[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 20:41:33 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระราชสุเมธาจารย์(หลวงปู่โรเบิร์ต สุเมโธ) สมณะผู้เป็นดั่งดอกปทุมชาติเบ่งบานงดงาม  (อ่าน 1621 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 28 กรกฎาคม 2564 20:12:50 »



สมณะผู้เป็นดั่งดอกปทุมชาติเบ่งบานงดงาม
พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงปู่โรเบิร์ต สุเมโธ)
วัดป่ารัตนวัน บ้านคลองปลากั้ง ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา


วันนี้วันที่ ๒๗ กรกฎาคม​ ๒๕๖๔​ เป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่โรเบิร์ต สุเมโธ มุทิตาอาจาริยบูชาคุณ ๘๗​ ปี “สมณะผู้เป็นดั่งดอกปทุมชาติเบ่งบานงดงามทางทิศตะวันตก”

ท่านเป็นศิษย์ชาวต่างชาติรูปแรกของหลวงปู่ชา สุภัทโท ที่ได้รับการอบรมสั่งสอน เคี่ยวกรำตรากตรำอย่างหนักทั้งทางกายและทางจิตด้วยอุบายธรรมต่างๆ ท่านเป็นชาวตะวันตกที่ยอมสละถิ่นฐาน ทรัพย์สมบัติ ความสุขสบาย ตลอดจนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในยุโรปและอเมริกา มาใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากแบบนักบวชอยู่ในชนบทที่กันดารของประเทศไทย จนเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจจากหลวงปู่ชา ให้ออกไปธุดงค์ในป่าช้า จนตั้งเป็นวัดป่านานาชาติ สาขาหนึ่งของวัดหนองป่าพง ซึ่งใช้เป็นที่รองรับพระภิกษุชาวต่างชาติสืบมา

ท่านพระอาจารย์สุเมโธ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอมราวดี ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๗ จนเกษียณตนเองจากตำแหน่ง เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ และได้กลับประเทศไทย โดยในปัจจุบันได้พำนักอยู่จำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์ฟิลลิป ญาณธัมโม ณ วัดป่ารัตนวัน บ้านคลองปลากั้ง ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา

“..มีคนมาพูดกับอาตมาว่า… “พระพวกนี้มานั่งทำอะไรกัน ได้ทำอะไรในทางช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์บ้าง พวกท่านเห็นแก่ตัว คอยแต่จะให้คนเอาอาหารมาให้กิน ส่วนท่านเอาแต่นั่งเฝ้าดูลมหายใจ ท่านหนีหน้าจากโลกอันแท้จริง” แต่แล้วโลกอันแท้จริงที่ว่านั้นคืออะไรกันแน่ จริงๆ แล้วใครเป็นคนหนีและหนีจากอะไร และอะไรล่ะคือสิ่งที่เราจะต้องสู้หน้า เราพบว่าโลกอันแท้จริงที่เขาว่านั้นคือ โลกแห่งความเชื่อของเขา โลกที่เขาถูกผูกตรึงอยู่ หรือโลกที่เขารู้จักคุ้นเคย แต่โลกอย่างนั้นเป็นสภาวะอย่างหนึ่งของจิต จิตภาวนาเป็นการเผชิญหน้ากับโลกที่แท้จริง คือรู้จักและยอมรับตามที่มันเป็นจริง ไม่ใช่ไปเชื่อหรืออ้างเหตุผลต่างๆ นานา โลกที่แท้จริงนั้นดำเนินไปตามรูปแบบของการเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป เช่นเดียวกับลมหายใจ เราไม่ได้ตั้งทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งปวง หรือไปคว้าเอาทรรศนะทางปรัชญาจากที่อื่นมาอ้างเป็นเหตุผล แต่ดูความเป็นไปของธรรมชาติได้โดยการเฝ้าดูลมหายใจของเรา เมื่อเราเฝ้าดูลมหายใจก็เท่ากับเฝ้าดูธรรมชาติ และเมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของลมหายใจ เราก็เข้าใจธรรมชาติของสังขารทั้งหลาย ถ้าเราจะพยายามทำความเข้าใจกับสภาวะที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งในแง่มุมอันหลากหลายแล้วละก็ จะเป็นเรื่องยุ่งยากยิ่งเกินกำลังที่จิตของเราจะทำได้ เราจึงเรียนรู้จากของง่ายๆ อย่างนี้ ด้วยจิตที่สงบ เราจะรู้ถึงลักษณะที่เป็นวงจร คือเราเห็นว่า “มีเกิดก็มีดับ”...” โอวาทธรรมคำสอน ท่านพระอาจารย์สุเมโธ

