[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
01 พฤษภาคม 2567 15:44:34 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ทวนกระแสโลกพบกระแสธรรม  (อ่าน 5080 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 11 พฤษภาคม 2553 14:00:41 »




ทวนกระแสโลกพบกระแสธรรม

อุบายการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น
หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ

การสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นในครั้งแรกนั้น ต้องฝึกหัดจิตให้เป็นผู้ช่างนึกช่างคิด ต้องฝึกจิตให้เป็นนักสังเกต ให้มีเหตุมีผล ให้เป็นไปตามความเป็นจริง ฝึกวิจัย ฝึกวิเคราะห์ ฝึกคำนวณ ประมวลเหตุการณ์ต่างๆ มาพิจารณาให้ลงสู่ไตรลักษณ์ตามหลักความเป็นจริง การฝึกปัญญานั้น ฝึกได้ทุกกาล ฝึกได้ทุกสถานที่ จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็ฝึกได้ทั้งนั้น เช่น ขณะเดินจงกรมหรือหลังจากการทำสมาธิแล้วการฝึกปัญญาแยกออกเป็นสองทาง ทางหนึ่งคือฝึกปัญญาไปทางโลกนั้นเป็นวิธีฝึกปัญญาเพื่อสร้างสรรค์โลก เรียกว่าปัญญาโลกีย์ ปัญญาโลกีย์นี้เป็นปัญญาประจำโลก ปัญญาประเภทนี้ไม่จำกัดเฉพาะพระพุทธศาสนาอย่างเดียว แม้ศาสนาอื่นเขาก็มีปัญญาเหมือนกัน แม้คนที่ไม่นับถือศาสนาอะไรเลย เขาก็มีปัญญาประเภทนี้ได้
 
      ฉะนั้น การสร้างโลกทุกรูปแบบก็ต้องใช้ปัญญาโลกีย์นี้เป็นหลัก แม้การศึกษาเล่าเรียนหรือการเขียนแปลนแผนผังในการก่อสร้างต่างๆก็ต้องคิดค้นด้วยปัญญา หาข้อมูลมาเป็นหลักวิชาการ โลกมีความเจริญด้วยวิทยาศาสตร์ต่างๆ ก็ต้องใช้ปัญญาทั้งนั้น เมื่อมีปัญญาสร้างโลกให้เจริญได้ในที่สุดก็ใช้ปัญญาคิดสร้างอาวุธนานาชนิดเพื่อครองอำนาจ ต่างคนต่างอยากมีอำนาจ ในที่สุดความเจริญของโลกก็จะเสื่อมลงเพราะปัญญาโลกีย์นั่นเอง

      ส่วนการฝึกปัญญาทางที่สองนั้น เป็นปัญญาโลกีย์ประเภทเดียวกันแต่นำมาใช้ในทางธรรม ให้พร้อมด้วยเหตุด้วยผล เพราะในโลกนี้มีสัจธรรมแฝงอยู่ทุกหนทุกแห่ง ถึงคนจะไม่สนใจในธรรมก็ตาม แต่ธรรมก็มีอยู่ประจำโลกมาแต่กาลไหนๆ ฉะนั้นโลกกับธรรมยังกลมกลืนกันอยู่ ผู้ไม่เข้าใจก็ถือว่าเป็นโลกเสมอไป ดังคำว่า “โลกอยู่ที่ไหน ธรรมก็อยู่ที่นั้น”

      ฉะนั้น การพิจารณาโลกให้เป็นธรรมนี้ ขึ้นอยู่กับสติปัญญาและจิตน้อมโลกทั้งหมดลงสู่ไตรลักษณ์ เพราะโลกอยู่ที่ไหน สัจธรรมก็มีอยู่ที่นั่น ในโลกนี้จะเป็นสิ่งที่มีวิญญาณครองหรือไม่วิญญาณครองก็ตามย่อมมีสัจธรรมคือความจริงแฝงอยู่ตลอดเวลา คือมีสภาพความเป็นทุกข์ มีสภาพความไม่เที่ยง มีสภาพที่สูญสลาย ไม่เป็นสัตว์และเป็นบุคคลใดๆทั้งสิ้น จึงเรียกว่า สังขารโลก สังขารธรรม


     ขึ้นชื่อว่าสังขารแล้ว ย่อมเป็นสภาพที่แปรปรวน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีอะไรเป็นเราเป็นเขาอยู่ตลอดเวลา คำว่าเรา คำว่าเขานั้นเป็นเรื่องอุปาทาน การสมมติเรียกกันเท่านั้น ในโลกนี้ถ้าไม่สมมติเรียกแล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และจะสับสนวุ่นวายไปหมด ฉะนั้นจึงเป็นสมมติโลก สมมติธรรม เรียกกันตามสมมติที่ตั้งขึ้น เช่น สมมติว่าเงิน ที่เราเรียกกันอย่างติดปากติดใจ แต่สภาพวัตถุที่เรียกว่าเงินนั้นไม่เหมือนกัน เช่น ในสมัยโบราณ เพียงหอยเบี้ยก็สมมติเรียกว่าเงินไปได้ หรือทองแดง ทองเหลือง ตะกั่ว เมื่อเอามาทำเป็นรูปต่างๆ ก็ยังเรียกว่าเงินได้ แม้แต่กระดาษก็ยังสมมติว่าเป็นเงินได้ นี้ขึ้นอยู่กับวัตถุนิยม ย่อมเป็นไปตามยุคตามสมัย จะเป็นเงินของเมืองไทยหรือเงินต่างชาติ ก็ย่อมนำเอาวัตถุธาตุที่มีอยู่ประจำโลกนี้มาสมมติเรียกกัน สมมติให้เป็นมูลค่า เป็นราคาขึ้นมา ให้เป็นกฎเกณฑ์ไปตามสมมตินั้นๆ นี้ก็เป็นความจริงตามสมมติที่ตั้งขึ้น

      ฉะนั้น โลกทั้งหมดนี้จึงเป็นโลกสมมติ แม้แต่บ้านทีสร้างขึ้นมาแล้วก็สมมติว่าทรงนั้นทรงนี้ ตลอดจนอาหาร เครื่องบริโภค และเครื่องอุปโภค ก็สมมติเรียกกันทั้งนั้น หรือแม้แต่ชื่อของคนและสัตว์ก็ยังสมมติเรียกกัน แม้ธาตุขันธ์ของคนก็ยังเรียกธาตุนั้นธาตุนี้ แม้ธาตุขันธ์แปรปรวนเปลี่ยนสภาพไปอย่างไรก็สมมติไปอย่างนั้น ถึงธาตุขันธ์มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็สมมติเรียกกันให้ถูกกับความเป็นจริง เรียกว่า จริงสมมติ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 11 พฤษภาคม 2553 15:28:13 »




ความทุกข์มิใช่วัตถุ

ความทุกข์ที่แท้จริงนั้นอยู่ที่จิตโดยเฉพาะ แต่มิใช่จิตเป็นตัวทุกข์ถึงจิตกับความทุกข์อยู่ด้วยกันก็ตาม จิตก็เป็นจิต ทุกข์ก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดไป (เรื่องนี้จะรู้ละเอียดได้ก็เฉพาะท่านผู้รู้เท่านั้น) ธรรมดาสามัญชนโดยทั่วไปแล้วย่อมเข้าใจว่าจิตเป็นตัวทุกข์ หรือว่าจิตเป็นทุกข์เหมือนกับว่าจิตกับทุกข์เป็นอันเดียวกัน

      ถ้าดูแบบผิวเผินแล้วก็เหมือนเป็นเช่นนั้น เพราะจิตกับทุกข์ยังคลุกเคล้าอยู่ด้วยกัน ฉะนั้น ความทุกข์จึงอยู่ในจิตโดยเฉพาะ ส่วนธาตุขันธ์ที่ว่าเป็นทุกข์ก็เพราะอุปาทานการยึดถือของกิเลส ตัณหา อวิชชา เท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้มีอยู่ที่จิตแห่งเดียวกัน ดังคำว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่สำเร็จแล้วที่ใจ คำว่าใจเป็นใหญ่นั้นคือ เป็นศูนย์รวมของธรรมทั้งหลาย จะเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม ก็มารวมกันอยู่ในที่แห่งเดียว ใจจึงเป็นสภาวะธรรมทุกประเภท กิเลสตัณหาน้อยใหญ่ มีอวิชชาเป็นผู้นำก็ได้มาวางแผนทำงานกันอยู่ในที่นี้

      วิธีวางผังของวัฏฏะ วิธีหมุนเวียนตามกระแสในภพทั้งสาม ก็มาวางอยู่ที่ใจนี้ ส่วนกุศลธรรมคือ ธรรมที่นำความสุขมาสู่ใจ ก็ทำงานกันอยูที่ใจเรียกว่าเจตนา จะทำบุญให้ทานก็เจตนา จะรักษาศีล จะเจริญเมตาภาวนา ก็รวมอยู่ที่เจตนา อาศัยใจเป็นสภาบำเพ็ญบุญกุศล

