[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 19:54:46 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ความในใจของ “หม่อมคัทริน” ถึง “หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส”  (อ่าน 1381 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2325


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 18 มกราคม 2564 16:05:04 »


หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส และหม่อมคัทริน

ความในใจของ “หม่อมคัทริน” ถึง “หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส”
หลังชีวิตสมรสล่มสลาย

ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2557
ผู้เขียน - ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย
เผยแพร่ - วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2563

“…ความทุกข์ทรมานที่ฉันได้รับจากเด็กสาวคนนี้ได้หวนกลับมารบกวนจิตใจฉันอีกครั้ง ฉันเกิดความรู้สึกสองด้านที่ขัดแย้งกัน ด้านหนึ่งก็สงสารที่เธอต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้าย อีกด้านก็รู้สึกสะใจที่ในที่สุดพระเจ้าก็ลงโทษความเห็นแก่ตัวของเธอ…”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในสมุดบันทึกรายวันของหม่อมคัทริน ชายาชาวรัสเซียของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ที่เลิกรากันไปแล้ว คำว่า “เด็กสาวคนนี้” หม่อมคัทรินหมายถึงหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส ซึ่งเธอปลงใจเชื่อแน่ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชีวิตสมรสของเธอและสมเด็จเจ้าฟ้าชายต้องล่มสลายลง

ชีวิตสมรสของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ กับหม่อมคัทริน ซึ่งพบรักและอภิเษกสมรสกันที่รัสเซีย ขณะเสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารบกที่ประเทศนั้น ทั้งคู่เริ่มต้นชีวิตสมรสด้วยการต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งความแตกต่างของเชื้อชาติ วัฒนธรรม และแม้แต่ภูมิอากาศ อุปสรรคที่สำคัญที่สุดของทั้งคู่ขณะนั้นคือ ความไม่พอพระราชหฤทัยและการไม่ยอมรับสะใภ้ต่างชาติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ แต่ทั้งคู่ก็ได้ใช้ความรักอันยิ่งใหญ่ล้นเหลือ ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวงจนสำเร็จ



หม่อมคัทริน พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรส
และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

หม่อมคัทรินสามารถปรับตัวปรับใจให้เข้ากับความแตกต่างต่าง ๆ จนเป็นที่ยอมรับของพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินีนาถตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์แห่งสยาม ประกอบกับการให้กำเนิดพระโอรสคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ อันเป็นเสมือนโซ่ทองคล้องพระทัยทุกพระองค์ ทั้งคู่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่สมรสที่มั่นคงซื่อสัตย์รักเดียวใจเดียว แต่โดยที่ไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน ชีวิตสมรสของทั้งคู่ต้องมีอันสิ้นสุดลงหลังจากที่ครองรักกันยาวนานถึง 13 ปี

สาเหตุของการล่มสลายของชีวิตสมรสครั้งนั้นน่าจะมีหลายสาเหตุ สาเหตุลึก ๆ ที่ไม่ใคร่มีผู้ใดนึกถึงเพราะเป็นสาเหตุที่ค่อย ๆ เกิด แม้คู่สมรสเองก็ไม่อาจรู้ได้ว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใดนานเท่าใดแล้ว เป็นเสมือนสนิมที่ค่อย ๆ กร่อนกินความรักทีละน้อย นั่นคือ ความเบื่อหน่าย เมื่อแรกเริ่มชีวิตคู่ สมเด็จเจ้าฟ้าประทานความรักและความเอาพระทัยใส่พระชายาทั้งด้วยความสนิทเสน่หาและพระเมตตาเป็นพิเศษ อันเนื่องมาแต่มีพระดำริเห็นใจพระชายาที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเมืองมาโดยลำพังปราศจากญาติมิตร ต้องเผชิญกับความแตกต่างจากสิ่งที่เคยชิน จึงน่าจะมีทั้งความทุกข์ความว้าเหว่หงอยเหงา

