[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
16 กันยายน 2567 05:45:18 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การอุทิศส่วนบุญ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี  (อ่าน 1354 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1076


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 87.0.4280.88 Chrome 87.0.4280.88


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 22 ธันวาคม 2563 14:09:16 »



การอุทิศส่วนบุญ
(เช้าวันที่ ๑๙ ธ.ค. ๕๕ ณ บ้านเขตประชาพัฒน์)
พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

         ผู้ใดเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าก็ผ่อนคลายด้วยการยืนได้ ส่วนผู้ใดที่คุ้นเคยกับการนั่งทำวัตรแล้วก็เจริญภาวนาไปด้วยก็นั่งต่อไป จุดมุ่งหมายของการนั่งภาวนาก็คือ ทำจิตของเราให้สบาย ทำจิตของเราให้สงบ ทำจิตของเราให้มีสติ ทำจิตของเราให้มีสมาธิ ทำจิตของเราให้แจ่มใส ทำจิตของเราให้ร่าเริง ทำจิตใจของเราให้เบิกบาน มีจุดมุ่งหมายของการภาวนาคือทำจิตของเราให้สงบเป็นเบื้องต้น

          เมื่อจิตใจของเราสงบเป็นเบื้องต้นแล้ว จิตของเราก็จะเกิดความสบาย เป็นผลที่เกิดขึ้นมาจากจิตสงบ ถ้าจิตของเราไม่สงบแล้ว ทำอย่างไรๆ จิตของเราก็ไม่สบาย อยากสบายก็ไม่สบาย ถึงเราจะสบายกาย สบายด้วยทรัพย์สมบัติ สบายด้วยญาติพี่น้องรุมล้อมคอยเอาอกเอาใจอยู่ก็ตาม อันนี้ก็เรียกว่าสบายภายนอกถ้าจิตใจของเราไม่สงบเราจะประดับประดาตกแต่งร่างกายของเราด้วยสายสร้อย ตุ้มหู นาฬิกา มากมายขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่ชื่อว่าเกิดความสบายขึ้นมาได้

          หรือเราจะใส่เพชร ใส่พลอย ใส่ทองคำ หนักเป็น ๕ บาท ๑๐ บาท ก็ชื่อว่าเรานั้นประดับกายภายนอกไม่ทำใจของเราให้สงบจากอาการฟุ้งซ่านปรุงแต่งได้ เพราะฉะนั้นความสงบภายในคือความสงบของใจ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดความสบาย เกิดความร่มเย็น เกิดความเบาใจ ความปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงจะสงบระงับไป พวกเราทั้งปลายได้มาไหว้พระ มาทำวัตรสวดมนต์ในภาคเช้า หลังจากพวกเราทั้งหลายได้เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          เราสวดบูชาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่ อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ ว่าข้าพเจ้าขออภิวาท ขอบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ ตัดอาสวะกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง นี้พวกเราได้กล่าว ได้ระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ระลึกนึกถึงคุณของพระธรรม ระลึกนึกถึงคุณของพระสงฆ์ แล้วพวกเราทั้งหลายก็มาพิจารณา ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ของร่างกาย ตั้งแต่เราพิจารณา รูปัง อนิจจัง รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจจา เวทนาไม่เที่ยง สัญญา อนิจจา สัญญาไม่เที่ยง สังขารา อนิจจา สังขารไม่เที่ยง วิญญานัง อนิจจัง วิญญาณไม่เที่ยง ให้เราพิจารณา รูปัง อนัตตา รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนา อนัตตา เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญา อนัตตา สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารา อนัตตา สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญานัง อนัตตา วิญญาณไม่ใช่ตัวตน รูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นอนิจจังเป็นของไม่เที่ยง นี้พวกเราสวดทุกวันๆ สวดเพื่ออะไร สวดเพื่อที่จะให้ช่ำชองคล่องปาก เราสวดเพื่ออะไร เราสวดเพื่อให้ได้ขึ้นใจเพื่อที่จะให้เรานั้นคลายความยึดมั่นถือมั่นให้เราเกิดสติเกิดปัญญาว่า รูปนั้นเป็นของไม่เที่ยงจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส เวทนาเป็นของไม่เที่ยงตามที่พระพุทธเจ้าทรงตรัส คือให้เราเห็นแจ้งด้วยสติ แจ้งด้วยปัญญา แจ้งด้วยการใคร่ครวญพิจารณา เพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่น

          เพราะฉะนั้นต้องสวดทุกวันๆ เป็นคาถากันความประมาท คือ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญา สังขารไม่เที่ยง รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ เป็นทุกขังทนอยู่สภาพเดิมไม่ได้ รูปเวทนาสังขารวิญญาณนั้นเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ อนิจจังก็ดี ทุกขังก็ดี อนัตตาก็ดี เป็นคาถากันความประมาท ถ้าผู้ใดประมาทมัวเมามาก ระลึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกขัง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา เพียงเท่านี้แหละความประมาทมันก็ค่อยๆ จะสร่างออกไปๆๆ แต่ถ้าเราไม่ระลึกนึกถึงคาถากันความประมาท ชีวิตของเราก็จะประมาทไปด้วย เพราะฉะนั้นเราต้องมาระลึกนึกถึงเป็นประจำ

          แล้วท่านกล่าวว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง คือ สังขารที่มีใจครอง ที่เป็นสัตว์สาวาสิ่งก็ตาม หรือว่าสังขารที่ไม่มีใจครองคือ บ้านเรือน ต้นไม้ แม่น้ำ ภูเขา ลำธาร อันนี้ก็เป็นสังขารที่ไม่มีใจครอง มันก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นของไม่เที่ยง

          สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นอนัตตา คือธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นรูปธรรมก็ดี นามธรรมก็ดี ก็เป็นอนัตตา รูปธรรมทั้งหมดทั้งปวงทั้งสิ้น รูปคนก็ดี รูปสัตว์สาวาสิ่งก็ดี รูปบ้าน รูปเรือน รูปต้นไม้ รูปภูเขา รูปลำธาร นี้ก็ถือว่าเป็นรูป สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันก็ต้องแตกต้องสลาย ต้องหายไปตามธาตุของมัน เรียกว่าเป็นอนัตตาทั้งหมดทั้งสิ้น

          แม้นามธรรมก็ดี ความชั่วก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดี ก็เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนที่แน่นอน ความโกรธ ถึงเราจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ มันก็โกรธตั้งอยู่ไม่นานก็หายไปอารมณ์อื่นมันก็เกิดขึ้นมาอีก อารมณ์ง่วงนอนมันเกิดขึ้นมา มันก็ไม่ได้ตั้งอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์ มันตั้งอยู่ชั่วกาลเพียงระยะหนึ่งมันก็หายไป ความสดชื่นมันก็เกิดขึ้นมา ความสดชื่นก็ไม่ได้ตั้งอยู่ตลอดกาลนาน ความผิดหวังมันก็เกิดขึ้นมา ความผิดหวังก็ไม่ได้ตั้งอยู่ชั่วกาลนาน ความสบายใจมันก็เกิดขึ้นมา

