[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 11:43:22 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การกำหนดอิริยาบถ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี  (อ่าน 722 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 100.0.4896.60 Chrome 100.0.4896.60


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 04 เมษายน 2565 09:20:08 »



การกำหนดอิริยาบถ
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี

           วันนี้ถือว่าเป็นวันแรกนะครับผม เมื่อคืนนี้ไม่มีโอกาสทีจะอธิบายกรรมฐาน คือวันแรกนั้นต้องอธิบายกรรมฐาน ๗ ข้อ คือ ๑ การเดิน ๒ การนั่ง ๓ การกำหนดเสียง ๔ การกำหนดเวทนา ๕ การกำหนดจิต ๖ การนอน ๗ การออกจากภาวนา นี้เป็นกรรมฐานเบื้องต้น ต้องทำความเข้าใจ เพราะว่าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วไม่รู้จักการกำหนด การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไม่เป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่เป็นไปเพื่อความที่จะเกิดสมาธิเกิดวิปัสสนา เพราะฉะนั้นจึงขออธิบายโดยย่อนะครับผม

            การเดินจงกรมก็คือเดินแบบสติปัฏฐาน ๔ คือ ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ มีอยู่ทั้งหมด ๖ ท่า แต่เราเดินไปตามระยะได้ประมาณสัก ๓ ท่า หรือ ๔ ท่า ก็ถือว่าสมบูรณ์นะครับ เพราะว่าเวลามันสั้น การเดินนั้นคือ เราเอาส้นเท้าของเราชิดกัน ปลายเท้าของเราแยกออกพอประมาณ เอามือขวาจับข้อมือซ้าย มองไปข้างหน้าประมาณ ๑ วา คอของเราก็ไม่ควรให้เอียงซ้ายหรือเอียงขวา ให้มองไปตรง ๆ จากนั้นเราก็เอาสติมาพิจารณาอยู่ที่กายของเรา อย่าให้สตินั้นออกไปจากกายของเรา ขณะที่วิทยากรท่านกำหนดว่า “ยืนหนอ” ให้เราพิจารณาร่างกายของเราที่กำลังยืนอยู่ “ยืนหนอ ยืนหนอ” ขณะที่ “ยืนหนอ” นี่ให้เราพิจารณากายของเรา

            ถ้าวิทยากรท่านกำหนดว่า “ขวา ย่าง หนอ” ถ้าขวาเมื่อไหร่เราก็เอาสติมาพิจารณาเท้าของเรา ให้พิจารณาหมดเท้า ไม่ให้พิจารณาที่ส้นเท้า หรือกลางเท้า หรือปลายเท้า ให้พิจารณาทั้งหมด คือเราพิจารณาดูเท้าของเราทั้งหมด “ขวา” นี่ ให้เราพิจารณาดู คือขณะที่ยกเท้า ให้เรายกเท้าขึ้นพร้อมกันทั้งหมด ไม่ใช่ว่ายกส้นเท้าขึ้นก่อน ไม่ใช่ว่ายกปลายเท้าขึ้นก่อน ให้เราดึงเท้าพร้อมกัน “ขวา” ยกขึ้นมาประมาณครึ่งแข้ง ไม่ให้ยกสูงเกินไป ไม่ให้ยกต่ำเกินไป ให้ยกประมาณครึ่งแข้ง ถ้าวิทยากรยังไม่กำหนดว่า “ย่าง” เราก็อย่าเพิ่งย่างเท้าไป เพราะมันจะกำหนดไม่ทัน กรรมฐานมันจะรั่ว

            เพราะฉะนั้นให้ท่านกำหนดว่า “ย่าง” เสียก่อนเราค่อยกำหนด เมื่อท่านกำหนดว่า “ย่าง” เราค่อยเลื่อนเท้าไป “ย่าง” คือเหวี่ยงเท้าลง ถ้าท่านยังไม่ว่า “หนอ” ก็อย่าเพิ่งให้เท้าถูกพื้น ถ้าท่านว่า “หนอ” เมื่อไหร่เราก็ถูกพื้นทันที “หนอ” เราก็ถูกพื้นทันที ขณะที่หนอนั้นก็ทิ้งน้ำหนักลงไปที่เท้าขวาทั้งหมด สุดหนอเท้าของเราก็นิ่งพอดี จากนั้นเราก็เลื่อนสติมาไว้ที่เท้าซ้าย ในเมื่อท่านกำหนดว่า ซ้าย ก็ดึงเท้าซ้ายขึ้น เมื่อท่านว่า “ย่าง” ก็เหวี่ยงเท้าลง “หนอ” เท้าก็ถูกพื้นพอดี สุดหนอเท้าก็นิ่ง แต่มีข้อแม้ว่า ส้นเท้าหน้ากับปลายเท้าหลังนี่ให้มันห่างกันประมาณสักสองนิ้วหรือสามนิ้วก็จะพอดี แต่ถ้าเราให้มันห่างไกลกันมาก เวลาเรายกนี่มันก็ยกลำบาก กรรมฐานมันจะรั่ว เพราะว่าฐานของเราไม่แน่น เราถ่างขามากเกินไป ให้ขาห่างกันประมาณสักสองนิ้วหรือสามนิ้ว จากนั้นเมื่อท่านกำหนดว่า “ขวา” เราก็เอาสติมาพิจารณาเท้าขวา “ขวา” คือยกประมาณครึ่งแข้ง เวลาย่างก็เหวี่ยงเท้าลง “ย่าง” กำหนดอาการที่มันเหวี่ยงลง “ย่าง หนอ” ซ้ายก็เหมือนกัน “ซ้าย ย่าง หนอ”

            เวลาเราเดินจงกรมไปสุดทางเดินจงกรม วิทยากรก็จะบอกว่าเตรียม ถ้าท่านบอกว่าเตรียม ก็ให้เราเตรียมกลับ “ซ้าย  ย่าง หนอ” คือให้เราเอาเท้าเคียงกัน ขณะที่สุดทางจงกรมแล้วให้เราเอาเท้าเคียงกัน “ซ้าย ย่าง หนอ” จากนั้นเราก็มากำหนดรูปยืนเหมือนเดิม “ยืน หนอ” เหมือนเดิม “ยืน หนอ” “ยืน หนอ” จากนั้นเราก็เอาสติมาพิจารณาดูเท้าขวา เท้าซ้าย ของเรา ขณะที่ว่า “กลับ หนอ” ครั้งแรกนี่ ให้พิจารณาเท้าขวา “กลับ หนอ” ครั้งที่สองให้พิจารณาเท้าซ้าย “กลับ หนอ” ครั้งที่สาม ให้พิจารณาเท้าขวา “กลับ หนอ” ครั้งที่สี่ ให้พิจารณาเท้าซ้าย คือมันจะกลับทั้งหมด ๒ คู่ เท่ากับ ๔ ครั้ง

            ถ้าเรา “กลับหนอ” ครั้งแรกเท้าขวาของเรายกแต่ปลายขึ้นเฉย ๆ ยกแต่ปลายเท้าขวาขึ้นแล้วก็หมุนไปช้า ๆ “กลับ หนอ” หมุนมานี่เท้าขวากับเท้าซ้ายทำมุมกัน ๙๐ องศา กลับ หนอ ครั้งที่ ๒ ยกเท้าซ้ายพอพ้นพื้น “กลับ หนอ” มาเคียงไว้ที่เท้าขวา “กลับหนอ” ครั้งที่ ๓ ยกปลายเท้าขวาขึ้นให้ส้นเท้ามันตั้งอยู่กับพื้น แล้วก็หมุนไปตามเสียงที่กำหนด “กลับ หนอ” “กลับหนอ” ครั้งที่ ๔ เราก็พิจารณาดูเท้าขวา คือยกพอพ้นพื้น “กลับ หนอ” ก็มาเคียงกันเหมือนเดิม จากนั้นเราก็ “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ก็พิจารณา ถ้าท่านกำหนดว่า “ขวาย่างหนอ” เราก็พิจารณาเท้าขวาทันที ท้าท่านกำหนดว่า “ซ้ายย่างหนอ” เราก็พิจารณาอาการของเท้าซ้ายทันที ถ้าท่านกำหนดว่า “ยืนหนอ” เราก็พิจารณากำหนดรูปยืนทันที พิจารณาอาการยืนของเราทันที ถ้าท่านกำหนดว่า “อยากเดินหนอ” คำว่า “อยาก” นี่ต้องกำหนดใจของเราทันที “อยากเดิน” “อยากยืน” “อยากนั่ง” นี่ ให้เรากำหนดใจของเราทันที อันนี้เป็นการเดิน