ในส่วนพระชายาซึ่งมีแนวคิดวิถีการดำเนินชีวิตตามขนบวัฒนธรรมของชาวตะวันตก และใช้แนวคิดนี้เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตคู่ คือสามีจะต้องปฏิบัติต่อภรรยาเช่นเดียวกับการปฏิบัติตัวของสามีชาวตะวันตก คือจะต้องดำเนินชีวิตเคียงคู่กันในทุก ๆ ด้าน เช่น รับประทานอาหารร่วมกัน ดื่มน้ำชาเวลาบ่ายร่วมกัน ขับรถเที่ยวหรือไปเที่ยวพักผ่อนร่วมกัน ออกงานสังคมเคียงคู่กัน ปรึกษาหารือในเรื่องเกี่ยวกับอนาคตร่วมกัน และประการสำคัญคือ ซื่อสัตย์จริงใจไม่นอกใจกัน ตลอดระยะเวลา 13 ปี สมเด็จเจ้าฟ้าชายชาวสยามได้ปฏิบัติพระองค์ตามแนวทางดังกล่าว

เมื่อความรักลดน้อยลงสิ่งที่เหลือคือหน้าที่ความผูกพันและความเคยชิน สมเด็จเจ้าฟ้าชายทรงล่วงรู้ความรู้สึกที่แท้จริงของพระองค์ ครั้งที่หม่อมคัทรินขอประทานพระอนุญาตกลับไปพักผ่อนและเยี่ยมญาติพี่น้องที่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอน ทำให้พระสวามีต้องประทับอยู่กับพระโอรสตามลำพังที่วังปารุสกวัน หลังจากที่ทรงดำเนินพระชนมชีพตามแบบสามีภรรยาชาวยุโรปอย่างเคร่งครัดมาเป็นเวลานาน

เมื่อหม่อมชายาไม่อยู่และทรงมีโอกาสพบปะกับพระญาติวงศ์ ได้ทรงสนทนา มีกิจกรรมบันเทิงร่วมกัน ทำให้ทรงรู้สึกเสมือนผ่อนคลายความเคร่งเครียดและเหงาหงอย โดยเฉพาะเมื่อทรงได้พบกับพระญาติสาว หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส พระธิดากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา หม่อมเจ้าหญิงมีพระคุณสมบัติตรงข้ามกับหม่อมคัทริน ซึ่งพระสวามีทรงบรรยายถึงอุปนิสัยไว้ว่า เอาแต่ใจตัวเอง เชื่อมั่นในความคิดของตนเองว่าถูกเสมอ ต้องการให้ทุกคนเห็นด้วยและปฏิบัติตาม

“…ความไม่พอใจ ของแคทยาในเรื่องราวจุกจิกมากมายหลายเรื่อง คราใดที่เธอเกิดไม่พอใจเรื่องอะไรขึ้นมาก็จะมาลงเอาที่ฉันทุกครั้ง เป็นเรื่องยากที่จะเอาใจเธอให้เธอมีความสุข… เธอไม่เพียงต้องการให้ทุกคนทำอย่างที่เธอต้องการแต่ยังให้ทุกคนต้องคิดอย่างที่เธอคิดด้วย…”

แต่สําหรับหม่อมเจ้าหญิงสาว ซึ่งมีพระชันษาเพียง 15 ปี มีพระอารมณ์แจ่มใสร่าเริงอยู่เป็นนิตย์ ทรงสำราญกับการเล่นสนุกอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เสียงใสประดุจเด็กน้อย ทำให้บรรยากาศและผู้คนรอบข้างพลอยสดชื่นแจ่มใสไปด้วย โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าชาย ทรงรู้สึกเป็นสุขและเพลิดเพลินพระทัย ถึงกับทรงบันทึกไว้ว่า “…มาในคราวนี้ที่แคทยาไม่อยู่ ฉันรู้สึกว่าทุกอย่างดีขึ้น…” อย่างหนึ่งที่ดีขึ้นคือ ความใกล้ชิดสนิทสนมกับหม่อมเจ้าหญิงสาวและเปลี่ยนแปลงเป็น “…เราสองคนต่างเข้าใจและชอบพอกันและกันมากขึ้น…”