     ฉะนั้น การทำงานของกุศลและอกุศลจึงมีผลกันไปคนละอย่าง แต่ก็สำเร็จด้วยมโนสภาทั้งนั่นเอง ทีนี้การพิจารณาด้วยปัญญาก็มาเอาใจเป็นหลักและเป็นที่ตัดสิน ธรรมวิจัยเป็นสถานที่เลือกเฟ้นธรรม โยนิโสมนสิการต้องใคร่ครวญให้ละเอียดให้แยบคายในปัญหาต่างๆ เพื่อจะแย่งชิงอำนาจให้ฝ่ายอกุศลตกออกจากใจไป นี้ก็เรียกว่าสำเร็จอยู่ที่ใจนั่นเอง

      การปฏิบัติธรรม การพิจารณาความทุกข์ ถ้าไม่มีปัญญาแยกแยะอย่างละเอียดแล้ว ก็ยากที่จะหนีจากทุกข์ไปได้ ส่วนมากจะมีความเข้าใจกันอย่างผิวเผิน เช่น ความทุกข์เกิดขึ้นจากธาตุขันธ์ส่วนใด ก็เข้าใจกันว่า ความทุกข์อยู่ในที่นั้น เช่น ปวดตา ปวดหัว ก็เข้าใจว่าตาเป็นทุกข์ หัวเป็นทกข์ หรือกายเป็นทุกข์ไปทำนองนั้น ถ้านักปฏิบัติที่มีปัญญาโดยรอบคอบ รอบรู้ในสรรพสังขารแล้ว ถึงจะมีความแปรปรวนคือ ความไม่ปกติของธาตุขันธ์แล้ว ก็มีความรู้เท่าว่านั้นไม่ใช่ความทุกข์ของกายแต่เป็นความทุกข์ของจิตโดยตรง เมื่อจิตมีความสัมพันธ์กันกับร่างกายอยู่ตราบใด การสัมผัสระหว่างจิตกับร่างกายว่าสุขว่าทุกข์ก็มีอยู่ตราบนั้น

      แต่เมื่อจิตออกจากร่างกายไปแล้ว ความทุกข์ของร่างกายจะมีมาจากที่ไหน เขาจะเอาขวานไปสับ เอาไฟไปเผาร่างกาย ก็ไม่บ่นว่าทุกข์แต่อย่างใด เพียงเท่านี้คิดว่านักปฏิบัติคงจะเข้าใจว่า ความทุกข์ไม่มีอยู่ที่กายโดยตรง แต่เป็นเพียงผลสะท้อนที่เกิดขึ้นจากอุปาทานที่มีอยู่ที่จิตเท่านั้น
      ฉะนั้น การพิจาณาความทุกข์ภายในกายก็ให้มุ่งหมายลงไปภายในจิตเป็นหลักสำคัญ เพื่อให้จิตได้รู้และเข้าใจในอุปาทานภายในจิตเอง จึงได้ความว่า เมื่อจิตมีอุปาทานยึดมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นเราและเป็นของของเราจิตย่อมได้รับความทุกข์จากการยึดถือในสิ่งนั้นๆ

      นี้แลผู้เขียนจึงเน้นหนักไปในการพิจารณาด้วยปัญญา เพื่อให้นักภาวนาได้ขุดคนแยกแยะให้ถึงแก่นแท้ที่จิตได้หลงการยึดถือว่าเราว่าเป็นของของเรา ถ้าอุปาทานการยึดถือได้วางรากฐานยึดอยู่ในของสิ่งใดกิเลสตัณหาน้อยใหญ่ก็จะขยายเขตยึดครองไปเสียทั้งหมด ว่านั้นก็เป็นเรา นั้นก็เป็นของของเรา เมื่อสิ่งนั้นแปรสภาพไปตามสัจธรรม คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตาแล้ว ความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็มารวมลงสู่จิต พิษแห่งความเข้าใจผิดก็จะเกิดขึ้นที่จิตเอง ความยึดถือของจิตจึงไม่มีขอบเขต เพราะตัณหาคือความอยากเป็นเหตุ ผลักดันให้จิตเป็นไป
    
 เมื่ออยากในสิ่งใด ไม่สมปรารถนา ก็เกิดทุกข์ที่จิต หรือความอยากหมุนตัวเร็วไป การได้มาไม่ทันกับความอยากก็เป็นทุกข์ ความทุกข์ที่แท้จริงนั้นมิใช่อยู่กับเงินทองกองสมบัติแต่อย่างใด แต่ความทุกข์ที่แท้จริงนั้นมีอยู่ที่จิต ส่วนวัตถุสมบัติทั้งหลายนั้นเป็นเพียงสิ่งประกอบให้จิตได้หลงเท่านั้น เมื่อไม่เข้าใจตามความเป็นจริงในสรรพสังขารทั้งหลายแล้ว ก็ต้องลงโทษจิตว่าขาดการศึกษา เพราะหลักสัจธรรมเปิดเผยในหลักความเป็นจริงอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะความเข้าใจของจิตที่มีความเห็นผิดไปจากหลักความจริง ทั้งที่ความจริงเป็นอย่างนั้น แต่จิตเข้าใจไปอย่างนี้ จึงเป็นวิธีสวนทางกันกับความจริงอยู่ตลอดเวลา จิตจึงไม่มีโอกาสที่จะรู้เห็นสัจธรรมตามความเป็นจริงได้
    
  นี้เราเดินสวนทางในหลักสัจธรรมมาแล้ว ไม่รู้ว่ากี่ชาติกี่ภพจนถึงชาติปัจจุบัน ก็ยังไม่พบเห็นสัจธรรม เหมือนบอดเดินทางไปในที่มืด ถึงจะเดินเหยียบเพชรพลอยที่มีราคาไปก็ไม่เข้าใจว่าอะไร เหมือนคนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่เข้าใจในคุณค่าราคาของเพชรพลอย ถึงจะเห็นเต็มตาก็ไม่มีปัญญานำไปเป็นประโยชน์เลยนี้ฉันใด แม้สัจธรรมมีอยูในโลกมาแต่กาลไหนๆ จิตก็ยังไม่เข้าใจ และไม่เห็นคุณค่าของสัจธรรมนั้นเลยฉันนั้น นี้ก็เพราะจิตขาดปัญญาเป็นครูสอนนั่นเอง
    
  เราเป็นนักปฏิบัติต้องฝึกหัดอบรมให้จิตมีความฉลาดเฉียบแหลมจึงจะแทงทะลุเข้าไปถึงเป้าหมายในหลักความจริงได้ ฉะนั้น จงใช้ปัญญาอบรมจิตสอนจิตให้รู้หลักความจริงในสัจธรรมอยู่เสมอ และเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา เพื่อรักษาวามเข้าใจผิดของจิตเมื่อถูกกิเลสตัณหาผลักดัน เหมือนกับหอกดาบที่ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวในเวลาฉุกเฉิน หรือในเวลาที่มีสงครามก็ต้องเตรียมให้พร้อม เพื่อต่อสู้ศัตรูคู่อรินี้ฉันใด เราเป็นนักปฏิบัติผู้จะเอาชนะจากศัตรูภายในคือกิเลสตัณหา เราก็ต้องเตรียมสติปัญญาศรัทธาความเพียรไว้ให้พร้อมเพื่อจะลบล้างตัณหาอวิชชาที่มายึดครองจิตให้หมดสิ้นไปฉันนั้น จิตก็จะหมดจากความเป็นทาส

      ด้วยอำนาจของสติปัญญามาช่วยเหลือเหมือนกับตำรวจทหารเบื้องต้นก็เป็นคนสามัญธรรมดา เมื่อได้มาเรียนวิชารู้หลักการวิธีการตามหน้าที่แล้ว ก็ย่อมมีการฝึกซ้อมอยู่เสมอ เมื่อมีภัยเกิดขึ้นในบ้านเมืองก็พร้อมที่จะปราบด้วยอาวุธต่างๆ ให้ศัตรูหรือข้าศึกพ่ายแพ้เรียบาบได้ทันทีนี้ฉันใด สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรทุกประเภท เป็นเครืองมือปราบกิเลส ตัณหา อวิชชาโดยตรง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักปฏิบัติต้องเป็นผู้เตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากมีกิเลสตัณหาเข้ามาเมื่อไรก้พร้อมที่จะเผชิญหน้าด้วยสติปัญญาอย่างห้าวหาญ สับฟันด้วยสติปัญาอย่าเผลอตัวและไม่ยอมแพ้แก่กิเลสตัณหาหน้าใดทั้งสิ้นฉันนั้น

    มิใช่ว่าตัณหากดคอไว้แล้วจึงจะคว้าหาสติปัญญา ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้สร้างมาไว้ จะเอาอะไรมาเป็นสิ่งป้องกันตัวเล่า หรือจะเอาสมาธิอย่างเดียวสู้กับกิเลส ตัณหา อวิชชา ซึ่งไม่เคยมีมาในวงศ์ของพระอริยเจ้าเลย เพราะในครั้งพุทธกาล ท่านผู้ได้บรรลุมรรคผลขั้นต้นจนถึงขั้นสมบูรณ์เต็มที่ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีสติปัญญาอย่างพร้อมมูล จิตของท่านจึงมีความฉลาดเฉียบแหลมคมคายเพราะอาศัยปัญญาเป็นเครื่องฝึก จะนึกคิดในสัจธรรมก็คล่องตัวและรู้ตามความเป็นจริงด้วย