            เมื่อเราเดินเสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็สำรวมไปนั่ง เมื่อสำรวมไปนั่งเราก็มานั่งที่ที่เราปูนิสีทนะไว้ เมื่อเราไปถึงที่นั่งแล้วเราต้องกำหนดรูปยืนของเราเสียก่อน โดยที่เรากำหนดว่า “ยืนหนอ” คือเราไม่นั่งตามอำนาจของความอยากนั่ง เรานั่งด้วยอาการมีสติ เพราะการยืนก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติ การเดินก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติ การนั่งก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเราต้องปฏิบัติในทุกอิริยาบถ การปฏิบัติจึงจะเป็นไปติดต่อ เพราะฉะนั้น ขณะที่เรานั่งเราต้องกำหนดไปด้วย “ยืนหนอ ๆ ๆ” เราก็พิจารณาอาการของรูปยืนของเรา จากนั้นเราก็กำหนดว่า “นั่งหนอ” ขณะที่กำหนดว่า “นั่งหนอ” นี่ ตัวของเราก็ย่อลง

            ขณะที่ตัวของเราย่อลงให้เราพิจารณาอาการที่เรากำลังนั่งลงไปด้วยว่าเรากำลังนั่งลงไปอย่างไร “นั่งหนอ ๆ” นี่เราก็ย่อตัวลง “นั่งหนอ ๆ ๆ ๆ” ในท่าคุกเข่า จากนั้นเราก็โยกตัวขึ้น “นั่งหนอ ๆ ๆ” ขณะที่เรากำหนดว่า “นั่งหนอ” ให้เราพิจารณาอาการที่นั่งของเราเป็นประจำ เรานั่งอย่างไรเราก็พิจารณาตามความเป็นจริง ขณะที่เราโยกตัวขึ้นนี่ส้นเท้าของเราก็จะเคียงกัน จากนั้นเราก็เอาส้นเท้าขวาสอดไปใต้ส้นเท้าซ้าย เอาส้นเท้าซ้ายทับเท้าขวา จากนั้นเราก็นั่งทับลงไป ในขณะนี้เรายังบริกรรมว่า “นั่งหนอ” อยู่นะ “นั่งหนอ ๆ ๆ” ทับส้นลงไป สำหรับพระนะ สำหรับโยมผู้ชายก็เหมือนกัน ส่วนโยมผู้หญิงก็เป็นการนั่งพับเพียบ ก็จะนั่งอยู่ในท่านี้

            จากนั้นเราก็ค่อยเอามือซ้ายวางไว้ที่หน้าตัก เอามือขวามาแต่งจีวร จีวรมันมีหลายชั้น มีทั้งสบงทั้งจีวรเราก็มาแต่ง จากนั้นเราก็ดึงขาขวาขึ้นมาทับขาซ้าย ให้มันอยู่ระหว่างหน้าขา ไม่ใช่อยู่ระหว่างปรีแข้งนะ ถ้ามันอยู่ปรีแข้งมันจะนั่งได้ไม่นาน มันจะปวด จากนั้นเราก็เอามือขวาทับมือซ้ายนะครับผม เอาหัวแม่มือขวากดหัวแม่มือซ้าย จากนั้นเราก็โยกตัวไปข้างหน้า เราดึงตัวขึ้นมาตรง ๆ แล้วเราก็โยกไปข้างหน้าหน่อยหนึ่ง แล้วก็ดึงกลับมา ตัวของเรามันจะตรง กระดูกสันหลังของเรามันจะตรง จากนั้นเราก็ทรงมันไว้

            แต่ถ้าเราไม่ทรงมันไว้มันก็ค่อย ๆ อ่อนลง ๆ โดยเฉพาะเรากำหนดอาการพองอาการยุบมันจะค่อย ๆ อ่อนลง เพราะฉะนั้นเราต้องทรงมันไว้นะครับผม ดึงมันไว้ มันก็จะนั่งตรง หน้าของเรามองไปข้างหน้าประมาณหนึ่งวา ยืนก็มองไปหนึ่งวา นั่งก็มองไปประมาณหนึ่งวา คอของเราก็จะไม่ก้มจนเกินไป ไม่เงยเกินไป มันจะพอดี คอของเราเวลานั่งไม่ให้เอียงซ้าย ไม่ให้เอียงขวา ให้พอดี ๆ จากนั้นเราก็เอาสติมากำหนดไว้ที่อาการพองอาการยุบ กำหนดดูท้องพองท้องยุบ อาการพองอาการยุบมันปรากฏอยู่ตรงไหน มันปรากฏอยู่เหนือสะดือของเราประมาณ ๒ นิ้ว ท้องพองท้องยุบมันจะปรากฏชัดอยู่ตรงนั้น เราก็เอาสติไปพิจารณาอยู่ตรงนั้น พิจารณาดูอาการของท้องพองท้องยุบ ไม่ใช่พิจารณาดูหนังท้อง ให้เราแยกออกให้ดี คือพิจารณาดูอาการของมัน ไม่พิจารณาดูหนังของมัน เพราะว่าอาการของมันนั่นแหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดพระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็อยู่ตรงที่อาการเกิดอาการดับของมัน เพราะฉะนั้น ให้เราพิจารณาดูอาการของมันที่มันพองขึ้นแล้วก็ยุบลง

            ถ้าเราพิจารณาดูหนังท้องนั้นเรียกว่าเราติดอยู่ในสมมติบัญญัติ ถือว่าเป็นบัญญัติที่มีอารมณ์ มีรูปเป็นอารมณ์ มีเสียงเป็นอารมณ์ คล้าย ๆ กับว่าเราเพ่งดินก็มีดินเป็นอารมณ์ เพ่งน้ำก็มีน้ำเป็นอารมณ์ อันนี้เราเพ่งรูปเพ่งนาม เพิ่งดูอาการที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นี่ก็ถือว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะฉะนั้นก็ขอให้เรากำหนดดูอาการของท้องพองที่มันพองขึ้น แล้วก็อาการของท้องที่มันยุบลง ขณะที่มันพองขึ้นนี่ “พองหนอ” เราก็อย่าไปบังคับลมหายใจเข้าออก คือเราหายใจอย่างไรเราก็หายใจอย่างนั้น เรายืนเราเดินเรานั่งเรานอน เรากิน เราดื่ม เราพูด เราทำ เราคิด กิจอะไรก็ตาม เราหายใจปกติธรรมดาอย่างไรเราก็หายใจอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเวลาอยู่ปกติก็หายใจธรรมดา

