[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
20 เมษายน 2567 15:29:02 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระสยามเทวาธิราช ทรงช้างเผือก  (อ่าน 804 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5444


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 28 พฤศจิกายน 2564 15:20:54 »


พระสยามเทวาธิราช ทรงช้างเผือก พระหัตถ์ซ้ายทรงรวงข้าว
พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ในลักษณะกำลังประหารศัตรู
ผลงานฝีพระหัตถ์การออกแบบในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์



พระสยามเทวาธิราช
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ปั้นและหล่อขึ้นด้วยทองคำทั้งองค์ สูงจากยอดมงกุฎจรดฐาน ๘ นิ้ว


พระสยามเทวาธิราช

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างเทวรูปขึ้นหลายองค์สำหรับประจำ ณ สถานที่สำคัญหรือรักษาราชูปโภคสำคัญ ด้วยทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในคติความเชื่อเรื่องเทพยดาซึ่งปกป้องอารักขาสิ่งต่างๆ อันเป็นพื้นความเชื่อเดิมของคนไทยที่ถูกนำมาผนวกกับเทพยดาในพระพุทธศาสนาอย่างยากที่จะจำแนกออกได้ ในรัชกาลนั้นจึงพบเทวรูปและสัญลักษณ์แทนเทวรูปในพระราชมณเฑียรสถานอยู่หลายแห่ง เช่น พระราชบันฦาธารรักษาพระแสงขรรค์พิธี, พระราชมุทธาธรรักษาหีบพระราชลัญจกร, พระกำพูฉัตรรักษาพระมหาเศวตฉัตร, ธารพระกรเทวรูป, พระแสงดาบหัตถ์นารายณ์, พระเต้าเทวบิฐ ฯลฯ

พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปั้นและหล่อขึ้นด้วยทองคำทั้งองค์ สูงจากยอดมงกุฎจรดฐาน ๘ นิ้ว ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่ชัดเจน บางแห่งสันนิษฐานว่าทรงสร้างขึ้นช่วงพุทธศักราช ๒๔๐๒-๒๔๐๓ แต่บางแห่งกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพบหมายรับสั่งในรัชกาลนั้น ว่าในเดือนมีนาคม ปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ (พุทธศักราช ๒๓๙๖) ภายหลังการฉลองพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระสยามเทวาธิราชให้เสร็จโดยเร็วพลัน และให้สมโภชเป็นการภายในด้วย ถึงอย่างไร การสร้างเทวรูปย่อมขึ้นก่อนพุทธศักราช ๒๔๐๒-๒๔๐๓ เป็นแน่ เนื่องจากพระนามของเทวรูปองค์ดังกล่าวปรากฏอยู่ในประกาศเทวดาฉลองหอพระในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งสร้างแล้วเสร็จและมีการฉลองในช่วงเวลานั้น

ประติมานวิทยาของพระสยามเทวาธิราชนั้น เป็นเทวรูปยืนทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ พระมัชฌิมา (นิ้วกลาง) และพระอนามิกา (นิ้วนาง) อยู่ในลักษณะจีบบรรจบกับพระอังคุฐ (นิ้วโป้ง) พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ มีฐานหน้ากระดานรองรับเทวรูปชั้นหนึ่ง ประดิษฐานภายในพระวิมานยอดปราสาทไม้จำหลักปิดทองประดับกระจกซึ่งประดิษฐานร่วมกับเทวรูปจำนวนหนึ่ง ปัจจุบัน พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานเหนือลับแลหลังพระทวารเทวราชมเหศวร (พระ-ทะ-วาน-เท-วะ-ราด-มะ-เหด) ภายในพระที่นั่งไพศาลทักษิณมหินทรพิมานในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง

สถานะของเทพยดาองค์นี้ สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวรูปขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ให้เป็น "อธิบดีแห่งเทพยดาทั้งหลายในสยามรัฐ" ดังปรากฏในประกาศเทวดาฉลองหอพระในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ราวพุทธศักราช ๒๔๐๒ ความตอนหนึ่งว่า

"...ขอประกาศเชิญเทพยเจ้าทั้งปวงผู้มีฤทธิอำนาจมเหศวรศักดิ์สิทธิ์ สิงสถิตย์ในถิ่นที่ทิพยสถานต่างๆ คือพระสยามเทวาธิราชซึ่งเปนอธิบดีในสยามรัฐิกเทพยดาทั้งปวง..."

