[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 06:36:59 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ - ธรรมิกพรรณนาในโทษแห่งร่างกาย  (อ่าน 2011 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 20 มกราคม 2564 20:36:06 »


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ทรงฉายพระรูปที่หน้าพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร


ขายาว
ธรรมิกพรรณนาในโทษแห่งร่างกาย

ดังปรากฏความในพระนิพนธ์ “กาลปวัตติกถา เถราปทานเล่มต้น” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่นิพนธ์ขึ้นในพิธีทำบุญฉลองมัชฌิมกาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เล่าว่า

ครั้งนั้นเมื่อแรกประสูติ พระองค์ท่านมีขายาวมากกว่าเด็กโดยทั่วไป จนเมื่อทรงยินดีที่จะออกผนวช จึงได้ไปหาพระมหาเถระรูปหนึ่ง สันนิษฐานว่าเป็น พระญาณสมโพธิ (รอด) พระมหาเถระนั้นได้แสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยกายคตาคติ พิจารณาความเป็นจริงของร่างกายที่ของไม่งาม ล้วนเต็มไปด้วยโทษ ทำให้ทรงคิดไปว่าพระมหาเถระนั้นแสดงธรรมเสียดสี  

จนภายหลังเมื่อได้ทรงผนวชเป็นสามเณรแล้วประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ นั้น พระมหาเถระรูปนี้กลับช่วยอนุเคราะห์ดูแลสั่งสอนให้รู้พระธรรมวินัยมาตลอด ๒ ปี จนถึงแก่มรณภาพ  ก่อให้เกิดความเลื่อมใสในการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแลประพฤติพรหมจรรย์สืบมา ดังความในกาลปวัตติกถา ที่ว่า

 “...๑๑๘๔ ปีมะเมีย นักษัตรจัตวาศก (พ.ศ.๒๓๖๕) ครั้งนั้นมีกุลบุตรผู้หนึ่ง เช่นคนประกอบไปด้วยความสุข อันบุคคลปรนนิบัติบำรุงรักษา ทรงได้ซึ่งทสนขายาวประหลาดแปลกกว่าปรกติกุมารในกาลครั้งนั้น  ครั้นกุลบุตรนั้นมีอายุได้ ๑๔ ปี ยินดีจะออกบรรพชาในพระศาสนา จึงไปหาพระมหาเถรเจ้าองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นผู้มีอายุพรรษาฉลาดรู้ธรรมวินัยฝ่ายสุตตันตปฏิบัติ ท่านนั้นมีวาจาสามารถในที่จะทรมานซึ่งบริษัท ที่ประกอบไปด้วยอุปนิสัยปัญญา ท่านก็แสดงธรรมิกพรรณนาในโทษแห่งร่างกาย สอนให้กำหนดในอัชฌัตตกายตั้งแต่พื้นเท้าจนตลอดปลายผม ว่าเกลื่อนกล่นเต็มไปด้วยเครื่องน่าเกลียดโสโครก มีผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้นด้วยอาการต่างๆ กุลบุตรนั้นมีอัธยาศัยยังเหินห่าง มิได้เคยสดับฟังพระธรรมวินัย ก็มีจิตไม่เลื่อมใส กลับขึ้งเคียดรังเกียจว่าพระมหาเถระนั้นแกล้งกล่าวเสียดสี กระทบกระทั่งบริภาษพ้อด้วยวาจา  

ครั้นเมื่อออกบวชในพระศาสนา พระเถรเจ้าองค์นั้นก็ช่วยอนุเคราะห์สั่งสอนให้รู้ธรรมวินัยตามสมควรแก่สามเณรภูมิ สิ้นกาลประมาณสองปี ก็ดับขันธ์สิ้นชีพล่วงไป

ด้วยอำนาจคำสั่งสอนของพระเถระองค์นั้น พาให้สามเณรนั้นเกิดความเลื่อมใสอุตสาหะประพฤติพรหมจรรย์เล่าเรียนพระปริยัติธรรมสืบมา...”


กราบขอบคุณที่มา เพจเล่าเรื่องวัดบวรฯ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 มีนาคม 2564 19:12:52 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 21 มกราคม 2564 21:03:29 »


สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
เมื่อครั้งทรงพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธ์

ภาพจาก : เว็บไซต์วัดบวรนิเวศวิหาร


ทรงบรรพชาสามเณร ๒ ครั้ง

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อครั้งยังทรงบรรพชาเป็นสามเณรประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุมาแล้ว ๓ พรรษา ครั้นเมื่อมีพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา ทรงประชวรด้วยพระโรคไข้ทรพิษ จนต้องทรงลาสิกขาออกมาประทับรักษาพระองค์ อยู่ ๓ เดือน

ระหว่างนั้นพระญาติวงศ์ได้พยายามหาอุบายมิให้ทรงคิดกับไปผนวชใหม่ ด้วยทรงมีพระหฤทัยมั่นในร่มกาสาวพัสตร์ แต่ก็มิเป็นผล จนเมื่อพระอาการประชวรหายแล้ว จึงทรงกลับไปบรรพชา เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๖๘ แลประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุดังเดิม

ดังปรากฏความในพระนิพนธ์ “กาลปวัตติกถา เถราปทานเล่มต้น” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่นิพนธ์ขึ้นในพิธีทำบุญฉลองมัชฌิมกาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เล่าว่า

