[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 19:26:04 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม  (อ่าน 1557 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 21 กันยายน 2563 14:02:28 »



“...กายนี้คือก้อนทุกข์ กายนี้เป็นที่หมายให้พ้นเสียจากทุกข์
ฝึกสติปัญญาให้ดีแล้วมาพิจารณากายนี้ให้แจ้ง ก็จะพ้นทุกข์ได้...”

โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

วันที่ ๘ กันยายน วันคล้ายวันมรณภาพของหลวงปู่สิงห์  ขันตยาคโม รำลึก ๕๙ ปี อาจาริยบูชาคุณ "แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรมและถือเป็นพระพี่ชายใหญ่ของพระธุดงคกรรมฐานศิษย์สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต"  ท่านพระอาจารย์สิงห์ หรือ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม แห่งวัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา ท่านเป็นพระวิปัสสนาจารย์สายอีสาน ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากพ่อแม่ครูอาจารย์ผู้เป็นศิษย์สายพระกัมมัฏฐานและเหล่าสาธุชนเป็นอย่างมาก

“..หากสละชีวิตตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันจริงๆ แล้ว พระพุทธศาสนาก็ไม่เป็นของยากลำบากและเหลือวิสัยอะไร ทำได้จนเต็มความสามารถของตนทีเดียว” โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม


๐ อัตโนประวัติ หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม
ท่านมีนามเดิมว่า สิงห์ บุญโท เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๓๒ ที่บ้านหนองขอน ต.หัวทะเล อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี โยมบิดา ชื่อ นายอ้วน บุญโท มีตำแหน่งเพีย อัครวงศ์ อันเป็นตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองลาวกาว-ลาวพวน มีหน้าที่จัดการศึกษาและการพระศาสนา โยมมารดา ชื่อ นางหล้า บุญโท

ปี พ.ศ.๒๔๔๖ ท่านได้บรรพชาที่วัดบ้านหนองขอน ต.หัวทะเล อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี เมื่ออายุครบบวชได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสุทัศน์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๒ โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) เมื่อดำรงสมณศักดิ์เป็นพระศาสนดิลก เจ้าคณะมณฑลอีสาน เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า "ขนฺตยาคโม"

เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยต่อในโรงเรียนสร่างโศกเกษมศิลป์ สอบไล่ได้มัธยมปีที่ ๓ ปี พ.ศ.๒๔๕๔ เข้าสอบไล่ได้วิชาบาลีไวยากรณ์ ในสนามวัดสุปัฏน์ฯ

เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ให้เป็นครูมูลและครูมัธยมประจำอยู่ที่โรงเรียนสร่างโศกเกษมศิลป์
ในปี ๒๔๕๗ ท่านได้จัดการให้น้องชาย คือนายปิ่น บุญโท ได้บวชในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อมีอายุได้ ๒๒ ปี และได้มาอยู่ที่วัดสุทัศนารามด้วยกัน

พระอาจารย์สิงห์ได้เรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรี ใน พ.ศ.๒๔๕๘

ในขณะที่พระอาจารย์สิงห์เป็นครูสอนนักเรียนอยู่นั้น ท่านเป็นอาจารย์เทศนาสั่งสอนประชาชนด้วย ได้ค้นคว้าหลักธรรมคำสั่งสอนของพระศาสนาสอนสัปบุรุษอยู่เรื่อยๆ วันหนึ่ง เผอิญท่านค้นพบหนังสือธรรมเทศนาเรื่อง เทวสูตร ซึ่งมีใจความว่า พระบรมศาสดาทรงตำหนิการบรรพชาอุปสมบทที่มีความบกพร่อง คือ การบวชแล้วไม่มีการประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยมีโทษมาก ตกนรกไม่พ้นอบายภูมิทั้ง ๔ จึงเป็นเหตุให้หลวงปู่สิงห์เกิดความสลดสังเวชสำนึกในตน ออกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๘ โดยลาออกจากตำแหน่งครูผู้สอน

เมื่อลาออกจากหน้าที่ครูแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ออกปฏิบัติกรรมฐาน ท่านได้พิจารณาว่า การปฏิบัติธรรมในสมัยนี้หมดเขตที่จะบรรลุมรรคผลหรือยัง ? ซึ่งท่านก็ได้รู้ว่า การบรรลุมรรคผลนิพพานยังมีอยู่แก่ผู้ที่ปฏิบัติจริง ท่านจึงได้มุ่งหน้าปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจัง


๐ พระอาจารย์สิงห์พบหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรกและกราบขอเป็นศิษย์
ในปีนั้นเอง หลังจากท่านอาจารย์มั่น ฯ ได้จำพรรษาที่กรุงเทพฯ ในปีนั้นแล้ว ท่านก็มีดำริว่า ท่านควรจะได้แนะนำสั่งสอนธรรมปฏิบัติที่ท่านได้รู้ ได้เห็นมา ซึ่งเป็นธรรมที่ยากที่จะรู้ได้ ซึ่งท่านได้อุตส่าห์พยายามบำเพ็ญมาเป็นเวลานับสิบๆ ปี ควรจะได้แนะนำบรรดาผู้ที่ควรแก่การปฏิบัติให้ได้รู้และจะได้แนะนำกันต่อๆ ไป

ดังนั้นเมื่อออกพรรษาแล้วท่านจึงได้ลาท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กลับไปจังหวัดอุบล ฯ จำพรรษาที่วัดบูรพา ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ นั้น ปีนั้นท่านมีพรรษาได้ ๒๕ พรรษา ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้น ท่านก็พิจารณาว่า ใครหนอจะเป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน

พระราชธรรมเจติยาจารย์ (หลวงปู่วิริยังค์ สิรินฺธโร) ได้บันทึกเรื่องราวหลวงปู่สิงห์ไว้ในหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ดังนี้
“ในขณะนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นครูสอนนักเรียนอยู่เหมือนกับครูอื่นๆ เป็นครูที่สอนวิชาสามัญแก่นักเรียนเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่า ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ

ในวันหนึ่งหลังจากเลิกสอนนักเรียนแล้ว ท่านก็ได้ไปนมัสการท่านอาจารย์มั่นฯ ที่วัดบูรพา ขณะนั้นเป็นเวลา ๑ ทุ่มแล้ว เมื่อเข้าไปเห็นท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังเดินจงกรมอยู่ ท่านก็รออยู่ครู่ใหญ่ จนท่านอาจารย์เลิกจากการเดินจงกรม เหลือบไปเห็นท่านอาจารย์สิงห์ซึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นมะม่วง ท่านจึงได้เรียกและพากันขึ้นไปบนกุฏิ หลังจากท่านอาจารย์สิงห์กราบแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้พูดขึ้นว่า

“เราได้รอเธอมานานแล้ว ที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน”

เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ถึงกับตกตะลึง เพราะท่านได้ทราบจิตใจของท่านอาจารย์สิงห์มาก่อน เนื่องจากท่านอาจารย์ได้ตั้งใจมาหลายเวลาแล้วที่จะขอมาพบกับท่าน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ปฏิบัติธรรมด้วย พอท่านอาจารย์สิงห์ฯ ได้ฟังเช่นนั้นก็รีบตอบท่านไว้ว่า “กระผมอยากจะปฏิบัติธรรมกับท่านมานานแล้ว”

กล่าวจบท่านอาจารย์มั่น ฯ จึงได้อธิบายให้ฟังว่า “การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้นจักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือพิจารณา ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เป็นเบื้องแรกเพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติอริยสัจจธรรม ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”
เมื่ออธิบายไปพอสมควร ท่านก็แนะนำวิธีนั่งสมาธิ ท่านอาจารย์มั่นฯ เป็นผู้นำนั่งสมาธิในตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง ท่านอาจารย์สิงห์ก็เกิดความสงบ แล้วจิตสว่างไสวขึ้นทันที เป็นการอัศจรรย์ยิ่ง ภายหลังจากนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้อธิบายถึงวิธีพิจารณากาย โดยใช้กระแสจิตพิจารณาจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ลากลับไป

จากนั้นมาท่านก็พยายามนั่งสมาธิทุกวัน จนเกิดความเย็นใจเกิดขึ้นเป็นลำดับ

อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็ไปสอนนักเรียนตามปรกติ (ขณะนั้นท่านเป็นครูสอนนักเรียนชั้นวิสามัญในโรงเรียนสร่างโศรกเกษมศิลป์) ซึ่งเด็กนักเรียนในสมัยนั้น เรียนรวมกันทั้งชายและหญิง และอายุการเรียนก็มาก ต้องเรียนถึงอายุ ๑๘ ปี เป็นการบังคับให้เรียนจบ ป.๔

ขณะที่ท่านกำลังสอนนักเรียน มองดูเด็กนักเรียนเห็นแต่โครงกระดูกนั่งอยู่เต็มห้องไปหมด ไม่มีหนังหุ้มอยู่เลยสักคนเดียว จำนวนนักเรียนประมาณ ๓๘ คนได้มองเห็นเช่นนั้นไปหมดทุกคนเลย แม้ท่านจะพยายามขยี้ตาดูก็เห็นเป็นเช่นนั้น ที่สุดก็เกิดความสังเวชใจขึ้นแก่ท่านเป็นอย่างมาก แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อสังขารเป็นอย่างยิ่ง. จึงนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์นัก เพราะธรรมดาปฏิภาคนิมิตต้องเกิดในขณะหลับตาอยู่ในฌานจริง ๆ แต่ท่านกลับเห็นทั้งหลับคาและลืมตา อาการที่ท่านเห็นเป็นอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน จนนักเรียนพากันสงสัยว่า ทำไมครูจึงนั่งนิ่งอยู่เช่นนั้น ทุกคนเงียบกริบ เวลาได้ล่วงไปนานโขทีเดียว ตาของท่านจึงค่อยปรากฏเห็นร่างของเด็ก นักเรียนในชั้นเหล่านั้นมีเนื้อหนังขึ้นจนปรากฏเป็นปรกติ หลังจากนั้นท่านก็พูดกับเด็กนักเรียนทั้งหลายเป็นการอำลาว่า...

“นักเรียนทุกคน บัดนี้ครูจะได้ขอลาออกจากความเป็นครูตั้งแต่บัดนี้แล้ว เนื่องจากครูได้เกิดความรู้ในพระพุทธศาสนา ได้เห็นความจริงเสียแล้ว”
และท่านก็ได้ลาออกจากการเป็นครู เพื่อตั้งหน้าปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังต่อไป และในปีนั้นหลังจากที่ได้กราบถวายตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่สิงห์ก็ได้นำพระปิ่น ปญฺญาพโล ผู้น้องชายเข้ากราบนมัสการและฟังธรรมกับพระอาจารย์มั่นด้วย ทำให้พระมหาปิ่นเกิดความศรัทธามาก และได้ให้ปฏิญาณว่า จะขอลาไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ สัก ๕-๖ ปี แล้วจึงจะออกมาปฏิบัติธรรมด้วย

