[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 15:15:03 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๕๓ มหาชนกชาดก : พระมหาชนก  (อ่าน 934 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5441


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2564 16:52:56 »




พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ ๕๓ มหาชนกชาดก
พระมหาชนก

          เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงถือกำเนิดอยู่ในราชตระกูลที่อยู่ในชมพูทวีป
ในครั้งนั้นยังมีพระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระมหาชนก หรือพระมหาชนกราช ครองราชย์สมบัติอยู่ในกรุงมิถิลา หรือมิถิลานคร หรือมิถิลาราชธานี แคว้นวิเทหะ (วิเทหรัฐ)
          พระเจ้าพระมหาชนกมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ พระอริฏฐชนก พระองค์พี่ กับพระโปลชนก พระองค์น้อง แต่พระมเหสีไม่ปรากฏพระนาม เมื่อพระโอรสทั้งสองพระองค์ทรงเจริญวัยแล้ว สมเด็จพระราชบิดาก็ได้ทรงสถาปนาพระโอรสองค์พี่เป็นอุปราช และทรงสถาปนาพระโอรสองค์น้องเป็นเสนาบดี
          กาลต่อมา สมเด็จพระมหาชนกราชได้เสด็จสวรรคต พระอริฏฐชนกพระโอรสองค์พี่ก็ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ แล้วทรงสถาปนา พระโปลชนก พระกนิษฐภาดาเป็นอุปราช ทั้งสองพระองค์ทรงช่วยกันบริหารราชการด้วยดีเสมอมา แล้วทรงมีความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างพี่น้องดีมาก คือ รักใคร่กันดี ไม่มีปัญหาอะไรขัดแย้งกัน
          อยู่มาไม่นาน อำมาตย์คนหนึ่งผู้รับใช้ใกล้ชิดของพระเจ้าอริฏฐชนก เกิดความริษยาพระโปลชนก จึงทูลใส่ร้ายพระอุปราชโปลชนกต่อพระราชาว่า “ขอเดชะ! พระอนุชาคิดไม่ซื่อต่อพระองค์ พระเจ้าข้า  ข้าพระองค์ทราบมาว่าพระอนุชากำลังคิดกบฏเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์ และกำลังวางแผนจะลอบปลงพระชนม์พระองค์อยู่ในตอนนี้”
          แรกๆ พระเจ้าอริฏฐชนกก็ไม่ทรงเชื่อ แต่ครั้นถูกบ่างช่างยุคอยทูลตอกลิ่มเพิ่มเติมเข้าไปทุกวันๆ  ในที่สุดพระเจ้าอริฏฐชนกก็ทรงตัดสินพระทัยให้ทำการจับกุมคุมขังพระอนุชาทันที โดยให้ควบคุมรักษาไว้ในคฤหาสน์ใกล้พระราชนิเวศน์ และห้ามเยี่ยมห้ามประกันโดยเด็ดขาด
          เมื่อพระเชษฐากับพระอนุชาแตกสามัคคี ไม่รักใคร่ปรองดองกันดังเดิม ก็เป็นการทำลายคุณธรรมระหว่างญาติให้สิ้นสูญ ความพินาศก็วิ่งเข้าทำลายทั้งสองพระองค์ให้ย่อยยับ   
          พระอุปราชโปลชนกในพระทัยไม่เคยคิดร้ายต่อพระเชษฐาเลยแม้แต่น้อย ทรงปฏิบัติพระองค์ด้วยความจงรักภักดีเสมอมา ครั้นถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมอย่างนี้ก็ทรงเสียพระทัย เมื่อทรงทราบว่าเหตุนี้ทรงถูกจับกุมคุมขังครั้งนี้ก็เพราะมีความผิดฐานเป็นกบฏคิดจะทรยศพระเชษฐา และทรงรู้ว่าใครเป็นตัวการใส่ร้าย พระองค์ก็ทรงเสียพระทัยยิ่งขึ้น เสียพระทัยที่พระเชษฐาคงหูเบาไปเชื่อคนอื่นเขายุแยงตะแคงรั่วจนทำลายความเป็นพี่เป็นน้องไปสิ้น ครั้นตั้งพระสติได้แล้ว ก็ทรงคิดหาหนทางที่จะออกไปจากคุก เพราะไม่แน่พระทัยในความปลอดภัย จะถูกขังลืมหรือจะถูกปลงพระชนม์เสียเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่เมื่อทรงคิดพิจารณาอยู่สักพักหนึ่ง ก็ไม่มีหนทางที่จะออกไปจากคุกได้เลย เพราะไม่อาจจะติดต่อใครได้แม้แต่คนเดียว ในที่สุดก็ทรงคิดพึ่งตัวเอง ตนเป็นที่พึ่งของตนได้ดีที่สุด ที่พึ่งใดเล่าจะดีกว่าการได้ตนเองเป็นที่พึ่ง จึงตั้งสัตยาธิษฐานขึ้นว่า “ถ้าข้าพเจ้าคิดกบฏทรยศต่อพระเชษฐาจริง ขอให้เครื่องจองจำจงตรึงมือเท้าของข้าพเจ้าให้แน่นหนา แม้แต่ประตูก็จงปิดตาย แต่ถ้าข้าพเจ้ามิได้คิดกบฏทรยศต่อพระเชษฐา ขอให้เครื่องจองจำจงหลุดออกจากมือเท้าของข้าพเจ้า แม้แต่ประตูก็จงเปิดออก”
          สิ้นคำอธิษฐาน ด้วยเดชานุภาพแห่งความสัตย์ ความจริง เครื่องจองจำก็หักออกเป็นท่อนๆ แม้ประตูก็เปิดออกในทันใด เมื่อออกไปพ้นคุกได้ พระโปลชนกก็เสด็จเล็ดลอบหลบหนีไปทางแถบชายแดน ซ่อนพระองค์อยู่กับชาวบ้านที่มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ พอตั้งหลักได้ก็ทรงซ่องสุมผู้คนไว้เป็นกำลังเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งประชาชนแถบชายแดนได้กลายเป็นคนของพระองค์ไปทั้งสิ้น
          ครั้นเจ้าหน้าที่ของฝ่ายพระเจ้าอริฏฐชนกออกเที่ยวหาตามจับพระอนุชาในแถบชายแดน ประชาชนก็พากันปกปิดความจริง ช่วยกันพาหลบซ่อนจนไม่อาจจับตัวได้ 
          อยู่มาไม่นาน พระโปลชนกก็ได้จัดตั้งกองกำลังขึ้นอย่างเข้มแข็ง ได้ประชุมกำลังพล มีเป้าหมายแย่งมิถิลานคร แล้วเคลื่อนกำลังออกไปล้อมมิถิลานคร โดยตั้งค่ายพักแรมอยู่ข้างนอก พวกทหารเมืองมิถิลาของพระเจ้าอริฏฐชนก พอทราบข่าวว่าพระโปลชนกยกกำลังทหารมาล้อมกรุงไว้ ส่วนหนึ่งก็พากันแปรพักตร์มาเข้าด้วย โดยขนยุทโธปกรณ์ในการรบมาให้มิใช่น้อย แม้ประชาชนในเมืองมิถิลาเองก็รวมตัวกันเป็นกลุ่มๆ และพากันออกมาเข้าด้วย บางกลุ่มรวมตัวกันอยู่ในชุมชนต่างๆ แสดงเจตจำนงอยู่ข้างฝ่ายของพระโปลชนกก็มี
          พระเจ้าโปลชนกทรงใคร่ครวญสถานการณ์แล้วก็เชื่อมั่นว่าจะทำการนี้ได้สำเร็จอย่างแน่นอน ในทางการเมืองการปกครอง ใครกุมหัวใจประชาชนได้ก็ยึดอำนาจได้ ในที่สุด พระเจ้าโปลชนกก็ส่งสาส์นไปถวายพระเชษฐาว่า “แต่เดิมนั้น ข้าพระองค์มิได้คิดร้ายต่อพระเชษฐาเลย แต่บัดนี้สถานการณ์บังคับให้ข้าพระองค์จำต้องนำกำลังมาบีบบังคับพระเชษฐา พระเชษฐาจะยอมยกบัลลังก์ให้ข้าพระองค์แต่โดยดี หรือจะทำสงครามก็ให้ตอบมาอย่าชักช้า”
          พระเจ้าอริฏฐชนกทรงอ่านสาส์นของพระอนุชาแล้วก็ทรงพระพิโรธ ทรงตอบสาส์นไปทันทีว่าจะสู้รบ จึงตรัสสั่งพระอัครมเหสีว่า “น้องรัก ในการรบ เราจะแพ้หรือชนะไม่อาจรู้ได้ ถ้าพี่มีอันเป็นไป ขอให้เธอดูแลลูกในท้องให้ดี” ตรัสฉะนั้นแล้วก็เสด็จกรีฑาทัพออกจากพระนคร ทรงเข้าต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามด้วยสามารถ
          การสัปประยุทธ์ชิงชัยผ่านไปได้พักใหญ่ๆ ท้าวเธอก็พลาดท่า ถูกทหารของพระโปลชนกรุมฟันแทงถึงกับสวรรคตในสมรภูมิ ชาวพระนครครั้นทราบว่าพระราชาเสด็จสวรรคตแล้ว ก็เกิดความสับสนอลหม่าน จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์โกลาหลขึ้นทั่วไป แต่ไม่นานเหตุการณ์เหล่านั้นก็สงบลง เมื่อพระโปลชนกนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเกือบจะทั่วพระนคร ประชาชนจำนวนมากต่างพากันมากราบทูลให้พระองค์ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อไป ภายหลังจากการอภิเษกของพระเจ้าโปลชนกขึ้นเป็นพระราชาแล้ว กรุงมิถิลานครก็กลับคืนสู่สภาพเดิม มีความสงบสุขนับแต่นั้น
          ฝ่ายพระอัครมเหสี เมื่อทรงทราบว่าพระราชสวามีเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ทรงรีบจัดแจงสิ่งของสำคัญ มีทองเป็นต้น บรรจุในกระเช้า ปกปิดด้วยผ้าเก่าๆ เอาข้าวสารใส่ไว้ข้างขน ทรงนุ่งห่มพระภูษา (เสื้อผ้า) เก่าๆ ปลอมแปลงพระองค์เป็นคนสามัญ เสด็จหนีออกจากพระนครในเวลากลางวัน โดยไม่ปรากฏว่ามีใครจำพระนางได้
          พระนางเสด็จออกทางประตูทิศอุดร ทรงดำเนินไปโดยพระบาทเปล่า เสด็จดำเนินไปอย่างไร้จุดหมาย พระนางทรงไม่รู้จักเส้นทาง ไม่รู้แห่งหนตำบลใด เพราะไม่เคยเสด็จไปที่ไหนมาก่อน  ครั้นเสด็จไปถึงศาลาแห่งหนึ่งก็ทรงดำริว่า เราไม่รู้จักทิศทาง ไม่รู้จะไปทางไหนดี ควรนั่งพักที่ศาลาเพื่อตั้งหลักให้ได้ก่อน แล้วก็เสด็จขึ้นประทับนั่งบนศาลา ทรงดำริที่จะเสด็จไปเมืองกาฬจัมปากะ   
          ขณะนั้นพระอินทร์จอมเทวดาผู้ช่วยช่วยเหลือมนุษย์ ได้ส่องทิพยเนตรลงมามองเห็นทารกในครรภ์ของพระนาง รู้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์มาเกิด ก็รู้สึกดีพระทัยที่จะมีผู้มีบุญมาเกิดในโลกมนุษย์ จึงรีบเสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พระนาง โดยเนรมิตเกวียนมีที่กำบัง มีเตียงใช้นั่งนอนอย่างสะดวกอยู่บนเกวียนนั้น แล้วเนรมิตตนเป็นคนแก่ ขับเกวียนไปจอดพักข้างๆ ศาลาที่พระนางประทับอยู่ แล้วทูลถามว่า “จะมีใครไปนครจัมปากะบ้างไหม?”
          พระมเหสีทรงได้ยินเช่นนั้นก็ดีพระทัย จึงรีบตรัสย้อนถามว่า “ตาจะไปเมืองกาฬจัมปากะหรือจ๊ะ”   
          “เออ แม่หนู ตาจะไปเมืองกาฬจัมปากะ”
          “ฉันก็จะไปเหมือนกัน ตาให้ฉันได้อาศัยไปด้วยซิ” พระมเหสีของความกรุณา
          “มา ขึ้นมาสิ ในเกวียนมีเตียงให้คนท้องใช้นั่งนอนได้อย่างสบาย”
          พระมเหสีเสด็จขึ้นไป สักพักหนึ่งขณะที่ตาขับเกวียนไปพระนางก็ทรงหลับไปด้วยความเหนื่อยอ่อน ฝ่ายพระอินทร์ขับเกวียนไปได้สักประมาณ ๓๐ โยชน์ ก็ถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง จึงส่งเสียงปลุกให้ตื่นขึ้น ทูลให้ไปอาบน้ำพร้อมกับให้พระนางได้เสวยอาหารว่างที่เตรียมมาแล้วนั้นด้วย  เมื่อเสวยจนอิ่มหนำสำราญแล้วพระนางก็บรรทมต่อ ในขณะที่ตาแก่ก็ขับเกวียนมุ่งหน้าต่อไป ในที่สุดก็ลุถึงนครกาฬจัมปากะในเวลาเย็น 
          ตาแก่ก็จอดเกวียนให้พระมเหสีเสด็จลง “บ้านของตาอยู่ข้างหน้านี้เอง ขอให้แม่หนูเดินทางเข้าสู่พระนครเถิด” ว่าแล้วก็ทำเป็นเดินไปข้างหน้าหน่อยหนึ่ง แล้วก็หายตัวกลับขึ้นสวรรค์ไป  ฝ่ายพระมเหสีทรงเห็นศาลาอยู่ริมทาง จึงเสด็จขึ้นไปประทับนั่งพักผ่อน ก่อนที่จะสู้ชะตาชีวิตต่อไป  ขณะนั้นได้มีพราหมณ์ทิศาปาโมกข์พร้อมด้วยลูกศิษย์ประมาณ ๕๐๐ คน เดินผ่านมาทางนั้นเพื่ออาบน้ำ ได้มองดูพระนางก็รู้สึกรักใคร่ในฐานะน้องสาว จึงสั่งให้ลูกศิษย์ทุกคนรออยู่ข้างล่างก่อน ส่วนตัวอาจารย์ก็ขึ้นไปบนศาลาเพียงผู้เดียว แล้วถามพระมเหสีว่า “น้องหญิง! เธอเป็นคนบ้านไหนรึ”
          พระมเหสีตรัสเล่าความจริงแก่พราหมณ์ทิศาปาโมกข์
          พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ทูลว่า “ข้าพเจ้าอุทิจพราหมณ์มหาศาล เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ จะขอรับพระนางไว้ในฐานะน้องสาว จะปฏิบัติดูแลให้ปลอดภัยมีความสุข  จากนั้นก็บอกแก่ศิษย์ทั้งหลายว่า “หญิงคนนี้เป็นน้องสาวของอาจารย์ที่พลัดพลากจากกันไปตั้งนานแล้ว  แล้วก็นำพระมเหสีไปถึงเรือนเหย้า อาจารย์ก็แนะนำให้ญาติได้รู้จัก และบอกให้นางพราหมณีจัดหาน้ำอุ่นให้พระนางสรงสนาน จัดหาห้องบรรทมให้ พอได้เวลาก็สั่งให้เชิญพระนางมาบริโภค โดยใช้คำว่าไปเชิญน้องสาวของเรามาด้วย ทุกคนในครอบครัวต่างพากันเอาใจใส่พระนางในการกินการอยู่ ให้ความรักสนิทสนมดุจดังน้องของพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ทีเดียว
          เมื่อพระนางมีครรภ์แก่ ก็ประสูติพระโอรสมีพระฉวีวรรณผุดผ่องดุจทองคำ ได้ตั้งพระนามให้ว่า พระมหาชนกกุมาร ตามพระนามของพระเจ้าปู่
          พระมหาชนกกุมารเจริญวัยแล้ว ก็ทรงเล่นอยู่กับพวกเด็กๆ บางทีถูกเด็กบางคนรบกวนให้ขัดเคืองพระทัย จึงทุบตีเด็กพวกนั้นให้ส่งเสียงร้องอื้ออึงไปบ้าง เด็กพวกนั้นก็จะร้องไห้วิ่งไปฟ้องพ่อแม่ว่า ถูกไอ้ลูกหม้ายตีเอา เวลาเล่นกันแล้วมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันบ้างตามประสาเด็ก พวกเด็กก็เรียกพระองค์ว่า “ไอ้ลูกหญิงหม้าย”
          พระมหาชนกราชกุมารทรงนึกสงสัยว่าทำไมเด็กพวกนั้นจึงเรียกเราว่าลูกหญิงหม้ายบ่อยๆ วันหนึ่งจึงทูลถามพระมารดาถึงเรื่องนี้ว่า “พระมารดา ใครคือพระบิดาของลูกหรือ”  พระมารดาตรัสลวงพระกุมารว่า “ท่านพราหมณ์นั่นไง”
วันต่อๆ มา เมื่อถูกพวกเด็กๆ เรียกว่าลูกหญิงหม้าย พระกุมารก็บอกเพื่อนเด็กๆ ว่า เรามีพ่อเหมือนกันนะ ท่านพราหมณ์นั่นไงเป็นพ่อของเรา พวกเด็กๆ เถียงว่านั่นไม่ใช่พ่อของเจ้าสักหน่อย พ่อของเจ้าไม่มี 
          พระกุมาร   รู้สึกคลางแคลงพระทัย ทรงคิดดังนั้นแล้วก็เข้าไปทูลขอเสวยเกษียรธารา (น้ำนม) พอพระมารดาเปิดพระถันให้ พระกุมารก็กัดถันไว้แน่น พร้อมกับค่อยๆ เผยพระโอษฐ์ทูลให้พระมารดาตรัสบอกความจริงเรื่องบิดาให้ทราบ ทั้งขู่ว่าถ้าหากพระมารดาไม่ยอมบอกก็จะกัดถันจนขาดกระเด็น
          พระมารดาทรงเห็นว่าคงไม่อาจจะปกปิดความจริงไว้ต่อไปได้อีกแล้ว จึงตรัสบอกว่า “ลูกเป็นโอรสของพระเจ้าอริฏฐมหาชนก ในกรุงมิถิลานคร พระบิดาของลูกถูกพระโปลชนก ผู้เป็นเจ้าอายกทัพมาชิงราชสมบัติ จับพระบิดาของเจ้าฆ่าเสีย แม่มาอยู่ในเมืองนี้ก็เพราะตั้งใจจะรักษาเจ้าซึ่งอยู่ในท้องให้อยู่รอดปลอดภัย แล้วได้ท่านพราหมณ์ผู้ใจดีรับแม่ไว้เป็นน้องสาว ช่วยดูแลแม่กับเจ้าให้อยู่ดีมีสุขมาจนถึงบัดนี้”
          พระกุมารได้รับความจริงอย่างนั้นก็รู้สึกพอพระทัย และนับแต่นั้นมาก เมื่อถูกพวกเด็กๆ เรียกว่าไอ้ลูกแม่หม้าย ก็ไม่ทรงรู้สึกกริ้ว เพราะรู้ความจริงเสียแล้ว ใครจะว่าอย่างไรก็ไม่สะเทือน
          ถ้าพระกุมารจะทำการใหญ่ในวันข้างหน้า พระกุมารก็ต้องเข้ารับการศึกษา
๑.ศึกษาไตรเพทและศิลปศาสตร์
          เมื่อพระกุมารทรงเจริญวัยขึ้น ก็ทรงเข้ารับการศึกษาเหมือนเช่นเด็กอื่นๆ การศึกษาที่สำคัญ คือการเรียนไตรเพทและศิลปศาสตร์
           ไตรเพท แปลว่า พระเวท ๓ อย่าง เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่
                    ๑. ฤคเวท ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า
                    ๒. ยชุรเวท ประมวลเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญต่างๆ
                    ๓. สามเวท ประมวลเพลงขับสำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ
           ศิลปศาสตร์ แปลว่า ตำราว่าด้วยวิชาความรู้ต่างๆ มี ๑๘ ประการ คือ
                    ๑. สูติ ความรู้ทั่วไป
                    ๒. สมมติ ความรู้กฎธรรมเนียม
                    ๓. สังขยา คำนวณ
                    ๔. โยคยันตร์ การช่างการยนต์
                    ๕. นิติ นิติศาสตร์
                    ๖. วิเสสิกา ความรู้การอันให้เกิดมงคล
                    ๗. คันธัพพา วิชาร้องรำ
                    ๘. คณิกา วิชาบริหารร่างกาย
                    ๙. ธนพเพธา วิชายิงธนู
                   ๑๐. ปุราณา โบราณคดี
                   ๑๑. ติกิจฉา วิชาแพทย์
                   ๑๒. อติหาสา ตำนานหรือประวัติศาสตร์
                   ๑๓. โชติ ดาราศาสตร์
                   ๑๔. มายา ตำราพิชัยสงคราม
                   ๑๕. ฉันทสา การประพันธ์
                   ๑๖. เกตุ วิชาพูด
                   ๑๗. มันตา วิชามนต์
                   ๑๘. สัททา วิชาไวยากรณ์
          พระกุมารทรงเรียนไตรเพทและศิลปศาสตร์ทั้งปวงสำเร็จ ขณะมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา  พระมารดาทรงเห็นความจำเป็นของการศึกษา จึงทรงส่งพระกุมารให้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จในชั้นสูงสุดและครบถ้วนทุกอย่างที่กุลบุตรสมัยนั้นจะพึงศึกษาเล่าเรียนกัน ภายหลังจบการศึกษาแล้ว พระกุมารทรงคิดเป็น ทำเป็น คิดถูก ทำถูก และเริ่มเป็นผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่มีพระชนมายุเพียง ๑๖ พรรษาเท่านั้น
          ขณะมีพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา พระมหาชนกราชกุมารทรงมีพระรูปโฉมงาม สมบูรณ์  ไม่ทรงสนพระทัยในการเที่ยวเตร่เฮฮา แต่มีพระดำริจะไปชิงเอาราชสมบัติของพระบิดาคืนมาให้ได้ 
          วันหนึ่งเข้าไปทูลถามพระมารดาว่า “เมื่อตอนที่พระมารดาเสด็จหนีภัยมา พระมารดามีทรัพย์สมบัติอะไรติดมาบ้างหรือไม่ ลูกอยากจะนำไปลงทุนทำการค้าขาย พอได้ทรัพย์สมบัติมามากพอแล้ว ลูกจะไปชิงเอาราชสมบัติของพระบิดาคืนมา”
          พระมารดาตรัสตอบว่า “ลูกรัก เมื่อแม่ออกมา แม่ไม่ได้มามือเปล่า แม่มีของสำคัญติดตัวมา ๓ อย่าง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร แก้วทั้ง ๓ อย่างนี้ แต่ละอย่างมีราคามากโขอยู่ พอจะจ่ายเอาทรัพย์มาเป็นกำลังในการชิงราชสมบัติไม่ได้หรอก ลูกอย่าไปคิดทำการค้าขายเลย”
          พระราชกุมารทรงเห็นว่าแบบนั้นมันง่ายไป พระองค์เองควรจะได้ลงมือทำการบางอย่างจนประสบผลสำเร็จ อันเป็นการสร้างสมประสบการณ์ให้แก่ตนเองไว้บ้าง ก่อนที่จะทำการใหญ่ชิงราชสมบัติ จึงทูลอ้อนวอนพระมารดาว่า “หม่อมฉันจะขอเพียงครึ่งหนึ่ง จะเอาไปลงทุนทำการค้าที่เมืองสุวรรณภูมิ ครั้นรวบรวมทรัพย์ได้มากพอสมควรแล้ว ก็จะนำมาเป็นทุนรอนในการชิงราชสมบัติของพระชนกคืนมา” 
          พระมารดาเห็นว่าพระโอรสทรงต้องการอย่างนั้น จึงประทานดวงแก้วให้ไปครึ่งหนึ่ง พระมหาชนกราชกุมารรับดวงแก้วจากพระมารดามาแล้วก็นำไปซื้อสินค้าให้ขนขึ้นเรือร่วมกับพ่อค้าพาณิชย์คนอื่นๆ ที่จะเดินทางไปสุวรรณภูมิ เมื่อขนสินค้าเสร็จแล้วก็เข้าไปเฝ้าพระมารดาทูลลา
          พระมารดาทรงรู้สึกเป็นห่วงขึ้นมาจึงตรัสห้าม โดยให้เหตุผล การเดินทางในทะเลน่ากลัวนัก มีอันตรายมาก ได้จะไม่คุ้มเสีย แต่พระกุมารได้ตั้งพระทัยแน่แน่วแล้วจะลองทำการค้าหาเงินด้วยตนเอง ได้เงินพอแล้วจะได้จ้างคนมาเป็นกำลังและซื้ออาวุธมาใช้เพื่อชิงราชสมบัติคืน จึงตัดสินพระทัยทูลลาพระมารดาไป ทั้งๆ ที่พระนางยังไม่อนุญาต พระกุมารทรงเดินกระทำประทักษิณ (เดินเวียนขวาอันเป็นการแสดงความเคารพ) แล้วก็เสด็จลงเรือออกทะเลไปพร้อมด้วยพ่อเรือคนอื่นๆ อีกประมาณ ๗๐๐ คน
          ในวันที่พระกุมารออกเรือนั้น พระเจ้าโปลชนกทรงประชวรหนักจนถึงกับไม่อาจเสด็จลุกขึ้นได้เลย