          เพราะฉะนั้นเวลาเราประสบกับสิ่งอะไรต่างๆ อย่าไปใช้อารมณ์ชั่ววูบ บางคนผิดหวังมาก็ไปฆ่าตัวตาย บางคนอกหักมาก็ฆ่าตัวตาย บางคนทำธุรกิจ สิ้นเนื้อประดาตัวมาก็คิดสั้นฆ่าตัวตาย โดยที่เราไม่คิดว่าอารมณ์เหล่านี้มันเป็นอนิจจัง อารมณ์เหล่านี้มันเป็นทุกขัง เป็นอนัตตา มันไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพความเสียใจอย่างนั้นไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนไป มันต้องหมุนไป บางครั้งเราทุกข์มากๆ อารมณ์เหล่านั้นมันดับไป สิ้นไป แล้วอารมณ์ใหม่มันเกิดความสบายใจดีใจขึ้นมาก็มี

          แต่บุคคลไม่มีความอด ไม่มีความทน ไม่มีปัญญาก็ไปฆ่าตัวตายก่อน ตัดช่องน้อยแต่พอตัว แทนที่จะได้พ้นไปจากความทุกข์ ก็เป็นอัตวินิบาต เป็นการยังตนให้ตกไป ฆ่าบุคคลอื่นกับฆ่าตนเองก็บาปเท่ากัน ก็ถือว่าเป็นบาปหนัก เป็นการยังตนของตนให้ตกไปสู่อบายภูมิ คือนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ผู้ที่ฆ่าตนเองตายแล้วก็ต้องไปเกิดในนรกหมกไหม้อยู่ชั่วกาลนาน เพราะเป็นการยังตนให้ตกไปเรียกว่า อัตวินิบาต อันนี้ก็เพราะอะไร เพราะไม่เข้าใจในเรื่องอารมณ์ ไม่เข้าใจในเรื่องสภาวะ ไม่เข้าใจในเรื่องความจริงของธรรมะ ก็คิดว่าเราอกหัก แล้วเราผิดหวังจากธุรกิจแล้วเราก็ต้องเป็นคนตรอมใจ ทนทุกข์อยู่อย่างนั้นตลอดชีวิตจนกว่าเราจะตายไป แต่เราหารู้ไม่ว่าอารมณ์เหล่านั้นมันเป็นของชั่วคราว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เป็นของชั่วขณะ คือเป็นของเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่ง อารมณ์ใหม่มันก็เกิดขึ้นมา

          เพราะว่าอารมณ์ในโลกนี้มันมีมาก เหมือนกับใบไม้ทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในป่า ใบไม้ใบนี้มันร่วงหล่นลงมา ต่อมาใบไม้ใบที่สองก็ร่วงหล่นลงมา ใบที่สามมันก็ร่วงหล่นลงมา ใบที่สี่ก็ร่วงหล่นลงมา ใบที่ห้าที่หกก็ร่วงหล่นลงมา ใบที่สิบใบที่ร้อยก็ร่วงหล่นลงมา ใบที่พันใบที่หมื่นก็ร่วงหล่นลงมา มันจะร่วงหล่นลงมาเรื่อยตามลำดับ ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงใหม่ก็ทับถมใบไม้ที่เก่า ทับถมไปๆๆ จนใบไม้เก่านั้นมันกลายเป็นดินแล้วก็หายสาบสูญไป ข้อนี้ฉันใด

          อารมณ์ของคนที่เกิดความสุขก็ดี เกิดความทุกข์ก็ดี เกิดความพอใจก็ดี เมื่ออารมณ์มันเกิดขึ้นใหม่ๆ เหมือนอารมณ์นั้นจะไม่สิ้นไม่สูญไป แต่เมื่ออารมณ์ใหม่มันเกิดขึ้นมาทับไปๆ อารมณ์ใหม่ไหลเข้าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มากเข้า อารมณ์ใหม่นั้นก็ค่อยๆ จางไป ค่อยๆ ลืมไป ค่อยๆ เลือนไป ค่อยๆ หายไปจากจิตจากใจ แล้วก็หายไปโดยสิ้นเชิงก็มี

          เราคิดดูว่าอารมณ์ตั้งแต่เราเป็นเด็กเล็กๆ ตั้งแต่เราจำความได้มันหายไปไหน บางครั้งเราตั้งใจจะนึกๆ ให้เห็นอารมณ์เก่าๆ ตั้งแต่สมัยเรายังไม่นุ่งผ้า ตั้งแต่เราเป็นเด็กกำลังเล่นกับเพื่อนๆ นี้เรานึกไม่ออกบางครั้งมันก็ลืมไป แล้วอารมณ์เก่ามันก็เริ่มหายไปๆ เหมือนกับใบไม้ที่มันกลายเป็นดินสิ้นสาบสูญไป อารมณ์เก่าๆ นั้นก็เหมือนกัน มันก็ค่อยๆ หายไป เพราะฉะนั้นเราจะเอาความยึดมั่นถือมั่นจีรังยั่งยืนกับความคิด มันเกิดขึ้นในจิตในใจแล้วก็เอาเป็นเอาตายไปฆ่าตัวตายผิดหวังในอารมณ์นั้นท่านกล่าวว่าเป็นคนที่ขาดธรรมะ เป็นคนที่ขาดโยนิโสมนสิการ คือการพิจารณา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญธรรม

          เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายที่ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมเมื่อรู้อารมณ์ในลักษณะอย่างนี้แล้วเราก็ควรนิ่ง มันจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเราก็นิ่ง เพราะอะไร เพราะมันตั้งอยู่ไม่ได้นาน มันจะดีใจมากน้อยขนาดไหนก็ตาม มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้นาน เขาจะเอาเงินมาถวายเป็นร้อยเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน สิ่งเหล่านั้นมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับไป เราก็สามารถที่จะนิ่งได้ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ กับสิ่งเหล่านี้มากจนเกินไป อันนี้เราก็สามารถที่จะเข้าใจในธรรมะต่างๆ ได้ ดำรงชีวิตของเราเป็นอยู่โดยความผาสุกโดยธรรมได้ อันนี้เรียกว่าคุณประโยชน์ของบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม จะเข้าใจธรรมที่เราสวดทุกวันๆ ว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจในลักษณะอย่างนี้

          แล้วท่านกล่าวว่า ทุกขะปะเรตา พวกเราทั้งหลายนั้นมีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า คือสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความทุกข์ ไม่มีใครเลยที่จะบ่ายหน้าไปสู่ความสุข จะเป็นคนรวยขนาดไหนก็ตาม จะเป็นผู้มียศฐาบันดาศักดิ์ขนาดไหนก็ตาม จะเป็นผู้มีคนเคารพนับถือบูชามากมายขนาดไหนก็ตาม จะเป็นผู้มีฤทธิ์มีเดช มีวิชาอาคมเป็นจอมขมังเวทย์เหาะเหินเดินอากาศมากมายขนาดไหนก็ตาม บุคคลเหล่านั้นล้วนบ่ายหน้าไปสู่ความทุกข์

          ทุกขะปะเรตา เป็นคำที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสย้ำเตือนจิตใจของพุทธบริษัททั้งหลาย ให้เข้าใจว่าเรานั้นมีความทุกข์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เราไม่ใช่มีความสุขเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เรามีความทุกข์เป็นที่ไปในเบื้องหน้ากันทุกท่านทุกคน มีความทุกข์เป็นที่ไปในเบื้องหน้าอย่างไร ให้เราพิจารณาดูร่างกายของเรานี้แหละ แต่ก่อนโน้นตาของเราก็ใสแจ๋วดี ต่อมาเมื่ออายุมากขึ้นๆ ก็เริ่มเศร้าหมองลง เมื่อเศร้าหมองลงก็เริ่มขุ่นมัว เมื่อเริ่มขุ่นมัวก็เกิดฝ้า เกิดต้อกระจก เกิดต้อลม เกิดต้อเนื้อขึ้นมา เกิดอาการเจ็บ อาการปวด อาการมืด อาการดับของจักขุมันเกิดขึ้นมา อันนี้เป็นอาการแห่งทุกข์มันเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้