            แต่พอเวลามาปฏิบัติธรรมแล้วก็แกล้งหายใจยาว ๆ หรือว่าสูดลมหายใจแรง ๆ นี้เรียกว่าผิดปกติ อันนั้นเป็นการบังคับ ไม่ใช่เป็นธรรมชาติ การเจริญสมถะนี่บังคับได้ เวลาจิตใจมันสงบแน่นิ่งนี่เราเร่งลมหายใจเข้าออกเร็วเข้า ๆ ๆ ก็ได้ แต่การเจริญวิปัสสนาไม่ได้ การเจริญวิปัสสนานั้นต้องปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ปล่อยให้ร่างกายของเรานี่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือปล่อยให้มันหายใจเข้า เมื่อหายใจเข้าเต็มที่แล้วก็หายใจออก เมื่อหายใจออกเต็มที่แล้วก็หายใจเข้า มันจะช้าหรือว่ามันจะเร็ว ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงมัน หน้าที่ของเราต้องดูมันอย่างเดียว หรือว่ามันจะสั้นก็ดี มันจะยาวก็ดี ก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงมัน เรามีหน้าที่ดูอย่างเดียว คือดูว่ามันออกมาอย่างไร มันตั้งอยู่อย่างไร แล้วมันดับไปอย่างไร

            อาการพองนี่มันเริ่มพองขึ้นมาอย่างไร เมื่อกลางพองมันเป็นอย่างไร เมื่อถึงสุดพองแล้วมันเป็นอย่างไร เมื่อสุดพองเต็มที่แล้วมันเป็นอย่างไร มันตั้งอยู่ไม่ได้ มันค่อย ๆ ยุบลงไป ขณะที่ยุบลงไปมันยุบยังไง มันยุบเร็วหรือยุบช้า ยุบฝืด ๆ หรือว่ามันยุบแน่น ๆ หรือว่ามันยุบเป็นพัก ๆ หรือว่ามันยุบเป็นหยัก ๆ หรือว่ามันยุบเหมือนกับว่าเราทิ้งปุยนุ่นไปในอากาศ ขณะที่เราทิ้งปุยนุ่นไปในอากาศมันจะค่อย ๆ ลง ค่อย ๆ ลง อาการยุบของเรามันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า หรือว่าเป็นเหมือนกันเราลงขั้นบันใด อันนี้แล้วแต่ ให้เราพิจารณาดูอาการของท้องของเรา

            บางคนบางท่านมันจะเกิดไม่เหมือนกัน บางคนบางท่านก็เกิดหลายอย่างหลายประการ จะขอพูดโดยย่อ ไม่ขอพูดโดยพิสดาร เพราะฉะนั้น ให้คณะครูบาอาจารย์ถือเอาหลักโดยย่อก็แล้วกัน เมื่อไปประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว มันจะเกิดอาการสภาวะของแต่ละรูปแต่ละท่านออกมาเอง เมื่อเกิดสภาวะของแต่ละรูปแต่ละท่านออกมาแล้วเราค่อยมาถามครูบาอาจารย์ เพราะว่าสภาวธรรมนั้นมันกว้างขวาง ไม่ใช่ว่ามีร้อยแปด ไม่ใช่มีล้านแปด แต่มีมากกว่านั้นอีก เพราะสภาวธรรมมันเกิดขึ้นมาด้วยบุญ ด้วยบาป ด้วยกรรม ด้วยกุศลที่บุคคลนั้นได้สร้างสมอบรมมา เพราะฉะนั้นสภาวธรรมจึงไม่เหมือนกัน แต่คล้าย ๆ กัน พอที่จะอนุมานได้ว่ามันเป็นวิปัสสนาญาณชั้นนั้น ๆ สามารถที่จะพยากรณ์ได้ แล้วก็เมื่อเรากำหนดอาการพองอาการยุบในลักษณะนี้แล้ว ขณะที่ท้องพองท้องยุบมันเร็วขึ้นเราก็ไม่ต้องตกใจ มันแน่นเข้า ๆ เหมือนใจจะขาด เราก็อย่าไปตกใจ มันเร็วขึ้น ๆ เหมือนกับจะหายใจไม่ทันก็อย่าไปตกใจ หรือว่ามันเบาลง ๆ เหมือนกับว่าลมหายใจไม่มี เราจะตายหรือเปล่าหนอ หรือยังไงนี่ เพราะว่าลมหายใจมันไม่มี คนไม่หายใจก็คือคนตายเท่านั้น บางคนก็เกิดความกลัวขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ก็มี เพราะฉะนั้นเราก็อย่าไปตกใจ ก็ดูมันไป

            เราปฏิบัติธรรมนั้นต้องปฏิบัติด้วยศรัทธาด้วย ต้องปฏิบัติด้วยปัญญาด้วย คือนอกจากจะมีศรัทธาแล้วก็ต้องมีปัญญา อย่าไปกลัวในสิ่งที่มันไม่ควรกลัว สิ่งเหล่านี้มันเป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นมา ให้เรารู้ว่ารูปนามมันเป็นอนิจจัง ถ้ามันเร็วขึ้น ๆ ๆ ท่านเรียกว่ามันเป็นอนิจจัง ในด้านของการปฏิบัติ ถ้ามันแน่นเข้า ๆ ๆ ใจจะขาด ท่านว่าเป็นบุคคลที่เคยบำเพ็ญบารมีทางสมถกรรมฐานมามาก อาการของทุกขังมันก็เลยเกิดขึ้นมา ส่วนอนิจจังนั้น คนเคยบำเพ็ญทานมามากมันก็เลยเกิดอนิจจัง ส่วนบุคคลใดเคยเจริญวิปัสสนามาในภพก่อนชาติก่อนมาก เวลามานั่งภาวนาอาการพองอาการยุบมันก็จะแผ่วลง ๆ เหมือนกับปุยนุ่น มันค่อย ๆ เบาลง ๆ บางครั้งมันก็เล็กลง ๆ ๆ จนท้องพองท้องยุบไม่มีเลย ปรากฏแต่หน้าท้องอยู่เฉย ๆ เหมือนกับลมหายใจไม่มี ต้องแกล้งหายใจเข้าเพื่อที่จะเห็นลมที่มันมากระทบจมูก

            เพราะว่าถ้าบุคคลใดเคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานมามาก เวลามาปฏิบัติธรรมนี่ ถ้าผ่านการประพฤติปฏิบัติธรรมนับตั้งแต่ครั้งหนึ่งไป ลมหายใจมันก็จะเริ่มละเอียดลง คือลมหยาบมันจะหมดไป ถ้าผ่านครั้งที่สองลมหายใจที่ละเอียดมันก็จะละเอียดเข้าไปอีก การที่เราจะหายใจให้ลมมันกระทบปลายจมูกนี่มันจะละเอียดลง ทำไมมันเป็นอย่างนั้น เพราะว่าจิตใจมันละเอียดลมมันก็เลยละเอียด แต่ถ้าผ่านไปอีก ลมหายใจมันก็ยิ่งละเอียดลงไปอีก อาการของลมที่มากระทบนี่มันเป็นของที่สำเหนียกได้ยาก บางครั้งก็ต้องแกล้ง ในลักษณะอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นอาการของผู้ที่เคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานมาก่อน

