[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 20:04:27 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: “มาชูปิกชู” ที่หายสาบสูญก่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวฮิต  (อ่าน 589 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2304


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 16 ธันวาคม 2564 11:21:51 »


ซากโบราณสถานเมืองมาชูปิกชูในปัจจุบัน
(ภาพถ่ายเมื่อ 27 สิงหาคม 2016, AFP PHOTO / GOH CHAI HIN)


“มาชูปิกชู” ที่หายสาบสูญก่อนเป็นแหล่งท่องเที่ยวฮิต มันถูก “ไฮแรม บิงแฮม” ค้นพบได้อย่างไร
ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2549
ผู้เขียน - ธนิก เลิศชาญฤทธ์
เผยแพร่ - วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2564

ใครจะไปรู้ว่าบนเทือกเขาแอนดีส (Andes) ที่มียอดเขาสูงชันเสียดฟ้า ขรุขระ เข้าถึงยาก เต็มไปด้วยภยันตราย อากาศหนาวเย็นเกือบทั้งปี และมองเห็นเมฆหมอกลอยต่ำไล่เลี่ยศีรษะราวกับจะไขว่คว้าได้นั้น มีเมืองโบราณแห่งอาณาจักรอินคา (ระหว่าง ค.ศ.1200-1550) แห่งอเมริกาใต้ที่หายสาบสูญไปนานนับศตวรรษ นักโบราณคดีเรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่ามาชูปิกชู (Machu Picchu) ตั้งอยู่ระหว่างยอดเขา 2 ลูกบนเทือกเขาแอนดีสในประเทศเปรู

มาชูปิกชูเป็นแหล่งโบราณคดีชื่อดังแห่งหนึ่งของเปรูและเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ผู้ทำให้มาชูปิกชูเป็นที่รู้จักขจรไกลไปทั่วโลกเป็นนักสำรวจ นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักปีนเขาชาวอเมริกันนามว่าไฮแรม บิงแฮม (Hiram Bingham) ผู้ซึ่งวงการโบราณคดีสากลยอมรับนับถือในความวิริยะอุตสาหะและความเป็นนักวิชาการในฐานะผู้บุกเบิกในการศึกษาและอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งนี้ เรามารู้จักตัวตนและคุณูปการของเขากันเลย

ไฮแรม บิงแฮม เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 1875 ที่โฮโนลูลู เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา บิดาของเขาเป็นนักเผยแผ่ศาสนาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งแห่งฮาวาย บิงแฮมได้รับการศึกษาอย่างดีจากสถาบันการศึกษาชื่อดังของอเมริกาและของโลก มีหน้าที่การงานสูงส่งและมีเกียรติตลอดชีวิตของเขา เขาเรียนจบปริญญาตรีสาขาเคมีจากมหาวิทยาลัยเยล (1894-1898) จบแล้วก็ทำงานระยะสั้นๆ จากนั้นกลับเข้าเรียนต่อสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ (1899-1900)

และต่อมาเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (1900-1905) จนได้รับปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ยังศึกษาหลักสูตรหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันอีกด้วย บิงแฮมผ่านอาชีพการงานหลายอย่าง นับตั้งแต่เป็นศาสตราจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ นักบิน รองประธานบริษัทค้าน้ำมัน ผู้ว่าการรัฐคอนเนตทิคัต วุฒิสมาชิก สมาชิกองค์กรเอกชนที่บำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะ เช่น National Geographic Society, Royal Geographic Society, Sigma Psi Fraternityเป็นต้น

บิงแฮมแต่งงานกับอัลเฟรดา มิตเชลล์ (Alfreda Mitchell) ซึ่งเป็นทายาทหรือหลานสาวของผู้ก่อตั้งบริษัททิฟฟานีที่ค้าขายเครื่องประดับและอัญมณีชื่อดังของอเมริกา มีลูกชาย 7 คน ไม่มีลูกสาว ต่อมาหย่าร้างกันไป บิงแฮมแต่งงานใหม่ตอนอายุ 62 กับซูแซนน์ ฮิลล์ (Suzanne Hill) และอยู่ด้วยกันจนกระทั่งบิงแฮมเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 1956 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

