[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
26 เมษายน 2567 01:58:56 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  (อ่าน 532 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5461


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 28 ตุลาคม 2564 14:25:09 »



วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร
ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ประวัติการสร้างหรือตำนานวัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร
วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เดิมชื่อ “วัดเสื่อ” เป็นวัดโบราณ สร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา อยู่ในกำแพงหน้า หลังพระราชวังจันทรเกษม ไม่มีพระสงฆ์ตลอดสมัยอยุธยา ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารว่า วัดเสื่อ ได้สร้างขึ้นพร้อมพระราชวังจันทรเกษม โดยสร้างให้เป็นวัดประจำพระราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระยศเป็นมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก ได้โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับในคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงศรีอยุธยา เมื่อราวปี พ.ศ.๒๑๒๐ และต่อมาทรงเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ พระอนุชาธิราช คือ พระเอกาทศรถ เป็นพระมหาอุปราช พระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับจนเป็นธรรมเนียมว่า พระราชวังจันทรเกษม เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช โดยมีวัดเสื่อ เป็นวัดประจำพระราชวังตลอดมา

พระเจ้าปราสาททอง พระชนกนาถแห่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์  ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ได้ทรงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระที่นั่งนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี ครั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระประชวรมีพระอาการเป็นที่น่าวิตก บรรดาข้าราชการเห็นว่าจะเสด็จสวรรคตในไม่ช้า ต่างมีความหวาดหวั่นเรื่องรัชทายาท คือ พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ ซึ่งมองเห็นภัยอันเกิดจากชาวต่างชาติ อันมีเจ้าพระยาวิชาเยนทร์จะพาทหารฝรั่งเศสบังคับข้าราชการให้อัญเชิญพระปิยะขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็หวาดว่า ถ้าพระเพทราชาได้เป็นใหญ่คงจะคิดทำร้ายฝรั่ง ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นว่าต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการป้องกัน พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์จึงชิงลงมือก่อนจับพระปิยะผู้พยาบาลประจำพระองค์ไปฆ่าเสีย ทำให้พระองค์ทรงโทมนัสเป็นอย่างมาก และทรงเป็นห่วงข้าราชบริพารที่จงรักภักดีในพระองค์อาจจะถูกฆ่าในเมื่อพระองค์สวรรคต ทรงคิดว่าถ้าให้ผ้ากาสาวพัสตร์มาเป็นเกราะป้องกันแล้ว พวกข้าราชการบริพารอาจจะปลอดภัย จึงตกลงพระทัยให้ราชบุรุษไปอาราธนาพระเถรานุเถระมาเฝ้าแล้วตรัสว่า อาการของพระองค์คงไปไม่รอด ห่วงข้าราชบริพารจะถูกฆ่าตาย ขอให้พระคุณเจ้าช่วยบวชให้ข้าราชการบริพารผู้มีความจงรักภักดีได้ปลอดภัยอยู่ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ด้วยเถิด

พระเถรานุเถระถวายพระพรว่า ที่นี่เป็นพระบรมมหาราชวัง มิใช่วิสุงคามสีมา ไม่มีพุทธานุญาตให้บวชในที่เช่นนี้ได้ พระองค์จึงรับสั่งว่า ถ้ากระนั้นขอถวายนารายณ์ราชนิเวศน์ให้เป็นวิสุงคามสีมา ณ บัดนี้ พระเถรานุเถระจึงจัดการอุปสมบทพวกข้าราชบริพารที่จงรักภักดีให้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ต่อกาลไม่นานก็เสด็จสวรรคต พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์เสวยราชย์ ต่อมาตามลำดับ

วัดเสื่อได้เจริญรุ่งเรืองมาพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษมและได้กลายเป็นวัดร้างพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษมเหมือนกัน ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐

ในสมัยราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสวยราชสมบัติทรงระลึกถึงพระนารายณ์ราชนิเวศน์แล้ว ไม่สบายพระทัย ทั้งพระองค์ก็ประสงค์จะให้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานสืบไป แต่ไม่อาจถือเอาโดยพลการได้ เพราะไม่ทรงแน่พระทัยว่า พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์และหมู่พระที่นั่งอื่นๆ นั้น พระมหากษัตริย์แต่โบราณได้พระราชทานเป็นวิสุงคามสีมาหรือไม่ ที่สุดตกลงพระทัยทำผาติกรรม คือตอบแทนให้มีค่าควรกันตามพระวินัย โดยมีพระราชวงศ์เธอกรมหมื่นรังษีสุริยพันธ์ เป็นที่ประธานที่ประชุมสงฆ์ พร้อมใจถวายพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์และหมู่พระที่นั่งแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์มีมูลค่ามากกว่าพระราชวังหลายเท่าแล้วโปรดเกล้าฯ ให้นำพระราชทรัพย์ทั้งหมด ไปซื้อที่ดินคือนามีเนื้อที่ ๔๐ ไร่ ๒ งาน ทรงพระราชอุทิศถวายเป็นธรณีสงฆ์เท่าจำนวนเนื้อที่บริเวณพระนารายณ์ราชนิเวศน์แต่จะถวายสงฆ์วัดใดไม่ปรากฏ แล้วสถาปนาวัดสำคัญที่ทรุดโทรม ๓ วัด เพื่อเป็นผาติกรรม โดยมีพระประสงค์จะให้เป็นที่อยู่ของพระรามัญวัดหนึ่ง เป็นที่อยู่วัดมหานิกายวัดหนึ่ง และเป็นที่อยู่ของวัดธรรมยุตวัดหนึ่ง คือ

๑. ปฏิสังขรณ์วัดขวิด ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ารามัญนิกาย พระราชทานนามว่า “วัดกวิศราราม”

๒. ปฏิสังขรณ์วัดชุมพลนิกายาราม ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายมหานิกาย

๓. ปฏิสังขรณ์วัดเสื่อ ซึ่งร้างอยู่ท้ายพระราชวังจันทรเกษม ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุตนิกาย พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร” เรียกสั้นๆ ว่า “วัดเสนาสน์” คล้อยตามนามเก่าที่ว่า “วัดเสื่อ” ในปี พ.ศ.๒๔๐๖ สิ้นพระ ราชทรัพย์ ๓๐๐ ชั่งเศษ แล้วจึงอาราธนาพระครูพรหมเทพาจารย์ (บุญรอด พฺรหฺมเทโว) ซึ่งเป็นพระธรรมยุตนิกายพร้อมทั้งลูกคณะซึ่งอยู่ ณ วัดขุนญวน อันเป็นวัดที่พระองค์เคยเสด็จประทับในสมัยเมื่อทรงผนวช ให้ย้ายมาอยู่วัดเสนาสนารามแต่นั้นมา นับเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ส่วนวัดขุนญวนซึ่งเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย ปัจจุบันเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดพรหมนิวาส” ซึ่งถ้าจะคำนวณอายุวัด เสนาสนารามฯ นับตั้งแต่การสร้างพระราชวังจันทรเกษม ตราบถึงการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๔ จะมีอายุไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ปี และถ้าคิดเริ่มต้นจากการเป็นวัดเสนาสนารามราชวรวิหารถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๕๒) ก็จะมีอายุถึง ๑๔๖ ปีนับว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติอันยาวนานวัดหนึ่ง

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้ขยายเขตวิสุงคามสีมาให้กว้างออกไป แล้วโปรดฯ ให้สร้างกุฏิหลังละ ๔ ห้อง รวม ๙ หลัง ลงไว้ในที่นั้นด้วย ภายหลังโปรดฯ ให้สร้างขึ้นอีก ๕ หลัง รวมเป็น ๑๔ หลัง และโปรดให้กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป (พระองคเจ้าไชยานุชิต ต้นสกุล ชยางกูร ณ อยุธยา) เป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่และเสนาสนะต่างๆ นอกจากนั้นมีเจ้านายและทายกทายิกาผู้มีจิตศรัทธารับสร้าง ปฏิสังขรณ์เสนาสนะในพระอารามเป็นลำดับ