      ในครั้งแรกท่านก็เป็นปุถุชนธรรมดาสามัญชนทั่วไป ใจก็มีความคิดเห็นจมอยู่ในกามคุณทั้งหลาย เมื่อท่านรู้วิธีฝึกจิตด้วยปัญญา ความคิดเห็น ตวามเข้าใจเดิม ก็เปลี่ยนทัศนะที่คิดลอยตามกระแสโลก หมุนตัวเข้ามาพิจารณาตามความเป็นจริง จึงกลายเป็นผู้รู้จริงเห็นจริงได้ จึงได้นามว่าสาวกสังโฆที่เรากราบไหว้อยู่ในปัจจุบันนี้เราคนหนึ่งที่กำลังเดินตามรอยยุคลบาทของพระศาสดา เราต้องศึกษาในจารีตตามพระพุทธประเพณีที่พระองค์ได้วงแนวทางการปฏิบัติไว้ให้แก่พวกเราทั้งหลาย ต้องศึกษาให้เข้าใจให้ถูกต้องตามหลักความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว

อย่าปฏิบัติแหวกแนวนอกเหนือไปจากมรรค ๘ มีสัมมาทิฏฐิคือปัญญาที่เห็นชอบเป็นหลักสำคัญ การฝึกปัญญาในเบื้องต้นก็ต้องคิดพิจารณาในสัจธรรมให้สมเหตุสมผลและคิดให้ถูกต้องตามหลักความเป็นจริง เหมือนกับการบวกลบคูณหารของเลข หากความชำนาญในการคิดไม่พอและความจดจำทางสมองไม่คล่องตัว ก็ต้องอาศัยการเขียนด้วยปากกาดินสอ เพื่อช่วยความจำให้ชำนาญ ต่อไปจะคิดในใจเองก็ได้และถูกต้องรวดเร็วนี้ฉันนั้น

      การฝึกความฉลาดให้แก่จิตก็ต้องอาศัยหลักความจริงมาเป็นนิมิตหมายในการคิด เช่น ไปเห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ คนที่ได้รับทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจด้วยประการต่างๆ แม้เห็นคนตายก็จำมาคิดแล้ว น้อมเข้ามาหาตัวเอง แล้วสมมติตัวเองว่าเป็นไปด้วยวิธีนั้นและตามอาการนั้นๆ นี้คือวิธีหาพยายานหลักฐานภายนอกมาเป็นเหตุยืนยันในตัวเองว่าเราก็ต้องเป็นอย่างนี้ ก็จะได้รับผลอย่างนี้

      ถ้าหากเราใช้ความคิดไปในลักษณะนี้อย่างคล่องตัวแล้ว ทีหลังเพียงกำหนดดูตามเหตุการณ์ ปัญญาและความเฉียบแหลมภายในจิตก็จะเป็นอัตโนมัติ รู้เท่าทันสัจธรรมอย่างละเอียดได้อย่างแม่นยำ เพราะปัญญาส่วนละเอียดและความรู้เห็นสัจธรรมส่วนละเอียดก็มาจากปัญญาส่วนหยาบ และจิตรู้เห็นในส่วนหยาบๆของสัจธรรมนั่นเอง เหมือนกับช่างฝึกหัดทำงานในเบื้องต้น จะให้ผลงานนั้นๆมีความละเอียดประณีตไปเลยทีเดียวไม่ได้ เมื่อทำไปบ่อยๆ ความชำนาญในการทำและความเข้าใจในการทำก็กลายเป็นนายช่างผู้มีฝีมือไปเองนี้ฉันใด การฝึกปัญญาขั้นเริ่มแรกก็เป็นในลักษณะล้มลุกคลุกคลาน แม้จิตที่รับรู้จากปัญญาก็ยังเข้าใจผิดๆถูกๆ เมื่อปัญญาพิจารณาอย่างมีเหตุมีผลในหลักความจริงแล้ว จิตก็ยอมรับหลักการว่าสัจธรรมเป็นจริงฉันนั้น

      เหมือนกับมารดาบิดาสอนบุตร ย่อมมีทั้งการขู่และการปลอบโยนไปตามความประพฤติของบุตรนี้ฉันใด เรื่องปัญญาสอนจิตก็ย่อมใช้วิธีขู่ในช่วงที่จิตมีความคะนอง ที่ฝักใฝ่ไปในกามคุณแทบจะลืมตัว แต่เมื่อจิตอยู่เป็นปกติก็ใช้ปัญญาในวิธีปลอบโยนเพื่อให้จิตเกิดความร่าเริงจึงจะสมกับว่าปัญญาสอนจิตที่ฉลาด และจิตก็พลอยมีความฉลาดตามปัญญาไปด้วยฉันนั้น

      ถึงกิเลสตัณหาจะชักลากจิตไป ก็ใช้สติปัญญาชักลากจิตให้คืนสู่ตามความปกติโดยเร็ว ถ้าหากปล่อยไว้นาน จิตก็หลงระเริงอยู่ในกามคุณจนลืมตัวได้ เพราะอุบายมารยาสาไถยของกิเลสตัณหามีมาก เราต้องมีสติปัญญาประคองจิตให้เหมือนกับมารดาประคองบุตรนั่นเอง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 พฤษภาคม 2553 16:11:26 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: จัดหน้าค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 11 พฤษภาคม 2553 15:43:36 »




การพิจารณาความทุกข์

ความทุกข์เป็นสภาพที่มีอยู่ในมวลมนุษย์และหมู่สัตว์ทั่วๆไปทุกจำพวก ตราบใดที่ยังมีมนุษย์และสัตว์นี้อยู่ในโลก ความทุกข์ก็ย่อมมีแก่มนุษย์และสัตว์อยู่ตลอดไป และเป็นหลักความจริงประจำโลกมาแต่กาลไหนๆ และให้ผลแก่มวลมนุษย์และสัตว์โลกที่เกิดมา และไม่มีพระผู้เป็นเจ้าองค์ไหนมาสร้างทุกข์ไว้ แต่เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาประจำหมู่สัตว์โดยทั่วไป แม้ความทุกข์ที่มีอยู่ในร่างกายเราเดี๋ยวนี้ก็ตาม ก็จิตเป็นผู้รับผิดชอบเพราะร่างกายจะเกิดขึ้นเป็นภพเป็นชาติมาได้ ก็ต้องอาศัยสังขารจิต เป็นเหตุเป็นปัจจัยส่งผลให้เกิดขึ้นและเป็นสายโซ่เชื่อมโยงต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และจะเป็นปัจจัยเชื่อมโยงต่อกันไปในอนาคตไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ ตราบใดที่กงกำของวัฏฏะคือตัณหายังคงความสมบูรณ์ ความหมุนเวียนในการเกิดตายอยู่ในภพทั้งสามก็จะไม่มีกาลเวลาจบสิ้นได้เลย 
    
      ฉะนั้น อุปาทานการยึดถือในภพชาติที่ฝังลึกแนบแน่นอยู่ภายในจิตก็จะแสดงผลที่เป็นพิษให้เราได้หลั่งน้ำตาออกมาแทบจะเป็นสายเลือดถึงจะมีความทุกข์ที่ว่าเป็นของทนได้ยากก็ตาม ก็จำเป็นต้องอดทนต่อสู้เพราะไม่รู้เส้นทางที่จะหนีออกจากทุกข์ไปได้ จะว่าไม่รู้หรือ ก็มีครูอาจารย์คอยชี้บอกตักเตือนอยู่เสมอ  แต่ทำไมเราจึงทำตัวเป็นผู้มืดบอดไม่รู้ไม่เห็นและไม่ได้ยินคำเรียกร้อง ที่ตัวแทนของพระพุทธเจ้าประกาศความจริงอยู่ในที่ทั่วไป นี้ก็เพราะอุปาทานการยึดถือ จึงเป็นประตูปิดใจไว้อย่าแน่นหนา เรียกว่าประตูปิดทุกข์ไว้อย่างสำคัญ ดังพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า สิ่งใดที่ยังยึดถือว่าเป็นเราและเป็นของของเรา สิ่งนั้นย่อมทำให้เกิดความทุกข์อยู่ในโลก แต่ก็ไม่เหลือวิสัยของนักปฏิบัติที่มีความจริงจัง หวังความพ้นไปจากทุกข์ให้ได้

      ฉะนั้น การพิจารณาความทุกข์ก็เพื่อให้จิตได้รู้ทุกข์  เห็นทุกข์ก็เพื่อให้จิตได้เบื่อหน่ายในทุกข์ เพื่อจะได้มีความกลัวต่อทุกข์ จิตจึงค้นคว้าหาที่มาแห่งทุกข์ และหาที่เกิดแห่งทุกข์ว่าความทุกข์เกิดขึ้นด้วยเหตุอันใด เมื่อจิตรู้เห็นที่มาแห่งความทุกข์และเห็นเหตุที่เกิดทุกข์แล้ว จึงสลัดตัวออกจากทุกข์ไปได้ แล้วจึงจะมีวิธีป้องกันต้นเหตุที่เกิดความทุกข์ได้ถูกต้อง 
บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 11 พฤษภาคม 2553 16:31:08 »