บิงแฮมชอบการสำรวจผจญภัย ชอบปีนไต่เขา ทั้งยังมีพื้นฐานการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ระดับดอกเตอร์ (เขาเคยสอนวิชาประวัติศาสตร์ละตินอเมริกาด้วย) เขาจึงเดินทางไปยังสถานที่ทางประวัติศาสตร์อยู่เสมอ โดยเฉพาะการเดินทางไปอเมริกาใต้

ในเดือนพฤศจิกายน 1906 บิงแฮมแล่นเรือใบไปยังอเมริกาใต้ตามเส้นทางของนักสำรวจคนหนึ่งที่เคยสำรวจไว้เมื่อปี ค.ศ.1819 เมื่อกลับจากการสำรวจเขาได้เขียนบทความเผยแพร่ในวารสารด้วย ต่อมาในปี ค.ศ.1908 บิงแฮมเข้าร่วมประชุมทางวิชาการที่ซันติอาโก ประเทศชิลี การประชุมครั้งนั้นจุดประกายที่แน่วแน่ให้แก่บิงแฮมโดยเขาตัดสินใจสำรวจศึกษาเส้นทางการค้าของพวกสเปนในยุคล่าอาณานิคม บิงแฮมเริ่มเดินทางสำรวจจากบัวโนสไอเรส (อาร์เจนตินา) ไปจนถึงลิมา (เปรู)

ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.1911 บิงแฮมย้อนกลับไปเยือนอเมริกาใต้อีกครั้งในนามผู้อำนวยการโครงการเดินทางสำรวจแห่งเปรู ซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากเพื่อนในมหาวิทยาลัยเยลซึ่งมีฐานะดี บิงแฮมและทีมงานได้สำรวจแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมของชาวอินคาหลายแห่งบนเทือกเขาแอนดีส ซึ่งการสำรวจดำเนินไปอย่างยากลำบากเนื่องจากเป็นพื้นที่สูงชัน มีหุบเหวน่ากลัว และยังมีสัตว์มีพิษจำนวนมาก โดยเฉพาะงูพิษ

การค้นพบแหล่งโบราณคดีในเปรูทำให้บิงแฮมเป็นที่รู้จักในวงการประวัติศาสตร์และโบราณคดี และกลายเป็นบุคคลสำคัญจนนำเขาไปสู่อาชีพทางการเมืองในภายหลัง หนึ่งในแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่บิงแฮมค้นพบก็คือมาชูปิกชู ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเปรู

การค้นพบเมืองมาชูปิกชูอาจเป็นเรื่องความบังเอิญมากกว่าความตั้งใจ กล่าวคือบิงแฮมพยายามค้นหาเมืองวิลกาบัมบา (Vilcabamba) ซึ่งเป็นเมืองที่มั่นสุดท้ายของอาณาจักรอินคาหลังจากที่นักล่าอาณานิคมชาวสเปนโจมตีเมืองคูซโก (Cuzco) ซึ่งเป็นเมืองหลวงในปี ค.ศ.1533 จักรพรรดิอินคาชื่อมันโก อินคา (Manco Inka) หลบหนีออกจากเมืองคูซโกเข้าป่าไปซ่อนตัวอยู่ที่เมืองวิลกาบัมบาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากคูซโกนัก (แต่ใช้เวลาเดินทางด้วยเท้าประมาณ 4-5 วัน เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยป่ารก หุบเขา และภูเขาสูงชัน)

มันโก อินคา ซ่องสุมไพร่พลกองทหารที่เมืองวิลกาบัมบาแห่งนี้เพื่อต่อสู้กับทหารม้าของพวกสเปนที่นำทัพโดยฟรันซิสโก ปิซาร์โร (Francisco Pizarro) บิงแฮมศึกษาเอกสารพบว่าเมืองวิลกาบัมบายังไม่มีใครค้นพบมาก่อนและเข้าใจว่าหายสาบสูญไป



