[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 19:04:12 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปริยทรรศิกา-นาฏิกาสันสกฤต ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย  (อ่าน 1942 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 26 พฤศจิกายน 2564 19:29:26 »


ภาพวาด : ดินสอ 2B + ปากกาลูกลื่นสีดำ

  ปริยทรรศิกา    
นาฏิกาสันสกฤต ของ พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงแปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย
โดยเทียบกับบทเดิมที่เป็นภาษาสันสกฤต และปรากฤต  ซึ่งได้แปลงแล้วจากอักษร
เทวนาครีเป็นอักษรโรมัน เพื่อถ่ายทอดให้ได้ใกล้เคียงความเดิมของผู้แต่งมากที่สุด


อารัมภกถา

นานมาแล้วข้าพเจ้าได้มีความปรารถนาที่จะถอดเรื่องละคอนสันสกฤตเปนภาษาไทย; คือไม่ใช่เพียงแต่อ่านเรื่องของเขาแล้วเอามาแต่งใหม่เปนบทละคอนไทย, อย่างเช่นที่ข้าพเจ้าได้ทำมาแล้วแก่เรื่อง “ศกุนตลา”; และไม่ใช่แปลเอาแต่ใจความแล้วและแต่งเปนรูปใหม่, อย่างเช่นที่ข้าพเจ้าได้ทำมาแล้วแก่ “นโลปาขยาน,” ซึ่งแปลงรูปเปน “พระนลคำหลวง.” ที่ข้าพเจ้าจงใจจะใคร่ทำคือเอาเรื่องละคอนสันสกฤตสุดเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาแปลงเปนภาษาไทย, แต่ให้คงรูปอยู่อย่างเดิมของเขาทุกประการ, ที่ตรงไหนคำพูดเปนร้อยแก้วก็แต่งเปนร้อยแก้ว, ที่ตรงไหนเปนฉันท์ก็แต่งเปนฉันท์บ้าง; ทั้งนี้ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้นักเลงอ่านหนังสือได้รู้ชัดว่า ละคอนสันสกฤตโบราณเขาแต่งกันอย่างไร, แสดงกันอย่างไร.

เผอิญประสพเหมาะ เมื่อต้น พ.ศ.๒๔๖๗ มีปริญญาชาวอินเดีย ชื่อ คุษฎัสป๎ษาห์ ไกขุโษ๎ร นริมัน, ชาติปาร์สี, ได้ส่งหนังสือมาให้ข้าพเจ้าเล่มหนึ่งซึ่งเขาเปนผู้แปลจากภาษาสันสกฤตเปนอังกฤษ, ข้าพเจ้าจับขึ้นพิจารณาดู ได้ความว่าหนังสือนั้นมีจ่าหน้าว่า:

“ปริยทรรศิกา : ละคอนสันสกฤต, โดยหรรษะ, ราชาแห่งอุดรภาคแห่งอินเดียในศตวรรษที่เจ็ดแห่งคริสตศก; แปลเปนภาษาอังกฤษ โดย ค.ก. นริมัน, เลขาธิการกิติมศักดิ์แห่ง ก.ร. จมะ บูรพเทศสถานณบอมเบ; อ.ว. วิลเลียมส์ แจ็คก์สัน, ฟ.ด. ล.ห.ด, ลล.ต., ศาสตราจารย์ในคอลัมเบียมหาวิทยาลัย และ ชาร์ลส๎ จ. อ็อคเด็น, ฟ.ด., เลขานุการติดต่อแห่งสมาคมบูรพเทศอเมริกา.”

ปรากฏอีกด้วยว่าหนังสือนั้นเปนเล่มที่ ๑๐ ในจำพวกหนังสือเรื่องต่าง ๆ เนื่องด้วยยอินเดียและอิหร่าน, ซึ่งคอลัมเบียมหาวิทยาลัย, สหปาลีรัฐอเมริกา จัดการรวบรวมพิมพ์ขึ้น. - เมื่อพิจารณาโดยละเอียดต่อไป ก็ได้ความว่าหนังสือที่กล่าวนี้ เหมาะสำหรับที่ข้าพเจ้าจะใช้ได้สมปรารถนาทีเดียว, กล่าวคือ :-

๑. มีภาคนำแถลงประวัติของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะผู้นิพนธ์เรื่อง, ทั้งแถลงข้อความน่ารู้ต่าง ๆ อันเนื่องด้วยเรื่องนั้นด้วยอีกเปนอันมาก.

๒. มีบทเดิมเปนภาษาสันสกฤตและปรากฤต, ซึ่งได้แปลงแล้วจากอักษรเทวนาครีเปนอักษรโรมัน.

๓. มีคำแปลเปนภาษาอังกฤษกกำกับกันไป, ประโยคต่อประโยค.

คุณสองอย่างข้างท้ายนี้ ข้าพเจ้าสารภาพว่าเปนประโยชน์แก่ข้าพเจ้ามาก, เพราะข้าพเจ้าอ่านอักษรเทวนาครีไม่ได้คล่อง, หรือจะว่าไม่ได้เสียเลยทีเดียวก็ไม่ผิด; ประการที่สอง ข้าพเจ้าไม่รู้ภาษาสันสกฤตและปรากฤตพอที่จะแปลข้อความตรงออกมาเปนภาษาไทยได้, ต้องอาศัยคำแปลภาษาอังกฤษอีกต่อหนึ่ง.

เมื่อข้าพเจ้าได้สารภาพแล้วว่าข้าพเจ้าไม่รู้ภาษาสันสกฤตและปรากฤตเท่าไรนักดั่งนี้ บางทีท่านจะนึกในใจบ้างละกระมังว่า ถ้าเช่นนั้นจะต้องการให้มีภาษาสันสกฤตอยู่ในหนังสือที่จะแปลนั้นด้วยทำไม? จะแปลจากภาษาอังกฤษเท่านั้นมิง่ายกว่าหรือ? จริง, คงง่ายกว่า, แต่คงไม่สามารถแปลให้ใกล้ของเดิมได้เท่าที่มีภาษาสันสกฤตและปรากฤตกำกับอยู่ด้วย ข้าพเจ้าขอแสดงอุทาหรณ์พอให้ท่านแลเห็น.

เช่นเมื่อพบภาษาอังกฤษว่า: “Hail to Your Majesty] !” ดั่งนี้ ถ้าข้าพเจ้ามิได้เห็นภาษาสันสกฤตตรงนี้ ก็คงแปลว่า : “ขอถวายบังคมใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท!” แต่เมื่อได้เห็นภาษาสันสกฤตว่า : “ชยตุ เทวะ” ดั่งนี้แล้ว ก็ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกได้ทันทีว่าควรเขียนทับศัพท์ลงไปเท่านั้นพอแล้ว, ไม่ต้องแปลให้เยิ่นเย้อไปเปล่า ๆ อีกแห่งหนึ่งภาษาอังกฤษมีไว้ว่า : “Hail to Your Honor! May you prosper !” ดั่งนี้, ข้าพเจ้ายังชั่งใจไม่ถูกจนได้เห็นภาษาปรากฤตว่า: “โสตฺถิ ภวโท! วฑฺฒทุ ภวํ!” จึ่งได้ทราบว่าควรแปลว่า : “สวัสดีเถิดเจ้าประคุณ! เจริญเถิดเจ้าข้า!” เมื่อท่านอ่านบทละคอนต่อไป ท่านคงจะสังเกตเห็นได้เอง ว่าการภาษาสันสกฤตและปรากฤตกำกับอยู่นั้น ช่วยให้ข้าพเจ้าถอดเปนภาษาไทยได้สะดวกขึ้นปานไร.

ส่วนภาคนำที่มีอยู่ในสมุมฉะบับภาษาอังกฤษนั้น ข้าพเจ้าได้ใช้เปนประโยชน์ในการเรียบเรียงภาคนำสำหรับหนังสือเล่มนี้. ข้อความที่มีในภาคนำแห่งหนังสือเล่มนี้ โดยมากข้าพเจ้าเก็บเอามาตรงจากหนังสือทุกล่าวแล้วนั้น, เปนแต่ตัดทอนหรือขยายความบ้างบางแห่งเท่านั้น.

ในการถอดบทละคอนเรื่อง “ปริยทรรศิกา” เปนภาษาไทย คำพูดที่เปนร้อยแก้วก็ไม่สู้ยากปานไรนัก, แต่ตอนที่เปนฉันท์ออกจะลำบากอยู่ เพราะในภาษาสันสกฤต เขาบรรจุคำลงให้ถูกคณะฉันท์ได้ง่ายกว่าภาษาไทยเรามาก. ข้อลำบากที่สุดมีอยู่ในเรื่องจะหาลหุให้พอสำหรับแต่งฉันท์เปนภาษาไทย, ฉะนั้น ท่านอ่านเรื่องละคอนนั้นคงจะได้พบฉันท์หลายบทที่อ่านตะกุกตะกักหรือได้ความไม่ค่อยแจ่มแจ้ง, ข้าพเจ้าจึงต้องขออภัยล่วงหน้าไว้.

ในการตรวจใบลองพิมพ์แห่งหนังสือนี้ ต้องการผู้มีความรู้พอทำได้ทั้งภาษาสันสกฤตและภาษาไทย, ข้าพเจ้าจึ่งได้มอบให้เปนธุระของรองอามาตย์โท หลวงธุรกิจภิธาน (ตรี นาคะประทีป, ปเรียญ), และข้าพเจ้าขอขอบใจหลวงธุรกิจภิธานในที่นี้ด้วย.


<รามวชิราวุธ ปร>
พระที่นั่งบรมพิมาน, ในพระบรมมหาราชวัง.
วันที่ ๒๙ มกราคม, พ.ศ.๒๔๖๗



ภาคนำ
ตอนที่หนึ่ง

ว่าด้วยประวัติและรัชชสมัยของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ

หลายร้อยปีก่อนรัชชสมัยของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ ได้มีประวัติการสำคัญทางรัฐประศาสน์และบ้านเมืองในภารตวรรษ (อินเดีย), ซึ่งเปนการเปลี่ยนแปลง, ก่อใหม่, รุ่งเรือง, และเสื่อม, ตามลำดับแห่งการผลัดราชวงศ์และผู้ทรงอำนาจ ความมุ่งหมายของผู้ที่ก่อใหม่ย่อมมีอยู่เหมือนกัน, กล่าวคือการรวบรวมราชอาณาจักรให้เปนปึกแผ่น โดยประดิษฐานอำนาจปกครองใหญ่ขึ้นในอุดรเทศแห่งภารตวรรษ, และถ้าสามารถจะทำได้, ก็แผ่เผยความปกครองลงไปถึงทักษิณเทศด้วย. ความรุ่งเรืองขึ้นในทางอำนาจแห่งพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะในศตวรรษที่สิบสองแห่งพุทธศกนั้น ก็เปนตัวอย่างอันหนึ่งแห่งความมุ่งหมายก่อราชอาณาจักรอย่างที่ว่ามาแล้ว, และรัชชสมัยของขุนหลวงองค์นั้นนับว่าเปนยุคสำคัญยุคหนึ่งในตำนานแห่งภารตวรรษ.

ตำนานแห่งภารตวรรษก่อนรัชชสมัยของพระเจ้าศรีหรรษเทพนั้น จะกล่าวแต่โดยย่อพอเปนสังเขป, จำเดิมแต่เมื่อเริ่มราชอาณาจักรที่หนึ่ง คืออาณาจักรของกษัตร์วงศ์เมารยะ (โมระ),  พ.ศ.๒๒๑, ซึ่งมีพระเจ้าจันทรคุปต์ (จันทคุตต์) กับพระเจ้าอโศกเปนพระเจ้าจักรพรรดิราชาธิราชผู้ทรงเกียรติศักดิ์ยิ่งในราชวงศ์นั้น. ในยุคต่อนั้นลงมา ได้เกิดมีราชอาณาเขตต์ขึ้นเปนหลายราย, มีกษัตร์หลายวงก็ได้แก่งแย่งผลัดกันขึ้นเปนใหญ่, กษัตร์วงศ์โยนกและปาร์ถิยาผู้ทรงราชย์ทางชายแดนภาคพายัพเปนต้น, จนได้มีพวกกุษาณ, หรือส๎คิถิยา - Scythian ยกเข้าไปช่วงชิงอำนาจและได้ถืออำนาจไว้ได้จนถึงยุคแห่งพระเจ้ากนิษกะ(กนิกฺกะ) จักรพรรดิราชในศตวรรษที่หกแห่งพุทธศก. ต่อนั้นมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปอีกจนถึงประมาณ พ.ศ.๘๖๓, เมื่อความเปนใหญ่ในอุดรเทศแห่งภารตวรรษได้ตกไปอยู่ในมือแห่งกษัตร์ราชวงศ์คุปตะ ซึ่งรักษาไว้ได้กว่าร้อยปี. ยุคแห่งคุปตะกษัตร์นั้นแลเปนยุครุ่งเรืองแท้จริงแห่งภารตวรรษ, เปนยุคสำคัญแห่งวรรณคดีสันสกฤต, มีกาลิทาสเปนรัตนกวีผู้มีเกียรติคุณยวดยิ่ง. ความเสื่อมแห่งอำนาจของราชวงศ์คุปตะได้เริ่มมีเมื่อราว พ.ศ.๙๙๘, เพราะความรุกราญแห่งชนชาติหูนะ, หรือฮั่น, ซึ่งทำให้บังเกิดมีความจลาจลยิ่งขึ้น และคงยุ่งเหยิงอยู่อีกราวร้อยปี, พวกคนป่าเหล่านั้นจึ่งได้ถูกขับออกไปพ้นภารตวรรษ. กิจการขั้นท้ายที่ทำให้ชนชาติหูนะต้องล่าถอยไปนั้น เพราะได้ปราชัยพ่ายแพ้แก่พระราชบิดาและพระเชษฐาของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ ส่วนพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะได้เปนผู้ก่อมหาราชอาณาจักรขึ้นใหม่ในอุดรเทศแห่งภารตวรรษ.

พระเจ้าศรีหรรษเทพ, หรือเรียกโดยเต็มว่าศรีหรรษวรรธนเทพ, เปนเชื้อกษัตร์สืบสันตติวงค์ต่อเนื่องกันลงมาหลายชั้นแล้ว, พระอัยยิกาทางฝ่ายพระบิดาเปนเจ้าหญิงราชตระกูลคุปตะ กษัตร์แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าศรีหรรษเทพนั้นใช้นาม “วรรธนะ” เปนนามสำหรับตระกูล.

พระบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าประภากรวรรธนะ, ทรงราชย์ประมาณตั้งแต่ พ.ศ.๑๑๒๗ ถึง ๑๑๔๘, เปนราชาผู้ใฝ่สูงในทางอำนาจ, เสวยราชย์ณกรุงสถาเนศวร (ฮินดูสตานิเรียก ฐาเนศร), ได้กระทำศึกมีชัยชำนะกษัตร์ผู้ครองแคว้นใกล้เคียงในดินแดนภาคปรัศจิมและพายัพหลายคราว, ซึ่งเปนเหมือนก่อรากสำหรับสถาปนาราชอาณาจักรขึ้นใหม่แทนที่ราชอาณาจักรของคุปตะกษัตร์. ราชกิจอันท้ายของพระเจ้าประภากรวรรธนะในทางสงครามคือได้ส่งพระโอรสองค์ใหญ่, ทรงนามว่าราชยวรรธนะ (ผู้มีชนมายุแก่กว่าหรรษวรรธนะสี่ปี), ไปรบพวกหูนะที่ยังคงเหลืออยู่บ้างทางชายแดนภาคพายัพ. ใน พ.ศ.๑๑๔๘ นั้นเอง พระเจ้าประภากรวรรธนะได้เสด็จทิวงคต.

พระเจ้าราชยวรรธนะ, ผู้มีพระชนมายุราว ๑๙ พรรษา, ได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สนองพระองค์พระราชบิดา. กิจการบั้นต้นแห่งพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นี้คือกระทำงานสงครามต่อพระเจ้านคร าลวา, ผู้ที่ได้ปลงพระชนมชีพพระสวามีแห่งพระภคินีของพระเจ้าราชยวรรธนะ และจับพระองค์พระภคินี, ผู้มีพระนามว่าราชยศรี, ไปกักไว้ณกรุงกันยากุพชะ, ซึ่งในปัจจุบันนี้เรียกว่า “กะเนาช.” ในงานสงครามครั้งนี้พระเจ้านครมาลวาปราชัย; แต่เมื่อเสร็จการยุทธ์ครั้งสุดท้ายแล้ว, และกำลังเจรจาปรึกษาการหย่าศึกอยู่นั้น, ท้าวศศางกะ, ผู้ครองแคว้นพังคะ, ผู้เปนสัมพันธมิตรของพระเจ้ามาลวา, ได้ปลงพระชนมชีพพระเจ้าราชยวรรธนะเสียโดยอาการทุจริต. ฝ่ายพระนางราชยศรีหนีรอดได้จากกันยากุพชะ และไปซ่อนเร้นอยู่ในดงวินธยะ.

อมาตย์ทั้งปวงในกรุงสถาเนศวรจึ่งพร้อมกันอัญเชิญพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ, ซึ่งในเวลานั้นมีพระชนมายุได้ราว ๑๖ หรือ ๑๗ พรรษา, ขึ้นทรงราชย์ณเดือนอัศวยุชมาส (อัสสยุชมาส), คือตุลาคม, พ.ศ.๑๑๔๙; และในภารตวรรษนับวันนี้เปนวันเริ่มแห่งศักราชที่เรียกว่า “ หรรษสํวัตสร.” ในต้นรัชชสมัยนี้, จะเปนด้วยเหตุไรไม่ปรากฏชัด (จะเปนด้วยถือว่าเปนผู้สำเร็จราชการแทนพระโอรสของพระเชษฐา, หรือเพราะถือว่าทรงราชย์ร่วมกันกับพระภคินีก็ไม่แน่), พระเจ้าศรีหรรษเทพหาได้ใช้พระนามว่าราชาไม่, แต่คงใช้พระนามของพระองค์ว่า “ พระศีลาทิตยกุมาร.”

ราชกิจอันเร่งร้อนที่สุดของพระศีลาทิตยกุมารนั้น คือการติดตามหาพระภคินีกลับคืน พระนางนั้นได้มีผู้ตามพบที่ในดงวินธยะในขณะเมื่อตกระกำลำบากมากจนแทบจะไม่คงครองพระชนมชีพเสียแล้ว. ครั้นเมื่อได้กลับคืนสู่พระนครสถาเนศวรโดยสวัสดิภาพแล้ว, พระนางราชยศรีก็ได้ปฏิบัติพระอนุชาด้วยความภักดียิ่ง, และได้โน้มน้าวพระหฤทัยของพระอนุชาให้ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา, ซึ่งพระนางเองทรงถือมั่นอยู่แล้ว. ยังมีกรณียะอีกอย่างหนึ่งซึ่งพระศีลาทิตยกุมารได้ทรงกระทำ, คือลงโทษท้าวศศางกะผู้ได้ปลงพระชนมชีพพระเชษฐา. ตามตำนานไม่ปรากฏข้อความพิสดารเรื่องสงครามที่พระเจ้าศรีหรรษเทพได้กระทำต่อท้าวศศางกะ, คงปรากฏแต่ว่าเมื่อ พ.ศ.๑๑๖๒ ท้าวศศางกะยังคงครองแว่นแคว้นอยู่, แต่ต่อนั้นมา แว่นแคว้นนั้นได้มารวมอยู่ในราชอาณาจักรของพระเจ้าศรีหรรษเทพ. บางทีจะเปนด้วยท้าวศศางกะได้ยอมอ่อนน้อมเปนข้า จึ่งรอดชีวิตและไม่ถูกถอดก็เปนได้, แต่ก็หาหลักฐานประกอบมิได้. ข้อความที่รู้แน่มีอยู่คือ พระเจ้าศรีหรรษเทพนั้น, พอได้ทรงราชย์แล้วก็ได้เริ่มดำเนินพระราโชบายในทางที่จะแผ่อำนาจในอุดรเทศแห่งภารตวรรษโดยกระทำศึกหลายคราว. นักประพันธ์จีนผู้หนึ่งชื่อฮ่วนจวง, ซึ่งได้ไปสู่การตวรรษเพื่อบูชาพระบรมธาตุแห่งพระพุทธเจ้า ณ ที่ต่าง ๆ, ได้กล่าวไว้ว่า “พระองค์ได้เสด็จผ่านจากตะวันออกไปตะวันตก ทรงบำราบบรรดาผู้ไม่อ่อนน้อม; บรรดาช้างมิได้แก้เครื่อง, และบรรดาทหารก็มิได้เปลื้องเกราะเลย.” ความชำนะแห่งพยุหแสนยากรอันใหญ่หลวงและเก่งกาจยิ่งของพระองค์นั้นให้ผลภายในหกปีนับแต่เมื่อได้ขึ้นทรงราชย์. คือพระเจ้าศรีหรรษเทพได้สามารถประกาศพระองค์เปนสมเด็จพระมหาราชาธิราชทรงอำนาจบริบูรณ์เมื่อ พ.ศ.๑๑๕๕

ต่อแต่นี้ไป กิจการสำคัญในรัชชสมัยของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ, ซึ่งเปนเวลายืนนานถึงสามสิบปีเศษ, ก็มีการรบ, การจัดบ้านเมือง, และการรักษาความสงบ พระองค์ได้ทรงมุ่งหมายจะ แผ่ราชอาณาจักรลงไปถึงทักษิณเทศด้วย, ตามแบบแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ์องค์ก่อน ๆ แต่ในความพยายามอันนี้, เมื่อราว พ.ศ.๑๑๖๓ พระองค์ได้แพ้พระเจ้าปุลเกศินที่สอง, กษัตร์จา,กยะผู้ครองแคว้นมหาราษฏร์ณภาคตะวันตกแห่งทักษิณเทศ. เท่าที่มีมาในตำนาน การพยายามของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะที่จะแผ่อาณาออกไปนอกเส้นเขาวินธยะและแม่น้ำนรรมทาครั้งนั้น เปนครั้งเดียวที่พระองค์ต้องปราชัย. ในอุดรเทศ, เว้นแต่แคว้นปัญจาป, พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะคงเปนพระมหาราชาธิราชโดยเต็มที่, มีท้าวพระยาถึงสิบแปดนครเปนเมืองออก, กับมีท้าวภาสกรวรมันแห่งแคว้นกามรูป (ซึ่งในปัจจุบันนี้เรียกว่า “อัสสัม”) ทางปลายแดนภาคตะวันออกแห่งภารตวรรษ, และท้าวธรุวภัฏ หรือธรุวเสน, แห่งแคว้นวลภี (อีกนัยหนึ่งเรียกว่าคูชระราษฏร์) ทางปลายแดนภาคตะวันตก, เปนเจ้าประเทศราชส่งบรรณาการอีกด้วย. งานราชสงครามสุดท้ายของพระเจ้าศรหรรษวรรธนะ คือการยกไปที่แคว้นคัญชาม (หรือโกงโคทะ) ชายทะเลอ่าวเบ็งคอล ทิศใต้แม่น้ำมหานทีลงไป เมื่อ พ.ศ.๑๑๘๕-๑๑๘๖ ก่อนทิวงคตสี่ปี. แต่จะได้มีงานศึกย่อย ๆ ภายหลังนั้นอีกหรือไม่ก็ไม่ปรากฏ

ในรัชชสมัยอันยืนยาวของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะนั้น ใช่จะได้มีแต่การทำศึกและชิงเมืองเท่านั้นก็หามิได้ แต่ได้มีการวางระเบียบปกครองในราชอาณาจักรที่เผยแผ่ออกไปเปนลำดับนั้น ด้วยได้ย้ายพระนครหลวงจากสถาเนศวรไปตั้งที่กรุงกันยากุพชะริมฝั่งแม่น้ำคงคา, ซึ่งได้เปนเมืองอันรุ่งเรืองขึ้นเปนอย่างยิ่งในสมัยโน้น (แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันนี้รกร้างเสียจนแทบบอกไม่ได้ว่าตั้งอยู่ณแห่งไรแน่ เพราะได้ถูกข้าศึกทำลายเสียในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดแห่งพุทธศก). ในรัชชสมัยของพระเจ้าศรีหรรษเทพนั้น ได้บำรุงการศึกษาขึ้นโดยทั่วราชอาณาจักร, เพราะพระเจ้าศรีหรรษเทพนั้นทรงรู้สึกอยู่ดีว่า พระเกียรติยศจะปรากฎอยู่ทั่วกาลนานได้โดยมีกวีประดิษฐานกวีนิพนธ์ขึ้นแทนอนุสสาวรีย์, ดีกว่าคำจารึกยอพระเกียรติในแผ่นโลหะหรือศิลา. การศึกษาของพระองค์เองเปนอย่างดี, และมิใช่แต่เพียงเปนผู้อุปถัมภ์กวี, ทั้งได้ทรงนิพนธ์เองด้วย.

ในทางศาสนา พระเจ้าศรีหรรษเทพก็ได้ทรงประสาทเสรีภาพโดยทั่วไป, มิได้เลือกสนับสนุนศาสนาหนึ่งและรังแกอีกศาสนาหนึ่ง. ทั้งนี้น่าจะเปนประเพณีในพระราชวงศ์นั้น, เพราะปรากฏว่าพระราชบิดาทรงบูชาทั้งพระอิศวรและพระสวิตฤ (คือพระอาทิตย์), พระเชษฐาและพระภคินีทรงถือพระพุทธศาสนา. ส่วนพระองค์เองทรงไหว้พระอิศวร พระสวิตฤ. และพระรัตนตรัยด้วย. แต่ในตอนปลาย ๆ พระชนมายุออกจะทรงฝักใฝ่ในทางพระพุทธศาสนามากกว่าลัทธิไสยศาสตร์. ข้อนี้มีปรากฏชัดอยู่ในจดหมายเหตุของฮ่วนจวง, ผู้ได้ไปอยู่ในภารตวรรษถึงแปดปีตั้งแต่ พ.ศ.๑๑๗๘ ถึง ๑๑๘๖, โดยมากอยู่ภายในราชอาณาจักรของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ, และในเมื่อจวน ๆ จะกลับไปเมืองจีน ได้รับประจุคมอย่างดีที่ราชสำนักของพระมหาราชาธิราชองค์นั้น

ฮ่วนจวงผู้นี้ได้กล่าวถึงงานมหาสันนิบาตซึ่งพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะได้กระทำเมื่อ พ.ศ.๑๑๘๖. ในงานนี้มีท้าวพระยาเมืองขึ้นทั้งสิบแปดเมือง อีกทั้งพระเจ้านครกามรูปและพระเจ้านครวลภีผู้เปนเจ้าประเทศราช, ไปช่วยด้วย. งานนั้นเริ่มที่กรุงกันยากุพชะก่อน, แล้วย้ายไปมีที่เมืองประยาค, ซึ่งตั้งอยู่ตรงที่แม่น้ำยมุนาไหลลงบรรจบแม่น้ำคงคา, และซึ่งในปัจจุบันนี้เรียกว่าเมืองอัลลาหยัด. งานได้มีอยู่ถึงสองเดือนกึ่ง. ในวันที่หนึ่งแห่งงานที่ประยาคนั้น ได้มีงานฉลองพระพุทธรูป, วันที่สองฉลองเทวรูปพระอาทิตย์, และวันที่สามฉลองเทวรูปพระอิศวร. ต่อนั้นมีทรงบริจจาคทานแก่ผู้ถือศีลและไร้ทรัพย์, ทั้งพุทธศาสนิก, ทั้งพวกถือไสยศาสตร์, ทั้งพวกนิร์ครนถ์, ซึ่งได้พากันไปเปนหลายพัน, จนพระราชทรัพย์ได้จับจ่ายไปหมดสิ้น, คงเหลือไว้แต่พอสำหรับจับจ่ายในการปกครองราชอาณาจักรเท่านั้น. เมื่อถึงที่สุดแห่งงาน พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะทรงรับผ้าห่มเก่าผืนหนึ่งจากพระหัตถ์แห่งพระภคินี แล้ว และเอาไปทรงเพื่อแสดงว่าพระองค์เปนผู้ไร้ทรัพย์ส่วนพระองค์สิ้นแล้ว. งานที่ฮ่วนจวงกล่าวถึงนี้เปนงานที่กระทำเปนครั้งที่หก, เปนงานอันมีกำหนดทำห้าปีต่อครั้ง.

ในปลายรัชชสมัย พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะเปนอันได้มีเวลาสงบบ้าง ตลอดรัชชกาล พระองค์ได้แสดงพระอภินิหารทั้งในทางการศึก, ทั้งในทางรัฏฐประศาสน์, ปรากฏว่าเปนบรมราชาธิราชผู้ทรงพระเดชานุภาพประกอบกับพระเมตตาการุณยภาพอย่างเลิด. ในที่สุดได้ทรงรับความสำราญสงบพระหฤทัยเช่นเดียวกันกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกมหาราช, คือทรงเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาและทรงยินดีในการบำเพ็ญพระราชกุศลเนืองนิตย์. จนสาธุชนออกพระนามว่าพระเจ้าธรรมิกราช. ครั้นถึงพ.ศ.๑๑๙๐ พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะมหาธรรมิกราชาธิราชเสด็จทิวงคต. พอสิ้นพระองค์ไปแล้ว ก็บังเกิดการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจกันภายในราชอาณาจักร ซึ่งนับว่าได้สิ้นลงพร้อมกับพระชนมชีพของพระองค์ผู้ทรงก่อขึ้น.


-----------------------------
 เมื่อใดท่านอ่านพบนามที่เขียนเปนสองอย่างเช่นนี้, ขอจงเข้าใจนามนอกวงเล็บเขียนอย่างสันสกฤต, ในวงเล็บเขียนอย่างมคธ.



ตอนที่สอง

ว่าด้วยการที่พระเจ้าศรีหรรษเทพทรงเปนกวีและบำรุงกวี.
(ก) กล่าวถึงกวิราชในภารตวรรษ.


พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงอุปถัมภ์บารุงกวีและนักประพันธ์นั้นหาไม่ยาก, แต่พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเปนกวีและนักประพันธ์เองด้วยนั้นหายากอยู่ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแต่กษัตร์ในภารตวรรษโดยจำเพาะ.

นับจไเดิมแต่พระเจ้าวิศวามิตรมหาราชฤษั, ผู้ทรงนิพนธ์บทสวดเปนอันมากในพระฤคเวท, ลงมาจนถึงพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะนี้ เปนเวลาหลายพันปี. การที่จะพรรณนาออกพระนามกวิราชหลายพระองค์ระหว่างเวลานั้นเปนอันพ้นวิสัยแน่แท้. แต่พอจะกล่าวได้แน่อย่างหนึ่งว่าในภารตวรรษมิได้สิ้นกวีเลย, และบรรดากุลบุตรผู้ได้รับความศึกษาอบรมดี ย่อมจะแต่งกาพย์เปนทั้งนั้น. ในข้อนี้มีพะยานปรากฏอยู่ในหนังสือโบราณต่าง ๆ ซึ่งชาวภารตวรรษได้แต่งขึ้น, คือไม่ว่าจะแต่งเรื่องอะไร เขามักแต่งเปนกาพย์ทั้งหมดหรือมีกาพย์เรืออยู่ในคำร้อยแก้วเสมอ.

บัดนี้จะยกอุทาหรณ์แสดงถึงกวิราชแห่งภารตวรรษบางองค์, ตามที่มีนามปรากฏในตำนาน.

พระเจ้าสมุทรคุปต์, ราชวงศ์คุปตะ, ซึ่งเสวยราชย์เปนมหาราชาธิราชราว พ.ศ.๘๗๓ ถึง ๙๑๘, เปนผู้ทรงเชี่ยวชาญในทางดนตรีและขับร้อง กับเปนกวีมีเกียรติคุณไม่น้อยด้วย. แม้หนังสือที่เปนพระนิพนธ์ของพระราชาพระองค์นี้มิได้มีเหลืออยู่เลยก็จริง, แต่มีอักษรจารึกไว้ว่า พระองค์ทรงมีพระนามอย่างหนึ่งว่า “กวิราช,” และแสดงเหตุผลไว้ว่า:

“วิทฺวชฺชโนปชีวฺยาเนกกาวฺยกฺริยาภิะ ปฺรติษฺฐิตกวิราชศพฺทสฺย,” แปลว่า : “โดยเหตุที่พระองค์ได้ทรงก่อกาพยการขึ้นหลายอย่างอันอาจเปนทางบำรุงชีพแห่งชนผู้กอบด้วยวิทยานั้นเอง อันคำเรียกพระองค์ท่านว่ากวิราชจึงได้มีเปนของเที่ยงแท้ขึ้น.”

พระเจ้าศรีวิกรมาทิตย์จันทรคุปต์ที่สอง, ผู้เปนพระราชโอรสสืบราชสันตติวงศ์ต่อพระเจ้าสมุทรคุปต์ (ทรงราชย์ประมาณ พ.ศ.๙๑๘๙ ถึง ๙๕๖), และพระเจ้ากุมารคุปต์ที่หนึ่ง ผู้เปนพระราชนัดดา (ทรงราชย์ประมาณ พ.ศ.๙๕๖ ถึง ๙๙๘) ก็ปรากฎว่าเปนผู้โปรดอุปถัมภ์บารุงกวี, และกาลิทาสรัตนกวีได้เฟื่องฟูขึ้นในยุคนี้.

ส่วนพระราชาผู้ปรากฎพระนามว่าได้ทรงเปนกวีเองก็มีหลายองค์; เช่นเรื่องนาฏกะชื่อ “มฤจฺฉกฏิกา” (“เกวียนดิน”) ก็มีข้อความกล่าวไว้ในบทเบิกโรงว่าเปนพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าศูทรกะ, ซึ่งเปนพระราชาที่ยังทราบไม่ได้แน่นอนว่าเปนใคร, แต่คงต้องเปนคนสำคัญอยู่, เพราะมีนามปรากฏว่าเปนสภาบดีในสภากวี, มีนามกล่าวควบอยู่กับพระราชาอื่น ๆ โดยลำดับคือ วาสุเทพ, ศาตวาหน, ศูทรกะ และสาหสางกะ. ทั้งสี่นี้กวีชื่อราชเศขร (ราว พ.ศ.๑๔๔๓) ได้สรรเสริญไว้ในหนังสือชื่อ “กาวฺยมีมำสา” ว่าเปนกวิราชซึ่งควรถือเปนตัวอย่างอันดี.

เนื่องด้วยราชาสี่องค์นี้, ศาสตราจารย์ แจ็คก์สันและดอกเตอร์ อ็อคเด็นแสดงเปนวิจารณ์ไว้ว่า, พระเจ้าวาสุเทพ จะมุ่งถึงพระราชาองค์ที่หนึ่งในพระราชวงศ์กาณฺวะ, ราวศตวรรษที่สี่แห่งพุทธศก, หรือจะมุ่งถึงพระเจ้าวาสุเทพที่หนึ่ง (ทรงราชย์ราว พ.ศ.๖๘๓ ถึง ๗๒๑) หรือราชาองค์ใดองค์หนึ่งในพระราชวงศ์กุษาณ. พระเจ้าศาตวาหน น่าจะมุ่งถึงพระราชาองค์ที่มีนามปรากฏอยู่ในหนังสือ “กถาสรตฺสาคร;” หรือบางทีจะองค์เดียวกับพระเจ้าศรีหาลเทพแห่งอันธรราษฏร์, ซึ่งนิยมกันว่าเปนผู้ทรงพระนิพนธ์เรื่อง “หาลสปฺตศตี,” ราวศตวรรษที่หกแห่งพุทธศก. ส่วนพระเจ้าศรีสาหสางกะเทพนั้น มีผู้สันนิษฐานว่าคือพระเจ้าศรีวิกรมาทิตย์เอง; แต่มีข้อความแห่งหนึ่งในหนังสือ “กาวฺยมีมำสา” แสดงว่า พระเจ้าศาตวาหนทรงครองนครกุนตละในทักษิณเทศ, และพระเจ้าสาหสางกะทรงครองนครอุชชยินี.

ส่วนพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะเปนอัจฉริยบุคคลอันควรสังเกต, โดยเหตุที่เปนทั้งพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเดชานุภาพใหญ่ยิ่ง, ทั้งเปนผู้อุปถัมภ์กวี, และเปนกวีเองด้วย, ดั่งจะได้แสดงต่อไปข้างหน้า. ยังมีพระราชาอีกองค์หนึ่งในยุคเดียวกัน, คือพระเจ้ามเหทรวิกรมวรมัน, ผู้ครองปัลลวราษฏร์, ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องละคอนขัน เรียกว่า “มัตตวิลาส.” พระเจ้ายโศวรมัน, ผู้ทรงราชย์ณกรุงกันยากุพชะ (ราว พ.ศ.๑๒๗๘) และซึ่งเปนผู้อุปถัมภ์ภวภูติรัตนกวี, ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องละคอนชื่อ “รามาภยุทัย,” กับมีฉันท์อีกหลายบทที่ยังมีอยู่. ในหลักศิลาจารึกของพระเจ้าชัยเทพแห่งเนปาลราษฏร์ (ในศตวรรษที่สิบสามแห่งพุทธศก), มีฉันท์อยู่แปดบท ซึ่งเปนของพระราชาองค์นั้นทรงพระนิพนธ์เอง. มีข้อความกล่าวไว้ว่ากษัตร์องค์หนึ่งแห่งวงศ์กลจุรี, มีพระนามว่ามายุราช (ใน ศตวรรษที่สิบสามหรือสิบสี่แห่งพุทธศก), ได้ทรงแต่งละคอนเรื่องหนึ่ง ชื่อ “อุทาตฺตราฆว,” แต่หามีใครพบหนังสือไม่. พระเจ้าอโมฆวรรษที่หนึ่ง ผู้ทรงราชย์ในทักษิณเทศเมื่อ พ.ศ.๑๓๕๘ ถึง ๑๔๑๐, บางทีจะได้ทรงเปนกวีเองด้วย, และได้เปนผู้อุปถัมภ์กวีนั้นแน่นอน. พระราชาผู้เปนกวีและเปนผู้อุปถัมภกวีด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่อยู่ที่พระเจ้ามุญชะ (พ.ศ.๑๕๑๗ ถึง ๑๕๓๘), กับพระเจ้าโภชะ (ต้นแห่งศตวรรษที่สิบหกแห่งพุทธศก), พระนามแห่งพระราชาทั้งสององค์นี้มีปรากฏควบอยู่กับพระนามแห่งพระเจ้ ศรีหรรษวรรธนะ และพระเจ้าศรีวิกรมาทิตย์, ในหนังสือชื่อ “อุทยสุนฺทรีกถา” ของกวีชื่อโสฑฺฒล (ในศตวรรษที่สิบหกแห่งพุทธศก), ว่าเปนตัวอย่างแห่งพระเจ้าแผ่นดินและกวินทร์ด้วย. ต่อลงมาอีก, ในศตวรรษที่สิบเจ็ดแห่งพุทธศก, มีหลักฐานแน่นอนว่ามีพระราชาอีกองค์หนึ่ง ซึ่งได้ทรงแต่งเรื่องละคอน, คือพระเจ้าวิครหะราชเทพ, แห่งนครศากัมภรีในแคว้นราชปุตานะ. ในอักษรจารึกภาษาสันสกฤต, ซึ่งได้มีผู้ค้นพบที่อาชมีร์, ประกอบด้วยพระราชานุมัติ และปรากฏว่าจารึกใน พ.ศ.๑๖๙๖ มีบางท่อนแห่งบทละคอนเรื่องชื่อ “หรเกลินาฏก” เปนคำร้อยแก้วกับฉันท์, ซึ่งทรงพระนิพนธ์เอง. พระเจ้าอรชุนวรมัน, ปรมารราช, ซึ่งทรงราชย์ในศตวรรษที่สิบแปดแห่งพุทธศก, ได้ทรงพระนิพนธ์คัมภีร์ชื่อ “รสิกสัญชีวนี” เปนอรรถกถาแห่งคัมภีร์อมรุศตก; และในหนังสือนี้ได้กล่าวถึง “พระชนกมุญชราช.”

นอกจากหนังสือภาษาสันสกฤต ยังมีหนังสือภาษาอื่นซึ่งพระราชาในภารตวรรษได้ทรงพระนิพนธ์. “ท้าวตีมูรลัง, ซึ่งได้ตีกรุงเฑลหิเมอ พ.ศ.๑๙๔๑, และเปิดทางให้กษัตร์วงศ์มุฆัล (ชาติตุรกีจากประเทศตุรกิสตาน) ได้เปนราชาธิราชในภารตวรรษ, ได้นิพนธ์ประวัติของพระองค์เองเปนภาษาตุรกีและอิหร่าน. พระเจ้าบาบรมมหาราช, ประถมกษัตริยราชวงศ์มุฆัลซึ่งเปนราชาธิราชในภารตวรรษ, ได้ทรงพระนิพนธ์ประวัติของพระองค์เอง, และทรงพระนิพนธ์ดีทั้งร้อยแก้วและกาพย์, ทั้งภาษาตุรกีและภาษาอิหร่าน. พระปนัดดา, ผู้ทรงพระนามว่าพระเจ้าชหางคีร์ และซึ่งชนมักเรียกกันว่า “มหามุฆัล” ก็ได้ทรงแต่งประวัติของพระองค์เหมือนกัน.

ตั้งแต่โบราณสมัยมาจนทุกวันนี้ ชาวภารตวรรษย่อมนิยมกันว่า พระราชาธิบดีต้องทรงมีอภินิหารในกิจการทุกอย่าง, และการประพันธ์เปนอภินิหารอย่างหนึ่ง อันพึงปรารถนา, จึงมักมี ข้อความเช่นนั้นอยู่ในคำยอพระเกียรติพระราชาธิบดี ความนิยมในข้อนี้ก็ได้เผยแผ่มาถึงเมืองไทยเราบ้างเหมือนกัน, จึ่งมีผู้นิยมยกยอพระเกียรติแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเปนกวีเองหรือทรงอุปถัมภ์กวีและนักปราชญ์เสมอมา.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 พฤศจิกายน 2564 19:33:45 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 26 พฤศจิกายน 2564 19:40:12 »

.


(ข) กล่าวถึงพระเจ้าศรีหรรษเทพในหน้าที่กวี.

ต่อนี้จะแสดงหลักฐานว่า พระเจ้าศรีหรรษเทพเปนกวี. ตามที่ได้แสดงมาแล้ว, พระราชาธิบดีที่เปนกวีก็ได้เคยมีมาหลายองค์, ทั้งก่อนและภายหลังยุคของพระเจ้าศรีหรรษเทพ, ฉะนั้น ดูก็ไม่น่าจะสงสัยว่าพระเจ้าศรีหรรษเทพก็อาจเปนกวีได้เท่ากัน. พยานคนแรกที่เราจะอ้างณที่นี้ คือ กวีผู้มีนามว่าพาณะ.

พาณะผู้นี้เปนกวีซึ่งอยู่ในพระราชูปถัมภ์และประจำอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ. ในหนังสือชื่อ “หรรษจริต” แสดงประวัติของพระราชาธิบดีองค์นั้น, พาณะได้กล่าวไว้สองแห่งถึงความทรงชำนาญในกาพย์ประพันธ์. ในคำนำซึ่งแต่งเปนโศลกยี่สิบเอ็ดบท, พาณะกล่าวถึงกวีต่าง ๆ จนถึงที่สุด (ในโศลกที่สิบแปด) จึ่งกล่าวถึง “อาฒยราช” (“ราชาผู้มั่งมี”) พระองค์ผู้ทรงอุปถัมภ์ตนเองนั้น, ว่าเปนกวีเลิดผู้หนึ่ง ดังมีข้อความตามภาษาสันสกฤตว่า :

“อาฒยราชกฤโตตฺสาไหรฺ หฤทยสฺไถะ สฺมฤไตรปฺ I
“ชิหฺวานฺตะ กฤษฺยมาเณว ณ กวิตฺเว ปฺรวรฺตเต II”

แปลว่า : “ลิ้นของข้าพเจ้านี้ดูชะงักไปไม่อาจพูดเพราะพระอุตสาหะนั้น ๆ ซึ่งพระเจ้าอาฒยราชได้ทรงกระทำมาแล้ว แม้เมื่อเปนแต่เพียงที่จำได้ว่าฝังอยู่ในใจของข้าพเจ้า, และ (ลิ้น) ไม่สามารถจะกล่าวกาพย์ต่อไป (ให้เพียงพอ).”

ในโศลกที่ยี่สิบเอ็ด พาณะออกพระนามพระเจ้าศรีหรรษเทพโดยตรง, แล้วจึ่งแต่งเปนร้อยแก้วแถลงประวัติบนต้นของพระราชาธิบดีองค์นั้น. ในตอนที่เปนร้อยแก้วนั้นมีข้อความแสดงไว้โดยแจ่มแจ้งถึงสองแห่ง, ว่าพระเจ้าศรีหรรษเทพเปนกวีผู้ปรีชายิ่ง. แห่งหนึ่ง, เมื่อแสดงถึงพระคุณสมบัติของพระเจ้าศรีหรรษเทพ, พาณะกล่าวว่า: “อปิ จาสฺย….กวิตฺวสฺย วาจะ….น ปริยาปฺโต วิษยะ,” มีความว่า: “ความทรงชำนาญในเชิงกาพย์แทบจะไม่มีถ้อยคำพอที่จะแสดงได้;” อีกแห่งหนึ่ง พาณะกล่าวถึงการที่พระราชาธิบดีองค์นั้นทรงแต่งข้อความอันแปลก, ว่าดั่งนี้: “กาวฺยกถาสฺวปีตมมฤตมุทฺวมนฺตมฺ,” มีความว่า: “พระองค์ทรงรินอมฤตอันมิได้ดื่ม (มาจากแห่งอื่น) ลงในทั้งกาพย์และร้อยแก้ว.”

ยังมีพะยานอื่น ๆ ที่อาจอ้างได้อีก. รายหนึ่ง คือนักประพันธ์จีนผู้ถือพระพุทธศาสนาอีกคนหนึ่งชื่ออิเช็ง, ผู้ที่ได้ไปอยู่ในภารตวรรษหลายปี, เขียนข้อความปรากฏว่า ได้จากประเทศจีนไปตั้งแต่ พ.ศ.๑๒๑๔ ถึง ๑๒๓๘. ในจดหมายเหตุของอิเช็งนี้มีข้อความกล่าวไว้ว่า: “พระเจ้าศีลาทิตย์โปรดหนังสือยิ่งนัก;” และกล่าวด้วยว่า, นอกจากได้มีพระดำรัสสั่งให้รวบรวมกาพย์เปนอันมาก “พระเจ้าศีลาทิตย์ได้ทรงนิพนธ์กาพย์เรื่องพระชีมูตวาหนโพธิสัตว์, ซึ่งได้ยอมสละพระองค์แทนนาคตนหนึ่ง; กาพย์นี้ได้จัดเข้าเครื่องดนตรีและเครื่องเป่า, พระองค์ได้โปรดให้ชนพวกหนึ่งเล่นเรื่องนี้ ประกอบด้วยการฟ้อนรำทำท่า ซึ่งทำให้มีผู้รู้จักเรื่องนั้นมากในยุคของพระองค์.” ข้อความนี้คือกล่าวถึงนาฏกะภาษาสันสกฤตชื่อ “นาคานนท์,” ซึ่งปรากฏอยู่ว่าเปนพระนิพนธ์ของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ,

อีกรายหนึ่งคือกวีชื่อทาโมทรคุปต์, ผู้อยู่ในพระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าชยาปีฑะ, ผู้ทรงราชย์ในแควนกาษมีร์ (พ.ศ.๑๓๔๓), ได้กล่าวอ้างถึงข้อความบางตอนจากเรื่อง “รัตนาวลี,” ซึ่งกล่าวว่าเปนพระนิพนธ์ของพระราชาธิบดีพระองค์หนึ่ง. (“รัตนาวลี” เปนพระนิพนธ์ของพระเจ้าศรีหรรษเทพ)

ยังมีพยานอีกรายหนึ่ง คือกวีผู้ชื่อโสฑฺฒล, ซึ่งได้ออกนามมาแล้วข้างบนนี้ ในหนังสือของโสฑฺฒล มีข้อความกล่าวไว้เปนคำฉันท์วสันตดิลกดั่งนี้ว่า :

“ศฺรีหรฺษ อิตฺยวนิวรฺติษุ ปารฺถิเวษุ
“นามฺไนว เกวลมชายต วสฺตุตสฺ ตุ I
“คีรฺหรฺษ เอษ นิชสํสทิ เยน ราชฺญา
“สมฺปูชิตะ กนกโกฏิศเตน พาณะ II”

“แปลว่า : “ในหมู่เจ้านายซึ่งมีอยู่ในแผ่นดินนั้น ได้เกิดมีขึ้นองค์หนึ่งซึ่งเรียกกันโดยพระนามว่าศรีหรรษะ; แต่แท้จริงพระองค์นั้นเปนคีรหรรษะ (คือ “มีถ้อยคำอันทำให้เกิดความหรรษา”) ในที่ชุมนุมของพระองค์ เปนพระราชาผู้บูชาพาณะด้วยทองร้อยโกฏิ์.”

นอกจากนี้ยังหาหลักฐานได้อีกคล้ายกัน, เช่นพระเจ้าชัยเทพแห่งเนปาลราษฏร์, ซึ่งได้กล่าวถึงแล้วข้างบนนี้, ได้ควบพระนามของพระเจ้าศรีหรรษเทพกับภาสะและกาลิทาสรัตนกวีด้วย, กับพาณะและมยูรด้วย กับกวีชื่อโจระด้วย. กวีอีกคนหนึ่งชื่อ มธุสูทนะ (พ.ศ.๒๓๙๗) ออกพระนามพระราชาธิบดีองค์นั้นว่า :

“มาลวราชสฺโยชฺชยินีราชธานีกสฺย กวิชนมูรฺธนฺยสฺย รตฺนาวลฺยาขฺยนาฏิกากรฺตุรฺ มหาราชศฺรีหรฺษสฺย.”

แปลว่า : “พระมหาราชศรีหรรษะ, ผู้เปนใหญ่ในกวีทั้งหลาย, ผู้ทรงแต่งนาฏิกาเรื่องรัตนาวลี, ผู้เปนมาลวราช, มีกรุงอุชชยินีเปนราชธานี.”

ในหนังสือรวบรวมกาพย์ต่าง ๆ, ชื่อ “สุภาษิตรตฺนภาณฺฑาคาร” มีฉันท์อยู่บทหนึ่ง ซึ่งออกพระนามพระเจ้าศรีหรรษเทพอยู่ในจำพวกกวีหลายคน, “ผู้ที่ได้กระทำให้โลกนี้บันเทิงด้วยกาพย์ของเขาทั้งหลาย.”

นอกจากหลักฐานที่ได้แสดงมาแล้วข้างบนนี้ ยังมีข้อความปรากฏอยู่ในแผ่นทองแดงจารึกอีกสองแผ่น, แผ่นหนึ่งเรียกว่า “พันสเขระบัฏ” (พ.ศ.๑๑๗๑) ซึ่งมีพระราชหัตถเลขาของพระเจ้าศรีหรรษเทพเอง; กับอีกแผ่นหนึ่งเรียกว่า “มธุพันบัฏ” (พ.ศ.๑๑๗๓), ซึ่งไม่มีพระราชหัตถเลขากำกับ. พระอภิไธยที่มีกำกับอยู่ในพันสเขระบัฏนั้น มีข้อความแสดงไว้แจ่มแจ้งว่า “สฺวหสฺโต มม มหาราชาธิราชศฺรีหรฺษสฺย,” แปลว่า: “ลายมือของเราเอง มหาราชาธิราชศรีหรรษะ,” และลายพระหัตถ์นั้นงามและแสดงว่าได้ทรงศึกษาอย่างดีจริง. อักษรจารึกในแผ่นทองแดงทั้งสองนี้ว่าด้วยการยกที่ดินประทาน, เห็นได้ว่าพระราชาองค์นั้นได้ทรงพระนิพนธ์เอง, มีข้อความแสดงเปนร้อยแก้วประกอบกับฉันท์, เปนของที่ควรสังเกตอยู่ทั้งสองแผ่น.

