[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 มีนาคม 2567 21:05:43 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปกิณณกธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี  (อ่าน 916 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 985


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 86.0.4240.111 Chrome 86.0.4240.111


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2563 13:53:47 »



ปกิณณกธรรม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี

         ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอโอกาสคณะสงฆ์ และขอความเจริญในธรรมจงมีแก่สาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน วันนี้ก็ถือว่าย่างเข้าวันที่ ๗ หรือเป็นราตรีที่ ๗ อีก ๒ ราตรี ๓ ราตรี กับคืนนี้คณะครูบาอาจารย์ก็จะได้ อัพภานกรรม และกลับสู่บ้านสู่วัดวาอารามของตนเอง ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมต่างๆ ก็ถือว่าเข้าโค้งสุดท้ายที่เราจะต้องระมัดระวังขันเกลียวให้เพิ่มขึ้น

          การประพฤติปฏิบัติธรรมเข้าปริวาสกรรมนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่หายาก ในทุกวันนี้การเข้าปริวาสกรรมนั้นถูกมองว่าเป็นประเภทปริวาสกรรมพาณิชย์ เรียกว่าทำเพื่อจะหารายได้สร้างโบสถ์สร้างศาลา สร้างวัดสร้างวา เป็นปริวาสที่เอาคณะครูบาอาจารย์ไปเดินบิณฑบาตตามตลาดก็ดี ตามหมู่บ้านต่างๆ ก็ดี ส่วนมากจะมองในรูปแบบของปริวาสพาณิชย์ที่ปรากฏในภาคกลาง หรือว่าภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่สายของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ

          ก็มีที่วัดพิชโสภารามที่เป็นปริวาสที่มีการเดินจงกรมนั่งภาวนา เรียกว่าเป็นปริวาสจริงๆ ไม่ได้มุ่งอย่างอื่น ผู้มาเทศน์มาสอนมาจัดมาทำพาคณะครูบาอาจารย์ได้เข้าปริวาสกรรมนี้ก็ มาเพื่อที่ต้องการบุญต้องการกุศล มาเพื่อที่อยากจะจัดเพราะว่าพระพุทธศาสนาของเรานั้นมีความสุขุมลุ่มลึก มีความละเอียดลออ พระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีมากมายหลายประการ เพราะฉะนั้นจึงมีการเข้าปริวาสกรรม

          ฉะนั้นขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้เข้าใจว่า ปริวาสกรรมที่มีการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นหายาก แล้วกระผมก็ได้กล่าวไปแล้วว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นสามารถที่จะได้สมาธิสมาบัติ เราอยู่กรรม เรายังไม่ออกอัพภาน เราประพฤติปฏิบัติธรรมก็สามารถได้สมาธิ สามารถที่จะได้วิปัสสนาญาณ แล้วก็สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้ก็ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้ประพฤติปฏิบัติ เผื่อเรากลับไปสู่บ้านสู่วัดวาอารามของเรา เวลาวันพระวันพรวันโกนวันศีลต่างๆ เราจะได้พาญาติพาโยมเดินจงกรมนั่งภาวนา แผ่เมตตาให้พวกเปรต พวกอสุรกาย พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยอยู่วัดวาอารามของเราให้ได้อนุโมทนา ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ ทำวัดวาอารามของเราให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่เกิดอาการร้อนรนกระวนกระวาย ไม่เกิดกระสับกระส่าย เพราะว่าเทวดาก็ดี ภูมิก็ดีเป็นผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิเลื่อมใสในพระรัตนตรัย อนุโมทนาในปฏิปทาการประพฤติปฏิบัติของเรา แต่ถ้าเทวดาก็ดี ภูมิก็ดี ไม่อนุโมทนาในการปฏิบัติของพวกเรา ความเป็นอยู่ของพวกเรานั้นก็ลำบากกระเสือกกระสน บางครั้งก็อดอาหาร ญาติโยมมาถวายอาหารก็ไม่เพียงพอ หรือว่าอยู่ด้วยกันก็เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกิดอาการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นมา เกิดการไม่เข้าใจกันนานาประการ อันนี้เกิดขึ้นมาจากอมนุษย์คอยเบียดเบียนก็มี หรือว่าเทวดาไม่อนุโมทนาก็มี อันนี้เป็นประสบการณ์ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่ได้ถ่ายทอดให้

          คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม วัดวาอารามบางวัดที่เราไปอยู่ บางวัดพระไปอยู่แล้วอยู่ไม่ได้ นิมนต์อาจารย์ดังๆ อาจารย์เก่งๆ มาอยู่ก็อยู่ไม่ได้ ญาติโยมก็ไม่ถูกกันทะเลาะเบาะแว้งกัน วัดก็ไม่เป็นวัด บ้านก็ไม่เป็นบ้าน ศาสนาก็ไม่เป็นศาสนา เพราะอะไร เพราะว่าการที่เราทั้งหลายอยู่ร่วมกันนั้น เราต้องมีการไหว้พระทำวัตรสวดมนต์เจริญภาวนาแผ่เมตตาเป็นประจำ จึงจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ความร้อนค่อยๆ ผ่อนคลายลง เมื่อความร้อนมันผ่อนคลายลงมาเต็มที่ก็เกิดความเย็นขึ้นมา ในบ้าน ในวัดวาอารามของเรา