          ร่างกายของเราเคยกระปรี้กระเปร่ากระฉับกระเฉง ไม่เหน็ดไม่เหนื่อยง่าย แต่เมื่อร่างกายมันชราภาพเข้า ๓๕,๓๖ ปี ๔๕,๔๖ ปี ๖๐ ปีร่างกายมันแก่ไปตามลำดับๆ แต่ก่อนไม่เคยเจ็บ ไม่เคยปวด ไม่เคยเหนื่อย แต่เมื่อร่างกายมันชรามานั้นเริ่มเหนื่อยเข้าไป เริ่มเจ็บเริ่มปวดตรงโน้นปวดตรงนี้ อันนี้มันเกิดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเรามีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า เราแก่มากเท่าไร เรายิ่งเจ็บไปเท่านั้น เราแก่มากเท่าไร เรายิ่งทุกข์ไปเท่านั้น สังขารยิ่งเสื่อมมากไปเท่านั้น

          หนังของเราแต่ก่อนโน้นก็เต่งตึงดี แต่เมื่อร่างกายชราภาพเข้าก็เริ่มเหี่ยวเริ่มยานเริ่มตกกระ ถ้าเราอายุมากเท่าไร หนังของเราเริ่มเหี่ยวไปเท่านั้น เริ่มยานไปเท่านั้น เริ่มตกกระไปเท่านั้น กำลังของเราก็เหมือนกัน แก่มากเท่าไรก็ยิ่งหมดไปๆ อายุเป็นร้อยๆ ปี ๑๒๐ ปีจะเอาตัวไม่รอด แทบจะลุกไม่ได้แทบจะเดินไม่ได้ บางครั้งลูกหลานต้องป้อนอาหาร เมื่อทานอาหารแล้วลูกหลานต้องทำความสะอาดปัสสาวะ อุจจาระต่างๆ นี้เป็นเหตุให้เกิดความสลดสังเวช เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พวกเราทั้งหลายได้มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า

          ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้แล้ว เราจะรู้ว่าทุกขะปะเรตา พวกเราทั้งหลายมีความทุกข์เป็นเบื้องหน้านี้ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ มันเป็นจริงถ้าเราพิจารณาแล้วมันเป็นจริงมันเห็นชัดเจน เป็นคาถากันความไม่ประมาท ให้เราพิจารณาอยู่เป็นประจำถ้าผู้ใดไม่พิจารณาก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ประมาทมัวเมาแล้วก็ลืมการให้ทาน ลืมการรักษาศีล ลืมการภาวนา ลืมการไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ลืมการแผ่เมตตาเหมือนกับพวกเราทั้งหลายกำลังทำกันอยู่นี้ อันนี้เพราะอะไร เพราะบุคคลเหล่านั้นไม่ทำวัตรเช้า ไม่ทำวัตรเย็น เวลาทำวัตรก็ไม่ใคร่ครวญทำ ไม่ส่งจิตส่งใจในการทำวัตร ไม่ตริตรอง ไม่ส่งใจไปตามบทที่เราสวด ถ้าเราส่งจิตส่งใจพิจารณาใคร่ครวญไปตามบทที่เราสวดนั้น เกิดปัญญา เกิดความเข้าใจ เกิดความสว่างในธรรม

          เพราะในขณะที่เราสวดนั้นจิตใจของเรามันนิ่ง จิตใจของเราวางความคิดเรื่องการงานทั้งปลายทั้งปวง เมื่อจิตนิ่งมันก็เกิดปัญญา แสงแห่งธรรมที่เข้าใจตัวอักขระที่เราสวดนั้นแหละ มันจะปรากฏขึ้นมา อันนี้เป็นอานิสงส์ของการไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ จะเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ ทำให้เรานั้นเข้าใจธรรม

          ท่านกล่าวว่าถ้าผู้ใดทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็นสวดมนต์อยู่เป็นประจำ การสวดมนต์นอกจากจะเป็นผู้แตกฉานในธรรม เข้าใจในธรรม พิจารณาธรรม ได้ลึกซึ้งสุขุมคัมภีรภาพ จำธรรมไม่ผิด จำธรรมไม่คลาดเคลื่อนแล้ว อานิสงส์ของการไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ชาติสุดท้ายท่านกล่าวว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ แตกฉานในอรรถ แตกฉานในธรรม แตกฉานในปฏิภาณ แตกฉานในภาษา อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้ไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ประจำ อานิสงส์มันจะยิ่งใหญ่อย่างนี้

          แล้วพวกเราทั้งหลายนอกจากจะไหว้พระทำวัตรสวดมนต์พิจารณาสังขารแล้วเรายังพิจารณาบทพระสูตรต่างๆ อย่างเช่นวันนี้เราพิจารณาในเรื่องอนุโมทนาคาถา ยถา วาริวหา ปูรา ปริปูเรนฺติ สาครํ เป็นต้น ซึ่งแปลว่า ห้วงน้ำที่เต็มไปด้วยน้ำ ย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มฉันใด คำว่าห้วงน้ำที่เต็มไปด้วยน้ำ ย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มฉันใดนั้น เป็นสำนวนของบาลี คำว่าห้วงน้ำในที่นี้ก็หมายถึง แม่น้ำสายเล็ก สายน้อย สายใหญ่ จะเป็นแม่น้ำโขงก็ดี แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำเจ้าพระยา ย่อมยังสมุทรสาครก็คือ ไหลลงไปสู่ทะเล ย่อมยังทะเลนั้นให้เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำ ไม่รู้จักขาด ไม่รู้จักบก ไม่รู้จักพร่อง

          เพราะอะไร เพราะว่าแม่น้ำน้อยใหญ่ทั้งหลายทั้งปวงนั้นย่อมไหลไปสู่สมุทรสาคร อาจจะเป็นแม่น้ำสายเล็ก สายน้อย ห้วย ระแหง คลอง บึง ต่างๆ ถ้ามันล้นมันก็ไหลลงไปสู่ทะเล ทานที่บุคคลให้แล้วแต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่ผู้ล่วงลับไปแล้วฉันนั้น แต่ก่อนโน้นเราก็อาจจะเกิดความสงสัยว่าการให้ทานที่เราให้ มีการถวายอาหารแก่พระก็ดี ถวายสังฆทานก็ดี เราอุทิศบุญกุศลนั้นจะถึงแก่ญาติเราไหม บางคนบางท่านก็อาจเกิดความสงสัย

          การที่เรารักษาศีลดีๆ วันสุดท้ายก่อนที่เราจะลาศีล เราก็น้อมเอาบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงนั้นแหละ มอบให้แก่ญาติของเรามีบิดามารดา ปู่ตาย่ายาย เจ้ากรรมนายเวร เทวาอารักษ์ทั้งหลายที่ปกปักปกป้องคุ้มครองรักษาให้พ่อแม่ของเราได้อานิสงส์ด้วย ให้เจ้ากรรมนายเวรได้อดโทษแล้วก็อโหสิกรรม ให้เทวดาทั้งหลายที่ปกปักปกป้องคุ้มครองได้อนุโมทนาแล้วก็ได้บุญกุศล เป็นเทวดาผู้มีมเหศักดิ์ มีฤทธิ์ มีบุญบารมีมากขึ้นไปกว่าเดิม เราอุทิศส่วนบุญอย่างนี้ชีวิตของเราก็จะมีความสุข

