[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 มีนาคม 2567 19:10:48 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นิทานเรื่องเลี้ยงเด็ก - พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์  (อ่าน 634 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 10 ธันวาคม 2564 13:39:31 »



ขอขอบคุณ "กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร" (ที่มาภาพประกอบ)
นิทานเรื่องเลี้ยงเด็ก
พระนิพนธ์  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ


คำนำ

นิทานเรื่องเลี้ยงเด็กที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เดิมข้าพเจ้าแต่งให้หอพระสมุดฯ ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๖ คิดเวลาล่วงมาได้ ๓๐ ปี ยังหาเคยแยกออกพิมพ์แต่ฉะเพาะเรื่องไม่ ครั้นเมื่อเดือน กรกฎาคมศกนี้ เจ้าจอมมารดาชุ่มมารดาข้าพเจ้าถึงอสัญกรรม ข้าพเจ้าจะทำบุญสัปตมวารเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม คิดจะใคร่พิมพ์หนังสือเปนมิตรพลีสำหรับถวายจ่ายแจกแก่ช่วยงารสักเรื่อง ๑ จะแต่งเรื่องอะไรใหม่เวลานั้นใจคอก็ยังไม่เปนปรกติ จะไปไหว้วานท่านผู้อื่นแต่ง วันก็จวนงาร เกรงจะเปนวานให้ได้ความเดือดร้อน จึงลองค้นดูเรื่องต่างๆ ในหนังสือวชิรญาณพบบนิทานเรื่องนี้เห็นว่าพอจะใช้ได้ ก็ให้คัดมาพิมพ์เปนเล่มสมุดแจกในครั้งนั้น แลการที่แจกหนังสือเรื่องนี้ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ทราบว่าชอบอ่านกันโดยมาก เมืองารแล้วยังมีผู้มาขอไม่ขาด จนหนังสือซึ่งพิมพ์ครั้งแรกไม่พอจะให้ภาคหอพระสมุดฯ ข้าพเจ้าจึงให้พิมพ์ฉบับนี้ขึ้นใหม่เปนครั้งที่ ๒ เพื่อจะแบ่งให้เปนภาคหอพระสมุดฯ บ้าง เอาไว้จ่ายแจกอิกบ้าง หวังใจว่าท่านผู้ได้ไปในชั้นหลังจะพอใจอ่านโดยมากด้วยกัน

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
วังวรดิศ
วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๖


นี่พนักงารหอพระสมุด ฯ เขานึกอย่างไรหนอ จึงมาอาราธนาให้ข้าพเจ้าแต่งเรื่องเลี้ยงเด็ก ว่าที่จริงเรื่องซนิดนี้ ถ้าจะแต่งให้เปนคติจำจะต้องมีความคุ้นเคยรู้เห็นเปนหลักอยู่ในตัวผู้แต่ง แต่ส่วนตัวข้าพเจ้านี้ได้เคยเปนเด็กมาครั้งหนึ่งเหมือนกับคนทั้งหลายก็จริง แต่การมันก็ล่วงมาช้านานกว่ายี่สิบสามสิบปีแล้วจะจำอะไรได้ ถึงเมื่อเปนผู้ใหญ่มามีลูกเต้าเปนเด็ก ก็มอบธุระให้พี่เลี้ยงแม่นมเขาดูแล หาได้เลี้ยงเองไม่ ที่จะแต่งเรื่องนี้จึงเปนการขัดข้องอยู่นักหนา แต่ไปรับอาราธนาเขาเสียแล้วจะทำอย่างไร จะให้แต่งให้ได้ก็เห็นอยู่อย่างเดียวแต่จะต้องเล่านิทานให้ฟังเล่นตามอัตโนมัติ ใครจะว่าเอานิทานเก่าแก่มาเล่าให้ฟังซ้ำซากก็จะต้องทนเอา เรื่องนิทานนั้นมีดังนี้

เดิมยังมียายกับตาปลูกถั่วงาให้หลานเฝ้า แต่หลานชายนั้นเปนเด็กกำลังมัวแต่ที่จะเล่น ทิ้งถั่วงา​ในไร้ให้กาลักเอาไปกินเสียถึงเจ็ดเล็ดเจ็ดทนาน ยายออกไปเห็นเข้าก็ตั้งหน้าด่าหลานเพ้อเจ้อใหญ่ ฝ่ายตาออกไปก็พลอยโกรธเฆี่ยนตีเด็กนั้นเปนริ้วรอยไปทั้งตัวแล้วซ้ำขู่รู่ขับไล่ให้หลานไปเที่ยวหาถั่วงามาให้ครบเจ็ดเล็ดเจ็ดทนานให้จงได้ อ้ายเด็กหลานอารามกลัวไม่รู้ที่จะทำอย่างไร ก็เดินร้องไห้ไปหาพรานวานให้ช่วยยิงกาตามประสาเด็ก เข้าใจว่ากากินก็จะเอาแก่กาให้จงได้

ฝ่ายยายกับตารออยู่ไร่ ครั้นเวลาบ่ายตาค่อยคลายโทโสลงได้สติจึงหันมาพูดกับยายว่า ยายเอ๋ยยาย ข้ามาคิดดูๆ เหมือนเรานี้จะหลงไปเสียแล้ว ไปมัวด่ามัวตีหลานเปนนักหนา หาคิดว่ากามันปีกแลหลานเรามันเปนเด็กไม่

ขณะนั้นยายแกกำลังบ่นปอดแปดอยู่ ได้ฟังตาว่าก็นึกโกรธจึงหันมาว่า พุทโธ่ตาเอ๋ยตา ถั่วงาฉิบหายวายวอดไปแล้วแกยังเห็นสนุกกลับมาเล่นตลกว่ากามีปีกแลหลานเปนเด็กราวกับใครเขาไม่รู้

​(ตา) ห้ายยาย! ข้าว่าจริงๆ นะ กามีปีกมันบินไปได้บนฟ้า มันมิใช่แมวใช่หมาวิ่งอยู่กับแผ่นดิน หลานเราจะได้วิ่งไล่จับกุมกันไม่ให้มันลักถั่วงาได้

(ยาย) ก็มันรู้เช่นนั้นทำไมมันจึงไม่ผูกธนูหรือหาปีกกามาแขวนไว้ให้กากลัวเล่า

(ตา) ก็นั่นนะซิยาย ข้าจึงว่าอ้ายหลานของเรามันยังเปนเด็กนัก สติปัญญามันจึงยังอ่อนอยู่

(ยาย) ทำไม อ้ายธนูแลปีกกานี้เขาก็แขวนไว้ทุกไร่ทุกกง ถึงมันคิดทำเองไม่ได้ ทำไมมันจึงไม่ไปจำอย่างเขามาทำบ้างเล่า