“...นับอายุกาลตั้งแต่ชาติมาได้ ๑๗ ปี ในมาฆมาสกาฬปักษ์ดิถีในปีนั้น เกิดเป็นไข้พิษออกฝีดาษหนัก ญาติทั้งหลายจึงมารับไปปรนนิบัติอภิบาลรักษา ได้สึกออกเป็นฆราวาสอยู่สามเดือนกับวันหนึ่ง ในระหว่างกาลเท่านั้น ญาติทั้งหลายคิดจะผูกพันให้ติดแน่นในฆราวาส ด้วยเครื่องผูกคือมาตุคาม ประกอบกิจคิดอ่านเป็นกลอุบายยักย้ายวิจิตรไปต่างๆ จนถึงในราตรีภาคแห่งวันรุ่งสว่างจนกลับมาบรรพชาเป็นที่สุด ก็มิได้สำเร็จดังความประสงค์ของคนเหล่านั้น อันนี้ด้วยอำนาจอุปนิสัยกุศลหากมาป้องกันอุปถัมภ์ก่อให้เกิดศรัทธา เพราะได้สดับกายคตาสติกถาเป็นต้นเหตุ จึงได้มีชัยชนะแก่เครื่องล่ออันพิเศษ ซึ่งเป็นเหยื่ออันมนุษย์มารมาดักไว้ โดยที่สุดแม้นแต่กายสังสัคคะซึ่งเป็นกรรมอันใกล้ก็ไม่พึงมี

ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ ปีระกาสัปตศก ศาสนายุกาล ๒๓๖๘ พรรษา (๙ พฤษภาคม ๒๔๖๘) กลับมาบวชบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ดังเก่าเล่าเรียนพระปริยัติธรรมสืบต่อไป..



พัดแฉกงาพิเศษประดับพลอย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้พระราชทานถวาย เมื่อครั้งทรงพระกรุณาโปรด
สถาปนาพระอิสริยยศ เป็นพระองค์เจ้าต่างกรม
มีพระนามว่า กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์


กราบขอบคุณที่มา เพจเล่าเรื่องวัดบวรฯ & เว็บไซต์วัดบวรนิเวศวิหาร
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 02 กุมภาพันธ์ 2564 21:18:49 »



สละทรัพย์สินก่อนบวชพระ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อครั้งยังทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่นั้น ครั้นเมื่อเจริญวัยมีอุปสมบทถึงกาลอุปสมบทแล้ว จึงทรงลาสิกขาออกมาสมโภชเป็นฆราวาสอยู่ ๓ วัน  ในครั้งนั้นได้พบหญิงสาวรุ่น แต่ก็มิได้มีจิตปฏิพัทธ์ กลับดำรงมั่นในเพศพรหมจรรย์ และทรงสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดที่เป็นของส่วนพระองค์แก่เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก ผู้เป็นพระมารดา ออกผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ดังปรากฏความในพระนิพนธ์ “กาลปวัตติกถา เถราปทานเล่มต้น” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่นิพนธ์ขึ้นในพิธีทำบุญฉลองมัชฌิมกาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เล่าว่า

“...เมื่อ (สามเณรพระองค์เจ้าฤกษ์) กลับมาบวชเป็นสามเณรอยู่ดังเก่า เล่าเรียนพระปริยัติธรรมสืบต่อไป จนอายุเจริญวัยใกล้อุปสมบท  ครั้นถึงกาลกำหนดก็สึกออกไปเป็นฆราวาสอยู่สามวัน ครั้งนั้นมีตรุณิตถี (หญิงสาวรุ่น) ซึ่งเป็นบริษัทแห่งมนุษย์ประดุจหนึ่งว่ามารดา มาสำแดงอาการประโลมล่อด้วยกลกิริยา กุลบุตรนั้นก็มิได้ปรารถนา คิดจะใคร่อุปสมบทกลัวจะเป็นมลทิน ต่อนั้นไปก็สละทรัพย์สินซึ่งเป็นของฆราวาส มอบให้สิทธิ์ขาดแก่มารดา (เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก) เสร็จแล้วก็อำลาญาติทั้งปวงเพื่อจะอุปสมบท ขณะนั้นกุลบุตรนั้นได้ปริวิตกว่า ที่ใดที่เราได้นั่งในกาลบัดนี้ ที่นี้เราจะมิได้กลับมานั่งต่อไป...”


ธมฺมสาโร
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อแรกทรงผนวชเป็นพระภิกษุนั้น ทรงมีพระสมณฉายาเดิมว่า “ธมฺมสาโร”

ดังปรากฏความในพระนิพนธ์ “กาลปวัตติกถา เถราปทานเล่มต้น” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่นิพนธ์ขึ้นในพิธีทำบุญฉลองมัชฌิมกาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เล่าว่า

“...ครั้นถึง ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลูเอกศก (วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๗๒) กุลบุตรนั้นก็ได้บรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุอยู่ในวัดมหาสังฆราชาราม (วัดมหาธาตุ) มีนามชื่อธรรมสาร (ธมฺมสาโร)  ครั้นอุปสมบทแล้วก็อุตส่าห์ทำอุปัชฌายวัตร ปฏิบัติอาจารย์อุปัชฌาย์ศึกษาข้อวินัย ก็ไม่ได้ความเลื่อมใสในสำนักแห่งท่านเหล่านั้น ด้วยพระอุปัชฌาย์นั้นนั่นเป็นพระธรรมกถึก ไม่ใช่ฝ่ายวินัยธร  ท่านก็บอกเปิดว่า ศาสนธรรมคำสั่งสอนนั้น ทรุดเสื่อมอันตรธานมาเสียนานแล้ว มิได้มีผู้ปฏิบัตินำมาสิ้นกาลนาน ถ้าจะใคร่รู้ก็จงพลิกดูในใบลานที่ท่านจดเขียนไว้นั้นเถิด  ธรรมสารภิกษุครั้นได้รู้ดังนั้นก็สิ้นความเลื่อมใส...”