            เพราะฉะนั้น เราต้องกำหนดดูอาการพองอาการยุบ ดูว่าอาการพองอาการยุบนี่เวลามันพองมันพองยังไง ยุบลงยังไง โดยที่เราไม่ต้องไปสนใจ มันจะพองน้อย ๆ เพียงแว๊บ ๆ พองเท่ากับสองเส้นขนสามเส้นขน ถ้าเรามีสติกำหนดรู้มันก็ถือว่าใช้ได้เหมือนกันหมด สามารถเกิดสมาธิเกิดปัญญาได้เหมือนกันหมด ไม่ใช่ว่ามันต้องพองมากพองชัดถึงจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ใช่ พองน้อย ๆ ก็ไม่เป็นไรแต่ขอให้เรามีสติ เหมือนกับเรายกนี่แหละ ต้องยกสูง ๆ มันถึงจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้ายกต่ำ ๆ ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อะไรทำนองนี้ แสดงว่าถือผิด ถ้ายกสูงแล้วได้บรรลุมรรคผลนิพพาน คนสูง ๆ ยกสูง ๆ มันก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานหมด คนต่ำ ๆ ก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้น อาการพองอาการยุบก็เหมือนกัน มันพองมากก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเหมือนกัน พองน้อยก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเหมือนกัน แต่ต้องให้มันเป็นตามธรรมชาติ ไม่ใช่เราแกล้งนะ แต่ถ้าเราแกล้งแล้วก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะอะไร ? เพราะว่ามันจะเป็นสมถะไป เป็นฌานเป็นความสงบ เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานไป เพราะฉะนั้นเราต้องปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ หลังจากเรากำหนดอาการพองอาการยุบเรียบร้อยแล้วนี่ เรากำหนดอย่างนี้เรื่อยไป ให้เรามีสติพิจารณาอย่างนี้เรื่อยไปจนครบ ๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมงตามที่วิทยากรท่านนำ

            ต่อไปก็เป็นการกำหนดเวทนา กำหนดเวทนาก็คือกำหนดความเจ็บความปวด ขณะที่เรานั่งไปนี่มันจะปวดหัวก็ดี จะปวดคอก็ดี ปวดหลังก็ดี ปวดเอวก็ดี เราก็ต้องกำหนดว่า “ปวดหนอ ๆ” คืออาการปวดมันชัดเจน ขณะที่เรากำหนดอาการพองอาการยุบมันชัดเจนนี่ อาการพองอาการยุบมันเร็วขึ้น ๆ หรือว่าแน่นขึ้น ๆ หรือว่าแผ่วลงชัดเจน เราไม่ต้องไปกำหนดปวด เราก็กำหนดอาการพองเลย แต่ถ้าอาการปวดมันปรากฏชัดเจนมาก จะปวดขาหรือปวดหลังก็ดี ตรงไหนที่มันปวดมากที่สุดเราก็ไปพิจารณาอยู่ตรงนั้น พิจารณากำหนดลงไปว่า “ปวดหนอ ๆ” คือเอาสติของเราลงไปพิจารณาดูความปวด ถ้าเราปวดขาเราก็กำหนดว่า “ปวดหนอ” จี้ลงไปที่ขาของเรา ขณะที่มันปวดที่ขาของเราคือหัวเข่านี่เราต้องพิจารณาดูว่าตรงที่มันปวดมากที่สุดตรงไหน การปวดนี่เราต้องพิจารณาตรงที่มันปวดมากนะ สมมติว่ามันปวดหัวก็ดี ปวดคอก็ดี ปวดหลังก็ดี ปวดเอวก็ดี ปวดขาก็ดี พร้อมกันเลย เราจะกำหนดอย่างไร เราไม่ต้องสับสัน ใจเย็น ๆ แล้วก็พิจารณาดูว่าตรงไหนมันปวดมากที่สุด

            ถ้าหัวเข่าปวดมากที่สุดเราก็ไปกำหนดที่หัวเข่า แล้วก็พิจารณาตรงหัวเข่าอีกว่า ตรงหัวเข่านี่ จุดไหนมันปวดมาก หรือว่าปวดทั้งบริเวณหัวเข่า ตามธรรมดามันปวดทั้วบริเวณหัวเข่าก็จริงอยู่ แต่มันจะมียอดปวด คือมีตรงที่ปวดมากที่สุดอยู่ตรงไหนเราก็เอาสติไปพิจารณาความปวดอยู่ตรงนั้น ตรงนั้นมันปวดอย่างไร มันปวดแสบหรือว่าปวดร้อน หรือว่าปวดเหมือนกับมีถ่านไฟมาวางไว้ หรือว่าเหมือนเราไปนั่งอยู่บนตอแหลม ๆ อะไรทำนองนี้ มันจะมีอาการปวดพิเศษขึ้นมาอีก อันนั้นเรียกว่ายอดปวด เราก็ไปพิจารณาดูความปวดตรงนั้นแหละ นั่ง ๓๐ นาที มันจะปวดระดับหนึ่ง นั่ง ๑ ชั่วโมง มันจะปวดระดับหนึ่ง นั่ง ๒ ชั่วโมง มันจะปวดระดับหนึ่ง นั่ง ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง มันก็จะปวดไปตามลำดับของมันมากขึ้น ๆ ให้เราพิจารณาดูตรงที่ปวดตรงนั้น

            เมื่อเราพิจารณาดูความปวดตรงนั้น บางครั้งมันจะเห็นเหมือนกับว่าความปวดมันวิ่งได้ เหมือนกับว่ามันเป็นตัวเป็นตน ให้เราพิจารณาอยู่ตรงนั้นแล้วก็กำหนดว่า “ปวดหนอ” จี้ลงไป “ปวดหนอ” จี้ลงไป เรากำหนดนี่ไม่ใช่ว่ากำหนด “ปวดหนอ” แล้วความปวดมันต้องหายไป ไม่ใช่นะ ไม่ใช่ให้ความปวดมันหายไป แต่ให้เรากำหนดรู้อาการปวดเฉย ๆ ถ้าเรากำหนดว่า “ปวดหนอ” สมาธิของเรามันเพิ่มขึ้น “ปวดหนอ” สมาธิของเรามันเพิ่มขึ้น วิปัสสนาของเรามันเพิ่มขึ้น เมื่อความปวดมันปรากฏชัดเต็มที่แล้วมันจะหายไปของมันเอง มันจะดับพรึบไปเอง

            ถ้าความปวดมันปวดเต็มที่แล้ว สมาธิของเราเต็มที่ การกำหนดของเราบริบูรณ์ดี มันจะหายของมันไปเอง แต่ถ้ามันปวดยังไม่เต็มที่ สติของเรายังไม่ดี สมาธิของเรายังไม่ดี การกำหนดของเรายังไม่ดี วิปัสสนาญาณของเรายังไม่ดี มันก็จะไม่หาย มันก็จะปรากฏอยู่อย่างนั้น เราก็กำหนดอยู่อย่างนั้นแหละ เพราะว่าการปฏิบัติธรรมนี่ไม่ใช่ว่ากำหนดแล้วมันได้สมาธิแล้วมันดี กำหนดแล้วมันหายมันดี ไม่ใช่ อันนี้แล้วแต่บุญวาสนาบารมี แต่ถ้าบุคคลใดเคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานมามาก เวลากำหนดมันจะไม่หาย มันจะเห็นปรากฏชัด “ปวดหนอ ๆ” เมื่อเห็นปรากฏชัด ผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานมามากจะแยกออกทันทีเลยว่า ความปวดก็อย่างหนึ่ง กายของเราก็อย่างหนึ่ง จิตของเราก็อีกอย่างหนึ่ง ความปวดของเราไม่ใช่กาย กายก็ไม่ใช่ความปวด ความปวดไม่ใช่จิต จิตก็ไม่ใช่ความปวด ใจก็ไม่ใช่กาย กายก็ไม่ใช่ใจ มันจะแยกออก มันจะเป็น ๓ อย่าง