(ตา) เออ ยายว่าก็ชอบกล แต่เมื่อคิดดูก็อิกนั่นแหละ อ้ายหลานเราอายุมันพึ่งย่างเข้า ๙ ขวบปีนี้มันยังไมใคร่รู้ประสีประสา ไปใหนก็ไม่ใคร่ได้ไป จะให้มันไปจำมาอย่างไร

(ยาย) ฮ้าย เด็กมันไม่ดีเอง ทำไมเมื่อวานซืนนี้ข้าไปเห็นเขาทอดมันขายที่กลางตลาดหนเดียวข้ายังจำเอามาทำให้แกกินได้

​(ตา) ยายนี่ขันจริงๆ อ้ายเรานี่อายุมันกว่า ๖๐ เสมอได้เคยดูอะไรๆ มากว่า ๖๐ ปีแล้ว อ้ายหลานเรามันพึ่งเคยดูมาเพียง ๘ ปี ๙ ปีเท่านี้ จะให้มันสังเกตสังกาได้ดีเท่าเราอย่างไร

(ยาย) ตานี่ชั่งเข้ากับหลานจริงหนอ แกว่าเช่นนี้เมื่อตะกี้ทำไมแกจึงเฆี่ยนมันจนร้องคับป่าไปเล่า

(ตา) เพราะอย่างนั้นนะซียาย ข้าจึงว่าเราหลงทำบาปกรรมหนักหนา ถ้าใครเขามีกำลังมากมาจับข้าเฆี่ยนเช่นนั้น ข้าคงร้องคับป่าไปเหมือนกับมัน อ้ายหนูเจ็บเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์อันใดเลย

(ยาย) จะว่าไม่มีประโยชน์ก็ไม่ได้ เราเฆี่ยนเพราะจะให้มันดีไม่ใช่หรือ

(ตา) ใจเราคิดอย่างนั้นก็จริงดอกยาย แต่ที่เราทำนั้นผิด เหมือนกับคำโบราณท่านว่าชิงสุกก่อนห่าม อันประเพณีผู้ใหญ่เลี้ยงเด็กเปรียบเหมือนเช่นคนจะฝึกหัดม้าให้เรียบ ธรรมดาม้าที่ยังไม่ได้ฝึกหัดเคยแต่แล่นเล่น​เผ่นโผนตามอำเภอใจ แรกถูกบังเหียนเครื่องอานใหม่ๆ ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้ว่าอะไรก็ย่อมโดดดิ้นเกะกะด้วยกลัวหรือด้วยตื่นตกใจเปนกำลัง ถ้าผู้ฝึกหัดใจร้อนเร็วดุร้ายเฆี่ยนตีตะบันไป ม้านั้นก็จะยิ่งตื่นเต้นกลัวลานไม่เชื่องราบ มิฉนั้นเคยแซ่หนักเข้าก็จะเลยดื้อด้านเสียม้าเมื่อปลายมือทุกๆ ตัว แต่ม้าที่ฝึกหัดดีแล้วแรกๆ ใช้ไปพบอะไรๆ ที่ยังไม่เคยพบเคยเห็น ก็ยังรู้หวาดเสียวหลบลี้ด้วยความกลัว เหมือนคำพระท่านเทคน์ว่า เปนประเพณีของสัตว์ย่อมมีวิสัยที่หลีกหนีภัยอันตรายอยู่เปนธรรมดาทั่วไป อย่าว่าแต่ม้าลาอะไรเลย แต่ยายเองแกจำได้หรือไม่เมื่อข้าพาไปดูพระยาช้างด่าง แกร้องแป๊ดเดียวยายยังหกล้มก้นกระแทก นั้นไม่ใช่เพราะกลัวเกินไปหรือ

(ยาย) ฮุ้ย ตานี่อะไรพูดกันเรื่องเด็กเล็กก็พูดไป ทำไมถึงจะต้องเอาเรื่องโบรมโบราณเหลวไหลอะไรมาพูดด้วยเล่า นี่หากว่าไม่มีใครอยู่ที่นี่ หาไม่ก็จะขายหน้าเขาถนัด

​ยายกับตาพูดกันได้เท่านี้ ก็พอเห็นนายพรานพาหลานขี่คอเดิรกลับมาส่ง ได้ถั่วงามาให้ตายายครบเจ็ดเล็ดเจ็ดทนาน และเล่าความตามที่ได้ไปหาพรานหาหนูแลอื่นๆ ตลอดจนถึงช้างไม่มีใครรับธุระ ต่อไปได้แมลงหวี่จึงเอาถั่วงาคืนมาจากกาได้นั้นให้ยายกับตาฟังทุกประการ ยายกับตาก็ดีใจยิ่งนัก จึงชวนนายพรานพาหลานกลับเข้าไปบ้าน หุงเข้าต้มแกงสู่กันกินอิ่มหนำสำราญแล้วก็เลยชวนให้นายพรานค้างอยู่บ้านยายกับตาคืนหนึ่ง

ในคืนวันนั้นฝ่ายตานอนตรองแต่เรื่องหลานชาย ให้นึกสงสารแลเสียดายที่ได้ด่าตีขู่เข็ญในวันนั้น แลออกขอบใจความเพียรของหลานที่เที่ยวไหว้วานหนูแมวหมาแลอื่นๆ ด้วยน้ำฉลาดรู้ว่าสัตว์นั้นสิ่งนั้นอาจจะปราบปรามสิ่งนั้นๆ ได้ ทั้งมีความซื่อตรงมั่นคงต่อคำสั่งของผู้ใหญ่ สู้เหนื่อยยากติดตามเอาถั่วงาเจ็ดเล็ดเจ็ดทนานคืนมาได้ ยิ่งคิดไปก็ยิ่งรักหลานขึ้นทุกที จึงมานึกว่าหลานของเราคนนี้ใจคอมั่นคงแลฉลาดเฉลียวดี​อยู่ แต่อายุยังเด็ก วันหน้ามีมากกว่าวันหลัง ความฉลาดเฉลียวนี้ถ้าจะว่าก็เหมือนกับฤทธิ์เดชที่เขาพรรณาในเรื่องโขนเรื่องละคอน ถ้ามีแก่เทพยดาอินทรพรหมแลฤาษีวิชาธรที่น้ำใจสุจริต ก็อาจจะใช้ปราบปรามเหล่าร้าย หรือชุบโน่นสร้างนี้ให้เปนคุณเปนประโยชน์แก่โลกได้ ถ้าหากตกอยู่แก่ยักษ์มารพวกพาลทุจริตก็เอาไปใช้ฆ่าผู้ฟันคน ฉกลักรังแกเขาต่าง ฯ ไม่มีเสียเลยจะดีกว่า อ้ายหลานของเรามันมีฤทธิ์ แต่ใจมันจะเปนใจเทวดาหรือใจยักษ์นี่ยากที่จะเลงเห็นได้แต่เด็ก จะเห็นดีเห็นร้ายก็ต่อเมื่อโต แต่ธรรมดาน้ำใจคนอาจจะเปลี่ยนแปลงฝึกหัดให้ดีให้ชั่วได้ โบราณท่านจึงว่าคบพาลเปนพาล คบปราชญ์เปนปราชญ์ ถ้าหากว่าฝึกหัดให้เห็นในทางข้างดีไปแต่เล็กแล้ว ก็คงจะไม่ใคร่กลายไปเปนชั่ว อ้ายตัวเรานี่ก็มีแต่หลานคนเดียว เหย้าเรือนไร่กงเมื่อเราตายไปแล้วก็คงจะตกอยู่กับมัน ถ้ามันไปดีหรือไปชั่วก็ขึ้นชื่อว่าอ้ายนั่นหลานยายกับตาที่แกปลูกถั่วงา ​จะรักจะชังจะเอยก็เห็นจะไม่พ้นธุระ อย่าเลยจะต้องคิดอ่านฝึกสอนมันดูสักที บางทีมันจะเปนคนดีกับเขาได้บ้างดอกกระมัง