เสด็จไปอยู่วัดสมอราย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ในช่วงพรรษกาลแรกนั้น ทรงทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในสมัยนั้นยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ได้พยายามประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยให้มากที่สุด จนเกิดความเลื่อมใสและทรงเข้าไปศึกษาตลอดพรรษา  ครั้นออกพรรษาแล้วจึงเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอรายนั้น

ดังปรากฏความในพระนิพนธ์ “กาลปวัตติกถา เถราปทานเล่มต้น” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่นิพนธ์ขึ้นในพิธีทำบุญฉลองมัชฌิมกาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เล่าว่า

“...ครั้งนั้นธรรมลัทธิพวกธรรมวรยุต เลือกถือแต่สิ่งที่ถูกต้องต่อธรรมวินัยพึ่งเกิดขึ้น ยังมิได้แพร่หลายอื้ออึงถึงฆราวาส ยังตั้งอยู่แต่ในหมู่บรรพชิตบริษัท ธรรมสารภิกษุนั้นครั้นได้ยินกิตติศัพท์ก็ไปพลอยซ่องเสพศึกษา ได้ความเลื่อมใสศรัทธาว่าเป็นแก่นสาร ประเสริฐกว่าธรรมลัทธิของสมณะทั้งปวง ก็เบื่อหน่ายในลัทธิเดิม ว่าเป็นการหลอกลวงล่อให้พิศวง

ครั้น ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ในภายในพรรษานั้น (วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๗๒) ก็หลีกไปถือเพศประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวรยุต  ครั้นออกพรรษาหน้าฤดูแล้งเหมันต์สมัย พระเถรเจ้าซึ่งเป็นธรรมยุติกาจารย์ก็หลีกไปประดิษฐานธรรมยุติกวงศ์ในวัดราชาธิวาส มอบปุราณเสนาสนะให้ธรรมสารภิกษุอยู่รักษา ธรรมสารภิกษุได้ครอบครองอยู่มาในที่นั้น ประมาณหกฤดูฝน...”





พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย กับการบรรพชาสามเณร

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๒  เมื่อพระชันษาได้ ๑๓ พรรษาทรงบรรพชาเป็นสามเณรแล้วประทับ ณ วัดมหาธาตุ  อีก ๔ ปีต่อมาทรงประชวรด้วยพระโรคไข้ทรพิษ  ปรากฏตามพระนิพนธ์ “กาลปวัตติกถา เถราปทานเล่มต้น” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้นดังนี้

“...นับอายุกาลตั้งแต่ชาติมาได้ ๑๗ ปี ในมาฆมาสกาฬปักษ์ดิถีในปีนั้น เกิดเป็นไข้พิษออกฝีดาษหนัก ญาติทั้งหลายจึงมารับไปปรนนิบัติอภิบาลรักษา ได้สึกออกเป็นฆราวาสอยู่สามเดือนกับวันหนึ่ง...ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๘ ค่ำ ปีระกาสัปตศก ศาสนายุกาล ๒๓๖๘ พรรษา [วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๓๖๘] กลับมาบวชบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ดังเก่าเล่าเรียนพระปริยัติธรรมสืบต่อไป...”

เหตุการณ์ทรงบรรพชาครั้งที่ ๒ นี้ปรากฏในพระประวัติ ฉบับต่างๆ ว่าสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้บรรพชา ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ทั้งนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ขยายรายละเอียดเหตุการณ์ว่าทรงบรรพชา ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ท้องพระโรงในพระราชวังบวรสถานมงคล ปรากฏในลายพระหัตถ์ฉบับลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๕๑ ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อพระชนม์ได้ ๑๘ ประชวรไข้ทรพิษ มีพระอาการหนักถึงต้องลาผนวชจากสามเณร ครั้นรักษาพระองค์หายแล้ว  กรมพระราชวังพระองค์นั้น [สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ]  ทรงจัดการให้ได้บรรพชาอีกที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยฯ  ในเวลายังไม่ได้กลับทรงผนวช  กรมสมเด็จพระอมรินทร์สวรรคต  ท่านได้เข้าไปสรงน้ำในหมู่เจ้านายฯ...”

อย่างไรก็ดี เรื่องที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เสด็จไปสรงน้ำสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี นั้นน่าจะคลาดเคลื่อนไป ด้วยสมเด็จพระอมรินทรา บรมราชินี เสด็จสวรรคตวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๓๖๙  แต่เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างที่ยังไม่ได้ทรงกลับมาบรรพชา คือ การถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง ซึ่งถวายพระเพลิงเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๓๖๘

อนึ่ง การบรรพชาสามเณรต่างจากการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ไม่ได้มีพระวินัยกำหนดว่าต้องบรรพชาในพระอุโบสถหรือเขตสีมา ดังนั้นจึงสามารถจัดการพระราชพิธีในท้องพระโรงได้




          ภาพ : วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสวิหาร)

คิดจะสึก
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นภิกษุประทับอยู่ ณ วัดสมอราย ได้ประมาณ ๖ พรรษานั้น วันหนึ่งพระองค์ท่านประสงค์ที่จะลาสิกขาด้วยเหตุแห่งอิสัตรี จนต้องมีพระอาจารย์มาช่วยแสดงพุทธคุณแลปฏิกูลสัญญากายคตาสติกรรมฐาน พิจารณาความไม่สะอาดของร่างกาย