ฉันท์บทหนึ่ง, คณะศารฺทูลวิกฺรีฑิต (สทฺทุลวิกฺกีฬิต), กล่าวถึงการที่พระเจ้าราชยวรรธนะผู้เปนพระเชษฐา ได้เสียพระชนมชีพเพราะความทุจริตแห่งศัตรู, และน่าเชื่อว่าเปนพระนิพนธ์ของพระเจ้าศรีหรรษเทพเอง. ฉันท์อีกบทหนึ่ง, คณะวสนฺตติลกา (วสันตดิลก), กล่าวถึงความโชคดีว่าไม่เที่ยงเปรียบเหมือนฟ้าแลบหรือฟองน้ำ, สอนเชื้อพระวงศ์และคนอื่น ๆ ให้ช่วยประพฤติให้การบำเพ็ญทานของพระองค์เปนไปสมพระราชประสงค์, ต่อฉันท์บทนี้มีข้อความเปนโศลกว่า:

“กรฺมณา มนสา วาจา กรฺตวฺยมฺ ปฺราณิเน หิตมฺ) I
“หรฺเษไณตตฺ สมาขฺยาตํ ธรฺมารฺชนมนุตฺตมมฺ II

แปลว่า: “ด้วยความประพฤติ, ใจ, และวาจา, เราควรจะทำประโยชน์แก่ผู้ที่มีชีวิตอยู่; ข้อนี้แล พระเจ้าหรรษะได้ตรัสว่าเปนหนทางอันประเสริฐสุดที่จะได้รับผลดียิ่งในทางธรรม.”

คำจารึกในแผ่นทองแดงทั้งสองนี้เปนพะยานหลักฐานอีกอย่างหนึ่งว่าพระเจ้าศรีหรรษเทพทรงเปนกวีผู้เชี่ยวชาญ.

แต่หลักฐานที่เปนพยานสำคัญที่สุด เพื่อแสดงความสามารถของพระเจ้าศรีหรรษเทพในเชิงประพันธ์ คือเรื่องละคอนสามเรื่อง, คือ “ปรียทรรศิกา,” “รัตนาวลี” และ “นาคานนท์.” ในตอนเบิกโรงทั้งสามเรื่อง มีข้อความแสดงไว้ชัดเจน ว่าเปนพระนิพนธ์ของพระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ, นอกจากนี้ยังมีถ้อยคำคล้ายคลึงหรือเหมือนกันในเรื่องละคอนทั้งสามเรื่องนั้น, ซึ่งแสดงว่าคนเดียวกันแต่ง, จริงอยู่ ได้มีผู้กล่าวอยู่บ้างว่าเรื่องละคอนทั้งสามนั้น, หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยจำเพาะ, เปนฝีปากของกวีอื่นซึ่งอาศัยพระนามพระเจ้าศรีหรรษเทพ, และได้รับบำเหน็จรางวัลมาก ๆ ด้วย. แต่คำพูดเช่นนี้ย่อมมีผู้กล่าวไม่จำเพาะแต่ในภารตวรรษ, เพราะมีบุคคลบางคนไม่ใคร่เต็มใจจะเชื่อเลยว่า พระราชาธิบดีอาจมีความสามารถในทางแต่งหนังสือ. แต่ว่านักปราชญ์ทั้งชาวภารตวรรษเองและชาวยุโรป, ได้พิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้วและลงเนื้อเห็นว่าควรเชื่อได้ว่า พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะเปนนักประพันธ์และกวีจริง, และได้ทรงแต่งละคอนสามเรื่องนั้นจริง.


-----------------------------
 ที่กล่าวว่าอุชชยินีเปนราชธานีของพระเจ้าศรีหรรษเทพนั้นผิด, เพราะที่แท้ราชธานีคือสถาเนศวรก่อน, แล้วย้ายไปอยู่ที่กันยากุพชะ.


ตอนที่สาม

ว่าด้วยเรื่องกาละเวลาในเรื่อง “ปรียทรรศิกา.”

ในสมุดนี้เรากล่าวถึงจำเพาะเรื่อง “ปรียทรรศิกา,” ฉะนั้นควรพิจารณาในส่วนกาละเวลาที่สมมตว่ากิจการในเรื่องนี้ได้ดำเนินไปแต่ต้นจนจบ. ก่อนอื่นขอชี้แจงว่า ตามตำรับละคอนสันสกฤตมีข้อบังคับ​อยู่ข้อหนึ่งว่า เหตุการณ์ที่จะแถลงในเรื่องละคอนต้องให้เปนไปภายในหนึ่งปี. ถ้าสามารถจะแต่งให้เปนเช่นนั้นได้. ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” นี้ ผู้แต่งจัดการให้เปนไปตามข้อบังคับนั้นได้อย่างไร ควรพิจารณาดู.




เนื้อเรื่อง “ปรียทรรศิกา” สรุปโดยย่อมีดั่งต่อไปนี้:-

ปรียทรรศกา, ซึ่งในนาฏิกานั้นออกนามว่าอารัณยกา, เมื่อรุ่นสาวได้ถูกพามายังราชสำนักแห่งพระเจ้าอุทัยน์ (หรืออุเทน) ณ กรุงเกาศามพี (โกสัมพี), และพระเจ้าอุทัยน์ทรงฝากไว้ให้พระนางวาสวทัตตาทรงเลี้ยงจนกว่าจะมีอายุควรออกเรือน. ต่อมาพระเจ้าอุทัยน์รักกับนางนั้น, ซึ่งทำให้พระนางวาสวทัตตาหึงและเอาตัวนางนั้นขังไว้, จนปรากฏขึ้นว่าอารัณยกาคือปรียทรรศิกา, บุตรีของท้าวทฤฒวรมัน, จึ่งได้พ้นจากลูกคุมขัง. ท้าวทฤฒวรมันนั้น, เมื่อปีหนึ่งก่อนนั้นได้ถูกท้าวกลิงค์จับเปนชะเลยไป, บุตรีซึ่งหนีจากเมืองของบิดาจึ่งได้ถูกจับเอามาที่กรุงเกาศามพี: พระเจ้าอุทัยน์ได้ส่งกองทัพไปรบท้าวกลิงค์และช่วยท้าวทฤฒวรมันให้ได้กลับสู่บ้านเมือง. เมื่อข้อความปรากฏขึ้นเช่นนี้, ปรียทรรศิกาก็ได้เปนมเหสีของพระเจ้าอุทัยน์, ตามที่ท้าวทฤฒวรมันได้ยกให้ไว้แล้วแต่เมื่อก่อนถูกจับ.

ต่อนี้จะได้พิจารณาดูกาละที่ล่วงไปเปนลำดับในเรื่อง “ ปรียทรรศิกา.”

วิษกัมภก. (ตอนนำ) - ท้าวทฤฒวรมันได้ตกลงแล้วว่าจะยกปรียทรรศิกาให้แก่พระเจ้าอุทัยน์, ในตอนนำนี้ วินัยวสุ, ผู้เปนกัญจุกิน ​(กรมวัง) ของท้าวทฤฒวรมันออกคนเดียวและแถลงเรื่องว่า ท้าวกลิงค์ได้จับท้าวทฤฒวรมันไปเปนชะเลย เพราะท้าวทฤฒวรมันได้ยกพระบุตรีให้แก่ท้าวอุทัยน์, ในขณะเมื่อท้าวกลิงค์ยกทัพไปตีแว่นแคว้นของท้าวทฤฒวรมันนั้น ท้าวอุทัยน์กำลังตกอยู่เปนชะเลยของท้าวมหาเสนประโท๎ยต, แต่ท้าวอุทัยน์ได้หนีรอดมาได้แล้ว และได้พานางวาสวทัตตา, ราชบุตรีของท้าวประโท๎ยต, หนีมาเสียได้ด้วย. ตามคำพูดของวินัยวสุปรากฏต่อไปว่า ตนได้พานางปรียทรรศิกาไปฝากไว้แก่ท้าววินอยเกตุในกลางดง, แต่เผอิญได้มีข้าศึกไปโจมตีท้าววินธยเกตุ และนางปรียทรรศิกาหายไป, วินัยวสุมิรู้ที่จะไปตามหาแห่งไร, จึ่งตกลงใจว่าจะตามไปอยู่กับเจ้านายของตนที่ถูกท้าวกลิงค์จับไป.

ตามถ้อยคำบั้นท้ายของกัญจุกินนั้นปรากฏว่า เวลานั้นเปนฤดูสารท, และพระอาทิตย์กำลังจะยกจากราศีกันย์ขึ้นสู่ราศีดุล.

เวลาล่วงไปหลายวันระหว่างวิษกัมภกกับองค์ที่หนึ่ง. ข้อนี้สังเกตได้ในคำพูดหลายแห่ง. แห่งหนึ่งในคำพูดของวิทูษกมีกล่าวถึงการที่ท้าวทฤฒวรมันถูกจับไปเปนชะเลย. ต่อนั้น พระเจ้าอุทัยน์กล่าวว่า “หลายวันมาแล้ว” ได้ส่งวิชัยเสนไปรบท้าววินธยเกตุ. วิชัยเสนกลับมาในต้นองก์ที่หนึ่ง, และปรากฏในคำพูดว่าได้รีบเดินทัพไป “สามวัน” จึ่งถึงที่วินธยเกตุอยู่. วันกระทำยุทธ์คือวันที่ปรากฏในวิษกัมภกนั้นเอง. ในการยกทัพกลับคงจะต้องกินเวลาอีกเท่า ๆ กับที่ยกไป, ฉะนั้น คงต้องเปนเวลาราว สามวันเปนอย่างน้อยระหว่างวิษกัมภกกับองก์ที่หนึ่ง.

องก์ที่หนึ่ง. - พอเริ่มพระเจ้าอุทัยน์ก็ออก, และวิชัยเสนกลับมาถึงและเข้าเฝ้า, วิชัยเสนนำหญิงสาวมาด้วยคนหนึ่ง ซึ่งสำคัญว่าเปน​ลูกสาวของท้าววินธยเกตุ พระเจ้าอุทัยน์มอบตัวนางสาวนั้นให้ไปอยู่กับพระนางวาสวทัตตา, และสั่งไว้ว่าเมื่อใดอารัณยกามีอายุสมควรจะออกเรือนได้ก็ให้พระนางทูลเตือน. เมื่อท้ายองก์นี้, เมื่อตัวละคอนกำลังเตรียมจะเข้าโรง, ปรากฏว่าเปนเวลาเที่ยง. ท้าวอุทัยน์จะให้มีงานทำขวัญวิชัยเสน, ซึ่งจะส่งไปรบกับท้าวกลิงค์อีก.

เวลาแห่งองก์ที่หนึ่ง: ก่อนเที่ยงวันหนึ่ง ในฤดูสารท.

เวลาล่วงไปหนึ่งปีเต็ม ๆ ระหว่างองก์ที่หนึ่งกับที่สอง ข้อนี้สังเกตได้หลายประการ, ข้อสำคัญคือในองก์ที่สี่มีคำพูดปรากฏว่าท้าวทฤฒวรมันได้ถูกจับไปเปนชะเลยอยู่ได้ปีกว่าแล้ว. เวลาปีกว่าที่ล่วงไปนี้จะเอาแทรกเข้าแห่งไหนไม่ได้นอกจากในระหว่างองก์ที่หนึ่งกับที่สอง, เพราะในระหว่างองก์ที่สองกับที่สาม หรือระหว่างองก์ที่สามกับที่สี่ไม่มีเวลาเยิ่นเลย, เรื่องเดินติดต่อกันเรื่อยทีเดียว. ในองก์ที่สองปรากฏว่า พระนางวาสวทัตตาตรัสแก่ข้าหลวงว่าจะต้องทูลเตือนพระเจ้าอุทัยน์เรื่องนางปรียทรรศิกาออกเรือนตามที่ทรงสั่งไว้. อนึ่งในองก์นี้ ตัวละคอนพูดกันก็สังเกตได้ว่า ในเวลานั้นกำลังเปนหน้าฝนแห่งฤดูสารท. นอกจากนี้ในองก์ที่สามซึ่งเรื่องเดินติดต่อกับองก์ที่สองไปทีเดียว มีกล่าวถึงนักษัตรฤกษ์เกามุที. ซึ่งมีณวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด. ฉะนั้น จึ่งสันนิษฐานว่า ระหว่างองก์ที่หนึ่งกับที่สอง เวลาล่วงไปหนึ่งปีเต็มๆ.

องก์ที่สอง. - ต้นองก์ที่สอง พระนางวาสวทัตตายังอยู่ในระหว่างการถือบวชตามแบบกุลสตรี, พระเจ้าวัตสราชกำลังว้าเหว่. เวลาบ่าย​จวนพลบ เผอิญพระเจ้าวัตสราชได้ไปพบกับนางอารัณยกาและเกิดรักกัน เมื่อพูดกันแล้วและจากกันไป ตะวันกำลังจะตก.

เวลาแห่งองก์ที่สอง: บ่ายจวนพลบวันหนึ่ง.

เวลาล่วงไปไม่นานนักระหว่างองค์ที่สองกับที่สาม. ข้อนี้สังเกตได้โดยคำพูดหลายแห่ง, ดังผู้อ่านจะสังเกตได้เอง.

องก์ที่สาม. - เริ่มเวลาเย็นวันมีงานนักษัตรฤกษ์เกามุที, เมื่อมีละคอนในละคอน “ครรภนาฏกะ”), วันนั้นปรากฏว่าร้อนจัด และพลบแล้วจึงได้ลงมือเล่นละคอน, กว่าจะจบองค์ที่สามก็ถึงเวลานอนแล้ว เพราะปรากฏตามคำพูดของพระเจ้าวัตสราชว่าจะไปนอน.

เวลาแห่งองค์ที่สาม : เวลาหัวค่ำวันหนึ่ง

เวลาล่วงไปไม่นานนักระหว่างองค์ที่สามกับที่สี่ ข้อนี้สังเกตได้โดยคำพูดหลายแห่ง เช่นเดียวกับในองค์ที่สี่

องก์ที่สี่. - ในประเวศกะแห่งองค์นี้ได้ความตามคำพูดว่าเวลาได้ล่วงมาแล้วปีกว่า ตั้งแต่ท้าวทฤฒวรมันได้ถูกท้าวกลิงค์จับไป. ในกลาง ๆ องก์ที่สี่ พระเจ้าวัตสราชพูดว่าได้รับข่าวจากวิชัยเสน “หลายวันมาแล้ว” ว่าท้าวกลิงค์อาจจะแพ้ “ในวันนี้หรือพรุ่งนี้” ปรากฎว่าการสงครามนั้นกินเวลานาน. แล้ววิชัยเสนก็กลับมาถึงในองค์ที่สี่นั้นเอง, พร้อมด้วยวินัยวสุ, ซึ่งจำนางอารัณยกาได้ว่าเปนนางปรียทรรศิการาชบุตรีแห่งเจ้านายของตน, และทูลให้พระนางวาสวทัตตาทราบ, ปรียทรรศิกาก็เปนอันได้เปนมเหสีของพระเจ้าวัตสราช. เหตุการณ์ทั้งปวงได้เปนไปภายในหนึ่งปี ตามกำหนดในตำรับละคอนสันสกฤต, ส่วนเหตุการณ์​ในองก์หนึ่ง ก็ดำเนินไปแล้วเสร็จภายในวันเดียว, ถูกต้องตามตำรับเหมือนกัน.


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 พฤศจิกายน 2564 19:41:54 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 04 ธันวาคม 2564 20:01:24 »

.


ตอนที่สี่

ว่าด้วยท้าวอุทัยนวัตสราช.

ท้าวอุทัยน์ (อุเทน) วัตสราชเปนพระเอกในเรื่องละคอนปรียทรรศิกา, ฉะนั้น ควรจะกล่าวถึงประวัติและกิจการของท้าวนั้นโดยสังเขป พอให้ผู้อ่านรู้ว่าพระเอกในเรื่องละคอนที่จะอ่านรู้ว่าพระเอกในเรื่องละคอนที่จะอ่านต่อไปนี้คือใคร.

ในพงศาวดารแห่งภารตวรรษ ท้าวอุทัยนี้มีนามปรากฏในคัมภีร์พวกปุราณะว่าเปนกษัตร์องค์หนึ่งในราชวงศ์โปรพ (สํ. “เปารว”), ซึ่งสืบสันตติวงศ์เนื่องลงมาจากพระอรชุน, ปาณฑพกษัตร์องค์ที่สาม และเปนมหาวีรบุรุษแห่งเรื่อง “มหาภารต.” โปรพกษัตร์นั้น ๆ เดิมก็ทรงราชย์อยู่ณกรุงหัสตินาปุระ, ต่อเมื่อกรุงนั้นถูกน้ำท่วมแล้ว จึ่งได้ย้ายไปอยู่ณกรุงเกาศามพี (โกสัมพี), ในคัมภีร์วิษณุปุราณปรากฏลำดับกษัตร์โปรพจันทรวงศ์ จำเดิมแต่ท้าวปุรุผู้เปนโอรสองค์เล็กของท้าวยยาตี. กษัตร์จันทรวงศ์ที่สืบสกุลจากท้าวยยาตีนี้แบ่งเปนสองสาขา, คือ ยาทพ (สํ. “ยาทว”) ผู้เปนเชื้อสายของท้าวยทุโอรสองค์ใหญ่ของท้าวยยาตีหนึ่ง, โปรพ ผู้เปนเชื้อสายของท้าวปุรุหนึ่ง. โปรพกษัตร์เดิมทีได้ทรงราชย์ณกรุงประดิษฐาน, แล้วจึงย้ายไปอยู่กรุงหัสตินาปุระ, แล้วย้ายไปอยู่กรุงเกาศามพี. โปรพกษัตร์ได้มี นามในตำนานและเรื่องละคอนหลายองค์, เช่นทุษยันต์เปนพระเอกในเรื่องนาฏกะของกาลิทาส​เรียกว่า “อภิชฺานศากุนฺตล” (คือเรื่องศกุนตลา ที่ข้าพเจ้าได้เคยแปลงเปนบทละคอนไทยแล้วนั้น) เปนต้น. ในคัมภีร์มหาภารตก็ออกนามวีรกษัตร์ปาณฑพทั้งห้า, คือยุธิษเฐียร, ภีมะ, อรชุน, สหเทพ, และนกูล. เมื่อยุธิษเฐียรมหาราชมีชัยในมหาภารตยุทธ์และได้ครอบครองหัสตินาปุระนานแล้ว, และเบื่อหน่ายโลกออกสู่ป่า, ได้มอบราชสมบัติให้แด่ท้าวปรีกษิต, ผู้เปนโอรสของพระอรชุนกับพระนางกฤษณา, ต่อจากท้าวปรีกษิตนี้ มีลำดับกษัตร์ตามที่ปรากฏในวิษณปุราณดั่งต่อไปนี้ :-

๑. ปรีกฺษิต
๒. ชนเมชัย
๓. ศตานีกะ (ที่หนึ่ง)
๔. อัศวเมธทัตต์
๕. อธิสีมะกฤษฺณะ
๖. นิจักรุ
๗. อุษฺณะ
๘. จิตระรถ
๙. วฤษฺณิมัต
๑๐. สุเษณ
๑๑. สุนีถะ
๑๒. ฤจะ
๑๓. นฤจักษุษ
๑๔. สุขาพล
๑๕. ปริปฺลวะ
๑๖. สุนัย
๑๗. เมธาวิน
๑๘. นฤปัญชัย
๑๙. มฤทุ
๒๐. ติคฺมะ
๒๑. พฤหัทรถ
๒๒. วสุทาน
๒๓. ศตานีกะ (ที่สอง)
๒๔. อุทัยนะ

ในพระวินัยปิฎกจุลลวัคค์ ปัญจสติกักขันธก, หน้า ๓๕๗, มีข้อความกล่าวถึงท้าวอุเทน, ว่าเมื่อเสร็จสังคายนาที่กรุงราชคหะแล้ว พระอานนทเถระเจ้าได้ไปยังกรุงโกสัมพี เพื่อลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะภิกขุ, และได้แสดงพระธรรมเทศนาให้อันเตปุริกราชนารีฟัง, และได้ทูลอธิบายเรื่องจีวรให้ท้าวอุเทนเข้าพระหฤทัยด้วย. ดั่งนี้เปนอันปรากฏว่าท้าวอุเทนได้มีพระชนม์อยู่เมื่อครั้งพุทธกาล, ฉะนั้นเปนกษัตร์ยุคเดียวกันกับพระเจ้าอชาตศัตรุแห่งมคธราษฏร์, และพระเจ้าประโท๎ยตแห่งอวันตีราษฏร์. ในโคปกโมคคัลลานสูตร, มัชฌิมนิกาย, อุปริปัณณาสก์ หน้า ๘๕, มีข้อความว่า: “ณสมัยนั้นพระเจ้ามคธราษฏร์, อชาตศัตรุผู้เปนโอรสแห่งเจ้าหญิงแคว้นวิเทห, (กำลังตกแต่งกรุงราชคหะใหม่, เพราะมีความระแวงพระเจ้าปัชโชต.” พระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จไปยังกรุงโกสัมพีหลายครั้ง, และพระบาลีกล่าวถึงตำบลต่างๆที่กรุงนี้หลายตำบล, มีโฆสิตารามเปนอาทิ. ในอังคุตตรนิกาย กล่าวถึงแว่นแคว้นของท้าวอุเทน ออกนามว่า “วํสชนปท” (สํ.วตฺส), และนับว่าเปน “ มหาชนบท” หนึ่งในจำพวกมหาชนบทสิบหก. ในจุลลวัคค์ ปัญจสติกักขันธก แห่งวินัยปิฎก หน้า ๓๕๘, มีกล่าวถึงท้าวอุเทนสนทนากับท้าวอันเตปุริกราชนารี, ในภารทวาชสูตร, สํยุตตนิกาย, สฬายตนวัคค์ หน้า ๑๓๗, มีกล่าวถึงท้าวอุเทนมีปุจฉาถามพระปิณโฑลภารัทวาชเรื่องการปฏิบัติพรหมจรรย์. ในอุทานะขุททกนิกาย หน้า ๑๖๖, ​มีกล่าวถึงไฟไหม้วังในของท้าวอุเทนและนางในตายในไฟห้าร้อยคน. ประวัติการของท้าวอุเทนมีแถลงได้โดยพิศดารในพระอรรถกถาแห่งพระธรรมบท, กับมีบางตอนกล่าวไว้โดยย่อในอรรถกถาแห่งมัชฌิมนิกาย เรียกว่า “ปปฺจะสูทนี,” ตติยภาคหน้า ๓๐๐ - ๓๐๒. ในชาดกก็มีกล่าวถึงท้าวอุเทนกับท้าวจัณฑปัชโชต.

แต่พระเจ้าศรีหรรษเทพ, ถึงแม้เปนผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็จริง, ในเมื่อแต่งเรื่องละคอนก็หาได้ดำเนินความตามเค้าเรื่องในพระบาลีไม่. ประวัติการของท้าวอุทัยน์ได้เคยมีอยู่ในหนังสือสันสกฤตก่อนยุคของพระเจ้าศรีหรรษเทพแล้ว, ดั่งปรากฏอยู่ในข้อความในเรื่องละคอนของพระราชาองค์นั้นเอง, กับในเรื่องละคอนชื่อ “ สฺวปฺนวาสวทตฺต กับ “ปฺรติชฺาเยาคนฺธรายณ” ของภาสะรัตนกวี, กับในตำรับชื่อ “เกาฏิลียอรฺถศาสฺตฺร” กับ “มหาภาษฺย” ของปตัญชลี, อีกทั้งมีข้อความกล่าวถึงในเรื่องละคอนชื่อ “มฤจฺฉกฏิกา” ของพระเจ้าศูทรกะ และ “เมฆทูต” ของกาลิทาส

เรื่องท้าวอุทัยน์ที่มีโดยพิศดารที่สุด, และที่คนรู้จักกันมากที่สุด, ปรากฏอยู่ในหนังสือ “กถาสริตฺสาคร” ของโสมเทพ, ซึ่งแต่งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๖๐๖ ถึง ๑๖๒๔. นัยว่าหนังสือนี้ได้แต่งย่อความมาจากหนังสือโบราณชื่อ “พฤหัตกถา,” ซึ่งกวีผู้มีนามว่าคุณาฒฺยะได้แต่งไว้เปนภาษาไปศาจีปรากฤต, แต่นักปราชญ์ฝรั่งเศสชื่อลาโคตแสดงวิจารณ์ไว้ว่า แท้จริงหนังสือ “กถาสริตฺสาคร” เปนหนังสือที่แปลงรากฉะบับเดิมอันเปนภาษากาษมีร์.

เรื่องท้าวอุทัยน์ใน “กถาสริตสฺาคร”
​ตามข้อความใน “กถาสริตฺสาคร” มีอยู่ว่าพระเจ้าอุทัยน์เปนพระนัดดาของพระเจ้าศตานึกะและเปนโอรสของพระเจ้าสหัสรานีกะ ผู้ทรงราชย์ณกรุงเกาศามพีในวัตสราษฏร์. เมื่อพระนางมฤคาวดี มเหสีของพระเจ้าสหัสรานีกะ. ทรงพระครรภ์อยู่นั้น, พระนางได้ถูกนกอินทรีใหญ่ตัวหนึ่งคาบเอาไปทิ้งไว้บนยอดเขาอุทัยบรรพต, และณที่นี้พระฤษีชมทัคนีไปพบจึ่งพาไปเลี้ยงไว้, และพระนางประสูติพระกุมารผู้มีนามว่าอุทัยน์. อยู่มาวันหนึ่ง พระอุทัยน์กุมารออกไปเที่ยวป่า, ได้เห็นนาดตัวงามตัวหนึ่งอยู่ในมือหมองู, จึงขอถ่ายชีวิตนาคนั้นโดยให้กำไลอันหนึ่ง, ซึ่งมีพระนามพระเจ้าสหัสรานีกะจารึกอยู่, แก่หมองู. นาคตัวนั้นซึ่งมีนามว่า วสุเนมิ, เปนพี่ชายของท้าววาสุกินาคราช, จึ่งสมณาคุณพระอุทัยน์กุมารโดยให้พิณหนึ่งอันกับให้พรให้มีวิทยาอาคมพิเศษต่าง ๆ. ส่วนกำไลที่พระอุทัยน์กุมารให้แก่หมองูนั้น ได้ไปถึงพระหัตถพระเจ้าสหัสรานีกะ, พระราชาองค์นั้นจึ่งออกไปรับพระมเหสีกับพระราชโอรสกลับคืนไปยังกรุงเกาศามพี. เมื่อถึงกรุงแล้ว พระเจ้าสหัสรานีกะได้ทรงพระอภิเษกพระอุทัยน์กุมารให้เปนพระยุพราช, และจัดหาพี่เลี้ยงประทานสามคน, คือ วสันตกะ บุตรพระสหายสนิท, รุมัณวันต์ บุตรเสนาบดี (แม่ทัพ) และเยาคันธรายณ บุตรมหาอมาตย์มนตรี; ครั้นเมื่อพระชนมายุย่างเข้าปัจฉิมวัย พระเจ้าสหัสรานีกะก็เวนราชสมบัติให้แด่พระอุทัยน์กุมาร.

ครั้นเมื่อได้ขึ้นทรงราชย์แล้ว, พระเจ้าอุทัยน์พอพระหฤทัยในความเพลิดเพลินต่างๆ, มีอาทิคือการไล่สัตว์ในป่า, และโปรดล่อช้างโดย​ดีดพิณที่มีนามว่าโฆษวดี. เธอมีพระหฤทัยจะใคร่ได้เจ้าหญิงวาสวทัตตา, ราชบุตรของท้าวจัณฑมหาเสนประโท๎ยต, ผู้ครองกรุงอุชชยินี (อุชฺเชนี), กับพระนางอังคารวดี. แต่โดยเหตุที่มีข้อบาดหมางกันอยู่ในทางการเมือง, การส่งทูตไปขอเจ้าหญิงนั้นจึ่งไม่เปนผลสำเร็จ. ฝ่ายท้าวจัณฑมหาเสนคิดกลอุบายที่จะจับท้าวอุทัยน์ไปเปนชะเลย. เธอทราบอยู่ว่าท้าวอุทัยน์ชอบการไล่สัตว์, เธอจึงให้สร้างรูปช้างยนตร์ขึ้นตัวหนึ่ง เอาพลรบซ่อนได้เต็มในพุงช้างนั้น, แล้วให้เอาเข้าไปไว้ในดงวินธยะ. ท้าวอุทัยน์ออกไปดีดพิณล่อช้างนั้นก็ถูกจับเอาไปยังกรุงอุชชยินี, แต่ท้าวจัณฑมหาเสนต้อนรับโดยดี และขอให้ท้าวอุทัยน์สอนวิชชาพิณแก่เจ้าหญิงวาสวทัตตา. การสอนนั้นกระทำที่คนธรรพศาลาในวัง, และหนุ่มสาวได้มีโอกาสรักใคร่กัน.

ระหว่างนี้ เยาคนธรายณ, มหาอมาตย์, พอได้ทราบข่าวว่าเจ้านายของตนถูกจับไปแล้ว, ก็มอบพระนครไว้ให้รุมัณวันต์อยู่รักษา, แล้วตัวเยาคันธรายณกับวสันตกะจึ่งพากันไปเพื่อช่วยเจ้านาย. ครั้นถึงกรุงอุชชยินี, เยาคันธรายณจึ่งใช้โยควิธีจำแลงตนเองเปนคนวิกลจริต, และจำแลงวสันตกะเปนคนค่อม, แล้วจึ่งพากันเข้าไปในวังจนถึงพระองค์ท้าวอุทัยน์และแสดงตนให้เธอทราบ, แล้วเยาคันธรายณก็ช่วยคิดหาอุบายที่จะให้เจ้านายหนีรอด, และวสันตกะช่วยเล่านิทานต่าง ๆ พอให้เจ้านายทรงเพลิดเพลินในระหว่างเวลาที่ต้องถูกขังอยู่.

เมื่อเจ้าหญิงวาสวทัตตายินยอมพร้อมใจด้วยแล้ว, ท้าวอุทัยน์จึ่งพาเจ้าหญิงนั้นขึ้นทรงช้างพังภัทรวดีหนีจากกรุงอุชชยินีในเวลากลางคืน, เยาคันธรายณ, วสันตกะ และนางกาญจนมาลาข้าหลวงของ​เจ้าหญิงหนีตามไปด้วย. พอได้รู้เหตุกันขึ้น, พระปาลกกุมาร, โอรสของท้าวจัณฑมหาเสน, ก็ขึ้นขี่ช้างพลายนฑาคิริ (นาฬาคิริ) ออกไล่ติดตาม. แต่ครั้นเมื่อไปทันเข้าแล้ว, พลายนฑาคิริไม่ยอมเข้าชนกับพังภัทรวดีซึ่งเปนเมียของตน, พระโคปาลกกุมารจึ่งวิงวอนพระปาลกกุมารผู้เปนพระเชษฐาให้กลับคืนนคร. ฝ่ายท้าวอุทัยน์กับเจ้าหญิง, เมื่อได้เดินทางไปโดยลำบากมากในดงวินธยะนั้นแล้ว, จึ่งได้พบกับรุมัณวันต์ผู้ที่ได้นำกองทัพออกไปรับ, และเมื่อกลับถึงกรุงเกาศามพีแล้ว, จึ่งกระทำพิธีราชาภิเษกสมรสโดยความยินยอมพร้อมพระหฤทัยแห่งท้าวจัณฑมหาเสน.

ประวัติการของท้าวอุทัยนต่อแต่นี้ไป ตามที่ปรากฏอยู่ใน “กถาสริตฺสาคร” นั้น ไม่ค่อยมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “ปรียทรรศิกา.” มีข้อความกล่าวโดยย่อ ๆ ถึงความรักระหว่างท้าวอุทัยน์กับนักสนมชื่อวิรจิตากับเจ้าหญิงพันธุมดี, และในคดีหลังนี้มีกล่าวถึงนางปริพพาชิกาสางกฤตยายนี ผู้เปนมิตรของพระนางวาสวทัตตา, และซึ่งเปนผู้ไกล่เกลี่ยให้ปรองดองกัน. ตรังค์ที่สิบห้าและที่สิบหก แถลงถึงเรื่องท้าวอุทัยน์กระทำพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงปัทมาวดี ต่อจากการที่พระนางวาสวทัตตาแสร้งทำตาย, ซึ่งภาสะได้ผูกขึ้นเปนเรื่องละคอนชื่อ “ สฺวปฺนวาสวทตฺต,” และกวีอีกคนหนึ่ง ชื่ออนังคหรรษมาตรราชได้ผูกขึ้นเปนเรื่องชื่อ “ตาปสวตฺสราชจริต.”

เรื่องท้าวอุทัยน์ในบทละคอนของภาสะ.
ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างบนนี้, ภาสะรัตนกวีได้แต่งเรื่องละคอนแถลงประวัติของท้าวอุทัยน์ไว้สองเรื่อง. เรื่อง “สฺวปฺนวาสวทตฺต” ​กล่าวถึงท้าวอุทัยน์ในยุคภายหลังเรื่อง “ปรียทรรศิกา,” ฉะนั้น ไม่จำเปนต้องพิจารณาในที่นี้. ส่วนเรื่องที่เรียกว่า “ปฺรติชฺาเยาคนฺธรายณ” แถลงประวัติการของท้าวอุทัยน์คล้ายๆ ที่ปรากฏในหนังสือของฝ่ายพุทธศาสนา, คือกล่าวว่าท้าวประโท๎ยต (ปัชโชต) ได้กระทำกลอุบายจับท้าวอุทัยน์ เพราะปรารถนาจะเอาชัยแก่ศัตรูผู้เย่อหยิ่งและแขงแรง. ครั้นเมื่อเขาจับท้าวอุทัยน์ไปถึงกรุงอุชชยินีแล้ว, ท้าวประโท๎ยตเห็นท้าวอุทัยน์ต้องบาดเจ็บมากก็ออกสงสาร, จึงสั่งให้เอาตัวจำจองขังไว้, ไม่กระทำาประจารต่างๆ อย่างที่ได้คิดไว้เดิม, ในระหว่างเวลาที่ต้องจองจำอยู่นั้น ท้าวอุทัยน์ได้เห็นและนึกรักเจ้าหญิงวาสวทัตตา, จึ่งคิดอุบายกับเยาคันธรายณ ทำให้ช้างนฑาคิริอาละวาด, ท้าวอุทัยน์รับอาสาจับและกำราบช้างนั้นได้โดยดีดพิณโฆษวดี, ได้บำเหน็จรางวัลเปนอันมาก (ข้อนี้มีกล่าวถึงในบทพูดของพระนางวาสวทัตตาในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” องก์ที่สามหน้า ๖๑). ท้าวประโท๎ยตปรารถนาจะได้วิชชาดีดพิณอย่างวิเศษนั้นจึ่งได้ให้ท้าวอุทัยน์เปนครูสอนเจ้าหญิงวาสวทัตตาดีดพิณ.

เรื่องท้าวอุทัยน์ใน “ปรียทรรศิกา.”
ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” ท้าวอุทัยน์เปนพระเอก, และออกนามว่า “วัตสราช” ตลอดไป. วสันตกะ, วิทูษกในเรื่องละคอนนี้, คงตกอยู่ในหน้าที่เปนพระสหายของวัตสราชเช่นใน “กถาสริตฺสาคร” และพระนางวาสวทัตตาเปนพระมเหสีเอก, มีนางกาญจนมาลาเปนข้าหลวง, ​ตรงตามตำนานเดิม. รุมัณวันต์, ซึ่งตามตำนานเปนเสนาบดี (แม่ทัพ), ใน “ปรียทรรศิกา” กลายเปนอมาตย์, มีวิชัยเสนเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่งในหน้าที่เสนาบดี, เยาคันธรายณไม่มีบทเลย, เปนแต่มีออกชื่อครั้งเดียวในคำพูด ของราชาในครรภนาฏกะ “ปรียทรรศิกา” (องก์ที่สามหน้า ๗๑). การที่เยาคันธรายณไม่ได้มีบทใน “ปรียทรรศิกา” เลยเช่นนี้, อาจจะเปนเพราะเหตุการณ์ในเรื่องละคอนนี้ไม่เปิดโอกาสให้เยาคันธรายณแสดงอภินิหารได้เต็มที่ ผู้แต่งเรื่องจึ่งตัดเอาออกเสีย.



ตอนที่ห้า

ว่าด้วยภาษาที่ใช้ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา.”

เหมือนในเรื่องละคอนสันสกฤตทั้งปวง, ตัวละคอนในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” พูดสองภาษา, แต่ก็เปนภาษาที่ฟังเข้าใจกันและกันได้. ตัวละคอนที่เปนผู้ชายพูดภาษาสันสกฤต, เว้นแต่ตัววิทูษก (ตลก) พูดภาษาปรากฤต. ตัวละคอนที่เปนผู้หญิงพูดภาษาปรากฤตทั้งนั้น, เว้นแต่นางกฤตยายนีพูดภาษาสันสกฤต.

ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะใช้ถ้อยคำง่าย ๆ โดยมาก, และคำพูดโดยมากเปนร้อยแก้วเรื่อย ๆ แต่มีบางตอนใช้คำที่สนธิกันเปนพวงยาว ๆ. ส่วนฉันท์ที่มีอยู่บางตอน ใช้เปนเครื่องประดับให้ไพเราะมากกว่าสำหรับดำเนินเรื่อง, และถึงจะตัดฉันท์ออกเสียเรื่องก็ไม่เสีย.

​ส่วนภาษาปรากฤตที่ใช้ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” นั้น นักปราชญ์ผู้ชำนาญในทางวรรณคดีว่า ที่ถูกคำพูดที่เปนร้อยแก้วควรจะเปนภาษา “เศารเสนี” (คือภาษาของชนชาวศูรเสน), และฉันท์สองบทในองค์ที่สามควรจะเปน “มหาราษฏรี” (คือภาษาของชนชาวมหาราษฏร์) แต่ในเรื่องละคอนนั้นมีภาษามหาราษฏรีปนอยู่ในตอนคำพูดร้อยแก้วบ้าง. เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบ, ศาสตราจารย์อเมริกาทั้งสองผู้ช่วยแปลเรื่อง จึ่งได้แก้ไขเสียใหม่เปนที่เรียบร้อยตลอด.

ผู้อ่านที่ภาษามคธอยู่แล้วยังจะได้สังเกตเห็นเมื่ออ่านเรื่องละคอนนั้น ว่าภาษาปรากฤตนั้นเมื่ออ่าน ๆ คลำ ๆ ไปก็พอเข้าใจได้โดยไม่ยากนัก, และถ้ายิ่งลองอ่านออกสำเนียงเข้าด้วยแล้วยิ่งทำให้เดาง่ายขึ้น, เช่นคำว่า “ราออุล,” อาจเดาได้ว่า “ราชกุล” เช่นเดียวกับในภาษาไทยเราเมื่อได้ยินใครพูดว่า “ร่าอะการ เราก็เดาได้ว่า “ราชการ” ดังนี้เปนต้น

ส่วนฉันท์ใช้ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” มีอยู่ ๘ อย่าง คือ:-
๑. ศารฺทูลวิกฺรีฑิต (สทฺทุลวิกฺกีฬิต, ๑๙)
๒. อารฺยา (ไม่มีในตำราฉันท์ของเรา)
๓. สฺรคฺธรา (สทฺธรา, ๒๑).
๔. วสนฺตติลกา (๑๔).
๕. อุปชาติ (๑๑).
๖. ศิขริณี (สิขิริณี, ๑๗)
​๗. มาลินี (๑๕)
๘. คีติ (ไม่มีในตำราฉันท์ของเรา).

ฉันท์ที่ใช้ในเรื่องละคอนนี้ แบ่งดั่งต่อไปนี้:-

องก์ที่หนึ่ง.- ศารฺทูลวิกฺรีฑิต ๕, สฺรคฺธรา ๓, อุปชาติ ๑, อารยา ๒, วสนฺตติลกา ๑, รวม ๑๒ บท.

องก์ที่สอง.- ศารฺทูลวิกฺรีฑิต ๕, สฺรคฺธรา ๒, อารฺยา ๒. มาลินี ๑, รวม ๑๐ บท.

องก์ที่สาม.- ศารฺทูลวิกฺรีฑิต ๗, สฺรคฺธรา ๑, อุปชาติ ๑, อารฺยา ๔, วสนฺตติลกา ๑, คีติ ๑, รวม ๑๕ บท.

องก์ที่สี่.- ศารฺทูลวิกฺรีฑิต ๔, สฺรคฺธรา ๒, อารฺยา ๒, วสนฺตติลกา ๓, ศิขริณี ๑, รวม ๑๒ บท.

ดั่งนี้จะเห็นได้ผู้นิพนธ์เรื่อง “ปรียทรรศิกา” ชอบศารฺทูลวิกรีฑิตมาก, เพราะได้ใช้ฉันท์คณะนี้ถึง ๒๑ แห่ง; รองลงมาก็ถึงอารฺยา ซึ่งมีใช้ ๑๐ แห่ง; สฺรคฺธราเปนที่สามมีใช้ ๘ แห่ง, วสนฺตติลกาเปนที่สี่ มีใช้ ๕ แห่ง; อุปชาติเปนที่ห้ามีใช้ ๒ แห่ง; นอกจากนี้ใช้อย่างละ ๑ แห่งเท่านั้น.


ตอนที่หก

ว่าด้วยบุษปชาติและพฤกษชาติที่ออกนามในเรื่อง “ปรียทรรศิกา”
ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” มีกล่าวถึงดอกไม้และต้นไม้หลายชะนิด, ซึ่งบางอย่างข้าพเจ้าก็ได้แปลนามเปนภาษาไทย, แต่บางอย่าง​นามภาษาไทยไม่เพราะหรือไม่เหมาะแก่ที่จะใช้ในกวีนิพนธ์ก็ต้องใช้ออกนามภาษาสันสกฤต. เพื่อช่วยความเข้าใจของผู้อ่าน ข้าพเจ้านำบัญชีนามแห่งบุษปชาติและพฤกษชาติมาลงไว้ณที่นี้, ลำดับตามอักษรานุกรม. ในการเรียบเรียงตอนนี้ ข้าพเจ้าได้อาศัยบัญชีที่มีอยู่ในฉะบับภาษาอังกฤษเปนหลัก, และใช้คำแปลนามพฤกษชาติเปนภาษาไทยตามที่มีอยู่ในหนังสือ “ปาลีสยามอภิธาน,” ของ “นาคะประทีป.” (ม. = มคธ ล. = ละติน.)

บัญชีบุษปชาติและพฤกษชาติ.
อมฺโภรุห : ดู “กมล.”

อุตฺปล : (ม. อุปฺปล; ล. Nymphaea) ดอกบัวสามัญ; อุบล.

กทลี : (ล. Musa sapientum) กล้วย.

กมล : (ล. Nelumbium speciosum) ดอกบัวหลวง.

กมลินี : กอบัวหลวง.

กุวลย : ดอกบัวสาย. ดู “อุตฺปลฺ”

กุสุม : ดอกไม้

คุลฺม : (ม. คุมฺพ) กอไม้.

ตมาล : (ล. Xanthochymus pictorius) “นาคะประทีป” แปลไว้ว่า “เต่าร้าง, หมาก คูน.” ในคำอธิบายของดอกเตอร์ จ. เปนแคว็คเก็นบอส, อาจารย์ภาษาละตินที่วิทยาลัยแห่งนครนิวยอรก, ซึ่งมีอยู่ในภาคนำแห่ง “ปรียทรรศิกา” (ฉะบับภาษาอังกฤษนั้น, มีข้อความดั่งต่อไปนี้ :-

“เปนต้นไม้ขนาดกลาง. ปทานุกรมเสนต์ปีเตอร์สเบอร์คกล่าวว่า : ‘Xanthochysmus pictorius Roxburghi; ดอกเปนสีขาว.’ อัปเตว่า ‘นามแห่งต้นไม้เปลือกสีคล้ามมาก.’ มอเนียร์วิลเลียมส์ ว่า: ‘เปลือกสีคล้าม, ดอกขาว, Xanthochysmus pictorius; อีกนัยหนึ่ง เปนต้นขทิรดำชะนิดหนึ่ง’ ฮุเกอร์เรียกว่า ‘Garcinia Xanthochysmus’ และว่าดอกสีขาว.”

ตามข้อความใน “ปรียทรรศิกา” องก์ที่สองหน้า ๒๗ วิทูษกพูดถึงต้นตมาล ว่าปลูกไว้ในส่วนสำหรับบังแดด. ถ้าหากว่าจะตกลงแปล ตมาล ว่าเต่าร้างตาม “นาคะประทีป” ข้าพเจ้ายังรู้สึกไม่สู้แน่ใจ, เพราะไม่เคยเห็นเขาปลูกเต่าร้างขึ้นโดยจงใจณแห่งไรเลย, และข้าพเจ้ารับสารภาพด้วยว่าใจไม่สมัครให้เปนเต่าร้าง. ถ้าเปนตามคำอธิบายของมอเนียร์วิลเลียมส์, คือเปน “ต้นขทิร” ชะนิดหนึ่ง, ก็จะค่อยยังชั่ว, เพราะ “ขทิร” อาจจะแปลได้ว่าต้นพะยอม, และพะยอมเปนต้นไม้ที่น่าปลูกไว้ในสวนหลวง.

นลินี : ดอกบัวหลวง; กอบัวหลวง; ที่มีบัวหลวงชุม.

นีโลตฺปล : (Nymphaea Cyanea) ดอกบัวสีน้ำเงิน; นิโลบล.

ปงฺกช : ดอกบัวหลวง; บงกช.

ปทฺม : (ม. ปทุม), ดอกบัวหลวง.

ปลฺลว : ข้อแห่งต้นไม้, กิ่งเล็ก, ดอกตูม.

พกุล : (ล. Mimusops Elengi), ตามคำอธิบายของดอกเตอร์ จ. ​เปนแคว็คเก็นบอส ว่า: “ต้นนี้มีใบสีคล้าม, สดเสมอ, รูปยาว, และมีดอกสีน้ำตาลอ่อน กลิ่นหอมหวาน, ขนาดย่อมๆ “นาคะประทีป” ไม่ได้แปลได้ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าจะแปลว่า “พิกุล” คงไม่ผิด

พนฺธุชีว : ดู “พนฺธูก.”

พนฺธูก : (ล. Pentapetes phoenicea) “นาคะประทีป” แปลว่าชบา.

มาลตี : (ล. Jasminum grandiflorum), ดอกมะลิซ้อน.

ศิรีษ : (ม. สิรีส; ล. Mimosa Sirissa, หรือ Acacia Speciosa), “นาคะประทีป” แปลว่า “ไม้ซึก.” ได้ความตามคำอธิบายของดอกเตอร์ จ. เปนแคว็คเก็นบอส ว่า : “สูงที่สุด ๓๐ ฟิต, โตโดยรอบ ๔ ฟิตกึ่ง, สูงแต่พื้นถึงค่าคบที่หนึ่งประมาณ ๒๒ ฟิต.”

เศผาลิกา : (ม. เสผาลิกา; ล. Nyctanthes Arbor-tristis) “นาคะประทีป” แปลว่า “สุพันนิกา.” ข้าพเจ้าเองสารภาพว่าไม่รู้จัก. ได้ความตามคำอธิบายของดอกเตอร์ จ. เปนแคว็คเก็นบอส ว่า: “ เปนต้นไม้ย่อม ๆ น่าเอ็นดู, ใบเปนสะเก็ดคาย ๆ มีดอกหอมแต่กลิ่นหายเร็ว…….….ดอกของมันซึ่งเปนสีแสดกับขาว ส่งกลิ่นหอมหวานมาก ในเวลาพลบค่ำแล้วร่วงพรู ๆ” (น่าจะเปนกัณณิกากระมัง?)

สปฺตจฺฉท : (ล. Echites Scholaris], หรือ Alstonia Seholaris) ต้นตีนเป็ด.

สปฺตปรฺณ : (ม. ฉตฺตปณฺณ), อย่างเดียวกับ “สปฺตจฺฉท,” ต้นตีนเป็ด


ตอนที่เจ็ด

ว่าด้วยละคอนภายในเรื่องละคอน.
ในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” มีเรื่องละคอนภายในเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งช่วยการดำเนินเรื่องอย่างดีมาก. การมีเรื่องละคอนภายในละคอนเช่นนี้ นักประพันธ์ที่ยุโรปก็ใช้อยู่หลายราย, และถือกันว่าเปนวิธีช่วยดำเนินเรื่องหรือสำแดงลักษณะของตัวละคอนให้แจ่มแจ้งขึ้น. เช่นในเรื่องละคอน “แฮมเล็ต” ของเชกสเปียร์มีเรื่องละคอนในเรื่อง, เรียกว่าเรื่อง “ กับดักหนู” (“The Mousetrap”), ซึ่งช่วยการดำเนินเรื่องดีมาก. เรื่อง “กับดักหนู” นั้น แฮมเล็ต, พระเอกแห่งเรื่อง, จัดให้เล่นเพื่อว่ากระทบท้าวคลอเดียสผู้เปนอา กับพระนางเกอร์ตรูดผู้เปนมารดา, ซึ่งได้ลอบรักเปนชู้กันและคบคิดกันฆ่าพ่อของแฮมเล็ต. พอสองคนนั้นได้ดูละคอนเรื่อง “กับดักหนู” แล้ว, ก็เข้าใจว่าแฮมเล็ตรู้ความลับของตนเสียแล้ว, จึงต้องคิดกำจัดแฮมเล็ต. นอกจากนี้เชกสเปียร์ยังได้ใช้ละคอนภายในเรื่องอีกสองเรื่อง, คือเรื่อง “ผู้วิเศษทั้งเก้า” (“The Nine Worthies”) ในเรื่อง “เสียแรงรัก” (“Love’s Labour’s Lost”) เรื่องหนึ่ง, เรื่อง “ปิระมัสและทิสบี” (“Pyramus and Thisby”) ในเรื่อง “ฝันณคืนกลางฤดูร้อน” (“A Midsummer Night’s Dream”) อีกเรื่องหนึ่ง. นอกจากเชกสเปียร์ ยังมีนักประพันธ์อีกหลายคนที่ได้ใช้ละคอนภายในเรื่องละคอนเช่นว่านี้ เช่นในเรื่อง “สแปนิช แตรจิดี” ของคิด, และเรื่อง ​“เจมสที่สี่” ของกรีน เปนต้น แต่วิธีแต่งเรื่องละคอนภายในเรื่องก็พึ่งจะได้มีปรากฏขึ้นภายในยุโรปภายในสี่ร้อยปีเศษเท่านั้น.

ในภารตวรรษ การใช้เรื่องละคอนภายในเรื่องไม่ปรากฏในยุคของกาลิทาสรัตนกวี, แต่ต่อมาในชั้นหลังมีใช้กันชุกชุม. ละคอนภายในเรื่องละคอนอย่างนี้ เรียกตามภาษาสันสกฤตว่า “ครฺภางฺก” หรือ “ครฺภนาฏก,” แปลตรงๆว่า “ละคอนอันเปนลูก.” ในนาฏยศาสตร์ (ตำราละคอน) ชื่อ “สาหิตฺยทรฺปณ” มีข้อความประพันธ์เปนโศลกไว้ว่า:

“องฺโกทรปฺรวิษโฏ โย รงฺคทฺวารามุขาทิมานฺ I

“องฺโกประ ส ครฺภางฺกะ สพีชะ ผลวานปิ II

แปลว่า : “องก์น้อยซึ่งแทรกเข้าไปในท่ามกลางองก์ใดองก์หนึ่ง และซึ่งมีพร้อมทั้งตอนเบิกโรง, ตอนนำ, ฯลฯ กับมีพืช (คือเนื้อเรื่อง) และผล (คือตอนจบ), เรียกว่าครรภางกะ.”