ครั้นรุ่งเช้ายายกับตาแลนายพรานมานั่งพร้อมกันอยู่ที่ระเบียง ตาจึงปรารภถึงเรื่องที่จะฝึกสอนหลานให้เปนคนดี ยายกับนายพรานก็เห็นชอบด้วย แต่เมื่อปฤกษากันต่อไปว่าจะควรฝึกสอนอย่างไร ข้างยายเห็นว่าควรจะเอาไปฝากให้เรียนกอข้อนอโมที่วัด จะได้รู้หนังสือทำการเสมียนเปนทางที่จะได้เปนขุนน้ำขุนนางมั่งมีทรัพย์สมบัติ แต่นายพรานไม่เห็นด้วย แกเถียงว่าบรรดาคนซึ่งเกิดมานี้ มีทรัพย์อย่างเดียวแต่ชีวิตเปนของสำหรับตน ถ้าชีวิตยังมีอยู่ตราบใด ถึงจะไม่รู้หนังสือหรืออะไรคงจะยังหาทรัพย์อื่นๆ ได้อยู่ตราบนั้น ถ้าหากว่าไม่รักษาชีวิตไว้ได้ ถึงจะหาเงินทองกองแก้วสะสมไว้ได้เท่าใดๆ ก็จำเปนตกไปเปนของผู้อื่น เพราะฉนั้นการรักษาชีวิตจึงเปนการสำคัญ จำต้องคิดก่อนให้เปนใหญ่กว่าอย่างอื่น

​ยายได้ฟังนายพรานว่าดังนั้น แกจึงโต้ว่า อ้ายการรักษาชีวิตนั้นมันเปนธรรมดา ใครๆ ก็ย่อมต้องรักษา ไม่เห็นจะต้องฝึกสอนร่ำเรียนอันใด ถ้าการรักษาชีวิตต้องฝึกสอนกันจึงรักษาได้แล้ว พวกชาวป่าชาวดงไม่ได้เล่าเรียนมิพากันตกห้วยเหวตายเสียหนักหนาแล้วหรือ

นายพรานจึงตอบว่า ที่ฉันว่านี้ ยายยังไม่เข้าใจ เพราะยายยังไม่รู้ว่าธรรมดาของชีวิตเรานี้เปนอย่างไร ฉันเคยได้ฟังเขาชี้แจงมา ธรรมดาชีวิตของเราท่านทั้งปวงนี้ อาศรัยเปนอันเดียวกับร่างกาย เหมือนหนึ่งเข้าหุ้นกันทำการบริษัท ถ้าร่างกายเปนอันตรายเช่นคนถูกเขาตัดหัวให้ขาดออกไปจากตัวชีวิตก็ดับไปด้วย ถ้าชีวิตดับไปก่อนเช่นคนเปนไข้เจ็บอันใดตาย ร่างกายก็เปื่อยเน่าทำลายตามไป เพราะฉนั้นนี่เปนธรรมดาอันหนึ่ง พึงต้องเข้าใจไว้ว่า จะรักษาชีวิตต้องรักษาร่างกายด้วย ก็แต่ร่างกายนั้นธรรมดาของ​มันแบ่งเปน ๒ คราว คีอตั้งแต่เกิดมาเปนทารกมีธรรมดาที่จะเติบโตและเจริญกำลังวังชาขึ้นทุกทีๆ โดยลำดับจนถึงกึ่งกลางอายุ แล้วก็หยุดความเจริญอยู่เพียงนั้นนี่เปนคราว ๑ แต่นี้แก่ตัวลงธรรมดาร่างกายก็เหี่ยวแห้งถอยกำลังวังชาลงทุกทีๆ จนสิ้นกำลังสังขาร เหมือนตะเกียงหมดใส้ก็ถึงแก่ความตายเปนที่สุด ว่าโดยกำหนดราว ๗๐ ปี ตั้งแต่เกิดมาที่นับว่าเปนปรกตินิยมของชีวิตมนุษย์ คือเราท่านควรจะต้องมุ่งหมายแลอยู่ไปได้ถึงอายุเท่านั้น แต่คนทั้งหลายที่เกิดมามาสิ้นชีวิตเสียแต่ยังเด็กบ้าง ยังหนุ่มบ้าง ยังพอกลางคนบ้างนี้เปนอันมาก ต่อบางคนจึงจะอยู่ไปได้เต็มกำลังสังขารเพราะเหตุใด

(ยาย) อ้าว ก็เพราะเจ็บแล้วไม่รีบหายากินเสียให้ถูก เมื่อเดือนก่อนตาแกตัวร้อนซึมไปทั้งวัน ข้าเอาบรเพ็ดโขลกให้กินชามเดียวยังหาย