ดังปรากฏความในพระนิพนธ์ “กาลปวัตติกถา เถราปทานเล่มต้น” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่นิพนธ์ขึ้นในพิธีทำบุญฉลองมัชฌิมกาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เล่าว่า

“...ครั้งนั้นอาศัยความประมาท หากบันดาลดลให้ได้ความเดือดร้อน เพราะไม่สำรวมจักขุนทรีย์ขึ้นไปด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ตามกิจที่มีในวัดราชาธิวาส ได้เห็นรูปที่เป็นวิสภาคารมณ์ที่ไม่เป็นที่สบาย คือมาตุคามคนหนึ่งในระหว่างหนทาง เกิดความกระสันอันราคะหากครอบงำทำให้วิปริตคิดจะสึกไปเป็นฆราวาสซ่องเสพกามคุณ สิ้นอุตส่าห์ในที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป ความสำเหนียกศึกษามาแต่หลังทั้งสิ้น ไม่อาจมาเป็นที่พึ่งได้  ในกาลคราวนั้น จึงได้เอาเหตุทั้งปวงไปแจ้งแก่เพื่อนพรหมจรรย์ ขอโอวาทความสั่งสอนมิได้ปิดโทษตามเหตุที่จริง เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็พากันนิ่ง ว่าข้าพเจ้าเป็นผู้น้อยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร  จึงได้ส่งข่าวสารไปถึงพระพรหมสราธิการ ซึ่งเป็นทุติยาจารย์อยู่วัดบรมสุข ท่านก็มาช่วยระงับทุกข์แสดงธรรมกถา พรรณนาพุทธคุณและปฏิกูลสัญญากายคตาสติกรรมฐาน  ครั้นฟังไประลึกตามก็ได้ความเลื่อมใส อุกัณฐาอรตินั้นค่อยน้อยเบาไปโดยลำดับ กลับได้ความยินดีในพระศาสนา ถ้ามิได้อาศัยธรรมกถาก็เห็นจะถึงซึ่งพินาศฉิบหายในคราวนั้น...

ใกล้ต่อทางพระนิพพาน
ต่อมาในพรรษาที่ ๗ ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งยังประทับอยู่ ณ วัดสมอราย นั้น  วันหนึ่งทรงเกิดความปริวิตกเห็นภัยในวัฏสังสาร จึงทรงมุ่งบำเพ็ญบุญกุศลให้ถึงซึ่งวิวัฏฏ์ คือพระนิพพาน ตราบจนสิ้นชีวิด

ดังปรากฏความในพระนิพนธ์ “กาลปวัตติกถา เถราปทานเล่มต้น” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่นิพนธ์ขึ้นในพิธีทำบุญฉลองมัชฌิมกาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เล่าว่า

“...ครั้นอยู่มาได้ประมาณเจ็ดพรรษาเป็นกำหนดเกิดความปริวิตกดำริไปว่า ความที่ต้องเกิดต้องมีเป็นไปในภพน้อยภพใหญ่นี้เป็นทุกข์ ในมนุษยโลกนี้ก็ไม่เป็นสุข เหมือนด้วยอยู่ในเรือนครัวอันอบอัดเต็มไปด้วยควันไฟ ในมนุษยโลกก็ห่างไกลจากกุศล ดูเหมือนประเทศเป็นที่อยู่ของคนที่เป็นดรุณทารก ในพรหมโลกเล่า ถ้าจะชักมาเทียบสาธกก็เหมือนกับที่อยู่ของคนแก่ที่มีอายุยืนเกินประมาณ คนเช่นนั้นก็ไม่อาจบำเพ็ญทานรักษาศีลสดับฟังซึ่งโอวาทของนักปราชญ์ เพราะมีโสตประสาทเป็นต้นวิการเสียแล้ว ไม่ได้เพื่อบำเพ็ญกุศลสัมมาปฏิบัติทางนิพพาน คิดเห็นโทษดังนี้จึงไม่อยากจะเกิดจะมีในพรหมสถานเทวพิภพ มนุษยนิกาย แล้วดำริต่อไปว่า จะทำอันใดดีจึงจะเป็นวิวัฏฏคามินีมีกุศลูปนิสัย ใกล้ต่อทางพระนิพพาน ให้ทำได้เป็นนิจกาลตามประสงค์ เป็นข้อปฏิบัติอันมั่นคงดำรงอยู่จนสิ้นชีวิต ส่วนตนก็อย่าให้ต้องเสียใจว่าปฏิบัติผิด ติเตียนตนด้วยข้อปฏิบัติ  อนึ่ง อย่าให้เป็นที่ครหาแห่งนักปราชญ์ แล้วนึกขึ้นมาเมื่อใดให้เห็นกุศลนั้นแปลกประหลาดเจริญทุกทีมิได้เสื่อมถอย แต่แสวงหามากาลก็ล่วงไปถึงสามปี...”