๐ ท่านพระอาจารย์สิงห์พบกัลยาณมิตร
ในช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ.๒๔๕๘ ทางด้านจังหวัดสุรินทร์ พระอาจารย์ดูลย์ อตุโลซึ่งขณะนั้นได้บวชเป็นพระภิกษุได้ ประมาณ ๕ พรรษา พำนักอยู่ที่วัดบ้านคอโค จังหวัดสุรินทร์ ได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับการสอนการเรียนพระปริยัติที่จังหวัดอุบลราชธานี ตามแบบของมหามกุฎราชวิทยาลัยแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเดินทางไปศึกษายังจังหวัดอุบลฯ

ท่านได้เพียรขออนุญาตพระอุปัชฌาย์เพื่อเดินทางไปศึกษา แต่ก็ถูกทัดทานในเบื้องต้น เพราะในระยะนั้นการเดินทางจากสุรินทร์ไปอุบลราชธานีลำบากยากเข็ญเป็นอย่างยิ่ง

ท่านเพียรขออนุญาตหลายครั้ง นี่สุดเมื่อพระอุปัชฌาย์เห็นความมุ่งมั่นของท่าน จึงได้อนุญาต ท่านจึงได้ออกเดินทางไปกับพระภิกษุอีก ๒ องค์ คือ พระคง และ พระดิษฐ์

เมื่อท่านได้เดินทางไปถึงอุบลราชธานี หลวงปู่ดูลย์ต้องประสบปัญหาในเรื่องที่พัก เนื่องจากท่านบวชในมหานิกาย ขณะที่วัดสุปัฏนาราม และวัดสุทัศนาราม แหล่งศึกษาพระปริยัติธรรมนั้นเป็นวัดฝ่ายสงฆ์ธรรมยุต

โชคดีที่ได้พบ พระมนัส ซึ่งได้เดินทางมาเรียนอยู่ก่อนแล้ว ได้ให้ความช่วยเหลือฝากให้อยู่อาศัยที่วัดสุทัศนารามได้ แต่อยู่ในฐานะพระอาคันตุกะ ทำให้ความราบรื่นในทางการเรียนค่อยบังเกิดขึ้นเป็นลำดับ

การที่ท่านได้พักในวัดสุทัศนารามก็เป็นเหตุให้ท่านได้มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกับพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งขณะนั้นท่านรับราชการครู ทำหน้าที่สอนฆราวาส ทั้งที่ยังเป็นพระสงฆ์อยู่ที่วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อรู้จักคุ้นเคยกันมากเข้า ประกอบกับพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่พระอาจารย์ดูลย์ ท่านอ่อนพรรษากว่า ๑ พรรษา พระอาจารย์สิงห์ จึงชอบอัธยาศัยไมตรีของพระอาจารย์ดูลย์ และเห็นปฏิปทาในการศึกษาเล่าเรียน พร้อมทั้งการประพฤติปฏิบัติกิจในพระศาสนาของท่าน ว่าเป็นไปด้วยความตั้งใจจริง และต่างฝ่ายต่างจึงเป็นกัลยาณมิตรกันมาโดยตลอด

ครั้นเมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้กราบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตฝากตัวขอเป็นศิษย์แล้ว เมื่อได้โอกาสก็ได้นำหลวงปู่ดูลย์เข้าไปกราบเป็นศิษย์อีกองค์หนึ่งด้วย

๐ พระอาจารย์สิงห์ ธุดงค์ตามหลวงปู่มั่น
เมื่อออกพรรษาในปี ๒๔๕๘ แล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้กราบลาพระกรรมวาจาจารย์ (พระครูสีทา ชยเสโน) เพื่อไปติดตามพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีลเถร ซึ่งขณะนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด บ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับจังหวัดมุกดาหาร)

ในคราวนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ทราบว่าท่านอาจารย์มั่นธุดงค์ไป ท่านก็ธุดงค์ตามไปติดๆ กับท่านอาจารย์มั่น แต่พอก่อนจะถึงถ้ำภูผากูด ท่านก็ล้มเจ็บเป็นไข้ป่า จึงได้เดินทางกลับมารักษาตัวอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ

เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ ได้ฝึกอบรมสมาธิภาวนากัมมัฏฐานอยู่กับหลวงปู่มั่น จนมีกำลังอันแก่กล้าแล้ว เนื่องจากท่านเป็นศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจจากหลวงปู่มั่นอย่างมาก หลวงปู่มั่นจึงได้แยกย้ายไปอบรมสั่งสอนประชาชน

ท่านพระอาจารย์สิงห์ เป็นพระที่สามารถให้อุบายธรรมแก่บรรดาลูกศิษย์ โดยไม่ว่าผู้ใดติดขัดปัญหาธรรมแล้ว ท่านจะแนะนำอุบายให้พิจารณาจนกระจ่างแจ่มใสเลยทีเดียว ท่านพระอาจารย์สิงห์ มักจะฝึกให้ศิษย์ทั้งหลายได้อสุภกรรมฐานจากซากศพที่ชาวบ้านนำมาฝังหรือใส่โลงไม้อย่างง่ายๆ เก็บเอาไว้รอวันเผา บางครั้งท่านจะพาลูกศิษย์ไปเปิดโลงศพหรือขุดขึ้นมาดูเพื่อฝึกพระลูกศิษย์ของท่าน

ท่านได้เคยพาคณะศิษย์ของท่านไปปักกลดโดยยึดเอาสถานที่เป็นป่าช้าเก่าแก่เรียกว่า ป่าช้าบ้านเหล่างา จ.ขอนแก่น ซึ่งในกาลต่อมาเป็นวัดชื่อว่า วัดป่าวิเวกธรรม