(นายพราน) ยายฟังฉันว่าให้มันสิ้นข้อสิ้นความเสียก่อนซิ ถ้ามัวเถียงกันคนละคำสองคำเช่นนี้เมื่อไรมัน​จะจบ ยายว่าของยายก็ถูกดอก แต่มันยังไม่ตรงแท้ ที่คนเราตายเสียแต่ยังไม่สิ้นกำลังสังขารนั้น เพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ เพราะอันตรายที่เหลือห้าม เช่นเปนลมตาย หรือเปนอหิวาตกะโรคตายเปนต้นอย่าง ๑ แต่จริงอันตรายเหล่านี้ จะว่าเหลือห้ามทีเดียวก็ว่าไม่ได้ เพราะย้ายไปอยู่ในที่พ้นโรคอหิวาตกะนั้นก็พ้นได้ แลเปนลมนั้น ถ้าร่างกายสมบูรณ์อยู่ก็ไม่ใคร่เปน แต่เอาเถิดยอมว่าเปนอันตรายที่เหลือห้าม ด้วยเรายังไม่ใคร่รู้ทางที่จะป้องกัน นับอันตรายเหล่านี้ว่าเปนกรรมแก้ไขไม่ได้ ถึงใครเข้าจะเอาตายก็ต้องตาย แต่เหตุความตายของคนทั้งหลายอิกอย่าง ๑ นั้นเปนโรคภัยอันตรายต่างๆ ซึ่งพอจะป้องกันได้ แต่เพราะไม่ระวังป้องกัน คนทั้งหลายจึงพากันตายไปเสียด้วยความประมาทมีอยู่เปนกันมาก จะชี้แต่พอเปนตัวอย่างเหมือนกับโรคที่เรียกว่าโรคกระษัยนี้ ตามบ้านนอกแลป่าดงทำไมจึงไม่ใคร่มีใครเปน ไปเปนชุมอยู่แต่ในบ้านเมือง ​แท้จริงโรคชนิดนี้เปนด้วยประพฤติอิริยาบถไม่เสมอคือนอนมากไป หรือนั่งมากไป หรือยืนเดิรมากไปเปนต้น ชาวป่าดงเหมือนอย่างตัวฉัน ตื่นแต่เช้าหุงเข้ากินแล้วก็เที่ยวยิงเนื้อถึก เดิรเหนื่อยก็นั่ง นั่งเมื่อยก็ยืน ค่ำลงก็นอน เช้ามืดก็ตื่น เสมอทุกวี่ทุกวันไปอย่างนี้ มันก็ไม่เปนโรคกระษัย แต่ชาวเมืองซึ่งมีธุระการงารทำอยู่กับที่ต้องจำนั่ง เขียนหนังสือจ้ำอยู่กับโต๊ะบ้าง ต้องหมอบคลานคอยรับใช้สรอยบ้าง คนพวกนั้นต้องหันอิริยาบถไปตามธุระแลบันดาศักดิของตน จึงเปนโรคกระษัย นี่เปนตัวอย่างๆ ต่ำๆ ที่เห็นได้ว่าประมาทไม่รักษาชีวิตของตนตามควร ถ้าโรคกระษัยมันกลายเปนฝีในท้องเมื่อใดจะไปโทษใคร ฉันจึงว่าชีวิตนี้ต้องเข้าใจรักษา

(ยาย) พ่อพราน ขอฉันถามสักคำเถิดพ่อคุณ ที่พ่อว่าคนที่เขาต้องนั่งเขียนหนังสือ แลหมอบคลานกรากกรำเขาไม่รักษาชีวิตนั้น พ่อจะแปลว่าใครเปนเสมียน​แล้วต้องอายุสั้นทุกคน ต่อเปนพรานอย่างพ่อได้เที่ยวเดิรเหินยิงกายิงไก่เสมออายุจึงจะยืนอย่างนั้นหรือ

(นายพราน) ฉันว่าถ้านั่งกรึ้งเกินไปดอกนะยายจึงเปนความประมาท ฉันจะเปรียบความให้ยายฟังให้เข้าใจง่ายๆ เปรียบเหมือนอย่างวัวควายที่ใช้เทียมเกวียน ถ้าเดิรทางวันละน้อยๆ เพียงร้อยสองร้อยเส้นมันก็ไปได้หลายวันไม่บอบช้ำ ถ้าเดิรทางวันละไกลๆ ตั้งห้าร้อยหกร้อยเส้น สองวันสามวันก็จำต้องหยุดพักวัวควายให้หายเมื่อยล้าแล้วจึงเดิรทางต่อไปได้ ฉันใดก็ดี เหมือนอย่างตัวฉันเปนพรานไปมาหากินตามป่าดงตามชอบใจ ทำไปชั่วนาตาปีก็ไม่เหน็จเหนื่อย เปรียบเหมือนวัวควายที่ลากเกวียนวันละใกล้ๆ ผู้ที่เขาต้องทำการฝืนอิริยาบถเช่นพวกเสมียนเปนต้นนั้น เหมือนวัวควายที่ต้องเดิรทางไกล จึงต้องมีเวลาพักผ่อนหยุดทำการมาบำรุงร่างกายเนือง ๆ ต่อไม่เช่นนั้นจึงจะเปนความประมาทต่อชีวิต

​ตาได้ฟังก็หัวเราะชอบใจว่า นายพรานว่านี้ชอบกลหนักหนา เห็นควรจะฟังเอาเปนคติได้ว่า คนเราควรต้องเข้าใจรักษาชีวิตของตนทุกคน แต่ที่แกว่านั้นข้าดูมันยังกว้างนัก จะเอาอันใดเปนที่สังเกตของการรักษาชีวิต ใครจะรักษาชีวิตให้ดีจะมิต้องตั้งต้นเรียนคัมภีร์แพทย์ตั้งแต่ปฐมจินดาไปจนจบทีเดียวหรือ จะได้รู้โรคภัยไข้เจ็บทั้งปวงได้

(นายพราน) ไม่จำเปนถึงเช่นนั้นดอกตา ที่สังเกตมีอยู่ใกล้ๆ กล่าวคือตัวเรานี้เอง มันย่อมมีทุกข์สำหรับเปนล่ามประจำกันมา เปนต้นว่าเราไม่กินเข้าท้องก็ใช้ความแสบมาเตือน นั่งนานไปบั้นเอวก็ใช้ความเมื่อยมาบอก แต่คนไม่ใคร่เอาใจใส่สังเกตหรือไม่เชื่อถือมันเสียเอง

(ตา) ว่านี้ถูกทีเดียว เมื่อเดือนก่อนข้าออกไปพรวนดินที่ไร่ถั่วออกครั่นตัวขืนทำกลับมาจับไข้ ต่อได้บรเพ็ดที่ยายแกว่ากินเข้าไปจึงหาย แต่กระนั้นมันก็เล่นเอาเพลียไปอิกหลายวัน

​(นายพราน) นั่นและตา เขาว่าความไข้เจ็บถ้าได้ลงเปนแล้ว ถึงเราจะเข้าใจว่าหายแต่ร่างกายคงบอบช้ำอ่อนเพลียลงกว่าแต่ก่อน เปรียบที่แลเห็นเหมือนกับเปนบาดแผล ถึงจะหายแล้วก็คงเปนแผลเปนปรากฎไม่เปนเนื้อสนิทดีเหมือนแต่ก่อน เพราะฉะนั้นที่จะถือว่ามียาดีแล้วไม่กลัวโรคอย่างที่ยายว่าเมื่อตะกี้ ข้าจึงว่าไม่ตรงแท้ สู้ป้องกันไว้อย่าให้เจ็บไม่ได้ เหมือนดังชาวป่าดงที่ยายแกกลัวเขาจะไปตกห้วยเหวตายนั้น นั่นมดหมอแลโรงพยาบาลอันใดมีอยู่ตามป่าดง เขาจึงอยู่ได้ไม่ล้มตายเสียหมด ก็เพราะเขาประพฤติอิริยาบถของเขาเสมอ เหมือนเขาป้องกันอยู่ในตัวจึงไม่ใคร่เจ็บไข้