ปัจจุบัน วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุตนิกาย และมีกฐินพระราชทานเป็นประจำทุกปี ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๒๐ ไร่ และมี ธรณีสงฆ์ต่อจากคูวัดไปทิศตะวันตกอีก ๘๐ ไร่เศษ

อาณาเขตของวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร
- ทิศเหนือ ติดที่ราชพัสดุ
- ทิศใต้ ติดที่ราชพัสดุ
- ทิศตะวันออก ติดพระราชวังจันทรเกษม และเรือนจำ
- ทิศตะวันตก ติดวัดราชประดิษฐาน



พระอินทร์แปลง

พระอินทร์แปลง
พระอินทร์แปลง เป็นพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์เมื่อปี ๒๔๐๑ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงมีถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า...ยังมีพระที่มีชื่อเอามาแต่เมืองเวียงจันทน์อีกสองพระองค์ พระอินแปลง น่าตัก ๒ ศอกเศษ พระอรุณ น่าตักศอกเศษ พระสององค์นี้องค์ที่ออกชื่อก่อนฉันจะรับประทานไปไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม วัดตะเคียนที่ให้ไปสร้างขึ้นไว้ใหม่

วัดมหาพฤฒารามหรือวัดตะเคียนที่ทรงออกชื่อในพระราชหัตถเลขา ว่าจะเชิญพระอินทร์แปลงไปเป็นพระประธานนี้  เป็นวัดเก่าที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงบูรณะเป็นการใหญ่ ตั้งแต่ต้นรัชกาล เล่ากันว่ามูลเหตุมาจากครั้งเมื่อยังทรงผนวชในรัชกาลที่ ๓  เสด็จมาทรงทอดผ้าป่าที่วัดซึ่งขณะนั้นยังมีชื่อว่าวัดท่าเกวียน พระอธิการแก้วเจ้าอาวาสซึ่งมีอายุถึง ๑๐๗ ปีแล้วได้ถวายพยากรณ์ว่า "จะได้เป็นเจ้าชีวิตเร็วๆ นี้"  มีรับสั่งตอบว่า "ถ้าได้ครองแผ่นดินจริงจะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่" เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์จึงทรงบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดท่าเกวียนใหม่ทั้งพระอาราม ซึ่งใช้เวลายาวนานตั้งแต่ปี ๒๓๙๗ จนถึง ๒๔๐๙ เป็นเวลาถึง ๑๒ ปี ส่วนพระอธิการแก้ว  พระราชทานแต่งตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระมหาพฤฒารามตามสมณศักดิ์ของพระอธิการแก้ว

การที่ทรงตั้งพระทัยจะบูรณะวัดตะเคียนอย่างจริงจัง อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรงคิดว่าจะเอา "พระที่มีชื่อ" ไปไว้ แต่จะด้วยเหตุใดไม่แจ้ง ปรากฏว่าโปรดให้ประดิษฐานพระอินทร์แปลงไว้ ณ วัดเสนาสนาราม พระนครศรีอยุธยาแทน

วัดเสนาสนารามเดิมชื่อวัดเสื่อ  เป็นวัดเก่ามีมาสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานว่า มีการบูรณะครั้งหนึ่งในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง  ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาใหม่ทั้งพระอารามในปี ๒๔๐๖ หากพิจารณาช่วงเวลาก็เห็นได้ว่าเมื่อเชิญพระอินทร์แปลงและพระพุทธรูปล้านช้างองค์อื่นๆ ลงมาในปี ๒๔๐๑ นั้นได้

พักพระพุทธรูปดังกล่าวไว้ที่พระนครศรีอยุธยาก่อนขณะนั้นการปฏิสังขรณ์วัดมหาพฤฒารามเพิ่งดำเนินไป ได้เพียง ๔ ปี และยังใช้เวลาต่อไปจากนั้นอีกถึง ๘ ปี จึงแล้วเสร็จ

