[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 16:51:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การพิจารณาโดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี  (อ่าน 780 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 06 กันยายน 2564 16:00:25 »



การพิจารณา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ที่วัดพิชโสภาราม วันที่ ๑๑ ก.ค. ๕๖)
          ต่อไปก็ให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้ทำจิตทำใจให้สงบ การทำจิตทำใจให้สงบถือว่าเป็นการให้พลังแก่ชีวิตของเรา ชีวิตของผู้ใดมีความสงบมาก ผู้นั้นก็จะมีพลังมาก

          ผู้ใดมีจิตใจที่สงบแน่นิ่ง เยือกเย็นสุขุมคัมภีรภาพ มีจิตใจสงบจนถึงอุปจารสมาธิ มีใจสงบจนถึงปฐมฌาน มีใจสงบจนถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็นต้น พลังจิตของบุคคลนั้นแกร่งกล้า บุคคลนั้นก็จะเป็นผู้มีพลังชีวิต สามารถที่จะทำอะไรๆ หลายๆ อย่างนั้นให้สำเร็จได้ เพราะอะไร เพราะว่ามีกำลังจิตกำลังใจที่แข็งแกร่ง มีกำลังจิตกำลังใจที่มุ่งมั่นและมั่นคง เพราะฉะนั้นการทำจิตทำใจให้สงบนั้นจึงเป็นความสุขที่พบหาได้ไม่ยากนัก และก็ไม่ง่ายนัก

          บุคคลทั้งหลายทั้งปวงค้นหาความสงบ ส่วนมากค้นหาความสงบนอกตัว ไปพักผ่อนตามบ้านพักตากอากาศ ตามริมทะเล หรือว่าตามภูเขาต่างๆ ที่คิดว่าจะเป็นมุมสงบ คนส่วนมากจะแสวงหาความสงบในลักษณะอย่างนี้

          แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนานั้น ท่านกล่าวว่าบุคคลผู้ต้องการความสงบนั้นต้องดึงจิตออกจากภายนอก ดึงจิตออกจากอารมณ์ภายนอกทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นรูปก็ดี จะเป็นเสียงก็ดี จะเป็นกลิ่นก็ดี จะเป็นรสก็ดี จะเป็นสัมผัสหรืออารมณ์ต่างๆ ถ้าจิตใจของเราไม่ข้องแวะกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นแล้วใจของเราก็จะสงบเองตามธรรมชาติ คล้ายๆ กับว่าน้ำที่ไม่มีลมมากรรโชก ไม่มีลมมากระทำให้กระเพื่อม หรือไม่มีบุคคลหรือสิ่งอื่นเป็นเหตุให้น้ำนั้นกระเพื่อมน้ำนั้นมันก็สงบนิ่งเป็นธรรมชาติของมัน

          จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีลมคือรูปก็ดี ลมคือเสียง คือกลิ่น คือรส ไม่มีเหตุคือรูป คือเสียง คือกลิ่น คือรส สัมผัส คืออารมณ์ต่างๆ นั้นมากระทบจิตใจของเรา จิตใจของเราก็สงบตามธรรมชาติ อันนี้เรียกว่าเราหาความสงบตามธรรมชาติหาได้ด้วยการละอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง

          การละอารมณ์ การทิ้งอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นถึงซึ่งภาวะที่แท้จริง ถ้าเราไม่ละอารมณ์ ไม่ทิ้งอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงภาวะของจิตที่แท้จริงได้ เพราะอะไร เพราะถูกปกปิด เพราะถูกปิดบัง ถูกซ่อนเร้นด้วยอารมณ์ใหม่ที่มาปกคลุม ก็ทำให้เรานั้นไม่เห็นสภาพของจิตที่แท้จริงตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นการทำจิตทำใจของเราให้สงบ เป็นสมาธินี้ จึงถือว่าเป็นเบื้องต้นที่เราจะค้นคว้าแสงสว่างในทางพระพุทธศาสนา

          แต่ถ้าเรามีจิตใจไม่สงบ จิตใจฟุ้งซ่าน จิตใจรำคาญ จิตใจเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานอยากมากด้วยตัณหาต่างๆ เราจะแสวงหาแสงสว่างในทางพระพุทธศาสนานั้นยิ่งแสวงหาก็ยิ่งมืด ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง ยิ่งแสวงหาก็ยิ่งลำบาก ยิ่งแสวงหาก็ยิ่งตัน เพราะอะไร เพราะเราแสวงหาผิดทาง

