[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 05:47:14 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การสำรวมอินทรีย โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี  (อ่าน 1132 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 91.0.4472.124 Chrome 91.0.4472.124


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2564 16:05:37 »



การสำรวมอินทรีย์
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ที่วัดแก้งเกลี้ยง วันที่ ๑๙ เม.ย. ๕๖)

           ขอนอบน้อมแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้วพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขจงบังเกิดมีแก่คณะครูบาอาจารย์ผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมด้วยกันทุกรูป ณ โอกาสบัดนี้

            ก่อนอื่นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้นั่งสมาธิฟังธรรม วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันที่ ๒ การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เริ่มจะเข้าร่องเข้ารอย เริ่มจะเข้าสู่สภาวะของการประพฤติปฏิบัติธรรม คณะครูบาอาจารย์ที่ยังบวชใหม่ยังเป็นผู้ใหม่ในพระธรรมวินัยก็อาจจะคิดว่ามันเป็นการลำบาก เป็นการที่ต้องอดตาหลับขับตานอน ต้องทนทุกข์ทรมานในการเดินการนั่ง ในการฉัน ในการขบเคี้ยวต่างๆ ที่เราจะต้องเอาขนบธรรมเนียมประเพณีของพระซึ่งเป็นประเพณีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงบัญญัติไว้มาใช้ในการครองชีวิต บางครั้งก็ทำให้พวกเราทั้งหลายนั้นลำบากในการเป็นอยู่

            แต่ว่าการที่พวกเราทั้งหลายได้กระทำตามพระธรรมวินัย ได้กระทำตามศีล ได้กระทำตามจริยาวัตรที่คณะครูบาอาจารย์ที่เป็นอาจารย์กรรมได้แนะนำพร่ำสอนนั้นก็ถือว่าเป็น อริยะประเพณี เป็นประเพณีที่ห่างไกลจากกิเลส เป็นประเพณีที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระอริยบุคคลมีพระโมคคัลลานะ สารีบุตรเป็นต้น ได้เคยบำเพ็ญมาแล้ว ขอให้พวกเราทั้งหลายได้พยายามอดทน ถ้าเราฝึกฝนอบรมกาย วาจา ใจของเราได้แล้ว เราก็จะเป็นผู้ประเสริฐ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์เป็นจำนวนมากบุคคลผู้ฝึกตนนั้นแหละเป็นผู้ประเสริฐที่สุด

            เรามีโอกาสได้มาบวชในพระธรรมวินัย ได้มีโอกาสมาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีโอกาสได้มาฝึกฝนอบรมตนก็ถือว่าพวกเรานั้นมีบุญล้นฟ้าล้นดินแล้ว ก่อนอื่นที่จะขอกล่าวกับคณะครูบาอาจารย์ที่ได้เข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมผู้ใหม่ หรือว่าเป็นผู้ศึกษาในพระธรรมวินัยน้อย เป็นผู้เข้ามาในพระธรรมวินัยยังไม่นาน การปฏิบัติประพฤติกรรมฐานนั้นเราทั้งหลายต้องมีใจเกินร้อย เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องเน้นที่ใจของเราเสียก่อน แต่ถ้าใจของเราสู้ ใจของเราอดทน ใจของเรามีมานะความบากบั่นในการที่จะทำตามคณะครูบาอาจารย์ที่ท่านแนะนำพร่ำสอน สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เรากำลังทำอยู่นี้ไม่เหนือบ่ากว่าแรง พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงตรัสไว้ จะเป็นสมาธิสมาบัติก็ดี จะเป็นวิปัสสนาญาณก็ดี หรือว่าจะเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานก็ดี พระองค์ก็ทรงตรัสไว้ให้พวกเราทั้งหลายผู้เป็นมนุษย์ ผู้เป็นพระภิกษุได้เจริญตามที่พระองค์ทรงตรัสไว้ให้รู้แจ้งตามที่พระองค์ทรงตรัสไว้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเราทั้งหลายอย่าได้ท้อ อย่าได้เกิดความเบื่อหน่ายหรือว่าเอือมระอา

            การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นของยาก เป็นของลำบาก เป็นของที่บุคคลผู้ต้องการที่จะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงจึงจะประพฤติปฏิบัติธรรมได้ แต่ถ้าผู้ใดมีใจไม่เกินร้อย มีใจไม่อยากจะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง บุคคลใดไม่มีความเพียร ไม่มีความอดทนแล้วย่อมไม่สามารถที่จะนำพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปปฏิบัติได้ หรือว่าไม่สามารถที่จะอดทนต่อการฝึกฝนอบรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ บุคคลนั้นก็ต้องละทิ้งพระธรรมวินัย สึกขาลาเพศไปแต่งการแต่งงานมีครอบมีครัวมีลูกมีหลาน เป็นไปตามยถากรรมของสัตว์โลก อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้ทนต่อการฝึกฝนอบรมในพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้