            ๑. ความปวด

            ๒. กายของเรา

            ๓. ใจของเรา

            อันนี้คนที่เคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานจะมองทะลุทันทีว่าความปวดนี่มาอาศัยกายเกิดขึ้น จิตที่อาศัยกายอยู่นี่แหละมายึดมั่นถือมั่นในความปวด มันก็เลยเป็นเหตุว่าเราปวดเราเจ็บ เราแสบ เราร้อน เกิดขึ้นมา แต่ถ้าว่าจิตไม่มี กายของเราก็ไม่มี ความปวดมันก็ไม่มี กายของเราก็ไม่สามารถที่จะรับรู้ความปวดได้ เหมือนกับคนตาย คนตายเขาจะเอาไปเผาไฟก็ไม่รู้จักความร้อน ไม่รู้จักความปวด เพราะอะไร ? เพราะว่ามันไม่มีใจ แต่เมื่อมีใจแล้วมันก็มีอาการเจ็บอาการปวด ทำไมความปวดมันจึงมาเกิดขึ้นที่กาย เพราะว่าเรานั่งนานเกินไป เราเดินนานเกินไป มันจะเกิดความปวดขึ้นมา ความปวดนี้มันเกิดขึ้นมาเพราะเรานั่งนาน ถ้าเราลุกขึ้นมาเวลาไหน ความปวดมันก็หายไปทันที เราเคยนั่งหนึ่งชั่วโมงนี่เหมือนขาจะขาด นั่งภาวนาใหม่ ๆ นั่ง ๒ ชั่วโมงเหมือนขาจะขาด นั่ง ๓ ชั่วโมงเหมือนขาจะขาด เรานั่งใหม่ ๆ แต่พอมันปวดมาก  ๆ นั่นแหละ เราลุกขึ้นมาแป๊ปเดียวเท่านั้นแหละ ไม่รู้ว่าความปวดมันหายไปไหน มันดับไปเลย อันนี้เพราะอะไร ? ก็เพราะว่าความปวดนั้นเกิดขึ้นเพราะว่าเรานั่งนานเท่านั้นเอง ถ้าเราเปลี่ยนอิริยาบถทันก็หาย เพราะฉะนั้น ความกลัวนั้นมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่แน่นอน เรามีหน้าที่กำหนดเราก็กำหนดเรื่อยไป อันนี้เป็นการกำหนดความปวด

            ต่อไปเป็นการกำหนดเสียง ขณะที่เรานั่งไปมันได้ยินเสียง มีโยมคุยกัน มีพระคุยกัน มีโยมมาถวายสังฆทาน มาคุยกันจัดอาหารเสียงจอแจ เราจะทำยังไงคราวนี้ เราก็กำหนดที่ประสาทหูของเรา กำหนดว่า “ได้ยินหนอ ๆ” หรือว่า “เสียงหนอ ๆ” หรือว่า “รู้หนอ ๆ” ที่แก้วหูของเรา ถ้าเรากำหนดว่า “เสียงหนอ” สติของเราต้องอยู่ที่ประสาทหูของเรา อย่าไปตามเสียง อย่าไปปรุงแต่งว่าเสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เสียงนก เสียงหนู ให้เรารู้เสียงเฉย ๆ รู้ว่าเสียงมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มากระทับเราเฉย ๆ นี่เป็นไปในลักษณะอย่างนั้น

            ให้เราพิจารณาอยู่อย่างนี้ คือพิจารณาดูอาการของเสียง รู้ว่าเสียงนั้นมันแรง เสียงนั้นมันเบา เสียงนั้นมันสั้น เสียงนั้นมันยาว รู้เฉย ๆ แต่เราไม่ปรุงแต่งในเสียงนั้น ให้พิจารณาแต่เสียงเฉย ๆ อาการที่มันมากระทบหูของเราเฉย ๆ เมื่อเราพิจารณาดูอาการที่มันมากระทบหูของเรานั่นแหละ เป็นการประพฤติปฏิบัติที่สมบูรณ์แบบ แต่ถ้าเราไปปรุงแต่งว่าเสียงผู้หญิง เสียงผู้ชาย เสียงเขาสรรเสริญ เสียงเขาด่า เสียงเขานินทา อะไรทำนองนี้ มันจะเกิดกิเลสขึ้นมา แทรกซ้อนขึ้นมาเลยว่าเขาด่าเราหรือว่าด่าใคร เขาสรรเสริญเราหรือว่าสรรเสริญใคร นี่มันจะปรุงแต่งขึ้นมา ถ้าเขาสรรเสริญล่ะเออค่อยยังชั่ว แต่ถ้าเขานินทาเรานี่ไม่ได้แล้ว มานินทาเราทำไม เราก็มีศักดิ์ศรีเหมือนกัน เกิดกิเลสขึ้นมาแล้วคราวนี้ ไม่ยอมใครเหมือนกัน ในลักษณะอย่างนี้ก็เกิดการปรุงแต่งขึ้นมา ความวุ่นวายมันก็จะเกิดขึ้นมา

            คนที่โกรธก็เหมือนกัน เวลาเขามาทำให้เราโกรธนี่ บางครั้งเขามาว่าให้เราเราก็เลยโกรธ บางครั้งเขาไม่ว่า แต่เขาแสดงอาการตึงตัง ๆ ขึ้นมา เรามาเห็นแล้วเราไม่ชอบใจเราก็โกรธขึ้นมา ในลักษณะอย่างนี้ก็เพราะอะไร ? เพราะว่าเราไม่กำหนด แต่ถ้าเขามาว่าเรามาด่าเรานี่ เรากำหนดว่า “ได้ยินหนอ ๆ” นี่ ความโกรธมันจะไม่เกิดขึ้นมา ถ้าเรากำหนดบ่อย ๆ “ได้ยินหนอ ๆ” บ่อย ๆ ถ้าเขามาด่าเราปุ๊บ ถ้าเรายังละความโกรธไม่ได้นี่ จิตใจของเรามันจะโกรธ พอจิตใจมันจะโกรธมันจะมีสติกำหนดรู้ทันทีเลย เออ จิตใจมันผิดปกติแล้ว มันจะร้อนขึ้นมาทันทีแล้ว มันก็สามารถที่จะกำหนดทันว่า “โกรธหนอ ๆ” กิเลสมันก็ไม่เกิดขึ้นมาทับถมจิตใจ การประพฤติปฏิบัติธรรมมันก็จะเป็นไปได้ผล ทำให้เราสามารถที่จะละความโกรธได้ ความโกรธก็ไม่ตั้งอยู่ในจิตในใจของเรา

            เปรียบเสมือนกับเราเอาน้ำทิ้งลงบนใบบัว น้ำมันก็ไม่ซึมเข้าไปในใบบัว เวลาลมพัดมาใบบัวโยกไปมาน้ำก็ตกจากใบบัว ความโกรธที่มันมากระทบหูของเรา เรากำหนดว่า “โกรธหนอ” “ได้ยินหนอ” หรือว่ามันเกิดขึ้นมาในใจของเราเรากำหนดว่า “โกรธหนอ” ก็เหมือนกัน มันก็ไม่ซึมเข้าไปในใจของเรา คือเราไม่ไปยึดมั่นถือมั่น ไม่กำหมัดกัดฟัน ไม่อยากจะอาฆาตพยาบาท ปล่อยมันไปมันก็ร่วงตกลงไป นี่การประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไปนาน ๆ มันจะค่อยซึมซับเข้าไป ความดีความงามปรากฏชัดขึ้นมา เราจึงจะเห็นอานิสงส์ของการประพฤติปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นเสียง ขอพูดโดยย่อ