อุบายการพิจารณาด้วยปัญญา

ภาค ๓
ข้ามกระแส

        ขอทำความเข้าใจกับนักปฏิบัติดังนี้ การพิจารณาด้วยปัญญานั้นจะพิจารณาได้ทุกอิริยาบถ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ก็ใช้ปัญญาพิจารณาได้ทั้งนั้น และก็เป็นอุบายการพิจารณาอย่างเดียวกัน ส่วนอุบายที่นำมาพิจารณานั้นต้องอาศัยเหตุการณ์ที่เป็นหลักความจริงและพิจารณาให้ลงสู่ไตรลักษณ์ทุกครั้งไป
      
การพิจารณากายต้องยึดเอาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มาเป็นต้นเหตุ  และอาศัยสัญญา  สมมติเป็นแนวทางของปัญญาไปก่อน ถ้าไม่อาศัยสัญญาและสมมติเป็นเหตุแล้ว การใช้ปัญญาก็จะขยายออกไปไม่ได้ เหมือนกันกับเด็ก ถ้าไม่มีที่เกาะพอพยุงตัวช่วยแล้ว การยืน การเดิน ก็จะล้มตัวได้ง่าย ถ้ามีที่เกาะพอพยุงช่วยตัวเองได้ เด็กก็จะค่อยๆฝึกตัวเองให้ยืน เดินไปได้จนกว่ากำลังกายและความชำนาญพร้อมแล้ว ถึงจะไม่มีสิ่งอื่นช่วย ก็ลุกเดินไปได้โดยกำลังตัวเองอย่างคล่องนี้ฉันใด การฝึกปัญญาในช่วงแรกนั้น ก็ต้องอาศัยสัญญาและสมมติมาเป็นหลัก เพื่อเป็นสนามฝึกให้ปัญญาเกิดความเคยชินและชำนาญในการค้นคิดให้ถูกกับความเป็นจริง เรียกว่าจริงสมมติฉันนั้น
    
 ถึงจิตยังไม่ยอมรับความจริงตามปัญญาก็ตาม การพิจารณาก็ต้องค้นคิดกันไปอย่างต่อเนื่อง เหมือนเด็กที่เรียนหนังสือในขั้นต้น เด็กยังไม่เข้าใจในหลักการและยังไม่เข้าใจในการสอนของครู แต่ครูก็ต้องสอน อธิบายวิชาต่างๆให้เด็กฟังอย่างซ้ำๆซากๆหลายครั้งหลายหนจนเด็กเกิดความเคยชิน ความรู้และวิชานั้นๆครูสอนไปอย่างไร ความเข้าใจของเด็กก็จะค่อยซาบซึ้งเข้าไปในหัวใจเด็กได้นี้ฉันใด การใช้ปัญญาสอนจิตก็ต้องอาศัยความหมั่น ความขยัน ประกาศความจริงที่มีอยู่ในร่างกายให้จิตได้รู้ได้เห็นให้เป็นไปตามความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา และใช้สัญญาจดจำส่วนของร่างกายมากำหนดรู้ภายในจิต และแยกแยะร่างกายแต่ละส่วนออกมาดูโดยสมมติ แล้วกำหนดร่างกายส่วนนั้นๆให้เป็นไปตามไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทุกครั้งไปฉันนั้น

     เพื่อให้เป็นหลักฐานยืนยันว่าร่างกายนี้ต้องเป็นอย่างนี้ ทั้งร่างกายเราและร่างกายของคนอื่น ตลอดจนสัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท ก็พิจารณาด้วยปัญญาให้ลงสู่ไตรลักษณ์นี้ทั้งหมด เพราะร่างกายเราและร่างกายเขาก็มีธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกันทั้งนั้น จะเป็นธาตุขันธ์ในอดีตหรือธาตุขันธ์ที่จะมีในอนาคตก็เหมือนกันกับธาตุขันธ์ในชาติปัจจุบัน และเป็นไปตามสภาพของไตรลักษณ์และเป็นหลักความจริงและยืนตัวในโลกนี้ตลอดไป ไม่ว่ายุคกาลไหนๆ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 พฤษภาคม 2553 12:06:49 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: เพิ่มภาพค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 11 พฤษภาคม 2553 16:46:43 »




ปัญญาคืออาวุธปราบกิเลส

การอบรมจิต สั่งสอนจิต ถ้าจิตหยาบก็ต้องใช้ปัญญาส่วนหยาบเข้าอบรมสั่งสอน เมื่อจิตอยู่ในระดับไหนก็ใช้ปัญญาระดับนั้น การพิจารณาด้วยปัญญามีขั้นตอนอย่างนี้ นี่เป็นอุบายของผู้มีนิสัย ทนฺธาภิญฺญา ที่ปฏิบัติด้วยความลำบาก และรู้เห็นในสัจธรรมได้ยากจึงไม่เหมือนกับผู้มีนิสัย ขิปฺปาภิญฺญา ที่ปฏิบัติง่ายรู้เร็ว

      ฉะนั้น การใช้ปัญญาอบรมจิตก็เพื่อให้จิตได้รู้รอบในสรรพสังขารทั้งหลาย จะเป็นสังขารภายนอกและสังขารภายในก็ให้จิตได้รู้เห็นอย่างทั่วถึง เพราะสังขารภายในเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนยากที่จะรู้ได้ แต่ก็มีอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดเช่นกัน นี้คือสังขารจิต 

      สังขารจิตนี้เป็นเครื่องมือของกิเลส ตัณหา อวิชชา ทำหน้าที่ปรุงแต่ง ทำหน้าที่เสริมและขยายในเรื่องต่างๆตามกิเลสตัณหาสั่งการ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ที่จิต จึงเรียกว่าสังขารจิต เมื่อจิตถูกกิเลสตัณหาผลักดันไปทางไหน สังขารก็ปรุงแต่งไปในทางนั้น สังขารจะปรุงแต่งได้ก็ต้องอาศัยสมมติ เหมือนกับนายช่างที่จะสร้างบ้านเรือน ก็ต้องมีอุปกรณ์เป็นเครื่องมือ บ้านเรือนจึงจะสำเร็จลงได้ จะสร้างไปในรูปไหน อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้สั่งฉันใด สังขารจะปรุงแต่งในเรื่องไหนก็ปรุงแต่งไปตามกิเลสตัณหา อาศัยสมมติเป็นอุปกรณ์ในการปรุงแต่งฉันนั้น ถ้ามีความยินดีรักใคร่ในสิ่งใด สังขารก็ปรุงแต่งไปในทางที่รักใคร่ชอบใจ ถ้าเกลียดชังในสิ่งใด สังขารก็ปรุงแต่งไปในทางที่ชอบใจ

      สังขารจะปรุงแต่งก็ปรุงแต่งตามสมมติ ถ้าสมมติไม่ดีสังขารก็ปรุงแต่งไปไม่ดี ถึงจะมีสมมติ ถ้าสังขารไม่ปรุงแต่ง สมมติก็เพียงสักว่าสมมติเท่านั้น เหมือนกับแม่ครัว และอาหารที่นำมาปรุง และผู้รับประทานอาหาร ทั้งสามนี้ต่อเนื่องถึงกัน ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็จะไม่สำเร็จประโยชน์ ถ้ามีแต่แม่ครัว ไม่มีอาหารที่จะปรุงและไม่มีผู้รับประทาน แม่ครัวก็จะทำอะไรไม่ได้เลย หรือมีแต่อาหาร ไม่มีแม่ครัวและผู้รับประทาน หรือมีผู้รับประทาน แต่ไม่มีอาหารและแม่ครัวก็ไมสำเร็จประโยชน์นี้ฉันใด ตัณหา สังขาร สมมติ ทั้งสามนี้ก็ต่อเนื่องถึงกันฉันนั้น

      เมื่อมีความต้องการไปในทางไหน สังขารก็ตั้งสมมติขึ้นมาแล้ว ปรุงแต่งตามสมมตินั้นๆให้ถูกต้องตามความต้องการของกิเลสตัณหา ตราบใดกิเลสตัณหายังมีอยู่ สังขารก็ต้องมีงานปรุงแต่งในสมมติตลอดไป การปรุงแต่งในสังขารนี้จะปรุงแต่งได้ทั้งเรื่องอดีตที่ผ่านมา และปรุงแต่งได้ทั้งเรื่องอนาคตที่ยังมาไม่ถึง และปรุงแต่งในความเป็นอยู่ปัจจุบัน