ต่อมา หลวงชาญนิคม ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเลื่อมใสในพระธุดงค์กัมมัฏฐาน มีประสงค์เป็นอย่างยิ่งที่จะฟื้นฟู จ.นครราชสีมา ให้เป็นศูนย์รวมของพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จึงได้นิมนต์พระอาจารย์สิงห์ ให้ไปช่วยสร้างวัดป่าสาลวัน เพื่อเป็นวัดป่าตัวอย่างของฝ่ายวิปัสสนาธุระ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ก็รับนิมนต์ตามคำขอร้องของหลวงชาญนิคม สร้างวัดป่าสาลวันจนเป็นที่เรียบร้อย

ปี พ.ศ.๒๔๖๓ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ท่านได้เดินธุดงค์ผ่านมาพักจำพรรษา อยู่ที่วัดบ้านนาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ท่านได้พบกับเด็กหนุ่มรุ่นคนหนึ่ง มีความเคารพนับถือพระอาจารย์สิงห์มากเป็นพิเศษ ได้เข้ามารับใช้อุปัฏฐากทุกสิ่งอย่าง เด็กรุ่นหนุ่มคนนั้น คือ หนุ่มเทสก์ เรี่ยวแรง ซึ่งต่อมา คือ พระราชนิโรจรังสีคัมภีร์ปัญญาวิศิษฐ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ในขณะนั้น มีอายุ ๑๖ ปี

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ได้มองเห็นความตั้งใจของนายเทสก์ตั้งแต่แรกพบ เมื่อคณะธุดงค์ของท่านจะออกจากวัดบ้านนาสีดา นายเทสก์ได้ขอติดตามพระอาจารย์ไปด้วย ท่านพระอาจารย์สิงห์ จึงได้ให้ไปขออนุญาตบิดามารดาเสียก่อน และก็ได้เป็นไปตามสภาพกุศลเกื้อกูลทุกประการ ท่านได้พาคณะธุดงค์เดินตัดตรงไปทางอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้พักจำพรรษาโดยปักกลดในบริเวณป่าช้าแห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งปฏิบัติสมาธิภาวนาธรรม ชื่อว่า "วัดป่าอรัญญวาสี" อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย

ท่านได้พร่ำสอนลูกศิษย์ คือ นายเทสก์ เรี่ยวแรง ให้รู้จักเจริญพรหมวิหารธรรม ต่อมาท่านได้มอบหมายให้พระอาจารย์ลุย เป็นพระอุปัชฌาย์ บรรพชาสามเณรเทสก์ ขึ้นที่วัดบ้านเค็งใหม่ จ.อุบลราชธานี

ในการทดแทนพระคุณบิดามารดา พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้เดินทางไปโปรดบิดามารดาจนมีจิตใจแจ่มใสเบิกบานในธรรม ท่านได้ให้บิดามารดาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยการแนะนำไปทีละน้อยๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของบุตรพึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง


๐ หลวงปู่หัดเสือให้เดินจงกรม
เรื่องนี้คุณหญิงสุรีย์พันธ์ มณีวัต เล่าไว้ในหนังสือ “จันทสาโรปูชา” ซึ่งเป็นประวัติของหลวงปู่หลุย จันทสาโรไว้ดังนี้

“ความอัศจรรย์ที่หลวงปู่ท่านชอบเล่ามากที่สุดก็คือ เรื่องที่ท่านพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์องค์ลำดับแรกๆ ของท่าน ซึ่งท่านไปจำพรรษาอยู่ด้วยที่วัดป่าบ้านเหล่างา หรือวัดป่าวิเวกธรรม ที่จังหวัดขอนแก่นนั้น ท่านได้เล่าถึงว่า เมื่อเวลาท่านพระอาจารย์สิงห์เดินจงกรมในป่า ด้วยจิตท่านนั้นอ่อน แผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ ถึงกับว่า เมื่อมีเสือมานั่งอยู่ใกล้ทางจงกรม ท่านแผ่เมตตาให้จนจิตของเสือนั้นอ่อนรวมลงเป็นมิตรสนิทต่อท่าน ท่านหัดให้เสือเดินจงกรมตามท่านไปได้ ความนี้แม้แต่ภายหลัง ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวยกย่องท่านพระอาจารย์สิงห์ กรณีนี้อยู่เสมอ ท่านถึงกล่าวว่า สัตว์นั้น สุดท้ายย่อมทำให้อ่อนได้ด้วยแรงเมตตา ไม่ใช่การใช้กำลังอำนาจที่จะเอาชนะกัน มนุษย์สมัยนี้เอาชนะกันด้วยกำลัง จึงมีการฆ่าฟันกันตาย โกรธขึ้งหึงสาพยาบาทซึ่งกันและกัน พยาบาทแล้วก็เคียดแค้นกัน ก่อเวรก่อกรรมไม่มีที่สิ้นสุด”

๐ ช่วยหลวงปู่หลุย ให้พ้นจากบุรพกรรม
ในช่วงปี ๒๔๗๓ ท่านได้รับนิมนต์ไปที่หล่มสัก ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของมารดาของพระอาจารย์หลุย จันทสาโร เพื่อไปในงานศพญาติคนหนึ่งของหลวงปู่หลุย และในงานนั้นหลวงปู่หลุยก็ได้รับนิมนต์ไปในงานนั้นด้วย ก็ได้ปรากฏเรื่องท่านหลวงปู่สิงห์ได้ช่วยให้หลวงปู่หลุยได้พ้นจากเหตุการณ์อันหวาดเสียวต่อสมณเพศไว้ได้ ดังที่คุณหญิงสุรีย์พันธ์ มณีวัต เล่าไว้ในหนังสือ “จันทสาโรปูชา” ไว้ดังนี้

“หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ท่านไม่เคยคิดเลยว่า การแวะไปเยี่ยมญาติและสวดมนต์ในครั้งนั้น จะทำให้ท่านถึงกับซวดเซลงแทบจะล้มลงทั้งยืน