๒. ความเด็ดเดี่ยวเอาจริง
          พระราชกุมารมหาชนกตัดสินพระทัยล่องเรือออกทะเลไปทำการค้า ได้แสดงจุดยืนของคนใจเด็ดไม่คิดย่อท้อต่ออุปสรรค ความเด็ดเดี่ยวนั้นเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้บุคคลประสบความสำเร็จได้   เมื่อแล่นเรือไปได้ประมาณ ๗๐๐ โยชน์ ล่วงเวลาไปได้ ๗ วัน ก็พบพายุร้ายพัดโหมกระหน่ำจนเรือไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ แผ่นกระดานเรือก็แตก น้ำไหลทะลักเข้าท้องเรือตามช่องที่แตก พวกพ่อค้าไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้เลย ยอมปล่อยให้น้ำเข้าเรืออยู่อย่างนี้ แต่พระมหาชนกไม่ทรงรู้สึกตกพระทัยอะไรนัก ทรงมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยปัญญา มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ  เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าเรือกำลังจะจม จึงทรงคลุกเคล้าน้ำตาลกรวดกับเนยใสเสวยจนอิ่ม แล้วเอาผ้าเนื้อเกลี้ยง ๒ ผืนชุบน้ำมันเปียกชุ่ม ทรงนุ่งผืนหนึ่ง ดาดบั้นเอวผืนหนึ่ง ประทับยืนเกาะเสากระโดง เวลาเรือจม มหาชนเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า น้ำโดยรอบมีสีเหมือนโลหิต พระมหาสัตว์ประทับยืนที่ยอดเสากระโดง ทรงกำหนดทิศว่า เมืองมิถิลาอยู่ทิศนี้ ก็กระโดดจากยอดเสากระโดง ล่วงพ้นฝูงปลาและเต่าไปตกในที่สุดอุสภะหนึ่ง เพราะพระองค์มีพระกำลังมาก  พระเจ้าโปลชนกราชได้สวรรคตในวันนั้นเหมือนกัน
          จำเดิมแต่นั้น พระมหาสัตว์เป็นไปอยู่ในคลื่นซึ่งมีสีดังแก้วมณี เหมือนท่อนต้นกล้วยทอง ข้ามมหาสมุทรด้วยกำลังพระพาหา พระมหาสัตว์ทรงว่ายข้ามมหาสมุทรอยู่เจ็ดวัน เหมือนว่ายข้ามวันเดียว พระองค์ทรงสังเกตเวลานั้นว่า วันนี้เป็นวันอุโบสถ จึงบ้วนพระโอฐด้วยน้ำเค็ม ทรงสมาทานอุโบสถศีล ก็ในกาลนั้น ท้าวโลกบาลทั้งสี่หรือจตุโลกบาล (หัวหน้าเทวดาชั้นจาตุมหาราชมี ๔ องค์ คือ ท้าวธตรัฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และท้าวกุเวร มีหน้าที่รักษาโลกทั้ง ๔) ท้าวโลกบาลทั้งสี่มอบให้เทพธิดาชื่อ มณีเมขลา เป็นผู้ดูแลรักษาสัตว์ทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยคุณ มีบำรุงมารดาเป็นต้น เป็นผู้ไม่สมควรจะตายในมหาสมุทร นางมณีเมขลามิได้ตรวจตรามหาสมุทรเป็นเวลาเจ็ดวัน เล่ากันว่า นางเสวยทิพยสมบัติเพลินก็เผลอสติมิได้ตรวจตรา บางอาจารย์กล่าวว่า นางเทพธิดาไปเทพสมาคมเสีย นางคิดได้ว่าวันนี้เป็นวันที่เจ็ดที่เรามิได้ตรวจตรามหาสมุทร มีเหตุอะไรบ้างหนอ เมื่อนางตรวจดูก็เห็นพระมหาสัตว์ จึงคิดว่า ถ้ามหาชนกกุมารจักตายในมหาสมุทร เราจักไม่ได้เข้าเทวสมาคม คิดฉะนี้แล้ว ตกแต่งสรีระ สถิตอยู่ในอากาศไม่ไกลพระมหาสัตว์
          เมื่อจะทดลองพระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาแรกว่า นี้ใคร เมื่อแลไม่เห็นฝั่ง ก็อุตสาหะพยายามว่ายอยู่ ท่ามกลางมหาสมุทร ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร จึงพยายามว่ายอยู่อย่างนี้นักหนา
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปสฺสนฺตีรํ แปลว่า แลไม่เห็นฝั่งเลย บทว่า อายุเห ได้แก่ กระทำความเพียร
          ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า เราว่ายข้ามมหาสมุทรมาได้เจ็ดวันเข้าวันนี้ ไม่เคยเห็นเพื่อนสองของเราเลย นี่ใครหนอมาพูดกะเรา เมื่อแลไปในอากาศก็ทอดพระเนตรเห็นนางมณีเมขลา จึงตรัสคาถาที่สองว่า ดูก่อนเทวดา เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลกและอานิสงส์แห่งความเพียร เพราะฉะนั้น ถึงจะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิสมฺม วตฺตํ โลกสฺส ความว่า เรานั้นไตร่ตรอง คือใคร่ครวญวัตร คือปฏิปทาของโลกอยู่
          บทว่า วายมสฺส จ ความว่า พระมหาสัตว์แสดงความว่า เราไตร่ตรอง คือเห็นอานิสงส์แห่งความเพียรอยู่
          บทว่า ตสฺมา ความว่า เพราะเราไตร่ตรองอยู่ คือรู้ว่า ชื่อว่าความเพียรของบุรุษย่อมไม่เสียหาย ย่อมให้ตั้งอยู่ในความสุข ฉะนั้น แม้จะมองไม่เห็นฝั่งก็ต้องพยายาม คือกระทำความเพียร อธิบายว่า เราจะไม่คำนึงถึงข้อนั้นได้อย่างไร
          นางมณีเมขลาปรารถนาจะฟังธรรมกถาของพระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาอีกว่า ฝั่งมหาสมุทรลึกจนประมาณไม่ได้ ย่อมไม่ปรากฏแก่ท่าน ความพยายามอย่างลูกผู้ชายของท่าน ก็เปล่าประโยชน์ ท่านไม่ทันถึงฝั่งก็จักตาย
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปตฺวา ว ความว่า ยังไม่ทันถึงฝั่งเลย ท่านก็จักตาย
          ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ตรัสกะนางมณีเมขลาว่า ท่านพูดอะไรอย่างนั้น เราทำความพยายาม แม้ตายก็จักพ้นครหา ตรัสฉะนี้แล้ว จึงกล่าวคาถาว่า บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตายก็ชื่อว่า ไม่เป็นหนี้ในระหว่างหมู่ญาติเทวดา และบิดามารดา อนึ่ง บุคคลเมื่อทำกิจอย่างลูกผู้ชาย ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อณโน ความว่า ดูก่อนเทวดา บุคคลเมื่อกระทำความเพียร แม้จะตาย ก็ย่อมไม่เป็นหนี้ คือไม่ถูกติเตียน ในระหว่างญาติทั้งหลาย เทวดาทั้งหลาย และพรหมทั้งหลาย
          ลำดับนั้น เทวดากล่าวคาถากะพระมหาสัตว์ว่า การงานอันใด ยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม การงานอันนั้นก็ไร้ผล มีความลำบากเกิดขึ้น การทำความพยายามในฐานะอันไม่สมควรใด จนความตายปรากฏขึ้น ความพยายามในฐานะอันไม่สมควรนั้นจะมีประโยชน์อะไร
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปารเณยฺยํ ความว่า ยังไม่ถึงที่สุดด้วยความพยายาม
          บทว่า มจฺจุ ยสฺสาภินิปฺผตํ ความว่า การทำความพยายามในฐานะอันไม่สมควรใด จนมัจจุ คือความตายนั่นแลปรากฏขึ้น ความพยายามในฐานะอันไม่สมควรนั้นจะมีประโยชน์อะไร
          เมื่อนางมณีเมขลากล่าวอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์เมื่อจะทำนางมณีเมขลาให้จำนนต่อถ้อยคำ จึงได้ตรัสคาถาต่อไปว่า ดูก่อนเทวดา ผู้ใดรู้แจ้งว่าการงานที่ทำ จะไม่ลุล่วงไปได้จริงๆ ชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตน ถ้าผู้นั้นละความเพียรในฐานะเช่นนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งความเกียจคร้าน
          ดูก่อนเทวดา คนบางพวกในโลกนี้เห็นผลแห่งความประสงค์ของตน จึงประกอบการงานทั้งหลาย การงานเหล่านั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม
          ดูก่อนเทวดา ท่านก็เห็นผลแห่งกรรมประจักษ์แก่ตนแล้วมิใช่หรือ คนอื่นๆ จมในมหาสมุทรหมด เราคนเดียวยังว่ายข้ามอยู่ และได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ๆเรา เรานั้นจักพยายามตามสติกำลัง จักทำความเพียรที่บุรุษควรทำ ไปให้ถึงฝั่งแห่งมหาสมุทร
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อจฺจนฺตํ ความว่า ผู้ใดรู้แจ้งการงานนี้ว่า แม้ทำความเพียรก็ไม่อาจให้สำเร็จได้ ไม่ลุล่วงไปได้จริงๆ ทีเดียว ดังนี้ ไม่นำช้างดุร้ายและช้างตกมันเป็นต้นออกไปเสีย ชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตน
          บทว่า ชญฺญา โส ยทิ หาปเย ความว่า ถ้าผู้นั้นละความเพียรในฐานะเช่นนั้นเสีย ก็จะพึงรู้ผลแห่งความเกียจคร้านนั้น คำที่ท่านกล่าวนั้นๆไร้ประโยชน์ พระมหาสัตว์ทรงชี้แจงดังนี้ ก็บทที่เขียนไว้ในบาลีว่า ชญฺญา โส ยทิ หาปเย นั้น ไม่มีในอรรถกถา
          บทว่า อธิปฺปายผลํ ความว่า คนบางพวกเห็นผลแห่งความประสงค์ของตน ประกอบการงานมีกสิกรรม และพาณิชกรรมเป็นต้น
          บทว่า ตานิ อิชฺฌนฺติ วา น วา ความว่า พระมหาสัตว์ทรงแสดงความว่า เมื่อบุคคลกระทำความเพียรทางกาย และความเพียรทางใจว่า เราจักไปในที่นี้ จักเรียนสิ่งนี้ การงานเหล่านั้นย่อมสำเร็จทีเดียว เพราะฉะนั้น จึงควรทำความเพียรแท้
          บทว่า สนฺนา อญฺเญ ตรามหํ ความว่า คนอื่นๆจม คือ จมลงในมหาสมุทร คือเมื่อไม่ทำความเพียร ก็เป็นภักษาแห่งปลาและเต่ากันหมด แต่เราคนเดียวเท่านั้นยังว่ายข้ามอยู่
          บทว่า ตญฺจ ปสฺสามิ สนฺติเก ความว่า ท่านจงดูผลแห่งความเพียรของเราแม้นี้ เราไม่เคยเห็นเทวดาโดยอัตภาพนี้เลย เรานั้นก็ได้เห็นท่านมาสถิตอยู่ใกล้ๆ เรา โดยอัตภาพทิพย์นี้
          บทว่า ยถาสติ ยถาพลํ ความว่า สมควรแก่สติและกำลังของตน บทว่า กาสํ แปลว่า จักกระทำ
          เทวดาได้สดับพระวาจาอันมั่นคงของพระมหาสัตว์นั้น เมื่อจะสรรเสริญพระมหาสัตว์ จึงกล่าวคาถาว่า
          ท่านใดถึงพร้อมด้วยความพยายามโดยธรรม ไม่จมลงในห้วงมหรรณพ ซึ่งประมาณมิได้ เห็นปานนี้ด้วยกิจ คือความเพียรของบุรุษ ท่านนั้นจงไปในสถานที่ที่ใจของท่านยินดีนั้นเถิด
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ คเต ความว่า ในห้วงน้ำซึ่งประมาณมิได้ เห็นปานนี้ คือในมหาสมุทรทั้งลึกทั้งกว้าง
          บทว่า ธมฺมวายามสมฺปนฺโน ความว่า ประกอบด้วยความพยายามอันชอบธรรม
          บทว่า กมฺมุนา นาวสีทสิ ความว่า ท่านไม่จมลงด้วยกิจ คือความเพียรของบุรุษของตน
          บทว่า ยตฺถ เต ความว่า ใจของท่านยินดีในสถานที่ใด ท่านจงไปในสถานที่นั้นเถิด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5441


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2564 16:58:36 »



          ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นางมณีเมขลาได้ถามว่า ข้าแต่ท่านบัณฑิตผู้มีความบากบั่นมาก ข้าพเจ้าจักนำท่านไปที่ไหน เมื่อพระมหาสัตว์ตรัสว่า มิถิลานคร นางจึงอุ้มพระมหาสัตว์ขึ้นดุจคนยกกำดอกไม้ ใช้แขนทั้งสองประคองให้นอนแนบทรวง พาเหาะไปในอากาศเหมือนคนอุ้มลูกรัก ฉะนั้น พระมหาสัตว์มีสรีระเศร้าหมองด้วยน้ำเค็มตลอดเจ็ดวัน ได้สัมผัสทิพยผัสสะก็บรรทมหลับ ลำดับนั้น นางมณีเมขลานำพระมหาสัตว์ถึงมิถิลานคร ให้บรรทมโดยเบื้องขวาบนแผ่นศิลา อันเป็นมงคลในสวนมะม่วง มอบให้หมู่เทพเจ้าในสวนคอยอารักขาพระมหาสัตว์แล้วไปสู่ที่อยู่ของตน
          ในกาลนั้น พระเจ้าโปลชนกราชไม่มีพระโอรส มีแต่พระธิดาองค์หนึ่งพระนามว่า สีวลีเทวี เป็นหญิงฉลาดเฉียบแหลม อมาตย์ทั้งหลายได้ทูลถามพระเจ้าโปลชนกราช เมื่อบรรทมอยู่บนพระแท่นมรณมัญจอาสน์ว่า ข้าแต่พระมหาราช เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว เหล่าข้าพระบาทจักถวายราชสมบัติแก่ใคร  พระราชาตรัสว่า ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติให้แก่ท่าน ที่สามารถยังสีวลีเทวีธิดาของเราให้ยินดี หรือผู้ใดรู้หัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม หรือผู้ใดอาจยกสหัสสถามธนูที่หนักขนาดคน ๑,๐๐๐ ขึ้นได้ หรือผู้ใดอาจนำขุมทรัพย์ใหญ่๑๓ แห่งออกมาได้ ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติให้แก่ผู้นั้น อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ขอเดชะ ขอพระองค์โปรดตรัส อุทานปัญหาแห่งขุมทรัพย์เหล่านั้น แก่พวกข้าพระองค์
          พระราชาจึงตรัสอุทานปัญหาของสิ่งอื่นๆ พร้อมกับขุมทรัพย์ทั้งหลายไว้ว่า
          ขุมทรัพย์ใหญ่สิบสามขุมเหล่านี้ คือ
                    ๑. ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น
                    ๒. ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ตก
                    ๓. ขุมทรัพย์ภายใน
                    ๔. ขุมทรัพย์ภายนอก
                    ๕. ขุมทรัพย์ไม่ใช่ทั้งภายในและไม่ใช่ภายนอก
                    ๖. ขุมทรัพย์ขาขึ้น
                    ๗. ขุมทรัพย์ขาลง
                    ๘. ขุมทรัพย์ที่ไม้รังใหญ่ทั้งสี่
                    ๙. ขุมทรัพย์ในที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ
                   ๑๐. ขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายงาทั้งสอง
                   ๑๑. ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง
                   ๑๒. ขุมทรัพย์ที่น้ำ
                   ๑๓. ขุมทรัพย์ที่ปลายไม้
          จากนั้นไม่นานพระเจ้าโปลชนกราชสวรรคต ถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว อมาตย์ทั้งหลายได้ประชุมปรึกษากันในวันที่เจ็ด ถึงเรื่องที่พระราชาตรัสไว้ว่า ให้มอบราชสมบัติแก่ท่านที่สามารถให้พระธิดาของพระองค์ยินดี ก็ใครเล่าจักสามารถให้พระราชธิดานั้นยินดี อมาตย์เหล่านั้นเห็นกันว่า เสนาบดีเป็นผู้สนิทชิดแห่งพระราชาจักสามารถ จึงส่งข่าวให้เสนาบดีนั้นทราบ เสนาบดีนั้นได้ฟังข่าว รับแล้วไปสู่ประตูพระราชวังเพื่อต้องการราชสมบัติ ให้ทูลความที่ตนมาแด่พระราชธิดา พระราชธิดาทรงทราบว่า เสนาบดีนั้นมา หวังจะทรงทดลองเสนาบดีว่า จะมีปัญญาทรงสิริแห่งเศวตฉัตรหรือไม่ จึงรับสั่งว่า จงมาโดยเร็ว เสนาบดีได้ฟังข่าวนั้นแล้ว ประสงค์จะให้พระราชธิดาโปรดปราน จึงไปโดยเร็วตั้งแต่เชิงบันไดไปยืนอยู่ที่ใกล้พระราชธิดา ลำดับนั้นพระราชธิดา เมื่อทรงทดลองเสนาบดีนั้น จึงตรัสสั่งว่า จงวิ่งไปโดยเร็วในพระตำหนัก เสนาบดีคิดว่าจักยังพระราชธิดาให้ยินดี จึงวิ่งไปโดยเร็ว พระราชธิดารับสั่งกะเสนาบดีว่า จงมาอีก เสนาบดีก็มาโดยเร็วอีก พระราชธิดาทรงทราบว่า เสนาบดีนั้นหาปัญญามิได้ จึงตรัสว่า จงมานวดเท้าของเรา เสนาบดีก็นั่งลง นวดพระบาทของพระราชธิดาเพื่อให้ทรงโปรดปราน
          ลำดับนั้น พระราชธิดาก็ถีบเสนาบดีนั้นที่อกให้ล้มหงาย แล้วประทานสัญญาแก่นางข้าหลวงทั้งหลายด้วยพระดำรัสว่า พวกเจ้าจงตีบุรุษไร้ปัญญาอันธพาลคนนี้ ลากคอออกไปเสีย นางข้าหลวงทั้งหลายก็ทำตามรับสั่ง เสนาบดีนั้นใครถามว่าเป็นอย่างไร ก็ตอบว่า พวกท่านอย่าถามเลย พระราชธิดานี้ไม่ใช่หญิงมนุษย์ จักเป็นยักขินี แต่นั้นอมาตย์ผู้รักษาคลังไปเพื่อให้พระราชธิดาทรงยินดี พระราชธิดาก็ให้ได้รับความอับอายขายหน้า เช่นเดียวกับเสนาบดี ได้ยังชนทั้งปวง คือเศรษฐี เจ้าพนักงานเชิญเครื่องสูง เจ้าพนักงานเชิญพระแสง ให้ได้รับความอับอายขายหน้าเหมือนกัน
          ครั้งนั้น มหาชนปรึกษากันแล้วกล่าวว่า ไม่มีผู้สามารถให้พระราชธิดาโปรดปราน ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติแก่ ผู้สามารถยกธนูที่มีน้ำหนักพันแรงคนยก ใครๆ ก็ไม่สามารถจะยกธนูนั้นขึ้น แต่นั้นมหาชนจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติแก่ ผู้รู้จักหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยม ก็ไม่มีใครรู้จักอีก แต่นั้น มหาชนจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติแก่ ผู้สามารถนำขุมทรัพย์สิบหกแห่งออกมาได้ ก็ไม่มีใครสามารถอีก
          แต่นั้น เสนาอมาตย์ทั้งหลายปรึกษากันว่า เราทั้งหลายไม่อาจรักษาแว่นแคว้นที่หาพระราชามิได้ไว้ จะพึงทำอย่างไรกันหนอ ลำดับนั้น ปุโรหิตจึงกล่าวกะเสนามาตย์เหล่านั้นว่า พวกท่านอย่าวิตกเลย ควรจะปล่อยผุสสรถไป เพราะพระราชาที่เชิญเสด็จมาได้ด้วยผุสสรถ เป็นผู้สามารถจะครองราชสมบัติในชมพูทวีปทั้งสิ้น เหล่าเสนามาตย์ต่างเห็นพร้อมกัน จึงให้ตกแต่งพระนคร แล้วให้เทียมม้าสี่ตัวมีสี ดุจดอกกุมุทในราชรถอันเป็นมงคล ลาดเครื่องลาดอันวิจิตรเบื้องบน ให้ประดิษฐานเบญจราชกกุธภัณฑ์ แวดล้อมด้วยจตุรงคเสนา ชนทั้งหลายประโคมเครื่องดนตรีข้างหน้าราชรถ ที่พระราชาเป็นเจ้าของ ประโคมเบื้องหลังราชรถ ที่ไม่มีเจ้าของ เพราะฉะนั้น ปุโรหิตจึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงประโคมดนตรีทั้งปวงเบื้องหลังราชรถ แล้วรดสายหนังเชือก แอก ประตักด้วยพระเต้าทองคำ แล้วสั่งราชรถว่า ผู้ใดมีบุญที่จะได้ครองราชสมบัติ ท่านจงไปสู่สำนักของผู้นั้น แล้วปล่อยราชรถนั้นไป
          ลำดับนั้น ราชรถก็ทำประทักษิณพระราชนิเวศแล้วขึ้นสู่ถนนใหญ่แล่นไปโดยเร็ว ชนทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นต้น นึกหวังว่า ขอผุสสรถจงมาสู่สำนักเรา รถนั้นแล่นล่วงเลยเคหสถานของชนทั้งปวงไป ทำประทักษิณพระนครแล้ว ออกทางประตูด้านตะวันออก บ่ายหน้าตรงไปอุทยาน
          ครั้งนั้น ชนทั้งหลายเห็นราชรถแล่นไปโดยเร็ว จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงยังราชรถนั้นให้กลับ ปุโรหิตห้ามว่า อย่าให้กลับเลย ถึงแล่นไปสิ้นร้อยโยชน์ก็อย่าให้กลับ รถเข้าไปสู่อุทยาน ทำประทักษิณแผ่นศิลามงคลแล้ว หยุดอยู่เตรียมรับเสด็จขึ้น. ปุโรหิตเห็นพระมหาสัตว์บรรทม จึงเรียกเหล่าอมาตย์มากล่าวว่า ท่านผู้หนึ่งนอนบนแผ่นศิลามงคลปรากฏอยู่ แต่ว่าพวกเรายังไม่รู้ว่า ท่านผู้นั้นจะมีปัญญาสมควรแก่เศวตฉัตรหรือไม่มี ถ้าว่าท่านมีปัญญา จักไม่ลุกขึ้นจักไม่แลดู ถ้าเป็นคนกาลกรรณีจักกลัว จักตกใจ ลุกขึ้นสะทกสะท้านแลดูแล้วหนีไป ท่านทั้งหลายจงประโคมดนตรีขึ้นทั้งหมดโดยเร็ว ชนทั้งปวงก็ประโคมดนตรีเป็นร้อยๆ ขึ้นขณะนั้น เสียงของดนตรีเหล่านั้น ได้เป็นเหมือนกึกก้องไปทั่วท้องสาคร พระมหาสัตว์ตื่นบรรทมด้วยเสียงนั้น เปิดพระเศียรทอดพระเนตรเห็นมหาชนแล้ว ทรงจินตนาการว่า เศวตฉัตรมาถึงเรา ดังนี้แล้ว คลุมพระเศียรเสียอีก พลิกพระองค์บรรทมข้างซ้าย ปุโรหิตเปิดพระบาทแห่งพระมหาสัตว์ ตรวจดูพระลักษณะแล้วกล่าวว่า อย่าว่าแต่ทวีปหนึ่งนี้เท่านั้นเลย ท่านผู้นี้สามารถครองราชสมบัติในมหาทวีปทั้งสี่ได้ กล่าวฉะนี้แล้วให้ประโคมดนตรีอีก
          ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงเปิดพระพักตร์อีก พลิกพระองค์บรรทมข้างขวา ทอดพระเนตรมหาชน ปุโรหิตให้บริษัทถอยออกไปแล้ว ประคองอัญชลีก้มหน้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ขอได้โปรดเสด็จลุกขึ้นเถิด ราชสมบัติมาถึงพระองค์ ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสถามปุโรหิตว่า พระราชาของพวกท่านเสด็จไปไหน ครั้นปุโรหิตกราบทูลว่า เสด็จสวรรคต จึงตรัสถามว่า พระราชโอรสหรือพระราชภาดาของพระราชานั้นไม่มีหรือ ปุโรหิตกราบทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า มีแต่พระราชธิดาองค์หนึ่ง
          ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทรงสดับคำของปุโรหิตนั้นแล้ว จึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว เราจักครองราชสมบัติ. ตรัสฉะนี้แล้ว เสด็จลุกขึ้นประทับนั่งโดยบัลลังก์ ณ แผ่นมงคลศิลา ต่อนั้น ชนทั้งหลายมีอมาตย์และปุโรหิตเป็นต้น ก็ถวายอภิเษกพระมหาสัตว์ ณ สถานที่นั้นทีเดียว พระมหาสัตว์นั้นได้ทรงพระนามว่า มหาชนกราช พระองค์เสด็จขึ้นสู่ราชรถอันประเสริฐ เข้าพระนครด้วยสิริราชสมบัติอันสิริโสภาคใหญ่ ขึ้นสู่พระราชนิเวศ ทรงพิจารณาว่า ตำแหน่งเสนาบดีเป็นต้นนั้นๆ ยกไว้ก่อน แล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งข้างใน
          ฝ่ายพระราชธิดา ตรัสสั่งราชบุรุษคนหนึ่งเพื่อจะทรงทดลองพระมหาสัตว์นั้น โดยสัญญาที่มีมาก่อนว่า เจ้าจงเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า พระนางสีวลีเทวีรับสั่งให้หา จงรีบเสด็จไปเฝ้า อมาตย์นั้นก็ไปกราบทูลพระราชาดังนั้น พระราชาแม้ได้ทรงฟังคำอมาตย์นั้น ก็แสร้งเป็นเหมือนไม่ได้ยิน ตรัสชมปราสาทเสียว่า โอ ปราสาทงาม ดังนี้ เพราะความที่พระองค์เป็นบัณฑิต ราชบุรุษนั้นเมื่อไม่อาจให้พระราชาทรงสดับคำนั้น จึงกลับมาทูลพระราชธิดาว่า ข้าแต่พระแม่เจ้า พระราชาไม่ทรงฟังคำของพระแม่เจ้า มัวแต่ทรงชมปราสาท ไม่สนพระทัยพระวาจาของพระแม่เจ้า เหมือนคนไม่สนใจต้นหญ้า ฉะนั้น พระราชธิดาทรงคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นผู้มีอัธยาศัยใหญ่ ส่งราชบุรุษให้เชิญเสด็จมาอีกถึงสองครั้งสามครั้งทีเดียว แม้พระราชาก็เสด็จไปโดยปกติ ตามความพอพระราชหฤทัยของพระองค์ ขึ้นสู่ปราสาทเหมือนพระยาราชสีห์เดินออกจากถ้ำ ฉะนั้น เมื่อเสด็จใกล้เข้ามา พระสีวลีเทวีราชธิดาไม่อาจดำรงพระองค์อยู่ได้ด้วยพระเดชานุภาพแห่งพระมหาสัตว์ จึงเสด็จมาถวายให้เกี่ยวพระกร พระมหาสัตว์ก็ทรงรับเกี่ยวพระกรพระราชธิดา ขึ้นยังพระที่นั่งประทับ ณ ราชบัลลังก์ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตรัสเรียกอมาตย์ทั้งหลายมารับสั่งถามว่า ดูก่อนอมาตย์ทั้งหลาย เมื่อพระราชาของพวกท่านจะเสด็จสวรรคต ได้ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง เมื่ออมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ได้ตรัสสั่งไว้บ้าง จึงโปรดให้อมาตย์เล่าถวาย อมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่า พระราชาของข้าพระองค์ทั้งหลายได้ตรัสสั่งไว้ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้ที่มีความสามารถดังต่อไปนี้
                    ๑. ผู้ที่สามารถทำให้พระธิดาสีวลีทรงโปรดปรานได้
                    ๒. ผู้ที่สามารถทราบหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยมว่าอยู่ด้านไหน
                    ๓. ผู้สามารถยกธนูอันมีน้ำหนักพันแรงคนยกขึ้นได้สำเร็จ
                    ๔. ผู้สามารถนำขุมทรัพย์ ๑๓ แห่งออกมาให้ปรากฏ
          พระมหาชนกตรัสว่า
          ข้อ ๑. ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้ที่ทำให้พระราชธิดาพระนามว่าสีวลีเทวีโปรดปรานได้  
          พระราชาตรัสว่า พระนางสีวลีราชธิดาเสด็จมาถวายให้เกี่ยวพระกรของเธอแล้ว ข้อนี้เป็นอันว่า เราได้ให้พระราชธิดาโปรดปรานแล้ว
          ข้อ ๒. ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้สามารถทราบหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยมว่าอยู่ด้านไหน  
          พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ข้อนี้รู้ยาก แต่ก็อาจรู้ได้โดยอุบาย จึงทรงถอดเข็มทองคำบนพระเศียร ประทานที่พระหัตถ์พระนางสีวลี มีรับสั่งว่า เธอจงวางเข็มทองคำนี้ไว้ พระนางสีวลีราชธิดาทรงรับเข็มทองคำไปวางไว้เบื้องหัวนอนแห่งบัลลังก์นั้น บางอาจารย์กล่าวว่า พระมหาสัตว์ประทานพระขรรค์ให้พระราชธิดาไปวาง  พระมหาสัตว์ทรงทราบว่า ข้างนี้เป็นหัวนอนด้วยความหมายนั้น ทรงทำเป็นยังไม่ได้ยินถ้อยคำนั้น จึงตรัสถามว่า ท่านว่ากระไร ครั้นหมู่อมาตย์กราบทูลซ้ำให้ทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งว่า การรู้จักหัวนอนบัลลังก์สี่เหลี่ยมไม่อัศจรรย์ ด้านนี้เป็นหัวนอน
          ข้อ ๓. ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้ยกธนูอันมีน้ำหนักพันแรงคนยกขึ้นได้      
          พระมหาสัตว์ตรัสสั่งให้นำธนูนั้นมา แล้วประทับ ณ ราชบัลลังก์นั้นเอง ทรงยกสหัสสถามธนูนั้นขึ้น ดุจกงดีดฝ้ายของหญิงทั้งหลายฉะนั้น แล้วโปรดให้เล่าข้ออื่นต่อไป
          ๔. ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้นำขุมทรัพย์สิบหกแห่งออกให้ปรากฏ
          พระมหาสัตว์ตรัสถามว่า ปัญหาอะไรๆ เกี่ยวกับขุมทรัพย์นั้น มีอยู่หรือไม่ เมื่อพวกอมาตย์กราบทูลปัญหาเกี่ยวกับขุมทรัพย์ว่า มีขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นต้น พอพระองค์ได้ทรงสดับปัญหานั้นแล้ว เนื้อความก็ปรากฏเหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญลอยเด่นอยู่ ณ ท้องฟ้าฉะนั้น ครั้นแล้ว พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า วันนี้หมดเวลาแล้ว พรุ่งนี้เราจักชี้ขุมทรัพย์ในที่ทั้งหลายนั้นๆ รุ่งขึ้นพระมหาสัตว์ให้ประชุมเหล่าอมาตย์แล้วตรัสถามว่า พระราชาของพวกท่านนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้มาฉันบ้างหรือไม่ กราบทูลว่า เคยนิมนต์ให้มาฉันบ้าง ขอเดชะ   พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า ดวงอาทิตย์มิใช่ดวงอาทิตย์ที่มองเห็นนี้ ดวงอาทิตย์หมายเอาพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะมีคุณเช่นดวงอาทิตย์ ขุมทรัพย์คงมีในสถานที่ต้อนรับพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น พระมหาสัตว์จึงตรัสถามว่า เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา พระราชาเสด็จไปต้อนรับตรงไหน เมื่ออมาตย์กราบทูลว่า ตรงนั้น ขอเดชะ ก็ตรัสสั่งให้ขุดที่นั้น นำขุมทรัพย์มาได้ จึงตรัสถามต่อไปว่า เมื่อเสด็จไปส่งพระปัจเจกพุทธเจ้าเวลากลับ เสด็จประทับยืนตรงไหน เมื่อทรงทราบว่าที่ใดแล้ว ก็โปรดให้ขุดที่นั้นนำขุมทรัพย์ออกมาได้