      คำว่าปรุงแต่งก็คือการเสริม เรื่องเล็กก็เสริมเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องหยาบก็เสริมให้เป็นเรื่องละเอียด เรื่องสั้นก็เสริมออกไปเป็นเรื่องยาว เรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้ว เรื่องอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็สมมติปรุงแต่งให้เกิดขึ้นให้จิตมีความละเมอเพ้อฝัน เป็นวิธีสร้างวิมานในอากาศ วาดภาพโดยสมมติขึ้นเอง แล้วเพลิดเพลินหลงไหลในสมมติที่ตัวเองสร้างขึ้น จึงเกิดความยินดีรักใคร่พอใจในอารมณ์ของตัวเองโดยไม่รู้ตัว เมื่อสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองแล้ว ก็ไม่รู้จักวิธีที่จะแก้ไข ยังมีความพอใจติดพันในอารมณ์สมมตินั้นๆให้จมลึกลงไป
 
บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 11 พฤษภาคม 2553 17:24:50 »



อตีตารูปารมณ์ คือ รูปที่มีความพอใจรักใคร่ได้ผ่านไปนานแล้วก็ยังค้นขึ้นมานึกคิดปรุงแต่งโดยสมมติ ให้จิตได้ลุ่มหลงในความคิดตัวเอง เช่น รูปที่เรารักใคร่พอใจได้ตายจากเรา หรือพลัดพรากจากเราไป ก็ยังกำหนดจดจำไว้ในรูปร่างกลางตัว รูปพรรณสัณฐาน สีสันวรรณะ กิริยาท่าทางไปมา วาจาที่ให้คำสัญญาต่อกัน ก็ยังคิดค้นขึ้นมาโดยสมมติว่าได้พูดคุยกันในเรื่องนั้นๆ และอยู่ในสถานที่นั้น บางครั้งก็สมมติจนเลยขอบเขต ทั้งๆที่ไม่มีมูลความจริง ก็ยังสมมติให้เป็นเรื่องขึ้นมา เมื่อตั้งสมมติขึ้นมาแล้วอย่างนี้ สังขารความปรุงแต่งก็ปรุงแต่งตามสมมติ จิตก็มีความเพลิดเพลินยินดีพอใจในสมมตินั้นๆ แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนนอนหลับ เดินก็เดินคิด นั่งก็นั่งคิด จิตจึงมีความเศร้าหมอง ขุ่นมัวเพราะตัวเองเป็นเหตุ กิเลสตัณหาจึงได้ช่องทาง แม้ในเรื่องอนาคตก็วางแผนไว้อย่างใหญ่โต

     เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็เป็นหนึ่งในโลก สามี ภรรยา บุตรี บุตรา ก็มีความสวยสดงดงามเป็นหนึ่งในโลก ตัวมีอะไรก็มีแต่ของดีๆไปหมดทั้งนั้น นี่ก็คือตัณหาพลักดันให้สังขารปรุงแต่งในสมมติเพื่อให้จิตได้ลุ่มหลง ให้จิตมีความพอใจยินดีที่จะเกิดอีกในชาติต่อไป

      ในชาติปัจจุบันก็ยังคิดปรุงแต่งประดับประดา หาสิ่งภายนอกมาฉาบทาเพื่อปิดบังอำพรางรูปสมมตินี้อยู่แล้ว เมื่อหลงในรูปตัวเองแล้ว ก็หลงในรูปสมมติภายนอกอีกต่อไป จิตที่หลงวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารนี้มานานก็ติดในสมมติ พอใจยินดีในสมมติและหลงในสมมติโดยไม่รู้ตัวนี้แล จึงเรียกว่าอวิชชา คือความไม่รู้ในสมมติตามความเป็นจริง จิตจึงหลงโลกนับตั้งแต่ครั้งนั้นจนถึงปัจจุบัน เมื่อชาติปัจจุบัน จิตยังมีความหลงในสังขารและสมมตินี้อยู่อีก จิตก็จะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพน้อยใหญ่และลอยตามกระแสโลกนี้ไปไม่รู้ว่าจะจบสิ้นกันในที่ไหน

     เรื่องสังขาร สมมตินี้ จึงเป็นเครื่องมือให้กิเลส ตัณหา อวิชชา ได้เป็นอย่างดี จิตที่ไม่มีสติปัญญาจึงมาลุ่มหลงในกลลวงของกิเลส ตัณหา อวิชชา จิตจึงได้ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหามาตลอด เรื่องกิเลสตัณหา อวิชชานี้ มีทั้งส่วนหยาบและส่วนละเอียด และมีอยู่ที่จิตเรื่องสังขารและสมมตินั้นเป็นตัวละครที่แสดงเพื่อปกปิดความจริงในสัจธรรม จิตที่ไม่มีปัญญาก็จะมาติดอยู่เพียงหน้าฉากภายนอกเท่านั้น

      นักปฏิบัติต้องมีสติปัญญาเป็นเครื่องรู้รอบและสอดส่องมองหาจุดอ่อนของกิเลสตัณหาให้ได้ เหมือนกับนักชกผู้ที่เอาชัยชนะมาสู่ตัวเองก็ต้องฟิตซ้อมตัวเองอยู่เสมอและรู้จุดอ่อนของคู่ต่อสู้ เพื่อจะตัดกำลังและน็อกคู่ต่อสู้ลงได้อย่างง่ายดายฉันใด  นักปฏิบัติธรรมก็ต้องสร้างกำลังให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง  คือ

สทฺธาพลํ กำลังศรัทธา

วิริยพลํ กำลังความเพียร

สติพลํ กำลังสติ

สมาธิพลํ กำลังสมาธิ

ปญฺญาพลํ กำลังปัญญา

ทั้งนี้ก็ต้องให้พร้อมเพื่อจะตัดรากถอนโคนของกิเลสตัณหาให้สิ้นซากไปฉันนั้น

      ผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะรู้ที่เกิดที่อยู่ของกิเลสตัณหาและรู้สายทางของกิเลสตัณหาได้ถูกต้อง เมื่อรู้เห็นต้นกำเนิดของกิเลสตัณหาได้ถูกจุด ปัญญาก็จะลบล้างถอดถอนมันได้ง่ายขึ้น เหมือนกันกับหมอที่ชำนาญในการตรวจโรค ก็สามารถวางยาผ่าตัดเอาโรคร้ายออกทิ้งไปได้ง่ายฉันใด การพิจารณาด้วยปัญญาก็เพื่อให้รู้จุดเด่นชัด ที่เป็นศูนย์รวมของกิเลสตัณหา เพื่อจะใช้ปัญญาลบล้างกำจัดให้หมดไปสิ้นไปได้ฉันนั้น

      กิเลสตัณหามีอยู่ที่จิตต้องมีสติปัญญาพิชิตอยู่รอบด้านไม่ห่างไกลและไม่ให้อภัยแก่กิเลสตัณหาตัวใดๆทั้งสิ้น กิเลสตัณหาจะปรุงแต่งในสมมติใดๆ ก็ใช้ปัญญาลบล้างในสมมตินั้นอย่างทันควัน อย่าปล่อยให้สังขารปรุงแต่งในสมมตินั้นยืดเยื้อไปนานเหมือนกับเสื้อผ้า ถ้ารู้ว่าสกปรกแล้ว ก็รีบซักให้ความสกปรกนั้นหมดไปฉันใด จิตเมื่อรู้ว่าเศร้าหมองในอารมณ์ ก็พิจารณาคลี่คลายในอารมณ์นั้นให้หมดไปจากจิตฉันนั้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 พฤษภาคม 2553 12:10:05 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: เพิ่มภาพค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 11 พฤษภาคม 2553 18:21:48 »



  สิ่งใดที่กิเลสตัณหาไปมาหาสู่อยู่บ่อยๆ ก็ทำลายจุดนั้นเพื่อไม่ให้กิเลสตัณหามาซุกซ่อนเอาสมมติหลอกจิตอีกต่อไป รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นที่ซุกซ่อนของกิเลสตัณหาทั้งสิ้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถูกกิเลสหลอกจิต หลงยึดว่าเป็นตนเป็นตัว เมื่อรู้ที่อยู่ของกิเลสตัณหาว่าเป็นตัวตนในจุดใด ปัญญาก็ทำลายในจุดนั้นโดยพิจารณาให้ลงสู่ไตรลักษณ์ คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ให้จิตได้รู้เห็นตามปัญญาโดยความเป็นจริง

      รูปก็พิจารณาให้ลงสู่ไตรลักษณ์   เวทนา   สัญญา   สังขาร   วิญญาณ   แต่ละอย่างก็พิจารณาให้ลงสู่ไตรลักษณ์ด้วยกันทั้งสิ้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จิตมีความเห็นผิดว่าเป็นตนเราเป็นตัวเรา ก็ให้พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่กิเลสตัณหาปรุงแต่งสมมติว่าสวยงาม เพื่อให้จิตเกิดความยินดีรักใคร่ใฝ่ฝัน ก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้จิตได้รู้เห็นเป็นสิ่งสกปรก โสโครก และเป็นไตรลักษณ์เหมือนกันทั้งนั้น จะเป็นรูปกายที่ถือว่าเป็นเราและรูปกายเขา ก็พิจารณาด้วยปัญญาให้จิตรู้เห็นเป็นสภาพเดียวกัน