            แต่ถ้าผู้ใดมีความอดทน มีความหนักแน่น มีความมุ่งมั่นต่อพระธรรมวินัยแล้ว พระธรรมวินัยก็จะขัดเกลาบุคคลนั้นให้เป็นผู้ที่ทรงศีลสุตาธิคุณ คือเป็นผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ เมื่อทรงศีลสุตาธิคุณอันบริสุทธิ์แล้ว พระธรรมวินัยนั้นจะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้แกล้วกล้า เป็นผู้อาจหาญ แล้วก็ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ตั้งมั่นในสมาธิ เมื่อบุคคลนั้นเป็นผู้ตั้งมั่นในสมาธิแล้วความศรัทธาในพระศาสนาก็จะบังเกิดขึ้นในจิตในใจนั้นท่วมท้นพ้นทวีขึ้นมา เพราะสมาธิที่เกิดขึ้นมานั้นย่อมนำพาเอาปีติมาด้วย ย่อมนำพาเอาปัสสัทธิมาด้วย ย่อมพาเอาซึ่งนิมิตโอภาสแสงสว่าง สุขอันเกิดจากสมาธินั้นมาด้วย ความรู้ความเห็นต่างๆ ซึ่งเกิดจากอำนาจของสมาธิ ก็จะหลั่งไหลเข้ามาสู่จิตสู่ใจของบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อนั้นศรัทธาทั้งหลายทั้งปวงก็จะหลั่งไหลมาสู่ใจของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม กำลังเรี่ยวแรงความบากบั่นในการประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะเพิ่มขึ้นเต็มล้นพ้นทวีขึ้นมา ความบากบั่น ความอดทน ความมุ่งมั่นที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะเข้ามาสู่จิตสู่ใจของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อนั้นความเพียรก็จะเริ่มบริบูรณ์ขึ้นมา จิตใจมุ่งมั่นที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานก็จะเกิดขึ้นมา ก็จะเห็นตามความเป็นจริง เห็นรูปเห็นนามเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

            เมื่อเห็นรูปเห็นนามเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกขังทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีตัวตนที่แน่นอน ตามความเป็นจริง ก็จะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมา เมื่อเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นมาแล้วก็จะทำให้เรานั้นได้บรรลุเป็นพระโสดาบันบ้าง ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามีบ้าง ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบ้าง หรือได้บรรลุเป็นพระอรหันต์บ้างตามบุญญาธิการที่เราได้สั่งสมอบรมไว้ อันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายกำลังบำเพ็ญอยู่

            หรือว่าเราทั้งหลายกำลังเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ เรากำลังที่จะประกอบความเพียรในกรรมฐานของเรา แต่ว่ากรรมฐานที่เราจะยังผลให้เกิดขึ้น นับตั้งแต่สมาธิ วิปัสสนาญาณ มรรคผลนิพพานนั้น เราต้องรู้อารมณ์ของกรรมฐาน เพราะว่าอารมณ์ของกรรมฐานนั้นเป็นเหตุให้สมาธิเกิดขึ้น อารมณ์ของกรรมฐานนั้นเป็นเหตุให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น อารมณ์ของกรรมฐานนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มรรค ให้ผล ให้พระนิพพานนั้นเกิดขึ้น อารมณ์ของกรรมฐานนั้นถ้าเรากล่าวแล้ว โดยเฉพาะผู้ใหม่อารมณ์ของกรรมฐานที่เราจะเริ่มต้นกันก็คือ การสังวรอินทรีย์

            การสังวรอินทรีย์ทั้ง ๖ นี้แหละเป็นสิ่งที่สำคัญ อินทรีย์ทั้ง ๖ นั้นท่านกล่าวไว้ในตอนหนึ่ง ตอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสให้ภิกษุผู้บวชใหม่ได้เข้าใจในอินทรีย์ของตนเองว่า อินทรีย์ ๕ ก็มี อินทรีย์ ๖ ก็มี อินทรีย์ ๕ นั้นท่านกล่าวว่า อินทรีย์คือตา เรียกว่าจักขุนทรีย์ อินทรีย์คือจักษุคือตา โสตินทรีย์ อินทรีย์คือหู ฆานินทรีย์ อินทรีย์คือจมูก ชิวหินทรีย์ อินทรีย์คือลิ้น ความเป็นใหญ่ในการลิ้มรสก็คือลิ้น กายินทรีย์ อินทรีย์คือกาย อันนี้เป็นอินทรีย์ทั้ง ๕ อินทรีย์ทั้ง ๕ คือ อินทรีย์คือตา อินทรีย์คือหู อินทรีย์คือจมูก อินทรีย์คือลิ้น อินทรีย์คือกายนี้มีความเป็นใหญ่ไม่เหมือนกัน ตาเป็นใหญ่ในการดู หูเป็นใหญ่ในการฟัง จมูกเป็นใหญ่ในการดมกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส กายเป็นใหญ่ในการถูกต้องโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ต่างๆ ตาของเรานั้นเมื่อได้เห็นรูปก็เกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา เกิดความชอบ เกิดความชัง เกิดความหลง เกิดความใคร่ เกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ เกิดมานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทาน เกิดขึ้นมาในจิตในใจ อันนี้เรียกว่ากิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดเกิดขึ้นในขณะที่ตาของเราเห็นรูป

            บางครั้งตาของเราเห็นรูปพระก็ดี รูปเณรก็ดี รูปองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่ารูปพระพุทธปฏิมากร บางครั้งจิตใจของเราก็เป็นบุญเป็นกุศลก็เป็นกามาวจรบุญ หรือว่าเราเห็นรูปแล้วก็เจริญฌานเอารูปนั้นเป็นอารมณ์ บางครั้งก็ยังปฐมฌานให้เกิดขึ้นมา ก็เป็นรูปาวจรบุญ กามาวจรบุญก็เกิดขึ้นในขณะที่ตาเห็นรูปได้