          มหาชนก็โห่ร้องเซ็งแซ่ถวายสาธุการสรรเสริญพระปัญญา รู้สึกปีติโสมนัสว่า ชนทั้งหลายเที่ยวขุด ณ ทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้น เพราะปัญหากล่าวว่าที่ดวงอาทิตย์ขึ้น และเที่ยวขุดในทิศที่ดวงอาทิตย์ตก เพราะปัญหากล่าวว่าที่ดวงอาทิตย์ตก แต่ขุมทรัพย์มีอยู่ในที่นี้เอง โอ อัศจรรย์หนอ แปลกหนอ พระมหาสัตว์ตรัสให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ภายในธรณี แห่งพระทวารใหญ่ของพระราชฐานได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ภายใน ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ภายนอกธรณีแห่งพระทวารใหญ่ของพระราชฐานได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ภายนอก ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ข้างล่างพระธรณี แห่งพระทวารใหญ่ของพระราชฐานได้ เพราะปัญหาว่า ขุมทรัพย์ไม่ใช่ภายในไม่ใช่ภายนอก ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ที่เกยทอง ในเวลาเสด็จขึ้นประทับมงคลหัตถีได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ขาขึ้น ให้ขุดนำขุมทรัพย์มาแต่ที่เสด็จลงจากคอช้างได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ขาลง ให้ขุดนำหม้อทรัพย์ทั้งสี่หม้อมาแต่ภายใต้ต้นรังทั้งสี่แห่ง อันเป็นเท้าพระแท่นบรรทม อันเป็นสิริซึ่งตั้งขึ้นมาแต่พื้นดินได้ เพราะปัญหาว่า ขุมทรัพย์ทั้งสี่ ให้ขุดนำหม้อทรัพย์ทั้งหลายมาแต่ที่ประมาณชั่วแอกโดยรอบพระที่สิริไสยาสน์ โดยวิธีนับชั่วแอกรถประมาณโยชน์หนึ่งได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ในที่โยชน์หนึ่งโดยรอบ ให้ขุดหม้อทรัพย์ทั้งสองในสถานที่มงคลหัตถี แต่ที่เฉพาะหน้าแห่งงาทั้งสองแห่งช้างนั้นมาได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายงาทั้งสอง ให้ขุดขุมทรัพย์ในสถานที่มงคลหัตถีแห่งที่เฉพาะหน้าแห่งปลายหางของช้างนั้นมาได้ เพราะปัญหาว่า ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง ให้วิดน้ำในสระมงคลโบกขรณีแสดงขุมทรัพย์ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ที่น้ำ ให้ขุดหม้อขุมทรัพย์มาแต่ภายในเงาไม้รัง มีปริมณฑลเวลาเที่ยงวันตรงที่โคนไม้รังใหญ่ในพระราชอุทยานได้ เพราะปัญหาว่าขุมทรัพย์ใหญ่ที่ปลายไม้ พระราชาให้นำขุมทรัพย์ใหญ่ทั้งสิบหกมาได้แล้ว ตรัสถามว่า ปัญหาอื่นอะไรยังมีอีกหรือไม่ อมาตย์ทั้งหลาย กราบทูลว่า ไม่มีแล้ว พระเจ้าข้า  มหาชนต่างร่าเริงแล้ว ยินดีแล้วว่า โอ อัศจรรย์ พระราชาองค์นี้เป็นบัณฑิตจริงๆ  
          ลำดับนั้น พระราชาทรงดำริว่า เราจักบริจาคทรัพย์นี้ในทานมุข จึงโปรดให้สร้างศาลาโรงทานหกหลัง คือท่ามกลางพระนครหนึ่ง ที่ประตูพระนครทั้งสี่ และที่ประตูพระราชนิเวศหนึ่ง โปรดให้เริ่มตั้งทานวัตร พระราชาโปรดให้เชิญพระมารดา และพราหมณ์มาแต่กาลจัมปากนคร ทรงทำสักการะสมโภชเป็นการใหญ่ เมื่อพระมหาสัตว์ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ในกาลเมื่อพระองค์ยังทรงเป็นดรุณราชกุมาร ชาววิเทหรัฐทั้งสิ้นเอิกเกริกกัน เพื่อจะได้เห็นพระองค์ ด้วยคิดว่า พระราชโอรสพระเจ้าอริฏฐชนกราช ทรงพระนามว่า มหาชนกราช ครองราชสมบัติเป็นพระราชาผู้บัณฑิต เฉลียวฉลาดในอุบาย เราทั้งหลายจักเห็นพระองค์  
          แต่นั้นมา ชนเป็นอันมากพร้อมกันนำเครื่องบรรณาการถวาย มีมหรสพใหญ่ในพระนคร ลาดเครื่องลาดที่ทำด้วยฝีมือเป็นต้นในพระราชนิเวศ ห้อยพวงของหอมพวงดอกไม้เป็นต้น โปรยปรายข้าวตอก ทำเครื่องอุปกรณ์ดอกไม้ เครื่องอบธูปและเครื่องหอม จัดตั้งไว้ซึ่งน้ำและโภชนาหารมีประการต่างๆ ในภาชนะเงิน ภาชนะทองคำ เพื่อเป็นเครื่องราชบรรณาการถวายพระมหาสัตว์เจ้า ยืนแวดล้อมอยู่ในที่นั้นๆ หมู่อมาตย์เฝ้าอยู่ ณ ปะรำหนึ่ง หมู่พราหมณ์เฝ้าอยู่ ณ ปะรำหนึ่ง หมู่เศรษฐีเป็นต้น ปะรำหนึ่ง เหล่านางสนมทรงรูปโฉม ปะรำหนึ่ง ฝ่ายพราหมณ์ทั้งหลายก็พร้อมกันสาธยายมนต์ เพื่ออำนวยสวัสดี เหล่าผู้กล่าวชัยมงคลด้วยปากก็พร้อมกันร้อง ถวายชัยมงคลกึกก้อง เหล่าผู้ชำนาญการขับร้องเป็นต้น ก็พร้อมกันขับเพลงถวายอยู่อึงมี่ ชนทั้งหลายก็บรรเลงดนตรีเป็นร้อยๆ อย่างอยู่ครามครัน พระราชนิเวศวังสถาน ก็บันลือลั่นสนั่นศัพท์สำเนียงเป็นเสียงเดียวกัน ปานท้องมหาสมุทรถูกลมพัดมาแต่ขุนเขายุคนธรฟัดฟาดแล้ว ฉะนั้น สถานที่ซึ่งพระมหาสัตว์ทอดพระเนตรแล้วๆ ก็กัมปนาทหวั่นไหว
          ชนทั้งหลายก็บรรเลงดนตรีเป็นร้อยๆ อย่างอยู่ครามครัน พระราชนิเวศวังสถาน ก็บันลือลั่นสนั่นศัพท์สำเนียงเป็นเสียงเดียวกัน ปานท้องมหาสมุทรถูกลมพัดมาแต่ขุนเขายุคนธรฟัดฟาดแล้ว ฉะนั้น สถานที่ซึ่งพระมหาสัตว์ทอดพระเนตรแล้วๆ ก็กัมปนาทหวั่นไหว
          พระมหาสัตว์ประทับ ณ พระราชอาสน์ ภายใต้พระมหาเศวตฉัตรทอดพระเนตรสิริวิลาส อันใหญ่เพียงดังสิริของท้าวสักกเทวราช ก็ทรงอนุสรณ์ถึงความพยายาม ที่พระองค์ได้ทรงทำในมหาสมุทร เมื่อท้าวเธอทรงอนุสรณ์ถึงความพยายามเช่นนั้นแล้ว จึงทรงมนสิการว่า ชื่อว่าความเพียร ควรทำแท้ ถ้าเราไม่ได้ทำความเพียรในมหาสมุทร เราจักไม่ได้สมบัตินี้ เมื่อทรงอนุสรณ์ถึงความเพียรนั้น ก็เกิดพระปีติโสมนัสซาบซ่าน จึงทรงเปล่งพระอุทานด้วยกำลังพระปีติ ตรัสว่า
บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังเข้าไว้ ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นการเป็นพระราชาสมปรารถนาแก่ตน บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงหวังเข้าไว้ ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตัวท่านจากน้ำขึ้นสู่บก
          บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามเรื่อยไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นการเป็นพระราชาสมปรารถนาแก่ตน บุรุษผู้เป็นบัณฑิตพึงพยายามเรื่อยไป ไม่พึงเบื่อหน่าย เราเห็นตัวท่านจากน้ำขึ้นสู่บก
          นรชนผู้มีปัญญาแม้ใกล้ถึงทุกข์แล้ว ก็ไม่พึงตัดความหวังที่จะถึงความสุข จริงอยู่ คนเป็นอันมากถูกทุกข์กระทบกระทั่ง ก็ทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ถูกสุขกระทบกระทั่ง ก็ทำสิ่งที่มีประโยชน์ คนเหล่านั้นไม่ตรึกถึงความข้อนี้จึงถึงความตาย
          สิ่งที่มิได้คิดไว้ จะมีก็ได้ สิ่งที่คิดไว้จะพินาศไปก็ได้ โภคะทั้งหลายของหญิงก็ตาม ของชายก็ตาม มิได้สำเร็จด้วยเพียงคิดเท่านั้น
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาสึเสเถว ความว่า ไม่ตัดความหวังเสีย ทำความหวังการงานของตนร่ำไป
          บทว่า น นิพฺพินฺเทยฺย ความว่า พึงกระทำความเพียรไม่เบื่อหน่าย คือไม่เกียจคร้าน
          บทว่า ยถา อิจฺฉึ ความว่า เราได้เป็นพระราชาดังที่เราปรารถนาทีเดียว
          บทว่า อุพฺภตํ ได้แก่ นำเข้าไปใกล้ คือนำเข้าไปแล้ว
          บทว่า ทุกฺขูปนีโตปิ ความว่า แม้ความทุกข์ทางกายและทางใจถูกต้องแล้ว
          บทว่า อหิตา หิตา จ ความว่า ผู้ที่มีทุกข์สัมผัส ย่อมไม่ทำสิ่งที่มีประโยชน์ ผู้ที่มีสุขสัมผัส ย่อมทำสิ่งที่มีประโยชน์
          บทว่า อวิตกฺกิตาโร ได้แก่ ไม่ตรึก คือไม่คิด ท่านอธิบายว่า บรรดาผัสสะเหล่านั้น เหล่าสัตว์ที่ผัสสะไม่มีประโยชน์ถูกต้อง ไม่คิดว่า แม้ผัสสะที่มีประโยชน์ ก็มีอยู่. ผู้ทำความเพียรย่อมบรรลุผัสสะแม้นั้น ไม่คิดดังนี้จึงไม่ทำความเพียร สัตว์เหล่านั้นไม่ตรึก คือไม่คิดเนื้อความนี้ จึงไม่ได้สัมผัสที่มีประโยชน์ ย่อมเข้าถึงมัจจุ คือถึงความตาย เพราะฉะนั้น ชื่อว่าความเพียรควรกระทำแท้
          บทว่า อจินฺติตมฺปิ ความว่า แม้สิ่งที่สัตว์เหล่านี้มิได้คิดไว้ก็ย่อมมีได้
          บทว่า จินฺติตมฺปิ วินสฺสติ ความว่า ก็เรื่องที่ว่า เราจะครองราชสมบัติโดยไม่ต้องรบเลยนี้ เรามิได้คิดไว้ เรื่องที่ว่าเราจักขนทรัพย์แต่สุวรรณภูมิมารบแล้วครองราชสมบัติ นี้เราคิดไว้ แต่ทั้งสองเรื่องนั้นบัดนี้ เรื่องที่เราคิดไว้ หายไปแล้ว เรื่องที่เรามิได้คิดไว้เกิดขึ้นแล้ว
           บทว่า น หิ จินฺตามยา โภคา ความว่า ด้วยว่าโภคะของสัตว์ทั้งหลาย ชื่อว่าสำเร็จด้วยความคิดหามิได้ เพราะมิได้สำเร็จด้วยความคิด ฉะนั้น ควรทำความเพียรทีเดียว เพราะสิ่งที่มิได้คิดไว้ ย่อมมีแก่ผู้มีความเพียร
          ตั้งแต่นั้นมา พระมหาสัตว์ทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรม ครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย
          กาลต่อมา พระนางสีวลีเทวีประสูติพระราชโอรส ซึ่งสมบูรณ์ด้วยลักษณะแห่งความมั่งคั่งและความมีบุญ พระชนกและพระชนนี ทรงขนานพระนามว่าทีฆาวุราชกุมาร เมื่อทีฆาวุราชกุมารทรงเจริญวัย พระราชาประทานอุปราชาภิเษกแล้ว ครองราชสมบัติอยู่เจ็ดพันปี
          วันหนึ่ง เมื่อนายอุทยานบาลนำผลไม้น้อยใหญ่ต่างๆ และดอกไม้ต่างๆมาถวาย พระมหาชนกราชมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นของเหล่านั้น ทรงยินดี ทรงยกย่องนายอุทยานบาลนั้น ตรัสว่า ดูก่อนนายอุทยานบาล เราใคร่จะเห็นอุทยาน ท่านจงตกแต่งไว้ นายอุทยานบาลรับพระราชดำรัสแล้ว ทำตามรับสั่ง แล้วกราบทูลให้ทรงทราบ พระมหาสัตว์ประทับบนคอช้างเสด็จออกจากพระนคร ด้วยราชบริพารเป็นอันมาก ถึงประตูพระราชอุทยาน ที่ใกล้ประตูพระราชอุทยานนั้น มีต้นมะม่วงสองต้นมีใบเขียวชอุ่ม ต้นหนึ่งไม่มีผล ต้นหนึ่งมีผล ผลนั้นมีรสหวานเหลือเกิน ใครๆ ไม่อาจเก็บผลจากต้นนั้น เพราะผลซึ่งมีรสเลิศอันพระราชายังมิได้เสวย พระมหาสัตว์ประทับบนคอช้าง ทรงเก็บเอาผลหนึ่งเสวย ผลมะม่วงนั้นพอตั้งอยู่ที่ปลายพระชิวหาของพระมหาสัตว์ ปรากฏดุจโอชารสทิพย์ พระมหาสัตว์ทรงคิดว่า เราจักกินให้มากเวลากลับ แล้วเสด็จเข้าสู่พระราชอุทยาน คนอื่นๆ มีอุปราชเป็นต้น จนถึงคนรักษาช้าง รักษาม้า รู้ว่าพระราชาเสวยผลมีรสเลิศแล้ว ก็เก็บเอาผลมากินกัน ฝ่ายคนเหล่าอื่นยังไม่ได้ผลนั้น ก็ทำลายกิ่งด้วยท่อนไม้ ทำเสียไม่มีใบ ต้นก็หักโค่นลง. มะม่วงอีกต้นหนึ่งตั้งอยู่งดงาม ดุจภูเขามีพรรณดังแก้วมณี พระราชาเสด็จออกจากพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นดังนั้นจึงตรัสถามเหล่าอมาตย์ว่า นี่อะไรกัน เหล่าอมาตย์กราบทูลว่า มหาชนทราบว่า พระองค์เสวยผลมีรสเลิศแล้ว ต่างก็แย่งกันกินผลมะม่วงนั้น พระราชาตรัสถามว่า ใบและวรรณะของต้นนี้สิ้นไปแล้ว ใบและวรรณะของต้นนอกนี้ยังไม่สิ้นไป เพราะเหตุไร อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ใบและวรรณะของอีกต้นหนึ่งไม่สิ้นไป เพราะไม่มีผล
          พระราชาทรงสดับดังนั้น ได้ความสังเวชทรงดำริว่า ต้นนี้มีวรรณะสดเขียวตั้งอยู่แล้ว เพราะไม่มีผล แต่ต้นนี้ถูกหักโค่นลง เพราะมีผล แม้ราชสมบัตินี้ก็เช่นกับต้นไม้มีผล บรรพชาเช่นกับต้นไม้หาผลมิได้ ภัยย่อมมีแก่ผู้มีความกังวล ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีความกังวล ก็เราจักไม่เป็นเหมือนต้นไม้มีผล จักเป็นเหมือนต้นไม้หาผลมิได้ เราจักสละราชสมบัติออกบวช ทรงอธิษฐานพระมนัสมั่น เสด็จเข้าสู่พระนคร เสด็จขึ้นปราสาทประทับที่พระทวารปราสาท ให้เรียกเสนาบดีมาตรัสสั่งว่า จำเดิมแต่วันนี้ ชนเหล่าอื่นนอกจากผู้บำรุงปฏิบัติผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เชิญเครื่องเสวยมา และเป็นผู้ถวายน้ำบ้วนพระโอฐและไม้สีพระทนต์ อย่ามาหาเราเลย ท่านทั้งหลายจงถือตามเหล่าอมาตย์ ผู้วินิจฉัยคนเก่าว่ากล่าวราชกิจ ตั้งแต่วันนี้ไป เราจักเจริญสมณธรรมในพระตำหนักชั้นบน ตรัสสั่งดังนี้แล้ว เสด็จขึ้นสู่ปราสาท เจริญสมณธรรมพระองค์เดียวเท่านั้น. เมื่อกาลล่วงไปอย่างนี้ มหาชนประชุมกันที่พระลานหลวง ไม่เห็นพระมหาสัตว์ ก็กล่าวว่า พระราชาของพวกเราไม่เหมือนพระองค์เก่า แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า
          พระราชาผู้เป็นใหญ่ไม่เหมือนแต่ก่อน เพราะบัดนี้ ไม่ทรงตรวจตราเหล่าคนฟ้อนรำ ไม่ทรงใส่พระทัยเหล่าเพลงขับ ไม่ทอดพระเนตรสัตว์ทวิบทจตุบาท ไม่ประพาสพระราชอุทยาน ไม่ทอดพระเนตรหมู่หงส์ พระองค์เป็นประหนึ่งคนใบ้ ประทับนิ่งเฉยไม่ทรงว่าราชกิจอะไรๆ
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มิเค เป็นคำกล่าวรวมถึงสัตว์ทั้งปวง อธิบายว่า เมื่อก่อนทรงให้ช้างชนกัน ทรงให้แพะขวิดกัน ทรงให้เหล่ามฤคต่อสู้กัน วันนี้ พระองค์ไม่ทอดพระเนตรสัตว์แม้เหล่านั้น
          บทว่า อุยฺยาเน ความว่า ไม่โปรดแม้กีฬาในพระราชอุทยาน บทว่า หํเส ความว่า ไม่ทอดพระเนตรหมู่หงส์ในสระโบกขรณีในพระราชอุทยาน ซึ่งดาดาษไปด้วยบัวเบญจพรรณ
               บทว่า มูโคว ความว่า ได้ยินว่า พวกเขาเหล่านั้น ถามผู้เชิญเครื่องเสวยและผู้ปฏิบัติบำรุงว่า พระราชาทรงปรึกษาข้อความอะไรๆ กับพวกท่านบ้าง เขากล่าวว่ามิได้ทรงปรึกษาเลย เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวอย่างนี้
          พระราชาทรงมีพระมนัสไม่พัวพันในกามทั้งหลาย น้อมพระทัยไปในวิเวก ทรงระลึกถึงเหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้คุ้นเคยในราชสกุล ทรงดำริว่า ใครหนอจักบอกสถานที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ประกอบด้วยคุณมีศีลเป็นต้น ผู้หากังวลมิได้เหล่านั้นแก่เรา แล้วทรงเปล่งอุทานด้วยคาถา ๓ คาถาไว้ว่า
          ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ผู้ใคร่ความสุข มีศีลอันปกปิดแล้ว ปราศจากเครื่องผูกคือกิเลส หนุ่มก็ตาม แก่ก็ตาม มีตัณหาอันก้าวล่วงแล้ว อยู่ที่ไหนในวันนี้ ขอนอบน้อมแด่ท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้น ผู้แสวงหาคุณใหญ่ ท่านผู้มีปัญญาเหล่าใดเป็นผู้ไม่ขวนขวาย อยู่ในโลกที่มีความขวนขวาย ท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้นตัดเสีย ซึ่งข่ายแห่งมัจจุซึ่งขึงไว้มั่น ผู้มีมายาทำลายเสียด้วยญาณไปอยู่ ใครพึงนำเราไปสู่ภูมิที่อยู่แห่งท่านผู้มีปัญญาเหล่านั้น
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุขกามา ได้แก่ ผู้ใคร่ความสุข คือ พระนิพพาน
          บทว่า รโหสีลา ความว่า มีศีลอันปกปิดแล้ว คือประกาศคุณหาที่สุดมิได้
          บทว่า วคฺคพนฺธา ได้แก่ เครื่องผูกคือกิเลส บทว่า อุปารุตา แปลว่า ไปปราศแล้ว
          บทว่า ทหรา วุฑฺฒา จ แปลว่า หนุ่มก็ตาม แก่ก็ตาม
          บทว่า อจฺฉเร แปลว่า ย่อมอยู่ เมื่อพระราชาทรงอนุสรณ์ถึงคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น เกิดพระปีติอย่างมาก
          ครั้งนั้น พระราชาเสด็จลุกจากบัลลังก์ ทรงเปิดสีหบัญชรด้านทิศอุดร ผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ประดิษฐานอัญชลีไว้เหนือพระเศียร เมื่อทรงนมัสการพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยคุณอันอุดมเห็นปานนี้ จึงตรัสว่า อติกฺกนฺตวถา เป็นต้น
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อติกฺกนฺตวถา ได้แก่ ผู้ละตัณหาได้แล้ว
          บทว่า มเหสินํ ได้แก่ ผู้แสวงหาคุณมีสีลขันธ์เป็นต้นเป็นอันมากดำรงอยู่
          บทว่า อุสฺสุกฺกมฺหิ ได้แก่ ผู้ถึงความขวนขวายจากราคะเป็นต้น
          บทว่า มจฺจุโน ชาลํ ได้แก่ ข่ายคือตัณหาอันกิเลสมารขึงไว้
          บทว่า ตนฺตํ มายาวิโน ความว่า ผู้มีมายายิ่งทั้งหลาย กำจัดคือทำลายด้วยญาณของตนไปอยู่
          บทว่า โก เตสํ คติมานเย ความว่า ใครจะพึงให้เราถึง คือพาเราไปยังนิวาสสถานของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 พฤษภาคม 2564 17:01:35 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5441