          การแสวงหาแสงสว่างในทางพุทธศาสนานั้นเราต้องมีความสงบเป็นเบื้องต้น มีความสงบกาย มีความสงบใจด้วยศีล ศีลนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ คณะครูบาอาจารย์บางรูป ญาติโยมบางท่านอาจจะคิดว่าการสมาทานศีลมันไม่สำคัญ เราประพฤติปฏิบัติธรรมมันก็เป็นศีลอยู่แล้วอะไรทำนองนี้ ศีลนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าเป็นอาทิพรหมจรรย์ เป็นการประพฤติพรหมจรรย์ในเบื้องต้น ที่เราสวดประจำ สวด ยถาปจฺจยํ พิจารณาปฏิกูล แล้วก็มา ปฏิสงฺขา โยนิโส ทำไมจึงพาคณะครูบาอาจารย์สวดอย่างนี้ กระผมก็สงสัยในเบื้องต้น แต่เมื่อพิจารณาแล้วถือว่าเป็นความแยบยลของครูบาอาจารย์

          กระผมได้ไปอ่านในหนังสือของหลักสูตรเปรียญธรรม ๕ ประโยค ๖ ประโยคนี้แหละ อ่านนานแล้วประมาณ ๒๐ กว่าปีแล้วตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๓, ๒๕๓๔ ในสมัยนั้นก็พรรษายังไม่เยอะก็ไปอ่าน อ่านแล้วท่านกล่าวไว้ว่าภิกษุผู้ไม่สำรวมในปัจจัย ๔ ไม่สำรวมในจีวร ไม่สำรวมในเสนาสนะ ไม่สำรวมในบิณฑบาต ไม่สำรวมในยารักษาโรคต่างๆ ผู้ไม่สำรวมในปัจจัย ๔ ไม่พิจารณาปัจจัย ๔ นั้นย่อมต้องอาบัติ บางครั้งก็ต้องอาบัติทุกกฎ อาบัติทุพภาสิต บางอย่างก็ต้องอาบัติปาจิตตีย์ นี้เรียกว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นมา

          ท่านกล่าวว่าถ้าภิกษุฉันอาหารไม่พิจารณา เมื่อฉันอาหารไม่พิจารณา ฉันปัจจัย ๔ บริโภคปัจจัย ๔ ไม่พิจารณา ท่านกล่าวว่า ถือว่าเป็นอาบัติ ถึงแม้ว่าเราจะประเคนถูกต้องทุกอย่างดีหมด แต่เวลาฉันนั้นเราไม่พิจารณาขาดสติส่งจิตไปที่อื่นมัวพูดมัวคุยกันเกินไป อันนี้ท่านก็ปรับอาบัติเหมือนกัน ต้องอาบัติทุกกฎ เมื่อเราต้องอาบัติทุกกฎก็เป็นทุกกฏะ ก็แปลว่าสิ่งที่ชั่ว สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ไม่งาม เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ปลงอาบัติ

          ท่านกล่าวไว้ต่อไปว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายที่ฉัน ที่บริโภคปัจจัย ๔ นั้นไม่พิจารณาต้องอาบัติตามที่กล่าวมาแล้ว เมื่อมาพิจารณา ยถาปจฺจยํ พิจารณาเป็นของปฏิกูลปัจจัย ๔ ภิกษุทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็บริสุทธิ์จากอาบัติทั้งหลายทั้งปวงนั้นได้ มาพิจารณา ยถาปจฺจยํ นั้นเป็นตัวสรุปแก้ไขความผิดพลาด ความพลั้งเผลอสติ ทำให้เราบริสุทธิ์ขึ้นมาได้ แล้วท่านกล่าวว่าถ้าเราลืมพิจารณา ยถาปจฺจยํ เรามาพิจารณา ปฏิสังขาโย ย้อนหลังในลักษณะอย่างนี้ เราก็สามารถที่จะบริสุทธิ์จากอาบัติทั้งหลายทั้งปวงที่เราพลั้งเผลอสตินั้นได้

          แล้วท่านยังกล่าวต่อไปว่าถ้าเราไม่ได้พิจารณา ยถาปจฺจยํ แล้วก็ไม่พิจารณา ปฏิสงฺขา โยนิโส แล้ว ท่านกล่าวว่าภิกษุนั้นต้องปลงอาบัติ ถ้าปลงอาบัติแล้วก็เป็นอันบริสุทธิ์บริบูรณ์อันนี้ท่านกล่าวไว้ เพราะฉะนั้นการพิจารณา ยถาปจฺจยํ ปฏิกูลก็ดี ปฏิสังขาโยก็ดี ปลงอาบัติก็ดี จึงถือว่าเป็นการคุ้มครองศีลของพระภิกษุนั้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นการเพิ่มมูลค่าอานิสงส์ของการให้ทานนั้นแก่ญาติแก่โยม