            การที่พวกเราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมสิ่งสำคัญประการแรกเราก็ต้องรู้จักการสำรวมตา ตานั้นเป็นช่องทางของบุญ เป็นช่องทางของบาป เป็นช่องทางของโชคลาภ เป็นช่องทางของความล่มจม เป็นช่องทางของอบายภูมิ เป็นช่องทางของสวรรค์ เป็นช่องทางของพรหมโลก เป็นช่องทางของมรรคของผลของพระนิพพาน เราทั้งหลายไปเกิดในนรกก็เพราะตาเห็นรูปแล้วเกิดความโกรธขึ้นมาก็ไปเกิดในนรก ตาเห็นรูปแล้วก็เกิดโลภะขึ้นมาตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรต ตาของเราเห็นแล้วก็เกิดโมหะเกิดความลุ่มหลงเกิดความมัวเมาตายไปแล้วเราก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน นี้เรียกว่าอาศัยตาให้ไปเกิดในอบายภูมิได้

            แต่ว่าบางคนบางท่านได้เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เห็นพระพุทธปฏิมากร เห็นพระสงฆ์ สามเณร ผู้ทรงศีลสุตาธิคุณ เห็นแล้วก็เกิดศรัทธาเกิดความเลื่อมใสตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เกิดบนสวรรค์บ้าง หรือว่าบุคคลผู้อาศัยรูป ตาเห็นรูปแล้วก็เจริญกรรมฐานเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดฌานขึ้นมา ปฐมฌาน เหมือนภิกษุรูปหนึ่งเดินทางผ่านทางกันดาร นางคนหนึ่งได้เสียอกเสียใจมาจากครอบครัว บางครั้งก็ร้องไห้ บางครั้งก็หัวเราะ ภิกษุรูปนั้นมองไปเห็นนางพอดีก็เอารูปที่ภิกษุนั้นเห็นฟันที่นางหัวเราะนั้นแหละเป็นอารมณ์กรรมฐาน เจริญกรรมฐานก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน อาศัยรูปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ปฐมฌานเป็นต้นได้ ตายแล้วก็ไปเกิดในพรหมโลกได้

            หรือว่าเราเอารูปนั้นเป็นอารมณ์กรรมฐานพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกับพระปูติคัตตติสสะเถระ ที่พิจารณาร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่าร่างกายของเรานั้นไม่เที่ยงหนอ เพราะเกิดขึ้นมาแล้วมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นมาแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลายเป็นสุขอย่างยิ่งก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในท้ายที่สุดนั้นก็ตายไป

            การที่พวกเราทั้งหลายได้มาร่วมกันพิจารณาบทกรรมฐานนั้น อารมณ์กรรมฐานเบื้องต้นก็คือการสำรวมตา ตาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นบ่อเกิดแห่งบุญก็ได้ เป็นบ่อเกิดแห่งบาปก็ได้ เป็นบ่อเกิดแห่งศีล แห่งสมาธิ แห่งวิปัสสนาญาณ แห่งมรรคแห่งผลแห่งพระนิพพานก็ได้

            ประการที่สองบุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องรู้จักสำรวมหู เพราะว่าหูของเรานั้นก็เป็นที่เกิดของบุญของบาป ของมรรค ของผล ของพระนิพพานได้เหมือนกัน ขณะที่หูของเราได้ยินเสียงก็เกิดความชอบใจ หรือเกิดความเสียใจ เกิดความขัดเคือง หรือเกิดความลุ่มหลง ก็เกิดขึ้นมาได้เพราะหูของเราได้ฟังเสียง

            การฟังเสียงนั้น เราต้องมีการกำหนดที่หูของเรา กำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” ทำใจของเราให้เป็นกลางๆ อย่าให้จิตใจของเรายินดีในเสียงที่เราได้ยิน หรือว่าในขณะที่จมูกของเราดมกลิ่น ได้กลิ่นเหม็นก็ดี กลิ่นหอมก็ดี เราอย่าให้ความชอบใจเกิดขึ้นมา อย่าให้ความชังเกิดขึ้นมา อย่าให้ความลุ่มหลงเกิดขึ้นมา ถ้าเราไม่ระวังจิตไม่ระวังใจ ไม่เคยฝึกกรรมฐาน เมื่อกลิ่นที่ชอบใจเกิดขึ้นมากระทบจมูกของเราขึ้นมาเราก็ดีใจ อดดีใจไม่ได้ อดพอใจไม่ได้ แต่กลิ่นไม่ชอบใจกระทบจมูกของเราขึ้นมา ก็เกิดความเหม็นเกิดความไม่ชอบใจเกิดขึ้นมา อันนี้เรียกว่าเราไม่มีกรรมฐาน เราขาดกรรมฐาน เราไม่รู้จักกำหนดในขณะที่จมูกของเราได้กลิ่น

            ขณะที่ลิ้นของเราลิ้มรสก็เหมือนกัน บางครั้งรสถูกใจก็พอใจ บางครั้งรสไม่ถูกใจก็เกิดความเหี่ยวห่อจิตใจ อันนี้เรียกว่าเราไม่มีกรรมฐาน หรือว่ากายของเราถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็งต่างๆ บางครั้งยุงกัดเราก็ไม่พอใจ บางครั้งลมพัดมาเย็นสบายเราก็พอใจ บางครั้งแมลงมันไต่ทำให้เกิดความรำคาญเราก็หงุดหงิด อันนี้เพราะอะไร เพราะกายที่เราสัมผัสนั้นเราสัมผัสในอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ แต่เมื่อกายสัมผัสอารมณ์ที่ชอบใจแล้วเราก็พอใจ อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะเราไม่มีกรรมฐาน

            องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า อินทรีย์ทั้ง ๕ นั้นประมวลลงในอินทรีย์ที่ ๖ ก็คือ ใจ ขณะที่ตาของเราได้เห็นรูปก็ประมวลลงที่ใจของเรา จะวิ่งลงไปที่ใจของเรามีความชอบ ความชัง ความพอใจเกิดขึ้นมา ขณะที่หูได้ยินเสียงก็ดี จมูกดมกลิ่นก็ดี ลิ้นลิ้มรสก็ดี กายถูกต้องสัมผัสก็ดี ก็จะวิ่งลงไปสู่ใจของเรา ใจของเราก็จะรับรู้ความดี ความชอบใจหรือความไม่ชอบใจ เพราะฉะนั้นกิเลสก็เกิดขึ้นมาที่ความชอบความชัง ความชอบก็เป็นโลภะ ความไม่ชอบก็เป็นโทสะ ความหลงงมงายขาดสติก็เป็นโมหะ เรียกว่าโมหะ ความโลภ ความหลง มันก็เกิดขึ้น ในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัสธรรมารมณ์ต่างๆ อันนี้เรียกว่าเป็นอารมณ์ของกรรมฐาน

            ขอให้คณะครูบาอาจารย์ภิกษุสงฆ์ผู้บวชใหม่ในพระธรรมวินัยได้เข้าใจบทพระกรรมฐาน เราจะพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ก็พ้นที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจของเรานี้แหละ เราจะตกนรกหมกไหม้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในห้วงมหรรณพภพสงสาร ก็เพราะว่าเราข้องเราติดเราจมอยู่ที่ตา เราจมอยู่ที่หู เราจมอยู่ที่จมูก เราจมอยู่ที่ลิ้น เราจมอยู่ที่กาย เราจมอยู่ที่ใจของเรานี้เอง ที่เราต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะตา เพราะหู เพราะจมูก เพราะลิ้น เพราะกาย เพราะใจของเรา เพราะอะไร เพราะเราไม่ฉลาดในเรื่องตา เรื่องหู เรื่องจมูก เรื่องลิ้น เรื่องกาย เรื่องใจ

            องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยกับอีกแสนมหากัป พระองค์ก็ทรงอาศัยตา อาศัยหู อาศัยจมูก อาศัยลิ้น อาศัยกาย อาศัยใจของพระองค์นี้แหละเป็นที่บำเพ็ญ เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญเสร็จแล้วพระองค์ก็ทรงตรัสรู้ที่ตา ตรัสรู้ที่หู ตรัสรู้ที่จมูก ตรัสรู้ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจนี้แหละ อารมณ์ของกรรมฐานนั้นไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่อัตภาพอันยาววาหนาคืบกว้างศอก ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้าของเรานี้เอง

            เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ก็ขอให้พระผู้บวชใหม่อย่าได้ส่งจิตส่งใจออกไปข้างนอก อย่าคิดถึงอดีตที่ล่วงมาแล้ว อย่าพะวงถึงอนาคตที่ยังไม่มาถึง ผู้ใดมีสติทันปัจจุบันธรรม ผู้นั้นจะรู้แจ้งในที่นั้นๆ ได้ คือการรู้แจ้งในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นอาศัยปัจจุบันธรรม

            คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทุกรูปทุกท่าน เวลาที่ตาของเราได้เห็นรูปต้องกำหนดว่า “เห็นหนอๆ” ทำปัจจุบันธรรมให้ปรากฏขึ้นมา อย่าสิ่งจิตส่งใจในรูป อย่าเหม่อลอย ปรุงแต่งในรูป ยิ่งมากระทบจักขุอินทรีย์คือตาของเรา ขณะที่หูของเราได้ยินเสียงก็ต้องมีสติกำหนด “ได้ยินหนอๆ” อย่าพอใจในเสียง อย่าชอบใจในเสียง หรือไม่ชอบใจในเสียง อย่าเหม่อลอยไปตามเสียง อย่ามัวเมาในเสียง จงมีสติทันปัจจุบันธรรม กำหนดว่าได้ยินหนอๆ เสียงสักแต่ว่าเสียง เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ดับไป ขณะที่จมูกของเราดมกลิ่นก็เหมือนกัน ขณะที่ได้กลิ่นเราก็กำหนดว่า “กลิ่นหนอๆ” ตรงที่กลิ่นมันกระทบที่ฆานวิญญาณของเรา ตรงที่ประสาทจมูกของเรากระทบกับกลิ่นเราก็กำหนดว่า “กลิ่นหนอๆ” อย่าชอบใจหรือไม่ชอบใจในเสียง อย่าชอบใจหรือไม่ชอบใจในกลิ่น อย่าเหม่อลอยไปในกลิ่น อย่าปรุงแต่งในกลิ่น เรากำหนดว่า “กลิ่นหนอๆ” กลิ่นเหม็นก็ดี กลิ่นหอมก็ดีอาศัยปัจจัยปรุงแต่ง อะไรเป็นปัจจัยปรุงแต่งให้มีกลิ่นเหม็นกลิ่นหอม ก็กายของเรา ใจของเรานี้แหละ กายของเราก็เป็นมหาภูต เกิดจากดิน จากน้ำ จากไฟ จากลม ดินน้ำไฟลมเป็นของไม่เที่ยง เมื่อดินน้ำไฟลมเป็นของไม่เที่ยงกายของเราก็เป็นของไม่เที่ยง เมื่อกายของเราเป็นของไม่เที่ยงกลิ่นที่เกิดขึ้นอันอาศัยกายนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง เมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา นี้มันจะเกิดปัญญาขึ้นมา ความยึดมั่นถือมั่นในกลิ่นมันก็จะหมดไป