(ตา) ยายยอมแพ้เขาเถิด นายพรานเขาว่าถูก แต่นี่อย่างไรดูเราพูดกันมันไถลออกนอกเรื่องไปเสียแล้ว เดิมเราว่ากันถึงจะฝึกสอนเด็ก ทำไมมันจึงกลายไปเปนรักษาความไข้เจ็บไปเล่า

​(นายพราน) ไม่ออกนอกเรื่องดอกตา เพราะยายแกไม่ใคร่เข้าใจ พูดกันจึงอยู่ข้างยืดยาว เรื่องมันเกี่ยวกับการฝึกสอนเด็กอย่างนี้ คือคนเกิดมา ถ้าจะว่าด้วยส่วนความรู้แล้วต้องจัดเปน ๒ ชั้น คือชั้นเด็กยังไม่รู้อะไรต้องอาศรัยผู้ใหญ่ถือท้ายฝึกสอนแนะนำไปจนโตใหญ่ ได้ความรู้ความเข้าใจดีแล้ว ชั้นนี้จึงจะใช้ความรู้ของตัวถือท้ายตัวเองต่อไปได้ ที่ว่านี้ไม่เลือกว่าความรู้อย่างใดๆ ถึงความรู้ที่จะรักษาชีวิตก็เหมือนกัน เด็กหลานของตาเวลานี้มันยังถือท้ายตัวเองไม่ได้ ต้องเปนธุระผู้ใหญ่ที่จะฝึกสอนแนะนำให้

(ตา) ถูกละ แต่อ้ายที่จะสอนให้มันรักษาชีวิตอย่างแกว่า ข้าก็ไม่เคยฝึกสอนใคร จะให้ข้าสอนอย่างไรเล่า

(นายพราน) ตามความที่เราพูดกันมา ถ้าจะว่าโดยย่อเราว่าชีวิตอาศรัยสังขาร และส่วนสังขารนั้นธรรมดาของมันควรจำแนกออกเปนส่วนร่างกายแลส่วน​ใจ จะต้องว่าเปนส่วนกัน ส่วนร่างกายนั้นเด็กหลานของตาในเวลานี้ธรรมดาของมันกำลังจะเติบโตขึ้น ในส่วนนี้ก็ต้องฝึกสอนในทางทำนุบำรุงให้เจริญกำลังร่างกายเปนประมาณ ว่าอย่างหยาบๆ ก็คือถึงเวลากินให้กินให้อิ่ม ถึงเวลาวิ่งก็ให้วิ่ง ถึงเวลาเล่นก็ให้เล่น ถึงเวลานอนก็ให้นอน อย่าทรมานร่างกายมันบอบช้ำอย่างใด เด็กนั้นจึงจะเติบโตแลมีกำลังวังชาแข็งแรงขึ้นตามสมควรแก่ธรรมดาของสังขาร ถ้าเช่นนั้นก็ย่อมเปนทางที่จะให้ชีวิตยืดยืนไปตามธรรมดาด้วยกัน

ผู้ใหญ่เลี้ยงเด็กทุกวันนี้ บางคนกลัวเด็กจะซุกซน ปราบปรามกวดขันให้นั่งพับเพียบอยู่แต่กับที่ หรือกักขังให้อยู่แต่ในเหย้าเรือนบ้าง เด็กคนใดฝึกหัดได้เช่นนี้ก็มักชมกันว่าลูกเขาดีรู้อยู่เหมือนกับผ้าพับไว้ ผู้ใหญ่บางคนอยากจะให้เด็กสวยงาม เฝ้าแต่หักแขนให้อ่อนหักมือให้งอน นับถือกันว่างามเปนผู้ดีบ้าง บางคน​อยากจะให้เด็กสบาย เฝ้าแต่อุ้มชูหอบหิ้วไม่ใคร่ให้ถูกแผ่นดินบ้าง ทำอย่างนี้ถึงทำด้วยน้ำใจรักก็จริง แต่เหมือนทำโทษลงอาญาแก่เด็กโดยมิได้คิดถึงธรรมดาว่า การที่เก็บเด็กกักขังไว้กับที่ เหมือนกับเลี้ยงช้างตกปลอกไว้กับโรง เห็นงดงามแก่ตาก็จริง แต่ช้างนั้นกำลังย่อมอ่อนเพลีย โดยจะอยู่ไปได้จนแก่เถ้าก็ง่องแง่งไม่สมประกอบดังช้างป่า การที่หักแขนหักมือเด็กจะให้งดงามนั้นเล่า ก็ไม่ผิดกับอย่างจะดัดรอดเรือนให้อ่อนเหมือนงวงครุ รอดมันเปนของสำหรับจะแบกหามของหนัก ดัดเสียให้อ่อนก็คือทอนกำลังมันให้น้อยลง แลการที่อุ้มชูนั้น ก็คือตัดกำลังมือตีนแขนขาซึ่งเกิดมาสำหรับตัวเด็กอย่างเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ฉันจึงว่าคนเราถึงรักเด็ก แต่พากันหลงเลี้ยงในทางที่จะเปนอันตรายตัดทอนกำลังแลอายุของเด็กอยู่โดยมาก เพราะเหตุที่มิได้พิจารณาดูธรรมดาของชีวิตแลร่างกายของคนเรา ในส่วนธรรมดาของใจนั้นเล่า ใจคนธรรมดาของมันเปน​สิ่งสำหรับรู้ เหมือนหูเปนธรรมดาสำหรับฟังฉนั้น แต่ความรู้นี้ต้องอาศรัยความคุ้นเคยแลความเชื่อเปนใหญ่ ยามเด็กความคุ้นเคยยังน้อย ก็ยังไม่ใคร่รู้อะไร โตขึ้นเคยขึ้นก็รู้มากขึ้นเปนลำดับไป เปรียบความอย่างต่ำๆ เด็กแรกยังไม่รู้จักว่าไฟเปนอย่างไร เอามือไปถูกเข้าก็รู้ว่าร้อน แล้วทีหลังก็ไม่จับอิกต่อไป เพราะได้ความคุ้นเคยเปนหลัก ว่าโดยส่วนความเชื่อนั้นก็คือเชื่อความคุ้นเคยของผู้อื่นเขาบอกเล่าเปนต้น เหมือนหนึ่งเด็กที่พอเข้าใจคำพูด ผู้ใหญ่บอกว่าถ้าจับมดมันจะกัดเจ็บ แต่แรกเด็กไม่ฟังไปจับเข้าถูกมดกัดเจ็บ ก็ได้ทั้งความคุ้นเคยที่มดกัดแลที่จะเชื่อว่าผู้ใหญ่เขารู้ดีกว่าด้วยเขาเคยมาแล้ว เมื่อผู้ใหญ่ห้ามปรามอันใดต่อไปเด็กก็ฟังคำโดยเชื่อถือ ที่ว่าในส่วนความคุ้นเคยเชื่อถือว่าเปนหลักของความรู้ของเด็กนี้ ถ้าคิดพิจารณาดูในตัวผู้ใหญ่เราก็เหมือนกัน ผิดกันแต่ด้วยความยิ่งแลหย่อนมากแลน้อยกว่ากันตามอายุแก่แลอ่อนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ควรเห็นได้ว่าธรรมดาที่ผู้ใหญ่จะฝึกสอนใจเด็ก ​ควรฝึกสอนโดยชี้แจงความจริงซึ่งตัวได้รู้แลได้คุ้นเคยมาก่อนทั้งฝ่ายคุณแลฝ่ายโทษ ให้เด็กได้ความรู้ยิ่งขึ้นโดยลำดับ เปนทางที่จะรักษาตัวให้เปนไปในทางข้างชอบดังนี้ จึงจะเรียกว่าเปนการฝึกสอนที่ถูกแท้ ทุกวันนี้ใหญ่เราบางคนอยากจะให้เด็กนอน หลอกเด็กว่าไม่นอนเสียตุ๊กแกจะกินตับดังนี้เปนต้น เด็กมันซื่อเชื่อถือก็ยอมนอน กลับเห็นเปนวิธีดีโดยหมิ่นเด็กว่าปัญญายังอ่อน หลอกลวงให้ทำอะไรได้ง่ายๆ ตามใจ หาคิดไม่ว่าเปนโทษแก่ตัวเด็ก ด้วยเรากล่าวเท็จเปนตัวอย่างให้มันจำแลเคยใจว่า ความเท็จย่อมจะดีผู้ใหญ่เขาจึงกล่าว หรือมิฉนั้นมันจับว่าหลอกมันได้เมื่อใด จะบอกกล่าวสั่งสอนอันใดมันก็ย่อมจะคลางแคลง ไม่ว่าจริงหรือเท็จ เมื่อว่าโดยย่อนิสัยเด็กกับผู้ใหญ่มันก็สัยคนเหมือนกัน ผิดกันแต่ที่อ่อนกับแก่ ทำสิ่งใดเปนความชั่วแก่ผู้ใหญ่ มันก็ชั่วแก่เด็กเหมือนกัน