(ซ้าย) ไฮแรม บิงแฮม ขณะตั้งแคมป์บนเทือกเขาแอนดีส, (ขวา) แผนที่แสดงเทือกเขาแอนดีสและที่ตั้งเมืองมาชูปิกชู (Machu Picchu)

เขาแปลกใจมากว่าเมืองนี้รอดพ้นการโจมตีทำลายโดยพวกสเปนในสมัยนั้นได้อย่างไร ดังนั้นเขาจึงพยายามสืบเสาะให้ได้ว่าเมืองนี้อยู่ที่ไหน บิงแฮมสัมภาษณ์คนพื้นเมืองหลายคน และจ้างชาวไร่พื้นเมืองคนหนึ่งนำทางสำรวจยอดเขาตามฝั่งแม่น้ำวิลกาบัมบา

ในที่สุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 1911 บิงแฮมก็ได้พบซากเมืองโบราณตั้งอยู่บนสันที่เชื่อมยอดเขา 2 ยอดที่คนพื้นเมืองเรียกว่ามาชูปิกชู (แปลว่า “ภูเขาโบราณ”) บิงแฮมเชื่อว่าเมืองนี้คือเมืองวิลกาบัมบาที่สูญหายไป และทำให้บิงแฮมเข้าใจด้วยว่าในอดีตทหารสเปนไม่สามารถเข้าถึงเมืองนี้และรอดพ้นการโจมตีของทหารสเปนเพราะเมืองนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ล้อมรอบด้วยโตรกธารและหน้าผาสูงชัน (สมควรแล้วที่ชาวอินคาถือว่าเป็นหุบเขาศักดิ์สิทธิ์)

หนังสือและวรรณกรรมทางโบราณคดีต่างๆ เชิดชูวีรกรรมของบิงแฮม โดยเฉพาะความอดทนบากบั่นในการเดินทางสำรวจเมืองโบราณบนเทือกเขาแอนดีส หนังสือบางเล่มกล่าวว่าบิงแฮมต้องเดินลุยป่าทึบเต็มไปด้วยสัตว์มีพิษหลายชนิด ลุยโคลนข้ามแม่น้ำ (เช่น แม่น้ำวิลกาบัมบาและแม่น้ำอุรุบัมบา) ปีนไต่เขาสูงชันที่แฉะและลื่น ในบางจุดเขาต้องหมอบคลานด้วยมือและเข่ากระดึบไปข้างหน้าทีละ 6 นิ้ว และต้องหยุดพักเป็นระยะ (รวมทั้งในการเดินทางสำรวจในวันที่อากาศหนาวเหน็บและฝนตกเปียกแฉะ บิงแฮมต้องจ่ายค่าจ้างผู้นำทาง 3 หรือ 4 เท่าด้วย)

จนในที่สุดเขาก็มาถึงสันเขาที่สูงประมาณ 300 เมตร และเขาได้พบสิ่งก่อสร้างปรักหักพังก่อด้วยหินสีขาวมีตะไคร่เขียวเกาะ บิงแฮมเดินวนสำรวจซากป้อม กำแพง บ้านเรือน และพระราชวังที่ก่อสร้างด้วยหินแกรนิตสีขาวอยู่นานนับชั่วโมง บิงแฮมบรรยายความรู้สึกเมื่อได้สัมผัสพื้นที่และบรรยากาศบนยอดเขามาชูปิกชูและพบเห็นซากเมืองโบราณว่า

“ในท่ามกลางเสน่ห์อันหลากหลายและอำนาจที่สะกดพวกเรา ข้าพเจ้ารู้เลยว่าไม่มีที่ใดในโลกเทียบเทียมกับสถานที่แห่งนี้ได้ ไม่เพียงแต่มียอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมเหนือเมฆหมอกในระดับสูงไม่ต่ำกว่า 2 ไมล์ มีแนวหินแกรนิตหลากสีสูงชันนับพันฟุตจากเกาะแก่งเบื้องล่างที่มีน้ำไหลเสียงดังคำรามและส่งแสงประกายแวววาว แต่บนนี้ยังมีกล้วยไม้ เฟิร์น พืชพรรณ ซึ่งล้วนแต่สวยงามอย่างเพลิดเพลิน และยังมีป่าไม้ที่ดูราวกับมีคาถาอาคมลึกลับอีกด้วย”