ล้ม...ล้มอย่างไม่มีสติสตังเลยทีเดียว ท่านเล่าให้เฉพาะผู้ใกล้ชิดฟังว่า วันนั้นท่านกำลังสวดมนต์เพลินอยู่ ระหว่างหยุดพักการสวด เจ้าบ้านก็นำน้ำปานะมาถวายพระแก้คอแห้ง บังเอิญตาท่านชำเลืองมองไปในหมู่แขกที่กำลังนั่งฟังสวดมนต์อยู่เพียงตาสบตา ท่านก็รู้สึกแปล๊บเข้าไปในหัวใจ
เหมือนสายฟ้าฟาด แทบจะไม่เป็นสติสมประดี ท่านกล่าวว่า เพียงตาพบแว้บเดียว ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ท่านก็เซแทบจะล้ม เผอิญขณะนั้นท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้รับนิมนต์ไปด้วย ท่านคงสังเกตถึงอาการ หรือว่าท่านอาจจะกำหนดจิตทราบเหตุการณ์ก็ได้ ท่านจึงเข้ามาประคองไว้ เพราะมิฉะนั้นหลวงปู่คงจะล้มลงจริงๆ

ฝ่ายหญิงที่นั่งอยู่ทางด้านโน้นก็เป็นลมไปเช่นกัน คงจะเป็นอำนาจความเกี่ยวข้องแต่บุพชาติมา ที่มาบังคับให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้น

ท่านบอกว่าในหัวอกเหมือนจะมีอะไร แต่ภายหลังได้พิจารณากลับมา และเมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ได้อธิบายให้ท่านทราบในภายหลังว่า การครั้งนี้เป็นนิมิต เนื่องจากบุพเพสันนิวาสท่านและสุภาพสตรีผู้นั้น เคยเป็นเนื้อคู่เกี่ยวข้องกันต่อมาช้านาน เคยบำเพ็ญบารมีคู่กันมา โดยเฉพาะเมื่อภายหลัง หลวงปู่ได้สารภาพถึงความในใจที่ตั้งปรารถนาพุทธภูมิ ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็อธิบายว่า เธอผู้นั้นก็คงได้ปรารถนา บำเพ็ญบารมีคู่กันมาเช่นกัน

......เนื่องจากเป็นการปรารถนาพุทธภูมิเคียงคู่กันมา จึงมีอำนาจรุนแรงมาก และเนื่องจากว่า ฝ่ายหญิงมิได้พบกันแล้วก็ห่างกันไป.... ต้องพบประจันหน้ากันอีกหลายครั้ง เนื่องด้วยผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้คุ้นเคยกันประหนึ่งญาติ และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาหลายชั้น ตั้งแต่ครั้งบิดามารดา ต้องพบเห็นกัน ไม่ใช่ว่าเป็นการพบกันแล้วก็ผ่านจากไป เช่นนั้นอาจจะเป็นกรณีที่ง่ายหน่อย แต่การนี้หลังจากพบครั้งแรกแล้วนั้น ก็ยังต้องเห็นกันอีก ....

ท่านได้ยกกรณีของท่านขึ้นมาว่า องค์ท่านเองยังแทบเป็นลม ฝ่ายท่านนั้น พระเถระต้องเข้าประคอง ฝ่ายหญิงเป็นลม ญาติผู้ใหญ่และมารดาต้องเข้าประคอง

หลวงปู่จึงเล่าภายหลังว่า ท่านรู้สึกเหมือนกับว่า หัวอกแทบจะระเบิด อกกลัดเป็นหนอง แต่ใจหนึ่งก็คิดมุ่งมั่นว่า จะต้องบำเพ็ญเพศพรหมจรรย์ต่อไป

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เข้าใจในความรู้สึกของหลวงปู่ผู้เป็นศิษย์ใหม่ได้ดี ท่านจึงจัดการพาตัวหลวงปู่รีบจากหล่มสักมาโดยเร็วที่สุดหลวงปู่กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการพาตัวมาอย่างธรรมดา แต่เป็นการควบคุมนักโทษผู้นี้ให้หนีออกมาจากมารที่รบกวนหัวใจแต่โดยเร็ว

หลวงปู่กล่าวว่า เป็นการเคราะห์ดีอย่างยิ่งที่บังเอิญเจ้าภาพที่หล่มสักนั้นได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ไปร่วมในงานศพในครั้งนั้นด้วย หากไม่มีพระเถระช่วยให้สติปรับปรุงแถมยังคอยควบคุมตัว ท่านว่า ไม่ทราบว่าจะรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกามาได้หรือไม่

ท่านได้เห็นจริงในตอนนั้นว่า มาตุคามเป็นภัยแก่ตนอย่างยิ่ง เมื่อพระอานนท์กราบทูลถามสมเด็จพระพุทธองค์ว่า ควรปฏิบัติต่อมาตุคามเช่นใด พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ไม่ควรมอง ถ้าจำเป็นจะต้องมอง ก็ไม่ควรพูดด้วย ถ้าจำเป็นจะต้องพูดด้วย ก็ให้ตั้งสติ” ท่านตรัสบอกขั้นตอนปฏิบัติต่อมาตุคามเป็นลำดับๆ ไป แต่นี่หลวงปู่เพียงโดนขั้นแรก มอง ก็ถูกเปรี้ยงเสียแล้ว ถ้าเป็นนักมวยก็ขึ้นเวทียังไม่ทันจะเริ่มต่อย ก็ถูกน็อค

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม นี้เป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่นต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็น ที่ พระญาณวิศิษฏ์ ท่านได้เห็นพระรุ่นน้องแสดงกิริยาดูน่ากลัวว่าจะพ่ายแพ้อำนาจของกิเลส ถ้าเป็นนักสู้ ก็เป็นนักสู้ที่ยินยอมจะให้เขายกกรีธาพาเข้าสู่ที่ประหารชีวิตแต่โดยดี ไม่พยายามฝืนต่อสู้แต่อย่างใด