      การใช้ปัญญาพิจารณาอย่างนี้ ก็เพื่อให้จิตได้รู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อจิตรู้เห็นจริงแล้ว กิเลสตัณหาจะปรุงแต่งว่าสวยว่างาม ว่าเป็นตนเป็นตัว ก็จะหลอกจิตอีกต่อไปไม่ได้เลย เหมือนกับคนแสดงดนตรี ภาพยนต์ เล่นลิเก ละครให้เราดูทุกวัน เมื่อเรารู้โทษภัยในการดูแล้วก็จะไม่ดูอีกเลย พร้อมทั้งชี้ขาดลงไปว่า ห้ามมาแสดงในที่นี้อีกต่อไป ผู้ที่เคยแสดงก็เลิกล้มทันทีฉันใด เมื่อจิตได้รู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว กิเลสตัณหาหน้าไหนจะปรุงแต่งสมมติให้จิตได้หลงตามอีกต่อไปก็ไม่ได้ฉันนั้น เพราะได้ถูกปัญญาทำลายตัดขาดไปให้หมดสิ้นแล้ว จึงเป็นอนาลโย ไม่มีความยินดีในสิ่งใดทั้งสิ้น

      การพิจารณาด้วยปัญญานี้ ก็เพื่อให้จิตได้รู้เห็นของจริงและของปลอม เหมือนกับเงินปลอม  ถ้ารู้ว่าเป็นเงินปลอมแล้ว จะไม่มีความต้องการและเสียสละทิ้งทันทีฉันใด เมื่อจิตมารู้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่จริง เป็นสิ่งที่มีโทษมีภัยแล้ว ก็จิตนั่นแหละจะปล่อยวาง ร่างกายที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน จิตก็จะถอนออกจากการยึดถือทันทีฉันนั้น ถึงจะมีรูปร่างกายนี้อยู่ก็รู้ว่าเป็นเพียงวิบากของขันธ์เท่านั้น ถึงจิตจะอาศัยอยู่ในธาตุขันธ์ก็อยู่ได้ตามอายุของธาตุขันธ์เท่านั้น

      เมื่อมารู้ในการเกิด  การดับ พร้อมทั้งเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดให้ดับชัดแจ้งอย่างนี้ เห็นแจ้งชัดเจนในสภาวะธรรม ในสัจธรรมที่เป็นจริง พร้อมทั้งรู้เห็นในสรรพสังขารทั้งหลาย ในปัญญาญาณอยู่อย่างนี้นั่นแหละ จึงเรียกว่าวิปัสสนาญาณ เป็นญาณที่รู้ยิ่งเห็นจริง ตามรู้เห็นในไตรลักษณ์ คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ก็เปิดเผยอย่างเต็มที่ ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะมาปิดบังอำพราง ความรู้เห็นในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ก็เปิดเผยอย่างแจ้งชัด ตกอยู่ในไตรลักษณ์ ที่เสมอภาคด้วยกันทั้งหมด ไม่มีความสงสัยลังเลในสิ่งใดๆทั้งสิ้น

      การปฏิบัติภาวนามาถึงระดับนี้จะไม่มีการเสื่อม มีแต่จะรุดหน้าไปให้ถึงที่สุดโดยถ่ายเดียว จากนี้ไปก็จะมีความสงบ ความดับเกิดขึ้น ความดับนี้จะมีเฉพาะบุคคลผู้สุดท้ายเท่านั้น ส่วนความสงบอย่างเดียวนั้นมีทั่วไป จะทำให้จิตมีความสงบลึกลงไปในระดับไหน จะเป็นรูปฌาน อรูปฌานก็ตาม ก็ยังอยู่ในขั้นแห่งความสงบกันทั้งนั้น แต่นี้เป็นความดับจึงไม่เหมือนกันกับความสงบอยู่ในขั้นสมาธิ เพราะความสงบในขั้นสมาธิเป็นเพียงกลบกิเลสตัณหาไว้เท่านั้น

     ส่วนความดับนี้เป็นความดับของนิโรธ เป็นอริยสัจ เป็นความดับที่เกิดขึ้นแก่นักปฏิบัติแต่ละท่าน จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ความดับนี้จึงเป็นความดับในครั้งสุดท้าย ทุกข์ที่เคยเกิดขึ้น ตั้งอยู่มาแต่กัปกัลป์ ไหนๆ ก็ประมวลลงมาดับพร้อมกันทั้งหมด ทุกข์ในความเกิด ทุกข์ในความแก่ ทุกข์ในความตาย ก็มาดับในที่นี้ เหตุให้เกิดทุกข์คือ ตัวสมุทัยก็ดับ ปัจจัยที่หนุนให้เกิดทุกข์ก็ดับ จึงเป็นสังขตธาตุ อสังขตธรรม อสังขตปัจจัย ไม่มีอะไรที่เป็นปัจจัยติดต่อกัน เพราะทุกอย่างได้ดับไปแล้ว และดับไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีเชื้อใดๆ พอให้เป็นเชื้อ
 
      ความโลภ ความโกรธ ความหลง กิเลส ตัณหา อวิชชา ดับพร้อมกันทั้งหมด จึงไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดสังขารได้ สังขารดับจึงไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดวิญญาณ วิญญาณดับจึงไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดนามรูป นามรูปดับจึงไม่มีปัจจัยที่จะเกิดอายตนะ อายตนะดับจึงไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดผัสสะ ผัสสะดับจึงไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิด เวทนา เวทนาดับจึงไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดตัณหา ตัณหาดับจึงไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดความยึดถือในอุปทาน

อุปทานดับจึงไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดภพ ภพดับจึงไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดชาติ ชาติดับจึงไม่มีปัจจัยที่จะให้เกิดความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้าเสียใจที่จะให้มีความทุกข์อีกต่อไป

     นี่คือตัวสมุทัย คือตัณหาได้ดับสนิทไปเสียแล้ว สังขารที่คอยปรุงแต่งสรรพสมมติให้ถูกตัดขาดไปเสียแล้ว เหมือนกับนายช่างผู้ที่เคยสร้างบ้านเรือนได้ตายไปแล้ว อุปกรณ์เครื่องมือของนายช่างก็หมดปัญหาไปฉันใด เมื่ออวิชชาตัณหาดับไปแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะไปก่อภพก่อชาติ เป็นอันว่าหมดภาระกันทันทีฉันนั้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 พฤษภาคม 2553 19:03:04 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: เพิ่มภาพค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 13 พฤษภาคม 2553 08:49:48 »



การดำเนินอริยมรรคด้วยปัญญา

        เมื่อนักปฏิบัติมารู้ตัวว่า  จิตได้ตกเป็นทาสของตัณหา แล้วอย่างนี้ต้องสร้างปัญญาให้แก่จิต  เพื่อให้จิตได้มีความรู้ความฉลาดเฉียบแหลมให้เหนือกิเลสตัณหาให้หมดสิ้นไปได้

      การสร้างปัญญาก็คือ  สร้างทางให้จิตได้เดินตามมรรคนั่นเอง  การสร้างมรรคก็คือสร้างปัญญาให้จิต  เพื่อให้จิตได้มีความฉลาดรอบรู้ในสรรพสังขารทั้งหลาย  ฉะนั้น  พระพุทธเจ้าจึงได้วางหลักการปฏิบัติเพื่อให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตรงต่อมรรคผลนิพพาน  พระองค์จึงได้วางทางสายตรงคือมรรค ๘ มี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันโต  สัมมาอาชีโว  สัมมาวายาโม  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ  มรรคทั้ง ๘ ประการนี้  ก็เพื่อให้นักปฏิบัติได้ถือเอาเป็นแบบอย่าง เป็นต้นฉบับที่คงเส้นคงวา  และเป็นเส้นทางของคนคนเดียว  เดินก็เดินคนเดียว  

      ก่อนที่เราจะเดินตามรรค  เราก็สร้างทางของมรรคให้เกิดขึ้นที่ตัวเราเองและเราก็เดินเอง  มรรคทั้ง ๘ นั้นมีสัมมาทิฏฐิเป็นสำคัญ เพราะการปฏิบัติ  ถ้าจิตมีความเห็นชอบเห็นตรงแล้ว  มรรคข้ออื่นก็มารวมอยู่ที่ความเห็นชอบทั้งหมด

      ความเห็นชอบนั้นเป็นตัวปัญญา การปฏิบัติก็ต้องมีปัญญาพิจารณาให้รอบคอบ รอบรู้ในองค์มรรค  ส่วนมรรค ๘ ที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นของกลาง  เราจะไปยึดเอามาเป็นของตัวเองไม่ได้  แต่ก็ไม่ทิ้ง  เพราะมรรค ๘ เป็นต้นฉบับที่สำคัญเหมือนกันกับเราเห็นบ้านที่สวยงาม  เมื่อเราต้องการบ้านอย่างนั้น  เราก็ออกแปลนให้เหมือนบ้านหลังนั้นแล้วสร้างบ้านขึ้นด้วยตนเอง  และให้เหมือนกันกับบ้านหลังนั้นทุกอย่าง  บ้านที่เราสร้างขึ้นนั้น  จึงจะเป็นบ้านของเราเองอย่างสมบูรณ์ฉันใด  การสร้างมรรค ๘ ให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตัวเองก็ฉันนั้น