          อุปมาอุปไมยเหมือนกับภิกษุที่อยู่วัดประพฤติปฏิบัติธรรมได้สมาธิ เมื่อภิกษุที่เป็นเจ้าอาวาสได้สมาธิก็อยากจะเผยแผ่สมาธิที่ตนเองได้ให้แก่ลูกวัด เมื่อสอนให้แก่ญาติแก่โยมที่มีอุปการคุณ อดตาหลับขับตานอนทำอาหารมาถวายเช้าถวายเพล ก็อยากจะให้ญาติโยมได้สมาธิด้วย ก็สอนสมาธิแล้วก็แผ่ความสุขแก่ญาติโยม แต่ถ้าบุคคลใดได้บรรลุมรรคผลนิพพาน พอเห็นลูกวัดแล้วก็อยากให้ลูกวัดได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะบุคคลผู้รู้ธรรมที่แท้จริงนั้นย่อมไม่ตระหนี่ธรรม เพราะว่าบุคคลรู้ธรรมะมากเท่าไรก็ยิ่งเกิดความสุขเกิดความเข้าใจ เกิดความอุ่นอกอุ่นใจ

          แต่ถ้าบุคคลไม่รู้ธรรมอยู่ร่วมกันก็เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะฉะนั้นบุคคลผู้รู้ธรรมก็อยากจะให้ลูกวัดได้เกิดความสุข ก็อยากแผ่ให้ญาติโยมที่มาร่วมกันถวายทานนั้นเกิดความสุข ก็เกิดความเย็นแผ่ไปทั่วบ้าน ทั่วเมือง ทั่วอำเภอ ทั่วจังหวัด เหมือนกับพระพุทธเจ้าของเราแผ่ไปทั่วชมพูทวีป จนทุกวันนี้เราก็ยังได้รับมรดกธรรมจากสมเด็จพ่อของพวกเราทั้งหลาย

          พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดพิชโสภารามท่านก็พยายามแผ่เมตตาธรรม ให้คณะครูบาอาจารย์ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าเจ้าอาวาสเย็นลูกวัดก็เย็นด้วย ถ้าลูกวัดเย็นเจ้าอาวาสเย็นญาติโยมที่มาร่วมกันเข้าในวัดในวาก็เย็นด้วย ถ้าเจ้าอาวาสก็ดี ลูกวัดก็ดี มีศีลมีธรรมมีความเมตตาอารีมีความสามัคคีกลมเกลียวกัน ชาวบ้านชาวเมืองก็กลมเกลียวกัน ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งแยกหมู่คณะ อันนี้เป็นธรรมเนียมสำคัญที่เราทั้งหลายนั้นต้องนำมาพิจารณา ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี”  ความพร้อมเพรียงของสงฆ์นั้นเป็นเหตุนำความเจริญนำความสุขมาให้ เพราะฉะนั้นขอให้คณะครูบาอาจารย์นั้นได้น้อมนำเอาไปพินิจพิจารณาถึงการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราทำเราให้เย็นแล้วคนอื่นก็จะได้เย็น

          เหมือนกับหลวงปู่ชาท่านกล่าวว่า “ให้เราทำความรู้ให้แจ้งชัดซึ่งกระติกใบเดียว ” กระติกน้ำใบเดียวเรารู้ให้ชัดเจน กระติกใบอื่นๆ ก็คล้ายๆ กัน คล้ายๆ กับท่านสอนให้เรารู้ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ของเรานี้ให้ชัดเจน ขันธ์ ๕ ของบุคคลอื่นก็คล้ายๆ กัน มีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหมือนกัน เพราะฉะนั้นขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ธรรมะที่จะนำมากล่าวนั้นก็จะขอกล่าวปกิณกธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ในสถานที่ต่างๆ ตรัสไว้ที่พระเชตวัน เมืองสาวัตถีบ้าง ตรัสไว้ที่ กูฎาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลีบ้าง จะนำมากล่าวสัก ๒-๓ ข้อ เพื่อให้คณะครูบาอาจารย์ได้นำไปเป็นเครื่องชูรสในการประพฤติปฏิบัติธรรม

          ธรรมะข้อที่ ๑ นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงประทับอยู่ที่ พระเชตวัน วันนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงยืนอยู่พื้นแผ่นดินที่เป็นฝุ่น แล้วพระองค์ก็เอาพระบาทของพระองค์ช้อนเอาฝุ่นขึ้นมา เมื่อช้อนเอาฝุ่นขึ้นมาฝุ่นก็ติดพระนขาคือติดปลายเล็บของพระองค์ แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ดินที่อยู่บนปลายเล็บของเรา กับแผ่นดินทั้งแผ่นนี้ อะไรมากกว่ากัน” ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ดินที่อยู่ปลายเล็บของพระองค์นั้นมีน้อยนิดเดียว ไม่เพียงเสี้ยวหนึ่งของมหาปฐพีใหญ่ เป็นดินที่น้อยนิดเดียว”

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เกิดขึ้นมาแล้วจะเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ก็น้อยนักน้อยหนา สรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้ว ส่วนมากไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ส่วนมากก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์นรก ไม่มาเกิดเป็นมนุษย์ คนที่เกิดเป็นมนุษย์ก็น้อยนักหนา เหมือนกับดินที่ติดอยู่บนปลายเล็บของเรา”