ในอรรถาธิบายประกอบโศลกนี้ ยกอุทาหรณ์คือเรื่อง “สีตาสฺวยํวร” ในเรื่อง “พาลรามายณ” ของราชเศขร.

ในเรื่อง “มฤจฺฉกฏิกา” ของพระเจ้าศูทรกะก็ดี, ในนาฏกะทั้งสามเรื่องของกาลิทาสก็ดี หาได้มีครรภางกะไม่. ตัวอย่างที่หนึ่ง (ตามลำดับกาลสมัย) ที่ได้พบก็คือครรภนาฏกะในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” ของพระเจ้าศรีหรรษเทพนี้เอง. เนื้อเรื่องแห่งครรภนาฏกะนี้เปนอย่างไร ท่านจะได้อ่านเองในเรื่องละคอน “ปรียทรรศิกา,” ฉะนั้นไม่จำเปนต้องเล่าไว้ณที่นี้.

​ตัวอย่างที่สองแห่งครรภางกะปรากฎอยู่ในเรื่องละคอนชื่อ “อุตฺตรรามจริต” (“กิจการบั้นปลายของพระราม”), เปนนาฏกะเจ็ดองก์, ผู้แต่งชื่อภวภูติ, ในยุคศตวรรษที่สิบสามแห่งพุทธศก. เนื้อเรื่องแห่ง “อุตฺตรรามจริต” นั้น, สรูปโดยย่อมีความว่า พระรามบังเกิดความระแวงสงสัยในความบริสุทธิ์ของนางสีดา, จึ่งขับออกไปจากพระนคร และเลยไม่ได้พบพระกุศและพระลพ, ซึ่งไปประสูติ์ในป่า. ต่อเมื่อพระกุมารทั้งสองนี้เติบโตแล้วจึ่งได้พบกับพระบิดา ในองก์ที่หกแห่งนาฏกะนั้น ในองค์ที่เจ็ดจึงกล่าวถึงพระรามเสด็จไปยังฝั่งน้ำพระคงคา, เพื่อไปนมัสการและทอดพระเนตรละคอนของพระวาลมีกิมุนี. เรื่องละคอนนี้คือครรภางกะ มีเนื้อเรื่องแถลงประสูติการแห่งพระกุศและพระลพ เริ่มต้นมีสูตรธาร (นายโรง) ออกมาพูดเบิกโรงเหมือนอย่างเรื่องนาฏกะใหญ่. ต่อนั้นจึ่งแสดงประสูติการแห่งพระกุมารทั้งสองที่กลางป่า, ถึงแก่มีเด็กออกมาในเวทีด้วย. เทวดาและฤษีให้พรและทำนายว่าสองกุมารจะได้เปนใหญ่ต่อไปในอนาคต, และประกาศความบริสุทธิ์ของนางสีดา. ละคอนนั้นเล่นเห็นจริงมาก ทำให้พระรามทรงกรรแสงและโศกนัก; แต่ความทุกข์โศกกลายเปนความสุขและปลื้มที่สุดเมื่อปรากฏขึ้นว่า ตัวนางสีดาในเรื่องละคอนนั้นเปนนางสีดาจริง ๆ, จึ่งเปนอันได้นั่งคู่เคียงองค์พระรามแทนรูปทองที่พระรามได้ให้หล่อขึ้นแทนองค์นางสีดาเมื่อพรากกันไป.

ตัวอย่างที่สามแห่งครรภางกะมีอยู่ในองก์ที่สามแห่งละคอนชื่อ “พาลรามายณ,” เปนนาฏกะสิบองค์, ผู้แต่งชื่อราชเศขร ในยุค​ศตวรรษที่สิบห้าแห่งพุทธศก นาฏกะนี้เแสดงถึงเรื่องท้าวราพณาสูรรักนางสีดา, เมื่อไม่ได้สมปรารถนาแล้ว, จึ่งปฏิญญาตนเปนศัตรูต่อพระราม. ในเรื่องแสดงว่าท้าวราพณ์รักนางสีดาจนคลั่งไคล้ไม่เปนอันกินอันนอน วันหนึ่งมีพวกละคอน, นายโรงชื่อโกหล, ไปที่กรุงลงกา, จึ่งเล่นละคอนถวายท้าวราพณ์. เผอิญเรื่องที่เลือกเล่นนั้นคือเรื่อง “สีตาสฺวยํวร” (“สีดาเลือกคู่”). ในครรภางกะนั้นแสดงถึงการที่พระรามชำนะคู่แข่งทั้งหมด; ท้าวราพณ์, ทั้งๆที่มีผู้เตือนแล้วว่าเปนแต่เพียงเรื่อง “แสดงดูกันเล่น” (“เปฺรกฺษณ”) ก็ไม่สามารถกลั้นโทโษไว้ได้, จึ่งตกลงต้องเลิกครรภางกะนั้น. ผู้อ่านได้อ่านครรภนาฏกะในเรื่อง “ปรียทรรศิกา” แล้ว ก็คงจะสังเกตว่า เรื่องละคอนภายในละคอนณที่นั้นก็ต้องเลิกโดยห้วน ๆ เพราะพระนางวาสวทัตตาโกรธ เช่นเดียวกัน.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 ธันวาคม 2564 20:03:36 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 97.0.4692.99 Chrome 97.0.4692.99


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 08 กุมภาพันธ์ 2565 11:39:12 »

.

ตัวละคอน
สูตรธาร (ตัวนายโรง)

ท้าวอุทัยน์ (หรืออุเทน), อีกนัยหนึ่งเรียกว่าวัตสราช, ราชาแห่งเกาศามพี.

วสันตกะ, วิทูษก (ตลกหลวง), มิตรร่วมพระหฤทัยของวัตสราช.

รุมัณวันต์. อมาตย์ของวัตสราช.

วิชัยเสน. เสนาบดีของวัตสราช

วินัยวสุ, กัญจุกิน (กรมวัง) ของท้าวทฤฒวรมัน ราชาแห่งองคราษฏร์

วาสวทัตตา, มเหสีของวัตสราช.

อารัณยกา, นางเอกแห่งนาฏิกานี้

มโนรมา, พนักงานฝ่ายใน, มิตรร่วมใจของอารัณยกา.

อินทีวริกา, เจฏี (ข้าหลวง) ของพระมเหสี.

กาญจนมาลา, ทาสีของพระมเหสี.

สางกฤตยายนี, ปริพพาชิกา.

ยโศธรา, เฝ้าที่.

ไวตาลึก (นักล่าหลวง)

----------------------------



ตัวในครรภนาฏกะ

วาสวทัตตา, ธิดาของท้าวมหาเสน_อารัณยกาเปน.

วัตสราช – ตัวเปนเอง.

กาญจนมาลา – ตัวเปนเอง

กัญจุกินของท้าวมหาเสน – กัญจุกินผู้หนึ่งเปน.

สถานที่ : ในเขตต์วังของวัตสราช, นครเกาศามพี, เว้นแต่ในตอนวิษกัมภก ซึ่งเปนในดงวินธยะ.

สมัย : ต้นรัชชสมัยแห่งวัตสราช, ราวๆ ก่อนพุทธศกสักเล็กน้อย.




ปฺรถโมงฺกะ
         สํสฺกฤตมฺ
          ปฺริยทรฺศิกา
          ปฺรถโมงฺกะ
          [ปฺรสฺตาวนา]
          [นานฺที]
         ธูมวฺยากุลทฤษฺฏิรินฺทุกิรไณราหฺลาทิตากฺษี ปุนะ

          ปศฺยนฺตี วรมุตฺสุกานตมุขี ภูโย หฺริยา พฺรหฺมณะ I

          เสรฺษฺยา ปาทนเขนฺทุทรฺปณคเต คงฺคำ ทธาเน หเร

          สฺปรฺศาทุตฺปุลกา กรคูรหวิเธา เคารี ศิวายาสฺตุ วะ II [๑ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

อปิ จ-

          ไกลาสาทฺราวุทสฺเต ปริจลติ คเณษูลฺลสตฺเกาตุเกษุ

          โกฺรฑมฺ มาตุะ กุมาเร วิศติ วิษมุจิ เปฺรกฺษมาเณ สโรษมฺ I

          ปาทาวษฺฏมฺภสีททฺวปุษิ ทศมุเข ยาติ ปาตาลมูลํ

          กฺรุทฺโธปฺยาศฺลิษฺฏมูรฺติรฺ ภยฆนมุมยา ปาตุ ตุษฺฏะ ศิโว นะ II [๒ สฺรคฺธรา.]

                    (นานฺทฺยนฺเต)
สูตฺรธาระ. (ปริกฺรมฺย) อทฺยาหํ วสนฺโตตฺสเว สพหุมานมาหูย นานาทิคฺเทศาทาคเตน ราชฺญะ ศฺรีหรฺษเทวสฺย ปาทปทฺโมปชีวินา ​ราชสมูเหโนกฺตะ ยถาสฺมตฺสฺวามินา ศฺรีหรฺษเทเวนาปูรฺววสฺตุรจนาลํกฤตา ปฺริยทรฺศิกา นาม นาฏิกา กฤเตตฺยสฺมาภิะ โศฺรตฺรปรมฺปรยา ศฺรุตมฺ, น ตุ ปฺรโยคโต ทฤษฺฏา. ตตฺ ตสฺไยว ราชฺญะ สรฺวชนหฤทยาหฺลาทิโน พหุมานาทสฺมาสุ จานุคฺรหพุทฺธฺยา ยถาวตฺปฺรโยเคณ ตฺวยา นาฏยิตวฺเยติ. ตทฺ ยาวนฺ เนปถฺยรจนำ กฤตฺวา ยถาภิลษิตํ สมฺปาทยามิ (ปริโตวโลกฺย) อาวรฺชิตาน สามาชิกมนำสีติ เม นิศฺจยะ กุตะ,

          ศฺรีหรฺโษ นิปุณะ กวิะ ปริษทปฺเยษา คุณคฺราหิณี

          โลเก หาริ จ วตฺลราชจริตํ นาฏเย จ ทกฺษา วยมฺ I

          วสฺตฺเวไกกมปีห ฉาญฺฉิตผลปฺราปฺเตะ ปทํ กิมฺ ปุนรฺ

          มทฺภาคฺโยปจยาทยํ สมุทิตะ สรฺโว คุณานำ คณะ II [๓ ศารทูลวิกรีฑิต.]

(เนปฺถยาภิมุขมวโลกฺย) อเย กถมฺ ปฺรสฺภาวนาภฺยุทฺยเต มยี วิทิตาสฺมทภิปฺราโยงฺคาธิปเตรฺ ทฤฒารฺมณะ กญฺจุกิโน ภูมิกำ กฤตฺวาสฺมทฺภฺราเตต เอวาภิวรฺตเต. ตทฺ ยาวทหมปฺยนนฺตรภูมิกำ สมฺปาทยามิ. (อิติ นิษฺกฺรานฺตะ)

                    อิติ ปฺรสฺตาวนา
​                    [วิษฺกมฺภกะ]
                    (ตตะ ปฺรวิศติ กญฺจุกี)
          กญฺจุกี. (โศกศฺรมํ นาฏยน. นิะศฺวสฺย) กษฺฏมฺ โภะ กษฺฏมฺ.

          ราชฺโญวิปทฺ พนฺธุวิโยคทุะขํ

          เทศจฺยุติรฺ ทุรฺคมมารฺคเขทะ I

          อาสฺวาทฺยเตาสฺยาะ กฏุนิษฺผลายาะ

          ผลมฺ มไยตจฺ จิรชีวิตายาะ II [๔]

          (สโศกํ สวิสฺมยํ จ) ตาทฤศสฺยาปิ นามาปฺรติหตศกฺติตฺรยสฺย รฆุทิลีปนลตุลฺยสฺย เทวสฺย ทฤฒวรฺมโณ มตฺปฺรารฺถฺยมานาปฺยเนน สฺวทุหิตา วตฺสราชาย ทตฺเตติ พทฺธานุศเยน วตฺสราโช พนฺธนาน น นิวรฺตติ อิติ จ ลพฺธรนฺธฺเรณ สหภาคตฺย กลิงฺคหตเกน วิปตฺติรีทฤศี กฺริยต อิติ ยตฺสตฺยมุปปนฺนมปิ น ศฺรทฺทเธ. กถเมกานฺตนิษฺฐุรมีทฤศํ จไทวมสฺมาสุ. เยน สาปิ ราชปุตฺรี ยถา กถํจิเทนำ วตฺสราชาโยปนีย สฺวามินมนฤณํ กริษฺยามีติ มตฺวา มยา ตาทฤศาทปิ ปฺรลยกาลทารุณาทวสฺกนฺทสมฺภฺรมาทปวาหฺย เทวสฺย ทฤฒวรฺมโณ มิตรภาวานุวิตสฺไยวาฏวิกสฺย นฤปเตรฺ วินฺธฺยเกโตรฺ คฤเห สฺถาปิตา สตี, สฺนานาย นาติทูรมิตฺยคสฺตฺยตีรฺถํ คเต มยิ กฺษณาตฺ ไกรปิ นิปตฺย หเต วินฺธฺยเกเตา รกฺโษภิริว, นิรฺมานุษีกฤเต ทคฺเธ สฺถาเน น ชฺญายเต กสฺยามวสฺถายำ วรฺตต อิติ. นิปุณํ จ วิจิตเมตนฺ มยา สรฺวํ สถานมฺ. น จ ชฺญาตํ กึ ไตเรว ทสฺยุภิรฺ นีตาถ วา ทคฺเธติ. ตตฺ กึ ​กโรมิ มนฺทภาคฺยะ.

          (วิจินฺตฺย) อเย เอวํ ศฺรุตมฺ มยา พนฺธนาตฺ ปริภฺรษฏะ ปฺรโทฺยตตนยามปหฤตฺย วตฺสราชะ เกาศามฺพีมาคต อิติ. กึ ตตฺไรว คจฺฉามิ. (นิะศวสฺยาตฺมโนวลฺถามฺ ปศฺยนฺ) กิมิว หิ ราชปุตฺรฺยา วินา ตตฺร คตฺวา กถยิษฺยามิ. อเย กถิตํ จาทฺย มม วินฺธฺยเกตุนา มา ไภษีะ ชีวติ ตตฺร ภวานฺ มหาราโช ทฤฒวรฺมา คาฒปฺรหารชรฺชรีกฤโต พทฺธสฺ ติษฺฐตีติ. ตทธุนา สฺวามินเมว คตฺวา ปาทปริจรฺยยา ชีวิตเศษมาตฺมนะ สผลยิษฺยามิ. (ปริกฺรมฺโยรฺจฺวมวโลกฺย) อโห อติทารุณตา ศรทาตปสฺย, ยเทวมเนกทุะขสฺตาปิเตนาปิ มยา ตีกฺษฺโณวคมฺยเต.

          ฆนพนฺธนมุกฺโตยํ กนฺยาคฺรหณาตฺ ปรำ ตุลามฺ ปฺราปฺย I

          รวิรธิคตสฺวธามา ปฺรตปติ ขลุ วตฺสราช อิว II [๕ อารฺยา.]

          (อิติ นิษฺกฺรานฺตะ)

                    อิติ วิษฺกมฺภกะ
                    ​(ตตะ ปฺรวิศติ ราชา วิทฺษกศฺ จ)
          ราชา.

          ภฤตฺยานามวิการิตา ปริคตา ทฤษฺฏา มติรฺ มนฺตฺริณามฺ

          มิตฺราณฺยปฺยุปลกฺษิตานิ วิทิตะ เปารานุราโคธิกมฺ I

          นิรฺวยูฒา รณสาหสวฺยสนิตา สฺตฺรีรตฺนมาสาทิตํ

นิรฺวฺยาชาทิว ธรฺมตะ กิมิว น ปฺราปฺตมฺ มยา พนฺธนาตฺ II [๖ ศารฺทูลวิกุรีฑิต.]

          วิทูษกะ. (สโรษมฺ) โภ วอสฺส, กธํ ตํ เชวฺว ทาสีเอ อุตฺตํ พนฺธณหทอํ ปสํเสสิ. ตํ ทาณี วิสุมเรหิ. ชํ ตธา ณวคฺคโห วิอคอวที ขลขลาอมาณโลหสิงฺขลาพนฺธปฑิกฺขลนฺตจลโณ สุณฺณทุกฺกร [ปิสุณีอนฺต] หิออสํตวโว โรสวสุตฺตมฺภิททิฏฺฐ ครุอกรโผฑิทธรณิมคฺโค รอณีสุ วิ อณิทฺทาสุหํ อณุภูโท สิ.

          ราชา. วสนฺตก, ทุรฺชนะ ขลฺวสิ. ปศฺย.

          ทฤษฺฏํ จารกมนฺธการคหนํ ใน ตนฺมุเขนฺทุทฺยุติะ

          ปีฑา เต นิคลสฺวเนน มธุราสฺ ตสฺยา คิโร น ศฺรุตาะ I

          กฺรูรา พนฺธนรกฺษิโณทฺย มนสิ สฺนิคุธาะ กฏากฺษา น เต

          โทษานฺ ปศฺยสิ พนฺธนสฺย น ปุนะ ปฺรโทฺยตปุตฺรฺยา คุณานฺ II [๗ ศารฺทูลวิกุรีฑิต.]

          วิทูษกะ. (สครฺวมฺ) โภ, ชอิ ทาว พนฺธณํ สุหณิพนฺธณํ โภทิ, ตา กีส ตุมํ ทิฒวมฺมา พทฺโธตฺติ กลิงฺครณฺโณ อุวริ โรสํ พนฺเธสิ.

ราชา. (วิหสฺย) ธิงฺ มูรฺข, น ขลุ สรฺโว วตฺสราชะ, ย เอวํ วาสวทตฺตามวาปฺย พนฺธนานฺ นิรฺยาสฺยติ. ตทาสฺตำ ตาวทิยํ กถา. ​วินฺธฺยเกโตรุปริ พหูนฺยหานิ วิชยเสนสฺย เปฺรษิตสฺย, น จาทฺยาปิ ตตฺสกาศาตฺ กศฺจิทาคตะ. ตทาหูยตำ ตาวทมาตฺโย รุมณฺวานฺ. เตน สห กึจิทาลปิตุมิจฺฉามิ.

                    (ฺปรวิศฺย)
          ปฺรตีหารี. เชทุ เชทุ เทโว. เอโสกฺขุ วิชอเสโณ อมฺจโจ รุมณฺโณ วิ ปฑิหารภูมึ อุวฏฺฐิทา.

          ราชา. ตฺวริตมฺ ปฺรเวศย เตา.

          ปฺรตีหารี. ชํ เทโว อาณเวทิ. (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)

          (ตตะ ปฺรวิศติ รุมณวฺานฺ วิชยเสนศฺ จ)

          รุมณฺวานฺ. (วิจินฺตย)

          ตตฺกฺษณมปิ นิษฺกฺรานฺตาะ กฤตโทษา อิว วินาปิ โทเษณ I

          ปฺรวิศนฺติ ศงฺกมานา ราชกุลมฺ ปฺรายโศ ภฤตฺยา II [๘ อารฺยา]

(อุปสฤตฺย) ชยตุ เทวะ.

          ราชา. (อาสนํ นิรฺทิศฺย) รุมณฺวนฺ, อิต อาสฺยตามฺ.

          รุมณฺวานฺ. (สสฺมิตมุปวิศฺย) เอษ ขลุ ชิตวินฺธฺยเกตุรฺ วิชยเสนะ ปฺรณมติ.


                    (วิชยเสนสฺ ตถา กโรติ)


          ราชา. (สาทรมฺ ปริษฺวชฺย) อปิ กุศลี ภวานฺ.

​          วิชยเสนะ. อทฺย สฺวามินะ ปฺรสาทาตฺ.

          ราชา. วิชยเสน, สฺถียตามฺ.


                    (วิชยเสน อุปวิศติ)

          ราชา. วิชยเสน, กถย วินฺธฺยเกโตรฺ วฤตฺตานฺตมฺ.

          วิชยเสนะ. เทว, กิมปรํ กถยามิ. ยาทฤศะ สฺวามินิ กุปิเต.

          ราชา. ตถาปิ วิสฺตรตะ โศฺรตุมิจฺฉามิ.

          วิชยเสนะ. เทว, ศูรูยตามฺ. อิโต วยํ เทวปาทาเทศาทฺ ยถาทิษเฏน กริตุรคปทาติไสนฺเยน มหานฺตมปฺยธฺวานํ ทิวสตฺรเยโณลฺลงฺฆฺย ปฺรภาตเวลายามตรฺกิตา เอว วินฺธฺยเกโตรุปริ นิปติตาะ สฺมะ.

          ราชา. ตตสฺ ตตะ.

          วิชยเสนะ. ตตะ โสปฺยสฺมทฺพลตุมุลกลกลากรฺณเนน ปฺรติพุทฺธะ เกสรีว วินฺธฺยกนฺทรานฺ นิรฺคตฺย วินฺธฺยเกตุรนเปกฺษิตพลวาหโน ยถาสํนิหิตกติปยสหายะ สหสา สฺวนาโมทฺโฆษยนฺนสฺมานภิโยทฺธุมฺ ปฺรวฤตฺตะ

          ราชา. (รุมณฺวนฺตมวโลกฺย สสฺมิตมฺ) โศภิตํ วินฺธฺยเกตุนา. ตตสฺ ตตะ.

          วิชยเสนะ. ตโตสฺมาภิรยมสาวิติ ทฺวิคุณตรพทฺธมตฺสโรตฺสาไหรฺ ​มหตา วิมรฺเทน นิะเศษิตสหาย เอก เอว วิมรฺทิตาธิกพลโกฺรธเวโค ทารุณตรํ สมฺปฺรหารมกโรตฺ.

          ราชา. สาธุ วินฺธฺยเกโต, สาธุ สาธุ.

          วิชยเสนะ. กึ วา วรฺณฺยเต. เทว, สํเกฺษปโต วิชฺญาปยามิ.

          ปาทาตม. ปตฺติเรว ปฺรถมตรมุระเปษมาตฺเรณ ปิษฺฏฺวา

          ทูรานฺ นีตฺวา ศเราไฆรฺ หริณกุลมิว ตฺรสฺตมศฺวียมาศาะ I

          สรฺวตฺโรตฺสฤษฺฏสรฺวปฺรหรณนิวหสฺ ตูรฺณมุตฺขาย ขฑฺคมฺ

          ปศฺจาตฺ กรฺตุมฺ ปฺรวฤตฺตะ กริกรกทลีกานนจฺเฉทลีลามฺ II [๙ สฺรคฺธรา]

          เอวมฺ พลตฺริตยมากุลเมก เอว

          กุรฺวนฺ กฤปาณกิรณจฺฉุริตำสกูฏะ I

          ศสฺตฺรปฺรหารศตชรฺชริโตรุวกฺษาะ

          ศฺรานฺตศฺ จิราทฺ วินิหโต ยุธิ วินฺธฺยเกตุะ II [๑๐ วสนฺตติลกา.]

          ราชา. รุมณฺวนฺ, สตฺปุรุโษจิตมฺ มารฺคมนุคจฺฉโต ยตฺสตฺยํ วฺรีฑิตา เอว วยํ วินฺธฺยเกโตรฺ มรเณน.

          รุมณฺวาน. เทว, ตฺวทฺวิธานาเมว คุไณกปกฺษปาตินำ ริโปรปิ คุณาะ ปฺรีตึ ชนยนฺติ.

          ราชา. วิชยเสน, อปฺยสฺติ วินฺธฺยเกโตรปตฺยํ ยตฺราสฺย ปริโตษสฺย ผสํ ทรฺศยามิ.

          ​วิชยเสนะ. เทว, อิทมปิ วิชฺญาปยามิ. เอวํ สพนฺธุปริวาเร หเต วินฺธฺยเกเตา ตมนุสฤตาสุ สหธรฺมจาริณีษุ วินฺธฺยศิขราศฺริเตษุ ชนปเทษุ ศูนฺยภูเต ตตฺสฺถาเน หา ตาต หา ตาเตติ กฤตกฤปณปฺรลาปา วินฺธฺยเกโตรฺ เวศฺมนฺยาภิชาตฺยานุรูปา กนฺยกา ตทฺทุหิเตตฺยสฺมาภิรานีตาทฺวาริ ติษฺฐติ. ตามฺ ปฺรติ เทวะ ปฺรมาณมฺ.

          ราชา. ยโศธเร, คจฺฉ คจฺฉ. ตฺวเมว วาสวทตฺตายาะ สมรฺปย. วกฺตวฺยา จ เทวี, ภคินีพุทฺธฺยา ตฺวไยว สรฺวทา ทฺรษฺฏวฺยา. คีตนฤตฺตวาทฺยาทิษุ วิศิษฺฏกนฺยโกจิตํ สรฺวํ ศิกฺษยิตวฺยา. ยทา วรโยคฺยา ภวิษฺยติ ตทา มํา สฺมารเยติ.

          ปฺรตีหารี. ชํ เทโว อาณเวทิ. (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)


                    (เนปถฺเย ไวตาลิกะ)

          ลีลามชฺชนมงฺคโลปกรณสฺนานียสมฺปาทินะ

          สรฺวานฺตะปุรวารวิภฺรมวตีโลกสฺย เต สมฺปฺรติ I

          อายาสสฺขลทํศุกาวฺยวหิตจฺฉายาวทาไตะ สฺตไนรฺ

          อุตฺกฺษิปฺตาปรศาตกุมฺภกลเศวาลํกฤตา สฺนานภูะ II [๑๑ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

          ราชา. (อูรฺธฺมวโลกฺย) อเย กถํ นโภมธฺยมธฺยาสฺเต ภควานฺ สหสฺรทีธิติะ. สมฺปฺรติ หิ​อาภาตฺยรฺกําศุตาปกฺวถทิว ศผโรทฺวรฺตไนรฺ ทีรฺฆิกามฺภศฺ

          ฉตฺราภํ นฤตฺตลีลาศิถิลมปิ ศิขี พรฺหภารํ ตโนติ I

          ฉายาจกฺรํ ตรูณํา หริณศิศุรุไปตฺยาลวาลามฺพุลุพฺธะ

          สทฺยสฺ ตฺยกฺตฺวา กโปลํ วิศติ มธุกระ กรฺณปาลี คชสฺย II [๑๒ สุรคฺธรา.]

          รุมณฺวนฺ, อุตฺติษฺโฐตฺตติษฺฐ. ปฺรวิศฺยาภฺยนฺตรเมว กฤตยโถจิตกฺริยาะ

          สตฺกฤตฺย วิชยเสนํ กลิงฺโคจฺฉิตฺตเย เปฺรษยามะ.


                                        (อิติ นิษฺกฺรานฺตาะ สรฺเว)

                                        อิติ ปฺรถโมงฺกะ

--------------------------------------
วิทูษกพูดภาษาปรากฤต.
เฝ้าที่พูดภาษาปรากฤต.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 กุมภาพันธ์ 2565 11:45:38 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 97.0.4692.99 Chrome 97.0.4692.99


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 08 กุมภาพันธ์ 2565 12:24:56 »

.




                    องก์ที่หนึ่ง
                    ไทย
                    ปรียทรรศิกา
                    องก์ที่หนึ่ง
                    [เบิกโรง]
                    [คำขอพร]


         แม้เนตร์นางจะขยิบเพราะควันขณะชำเลือง ยังแพรวเพราะแสงเรือง พระจันทร์;

          แลด้วยรักณพระพักตร์พระสามิละก็พลัน ก้มพักตร์เพราะขวยครัน พรหมา;

          เคืองเห็นเงาหรชัดณผิวบทนขา ว่าทูนพระคงคา สมร,

          แต่ยิ้มยามศิวะทรงกระชับพระวรกร. ขอเคาริบังอร ธโปรด ! (๑)๑

อนึ่ง-

          เขาไกรลาสลั่นสนั่นโฆษ อมรคณะก็โลด ต่างก็กล่าวโจษ เพราะตกใจ;

          องค์มารดาอุ้มกุมารไว้ วิษมุจิก็พุไฟ ตาก็โรจน์ใหญ่ เพราะโกรธนัก;

          เทพกดด้วยนิ้วพระบาทหนัก; และอสุรทศพักตร์ จมถลำอัก ณบาดาล;

          ยามโกรธเมื่อต้องอุมาท่าน ก็ปิยหทยบาน. ศีวะชัยชาญ ประสาทพร! (๒)

                              (เมื่อจบคำขอพรแล้ว)

สูตรธาร. (๓) (เดินวนไปมา) ในพิธีวสันโตตฺสวะวันนี้ (๔) ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปยังที่ประชุมท้าวพญา (๕) ผู้ได้มาจากนานาทิศ; เพื่อเฝ้าพระบัวบาท​สมเด็จพระศรีหรรษเทพ, และได้ฟังถ้อยดั่งนี้: ‘เราได้ทราบข่าวเล่าระบือต่อๆกันมาว่า, สมเด็จพระศรีหรรษเทพ, ผู้เปนเจ้านายของเรา, ได้ทรงพระราชนิพนธ์นาฏิกา(๖) เรื่องหนึ่ง ชื่อปรียทรรศิกา, ซึ่งประกอบด้วยเนื้อเรื่องอันแปลก; แต่เรายังหาได้เห็นเรื่องละคอนนั้นออกโรงไม่. ฉะนั้น ท่านควรที่จะจัดให้เล่นละคอนเรื่องนั้นอย่างดีเลิดเพื่อแสดงความเคารพต่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ทรงบันดาลความชื่นบานให้บังเกิดมีในใจคนทั่วไป, และด้วยความตั้งใจกระทำคุณให้แก่เราทั้งหลายด้วย.’ เหตุฉะนี้, เมื่อได้ผะจงจัดเนปัถย์(๗) ไว้พรั่งพร้อมแล้ว, ข้าพเจ้าก็จะได้กระทำตามคำที่ร้องขอ (เหลียวแลทั่วไป) ข้าพเจ้าแน่ใจว่า ใจของคนที่ตั้งดีอยู่แล้ว. เพราะว่า,

          ศรีหรรษาธิบดีสิเปนกวิประเสริฐ, คนดูก็รู้เลิด ณคุณ;

          ชนรู้เรื่องวรวัตสราชะสุวิบุล, ฝ่ายพวกละคอนคุ้น แสดง;

          เหตุเหล่านี้สิประหนึ่งพะยานวจะแถลง ผลดีสมิทธิ์แห่ง ละคอน;

          แต่รวมปวงคุณะถ้วนประมวญคุณะซ้อน เสริมส่งคุณากร ถนัด !

          (แลดูไปทางในโรง) อ้อ, น้องชายของข้าพเจ้าจะมาอยู่แล้วในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังกล่าวคำเบิกโรง; เขาได้ทราบความประสงค์ของข้าพเจ้า, แล้วและเลือกเปนตัวกัญจกินของท้าวทฤฒวรมัน, ราชาแห่งองคราษฎร์(๘) ฉะนั้น ข้าพเจ้าก็จะได้เล่นละคอนต่อนต่อนี้ไปทีเดียว. (เข้าโรง)

                              จบตอนเบิกโรง

                              กัญจุกิน. (แสดงแหมือนหนึ่งเศร้าสลดและถอนใจ) ร้ายนัก, โอ้, ร้ายนัก !

          พระราชะตกยาก ดนุพรากสพันธุ์เหิน

          จำจากประเทศเดิน ทุรถิ่นระอาใจ;

          อ้ากรรมสินำผล ณชิวีจิรํไสร้

          เพราะกรรมกระทำให้ ผลชวดและขื่นขม.(๑๐)

          (ด้วยความเศร้าและหลากใจ) ใครเลยจะนึกได้ว่าเหตุร้ายเช่นนั้นจะมีมาถึงพระเจ้าทฤฒวรมัน ผู้ทรงศักดิ์ทั้งสามประการ,(๑๑) ผู้เสมอด้วยพระเจ้ารฆุ, พระเจ้าทิลีป และพระเจ้านล.(๑๒) แต่ท้าวกลิงค์ผู้ชั่วแสน, (๑๓) คุมแค้นเพราะพระเจ้าทฤฒวรมันได้ยกพระธิดาของพระองค์ให้แก่พระเจ้าวัตสราช, ทั้ง ๆ เมื่อท้าวกลิงค์ได้ไปสู่ขอแล้วฉะนั้น, และประสพโอกาสที่พระเจ้าวัตสราชยังคงตกอยู่ในความเปนชะเลย, (๑๔) จึ่งจู่ไปโดยพลันและบันดาลเหตุร้ายอันนี้ขึ้น. นึกดูก็ไม่น่าจะเปนได้เลย, แต่มันก็ได้เปนไปแล้ว, เคราะห์เช่นนี้มีมาในเรา! เพราะข้าพเจ้าได้จงใจที่จะรักษาพระวาจาของเจ้านาย โดยเชิญเสด็จพระราชบุตรีมาถวายพระเจ้าวัตสราชให้จงได้โดยทางใดทางหนึ่ง; ฉะนั้นข้าพเจ้าได้เชิญเสด็จพระราชบุตรีพ้นจากการรบอันร้ายกาจราวประลัยกาล, และฝากพระองค์ไว้ณเรือนของท้าววินธยเกตุผู้จอมแห่งชาวบ้าน, ผู้มีมิตรจิตต์ต่อพระเจ้าทฤฒวรมันเจ้านายของข้าพเจ้า. ครั้นเมื่อข้าพเจ้าได้ไปแล้วยังอคัสตยเดียรถ์(๑๕)​เพื่ออาบน้ำ, ด้วยคิดว่าไม่ไกลนัก, โดยฉับไวได้มีข้าศึกไปโจมตีโดยแรงดุจพวกผีราน, ผลาญชีพแห่งวินธยเกตุ, ทำลายคนทั้งหมด, และเผาสถานที่นั้นเสียสิ้น. บัดนี้ ข้าพเจ้าจึ่งหารู้ไม่เลยว่าพระองค์หญิงเปนอย่างไร, และ, แม้เมื่อข้าพเจ้าได้ค้นดูณที่นั้นโดยทั่วแล้ว, ข้าพเจ้าก็ยังหาทราบไม่ว่าเธอได้ถูกอ้ายคนป่านั้นๆมันพาไปหรือว่าได้ถูกไฟคลอกเสียแล้ว. ดั่งนี้ จะให้ข้าพเจ้าผู้เศร้าใจทำอย่างไรต่อไปเล่า? โชคร้ายจริง!

          (รำพึง) เออ, ข้าพเจ้าได้ยินข่าวว่าพระเจ้าวัตสราชได้หนีพ้นแล้วจากความเปนชะเลย, พาเอาพระดนยาของท้าวประโท๎ยตไปด้วย, และได้เสด็จถึงเกาศามพีแล้ว. ข้าพเจ้าไปที่นั้นเถอะหรือ? (ถอนใจใหญ่เมื่อเล็งเห็นว่าตนตกอยู่ในที่อย่างไร) จะเอาอะไรเล่าไปกล่าว เมื่อข้าพเจ้าไปที่นั้นปราศจากพระราชบุตรี? อ้อ, วินธยเกตุได้บอกข้าพเจ้าวันนี้เองว่า: ‘อย่าหวั่นหวาดเลย. มหาราชาทฤฒวรมันยังคงพระชนมชีพอยู่ดอก, แต่พระองค์บอบช้ำเพราะถูกประหารและถูกจับได้เปนชะเลย.’ ฉะนั้นข้าพเจ้าจำจะต้องไปเฝ้าเจ้านายณบัดนี้ มอบถวายชีวิตของข้าพเจ้าที่ยังคงเหลืออยู่เพื่อบำเรอบาทท่ามสืบไป. (เดินวนไปมาและเหลือบแลขึ้นไป) โอหนอ, ความร้อนแรงแห่งแดดในฤดูสารทนี้ร้ายกาจนักหนา! ซึ่งแม้ว่าตัวข้าพเจ้าระทมอยู่ด้วยทุกข์เปนหลายประการแล้ว ยังรู้สึกร้อนเปนพิษ.

          ตะวันพ้นเมฆพัวพัน ยกออกจากกันย์ สู่ดุลกระจ่างผ่องใส,

          ดุจองค์วัตสราชฦๅชัย พ้นทุกข์หฤทัย กลับแสนสว่างรูจี. (๑๖)

                    (เข้าโรง)

                              จบวิษกัมภก

          (ราชาและวิทูษก ออก)

          ราชา.

          เราเชื่อแน่คณะภัจจะเฝ้าสุประติบัติ, มนตรีก็เห็นชัด ฉลาด;

          อีกทั้งมิตระก็รู้หทัยสมะมิขาด, ชาวเมืองก็รักราช ฤหย่อน;

          เราเคยปลื้มขณะฝ่าภยันตร์ณรณกร, อกได้สมรรัตน์ นรี;

          ทุกสิ่งได้เพราะดนูประสพอริกลี, เหมือนทำพิธีพรต พิบุล.

          วิทูษก. (ออกเคือง) พอเจ้าประคุณ, ทำไมจึ่งสรรเสริญอ้ายการถูกขังขี้ครอกนั่นนักหนอ? ลืมมันเสียเถอะ. เพราะว่า เปรียบเหมือนช้างพลายจ่าโขลงที่พึ่งถูกจับ, ซึ่งตีนคอยแต่สะดุดสายโซ่อันล่ามไว้ที่มีเสียงกร่างๆอยู่, จ้องขมึงทึงด้วยความเคืองจัด, มีความรุ่มร้อนใจเดือดพลุ่งด้วยหวังอากาศที่โล่ง, ซึ่งขุดคุ้ยดินอยู่ด้วยงวงอันแข็งแรง,-พระองค์ก็เคยถูกจำจองไว้โดยไร้ความบรรทมสบายจนหลายคืน.

          ราชา. วสันตกะ, สูนี่เปนคนชั่วแท้ ๆ ละ นี่แน่ะ !

          สูเห็นห้องชรอำมหันธ์และบมิเห็น แสงอินทุเพ็ญคือ พระพักตร์;

          สูเดือดร้อนเพราะนิมิตตะพันธนะอะดัก, ไม่ยินมธูรลักษ- ณะเสียง;

          สูนึกเพียงคณะคุมดุร้ายผรุสเคียง ไม่เห็นพระเนตรเนียง พะพราว;

          สูเห็นแต่พหุโทษณพันธนะอะคร้าว ลืมคุณธิดาท้าว ประโท๎ยต!

          วิทูษก. (วางปึ่ง) เออเจ้าข้า, ถ้าพันธนาการเปนการผูกพันเพื่อความสำราญ, ไฉนเล่าพระองค์จึ่งกริ้วท้าวกลิงค์เพราะเอาท้าวทฤฒวรมันไปขังไว้?

          ราชา. (หัวเราะ) บ้าจริง ๆ ละ! มิใช่จะเปนวัตสราชได้ทุกคน เมื่อรอดจากพันธนาการได้เช่นนี้ยังพาวาสวพัตตามาเสียด้วยซ้ำ. ฉะนั้น ​ขอระงับเรื่องนั้นเสียทีเถิด. เวลาได้ล่วงมาหลายวันแล้วตั้งแต่เราได้ใช้วิชัยเสนไปรบวินธยเกตุ, แต่ก็ยังหามีใครรับใช้มาจากเขาไม่. ฉะนั้น จงให้หาอมาตย์รุมัณวันต์มาบัดนี้เถิด. เราอยากจะใคร่พูดจากับเขาสักหน่อย.

                    (เฝ้าที่ออก)

          เฝ้าที่. ทรงพระจำเริญ ๆ เถอะล้นเกล้าล้นกระหม่อม. วิชัยเสนกับท่านอมาตยรุมัณวันต์มาคอยอยู่ที่พระทวารเพคะ.

          ราชา. ให้เขาเข้ามาบัดนี้.

          เฝ้าที่. เพคะล้นเกล้าล้นกระหม่อม. (เข้าโรง)

                    (รุมัณวันต์ กับ วิชัยเสนออก)

          รุมัณวันต์. (รำพึง)

          ยามเข้าเฝ้าเจ้านายนั้น ข้าย่อมใจพรั่น ประดุจผู้มีโทษผิด

          แม้เมื่อไร้โทษทุกชะนิด, แต่ห่างทรงฤทธิ์ ไปเพียงแม้แต่อึดใจ. (เดินเข้าใกล้) ชยตุ เทวะ!

          ราชา. (ชี้ที่นั่ง) รุมัณวันต์, นั่งตรงนี้เถิด.

          รุมัณวันต์. (ยิ้มพลางทางนั่ง) วิชัยเสน, ผู้ชำนะวินธยเกตุ, มาเฝ้าประณตพระองค์.

                    (วิชัยเสนถวายบังคม)

          ราชา. (กอดเขาด้วยดี) ท่านสบายดีอยู่หรือ?

          ​วิชัยเสน. เดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม.

          ราชา. วิชัยเสน, นั่งเถิด.

                    (วิชัยเสนนั่งลง)

          ราชา. วิชัยเสน, จงแถลงข่าวเรื่องวินธยเกตุเถิด.

          วิชัยเสน. เทวะ จะต้องพูดอะไรอีกเล่า เขานั้นได้รู้สึก อำนาจของพระองค์แล้ว

          ราชา. ฉะนั้นก็ดี เราใคร่ทราบเรื่องอีก.

          วิชัยเสน. เทวะ, โปรดทรงฟัง. เมื่อข้าพระองค์ได้ทูลลาจากฝ่าพระบาทไปพร้อมด้วยกองทัพใหญ่แล้ว, ได้เดินทางไปจากที่นี้, แม้เปนระยะไกล, ก็ถึงได้ในสามวัน. เวลารุ่ง, เมื่อเขา [ข้าศึก] ยังมิทันรู้ตัว, ฝ่ายเราได้เข้าโจมตีวินธยเกตุ.

          ราชา. ต่อไป, ต่อไป.

          วิชัยเสน. แล้วก็พอได้ยินสำเนียงกึกก้องแห่งกองทัพฝ่ายเรา, ตัววินธยเกตุเองก็แล่นออกมาราวกับพญาไกสรจากถ้ำในเขาวินธยะ, และ, โดยมิได้รอรี้พลหรือพาหน, และมีคนกำลังเพียงจำนวนน้อยที่เผอิญอยู่ใกล้, เขาได้ร้องประกาศชื่อตนเองแล้วเข้าต่อสู้กับฝ่ายเราโดยพลัน.

          ราชา. (แลดูรุมัณวันต์, ยิ้มพลาง) งดงามมาก วินธยเกตุ. ต่อไป, ต่อไป.

          วิชัยเสน. แล้วก็, ด้วยเสียงร้องว่า ‘อยู่นั่นแน่’ และด้วยกำลังอันทวีคูณโดยความแรงของเรา, ฝ่ายเราผลาญพวกข้าศึกเสียได้​โดยการตีหนักของเรา. แต่วินธยเกตุ, แม้อยู่โดยลำพังดั่งนั้นก็ดี, โดยเหตุที่ถูกโจมตีอย่างแรงนั้น ทำให้เขายิ่งโกรธมากหนักขึ้น, เขาจึ่งยิ่งทำการรบหนักขึ้นอีก.

          ราชา. ดีมาก, วินธยเกตุ! ดีมาก, ดีมาก.

          วิชัยเสน. จะพรรณนาได้ฉันไรเล่า? เทวะ, จะขอทูลเล่าโดยสังเขป.

          หนึ่งเขาเดียวยืนณรงค์หาญ รณะรุทะอุระราน ทับทหารราบ ระเนนอน;

          แล้วว่องไวใช้ธนูศร ประชิตะหยะนิกร ราวกระจงจร กระจายไป;

          เมื่อเขาหมดเครื่องประหารไกล กะระมละศะระไสร้ เขาบท้อใจ ก็ชักตาว,

          บัดนั้นฟันงวงกรีราว กทลิฉะฉะอะคร้าว เล่นกิฬาห้าว สนุกใจ.(๑๗)

          ผู้เดียวสอาจรณกระหน่ำ พลตรีระส่ำได้;

          ไหล่อันตระหง่านรุธิระไหล เพราะวะดาพประชุมฟัน;

          อีกทั้งระบมอุระถนัด ศตศัสตระรุมรัน;

          จึ่งวินธ๎ยะเกตุวิรนั้น ชิวสิ้นณกลางรบ.

          ราชา. รุมัณวันต์, จริงๆ นะ กูรู้สึกละอายแก่ใจด้วยความตายแห่งวินธยเกตุ, ผู้สิ้นชีพไปแล้ว โดยอาการสมควรแก่ชายผู้กล้าหาญ.

          รุมัณวันต์. เทวะ, สำหรับบุคคลเช่นพระองค์, ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ, แม้คุณสมบัติแห่งข้าศึกก็ทำให้เปนที่พอพระหฤทัย.

          ราชา. วิชัยเสน, มีลูกของวินธยเกตุอยู่บ้างหรือไม่, ซึ่งกูจะพอแสดงความพอใจให้เปนพะยานเห็นชัด.

          ​วิชัยเสน. เทวะ, ข้าพระบาทขอกราบทูลถึงข้อนั้นด้วย. เมื่อวินธยเกตุได้ตายลงแล้วพร้อมเผ่าพันธุ์และบริวาร, และสหธรรมจาริณีของเขาได้ตายตามเขาไปแล้ว, (๑๘) และชาวบ้านได้หนี ขึ้นไปอาศัยบนยอดเขาวินธยะแล้ว, ที่นั้นโล่งเตียนหมด, จากภายในเรือนของวินธยเกตุนั้น เราได้ยินเสียงหญิงสาวคนหนึ่ง, ซึ่งมีโฉมงามสมแก่กำเนิด, ร้องคร่ำครวญว่า ‘โอ้พ่อ, โอ้พ่อ.’ โดยสำคัญคิดว่าหล่อนเปนธิดาของเขา, ข้าพระเจ้าจึ่งได้พานางมาณแห่งนี้ด้วย, และบัดนี้มายืนคอยอยู่แทบพระทวาร. การจะควรประการไรสุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า.

          ราชา. ยโศธรา,ไป, ไปบัดนี้. พานางนั้นไปฝากแก่วาสวทัตตาเองนะ. จงทูลเทวีด้วยว่าให้เธอถือเปนเหมือนอย่างพระภคินี, และจงจัดให้นางได้ศึกษาตามที่สมควรแก่หญิงผู้ดี, คือในทางขับร้อง, ฟ้อนรำ, ดีดสีและความรู้อย่างอื่นๆ. เมื่อใดนางนั้นมีอายุสมควรจะออกเรือนได้, ก็, ให้พระนางเตือนกูด้วย.

          เฝ้าที่. เพคะล้นเกล้าล้นกระหม่อม. (เข้าโรง)

                    (ไวตาลิก (๑๙) พูดจากในฉาก)

          บัดนี้ปวงคณะนงพะงาวรภิมณฑ์ ในวังพระจุมพล พิศาล,

          กำลังเตรียมพระสุคนธะเครื่องวรสนาน เพื่อทรงสราญบาน หทัย;

          แลโดยมุ่งธุระกิจก็บางนริสะใบ ลุ่ยจากอุราไสร้ สยาย,

          นมสาวเต่งตะละโออุไรระจิตะราย เรียงแต่งถวายยาม สนาน.

          ราชา. (แลขึ้นไปสูง) เออ, พระผู้ทรงสหัสสรังสีได้ขึ้นถึงท่ามกลางนภากาศแล้ว. บัดนี้สิ –

​          น้ำในอ่างแก้วพะแพรวโรจน์ เพราะพหุศผรโดด (๒๐)

          ราวเดือดเพราะแสงโชติ์ รวีจัด;

          นกยูงแผ่แพนประดุจฉัตร, ชิ! มยุรลิละนัฏ

          อ่อนระอาจัด บเจียมตน; (๒๑)

          นางเนื้อทรายอยากอุทกสน ฤดิและติระณต้น

          พฤกษดื่มชล และร่มพลาง;

          ฝ่ายผึ้งพรากจากขมับช้าง (๒๒) และจรดลและพราง

          แฝงณหูอย่าง สบายดี.

          รุมัณวันต์, ลุกขึ้น, ลุกขึ้นเถิด. เรามาไปข้างในแหละ, เมื่อได้กระทำกิจอันควรของเราแล้ว, จงต้อนรับวิชัยเสนแล้วและให้เขาไปปราบท้าวกลิงค์ต่อไปเถิด.


(เข้าโรงทั้งหมด)
จบองก์ที่หนึ่ง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 กุมภาพันธ์ 2565 12:30:05 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 99.0.4844.51 Chrome 99.0.4844.51


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 17 มีนาคม 2565 13:56:16 »

.




                    ทฺวิตีโยงฺกะ
                    (ตตะ ปฺรวิศติ วิทูษกะ)

     วิทูษกะ. ณํ ภณิโทมฺหิ อินฺทีวริอาเอ, ชธา, อชฺช, อุววาสณิอมฏฺฐิทา เทวี วาสวทตฺตา โสตฺถิวาอณณิมิตฺตํ สทฺทาเวทิตฺติ. ตาชาว ธาราฆรุชฺชาณทิคฺฆิอาเอ ณฺหาอิอ เทวีปาสํ คทุอ กุกฺกุฑวาทํ กริสฺสํ. อณฺณธา กธํ อมฺหาณํ สริสา พมฺหณา ราออุเล ปฑิคฺคหํ กเรนฺติ. (เนปถฺยาภิมุขมวโลกฺย) กธํ เอโส ปิอวอสฺโส อชฺช เทวีเอ วิรหุกฺกณฺฐาวิโณทณณิมิตฺตํ ธาราฆรุชฺชาณํ เชวฺว ปตฺถิโท. ตา ชาว วอสฺเสณ สหชฺเชวฺว คทุอ ชโธทิทํ อณุจิฏฺฐิสฺสํ.

                              (ตตะ ปฺรวิศติ โสตฺกณฺโฐ ราชา)

    ราชา.
     กฺษามามฺ มงฺคลมาตฺรมณฺฑนภฤตมฺ มนฺโททฺยมาลาปินีมฺ

     อาปาณฺฑุจฺฉวินา มุเขน วิชิตปฺราตสฺตเนนฺทุทฺยุติมฺ I

     โสตฺกณฺฐ นิยโมปวาสวิธินา เจโต มโมตฺกณฺฐเต

     ตำ ทฺรษฺฏุมฺ ปฺรถมานุราคชนิตาวสฺถามิวาทฺย ปฺริยามฺ II [๑๓ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

     วิทูษกะ. (อุปสฤตฺย) โสตฺถิ ภวโท. วฑฺฒทุ ภวํ.

     ราชา. (วิโลกฺย) วสนฺตก, กสฺมาตุ ปฺรหฤษฏ อิว ลกฺษฺยเส.

     วิทูษกะ. อจฺจทิกขุ เทวี พมฺหณํ.

     ราชา. ยทฺเยวํ ตตะ กิมฺ.

     วิทูษกะ. (สครฺวมฺ) โภ, อีทิโสกฺขุ พมฺหโณ, โช จทุวฺเวทปญฺจเวทฉฎฺฐเวทพมฺหณสหสฺสปชฺชาอุเล ราออุเล ปฒมํ อหํ เชวฺว เทวีสอาสาโท โสตฺถิวาอณํ ลเหมิ.

     ราชา. (วิหสฺย) เวทสํขฺยไยวาเวทิตมฺ พฺราหฺมณฺยมฺ. ตทาคจฺฉ มหาพฺราหฺมณ. ธาราคฤโหทฺยานเมว คจฺฉาวะ.

     วิทูษกะ. ชํ ภวํ อาณเวทิ.

     ราชา. คจฺฉาคฺรตะ.

     วิทูษกะ. โภ, เอหิ, คจฺฉมฺห. (ปริกฺรมฺยาวโลกฺย จ) วอสฺส, เปกฺข เปกฺข อวิรทปฑนฺตวิวิหกุสุมสุอุมารสิลาทลุจฺฉฺงคสฺส ปริมลณิลีณมหุอรภรภคฺคพอุลมาลทีลทาชาลอสฺส กมลคนฺธคหณุททามมารุทปชฺชวพุทฺธพนฺธูอพนฺธณสฺส อวิรลตมาลตรุปิหิทาตวปฺปอาสสฺส อสฺส ธาราฆรุชฺชาณสฺส สสฺสิรีอทํ.