            ขณะที่ลิ้นลิ้มรสก็เหมือนกันเราก็มีสติกำหนดในขณะที่ลิ้นของเรากำลังตวัดอาหารได้รสเผ็ด รสเปรี้ยว รสหวาน เราก็กำหนดว่า “รสหนอๆ” ไม่ให้ความชอบใจหรือความไม่ชอบใจมันเกิดขึ้นมา ไม่เหม่อลอยไปตามรส ไม่ปรุงแต่งในรสต่างๆ ให้พิจารณารสนั้นเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป นี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรารู้แจ้งในสถานที่นั้นๆ ได้ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะที่เคี้ยวอาหารได้ หรือในขณะที่เรากำลังถูกต้องสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ต่างๆ เราก็กำหนดว่า “สัมผัสหนอๆ” หรือ “รู้หนอๆ” ถ้ามันเย็นก็ “เย็นหนอๆ” ไม่ชอบไม่ชังในอารมณ์ที่มากระทบ ไม่ดีใจเสียใจในอารมณ์ที่มากระทบ ไม่ปรุงแต่งไม่เหม่อลอยหลงใหลไปในสิ่งที่มากระทบ ไม่เคลิบเคลิ้มไปตามอารมณ์ที่มากระทบ เรียกว่ามีสติทันปัจจุบันธรรม เรียกว่าเรามีกรรมฐานเป็นอารมณ์ กรรมฐานเป็นอารมณ์นี้แหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลผู้บวชเข้ามาในพระธรรมวินัยนั้น เป็นผู้ที่เจริญด้วยศีล เจริญด้วยสมาธิ เจริญด้วยปัญญา แล้วก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลข้างหน้าอย่างแน่นอน

            แต่ถ้าคณะครูบาอาจารย์รูปใดบวชเข้ามาแล้ว ไม่รู้จักการสำรวมตา ไม่รู้จักการสำรวมหู หรือว่าสำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย ไม่รู้จักการสำรวมใจแล้ว บุคคลนั้นจะรู้แจ้งแทงตลอดในพระธรรมวินัยนั้นไม่ได้ บุคคลนั้นจะเจริญในธรรมวินัยนั้นเป็นอันไม่มี เรียกว่าบุคคลผู้ที่จะเจริญในพระธรรมวินัยนั้น เบื้องต้นคือการสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้แหละเป็นพื้นฐานของกรรมฐาน เพราะฉะนั้นตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี จึงเป็นอินทรีย์ความเป็นใหญ่ที่เราจะต้องศึกษา

            ดังที่มีพราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือในสมัยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี พระองค์ทรงประทับอยู่ที่อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่สร้างถวาย ในขณะนั้นก็มีพราหมณ์ชื่อว่าอุณณาภพราหมณ์ได้เกิดความสงสัยในเรื่องอินทรีย์ ๕ นี้แหละ ก็เข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อินทรีย์ที่พระองค์ทรงตรัสนั้นหมายถึงอะไร”

            องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “หมายถึง อินทรีย์ ๕ คือจักขุนทรีย์ อินทรีย์คือจักษุ ความเป็นใหญ่คือ ตา” แล้วพระองค์ก็ทรงตรัส โสตินทรีย์ ชิวหินทรีย์ ฆานินทรีย์ แล้วก็กายินทรีย์ ตามลำดับมา แล้วพราหมณ์ชื่อว่า อุณณาภพราหมณ์นั้นก็กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “อินทรีย์ทั้ง ๕ นั้นมีอารมณ์ต่างกัน มีการโคจรต่างกัน มีการซ่องเสพอารมณ์ต่างกัน อินทรีย์ทั้ง ๕ นั้นมีอะไรเป็นที่ยึดมีอะไรเป็นที่เหนี่ยวรั้ง”

            องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “อินทรีย์ทั้ง ๕ นั้นมีสติเป็นที่ยึดเหนี่ยว มีสติเป็นที่รั้งตา รั้งหู รั้งจมูก รั้งลิ้น รั้งกาย รั้งใจของเราไม่ให้เกิดความโกรธ เกิดความโลภ เกิดความชอบ เกิดความชังขึ้นมาในขณะที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงเป็นต้นก็คือ สติ” สตินั้นเป็นที่เหนี่ยวรั้งไม่ให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง ความชอบใจ เสียใจขึ้นมา ท่านจึงให้เรานั้นมีสติในการดู มีสติในการฟัง มีสติในการได้ดมกลิ่น ลิ้มรส หรือว่าถูกต้องสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นต้น

            การที่คณะครูบาอาจารย์ได้สอนกรรมฐานนั้น ก็ขอให้พวกเรานั้นมีสติ มีสัมปชัญญะในอิริยาบถน้อยใหญ่ เราจะยืน เราจะเดิน เราจะนั่ง เราจะนอน เราจะกิน เราจะดื่ม เราจะพูด เราจะคิด เราจะนิ่งอยู่ก็ตาม หรือเราจะนุ่งสบงห่มจีวร ก้าวไปข้างหน้า ถอยกลับข้างหลัง คู้เหยียดก้มเงยเป็นต้น เราก็ต้องมีสติ มีสัมปชัญญะกำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา อันนี้เรียกว่าเรามีกรรมฐานอยู่ในทุกอิริยาบถ ถ้าผู้ใดมีสติกำหนดรู้อยู่อย่างนี้ บาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่เกิดขึ้นมาในจิตในใจ เมื่อบาปธรรมไม่เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราแล้ว ใจของเราก็ไม่ขุ่นมัว ใจของเรามันก็ขาว ใจของเรามันก็สะอาด ใจของเรามันก็บริสุทธิ์ เมื่อจิตใจบริสุทธิ์ไม่เกิดวิปฏิสารแล้ว ก็จะเกิดความปราโมทย์ เกิดความร่าเริง เกิดความเบิกบาน แล้วก็เกิดความสงบ แล้วจิตใจของเราก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วก็จะเห็นตามความเป็นจริงเรียกว่า ยถาภูตญาณทัสสนะ ปรากฏขึ้นมารู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้วเราก็จะทราบชัดว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม รูปนามเกิดขึ้นมาเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความเกิดดับของรูปของนาม เห็นเฉพาะความดับไปของรูปของนาม เห็นรูปนามเป็นของน่ากลัว เห็นรูปนามเป็นทุกข์เป็นโทษ เบื่อหน่ายในรูปในนามแล้วอยากออก อยากหนี อยากหลุด อยากพ้น จากรูปนาม ตั้งใจจริง ประพฤติปฏิบัติจริง ใจเข้มแข็ง สู้ตาย ไม่ถอยหลัง มีใจเป็นกลาง เหนี่ยวรั้งเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามลำดับ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาจากการสำรวม ตา หู ของเราเป็นต้นที่สุดก็คือพระนิพพาน

            และขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า “สติเป็นที่เหนี่ยวรั้งของตา ของหู ของจมูก ของลิ้น ของกาย ของใจแล้ว” พราหมณ์ก็กล่าวว่า “อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของสติ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “วิมุตติ เป็นที่ยึดเหนี่ยวของสติ” คือ วิมุตตินั้นเป็นที่รวมลงของสติ ถ้าผู้ใดมีสติบริบูรณ์สมบูรณ์แล้ว สตินั้นก็จะทำให้เกิดวิมุตติ คือ เมื่อสติสมบูรณ์แล้ววิมุตติก็จะบังเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น คือความหลุดพ้นตามลำดับ ตทังควิมุตติ คือหลุดพ้นชั่วขณะ หรือเป็น วิกขัมภนวิมุตติ หลุดพ้นโดยองค์ฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานเป็นต้น หรือเป็นสมุจเฉทวิมุตติ บรรลุโดยเด็ดขาดด้วยอานุภาพของมรรคผลที่ตนเองได้บรรลุถึงแล้ว อันนี้เรียกว่าสตินั้นมีวิมุตติเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว

            พวกเราทั้งหลายที่เจริญสติ จะยืนก็ดี จะเดินก็ดี จะนั่งก็ดี จะนอนก็ดี ทำไมคณะครูบาอาจารย์พูดแล้วพูดอีก ให้มีสติไม่ให้เผลอ ให้มีการกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรมมีสติอยู่ตลอดเวลาก็เพื่อที่จะให้สติสมบูรณ์ เมื่อสติสมบูรณ์แล้ววิมุตติก็จะบังเกิดขึ้นแก่จิตใจของบุคคลนั้น คณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมที่ผ่านไปหนึ่งวัน วันนี้เป็นวันที่สองก็คงจะทราบว่าในขณะที่เรามีสติกำหนด “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” หรือมีสติกำหนดอาการพองอาการยุบทันปัจจุบันธรรม ความโกรธเกิดขึ้นไหม? ในขณะที่เรากำหนดทันปัจจุบันธรรม ความโลภเกิดขึ้นไหม? ในขณะที่เรากำหนดทันปัจจุบันธรรม ความหลงเกิดขึ้นไหม? ในขณะที่เรากำหนดทันปัจจุบันธรรม ไม่เกิด ความชอบใจ ความชังเกิดขึ้นไหม? ไม่เกิด ราคะ มานะ ทิฏฐิ เกิดขึ้นไหม? ไม่เกิด บาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่เกิด บุญทั้งหลายทั้งปวงก็หลั่งไหลเข้าไปสู่จิตสู่ใจของเรา เพราะจิตใจของเรานั้นปราศจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงเข้าไปปรุงแต่ง เราก็เกิดวิมุตติ เราก็เกิดความพ้นไปจากความทุกข์โดยชั่วขณะหนึ่งแล้ว

            เมื่อความโกรธไม่เกิดขึ้น ความทุกข์มันก็ไม่เกิดขึ้นแก่จิตแก่ใจของเรา เมื่อความชอบความชังไม่เกิดขึ้นในจิตในใจของเรา ความทุกข์มันก็ไม่เกิดขึ้นมาแล้วชั่วขณะ เรียกว่าเป็นการพ้นทุกข์ด้วยตทังคปหาน ด้วยอำนาจของสติของเราที่กำหนดทันปัจจุบันธรรม แต่ถ้าเรากำหนดทันปัจจุบันธรรมต่อเนื่องกันไปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติของเรานั้น จากสติที่ข่มกิเลสธรรมดาสติของเรามันต่อเนื่องไป เมื่อสติต่อเนื่องกันไปสติของเราก็จะมีพลัง เมื่อสติมีพลังแล้วก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดฌานขึ้นมา เรียกว่าปฐมฌาน ขณะที่เกิดปฐมฌานนั้นสติของเราก็จะไม่เผลอไปคิดถึงอดีตบ้าง คิดถึงอนาคตบ้าง สติของเราจะเป็นมหัคคตาจิต เป็นจิตที่มีพลังมีอานุภาพ ความคิดปรุงแต่งที่จะแทรกเข้ามานั้นไม่มี เราก็มีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” เห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง เห็นต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบไม่เผลอไม่คิดไปถึงอดีต ไม่คิดไปถึงอนาคต เมื่อคิดถึงอดีตถึงอนาคตเราก็ดึงกลับมา เผลอไปดึงกลับมาแต่ใจของเรายังอยู่ในอารมณ์ของฌาน เรียกว่ายังไม่เผลอ ยังมีวิตกวิจารณ์อยู่บ้าง แต่จิตใจของเรานั้นอยู่ในการกำหนดอยู่ แต่ว่าจิตใจของเราไม่ปรุงแต่งในความโกรธ ในความโลภ ในความชัง ความโลภความโกรธความชังความชอบใจ จะไม่เกิดขึ้นในปฐมฌาน ปฐมฌานจึงมีจิตอยู่ที่อาการพองอาการยุบแล้วก็วิตกวิจารณ์ เห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ อันนี้ก็ยังได้บริกรรมเป็นปกติ เรียกว่าเราได้พ้นด้วยอำนาจของวิกขัมภนปหานแล้ว

