“กินหมาก” ไม่ใช่ประเพณีเฉพาะของไทย ใคร ๆ ในภูมิภาคเขาก็กิน

(1/1)

ฉงน ฉงาย:
Tweet



“กินหมาก” ไม่ใช่ประเพณีเฉพาะของไทย ใคร ๆ ในภูมิภาคเขาก็กิน

“กินหมาก” ไม่ใช่ประเพณีเฉพาะของไทย ใคร ๆ ในภูมิภาคเขาก็กิน

เชี่ยนหมากถมทองลาย 12 นักษัตร ตลับรูปฟักทองเป็นเงินกะไหล่ทองลงยาสีเขียว หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ประทานให้พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช



          การกินหมากเป็นวัฒนธรรมที่แนบแน่นอยู่อยู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาแต่โบราณ แม้ปัจจุบัน ชาวบ้านสูงอายุในชนบทก็ยังกินหมาก แต่การ “กินหมาก” ไม่ใช่ประเพณีเฉพาะของคนไทย ในเอเชียมีหลายประเทศด้วยกันที่กินหมาก เช่น อินเดีย, จีน, พม่า, เขมร, เนปาล ฯลฯ

         หลักฐานการกินหมากของไทยนั้นปรากฏอยู่ทั่วไปในวรรณคดี จิตรกรรม ในประวัติศาสตร์ แม้แต่กฎหมาย กินกันไม่เว้นทั้งชายหญิง ไม่ว่าเจ้าหรือไพร่ โดยเริ่มกินหมากกันตั้งแต่เริ่มวัยหนุ่มสาวไปจนลมหายใจสุดท้าย แต่ไม่รู้แน่ว่ากินมาแต่เมื่อใด ในเอกสารจีนโบราณกล่าวถึงกลุ่มชน “ฟันดำ” เมื่อราว 2,000 ปีมาแล้วอยู่ทางใต้ ที่อาจหมายถึงพวกไท-ลาวก็ได้ และที่แน่ ๆ ปลูกพลูมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้นแล้ว

         ในอินเดียมีหลักฐานว่า กินหมากมากว่า 2,000 ปีแล้ว ซึ่งอาจกินกันมานานแล้วก่อนหน้าที่จะหาหลักฐานพบก็ได้ ส่วนในเขมรเข้าใจกันว่ามีพราหมณ์ผู้หนึ่งนำเข้าไปเผยแพร่ให้กษัตริย์เขมรตั้งแต่ พ.ศ. 600 ประเทศต่าง ๆ ทั้ง มอญ, พม่า, ลาว, ชวา, อัสสัม ล้วนแต่มีเรื่องราวการกินหมากต่าง ๆ นานา บางแห่งก็ฟังดูออกตลอกพิลึกด้วยซ้ำ

         การกินหมากนำมาซึ่งประเพณีต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ เช่น การกินหมากร่วมเชี่ยนกัน ก็เป็นการผูกมิตรไมตรีต่อกันประหนึ่งเป็นคน “กันเอง” แล้ว   ที่เนปาล มีเคล็ดสำหรับผู้หญิงที่จะแต่งงานว่า ต้องทำพิธีแต่งกับต้นหมากที่มีลูกเสียก่อนแล้วค่อยแต่งกับคนทีหลัง ถ้าคนที่เป็นสามีจริงตาย สามีต้นหมากยังอยู่ก็ไม่ถือว่าเป็นม่าย หรือถ้าแต่งแล้วต้องการหย่ากัน สามีก็เพียงเอาหมาก 2 ลูกวางไว้ใต้หมอนของภรรยา ภรรยาตื่นขึ้นมาก็รู้แล้ว ง่ายดี

         ที่ยะไข่ กษัตริย์มินตีสร้างปราสาทหลังหนึ่ง ออกกฎว่า ใครเอานิ้วเปื้อนน้ำหมากป้ายตามเสาเลอะเทอะจะถูกตัดนิ้วขวาทิ้ง แล้ววันหนึ่งก็ได้ตัดนิ้วขวาของพระองค์เองทิ้งจริง ๆ ด้วยความเผอเรอและซื่อตรงต่อกฎ
     
         พงศาวดารรามัญ (มอญ) ก็มีเรื่องฆ่ากันตายมาแล้วเพราะหมาก เมื่อพระมเหสีของเจ้าฝรั่งมังฆ้องจัดหมากให้พระสวามี แล้วถูกรรไกรหนีบมือแต่ไปอุทานให้ฉางกายช่วย ฉางกาย (ชื่อนายทหารคนหนึ่ง) เลยตายฟรีเพราะความหึงหวงของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง

         ที่อัสสัม ใช้ใบพลูจุ่มน้ำนมแตะตามตัวบ่าวสาวในพิธีสมรส

         และที่เมืองไทย จามเทวีแห่งแคว้นหริภุญไชย (ลำพูน) เคยเสกหมากเสกพลูให้ขุนวิลังคะ (ลัวะ) ยอมจำนนมาแล้ว ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็เคยห่อหมากส่งให้พันบุตรศรีเทพ ก่อนจะเกิดรื่องอื้อฉาวเล่าลือกันมาจนทุกวันนี้ ส่วนขุนแผนกับนางพิมก็เคยเคี้ยวชานหมากของกันและกันมาก่อนแล้ว ยังมีแม่พลอยในสี่แผ่นดินก็แต่งหมากใส่ซองกระจิริดส่งให้พี่เนื่อง

         ในทางไสยศาสตร์ ถึงกับแย่งชานหมากของหลวงพ่อและอาจารย์บางคนกันมาแล้วก็มี เพราะถือว่าเป็นของดีไว้คุ้มกันตัวอย่างหนึ่ง   สำหรับบ่าวสาว เวลาจะแต่งงานฝ่ายชายก็ต้องแต่งขันหมากใส่หมากพลูที่จัดสวยงามครอบชุดควบคู่ไปกับขันหมั้นที่ใส่สินสอดทองหมั้น    คนจีนทางตอนใต้ เช่น คนแต้จิ๋วก็กินหมาก แต่หมากพลูของเขาใช้ปูนขาวแลใส่น้ำตาลกรวด เขาว่าทำให้ฟันไม่ดำ

          แต่ทำไมหมากพลูจึงเป็นสัญลักษณ์ของไมตรี ความรัก และการแต่งงาน ไม่มีใครตอบได้



ข้อมูลจาก  แน่งน้อย ปัญจพรรค์. กินหมากและเชี่ยนหมาก, ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2534
             https://www.silpa-mag.com/culture/article_31694] [url]https://www.silpa-mag.com/culture/article_31694[/url]


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