     ราชา. วยสฺย, สาธฺวภิหิตมฺ, อตฺร หิ-

     วฤนไตะ กฺษุทฺรปฺรวาลสฺถคิตมิว ตลมฺ ภาติ เศผาลิกานำ

     คนฺธะ สปฺตจฺฉทานำ สปทิ คชมทาโมทโมหํ กโรติ I

     เอเต โจนฺนิทฺรปทฺมจฺยุตพหลรชะปุญฺชปิงฺคางฺคราคา

     คายนฺตฺยวกฺตวาจะ กิมปิ มธุลิโห วารุณีปานมตฺตาะ II [๑๔ สุรคฺธรา.]

     วิทูษกะ. โภ วอสฺส, เอทํ ปิ ทาว เปกฺข เปกฺข, โช เอโส อวิรลปฑนฺตกุสุมณิอโร อชฺช วิ ปตฺตนฺตรคลนฺตวริสาวสาณสลิลพินทุวิอ ลกฺขีอทิ สตฺตวณฺณปาอโว.

     ราชา. วยสฺย สมฺยคุตฺเปฺรกฺษิตมฺ. พหฺเวว สทฤศํ ชลทสมยสฺย. ตถา หิ-

     พิภฺราณา มฤทุตำ ศิรีษกุสุมศฺรีหาริภิะ ศาทฺวไละ

     สทฺยะ กลฺปิตกุฏฺฏิมา มรกตโกฺษไทริว กฺษาลิไตะ I

     เอษา สมฺปฺรติ พนฺธนาทฺ วิคลิไตรฺ พนฺธูกปุษฺโปตฺกไรรฺ

     อทฺยาปิ กฺษิติรินฺทรฺโคปกศไตศฺ ฉนฺเนว สํลกฺษฺยเต II [๑๕ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

                              (ตตะ ปฺรวิศติ เจฏี)

     เจฏี. อาณตฺตมฺหิ เทวีเอ วาสวทตฺตาเอ, หญฺเช อินฺทีวริเอ. อชฺช มเอ อคตฺถิมเหสิโณ อคฺโฆ ทาทวฺโว. ตา คจฺฉ ตุมํ. เสหาลิอากุสุมมาลํ ลหุ เคณฺหิอ อาอจฺฉ. เอสา วิ อารณฺณิอา ธาราฆรุชฺชาณทิคฺฆิอาเอ ชาวชฺเชวฺว วิอสิทาอึ กมลาอึ ณ อตฺถาหิลาสิณา สุชฺเชณ มอุลาวีอนฺติ ตาวชฺเชวฺว ลหุอํ อวจิณิอ อาอจฺฉทุตฺติ. เอสา ตวสฺสิณี ตํ ทิคฺฆิอํ ณ ชาณาทิ. ตา เคณฺหิอ ตํ คมิสฺสํ (เนปถฺยาภิมุขมวโลกฺย) อิโท อิโท อารณฺณิเอ เอหิ.

                              (ตตะ ปฺรวิศตฺยารณฺยกา)  

อารณฺยกา. (สพาษฺโปทฺเวคมาตฺมคตมฺ)ตธา ณาม ตาริเส วํเส อุปฺปณฺณาเอ อณฺณชณํ อาณาวิอ ฐิทาเอ สมฺปทํ ปรสฺส มเอ อาณตฺตี กาทวฺวตฺติ ณตฺถิกฺขุ ทุกฺกรํ เทวฺวสฺส. อธ วา มหชฺเชวฺว เอโส โทโส, เชณ ชาณนฺตีเอ วิ ณ วาวาทิโท อปฺปา. ตา กึ สมฺปทํ กริสฺสํ. อธ วา ทุกฺกรํ ทาณึ มเอ จินฺติทํ. วรํ เชวฺว เอทํ ปิ. ณ อุณ อตฺตโณ มหคฺฆํ วํสํ ปอาสอนฺตีเอ มเอ ลหุอีกิโท อปฺปา. ตา กา คที. ชธาภณิทํ อณุจิฏฺฐิสฺสํ.

     เจฏี. อิโท เอหิ อารณฺณิเอ.

     อารณฺยกา. อิอํ อาอจฺฉามิ. (ศฺรมํ นาฏยนฺตี) หญฺเช, ทูเร กึ อชฺช วิ ทิคฺฆิอา.

     เจฏี. เอสา เสหาลิอาคุมฺมนฺตริทา. ตา เอหิ, โอทรมฺห.

                              (อวตรณํ นาฏยตะ)

     ราชา. วยสฺย, กิมนฺยทิว จินฺตยสิ, นนุ พฺรวีมิ, พหฺเวว สทฤศํ ชลทสมยสฺย.

                              (อิติ พิภฺราณา มฤหุตามิตฺยาทิ ปุนะ ปฐติ)

     วิทูษกะ. (สโกรฺธมฺ) โภ, ตุมํ ทาว เอทํ อณฺณํ จ เปกฺขนฺโต อุกฺกณฺฐาณิพฺภรํ วิโณเทสิ อตฺตาณอํ. มม อุณ พมฺหณสฺส โสตฺถิวาอณเวลา อทิกฺกมทิ. ตา ทาว อหํ ตุวริทํ ทิคฺฆิอาเอ ณฺหาอิอ เทวีเอ สอาสํ คมิสฺสํ.

     ราชา. นนุ มูรฺข, ปารํ คตา เอว วยํ ทีรฺฆิกายาะ. เอวฺมเนเกนฺทฺริยสุขาติศยมนุภวนฺนปิ โนปลกฺษฺยสิ ปศฺย.

     โศฺรตฺรํ หํสสฺวโนยํ สุขยติ ทยิตานูปุรหฺราทการี

     ทฤษฺฏิปฺรีตึ วิธตฺเต ตฏตรุวิวราลกฺษิตา เสาธปาลี I

     คนฺเธนามฺโภรุหาณามฺ ปริมลปฏุนา ชายเต ฆฺราณเสาขฺยํ

     คาตฺราณำ หฺลาทเมเต วิทธติ มรุโต วาริสมฺปรฺกศีตาะ II [๑๖]

     ตเทหิ. ทีรฺฆิกาตฏมุปสรฺปาวฺะ. (ปริกฺรมฺยาวโลกฺย จ) วยสฺย, ปศฺย ปศฺย.

     อุทฺยานเทวตายาะ สฺผุฏปงฺกชกานฺติหาริณี สฺวจฺฉา I

     ทฤษฺฏิริว ทีรฺฆิเกยํ รมยติ มํา ทรฺศเนไนว II [๑๗]

     วิทูษกะ. (สเกาตุกมฺ) โภ วอสฺส, เปกฺข เปกฺข.กา เอลา กุสุมปริมลสุอนฺธเวณีมหุอราวลี วิทฺทุมลทารุณหตฺถปลฺลวา อุชฺชลนฺตตณุโกมลพาหุลทา สจฺจํ ปจฺจกฺขจรี วิอ อุชฺชาณเทวทา อิตฺถิอา ทีสทิ.

     ราชา. (สเกาตุกํ วิโลกฺย) 1 วยสฺย, นิรติศยสฺวํรูปโศภาชนิตพหุวิกลฺเปยํ, ยตฺสตฺยมหมปิ นาวคจฺฉามิ. ปศฺย.

     (๑๖) สฺรคฺธรา. (๑๗) อารฺยา.

     พระเจ้าศรีหรรษวรรธนะ ตะลึงหลงมักจะดูนี่บ้างหรืออะไรอื่นบ้าง ส่วนสำหรับตัวข้าพเจ้าผู้ เปนพาหม, เวลาที่ควรรับของโสตถิวาอณะมันกำลังเดินหนีไป ฉะนั้น ข้าพระเจ้าจะรีบอาบน้ำในอ่างแล้วจะได้ไปเฝ้าพระเทวี.

     ปาตาลาทฺ ภุวนาวโลกนปรา กึ นาคกนฺโยตฺถิตา

     มิถฺยา ตตฺ ทฤษฺฏเมว หิ มยา ตสฺมินฺ กุโตสฺตีทฤศี I

     มูรฺตา สฺยาทิห เกามุที น ฆฏเต ตสฺยา ทิวา ทรฺศนํ

     เกยํ หสฺตตลสฺถิเตน กมเลนาโลกฺยเต ศฺรีริว II [๑๘ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

     วิทูษกะ. (นิรูปฺย) เอสา ขุ เทวีเอ ปริอารีอา อินฺทีวริอา. ตา คุมฺมนฺตริทา ภวิอ เปกฺขมฺห.

                               (อุเภา ตถา กุรุตะ)

     เจฏี. (กมลินีปตฺรคฺรหณํ นาฏยนฺตี) อารณฺณิเอ, อวอิณ ตุมํ ปทุมาอึ. อหํ ปิ เอทสฺสํ ณลิณีปตฺเต เสหาลิอากุสุมาอึ อวอิณิอ เทวีสอาสํ คมิสฺสํ.

     ราชา. วยสฺย, สํลาป อิว วรฺตเต. ตทวหิตาะ ศฤณุมะ กทา จิทิต เอว วฺยกฺตีภวิษฺยติ.

                                (เจฏี คมนํ นาฏยติ)

      อารณฺยกา. หลา อินฺทีวริเอ. ณ สกฺกุโณมิ ตุเอ วิณา เอตฺถ อาสิทุํ.

      เจฏี. (วิหสฺย) ชาทิสํ อชฺช มเอ เทวีเอ มนฺติทํ สุทํ ตาริเสณ จิรํ เชวฺว มเอ วิณา ตุเอ อาสิทวฺวํ.

      อารณฺยกา. (สวิษาหมฺ) กึ เทวีเอ มนฺติทํ.

     เจฏี. เอทํ, ตทา เอสา อหํ มหาราเอณ ภณิทา ชธา ชทา เอสา วิญฺฌเกทุทุหิทา วรโชคฺคา ภวิสฺสทิ ตทา อหํ สุมราวิทวฺโวตฺติ. ต สมฺปทํ มหาราอํ สุมราเวมิ เชณ เส วรจินฺตาปชฺชาอุโล ภวิสฺสทิ.

      ราชา. (สหรฺษมฺ) อิยํ สา วินฺธฺยเกโตรฺ ทุหิตา. (สานุตาปมฺ) จิรมฺ มุษิตาะ โสฺม วยมฺ. วยสฺย, นิรฺโทษทรฺศนา กนฺยกา ขลฺวิยมฺ. วิศฺรพฺธมิทานีมฺ ปศฺยามะ.

      อารณฺยกา. (สโรษํ กรฺเณา ปิธาย) ตา คจฺฉ ตุมํ. ณ ตุเอ อสมฺพทฺธปฺปลาวิณีเอ ปโออณ.ํ

      (เจฏฺยปสฤตฺย ปุษฺปาวจยํ นาฏยติ)

      ราชา. อโห สุตรามฺ ปฺรกฏีกฤตมาภิชาตฺยํ ธีรตยา. วยสฺย, ธนฺยะ ขลฺวเสา ย เอตทงฺคสฺปรฺศสุขภาชนมฺ ภวิษฺยติ.

                                 (อารณฺยกา กมลาวจยํ นาฏยติ)

      วิทูษกะ. โภ วอสฺส, เปกฺข เปกฺข. อจฺฉริอํ อจฺฉริอํ. เอสา สลิลจลนฺตกรปลฺลวปฺปหาวิตฺถิเทณ โอหสิทโสหํ กเรทิ กมลวณํ อวจิณนุตี.

     ราชา. วยสฺย, สตฺยเมไวตตฺ. ปศฺย.

     อจฺฉินฺนามฤตพินฺทุวฤษฺฏิสทฤศีมฺ ปฺรีตึ ททตฺยา ทฤศา

     ยาตายา วิคลตฺปโยธรปฏาทฺ ทฺรษฺฏวฺยตํา กามปิ I

     อสฺยาศฺ จนฺทฺรมสสฺ ตโนริว กรสฺปรฺศาสฺปทตฺวํ คตา

     ไนเต ยนฺ มุกุลีภวนฺติ สหสา ปทฺมาสฺ ตเทวาทฺภุตมฺ II [๑๙ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

       อารณฺยกา. (ภฺรมรสมพฺาธํ นาฏยนฺตี) หทฺธี หทฺธี. เอฺเทกฺขุ อวเร ปริจฺจอิอ กมลิณึ ณีลุปฺปลวณาอึ สมาปฑนฺตา ณิอุณทรํพาธนฺตา อาอาสอนฺติ มํ ทุฏฺฐมหุอรา. (อุตฺตรีเยณ มุขมฺ ปิธาย สภยมฺ) หลา อินฺทีวริเอ, ปริตฺตาเอหิ มํ ปริตฺตาเอหิ มํ. เอเท ทุฏฺฐมหุอรา ปริภวิสฺสนฺติ.

       วิทูษกะ. โภ วอสฺส, ปุณฺณา เท มโณรธา. ชาวชฺเชวฺว คพฺภทาสีเอ สุทา ณ อาอจฺฉทิ ตาวชฺเชวฺว ตุมํ ปิ ตุณฺหิกฺโก ภวิอ อุวสปฺป. เอสา วิ สลิลสทฺทสุณิเทณ ปทสํจาเรณ อินฺทีวริอา อาอจฺฉทิตฺติ ชาณิอตุมํ เชวฺว โอลมฺพิสฺสทิ.

       ราชา. สาธุ วยสฺย สาธุ. กาลานุรูปมุปทิษฺฏม. (อิตฺยารณฺยกาสมีปมุปสรฺปติ)

       อารณฺยกา. (ปทศพฺทากรฺณนํ นาฏยนฺตี) อินฺทีวริเอ, ลหุ อุวสปฺป ลหุ อุวสปฺป. อาอุลีกิทมฺหิ ทุฏฺฐมหุอเรหึ. (ราชานนวลมฺพเต)

       (ราชา กณฺเฐ คฤหฺณาติ. อารณฺยโกตฺตรียมฺ มุขาทปนีย ราชานมปศฺยนฺตี ภฺรมราวโลกนํ นาฏยติ)

       ราชา. (โสฺวตฺตรีเยณ ภฺรมรานฺ นิวารยนฺ)

      อยิ วิสฤช วิษาทมฺ ภีรุ ภฤงฺคาสฺ ตไวเต

      ปริมลรสลุพฺธา วกฺตฺรปทฺเม ปตนฺติ I

      วิกิรสิ ยทิ ภูยสฺ ตฺราสโลลายตากฺษี

      กุวลยวนลกฺษฺมี ตตฺ กุตสฺ ตฺวํา ตฺยชนฺติ II [๒๐ มาลินี]

      อารณยกา. (ราชานํ ทฤษฺฏฺวา สาธฺวสํ นาฏยนฺตี) กธํ ณ เอสา อินฺทีวริอา. (สภยํ ราชานํ ตฺยากฺตฺวาปสรนฺตี) อินฺทีวริเอ. ลหุ อาอจฺฉ ลหุ อาอจฺฉ. ปริตฺตาเอหิ มํ.

       วิทูษกะ. โภทิ, สอลปุฒวีปริตฺตาณสมตฺเถณ วจฺฉราเอณ ปริตฺตาอนฺตี เจฑึ อินฺทีวริอํ อกฺกนฺเทสิ.

                                  (ราชา อยิ วิสฤช อิตฺยาทิ ปุนะ ปฐติ)

        อารณฺยกา. (ราชานมวโลกฺย สสฺปฤหํ สลชฺชํ จาตฺมคตมฺ) ออํ ขุ โส มหาราโอ ชสฺส อหํ ตาเทณ กิณฺณา. ฐาเณกฺขุ ตาทสฺส ปกฺขวาโท. (อากุลตํา นาฏยติ)

        เจฏี. อาอาสิทา ขุ อารณฺณิอา ทุฏฺฐมหุอเรหึ. ตา ชาว อุวสปฺปิอ สมสฺสาเสมิ. อารณฺณิเอ. มา ภาอาหิ. เอสา อุวาอทมฺหิ.

        วิทูษกะ. โภ, โอสร โอสร. เอสา ขุ อินฺทีวริอา อาอทา. ตา เอทํ วุตฺตนฺตํ เปกฺขิอ เทวีเอ ณิเวทอิสฺสทิ. (องฺคุลฺยา นิรฺทิศฺย) ตา อิมํ เชวฺว กทลีฆรํ ปวิสิอ มุหุตฺตํ จิฏฺฐมฺห.

                                   (อุเภา ตถา กุรุตะ)

         เจฏี. (อุปสฤตฺย กโปเลา สฺปฤศนฺตี) หญฺเช อารณฺณิเอ. กมลสริสสฺส ตุห วอณสฺส ออํ โทโส ชํ มหุอรา เอวฺวํ อวรชฺฌนฺติ. (หสเต คฤหิตฺวา) ตา เอหิ, คจฺฉมฺห. ปริณโท ทิวโส.

                                    (คมนํ นาฏยตะ)
         อารณฺยกา. (กทลีคฤหาภิมุขมวโลกฺย) หญฺเช อินฺทีวรเอ, อทิสิสิรทาเอ สลิลสฺส อูรุตฺถมฺโภ วิอ สมุปฺปณฺโณ ตา สณิอํ สณิอํ คจฺฉมฺห.

         เจฏี. ตธา.

                                    (อิติ นิษฺกฺรานฺเต)

         วิทูษกะ. โภ, เอหิ, ณิกฺกมมฺห. ตํ เคณฺหิอ เอสา ทาสีเอ สุทา อินฺทีวริอา คทา.

                                    (ตถา กุรุตะ)

          ราชา. (นิะศฺวสฺย) กถํ คตา. สเข. วสนฺตก, น ขลฺววิฆฺนมภิลษิตมธนฺไยะ ปฺราปฺยเต. (วิโลกฺย) สเข, ปศฺย ปศฺย.

         อาพทฺธมุขมฺปีทํ กณฺฏกิตํ กมลกานนํ ตสฺยาะ I

         สุกุมารปาณิปลฺลวสํสฺปรฺศสุขํ กถยตีว II [๒๑ อารฺยา.]

          (นิะศฺวสฺย) สเข, จ อิทานีมุปายะ ปุนสฺ ตำ ทฺรษฺฏมฺ.

          วิทูษกะ. โภ, ตุมํ เชวฺว ปุตฺตลิอํ ภญฺชิอ อิทาณึ โรทสิ. ณ เม มุกฺขสฺส พมฺหณสฺส วอณํ กเรสิ.

          ราชา. กิมฺ มยา น กฤตมฺ.

          วิทูษกะ. ตํ ทาณึ วิสุมริทํ ชํ ตุณฺหิกฺโก ภวิอ อุวสปฺปตฺติ มเอ ภณิทํ. อทิสํกเฑ ภวํ ปวิสิอ อลิอปณฺฑิจฺจทุวฺวิอฑฺฒทาเอ ออิ วิสิชวิสาทํ ติ เอเทหึ อนฺเณหึ จ กฑุอวอเณหึ นิพฺภจฺฉิอ สมฺปทํ กึ โรทสิ. บุโณ วิ อุวาอํ ปุจฺฉสิ.

          ราชา. กถํ สมาศฺวาสนมปิ นิรฺภรฺตฺสิตมิติ ภณิตมฺ มูรฺเขณ.

          วิทูษกะ. ชาณิทํ เชวฺว โก เอตฺถ มุกฺโชตฺติ. ตา กึ เอทิณา. อตฺถมอาหิลาสี ภอวํ สหสฺสรสฺสี. ตา เอหิ, อพฺภนฺตรํ เชวฺว ปวิสมฺห.

          ราชา. (วิโลกฺย) อเย ปริณตปฺราโย ทิวสะ. อหห. สมฺปฺรติ หิหฤตฺวา ปทฺมวนทฺยุติมฺ ปฺริยตเมเวยํ ทินศฺรีรฺ คตา
        
         ราโคสฺมินฺ มม เจตสีว สวิตุรฺ พิมฺเทพธิกํ ลกฺษยเต I

         จกฺราหฺโวหมิว สฺถิตะ สหจรี ธฺยายนฺ นลินฺยาสฺ ตเฏ

         สํชาตาะ สหสา มเมว ภุวนสฺยาปฺยนฺธการา ทิศะ II [๒๒ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

                                     (อิติ นิษฺกฺรานฺตาะ สรฺเว)
                                          อิติ ทฺวิตีโยงฺกะ

------------------------------------

ทั้งเจฏีและอารัณยกาพูดภาษาปรากฤต.

ทั้งเจฏีและอารัณยกาพูดภาษาปรากฤต.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 17 มีนาคม 2565 14:59:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 99.0.4844.51 Chrome 99.0.4844.51


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 22 มีนาคม 2565 14:48:59 »

.




                    องก์ที่สอง
                    (วิทูษกออก)

     วิทูษก. บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับคำบอกเล่าจากอินทีวริกาว่า: ‘ท่านเจ้าขา, เวลานี้พระเทวีวาสวทัตตากำลังทรงบำเพ็ญบุญโดยทรงอด และขอเชิญท่านไปสำหรับพิธีโสตถิวาอณะ.’ (๒๓) ฉะนั้น เมื่อได้อาบน้ำในอ่างที่สวนโรงน้ำบัวแล้ว, ข้าพเจ้าก็จะได้ไปเฝ้าพระเทวีและทำเสียงขันเปนไก่. ถ้ามิฉะนั้นพวกเราที่เปนพาห์มจะได้อะไรเล่าที่ในวัง. (แลไปทางในโรง) อ้อ, พระเพื่อนรักของข้าพเจ้าเสด็จมานี่แล้ว, กำลังจะเสด็จไปสวนโรงน้ำบัว เพื่อบันเทาความกะสันเพราะความว้าเหว่พระหทัย. ฉะนั้น ข้าพเจ้าก็จะเลยไปกับพระเพื่อนของข้าพเจ้าและทำตามเช่นว่า.

                              (พระราชาออก, แสดงท่าคิดถึงนาง)

     ราชา.
     ทรงแต่มังคลมาตระมัณฑะนะภฤตา นางซูบและตรัสช้า และอ่อน; (๒๔)

     ทั้งผิวพักตระก็ซีดประหนึ่งพระศศธร ยามจวนทิวากร. รุจี;

     อีกใจนางก็ระทดเพราะทำวรพิธี; จึงจิตต์ดนูนี้ ประสงค์

     ใคร่เห็นโฉมปิยนาริเหมือนขณะอนงค์ แรกเริ่มพะวงจิตต์ เพราะรัก.

     วิทูษก. (เดินเข้าใกล้) สวัสดีเถิดเจ้าประคุณ. เจริญเถิดเจ้าข้า.

     ราชา. (เหลียวดู) วสันตกะ. ทำไมจึ่งดูสบายใจเช่นนั้น?

     วิทูษก. ก็เพราะพระเทวีท่านกำลังจะทรงใจดีต่อพาห์มน่ะสิ.

     ราชา. ก็เมื่อเช่นนั้นแล้ว อย่างไรต่อไปอีก ?

     วิทูษก. (วางปึ่ง) อ๋อ, เจ้าประคุณ, นี่ไม่ใช่พาห์มเลิดคนหนึ่งหรือ. เพราะข้าพระเจ้านี่แหละจะได้รับของโสตถิวาอณะจากพระหัตถ์พระเทวีที่ในวังก่อนเพื่อน, ทั้งๆ เมื่อที่นั้นเต็มไปแล้วด้วยพาห์มตั้งพันคนผู้รู้พระเวททั้งสี่, ทั้งห้า, ทั้งหก.

     ราชา. (สำรวลพลาง) ลักษณะพราหมณ์ ย่อมรู้ได้โดยจำนวนพระเวทของเขาสิ. ฉะนั้น มาเถิดท่านมหาพราหมณ์, ไปด้วยกันที่สวนโรงน้ำบัวเถิด.

     วิทูษก. สุดแท้แต่จะโปรด.

     ราชา. เดินไปหน้าสิ.

     วิทูษก. เจ้าประคุณ, ไปก็ไปเถิด. (เดินไปมาและเหลียวแล) เออ, พ่อเจ้าประคุณ, ดู, ดูความงามแห่งสวนโรงน้ำบัวนี้เถิด; หน้าศิลานี้ละมุนไปด้วยดอกไม้ต่าง ๆ ที่ร่วงลงบนนี้มิได้ขาด, มีดอกพอุลและดอกมะลิเลื้อยหล่นลงเพราะความหนักแห่งแมลงภู่เปนอันมากซึ่งกลั้วกลิ่นเกสร, มีก้านดอกพันธูอะถูกลมอันอมกลิ่นบัวหลวงมาเขย่าอยู่, และมีต้นตมาลอันหนาทึบเปนเครื่องกำบังแดดและความร้อน. (๒๕)

     ราชา. พูดเหมาะดี, เพื่อนรัก; เพราะที่นี้-

     ก้านดอกเศผาลิกาพรั่ง อวนิประดุจดั่ง แปงปะการัง ประดับลาน;

     หอมกลิ่นสัปตัจฉทาหวาน ดุจะคชะมทะซ่าน ทราบจมูกดาล ฤดีเย็น;

     ที่นี้ผึ้งซึ่งระคนเล่น ณปทุมะละก็เห็น กายะเหลืองเปน ประหลาดชม,

     อีกร้องราวเมาเพราะดูดดม มธุรสะอภิรม เมามธูสม หทัยปอง.(๒๖)

     วิทูษก. พ่อเจ้าประคุณ, โปรดดู, ดูทางนี้อีกด้วย, ดูต้นสัตตวัณณ์ (๒๗) พร้อมด้วยดอกเยอะแยะร่วงหล่นอยู่เสมอ, ดูราวกับมันมีหยาดน้ำหยดเรื่อยอยู่ระหว่างใบในปลายหน้าฝนเทียวละ.

     ราชา. ช่างเปรียบจริง ๆ ละ, เกลอเอ๋ย. จริงหนอ ดูมันคล้ายปลายหน้าฝนมากอยู่; เพราะว่า-

     ที่นี้เคยพสุธาละมุนเพราะตฤณงาม ยิ่งดอกศิรีษราม ระยับ,

     อีกเคยเหมือนมรกตวิไลและก็ประดับ ป่นโรยณพื้นขลับ ขจี;

     บัดนี้พันธุกมาลิเกลื่อนณปฐพี พ่างพื้นก็แปลงสี พิลาส,

     ทำให้พื้นพสุธาสีแดงประดุจดาด ด้วยอินทรโคปก์กลาด กระจาย. (๒๘)

                              (เจฏีออก)

     เจฏี. พระเทวีวาสวทัตตาได้มีรับสั่งแก่ดิฉันว่า: ‘นี่แน่ะ, อินทีวริกา, วันนี้กูจะต้องกระทำการไหว้พระอคัตถิผู้เปนใหญ่. ฉะนั้น เจ้าจงไปหาพวงมาลัยดอกเสหาลิอา๑มาโดยเร็ว; แล้วก็ให้อารัณยกานี่ไปเก็บดอกบัวหลวงที่บานแล้วมาจากในอ่างสวนโรงน้ำบัวโดยเร็ว ก่อนที่มันจะหุบเสียหมดเพราะสิ้นแสงตะวันที่เร่งจะตกอยู่.’ แม่คนนั้นหรือก็ไม่รู้จักอ่างนั้น, ฉะนั้น ดิฉันจะต้องเรียกหล่อนและพาหล่อนไปที่นั้นด้วย. (เหลียวไปทางในโรง) ทางนี้, ทางนี้, อารัณยกา, มาเถอะ.

                              (อารัณยกาออก)

     อารัณยกา. (น้ำตาคลอและไม่สบาย, บ่น) โอ้มานึกถึงตัวเรา, ผู้ได้กำเนิดในวงศ์อันสูงปานนั้น, ซึ่งเคยเปนนายผู้อื่น, มาบัดนี้ต้องรับใช้ผู้อื่น ! นี่มิใช่ความลำบากเพราะผลกรรม; มันเปนโทษผิดของเราเอง. เพราะ, แม้เมื่อได้รู้อยู่แล้ว, เราก็หาได้ฆ่าตัวของเราเสียไม่. ฉะนั้น บัดนี้เราจะทำอย่างไรเล่า? แต่ข้อที่เรารำพึงมาแล้วนั้นก็เปนการร้ายแรงมากอยู่. แต่กระนั้นก็ยังดีกว่าที่เราจะทำให้ตัวของเราถ่อยไปโดยแสดงกุลวงศ์อันประเสริฐของเรา. ก็จะมีหนทางหลีกพ้นได้อย่างไรเล่า? จำเราจะต้องกระทำตามที่เราได้ว่าไว้นั้นแหละ.

     เจฏี. อารัณยกา, มาทางนี้.

     อารัณยกา. ฉันมาเดี๋ยวนี้. (แสดงท่าอ่อนใจ) หล่อนจ๋า, อ่างนั้นยังอยู่อีกไกลหรือ?

     เจฏี. อยู่ตรงนี้เอง, หลังกอเสหาลิอา. มาเถอะหล่อน, ลงไปนั่นเถอะ.

                              (แสดงท่าลงไป)

     ราชา. เกลอเอ๋ย, เหตุไฉนเกลอจึ่งดูประหนึ่งว่านึกถึงอะไรอื่นอยู่? ฉันได้กล่าวแล้วไม่ใช่หรือว่า: ‘ดูราวกับปลายหน้าฝนทีเดียว.’

     (เธอกล่าวฉันท์บท ๑๕ ที่เริ่มว่า ‘ที่นี้เคยพสุธาละมุน’ นั้นอีกครั้งหนึ่ง)
วิทูษก. (ออกโกรธ ๆ) เจ้าข้า, พระองค์สิในขณะที่ทรงตะลึงหลงมักจะดูนี่บ้างหรืออะไรอื่นบ้าง; ส่วนสำหรับตัวข้าพระเจ้าผู้เปนพาห์มสิ, เวลาที่ควรรับของโสตถิวาอณะมันกำลังเดินหนีไป. ฉะนั้น ข้าพระเจ้าจะรีบอาบน้ำในอ่างแล้วจะได้ไปเฝ้าพระเทวี.

     ราชา. อ้าว, ตาบ้า, เราได้เดินเลยอ่างนั่นมาแล้วละ. ทั้งๆ ที่สูได้รับความสุขมามากมาย โดยทางอินทรีย์ทั้งหลายของสูแล้ว, สูก็หารู้สึกไม่. ดูสิ!

     เสียงหงส์ทองร้องระหริ่งหวาน ดุจะปิยนริคราญ ใส่กำไลผ่าน สบายกรรณ;

     เห็นเรือนหลวงเลิดวิไลฉัน ณตรุและชลอัน ส่งสง่าสรรพ์ สบายเนตร;

     หอมกลิ่นบัวหลวงภิรมเยศ กมลวิมลเกสร์ ส่งสุคนธ์เศรษฐ์ สบายฆาน;

     ลมเย็นรวยรื่นเพราะพัดผ่าน ชลธิสรสถาน ถูกณกายซ่าน สบายกาย.

     ฉะนั้นมาเถอะ. เดินเข้าไปสู่ปากอ่างนั้นเถิด. (เดินพลางเหลียวไปมาพลาง) เกลอเอ๋ย, ดูสิ, ดูสิ.

     อ่างแก้วกอบบงกชหลาย ล่อจิตต์สบาย แม้เพียงเมื่อทอดทรรศนา

     งานเหมือนเนตรเทวดา เฝ้าสวนโศภา ผู้เนตรงามยิ่งบัวหลวง.

     วิทูษก. (ด้วยความหลากใจ) ดูหน่อย, ดูหน่อย, เจ้าประคุณ! นางนี้ใครหนอ, มีแมลงภู่ตอมอยู่ที่ผม อันหอมไปด้วยกลิ่นดอกไม้, และมือคล้ายดอกไม้ตูมแดงเรื่อราวกับกิ่งปะการัง, และแขนงาม, อ่อน, และนิ่มนวล? ดูราวกับเปนนางฟ้ารักษาสวนมาเดินอยู่ให้เราเห็นเทียวละ.

     ราชา. (แลดูด้วยความความหลากใจ) เกลอเอ๋ย, โฉมของหล่อนอันงามหาที่เปรียบมิได้ทำให้นึกเอาไปหลายอย่าง. ฉันเองก็หารู้แน่ได้ไม่. ดูสิ!

     ฤๅนางเปนวรนาคกันยะจรจาก บาดาลเพราะอยากเยี่ยม พิภพ?

     ไม่ใช่แน่เพราะหนูก็เคยจริกะจบ ถิ่นนั้นบ่พบใคร เสมอ.

     ฤๅแสงจันทร์จะประชุมและส่งสิริละเออ? เห็นผิดละเหนอนี่ ทิวา.

     ใครหนองามตะละองค์พระศรีวรศุภา ถือบัวสง่างาม ณหัตถ์ ?

     วิทูษก. (เพ่งดู) คนนี้นะแน่ละคืออินทีวริกาข้าหลวงของพระเทวี. ฉะนั้น เราไปแอบดูเขาข้างหลังกอไม้นั่นเถอะ.

                              (ทั้งสองทำเช่นว่า)

     เจฏี. (ทำท่าเด็ดใบบัว) อารัณยกา, หล่อนเก็บดอกบัวหลวงเถอะ, ฉันจะเก็บดอกเสหาลิอาใส่ในใบบัวนี้แล้วจะได้ไปเฝ้าพระเทวี.

     ราชา. เกลอเอ๋ย, ดูเขากำลังพูดจากันอยู่. ฉะนั้น เราฟังให้ดี ๆ หน่อยเถอะ, บางทีเราจะได้เนื้อถ้อยกระทงความโดยเหตุนี้บ้าง.

                              (เจฏีทำท่าจะไป)

     อารัณยกา. อุ๊ย, อินทีวริกา, เมื่อหล่อนจะไม่อยู่แล้ว ฉันจะอยู่นี่อย่างไรได้?

     เจฏี. (หัวเราะ) ตามที่ฉันได้ทั้งพระเทวีรับสั่งวันนี้แล้ว, หล่อนจะต้องอยู่พรากจากฉันไปอีกนานละ.

     อารัณยกา. (พรั่นใจ) พระเทวีตรัสว่ากระไร?

     เจฏี ว่าอย่างนี้: ‘ทูลกระหม่อมแก้วตรัสเมื่อเวลานั้นว่า, ถ้าเมื่อใดลูกสาวของวินธยเกตุมีอายุควรแต่งงานได้ละก็, ให้กราบทูลเตือน. ฉะนั้น กูจะทูลเตือนทูลกระหม่อมแก้วในเร็วๆ นี้, เพื่อท่านจะได้ทรงพระดำริเรื่องหาผัวสำหรับแม่คนนั้น.’

     ราชา. (ปลื้ม) อ้อนี่เองธิดาของวินธยเกตุ! (ด้วยความเสียดาย) เราได้ชวดหลอนไปเสียนาน. เกลอเอ๋ย, การดูนางสาวคนนี้ไม่มีโทษแน่ละ. บัดนี้เรามาดูหล่อนโดยปราศจากตะขิดตะขวงเถิด.

     อารัณยกา. (เคือง, อุดหู) หล่อนไปให้พ้น. ฉันไม่ชอบหล่อนเลย เมื่อหล่อนพูดเหลวใหล.

                              (เจฏีเดินเลี่ยงไป. ทำท่าเก็บดอกไม้)

     ราชา. เออกำเนิดดีของหล่อนแลเห็นได้ถนัดโดยท่าทางอันสง่าของหล่อน, เกลอเอ๋ย, ผู้ใดมีเคราะห์ดีได้กอดตัวหล่อนละก็, จะได้มีความสุขมากเทียวละ.

                              (อารัณยกาทำท่าเก็บดอกบัว)

     วิทูษก. เจ้าประคุณ, ดู, ดู. อัศจรรย์, อัศจรรย์. เมื่อหล่อนเก็บดอกบัวช่อนั้นแล้ว หล่อนทำให้ความงามของมันทรามไปด้วยความงามอร่ามแห่งมือของหล่อนอันเหมือนดอกไม้ตูม ในเมื่อผ่านไปมาในน้ำ.

     ราชา. เกลอเอ๋ย, จริงเช่นนั้นเทียว. ดู!

     หล่อนชายตาฤก็ยวนฤดีปริดิเสบย เหมือนได้เสวยหยาด อมฤต;

     หล่อนงามยามอุระไร้สะไบนะบ่มิปิด ปานจันทร์บมิดเมฆ วิไล;

     ยามนางเก็บผิปทุมจะหุบก็ดนุไสร้ หาเห็นประหลาดไม่, เพราะว่า

     ได้ถูกหัตถ์นรินวลบ่พ่ายศศธรา เหมือนแสงศศีมา กระทบ.

     อารัณยกา. (ทำท่าเหมือนถูกแมลงภู่ตอม) อุ๊ย, อุ๊ย! แมลงภู่นี่, ที่ผละจากดอกบัวหลวงมาเกาะที่ช่อนิโลบลนี่. มันมากวนและรังแกฉันไม่หยุดหย่อน (คลุมหน้าด้วยผ้าห่ม, เสียงกลัว) อินทีวริกาจ๋า ช่วยฉันด้วย, ช่วยฉันด้วย. แมลงภู่เหล่านี้มันจะทำให้ฉันเสียทีเสียแล้ว.

     วิทูษก. เจ้าประคุณ, สมประสงค์ของท่านละ. ก่อนที่อีนางลูกขี้ครอกนั้นจะมาได้, เชิญย่องเข้าไปเงียบ ๆ เถอะ, หล่อนคงนึกว่าอินทีวริกามา, เมื่อได้ยินเสียงฝีพระบาทในน้ำ, แล้วก็หล่อนคงเข้าเกาะพระองค์เปนแน่ละ.

     ราชา. ดีมาก, เกลอ, ดีมาก. คำแนะนำของสูเหมาะแก่เวลาเทียวละ (เธอเดินไปหาอารัณยกา)

     อารัณยกา. (ทำท่าได้ยินฝีเท้า) อินทีวริกา, มาไวๆ, มาไว ๆ. ฉันแทบจะคลั่งแล้วเพราะแมลงภู่เหล่านี้. (เกาะพระราชาแน่นไว้)

                              (พระราชาเอาแขนกอดคอนาง. อารัณยกา, เปิดผ้าห่มจากหน้า, ยังไม่เห็นพระราชา, ทำท่าดูแมลงภู่เหล่านั้น)

     ราชา. (ปัดแมลงภู่ด้วยผ้าห่มของพระองค์เองพลาง)

     อ้าภีรุอย่ากลัว ภมราบ่ทำอะไร

     มันตอมณพักตร์ไสร้ ก็เพราะพักตระปานปทุม.

     เนตรตื่นและกายสั่น เพราะวะพรั่นก็ยังประชุม

     งามแม้นอุบลกลุ่ม ภมราจะร้างไฉน.(๒๙)

     อารัณยกา. (เห็นพระราชา, ทำท่าตกใจ) อ้าว, นี่ไม่ใช่อินทีวริกา. (ผละจากพระราชาด้วยความกลัวและถอยออกห่าง) อินทีวริกา, มาไว ๆ, มาไว ๆ ช่วยฉันด้วย.

     วิทูษก. แม่คุณ, เมื่อหล่อนอยู่แล้วในความป้องกันแห่งพระเจ้าวัตสราช, ผู้ทรงสามารถป้องกันโลกทั้งหมด, หล่อนยังเรียกอินทีวริกาผู้เจฏีอีก.

                              (ราชากล่าวฉันท์ที่เริ่มว่า ‘อ้าภีรุอย่ากลัว’ นั้นอีก)

     อารัณยกา. (แลดูพระราชาด้วยความใคร่และเสงี่ยม, พูดกับตนเอง) อ้อนี่เองแหละพระมหาราชเจ้าที่บิดาของเรายกตัวเราถวาย. บิดาของเราช่างเลือกเหมาะฐานะจริงนะ. (ทำท่าสะเทินอาย)

     เจฏี. อารัณยกาถูกแมลงภู่กวนนัก, ฉะนั้น เราต้องไปปลอบหล่อนเสียหน่อย, อารัณยกา, อย่ากลัวเลย; ฉันมานี้แล้ว.

     วิทูษก. ไปเถิด, พระเจ้าข้า, ไปเถิด. อินทีวริกามานี่แล้ว. ถ้ามันได้เห็นความเปนไปเข้าละก็, มันคงเอาไปทูลฟ้องพระเทวีละ (ชี้ด้วยนิ้ว) ฉะนั้น เรามาเข้าไปในซุ้มกล้วยนี้และคอยดูเวลาอันเหมาะเถอะ.

                              (ทั้งสองทำเช่นว่า)
     เจฏี. (เดินเข้าไปหาและตบแก้มหยอก) แม่อารัณยกา, มันเปนความผิดของหน้าหล่อนที่คล้ายดอกบัวนั้นเอง, แมลงภู่มันจึงได้กวนตอมนัก (จับมือจูง) เถอะหล่อน, ไปกันเสียที. วันเกือบหมดแล้ว.

                              (ทำท่าเดินไป)
     อารัณยกา. (แลไปทางซุ้มกล้วย) แม่อินทีวริกา, ดูตีนมือของฉันนี้ชาไปอย่างไรเสียแล้ว เพราะถูกน้ำเย็นจัดมากเกินไป. เราเดินไปอย่างช้า ๆ เถอะนะ.

     เจฏี. ได้สิ.
                              (เข้าโรงทั้งสองนาง)
     วิทูษก. มาเถอะ, พระเจ้าข้า, ออกไปจากนี่เสียทีเถอะ. นางทาสีอินทีวริกาพาตัวเจ้าหล่อนไปแล้ว.

     ราชา. (ถอนใจ) อ้าว, หล่อนไปแล้วหรือ? เพื่อนวสันตกะ, ชนผู้เคราะห์ร้ายมักไม่ได้อะไรสมใจโดยปราศจากความขัดขวาง. (เหลียวดู) ดูเถอะ, เพื่อน, ดูเถอะ.

     ช่อบัวแม้หน้าหุบไซร้ ยังบอกแจ้งได้ ประหนึ่งจะส่งภาษา

     โดยเกสรชันนั้นว่า มันสุขนักหนา เพราะถูกมือหล่อนละมุน

     (ถอนใจ) เพื่อนเอ๋ย, มีอุบายอย่างไรบ้างหรือที่จะใช้เพื่อได้เห็นหล่อนอีก?

     วิทูษก. เออ, บัดนี้พระองค์มาร่ำฉาวเพราะได้ทำตุ๊กกะตาหักไปเอง. พระองค์ไม่ทำตามคำแนะนำของตาพาห์มบ้านี่นะ.

     ราชา. ฉันไม่ได้ทำอะไรเล่า?

     วิทูษก. ลืมเสียแล้วละหรือ? ข้าพระเจ้าทูลว่า: “ย่องเข้าไปเงียบๆ.” ส่วนพระองค์น่ะหรือ, ครั้นเมื่อถึงเวลาสำคัญเข้าสิ, โดยตื่นพระองค์ว่าเปนผู้มีความรู้ เลยทำให้เจ้าหล่อนตกใจเสียด้วยคำว่า ‘อ้าภีรุอย่ากลัว,’ และคำดุด่าอะไรอื่นอีก; ฉะนั้น เวลานี้มาร่ำฉาวเอาอะไร? แล้วมีหน้ามาถามด้วยว่าทำอย่างไรจะได้พบเจ้าหล่อนอีก.

     ราชา. อะไร! เราปลอบหล่อนแท้ ๆ ตาบ้าเรียกว่าดุด่า!

     วิทูษก. ใครเปนบ้าในที่นี้ก็แลเห็นง่าย ๆ อยู่แล้ว. ฉะนั้นเปนไรไปพระผู้เปนเจ้าสหัสสรังสีใคร่จะตกอยู่แล้วละ. ฉะนั้น มาเถอะ, เข้าไปในเรือนเถอะ.

     ราชา. (เหลียวดู) เออ, วันจวนจะหมดอยู่แล้ว. โอ้โอ๋ ! เพราะบัดนี้

     ความงามแห่งทิวะผ่านเพราะโฉมปิยนรี รึงช่อปทุมศรี จรัล;

     แสงแดงเรื่อก็ระยับณดวงสุริยนั้น เช่นในอุราฉัน เฉลา;

     นกจักราวะกะยืนณบึงประดุจะเรา คิดถึงวธูเศร้า กมล;

     ทั่วแดนดินฤก็สิ้นสุรังสิสุริยน เยี่ยงจิตต์ดนูอน- ธการ.

                              (เข้าโรงทั้งหมด)
                             จบองก์ที่สอง  



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มีนาคม 2565 14:50:49 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 99.0.4844.51 Chrome 99.0.4844.51


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 22 มีนาคม 2565 14:53:46 »

.




                   ตฤตีโยงกะ
                    (ตตะ ปฺรวิศติ วิทูษกะ)
                    [ปฺรเวศกะ]
                    (ตตะ ปฺรวิศติ มโนรมา)


    มโนรมา. “อาณตฺตมฺหิ เทวีเอ วาสวทตฺตาเอ, หญฺเช มโณรเม, โช โส สงฺกิจฺจาอณีเอ อชฺชอุตฺตสฺส มม อ วุตฺตนฺโต ณาฑโอวณิพทฺโธ ณจฺจิทวฺวเสสํ อชฺช ตุมฺเหหึ โกมุทีมหูสเว ณจฺจิทวฺวํ ติ. หิโอกฺขุ อารณฺณิอาเอ ปิอสหีเอ สุณฺณหิออาเอ อณฺณธา เชวฺว ณจฺจิทํ. อชฺช อุณ วาสวทตฺตาภูมิอาเอ ตาเอ ชอิ ตธา กรีอทิ ตโท อวสฺสํ เทวี กุปฺปิสฺสทิ. ตา กหึ ทาว ตํ เปกฺขิอ อุวาลมฺภิสฺสํ. (วิโลกฺย) เอสา อารณฺณิอา อปฺปณา เชวฺว กึ ปิ กึ ปิ มนฺตอนฺตี ทิคฺฆิอาตีเร กทลีฆรอํ ปวิสทิ. ตา คุมฺมนฺตริทา ภวิอ สุณิสฺสํ ทาว เส วีสทฺธชปฺปิทาอึ.

                              อิติ ปฺรเวศกะ
                              (ตตะ ปฺรวิศตฺยาสนสฺถา กามาวสฺถํา นาฏยนฺตฺยารณฺยกา)

     อารณฺยกา. (นิะศฺวสฺย) หิออ, ทุลฺลหชณํ ปตฺถอนฺโต ตุมํ กีส มํ ทุกฺขิทํ กเรสิ.

     มโนรมา. ตํ เอทํ สุณฺณหิออตฺตณสฺส การณํ. กึ อุณ เอสา ปตฺเถทิ. อวหิทา ทาว สุณิสฺสํ.

     อารณฺยกา. (สาสฺรมฺ) กธํ ตธา ณาม โสหณทํสโณ ภวิอ มหาราโอ. เอวฺวํ สํตาเวทิ มํ. อจฺฉริอํ อจฺฉริอํ. (นีะศฺวสฺย) อธ วา มหชฺเชวฺว เอสา อภาอเหอทา, ณ อุณ มหาราอสฺส โทโส.
    
     มโนรมา. (สพาษฺปมฺ) กธํ มหาราโอชฺเชวฺว เส ปตฺถณีโอ. สาหุ ปิอสหิ สาหุ. อหิชาทสริโส เท อหิลาโส.

     อารณฺยกา. กสฺส ทาว เอทํ วุตฺตนฺตํ ณิเวทิอ สชฺฌเวอณํ วิอ ทุกฺขํ กริสฺสํ. (วิจินฺตฺย) อธ วา อตฺถิ เม หิออณิวฺวิเสสา ปิอสหี มโณรมา. ตาเอ วิ เอทํ วชฺชาเอ ณ ปาเรมิ กธิทุํ. สวฺวธา มรณํ วชฺชิอ กุโท เม หิออสฺส อณฺณา ณิวฺวุที.

     มโนรมา. (สาสฺรมฺ) หทฺธี. หทฺธี อทิภูมึ คโท เส ตวสฺสิณีเอ อณุราโอ. ตา กึ ทาณึ เอตฺถ กริสฺสํ.

     อารณฺยกา. (สาภิลาษมฺ) ออํ โส อุทฺเทโส ชสฺสึ มหุอเรหึ อาอาสีอนฺตี โอลมฺพิอ มหาราเอณ สมสฺสาสิทมฺหิ ภีรุ มา ภาอาหิตฺติ.

     มโนรมา. (สหรฺษมฺ) กธํ เอสา วิ ทิฏฺฐา มหาราเอณ. สวฺวธา อตฺถิ เส ชีวิทสฺส อุวาโอ. ชาว อุวสปฺปิอ สมสฺสาเสมิ ณํ. (สหโสปสฤตฺย) ชุตฺตํ ณาม หิออสฺส วิ ลชฺชิทุํ.

     อารณฺยกา. (สลชฺชมาตฺมคตมฺ) หทฺธี หทฺธี สวฺวํ สุทํ เอทาเอ. ตา เอตฺถ ชุตฺตํ เชวฺว ปอาสอิทุํ. (ปฺรกาศํ หสฺเต คฤหีตวฺา) ปิอสหิ, มา กุปฺป มา กุปฺป. ลชฺชา เอตฺถ อวรชฺฌทิ.

     มโนรมา. (สหรฺษมฺ) สหิ, อลํ สงฺกาเอ.เอทํ เม อาอกฺข, สจฺจํ เชวฺว ตุมํ มหาราเอณ ทิฏฐา ณ วตฺติ.

     อารณฺยกา. (สลชฺชมโธมุขี) สุทํ เชวฺว ปิอสหีเอ สวฺวํ.

     มโนรมา. ชอิ ทิฏฺฐา มหาราเอณ ตุมํ ตา อลํ สํตปฺปิเทณ. โสชฺเชวฺว ทาณึ ทํสโณวาอปชฺชาอุโล ภวิสฺสทิ.

     อารณฺยกา. ออํ ลหีอโณ ปกฺขวาเทณ มนฺเตทิ. ออิ สหิปกฺขวาทิณิ, เทวีคุณณีอลณิพทฺเธกฺขุ ตสฺสึ ชเณ กุโท เอทํ.

     มโนรมา. (วิหสฺย) หลา อปณฺฑิเท, กมลิณีพทฺธาณุราโอวิ มหุอโร มาลทึ เปกฺขิอ อหิณวรสาสาทลมฺปโฑ กุโท ตํ อณาสาทิอ ฐิทึ กเรทิ.

     อารณฺยกา. กึ เอทิณา อสมฺภาวิเทณ. ตา เอหิ. อหิอํ ขุ สรทาทเวณ สํตปฺปิทาอึ อชฺช วิ ณ เม องฺคาอึ สํตาวํ มุญฺจนฺติ.
    
     มโนรมา. ออิ ลชฺชาลุเอ, ณ ชุตฺตํ เอทํ อวตฺถํ คทาเอ. วิ ตุเอ อปฺปา ปจฺฉาทิทุํ.

                              (อารณฺยกา มุขมวนมยติ)


     มโนรมา. ออิ อวิสฺสมฺภสีเล, กึ ทาณึ ปจฺฉาเทสิ. ณีสาสณิหวิณิคฺคโท ทิวสํ รตฺตึ ปิ ตุห อณุราโอ อวิรทปฑนฺตกุสุมสรสรณิวหปฺปอุตฺตหุํการสทฺโท วิอ ณ ภณาทิ. (อาตฺมคตมฺ) อธ วา ณ หุ ออํ กาโล อุวาลมฺภสฺส ตา ทาว ณลิณีปตฺตาอึ เส หิอเอ ทาอิสฺสํ. (อุตฺถาย ทีรฺฆิกายา นลินีปตฺราณิ คฤหีตฺวารณฺย กายา หฤทเย ททตี) สมสฺสสทุ สหี สมสฺสสทุ.