ท่านจึงควบคุมนักโทษ “ซึ่งเป็นนักโทษหัวใจ” ผู้นั้น รีบหนีออกจากหล่มสักโดยเร็ว ออกมาจากสถานที่เกิดเหตุคือเมืองหล่มสักโดยเร็วที่สุด เที่ยววิเวกลงมาตามป่าตามเขา และเร่งทำตบะความเพียรอย่างหนัก

ท่านพระอาจารย์สิงห์สนับสนุนให้หลวงปู่อดนอน อดอาหาร เพื่อผ่อนคลายความนึกคิดถึงมาตุคาม ให้เร่งภาวนาพุทโธ...พุทโธถี่ยิบ และนั่งข่มขันธ์ แต่ความกลับกลายเป็นโทษ เคราะห์ดีท่านไม่ตามนิมิต ซึ่งแทนที่จะยอมสิโรราบตามเคราะห์กรรมที่มีอยู่เช่นนั้น เพราะเคยมีกรรมต่อกันมาเช่นนั้น ทำให้พอเห็นก็มืออ่อนเท้าอ่อน ยอมตายง่ายๆ ท่านกลับเข้าหาครู เชื่อครู เล่านิมิตถวาย ท่านพระอาจารย์สิงห์ท่านได้โอกาส จึงได้อบรมกระหน่ำเฆี่ยนตีทันควัน”


๐ ช่วยหลวงปู่ฝั้น ให้พ้นจากบุรพกรรมอีกองค์หนึ่ง
ระหว่างพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ เรื่องที่ไม่น่าจะเกิด ก็ได้อุบัติขึ้นแก่หลวงปู่ฝั้นโดยบังเอิญ ที่ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นนั้น ก็เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสตรีเพศ

เรื่องมีว่า วันหนึ่งท่านพระอาจารย์สิงห์ ได้พาพระอาจารย์ฝั้นไปนมัสการท่านเจ้าคุณ พระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) ที่วัดสระปทุม ระหว่างทางได้เดินสวนกับผู้หญิงคนหนึ่งเข้า นับตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา พระอาจารย์ฝั้นก็ลืมผู้หญิงคนนั้นไม่ลง

ท่านรู้สึกว่า ท่านได้เกิดความรักขึ้นในใจเสียแล้ว ขณะเดียวกัน ท่านก็บอกตัวเองด้วยว่า ท่านจะต้องขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปเสียให้พ้นจากความรู้สึกนึกคิดให้ได้

เมื่อกลับวัดบรมนิวาสในวันนั้น ท่านได้นั่งภาวนา พิจารณาแก้ไขตัวเองถึงสามวัน แต่ก็ไม่ได้ผล ใบหน้าของผู้หญิงนั้นยังคงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด จนไม่อาจสลัดให้ออกไปได้ ในที่สุด เมื่อเห็นว่าเป็นการยากที่จะแก้ไขได้ด้วยตัวเองแล้ว ท่านจึงได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ฟัง เพื่อให้ช่วยแก้ไข พระอาจารย์สิงห์ได้แนะให้ท่านไปพักในพระอุโบสถ พร้อมกับให้พิจารณาทำความเพียรให้หนักขึ้น

ท่านพระอาจารย์ฝั้นได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ในพระอุโบสถเป็นเวลาถึง ๗ วัน ก็สามารถรู้ชัดถึงบุพเพสันนิวาสแต่ในปางก่อน ว่าผู้หญิงคนนี้กับท่าน เคยเป็นสามีภรรยากันมา จึงทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวขึ้น เมื่อตระหนักในเหตุในผล ท่านก็สามารถตัดขาด ลืมผู้หญิงคนนั้นไปได้โดยสิ้นเชิง


๐ ตั้งใจปรารถนาพุทธภูมิ
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านได้พิจารณาเห็นอุปสรรคแห่งการประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนาถึงขั้นสละชีวิตทำความเพียร จึงตั้งสัจอธิษฐานทำความเพียรไม่ได้หลับนอนถึง ๗ วัน ๗ คืน เกิดอาพาธหนักทุกขเวทนากล้าแข็ง และเกิดโทมนัสคับแค้นใจเป็นกำลัง พิจารณาเห็นว่า บุญวาสนาไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจปรารถนาพุทธภูมิสร้างบารมีเพื่อพระโพธิญาณสืบไป (ข้อมูลจาก ประวัติหลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ได้รับพระราชสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามว่า พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๐


๐ ปฏิปทาของหลวงปู่สิงห์
ตลอดระยะเวลา หลวงปู่สิงห์ได้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันมิได้ขาด ตอนเช้าทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านจะนำคณะออกบิณฑบาตแผ่บุญกุศลแก่ญาติโยม หลังจากนั้นท่านจะทำการอบรมพระภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติกรรมฐานทุกๆ วันมิให้ขาด ตอนเย็นเมื่อกระทำวัตรสวดมนต์เสร็จ ท่านจะอบรมธรรมะ แก้ปัญหาธรรมที่มีภิกษุสามเณรติดขัดจนเป็นที่เข้าใจ ตอนกลางคืนท่านจะให้พระภิกษุสามเณรนั่งสมาธิภาวนาทุกรูป ซึ่งปรากฏว่าไม่มีใครกล้าหลีกเลี่ยง พอตอนเช้าท่านก็จะเรียกพระภิกษุสามเณรที่ไม่ปฏิบัติกรรมฐานมาว่ากล่าวตักเตือน ชี้ให้เห็นถึงความเสียหายต่างๆ จนเป็นที่ยำเกรงของคณะศิษย์ทุกรูป

