[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
18 เมษายน 2567 15:01:17 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวประวัติ พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม สมุทรปราการ  (อ่าน 2507 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 15 พฤษภาคม 2564 18:00:40 »



ชีวประวัติ
พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร
คำปรารภ

คณะศิษยานุศิษย์อันมี พลโท พงษ์ ปุณณกันต์ เป็นประธาน ได้จัดพิมพ์ชีวประวัติของพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี) ขึ้นตามความประสงค์ของคณะศิษย์ และท่านผู้ที่เคารพเลื่อมใส ใคร่อยากทราบชีวประวัติและแนวปฏิบัติของท่าน เพื่อเป็นการศึกษาและเป็นอนุสรณ์ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๕ แจกในงานทอดกฐินและผ้าป่าสามัคคีที่วัดอโศการาม ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๕ และได้นำมาแจกในงานทอดกฐินที่วัดอโศการามเป็นประจำมาทุกๆ ปี  บัดนี้ หนังสือชีวประวัติของท่านเจ้าคุณอาจารย์หมดไป แต่ยังมีผู้สนใจใคร่อยากได้ไว้อ่านและศึกษาชีวประวัติของท่าน ได้มาขอด้วยตนเองบ้าง มีจดหมายมาขอบ้าง เพื่อเป็นการสนองเจตนารมณ์ของท่านผู้ที่สนใจ ทางวัดจึงได้จัดพิมพ์ขึ้นอีกเป็นครั้งที่สอง จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม

การจัดพิมพ์ขึ้นในคราวนี้ ก็พิมพ์จากต้นฉบับเดิม มิได้มีการตัดทอนแก้ไขเพิ่มเติมแต่ประการใด นอกจากการปรับปรุงข้อบกพร่องเล็กน้อยของการพิมพ์ครั้งที่แล้วเท่านั้น  จึงหวังใจว่า คงอำนวยประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจไม่มากก็น้อย


(ลงชื่อ) พระราชวรคุณ
         (พระราชวรคุณ)
     เจ้าอาวาสวัดอโศการาม

วัดอโศการาม    ๑๕ มกราคม ๒๕๑๕


คำนำ

หนังสือชีวประวัติของท่านพ่อลี (พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์) ซึ่งได้จัดพิมพ์ขึ้นในครั้งนี้ หาใช่เป็นข้อความที่ข้าพเจ้าหรือบรรดาศิษย์คนหนึ่งคนใดของท่านพ่อเป็นผู้ตบแต่งร้อยกรองขึ้นใหม่ หากแต่ว่าเป็นข้อความซึ่งบันทึกจากคำบอกเล่าของท่านพ่อเอง เพราะศิษย์ของท่านพ่อทุกคนปรารถนาที่จะได้ชีวประวัติ และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาของท่านพ่อไว้เพื่อเป็นประโยชน์ในทางการศึกษา และเป็นอนุสรณ์ของท่าน  หลายปีมาแล้วที่ท่านพ่อได้ปรารภถึงการทิ้งขันธ์ของท่าน ซึ่งท่านได้ปรารภท่ามกลางศิษย์หลายครั้ง เป็นเหตุให้ทุกคนขอร้องและวิงวอนให้ท่านได้กรุณาบอกเล่าถึงความเป็นมาของท่านเองให้บรรดาศิษย์ได้ทราบ ดังนั้น การบันทึกประวัติตามคำบอกเล่าของท่านพ่อจึงได้เกิดขึ้น  ข้าพเจ้าได้พิจารณาถึงบันทึกชีวประวัตินี้ตลอดแล้ว รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ท่านบอกให้บันทึกตั้งแต่ต้น จนกระทั่งถึงวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ขณะที่ท่านพ่อกำลังอาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ธนบุรี  หลังจากนั้น สุขภาพของท่านก็ไม่ค่อยจะปกติตลอดมา  ในราวต้น พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านได้กลับไปอาพาธอยู่ในโรงพยาบาลแห่งเดียวกันนี้อีก จนกระทั่งถึงวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๔ ทางการแพทย์เห็นว่าทุเลามากแล้ว จึงอนุญาตให้ท่านกลับมาประจำที่วัดอโศการาม การกลับมายังวัดที่ท่านสร้างครั้งนี้ ท่านได้เที่ยวเยี่ยมถามข่าวคราวของศิษย์ทั้งหลายโดยทั่วกัน และฝากฝังงานบางอย่างไว้แก่บุคคลที่ท่านควรจะบอกหลายท่าน  จนถึงวันที่๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๔ เวลากลางคืนท่านจึงได้ทิ้งขันธ์จากศิษยานุศิษย์ของท่านไป  สาระสำคัญในบันทึกนี้มิใช่แต่จะให้เหลือไว้เป็นเพียงอนุสรณ์ แต่ยังมีข้อความอยู่หลายตอนที่ท่านพ่อได้หยิบยกเอาประวัติของท่านมาอุปมาเป็นคำสอนแก่ศิษย์ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะตบแต่งเพิ่มเติม หรือจะแก้ไขแต่ประการใด ยามใดที่ท่านทั้งหลายได้อ่านบันทึกนี้ก็จะเป็นเสมือนหนึ่งท่านกำลังนั่งฟังคำบอกเล่าอยู่เฉพาะหน้าท่านพ่อลีด้วยตัวของท่านเอง

สำหรับส่วนตัวของข้าพเจ้านั้น เป็นคนเชื่อยาก นับถือยาก แต่ด้วยจริยวัตรของท่านพ่อซึ่งดำรงอยู่ในสมณเพศ ได้สร้างความเลื่อมใสศรัทธาแก่ข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก การใดที่จะกระทำไปในทางที่มิชอบแม้เพียงแต่การดำริในใจ ก็จะถูกยับยั้งสั่งสอนจากท่านพ่อองค์นี้ การทิ้งขันธ์ของท่านพ่อลีจึงเปรียบเสมือนดวงประทีปส่องทางของชีวิตข้าพเจ้าได้ดับมืดลง ต่อแต่นี้ไป แม้วิถีชีวิตของข้าพเจ้ายังจะต้องดำเนินไปตามแนวทางแห่งกรรมท่ามกลางความมืดมน แต่ก็ยังมีเสียงแว่วของคำสอนของท่านพ่อที่คอนเตือนศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย เพื่อให้ศิษย์ได้ดำรงอยู่ด้วยความไม่ประมาทว่า “สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีกรรมเป็นแดนเกิด สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีกรรมเป็นของตน” การดำรงไว้ซึ่งสติสัมปชัญญะ และการระลึกชอบ จะเป็นแนวทางไปสู่ความสำเร็จผลได้ในโลกนี้ ข้าพเจ้าขอตั้งความปรารถนาให้กุศลเจตนาในบันทึกชีวประวัติอันเป็นคำสอนสุดท้ายของท่านพ่อ จงเป็นผลก่อเกิดเนื้อนาบุญ สะท้อนสู่ท่านพ่อลีผู้เป็นอาจารย์ให้ได้เสวยสุขในสัมปรายภพ นั้นเทอญ.


(ลงชื่อ)  พล.ท. พงษ์ ปุณณกันต์
                   (พงษ์ ปุณณกันต์ )
                 ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๕

ชีวประวัติ พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม

พระอาจารย์ลี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เวลา ๒๑.๐๐ น. เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๙ บ้านเกิดคือบ้านหนองสองห้อง ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านนี้มีบ้านประมาณ ๘๐หลังคาเรือน แบ่งออกเป็น ๓ คุ้ม คือหมู่บ้านน้อยหนึ่ง หมู่บ้านในหนึ่ง และหมู่บ้านนอกหนึ่ง ที่หมู่บ้านนอกนี้มีวัดตั้งอยู่ พระอาจารย์ลีได้เกิดในหมู่บ้านที่มีวัดตั้งอยู่  บ้านทั้ง ๓ คุ้มนี้มีหนองน้ำอยู่ตรงกลาง ๓ หนองบริเวณรอบๆ หมู่บ้านมีต้นยางใหญ่ขึ้นอยู่ล้มอรอบนับเป็นสิบๆ ต้น  ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านมีเนินบ้านเก่าๆ มีพระอุโบสถร้างๆ ๒ แห่ง ปรากฏว่าผีดุมาก บางคราวถึงกับมาพาเอาคนไปอยู่ที่ศาลเจ้า สังเกตดูรู้สึกว่าจะเป็นฝีมือของขอมเป็นผู้สร้างขึ้น

นามเดิมของพระอาจารย์ลี คือ นายชาลี เป็นบุตรของนายปาว นางพ่วย นารีวงศ์  ปู่ชื่อจันทารี  ย่าชื่อนางสีดา  ตาชื่อนันทะเสน  ยายชื่อนางดี  มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๙ คน เป็นชาย ๕ คน เป็นหญิง ๔ คน เมื่อเกิดมาได้ ๙ วัน เกิดมีอาการรบกวนพ่อแม่เป็นการใหญ่ เช่น ร้องไห้เสมอๆ ถึงกับโยมทั้งสองได้แตกจากกันไปหลายวัน เมื่อโยมผู้หญิงออกไฟได้ ๓ วัน ตัวเองเกิดโรคป่วยศีรษะ ไม่กินไม่นอนเป็นเวลาหลายวัน เลี้ยงยากที่สุด พ่อกับแม่ไม่มีใครสามารถจะเลี้ยงให้ถูกใจได้

ต่อมาอายุได้ ๑๑ ปี มารดาถึงแก่กรรม ยังมีน้องเล็กๆ คนหนึ่งเป็นผู้หญิงได้เลี้ยงดูกันมา ส่วนคนอื่นๆ เขาโตแล้วต่างพากันไปทำมาหากิน ยังเหลืออีก ๒-๓ คน พ่อลูกพากันทำนาเป็นอาชีพ พออายุได้ราว ๑๒ ปี ได้เรียนหนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้ สอบชั้นประถมก็ตกเสียอีก ช่างมัน แต่จะเรียนไปจนหมดเวลา พอดีอายุ ๑๗ ปี จึงได้ออกจากโรงเรียน ต่อจากนั้นมาก็คิดหาแต่เงินกันเท่านั้น ในระหว่างนี้เกิดมีการขัดอกขัดใจกับโยมผู้ชายบ่อยๆ คือโยมต้องการให้ทำการค้าขายของที่เราไม่ชอบ เช่น ไปหาซื้อหมูมาขาย ซื้อวัวมาขาย เป็นต้น ถึงเวลาอยากจะไปทำบุญก็คอยขัด การงานก็คอยขัดคอเสมอ บางทีต้องการไปทำบุญกับเขาก็หายอมให้ไปไม่ กลับบอกให้ไปทำไร่ทำนาเสีย บางวันน้อยใจนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวกลางทุ่งนา นึกแต่ในใจว่าเราจักไม่อยู่ในหมู่บ้านนี้ แต่ก็ต้องอดทนอยู่ไปก่อน ต่อมาบิดาได้ภรรยาใหม่คนหนึ่งชื่อ แม่ทิพย์ ตอนนี้ค่อยสบายใจขึ้นหน่อย

เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ได้ออกเดินทางจากบ้านลงมาหาพี่ชาย ซึ่งมารับจ้างทำงานอยู่ที่ตลาดหนองแซง จังหวัดสระบุรี ทราบว่าเขาทำงานได้เงินเดือน เพราะทางการชลประทานกำลังมีการก่อสร้างประตูน้ำ พอเดือน ๑๑ ก็ได้มาพักอยู่กับพี่ชายๆ ก็ไม่พอใจ เหตุที่จะไม่พอใจนั้น ก็เพราะได้บอกกับเขาว่า “พี่ควรขึ้นไปบ้านบ้างซิ” เขาก็ปฏิเสธ ไม่อยากจะไป เราจึงหนีออกเดินทางลงมา เที่ยวแสวงหาเงิน เพราะเห็นว่าเงินเป็นของคู่กับชีวิต ในระหว่างนี้กำลังตำอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ แต่มีความรู้สึกว่าตนของตนเองยังเป็นเด็กอยู่เสมอ เช่น มีเพื่อนฝูงแนะนำชักจูงไปเที่ยวผู้หญิงก็ไม่สนใจ เพราะเรื่องผัวๆ เมียๆ คิดว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของเด็ก ชีวิตที่ผ่านมาแล้วนั้นมีความรู้สึกนึกแต่ในใจอยู่ว่า “ถ้าเราอายุยังไม่ถึง ๓๐ ปี จักไม่ยอมแต่งงานข้อหนึ่ง ข้อสองถ้าเงินไม่ติดอยู่ในกำมือถึง ๕๐๐ บาท เราจักไม่ยอมแต่งงานกับใครๆ ตั้งใจว่าเราคนเดียวมีความสามารถและมีเงินที่จะเลี้ยงดูเขาได้อย่างน้อย ๓ คนขึ้นไป เราจึงจะยอมเกี่ยวข้องกับผู้หญิง ยังมีข้อรังเกียจอยู่อีกข้อหนึ่งคือ เวลาเป็นเด็กเริ่มรู้เดียงสา ถ้าได้เห็นหญิงตั้งครรภ์จวนจะคลอด ทำให้เกิดความรู้สึกทั้งเกลียดทั้งกลัว เพราะคนทางโน้นเวลาจะคลอดบุตร มักเอาเชือกผูกบนชื่อ มือจับปลายเชือกห้อยแขวนทำการคลอด บางคนถึงกับร้องเอะอะโวยวายหน้าบิดคอเบี้ยว บางครั้งเผอิญไปเห็นเข้าต้องเอามือปิดหูปิดตา นอนไม่หลับเพราะความทั้งเกลียดทั้งกลัว เรื่องเหล่านี้มีความรู้สึกติดตาติดใจมาตั้งแต่เด็ก

ต่อมาอายุผ่านเข้า ๑๙-๒๐ ปี ในระหว่างนี้พอจะมีความคิดนึกในทางบุญและทางบาป แต่ก็ไม่มีนิสัยในการทำบาป ตั้งแต่เกิดมาจนถึงอายุ ๒๐ ปี ได้เคยฆ่าสัตว์ใหญ่ตายครั้งเดียว คือสุนัข เหตุที่ฆ่าสุนัขนั้นจำได้ว่า วันหนึ่งกำลังนั่งกินข้าวอยู่แล้วเอาไข่ไปหมกไว้ในกองไฟ สุนัขมาคาบเอาไข่ไปกินเสีย ลุกขึ้นได้คว้าไม้ตีสุนัขตายคาที่ พอสุนัขตายก็นึกเสียใจว่า “เราจะแก้บาปครั้งนี้โดยวิธีไหน” จึงได้ค้นหาหนังสือเก่าๆ ท่องจำคาถากรวดน้ำได้ก็มาไหว้พระสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้สุนับตัวนั้น ใจก็ดีขึ้น แต่นิสัยใจคอระหว่างนั้นก็นึกอยู่ในใจว่าเราอยากบวช

พอดีอายุครบ ๒๐ ปี ตรงกับพ.ศ.๒๔๖๘ โยมมารดาเลี้ยงตาย วันนั้นได้ไปอยู่กับญาติที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม พอปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้กลับขึ้นไปบ้าน โยมบิดาก็แนะนำให้บวช ขณะนั้นมีเงินติดตัวอยู่ประมาณ ๑๖๐ บาท เมื่อไปถึงบ้านใหม่ๆ พี่ชาย พี่เขย พี่สาว ฯลฯ ก็พากันมากลุ้มรุมเยี่ยมเยียนถามข่าวคราวต่างๆ แล้วขอกู้เงินยืมเงินไปซื้อควายบ้าง ซื้อนาบ้าง ค้าขายบ้าง ก็ยินยอมให้เงินเขาไปตามที่เขาต้องการ เพราะตัวเองคิดจะบวช ตกลงเงิน ๑๖๐ บาท ที่มีอยู่คงเหลือเพียง ๔๐ บาท

ถึงเวลาเทศกาลบวชนาค โยมบิดาก็จัดแจงให้บวชจนสำเร็จได้ ได้ทำการบวชเมื่อวันวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ มีเพื่อนๆ บวชด้วยกันในวันนั้น รวม ๙ องค์  ทุกวันนี้พวกที่บวชวันเดียวกันมรณภาพไปบ้าง ลาสิกขาบ้าง ยังคงเหลือที่เป็นพระภิกษุอยู่เพียง ๒ องค์ คือเพื่อนหนึ่งกับตัวเอง  เมื่อบวชแล้วก็ได้เรียนสวดมนต์และพระธรรมวินัย แล้วตรวจดูภาวะของตน และพระภิกษุอื่นๆ ในสมัยนั้น เห็นว่าไม่ไหวแน่ เพราะแทนที่จะปฏิบัติสมณกิจ กลับมั่วสุมแต่การสนุกมากกว่า เป็นต้นว่านั่งเล่นหมากรุกกันบ้าง เล่นมวยปล้ำกันบ้าง เล่นดึงหัวไม้ขีดไฟกับผู้หญิง (เวลามีงานเฮือนดี) บ้าง เล่นนกกันบ้าง เล่นชนไก่กันบ้าง  บางทีถึงกับมีการฉันข้าวเย็น พูดถึงเรื่องฉันข้าวเย็นแม้แต่ตัวเองซึ่งรวมอยู่ในสังคมเช่นนั้น ในสมัยนั้นนึกได้ว่าเคยประพฤติรวม ๓ ครั้ง คือ

ครั้งที่ ๑ วันหนึ่งรู้สึกหิว ได้คว้าเอาข้าวที่บูชาไว้บนหิ้งพระมาฉันเวลากลางคืน

ครั้งที่ ๒ ได้รับนิมนต์ไปเทศน์มหาชาติในงานบุญมหาชาติที่วัดบ้านโนนแดง ตำบลไผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ พอดีกัณฑ์เทศน์ของตัวเองไปตรงกับเวลาเพล พอเทศน์จบก็หมดเวลาฉัน ขณะเดินทางกลับวัดมีลูกศิษย์สะพายย่ามใส่ข้าวสุกข้าวต้มมัดและปลาย่าง เมื่อเดินเท้ามาระหว่างทางประมาณ ๑๓.๐๐ น. เศษ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและหิว จึงเรียกให้ลูกศิษย์เอาของในย่ามมาดู อดใจไม่ไหวเลยนั่งลงฉันปลาย่างกับข้าวเหนียวที่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง เมื่อฉันเสร็จแล้วจึงได้เดินทางกลับวัด

ครั้งที่ ๓ เข้าป่าไปทำงานลากไม้มาสร้างศาลาการเปรียญ ตกเวลากลางคืนเกิดความหิว จึงได้ฉันข้าวเย็นอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องเหล่านี้มิได้ทำแต่ลำพังคนเดียว เพื่อนฝูงก็ทำกันมาก แต่พากันปิดบัง ในระหว่างที่บวชอยู่ในเวลานั้น ที่รู้สึกเบื่อที่สุดคือการนิมนต์ไปสวดมนต์คนตาย เพราะรู้สึกรังเกียจมาก ตั้งแต่เกิดมาจนอายุ ๒๐ ปี ถ้าบ้านไหนเกิดมีคนตายจะไม่ยอมไปกินข้าวกินน้ำในบ้านนั้น แม้กระทั่งคนอยู่ที่บ้านเดียวกันออกไปช่วยงานศพ เมื่อเขากลับมาถึงบ้านก็คอยสังเกตดูว่า เขาจะกินน้ำกระบวยไหน กินข้าวกล่องไหน แล้วจำจดไว้แต่ไม่พูด แล้วตัวเองจะไม่ยอมกินข้าวกินน้ำร่วมภาชนะกับคนนั้น เมื่อบวชแล้วนิสัยนี้ก็ยังติดอยู่ ตั้งแต่เกิดมาถึงอายุ ๑๙ ปี ป่าช้าไม่เคยเหยียบ แม้ญาติหรือแม่จะตายก็ไม่ยอมไปเผา วันหนึ่งได้ยินเสียงร้องไห้โวยวายในหมู่บ้าน ก็ทราบว่ามีคนตาย พอดีเห็นคนเดินถือขันพร้อมดอกไม้ธูปเทียนมานิมนต์พระไปสวด พอคนมานิมนต์เดินเข้าห้องสมภาร ตัวเองก็รีบหนี  พระบวชใหม่ๆ ที่เป็นลูกน้องก็พลอยหนีตาม หนีไปแล้วก็แยกย้ายกันไปคนละแห่ง ปีนขึ้นต้นมะม่วงคนละต้นแล้วต่างคนต่างนิ่งเงียบ สักครู่หนึ่ง พระอุปัชฌาย์ตามหาไม่พบ ได้ยินแต่เสียงท่านเอ็ดอยู่บนกุฏิ นึกกลัวอยู่อย่างหนึ่ง คือลูกกระสุน เพราะพระอุปัชฌาย์ท่านชอบยิงกระสุนไล่ค้างคาวตามต้นไม้  ในที่สุดท่านก็ใช้ให้สามเณรค้นหาจนพบ ต่างคนต่างต้องลงจากต้นมะม่วง เป็นอยู่อย่างนี้จนตลอดเวลา ๒ พรรษา จึงมาตรวจค้นดูพระวินัย ก็รู้สึกยุ่งยากลำบากใจเป็นอย่างยิ่ง นึกแต่ในใจว่า”เราต้องสึก ถ้าไม่สึกเราต้องหนี” พอล่วงถึงพรรษาที่ ๒ จึงตั้งใจอธิษฐานว่า “เวลานี้ข้าพเจ้ายังมุ่งดีหวังดีต่อพระศาสนาอยู่ ในกาลต่อไปนี้ ขอจงให้พบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบภายใน ๓ เดือน

ต่อมาเดือนพฤศจิกายนข้างแรม ได้ไปเทศน์มหาชาติที่วัดบ้านโนนรังใหญ่ ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ พอดีไปพบพระกรรมฐานองค์หนึ่งกำลังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ รู้สึกเกิดแปลกประหลาดในจิตขึ้นโดยโวหารของธรรมะน่าเลื่อมใส จึงได้ไต่ถามญาติโยมว่าท่านองค์นั้นเป็นใคร มาจากไหน ได้รับตอบว่า “เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ชื่ออาจารย์บท” ท่านได้พักอยู่ในป่ายางใหญ่ใกล้บ้านราว ๒๐ เส้น  พองานมหาชาติเสร็จก็ได้ติดตามไปดู ได้เห็นปฏิปทาความประพฤติของท่านเป็นที่พอใจ จึงถามท่านว่าใครเป็นอาจารย์ของท่าน ท่านตอบว่า “พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ เวลานี้พระอาจารย์มั่นได้ออกเดินทางจากจังหวัดสกลนครไปพักอยู่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี” พอได้ความเช่นนั้นก็รีบเดินทางกลับบ้าน นึกแต่ในใจว่า “เราคงสมหวังแน่ๆ” อยู่มาไม่กี่วันจึงได้ลาโยมผู้ชาย ลาพระอุปัชฌาย์ ท่านทั้งสองนี้ก็พูดจาขัดขวางทุกด้าน ทุกมุม แต่ได้ตัดสินใจเด็ดขาดว่า “เราต้องไปจากบ้านนี้โดยเด็ดขาด จะให้สึกก็ต้องไป จะให้อยู่เป็นพระก็ต้องไป พระอุปัชฌาย์และโยมผู้ชายไม่มีสิทธิ์ใดๆ ทั้งหมด ถ้าขืนก้าวก่ายสิทธิ์ในตัวเรานาทีใด ต้องลุกหนีไปนาทีนั้น” ได้พูดกับโยมผู้ชายอย่างนี้ ในที่สุดโยมผู้ชายและพระอุปัชฌาย์ก็ยอม

เดือนอ้ายข้างแรม เวลาเพลแล้ว ประมาณ ๑๓.๐๐ น. ได้ออกเดินทางพร้อมด้วยบริขารโดยลำพังองค์เดียว โยมผู้ชายได้ติดตามออกไปส่งถึงกลางทุ่งนา เมื่อได้ล่ำลากันแล้วต่างคนก็ต่างไป วันนั้นเดินทางผ่านอำเภอม่วงสามสิบพุ่งไปสู่จังหวัดอุบลราชธานี ได้ทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่บ้านกุดลาด ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง อยู่ห่างจากอุบลราชธานี ประมาณ ๑๐ กิโลเมตรเศษ พอดีพระบริคุตฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอม่วงสามสิบถูกปลดออกจากราชการ ขี่รถยนต์ผ่านมา พบเรากำลังเดินทางอยู่คนเดียว ท่านผู้นี้ได้นิมนต์ขึ้นรถขนย้ายครอบครัวของท่าน ไปส่งถึงสนามบินจังหวัดอุบลฯ ทางไปบ้านกุดลาด  บัดนี้ก็ยังระลึกถึงบุญคุณของท่านผู้นี้อยู่ ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันเลย ประมาณ ๕ โมงเย็นเดินทางถึงสำนักวัดป่าบ้านกุดลาด แต่ได้ทราบว่าพระอาจารย์มั่นกลับมาพักอยู่วัดบูรพา

รุ่งเช้าเมื่อฉันอาหารแล้วได้เดินเท้ากลับมาจังหวัดอุบลฯ ได้ไปนมัสการกราบเรียนความประสงค์ของตนต่อพระอาจารย์มั่น ท่านก็ได้ช่วยแนะนำสงเคราะห์เป็นที่พอใจ สอนคำภาวนาให้ว่า “พุทโธ ๆ” เพียงคำเดียวเท่านี้ พอดีท่านกำลังอาพาธ ท่านได้แนะนำให้ไปพักอยู่บ้านท่าวังหิน ซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงัดวิเวกดี ที่นั่นมีพระอาจารย์สิงห์ พระมหาปิ่น มีพระภิกษุ สามเณรราว ๔๐ กว่าองค์พักอยู่ ได้เข้าไปฟังธรรมเทศนาของท่านทุกคืน รู้สึกว่ามีผลเกิดขึ้นในใจ ๒ อย่าง คือ เมื่อนึกถึงเรื่องเก่าๆ ของตนที่เป็นมาก็ร้อนใจ เมื่อนึกถึงเรื่องใหม่ๆ ที่กำลังประสบอยู่ก็เย็นใจ ทั้ง ๒ อารมณ์นี้ติดตนอยู่เสมอ พอได้ได้พบเพื่อนที่หวังดี ๒ องค์ ได้ร่วมอยู่ ร่วมฉัน ร่วมศึกษา สนทนากันตลอดมา เพื่อน ๒ องค์นั้นคือพระอาจารย์กงมาและพระอาจารย์สาม ได้พากเพียรพยายามภาวนาอยู่เสมอทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อได้พักอยู่พอสมควรแล้ว ก็ได้ชวนพระอาจารย์กงมาออกเดินทางไปเรื่อยๆ ไปพักตามศาลเจ้าผีปู่ตาของหมู่บ้านตำบลต่างๆ แล้วได้เดินทางกลับไปถึงบ้านเดิม เพื่อบอกข่าวกุศลให้โยมผู้ชายทราบว่าได้พบพระอาจารย์มั่นเป็นที่พอใจในชีวิตแล้ว อาตมาจักไม่กลับมาตายบ้านนี้ต่อไป คือได้นึกเป็นคติในใจอยู่ว่า “เราเกิดมาเป็นคน ต้องพยายามไต่ขึ้นอยู่บนหัวคน เราบวชเป็นพระ ต้องพยายามให้อยู่บนหัวพระที่เราเคยพบผ่านมา” ตอนนี้รู้สึกว่าเกิดสมหวังในความคิด ฉะนั้น จึงกลับบอกเล่าให้โยมฟังว่า “ฉันลาไม่กลับ เงินทองข้าวของใช้ส่วนตัวมอบเสร็จ ทรัพย์สินเงินทองของโยม จักไม่เกี่ยวข้องตลอดชีวิต” แต่ยังไม่เคยตัดสินใจว่าเราบวชแล้ว จะไม่ยอมสึก แต่ก็นึกในใจว่า “เราไม่ยอมจนในชีวิต” โยมป้าได้ทราบเรื่องก็มาพูดต่อว่า ว่า “ท่านจะเกินไปละกระมัง” จึงได้ตอบไปว่า “ถ้าฉันสึกมา ถ้าฉันมาขอข้าวป้ากิน ขอให้ป้าเรียกฉันว่าสุนัขก็แล้วกัน” เมื่อได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วเช่นนี้ก็ได้สั่งกับโยมผู้ชายว่า “โยมอย่าเป็นห่วงอาตมา จะบวชอยู่ได้ก็ตาม จะสึกออกมาก็ช่าง อาตมาพอใจแล้วที่ได้สมบัติจากโยม ได้ทรัพย์วิเศษแล้วจากโยม คือ ตา ๒ ข้าง หู ๒ ข้าง จมูก ปาก ครบอาการ ๓๒ จัดเป็นก้อนทรัพย์อย่างสำคัญ แม้โยมจะให้ทรัพย์อย่างอื่นอาตมาก็ไม่อิ่มใจ” เมื่อได้สั่งโยมผู้ชายเสร็จแล้ว ก็ลาโยมผู้ชายเดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางไปถึงหมู่บ้านวังถ้ำ ก็ได้พบพระอาจารย์มั่นพักอยู่ในป่า จึงได้เข้าไปพักอาศัยอบรมอยู่กับท่านเป็นเวลาหลายวัน

ต่อจากนั้นก็ได้ดำริว่า “เราต้องสวดญัตติใหม่ ล้างบาปเก่าเสียที”  เมื่อได้หารือพระอาจารย์มั่นแล้วท่านเห็นดีเห็นชอบด้วย จึงได้ทำการหัดขานนาค เมื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ติดตามท่านไปเที่ยวในตำบลต่างๆ ได้รู้สึกมีความเลื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้รับความอัศจรรย์จากท่านหลายอย่าง  อาทิเช่น บางเรื่องคิดอยู่ในใจของเราไม่เคยแสดงให้ท่านทราบเลย ท่านกลับทักทายถูกต้อง ก็ยิ่งเพิ่มความเคารพเลื่อมใสยิ่งขึ้นทุกที การทำสมาธิก็หนักแน่นหมดความห่วงใย อะไรต่ออะไรหลายๆ อย่าง ได้อบรมอยู่กับท่านเป็นเวลา ๔ เดือน ท่านก็ได้นัดหมายให้ไปสวดญัตติใหม่ที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลฯ มีพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) วัดสระปทุม จังหวัดพระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เพ็ง วัดใต้ จังหวัดอุบลฯ เป็นกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่นเป็นผู้บรรพาให้เป็นสามเณร ได้อุปสมบทใหม่ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๐  อุปสมบทเสร็จแล้ว ๑ วัน ก็ได้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดคือฉันมื้อเดียว ได้พักอยู่วัดบูรพาคืนเดียวก็ได้ออกไปอยู่ป่าบ้านท่าวังหินตามเคย

เมื่อพระอาจารย์มั่นและพระปัญญาพิศาลเถระได้เดินทางกลับจังหวัดพระนคร เข้าจำพรรษาวัดสระปทุม ท่านได้มอบหมายให้ไปอยู่กับพระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์มหาปิ่น ในระหว่างนี้ได้เดินทางเที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ พระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์มหาปิ่น ก็ได้เที่ยวเทศนาอบรมศีลธรรมแก่ประชาชนโดยคำขอร้องของพระยาตรังฯ เจ้าเมืองอุบลฯ เมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว อำเภอยะโสธร พอดีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าคณะมณฑลได้เรียกตัวพระอาจารย์มหาปิ่นกลับจังหวัดอุบลฯ ตกลงจึงได้อยู่จำพรรษาในตำบลนั้น มีเพื่อนอยู่ด้วยกัน ๔-๕ องค์ ในพรรษานั้นได้พากเพียรทำสมาธิอย่างเข้มแข็ง  บางคราวก็นึกเสียใจอยู่บ้าง เพราะพระอาจารย์ผู้ใหญ่หนีไปหมด จิตบางขณะก็นึกอยากจะลาเพศ แต่หากมักมีเหตุบังเอิญให้สำนึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ  วันหนึ่งเวลากลางวันประมาณ ๑๗.๐๐ น. ขณะกำลังเดินจงกรม จิตกำลังแกว่งไปในทางโลก พอดีมีหญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาข้างๆ วัด เธอได้ร้องรำเป็นเพลงขึ้น โดยภาษาว่า “กูได้เล็งเห็นแล้ว หัวใจนกขี้ถี่ (นกทึดทือ) ปากมันหัก ร้องทึดทือ ใจเลี้ยวใส่ปู (นกชนิดนี้ชอบกินปู)” ก็ได้จำเพลงบทนี้มาบริกรรมเป็นนิจว่าเขาว่าใส่เรา คือ เราเป็นพระกำลังก่อสร้างความดีอยู่ แต่ใจมันแส่ไปในอารมณ์ของโลก ก็นึกละอายใจตนเองเรื่อยๆ มา ว่าเราจะทำใจของเราให้อยู่กับภาวะของเรา จึงจะไม่สมกับที่ผู้หญิงคนนั้นพูดเช่นนั้น เรื่องเล่านี้ได้กลายมาเป็นธรรมหมด


เรื่องอื่นๆ ยังมีอยู่อีกมาก ล้วนเป็นคติเตือนใจ ครั้งหนึ่งในเวลากลางคืนเดือนหงายได้ตกลงนัดหมายกับเพื่อนว่า เรามาเดินจงกรมกัน อดนอนทำสมาธิกัน ในพรรษานั้นมีพระเพื่อนอยู่ด้วยกันรวม ๕ องค์ สามเณร ๑ องค์ เราตั้งใจว่าจะปฏิบัติให้อยู่เหนือพวกเหล่านี้ทุกองค์ เช่น เพื่อนฉันข้าวได้ ๑๐ คำ เราจะต้องฉันเสมอ ๘ คำ เพื่อนนั่งสมาธิได้ ๓ ชั่วโมง เราจะต้องนั่งได้ถึง ๕ ชั่วโมง เพื่อนเดินจงกรมได้ ๑ ชั่วโมง เราจะต้องเดินได้ ๒ ชั่วโมง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องนึกอย่างนี้ แต่รู้สึกว่าทำได้อย่างนึก สิ่งนี้เป็นความลับในตนคนเดียว  อยู่มาวันหนึ่งได้พูดกับเพื่อนว่า “เรามาทดลองกันดูว่า ใครจะนั่งสมาธิและเดินจงกรมเก่งกว่ากัน” จึงได้พูดตกลงกับเพื่อนว่า “เวลาผมเดินจงกรมให้ท่านนั่งสมาธิ เวลาผมนั่งสมาธิให้ท่านเดินจงกรม ว่าใครจะอดทนได้นานมากกว่ากัน” ถึงวาระที่เราเดินจงกรม ท่านองค์นั้นได้ไปนั่งสมาธิอยู่ในกุฏิใกล้ทางเดินจงกรม สักครู่หนึ่งก็ได้ยินเสียงดังโครม จึงได้เปิดประตูหน้าต่างชะโงกหน้าออกไปดู ได้เห็นเพื่อนองค์นั้นนอนหงายขาชี้อยู่ สังเกตเหตุการณ์ว่าท่านคงนั่งสมาธิขัดสมาธิเพชร แล้วเกิดง่วงนอน เลยหงายหลังหลับไป ตัวเราเองก็ง่วงเต็มที แต่ต้องอดทนให้ชนะเพื่อนให้ได้ เมื่อได้เห็นอาการของเพื่อนเป็นอย่างนี้แล้วก็นึกละอายใจว่า ถ้าเราเป็นอย่างนี้บ้างคงแย่ แต่ก็ดีใจว่าเราได้ชนะเขา

เรื่องต่างๆ ที่ได้เล่ามานี้รู้สึกว่าเป็นคติเตือนใจได้เสมอมาว่าคนที่ทำอะไรไม่จริง ต้องมีสภาพเป็นอย่างนี้ พอออกพรรษาแล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันไปพักอยู่ตามป่าช้าโดยลำพังองค์เดียว ในพรรษานี้รู้สึกตัวว่า ทำจิตทำสมาธิได้ดีมาก จิตสงบอย่างละเอียดประณีต มีสิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้นในใจอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาแต่กาลก่อน คือเมื่อจิตสงบได้ดีแล้ว มีอะไรๆ ผุดขึ้นต่างๆ ภาษาบาลีซึ่งไม่เคยแปลออก ก็แปลได้ เช่นบทสวดมนต์พุทธคุณ หรือ ๗ ตำนานที่สวดมา ก็นึกแปลได้เป็นส่วนมาก พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ย่อที่เคยสวดมาแต่กาลก่อนแปลได้เกือบหมด รู้สึกว่ามีการแตกฉานขึ้นพอสมควรในเรื่องธรรม อยากรู้อะไร ทำใจนิ่งๆ ก็รู้ ไม่ต้องใช้ความนึกคิด เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังนี้จึงได้นำเรื่องไปเล่าถวายพระอาจารย์กงมา ท่านก็ชี้แจงว่า “พระพุทธเจ้าของเราก็ไม่ได้เรียนรู้มาก่อน ถึงเรื่องการเรียนหรือเทศน์ พระองค์ท่านได้ปฏิบัติรู้ในใจก่อนแล้วจึงได้บัญญัติไว้เป็นปริยัติธรรม ฉะนั้นการรู้ของเราเป็นการไม่ผิด” เมื่อได้ทราบดังนี้ ก็มีจิตอิ่มเอิบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาเมื่อออกพรรษาแล้วก็คิดถึงโยมผู้ชาย เพราะเห็นว่ายังติดๆ อะไรอยู่มาก นึกจะไปโปรดโยม จึงได้ออกเดินทางไปอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เรียกว่าบ้านโนนแดง ไปพักอยู่ใกล้ศาลเจ้าดอนปู่ตา ได้พักอยู่คนเดียวในป่านั้น ญาติในหมู่บ้านนั้นทราบเรื่องจึงได้ส่งข่าวไปถึงโยมผู้ชาย รุ่งขึ้นเช้าโยมผู้ชายเดินทางมาหาแต่ดึก เตรียมอาหารมาถวายอย่างดีตามภาษาบ้านนอก แต่ก็มิได้ฉันฉลองศรัทธาให้โยม เป็นที่น่าเสียใจมาก เพราะขณะนั้นกำลังถือเคร่งในวินัย และเป็นสิ่งควรเคร่งด้วย คือไม่ยอมฉันอาหารที่เป็นอุททิสะมังสะ คือการฆ่าสัตว์เพื่อให้เฉพาะบุคคล  วันหลังมานึกสงสารโยมผู้ชายแทบน้ำตาไหล เมื่อโยมผู้ชายเห็นบุตรที่บวช ไม่ฉันอาหารแล้ว ก็ได้ยกไปกินเอง เสร็จแล้วได้ติดตามโยมมาพักอยู่ที่ป่าช้าของบ้านเกิดเมืองนอน แล้วได้ไปพักอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง เป็นป่าที่ชาวบ้านถือกันว่าผีดุ ได้ไปพักอยู่เป็นเวลาหลายวัน มีญาติโยมหลายหมู่บ้านพากันเดินทางมาฟังเทศน์ ได้ทำการปราบเรื่องการเชื่อถือผิดๆ ของชาวบ้านเหล่านั้น เช่น ปราบพวกถือผีปอบ ผีกระสือ ผีไท้ ผีแถน มนต์กลที่เป็นเดียรัจฉาน วิชาต่างๆ ได้ทำการชำระล้างสิ่งหนักใจของพี่น้องญาติโยมให้หมดไป เช่น ผีปู่ตาในดงเนินบ้านเก่าและที่พักอยู่นั้นด้วย ได้ทำการสวดมนต์แผ่เมตตากำจัดปัดเป่าจนสิ้นเชิง เวลากลางวันได้ทำการเผาเครื่องเซ่นสรวง ผีเต้น ผีรำ ผีมด ผีหมอมากมาย บางวันมีแต่ควันเผาเครื่องเซ่นทั้งวัน แล้วอบรมญาติโยมให้รับนับถือพระไตรสรณาคมน์ ให้สวดมนต์ภาวนาทางพระ ไม่ให้ยุ่งเรื่องภูตผีปีศาจ



โปรดติดตามตอนต่อไป

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 มิถุนายน 2564 16:00:19 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 27 พฤษภาคม 2564 16:19:04 »



มานึกถึงภาพเก่าๆ ที่เคยผ่านมา รู้สึกว่าไม่มีประโยชน์ จึงได้ช่วยคิดแก้ไข คือ เรื่องที่ญาติโยมเชื่อถือกันว่าผีปู่ตาต้องกินหมูเห็ดเป็ดไก่ทุกปี ดังนั้น พอถึงฤดูกาลไหว้ผีปู่ตา ชาวบ้านต้องเอาไก่เป็ดหรือหมูมาบ้านละ ๑ ตัว คำนวณแล้วสัตว์มีชีวิตต้องถูกฆ่าเพื่อการเซ่นสรวงในปีหนึ่งๆ นับเป็นร้อยๆ ตัว เพราะบางคราวเกิดการเจ็บป่วยก็ต้องเซ่นตามที่บนบานไว้ พิจารณาเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรในการที่ทำดังนั้น เรื่องผีถ้ามีจริงต้องเป็นผู้ไม่กินของเซ่นอย่างนี้ ให้รับส่วนแบ่งกุศลดีกว่า มิฉะนั้นจะต้องบังคับให้หนีโดยเด็ดขาด ต้องใช้อำนาจอาชญาทางธรรมเข้าช่วย จึงได้สั่งเผาศาลผีปู่ตาจนหมดสิ้น ชาวบ้านบางคนเสียขวัญ กลัวจะเกิดความไม่ปลอดภัยในอนาคต จึงได้เขียนคำสวดมนต์แผ่เมตตาให้ทุกคน แล้วก็สั่งรับรองว่าไม่เป็นไร  ในกาลต่อมาได้ทราบว่าสถานที่นี้กลายเป็นเรือกสวนไร่นาไปหมด ดงที่ผีเคยดุกลายเป็นหมู่บ้านขึ้นหมู่หนึ่ง ได้พักอบรมญาติโยมอยู่เป็นเวลาพอสมควร การประพฤติปฏิบัติก็อื้อฉาวโด่งดังขึ้น เกิดมีคนอิจฉาริษยา พยายามหาวิธีขับไล่ไสส่งด้วยวิธีการต่างๆ

อยู่มาวันหนึ่ง เขาได้นิมนต์พระผู้ใหญ่มาเทศน์ ๔ ธรรมาสน์ เราเป็นองค์ที่ ๔ จึงได้ตกลงรับนิมนต์ไปเทศน์ พระผู้ใหญ่ที่ได้รับนิมนต์ไปเทศน์ คือ พระครูวจีสุนทร เจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ  พระอุปัชฌาย์ลุย เจ้าคณะอำเภออำนาจเจริญ  อาจารย์วอ มีความรู้ทางบาลี และตัวเราเอง รวมเป็น ๔ องค์ นึกในใจว่า พรุ่งนี้ต้องฟันถึงขนาด ใครจะมาท่าไหนไม่นึกหวาดเสียวใดๆ ทั้งหมด มีคนมาฟังกันมากมาย สรุปแล้วการเทศน์ได้ผ่านไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีเรื่องอะไรขัดคอกัน

ต่อมาอีกครั้งหนึ่ง ยังมีพระบางรูป คนบางคน เห็นว่าเราเป็นคนอวดดี จึงหาเรื่องคอยยุแหย่พระอื่นให้เข้าใจผิด วันหนึ่งนายชัยเป็นผู้แทนชาวบ้านตำบลยางโยภาพ ได้ไปฟ้องถึงอำเภอว่าเราเป็นพระจรจัด ใจก็รู้สึกยิ่งเข้มแข็งยิ่งกล้า ว่าจะมาไล่กันท่าไหน การที่เรามานี่ไม่ได้มาสร้างความชั่ว เป็นอะไรก็เป็นกัน ต้องสู้กันด้วยวาทะให้ถึงที่สุด ผลที่สุดศึกษาธิการอำเภอก็ไม่มีอำนาจจะมาขับไล่เราออกจากหมู่บ้านนี้ ได้บอกเขาไปว่าเรื่องอย่างนี้ ถ้าขืนมีอีกเราจะอยู่จนหมดเรื่อง เรื่องยังไม่หมดยังไม่หนี วันหนึ่งนายอำเภอได้ออกไปตรวจราชการ ได้ไปพักอยู่ในหมู่บ้านนี้ด้วย ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นญาติเราจึงได้เรียนเรื่องราวให้นายอำเภอทราบ นายอำเภอตอบว่า “พระที่มาอบรมสั่งสอนญาติโยมอย่างนี้หาได้ที่ไหน ฉะนั้นให้ท่านอยู่ไปตามสบาย” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้นอีก เป็นอันว่าสงบเรียบร้อยดี

ต่อมาก็ได้ลาญาติโยมเดินทางต่อไปยังอำเภอยโสธร พอดีได้พบพระอาจารย์สิงห์กับภิกษุสามเณรรวมกันถึง ๘๐ รูป พักอยู่ที่ป่าช้าอำเภอยโสธร ซึ่งบัดนี้ตั้งเป็นเรือนจำ ต่อจากนั้นพระพิศาลสารคุณ เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น วัดศรีจันทร์ ได้มีจดหมายมานิมนต์พระอาจารย์สิงห์ ชาวอำเภอยโสธร มีอาจารย์ริน อาจารย์แดง อาจารย์อ่อนตา เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยชาวบ้านร้านตลาด ได้จ้างเหมารถยนต์ให้ ๒ คัน ได้พากันออกเดินทางจากอำเภอยโสธรโดยทางรถยนต์ไปพักแรมอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด ๑ คืน แล้วออกเดินทางไปพักอยู่ที่จังหวัดมหาสารคามที่ดอนปู่ตา ที่ชาวบ้านพากันเซ่นสรวงว่าผีดุ มีชาวบ้านร้านตลาดและข้าราชการพากันมาฟังเทศน์มากมาย พระอาจารย์ที่ได้พบกันครั้งแรกก็ได้ไปด้วยกัน เมื่อพิจารณาเห็นว่าที่นั่นไม่ใคร่จะสงบ จึงได้ลาพระอาจารย์สิงห์ไปเยี่ยมญาติ มีสามเณรติดตามไปด้วย ๑ องค์ เมื่อเดินทางไปถึงบ้านญาติที่อำเภอน้ำพอง คือ ขุนมหาวิชัย พี่ชายของแม่ เป็นญาติของแม่ฝ่ายพี่ ได้พบเครือญาติที่นั่นหลายครอบครัว พอพวกญาติๆ เห็นหลานไปถึง ต่างคนต่างดีอกดีใจมาเยี่ยมเยียนถามข่าวคราวถึงบ้านเกิดเมืองนอน พวกญาติได้จัดที่พักให้ ณ ริมฝั่งน้ำพอง ในป่ายางใหญ่ ได้พักอาศัยอยู่เป็นเวลาหลายวัน สามเณรที่ไปด้วยได้ลากลับไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดสกลนคร ตนเองก็พักอยู่แต่เพียงคนเดียว ป่านี้มีแต่ลิงค่างมากมาย

อยู่มาวันหนึ่งรู้สึกว่าไม่สบายมีอาการปวดศีรษะเจ็บแก้วหู ก็ได้บอกเล่าให้โยมป้าฟัง คือป้าแม่เงิน โยมป้าได้แนะนำฝากกับหลานเขยซึ่งอยู่ที่อำเภอพล รับราชการกรมตำรวจ หลานเขยได้นำมาส่งฝากคนรถให้ ได้อาศัยเขามาถึงจังหวัดนครราชสีมา ไปพักอยู่ที่วัดสะแก ในระหว่างนั้นได้เที่ยวเดินตามหาญาติเป็นเวลา ๓ วัน แต่ไม่พบ การที่ต้องการพบปะญาติในครั้งนี้ เหตุเพราะอยากจะเดินทางไปจังหวัดพระนคร เพื่อรักษาตัวและไปหาพระอาจารย์มั่น อยู่มาวันหนึ่งคนลากรถเจ๊กได้นำไปส่งถึงบ้านพักเจ้าหน้าที่กรมทาง จึงได้พบกับพี่สาวชื่อแม่วันดี ซึ่งเป็นภริยาขุนก่ายฯ ทุกคนได้แสดงความดีอกดีใจในการที่ได้พบหลาน และได้นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาที่จังหวัดนครราชสีมา แต่ตนเองไม่ยอมอยู่ บอกเขาว่าประสงค์จะไปรักษาตัวที่จังหวัดพระนคร พี่สาวจึงได้จัดแจงซื้อตั๋วรถไฟส่งถึงสถานีหัวลำโพง ขณะรถไฟวิ่งผ่านดงพญาเย็น แล้วโผล่ออกมาเห็นทุ่งเขตจังหวัดสระบุรี ก็ได้ระลึกถึงพี่ชายที่มามีครอบครัวอยู่ที่ประตูน้ำหนองตาโล่ ซึ่งตัวเองได้เคยไปอยู่มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆราวาส เมื่อรถไฟมาถึงสถานีชุมทางบ้านภาชี จึงได้ลงจากรถไฟแล้วเดินเท้าไปถึงบ้านพี่ชาย ได้ทราบว่าพี่ชายได้อพยพครอบครัวขึ้นไปอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์เสียแล้ว จึงได้พบแต่เพื่อนฝูงและคนเฒ่าคนแก่ที่เคยนับถือกันมา ได้พักอาศัยอยู่ในตำบลนั้นพอสมควร

ประมาณจวนสิ้นเดือนพฤษภาคม ได้บอกกับเพื่อนว่าจะเดินทางไปจังหวัดพระนคร เพื่อนได้จัดแจงซื้อตั๋วรถไฟถวายแล้วพาไปส่งที่สถานี ได้เดินทางโดยรถไฟเข้าสู่จังหวัดพระนคร ลงรถไฟที่สถานีหัวลำโพง ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยมาจังหวัดพระนครเลย จะไปวัดสระปทุมก็ไปไม่ถูก จึงได้เรียกรถลากคันหนึ่งมาถามว่า “ไปวัดสระปทุม จะเอาค่ารถเท่าไร” ทั้งๆ ที่ขณะนั้นตัวเองก็ไม่มีสตางค์เลย คนลากรถตอบว่า “เอา ๕๐ สตางค์” จึงได้พูดต่อรองกับเขาว่า “วัดสระปทุมอยู่ไม่ไกล ใกล้ๆ แค่นี้เอง ทำไมเอามากนัก” ตกลงเขาลดให้เหลือ ๑๕ สตางค์ แล้วพาไปส่งวัดสระปทุม เมื่อถึงวัดสระปทุมแล้วได้ไปกราบนมัสการพระอุปัชฌาย์ๆ ได้เล่าให้ฟังว่า เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ได้นิมนต์พระอาจารย์มั่นให้ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตกลงว่าในปีนั้นได้อยู่จำพรรษาที่วัดสระปทุม กุฏิที่พักอยู่ไม่ไกลจากกุฏิของพระอุปัชฌาย์ ในพรรษานี้ได้ตั้งใจพยายามปฏิบัติตนตามเคย กิจวัตรของวัดก็พยายามไม่ให้ขาด อุปัชฌายวัตรไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ยอมให้ขาด  เวลานั้น กำลังถือเคร่งในทางปฏิบัติ ปลีกตัวอยู่โดยลำพังเป็นส่วนมาก รักษาความสงบเป็นใหญ่ ทำวัตรสวดมนต์ทั้งเช้าและค่ำ ช่วยปฏิบัติพระอุปัชฌาย์ทั้งเช้าทั้งเย็น ได้สังเกตเห็นความเป็นอยู่ของพระอุปัชฌาย์ยังมีช่องโหว่อันเป็นสิ่งที่เราพึงพอใจมาก ที่จะได้มีโอกาสปฏิบัติท่าน อาทิเช่นที่นั่ง ที่นอน กระโถน หมากพลู เสื่อสาด อาสนะ ไม่มีใครสนใจและเอาใจใส่ นั่นคือช่องโหว่ที่เราเห็นว่าเราควรจะได้ปฏิบัติ

นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ก็ได้เอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่อุปัชฌายวัตรอย่างเต็มกำลังความสามารถ ได้รู้สึกว่าเป็นที่รักที่พอใจของท่านเป็นอย่างมาก พอออกพรรษาแล้วท่านก็เรียกตัวให้ไปอยู่ประจำที่คลังสงฆ์ซึ่งเป็นสถานที่ที่ท่านฉันจังหัน คือกุฏิหอเขียว ซึ่งใช้เป็นที่เก็บพัสดุต่างๆ ของสงฆ์ ได้ตั้งใจปรนนิบัติท่านเสมือนอย่างบิดาบังเกิดเกล้า แต่ไม่เคยนึกคิดเลยว่าความรักความดีจะมีภัย เมื่อย่างเข้าฤดูแล้งจึงได้กราบลาท่านเพื่อออกเดินทางไปวิเวกเดินธุดงค์ ได้ออกเดินทางจากจังหวัดพระนคร ผ่านจังหวัดอยุธยา สระบุรี ลพบุรี อำเภอตาคลี ภูเขา ภูคา ล่วงเข้าเขตจังหวัดนครสวรรค์ ผ่านอำเภอท่าตะโก และบึงบอระเพ็ด ได้ไปโปรดพี่ชายและเพื่อนฝูงที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่เวลายังไม่ได้บวช

ในระหว่างที่อยู่จังหวัดนครสวรรค์นี้ ได้ออกไปพักอยู่ในป่าห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๒๐ เส้น วันหนึ่งได้ยินเสียงช้างป่ากับช้างตกมันร้องเสียงดัง เพราะกำลังต่อสู้กันอยู่ สู้กันอยู่ประมาณ ๓ วัน ช้างป่าสู้ไม่ได้ถึงแก่ความตาย ส่วนช้างตกมันไม่เป็นอะไร เมื่อเป็นดังนี้ช้างตกมันก็ยิ่งดุร้าย พลุกพล่านอาละวาดหนักขึ้น ได้วิ่งขับไล่ใช้งาทิ่มแทงผู้คนซึ่งอยู่ในบริเวณป่าที่เราพักอยู่ เจ้าของช้างตกมันคือขุนจบฯ กับชาวบ้านซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นได้ขอนิมนต์ให้เข้าไปพักในบ้าน เราไม่ยอมไป รู้สึกหวาดเสียวอยู่บ้าง แต่อาศัยขันติและเชื่ออำนาจแห่งความเมตตา ต่อมาวันหนึ่งเวลาบ่ายประมาณ ๑๖.๐๐ น. ช้างตกมันตัวนั้นได้วิ่งมายืนอยู่ข้างที่พักของเรา ห่างที่เราพักประมาณ ๒๐ วา ขณะนั้นเรากำลังนั่งบำเพ็ญภาวนาอยู่ เมื่อได้ยินเสียงร้องจึงได้โผล่หน้าออกไปจากที่พัก เห็นช้างตกมันงาขาว ยืนหูชันทำท่าทางน่ากลัว นึกขึ้นในใจว่า ถ้ามันวิ่งพุ่งมาหาเรา ชั่วระยะเวลาไม่ถึง ๓ นาทีก็ถึงตัว เมื่อนึกเช่นนี้ก็เกิดความกลัว จึงกระโดดวิ่งออกจากที่พักไปถึงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ห่างจากที่พักประมาณ ๓ วา ขณะที่กำลังเอามือเหนี่ยวต้นไม้ก้าวขาปีนต้นไม้ได้ข้างหนึ่ง ก็ได้ยินเสียงคล้ายคนมากระซิบที่หูว่า “เราไม่จริง กลัวตาย คนกลัวตาย จะต้องตายอีก”  เมื่อได้ยินเสียงกระซิบเตือนเช่นนี้ จึงปล่อยมือปล่อยเท้ารีบเดินกลับไปที่พัก นั่งเข้าที่ไม่หลับตา หันหน้าไปทางทิศที่ช้างยืนอยู่ นั่งภาวนาแผ่เมตตาจิต ในระหว่างนี้ได้ยินเสียงชาวบ้านโห่ร้องกันดังสนั่นหวั่นไหว ตกอกตกใจว่าพระองค์นั้น (หมายถึงเรา) คงจะแย่ ไม่มีใครไปช่วยเหลือท่าน ได้ยินแต่เสียงพูดกันอยู่อย่างนี้แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคนใดกล้าเข้ามาใกล้ตัวเราเลยแม้แต่คนเดียว ได้นั่งแผ่เมตตาจิตอยู่ประมาณ ๑๐ นาที มองเห็นช้างตัวนั้น ตีหู โบกขึ้นลงเสียงพุ่มพั่บๆ อยู่ประมาณสักครู่หนึ่ง แล้วมันก็หันหลังกลับเดินเข้าป่าไป
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 31 พฤษภาคม 2564 15:41:27 »



เมื่อช้างตกมันตัวนั้นเดินเข้าป่าไปแล้วประมาณสักพักหนึ่ง เราได้ออกจากที่พักเดินออกไปกลางทุ่งนา ขุนจบฯ เจ้าของช้างและญาติโยมได้พากันมาหาเราอย่างล้นหลาม พากันประหลาดใจว่าเราปลอดภัยมาได้อย่างไร