                              (ตตะ ปฺรวิศติ วิทูษกะ)
     วิทูษกะ. อทิมหนฺโตกฺขุ ปิอวอสฺสสฺส อารณฺณิอาเอ อุวริ อณุราโอ, เชณ ปริจฺจตฺตราอกชฺโช ตาเอชเชวฺว ทํสโณวาอํ จินฺตอนฺโต อตฺตาณอํ วิโณเททิ. (วิจินฺตฺย) กหึ ทาณึ ตํ เปกฺขามิ. อธ วา ตหึ ทิคฺฆิอาเอ อณฺเณสามิ. (ปริกฺรามติ)

     มโนรมา. (อากรฺณฺย) ปทสทฺโท วิอ สุณีอทิ. ตา กทลีคุมฺมนฺตริทาโอ ภวิอ เปกฺขมฺห ทาว โก เอโสตฺติ.

                              (อุเภ ตถา กฤตฺวา ปศฺยตะ)

     อารณฺยกา. กธํ โสชฺเชวฺว มหาราอสฺส ปาสปริวฏฺฏี พมฺหโณ.

     มโนรมา. กธํ วสนฺตโอชฺเชวฺว. (สหรฺษมาตฺมคตม.) อวิ ณาม ตธา ภเว.

     วิทูษกะ. (ทิโศวโลกฺย) กึ ทาณึ อารณฺณิอา สจฺจํ เชวฺว สํวุตฺตา.

     มโนรมา. (สสฺมิตมฺ) สหิ, ราอวอสฺโสกฺขุ พมฺหโณ ตุมํ อุทฺทิสิอ มนฺเตทิ. ตา ทาว อวหิทาโอ สุณมห.

                              (อารณฺผกา สสฺปฤหํ สลชฺชํ จ ศฤโณติ)

     วิทูษกะ. (โสทฺเวคมฺ) ชทา ทาว มเอ ครุอมอณสํตาวณีสหสฺส ปิอวอสฺสสฺส อสฺสตฺถวอเณณ เทวีณํ วาสวทตฺตาปทุมาวทีณํ อณฺณาณํ จ เทวีณํ ภวณาอึ อณฺเณสนฺเตณ ณ สา ทิฎฺฐา ตทา ชหึ ทิคฺฆิอาเอ ทิฎฺฐา เอทํ ปิ ทาว เปกฺขิสฺสํ ติ อาอโทมฺหิ. ตามที่สอบคัดเลือกได้ ชาว อิธ วิ ณตฺถิ. กึ ทาณึ กริสฺสํ.

     มโนรมา. สุทํ ปิอสหีเอ.

     วิทูษกะ. (วิจินฺตฺย) อธ วา ภณิโทชฺเชวฺว อหํ วอสฺเสณ, ชอิ ตํ อณฺเณสนฺโต ณ เปกฺขสิ ตา ตโท วิ ทาว ทิคฺฆิอาโท ตาเอ กรทลปฺผริสทิอุณิทสุหลีทลาอึ ณลิณีปตฺตาอึ เคณฺหิอ อาอจฺฉตฺติ ตา กธํ เอทาอึ ชาณิทวฺวาอึ.

     มโนรมา. ออํ เม อวสโร. (อุปสฤตฺย วิทูษกํ หสฺเต คฤหีตฺวา) วสนฺตอ, เอหิ. อหํ เท ชาณาเวมิ.

     วิทูษกะ. (สภยมฺ) กสฺส ตุมํ ชาณาเวสิ. กึ เทวีเอ. ณ หุ มเอ กึ ปี มนฺติทํ

     มโนรมา. วสนฺตอ, อลํ สงฺกาเอ. ชาทิสี อารณฺณิอาเอ กิเท อตฺตโณ ปิอวอสฺสสฺส อวตฺถา ตุเอ วฺณณิทา ตโท ทิอุณทรา ภฏฺฏิโณ วิกิเท มห ปิอสหีเอ อวตฺถา. ตา เปกฺข เปกฺข. (อุปสฤตฺยารณฺยกำทรฺศยติ)

     วิทูษกะ. (ทฤษฏฺวา สหรฺษมฺ) สผโล เม ปริสฺสโม. โสตฺถิ โภทีเอ.

                              (อารณฺยกา สลชฺชํ กมลินีปตฺราณฺยปนีโยตฺดิษฺฐติ)

     มโนรมา. อชฺช วสนฺตอ, ตุห ทํสเณณชฺเชวฺว อวคโท ปิอสหีเอ สํตาโว, เชณ สอํ เชวฺว ณลิณีปตฺตาอึ อวเณทิ. ตา อณุเคณฺหทุ อชฺโช อิมาอึ.

     อารณฺยกา. (สาเวคมฺ) ออิ ปริหาสสีเล, กีส มํ ลชฺชาเวสิ. (กึจิตฺ ปรางฺมุขี ติษฺฐติ)

     วิทูษกะ. (สวิษาทมฺ) จิฏฺฐนฺตุ ทาว ณลิณีปตฺตาอึ อทิลชฺชาลุอา เท ปิอสหี. ตา กธํ เอทาณํ สมาอโม ภวิสฺสทิ.

     มโนรมา. (กฺษณํ วิจินฺตฺย สหรฺษมฺ) วสนฺตอ, เอวฺวํ วิอ. (กรฺเณ กถยติ)

     วิทูษกะ. สาหุ ปิอสหิ สาหุ. (อปวารฺย) ชาวชฺเชวฺว ตุมฺเห เณวจฺฉคฺคหณํ กเรธ ตาวชฺเชวฺว อหํ ปิ วอสฺสํ เคณฺหิอ อาอจฺฉามิ. (อิติ นิษฺกฺรานฺตะ)

     มโนรมา. อทิโกวเณ, อุฏฺเฐหิ อุฏฺเฐหิ. ณจฺจิทวฺวํ อมฺเหหึ ตสฺสชฺเชวฺว ณาฑอสฺส ณจฺจิทวฺวเสสํ. ตา เอหิ, เปกฺขาฆรํ เชวฺว คจฺฉมฺห. (ปริกฺรมฺยาวโลกฺย) อิทํ เปกฺขาคารํ. ชาว เอหิ, ปวิสมฺห. (ปฺรวิษฺฏเกนาวโลกฺย) สาหุ สาหุ สวฺวํ สชฺชีกิทํ เทวีเอ อาอนฺตวฺวํ.

                          (ตตะ ปฺรวิศติ เทวี สางฺกฤตฺยายนี วิภวตศฺ จ ปริวาระ)                

     วาสวทตฺตา. ภอวทิ, อโห เท กวิตฺตณํ, เชณ เอทํ คูฒวุตนฺตํ ณาฑโอวณิพท์ธํ สาณุภวํ ปิ อมฺหาณํ อชฺชอุตฺตจริทํ อทิฏฺฐปุวฺวํ วิอ ทีสนฺตํ อหิอทรํ โกทูหลํ วฑฺฒอทิ.

     สางฺกฤตฺยายนี.อายุษฺมติ, อาศฺรยคุณ เอวายมีทฤศะ, ยทสารมปิ กาวฺยมวศฺยเมว ศฤณฺวตำ ศฺรวณสุขมุตฺปาทยติ. ปศฺย.

     ปฺราโย ยตฺกึจิทปิ ปฺราปฺโนตฺยุตฺกรฺษมาศฺรยานฺ มหตะ I

     มตฺเตภกุมฺภตฏคตเมติ หิ ศฤงฺคารตามฺ ภสฺม II [๒๓ อารฺยา]

     วาสวทตฺตา. (สสฺมิตมฺ) ภอวทิ, สวฺวสฺส วลฺลโห ชามาทา โภทิตฺติ ชฺาณีอทิชฺเชวฺว เอทํ. ตา กึ เอทิณา กธาณุพนฺเธณ. วรํ ตํ เชวฺว ณจฺจิทวฺวํ ทฏฺฐุํ.

     สางฺกฤตฺยายนี. เอวมฺ. อินฺทีวริเก, เปฺรกฺษาคฤหมาเทศย.

     เจฏี. เอทุ เอทุ ภฏฏิณี.

                          (สรฺวาะ ปริกฺรามนฺติ)  

     สางฺกฤตยายนี. (วิโลกฺย) อโห เปฺรกฺษณียตา เปฺรกฺษาคฤหสฺย.

     อาภาติ รตฺนศตโสภิตศาตกุมฺภ-

     สฺตมฺภาวสกฺตปฤถุเมากฺติกทามรมฺยมฺ I

     อธฺยาสิตํ ยุวติภิรฺ วิชิตาปฺสโรภิะ

     เปฺรกฺษาคฤหํ สุรวิมานสมานเมตตฺ II [๒๔ วสนฺตติลกา.]

     มโนรมารณฺยเก. (อุปสฤตฺย) เชทุ เชทุ ภฎฺฏิณี.

     วาสวทตฺตา. มโณรเม, อทิกฺกนฺตา ขุ สํฌา. ตา คจฺฉธ. ลหุ เคณฺหธ เณวจฺฉํ.

     อุเภ. ช เทวี อาณเวทิ. (อิติ ปฺรสฺถิเต)

     วาสวทตฺตา. อารณฺณิเอ, เอเทหึ เชวฺว มทงฺคปิณทฺเธหึ อาภรเณหึ เณวจฺฉภูมึ คทุอ อตฺตาณอํ ปสาเหหิ. (อาภรณานฺยงฺคาทวตารฺยารณฺยกายาะ สมรฺปยติ) มโณรเม, ตุมํ ปิ ณลคิริคฺคหณปริตุฏฺเฐณตาเทณ อชฺชอุตฺตสฺส ทิณฺณาอึ อาภรณาอึ อินฺทีวริอาสอาสาโท เคณฺหิอ เณวจฺฉภูมิอํ คทุอ อตฺตาณอํ มณฺเฑหิ เชณ สุสทิสี ทีสสิ มหาราอสฺส.

                          (มโนรเมนฺทีวริกาสกาศาทาภรณานิ คฤหีตฺวา สหารณฺยกยา นิษฺกฺรานฺตา)

     อินฺทีวริกา. เอทํ อาสณํ. อุววิสทุ กฏฺฏิณี.

     วาสวทตฺตา. (อาสนํ นิรฺทิศฺย) อุววิสทุ ภอวที.



                          (อุเภ อุปวิศตะ)
                          ครฺภนาฏกมฺ
                          (ตตะ ปฺรวิศติ คฤหีตเนปถฺยะ กญฺจุกี)

     กญฺจุกี.

     อนฺตะปุราณำ วิหิตวฺยวสฺถะ

     ปเท ปเทหํ สฺขลิตานิ รกฺษนฺ I

     ชราตุระ สมฺปฺรติ ทณฺฑนีตฺยา

     สรฺวํ นฤปสฺยานุกโรมิ วฤตฺตมฺ II [๒๕ อุปชาติ.]

     โภะ, อาชฺญาปิโตสฺมิ วิมานิตาเศษศตฺรุไสนฺเยน ยถารฺถนามฺนา มหาเสเนน, สามาทิศฺยตามนฺตะปุเรษุ, ยถา โศฺว วยมุทยโนตฺสวมนุภวามะ, อโต ยุษฺมาภิรุตฺสวานุรูปเวโษชฺชฺวเลน ปริชเนน สห มนฺมโถทฺยานํ คนฺตวฺยมิติ.

     สางฺกฤตฺยายนี. (กญฺจุกินํ นิรฺทิศฺย) ราชปุตฺริ, ปฺรวฤตฺตา เปฺรกฺษา. ทฤศฺยตามฺ.

     กญฺจุกี. ตเทตทาเทษฺฎวฺยมฺ ปริชเนน สห คนฺตวยฺมิติ คฤหีตเนปถฺเยเนติ นาเทษฺฏวฺยมฺ. กุตะ -

     ปาไทรฺ นูปุริภิรฺ นิตมฺพผลไกะ ศิญฺชานกาญฺจีคุไณรฺ

     หาราปาทิตกานฺติภิะ สฺตนตไฏะ เกยูริภิรฺ พาหุภิะ I

     กรฺไณะ กุณฺฑลิภิะ กไระ สวลไยะ สสฺวสฺติไกรฺ มูรฺธไชรฺ

     เทวีนาม ปริจาริกาปริชโนปฺเยเตษุ สํทฤศฺยเต II [๒๖ ศารฺทูลวิกรีฑิต.]

     น ขลุ กึจิทตฺราปูรฺวมนุษฺเญยมฺ. เกวลํ สฺวามฺยาเทศ อิติ มตฺวาหํ สมาทิษฺฏะ. ตทาชฺญาเศษํ ราชปุตฺรฺไย นิเวทยามิ. (ปริกฺรมฺยาวโลกฺย จ) อิยํ สา วาสวทตฺตา วีณาหสฺตยา กาญฺจนมาลยานุคมฺยมานา คนฺธรฺวศาลามฺ ปฺรวิษฺฏา. ยาวทสฺยาะ กถยามิ. (ปริกฺรามติ)

                         (ตตะ ปฺรวิศติ คฤหีตวาสวทตฺตาเนปถฺยาสนสถฺารณฺยกา วีณาหสฺตา กาญฺจนมาลา จ)

     อารณฺยกา. หลา กญฺจนมาเล, กีส อุณ จิรอทิ อชฺช วิ วีณาอาริโอ.

     กาญฺจนมาลา. ภฏฺฏิทาริเอ, ทิฏฺโฐ เตณ เอกฺโก อุมฺมตฺโต. ตสฺส วอณํ สุณิอ จิตฺเตณ ภาวิโท โอหสนฺโต จิฏฺฐทิ.

     อารณฺยกา. (สหสฺตตาลํ วิหสฺย) หญฺเช, สุฏฺฐุ เอทํ ปุจฺฉทิ. สริสา สริเส รชฺชนติตฺติ ทุเว เอตฺถ อุมฺมตฺตา.

     สางฺกฤตฺยายนี. ราชปุตฺรฺยาะ สทฤศมาการมฺ ปศฺยามฺยสฺยาะ. ตาทฤเศนากาเรณาวศฺยํ ตฺวทียามฺ ภูมิกำ สมฺภาวยิษฺยติ.

     กญฺจุกี. (อุปสฤตฺย) ราชปุตฺริ, เทวสฺ ตฺวามาชฺญาปยติ, โศฺววศฺยมสฺมาภิรฺ วีณำ วาทยนฺตี โศฺรตวฺยา. ตตฺ ตฺวยา นวตนฺตฺรีสชฺชยา โฆษวตฺยา เสฺถยมิติ.

     อารณฺยกา. ชอิ เอวฺวํ ลหุ วีณาจาริอํ วิสชฺเชหิ.

     กญฺจุกี. เอษ วตสราชมฺ เปฺรษยามิ. (อิติ นิษฺกฺรานฺตะ)

     อารณฺยกา. กญฺจณมาเล, อุวเณหิ เม โฆสวทึ ชาว เส ตนฺตีโอ ปริกฺเขมิ.

                         (กาญฺจนมาลา วีณามรฺปยติ. อารณฺยโกตฺ เค วีณำ กฤตฺวา สารยติ)
                         (ตตะ ปฺรวิศติ คฤหีตวตฺสราชเนปถฺยา มโนรมา)
     มโนรมา. (สฺวคตมฺ) จิรอทิกฺขุ มหาราโอ. กึ ณ กธิทํ วสนฺตเอณ. อธ วา เทวีเอ ภาอทิ. ชอิ ทาณึ อาอจฺเฉ ตโท รมณีอํ ภเว.

                         (ตตะ ปฺรวิศติ ราชาวคุณฺฐิตศรีโร วิทูษกศฺ จ)

     ราชา. สํตาปมฺ ปฺรถมํ ตถา น กุรุเต ศีตำศุรทฺไยว เม

     นิศฺวาสา คฺลปยนฺตฺยชสฺรมธุไนโวษฺณาสฺ ตถา นาธรมฺ I

     สมฺปรตฺเยว มโน น ศูนฺยมลสานฺยงฺคานิ โน ปูรฺววทฺ

     ทุะขํ ยาติ มโนรเถษุ ตนุตำ สํจินฺตฺยมาเนษฺวปิ II [๒๗ ศารทูลวิกฺรีฑิต.]

     วยสฺย, สตฺยเมโวกฺตมฺ มโนรมยา, ยไถษา มม ปฺริยสขี เทวฺยา มหาราชสฺย ทรฺศนปถาทปิ รกฺษฺยเต, ตทยํ สมาคโมปายะ. อทฺย ราตฺราวสฺมาภิรุทยนจริตํ นาม นาฏกํ เทวฺยาะ ปุรโต นรฺติตวฺยมฺ. ตตฺรารณฺยกา วาสวทตฺตา ภวิษฺยติ, อหมปิ วตฺสราชะ. ตจฺจริเตไนว สรฺวํ ศิกฺษิตวฺยมฺ ตทาคตฺย สฺวยเมว สฺวามฺ ภูมิกำ กุรฺวาณะ สมาคโมตฺสวมนุภวตฺวิติ.

     วิทูษกะ. ชอิ มํ ณ ปตฺติอาอสิ, เอสา มโณรมา ตุห เวสํ ธารอนฺตี จิฏฺฐทิ. ตา อุวสปฺปิอ สอํ เชวฺว ปุจฺฉ.

     ราชา. (มโนรมามุปสฤตฺย) มโนรเม, สตฺยมิทํ ยทฺ วสนฺตโกภิธตฺเต.

     มโนรมา. ภฏฺฏา, สจฺจํ เชวฺว. มณฺฑอ เอเทหึ อาภรเณหึ อตฺตาณอํ. (อิตฺยาภรณานฺยงฺคาทวตารฺย ราชฺเญ สมรฺปยติ)

                         (ราชา ปริทธาติ)

     วิทูษกะ. เอเทกฺขุ ราอาโณ ทาสีเอ วิ เอวฺวํ ณจฺจาวีอนฺติ อโห กชฺชสฺส ครุอทา.

     ราชา. (วิหสฺย) มูรฺข, ไนษ กาละ ปริหาสสฺย. นิภฤเตน จิตฺรศาลมฺ ปฺรวิศฺย มโนรมยา สหาสฺมนฺนฤตฺตมฺ ปศฺยตา สฺถียตามฺ.

                         (อุเภา ตถา กุรุตะ)

     อารณฺยกา. กญฺจณมาเล, จิฏฺฐทุ วีณา. ปุจฉิสฺสํ ทาว กึ ปิ.

     ราชา. ศฤโณมิ ตาวตฺ กตโมยมุทฺเทโศ วรฺตเต. (อิตฺยวหิตะ คฤโณติ)

     กาญจนมาลา. ปุจฺฉทุ ภฏฺฏิทาริอา.

     อารณฺยกา. สจฺจํ เชวฺว ตาโท มนฺเตทิ เอวฺวํ, ชธา ชอิ วีณํ วาทอนฺโต อวหเรทิ มํ วจฺฉราโอ อวสฺสํ พนฺธณาโท มุญฺเจมิตฺติ.

     ราชา. (ปฺรวิศฺย ปฏาเกฺษเปณ สหรฺษํ วสฺตฺรานฺเต คฺรถิตมฺ พธฺนาติ) เอวเมตตฺ. กะ สํเทหะ.

     สปริชนมฺ ปฺรโทฺยตํ วิสฺมยมุปนีย วาทยนฺ วีณามฺ I

     วาสวทตฺตามปหรามิ น จิราเทว ปศฺยามฺยหมฺ II [๒๘ อารยา (บกพร่องอยู่บ้าง)]

     ยตะ สุสํวิหิตํ สรฺวํ เยาคนฺธรายเณน.

     วาสวทตฺตา. (สหโสตฺถาย) เชทุ เชทุ อชฺชอุตฺโต.

     ราชา. (สฺวคตมฺ) กถมฺ ปฺรตฺยภิชฺญาโตสฺมิ เทวฺยา.

     สางกฤตฺยายนี. (สสฺมิตมฺ) ราชปุตฺริ, อลมลํ สมฺภฺรเมณ. เปฺรกฺษณียกเมตตฺ.

     ราชา. (อาตฺมคตํ สหรฺษมฺ) อิทานีมุจฺฉฺวาสิโตสฺมิ.

     วาสวทตฺตา. (สวิลกฺษสฺมึตมุปวิศฺย) กธํ มโณรมา เอสา. มเอ อุณ ชาณิทํ อชฺชอุตฺโต เอโสตฺติ. สาหุ มโณรเม สาหุ. โสหณํ ณจฺจิทํ.

     สางฺกฤตฺยายนี. ราชปุตฺริ, สฺถาน เอว กฤตา ภฺรานฺติสฺ เต มโนรมยา. ปศฺย.

     รูปํ ตนฺ นยโนตฺสวาสฺปทมิทํ เวษะ ส เอโวชฺชฺวละ

     สา มตฺตทฺวิรโทจิตา คติริยํ ตาตฺ สตฺตฺวมตฺยูรฺชิตมฺ I

     ลีลา ไสว ส เอว สานฺทฺรชลทหฺราทานุการี สฺวระ

     สากฺษาทฺ ทรฺศิต เอษ นะ กุศลยา วตฺเลศ เอวานยา II [๒๙ ศารฺทูกวิกฺรีฑิต.]

     วาสวทตฺตา. หญฺเช อินฺทีวริเอ, พทฺเธณ อชฺชอุตฺเตณ อหํ วีณํ สิกฺขาวิทา. ตา เส กเรหิ ณีลุปฺปลทามเอณ ณิอลณํ. (ศิรโสปมีย นีโลตฺปลทามารฺปยติ)

                         (อินฺทีวริกา ตถา กฤตฺวา ปุนสฺ ตตฺไรโวปวิศติ)

     อารณฺยกา. กญฺจณมาเล, กเธหิ กเธหิ. ณํ สจฺจํ เชวฺว มนฺเตทิ ตาโท, ชอิ วีณํ วาทอนฺโต อวหเรทิ มํ วจฺฉราโอ ตโท อวสฺสํ พนฺธณาโท มุญฺเจมิตฺติ.

     กาญฺจนมาลา. ภฏฺฏิทาริเอ. สจฺจํ. ตธา กเรหิ ชธา วจฺฉราอสฺส อวสฺสํ พหุมทา โหสิ.

     ราชา. นิษฺปาทิตเมว กาญฺจนมาลยา ยตฺ ตทาสฺมาภิรภิลษิตมฺ.

     อารณฺยกา. ชอิ เอวฺวํ ตา อาทเรณ วาทอิสฺสํ. (คายนฺตี วาทยติ)

     ฆณพนฺธณสํรุทฺธํ คอณํ ทฎฺฐูณ มาณสํ เออุํ I

     อหิลสอิ ราอหํโส ทอิอํ เฆอูณ อปฺปโณ วสอึ I [๓๐ คีติ (ภาษาปรากฤต)]

                         (วิทูษโก นิทฺรำ นาฏยติ)

     มโนรมา. (หสฺเตน จาลยนฺติ) วสนฺตอ, เปกฺข. เปกฺข ปิอสหี เม ณจฺจทิ

     วิทูษกะ. (สโรษมฺ) ทาสีเอ สุเท. ตุมํ ปิ ณ เทสิ สุวิทุํ. ชทปฺปหุทิ ปิอวอสฺเสน อารณฺณิอา ทิฏฐา ตทปฺปหุทิ เตณ สห มเอ รตฺตึทิวํ ณิทฺทา ณ ทิฏฺฐา. ตา อณฺณโท ณิกฺกมิอ สุวิสฺสํ. (นิษฺกฺรมฺยเศเต)

     อารณฺยกา. (ปุนรฺ คายติ)

     อหิณวราอกฺขิตฺตา มหุอริอา วามเอณ กาเมณ I

     อุตฺตมฺมอิ ปตฺถนฺตี ทฏฺฐุํ ปิอทํสณํ ทอิอํ II [๓๑ อารฺยา (ภาษาปรากฤต).]

     ราชา. (ตตฺกษฺณํ ศฺรุตฺวา สหโสปสฤตฺย) สาธุ ราชปุตฺริ สาธุ. อโห คีตมโห วาทิตฺรมฺ. ตถา หิ -

     วุยกฺติรฺ วฺยญฺชนธาตุนา ทศวิเธนาปฺยตฺร ลพฺธาธุนา

     วิสฺปษฺโฏ ทฺรุตมธฺยลมฺพิตปริจฺฉินฺนสฺ ตฺริธายํ ลยะ I

     โคปุจฺฉปฺรมุขาะ กฺรเมณ-ยตยสฺ ติสฺโรปิ สมฺปาทิตาสฺ

     ตตฺตฺเวาฆานุคตาศฺ จ วาทฺยวิธยะ สมฺยกฺ ตฺรโย ทรฺศิตาะ II [๓๒ ศารฺทุลวิกฺรีฑิต]

     อารณฺยกา. (วีณามฺ ปริษฺวชฺยาสนาทุตฺถาย ราชานํ สาภิลาษมฺ ปศฺยนฺตี) อุวชฺฌาอ, ปณมามิ.

     ราชา. (สสฺมิตมฺ) ยทหมิจฺฉามิ ตตฺ เต ภูยาตฺ.

     กาญฺจนมาลา. (อารณฺยกายา อาสนํ นิรฺทิศฺย) อิธชฺเชวฺว อุววิสทุ อุวชฺฌาโอ.

     ราชา. (อุปวิศฺย) ราชปุตฺรี เกฺวทานีมุปวิศตุ.

     กาญฺจนมาลา. (สสฺมิตมฺ) อิทาณึ เชวฺว ภฏฺฏิทาริอา วิชชามาเณณ ปริโตสิทา ตุมฺเหหึ. ตา อริหทิชฺเชวฺว เอสา อุวชฺฌาอปีฒิอาเอ.

      ราชา. อุปวิศตฺวรฺเหยมรฺธาสนสฺย. ราชปุตฺริ, สฺถียตามฺ.

                         (อารณฺยกา กาญฺจนมาลามฺ ปศฺยติ)

     กาญฺจนมาลา. (สสฺมิตมฺ) ภฏฺฏิทาริเอ, อุววิส. โก เอตฺถ โทโส. สิสฺสวิเสสา ขุ ตมํ.

                         (อารณฺยกา สลชฺชมุปวิศติ)

     วาสวทตฺตา. (สลชฺชมฺ) ภอวทีเอ อหิอํ กปฺปิทํ กวฺวํ. ณ หุ อหํ ตสฺสึ กาเล เอกฺกาสเณ อชฺชอุตฺเตณ สห อุวฏฺฐิทา.

     ราชา. ราชปุตริ, ปุนะ โศฺรตุมิจฺฉามิ. วาทย วีณามฺ.

     อารณฺยกา. (สสฺมิตมฺ) กญฺจณมาเล, จิรํ ขุ มม วาทอนฺตีเอ ปริสฺสโม ชาโท. อิทาณึ ณิสฺสหาอึ องฺคาอึ. ตา ณ สกฺกุโณมิ วาทอิทุํ.

     กาญฺจนมาลา. อุวชฺฌาอ, สุฏฺฐุ ปริสฺสนฺตา ภฏฺฏิทาริอา. กโวลตลพทฺธเสอลวาเอ เปกฺข เส เววนฺติ อคฺคหตฺถา. ตา สมสฺสตฺถา โภทุ มุหุตฺตอํ.

     ราชา. กาญฺจนมาเล, ยุกฺตมภิหิตมฺ. (หสฺเตน คฺรหีตุมิจฺฉติ, อารณฺยกา หสฺตมปสารยติ)

     วาสวทตฺตา. (สาสูยมฺ) ภอวทิ, อหิอํ เอทํ ปิ ตุเอ กิทํ. ณ หุ อหํ กญฺจณมาลากวฺเวณ วญฺจอิทวฺวา.

     สางฺกฤตฺยายนี. (วิหสฺย) อายุษฺมติ, อีทฤศเมว กาวฺยมฺ ภวิษฺยติ.

     อารณฺยกา. (สโรษมิว) อเวหิ กญฺจณมาเล อเวหิ. ณ เม พหุมทา สิ.

     กาญฺจนมาลา. (สสฺมิตมฺ) ชอิ อหํ จิฏฺฐนฺตี ณ พหุมทา ตา เอสา คจฺฉามิ. (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)

     อารณฺยกา. (สสมฺภฺรมมฺ) กญฺจณมาเล, จิฎฺฐ จิฎฺฐ ออํ เส อคฺคหตฺโถ สมปฺปิโท.

     ราชา. (อารณฺยกายา หสฺตํ คฤหีตฺวา)

     สทฺโยวศฺยายพินฺทุวฺยติกรศิศิระ กิมฺ ภเวตฺ ปทฺมโกโศ

     หฺลาทิตฺวํ นาสฺย มนฺเย สทฤศมิทมุษสฺเยว วีตาตปสฺย I

     มุญฺจนฺตฺเยเต หิเมาฆํ นขรชนิกราะ ปญฺจ กึ โสปิ ทาหี

     ชฺญาตํ เสฺวทาปเทศาทวิรตมมฤตํ สฺยนฺทเต วฺยกฺตเมตตฺ II [๓๓ สูรคฺธรา]

     อปิ จ-

     เอเตน พาลวิทฺรุมปลฺลวโศภาปหารทกฺเษณ I

     หฤทเย มม ตฺวยายํ นฺยสฺโต ราคะ สฺวหสฺเตน II [๓๔ อารฺยา]

     อารณฺยกา. (สฺปรฺศวิเศษ นาฏยนฺตฺยาตฺมคตมฺ) หทฺธี, หทฺธี. เอทํ มโณรมํ ผริสนฺตีเอ อณตฺถํ เชวฺว เม องฺคาอึ กเรนฺติ.

     วาสวทตฺตา. (สหโสตฺถาย) ภอวทิ, เปกฺข ตุมํ. อหํ อุณ อลิอํ ณ ปาเรมิ เปกฺขิทุํ.

     สางฺกฤตยายนี. ราชปุตฺริ, ธรฺมศาสฺตฺรวิหิต เอษ คานฺธรฺโว วิวาหะ. กิมตฺร ลชฺชาสฺถานมฺ. เปฺรกฺษณียกมิทมฺ. ตนฺ น ยุกฺต มสฺถาเน รสภงฺคํ กฤตฺวา คนฺตุมฺ.

                         (วาสวทตฺตา ปริกฺรามติ)

     อินฺทีวริกา. (วิโลกฺย) ภฏฺฏิณิ, วสนฺตโอ จิตฺตสาลาทุวาเร ปสุตฺโต จิฏฺฐทิ.

     วาสวทตฺตา. (นิรูปฺย) วสนฺตโอชฺเชวฺว เอโส. (วิจินฺตฺย) รณฺณา วิ เอตฺถ โหทวฺวํ. ตา โพธาวิอ ปุจฉิสฺสํ ทาว ณํ. (ปฺรโพธยติ)

     วิทูษกะ. (นิทฺราชฑมุตฺถาย สหสา วิโลกฺย) มโณรเม, กึ ณจฺจิอ อาอโท ปิอวอสฺโส. อธ วา ณจฺจทิชฺเชวฺว.

     วาสวทตฺตา (สวิษาทมฺ) กธํ อชฺชอุตฺโต ณจฺจทิ. มโณรมา ทาณึ กหึ.

     วิทูษกะ. เอสา จิตฺตสาลาเอ จิฏฺฐทิ.

     มโนรมา. (สภยมาตฺมคตมฺ) กธํ อณฺณธา เชวฺว หิอเอ กทุอ เทวีเอ มนฺติทํ, เอเทณ วิ มุกฺขพฑุเอณ อณฺณธา เชวฺว พุทฺธิอ สวฺวํ อาอุลีกิทํ.

     วาสวทตฺตา. (สโรษํ หสนฺตี) สาหุ มโณรเม สาหุ. โสหณํ ตุเอ ณจฺจิทํ.

     มโนรมา. (สภยํ กมฺปมานา ปาทโยรฺ นิปตฺย) ภฏฺฏิณิ, ณ หุ อหํ เอตฺถ อวรชฺฌามิ. เอเทณกฺขุ หทาเสณ พลาโท อลํกรณาอึ เคณฺหิอ ทุวารฏฺฐิเทณ อิธ ณิรุทฺธา. ณ อุณ มห อกฺกนฺทนฺตีเอ สทฺโท มุกฺขนิคฺโฆสนฺตริโท เกณ วิ สุโท.

     วาสวทตฺตา. หญฺเช. อุฏฺเฐหิ. ชาณิทํ สวฺวํ. วสนฺตโอกขุ อารณฺณิอาวุตฺตนฺตณาฑเอ สุตฺตธาโร.

     วิทูษกะ. สอํ เชวฺว จินฺเตหิ กหึ อารณฺณิอา กหึ วสนฺตโอตฺติ

     วาสวทตฺตา. มโณรเม, สุคหิทํ กทุอ ณํ อาอจฺฉ. ชาว เปกฺขณีอํ เส เปกฺขามิ.

     มโนรมา. (สฺวคตมฺ) อิทาณึ สมสฺสาสิทมฺหิ. (วิทูษกํ กเร พธฺนาติ.-ปฺรกาศมฺ) หทาส, อิทาณึ อณุภว อตฺตโณ ทุณณอสฺส ผลํ.

     วาสวทตฺตา. (สสมฺภฺรมมุปสฤตฺย) อชฺชอุตฺต, ปฑิหทํ เอทํ ยมงฺคลํ. (อิติ ปาทโยรฺ นิโลตฺปลทามาปนยนฺตี โสตฺปราสมฺ) มริสทุ อชฺชอุตฺโต ชํ มโณรมตฺติ กทุอ ณีลุปฺปลทามเอณ พนฺธาวิโท สิ.

                         (อารณฺยกา สภยมปสฤตฺย ติษฺฐติ)

     ราชา. (สหโสตฺถาย วิทูษกมฺ มโนรมำ จ ทฤษฺฏวาตฺมคตมฺ) กถํ วิชฺญาโตสฺมิ เทวฺยา (ไวลกฺษฺยํ นาฏยติ)

     สางฺกฤตฺยายนี. (สรฺวานวโลกฺย สสฺมิตมฺ) กถมนฺยเทเวทมฺ เปฺรกฺษณียกํ สํวฤตฺตมฺ. อภูมิริยมสฺมทฺวิธานามฺ. (อิติ นิษฺกรานตา)

     ราชา. (สฺวคตมฺ) อปูรโวยํ โกปปฺรการะ. ทุรฺลภมตฺรานุนยมฺ ปศฺยามิ. (วิจินฺตฺย) เอวํ ตาวตฺ กริษฺเย. (ปฺรกาศมฺ) เทวิ, ตฺยชฺยตวํ โกปะ.

     วาสวทตฺตา. อชฺชอุตฺต, โก เอตฺถ กุวิโท.

     ราชา. กถํ น กุปิตาสิ.

     สฺนิคฺธํ ยทฺยปิ วีกฺษิตํ นยนโยสฺ ตามฺรา ตถาปิ ทฺยุติรฺ

     มาธุรฺเยปิ สติ สฺขลตฺยนุปทํ เต คทฺคทา วาคิยมฺ I

     นิศฺวาสา นิยตา อปิ สฺตนภโรตฺกมฺเปน ฺสํลกฺษิตาะ

     โกปสฺ เต ปฺรกฏปฺรยตฺนวิธฤโตปฺเยษ สฺผุฏํ ลกฺษฺยเต II [๓๕ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต]

     (ปาทโยรฺ นิปตฺย) ปรฺสีท. ปฺรสีท.

     วาสวทตฺตา. อารณฺณิเอ, ตุมํ กุวิทตฺติ สมฺภาวอนฺโต อชฺชอุตฺโต ปิเอ ปสีททตฺติ ปสาทอทิ. ตา อุวสปฺป. (อิติ หัสเตนากรฺษติ)

     อารณยกา (สภยมฺ) ภฏฺฏิณี, ณ หุ อหํ กึ ปิ ชาณามิ.

     วาสวทตฺตา. อารณฺณิเอ, ตุมํ กธํ ณ อาณาสิ. อิทาณึ เท สิกฺขาเวมิ. อินฺทีวริเอ, เคณฺห ณํ.

     วิทูษกะ. โภทิ, อชฺช โกมุทีมหูสเว ตุห จิตฺตํ อวหริทุํ วอสฺเสน เปกฺขณีอํ อณุฏฺฐิทํ.

     วาสวทตฺตา. เอทํ ตุมฺหาณํ ทุณฺณอํ เปกฺขิอ หาโส เม ชาอทิ.

     ราชา. เทวิ, อลมนฺยถา วิกลฺปิเตน. ปศฺย.

     ภฺรูภงฺไคะ กฺริยเต ลลาฏศศินะ กสฺมาตฺ กลงฺโก มุธา

     วาตากมฺปิตพนฺธชีวสมตำ นีโตธระ กึ สฺผุรนฺ I

     มธฺยศฺ จาธิกกมฺปิตสฺตนภเรนายมฺ ปุนะ ขิทฺยเต

     โกปมฺ มุญฺจ ตไวว จิตฺตหรณาไยตนฺ มยา กฺรีฑิตมฺ II [๓๖ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

     เทวิ, ปฺรสีท ปฺรสีท. (อิติ ปาทโยะ ปตติ)

     วาสวทตฺตา. หญเช, นิวุตฺตํ เปกฺขณอํ. ตา เอหิ อพฺภนฺตรํ, เชวฺว ปวิสมฺห. (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)

     ราชา. (วิโลกฺย) กถมกฤตฺไวว ปฺรสาทํ คตา เทวี.

     เสฺวทามฺภะกณภินฺนภีษณตรภฺรูภงฺคเมกํ รุษา

     ตฺราเสนาปรมุตฺปลุโตตฺปฺลุตมฤควฺยาโลลเนตฺโรตฺปลมฺ I

     อุตฺปศฺยนฺนหมคฺรโต มุขมิทํ เทวฺยาะ ปฺริยายาสฺ ตถา

     ภิตศฺ โจตฺสุกมานสศฺ จ มหติ กฺษิปฺโตสฺมฺยหํ สํกเฏ II [๓๗ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

     ตทฺ ยาวทิทานี ศยนียํ คตฺวา เทวฺยาะ ปฺรสาทโนปายํ จินฺตยามิ.

                         (อิติ นิษฺกฺรานฺตาะ สรฺเว)
                         อิติ ตฤตีโยงฺกะ


-------------------------------------------

พูดภาษาปรากฤต.
วาสวทัตตาพูดปรากฤต แต่สางกฤตยายนีพูดสันสกฤต
วาสวทัตตาพูดปรากฤต แต่สางกฤตยายนีพูดสันสกฤต
บทแห่งครรภนาฏกะย่อหน้าไว้กว่าบทแห่งเรื่องใหญ่.

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 99.0.4844.51 Chrome 99.0.4844.51


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 22 มีนาคม 2565 15:52:47 »

.




                    องก์ที่สาม
                     [ตอนนำ]
                    (มโนรมาออก)


​มโนรมา. ดิฉันได้รับรับสั่งพระเทวีวาสวทัตตาว่าดั่งนี้: ‘นี่แน่ะ มโนรมา, วันนี้, ที่งานโกมุที,(๓๐) พวกเจ้าจะต้องเล่นต่อเรื่องละคอนที่สังกิจจาอณีได้แต่งแสดงเรื่องของพระสามีกับตัวกู’ นี่แหละ, เมื่อวานนี้ แม้อารัณยกาเพื่อนเรารำไม่ดีเลย, เพราะใจลอยอยู่. ถ้าเจ้าหล่อนรำเปนตัววาสวทัตตาอย่างนั้นอีกละก็, พระเทวีคงกริ้วเปนแน่ละ. ฉะนั้นบัดนี้ดิฉันจะไปหาตัวหล่อนที่ไหนดีหนอเพื่อต่อว่า. (เหลียวแลไป) นั่นแน่ อารัณยกากำลังเดินเข้าไปที่ซุ้มต้นกล้วยที่ข้างขอบอ่าง, บ่นอะไรกับตนเองอยู่อย่างหนึ่ง. ฉะนั้น ดิฉันจะแฝงอยู่หลังกอไม้นี่และฟังคำที่หล่อนบ่นโดยไม่รู้ตัว.

                         จบตอนนำ
                         (อารัณยกาออกนั่ง, แสดงท่าพะวงด้วยรัก)


อารัณยกา. (ถอนใจ) โอ้โอ๋! ใจของเรา, ไฉนเล่าเจ้าจึ่งมาปรารถนาผู้ที่เจ้าได้ด้วยยาก ทำให้เราได้ทุกข์นัก?

มโนรมา. เออนี่เองแหละเปนเหตุให้เจ้าหล่อนใจลอย. แต่ก็หล่อนคิดถึงอะไรเล่า? เราจะต้องฟังดูให้ดีก่อน.

​อารัณยกา. (น้ำตาไหล) ทำไมหนอพระมหาราชเจ้า, ผู้มีพระโฉมอันสง่าเห็นปานนั้น, จึ่งทรงทำให้เราเดือดร้อนได้เช่นนี้ อัศจรรย์, อัศจรรย์ (ถอนใจ) ตรงกันข้าม, เปนเคราะห์ร้ายของเราเอง, ไม่ใช่โทษผิดของพระมหาราชเจ้า.

มโนรมา. (ร้องไห้) อะไร, เจ้าหล่อนคิดถึงพระมหาราชเจ้านั่นเองแหละหรือ? ดีแล้ว, เพื่อนรัก, ดีแล้ว. ความปรารถนาของหล่อนสมควรแก่กำเนิดสูงของหล่อน.

อารัณยกา. ที่เราจะเล่าเรื่องนี้ให้ใครดีเล่าแล้วจะได้ผ่อนทุกข์เพียงให้มีเวทนาพอทนได้. (ตรองดู) เออเรามีเพื่อนรักอยู่คนหนึ่งชื่อมโนรมา, ผู้เปนเหมือนคนใจเดียวกันกับเราทีเดียว. แต่ถึงแม้แก่แม่คนนั้นเราก็ไม่กล้าจะเล่าให้ฟังได้เพราะความอาย. นอกจากความตายแล้ว, เราจะได้สิ่งอื่นที่จะระงับใจเรามาจากไหน โดยประการทั้งปวง?

มโนรมา. (น้ำตาไหล) โอ้โอ๋, โอ้โอ๋! ความรักของแม่สาวคนนี้เปนที่สุดที่แล้วละ. ฉะนั้น เราจักทำอย่างไรดีในเรื่องนี้?

อารัณยกา. (ด้วยความคิดถึง) นี่เองเปนที่ที่เราได้ถูกแมลงภู่กวน, เราได้เกาะพระองค์ไว้และพระองค์ได้ทรงปลอมเราด้วยคำว่า ‘อ้าภีรุอย่ากลัว.’

มโนรมา. (ดีใจ) อ้อ! ล้นเกล้าล้นกระหม่อมได้ทอดพระเนตรเห็นหล่อนแล้วหรือ? ท่าจะมีหนทางช่วยชีวิตของหล่อนได้ละ, เราจะต้องตรงเข้าไปปลอบหล่อน (เข้าไปใกล้โดยพลัน) ถูกแล้วที่ใจของหล่อนมีความขวยอยู่บ้าง.

​อารัณยกา. (ด้วยความขวย, พูดกับตน) โอ้โอ๋, โอ้โอ๋. เขาได้ยินเสียหมดแล้ว. ฉะนั้น การที่จะพูดออกมาตรง ๆ ก็เปนการควร. (พูดดัง, จับมือนาง) เพื่อนรัก, อย่าเคือง, อย่าเคือง. ความ ขวยเขินในที่นี้ ย่อมเปนผิด.

มโนรมา. (ดีใจ) เพื่อนเอ๋ย, อย่าสงกาอีกเลย. บอกฉันหน่อยเถอะ, หล่อได้เฝ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมแล้ว, จริงหรือไม่?

อารัณยกา. (ก้มหน้าเพราะขวย) เพื่อนรักก็ได้ยินเสียหมดแล้ว.

มโนรมา. ถ้าหล่อนได้เฝ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมแล้วละก็, อย่าร้อนใจไปอีกเลย; พระองค์ท่านเองก็คงจะอยากทรงหาหนทางที่จะพบหล่อนเหมือนกัน.

อารัณยกา. นั่นหล่อนพูดอย่างเพื่อนที่ลำเอียง. แม่ช่างประ จบ, มันจะเปนไปเช่นนั้นได้อย่างไร เมื่อพระองค์ท่านถูกมัดมั่นอยู่ด้วยความงามของพระเทวี.

มโนรมา. (หัวเราะ) อุ๊ย, แม่คนพาซื่อ! แมลงภู่, ถึงแม้ความรักของมันจะฝังอยู่ที่ดอกบัวหลวงก็ตามที, เมื่อมันแลเห็นดอกมะลิเลื้อยและอยากดอมกลิ่นหอมใหม่, มันจะยอมนิ่งทนไม่ไปหาละหรือ?

อารัณยกา. การคิดของที่เหลือจะเปนประโยชน์อะไร. ฉะนั้น มาเถอะ. เนื้อตัวของฉันแสบร้อนไปด้วยความร้อนแห่งฤดูสารท และหาทางรอดพ้นจากความเดือดร้อนนั้นไม่ได้เลย.

มโนรมา. อุ๊ย, แม่ขี้อาย, ไม่ควรเลยที่หล่อนจะปิดความรู้สึกในใจ, เมื่อหล่อนเปนอยู่เช่นนี้.

                         ​(อรัณยกาก้มหน้า)

มโนรมา. อุ๊ย, แม่ช่างปิดความ, ทำไมปิดอยู่อีก? ความรักของหล่อน, ซึ่งรู้ได้ด้วยการถอนใจใหญ่หลายๆ ครั้งทั้งกลางวันกลางคืน เหมือนเสียงหวือ ๆ แห่งลูกศรของพระกุสุมศร (๓๑) อันตกพรู ๆ อยู่ฉะนั้น, ยอมสำแดงชัดอยู่แล้วมิใช่หรือ? (พูดกับตนเอง) แต่ที่จริงนี่ก็ไม่ใช่เวลาที่ควรจะต่อว่ากัน. ฉะนั้น เราจะต้องหาใบนิโลบลไปทาบที่ตรงใจของหล่อนเสียหน่อย. (๓๒) (ลุกขึ้นและเก็บใบบัวจากอ่างและเอาไปทาบที่ตรงใจแห่งอารัณยกา) ขอให้สบายใจเถอะ, เพื่อนเอ๋ย, รอให้สบายใจเถอะ.

                         (วิทูษกออก)

วิทูษก. ความที่พระเพื่อนรักของเรารักนางอรัณยกามากมายนัก, จนทรงทอดทิ้งรั้วงานร่าอะการ และมัวทรงพะวงอยู่แต่ในเรื่องจะหาทางพบกับเจ้าหล่อนเท่านั้น. (ตรึกตรอง) นี่เราจะได้พบตัวแม่คนนั้นที่ไหนหนอ? เออ, เราจะไปหาดูที่ริมอ่างนั่นละ. (เดินไปมา)

มโนรมา. (ฟัง) ฉันได้ยินอะไรเหมือนฝีตีน, ฉะนั้น เราเข้าแอบที่กอกล้วยแล้วก็มองดูเถอะว่าเปนใคร.

                         (ทั้งสองทำเช่นนั้นและมองดู)

อารัณยกา. อ๋อ, นี่คือพราหมณ์ที่ตามเสด็จล้นเกล้าล้นกระหม่อมอยู่.

มโนรมา. อ้อ, วสันตกะน่ะหรือ? (ดีใจ, พูดกับตนเอง) ขอให้เปนจริงเช่นกันเถอะ.

วิทูษก. (เหลียวแลไปทั่วด้าน) นี่อารัณยกากลายเปนนางป่าไปเสียจริง ๆ หรือ ?

​มโนรมา. (ยิ้ม) เพื่อน, พราหมณ์ผู้เปนพระสหายของล้นเกล้าล้นกระหม่อมเขาพูดถึงหลอนแน่ะ. ฉะนั้น เราจงตั้งใจฟังให้ดี.

                         (อารัณยกาฟังด้วยความใคร่รู้และขวยเขิน)

วิทูษก. (ด้วยร้อนใจ) ตั้งแต่พระเพื่อนรักของเรา, ผู้ต้องทนทรมานอยู่ในความเร่าร้อนจากความรักอันใหญ่หลวง, ตรัสใช้เราด้วยพระหฤทัยอันปั่นป่วน; เราก็ได้ไปเที่ยวค้นแล้วในที่ประทับของพระนางวาสวทัตตา, พระนางปัทมาวดี, และที่ประทับแห่งพระนางองค์อื่น ๆ แต่ก็ไม่ได้พบเจ้าหล่อน, ฉะนั้น เราจึ่งมาที่อ่างแก้วที่มีผู้ได้เห็นหล่อนด้วย. แต่ที่นี่ก็ไม่อยู่. เราจะทำอย่างไรต่อไปดี?

มโนรมา. ได้ยินไหม, เพื่อนรัก?

วิทูษก. (ตรึกตรอง) เมื่อมาคำนึงดู, พระเพื่อนรักของเราได้ตรัสว่า: ‘ถ้าแม้ไม่พบตัวหล่อนเมื่อเที่ยวค้นหาละก็, อย่างน้อยก็จงเก็บเอาใบบัวที่ได้เพิ่มความเย็นขึ้นเปนสองเท่าเพราะมือของเจ้าหล่อนได้แตะต้องแล้วนั้น จากอ่างมาด้วย.’ แต่ว่าเราจะรู้อย่างไรได้เล่าว่าใบไหนเปนใบควรเก็บ.

มโนรมา. นี่เปนช่องของเรา (เดินเข้าใกล้และจับมือวิทูษก) วสันตกะ, มาเถอะ ดิฉันเองจะเปนผู้บอก.

วิทูษก. (ออกกลัว) หล่อนจะบอกใคร? พระเทวีหรือ? ฉันยังไม่ได้พูดอะไรเลยนี่นะ.

มโนรมา. วสันตกะ, ไม่ต้องหวาดหวั่น ความไม่สบายพระหทัย​ของพระสหายของท่านเพราะอารัณยกานี้, ตามที่ท่านได้กล่าวมา ก็เพียงกึ่งหนึ่งแห่งความไม่สบายใจของเพื่อนรักของดิฉันเพราะเจ้านายของเรา. ฉะนั้น ดูเถอะ, ดูเถอะ. (เดินเข้าใกล้ ชี้อารัณยกา)

วิทูษก. (เห็นนาง, ดีใจ) ความบากบั่นของฉันก็ได้ผลแล้ว. สวัสดีเถอะคุณ.

                         (อารัณยกาวางใบบัวด้วยกิริยาขวยแล้วลุกขึ้น)

มโนรมา. ท่านวสันตกะ, ความไม่สบายใจของเพื่อนรักของดิฉันเหือดหายไปแม้เพียงเมื่อได้เห็นท่าน, เพราะหล่อนได้วางใบบัวนั้น ๆ ลงเองแล้วละ. ฉะนั้น เชิญเก็บเอาไปสิเจ้าคะ.

อารัณยกา. (ระส่ำระสาย) อุ๊ย, แม่ช่างเยาะ. ทำไมหล่อนทำให้ฉันขวยเช่นนี้. (ยืนเมินหน้านิด ๆ)

วิทูษก. (พูดตัด) ช่างเถอะอ้ายใบบัวนั่น. เพื่อนรักของหล่อนขี้อายเหลือเกิน. บัดนี้เราจะจัดการอย่างไรดีเพื่อให้ทั้งสองนั้นได้พบกัน?

มโนรมา. (ตรองอยู่ครู่หนึ่ง, แล้วจึ่งพูดด้วยความดีใจ) วสันตกะ, เห็นจะอย่างนี้. (กระซิบในหูเขา)

วิทูษก. ดีมาก, แม่คุณ, ดีมาก (พูดป้อง) ในระหว่างเวลาที่หล่อนทั้งสองแต่งตัวอยู่, ฉันจะไปตามพระเพื่อนของฉันแล้วมา. (เข้าโรง)

มโนรมา. แม่ใจน้อย, ลุกขึ้น, ลุกขึ้นเถอะ. เราต้องเล่นละคอนตอนที่ยังเหลืออยู่อีก. ฉะนั้น มาเถอะ, เราไปที่โรงละคอนเถอะ. ​(เดินไปมาและเหลียวแลโดยรอบ) นี่โรงละคอน. มาเถอะนะ, เราเข้าไปเถอะ. (แสดงท่าเดินเข้าไป, แล้วเหลียวดูโดยรอบ) ดีมาก, ดีมาก. พร้อมหมดแล้ว. พระเทวีเห็นจะเสด็จละ.

