[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
18 เมษายน 2567 08:16:38 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เบ็ญจศีลเบ็ญจธรรมคู่ที่ห้า  (อ่าน 932 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5433


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 13 มกราคม 2564 19:50:47 »



เบ็ญจศีลเบ็ญจธรรมคู่ที่ห้า
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวัฑฒโน)
ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ

สติ เตสํ นิวารณํ  สติเป็นเครื่องกั้นกระแสตัณหา

อันน้ำดื่มธรรมดาเพื่อแก้กระหาย เป็นสิ่งจำเป็นแก่ร่างกาย แต่น้ำดื่มอีกชนิดหนึ่งไม่ใช่เพื่อแก้กระหาย ไม่เป็นสิ่งจำเป็นต้องหัดดื่ม เมื่อดื่มติดๆ เรื่อยๆ ไปจนติดเข้าแล้ว ก็ทําให้กระหาย ทำให้เหมือนเป็นของจำเป็น ทีแรก คนดื่มน้ำ ครั้นหนักๆ เข้า น้ำนั้นกลับดื่มคนพูดอย่างสามัญฟังง่ายๆ ว่าทีต้นคนกินน้ำ ทีหลังน้ำกินคน อันน้ำกินคนนี้ก็คือน้ำเมา เป็นของกลั่นเรียกว่าสุรา เป็นของดอง เรียกว่าเมรัย มีชนิดต่างๆ คนรู้จักดื่มน้ำเมามาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จะกล่าวว่าตั้งแต่ก่อนพระอินทร์เกิดก็ได้ ที่กล่าวดังนี้เพราะมีเรื่องที่ท่านแต่งแสดงไว้ว่า เมื่อมฆมานพทำกรรมดีงามในมนุษย์โลกไปเกิดในเทวโลก เป็นท้าวสักกเทวราช คือพระอินทร์นั้น เทวโลกที่พระอินทร์ไปเกิด มีเทพจำพวกหนึ่งครอบครองเป็นเจ้าถิ่นอยู่ก่อน เทพเจ้าถิ่นเห็นพระอินทร์กับบริวารเป็นอาคันตุกะมา ก็เตรียมน้ำดื่มมีกลิ่นหอมเพื่อเลี้ยงต้อนรับ ในขณะที่ประชุมเลี้ยงต้อนรับ พระอินทร์ ได้ให้สัญญาแก่บริษัทของตนไม่ให้ดื่ม ให้แสดงเพียงอาการเหมือนดื่ม เทพเจ้าถิ่นจึงพากันดื่มฝ่ายเดียว พากันเมานอนหมดสติ พระอินทร์และเทพบริวารก็ช่วยกันจับเทพเจ้าถิ่นเหวี่ยงทิ้งลงไปยังเชิงเขาสิเนรุ พวกเทพเจ้าถิ่นเมื่อถูกจับเหวี่ยงตกลงไปสร่างเมากลับฟื้นคืนสติขึ้นแล้ว ก็กล่าวแก่กันว่า พวกเราไม่ดื่มสุราอีกแล้ว จึงเกิดเป็นชื่อขึ้นว่าอสุระ เพราะกล่าวว่าไม่ดื่มสุรา แต่ก็ช้าไป เพราะเมาจนเสียเมืองไปแล้ว ต้องสร้างอสุรภพขึ้นใหม่ นับแต่นั้น หมู่เทพบนยอดเขาสิเนรุ มีพระอินทร์เป็นประมุขและหมู่อสุระเทพ ที่เชิงเขาสิเนรุ ได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันอยู่เนืองๆ แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอยเข้าเมืองของตน อีกฝ่ายหนึ่งก็ตามเข้าไปไม่ได้ เมืองทั้ง ๒ จึงเรียกว่าอยุชฌบูร คืออยุธยา ใครรบไม่ได้ ตีไม่แตก เรื่องนี้บางท่านเห็นว่ามีเค้าทางตำนานของอินเดียโบราณอยู่บ้าง (ไม่ใช่พระพุทธศาสนา) นำมาเล่าเพียงเพื่อให้ทราบเรื่องเก่าๆ มีคติเกี่ยวกับน้ำเมาอยู่บ้างว่าเรื่องน้ำเมามีมาเก่าแก่ และเมามายกันจนเสียบ้านเสียเมืองมาแล้ว