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ความที่เราได้อัตภาพเกิดเป็นมนุษย์นี้ยากนักยากหนา” พระองค์ทรงอุปมาอุปไมยเหมือนกับเขาโคกับขนโค ถ้าเราจะพิจารณาดูในลำตัวของโคนั้น เขามีอยู่ ๒ เขา แต่ว่าขนนั้นมีอยู่ทั่วสรรพางค์กาย

          บุคคลผู้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์นั้นก็น้อยนัก เหมือนกับเขาโค บุคคลที่ตายไปแล้วไปเกิดเป็นสัตว์นรก อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานนั้นก็มีมากเหมือนกับขนโค องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัส เหมือนกับเต่าที่อยู่ในทะเลนั้น เอาหัวโผล่ขึ้นมาหายใจแล้วก็ดำลงไป การที่บุคคลจะได้เกิดเป็นมนุษย์ก็นิดเดียว เหมือนกับในชั่วขณะที่เต่ามันโผล่ขึ้นมาหายใจ

          หรือท่านกล่าวอุปมาอุปไมย เหมือนกับปลาที่มันอยู่ในน้ำ เวลามันจะหายใจมันก็ขึ้นมาเอาอากาศแวบหนึ่งแล้วก็ลงไป การที่เราจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นก็นิดเดียว การที่ปลามันอยู่ในน้ำนานแต่ว่าการที่ปลาจะขึ้นมาหายใจนั้นมันนิดเดียว อันนี้ฉันใด บุคคลผู้ที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นก็มีโอกาสน้อยฉันนั้นเหมือนกัน

          หรือท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับเราต้มข้าว ต้มข้าวให้เดือดๆ เมล็ดข้าวมันฟูขึ้นมาฝาหม้อแล้วก็พลิกกลับลงไปในลักษณะอย่างนี้ มีชั่วเวลานิดหนึ่ง การที่เราจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นก็น้อยนักน้อยหนาเหมือนกัน

          เพราะฉะนั้นการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นถือว่าเป็นสิ่งยาก ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า  “มนุสฺสภาโว จ ทุลฺลโภ” การเกิดมาเป็นมนุษย์ได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้นยาก กิจโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้นยาก

          เราได้อัตภาพเป็นมนุษย์นับว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะว่าบุคคลที่จะได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้นต้องบำเพ็ญศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ ถ้าเราด่างพร้อย ทำศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ โอกาสที่เราจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์นั้นยาก ท่านกล่าวอุปมาอุปไมยเหมือนกับบุคคลผู้ไปเกิดบนสวรรค์ ท่านกล่าวอุปมาอุปไมยในเทวสูตรอีกตอนหนึ่งว่าบุคคลผู้ไปเกิดในเทวโลก ตายจากเทวโลกจะได้เกิดอีกนั้นยากนักยากหนา คือบุคคลผู้ตายจากเทวดาแล้วจะมาเกิดเป็นมนุษย์ จะไปเกิดเป็นพรหมนั้นยาก ส่วนมากก็ไปเกิดในนรก ในเปรต ในอสุรกาย ในสัตว์เดรัจฉาน

          แล้วท่านกล่าวว่าบุคคลผู้ตายจากมนุษย์จะไปเกิดเป็นเทวดาก็ยากเหมือนกัน ส่วนมากไปเกิดในอบายภูมิ เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เป็นของหายาก ถ้าบุคคลใดได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ขอให้พวกเรานั้นได้ดีอกดีใจ ได้สร้างสมอบรมความดี ให้เราเข้าใจว่าสาระของชีวิตนั้นคืออะไร สาระของชีวิตคือการทำมาหากิน คือการเลี้ยงครอบครัว คือการสร้างบ้านแต่งเรือน หรือว่ามีความสุขที่เกิดขึ้นมาจากรูป เสียง กลิ่น รส หรือว่าสาระที่แท้จริงของชีวิตคืออะไร อันนี้ขอให้เราได้เข้าใจแล้วก็พิจารณา

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า สาระที่แท้จริงของชีวิตก็คือการสร้างสมอบรมบารมีทั้ง ๑๐ ทัศน์ มีการให้ทาน รักษาศีล มีการออกบวช มีการเจริญปัญญา ความเพียร หรือว่าความอดทน สัจจะ อธิษฐาน หรือเมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ก็แล้วแต่เราจะได้บำเพ็ญ เพราะว่าการบำเพ็ญบารมีนั้นถือว่าเราสร้างแก่นให้แก่ตนเอง เราสร้างสาระให้แก่ตนเอง

          ถ้าบุคคลมีบารมีน้อย บุคคลนั้นไปสู่ภพใดภพหนึ่งก็ลำบาก มีสติปัญญาก็น้อยกว่าบุคคลอื่น มีรูปร่างหน้าตาก็ขี้ริ้วขี้เหร่กว่าบุคคลอื่น มีโรคมีภัยมากกว่าบุคคลอื่น เวลาเกิดก็เกิดในตระกูลต่ำๆ หาเช้ากินค่ำ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินไม่ได้เกิดบนกองเงินกองทอง ตระกูลที่เขามีชื่อเสียง อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าบุญหรือว่าบารมีของเราน้อย