                         (เทวีออก, พร้อมด้วยสางกฤตยายนี (๓๓) และบริวารตามลำดับ)

วาสวทัตตา. ภควดี, (๓๔) ท่านช่างเปนกวีเก่งเสียจริง ๆ ละ. เพราะละคอนเรื่องพระสวามีกับตัวดิฉัน, พร้อมด้วยความเปนไปอันลึกลับ, แม้ดิฉันเองได้รู้เห็นแล้ว, ยังทำให้ดิฉันรู้สึกจับใจอย่างมากที่สุด, ราวกับมิได้เคยทราบมาก่อนเลย.

สางกฤตยายนี. อายุษมดี, (๓๕) ความเลิดแห่งเนื้อเรื่องนั้นเอง มีมากจนกาพย์, ซึ่งแม้จะจืดๆ, ก็ยังอาจทำให้ผู้ฟังสบายหูได้. ดูเถิด.

โดยมากไม่ว่าสิ่งไร ย่อมเลิดขึ้นได้ โดยถูกกับของเลิดดี,

แม้เถ้าถ่านเมื่อทาที่ ศีรษะกรี ถูกมันก็เปนของงาม.

วาสวทัตตา. (ยิ้มพลาง) ภควดี, เปนสิ่งที่รู้กันอยู่ที่ว่าใคร ๆ ก็ยอมรักลูกเขย. ฉะนั้น จะพูดกันอย่างนั้นต่อไปอีกทำไม. ดูละคอนนั้นเองดีกว่า. (๓๖)

สางกฤตยายนี. เช่นนั้น. อินทีวริกา, นำทางไปโรงละคอน.

เจฏี. เชิญเสด็จเพคะ, ภัฏฏินี. (๓๗)

                         (ทั้งหมดเดินวนไป)

สางกฤตยายนี. (เหลียวแลดู) เออ, โรงที่ดูนี้น่าดูนักหนา. (๓๘)

​งามเสาสุวรรณรตนร้อย รุจิรายระยับตา

อีกมุกตะกรองประดุจะมา- ลยย้อยระย้ายาน

เต็มด้วยคณายุวดิสวย ชะนะอัปสราคราญ

เปรกษาคฤห์แม้นสุรวิมาน มณิโรจนาศรี.

มโนรมาและอารัณยกา. (เข้าใกล้) ทรงพระเจริญ, ภัฏฏินี, ทรงพระเจริญ!

วาสวทัตตา. มโนรมา, นี่เวลาก็เลยพลบมาแล้ว. ฉะนั้น เจ้าทั้งสองจงไป, แต่งตัวเร็วๆเข้าเถิด.

ทั้งสอง. หม่อมฉันรับรับสั่ง. (เริ่มจะไป)

วาสวทัตตา. อารัณยกา, ไปห้องแต่งตัวและประดับกายของเจ้าด้วยอาภรณ์ที่ข้าประดับอยู่นี้เถิด (เปลื้องอาภรณ์จากองค์และส่งให้แก่อารัณยกา) มโนรมา, ส่วนเจ้าก็จงรับอาภรณ์, ที่พระบิดาของข้าประทานทูลกระหม่อมแก้วด้วยความพอพระหฤทัย เมื่อทรงจับช้างนลคิรีได้นั้น, (๓๙) จากอินทีวริกา, แล้วเข้าไปในห้องแต่งตัวและแต่งกายของเจ้าให้ละม้ายล้นกระหม่อมมากที่สุดที่จะทำได้เถิด.

                         (มโนรมารับอาภรณ์จากอินทีวริกา แล้วเข้าโรงพร้อมด้วยอารัณยกา)

อินทีวริกา. นี่เพคะที่ประทับ. เชิญภัฏฏินีประทับ.

วาสวทัตตา. (ชี้ที่นั่ง) เชิญนั่งเถิด, ภควดี.

                         (ทั้งสองนั่ง)
                         ครรภนาฏกะ.(๔๐)
                         (กัญจุกินผู้หนึ่งแต่งตัวเปนละคอนออก)

กัญจกิน.

เรารักษอันเต- ปุรแน่วณทางดี,

ผิบาทสะดุดมี วรทัณฑะกันพลาด,

ชราก็ถือเยี่ยง นฤปรักษ์ประชาชาติ

ทั่วโดยประสาทราช วรธรรมะเที่ยงตรง.(๔๑)

เออ, ข้าพเจ้าได้รับพระราชบัญชาแห่งสมเด็จพระเจ้ามหาเสนะพระนามช่างเหมาะจริงๆ ละ เพราะพระองค์มิได้ทรงย่อท้อเลยแต่แสนยาศัตรู-ดั่งนี้ว่า: “จงบอกแก่บรรดานางในเถิดว่า, พรุ่งนี้เราจะมีงานฉลองท้าวอุทัยน์, ฉะนั้นให้เขาทั้งหลายไปยังสวนพระเจ้ารัก, พร้อมด้วยข้าหลวงตามหลัง, และให้เขาทั้งหลายแต่งกายงาม ๆ ให้สมแก่งาน.”

สางกฤตยายนี. (ชี้กัญจุกิน) ราชบุตรี, ละคอนเริ่มเล่นแล้วละ. (๔๒) ทอดพระเนตรสิ.

กัญจุกิน. ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะต้องสั่งเขาให้มาพร้อมด้วยข้าหลวง, แต่หาต้องสั่งไม่ว่าให้เขาทั้งหลายนั้นแต่งกาย, เพราะว่า-

อันข้อบาทก็ใส่กำไลและนริคาด สร้อยรัดสะเอวนาฏ จรัล,

ต่อสวมเกยุรทั้งณพาหุฤก็พัน ผูกพาหุรัตน์อัน วิศิษฏ์,

กรรณกอบกุณฑะละกรประดับวลยจิตร์ เกศาก็ติดสวัส- ติกา,

​ดั่งนี้แม้คณะนาริบาทบริจา- ริกของพระชายา ก็สวย.

ท่าทางจะไม่ต้องเปนห่วงแน่ละในข้อนี้. ข้าพเจ้ารับพระราชบัญชามาก็ด้วยตั้งใจที่จะกระทำตามรับสั่ง. ฉะนั้น ข้าพเจ้าจะทูลพระกระแสรับสั่งนอกจากนี้ แต่พระราชบุตรี. (เดินไปมาและเหลียวแล) อ้อ, พระวาสวทัตตาเสด็จมานี่แล้ว และกำลังจะเสด็จเข้าไปในคนธรรพศาลา (๔๓) พร้อมด้วยกาญจนมาลาถือพิณตามเสด็จ. ข้าพเจ้าจะไปทูลณบัดนี้. (เดินไปมา)

                         (อารัณยกา, แต่งตัวเปนวาสวทัตตา, ออกนั่ง, พร้อมด้วยกาญจมาลาผู้ถือพิณอยู่ในมือ)

อารัณยกา. กาญจนมาลา, ทำไมท่านวีณาจารย์จึ่งล่าไปอีกวันนี้ ?

กาญจนมาลา. นั่นแหละเพคะ, ท่านได้พบคนบ้าคนหนึ่ง แล้วก็, เพราะเกิดชอบใจเมื่อได้ฟังมันพูด, ท่านยังยืนหัวเราะเยาะมันอยู่นั่นเอง.

อารัณยกา. (ตบมือและหัวเราะ) เจ้าเอ๋ย, ที่เธอถามมันเช่นนั้นก็ควรอยู่. เขากล่าวกันว่า “คนเช่นไหนก็ชอบคนเช่นนั้น.” นี่ก็คือบ้าทั้งสองคนนั่นเอง.

สางกฤตยายนี. หม่อมฉันเห็นท่าทางของหล่อนเหมือนเปนเจ้านาย; เมื่อหล่อนมีท่าทางเช่นนั้น, หม่อมฉันแน่ใจว่าเขาคงเล่นเปนพระองค์ได้เพียงพอ.

กัญจุกิน. (เข้าใกล้) ราชบุตรี, ล้นเกล้าล้นกระหม่อมมีพระราชบัญชาดั่งนี้ ‘พรุ่งนี้เราจะต้องฟังเธอดีดพิณเปนแน่ละ ฉะนั้น ให้เธอเตรียมตัวไว้พร้อมด้วย (พิณ) โฆษวดีขึ้นสายใหม่’

อารัณยกา. ถ้าเช่นนั้นก็ขอให้ท่านวีณาจารย์มาโดยด่วนเถิด.

กัญจุกิน. ข้าพเจ้าเองจะไปทูลวัตสราชให้เสด็จมา. (เข้าโรง)

อารัณยกา. กาญจนมาลา, ส่งโฆษวดีมาให้เรา, เพื่อเราจะได้ตรวจดูสาย.

                         (กาญจนมาลาส่งพิณให้. อารัณยการันพิณไปวางบนตักแล้วตรวจดู)
                         (มโนรมา, แต่งตัวเปนวัตสราช, ออก)

มโนรมา. (พูดกับตนเอง) ล้นเกล้าล้นกระหม่อมล่าไป. นี่วสันตกะไม่ได้ทูลกระมัง? หรือท่านทรงกลัวพระเทวี. ถ้าท่านเสด็จมาเดี๋ยวนี้ละก็, จะน่าชื่นใจเทียวละ.

                         (พระราชา, คลุมพระองค์, ออกพร้อมด้วยวิทูษก)

ราชา.

วันนี้แสงศศิเย็นบ่ยังฤดิดนู งึมเหงาฤหู่เช่น ประถม,

ความแห้งใจดุจะไฟผะผ่าวพิษะระบม ไม่เร้าระทมเช่น ณก่อน;

​อีกความเปล่าณมโนและองคะระอุอ่อน นั้นเล่าก็ดูหย่อน และลด;

อันความทุกขทุเลาณดวงหทยหมด เมื่อนึกมโนรถ จะสม.

นี่แน่ะเกลอ, มโนรมาได้กล่าวจริงหรือว่า: ‘เพราะเหตุที่แม่เพื่อนรักของดิฉันถูกพระเทวีกันไว้มิให้ล้นเกล้าล้นกระหม่อมทอดพระเนตรเห็น, มีอุบายอยู่อย่างนี้เพื่อให้เขาได้พบกัน. ค่ำวันนี้เราจะเล่นละคอนถวายพระเทวีเรื่องหนึ่งชื่อ อุทัยนจริต. (๔๔) ในเรื่องนั้นอารัณยกาจะเปนวาสวทัตตา และดิฉันจะเปนวัตสราช. จำจะต้องศึกษาให้ตรงกับกิจการที่ได้เปนไปจริงๆ. ฉะนั้น ให้พระองค์ท่านเสด็จมาเองและทรงเปนพระองค์เองแล้วที่จะได้ทรงพระสำราญโดยได้พบกัน.’

วิทูษก. ถ้าไม่ทรงเชื่อก็, นั่นแน่มโนรมา, แต่งเครื่องของพระองค์. เชิญเสด็จเข้าไปถามเขาดูเองสิ.

ราชา. (เข้าไปใกล้มโนรมา) มโนรมา, ข้อความที่วสันตกะนำไปเล่าน่ะ จริงหรือ?

มโนรมา. เพคะ, จริงทีเดียว. เชิญทรงอาภรณ์เหล่านี้เถิดเพคะ (เปลื้องอาภรณ์จากตัวแล้วส่งถวายพระราชา)

                         (ราชารับไปทรงแต่ง)

วิทูษก. คราวนี้เราได้เห็นพระราชาถูกนางทาสีบังคับให้ออกเปนตัวละคอนละสิ. เออ, มันพิลึกกึกกือละ!

ราชา. (สำรวล
) ตาบ้า! นี่ไม่ใช่เวลาเล่นตลก. ค่อยๆเลี่ยงเข้าไปในจิตรศาลากับมโนรมา แล้วก็อยู่ดูการเล่นละคอนของเราณที่นั้นเถิด.

​                         (ทั้งสองทำเช่นนั้น)

                         อารัณยกา. กาญจนมาลา, ช่างเถอะพิณ ข้าอยากถามอะไรเจ้าอย่างหนึ่ง.

                         ราชา. เราจะต้องฟังดูให้รู้ว่าหล่อนกล่าวถึงอะไร. (ฟังด้วยความตั้งใจจริงจัง)

                         กาญจนมาลา. ตรัสถามเถอะเพคะ.

อารัณยกา. พระบิดาของข้าได้ตรัสจริงหรือว่าดั่งนี้: ‘ถ้าวัตสราชทำให้กูชอบใจได้โดยดีดพิณละก็, กูจะปล่อยพระองค์เธอนั้นให้พ้นพันธนา’ ?

ราชา. (ออก, ปัดม่านเร็วๆ, (๔๕) ยินดี, ขอดชายผ้าห่มข้างหนึ่ง (๔๖)) เปนเช่นนั้นเทียว. มีข้อสนเท่ห์อะไร ?

เมื่อทำให้ประโท๎ยตนั้น กับข้าพร้อมกัน พิสมัยโดยดีดวีณา

แล้วเราก็จะลักพา วาสวทัตตา; ไม่ยอมดูดายอยู่นาน.

เพราะเยาคันธรายณได้เตรียมการไว้เรียบร้อยทั้งสิ้นแล้ว. (๔๗)

วาสวทัตตา. (ลุกขึ้นโดยด่วน) ทรงพระเจริญยิ่ง ๆ เถิดทูลกระหม่อมแก้ว !

ราชา. (พูดป้อง) อะไร! นี่เทวีจำเราได้หรือ?

สางกฤตยายนี. (ยิ้ม) ราชบุตรี, อย่าทรงหลงไปเลย. นี่เปนละคอน.

ราชา. (พูดป้อง, ยินดี) หายใจได้คล่องอีกละ.

วาสวทัตตา. (นั่งลงและยิ้มอย่างเก้อ ๆ) อะไร, นั่นมโนรมานั่นเอง. ดิฉันนึกว่าทูลกระหม่อมแก้วของดิฉันไปได้. ดีมาก, มโนรมา, ดีมาก. เล่นดีจริง ๆ.

สางกฤตยายนี. ราชบุตรี, สมควรแล้วที่มโนรมาได้ทำให้ทรงหลงไป. ทอดพระเนตรสิ.

นี่เทียวเห็นวรโฉมประโลมนยนงาม อีกเครื่องพระทรงราม รุจี;

นี่เทียวเห็นพระดำเนินประหนึ่งวรกรี ซับมันและซ้ำมี สง่า;

นี่เทียวเห็นพระลิลาศและฟังพระวจนา ปานเมฆกระหึมฟ้า คะนอง;

นี่เทียวเห็นวรวัตสรารชะวิรต้อง ตาชมฉลาดของ ละคอน.

วาสวทัตตา. อินทีวริกา, เมื่อทูลกระหม่อมแก้วทรงสอนกูดีดพิณ, พระองค์ทรงเครื่องพันธนาอยู่, ฉะนั้น จงทำเครื่องพันธนาถวายด้วยพวงนิโลบลนี้เถิด. (เปลื้องพวงนิโลบลจากหัว และส่งให้ไป)

                         (อินทีวริกา, เมื่อได้ทำตามรับสั่งแล้ว, นั่งลงใหม่)

อารัณยกา. กาญจนมาลา, บอกข้าหน่อย, บอกข้าหน่อย. พระบิดาได้ตรัสจริง ๆ หรือว่า: ‘ถ้าวัตสราชทำให้กูเพลินใจได้โดยดีดพิณละก็, กูจะปล่อยให้เธอพ้นจากความคุมขังไปแน่ทีเดียวละ.’

กาญจนมาลา. เพคะ, จริง, ขอจงทรงดีดให้ดี ๆ เพื่อวัตสราชจะได้ทรงชมเชยมาก ๆ

ราชา. ฉะนั้น กาญจนมาลาก็ได้ทำให้เปนไปเช่นที่เราใคร่แล้วละสิ:

อารัณยกา. ถ้าเช่นนั้นข้าก็จะต้องดีดด้วยความประจงละ. (ขับลำพลางดีดพิณพลาง)

ราชหงส์ม่งมองณฟากฟ้า เห็นเมฆคลุ้มเวหาไม่ผ่องใส

ก็คิดถึงมานัสทะเลไกล ชวนเมียรักรีบไปณรวงรัง;

วัตสราชแลห้องที่ต้องจำ ก็เจ็บช้ำกมลจนจวนคลั่ง

พระคำนึงถึงเขตต์นิเวศน์วัง พระก็ตั้งหัทยาพาคู่จร.(๔๘)

                         (วิทูษกทำท่านอนหลับ)

มโนรมา. (เขย่าเขาด้วยมือ) วสันตกะ, ดูหน่อย, ดูหน่อยเถอะ. เพื่อนรักของฉันกำลังรำอยู่

วิทูษก. (ขัดใจ) อีลูกขี้ครอก. เจ้าก็จะไม่ยอมให้กูหลับบ้างละ. ตั้งแต่เมื่อพระเพื่อนรักของกูได้เห็นอารัณยกาแล้ว, เวลากูอยู่กับท่านละก็, กูไม่มีเวลาหลับได้จนงีบเดียวทั้งกลางคืนกลางวัน. ฉะนั้น กูจะไปหาที่นอนแห่งอื่นละ. (ลุกออกไปนอน)

อารัณยกา. (ร้องอีก)

๏ ผึ้งเอยผึ้งน้อย เที่ยวล่องลอยลมรสมธูหวาน

รู้สึกรักหนักดวงกมลมาลย์ โดยเดือดดาลรักใหม่ไม่สมปอง

นึกใคร่เห็นตัวผู้ที่ตรูเนตร ทุกข์เทวษหวานใจให้หม่นหมอง

โอ้ไฉนจะสมอารมณ์ปอง เปนคู่ครองคลึงเคล้าเย้ายวนเอยฯ (๔๙)

ราชา. (พอได้ยินเช่นนี้ก็เข้าใกล้โดยพลัน) ดีมาก, ราชบุตรี, ดีมาก. เออ, ทั้งคำขับและเสียงที่คลอ! เพราะว่า

​เธอขับพยัญชนะชัดเพราะว่าทศวิธี เธอใช้ก็ถูกดี และเลิด;

อีกทั้งจังหวะก็ครบณสามวิธิประเสริฐ, เร็ว, กลาง, และช้าเฉิด ศุภา;

อีกการหยุดฤก็ครบณสามดุจะตำรา, โคปุจฺฉะเปนอา- ทิเที่ยง;

อีกทั้งวาทิตะสามวิธีสุรสำเนียง, อ่อย, อึง, และกลางเกลี้ยง บ่อขาด.(๕๐)

อารัณยกา. (กอดพิณและลุกขึ้นจากที่นั่ง แลดูพระราชาด้วยความรัก) ครู, หม่อมฉันถวายบังคม. (๕๑)

ราชา. (ยิ้ม) สิ่งซึ่งฉันจงใจพึงเปนไปแก่เธอเถิด.

กาญจนมาลา. (ชี้อาสนะของอารัณยกา) เชิญพระครูเสด็จประทับที่นี่เถอะเพคะ.

ราชา. (นั่ง) ก็บัดนี้ราชบุตรีจะประทับที่ไหนเล่า?

กาญจนมาลา. (ยิ้ม) พระองค์หญิงก็ได้ทรงรับความยกย่องแล้ว โดยพระองค์ได้ทรงชมวิชชาของท่าน, ฉะนั้น ท่านก็สมควรอยู่ที่จะได้ประทับบนแท่นเดียวกับพระครู.

ราชา. ถ้าฉะนั้นให้เธอประทับบนอาสนะนี้กึ่งหนึ่งตามที่ควรนั้นเถิด. ราชบุตรี, เชิญประทับ.

                         (อารัณยกาแลดูกาญจนมาลา)

กาญจนมาลา. (ยิ้ม) ประทับเถอะเพคะ. จะมีผิดร้ายอะไรนี่นะ. พระองค์เปนศิษย์วิเศษเทียวนี่.

​                         (อารัณยกานั่งลงด้วยความอาย)

วาสวทัตตา. (อาย) ภควดีแต่งบทละคอนนี้เกินไปหน่อย. ดิฉันไม่ได้เคยนั่งอาสนะเดียวกับทูลกระหม่อมแก้วของดิฉันเลยเมื่อคราวโน้น.

ราชา. ราชบุตรี, ฉันอยากใคร่ฟังเธออีก. จงดีดพิณเถิด

อารัณยกา. (ยิ้ม) กาญจนมาลา, เพราะเหตุที่ข้าได้ดีดมานานแล้วก็ออกจะเหนื่อย. อวัยวะของข้าบัดนี้ไม่มีแรงเสียแล้ว, ฉะนั้น ข้าจะดีดอีกไม่ได้ละ.

กาญจนมาลา. พระครูเพคะ, พระองค์หญิงทรงเหนื่อยมากเสียแล้ว. ดูเถอะ, พระเสโทหรือเปนเมล็ด ๆ อยู่ที่พระปราง, และนิ้วพระหัตถ์ก็สั่น. ฉะนั้น ให้ท่านทรงพักสักครู่เถอะเพคะ.

ราชา. กาญจนมาลา, เจ้าพูดถูก. (ทำท่าจะจับมืออารัณยกา ฝ่ายอารัณยกาหดมือไปเสีย)

วาสวทัตตา. (ออกเคือง) ภควดี, ตอนนี้คุณก็แต่งเกินไปอีก ดิฉันคงไม่ถูกกาญจนมาลาหลอกด้วยกลเลยเทียวละ.

สางกฤตยายนี. (หัวเราะ) อายุษมดี, แบบกาพย์ก็มักเปนเช่นนี้เสมอ.

อารัณยกา. (ทำเปนเคือง) ไปให้พ้น, กาญจนมาลา, ไปให้พ้น ข้าไม่ชอบเจ้าแล้วละ.

กาญจนมาลา. (ยิ้ม) เมื่อหม่อมฉันอยู่นี่ไม่เปนที่พอพระหฤทัย, หม่อมฉันก็ต้องไป. (เข้าโรง)

อารัณยกา. (ตกใจ) กาญจนมาลา, อยู่ก่อน, อยู่ก่อน พระหัตถของท่านมาต้องข้าอยู่แล้ว.

ราชา. (จับมืออารัณยกา)

ฤๅนี่คือปัทมตูมเย็น เพราะวะศิศิระกระเซ็น ต้องณกลีบเห็น จะปานกัน?

ความเบิกบานแห่งปทุมนั้น ขณะรวิบ่มิทัน ร้อนณเริ่มวัน บ่เท่านา;

น้ำค้างที่หยาดณทั้งห้า นขะรชนิกรา แห่งยุพาฤๅ จะร้อนได้?

เสโทที่พลั่งพะพรูไหล ดุจะอมตวิไล แน่ละนวลใย บ่หยุดหย่อน. (๕๒)

อนึ่ง-

ด้วยหัตถ์โฉมยงองค์อร อันเอื้อมแล้วหล่อน แย่งงามจากปะการัง,

ณกลางหทัยเผือจัง จริงนะหล่อนฝัง ซึ่งรักถนัดแน่นไว้.

อารัณยกา. (แสดงความรู้สึกแปลกเมื่อแตะต้อง, พูดกับตนเอง) เออ, เออ! พอเราแตะต้องมโนรมานี่เข้า, ดูเนื้อตัวของเรามันทราบซ่านพิลึกละ.

วาสวทัตตา. (ลุกขึ้นโดยพลัน) ภควดี, คุณจะดูก็ตามใจ, แต่ส่วนดิฉันนี้จะทนดูละคอนที่เล่นผิดเช่นนี้ต่อไปอีกไม่ได้แล้ว.

สางกฤตยายนี. ราชบุตรี, นี่คือวิวาหแบบคนธรรพซึ่งมีอยู่ในพระธรรมศาสตร์. มีข้อควรอย่างไรหรือที่จะไม่พอพระหฤทัย? นี่เปนเรื่องละคอน. ฉะนั้น ไม่สมควรเลยที่จะเสด็จไปเสียในเวลาที่ผิดและตัดความสนุก

                         (วาสวทัตตาเดินไปมา)

อินทีวริกา. (เหลียวไป) ภัฏฏินี, วสันตกะนอนหลับอยู่ที่ประตูจิตรศาลาแน่ะเพคะ.

วาสวทัตตา. (เพ่งดู) นี่วสันตกะจริงแหละ (คำนึง) ถ้าฉะนั้นพระราชาก็คงเสด็จอยู่นี่ด้วย. ฉะนั้น เราจะต้องปลุกแกขึ้นถามดู (ปลุกเขา)

วิทูษก. (งัวเงียลุกขึ้น, และเหลียวแลไปโดยพลัน) มโนรมา, พระเพื่อนรักของฉันกลับจากเล่นละคอนแล้วหรือยังเล่นอยู่?

วาสวทัตตา. (เอะใจ) อะไร, ทูลกระหม่อมแก้วทรงเล่นละคอนด้วยหรือ? ถ้าฉะนั้นมโนรมาไปไหนเล่า?

วิทูษก. อยู่ในจิตรศาลานี่เอง.

มโนรมา. (ตกใจ, พูดกับตน) อะไร, พระเทวีได้รับสั่ง ทรงหมายความอย่างหนึ่ง, แต่อีตาบ้าคนนี้แกเข้าใจเสียอีกอย่างหนึ่ง แล้วเลยทำเอาเสียรอยไปหมดแล้วละสิ.

วาสวทัตตา. (ยิ้มอย่างเคือง) ดีมาก, มโนรมา, ดีมาก! เจ้าเล่นดีมากเทียวละ.

มโนรมา. (ตัวสั่นด้วยความตกใจและหมอบลงแทบพระบาท) ภัฏฏินี, หม่อมฉันไม่มีผิดเลยในเรื่องนี้. ตาขรัวคนนี้แย่งเอาอาภรณ์ไปด้วยกำลัง, จับหม่อมฉันขังไว้ในนี้, แล้วนั่งอยู่ที่ประตู, หม่อมฉันได้ร้องขึ้น, แต่ไม่มีใครได้ยินเสียง, เพราะตาบ้านี่แกร้องกลบเสียงเสียหมด.

วาสวทัตตา. นางตัวดี, ลุกขึ้น. กูเข้าใจหมดแล้ว. วสันตกะเปนนายโรงละคอนเรื่องกิจการของอารัณยกา.

วิทูษก. ขอให้ทรงหยุดคำนึงหน่อย. วสันตกะเกี่ยวข้องอะไรกับอารัณยกา ?

วาสวทัตตา. มโนรมา, มัดแกให้แน่นแล้วก็มาทางนี้, กูจะได้ดูว่าแกน่าดูสักปานไร.

มโนรมา. (พูดกับตน) หายใจออกละเรา! (มัดมือวิทูษก, แล้วพูดดังๆ) ตาคนชั่ว, แกจงรับผลแห่งความผิดของตัวแกเถอะ.

วาสวทัตตา. (ระส่ำระสาย, เข้าไปเฝ้า) ทูลกระหม่อมแก้ว, ขอลางร้ายจงเคลื่อนคลายไปเสียเถิด. (พูดดั่งนี้แล้วก็แก้พวงนิโลบล, แล้วพูดประชด) ขอประทานโทษ, ทูลกระหม่อมแก้ว, ที่พระองค์ได้ทรงถูกพันธนาด้วยพวงนิโลบลโดยสำคัญว่าเปนมโนรมา.

                         (อารัณยกาหลีกออกไปด้วยความตกใจและยืนนิ่งอยู่)

​ราชา. (ลุกขึ้นโดยพลัน, เห็นวิทูษกและมโนรมาแล้ว, พูดกับตน) อะไร! พระเทวีจำเราได้แล้วหรือ? (แสดงท่าขวยเขิน)

สางกฤตยายนี. (แลดูเขาทั้งหลาย, ยิ้ม) เออ, ละคอนนี้มันกลายเปนอะไรอื่นไปเสียแล้ว. ที่นี้ไม่ใช่ที่สำหรับคนอย่างเราเสียแล้วละ. (เข้าโรง)

ราชา. (พูดกับตน) การกริ้วเช่นนี้ผิดจากแต่ก่อน. เห็นได้ว่าการที่จะดีกันในคราวนี้น่าจะยาก. (รำพึง) เราทำเช่นนี้เถิดเห็นจะดี. (พูดดัง) เทวี, เธอจงงดกริ้วเสียเถิดนะ.

วาสวทัตตา. ใครโกรธเคืองที่นี้นะเพคะ?

ราชา. อะไรเธอน่ะหรือไม่โกรธ?

แม้เมื่อดวงนยนาชำเลืองบ่มิทุเลา ลักษณ์รักก็ตาเจ้า สีเขียว;

แม้ยังมีมธุรสณเสียงฤก็เฉลียว เมื่อยินชะงักเทียว ณถ้อย;

แม้ถอนใจจะระงับก็เห็นว่ะบ่มิถอย โดยดูพระทรวงคอย จะอัด;

แม้ความโกรธวนิดาจะมุ่งมนะถนัด ข่มแล้วก็เห็นชัด นะเจ้า

                         (คุกเข่าที่ตีนนาง) ขอโทษเถิด, ขอโทษเถิด.

วาสวทัตตา. แน่ะอารัณยกา, ทูลกระหม่อมแก้วทรงสำคัญว่าหล่อนโกรธ, จึ่งทรงวิงวอนขอโทษโดยตรัสว่า ‘ขอโทษเถอะชื่นใจ’ ฉะนั้น เข้ามาใกล้ๆ อีกเถอะ. (พูดดังนี้แล้วจึงเอามือจับนางฉุดเข้าไปใกล้)

อารัณยกา. (ตกใจ) ภัฏฏินี, หม่อมฉันมิได้รู้เห็นอะไรด้วยเลย.

วาสวทัตตา. อะไร, อารัณยกา, เจ้าไม่ได้รู้เห็นอะไรด้วยเลยหรือ? ข้าจะสั่งสอนให้เจ้าเข้าใจ. อินทีวริกา, จับมัน.

วิทูษก. พระนาง, วันนี้ในงานโกมุที พระเพื่อนรักของเกล้ากระหม่อมได้ทรงจัดละคอนขึ้นเพื่อให้ทรงสำราญพระหฤทัย.

วาสวทัตตา. เมื่อข้าดูละคอนลามกของพวกเจ้านี้, ข้าก็ต้องสำราญ.

ราชา. เทวี, จงงดความระแวงผิดเสียเถิด. ดูเถิด.

เหตุไรพักตร์วนิดาวิไลดุจะศศี จึ่งนิ่วมิควรที่ นะจ๋า;

เหตุไรริมวรโอษฐะสั่นดุจะผะกา พันธูกะวาตา ระบัด;

ทั้งเอวเธอฤก็รับสภาระอุระอัด อั้นจนสะเทือนทัด สะท้อน;

จงงดโกรธเถอะนะเธอเพราะจัดวรละคอน ขึ้นเล่นก็เพื่อหล่อน สราญ.

เทวี, ขอโทษ, ขอโทษ. (เธอคุกเข่าที่ตนนาง)

วาสวทัตตา. นางตัวดี, ละคอนเลิกแล้วนะ, ฉะนั้น เข้าไปข้างในเถอะ. (เข้าโรง)

ราชา. (เหลียวมอง) อ้าว, เทวีเข้าไปเสียแล้วโดยมิได้ยกโทษละหรือ?

คนหนึ่งหน้าฤขมวดเพราะโกรธก็ขมึง น่ากลัวเพราะเหงื่อซึ่ง พะพราย;

อีกหนึ่งผู้วรเนตระเปรียบอุบลส่าย แสนกลัวประดุจทราย กระโดด;

ยามกูเห็นวรพักตระเทวิสวิโรธน์ กับเห็นวธูโสตถิ์ ปรียา,

กูตกอยู่ณสถานลำบากณมนสา คือเกรงและซ่านซ่า เพราะรัก.

บัดนี้เราจะไปสู่ที่นอนและตรองหาอุบายที่จะทำให้เทวียกโทษ.


                              (เข้าโรงทั้งหมด)
                              จบองก์ที่สาม
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มีนาคม 2565 15:59:10 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 100.0.4896.75 Chrome 100.0.4896.75


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 12 เมษายน 2565 09:35:44 »



จตุรฺโถงฺกะ
[ปฺรเวศกะ]
(ตตะ ปฺรวิศติ มโนรมา)


มโนรมา. (โสทฺเวคมฺ) อโห ทีหโรสทา เทวีเอ กธํ เอตฺติอํ กาลํ พทฺธาเอ ปิอสหีเอ อารณฺณิอาเอ อุวริ อณุกมฺปํ ณ เคณฺหทิ. (สาสฺรมฺ) สา ตวสฺสิณี อตฺตโณ พนฺธณสฺส กิเลเสน ตธา ณ สํตปฺปทิ ชธา ภฏฺฏิโณ ทํสณณิราสทาเอ. อีทิสํ จ เส ทุกฺขํ เชณ อชฺชชฺเชวฺว อตฺตาณอํ วาวาทอนฺตี มเอ กธํ ปิ ณิวาริทา. เอทํ วุตฺตนฺตํ ภฏฺฏิโณ ณิเวเทหิตฺติ วสนฺตอํ ภณิอ อาอทมฺหิ.

                         (ตตะ ปฺรวิศติ กาญฺจนมาลา)
กาญฺจนมาลา. กธํ อณฺเณสนฺตีเอ วิ มเอ ภอวที สงฺกิจฺจาอณิ ณ ทิฏฐา. (วิโลกฺย) ตา เอทํ ปิ ทาว มโณรมํ ปุจฺฉิสฺสํ. (อุปสฤตฺย) มโณรเม, อวิ ชาณาสิ กหึ ภอวที สงฺกิจฺจาอณิตฺติ.

มโนรมา. (วิโลกฺยาศฺรูณิ ปฺรมฤชฺย) หลา กญฺจณมาเล, ทิฏฺฐา. กึ อุณ ตาเอ ปโออณํ.

กาญฺจนมาลา. มโณรเม, อชฺช เทวีเอ องฺคารวทีเอ เลโห เปสิโท. ตสฺสี วาอิเท ฟปฺผปุณฺณณอณา ทิฒํ สํตปฺปิทุํ อารทฺธา เทวี. ตา วิโณทณณิมิตฺตํ ตาเอ ภอวทึ อณฺเณสามิ.

มโนรมา. หลา, กึ อุณ ตสฺสึ เลเห อาลิหิทํ.

กาญจนมาลา. ชา มม ภกิณีอา สา ตุห ชณณี เซวฺว. ตาเอ ภตฺตา ทิฒวมฺมา ตาโท เท. ตา ตุห กึ เอทํ อาอกฺขิทวฺวํ ตสฺส สมหิโอ สํวจฺฉโร กลิงฺคหทเอณ พทฺธลฺส ตา ณ ชุตฺติ เอทํ วุตฺตนฺตํ อณัฏฺฐํ สุณิอ สมีวฏฺฐิทสฺส สมตฺถสฺส ภตฺตุโณ เท เอวฺวํ อุทาสีณตฺตณํ โอลมฺพิทุํ ติ.

มโนรมา. หลา กญฺจณมาเล, ชทา ทาว ออํ วุตฺตนฺโต ภฏฺฏิณีเอ ณ เกณ วิ วาอิทวฺโวตฺติ ภฏฺฏิณา อาณตฺตํ ตา เกณ อุณ ทาณึ โส เลโห สุณาวิโท.

กาญจนมาลา. อนุวาอิอ ตุณฺหึภูทาเอ มห หตฺถาโท เคณฺหิอ สอํ เชวฺว ภฏฺฏิณีเอ วาอิโท.

มโนรมา. เตณ คจฺฉ ตุมํ. เอสา ขุ เทวี ตาเอชฺเชวฺว สห ทนฺตวลหีเอ จิฏฺฐทิ.

กาญจนมาลา. เตณ หิ ภฏฺฏิณีสอาสํ คมิสฺสํ (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)

มโนรมา. จิรํ ขุ เม อารณฺณิอาสอาสาโท อาอทาเอ. ทิฒํ จ นิวฺวิณฺณา สา ตวสฺสิณี อตฺตโณ ชีวิเทณ. กทา อิ อฺจจาหิทํ ภเว. ตา ตหึ เชวฺว คจฺฉามิ. (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)

                                                      อิติ ปฺรเวศกะ

                         (ตตะ ปฺรวิศติ โสทฺเวคาสนสฺถา วาสวทตฺตา สางฺกฤตฺยายนี วิภวตศฺ จ ปริวาระ)

สางฺกฤตฺยายนี. ราชปุตฺริ, อลมุทฺเวเคน. เนทฤโศ วตฺสราชะ. กถมิตฺถํคตมปิ ภวตฺยา มาตฤษฺวสฤปตึ วิชฺญาย วตฺสราโช นิศฺจินฺตํ สฺถาสฺยติ.

วาสวทตฺตา. (สาสฺรมฺ) ภอวทิ, อทิอุชฺชุอา ทาณึ ตุมํ. ชสฺส มเอ ณ กชฺชํ ตสฺส มมเกรเอณ กั กชฺชํ. อชฺชุอาเอ ชุตฺตํ มม เอทํ อาลิหิทุํ สา อุณ ณ อาณาทิ อชฺช ตาริสี ณ วาสวทตฺตตฺติ. ตุห อุณ เอโส อารณฺณิอาเอ วุตฺตนฺโต ปจฺจกฺโข. ตา กธํ เอทํภณาสิ.

สางฺกฤตฺยายนี. ยต เอว เม ปฺรตฺยกฺษสฺ ตต เอว พฺรวีมิ. เตน นนุ เกามุทีมโหตฺสเว ตฺวำ หาสยิตุํ ตถา กฺรีฑิตมุ.

วาสวทตฺตา. ภอวทิ, เอทํ เอตฺถ สจฺจํ. ตธา หาสิทมฺหิ เชณ ภอวทีเอ ปุรโท ลชฺชาเอ กธํ ปิ จิฏฺฐามิ. ตา กึ ตกฺเกรอาเอ กธาเอ. ณํ เอเทณชฺเชวฺว ปกฺขวาเทน เอตฺติอํ ภูมึ ณีทมฺหิ. (อิติ โรทิติ)

สางฺกฤตฺยายนี. อลํ ราชปุตฺริ รุทิเตน. เนทฤโศ วตฺสราชะ (วิโลกฺย) อถ วา ปฺราปฺต เอวายมฺ, ยสฺ เต มนฺยุปฺรมารฺชนํ กโรติ.

วาสวทัตตา. มโณรธา ทาณึ เอเท ภอวทีเอ.

                         (ตตะ ปฺรวิศติ ราชา วิทูษกศฺ จ)

ราชา. วยสฺย, ก อิทานีมภฺยุปายะ ปฺริยามฺ โมจยิตุมฺ.

วิทูษกะ. โภ, วอสฺส, มุญฺจ วิสาทํ. อหํ เท อุวาอํ กรอิสฺสํ.

ราชา. (สหรฺษมฺ) วยสฺย, ตฺวริตตรมภิธียตามฺ.

วิทูษกะ. โภ, ตุมํ ทาว อเณอสมรสํฆฏฺฏปฺปหาวพาหุสาลี ปุโณวิ อเณอคอตุรอปาอิกฺกทุวฺวิสหพลสมุทิโท. ตา สวฺวพลสํโทเหณ อนฺเตอุรํ สุปีฑิทํ กทุอ อิทาณึ เชวฺว อารณฺณิอํ โมอาเวหิ.

ราชา. วยสฺย, อศกฺยมุปทิษฺฏมฺ.

วิทูษกะ. กึ เอตฺถ อสกฺกํ, ชโท ทาว กุชฺชวามณวุฑฺฒกญฺจุอิวชฺชิโท มณุสฺโส อวโร ณตฺถิ ตหึ.

ราชา. (สาวชฺญมฺ) มูรฺข, กิมสมฺพทฺธมฺ ปฺรลปสิ. เทวฺยาะ ปฺรสาทมฺ มุกฺตฺวา นานฺยสฺ ตสฺยา โมกฺษณาภฺยุปายะ. ตตฺ กถย กถํ เทวีมฺ ปฺรสาทยามิ.

วิทูษกะ. โภ, มาโสววาสํ กทุอ ชีวิทํ ธาเรหิ. เอวฺวํ เทวี จณฺฑี ปสีทิสฺสทิ.

ราชา. (วิหสฺย) อลมฺ ปริหาเสน. กถย กถํ เทวีมฺ ปฺรสาทยามิ.

ทฤษฺฏะ กิมฺ ปุรโตวรุธฺย วิหสนฺ คฤหฺณามิ กณฺเฐ ปฺริยำ

กึ วา จาฏศตปฺรปญฺจรจนาปฺรีตำ กริษฺยามิ ตามฺ |

กึ ติษฺฐามิ กฤตาญฺชลิรฺ นิปติโต เทวฺยาะ ปุระ ปาทโยะ

สตฺยํ สตฺยมโห น เวทฺมฺยนุนโย เทวฺยาะ กถํ สฺยาทิติ II [๓๘ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

ตเทหิ, เทวีสกาศเมว คจฺฉาวะ.

วิทูษกะ. โภ, คจฺฉ ตุมํ. อหํ อุณ ทาณึ เชวฺว พนฺธณาโท กธํ ปิ ปริพฺภํสิอ อาอโทมฺหิ. ตา ณ คมิสฺสํ.

ราชา. (วิหสฺย กณฺเฐ คฤหีตฺวา พลานฺ นิวรฺตยติ) มูรฺข, อาคมฺยตามาคมฺยตามฺ. (ปริกฺรมฺยาวโลกฺย จ) อิยํ เทวี ทนฺตวลภีมธฺยมธฺยาสฺเต. ยาวทุปสรฺปามิ. (สลชฺชมุปสรฺปติ)

                         (วาสวทตฺตา สเขทมาสนาทุตฺติษฺฐติ)

ราชา.

กิมฺ มุกฺตมาสนมลมฺ มยิ สมฺภฺรเมณ

โนตฺถาตุมิตฺถมุจิตมฺ มม ตานฺตมธฺเย I

ทฤษฺฏิปฺรสาทวิธิมาตฺรหฤโต ชโนยมฺ

อตฺยาทเรณ กิมิติ กฺริยเต วิลกฺษะ II [๓๙ วสนฺตติลกา.]

วาสวทตฺตา. (มุขํ นิรูปฺย) อชฺชอุตฺต, วิลกฺโข ทาณึ ตุมํ โหสิ.

ราชา. ปฺริเย. สตฺยมหํ วิลกฺษะ, ยตฺ ปฺรตฺยกฺษทฤษฺฏาปราโธปิ ภวตีมฺ ปฺรสาทยิตุํ วฺยวสิโตสฺมิ.

สางฺกฤตฺยายนี. (อาสนํ นิรฺทิศฺษ) มหาราช, กฺริยตามาสน ปริคฺรหะ.

ราชา. (อาสนํ นิรฺทิศฺย) อิโต เทวฺยุปวิศตุ.

จตุรฺโถงฺกะ
[ปฺรเวศกะ]
(ตตะ ปฺรวิศติ มโนรมา)


มโนรมา. (โสทฺเวคมฺ) อโห ทีหโรสทา เทวีเอ กธํ เอตฺติอํ กาลํ พทฺธาเอ ปิอสหีเอ อารณฺณิอาเอ อุวริ อณุกมฺปํ ณ เคณฺหทิ. (สาสฺรมฺ) สา ตวสฺสิณี อตฺตโณ พนฺธณสฺส กิเลเสน ตธา ณ สํตปฺปทิ ชธา ภฏฺฏิโณ ทํสณณิราสทาเอ. อีทิสํ จ เส ทุกฺขํ เชณ อชฺชชฺเชวฺว อตฺตาณอํ วาวาทอนฺตี มเอ กธํ ปิ ณิวาริทา. เอทํ วุตฺตนฺตํ ภฏฺฏิโณ ณิเวเทหิตฺติ วสนฺตอํ ภณิอ อาอทมฺหิ.

                         (ตตะ ปฺรวิศติ กาญฺจนมาลา)

กาญฺจนมาลา. กธํ อณฺเณสนฺตีเอ วิ มเอ ภอวที สงฺกิจฺจาอณิ ณ ทิฏฐา. (วิโลกฺย) ตา เอทํ ปิ ทาว มโณรมํ ปุจฺฉิสฺสํ. (อุปสฤตฺย) มโณรเม, อวิ ชาณาสิ กหึ ภอวที สงฺกิจฺจาอณิตฺติ.

มโนรมา. (วิโลกฺยาศฺรูณิ ปฺรมฤชฺย) หลา กญฺจณมาเล, ทิฏฺฐา. กึ อุณ ตาเอ ปโออณํ.

กาญฺจนมาลา. มโณรเม, อชฺช เทวีเอ องฺคารวทีเอ เลโห เปสิโท. ตสฺสี วาอิเท ฟปฺผปุณฺณณอณา ทิฒํ สํตปฺปิทุํ อารทฺธา เทวี. ตา วิโณทณณิมิตฺตํ ตาเอ ภอวทึ อณฺเณสามิ.

มโนรมา. หลา, กึ อุณ ตสฺสึ เลเห อาลิหิทํ.

กาญจนมาลา. ชา มม ภกิณีอา สา ตุห ชณณี เซวฺว. ตาเอ ภตฺตา ทิฒวมฺมา ตาโท เท. ตา ตุห กึ เอทํ อาอกฺขิทวฺวํ ตสฺส สมหิโอ สํวจฺฉโร กลิงฺคหทเอณ พทฺธลฺส ตา ณ ชุตฺติ เอทํ วุตฺตนฺตํ อณัฏฺฐํ สุณิอ สมีวฏฺฐิทสฺส สมตฺถสฺส ภตฺตุโณ เท เอวฺวํ อุทาสีณตฺตณํ โอลมฺพิทุํ ติ.

มโนรมา. หลา กญฺจณมาเล, ชทา ทาว ออํ วุตฺตนฺโต ภฏฺฏิณีเอ ณ เกณ วิ วาอิทวฺโวตฺติ ภฏฺฏิณา อาณตฺตํ ตา เกณ อุณ ทาณึ โส เลโห สุณาวิโท.

กาญจนมาลา. อนุวาอิอ ตุณฺหึภูทาเอ มห หตฺถาโท เคณฺหิอ สอํ เชวฺว ภฏฺฏิณีเอ วาอิโท.

มโนรมา. เตณ คจฺฉ ตุมํ. เอสา ขุ เทวี ตาเอชฺเชวฺว สห ทนฺตวลหีเอ จิฏฺฐทิ.

กาญจนมาลา. เตณ หิ ภฏฺฏิณีสอาสํ คมิสฺสํ (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)

มโนรมา. จิรํ ขุ เม อารณฺณิอาสอาสาโท อาอทาเอ. ทิฒํ จ นิวฺวิณฺณา สา ตวสฺสิณี อตฺตโณ ชีวิเทณ. กทา อิ อฺจจาหิทํ ภเว. ตา ตหึ เชวฺว คจฺฉามิ. (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)

                                                      อิติ ปฺรเวศกะ

                         (ตตะ ปฺรวิศติ โสทฺเวคาสนสฺถา วาสวทตฺตา สางฺกฤตฺยายนี วิภวตศฺ จ ปริวาระ)

สางฺกฤตฺยายนี. ราชปุตฺริ, อลมุทฺเวเคน. เนทฤโศ วตฺสราชะ. กถมิตฺถํคตมปิ ภวตฺยา มาตฤษฺวสฤปตึ วิชฺญาย วตฺสราโช นิศฺจินฺตํ สฺถาสฺยติ.

วาสวทตฺตา. (สาสฺรมฺ) ภอวทิ, อทิอุชฺชุอา ทาณึ ตุมํ. ชสฺส มเอ ณ กชฺชํ ตสฺส มมเกรเอณ กั กชฺชํ. อชฺชุอาเอ ชุตฺตํ มม เอทํ อาลิหิทุํ สา อุณ ณ อาณาทิ อชฺช ตาริสี ณ วาสวทตฺตตฺติ. ตุห อุณ เอโส อารณฺณิอาเอ วุตฺตนฺโต ปจฺจกฺโข. ตา กธํ เอทํภณาสิ.

สางฺกฤตฺยายนี. ยต เอว เม ปฺรตฺยกฺษสฺ ตต เอว พฺรวีมิ. เตน นนุ เกามุทีมโหตฺสเว ตฺวำ หาสยิตุํ ตถา กฺรีฑิตมุ.

วาสวทตฺตา. ภอวทิ, เอทํ เอตฺถ สจฺจํ. ตธา หาสิทมฺหิ เชณ ภอวทีเอ ปุรโท ลชฺชาเอ กธํ ปิ จิฏฺฐามิ. ตา กึ ตกฺเกรอาเอ กธาเอ. ณํ เอเทณชฺเชวฺว ปกฺขวาเทน เอตฺติอํ ภูมึ ณีทมฺหิ. (อิติ โรทิติ)

สางฺกฤตฺยายนี. อลํ ราชปุตฺริ รุทิเตน. เนทฤโศ วตฺสราชะ (วิโลกฺย) อถ วา ปฺราปฺต เอวายมฺ, ยสฺ เต มนฺยุปฺรมารฺชนํ กโรติ.

วาสวทัตตา. มโณรธา ทาณึ เอเท ภอวทีเอ.

                         (ตตะ ปฺรวิศติ ราชา วิทูษกศฺ จ)

ราชา. วยสฺย, ก อิทานีมภฺยุปายะ ปฺริยามฺ โมจยิตุมฺ.

วิทูษกะ. โภ, วอสฺส, มุญฺจ วิสาทํ. อหํ เท อุวาอํ กรอิสฺสํ.

ราชา. (สหรฺษมฺ) วยสฺย, ตฺวริตตรมภิธียตามฺ.

วิทูษกะ. โภ, ตุมํ ทาว อเณอสมรสํฆฏฺฏปฺปหาวพาหุสาลี ปุโณวิ อเณอคอตุรอปาอิกฺกทุวฺวิสหพลสมุทิโท. ตา สวฺวพลสํโทเหณ อนฺเตอุรํ สุปีฑิทํ กทุอ อิทาณึ เชวฺว อารณฺณิอํ โมอาเวหิ.

ราชา. วยสฺย, อศกฺยมุปทิษฺฏมฺ.

วิทูษกะ. กึ เอตฺถ อสกฺกํ, ชโท ทาว กุชฺชวามณวุฑฺฒกญฺจุอิวชฺชิโท มณุสฺโส อวโร ณตฺถิ ตหึ.

ราชา. (สาวชฺญมฺ) มูรฺข, กิมสมฺพทฺธมฺ ปฺรลปสิ. เทวฺยาะ ปฺรสาทมฺ มุกฺตฺวา นานฺยสฺ ตสฺยา โมกฺษณาภฺยุปายะ. ตตฺ กถย กถํ เทวีมฺ ปฺรสาทยามิ.

วิทูษกะ. โภ, มาโสววาสํ กทุอ ชีวิทํ ธาเรหิ. เอวฺวํ เทวี จณฺฑี ปสีทิสฺสทิ.

ราชา. (วิหสฺย) อลมฺ ปริหาเสน. กถย กถํ เทวีมฺ ปฺรสาทยามิ.

ทฤษฺฏะ กิมฺ ปุรโตวรุธฺย วิหสนฺ คฤหฺณามิ กณฺเฐ ปฺริยำ

กึ วา จาฏศตปฺรปญฺจรจนาปฺรีตำ กริษฺยามิ ตามฺ |

กึ ติษฺฐามิ กฤตาญฺชลิรฺ นิปติโต เทวฺยาะ ปุระ ปาทโยะ

สตฺยํ สตฺยมโห น เวทฺมฺยนุนโย เทวฺยาะ กถํ สฺยาทิติ II [๓๘ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

ตเทหิ, เทวีสกาศเมว คจฺฉาวะ.

วิทูษกะ. โภ, คจฺฉ ตุมํ. อหํ อุณ ทาณึ เชวฺว พนฺธณาโท กธํ ปิ ปริพฺภํสิอ อาอโทมฺหิ. ตา ณ คมิสฺสํ.