            แต่ถ้าเราเจริญฌานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตของเราแน่แน่วสงบเป็นสมาธิ เมื่อจิตใจของเราคลายออกจากสมาธิแล้วพิจารณารูปนามตามความเป็นจริง เมื่อพิจารณารูปนามตามความเป็นจริงแล้วนั้นแหละ ท่านกล่าวว่าวิปัสสนาญาณ คือมรรคผลมันจะเกิดขึ้นก่อน เมื่อมรรคผลเกิดขึ้นมาแล้วเราก็พ้นโดยสมุจเฉทปหาน โดยการละได้โดยเด็ดขาด อย่างที่เราได้บรรลุเป็นพระโสดาบันละได้กี่ตัว ละได้ ๓ ตัว คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

            สักกายทิฏฐิ คือ ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิของตนเองเราก็จะปล่อยวางได้ เราละได้โดยเด็ดขาด หรือว่าเราถือมั่นในสีลัพพตปรามาส ถือมั่นในสิ่งที่ผิดๆ ว่าการจะบรรลุมรรคผลนิพพานต้องทานอาหารเจอย่างเดียวไม่ทานอาหารเจก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น ก็ถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส หรือว่าต้องยืนขาเดียวจึงจะบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าไม่ยืนขาเดียวไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาส หรือต้องปฏิบัติ   พุทโธอย่างเดียวจึงจะบรรลุมรรคผลนิพพาน อันนี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาส หรือว่าต้องปฏิบัติยุบหนอพองหนออย่างเดียว ก็ถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส ถือมั่นทิฏฐิของตนเองโดยส่วนเดียว มีทิฏฐิมั่นอย่างนั้นก็ถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส

            แต่เมื่อผู้ใดได้บรรลุมรรคผลนิพพานนับตั้งแต่พระโสดาบันแล้วก็จะเข้าใจว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมจะบริกรรมพุทโธก็ดี ยุบหนอพองหนอก็ดี สัมมา อะระหังก็ดี นะ มะ พะ ธะ หรือไม่บริกรรมอะไรเลยแต่มีสติสัมปชัญญะเห็นความเกิดดับของรูปของนามก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ความแจ่มแจ้ง หรือว่าความรู้แจ้ง หรือว่าความรู้เห็นตามความเป็นจริงคือการบรรลุมรรคผลนิพพานปรากฏขึ้นแก่บุคคลนั้นแล้ว ไม่มีความสงสัยในคำบริกรรม ไม่มีความสงสัยในวิถีทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานก็สิ้นสีลัพพตปรามาส บุคคลผู้เข้าถึงด้วยการละเป็นสมุจเฉทปหานแล้วจะเป็นอย่างนั้น

            หรือว่าบุคคลผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ท่านกล่าวว่าบุคคลนั้นก็จะละวิจิกิจฉา คือความสงสัยในเรื่องของพระพุทธ ในเรื่องของพระธรรม ในเรื่องของพระสงฆ์ ในเรื่องโลกนี้ ในเรื่องโลกหน้า หรือในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะหมดความสงสัยในพระธรรมคำสั่งสอน เพราะอะไร เพราะได้รู้ ได้เห็น ได้แจ้ง ได้ประจักษ์ในพระธรรมคำสั่งสอนแล้ว ว่าพระพุทธเจ้านั้นได้ตรัสรู้จริง พระธรรมนั้นมีจริง นำบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมให้พ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้จริง อันนี้เรียกว่าเป็นการพ้นด้วยสมุจเฉทปหาน สตินั้นมีวิมุตติเป็นที่เหนี่ยวรั้ง

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 กรกฎาคม 2564 16:08:29 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 91.0.4472.124 Chrome 91.0.4472.124


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 15 กรกฎาคม 2564 16:07:16 »



            แล้วพราหมณ์ชื่อว่า อุณณาภพราหมณ์ก็กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ แล้ววิมุตตินั้นมีอะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นที่เหนี่ยวรั้ง” องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ วิมุตตินั้นก็มีนิพพานเป็นที่เหนี่ยวรั้ง มีนิพพานนั้นเป็นที่ยึดเหนี่ยว มีนิพพานนั้นเป็นที่รวมลง” เมื่อเราถึงวิมุตติแล้วจิตใจของเราก็ต้องไปตามปวัตติวิถี เมื่อมรรคญาณเกิดผลญาณก็ต้องเกิด เมื่อผลญาณเกิดก็ชื่อว่าเรานั้นมีนิพพานแล้ว เข้าถึงนิพพานแล้ว จะเป็นหนึ่งขณะจิต สองขณะจิต สามขณะจิต แล้วแต่มันทบุคคลผู้มีปัญญาน้อย หรือ ติกขบุคคล ผู้มีปัญญามาก คนนั้นก็เรียกว่าเข้าถึงพระนิพพานแล้ว ผู้ใดได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน บุคคลนั้นก็ถือว่าเข้าถึงพระนิพพานแล้ว เป็นผู้มีจิตเสพพระนิพพานไปแล้วในขณะที่ผลจิตมันเกิดขึ้นมา ก็ถือว่าวิมุตตินั้นมีนิพพานเป็นที่เหนี่ยวรั้งเป็นที่ยึดเหนี่ยว