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2564 17:04:59 »



          เมื่อพระมหาสัตว์ทรงเจริญสมณธรรมอยู่บนปราสาทนั่นแล เวลาล่วงไปสี่เดือน ลำดับนั้น พระหฤทัยของพระองค์ได้น้อมไปในบรรพชาอย่างยิ่ง พระราชนิเวศปรากฏดุจโลกันตนรก ภพทั้งสามปรากฏแก่พระองค์เหมือนถูกไฟไหม้ พระมหาสัตว์มีพระหฤทัยมุ่งเฉพาะต่อบรรพชา ทรงจินตนาการว่า เมื่อไรหนอ กาลเป็นที่ละกรุงมิถิลา ซึ่งประดับตกแต่งดังพิภพแห่งท้าวสักกเทวราชนี้ แล้วไปสู่ป่าหิมวันต์ทรงเพศบรรพชิต จักมีแก่เรา ทรงคิดฉะนี้แล้ว ทรงเริ่มพรรณนากรุงมิถิลาว่า
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง ซึ่งนายช่างผู้ฉลาดจัดการสร้างจำแนกสถานที่เป็นพระราชนิเวศเป็นต้น ปันส่วนออกเป็นประตูและถนนตามส่วน ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง กว้างขวางรุ่งเรืองด้วยประการทั้งปวง ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่งมีกำแพงและหอรบเป็นอันมาก ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีป้อมและซุ้มประตูมั่นคง ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีทางหลวงตัดไว้เรียบร้อย ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีร้านตลาดในระหว่างจัดไว้อย่างดี ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง เบียดเสียดไปด้วยรถเทียมโคและม้า ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีระเบียบแห่งหมู่ไม้ในที่เที่ยวสำราญ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีระเบียบแห่งหมู่ไม้ในพระราชอุทยาน ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีระเบียบแห่งปราสาทอันประเสริฐ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง มีปราการสามชั้น พรั่งพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งพระเจ้าวิเทหรัฐผู้ทรงยศ พระนามว่าโสมนัส ทรงสร้างไว้ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง ซึ่งพระเจ้าวิเทหรัฐทรงสะสมธัญญาหารเป็นต้น ทรงปกครองโดยธรรม ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกรุงมิถิลาราชธานี อันมั่งคั่ง อันหมู่ปัจจามิตรผจญไม่ได้ ทรงปกครองโดยธรรม ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละพระราชมณเฑียรสถาน อันน่ารื่นรมย์ จำแนกปันสถานที่ไว้สมส่วน ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละพระราชมณเฑียรสถาน อันน่ารื่นรมย์ ซึ่งฉาบทาด้วยปูนขาวและดิน ออกบวช ความประสงค์นั้นจัดสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละพระราชมณเฑียรสถาน อันน่ารื่นรมย์ มีกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละพระตำหนักยอดอันจำแนกปันสมส่วน ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละพระตำหนักยอดอันฉาบทาด้วยปูนขาวและดิน ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละพระตำหนักยอดอันมีกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละพระตำหนักยอดอันทาสีวิเศษ สวยสด ลาดรดประพรมด้วยแก่นจันทน์ ออกบวช ความประสงค์นั้นจัดสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละบัลลังก์ทอง ซึ่งลาดอย่างวิจิตรด้วยหนังโค ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละบัลลังก์แก้วมณี ซึ่งลาดอย่างวิจิตรด้วยหนังโค ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละผ้าฝ้ายผ้าไหม ผ้าอันเกิดแต่โขมรัฐและเกิดแต่โกทุมพรรัฐ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละสระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ ซึ่งนกจากพรากร่ำร้องแล้ว ดาดาษไปด้วยพรรณไม้น้ำทั้งปทุมและอุบล ออกบวช ความประสงค์สำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกองช้าง ซึ่งประดับประดาไปด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง และเหล่าช้างมีสายรัดทองคำ บริบูรณ์ด้วยเครื่องประดับศีรษะและข่ายทองคำ เหล่าควาญที่ประจำก็ถือโตมรและของ้าว ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกองม้า ซึ่งประดับประดาด้วยสรรพาลังการ และเหล่าสินธพชาติอาชาไนย ซึ่งเป็นพาหนะเร็ว อันเหล่าคนฝึกประจำถือดาบและแล่งศรอยู่เป็นนิตย์ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกองรถ ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำรถถือศร สวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกองรถทองคำ ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำถือศร สวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละรถเงิน ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำรถถือศร สวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกองรถม้า ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนึ่งเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำถือศร สวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกองรถเทียมอูฐ ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำถือศร สวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกองรถเทียมแพะ แกะ เนื้อ โค ซึ่งติดเครื่องรบ ชักธงประจำ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง ประดับประดาด้วยอลังการอันวิจิตร มีคนประจำถือศรสวมเกราะ ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละกองฝึกช้าง ถือโตมรและของ้าว กองฝึกม้าทรงเครื่องประดับทองคำ กองพลธนูถือคันธนูพร้อมทั้งแล่งธนู เหล่าราชบุตรทรงเครื่องประดับทองคำ ทั้งสี่เหล่านี้ล้วนประดับด้วยเครื่องสรรพาลังการ เป็นผู้กล้าหาญสวมเกราะมีวรรณะเขียว ส่วนราชบุตรสวมเกราะอันวิจิตรถือกริชทอง ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละหมู่พราหมณ์ผู้ครองผ้าเครื่องบริขารครบครัน ทาตัวด้วยแก่นจันทน์เหลือง ทรงผ้ามาแต่แคว้นกาสีอันอุดม และนางสนมกำนัลประมาณ ๗๐๐ คน ซึ่งประดับด้วยเครื่องสรรพาลังการ เอวบาง สำรวมดีแล้ว เมื่อฟังคำสั่ง พูดจาน่ารัก ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักละภาชนะทองคำน้ำหนักร้อยปัลละ จำหลักลวดลายนับด้วยร้อย ออกบวช ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรกองช้างซึ่งประดับประดาด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงเป็นต้น จนถึงเหล่านางสนมกำนัลผู้เชื่อฟังคำสั่ง พูดจาน่ารัก เป็นที่สุด ผู้ติดตามเราไป เขาจักไม่ติดตามเราอันใด ความที่พวกนั้นๆ ไม่ติดตามเรานั้น จักมีจักเป็นได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักได้ปลงผมห่มผ้าสังฆาฏิ อุ้มบาตร เที่ยวบิณฑบาต จักทรงผ้าสังฆาฏิอันทำด้วยผ้าบังสุกุลที่เขาทิ้งไว้ตามถนนหนทาง เมื่อฝนตกเจ็ดวัน จักมีจีวรเปียกซุ่มเที่ยวบิณฑบาต จักจาริกไปตามต้นไม้ ตามราวป่า ทั้งกลางวันและกลางคืน เที่ยวไปโดยไม่เหลียวแลถึงกิจการอันใดอันหนึ่ง จักละความกลัวความขลาดให้เด็ดขาด จักอยู่ผู้เดียวตามภูเขาและสถานที่อันลำบาก จักทำจิตให้ตรง ดุจคนดีดพิณดีดสายทั้งเจ็ดให้เป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ความประสงค์นั้นจักสำเร็จได้เมื่อไรหนอ
          เมื่อไรเราจักตัดเสียซึ่งกามสังโยชน์ อันเป็นของทิพย์และของมนุษย์ ดุจช่างรถตัดรองเท้าโดยรอบฉะนั้น
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กทา เป็นบทกำหนดเวลา บทว่า ผิตํ ความว่า แพร่ คือเต็มด้วยผ้าและเครื่องประดับเป็นต้น
          บทว่า วิภตฺตํ ภาคโส มิตํ ความว่า อันนายช่างผู้สร้างพระนครผู้ฉลาด แบ่งสถานที่เป็นพระราชนิเวศเป็นต้น ปันส่วนเป็นประตูและถนน
          บทว่า ตํ กทา สุ ภวิสฺสติ ความว่า การละพระนครเห็นปานนี้ ออกบวชนั้น จักมีได้เมื่อไร
          บทว่า สพฺพโต ปภํ ความว่า ประกอบด้วยแสงสว่างแห่งเครื่องประดับโดยรอบ
          บทว่า พหุปาการโตรณํ ความว่า ประกอบด้วยกำแพงหนาแน่นและประตูหอรบ
          บทว่า ทฬฺหมฏฏาลโกฏฺฐกํ ความว่า ประกอบด้วยป้อมและซุ้มประตูมั่นคง
          บทว่า ปีฬิตํ ความว่า เกลื่อนกล่น. บทว่า ติปุรํ ความว่า ประกอบด้วยกำแพงสามชั้น คือ มีกำแพงสามชั้น อีกอย่างหนึ่งความว่า ล้อมรอบสามรอบ
          บทว่า ราชพนฺธนึ ความว่า เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์สามชั้นทีเดียว
          บทว่า โสมนสฺเสน ความว่า พระเจ้าวิเทหราชมีพระนามอย่างนี้
          บทว่า นิจฺจิเต ได้แก่ สะสมธัญญาหารเป็นต้นอุดมสมบูรณ์
          บทว่า อชฺเชยฺย ได้แก่ หมู่ปัจจามิตรเอาชนะไม่ได้ บทว่า จนฺทนโผสิเต ได้แก่ ประพรมด้วยจันทน์แดง
          บทว่า โขมโกทุมฺพรานิ ได้แก่ ผ้าที่เกิดแต่โขมรัฐและโกทุมพรรัฐ บทว่า หตฺถิคุมฺเพ ได้แก่ โขลงช้าง
          บทว่า เหมกปฺปนิวาสเส ได้แก่ ประกอบด้วยของสำเร็จรูป กล่าวคือเครื่องประดับศีรษะล้วนแล้วไปด้วยทอง และข่ายทอง
          บทว่า คามนีเยภิ ได้แก่ เหล่าหัตถาจารย์. บทว่า อาชานีเย จ ชาติเย ได้แก่ ฝูงม้าทั้งหลายเช่นนั้น ชื่ออาชาไนย เพราะรู้เหตุและมิใช่เหตุ ชื่อมีชาติ เพราะสมบูรณ์ด้วยชาติ
          บทว่า คามนีเยภิ ได้แก่ เหล่าอัศวาจารย์ บทว่า อินฺทิยา จาปธาริภิ ได้แก่ ทรงไว้ซึ่งดาบและแล่งศร
          บทว่า รถเสนิโย ได้แก่ หมู่รถ บทว่า สนฺนทฺเธ ได้แก่ สวมเกราะด้วยดี
          บทว่า ทีเป อโถปิ เวยฺยคฺเฆ ได้แก่ หุ้มหนังเสือเหลืองและเสือโคร่ง
          บทว่า คามนีเยภิ ได้แก่ เหล่ารถาจารย์ บทว่า สชฺฌุรเถ ได้แก่ รถเงิน ประกอบรถเทียมแพะ รถเทียมแกะ รถเทียมเนื้อ เพื่อความงดงาม
          บทว่า อริยคเณ ได้แก่ หมู่พราหมณ์ ได้ยินว่า พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้มีอาจาระประเสริฐในเวลานั้น เพราะเหตุนั้น พระมหาสัตว์จึงกล่าวถึงพราหมณ์เหล่านั้นอย่างนี้
          บทว่า หริจนฺทนลิตฺตงฺเค ได้แก่ มีสรีระไล้ทาด้วยจันทน์สีทอง พระมหาสัตว์กล่าวว่า สตฺตสตา หมายเอาเฉพาะภริยาที่รักเท่านั้น
          บทว่า สุสญฺญา ได้แก่ สำรวมแล้วด้วยดี
          บทว่า อสฺสวา ได้แก่ ทำตามถ้อยคำ บทว่า สตปลฺลํ ได้แก่ สร้างด้วยทองคำหนักร้อยปัลละ
          บทว่า กํสํ ได้แก่ ถาด บทว่า สตราชิกํ ได้แก่ ประกอบด้วยลวดลายด้านหลังร้อยลาย
          บทว่า ยนฺตํ มํ ความว่า ผู้ติดตามทั้งหลาย เมื่อไรจักไม่ติดตามเราผู้ไปไพรสณฑ์คนเดียวเท่านั้น
          บทว่า สตฺตาหํ เมเฆ ได้แก่ เมื่อเมฆฝนตั้งขึ้นตลอดเจ็ดวัน ความว่า เวลาฝนตกตลอดเจ็ดวัน
          บทว่า สพฺพณฺหํ แปลว่า ตลอดคืนตลอดวัน บทว่า วีณรุชฺชโก แปลว่า ผู้บรรเลงพิณ
          บทว่า กามสํโยชเน ได้แก่ กามสังโยชน์ บทว่า ทิพฺเพ แปลว่า เป็นของทิพย์ บทว่า มานุเส แปลว่า เป็นของมนุษย์
          ได้ยินว่า พระมหาสัตว์บังเกิดในกาลที่คนมีอายุหมื่นปี เสวยราชสมบัติเจ็ดพันปี ได้ทรงผนวชในเมื่อพระชนมายุยังเหลืออยู่ประมาณสามพันปี ก็เมื่อจะทรงผนวช ได้เสด็จอยู่ในฆราวาสวิสัยสี่เดือน จำเดิมแต่กาลที่ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นมะม่วงที่ประตูพระราชอุทยาน ทรงดำริว่า เพศแห่งบรรพชิตประเสริฐกว่าเพศแห่งพระราชานี้ เราจักบวช จึงตรัสสั่งราชบุรุษผู้รับใช้เป็นความลับว่า เจ้าจงนำผ้าย้อมฝาดและบาตรดินมาแต่ร้านตลาด อย่าให้ใครๆ รู้ ราชบุรุษนั้นได้ทำตามรับสั่ง พระราชาโปรดให้เรียกเจ้าพนักงานภูษามาลามาให้ปลงพระเกศาและพระมัสสุ พระราชทานบ้านส่วยแก่ภูษามาลาแล้วโปรดให้กลับไป ทรงนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ทรงห่มผืนหนึ่ง ทรงพาดผืนหนึ่งที่พระอังสา สวมบาตรดินในถุงคล้องพระอังสา ทรงธารพระกรสำหรับคนแก่แต่ที่นั้น เสด็จจงกรมไปมาในปราสาทด้วยปัจเจกพุทธลีลาสิ้นวันเล็กน้อย ทรงเปล่งอุทานว่า โอ บรรพชาเป็นสุข เป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นสุขอันประเสริฐ
          พระมหาสัตว์เสด็จประทับอยู่ในปราสาทนั้นแล ตลอดวันนั้น วันรุ่งขึ้นทรงปรารภจะเสด็จลงจากปราสาทในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น คราวนั้น พระนางสีวลีเทวีตรัสเรียกสตรีคนสนิทเจ็ดร้อยเหล่านั้นมารับสั่งว่า พวกเราไม่ได้เห็นพระราชาของเราทั้งหลาย ล่วงมาได้สี่เดือนแล้ว วันนี้เราทั้งหลายจักพากันไปเฝ้าท้าวเธอ ท่านทั้งหลายพึงตกแต่งด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง แสดงเยื้องกรายมีกิริยาอาการร่าเริง เพ็ดทูล ขับร้องอย่างสตรีเป็นต้นตามกำลัง พยายามผูกพระองค์ไว้ด้วยเครื่องผูก คือกิเลส แม้พระเทวีก็ทรงประดับตกแต่งพระองค์ แล้วเสด็จขึ้นปราสาทกับด้วยสตรีเหล่านั้น ด้วยทรงคิดว่า จักเฝ้าพระราชา แม้ทอดพระเนตรเห็นพระราชาเสด็จลงอยู่ ก็ทรงจำไม่ได้ ถวายบังคมพระราชาแล้วประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ด้วยทรงสำคัญว่า บรรพชิตนี้จักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามาถวายโอวาทพระราชา ฝ่ายพระมหาสัตว์เสด็จลงจากปราสาท ฝ่ายพระเทวีเมื่อเสด็จขึ้นไปยังปราสาท ทอดพระเนตรเห็นพระเกศาของพระราชามีสีดุจปีกแมลงภู่ บนหลังพระที่สิริไสยาสน์ และห่อเครื่องราชาภรณ์ จึงตรัสว่า บรรพชิตนั้นไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า จักเป็นพระราชสวามีที่รักของพวกเรา มาเถิดท่านทั้งหลาย เราทั้งหลายจักทูลวิงวอนพระองค์ให้เสด็จกลับ จึงเสด็จลงจากปราสาทตามไปทันพระราชาที่หน้าพระลาน. ครั้นถึงจึงสยายเกศาเรี่ยรายเบื้องพระปฤษฎางค์ กับด้วยสตรีทั้งปวงเหล่านั้น ข้อนทรวงด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง กราบทูลว่า พระองค์ทรงทำการอย่างนี้ เพราะเหตุไร พระเจ้าข้า ทรงคร่ำครวญติดตามพระราชาไปอย่างน่าสงสารยิ่ง
          ครั้งนั้น พระนครทั้งสิ้นก็เอิกเกริกโกลาหล ฝ่ายชาวเมืองเหล่านั้นกล่าวว่า ได้ยินว่า พระราชาของพวกเราทรงผนวชเสียแล้ว พวกเราจักได้พระราชา ผู้ดำรงอยู่ในยุติธรรมเห็นปานนี้แต่ไหนอีกเล่า แล้วต่างร้องไห้ติดตามพระราชาไป
          พระบรมศาสดาเมื่อทรงทำให้แจ้งซึ่งเสียงคร่ำครวญของหญิงเหล่านั้น และความที่พระราชาทรงละหญิงแม้ที่กำลังคร่ำครวญอยู่เหล่านั้นเสีย เสด็จไป เพราะเหตุการณ์นั้น จึงตรัสว่า
          พระสนมนารีเจ็ดร้อยเหล่านั้น ประดับด้วยสรรพาลังการ เอวบางสำรวมดี เชื่อถ้อยฟังคำ พูดจาน่ารัก ประคองพาหาทั้งสองกันแสง คร่ำครวญว่า พระองค์ละพวกข้าพระองค์ เพราะเหตุไร พระราชาทรงละพระสนมนารีเจ็ดร้อยเหล่านั้น ซึ่งประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง เอวบางสำรวมดี เชื่อถ้อยฟังคำ พูดจาน่ารัก เสด็จไปมุ่งการผนวชเป็นสำคัญ พระราชาทรงละภาชนะทองคำหนักร้อยปัลละ มีลวดลายนับด้วยร้อย ทรงอุ้มบาตรดินนั้นให้เป็นอันอภิเษกครั้งที่สอง
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปคฺคยฺห ได้แก่ ยกขึ้นแล้ว
          บทว่า สมฺปทวี ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระเจ้ามหาชนกราชนั้นทรงทิ้ง พระสนมนารีเจ็ดร้อยเหล่านั้นซึ่งรำพันเพ้ออยู่ว่า พระองค์ละพวกข้าพระองค์เสด็จไปแต่ผู้เดียวทำไม ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความผิดอะไรหรือ พระองค์มุ่งเสด็จไปดุจถูกท้วงว่า พระองค์ปราศจากสมบัติเสด็จออกผนวช
          บทว่า ตํ ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นั้น ทรงอุ้มบาตรดินนั้นให้เป็นอันอภิเษกครั้งที่สอง เสด็จออกอยู่
          พระนางสีวลีเทวีแม้ทรงคร่ำครวญอยู่ ก็ไม่อาจยังพระราชาให้เสด็จกลับได้ ทรงคิดว่า มีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง จึงให้เรียกมหาเสนาคุตมาเฝ้า แล้วตรัสสั่งว่า ท่านจงจุดไฟเผาเรือนเก่าศาลาเก่า ในส่วนทิศเบื้องหน้าที่พระราชาเสด็จไป จงรวบรวมหญ้าและใบไม้นำมาสุมให้เป็นควันมากในที่นั้นๆ มหาเสนาคุตได้ทำอย่างนั้น พระนางสีวลีเทวีเสด็จไปสู่สำนักของพระราชา หมอบแทบพระยุคลบาทกราบทูลความที่ไฟไหม้กรุงมิถิลา ตรัสสองคาถาว่า
          คลังทั้งหลาย คือคลังเงิน คลังทอง คลังแก้ว มุกดา คลังแก้วไพฑูรย์ คลังแก้วมณี คลังสังข์ คลังไข่มุกค์ คลังผ้า คลังจันทน์เหลือง คลังหนังเสือ คลังงาช้าง คลังพัสดุสิ่งของ คลังทองแดง คลังเหล็กเป็นอันมาก มีเปลวไฟเสมอเป็นอันเดียวกันอย่างน่ากลัว แม้อยู่คนละส่วนก็ไหม้หมด ขอพระองค์โปรดเสด็จกลับดับไฟเสียก่อน พระราชทรัพย์ของพระองค์นั้นอย่าได้ฉิบหายเสียเลย
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เภสฺมา แปลว่า น่ากลัว
          บทว่า อคฺคิสมาชาลา ความว่า เรือนทั้งหลายของมนุษย์นั้นๆ อันไฟไหม้อยู่ ไฟรุ่งเรืองด้วยเปลวเสมอเป็นอันเดียวกัน
          บทว่า โกสา ได้แก่ เรือนคลังเงินเป็นต้น
          บทว่า ภาคโส ความว่า พระนางสีวลีเทวีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ คลังของเราทั้งหลายเหล่านั้น แม้แบ่งไว้เป็นส่วนๆ ก็ถูกไฟไหม้หมด
          บทว่า โลหํ ได้แก่ ทองแดงเป็นต้น
          บทว่า มา เต ตํ วินสฺสา ธนํ ความว่า ขอทรัพย์ของพระองค์นั้นจงอย่าพินาศ อธิบายว่า มาเถิด ขอพระองค์จงดับไฟนั้น พระองค์จะเสด็จไปภายหลัง พระองค์จักถูกครหาว่า เสด็จออกไปโดยไม่เหลียวแลพระนคร ที่กำลังถูกไฟไหม้อยู่เลย พระองค์จักมีความวิปฏิสารเพราะความละอายนั้น มาเถิด พระองค์โปรดสั่งเหล่าอมาตย์ให้ดับไฟเถิด พระเจ้าข้า
          ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสกะพระนางสีวลีว่า พระเทวี เธอตรัสอะไรอย่างนั้น ความกังวลด้วยของเหล่าใดมีอยู่ ความกังวลนั้นด้วยของเหล่านั้นเพลิงเผาผลาญอยู่ แต่เราทั้งหลายหาความกังวลมิได้ เมื่อจะทรงแสดงข้อความนั้น จึงตรัสพระคาถาว่า
          เราทั้งหลายผู้ไม่มีความกังวล มีชีวิตเป็นสุขดีหนอ เมื่อกรุงมิถิลาถูกเพลิงเผาผลาญอยู่ ของอะไรๆ ของเรามิได้ถูกเผาผลาญเลย
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นตฺถิ กิญฺจนํ ความว่า ความกังวล กล่าวคือ กิเลสเครื่องกังวลของเราทั้งหลายเหล่าใดไม่มี เราทั้งหลายเหล่านั้นมีชีวิตเป็นสุข เป็นสุขดีหนอ เพราะไม่มีความกังวลนั้น ด้วยเหตุนั้น พระมหาสัตว์จึงตรัสว่า เมื่อกรุงมิถิลาถูกเพลิงเผาผลาญอยู่ ของอะไรๆ ของเรามิได้ถูกเผาผลาญเลย ความว่า เราไม่เห็นสิ่งของส่วนตัวของเราแม้หน่อยหนึ่งถูกเผาผลาญ
          ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์ได้เสด็จออกทางประตูทิศอุดร พระสนมกำนัลในทั้งเจ็ดร้อยแม้เหล่านั้นก็ออกตามเสด็จไป พระนางสีวลีเทวีทรงคิดอุบายอีกอย่างหนึ่ง จึงตรัสสั่งอมาตย์ทั้งหลายว่า พวกท่านจงแสดงเหตุการณ์ให้เป็น เหมือนโจรฆ่าชาวบ้านและปล้นแว่นแคว้น อมาตย์ได้จัดการตามกระแสรับสั่ง ขณะนั้น คนทั้งหลายก็แสดงพวกคนถืออาวุธวิ่งแล่นไปๆ แต่ที่นั้นๆ เป็นราวกะว่าปล้นอยู่ รดน้ำครั่งลงในสรีระเป็นราวกะว่า ถูกประหารให้นอนบนแผ่นกระดาน เป็นราวกะว่า ตายถูกน้ำพัดไป ต่อพระราชา มหาชนทูลพระราชาว่า ข้าแต่มหาราช พวกโจรปล้นแว่นแคว้น ฆ่าข้าแผ่นดินของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ แม้พระเทวี ก็ถวายบังคมพระราชา ตรัสคาถาเพื่อให้เสด็จกลับว่า
          เกิดโจรป่าขึ้นแล้วปล้นแว่นแคว้นของพระองค์ มาเถิดพระองค์ ขอพระองค์จงเสด็จกลับเถิด แว่นแคว้นนี้ อย่าพินาศเสียเลย
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อฏวิโย ความว่า ข้าแต่มหาราช เมื่อพระองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่นี่แหละ เกิดโจรป่าขึ้นแล้ว
          บทว่า รฏฺฐํ ความว่า พวกโจรทำลายแว่นแคว้นของพระองค์ อันธรรมรักษาแล้วเห็นปานนั้น มาเถิดพระองค์ ขอพระองค์จงเสด็จกลับเถิด แว่นแคว้นของพระองค์นี้ จงอย่าพินาศ
          พระราชาทรงสดับดังนั้นแล้วมีพระดำริว่า เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ จะไม่เกิดโจรปล้นทำลายแว่นแคว้นเลย นี้จักเป็นการกระทำของพระสีวลิเทวี เมื่อจะทรงทำให้พระนางจำนนต่อถ้อยคำ จึงตรัสว่า
          เราทั้งหลายผู้ไม่มีความกังวล มีชีวิตเป็นสุขดีหนอ เมื่อแว่นแคว้นถูกโจรปล้น พวกโจรมิได้นำอะไรๆ ของเราไปเลย เราทั้งหลายผู้ไม่มีความกังวล มีชีวิตเป็นสุขดีหนอ เราทั้งหลายจักมีปีติเป็นภักษา เหมือนเทวดาชั้นอาภัสรา ฉะนั้น
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิลุมฺปมานมฺหิ ได้แก่ ถูกโจรปล้นอยู่
          บทว่า อาภสฺสรา ยถา ความว่า พรหมเหล่านั้นเป็นผู้มีปีติเป็นภักษา ยังกาลเวลาให้ล่วงไปด้วยความสุขในสมาบัติ ฉันใด เราทั้งหลายจักยังเวลาให้ล่วงไป ฉันนั้น
          แม้เมื่อพระราชาตรัสอย่างนี้แล้ว มหาชนก็ยังติดตามพระองค์ไปอยู่นั่นเอง พระมหาสัตว์มีพระดำริว่า มหาชนเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะกลับ เราจักให้มหาชนนั้นกลับ เมื่อทรงดำเนินทางไปได้กึ่งคาวุต พระองค์จึงทรงหยุดพักประทับยืนในทางใหญ่ ตรัสถามอมาตย์ทั้งหลายว่า ราชสมบัตินี้ของใคร อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ของพระองค์ ท้าวเธอจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านทั้งหลายจงลงราชทัณฑ์แก่ผู้ทำรอยขีดนี้ให้ขาด ตรัสฉะนี้แล้วทรงเอาธารพระกร ลากให้เป็นรอยขีดขวางทาง ใครๆ ไม่สามารถทำรอยขีดที่พระราชา ผู้มีพระเดชานุภาพได้ทรงขีดไว้ให้ขาดลบเลือน มหาชนทำรอยขีดเหนือศีรษะคร่ำครวญกันอย่างเหลือเกิน แม้พระนางสีวลีเทวีก็ไม่ทรงสามารถทำรอยขีดนั้นให้เลือนหายได้ ทอดพระเนตรเห็นพระราชาหันพระปฤษฏางค์เสด็จไปอยู่ ไม่สามารถจะกลั้นโศกาดูร ก็ข้อนพระอุระ ล้มขวางทางใหญ่กลิ้งเกลือกไปมา ล่วงเลยรอยขีดนั้นเสด็จไป มหาชนเข้าใจว่า เจ้าของรอยขีดได้ทำลายเจ้าของรอยขีดแล้ว จึงพากันโดยเสด็จไปตามมรรคาที่พระเทวีเสด็จไป พระมหาสัตว์ทรงบ่ายพระพักตร์ เสด็จไปหิมวันตประเทศทางทิศอุดร ฝ่ายพระนางสีวลีเทวีก็พาเสนาพลพาหนะทั้งปวง ตามเสด็จไปด้วย พระราชาไม่อาจที่จะให้มหาชนกลับได้ เสด็จไปสิ้นทางประมาณหกสิบโยชน์
          ในกาลนั้น มีดาบสรูปหนึ่งชื่อ นารทะ อยู่ที่สุวรรณคูหาในหิมวันตประเทศ ให้เวลาล่วงไปด้วยสุขเกิดแต่ฌานอันสัมปยุตด้วยอภิญญาห้า ล่วงเจ็ดวันก็ออกจากสุขเกิดแต่ฌาน เปล่งอุทานว่า โอ เป็นสุข เป็นสุขอย่างยิ่ง ดาบสนั้นตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพยจักษุว่า ใครๆ ในพื้นชมพูทวีปแสวงหาสุขนี้ มีบ้างหรือหนอ ก็เห็นพระมหาชนกผู้พุทธางกูร จึงคิดว่า พระมหาชนกนั้นเป็นพระราชาออกมหาภิเนษกรมณ์ ไม่สามารถจะยังมหาชนราชบริพาร มีพระนางสีวลีเทวีเป็นประมุขให้กลับพระนครได้ ข้าราชบริพารนั้นพึงทำอันตรายแก่พระองค์ เราจักถวายโอวาทแก่พระองค์ เพื่อให้ทรงสมาทานมั่นโดยยิ่งโดยประมาณ จึงไปด้วยกำลังฤทธิ์ สถิตอยู่ในอากาศตรงเบื้องพระพักตร์พระราชา กล่าวคาถาให้พระองค์เกิดอุตสาหะว่า
          ความกึกก้องของประชุมชนใหญ่นี้ เพื่ออะไร นั่นใครหนอมากับท่าน เหมือนเล่นกันอยู่ในบ้าน สมณะ อาตมาขอถามท่าน ประชุมชนนี้แวดล้อมท่านเพื่ออะไร
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กิมฺเหโส ความว่า ความกึกก้องแห่งประชุมชนหมู่ใหญ่มีโขลงช้างเป็นต้นนี้ ในเพราะเหตุอะไร
          บทว่า กานุ คาเมว กีฬิยา ความว่า นั่นใครหนอมากับท่าน ราวกะว่าเล่นกีฬากันอยู่ในบ้าน
          บทว่า กตฺเถโส ได้แก่ มหาชนนี้เพื่ออะไร
          บทว่า อภิสโฏ ความว่า มหาชนประชุมกันแวดล้อมท่านมา นารทดาบสถามดังนี้
          พระราชาตรัสตอบว่า
          ประชุมชนนี้ตามข้าพเจ้า ผู้ละพวกเขาไปในที่นี้ ข้าพเจ้าผู้ล่วงสีมาคือกิเลสไปเพื่อถึงมโนธรรม กล่าวคือญาณของมุนีผู้ไม่เกื้อกูลแก่เหย้าเรือน ผู้เจือด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลาย ซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้นๆ อยู่ ท่านรู้อยู่ จะถามทำไม
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มมํ ความว่า ข้าพเจ้าละชนไป ซึ่งข้าพเจ้านั้นผู้ละไป. บทว่า เอตฺถ ความว่า มหาชนนี้ห้อมล้อมแล้ว คือติดตามมาในที่นี้ บทว่า สีมาติกฺกมนํ ยนฺตํ ความว่า ทำไมท่านจึงถามข้าพเจ้าผู้ล่วงสีมา คือกิเลสไป คือบวชเพื่อถึงมโนธรรม กล่าวคือญาณของมุนีผู้ไม่เกื้อกูลแก่เหย้าเรือน
          บทว่า มิสฺสํ นนฺทีหิ คจฺฉนฺตํ ความว่า ท่านรู้หรือว่าไม่รู้ว่าข้าพเจ้าบวชแล้ว จึงถามข้าพเจ้าผู้ยังไม่ละความเพลิดเพลิน เจือด้วยความเพลิดเพลินทั้งหลาย ซึ่งเกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ไปอยู่ คือท่านไม่ได้ฟังข่าวบ้างหรือว่า ได้ยินว่า พระมหาชนกทิ้งวิเทหรัฐบวช
          ลำดับนั้น นารทดาบสกล่าวคาถาอีก เพื่อต้องการให้พระมหาสัตว์สมาทานมั่นว่า
          พระองค์เพียงแต่ทรงสรีระนี้ จะสำคัญว่า เราข้ามพ้นกิเลสแล้วหาได้ไม่ กรรมคือกิเลสนี้ จะพึงข้ามได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ หาได้ไม่ เพราะยังมีอันตรายอยู่มาก
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาสฺสุ ติณฺโณ อมญฺญิตฺโถ ความว่า ท่านทรงสรีระนี้ คือ ครองบรรพชิตบริขารและผ้ากาสาวะ อย่าได้เข้าใจว่าเราข้ามแล้ว คือก้าวล่วงแล้วซึ่งแดน คือกิเลสด้วยเหตุเพียงถือเพศบรรพชิตนี้. บทว่า อติรเณยฺยมิทํ ความว่า ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี้ ไม่ใช่จะข้ามได้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ บทว่า พหู หิ ปริปนฺถโย ความว่า เพราะว่าอันตราย คือกิเลสของท่าน ที่ตั้งกั้นทางสวรรค์ ยังมีอยู่มาก
          ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า
          ข้าพเจ้าใดปรารถนาเฉพาะซึ่งกามทั้งหลาย ในมนุษยโลกอันบุคคลเห็นแล้ว ก็หาไม่เลย ในเทวโลกอันบุคคลไม่เห็นแล้ว ก็หาไม่ อันตรายอะไรหนอจะพึงมีแก่ข้าพเจ้านั้นซึ่งมีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โย เนว ทิฏฺเฐ นาทิฏฺเฐ ความว่า ข้าพเจ้าใดปรารถนาเฉพาะซึ่งกามทั้งหลาย ในมนุษยโลกอันบุคคลเห็นแล้ว ก็หามิได้เลย ในเทวโลกอันบุคคลไม่เห็นแล้ว ก็หามิได้เลย อันตรายอะไรหนอจะพึงมีแก่ข้าพเจ้านั้น ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียวอย่างนี้ พระมหาสัตว์ตรัสดังนี้
          ลำดับนั้น นารทดาบสเมื่อจะแสดงอันตรายทั้งหลายแก่พระมหาสัตว์นั้น จึงกล่าวคาถาว่า
          อันตรายมากทีเดียว คือ ความหลับ ความเกียจคร้าน ความง่วงเหงา ความไม่ชอบใจ ความเมาอาหาร ตั้งอยู่ในสรีระ อาศัยอยู่
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิทฺทา ได้แก่ หลับอย่างลิง บทว่า ตนฺทิ ได้แก่ ความเกียจคร้าน บทว่า อรติ ได้แก่ ความกระสัน
          บทว่า ภตฺตสมฺมโท ได้แก่ ความกระวนกระวายเพราะภัตตาหาร ท่านอธิบายไว้ดังนี้ ดูก่อนสมณะ พระองค์เป็นผู้มีพระรูปงามน่าเลื่อมใส มีผิวพรรณดุจทองคำ เมื่อพระองค์รับสั่งว่า อาตมาละราชสมบัติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจักถวายบิณฑบาตอันโอชาประณีตแก่พระองค์ พระองค์ทรงรับพอเต็มบาตร เสวยพอควรแล้วเข้าสู่บรรณศาลาบรรทม ณ ที่ลาดไม้ หลับกรนอยู่ตื่นในระหว่างพลิกกลับไปกลับมา ทรงเหยียดพระหัตถ์และพระบาท ลุกขึ้นจับราวจีวร เกียจคร้านไม่จับไม้กวาดกวาดอาศรม ไม่นำน้ำดื่มมา บรรทมหลับอีก ตรึกถึงกามวิตก กาลนั้นก็ไม่พอพระทัยในบรรพชา ความกระวนกระวายเพราะภัตตาหารจักมีแด่พระองค์ ด้วยประการฉะนี้ บทว่า อาวสนฺติ สรีรฏฺฐา ความว่า อันตรายเหล่านี้มีประมาณเท่านี้ ตั้งอยู่ในสรีระของท่านอาศัยอยู่ คือบังเกิดในสรีระของท่านนี่แหละ นารทดาบสแสดงดังนี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 พฤษภาคม 2564 17:16:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5441