          เพราะว่าถ้าภิกษุมีศีลเศร้าหมอง ไม่มีสมาธิ ไม่มีวิปัสสนาไม่มีปัญญา ไม่มีมรรคมีผล เบื้องต้นศีลเศร้าหมอง ญาติโยมที่มาโปรยทานที่มาเกลี่ยทานลงในหมู่สงฆ์ผู้มีศีลเศร้าหมองแล้ว อานิสงส์นั้นมันก็เศร้าหมองเป็นธรรมดา เหมือนกับนาที่เต็มไปด้วยวัชพืช มีหญ้าเป็นดินที่ไม่ร่วน เป็นดินที่ขาดปุ๋ยดำนาลงไปแล้วข้าวกล้าก็ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เพราะอะไร เพราะว่านาดินนั้นมันไม่สมบูรณ์ นานั้นเป็นนาไม่ดี

          นาคือศีลก็เหมือนกัน ถ้าศีลของภิกษุไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ก็ทำให้ญาติโยมที่มาโปรยทาน มาเกลี่ยทานนั้นได้อานิสงส์น้อย ถ้าเราพิจารณา ยถาปจฺจยํ, ปฏิสงฺขา โยนิโส ปลงอาบัติอยู่เป็นประจำก็เท่ากับเราเพิ่มมูลค่าให้แก่ญาติโยม เพิ่มอานิสงส์ให้แก่ญาติโยมมากขึ้น เพราะความบริสุทธิ์บังเกิดขึ้นแก่ผู้ใด ญาติโยมท่านใดโปรยทานลงในผู้นั้น ผู้นั้นย่อมเป็นเนื้อนาบุญของโลก เพราะฉะนั้นการปลงอาบัติก็ดี ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น โบราณาจารย์ท่านจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายนั้นควรทำทุกวันๆ เป็นกิจวัตร เพราะอะไร เพราะเป็นการคุ้มครอง บางอย่างก็เป็นไปด้วยพระวินัย บางอย่างเราทำวัตรไปก็เพื่อเป็นการพิจารณาธรรมอย่างที่เรากล่าวว่า ชราธมฺโมมฺหิ ชรํ อนตีโต เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้ เราพิจารณาตอนเย็น ถ้าเราพิจารณาด้วยจิตใจที่ลงถึงธรรมจริงๆ พิจารณาถึงความแก่จริงๆ จิตใจของเราก็จะไม่ลิงโลดจนเกินไป จิตใจของเราก็จะไม่ประมาทจนเกินไปเพราะเราพิจารณาเห็นคนแก่

          การพิจารณาความแก่นั้นถ้าบุคคลใดเป็นผู้ฉลาดหน่อยก็สามารถที่จะพิจารณาได้ง่าย ถึงว่าตนเองยังไม่แก่ ถึงว่าตนเองหนังยังไม่เหี่ยว ถึงว่าตนเองผมยังไม่หงอก ฟันยังไม่หลุด ตายังไม่ฝ้าฟางหลังยังไม่คดงอ หลังยังไม่โค้ง การเดินการไปยังสบายดีอยู่ก็ตาม

          แต่ถ้าเราชำเลืองมองดูคนแก่ใกล้ๆ เราก็จะเห็นว่าแต่ก่อนโน้นยายที่มีผมหงอก ตาที่มีตาฝ้าฟางเดินไม่สะดวกที่อยู่ข้างๆ เรานี้ แต่ก่อนโน้นคุณยายก็ดี คุณตาก็ดี ก็เป็นหนุ่มเหมือนกันกับเรา มีหนังอันเปล่งปลั่ง มีผิวหนังอันงดงาม มีการเดินไปเดินมาที่สะดวกมีตาที่ใสแวววาว ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้ เราก็จะเห็นความแก่เป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายนั้นควรที่จะให้เกิดความสลดสังเวช

          ถ้าผู้ใดมาประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วพิจารณาความแก่แล้วยังไม่เกิดความสลดสังเวช การประพฤติปฏิบัติธรรมของบุคคลนั้นเป็นไปได้ยาก ผู้ใดยังลิงโลดอยู่ในสังขารร่างกาย ยังไม่เห็นโทษของสังขาร ยังไม่เห็นโทษของรูปของนาม ยังไม่เห็นความเสื่อมสิ้นไปแห่งรูปแห่งนาม ยังไม่เห็นรูปนามเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมของบุคคลนั้นเป็นไปได้ยากมาก