เรื่องเช่นนี้ ในคัมภีร์ศาสนาอื่นก็มีเล่าไว้ เช่นเล่าว่า โนอาห์ทำไร่องุ่นและดื่มสุราองุ่นเมาตั้งแต่สมัยหลังจากน้ำท่วมโลกไม่กี่ร้อยปี  อีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อเทวดาพากันเสื่อมฤทธิ์เพราะถูกพระฤษีผู้มีนามว่า ทุรวาสสาป เรื่องมีว่า พระอินทร์ทรงช้างไอยราพตไปในวิถีอากาศ พบพระฤษีทุรวาสซึ่งถือพวงมาลัยดอกไม้สวรรค์อันนางฟ้าองค์หนึ่งถวายพระฤษียืนถวายพระอินทร์ท้าวเธอรับมาพาดบนศีรษะช้าง ช้างสูดกลิ่นดอกไม้ซึ่งอวลอบแรงนักหนา ทำให้เป็นบ้าคลั่ง จึงฟาดงวงเอื้อมจับพวงดอกไม้จากกะพอง ขว้างลงเหยียบย่า พระฤษีทุรวาสโกรธว่าพระอินทร์ดูหมิ่นจึงสาปให้เสื่อมฤทธิ์ และให้พ่ายแพ้แก่หมู่อสูรนับแต่นั้นมา พระอินทร์และเทพบริวารก็อ่อนฤทธิ์รบมิใคร่ชนะหมู่อสูร พากันอยู่ไม่เป็นสุขก็พากันไปเฝ้าพระนารายณ์ขอให้ช่วย พระนารายณ์ก็แนะอุบายให้ทวยเทพไปชวนเลิกยุทธสงครามกับหมู่อสูร ผูกพันธไมตรี ร่วมกันตั้งพิธีกวนสมุทร หมู่เทพก็ปฏิบัติตามไปชวนอสูรเลิกรบและชวนไปเก็บโอสถโยนลงไปในเกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) เอาภูเขามาเป็นไม้กวนเอาพญานาคมาเป็นเชือก พระนารายณ์มาช่วยพิธีปั่นหน้าที่ให้หมู่อสูรทึ้งทางศีรษะนาค ให้หมู่เทพทั้งทางหางนาค พระนารายณ์เองอวตาร (แบ่งภาคลงมา) เป็นเต่า ลงไปรองรับภูเขาที่เป็นไม้กวน เมื่อช่วยกันกวน หมู่อสูรอยู่ทางศีรษะนาคก็ถูกไฟที่พุ่งจากปากนาคผาดเผาจนอ่อนฤทธิ์ลงไป หมู่เทพอยู่ทางหางนาค ก็ทิ้งอย่างสบาย ครั้นกวนสมุทรได้ที่ก็เกิดสิ่งต่างๆ รวมทั้งสุราและน้ำอมฤต (น้ำที่กินแล้วไม่ตาย) ในที่สุด ทวยเทพชิงดื่มน้ำอมฤตได้ก่อนจนหมดจึงกลับคืนฤทธิ์ และได้ชื่อว่าอมร (ผู้ไม่ตาย)

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่พระพุทธศาสนาเห็นมีเรื่องเกี่ยวแก่น้ำเมาจึงนํามาเล่าไว้เพื่อแสดงว่า คนในทุกๆ ส่วนของโลกเชื่อว่า สุราได้เกิดมีมานาน ตั้งแต่ในสมัยนิยาย ในชาดกก็มีเล่าไว้ด้วยเหมือนกันว่า ในอดีตกาลนานนักแล้ว มีพรานป่าคนหนึ่งชื่อสุระ ได้เข้าป่าหิมพานต์มาถึงต้นไม้ต้นหนึ่ง ต้นไม้นั้นมีคาคบแยกออกเป็น ๓ ในที่สูงขนาดชั่วบุรุษ ในระหว่างคาคบทั้ง ๓ มีเป็นบ่อขนาดตุ่ม ในฤดูฝนมีน้ำขังเต็มและมีผลสมอ มะขามป้อม และพริกตกลงไปรวมอยู่จากต้นที่เกิดอยู่โดยรอบ มีหมู่นกแขกเต้าจิกข้าวสาลีที่เกิดเองในที่ไม่ไกลกันมาทำตกลงไป ผสมอยู่ด้วย เมื่อถูกแดดเผา น้ำนั้นก็แปรรสมีสีแดง หมู่สัตว์มีนกเป็นต้น ดื่มเข้าไปแล้วก็พากันเมา ตกอยู่ที่โคนต้นไม้ สร่างเมาแล้วจึงไปได้ นายพรานสุระเห็นดังนั้น เห็นว่าไม่เป็นพิษจึงลองดื่มดูบ้าง ดื่มเข้าไปแล้วก็เมา และอยากบริโภคเนื้อจึงฆ่าสัตว์มีนกเป็นต้นที่เมาตกลง ปิ้งบริโภคกับน้ำเมา ครั้นเมาแล้วก็ฟ้อนรำขับร้อง ไปชวนดาบสรูปหนึ่งชื่อว่า วรุณะ ให้ลองดื่มดูบ้าง ก็พากันดื่มเมามายไปทั้งคู่แล้วนำมาแพร่หลายในบ้านเมืองต่อมาก็คิดวิธีทำน้ำเมาขึ้น และได้เรียกชื่อว่า สุรา หรือวรุณี ตามชื่อของนายพรานสุระ และดาบสวรุณะ แต่เมื่อดูตามศัพท์ สุราแปลว่ากล้า อาจหมายความว่า เพราะดื่มแล้วทำให้ใจกล้ามุทะลุก็ได้ และ วรุณี อาจหมายถึงวรุณคือฝน เพราะตามเรื่องนั้นเกิดจากน้ำฝนตกลงมายังหมักดองกับสิ่งๆ ในคาคบไม้ก็ได้