แสดงให้เห็นว่า พระสยามเทวาธิราชนั้นเปรียบเสมือน 'รูปแทน' ของเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องอารักขาแผ่นดินสยาม เพื่อให้สามารถทำพลีกรรมหรือสังเวยแก่เทพยดาเหล่านั้นได้โดยง่าย ด้วยพระราชนิยมที่ทรงศรัทธาเชื่อถือเทพยดาดังกล่าวมาแล้ว

นอกจากจะเป็นเทวดาผู้อยู่เหนือเทวดาทั้งปวงในแผ่นดิน พระสยามเทวาธิราชยังมีสถานะเป็นเทพยดาผู้ "รักษาพระมหาเศวตฉัตร" อันเป็นสัญลักษณ์แห่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระองค์เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๔ ความตอนหนึ่งว่า

"...ฉันก็บนเทวดารักษาเสวตฉัตร ชื่อพระสยามเทวาธิราชกับพระรามเทพย พระบรมกฤษแลนางแปดกรสำหรับพระที่นั่งมาแต่ก่อน ตั้งสวงพลีเข้าเมียพระยาบำเรอภักดีเข้าไปปลอบถามบุตรก็ออกความจริงให้ในวันนั้นเอง ครั้นชำระต่อก็ได้ความต่อไปจนจะสิ้นที่จริงอยู่แล้ว มันติดต่อไปอีกก็หลายราย แต่เข้าถึงบ้างไม่ถึงบ้างเปนแต่เลกน้อยบุตรหญิงเจ้าพระยามหาสิริธรรม ก็ถูกด้วยคนหนึ่งต้องซัดแลสารภาพว่ารักอ้ายเขียนด้วยการชำระครั้งนี้ก็ได้โดยชื่นตาทั้งนั้น ไม่ได้เฆี่ยนตีตบต่อยผูกถือใครเลยทีเดียวเปนอัศจรรย์อยู่ จึ่งเหนว่าน้ำพระพุทธมนตของพระสงฆเจ้าความรู้วิชาเปนเทพยเปนหมอนั้น ถึงจะศักดิ์สิทธิ์เมื่อมาไหลทวนไหล สู้น้ำพระพิพัฒสัตยาของแผ่นดิน ยังสู้น้ำพระพิพัฒนสัตยาไม่ได้ ผีโหงสางพรายกุมารที่หมอไว้ใช้สอย เปนแต่ผีเล็กน้อย สู้พระสยามเทวาธิราชไม่ได้ เหมือนบุตรพระยาราชภักดี บุตรพระยาบำเรอภักดีสู้เจ้าแผ่นดินไม่ได้..."

โดย "เสวตฉัตร" ในที่นี้ ผู้เขียนสันนิษฐานว่ามิได้หมายความถึงพระมหาเศวตฉัตรกางกั้นพระราชบัลลังก์เท่านั้น แต่คงหมายความถึงรัชสมัย และราชสมบัติอีกด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เคยทรงมีลายพระหัตถ์ใน 'สาส์นสมเด็จ' ความตอนหนึ่งว่า "ธรรมเนียมไทยย่อมถือเอาฉัตรเป็นหลักอันใหญ่ แม้จะพูดถึงพระเจ้าแผ่นดินก็อ้างเอาเศวตฉัตรเป็นที่ตั้ง หาได้อ้างเอามงกุฎไม่ ที่มาอ้างเอามงกุฎนั้นเป็นของใหม่เอาอย่างฝรั่ง"