          เพราะฉะนั้นความแก่เราก็ต้องพิจารณานอกจากเราจะมีศีลบริสุทธิ์เป็นเบื้องต้นแล้ว เราก็ต้องพิจารณาสังขารร่างกายของเราเสียก่อน เพื่ออะไร เพื่อที่จะปราบจิตตัวดื้อ หรือว่าปราบจิตตัวที่โกง ปราบจิตตัวที่ทะเยอทะยานอยากในตัณหาต่างๆ ให้มันลดน้อยลงไปพอที่จะมองเห็นอรรถเห็นธรรมบ้าง

          แต่ถ้าจิตใจของท่านใดประมาทมัวเมาในสังขารร่างกาย ไม่พิจารณาถึงความแก่ ไม่พิจารณาถึงความเจ็บ ไม่พิจารณาถึงความตายแล้วจิตใจของบุคคลนั้นมัวเมาหลงใหลอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส กับอารมณ์ รูปนามนั้นมากเกินไป ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การประพฤติปฏิบัติธรรมของบุคคลนั้นไม่เบื่อหน่าย เมื่อจิตใจไม่เบื่อหน่าย ไม่อยากออกไม่อยากหนีไม่เห็นความไม่เที่ยงของรูปของนามแล้วจิตใจจะมุ่งตรงต่อการหลุดพ้นคือพระนิพพานได้อย่างไร

          เมื่อจิตใจไม่มุ่งตรงต่อการหลุดพ้นต่อพระนิพพานแล้วก็เหมือนเราจับเด็กดื้อมาเรียนหนังสือนั่นแหละ เราให้ตั้งใจเรียนก็ไม่เรียน เราจะให้ท่องบาลีท่องนักธรรมก็หลบๆ ซ่อนๆ นี้ถ้าเป็นสามเณร ถ้าเป็นนักเรียนก็เกหนีโรงเรียนอะไรทำนองนี้ เพราะอะไร เพราะไม่เห็นคุณค่า จิตใจไม่หยั่งถึงอานิสงส์ของการเรียน

          บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนานั้นจะว่ายากมันก็ยากจะว่าง่ายมันก็ง่าย ที่ยากนั้นก็คือจิตใจของผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นแหละ ไม่ต้องการบรรลุมรรคผลนิพพานที่แท้จริงมาทำสักแต่ว่าทำ ทำไปพอแล้ววันแล้วคืนในลักษณะอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของบุคคลนั้นลำบากเหลือเกิน เพราะว่าศรัทธาคือพลังนั้นมันน้อยเกินไป

          ผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าผู้ใดพิจารณาสังขารร่างกายของตนเองว่าเป็นของชั่วคราว เป็นของคร่ำคร่า ของแก่ เราจะมาดีใจ เราจะมาพอใจกับสังขารหนุ่มที่มันมีความแก่รออยู่ข้างหน้าทำไม เหมือนกับเราจะยินดีกับดอกไม้ที่มันบานสะพรั่งในวันนี้แล้วมันจะร่วงโรยในตอนค่ำ ตอนบ่าย เราจะมายินดีกับสิ่งที่มันมีความร่วงโรย มีความแก่ทำไม เราจะหาสาระหาประโยชน์กับสิ่งที่มันร่วงโรยไปก่อนนี้ดีหรือ คล้ายๆ กับว่าเรารู้ว่าร่างกายของเรานั้นมีความแก่รออยู่ข้างหน้า มีความเจ็บรออยู่ข้างหน้า แล้วก็มีความตายเป็นนายเพชฌฆาตผู้เหี้ยมโหด ได้สั่งประหารชีวิตเราในวันใดวันหนึ่ง เราก็ต้องตายในวันใดวันหนึ่ง

          เมื่อเรารู้อยู่อย่างนี้แล้วทำไมเราจึงจะเพลิดเพลินกับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส ทำไมเราจะเพลิดเพลินกับสามี ทำไมเราจึงจะเพลิดเพลินกับภรรยา ทำไมเราจึงมัวเพลิดเพลินกับทรัพย์สินเงินทอง ทำไมเราจึงมัวเพลิดเพลินกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่ปรากฏเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปบนโลก

          ถ้าเราพิจารณาในลักษณะอย่างนี้แล้ว จิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจะดิ่งลงสู่ความสงบ จิตใจทั้งหลายทั้งปวงนั้นไม่ได้บังคับยากไม่ได้ “คิดหนอๆ” ไม่ได้ “เห็นหนอ” ไม่ได้ “ได้ยินหนอๆ” เพราะอะไร เพราะความสงบที่แท้จริงมันเกิดขึ้นจากจิต จิตเป็นมหาเหตุ จิตเป็นมหาผล จิตเป็นต้นเหตุเป็นดอกเป็นผลมันอยู่ที่จิตของเรานี้เอง