• ประวัติและปฏิปทาพระราชสุเมธาจารย์ (ท่านพระอาจารย์โรเบิร์ต สุเมโธ)
ท่านพระอาจารย์สุเมโธ (โรเบิร์ต แจ็คแมน) ท่านเกิดในเมืองซีแอตเติ้ล มลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1934 (พ.ศ.๒๔๗๗) เมื่อสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ท่านได้เข้ารับราชการในกองทัพเรือแห่งสหรัฐอเมริกา ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และได้เข้าร่วมปฏิบัติการในสงครามเกาหลี เมื่อออกจากราชการท่านก็ได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในสาขาวิชาเอเชียใต้ศึกษา (South Asian Studies) มหาวิทยาลัย แห่งแคลิฟอร์เนีย (เบิร์กเลย์) ในปี 1963 (พ.ศ.๒๕๐๖) หลังจากนั้นได้ร่วมงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ กับสภากาชาดอเมริกัน ก็ได้เดินทางไปยังแถบตะวันออกไกล และทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ กับหน่วยสันติภาพ (Peace Corp) ซาบาห์ บนเกาะบอร์เนียว ด้วยความที่ท่านสนใจในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้เดินทางมายังประเทศไทยในปี พ.ศ.๒๕๐๙ เพื่อหาทางเข้าสู่ชีวิตอนาคาริก (ผู้ไม่ครองเรือน) ท่านได้บวชเป็นสามเณรที่จังหวัดหนองคายและอุปสมบทเป็นพระภิกษุในอีกหนึ่งปีต่อมา โดยมีท่านเจ้าคุณพระราชปรีชาญานมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่ช้านานหลังจากที่ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุ ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ท่านอาจารย์สุเมโธ ได้ยินกิติศัพท์ความเคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติของท่านพระอาจารย์ชา (สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ท่านจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ของท่านที่จังหวัดหนองคาย เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อชา ซึ่งท่านได้เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขว่า...

"ท่านจะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก ท่านต้องทำตามระเบียบข้อวัตร เหมือนที่พระเณรไทยเขาทำ"

ตลอดระยะเวลา ๔ ปีที่ป่าพง ท่านอาจารย์สุเมโธได้รับการฝึกฝนเคี่ยวเข็ญด้วยอุบายต่างๆ จากหลวงพ่อชา ท่านเล่าให้ฟังว่า.. "บางครั้งหลวงพ่อจะดุหรือตักเตือนผมในที่สาธารณะ ทำให้ผมอายมาก บางครั้งท่านเล่าให้โยมทั้งศาลาฟังเรื่องที่ผมทำไม่สวย ไม่งาม เช่น การฉันข้าวด้วยมือเปล่าแต่เปิบไม่เป็น ขยุ้มอาหารขึ้นมาเต็มกำมือแล้วโปะใส่ปาก ใส่จมูกเลอะเทอะไปทั้งหน้า พระเณรและโยมหัวเราะกันลั่นศาลา ผมนั้นทั้งโกรธทั้งอาย แต่ก็ทนได้ และพิจารณาว่า นี่เป็นความกรุณาของหลวงพ่อที่ช่วยเปิดเผยความเย่อหยิ่งของผม ซึ่งมันเป็นจุดบอดที่เรามักจะมองไม่เห็น และยังเป็นอุบายที่ท่านจะทดสอบอารมณ์เราว่ามีพื้นฐานที่จะรองรับธรรมะได้มากน้อยแค่ไหน..."