ภาพ : พัดยศถมปัด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชทานแก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
เมื่อครั้งดำรงพระอิสรยยศที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฤกษ์
เทียบสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นสามัญ





องค์แห่งอุปัชฌายะ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อทรงมีพระชนมายุมากนัก ไม่ค่อยได้ทรงเป็นพระอุปัชฌายะประทานอุปสมบทให้เหมือนกัน  หากเป็นผู้ที่ประสงค์ที่จักบวชในสำนักวัดบวรนิเวศวิหารนั้นก็ยังโปรดให้พระเถระรูปอื่นมาเป็นพระอุปัชฌาย์ ทั้งพระจันทรโคจรคุณก็ดี พระครูกุสุมธรรมธาดาก็ดี แม้เป็นพิธีทรงผนวชหม่อมเจ้า ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็ยังโปรดให้สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) หรือพระศาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระอุปัชฌาย์  คงเหลือเพียงเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปเท่านั้นที่ทรงรับเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ จนมีคำเล่าลือกันไปว่า ภายหลังจากที่ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิปรารถนาให้คนทั่วไปร่วมพระอุปัชฌาย์เดียวกัน 

แต่แท้จริงแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสกลับทรงรับรู้มาว่า ด้วยเหตุที่พระชนมายุทั้งอยู่ในช่วงวัยชราแล้ว พระสติก็ไม่ไพบูลย์ดังเก่า เป็นเหตุให้ขาดองค์แห่งอุปัชฌาย์ จึงไม่ปฏิเสธที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์โดยทั่วไป ดังความในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารที่ว่า

“...มีคำเล่าว่าทรงปรารถนาจะรักษาพระเกียรติยศแห่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ให้คนทั่วไปร่วมอุปัชฌายะด้วย ส่วนข้าพเจ้าหาได้ฟังพระดำรัสไม่ ได้ฟังในชั้นหลังทรงพระปรารภเป็นอย่างอื่นว่า ผู้มีสติฟั่นเฟือนขาดองค์แห่งอุปัชฌายะ ไม่ควรเป็น ทรงติผู้ไม่สามารถแล้วแต่ยังขืนเป็น ดูเป็นทีทรงเว้นเพราะสำคัญพระองค์ว่า ทรงพระชราแลมีพระสติไม่ไพบูลย์”





กระแสพระราชดำริรัชกาลที่ ๕

กระแสพระราชดำริรัชกาลที่ ๕ เนื่องในโอกาสถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ในงานพระเมรุครั้งใหญ่ที่โปรดให้แปลงพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส เป็นพระเมรุพิมาน ที่ตั้งพระศพ และปลูกพระเมรุมณฑปต่อออกมาเป็นที่พระราชทานเพลิง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ นั้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีกระแสพระราชดำริให้ถวายพระเพลิงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ก่อนพระบรมศพแลพระศพอื่นๆ ความว่า

“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่เมื่อยังดำรงพระชนม์อยู่นั้นได้เป็นพระบรมราชูปัธยาจารย์มีพระเดชพระคุณมา บัดนี้ถึงคราวที่จะพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว สมควรที่จะยกย่องให้เป็นพิเศษ เพื่อจะได้พระราชทานเพลิงก่อนพระบรมศพและพระศพอื่นๆ และจะได้ทรงกระทำสักการบูชาให้เพียงพอกับพระเดชพระคุณซึ่งได้ทรงมีมา



ขอบคุณที่มา เพจเล่าเรื่องวัดบวรฯ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 27 กันยายน 2564 19:31:42 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 11 มีนาคม 2564 18:42:21 »



เมื่อทรงต้องอาบัติสังฆาทิเสส

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงยังเป็นพระนวกภิกษุ เพิ่งทรงอุปสมบทได้ไม่นาน พระองค์ทรงต้องอาบัติสังฆาทิเสสในข้อสัญเจตนิกาบัติ คือ “ปล่อยสุกกะเป็นไปด้วยความจงใจ เป็นสังฆาทิเสส”

ด้วยในครั้งนี้พระองค์ยังทรงเป็นพระนวกะ มิได้รู้พระธรรมวินัยแน่ชัด ทรงคิดไปว่าการแสดงอาบัติทั่วไป ก่อนการสดับพระปาฏิโมกข์นั้น จักเป็นเหตุให้พ้นจากอาบัติข้อนี้ได้ จึงมิได้เปิดเผยอาบัติแก่ภิกษุรูปใด ๆ จึงเป็นเหตุให้อาบัตินั้นล่วงข้ามวันสืบมา  จนเมื่อการศึกษาพระธรรมวินัยตามแนวทางธรรมยุติกนิกายแม่นยำมากยิ่งขึ้น จึงพบว่า เหตุจากอาบัติสังฆาทิเสสในครั้งนั้นพระองค์มิได้เปิดเผยกับพระรูปใดมายาวนานถึง ๒ ปี ๑๐ เดือนนับแต่อุปสมบท ในครั้งนั้นได้ทรงอยู่ปริวาสสำหรับอาบัติที่ปิดไว้วันเดียว ครั้นอยู่ไปความสงสัยก็มิได้ระงับ จึงได้เสด็จไปอยู่ปริวาสสำหรับอาบัติสังฆาทิเสสหลายตัวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ ๑๐ พรรษา ณ วัดบรมนิวาส? ๒ ปี ปีละ ๓-๔ เดือน กอปรกับความสงสัยในสีมาวิบัติ ซึ่งก็เป็นองค์แห่งการแก้ให้พ้นจากอาบัติหนักนี้ จึงทรงทอดอาลัยในเพศพรหมจรรย์

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงผนวช ซึ่งเป็นพระอาจารย์ได้ทรงแสดงคุณแห่งพรหมจรรย์ เป็นเหตุให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์นั้นทรงพยายามแก้ไขอาบัติหนักข้อนั้นให้ลุล่วงลงไปได้

ดังปรากฏความในพระนิพนธ์ “กาลปวัตติกถา เถราปทานเล่มต้น” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่นิพนธ์ขึ้นในพิธีทำบุญฉลองมัชฌิมกาล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เล่าว่า