          บุคคลผู้มีจิตสงบแล้ว ตามันก็สงบด้วย หูมันก็สงบด้วย จมูกมันก็สงบด้วย ลิ้นของเรามันก็สงบด้วย กายของเราจะเดินเหินรวดเร็วขนาดไหนก็ตาม แต่เมื่อจิตมันสงบแล้วกายของบุคคลนั้นก็ถือว่าสงบไปด้วย อนุโลมตามจิต

          สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นมีจิตเป็นที่เกิดที่ก่อทั้งนั้น ดังนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์โลกทั้งหลายนั้นถูกจิตชักจูงไป สัตว์โลกทั้งหลายนั้นถูกจิตดึงไปลากไป ถูกจิตผลักไปตามอำนาจของจิต เพราะฉะนั้นการที่เราพิจารณาความแก่ ความเจ็บ ความตาย จิตของเรานั้นเข้าสู่ความสงบ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นก็สงบไปตาม เราประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะเกื้อกูลต่อการประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง

          แต่ก่อนโน้นเวลาเดินจงกรมมันไม่สงบ เดินไปห้านาที สิบนาทีคิดเป็นสิบเรื่อง ยี่สิบเรื่อง ร้อยเรื่อง พันเรื่อง ทั้งๆ ที่แต่ก่อนโน้นเราอยู่วัดธรรมดาเราอยู่บ้านธรรมดาก็ไม่เคยคิด แต่ทำไมเรามาเดินจงกรมนั่งภาวนาแล้วเราทำไมถึงคิดมาก คิดไปถึงเรื่องอดีตตั้งแต่เรายังไม่บวช บางครั้งก็คิดไปถึงเรื่องราคะ บางครั้งก็คิดไปถึงเรื่องโทสะ ทั้งๆ ที่มันลืมไปแล้ว เขาได้มาทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ ตั้งแต่สมัยยังไม่บวชแต่ทำไมมันคิดขึ้นมาได้ นี้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมผู้ที่จิตใจยังไม่สงบก็จะขุด เมื่อเรามีสติ

          แต่ก่อนโน้นเราไม่มีสติ เราอยู่บ้านก็ดี อยู่วัดก็ดี ปล่อยอิริยาบถให้ไปตามธรรมชาติ ปล่อยสติให้เป็นไปตามสิ่งแวดล้อมทำงานโน้นบ้าง ทำงานนี้บ้าง คุยกับญาติโยมคนโน้นบ้าง คุยกับญาติโยมคนนี้บ้าง คุยกับพระ คุยกับเณร อันนี้เรียกว่าปล่อยจิตไปตามธรรมชาติ เราก็เลยไม่คิดถึงสิ่งที่อยู่ในจิตในใจของเรา

          แต่เมื่อเรามาเริ่มเดินจงกรม เราเริ่มสร้างสติ เมื่อเราเริ่มสร้างสติแล้วนั้นแหละ สติมันก็จะปรากฏขึ้นที่กายที่จิตของเรา เมื่อสติมันปรากฏขึ้นที่กายที่จิตของเราไม่ซัดส่ายไปตามอารมณ์เหมือนแต่ก่อนแล้ว สติที่มันปรากฏขึ้นที่กายที่ใจของเรานี้แหละ มันจะขุดลึกลงไปในห้วงแห่งภวังคจิตของเรา คือมันจะขุดลึกลงไปในจิตใจของเรา ก็เลยทำให้เราคิดถึงเรื่องโน้นบ้างคิดถึงเรื่องนี้บ้าง คิดถึงความชั่ว คิดถึงความดี ที่เราเคยกระทำที่ผ่านมา ทั้งๆ แต่ก่อนนั้นเราลืมไปแล้ว