          บุคคลผู้มีบารมีน้อยเกิดในภพใดชาติหนึ่งก็ลำบาก เหมือนกับคนขอทานร่อนเร่พเนจรไปในบ้านใดตำบลใดก็ลำบาก คนขอทานไปที่ใดๆ ก็ต้องขอเขากิน เพราะอะไร เพราะว่าตนเป็นคนขอทาน ไปสู่จังหวัดที่เขามีของขายของอยู่ของกินเยอะๆ ตนเองก็ไม่ได้อยู่ไม่ได้กิน เพราะอะไร เพราะว่าตนเองเป็นคนขอทาน ไม่มีเงินมีทองที่จะไปซื้อกิน ไปสู่หมู่บ้านที่เขามีข้าวมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ก็ต้องอดอยากเพราะตนเป็นคนขอทาน บุคคลผู้ไม่มีบุญก็เหมือนกันถึงจะไปเกิดอยู่ในกรุงเทพฯ แดนฟ้าเมืองสวรรค์เป็นที่เจริญของวัตถุอะไรต่างๆ มากมาย แต่ก็ต้องเป็นคนลำบากขัดสนอยู่เหมือนเดิม เพราะอะไร เพราะว่าตนเองเป็นผู้มีบุญน้อย

          แต่ถ้าบุคคลใดมีเงินมากมาเกิดอยู่บ้านนอกของเรามาเกิดอยู่ในชายแดนของเราก็อุดมสมบูรณ์ เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา พระองค์ทรงมีบารมีมากไปเกิดอยู่ในแห่งหนตำบลใดก็อุดมสมบูรณ์ เปรียบเสมือนกับที่ลุ่มเมื่อฝนตกลงมาแล้ว น้ำก็ไหลไปรวมกันบนดินลุ่มทำให้เกิดเป็นหนอง เป็นบ่อ เป็นทะเลขึ้นมาอันนี้ฉันใด บุคคลผู้มีบุญจะไปสู่สถานที่แห่งใด สักการะต่างๆ ก็ไหลไปเทไป อุดมสมบูรณ์ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมาแล้วต้องสร้างสาระให้แก่ตนเอง คือสร้างบุญสร้างกุศลสร้างบารมี พวกเราที่ได้มาบำเพ็ญบารมีนั้นก็ถือว่าพวกเรานั้นได้มาสร้างบารมีร่วมกัน เราเคยให้ทานอยู่บ้านอยู่วัดอยู่วาเราก็มารักษาศีล แล้วก็มาเจริญวิปัสสนาภาวนา มาแผ่เมตตา อันนี้ก็ถือว่าเรามาสร้างบารมี สร้างสาระให้แก่ตนเอง เรียกว่าทำความเป็นมนุษย์ของเราให้สูงขึ้น

          เพราะว่าความเป็นมนุษย์นั้นท่านกล่าวว่าเป็นผู้ที่มีใจสูง แล้วก็รู้จักประโยชน์ตนเองและประโยชน์ผู้อื่น การได้อัตภาพเป็นมนุษย์นั้นได้ยากนักยากหนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลได้อัตภาพเป็นมนุษย์ มีหู มีตา มีอาการ ๓๒ เหมือนมนุษย์มนานี้ยากนักยากหนา แต่ว่าได้ภูมิชั้นของมนุษย์นั้นยิ่งยากขึ้นไปอีก คือบุคคลผู้ที่เกิดมาเป็นคนแล้วมีศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ สมบูรณ์นี้ยากขึ้นไปกว่านั้นอีก คือมีรูปร่างหน้าตาเป็นมนุษย์นี้ยากแล้ว แต่ว่ามีจิตใจเป็นมนุษย์จริงๆ มีศีล ๕ มีกรรมบถ ๑๐ นั้นยิ่งยากขึ้นไปใหญ่

          เพราะฉะนั้น คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลาย เมื่อเราได้เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ขอให้เรานั้นอย่าทำการที่เรานั้นหาได้ยากเสื่อมสิ้นไปโดยเปล่าประโยชน์

          สิ่งที่หาได้ยากอีกประการหนึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “พุทฺธุปฺปาโท จ ทุลฺลโภ” การที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมาเกิดในมนุษย์แต่ละครั้งนั้นยากนักยากหนา ต้องบำเพ็ญบารมีมามากมาย อย่างเช่นพระพุทธเจ้าของเราต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขย กับแสนมหากัป ตามธรรมดานั้นพระองค์ต้องทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขย คือท่านกล่าวไว้ว่า พระองค์ทรงนึกอยู่ในใจนั้นแหละ นึกอยู่ในใจว่าตนเองจะเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ ๑๖ อสงไขยยังไม่ออกปากปรารถนา แต่ว่านึกอยู่ในใจว่าข้าพเจ้าอยากจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลข้างหน้า นึกอยู่ในใจนั้นต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขย

          ออกปากปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าว่า สาธุ ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลข้างหน้านั้น ต้องบำเพ็ญบารมีอีก ๘ อสงไขย เมื่อได้รับลัทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ต้องบำเพ็ญบารมีเพิ่มอีก ๔ อสงไขย หลังจากได้รับลัทธพยากรณ์ว่า ท่านจะได้บรรลุเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลข้างหน้า ในกัปโน้นกัปนี้ ต้องบำเพ็ญบารมีอีก ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้นจึงถือว่า อุบัติขึ้นได้ยาก