      มรรค ๘ ที่เป็นหลักเดิมนั้น  เป็นเส้นทางของผู้ที่เดินผ่านพ้นไปแล้ว ท่านจึงได้วางแนวทางเพื่อเป็นแบบอย่างไว้ให้เรา เพี่อให้เราได้สร้างทางได้เหมือนกันกับท่าน  เราจะได้เดินตามเส้นทางของเรา  และเราก็ถึงจุดหมายปลายทางเช่นกัน

      การสร้างทางให้จิตนั้น  ก็ต้องมีปัญญาเป็นเครื่องบุกเบิก  กรุยแนวทางให้จิตได้เดินตามสัจธรรม  ถ้าจะปล่อยให้จิตเดินตามลำพัง  ก็จะเหมือนกับดั่งที่เราเคยเป็นมา  ฉะนั้น  ปัญญาจึงเป็นเครื่องสอดส่องชี้แนะให้จิตได้รู้เห็นเส้นทางที่เดิน  การเดินทางตามสายเก่านั้น  เราก็เคยเดินมาแล้ว  มีแต่โทษแต่ภัยนานาชนิด  แม้ชีวิตเราก็เคยได้ทิ้งในเส้นทางนี้หลายชาติหลายภพก็ยังไม่ถึงไหน  ยังเวียนเกิดเวียนตายในที่เดิม

      ฉะนั้น  จึงสร้างทางให้จิตเดินเสียใหม่ อาศัยปัญญา  ควมเห็นชอบและเห็นจริงในสัจธรรม  การพิจารณาในสัจธรรมนี้เป็นทางใหม่ของจิตที่ยังไม่เคยเดินมาก่อน  และเป็นแนวทางที่ฝืนในความรู้สึกของจิตชนิดหน้ามือเป็นหลังมือไปเลย เพราะแต่ก่อนจิตเคยลอยตามกระแส แต่บัดนี้ปัญญาจะพาให้จิตตัดกระแส  ถึงจิตไม่เคยตัดกระแสก็ต้องฝึก  เพราะการตัดกระแสยังมีทางที่จะให้ถึงฝั่งได้  ถ้าปล่อยให้จิตลอยตามกระแสแล้วจะไม่มีทางเข้าถึงฝั่งได้เลย

      ปัญญาเท่านั้นจึงจะนำทางให้จิตหมุนตัวกลับได้  ถึงจะมีราคะตัณหามาผลักดันให้จิตเป็นไป  ก็ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องผลักดันราคะตัณหาให้หมดไปจากจิตได้  เพราะจิตขาดพี่เลี้ยงที่ชอบธรรม  ขาดผู้นำที่ดีจึงมีความมืดบอดไม่รู้จักเส้นทางที่จะให้พ้นไปจากโทษภัยทั้งหลายฉะนั้น  จึงมีปัญญาสร้างทางให้จิตเสียนับแต่บัดนี้เป็นต้นไปพยายามใฝ่ใจในการคิดอ่านตริตรองใคร่ครวญอยู่เสมอ


      ในช่วงแรกจะให้จิตเกิดความรู้เห็นตามปัญญานั้นยังไม่ได้  ต้องอาศัยปัญญาฝึกฝนอบรมจิตอยู่บ่อยๆจนจิตมีความเชื่องชินต่อปัญญา  จิตจึงจะมีความรู้เห็นตามปัญญาไปได้  ฉะนั้น  การเดินมรรคในช่วงแรกจะราบรื่นไปเลยทีเดียวนั้นไม่ได้  เพราะเป็นเส้นทางที่ไม่เคยเดิน  เหมือนกันกับเด็กที่กำลังฝึกหัดเดิน  ย่อมมีการล้มลุกคลุกคลานเป็นธรรมดา  เมื่อเด็กนั้นพยายามฝึกเดินบ่อยๆก็เดินได้เหมือนผู้ใหญ่ทั่วไปฉันใด  ความเป็นไปของจิตดั้งเดิมย่อมมีความคล่องตัวอยู่ในกามคุณมาแล้วแต่บัดนี้จะทำให้จิตเกิดความเบื่อหน่ายในกามคุณก็ต้องใช้ปัญญาฝึกหัดจิตเต็มที่ ใช้ปัญญาหยิบยกในสิ่งที่จิตมีความเกี่ยวข้องผูกพันมาวิจารณ์เปิดเผยความจริง  ให้จิตได้รู้เห็นโทษภัยในสิ่งนั้นๆอยู่ตลอดเวลาฉันนั้น

      จิตเคยมีความยินดีรักใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในกามคุณทั้ง ๕ นี้มีรูปเป็นสำคัญ  ส่วน เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มารวมอยู่ที่รูปอย่างเดียว  ถ้ารูปไม่มีแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีที่ตั้ง เพราะ เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เกิดมาจากรูปนั่นเอง

      ฉะนั้นรูปจึงเป็นศูนย์รวมที่สำคัญ  จิตจะมีความรักใคร่ยินดีมีความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตนเป็นตัว  ก็มาเข้าใจอยู่ที่รูปอันนี้  สัตว์หลงสัตว์  คนหลงคน  ก็มาหลงอยู่ในรูปอันนี้  จิตที่มีความข้องอยู่ในโลกอันนี้ก็เพราะรูปกายนี้เป็นเหตุ  จิตที่หมุนเวียนในวัฏสงสารมานานก็เพราะมีความห่วงอาลัยคิดถึงอยู่ในรูปร่างกายนี้เอง


      ฉะนั้น  การใช้ปัญญาพิจารณาในร่างกายก็เพื่อเปิดเผยตีแผ่ความจริงของร่างกายออกมาให้จิตได้รู้ตามความเป็นจริง  ในร่างกายนี้มีอะไรบ้างที่ทำให้จิตมีความยินดีผูกพันและยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตนเป็นตัว  ว่าเป็นเราและตนตัวของเรา  จึงมีปัญญาแยกแยะออกเป็นชิ้นเป็นส่วน เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก แต่ละส่วนก็มีชื่อเรียกตามสมมติของเขาอยู่แล้ว  จึงไม่มีสิ่งใดในร่างกายจะเป็นตัวตนของเราที่แท้จริง  ทั้งนี้ก็เพียงจิตสังขารสร้างขึ้นและอยู่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น

      จิตสังขารที่สร้างขึ้นมานั้นก็สร้างอยู่ในไตรลักษณ์  แม้มีรูปร่างกลางตัวเกิดขึ้นมาแล้ว  ก็ตกอยู่ในไตรลักษณ์ตามสถานที่เกิดอยู่นั่นเอง  ความสำคัญมั่นหมายของจิตเดิมย่อมมีความข้าใจว่าร่างกายนี้เป็นตัวเป็นตน  เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริงของร่างกายแล้ว  จิตก็จะค่อยๆมีความรู้เห็นที่เป็นจริงตามปัญญาไปด้วย
 เหมือนกับครูสอนเด็กนักเรียน ในขั้นต้น  ครูก็ต้องมีความขยันหมั่นสอนเอาใจใส่ในเด็กเพื่อให้เด็กได้มีความรู้ความฉลาด  อ่านออกเขียนได้

      เมื่อเด็กมีความเข้าใจ  รู้ตามครูในวิชานั้นแล้ว  ครูก็ให้นักเรียนเขียนเองได้ฉันใด การใช้ปัญญาสอนจิตก็ต้องใช้สติปัญญาควบคุมจิตอยู่เสมอ  เพื่อให้จิตได้ศึกษาในข้อมูลต่างๆในสัจธรรม เมื่อจิตไปเกี่ยวข้องผูกพันในสิ่งใด  จะเป็นภายนอกหรือภายใน  ใกล้ไกล  หยาบละเอียด  ก็ใช้ปัญญาหยิบยกเอาในเรื่องนั้นๆขึ้นมาพิจารณาและเปิดเผยในความจริงนั้นๆ ให้จิตได้รู้เห็นตามความเป็นจริง  จิตสังขารคิดปรุงแต่งในเรื่องใดก็ใช้ปัญญาเข้าทำลายลบล้างในเรื่องนั้นๆให้หมดไปสิ้นไปจากความเข้าใจเดิมของจิต  เพื่อให้จิตได้มีความรู้เห็นที่ชอบธรรมฉันนั้น  จึงเป็นสัมมาทิฏฐิที่ถูกต้อง  จึงเชื่อว่าเป็นผู้สร้างมรรคให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตัวเอง

      การพิจารณาด้วยปัญญานี้ป็นสิ่งสำคัญ  เพราะเป็นการบุกเบิกแนวความรู้เห็นของจิตในขั้นพื้นฐาน  เมื่อจิตรู้เห็นตามปัญญาที่เป็นจริงแล้ว  ปัญญานี้เรียกตามสมมติใหม่ว่า  ปัญญาญาณ  คือจิตรู้เห็นตามปัญญาที่เป็นจริง เมื่อมีความรู้เห็นในสภาวธรรมในสัจธรรมโดยละเอียดแล้ว  คำว่าปัญญาญาณก็เรียกใหม่ว่า  วิปัสสนาญาณนั่นเอง

