11 เมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554 16:35:04 »




๕.ธนูปลายหัก



ยังไม่ทันที่เราจะได้กล่าววาจาประการไร กษัตริย์ลิจฉวีพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นประธานแห่งการแสดงศิลปศาสตร์ก็ตรัสขึ้นว่า ราชกุมารผู้ท้าแข่งขันยิงธนู ได้ออกนามสำนักวิศวามิตรเป็นการผิดมารยาท และอาจเป็นเหตุทำลายสามัคคีแห่งราชวงศ์ลิจฉวี ฉะนั้น จึงให้เป็นอันงดแข่งขัน และให้กล่าวขออภัยต่อทุกคนผู้เคยผ่านสำนักวิศวามิตรมาแล้ว

น่าชมเชยราชกุมารผู้นั้น ยอมเชื่อฟังและยกมือประณมเสมออกกล่าวขออภัยว่า ข้าแต่ทุกท่านผู้เคยผ่านการศึกษาในสำนักวิศวามิตร ! ข้าพเจ้าพลั้งปากออกนามสำนักของท่านด้วยความคะนองไม่ทันนึกหน้านึกหลัง มุ่งแต่ความสนุกสนานในการแสดงฝีมือ ข้าพเจ้าขอขมา ขอท่านทั้งปวงจงอดโทษด้วยเถิด

เหตุการณ์ซึ่งรุนแรงในตอนแรกจุดเพลิงแห่งความแค้นให้แก่ศิษย์สำนักวิศวามิตรทั่วไปนั้น กลับกลายเป็นความสงบระงับ และความนิยมชมเชยในราชกุมาร ผู้ทำตนคล้ายเป็นคนพาลมาก่อน แต่กลับไม่มีทิฐิมานะ กล่าวคำขอโทษโดยดีในภายหลัง

เราจึงเดินเข้าไปหาราชกุมารนั้น โอบกอดแสดงความไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน ทำให้กษัตริย์ลิจฉวีผู้สูงวัยหลายคนมีน้ำตาคลอด้วยความปลื้มปีติ

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! การรีบแก้ไขกลับตัวหรือขอขมาผู้อื่นเมื่อสำนึกผิดนั้น ทำให้คนที่ถูกชังน้ำหน้าในตอนแรก กลายเป็นผู้ได้รับการยกย่องชมเชยไป อย่างมิได้มีใครคาดฝันมาก่อน เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงจำไว้ให้ดีว่า ถ้าเผอิญผิดพลาดล่วงเกินท่านผู้ใดแล้ว พึงกล่าววาจาขออภัยในความล่วงเกินต่อท่านผู้นั้น ก็จะชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติชอบ

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! บางครั้งระเบียบหรือประเพณีที่อบรมกันมาจนเคยชิน ก็ช่วยให้เกิดความดีงามอยู่บ้าง ดังจะเห็นได้จากเรื่องของราชกุมารผู้ท้ายิงธนูนั้นเอง คือราชกุมารนั้นมิใช่คนที่มีคุณธรรมสูงแต่อย่างไร แท้จริงเป็นผู้ลำพองในฝืมือและชอบก้าวร้าวรุกรานผู้อื่น ทั้งได้เคยพูดล่วงเกินพวกเราที่เป็นศิษย์สำนักวิศวามิตรมาแล้วในคราวก่อน ครั้งในครั้งหลังถึงกับท้าทายออกชื่อสำนักวิศวามิตรในที่ชุมชนอีกเล่า จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดในอัธยาศัยเกเรของราชกุมารนั้น

แต่กษัตริย์ลิจฉวีผู้เป็นประธานแห่งการแสดงศิลปศาสตร์ แม้จะเป็นศิษย์สำนักตักกสิลาก็เป็นผู้ใหญ่เห็นการณ์ไกล จึงทักท้วงและสั่งให้ราชกุมารนั้นขอขมาในที่ประชุมชน

คราวนี้จึงมาถึงปัญหาว่าด้วยระเบียบแบบแผนของกษัตริย์ลิจฉวี เมื่อผู้เป็นใหญ่เป็นประธานได้สั่งการอะไรให้ปรากฏในที่ประชุมแล้ว ผู้น้อยจะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม นับเป็นคุณธรรมข้อที่ ๔ ในคุณธรรมรวมทั้งสิ้น ๗ ข้อของราชวงศ์ลิจฉวี ความเคยชินในระเบียบประเพณีที่อบรมกันมาแต่น้อย ทำให้ราชกุมารนั้นไม่มีทางแก้ไปอย่างอื่น นอกจากปฏิบัติตามคำสั่งด้วยความนอบน้อม ซึ่งปรากฏผลดีทันตาเห็น คนที่รู้สึกเคียดแค้นกลับนึกชมเชยและหายโกรธ เราจึงกล่าวว่า บางครั้งระเบียบหรือประเพณีที่อบรมกันมาจนชิน ก็ช่วยให้เกิดความดีงามอยู่บ้างดังนี้

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! เหตุการณ์วันนั้นทำให้เราได้สำนึกว่า วิชาความรู้ที่เล่าเรียนจากอาจารย์นั้น ในบางครั้งก็ต้องมีการแข่งขันแสดงออกให้ปรากฏแก่คนทั่วไป แม้มิใช่ด้วยความประสงค์ของเราเอง แต่เมื่อผู้อื่นท้าทายต่อหน้าประชุมชนก็สุดที่จะยอมอดทนทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ดังที่ท่านอาจารย์ได้กำชับพร่ำสอนให้อดทน เมื่อก่อนจากมา

คำสั่งสอนที่ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ทำให้พวกเราต้องชวนกันออกจากกรุงไพศาลี ไปซ้อมวิชากันในป่าที่ลับตาคน