          ถ้าผู้ใดมาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ๆ บุคคลนั้นก็จะคิดถึงบาปกรรมที่ตนเองทำเสียก่อน ถ้าบุคคลใดเป็นคนหยาบ เป็นคนอันธพาล เป็นคนชอบโกรธ เป็นคนชอบราคะ เป็นคนชอบตัณหามากๆ พวกนี้เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม เรียกว่าเป็นคนที่มีอารมณ์หนักหน่วง บุคคลนี้จะทำพลั้งพลาดทางกาย ทางวาจา ด้วยอำนาจของความโกรธ ด้วยอำนาจของราคะ ด้วยอำนาจของตัณหาต่างๆ เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วจะนึกถึงบาปก่อน ว่าเราเคยฆ่าเป็ดฆ่าไก่เราเคยฆ่าวัวฆ่าควาย เราเคยเอาขวดตีหัวบุคคลโน้น เคยไปลักเล็กขโมยน้อยของบุคคลนี้ เราเคยเถียงพ่อเถียงแม่เป็นต้น บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันจะเกิดขึ้นมาต้องพยายามกำหนด “คิดหนอๆ” ไปตามอารมณ์ที่มาปรากฏ

          แต่ถ้าผู้ใดเป็นผู้สั่งสมอบรมบารมีมามากแต่ภพก่อนชาติก่อน จิตใจละเอียดความโกรธก็ไม่มากความโลภความหลงราคะตัณหาก็ไม่ครอบคลุมจิตใจมากเกินไป ได้กระทำความดีในสมัยที่เป็นฆราวาส เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมบาปที่หยาบๆ ที่จะมาขวางกั้นนั้นมันก็ไม่มี การข่มขืนบุคคลอื่น การชำเรามันก็ไม่มี มีแต่จิตใจเป็นบุญเป็นกุศลก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของบุคคลนั้นนึกถึงคุณงามความดีที่ตนเองได้สั่งสมไว้ เคยทำบุญทำทานตั้งแต่เป็นเด็กไปกับพ่อกับแม่ ไปตัดลูกนิมิตก็ดี ไปใส่บาตรก็ดี เห็นพระสงฆ์มาเอากล้วยใส่บาตร เอาข้าวใส่บาตร เห็นภาพนั้นแล้วก็เกิดขนลุกขนพองสยองเกล้าขึ้นมา สมัยเป็นเด็กๆ ขนดินเข้าวัด ในงานบุญเดือน ๔ บุญก่อเจดีย์ทรายอะไรทำนองนี้ ก็เกิดหวนระลึกนึกถึงสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้ เพราะอะไร เพราะใจมันละเอียด ใจมันเป็นบุญ ใจมันเป็นกุศล ถ้าบุคคลประเภทนี้ก็จะมัวเมาไปตามอานุภาพของบุญที่ปรากฏขึ้นมา

          เพราะฉะนั้นบาปก็ดีบุญก็ดีที่มันปรากฏขึ้นมาเราก็ต้องกำหนด กำหนดว่า “คิดหนอๆ” ถ้าเราผ่านด่านนี้ไปได้ ผ่านด่านความคิดถึงเรื่องบาป จิตใจท้อถอย จิตใจเหี่ยวห่อ จิตใจแห้งผากได้แล้วจิตใจของเราก็จะเป็นบุญ เมื่อจิตใจของเราเป็นบุญแล้วจิตใจของเราก็จะลิงโลด คิดไปถึงบุญคราวใดก็จะขนลุกขนพองสยองเกล้า ทำบุญโน้นตั้งแต่เด็กๆ ก็ยังจำได้ เอามาคิดเอามาภูมิใจคิดแล้วก็ขนลุกขนพอง ก็เพลิดเพลินไปตามสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเรากำหนดเรื่องบาปให้สิ้นไป เรื่องบุญให้หยุดไปได้ ใจของเราเป็นกลางมีสติทันอาการพองอาการยุบ ต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ เห็นต้นย่าง กลางย่าง สุดย่าง มีสติในการคู้ การเหยียด การก้ม การเงย การกิน การดื่ม การพูด การคิด มีสติแม้แต่ตนเองนิ่งอยู่ เว้นไว้แต่เผลอกับหลับ

          นี้ลักษณะของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมถ้าเราข่มบาปข่มบุญได้แล้ว จิตใจของเราอยู่กับเนื้อกับตัวกับรูปกับนามแล้ว เราก็จะเริ่มเห็นอาการพองอาการยุบ เราก็จะเริ่มเห็นอาการขวาย่างซ้ายย่าง เราจะเริ่มกำหนดทันอาการคู้ อาการเหยียด อาการก้ม อาการเงย แล้วเราก็จะเห็นรูปนาม รู้ว่าอะไรเป็นรูป รู้ว่าอะไรเป็นนาม สิ่งใดตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้านี้ถือว่าเป็นรูป ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมก็ถือว่าเป็นรูป สิ่งใดที่สัมผัสได้ด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย สิ่งนั้นเป็นรูป สิ่งใดที่สัมผัสได้ด้วยใจ คือความโกรธ คือบาป คือบุญ คือราคะ ตัณหาที่มันปรากฏขึ้นในจิตในใจของเรานั้นเป็นนาม ส่วนกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด กุศลจิตสิ่งที่ปรากฏขึ้นในจิตในใจของเรา สัมผัสได้ด้วยจิตด้วยใจของเรานั้นเป็นนาม