          แต่ก่อนโน้นเรายังไม่เข้าใจ แต่เมื่อเราสวดมนต์แปลเราก็เข้าใจความหมายที่พระท่านให้พร เข้าใจเจตนาของท่าน แล้วก็เข้าใจในเรื่องผลของทานที่เราอุทิศให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้น สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นได้ถึงจริง อย่างเช่นที่เราได้สวดติโรกุฑฑสูตร ที่ผ่านมา ว่าฝูงเปรตทั้งหลายทั้งปวง บางพวกก็ยืนอยู่ข้างฝาเรือนบ้าง บางพวกก็ยืนอยู่ใต้ต้นไม้บ้าง บางพวกก็ยืนอยู่ทางสามแพร่งบ้าง บางพวกก็ยืนอยู่ทางสี่แพร่งบ้างคอยที่จะอนุโมทนาส่วนบุญกับญาติทั้งหลายที่มาทำบุญ แต่เมื่อญาติลืมไปก็ไม่สามารถที่จะอนุโมทนาส่วนบุญส่วนกุศลเหล่านั้นได้

          เพราะท่านกล่าวว่าเปรตวิสัยนั้นไม่มีกสิกรรม คือไม่มีการทำไร่ไถนา อยู่ในเปรตวิสัยคือในโลกของเปรต วิสัยของเปรตนั้นไม่มีการทำไร่ไถนา ไม่มีการเลี้ยงโค การทำปศุสัตว์ต่างๆ ไม่มี แล้วก็ไม่มีพาณิชกรรม ไม่มีการค้า ไม่มีการขาย ไม่การแลกเปลี่ยนข้าวน้ำซึ่งกันและกัน สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่ไปเกิดในภูมิของเปรต วิสัยของเปรตภูมิของเปรตนั้นเป็นอยู่ด้วยผลบุญ เป็นทานที่ญาติทั้งหลายทั้งปวงให้ ถ้าญาติทั้งหลายทั้งปวงให้เขาก็ได้กิน เขาก็ได้ใช้ แต่ถ้าญาติทั้งหลายทั้งปวงไม่ให้ เขาก็ไม่ได้กินไม่ได้ใช้

          เพราะบุคคลผู้ไปเกิดในภูมิของเปรตนั้นไปเกิดด้วยอานุภาพของบาป ทนทุกข์ทรมานด้วยอานุภาพของบาป เหมือนกับเราได้ฟังเสียงปลุกเสียงปลง ก่อนที่เราจะทำวัตร เมื่อเปรตบางจำพวกต้องกินเสลด ต้องกินหนอง ต้องกินซากศพ ต้องตามกินสัตว์ที่มันตาย ได้รับความทุกข์ทรมาน เกิดความเดือดร้อนก็มาขออ้อนวอนพระสารีบุตร พระสารีบุตรจึงได้เข้านิโรธสมาบัติ จึงปรึกษาพระโมคคัลลานะ ได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ นี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เปรตนั้นได้กลับกลายทำให้เปรตนั้นอิ่มหนำสำราญมีร่างกายเปล่งปลั่งเหมือนกับทองคำ มีเสื้ออาภรณ์ ภูษาอันเป็นทิพย์ มีวิมานอันเป็นทิพย์ มีอารมณ์ที่เป็นทิพย์ต่างๆ นี้มันเกิดขึ้นมาเพราะอานุภาพของบุญ เพราะอานุภาพของการอุทิศให้ เพราะอานุภาพของการกรวดน้ำ

          บางคนบางท่านว่ากรวดน้ำ ไม่กรวดก็ได้เราทำบุญแล้วบุญก็เป็นของเรา เราทำบุญแล้วก็เป็นบุญของเราจริงอยู่ แต่บุญนั้นไม่ขยาย บุญนั้นไม่แผ่ไพศาล บุญนั้นไม่กว้างขวาง บุญนั้นไม่เป็นสาธารณบุญ บุญที่แผ่ไปโดยไม่สิ้นสุด บุญนั้นไม่เป็นนิจบุญ คือไม่เป็นบุญที่เนืองนิตย์ แต่ถ้าผู้ใดมีใจกว้าง เราแผ่บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง การแผ่บุญให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เราแผ่น้อยเราก็ได้บุญเพิ่มน้อย เราแผ่มากเราก็ได้บุญมาก เราแผ่ไปโดยไม่เจาะจงทั้งหลายทั้งปวงทั้งหมดทั้งสิ้น เราก็ยิ่งได้บุญทั้งหลายทั้งปวงทั้งหมดทั้งสิ้น ยิ่งแผ่ไปเท่าไรเราก็ได้บุญมากเท่านั้น เราแผ่ไปในอำเภออู่ทอง ก็ได้บุญเท่ากับอำเภออู่ทอง เราแผ่ไปในจังหวัดสุพรรณบุรีเราก็ได้บุญเท่ากับจังหวัดสุพรรณบุรี เราแผ่ไปทั่วประเทศไทยเราก็ได้บุญมากเท่ากับประเทศไทย แต่ถ้าเราแผ่ไปทั่วโลกเราก็ได้บุญทั่วโลก แผ่ไปทั่วจักรวาลเราก็ได้บุญไปครอบคลุมจักรวาล เพราะว่าเราให้สุขแก่ท่านสุขนั้นถึงตัว ให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัวเป็นปัตติทานมัยด้วยการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บุคคลอื่น

          เพราะฉะนั้นเวลาแผ่เมตตาท่านจึงให้เราแผ่ว่า อะหัง สุขิโต โหมิ เราก็ต้องแผ่ให้ตนเองเสียก่อนแยกออกกันเป็นลำดับ แล้วเราก็มาแผ่ สัพเพ สัตตา ว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เราก็แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง คือประการแรกนั้นเราตั้งสติดีๆ แล้วก็แผ่ให้ตนเองได้รับความสุข ได้รับความร่มเย็นเสียก่อน แล้วเราก็ตั้งสติดีๆ แล้วก็แผ่ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดความสุข เกิดความสบายดี นี้พุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ในวิสุทธิมรรคว่าหลักการแผ่เมตตานั้น แผ่ให้ตนเองเสียก่อนแล้วจึงแผ่ไปให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง

          นอกจากนั้นบุคคลผู้ฉลาดก็บัญญัติขึ้นมา แต่งขึ้นมาคือแผ่ในบุคคลผู้ที่เราจำเพาะ เช่น บิดา มารดา ที่เราเจาะจงให้ท่าน ไม่ใช่ว่าบิดามารดาเฉพาะในปัจจุบันนี้ แต่เป็นบิดามารดาโน้นเคยเกิดเป็นพ่อเป็นแม่กัน เหมือนกับนางเปรตที่เป็นแม่พระสารีบุตร ไม่ใช่ว่าเป็นแม่พระสารีบุตรในชาตินี้ แต่เคยเป็นแม่พระสารีบุตรโน้นในชาติก่อนๆ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าว่า กกุสันโธ โกนาคมโน ตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าว่า กัสสปะ โน้น เป็นแม่ของพระสารีบุตรในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ โน้น แต่มาขอวิงวอนเพราะเกิดความทุกข์ทรมานเหลือเกิน นี้ที่เราแผ่เมตตาให้พ่อให้แม่ ไม่ใช่ว่าพ่อแม่เฉพาะชาตินี้เท่านั้น แต่เป็นพ่อแม่เคยอยู่ในภพก่อนๆ โน้น