รุ่งขึ้นวันที่สอง ประชาชนและชาวบ้านซึ่งอยู่ในบริเวณป่านั้นได้แห่กันมาหาเราอย่างมากมาย พากันมาขอของดีจากเรา เขาพูดกันว่าท่านองค์นี้คงจะมีอะไรดี ช้างตกมันจึงไม่กล้าเข้ามาแทง เมื่อเป็นดังนี้ความไม่สงบก็เกิดขึ้น ได้พักอยู่เป็นเวลาพอสมควร แล้วก็เตรียมตัวล่ำลาญาติโยมเพื่อเดินทางกลับจังหวัดพระนครต่อไป

ประมาณเดือนพฤษภาคม ได้เดินทางกลับมาจังหวัดพระนคร พักอยู่วัดสระปทุมตามเดิม ในพรรษาปีที่ ๒ นี้ พระอุปัชฌาย์มอบให้รับหน้าที่ทำงานแทนพระใบฎีกาบุญรอด เพื่อนฝูงได้แนะนำชักชวนให้เรียนพระธรรมคือนักธรรมตรี ทำให้มีภาระหนักขึ้น เพราะไหนจะต้องปฏิบัติอุปัชฌาย์ ไหนจะต้องทำหน้าที่บัญชีพัสดุและบัญชีเงินสดของวัด ซ้ำยังต้องเรียนพระปริยัติธรรมและเรียนกรรมฐานอีก เมื่อต้องมีภาระยุ่งยากหลายอย่าง อาการของจิตใจรู้สึกว่ามีอาการเสื่อมคลายไปบ้างเล็กน้อยในทางปฏิบัติ โดยมีข้อสังเกตได้ดังนี้ พรรษาแรกที่มาพักอยู่ บรรดาพระเณรเด็กเล็กที่เป็นหนุ่ม ได้มาชวนคุยเรื่องทางโลก เรื่องผู้หญ้าผู้หญิงมั่งมี รู้สึกในใจว่าเกลียดที่สุด พอถึงพรรษาที่สอง ได้ยินเขาสนทนากันเรื่องความเจริญมั่งมี และเรื่องทางโลกชักชอบฟัง ต่อมาพรรษาที่สาม ได้เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์ ส่วนนักธรรมตรีนั้นสอบได้แล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ งานการก็หนักขึ้นทุกที ตอนนี้ชักขยับคุยกับเขาได้ในเรื่องโลก เมื่อความเป็นอยู่ของตนเป็นเช่นนั้น ก็มักจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นเครื่องเตือนใจทั้งภายนอกวัดและภายในวัด

อยู่มาวันหนึ่งจวนออกพรรษา ปรากฏว่าเงินสงฆ์ขาดบัญชีไป ๙๐๐ บาท ได้ตรวจบัญชีทบทวนดูเป็นเวลาหลายวัน ก็ตรวจไม่พบว่าได้ขาดหายไปอย่างไร ตามธรรมดาที่ปฏิบัติอยู่ทุกๆ วันที่ ๑ ของเดือนจะต้องนำเรื่องกราบเรียนพระอุปัชฌาย์ พอถึงวันที่ ๑ ของเดือนนี้ยังไม่ได้นำเรื่องไปกราบเรียน สอบถามเพื่อนฝูงที่ทำงานอยู่ใกล้ชิดกัน ต่างคนต่างปฏิเสธไม่รับรู้อะไรทั้งหมด ในที่สุด ก็พอพิสูจน์ได้อยู่อย่างหนึ่ง คือมีเด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระอุปัชฌาย์ ชื่อนายบุญ บางวัน นายบุญได้ขอลูกกุญแจไปเก็บไว้ในเวลาเราออกไปบิณฑบาต เมื่อนึกได้เช่นนี้ก็ได้ขอความช่วยเหลือจากพระใบฎีกาบุญรอดให้ช่วยปลอบโยนสอบถามนายบุญดู จึงได้ความว่า นายบุญรับว่าได้ขโมยไปในเวลาที่เราออกไปบิณฑบาต เหตุนี้เกิดขึ้นจากพระอุปัชฌาย์นั้นเอง เรื่องมีว่าวันหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปรับ ๓ หาบของเจ้านายองค์หนึ่ง พัดประจำ ย่ามประจำของท่านเก็บไว้ในห้องนอนของเรา เมื่อเรานำลูกกุญแจติดตัวไปในเวลาออกบิณฑบาต ท่านก็เอาไม่ได้ ท่านจึงสั่งให้มอบลูกกุญแจไว้แก่นายบุญเวลาเราออกไปบิณฑบาต  ด้วยเหตุนี้เงินจึงได้หายสูญไป เคราะห์ดีที่นายบุญรับสารภาพว่าได้เอาเงินไปจริงได้ตรวจบัญชีดูโดยละเอียดปรากฏว่าเงินของสงฆ์หายไป ๗๐๐ บาทเศษ  นอกจากนั้นเป็นเงินของพระอุปัชฌาย์ เมื่อได้ตรวจทบทวนดูและสืบสวนได้ความจริงจากนายบุญเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม เวลาบ่าย ๕ โมงเย็น ก็ได้บอกกับเพื่อนมีพระใบฎีกาบุญรอดและพระเชื่อมซึ่งเป็นที่รักใคร่ชอบพอกันว่า “ผมจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ไปกราบเรียนพระอุปัชฌาย์ในวันนี้” พระเชื่อมก็พูดห้ามว่า “อย่าไปกราบเรียนดีกว่า เมื่อสูญหายจริงผมจะใช้ให้” รู้สึกขอบใจเพื่อนรักเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็คิดว่าอย่าทำเช่นนั้นเลย ต้องเปิดเผยเรื่องราวกันดีกว่า มิฉะนั้นเด็กจะเสียหายและเคยตัวต่อไป เพื่อนทั้งสององค์นี้ได้เคยถูกพระอุปัชฌาย์ดุมาหลายครั้งด้วยเรื่องเหล่านี้  ฉะนั้น พอถึงเวลาเราจะกราบเรียนท่าน ทั้งสององค์หลบเข้ากุฏิปิดประตูมิดชิด ปล่อยให้เราเข้าไปกราบเรียนแต่เพียงคนเดียว ก่อนจะนำเรื่องกราบเรียนท่านได้เข้าไปนั่งกวาดถู ตำหมาก ปูที่นั่งที่กุฏิหอเขียวไว้คอยท่า เวลาประมาณ ๑๖.๐๐ น. ท่านได้ลงมาจากกุฏิหลังใหญ่ที่คุณหญิงตลับภริยาเจ้าพระยายมราชเป็นผู้สร้างถวาย แล้วเดินขึ้นมานั่งที่กุฏิหอเขียว เมื่อเห็นท่านฉันหมากฉันน้ำร้อนเรียบร้อยดีแล้ว ก็ได้นำเรื่องเงินของสงฆ์และเงินของท่านหายไปเล่าให้ท่านฟัง พูดยังไม่ทันขาดคำท่านก็ดุเอาว่า “ทำไมแต่ก่อนนี้วันที่ ๑ ได้มาบอกเรา เดือนนี้ล่วงไปถึงวันที่ ๕ จึงมาบอก” จึงได้กราบเรียนว่า “การที่ไม่ได้นำมากราบเรียนในวันที่ ๑ นั้น เพราะยังกำลังสงสัยในตัวบุคคลและบัญชีอยู่ บัดนี้ ได้ตัดสงสัยแน่นอนว่าหายจริง และได้สืบสวนหาตัวก็ได้ตัว” ท่านถามว่า “ใครล่ะ” ก็ตอบถวายว่า “นายบุญเขารับสารภาพแล้ว” พอพูดคำนี้ท่านก็สั่งว่า “ไปเรียกตัวมันมา” และกำชับว่า “เรื่องนี้อย่าพูดอื้อฉาวไป อายเขา” ท่านได้สั่งให้ปิดเงียบ พอดีพระใบฏีกาบุญรอดได้นำตัวนายบุญมาเล่าเรื่องถวายท่าน นายบุญเองก็ได้สารภาพต่อหน้าท่าน ในที่สุดตกเป็นภาระของนายบุญที่จะต้องหามาใช้ต่อไป เมื่อเสร็จเรื่องเหล่านี้แล้ว ก็ขอลาออกจากหน้าที่หนีออกธุดงค์ ขณะเกิดเรื่องนี้นอนไม่หลับอยู่คืนหนึ่งตลอดคืน คิดแต่ในใจว่าจะต้องสึกไปหาเงินมาใช้แทนสงฆ์ แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่อยากจะสึก คิดรบกันไปรบกันมาอยู่อย่างนี้จนตลอดรุ่ง จึงได้เล่าเรื่องถวายให้ท่านฟัง ท่านก็ไม่ยอมอนุญาตให้หนีไปตามความต้องการ ท่านพูดแต่ว่า “เราไม่มีพระใช้ เราเห็นแต่เธอ ฉะนั้นต้องอยู่กับเราไปเสียก่อน เพราะเราก็แก่แล้ว” ในที่สุดจึงต้องทนอยู่ต่อมาอีกเป็นพรรษาที่ ๓

ในพรรษานี้ท่านได้เรียกให้ไปอยู่กุฏิใหม่ที่ท่านอยู่ประจำ ได้ช่วยท่านแก้นาฬิกา แต่งที่โน่นที่นี่ ส่วนงานที่เคยทำได้มอบให้แก่พระเชื่อม รู้สึกว่าเบาใจไปได้บ้าง ในระยะนี้ได้ตรวจดูจิตใจของตนเองรู้สึกว่าเสื่อมในทางปฏิบัติ คือจิตชักจะหันไปในทางโลกเสียบ้าง ได้คิดต่อสู้อยู่จนตลอดพรรษา อยู่มาวันหนึ่งได้เกิดความคิดขึ้นในใจว่า “ถ้าเราอยู่ในพระนครนี้เราต้องสึก ถ้าเราจะไม่สึก เราต้องออกจากพระนครไปอยู่ป่า” จึงได้ทำการบริกรรมอารมณ์ทั้งสองอารมณ์นี้ทั้งกลางวันและกลางคืน

อยู่มาวันหนึ่งได้ขึ้นไปบนยอดพระเจดีย์ ซึ่งมีโพรง แล้วเข้านั่งสมาธิ ได้บริกรรมในใจว่า “เราจะอยู่หรือเราจะสึก” มันก็นึกขึ้นในใจว่า “เราอยากจะสึกมากกว่า” จึงได้ซักซ้อมสอบถามตัวเองว่า “ที่เราอยู่ขณะนี้มีบ้านสวยๆ ถนนงามๆ คนมากๆ เจริญรุ่งเรืองไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง เมืองนี้เขาเรียกว่าเมืองอะไร” ตอบได้ว่า “พระนคร” คือเมืองสวรรค์ของมนุษย์ ได้ไต่ถามไปถึงบ้านเกิดเมืองนอนของเราเองว่า “เราเกิดที่ไหน” ตอบได้ว่า “เราเกิดอยู่บ้านหนองสองห้อง อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี แล้วเวลานี้เราได้เข้ามาอยู่ในพระนคร แล้วก็นึกอยากจะสึก” ถามตัวเองว่า “เราอยู่บ้านของเราเอง เรากิน เรานอน เรานุ่งห่มอย่างไร บ้านช่องถนนหนทางเป็นอย่างไร อาชีพอะไร” ก็นึกได้ทุกอย่างว่ามันไม่เหมือนพระนครสักอย่างเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะนั่งนึกคิดห่วงความเจริญของเขาทำไม ก็นึกตอบในใจขึ้นว่า “คนที่อยู่ในพระนคร เขาก็มิใช่เทวบุตรเทวดาอะไร เขาก็คน เราก็คน ทำไมเราจะทำตนให้เหมือนเขาไม่ได้” ก็ได้ไล่เลียงชีพไต่ถามกันเองอยู่อย่างนี้เป็นเวลาหลายวัน

ในที่สุดก็ตกลงใจว่าอย่ากระนั้นเลย ถ้าเราจะสึกลาเพศจริงๆ เราต้องเตรียมเครื่องสึกไว้ก่อน คนอื่นที่เขาจะสึกเขาต้องเตรียมเครื่องนุ่งห่มและทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เราจะไม่ทำเช่นนั้น เราควรเตรียมอย่างอื่น คือ เตรียมตัวสึกทางใจทดลองดูเสียก่อน วันนั้นกลางคืนเดือนหงายเงียบสงัด ได้ขึ้นไปนั่งอยู่ในโพรงพระเจดีย์ แล้วก็นั่งนึกว่า ถ้าเราสึกไปเราจะทำอย่างไร ได้คุยสนทนาอยู่อย่างเป็นเรื่องเป็นราวดังต่อไปนี้

“ถ้าเราสึกไป เราจะต้องไปสมัครทำงานเป็นเสมียนที่ห้างเพ็ญภาคขายยานัตถุ์ยาธาตุ เพราะเรามีเพื่อนอยู่คนหนึ่งสึกออกไปแล้วได้ทำงานอยู่ที่ห้างนี้ได้เงินเดือนๆ ละ ๒๐ บาท เราจะพยายามไปติดต่อขอทำงานกับเขา แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาพยายามทำงานไป โดยมีคติประจำใจว่า เราจะทำงานให้เป็นที่พอใจของนายห้างทุกอย่าง เราจะต้องตั้งอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต เราไปอยู่บ้านใครเราจะต้องทำความดีให้เป็นที่พอใจของคนบ้านนั้น ในที่สุดห้างก็รับเข้าทำงานที่ต้องการ โดยให้เงินเดือนๆ ละ ๒๐ บาท เท่ากับเพื่อน เราต้องประหยัดใช้เงินเดือนๆ ละ ๒๐ บาท ให้มีเหลือ แล้วก็นึกไปเช่าห้องแถวของพระยาภักดีฯ ที่ประตูน้ำ ค่าเช่าห้องเดือนละ ๔ บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเครื่องแต่งตัว ค่าอาหารคิดแล้วเดือนหนึ่งต้องใช้จ่ายประมาณ ๑๕ บาท เราก็ยังคงเหลืออยู่อีกเดือนละ ๕ บาท

ในปีต่อมานายห้างเชื่อใจ รักเรา ขึ้นเงินเดือนให้อีกเป็นเดือนละ ๓๐ บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วก็ยังเหลืออีกเดือนละ ๑๕ บาท ในที่สุดถ้าเราได้หน้าที่ตำแหน่งหัวหน้าคนงาน นายห้างพอใจขึ้นเงินเดือนให้เป็นเดือนละ ๔๐ บาท เราก็มีเงินเหลือเดือนละ ๒๕ บาท นอกจากนี้ยังได้เปอร์เซ็นค่าขายของเพิ่มเติมอีก  เดือนหนึ่งจะต้องได้เงินถึง ๕๐ บาท มาถึงตอนนี้เรามีความภูมิใจมากกว่าเราได้รับเงินเดือนเท่ากับตำแหน่งนายอำเภอ นึกถึงเพื่อนฝูงทางบ้านเกิดเมืองนอน เราก็มีฐานะอยู่เหนือเขาทุกๆ คน จึงคิดดำริอยากจะแต่งงานเพื่อจะได้นำภริยาสาวสวยในพระนครขึ้นไปเยี่ยมบ้านเกิด ให้ญาติๆ ได้รับความดีอกดีใจ ตัวเองก็รู้สึกว่ามันโก้โก๋ขึ้น เอาละทีนี้เราจะแต่งงานกับคนชนิดใด ก็คิดว่าหญิงที่เราจะแต่งงานด้วยจะต้องมีคุณสมบัติของผู้หญิง ๓ ประการคือ
          ๑. ต้องเป็นหญิงที่มีสกุล
          ๒. ต้องเป็นผู้ที่มีทรัพย์มรดก
          ๓. ต้องเป็นผู้ที่มีรูปร่างสวยงามและมีมารยาทดี

หญิงใดมีคุณสมบัติทั้ง ๓ ประการนี้เราจึงจะยอมแต่งงานกับหญิงนั้น แล้วก็มานึกในใจว่า “หญิงเช่นนั้น เราจะไปใกล้เขาได้อย่างไร และจะไปหาได้ที่ไหน” ถึงตอนนี้ชักรู้สึกว่ายุ่งยากในหัวใจ ก็เที่ยวนึกแสวงหาเอาใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ ถ้าเผอิญไปพบเข้าบ้างอย่างที่ต้องการ เขาก็คงไม่เล่นกับเรา คนที่จะมาเล่นกับเราก็เป็นคนที่เราไม่พึงปรารถนา คิดถึงข้อนี้บางคราวก็ถึงกับถอนหายใจใหญ่ แต่ก็ไม่ยอมท้อถอย

ในที่สุดมันก็ผุดขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า “คนดีๆ ลูกเจ้าลูกนายมีทรัพย์สินเงินทองเขาได้ฝากไว้ตามโรงเรียนสูงๆ เช่น โรงเรียนวังหลัง โรงเรียนแหม่มโคล เราจะพยายามตามไปสังเกตในเวลาที่เขาเปิดโรงเรียนและปิดโรงเรียน คอยติดต้อยห้อยตาม จนที่สุดได้ไปพบผู้หญิงคนหนึ่งเป็นบุตรของพระยารูปร่างสะสวย เดินเหินนุ่งห่มเป็นที่พอตาพอใจ ก็พยายามเดินสวนทางกับเธออยู่หลายวัน ในมือถือเศษกระดาษติดไปด้วย เขียนเป็นจดหมายเล็กๆ โยนไปตรงหน้าของเธอ วันแรกเธอไม่สนใจ เดินสวนกันไปสวนกันมาบ่อยๆ หลายๆ วันเข้า มองหน้ากันบ้างแกล้งยืนตันทางเธอเสียบ้าง บางวันเธอก็ยิ้มใส่เรา พอเห็นเธอยิ้มให้ต้องพยายามส่งจดหมายให้เธอจนได้ ในที่สุดก็รู้เรื่องกัน จึงนัดหมายกับหญิงนั้นว่า วันพรุ่งนี้ให้ลาโรงเรียนไปเที่ยวด้วยกัน ตกลงก็ได้พูดจาได้สนทนากันหลายวันหลายเวลาเข้าก็เกิดความรักความเมตตา ความปรารถนาดีซึ่งกันและกัน ได้พูดคุยกันถึงเรื่องราวความทุกข์สุขของกันและกันตลอดตั้งแต่ต้นจนปลาย ตัวเราเองก็มีเงินเดือนถึงเดือนละ ๕๐ บาท ตัวเธอเองก็เป็นนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ และเป็นถึงลูกพระยามีทรัพย์สมบัติมาก มีรูปโฉมมารยาทความประพฤติเป็นที่พอใจ

ในที่สุดก็ตกลงกันว่า เรามาเป็นสามีภริยากันโดยไม่ต้องเปิดเผย ต่างคนต่างรักกันก็ขโมยได้เสียกัน ตัวเธอเองก็เป็นคนดี ก่อนที่จะมั่นคงแน่นอนในครอบครัว เธอก็ได้ไปบอกกล่าวกับพ่อแม่ของเธอ พ่อแม่ของเธอเกิดไม่พอใจจึงได้ขับไล่ออกจากบ้านไปอยู่ด้วยกันสองคนผัวเมีย เมื่อเป็นดังนี้ตัวเองก็ไม่ได้มีความเสียใจ แต่จะต้องพยายามทำความดีให้เป็นที่พอใจของพ่อตาและแม่ยายให้ได้ แล้วได้พากันหนีไปเช่าห้องแถวอยู่ที่ประตูน้ำสระปทุม ห้องแถวแถวนี้ดีขึ้นกว่าเก่าจึงต้องเสียค่าเช่าเดือนละ ๖ บาท ส่วนภริยาก็ได้ไปทำงานอยู่ในห้างเดียวกัน ได้รับเงินเดือนๆ ละ ๒๐ บาท เธอก็ได้ทำความดีเหมือนกับเราได้ขึ้นเงินเดือนเป็นเดือนละ ๓๐ บาท รวมกันแล้วสองคนผัวเมียมีรายได้ถึงเดือนละ ๘๐ จึงนึกพอใจ

ต่อมาการงานในหน้าที่ก็ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ เป็นที่ไว้วางใจของนายห้าง บางครั้งก็ทำงานแทนนายห้างได้ ได้ตั้งใจทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทั้งผัวทั้งเมีย รวมรายได้ที่เป็นเงินเดือนและเปอร์เซ็นที่ขายของได้ตกเดือนละ ๑๐๐ บาท พอถึงตอนนี้รายได้ดีก็หายใจโล่ง แต่ยังไม่ครบบริบูรณ์ในการนึก จึงคิดทำความดีเพื่อแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพ่อตาและแม่ยาย หาซื้อของกินดีๆ สิ่งของดีๆ ไปให้ท่าน  ในที่สุดทั้งพ่อตาและแม่ยายก็เกิดความรักและสนใจ จึงได้เรียกลูกสาวและลูกเขยเข้าไปอยู่ในบ้าน นึกดีใจขึ้นว่าเราจะต้องได้รับมรดกอย่างที่เคยนึก อยู่รวมกันไปนานๆ เข้า การกระทำบางสิ่งบางอย่างก็เกิดไม่เป็นที่พอใจของพ่อตาและแม่ยาย จึงได้ถูกขับไล่ออกจากบ้าน สองคนผัวเมียก็พากันไปอยู่ห้องแถวตามเดิม ตอนนี้ภริยาเริ่มตั้งครรภ์ กลัวภริยาจะต้องทำงานหนัก จึงหาจ้างคนใช้ ๑ คนเพื่อเฝ้าบ้านและช่วยเหลือภริยาทำงานบ้าน เวลานั้นค่าจ้างคนใช้ก็ถูก เดือนละ ๔ บาทเท่านั้น

จวนเวลาที่ภริยาจะคลอดบุตร ภริยาก็เริ่มลางานเขาบ่อยๆ เราเองก็ต้องตั้งหน้าทำงานไป มานั่งทบทวนดูเงินเดือนที่เคยได้รับเดือนละ ๑๐๐ บาท ก็คงได้รับอยู่เท่านั้น ไม่เคยได้ขึ้นเงินเดือนอีก คิดแล้วมีแต่หดตัวลง ใช้จ่ายค่าต่างๆ อาทิ เช่น ค่าไฟฟ้าเดือนละ ๑ บาท ค่าน้ำเดือนละ ๑.๕๐ บาท ค่าถ่าน ค่าข้าวสารเดือนละอย่างน้อย ๖ บาท ค่าคนใช้เดือนละ ๔ บาท  ยังค่าเครื่องแต่งตัวของสองคนผัวเมียอีก นับวันแต่จะหมดมากเข้าทุกที   อยู่ต่อมาภริยาคลอดบุตร การใช้จ่ายก็สิ้นเปลืองมากขึ้นไปอีก ภริยาไม่ได้ทำงานเปอร์เซ็นก็ไม่ได้ นานๆ เข้าตัวเองก็ป่วยไม่ได้ไปทำงานที่ห้างหลายวัน นายห้างก็ตัดเงินเดือนภริยาเหลือเดือนละ ๑๕ บาท หนักๆ เข้าค่ายาค่าหมอก็หมดเปลืองเข้าไปอีก คิดแล้วเงินที่ภริยาได้รับเดือนละ ๑๕ บาทในส่วนตัวเธอไม่พอจ่าย ซ้ำยังถลำเข้ามาในเงินเดือนของเราอีก เงินเดือนของเราที่ได้รับเดือนละ ๕๐ บาทแก่กาลก่อน คิดแล้วต้องใช้จ่ายหมดไม่มีเหลือ ในที่สุดภริยาป่วยหนักถึงแก่ความตาย ต้องไปขอยืมเงินจากนายห้าง ๕๐ บาท ของเรา ๕๐ บาท รวบรวมมาทำบุญให้ภริยาที่ตายไป หมดเงินไป ๘๐ บาท ยังคงเหลืออยู่ ๒๐ บาท ยังมีลูกเล็กๆ อีก ๑ คน จะทำอย่างไรกันดี ตอนนี้ที่เคยหายใจโล่งมาแต่กาลก่อน ชักจะเริ่มอึดอัด เข้าไปหาพ่อตาแม่ยายชักไม่ติด ต้องไปจ้างแม่นมมาเลี้ยงบุตร แม่นมก็เป็นคนชั้นต่ำ เขาก็เลี้ยงดูและดีกับลูกของเราเหลือเกิน ความดีของแม่นมทำให้เราเกิดมีความรักความเมตตา ในที่สุดก็ได้แม่นมมาเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง แม่นมเป็นคนไม่ได้รับการศึกษา แม้หนังสือไทยก็อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  ส่วนเงินเดือนของเราก็เหลืออยู่เพียงเดือนละ ๕๐ บาท  ต่อมาแม่นมก็เริ่มตั้งครรภ์ เราก็แสดงความปราณีแก่เขา ไม่ให้ได้รับความทุกข์ลำบากหรือทำงานหนัก ก็พออยู่พอกินกันไปแต่ก็รู้สึกผิดหวังที่ได้ตั้งใจไว้แต่เดิมไปบ้าง ต่อมาแม่นมก็คลอดบุตรออกมาอีก ๑ คน ได้ช่วยเหลือเลี้ยงดูกันมา จนกระทั่งบุตรที่เกิดจากภริยาเก่าโตพอสมควร บุตรที่เกิดจากภริยาคนที่ ๒ ก็โตพอสมควร ตอนนี้แม่เลี้ยงชักจะเกิดยังไงๆ ขึ้น คือไม่รักบุตรที่เกิดจากภริยาเก่า บุตรที่เกิดจากภริยาเก่าก็ฟ้องเราเสมอๆ ว่าแม่เลี้ยงมีความประพฤติไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ บางครั้งบุตรกับบุตรก็เกิดทะเลาะวิวาทกัน  สมมติว่าบุตร ๒ คน แม่ ๑ คน ต่างฝ่ายต่างยืนอยู่คนละทิศ เรายืนกลาง เมื่อกลับมาจากที่ทำงานลูกเก่าก็ฟ้องอย่างหนึ่ง ลูกใหม่ก็ฟ้องอย่างหนึ่ง แม่เลี้ยงก็พูดไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกัน ตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าจะเข้ากับใคร มักชักเกิดยุ่งในจิตในใจขึ้นมาก ลูกใหม่ก็จะเอาอย่างโน้น แต่งตัวอย่างนี้ ผลสุดท้ายลูกกับลูกก็เกิดการแข่งขันกันในเรื่องการกินบ้าง ในเรื่องการแต่งตัวบ้าง ในเรื่องการใช้เงินบ้าง ในที่สุดจะไปนั่งคุยกับลูกเก่าก็ลำบาก จะไปนั่งคุยกับลูกใหม่ก็ลำบาก จะไปนั่งคุยกับภริยาก็ลำบาก ตรวจดูรายได้ของตัวเองเกลี้ยงไม่มีเหลือ มองไปทางด้านครอบครัวก็ยุ่งยิ่งกว่าเข้าไปอยู่ในกองหนามหวาย  ในที่สุดก็ต้องหย่าร้างกับภริยา มีบุตรก็ไม่ได้อย่างนึก มีเงินก็ไม่ได้อย่างนึก มีภริยาก็ไม่ได้อย่างนึก อย่ากระนั้นเลยเรากลับไปบวชใหม่ดีกว่า เราก็ได้มาบวชมาบำเพ็ญสมณธรรม พอมานึกได้เช่นนี้ อารมณ์โลกที่เคยนึกคิดมา ก็พลันหายสูญไปในดวงจิต ความอัดอั้นตันใจหายไปหมดสิ้น รู้สึกสบายเหมือนกับตัวลอยอยู่ในอากาศก็ร้อง “เออ” ขึ้นมาในดวงจิต นึกขึ้นได้ว่าเมื่อเรื่องราวจะเป็นถึงเช่นนี้ เราไม่ควรสึก ใจที่นึกคิดอยากสึกเหมือนกาลก่อนก็หายไปตั้ง ๕๐-๖๐ เปอร์เซ็น

ในระหว่างที่นึกคิดอยู่นั้น มีเหตุบันดาลเกิดขึ้นต่างๆ เช่น บางคืนฝันเห็นพระอาจารย์มาด่าบ้าง ดุบ้าง แต่เหตุการณ์สำคัญๆ ที่นับว่าแปลกได้เกิดขึ้นรวม ๔ ครั้ง ในระหว่างที่นึกคิดในอารมณ์ของโลก แต่ต้องขอโทษผู้อ่านว่าเป็นเรื่องราวที่ไม่สู้น่าฟัง จะไม่เขียนบันทึกไว้หรือก็ล้วนแต่เป็นคติเตือนใจ จึงจำเป็นต้องบันทึกไว้

ครั้งที่ ๑ ในเวลากลางคืนขณะกำลังนึกคิดอยู่ในอารมณ์ของโลกเช่นนั้น  วันหนึ่งรู้สึกท้องผูกไม่สบาย จึงได้ฉันยาถ่ายเวลาตอนบ่าย กะว่าตอน ๓ ทุ่มก็จะต้องไปถ่ายตามที่ได้เคยฉันมา ก็เกิดเหตุบังเอิญเมื่อฉันแล้วเป็นปกติไม่ปวดถ่าย  รุ่งขึ้นเช้าจึงได้เดินออกไปบิณฑบาตในตรอกวังสระปทุม พอเดินไปถึงหน้าบ้านที่เขาจะใส่บาตรก็เกิดรู้สึกปวดอุจจาระอย่างหนักจนทนแทบไม่ไหว จะเดินออกไปรับบาตรก็เดินไม่ได้ ก้าวขาไม่ออก มัวแต่อดกลั้นขยับขาเดินได้ทีละคืบไปถึงป่ากระถินแห่งหนึ่ง รีบวางบาตรลอดรั้วเข้าป่ากระถิน มันนึกอยากเอาหัวตำดินให้ตายเสียดีกว่า  เมื่อทำธุรกิจเสร็จแล้วก็ออกจากป่าอุ้มบาตรเดินบิณฑบาตต่อไปตามเคย วันนั้นได้ข้าวไม่พอฉัน กลับมาถึงวัดก็ได้เตือนตัวเองว่า “มึงสึกไปแล้วต้องเป็นอย่างนี้ ใครเขาจะมาใส่บาตรให้กิน” เรื่องนี้ได้เป็นคติเตือนใจอย่างดี

ครั้ง ๒ ออกเดินไปบิณฑบาตแต่เช้า เดินข้ามสะพานหัวช้างผ่านสามแยกวกไปถนนเพชรบุรี ข้าวแม้แต่ทัพพีเดียวก็ไม่ลงบาตร พอดีได้เห็นหญิงแก่อายุประมาณ ๕๐ ปี ไว้ผมมวยกับตาแป๊ะแก่ไว้หางเปีย ยืนส่งเสียงดังเอะอะอยู่ในห้องแถว ขณะนั้นเราเดินมาถึงตรงหน้าบ้านเขาก็หยุดยืนนิ่งดู ประมาณสัก ๒ อึดใจ เห็นยายแก่คว้าไม้กวาดตีหัวตาแป๊ะๆ คว้ามวยผมถีบหลังยายแก่ ตัวเองก็เริ่มนึกว่า “ถ้าเป็นเราโดนเข้าอย่างนี้จะทำอย่างไรกัน” ก็ตอบขึ้นว่า “มึงต้องบ้านแตกสาแหรกขาดแน่” การที่ได้ประสบพบเหตุการณ์อย่างนี้กลับดีใจยิ่งกว่าบิณฑบาตได้ข้าวเต็มบาตร

วันนั้นบิณฑบาตได้ข้าวเกือบไม่พอฉัน ตกเวลากลางคืนก็นึกถึงเรื่องนี้อยู่เป็นนิจ กำลังดวงจิตก็รู้สึกมีการเบื่อหน่ายเรื่องของโลกออกไปโดยลำดับ

ครั้งที่ ๓ วันนั้นเป็นวันเทศกาล ได้ออกบิณฑบาตตั้งแต่เวลาเช้ามืด เดินไปถึงตลาดประตูน้ำสระปทุม แล้ววกกลับมาทางหลังวัด บริเวณนั้นมีคอกม้ามีถนนดิน เวลาฝนตกถนนลื่น ได้เดินอย่างสำรวมมาตรงหน้าบ้านของโยมคนหนึ่ง บิณฑบาตได้ข้าวเต็มบาตร ใจก็นึกคิดไปในอารมณ์ของโลก นึกจนเผลอตัวก้าวลื่นถลาล้มลงไปในบ่อข้างถนน หัวเข่าทั้งสองจมลงไปอยู่ในโคลนประมาณ ๑ คืน ข้าวสุกในบาตรหกหมด เนื้อตัวมอมแมมไปด้วยโคลน ต้องรีบเดินทางกลับวัด เมื่อกลับมาถึงวัดแล้ว เก็บเอามาเป็นคติเตือนใจสอนตนเองว่า การนึกในเรื่องทางโลกของเรา เพียงแต่นึกคิดมันก็ยังมีโทษติดตามมาได้ถึงเพียงนี้ ใจก็ค่อยคลายค่อยเบื่อออกไปโดยลำดับ คิดว่า “เรื่องครอบครัวนั้นมันเป็นเรื่องของเด็ก ไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่” กลับความคิดเห็นเป็นอย่างนี้

ครั้งที่ ๔ เวลารุ่งเช้าออกบิณฑบาต เดินไปตามถนนเพชรบุรีตามเคย เดินไปถึงวังพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัติ พระองค์ท่านเคยใส่บาตรประจำวันแก่พระทั่วๆ ไป  วันนั้นบังเอิญมีขันข้าวตั้งอยู่ตรงข้ามวังอีกขันหนึ่ง จึงได้เดินไปรับขันตั้งใหม่เสียก่อน เมื่อรับเสร็จแล้ว หันกลับมาจะไปรับขันตรงข้าม พอดีมีรถเมล์ขาวนายเลิศวิ่งมาอย่างรวดเร็ว วิ่งเฉียดศีรษะห่างประมาณ ๑ คืบ คนโดยสารร้องตะโกนโวยวายขึ้น ตัวเองก็ผงะยืนตกตะลึงอยู่เป็นเวลาหลายอึดใจ วันนั้นเกือบถึงแก่ความตายเพราะถูกรถเมล์ชน ขณะกลับไปรับบาตรที่วังพระองค์เจ้าธานีฯ ต้องสะกดตัวไว้อย่างเข้มแข็ง มีอาการสั่นสะท้านทั่วทั้งตัว เมื่อรับบาตรเสร็จแล้วก็เดินกลับวัด

เรื่องต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นคติเตือนใจ เพราะในสมัยนั้นความคิดทางโลกกำลังกำเริบอยู่ไม่เว้นวาย


โปรดติดตามตอนต่อไป
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 02 มิถุนายน 2564 16:21:19 »



                 หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

ลุถึง พ.ศ.๒๔๗๔ ออกพรรษาแล้ว ในปีพรรษาที่ ๓ ก็นึกว่า “เราต้องออกจากพระนครแน่ๆ ถ้าพระอุปัชฌาย์ยังหวงห้ามกีดกันอีก เห็นจะต้องแตกกันในคราวนี้ มิฉะนั้นก็ขออำนาจคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกจงช่วยข้าพเจ้าโดยทางอื่น”

วันหนึ่งเวลากลางคืนนอนหงายดูหนังสือพร้อมภาวนา พอเคลิ้มหลับได้เห็นพระอาจารย์มั่นมาดุว่า “ท่านอยู่ทำไมในกรุงเทพฯ ไม่ออกไปอยู่ป่า” ก็ได้ตอบท่านว่า “พระอุปัชฌาย์ไม่ยอมให้ไป” ท่านตอบคำเดียวว่า “ไป” จึงได้ตั้งอธิษฐานจิตถึงท่านว่า “เมื่อออกพรรษาแล้ว ขอให้ท่านมาโปรดเราเอาไปให้จงได้”

ต่อมาไม่กี่วันเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดบรมนิวาสเกิดอาพาธขาหัก พระอาจารย์มั่นก็ได้เดินทางมานมัสการเยี่ยมเจ้าคุณอุบาลีฯ  วันหนึ่งคุณนายน้อยมารดาเจ้าคุณมุขมนตรีได้แก่กรรม เจ้าภาพได้กำหนดการฌาปนกิจที่วัดเทพศิรินทราวาส คุณนายคนนี้ได้มีอุปการะแก่พระอาจารย์มั่นสมัยอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ท่านก็ได้ตั้งใจมาในงานศพครั้งนี้ด้วย เรากับพระอุปัชฌาย์ก็ได้รับนิมนต์ไปในงานฌาปนกิจครั้งนี้ด้วย ได้ไปพบพระอาจารย์มั่นบนเมรุเผาศพ มีความดีใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่มีโอกาสได้สนทนากับท่านแม้แต่คำเดียว จึงได้เข้าไปถามท่านเจ้าคุณอมราภิรักขิต วัดบรมนิวาส ท่านก็เล่าให้ฟังว่า พระอาจารย์ได้มาพักอยู่ที่วัดบรมนิวาส จึงได้ลาพระอุปัชฌาย์ไปแวะวัดบรมนิวาสเพื่อพบพระอาจารย์มั่น

นับตั้งแต่อุปสมบทล่วงแล้วได้ ๔ พรรษา เพิ่งจะได้มาพบท่านอีกในคราวนี้ ก็ได้เข้าไปกราบไหว้ ท่านก็ได้เมตตาแสดงธรรมให้ฟังว่า “ขีณาชาติ วุสิตัง พรหมจริยันติ” แปลได้ใจความสั้นๆ ว่า “พระอริยเจ้าขีณาสพทั้งหลาย ท่านทำตนให้เป็นผู้พ้นจากอาสวะแล้วมีความสุข นั้นคือพรหมจรรย์อันประเสริฐ” จำได้เพียงเท่านี้ แต่รู้สึกว่าเราไปนั่งฟังคำพูดของท่านเพียงเล็กน้อย ใจนิ่งเป็นสมาธิดีกว่าเรานั่งทำคนเดียวมากมาย ในที่สุดท่านก็สั่งว่า “คุณต้องไปกับเราในคราวนี้ ส่วนอุปัชฌาย์นั้นเราจะไปเรียนท่านเอง” สนทนากันได้เพียงเท่านั้นแล้วได้ลากลับวัดสระปทุม ได้เล่าเรื่องที่ได้ไปพบพระอาจารย์มั่นให้พระอุปัชฌาย์ฟัง ท่านก็นั่งฟังแล้วนิ่งๆ อยู่  วันรุ่งขึ้นพระอาจารย์มั่นได้ไปที่วัดสระปทุม แล้วพูดกับพระอุปัชฌาย์ว่า จะให้พระรูปนี้ติดตามไปด้วยในเมืองเหนือ พระอุปัชฌาย์ก็อนุญาต จึงได้จัดแจงตระเตรียมบริขารของตน ล่ำลาสั่งเสียเพื่อนฝูงและลูกศิษย์ ได้ถามลูกศิษย์ถึงมูลค่าปัจจัยในการเดินทาง ได้รับตอบว่าเหลืออยู่เพียง ๓๐ สตางค์ เฉพาะค่ารถจากวัดสระปทุมไปถึงสถานีหัวลำโพงก็จะต้องจ่ายถึง ๕๐ สตางค์  คิดแล้วค่ารถจากวัดไปถึงสถานีหัวลำโพงก็ไม่พอเสียแล้ว จึงได้กราบเรียนเรื่องนี้ให้พระอาจารย์มั่นทราบ ท่านก็รับรองว่าจะจัดการให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ก่อนจะถึงกำหนดเวลาประชุมเพลิงคุณนายน้อย ๑ วัน ท่านได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมที่บ้านเจ้าพระยามุขมนตรี เจ้าภาพได้ถวายผ้าไตร ๑ ไตร น้ำมันก๊าด ๑ ปีบ และเงิน ๘๐ บาท ท่านเล่าให้ฟังว่าผ้าไตรได้ถวายพระวัดบรมนิวาส น้ำมันก๊าดถวายพระมหาสมบูรณ์ ปัจจัยได้แจกจ่ายแก่ผู้ไม่มี เหลือไว้พอดีค่ารถ ๒ คน คือเรากับท่าน  เมื่อได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ก็ให้ท่านกลับขึ้นไปเมืองเหนือ ได้เดินทางขึ้นไปพักอยู่ที่วัดศัลยพงศ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ก่อนที่จะขึ้นรถด่วนที่สถานีหัวลำโพง ได้พบแม่ง้อ เนตรจำนงค์  ซึ่งจะได้ลงมาในงานฌาปนกิจศพคุณนายน้อยหรืออย่างไรไม่ทราบ แม่ง้อเคยเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น จึงได้รับเป็นโยมอุปฐาก  ขณะเดินทางในรถไฟไปตลอดทาง เมื่อเดินทางถึงจังหวัดอุตรดิตถ์แล้ว ได้ไปพักอยู่ที่วัดศัลยพงศ์หลายวัน แล้วได้ออกไปพักอยู่ในป่าละเมาะห่างจากกุฏีเป็นที่เงียบสงัดวิเวกทั้งเวลากลางวันและเวลากลางคืน

วันหนึ่งได้เกิดขัดใจกับพระอาจารย์ ท่านก็ได้เอะอะขับไล่ให้หนี ตัวเราเองก็รู้สึกชักโมโห รู้สึกฉิวๆ อยู่ในใจ แต่ก็อดกลั้นไว้มิได้แสดงความโกรธออกมา ได้เคยปฏิบัติท่านมาอย่างไร ก็คงทำไปอย่างนั้น ก็ได้อยู่กับท่านตลอดมา รุ่งขึ้นวันใหม่เดือนยี่จวนจะสิ้นเดือน ได้รับข่าวว่าศิษย์คนหนึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่ป่วยหนัก มีพระ ๒ รูปมาติดตามพระอาจารย์มั่น แล้วแจ้งข่าวให้ทราบ เสร็จแล้วพระ ๒ รูปนั้นก็เดินทางไปจังหวัดพระนคร ในสมัยนั้นพระอาจารย์ตันเป็นเจ้าอธิการวัดศัลยพงศ์ วัดศัลยพงศ์นี้เจ้าคุณอุบาลีฯ วัดบรมนิเวาสเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างเป็นคนแรก

จากจังหวัดอุตรดิตถ์ เรากับพระอาจารย์มั่นได้ออกเดินทางต่อไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้วได้ไปพักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อนายเบี้ยว อยู่อำเภอสันกำแพง มีอาการป่วยหนักมาก พี่ชายและพี่สะใภ้ได้นำตัวไปให้พระอาจารย์มั่นรักษา โรคที่นายเบี้ยวเป็นนั้นคือโรคจิต ในปีนั้นได้อยู่จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง มีพระกรรมฐานที่เป็นเพื่อนฝูงพักอยู่หลายองค์ แต่ต่างคนต่างไปจำพรรษาอยู่ตามบ้านนอก แม้ตัวเราเองท่านก็ให้ออกไป แต่เราไม่ยอมไป โดยเรียนท่านว่าเราตั้งใจจะอยู่ปฏิบัติพระอาจารย์จนตลอดพรรษา ท่านก็ยินยอม ตกลงจึงได้อยู่กับท่าน

ปีนั้นตรงกับ พ.ศ.๒๔๗๕ เจ้าคุณอุบาลีฯ ได้มรณภาพในพรรษานั้น ระหว่างเข้าพรรษา ได้ตั้งใจปฏิบัติพระอาจารย์และกรรมฐานของตน กับพระอาจารย์อย่างใกล้ชิด ท่านก็ได้ทรมานสั่งสอนทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาตอนเย็นก็ได้ขึ้นไปนั่งสมาธิอยู่บนองค์พระเจดีย์ทางทิศเหนือ มีพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่ง พระพุทธรูปองค์นี้ยังคงมีอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ ท่านบอกว่าที่ตรงนั้นเป็นมหามงคล เคยมีพระบรมธาตุเสด็จมาบ่อยๆ ให้ไปนั่งสมาธิตรงนั้น ก็ได้ทำตามท่านบอกทุกอย่าง บางวันนั่งจนไม่ได้นอน ระหว่างที่พักอยู่ที่กุฏีหลังเล็กๆ ในป่าดงกล้วย  กุฏีหลังนี้คุณนายทิพย์และหลวงยง ผู้กำกับการตำรวจเป็นผู้สร้างถวาย  นายทิพย์เสมียนคลังจังหวัดกับภริยาคือนางตาได้ปฏิบัติส่งเสียอาหารพระอาจารย์เป็นอย่างดี ในระหว่างพรรษาก็ได้ออกติดตามบิณฑบาตกับท่านเป็นนิจ ระหว่างเดินบิณฑบาตท่านได้สอนกรรมฐานเตือนอกเตือนใจอยู่เสมอ พอเห็นผู้หญิงสวยๆ งามๆ ท่านก็บอกว่า “มองดูทีรึนั่นเป็นอย่างไร สวยไหม ดูให้ดีๆ ดูเข้าไปข้างใน” ไม่ว่าจะเห็นอะไร เช่นบ้านหรือถนน ท่านก็คอยสอนเตือนใจทุกวัน

เวลานั้นอายุเพิ่งได้ ๒๖ ปี พรรษา ๕ กำลังเป็นหนุ่ม ท่านก็คอยสอนตักเตือนอยู่เสมอ รู้สึกว่าท่านสนใจในตัวเรามาก แต่มีที่แปลกใจอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวแก่เครื่องใช้บริขารของเราดีๆ ใหม่ๆ ท่านคอยชี้มือบอก ให้ย้อม ให้ซัก ให้ทำลายสีเดิม ของดีๆ ก็ไม่ค่อยยอมให้ใช้ บางทีก็ขอเอาไปให้คนอื่น ตัวเองก็นึกไม่ถึงว่าท่านมีความหมายอย่างไร พูดหลายครั้งหลายหนเข้าเราไม่ทำตาม เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ซึ่งเป็นสีขาว ก็ให้ย้อมให้เป็นสีแก่นขนุน ถ้าเราทำเฉยไม่ย้อม ท่านก็ลงมือย้อมให้เอง ชอบหาจีวรสบงเก่าๆ ขาดๆ มาปะแล้วก็ให้เราใช้สอย   วันหนึ่งเดินออกไปบิณฑบาตพร้อมกับท่าน เดินไปทางสถานีตำรวจ ได้เดินสวนทางกับหญิงหาบของขายในตลาด แต่ก็ใจดีเหลือเกินไม่ได้เดินออกจากทางบิณฑบาต สำรวมใจแน่วแน่ สำรวมตนเต็มที่ ต่อมาอีกวันหนึ่งได้เดินตามท่านไปบิณฑบาต เราเดินห่างจากท่านนิดหน่อย ท่านเดินเร็ว แต่เราเดินช้า เห็นท่านเอาเท้าเตะกางเกงขาดของตำรวจที่ทิ้งไว้ข้างถนน ท่านเตะไปเตะมา เราก็นึกในใจว่าเราต้องเข้าในทางเสมอ พอถึงรั้วสถานีตำรวจ ท่านก็ก้มลงเก็บกางเกงขาดตัวนั้นเหน็บไว้ใต้จีวร เราก็แปลกใจว่าของเขาทิ้งแล้วท่านจะเอาไปทำไมกัน เมื่อกลับกุฏีแล้วท่านก็นำเอาไปพาดไว้ที่ราวผ้าแห่งหนึ่ง เราก็ได้ทำการปัดกวาดปูอาสนะ เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้ว ก็เข้าไปในห้องปูที่นั่งที่นอนของท่าน บางวันท่านก็ดุเอาว่าทำอะไรไม่เรียบร้อย แต่ไม่ยอมบอกว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นที่พอใจ เราก็ต้องพยายามทำให้ถูกใจท่านทุกเวลา ถึงกระนั้นก็ต้องถูกเคี่ยวเข็ญอยู่จนตลอดพรรษา

ต่อมาวันหลังได้เห็นกางเกงขาดตัวนั้น กลายเป็นถุงย่ามและสายรัดประคดห้อยแขวนอยู่ด้วยกันที่ข้างฝา วันหนึ่งท่านบอกว่าถุงย่ามใบนี้และรัดประคดอันนี้เอาไปใช้เสีย เรารับเอามามองดูมีแต่รอยปะหลายแห่ง ของดีๆ ก็มีอยู่แต่ท่านไม่ยอมให้ การได้ปฏิบัติพระอาจารย์นี้เป็นการดีที่สุด แต่ก็ยากที่สุด ต้องยอมฝึกหัดทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องเป็นนักสังเกตที่ดีและละเอียดรอบคอบจึงจะอยู่ได้ เวลาเดินบนพื้นกระดานทำเสียงดังก็ไม่ได้ เดินไปแล้วมีรอยเท้าติดพื้นก็ไม่ได้ เวลากลืนน้ำมีเสียงดังก็ไม่ได้ เวลาเปิดประตูมีเสียงดังก็ไม่ได้ เวลาจะตากผ้า เก็บผ้า พับผ้า ปูที่นั่ง ที่นอน ฯลฯ  ทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำอย่างเป็นผู้มีวิชา  มิฉะนั้น จะต้องถูกไล่หนีทั้งๆ กลางพรรษา แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องอดทน พยายามใช้ความสังเกตของตน บางวันเมื่อฉันแล้ว จัดแจ้งเก็บบาตร เก็บจีวร ผ้าปูนั่ง ปูนอน กระโถน กาน้ำ หมอน ฯลฯ และทุกสิ่งทุกอย่างในห้องของท่าน ต้องเข้าไปจัดไว้ก่อนท่านเข้าไปข้างใน จัดเสร็จแล้วก็จดจำไว้ในใจแล้วรีบกลับออกไปอยู่ในห้องของตน ซึ่งกั้นไว้ด้วยใบตองเจาะช่องฝาไว้พอมองเห็นบริขารและตัวท่านได้ เมื่อท่านเข้าไปในห้องแล้ว เห็นท่านมองข้างล่างข้างบนตรวจตราดูบริขารของท่าน บางอย่างท่านก็หยิบย้ายที่ บางอย่างท่านก็ปล่อยไว้ที่เดิมไม่จับต้อง เราก็ต้องคอยมองดูแล้วจดจำเอาไว้ วันหลังก็ทำใหม่ จัดใหม่ให้ถูกต้องอย่างที่เห็นท่านทำ ว่าท่านทำเองท่านทำอย่างไร เราก็จัดทำอย่างที่เรามองเห็น ต่อมาวันหลังเมื่อเข้าไปจัดเสร็จแล้วก็กลับเข้าห้องของตน มองลอดช่องฝาสังเกตดูว่าเวลาท่านเข้าไปในห้อง เห็นท่านเข้าไปแล้วนั่งนิ่ง มองซ้ายมองขวา มองหน้ามองหลัง มองดูข้างบนข้างล่าง แล้วก็ไม่จับต้องอะไรอีก ผ้าปูนอนก็ไม่กลับ แล้วท่านก็กราบพระไหว้พระสักครู่หนึ่งท่านก็จำวัด เมื่อเห็นเช่นนี้ ก็ดีใจว่าเราได้ปฏิบัติเป็นที่ถูกอกถูกใจพระอาจารย์ นอกจากเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ในการนั่งสมาธิก็ดี เดินจงกรมก็ดี ก็ได้ฝึกหัดจากท่านไปจนเป็นที่พอใจทุกอย่าง แต่ก็เอาอย่างท่านได้อย่างมาก ๖๐ เปอร์เซ็นเท่านั้น

ต่อมาเมื่อออกพรรษาแล้ว ทางวัดบรมนิวาสได้จัดงานเพื่อฌาปนกิจศพเจ้าคุณอุบาลีฯ  พระผู้ใหญ่ที่อยู่วัดเจดีย์หลวงได้ทยอยมาเพื่อช่วยงานเกือบหมด เจ้าอาวาสได้มอบให้พระอาจารย์มั่นเฝ้าวัดเจดีย์หลวง เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจได้เห็นหนังสือฉบับหนึ่งมีถึงพระอาจารย์มั่น ตั้งให้ท่านเป็นอุปัชฌาย์ ท่านได้เปิดออกอ่านมีใจความว่า พระอาจารย์มั่นขอให้ท่านรับเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง พร้อมทั้งตำแหน่งอุปัชฌาย์ สั่งให้เจ้าแก้วนวรัตน ณ เชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการ ขอให้พระอาจารย์มั่นทำหน้าที่แทนเจ้าอาวาสเดิมต่อไป  สรุปได้ใจความสั้นๆ อย่างนี้ พอท่านได้ทราบเรื่องราวแล้ว ท่านก็เรียกไปหาแล้วพูดว่า “เราต้องออกจากวัดเจดีย์หลวงไปอยู่ที่อื่น”

อยู่ต่อมาเมื่อออกพรรษาแล้วได้ ๒ วัน ท่านได้สั่งให้เราไปวิเวกบนหลังดอยจังหวัดลำพูน ซึ่งเคยเป็นที่พักของท่านมาแต่ก่อน ได้พักอยู่ที่ตีนเขาประมาณ ๑๐ กว่าวัน ต่อมาเวลาประมาณบ่าย ๓ โมง ได้ปรากฏเหตุการณ์คล้ายๆ กับว่ามีคนมาบอก ได้ยินทางหูขณะกำลังนั่งสมาธิว่า “ท่านต้องขึ้นไปอยู่บนยอดเขาในวันพรุ่งนี้” พอรุ่งขึ้นวันใหม่ ก่อนเดินทางถึงยอดเขาได้ไปพักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งเป็นวัดร้าง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วันใดที่ตรงกับวันพระมักจะปรากฏมีแสงสว่างเกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ป่านั้นเป็นป่าลึก มีเสือและช้างชุม เดินทางไปคนเดียว กลัวก็กลัว กล้าก็กล้า แต่เชื่อมั่นในอำนาจธรรมและพระอาจารย์ ได้ค้างนอนอยู่ ๒ คืนๆ แรกสงบสบายดี คืนที่สองเวลาประมาณ ๑ หรือ ๒ น. ได้มีสัตว์ป่าคือเสือมารบกวน คืนนั้นเป็นอันไม่ได้นอน นั่งสมาธิตัวแข็ง เสือก็เดินวนเวียนอยู่รอบๆ กลด รู้สึกว่าตัวแข็งและมึนชา สวดมนต์ก็คล่องแคล่วเหมือนน้ำไหล ที่ลืมแล้วก็นึกได้ ด้วยอำนาจแห่งการสำรวมจิตและคิดกลัว นั่งอยู่อย่างนี้ตั้งแต่เวลา ๒ น. ถึง ๕ น. เสือตัวนั้นจึงได้หนีไป

รุ่งขึ้นได้เดินไปบิณฑบาตในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีบ้านเพียง ๒ หลังคา เจ้าของบ้านออกไปทำสวนชั่วคราว เมื่อพบกับเขาๆ เล่าว่า เมื่อคืนนี้มีเสือมากินวัว เราก็นึกกลัวมากขึ้น ในที่สุดเมื่อฉันอาหารแล้วได้เดินทางขึ้นไปบนยอดดอย เมื่อขึ้นไปถึงยอดดอยแล้ว มองลงไปเบื้องล่างจะแลเห็นพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน ดอยลูกนี้เขาเรียกกันว่า”ดอยค่อม่อ” (ดอยหัวแม่มือ) บนหลังดอยมีบ่อน้ำลึกแห่งหนึ่ง หยั่งไม่ถึง มีน้ำใสสะอาด มีเศียรพระพุทธรูปตั้งอยู่รอบบ่อ เดินลงจากพื้นราบ เหยียบหินลึกลงไปประมาณ ๒ เมตรก็ถึงน้ำ เขาเล่ากันว่าเวลามีคนตกลงไปในบ่อไม่จมน้ำ จะดำน้ำก็ดำไม่ได้ ถ้าเป็นผู้หญิงลงไม่ได้เด็ดขาด ขืนลงไปจะต้องมีอาการขัก ดอยนี้ชาวบ้านถือกันว่าเป็นดอยที่ศักดิ์สิทธิ์  อาจารย์เล่าให้ฟังว่า มีปิศาจสำคัญ ๑ ตนอยู่ประจำที่ดอยนี้ แต่ไม่เป็นไร เขาไม่รบกวนอะไร เพราะเขารู้จักพระธรรมและพระสงฆ์ วันแรกที่ขึ้นไปถึงยอดดอย พอวันรุ่งขึ้นไม่ได้ฉันอาหาร ถึงเวลากลางคืนเป็นลมตลอดคืน รู้สึกว่าดอยนั้นไหวเหมือนเรือลอยอยู่กลางทะเลมีคลื่นลมจัด แต่จิตดีไม่หวาดกลัวอะไร วันที่สองได้นั่งสมาธิ เดินจงกรมอยู่ในบริเวณวิหารเก่า สถานที่พักอยู่นี้อยู่ห่างหมู่บ้านที่จะไปบิณฑบาตได้ประมาณระยะทาง ๘๐ เส้น  จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “เราจะไม่ฉันจังหัน ถ้าไม่มีคนมาส่งถึงที่”  ในคืนวันนั้นรู้สึกว่าปวดท้อง มีลมรบกวน แต่ไม่เหมือนวันก่อน พอเวลาประมาณ ๕.๐๐ น. เศษ ใกล้จะสว่าง ได้ยินเสียงดังฮืดๆ ฮาดๆ ข้างวิหาร ครั้งแรกนึกว่าเสือ แต่ฟังๆ ไปคล้ายเสียงคน แต่ดอยด้านนั้นชันมาก ถ้าจะปีนขึ้นพอปีนได้ แต่ถ้าจะปีนลงรับรองว่าลงไม่ได้ ถ้าเช่นนั้นจะมีใครขึ้นมา นึกสงสัยอยู่ในใจแต่ยังไม่กล้าออกจากกลดและวิหารร้าง รอจนสว่างรุ่งอรุณจึงได้ลุกออกจากกลดเดินออกมาข้างนอกวิหาร ได้พบหญิงชราคนหนึ่งอายุประมาณ ๗๐ ปี มานั่งพนมมือถือข้าวห่อใบตองมา ๑ ห่อ ขอใส่บาตร พร้อมทั้งถวายยาให้ ๒ อย่างๆ หนึ่งเป็นรากไม้ อีกอย่างหนึ่งเป็นเปลือกไม้ แล้วกล่าวว่า “ขอให้ท่านใช้ยานี้ฝนกินพร้อมกับอธิษฐานเอาแล้วจะหายปวดท้อง”  ขณะนั้นเรากำลังถือเคร่ง ไม่กล้าพูดกับผู้หญิงหลายคำ พอรับบิณฑบาตรแล้วก็ฉันข้าวเหนียวแดงหนึ่งก้อน และยา ๒ ชิ้นนั้น เสร็จแล้วได้ยถาสัพพีให้แก แกก็กลับเดินหายไปทางทิศตะวันตกของดอย