ทุกเช้าเวลาหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาต จะมีพระเณรหลายองค์ไปรอล้างเท้าท่าน ระยะแรกๆ ที่ผมไปอยู่วัดป่าพง เห็นกิจวัตรนี้ทีไร ก็นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ แต่พออยู่นานเข้าผมก็เป็นไปด้วย เช้าวันหนึ่งก่อนที่ผมจะรู้ตัวว่าเป็นอะไร ผมก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรองค์อื่นเสียแล้ว ขณะก้มลงล้างเท้าถวายท่าน ผมได้ยินเสียงนุ่มๆ กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อว่า "สุเมโธ ยอมแล้วเหรอ..."

"เช้าวันหนึ่ง ผมกำลังกวาดใบไม้ที่ลานวัด อารมณ์ไม่ดี รู้สึกหงุดหงิดขัดเคือง และรู้สึกว่าตั้งแต่มาอยู่ที่วัดป่าพงเจอแต่ทุกข์ พอดีหลวงพ่อเดินตรงมายังผม ท่านยิ้มให้พร้อมกับพูดว่า "วัดป่าพงทุกข์มาก!" แล้วท่านก็เดินกลับไป ผมสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนี้ กลับไปกุฏิ พิจารณาได้สติว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดจากวัดป่าพง แต่เกิดจากจิตใจเราเอง..."

ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๓ ได้มีชาวอเมริกันอีกสองคนเข้ามาบวชที่วัดหนองป่าพง แต่อยู่ได้ราวหนึ่งปีทั้งคู่ก็ลาสิกขาไป คนหนึ่งเป็นนักเขียนได้จดบันทึกคำสอนของหลวงพ่อแล้วนำไปพิมพ์เผยแพร่ ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศยิ่งขึ้น ส่วนอีกคนเป็นนักจิตวิทยา ชอบวิพากษ์ครูบาอาจารย์ต่างๆ เว้นไว้แต่หลวงพ่อองค์เดียวที่เขาเคารพเทิดทูนมาก หลังลาสิกขาบท เมื่อได้พบชาวต่างประเทศที่กำลังแสวงหาครูอาจารย์ เขามักแนะนำให้มาพบกับหลวงพ่อ ทำให้พระฝรั่งในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนที่มาวัดหนองป่าพง ต่างทึ่งที่เห็นพระฝรั่งปฏิบัติกรรมฐานเคร่งครัดอยู่เคียงข้างกับพระไทย จึงเกิดความสงสัยว่า หลวงพ่อสอนชาวต่างประเทศได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ และลูกศิษย์ฝรั่งเองก็ไม่คุ้นเคยภาษาไทย หลวงพ่อชี้แจงว่า.."ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า อย่างหมา แมว หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาฝึกหัดมัน โยม ต้องรู้ภาษาของมันด้วยไหม?..."

"ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมากๆ อย่างนี้ ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดีถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อเขาทำจริงๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลย เชื่อ..."

ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามปัญหาเช่นนี้ ท่านตอบแบบขำๆ ว่า.. "ไม่ยากหรอกดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นแหละ"

ท่านพระอาจารย์ฟิลลิป ญาณธัมโม ศิษย์ชาวออสเตรเลี่ยนรูปหนึ่งเล่าถึงบทเรียนอันดุเดือดว่า.. "วันหนึ่งผมมีเรื่องขัดใจกับพระรูปหนึ่ง รู้สึกโกรธ หงุดหงิดอยู่ทั้งวัน รุ่งเช้าไปบิณฑบาต ก็เดินคิดไปตลอดทาง ขากลับเดินเข้าวัดพอดีสวนทางกับหลวงพ่อ ท่านยิ้มและทักผมว่า "กู๊ด มอร์นิ่ง" ซึ่งทำให้อารมณ์ของผมเปลี่ยนทันที จากความหงุดหงิดกลายเป็นปลื้มทันที