หลวงปู่สิงห์ ท่านฉันหนเดียว และฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตรตลอดชีวิต ท่านถือผ้าไตรจีวรสามผืนเป็นวัตร ท่านถือผ้านิสีทนะปูนั่งเป็นวัตร คือจะนั่ง ณ ที่ใดก็ตาม ท่านด้องปูผ้านิสีทนะของท่านก่อนจึงจะนั่งทับลงไป การปฏิบัติต่างๆ หลวงปู่สิงห์ถือเคร่งครัดมาก


๐ ขันติของหลวงปู่สิงห์
ท่านมีความเพียรพยายามจริงๆ เดินจงกรมตลอดวัน นั่งสมาธิตลอดคืน บางทีท่านจะสั่งลูกศิษย์ คือพระครูใบฎีกาณรงค์ชัย รักขิตสีโล ให้ปฏิบัติท่าน โดยท่านจะเข้าสมาบัติเป็นเวลา ๕ วันบ้าง ๗ วันบ้าง ซึ่งก็หมายความว่าท่านได้อดอาหารเป็นเวลา ๕- ๗ วันไปด้วยซึ่งร่างกายของท่านมิได้มีอะไรผิดปรกติ ยังเห็นท่านปฏิบัติกรรมฐานเดินจงกรมทุกวี่วันมิได้ขาด

เมื่อเกิดการเจ็บป่วยเจ็บปวดมีทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ท่านก็ไม่เคยปริปากบอกใคร เวลาเจ็บป่วยหนักๆ ลุกไม่ขึ้น เมื่อมีแขกมาเยี่ยม แขกถามว่า ท่านอาจารย์สบายดีหรือ ท่านก็ตอบเขาไปว่า สบายดีอยู่ ทั้งๆ ที่เจ็บปวดอย่างที่คนธรรมดาสามัญจะทนไม่ได้ หลวงปู่สิงห์เป็นมะเร็งเกี่ยวกับลำไส้ ช่วงระยะเวลาช่วงหลังของชีวิต ท่านถูกโรคร้ายนี้คุกคามตลอดเวลา

ครั้งหนึ่ง ตอนที่หลวงปู่สิงห์นอนป่วยอยู่ ท่านพระครูใบฎีกาณรงค์ชัย ได้เข้าเวรรักษาพยาบาลปรนนิบัติท่าน ขณะกำลังนั่งทำงานพัดอยู่ กลดเจ้ากรรมหล่นลงมากระแทกหน้าอกของหลวงปู่สิงห์ เป็นกลดแบบกรรมฐานที่ฝ่ายมหานิกายใช้เสียด้วย มันเบาอยู่เสียเมื่อไหร่ หนักร่วม ๓๐ กิโลกรัม ด้ามเป็นเหล็กด้วยซ้ำ ตกลงมาถูกหน้าอกท่านเป็นรอยช้ำ ท่านมิได้ปริปากพูดแต่ประการใด เพียงแต่นอนมองทำตาปริบๆ เท่านั้น ถ้าเป็นคนอื่นโดนเข้าแบบนี้ ในขณะที่ไม่สบายด้วยเช่นนี้ มิด่าโขมงโฉงเฉงไปหมดหรือ แต่ท่านมีขันติความอดทนเสียทุกอย่าง เป็นพระจริงๆ สมกับเพศสมณะ

ตอนงานผูกพัทธสีมา วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา กำลังทำสังฆกรรมในโบสถ์ พอดีกับเวลานั้นโรคมะเร็งของท่านกำเริบเจ็บปวดจนกระดิกตัวไม่ได้ ท่านก็ไม่ยอมปริปากบอกให้ใครรู้ จนเสร็จจากสังฆกรรมเรียบร้อย พระสงฆ์องค์อื่นลุกออกไปเกือบหมดแล้ว หลวงปู่สิงห์จึงได้บอกกับพระครูใบฎีกาณรงค์ชัยว่า “ขณะนี้ในท้องของเราไม่ปรกติเสียแล้ว” ท่านพูดเพียงแค่นี้เอง แต่ความไม่ปรกติของท่านนั้น ทำเอาท่านลุกไม่ขึ้น ด้องหามส่งเข้าโรงพยาบาลทันที ปฏิปทาในด้านความมีขันติของหลวงปู่สิงห์ เป็นที่กล่าวขวัญในระหว่างลูกศิษย์ทุกคนด้วยความศรัทธา


๐ กลับสู่สำนักเดิม
ระยะหลังบั้นปลายของชีวิตของหลวงปู่สิงห์ ท่านถูกโรคมะเร็งรบกวนอย่างหนักตลอดเวลา แต่ท่านก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่สั่งสอนภิกษุสามเณรอยู่เสมอมิได้ขาด

จวบจนปี พ.ศ.๒๕๐๒ คณะสัปบุรุษวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ได้มาอาราธนาหลวงปู่สิงห์จากวัดป่าทรงคุณ จ.ปราจีนบุรี ให้กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสาลวันอีกหลวงปู่สิงห์ได้ไปจำพรรษาวัดป่าสาลวัน ๑ พรรษา

พอปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าทรงคุณอีก ช่วงนี้เองอาการป่วยเริ่มเบียดเบียนท่านอีก ต้องเข้าทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ

และในปีนั้นเอง เจ้าคณะธรรมยุตภาค ๓ – ๔ – ๕ และเจ้าคณะจังหวัด (ธรรมยุต) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งพระกัมมัฏฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือล้วนเป็นพระวิปัสสนาจารย์ จำนวน ๑๐๘ องค์ ได้ประชุมตกลงกันยกให้พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็น “หัวหน้าพระกัมมัฏฐานแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และให้วัดป่าสาลวันเป็นสำนักวิปัสสนาธุระ ศูนย์กลางการชุมนุมของพระกัมมัฏฐานต่อไป