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2564 17:16:14 »



          ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ เมื่อจะตรัสชมนารทดาบสนั้น จึงตรัสคาถาว่า
          ข้าแต่พราหมณ์ ท่านผู้เจริญพร่ำสอนข้าพเจ้าดีนักหนา ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์นี่แหละ ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านเป็นใครหนอ
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า พฺราหฺมณ อนุสาสสิ ความว่า ข้าแต่พราหมณ์ ท่านพร่ำสอนข้าพเจ้าดีนักหนา
ลำดับนั้น นารทดาบสกล่าวว่า
          ชนทั้งหลายรู้จักอาตมาโดยนามว่า นารทะ โดยโคตรว่า กัสสปะ ดังนี้ อาตมามาในสถานใกล้พระองค์ผู้เจริญ ด้วยรู้สึกว่า การสมาคมด้วยสัตบุรุษทั้งหลาย ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ พระองค์จงทรงยินดีในบรรพชานี้ วิหารธรรมจงเกิดแก่พระองค์ กิจอันใดยังพร่องด้วยศีล การบริกรรมและฌาน พระองค์จงทรงบำเพ็ญกิจอันนั้นให้บริบูรณ์ จงประกอบด้วยความอดทนและความสงบระงับ อย่าถือพระองค์ว่า เป็นกษัตริย์ จงทรงคลายออกเสีย ซึ่งความยุบลงและความฟูขึ้น จงทรงกระทำโดยเคารพซึ่งกุศลกรรมบถ วิชชาและสมณธรรม แล้วบำเพ็ญพรหมจรรย์
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิทู ความว่า ชนทั้งหลายรู้จักอาตมาโดยชื่อและโคตรว่า กัสสปะ บทว่า สพฺภิ ความว่า ขึ้นชื่อว่าการสมาคมกับด้วยบัณฑิตทั้งหลาย เป็นการยังประโยชน์ให้สำเร็จ เพราะเหตุนั้น อาตมาจึงมา บทว่า อานนฺโท ความว่า ความเพลิดเพลิน คือความยินดี ความชอบใจ ในบรรพชานี้ จงมีแก่ท่านนั้น อย่าเบื่อหน่าย บทว่า วิหาโร ได้แก่ พรหมวิหารธรรมสี่อย่าง บทว่า อุปวตฺตตุ ได้แก่ จงบังเกิด บทว่า ยทูนํ ความว่า กิจด้วยศีล ด้วยกสิณบริกรรม ด้วยฌานนั้นใดยังหย่อน พระองค์จงยังกิจนั้นให้บริบูรณ์ด้วยคุณมีศีลเป็นต้นเหล่านี้ บทว่า ขนฺตยา อุปสเมน จ ความว่า ท่านอย่ามีมานะว่า เราเป็นพระราชาบวช จงเป็นผู้ประกอบด้วย อธิวาสนขันติและความสงบระงับกิเลส บทว่า ปสารย ความว่า อย่ายกตน อย่าถือพระองค์ บทว่า สนฺนตฺตญฺจ อุนฺนตฺตญฺจ ความว่า จงคลายอวมานะที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า เรามีชาติตระกูลหรือ และอติมานะที่เป็นไปโดยนัยเป็นต้นว่า เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยชาติ บทว่า กมฺมํ ได้แก่ กุศลกรรมบถสิบ บทว่า วิชฺชํ ได้แก่ ญาณที่เป็นไปในอภิญญาห้าและสมาบัติแปด บทว่า ธมฺมํ ได้แก่ สมณธรรมกล่าวคือ กสิณบริกรรม บทว่า สกฺกตฺวาน ปริพฺพช ความว่า จงทำโดยเคารพซึ่งคุณธรรมเหล่านั้นเป็นไป หรือจงทำโดยเคารพซึ่งคุณธรรมเหล่านี้ สมาทานให้มั่นบำเพ็ญพรหมจรรย์ คือจงรักษาบรรพชา อย่าเบื่อหน่าย
          นารทดาบสนั้นถวายโอวาทพระมหาสัตว์อย่างนี้แล้ว กลับไปที่อยู่ของตนทางอากาศ
          เมื่อนารทดาบสไปแล้ว มีดาบสอีกรูปหนึ่งชื่อ มิคาชินะ ออกจากสมาบัติตรวจดูโลกเห็นพระมหาสัตว์ จึงมาแล้วดุจกัน ด้วยคิดว่า เราจักถวายโอวาทพระมหาสัตว์ เพื่อประโยชน์ให้มหาชนกลับพระนคร จึงสถิตอยู่ ณ อัมพรวิถี สำแดงตนให้ปรากฏแล้วกล่าวว่า
          พระองค์ทรงละช้างม้าชาวนครและชาวชนบทเป็นอันมาก ผนวชแล้วทรงยินดีในบาตร ชาวชนบทมิตรอมาตย์และพระญาติเหล่านั้น ได้กระทำความผิดระหว่างพระองค์ละกระมัง เหตุไร พระองค์จึงละอิสริยสุขมาชอบพระทัยซึ่งบาตรนั้น
          บทว่า กปลฺเล ในคาถานั้น ท่านกล่าวหมายถึงบาตรดิน มีคำอธิบายว่า เมื่อมิคาชินดาบสถามถึงเหตุแห่งบรรพชา จึงกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนมหาชนก ท่านละความเป็นใหญ่เห็นปานนี้ผนวชแล้ว ท่านยินดีในบาตรดินนี้
          บทว่า ทูภึ ความว่า พวกเขาเหล่านั้นได้กระทำความผิดอะไรๆ ในระหว่างต่อท่านบ้างหรือ เพราะเหตุไร ท่านจึงละอิสริยสุขเห็นปานนี้ มาชอบพระทัยบาตรดินใบนี้เท่านั้น
          แต่นั้น พระมหาสัตว์ตรัสว่า
          ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้ามิได้ผจญซึ่งญาติไรๆ โดยส่วนเดียวในกาลไหนๆ โดยอธรรม แม้ญาติทั้งหลายก็มิได้ผจญซึ่งข้าพเจ้า
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น มิคาชิน ได้แก่ ข้าแต่ท่านมิคาชินะผู้เจริญ บทว่า ชาตุจฺเฉ แปลว่า โดยส่วนเดียวนั่นเทียว. บทว่า อหํ กิญฺจิ กุทาจนํ ความว่า ข้าพเจ้ามิได้ผจญซึ่งญาติไรๆ ในกาลไรๆ โดยอธรรม แม้ญาติเหล่านั้นก็มิได้ผจญซึ่งข้าพเจ้าโดยอธรรม อธิบายว่า ไม่มีญาติคนไหนได้กระทำความผิดในข้าพเจ้า ด้วยประการฉะนี้
          พระมหาสัตว์ทรงห้ามปัญหาแห่งมิคาชินดาบสนั้นอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงเหตุแห่งการทรงผนวชจึงตรัสว่า ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้าเห็นประเพณีของโลก เห็นโลกถูกกิเลสขบกัด ถูกกิเลสทำให้เป็นดังเปือกตม จึงได้ทำเหตุนี้ให้เป็นเครื่องเปรียบเทียบว่า ปุถุชนจมอยู่แล้วในกิเลสวัตถุใด สัตว์เป็นอันมากย่อมถูกประหาร และถูกฆ่าในเพราะกิเลสวัตถุนั้น ดังนี้จึงได้บวชเป็นภิกษุ
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โลกวตฺตนฺตํ ความว่า ข้าพเจ้าได้เห็นวัตร คือประเพณีของสัตวโลกผู้โง่เขลา ผู้ไปตามวัฏฏะ เพราะเห็นดังนั้น ข้าพเจ้าจึงบวช พระมหาสัตว์ทรงแสดงดังนี้ บทว่า ขชฺชนฺตํ กทฺทมีกตํ ความว่า เห็นสัตวโลกถูกกิเลสขบกัด และถูกกิเลสเหล่านั้นแหละทำให้เป็นดังเปือกตม
          บทว่า ยตฺถ สนฺโน ความว่า ปุถุชนจม คือข้อง คือจมลงในกิเลสวัตถุใด สัตว์ทั้งหลายเป็นอันมากข้องอยู่ในกิเลสวัตถุนั้น ย่อมถูกฆ่าบ้าง ย่อมติดอยู่ในเครื่องผูกมีโซ่และเรือนจำเป็นต้นบ้าง
          บทว่า เอตาหํ ความว่า หากแม้ข้าพเจ้าจักติดอยู่ในกิเลสวัตถุนี้ ข้าพเจ้าก็จักถูกฆ่า และถูกจองจำเหมือนสัตว์เหล่านี้ ดังนั้นจึงทำเหตุการณ์นั่นแหละ เป็นอุปมาแห่งตนแล้วบวชเป็นภิกษุ พระมหาสัตว์เรียกดาบสนั้นว่า มิคาชินะ พระมหาสัตว์ทรงทราบชื่อของดาบสนั้นได้อย่างไร ทรงทราบ เพราะทรงถามไว้ก่อนในเวลาปฏิสันถาร
          ดาบสใคร่จะฟังเหตุการณ์นั้นโดยพิสดาร จึงกล่าวคาถาว่า
          ใครหนอเป็นผู้จำแนกแจกอรรถสั่งสอนพระองค์ คำอันสะอาดนี้เป็นคำของใคร ดูก่อนพระองค์ผู้เป็นจอมทัพ เพราะพระองค์มิได้ตรัสบอก สมณะผู้มีวัตรปฏิบัติก้าวล่วงทุกข์ นอกจากกัปปสมณะหรือวิชชสมณะ
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กสฺเสตํ ความว่า คำอันสะอาดนี้ คือที่ท่านกล่าวเป็นคำของใคร บทว่า กปฺปํ ได้แก่ ดาบสผู้เป็นกรรมวาที ผู้ได้อภิญญาสมาบัติอันสำเร็จเป็นไปแล้ว
          บทว่า วิชฺชํ ได้แก่ พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยวิชชา คืออาสวักขยญาณ ท่านอธิบายไว้ดังนี้ มิคาชินดาบสเรียกพระเจ้ามหาชนกราชว่า รเถสภ เพราะพระเจ้ามหาชนกราชมิได้ตรัสบอก สมณะผู้มีวัตรปฏิบัติโดยประการที่ก้าวล่วงทุกข์ได้ นอกจากกัปปสมณะหรือวิชชสมณะ คือเว้นโอวาทของท่านเสีย ใครๆได้ฟังคำของท่านเหล่านั้น แล้วสามารถที่จะปฏิบัติได้อย่างนั้น. ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า ใครหนอเป็นผู้จำแนกแจกอรรถ สั่งสอนพระองค์
          ลำดับนั้น พระมหาสัตว์กล่าวกะดาบสนั้นว่า
          ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ถึงข้าพเจ้าจะเคารพสมณะ หรือพราหมณ์โดยส่วนเดียวก็จริง แต่ก็ไม่เคยเข้าใกล้ไต่ถามอะไรๆ ในกาลไหนๆ เลย
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกฺกตฺวา ได้แก่ บูชาเพื่อต้องการจะถามคุณแห่งการบรรพชา
          บทว่า อนุปาวิสึ ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสว่า ข้าพเจ้าไม่เคยเข้าใกล้ใครๆ ไม่ถามสมณะไรๆ เลย เพราะพระมหาสัตว์นี้แม้ฟังธรรมในสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ไม่ถามคุณแห่งการบรรพชาโดยเฉพาะในกาลไหนๆ เลย ฉะนั้นท่านจึงตรัสอย่างนี้
          ก็แลครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระมหาสัตว์จึงตรัสคาถาเพื่อทรงแสดงเหตุที่ทรงผนวชตั้งแต่ต้นว่า
          ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้านั้นรุ่งเรืองด้วยสิริ ไปยังพระราชอุทยานด้วยอานุภาพใหญ่ เมื่อเจ้าพนักงานกำลังขับเพลงขับและประโคมดนตรีกันอยู่ ข้าพเจ้าได้เห็นมะม่วงมีผลภายนอกกำแพงพระราชอุทยาน อันกึกก้องด้วยเสียงดนตรี พร้อมแล้วด้วยคนร้องและคนประโคม
          ข้าพเจ้าละต้นมะม่วงอันมีสิรินั้น ซึ่งเหล่ามนุษย์ผู้ต้องการผลฟาดตีอยู่ ลงจากคอช้างเข้าไปโคนต้นมะม่วง ซึ่งมีผลและไม่มีผล เห็นต้นมะม่วงที่มีผลถูกคนเบียดเบียนกำจัดแล้ว ปราศจากใบและก้าน แต่มะม่วงอีกต้นหนึ่งมีใบเขียวชอุ่มน่ารื่นรมย์ ศัตรูทั้งหลายจักฆ่าพวกเราผู้มีอิสระ มีศัตรูดุจหนามเป็นอันมาก เหมือนต้นมะม่วงมีผล ถูกคนหักโค่นฉะนั้น
          เสือเหลืองถูกฆ่าเพราะหนัง ช้างถูกฆ่าเพราะงา คนมีทรัพย์ถูกฆ่าเพราะทรัพย์ ใครเล่าจักฆ่าผู้ไม่มีเหย้าเรือน ผู้ไม่มีสันถวะ คือตัณหา มะม่วงต้นหนึ่งมีผล อีกต้นหนึ่งไม่มีผล ทั้งสองต้นนั้นเป็นผู้สั่งสอนข้าพเจ้า
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วคฺคุสุ ความว่า เมื่อดนตรีมีเสียงไพเราะอันบุคคลประโคมอยู่ บทว่า ตุริยตาลิตสํฆุฏฺเฐ ความว่า ในพระราชอุทยานที่กึกก้องด้วยเสียงดนตรีทั้งหลาย บทว่า สมฺมาตาลสมาหิเต ความว่า ประกอบด้วยคนขับร้องและคนประโคมทั้งหลาย บทว่า สมิคาชิน ความว่า ข้าแต่ท่านมิคาชินะ ข้าพเจ้านั้นได้เห็นแล้ว บทว่า ผลึ อมฺพํ ความว่า มะม่วงมีผลคือต้นมะม่วงที่ผลิตผล บทว่า ติโรจฺฉทํ ความว่า ได้เห็นต้นมะม่วงภายนอกกำแพง คือ เกิดอาศัยอยู่นอกกำแพงซึ่งตั้งอยู่ในภายในพระราชอุทยานนั่นแหละ บทว่า ตุทมานํ แปลว่า ถูกฟาดอยู่ บทว่า โอโรหิตฺวา ความว่า ลงจากคอช้าง บทว่า วินลีกตํ แปลว่า ทำให้ปราศจากใบไร้ก้าน บทว่า เอวเมว แปลว่า ฉันนั้นนั่นเทียว บทว่า ผโล แปลว่า สมบูรณ์ด้วยผล บทว่า อชินมฺหิ ได้แก่ เพื่อต้องการหนัง คือ มีหนังเป็นเหตุ บทว่า ทนฺเตสุ ความว่า ถูกฆ่าเพราะงาทั้งสองของตน คือถูกฆ่าเพราะงาเป็นเหตุ บทว่า หนฺติ แปลว่า ถูกฆ่า บทว่า อนิเกตมสนฺถวํ ความว่า ก็ผู้ใดชื่อว่าอนิเกตะ เพราะละเหย้าเรือนบวช ชื่อว่าอสันถวะ เพราะไม่มีสันถวะ คือตัณหาซึ่งเป็นวัตถุแห่งสังขารทั้งปวง อธิบายว่า ใครจักฆ่าผู้นั้นซึ่งไม่มีเหย้าเรือนไม่มีสันถวะ บทว่า เตสตฺถาโร ความว่า พระมหาสัตว์กล่าวว่า ต้นไม้สองต้นเหล่านั้นเป็นผู้สั่งสอนเรา
          มิคาชินดาบสได้ฟังดังนั้นแล้วจึงถวายโอวาทแด่พระราชาว่า ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด มหาบพิตร แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตนทีเดียว
          เมื่อมิคาชินดาบสไปแล้ว พระนางสีวลีเทวีหมอบลงแทบพระยุคลบาทของพระราชา กราบทูลว่า
          ชนทั้งปวงคือกองช้าง กองม้า กองรถ กองเดินเท้า ตกใจว่าพระราชาทรงผนวชเสียแล้ว ขอพระองค์โปรดทำให้ชุมชนอุ่นใจ ตั้งความคุ้มครองไว้ อภิเษกพระโอรสในราชสมบัติแล้ว จึงทรงผนวชต่อภายหลังเถิด
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปพฺยถิโต ได้แก่ กลัว คือ หวาดสะดุ้ง บทว่า ปฏิจฺฉทํ ความว่า ตั้งกองอารักขาไว้คุ้มครองมหาชนที่สะดุ้งกลัวว่า พระราชามิได้ทรงเหลียวแลพวกเราที่ถูกไฟไหม้บ้าง ถูกปล้นบ้าง บทว่า ปุตฺตํ ความว่า ขอพระองค์ได้อภิเษกพระโอรส คือทีฆาวุกุมาร ไว้ในราชสมบัติแล้ว จึงทรงผนวชต่อภายหลังเถิด
ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสว่า
          ดูก่อนปชาบดี ชาวชนบท มิตรอมาตย์และพระประยูรญาติทั้งหลาย เราสละแล้ว ทีฆาวุราชกุมารผู้ยังแว่นแคว้นให้เจริญเป็นบุตรของชาววิเทหรัฐ ชาววิเทหรัฐเหล่านั้นจักให้ครองราชสมบัติในกรุงมิถิลา
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สนฺติ ปุตฺตา ความว่า ดูก่อนพระเทวีสีวลี ธรรมดาสมณะทั้งหลายย่อมไม่มีบุตร แต่ทีฆาวุกุมารเป็นบุตรของชาววิเทหรัฐ ชาววิเทหรัฐเหล่านั้นจักให้ครองราชสมบัติ พระมหาสัตว์ตรัสเรียกพระเทวีว่า ปชาปติ
          ลำดับนั้น พระนางสีวลีเทวีกราบทูลพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่พระองค์ พระองค์ทรงผนวชเสียก่อนแล้ว ก็หม่อมฉันจะกระทำอย่างไร พระมหาสัตว์จึงตรัสกะพระนางว่า ดูก่อนพระเทวี อาตมาจะให้เธอสำเหนียกตาม เธอจงทำตามคำของอาตมา แล้วตรัสว่า
          มาเถิด อาตมาจะให้เธอศึกษาตามคำที่อาตมาชอบ เมื่อเธอให้พระโอรสครองราชสมบัติ ก็จักกระทำบาปทุจริตเป็นอันมากด้วยกายวาจาใจ ซึ่งเป็นเหตุให้เธอไปสู่ทุคติ การที่เรายังอัตภาพให้เป็นไปด้วยก้อนข้าวที่ผู้อื่นให้ซึ่งสำเร็จแต่ผู้อื่น นี้เป็นธรรมของนักปราชญ์
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตุวํ ความว่า เธอให้ยกเศวตฉัตรขึ้นแก่พระโอรส พร่ำสอนเรื่องราชสมบัติ ด้วยคิดว่า ลูกของเราเป็นพระราชาจักกระทำบาปเป็นอันมาก บทว่า คจฺฉสิ ความว่า เธอจักไปสู่ทุคติด้วยบาป เป็นอันมากที่กระทำด้วยกายเป็นต้นใด บทว่า สธีรธมฺโม ความว่า ความประพฤติที่ว่าพึงยังชีวิตให้เป็นไปด้วย คำข้าวที่ได้มาด้วยลำแข้งนี้ เป็นธรรมของนักปราชญ์ทั้งหลาย
          พระมหาสัตว์ได้ประทานโอวาทแก่พระนางนั้นด้วยประการฉะนี้ เมื่อกษัตริย์ทั้งสองตรัสโต้ตอบกันและกัน และเสด็จดำเนินไป. พระอาทิตย์ก็อัสดงคต พระเทวีมีพระเสาวนีย์ให้ตั้งค่ายในที่อันสมควร พระมหาสัตว์เสด็จประทับแรม ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ประทับอยู่ ณ ที่นั้นตลอดราตรี รุ่งขึ้นทรงทำสรีรกิจแล้ว เสด็จไปตามมรรคา ฝ่ายพระเทวีตรัสสั่งให้เสนาตามมาภายหลัง แล้วเสด็จไปเบื้องหลังแห่งพระมหาสัตว์ ทั้งสองพระองค์นั้นเสด็จถึงถูนนครในเวลาภิกขาจาร ขณะนั้นมีบุรุษคนหนึ่งภายในเมือง ซื้อเนื้อก้อนใหญ่มาแต่เขียงขายเนื้อ เสียบหลาวย่างบนถ่านเพลิงให้สุก แล้ววางไว้ที่กระดานเพื่อให้เย็นได้ยืนอยู่ เมื่อบุรุษนั้นส่งใจไปที่อื่น สุนัขตัวหนึ่งคาบก้อนเนื้อนั้นหนีไป บุรุษนั้นรู้แล้วไล่ตามสุนัขนั้นไปเพียงนอกประตูด้านทักษิณ เบื่อหน่ายหมดอาลัยก็กลับบ้าน พระราชากับพระเทวีเสด็จมาข้างหน้าสุนัขตามทางสองแพร่ง สุนัขนั้นทิ้งก้อนเนื้อหนีไปด้วยความกลัว พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นก้อนเนื้อนั้น ทรงจินตนาการว่า สุนัขนี้ทิ้งก้อนเนื้อนี้ไม่เหลียวแลเลยหนีไปแล้ว แม้คนอื่นผู้เป็นเจ้าของก็ไม่ปรากฏ อาหารเห็นปานนี้หาโทษมิได้ ชื่อว่าบังสุกุลบิณฑบาต เราจักบริโภคก้อนเนื้อนั้น พระองค์จึงนำบาตรดินออก ถือเอาเนื้อก้อนนั้นปัดฝุ่นแล้วใส่ลงในบาตร เสด็จไปยังที่มีน้ำบริบูรณ์ ทรงพิจารณาแล้วเริ่มเสวยเนื้อก้อนนั้น ลำดับนั้น พระเทวีทรงดำริว่า ถ้าพระราชานี้มีพระราชประสงค์ราชสมบัติ จะไม่พึงเสวยก้อนเนื้อเห็นปานนี้ ซึ่งน่าเกลียด เปื้อนฝุ่น เป็นเดนสุนัข. บัดนี้ พระองค์จักมิใช่พระราชสวามีของเราทรงดำริฉะนี้แล้ว กราบทูลพระองค์ว่า ข้าแต่พระมหาราช พระองค์ช่างเสวยเนื้อที่น่าเกลียดเห็นปานนี้ได้ พระมหาสัตว์ตรัสว่า ดูก่อนพระเทวี เธอไม่รู้จักความวิเศษของบิณฑบาตนี้เพราะเขลา ตรัสฉะนี้แล้วทรงพิจารณาสถานที่ก้อนเนื้อนั้นตั้งอยู่ เสวยก้อนเนื้อนั้นดุจเสวยอมตรส บ้วนพระโอฐล้างพระหัตถ์และพระบาทแล้ว