            นิพพานนั้นก็มีอยู่ ๒ ประการ นิพพานประการแรกก็คือ สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่ ประการที่ ๒ คือ อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ดับกิเลสด้วยสังขารก็ดับไปด้วย แต่ที่มีความกังขาหรือว่ามีความสงสัยของคณะญาติโยมหรือคณะครูบาอาจารย์เป็นส่วนมากก็คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ก็คือขณะที่เรามีชีวิตอยู่เราถึงพระนิพพานได้หรือ การถึงพระนิพพานเราต้องตายไปจากโลกนี้เสียก่อนเราจึงถึงพระนิพพาน นี้คนส่วนใหญ่จะคิดอย่างนั้น แต่พระอริยเจ้ามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอัครสาวกพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร พระอนุรุทธะ พระมหากัสสปะ พระอานนท์เป็นต้น ท่านไม่ได้คิดอย่างนั้น เพราะอะไร เพราะนิพพานนั้นมีอยู่ ๒ คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่ก็สามารถที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ สามารถที่จะเสพอารมณ์ของพระนิพพาน ขณะที่เรายืน เราเดิน เรานั่ง เรานอนอยู่บนโลกมนุษย์ของเรา ไปทำการค้าการขาย ไปทำการไหว้พระทำวัตรสวดมนต์ ไปทำงานตามหน้าที่ของพระของโยมที่ถึงมรรคผลนิพพานก็สามารถเสพพระนิพพานได้

            อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เป็นพระโสดาบันก็ทำการค้าการขายเสพพระนิพพานไปด้วย อย่างพระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรูกลั่นแกล้งทรมานต่างๆ ก็อาศัยอารมณ์ของพระนิพพานนั้นเป็นอารมณ์ ถูกกรีดพระบาทจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เดินไม่ได้ก็อาศัยอารมณ์ของพระนิพพานนั้นเป็นอารมณ์ ผลสมาบัติหล่อเลี้ยงทำให้พระองค์นั้นมีปีติในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเสพผลของปีตินั้น อายุก็ยืนยาวนานไม่ตายง่าย เป็นพระโสดาบันก็เสพผลของพระโสดาบัน พระสกทาคามีก็เสพผลของพระสกทาคามี อนาคามีก็เสพผลของพระอนาคามี พระอรหันต์ก็เสพผลของพระอรหันต์ไปตามลำดับ เสพผลของกันและกันไม่ได้ เสพผลของแต่ละท่านแต่ละคน ผลนั้นเป็นของเฉพาะตน การที่บุคคลผู้มีสติสมบูรณ์จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้มีวิมุตติเป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นที่ถึง เป็นที่รวมลง เมื่อวิมุตติสมบูรณ์แล้วก็มีนิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยว เป็นที่ถึง เป็นที่รวมลง

            แล้วพราหมณ์ชื่อว่าอุณณาภพราหมณ์ก็กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แล้วนิพพานมีอะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยว มีอะไรเป็นที่ถึง มีอะไรเป็นที่รวมลง” องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคพระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนพราหมณ์ ท่านได้กล่าวล่วงเลยปัญหาไปแล้ว ท่านไม่สามารถที่จะยึดเอาส่วนอันเป็นที่สุดของปัญหานั้นได้ ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่จบแล้วมีนิพพานเป็นที่ถึง มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นที่สุด ดูก่อนพราหมณ์ นิพพานนั้นแหละเป็นที่สุดของพรหมจรรย์” นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น

            เมื่อพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้นแล้ว พราหมณ์นั้นก็หมดความสงสัยแล้วก็ได้เกิดความศรัทธา เกิดความเลื่อมใส รากของศรัทธาได้งอกขึ้นมาในจิตในใจของพราหมณ์นั้นทำให้ศรัทธาได้ตั้งมั่นในพราหมณ์นั้นได้ถวายความอุปถัมภ์อุปฐากแก่พระสงฆ์สามเณร ได้ถวายความอุปถัมภ์อุปฐากแก่พระศาสนาตราบจนชีวิตของพราหมณ์นั้นได้ทำกาละไป อันนี้เรียกว่าการที่เราจะได้เข้าถึงพระนิพพานเป็นที่สุดของพรหมจรรย์นั้น เริ่มต้นก็คือการสำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย สำรวมใจ การสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นจึงเป็นที่มาแห่งผลอันเลิศ ผลอันประเสริฐกล่าวคือพระนิพพาน

            วันนี้อาตมภาพ กระผมได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่อง อินทรีย์ ๕ คือเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ได้มาอธิบายให้คณะครูบาอาจารย์ผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ปกิณณกธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 924 กระทู้ล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2563 13:55:19
โดย Maintenence
ความหมายของธรรมะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 992 กระทู้ล่าสุด 02 ธันวาคม 2563 14:20:54
โดย Maintenence
โอวาทปาฏิโมกข์ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1158 กระทู้ล่าสุด 14 ธันวาคม 2563 14:29:31
โดย Maintenence
การอุทิศส่วนบุญ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1051 กระทู้ล่าสุด 22 ธันวาคม 2563 14:14:10
โดย Maintenence
อปัณณกปฏิปทา โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1260 กระทู้ล่าสุด 01 กุมภาพันธ์ 2564 16:28:09
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.832 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 26 กรกฎาคม 2566 05:02:35