แต่เมื่อได้ลองใช้คันธนูของเพื่อน ๆ เปรียบเทียบยิงดูผลกับคันธนูพิเศษที่ท่านอาจารย์ให้ไปแล้ว เราจึงทราบว่าคันธนูพิเศษของท่านอาจารย์นั้น มิใช่พิเศษอย่างธรรมดา แต่พิเศษในทางทำให้ยิงได้ไกล ยิงได้ไว และยิงได้แม่นยำอย่างไม่น่าเชื่อ

ครั้นเห็นประจักษ์ในคันธนูพิเศษเช่นนั้น เราก็เริ่มสงสัยในลูกธนูปลายหักและเกราะเก่า ที่นับว่าเป็นพิเศษอีกสองอย่างขึ้นมาทันที เราลองเอาเกราะธรรมดาผูกติดกับต้นไม้ แล้วยิงด้วยลูกธนูธรรมดา แม้จะถูกแต่ก็ไม่เข้า แต่พอใช้ลูกธนูปลายหักนั้นยิงดูบ้าง ก็ทะลุและทำให้เกราะนั้นถึงกับแตกโดยที่ลูกธนูไม่เสียหายด้วย เมื่อพิจารณาดู จึงได้เห็นว่าลูกธนูปลายหัก มิได้หักอย่างปกติ แต่เป็นการหักอย่างมีความมุ่งหมาย คือหุ้มไว้ด้วยโลหะพิเศษให้มีอำนาจในทางทำลายสูงยิ่งกว่าธนูปลายแหลม ทำให้เรานึกถึงคำว่า มหโต กายสฺส ปทาเลตา ซึ่งแปลว่า ทำลายกายใหญ่หรือทำลายที่มั่นใหญ่ขึ้นมาทันที

แต่เมื่อลองเอาเกราะเก่าของท่านอาจารย์ไปผูกไว้ที่ต้นไม้ดูบ้าง นอกจากลูกธนูธรรมดาจะยิงไม่เข้าแล้ว แม้ลูกธนูพิเศษที่มีอำนาจทำลายอย่างสูง ก็ไม่สามารถทำให้เกราะเก่าและเบานั้นระคายผิวได้ เราต้องนั่งลงหันหน้าไปทางทิศของสำนักท่านอาจารย์ แล้วยกมือประณมเหนือเศียรเกล้ากราบไหว้คุณของท่าน ที่ได้ให้ของพิเศษมีค่ายิ่งแก่เรา เผอิญราชกุมารอื่น ๆ ต่างก็มัวทดลองหรือฝึกซ้อมความรู้ความสามารถของตนเอง โดยมิได้ทันสังเกตเห็นการทดลองของเรา ฉะนั้น จึงมิได้มีผู้ใดล่วงรู้ถึงเรื่องคันธนู ลูกธนู และเกราะเก่าอันเป็นของพิเศษนั้น

ดูก่อนราชกุมารทั้งหลาย ! ครั้งแรกเราไม่เข้าใจเหตุผลในเรื่องคันธนูและลูกธนูนั้น ว่ามีลักษณะพิเศษเช่นนั้นได้อย่างไร ภายหลังเราได้สดับเรื่องราวเปรียบเทียบของสมเด็พระบรมศาสดาจึงเห็นจริงว่า มิใช่เรื่องพูดกันเล่น แต่เป็นของมีได้เป็นได้จริง

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสสอนภิกษุทั้งหลาย ให้แก้ไขความคดทางกาย วาจา ใจ ซึ่งย่อมกินความไปถึงแม้ผู้ครองเรือน ว่าควรแก้ไขความคดของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ทางวาจา หรือทางใจเช่นเดียวกัน

แต่มีข้ออุปมาที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ทรงเล่าถึงช่างทำรถของพระราชา ทำล้อรถเพียงล้อเดียวกินเวลาเกือบ ๖ เดือน พระราชามีพระราชประสงค์จะได้ใช้รถใหม่ จึงตรัสสั่งช่างนั้นให้ทำล้ออีกข้างหนึ่งให้เสร็จภายใน ๖ วัน ซึ่งช่างก็กราบทูลรับว่า ตนสามารถทำให้เสร็จภายใน ๖ วันได้ตามพระราชประสงค์ และปรากฏว่าช่างนั้นทำได้เสร็จภายใน ๖ วันจริง ๆ พระราชาทรงฉงนพระราชหฤทัย ตรัสสั่งให้เรียกช่างนั้นมาเพื่อกราบทูลให้เป็นที่แจ้งชัดว่า เหตุไฉนล้อข้างหนึ่งใช้เวลาเกือบ ๖ เดือน แต่ล้อรถอีกข้างหนึ่งทำได้เสร็จภายใน ๖ วัน


{จบ}เชิงผาหิมพานต์ของ อาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพลงแต่เพียงเท่านี้โปรดติดตามภาค 2 เร็ว ๆ นี้ที่นี่แห่งเดียว

<a href="http://www.se-ed.com/ads/pr/sile/song/09.%20Track%209.wma" target="_blank">http://www.se-ed.com/ads/pr/sile/song/09.%20Track%209.wma</a>


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 กรกฎาคม 2554 18:03:31 โดย 時々sometime » บันทึกการเข้า

โลกเรานี้หนอช่างเหมือนความฝันเสียนี่กระไร ?

คำค้น: เชิงผาหิมพานต์ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
เชิงผาหิมพานต์ ภาค 2
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
時々๛कभी कभी๛ 7 7816 กระทู้ล่าสุด 24 กรกฎาคม 2554 17:12:46
โดย 時々๛कभी कभी๛
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.325 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 03 เมษายน 2567 14:44:59