[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 22:41:45 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: “พระพิฆเนศ” มหาเทพที่เก่าแก่กว่าพระอิศวร? จากเทพพื้นเมือง ปรุงแต่งเป็นเทพฮินดู  (อ่าน 454 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2319


ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 99.0.4844.51 Chrome 99.0.4844.51


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 15 มีนาคม 2565 16:08:59 »




“พระพิฆเนศ” มหาเทพที่เก่าแก่กว่าพระอิศวร?
จากเทพพื้นเมือง ปรุงแต่งเป็นเทพฮินดู

ที่มา - พระพิฆเนศ : มหาเทพฮินดู ชมพูทวีปและอุษาคเนย์
ผู้เขียน - ไมเคิล ไรท์
เผยแพร่ - ศิลปวัฒนธรรม วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2565


พระพิฆเนศ เป็นมหาเทพฮินดูที่มีคนเคารพรักอย่างแพร่หลายที่สุดในหมู่คนหลายชาติหลากภาษาและทุกชนชั้น ทั้งนี้เพราะพระพิฆเนศไม่ถือพระองค์ และไม่เคยรังเกียจผู้ใด ใครๆ จึงเข้าถึงท่านได้ ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ คนบุญ คนบาป คนมี คนจน คนวรรณะสูง หรือคนที่ต่ำต้อย ท่านพร้อมที่จะรับฟังคำวิงวอนของทุกคนที่เข้าหาอยู่ตลอดเวลา

การกราบไหว้บูชาพระพิฆเนศนั้นกระทำได้ง่ายมาก คือไม่ต้องถือศีล ไม่ต้องสรงสนาน ไม่ต้องจ้างพราหมณ์ ใครๆ ก็สามารถบูชาพระพิฆเนศได้ด้วยตนเอง โดยถวายดอกไม้ ผลไม้ กล้วย อ้อย และ (อย่าลืม) ขนมหวานทุกชนิด พระพิฆเนศผิดกับมหาเทพอื่นๆ ตรงที่ท่านเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่อารมณ์ดี มีเศียรเป็นช้าง ร่างกายเหมือนทารกอ้วนพีน่ารัก ขี่หนูเป็นพาหนะ ชอบร้องรำทำเพลง ซึ่งการร่ายรำนั้นไม่ใช่เพื่อปราบอสูร หรือล้างจักรวาล แต่เป็นไปเพื่อความสนุกสนานเป็นสำคัญ

ในระดับหนึ่งอาจจะเทียบพระพิฆเนศกับซานตาคลอสได้สนิท เพราะซานตาคลอสก็อ้วนลงพุง มีใบหน้าเรื่อแดง ใช้อาภรณ์แดงขลิบขาว อันหมายถึงดวงอาทิตย์ที่ลอยมาเหนือปุยเมฆเพื่อนำความอบอุ่นและชีวิตชีวามาสู่โลกเช่นกัน ในการลงสีพระพิฆเนศจึงมักให้พระพักตร์สีแดงกับพระกายสีขาว หมายถึงแสงสุริยาที่มาเหนือเมฆฝน และนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่โลก




พระพิฆเนศ ภาพวาดราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ภาพจาก collections.mfa.org)

ในระดับหนึ่งพระพิฆเนศเป็นนักปราชญ์ที่ใช้งาส่วนที่รักของท่านจารเรื่องมหาภารตะลงใบลานตามคำบอกเล่าของท่านฤาษีวยาสะ ท่านจึงได้รับการเคารพนับถือในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ทางอักษรศาสตร์ ดังนั้นเด็กที่จะเริ่มเรียนหนังสือ หรือจะเข้าสอบจึงต้องไหว้พระพิฆเนศเสียก่อน

นอกจากนั้นท่านยังเปรียบดังเจ้าผู้รักษาคุ้มครองไปทั่วทุกแห่งหน โดยเฉพาะบริเวณธรณีประตู สี่แยก และโค้งอันตราย เพื่อคุ้มครองคนที่ผ่านเข้าออกหรือไปมา ในอินเดียเรามักเห็นเทวรูปพระพิฆเนศวางไว้ต่ำติดพื้นข้างประตูหรือริมทางคล้ายศาลพระภูมิของคนจีน