            ต่อไปก็เป็นการกำหนดจิต การกำหนดจิตนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ จิตนั้นถือว่าเป็นหัวหน้าของกาย กายจะยืน จะเดิน จะเหิน จะกิน จะดื่ม จะพูด จะคิดนี่มีจิตสั่งทั้งนั้น ถ้าจิตไม่สั่งนี่ทำไม่ได้ จิตนั้นเป็นนาย กายเป็นบ่าว จิตเป็นนาย กายเป็นแหล่ง จิตเป็นผู้แต่ง กายเป็นผู้กระทำ มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา มนสา เจ ปสนฺเนน เป็นต้น ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ใจเป็นผู้สั่งการ ถ้าใจบริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว กายก็บริสุทธิ์ด้วย ถ้าใจไม่บริสุทธิ์ กายก็ทำบาปด้วย วาจาก็ทำบาปด้วย เพราะฉะนั้น ใจของเรานี่จึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เราต้องกำหนด นักปฏิบัติธรรมกำหนดจิตไม่ได้ การประพฤติปฏิบัติไม่ได้ผล บุคคลใดก็ตาม ถ้ากำหนดจิตบ่อย ๆ พยายามกำหนดจิตอยู่เป็นประจำ พยายามรู้ว่าจิตของตนเองมีราคะหรือไม่ จิตของตนเองมีโทสะหรือไม่ จิตของตนเองประมาทหรือไม่ประมาท จิตของตนเองหลงหรือไม่หลง จิตของตนเองมัวเมาหรือไม่มัวเมา จิตของตนเองเกียจคร้านหรือไม่เกียจคร้าน ถ้ากำหนดอยู่อย่างนี้ตลอดกิเลสมันจะไม่แทรก บุคคลนั้นจะสามารถปฏิบัติธรรมได้สมบูรณ์แบบ เดินจงกรมนั่งภาวนาก็ได้ผลเร็ว

            ขณะที่เดินจงกรมนั่งภาวนานี่ควบคุมจิตไปด้วย ว่าจิตของเรานี้คิดถึงใครอยู่ จิตของเรานี้ฟุ้งซ่านเรื่องอะไรอยู่ จิตของเรานี้เหม่อลอยไปถึงเรื่องอะไร เหม่อลอยไปตามนิมิต เหม่อลอยไปตามปีติ เหม่อลอยไปตามปัสสัทธิ หรือว่าเหม่อลอยไปตามอาการของความเจ็บความปวดการปรุงแต่ง หรือว่าเหม่อลอยไปตามนิมิต เราคุมจิตของเราไว้ ถ้าเราคุมไว้อยู่ในลักษณะอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติเป็นไปได้เร็ว การประพฤติปฏิบัตเป็นไปได้ ๕ วัน ๖ วัน ก็ถือว่าลงตัวเต็มที่แล้ว อย่างที่คณะครูบาอาจารย์มาปฏิบัติ ๙ คืน ๑๐ วัน คิดว่าเวลามันน้อย

            แต่ถ้าสำรวมจริง ๆ ตั้งใจปฏิบัติจริง ๆ สำรวมทุกอิริยาบถ จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกิน จะดื่ม จะทำ จะพูด จะคิด ทำกิจอะไรสำรวมหมด ไม่พูดมาก ไม่คุยมาก ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ไม่สนใจคนอื่น ตั้งใจที่จะเดินจงกรมอย่างเดียว ๙ คืน ๑๐ วันนี่เหมือนกับเราหายใจเข้าแล้วก็หายใจออก แป๊บเดียว ความเพลิดเพลินนี่มันแป๊บเดียว ถ้าเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติ แล้วก็อารมณ์ของกรรมฐานมันจะสมบูรณ์แบบตั้งแต่สามสี่วันแรกห้าวันแรกแล้ว ถ้าเราไม่เคยปฏิบัตินะ มันจะรวมมาทันที เพราะฉะนั้น ขอให้คณะครูบาอาจารย์นั้นกำหนดต้นจิตให้มันทัน คือกำหนดอาการที่จิตมันสั่งการอย่างโน้นอย่างนี้ กำหนดให้มันทัน เรียกว่ากำหนดอาการของจิต ความคิดนั้นถือว่าเป็นอาการของจิต จิตของเรานั้นมีหน้าที่อยู่ ๔ อย่าง คือ

            ๑. รับอารมณ์

            ๒. รู้อารมณ์

            ๓. จำอารมณ์

            ๔. คิดอารมณ์

            เรียกว่า รับ จำ คิด รู้ รับอารมณ์ด้วย จำอารมณ์ด้วย คิดด้วย แล้วก็รู้อารมณ์ด้วย

            คือถ้าเราไม่กำหนดมันก็รับอารมณ์ที่ไม่ดีขึ้นมา ความโกรธ ความโลภ ความหลง นี่ รับสิ่งเหล่านี้เข้ามา แล้วมันก็จะจำสิ่งเหล่านี้ไว้ ถ้าเขาว่าเรามันก็จะโกรธจำไว้ โกรธแค้น เกิดความพยาบาทขึ้นมา ถ้าดีมันก็ประทับตรึงใจแล้วก็อยากได้สิ่งนั้นมาก ๆ มันจะจำอารมณ์นั้นไว้ แล้วมันก็จะคิดปรุงแต่ง โอ เขามาว่าเรา เขามาด่าเรานี่ ไม่ได้แล้ว เขาด่าถึงโคตรของเรา เราไม่ผิดนี่มาด่าเราทำไม คิดปรุงแต่งไป รับ จำ คิด แล้วก็รู้ เมื่อมันรู้เสร็จสรรพแล้วมันก็เก็บไว้ในห้วงภวังค์ในจิตของเรา นี่จิตมันเป็นอย่างนั้น ถ้ามีอารมณ์อื่นมามันก็มากลบอารมณ์เดิม อารมณ์ใหม่มาก็มากลบอารมณ์เดิม เหมือนกับเราเก็บผ้า เราเอาผ้าผืนแรกมาวางไว้ เอาผ้าผืนที่สองมาวางทับ เอาผ้าผืนที่สามมาวางทับ เอาผ้าผืนที่สี่ที่ห้าที่หกมาวางทับขึ้นไป ๆ เราก็ไม่สามารถที่จะมองเห็นผ้าในชั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ได้

 

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 เมษายน 2565 09:21:56 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 100.0.4896.60 Chrome 100.0.4896.60


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 04 เมษายน 2565 09:21:09 »




การกำหนดอิริยาบถ (จบ)

           แต่เมื่อเรามาดึงออกทีละชั้น ๆ เราก็สามารถที่จะมองเห็นได้ ใจของเราก็เหมือนกัน ใจของเราก็ถูกอารมณ์ อารมณ์เก่าก็ถูกอารมณ์ใหม่ทับ อารมณ์ใหม่ก็มาทับอารมณ์เก่า แต่ว่าอารมณ์นั้นเราไม่ลืม แต่ว่าเมื่อเรามาเดินจงกรมนั่งภาวนา เมื่อจิตใจของเราละเอียดแล้วนี่มันจะขุดลึกลงไปถึงอารมณ์เก่า ๆ เมื่อขุดลึกลงไปถึงอารมณ์เก่า ๆ แล้วนี่มันจะคิดถึงอารมณ์เก่า ๆ ได้ เขาเคยด่าเรามาตั้งแต่ก่อน ๆ โน้นก็จำได้ เขาเคยชมเราตั้งแต่สมัยก่อน ๆ โน้นเราก็จำได้ อารมณ์ไหนที่มันประทับซึ้งตรึงใจนั้นจะไม่ลืม มันจะเห็นหมดเลยทุกฉากทุกตอนถ้าจิตใจของเรามันละเอียด บางครั้งก็นึกไปถึงตอนเป็นเด็กยังไม่นุ่งเสื้อผ้าโน่นก็ยังจำได้ นึกลงไปอีกตั้งแต่เราเป็นเด็ก เราไปอยู่ตรงโน้นอยู่ตรงนี้นี่สามารถที่จะระลึกได้ เพราะอะไร ? เพราะว่าจิตมันละเอียด