โปรดติดตามตอนต่อไป
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 07 มิถุนายน 2564 16:02:45 »



ต่อมาเวลาบ่ายประมาณ ๕ โมงเย็น มีคนถือจดหมายของพระอาจารย์มั่นขึ้นไปให้บนยอดดอย ในจดหมายนั้นมีใจความว่า “ให้ท่านรีบเดินทางกลับวัดโดยด่วน เพราะผมจะต้องออกเดินทางจากวัดเจดีย์หลวงในตอนเช้า เพราะรถด่วนจะถึงเชียงใหม่ในตอนเย็น” พอได้ทราบเช่นนี้ก็รีบเดินทางลงจากยอดดอยเดินทางมาถึงหมู่บ้านป่าเห้ว พอดีพลบค่ำ จึงได้ไปพักในป่าช้า ๑ คืน แล้วออกเดินทางต่อเข้าเมือง ได้ทราบว่าพระอาจารย์มั่นเดินทางออกจากวัดเจดีย์หลวงตั้งแต่เช้า สอบถามดูก็ไม่มีใครทราบว่าไปทางไหน ตกลงเราเองก็ไม่รู้ว่าจะติดตามไปทางไหนจึงจะพบ แต่นึกในใจว่าท่านคงออกจากเชียงใหม่ไปทางเชียงตุง ฉะนั้นต้องรีบติดตามไปทางเชียงตุงโดยด่วนแต่ยังไปไม่ได้ เพราะจำได้ว่าท่ายเคยสั่งไว้ในระหว่างเข้าพรรษา ๒ อย่าง คือ

๑. ท่านสั่งว่า “ให้คุณช่วยฉันนะในเรื่องข้อปฏิบัติ เพราะฉันไม่ใคร่เห็นใครที่จะช่วยได้” ตัวเองก็ไม่เคยนึก และไม่สนใจว่าท่านหมายความว่าอย่างไร
๒. ท่านสั่งว่า “จังหวัดเชียงใหม่นี้เป็นสถานที่อาศัยวิเวกของบรรดานักปราชญ์ในกาลก่อน ฉะนั้น ก่อนที่ท่านจะออกจากจังหวัดนี้ ให้ท่านไปวิเวกอยู่บนยอดดอยค่อม่อแห่งหนึ่ง ให้ไปพักวิเวกในถ้ำบวบทองแห่งหนึ่ง และให้ไปพักวิเวกอยู่ในถ้ำเชียงดาวอีกแห่งหนึ่ง”

ได้พักอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง ๒-๓ วัน แล้วก็ออกเดินทางจากวัดเจดีย์หลวงไปถึงอำเภอดอยสะเก็ด ได้เข้าไปพักในถ้ำมืด บ้านเมืองอ่อน ถ้ำนี้เป็นถ้ำแปลกน่าอัศจรรย์ บนยอดเขามีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง สันนิษฐานไม่ได้ว่าสร้างไว้แต่ครั้งไหน กลางเขามีช่องโหว่เป็นรูลึกลงไปในพื้นเขา เดินลงไปพบท่อนไม้สักทอดเป็นสะพานข้ามเหว เดินไต่ไปตามท่อนไม้สัก จนถึงแท่นหินอีกฟากหนึ่งของเหว ปรากฏว่ามีลานหินกว้างขวาง เดินต่ออีกสักพักก็มีแต่ความมืดมองไม่เห็นแสงสว่าง จึงได้จุดไฟแล้วเดินต่ออีก ไปพบสะพานอีกแห่งหนึ่งใช้ซุงไม้สักทั้งต้นพาดไปยังก้อนหินอีกก้อนหนึ่ง ถึงตอนนี้รู้สึกว่าอากาศเริ่มเย็น เมื่อเดินข้ามสะพานนี้ไป ก็ไปถึงลานหินราบเรียบกว้างขวาง คะเนดูว่าบรรจุคนได้ไม่ต่ำกว่า ๓,๐๐๐ คน ภายในพื้นถ้ำเป็นคลื่นดูคล้ายน้ำพัดเป็นระลอก ได้พบหน่อหินหน่อหนึ่ง เป็นของแปลกประหลาดมาก หน่อหินนี้โตประมาณ ๒ อ้อมแขน สูงประมาณ ๓ วา ๓ ศอก ๑ คืบ สีขาวเหมือนปุยเมฆ ตั้งตรงพุ่งขึ้นบนเพดาน รอบๆ หน่อหินก้อนนี้มีหินเป็นปุ่มๆ เหมือนปุ่มฆ้องติดๆ กันไป ลักษณะที่เป็นปุ่มๆ สูงประมาณ ๑ ศอก ระหว่างปุ่มลึกแลดูราบรื่นขาวโพลนสวยงามเป็นอย่างยิ่ง แต่อากาศทึบ ไม่มีแสงสว่างเข้าถึง ท่านอาจารย์มั่นเคยเล่าให้ฟังว่า ในพื้นถ้ำนั้นมีพญานาคเข้าไปนมัสการ ท่านบอกว่าหน่อหินก้อนนี้เป็นพระเจดีย์ของพญานาค นึกอยากจะนอนอยู่สัก ๑ คืน แต่อากาศทึบรู้สึกอึดอัดมาก หายใจไม่ค่อยสะดวกจึงไม่กล้าอยู่ จึงได้เดินทางกลับออกมาจากถ้ำนั้น เขาลูกนี้อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านประมาณ ๓ กิโลเมตร ชาวบ้านแถบนั้นเล่าว่า เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษา ภูเขาลูกนี้ร้องเสียงดัง ถ้าปีไหนมีเสียงร้องดังมาก มีฝนดี ทำนาทำไร่ได้ผลมาก วันนั้นได้เดินทางกลับมาพักอยู่ที่ป่าแห่งหนึ่ง เขตอำเภอดอยสะเก็ด เมื่อได้พักผ่อนพอสมควรแล้วก็ได้ออกเดินทางต่อไปยังบ้านโป่ง ได้พบพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อเขียนเคยอยู่กับพระอาจารย์มั่น จึงถามท่านว่า “ทราบหรือไม่ว่า พระอาจารย์ไปไหน” ได้รับตอบว่า “ไม่ทราบ” จึงชวนพระเขียนเดินทางธุดงค์ไปอำเภอดอยสะเก็ดอีก ได้ไปพักอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ไกลจากหมู่บ้านมากอยู่ในกลางดงลึก เขาเรียกว่า “ถ้ำบวบทอง” ที่เรียกอย่างนี้ เพราะภายในถ้ำมีขี้ทองคำไหลออกมาติดอยู่ในแอ่งน้ำ ก่อนจะไปถึงถ้ำแห่งนี้ต้องเดินบุกป่าไปประมาณ ๑๐ กม. สองคนกับพระเขียนได้พากันไปวิเวกอยู่ภายในถ้ำนั้น ที่ถ้ำแห่งนี้ชาวบ้านลือกันว่ามีผีดุมาก ถ้าใครเข้าไปค้างคืนในถ้ำ ขณะนอนหลับอยู่จะมีผู้มีเหยียบขาบ้าง เหยียบท้องบ้าง เหยียบหลังบ้าง ทำให้คนกลัวกันมาก เมื่อได้ยินข่าวลืออย่างนี้ เราจึงต้องการจะพิสูจน์ว่ามีความจริงประการใด จึงได้ไปพักค้างอยู่ ๑ คืน พระอาจารย์มั่นเคยเล่าว่า พระภิกษุชัยเคยเดินทางไปค้างในถ้ำนี้ ๑ คืน ไม่ได้นอนตลอดคืน ได้ยินแต่เสียงคนเดินเหยียบหินเข้าๆ ออกๆ ทั้งคืน ถ้ำนี้เป็นถ้ำที่ลึกมาก แต่ท่านเคยสั่งให้เราไปที่ถ้ำนี้ ผลของการพิสูจน์ปรากฏว่าไม่ได้พบและไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยในคืนนั้น ออกจากถ้ำบวบทองได้ลงมาพักอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่งได้พบพระภิกษุอีกองค์หนึ่งชื่อเชย จึงได้ร่วมสนทนากันเป็นที่ถูกอัธยาศัย จึงชวนกันไปเดินธุดงค์ในละแวกอำเภอดอยสะเก็ดอีก ส่วนพระภิกษุเขียนได้ลาแยกทางไปพักที่บ้านโป่งตามเดิม

อยู่มาวันหนึ่ง ระหว่างเดินธุดงค์กับพระเชย โยมได้จัดสร้างที่พักให้ในกลางป่าช้าอันกว้างใหญ่ บริเวณป่าช้านี้มีหลุมฝังศพอยู่ทั่วไป เต็มไปด้วยกองฟอนเผาผี มีแต่กระดูกขาวโพลนไปหมด จึงได้พักอยู่กับพระเชย ณ บริเวณป่าช้านั้นเป็นเวลาหลายวัน  วันหนึ่งโยมได้นิมนต์พระเชยไปพักอยู่ ณ ที่อีกแห่งหนึ่ง เราต้องพักอยู่คนเดียว ที่พักอยู่ห่างกองฟอนเผาผีประมาณ ๓ วา รุ่งขึ้นเช้าวันหนึ่ง มีโยมถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนมาตั้งแต่ดึก แล้วบอกกับเราว่าจะเอาลูกศิษย์มาถวาย ก็นึกอุ่นใจว่าต่อไปนี้เห็นจะหายกลัว เพราะขณะนั้นตัวเองก็รู้สึกกลัวมาหลายวันแล้ว นั่งสมาธิจนรู้สึกว่าตัวชาไปหมด วันนั้นพอฉันแล้วเวลาสายได้เห็นชาวบ้านพากันมาหลายคน ได้หามศพคนตายมาด้วย ศพนั้นไม่ได้ใส่โลงแต่ใช้ผ้าพันไว้ พอเห็นศพก็นึกในใจว่า “คราวนี้เราแย่” จะหนีไปหรือก็รู้สึกอายโยม จะอยู่ต่อไปหรือก็กลัว นึกขึ้นได้ว่าที่โยมมาพูดเมื่อวันก่อนว่าจะถวายลูกศิษย์ คงจะเป็นศพๆ นี้เอง

พอตกบ่ายเวลาประมาณ ๔ โมงเย็น โยมได้ทำการเผาศพนั้นใกล้ๆ ที่นอนของตัว ได้เห็นศพนั้นชัด ขณะศพนั้นถูกไฟเผาได้ยกแขนยืดขาขึ้น ตัวเหลืองประดุจทาขมิ้น เผาอยู่จนค่ำตัวขาดแค่บั้นเอว ตัวยังดำอยู่ในกองไฟ พอใกล้เวลาค่ำโยมพากันลากลับไปหมด เหลือเราอยู่คนเดียว จึงรีบเข้าไปในกระต๊อบฝาใบตองทันที นั่งสมาธิห้ามจิตไม่ให้ออกไปนอกกระต๊อบ จนกระทั่งหูดับไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย ไม่มีสัญญากำหนดรู้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน ความกลัว ความกล้าไม่มี แต่จิตยังมีความรู้สึกประจำใจอยู่จนกระทั่งสว่าง พอดีพระเชยเดินทางกลับมา เมื่อมีเพื่อนเราก็ค่อยอุ่นใจ ปกติพระภิกษุเชยชอบเทศน์ชอบคุยธรรมให้เราฟังอยู่ในกระต๊อบเสมอๆ เราเองได้แต่นั่งฟังเฉยๆ แต่พอจะจับสำเนียงเสียงพูดได้ว่าทำไม่ได้จริงเหมือนอย่างที่พูด คือครั้งหนึ่งเคยมีโยมคนหนึ่งมาถามว่า “ท่านกลัวผีไหม” พระภิกษุเชยก็ไม่ตอบออกไปว่ากลัวหรือไม่กลัว แต่กลับตอบว่า “กลัวทำไม คนตายแล้วไม่มีอะไร วัวควาย เป็ดไก่ เมื่อตายแล้วโยมยังกินได้” ท่านชอบพูดอย่างนี้เสมอมา เราได้ยินแล้วก็นึกในใจว่า “พระอวดดี ไม่แสดงความกลัวให้โยมทราบ”  อย่ากระนั้นเลยวันพรุ่งนี้เราจะต้องทดลองเพื่อนคนนี้ดูว่าจะจริงแค่ไหน พอดีมีโยมในหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางอำเภอดอยสะเก็ดมานิมนต์ไป ดังนั้นจึงให้พระภิกษุเชยอยู่เฝ้าที่พัก ตัวเราเองเป็นผู้รับนิมนต์ เป็นอันว่าตกลงกันตามนี้ เราจึงได้เดินทางไปกับโยม วันรุ่งขึ้นกลับมาที่พักไม่พบพระภิกษุเชย ได้ความว่าในคืนวันที่เรารับนิมนต์ไปในหมู่บ้านนั้น มีคนเอาเด็กผู้หญิงที่ตายแล้วคนหนึ่งมาฝังที่ป่าช้าในเวลาดึก พระภิกษุเชยเห็นเช่นนั้นก็รีบเก็บกลดเก็บบาตรและจีวรแล้วเปิดหนีไปในคืนวันนั้น

ตั้งแต่บัดนั้นก็จากกันกับพระภิกษุเชย ต่างคนต่างไปคนละทาง เราเองได้มุ่งเดินทางกลับไปหาพระเขียนที่บ้านโป่ง แล้วได้พักอยู่กับพระเขียนเป็นเวลา ๓-๔ วัน ต่อจากนั้นได้ออกเดินทางจากบ้านโป่ง ผ่านตำบลแห่งหนึ่งเรียกว่า “ห้วยอ้อมแก้ว” มีซากวัดเก่าผุๆ พระพุทธรูปเก่าๆ เมื่อได้ทราบดังนี้ก็อยากไปดูสถานที่นั้น ถึงระยะนี้รู้สึกว่าเบื่อโยมเบื่อเพื่อน ไม่อยากอยู่กับมนุษย์ คิดแต่อยากจะขึ้นไปอยู่บนยอดดอยแต่เพียงคนเดียว เมื่อเดินทางไปถึงห้วยอ้อมแก้วจึงเลิกไม่ยอมฉันอาหาร ฉันแต่ใบมะเดื่อและใบขี้เหล็ก เพื่อจะได้ไม่ต้องยุ่งยากกับมนุษย์อีกต่อไป บริเวณสถานที่นี้มีห้วยอ้อมวกไปเวียนมา เป็นห้วยตื้นๆ ไม่ลึก แต่สงบเงียบสงัดวิเวกดีมาก

อยู่มาวันหนึ่ง เวลากลางคืน ขณะกำลังนั่งสมาธิหลับตาอยู่ในกระต๊อบมืดๆ ได้รู้สึกว่าปรากฏมีแสงสว่างกลมโตกว้างยาวประมาณ ๑.๕๐ เมตร แสงนั้นพุ่งมาจากยอดเขาสูงแล้วมาจ่ออยู่ข้างกระต๊อบ คืนนั้นจึงได้นั่งสมาธิอยู่จนตลอดคืนจนกระทั่งสว่างคาที่ นั่งอยู่อย่างนั้นจนกระทั่งรู้สึกว่า ลมหายใจหยุด ลมไม่เดิน เงียบสนิท รู้สึกสบายปลอดโปร่ง ไม่มีอาการง่วงเหงาหาวนอน

ต่อมาวันหลังได้เคลื่อนย้ายลงไปอยู่ในเกาะอ้อมแก้ว เพราะมีโยมคนหนึ่งได้มีศรัทธาสร้างกระต๊อบเล็กๆ ให้หลังหนึ่ง ยกพื้นพอพ้นพื้นดิน ฝาใบตอง เมื่อเข้าอยู่ในสถานที่นี้แล้ว ได้ทำความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว อดนอน ฉันแต่น้อย วันหนึ่งๆ ฉันแต่ใบมะเดื่อและใบขี้เหล็ก ๔ กำมือ ในวันแรกรู้สึกว่าสบายดีและไม่ปรากฏเหตุการณ์อะไร ถึงวันที่สองเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม หลังจากสวดมนต์เดินจงกรมเสร็จแล้ว ได้ล้มตัวลงนอนหงายปล่อยอารมณ์พักผ่อนตามสบาย เลยหลับไป ในขณะนอนหลับอยู่นั้นได้ปรากฏเหตุการณ์ขึ้นคือมีหญิงคนหนึ่งรูปร่างอ้วนท้วน สวมเสื้อนุ่งผ้าถุง ใบหน้าขาว รูปร่างสะสวย เขาบอกว่าเขาชื่อนางสีดา ยังเป็นสาวโสด ไม่มีสามี ต้องการมาอยู่กับท่าน  ในนิมิตฝันนั้นรู้สึกว่าเขาต้องการมีสามี จึงได้ถามเขาว่า “เธออยู่ที่ไหน” เขาตอบว่า “อยู่บนยอดเขาสูง บนนั้นมีสถานที่กว้างขวาง มีบ้านหลายหลัง อยู่สบายดี ขอให้ไปเป็นสามีของเขา” แต่เราไม่ยอม เขาได้อ้อนวอนอยู่หลายอย่างหลายประการ แต่เราก็คงยืนกระต่ายขาเดียว เขาจึงพูดว่า เมื่อไม่ยอมเป็นสามีก็ไม่เป็นไร ขอให้ได้สมสู่เป็นชู้กันก็แล้วกัน เราก็คงยืนกรานไม่ยอมอีก ผลที่สุดเมื่อเห็นว่าไม่มีทางเป็นไปได้ดังที่ปรารถนา จึงได้ตกลงกันว่าขอให้เราทั้งสองนับถือเป็นเพื่อนที่รักใคร่และสนิทสนมกันก็แล้วกัน เมื่อได้ทำความเข้าใจกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาก็ลาหายไป

ในวันนั้นเวลากลางวันประมาณบ่าย ๒ โมงเศษ ได้ไปอาบน้ำที่ห้วยมีขอนใหญ่ล้มขวางห้วยอยู่ โยมเล่าให้ฟังว่าห้วยนี้สำคัญนักตรงที่น้ำไหลออกมีเจดีย์องค์เล็กๆ องค์หนึ่ง แต่เป็นการน่าประหลาดว่าพระเจดีย์องค์นี้ บางคราวคนก็เห็น บางคราวก็ไม่เห็น ได้ฟังโยมเล่าเรื่องแล้วตัวเองไม่สนใจ ก่อนอาบน้ำได้เก็บก้อนหินก้อนโตๆ มาอุดน้ำให้ล้นขอนเพื่ออาบได้ง่าย อาบเสร็จแล้วไม่ได้เก็บหินออก

ตอนเย็นวันเดียวกันนั้น หลังจากได้สวดมนต์และเดินจงกรมเสร็จแล้ว เวลาประมาณ ๓ ทุ่มเศษ ได้ล้มตัวนอนเล่น ภาวนาไปก็ได้ปรากฏเหตุการณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง รู้สึกเหมือนกับมีคนเอามือมาลูบขา ทำให้ตัวชาไปถึงบั้นเอวตลอดจนถึงศีรษะเกือบหมดความรู้สึก นึกว่าเป็นลม ก็รีบลุกขึ้นทำจิตให้เป็นสมาธิ จิตก็สงบแน่นิ่ง ใสสว่าง ตัดสินใจว่าถ้าเราตาย เราต้องยอม ในใจก็นึกแต่ว่าเราเป็นลม เพราะกินแต่ใบมะเดื่อและใบขี้เหล็กเป็นอาหาร พอจิตเข้าที่เบ่งตัว อาการที่เสียวชาไปหมดทั่วทั้งร่างกายก็ค่อยคลายหายออก เปรียบประดุจก้อนเมฆลอยผ่านแสงอาทิตย์ คลายออกไปทั้งข้างบนข้างล่าง จนกระทั่งอาการเช่นนั้นคลายออกไปหมดไม่มีอะไรเหลือ ดวงจิตก็กลับเป็นปกติ มีแสงสว่างพุ่งออกมาจากจิตไปจ่ออยู่ที่ขอนอาบน้ำในลำห้วย ว่าให้ไปเก็บก้อนหินออกให้หมด เพราะทางนั้นเป็นทางเดินของปิศาจ เมื่อได้ตื่นเช้าในวันรุ่งขึ้นจึงได้ไปเก็บก้อนหินที่นำมาอุดน้ำไว้ออกหมด เพื่อให้น้ำไหลไปได้ตามปกติ  พอตอนค่ำวันนั้นก็ชักจะมีเหตุการณ์อย่างเดิมปรากฏขึ้นอีก แต่ไม่สู้รุนแรง มาปะทะแค่ฝากระต๊อบที่จำวัดอยู่เพียงไหวๆ แล้วก็หายเงียบไป จึงได้ล้มตัวลงนอนภาวนา เพราะรู้สึกอ่อนเพลีย แล้วได้เคลิ้มหลับไป ฝันเห็นภาพๆ หนึ่ง มีสัตว์ชนิดหนึ่งตัวโตขนาดหมู เดินมาจากยอดน้ำตกเป็นฝูง หางสัตว์ที่เห็นนี้มีขนปุกปุยเหมือนหางกระรอก หัวเหมือนแพะ พากันเดินลงมาตามลำห้วยอย่างมากมายก่ายกอง ได้เดินผ่านที่จำวัดของเราไป ต่อมาสักครู่หนึ่งก็ได้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ ๓๐ ปี ใส่เสื้อสีคราม นุ่งผ้าถุงสีครามยาวเลยหัวเข่าเล็กน้อย ในมือถือวัตถุอย่างหนึ่งไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอะไร เขาได้พูดขึ้นว่าเขาเป็นคนประจำอยู่บนยอดน้ำตก เขาต้องออกเดินทางอย่างนี้ไปจนถึงทะเลเสมอๆ เขาบอกว่าเขาชื่อ “นางจัน” คืนหลังต่อมาก็ได้ทำการบำเพ็ญภาวนาอย่างเข็มแข็ง แต่ไม่ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์อันใดขึ้น

ต่อจากนั้นก็ได้ออกเดินทางไปยังบ้านโป่ง ซึ่งเป็นสำนักเก่าของพระอาจารย์มั่น ได้พบกับพระภิกษุเขียน จึงได้ปรึกษาหารือกันว่าเราทั้งสองคนจะต้องออกติดตามพระอาจารย์มั่นให้พบให้ได้ เมื่อได้ตกลงกันแล้วก็พากันร่ำลาญาติโยมออกเดินทางไปยังถ้ำเชียงดาว ได้ขึ้นไปพักอาศัยอยู่ในถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งพระอาจารย์มั่นเคยมาพักแล้วเดินทางต่อไปถึงถ้ำเชียงดาว เมื่อวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ บำเพ็ญความพากเพียรภาวนาทั้งกลางวันและกลางคืน

ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๓ ได้ตั้งใจนั่งสมาธิเพื่อเป็นการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงเวลากลางคืนประมาณ ๓ ทุ่มเศษ จิตสงบแน่วแน่ดี ปรากฏลมและแสงสว่างพุ่งออกจากตัวโดยรอบในบริเวณนั้น ในขณะนั้นได้กำหนดลมหายใจอันละเอียดเกือบไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ใจเงียบ จิตสงบ รู้สึกว่าเวลานั้นลมในตัวไม่เดิน สงบนิ่งไปเฉยๆ จิตไม่มีความคิดปรุงแต่งใดๆ ทั้งหมด ความคิดหายไปอย่างไรไม่ทราบ แต่รู้สึกโล่งโปร่งสว่างสบายใจ เกิดมีอิสรภาพในตัว ระงับทุกขเวทนาได้ทุกอย่าง

นั่งต่อไปอีกประมาณ ๑ ชั่วโมง ก็ปรากฏธรรมบางข้อขึ้นในจิต โดยมีใจความสั้นๆ ว่า “ให้เพ่งดู ภพ ชาติ ตาย เกิด อวิชชา ว่าเป็นมาอย่างไร” ได้ปรากฏนิมิตขึ้นเหมือนเรามองเห็นด้วยตาเปล่าว่า “ความเกิดเหมือนฟ้าแลบ ความตายก็เหมือนฟ้าแลบ” จึงได้เพ่งพิจารณาต่อไปถึงเหตุแห่งความเกิดและเหตุแห่งความตาย ได้เพ่งพิจารณาถึงคำที่ว่า “อวิชชา” ความไม่รู้คือไม่รู้อะไร รู้อย่างไรจึงจะเรียกว่ารู้อวิชชา รู้อย่างไรจึงจะเรียกว่ารู้วิชา ได้ทบทวนเพ่งพินิจพิจารณาอยู่อย่างนี้ เป็นเวลาเกือบสว่าง เมื่อเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ก็ได้ออกจากสมาธิ รู้สึกตัวว่า ใจเบา กายเบา ปลอดโปร่ง อิ่มอกอิ่มใจเป็นอย่างมาก

วันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๓ ได้ออกเดินทางจากถ้ำเชียงดาว ไปพักอยู่ที่ถ้ำปากเพียงและถ้ำจันทร์ ต่างคนต่างอยู่กับพระภิกษุเขียน ไปพักอยู่ที่ถ้ำนี้ก็สบายดี ไม่มีเหตุการณ์อันใดปรากฏขึ้น

ต่อจากนี้ได้ออกเดินทางมุ่งไปอำเภอฝาง ไปพักอยู่ที่ถ้ำตับเต่า บริเวณถ้ำตับเต่าในสมัยนั้นยังไม่มีหมู่บ้านคน ได้ไปพบหลวงพ่อแก่ๆ องค์หนึ่ง ชื่อ “หลวงตาพา” ได้เดินเข้าไปถึงตีนถ้ำ ปรากฏว่ามีสวนกล้วย สวนมะละกอ มีธารน้ำไหลใสสะอาด มีถ้ำใหญ่อยู่ ๒ ถ้ำ ถ้ำยาว ๑ ถ้ำ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปโบราณเก่าแก่ตั้งเรียงรายอยู่หลายสิบองค์ หลวงตาพาได้ทำการก่อสร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่งในถ้ำนี้ องค์ใหญ่โตมาก ครั้งแรกเดินเข้าไปหาท่านที่กุฏิแต่ไม่พบ จึงได้ลงเดินไปตามลำห้วยขึ้นเขาไปทางทิศตะวันออก ได้เห็นคนแก่คนหนึ่งนุ่งกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อแขนสั้นสีแดงคล้ำเหมือนสีย้อมอวนใหม่ๆ ในมือถือมีดกำลังถางป่า ท่าทีแข็งแรงเหมือนคนหนุ่ม จึงเดินไปหาแล้วถามขึ้นว่า “หลวงพ่อพาอยู่ที่ไหน” พอมองเห็นตัวกันถนัด แกก็รีบเดินมาหาเราพร้อมทั้งถือมีดอยู่ในมือ เมื่อนั่งลงมองดูท่าทีกลายเป็นพระ แล้วก็พูดขึ้นว่า “ตัวฉันนี่แหละ คือหลวงพ่อพา” จึงได้แสดงความเคารพ หลังจากนั้นท่านได้พามายังที่พัก เมื่อถึงกุฎีแล้วได้เข้าไปถ่ายเสื้อถ่ายกางเกง ห่มจีวรสีคล้ำ มีผ้ารัดอก ในมือถือลูกประคำ แล้วท่านได้เล่าเรื่องถ้ำต่างๆ ให้ฟัง พร้อมทั้งพูดว่า “ถ้าอยากจะอยู่จำพรรษากับผมก็อยู่ได้ ถ้าเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น” แต่อย่ามาถือผมไม่ได้นะ เพราะขณะนี้ผมกำลังสร้างพระพุทธรูป ต้องขายกล้วย ขายมะละกอ เพื่อรวบรวมเงินไว้สร้างพระพุทธรูป” แต่ท่านฉันข้าวมื้อเดียว

ตอนเย็นท่านได้พาไปชมสวนกล้วย สวนมะละกอ ที่ท่านทำขึ้นแล้วชี้มือให้ดูพร้อมกับพูดว่า “ถ้าท่านอยากหรือหิว เก็บไปฉันได้ ไม่หวง แต่พระองค์อื่นห้าม เอาไม่ได้” เราเองก็ไม่เคยคิดอยากจะฉัน แต่ก็รู้สึกขอบใจว่าท่านมีความเมตตาแก่เรา ทุกเวลาเช้ามืดได้ให้ลูกศิษย์นำกล้วยและมะละกอมาถวายทุกวัน ได้สังเกตเห็นเรื่องน่าแปลกประหลาดอยู่หลายอย่าง เช่น นกยูงที่อาศัยอยู่ในบริเวณป่านี้ไม่กลัวหลวงพ่อพา พวกนกเขาเวลาท่านฉันข้าว ท่านก็หว่านให้กินไป บางคราวจับตัวได้ พวกลิงพอถึงเวลาเย็นๆ พากันลงมากินมะละกอกันดื่นดาดไปหมด ถ้ามีชาวบ้านผ่านมาไหว้พระ สัตว์พวกนี้จะหนีไปหมด

ภายในถ้ำตับเต่านี้ มีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนถ้ำยาวเวลาจะเข้าไปต้องจุดตะเกียงเจ้าพายุ เดินเข้าไปสูงบ้างต่ำบ้าง ผ่านซอกหินเข้าไปประมาณ ๓๐ นาที จะได้พบพระเจดีย์เล็กๆ องค์หนึ่งอยู่ในถ้ำลึก ใครจะไปสร้างไว้ในสมัยใดไม่มีใครทราบ เมื่อได้เที่ยวดูถ้ำพอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ได้ออกเดินทางข้ามดงไปพักที่บ้านแม่น้ำกก บ้านนี้เป็นหมู่บ้านใหญ่ มีเนินเขาสูงอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ได้พักอยู่ที่หมู่บ้านนี้ ในเวลากลางคืนหนาวมาก ได้ยินแต่เสียงเสือร้องสวนไปสวนมาข้างๆ เขา ในหมู่บ้านนี้ไม่มีวัด แต่มีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่องค์หนึ่ง หน้าตักกว้างประมาณ ๑ ศอกคืบ รูปร่างสะสวย มีผู้ไปอาราธนามาจากกลางดง

โปรดติดตามตอนต่อไป
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 08 มิถุนายน 2564 16:07:52 »



ได้พักอยู่ในบ้านแม่น้ำกกเป็นเวลา ๒ คืน แล้วก็ได้ล่ำลาญาติโยมออกเดินทางต่อไป ได้เดินข้ามดงใหญ่ เดินทางตลอดเวลา ๒ คืน ไม่ได้พบหมู่บ้านเลย ก่อนจะออกเดินทาง พอญาติโยมรู้เข้าก็พากันห้ามปราม เพราะระหว่างทางไม่มีหมู่บ้านที่จะบิณฑบาตได้ จึงได้พูดว่า “ไม่เป็นไรโยม ระยะเวลาเพียง ๒ วันเท่านั้น ฉันพอทนได้ ขอให้มีน้ำกินก็แล้วกัน”  อยู่มาวันหนึ่งก่อนออกเดินทาง ขณะเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ขากลับได้พบโยมผู้ชายคนหนึ่งแจ้งว่าเขาเองก็จะออกเดินทางไปเชียงแสนในวันนี้ จึงได้เพื่อนเดินทางอีกคนหนึ่ง ได้มีโยมแก่ๆ คนหนึ่ง มาสั่งไว้ก่อนออกเดินทางว่า “การเดินทางคราวนี้จะไปพบสถานที่ที่เขาบวงสรวงแห่งหนึ่ง เมื่อไปถึงสถานที่นี้ ถ้ายังไม่พลบค่ำไม่ควรนอน ให้ไปพักนอนที่อื่น เพราะที่ตรงนั้นผีป่าดุมาก ไม่ว่าใครไปพักนอนเป็นต้องถูกรบกวนนอนไม่หลับตลอดคืน บางคราวเป็นนก บางคราวเป็นเสือ บางคราวเป็นกวาง มาคอยรบกวนไม่ให้นอนในเวลากลางคืน”

ในที่สุดก็ตัดสินใจเดินทางข้ามดงใหญ่ คณะที่เดินทางมีด้วยกัน ๓ คน คือ เรา พระภิกษุเขียน และโยมผู้ชาย เมื่อเดินเข้าดงไปก็ได้ไปพบสถานที่ดังกล่าวเข้าจริงๆ พระภิกษุเขียนได้ทราบเรื่องที่โยมแก่ได้สั่งไว้ จึงพูดขึ้นว่า “ท่านอาจารย์อย่าพักที่นี่เลย” จึงได้ตอบว่า “ต้องพักเป็นอะไรก็รู้กันในคืนนี้” ตกลงก็ต้องพัก ณ ศาลนี้ แล้วได้พูดกับโยมว่า “เครื่องบูชาเซ่นสรวงต่าง ๆ ให้โยมรื้อออกเอาไปเผาไฟให้หมด ผีอะไรจะมาดีกว่าพระ ฉันไม่กลัว” แต่ชำเลืองดูหน้าพระภิกษุเขียนเห็นหน้าซีดเซียวไปหมด

พอถึงเวลาค่ำ จึงได้ก่อไฟขึ้น นั่งประชุมทำวัตรสวดมนต์ แล้วบอกว่า “ขอให้เชื่อมั่นในพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นจริงๆ”  ในคืนนั้นเราเองก็ได้ตั้งอธิษฐานเข้ารุกขมูล ผูกกลดติดกับต้นไม้ และใช้ท่อนไม้หนุนศีรษะ นอนอย่างทรมานตัว ไม่กลัวต่อความทุกข์ยากลำบาก ทุกคนให้นอนอยู่ห่างๆ กัน พอร้องเรียกได้ยินถึงกัน ต่างคนต่างอยู่ อย่าเห็นแก่นอนให้มากนัก เมื่อสั่งเสร็จแล้วต่างคนต่างก็เข้ากลดของตัว เนื่องด้วยได้ตรากตรำเดินทางมาอย่างเหน็ดเหนื่อย เรากำลังนั่งสวดมนต์อยู่ โยมลูกศิษย์กำลังนอนหลับ ได้ยินเสียงพระภิกษุเขียนนอนกรนและละเมอ แล้วก็เงียบไป ตัวเองก็ชักรู้สึกเหนื่อยจึงได้ล้มตัวเอนหลังลงนอน ประมาณสักครู่หนึ่งได้ยินเสียงเหมือนคนมากระซิบบอกว่า “รีบลุกขึ้น จะมีเหตุ” จึงสะดุ้งตื่นลุกขึ้นมาก็ได้ยินเสียงดังซู่ๆ ซ่าๆ ห่างจากที่พระภิกษุเขียนนอนอยู่ประมาณ ๕ วา จึงได้รีบจุดเทียนขึ้น แล้วร้องเรียกปลุกให้ลุกขึ้นทุกคน ได้ก่อไฟขึ้นแล้วนั่งสวดมนต์อยู่กลางดงใหญ่อันเงียบสงัด นั่งสวดมนต์สักครู่หนึ่งก็ได้ยินเสียงนกร้องแปลกหู ตรงกับคำเล่าของโยมว่าถ้าได้ยินเสียงนกชนิดนี้ร้องห้ามนอน เพราะจะมีผีตะมอยมาดูดเลือดกิน ทุกคนจึงต้องนั่งอดนอนกันจนกระทั่งสว่าง ตอนเช้ามืดได้ต้มข้าวฉัน เมื่อฉันแล้วได้ออกเดินไปดูรอบๆ ที่พัก ได้เห็นรอยเสือขุดดินเป็นทางยาวพร้อมด้วยขี้ใหม่ของมัน ในคืนนั้นได้ปรากฏเหตุขึ้นเพียงเท่านี้

รอจนสว่างเห็นลายมือก็ออกเดินทางต่อไปวันยังค่ำ ไปถึงภูเขาเล็กๆ แห่งหนึ่งมีน้ำตกใสสะอาด เสียงน้ำตกดังสนั่นหวั่นไหว จึงได้พากันหยุดพักนอน ๑ คืน ในคืนนี้ไม่ปรากฏว่ามีเหตุอะไรเกิดขึ้น

ตื่นเช้าต้มข้าวต้ม ฉันเสร็จแล้วก็ออกเดินทางต่อไป ถึงเวลาประมาณบ่าย ๑ โมง ได้พากันนั่งพักผ่อนอยู่ภายใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง โยมคนที่ไปด้วยกันก็เข้ามากราบลาจะรีบออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อน จากกันตั้งแต่วันนั้นแล้วไม่ได้พบกันอีก สองคนกับพระภิกษุเขียนพากันเดินทางต่อไปจนเกือบมืดจึงถึงหมู่บ้านคน ได้ถามโยมในหมู่บ้านนั้นว่า “เห็นโยมคนหนึ่งผ่านมาในหมู่บ้านนี้ไหม” ปรากฏว่าไม่มีใครรู้เรื่อง

วันรุ่งขึ้น ได้ออกเดินทางไปจนถึงเมืองเชียงแสน เข้าพักอาศัยอยู่ในสวนแห่งหนึ่งประมาณ ๒-๓ วัน แล้วก็ออกเดินทางต่อไปยังจังหวัดเชียงราย เมื่อถึงจังหวัดเชียงรายแล้วได้ไปพักที่ป่าช้าเล็กๆ แห่งหนึ่งนอกเมือง ก็ได้พบกับหลวงพ่อองค์หนึ่ง เคยเป็นลูกศิษย์เรามาตั้งแต่ยังไม่ได้บวช ชื่อ “หลวงตาหมื่นหาญ”ๆ ได้พาไปแนะนำให้รู้จักผู้กำกับการตำรวจจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการเดินทางกลับไปจังหวัดลำปาง ผู้กำกับการก็ยินดีต้อนรับช่วยเหลือเต็มที่ ได้พาไปฝากกับรถยนต์โดยสาร จึงได้ขึ้นรถยนต์โดยสารเดินทางต่อไปจนถึงอำเภอพะเยา ได้ลงรถยนต์ที่อำเภอพะเยา แล้วออกเดินทางต่อไปเดินผ่านถ้ำผาไท ทางรกมาก จนทะลุเข้าเขตจังหวัดลำปาง ได้ไปพักอยู่ในวัดเล็กๆ แห่งหนึ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของสถานีลำปาง ๑ คืน รุ่งขึ้นได้ออกเดินทางต่อไปตามทางรถไฟ ไปถึงถ้ำแห่งหนึ่งที่เขาเรียกว่า “ถ้ำแก่งหลวง” ได้พักอยู่ที่ถ้ำนี้ ๓ คืน รู้สึกสบายเพราะเป็นสถานที่สงบสงัดดี ได้ออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้านก็ไม่มีใครสนใจใส่บาตร ต้องฉันข้าวเปล่าอยู่ ๒ วัน เกลือแม้แต่ก้อนเดียวก็ไม่มี

ถึงวันที่สามก่อนออกไปบิณฑบาตได้ตั้งอธิษฐานไว้ในใจว่า “วันนี้ถ้าไม่มีกับข้าวตกลงในบาตร เราจะไม่ฉัน” ในที่สุดก็ไม่มีอะไรจริงๆ มีแต่ก้อนข้าวเหนียว เมื่อกลับมาถึงที่พักแล้ว ก็มานั่งคิดพิจารณาดูถึงการที่จะเดินทางต่อไปข้างหน้า จึงได้พูดกับพระภิกษุเขียนว่า “วันนี้ผมจะเอาข้าว ทานปลา ผมจะไม่ฉันจังหัน จะมีคนเอามาถวายมากเท่าไรผมก็ไม่ฉัน ท่านเขียนจะว่าอย่างไร จะยอมทำอย่างผมไหม”  พระภิกษุเขียนตอบว่า “ผมทำอย่างท่านไม่ได้ เพราะฉันข้าวเปล่าๆ มา ๒ วันแล้ว ชักจะอ่อนเพลีย” จึงพูดว่า “ถ้าอย่างนั้นผมจะต้องออกเดินทางก่อน ท่านอยากฉัน ท่านก็ต้องอยู่ก่อน บางทีอาจมีคนเอามาถวาย” พูดแล้วก็จัดเตรียมบริขารออกเดินทาง นึกในใจว่า “วันนี้จะไม่ขอข้าวใครกินโดยการเข้าไปบิณฑบาตและโดยการพูด ถ้ามีใครมาไหว้แล้วนิมนต์ให้ฉัน จึงจะฉัน” ออกเดินทางไปได้ประมาณ ๑ ชั่วโมง ก็มีโยมหญิงคนหนึ่งวิ่งออกมาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีประมาณ ๓ หลังคาเรือน ยกมือไหว้ขอนิมนต์ไปฉันอาหารในบ้าน แล้วก็พูดว่า “เมื่อวานนี้สามีของดิฉันไปยิงเก้งได้มาตัวหนึ่ง นึกกลัวบาป จึงอยากทำบุญกับพระ ฉะนั้นขอนิมนต์ท่านไปให้ได้” เราเองก็รู้สึกหิวอยู่บ้าง เพราะฉันข้าวเปล่าๆ มา ๒ วันแล้ว ซ้ำวันนี้ก็ยังไม่ได้ฉันเลย จึงนึกว่า “ฉันอีเก้งเสียบ้างเถอะ” จึงรับนิมนต์ เดินจากทางรถไฟไปนั่งพักอยู่ในป่าเบญจมาศใกล้ๆ บ้าน โยมนิมนต์ขึ้นบ้านก็ไม่ไปพูดว่า “นั่งตรงไหนฉันตรงนั้น” โยมจึงได้ยกอาหารมาให้ ๒ สำรับพร้อมด้วยข้าว ๑ ก่อง เมื่อรับประเคนแล้วก็นั่งฉันเสียเต็มอิ่ม ฉันเสร็จยถาสัพพีให้แล้วก็ลาโยมเดินทางมาตามทางรถไฟอีก ๒ คืน จึงถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ ในจังหวัดนี้มีลูกศิษย์อยู่หลายคนแต่ไม่ยอมบอกให้ใครทราบ ได้เดินทางผ่านตลาดไปพักอยู่ที่ป่าช้าแห่งหนึ่งใกล้วัดท่าโพธิ์ แล้วได้ไปนอนคอยพระภิกษุเขียนอยู่ที่วัดท่าเสา ๒ คืน ก็ไม่เห็นมา จึงตัดสินใจว่าเราจากกัน ต่างคนต่างไป ไม่ต้องห่วงกัน

พอดีปีนั้นได้เดินทางมาถึงจังหวัดอุตรดิตถ์ พักอยู่ที่วัดเก่าๆ ข้างสถานีชุมทางบ้านดารา ต่อมาไม่กี่วันได้ไปนั่งพักเล่นอยู่ที่ศาลา เวลาประมาณบ่าย ๒ โมงเศษ ได้มีโยมคนหนึ่งกับพระองค์หนึ่งเดินเข้ามาพักร้อนในศาลานั้นด้วย จึงได้สนทนากัน ต่างได้ทราบเรื่องของกันและกัน คือพระกับโยมสองคนนี้มีหนังสือลายแทง ออกเดินทางเที่ยวหาขุดทรัพย์ตามสถานที่ปรากฏในลายแทง จะเดินทางไปขุดที่จังหวัดพิษณุโลก โยมผู้ชายคนนั้นชื่อ “พ.ท.สุดใจ” เป็นนายทหารนอกราชการ พอตอนเย็นๆ เขาก็ออกเดินทางจากไป จะไปพักที่ไหนไม่ทราบ ตอนเช้ามืดในคืนนั้นเวลาจวนสว่างได้ยินเสียงคนมาเรียกเราแต่ดึก นึกในใจว่า “เอ ใครวะมาเรียก” จึงลุกออกมาดู มองเห็น พ.ท.สุดใจ คนที่ได้พบกันเมื่อวานนี้เอง จึงถามว่า “โยมมีธุระอะไร” เขาตอบว่า “ผมนอนไม่หลับตลอดคืน ในเวลานอนมันให้คิดถึงหน้าท่านเสมอๆ ว่าท่านจะไปอย่างไรคนเดียว จะไปถึงเมืองโคราชโน้น นึกแล้วก็อดสงสารท่านไม่ได้  ฉะนั้น ผมขอถวายค่ารถท่านเพื่อเดินทางไปโคราช ๑๐ บาท” เราก็แสดงความยินดีรับไว้ โดยได้เรียกโยมวัดนั้นมารับแทนและเก็บไว้ให้ พอตกเวลากลางคืนได้เกิดมีความคิดขึ้นมาว่า “เขาจะมาหลอกเราเสียละกระมัง” นึกถึงธนบัตรที่เขามาถวายคงจะเป็นธนบัตรปลอมกระมัง พอคิดดังนี้ใจไม่ดี จึงเรียกโยมให้เอาธนบัตรที่คนถวายไว้มาดูซิว่า มันปลอมหรือเปล่า โยมก็รับรองว่าไม่ปลอม

รุ่งขึ้นคืนที่สอง พ.ท.สุดใจ ได้มาหาอีก แล้วพูดว่า “ผมใจไม่ดี กลัวว่าค่ารถที่ถวายท่านไว้จะไม่พอ” แล้วเขาได้ถามว่า “ท่านจะไปเมื่อไร” จึงตอบเขาว่า “ไปพรุ่งนี้” เขาตอบว่า “ผมจะจัดการซื้อตั๋วให้และไปส่งที่สถานี” แล้วเขาก็ลากลับ  พอวันรุ่งขึ้นเขาก็ได้ไปจัดการซื้อตั๋วเป็นเงิน ๑๑ บาท เดินทางได้ถึงโคราช และจัดการส่งขึ้นรถไฟโดยเรียบร้อย

ได้เดินทางโดยทางรถไฟมาสถานีนครสวรรค์ ถึงสถานีนครสวรรค์เป็นเวลากลางคืน หาที่พักก็ลำบาก มองเห็นศาลาหลังหนึ่งว่างๆ อยู่ก็ได้เข้าไปพักที่นั่น ผูกกลดวางบาตรแล้วก็นั่งพักผ่อน มีโยมคนหนึ่งอายุประมาณกลางคน ได้มาขอพักเป็นเพื่อน เราก็นึกว่า “คืนนี้ถ้าเขาเป็นขโมย บาตร และบริขารของเราคงหมด เพราะรู้สึกเหนื่อยมาก คงนอนหลับสนิท แต่เอาละ ช่างมัน”  ในที่สุดก็มิได้มีเหตุการณ์อะไร กลับได้ประโยชน์จากแกเสียอีก คือพอรุ่งเช้าแกได้จัดซื้ออาหารมาถวายเสียด้วยซ้ำ เวลาประมาณ ๑ โมงเช้าก็ได้รีบขึ้นรถไฟพร้อมกับโยมคนนั้นเพื่อเดินทางต่อไป โยมคนนี้แกอยู่ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แกได้เดินทางขึ้นไปเยี่ยมลูกสาวของแกที่จังหวัดพิจิตร เมื่อรถไฟถึงสถานีชุมทางบ้านภาชี เราได้จับรถขบวนใหม่ไปจังหวัดนครราชสีมา เดินทางถึงจังหวัดนครราชสีมาเวลาประมาณ ๖ โมงเย็น ได้ไปพักกับพระอาจารย์สิงห์ซึ่งได้มาตั้งสำนักอยู่ในจังหวัดนี้เป็นเวลา ๓ ปีแล้ว ได้สนทนากันก็มิได้ทราบข่าวพระอาจารย์มั่นเลยว่าท่านไปทางไหน ตกลงก็ต้องจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดนี้ จวนๆ เข้าพรรษาได้มีโยมทางอำเภอกระโทก (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอโชคชัย) มานิมนต์พระไปจำพรรษาในอำเภอนั้น พระอาจารย์สิงห์ได้ขอให้เราไปโปรด โยมคนนี้คือ ขุนอำนาจอำนวยกิจ นายอำเภอกระโทก จึงได้ตกลงรับไปโปรดโยมตามคำสั่งของพระอาจารย์สิงห์ ได้ไปทำการอบรมพระเณรญาติโยมอยู่ที่อำเภอนี้เป็นเวลาสองปี

ปีแรกเมื่อออกพรรษาแล้วได้ทราบข่าวว่าโยมผู้ชายป่วยมาก ก็ได้ดำริจะเดินทางไปบ้านเพื่อเยี่ยมโยม วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ขุนอำนาจฯ นายอำเภอได้นิมนต์ไปเทศน์ที่บ้าน ก่อนจะออกจากวัดได้มีเหตุการณ์ประหลาดเกิดขึ้น เวลาประมาณบ่าย ๕ โมงเย็น ได้มีกระรอกฝูงหนึ่งประมาณ ๑๐๐ ตัวเศษ ได้วิ่งขึ้นไปอยู่หน้ากุฎีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อพระภิกษุเย็น  ตั้งแต่จำพรรษามาตลอดพรรษาไม่เคยมีเหตุแปลกประหลาดเหมือนวันนั้น ฉะนั้นก่อนจะออกจากวัดจึงเรียกพระเณรทั้งหมดมาประชุมกันที่กุฎี แล้วสั่งว่า “คืนนี้ต้องมีเหตุ ขอให้ทุกคนพากันระวังตัว และให้ปฏิบัติดังนี้ คือ

๑. เมื่อทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้ว ให้ทุกคนกลับไปกุฎีของตัวแล้วนั่งสมาธิอย่างสงบ ห้ามคุยกัน ต่างคนต่างอยู่
๒. ใครมีธุระส่วนตัวที่จะต้องปฏิบัติ อาทิเช่น การเย็บจีวร ห้ามทำในคืนนี้”

สั่งเสร็จแล้วก็เดินทางไปบ้านนายอำเภอ

เวลาประมาณ ๑ ทุ่ม ได้นั่งเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ แสดงถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ และอุปการคุณ ให้นายอำเภอพร้อมทั้งข้าราชการและญาติโยมชาวตลาดฟัง เทศน์ไปได้ประมาณ ๓๐ นาที ก็มีโยมผู้ชายทางวัดวิ่งมาหา ๒ คน  ขณะนั้นเราก็มัวหลับตานั่งเทศน์อยู่ โยม ๒ คนไม่กล้าบอก รอจนเทศน์จบเขาก็รายงานนายอำเภอว่า “พระเย็นถูกฟันที่คอ แต่ไม่เข้า” เมื่อได้ทราบดังนั้น นายอำเภอจึงเรียกปลัดอำเภอพร้อมทั้งตำรวจพากันไปสืบสวนเรื่องราวที่วัดป่าช้าบ้องชี เราเดินตามไปเพื่อกลับวัด เจ้าหน้าที่ได้วิ่งติดตามคนร้ายไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ไปพบนายอินกับเพื่อนของเขาคนหนึ่งนอนยังไม่หลับ นายอำเภอจึงได้จับตัวคนทั้งสองมาขังไว้ที่สถานีตำรวจ ทางอำเภอได้ทำการสอบสวนอยู่หลายวัน ส่วนทางวัดเราได้สอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คงได้ความสรุปได้ว่า การที่เรามาอยู่จำพรรษาที่วัดนี้ได้รับการยกย่องในการปฏิบัติจากนายอำเภอ ข้าราชการ ชาวตลาด และคนในหมู่บ้านใกล้เคียงเป็นส่วนมาก  วัดต่างๆ จึงเกิดการอิจฉา ไม่ปรารถนาให้เราอยู่ จึงวางแผนขู่ขวัญโดยการทำร้ายร่างกายพระ ฝ่ายตำรวจก็ได้สอบถามปากคำนายอินว่าเหตุไรจึงไปฟันพระ ก็ไม่ได้ความเพราะนายอินไม่ยอมรับ ในที่สุด หัวหน้าสถานีตำรวจได้มาบอกว่า “มันจะรับหรือไม่รับก็ตาม ผมต้องขังไว้ก่อน” เพราะอยู่ในอำนาจของผม พรุ่งนี้ผมจะนำตัวส่งไปจังหวัด” เมื่อได้ทราบเช่นนี้ก็รู้สึกสงสารนายอิน จะว่าไปนายอินผู้นี้เป็นนักเลงโตเก่า แต่เราเคยใช้สอยเขา เช่น ให้ช่วยหาฟืนให้วัด จึงเท่ากับเป็นศิษย์ของเราคนหนึ่ง  ฉะนั้น จึงขอให้หัวหน้าสถานีตำรวจนำตัวนายอินทร์และเพื่อนของเขามาหาในวันนี้  เวลาประมาณบ่าย ๓ โมง หัวหน้าสถานีตำรวจก็ได้นำคนทั้งสองมาที่วัด จึงได้พูดสอนนายอินว่า “เรื่องนี้ถ้าเราทำจริงๆ ต่อไปขออย่าได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส ขอให้ละเว้น ถ้าไม่ได้ทำจริงก็นับว่านายอินเป็นคนดี ฉะนั้น วันนี้อาตมาขอบิณฑบาตนายอินจากหัวหน้าสถานีตำรวจนับแต่วันนี้เป็นต้นไป ขออย่าให้นายอินมาทำความเดือดร้อนให้วัด ฉะนั้น ขอให้หัวหน้าสถานีตำรวจปล่อยนายอินเสียแต่บัดนี้ ไม่ต้องก่อเวรกันต่อไป” ก็เป็นว่าเลิกคดีกันไป

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา นายอินกลายเป็นคนสนิทของวัด ใช้การใช้งานได้ทุกอย่าง ชาวอำเภอโชคชัยที่เคยอิจฉาริษยาต่างพากันหวาดเกรงมาก คือพูดกันว่าลูกศิษย์ของท่านพ่อ คือพระเย็นถูกฟันด้วยมีดขอเต็มเหนี่ยวแต่ไม่เข้า มีแผลยาวเป็นรอยลากมีดถึง ๑ คืบเศษ เพียงลูกศิษย์ของท่านยังถึงขนาดนี้ ถ้าเป็นตัวอาจารย์จะถึงขนาดไหน ความจริงในเรื่องนี้หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ไม่ใช่เกี่ยวกับว่าพระเย็นหนังเหนียวอยู่ยงคงกระพัน แต่เป็นเพราะวันที่จะถูกฟันนั้นพระเย็นได้ยกเก้าอี้และจักรเย็บผ้ามาไว้ที่พะไลกุฎีซึ่งสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร แล้วนั่งเย็บจีวรอยู่บนเก้าอี้ คนร้ายยืนอยู่บนพื้นดิน ใช้มีดขอด้ามยาวฟันไหล่ซ้าย ด้ามมีดไปปะทะเข้ากับเก้าอี้เลยมีแผลเป็นรอยลากมีดเท่านั้นเอง ต่อมาได้เรียกพระเณรทั้งวัดมาประชุมอบรมสั่งสอนในเรื่องนี้ว่า “ต่อไปนี้เมื่อมีเหตุอะไรอย่างหวาดเกรง ขอให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป ผมจะลาไปเยี่ยมโยมที่จังหวัดอุบลราชธานี”

ต่อจากนั้นก็ได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเดินทางไปถึงบ้าน พอดีโยมกำลังป่วยหนัก เป็นโรคชราเพราะอายุได้ ๖๙ ปีเศษแล้ว ได้พยายามรักษาพยาบาลโยมอย่างใกล้ชิด พอสมควรจวนเวลาจะเข้าพรรษาก็ได้กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าช้าบ้องชีตามเดิม นับได้เป็นพรรษาที่ ๒ เมื่อกลับมาแล้วได้ทราบว่า โยมถึงแก่อนิจกรรมเมื่อเดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำ

เมื่อออกพรรษาแล้ว รู้สึกคิดถึงพระอาจารย์มั่นมากเข้าทุกที จึงคิดแต่ในใจโดยมิได้บอกกับใครๆ ว่าในฤดูแล้งนี้เราจะต้องไปจากที่นี่ จึงได้ออกเดินทางไปที่วัดสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อลาพระอาจารย์สิงห์ ท่านก็อนุญาตให้ไปได้ รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เดินทางกลับไปลาพระเณรญาติโยมที่อำเภอโชคชัย มีเพื่อนที่รักกันมากเป็นคนดูแลก่อสร้างวัดอย่างเข้มแข็ง เขาได้พูดกับเราว่า “ไปแล้วถ้าไม่กลับมาจำพรรษาอีก จะแช่งให้ตายนะ” จึงได้ตอบว่า “เราได้พูดกันมามากแล้วในเรื่องไม่เที่ยง จะมาเอาอะไรกันอีกเล่า” เพื่อนคนนี้คือหมอวาด เป็นหมอประจำอำเภอโชคชัยนั่นเอง

ตั้งแต่บัดนั้น ก็ออกเดินทางเข้าป่าลึกในดงอีจาน ผ่านไปทางกิ่งอำเภอนางรอง จนกระทั่งถึงภูเขาพนมรุ้ง ใกล้เขตจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ขึ้นไปพักวิเวกอยู่บนยอดเขาสูง บนยอดเขาลูกนี้มีปราสาทหลายหลัง มีสระน้ำใหญ่ๆ อยู่บนยอดเขา เขาลูกนี้อยู่ห่างไกลหมู่บ้านมาก วันหนึ่งไม่ได้ฉันจังหันแต่นั่งนอนภาวนาได้ดี ต่อมาวันหลังได้ลงจากยอดเขามาพักอยู่ที่สระใหญ่เชิงเขา ๑ คืน ได้อาศัยบิณฑบาตมาฉัน ต่อจากนี้ได้เดินทางต่อไปอีกหลายคืน จนกระทั่งถึงอำเภอตะลุง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่อำเภอนี้ขุนอำนาจอำนวยกิจได้ถูกย้ายจากอำเภอโชคชัยมาเป็นนายอำเภอที่นั่นพอดี เมื่อได้พบกันเข้าก็พากันดีใจ ได้พักอยู่พอสมควรแล้วได้ลานายอำเภอ เดินทางไปประเทศเขมร นายอำเภอก็เป็นธุระจัดออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้ ต่อจากนั้นก็ได้เดินทางไปทางประเทศเขมรต่ำ ถึงบ้านฉล้อกอำปืน ผ่านดงใหญ่ ถึงอำเภอสวายเจก จากอำเภอสวายเจกเดินต่อไปถึงศรีโสภณ เมื่อถึงศรีโสภณได้มีประชาชนมาสนทนาธรรมด้วย ประชาชนเหล่านั้นได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาเดินตามเราเป็นฝูงๆ เมื่อได้ลาจากเขาบางคนทั้งหญิงทั้งชายพากันร้องไห้ ที่อำเภอสวายเจกมีโยมคนหนึ่งนับถือเรามาก ได้พาลูกสาวมาคุยด้วยทุกๆ วัน ลูกสาวเขาบอกกับเราว่าเขาไม่เคยมีสามีเลย ฟังดูสำเนียงเขาอยากให้เราอยู่ในเมืองนี้ เขาจะยินดีช่วยเหลือเราทุกๆ อย่าง ขอให้อยู่เถอะ นานวันเข้าก็ชักจะรู้สึกชอบพอกันมากขึ้นทุกที เห็นท่าจะไม่ได้การ เราต้องรีบหนีไป จึงได้ลาเขาออกเดินทางตรงลงมาทางทิศตะวันตกถึงอำเภอศรีโสภณ เดินทางต่อไปถึงจังหวัดพระตะบอง ไปพักอยู่ที่ป่าช้าวัดตะแอก อยู่ห่างจากในเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร ได้ไปพบโยมคนหนึ่งเป็นเพื่อนของขุนอำนาจอำนวยกิจ ได้ทำการต้อนรับอย่างแข็งแรง แนะนำให้รู้จักใครต่อใครมากมาย เมื่อได้พักอยู่พอสมควรแล้วก็ลาเขาเดินทางต่อไปยังจังหวัดเสียมราฐ ไปพักอยู่ในดงที่ป่าช้าแห่งหนึ่ง ได้มีคนมาทำบุญด้วย ต่อจากนั้นได้ออกเดินทางไปพักที่นครวัด ไปเที่ยวดูวัตถุโบราณของเก่าๆ มากมาย

ได้พักอยู่ที่นครวัต ๒ คืน วันแรกได้ฉันจังหัน วันที่สองไม่ได้ฉัน รู้สึกว่าเวลาออกบิณฑบาตไม่ค่อยมีคนใส่บาตร จึงตัดสินใจว่าเราไม่ต้องกินวันนี้ ในการเดินทางไปครั้งนี้ได้มีลูกศิษย์ติดตามไป ๒ คนเป็นเด็ก พระอีกสององค์ รวมเป็น ๕ คนด้วยกัน

ออกจากนครวัตได้เดินทางต่อไปยังเมืองพนมเปญ ได้เดินทางขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่ง เป็นภูเขาที่ใหญ่โตและสูงมาก มีที่สงัดวิเวกดี น้ำท่าก็บริบูรณ์เขาเรียกว่า “พนมกิเลน” บนยอดเขาสูงลูกนี้มีต้นลิ้นจี่ป่ามากมาย มีลูกแดงสุกอร่าม คำว่า “พนมกิเลน” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ภูเขาลิ้นจี่ป่า” มีหมู่บ้านเล็กๆ ประมาณ ๒๐ หมู่อยู่รอบๆ เขา ได้ไปพักอาศัยอยู่ที่วัดญวนแห่งหนึ่ง มีพระพุทธรูปแกะสลักติดไว้บนเงื้อมผาใหญ่ ได้พักอยู่ที่นี่ประมาณ ๓-๔ คืน ระหว่างพักอยู่ได้ถือโอกาสไปเที่ยวดูถ้ำต่างๆ ใกล้ๆ ที่พักมีบ้านประมาณ ๑๐ กว่าหลังคาเรือน พอได้อาศัยบิณฑบาต ที่วัดญวนนี้มีพระเขมร อายุประมาณ ๕๐ ปี ๑ รูป พระองค์นี้ตาเสีย ๑ ข้าง มีลูกศิษย์อยู่ ๑ คน  ว่างๆ ก็นั่งคุยธรรมะกับท่าน ส่วนถ้ำนั้นมีอยู่ ๒ ถ้ำ ถ้ำหนึ่งได้พักอาศัยอยู่กับศิษย์  ถ้ำที่ ๒ อยู่ห่างจากถ้ำพระประมาณ ๕ วา มีเสือใหญ่มาอาศัยอยู่ แต่ในขณะนั้นเป็นเวลาเดือนเมษายน มันได้ออกไปอยู่ป่าต่ำ ถึงฤดูเข้าพรรษาจึงกลับเข้ามาอยู่ถ้ำตามเคย ตอนบ่ายได้เดินทางออกจากถ้ำไปพักอยู่ที่วัดญวนตามเดิม ได้พักอยู่ประมาณ ๑ อาทิตย์ แล้วได้ออกเดินทางลงจากภูเขาทางด้านทิศตะวันตก ใช้เวลาเดินทางข้ามเขาประมาณ ๑๐ ชั่วโมงเศษจึงถึงที่ราบ แล้วได้เดินทางผ่านมาทางทิศใต้ของภูเขา พักอยู่ในป่าใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีโยมมาเล่าเรื่องแปลกประหลาดต่างๆ ให้ฟัง ก็นึกชอบใจ  เรื่องที่เขาเล่านั้นมีใจความดังนี้ “มีเขา ๓ ลูกอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๘๐ เส้น บนภูเขา ๓ ลูกนี้มีป่าเต็งรัง มีธารน้ำไหลผ่าน เรื่องที่น่าแปลกประหลาด ก็คือถ้าใครไปตัดไม้ในบริเวณภูเขา ๓ ลูกนี้ มักเกิดตายโหงหรือมิฉะนั้นก็เจ็บป่วยหรือมีอาการเป็นไปต่างๆ อยู่เสมอๆ ถึงเวลากลางคืนที่เป็นวันธรรมสวนะ ปรากฏมีแสงสว่างพุ่งออกมาจากยอดภูเขาสูงลูกที่ ๓ เคยมีพระสงฆ์ไปจำพรรษาอยู่บนยอดเขาลูกที่ ๓ บางทีก็ต้องหนีไปกลางพรรษา เนื่องด้วยปรากฏมีลม มีฝน บางทีก็ฟ้าผ่า”  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอยากนิมนต์เราให้ขึ้นไปพิสูจน์ดูว่ามีอะไรอยู่บนยอดเขานั้น

ในวันรุ่งขึ้นจึงได้ออกเดินทางไปบนภูเขาลูกที่ ๓ เมื่อขึ้นไปถึงแล้วได้ตรวจพิจารณาดูสถานที่ รู้สึกเป็นที่พอใจและน่าอยู่อาศัย แต่ศิษย์ที่ติดตามไปต่างคนต่างพากันหวาดกลัวร้องทุกข์ไม่อยากให้เราอยู่ในที่นั้น ในที่สุดต้องพากันลงกลับลงมา ขากลับได้เดินทางผ่านเข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แล้วผ่านออกไปพักอยู่ในป่าที่สงัด พอวันรุ่งขึ้นได้ออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้านนั้น ได้มีหญิงแก่คนหนึ่งถือขันข้าววิ่งตามมาข้างหลัง ร้องตะโกนดักหน้าดักหลัง เลยต้องหยุดรอให้แกได้นั่งใส่บาตร เมื่อรับบาตรเสร็จแล้วก็เดินกลับที่พัก แกได้เดินตามมาด้วย เมื่อถึงที่พักแล้วแกได้เล่าให้ฟังว่า “เมื่อคืนนี้จวนสว่างฉันได้ฝันไปว่ามีคนๆ หนึ่งมาบอกว่าให้รีบลุกขึ้นจัดข้าวปลาอาหารเตรียมใส่บาตร พระธุดงค์จะมาโปรด” แกจึงได้รีบลุกขึ้นจัดการเตรียมการอย่างแกฝัน พอดีได้พบเราในเวลาบิณฑบาตจริงๆ แกจึงมีความตื่นเต้นมาก แกได้เล่าให้ฟังอย่างนี้

ถึงเวลาเย็นชาวบ้านได้ป่าวประกาศบอกกล่าวกันให้มาฟังเทศน์ พอตกเวลาค่ำได้มีชาวบ้านพากันมาฟังเทศน์มาก ตัวเองได้เข้าไปวนเวียนอยู่ในประเทศเขมรเป็นเวลาเดือนเศษ จนสามารถแสดงธรรมเป็นภาษาเขมรได้ ฟังรู้เรื่องกันดี

อยู่ต่อมาไม่กี่วัน ได้ทราบข่าวจากโยมว่ามีพระเขมรที่เรียนพระไตรปิฎกสามารถแปลภาษาบาลีได้คล่อง อยากจะมาไล่ธรรมะกับเรา จึงได้ตอบกับโยมว่า “ไม่เป็นไร ให้เขามาเถอะ”

รุ่งขึ้นเวลาบ่ายพระเขมรรูปนั้นก็ได้มาจริง จึงได้ไต่ถามถกเถียงธรรมะกัน ได้ทำความเข้าใจในข้อปฏิบัติของกันและกันเป็นอย่างดี เรื่องเป็นไปด้วยความสงบระงับเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้น ได้พักอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหลายวัน จนเกิดความสนิทสนมกับบรรดาญาติโยมมากมาย ต่อจากนั้นได้ล่ำลาญาติโยมเพื่อเดินทางกลับไปยังอำเภอศรีโสภณ ญาติโยมหญิงชายก็ได้ทำการส่งเสียติดตามกันมาเป็นทอดๆ เมื่อถึงอำเภอศรีโสภณแล้วได้พักอยู่ ๒ คืน แล้วได้ออกเดินทางไปเยี่ยมถ้ำบนภูเขาแห่งหนึ่ง เป็นที่สงัดวิเวกดี มีพระจีนองค์หนึ่งได้มาอาศัยวิเวกอยู่ในถ้ำนั้น จึงได้สนทนาธรรมะกัน เกิดความชอบพอถูกอกถูกใจกัน แกได้ชวนให้อยู่จำพรรษาด้วยกันในถ้ำนั้น แต่ลูกศิษย์ไม่อยากจะอยู่

ต่อจากนั้นได้เดินทางต่อไปจนถึงเขตแดนอำเภออรัญญประเทศเข้าเขตประเทศไทย ได้พักอยู่ที่อำเภออรัญประเทศพอสมควร แล้วก็ออกเดินทางวิเวกไปตามชายเขาบรรทัด ตัดเข้าดงลึกจะข้ามเข้าเขตจังหวัดนครราชสีมาทางช่อง “บุพราหมณ์” ขณะนั้นเป็นเวลาจวนเข้าพรรษา มีฝนตกมากตลอดทาง ทากชุม การเดินทางไม่ค่อยจะสะดวก จึงพากันเดินวกออกมาทางชายเขาพะงอบ เดินทางไม่ค่อยจะสะดวก จึงพากันเดินวกออกมาทาชายเขาพะงอบ เดินทางเรื่อยไปทาง “ช่องวังหอก” จนถึงบ้านตะคร้อ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เส้นทาง “ช่องวังหอก” นี้ ถ้าเดินตรงเรื่อยไปข้ามดงอีกดงหนึ่งก็เข้าเขตอำเภอกิ่งสะแกล่าง และถึงจังหวัดนครราชสีมา แต่ตกลงใจไม่เดินทางต่อไปเพราะฝนกำลังตกชุกมาก และได้อยู่จำพรรษาในหมู่บ้านตะคร้อนี้ นับเป็นปี พ.ศ.๒๔๗๗

หมู่บ้านตะคร้อนี้ตั้งอยู่บนเชิงเขา มีห้วยใหญ่ไหลลงมาอำเภอประจันตคาม ได้พักจำพรรษาอยู่ที่เชิงเขา มีศิษย์องค์หนึ่งชื่อพระภิกษุสนธิ์ไม่ยอมอยู่ด้วย เขาได้เดินทางกลับผ่านจังหวัดปราจีนบุรีไปจำพรรษาที่เขาคอก จังหวัดนครนายก ตกลงจำพรรษาอยู่ด้วยกัน ๒ รูปและลูกศิษย์อีก ๒ คน ได้พักจำพรรษาอยู่ที่ศาลาเก่าๆ หลังหนึ่งริมห้วยใหญ่น้ำลึก ในพรรษานั้นได้ถูกน้ำป่าท่วมถึง ๗ ครั้ง บางครั้งท่วมมากถึงกับต้องขึ้นไปนอนอยู่บนขื่อศาลา รู้สึกว่าได้รับการทรมานอยูมากกลางพรรษานี้ หมู่บ้านนี้หนาแน่นด้วยยาเบื่อ ราษฎรนิยมการขโมยวัวขโมยควายมาฆ่า โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม ได้พยายามอบรมญาติโยมให้ละความชั่ว ประพฤติแต่ความดี จนกระทั่งบางคนถึงกับละทิ้งเรื่องยาเบื่อ และงดเว้นการฆ่าสัตว์ใหญ่ๆ อาทิเช่น วัว ควาย ฯลฯ เรื่องเหล่านี้ได้โด่งดังไปเข้าหูเจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี วัดมะกอก

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 10 มิถุนายน 2564 13:59:12 »



เมื่อออกพรรษาแล้ว เจ้าคณะจังหวัดปราจีนฯ ได้ขึ้นไปติดตามจนพบแล้วได้เรียกให้เราลงมาอยู่ด้วย เพราะท่านต้องการพระกรรมฐาน จึงได้พร้อมกับท่านเดินทางไปยังจังหวัดปราจีนบุรี ท่านได้แนะนำให้รู้จักกับผู้กำกับการตำรวจปราจีนบุรี ได้นำหาผู้ว่าราชการจังหวัด คือหลวงสนธิ์สงครามๆ ได้พูดกับเจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรีคำหนึ่งว่า “ให้ขอร้องให้เราอยู่ช่วยสั่งสอนปราบคนร้ายตามชายเขาในเขตจังหวัดนี้” เมื่อได้ยินดังนั้นตัวเองนึกในใจว่า “เราต้องรีบหนีออกจากจังหวัดนี้ มิฉะนั้นจะมีข้อผูกมัด” เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วก็ได้นมัสการลาเจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรีเดินทางไปอยู่ถ้ำ “หลวงตาเคน” เขาอีโต้ แล้วเดินทางต่อไปยังกิ่งอำเภอสระแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี ได้เดินทางเข้าดงลึก ไปสำรวจที่พักในเขาแห่งหนึ่งชื่อ “เขาสิงห์โต” เมื่อไปเห็นถ้ำแล้ว ไม่ชอบเพราะเป็นถ้ำทึบ จึงออกเดินทางหันหลังกลับลงมาจากเขา วันนั้นได้เดินทางลัดตัดดงจะข้ามไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่งได้เดินหลงทางเพราะเป็นเวลากลางคืน ได้เดินอยู่จนกระทั่งเวลาประมาณตี ๔ บุกดงบุกป่าเพื่อมุ่งตรงไปหาหมู่บ้าน แต่กลับวกคืนกลับมาทางเดิม จนเกือบถึงกิ่งอำเภอสระแก้ว

วันรุ่งขึ้นเมื่อฉันจังหันเสร็จแล้ว ได้ออกเดินตัดดงมุ่งไปยังเขาฉกรรจ์ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากกิ่งอำเภอสระแก้วประมาณ ๑๕ กิโลเมตร พอไปถึงหมู่บ้านนี้ ก็ได้เข้าไปอาศัยอยู่ในถ้ำเขาฉกรรจ์ ภายในถ้ำนี้เป็นสถานที่เงียบสงัด วิเวก ไม่มีคนรบกวน เพราะเขาลูกนี้อุดมไปด้วยสัตว์ดุร้ายนานาชนิด อาทิเช่น เสือ หมี ช้าง ฯลฯ ซึ่งอาศัยอยู่รอบๆ เชิงเขา เวลากลางคืนดึกสงัด ขณะนั่งสมาธิได้ยินเสียงช้างร้องเดินเอางวงหักกิ่งไม้อยู่รอบๆ เชิงเขา มีหมู่บ้านตั้งอยู่ห่างจากเขานี้ประมาณ ๑ กิโลเมตร ได้พักอยู่เป็นเวลาหลายวัน ต่อจากนั้นได้ออกเดินทางตัดข้ามดงใหญ่ซึ่งไม่มีบ้านคนเลยเป็นระยะทางประมาณ ๗๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง ๒ คืน ระหว่างทางต้องพักนอนกลางดงทั้ง ๒ คืน เพราะไม่มีหมู่บ้านเลย

เดินทางเรื่อยมาจนกระทั่งเข้าเขตจังหวัดจันทบุรี เดินทางผ่านบ้านตาเรือง บ้านตามูล แล้วผ่านเข้าเขตอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เดินวกไปตามชายดงหลังเขาสระบาป จนทะลุถึงอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เมื่อมาถึงอำเภอขลุงได้ทราบข่าวว่าขุนอำนาจอำนวยกิจได้ลาออกจากราชการ และมาพักอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีแล้ว ก็รู้สึกดีใจมาก จึงได้ออกเดินทางผ่านเข้าไปในเมืองจันทบุรี แล้วได้ออกไปอยู่กลางทุ่ง ตรอกบ้านประดู่ ด้านทิศใต้ของตลาดจันทบุรี แล้วได้เข้าไปเยี่ยมขุนอำนาจฯ ที่บ้าน  ขุนอำนาจฯ ได้จัดหาที่พักอันสงัดให้แห่งหนึ่ง เป็นป่าช้าผีดิบ อยู่ห่างจากตลาดประมาณ ๒๐ เส้น สถานที่นี้เป็นป่าไผ่ ป่าไม้แต้ว หญ้าขึ้นรกหนาแน่น มีที่ว่างพอจะพักอยู่ ๑ แห่ง คือที่สำหรับเผาผี ที่นี้เขาเรียกว่า “ป่าช้าคลองกุ้ง” จึงได้ออกไปจำวัดพักอาศัยอยู่ในป่าช้านี้ ตอนนี้มีพระแก่ติดตามมาจากจังหวัดปราจีนบุรีองค์หนึ่งและเด็กลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง นอกจากนั้นขอลากลับบ้านหมด

พอถึงเวลาจวนเข้าพรรษา ญาติโยมชาวจันทบุรีได้นิมนต์ให้อยู่จำพรรษาในป่าช้านั้น จึงได้นำเรื่องไปเรียนเจ้าคณะผู้ปกครองท่านก็ไม่รับรอง จึงได้สั่งให้ขุนอำนาจฯ ไปกราบเรียนเจ้าคณะมณฑลที่กรุงเทพฯ คือเจ้าคุณราชกวี วัดเทพศิรินทราวาส ท่านได้มีหนังสือถึงเจ้าคณะผู้ปกครองว่าให้อนุญาตให้เราอยู่จำพรรษาในที่นั้นได้

ในพรรษาที่เดินทางถึงจังหวัดจันทบุรีและได้เข้าไปอยู่ในป่าช้าคลองกุ้งนี้ ตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปี พ.ศ.๒๔๗๘ ในพรรษาแรกชาวจันทบุรีต่างคนต่างพากันตื่นเต้นสนใจธรรมปฏิบัติ ในปีแรกนี้มีพระ ๑ องค์ เณร ๑ องค์ ได้มาจำพรรษาอยู่ด้วย เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ ได้มีคนสนใจในเรื่องธรรมปฏิบัติกันมากขึ้น ขณะเดียวกันฝ่ายตรงกันข้ามคือพวกที่อิจฉาริษยา ที่เป็นพระก็มี ที่เป็นโยมก็มี ได้เริ่มโจมตีเป็นการใหญ่ บางวันก็ปรากฏมีบัตรสนเท่ห์เขียนปิดไว้ตามป้ายกลางตลาดก่อเรื่องเสียหายหนักขึ้นๆ ทุกที

วันหนึ่งมีผู้หญิงแก่ๆ คนหนึ่ง ได้แสดงตนเป็นลูกศิษย์ของเราออกไปเที่ยวเรี่ยไรบอกบุญตามตลาด ว่าได่ติดตามเรามาด้วย ขอสตางค์เขาบ้าง ขอข้าวสุกบ้าง ขอข้าวสารบ้าง ได้ตระเวนเดินเที่ยวขอจากชาวตลาดทั่วเมือง จนกระทั่งไปถึงบ้านหม่อมอนุวัตรวรพงศ์ฯ  หม่อมอนุวัตรวรพงศ์ จึงได้พูดเรียกตัวเข้าไปในบ้าน แล้วเปรียบเปรยมาถึงตัวเรา ทั้งๆ ที่เรายังไม่รู้เรื่องอะไรเลย หม่อมได้พูดตามข้างถนนบ้าง ตามบ้านร้านตลาดบ้าง ว่าเราเป็นพระเหลวไหล จรจัด ปล่อยให้ศิษย์เที่ยวมาบอกบุญชาวบ้าน เรื่องนี้ได้โด่งดังแพร่สะพัดไปทั่วทั้งตลาดจันทบุรี ตัวเองก็ไม่ได้ทราบมูลความจริงอะไรเลย เผอิญคุณนายกิมลั้งภริยาขุนอำนาจฯ และนางเฟือง ซึ่งเป็นผู้รู้จักเราอย่างดีว่าเป็นอย่างไร ได้ทราบเรื่องกล่าวหานี้ จึงได้ตรงไปถึงบ้านหม่อมอนุวัตรวรพงศ์ ได้ไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีอยู่ที่บ้านนั้นด้วย จึงได้เอ่ยต่อว่าหม่อมนุวัตรวรพงศฯ ว่า “ท่านได้เที่ยวพูดเหยียดหยามหาเรื่องใส่พระอาจารย์ของฉันโดยไม่มีมูลความจริง ต่อไปนี้ขออย่าได้พูดอีก” จึงได้เกิดการโต้เถียงกันขึ้นยกใหญ่ต่อหน้าผู้ว่าราชการจังหวัด

ในที่สุดเมื่อได้สืบสวนแล้วได้ความจริงว่า ยายแก่คนนั้นเป็นคนที่มาอาศัยอยู่กับพระที่วัดใหม่ แกไม่ใช่ศิษย์ของเรา และตัวเราเองจะไปไหนก็ไม่เคยปรากฏว่ามีศิษย์หญิงติดตาม เรื่องจึงได้สงบเงียบไป

ต่อมาถึงพรรษาที่ ๒ ได้เกิดมาเรื่องขึ้นอีก ได้มีฆราวาสบางคนนำเรื่องราวของเรามากราบเรียนถวายสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศ โดยกล่าวหาว่าเราเป็นพระหลอกลวง  สมเด็จพระสังฆราชจึงได้มีหนังสือสั่งให้พระครูคุรุนาถวัดจันทนาราม เจ้าคณะไปสืบถามเรา จึงได้คัดลอกหลักฐานใบสุทธิส่งไปถวายโดยด่วน ท่านได้รับสั่งว่ารอให้ออกพรรษาเสียก่อนจะไปดูด้วยตนเอง   เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ได้ออกเดินทางไปจังหวัดจันทบุรี พอเราได้ทราบข่าวว่าเรือเมล์ที่ท่านโดยสารมาถึงท่าแฉลบ จึงได้ชักชวนญาติฃโยมไปทำการต้อนรับ ท่านได้ไปพักอยู่ที่วัดจันทนาราม ๑ คืน

รุ่งเช้าเมื่อฉันจังหันเสร็จแล้ว ท่านได้มาเยี่ยมเราที่วัดป่าคลองกุ้ง จึงได้นิมนต์ท่านให้แสดงธรรมะแก่บรรดาญาติโยม ท่านรับสั่งตอบว่า “เราไม่ได้ปฏิบัติกรรมฐาน จะให้มาแสดงมะกรรมฐานได้อย่างไร”  ประการต่อไปท่านได้รับสั่งว่า “เราได้ทราบว่า มีคนนิยมเลื่อมใสเธอมาก เรานึกว่าพระอย่างเธอนี้หายาก” เมื่อได้รับสั่งเสร็จแล้วก็กลับไปวัดจันทนาราม แล้วเดินทางกลับพระนคร

ต่อมาถึงพรรษาที่ ๓ ประชาชนชาวจันทบุรียิ่งเกิดความนิยมเลื่อมใสขึ้นมาก มีคนในตลาดและตามบ้านมาฟังเทศน์ที่วัดมากขึ้นทุกที จนกระทั่นายซองกุ่ยเจ้าของรถยนต์โดยสารเกิดความศรัทธาออกประกาศว่า ถ้าใครนั่งรถยนต์ของเขามาฟังเทศน์พระอาจารย์องค์นี้ (หมายถึงตัวเรา) เขายินดีลดค่าโดยสารให้เป็นพิเศษ สำหรับตัวเราเองตลอดจนกระทั่งพระเณรในวัดจะเดินทางไปไหนมาไหนไม่ต้องเสียค่ารถ นับวันก็มีคนรู้จักมากขึ้นๆ ทุกวัน ตลอดจนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทุกอำเภอ

เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ได้ออกเดินทางเที่ยวธุดงค์ไปเทศน์สั่งสอนอบรมประชาชนตามตำบลต่างๆ ทุกอำเภอในจังหวัดจันทบุรี เมื่อเดินทางกลับมาถึงจังหวัดแล้วได้เข้าไปแสดงธรรมะในเรือนจำเกือบทุกวันอาทิตย์ ในเวลานั้นพระนิกรบดีเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ขุนภูมิประศาสน์เป็นนายอำเภอท่าใหม่  ทั้งสองท่านนี้รู้สึกว่าเป็นผู้สนใจให้ความสะดวกในการไปมาอยู่เสมอ บางคราวก็ได้นิมนต์ไปเทศน์อบรมนักโทษและผู้ต้องหาที่วัดบ้าง ที่อำเภอบ้าง บางครั้งก็นำไปเทศน์อบรมราษฎรตามตำบลต่างๆ ในเขตอำเภอท่าใหม่ โดยเฉพาะตำบลนายายอามซึ่งเป็นตำบลที่มีโจรผู้ร้ายชุกชุมมาก เพราะพื้นที่เป็นป่าทึบ ได้พยายามติต่อสั่งสอนอบรมประชาชนอยู่อย่างนี้เสมอมา

เหตุการณ์ต่างๆ  และเรื่องของบุคคลที่อิจฉาตาร้อน คอยก่อกวนปั้นข่าวใส่ร้ายต่างๆ นานา ก็ยังคงมีอยู่อย่างหนาแน่นในจังหวัด แต่ไม่เคยรู้สึกหวาดหวั่นเกรงกลัวสิ่งใดๆ ทั้งหมด บางวันคุณนายกิมลั้งซึ่งเป็นโยมอุปฐากนับถือประดุจมารดาได้มาเตือนว่า “เขาจะต้องเล่นงานท่านหลายวิธี ทางผู้หญิงบ้าง ทางนักเลงโตบ้าง ให้คอยจับผิดเพื่อหาโอกาสใส่ร้ายบ้าง ท่านจะสู้เขาไหวไหม ถ้าสู้ไม่ไหว ขอนิมนต์ไปอยู่เสียที่อื่นเถอะ” จึงได้ตอบไปว่า “ขอให้ยกกันมาอีก ๒ จันทบูรณ์ ฉันก็ไม่หนี แต่ถ้าเรื่องราวต่างๆ สงบเมื่อไร ฉันอยากหนีเหมือนกัน”

หลังจากนั้นก็ได้พยายามสร้างความดีติดต่อกันเรื่อยมา ได้มีบางหมู่บ้านต้องการพระปฏิบัติไปอยู่ประจำ ก็ไม่มีพระจะให้เขา เฉพาะอย่างยิ่งขุนภูมิประศาสน์ นายอำเภอท่าใหม่ต้องการนิมนต์ให้ไปอยู่บ้านนายายอาม เพื่อเป็นการช่วยทางบ้านเมืองปราบปรามโจรผู้ร้าย จึงได้รับปากว่าจะหาพระให้ แล้วได้มีจดหมายไปขอพระจากวัดพระอาจารย์สิงห์ ท่านก็ได้จัดส่งพระมาให้รวม ๕ รูป ได้ไปตั้งเป็นสำนักขึ้นที่ตำบลนายายอาม บ้านนี้เป็นบ้านที่อัตคัดขาดแคลนมาก จะหาแม้เพียงเสียมขุดหลุมปักเสากุฎีก็หาไม่ได้ เมื่อได้ส่งพระไปจัดตั้งสำนักเรียบร้อยแล้ว ก็ได้พาญาติโยมไปเยี่ยม อาทิ คุณนายหงส์ ภริยาหลวงอนุทัยฯ คุณนายกิมลั้ง ภริยาขุนอำนาจฯ เป็นหัวหน้าคณะญาติโยม  พอไปถึงสำนักที่พักตำบลนายายอาม ได้เห็นภาวะความเป็นอยู่ของชาวบ้านและพระเณรที่ได้ส่งไป อยู่ในฐานะอัตคัดขาดแคลน คุณนายกิมลั้งทำท่าทางโฉงเฉงแล้วพูดเอ็ดขึ้นว่า “พาเอาพระมาอดๆ อยากๆ ตกระกำลำบาก ขอพวกท่านอย่าอยู่กันเลย กลับไปอยู่จังหวัดจันทบุรีเสียเถอะ” พระอาจารย์กงมาซึ่งเป็นหัวหน้าอยู่ที่สำนักนั้นพอได้ยินเช่นนี้ก็ใจเสียคิดกลับจันทบุรีจริงๆ ในที่สุดสำนักนี้ก็เลยร้างไม่มีพระอยู่จำพรรษาต่อไป

ต่อมาได้ออกไปจำพรรษาอยู่บ้านหนองบัว อำเภอเมืองจันทบุรี ได้ออกไปเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ หลายจังหวัด ครั้งหนึ่งได้เดินทางไปจังหวัดตราด ได้ไปพักอยู่ข้างป่าช้าวัดลำดวน มีญาติโยมพากันมาฟังเทศน์ประมาณ ๒๐๐ คน มีญาติโยมจากจันทบุรี ติดตามไปด้วยอีกประมาณ ๑๐ กว่าคน ในคืนวันนั้นเวลาหัวค่ำ กำลังจะแสดงธรรมเทศนา ได้มีเหตุเกิดขึ้นโดยมีคนร้ายขว้างก้อนอิฐเข้ามาในกลุ่มคน ๓ ก้อนโตๆ ตนเองก็ไม่รู้ความหมายว่าเหตุไรจึงมีคนแกล้งเช่นนั้น พวกญาติโยมก็พากันแตกฮือขึ้น ปีนั้นกำลังเกิดสงครามอินโดจีน เราเองเคยได้ยินเสียงปืนใหญ่ยิงอยู่ในทะเลเสมอๆ พอเกิดเหตุขึ้นก็นึกถึงลูกปืน บางคนลุกขึ้นจะวิ่งตามหาตัวคนร้าย เมื่อเห็นเช่นนั้นจึงได้กล่าวเตือนญาติโยมว่า “โยมอย่ายุ่ง อย่าตาม ถ้าเขาเป็นคนดีควรตาม ถ้าเป็นคนร้ายอย่าตาม ตามฉันดีกว่า ฉันไม่กลัวอะไรเลย อย่าว่าแต่ก้อนอิฐ ต่อให้เอาปืนมายิงอกฉัน ฉันก็ไม่กลัว ยิงปากก็ออกก้น ไม่ต้องกลัวคน” พอได้ฟังเช่นนี้บรรดาญาติโยมก็นิ่งเงียบหมด จึงได้แสดงธรรมะให้ฟัง มีใจความโดยย่อว่า “การไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก”

เมื่อได้พักผ่อนอยู่พอสมควรแล้ว ก็ได้ออกเดินทางไปอำเภอแหลมงอบเพื่อไปเยี่ยมญาติของโยม คือภริยานายอำเภอแหลมงอบ ได้ไปพักอยู่ ๒ วัน แล้วพาญาติโยมลงเรือข้ามทะเลไปพักอยู่ในป่าลึกเงียบสงัดที่เกาะช้าง ได้เทศน์อบรมญาติโยมพอสมควร แล้วก็เดินทางกลับอำเภอแหลมงอบ ได้พักอยู่ที่ตำบลหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอ มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง มีญาติโยมตามมาพักด้วยเกือบ ๑๐ คน ต่างคนต่างจัดเตรียมที่พักของตน เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วเวลาบ่ายประมาณ ๓ โมง รู้สึกเหนื่อยจึงเข้ากลด พักอยู่สักครู่หนึ่งก็ไม่หายเหนื่อย เพราะหนวกหูพวกโยม ก่อไฟบ้าง คุยกันบ้าง หักฟืนเสียงดังบ้าง จึงลุกขึ้นจากการนั่งสมาธิเปิดกลดออกไปร้องถามว่า “เรื่องอะไรกัน” พูดได้ไม่กี่คำก็เห็นยุงทะเลบินเป็นกลุ่มมืดมาทางร่มไทรใหญ่ นึกในจิตใจของตนว่า “เรามีเมตตา ไม่เคยคิดฆ่าสัตว์เลยตั้งแต่บวชมา” คิดเช่นนั้นแล้วก็เปิดมุ้งตลบขึ้น ร้องสั่งญาติโยมและพระเณรทุกคนว่า “ให้ทุกคนดับไฟเดี๋ยวนี้ จุดธูปแล้วตลบมุ้งขึ้น นั่งสมาธิรวมกันทุกคน ฉันจะภาวนาแผ่เมตตาต่อสู้ยุง โดยไม่ต้องแสดงมารยาท” บรรดาสานุศิษย์เมื่อได้ยินดังนั้นก็พากันทำตามทุกคน จึงได้แสดงธรรมะเมตตาอยู่ประมาณ ๕ นาที ยุงก้อนนั้นก็จางหายไปเกือบหมด ไม่ปรากฏว่ากัดหรือตอมผู้ใดแม้แต่ตัวเดียว

คืนนั้นได้พักอยู่ที่นั่น ตอนเย็นได้มีญาติโยม นายอำเภอ พร้อมทั้งข้าราชการ ชาวบ้านร้านตลาดได้พากันมาฟังเทศน์มาก จึงได้แสดงธรรมะให้เขาฟัง เมื่อได้พักอยู่พอสมควรแล้วก็ออกเดินทางผ่านตำบลคลองใหญ่ ข้ามเขาอีโต้ เผอิญมาพบศิษย์คนหนึ่งที่แหลมยาง เขาเอาเรือมาขนไม้หัวหมู (คันไถ) เขาได้นิมนต์ขึ้นเรือของเขาชื่อ “กุมารทอง” บ้านเขาอยู่ตลาดแหลมสิงห์ ใกล้จังหวัดจันทบุรี ได้เดินทางกลับมาถึงวัดป่าคลองกุ้งตามเคยแล้วได้อยู่จำพรรษาที่นี่

ในพรรษานี้เกิดอาพาธ มีอาการปวดท้องเป็นกำลัง ฉันยาอะไรก็ไม่หายเลย นั่งสมาธิจนเกือบสว่าง นั่งไปถึงเวลาประมาณตี ๔ ได้เคลิ้มฝันว่า “โรคที่เราเป็นนี้เป็นโรคกรรม ไม่ต้องกินยา” คือมีความรู้สึกเวลานั่งสมาธิแล้วก็เงียบสนิทคล้ายหลับ แล้วเห็นนิมิตปรากฏขึ้นในใจ “มองเห็นกรงนกเขากรงหนึ่ง นกเขาที่อยู่ในกรงตัวผอมโซ ได้ความว่าครั้งหนึ่งเคยเลี้ยงนกเขาไว้แล้วลืมให้ข้าวให้น้ำแก่นกเป็นเวลาหลายวัน กรรมอันนั้นจึงติดตามมาสนอง ให้ตัวเองเกิดเป็นโรคกระเพาะขึ้นในครั้งนี้  ฉะนั้น มีทางเดียวที่โรคนี้จะหายขาด คือการทำความดีในทางจิต” ด้วยเหตุนี้ จึงได้คิดออกเดินทางไปวิเวก

เมื่อออกพรรษาแล้วจึงได้ออกเดินทางไปทางอำเภอท่าใหม่ ได้เทศน์อบรมญาติโยมเรื่อยๆ ไป ได้เดินทางไปจนถึงปากน้ำประแสร์ อำเภอแกลง ได้ไปพักอยู่ข้างตลาดแห่งหนึ่ง มีชาวตลาดเจ๊กจีนมาทำบุญใส่บาตรกันมากมาย มีหญิงจีนคนหนึ่งอายุประมาณ ๔๐ ปี มาขอโกนผม แล้วพูดว่า “จะขอติดตามหลวงพ่อ” เขามีบุตรเพิ่งคลอดได้ ๒ เดือน เตรียมตัวบวชนุ่งผ้าขาวมาเสร็จ แต่ได้เกิดมีเรื่องขึ้นคือลูกชายได้ติดตามมาขอร้องให้กลับบ้าน แกไม่ยอมกลับ จึงได้เกิดวุ่นวายกันขึ้น เวลานั้นได้ถูกญาติโยมรบกวนมาก กลางวันไม่มีเวลาพัก กลางคืนเทศน์

อยู่มาวันหนึ่งได้เดินข้ามไปทิศตะวันตกของตลาด คือคิดจะหนีผู้หญิงจีนคนนั้น พอดีแกลากลับบ้านไปเก็บของ ลูกชายแกเดินทางสวนมา วันนั้นพอฉันจังหันเสร็จก็หาทางปลีกตัวไปอยู่แต่ลำพังในป่าช้าอันลึก รกด้วยหนาม ได้เข้าพักอยู่ในร่มไม้เตี้ยๆ แห่งหนึ่ง ปูเสื่อกะจูดนั่งนอนพัก ยังไม่ทันได้หลับตา ขณะนั้นได้อธิษฐานใจว่า “ถ้าไม่ถึงบ่าย ๒ โมงจะไม่ออกไป” สักครู่เดียวได้ยินเสียงซ่าๆ บนยอดไม้เตี้ยๆ มองขึ้นไปเห็นรังมดแดงแตก ที่เป็นดังนี้เพราะมีเถาวัลย์พันอยู่ที่รังมดแดง เรานั่งทับโคนเถาวัลย์เข้า มันก็แตกกระจายร่วงหล่นลงมาบนที่นอน รุมกัดกันเป็นการใหญ่ เรารีบลุกขึ้นนั่ง มดแดงเกาะแข้งเกาะขาเต็มไปหมด ได้ตั้งใจแผ่เมตตาจิตอุทิศกุศลให้สัตว์ทั้งปวง ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าตั้งแต่บวชมาก็ไม่เคยนึกเลย ว่าจะฆ่าสัตว์หรือเบียดเบียนสัตว์ นี้ข้อหนึ่ง  ข้อสองถ้าชาติก่อนภพก่อนข้าพเจ้าเคยเบียดเบียน กินท่านทั้งหลายเหล่านี้ ก็ขอให้กัดกินเสียให้พอ แต่ถ้าข้าพเจ้าไม่เคยเบียดเบียนท่านมาแต่กาลก่อน ขอจงเลิกแล้วต่อกัน อย่ากัดข้าพเจ้าเลย”  อธิษฐานเสร็จก็นั่งสมาธิ จิตสงบ เงียบสงัด เสียงซู่ๆ ซ่าๆ ของมดแดงเงียบหายไป มดแดงแม้แต่ตัวเดียวก็ไม่เกาะผิวหนัง รู้สึกเป็นสิ่งอัศจรรย์ยิ่งในธรรมะ พอลืมตาขึ้นดูเห็นมดแดงเกาะอยู่ตามริมขอบเสื่ออย่างมากมาย เกาะกันเป็นแถว

พอได้เวลาจวนเพล ได้ยินเสียงมีโยม ๒ คนเดินมาหา เมื่อเข้ามาใกล้ๆ ได้ยินเสียงร้องเอะอะโวยวายเป็นเสียงเจ๊ก ได้ยินเสียงตีพุ่มไม้แล้วร้องดังๆ ว่า “ไอ๊ย่าๆ” เราได้ยินก็นึกขันอยู่ในใจ จึงร้องถามว่า “เรื่องอะไรกัน” เขาตอบว่า “มดแดงกัด”  ผลที่สุดโยมเจ๊ก ๒ คนนั้นก็ไม่สามารถเข้าไปหาเราได้  ได้เวลาบ่าย ๒ โมงก็ออกจากที่นั่งพัก โยมจีนที่จะขอติดตามเราไป จึงได้นั่งสนทนากับเขา ลูกชายพากันร้องไห้ไหว้วอนขอให้หลวงพ่อช่วย ขออย่าให้แม่ติดตามไป เพราะน้องยังเล็กอยู่ พ่อหรือก็แก่แล้ว

ถึงเวลาค่ำ หญิงจีนคนนั้นก็มาถึง ในมือถือร่ม สะพายย่าม นุ่งขาวห่มขาว แกมาบอกว่า “จะติดตามหลวงพ่อ” ก็ได้พูดขู่เข็ญแกต่างๆ แกก็พูดอย่างห้าวหาญว่า “ไม่กลัวอะไรทั้งนั้น ขอให้ได้ไปด้วยก็แล้วกัน” จึงบอกแกว่า “ถ้าฉันไม่กินข้าว โยมจะทำอย่างไร” แกก็ตอบว่า “ไม่กิน” ถามว่า “ถ้าฉันไม่กินน้ำล่ะ” แกตอบว่า “ไม่กินเหมือนกัน ยอมตายทุกอย่าง” แกพูดต่อไปว่า “ฉันทุกข์เรื่องครอบครัวมาหลายปีแล้ว พอได้พบหลวงพ่อ รู้สึกใจเย็นเบิกบานกล้าหาญ เวลานี้ฉันสามารถพูดธรรมะให้ญาติโยมฟังแทนหลวงพ่อได้” ทั้งๆ ที่ความจริงแกพูดไทยก็ยังไม่ชัด จึงลองขยับถามเรื่องธรรมะกับแกๆ ก็ชี้แจงเหตุผลล้วนแต่เป็นธรรมะทั้งสิ้น เป็นการน่าอัศจรรย์ ญาติโยมที่แก่ธรรมะต่างยกมือขึ้นสาธุเมื่อได้ฟังแกพูดจบลง แต่ตนเองหนักใจมาก ในที่สุดต้องปลอบใจสั่งสอนอบรมว่า “เพศหญิงจะไปกับพระไม่ได้” แสดงธรรมะให้แกฟังอยู่เป็นเวลา ๒-๓ วัน ในระยะนั้นในระหว่างเวลาเดินทางเป็นโรคปวดท้องทุกวัน พอได้พบเหตุการณ์นี้เข้าอาการปวดท้องหายไปหมดสิ้น นับตั้งแต่วันออกเดินทางเป็นโรคปวดท้องอยู่รวมทั้งสิ้น ๓๑ วัน

ได้เทศน์อบรมอยู่จนแกยอมปฏิบัติตามคำสอนทุกอย่าง ในที่สุดได้ยอมกลับไปอยู่บ้าน จึงได้พูดบอกกับแกว่า “จะหาเวลามาโปรดเสมอๆ ไม่ต้องกลัว ฉันพักอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้งนี่เอง” ที่พบกันนั้นเขายังไม่รู้ว่าเราอยู่ที่ไหน แต่พอเห็นเข้าก็แสดงความยินดีและพอใจ เมื่อได้ทำความเข้าใจกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ออกเดินทางกลับจันทบุรีตามเคย โรคปวดในท้องก็หายไป

เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษาก็ได้พักอบรมชาวจันทบุรีอีกตามเคย ในระหว่างที่อยู่จันทบุรีนี้ เมื่อถึงเวลาออกพรรษาแล้วได้ออกเดินธุดงค์ทุกปี ได้ที่ยวไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา แล้วได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๘๒ ในปีนี้นึกอยากออกไปเที่ยวประเทศพม่าและประเทศอินเดีย ได้จัดการขอหนังสือเดินทางได้สำเร็จ

เดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๒ ได้ออกเดินทางจากจังหวัดจันทบุรีมาจังหวัดพระนคร พักที่วัดสระปทุม ได้ไปติดต่อกับทางราชการและสถานทูตก็ได้รับความสะดวกทุกอย่าง มีหลวงประกอบนิติสารเป็นผู้รับรองและช่วยติดต่อทางทูต รับรองทางการเงิน รับรองความบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส เป็นอันเรียบร้อยตามกฎหมายทุกประการ เมื่อได้รับหนังสือเดินทางเรียบร้อยแล้วก็ได้ออกเดินทางไปจังหวัดพิษณุโลก แล้วออกเดินทางจากจังหวัดพิษณุโลกไปจังหวัดสุโขทัย จังหวัดตาก  เมื่อถึงจังหวัดตากได้ไปพักอยู่ที่วัดๆ หนึ่ง โยมได้ติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบิน เพื่อข้ามเขาไปยังอำเภอแม่สอด แต่ไม่สำเร็จเพราะมีคนโดยสารเต็มทุกเที่ยว ในการไปครั้งนี้ได้มีศิษย์คนหนึ่งชื่อนายชินติดตามไปด้วย เป็นคนไม่ค่อยเต็มบาท แต่ใช้งานใช้การได้ดี

รุ่งขึ้นเช้าฉันจังหันแล้ว ได้ออกเดินทางจากจังหวัดตาก ข้ามเขาผาวอ กว่าจะถึงอำเภอแม่สอดต้องสิ้นเวลานอนกลางทาง ๒ คืน ได้พักอาศัยอยู่ในวัดพม่าชื่อวัด “จองตัวยะ” (วัดป่า) วัดนี้ไม่มีพระสงฆ์เลย มีแต่คนๆ หนึ่งเป็นชาวกุลาอาศัยอยู่ เป็นคนรู้ภาษาพม่า ได้พักอยู่กับแกหลายวันจนได้รู้จักภาษาพม่าบ้าง รวมเวลาที่พักอยู่ประมาณ ๑ อาทิตย์เศษจึงได้ออกเดินทางต่อไป ได้เดินข้ามแม่น้ำเมย พอเดินข้ามแม่น้ำไปก็ถึงตลาดเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีโยมผู้ชายคนหนึ่งอายุประมาณ ๓๐ ปีวิ่งมาต้อนรับ ขอนิมนต์ให้ขึ้นรถเขาจะไปส่ง เขาบอกว่าเขาเป็นคนไทย ชาวเมืองกำแพงเพช ได้จากบ้านเดิมมาอาศัยอยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว สองคนกับนายชินได้รับนิมนต์ขึ้นรถของเขา รถวิ่งเข้าป่าขึ้นเขาสูงวกไปเวียนมา เวลาประมาณบ่าย ๒ โมง รถจึงวิ่งพ้นเขาเทือกนี้ ถึงที่ราบ แล้ววิ่งต่อไปถึงหมู่บ้านกร๊อกแกร๊ก (กุดจิก) ถึงเวลามืดพอดีจึงถึงบ้านของแก จึงได้พักอยู่ที่บ้านของโยมผู้นี้ เวลาประมาณตี ๔ มีหญิงพม่านำข้าวต้มมาถวาย มาบอกให้ฉัน เราไม่ยอมฉันเพราะยังไม่สว่าง เขาจึงออกไปรออยู่ข้างนอกบ้านจนสว่าง

พอสว่างฉันจังหันแล้ว ภริยานายคนนั้นได้ส่งขึ้นรถยนต์ไปท่าจงโต (ท่าเรือไฟ) แล้วได้ขึ้นเรือเดินทางไปเมืองมะละแหม่ง เดินทางทางเรือประมาณ ๔ ชั่วโมง ระหว่างอยู่ในเรือเมลย์มีแขกและพม่ามาชวนสนทนาด้วย เราไม่ค่อยรู้ภาษาเท่าไรนัก เวลาประมาณ ๔ โมงเย็นเรือเมลย์ถึงจังหวัดมะละแหม่ง จากจังหวัดนี้จะต้องข้ามเรือไปฝั่งเมาะตะมะ ข้ามแม่น้ำไปอีกหลายนาทีจึงถึงเมาะตะมะ เมื่อมาถึงฝั่งนี้แล้วมองเห็นสถานีรถไฟอยู่ลิบๆ เวลาประมาณ ๑ ทุ่มรถไฟจึงจะออกจากสถานีเมาะตะมะ ระหว่างที่รถไฟยังไม่ออก ได้ไปนั่งพักอยู่ใต้ร่มไม้คอยเวลารถออก ได้มีชายหนุ่มคนหนึ่งอายุประมาณ ๓๐ ปี สังเกตดูเป็นคนมีอัธยาศัยดีงาม ได้เข้ามาหาแล้วพูดบอกว่า “อนุญาตให้ท่านขึ้นไปนั่งพักบนรถไฟได้เป็นพิเศษก่อนรถจะออก เพราะท่านเป็นพระไทยมาจากแดนไกล” เขาเรียกเราว่า “โยธยาคงยี” เราก็ได้พูดแสดงความขอบใจกับเขาว่า “Thank you very much” เขาก็ยกมือไหว้อย่างยิ้มแย้มแล้วถามว่า “Where dio you come from?” เราตอบเขาว่า “I come from Siam” พูดกันเสร็จแล้ว เราก็ขึ้นไปนั่งพักบนรถไฟ เจ้าหน้าที่รถไฟก็มาติดต่อสนทนากันพอรู้เรื่อง พูดภาษาพม่าบ้าง ภาษาอังกฤษบ้างปนกันไป

เมื่อได้เวลารถไฟออก เป็นเวลากลางคืน อากาศหนาว เรานอนคลุมโปง นายชินนั่งเฝ้าบริขาร ขณะรถไฟไปถึงสถานีหงสาวดี มีหญิงคนหนึ่งอายุประมาณ ๓๐ ปี ขึ้นมานั่งใกล้ๆ ที่นอนของเรา เขามาถามเป็นภาษาพม่าฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง แต่ก็ได้ลุกขึ้นสนทนากับเขาโดยมารทยาท เราพูดว่า “ตะวาย่างกุ้ง” เขาถามว่า “จะไปพักที่ไหน” โดยภาษาพม่า  เราตอบว่า “ชเวดากอง” ได้สนทนากันโดยใช้ภาษาใบ้ๆ แกก็เกิดความเลื่อมใส รถวิ่งไปถึงเวลาประมาณตี ๕ แกได้ลงจากรถไฟจากกันไป เราได้โดยสารรถไฟไปจนถึงเมืองย่างกุ้งพอดีสว่างพระออกบิณฑบาต มีโยมคนหนึ่งวิ่งขึ้นมาบนรถไฟ มาช่วยรับข้าวรับของทำตัวประดุจคนรู้จักคุ้นเคยกัน เขาได้นิมนต์ขึ้นรถของเขา เราก็พากันขึ้นไปนั่งโดยไม่ได้พูดอะไร เขาได้พาไปส่งจนถึงที่พักบนพระเจดีย์ชเวดากอง โยมคนนั้นเลยกลายเป็นโยมอุปฐากส่งเสียให้ความสะดวกทุกสิ่งทุกอย่าง  เขาชื่อ “นายหม่องแคว๊น” ได้อำนวยความสะดวกให้ทุกประการ ได้พักแรมอยู่บนองค์พระเจดีย์เป็นเวลา ๑๒ วัน ได้รู้จักคุ้นเคยกับญาติโยมชาวพม่าหลายคน สนทนารู้เรื่องราวกันพอสมควร แล้วก็ได้ออกเดินทางจากเมืองย่างกุ้ง ลงเรือเมลย์ที่ท่าเรือใหญ่เดินทางต่อไปยังประเทศอินเดีย

เรือวิ่งข้ามมหาสมุทรอยู่ ๒ คืน ๓ วัน มืดพอดีถึงท่าเรือกัลกัตตา ได้พบพระแขกองค์หนึ่งมาจากเมืองกุสินารายน์ ได้สนทนาภาษาธรรมะ โดยภาษาบาลีบ้าง ภาษาแขกบ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง พูดคุยกันครั้งหนึ่ง ต้องใช้ถึง ๓ ภาษาประกอบกันจึงรู้เรื่อง บางคราวขึ้นต้นภาษาแขก ตอนกลางภาษาบาลี ตอนปลายภาษาอังกฤษ แต่ไม่เคยรู้สึกนึกอายเขาว่าเราพูดไม่เป็น เพราะเราก็พูดไม่เป็นจริงๆ แม้จะพูดได้ก็ไม่ถูกสำเนียง รู้สึกว่าได้สนิทสนมกันมาก ในระหว่างเดินทางในเรือ

เมื่อขึ้นจากเรือที่ท่าเมืองกัลกัตตาแล้ว ได้ขึ้นรถลากไปที่วัดพุทธสมาคมที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Maha Bodhi Society” แล้วได้พักแรมคืนอยู่ที่นารันทะ “Buddhist Temple” ที่นั่นได้พบเพื่อนคนไทยซึ่งเป็นลูกศิษย์พระโลกนาถและพักอยู่ที่นั่นชื่อพระใบฎีกาสด สิงหเสนีย์ จึงได้สนทนากันพอรู้เรื่องราวต่างๆ ในประเทศอินเดีย ในสมาคมนี้ได้ให้สิทธิเราเป็นพิเศษ อยู่สบาย ฉันก็สบาย มีพระพักอยู่รวม ๘ รูปด้วยกัน ไปพักอยู่ในวัดนี้ต้องฉันอาหารเจ ถึงเวลาฉันจังหัน นั่งวงรอบรวมกัน มีภาชนะคนละชิ้น ต่างองค์ต่างตักกับตักข้าวใส่ภาชนะของตน พักอยู่พอสมควรแล้วได้ออกเดินทางไปเที่ยวดูวัตถุโบราณเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา รู้สึกมีความสังเวชสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ดูสภาพของพระพุทธศาสนาเสื่อมโทรม เกือบไม่มีเหลือในด้านปฏิบัติ เช่น พระสงฆ์นอนห้องเดียวกับผู้หญิงบ้าง ฉันจังหันเวลาวิกาลบ้าง ขึ้นรถลากกับผู้หญิงบ้าง ดูเขาไม่พิถีพิถันในพระวินัยเสียเลย พอนึกถึงตอนนี้ก็ไม่อยากจะอยู่ในอินเดียต่อไปอีก เวลานั้นอินเดียยังไม่ค่อยสนใจในทางพระพุทธศาสนาเท่าไรนัก ตามสถิติของพุทธสมาคมมีคนนับถือพุทธทั้งประเทศประมาณ ๓ แสนเศษ ประกอบด้วยพระภิกษุหลายชาติหลายภาษา อาทิ พระฝรั่ง พระจีน พระธิเบต พระมงโกเลีย พระเยอรมัน ฯลฯ รวมทั้งหมดในประเทศอินเดียมีพระอยู่ประมาณ ๘๐ รูปเศษ มีความเป็นอยู่อย่างกันดารเพราะไม่มีผู้นิยมใส่บาตรกันเท่าไรนัก