“...เหฏฐาคตเถระองค์นี้ เมื่ออุปสมบทได้สองพรรษากับสิบเดือน ในระหว่างนั้นได้ต้องสัญเจตนิกาบัติเป็นอันมาก ด้วยมีความสำคัญวิปลาสเข้าใจผิด ถือว่าได้ตั้งใจบอกในเพลาแสดงอาบัติแล้ว อาบัตินั้นไม่เป็นอันปิดให้ก้าวล่วงข้ามวันไป

ครั้นลัทธิธรรมยุติกาเจริญใหญ่ วินิจฉัยว่าไม่เป็นอันบอก เพราะผู้ฟังไม่รู้แจ้งในคณะนั้น จึงได้กำหนดนับคืนวันได้สองปีกับสิบเดือนแต่อุปสมบทมา กาลนั้นได้ประพฤติปริวาสเป็นเอกาหปฏิฉันนาคราวหนึ่งแล้ว  ครั้นคิดไป ๆ ความสงสัยนั้นไม่รำงับ จึงกลับไปขอสุทธันตปริวาสอีกคราวหนึ่ง ครั้นเมื่ออายุกาลได้สิบพรรษา ได้ลาพระเถระไปประกอบกิจเยียวยารักษาปริวาสอยู่ในวัดบวรนิวาส [วัดบรมนิวาส?] สองคราวแล้ง ได้ปีละสามเดือนสี่เดือนบ้างหาสำเร็จไม่ แล้วเกิดความรังเกียจสงสัยด้วยลักษณะสีมา ไม่อาจปฏิบัติรักษาให้บริบูรณ์ตามวินัยนิยมได้ จึงได้ปลงวัดนั้นสงบไว้อยู่ต่อมา

ครั้งหนึ่งได้ฟังพระมหาเถรเจ้าท่านแสดงธรรมกถาพรรณนาด้วยคุณแห่งพรหมจรรย์มีนัยนานา...

...ก็แต่เมถุนวิรัติพรหมจรรย์นี้ประเสริฐอยู่ ถึงในกาลก็ควรประพฤติ นอกกาลก็ควรประพฤติ เป็นสามัญพรหมจรรย์มิได้จำกัดกาล ถ้าตั้งอยู่ในเขตก็เป็นอุปการะแก่พระนิพพาน ถ้านอกเขตก็เป็นปัจจัยแก่สุคติโลกสวรรค์ เป็นอปัณณกปฏิบัติ ถึงศาสนวงศ์สิ้นแล้ว ก็ชื่อว่าประพฤติพรหมจรรย์เนื่องด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น แล้วไม่เปลืองชาติขาดทุนอะไร คำนี้เหฏฐาคตเถระได้สดับก็เห็นจริงชอบใจสมกับความดำริที่ตนประสงค์มาแต่ปางก่อน จึงได้เอาทิฏฐธรรมสุขกับสัมปรายิกประโยชน์ มาเปรียบเทียบเลือกลองอยู่หลายเวลา กาลนั้นก็ล่วงมาถึงสามปีเศษ

ครั้นมาวันหนึ่งคิดสังเวชถึงเมื่อตนแรกอุปสมบทดังที่ได้แสดงแล้วในข้างต้น ว่าตัวเราก็ได้มีวีติกกมะความก้าวล่วงคำสั่งสอนพระทศพลอยู่อย่างหนึ่ง ไม่อาจปฏิกรรมทำให้เป็นปรกติคืนได้ ตามวินัยเป็นตัวอย่าง เพราะมีข้อกีดขัดไปหลายอย่างหลายประการ อย่ากระนั้นเลย เมื่อไม่ได้เพื่อปฏิกรรม ตามศาสนกาลวินัยบัญญัติแล้ว ควรเราจะคิดปฏิกรรมตามสุตตันตปฏิบัติ เห็นจะดีกว่านิ่งอยู่แล้วและไม่ทำ ถ้าหากกรรมนั้นเป็นอโหสิกรรม อันนี้ก็จะได้เป็นชนกนำปฏิสนธิต่อไป  อนึ่ง จะได้เป็นเครื่องหักกาย หักใจให้เรียบราบเป็นอุปการะแก่นิพพานมรรคในเบื้องหน้า ในชาตินี้เราก็ได้มีขันติอดทนมาหลายครั้งอยู่แล้ว อันนั้นจงอย่าได้ล่วงไปเสียเปล่าจากประโยชน์เลย...”


กราบขอบคุณที่มา เพจเล่าเรื่องวัดบวรฯ
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 29 มีนาคม 2564 14:13:27 »



พระรูปสีน้ำมันสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

เดิมพระรูปนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้เขียนขึ้นเพื่อประดิษฐานไว้ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยมีหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย เป็นผู้คิดแบบ แล้วจึงว่าจ้างให้จิตรกรชาวตะวันตกเขียนขึ้น ราวปี พ.ศ.๒๔๒๕  ภายหลัง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทูลขอมาประดิษฐานไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดบวรนิเวศวิหาร อาคาร ภปร วัดบวรนิเวศวิหาร

ถวายทานแก่วัดบรมนิวาสตลอดพระชนม์ชีพ
ดังปรากฏความในพระนิพนธ์ “กาลปวัตติกถา เถราปทานเล่มต้น” ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ที่นิพนธ์ขึ้นในพิธีทำบุญฉลองมัชฌิมกาล เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศที่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เล่าว่า