            เพราะฉะนั้นเราต้องกำหนดจิตให้มันทัน ถ้าเรากำหนดจิตไม่ทัน การปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ผลเลย เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตมันเกิดความโกรธเราก็ต้องกำหนดว่า “โกรธหนอ ๆ” ขณะที่กำหนดว่า “โกรธหนอ” นี่ ให้เราพิจารณาดูอาการของจิต ขณะที่ว่า “โกรธหนอ” นี่ จิตของเรามันร้อนขึ้นหรือว่ามันเย็นลงหรือว่ามันเฉย ๆ เราต้องสำเหนียกดูอาการของจิตด้วยนะถึงจะถูกต้อง กำหนดว่า “โกรธหนอ” แต่ปากนี่ไม่ถูก ถือว่ากำหนดอาการของรูปนามไม่ถูกต้อง อาการของกายก็คือความเคลื่อนไหวของกาย อาการของจิตก็คือตัวความคิดนี่แหละเป็นอาการของจิต ขณะที่เรากำหนดเราก็ต้องพิจารณาดูอาการของจิตด้วยว่าความโกรธมันร้อนขึ้นหรือว่ามันเย็นลง “โกรธหนอ” นี่ มันเป็นยังไง เราพิจารณาดูจิตของเรา ถ้ามันร้อนขึ้นเราก็พิจารณาดูความร้อน พร้อมกับกำหนดว่า “โกรธหนอ” ด้วย

            แต่ถ้ามันร้อนมากเราจะเปลี่ยนจาก “โกรธหนอ” มากำหนดว่า “ร้อนหนอ” จี้ลงไปที่ใจของเราก็ได้ เพราะว่าความโกรธมันเป็นไฟ ราคะก็เป็นไฟ โมหะก็เป็นไฟ เรียกว่า โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ ราคัคคิ ไฟคือราคะ นี่มันจะเผา แต่ความร้อนของโทสะก็แบบหนึ่ง ความร้อนของราคะก็อีกแบบหนึ่ง ความร้อนของโมหะก็อีกแบบหนึ่ง อันนี้ถ้าจิตใจของเราละเอียดแล้วเราสามารถที่จะสัมผัสได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์กำหนดจิต อันนี้เป็นกรรมฐานข้อที่ ๕

            กรรมฐานข้อที่ ๖ ก็คือการนอน ขณะที่นอนนั้นเราก็นอนหงายบ้าง นอนตะแคงบ้าง ถ้านอนหงายเราก็เอามือของเรานั้นวางไว้ที่ข้างกายทั้งสองข้างก็ได้ หรือว่าเอามาวางไว้ที่ใต้สะดือก็ได้ แล้วเราก็เอาเท้าของเรานั้นชิดกันเคียงกัน แล้วก็กำหนดนอน เวลากำหนดดูอาการพองอาการยุบ เวลาเรานอนเราก็กำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” “พองหนอ ยุบหนอ” กำหนดอาการพองอาการยุบอย่างนี้เรื่อยไปจนกว่าเราจะหลับไป ถ้าบุคคลใดเป็นคนชอบคิดมาก เป็นโรคประสาท ลูกไม่มาดูแล เป็นคนปรุงแต่งมาก ๆ เวลาเรานอนเราก็กำหนดอาการพองอาการยุบ “พองหนอ ยุบหนอ” ไม่นานมันก็หลับไป ไม่ต้องกินยาระงับประสาท ไม่ต้องกินยานอนหลับ การที่จะทำให้เรานอนหลับง่ายก็คือเราทำใจให้เป็นกลาง เรื่องจะดีจะชั่วก็ตาม ปล่อยไว้ ไม่ต้องคิด ปล่อยให้จิตเป็นกลาง แล้วก็กำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” ถ้าเราทำได้อย่างนี้มันหลับพรึบไปเลย ไม่ต้องไปปรุงแต่งอะไรมาก เพราะฉะนั้นให้เราวางจิตให้เป็นกลาง แล้วสุขภาพจิตของเรามันจะดี ถ้าเรานอนโดยที่เราไม่คิดนี่เราหลับไปเวลาตื่นขึ้นมามันจะสดชื่น จะกระปรี้กระเปร่าร่าเริงเบิกบาน แต่ถ้าวันไหนมันคิด ตื่นขึ้นมาแล้วสมองมันไม่โปร่ง ไม่รู้จะคิดยังไงสับสนวุ่นวาย พูดอะไรก็พูดไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้พวกเรานั้นได้พยายามกำหนดให้มันทันนะ

            หลังจากเรากำหนดการนอนแล้วเราก็กำหนดการออกจากสมาธิ การออกนั้นเราจะนอนตะแคงก็ดี นอนตะแคงนั้นเรานอนสีหไสยาสน์ นอนตะแคงขวานะไม่ใช่นอนตะแคงซ้าย ถ้าเรานอนตะแคงขวาเราก็ไม่ต้องเอามือขวาของเราไปหนุนหัวนะ เอาวางไว้ข้างหน้า ถ้าเราเอาหนุนหัวนี่มันจะเกิดอาการชา เกิดชามือขึ้นมาแล้วก็เป็นตะคริว เป็นตะคริวแล้วผู้ปฏิบัติก็ทนไม่ไหวอยากออกก่อน เพราะฉะนั้นเราต้องเอาวางไว้ข้างหน้า แล้วก็มือซ้ายของเรานี่ก็วางราบที่ลำตัว แล้วก็ขาซ้ายของเราก็ทับขาขวา จากนั้นเราก็เอาสติมากำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” ต่อไป จนกว่ามันจะหลับ อันนี้เป็นการนอน

            ต่อไปเป็นการออกจากสมาธิคือการภาวนา การนั่งก็มีระเบียบมีกฎเกณฑ์มีแบบแผน การออกก็ต้องมีระเบียบมีกฎเกณฑ์มีแบบแผนเหมือนกัน เรียกว่าเข้าตามตรอกออกตามประตู เข้าตามร่องตามรอยเราก็ออกตามร่องตามรอย เพราะว่าการออกจากสมาธินี้ คือขณะที่เรานั่งภาวนานี่เรานั่งเพื่ออะไร เพื่อที่จะทำให้จิตใจของเราสงบเป็นอุปจารสมาธิ เป็นอัปปนาสมาธิ ถ้ามันเข้าสมาธิแล้วเราจะออกยังไง เราก็ค่อย ๆ ถอนอารมณ์ออกมา คือมันเข้ายังไงมันก็ถอนขึ้นมายังงั้น เหมือนกับเราสูบลม เราเคยสูบลมรถจักรยานไหม เวลาเราสูบลมรถจักรยานนี่เราจะดันสูบลงไป ๆ ขณะที่เราดันสูบลงไปเนี่ย อารมณ์ของเรามันจะลึกลงไป ๆ ๆ เมื่อลึกลงไปมาก ๆ มันจะเข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน มันจะสงบลึกลงไป แต่เมื่อเราจะถอนขึ้นมานี่ เราก็ค่อย ๆ ถอนขึ้นมา คือมันจะไม่ออกไปข้างใดมันก็ค่อย ๆ ถอนขึ้นมา

            ขณะที่ถอนขึ้นมานี่มันก็ออกจากตติยฌานมาทุติยฌาน เมื่อมันถอนลึกขึ้นมาอีกมันก็ออกจากทุติยฌานขึ้นมาปฐมฌาน เมื่อถอนลึกขึ้นมาออกจากปฐมฌานก็มาสู่อุปจารสมาธิ เมื่อถอนลึกขึ้นมาจากอุปจารสมาธิมันก็มาสู่ขณิกสมาธิ ถอนออกมาสู่อารมณ์ธรรมดา นี่มันค่อย ๆ ถอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการออกจากการภาวนานั้นเราค่อย ๆ กำหนดออก คือขณะที่เราจะออกเราก็กำหนดว่า “อยากออกหนอ” ซะก่อน กำหนดที่ใจของเราซะก่อน “อยากออกหนอ” พร้อมกับทำความว่าอยากออกด้วยนะ เวลาเรากำหนด “อยากออกหนอ” เราต้องทำความพอใจทำความรู้สึกว่าอยากออกด้วย สร้างความรู้สึกว่าอยากออกด้วย “อยากออกหนอ” จี้ลงไปในหัวใจ “อยากออกหนอ” แต่ถ้าเรากำหนดแต่ปากว่าอยากออกเฉย ๆ แต่ว่าใจไม่ได้อยากออกนี่มันจะไม่ออกจากสมาธิ มันจะนิ่งของมันอย่างนั้นแหละ