ได้ออกเดินทางจะไปพุทธคยา ได้ขึ้นรถไฟที่สถานีกัลกัตตาเวลา ๑ ทุ่มตรง ถึงเมืองพาราณสีพอดีเพล แล้วได้ขึ้นรถม้าออกไปตำบลสารนาถ ที่เรียกว่า “ป่ามฤคทายวันเก่า” เป็นที่สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมจักรโปรดพระเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นปฐมเทศนา อยู่ห่างจากเมืองพาราณสีไปประมาณ ๘ ไมล์ เมื่อได้ไปถึงสถานที่นี้แล้วรู้สึกร่มรื่น เบิกบานใจ เป็นสถานที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล มีพระเจดีย์เก่าๆ มีพระพุทธรูปตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์มากมาย ได้ไปอาศัยพักอยู่ที่นั่นหลายวัน แล้วได้ออกเดินทางไปนมัสการสถานที่ดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่เมืองกุสินารา  บัดนี้เรียกว่า “กาเซีย” “Kasia” บ้านเมืองแต่ก่อนกลายเป็นทุ่งนาไปหมด  ขณะนั่งรถยนต์ผ่านทุ่งใหญ่ แลเห็นแต่ต้นข้าวสาลีเขียวชอุ่มรู้สึกเย็นตาเย็นใจ ไปเห็นรกรากเก่าของวัดและสถานที่ดับขันธปรินิพพานซึ่งได้ขุดฟื้นฟูขึ้นมา มีพระเจดีย์องค์หนึ่งตั้งตระหง่านเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า แต่องค์ไม่ใหญ่โตเท่าที่สารนาถ

วันรุ่งขึ้นได้เดินทางต่อไปนมัสการสถานที่ถวายพระเพลิงของพระพุทธเจ้า สถานที่นี้อยู่ห่างจากสถานที่ดับขันธปริพพานประมาณ ๑ ไมล์ แต่บัดนี้ได้กลายเป็นทุ่งนาไปหมด มีพระเจดีย์หักพัง เหลือแต่อิฐ มีต้นไทรใหญ่เกิดขึ้นเกาะอยู่ที่พระเจดีย์พัง มีพระจีนรูปหนึ่งทำที่พักไว้บนต้นไทรและนั่งภาวนาอยู่ที่นั้น ถึงเวลาตอนเย็นก็เดินทางกลับที่พัก

รุ่งขึ้นเช้าฉันจังหันแล้วขึ้นรถยนต์เดินทางกลับมาขึ้นรถไฟกลับไปเมืองพาราณสี ในระหว่างที่พักอยู่ได้ไปดูการล้างบาปตามลัทธิพราหมณ์ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ซึ่งไหลผ่านมาในบริเวณตลาดของเมืองพาราณสี ดูเทือกเถาบ้านเมืองเก่าแก่พิลึกพิลั่น ได้ถามอาจารย์ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ เขาบอกว่า “เป็นเวลาห้าพันปีมาแล้วเมืองนี้ไม่เคยร้าง ย้ายสถานที่ตั้งเมืองไปตามลำน้ำคงคาเสมอ แม่น้ำนี้เขาถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เพราะไหลมาจากยอดเขาหิมาลัย ใครได้อาบตามเทศกาล เขาถือว่าเป็นการล้างบาป สมัยครั้งก่อนคนที่ป่วยหนักใกล้จะตายเขาก็หามไปวางไว้ริมฝั่งแม่น้ำ พอใจขาดก็ผลักศพกลิ้งลงไปในน้ำ ใครทำได้เช่นนี้ถือว่าได้บุญมาก ตายไปไม่ตกนรก ถ้าใครไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็นำกระดูกมาทิ้ง ปัจจุบันนี้ลัทธิเช่นนี้ได้หายไป ยังมีเหลืออยู่แต่ลัทธินิยมอาบน้ำล้างบาป เมื่อถึงฤดูเทศกาลของเขา คือเดือนยี่กลางเดือนถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ถ้าเราไปดูจะเห็นคนแต่งตัวสวยๆ มีผ้าโพกศีรษะ เดินไปมาเป็นกลุ่มก้อนแถวแนวมากมายแทบไม่มีทางหลีกแล้วพากันลงไปไหว้พระตามริมตลิ่ง บางแห่งก็มีโบสถ์ของพราหมณ์

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 11 มิถุนายน 2564 16:11:57 »


      พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธมฺธโร)
            ภาพจาก : เพจวัดอโศการาม สมุทรปราการ


ก่อนจะลงอาบน้ำต้องทำพิธีไหว้พระศิวะเสียก่อน คือทำนิมิตเครื่องหมายไว้ ๒ ชนิด มีของลับผู้หญิงและผู้ชายตั้งไว้กลางโบสถ์ใหญ่ประมาณกระด้งฝัดข้าว ผู้คนพากันเอาน้ำไปสรง ไปพรม โปรยข้าวตอกดอกไม้และเงินทอง  เสร็จแล้วก็ลงไปริมตลิ่งแลเห็นยืนกันเป็นแนว ไปเห็นโยคีนั่งบริกรรมหนวดเครายาวรุงรังขนมาก บางคนก็ไม่นุ่งผ้า นั่งบริกรรมภาวนาอยู่ตามริมฝั่งน้ำ หญิงชายที่จะไปอาบน้ำล้างบาปก็พากันลงเรือจนเต็มลำ แล้วแจวเรือออกไปกลางแม่น้ำ ล่มเรือลง แล้วต่างคนต่างก็ดำน้ำผุดขึ้นฝั่ง ก็ถือว่าเป็นการล้างบาปได้ครั้งหนึ่ง บางพวกก็เห็นชี้มือขึ้นบนฟ้า บางพวกก็ยืนขาเดียว บางพวกก็แหงนหน้าดูตะวัน ถ้าจะพรรณนาถึงลัทธิต่างๆ เหล่านี้ยังมีอีกมากมาย วันนั้นไปเที่ยวดูเสียจนค่ำ พอเวลาตอนเย็นก็กลับเข้าที่พักตามเคย  บริเวณสารนาถนี้เป็นสถานที่ใหญ่โตกว้างขวางมาก มีเนื้อที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่เศษเป็นอย่างต่ำ มีต้นไม้ขึ้นเป็นหย่อมๆ มีกุฎีวิหารรกร้างมากมาย มีคนไปนมัสการพระพุทธรูปในวิหาร  วิหารเหล่านี้ก่อด้วยหินทั้งสิ้น มีหญิงคนหนึ่งเกิดมีศรัทธาแรงกล้า ได้มอบเงินให้ท่านธัมปาละ มาฟื้นฟูปลูกสร้างพุทธสมาคม หญิงคนนี้เป็นชาวฮาวายลูกครึ่งฝรั่ง

ในบริเวณนี้มีวัดอยู่ ๔ วัด คือ
๑. วัดลังกา วัดนี้เป็นสาขาของสมาคมมหาโพธิ เลขานุการของสมาคมเป็นพระทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วโลก
๒. วัดพม่า
๓. วัดจีน วัดนี้นายโอวบุ้นโฮ้ว เจ้าของห้างขายยาตราเสือเองอันต๋อง เป็นผู้อุปการะ พระที่วัดนี้มาจากปักกิ่ง
๔. วัดพราหมณ์ วัดนี้ตั้งอยู่ใกล้ๆ พระเจดีย์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้ เวลานี้ยอดหักลงมาเหลือสูงประมาณ ๘ วา สถานที่นี้ปรากฏว่าเคยมีพระบรมธาตุ แต่บัดนี้ได้นำเอาไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองกัลกัตตา

ได้พักอาศัยเที่ยวสำรวจดูบริเวณนี้อย่างถี่ถ้วน ก็เชื่อมั่น ๑๐๐ เปอร์เซ็น ว่าพระพุทธเจ้าได้เคยทรงธรรมจักรจริง สถานที่พระองค์นั่งแสดงก็ปรากฏอยู่ มีวิหารแห่งหนึ่งหักร้าง จารึกชื่อผู้สร้างไว้ว่า “มหาราชา” มีแท่นหินแห่งหนึ่งขนาดโตประมาณครกตำข้าว สูงประมาณ ๗ ศอก หักออกไปท่อนหนึ่งแล้ว ขณะนี้มีปรากฏอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ มีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง มีศิลาจารึกว่า “อโศกมหาราชาเป็นผู้สร้าง” หน้าตักกว้างประมาณ ๑ ศอกคืบยาวๆ มีความสูงตามส่วนของรูป สวยงามมาก สร้างด้วยหิน

เมื่อได้สำรวจดูพอรู้เรื่องราวพอสมควร ก็ได้เดินทางออกจากเมืองพาราณสีกลับลงมาพุทธคยา ที่เมืองพุทธคยานี้มีที่พักในเมืองแห่งหนึ่งเป็นสาขาของพุทธสมาคม พอลงจากรถไฟแล้วก็ขึ้นรถม้าวิ่งไปตามถนน เมืองนี้เป็นเมืองที่ราบรื่นกว้างขวาง มีภูเขาดินเป็นเนินสูง มีแม่น้ำใหญ่สายหนึ่งชื่อ “เนรัญชรา” แต่ตื้นเขิน มีน้ำตลอดปี แม้ในฤดูแล้งก็มีน้ำไหลผ่านอยู่เสมอ ตรงกลางเมืองเป็นสันเนิน ที่กลางสันเนินนี้เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าได้เคยไปประทับ เรียกว่า “นิโครธาราม” และมีเทือกเถาบ้านของนางสุชาดาอยู่ในแนวนี้ ต่อจากนั้นไปเป็นแม่น้ำ “อโนมา” แม่น้ำนี้กว้างใหญ่ เต็มไปด้วยทราย ในฤดูแล้งเวลาน้ำแห้งแลดูเหมือนทะเลทราย มีน้ำไหลนิดๆ เดินทางวกกลับคืนข้ามแม่น้ำเนรัญชรามาได้สักหน่อยก็ถึงพระเจดีย์แห่งหนึ่ง มีต้นทองกวาวขึ้นอยู่เป็นกลุ่มๆ ที่ตรงนี้เรียกว่า “มุจลินทร์” คือสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยกลางนาคปรก  ในระหว่างบริเวณต้นโพธิที่พระองค์ตรัสรู้มีพระพุทธรูปแกะด้วยหิน มีพระเจดีย์เก่าเล็กๆ แกะด้วยหินมากมาย มีเจ้าลัทธิต่างๆ ไปนมัสการมิได้ขาด

พักแรมอยู่ที่เมืองพุทธคยาพอสมควร ก็ได้กลับมาเมืองกัลกัตตา พักอยู่ที่นารันทะสแควร์ บุดดิสต์ เทมเปิล (Buddhist Temple) ได้พักอยู่พอสมควรแล้ว ก็ได้ล่ำลาเพื่อนฝูงที่สนิทสนมคุ้นเคยกันกลับลงเรือที่ท่าเมืองกัลกัตตา ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๘๒  ปลายปี ในตอนนี้ไอมหาสครามโลกครั้งที่  ๒ กำลังคุกรุ่นใกล้จะถึงจุดระเบิดขึ้นทางประเทศเยอรมัน ได้แลเห็นเรือรบวิ่งอยู่ในมหาสมุทรอินเดียหลายลำ  ได้มองเห็นเวลาเรือแล่นผ่านมา นอนอยู่ในเรือกลางมหาสมุทรอินเดีย ๒ คืน ๓ วัน ก็ถึงท่าเรือเมืองย่างกุ้ง ได้ขึ้นไปพักบนพระเจดีย์ชเวดากอง ได้ไปเยี่ยมโยมที่เคยมีอุปการะ ได้พักอยู่พอสมควรแล้ว ก็ออกเดินทางกลับประเทศไทยโดยทางรถไฟ สมัยนั้นเครื่องบินโดยสารยังไม่มี จึงต้องเดินทางกลับตามเส้นทางสายเดิม เมื่อมาถึงอำเภอแม่สอดรู้สึกเหน็ดเหนื่อยในการเดินทางข้ามเขา จึงได้ติดต่อขอซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบินไทยที่อำเภอแม่สอด ขึ้นเครื่องบินจากอำเภอแม่สอดมาลงที่จังหวัดพิษณุโลก จับรถไฟจากจังหวัดพิษณุโลกไปจังหวัดอุตรดิตถ์ พักอยู่ที่วัดศัลยพงศ์ ได้ไปเยี่ยมญาติโยมและศิษย์เก่าพอสมควรแล้ว ได้ออกเดินทางไปพักอยู่ที่พระแท่นศิลาอาสน์ เป็นเวลาพอสมควรแล้วก็ขึ้นรถไฟกลับกรุงเทพฯ พักที่วัดสระปทุม ต่อจากนั้นได้เดินทางกลับไปจำพรรษาที่จังหวัดจันทบุรีอีกตามเคย ได้จำพรรษาอยู่ในจังหวัดจันทบุรีเป็นเวลานานถึง ๑๔ พรรษา จนเกือบถือได้ว่าเป็นบ้านของตนเอง

ปัจจุบันนี้ มีสำนักที่ได้จัดตั้งขึ้นในจังหวัดจันทบุรีรวมทั้งสิ้น ๑๑ สำนัก คือ
๑. วัดป่าคลองกุ้ง  อำเภอเมือง
๒. วัดทรายงาม บ้านหนองบัว อำเภอเมือง
๓. วัดเขาแก้ว อำเภอเมือง
๔. วัดเขาน้อย ท่าแฉลบ
๕. วัดยางระหง อำเภอท่าใหม่
๖. วัดเขาน้อย อำเภอแหลมสิงห์
๗. วัดเขาจำฮั่น อำเภอท่าใหม่
๘. วัดแหลมยาง อำเภอแหลมสิงห์
๙. วัดใหม่ดำรงธรรม อำเภอขลุง
๑๐. วัดบ้านอีมั่ง อำเภอขลุง
๑๑. สำนักสงฆ์สามแยก สถานีทดลองกสิกรรม น้ำตก เขาสระบาป

สำนักเหล่านี้ได้มีพระประจำอยู่ทุกแห่ง ได้ตั้งเป็นวัดถาวรแล้วก็มี ยังเป็นสำนักสงฆ์อยู่ก็มี

ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๘๔ ได้เกิดสงครามอินโดจีนและมหาสงครามโลกครั้ง ๒ ในระหว่างสงครามได้ท่องเที่ยวไปในจังหวัดต่างๆ วกไปเวียนมาอยู่ตลอดเวลาจนถึง พ.ศ.๒๔๙๓ เมื่อสงครามโลกสงบลงแล้วก็นึกจะออกไปประเทศอินเดียอีก พอถึงเดือนพฤศจิกายนก็ได้เตรียมการขอหนังสือเดินทาง

การไปประเทศอินเดียครั้งนี้ออกจะยุ่งยาก เพราะสงครามเพิ่งสงบใหม่ๆ พอเตรียมการทำหนังสือขออนุญาตก็ได้ถามโยมอุปฐากและไวยาวัจกร คือขุนอำนาจฯ ว่า “มีมูลค่าปัจจัยอยู่เท่าไร” ได้รับตอบว่า “มี ๗๐ บาท” แต่จะต้องเสียค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทาง (Passport) ประมาณ ๑๒๐ บาท เมื่อเป็นดังนี้ญาติโยมที่ทราบเรื่องต่างพากันมาร้องทุกข์ห้ามไม่ให้ไป แต่ได้ตอบว่า “ฉันต้องไป” โยมตอบว่า “มีเงินเท่านี้ (๗๐ บาท) ไปไม่ได้” จึงได้ตอบว่า “ฉันไม่ได้ให้เงินไป ฉันเอาตัวไปต่างหาก” เมื่อพูดเช่นนี้สานุศิษย์ก็เข้าใจว่าเราต้องไปจริง ต่างคนต่างช่วยกันบริจาคทรัพย์เป็นค่าพาหนะเดินทาง

อยู่มาวันหนึ่ง พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ กับนายชำนาญ ลือประเสริฐ ได้เดินทางไปพักอยู่ที่วัด เมื่อได้ทราบว่าเราจะเดินทางไปประเทศอินเดีย จึงได้สนทนากันดังต่อไปนี้

พระยาลัดพลีฯ ได้ตั้งปัญหาถามขึ้น ๒ ข้อ ว่า
“๑. ท่านจะไปทำไม ธรรมะมีกับตัวเราทุกคน”
“๒. ท่านรู้จักภาษาของเขารึ?”

จึงได้ตอบว่า “พม่า แขก ก็เป็นคนเหมือนอาตมา คนกับคนไม่รู้จักภาษากันมีหรือในโลกนี้”
พระยาลัดพลีฯ “ท่านจะไปยังไง เงินของท่านมีพอไหม”
ตอบว่า “พอเสมอ”
พระยาลัดพลีฯ “ถ้าเงินท่านขาด ท่านจะไปได้อย่างไร”
ตอบว่า “เงินที่จะขาดไปนั้น มันก็คงขาดเหมือนผ้านุ่งขาด คือค่อยๆ ขาดทีละช่อง ทีละตอน ฉันใด อาตมาก็ฉันนั้น ก่อนเงินหมดจะไม่รู้อะไรบ้างหรือ”
พระยาลัดพลีฯ “ท่านรู้จักภาษาฝรั่งไหม”
ตอบว่า “อาตมาอายุ ๔๐ ปี ถ้าไปเรียนภาษาฝรั่งหรือภาษาแขกอาตมาเห็นว่า จะสามารถเรียนได้ดีกว่าลูกแขกหรือลูกฝรั่ง”

ในที่สุดก็หมดโอกาสคุยกัน แล้วพระยาลัดพลีฯ ได้พูดขึ้นอีกว่า “แกล้งพูดกับท่านเฉยๆ”

เราจึงพูดว่า “สำหรับอาตมาไม่ได้ถือสาเจ้าคุณ แต่ต้องพูดไปอย่างนี้แหละ”

ต่อจากนั้น ญาติโยม พระเณร ต่างพากันบริจาคช่วยเป็นค่าเดินทางได้มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ ๑ หมื่นเศษ จึงได้เดินทางจากจังหวัดจันทบุรีมาพักอยู่ที่วัดบรมนิวาส ได้ติดต่อสถานทูตขอวีซ่าหนังสือเดินทาง ก็ได้รับความสะดวก โดยการอนุเคราะห์ของศิษย์ฝ่ายตำรวจ มี พ.ต.อ.สุดสงวน ตัณสถิตย์ เป็นผู้จัดการช่วยเหลือ ส่วนการขอแลกเงินตราต่างประเทศได้วิ่งเต้นช่วยเหลือกันเกือบไม่สำเร็จ เพราะขณะนั้นราคาเงินปอนด์ในตลาดมืดสูงขึ้นถึงปอนด์ละ ๕๐ บาท แต่อัตราของทางราชการ ๑ ปอนด์ต่อ ๓๕ บาท การวิ่งเต้นขอแลกเงินตราต่างประเทศนี้รู้สึกว่ายุ่งยากมาก เกือบๆ จะหมดหวัง จึงได้ตั้งอธิษฐานจิตว่า “เราจะไปเยี่ยมเพื่อน และสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับ เพราะไปมาคราวก่อนยังไม่ชัด จึงอยากไปอีกครั้งหนึ่ง” ได้ตั้งอธิษฐานว่า “ถ้าจะไปได้จริงในครั้งนี้ขอให้มีคนใดคนหนึ่งมาช่วยให้แลกเงินตราต่างประเทศได้สำเร็จ”

หลังจากที่ได้ทำการอธิษฐานได้ ๔ วัน นายบุญช่วย ศุภสีห์ (ขณะที่เขียนบันทึกนี้มียศเป็น ร.ต.ท. ตำรวจม้า) ได้โผล่หน้าขึ้นมาถามว่า
“ท่านพ่อ แลกเงินได้หรือยังครับ”
จึงตอบว่า “ยังไม่ได้”
นายบุญช่วย ศุภสีห์ “ผมจัดการเอง”

จากนั้นเขาได้วิ่งเต้นติดต่ออยู่ประมาณ ๑ อาทิตย์ ได้ไปติดต่อกับกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย เขาได้หนังสือแนะนำจากเพื่อนฝูง และหนังสือรับรอง ๑ ฉบับจากอดีต ร.ม.ต.เลียง ไชยกาล ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปติดต่อกับธนาคารชาติ ครั้งแรกไปติดต่อได้รับคำชี้แจงว่า “ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะอนุญาตให้แลกได้”  นายบุญช่วยฯ จึงได้ปรึกษากับนายจรัส แตงน้อย และนายสมปอง จันทรากูล ซึ่งทำงานอยู่ที่ธนาคารชาติ ตกลงผลสุดท้ายได้มีสิทธิแลกเปลี่ยนเงินปอนด์ตามอัตราราชการได้ โดยนายจรัสได้เสนอให้ความเห็นสนับสนุนว่าควรให้แลก เพราะเป็นการเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ส่วนรวมแก่ประเทศชาติและศาสนา จึงแลกเงินปอนด์ได้ทั้งสิ้น ๙๘๐ ปอนด์

เมื่อแลกเงินตราต่างประเทศได้แล้ว ก็ได้ไปติดต่อขอวีซ่าหนังสือเดินทาง ทางด้านกระทรวงต่างประเทศก็มีนายประชา โอสถานนท์ เป็นหัวหน้าแผนกออกหนังสือเดินทาง ได้ช่วยจัดการให้เป็นที่เรียบร้อยทุกอย่าง ตลอดจนกระทั่งการติดต่อกับเพื่อนที่อยู่ประจำในสถานทูตไทยในต่างประเทศ แล้วได้ไปขอวีซ่าที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ เป็นอันเรียบร้อยทุกอย่างในการออกเดินทาง

เดือนมกราคม ปี พ.ศ.๒๔๙๓ ได้ออกเดินทางจากประเทศไทยโดยเครื่องบิน นางประภาซึ่งเป็นศิษย์ทำงานอยู่บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ได้ช่วยซื้อตั๋วให้ในราคาพิเศษ ได้ส่วนลดเกือบ ๕๐ เปอร์เซ็น เครื่องบินออกจากท่าอากาศยานดอนเมืองเวลาประมาณ ๘.๐๐ น. การเดินทางครั้งนี้มีพระภิกษุติดตามไป ๑ รูป ชื่อพระสมุทร มีศิษย์ ๑ คน ชื่อนายธรรมนูญ เวลาประมาณฉันเพล เครื่องบินก็ถึงสถานีการบินเมืองย่างกุ้ง มีเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศพม่ามาต้อนรับที่สนามบิน คือ ม.ล.ปีกทิพย์ มาลากุล นายสุปัน เศวตมาลย์ และนายสนั่น เขาได้พาไปอยู่ในวิหารบนพระเจดีย์ชเวดากอง ได้พักอยู่ในประเทศพม่าประมาณ ๑๕ วัน ได้ไปเที่ยวดูสถานที่ต่างๆ ในเมืองย่างกุ้ง  ตอนนี้ได้แลเห็นแต่ซากระเบิดตามสถานที่ต่างๆ สงครามกะเหรี่ยงก็กำลังกำเริบอยู่ทางเมืองมัณฑเล

วันหนึ่งได้ออกเดินทางไปเมืองหงสาวดี เพื่อนมัสการพระพุทธรูปนอนใหญ่ในตำบลหนึ่ง พบทหารพม่าซึ่งมารักษาการณ์อยู่ในบริเวณนั้น คณะทหารได้ให้ความสะดวก เวลาจะไปไหนมาไหนมีทหารติดตามไปด้วย ๑๒ คน เวลาที่นอนพักในเวลากลางคืนก็เฝ้ารักษาการณ์ให้ความปลอดภัย ไปนอนอยู่บนพระเจดีย์มุเตาซึ่งมียอดหัก เวลากลางคืนได้ยินแต่เสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหว จึงถามทหารที่ไปด้วยว่า “ยิงอะไรกัน” เขาตอบว่า “ยิงขู่คอมมิวนิสต์” เวลาเช้ามืดมีหญิงพม่า ๒ คน มาสนทนาด้วย เกิดศรัทธาได้นิมนต์ไปฉันที่บ้าน เมื่อได้เที่ยวดูสถานที่ต่างๆ ในเมืองย่างกุ้งเสร็จแล้ว ก็ตระเตรียมการเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศอินเดีย

ระหว่างพักอยู่ในเมืองย่างกุ้ง ได้มีพระภิกษุไทยองค์หนึ่งบวชในพม่า ชื่อสายหยุด ได้นำไปติดต่อแนะนำให้รู้จักกับเจ้านายพม่า จึงพากันเข้าไปในวัง เจ้าพม่าองค์นี้เป็นลูกสาวของพระเจ้าทีบอ กรุงมัณฑเล ได้สนทนาเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยให้จ้าวแม่ฟัง เจ้าแม่เล่าขนบธรรมเนียมประเพณีของพม่าให้เราฟัง ระหว่างกำลังสนทนากัน จ้าวแม่รับสั่งว่า “ฉันเป็นคนไทย” จ้าวแม่องค์นี้อายุประมาณ ๗๗ ชันษา เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าธีบอ กรุงมัณฑเล ได้รับสั่งเป็นภาษาไทยว่า “ท่านชอบฉันขนมต้มไหม” แต่ไม่อยากพูดกันยาว ฟังเรื่องราวดูแล้ว พม่าเห็นจะได้ตัวไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาแตก จ้าวแม่องค์นี้มีพระนามว่า “สุทันตะจันทเทวี” ได้รับสั่งขอความช่วยเหลืออย่างหนึ่งว่า “เวลานี้รายได้ขาดไปหมด ขอให้ท่านช่วยบ้าง” เราจึงตอบว่า “ไม่เป็นไร ตะกามะ อาตมาจะช่วย” ที่เป็นดังนี้เพราะประเทศพม่าได้เปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลใหม่ พระบรมวงศานุวงศ์พม่าที่เคยได้รับเงินเดือนถูกตัดหมด จึงไม่มีรายได้ใดๆ “ขอให้ท่านสงสารเถิด เพราะเป็นไทยด้วยกัน ถ้าแนะนำให้สถานเอกอัครราชทูตไทยช่วยได้บ้างก็จะดี” จ้าวแม่ได้เล่าเรื่องให้ฟังและขอร้องดังกล่าวนี้

ต่อมาจึงได้นำเรื่องจ้าวแม่องค์นี้ไปเล่าให้ ม.ล.ปีกทิพย์ มาลากุล ฟัง  ท่านผู้นี้มีใจบุญใจกุศลมากทั้งผัวทั้งเมีย  ขณะนั้น พระมหิทธาฯ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต  ม.ล.ปีกทิพย์ฯ ได้พาเราไปพบปะสนทนากับพระมหิทธาฯ เมื่อได้พบปะกันรู้สึกว่ามีความดีอกดีใจเหมือนญาติได้พบกัน บรรดาคณะทูตทั้งหมดก็ได้ช่วยเหลือทุกอย่าง ก่อนที่จะออกเดินทางไปประเทศอินเดีย ได้แนะนำให้ความสะดวกทั้งทางราชการและส่วนตัว

ปลายเดือนเมษายน ๒๔๙๔ ได้ออกเดินทางจากเมืองย่างกุ้งโดยทางเครื่องบินไปถึงสนามบินกัลกัตตาประมาณ ๔ โมงเย็น กัปตันเครื่องบินลำนี้เคยเป็นเพื่อนรักกัน บัดนี้ได้ถึงแก่กรรมเพราะเครื่องบินตกที่ฮ่องกง เวลาออกเดินทางเขาได้คุยว่าจะให้ขับแบบไหน สูงต่ำโลดโผนก็ได้ เขาได้บอกว่าจะพาขึ้นสูงถึง ๑ หมื่นฟิต ระหว่างเดินทางรู้สึกว่ามีคลื่นมาก บริเวณภูเขาหิมาลัยอากาศหนาวจัด จนกระทั่งนั่งอยู่ที่ห้องกัปตันไม่ได้ ต้องกลับมานั่งที่เก้าอี้แล้วห่มผ้า

เมื่อถึงสนามบินแล้ว ต่างคนก็ต่างไป เพราะคนขับมีสิทธิพิเศษไม่เหมือนคนโดยสาร ส่วนเราต้องถูกตรวจเข้าของ ตรวจโรค สำหรับการเข้าห้องมืดเขายกให้เราเป็นพิเศษ ในห้องมืดนี้ภายในห้องสว่างจ้า คนที่เข้าไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจต้องแก้ผ้าหมด แต่เคราะห์ยังดี มีแขกคนหนึ่งพอเห็นเราโผล่เข้าไปในห้อง ใบหน้าก็ยิ้มแย้มใส่เรา แสดงว่าเขาจะช่วยเรา แขกคนนี้เป็นแขกซิก ในที่สุดเขาให้ความสะดวก ข้าวของไม่ต้องตรวจ ได้พักอยู่จนย่ำค่ำ จึงได้มีฝรั่งคนหนึ่งมาขอโทษแล้วบอกว่าเดี๋ยวรถของบริษัทจะมารับ ต่อมาอีกสักครู่หนึ่งก็ได้ขนข้าวของขึ้นรถยนต์วิ่งเข้าไปในเมืองกัลกัตตาหลายไมล์ ได้ไปพักอยู่ที่สมาคมมหาโพธิ (Maha Bodhi Society) ขณะที่ไปถึง เลขานุการใหญ่ของสมาคมซึ่งเคยเป็นเพื่อนเก่าไม่อยู่ ได้ความว่าเขานำพระบรมธาตุไปทำการฉลองที่เมืองหลวงแล้วเลยเดินทางไปกัษมีระ พวกพระที่อยู่ที่สมาคมได้จัดแจงให้ความสะดวกทุกประการ เพราะเราเป็นสมาชิกของสมาคมมาหลายปี เขาได้จัดให้ไปพักในตึกชั้นที่ ๓

ระหว่างที่พักอยู่ได้ไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวกับเรื่องหนังสือเดินทางอยู่หลายวันจึงเป็นที่เรียบร้อย ได้พักอยู่ที่สมาคมมหาโพธิจนถึงเวลาจวนเข้าพรรษา คิดว่าจะเดินทางไปประเทศลังกา ได้นำดร๊าฟท์ไปขึ้นเงินที่ธนาคาร ปรากฏว่าดร๊าฟท์ใบนี้ธนาคารที่ออกให้ไม่มีสาขาธนาคารในประเทศอินเดีย ธนาคารจึงไม่ยอมให้ขึ้นเงิน เขาชี้แจงว่าต้องไปขึ้นเงินที่สาขาธนาคารกรุงลอนดอน ตอนนี้ชักเกิดความยุ่งยาก ตรวจดูเงินที่ลูกศิษย์เหลืออยู่ประมาณ ๑๐๐ รูปี จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบาก ขณะเดียวกันมีเงินปอนด์ติดตัวอยู่ถึง ๘๐๐ กว่าปอนด์ แต่ธนาคารอินเดียไม่ยอมรับ เพราะกำลังเกลียดชังอังกฤษ ไม่ต้องการใช้เงินปอนด์ ไม่ต้องการพูดภาษาอังกฤษ เว้นแต่จะจำเป็นจริงๆ เราเลยต้องพลอยฟ้าพลอยฝนลำบากกับเขาไปด้วย

ในที่สุดได้ตั้งใจสวดมนต์ภาวนาแล้วตั้งอธิษฐานว่า “ขอจงให้ข้าพเจ้าได้รับความสะดวกในเรื่องที่เกี่ยวแก่เงินคราวนี้” อยู่มาวันหนึ่งเวลาประมาณบ่าย ๕ โมงเย็น มีคนๆ หนึ่งชื่อนายถนัด นาวานุเคราะห์ เป็นทูตพาณิชย์ไทยได้มาเยี่ยมแล้วถามว่า “ท่านอาจารย์มีเงินใช้ไหม” จึงตอบเขาไปว่า “มีไม่พอ” เขาจึงได้ล้วงกระเป๋าถวายให้เป็นจำนวน ๒,๐๐๐ รูปี เมื่อได้รับเงินรูปีเรียบร้อยแล้ว ในตอนเย็นวันนั้นเพื่อนคนที่เป็นเลขานุการใหญ่ของสมาคมมหาโพธิก็ได้เดินทางกลับมา เขาได้นิมนต์ไปคุยที่ห้องพัก แสดงความดีอกดีใจ แล้วสนทนากันเป็นภาษาบาลี

เขาถามว่า “มีเงินใช้พอไหม ต้องการเท่าไร ไม่ต้องเกรงใจเรียกได้ทุกเวลา”

ได้ตอบขอบใจเขาเป็นภาษาอังกฤษ ว่า Thank you very much เขาก็ยิ้มตอบ ตั้งแต่วันนั้นมาก็ได้รับความสบายใจทุกประการ

พอจวนเวลาเข้าพรรษา มีพระองค์หนึ่งซึ่งรักใคร่กันมาก เป็นเจ้าหน้าที่อยู่ที่สารนาถ ชื่อ “สังฆะรัตนะ” ได้ชวนไปอยู่จำพรรษาที่โน่น จึงได้ตอบตกลงไปกับท่าน วันรุ่งขึ้นท่านได้ออกเดินทางไปก่อน ถึงวัน ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เราจึงได้ออกเดินทางตามไป พอดีเพล วัน ๑๕ ค่ำ ก็ถึงวัด เพื่อนฝูงได้จัดที่พักให้ตึกหลังใหญ่มี ๔๐ ห้อง อยู่กันห้องละคน แล้วได้อยู่จำพรรษาที่สารนาถนี้ ในระหว่างจำพรรษาได้รับความสะดวกสบาย เพื่อนที่รู้จักกันเมื่อมาครั้งก่อนก็ยังอยู่ การขบฉันก็สะดวก คือในเวลาเช้า เขาได้นำนม โอวัลติน โรตี ๓-๔ แผ่น มาส่งให้ถึงที่ทุกวัน ฉันเท่านี้ก็รู้สึกอิ่ม แต่พอสายหน่อยเขาก็ให้ฉันข้าวสวย แกงถั่วแกงงา ไม่มีเนื้อสัตว์ ฉันเจ บางวันก็มีอาหารคาว

ระหว่างอยู่จำพรรษามีการสวดมนต์เย็น เสร็จแล้วไปนมัสการพระเจดีย์องค์ใหญ่ยอดหักอยู่เหนือวิหาร บางวันก็ไปเที่ยวเมืองพาราณสี ไปเที่ยวดูสถานที่ของพวกพราหมณ์ วัดธิเบต วัดพม่า วัดฮินดู วัดลังกา ฯลฯ

จวนๆ เวลาออกพรรษา เดือนหงาย สวดมนต์แล้วขึ้นไปนั่งพักอยู่หน้าวิหารคนเดียว การสวดมนต์ก็สวดเหมือนพระไทย แต่เร็วที่สุด วันที่นั่งพักอยู่หน้าวิหารเป็นเวลากลางคืนเดือนหงาย ได้นั่งสมาธิเพ่งมองดูยอดพระเจดีย์ระลึกถึงพระเจ้าอโศกมหาราช ว่ามีบุญคุณมากต่อพระศาสนา มองเพ่งไปนานๆ เกิดแสงสว่างวูบวาบกระจายตามต้นไม้และพระเจดีย์ นึกในใจว่า “พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าคงมีจริง”

อยู่มาวันหนึ่งเวลาจวนออกพรรษา เจ้าหน้าที่พุทธสมาคมได้มานิมนต์ไปรับพระธาตุ และพระอัฐธาตุของพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร ซึ่งทางราชการได้นำไปสมโภชที่กรุงนิวเดลฮี และได้นำส่งกลับมาโดยเครื่องบิน จึงได้พากันไปทำการต้อนรับที่สนามบิน เครื่องบินถึงสนามบินเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น.เศษ เมื่อเครื่องบินจอดเรียบร้อยแล้ว เขาได้ให้เราเข้าไปรับพระเจดีย์ทองเหลืององค์เล็กๆ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระธาตุพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร จึงได้นำมาถึงพุทธสมาคม แต่ไม่ได้ขอเขาดู เพราะใจรู้สึกเฉยๆ ต่อจากนั้นเขาได้จัดส่งพระธาตุนั้นไปรักษาไว้ที่สำนักงานเมืองกัลกัตตา เป็นอันว่าเราไม่มีโอกาสได้เห็น

พอออกพรรษาแล้ว ก็ได้รับจดหมายด่วนบ้าง ธรรมดาบ้าง ซึ่งส่งไปจากประเทศไทยและประเทศพม่า มีใจความในจดหมายว่า ขอให้เรากลับไปเมืองย่างกุ้งโดยด่วน เพราะเจ้าแม่สุทันตะจันทเทวีได้รับเงินเดือนแล้ว ดีอกดีใจ ลูกชายและลูกสาวของท่านได้ชักชวนเพื่อนฝูงจะสร้างวัดถวายที่เมืองย่างกุ้ง ขอให้รีบมาจัดการ เมื่อได้ทราบดังนั้นจึงได้รีบเดินทางกลับเมืองกัลกัตตา เมื่อมาถึงแล้วได้เตรียมวีซ่าพาสปอร์ตกลับเมืองย่างกุ้ง วันที่ไปถึงเมืองย่างกุ้ง คณะกรรมการสร้างวัดได้พากันไปรับที่สนามบิน แล้วก็พาไปวังเจ้าแม่ในวันนั้น ณ ที่นั้น มีกรรมการนั่งประชุมกันอยู่ประมาณ ๓๐ กว่าคน  คณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลที่เป็นเจ้านาย ข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ได้มาประชุมหารือกัน จะซื้อที่ดินถวายให้สร้างวัด ที่ดินที่จะซื้อมีลักษณะเป็นเนินเขาดินสูงๆ มีเนื้อที่ประมาณ ๙ เอเคอร์ เจ้าของจะขายในราคาราว ๓ หมื่นรูปี เมื่อได้ทราบโครงการย่อๆ แล้ว ก็ได้กลับไปพักอยู่ที่พระเจดีย์ตามเคย

ต่อมาได้นำความเรื่องนี้ไปหารือเอกอัครราชทูตไทย  ตอนนั้น พระมหิทธาฯ ได้ย้ายไปประจำประเทศอื่นแล้ว คงเหลืออยู่แต่ ม.ล.ปีกทิพย์ มาลากุล ดำรงตำแหน่งแทน จึงได้นำเรื่องนี้มาหารือ ม.ล.ปีกทิพย์ฯ กล่าวว่า เรื่องเช่นนี้ถ้าทำเป็นทางราชการได้จะดีมาก ทางทูตจะได้ช่วยเหลือได้เต็มที่ความเห็นทางฝ่ายคณะกรรมการก็อยากให้ทางไทยได้ช่วยเหลือ เพราะมีความประสงค์จะสร้างวัดให้เป็นแบบไทยทุกอย่าง ประธานกรรมการเป็นคนแก่อายุมาก เป็นที่เกรงขามของคนในสมัยก่อน เพราะในอดีตเคยเป็นนักการเมืองสำคัญคนหนึ่งของพม่า อายุประมาณ ๗๐ ปี เป็นอาจารย์ของตะขิ่นนุ นายกรัฐมนตรีของพม่า ในเรื่องนี้เราเองก็นึกว่าคงสำเร็จ ได้ไปติดต่อกับคนไทยซึ่งอยู่ในเมืองย่างกุ้งหลายสิบคน ต่างคนต่างพากันดีอกดีใจ

อยู่ต่อมาไม่นานก็ได้รับจดหมายจากกรุงเทพฯ บ่อยๆ ได้ทราบข่าวเรื่องไม่สู้ดีบางเรื่องเกี่ยวถึงนายบุญช่วย ศุภสีห์ จึงได้คิดกลับประเทศไทยเพื่อที่จะได้มาติดต่อกับคณะรัฐบาลไทยและคณะสงฆ์ไทยให้ทราบเรื่องด้วย

เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๔ ได้โดยสารเครื่องบินจากสนามบินย่างกุ้งถึงกรุงเทพฯ ตอนนี้พระที่ได้ติดตามไปได้กลับมาก่อนหลายวัน ได้มาพักอยู่กับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) ที่วัดบรมนิวาส และได้นำเรื่องการสร้างวัดที่เมืองย่างกุ้งกราบเรียน สมเด็จฯ ได้ตรึกตรองอยู่เป็นเวลาหลายวัน เกือบๆ จะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปประเทศพม่าอีก ก็เผอิญมีเรื่องบางอย่างแทรกซึมเข้ามา คือมีพระสงฆ์บางรูปเมื่อได้ทราบข่าวว่าจะตั้งวัดขึ้นในเมืองย่างกุ้ง ก็ได้แสดงตัวติดต่อเป็นเจ้ากี้เจ้าการ เขาแสดงความหมายว่า “พระอาจารย์ลีทำไม่สำเร็จ นอกจากเขา” เรื่องนี้ทางเมืองย่างกุ้งได้มีจดหมายมาบอกข่าวอย่างนี้ เขาจะรู้ได้อย่างไรไม่ทราบ พระองค์ที่แสดงตัวเป็นเจ้ากี้เจ้าการนี้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ทรงสมณศักดิ์ ซึ่งอยู่ในพระนครนี้เอง เมื่อได้รับทราบเรื่องราวเช่นนี้ เราก็ปล่อยมือ ไม่เกี่ยวข้อง โดยได้มีจดหมายไปถึงเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศพม่าขอถอนเรื่องนี้ ในที่สุดเรื่องนี้เป็นอันยุติกันไป จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ไม่เห็นมีใครไปก่อสร้างขึ้น

เมื่อเหตุการณ์ได้เป็นไปดังที่กล่าวมาแล้ว จึงได้ออกเดินทางจากวัดบรมนิวาส กลับไปเยี่ยมญาติโยมที่จังหวัดจันทบุรี ระหว่างนี้ได้มีคนบางจำพวกซึ่งอิจฉาริษยาพยาบาทเรา ได้หาเรื่องทำลายชื่อเสียงเกียรติคุณทุกวิถีทาง มีอยู่มากมายหลายคน แต่จักไม่ขอกล่าวชี้ตัว เพราะถือเสียว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้ช่วยสร้างความดีให้แก่เรา เรายิ่งมีมานะสูงขึ้นทุกทีๆ

อยู่มาจวนจะเข้าพรรษาก็ได้เดินทางจากจังหวัดจันทบุรี กลับมาพักอยู่ที่วัดบรมนิวาสตามเคย แล้วได้เดินทางออกไปอบรมญาติโยมที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม ต่อจากนั้นได้ไปพักอยู่ที่วัดประชุมนารี จังหวัดราชบุรี ที่วัดนี้มีเจ้าจอมทรัพย์วัฒนาเป็นประธาน ได้ไปนิมนต์มา ได้ไปพักอยู่ที่วัดนี้หลายวัน ได้มีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง  

เช้าวันหนึ่งมีหญิงคนหนึ่งอายุประมาณ ๒๐ ปี เข้ามานั่งอยู่หน้าธรรมาสน์สักครู่หนึ่งก็เกิดอาการชัก จึงได้ทำน้ำมนต์รดให้ ไล่เลียงถามดูได้ความว่ามีปิศาจตนหนึ่งเป็นผู้ชายได้ถูกฆ่าตายโหง ได้อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ แล้วได้เข้าสิงคน จนเกิดมีโรคขึ้นในตัว เป็นปุ่มแผลโตเท่านิ้วหัวแม่มือ พอทราบเรื่องราวอย่างนี้ เราก็ไม่มียาอะไร เวลานั้นกำลังนั่งฉันหมากอยู่ จึงเอาชานหมากขว้างไปให้เขากิน อาการที่เป็นปุ่มแผลในตัวก็หายไป ได้ปรากฏเหตุการณ์อย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง และมีคนเห็นอยู่หลายคนด้วยกัน

อยู่มาวันหนึ่ง จวนๆ จะออกเดินทาง มีหญิงคนหนึ่งชื่อนางสมร หลานสาวนางเง็กที่อยู่กรุงเทพฯ เคยบวชเป็นชี สึกออกไปมีสามีอยู่ที่ราชบุรี อายุประมาณ ๔๐ ปี สามีเป็นอดีตผู้พิพากษา มีบุตรชาย ๑ คน อายุ ๑๕ ปี คนๆ นี้นับถือเรามาก ไปคราวไหนก็ไปหาทุกที วันนั้นเวลาประมาณ ๕ โมงเย็น นางสมรได้นำดอกไม้ธูปเทียนไปถวาย จึงได้พูดถามขึ้นคำหนึ่งว่า “แม่สมรต้องการอะไร” เขาตอบว่า “จะมาขอลูกจากหลวงพ่อ” เจ้าของเองได้ยินแล้วรู้สึกใจไม่ค่อยดี เพราะมีคนน้อยและแกก็พูดเบาๆ เสียด้วย เลยพูดออกมาว่า “อย่าเพิ่งพูดกัน” เพราะนึกคิดไปถึงเหตุการณ์ข้างหน้าว่า ถ้าเกิดมีความจริงขึ้นเราก็แย่ ฉะนั้น เรื่องนี้จึงขอเปิดเผยความจริงให้ทราบทั่วกันว่าเป็นอย่างไร

ถึงเวลาประมาณ ๑ ทุ่มเศษ ได้มีญาติโยมมาประชุมกันบนศาลาประมาณ ๑๐๐ คนเศษ แม่สมรมานั่งอยู่ใกล้ๆ ข้างธรรมาสน์ พอให้ศีลแสดงธรรมะอบรมจิตใจเพื่อสร้างบุญสร้างกุศลสร้างบารมีเสร็จแล้ว แม่สมรก็พูดขึ้นดังๆ ว่า “อะไรๆ ฉันไม่อยากได้ทั้งนั้น ฉันอยากได้แต่ลูก จะขอลูกจากหลวงพ่อ” เราจึงพูดกับแกว่า “ไม่เป็นไร หลวงพ่อจะให้” ที่ตอบดังนี้เพราะเคยทราบเรื่องในพระสูตรอยู่บ้าง จึงได้พูดเป็นทีเล่นๆ ว่า “ขอให้ตั้งใจ ทำจิตให้ดีในวันนี้ ฉันจะอธิษฐานอาราธนาให้เทวดาเอาลูกมาให้”  เมื่อแกนั่งสมาธิเลิกแล้ว แกก็บอกว่า “รู้สึสบายใจ ดีใจ เคยนั่งมาหลายหน ไม่เหมือนวันนี้” จึงบอกว่า “นั่นจะสำเร็จละ”

พอวันรุ่งขึ้น ได้ออกเดินทางจากจังหวัดราชบุรี โดยทางรถไฟไปจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขุนทัศนวิภาคเป็นศิษย์ติดตามไป ได้ไปพักอยู่ที่ป่าช้าข้างสถานีปราณบุรีฯ ๑ คืน  ตื่นเช้าให้ขุนทัศน์ฯ ไปติดต่อซื้อตั๋วรถไฟ ขุนทัศน์ฯ มีเงินอยู่ ๑๒๐ บาท สมัยหลังสงครามใช้ธนบัตรที่พิมพ์จากอเมริกา ใบละ ๑๐๐ บาท และใบละ ๒๐ บาทเหมือนกัน ได้ตั๋วมาแล้วใบละ ๑๐๐ บาทหายไป เพราะเข้าใจว่าใบละ ๑๐๐ บาท เป็นใบละ ๒๐ บาท จึงได้ส่งให้คนขายตั๋วไป ขุนทัศน์ฯ จะกลับไปที่สถานีอีกเพื่อทวงคืน แต่ได้พูดห้ามว่า “เราอย่าโง่ไป อายเขา”  ขุนทัศน์ มีความเสียใจคิดอยากจะกลับบ้าน จึงได้พูดปลอบใจไว้  ป่าช้าที่พักนี้อยู่บนเนินสูง เป็นป่าเขาดิน เขาว่าที่นั่นคนอยู่ไม่ได้ ผีดุ ได้พักอยู่ ๑ คืน ก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์อันใด

ต่อจากนั้นได้ออกเดินทางโดยรถไฟจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปพักอยู่ที่เนินดินเขาสูง ข้างสถานีสุราษฎร์ธานี ตกเวลาค่ำได้มีคนมาสนทนาด้วย ได้พบคนสำคัญ ๒ คน ชื่อนายพ่วงและนายผาด คนทั้งสองได้เข้ามาหาแล้วเปิดเผยความลับให้ฟังว่า “บ้านผมอยู่จังหวัดนครปฐม แต่ก่อนเคยเป็นคนร้ายชั้นเสือ  เคยฆ่าคนตายหลายศพ ครั้งสุดท้ายได้ฆ่ายายแก่คนหนึ่งตายคาที่ เพราะมีคนบอกว่ายายแก่คนนี้มีเงิน ๔,๐๐๐ บาทอยู่ใต้หมอน จึงได้ลอบขึ้นไปฟันคอยายแก่ ค้นใต้หมอนได้เงินเพียง ๔๐ บาท ตั้งแต่วันนั้นมาก็ใจเสีย คิดเลิกทำการโจรกรรม ถึงกระนั้นก็ยังรู้สึกเสียวลูกปืน ขอให้หลวงพ่อช่วยหาเครื่องป้องกันให้ด้วย” จึงพูดว่า “ถ้าโยมเว้นได้จริงจะให้ของดี จะไม่ให้ตายด้วยลูกปืน” แกก็ปฏิญาณสาบานว่า “ผมเลิกแน่” จึงได้เขียนคาถาให้แกภาวนาประจำตัว

พอวันรุ่งขึ้นแกมาหาอีก แล้วเล่าว่าเวลานี้น้องชายกำลังต่อสู้กับตำรวจอยู่ที่อำเภอ นอกเขตจังหวัด มีพรรคพวก ๙ คน ที่ตำรวจจับตัวไว้ได้ก็มี แต่ขณะนี้ยังจับตัวน้องชายไม่ได้ เรื่องนี้เกรงจะเกี่ยวพันมาถึงตัวด้วย จะให้ทำอย่างไรดี จึงได้แนะนำว่าให้โยมรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจโดยด่วน แล้วให้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจออกติดตาม แกได้ปฏิบัติตามคำแนะนำทุกอย่าง ต่อมาวันหลังปรากฏว่าพวกปล้นได้ยอมจำนนแก่ตำรวจทั้งหมด นายพ่วงเป็นผู้ประกันตัวน้องชายออกมาได้ ในที่สุดเมื่อคดีถึงศาลพวกปล้นรับสารภาพหมดทุกคน ศาลตัดสินให้จำคุก แต่เพราะรับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 มิถุนายน 2564 16:19:51 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 16 มิถุนายน 2564 16:08:02 »




การที่มาพักอยู่ที่นี่ไม่สู้สบายใจนัก เพราะมักจะมีคนไม่ดีมาติดต่ออยู่เสมอ ที่ทำไปล้วนแต่เป็นเรื่องดี ถึงกระนั้นก็ยังหวาดว่าคนอื่นจะเข้าใจผิดว่าเราช่วยโจร จึงได้รีบออกเดินทางต่อไปยังอำเภอทุ่งสง แล้วไปนมัสการพระบรมธาตุที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนนี้ขุนทัศน์ ได้ขอลากลับกรุงเทพฯ เขาได้ซื้อตั๋วรถไฟให้แล้วส่งขึ้นรถไฟให้เดินทางไปคนเดียว ตอนเย็นได้เดินทางไปถึงองค์พระเจดีย์จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พักอยู่ในวัดพระมหาธาตุ มีผู้คนเลื่อมใสในการปฏิบัติ พระองค์หนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนกันและอยู่ที่วัดนี้ก็สนใจ จึงได้อยู่อบรมญาติโยมพระเณรพอสมควร แล้วได้ออกเดินทางต่อไปยังจังหวัดสงขลา เมื่อถึงอำเภอหาดใหญ่ได้พักอยู่ที่ป่าช้าปักกริม ซึ่งเป็นที่รกรุงรังและเงียบสงัด พักอยู่ไม่กี่วันพระมหาแก้วเพื่อนของเราได้มาติดตาม พบกันตรงนั้น ได้พักอยู่พอสมควร แล้วก็ได้ออกเดินทางวิเวกไปตามตำบลต่างๆ

ในปีนี้ได้อยู่จำพรรษาที่วัดควนมีด ได้ทำการอบรมพระเณร ญาติโยมทางจิตใจแทบทุกคืน มีการแสดงธรรมะเกือบทุกคืน เมื่อทอดกฐินเสร็จออกพรรษาแล้ว ได้เดินทางกลับมาพักที่เขาควนจง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งอยู่ใกล้คลองเรียน อยู่มาวันหนึ่งได้เห็นญาติโยมไหลหลั่งกันมามากมายเป็นเวลาหลายวัน จึงได้สอบถามดูได้ความว่า เขาจะมาดูงูใหญ่รัดผู้หญิงที่เขาควนจง เขาลือกันว่ามีงูใหญ่หงอนแดง รัดผู้หญิงไว้บนยอดเขา ไม่ถึงเวลาไม่ยอมปล่อย เมื่อชาวบ้านได้ทราบข่าวแปลกประหลาดอย่างนี้จึงพากันแตกตื่นมาดูพลุกพล่านอยู่ในบริเวณใกล้ที่เราพักอยู่ แต่ในหมู่บ้านที่เราไปพักอยู่ไม่ปรากฏว่ามีใครได้ยินข่าวนี้ เป็นเรื่องที่น่าขบขันอย่างยิ่ง พักอยู่ที่นี่พอสมควรแล้วได้ออกเดินทางไปพักที่บ้านทุ่งโพธิ์ ตลาดคลองแงะและอำเภอสะเดา เวลานั้นผู้บังคับกองสถานีตำรวจอำเภอสะเดาถูกโจรยิงตาย เนื่องในการต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ ขณะที่ไปพักอยู่นั้น  ตอนกลางวันมีคนมาหามาก แต่พอค่ำลงก็รีบพากันกลับ เขาบอกว่ากลัวพวกคอมมิวนิสต์มาปล้น  จึงได้พูดว่า “ขอให้โยมพากันมาฟังเทศน์เถิด รับรองว่าคืนนี้ไม่มี” พอตกค่ำเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม มีคนมาเต็มโบสถ์ จึงได้เทศน์อบรมญาติโยม

วันหลังก็กลับไปป่าช้าปักกริมอำเภอหาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่เคยพักมาก่อน เมื่อกลับมาพักครั้งนี้ชาวอำเภอหาดใหญ่พากันมาอบรมศีลธรรม จิตใจ และฟังเทศน์ทุกคืน

ต่อจากนี้ได้เดินทางกลับมาจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แวะเยี่ยมสำนักปฏิบัติที่อำเภอร่อนพิบูล แล้วเดินทางต่อไปพักที่อำเภอทุ่งสง นายสังเวชเสมียนแผนกศึกษาธิการได้เป็นศิษย์ติดตามมาด้วย ได้ไปพักอยู่ที่ถ้ำทะลุพอสมควรแล้ว ออกเดินทางต่อไปยังจังหวัดชุมพร จับรถไฟจากจังหวัดชุมพรถึงจังหวัดเพชรบุรี ถึงตอนนี้ได้ทราบว่าสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้มีจดหมายติดตามให้กลับ จึงได้เดินทางต่อไปจังหวัดราชบุรี พักที่วัดประชุมนารี หลวงอรรถฯ ผู้ว่าราชจังหวัดราชบุรีและนายอำเภอเมืองได้ไปตามตัวให้กลับกรุงเทพฯ เพราะสมเด็จฯ วัดบรมฯ ต้องการพบ  ระหว่างที่พักอยู่ที่วัดประชุมนารี ได้มีพระองค์หนึ่งถูกจับ มาพักอยู่ที่เขาแก่นจันทน์มีหญิงนุ่งขาว ๔-๕ คน ทราบว่ามาจากบ้านโป่ง เขาอยากมาพบเราแต่ไม่กล้าขึ้นมาหา เพราะพระกำลังมีคดี ไม่ใช่เรื่องของตัวแต่น่าเล่า คือเขาเล่าว่าพระองค์นั้นบอกว่านั่งเทศน์มาก ภาวนามาก เมื่อยขา ขอให้ชีนวดให้ ชีก็นวดให้จริงๆ เลยเกิดเหตุ สืบสวนดูแล้วเป็นพระไม่มีใบสุทธิ ทราบว่าทางการได้จับสึกไป

ระหว่างที่พักอยู่ที่ราชบุรี แม่สมรได้ออกมาหาแล้วบอกว่า “ฉันตั้งครรภ์ได้ ๒ เดือนกว่าแล้วหลวงพ่อ” เขาพูดต่อไปว่า “ขอถวายลูกแก่หลวงพ่อเดี๋ยวนี้เพราะเป็นลูกหลวงพ่อ ไม่ใช่ลูกคุณหลวง” สังเกตว่าเขาพูดจริงๆ จังๆ แต่เราเฉย  แต่แปลกใจว่าไม่เคยมีบุตรมาถึง ๑๕ ปีแล้ว ทำไมเป็นได้อย่างนั้น ต่อจากนั้นได้เดินทางกลับเข้าพระนคร พักที่วัดบรมนิวาส พอดีสมเด็จฯ อาพาธ จึงได้พยาบาลท่านพอสมควร