“...ครั้น ฯ วันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุนเอกศก ศาสนายุกาล ๒๓๘๒ พรรษา นับกาลแต่อุปสมบทมาได้สิบปีล่วงแล้ว  ครั้งนั้นไปยังวัดบรมสุข ได้อุทิศต่อหน้าพระเจดีย์ กับภิกษุห้ารูปได้มีนั่งเป็นพยาน สมาทานวัตตจริยาอย่างหนึ่งกำหนดด้วยชีวิต  อนึ่งได้ประกอบกิจชำระอุปสมบทกรรมถ้วนเบญจมวาร ได้ตั้งไว้ซึ่งนิพัทธทาน (ทานที่ให้อย่างเป็นประจำ) อนุสังวัจฉระกำหนด เรียกว่า คิลานเภสัชชมูลในวัดบรมนิวาส ได้ตั้งไว้ซึ่งมัชฌภัณฑบริจาคในวัดบวรนิเวศและวัดบวรมงคล สองวัดนี้ก็เป็นนิพัทธกุศลตั้งแต่ปีแรกบริจาคเป็นต้นมา อันนี้จะนับว่าเป็นทานจริยา พรหมจรรย์อย่างหนึ่งก็จะเป็นได้ แต่วัดบรมนิวาสนั้นได้ปฏิภาณไว้ว่าจะถวายไปจนสิ้นชีวิตให้โจทเตือน”





พัดแฉกถมปัด

พัดแฉกถมปัด คือ พัดยศประกอบสมณศักดิ์ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อครั้งทรงเลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ

ดังปรากฏรายละเอียดในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙ หน้า ๒๒๕ ความตอนหนึ่งว่า

“...ในปีรกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ [พ.ศ.๒๓๙๒] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชาคณะ ได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกถมปัตรแลเครื่องยศ สำหรับพระราชาคณะพร้อมทุกอย่าง พระราชทานนิตยภัตรเดือนละ ๓ ตำลึง ตั้งถานานุกรมได้สองรูป คือ พระปลัด ๑ พระสมุห์ ๑ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละสองชั่วตามเดิม...”

หากแต่ในพระนิพนธ์ของพระองค์เองเรื่อง  “กาลปวัตติกถา เถราปทานเล่มต้น” นิพนธ์ขึ้นเพื่อทรงแสดงในพิธีทำบุญฉลองมัชฌิมกาล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑ ระบุว่า ในปี พ.ศ.๒๓๘๙ นั้นพระองค์ทรงดำริที่จักทรงลาสิกขาอีกวาระหนึ่ง ครั้งนั้นได้เข้าไปกราบทูลลาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์ ผู้ทรงเป็นพระอาจารย์ พระองค์ท่านทรงมีพระเมตตาด้วยพระวาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ให้ช่วยคลายดำริที่จักทรงลาสิกขา และให้เพื่อนสหธรรมิกมาช่วยระงับความกระสันจักสึกในครั้งนี้  จนในปีต่อมา พระองค์จึงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะพระราชวงศ์ ดังความที่ว่า“…ครั้นถึงปีมะเมียเข้าฤดูเหมันต์มิคสิรมาส [เดือนอ้าย] ศาสนายุกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าล่วงไปได้ ๒๓๘๙ พรรษา เหฏฐาคตเถระนั้นคิดจะลาสิกขาสึกอีกครั้งหนึ่ง ได้เข้าไปอำลาพระมหาเถระซึ่งเป็นอาจารย์ ท่านก็แสดงคำไพเราะอ่อนหวานควรแก่โสต มิได้แสดงความพิโรธให้ปรากฏออกมา แล้วท่านก็ไปบังคับผู้อื่นให้มาช่วยพูดจา ห้ามปรามตามกาลปวัตติและศาสนาธิบาย ยักย้ายไปหลายอย่างหลายประการ เหฏฐาคตเถระเห็นว่าไม่ควรจะให้ร้าวรานก็นิ่งมา

ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแมนพศก ศาสนายุกาล ๒๓๙๐ พรรษา [วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๙๐?] สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาพระราชทานอิสริยยศซึ่งควรแก่สมณะ เป็นราชกุลูปกะมีตำแหน่งในราชการ...”

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 27 กันยายน 2564 19:37:11 »



จดหมายเหตุพงศาวดาร
พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการประวัติศาสตร์ ดังปรากฏพระนิพนธ์ “จดหมายเหตุพงศาวดาร” ว่าด้วยลำดับพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ตั้งกรุง จนเสียกรุงครั้งที่ ๒ พร้อมทรงระบุศักราชในการครองราชย์และสวรรคต ด้วยพระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านการคำนวณ ดังปรากฏหลักฐานเช่นคัมภีร์สุคตวิทัตถิวิธาน ว่าด้วยการคำนวณขนาดคืบพระสุคต หรือจดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน ที่รววบรวมปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละวัด พร้อมจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญขึ้นในสมัยนั้น

นอกจากนี้ ตอนท้ายพระนิพนธ์ว่าด้วยประวัติศาสตร์ว่าด้วยการขุดคลองลัดต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยทรงระบุตำแหน่งที่ขุด พร้อมปีรัชกาลที่ขุดคลองเหล่านั้นด้วย