ราชา. (วิหสฺย กณฺเฐ คฤหีตฺวา พลานฺ นิวรฺตยติ) มูรฺข, อาคมฺยตามาคมฺยตามฺ. (ปริกฺรมฺยาวโลกฺย จ) อิยํ เทวี ทนฺตวลภีมธฺยมธฺยาสฺเต. ยาวทุปสรฺปามิ. (สลชฺชมุปสรฺปติ)

                         (วาสวทตฺตา สเขทมาสนาทุตฺติษฺฐติ)

ราชา.(วาสวทตฺตา ภูมาวุปวิศติ)

ราชา. อาะ กถมฺ ภูมาวุปวิษฺฏา เทวี. อหมปฺยตฺไรโวปวิศามิ. (อิติ ภูมาวุปวิศฺย กฤตาญฺชลิะ) ปฺริเย, ปฺรสีท ปฺรสีท. กิเมวม. ปฺรณเตปิ มยิ คมฺภีรตรํ โกปมุทฺวหสิ.

ภฺรูภงฺคํ น กโรษิ โรทิษิ มุหุรฺ มุคฺเธกฺษเณ เกวลํ

นาติปฺรสฺผุริตาธรานวรตํ นิะศฺวาสเมโวชฺฌสิ I

วาจํ นาปิ ททาสิ ติษฺฐสิ ปรมฺ ปฺรธฺยานนมฺรานนา

โกปสฺ เต สฺติมิโต นิปีฑยติ มำ คูฒปฺรหาโรปมะ II [๔๐ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

ปฺริเย, ปฺรสีท ปฺรสีท. (อิติ ปาทโยะ ปตติ)

วาสวทตฺตา. อทิสุหิโท ณํ สิ. กึ ทาณึ ทุกฺขิทํ ชณํ วิอาเรสิ อุฏเฐหิ. โก เอตฺถ กุวิโท.

สางฺกฤตฺยายนี. อุตติษฺฐ มหาราช. กิมเนน. อนฺยเทว ตาวทุทฺเวคการณมสฺยาะ

ราชา. (สสมฺภฺรมมฺ) ภควติ, กิมนฺยตฺ.

จตุรฺโถงฺกะ
[ปฺรเวศกะ]
(ตตะ ปฺรวิศติ มโนรมา)


มโนรมา. (โสทฺเวคมฺ) อโห ทีหโรสทา เทวีเอ กธํ เอตฺติอํ กาลํ พทฺธาเอ ปิอสหีเอ อารณฺณิอาเอ อุวริ อณุกมฺปํ ณ เคณฺหทิ. (สาสฺรมฺ) สา ตวสฺสิณี อตฺตโณ พนฺธณสฺส กิเลเสน ตธา ณ สํตปฺปทิ ชธา ภฏฺฏิโณ ทํสณณิราสทาเอ. อีทิสํ จ เส ทุกฺขํ เชณ อชฺชชฺเชวฺว อตฺตาณอํ วาวาทอนฺตี มเอ กธํ ปิ ณิวาริทา. เอทํ วุตฺตนฺตํ ภฏฺฏิโณ ณิเวเทหิตฺติ วสนฺตอํ ภณิอ อาอทมฺหิ.

                         (ตตะ ปฺรวิศติ กาญฺจนมาลา)

กาญฺจนมาลา. กธํ อณฺเณสนฺตีเอ วิ มเอ ภอวที สงฺกิจฺจาอณิ ณ ทิฏฐา. (วิโลกฺย) ตา เอทํ ปิ ทาว มโณรมํ ปุจฺฉิสฺสํ. (อุปสฤตฺย) มโณรเม, อวิ ชาณาสิ กหึ ภอวที สงฺกิจฺจาอณิตฺติ.

มโนรมา. (วิโลกฺยาศฺรูณิ ปฺรมฤชฺย) หลา กญฺจณมาเล, ทิฏฺฐา. กึ อุณ ตาเอ ปโออณํ.

กาญฺจนมาลา. มโณรเม, อชฺช เทวีเอ องฺคารวทีเอ เลโห เปสิโท. ตสฺสี วาอิเท ฟปฺผปุณฺณณอณา ทิฒํ สํตปฺปิทุํ อารทฺธา เทวี. ตา วิโณทณณิมิตฺตํ ตาเอ ภอวทึ อณฺเณสามิ.

มโนรมา. หลา, กึ อุณ ตสฺสึ เลเห อาลิหิทํ.

กาญจนมาลา. ชา มม ภกิณีอา สา ตุห ชณณี เซวฺว. ตาเอ ภตฺตา ทิฒวมฺมา ตาโท เท. ตา ตุห กึ เอทํ อาอกฺขิทวฺวํ ตสฺส สมหิโอ สํวจฺฉโร กลิงฺคหทเอณ พทฺธลฺส ตา ณ ชุตฺติ เอทํ วุตฺตนฺตํ อณัฏฺฐํ สุณิอ สมีวฏฺฐิทสฺส สมตฺถสฺส ภตฺตุโณ เท เอวฺวํ อุทาสีณตฺตณํ โอลมฺพิทุํ ติ.

มโนรมา. หลา กญฺจณมาเล, ชทา ทาว ออํ วุตฺตนฺโต ภฏฺฏิณีเอ ณ เกณ วิ วาอิทวฺโวตฺติ ภฏฺฏิณา อาณตฺตํ ตา เกณ อุณ ทาณึ โส เลโห สุณาวิโท.

กาญจนมาลา. อนุวาอิอ ตุณฺหึภูทาเอ มห หตฺถาโท เคณฺหิอ สอํ เชวฺว ภฏฺฏิณีเอ วาอิโท.

มโนรมา. เตณ คจฺฉ ตุมํ. เอสา ขุ เทวี ตาเอชฺเชวฺว สห ทนฺตวลหีเอ จิฏฺฐทิ.

กาญจนมาลา. เตณ หิ ภฏฺฏิณีสอาสํ คมิสฺสํ (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)

มโนรมา. จิรํ ขุ เม อารณฺณิอาสอาสาโท อาอทาเอ. ทิฒํ จ นิวฺวิณฺณา สา ตวสฺสิณี อตฺตโณ ชีวิเทณ. กทา อิ อฺจจาหิทํ ภเว. ตา ตหึ เชวฺว คจฺฉามิ. (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)

                                                      อิติ ปฺรเวศกะ

                         (ตตะ ปฺรวิศติ โสทฺเวคาสนสฺถา วาสวทตฺตา สางฺกฤตฺยายนี วิภวตศฺ จ ปริวาระ)

สางฺกฤตฺยายนี. ราชปุตฺริ, อลมุทฺเวเคน. เนทฤโศ วตฺสราชะ. กถมิตฺถํคตมปิ ภวตฺยา มาตฤษฺวสฤปตึ วิชฺญาย วตฺสราโช นิศฺจินฺตํ สฺถาสฺยติ.

วาสวทตฺตา. (สาสฺรมฺ) ภอวทิ, อทิอุชฺชุอา ทาณึ ตุมํ. ชสฺส มเอ ณ กชฺชํ ตสฺส มมเกรเอณ กั กชฺชํ. อชฺชุอาเอ ชุตฺตํ มม เอทํ อาลิหิทุํ สา อุณ ณ อาณาทิ อชฺช ตาริสี ณ วาสวทตฺตตฺติ. ตุห อุณ เอโส อารณฺณิอาเอ วุตฺตนฺโต ปจฺจกฺโข. ตา กธํ เอทํภณาสิ.

สางฺกฤตฺยายนี. ยต เอว เม ปฺรตฺยกฺษสฺ ตต เอว พฺรวีมิ. เตน นนุ เกามุทีมโหตฺสเว ตฺวำ หาสยิตุํ ตถา กฺรีฑิตมุ.

วาสวทตฺตา. ภอวทิ, เอทํ เอตฺถ สจฺจํ. ตธา หาสิทมฺหิ เชณ ภอวทีเอ ปุรโท ลชฺชาเอ กธํ ปิ จิฏฺฐามิ. ตา กึ ตกฺเกรอาเอ กธาเอ. ณํ เอเทณชฺเชวฺว ปกฺขวาเทน เอตฺติอํ ภูมึ ณีทมฺหิ. (อิติ โรทิติ)

สางฺกฤตฺยายนี. อลํ ราชปุตฺริ รุทิเตน. เนทฤโศ วตฺสราชะ (วิโลกฺย) อถ วา ปฺราปฺต เอวายมฺ, ยสฺ เต มนฺยุปฺรมารฺชนํ กโรติ.

วาสวทัตตา. มโณรธา ทาณึ เอเท ภอวทีเอ.

                         (ตตะ ปฺรวิศติ ราชา วิทูษกศฺ จ)

ราชา. วยสฺย, ก อิทานีมภฺยุปายะ ปฺริยามฺ โมจยิตุมฺ.

วิทูษกะ. โภ, วอสฺส, มุญฺจ วิสาทํ. อหํ เท อุวาอํ กรอิสฺสํ.

ราชา. (สหรฺษมฺ) วยสฺย, ตฺวริตตรมภิธียตามฺ.

วิทูษกะ. โภ, ตุมํ ทาว อเณอสมรสํฆฏฺฏปฺปหาวพาหุสาลี ปุโณวิ อเณอคอตุรอปาอิกฺกทุวฺวิสหพลสมุทิโท. ตา สวฺวพลสํโทเหณ อนฺเตอุรํ สุปีฑิทํ กทุอ อิทาณึ เชวฺว อารณฺณิอํ โมอาเวหิ.

ราชา. วยสฺย, อศกฺยมุปทิษฺฏมฺ.

วิทูษกะ. กึ เอตฺถ อสกฺกํ, ชโท ทาว กุชฺชวามณวุฑฺฒกญฺจุอิวชฺชิโท มณุสฺโส อวโร ณตฺถิ ตหึ.

ราชา. (สาวชฺญมฺ) มูรฺข, กิมสมฺพทฺธมฺ ปฺรลปสิ. เทวฺยาะ ปฺรสาทมฺ มุกฺตฺวา นานฺยสฺ ตสฺยา โมกฺษณาภฺยุปายะ. ตตฺ กถย กถํ เทวีมฺ ปฺรสาทยามิ.

วิทูษกะ. โภ, มาโสววาสํ กทุอ ชีวิทํ ธาเรหิ. เอวฺวํ เทวี จณฺฑี ปสีทิสฺสทิ.

ราชา. (วิหสฺย) อลมฺ ปริหาเสน. กถย กถํ เทวีมฺ ปฺรสาทยามิ.

ทฤษฺฏะ กิมฺ ปุรโตวรุธฺย วิหสนฺ คฤหฺณามิ กณฺเฐ ปฺริยำ

กึ วา จาฏศตปฺรปญฺจรจนาปฺรีตำ กริษฺยามิ ตามฺ |

กึ ติษฺฐามิ กฤตาญฺชลิรฺ นิปติโต เทวฺยาะ ปุระ ปาทโยะ

สตฺยํ สตฺยมโห น เวทฺมฺยนุนโย เทวฺยาะ กถํ สฺยาทิติ II [๓๘ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

ตเทหิ, เทวีสกาศเมว คจฺฉาวะ.

วิทูษกะ. โภ, คจฺฉ ตุมํ. อหํ อุณ ทาณึ เชวฺว พนฺธณาโท กธํ ปิ ปริพฺภํสิอ อาอโทมฺหิ. ตา ณ คมิสฺสํ.

ราชา. (วิหสฺย กณฺเฐ คฤหีตฺวา พลานฺ นิวรฺตยติ) มูรฺข, อาคมฺยตามาคมฺยตามฺ. (ปริกฺรมฺยาวโลกฺย จ) อิยํ เทวี ทนฺตวลภีมธฺยมธฺยาสฺเต. ยาวทุปสรฺปามิ.(สลชฺชมุปสรฺปติ)

                         (วาสวทตฺตา สเขทมาสนาทุตฺติษฺฐติ)

ราชา.(สางฺกฤตฺยายนี กรฺเณ กถยติ)

ราชา. (วิหสฺย) ยทฺเยวมลมุทฺเวเคน. มยาปิ ชฺญาตมฺ. สิทฺธ เอวาสฺมินฺ ปฺรโยชเน เทวี ทิษฺฏฺยา วรฺธยิษฺยามีติ โนกฺตมฺ. อนฺยถา กถมหํ ทฤฒวรฺมวฤตฺตานฺเต วิศฺรพฺธสฺ ติษฺฐามิ. ตตุ กติปยานฺยหานิ ตทฺวารฺตายา อาคตายาะ. อิทํ จ ตฺตร วรฺตเต.

อสฺมทฺพไลรฺ วิชยเสนปุระสไรสฺ ไตรฺ

อากฺรานฺตพาหฺยวิษโย วิหตปฺรตาปะ I

ทุรฺคํ กลิงฺคหตกะ สหสา ปฺรวิศฺย

ปฺราการมาตฺรกรโณศรณะ กฤโตเสา II [๔๑ วสนฺตติลกา.]

ตทวสฺถํ จ ตํ

นิรฺทิษฺฏากฺรานฺตมนฺทมฺ ปฺรติทินวิรมทฺวีรทาเสรวฤตฺตํ

สธฺวํสํ ศีรฺยมาณทฺวิปตุรคนรกฺษีณนิะเศษไสนฺยมฺ I

อทฺย โศฺว วา วิภคฺเน ฌฏิติ มม พไละ สรฺวตสฺ ตตฺร ทุรฺเค

พทฺธํ ยุทฺเธ หตํ วา ภควติ นจิราจฺ โฉฺรษฺยสิ ตฺวํ กลิงฺคมฺ II [๔๒ สุรคฺธรา]

สางฺกฤตฺยายนี. ราชปุตฺริ, ปฺรถมตรเมว ภวตฺยาะ กถิตมฺ มยา กถมปฺรติวิธาย วตฺสราชะ สฺถาสฺยตีติ.

วาสวทตฺตา. ชอิ เอวฺวํ ปิอํ เม.

                         (ปฺรวิศฺย ปฺรตีหารี)

ปฺรตีหารี. เชทุ เชทุ ภฏฺฏา. เอโสกฺขุ วิชอเสโณ ทิฒวมฺมกญฺจุอิสหิโท หริสสมุปฺผุลฺลโลอโณ ปิอํ ณิเวทิทุกาโม ทุวาเร จิฏฺฐทิ.

วาสวทตฺตา. (สสฺมิตมฺ) ภอวทิ. ชธา ตกฺเกมิ ปริโตสิทมฺหิ อชฺชอุตฺเตณตฺติ.

สางฺกฤตฺยายนี. วตฺสราชปกฺษปาตินี ขลฺวหํ น กึ จิบปิ พฺรวีมิ.

ราชา. ศีฆฺรมฺ ปฺรเวศย เตา.

ปรตีหารี. ตธา. (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)

                         (ตตะ ปฺรวิศติ วิชยเสนะ กญฺจุกี จ)


วิชยเสนะ. โกะ กญฺจุกินฺ, อทฺย สฺวามิปาทา ทฺรษฺฏวฺยา อิติ ยตฺสตฺยมนุปมํ กมปิ สุชาติศยมนุภวามิ.

กญฺจุกี. วิชยเสน, อวิตถเมตตฺ. ปศฺย.

สุขนิรฺภโรนฺยถาปิ สฺวามินมวโลกฺย ภวติ ภฤตฺยชนะ I

กิมฺ ปุนรริพลวิฆฏนนิรฺวฺยูฒปฺรภุนิโยคภระ II [๔๓ อารยา]

อุเภา. (อุปสฤตฺย) ชยตุ ชยตุ สวามี.

                         (ราโชภาวปิ ปริษฺวชเต)

กญฺจุกี. เทว, ทิษฺฏฺยา วรฺธเส.

หตฺวา กลิงฺคหตกํ หฺยสฺมตฺสฺวามี นิเวศิโต ราชฺเย I

เทวสฺย สมาเทศาทฺ ริปุชยินา วิชยเสเนน II [๔๔ อารฺยา]

วาสวทตฺตา. ออิ อหิชาณาสิ เอทํ กญฺจุอิณํ.

สางฺกฤตฺยายนี. กถํ นาภิชานามิ. นนุ ส เอษ ยสฺย หสฺเต มาตฤษฺวสา เต ปตฺริกามนุเปฺรษิตวตี.

ราชา. สาธุ. วิชยเสเนน มหาวฺยาปาโรนุษฺฐิตะ.

                         (วิชยเสนะ ปาทโยะ ปตติ)

ราชา. เทวิ, ทิษฺฏฺยา วรฺธเส. ปฺรติษฺฐิโต ราชฺเย ทฤฒวรฺมา.

วาสวทตฺตา. (สหรฺษม) อณุคฺคหิทมฺหิ.

วิทูษกะ. อีทิเส อพฺภุทเอ อสฺสึ ราออุเล เอทํ กรณีอํ. (ราชานํ นิรฺทิศฺย วีณาวาทนํ นาฏยนฺ) คุรุปูอา. (อาตฺมโน ยชฺโญปวิตํ ทรฺศยนฺ) พมฺหณสฺส สกฺกาโร. (อารณฺยกำ สูจยนฺ) สวฺวพนฺธณโมกฺโขตฺติ.

ราชา. (วาสวทตฺตามปวารฺย โฉฏิกำ ททตฺ) สาธุ วยสฺย สาธุ.

วิทูษกะ. โภทิ, กธํ ตุมํ ณ กุ ปิ เอตฺถ สมาทิสสิ.

วาสวทตฺตา. (สางฺกฤตยฺายนีมวโลกฺย สสฺมิตมฺ) โมอิทา ขุ หทาเสณ อารณฺณิอา.

สางฺกฤตฺยายนี. กึ วา ตปสฺวินฺยานยา พทฺธยา.

วาสวทตฺตา. ชธา ภอวทีเอ โรอทิ.

สางฺกฤตฺยายนี. ยทฺเยวมหเมว คตฺวา ตามฺ โมจยิษฺยามิ. (อิติ นิษฺกฺรานฺตา)

กญฺจุกี. อิทมปรํ สํทิษฺฏมฺ มหาราเชน ทฤฒวรฺมณา, ตฺวตฺปฺรสาทาตฺ สรฺวเมว ยถาภิลษิตํ สมฺปนฺนมฺ. ตเทเต ปฺราณาสฺ ตฺวทียาะ, ยเถษฺฏมิมานฺ วินิโยกฺตุํ ตฺวเมว ปฺรมาณมฺ.

                         (ราชา สลชฺชมโธมุขสฺ ติษฺฐติ)

วิชยเสนะ. เทว, น ศกฺยเมว เทวมฺ ปฺรติ ปฺรีติวิเศษํ ทฤฒวรฺมณะ กถยิตุม.

กญฺจุกี. ยทฺยปิ ตุภฺยมฺ ปฺรติปาทิตายาะ ปฺริยทรฺศิกายา อสฺมทฺทุหิตุะ ปริภฺรํศานฺ น เม สมฺพนฺโธ ชาต อิติ ทุะขมาสีตฺ ตถาปิ วาสวทตฺตายาะ ปริเณตฺราปิ ตฺวยา ตทปนีตเมว.

วาสวทตฺตา. (สาสฺรมฺ) อชฺช กญฺจุอิ, กธํ เม ภอิณี ปริพฺภฏฺฐา.

กญฺจุกี. ราชปุตฺริ, ตสฺมินฺ กลิงฺคหตกาวสฺกนฺเท วิทฺรุเตษฺวิตสฺตโตนฺตะปุรชเนษุ ทิษฺฏฺยา ทฤษฺฏามิทานี น ยุกฺตมตฺร สฺถาตุมิติ ตามหํ คฤหีตฺวา วตฺสราชานฺติกมฺ ปฺรสฺถิตะ. ตตะ สํจินฺตฺย ตำ.

วินฺธฺยเกโตรฺ หสฺเต นิกฺษิปฺย นิรฺคโตสฺมิ. ยาวตฺ ปฺรตีปมาคจฺฉามิ ตาวตฺ ไกรปิ ตตฺ สฺถานํ สห วินฺธฺยเกตุนา สฺมรฺตวฺยตำ นีตมฺ.

ราชา. (สสฺมิตมฺ) วิชยเสน, กิ กถยสิ.

กญฺจุกี. ตตฺร จานฺวิษฺยตา มยา น ปฺราปฺตา. ตทาปฺรภฤติ นาทฺยาปิ วิชฺญายเต กฺว วรฺตต อิติ.

                         (ปฺรวิศฺย มโนรมา)

มโนรมา. ภฏฺฏิณิ, ปาณสํสเอ วฏฺฏทิ สา ตวสฺสิณี.

วาสวทตฺตา. (สาสฺรมฺ) กึ อุณ ตุมํ ปิอทํสณาวุตฺตนฺตํ ชาณาสิ

มโนรมา. ณ หุ อหํ ปิอทํสณาวุตฺตนฺตํ ชาณามิ. เอสา ขุ อารณฺณิอา กลฺลวฺวเทเสน อาณีทํ วิสํปาอิอ ปาณสํสเอ วฏฺฏทิตฺติ เอวฺวํ มเอ ณิเวทิทํ. ตา ปริตฺตาอทุ ภฏฺฏิณี. (รุทตี ปาทโยะ ปตติ)

วาสวทตฺตา. (สฺวคตมฺ) หทฺธี หทฺธี ปิอทํสณาทุกฺขํ ปิ เม อนฺตริทํ อารณฺณิอาวุตตนฺเตณ. อทิทุชฺชโณกฺขุ โลโอ. กทา อิ มํ อณฺณอา สมฺภาวอิสฺสทิ. ตา เอทํ เอตฺถ ชุตฺตํ. (ปฺรกาศํ สสมฺภฺรมมฺ) มโณรเม, ลหุ อิธชฺเชวฺว อาเณหิ ตํ. ณาอโลอาโท คหิทวิสวิชฺโช อชฺชอุตฺโต เอตฺถ กุสโล.

                         (นิษฺกรานฺตา มโนรมา)

                         (ตตะ ปฺรวิศติ มโนรมยา ธฤตา สวิษเวคมาตฺมานํ นาฏยนฺตฺยารณฺยกา)

อารณฺยกา. หลา มโณรเม, กีส ทาณึ มํ อนฺธอารํ ปเวเสสิ.

มโนรมา. (สวิษาหมฺ) หทฺธี หทฺธี. ทิฏฺฐิ วิ เส สํกนฺตา วิเสณชฺเชวฺว. (วาสวทตฺตำ ทฤษฺฏวา) ภฏฺฏิณิ, ลหุ ปริตฺตาเอหิ ลหุ ปริตฺตาเอหิ ครุอีภูทํ เส วิสํ.

วาสวทตฺตา. (สสมฺภฺรมํ ราชานํ หสฺเต คฤหีตฺวา) อชฺชอุตฺต, อุฏฺเฐหิ อุฏฺเฐหิ. ลหุ วิวชฺชทิกขุ เอสา ตวสฺสิณี (สรฺเว ปศฺยนฺติ)

กญฺจุกี. (วิโลกฺย) สุสทฤศี ขลฺวิยมฺ มม ราชปุตฺรฺยาะ ปฺริยทรฺศนายาะ. (วาสวทตฺตวํ นิรฺติศฺย) ราชปุตฺริ, กุต อิยํ กนฺยกา

วาสวทตฺตา. อชฺช. วิญฺฌเกทุโณ ทุหิทา. ตํ วาวาทิอ วิชอเสเณณ อาณีทา.

กญฺจุกี. กุตสฺ ตสฺย ทุหิตา. ไสเวยมฺ มม ราชปุตฺรี. หา หโตสฺมิ มนฺทภาคฺยะ. (อิติ นิปตฺย ภูมาวุตฺถาย) ราชปุตฺริ. อิยํ สา ปฺริยทรฺศิกา ภคินี เต.

วาสวทตฺตา. อชฺชอุตฺต. ปริตฺตาเอหิ ปริตฺตาเอหิ. มม ภอิณี วิวชฺชทิ.

ราชา. สมาศฺวสิหิ สมาศฺวสิหิ. ปศฺยามสฺ ตาวตฺ. (สฺวคตมฺ) กษฺฏมฺ โภะ กษฺฏมฺ.

สํชาตสานฺทฺรมกรนฺทรสำ กฺรเมณ

ปาตุํ คตศฺ จ กลิกำ กมลสฺย ภฤงฺคะ I

ทคฺธา นิปตฺย สหไสว หิเมน ไจษา

วาเม วิเธา น หิ ผลนฺตฺยภิวาญฺฉิตานิ II [๔๕ วสนฺตติลกา.]

(ปฺรกาศมฺ) มโนรเม, ปฤจฺฉฺยตำ ตาวตฺ กึ เต โพธ อิติ.

มโนรมา. สหิ, กึ เท โพโธ. (สาสฺรมฺ ปุนศฺ จาลยนฺตี) สหิ, ณํ ภณามิ กุ เท โพโธตฺติ.

ปฺริยทรฺศิกา. (อวิสปษฺฏมฺ) ณํ เอทาเอ วิ ณ มเอ มหา ราโอ ทิฏฺโฐ. (อิตฺยรโธกฺเต ภูเมา ปตติ)

ราชา. (สาสฺรํ สฺวคตมฺ)

เอษา มีลยตีทมีกฺษณยุคํ ชาตา มมานฺธา ทิศะ

กณฺโฐสฺยาะ ปฺรติรุธฺยเต มม คิโร นิรฺยานฺติ กฤจฺฉราทิมาะ I

เอตสฺยาะ สฺวสิตํ หฤตมฺ มม ตนุรฺ นิศฺเจษฺฏตามาคตา

มนฺเยสฺยา วิษเวค เอว หิ ปรํ สรฺวํ ตุ ทุะขมฺ มม II [๔๖ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต.]

วาสวทตฺตา. (สาสฺรมฺ) ปิอทํสเณ, อุฏฺเฐหิ อุฏฺเบหิ. เปกฺข, เอโส มหาราโอ จิฏฺฐทิ. กธํ เวอณา วิ เส ณฏฺฐา. กึ ทาณึ มเอ อวรทฺธํ ออาณนฺตีเอ เชณ กุวิทา ณาลวสิ. ตา ปสีท ปสีท. อุฏฺเฐหิ อุฏฺเฐหิ. ณ หุ ปุโณ อวรชฺฌิสฺสํ. (อูรฺธฺวมวโลกฺย) หา เทวฺวหทอ, กึ ทาณึ มเอ อวกิทํ เชณ เอทาวตฺถํ คทา เม ภอิณี อาทํสิทา. (ปฺริยทรฺศิกายา อุปริ ปตติ)

วิทูษกะ. โภ วอสฺส. กธํ ตุมํ มูโฒ วิอ จิฏฺฐสิ. ณ เอโส วิสาทสฺส กาโล. วิสมา ขุ คที วิสสฺส. ตา ทํเสหิ อตฺตโณ วิชฺชาปหาวํ.

ราชา. สตฺยเมไวตตฺ (ปฺริยทรฺศิกามาโลกฺย) มูฒ เอวาหเมตาวตี เวลามฺ. ตทหเมนำ ชีวยามิ. สลิลํ สลิลมฺ.

วิทูษกะ. (นิษฺกฺรํมฺย ปุนะ ปฺรวิศฺย) โภ, เอทํ สลิลํ.

                    (ราโชปสฤตฺย ปฺริยทรฺศนายา อุปริ หสฺตํ นิธาย มนฺตฺรสฺมรณํ นาฏยติ. ปฺริยทรฺศิกา ศไนรุตฺติษฺฐติ)

วาสวทตฺตา. อชฺชอุตฺต, ทิฏฺฐิอา ปจฺจุชฺชีวิทา เม ภอิณี.

วิชยเสนะ. อโห เทวสฺย วิทฺยาปฺรภาวะ.

กญฺจุกี. อโห สรฺวตฺราปฺรติหตา นเรนฺทฺรตา เทวสฺย.

ปฺริยทรฺศิกา. (ศไนรุตฺถาโยปวิศฺย จ ชฤมฺภิกำ นาฏยนฺตี สวิษาทมวิสฺปษฺฏมฺ) มโณรเม, จิรํ ขุ สุตฺตมหิ.

วิทูษกะ. โภ วอสฺส, ณิวฺวูฒํ เท โวทิตฺตณํ.

                         (ปฺริยทรฺศิกา สาภิลาษํ ราชานํ นิรูปฺย สลชฺชํ กึจิทโธมุขี ติษฺฐติ)

วาสวทตฺตา. (สหรฺษมฺ) อชฺชอุตฺต, กึ ทาณึ ปิ เอสา อณฺณธา เชวฺว กเรทิ.

ราชา. (สสฺมิตมฺ)

สฺวภาวสฺถา ทฤษฺฏิรฺ น. ภวติ คิโร นาติวิศทาสฺ

ตนุะ สีทตฺเยษา ปฺรกฏปุลกเสฺวทกณิกา I

ยถา จายํ กมฺปะ สฺตนภรปริเกฺลศชนนสฺ

ตถา นาทฺยาปฺยสฺยา นิยตมขิลํ ศามฺยติ วิษมฺ II [๔๗ ศิขริณี.]

กญฺจุกี. (ปฺริยทรฺศิกำ นิรฺทิศฺย) ราชปุตฺริ, เอษ เต ปิตุราชฺญากระ. (อิติ ปาทโยะ ปตติ)

ปฺริยทรฺศิกา. (วิโลกฺย) กธํ กญฺจุอี อชฺชวิณอวสู. (สาสฺรมฺ) หา ตาท, หา อชฺชุเอ.

กญฺจุกี. ราชปุตฺริ, อลํ รุทิเตน. กุศลิเนา เต ปิตเรา. วตฺสราชปฺรภาวาตฺ ปุนสฺ ตทวสฺถเมว ราชฺยมฺ.

วาสวทตฺตา. (สาสฺรมฺ) เอหิ อลิอสีเล. อิทาณึ ปิ เท ภอิณิอาสิเนหํ ทํเสหิ. (กณฺเฐ คฤหีตฺวา) อิทาณึ สมสฺสตฺถมฺหิ.

วิทูษกะ. โภทิ, ตุมํ ภอิณึ เคณฺหิอ กณฺเฐ เอวฺวํ ปริตุฏฺฐา สิ. โวทิอสฺส ปาริโตสิอํ วิสุมริทํ.

วาสวทตฺตา. วสนฺตอ, ณ วิสุมริทํ.

วิทูษกะ. (ราชานํ นิรฺทิศฺย สสฺมิตมฺ) โวทิอ, ปสาเรหิ หตฺถํ. ภอิณีเอ อคฺคหตฺถํ เท ปาริโตสิอํ ทาวิสฺสํ.

                         (ราชา หสฺตมฺ ปฺรสารยติ. วาสวทตฺตา ปฺริยทรฺศิกาหสฺตมรฺปยติ)

ราชา. (หสฺตมุปสํหฤตฺย) กินนยา. สมฺปรตฺเยว กถมปิ ปฺรสาทิตาสิ.

วาสวทตฺตา. โก ตุมํ อเคณฺหิทุํ. ปฒมํ เชวฺว ตาเทณ อิอํ ทิณฺณา.

วิทูษกะ. โภ, มาณณีอา ขุ เทวี. มา เส ปฑิอูลํ กเรหิ.

                         (วาสวทตฺตา ราชฺโญ หสฺตมฺ พลาทากฤษฺย ปฺริยทรฺศิกามรฺปยติ)

ราชา. (สสฺมิตมฺ) เทวี ปฺรภวติ. กุโตสฺมากมนฺยถา กรฺตุํ วิภวะ.

วาสวทตฺตา. อชฺชอุตฺต, อโท วิ ปรํ กึ เท ปิอํ กรีอทุ.

ราชา. กิมตะ ปรมฺ ปฺริยมฺ. ปศฺย.

นิะเศษํ ทฤฒวรฺมณา ปุนรปิ สฺวํ ราชฺยมธฺยาสิตมฺ

ตฺวํ โกเปน สุทูรมปฺยปหฤตา สทฺยะ ปฺรสนฺนา มม I

ชีวนฺตี ปฺริยทรฺศนา จ ภคินี ภูยสฺ ตฺวยา สํคตา

กึ ตตฺ สฺยาทปรมฺ ปฺริยมฺ ปฺริยตเม ยตฺ สามฺปฺรตมฺ ปฺรารฺถฺยเต II [๔๘ ศารฺทูลวิกฺรีฑิต]

ตถาปีทมสฺตุ,

                         (ภรตวากฺยมฺ)

อุรฺวีมุทฺทามสสฺยำ ชนยตุ วิสฤชนฺ วาสโว วฤษฺฏิมิษฺฎามฺ

อิษฺไฏสฺ ไตฺรวิษฺฏปานำ วิทธตุ วิธิวตฺ ปฺรีณนํ วิปฺรมุขฺยาะ I

อากลฺปานฺตํ จ ภูยาตฺ สฺถิรสมุปจิตา สํคติะ สชฺชนานำ

นิะเศษํ ยานฺตุ ศานฺติมฺ ปิศุนชนคิโร ทุะสหา วชฺรเลปาะ II [๔๙ สฺรคฺธรา]

                         (อิติ นิษฺกฺรานฺตาะ สรฺเว)


                         อิติ จตุรฺโถงฺกะ
                         สมาปฺเตยมฺ ปฺริยทรฺศิกา นาม นาฏิกา





                        


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 เมษายน 2565 11:02:45 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 100.0.4896.75 Chrome 100.0.4896.75


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 12 เมษายน 2565 10:48:11 »

.




                    องก์ที่สี่
                     [ตอนนำ]
                    (มโนรมาออก)


มโนรมา. (เดือดร้อน) โอ้โอ๋, พระเทวีช่างกริ้วอยู่นานจริงๆ! ทำไมหนอท่านจึ่งไม่ทรงสงสารอารัณยกาเพื่อนรักของดิฉัน, ผู้ที่ต้องจำจองอยู่เปนนานแล้ว. (ร้องไห้) แม่สาวคนนั้นมิได้เดือดร้อนในเรื่องที่ตนเองต้องจำนั้นเท่าในข้อที่หมดหวังที่จะได้เฝ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีก. และความที่หล่อนมีทุกข์มากน่ะ วันนี้เองดิฉันต้องพยายามมากที่จะห้ามปรามหล่อนเมื่อหล่อนจะฆ่าตัวเอง. ดิฉันพึ่งจะได้บอกวสันตกะบัดนี้ว่าให้นำชาวทูลเจ้านายด้วย.

                         (กาญจนมาลาออก)

กาญจนมาลา. อย่างไรหนอ ดิฉันได้เที่ยวหาคุณนายสังกิจจาอณีแล้วก็ยังไม่พบเลย (เหลียวแล) เออ, ดิฉันจะต้องถามมโนรมานี่เสียด้วย. (เข้าใกล้) มโนรมา, หล่อนรู้ไหมว่าคุณนายสังกิจจาอณีอยู่ที่ไหน?

มโนรมา. (เหลียวดูและเช็ดน้ำตา) อ้อกาญจนมาลา. ฉันได้เห็นท่านอยู่; แต่หล่อนอยากพบท่านทำไม?

กาญจนมาลา. นี่แน่ะมโนรมา, วันนี้ได้มีหนังสือฉะบับหนึ่งมาจากพระนางอังคารวดี.(๕๓) พอได้ทรงแล้ว, พระเนตรของพระเทวีก็เต็มไปด้วยน้ำพระเนตรและทรงเดือดร้อนมาก ฉันจึ่งเที่ยวหาคุณนายเพื่อจะได้ไปทูลปลอบ.

​มโนรมา. เออหล่อน, ในหนังสือนั้นมีความว่ากระไรล่ะ?

กาญจนมาลา. ว่าดั่งนี้ : ‘น้องสาวของฉันก็เหมือนแม่ของเธอ. ทิฒวัมมะผู้เปนภรรดาของน้องสาวนั้นก็เหมือนเปนพ่อของเธอ. แต่ฉันจะต้องบอกเธอเช่นนี้ทำไม. กว่าปีหนึ่งมาแล้ว พญาองค์นั้นได้ถูกอ้ายเจ้ากลิงค์ร้ายนั้นจับขังไว้. ฉะนั้น ไม่ควรเลยที่ภรรดาของเธอ, ผู้มีอำนาจมากและอยู่ใกล้, จะนิ่งนอนใจเสียเมื่อได้ทรงทราบข่าวเคราะห์ร้ายนี้.’

มโนรมา. แต่ก็, กาญจนมาลา, ใครเล่าได้อ่านหนังสือนี้ออกดัง ๆ, เมื่อล้นเกล้าล้นกระหม่อมได้ตรัสสั่งไว้แล้ว ว่าไม่ให้ใครอ่านเรื่องนี้ถวายภัฏฏินี?

กาญจนมาลา. เมื่อฉันกำลังอ่านของฉันอยู่เองเงียบ, ภัฏฏินีทรงแย่งเอาไปจากมือฉัน แล้วก็เอาไปทรงอ่านเอง.

มโนรมา. เช่นนั้นก็ไปเถอะ. เทวีประทับอยู่ที่นี่เองกับคุณนายที่ในหองานั่น.

กาญจนมาลา. ฉันจะไปเฝ้าภัฏฏินีละ. (เข้าโรง)

มโนรมา. ตั้งแต่ดิฉันจากแม่อารัณยกามาก็นานแล้ว. แม่เคราะห์ร้ายคนนั้นเบื่อชีวิตเสียที่สุดแล้ว. อาจจะเกิดเหตุร้ายอะไรอย่างหนึ่งเมื่อไร ๆ ก็ได้. ดิฉันจะต้องตรงไปหาหล่อนเสียหน่อยละ. (เข้าโรง)

                         จบตอนนำ

                         ​(วาสวทัตตาออกนั่ง, ใจคอไม่สบายมาก, และมีสางกฤตยายนี และบริวารอยู่ตามลำดับด้วย)

สางกฤตยายนี. ราชบุตรี, งดการหมองพระหฤทัยเสียเถิด. วัตสราชหาเปนเช่นนั้นไม่. วัตสราชจะทรงนิ่งดูดายอยู่ได้อย่างไรเมื่อทรงทราบว่าพระภรรดาของพระมาตุจฉาตกอยู่ในความลำบากเช่นนั้น?

วาสวทัตตา. (ร้องไห้) ภควดี, คุณเปนคนซื่อเกินไป. เมื่อท่านไม่ทรงมีเยื่อใยต่อตัวดิฉันแล้ว, ท่านจะทรงมีเยื่อใยอะไรต่อพวกของดิฉัน. การที่พระมารดาทรงมีลายพระหัตถ์มาถึงดิฉันเช่นนี้ก็ควรอยู่ แต่ท่านหาทรงทราบไม่ว่าวาสวทัตตาไม่เหมือนแต่ก่อนเสียแล้ว. แต่คุณสิได้เห็นกิจการเรื่องอารัณยกาแก่ตาของคุณเองแล้ว. ฉะนั้น คุณจะกล่าวเช่นนี้อย่างไรได้

สางกฤตยายนี. ก็เพราะหม่อมฉันได้เห็นแก่ตาเองนั่นสิ, หม่อมฉันจึ่งได้พูดเช่นนั้น. ที่จริงว่านก็เปนแต่ทรงเล่นขัน ๆ เช่นนั้นที่งานเกามุทีเพื่อให้พระนางทรงพระสรวล.

วาสวทัตตา. ภควดี, นั่นเปนความจริง. ดิฉันถูกเขาหัวเราะเยาะนักจนแทบจะยืนอยู่ตรงหน้าคุณมิได้แล้วทีเดียวเพราะความอาย. ฉะนั้นพูดอย่างนั้นจะมีประโยชน์อะไร. ดิฉันตกอยู่ในที่เช่นนี้ก็เพราะความหลงนี่เอง. (ร้องไห้)

สางกฤตยายนี. อย่าทรงพระกรรแสงไปอีกเลย, ราชบุตรี. วัตสราชหาเปนคนเช่นนั้นไม่. (เหลียวดู) แต่ท่านก็เสด็จมานี่แล้วเพื่อทรงปลอบพระองค์ให้ทรงบรรเทาความเสียพระหฤทัย.

วาสวทัตตา. นี่เปนแต่เพียงความหวังของคุณเองเท่านั้น.

                         (พระราชาและวิทูษกออก)

ราชา. เกลอเอ๋ย, มีอุบายอย่างไรบ้างบัดนี้ที่จะให้แม่ที่รักได้รอดออกมาได้.

วิทูษก. พ่อเจ้าประคุณ, คลายความเหี่ยวพระหทัยเสียเถิด. ข้าพระเจ้าจะบอกอุบายให้.

ราชา. (ยินดี) เออเกลอ, บอกมาสิ, เร็วๆเข้า.

วิทูษก. เจ้าประคุณ, พระองค์เองก็มีพระพาหาอยู่สองข้างที่ได้เคยสำแดงเรี่ยวแรงมาแล้วในเวลารบเปนหลายครั้ง; นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงมีกองทัพอันหาใครๆสู้มิได้, พร้อมด้วยช้าง, ม้า และพลเดินเท้า. ฉะนั้น จงทรงยกกำลังพลทั้งหมดเข้าโจมตีวังในและช่วยให้อารัณยการอดออกมาจงได้บัดนี้เทียว.

ราชา. อ๊ะเกลอ, ที่สูว่ามานั้นเหลือที่จะทำได้ละ.

วิทูษก. มีอะไรที่เหลือที่จะทำได้บ้าง? เพราะในนั้นก็ไม่มีผู้ชายคนไรนอกจากคนค่อม, คนเตี้ย กับกรมวังแก่ ๆ.

ราชา. (มันไส้) ตาบ้า, ทำไมพูดเหลวใหลเช่นนั้น, ทางที่จะให้เจ้าหล่อนพ้นโทษได้ไม่มีอย่างอื่นนอกจากทำให้เทวียกโทษ. ฉะนั้นบอกฉันทีเถิดว่าทำอย่างไรจึ่งจะให้เทวียกโทษได้.

​วิทูษก. เจ้าประคุณ, อดข้าวเสียเดือนหนึ่งเถอะ. บางทีเทวีผู้กริ้วอยู่มากจะหายกริ้วได้.

ราชา. (สำรวล) เล่นตลกพอแล้ว. บอกหน่อยว่าทำไฉนจึ่งจะให้เทวียกโทษได้.

ฤๅเราควรจะสะกัดพระเทวิและวิหัสน์(๕๔) แล้วพลันกระหวัดศอ ปริยา?

ฤๅเราควรจะแสดงสุจาฏุวจนา(๕๕) นับร้อยและพาเธอ สราญ?

ฤๅเราควรจะประทับณบาทวธุสะคราญ วอนเยาวมาลย์ขอ อภัย?

จริงหนอจริงนะอโหมิแจ้งณกลไร เพื่อเทวิไสร้หาย พิโรธน์.

ฉะนั้น มาเถิด, เรามาตรงไปหาเทวีเถิด.

วิทูษก. เจ้าประคุณ, จะเสด็จก็เสด็จสิ. แต่ข้าพระเจ้าพึ่งจะหลุดมาจากที่คุมขังโดยยาก, ฉะนั้น ข้าพระเจ้าไม่ไปละ.

ราชา. (สำรวล, จับคอและบังคับให้กลับมา) ตาบ้า, ไปเถิดน่า, ไปเถิดน่า. (เดินไปมาและเหลียวแล) นี่แน่ะเทวีประทับณกลางหองา. ฉันจะเข้าไปหาละ. (เดินเข้าใกล้ด้วยอาการขวยเขิน)

                         (วาสวทัตตาลุกขึ้นอย่างช้า ๆ จากที่นั่ง)

ราชา.

ใยลุกล่ะจากพระวรอาสน์ และลำบากเพราะฉันด้วย?

ข้าแม่สะเอวอระระทวย บมิควรนะเพื่อฉัน.

เสียแรงดนูหทยหวาม เพราะพระเนตร์ประสพพลัน

มาต้องกระดากเพราะวรกัน- ยกระทำเสงี่ยมตัว.

​วาสวทัตตา. (จ้องหน้า) ทูลกระหม่อมแก้ว, บัดนี้ทรงกระดากด้วยหรือ?

ราชา. แม่ที่รัก, ฉันกระดากจริงนะ, เพราะว่าแม้เมื่อหล่อนได้เห็นความผิดของฉันแก่ตาก็ตาม, ฉันก็ยังจงใจอยู่ที่จะทำให้หล่อนหายเคือง.

สางกฤตยายนี. (ชี้อาสนะ) เชิญประทับเถิดล้นเกล้าล้นกระหม่อม.

ราชา. (ชี้อาสนะ) เชิญเทวีนั่งที่นี้เถิด.

                         (วาสวทัตตานั่งลงกับพื้น)

ราชา. อ้าว, เทวีนั่งลงกับพื้นแล้ว. ฉันก็จะนั่งที่นั้นบ้างละ. (นั่งลงกับพื้น, กระทำกิริยาเคารพ) แม่ที่รัก, ขอโทษ, ขอโทษเถิด. เหตุไฉนหล่อนจึ่งกลับแสดงความเคืองยิ่งขึ้น, เมื่อฉันได้มาระยอบกายอยู่ต่อหน้าหล่อนแล้ว.

อ้าเจ้าผู้วรเนตระงามบ่มิขมึง ร้องไห้ไฉนจึ่ง บ่หย่อน?

ริมฝีโอษฐ์บ่มิไหวไฉนวธุสะท้อน ถอนใจบ่เห็นผ่อน ชะงัก;

เจ้าไม่เผยพจนารถและก้มพระวรพักตร์ ดูราวคะนึงนัก นะนาง;

ความโกรธนี้นะสิทำดนูกมลหมาง ราวเจ็บณแผลพราง ณกาย.

แม่ที่รัก, ขอโทษ, ขอโทษเถิด. (นั่งลงที่ใกล้ตีนนาง)

วาสวทัตตา. พระองค์ทรงพระสำราญอยู่แล้วมิใช่หรือ ฉะนั้น ทำไมจึ่งมาทรงรบกวนผู้ที่มีทุกข์? เสด็จลุกขึ้นเถิด. ใครโกรธขึ้งอะไรที่นี้.

สางกฤตยายนี. เสด็จลุกขึ้นเถิดล้นเกล้าล้นกระหม่อม, นี่จะเปนเรื่องอะไร. มีสิ่งอื่นแท้ ๆ ที่ทำให้พระนางไม่ทรงสบาย.

​ราชา. (โดยเร็ว) อะไรอีกเล่า, ภควดี?

                         (สางกฤตยายนีกระซิบทูลที่พระกรรณ)

ราชา. (สำรวล) ถ้าเช่นนั้น, อย่ารำคาญอีกเลย. ฉันเองก็ได้ทราบแล้ว. แต่ฉันไม่ได้บอก. เพราะนึกอยู่ว่าจะได้แสดงความยินดีต่อเทวีเมื่อการได้กระทำไปสำเร็จแล้วทีเดียว ถ้ามิฉะนั้น เหตุไฉนฉันจะนิ่งอยู่ได้ในกิจการที่เกี่ยวกับทฤฒวรมัน. นั่นแหละ, หลายวันมาแล้วได้มีข่าวเรื่องท้าวนั้นมาถึง; และเหตุการณ์ได้เปนดั่งนี้.

อันแสนยะซึ่งวิชยเส- นะวิเนตระสู่ราษฏร์

ได้รบทำลายวรอำนาจ และสง่ากลิงค์หาย,

จนต้องปราชิตะและต้อน พลเข้าณเมืองหมาย

ปราการะเปนสรณกาย เพราะว่ะอื่นบ่มีกัน.

และเมื่อเปนเช่นนี้แล้ว

ซุดโทรมโดยถูกกระหน่ำนั้น และพลพยุหอัน ถ่อยก็ถอยถั่น บ่อาจหาญ,

เมื่อจวนถึงความละลายลาน คชหยพลล้าน แสนยะแตกฉาน บ่แขงขลัง,

เมื่อค่ายคูป้อมประตูพัง เพราะพยุหจะประทัง ทุ่มพลังโรม ณเร็วนี้,

คุณคงทราบข่าวกลิงค์ชี- วิตะมรณณที่ รบฤมีผู้ กระลึงไว้.

สางกฤตยายนี. ราชบุตรี, หม่อมฉันได้ทูลแล้วแต่แรกมิใช่หรือว่า วัตสราชจะทรงนิ่งดูดายไม่ตีโต้ได้อย่างไร.

วาสวทัตตา. ถ้าเช่นนั้น, ดิฉันก็ปลื้มใจ.

/*105 */เฝ้าที่. ทรงพระจำเริญยิ่ง ๆ เถอะล้นเกล้าล้นกระหม่อม ท่านวิชัยเสน, พร้อมด้วยท่านกัญจุกินของพระเจ้าทิฒวัมมะ, ผู้มีตาแววอยู่ด้วยความยินดีและใคร่เพื่อจะกราบบังคมทูลข่าวดี, มายืนคอยอยู่ที่พระทวารแล้วละเพคะ.

วาสวทัตตา. (ยิ้ม) ภควดี, ดิฉันเห็นว่าทูลกระหม่อมแก้วได้ทรงทำให้ดิฉันพอใจโดยเต็มที่แล้ว.

สางกฤตยายนี. หม่อมฉันลำเอียงต่อวัตสราชอยู่, ฉะนั้น ไม่ขอทูลอะไรอีกละ.

ราชา. ให้เขาเข้ามาบัดนี้.

เฝ้าที่. เพคะ (เข้าโรง)

                         (วิชัยเสนกับกัญจุกินออก)

วิชัยเสน. นี่แน่ะท่านกัญจุกิน, กระผมรู้สึกปลื้มใจมากเหลือที่จะเปรียบได้ เมื่อนึกถึงการที่จะได้เฝ้าฝ่าพระบาทเจ้านายณวันนี้.

กัญจุกิน. ท่านวิชัยเสน นั่นเปนข้อที่เถียงไม่ได้ เพราะว่าแม้ในคราวอื่นนอกนี้ ข้าย่อมยินดี ยามเมื่อได้เฝ้าเจ้านาย, แต่ต้องยินดีมากมาย เมื่อได้ทำลาย อริพลังดั่งใช้.

ทั้งสอง. (เข้าใกล้) ชยตุ ชยตุ พระเจ้าข้า.

​                         (ราชากอดทั้งสองคน)

กัญจุกิน. เทวะ, ข้าพระเจ้าขอถวายพระพรแด่พระองค์.

วิชัยเสนมีชัย ปราบริปูได้ สำเร็จดั่งราชบรรหาร,

ฆ่าท้าวกลิงค์ใจพาล แล้วเชิญผู้ผ่าน พิภพของข้าคืนเมือง.

วาสวทัตตา. เออ ภควดี, ท่านจำกัญจุกินผู้นี้ได้หรือ?

สางกฤตยายนี. ทำไมหม่อมฉันจะจำไม่ได้. ท่านผู้นี้เองเปนผู้ที่ได้รับฝากลายพระหัตถ์ของพระน้ามา.

ราชา. สาธุ! วิชัยเสนกระทำการใหญ่ได้สำเร็จดี.

                         (วิชัยเสนลงกราบแทบพระบาท)

ราชา. เทวี, ฉันยินดีด้วย. ทฤฒวรมันได้กลับขึ้นทรงราชย์อีกแล้ว.

วาสวทัตตา. (ยินดี) หม่อมฉันพอใจมาก.

วิทูษก. ในเมื่อเวลาที่มีความชื่นชมยินดีในราชตระกูลเช่นนี้ มีกิจอันควรกระทำอยู่คือ- (ชี้พระราชาและทำท่าดีดพิณ) บูชาครู (ชี้สายธุรัมของตน) สักการะพาห์ม, (กล่าวถึงอารัณยกา) ปล่อยนักโทษทั้งหมด.

ราชา. (ดีดนิ้วโดยมิให้วาสวทัตตาเห็น) สาธุ, เพื่อน, สาธุ!

วิทูษก. พระนาง, ทำไมไม่มีรับสั่งอะไรสักอย่างหนึ่งเล่า?

วาสวทัตตา. (แลดูสางกฤตยายนีและยิ้ม) ตาคนนี้ก็เท่ากับสั่งให้ปล่อยอารันยกาแล้วนะเจ้าคะ.