ข้อความที่ฉันว่ามานี้ หน่อยตายายจะนึกว่าฉันรู้หลักนักปราชญ์อันใด เปนข้อความที่ฉันได้ยินมาจาก​ท่านสมภารองค์ใหม่ที่วัดแค ท่านชี้แจงให้ฟังเมื่อเร็วๆ นี้จำได้บ้างจึงมาเล่าสู่กันฟัง ถ้าตาอยากจะรู้ให้เลอียดลออละไปถามท่านดูเองเถิด เวลานี้ก็สายนักหนา ฉันจะต้องลาตากับยายไปเที่ยวหากินเสียสักที

หนู ถ้ากากินถั่วงาของเองอิกละก็ไปบอกข้านะ คราวนี้ข้าจะมายิงให้ทันทีทีเดียว อ้ายเรื่องไปวานหนูมากัดสายธนูของข้านี่มันร้ายนักต้องขอเสียที นายพรานว่าเท่านี้แล้วก็ลาไป

ตากับยายตริตรองดูถ้อยคำของนายพรานชอบใจเห็นจริงด้วยโดยมาก พอเพลแล้วตาจึงหาหมากพลูใส่พานไปหาท่านสมภารวัดแค ไปเห็นท่านสมภารเปนหนุ่มก็นึกสงสัย ว่าหนุ่มๆ เท่านี้หรือจะมีความรู้หลักอย่างนายพรานว่า ครั้นไต่ถามได้ความว่าท่านสมภารเปนมหาออกมาแต่กรุงเทพฯ ก็ยินดี จึงเล่าความที่ได้พูดกับนายพรานให้ท่านสมภารฟังทุกประการ ท่านสมภารได้ฟังก็สรรเสริญนายพรานว่า ช่างอุส่าห์​จดจำข้อความได้ดีหนักหนา แล้วท่านจึงอธิบายแก่ตาว่าที่นายพรานเขาว่านั้นก็ถูกของเขาแล้ว การฝึกสอนเด็กควรจำแนกเปน ๓ อย่าง คือทำนุบำรุงแลฝึกสอนให้เจริญกำลังร่างกายให้สมกับธรรมดานิยมให้เปนมาอย่าง ๑ ฝึกสอนสติปัญญาความคิดให้จักประกอบการต่างๆ อย่าง ๑ ฝึกสอนน้ำใจให้รู้จักผิดแลชอบอย่าง ๑ นี่แลเปนหัวใจของการฝึกสอน

(ตา) พระคุณเจ้าข้า อ้ายการฝึกสอนให้เจริญกำลังร่างกายที่นายพรานเขาเรียกฝึกสอนรักษาชีวิตนั้น ดิฉันก็เข้าใจอยู่แล้ว แต่อิก ๒ อย่างที่พระคุณว่า ดิฉันยังไม่แลเห็น คือจะฝึกสอนอย่างไรเจ้าข้า

(สมภาร) อันการฝึกสอนสติปัญญาความคิดนั้นว่าอย่างง่ายๆ ก็คือให้รู้นั้นเองแหละตา แต่การที่ควรจะรู้มันมีมาก รู้ได้ง่ายบ้างรู้ได้ยากบ้าง จะต้องฝึกสอนผ่อนผันแต่ชั้นง่าย แลชั้นควรจะรู้ก่อนขึ้นไปเปนลำดับ เปนต้นว่าอย่างต่ำ ๆ ว่าด้วยอาหารที่เรากินนี้เอง ​ก็เปนความที่จะต้องเรียนเปนอเนกปริยาย ธรรมดาคนแรกเกิดมามีความรู้ติดตัวมาก็แต่ว่าหิว แล้วก็จะต้องกินอะไรๆ จึงจะอิ่ม จะต้องมาเรียนให้รู้ว่าสิ่งนั้นเปนอาหารควรกิน แลสิ่งนั้นใช่อาหารควรกิน จะต้องเรียนจึงจะรู้ว่าอาหารสิ่งนั้นต้องหุงต้มก่อนจึงกินได้ และอาหารสิ่งนั้นไม่ต้องหุงต้มก่อนก็กินได้ จะต้องเรียนจึงจะรู้ว่าอาหารสิ่งนั้นจะต้องเพาะปลูกจึงจะมีขึ้น และอาหารอย่างนั้นจะต้องเที่ยวหาแลจับมาจึงจะได้บริโภค จะต้องเรียนจึงจะรู้ว่าอาหารอย่างนั้นๆ ต้องเพาะปลูกอย่างนั้นๆ จึงจะมีผล และอาหารอย่างนั้นๆ จะต้องจับด้วยเครื่องมือแลอุปเท่ห์อย่างนั้นๆ จะต้องเรียนจึงจะรู้ว่าอาหารอย่างใดถึงมีแต่อย่างเดียว ถ้ามากเกินต้องการก็อาจจะเอาไปแลกหาอาหารอย่างอื่นมาแต่คนอื่นได้ ว่าแต่ด้วยอาหารอย่างย่อๆ อย่างเดียวจนยืดยาวถึงเพียงนี้ก็ยังไม่เปนที่สุด พอเห็นได้ว่าความจริงในโลกที่คนเราจะต้องรู้นี้มีมากมายนัก ความรู้​เหล่านี้จำต้องเล่าเรียนด้วยสติปัญญาทุกอย่าง ว่าโดยย่อเกิดมาเปนคนก็จะต้องเล่าเรียนให้พอสามารถจะเลี้ยงชีวิตตนด้วยกำลังแลสติปัญญาที่มีมากับร่างกายให้จงได้เปนธรรมดาด้วยกันทุกคน