          อย่างเราเคยเป็นพ่อแม่นี้แหละ เราเคยเป็นพ่อแม่แล้วเราก็ตายไป แต่ลูกในทุกวันนี้ไม่คิดถึงพ่อแม่ มัวเมาในการทำมาหากิน มัวเมาในการทำงานต่างๆ ลืมคิดถึงพ่อแม่ พ่อแม่ตายไปเป็นเปรตหรือพวกเราตายไปเป็นเปรต เราก็คิดมันลำบากเหลือเกิน ลูกชาตินี้ ลูกคนนี้ไม่สนใจพ่อแม่ เราก็ต้องหาที่พึ่งเราก็ต้องมองหาว่าลูกคนไหนหนอกำลังประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ ลูกคนไหนหนอที่กำลังทำทานอยู่ ลูกคนไหนหนอกำลังรักษาศีลอยู่ กำลังอุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดาอยู่ พอที่พ่อแม่จะพึ่งได้ ก็ต้องไปปรากฏต้องไปบอกต้องไปขอกับบุคคลนั้นจึงจะได้รับอานิสงส์ของบุญ จึงจะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง

          แต่มาขอกับลูกที่ไม่รู้จักคุณของพ่อของแม่ ถึงเขาจะเป็นลูกของเราในปัจจุบัน เราจะสร้างบ้านให้แก่เขา สร้างเรือนให้แก่เขา มอบที่ไร่ที่นา มอบเงินมอบทองให้แก่เขา แต่จิตของเขาไม่เข้าถึงความสงบ ไม่มีการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เราจะมาเฝ้าจนเขาตายไปเราก็ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าเขาไม่ได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เรา ก็ต้องไปหาลูกที่เขาคิดถึงพ่อถึงแม่

          แม่ของพระสารีบุตรก็เหมือนกัน ก็ต้องคิดว่าลูกของตนเองนั้นเป็นถึงอัครสาวก มีทิพย์จักขุมีตาทิพย์ ก็คงจะรู้ว่าแม่มาขอส่วนบุญ ก็คงจะอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แม่ นี้ในลักษณะของการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เราจึงมาเจาะจงเฉพาะผู้เป็นบิดามารดา ปู่ ตา ย่า ยาย ญาติสนิท มิตรสหายนั้นเป็นของที่ควรจะเนื่องด้วยกัน เหมือนกับพวกเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร กินอาหารของวัด กินของสงฆ์ตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่าว่า กกุสันโธ เมื่อกินของสงฆ์แล้วก็เป็นเปรต ขณะที่กินอาหารนั้นไม่ใช่ว่าเป็นเด็กกินอาหารอย่างเดียว บางภพบางชาติไม่ใช่ว่าเป็นคนมากินอาหารของสงฆ์อย่างเดียว บางครั้งเกิดเป็นกา เกิดเป็นนกแล้วก็ไปกินผลไม้ของวัด ไปขโมยข้าวแห้งของหลวงตาที่ตากไว้อะไรทำนองนี้ ก็เป็นการกินของสงฆ์เหมือนกัน

          ไม่ใช่ว่าเป็นพระอย่างเดียว เป็นญาติเป็นโยมมาเอาของสงฆ์ได้อย่างเดียว แม้แต่พวกนกหนูปูปีกมันก็ทำบาปโดยที่ไม่รู้รู้ตัวได้เหมือนกัน ก็เกิดเป็นเปรตตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระนามว่า กกุสันโธ จนแผ่นดินหนาขึ้น ๑๖ กิโล คิดดูซิ พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งสิ้นไปพระพุทธเจ้ากกุสันโธสิ้นไปแผ่นดินหนาขึ้น ๑ โยชน์ คือ ๑๖ กิโล แล้วก็มาถึงพระพุทธเจ้าพระนามว่า โกนาคมโน แผ่นดินก็หนาขึ้นไปอีก ๑ โยชน์ คือ ๑๖ กิโล พระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสโป แผ่นดินก็หนาขึ้นอีก ๑ โยชน์ คือ ๑๖ กิโล แผ่นดินหนาขึ้นเป็น ๔๘ กิโล คิดดูซิ ทนทุกข์ทรมานจนแผ่นดินหนาขึ้นถึงเพียงนั้น

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า โคตโม พระโคดมของเรานี้แหละมาอุบัติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วพระเจ้าพิมพิสารก็ได้ถวายพระเวฬุวัน สร้างวัดแห่งแรกให้แก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นวัดแรกในพุทธศาสนา เปรตที่รอคอยนมนาน รอมาตั้งนาน รอจนแผ่นดินหนาขึ้น ๔๘ กิโล คิดดูซิจะทุกข์ทรมานขนาดไหน เราอดน้ำได้พอวันหนึ่งไหม เราอดน้ำได้วันเดียวนี้ก็จะตายแล้ว นี้เปรตอดน้ำจนแผ่นดินหนาขึ้นตั้ง ๔๘ กิโลจะเป็นทุกข์ขนาดไหน ท่านกล่าวว่าท้องของเปรตนั้นเป็นเหมือนกับหลุมถ่านเพลิง เพราะอะไร เพราะไม่มีน้ำหยดลงไปมันหิว

          เมื่อมันหิวแล้วท้องลุกเป็นไฟไหม้ท้องไหม้ไส้ร้องครวญครางอยู่นั้น เพราะอะไร เพราะบาปกรรมที่ไปกินของสงฆ์ เป็นอย่างนั้น ก็ได้รับความทุกข์ทรมานแล้วก็ต้องทุกข์อยู่อย่างนั้นแหละ จนแผ่นดินหนาขึ้น ๔๘ กิโล พระพุทธเจ้าสิ้นไป ๓ พระองค์ คิดดูซิว่าจะทรมานขนาดไหน เราอดน้ำแค่วันเดียวก็จะตายแล้ว เราอดอาหารก็เหมือนกัน บางครั้งทานข้าวน้อยๆ ข้าวไม่ถูกใจก็เกิดโมโหโทโสขึ้นมา กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ เจ้าทอง นิทานภาคอิสานเรื่องจริงที่ปรากฏที่บ้านตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ไอ้ทองนั้นมันฆ่าพ่อแม่เพราะความหิว เห็นกล่องข้าวน้อยมันน้อยคิดว่ามันจะกินไม่อิ่มก็ฆ่าแม่ นี่ความหิวมันนิดหนึ่ง แต่เปรตนั้นหิวตั้งพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์สิ้นไปแผ่นดินหนาขึ้นไป ๔๘ กิโล คิดดูซิว่ามันจะทุกข์ขนาดไหน เพราะฉะนั้นความทุกข์ของเปรตเหล่านี้จึงประมาณไม่ได้ เป็นความทุกข์ที่มากมายมหาศาล เพราะอะไร เพราะกินของสงฆ์ ก็เลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระเจ้าพิมพิสารนั้นไม่ได้อุทิศส่วนบุญส่วนกุศล