​สางกฤตยายนี. จะยึดเขาไว้อีกจะได้ผลดีอะไรเล่าเพคะ.

วาสวทัตตา. ก็แล้วแต่คุณจะพอใจเถิดเจ้าคะ.

สางกฤตยายนี. ถ้าฉะนั้น หม่อมฉันจะไปสั่งปล่อยเขาเอง. (เข้าโรง)

กัญจุกิน. อนึ่งพระเจ้าทฤฒวรมันได้มีพระกระแสสั่งมาดั่งนี้ว่า: ‘โดยพระบารมีของพระองค์ สิ่งทั้งปวงได้เปนไปแล้วสมใจของข้าพระเจ้า. ฉะนั้น ชีวิตของข้าพระเจ้าเปนของพระองค์. พระองค์จะทรงทำอย่างไรก็สุดแท้แต่จะโปรดเถิด.’

                         (ราชายืนก้มพระพักตร์อยู่ด้วยความถ่อม)

วิชัยเสน. เทวะ, เปนการพ้นวิสัยที่จะกราบบังคมทูลได้ว่าพระเจ้าทฤฒวรมันทรงรักใต้ฝ่าละอองพระบาทมากเพียงไร.

กัญจุกิน. (๕๖) ‘แม้เปนเคราะห์ร้ายที่สัมพันธไมตรียังมิได้กระทำแก่กัน, เพราะเหตุที่ข้าพระเจ้าต้องพรากจากลูกหญิงปรียทรรศิกาที่ได้มั่นไว้กับพระองค์แล้วนั้นก็ดี, แต่ข้อบกพร่องนี้ก็ได้สิ้นไปเพราะพระองค์ได้วาสวทัตตาเปนพระชายา.’

วาสวทัตตา. (น้ำตาไหล) ท่านกัญจุกิน, น้องสาวของฉันหายไปอย่างไร?

กัญจุกิน. ราชบุตรี, ในระหว่างเวลาที่ท้าวกลิงค์ผู้ใจพาลได้ยกไปย่ำยี, เมื่อพวกชาววังกำลังวิ่งหนีไปมาอยู่นั้น, เผอิญเกล้ากระหม่อมได้เห็นท่านพระองค์หญิง, และเมื่อคิดเห็นแล้วว่าท่านมิควรที่จะคง

​ประทับอยู่ณที่นั้นอีก, เกล้ากระหม่อมจึ่งได้เชิญเสด็จออกพ้นและออกเดินทางจะมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้าวัตสราช. ต่อนั้น, ครั้นเมื่อได้ใคร่ครวญดูอีกแล้ว, เกล้ากระหม่อมจึ่งได้เชิญเสด็จพระองค์หญิงไปฝากไว้กับท้าววินธยเกตุแล้วไปต่อไป. ครั้นเมื่อเกล้ากระหม่อมกลับไปอีก, จึ่งได้เห็นว่าได้มีข้าศึกไปล้างผลาญทั้งสถานที่นั้นทั้งตัวท้าววินธยเกตุเสียสิ้นแล้ว.

ราชา. (ยิ้ม) วิชัยเสน, เจ้าจะว่าอย่างไร?

กัญจุกิน. และเกล้ากระหม่อมก็ได้ค้นหาดูที่นั้นทั่วแล้ว, แต่ก็หาพบท่านพระองค์หญิงไม่. ตั้งแต่วันนั้นมาจนบัดนี้ ก็ไม่มีใครทราบว่าท่านเสด็จอยู่ณหนไหน.

                         (มโนรมาออก)

มโนรมา. ภัฏฏินี, แม่สาวนั้นจะตายอยู่ละมาร่อแล้วเพคะ.

วาสวทัตตา. (ร้องไห้) อะไรเจ้าได้รู้กิจการของปรียทรรศนาด้วยหรือ?(๕๗)

มโนรมา. หม่อมฉันไม่ได้ทราบกิจการของปรียทรรศนาดอกเพคะ แต่แม่อารัณยกา, น่ะเพคะ, ได้ดื่มยาพิษเข้าไป, เปนของที่มีผู้เอาไปให้โดยอ้างว่าเปนเมรัย, และร่อแร่จะตายอยู่แล้ว นี่เปนข้อที่หม่อมฉันมาทูล. โปรดช่วยด้วยเถิด. (กราบตีนร้องไห้)

วาสวทัตตา. (พูดกับตน) โอ้โอ๋! โอ้โอ๋! เรื่องของอารัณยกานี้ร้ายยิ่งไปกว่าความทุกข์ของเราในเรื่องปรียทรรศนาเสียอีก. โลกนี้ช่างชั่วร้ายเสียจริงๆ. บางทีจะติโทษเราผิดๆไปก็ได้. ฉะนั้น เราต้องทำเช่นนี้เถอะ (พูดดัง, ระส่ำระสาย) มโนรมา, ไปพาเขามาที่นี้เดี๋ยวนี้. ทูลกระหม่อมแก้วทรงชำนาญในเรื่องนี้, เพราะได้ทรงเรียนรู้วิชชายาพิษมาจากนาคโลก.

                         ​(มโนรมาเข้าโรง)

                         (มโนรมาพะยุงอารัณยกา, ซึ่งแสดงอาการว่าต้องยาพิษแล้วนั้น, ออกมา)

อรัณยกา. มโนรมาจ๋า, ทำไมจึ่งพาฉันเข้ามาในที่มืดเล่า?

มโนรมา. (สิ้นคิด) ตาย, ตาย! ตาของหล่อนเสียไปด้วยแล้วเพราะพิษยานั้น. (แลดูวาสวทัตตา) ภัฏฏินี, เร็ว ๆ เพคะ, โปรดช่วยหล่อนด้วย, โปรดช่วยหล่อนด้วย. พิษยาจะทำให้หล่อนถึงที่สุดเสียแล้ว.

วาสวทัตตา. (ระส่ำระสาย, จับพระหัตถ์ราชา) ทูลกระหม่อมแก้ว, เชิญเสด็จ, เชิญเสด็จเถอะ. แม่สาวคนนั้นอาการทรุดลงเร็วเต็มทีแล้ว. (ทุกคนแลดู)

กัญจุกิน. (มองดู) แม่คนนี้ดูคล้ายพระปรียทรรศิการาชบุตรีของเจ้านายเรามากทีเดียว. (พูดกับวาสวทัตตา) ราชบุตรี, สาวน้อยนี้มาจากไหน?

วาสวทัตตา. อ๋อท่าน, เขาเปนลูกสาวของท้าววินธยเกตุ วิชัยเสนผู้ที่ได้ฆ่าพ่อเขาตายได้พาเขามาที่นี้.

กัญจุกิน. อะไรลูกสาวเขา? เธอเปนพระราชบุตรีของเจ้านายเกล้ากระหม่อมต่างหาก. โอย, เกล้ากระหม่อมนี่เคราะห์ร้ายจริง ๆ เปนถึงที่ละ (ทรุดตัวลงกับพื้น, แล้วฝืนลุกขึ้น) ราชบุตรี, นี่คือพระปริยทรรศิกา, พระภคินีของพระองค์.

วาสวทัตตา. ทูลกระหม่อมแก้ว, โปรดช่วยด้วย, โปรดช่วยด้วย. น้องสาวของหม่อมฉันจะตายอยู่แล้ว.

ราชา. ใจดี ๆ ไว้, ใจดี ๆ ไว้. ขอฉันดูก่อน. (พูดกับตน) เคราะห์ร้าย, โอ้ เคราะห์ร้าย.

ผึ้งเหินนภาพรจะลิ้ม รสดวงกมลอ่อน,

รวยรื่นระคนอมฤตะวร มธุที่กมลกลั่น,

แต่บัวสิเซียเพราะหิมะแสน ศิตะมากระทบพลัน !

ยามร้ายผิเราฤดิจะฝัน ก็บ่สิทธิผลไร.

(พูดดัง) มโนรมา, ถามหล่อนดูทีหรือว่ารู้สึกตัวหรือไม่.

มโนรมา. เพื่อน, หล่อนยังรู้สึกตัวอยู่หรือ? (ร้องไห้, เขย่าตัวอีก) เพื่อน, ฉันถามหล่อนว่าหล่อนรู้สึกตัวไหม?

ปรียทรรศิกา. (พูดไม่ค่อยชัด) จริง ๆ นะ, พระนางท่านเปนผู้ที่เห็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมต่างหาก. ไม่ใช่ฉันรู้จักเลย. (พูดได้เพียงกึ่งประโยคแล้วก็ล้มลงกับพื้น)

ราชา. (ร้องไห้, พูดป้อง)

หล่อนหลับสองนยนาก็กูประดุจะยล ทั่วพื้นนภาอน – ธการ;

ศอหล่อนอัดก็อโหประหนึ่งวจนผ่าน ศอกูก็กันดาร ละนา;

ลมหล่อนหมดก็อโหกระไรประดุจะพา ให้ตัวดนูชา กระด้าง;

น่ากลัวว่าพิษคงจะซาบณดนุนาง อ้ากูทุกข์ปาง จะตาย.

วาสวทัตตา. (ร้องไห้) ปรียทรรศิกา, ลุกขึ้น, ลุกขึ้นเถิด. ดูแน่ะ, ล้นเกล้าล้นกระหม่อมเสด็จมายืนอยู่นี่. อะไรนี่ไม่รู้สึกตัวเสียแล้วด้วยหรือ? พี่ได้ทำความร้ายอย่างไรแก่น้องโดยมิได้ตั้งใจ, น้องจึ่งโกรธและไม่พูด. ฉะนั้น ขอโทษ ขอโทษเถิด. ลุกขึ้น, ลุกขึ้นเถิด. พี่จะไม่ทำผิดเช่นนั้นอีกเลย. (แลขึ้นไปสูง) โอย, กรรมของดิฉัน. ดิฉันได้ทำผิดร้ายอย่างไรหนอจึ่งต้องมาเห็นน้องสาวเปนเช่นนี้? (ซบลงกอดปรียทรรศิกา)

วิทูษก. เจ้าประคุณ, ทำไมจึ่งทรงยืนอยู่เหมือนสิ้นคิดอย่างนั้น? นี่ไม่ใช่เวลาที่จะทำใจเสีย. พิษยานั่นมันกำลังแสดงอาการน่ากลัวมากอยู่นะ. ฉะนั้น ทรงสำแดงเดชวิชชาให้เห็นหน่อยเถิดพระเจ้าข้า.

ราชา. ข้อนั้นจริงอยู่ (แลดูปรียทรรศิกา) ฉันมัวตกตะลึงอยู่ตลอดเวลาที่ล่วงมา. ฉันจะแก้ให้หล่อนฟื้นขึ้น, น้ำ, น้ำ.

วิทูษก. (เข้าโรงแล้วกลับออก) นี่พระเจ้าข้า, น้ำ.

(ราชาเข้าไปใกล้ ณ วางพระหัตถ์ที่ตัวปรียทรรศิกา, แล้วแสดงท่าเล่ามนตร์. ปรียทรรศิกาลุกขึ้นช้า ๆ)

วาสวทัตตา. ทูลกระหม่อมแก้ว, น้องสาวหม่อมฉันกลับขึ้นแล้ว.

วิชัยเสน. เออ, อำนาจวิทยาของพระผู้เปนเจ้ามากนักหนา.

กัญจุกิน. เออ, กระไรเลยความสง่าและความทรงรอบรู้เลิดของพระผู้เปนเจ้า.

ปรียทรรศิกา. (ค่อย ๆ ลุกขึ้นนั่ง, หยัดกาย, แล้วพูดอย่างละเหี่ยและไม่ค่อยชัด) มโนรมา, ฉันหลับไปเสียนาน.

วิทูษก. เจ้าประคุณ, ความชำนาญของพระองค์เห็นชัดเทียวละ.

                         (ปรียทรรศิกาแลดูพระราชาด้วยความรัก, ยืนก้มหน้าอยู่หน่อยหนึ่งด้วยความเจียมตัว)

วาสวทัตตา. (ยินดี) ทูลกระหม่อมแก้ว, ทำไมหล่อนจึ่งยังแสดงท่าทางแปลกอยู่?

ราชา. (ยิ้ม)

เพราะสายตาของหล่อนยัง มิปกติและอีกทั้ง พจะมิชัด;

และกายของหล่อนเสียวจัด อวยวถนัดเส- ทะประทุซ่า;

และโดยเหตุที่องคา- พยพะอระเทิ้มพา อุระระทด,

ก็พอเห็นได้ปรากฏ ว่ะพิษะบ่มิคลายหมด ณวรกาย.

กัญจุกิน. (พูดกับปรียทรรศิกา) ราชบุตรี, เกล้ากระหม่อมคือข้าของพระบิดา. (กราบลงที่ตีนนาง)

ปรียทรรศิกา. (แลดู) อ้อ, ท่านกัญจุกิน, ท่านวินัยวสุ. (ร้องไห้) โอ้พระพ่อ, โอ้พระแม่.

กัญจุกิน. ราชบุตรี, อย่าทรงกรรแสงอีกเลย. พระบิดามารดาทรงสบายอยู่. พระองค์ได้กลับคืนกรุงแล้ว ด้วยเดชะพระอำนาจของสมเด็จพระวัตสราช.

วาสทัตตา. (น้ำตาคลอ) มานี่เถอะแม่ช่างปลอมตัว. มาแสดงความรักกันฉันพี่น้องหน่อยเถอะ. (กอดคอนาง) บัดนพี่สบายใจแล้ว.

วิทูษก. พระนาง, พระองค์ทรงยินดีแล้วโดยได้กอดพระศอพระภคินี, แต่ทรงลืมกำนลของนายแพทย์เสียแล้วละ.

วาสวทัตตา. ไม่ลืมดอก, วสันตกะ.

วิทูษก. (ยิ้มพลางพูดกะพระราชา) แพทย์, ยื่นพระหัตถ์มา. ข้าพระเจ้าจะให้ได้ทรงรับพระหัตถ์ของพระภคินีเปนกำนล.

                         (ราชายื่นมือไป, วาสวทัตตาเอามือปรียทรรศิกาวางในมือของพระราชา)

ราชา. (หดมือไป) ฉันเกี่ยวข้องอะไรกับแม่คนนี้. ฉันพึ่งจะได้ดีกับเธอด้วยความลำบากเมื่อกี้นี้เอง.

วาสวทัตตา. ทูลกระหม่อมแก้วจะไม่ทรงรับอย่างไรได้. พระพ่อของเธอนี้ได้ยกเธอถวายแต่เดิมทีมาแล้ว

วิทูษก. เจ้าประคุณ, ต้องทำตามเทวีรับสั่ง, อย่าขัดพระหทัยท่าน.

                         (วาสวทัตตาดึงพระหัตถ์ราชาไปและให้ปรียทรรศิกา)

ราชา. (ยิ้ม) เทวีบังคับได้. เราจะกระทำอย่างอื่นได้อย่างไร.

วาสวทัตตา. ทูลกระหม่อมแก้ว, จะโปรดให้ทำอะไรอีกบ้างหรือไม่?

ราชา. ฉันประสงค์อะไรยิ่งกว่านี้อีกเล่า? ดูเถิด.

​อันองค์ท้าวทฤฒวรรมะไสร้ก็บริบูรณ์ ในราชะไอศูรย์ สุขี;

ฝ่ายเธอผู้บ่มิสุขเพราะโกรธก็ขณะนี้ หายโกรธและกลับดี กะฉัน;

ฝ่ายนวลนางปริยารรศนาภคินินั้น คืนชีพและพบกัน กะเธอ;

อันตัวฉันจะประสงค์อะไรล่ะจะเสมอ เหมือนรักณตัวเธอ วิมล.

และขอจงเปนดั่งนี้ด้วย,

                         (ภรตวากย์) (๕๘)

ขอให้วาสพประทานฝน ประดุจะนิกรชน ชอบและเชยผล สุพีชา;

ขอให้ทั้งผองสุยัญญา ณวรสุรคณา ซึ่งวิปราทำ สมิทธี;

ขอให้ความพร้อมณชนดี ประลุผลและบ่มี เสื่อมและโสตถี ตลอดกัลป์;

ขอให้คำคนบ่เที่ยงธรรม์ ปิศุนะวจนอัน เปรียบกะปูนพลัน พินาศเทอญ. (๕๙)
                       

                         (เข้าโรงทั้งหมด)
                                   จบองค์ที่สี่
                                             จบนาฏิกาชื่อปรียทรรศิกาเท่านี้แล
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 เมษายน 2565 11:45:05 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 100.0.4896.75 Chrome 100.0.4896.75


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 12 เมษายน 2565 11:30:33 »


คำอธิบาย

(๑) ฉันท์บทที่ ๑ ใช้คณะฉันท์สัททุลวิกกีฬิตเพื่อให้ตรงกับของเดิม, แต่ผู้ที่เคยได้แต่งฉันท์คณะนี้แล้วคงได้เคยรู้สึกมาแล้วเหมือนกันกับข้าพเจ้า ว่าแต่งเปนภาษาไทยให้เพราะและให้กินความมาก ๆ ด้วยนั้น เปนการยากอย่างยิ่ง, เพราะในภาษาไทยเราหาคำที่เปนลหุเข้าบรรจุยากจริง ๆ. ในที่นี้ ข้าพเจ้าได้บังคับตนให้แต่งบรรจุความลงภายในสี่บาทเท่าของเดิมของเขา, ซึ่งทำให้ยากขึ้นอีกชั้นหนึ่ง, และทำให้ข้อความเคลือบคลุมไปบ้าง, ฉะนั้น จึ่งขออธิบายข้อความเพิ่มเติมไว้ในที่นี้. ในฉันท์บทนี้ แสดงถึงความรู้สึกของพระเคารี (อุมา), ขณะเมื่อกระทำพิธีอภิเษกสมรสกับพระอิศวร, ต่อหน้าพระพรหมาผู้กระทำหน้าที่พราหมณ์บูชาเพลิง. ที่ว่าควันเข้าพระเนตรพระอุมานั้น คือควันไฟที่กูณฑ์; แสงจันทร์ที่ส่องจับพระเนตรพระอุมาคือแสงพระจันทร์กึ่งซีก (อินทุ) ที่ติดอยู่เหนือพระนลาฏของพระอิศวร. พระเคารีมีความอายพระพรหมา, จึ่งก้มพระพักตร์; ดั่งนั้น จึ่งได้แลเห็นเงาที่เล็บพระบาทประดุจกระจกเงา เห็นพระหร (อิศวร) ทูนพระคงคาเทวีไว้บนพระเศียร, ทำให้รู้สึกหึงอยู่บ้าง; แต่พอพระอิศวรจับพระกร, เพื่อจูงเดินประทักษิณรอบพระอัคนี, พระอุมาก็หายแค้นเพราะความปลื้มพระหฤทัย.

เรื่องพระอิศวรทูนพระคงคาเทวีบนพระเศียร ข้าพเจ้าได้แสดงไว้แล้วในอภิธานท้ายหนังสือเรื่อง “ศกุนตลา” ของข้าพเจ้า.

(๒) ฉันท์บทที่ ๒ ใช้คณะฉันท์สัทธราเพื่อให้ตรงกับของเดิม, ซึ่งทำให้ต้องแต่งด้วยความลำบากเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในส่วน​บทที่ ๑. ข้อความในฉันท์บทนี้กล่าวถึงกิจการอันตอนมาจากหนังสือ “รามายณ.” เรื่องมีว่า ราพณาสูร, เมื่อถูกนนทีห้ามไว้มิให้เข้าไปยังเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งเปนที่พระอิศวรกับพระอุมาเสด็จไปประพาสสำราญอยู่, มีความโกรธมากจนภูเขากระเทือน. พระอิศวรเอานิ้วหัวพระบาทกดภูเขาทับแขนราพณาสูรไว้, จนทศกัณฐ์ร้องเสียงดังด้วยความเจ็บ, และต้องบำเพ็ญตบะบูชาอยู่นานจึ่งได้พ้นโทษ.

พวกเทวบุตรที่เรียกว่า “คณเทว” เปนผู้รับใช้พระอิศวรอย่างมหาดเล็ก. “กุมาร” ที่กล่าวถึงในฉันทนี้คือพระสกันทะ, หรือขันทกุมาร, ผู้เปนเจ้าแห่งการสงคราม. “วิษมุจ” คืองูที่พระอิศวรเอาเกี่ยวข้างไว้เปนพระสังวาล.

(๓) สูตรธาร ถ้าจะแปลสั้น ๆ ควรเรียกว่า “นายโรง.” ผู้นี้มีหน้าที่ดูแลจัดการละคอนทั่วไป, และมักเปนตัวสำคัญในเรื่องละคอนที่เล่นด้วย.

(๔) วสันโตตสวะ เปนพิธีสำหรับทำในต้นฤดูวสันต์ (คือฤดูใบไม้ผลิ, หนาวต่อร้อน). ในโบราณสมัย มักทำพิธีนี้ณวันเพ็ญจิตรมาส (เดือนห้า), แต่ในชั้นหลัง ๆ นี้มักทำณวันเพ็ญผัคคุณมาส (เดือนสาม), และพวกชาวอินเดียสมัยนี้ที่ถือศาสนาพราหมณ์เรียกนามพิธีว่า “โทลยาตรา” หรือ “โหลี”

(๕) ที่ข้าพเจ้าแปลไว้ว่า “ท้าวพญา” ณที่นี้, ศัพทเดิมเปน “ราชสมุห,” จึงได้ความว่าเปนเจ้าผู้ครองนครอันเปนประเทศราช​สิบแปดคน, กับมีสัมพันธมิตรของท้าวหรรษเทพอีกสององค์, คือราชาครองนครวลภี และภาสกรวรมัน ราชาแห่งกามรูป.

(๖) นาฏิกา คือละคอนเรื่องขึน ๆ ผิดจาก นาฏกะ ซึ่งเปนละคอนเรื่องใหญ่และมักมีบทที่เพราะๆ และน่าสงสาร มากกว่าขบขัน. นาฏิกามักมีเพียงสี่องก์, แต่นาฏกะมีตั้งแต่ห้าองก์ขึ้นไป. นาฏิกาตรงกับ “คอเมดี” ของชาวยุโรป; นาฏกะตรงกับ “ดรามะ.”

(๗) เนปัถย์ คือห้องแต่งตัวหลักฉาก, หรือในโรงนั้นเอง.

(๘) ทฤฒวรมัน ไม่ปรากฏนามในประวัติไรๆ, แต่ในมหาภารตกล่าวถึงทฤฒวรมันผู้หนึ่ง ซึ่งเปนโอรสท้าวธฤตราษฎร์แห่งหัสตินาปุระ.

องคราษฏร์ เปนราชอาณาเขตต์โบราณ, อยู่ในภาคเหนือแห่งแคว้นเบ็งคอลสมัยนี้.

(๙) วิษกัมภก คือตอนแทรก, ใช้ในบทละคอนสันสกฤตสำหรับแถลงเรื่องหรือเชื่อมหัวต่อระหว่างองก์. ตามแบบละคอนสันสกฤตมีกำหนดว่าในองก์หนึ่ง ๆ ต้องกล่าวถึงแต่จำเพาะข้อความหรือเหตุการณ์ที่เปนไปในสถานที่เดียวนั้นและในเวลาเดียวนั้น, และเมื่อใดแปรสถานหรือเปลี่ยนเวลาข้ามวันต้องขึ้นองก์ใหม่; ฉะนั้นเมื่อมีเรื่องราวที่จะต้องแถลงให้เรื่องดำเนินติดต่อ, แต่ไม่มีเรื่องมากพอที่จะจัดเปนองก์หนึ่งต่างหาก จึ่งแต่งเปนวิษกัมภก, ซึ่งให้ตัวละคอนไม่สู้สำคัญนักออกมาพูดคนเดียวเท่านั้น.

​(๑๐) อุปชาติฉันท์ ตามที่เราแต่งกันในภาษาสันสกฤตมีลักษณะที่ผิดจากอินทรวิเชียรอยู่นิดเดียวแต่เพียงว่า จะขึ้นต้นบาทด้วยครุหรือลหุก็ได้. ส่วนตามระเบียบของกวีไทยเราบังคับไว้ว่า บาทที่หนึ่งกับที่สี่ต้องขึ้นต้นด้วยลหุ, บาทที่สองกับที่สามต้องขึ้นต้นด้วยครุ, ซึ่งดูเปนการบังคับตายตัวเปนครูไป. ในบทที่ ๔ นี้ ข้าพเจ้าได้แต่งไว้ให้ถูกต้องตามระเบียบของครูไทย, แต่ในแห่งอื่นจะดำเนินตามแบบครูเดิมบ้าง, จึงขอบอกกล่าวไว้ให้ท่านผู้อ่านทราบ.

(๑๑) ศักดิ์ทั้งสามประการ : อำนาจสามประการของพระราชา, คือ

(๑) “ประภุ,” แปลว่าความสง่าแห่งองค์พระราชานั้นเอง;

(๒) “มนตระ,” คือคำตักเตือนอันดีที่ได้ทรงรับจากมนตรี;

(๓) “อุตสาหะ,” ความบากบั่น.

(๑๒) รฆุ และ ทิลีป เปนกษัตร์สุริยวงศ์แห่งโกศลรัฎฐ์, เปนกุลชนกของพระรามจันทร์. นล, ราชาแห่งนิษัทราษฏร์, เปนสวามีแห่งนางทมยันตี, และเปนตัวพระเอกใน “นโลปาขยาน” (เรื่องพระนล), ที่ข้าพเจ้าได้แปลและรจนาไว้เปนภาษาไทยเรียกว่า “พระนลคำหลวง”

ส่วนรฆุและทิลีป ถ้าท่านปรารถนาทราบเรื่องต่อไปก็เชิญค้นดูในคำอธิบายประกอบหนังสือ “ลิลิตนารายน์สิบปาง” ของข้าพเจ้าเถิด. ณที่นั้นท่านจะได้พบกับนามกษัตริยสุริยวงศ์. (คำอธิบายหมายเลข ๔๑, ​หน้า ๔๐ แห่งสมุด “คำอธิบายและอภิธาน, สำหรับประกอบเรื่องนารายน์สิบปาง.”)

(๑๓) แคว้นกลิงค์ หรือ กลิงคราษฏร์ อยู่ชายทะเลอ่าวเบ็งคอล, ระหว่างลำน้ำมหานทีรับโคทาวรี.

(๑๔) “พระเจ้าวัตสราชยังคงตกอยู่ในความเปนชะเลย,” คือเมื่อท้าวมหาเสนแต่งกลอุบายผูกช้างหุ่นไปล่อท้าวอุเทน, และจับท้าวอุเทนได้แล้ว เอาไปขังไว้ในนคร.

(๑๕) อคัสตยเดียรถ์ (อคสฺตฺยตีรฺถ) แปลตามพยัญชนะว่า “ท่าอคัสตยะ,” เรียกตามนามพระอคัสตยมุนี (ซึ่งออกนามในพระราชนิพนธ์ “รามเกียรติ์” รัชชกาลที่หนึ่งว่า “พระอังคต”). ผู้ที่เปนผู้นำศาสนาพราหมณ์ไปประกาศในทักษิณเทศแห่งภารตวรรษ (อินเดีย), ตำบลอคัสตอเดียรถ์นี้อยู่ในแคว้น ตินนะเวลลิที่ปลายที่สุดแห่งคาบสมุทรอินเดีย. ในอินเดียมี “ตีรฺถ” อย่างที่หลายแห่ง, เรียกตามนามเทวดาบ้างฤษีบ้าง, เปนที่ผู้มีศรัทธาไปอาบน้ำล้างบาป.

(๑๖) บทนี้ของเดิมเปนฉันท์ “อารยา,” ซึ่งในตำราฉันท์ของไทยเราไม่มี, ข้าพเจ้าใช้ฉะบงงแทน; และในที่อื่น ๆ ก็จะใช้เช่นเดียวกันด้วย.

(๑๗) ฉันท์บทที่ ๙ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า การที่ต้องใช้ฉันท์สัทธราตามของเดิมยากที่จะแต่งให้ความแจ่มแจ้งพอที่ผู้อ่านสามัญจะเข้าใจได้ถนัด, เพราะครุลหุบังคับมากเหลือเกิน, จำเปนต้องอาศัยใช้ภาษามคธ​หรือสันสกฤตมากเกินไป. ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงขอแปลฉันท์บทนั้นเปนร้อยแก้วไว้ณที่นี้ เพื่อความเข้าใจสะดวกแห่งผู้อ่านสามัญ, ดั่งต่อไปนี้ :-

บาทที่หนึ่ง : ตัวเขาเองยืนอยู่กับดิน, หนึ่งเขากดทหารเดินเท้าลงด้วยอก

บาทที่สอง : ด้วยศรยิงกราดไป เขาขับไล่พลม้ากระจายไปราวกะฝูงกระจง;

บาทที่สาม : เมื่อเขาได้ใช้เครื่องประหารไกลหมดแล้ว, เขาก็ชักดาพออกโดยพลัน,

บาทที่สี่ : แล้วและฟันงวงช้างราวกะต้นกล้วยเปนกิฬาอย่างสนุก.

(๑๘) สหธรรมจาริณี - แปลตามพยัญชนะว่า “ ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน,” หมายความว่าภริยา, เพราะตามศาสนาพราหมณ์สามีและภริยาต้องกระทำพิธีต่าง ๆ ร่วมกันหลายอย่าง. ประเพณีนี้เลยติดต่อมาถึงผู้เปนพุทธศาสนิกด้วย, จึงถือกันว่าสามีภริยาทาบุญร่วมกันเปนสวัสดิมงคลยิ่งนัก.

(๑๙) ไวตาลิก - เปนเจ้าหน้าที่รับบทสรรเสริญและเชิญพระราชากระทำราชกิจต่าง ๆ ตามเวลากำหนด, เริ่มแต่ปลุกบรรทมเวลาเช้า. บทที่ไวตาลิกกล่าวในเรื่องนี้เปนคำเชิญเสด็จเข้าที่สรง.

(๒๐) ศผร [หรือ “ศผริ,” มคธ “สผรี”] - เปนปลาชะนิดหนึ่งขนาดย่อมๆ, มีเกล็ดพราวและว่ายว่องไว. “นาคะประทีป” ​(“ปาลี-สยามอภิธาน”) แปลเปนไทยว่า “ปลาตาตุ่ม” ในเรื่องนารายณ์สิบปางฉะบับเก่า ๆ เรียกว่า “ปลากราย.”

(๒๑) สมมติว่านกยูงชอบเดินกรีดกรายเหมือนฟ้อนรำอยู่เสมอ, น่ากลัวเหนื่อย, แต่ยังอวดดีรำแพนผึ่งอยู่ได้.

(๒๒) คือผึ้งไปตอมกินน้ำมันที่เยิ้มที่ขมับช้าง.

(๒๓) “โสตถิวาอณะ”- เปนภาษาปรากฤต. ภาษาสันสกฤตเปน “สฺวสฺติวาจน,” แปลตามพยัญชนะว่า “กล่าวคำอำนวยพร,” คือเปนคำอนุโมทนาของพราหมณ์ผู้ที่ได้รับทักษิณาในงานบำเพ็ญกุศลของหญิงมีสามี. ของที่ให้พราหมณ์ในงานเช่นนี้มักมีกะทง (สูรฺป) บรรจุกะดูกสันหลังสัตว์ (ขณ) หนึ่งชิ้น, ผงหญ้าฝรั่น (กุงกู), ขมิ้น, กำไล, หวี, สมุคร์ และเงิน. นี้เปนของให้ในงานต่างๆ, และถือกันว่าหญิงที่มีสามีแล้วให้ของอย่างนี้แก่พราหมณ์จะได้รับผลอันพึงปรารถนายิ่ง, เรียกว่า “เสาภาคยะ,” คือความไม่ต้องเปนม่าย. การเปนม่ายเปนของร้ายนักสำหรับหญิงที่ถือศาสนาพราหมณ์, เพราะถึงแม้ว่าจะไม่เข้ากองไฟตายตามตัวไปในวันที่เผาศพ ก็ไม่มีใครนับถือเลย.

(๒๔) ในฉันท์บทนี้ท้าวอุทัยกล่าวถึงพระนางวาสวทัตตา, ซึ่งกำลังเข้าพิธีและอดภัตตาหารตามแบบนางกษัตร์ ซึ่งต้องบำเพ็ญตบะเช่นนั้นเปนครั้งคราวเพื่อประสงค์ผล “เสาภาคยะ” ดั่งได้กล่าวมาแล้วในคำอธิบาย (๒๓). ในระหว่างเวลาเข้าพิธีเช่นนี้ นางกษัตริยงดการแต่งอาภรณ์ต่าง ๆ นอกจากของที่เรียกว่า “มงฺคลมาตฺรมณุ​ฑนภฤตมฺ” หรือ “มงฺคลมาตฺรภูษณา,” ซึ่งได้ความว่า มีเจิมสีแดงที่หน้าผาก ๑, ทาหญ้าฝรั่นที่แขน ๑, ประคำแก้วคล้องคอสาย ๑, นี้เปนเครื่องประดับปกติสำหรับหญิงชาติพราหมณ์, กษัตริย์ และแพศย์.

(๒๕) สมมตว่าพากันเดินไปถึงสวนโรงน้ำบัวแล้ว, วิทูษกจึ่งกล่าวชมความงามแห่งสวนนั้น. ดอกไม้และต้นไม้ที่วิทูษกกล่าวถึงณที่นี้ ออกชื่อเปนภาษาปรากฤต, ข้าพเจ้าขอจดเทียบกันไว้ทั้งภาษาปรากฤต, สันสกฤต และไทย, ดั่งต่อไปนี้ :-



             ปรากฤต.     สันสกฤต.     ไทย.
              พอุล   พกุล   พิกุล
              มาลที   มาลตีมะลิซ้อน    
              กมล   กมลบัวหลวง
              พนฺธูอพนฺธูกชบา
              ตมาล   ตมาลพะยอม (?)

ถ้าแม้ท่านต้องการทราบข้อความพิสดารต่อไป โปรดพลิกไปดูที่ภาคนำ ตอนที่หกหน้า 34-37.

(๒๖) ดอกไม้ที่ออกนามในฉันท์บทนี้ ราชาเรียกเปนภาษาสันสกฤตอยู่แล้ว, ฉะนั้นโปรดพลิกไปดูที่ภาคนำ ตอนที่หกหน้า 34-37

(๒๗) “สัตตวัณณ์” (สันสกฤต “สปฺตปรฺณ”) - อย่างเดียวกับ “ สปฺตจฺฉท.” โปรดพลิกไปดูที่ภาคนำ ตอนที่หกหน้า 37.

(๒๘) ศิรีษ - “นาคะประทีป” (ปาลี-สยาม อภิธาน) แปลไว้ว่า “ไม้ซีก, โปรดพลิกไปดูภาคนำ ตอนที่หกหน้า 37.

อินทรโคปก์ (สันสกฤต “อินฺทฺรโคปก”)- แปลตาม พยัญชนะว่า “มีพระอินทร์เปนผู้คุ้ม.” อังกฤษเรียกว่า “Coachineal.” เปนตัวแมลงชะนิดหนึ่งซึ่งลงกินต้นสลัดได. วิธีเอามาใช้ คือ ค่อย ๆ กวาดจากต้นสลัดไดลงในย่ามแล้วเอามาฆ่าโดยแช่น้ำร้อนหรือผึ่งแดด, แล้วบดเปนสีแดงใช้ย้อมผ้า. ไทยเราแปลว่า “แมลงเม่า” หรือ “แมลงค่อมทอง.”

(๒๙) ฉันท์บทนี้ของเดิมเปน “มาลินี,” แต่สำหรับภาษาไทยฉันท์มาลินีแต่งให้เพราะและจุความด้วยยาก, เพราะเริ่มด้วยลหุถึงหกพยางค์ติด ๆ กัน. แม้ฉันท์ตัวอย่างในตำราฉันท์วรรณพฤติก็อ่านเสียงไม่ค่อยสละสลวย, เช่นบาทที่หนึ่งกับที่สองว่า :-

“จะพจนวินิฉัยใน มงคลาไพ รุไพบูลย์

“จตุวิธคุณเพ่อมภูน ผลบ่เสื่อมสูญ พิเศษครัน”

ข้าพเจ้าดูตัวอย่างนี้แล้วและได้พยายามจะแต่งฉันท์บทที่ ๒๐ ในเรื่องละคอนนี้เปนมาลินีตามของเดิมบ้าง, แต่ลองร่างขึ้นคราวใดก็ต้องฉีกทิ้งคราวนั้น, เปนอันยอมแพ้, จึ่งแต่งเปนอินทวงส์แทน.

(๓๐) งานโกมุที (สันสกฤต “เกามทีมโหตฺสว”) - เปนงานพิธีที่เขาทำณวันเพ็ญ เดือนอาศฺวินการฺตฺติก (เดือนสิบ-สิบเอ็ด-สิบสอง), มักกระทำเปนนักษัตรฤกษ์ใหญ่, พร้อมด้วยการบูชา, ให้ทาน และเลี้ยงและมีระบำเต้นครึกครื้น.

(๓๑) “พระกุสุมศร” - “พระผู้มีศรคือดอกไม้,” เปนฉายาของพระกามเทพผู้เปนเจ้ารัก. เปนธรรมเนียมของจินตกวีทุกชาติทุกภาษา ​มักนิยมเปรียบดอกไม้ด้วยลูกศรของกามเทพ (อังกฤษ “Cupid”) เพราะใครๆก็ย่อมจะได้สังเกตเห็นอยู่แล้วว่าดอกไม้เปนเครื่องช่วยบำรุงรสรักได้อย่างหนึ่งเปนแน่นอน; ฉะนั้น เมื่อสมมตตัวเจ้ารักขึ้นแล้ว กวีจึ่งเลยคิดต่อให้ว่าอาวุธของเจ้ารักนั้นคงต้องเปนศร ซึ่งยิงไปต้องผู้ใดเข้าแล้วทำให้เปนที่ชื่นใจ.

(๓๒) ชาวภารตวรรษถือกันว่าใบบัวเปนเครื่องดับพิษร้อนได้; แต่ก็ดูเหมือนจะเปนเครื่องประกอบกวีโวหารมากกว่าเชื่อจริงจัง.

(๓๓) สางกฤตยายนี - นางผู้นี้เปนปริพพาชิกา (แม่ชี), เปนหญิงผู้ดีมีอายุและมีความรู้, เพราะพูดภาษาสันสกฤตเหมือนผู้ชาย, แต่งเรื่องละคอน, และพระนางวาสทัตตาพูดด้วยอย่างเคารพ.

(๓๔) ภควดี - ศัพท์นี้ไทยเราใช้แต่จำเพาะสำหรับพูดถึงมเหสีพระเปนเจ้า, เช่น “พระอุมาภควดี,” “พระลักษมีภควดี,” หรือ “พระภควดี” เฉยๆหมายความว่าพระลักษมี. ในภาษาสันสกฤตเขาใช้เปนคำเรียกบุคคลผู้เปนที่เคารพ, เช่นสางกฤตยายนีเปนต้น, คู่กับคำ “ภควัต” ที่ใช้เรียกชายผู้มีความรู้หรือเปนนักบวช. คำว่า “ภควัต” นี้ ในพระบาลีใช้แต่สำหรับเรียกพระพุทธเจ้าเปนพื้น.

(๓๕) อายุษมดี - แปลตามพยัญชนะว่า “ผู้มีอายุ” เปนคำเรียกหญิงผู้มีบรรดาศักดิ์สูง, คู่กับคาว่า “อายุษมัต,” ซึ่งใช้เรียกชายผู้มีบรรดาศักดิ์สูง. ตรงกับศัพท์บาลีว่า “อายสฺมตี (หญิง),” “และ “อายสฺมา (ชาย).”

​(๓๖) คำพูดโต้ตอบกันตรงนี้ออกจะเคลือบคลุมอยู่หน่อย, แต่ตามความเข้าใจของผู้แปล เดาว่า พระนางวาสวทัตตา, เมื่อได้ฟังสางกฤตยายนีพูดยอว่าบทละคอนดีก็เพราะเนื้อเรื่องดีดั่งนั้นแล้ว, จึ่งได้ตอบไปด้วยภาษิตปากตลาดว่า: “สวฺวสฺส วลฺลโห ชามาทา โภทิ,” แปลว่า “ใคร ๆ ก็ย่อมรักลูกเขย,” หมายความว่าลำเอียงอยู่ด้วยความรัก, คือสางกฤตยายนีรักวัตสราชอย่างรักลูกเขย.

(๓๗) ภัฏฏินี – เปนศัพท์ที่หญิงชั้นต่ำใช้เรียกหญิงผู้เปนเจ้านายของตน, หรือใช้พูดกับหญิงผู้มีบรรดาศักดิ์สูงกว่าตน, ข้าพเจ้าเองสารภาพว่าพึ่งเคยพบศัพท์นี้. ถ้าจะเทียบกับศัพท์ไทยเห็นจะเปนอย่าง “หม่อมแม่” ที่มักใช้ในบทละคอนไทยเรา.

(๓๘) ตรงนี้ของเดิมเขามีเล่นคำว่า “อโห เปฺรกฺษณียตา เปฺรกฺษาคฤหสฺย” ดั่งนี้, ข้าพเจ้าจึ่งแปลเล่นคำบ้างว่า “เออ โรงที่ดูนี้น่าดูนักหนา.” โรงละคอนเขาเรียกเปนภาษาสันสกฤตว่า “เปฺรกฺษาคฤหํ,” หรือภาษาปรากฤตว่า “เปกฺขาฆรํ,” ซึ่งแปลว่าโรงที่ดูตรงๆ, แต่, นอกจากที่ต้องการเล่นคำในที่นี้, ข้าพเจ้าได้แปลได้ว่า โรงละคอน สำหรับให้เข้าใจกันซึมทราบไม่ฉงน.

(๓๙) “ช้างนลคิรี” (สันสกฤต “นฑาคิริ,” มคธ “นาฬาคิริ”) คือช้างสำคัญที่ราชบุตรของท้าวมหาเสนขี่ไล่ตามท้าวอุเทนกับนางวาสวทัตตาเมื่อพากันหนี, ดั่งได้มีเล่าไว้ในภาคนำแห่งสมุดเล่มนี้. (ดูภาคนำตอนที่สี่ หน้า 28 - 30)

(๔๐) ครรภนาฏกะ - แปลตามพยัญชนะว่า “เรื่องละคอนอันเปนลูก,” คือละคอนที่เล่นภายในเรื่องละคอนอีกเรื่องหนึ่ง. (ดูภาคนำตอนที่เจ็ดหน้า 38)

(๔๑) ฉันท์บทที่ ๒๕ แปลเปนร้อยแก้ว, คงได้ความดั่งต่อไปนี้:-

รักษาระเบียบภายในวังใน,

ระวังมิให้สะดุดทุก ๆ ก้าวโดยใช้ไม้เท้าเปนเครื่องนำ,

ข้าพเจ้า, ผู้ที่บัดนี้อ่อนแอแล้วด้วยความชรา,

เอาอย่างความประพฤติทั้งสิ้นของพระเจ้าแผ่นดิน,

ผู้ที่ทรงรักษาระเบียบแห่งเมืองของท่านภายใน

และป้องกันมิให้พลั้งพลาดเนืองนิตย์โดยทรงประสาทธรรม.

(๔๒) คำพูดตรงนี้ตามภาษาสันสกฤตมีว่า “ปฺรวฤตฺตา เปฺรกฺษา,” ซึ่งแปลตรงๆ ว่า “ของสำหรับดูเริ่มแล้ว,” ดั่งนี้. “เปฺรกฺษา” เปนศัพท์ที่ใช้เรียกของที่สำหรับตูให้เพลิดเพลินหรือเปนของงามโดยทั่วๆไป, หาใช่เรียกแต่ละคอนโดยฉะเพาะไม่.“นาฏก” หรือ “นาฏิกา” จึ่งจะเปนละคอนโดยตรง. แต่ข้าพเจ้าแปลไว้ว่า “ละคอน” เพื่อความเข้าใจง่าย.

(๔๓) คนธรรมศาลา คือโรงเล่นดนตรี. “คนธรรพศาสตร์” = วิชชาดนตรี, เพราะตามไสยศาสตร์ว่าพวกคนธรรพมีหน้าที่เปนผู้ขับลำและเล่นดนตรีบำเรอเทพเจ้าบนสวรรค์, พระนารทพรหมฤษีเปนครูเดิมแห่งวิชชาดนตรี, จึ่งออกนามว่า “ปรคนธรรพ.” นักดนตรีไทยเรา​เมื่อไหว้ครูก็ไหว้ “พระประโคนธัพ,” ซึ่งเลือนมาจากศัพท “ปรคนธรรพ” นี้เอง.

(๔๔) “อุทัยนจริต” แปลว่า “ความเปนไปแห่งอุทัยนะ.”

(๔๕) “ปัดม่านเร็วๆ” เปนท่าแสดงในละคอนสันสกฤตว่าตัวนั้นยินดีเปนต้น.

(๔๖) “ขอดชายผ้าข้างหนึ่ง” - การขอดชายผ้าถือกันว่าเปนเครื่องเตือนใจมิให้ลืมทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจำจะต้องทำ.

(๔๗) เยาคันธรายณ เปนอมาตย์ผู้มีปัญญาของท้าวอุทัยน์. เรื่องที่อมาตย์ผู้นี้ใช้อุบายต่างๆช่วยท้าวอุทัยน์ให้รอดจากพันธนาได้นั้น มีอยู่โดยพิศดารในหนังสือ “กถาสริตฺสาคร,” ตรังค์ที่สิบสองและสิบสาม. คนบ้าที่กล่าวถึงในครรภนาฏกะแห่งนี้ก็คือเยาคันธรายณนั่นเอง, ซึ่งได้ปลอมตัวเปนเช่นนั้นเพื่อพูดจากับท้าวอุทัยน์ได้โดยไม่มีใครระแวง.

(๔๘) บทนี้ของเดิมเปนฉันท์คีติ, ซึ่งในตำราไทยเราไม่มี. ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนบทขับร้อง จึ่งแต่งเปนกลอนแปด, เพื่อสะดวกแก่การขับร้อง.

(๔๙) บทนี้ของเดิมเปนฉันท์อารยา, แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนบทขับร้อง จึ่งแต่งเปนบทดอกสร้อย.

(๕๐) ฉันท์บทนี้กล่าวถึงวิธีต่าง ๆ แห่งคนธรรพศาสตร์, กล่าวถึงวิธีใช้พยัญชนะ ๑๐ อย่าง, จังหวะ ๓ อย่าง, การหยุด ๓ อย่าง ​มีวิธี “โคปุจฉะ” เปนอาทิ, และวิธีเล่นดนตรี ๓ อย่าง. วิธีเหล่านี้จะอธิบายให้ยืดยาวก็ยังไม่ได้ค้น, และดูไม่สู้จำเปนนักด้วย.

(๕๑) ในบทเดิมเขาให้นางเรียกวัตสราชว่า “อุวชฺฌาอ,” ซึ่งถ้าเขียนเปนมคธก็เปน “อุปชฺฌาย” แต่ครั้นข้าพเจ้าจะแปลทับศัพท์ลงไว้ว่า “อุปัชฌาย์” ก็รู้สึกว่าไม่เหมาะ, เพราะตามความเข้าใจของไทยเราใช้เรียกแต่พระเถระผู้ให้อุปสมบทเท่านั้นว่า “อุปัชฌาย์,” จะเรียกผู้สอนดีดพิณว่า “อุปัชฌาย์” ดูจะหนักมือไปหน่อย, ข้าพเจ้าจึ่งได้แปลได้ว่า “ครู.”

(๕๒) ฉันท์บทนี้กล่าวเปนคำอุปมา, ซึ่งบางทีจะเข้าใจยากอยู่สักหน่อย, ฉะนั้น ข้าพเจ้าขอถอดเปนคำตรงๆ ไว้ดั่งต่อไปนี้ :-

บาทที่หนึ่ง: ฤๅนี่ [มือของอารัณยกา] คือดอกบัวตูมซึ่งต้องความเย็นโดยพลันเพราะถูกหยาดน้ำค้าง (ศิศิร)?

บาทที่สอง : แม้ความเบิกบาน [แห่งดอกบัว] ในเวลารุ่งเช้าเมื่อยังไม่มีความร้อนแห่งแดดก็ไม่เสมอเหมือน [มือของนาง]

บาทที่สาม : นิ้วทั้งห้านี้ที่เปรียบเหมือนดวงเดือน (นขรชนิกรา) โปรยหิมะ [เหงื่อ] พรู ๆ อยู่, นี่จะทำให้ร้อนได้ด้วยหรือ?

บาทที่สี่ : อมฤต, ซึ่งแลเห็นอยู่เปนเหงื่อ, แน่แล้ว, ไหลอยู่ไม่หยุด.

(๕๓) พระนางอังคารวดี เปนพระมารดาของพระนางวาสวทัตตา, มเหสีของพระเจ้ามหาเสนประโท๎ยต.

​(๕๔) “วิหัสน์,” จากคำสันสกฤต “วิหสน,” แปลว่า หัวเราะน้อยๆ.

(๕๕) “สุจาฏุวจนา” แปลว่าคำพูดยั่วยวนหรือเล้าโลม, จากธาตุ “จฏุ” ซึ่งแปลว่ายั่วยวนหรือประจบโดยพูดให้ถูกใจ.

(๕๖) คำพูดของกัญจุกินตอนนี้ ทราบได้โดยพลความว่ายังพูดตามพระวาจาที่ท้าวทฤฒวรมันสั่งมา.

(๕๗) “ปรียทรรศนา” และ “ปรียทรรศิกา” เปนชื่อนางคนเดียวกัน, และแปลได้เหมือนกันว่า “เพลินตา” หรือ “แลเพลิน.”

(๕๘) ภรตวากย์ - แปลตามพยัญชนะว่า “คำพูดของภรต,” คือคำพูดของตัวละคอน. ผู้เปนละคอนได้นามว่า “ภรต” ตามนามของพระภรตมุนีผู้เปนประถมครูแห่งวิชชารำ. “ภรตวากย์” นี้ อีกนัยหนึ่งเรียกว่า “ประสัสติ,” คือคำอานวยพร, ซึ่งมักมีอยู่ท้ายเรื่องละคอนสันสกฤตโดยมาก.

(๕๙) “ปิศุนวจนอัน เปรียบกะปูน ฯลฯ” - คือคำส่อเสียดใส่ความกันนั้น เปรียบเหมือนปูนหิน (สันสกฤต “วชฺรเลป”), ซึ่งเอาทาเข้าแห่งใดแล้วก็ติดแน่น ยากที่จะกะเทาะให้หลุดได้.


----------------------------
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 เมษายน 2565 11:43:53 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อดีตของสยาม ภาพถ่ายประเทศไทยช่วง รัชกาลที่ ๔ - รัชกาลที่ ๕
สยาม ในอดีต
มดเอ๊ก 0 1674 กระทู้ล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2559 01:10:03
โดย มดเอ๊ก
สีใดมีความหมายอย่างใร? ในธงไตรรงค์ : พระราชนิพนธ์ ใน ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
สุขใจ ตลาดสด
Kimleng 0 1937 กระทู้ล่าสุด 05 มกราคม 2560 11:39:16
โดย Kimleng
ประมวลภาพพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๘
สยาม ในอดีต
Kimleng 0 1182 กระทู้ล่าสุด 15 กรกฎาคม 2563 11:09:38
โดย Kimleng
รัชกาลที่ ๔ เสด็จฯ วัดเสนาสนารามครั้งสุดท้ายก่อนสวรรคต
สุขใจ จิบกาแฟ
Maintenence 0 815 กระทู้ล่าสุด 25 พฤษภาคม 2564 15:35:28
โดย Maintenence
รัชกาลที่ 4 ทรงประกาศห้ามคนอายุ 24-70 บวช
เกร็ดศาสนา
ใบบุญ 0 362 กระทู้ล่าสุด 27 มกราคม 2565 10:53:59
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.397 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 21 ชั่วโมงที่แล้ว