บทบาทที่สำคัญที่สุดของพระพิฆเนศคือเป็น “เจ้าแห่งการริเริ่ม” ใครจะทำอะไรขึ้นใหม่ เช่น การปลูกบ้าน การเปิดกิจการ การเดินทาง การเปิดบัญชี หรือแม้กระทั่งการบูชาเทพอื่น ล้วนแต่ต้องไหว้พระพิฆเนศเสียก่อนจึงสำเร็จ

ทำไมต้องไหว้พระพิฆเนศเสียก่อนเทพอื่นใด? คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่าพระพิฆเนศเก่าแก่กว่าเทพอื่นใดในศาสนาฮินดูที่มีพระพักตร์เป็นมนุษย์

อินเดียโบราณมี 3 ชาติใหญ่ที่ประสมประสานกันตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

พวกที่เข้ามาอยู่หลังสุด คือชาวอารยันซึ่งพูดภาษาอินโด-ยุโรเปียน เริ่มเข้ามาในอินเดียประมาณ 1,000 ปีก่อนพุทธกาล ชาวอารยันพเนจรเข้ามาจากอุษาทวีป ทวีปเอเชีย) ตอนกลาง ชนกลุ่มนี้จึงไม่รู้จักช้าง

ชาวทมิฬ พูดภาษาตราวิทยัน เข้ามาในอินเดียก่อนอารยัน ชนกลุ่มนี้จึงน่าจะคุ้นกับช้างอยู่บ้าง

ชาวมุนดะ พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร กระจัดกระจายเป็นชนกลุ่มน้อยทั่วอินเดียและอุษาคเนย์ กลุ่มนี้ไม่มีใครทราบว่ามาจากไหนแต่อยู่ในอินเดีย (และอุษาเคเนย์) ก่อนใครอื่นแน่ ศัพท์ในวรรณกรรมสันสกฤตที่ใช้เรียกพืชเขตร้อน เช่น พริกไทย, พลู, กล้วย ฯลฯ ส่วนใหญ่มาจากภาษามุนดะ




พระพิฆเนศ ภาพวาดราว ค.ศ.1820 (ภาพจาก www.britishmuseum.org)

น่าเชื่อว่าชาวมุนดะนับถือช้างป่า และจับช้างป่ามาเลี้ยงก่อนใคร ต่อมาเมื่อชาวทมิฬและอารยันเข้ามาในเขตร้อนตามลำดับ ก็ย่อมเรียกพืชเขตร้อนตามภาษาพื้นเมืองเดิม แล้วนับถือเจ้าสมิงไพรที่มีหัวเป็นช้างของคนพื้นเมืองไว้ด้วย เมื่อศาสนาฮินดูลงตัว (ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว) ผู้คนหันมานับถือพระอิศวร พระนารายณ์เป็นใหญ่ แต่ก็ยินดีไหว้พระพิฆเนศก่อน เพราะท่านอยู่คู่กับชาวพื้นเมืองมาก่อนที่มหาเทพอื่น ๆ จะเข้ามาเป็นใหญ่ในภารตะและอุษาคเนย์


อินเดียเป็นประเทศใหญ่ที่บรรจุคนหลายเผ่าพันธุ์ซึ่งย่อมมีความขัดแย้งรุนแรงและมากมายเป็นธรรมดา ดังนั้นศาสนาฮินดูจึงต้องมีกลไกในการประสมประสานเทพของแต่ละเผ่าให้เข้าเป็นญาติหรือพันธมิตรต่อกันเพื่อความผาสุกของสังคม กลไกนั้นคือการแต่งเทพปกรณัมหรือนิยายขึ้น