อย่างไรก็ตามในครั้งนั้นบิงแฮมไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการบันทึกและวาดภาพสภาพซากสิ่งก่อสร้าง โบราณสถาน และสภาพภูมิประเทศรอบๆ แต่ 2-3 สัปดาห์ต่อมา เขาได้จ้างทีมสำรวจขึ้นไปถากถางต้นไม้และหญ้าออกจากโบราณสถาน และให้ทำแผนที่เมืองนี้ไว้ ในปีถัดมา (1912) บิงแฮมกลับไปมาชูปิกชูอีกครั้ง คราวนี้เขาตั้งใจขุดค้นเมืองโบราณแห่งนี้อย่างเป็นระบบ แต่งานหนักก่อนการขุดค้นก็คือการอพยพชาวพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตามสิ่งก่อสร้างโบราณนั้นออกไปเสียก่อน

หนังสือบางเล่มกล่าวว่านอกจากความยากลำบากในการอพยพผู้คนออกไปแล้ว บิงแฮมยังเผชิญกับงูพิษจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในที่สุดบิงแฮมก็ดำเนินการขุดค้นซากเมืองโบราณจนกระทั่งเขาพบหลักฐานต่างๆ มากมาย เช่น งานสถาปัตยกรรมที่ประณีตสวยงาม สิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าคือวิหาร สถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ที่อยู่อาศัยของกษัตริย์ ห้องอาบน้ำ ที่พำนักของขุนนางและข้าราชบริพาร ฯลฯ บิงแฮมสรุปว่าเมืองนี้มีทุกอย่างเท่าที่กษัตริย์หรือจักรพรรดิต้องการ และเมืองนี้อาจเป็นต้นกำเนิดของชาวอินคาตามตำนานพื้นบ้านของชาวอินคา

ผลงานการค้นพบและขุดค้นเมืองมาชูปิกชูของบิงแฮมได้รับการเผยแพร่ให้โด่งดังไปทั่วโลกเมื่อวารสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับปี ค.ศ.1913 ตีพิมพ์ภาพและรายงานการสำรวจ การขุดค้น และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งเล่ม ต่อมาเมืองโบราณมาชูปิกชูกลายเป็นสนามทำงานวิจัยของนักโบราณคดีทั้งชาวต่างชาติและชาวเปรูมาจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลจากการวิจัยภายหลังบ่งชี้ว่ามาชูปิกชูเป็นคนละเมืองกับวิลกาบัมบา แหล่งที่ตั้งของเมืองวิลกาบัมบาคือตัมปูตอกโก (Tampu Tocco) ส่วนเมืองมาชูปิกชูอาจเป็นเพียงอสังหาริมทรัพย์ของจักรพรรดิอินคาองค์หนึ่ง

ในปัจจุบัน มาชูปิกชูเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอันดับหนึ่งของเปรู แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นมาชมจำนวนมากทั้งที่การเดินทางเข้าถึงเมืองโบราณแห่งนี้ค่อนข้างลำบาก ต้องปีนป่ายหน้าผา ไต่เขาสูงชัน ต่อมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว (นับย้อนไปจากปีที่บทความเผยแพร่ในปี พ.ศ.2549-กองบรรณาธิการ) รัฐบาลเปรูมีโครงการสร้างรถรางนำนักท่องเที่ยวขึ้นมาชมเมืองและทัศนียภาพบนยอดเขา โดยที่บิงแฮมไม่มีโอกาสรับรู้ความเปลี่ยนแปลงนี้ ถ้าบิงแฮมรู้ว่ารัฐบาลเปรูจะสร้างรถรางขึ้นมาบนยอดเขานี้ เขาคงต่อต้านสุดกำลังเหมือนที่จักรพรรดิอินคาเคยต่อสู้พวกสเปนอย่างอดทนกล้าหาญมาแล้วก็ได้

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.723 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้