          เพราะฉะนั้นเมื่อสติของเราอยู่กับรูปกับนามแล้วจะเห็นรูปเห็นนาม ก็จะเห็นรูปนามนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป บ่อยครั้งเข้าๆ ก็จะเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา คือวิปัสสนาญาณก็จะแก่ขึ้นตามลำดับจนถึงวิปัสสนาญาณที่ ๓ ก็จะเห็นความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ขณะที่เราเห็นรูปเห็นนามนั้นท่านก็กล่าวว่าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ รู้จักแยกรูปแยกนาม ทั้งๆ ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมอาจจะไม่รู้ แต่เมื่อมีสติอยู่กับรูปกับนามมากขึ้นๆ เราจะเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนาม หรือว่าเห็นเหตุเห็นปัจจัยของรูปของนามว่า มันเกิดขึ้นมาจากอะไร

          นามมันเกิดขึ้นมาจากอะไร รูปเกิดขึ้นมาจากอวิชชา ตัณหา กรรม อาหาร และความเกิดขึ้นของรูปอย่างเดียว รูปมันเกิดขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ นี้ในลักษณะที่เราประพฤติปฏิบัติธรรม เราเห็นเหตุปัจจัยของรูปของนามแล้ว แต่ถ้าเรามีสติอยู่กับรูปกับนาม อยู่กับเนื้อกับตัว อยู่กับกายกับใจนานขึ้น สติของเรามีพลัง มีสติเข้มแข็งขึ้น เราก็จะเห็นรูปนามนั้นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยธรรมชาติ โดยอัตโนมัติ ไม่อยากเห็นมันก็เห็น ไม่อยากรู้มันก็รู้ เพราะอะไร เพราะกำลังของสติมันเพิ่มขึ้นแล้ว

          แต่ก่อนโน้นเราปฏิบัติถึงนามรูปปริจเฉทญาณก็ตาม ปัจจยปริคคหญาณ ญาณที่ ๒ ก็ตาม เราอยากจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยากอย่างไรๆ มันก็ไม่เห็น เพียรเดินจงกรมตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ตั้งแต่ค่ำถึงเช้า แต่ถ้าสติของเราไม่สมบูรณ์ สติของเราไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่อยู่กับรูปกับนาม ไม่อยู่กับกายกับใจโดยสมบูรณ์แล้วก็ถือว่าการเดินจงกรมของเราก็เป็นหมัน การนั่งภาวนาของเราก็เป็นโมฆะ ไม่เป็นไปเพื่อเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่ถือว่าการเดินจงกรมทั้งวัน นั่งภาวนาทั้งคืนเป็นการปฏิบัติธรรมที่ดี หรือว่าที่เลิศ ที่ประเสริฐอย่างนั้นไม่ใช่ แต่ว่าเป็นการบำเพ็ญตบะธรรมอย่างยิ่งยวด แต่ว่าการปฏิบัติธรรมที่ดี ที่เลิศนั้นก็คือ มีสติทันปัจจุบันธรรมอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ การประพฤติปฏิบัติธรรมของบุคคลนั้นจะไปได้เร็ว

          เมื่อสติมันแข็งแรง สติมีพลังมากมันก็จะเห็นรูปนามนั้น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระไตรลักษณ์ของมันไปเองโดยธรรมชาติ เราเพียงแต่ประคับประคองสติ สัมปชัญญะ ให้เห็นรูปนามของเรานั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เท่านี้ก็ชื่อว่าเรานั้นแผ้วถางทางไปสู่พระนิพพานให้สะอาด ให้เตียน ให้โล่งแล้ว อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นมาให้กำหนด จะเป็นปีติ จะเป็นนิมิต เป็นโอภาส เป็นแสงสว่าง จะเป็นความสุขมากมายขนาดไหนก็ตามสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวะธรรม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาด้วยอานุภาพของจิตของเรา เราต้องกำหนดให้เห็นสิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เท่านี้เราก็ถึงซึ่งพระนิพพานแล้ว