ดังความในพระนิพนธ์ “จดหมายเหตุพงศาวดาร” ดังนี้

“๏ พระรามาธิบดีสร้างกรุง ปีขาล ๗๑๒ สวรรคตปีระกา ๗๓๑ ๚
๏ แผ่นดินบรมราชาธิราช ปีจอ ๗๓๒ สวรรคตปีจอ ๗๔๔ ๚ะ
๏ แผ่นดินพระราเมศวร ปีชวด ๗๔๖ สวรรคตปีเถาะ ๗๔๙ ฯ
๏ แผ่นดินพระอินทราธิราช ปีมะเส็ง ๗๖๓ สวรรคตปีจอ ๗๘๐ ฯ
๏ แผ่นดินบรมราชา ปีจอ ๗๘๐ สวรรคตปีขาล ๗๙๖ ๚ะ
๏ แผ่นดินบรมไตรโลกนาฏ ปีขาล สวรรคตปีขาล ๘๓๒ ฯ
๏ แผ่นดินรามาธิบดี ปีมะเส็ง ๘๓๕ สวรรคตปีมะเส็ง ๘๗๑ ๚ะ
๏ แผ่นดินบรมราชาพุทธังกุร ปีมะเส็ง ๘๗๑ สวรรคตปีระกา ๘๗๕ ฯ
๏ แผ่นดินพระรัษฎา ปีระกา ๘๗๕ สวรรคตปีจอ ๘๗๖ ฯ
๏ แผ่นดินพระไชยราชา ปีจอ ๘๗๖ สวรรคตปีกุน ๘๘๙ ฯ
๏ แผ่นดินมหาจักรพัดิ ปีขาล ๘๙๒ สวรรคตปีเถาะ ๙๑๗ ฯ
๏ แผ่นดินมหาธรรมราชา ปีมะโรง ๙๑๘ สวรรคตปีขาล ๙๔๐ ฯ
๏ แผ่นดินนเรศ ปีขาล ๙๔๐ สวรรคตปีมะเส็ง ๙๕๕ ฯ
๏ แผ่นดินเอกาทศรฐ ปีมะเส็ง ๙๕๕ สวรรคตปีฉลู ๙๖๒ ฯ
๏ แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ปีขาล ๙๖๔ สวรรคตปีเถาะ ๙๘๙ ฯ
๏ แผ่นดินพระเชฐาธิราช ปีเถาะ ๙๘๙ สิ้นแผ่นดินปีมะเมีย ๙๙๑ ฯ
๏ แผ่นดินพระอาทิตยวงษ ปีมะเมีย ๙๙๑ สิ้นแผ่นดิน ๙๙๒ ฯ
๏ แผ่นดินปราสาททอง ปีมะเมีย ๙๙๒ สวรรคตปีมะแม ๑๐๑๗ ฯ
๏ แผ่นดินนราย ปีวอก ๑๐๑๘ สวรรคตปีจอ ๑๐๔๔ ฯ (ต่อเล่ม ๒)
๏ แผ่นดินเพทราชา ปีจอ ๑๐๔๔ สวรรคตปีฉลู ๑๐๕๗ ฯ
๏ แผ่นดินสรศักดิ์ ปีฉลู ๑๐๕๙ สวรรคตปีจอ ๑๐๖๘ ฯ
๏ แผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ปีจอ ๑๐๖๘ สวรรคตปีชวด ๑๐๙๔ ฯ
๏ แผ่นดินบรมโกฏ ปีชวด ๑๐๙๔ สวรรคตปีขาล ๑๑๒๐ ฯ
๏ แผ่นดินกรมขุนพรพินิต ปีขาล ๑๑๒๐ แล้วออกทรงผนวชเสีย
๏ แผ่นดินกรมขุนอนุรักษมนตรี ปีเถาะ เสียกรุงปีกุน ๑๑๒๙

- - - - - - - - - -

๏ ปีมะเมีย ๘๖๐ พระรามาธิบดีให้ขุดคลองสำโรง ได้เทวรูปสององค์
๏ ปีมะโรง ๘๘๔ พระไชยราชา ให้ขุดคลองบางกอกใหญ่
๏ ปีจอ ๙๐๐ พระมหาจักรพัธรติ ให้ขุดคลองบางกรวยริมวัดชลอ
๏ ปีวอก ๙๗๐ พระเจ้าทรงธรรม ให้ขุดคลองลัดริดวัดไก่เตี้ย
๏ ปีขาล ๙๙๘ พระเจ้าปราสาททอง ให้ขุดคลองเมืองนน
๏ ปีระกา ๑๐๖๗ พระพุทธเจ้าเสือ ให้ขุดคลองโคกขาม
๏ ปีขาล ๑๐๘๔ พระเจ้าอยู่หัวท้ายศระ ให้ขุดคลองมหาไชย และคลอดเกร็ด
๏ ปีเถาะ ๙๐๕ พระเจ้าหงษาวดีเลอกทับกลับแล้ว ได้พระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร พระมหินทราธิราชกลับมา สมเดจพระเจ้าอยู่หัวมหาจักรพัรรติ์ตรัสว่า พลเมืองได้ต้อนเข้าพระนครครั้งนี้ได้น้อยนัก ให้ยกเอาบ้านท่าจีนตั้งเป็นเมืองสาครบุรี ให้ยกเอาบ้านตลาดขวัญตั้งเป็นเมืองนนทบุรี ให้แบ่งเอาแขวงเมืองราชบุรี แขวงเมืองสุพรรณบุรี ตั้งเป็นเมืองนครไชยศรี ชื่อเมืองนครไชยศรี นี้เป็นชื่อว่าตั้งขึ้นใหม่ในแผ่นดินนั้น”


หมายเหตุ การสะกดพระนามพระมหากษัตริย์คงไว้ตามพระนิพนธ์.
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.272 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 14 กุมภาพันธ์ 2567 11:22:09