น้ำเมานี้เป็นสิ่งที่ชาวโลกมิใช่น้อยมักจะโปรดปราน เมื่อมีงานรื่นเริงอะไรก็มักจะทิ้งไม่ได้ ถ้าขาดไปก็มักจะบ่นว่าแห้งแล้งเงียบเหงา บางแห่งมีนัดงานเทศกาลดื่มสุรากัน แต่บัณฑิตทั้งหลายในโลกตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงปัจจุบันไม่สรรเสริญยกย่องว่าการดื่มสุราว่าเป็นของดีมีแต่แสดงโทษไว้ต่างๆ โดยตรงบ้างโดยอ้อมบ้าง โดยตรงนั้นเช่นแสดงว่าการดื่มน้ำเมาเป็นอบายมุขและชี้โทษไว้ ๖ สถาน คือ เสียทรัพย์ ก่อการทะเลาะวิวาท เกิดโรค ต้องติเตียนไม่รู้จักอาย ทอนกำลังปัญญา ส่วนโดยอ้อมนั้นเช่นที่ผูกเป็นนิทานไว้ต่างๆ ดังเรื่องกำเนิดสุราในทางตะวันตกว่า ได้มีเทวดาองค์หนึ่ง ไปพบต้นองุ่นมีความพอใจจึงนำมา ทีแรกเมื่อนำมานั้นปลูกมาในหัวกระโหลกนก ต้นองุ่นโตเร็วเต็มหัวกระโหลกนก ต้องเปลี่ยนไปปลูกในหัวกระโหลกลา แล้วก็ต้องเปลี่ยนไปปลูกในหัวกระโหลกเสือ ตามนิทานนี้เข้าใจความหมายว่า ดื่มเหล้า (องุ่น) ทีแรกก็รื่นเริงอย่างนก มากเข้าอีก ก็โง่ซึมเซาอย่างลา มากเข้าอีกก็คล้ายอย่างเสือ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งแสดงกันมาว่า สุราผสมด้วยเลือดของสัตว์หลายชนิด คือเลือดนก เลือดสุนัข เลือดเสือ เลือดงู เลือดหมู เพราะเมื่อดื่มเข้าไปแล้วทําให้พูดมาก คะนอง สนุกอย่างนก ทำให้เอะอะอย่างสุนัข ทำให้ดุร้ายอาละวาดอย่างเสือ ทําให้เดินเปะปะ ไม่ตรงอย่างงูเลื้อย ทำให้หมดสตินอนซมอย่างหมู ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโทษของสุราโดยตรงดังกล่าวแล้ว  เพราะการดื่มสุรากับทั้งเมรัย อันรวมเรียกว่าน้ำเมา เป็นฐานะ คือที่ตั้งของความประมาท ฉะนั้นจึงทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๕ ว่า

สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี เว้นจากดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท น้ำเมาที่เป็นของดอง เช่น น้ำตาลเมาต่างๆ ชื่อเมรัย เมรัยนั้นกลั่นอีกชั้นหนึ่งเพื่อให้เข้มขึ้น เช่น-เหล้าต่างๆ ชื่อสุรา สุราเมรัยนี้เป็นของทำผู้ดื่มแล้วให้เมาเสียสติอารมณ์แปรปกติของคนที่เป็นคนดี ให้ชั่วไปก็ได้ จนถึงกิริยาการที่ไม่ดี ซึ่งในเวลาปรกติทำไม่ได้ แต่ครั้นเมาแล้วก็ทำได้แทบจะทุกอย่าง น้ำเมาจึงได้ชื่อว่าเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ความเว้นจากดื่มน้ำเมา เรียกว่า เวรมณี หรือ วิรัติ เป็นตัวศีลในข้อนี้ วิรัติมี ๓ เหมือนกับข้ออื่นๆ คือเว้นด้วยทั้งใจว่าจะเว้นมาก่อน ด้วยวิธีรับศีล หรือคิดตั้งใจด้วยตนเอง เรียกว่า สมาทานวิรัติ (เว้นด้วยการสมาทาน) ไม่ได้ตั้งใจว่าจะเว้นมาก่อน เมื่อไปพบน้ำเมาที่อาจจะดื่มได้ แต่งดได้ไม่ดื่ม เรียก สัมปัตตวิรัติ (เว้นจากวัตถุอันถึงเข้า) ถ้าเว้นได้เด็ดขาดจริงๆ จัดเป็น สมุจเฉทวิรัติ (เว้นด้วยตัดขาด) วิรัติข้อใดข้อหนึ่งมีขึ้นเมื่อใด ศีลก็มีขึ้นเมื่อนั้น วิรัติขาดเมื่อใด ศีลก็ขาดเมื่อนั้น ลักษณะสำหรับตัดสินว่าศีลขาดนั้น คือ ๑. เป็นน้ำเมามีสุราเป็นต้น ๒. จิตใครจะดื่ม ๓. พยายามคือทำการดื่ม ๔. ดื่มน้ำเมานั้นให้ไหลล่วงลําคอเข้าไป

อนึ่งห้ามน้ำเมาเพราะเป็นของทำให้เมาประมาท จึงห้ามตลอดถึงของทำให้เมา เช่นเดียวกับชนิดอื่น มีฝิ่น กัญชา เป็นต้นด้วย


หลักแห่งการบัญญัติศีลข้อที่ ๕
พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๕ นี้ โดยตรง เพื่อมิให้มัวเมาประมาทเป็นหลัก  คนเราที่เป็นคนธรรมดาสามัญ โดยปรกติก็ประมาทกันอยู่แล้ว เพราะมักขาดสติมากบ้างน้อยบ้างต้องระมัดระวังกันอยู่เสมอ จนถึงมีภาษิตเป็นต้นว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” “ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์” “คนที่ไม่เคยทำอะไรผิดคือคนที่ไม่เคยทำอะไรเลย” ฉะนั้น เมื่อไปเพิ่มเติมน้ำเมาให้เมาประมาทยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้ผิดมากขึ้น เพราะคนที่เมาประมาทเป็นคนขาดสติ (ความระลึกได้) ขาดสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) อาจผิดศีลได้ทุกข้อ อาจทำชั่วทำผิดได้ทุกอย่าง และเมื่อเมาประมาทเสียแล้ว ก็เป็นคนหลงอย่างเต็มที่ ไม่รู้จักเหตุผล ควรไม่ควร ไม่รู้จักดีชั่วผิดถูก จะพูดชี้แจงอะไรกับคนกำลังเมาหาได้ไม่ คนเมาประมาทจึงเป็นผู้ที่ควรเมตตากรุณาหรือควรสงสาร เหมือนคนตกน้ำ ที่ทิ้งตัวเองลงไป ช่วยตัวเองก็ไม่ได้ ใครช่วยก็ไม่ได้ หรือเหมือนคนดื่มยาพิษฆ่าตนเอง ทั้งที่ไม่เห็นว่าเป็นยาพิษ จึงดื่มอย่างสนุกสนานรื่นเริง ใครบอกว่ายาพิษก็ไม่เชื่อ แต่เห็นเหมือนน้ำอมฤตของเทวดา เพราะดื่มแล้วทำให้อุกอาจให้ระเริง ไม่มีทุกข์ ไม่มีกลัว แต่หาจริงไม่ เพราะสิ่งที่ทำให้ฤทธิ์สุราของคนเมาเสื่อมได้ดีนั้น ก็คือความกลัว คนเมาอาละวาดเมื่อประสบเหตุอะไรที่ทำให้เกิดรู้สึกกลัวขึ้นได้แล้ว ความเมาก็เสื่อม เว้นแต่จะเมาจนสลบไสล ซึ่งก็หมดฤทธิ์ที่จะอาละวาดอะไรได้ คนเมาอาละวาดเมื่อไปทำร้ายใครเข้า มักรู้จักหลบหนี เพราะเกิดรู้สึกกลัวผิดขึ้นแล้ว ความเมาจึงแพ้ความกลัวไม่ใช่ชนะความกลัว ที่ว่าทำให้กล้านั้น ไม่ใช่ความกล้า เป็นความเมาต่างหาก เหมือนอย่างที่พูดกันว่า เห็นช้างเท่าหมู ก็เป็นเรื่องของความเมาที่แก่กล้าอันจะให้พินาศ เว้นไว้แต่ช้างจะเล็กลงมาเท่าหมูได้จริงๆ โดยมาก ความรู้สึกกลัว ที่ทำลายฤทธิ์เมาให้เสื่อมมักมาช้าเกินไป เพราะมักมาในเมื่อคนเมาไปทำผิดเสียแล้ว ต่างจากคนไม่เมาเพราะความรู้สึกกลัวผิดเกิดได้ง่ายกว่ามากนัก คนไม่เมาจึงรักษาตัวได้ดีกว่ามาก

อีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าศีลนั้น โดยตรงคือปกติกาย ปกติวาจา ปกติใจ คือความที่มีกาย วาจา ใจ เป็นปกติ ได้แก่เรียบร้อยดีงาม เมื่อดื่มน้ำเมาเข้าไป เมาประมาทขึ้นเมื่อใดก็เสียปกติกาย วาจา ใจ  เมื่อนั้น เพราะน้ำเมาทำให้กายของคนเมา วาจาของคนเมา ใจของคนเมาเสียปกติ ถึงจะยังมิได้ไปประพฤติผิดศีลข้ออื่นๆ แต่ศีลทางใจ คือ ความมีใจเป็นปกติเรียบร้อย ก็เสียไป คนเมาที่พูดว่าใจยังดีไม่เมานั้น ถ้าเป็นความจริง ก็ไม่ใช่คนเมา ถ้าเป็นคนเมา คำที่พูดเช่นนั้นก็พูดไปตามเมาเท่านั้น


ธรรมคู่กับศีลข้อ ๕
คือความมีสติรอบคอบ ตรงกันข้ามกับความประมาท สติคือความระลึกนึกคิดขึ้นได้ประกอบกับสัมปชัญญะ ความรู้ตัว สติต้องมีสัมปชัญญะอยู่ด้วย จึงเป็นสติที่ถูกต้องเช่น เมื่อกําลังเดินอยู่ในถนนนึกถึงบทเรียน จนลืมตัวว่ากำลังเดินอยู่ในถนน ถึงจะนึกถึงบทเรียนได้ ก็ไม่ใช่สติ เมื่อรู้ตัวอยู่ว่ากำลังเดินอยู่ในถนน และระลึกได้ว่าจะเดินอย่างไร จะหลีกหลบรถอย่างไร จึงเป็นสติ คนเราทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ต้องทำ ต้องพูดอยู่ทุกๆ วัน เด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีสติ เมื่อทำอะไร พูดอะไรไปแล้ว ก็ระลึกได้ว่าได้ทำหรือพูดอะไร ผิดหรือถูก เรียบร้อย ไม่เรียบร้อย เป็นต้น จะทำจะพูดผิด ก็มีความระลึกนึกคิดก่อนว่าดีหรือไม่ดี อย่างที่โบราณสอนว่าให้นับสิบก่อน คือให้นึกให้รอบคอบก่อนนั่นเอง ในขณะที่กำลังทำ กำลังพูด ก็รู้ตัวอยู่เสมอ ไม่ลืมหลงในเรื่องที่ทำที่พูด ไม่ลืมตัวเผลอตัว บางคนมีปัญญาความรู้แต่ขาดสติ ทำพูดอะไรผิดพลาดได้ อย่างที่กล่าวกันว่า ฉลาดแต่ไม่เฉลียว จึงสมควรหัดให้มีสติรอบคอบ เพราะทุกๆ คนทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่อาจหัดทำสติได้ วิธีหัดเช่น

๑. หัดนึกย้อนหลัง เป็นการฝึกความกำหนดจดจำ
๒. หัดนึกให้ได้ก่อนที่จะทำจะพูดอะไร
๓. หัดนึกให้ได้ก่อนที่จะโกรธใคร มิใช่โกรธเสียก่อน จนหายโกรธแล้ว จึงนึกได้
๔. หัดให้มีความรู้ตัวอยู่ในเรื่องที่กำลังทำ กำลังพูด ตลอดถึงกำลังคิดอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้ลืมตัว เผลอตัว
๕. หัดให้มีความยับยั้งในการที่ไม่ควรทำ ไม่ควรพูด ไม่ควรคิด ให้มีอุตสาหะในการที่ควรอันตรงกันข้าม



(ที่มา เล่าเรื่อง วัดบวรนิเวศวิหาร)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.428 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 16 ชั่วโมงที่แล้ว