          ของหายากประการที่ ๓ ท่านกล่าวว่า “ปพฺพชิตภาโว จ ทุลฺลโภ” คือการที่เราจะได้บวชในพระพุทธศาสนานี้ยาก การบวชนั้นถือว่าเป็นการทวนกระแส ถือว่าเป็นการสละเหย้า สละบ้าน สละเรือน สละความสุข แล้วก็มารักษาศีลอันเป็นกองภาระใหญ่ที่เราจะต้องรักษา อยากร้อนก็ได้เย็น อยากเย็นก็ได้ร้อน อยากจะเที่ยวสนุกสนานร้องรำทำเพลงก็ทำไม่ได้ ผิดศีล เป็นภาระใหญ่ของบุคคลผู้บวช เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนานั้นจึงหาได้ยาก เหมือนกับที่เรามาอยู่รวมกันนี้แหละ บุคคลอยู่ในเขตบ้านใกล้เคียง อำเภอใกล้เคียง จังหวัดใกล้เคียงนี้หาคนที่จะมาบวชนี้ยาก

          ประการที่ ๔ ท่านกล่าวไว้ว่า “วิปสฺสนาภาโว จ ทุลฺลโภ” คือการที่บุคคลจะได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นยากนักยากหนา เพราะการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นเหมือนกับการว่ายเข้าสู่ฝั่ง เหมือนกับเราอยู่ในท่ามกลางทะเล แล้วก็ว่ายเข้าสู่ฝั่ง

          เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายส่วนมากวิ่งเลาะตามชายฝั่ง บุคคลผู้ถึงฝั่งนั้นมีน้อย คือสรรพสัตว์ทั้งหลายคนทั้งหลายที่เกิดขึ้นมานั้นส่วนมากวิ่งเลาะตามชายฝั่ง คือเลาะตามรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขต่างๆ หรือว่าตามอารมณ์ของโลก บุคคลผู้ที่จะตัด รูป เสียง กลิ่น รส อันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มุ่งตรงต่อการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นยากนักยากหนา

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่จะมาประพฤติปฏิบัติธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐานนั้นถือว่าเป็นของหายาก ยิ่งกว่าการบวช ยิ่งกว่าการเป็นมนุษย์เสียอีก

          เพราะฉะนั้น คณะครูบาอาจารย์เมื่อมีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้ได้ตั้งใจเต็มที่ อันนี้เป็นธรรมะข้อที่ ๑

          ธรรมะข้อที่ ๒ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงอุปมาอุปไมยว่า มีบุคคลคนหนึ่งถวายทานวันละ ๓ ครั้ง เรียกว่าถวายทานวันละ ๓ คราว คราวละ ๑๐๐ หม้อ อานิสงส์ของเขาที่ถวายทานนั้นไม่เท่าอานิสงส์ของการเจริญเมตตาเจโตวิมุติ วันละ ๓ ครั้ง ครั้งละเท่ากับหยาดน้ำนมโค เวลาเราไปรีดนมโค นมโคมันร่วงลงไปหยดลงไปเพียงแค่รัดนิ้วมือเดียว มีอานิสงส์มากกว่าการถวายทานวันละ ๓ คราว คราวละ ๑๐๐ หม้อใหญ่ อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสสรรเสริญเมตตาเจโตวิมุต ก็คือการเจริญเมตตาโดยการภาวนา

          การเจริญเมตตาเจโตวิมุตินั้นก็คือการที่เราเอาสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นเป็นอารมณ์ คือเราตั้งจิตตั้งใจว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดมาเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้แหละจงเป็นผู้ไม่มีเวร จงเป็นผู้ไม่มีภัย จงอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงอยู่เป็นสุขๆ เถิด เราตั้งอารมณ์ปรารถนาในลักษณะอย่างนี้ เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา แล้วเราก็ทำอารมณ์นั้นให้มันเข้มข้น เรียกว่าทำอารมณ์นั้นให้มันมากขึ้นมา ทำให้จิตใจของเรานั้นเพ่งอยู่ในอารมณ์นั้น ว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่าได้มีภัยแก่กันและกันเลย จงเป็นสุขรักษาตนอยู่เถิด จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นเข้าปฐมฌานไป เข้าถึงอุปจารสมาธิ เรียกว่าเป็นเจโตวิมุติ เป็นเมตตาเจโตวิมุติ

          ถ้าเราทำได้ในลักษณะอย่างนี้ ก็ถือว่าเรามีบุญมากกว่าเราถวายอาหารวันละ ๓ คราว คราวละ ๑๐๐ หม้อใหญ่ เพราะว่าบุคคลส่วนมากก็คิดว่าการทำบุญทำทานนั้นเราจะต้องเสียสละทรัพย์สินเงินทอง เสื้อผ้าอาภรณ์ต่างๆ เสียสละวัตถุภายนอก สร้างโบสถ์ สร้างศาลา สร้างวิหาร สร้างสะพาน บ่อน้ำอะไรต่างๆ ก็ดี เรียกว่าเราเสียสละวัตถุภายนอกก็ได้บุญมากได้อานิสงส์มาก แต่พระองค์ไม่ทรงตรัสว่ามีอานิสงส์มากกว่าการสละวัตถุภายในคือ กิเลส

          ถ้าบุคคลใดสละอกุศลธรรมสละกิเลสออกไปจากจิตจากใจ บุคคลนั้นก็ได้อานิสงส์มากกว่าการถวายวัตถุภายนอก เหมือนกับที่พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรม เราไม่มีโอกาสที่จะถวายทานเพราะว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรม แต่เราก็มีโอกาสที่จะสละกิเลสออกไปจากจิตจากใจ การที่เราสละกิเลสออกจากใจ สละความเกียจคร้าน สละความง่วงเหงาหาวนอน สละสภาพจิตใจออกไปจากกามราคะ สละความพยาบาท สละความสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ออกไปจากจิตจากใจอันนี้ได้บุญมาก