ถึงเวลาสวดมนต์ทำวัตรเย็น หลวงพ่อให้ผมเข้าไปอุปัฏฐาก ถวายการนวดที่กุฏิของท่าน ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจมากกับโอกาสที่หาได้ยากเช่นนั้น เพราะเราเป็นพระใหม่ แต่ขณะที่กำลังถวายการนวดอยู่อย่างตั้งใจ หลวงพ่อก็ถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอกที่กำลังพองโตของผมจนล้มก้นกระแทกพื้น ท่านดุใหญ่เลยว่า "จิตไม่มั่นคง พอไม่ได้ดังใจก็หงุดหงิดขัดเคือง เมื่อได้ตามปรารถนาก็ฟูฟ่อง" ผมฟังท่านดุไปหลายๆ อย่างแล้ว ก็ไม่โกรธและไม่เสียใจ รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของท่าน ที่ช่วยชี้กิเลสของเรา ไม่เช่นนั้นเราคงเป็นคนหลงอารมณ์ไปอีกนาน..."

นอกจากจริยาวัตรอันงดงามของหลวงพ่อแล้ว บรรยากาศของวัดหนองป่าพงและกิริยา มารยาทของพระเณร ยังเป็นแรงดลใจให้ผู้มาพบเห็นเกิดความศรัทธาอย่างยิ่ง ดังท่านอาจารย์ชาวต่างชาติรูปหนึ่งเล่าว่า "พอผ่านเข้าประตูวัดหนองป่าพงเป็นครั้งแรก ก็เกิดความประหลาดใจ และความประทับใจก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นบริเวณสถานที่ แม้จะเป็นป่ามีต้นไม้หนาแน่น แต่ทางเดินก็ดูสะอาด ไม่มีอะไรเกะกะสายตา จากนั้นก็ไปเห็นกุฏิศาลาสะอาดเรียบร้อยที่สุด รู้สึกว่าวัดหนองป่าพงนี่ ระเบียบวินัยดีมากจริงๆ พอตกตอนเย็นเห็นพระเณรออกมาทำกิจ ท่านเรียบร้อยดี มีกิริยาสำรวมไม่ตื่นเต้นอะไรเลย ผมเคยไปวัดอื่น พอพระเณรเห็นพวกฝรั่งก็ปรี่เข้าหา เข้ามาพูดภาษาอังกฤษ ถามรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ทำเหมือนกับว่า พวกฝรั่งมีอะไรดีอย่างนั้น...แต่ที่วัดหนองป่าพง บรรดาพระสงฆ์ ญาติโยม ผ้าขาว แม่ชี ไม่เห็นมีใครสนใจกับฝรั่งอย่างผม ท่านนั่งก็สำรวม เดินก็สำรวม มีกิจอะไรต้องทำก็ทำไป ถามก็เงยหน้ามาพูดด้วย ไม่มีอาการตื่นเต้นอะไรเลย มีความรู้สึกว่า ท่านเหล่านี้ต้องมีของดีแน่ เกิดศรัทธาขึ้นมาก..."

๗ พรรษาผ่านไป ท่านสุเมโธได้รับอนุญาตให้ไปไหนมาไหนได้ตามลำพัง ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ท่านจึงเดินทางไปยังประเทศอินเดีย จาริกไปตามที่ต่างๆ เป็นเวลาห้าเดือน ปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ถือธุดงค์วัตร ไม่รับเงิน ไม่สะสมอาหาร ฉันมื้อเดียวก่อนเที่ยง และฉันในบาตร อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ในประเทศอินเดียกระตุ้นให้ท่านสุเมโธกลับมาอยู่กับท่านอาจารย์อีก อุทิศกายใจและรับใช้ท่านอาจารย์ต่อไป ไม่ปรากฏเป็นหลักฐานว่าท่านอาจารย์ชาท่านมีปฏิกิริยาต่อกรณีย์นี้อย่างไร อาจจะเป็นเพียงยิ้มน้อยๆ เท่านั้น แต่ในพรรษาที่ ๘ ท่านสุเมโธได้รับมอบหมายให้ไปจัดตั้งวัดสาขาอีกแห่งหนึ่ง เฉพาะสำหรับพระภิกษุชาวตะวันตก ณ ป่าช้าแห่งหนึ่งในตำบลบุ่งหวาย ไม่ไกลจากวัดหนองป่าพงเท่าใดนัก