จนเมื่อถึงเวลาที่หม่อมคัทรินกลับเมืองไทย ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ก็กลายเป็น “การผูกพันอย่างลึกซึ่ง” จนไม่อาจที่จะทรงแยกจากหม่อมเจ้าหญิงได้ และไม่ว่าหม่อมคัทรินจะขอร้องอ้อนวอนให้ทรงคิดถึงความหลัง ความรักความผูกพัน หรือแม้กระทั่งให้คำมั่นสัญญาว่าจะปรับปรุงอุปนิสัยไม่ดีบางประการของตนเอง เพื่อที่จะได้กลับมาเริ่มต้นชีวิตรักกันใหม่

ส่วนความสัมพันธ์กับหม่อมเจ้าหญิงนั้นขอให้เป็นเพียงความสัมพันธ์กันฉันญาติสนิท คือยังคงติดต่อคบหาสมาคมกันได้ แต่ขอเพียง “…ฝ่าบาทจะต้องทรงให้สัญญากับหม่อมฉันว่า จะไม่ทรงลักลอบมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับหญิงอื่น…” เป็นคำขอที่พระสวามีมิอาจทรงปฏิบัติได้ เพราะทรงมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับชายไทยทั่วไปในสมัยนั้นว่าการที่ผู้ชายจะมีภรรยากี่คนก็ไม่แปลกหากสามารถที่จะให้ความสุขแก่ภรรยาทุกคนได้อย่างทั่วถึง

เมื่อเธอแจ้งความประสงค์อย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะเป็นฝ่ายเดินออกจากชีวิตสมรสนั้น หัวใจของเธอสลายแล้วโดยสิ้นเชิง และเธอปลงใจเชื่ออย่างแน่วแน่ว่าหม่อมเจ้าหญิงผู้นั้นคือต้นเหตุแห่งการล่มสลายในชีวิตคู่ของเธอ

หม่อมคัทรินและหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสได้แยกทางการดำเนินชีวิตอย่างเด็ดขาด จนเมื่อ 13 ปีผ่านไป ใน พ.ศ. 2475 ชีวิตของทั้งคู่ได้เวียนมาพบกันอีกครั้งที่ปารีส ครั้งนี้หม่อมเจ้าหญิงอยู่ในฐานะชายาของหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ ซึ่งได้ทรงสมรสกันหลังการเสด็จทิวงคตของสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระสวามี หม่อมเจ้าหญิงกำลังประชวรด้วยโรคร้าย ต้องเสด็จมารักษาพระอาการประชวรที่ยุโรป หม่อมคัทรินบรรยายสภาพของหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสไว้ว่า

“…เธอซีดไปทั้งร่างเหมือนกับคนที่ตายไปแล้ว แล้วก็ไม่ยอมเสวยอะไร ผอมเหลือแต่กระดูก หมอที่รักษาอยู่บอกว่าไม่มีความหวังอะไรมากนัก…” จากสภาพหม่อมเจ้าหญิงที่ปรากฏขณะนั้นทำให้หม่อมคัทรินหวนรำลึกถึงเรื่องราวหนหลังโดยเฉพาะความเจ็บช้ำที่เธอได้รับจากสตรีผู้นี้

ดังปรากฏความในใจของเธอในบันทึกส่วนตัวตอนหนึ่งว่า “…ความทุกข์ทรมานที่ฉันได้รับจากเด็กสาวคนนี้ได้หวนกลับมารบกวนจิตใจฉันอีกครั้ง ฉันเกิดความรู้สึกสองด้านที่ขัดแย้งกัน ด้านหนึ่งก็สงสารที่เธอต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้าย อีกด้านก็รู้สึกสะใจที่ในที่สุดพระเจ้าก็ลงโทษความเห็นแก่ตัวของเธอ…”



หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส และหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.647 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 19 เมษายน 2567 07:01:41