พอปี พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านได้จัดงานผูกพัทธสีมาวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา งานเสร็จก็ป่วยหนักจนด้องส่งเข้าโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ อีก
วันเข้าพรรษาลูกศิษย์ได้รับมาพักรักษาตัวที่วัดป่าสาลวันตามเจตนาของหลวงปู่สิงห์ ดูเหมือนท่านจะรู้วาระของท่านอย่างแน่ชัด โดยท่านได้จัดการสั่งสอนศิษย์และภิกษุสามเณร มอบงานหน้าที่ต่างๆ จนเป็นที่เรียบร้อย

จวบวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านก็มรณภาพด้วยอาการสงบ ท่ามกลางศิษย์ที่เฝ้าดูแล ยังความเศร้าสลดต่อลูกศิษย์ลูกหาที่เฝ้าดูแลเป็นอย่างยิ่ง

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 21 กันยายน 2563 14:08:20 »



หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

วันมรณภาพของหลวงปู่สิงห์ ได้มีนิมิตบอกมายังพระครูใบฎีกาณรงค์ชัย รักขิตสีโล (สมณศักดิ์สุดท้ายคือ พระราชปราจีนมุนี เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี-สระแก้ว มรณภาพ วันที่ ๕ มี.ค.๒๕๕๔) ซึ่งตอนนั้นอยู่ที่วัดป่าทรงคุณ จ.ปราจีนบุรี พระครูใบฎีกาณรงค์ชัย จึงรีบเดินทางมายังวัดป่าสาลวัน แต่ก็มาถึงช้าไป ปรากฏว่าหลวงปู่สิงห์ได้มรณภาพเสียก่อนแล้วประมาณ ๒ ชั่วโมง หลวงปู่สิงห์มรณภาพ เวลา ๑๐.๒๐ น. ของวันที่ ๘ ก.ย.๒๕๐๔ ซึ่งเป็นการสูญเสียพระวิปัสสนาจารย์องค์สำคัญของพระกรรมฐาน ในสายท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ทีเดียว สิริอายุ ๗๓ ปี พรรษา ๕๒

๐ สิ่งมหัศจรรย์
หลังจากที่ท่านมรณภาพ ลูกศิษย์จะนำศพของท่านจากกุฏิลงศาลาไปสรงน้ำ พอเจ้าหน้าที่ยกศพขึ้นจากที่ ฝนก็ตกลงมาอย่างไม่มีเค้าเลย แต่พอวางศพท่านลงถึงพื้น ฝนหยุดตกทันที พอหมอนำยามาฉีดกันศพเน่า ก็เกิดฉีดไม่เข้าอีก เล่นเอาเข็มฉีดยาหักไปสามเล่ม เจ้าคณะจังหวัดนครราชสมาต้องหาดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมาและขออนุญาต พอแทงเข็มเข้าก็ยาไม่เดินอีก ต้องจัดหาดอกไม้ขัน ๕ มาบอกกล่าวอีก และเกิดปาฏิหาริย์ ไม่ต้องเร่งดันเข็ม ยาวิ่งเข้าเองเลย ทำให้คณะศิษย์ที่อยู่ในบริเวณยกมือท่วมหัวสาธุกันทั่วหน้า เป็นบุญบารมีของท่านอย่างแท้จริง
เมื่อตกแต่งศาลาหลังต่ำเสร็จ จะนำศพท่านไปสรงน้ำและตั้งศพท่าน พอเจ้าหน้าที่ยกศพท่านขึ้น ฝนก็ตกลงมาอีกแต่พอถึงที่วางศพท่านลง ฝนก็หยุดทันที ยังความแปลกประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นกันทั่วหน้า

เมื่องานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่สิงห์ก็เช่นกัน พอเจ้าหน้าที่ยกศพของท่านขึ้น ฝนก็เริ่มดกปรอย ๆ ได้นำศพของท่านแห่รอบศาลาเมรุสามรอบแล้วนำขึ้นตั้งบนเมรุ พอวางศพท่านลงฝนก็หยุดตกทันที ในวันพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่สิงห์นั้นมีผู้คนจากทั่วสารทิศ มีคณะศิษย์ทั้งฆราวาสและสามเณรรวมทั้งภิกษุในสายอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มาร่วมชุมนุมกันครบถ้วน จนบริเวณวัดป่าสาลวันแน่นขนัด คับแคบไปถนัดตา

“..กายนี้คือก้อนทุกข์ กายนี้เป็นที่หมายให้พ้นเสียจากทุกข์ ฝึกสติปัญญาให้ดีแล้วมาพิจารณากายนี้ให้แจ้ง ก็จะพ้นทุกข์ได้...” โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม  


ที่มา ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
วิธีรักษาพระไตรสรณคมน์ไม่ให้ขาดและไม่ให้เศร้าหมอง - หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Compatable 0 2214 กระทู้ล่าสุด 09 พฤษภาคม 2558 23:17:23
โดย Compatable
หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1377 กระทู้ล่าสุด 02 กันยายน 2560 12:40:53
โดย ใบบุญ
หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 1106 กระทู้ล่าสุด 13 ธันวาคม 2560 12:24:26
โดย ใบบุญ
หลวงปู่สิงห์ คัมภีโร วัดศรีสุข อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 555 กระทู้ล่าสุด 22 ธันวาคม 2562 19:11:37
โดย ใบบุญ
หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
ใบบุญ 0 613 กระทู้ล่าสุด 28 มกราคม 2563 12:25:56
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.862 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 17 กุมภาพันธ์ 2567 18:38:57