อนึ่งในระหว่างการก่อสร้างคงมีความไม่สะดวกอยู่มากภายในวัด ดังที่โปรดให้ภิกษุสามเณรย้ายไปอยู่ยังวัดปทุมคงคาชั่วคราว  จึงอาจเป็นเหตุหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ประดิษฐานพระอินทร์แปลงไปเป็นวัดเสนาสนารามที่พระนครศรีอยุธยานั้นเอง ซึ่งก็เป็นวัดที่ทรงปฏิสังขรณ์ใหญ่เช่นกันและแล้วเสร็จก่อนวัดมหาพฤฒาราม หลายปี

พระอินทร์แปลง เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ศิลปะล้านช้าง ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้าง ๒ ศอกเศษ สูงตลอดพระรัศมี ๓ ศอก ๓ นิ้ว (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชิญมาแต่เมืองเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๑) ประดิษฐานบนฐากซุกชี ด้านหลังทำเป็นรูปซุ้มศรีมหาโพธิ์ทำด้วยปูนปั้น เนื่องจากฐานเดิมมีพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ประดิษฐานอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวให้บูรณพระอาราม ไม่อาจจะนำพระอินทร์แปลงวางทับที่เดิม จึงทำซุ้มครอบองค์เดิม แล้วนำพระอินทร์แปลงประดิษฐานไว้ด้านหน้า ส่วนพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์อยู่ในซุ้มด้านหลัง จะไม่มีลิงและช้างคอยอุปัฏฐาก เมื่อไม่มีลิงและช้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จึงทรงให้ช่างเขียนภาพช้างและลิงถูกนายพรานไล่ล่าไปจนหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ในวิหารนี้จึงไม่มีลิงและช้างให้เห็นอีกต่อไป




พระสัมพุทธมุนี พระประธานในพระอุโบสถ

เพดานและท้องคานทับหลังเสาเขียนลายทองรูปดาวล้อมเดือน ในกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมไม้สิบสอง พื้นสีแดง ขื่อและตัวไม้เครื่องบนอื่นๆ เขียนลายทองพื้นสีคราม คานทับหลังหัวเสาเขียนเทพชุมนุมลอยอยู่เต็มท้องฟ้าท่ามกลางกลุ่มเมฆสีขาว ด้านนอกพระอุโบสถมีกำแพงแก้วล้อมรอบ หลังพระอุโบสถตั้งพระเจดีย์องค์ใหญ่รวมไว้ในเขตพัทธสีมา มีใบเสมา หินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมตั้งไว้บนกำแพงแก้วฝาผนังภายในพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน เขียนด้วยเทคนิคสีฝุ่นทั้งสิ้น มีรองพื้น มีทัศนียวิสัย เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน โดยแบ่งฝาผนังออกเป็น ๒ ส่วน คือผนังด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน เหนือเส้นลวดตั้งแต่วงกบประตูหน้าต่างขึ้นไปจรดเพดานและคอสองทั้ง ๒ ข้าง ใต้เพดานด้านหน้าด้านหลังและด้านข้างทั้ง ๔ ด้าน เขียนเป็นระบายทอดลงมาจากเพดาน ใต้ระบายเขียนภาพเทวดาลอยท่ามกลางหมู่เมฆสีขาวเป็นกลุ่มๆ หันหน้าไปทางพระประธาน ส่วนที่ ๒ ตั้งแต่วงกบประตูหน้าต่างใต้เส้นลวดลงมา เป็นภาพระหว่างช่องหน้าต่างและประตูเขียนเล่าเรื่องพระราชพิธี ๑๒ เดือน



พระวิหารพระอินทร์แปลง

พระวิหารพระอินทร์แปลง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาด ๕ ห้อง กว้าง ๒.๕ ห้อง หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบหน้าบันและเครื่องประดับเป็นปูนปั้น มีประตูด้านหน้า ๒ ประตู ตอนกลางระหว่างประตูมีหน้าต่าง ๑ บาน หน้าต่างด้านข้างด้านละ ๔ บาน บานสุดท้ายทางด้านหลังทำเป็นประตูออกข้างผนังด้านหลังติดต่อกับวิหารพระพุทธไสยาสน์ จึงเป็นผนังทึบด้านหน้ามีมุข สร้างสกัดหน้า ทำช่องซุ้มโค้งเป็นประตูหน้าต่าง ทุกซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นถอดพิมพ์ บานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำ ด้านในเขียนสีลายทวารบาล พื้นปูหินอ่อน ยกพื้นขึ้นเป็นอาสนสงฆ์ เพดานปิดทองลายฉลุ รูปดาวล้อมเดือน ตรงกลางผนังด้านหลังสร้างเป็นห้องประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ตอนหน้าของห้องสร้างเรือนแก้ว ประดิษฐานพระประธาน "พระอินทร์แปลง" และพระสาวกยืนถวายสักการะอยู่ทั้ง ๒ ข้าง





จิตรกรรมฝาผนังวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถด้านหลังพระประธาน รอบๆ ซุ้มเรือนแก้วปูนปั้นปิดทอง เขียนภาพเทพชุมนุมหรือเหล่าเทวดานั่งประนมมือสักการะพระพุทธเจ้าพระประธานในพระอุโบสถ ผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพเหล่าเทวดาเหาะลอยอยู่บนก้อนเมฆเต็มผนัง รวมถึงผนังด้านข้างทั้งสองในระดับเหนือหน้าต่างขึ้นไปก็เขียนภาพเทพชุมนุมรูปแบบเดียวกันนี้เช่นกัน ส่วนผนังด้านล่างมุมทั้ง ๔ เขียนภาพปริศนาธรรม และช่องว่างตามช่องหน้าต่างทั้ง ๑๒ ช่อง เขียนเป็นภาพพระราชพิธี ๑๒ เดือน การลำดับเรื่องนี้เริ่มจากผนังทิศเหนือด้านซ้ายของพระประธานแล้ววนไปตามเข็มนาฬิกา ส่วนจิตรกรรมภายในพระวิหารพระอินทร์แปลง ผนังด้านบนเขียนภาพวิทยาธรและเทวดานั่งประนมมือหันหน้าไปทางพระประธานผนังด้านล่างด้านหนึ่งเข้าใจว่าเขียนภาพเรื่องพระอินทร์แปลง ส่วนอีกด้านเขียนเป็นภาพของวัดเสนาสนารามราชวิวิหาร และวัดสำคัญอื่นๆ

จิตรกรรมทั้งภายในพระอุโบสถและพระวิหารเขียนขึ้นพร้อมกันในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๒๗






ฐานเดิมของพระอินทร์แปลง  มีพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ประดิษฐานอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวให้บูรณพระอาราม
ไม่อาจนำพระอินทร์แปลงวางทับที่เดิม จึงทำซุ้มครอบองค์เดิม แล้วนำพระอินทร์แปลงประดิษฐานไว้ด้านหน้า ส่วนพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์
อยู่ในซุ้มด้านหลัง จะไม่มีลิงและช้างคอยอุปัฏฐาก เมื่อไม่มีลิงและช้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) จึงทรงให้ช่าง
เขียนภาพช้างและลิงถูกนายพรานไล่ล่าไปจนหมด เพราะฉะนั้น พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ในวิหารนี้จึงไม่มีลิงและช้างให้เห็นอีกต่อไป




เรือโบราณ เก็บรักษาไว้ที่วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร


ทวารบาล วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร





ขอขอบคุณ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร  ที่มา เรื่อง/ภาพ (บางส่วน)

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 ตุลาคม 2564 14:37:50 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
คำบูชา สมเด็จพระนเรศวร ของ วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
หมีงงในพงหญ้า 1 5130 กระทู้ล่าสุด 27 เมษายน 2555 10:20:43
โดย pinkky
วัดบางกะจะ ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 920 กระทู้ล่าสุด 17 เมษายน 2564 18:14:34
โดย Kimleng
วัดธรรมิกราช ถนนอู่ทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 731 กระทู้ล่าสุด 25 เมษายน 2564 18:43:27
โดย Kimleng
วัดธรรมาราม ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 947 กระทู้ล่าสุด 04 พฤษภาคม 2564 19:55:42
โดย Kimleng
โบราณสถาน วัดเตว็ด ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สุขใจ ไปเที่ยว
Kimleng 0 982 กระทู้ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2564 20:16:45
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.482 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 22 มีนาคม 2567 20:30:22