เวลาผ่านไปพร้อมกับอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ ในที่สุดท่านสุเมโธก็ได้เป็นหัวหน้าสงฆ์ที่วัดนั้น และได้พัฒนาวัดจนเป็นที่นิยมของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น ตลอดจนผู้คนจากที่ต่างๆ เช่นจากกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เขาเหล่านั้นสนใจมากที่เห็นชาวตะวันตกยอมสละถิ่นฐาน ทรัพย์สมบัติ ความสุขสบาย ตลอดจนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในยุโรปและอเมริกา มาใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากลำบากแบบนักพรต หรือฤๅษีในชนบทที่กันดารของประเทศไทย อย่างไรก็ดี วัดป่านานาชาติแห่งนี้ได้เจริญมาเป็นลำดับ มีผู้คนมาให้ความสนับสนุนและจำนวนพระภิกษุก็เพิ่มขึ้น

ปี พ.ศ.๒๕๑๘ จำนวนศิษย์ชาวต่างประเทศในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อจึงตั้งวัดป่านานาชาติขึ้นที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวาย ซึ่งอยู่ห่างจากวัดหนองป่าพงราว ๗-๘ กิโลเมตร เพื่อปูพื้นฐานให้พระชาวต่างชาติได้รู้จักปกครองกันเอง โดยมอบให้ท่านอาจารย์สุเมโธดูแลประธานสงฆ์วัดป่านานาชาติในสมัยแรก ประสบปัญหาในการปกครองหมู่คณะมาก เพราะคนฝรั่งมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และกล้าแสดงออก จึงสร้างปัญหาให้ประธานสงฆ์ต้องเป็นทุกข์เสมอ เมื่อเรื่องถึงหลวงพ่อท่านจะแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายละวางทิฐิมานะ ให้ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น สำหรับประธานสงฆ์ หลวงพ่อจะแนะนำวิธีปกครองให้ว่า.. "ถ้าลูกศิษย์ของเรามีเรื่องขัดแย้งกัน ก็ให้พิจารณาให้ดี อย่าตัดสินว่าผู้มาใหม่ไม่ดี อย่าไปว่าคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี ต้องใช้เวลาดูไปนานๆ ก่อน ดุอุปนิสัยของเขาไปนานๆ อย่าไปคิดว่า ดีหรือไม่ดีเลยทันที เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่แน่นอน ต้องใช้เวลาดูไปก่อน..."

ศิษย์ชาวต่างประเทศ ต่างเคารพปัญญาบารมีของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง ท่านเต็มไปด้วยเมตตาธรรมและอารมณ์ขัน เบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิจ มีความสามารถพิเศษในการสื่อสารและแก้ปัญหาแก่ศิษย์ได้อย่างดีเยี่ยม ชาวต่างประเทศจึงเกิดศรัทธาเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมที่วัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติ เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ในพรรษาที่สิบ ปี พ.ศ.๒๕๑๙ ท่านอาจารย์สุเมโธ ได้รับอนุญาตให้ไปเยี่ยมโยมบิดามารดาที่สหรัฐอเมริกา ขากลับได้มาแวะที่กรุงลอนดอน เดิมทีท่านจะขอเข้าพักที่วัดพุทธประทีป ที่วิมเบิลดัน แต่ที่วัดไม่มีที่ให้พัก ท่านจึงติดต่อกับนายยอร์ช ชาร์ป ประธานมูลนิธิสงฆ์อังกฤษและเป็นผู้ดูแลพุทธวิหารในแฮมสเตด ท่านประธานฯ จึงจัดให้พักที่พุทธวิหารแห่งนั้นเป็นการชั่วคราวขณะพักอยู่ที่พุทธวิหารแห่งนั้น สมาชิกมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้จัดตั้งพุทธวิหาร ได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านอาจารย์สุเมโธ จึงนิมนต์ให้ท่านพำนักอยู่ เพื่อเป็นผู้นำในการประพฤติปฏิบัติ ท่านอาจารย์สุเมโธไม่ได้ตอบรับคำ แต่ได้ชี้แจงว่าจะนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนหลวงพ่อชา ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์เสียก่อน