ก็แลการฝึกสอนข้อที่ ๓ กล่าวคือสอนใจให้รู้จักผิดแลชอบนั้น ว่าโดยทางโลก ก็ให้รู้จักความจริงว่าเพื่อนมนุษย์เกิดมาในโลกควรจะประพฤติต่อกันอย่างนั้นๆ จึงจะเปนความสุขสำราญด้วยกันทั้งโลก กล่าวคือที่ไม่กดขี่ข่มเหงเบียดเบียนให้เปนภัยอันตรายต่อกันในข้อนี้ว่าโดยย่อ ก็คือฝึกหัดสั่งสอนเด็กด้วยชี้แจงคุณแลโทษ ให้แลเห็นเชื่อลงเปนหลักแก่ใจว่า อกเราก็เหมือนกับอกเขาเท่านี้เปนที่สุด

(ตา) พระคุณเจ้าข้า พระคุณว่านี้ดิฉันก็เห็นถูกนักหนา แต่ยังมีความสงสัยอยู่นิดหนึ่ง ด้วยดิฉันได้ยินเขาพูดกันอยู่โดยชุกชุมว่า หนังสือเปนยอดวิชาที่จะต้องเล่าเรียน แต่การที่จะต้องฝึกสอนทั้ง ๓ อย่างที่​พระคุณว่านี้ ไม่เห็นมีชื่อว่าหนังสืออยู่ในนั้นเลยแต่สักคำเดียว พระคุณเห็นว่าหนังสือไม่จำเปนจะต้องเล่าเรียนดอกหรือเจ้าข้า

(สมภาร) ความที่ตาถามข้อนี้ ฉันจะอธิบายให้ฟัง แต่มันเปนเรื่องที่เข้าใจยากอยู่สักหน่อย ตาต้องตั้งใจฟังแลดำริห์ตริตรองดูจึงจะเข้าใจได้ดี อันสิ่งที่เราเรียกว่าหนังสือๆ นี้เปนแต่เครื่องหมายสำหรับเขียนคำพูดของคนเราลงไว้ ไม่ว่าหนังสือเรื่องอะไรๆ เปนต้นว่าจดหมายที่มีไปมา ก็คือคำที่เจ้าของจดหมายนั้นพูด ตำหรับตำราเรียนทั้งปวง ก็คือคำของครูบาอาจารย์ผู้แต่งท่านสั่งสอน ที่สุดจนคัมภีร์พระไตรปิฎกนั้น ก็คือคำของพระพุทธเจ้าตรัสไว้ บรรดาหนังสือทั้งปวงที่เราอ่านกัน ว่าที่แท้ก็คือคำพูดทั้งนั้น

(ตา) ช้าก่อนพระคุณ ดิฉันยังไม่เข้าใจ ขอให้อธิบายให้แจ่มแจ้งกว่านี้สักหน่อย

(สมภาร) เอาเถิด ฉันจะทำตัวอย่างให้แลเห็นแก่ตาทีเดียว ท่านสมภารว่าแล้วจึงหยิบกระดานฉะนวน​มา เขียนหนังสือลงสองสามตัวแล้วถามตาว่า ที่เขียนไว้ในกระดานฉะนวนนี้อะไร

(ตา) ก็หนังสือสิพระคุณ

(สมภาร) ถูกละ ตาลองอ่านทีหรือหนังสือนั้นว่ากระไร

(ตา) ว่า ตามาวันนี้กินเข้ามาแล้วหรือยัง

(สมภาร) หนังสือนั้นใครเขียน

(ตา) ก็พระคุณเขียนนะซิ

(สมภาร) เขียนว่ากระไร

(ตา) เขียนถามดิฉันว่ากินเข้าแล้วหรือยัง

(สมภาร) ใครถาม

(ตา) ก็พระคุณถามนะซิ

(สมภาร) คำที่ถามในหนังสือนั้น คำของใครเล่า

(ตา) ก็คำของพระคุณนะซิ อ้อ เห็นละพระคุณ เข้าใจละ

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 ธันวาคม 2564 13:42:45 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5389


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 10 ธันวาคม 2564 13:41:39 »



นิทานเรื่องเลี้ยงเด็ก (จบ)

หนังสือนี้ย่อมเปนแต่ถ้อยคำของผู้แต่งจริง เหมือนอย่างหนังสือเรื่องพระอภัยก็คือคำของสุนทรภู่ท่านเล่า​นิทานให้ฟังนั่นเอง แต่ดิฉันยังสงสัยอยู่อิกนิดหนึ่ง ถ้าหนังสือเปนสักแต่ว่าเครื่องหมายแทนคำพูด เขียนมันให้เมื่อยมือทำไมพระคุณ พูดกันเสียด้วยปากจะมิดีกว่าหรือ

(สมภาร) ฉันจะถามตาสักหน่อย เวลานี้ถ้าตาหิวเข้าตาอยู่ที่นี่ตาจะพูดบอกยายให้หาเข้าทางบ้านของตาได้หรือไม่

(ตา) จะบอกไปอย่างไรเล่าพระคุณ ก็มันอยู่ไกลกันอย่างนี้จะตะโกนไปก็ไม่ได้ยิน

(สมภาร) ถ้าเขียนคำของตาเปนหนังสือส่งไปให้ยาย จะเปนอย่างไร

(ตา) ยายแกก็คงจะหาเข้าไว้ซิพระคุณ

(สมภาร) นั่นและตา ที่ตาว่าจะพูดไปด้วยปากไม่ได้ เพราะอยู่ไกลกันไม่ได้ยินเสียง แต่ถ้าเขียนหนังสือไปยายจะเข้าใจได้เหมือนกับได้ยินตาพูด อย่างนี้การที่เขียนคำของเราลงเปนหนังสือเหมือนเราต่อเสียงของเราให้ยาวได้จริงหรือไม่