            แต่ถ้าเรากำหนดว่าอยากออกหนอแล้วทำความปรับปรุงจิตใจของเราทำความอยากออก มันก็จะออกของมัน แต่ถ้า “อยากออกหนอ” แต่ปาก ใจมันเฉย ๆ มันก็ไม่ออก สำหรับบุคคลผู้มีสมาธิดีมันจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เราต้องทำความรู้สึกว่าอยากออกด้วย เมื่อกำหนดว่า “อยากออกหนอ ๆ ๆ” ๓ ครั้ง แล้วเราค่อยกำหนดว่า “ออกหนอ ๆ ๆ” ค่อย ๆ ดึงมือขวาออก ดึงมือขวาออก “ออกหนอ ๆ ๆ” เอามือขวามาวางไว้ที่เข่าขวาแล้วคว่ำหน้ามือลง จากนั้นเราก็ดึงมือซ้ายออก “ออกหนอ ๆ ๆ” เอามือซ้ายมาวางคว่ำหน้ามือไว้ที่เข่าซ้าย จากนั้นเราค่อยกำหนดว่า “ออกหนอ ๆ ๆ” ดึงขาขวาของเราออกลงไว้แล้วก็ดันเข้าไปใต้เท้าซ้าย

            จากนั้นมือของเราทั้งสองข้างมาวางไว้ที่เข่าขวาแล้วก็ดันเข่าขวาขึ้นแล้วเราค่อยเอาขาออกมานั่งพับเพียบ ถ้ามันเจ็บมันปวดเราก็มานวด นวดเท้าของเรา จากนั้นเราค่อยกำหนดยืนขึ้น เมื่อกำหนดยืนขึ้นแล้วก็เดินจงกรมต่อไปนั่งภาวนาต่อไป เพราะฉะนั้นขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กระผมได้เรียนถวาย เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องอาศัยหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง หลักเกณฑ์ที่แม่นยำ คล้าย ๆ กับว่าแผนที่ที่เราจะไปอุบลฯ ก็ดี จะไปเขมราฐก็ดี เราต้องมีแผนที่ว่ามันต้องไปตามทางเส้นไหน เราก็ไปตามทางเส้นนั้นมันก็ถึงอุบล ก็ถึงเขมราฐ แต่แผนที่ของเรามันเลอะเลือน แผนที่ของเรามันไม่แม่นยำ แล้วเราจะไปตามแผนที่มันก็ไปไม่ถูก ไม่ถึงอุบลฯ ไม่ถึงเขมราฐ

            หรือว่าเราจะไปกรุงเทพฯ แต่แผนที่ของเราไม่แน่นอนเราก็ไม่ถึงกรุงเทพฯ แต่ว่ารูปแบบของการประพฤติปฏิบัติธรรมนี่ เปรียบเสมือนกับลายแทงขุมทรัพย์ เราศึกษาลายแทงไม่ดี ไม่รู้ว่าต้นไม้ต้นใหญ่ที่เขาฝังขุมทรัพย์นั้นอยู่ตรงไหน ศึกษามั่ว ศึกษาไม่ถูกต้อง แล้วก็ไปหาไม่เจอ เข้าไปในป่าแล้วต้นไม้มันเยอะเกินไป ขุดต้นนั้นแล้วก็ขุดต้นนี้ ขุดไปขุดมาบางครั้งไม่เจอเลย บางครั้งก็นานกว่าจะเจอ เป็นหลายครั้ง เป็นเดือน เป็นปี เป็นหลาย ๆ ปี บุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ก็เหมือนกัน ถ้าหลักการปฏิบัติไม่แม่นยำ บางครั้งก็ไม่ได้ผลเลย บางครั้งก็นานหลายเดือน นานหลายปี กว่าที่จะได้ประสบผลสำเร็จ

            ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้ตั้งใจนั่ง ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ คนมากคนน้อยเราอย่าไปสนใจ พระทำไมมาไม่มาก โยมทำไมมาไม่มาก เราก็อย่าไปสนใจ เรามีหน้าที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว คนมากคนน้อยไม่มีปัญหา เหมือนกับผู้ที่เทศน์นี่แหละ คนเทศน์ขึ้นไปแล้วถ้าคนน้อยแล้วเทศน์ไม่ดีถ้าคนมากแล้วเทศน์ดี ไม่ใช่ คนมากคนน้อยเทศน์จบกัณฑ์ทั้งนั้น เรียกว่าตั้งใจเทศน์

            เหมือนกับพระพุทธเจ้านั่นแหละ เวลาพระองค์ไปโปรดใคร จะมีคนเดียวพระองค์ก็โปรดให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน มีหลายคนพระองค์ก็ทรงโปรดให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะอะไร ? เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่ขึ้นอยู่ที่คนมากคนน้อย ถ้าเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติเราก็ได้ผลเท่าเดิม คนมามากเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติเราก็ได้ผลเท่าเดิม ไม่มีอะไรที่จะมากไปกว่านี้ คือเราก็ได้ผลเหมือนเดิม

            การประพฤติปฏิบัตินี่ คนน้อยก็เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมเพราะว่าจะสัปปายะไม่เกลื่อนกล่นไปด้วยคนมาก อันนี้ให้เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าคนมาก ถ้าเราตั้งใจประพฤติปฏิบัติมันก็ได้ผลเหมือนกัน แต่ว่ามันจะได้ผลช้าเพราะว่าคนมันเยอะ คนโน้นก็พูดอย่างนั้น คนนี้ก็คุยอย่างนี้ การประพฤติปฏิบัติก็เลยเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะฉะนั้น ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่เราได้สร้างสมอบรมบารมี ได้มีโอกาสได้เดินจงกรมมาก ๆ นั่งภาวนามาก ๆ ก็ขอให้ตั้งจิตตั้งใจนั่งภาวนาไป เราจะเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ภาคเช้านี้ไป เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม สิ่งใดที่มันไม่เข้าใจในการเดินการนั่งการประพฤติปฏิบัติก็ขอให้ถามวิทยากรรูปใดรูปหนึ่งก็ได้ หรือว่าถามกระผมเองก็ได้ ทางแม่ชีก็ถามทางคณะแม่ชีก็ได้ หรือไม่สบายใจก็อาจจะมาถามอาตมาก็ได้ อันนี้ก็ขอฝากไว้ ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์นั่งภาวนาไปจนกว่าจะถึงหกโมงโน่นแหละจึงจะได้กำหนดออกแผ่เมตตา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 เมษายน 2565 09:22:49 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อุปาทาน โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 0 1139 กระทู้ล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2563 15:52:49
โดย Maintenence
ปกิณณกธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 925 กระทู้ล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2563 13:55:19
โดย Maintenence
ความหมายของธรรมะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 992 กระทู้ล่าสุด 02 ธันวาคม 2563 14:20:54
โดย Maintenence
ลำดับญาณ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 2 1048 กระทู้ล่าสุด 07 สิงหาคม 2564 19:54:30
โดย Maintenence
การกำหนดอิริยาบถ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 755 กระทู้ล่าสุด 07 มกราคม 2565 16:08:57
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.847 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 19 ธันวาคม 2566 23:31:43