      ฉะนั้น  นักปฏิบัติจึงวางพื้นฐานปัญญาธรรมดานี้ให้ตรงตามสัมมาทิฏฐิ  สัมมาสังกัปโป  คือความเห็นที่ชอบธรรม  แม้จะคิดพิจารณาในสัจธรรมก็คิดดำริให้รู้เห็นโทษภัยในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้ลงสู่ไตรลักษณ์และดำริพิจารณาให้เห็นโทษภัยในกามคุณทั้งหลายเพื่อให้จิตได้ถอนตัว ไม่มั่วสุมในกามคุณอีกต่อไป  จึงสมในบาลีว่า นิพฺพานคมนํ มคฺคํขิปฺปเมว วิโสธเย  พึงรีบลัดตัดทางไปพระนิพพาน  ให้มีกรุยเป็นเครื่องหมาย  เมื่อถึงกรุยนี้แล้วก็จะมองเห็นกรุยข้างหน้าต่อไป


      ปญฺญายตฺถํ วิปสฺสติ  ปัญญาเท่านั้นที่จะมองเห็นเนื้อแท้แห่งธรรม
      ปญฺญาย ปริสุชุฌติ  จึงผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะมีความบริสุทธิ์ได้


      ฉะนั้น  ปัญญาจึงเป็นสิ่งสำคัญ  เป็นหน้าที่ที่เราจะสร้างขึ้นเอง  ไม่ใช่จะไปนั่งคอยนอนคอยให้ปัญญาเกิดขึ้นเองดังความเข้าใจ  ดังได้ยินอยู่บ่อยๆว่า  “เมื่อจิตมีความสงบเต็มที่แล้วจะมีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น” คำำพูดอย่างนี้ก็ให้ผู้ที่พูดรับผิดชอบไปเอง  ฉะนั้น  ปัญญาจึงมีขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด  สัมมาทิฏฐิก็มีความรู้เห็นในขั้นหยาบ  ในขั้นกลาง  และมีวามรู้เห็นในขั้นละเอียดสุดเต็มที่เช่นกัน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 พฤษภาคม 2553 13:38:26 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: เพิ่มภาพค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 8.0 MS Internet Explorer 8.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 13 พฤษภาคม 2553 09:58:24 »



ปัญญาอบรมสมาธิ

         อย่าเข้าใจผิดในความรู้เห็นในสมาธิ  การทำสมาธิก็ต้องมีปัญญาเป็นพี่เลี้ยง เพี่อแก้ไขในความเห็นผิด  ถ้าไม่มีปัญญาแล้วจะมีความเห็นผิดได้ง่าย  การทำสมาธิเมื่อจิตลงสู่ความสงบแล้วย่อมมีมารเข้ามาแทรกซ้อนได้ง่าย  และทำให้จิตเกิดความเห็นผิด  ในกลลวงของกิเลสตัณหาส่วนมาก มารจะแฝงเข้ามาในรูปนิมิตที่เกิดจากสมาธิ  และทำให้จิตมีความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นของจริงเพราะกิเลสอยู่ที่จิต  จึงหลอกจิตได้ง่าย เช่น จิตมีความสงบแล้ว  ก็จะเกิดแสงสว่างเป็นในลักษณะต่างๆ จะเข้าใจเองว่าแสงสว่างน้เป็นปัญญาบ้าง  เป็นวิปัสสนาญาณบ้าง เป็นนิโรธสมาบัติบ้าง  บางครั้งมีทั้งแสงสว่าง  มีทั้งรูปนิมิต  เป็นไปในลักษณะต่างๆ เช่น  เห็นเด็กที่เกิดใหม่บ้าง  เห็นเป็น คนแก่ เห็นเป็นคนเจ็บ  และเห็นเป็นคนตายนอนอยู่ข้างหน้าบ้าง  หรือเห็นท้องฟ้าที่สว่าง  หรือเห็นก้อนเมฆ  เห็นเดือนดาว  เห็นแม่น้ำ เห็นฟองน้ำ  หรือเห็นเป็นนานาชนิด  หรือเห็นพระพุทธรูป  เห็นดวงแก้ว

      การเห็นอย่างนี้จะตีความหมายไปว่าเป็นวิปัสสนาญาณไม่ได้  จะตีความหมายว่ามีความรู้รอบในสรรพสังขารก็ไม่ถูก  จะเข้าใจว่าตนรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมก็หาไม่ได้ นี้เป็นเพียงนิมิตที่เกิดขึ้นจากสมาธิเท่านั้น  ถ้าผู้มีปัญญาเป็นพื้นฐานมาแล้ว  นิมิตนี้ก็จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาด้วยปัญญาได้เป็นอย่างดี  หรือถ้าผู้มีปัญญาเฉียบแหลมฝังอยู่ที่จิตแล้ว นิมิตต่างๆ  ก็จะไม่เกิดขึ้น  เพราะนิมิตต่างๆนั้นยังตกอยู่ในสังขาร  เป็นของไม่เที่ยงด้วยกันทั้งหมด

      จิตที่มีปัญญาเป็นพื้นฐานมาแล้ว  จะให้กิเลสสังขารมาหลอกลวงจิตก็หลอกได้ยาก  เพราะปัญญาเป็นสิ่งที่รู้รอบ  รอบรู้ในสรรพสังขาร  ตามความเป็นจริงอยู่แล้ว  นิมิตนั้นเหมือนกันกับนักต้มตุ๋นหลอกลวงอันดับโลก  แต่ก็จะต้มตุ๋นหลอกลวงได้เฉพาะบุคคลที่อ่อนเท่านั้น  จะไปหลอกลวงต้มตุ๋นบุคคลที่มีความฉลาดนั้นจะไม่สำเร็จเลย เขาจะต้มตุ๋นหลอกลวงกับใคร  เขาต้องเข้าใจในความต้องการของคนคนนั้น

      ถ้าผู้ต้องการเงิน  เขาก็เอาเรื่องของเงินนั่นแหละมาเป็นเครื่องหลอกลวง  เอาเงินมาออกกลอุบายให้คนนั้นตายใจ  จึงหลอกลวงเอาเงินคนได้  ถ้าผู้ต้องการความสวยงาม เขาก็เอาเครื่องสำอางนั่นแหละมาเป็นสิ่งหลอกลวงเพื่อให้ตายใจฉันใด  กิเลสสังขารหลอกลวงจิต  กิเลสสังขารก็เอาสิ่งที่จิตมีความต้องการนั่นแหละมาหลอกลวงจิต  จิตมีความต้องการในสิ่งใด  กิเลสสังขารก็เอาสิ่งนั้นๆมาหลอกจิตฉันนั้น  เพราะกิเลสสังขารอยู่ที่จิต  จึงหลอกจิตได้ง่าย  ถ้าจิตหยาบ  กิเลสสังขารก็หาเอาสิ่งที่หยาบๆมาหลอกให้จิตหลง ถ้าภาวนาจิตมีความสงบละเอียด  กิเลสสังขารก็หาเอาสิ่งที่ละเอียดมาหลอกลวง  ฉะนั้น  จิตจึงถูกกิเลสสังขารหลอกลวงต้มตุ๋นมาตลอด  ไม่ว่าอยู่ในเพศใด  ฐานะสูงต่ำอย่างไร คนรวย คนจน ตลอดจนกำพร้าอนาถา  ขอทาน คนบอดหนวก  ธาตุขันธ์พิกลพิการก็ถูกกิเลสสังขารหลอกลวงทั้งนั้น

      การท่องเที่ยวของจิตที่หมุนไปเวียนมาอยู่ในวัฏสงสารนี้  ก็เพราะจิตถูกกิเลสสังขารหลอกลวง  และก็ถูกกิเลสสังขารหลอกลวงมานับตั้งแต่ครั้งนั้นจนถึงปัจจุบัน  ไม่ทราบว่ากี่ชาติกี่ภพ  จนนับกัปนับกัลป์ไม่ถ้วนประมวลไม่จบ  และก็ถูกกิเลสหลอกลวงจิตต่อไปในอนาคต  ไม่ทราบว่าจะถูกหลอกไปถึงไหน  ส่วนจิตเองก็ไม่รู้เลยว่าถูกหลอกเพราะกิเลสสังขารมีนโยบายการหลอกจิตอย่างแยบยล  จะว่าความเฉียบแหลมในกลอุบายในการหลอกลวงก็เป็นหนึ่งในโลก  สามารถทำให้สัตว์โลกทั้งหลายได้จมอยู่ในวัฏสงสารนี้จนไม่รู้สึกตัว  และยอมเป็นสมาชิกของกิเลสตัณหา  ตัณหา  ทาโส  จึงได้ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาตลอดมาจนถึงปัจจุบัน  และยอมเป็นทาสของกิเลสตัณหาตลอดไป
บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.759 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 23 มกราคม 2567 09:33:37