ระหว่างพักอยู่ที่วัดบรมนิวาสนี้ ได้มีผู้มาฝึกสมาธิกันมาก มีพวกธนบุรี พระนคร และลพบุรี วันหนึ่งปรากฏเหตุการณ์แปลก มีหญิงคนหนึ่ง ชื่อแม่ขอมคนลพบุรี ได้นำเอาพระธาตุมาถวาย ๓ องค์ จึงได้ถามแกว่า “เอามาจากไหน” ได้รับตอบว่า “ได้อาราธนาขอจากพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่บนหัวนอนของท่านพ่อนั้นเอง”

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระได้มาจากเชียงตุง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นพระของนายอุดมฯ มีเหตุการณ์แปลกประหลาดหลายอย่างเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ ตามที่นายอุดมฯ ได้เล่าให้ฟัง

ตอนนี้จะขอย้อนกล่าวถึงประวัติพระพุทธรูปองค์นี้ แต่เดิมมานายอุดมฯ เป็นคนไม่เชื่อพระ เป็นข้าราชการทำงานแผนกสื่อสารเกี่ยวกับวิทยุ ครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ติดตามกองทัพไทยไปเมืองเชียงตุง มีพลโทประพันธ์เป็นแม่ทัพ วันหนึ่งนายอุดมฯ ได้ไปพักอยู่ที่วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งกับพวกพลทหาร เวลาค่ำได้เอนหลังลงนอนยังไม่ทันหลับ ก็ได้เห็นแสงสว่างพุ่งจากหัวนอน นายอุดมฯ จึงได้รีบลุกขึ้นตรวจดูว่ามีอะไร ธรรมดาวิสัยของนายอุดมฯ ขณะนั้นถึงแม้จะได้อยู่ใกล้พระก็ไม่เคยกราบไหว้ วันนั้นเกิดแปลกประหลาดขึ้นในใจ ก็ยืดคอดูบนแท่นพระได้เห็นพระพุทธรูปสำริดดำองค์หนึ่งสูง ๑ คืบเศษ หน้าตักกว้างประมาณ ๓ นิ้วเศษ ดำใสเป็นเงาเหมือนมีคนขัดทุกวัน เมื่อเห็นเช่นนั้นก็รีบฉวยพระพุทธรูปองค์นั้นใส่กระเป๋า ตั้งแต่นายอุดมฯ ได้พระองค์นี้ไว้ ฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก มีคนนิยมช่วยเหลือ ชักจะเป็นผู้มีเงินใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย คือได้เงินจากชาวบ้านในถิ่นนั้นๆ เอง

ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้ง ๒ ได้สงบลง นายอุดมฯ ได้เดินทางกลับ ได้มาพักอยู่ริมฝั่งแม่จัน ในคืนวันนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ได้เข้าฝัน บอกกับนายอุดมฯ ว่า “อ้ายดมมึงจะเอากูข้ามไป กูไม่ไปกับมึง” นายอุดมฯ ก็ไม่สนใจ คิดว่าพระโลหะจะมีอำนาจอะไร ในที่สุดได้นำพระพุทธรูปองค์นั้นกลับไปจังหวัดจันทบุรี ตัวเองได้ลาออกจากราชการ ไปทำการค้าขาย ในระหว่างนี้ดูหน้านายอุดมฯ ดำลง ผอมลง ฐานะก็ฝืดเคืองลงทุกที

อยู่มาวันหนึ่งลูกเมียเกิดเจ็บป่วยไปตามๆ กัน รักษาอย่างไรก็ไม่หาย หลวงพ่อได้มาเข้าฝันอีกว่า “กูไม่ยินดีอยู่กับมึง มึงต้องเอากูไปส่งที่เก่าของกู” พอดีปีนั้นเรากำลังออกธุดงค์ไปจังหวัดปราจีนบุรี พักอยู่ที่เขาฉกรรจ์ ประมาณเดือนเมษายนได้ออกเดินทางข้ามดงทะลุ ถึงจังหวัดจันทบุรี  นายอุดมฯ ทราบข่าววิ่งไปหาพูดว่า  “ผมแย่หลวงพ่อ ลูกเจ็บเมียเจ็บ ยากจน พระพุทธรูปเข้าฝันว่าให้นำกลับไปส่งที่เดิม จะให้ผมทำอย่างไรดี”  จึงตอบว่า “หลวงพ่อท่านอยู่ป่า ชอบวิเวก เอามาไว้กับเราก็ได้”  นายอุดมฯ จึงนำพระพุทธรูปองค์นั้นมาให้ไว้ แต่จะฝากหรือถวายไม่ทราบชัด ก็ได้เก็บไว้บูชาตามธรรมดานับตั้งแต่บัดนั้นมา อาการป่วยของลูกเมียนายอุดมฯ ก็หายหมด  นายอุดมฯ จึงได้เดินทางมาอยู่จังหวัดพระนคร ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๕ เรื่องราวเกี่ยวแก่พระพุทธรูปองค์นี้ยังมีแปลกประหลาดอีกหลายอย่าง แต่ขอเล่าย่อๆ ไว้เพียงเท่านี้ก่อน

ต่อมาก็นึกสงสัยลังเลในเรื่องพระบรมธาตุว่าเป็นมาได้อย่างไร เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่เคยสนใจมาเลยตั้งแต่บวช แต่ก็ได้รับไว้จากแม่ขอมและเก็บไว้บูชา

กาลต่อมาได้ทราบว่าแม่ขอมได้พระบรมธาตุอีก แต่พระพุทธรูปองค์นี้เวลานั้นได้นำมาฝากไว้ที่วัดบรมนิวาสกุฎีรามแข ส่วนเราได้กราบลาสมเด็จฯ เดินทางไปจังหวัดลพบุรี ปีนั้นได้ทำงานวิสาขบูชาที่วัดมณีชลขันธ์ ในวันพฤหัสบดีกลางเดือน ๖ ในวันนั้นได้คิดขึ้นในใจว่า “พระบรมธาตุนี้ถ้าไม่ได้เห็นกับตาไม่ยอมเชื่อ เพราะจะจริงหรือไม่จริงก็ยังไม่ทราบ” จึงได้ตั้งสัตยาธิษฐานนั่งสมาธิตลอดสว่างและได้จัดตั้งพานไว้ ๔ พาน โดยทำการอาราธนาดังนี้

๑. ขออัญเชิญพระบรมธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ มี ธาตุหู ตา จมูก ปาก อันเป็นบ่อเกิดของรัศมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามีความจริงขอให้เสด็จมาในสถานที่บูชาในคืนนี้
๒. ขออัญเชิญพระธาตุของพระสารีบุตร ซึ่งเป็นพระสำคัญองค์หนึ่ง
๓. ขออัญเชิญพระธาตุของพระโมคคัลลาน์ ซึ่งเป็นผู้มีฤทธิ์เสมอพระพุทธองค์
๔. ขออัญเชิญพระธาตุของพระฉิมพลี ซึ่งเป็นผู้มีเมตตา จะไปไหนปลอดภัยทุกเมื่อ

พระธาตุทั้งหลายเหล่านี้ขอจงมาปรากฏถ้ามีความจริง ถ้าไม่เห็นปรากฏในคืนนี้ พระธาตุที่เขาถวายมาก็จะแจกจ่ายให้คนอื่นไปให้หมด ในคืนวันนั้นได้นั่งอดนอนอยู่ตลอดรุ่ง เวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. ได้เกิดความรู้สึกขึ้นในใจ มีแสงสว่างแดงๆ ได้วูบวาบไปตรงที่ตั้งพานบูชา พอดีรุ่งสว่างก็ได้ปรากฏพระธาตุต่างๆ มีอยู่ทุกภาชนะสถานที่นั้นนับตั้งแต่เวลาย่ำค่ำจนกระทั่งสว่าง ได้ใส่กุญแจปิดมิด ไม่มีใครสามารถเข้าไปได้เลย ตัวเราเองก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในที่นั้น  ฉะนั้น จึงเป็นของแปลกใจขึ้นเป็นครั้งแรกในชีวิต ก็รีบเก็บพระธาตุเหล่านั้นห่อใส่สำลีใส่ผอบติดตัวไว้ นับได้จำนวนดังนี้ คือ พระสารีบุตร ๓ องค์ พระฉิมพลี ๓ องค์ พระโมคคัลลาน์ ๒ องค์ พระบรมธาตุ ๗ องค์ เป็นสีแก้วผลึก สีดำ สีดำเจือเหลืองแก่ แต่ที่แม่ขอมเคยเอามาถวายไว้นั้นเป็นสีมุกดาหาร จึงได้ถือติดตัวไปภาคเหนือด้วย ระยะหลังจากนี้ได้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ขอสงวนไว้ก่อน ยังไม่ขอเปิดเผย

เวลาจวนเข้าพรรษาได้ออกเดินทางไปพักที่อำเภอแม่ริม ตั้งใจจะเดินทางเข้าป่าลึก และได้ออกเดินทางจากอำเภอแม่ริมถึงบ้านป่าตึงใช้เวลา ๑ วัน ต่อจากนั้นได้เดินทางเข้าดงลึก ไม่มีบ้านคนเลย ขึ้นเขาลงห้วยเข้าไปในดงใหญ่ ไปถึงที่นั่น บ่ายราวไม่เกิน ๔ โมงเย็น สถานที่นี้มีลูกศิษย์เคยไปจำพรรษา ปีนั้นได้จำพรรษาอยู่ที่นั่น เป็นหมู่บ้านยางและกะเหรี่ยงมีประมาณ ๖-๗ หลังคาเรือนไม่มีที่ราบ มีแต่ภูเขาทั้งนั้น ที่พักเป็นชานเขาเล็กๆ ห่างบ้านประมาณ ๒๐ เส้น มีทางน้ำไหล อากาศหนาวจัดทั้งกลางวันและกลางคืน ได้เดินทางไปถึงเป็นวัน ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ พอถึงวันอธิษฐานเข้าพรรษาก็มีอาการเริ่มป่วยเป็นไข้ ในสถานที่นี้กันดารที่สุด ชาวบ้านเป็นคนป่าคนดง อาหารเป็นพื้นในพรรษานี้ มีเกลือ พริก และข้าวเท่านั้น เนื้อและของคาวไม่มีใครนิยมกิน ในระหว่างจำพรรษา เดือน ๘ ข้างแรม มีอาการป่วยหนัก บางวันเกือบหมดความรู้สึกตัว

วันหนึ่งตอนเช้ามืดลุกขึ้นจะไปบิณฑบาตก็ไปไม่รอด มีอาการเป็นลมเวียนศีรษะหนาวจัด ตัวสั่นกระต๊อบไหวอยู่คนเดียว ลูกศิษย์ที่อยู่ด้วยก็ไปบิณฑบาตหมด พอรู้สึกอย่างนี้จึงได้ไปย่างไฟ รู้สึกค่อยยังชั่วขึ้น ได้ทรมานอยู่อย่างนี้เรื่อยมา ข้าวก็ฉันไม่ได้ ในพรรษานี้ ๓ เดือน ฉันจังหันนับไว้วันหนึ่งไม่เกิน ๑๐ คำ บางวันไม่ฉันเลย แต่รู้สึกกายเบา ใจเบา จิตดี ไม่หวั่นต่อการเจ็บ อาการเจ็บป่วยก็เริ่มหนักเข้ามา ระหว่างเดือน ๙ ขึ้น ๗ ค่ำ มีอาการไข้หนักมึนชาไปทั้งตัว เป็นลม เกิดสงสัยในชีวิตของตน จึงได้ลุกขึ้นเอาผ้าอังสะขาดๆ ห่อพระบรมธาตุในผอบแล้ววางไว้บนที่สูง ตั้งอธิษฐานว่า “ถ้าเป็นของศักดิ์สิทธิ์จริง ขอให้ปรากฏ ถ้าชีวิตจะตายขอให้หายสูญไปให้หมด” แล้วก็เข้าที่นอนสงบจิต

พอรุ่งสว่างก็ได้เห็นผอบพระธาตุกับอังสะกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง แต่ไม่ปรากฏว่าพระบรมธาตุสูญหาย ยังคงตกเรี่ยราดอยู่ในที่บูชา ก็นึกว่าคงไม่ตายในปีนี้ คงมีอาการเจ็บต่อไป

อยู่มาวันหนึ่ง มานึกถึงอารมณ์เก่าๆ ที่ได้ผ่านมา รู้สึกว่ามันเบื่อหน่าย จึงตั้งใจว่า “เราอยากได้สมบัติดีๆ ไปใช้สอยข้างหน้า ถ้าไม่สำเร็จไม่อยากออกจากป่า

๑. ขอให้สำเร็จในทางอิทธิฤทธิ์ ถ้าไม่เป็นไปได้ขอให้ถึงที่สุดภายใน ๗ วัน แม้ชีวิตจะสิ้นภายใน ๗ วัน ก็ขอถวาย
๒. สถานที่ใดเป็นที่สงัดพักผ่อนได้อย่างดี ขอให้เจ้าป่าผีดงมาชักจูงให้ไปอยู่ในที่นั้นให้จงได้”

เมื่อได้อธิษฐานเสร็จแล้วก็ได้นั่งสมาธิ ปรากฏนิมิตมีแสงสว่างเป็นถ้ำทะลุเขาขาด นึกในใจว่าถ้าเราไปในช่องนี้คงทะลุ พอนึกว่าเราจะไปเดี๋ยวนี้ ก็เกิดลมจัดตัวไหว ถึงต้องเอามือคว้าเสากระต๊อบ ก็เลยหยุดอยู่แค่นี้ ต่อจากนั้นการป่วยก็ทุเลาโดยลำดับ ในเวลากลางวันได้พาศิษย์คนหนึ่งไปหาฟืนก่อเตาเพื่อเผาถ่าน เพื่อจะได้อบอุ่นในเวลากลางคืน วันหลังเด็กพูดว่าคนป่วยพากันไปหาฟืนนี้มันเป็นเรื่องไม่ดี คนโบราณถือว่าหาฟืนมาเพื่อเผาตัวเอง เด็กคนนั้นชื่อเต๋ง เป็นคนบ้าๆ บอๆ เราฟังแล้วก็ไม่ติดใจหรือสนใจ เด็กชายเต๋งพูดว่า “ผมลำบากทุกวัน มีแต่ผีมาดึงแข้งดึงขาไม่ให้นอน” เราก็ไม่สนใจ

อยู่มาวันหนึ่งเวลาดึกสงัดอาการป่วยก็หนัก ได้ก่อไฟถ่านไว้รอบๆ ตัว พอหลับเคลิ้มไปครู่หนึ่ง มีหญิงคนหนึ่งแต่งกายสีขาว มีเด็ก ๒ คนเป็นหญิง ถือธงขาวเขียนหนังสือเป็นแถวยาวเป็นภาษาจีนได้เดินเข้ามาใกล้แล้วพูดว่า “ฉันเป็นราชินีแห่งเทพ ท่านมาอยู่นี่จะให้ท่านไหว้” เราไม่ยอมไหว้เพราะเราถือว่าเราเป็นพระ เขาก็ให้ไหว้ พูดกันหลายคำ เราก็ไม่ยอมไหว้ เขาก็ลงไปจากกระต๊อบเดินขึ้นยอดเขาหายไป ในคืนวันนั้นทำจิตภาวนาสบายดีตลอด

อยู่มาอีกวันหนึ่ง เดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำ เวลากลางวันตอนเช้ามืด เกิดลมกำเริบหน้ามืดเวียนศีรษะ ไม่สามารถลงไปใต้ถุนได้ ข้าวก็ไม่ฉัน พอตกสายบ่ายราว ๑ โมง ลุกนั่งตรงหน้าต่างกระต๊อบที่ปลูกอยู่เชิงเขา ตรงหน้าต่างเป็นห้วยมีน้ำไหล ใต้ถุนรอบๆ กระต๊อบเตียนสะอาด เพราะปัดกวาดทุกวัน ในวันนั้นปรากฏการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง

๑. รู้สึกเหม็นของโสโครกซึ่งไม่เคยเหม็นมาแต่ก่อน
๒. มีแมลงวันเขียวตัวใหญ่บินมาเกาะตรงหน้า มีกลิ่นเหม็น

จึงนึกว่าเราจะตายกระมัง นั่งสมาธิจนกระทั่งแมลงวันบินหนีไป กลิ่นเหม็นก็สูญไป ตอนนี้ชักสงสัยในชีวิต จึงอธิษฐานในจิตว่า ถ้าจะตายจริงขอให้ปรากฏการณ์โดยชัดแจ้ง ถ้าวาสนาบารมียังทำประโยชน์ได้ขอให้ปรากฏเหตุการณ์ พออธิษฐานแล้วนั่งสำรวมจิตหันไปทางตะวันตกตรงช่องหน้าต่าง ครู่หนึ่งมีนกเขาบินมา ๒ ตัวๆ ผู้บินมาทางใต้เสียงดังว้าด ลงยืนตรงหน้าต่าง อีกสักครู่หนึ่งมีตัวเมียบินมาทางเหนือแล้วกระพือปีกขันคูใส่กัน แสดงท่าเบิกบานห้าวหาญ อีกครู่หนึ่งหมอกเมฆที่เคยปกคลุมได้สว่างมีแดดจ้า นับตั้งแต่วันอยู่จำพรรษามา วันหนึ่งจะเห็นแสงแดดได้ไม่ถึง ๓๐ นาที ตลอดเวลา ๓ เดือนมืด มีหมอกปิดบังอยู่เป็นนิจ แต่วันนั้นแสงแดดส่องแสงสว่างไสว นกร้องสนั่นหวั่นไหว ใจก็เบิกบาน เลยนึกว่าเราไม่ตาย ต่อมาเวลากลางคืนวันหนึ่งจวนออกพรรษา ได้ออกไปเดินจงกรมทางทิศใต้ที่พักมีนิมิตปรากฏขึ้น เห็นตนเองกับช้างตัวหนึ่งซึ่งจมอยู่ในน้ำพลิกตัวไปมา บางคราวเราอยู่บน เขาอยู่ล่าง เราอยู่ล่างเขาอยู่บน ครู่หนึ่งได้ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งในนิมิต ได้มีแท่นธรรมาสน์ลอยมาในอากาศสูง ๓ วา สีแดงเรื่อ ปูผ้ายก สังเกตเป็นผ้าอินเดีย คล้ายว่าขอให้ท่านขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ ท่านปรารถนาอย่างใดจะสำเร็จ แต่ไม่มีคน เรานึกว่าเรื่องหลอกลวงไม่เกี่ยว แล้วภาพนั้นก็หายสูญไป

ต่อมาใกล้เวลาจะออกพรรษาเต็มที ได้ไปหัดเดินตามเชิงเขา รู้สึกว่าเหนื่อยเป็นลม หูอื้อ หน้ามืด ถ้าเป็นอย่างนี้ ออกพรรษาแล้วก็ยังออกจากเขาไม่ได้ ตั้งใจอธิษฐานว่าถ้ายังจะมีชีวิตอยู่เกี่ยวข้องกับมนุษย์อีกต่อไป ขอให้ออกจากเขาได้ ถ้าจะหมดการเกี่ยวข้อง จะได้เขียนหนังสือลา

อยู่มาเดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ออกพรรษารู้สึกว่าอาการป่วยหายเหลือไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ รุ่งขึ้นแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ โยมชาวบ้านป่าได้จัดหาบข้าวของมาส่งพร้อมด้วยร้องไห้อย่างน่าสงสารยิ่ง ในสถานที่นี้หนาวจัด แม้แต่เกลือในกระบอกถ้าปิดไม่แน่นก็ละลายเป็นน้ำหมด อาหารที่ฉันในพรรษานี้เป็นอาหารชาวป่า คือ หน่อไม้ ใบบอน รากบอน ต้มให้เละกวนให้เหลว เอาเกลือใส่ข้าวใส่ พริกขี้หนูตำใส่ทั้งก้านทั้งใบ เอาลงกวนในหม้อแกง กินอย่างนี้ตามภาษาพื้นบ้านของเขา ตั้งแต่บวชมาในชีวิต เรื่องอาหารพรรษานี้เป็นยอดความกันดาร พริกก็แปลกเวลากลืนลงเผ็ดถึงลำไส้ แต่ดูร่างกายชาวบ้านอ้วนใหญ่โต คนป่านึกว่าจะดำปี๋ กลายเป็นคนขาวอ้วน มีวัฒนธรรมดีน่าเลื่อมใส คือไม่มีการทะเลาะ ไม่เอะอะเสียงดังในหมู่บ้าน ไม่ยอมใช้ของในตลาด โดยมากใช้ของที่ทำขึ้นเอง ทำไร่เป็นอาชีพเพราะไม่มีพื้นที่แผ่นดินราบ

ออกพรรษาแล้วได้เดินทางกลับแม่ริม อาการป่วยก็มีหัวใจเต้นผิดธรรมดา ได้มาพักอยู่จังหวัดเชียงใหม่ โยมผู้มีอุปการะส่งข้าวของจากเชียงใหม่ไปถวายในป่านานๆ ครั้งหนึ่ง คนที่สนใจเป็นห่วงมากที่สุด คือ คุณนายชูศรี แม่แก้วรุน เมื่อกลับมาถึงเชียงใหม่เขาได้หายาหอมยาลมไปถวาย ได้พักอยู่ที่วัดสันติธรรมพอสมควรแล้ว ได้เดินทางมาพักที่จังหวัดลำปาง ไปพักอยู่ที่ถ้ำพระสบาย มีลูกศิษย์จำพรรษาที่นั่น

เมื่อมาพักตอนนี้มีอารมณ์อันหนึ่งเกิดขึ้นว่า ต่อไปข้างหน้านี้เราต้องไปกรุงเทพฯ สมเด็จฯ อาพาธหนัก เราจำเป็นต้องอยู่ ใจหนึ่งก็ไม่อยากกลับ  อยู่มาคืนหนึ่งได้อธิษฐานว่าเราจะกลับไปกรุงเทพฯ หรือจะไปไหน นั่งสมาธิจวนสว่างราวตี ๔ รู้สึกตัวว่าศีรษะขาด แต่ใจสว่างไสว ไม่กลัว ต่อจากนั้นอาการป่วยหายเกือบหมด ได้ออกเดินทางกลับกรุงเทพฯ พักที่วัดบรมนิวาส ขณะนั้น สมเด็จฯ อาพาธมาก จึงสั่งว่า “ท่านต้องอยู่กับเราจนตาย ถ้าเราไม่ตายหนีไม่ได้ จะมาเฝ้าหรือไม่เฝ้าปฏิบัติก็ตาม ขอให้รู้ว่าอยู่กับเรา” ในที่สุดเรารับปากว่าจะอยู่ปฏิบัติ บางคราวนึกว่าเรามีกรรมอะไร จึงต้องถูกกักขังอย่างนี้ ก็รู้สึกถึงกรรมเก่าที่ผ่านมาคือ ขังนกเขา ที่ได้เคยเคลิ้มฝันไปในคราวอยู่จังหวัดจันทบุรี เมื่อเป็นเช่นนี้เราต้องอยู่

เมื่อตั้งใจจะอยู่เช่นนั้นแล้ว สมเด็จฯ ขอให้ขึ้นไปฝึกนั่งสมาธิให้ท่านทุกวัน ได้แนะนำให้ท่านปฏิบัติทางอานาปาน์ ได้สนทนากันหลายเรื่องในขณะที่นั่งอยู่ อยู่มาวันหนึ่งท่านบอกว่า “การนั่งสมาธิ เราไม่เคยคิดเลยว่าจะมีประโยชน์อย่างนี้ แต่เรามีข้อสงสัยอยู่อย่างหนึ่งว่า การทำจิตให้เข้าสู่ภวังค์เป็นสมาธินี้ มิใช่ตัวภพตัวชาติหรือ” เราได้กราบเรียนถวายว่า “สมาธิ คือตัวภพตัวชาตินั้นเอง” ท่านจึงถามขึ้นอีกว่า “ธรรมะที่สอนให้ปฏิบัตินั้นก็เพื่อทำลายภพชาติ แต่ทำไมเรากลับมาเป็นผู้สร้างภพชาติ” จึงได้ตอบท่านว่า “ถ้าไม่ทำจิตให้เป็นภพเสียก่อน ก็จะไม่มีวิชชา เพราะวิชชาเกิดจากภพ จึงจะทำลายภพได้ นี้คือภพน้อยเรียกว่า “อุปติกะภพ” กำเนิดขึ้นในชั่วขณะจิต ส่วนชาติก็เช่นเดียวกัน การทำจิตให้สงบเป็นสมาธิเกิดขึ้นในดวงจิตในชั่วขณะยาวๆ อันนั้นเรียกว่า “ชาติ” เช่นเรานั่งสมาธิสงบไปนานๆ จนเป็นฌาน มีองค์ประกอบขึ้นถึง ๕ อย่าง อันนั้นคือ “ชาติ” ถ้าไม่ทำจิตให้เป็นอย่างนี้ก็ไม่มีวิชชาความรู้อันใดเกิดขึ้นในตัว เมื่อวิชชาเกิดขึ้นไม่ได้ จะไปละอวิชชาได้อย่างไร ก็เป็นของยาก  นักศึกษาธรรมะโดยมาก เกล้าฯ  เห็นว่ายังเข้าใจผิดกันอยู่มาก มีอะไรโผล่ขึ้นมาก็คิดจะหักหาญทำลายล้างไปเลย ความคิดเห็นเช่นนั้น เกล้าฯ เห็นว่าไม่ถูก เปรียบเหมือนคนกินไข่ไก่ บางคนอาจไม่รู้จักตัวไก่ก็ได้ ชื่อว่าเป็นผู้ขาดวิชา พอได้ไข่มาก็จะทุบกินเสียหมด ถ้าคนนั้นเข้าใจวิธีฟักไข่ สมมติว่าได้ไข่มา ๑๐ ฟอง กินเสีย ๕ ฟอง เอาไปฟักให้เป็นตัวไก่เสีย ๕ ฟอง ถ้าหากมันเกิดเป็นลูกไก่ ขณะที่ฟักอยู่นั้นเปรียบเหมือน “ภพ” ขณะที่ลูกไก่พ้นจากเปลือกไข่ เรียกว่า “ชาติ” ถ้าลูกไก่ออกจากไข่ได้ ๕ ตัว ต่อไปหลายๆ ปีเข้า  เกล้าฯ ก็เห็นว่าคนที่เคยซื้อไข่ไก่มาบริโภค จะต้องได้ประโยชน์จากไก่ของเขา ได้กินไข่โดยไม่ต้องซื้อ เมื่อเหลือกินก็ได้ขายเป็นสินค้า ลักษณะเช่นนี้คนนั้นก็รอดตัวในการใช้จ่ายฉันใด ในการบำเพ็ญสมาธิก็ฉันนั้น ผู้ที่จะพ้นจากภพก็ต้องเข้าไปอยู่ในภพ ผู้ที่จะพ้นจากชาติ ต้องรู้เรื่องเกิดของตัวจึงจะเป็นไปได้”

เมื่อได้กราบเรียนท่านอย่างนี้ท่านก็เข้าใจ แสดงความเลื่อมใสปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง ท่านจึงได้พูดว่า “คำพูดของคุณแปลกจากพระกรรมฐานองค์อื่นพูด แล้วแม้เราจะทำไม่ได้ไม่ถึง ก็เข้าใจได้ชัดแจ้ง ไม่สงสัย พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ ที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับเรา เราก็ไม่ได้ประโยชน์เหมือนคุณมาอยู่กับเราๆ รู้สึกมีสิ่งแปลกใจหลายอย่างขณะนั่ง”

ต่อจากนั้นรู้สึกว่าท่านสนใจนั่งสมาธิได้นานๆ บางวันนั่งได้ตั้ง ๒ ชั่วโมง ขณะที่ท่านนั่งท่านก็ให้เราพูดธรรมะให้ฟังประกอบไปด้วย เมื่อจิตของท่านเป็นไปตามคำพูดของเรา วันหนึ่งท่านได้พูดขึ้นว่า “เราได้บวชมาเป็นเวลานาน ไม่เคยเกิดความรู้สึกอย่างนี้เลย”

หลังจากนี้ เราไม่เคยพูดธรรมะให้ท่านฟังยืดยาวอย่างนี้อีกเลย พอเอ่ยขึ้นเพียง ๒-๓ คำ ท่านก็รู้ในความหมาย ส่วนตัวเราก็ดีใจ วันหนึ่งท่านได้กล่าวขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า “นักศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมะ ต่างมาติดข้องกันอยู่แค่ความคิดเห็นนี้เอง จึงไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จลุล่วงไปได้ ถ้าทุกคนมีความคิดเห็นถูกต้อง การปฏิบัตินั้นเป็นเหตุไม่เหลือวิสัย”

ในระหว่างที่อยู่จำพรรษากับท่าน ก็รู้สึกว่าเบาใจในการที่จะต้องชี้แจงเหตุผล ท่านได้บอกเราว่า “แต่ก่อนเราไม่เคยนึกว่า การทำสมาธิเป็นของจำเป็น”

เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านได้รับสั่งอีกว่า “พระเณรก็ดี ญาติโยมก็ดี ประโยชน์ยังไม่พอ ขอให้คุณช่วยหาโอกาสอบรมให้ด้วย”

ต่อจากนั้นท่านได้สั่งพระเถระผู้ใหญ่ในวัดให้ทราบความประสงค์จึงได้เกิดมีการอบรมกันขึ้นที่ศาลาอุรุพงษ์ ในปี พ.ศ.๒๔๙๕ ได้มีญาติโยม พระ เณร หลายวัดมาร่วมรับการอบรมด้วย คุณท้าวสัตยานุรักษ์ก็ได้ออกมาพักอยู่กุฏิเนกขัมปฏิบัติจิตใจได้ผลดี มีความรู้เกิดในจิตแปลกประหลาด จนกระทั่งยอมเสียชีวิตอยู่ที่วัดบรมนิวาส

พอออกพรรษาแล้วได้ลาท่านไปเที่ยวต่างจังหวัด เพราะอาการของสมเด็จฯ ค่อยทุเลาลง กลับมาอยู่วัดบรมฯ ในปีที่ ๒ ได้เข้ามาทำวิสาขบูชา ในวันนั้น ได้เข้านั่งในโบสถ์ทำสมาธิ ได้ปรากฏเหตุการณ์อีกคือเห็นพระบรมธาตุเสด็จ เพราะคืนนั้นได้นึกว่า เราตาลูกเล็ก อยากได้ตาโตๆ มองทางไกลๆ ได้ร้อยเส้นพันวา หูเราเล็ก อยากได้หูโตๆ ฟังได้รอบโลก ปากเราเล็ก อยากได้กว้าง เทศน์กัณฑ์เดียวให้ก้องอยู่ ๕ วัน ๕ คืน นึกอย่างนี้จึงตั้งใจปฏิบัติตนเองในอาการ ๓ อย่าง คือ

๑. ปากใหญ่ คืออย่ากินมาก พูดมาก ในวันสำคัญ
๒. หูอยากโต คือ อย่าไปสนใจฟังเรื่องราวที่ไม่เป็นสาระ ตัดปากอดข้าว ตัดหู อย่าไปรับรู้อะไรหมด
๓. ตาโต คืออย่าเห็นแก่นอน

เมื่อนึกอย่างนี้ จึงไม่ยอมนอนในวันวิสาขะ ประมาณตี ๕ เศษ ได้พระบรมธาตุหลายองค์ที่โบสถ์วัดบรมนิวาส

ต่อมาได้อยู่จำพรรษากับสมเด็จฯ อีก ปีนี้ญาติโยมแตกตื่นสนใจมากกว่าปีก่อน แต่ปรากฏมีเหตุไม่ดีเข้าแทรก เพราะมีพระบางองค์เกิดอิจฉา คอยหาเรื่องราวตัดรอนทำร้ายให้เสื่อมเสีย แต่ไม่อยากออกนามในที่นี้ ใครอยากทราบรายละเอียดขอให้ติดตามไปถามท้าวสัตยานุรักษ์หรือสมเด็จฯ

วันหนึ่งตอนค่ำ ๑ ทุ่ม มีพระองค์หนึ่งชื่อพระครูปลัดเทียนเข้าไปหาในกุฏิ พูดค่อยๆ ว่า “อาจารย์อย่าน้อยใจ ผมสนับสนุนอาจารย์ทุกอย่าง”  ตอบว่า “สาธุ มีเรื่องอะไรขอให้ทราบ ไม่เคยคิดน้อยใจเสียใจ” ท่านจึงบอกความจริงให้ทราบทุกอย่างว่า เรื่องนี้รู้ถึงสมเด็จฯ แล้ว ถ้าสมเด็จฯ สงสัยคงเรียกตัวมาถาม ถ้าเรียกเมื่อไรให้ไปบอกผม ผมรู้เรื่องของอาจารย์หมดแล้ว” ในที่สุดสมเด็จฯ ก็ไม่เคยพูดสักคำ ไม่เคยถามสักอย่าง มีแต่สนทนาธรรมะเป็นนิจ ได้มีบัตรสนเท่ห์เกิดขึ้นมีใจความว่า “พระครูธรรมสารชอบแต่งคัมภีร์ พระอาจารย์ลีชอบคุยกับแม่ออก มหาเปรมหัวหงอกอยากเป็นสมภาร หลวงตาปานขี้คุยธรรมะ” หนังสือสนเท่ห์ฉบับนี้ พระครูธรรมสารได้ถูกซักไซ้เกือบแย่ คือหาว่าพระครูเป็นคนด่าเรา ในที่สุดเราไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลย ดูเหตุการณ์ต่างๆ รู้สึกไม่เหมาะสมหลายเรื่อง แต่เราไม่สนใจ

พอออกพรรษาแล้ววันหนึ่ง มหาณรงค์ได้มาเยี่ยมสมเด็จฯ แล้วลงมาขอจดหลักฐานจากใบสุทธิ เสร็จแล้วไปเรียนสมเด็จฯ ว่าจะขอสมณศักดิ์ให้เป็นพระครู ซึ่งสำนักงานมหามกุฎได้ทาบทามมา  สมเด็จฯ ได้เรียกตัวไปถามว่า “เขาว่าอย่างนี้ เราว่าอย่างไร” จึงตอบว่า “เกล้าฯ เป็นพระ ไม่จำเป็นไม่อยากเกี่ยวข้องในเรื่องนี้แต่ไหนแต่ไรมา นึกถึงแต่การสร้างความดีให้แก่หมู่คณะเท่านั้น” ท่านจึงพูดว่า “เราจะตอบเขาเอง” ต่อมาท่านได้เล่าคำตอบให้ฟังว่า “พระอาจารย์ลีนี้เธอมาอยู่กับเรา เพราะเราเป็นคนเรียกตัวมา เธอมาอยู่ด้วยความเคารพนับถือเรา พวกท่านจะมาตั้งสมณศักดิ์ให้เธอ เราถือว่าจะมาไล่พระอาจารย์ลีนี้หนีไปจากเรา” ท่านว่าท่านจะตอบอย่างนี้ เราก็ “สาธุ” พอใจ ในที่สุดก็ยกเลิกกันไปในปีนั้น

ต่อมาออกพรรษา สมเด็จฯ บรรเทาป่วย ก็ได้กราบลาเดินทางออกไปวิเวกอีกตามเคย ปีนี้เป็นปีครบรอบ ๑๐๐ ปี ในการที่ได้สร้างวัดสุปัฏวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี  สมเด็จฯ ได้รับสั่งว่า “งานนี้ให้คุณขึ้นไปช่วยเขา ฉันจะให้พระบรมธาตุที่เธอถวายไปเป็นเครื่องระลึกของวัดด้วย” พูดแล้วท่านให้ตรวจดูพระบรมธาตุบนที่บูชาซึ่งอยู่เบื้องบนศีรษะท่าน ปรากฏว่ามีพระบรมธาตุเสด็จมาอยู่ในครอบแก้วเป็นจำนวน ๔๐ กว่าองค์ จึงได้ยกมาถวายท่านๆ รับสั่งว่า “แปลกๆ ตั้งแต่เราบวชมาไม่เคยปรากฏอย่างนี้ จึงให้คัดเลือกเอาของเราและของคุณไปด้วย” เมื่อได้พูดสั่งอย่างนี้ ก็ได้ตั้งใจไปฉลองพระคุณท่าน

งานสมโภชวัดสุปัฏฯ ครั้งนี้ได้กลายเป็นงานใหญ่โตขึ้น ทางราชการได้มอบเงินให้ก้อนหนึ่ง เพื่อเป็นการฉลองวัดสุปัฏฯ ครั้งนี้ได้กำหนดการออกเดินทางจากจังหวัดพระนคร ในวันที่ ๑๘ มีนาคม  ในหมายกำหนดการมี จอมพลผิน ชุณหวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และพลโท หลวงสวัสดิ์ฯ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน ก็ได้ร่วมไปในงานนี้

วันหนึ่งได้เดินทางไปจังหวัดลพบุรี แล้วได้ทราบข่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงวันกำหนดการ จึงได้รีบกลับมาจังหวัดพระนคร เมื่อมาถึงสมเด็จฯ ได้เรียกตัวไปหาว่า “เขาเปลี่ยนแปลงกำหนดวันเดินทางแล้ว ให้คุณออกเดินทางไปตามขบวนเขา ฉันจะมอบพระบรมธาตุไปให้ เป็นภาระของตัว” ส่วนตัวเองไม่ได้พูดว่าอย่างไร ในที่สุดกลับมาตรองดูเหตุการณ์ที่กุฏิแล้ว เราจะทำตามไม่ได้ จึงได้กราบเรียนท่านว่า “เกล้าฯ ไปไม่ได้ เพราะใบกำหนดการซึ่งกระทรวงได้กำหนดขึ้นเป็นตราครุฑว่า วันที่ ๑๗ จะตั้งให้ประชาชนชม มาบัดนี้ล้มโครงการหมด เกล้าฯ แจกใบกำหนดการไปแล้ว วันที่ ๑๗ คงมีคนมามาก เมื่อเกล้าฯ ไปเสียก่อนก็ต้องถูกตำหนิ เหตุนี้เกล้าฯ จึงไม่ไป” พระผู้ใหญ่ต่างก็จะไม่ไป คือนายเชาวน์ฯ เป็นคนก่อเหตุ ไม่ได้แจ้งให้คณะสงฆ์ทราบ คือเรื่องมีว่า จอมพลผินฯ ได้ปรารภว่า เราค่อยๆ เดินทางไปพักที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเปิดโอกาสให้คณะทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพ่อค้า ประชาชนได้มีโอกาสนมัสการพระบรมธาตุเสีย ๑ คืนก่อน เหตุนี้กำหนดการจึงผิดไป

ในที่สุด ในกระบวนแรกก็ไม่ได้ไปด้วย เพราะท่านสั่งว่า “ให้คุณอยู่  ถ้ามีคนมาก็ให้เอาพระบรมธาตุให้ชมที่ศาลาก็แล้วกัน” เป็นอันตกลงกันตามท่านสั่ง  วันรุ่งขึ้นได้จัดพระบรมธาตุสีมุกดาหาร ๓ องค์ โตกว่าเมล็ดผักกาดไปใส่ภาชนะแก้วให้ญาติโยมชมที่ศาลาอุรุพงษ์ คนนั้นคนนี้ก็อยากดูเพราะไม่เคยเห็น พอเปิดสำลีออกเห็น ๓ องค์ คนนั้นก็แหย่คนนี้ก็หยิบ เลยหายไป ๒ องค์เหลือเพียง ๑ องค์ พอถึงวันที่ ๑๘ ก็ได้ขึ้นรถด่วนไปจังหวัดอุบลราชธานี มีคนติดตามไปรวม๑๔ คน

พอไปถึงจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ก็ได้ไปทำพิธีฉลองสมโภชพร้อมทั้งฝังศิลาฤกษ์ตึกมหาเถระที่จะสร้างขึ้นในวัดสุปัฏฯ อยู่มาคืนหนึ่ง ได้มีปรากฏการณ์ขึ้นในเวลาประมาณ ๔ ทุ่มเศษ กำลังนั่งสมาธิอยู่ในโบสถ์ เวลานั่งหลับตาได้บังเกิดแสงวาบๆ ขึ้นเหมือนแสงนีออน เปิดๆ ดับๆ ต่างคนต่างพากันลืมตาขึ้น ก็ปรากฏว่ามีคนเก็บพระบรมธาตุได้ ๒-๓ คน พอดึกเข้าก็มีปริมาณมากเข้าทุกที มีคนนั่งอยู่ประมาณ ๕๐ คน ชักให้เกิดความสงสัยและฉงนสนเท่ห์แก่คนภายในและภายนอกโบสถ์โดยลำดับ เมื่อดึกพอสมควรได้หยุดพัก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 มิถุนายน 2564 18:10:46 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 16 มิถุนายน 2564 16:14:08 »



รุ่งขึ้นเวลากลางวันก็มีเรื่องอื้อฉาวขึ้นในตลาด ได้มีชายคนหนึ่งซึ่งไม่เคยเข้าวัดเลยมาเล่าว่า เมื่อคืนฝันเห็นดาวตกที่วัดสุปัฏฯ เยอะแยะ นึกว่าคราวนี้ถ้ามีสิ่งใดศักดิ์สิทธิที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก็ขอจงได้แสดงออกมา

ต่อมาตอนเย็นมีนายพิศ ประมงจังหวัด ได้นำเพื่อนครูหญิงคนหนึ่งมาหา ครูคนนั้นได้มาสนทนาสอบถามอย่างโลดโผน และจะขอลาสามีขอติดตามหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อพูดธรรมะเป็นอย่างอัศจรรย์ จึงตัดสินใจว่าจะหนีจากบ้านให้ได้ในคราวนี้ ส่วนสามีของเขาชื่อนายประสงค์ ทำงานอยู่ธนาคารออมสินจังหวัดอุบลฯ เป็นคนนับถือคริสตศาสนา ก็เข้าใจว่าภริยาเป็นคนมีจิตผิดปกติจึงคอยติดตามอยู่เสมอ มีคนมาบอกว่าเขาถือคริสต์แต่ทำไมมานั่งอยู่ในโบสถ์ทั้งผัวทั้งเมีย ครูคนนี้เกิดจิตใจห้าวหาญขึ้นมาก ได้เข้ามานั่งใกล้เราประมาณ ๒ ศอก ตัวเรานั่งบนเก้าอี้ สามีนั่งห่างไปประมาณ ๕-๖ ศอก มีคนนั่งอยู่ด้วยประมาณ ๕๐ คน จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า “วันนี้ ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์จงช่วยข้าพเจ้า เพราะมีข่าวลือเกี่ยวกับพระบรมธาตุเกิดขึ้นว่า พระอาจารย์ลีมีอุบายหลอกลวงให้หลงเชื่อ พอทราบข่าวอย่างนี้ไม่มีที่พึ่งอันใด นอกจากเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะช่วยได้ หากมิฉะนั้นแล้ว พระพุทธศาสนาจะได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม” ขณะนั้นมีพระอริยะคุณาธาร นั่งอยู่หน้าพระประธาน พระนอกนั้นหนีหมด เพราะเป็นเวลาดึกแล้ว

ต่อจากนั้นได้สั่งให้ทุกคนนั่งเข้าสมาธิ แล้วพูดว่า “ถ้าใครไม่เชื่อให้นั่งดูอยู่นิ่งๆ” พอสักครู่หนึ่งก็รู้สึกว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาวนเวียนอยู่รอบๆ ก็ได้บอกโยมทุกคนให้ลืมตาขึ้น แล้วบอกนายประสงค์ฯ สามีครูคนนั้นว่า “ลืมตาดูอาตมาๆ จะลุกขึ้นเดี๋ยวนี้” พูดเสร็จก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้ ยืนสะบัดจีวรและอาสนะให้เขาดู ขณะเดียวกันก็นึกถึงเทพยดาให้ช่วย อย่าให้เขาดูหมิ่นศาสนาของเราได้ แล้วพูดดังๆ ว่า “โยมพระบรมธาตุเสด็จ คนที่นั่งตรงหน้าฉันนี่จะได้พระธาตุ แต่เมื่อลืมตาแล้วอย่าไหวตัว ฉันเองก็ไม่ไหวตัว” พูดเสร็จได้ยินเสียงวัตถุชิ้นหนึ่งตกลงบนพื้นโบสถ์ มีโยมหญิงคนหนึ่งลุกขึ้นจะตะครุบ เมื่อตะครุบก็วิ่งหลุดจากง่ามมือมาใกล้ที่นั่งเรา มีคนอีกคนหนึ่งวิ่งตามมา เราจึงร้องห้ามไว้ ต่อมาวัตถุนั้นก็ได้แล่นไหวตัวไปตรงหน้าหญิงที่เป็นครู จึงพูดว่า “ของคุณ” “นายประสงค์ดูให้ดี” ครูคนนั้นหยิบวัตถุนั้นขึ้นมา เป็นหัวแหวนสวยงาม สิ่งนั้นคือเครื่องสักการะพระบรมธาตุ ครูคนนั้นบางคราวก็หลับตาบางคราวก็ลืมตา แต่เขาพูดว่า “หลวงพ่อพาฉันไปนั่งบนยอดเขา ฉันนั่งเห็นแต่โครงกระดูกของฉันเอง แต่ฉันอยู่ได้อย่างไร ได้เงินเดือนๆ ละ ๕๐๐ บาท ไม่มีสุขเหมืองนั่งอยู่เดี๋ยวนี้” แกได้พูดแปลกๆ ขึ้นทุกที ในที่สุดคืนวันนั้น มีคนได้พระบรมธาตุไม่ต่ำกว่า ๑๐ คน ทุกคนลืมตาดูในที่สว่างทั้งหมด เมื่อสว่างเช้ามืดมีนายแพได้กำเอาพระบรมธาตุมาถวายอีก ๑ ชุด เขาบอกว่าได้มาเมื่อคืนนี้ สิ่งเหล่านี้ได้มอบไว้เป็นสมบัติของวัดสุปัฏฯ งานคราวนี้มี ๕ วัน ๕ คืน

วันหนึ่งเป็นวันถวายผ้าไตรแก่พระที่ไปในงาน คนในเมืองอุบลฯ ที่ยังสงสัยเราอยู่มีหลายคน แต่เขาไม่พูดเปิดเผย คนที่เปิดเผยคือแม่ทองม้วน เชียสกุล แกอธิษฐานว่า “ถ้าอาจารย์องค์นี้ปฏิบัติดีจริง ขอให้ผ้าไตรของแกตกแก่พระอาจารย์องค์นี้” เมื่อทำการจับสลากกันแล้ว ผลปรากฏว่าผ้าไตรของนางม้วนฯ ได้ตกแก่เราจริงๆ

พองานนี้เสร็จเรียบร้อยก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ได้เที่ยวจาริกไปในสถานที่ต่างๆ ถึงเวลาเข้าพรรษาก็ได้มาเฝ้าสมเด็จฯ อีกตามเคย พรรษานี้อาการอาพาธของสมเด็จฯ หนักมากขึ้น การนั่งสมาธิก็มีน้อย มีแต่นอนทำ ต่อมาออกพรรษาแล้วสมเด็จฯ ก็มรณภาพ

ในระหว่างพรรษา สมเด็จฯ อาพาธมาก หืดกำเริบนอนไม่หลับ วันหนึ่งเวลาประมาณตี ๒ ได้ให้พระมาตามเรา พระเณรวุ่นวายไปตามๆ กัน ท่านสั่งให้ไปรับหมอมาโดยเร็ว เจ้าคุณสุเมธีฯ ให้พระไปตามโดยด่วน ให้เรามาพูดกับสมเด็จฯ เพราะพระองค์อื่นพูดไม่เชื่อ เพราะเป็นเวลากลางคืนดึกดื่นจะไปตามหมออย่างไร จึงได้ขึ้นไปถามดูว่า “วันนี้พระเดชพระคุณฉันยากี่เม็ด กี่เวลา ยาอะไร” ท่านรับสั่งว่า “มีอาการหายใจไม่ออก” ได้คลำดูตามตัวปรากฏว่าร้อนผ่าว จึงจับได้ข้อหนึ่งว่าท่านฉันยาเกินไป ๑ เม็ด หมอสั่งให้ฉันเวลาละ ๑ เม็ด ท่านขี้เกียนฉัน ๒ หน เลยฉันรวมทีเดียว ๒ เม็ด อาการก็จุกแน่นหายใจไม่ออก เราจับเหตุนี้ได้ เรียนถวายว่า “อาการอย่างนี้เคยพบผ่านมา ไม่เป็นไร อีกประมาณ ๑๕ นาทีจะสงบ” สักครู่ท่านก็หลับตาทำสมาธิ พระเณรเฝ้าอยู่หลายองค์ ท่านรับสั่งว่า “สบายดีแล้ว ไม่ต้องตามหมอ”

ต่อมาอีกหลายวันโรคกำเริบอีก ตอนนี้ออกพรรษาแล้วอาการป่วยหนักขึ้น มีอากาศเย็น เป็นเวลาฤดูหนาว  วันหนึ่งตอนเช้าท่านให้เณรไปตาม เรากำลังมีแขก เณรก็มาบอก ท่านถามเณรว่า “อาจารย์ลีอยู่ไหม” เณรตอบว่า “อยู่” ถ้าอยู่ไม่ต้องมาเราสบาย ถ้าไปนอกวัดให้ไปตามมา”

ต่อมาบ่ายประมาณ ๕ โมงเย็น ให้เณรไปดูอีก แต่เณรไม่ได้บอกเราเพราะกำลังนั่งสมาธิ เณรมานมัสการว่า “ท่านอาจารย์ลีอยู่” ต่อมาครู่เดียวเวลาประมาณ ๖ โมงเย็น เณรมาตามอีก ตอนนี้เราจึงรีบขึ้นไป เมื่อขึ้นไปพบแล้ว ท่านก็ได้รับสั่งอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับวัด พอเสร็จการพูดสนทนากันท่านก็เงียบ เราลงไปพักสักครู่เดียวก็เกิดเอะอะกันขึ้นอีกจึงรีบขึ้นไป มีพระปฏิบัติหนึ่ง เจ้าคุณธรรมปิฎกหนึ่ง มองดูอาการเห็นจะไม่ไหว พระเณรต่างพากันแตกตื่น หมอก็วุ่นวาย ในที่สุดดูอาการป่วยของท่านเห็นว่าหมดหวัง จึงพูดห้ามหมอว่า “อย่ายุ่ง” คือหมอเอามือล้วงคอเอาเสลดออก แต่ไม่เกิดผล จึงห้ามให้หมอหยุด สักครู่ก็สิ้นลมหายใจ เมื่อได้ชำระศพเรียบร้อยแล้ว ต่างคนต่างหารือซึ่งกันและกัน วันรุ่งขึ้นเตรียมการสรงน้ำ

ต่อมาคณะกรรมการสงฆ์ได้ทำบุญถวาย คณะกรรมการสงฆ์ได้มอบให้เราเป็นเจ้าหน้าที่โรงครัว ก็รับปากกับคณะสงฆ์ มีคุณนายตุ่น โกศัลยวิทย์ เป็นผู้ช่วย  ในระหว่าง ๗ วันแรก ไม่มีการเบิกจ่ายเงินจากกองกลางเลย มีแต่คนช่วย ทำบุญอยู่ถึง ๕๐ วัน ในระหว่าง ๕๐ วันนี้ ได้เบิกเงินกองกลางมาจ่ายบ้าง เมื่อทำบุญ ๕๐ วันเสร็จแล้ว นึกว่าเราจะต้องไปวิเวกพักผ่อนบ้าง จึงได้ออกเดินทางไปจังหวัดลำปางในวันที่ ๑๐ เมษายน เนื่องในงานผูกพัทธสีมาวัดสำราญนิวาส แล้วได้ไปทำบุญอยู่เป็นเวลาหลายวัน เสร็จงานนี้แล้วได้เข้าไปพักในถ้ำพระสบาย โรคกระเพาะกำเริบ มีอาการถ่ายท้อง ปวดท้องเป็นกำลัง มีข่าวลือมาถึงจังหวัดลำปางว่าหลวงพ่อแย่ วันหนึ่งได้เข้านอนในข้างใน เห็นก้อนหินหนึ่งจุกอยู่ปากถ้ำสูงประมาณ ๑๐ วา จึงเกิดความคิดว่าอยากสร้างเจดีย์ในถ้ำนี้ ให้ร้องสั่งให้ญาติโยมผลักก้อนหินก้อนนี้ให้หลุดออกจากปากถ้ำ หินก็หลุดจริงๆ ช่วยกันขุดหลุม ตีต่อยหิน จนถึงเวลาบ่ายประมาณ ๑ โมง มีรถยนต์จากลำปางไปรับ ว่ามารับไปโรงพยาบาล แต่เราหายแล้วไม่รู้ตัว ได้บอกเขาว่าจะสร้างพระเจดีย์ ก่อนจะกลับจากถ้ำนี้ ได้ยืนหน้าถ้ำมองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีทิวป่า เขาเขียวชอุ่ม เมื่อเห็นต้นไม้เขียวสดก็นึกถึงต้นโพธิ์ว่า ถ้าได้มาปลูกสัก ๓ ต้นจะดีมาก ได้พูดกับพระเณรอย่างนี้ แล้วออกเดินทางกลับลำปาง แล้วเดินทางมาจังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะมีโยมขึ้นไปตามให้กลับอุตรดิตถ์ด่วน เพราะมีศิษย์แก่คนหนึ่งอายุมากเป็นหญิง ได้เกิดเป็นโรคจิตฟุ้งซ่านมาหลายวัน ได้มาพักช่วยเหลือให้อยู่พอสมควร ก็เดินทางมาพักอยู่จังหวัดพิษณุโลก พักอยู่ที่วัดราษฎร์บูรณะใกล้บ้านบุตรบุญธรรมคนหนึ่ง เรื่องบุตรบุญธรรมนี้น่าเล่าสู่กันฟัง แต่เป็นเรื่องที่ได้ผ่านมานานแล้ว ตั้งแต่ครั้งไปจำพรรษาบ้านผาแด่นแสนกันดารในคราวก่อน

แม่คนนี้ชื่อฟื้น สามีชื่อมหาน้อม วันหนึ่งได้ไปอบรมสมาธิอยู่ป่าวัดอรัญญิกไกลจากจังหวัดพิษณุโลก ประมาณ ๖ กิโลเมตร มีข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนไปนั่งสมาธิกันหลายคน  อาทิ ผู้กำกับการตำรวจ หลวงสัมฤทธิ์ฯ หลวงชื้นฯ ขุนเกษมฯ ร.อ.แผ้ว ฯลฯ ล้วนเป็นผู้ฝักใฝ่ในธรรมะปฏิบัติ ขณะกำลังนั่งสนทนาธรรมะกันอยู่ก็มีคนไปตาม บอกว่า “ขอนิมนต์ไปเยี่ยมคนป่วยที่บ้าน” ก็ได้รับปากกับเขา ผู้กำกับการตำรวจได้นำไปส่งให้ถึงบ้านคนป่วย เมื่อไปถึงบ้านเขา เขาเล่าว่ามีพระธุดงค์องค์หนึ่งเดินทางมาจากภาคเหนือ มาทำน้ำมนต์ให้ ท่านบอกว่า “ฉันรักษาไม่หายดอกโยม จะมีพระองค์หนึ่งมาโปรดโยมในเร็วๆ นี้” แล้วท่านก็เดินธุดงค์ต่อไป พอมหาน้อมทราบว่าเรามาก็ตามไปจนพบ ได้สนทนากับมหาน้อม เขาเล่าว่าแม่ฟื้นภริยาเขาคนนี้เป็นโรคเกิดในสมัยอยู่ไฟ ได้ป่วยมาเป็นเวลา ๓ ปีแล้ว ฉีดยาหมดเงินไปแปดพันกว่าบาทแล้วก็ยังไม่หาย นอนอยู่อย่างนี้มา ๓ ปีแล้ว ลุกไปไหนไม่ได้ พูดไม่ได้ ๑ ปีแล้ว แม้จะไหวตัวก็ไม่รอด เมื่อได้ฟังมหาน้อมเล่าแล้ว ก็ตอบเขาว่าฉันจะไปดู

พอเราเดินผ่านเข้าในธรณีประตู เห็นคนป่วยยกมือไหว้ผงับๆ เราไม่นึกว่าภาวะเขาเป็นอย่างไร ได้นั่งสมาธิ แม่ฟื้นได้พูดขึ้น ๒-๓ คำ แล้วไหวตัวยกมือไหว้จนกระทั่งลุกขึ้นนั่งหมอบอยู่กับหมอนได้ ก็บอกว่า “ให้หาย หมดกรรมหมดเวร” วันนั้นสั่งให้แก่หยิบไม้ขีดจุดบุหรี่ถวาย แกก็ทำได้ วันรุ่งขึ้นสั่งไม่ให้ใครป้อนข้าว ให้หาข้าวหาแกงวางไว้ เขากินได้เอง สามีเขาเองเป็นผู้ไปถวายอาหารเรา พอกลับมาถึงบ้านเห็นแม่ฟื้นกินข้าวหมด ล้างถ้วยล้างชามได้เรียบร้อย ลุกขึ้นคลานได้ พอตอนบ่ายไปเยี่ยมอีก เห็นญาติโยมของเขาหิ้วหม้อไหไปบ้านมหาน้อม ว่าจะไปเอาน้ำมนต์วิเศษ เมื่อเห็นดังนั้นเราลำบากใจ จึงรีบออกหนีเดินทางกลับ แต่ได้มีจดหมายถามข่าวคราวอยู่เสมอ ประมาณเดือนเศษ แม่ฟื้นลุกขึ้นเดินได้ ปีที่สองไปวัดใส่บาตรได้ ปีที่สามได้ติดตามมาอยู่วัดบรมนิวาส เดินจากหัวลำโพงถึงวัดบรมฯ เดินจากที่พักขึ้นศาลาฟังเทศน์ได้เป็นปกติดี นี้ก็เป็นเรื่องที่น่าประหลาดอย่างหนึ่ง