          ถ้าบุคคลใดสละความกำหนัดในกามออกจากจิตจากใจ สละความพยาบาทออกไปจากจิตจากใจ สละถีนมิทธะออกไปจากจิตจากใจ หรือว่าสละความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรมออกไปจากจิตจากใจแล้วท่านกล่าวว่า เป็นหลุมแห่งบุญ เป็นบ่อแห่งบุญ บุญใหญ่อานิสงส์ใหญ่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น แล้วบุญใหญ่นั้นก็จะเหมือนกับบ่อน้ำซึม มันจะไหลออกมาเรื่อยๆ ถ้าจิตใจของเราปราศจากความสงสัยในเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ความสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป ก็เท่ากับตัวของเรานั้นเป็นบ่อแห่งบุญ บุญใหญ่อานิสงส์ใหญ่มันจะเกิดขึ้นแก่เรา บุญมันจะเกิดขึ้นเนืองนิตย์เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิดก็คิดถึงแต่เรื่องบุญเรื่องกุศล เพราะอะไร เพราะว่ากาย วาจา ใจ ของเราเป็นบุญแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าการสละอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นถือว่าเป็นบ่อแห่งบุญ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดบุญใหญ่

          ธรรมะประการที่ ๓ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากว่ามีบุคคลคนหนึ่งกล่าวขึ้นมาว่า ข้าพเจ้าสามารถจับลูกธนู ที่นายขมังธนูเชี่ยวชาญในการยิงธนูนั้น ยิงมาจากทิศทั้ง ๔ ข้าพเจ้าสามารถที่จับลูกธนูได้โดยที่ไม่ให้ลูกธนูนั้นตกลงถึงดิน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเชื่อไหมว่ามานพนั้น บุคคลนั้นจะทำได้อย่างที่พูด”

          ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษนั้นจับลูกธนูที่เขายิงมาเพียงทิศเดียวได้ก็ถือว่าเป็นผู้มีความไวมากแล้ว ไม่ต้องกล่าวไปถึงว่าจะจับลูกธนูทั้ง ๔ ทิศได้

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่มานพที่มีความชำนาญ ที่สามารถจับลูกธนูที่เขายิงมา โดยที่ลูกธนูนั้นยังไม่ตกลงถึงดินได้ ยังแพ้แสงของพระจันทร์และแสงของพระอาทิตย์ แสงของพระอาทิตย์และแสงของพระจันทร์นั้นไวกว่านั้นอีก”

          และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสต่อไปอีกว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารก็ดี ชีวิตก็ดี อายุของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ดีสิ้นไปเร็วมากกว่าแสงจันทร์และแสงอาทิตย์อีก” แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “พวกเธอทั้งหลาย จงสำเหนียกตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเถิด”

          คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “บุคคลผู้สามารถจับลูกธนูได้นั้นเป็นผู้มีความไว แต่แสงของพระอาทิตย์ก็ดี แสงของพระจันทร์ก็ดี ไวกว่านั้นอีก” แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสต่อไปว่า “ชีวิตของสรรพสัตว์ก็ดี สังขารของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ดี สิ้นไปเร็วมากกว่าแสงจันทร์และแสงอาทิตย์อีก” เพื่อที่จะให้ภิกษุนั้นตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะฉะนั้นชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นมีน้อยนัก ท่านกล่าวไว้ว่าชีวิตของสัตว์ทั้งหลายนั้นก็เหมือนกับหยาดน้ำค้าง พยับแดด นิดๆ หน่อยๆ วับๆ แวมๆ ไม่ตั้งอยู่นาน

          ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาแล้ว ท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับน้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไหลเรื่อย ไหลเอื่อยลงไป โอกาสที่จะหยุดอยู่เพียงครู่หนึ่งก็หยุดอยู่ไม่ได้ เหมือนกับเราที่เกิดขึ้นมาแล้ว เป็นเด็ก เป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ วัยกลางคน จากนั้นก็แก่เฒ่า ชราลงไป ในที่สุดต้องลาโลกไป ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกับน้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไหลลงต่ำลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ไหลลงไปสู่ทะเล คือชีวิตนั้นต้องไปถึงซึ่งความตาย

          เพราะฉะนั้น เราเกิดเป็นมนุษย์ก็ขอให้เรานั้นอย่าประมาท บางคนก็ประมาท ๓๐ ปี ค่อยเข้าวัดเข้าวาก็มี บางคนก็ ๔๐ ปี บางคนก็ ๕๐ ปี บางคนแก่เป็น ๗๐ ปีค่อยเข้ามาวัด เดินจงกรมก็ไม่ได้ นั่งภาวนานานก็ไม่ดีปวดแข้งปวดขา เจ็บหลังเจ็บเอวแทนที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็ไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะว่าความเพียรไม่มี การปฏิบัติธรรมไม่ถึงขั้น

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “ถึงบุคคลจะมีบารมีมาก แต่ว่าประมาท ไม่มาประพฤติปฏิบัติธรรม แทนที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานกลับไม่ได้บรรลุ”