ในกรณีของพระพิฆเนศ เทพปกรณัมของท่านจะตรงไปตรงมาหรือสร้างเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ได้ เพราะการจะประสมประสานระหว่างคนพื้นเมืองและชนเผ่าที่รุกเข้ามาในภายหลังต้องมีวิธีการหลายขั้นตอน และการจะยกเทพเผ่าพื้นเมือง (ที่มีหัวเป็นช้าง) ให้เป็นญาติกับเทพของเผ่าที่เข้ามาอยู่ใหม่ (ที่มีหัวเป็นคน) ต้องผูกขึ้นเป็นนิทานมากมายหลายชั้น

ขั้นแรก กำหนดให้พระอินทร์ซึ่งเป็นเทพฟ้าของชาวอารยันขี่ช้างเอราวัณซึ่งเป็นเทพป่าของคนพื้นเมือง อันแสดงถึงชัยชนะของชาวอารยันเหนือคนพื้นเมืองเดิม

ขั้นต่อมา เมื่อ 2 เผ่าเริ่มประสมประสานกันมากขึ้น ก็เกิดเทพปกรณัมว่าด้วยพระนางอุมาสร้างเทพบุตร (ที่ต่อมาจะเป็นพระพิฆเนศ) จากคราบไคลของพระนาง แล้วมีบัญชาให้เทพบุตรนั้นเฝ้าพระทวารไว้ ไม่ให้ผู้ชายคนใดเข้ามาในห้อง

เมื่อพระอิศวรกลับมาจากบำเพ็ญพรต ณ หิมาลัย ก็พบเด็กซึ่งพระอุมาสร้างขึ้น เด็กนั้นห้ามไม่ให้เข้าไปหาพระอุมาผู้เป็นแม่ จึงเกิดการสู้รบจนเด็กเศียรขาดสิ้นชีวิตไป ในที่สุดก็หาเศียรใหม่ซึ่งเป็นเศียรช้างมาต่อ ปลุกให้ฟื้นชีพ แล้วพระอิศวรก็รับเด็กที่มีหัวช้างเป็นบุตรของพระองค์

นิทานเรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งทางจิตวิทยาระหว่างลูกชายกับพ่อ ในวัยทารกเด็กชายย่อมติดและหวงแม่ ต่อมาจะต้องสู้กับพ่อ จึงจะพ้นความเป็นทารก นิทานเรื่องนี้ช่วยชี้ทางในการเติบโตทางจิตวิทยาและสร้างความสุขแก่ผู้ที่มีปัญหาในเรื่องนี้ ซึ่งส่งผลให้พระพิฆเนศเป็นที่เคารพรักยิ่งขึ้น

ขั้นสุดท้าย เมื่อชาวอารยันกับคนพื้นเมืองประสมประสานกันสนิท ก็เกิดเทพปกรณัมอีกชุดหนึ่งที่โยนความผิดเรื่องการเสียศีรษะของทารกนั้นให้ผู้อื่น เช่น พระเสาร์ มองเด็กด้วยความอุปัทว์ หรือพระนารายณ์ใช้วาจาสิทธิ์ว่า “ไอ้เด็กหัวหาย” ในที่สุด พระพิฆเนศก็กลายเป็นศิวบุตรอย่างสมบูรณ์

แต่จนทุกวันนี้จึงมีคนสงสัยว่าทำไมต้องไหว้พระพิฆเนศก่อนพระบิดา (พระศิวะ)

คำตอบคือ พระพิฆเนศเก่ากว่า แก่กว่า และมีก่อนพระอิศวรเสียอีก แต่เมื่อนำออกจากป่าให้ไปอยู่กับเทพอื่น ๆ และแสดงว่าชาวมอญ-เขมรที่อยู่ในอินเดียมาแต่เดิมได้กลายเป็นญาติสนิทกับชาวอารยันที่เข้ามาภายหลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
เทวประติมากรรม "พระพิฆเนศ" เทพในจินตนาการจากสัตว์หิมพานต์
เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
Kimleng 0 5876 กระทู้ล่าสุด 25 มีนาคม 2557 16:03:40
โดย Kimleng
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.342 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 13 เมษายน 2567 05:27:54