ในสมัยที่เดินทางจากจังหวัดอุตรดิตถ์นั้น ได้เดินทางไปจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อไปเยี่ยมศิษย์ซึ่งไปตั้งสำนักอยู่ที่อำเภอหล่มเก่า มีนายอำเภอปิ่น เป็นผู้อุปการะ ได้พักผ่อนวิเวกอยู่พอสมควร ก็เดินทางเข้าดง ขึ้นเขาลงห้วยไปหลายคืน ตกถึงเขาลูกหนึ่ง ต่อจากนั้นได้ออกเดินทางไปตามเนินเขา เดินทางไปถึงเขาสูงลูกหนึ่ง ป่าเต็งรังโปร่ง มองเห็นยอดเขายอดหนึ่งสูงลิ่ว เขาเรียกว่า “เขาหอ” ส่วนเพื่อนได้ออกเดินไปล่วงหน้า เราเดินตามหลัง พอไปถึงเขานั้นรู้สึกว่าใจสบาย นึกไปถึงสมบัติอันหนึ่งซึ่งเป็นเหตุเหลือวิสัยว่า “เราอยากจะบินไปยอดเขาหอ” ยืนตัวตรงสะพายบาตรอยู่ครู่หนึ่ง ได้เคลิ้มฝันเห็นก้อนเมฆลอยต่ำลงมาจากอากาศ ได้ยินเสียงดังแว่วๆ ว่า “ท่านอย่านึก ถึงคราวเป็นเอง” แล้วนิมิตก็หายไป เวลาเดินทางคราวนี้หิวน้ำจัดที่สุด รอบๆ ทางเดินมีแต่ฝูงหมาจิ้งจอก เพราะห่างบ้านคนมาก ก็ได้เดินทางเรื่อยมา มาพักอยู่บ้านวังน้ำใส เดินพุ่งไปข้ามห้วยข้ามดง เมื่อพ้นจากดงก็มาถึงภูผาบิ้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระอาจารย์มั่นเคยมาพักอยู่ ที่นี่มีถ้ำ และเขาเล็กๆ ได้พักอยู่หลายวัน ระหว่างพักอยู่นี้ วันหนึ่งเวลากลางคืนเงียบสงัด นั่งสมาธิแล้วเคลิ้มไปคล้ายลืมตัว ปรากฏเหตุการณ์ขึ้นว่า “มองเห็นยอดภูเขาสูงยอดหนึ่ง มีต้นไม้อยู่หลายต้น อยู่ทางตะวันตกของภูกระดึง มีบุรุษคนหนึ่งรูปร่างใหญ่โตสูงนุ่งผ้าเหลืองแก่ เอามือคว้าบนอากาศ เราไปยืนอยู่ใต้รักแร้ แกบอกว่า ต่อไปมนุษย์จะลำบาก จะเกิดโรคตายด้วยน้ำเป็นพิษๆ  นี้มีอยู่ ๒ ชนิดคือ
๑. น้ำหมอกน้ำค้าง เมื่อตกรดลงมาในนา คุณภาพของข้าวจะเสื่อม คนกินอาจเกิดโรค
๒. เกิดจากน้ำฝน ถ้าพบน้ำฝนแปลก อย่าฉัน ให้สังเกตดังนี้
     ก) น้ำฝนสีแดง
     ข) น้ำฝนสีเหลืองมีรสผิดธรรมดา

น้ำฝนที่มีลักษณะดังนี้ ถ้ากินเข้าไปจะเกิดถ่ายท้อง เกิดเป็นเม็ดผื่นคัน ถ้ากินมากเข้าก็อาจถึงแก่ความตาย นี้ข้อหนึ่ง

ข้อสอง แกเอามือชี้ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นน้ำทะลุขึ้นจากแผ่นดิน น้ำนี้ไหลไปถึงที่ไหน มนุษย์จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าใช้น้ำรดผลไม้ๆ จะเกิดโรค อายุมนุษย์จะสั้นเข้าทุกที

ข้อสาม ได้ปรากฏเหตุการณ์บนยอดเขา พอแกยื่นมือออกไปทางไหนต้นไม้ทางนั้นก็หักเป็นระนาว จึงถามว่า “เรื่องอะไร” แกตอบว่า “ผู้ใหญ่ที่ไม่มีศีลธรรมจะลำบากในกาลข้างหน้า” จึงได้ถามว่า “เรื่องราวอย่างนี้แก้ได้ไหม” แกตอบว่า “โรคที่เกิดจากน้ำแก้ทันไม่เป็นไร  ถ้าแก้ไม่ทันต้องตายภายใน ๓ วัน ๕ วัน ๙ วัน” ถามว่า “ตัวอาตมาจะเป็นอย่างไร” แกตอบว่า “ตัวท่านไม่เป็นอะไร เพราะท่านรู้จักบุญคุณของผู้ใหญ่ จะบอกยาให้ ๑ ขนาน ถ้าท่านทราบข่าวว่าโรคเกิดขึ้นที่ใด ให้รีบไปช่วยโดยเร็ว จึงถามว่า “ท่านบอกยาให้เขาเองไม่ได้หรือ” แกตอบ “ได้ แต่ไม่เกิดประโยชน์ แต่ท่านต้องประกอบยาเอง ให้เอามะขามมาปอกเปลือกออก แช่น้ำเกลือ แล้วรินน้ำให้กิน หรือจะใช้น้ำกระเทียมดองกิน อาการโรคก็จะหาย แต่ท่านต้องทำเอง” เขาบอกต่อไปว่าเขาชื่อ “สันจิตโจเทวบุตร” เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖

พอออกเดินทางจากภูผาบิ้งมาพักอยู่ที่ตำบลหนึ่ง ชาวบ้านบอกเล่าเหตุการณ์ที่แปลกประหลาด คือเมื่อคืนนี้มีหมอกไหลผ่านไปในสวนใบยา ใบยาร่วงโรยไปหมด อีกครั้งหนึ่งที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ชาวบ้านได้รองน้ำฝนมีสีชากินตายไป ๑๐ กว่าคน ทั้งสองเรื่องที่ได้ฟัง รู้สึกว่าแปลก เพราะตรงกับเรื่องที่ได้เคลิ้มฝัน

ต่อจากนั้นได้เดินทางไปอำเภอวังสะพุง แล้วเดินทางขึ้นภูกระดึงอันสูงใหญ่ ไปพักอยู่ที่ตีนเขา ๑ คืน มีลูกศิษย์ติดตามไปด้วย คือเด็ก ๒ คน พระ ๓ องค์ ได้เดินทางขึ้นภูกระดึง ถึงสันแปเวลาประมาณ ๑ ทุ่ม เดินจากสันแปไปที่พักราว ๓ กิโลเมตร เมื่อขึ้นถึงยอดเขาอากาศเย็นเฉียบ หนาว มีป่าสน  วันนั้นพอปีนถึงยอดเขาฝนก็ตก จึงพากันเดินหาที่พัก เห็นขอนต้นสนต้นหนึ่งล้มอยู่ในป่าหญ้าก็ได้ขั้นนอนบนขอน มีทั้งฝนทั้งลม คืนนั้นเป็นอันไม่ได้หลับนอน พระเณรหนีไปหลบอยู่ที่อื่น พอสว่างขึ้นก็เดินหากัน เมื่อได้พบกันแล้วได้ไปหาที่พัก พบถ้ำเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีลานหินสวยงาม มีบ่อน้ำเล็กๆ บ่อหนึ่ง ฝนตกลงมาคืนนั้นน้ำเต็มบ่อพอดี ได้อยู่วิเวก ดูสถานที่ใหญ่กว้าง มีต้นสนมาก มีหญ้าหนา มีความยาวประมาณ ๗ กิโลเมตร กว้างประมาณ ๗ กิโลเมตร เมื่อขึ้นไปบนนั้นรู้สึกราวกับว่าเราอยู่บนพื้นดิน แต่ต้นไม้อื่นไม่เกิด มันเกิดอยู่ตามเชิงเขา สันนิษฐานว่าเป็นเพราะบนยอดเขานี้เป็นพลาญหินเสียโดยมาก เพราะสังเกตดูต้นสนที่ล้มลง รากต้นสนแหย่ลงตามซอกหิน สถานที่นี้อยู่วิเวกสงัดสบายดี ถึงเวลาประมาณบ่าย ๕ โมง วันไหนฝนไม่ตกพากันออกมานั่งสมาธิบนลานหิน นึกว่าเราไม่อยากกลับเมืองมนุษย์ อยากอยู่ตามป่าตามดงอย่างนี้ ถ้าสามารถเป็นไปได้ ขอให้ข้าพเจ้าสำเร็จในทางอิทธิฤทธิ์ ถ้าไม่สำเร็จขอให้สิ้นภายในกำหนด ๗ วัน ขอให้นิพพานในวันที่ ๗ มิฉะนั้นขอให้เทพเจ้าชักจูงให้ไปอยู่วิเวกห่างชุมนุมชนสัก ๓ ปี เมื่อคิดเช่นนี้ คิดยังไม่เสร็จฝนตกลงมาทุกที จึงต้องกลับเข้าถ้ำ มีเพื่อนพระองค์หนึ่งชื่อพระปลัดศรีไม่เคยเดินดงไปไหน ระหว่างทางชอบขายข้าวขายของ เราก็รำคาญ คือท่านชอบคุยในเรื่องของทางโลกมาก เมื่อเดินทางไปพบบ้านใดกันดาร ก็เอาเรื่องลพบุรีมีปลาชุมมาเล่าให้ชาวบ้านฟัง เล่าว่าปลาร้าลพบุรีส่งไปขายถึงจังหวัดชัยภูมิ ได้ฟังแล้วรู้สึกรำคาญใจ เพราะเราไม่ได้มาค้าขาย เรามาวิเวก ต้องคอยเตือนอยู่เสมอ แต่ท่านมีพรรษามากกว่าเรา เมื่อขึ้นไปอยู่บนเขาก็ชอบก่อไฟ ผิงไฟ เวลาเรานอน ถ้าเรายังไม่นอนก็ไม่กล้า ผิงไฟแล้วก็คุยกัน มีนายมั่นกับนายมนูร่วมวงด้วย

อยู่ได้หลายวันก็ชักจะไม่สงบ วันแรกสบายดี ไม่มีใครพูดคุยกันเพราะกลัวเสือ ช้าง เพราะเขานี้มีเสือและช้างมาก ได้พักอยู่ ๕ คืน พอดีข้าวสารหมด จึงเตรียมการเดินทางกลับ

เมื่อลงจากเขาแล้ว ได้นั่งพักอยู่พื้นราบ มีลูกน้องของฝรั่งเอาเสื่อมาปูแล้วนิมนต์ให้นั่ง เราไม่นั่ง จึงนิมนต์ปลัดศรีไปนั่ง ท่านไปนั่งได้สักครู่หนึ่งได้ยินเสียงฟ้าร้องทั้งๆ ที่มีแสงแดด พร้อมๆ กับเสียงฟ้าร้อง กิ่งไม้รังก็หกลงจากต้นใกล้ศีรษะพระปลัดศรีประมาณ ๑ คืบ ปลัดศรีหน้าเสียรีบลุกขึ้น เราจึงพูดว่า “นั่นแหละการไม่สำรวม มักมีเหตุ” ตั้งแต่นั้นมาพระปลัดศรีเลยเป็นผู้สงบ ต่อจากนี้ได้เดินทางมาพักอยู่ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งใกล้ผานกเค้า ตกเวลาค่ำดึกสงัด ลูกศิษย์เหนื่อยอ่อน พอตกดึกได้ยินแต่เสียงเดินบุกป่าบุกดง รุ่งขึ้นได้ถามพระที่ไปด้วยว่า เมื่อคืนนี้ทำอะไรกัน ได้รับตอบว่า “ได้ขโมยกินน้ำตาลของหลวงพ่อ หาบมาหลายวันแล้วไม่เห็นฉัน เลยต้มกินกันหมด” เมื่อฉันจังหันแล้วพากันออกเดินทางข้ามดงใหญ่ เดินมาได้ ๑ กิโลเมตร ก่อนจะออกเดินทางตั้งใจว่า “เราจะขี่รถของเราเองให้ถึงอำเภอชุมแพ ซึ่งอยู่ห่างจากที่พักประมาณ๘๐ กิโลเมตร ว่าเราจะไม่ยอมขึ้นรถ จะเที่ยววิเวกไปตามป่า” คิดอยู่ไม่กี่อึดใจก็มีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งสวน เลยไปจอดอยู่ข้างหน้าประมาณ ๔-๕ เส้น เห็นผู้หญิงวิ่งมาจากรถ บอกว่า “ขอนิมนต์ขึ้นรถๆ เพิ่งซื้อมาใหม่ๆ” มองดูหน้าพระเณรล้วนอยากขึ้น แต่เราไม่พาขึ้น เขาอ้อนวอนอยู่นานก็ไม่ยอมขึ้น พวกเราพากันแบกกลด สะพายบาตรเดินไปทั้งร้อนทั้งแดด เดินไปประมาณ ๔ กิโลเมตร เห็นเขามีศาลเจ้าอยู่ข้างหน้า จึงหยุดพักตรวจดูถ้ำ มีหญิงอุ้มลูกมาคนหนึ่ง สะพายตะกวดมา ๓ ตัว วางไว้ใกล้ที่เราพัก นึกอยากบิณฑบาตตะกวดกับแก แต่ไม่กล้าออกปาก พักอยู่ครู่หนึ่งมีรถ ร.ส.พ.วิ่งมาจากจังหวัดเลย ไปรับเอานายมั่นกับปลัดศรีติดรถมาด้วย คนขับรถกระโดดลงจากรถวิ่งมาหา เขาพูดว่า “เห็นท่านเดินถนนมาหลายวันแล้ว ขอนิมนต์ขึ้นรถ” เขาได้อ้อนวอนอยู่หลายนาทีบอกว่า “ไม่ได้คิดค่ารถทั้งหมดรวมทั้งลูกศิษย์ด้วย” ลูกศิษย์ต่างเดินอยู่ข้างหน้าก็มี ข้างหลังก็มี จึงตอบว่า “ขอบใจ ฉันไม่ขึ้น” ลูกศิษย์เลยต้องพากันลงจากรถ เดินทางผ่านเข้าดงลาน ดงนี้เป็นป่าดงดิบ พอถึงเวลาประมาณบ่าย ๕ โมง พระปลัดศรีก็เกิดเป็นโรคบิด จึงได้อนุญาตให้ขึ้นรถไปพักคอยที่อำเภอชุมแพ นายมั่นก็เดินไม่ไหวขย่องแขย่ง ก็ได้อนุญาตให้ขึ้นรถไปคอยอยู่อำเภอชุมแพ ตกลงวันนั้นเดินด้วยกัน ๓ คน คือ เรา พระจูม และนายมนูเด็กชาวอุตรดิตถ์ มาถึงที่พักเป็นเวลามืดประมาณ ๒ ทุ่ม เรียกว่าบ้านกระทุ่ม หาที่พักลำบาก ได้ไปพักในป่าใกล้น้ำแห่งหนึ่ง ตื่นเช้าออกบิณฑบาตในบ้าน ฉันแล้วเดินทางต่อ เดินมาได้ ๑ กิโลเมตร กำลังแดดจัด นั่งพักอยู่ร่มไม้แห่งหนึ่งพอสมควร เวลาประมาณ ๕ โมงเย็น ฟ้ามืดครึ้มคล้ายฝนจะตก ศิษย์ที่เป็นเด็กเหนื่อยเต็มที่ ไม่ยอมไปพักในป่า ขอตัวจะขึ้นรถไปจังหวัดขอนแก่นก่อน แต่เมื่อเรียกรถทุกคันก็ไม่มีคันใดหยุดรับ สักครู่หนึ่งเกิดมีพายุลมฝนตกใหญ่ เด็กได้เข้าอาศัยพักในบ้านโยม แต่บ้านหนังนั้นได้ถูกลมพัดหลังคาเปิด ตัวเองกับพระจูมเดินมาพักข้างทางรถยนต์ เห็นกระต๊อบหลังหนึ่งกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาว ๒.๕๐ เมตร มุงด้วยหญ้าคา ฝนตกหนักพายุแรงพัดกิ่งต้นรังขาด ได้ชวนพระจูมพักที่กระต๊อบ ท่านจูมกั้นกลดพักอยู่ใต้หลังคากระต๊อบซีกหนึ่ง อีกซึกหนึ่งเรายืนพักอยู่ ลมพัดมาอย่างแรง หลังคาซีกที่ท่านจูมกั้นกลด ลมพัดตีปลิวไปกลางทุ่ง ครู่เดียวต้นเต็งรังหักฟาดลงมา ท่านจูมได้วิ่งมาหาเรา กระต๊อบนั้นอาศัยไม่ได้ ได้วิ่งไปพักใต้กอเบญจมาศ หมอบอยู่อย่างสบาย ทั้งหนาวทั้งสั่นประมาณ ๑ ช.ม. ลมเงียบ ฝนหยุดตก ผ้าผ่อนเปียกปอน ได้หากระต๊อบพบอีกหลังหนึ่ง จึงก่อไฟขึ้นแล้วนอนอยู่ในกระต๊อบ ตอนกลางคืนฝนตกลงมาอีก รุ่งขึ้นก็เดินทางมาอำเภอชุมแพ ส่วนเด็กที่ติดตามเดินไม่ไหว ได้ส่งขึ้นรถไปคอยอยู่ชุมแพ จึงต้องเดินทางกับพระจูมเพียง ๒ องค์ เวลาตอนเย็นประมาณ ๕ โมง ถึงอำเภอชุมแพ พระปลัดศรีเป็นบิดยังไม่หายดี หน้าซีดเซียว แล้วได้พักอยู่อำเภอชุมแพจนสบายพอสมควร ได้ทราบข่าวการจัดงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯ ว่าจะจัดทำในเร็วๆ นี้ จึงออกเดินทางจากขอนแก่นโดยขบวนรถเร็วถึงกรุงเทพฯ ราวเดือนเมษายน ๒๔๙๗ มาถึงวัดบรมนิวาสคณะสงฆ์ได้หารืองานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯ  วันนั้นได้มีการประชุมพระเถระชั้นผู้ใหญ่รวม ๑๑ รูป ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานนี้ พอเสร็จเรียบร้อยแล้วได้มาประชุมที่หอเขียว มีสมาชิกสมาคมอีสาน ไปร่วมประชุมกันประมาณ ๑๐๐ คน นายเลื่อน บัวสุวรรณ เป็นประธาน พอผ่านขึ้นหอเขียว ได้เห็นพระธรรมปิฎกและพระธรรมดิลก นั่งอยู่ในที่ประชุมด้วย ไม่ได้พูดอะไรเลย ได้ยินแต่หมอฝน แสงสิงห์แก้ว พูด เรายืนฟังอยู่ข้างนอก แต่การที่พูดกันในที่ประชุมนั้น เราไม่พอใจ คือเขาวางนโยบายเก็บเงินไปสร้างโรงพยาบาลโรคจิตให้หมอฝน ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในนามของสมเด็จฯ จึงได้เข้าไปนั่งบนเก้าอี้ ขอโทษที่ประชุมแล้วกล่าวว่า “เรื่องที่สนทนานี้ ผมเสียใจ ผมปฏิบัติสมเด็จฯ มา ๓ ปี ตายไปแล้ว ๑๐๐ กว่าวัน ครูบาอาจารย์และพวกสมาคมมานั่งฟังอยู่ ผมไม่ได้ยินว่าได้ปรารภเพื่อทำงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯ เลย ทางโรงพยาบาลนั้น ผมฟังดูว่าได้ตั้งงบประมาณ ๗ แสนบาท แต่งบประมาณของสมเด็จฯ ไม่เห็นมีใครตั้ง ผมเสียใจมาก ขอโอกาสพูดด้วย” พอพูดเสร็จแล้ว หมอฝนพูดว่า “เรื่องนี้ได้เรียนจอมพลผินแล้วว่าเงินไม่พอ อยากเก็บเงินในงานนี้ไปสมทบ ท่านจึงได้อนุโมทนามา ๑ หมื่นบาท จึงได้พูดเรื่องนี้ขึ้น”  เลยตอบไปว่า “ผิน ผัน ไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องโรงพยาบาล แต่เป็นเรื่องศพ” ได้ยินดังนี้หมอฝนก็ลุกหนีไป นายเลื่อนนั่งนิ่งพูดว่า “เมื่อเป็นดังนี้ อาจารย์ว่าอย่างไร” เจ้าคุณธรรมดิลก เจ้าคุณญาณฯ นั่งนิ่งกันหมด เขาถามอีกว่า “อาจารย์จะให้ทำอย่างไร” จึงได้ตอบเขาว่า “เรื่องโรงพยาบาลไม่รังเกียจ ขอเอาไว้พูดทีหลัง เพราะศพสมเด็จฯ ยังเหม็นอยู่ควรทำเสียก่อน” เมื่อพูดจบแล้ว คุณนายตุ่นฯ ยกเมือเห็นด้วยอยู่ข้างหลัง ได้ให้ที่ประชุมบันทึกการประชุมไว้รวม ๓ ข้อ คือ
๑. เงินจะได้มาโดยวิธีใด ขอให้รวบรวมทำศพสมเด็จฯ เสียก่อน จนเป็นที่พอใจคณะกรรมการ
๒. เมื่อมีเงินเหลือจากการทำศพ ให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณามอบหมายเงินก้อนนี้ให้โรงพยาบาลต่อไป
๓. ไม่ต้องให้เลยก็ได้

เมื่อได้บันทึก ๓ ข้อนี้เสร็จแล้ว ได้มีคนๆ หนึ่งถามขึ้นว่า “ศพนี้ใครเป็นคนทำ” ก็ไม่มีพระองค์ใดตอบ จึงได้ตอบแทนว่า “คณะสงฆ์วัดบรมฯ เป็นผู้ดำริทำ” มหาวิเชียรฯ ทำงานอยู่กระทรวงวัฒนธรรมได้พูดขึ้นว่า “ท่านเป็นพระ ท่านจะทำศพ ท่านจะใช้จ่ายเงินได้อย่างไร” จึงได้ตอบเขาว่า “มือของฉันมีมาก กลัวแต่จะไม่มีเงินเก็บ ฉันเก็บไม่ได้ใช้ไม่เป็น ศิษย์ของฉันก็มี” ได้ฟังดังนี้ มหาวิเชียรเลยเงียบ

ในที่สุดวันนั้นจึงได้เสนอว่าคณะกรรมการเก่าขอยกเลิก ขอตั้งใหม่มอบให้เจ้าคุณธรรมปิฎกเป็นประธาน แล้วก็เลิกประชุม

รุ่งขึ้นเช้าวันหนึ่งได้เดินผ่านท่านเจ้าคุณธรรมปิฎก ท่านได้เรียกเข้าไปในห้องและบอกว่า “ผมจะบอกอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องสมเด็จฯ เพราะผมปิดเป็นความลับ ไม่เปิดเผย” ท่านพูดต่อไปว่า “๑.สมเด็จฯ สั่งให้ผมเป็นผู้จัดการฌาปนกิจศพท่านเมื่อท่านมรณภาพไปแล้ว  ๒.ท่านมอบหมายเครื่องบริขารให้เป็นสิทธิแก่ผม  ๓. ให้ช่วยปกครองดูแลพระเณรคณะวัดบรมฯ” ก็ตอบท่านว่า “ดีมาก”

ต่อมาจึงได้เปิดเผยเรื่องคำสั่งของสมเด็จฯ ในที่ประชุมคณะสงฆ์ จึงได้มอบกิจการถวายท่านเจ้าคุณธรรมปิฎก ก่อนออกจากที่ประชุมได้พูดขึ้นอีกคำหนึ่งว่า “ขอโทษพระเดชพระคุณ เมื่อวานผมหมั่นไส้ ทนไม่ไหว  เวลาสมเด็จฯ ยังมีชีวิตอยู่ ไม่เคยมีใครพูดเรื่องโรงพยาบาลของท่าน เวลาท่านตายก็ไม่พูดเรื่องทำศพ กลับมาพูดเรื่องโรงพยาบาล ถ้าผมได้พูดไปไม่ดีไม่ถูก เป็นการเสียหาย ผมจะขอลาหนีจากวัด ไม่ขอเกี่ยวข้องในงานศพครั้งนี้” เจ้าคุณธรรมปิฎกจึงได้อ้อนวอนไม่ให้ไป แล้วพูดว่า “ที่ท่านอาจารย์พูดนั้นไม่ผิด” จึงเป็นอันได้ร่วมมือร่วมใจกันทำงานครั้งนี้ไปจนสำเร็จ

อีกไม่ช้า ก็ได้จัดเตรียมงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯ ที่วัดพระศรีมหาธาตุ อำเภอบางเขน ซึ่งท่านได้เคยเป็นสมภารคนแรกในการสร้างวัดนี้ วัดนี้เป็นวัดที่คณะรัฐบาลได้จัดสร้างขึ้น เมื่องานได้ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ได้ออกไปจำพรรษาอยู่ที่นาแม่ขาวที่เรียกว่า “วัดอโศการาม” ทุกวันนี้

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2564 18:03:40 »



ที่ตั้งวัดอโศการามปัจจุบันนี้ เดิมเรียกว่า “นาแม่ขาว” เจ้าของที่ดินคือ นางกิมหงษ์ และนายสุเมธ ไกรกาญจน์ ได้ถวายที่ดินให้สร้างวัดมีเนื้อที่ประมาณ ๕๓ ไร่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๘ จึงได้เริ่มตั้งสำนักขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้พระลูกศิษย์ คือ พระครูใบฎีกาทัศน์ มาเฝ้าสำนักแทน พร้อมกับพระลูกศิษย์อีก ๕ รูป รวมมีพระที่สำนักนี้ในครั้งเริ่มตั้งจำนวน ๖ รูป

เมื่อออกพรรษาและได้จัดงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จฯ เรียบร้อยแล้ว เป็นปี พ.ศ.๒๙๘ จึงได้ออกไปจำพรรษาที่วัดอโศการาม ในระหว่างนี้ได้เริ่มคิดดำริจัดงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ การดำริในเรื่องนี้ได้ดำริมานานปีแล้ว คือเริ่มดำริตั้งแต่ปีที่ได้เดินทางออกมาจากดงบ้านผาแด่นแสนกันดาร

ในระหว่างที่คิดดำริจะจัดงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษอยู่นี้ ได้เที่ยววิเวกไปตามสถานที่ต่างๆ วันหนึ่งได้ไปตั้งสัจอธิษฐานอยู่ที่ถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ได้ตั้งปัญหาขึ้นว่า “งานที่จะทำครั้งนี้เป็นงานใหญ่ แต่เราไม่มีสมบัติอะไร จะทำดีหรือไม่ดีหนอ ขอพระธรรมเจ้าจงบันดาลให้ปรากฏทราบในใจ มิฉะนั้นก็ขอให้เทพเจ้าผู้ปกปักรักษาพระแก้วมรกต อันเป็นมิ่งขวัญของคนไทยทั้งหมด จงช่วยกันบันดาลบอกช่องทางให้แก่ข้าพเจ้าด้วย”

อยู่มาวันหนึ่ง ได้เข้าไปในถ้ำลึกอยู่หลังถ้ำพระสบายเข้าไป จุดไฟตะเกียงตั้งไว้หน้าพระพุทธรูป ตรงหน้าพระพุทธรูปปูด้วยกระดาน ส่วนตัวเจ้าของเองไปนั่งบนก้อนหินใหญ่ หันหน้าเข้าฝาในถ้ำ จุดไฟสว่างไว้ตลอดคืน แล้วก็ตั้งอธิษฐานความดำริในใจ คืนวันนั้นเวลาประมาณ ๒.๐๐ น. จิตใจก็สบายดี ได้มีเหตุการณ์อย่างหนึ่งบังเกิดขึ้น มีเสียงดังเกรียวกราวลงหน้าพระพุทธรูป ฟังดูไม่ใช่เสียงหิน แต่เป็นเสียงกระจกแตก รอสักครู่หนึ่งจึงได้ลุกขึ้นมาดู เดินรอบๆ สังเกตดูห่างจากตัวประมาณ ๗ ศอก แสงไฟก็สว่างทั้งถ้ำ เพราะถ้ำเล็กมีความกว้างเพียง ๔ วาเศษเป็นวงกลม สูงประมาณ ๑๐-๑๕ เมตร มีช่องทะลุขึ้นไปบนอากาศ เดินดูรอบๆ แล้วก็ไม่เห็นอะไรเลย จึงกลับเข้าที่เดิมนั่งสมาธิต่อไป ได้นั่งเคลิ้มฝันไป ปรากฏเป็นเทพเจ้ามาพูดบอกว่า “เรื่องการทำงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษนี้ ท่านไม่ต้องคิด แต่ท่านต้องทำ จะทำเมื่อไรต้องสำเร็จ” หลังจากนั้นมาก็มิได้วิตกเรื่องนี้เท่าไรนัก ได้พักวิเวกอยู่เป็นเวลาพอสมควร

ในการมาถ้ำพระสบายคราวนี้ ก่อนจะกลับจากถ้ำ ได้ปรารภถึงเรื่องต้นโพธิ์ ว่าอยากได้ต้นโพธิ์สัก ๓ ต้น มาปลูกไว้ที่ถ้ำนี้

ต่อมาได้เดินทางกลับจังหวัดลพบุรี ไปพักอยู่ที่วัดเขาพระงาม พอดีเป็นเวลาตรงกับวันมาฆบูชา จึงได้ชักชวนญาติโยมชาวพระนครและลพบุรี ทำพิธีมาฆบูชาเป็นเวลา ๓ วัน ได้แสดงธรรมะให้แก่พวกคณะทหารประมาณ ๓๐๐ คน ที่มาทำการเวียนเทียนในคืนวันนั้น เสร็จแล้วได้เข้าสมาธิตั้งอธิษฐานจิตว่า “เรื่องงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษนั้น ไม่ทราบว่ามันเป็นอย่างไรยังรู้สึกข้องใจอยู่” แล้วจึงได้ตั้งอธิษฐานขอถวายชีวิตในวัน ๑๕ ค่ำ คือ ไม่ฉันจังหัน ถวายตา คือไม่ยอมให้หลับ พากเพียรพยายามอยู่อย่างนี้ ก็ไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์อันใด

ถึงเวลาจวนสว่างประมาณตี ๕ ได้เคลิ้มฝันไปครู่หนึ่งได้เห็นแผ่นดินแยกออก มองลึกลงไป เห็นก้อนอิฐสีแดงๆ หักพังเกลื่อนกลาดทับถมอยู่ใต้ดิน ก็สำนึกขึ้นว่า “นี่คือสถานที่บรรจุพระบรมธาตุในสมัยก่อน ได้ผุพังจมดินลงไปมากแล้ว ฉะนั้นท่านต้องเป็นผู้อุปการะช่วยเหลือสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุต่อไป ภายหลังงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ มิฉะนั้นจะไม่หมดกรรมหมดเวร” แล้วได้เคลิ้มฝันต่อไปอีกครั้งหนึ่งว่า

“ในสมัยครั้งก่อนโน้น พระสงฆ์มีธุระประชุมใหญ่กันในประเทศอินเดีย เมื่อได้นัดหมายกันเรียบร้อยแล้ว ตัวของเราไม่ได้ไปประชุมกับหมู่คณะ การประชุมนี้เนื่องด้วยการฉลองสมโภชพระบรมธาตุของพระบรมศาสดา ซึ่งเป็นงานสำคัญยิ่ง แต่เราไม่ได้ไปประชุม เพื่อนๆ จึงได้ลงโทษว่า ต่อไปท่านต้องเป็นผู้อุปการะรวบรวมพระบรมธาตุบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์แห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นประโยชน์แก่พุทธบริษัทต่อไป”

เมื่อได้นึกเคลิ้มฝันเช่นนี้แล้ว การดำริที่จะทำงานสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษก็หนักเข้าทุกที

อยู่ต่อมาวันหนึ่ง เวลาสางๆ จวนสว่าง จึงได้ตั้งอธิษฐานในใจว่า “ถ้าข้าพเจ้าจะทำการฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษให้สำเร็จด้วยดี ขอจงให้พระบรมธาตุที่มีอยู่ในตัวนี้ขอให้บังเกิดมีให้ครบจำนวน ๘๐ องค์ เท่าอายุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” (คือก่อนอธิษฐานนั้นยังมีไม่ถึง ๘๐ องค์ มีอยู่ขณะนั้นประมาณ ๖๐ องค์เศษเท่านั้น) เมื่ออธิษฐานเสร็จ สว่างแล้ว ฉันจังหันเสร็จก็เปิดผอบออกนับดู ปรากฏว่ามีพระบรมธาตุครบ ๘๐ องค์บริบูรณ์

ต่อมาในคืนที่ ๒ ก็ได้ขึ้นไปนั่งสมาธิอยู่บนพระพุทธรูปใหญ่เชิงเขา คืนนั้นมิได้นอนนั่งสมาธิเดินจงกรมอยู่รอบๆ พระพุทธรูป แล้วก็ได้จัดตั้งพานไว้พานหนึ่งพร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน ทำการอธิษฐานว่า “ถ้าการฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษจะสำเร็จ ขออัญเชิญพระบรมธาตุให้เสด็จมาเพิ่มเติมอีก จะเสด็จมาจากไหนก็ตาม”  พอรุ่งสว่างก็ได้พระบรมธาตุประมาณ ๑๐ องค์ เล็กๆ มีพลอยสีแดงปนอยู่ด้วย ก็รีบจัดเก็บเข้าภาชนะ ไม่บอกให้ใครทราบ แต่นึกว่าเราคงทำงานครั้งนี้สำเร็จ

ในปีนั้นได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดอโศการาม เป็นปี พ.ศ.๒๔๙๙

เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้ทราบข่าวว่าได้ปรากฏมีต้นโพธิ์เกิดขึ้นหน้าถ้ำพระสบาย อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง รวม ๓ ต้น สวยงาม เพราะขึ้นอยู่บนแท่นหิน ปัจจุบันนี้ขึ้นสูงประมาณ ๘ ศอกแล้ว

ในระหว่างจำพรรษาในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ที่วัดอโศการาม ความดำริเรื่องจัดงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษก็หนักแน่นเข้าทุกทีๆ แต่ขณะนั้นยังไม่ตกลงใจว่าจะทำงานนี้ที่ไหนแน่ เพราะเป็นงานใหญ่ ไปๆ มาๆ ก็เลยตัดสินใจว่า “ต้องทำที่วัดอโศการามนี้เอง” การทำงานนั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
๑. พร้อมเพรียงกันกับพุทธบริษัททั้งหลายจัดทำขึ้น
๒. ทำด้วยลำพังตนเองคนเดียว
      ๑. การทำพร้อมกับพุทธบริษัท นั้นมี ๓ ชั้น คือ
          ชั้นต่ำ
          ชั้นกลาง
          ชั้นสูงสุด

ความดำรินี้ไม่ได้บอกใคร เป็นแต่ตั้งข้อสังเกตในการทำไว้คนเดียวเฉยๆ

เมื่อได้ทำงานสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่า การทำงานครั้งนี้ตกอยู่ในชั้นกลางเท่านั้น ถ้าหากทำได้ถึงชั้นสูงสุดจะไปสร้างฉัตรถวายพระพุทธรูปใหญ่ที่เขาพระงาม ในที่สุดก็ไม่สำเร็จถึงชั้นสูงสุด

      ๒. ทำด้วยลำพังตนเองคนเดียว การทำด้วยลำพังตนเองคนเดียวนั้นดีมากที่สุด แต่ไม่เกิดประโยชน์แก่ปวงชน การกรทำอย่างนี้มีอยู่ ๓ วิธีคือ
          วิธีที่ ๑ อย่างชั้นต่ำ ต้องปลีกตัวหนีไปจากมนุษย์ หลบอยู่ในป่าดงถึง ๓ พรรษา จึงจะออกมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ได้
          วิธีที่ ๒ อย่างชั้นกลาง ต้องเข้าไปอยู่ในป่าลึกโดยลำพัง ทำความพากเพียรจนครบไตรมาส ๓ เดือน ไม่กังวล
          วิธีที่ ๓ อย่างชั้นสูงสุด ต้องเอาผ้าแดงผูกคำตอนเองไว้ ๗ วัน คือหมายความว่า ภายใน ๗ วันนี้ จะพยายามสร้างความดี ๒ ชนิด คือ
          ชนิดที่ ๑ ขอให้สำเร็จวิชา ๘ ประการ ภายใน ๗ วัน เพื่อจะได้ใช้เป็นเครื่องมือไว้ประกอบศาสนกิจ
          ชนิดที่ ๒ ถ้าไม่สามารถเป็นไปได้ในชนิดที่ ๑ ขอให้ถึงที่สุดในวันที่ ๗ พร้อมด้วยชีวิต เป็นอันไม่หวังกลับ

เมื่อได้ทำตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงจะเป็นผู้หมดโทษและเวรกรรมซึ่งได้ทำกับเพื่อนไว้แต่ปางก่อนในความเคลิ้มฝัน

ต่อมาถึงปลายปี พ.ศ.๒๔๙๙ ก็จวนแจเวลา แต่ก็ได้เริ่มลงมือทำกิจการไว้บ้างแล้ว คือได้สร้างพระพุทธรูปแบบใบโพธิ์ซึ่งได้ไปจำลองแบบมาจากเมืองพาราณสี ในสมัยเมื่อได้เดินทางไปประเทศอินเดีย และได้รวบรวมผงต่างๆ ไว้หลายสิบแห่ง อาทิเช่น ดินสังเวชนียสถานในประเทศอินเดีย พระเครื่องที่แตกหักตามกรุต่างๆ และเพื่อนฝูงกับลูกศิษย์ได้ส่งจากจังหวัดต่างๆ มาถวายบ้าง คือได้มาจากจังหวัดลพบุรี พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย สุพรรณบุรี อยุธยา เพชรบูรณ์ สงขลา อุบลราชธานี อำเภอธาตุพนม พระนคร มีพระแตกหักเก่าๆ ปราจีนบุรี มีน้ำมนต์เก่าๆ ซึ่งบรรดานักปราชญ์ได้ทำไว้ในสมัยโบราณ ผสมผงเกสรและอักขระ รวบรวมพิมพ์ขึ้น ๒ ชนิดคือ
          ๑. พระผงไม่ได้ไฟ
          ๒. พระผสมแล้วเผาไฟ

คิดอยู่ในใจว่า “เราจะต้องสร้างพระพิมพ์ถึง ๑ ล้านองค์” เมื่อลงมือทำแล้ว ได้มานับสำรวจตรวจดูในปี พ.ศ.๒๔๙๙ เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้จำนวนพระรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑ ล้าน ๑ แสนองค์เศษ

วันหนึ่ง เกิดนิมิตแปลกประหลาด คืนวันหนึ่งเงียบสงัด กำลังนั่งพิมพ์พระพุทธรูปอยู่มีพระบรมธาตุองค์หนึ่งได้เสด็จปาฏิหาริย์มาอยู่บนเตียงนอน มีลักษณะคล้ายรูปพระใบโพธิ์ที่กำลังพิมพ์อยู่ แต่พระใบโพธิ์ที่พิมพ์อยู่เป็นแบบพระแสดงธรรมจักร คือ ยกพระหัตถ์ ๒ ข้าง เป็นแบบแสดงพระธรรมเทศนา จึงได้ตั้งชื่อพระพิมพ์นี้ว่า “พระโพธิจักร” พระบรมธาตุองค์นั้นเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ ยังมิได้บรรจุ และยังมีพระบรมธาตุอีกองค์หนึ่ง เป็นแบบพระพุทธรูปนั่งสมาธิเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่

อีกวันหนึ่งไปนั่งสมาธิที่จังหวัดลพบุรี เงียบสงัด จวนจะสว่างได้เห็นพระบรมธาตุอีกครั้งหนึ่ง เวลาประมาณตี ๕ จวนสว่าง ได้มีรูปๆ หนึ่งแปลกประหลาดตกลงมา เป็นรูปคนทำด้วยแก้วเจียระไนสีดำชมพู จึงได้เขียนจำลองรูปไว้จนบัดนี้

เหตุการณ์แปลกประหลาดต่างๆ เหล่านี้ได้เกิดมีขึ้นมาก จึงได้สั่งเตรียมการเรียกบรรดาพระลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดแล้วแจ้งให้ทราบว่า “เราต้องทำการฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ที่วัดอโศการามนี้แน่นอน” ได้ตัดสินใจเด็ดขาดในกลางพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๙๙ นั่นเอง

เมื่อได้ตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ตรวจดูมูลค่าปัจจัยของตนเอง มีอยู่ประมาณ ๒๐๐ บาทเศษ แต่ก็ได้สั่งลงมือเตรียมการก่อสร้างปลูกปะรำ ทำฉัตร พอเริ่มลงมือก็ปรากฏว่ามีผู้นำเงินมาถวายให้เรื่อยๆ สร้างที่พักได้ ๒ หลังก็หมดเงิน ระยะนั้นได้ขึ้นไปเยี่ยมจังหวัดจันทบุรี เมื่อกลับมาถึงวัดอโศการาม พ.ต.ท.หลวงวีรเดชกำแหง ได้รายงานว่า “เงินจวนหมดแล้วครับ ท่านพ่อจะไปหาที่ไหน”

ในการทำงานครั้งนี้ได้วางแผนงานไว้ดังต่อไปนี้ คือ
๑.วัตถุประสงค์ของงาน มีดังนี้
       ๑) สร้างพระพุทธรูป ๙๓๒,๕๐๐ องค์ (เก้าแสนสามหมื่นสองพันห้าร้อยองค์) และต้องเพิ่มให้เป็นจำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ องค์ (หนึ่งล้านองค์) เป็นพระผงและพระดินเผาขนาด ๑ นิ้ว เพื่อแจกจ่ายแก่พุทธบริษัททั้งหลาย (โดยไม่คิดมูลค่าใด) เหลือจากนั้นแล้วบรรจุในรากฐานพระเจดีย์ต่อไป และจะสร้างพระทองเหลืองอีก ๔ ปาง มีจำนวน ๕ องค์ คือ ตรัสรู้หนึ่ง แสดงธรรมจักรหนึ่ง แสดงโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ตอนใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานหนึ่ง นิพพานไสยาสน์หนึ่ง พระประธานนั่งสมาธิเพื่อไว้ในโบสถ์หนึ่ง พระเงินขนาดเล็ก ๑ นิ้ว พระนาก พระทองคำโตขนาดเดียวกัน (หนักหนึ่งบาทสร้างได้ราว ๔ องค์) จะสร้างชนิดละ ๕๐๐ องค์ (ห้าร้อยองค์) จะได้บรรจุในองค์พระเจดีย์เพื่อประโยชน์ของกุลบุตร กุลธิดาแห่งเราท่านทั้งหลายในภายภาคหน้า
       ๒) สร้างพระไตรปิฎก ๓ ปิฎก คือ ๑.พระสูตร ๒.พระวินัย ๓.พระปรมัตถ์ รวมเป็น ๘๔,๐๐๐ (แปดหมื่นสี่พัน) พระธรรมขันธ์ ที่แปลเป็นภาษาไทย
       ๓) อุปสมบทพระภิกษุ ๘๐ รูป บรรพชาสามเณร ๘๐ รูป บวชนุ่งขาวถือศีล ๘ อุบาสก (ชาย) ๘๐ คน อุบาสิกา (หญิง) ๘๐ คน ถ้ามีจำนวนเกินไปจากที่กำหนดไว้ก็ยิ่งดี การบวชมีกำหนด ๗ วันเป็นอย่างต่ำ เริ่มทำพิธีอุปสมบทตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ถึงวันแรม ๗ ค่ำ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๐๐ จนถึงวันจันทร์ที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๐ เมื่อผู้ใดมีความประสงค์จะบวชโดยประการใดๆ ให้แจ้งรายละเอียด ชื่อ นามสกุล ตำบล บ้าน อำเภอ จังหวัด อายุ วัน เดือน ปีเกิด เช่น จะมีบริขาร ๘ มาพร้อม หรือผู้ใดไม่มีขอให้แจ้งไปให้ทราบก่อน ถ้าใครไม่มีทางคณะกรรมการจะได้จัดให้ ผู้ใดประสงค์จะเป็นเจ้าภาพในการบวชทุกประเภท แจ้งความจำนงได้ทางคณะกรรมการซึ่งได้กำหนดไว้ บวชอุบาสก อุบาสิกา คนละ ๑๐๐ บาท สามเณร ๑๕๐ บาท ภิกษุ ๓๐๐ บาท สำหรับซื้อบริขารในการบวช ทางวัดยินดีรับสมัครทุกประเภท สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๐๐ ปีระกา
       ๔) เมื่องานนี้สำเร็จไปแล้วด้วยดี มีวัตถุประสงค์อีกอย่างหนึ่งคือจะสร้างพระเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งได้เกี่ยวเนื่องในวันสำคัญนี้ เพื่อไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๑ เพื่อบรรจุพระพุทธรูป ๑ เพื่อบรรจุพระธรรม ๑ อันเป็นส่วนของข้อธรรม และบริขารอื่นๆ ซึ่งเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา พระเจดีย์นั้น จะสร้างกลุ่มเดียวกัน ๓ ชั้นๆ ละ ๔ องค์ องค์กลางอีกองค์หนึ่ง องค์กลางเป็นองค์ใหญ่ ๔ เหลี่ยม กว้างยาว ๓ วา สูง ๑๓ วา นอกนั้นองค์เล็กโดยรอบ

การวางรากฐานพระเจดีย์นี้จะเริ่มกระทำไว้ก่อนงาน สถานที่สร้างคือที่วัด “อโศการาม” ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งต้องการจะให้เป็นสถานที่อบรมพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ในทางวิปัสสนาธุระ (บำเพ็ญสมาธิภาวนา) ต่อไป

๒. พิธีฉลองสมโภชบำเพ็ญกุศลในงาน มีดังนี้
       ๑) นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์วันละ ๒๐ รูป ๗ วัน
       ๒. สวดพุทธาภิเษกวันละ ๘ รูป นั่งปรกวันละ ๘ รูป ๗ วัน
       ๓) เทศน์สังคายนา ๕ กัณฑ์ วันละ ๑ กัณฑ์ สวดแจงกัณฑ์ละ ๔๐ รูป เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลอุทิศส่วนบุญให้ญาติของพุทธบริษัทที่ล่วงลับไปแล้ว (ญาติพลี)  
       ๔) ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ที่นิมนต์มาวันละ ๕๐๐ รูป ๗ วัน ต่อจากนั้นยังมีการบำเพ็ญกุศลเป็นนิจอีกจนครบ ๒ สัปดาห์ สัปดาห์ท้ายเลี้ยงพระวันละ ๓๐๐ รูป ๗ วันฯ
       ๕) ในระหว่าง ๗ วันต้นนี้ มีการเวียนเทียนสมโภชทุกวัน
       ๖) ในวันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ทำพิธีบรรจุวัตถุต่างๆ ในรากฐานพระเจดีย์
       ๗) มีการบำเพ็ญกุศลในลัทธิทางจีน คือสวดกงเต๊ก ๓ วัน และมีเทศน์ตามลัทธินิยมนั้นอีก( วิธีการบำเพ็ญกุศลนอกจากนี้ยังมีอีก)

นอกจากนี้ จะสร้างที่พักให้ความสะดวกแก่พระเณรทุกเหล่า สร้างที่พักให้อุบาสก อุบาสิกา ได้รับความสะดวก และต้องตั้งโรงครัวประจำในงาน

เมื่อได้เขียนโครงการขึ้นเช่นนี้แล้ว ก็ได้ดำเนินงานไปตามโครงการโดยลำดับ ได้เอาโครงการที่เขียนไว้นี้ให้ศิษย์ดูหลายท่านหลายคน ต่างคนต่างส่ายหัวไปมาแล้วพูดกันว่า “ท่านพ่อจะทำอย่างไร กิจการงานใหญ่โตอย่างนี้ จะไปหาเงินทองที่ไหน” แต่ตัวเจ้าของเองนึกรำพึงแต่ในใจว่า “เราทำบุญ คนใจบุญต้องมาช่วย ไม่ต้องออกฎีกา”

ต่อมา เมื่อได้กลับจากจังหวัดจันทบุรีแล้ว จวนเวลาจะเริ่มงานก็มีคนได้นำเงินมาถวายอยู่เรื่อยๆ ปรากฏว่าได้เงินเป็นจำนวนเกือบ ๑ แสนบาท มีคนๆ หนึ่งคือ ดร.หยุด แสงอุทัย กลัวว่าจะทำงานครั้งนี้ไม่สำเร็จ จึงได้ไปทาบทามขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ได้ไปเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม คือ พลโท หลวงสวัสดิ์ฯ ซึ่งยังไม่คุ้นเคยกันกับเรา แต่น่าขอบใจท่านๆ ได้พูดกับ ดร.หยุด ว่า “ถ้าต้องการเงิน จะช่วยจัดการให้” เรื่องนี้คุณหญิงวาด เลขวณิชธรรมวิทักษ์ ได้นำมาเล่าให้ฟัง จึงได้ตอบไปว่า “ไม่ต้องการ”

การปลูกสร้างก็ได้เริ่มขึ้นเรื่อยๆ เงินก็มีคนมาทำบุญเรื่อยๆ โดยไม่ได้แจกฎีการ้องขอจากผู้ใด เป็นแต่บอกเล่าแจกใบปลิวกำหนดการให้ทราบในคณะสานุศิษย์เท่านั้น

ได้เตรียมการภายในวัดก็ได้สำเร็จไปเป็นส่วนมาก สำหรับศาลาโรงพิธีได้มอบหมายให้อาจารย์สุณี (แม้น) ชังคมานนท์ ครูซ่วน อัชกุล คุณทองสุข แม่กิมหงษ์ ไกรกาญจน์ เป็นเจ้าหน้าที่ปลูกสร้างจนสำเร็จ แต่ยังไม่เพียงพอ ได้สั่งให้ขยายหลังคาจากเพิ่มเติมอีกทั้ง ๔ ด้าน  พ.ต.ท.หลวงวีรเดชฯ พร้อมด้วยพระเณรได้ช่วยกันสร้าง นอกจากนี้ยังได้ช่วยกันสร้างโรงครัวชั่วคราวและที่พักชั่วคราวขึ้นอีกหลายหลัง ที่พักชั่วคราวสร้างเป็นหลังคาจากฝาจาก ยาว ๔๐ วา  โรงครัวยาว ๓๐ เมตรเศษ กว้างประมาณ ๓ วา หลังคาจาก ที่พักพระเณรมี ๕ หลังๆ    หนึ่งยาว ๔๐ วา กว้าง ๕ วา หลังคาจาก ฝาจาก ที่พักอุบาสก อุบาสิกาจัดแยกให้อยู่คนละที่ ๕ หลัง ยาวหลังละ ๔๐ วา กว้าง ๕ วา การปลูกสร้างที่พักชั่วคราวเหล่านี้สิ้นเงินไปประมาณ ๑ แสนเศษ ศาลาโรงพิธีสิ้นเงิน ๑ แสน ๖ หมื่น ๕ พัน ซ่อมถนนรอบวัดโดยมีคุณหญิงวาดฯ เป็นผู้ทำสิ้นเงิน ๖ หมื่น รวมทั้งหมดสิ้นเงิน ๒ แสนเศษ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะต้องใช้จ่ายในงานก็มีอีกมากมาย เงินที่มีอยู่ก็ค่อยๆ หมดไปทุกที แต่ก็ได้มาทุกวัน

พอถึงข้างขึ้น เดือนเมษายน ก็ได้จัดเตรียมการเป็นการใหญ่ ญาติโยม พระเณร ที่อยู่ต่างจังหวัดได้เดินทางเข้ามาประชุมกันเป็นจำนวนมาก นาคที่มาสมัครบวชทั้งหญิงทั้งชายมากมายทวีขึ้นทุกที จนเลยจำนวนที่ได้กำหนดไว้แต่เดิม

ถึงวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ก็ได้เริ่มบวชนาค ในการบวชนาคนี้ได้นิมนต์พระอุปัชฌาย์มาหลายองค์ คือ
๑. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม
๒. พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร
๓. พระศาสนโศภณ วัดราชาธิวาส
๔. พระธรรมดิลก วัดบรมนิวาส
๕. พระธรรมปิฎก วัดพระศรีมหาธาตุ
๖. พระญาณรักขิต วัดบรมนิวาส

นอกจากนี้ก็มีพระอุปัชฌาย์ที่เป็นเพื่อนบ้าง ศิษย์บ้างช่วยกัน เพราะพิธีบวชนาคได้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต จึงได้มอบเรื่องนี้ให้พระอาจารย์แดงเป็นผู้ฝึกหัดอบรมสั่งสอนนาคตลอดงาน และให้เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย  นอกจากนี้ก็มี พระครูวิริยัง จันทบุรี พระอาจารย์สีลา จังหวัดสกลนคร ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ช่วยกันฝึกซ้อมจัดบริขารในการบวชพระบวชเณรจนสำเร็จ สรุปแล้วการพิธีบวชนี้มีคนช่วยทั้งหมดโดยไม่ต้องจ่ายเงินกองกลาง บวชจนกระทั่งไม่มีนาคจะให้เขาบวช ต้องประกาศงดรับเจ้าภาพบวชนาคทางเครื่องกระจายเสียง ในพิธีบวชนี้มีคณะศิษย์เป็นเจ้าภาพในการบวช คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ ๑๓๘,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นแปดพันบาทเศษ)

พิธีบวชเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๑ ถึง ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ผู้บวชในงานครั้งนี้มีจำนวนประเภทดังต่อไปนี้ คือ
อุปสมบทพระภิกษุ        มีจำนวน      ๖๓๗ รูป                                    
บรรพชาสามเณร                “            ๑๔๔ รูป
บวชอุบาสิกา (ชี)                “         ๑,๒๔๐ รูป
บวชพราหมณี (หญิงนุ่งขาวห่มขาว ไม่โกนผม ถือศีล ๘)  
                                   มีจำนวน      ๓๔๐ คน
บวชตาปะขาว (ชายนุ่งขาวห่มขาว โกนผม ถือศีล ๘)
                                   มีจำนวน        ๓๔ คน
บวชพราหมณ์ (ชายนุ่งขาวห่มขาว ไม่โกนผม ถือศีล ๘)
                                   มีจำนวน        ๑๒ คน
รวมจำนวนนักบวชทั้งสิ้น              ๒,๔๐๗ ท่าน

ในงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ได้กำหนดกิจวัตรประจำของบรรดาพุทธบริษัท ไว้ดังต่อไปนี้
เวลาเช้า     ๑. หลังจากพระฉันจังหันเสร็จแล้ว มีการสวดมนต์ถวายนมัสการพระบรมธาตุ
                 ๒. สวดมนต์ถวายพรพระ
                 ๓. นั่งสมาธิ
เวลาบ่าย   ๑. สวดมนต์ถวายนมัสการพระบรมธาตุ
                 ๒. สวดมนต์สมโภช
                 ๓. นั่งสมาธิหรือแสดงธรรมะ
เวลา ๑๖.๐๐ น. หยุดพัก
เวลา ๑๗.๐๐ น. เริ่มเข้าสู่ที่ประชุม แล้วสวดมนต์ถวายนมัสการพระบรมธาตุ เวียนเทียน
                         สวดพุทธาภิเษก สวดมนต์สมโภช นั่งสมาธิจนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น.
                         ให้ปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปจนเสร็จงาน

ในระหว่างกำลังทำงานนี้อยู่ ก็ได้ดำริขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า อยากจะทอดผ้าป่าที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นการทดแทนความคิดที่เสียไป คือเรื่องมีว่า ครั้งแรกได้ดำริตั้งมูลนิธิเป็นส่วนกลางของคณะสงฆ์ไทย จึงได้ทำรายงานกราบเรียนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฎฯ มีใจความว่า “นิตยภัตของพระสงฆ์ผู้ดำรงตำแหน่งสมณศักดิ์ทุกรูปในประเทศไทย ขอให้ท่านเสียสละเสีย๑ เดือน ในเดือน ๖ นี้ เพื่อเป็นเครื่องระลึกในโอกาสที่ได้จัดการฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ส่วนตัวเองจะได้หาเงินทุนมาสมทบด้วย ขอให้สมเด็จฯ ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะสังฆมนตรีด้วยว่า จะเห็นด้วยกับความคิดเห็นอันนี้หรือไม่ ประการใด”