ทั้งนี้ จากพระราชหัตถเลขาดังกล่าวยังปรากฏนามของ "...พระรามเทพย (พระรามหรือพระนารายณ์ - ผู้เขียน) พระบรมกฤษ (พระกฤษณะ หรือในวรรณกรรมมักเรียกว่า พระบรมจักรกฤษณ์ - ผู้เขียน) แลนางแปดกร..." ซึ่งเข้าใจว่าทรงหมายความถึงเทวรูปโลหะที่ประดิษฐานอยู่ร่วมกันกับพระสยามเทวาธิราชในพระวิมานปัจจุบัน อันประกอบด้วยเทวรูปพระอิศวรและพระอุมาประดิษฐานในพระวิมานองค์ตะวันออก พระนารายณ์ทรงครุฑในพระวิมานองค์ตะวันตก และ 'นางแปดกร' ในพระวิมานองค์กลางเบื้องหน้าพระสยามเทวาธิราชนั่นเอง

(เทวรูป นางแปดกร เมื่อพิจารณาประติมานวิทยาแล้วพบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับพระวัชรตารา ซึ่งมีสี่พระพักตร์ แปดพระกร และทรงอาวุธกระทำมุทราในพระหัตถ์ทั้งแปดตรงกัน)

เมื่อเข้าสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ในสยามได้รับการพัฒนาตามอย่างชาติตะวันตกมากขึ้น รูปแทนเทพยดาหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้รักษาแผ่นดินอย่างพระสยามเทวาธิราช จึงปรับเปลี่ยนสถานะให้เป็น "ปุคลาธิษฐานของรัฐ (National Personification)" ไปโดยปริยาย อาจกล่าวได้ว่า มีการยกระดับฐานะของพระสยามเทวาธิราชให้มีคุณสมบัติสื่อถึงรัฐหรือแผ่นดินสยามมากยิ่งขึ้น ประติมานวิทยาอย่างองค์ดั้งเดิมจึงปรับเปลี่ยนไปทีละน้อย ดังเห็นได้จากพระสยามเทวาธิราชที่ปรากฏด้านหลังเหรียญดุษฎีมาลา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในจุลศักราช ๑๒๔๔ (พุทธศักราช ๒๔๒๕) โดยมีลักษณะที่แตกต่างไปคือ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือพวงมาลัยคล้อง "ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญ" ซึ่งจารึกนามในช่องด้านขวา ทั้งยังปรากฏ 'โล่' ซึ่งนำมาจากตราประจำแผ่นดินที่ผูกขึ้นใหม่ตามอย่างระบบตราอาร์มของตะวันตก (Coat of arms) ในต้นรัชกาลนั่นเอง

เมื่อเข้าสู่ปี ๒๔๓๐ เป็นต้นมา นัยยะของพระสยามเทวาธิราชยิ่งเน้นย้ำความเป็นปุคลาธิษฐานของรัฐมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนซึ่งเริ่มใช้ในจุลศักราช ๑๒๔๙ (พุทธศักราช ๒๔๓๐), เหรียญปราบฮ่อ อันเป็นเหรียญพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในการพระราชสงคราม ปราบกบฏฮ่อที่เกิดขึ้นถึงสามคราว หรือแม้กระทั่งปกหนังสือพิมพ์ยุทธโกษ จดหมายเหตุสำหรับเก็บข้อความอันเนื่องกับการทหารบกก็ปรากฏภาพพระสยามเทวาธิราชเช่นเดียวกัน หากแต่ปรากฏอาวุธที่ทรงถือที่ต่างออกไป กล่าวคือในเหรียญกษาปณ์และหนังสือพิมพ์ทรงธารพระกรเทวรูปในพระหัตถ์ซ้าย ส่วนพระหัตถ์ขวาในปกหนังสือยุทธโกษทรงปากกา เนื่องจากจุดมุ่งหมายของหนังสือ ต้องการเก็บ "ข้อเขียน" ด้านการทหาร ในอีกลักษณะหนึ่งที่ต่างออกไป คือในเหรียญปราบฮ่อ พระสยามเทวาธิราชทรงถือพระแสงง้าว ประทับเหนือพาหนะคือช้างเผือก มีผ้าปกหลังช้างเป็นรูปโล่ในตราแผ่นดิน ซึ่งรูปสัญลักษณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างความเป็นสัญญะของพระสยามเทวาธิราชที่แทนประเทศสยามให้ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วย