​(ตา) อ้อ อ้อ จริงอย่างพระคุณว่าแล้ว เห็นได้อย่างหนึ่งละพระคุณ หนังสือนี้เหมือนอาจจะต่อเสียงคนให้พูดไปได้ไกลๆ ใครรู้หนังสือก็เหมือนมีเสียงดัง อาจจะพูดกับคนอื่นได้ถึงร้อยโยชน์พันโยชน์ชอบกลจริงๆ

(สมภาร) ใช่แต่เท่านั้น ฉันจะต้องถามตาอิกข้อ ๑ ตาได้เคยพบปะกับท่านสุนทรภู่บ้างหรือไม่

(ตา) เปล่า พระคุณ เขาว่าแกตายเสียนมนานแล้ว

(สมภาร) ทำไมตาจึงได้รู้นิทานพระอภัยของท่านสุนทรภู่เล่า

(ตา) เพราะดิฉันได้อ่านหนังสือ เรื่องพระอภัย

(สมภาร) หนังสือนั้นสิเปนคำของท่านสุนทรภู่ ถ้าเช่นนั้นตาว่าตาได้อ่านถ้อยคำของท่านเมื่อท่านตายเสียนมนานแล้ว ที่ตัวท่านตายแต่ถ้อยคำของท่านยังอยู่มาจนบัดนี้ ด้วยอะไร

(ตา) ด้วยหนังสือซิพระคุณ อ้อ เห็นอิกอย่างหนึ่งละ

(สมภาร) นั่นแลจึงนับว่าหนังสือเปนประโยชน์อิกอย่างหนึ่ง

​เมื่อว่าโดยย่อหนังสือเปนเครื่องหมายสำหรับเขียนแทนคำพูด เพื่อจะให้พูดไปได้ไกลเกินว่าเสียงของเราประการ ๑ เพื่อจะพูดไว้ให้ถ้อยคำคงอยู่ช้านานนับด้วยร้อยด้วยพันปีอย่าง ๑ ธรรมดาของหนังสือว่าที่แท้แล้วก็เท่านี้

(ตา) พระคุณเจ้าข้า การที่ให้เด็กๆ เรียนหนังสือนี้ดิฉันก็ไม่เห็นว่ามันจะมีอะไรพูดเปนแก่นสารนัก อิกประการ ๑ ผู้ใหญ่เขาก็เลี้ยงดูมันทุกคน วิชาหนังสือสิว่าเปนวิชาสำหรับพูดไว้ให้ได้นานแลพูดไปให้ได้ไกล ถ้ามีความรู้พอพูดให้มันเปนเรื่องเปนราวได้อย่างท่านสุนทรภู่ หรือเวลาทำมาหากินทุนรอนกำลังวังชาน้อย จะจดหมายบอกไปแทนตัว เช่นว่าดิฉันจดหมายไปให้ยายหาเข้าไว้นี้ก็ควรอยู่ แต่จะสอนไปแต่เด็กๆ จะมีประโยชน์อะไรเจ้าข้า

(สมภาร) ฉันดูเหมือนนายพรานเขาได้ชี้แจงให้ตาเข้าใจแล้วมิใช่หรือ ว่าบรรดาวิชาที่เด็กจะต้องร่ำเรียนนั้น จะรู้ได้ด้วยความคุ้นเคยของตัวเองอย่างหนึ่ง ​ด้วยความคุ้นเคยของผู้อื่นเขาบอกเล่าให้เข้าใจอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างเด็กหลานของตา ตารู้อะไรก็สั่งสอนมันตามรู้ตามเห็น ถ้าเด็กนั้นไม่เรียนหนังสือก็จะได้แต่ความรู้ที่ตาฝึกสอนให้ ถ้าหากว่ามันอ่านหนังสือออกมันก็อาจจะอ่านหนังสือคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ นักปราชญ์ซึ่งอยู่ห่างไกล หรือที่ล่วงลับไปแล้วนับด้วยร้อยด้วยพันปี เสมอได้ท่านเหล่านั้นมาช่วยตาเปนครูด้วยว่าอย่างง่ายๆ ได้ความรู้ของคนมากดีกว่าได้ความรู้ของคนๆ เดียวมิใช่หรือ นี่แลเปนตัวประโยชน์สำคัญที่ต้องให้เด็กเรียนหนังสือ แต่มิใช่จะเรียนเพื่อจะให้รู้แต่วิชาหนังสือดอกนะตา เรียนเพื่อจะรู้ความคิดแลคำสั่งสอนของครูบาจารย์เปนอันมากนั้นเปนสำคัญ ข้อนี้และที่คนเราไม่ใคร่เข้าใจ มักไปหลงว่าหนังสือเปนตัววิชาเหมือนกับเห็นขวดอัดใส่ขนม ไปหลงชี้เอาทั้งขวดแลขนมซึ่งอยู่ในนั้นว่าเปนอาหาร

(ตา) พระคุณเจ้าข้า พระคุณชี้แจงแจ่มกระจ่างดีนักหนา ดิฉันเห็นแล้วว่าวิชาหนังสือนั้นเด็กต้องจำเรียน​เพราะถ้าอ่านออกแล้วก็เหมือนได้ลูกกุญแจ อาจจะไขประตูโรงเรียนเข้าไปหาครูบาอาจารย์ได้เปนอันมาก และถ้าเขียนหนังสือได้ก็เหมือนได้ฤทธิ์เดชขึ้นอิกอย่าง ๑ ซึ่งอาจจะพูดให้กระแสเสียงของตนได้ยินไปได้ไกล นับด้วยร้อยโยชน์พันโยชน์ แลอาจจะพูดไว้ให้ลูกหลานเหลนได้ยินคำพูดตลอดไปนับด้วยร้อยปีพันปี สาธุ สาธุ ความที่พระคุณว่านี้ ถ้าไม่คิดแล้วก็แลไม่เห็น พระคุณเจ้าข้า เดี๋ยวนี้ดิฉันเข้าใจแล้วว่าเด็กควรจะร่ำเรียนความรู้ประการใด แต่วิธีที่จะฝึกสอนดิฉันนี้ก็ยังไม่เคยอยากจะให้พระคุณช่วยแนะนำแต่


๏ เอะเวลาแต่งมาเหมือนสักครู่      พินิจดูหน้ากระดาษเกินคาดหมาย
ตัวก็เมื่อยมือก็ล้าตาก็พราย จบนิยายเสียสักทีเพียงนี้เอย ฯ


¤ ¤ ¤¤ ¤ ¤¤ ¤ ¤¤ ¤ ¤


บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.648 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page วานนี้