          ขณะนั้น พระเทวี เมื่อจะทรงตำหนิพระราชา จึงตรัสว่า
          คนที่ฉลาดแม้ไม่ได้บริโภคอาหารสี่มื้อ ราวกะว่าจะตายด้วยความอด ก็ยอมตายเสียด้วยความอด เขาจะไม่ยอมบริโภคก้อนเนื้อคลุกฝุ่นไม่สะอาดเลย ข้าแต่พระมหาชนก พระองค์สิเสวยได้ซึ่งก้อนเนื้ออันเป็นเดนสุนัข ไม่สะอาดน่าเกลียดนัก
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อชฺฌุฏฺฐมาริว ความว่า เหมือนใกล้จะตาย บทว่า ลุลิตํ ได้แก่ คลุกฝุ่น. บทว่า อนริยํ ได้แก่ ไม่ดี นุอักษรในบทว่า นุ เสเว เป็นนิบาตลงในอรรถถามโต้ตอบ มีคำอธิบายว่า แม้ถ้าจะไม่ได้บริโภคอาหารสี่มื้อ หรือจะตายเสียด้วยความอด แม้เมื่อเป็นอย่างนั้น คนฉลาดก็ไม่ย่อมบริโภคอาหารเห็นปานนี้เลย คือไม่บริโภคอย่างพระองค์. บทว่า ตยิทํ แปลว่า นี้นั้น
          พระมหาสัตว์ ตรัสตอบว่า
          ดูก่อนพระนางสีวลี ก้อนเนื้อนั้นไม่ชื่อว่าเป็นอาหารของอาตมา หามิได้ เพราะถึงจะเป็นของคนครองเรือนหรือของสุนัข ก็สละแล้ว ของบริโภคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกนี้ ที่บุคคลได้มาแล้วโดยชอบธรรม ของบริโภคทั้งหมดนั้นกล่าวกันว่า ไม่มีโทษ
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อภกฺโข ความว่า บิณฑบาตนั้นจะไม่ชื่อว่าเป็นภักษาหารของอาตมาหามิได้ บทว่า ยํ โหติ ความว่า ของสิ่งใดที่คฤหัสถ์ หรือสุนัขสละแล้ว ของสิ่งนั้นชื่อว่าบังสุกุล เป็นของไม่มีโทษเพราะไม่มีเจ้าของ บทว่า เย เกจิ ความว่า เพราะฉะนั้น โภคะเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่นๆ ที่ได้มาโดยชอบธรรม บทว่า สพฺโพ โส ภกฺ โข อนวโย ความว่า ไม่มีโทษ คือแม้จะมีคนดูอยู่บ่อยๆ ก็ไม่บกพร่อง บริบูรณ์ด้วยคุณไม่มีโทษ แต่ลาภที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม ถึงจะมีค่าตั้งแสน ก็น่าเกลียดอยู่นั่นเอง
          เมื่อกษัตริย์สององค์ตรัสสนทนากะกันอยู่อย่างนี้ พลางเสด็จดำเนินไป ก็ลุถึงประตูถูนนคร เมื่อทารกทั้งหลายในนครนั้นกำลังเล่นกันอยู่ มีนางกุมาริกาคนหนึ่งเอากระด้งน้อยฝัดทรายเล่นอยู่ กำไลอันหนึ่งสวมอยู่ในข้อมือข้างหนึ่งของนาง กำไลสองอันสวมอยู่ในข้อมือข้างหนึ่ง กำไลสองอันนั้นกระทบกันมีเสียง กำไลอีกอันหนึ่งไม่มีเสียง พระราชาทรงทราบเหตุนั้น มีพระดำริว่า บัดนี้ พระนางสีวลีตามหลังเรามา ขึ้นชื่อว่า สตรีย่อมเป็นมลทินของบรรพชิต ชนทั้งหลายเห็นนางตามเรามา จักติเตียนเราว่า บรรพชิตนี้แม้บวชแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะละภรรยาได้ ถ้านางกุมารีนี้ฉลาด จักพูดถึงเหตุให้นางสีวลีกลับ เราจักฟังถ้อยคำของนางกุมารีนี้แล้วส่งนางสีวลีกลับ มีพระดำริฉะนี้แล้ว เสด็จเข้าไปใกล้นางกุมารีนั้น
          เมื่อจะตรัสถามจึงตรัสคาถาว่า
          แน่ะนางกุมาริกาผู้ยังนอนกับแม่ ผู้ประดับกำไลมือเป็นนิตย์ กำไลมือของเจ้าข้างหนึ่งมีเสียงดัง อีกข้างหนึ่งไม่มีเสียงดัง เพราะเหตุไร
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุปเสนิเย ความว่า เข้าไปนอนใกล้มารดา บทว่า นิคฺคลมณฺฑิเต ความว่า พระมหาสัตว์ตรัสว่า มีปกติประดับด้วยเครื่องประดับชั้นยอด บทว่า สุณติ ได้แก่ ทำเสียง
          นางกุมาริกากล่าวว่า
          ข้าแต่พระสมณะ เสียงเกิดแต่กำไลสองอัน ที่สวมอยู่ในข้อมือของข้าพเจ้านี้กระทบกัน ความที่กำไลทั้งสองกระทบกันนั้นเป็นเหตุแห่งเสียง กำไลอันหนึ่งที่สวมอยู่ในข้อมือของข้าพเจ้านี้นั้น ไม่มีอันที่สอง จึงไม่ส่งเสียง เป็นเหมือนนักปราชญ์สงบนิ่งอยู่ บุคคลสองคนก็วิวาทกัน คนเดียวจักวิวาทกับใครเล่า ท่านผู้ใคร่ต่อสวรรค์ จงชอบความเป็นผู้อยู่คนเดียวเถิด
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุนีวารา แปลว่า กำไลสองอัน บทว่า สํฆฏา ความว่า เพราะกระทบกัน คือเสียดสีกัน บทว่า คติ ได้แก่ ความสำเร็จ ด้วยว่า กำไลอันที่สองย่อมมีความสำเร็จเห็นปานนี้ บทว่า โส ได้แก่ กำไลนั้น บทว่า มุนิภูโตว ความว่า ราวกะว่าพระอริยบุคคลผู้ละกิเลสได้หมดแล้ว ดำรงอยู่ บทว่า วิวาทปฺปตฺโต ความว่า ข้าแต่พระสมณะ ขึ้นชื่อว่าคนที่สองย่อมวิวาทกัน คือทะเลาะกัน ถือไปต่างๆ กัน บทว่า เกเนโก ความว่า ก็คนเดียวจักวิวาทกับใครเล่า บทว่า เอกตฺตมุปโรจตํ ความว่า ท่านจงชอบความเป็นผู้อยู่คนเดียวเถิด
          ก็แลครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นางกุมาริกานั้นได้กล่าวอย่างนี้อีก คือกล่าวสอนพระมหาสัตว์ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมจะไม่พาแม้น้องสาวเที่ยวไปเลย แต่เหตุไร ท่านจึงพาภริยาซึ่งทรงรูปอันอุดมเห็นปานนี้เที่ยวไป ภริยานี้จักทำอันตรายแก่ท่าน ท่านจงนำภริยานี้ออกไปอยู่ผู้เดียวเท่านั้น บำเพ็ญสมณธรรมให้สมควรเถิด
          พระมหาสัตว์ได้สดับคำของกุมาริกาสาวนั้นแล้ว ทรงได้ปัจจัย เมื่อจะตรัสกับพระเทวี จึงตรัสว่า
          แน่ะสีวลี เธอได้ยินคาถาที่นางกุมาริกากล่าวแล้วหรือ นางกุมาริกาเป็นเพียงชั้นสาวใช้มาติเตียนเรา ความที่เราทั้งสองประพฤติ คืออาตมาเป็นบรรพชิต เธอเป็นสตรีเดินตามกันมา ย่อมเป็นเหตุแห่งครหา มรรคาสองแพร่งนี้ อันเราทั้งสองผู้เดินทางจงแยกกันไป เธอจงถือเอาทางหนึ่งไป อาตมาก็จะถือเอาทางอื่นอีกทางหนึ่งไป เธออย่าเรียกอาตมาว่า เป็นพระสวามีของเธอ และอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นมเหสีของอาตมาอีก
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กุมาริยา ได้แก่ ที่นางกุมาริกากล่าวแล้ว บทว่า เปสิยา ความว่า ถ้าเรายังครองราชสมบัติอยู่ กุมาริกาคนนี้ก็เป็นคนใช้ คือทำตามรับสั่งของเรา แม้แต่จะแลดูเรา เธอก็ไม่อาจ แต่บัดนี้เธอติเตียน คือกล่าวสอนเราเหมือนคนใช้ และเหมือนทาสของตนว่า ทุติยสฺเสว สา คติ ดังนี้ บทว่า อนุจิณฺโณ ได้แก่ เดินตามกันไป บทว่า ปถาวิหิ แปลว่า ผู้เดินทาง บทว่า เอกํ ความว่า เธอจงถือเอาทางหนึ่งซึ่งเป็นที่ชอบใจของเธอ ส่วนอาตมาก็จักถือเอาอีกทางหนึ่งที่เหลือลงจากที่เธอถือเอา บทว่า มา จ มํ ตวํ ความว่า แน่ะสีวลี ตั้งแต่นี้ไป เธออย่าเรียกอาตมาว่าเป็นพระสวามีของเราอีก และอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นมเหสีของเรา
          พระนางสีวลีเทวีได้ทรงฟังพระดำรัสของพระมหาสัตว์แล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ พระองค์เป็นกษัตริย์สูงสุด จงถือเอาทางเบื้องขวา ส่วนข้าพระองค์เป็นสตรีชาติต่ำ จักถือเอาทางเบื้องซ้าย กราบทูลฉะนี้แล้ว ถวายบังคมพระมหาสัตว์แล้วเสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง ไม่สามารถจะกลั้นโศกาดูรไว้ได้ก็เสด็จมาอีก โดยเสด็จไปกับพระราชาเข้าถูนนครด้วยกัน
          พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสครึ่งคาถาว่า
กษัตริย์ทั้งสองกำลังตรัสข้อความนี้อยู่ ได้เสด็จเข้าไปยังถูนนคร
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นครมุปาคมุํ ความว่า เสด็จเข้าไปแล้วสู่นคร
          ก็แลครั้นเสด็จเข้าไปแล้ว พระมหาสัตว์เสด็จเที่ยวบิณฑบาต เสด็จถึงประตูเรือนของช่างศร แม้พระนางสีวลีเทวีก็เสด็จตามไปเบื้องหลัง ประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง สมัยนั้น ช่างศรกำลังลนลูกศรบนกระเบื้องถ่านเพลิง เอาน้ำข้าวทาลูกศร หลับตาข้างหนึ่ง เล็งดูด้วยตาข้างหนึ่ง ดัดลูกศรให้ตรง พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น มีพระดำริว่า ถ้าช่างศรผู้นี้จักเป็นคนฉลาด จักกล่าวเหตุอย่างหนึ่งแก่เรา เราจักถามเขาดู จึงเสด็จเข้าไปหาช่างศรแล้วตรัสถาม
          พระศาสดา เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสว่า
          เมื่อใกล้เวลาฉัน พระมหาสัตว์ประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของช่างศร ช่างศรนั้นหลับตาข้างหนึ่ง ใช้ตาอีกข้างหนึ่งเล็งลูกศรอันหนึ่ง ซึ่งคดอยู่ดัดให้ตรงที่ซุ้มประตูนั้น
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกฏฺฐเก ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพระราชาพระองค์นั้น เมื่อใกล้เวลาเสวยของพระองค์ ได้ประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูของช่างศร บทว่า ตตฺร จ ได้แก่ ที่ซุ้มประตูนั้น บทว่า นิคฺคยฺห แปลว่า หลับแล้ว บทว่า ชิมฺหเมเกน ความว่า ใช้จักษุข้างหนึ่งเล็งดูลูกศรที่คด
          ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ได้ตรัสกะช่างศรนั้นว่า
          ดูก่อนช่างศร ท่านจงฟังอาตมา ท่านหลับจักษุข้างหนึ่ง เล็งดูลูกศรอันคดด้วยจักษุข้างหนึ่ง ด้วยประการใด ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์ ด้วยประการนั้นหรือหนอ
          คำที่เป็นคาถานั้นมีเนื้อความว่า แน่ะเพื่อนช่างศร ท่านหลับตาข้างหนึ่งเล็งดูลูกศร ที่คดด้วยตาข้างหนึ่ง ด้วยประการใด ท่านเห็นความสำเร็จประโยชน์ ด้วยประการนั้นหรือหนอ
          ลำดับนั้น เมื่อช่างศรจะทูลแก่พระมหาสัตว์นั้น จึงกล่าวว่า
          ข้าแต่พระสมณะ การเล็งด้วยจักษุทั้งสอง ปรากฏว่าเหมือนพร่าไปไม่ถึงที่คดข้างหน้า ย่อมไม่สำเร็จความดัดให้ตรง ถ้าหลับจักษุข้างหนึ่ง เล็งดูที่คดด้วยจักษุอีกข้างหนึ่ง เล็งได้ถึงที่คดเบื้องหน้าย่อมสำเร็จความดัดให้ตรง บุคคลสองคนก็วิวาทกัน คนเดียวจักวิวาทกับใครเล่า ท่านผู้ใคร่ต่อสวรรค์ จงชอบความเป็นผู้อยู่คนเดียวเถิด
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า วิสาลํ วิย ความว่า ย่อมปรากฏเหมือนพร่าไป บทว่า อปฺปตฺวา ปรมํ ลิงฺคํ ความว่า ไม่ถึงที่คดข้างหน้า บทว่า นุชฺชุภาวาย ได้แก่ ไม่สำเร็จความดัดให้ตรง มีคำอธิบายว่า เมื่อความพร่าปรากฏ ก็จักไม่ถึงที่ตรงข้างหน้า เมื่อไม่ถึง คือไม่ปรากฏ กิจด้วยความตรงจักไม่สำเร็จ คือไม่ถึงพร้อม บทว่า สมฺปตฺวา ความว่า ถึงคือเห็นด้วยจักษุ บทว่า วิวาทปฺปตฺโต ความว่า เมื่อลืมตาที่สอง ที่คดย่อมไม่ปรากฏ คือแม้ที่คดก็ปรากฏว่าตรง แม้ที่ตรงก็ปรากฏว่าคด ความวิวาทย่อมมีด้วยประการฉะนี้ ฉันใด แม้สมณะมีสองรูปก็ฉันนั้น ย่อมวิวาทกันคือ ทะเลาะกัน ถือเอาต่างๆ กัน บทว่า เกเนโก ความว่า คนเดียวจักวิวาทกับใครเล่า
          บทว่า เอกตฺตมุปโรจตํ ความว่า ท่านจงชอบใจความเป็นผู้อยู่คนเดียว ธรรมดาสมณะทั้งหลาย ย่อมจะไม่พาแม้น้องสาวเที่ยวไปเลย แต่เหตุไรท่านจึงพาภริยาซึ่งทรงรูปอันอุดมเที่ยวไป ภริยานี้จักทำอันตรายแก่ท่าน ท่านจงนำภริยานี้ออกไปอยู่ผู้เดียวเท่านั้น บำเพ็ญสมณธรรมให้สมควรเถิด. ช่างศรกล่าวสอนพระมหาสัตว์ ด้วยประการฉะนี้ ช่างศรถวายโอวาทแด่พระมหาสัตว์อย่างนี้แล้วก็นิ่งอยู่ พระมหาสัตว์เสด็จเที่ยวบิณฑบาต ได้ภัตตาหารที่เจือปนแล้วเสด็จออกจากพระนคร ประทับนั่งเสวยในที่มีน้ำสมบูรณ์. พระองค์เสร็จเสวยพระกระยาหารแล้ว บ้วนพระโอฐ ล้างบาตรนำเข้าถุงแล้ว ตรัสเรียกพระนางสีวลีมาตรัสว่า
          ดูก่อนนางสีวลี เธอได้ยินคาถาที่ช่างศรกล่าวหรือยัง ช่างศรเป็นเพียงคนใช้ยังติเตียนเราได้ ความที่เราทั้งสองประพฤตินั้นเป็นเหตุแห่งความครหา ดูก่อนนางผู้เจริญ ทางสองแพร่งนี้อันเราทั้งสองผู้เดินทางมาจงแยกกันไป เธอจงถือเอาทางหนึ่งไป อาตมาก็จะถือเอาทางอื่นอีกทางหนึ่งไป เธออย่าเรียกอาตมาว่า เป็นพระสวามีของเธอ และอาตมาก็จะไม่เรียกเธอว่า เป็นมเหสีของอาตมาอีก
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุณสิ ความว่า เธอฟังคาถาหรือ ก็พระมหาสัตว์ตรัสพระดำรัสว่า เปสิโย มํ นี้ ทรงหมายถึงโอวาทของช่างศรนั่นเอง
          ได้ยินว่า พระนางสีวลีเทวีนั้น แม้ถูกพระมหาสัตว์ตรัสว่า เธออย่าเรียกอาตมาว่า เป็นพระสวามีของเธอดังนี้ ก็ยังเสด็จติดตามพระมหาสัตว์อยู่นั่นเอง พระราชาก็ไม่สามารถให้พระนางสีวลีนั้นเสด็จกลับได้ แม้มหาชนก็ตามเสด็จพระองค์อยู่นั่นเอง ก็แต่ที่นั้นมีดงแห่งหนึ่งในที่ไม่ไกล ลำดับนั้น พระมหาสัตว์ทอดพระเนตรเห็นแนวป่าเขียวชอุ่ม มีพระราชประสงค์จะให้พระนางเสด็จกลับ เมื่อดำเนินไปได้ทอดพระเนตรเห็นหญ้ามุงกระต่ายในที่ใกล้ทาง พระองค์จึงทรงถอนหญ้ามุงกระต่ายนั้น ตรัสเรียกพระเทวีมาตรัสว่า แน่ะสีวลีผู้เจริญ เธอจงดูหญ้ามุงกระต่ายนี้ ก็หญ้ามุงกระต่ายนี้จะไม่อาจสืบต่อในกอนี้ได้อีก ฉันใด ความอยู่ร่วมกับเธอของอาตมา ก็ไม่อาจจะสืบต่อกันได้อีก ฉันนั้น แล้วได้ตรัสกึ่งคาถาว่า
          หญ้ามุงกระต่ายที่ติดกันอยู่แต่เดิม ซึ่งอาตมาถอนแล้วนี้ ไม่อาจสืบต่อกันไปได้อีก ฉันใด ความอยู่ร่วมกันระหว่างเธอกับอาตมาก็ไม่อาจสืบต่อได้อีก ฉันนั้น เพราะฉะนั้น เธอจงอยู่ผู้เดียว อาตมาก็จะอยู่ผู้เดียวเหมือนกัน
          บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอกา ความว่า แน่ะสีวลีผู้เจริญ หญ้ามุงกระต่ายที่ติดกันอยู่แต่เดิม อันอาตมาถอนแล้ว ไม่อาจสืบต่อได้อีก ฉันใด การอยู่ร่วมกันระหว่างเธอกับอาตมา ก็ไม่อาจทำได้แม้ฉันนั้น เพราะฉะนั้น เราจักอยู่ผู้เดียวนะสีวลี แม้เธอก็จงอยู่ผู้เดียวเหมือนกัน พระมหาสัตว์ได้ประทานพระโอวาทแก่พระนางสีวลีเทวี ด้วยประการฉะนี้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 พฤษภาคม 2564 17:18:21 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5441