          เปรตที่รอคอยอนุโมทนานั้นแหละ ไม่ใช่ว่าเปรตนั้นไม่รอ เปรตนั้นรอพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มา เปรตนั้นก็เข้าไปถาม ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่า สมัยของพระพุทธเจ้าพระพระนามว่ากกุสันโธ เปรตก็เข้าไปถามว่า เมื่อไหร่หนอข้าพเจ้าทั้งหลายทั้งปวงจะพ้นไปจากบาป พ้นไปจากความทุกข์นี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันโธก็บอกว่า ดูก่อนเปรต เจ้าอย่าถามเราเลย รอพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ เกิดขึ้นมาเสียก่อนค่อยถามพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น พุทธเจ้าพระองค์นั้นจะรู้

          เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะทรงอุบัติขึ้น ก็ถามอีก พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็บอกว่า ดูก่อนเปรต อย่าถามเราเลย รอให้พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะอุบัติขึ้นมาเสียก่อน ค่อยไปถามพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น รอจนแผ่นดินหนาขึ้นอีกเป็น ๑ โยชน์ เป็น ๑๖ กิโลนั้นแหละ พระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะจึงมาปรากฏ ก็เข้าไปถามอีก พุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะก็บอกว่า ดูก่อนเปรตทั้งหลาย ต่อเมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ปรากฏขึ้นมา ญาติของท่านทั้งหลายได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินชื่อว่าพิมพิสาร ญาติของท่านจะได้ถวายวัด สร้างวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ได้ถวายข้าว ได้ถวายน้ำ ได้ถวายผ้า ท่านทั้งหลายจะได้อนุโมทนาในญาติของท่านคือพระเจ้าพิมพิสารที่อุทิศให้ท่าน

          สมัยพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม เปรตทั้งหลายทั้งปวงนั้นมีจิตใจชื่นบานเหมือนกับต้นไม้ที่ไม่มีน้ำรดนั้นมาเป็นหลายๆ ปี แล้วได้ถูกน้ำนั้นรดลงไป ทำใจให้ชุ่มชื่น ทำใจให้เบิกบานดีอกดีใจ ตั้งหน้าตั้งตารอคอยที่พระพุทธเจ้าจะมาโปรด จะมาตรัสรู้ การรอคอยของเปรตนั้นจนแผ่นดินหนาขึ้น ๑๖ กิโล หรือว่าหนาขึ้น ๑ โยชน์ แล้วพระพุทธเจ้าของเราก็มาอุบัติตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระเจ้าพิมพิสารมาถวายพระเวฬุวัน แต่พระเจ้าพิมพิสารนั้นลืมอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล คิดดูซิว่าเปรตนั้นจะเสียอกเสียใจมากมายขนาดไหน ก็มาส่งเสียงร้องคร่ำครวญ ร้องพิลึกสะพรึงกลัว เป็นเสียงที่น่าหวาดกลัวทำให้พระเจ้าพิมพิสารนั้นต้องตกพระทัย คิดว่าจะเกิดอันตรายขึ้นแก่ชีวิต จะเกิดอันตรายขึ้นแก่ความเป็นพระราชา จะเกิดอันตรายขึ้นแก่บ้านแก่เมือง ก็ไปปรึกษาโหร ปรึกษาพวกหมอ พวกอำมาตย์ พวกเสนา พวกปุโรหิตต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงก็ให้ความว่า ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ปุโรหิตบางท่านก็บอกว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของพระองค์ ปุโรหิตบางท่านก็บอกว่าจะเป็นอันตรายต่อราชสมบัติ มีพระราชามายึดเอาราชสมบัติของพระองค์ ปุโรหิตบางท่านก็ว่าจะเป็นอันตรายต่อพสกนิกรไพร่ฟ้าประชาชน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1076


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 87.0.4280.88 Chrome 87.0.4280.88


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 22 ธันวาคม 2563 14:14:10 »

.

การอุทิศส่วนบุญ

         แต่พระเจ้าพิมพิสารนั้นเป็นพระโสดาบัน ก็เข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “ดูก่อนมหาบพิตร ไม่ได้เป็นอันตรายต่อชีวิตของพระองค์เลย ไม่ได้เป็นอันตรายต่อราชสมบัติของพระองค์เลย ไม่ได้เป็นอันตรายต่อไพร่ฟ้าประชาชน ต่อพสกนิกร แต่เสียงที่พระองค์ได้ยินนั้นเป็นเสียงของญาติของพระองค์เองที่มาขอส่วนบุญ ที่ติดตามมาขอแล้วตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า กกุสันโธ โกนาคมโน กัสสโป โน่นแหละ ตั้งแต่พระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ โน้น” แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “เมื่อพระองค์ทรงถวายพระเวฬุวัน พระองค์ไม่ทรงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เปรตทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เปรตทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นมาแสดงตนเพื่อที่จะขอส่วนบุญ”

          แล้วพระเจ้าพิมพิสารก็เลยกราบทูลถามว่า “ทำไมเปรตเหล่านั้นจึงต้องเป็นผู้ที่เปลือยกาย แล้วทำอย่างไรจึงจะอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เปรตเหล่านั้นได้” ก็เลยนิมนต์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุมาฉันตอนเช้า เมื่อฉันแล้วก็อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เปรตเหล่านั้น เมื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเหล่านั้น เปรตทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นก็ได้ข้าวได้น้ำอุดมสมบูรณ์ ก็มีร่างกายเปล่งปลั่ง มีผิวพรรณเหมือนกับทองคำ มีน้ำอุดมสมบูรณ์ แต่เปรตเหล่านั้นเปลือยกาย พระเจ้าพิมพิสารก็เลยกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ทำไมเปรตเหล่านั้นจึงเปลือยกาย”พระพุทธเจ้าก็บอกว่า “พระองค์ไม่ได้ถวายผ้า เปรตเหล่านั้นไม่เคยถวายไตรจีวรให้แก่พระ ไม่เคยสร้าง ไม่เคยถวายผ้าอย่างใดอย่างหนึ่งแก่พระภิกษุเลย อานิสงส์คืออาภรณ์อันเป็นทิพย์ก็เลยไม่ปรากฏขึ้นมา ไม่เคยถวายผ้าสบง ผ้าอาบน้ำ ผ้าจีวร ผ้าอังสะต่างๆ ก็เลยเป็นคนเปลือย”

          พระเจ้าพิมพิสารก็เลยนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉันอีกแล้วก็ถวายไตรจีวร ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อาภรณ์อันเป็นทิพย์ปรากฏขึ้นแก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง ด้วยการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลของพระเจ้าพิมพิสาร นี้พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสให้พวกเราทั้งหลายเห็นชัดว่าการทำบุญทำทาน เราอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลนั้นมันมีผลจริง การที่เราแผ่เมตตานั้นก็เป็นการอุทิศ เป็นการเจาะจง เป็นการให้ เป็นการบอกให้มารับ เป็นการให้มาอนุโมทนาเอา อันนี้เป็นสิ่งที่ตัดเวรเป็นสิ่งที่ตัดกรรมเป็นสิ่งที่ระงับเวรภัยทั้งหลายทั้งปวงได้ไวที่สุด