สมเด็จฯ ได้เอ่ยขึ้นคำ ๑ จับใจเรามากว่า “ผมให้ทั้งหมด ๑ เดือน ท่านต้องการบริขารอย่างอื่นอีกในงานนี้ ก็ยินดีจะช่วย” เมื่อได้ฟังแล้วนึกในใจว่า สาธุ สาธุ สาธุ

ในที่สุด สมเด็จฯ ได้เห็นชอบด้วยในความคิดอันนี้ จึงได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสังฆมนตรี ได้ทราบภายหลังว่า ในที่ประชุมสังฆมนตรีวันนั้นต่างองค์ต่างเกี่ยงกัน เป็นอันไม่สำเร็จ

เมื่อเป็นดังนี้จึงคิดทอดผ้าป่าถวายหลวงพ่อแก้วมรกตดีกว่า จึงได้นำความคิดนี้ถวายพระพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ขอให้พระองค์ท่านทรงเป็นเจ้าภาพในกองผ้าป่าทั้งหมด เป็นจำนวน ๑๖ กอง (กองหนึ่งให้ถวายหลวงพ่อแก้วมรกต) พระองค์ยินดีทรงเป็นเจ้าภาพ ให้ความสะดวก พระองค์ท่านได้รับสั่งให้บริษัท บริวาร ตลอดจนกระทั่งเจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์มีคณะองคมนตรี เป็นต้น ให้จัดเตรียมการต้อนรับกองผ้าป่าอย่างเต็มขนาด จึงได้จัดกองผ้าป่าขึ้น ได้มูลค่าปัจจัยประมาณ ๓ หมื่นบาทเศษ แบ่งให้กองผ้าป่า ๑๕ กองๆ ละ ๓๐๐ บาทเศษ เงินที่เหลือนอกจากนี้ถวายหลวงพ่อแก้วมรกต เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๒๔,๑๒๒.๓๐ บาท (สองหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยยี่สิบสองบาทสามสิบสตางค์) โดยตั้งเป็นบุญนิธิ ชื่อว่า “บุญนิธิ ๒๕๐๐ ปี คณะศิษย์พระอาจารย์ลี วัดอโศการาม” เพื่อเก็บดอกผลจากบุญนิธินี้ส่งเข้าบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดารามต่อไป ต่อมาได้นำส่งสมทบภายหลังอีกรวมเป็นเงินบุญนิธิทั้งหมด ๕ หมื่นบาทเศษ

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ตรงกับวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๖ ได้นำขบวนแห่พระพุทธรูป พระบรมธาตุ และกองผ้าป่า ๑๓ กอง จากวัดอโศการามไปทอดที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี ได้มีรับสั่งให้ทางสำนักพระราชวังจัดการต้อนรับ ได้มีการแห่รอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๓ รอบ องค์ท่านพร้อมทั้งคณะองคมนตรี ได้เสด็จมารับกองผ้าป่าในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตศาสดาราม ท่านได้มีรับสั่งให้ทางสำนักพระราชวังจัดภัตตาหารถวายพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับนิมนต์มารับกองผ้าป่ารวม ๑๕ รูป พระเถระที่พระองค์ท่านนิมนต์มานั้น โดยมากนิมนต์จากวัดต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีอุปการะมาแต่กาลก่อน เมื่อได้ถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์เรียบร้อยแล้ว พระองค์ท่านก็ได้นำถวายกองผ้าป่าแก่พระเถระที่ได้นิมนต์มาในวันนั้น

เมื่อเสร็จพิธีถวายกองผ้าป่าแล้ว ได้นำขบวนแห่ออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปรับต้นโพธิศรีมหาโพธิที่วัดพระศรีมหาธาตุ อำเภอบางเขน ซึ่งได้ขอจากทางราชการและได้รับอนุญาตแล้ว

ถึงวัดพระศรีมหาธาตุแล้วทำพิธีรับต้นโพธิ์ ๒ ต้น แห่เวียนพระอุโบสถ ๓ รอบ ประกอบพิธีตามทางการ เสร็จแล้วนำขบวนแห่เคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาธาตุ ไปยังจังหวัดนนทบุรี ต่อจากนั้นคณะศิษย์ได้นำพระบรมธาตุ ต้นโพธิ์ ไปทำการฉลองที่สวนพุทธรักษา อำเภอบางบัวทอง ๑ คืน

รุ่งขึ้น วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๐ พระฉันจังหันแล้ว นำพระพุทธรูป พระบรมธาตุ ต้นโพธิศรีมหาโพธิ ลงสู่ขบวนแห่ทางเรือจากอำเภอบางบัวทอง ล่องลงมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา จนกระทั่งถึงท่าศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ คณะกรรมการทางวัดอโศการามพร้อมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ข้าราชการ และพุทธบริษัทได้มาต้อนรับอย่างคับคั่ง นำขบวนขึ้นจากเรือ แล้วแห่จากศาลากลางเข้าตลาดเมืองสมุทรปราการ นำขบวนแห่ไปจนถึงวัดอโศการามในตอนบ่าย ฝ่ายพุทธบริษัททั้งหลาย มีเจ้าคุณอมรมุนี วัดจันทนาราม เจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี เป็นหัวหน้าต้อนรับขบวนแห่ เมื่อถึงวัดอโศการามแล้วได้นำขบวนแห่เวียนศาลา ๓ รอบ แล้วนำขึ้นประดิษฐานไว้บนศาลาโรงพิธีพุทธาภิเษก ได้ทำการถวายนมัสการพระบรมธาตุ พระพุทธรูป ต้นโพธิ์ และพระสถูปเจดีย์ เสร็จแล้วพักผ่อน เวลา ๑๘.๐๐ น. ตีระฆังประชุมสวดมนต์สมโภช สวดพุทธาภิเษก เวียนเทียน มีพุทธบริษัทมาร่วมสมโภชกันมากมาย

รุ่งขึ้นเช้า วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ได้ทำพิธีปลูกต้นโพธิศรีมหาโพธิที่วัดอโศการาม รวม ๔ ต้น ได้มาจากวัดพระศรีมหาธาตุ ๒ ต้น อีก ๒ ต้นได้มาจากประเทศอินเดีย ต่อมาได้มีศิษย์นำต้นโพธิ์จากประเทศอินเดียมาถวายอีก ๒ ต้น ปัจจุบันนี้ที่วัดอโศการามจึงมีต้นศรีมหาโพธิ์ รวม ๖ ต้น

ต่อจากนั้นก็ได้ทำการสมโภชกันตลอดมา อยู่มาวันหนึ่งการเงินชักเบาบาง ฝ่ายคณะกรรมการได้ประชุมหารือกัน จัดทำหนังสือร้องเรียนเพื่อความช่วยเหลือจากคณะรัฐบาล มีนางกิมเหรียญ กิ่งเทียน และนางตุ่น โกศัลยวิทย์ เป็นหัวหน้า ได้จัดทำหนังสือขึ้น ๑ ฉบับ แล้วนำมาอ่านให้ฟัง ใจความในหนังสือนั้นมีว่า ขอร้องเรียนนายกรัฐมนตรี คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้ช่วยเหลือเงินเป็นจำนวน ๕ หมื่นบาท” เมื่อได้ทราบเช่นนั้น เขาอ่านให้ฟังยังไม่ทันจบก็สั่งให้เผาไฟทิ้งทันที แล้วพูดกับเขาว่า “ไม่มีกินในงานครั้งนี้ยอมตาย” ในที่สุดเงินก็ได้ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ขาด บางท่านก็ได้มาช่วยเลี้ยงพระ ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นจีนบ้างไทยบ้าง ในงานนี้ได้มีการสวดพุทธาภิเษกอยู่ถึง ๑๕ วัน โดยมี พลตรี พงษ์ ปุณณกัณต์ เจ้ากรมการขนส่งทหารบก เป็นเจ้าภาพพุทธาภิเษกตลอดงาน

คุณหญิงวาด เลขวณิชธรรมวิทักษ์ รับพระมาสวดมนต์ ๓ วันๆ ละ ๑๐ รูป พร้อมด้วยเครื่องไทยทาน และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระอีก ๗ วันๆ ละ ๓๕๕ รูป มีเทศน์ ๒ กัณฑ์ มีสวดกงเต๊ก ๓ คืน มีการลอยกระทง และจับสลากให้รางวัลแทนการทิ้งกระจาด คุณนายทองสุข ชุ่มไพโรจน์ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระ ๓๐๐ รูป ๗ วัน นอกจากนี้ยังมีชาวจีนมาเลี้ยงอาหารเจช่วยอีกหลายวัน และมีญาติโยมคณะศิษย์จัดให้มีการเทศน์สังคายนาอีก ๑๑ เจ้าภาพ ชุดหนึ่งใช้จ่ายเงินประมาณ ๕,๐๐๐ บาท

นอกจากนี้ทางด้านโรงครัวก็มีผู้ศรัทธามาบริจาคอาหาร ถ้วยชาม ข้าวสาร ฟืน ถ่าน ทุกอย่าง โดยมากไม่ค่อยได้ซื้อ มีแต่ผู้มีศรัทธานำมาบริจาคเป็นส่วนมาก  ฉะนั้น ทางโรงครัวจ่ายเงินค่ากับข้าววันหนึ่งๆ ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ฝ่ายคณะศิษย์ต่างคนต่างได้ช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถ

ฝ่ายพยาบาล ได้รับความช่วยเหลือจาก พลตรี ถนอม อุปถัมภานนท์ นายแพทย์ใหญ่ทหารบก และคุณหญิงสุดใจฯ ได้ส่งหน่วยพยาบาล พร้อมด้วยนายแพทย์และนายสิบพยาบาลมาประจำตลอดงานเพื่อช่วยรักษาพยาบาลคนป่วยระหว่างงาน

ฝ่ายรักษาความสงบและจราจร มี พ.ต.อ.สุดสงวน ตัณสถิตย์  หัวหน้ากองสวัสดิภาพประชาชน กรมตำรวจ ได้สั่งให้ตำรวจจราจรไปรักษาการณ์จนตลอดงาน พร้อมทั้งส่งรถดับเพลิงมาประจำตลอดงาน ๑ คัน

ระหว่างนี้การงานก็ดำเนินไปด้วยดี การเงินก็สะดวกขึ้น กิจวัตรประจำวันก็ทำไปตามเคย การบวชก็มีทุกวัน ตลอดงานดินฟ้าอากาศอำนวยให้เป็นอย่างดี ในงานนี้ไม่มีเหตุร้ายเกิดขึ้น ปลอดภัยดีทุกด้าน มีบ้างเล็กน้อยก็ไม่สำคัญอะไรเลย

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๐ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เจ้าภาพได้ทำการหล่อพระพุทธรูปรวม ๔ องค์  หน้าตักกว้าง ๘๐ เซนติเมตร  คุณหญิงวาด เลขวณิชธรรมวิทักษ์ เป็นเจ้าภาพ ๒ องค์ (องค์หนึ่งหล่อถวายท่านพ่อ) อีกองค์หนึ่งเพื่อตัวคุณหญิงวาดฯ เอง)  พระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์ เป็นเจ้าภาพ ๑ องค์  พ.ต.ท.หลวงวีรเดช กำแหง และคุณนายน้อย วีรเดชกำแหง เป็นเจ้าภาพ ๑ องค์  ราคาองค์ละ ๖,๗๙๐ บาท นายกวงหั้ง แซ่เหีย พร้อมทั้งบุตรภริยาหล่อถวายอีก ๑ องค์ ได้ทำการหล่อตั้งแต่งานมาฆบูชา นำมาสมทบในงานนี้ด้วย ราคา ๓๔,๐๐๐ บาท รวมทั้งค่าฉลองเสร็จ พระพุทธรูปเหล่านี้ทางวัดไม่ต้องจ่ายเงิน เจ้าภาพจ่ายเอง คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๖๑,๑๖๐ บาท ได้ทำการสมโภชจนเสร็จ

ฝ่ายมหรสพไม่ค่อยมีคนสนใจดู เพราะตั้งใจมาทำศาสนพิธีมากกว่า คณะศิษย์ชาวจีนนำงิ้ว ๑ โรงมาช่วย ๓ คืน  คุณวารี ฉัยกุล อำเภอหาดใหญ่ นำละครมโนราห์และหนังตะลุงอย่างละ ๑ ชุด มาช่วยอยู่จนตลอดงาน มีหมอลำอีสาน ๑ ชุด แอ่วอยู่ ๑ คืนก็ต้องเลิก มีภาพยนตร์มาช่วยอีก ๒ จอ กิจการเหล่านี้ไม่ต้องจ่ายเงินเพราะคณะศิษย์นำมาช่วย
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5436


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2564 18:06:22 »



ฝ่ายมหรสพไม่ค่อยมีคนสนใจดู เพราะตั้งใจมาทำศาสนพิธีมากกว่า คณะศิษย์ชาวจีนนำงิ้ว ๑ โรงมาช่วย ๓ คืน  คุณวารี ฉัยกุล อำเภอหาดใหญ่ นำละครมโนราห์และหนังตะลุงอย่างละ ๑ ชุด มาช่วยอยู่จนตลอดงาน มีหมอลำอีสาน ๑ ชุด แอ่วอยู่ ๑ คืนก็ต้องเลิก มีภาพยนตร์มาช่วยอีก ๒ จอ กิจการเหล่านี้ไม่ต้องจ่ายเงินเพราะคณะศิษย์นำมาช่วย

ได้ทำการฉลองอยู่เช่นนี้ โดยวิธีการสวดมนต์สมโภช เวียนเทียน สวดพุทธาภิเษก นั่งสมาธิ มีการแสดงธรรมะ ได้นิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่มาช่วยแสดงธรรมะ  อาทิ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฎฯ ได้มาเทศน์โปรด ๑ กัณฑ์  พระศาสนโสภณ มาเทศน์ ๑ กัณฑ์  นอกนั้นก็แสดงธรรมเป็นครั้งเป็นคราว เจ้าของแสดงเองบ้าง พระอาจารย์ตื้อ แสดงบ้าง ได้บำเพ็ญกิจวัตรอย่างนี้ จนถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๐๐ สรุปแล้วงานครั้งนี้มีสถิติรายรับรายจ่ายทั้งหมดดังต่อไปนี้

ยอดรายรับ   ถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม  จำนวน  ๘๔๐,๓๔๐.๔๙ บาท
ยอดรายจ่าย ถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม  จำนวน  ๔๓๓,๓๒๖.๗๕ บาท
                                      หักแล้วคงเหลือเงิน  ๓๐๗,๐๑๓.๗๔ บาท (สามแสนเจ็ดพันสิบสามบาทเจ็ดสิบสี่สตางค์)

เงินทั้งหมดนี้เป็นเงินที่พุทธบริษัทได้บริจาคด้วยจิตใจศรัทธา นอกนั้นเป็นเงินแห้ง เช่นบวชนาคเจ้าภาพจัดกันเอง กองกลางไม่รับเงินจำนวนนี้ เทศน์สังคายนา เลี้ยงพระสวดมนต์ สร้างพระพุทธรูป สร้างศาลาโรงพิธี ซ่อมถนนเข้าวัด สวดกงเต๊ก เหล่านี้เป็นประเภทเงินแห้ง รวมแล้วหยาบๆ เป็นเงินประมาณ ๓ แสนเศษ  เมื่อเสร็จงานแล้วเหลือเงินสดอยู่ในบัญชีเป็นจำนวนเงิน ๓๐๗,๐๑๓.๗๔ บาท(ซึ่ง พ.ต.ท.หลวงวีรเดชกำแหงได้ฝากไว้ในธนาคาร ตามคำสั่งของท่านพ่อ เงินจำนวนนี้ได้ใช้จ่ายสมทบทุนบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๓ หมื่นบาท และก่อสร้างเพิ่มเติมภายในวัด อาทิเช่น ซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพร้อมทั้งเสาและสายไฟ สร้างโรงครัวถาวร สร้างพระอุโบสถสำรองชั่วคราว ฯลฯ รายละเอียดรายจ่ายเหล่านี้อยู่กับ พ.ต.ท.หลวงวีรเดชฯ ท่านพ่อได้ตรวจดูแล้ว ส่งหลักฐานการจ่ายให้ พ.ต.ท.หลวงวีรเดชฯ เก็บรักษาไว้  เงินเหลือนอกจากนี้ได้มอบให้คณะกรรมการก่อสร้างพระอุโบสถและพระเจดีย์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป พระอุโบสถนั้นได้เริ่มลงมือก่อสร้างตั้งแต่วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๐๒ ตามแบบแปลนของกรมศิลปากร)

ในพิธีฉลองครั้งนี้ มีคณะสงฆ์ พุทธบริษัทมาร่วมอนุโมทนาตลอดจนกระทั่งพระเถระ อุบาสก อุบาสิกา ถึง ๔๕ จังหวัด ต่อจากนั้นก็เป็นอันสำเร็จการ การจัดงานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ.๒๕๐๐

ต่อมาเวลาจวนเข้าพรรษา ได้มีเจ้าภาพคนหนึ่ง ชื่อนายธนบูลย์ กิมานนท์ พร้อมด้วยภริยาและบุตร สร้างพระพุทธรูปถวายในปี ๒๕๐๐ นี้อีก ๑ องค์ คิดราคาค่าก่อสร้างเป็นเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท หน้าตัก ๔ ศอก ๔ นิ้ว ทำการฉลองและสร้างแท่นอีก รวมสิ้นเงินทั้งหมด ๑ แสน ๔ พันบาทเศษ

ระหว่างอยู่จำพรรษา ยังคงมีพระ เณร อุบาสิกา ซึ่งได้บวชเมื่องานฉลองสมโภช ๒๕ พุทธศตวรรษ และยังคงบวชอยู่ร่วมกัน บำเพ็ญกุศลต่อมาในพรรษาอีกเป็นจำนวนมาก

เมื่อออกพรรษาแล้ว ต่างคนต่างกลับไปเยี่ยมบ้านของตน ยังคงเหลืออยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังมี ส่วนตัวเราได้ออกไปเยี่ยมความทุกข์สุขของคณะศิษย์ที่ได้มาร่วมงานสมโภชครั้งนี้หลายแห่ง

ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ นี้ ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในนามว่า “พระครูสุทธิธัมมาจารย์” เมื่อวันที่ ๕ เดือนธันวาคม ๒๔๙๙ ซึ่งตนของตนไม่เคยคิดนึกและไม่รู้ตัว ต่อจากนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้ขึ้นไปเยี่ยมจังหวัดลำปาง อยากไปสร้างพระเจดีย์สัก ๑ องค์ที่ถ้ำพระสบาย เมื่อได้ไปถึงจังหวัดลำปางก็ได้ทราบว่า ได้มีต้นโพธิ์เกิดขึ้นแล้ว ๓ ต้น ที่หน้าถ้ำพระสบาย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๙ บัดนี้ต้นสูงแล้วก็รู้สึกดีใจมาก ในที่สุดก็ได้สร้างพระเจดีย์ไว้องค์หนึ่งแล้วบรรจุพระบรมธาตุไว้ที่ถ้ำนั้น มีเจ้าแม่สุข ณ ลำปาง  คุณนายกิมเหรียญ กิ่งเทียน  แม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์  และคณะอุบาสก อุบาสิกา ได้ช่วยร่วมมือกันเป็นผู้อุปการะ พร้อมคณะศิษย์ทั้งพระและฆราวาสช่วยกันจนสำเร็จสมความปรารถนา ได้นำต้นโพธิ์อินเดีย ๑ ต้นไปปลูกไว้ที่ถ้ำด้วย

ต่อจากนั้น ได้เดินทางไปเชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี เที่ยวจาริกสัญจรไปในระหว่างเวลาออกพรรษาทุกปี การทำเช่นนี้ก็เพราะได้คิดเห็นว่า การที่จะอยู่ประจำวัดเฉยๆ ก็เปรียบเหมือนรถไฟที่จอดนิ่งอยู่ที่สถานีหัวลำโพง ประโยชน์ของรถไฟที่จอดนิ่งอยู่กับที่มีอะไรบ้าง ทุกคนคงตอบได้  ฉะนั้น ตัวเราเองจะมานั่งอยู่ที่เดียวนั้น เป็นไปไม่ได้ จำเป็นจะต้องออกสัญจรอยู่อย่างนี้ตลอดชาติในภาวะที่ยังบวชอยู่

การประพฤติเช่นนี้ บางครั้งหมู่คณะก็ตำหนิโทษ บางคราวก็ได้รับคำชมเชย แต่ตนเองเห็นว่าได้ผลทั้งนั้น เพราะได้รู้จักภูมิประเทศ เหตุการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของพระศาสนาในที่ต่างๆ บางอย่างบางชนิดเราอาจโง่กว่าเขา บางอย่าง บางหมู่คณะ บางสถานที่ เขาอาจดีกว่าเรา  ฉะนั้น การสัญจรไปจึงไม่ขาดทุน นั่งอยู่นิ่งๆ ในป่าก็ได้ประโยชน์ ถ้าถิ่นไหนเขาโง่กว่าเรา เราก็เป็นอาจารย์ให้เขา หมู่ไหนฉลาดกว่าเรา เราก็ยอมตนเป็นศิษย์เขา  ฉะนั้น การสัญจรไปมาจึงไม่เสียประโยชน์ อีกประการหนึ่ง ที่เราชอบไปอยู่ตามป่าตามดงนั้นได้เกิดความคิดหลายอย่าง คือ

๑. เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า ดับขันธปรินิพพานในป่า แต่ทำไมพระองค์จึงสามารถทำความดีไปฝังไว้กลางพระมหานครได้ เช่น ได้ไปทรงขยายกิจการพระศาสนาให้แก่พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งกรุงราชคฤห์ เป็นต้น

๒. พิจารณาเห็นว่าการหลบ ดีกว่าการสู้ เพราะเรายังไม่ได้เป็นผู้วิเศษ ตราบใดถ้าเราได้เป็นผู้มีหนังเหนียว สามารถทนทานต่อลูกปืน หอก ดาบได้แล้ว เราจึงควรอยู่ในที่ชุมนุมชน  ฉะนั้น จึงคิดว่าหลบดีกว่าสู้ คนที่รู้จักหลบ เขาบอกว่า “รู้จักหลบเป็นปีก รู้จักหลีกเป็นหาง”  แปลความหมายว่าลูกไก่ออกมาจากไข่ตัวเล็กๆ ถ้ามันเข้าใจหลบ มันก็ไม่ตาย มีโอกาสได้เติบโตออกปีกออกขน สามารถช่วยตนเองในกาลข้างหน้าได้ รู้จักหลีกเป็นหาง เช่น หางเสือเรือที่วิ่งในน้ำ ถ้าคนถือท้ายรู้จักงัดหรือกด ก็สามารถนำเรือนั้นวิ่งหลบการเกยตอและหาดได้อย่างดี เรือจะหลบได้ต้องอาศัยหางเสือ ตนของตนเองเมื่อคิดได้เช่นนี้ จึงมีนิสัยชอบอยู่ป่า

๓. มานึกถึงหลักธรรมชาติ ก็เป็นสถานที่ที่สงัดสงบ ได้สังเกตเหตุการณ์ในภาวะของภูมิประเทศ เช่น สัตว์ป่าบางเหล่าเวลานอนนอนผิดกับสัตว์ในบ้าน มันก็เป็นข้อเตือนใจได้ ตัวอย่างเช่น ไก่ป่า หูตาว่องไว หางกระดก ปีกแข็ง ขันสั้น วิ่งเร็ว บินไกล ลักษณะเหล่านี้เกิดจากไหน ได้นำมาเตือนใจแล้วเกิดความคิดว่า ไก่บ้าน ไก่ป่า เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกัน แต่ไก่บ้าน ปีกอ่อน ขันยาว หางตก งุ่มง่าม มีกิริยามารยาทต่างกัน ก็นึกขึ้นได้ว่า เกิดจากความไม่ประมาท เพราะสถานที่นั้นมีภัยอันตรายรบกวน จะไปทำตนเหมือนไก่บ้านก็ต้องเสร็จงูเห่าและพังพอน

ฉะนั้น เวลาจะกิน จะนอน ลืมตา มารยาทของไก่ป่าต้องเข้มแข็ง จึงจะปลอดภัยอยู่ได้ ตัวเราฉันใดก็ฉันนั้น ถ้ายืนแช่อยู่ในหมู่คณะก็เหมือนมีดเหมือนจอบปักจมอยู่ในพื้นดิน ทำให้สึกหรอได้ง่าย ถ้าถูกหินถูกตะไบขัดถูอยู่เป็นนิจ สนิมก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ใจของเราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ฉะนั้น จึงชอบอยู่ในป่าเสมอมา เป็นการได้ประโยชน์ ได้คติเตือนใจหลายอย่าง

๔. มาระลึกถึงคำสอนที่พระพุทธิจ้าทรงสอนในครั้งก่อน ซึ่งเป็นประเพณีของสมณะ เป็นคำสอนที่ชวนให้คิดอยู่มาก คือครั้งแรกพระองค์ทรงสอนธรรมะก่อนพระวินัย เช่น เวลาอุปสมบทได้สอนพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วก็สอนกรรมฐานทั้ง ๕ มี เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น  ต่อจากนั้นก็ได้ให้โอวาทแก่ผู้บรรพชาอุปสมบท มีใจความอยู่ ๔ อย่างคือ

๑) ให้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร แสดงตนเป็นผู้ขอ แต่พระองค์ไม่ให้แสดงตนเป็นคนยากจน เช่น เขาให้เท่าไรก็ยินดีเท่านั้น

๒) พระองค์ทรงสอนให้ไปอยู่ในที่สงัด ที่เรียกว่า “รุกขมูลเสนาสนะ” มีบ้านร้าง สุญญาคาร หิมมิยัง เงื้อมผา คูหาถ้ำ สถานที่ต่างๆ เหล่านี้ มีปัญหาว่าพระองค์ทรงเห็นประโยชน์อะไรหรือ จึงได้สอนเช่นนั้น แต่ตัวเองก็นึกเชื่ออยู่ในใจว่า ถ้าเรื่องเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ พระองค์คงไม่สอน ถึงกระนั้นก็ยังมีความรู้สึกลังเลใจอยู่ จนเป็นเหตุให้สนใจในเรื่องนี้

๓) พระองค์สอนให้ถือผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องใช้สอย ตลอดจนให้ถือเอาผ้าพันผีตายมาใช้นุ่งห่ม ก็เป็นเหตุให้ตัวเองนึกถึงเรื่องตาย ว่าการนุ่งห่มผ้าพันผีตายมีประโยชน์อะไรบ้าง ข้อนี้พอได้ความง่ายๆ คิดดูโดยหลักธรรมดาก็จะเห็นได้ว่า ของตายนั้นไม่มีใครต้องการอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือของตายเป็นของไม่มีพิษไม่มีโทษ

ในข้อนี้พอจะน้อมนึกตรึกตรองได้อยู่บ้าง ว่าพระองค์ได้สอนไม่ให้เป็นผู้ทะนงตัวในปัจจัยลาภ

๔) พระองค์สอนให้บริโภคยารักษาโรคที่หาได้อย่างง่ายๆ เช่น ให้ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า

คำสอนต่างๆ ของพระองค์ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ เมื่อเราได้รับฟังเข้าแล้วเป็นเหตุให้เกิดความสนใจ แต่เมื่อสรุปแล้วจะได้รับผลไม่ได้รับก็ตาม แต่เรามีความเชื่อมั่นอยู่อย่างหนึ่งว่าพระองค์ไม่ใช่บุคคลที่งมงาย เรื่องใดที่ไม่มีเหตุผลพระองค์คงไม่ทรงสั่งสอนเป็นอันขาด

ฉะนั้น จึงได้มาระลึกนึกคิดว่า ถ้าเราไม่เชื่อในคำสอนของพระองค์เราก็ควรยอมรับนับถือตามโอวาท หรือถ้าเราไม่เชื่อความสามารถของผู้สอนเรา เราก็ควรทำตามไปก่อนโดยฐานะที่ทดลองดู เพื่อเป็นการรักษาสังฆประเพณี ระเบียบแบบแผนของผู้ที่เราเคารพนับถือกราบไหว้เอาไว้ก่อน

อีกประการหนึ่ง ได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นผู้ถือเคร่งครัดในธุดงค์ เช่น ถือการอยู่ป่า ฉันอาหารแต่มื้อเดียว ถือบังสุกุลเป็นวัตร ท่านได้ขอปฏิบัติตัวของท่านอย่างนี้ตลอดชีพ ในเรื่องนี้พระองค์ได้ทรงซักถามพระมหากัสสปะ ว่า “ท่านเป็นผู้สิ้นอาสวะแล้ว ท่านขวนขวายเพื่อเหตุอะไร” พระมหากัสสปะตอบว่า “ข้าพระองค์มุ่งประโยชน์ของกุลบุตรผู้จะเกิดตามมาสุดท้ายภายหลัง ไม่ได้มุ่งประโยชน์ส่วนตัว เมื่อข้าพระองค์ไม่ทำ จะเอาใครเป็นตัวอย่าง เพราะการสอนคนนั้นถ้ามีตัวอย่างสอนได้ง่าย เปรียบเสมือนการสอนภาษาหนังสือ เขาทำแบบหรือรูปภาพประกอบการสอน เป็นเหตุให้ผู้เรียน เรียนได้สะดวกขึ้นอีกมาก ข้าพระองค์ประพฤติเช่นนี้ฉันใด ก็ฉันนั้น

เมื่อได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งได้ทูลตอบพระบรมศาสดาเช่นนี้ ก็สงสารพระมหากัสสปะ ท่านอุตส่าห์ตรากตรำทรมาน ถ้าเปรียบในทางโลกท่านก็เป็นถึงมหาเศรษฐี ควรได้นอนที่นอนที่ดีๆ กินอาหารที่ประณีต ตรงกันข้าม ท่านกลับสู้อุตส่าห์มาทนลำบากนอนกลางดิน กินกลางหญ้า ฉันอาหารก็ไม่ประณีต เปรียบเทียบกับตัวเราเสมอเพียงแค่นี้ จะมาหาแต่ความสุขใส่ตัวแค่อามิส ก็บังเกิดความละอายใจ สำหรับพระมหากัสสปะ เวลานั้นท่านจะบริโภคอาหาร นั่ง นอน ในที่สวยงามเท่าไรก็ตาม ย่อมไม่มีปัญหาใดๆ ที่จะเป็นไปเพื่ออาสวะกิเลสเสียแล้ว แต่ว่าเป็นของไม่แปลก ท่านกลับเห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่บรรดาสานุศิษย์

ฉะนั้น เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นข้อสะกิดใจเรามานับตั้งแต่เริ่มบวชในครั้งแรก

เมื่อพูดถึงเรื่องการอยู่ป่า ก็เป็นของแปลประหลาดเตือนใจเราอยู่มาก เช่น บางคราวได้มองเห็นความตายอย่างใกล้ชิด และได้รับคำเตือนใจหลายอย่าง บางคราวก็เกิดจากคนในป่า บางคราวก็เห็นพฤติการณ์ของสัตว์ในป่า สมัยหนึ่ง มีตาแก่ยายแก่สองคนผัวเมีย พากันไปตักน้ำมันยางในกลางดงใหญ่ เผอิญไปพบหมีใหญ่ตัวหนึ่ง ได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น เมียหนีขึ้นต้นไม้ทัน แล้วร้องตะโกนบอกผัวว่า “ถ้าสู้มันไม่ไหว ให้ลงนอนหงายนิ่งๆ ทำเหมือนคนตาย อย่ากระดุกกระดิก ฝ่ายผัวพอได้ยินเมียร้องบอกดังนั้นก็ได้สติ แกจึงแกล้งล้มลงนอนแผ่ลงกลางพื้นดิน และนอนนิ่งๆ ไม่ไหวตัว เมื่อหมีเห็นดังนั้นก็ขึ้นคร่อมตัวตาแก่ไว้ ปล่อยมือปล่อยตีน ไม่ตะปบตาแก่อีก เป็นแต่มองดูตาแก่ที่กำลังนอนหงายอยู่นั้น ตาแก่ก็ได้แต่นอนบริกรรมภาวนาได้คำเดียวว่า “พุธโธ พุทโธ” พร้อมทั้งนึกในใจว่า “เราไม่ตาย” หมีก็ดึงขา ดึงศีรษะแก แล้วใช้ปากดันตัวแกทางซ้ายทางขวา แกก็ทำเป็นนอนตัวอ่อนไปอ่อนมาไม่ยอมฟื้น หมีเห็นดังนั้นก็คิดว่าตาแก่คงตายแล้ว มันจึงหนีไป ต่อจากนั้นสักครู่หนึ่งแกก็ลุกขึ้น เดินกลับบ้านกับเมีย บาดแผลที่แกได้รับคือหัวถลอกปอกเปิกแต่ไม่ตาย แกก็สรุปให้ฟังว่า “สัตว์ป่าต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเราเห็นว่าจะสู้ไม่ไหว ต้องทำตัวเหมือนคนตาย”

เมื่อเราได้ฟังแกเล่าแล้ว ก็ได้ความรู้ขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า คนตายไม่มีใครต้องการ เราอยู่ในป่าเราก็ควรทำตนเหมือนคนตาย ฉะนั้น ใครจะว่าดีหรือชั่วประการใด เราต้องนิ่งสงบกาย วาจา ใจ จึงจะรอดตาย เป็นอุทาหรณ์เตือนใจได้อีกอย่างหนึ่งในทางธรรมะว่า “คนที่จะพ้นตาย ต้องทำตนเหมือนคนตาย” ก็เป็นมรณสติเตือนใจได้เป็นอย่างดี

อีกครั้งหนึ่ง ได้ไปพักอยู่ในดงใหญ่แห่งหนึ่ง วันหนึ่งเวลาเช้าสางๆ ได้พาลูกศิษย์ออกบิณฑบาต พอเดินผ่านดงไป ได้ยินเสียงแม่ไก่ร้อง “กะต๊ากๆ” ฟังเสียงดูเป็นเสียงไก่แม่ลูกอ่อน เพราะเมื่อส่งเสียงร้องแล้ว ไม่ยอมบิน จึงให้ลูกศิษย์วิ่งไปดู แม่ไก่ตกใจก็บินข้ามต้นไม้สูงหนีไป เห็นลูกไก่วิ่งอยู่หลายตัว มันพากันวิ่งหนีเข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในกองใบไม้ร่วง แล้วทุกตัวก็นิ่งเงียบ ไม่ยอมไหวตัวไม่ยอมกระดุกกระดิก แม้จะเอาไม้คุ้ยเขี่ยดู ก็ไม่ยอมกระดุกกระดิก เด็กลูกศิษย์ไปหาอยู่พักหนึ่ง ไม่ได้พบลูกไก่เลยแม้แต่ตัวเดียว แต่เรานึกในใจว่า มันไม่ได้หนีไปไหนแม่มันทำตัวเหมือนใบไม้ร่วง ในที่สุดลูกไก่ตัวนิดๆ จับไม่ได้สักตัวเดียว เรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้นึกถึงสัญชาตญาณการป้องกันภัยของสัตว์ ว่ามันก็มีวิธีการที่ฉลาด มันทำตัวของมันให้สงบ ไม่มีเสียงในกองใบไม้ร่วง จึงได้เกิดการนึกเปรียบเทียบขึ้นในใจตนเองว่า “ถ้าเราอยู่ในป่า ทำจิตให้สงบไม่ไหวตัวเช่นเดียวกับลูกไก่ เราก็ต้องได้รับความปลอดภัย พ้นความตายแน่นอน” ก็เป็นคติเตือนใจได้อีกเรื่องหนึ่ง

นอกจากนี้ เมื่อนึกถึงธรรมชาติอื่นๆ เช่น ต้นไม้ เถาวัลย์ สัตว์ป่า แต่ละอย่างเหล่านี้ ล้วนเป็นเครื่องปลุกใจได้เป็นอย่างดี เช่น เถาวัลย์บางชนิดพันต้นไม้ไม่มีเลี้ยวไปทางทิศทางอื่น ต้องพันเลี้ยวไปทางทักษิณาวัตรเสมอ สังเกตเห็นเช่นนี้ก็มาระลึกถึงตัวหากเราจะทำจิตให้ก้าวไปสู่ความดีอันยิ่งยวด เราต้องเอาอย่างเถาวัลย์คือเดินทางทักษิณาวัตร เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า “กายกัมมัง วจีกัมมัง มโนกัมมัง ปทักขิณัง”  ฉะนั้น เราต้องเอาอย่างเถาวัลย์คือเดินทางทักษิณาวัตร  คือเวียนไปทางทักษิณเสมอ นั่นคือเราต้องทำตนให้เหนือกิเลสที่จะลุกลามใจ มิฉะนั้น เราก็สู้เถาวัลย์ไม่ได้ ต้นไม้บางชนิดมันแสดงความสงบให้เราเห็นด้วยตา ที่เราเรียกกันว่า “ต้นไม้นอน” ถึงเวลากลางคืนมันหุบใบ หุบก้าน เมื่อเราไปนอนอยู่ใต้ร่มไม้ต้นนั้น จะมองเห็นดาวเดือนอย่างถนัดในเวลากลางคืน แต่พอถึงเวลากลางวันแผ่ก้านแผ่ใบมืดทึบอย่างนี้ก็มี เรื่องเหล่านี้ก็ล้วนเป็นคติเตือนใจว่า ขณะเรานั่งสมาธิหลับตาภาวนานั้น ก็ให้หลับแต่ตา ส่วนใจเราต้องให้สว่างไสว เหมือนต้นไม้นอนในเวลากลางคืน ซึ่งใบไม้ไม่ปิดตาเรา เมื่อระลึกนึกคิดได้อย่างนี้ ก็ได้แลเห็นประโยชน์ของการอยู่ป่า จิตใจก็เกิดความห้าวหาญ ธรรมะธรรมโมที่ได้เรียนมาหรือที่ยังไม่ได้เรียนรู้ก็ผุดมีขึ้นเพราะธรรมชาติเป็นผู้สอน จึงได้มานึกถึงหลักวิทยาศาสตร์ของโลก ที่ทุกประเทศพากันทำฤทธิ์ทำเดชต่างๆ นานา และทำได้อย่างสูงๆ น่ามหัศจรรย์ ล้วนแต่ไม่ปรากฏว่ามีตำราในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมาแต่ก่อน นักวิทยาศาสตร์พากันคิดได้จากหลักธรรมชาติ ซึ่งปรากฏมีอยู่ในโลกนี้ทั้งสิ้น เรามาหวนคิดถึงธรรมะก็มีอยู่ตามธรรมชาติเหมือนวิทยาศาสตร์นั่นเอง เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็หมดห่วงในเรื่องการเรียน แล้วมาระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ล้วนแต่ได้เรียนสำเร็จจากหลักธรรมชาติทั้งนั้น ไม่ปรากฏว่าเคยมีตำรับตำรามาแต่ก่อน

ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ตัวเราจึงยอมโง่ทางแบบและตำรา ต้นไม้บางชนิดมันนอนกลางคืนแต่ตื่นกลางวัน บางชนิดก็นอนกลางวันแต่ตื่นกลางคืน สัตว์ป่าก็เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้รับความรู้จากพฤกษชาติซึ่งมันคลายรสในตัวของมันออก บางชนิดก็เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย บางชนิดก็เป็นโทษแก่ร่างกาย อาทิเช่น บางคราวเราเป็นไข้ เมื่อเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด อาการไข้ก็หายไป บางคราวเราสบายดี แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด ธาตุก็เกิดแปรปรวน บางคราวเราหิวข้าวหิวน้ำ แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด อาการหิวเหล่านั้นก็หายไป การได้ความรู้ต่างๆ จากพฤกษชาติเช่นนี้ เป็นเหตุให้นึกถึงแพทย์แผนโบราณ ซึ่งนิยมสร้างรูปฤๅษีไว้เป็นที่เคารพบูชา ฤๅษีนั้นไม่เคยได้เรียนตำรายามาแต่ก่อน แต่มีความสามารถสอนแพทย์แผนโบราณให้รู้จักยารักษาโรคได้ โดยวิธีการเรียนธรรมชาติโดยทางจิตเหมือนอย่างตัวเรานี้เอง น้ำ พื้นแผ่นดิน หรืออากาศธาตุก็เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น เมื่อทราบเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ เราก็ไม่ค่อยจะสนใจในเรื่องยารักษาโรค คือเห็นว่ามันมีอยู่ทั่วไป ส่วนที่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ อันนั้นเป็นเรื่องของตัวเราเอง นอกจากนั้นยังมีคุณความดีอย่างอื่นที่จะต้องบริหารตัวเอง นั่นคืออำนาจแห่งดวงจิตที่สามารถทำให้สงบลงได้เท่าไร ก็ยิ่งมีคุณภาพสูงขึ้นไปยิ่งกว่านี้อีกหลายสิบเท่า ซึ่งเรียกว่า “ธรรมโอสถ”

สรุปแล้ว คุณประโยชน์ที่ได้รับในเรื่องการอยู่ป่าที่สงัดเพื่อปฏิบัติทางจิตนี้ เห็นจริง ตัดข้อสงสัยในคำสอนของพระตถาคตได้เป็นข้อๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงยอมปฏิบัติตนเพื่อ “วิปัสสนาธุระ” ตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเนื่องในการที่ได้ปฏิบัติทางจิตนี้ ถ้าจะนำมาพรรณนาก็มีอยู่มากมาย แต่จะขอกล่าวแต่เพียงสั้นๆ เสมอเพียงเท่านี้

มาบัดนี้จึงได้เริ่มสร้างวัดอโศการาม เพื่อให้เป็นหลักแหล่งของกุลบุตรกุลธิดาสืบต่อไป ในระหว่างอยู่วัดอโศการามเดือนธันวาคม ปี พ.ศ.๒๕๐๐ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะขึ้นโดยไม่รู้ตัว ในนาม “พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์” จึงได้ตั้งใจอยู่จำพรรษาในวัดนี้เรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๙ มาถึงปี พ.ศ.๒๕๐๒

ในพรรษาปี พ.ศ.๒๕๐๒ รู้สึกว่าอาการป่วยมารบกวน เริ่มป่วยตั้งแต่กลางพรรษา มานึกถึงการเจ็บป่วยของตัวบางวันบางเวลาก็เกิดความท้อถอยในการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป บางวันก็รู้สึกว่าจิตใจขาดกระเด็นไปจากศิษย์ มุ่งแต่ไปลำพังตนคนเดียว มองเห็นที่วิเวกสงัดว่าเป็นบรมสุขอย่างเลิศในทางธรรมะ บางวันบางเวลาอาการป่วยทุเลา บางวันก็ป่วยตลอดคืนแต่พอทนได้ มีอาการปวดเสียดในกระเพาะ มีอาการจับไข้วันหนึ่งเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง ฉะนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ครั้งแรกได้มารักษาอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ จนถึงวันที่ ๕ เดือนเดียวกันก็กลับไปวัด เมื่อกลับไปวัดแล้ว อาการอาพาธชักกำเริบ พอถึงวันอังคารที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ ก็ได้กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าอีกครั้งหนึ่ง อาการป่วยก็ค่อยทุเลาเบาบาง

อยู่มาวันหนึ่งมานอนนั่งนึกอยู่คนเดียวว่า เราเกิดมาก็ต้องการให้เป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่น แม้เราจะเกิดอยู่ในโลกที่มีการเจ็บป่วย ก็มุ่งทำประโยชน์ให้แก่โลกและพระศาสนาตลอดชาติ ทีนี้เราเจ็บป่วยเราก็อยากได้ประโยชน์อันเกิดจากการเจ็บป่วยในส่วนตนและคนอื่น  ฉะนั้น จึงได้เขียนหนังสือขึ้นฉบับหนึ่ง มีใจความดังต่อไปนี้ คือ

                                                                                                                           ห้องพิเศษ โรงพยาบาลบุคคโล ทหารเรือ
                                                                                                                           (โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า)

เรื่องอาหารของท่านพ่อนั้น ใครๆ อย่าได้ห่วงอาลัย ทางโรงพยาบาลมีทุกอย่างว่าจะต้องการอะไร ฉะนั้น ถ้าใครๆ หวังดีมีศรัทธาแล้ว ให้คิดค่ารถที่นำไปนั้นเสีย คิดค่าอาหารที่พวกเราจ่ายไปนั้นเสีย เอาเงินจำนวนนั้นๆ ไปทำบุญในทางอื่นจะดีกว่า เช่น หลวงพ่อใช้ยาของโรงพยาบาลไปเท่าไร เหลือจากท่านพ่อแล้วยังเป็นประโยชน์กับคนอื่นที่อนาถาต่อไป ให้พากันคิดเช่นนั้นจะดีกว่ากระมัง และตึกที่ท่านพ่อพักอยู่นั้นเป็นตึกพิเศษ ยังมิได้เปิดรับคนป่วยเลย นายแพทย์ก็ให้เกียรติท่านพ่อเต็มที่ แม้มูลค่าบำรุง ๑ สตางค์ ไม่เคยพูดกันสักคำ

ฉะนั้น ผู้ใดหวังดีแก่ท่านพ่อ ควรนำไปคิดดูก็แล้วกัน ในที่สุดนี้ท่านพ่อจะสร้างเตียงไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย ใครมีศรัทธาติดต่อท่านพ่อได้ หรือผู้อำนวยการและผู้ช่วยผู้อำนวยการ ที่โรงพยาบาลบุคคโล ทหารเรือ
                                                                                      (ลงนาม) พระอาจารย์ลี



(หมายเหตุ โรงพยาบาลบุคคโล ทหารเรือ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมให้เปลี่ยนชื่อใหม่ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ เป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า  หลังท่านพ่อเข้ามาพักรักษาตัว ๑ วัน ทั้งๆ ที่ทางโรงพยาบาลได้ขอเปลี่ยนชื่อนี้ไปเป็นเวลานานแล้ว)

เมื่อได้เขียนหนังสือดังกล่าว ได้นึกอยู่ในใจว่า อย่างน้อยควรได้มูลค่าปัจจัยในการช่วยเหลือโรงพยาลครั้งนี้ ๓ หมื่นบาท จึงได้ออกประกาศแจ้งความจำนงแก่บรรดาสานุศิษย์ ต่างคนต่างมีศรัทธาบริจาคร่วมกันตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ต่อมาเมื่อวันที่๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ คนจังหวัดสมุทรปราการมาเล่าให้ฟังทีโรงพยาบาล มีใจความ ๒ อย่างคือ

๑. ได้เกิดมีรถยนต์ชนกัน มีคนตายอีกแถวโค้งมรณะ บางปิ้ง
๒. บางคนก็ว่ามีผีคอยหลอก แสดงให้ปรากฏต่างๆ นานา

เมื่อได้ทราบดังนี้ จึงได้คิดดำริทำบุญอุทิศกุศลให้คนตายด้วยอุปัทวเหตุทางรถยนต์บนถนนสายนี้ จึงได้ไปปรึกษาปลัดจังหวัดสมุทรปราการ และคณะศิษย์ ก็ตกลงกันว่าต้องทำบุญ ได้กำหนดการทำบุญกันขึ้นโดยเริ่มงานตั้งแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๐๒ มีการสวดมนต์เย็นที่ปะรำข้างถนนสุขุมวิท ใกล้ที่ทำงานของตอนการทางสมุทรปราการ จัดการผ้าป่า ๕๐ กอง มี คณะศิษย์ไปร่วมอนุโมทนา คราวนี้ได้เงินสมทบทุนช่วยโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรปราการทั้งสิ้น ๑๒,๖๐๐ บาทถ้วน (หนึ่งหมื่นสองพันหกร้อยบาทถ้วน)

วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๒ ได้ถวายอาหารพระ ๕๐ รูป ทอดผ่าป่า ๕๐ กอง เปลี่ยนชื่อโค้งใหม่ดังนี้

๑. ที่เรียกว่าโค้งโพธิ์แต่เดิมนั้น      ให้ชื่อใหม่ว่า “โค้งโพธิสัตว์”
๒. ที่เรียกว่า โค้งมรณะแต่เดิมนั้น  ให้ชื่อใหม่ว่า “โค้งปลอดภัย”
๓. ที่เรียกว่า โค้งมิโด้แต่เดิมนั้น      ให้ชื่อใหม่ว่า “โค้งชัยมงคล”

เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้กลับมาโรงพยาบาลตอนบ่ายวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๒ ก็ได้พักรักษาตัวอยู่เป็นเวลาหลายวัน นายแพทย์และจ่าพยาบาลได้เอาใจใส่รักษาและให้ความสะดวกเป็นอย่างดี เช่น พลเรือตรีจัตวา สนิท โปษกฤษณะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้เอาใจใส่มาก ทุกวันเวลาเช้ามืดได้นำอาหารมาถวายเป็นนิจ คอยปฏิบัติดูแลเหมือนกับลูกศิษย์ และในระหว่างนี้ก็ได้เขียนหนังสือขึ้นฉบับหนึ่ง ชื่อว่า “คู่มือบรรเทาทุกข์” เพื่อแจกเป็นธรรมทาน ในการสร้างหนังสือนี้เราก็ไม่ได้รับความลำบาก มีลูกศิษย์รับจัดพิมพ์ช่วย ๒,๐๐๐ เล่ม คือ คุณนายละมัย อำนวยสงคราม ๑,๐๐๐ เล่ม ร.ท.อยุธ บุณยฤทธิรักษา ๑,๐๐๐ เล่ม  รู้สึกว่าการคิดนึกของตนก็ได้เป็นไปตามสมควร เช่น ต้องการเงินบำรุงโรงพยาบาลมาถึงวันที่ได้ออกจากโรงพยาบาล คือ วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๐๓ รวมเวลาอยู่ในโรงพยาบาล ๔๕ วัน ก็มียอดเงินประมาณ ๓๑,๕๓๕ บาท แสดงว่าเราเจ็บเราก็ได้ทำประโยชน์ แม้จะตายไปจากโลกนี้ก็ยังคิดอยู่ว่า ซากกเรวรากที่เหลืออยู่ก็อยากให้เกิดประโยชน์แก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่  ตัวอย่างที่เคยเห็นมา เช่น ครูบาศรีวิชัย ซึ่งชาวเมืองเหนือเคารพนับถือ ท่านได้ดำริสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง แต่ยังไม่สำเร็จก็ตายเสียก่อน ต่อจากนั้นได้มีคนเอาศพของท่านไปตั้งไว้ใกล้ๆ สะพาน ถ้าลูกศิษย์หรือพุทธบริษัทอื่นๆ ต้องการจะช่วยทำการฌาปนกิจศพท่านก็ขอให้ช่วยกันสร้างสะพานให้สำเร็จเสียก่อน ในที่สุดครูบาศรีวิชัยก็นอนเน่าทำประโยชน์ให้แก่ประชราชนได้

ฉะนั้น ชีวิตความเป็นมาของตน ก็ได้คิดมุ่งอยู่อย่างนี้เรื่อยมานับตั้งแต่ได้ออกปฏิบัติในทางวิปัสสนากรรมฐาน มาแต่ พ.ศ.๒๔๖๙ จนถึง พ.ศ.๒๕๐๒ นี้ได้อบรมสั่งสอนหมู่คณะสานุศิษย์ในจังหวัดต่างๆ ได้สร้างสำนักให้ความสะดวกแก่พุทธบริษัท เช่น จังหวัดจันทบุรีมี ๑๑ สำนัก การสร้างสำนักนี้มีอยู่ ๒ ทางคือ

๑. เมื่อลูกศิษย์ได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้น ยังไม่สมบูรณ์ก็ช่วยเป็นกำลังสนับสนุน

๒.เมื่อเพื่อนฝูงได้ดำริสร้างขึ้นยังไม่สำเร็จ บางแห่งก็ขาดพระ ก็ได้ส่งพระที่เป็นศิษย์ไปอยู่ประจำต่อไปก็มี บางสำนักครูบาอาจารย์ได้ไปผ่านและสร้างขึ้นไว้แต่กาลก่อน ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมและอบรมหมู่คณะเรื่อยมา จนบัดนี้  จังหวัดจันทบุรี มี ๑๑ แห่ง  นครราชสีมา มีสำนักปฏิบัติ ๒-๓ แห่ง  ศรีสะเกษ ๑ แห่ง  สุรินทร์ก็มี เป็นเพื่อนกรรมฐานทั้งนั้น  อุบลราชธานีมีหลายแห่ง  นครพนม  สกลนคร อุดรธานี  ขอนแก่น  เลย  ชัยภูมิ  เพชรบูรณ์  ปราจีนบุรี  ระยอง  ตราด  ลพบุรี  ชัยนาท  ตาก  นครสวรรค์  พิษณุโลก เป็นวัดที่ผ่านไปอบรมชั่วคราวไม่มีสำนัก  สระบุรีมี ๑ แห่ง อุตรดิตถ์ก็เป็นจุดผ่านไปอบรม  ลำปาง  เชียงราย  เชียงใหม่  นครนายก  นครปฐม  ได้ผ่านไปอบรมชั่วคราว ยังไม่มีสำนัก  ราชบุรีได้ผ่านไปอบรมยังไม่มีสำนัก  เพชรบุรี มีพระเณรเพื่อนฝูงตั้งสำนักไว้บ้าง  ประจวบฯ ได้เริ่มสร้างสำนักที่อำเภอหัวหิน  ชุมพร มีสำนักอยู่ ๒-๓ แห่ง  สุราษฎร์ธานี ผ่านไปอบรมชั่วคราว ไม่มีสำนัก  นครศรีธรรมราช ก็ผ่านไปอบรม มีสำนักขึ้นก็รกร้างไป  พัทลุง มีศิษย์ผ่านไปอบรมยังไม่มีสำนัก  สงขลา มีสำนักที่วิเวกหลายแห่ง  ยะลา มีศิษย์ไปเริ่มอบรมไว้เป็นพื้น และได้เคยไปอบรม ๒ ครั้ง

ระหว่างออกพรรษาได้สัญจรไปเยี่ยมศิษย์เก่าๆ ของครูบาอาจารย์ที่เคยไปพักผ่อนมาแล้ว ก็ได้ไปอยู่เสมอมิได้ขาด บางคราวก็ได้หลบหลีกไปบำเพ็ญประโยชน์ส่วนตัวบ้าง นับตั้งแต่ได้อุปสมบทมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๘ แต่มาสวดญัตติใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ จำเดิมแต่นั้นมา ปีแรกที่ได้สวดญัตติแล้วได้อยู่จำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ๖ พรรษา มาจำพรรษาที่วัดสระปทุม พระนคร ๓ พรรษา ไปจำพรรษาอยู่ที่เชียงใหม่ ๒ พรรษา จำพรรษาที่จังหวัดนครราชสีมา ๒ พรรษา  ที่จังหวัดปราจีนบุรี ๑ พรรษา  มาสร้างสำนักที่จันทบุรี จำพรรษาอยู่ ๑๔ พรรษา  ต่อจากนั้นไปจำพรรษาที่ประเทศอินเดีย ๑ พรรษา กลับจากประเทศอินเดียผ่านประเทศพม่า ไปจำพรรษาที่วัดควนมีด จังหวัดสงขลา ๑ พรรษา  จากนั้นได้จำพรรษาที่วัดบรมนิวาส ๓ พรรษา  สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน) มรณภาพแล้วได้ออกไปจำพรรษาอยู่วัดอโศการาม ๔ พรรษา   พรรษาที่ ๔ นี้ ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๒

เวลาที่เขียนประวัติขึ้นนี้ กำลังนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ธนบุรี ต่อจากนี้ไปจะเป็นหมวดปกิณกะ คือ เรื่องเบ็ดเตล็ด จะได้หยิบยกเอาเรื่องราวต่างๆ มาพูดรวมกัน เพราะบางเรื่องบางอย่างจะนำมาติดต่อกันได้ยาก เพราะเป็นเวลายาว ฉะนั้น จะยกเอาเรื่องต่างๆ ต่างสถานที่ ต่างเวลา มารวมไว้ในหมวดต่อไป


ดิเรก   มณีรัตน์
ผู้บันทึก


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19 มิถุนายน 2564 18:12:29 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ประวัติท่านพ่อลี ธมมฺธโร วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
Kimleng 0 2487 กระทู้ล่าสุด 24 มีนาคม 2559 13:40:25
โดย Kimleng
วัดอโศการาม (ท่านพ่อลี ธมมฺธโร) จ.สมุทรปราการ
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 1626 กระทู้ล่าสุด 24 มีนาคม 2559 13:46:35
โดย Kimleng
พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง จันทสิริ) วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
ใบบุญ 0 1684 กระทู้ล่าสุด 30 มีนาคม 2559 20:15:28
โดย ใบบุญ
อาจารย์ยอด : ท่านพ่อลี ธมฺมธโร (วัดอโศการาม)
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
มดเอ๊ก 0 1690 กระทู้ล่าสุด 07 ธันวาคม 2559 03:12:59
โดย มดเอ๊ก
ชีวประวัติ ท่านพ่อลี แห่ง วัดอโศการาม (สาธุ 10 ชั่วโมง จุใจ)
พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
มดเอ๊ก 0 1571 กระทู้ล่าสุด 23 ธันวาคม 2559 23:58:59
โดย มดเอ๊ก
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.441 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 15 เมษายน 2567 23:29:59