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 30 พฤษภาคม 2564 17:17:36 »



          พระนางได้ฟังพระดำรัสของพระมหาสัตว์แล้วตรัสว่า จำเดิมแต่นี้ไป เราจะไม่ได้อยู่ร่วมกับพระมหาชนกนรินทรราชอีก พระนางไม่อาจจะทรงกลั้นโศกาดูร ก็ข้อนทรวงด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง ทรงปริเทวนาการร่ำไรอยู่เป็นอันมาก ถึงวิสัญญีภาพล้มลงที่หนทางใหญ่ พระมหาสัตว์ทรงทราบว่า พระนางถึงวิสัญญีภาพ ก็สาวพระบาทเสด็จเข้าสู่ป่า ขณะนั้น หมู่อมาตย์มาสรงพระสรีระแห่งพระนางนั้น ช่วยกันถวายอยู่งานที่พระหัตถ์และพระบาท พระนางได้สติเสด็จลุกขึ้น ตรัสถามว่า พระราชาเสด็จไปข้างไหน หมู่อมาตย์ย้อนทูลถามว่า พระแม่เจ้าก็ไม่ทรงทราบดอกหรือ พระนางตรัสให้เที่ยวค้นหา พวกนั้นพากันวิ่งไปข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง ก็ไม่พบพระราชา พระนางทรงปริเทวนาการมากมาย แล้วให้สร้างพระเจดีย์ตรงที่พระราชาประทับยืน บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วเสด็จกลับกรุงมิถิลา
          ฝ่ายพระมหาสัตว์เสด็จเข้าป่าหิมวันต์ ทำอภิญญาและสมาบัติให้เกิดภายในเจ็ดวัน มิได้เสด็จมาสู่ถิ่นมนุษย์อีก
          ฝ่ายพระนางสีวลีเทวีเสด็จกลับแล้ว โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลายองค์ ณ ที่ที่พระมหาสัตว์ตรัสกับช่างศร
 ตรัสกะนางกุมารี เสวยเนื้อที่สุนัขทิ้ง ตรัสกับมิคาชินดาบส และตรัสกับนารทดาบส ทุกตำบลแล้ว บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ทรงแวดล้อมไปด้วยเสนางคนิกร ภายหลัง เสด็จไปถึงมิถิลานครทรงอภิเษกพระราชโอรส ณ พระราชอุทยานอัมพวัน ทรงส่งพระราชโอรสอันหมู่เสนาแวดล้อมแล้วเข้าพระนคร พระองค์เองทรงผนวชเป็นดาบสินี ประทับอยู่ ณ พระราชอุทยานนั้น ทรงทำกสิณบริกรรมก็ได้บรรลุฌาน ไม่เสื่อมจากฌาน เป็นผู้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ในที่สุดแห่งพระชนมายุ
          ฝ่ายพระมหาสัตว์ก็ไม่เสื่อมจากฌาน ได้เข้าถึงพรหมโลกเหมือนกัน
          พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่ตถาคตออกมหาภิเนษกรมณ์
          ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอนุรุทธะ ในบัดนี้
          พราหมณ์ทิศาปาโมกข์ ได้มาเป็น พระกัสสปะ
          นางมณีเมขลาเทพธิดาผู้รักษาสมุทร ได้มาเป็น อุบลวรรณาภิกษุณี
          นารทดาบส ได้มาเป็น พระสารีบุตร
          มิคาชินดาบส ได้มาเป็น พระโมคคัลลานะ
          นางกุมาริกา ได้มาเป็น นางเขมาภิกษุณี
          ช่างศร ได้มาเป็น พระอานนท์
          ราชบริษัทที่เหลือ ได้มาเป็นพุทธบริษัท
          สีวลีเทวี ได้มาเป็น ราหุลมารดา
          ทีฆาวุกุมาร ได้มาเป็น ราหุล
          พระชนกพระชนนี ได้มาเป็น มหาราชศากยสกุล
          ส่วนพระมหาชนกนรินทรราช คือ เราผู้เป็น สัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เอง



ธรรมนิทานชาดกเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
“มีความเพียรอยู่ที่ไหนย่อมมีความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

พุทธศาสนสุภาษิตประจำเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อาสึเสเถว ปุริโส น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต
ปสฺสามิ โวหํ อตฺตานํ ยถา อิจฺฉึ ตถา อหุ

เป็นคนควรระวังเรื่อยไป บัณฑิตไม่ควรท้อแท้
เราเห็นประจักษ์มากับตนเอง เราปรารถนาอย่างใด ก็ได้สมตามนั้น (๒๘/๔๕๐)

อนโณ ญาตีนํ โหติ เทวานํ ปิตุนญฺจ โส
้เมื่อได้เพียรพยายามแล้ว ถึงจะตายก็ชื่อว่าตายอย่างไม่เป็นหนี้ใคร
ไม่ว่าในหมู่ญาติ หมู่เทวดา หรือว่าพระพรหมทั้งหลาย (๒๘/๔๔๕)


ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร ต.พิหารแดง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
ขอขอบคุณเว็บไซต์ oknation.nationtv.tv (ที่มาภาพ)


ที่มา :
- หนังสือ พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ ฉบับสมบูรณ์ / จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย สถาบันบันลือธรรม

- 84000.org/tipitaka/attha
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 พฤษภาคม 2564 17:24:02 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๔๑ กัสสปมันติยชาดก : บิดาชรากับบุตรน้อย
ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
Kimleng 0 636 กระทู้ล่าสุด 06 กุมภาพันธ์ 2564 19:58:21
โดย Kimleng
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๔๒ ติตติรชาดก : ฤๅษีปากจัด
ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
Kimleng 0 553 กระทู้ล่าสุด 06 กุมภาพันธ์ 2564 20:02:37
โดย Kimleng
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๔๓ โสมทัตตชาดก : โสมทัตคนประหม่า
ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
Kimleng 0 582 กระทู้ล่าสุด 06 กุมภาพันธ์ 2564 20:05:57
โดย Kimleng
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๔๔ ธัมมัทรชาดก : ธรรมธัชบัณฑิต
ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
Kimleng 0 506 กระทู้ล่าสุด 11 มีนาคม 2564 18:33:29
โดย Kimleng
พระเจ้า ๕๐๐ ชาติ เรื่องที่ เรื่องที่ ๔๕ อัฏฐิเสนชาดก : ฤๅษีอัฏฐิเสน
ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
Kimleng 0 478 กระทู้ล่าสุด 12 มีนาคม 2564 19:29:23
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.084 วินาที กับ 34 คำสั่ง

Google visited last this page 25 มกราคม 2567 19:16:51