          เหมือนกับคนสองคน นาย ก กับนาย ข ทะเลาะกัน ตีกัน ด่ากันทุกวันๆ วันหนึ่งเราทราบว่านาย ก เป็นคนดี นาย ก เข้าวัดไหว้พระทำวัตรสวดมนต์แผ่เมตตาเป็นประจำ ทุกครั้งที่เดินผ่านกันจะทะเลาะกัน จะด่ากัน แต่เมื่อรู้ว่านาย ก เข้าวัดทำวัตรสวดมนต์แผ่เมตตา เป็นคนดีมีศีลมีธรรม เขาทานอาหารเจ เขาไม่กินเหล้าเหมือนแต่ก่อน เขาเป็นคนดี เป็นคนสุจริต นาย ข ผู้เป็นคู่อาฆาตรู้แล้วก็เกิดความดีใจด้วย ก็ไม่อยากจะเป็นศัตรู เดินทางผ่านกัน นาย ก แต่ก่อนเคยชวนทะเลาะก็เฉย มีแต่แผ่เมตตาไปให้นาย ข นาย ข รู้ว่าเขาแผ่เมตตาให้แก่ตน นาย ข ก็ต้องใจอ่อน

          แต่ก่อนโน้นเราเคยฆ่าเป็ด เราเคยฆ่าไก่ เคยปาดคอเป็ดปาดคอไก่เคยทุบหัวปลาเคยกินหอยกินกุ้งต่างๆ เขาผูกอาฆาตเรา แต่เมื่อเขาแผ่เมตตาให้เราทุกวันๆ กุ้งน้อยเนืองนอง จงตั้งใจปอง รับเอาส่วนบุญ สัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ ตัวเรานี้ไซร้ ได้กระทำทารุณ รับเอาส่วนบุญ อย่าเป็นเวรกรรม เราสวดอยู่เป็นประจำ เราอุทิศให้สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมารับเอาส่วนบุญส่วนกุศลนี้อยู่เป็นประจำ ถ้าเขาได้มาอนุโมทนาเอาแล้วถ้าเป็นเราผู้กำลังจองล้างจองผลาญอยู่ เราก็ให้เป็นอโหสิกรรมไป คล้ายกับเราจะไม่ไปผูกอาฆาตกับคนเหล่านั้นอีก อันนี้เหมือนกันเราแผ่เมตตาทุกวันๆ จึงเป็นการแก้กรรมที่ดีที่สุด การปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่ว่าเราจะไปแก้กรรมด้วยการสะเดาะเคราะห์ ไปรดน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก ไปเสกคาถาอาคม อันนั้นเป็นกุศโลบายของพระครูบาอาจารย์

          แต่การแก้กรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น ตามหลักของพุทธศาสนาจริงๆ แล้ว การแก้กรรมนั้นคือการทำความดีให้เกิดขึ้นมากที่สุด ถ้าความดีเกิดขึ้นมากที่สุดเราก็อุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลอื่น ถ้าเราทำความดีจนถึงขั้นปีติ จนถึงขั้นปัสสัทธิ จนถึงขั้นสมาธิ จนถึงขั้นวิปัสสนา จนถึงขั้นมรรค จนถึงขั้นผล จนถึงขั้นพระนิพพานมันแก้กรรมของมันเอง กรรมไหนที่พอแก้ได้มันก็จะแก้ไป กรรมไหนพอที่จะเป็นอโหสิกรรมได้ อโหสิกรรมไป กรรมไหนที่แก้ไม่ได้มันก็แก้ไม่ได้

          เหมือนกับพระพุทธเจ้าของเรานั้นแหละ สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าแล้วเคยกวนน้ำขุ่นให้วัวกิน วัวแม่ลูกอ่อน วัวทั้งหลายทั้งปวงมันจะไปกินน้ำขุ่น ซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นคนเลี้ยงโค ในสมัยนั้นก็เกรงว่าโคนั้นกินน้ำขุ่นนั้นสุขภาพจะไม่ดี จะพยายามไล่โคนั้นไปกินบ่อน้ำที่มันใสมีเจตนาดีแท้ๆ แต่ด้วยความกระหายของโคนั้น ก็เลยทำให้โคนั้นเกิดความหิวเกิดความกระหาย แม้พระองค์ก็ได้เจอน้ำขุ่นเหมือนกัน อันนี้เรียกว่าแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงแก้กรรมไม่ได้ กรรมนั้นก็ยังคงให้ผลอยู่ทั้งๆ ที่พระองค์มีเจตนาที่ดีอยากให้โคนั้นกินน้ำใส แต่กรรมนั้นก็ไม่สามารถทำใจของพระองค์ให้ขุ่นมัวได้ เพราะอะไร เพราะใจของพระองค์พ้นแล้ว ด้วยอำนาจของมรรคของผล ของพระนิพพาน

          เพราะฉะนั้นการแก้กรรมนั้นกรรมบางสิ่งบางอย่างก็แก้ได้ บางสิ่งบางอย่างก็เป็นอโหสิกรรมไป บางสิ่งบางอย่างก็ไม่มีโอกาสให้ผลเพราะเราได้นิพพานก่อนถึงนิพพานก่อนก็เป็นอโหสิกรรมไป บางกรรมที่เราทำไว้ด้วยกุศลแรงด้วยเจตนาแรงมันก็อาจจะให้ผลในภพใกล้ๆ ในเวลาอันใกล้ หรือว่าในภพสืบๆ ต่อมานี้มันเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น เหมือนกับพระเทวทัตที่กลิ้นก้อนหินใส่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนสะเก็ดหินนั้นกระเด็นไปถูกพระบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงกับห้อเลือดขึ้นมา สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะบาปกรรมที่พระพุทธเจ้าไปทำไว้แต่ภพก่อนชาติก่อน

          ท่านกล่าวว่าพระพุทธเจ้าของเรานั้นมีน้องชายอยู่คนหนึ่ง คือมีเศรษฐีอยู่สองคนพระโพธิสัตว์ถือกำเนิดเป็นน้องชายเป็นเศรษฐีหนุ่มด้วยกัน พี่ชายก็มีเมียแล้วเมียของพี่ชายก็ตายไปทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงก็ตกเป็นของพี่ชาย เมื่อทรัพย์สมบัติทั้งหลายทั้งปวงตกเป็นของพี่ชายแล้วพี่ชายก็เบื่อหน่ายในฆราวาสก็จะออกบวช เมื่อออกบวชแล้วก็คิดว่าสมบัตินั้นก็ต้องตกเป็นของลูกชายของพี่ชาย ก็เอาลูกชายของพี่ชายนั้นแหละไปโยนลงเหวแล้วก็เอาก้อนหินทุ่มลงไปใส่ลูกชายของพี่ชาย บาปกรรมเหล่านั้นก็ทำให้พระโพธิสัตว์ตกระกำลำบาก ตกนรกหมกไหม้มาสิ้นกรรม เศษกรรมก็ต้องถูกเขาทุบอยู่อย่างนั้นเป็นห้าร้อยชาติ ตายให้ถูกเขาทุบอยู่อย่างนั้นจนบาปกรรมมันสิ้นกรรมจนได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็ยังถูกเศษกรรมนั้นตามรังควาญอยู่ เป็นถึงพระพุทธเจ้า

          พระพุทธเจ้านั้นไม่มีใครสามารถฆ่าให้ตายได้ จะเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ดี จะเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นเทวดาก็ดีไม่มีใครสามารถทำอันตรายให้พระพุทธเจ้าถึงซึ่งความตายได้ เพราะว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยบารมี แต่พระองค์ทรงเสวยกรรมที่พระองค์ทรงทำไว้ คือถูกสะเก็ดหินนั้นแหละ เพราะฉะนั้นแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ถูกสะเก็ดหินเป็นเพราะอำนาจของกรรม