ดังนั้น เมื่อท่านสุเมโธกลับไปแล้ว หลังจากนั้นไม่นาน ประธานมูลนิธิฯ คือนายยอร์ช ชาร์ป ก็เดินทางไปยังประเทศไทย เพื่อนิมนต์พระสงฆ์ไปเผยแผ่พุทธธรรม และพิจารณาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสำนักสาขาในประเทศอังกฤษ และได้เดินทางไปยังวัดป่าทางภาคอีสาน ติดต่อกับสองสำนักพระอาจารย์ใหญ่ คือท่านอาจารย์ มหาบัว และท่านอาจารย์ชา เพื่อขอให้ส่งลูกศิษย์ซึ่งเป็นพระป่าไปอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ สำหรับท่านอาจารย์มหาบัวนั้นเคยไปเยี่ยมที่พุทธวิหารแฮมสเตดมาแล้ว คงได้เห็นความยุ่งยากนานาประการในประเทศที่ผู้คนยังไม่เข้าใจในระเบียบปฏิบัติของพระสงฆ์ ทั้งยังไม่แจ่มแจ้งในความสัมพันธ์ระหว่างสงฆ์กับฆราวาส อีกทั้งพุทธวิหารนั้นเล่าก็เป็นเพียงทาวน์เฮาส์เล็กๆ อยู่ตรงข้ามกับร้านขายเหล้า ตั้งอยู่บนถนนใหญ่ในย่านจอแจของกรุงลอนดอน ไม่เหมาะที่พระป่าจะไปอาศัยอยู่ ท่านจึงลังเลใจ

ส่วนหลวงพ่อชา ท่านไม่ได้รับนิมนต์ทันที แต่อนุญาตให้ประธานมูลนิธิฯ พำนักอยู่ที่วัดหนองป่าพงระยะหนึ่ง โดยให้ปฏิบัติตนเหมือนคนวัด คือ พักที่ศาลา กินข้าวในกะละมังวันละมื้อ และทำกิจวัตรเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เพื่อให้ทำความเข้าใจในความเป็นอยู่ของพระป่า รวมทั้งเพื่อทดสอบดูความอดทนและความจริงใจกันก่อน เมื่อพิจารณาเห็นว่ามีเจตนามุ่งมันจริง หลวงพ่อจึงรับนิมนต์จากประธานมูลนิธิฯ นั้น

วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๐ หลวงพ่อชาได้เดินทางไปเผยแผ่พุทธธรรมที่ประเทศอังกฤษ โดยมีท่านอาจารย์สุเมโธ เป็นผู้ติดตาม ในการมาเยือนครั้งนั้น ท่านอาจารย์ชาได้บันทึกไว้ในสมุดบันทึกด้วยลายมือของท่าน ดังได้ คัดมาบางตอนว่า... “..๑๕ พฤษภาคม ๒๕๒๐ วันนี้ประมาณ ๗ โมงเช้า เราได้นั่งอยู่ในที่สงบเงียบจึงได้เกิดความรู้ในการภาวนาหลายอย่าง เราจึงได้หยิบเอาสมุดปากกาขึ้นมาบันทึกไว้ภายในวิหารธรรมประทีปด้วยความเงียบสงบ ธรรมะที่เกิดขึ้นนี้เราเรียกว่า "มโนธรรม" เพราะเกิดขึ้นด้วยการปรากฏในส่วนลึกของใจว่า การที่มาบวชเจริญรอยตามพระพุทธองค์นั้นเรายังไม่ได้ทำอะไรๆ ได้เต็มที่ เพราะยังบกพร่องอยู่ หลายประการอันเกี่ยวแก่พุทธศาสนาคือ หนึ่งสถานที่ สองบุคคล สามกาลเวลา เราจึงได้คิดไปอีกว่าเมื่อสร้างประโยชน์ตนได้เป็นที่พอใจแล้ว ให้สร้างประโยชน์บุคคลอื่น จึงจะได้ชื่อว่ากระทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