          ถ้าเราสรุปหลักการประพฤติปฏิบัติธรรมง่ายๆ ก็คือมีสติสัมปชัญญะเห็นรูปเห็นนามของเราเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ต้องพะว้าพะวงว่ามันจะผิดหรือถูก ถูกล้านเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราไม่เผลอหลงใหลอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐาน ไม่ส่งจิตส่งใจทะเยอทะยานอยากไปตามอารมณ์ของกรรมฐาน คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมบางรูปบางท่านอาจจะคิด หนทางแห่งพระนิพพานมันเป็นอย่างไรหนอ อาจจะคิดว่ามันยาก อาจจะคิดว่ามันไกล อาจจะคิดว่ามันลำบากแล้วท้อก็มี

          เหมือนกับที่บวชใหม่ๆ บวชใหม่ๆ ไม่เข้าใจว่าหนทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานมันเป็นอย่างไร ฟ้ากับดินมันก็ยังมองเห็นกันได้อยู่ แต่โลกิยะกับโลกุตตระนั้นมันไกลกันเหลือเกิน มองไม่เห็นกันเราจะไปแสวงหาครูบาอาจารย์ที่ไหนหนอพอที่จะชี้บอกแนวทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ นี้มันมืดมนอนธการไปหมด

          ญาติโยมก็ถือว่าเป็นผู้มีบุญล้นฟ้าล้นดิน คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ถือว่าเป็นผู้มีบุญมาก เพราะอะไร เพราะได้มาพบพระเดชพระคุณหลวงพ่อที่ได้กล่าวปฏิปทาทั้งหลายทั้งปวงให้พวกเราทั้งหลายได้เดินรอยตาม ก็ถือว่าเป็นปฏิปทาที่ชัดเจนแจ่มแจ้งทนต่อการพิสูจน์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๔ – พ.ศ. ๒๕๕๖ ก็ทนพิสูจน์เกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมผู้มาแล้วตั้งใจประพฤติปฏิบัติบุคคลนั้นก็เข้าถึงธรรมะเป็นระยะ เป็นผลของบุคคลนั้น หรือว่าเป็นสมบัติของบุคคลนั้น

          ผลของการปฏิบัติที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้พาแนะนำมาจึงเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายได้มาร่วมด้วยช่วยกันประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อที่จะรักษาผลนั้นได้ รักษาผลนั้นสืบต่อไป แต่ถ้าคณะครูบาอาจารย์ไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมจนเกิดผลแล้ว ครูบาอาจารย์นั้นอยากจะรักษาผลประโยชน์ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อ สมบัติหรือว่ามรดกธรรมที่หลวงพ่อให้นั้นอยากจะรักษาอย่างไรๆ มันก็รักษาไม่ได้ เพราะอะไร เพราะตนเองไม่ได้ผลของตัวนั้น เมื่อไม่ได้ผลของตัวนั้นก็ไม่รู้วิธีที่จะรักษา บางครั้งจะรักษาให้ถูกกลับผิดก็มี เพราะอะไร เพราะบริหารการประพฤติปฏิบัตินั้นไม่ถูกต้อง

          เพราะฉะนั้นการรักษาปฏิปทาแห่งการพ้นทุกข์ได้ที่แท้จริงนั้นต้องเริ่มต้นจากคณะครูบาอาจารย์ทุกรูปญาติโยมทุกท่านทุกคน ต้องพยายามเข้าถึงผลคือ สมาธิ สมาบัติ มรรคผล พระนิพพานนั้นให้ได้ แล้วการรักษามรดกธรรมที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อมอบให้นั้นก็จะสืบทอดยาวนานให้พระลูกพระหลาน ให้ญาติโยมผู้เป็นลูกเป็นหลานเป็นเหลนนั้นได้รับมรดกธรรมให้กว้างขวางแล้วก็ยังความสุขให้เกิดขึ้น ยังพระศาสนาให้มั่นคงสืบต่อไป วันนี้กระผมได้กล่าวธรรมก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้ขยับขยายคลายอิริยาบถกำหนดออกเพื่อเตรียมตัวแผ่เมตตา.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อุปาทาน โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 0 1140 กระทู้ล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2563 15:52:49
โดย Maintenence
การอุทิศส่วนบุญ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1052 กระทู้ล่าสุด 22 ธันวาคม 2563 14:14:10
โดย Maintenence
อปัณณกปฏิปทา โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1262 กระทู้ล่าสุด 01 กุมภาพันธ์ 2564 16:28:09
โดย Maintenence
การสำรวมอินทรีย โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1133 กระทู้ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2564 16:07:16
โดย Maintenence
ลำดับญาณ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 2 1048 กระทู้ล่าสุด 07 สิงหาคม 2564 19:54:30
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.752 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 05 พฤศจิกายน 2566 09:15:36