          เพราะฉะนั้นกรรมบางอย่างไม่ใช่ว่าเราจะแก้ได้ ทำไมหนอโยมทำไมถึงปวดขามาก ทำไมหนอโยมทำไมจึงปวดหลังมาก ทำไมหนอโยมจึงตาไม่ดี ปวดตาเหลือเกิน ตาฝ้าฟางเหลือเกินอย่าไปสงสัยอะไรเลยสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นมาจากเหตุ เกิดขึ้นมาจากกรรมที่พวกเราทั้งหลายทำไว้ สิ่งที่เราทั้งหลายจะแก้สิ่งเหล่านั้นได้ก็คือเราต้องแก้ด้วยบุญ ไม่มีอะไรที่ไม่สามารถที่จะแก้ได้ถ้าเรามีบุญพร้อม มีบุญสมบูรณ์ มีบุญเต็มที่ก็สามารถที่จะแก้ได้ เพราะว่าบุญนั้นเป็นอภินิหาร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถช่วยให้คนที่จะรอดพ้นจากภัยพาลทั้งหลายทั้งปวงได้

          เหมือนกับเปรตแม่ของพระสารีบุตรรอดพ้นจากความทุกข์ของเปรต เพราะอะไร เพราะบุญ เหมือนกับเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสารรอดพ้นจากความทุกข์ยากเพราะอะไร เพราะบุญ บุญให้สัตว์ทั้งหลายนั้นพ้นไปจากเวรจากภัยก็เพราะอะไร ก็เพราะบุญ หรือว่าประสบความสำเร็จต่างๆ ก็เพราะบุญ บุญเล็กบุญน้อยบุญเอาข้าวให้ปูก็ดี ให้ปลาก็ดี ให้เป็ด ให้ไก่ ก็ถือว่าบุญมากไม่ใช่ว่าบุญน้อยนะ แต่ว่าเปรียบเทียบกับให้ทานกับพระภิกษุนั้นบุญน้อยกว่า แต่ให้สัตว์เดรัจฉานนั้นก็มีบุญมาก

          ท่านกล่าวว่าในสมัยครั้งพุทธกาลมีบุรุษคนหนึ่งมีภรรยาสวย ส่วนพระเจ้าปเสนธิโกศลนี้ก็อยากได้ภรรยาของเขาก็วางแผนที่จะฆ่าสามีเขาเพื่อที่จะเป็นภรรยา ก็สั่งให้บุรุษคนนั้นแหละไปเอาดินที่มีสีอรุณมาให้ ถ้าเอามาไม่ทันในเวลาปิดประตูเมืองก็จะประหาร อันนี้วางแผนไว้เพื่อที่จะฆ่าเอาภรรยาของเขา เพราะว่าภรรยาของเขานั้นสวยเหลือเกิน ใครมองเห็นแล้วก็ต้องเป็นบ้าหลงใหลเคลิบเคลิ้ม บุรุษคนนั้นก็รีบให้ภรรยาหุงต้มตั้งแต่ยังไม่สว่าง เมื่อสว่างแล้วหุงต้มเสร็จแล้วก็เทข้าวต้มใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วก็ปิดไว้ ข้าวต้มยังไม่สุกแต่เทใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วก็เอาฝาปิดไว้ ประตูเมืองเปิดเมื่อไหร่ก็ออกจากประตูเมือง ขณะที่วิ่งไปข้าวต้มมันก็สุกไปในตัว พอไปถึงสระแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่ของพญานาค

          พญานาคอยู่ในนั้นถ้าใครลงไปเอาดอกบัวพญานาคต้องทำร้ายบุคคลนั้นก็ต้องถึงซึ่งความตาย แต่บุรุษนั้นรู้ว่าถ้าลงไปเอาฝักบัว เอาดินสีอรุณขึ้นมาเราต้องตายแน่นอน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรก็มีข้าวต้มที่ภรรยาให้นี้แหละ ก็เอาข้าวต้มนั้นสาดลงไปในน้ำบอกว่า บุญกุศลที่ข้าพเจ้าเอาข้าวต้มนี้ที่สาดลงไปในน้ำให้ปลากิน ปลาทั้งหลายทั้งปวงได้กิน ได้อิ่ม ได้สบายฉันใดขอให้บุญกุศลทั้งหลายทั้งปวงที่เอาข้าวให้ปลานี้แหละ จงสำเร็จแก่พญานาค ขอพญานาคจงอนุโมทนาส่วนบุญนั้น เมื่ออนุโมทนาส่วนบุญแล้วขอพญานาคได้เอาดินมาให้ข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้ามีความต้องการอยากได้ดินสีอรุณ พญานาคอนุโมทนาส่วนบุญ เมื่ออนุโมทนาส่วนบุญแล้วก็เอาดินสีอรุณนั้นมาให้

          คิดดูว่าการถวายอาหารให้พระนั้นมีบุญมากก็จริงอยู่ แต่ว่าการเอาข้าวให้เป็ด ให้ไก่ก็ดี ให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เขาลำบาก แม้แต่เทวดา แม้แต่พญานาคก็อนุโมทนาส่วนบุญส่วนกุศลนี้ เพราะฉะนั้นการให้ทานนั้นเราไม่ควรประมาท อย่าคิดว่าพระรูปนี้เคร่ง พระรูปนี้ไม่เคร่ง ก็ถือว่าเป็นพระเราอุทิศเจาะจงให้แก่สงฆ์ หรือคิดว่าท่านเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เราตั้งใจไว้ อันนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้บุญมาก แต่ท่านบริสุทธิ์ ท่านเป็นพระอรหันต์ แต่ผู้ที่ถวายทานสงสัยว่าท่านคงจะไม่มีศีลบริสุทธิ์ คงจะไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอะไร อันนี้บุญมันก็น้อยแล้ว เพราะว่าวิจิกิจฉา ความสงสัยมันเกิดขึ้นมาทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้วในลักษณะอย่างนี้ก็มี

          เพราะฉะนั้นการทำบุญก็ขอให้เรานั้นเจาะจงแก่สงฆ์ ท่านจะบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์ ท่านจะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระอริยบุคคลหรือไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคลต่างๆ เราก็ทำไปนี้ก็ได้บุญมากบุญมหาศาล เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็ได้เข้าใจในเรื่องการแผ่เมตตา ในเรื่องการทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น ในเรื่องการทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้อื่น วันนี้อาตมภาพได้กล่าวธรรมก็เห็นว่าพอสมควรเวลา ๑ ชั่วโมงก็ขอให้ขยับขยายคลายอิริยาบถกำหนดออกเพื่อเตรียมตัวแผ่เมตตา.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อุปาทาน โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 0 1335 กระทู้ล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2563 15:52:49
โดย Maintenence
ปกิณณกธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1209 กระทู้ล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2563 13:55:19
โดย Maintenence
ศีล สมาธิ ปัญญา โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1171 กระทู้ล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2563 10:03:25
โดย Maintenence
ความหมายของธรรมะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1299 กระทู้ล่าสุด 02 ธันวาคม 2563 14:20:54
โดย Maintenence
โอวาทปาฏิโมกข์ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1457 กระทู้ล่าสุด 14 ธันวาคม 2563 14:29:31
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.735 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 03 กันยายน 2567 07:10:23