หลังจากนั้นเป็นระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปี พระสยามเทวาธิราชในนัยยะของความเป็นชาติหรือประเทศดังกล่าวข้างต้นได้รับการนำกลับมาใช้อีกครั้ง หากแต่มีเทวลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงเวลานั้นตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในปี ๒๔๖๐ ทำให้กระแสความนิยมและความหวงแหนในชาติทวีขึ้นเป็นอย่างมาก สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดอย่างเทวรูปพระสยามเทวาธิราชขึ้นในนัยยะแทนความเป็นชาติไทย จึงทรงเขียนขึ้นไว้แบบหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า "พระสยามเทวราช ทรงสารเศวตวาห" กล่าวคือเป็นเทพยดาประทับเหนือคอช้างเผือก (สารเศวต) พระหัตถ์ซ้ายชี้พระดัชนี (นิ้วชี้) ไปเบื้องหน้า พระหัตถ์ขวาทรงมัดรวงข้าว มีพระแสงดาบเหน็บอยู่ด้านซ้ายของพระองค์ แต่เครื่องทรงได้เปลี่ยนไปตามสมัยและพระราชนิยมในรัชกาลนั้นอย่างเห็นได้ชัดเจน คือมีพระเวฐนะ (ผ้าโพก) ประกอบกับดอกไม้รัดเป็นชั้นเกี้ยวรอบพระเศียร




นอกจากนี้ ยังพบผลงานฝีพระหัตถ์การออกแบบในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพระองค์นั้นอีกชิ้นหนึ่ง เป็นปกสมุดเงินดุนเป็นภาพเทพยดาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพที่กล่าวมาข้างต้น แตกต่างกันที่พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบในลักษณะกำลังประหารศัตรู พระหัตถ์ซ้ายทรงรวงข้าว ส่วนช้างเผือกที่มีกระพรวนห้อยคอนั้นกำลังเหยียบอยู่บนพญานก (สันนิษฐานว่าคือนกอินทรี) อันเป็นสัญญะแทนศัตรูคือประเทศคู่ขัดแย้งที่พ่ายแพ้ (ถูกเหยียบ) ในสงครามนั่นเอง

นับได้ว่า สถานะของพระสยามเทวาธิราชที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์นั้นเป็นทั้งเทพยดาผู้ปกป้องรักษาอาณาจักร เป็นเทวดาผู้ยิ่งใหญ่เหนือเทวดาทั้งปวงในรัฐสีมามณฑลแห่งนี้ ทั้งยังพบการใช้เป็นปุคลาธิษฐานของชาติสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์กระทั่งในช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ดี "พระสยามเทวาธิราช" หรือ "พระไทยเทวาธิราช" ก็ยังพบการใช้ในบทบาทดังกล่าวอยู่นั่นเอง

อนึ่ง การยกระดับพระสยามเทวาธิราชให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยนั้น มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับหลายประเทศในโลกตะวันตก ซึ่งใช้ภาพบุคคลที่มีช่วงชีวิตอยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติ, เทพเจ้า หรือปุคลาธิษฐานแทนชาติของตน อาทิ เทพีบริทานเนียของสหราชอาณาจักรผู้ทรงตรีศูล โล่ (ซึ่งใช้ลวดลายอย่างธงของสหราชอาณาจักร) และมีสิงโตเป็นพาหนะ, ภารตมาตาของอินเดีย หรืออิตาเลีย ตูร์ริตาของอิตาลี ผู้มี mural crown (มงกุฎซึ่งมีลักษณะเป็นรูปอาคารบ้านเรือนหรือกำแพงเมือง) เป็นมงกุฎ เป็นต้น



ขอขอบคุณที่มา : เพจบรมครู
อ้างอิง :
- ประกาศการพระราชพิธี เล่ม ๒ สำหรับพระราชพิธีจร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงเรียบเรียง
- วิทยานิพนธ์เรื่อง "สัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราช : การวิเคราะห์และตีความหมายเชิงมานุษยวิทยา" โดยคุณวีระศักดิ์ จารุโณปถัมภ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
คำบูชา พระสยามเทวาธิราช
บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
หมีงงในพงหญ้า 1 3173 กระทู้ล่าสุด 24 มิถุนายน 2555 05:55:56
โดย ยังทุกข์
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.459 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 14 เมษายน 2567 13:01:27