ดังนั้นจึงมีความเห็นว่า กรุงลอนดอนนี้แห่งหนึ่งจัดเรียกได้ว่าเป็นปฏิรูปเทศ คือประเทศอันสมควรในการที่จะประกาศพระศาสนา จึงได้จัดให้ศิษย์ฝรั่งอยู่ประจำเพื่อดำเนินงานพระศาสนาต่อไป วิธีสอนธรรมนั้นให้เป็นไปในทำนองที่ว่า ทำน้อยได้มาก ทำมากได้น้อย ให้เห็นว่าความเย็นอยู่ในความร้อน ความร้อนอยู่ในความเย็น ความผิดอยู่ในความถูก ความถูกอยู่ในความผิด ความสุขอยู่ในที่ความทุกข์ ความทุกข์อยู่ที่ความสุข ความน้อยอยู่ที่ความใหญ่ ความใหญ่อยู่ที่ความน้อย สกปรกอยู่ที่สะอาด สะอาดอยู่ที่สกปรก อย่างนี้เสมอไป นี้เรียกว่า สัจธรรม หรือ สัจศาสตร์..”

เมื่อท่านกลับไป ท่านจึงให้ท่านสุเมโธกับศิษย์พระฝรั่งอีกสามรูปอยู่ต่อไปที่แฮมสเตด โดยมีเงื่อนไขว่ามูลนิธิฯ ต้องจัดหาสถานที่ๆ เป็นป่าอันเหมาะสมให้ลูกศิษย์ของท่านอาศัยปฏิบัติธรรมและเผยแพร่พระศาสนาต่อไป

ในปีแรกนั้น มีแต่ความทุกข์ยากเป็นอันมาก ลองนึกภาพดูก็จะเห็นได้ว่า "พระภิกษุนั้น แม้ท่านจะเป็นพระฝรั่ง แต่ท่านมาจากวัดหนองป่าพง ซึ่งเป็น "วัดป่า" ท่านเคยชินกับการอยู่ป่า อันเป็นที่วิเวกร่มรื่น ปลอดโปร่ง ห่างไกลจากผู้คนและสิ่งรบกวนจากภายนอก ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนเคารพกราบไหว้ และนำของมาถวาย แต่แล้วเอาท่านมาอยู่ในห้องแคบๆ อับๆ ในย่านจอแจของเมืองหลวงใกล้กับร้านขายเหล้า

อีกทั้งสภาพอากาศในบางฤดูของกรุงลอนดอนก็ย่ำแย่ เวลาออกบิณฑบาตก็ไม่มีคนใส่บาตร บางครั้งยังมีคนมาพูดจาดูหมิ่นถากถางหาว่าเป็นขอทาน เป็นต้น ประกอบกับในคณะกรรมการมูลนิธิฯ เองที่นิมนต์ท่านมาก็มีความขัดแย้งกันในเรื่องการหาสถานที่อันเหมาะส และบทบาทของพระสงฆ์ซึ่งควรจะปรับอย่างไรให้เข้ากับสภาพสังคมของ คนอังกฤษเกิดความสับสนจนบางคนคิดว่าในประเทศเช่นนี้ บางทีพระอาจจะไม่เหมาะที่จะไปอยู่ในป่า ดังนี้แล้ว จึงเห็นได้ว่า เป็นระยะเวลาที่มีแต่ความยุ่งยากลำบากมาก บุคคลทั่วไปอาจเกิดความท้อแท้ได้ง่ายๆ อย่างไรก็ดี ท่านสุเมโธกับคณะผู้ได้รับการฝึกให้มีความอดทนและตั้งมั่นอยู่ในพระวินัย ก็สามารถอยู่ต่อไปด้วยความสงบ อาจถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ท่านใช้ฝึกขันติธรรมและการ "ปล่อยวาง" ไปด้วยในตัว

ในฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ.๒๕๒๑ มีสิ่งอัศจรรย์อย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือเช้าวันหนึ่ง ท่านสุเมโธออกบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรของท่าน แถวแฮมสเตดฮีธ ไปเจอกับนักวิ่งออกกำลังกายผู้หนึ่ง นักวิ่งผู้นี้เกิดประทับใจในท่าทางของพระภิกษุ จึงเข้ามาสนทนาด้วย ท่านผู้นี้ได้ซื้อป่าไว้แห่งหนึ่ง ชื่อว่า แฮมเมอรวูด อยู่ในแคว้นซัสเซกส์ เนื้อที่ประมาณ ๓๗๐ ไร่ โดยตั้งใจจะบำรุงรักษาให้คงสภาพป่าอย่างสมัยก่อน แต่ท่านก็เข้าใจดีว่า งานเช่นนี้เหลือกำลังที่คนๆ เดียวจะทำได้ แม้ท่านจะไม่ได้เป็นพุทธศาสนิกชน ท่านก็มีใจกว้างพอที่จะเล็งเห็นว่าพระภิกษุคณะนี้น่าจะเป็นผู้ดูแลรักษาป่าได้เป็นอย่างดี
 
พระสุเมธาจารย์ คณะสงฆ์ และสานุศิษย์ของท่านได้ปฏิบัติหน้าที่เผยแผ่ธรรมอย่างเข้มแข็งได้ผลดี เป็นที่น่าชื่นชมยิ่งนัก มีชาวตะวันตกประกาศตนเป็นพุทธมามกะเพิ่มขึ้นเป็นสถิติสูงมาก จนอาจกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทสายวัดป่าจากประเทศไทยได้รับการประดิษฐานเป็นอย่างดีในโลกตะวันตก มิใช่แต่เฉพาะในประเทศอังกฤษเท่านั้น การเจริญเติบโตของทางวัดยังได้ขยายไกลออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี

ท่านพระสุเมธาจารย์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอมราวดี ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๗ จนเกษียณตนเองจากตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ และได้กลับประเทศไทย โดยในปัจจุบันได้พำนักอยู่ ณ วัดป่ารัตนวัน บ้านคลองปลากั้ง ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระราชสุเมธาจารย์ (ท่านพระอาจารย์สุเมโธ ภิกขุ) วัดอมราวดี กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เข้ารับพระราชทานสถาปนา เลื่อนและแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น พระเทพญาณวิเทศ วิ. ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในบรมมหาราชวัง​ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒






ที่มา - พระพุทธศาสนา

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Mark Wilkinson
นักโพสท์ระดับ 1
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Philippines Philippines

กระทู้: 3


ระบบปฏิบัติการ:
Mac OS X 10.15.7 Mac OS X 10.15.7
เวบเบราเซอร์:
Chrome 94.0.4606.81 Chrome 94.0.4606.81


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 06 ธันวาคม 2564 14:41:06 »

ฉันเห็นด้วยกับการแยกกฎหมายกับการปฏิบัติทางศาสนา แต่ฉันไม่ต้องการเพิกเฉยต่อภูมิปัญญาจากผู้นำทางจิตวิญญาณเช่นพระสงฆ์โดยสิ้นเชิง เราต้องฟังคำแนะนำของพวกเขา
บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.641 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้