          เหมือนกับที่พระองค์ทรงตรัสเรื่องของเศรษฐี สองสามีภรรยาที่อยู่ในเมืองสาวัตถีว่าเศรษฐี ๒ สามีภรรยานี้ถ้าไม่ประมาทในการบ้านการเรือน ตั้งตนไว้ในปฐมวัย จะได้เป็นเศรษฐีลำดับ ๑ ของเมืองสาวัตถี ถ้าเศรษฐีสองสามีภรรยานี้ออกบวชในปฐมวัยสามีจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนภรรยานั้นจะได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

          แต่ถ้าทั้งสองไม่ประมาทในมัชฌิมวัยก็จะได้เป็นเศรษฐีลำดับที่ ๒ ถ้าออกบวชในมัชฌิมวัย สามีก็จะได้บรรลุเป็นพระอนาคามีส่วนภรรยาก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี

          แต่ถ้าเศรษฐีสองสามีภรรยานี้ไม่ประมาทในปัจฉิมวัย ไม่ประมาทในการครองเรือนนี้ก็จะได้เป็นเศรษฐีลำดับที่ ๓ แต่ถ้าทั้งสองออกบวชสามีก็จะได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ภรรยาก็จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน

          แต่เมื่อสองสามีภรรยานั้นประมาท ปฐมวัยก็ไม่ปฏิบัติ ไม่เข้าวัดฟังธรรม ไม่เจริญกรรมฐาน ไม่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน มัชฌิมวัยก็ไม่เข้า ปัจฉิมวัยก็ไม่เข้า เขาเข้าวัดเข้าวาเดินจงกรมนั่งภาวนาก็คิดว่าตนยังไม่แก่ยังไม่เข้า ต่อเมื่อสังขารมันร่วงโรย สติมันฟั่นเฟือนเรามาเดินจงกรมนั่งภาวนาแทนที่เราจะกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม เราก็ทำไม่ได้โอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานก็ไม่มี ทั้งๆ ที่มีบุญวาสนาบารมีที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ว่างเปล่าไม่ได้อะไรเลยเพราะว่าตนเองนั้นไม่ขยันหมั่นเพียรในการประพฤติปฏิบัติ

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า ให้ภิกษุทั้งหลายนั้นสำเหนียกว่า เราจะเป็นผู้ไม่ประมาท คือไม่ประมาทในวัย ว่าวัยของเรายังหนุ่มอยู่ เรายังแข็งแรงอยู่ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนชีวิตของเรายังอีกยาวไกลยังไม่ตายง่าย ใครจะไปวัดก็ไปเราจะทำมาหากินเสียเวลาในการทำมาหากิน อันนี้เรียกว่าผู้ประมาทใครจะรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่ง เด็กก็ตายได้ ผู้ใหญ่ก็ตายได้ คนเฒ่าคนแก่ก็ตายได้ เป็นพระเป็นเณรเป็นเถรเป็นชี ถึงซึ่งความตายได้ทั้งนั้น ไม่รู้ว่าเราจะตายตอนเช้า ตอนบ่าย ตอนเพล หรือว่าเราจะตายวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ เราไม่รู้ บางครั้งเห็นหน้ากันตอนเช้าแต่ว่าตอนบ่ายตายแล้ว เห็นหน้ากันตอนเช้า ตอนเย็นว่าคนนั้นตายแล้ว นี้ในลักษณะของความตาย ไม่เข้าใครออกใครเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ ยาจกวณิพกก็ตายเหมือนกัน

          เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลใดคิดว่าตนเองนั้นยังหนุ่มอยู่ยังมีร่างกายแข็งแรงอยู่ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม แสดงว่าเป็นผู้ประมาทแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสให้เราเป็นผู้ไม่ประมาท ในการละกายทุจริต และประพฤติกายสุจริต ให้เราไม่ประมาทในการละวจีทุจริตแล้วก็ประพฤติวจีสุจริต ให้เราไม่ประมาทในการละมโนทุจริตแล้วก็ประพฤติมโนสุจริต คือท่านให้เราละความชั่วที่เกิดขึ้นมาทางกาย วาจา ใจ ให้เราประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ ความชั่วหรือความทุจริตทั้งหลายทั้งปวง ที่เกิดขึ้นทางกายวาจาใจนั้น ให้เราอย่าประมาทในการละ เราต้องเพียรพยายามละ ธรรมดาละความชั่วก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ยาก สิ่งใดที่เราจะพยายามละความชั่วนั้นเป็นสิ่งที่เป็นของยากเหมือนกับการไหว้น้ำทวนกระแส เหมือนกับการกลิ้งครกขึ้นภูเขา ก็ถือว่าเป็นการยากธรรมดา

    

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 พฤศจิกายน 2563 13:56:13 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 985


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 86.0.4240.111 Chrome 86.0.4240.111


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 10 พฤศจิกายน 2563 13:55:19 »



ปกิณณกธรรม
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
 
                  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ให้เรานั้นเพียรละกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต คือเพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นมาทางกาย ความชั่วที่เกิดทางวาจา และความชั่วที่เกิดขึ้นทางใจ เราจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เราก็ระวังไม่ให้บาปมันเกิดขึ้นมาทางกาย วาจา ใจ ของเรา

          เหมือนกับเราเดินจงกรมนั่งภาวนานี้แหละ พยายามให้กำหนด จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด นี้เราให้กำหนด เพราะอะไร เพราะเพียรระวังกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตไม่ให้เกิดขึ้นมา ไม่ให้บาปมันเกิดขึ้นมาทางกาย วาจา ใจ

          และองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราไม่ประมาทในการละอารมณ์ ให้ระวังใจไม่ให้ขัดเคือง ในอารมณ์เป็นที่ขัดเคือง ให้เราเป็นผู้ไม่ประมาท ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์เป็นที่กำหนัด ให้เราระวังใจไม่ให้ลุ่มหลงในอารมณ์เป็นที่ลุ่มหลง อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงละเอียดลออมาก คือพระองค์ให้ทรงระวังแม้อารมณ์ที่ขัดเคือง แล้วก็ไม่ให้ใจของเราขัดเคืองกับอารมณ์นั้น

          เวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม ใครพูดอะไรเราก็กำหนด “โกรธหนอๆ” “ขัดเคืองหนอๆ” นี้ในลักษณะของการประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ให้จิตใจของเราขัดเคืองต่ออารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง หรือว่าจิตใจของเราจะเกิดราคะครอบงำ เวลาเราเดินจงกรมนั่งภาวนา บางครั้งเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมเราอย่าคิดว่าราคะมันจะลดลง ความกำหนัดมันจะลดลง บางครั้งเราเดินจงกรมนั่งภาวนา แทนที่มันจะลดลงมันกลับมากขึ้น เพราะอะไรจึงมากขึ้น เพราะสติมันปรากฏชัด อารมณ์มันก็ปรากฏชัด ราคะมันก็ปรากฏชัด เพราะฉะนั้นเราต้องกำหนด “ราคะหนอๆ” ไม่ให้กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

          บางคนเป็นเจ้าโทสะ มาเดินจงกรมนั่งภาวนาก็โกรธ คิดถึงแต่อารมณ์ของความโกรธ เดินจงกรมตั้งแต่เช้าจนค่ำคิดถึงแต่อารมณ์ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความโกรธ เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ระวังจิตไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคืองเราต้องกำหนด “โกรธหนอๆ” “เคืองหนอๆ”

          และท่านให้ระวังใจของเราไม่ให้ลุ่มหลงในอารมณ์เป็นที่ลุ่มหลง คืออะไรก็ตามที่ทำให้จิตใจของเราลุ่มหลงเราต้องกำหนดให้ทัน ลุ่มหลงในที่นี้คือทำให้เรายินดี พอใจ หรือเสียใจในสิ่งนั้น เรียกว่าลุ่มหลงด้วยอำนาจของบุญ ด้วยอำนาจของบาป ด้วยอำนาจของความชอบไม่ชอบ กล่าวย่อๆ ก็คืออุปาทาน อันนี้ถือว่าเป็นหัวใจของการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราทำได้ก็ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติตรงเพื่อที่จะยังวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้น เพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน

          คณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้เราสำรวมว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย หรือว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น จะว่ากว้างก็กว้าง จะว่าแคบก็แคบ จะว่าพอดีก็พอดี เหมือนกับพระเถระรูปหนึ่ง

          พระเถระรูปนั้นชื่อว่าพระโปฐิละ พระโปฐิละนั้นเป็นผู้ที่มีปัญญามาก มีบารมีมาก เมื่อมีปัญญามากมีบารมีมากก็คิดว่าการปฏิบัติธรรมนั้นมันปฏิบัติง่าย แต่เวลาตนเองประพฤติปฏิบัติธรรมจริงๆ นั้นไม่รู้ว่าจะเอาธรรมะส่วนไหนมาประพฤติปฏิบัติ ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ไม่รู้ว่าจะเอาส่วนไหนมาปฏิบัติจึงจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องอาศัยบารมีของสามเณรน้อย ให้สามเณรน้อยนั้นเป็นครู แต่ว่าเป็นสามเณรน้อยที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว สามเณรน้อยก็ทรมานทิฏฐิให้เดินลงไปในน้ำไม่ขึ้นมาท่านก็ทำตามเณรน้อยหมด เณรน้อยก็คิดว่าพระเถระนี้ลดมานะทิฏฐิแล้ว ก็เลยบอกพระเถระว่า มีรูเหี้ยอยู่ ๖ รู ให้ปิดเสีย ๕ รู แล้วก็คอยจับเหี้ยรูที่ ๖ จะสามารถจับเหี้ยได้ เพียงแค่นี้เราก็รู้ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย เหลือแต่ใจของเรา ดูใจของเราเวลาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรมนั่งภาวนาก็คอยกำหนดจิตใจของเรา อย่าให้เกิดความขัดเคือง อย่าให้เกิดความกำหนัด อย่าให้เกิดความลุ่มหลง อันนี้ก็ถือว่าเรานั้นประพฤติปฏิบัติธรรมตรงต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อุปาทาน โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 0 1133 กระทู้ล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2563 15:52:49
โดย Maintenence
ศีล สมาธิ ปัญญา โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 884 กระทู้ล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2563 10:03:25
โดย Maintenence
ความหมายของธรรมะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 982 กระทู้ล่าสุด 02 ธันวาคม 2563 14:20:54
โดย Maintenence
โอวาทปาฏิโมกข์ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1149 กระทู้ล่าสุด 14 ธันวาคม 2563 14:29:31
โดย Maintenence
การอุทิศส่วนบุญ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1043 กระทู้ล่าสุด 22 ธันวาคม 2563 14:14:10
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.905 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 18 ธันวาคม 2566 13:09:19