[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 00:18:05 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การปฏิบัติไม่ผิด ๓ ประการ - พระภาวนาสุตาภิรัต(ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบล  (อ่าน 783 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 24 เมษายน 2565 16:40:38 »



การปฏิบัติไม่ผิด ๓ ประการ
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
(เทศน์ที่วัดพิชโสภาราม)


         ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์และก็ขอเจริญพรสาธุชนทุกท่าน

          วันนี้ก็มีโอกาสได้มาบรรยายธรรมประกอบการประพฤติปฏิบัติ ให้แก่คณะครูบาอาจารย์เป็นครั้งที่ ๒ แต่การบรรยายธรรมก็อาจไม่ได้เต็มที่ก็ขออภัยด้วย วันนี้จะได้น้อมนำเอาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง การปฏิบัติไม่ผิด ๓ ประการ มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติของคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายนั้นได้ตั้งใจฟัง เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น เอาสติไว้ที่หูของเรา กำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” เพราะว่าการฟังนั้นมีอยู่หลายระดับ ฟังเพื่อเอาบุญประการหนึ่ง ฟังเพื่อเอาเป็นอุปนิสัยประการหนึ่ง ฟังเพื่อน้อมเอาไปประพฤติปฏิบัติประการหนึ่ง แล้วฟังในขณะนี้ก็ปฏิบัติในขณะนี้ประการหนึ่ง

          เพราะฉะนั้นเราเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เราฟังธรรมไปด้วยปฏิบัติธรรมไปด้วยได้ศีล ได้สมาธิ ได้วิปัสสนาญาณ ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะฟังธรรมนั้นก็มีเยอะ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในวิมุตตายตนสูตร บรรลุธรรมด้วยการสาธยายธรรมบ้าง ด้วยการแสดงธรรมบ้าง ด้วยการฟังธรรมบ้าง ด้วยการพิจารณาธรรมบ้าง อันนี้ที่ท่านกล่าวไว้ในวิมุตตายตนสูตร เพราะฉะนั้นเราผู้เป็นนักปฏิบัติก็ขอให้ตั้งใจฟัง ปฏิบัติในขณะที่เราฟังธรรมด้วย

          คำว่าอปัณณกปฏิปทา คือ หลักของการปฏิบัติไม่ผิด ๓ ประการนั้น คือ

          ข้อที่ ๑ ท่านกล่าวไว้ว่า อินทรีย์สังวร สังวรก็คือความสำรวม อินทรีย์ก็คือความเป็นใหญ่ คือตาเป็นใหญ่ในการดู หูเป็นใหญ่ในการฟัง จมูกเป็นใหญ่ในการสูดกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในการลิ้มรส กายเป็นใหญ่ในการถูกต้องโผฏฐัพพะ ใจเป็นใหญ่ในการรับรู้อารมณ์ต่างๆ นี้เรียกว่าอินทรีย์ คำว่าอินทรีย์นั้นท่านถือว่าเป็นใหญ่

          อินทรีย์นั้นมีความหมาย คือเป็นที่เกิดของบุญและบาป คณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นอาศัยอินทรีย์นั้นเป็นบ่อเกิดของบุญและบาป อย่างเช่นอินทรีย์คือ ตา ตานั้นเมื่อมองไปเห็นสิ่งที่ดี ชอบใจจิตใจไม่เกิดความโลภขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศล แต่ว่าถ้าชอบใจแล้วเกิดความโลภขึ้นมาก็ถือว่าเป็นอกุศลธรรม

          เพราะฉะนั้น สัตว์โลกทั้งหลายที่เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสารนี้ ก็เพราะการไม่สำรวมตา ไม่สำรวมจมูก ไม่สำรวมลิ้น ไม่สำรวมกาย แล้วก็ไม่สำรวมใจ เราทั้งกลายได้รับทุกข์ทรมานอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเหตุ เป็นบ่อเกิดของบุญและบาป บาปทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อวิชชา ตัณหา อุปาทานต่างๆ ก็อาศัยตานี้เป็นบ่อเกิด บุญคือศีล บุญคือสมาธิ บุญคือปัญญา บุญคือการเจริญวิปัสสนาญาณ บุญคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้แหละ เป็นบ่อเกิดของบุญทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้น บ่อเกิดของบุญก็อยู่กับเรา คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บ่อเกิดของบาป ก็อยู่ที่เราคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้นท่านจึงให้เรามาประพฤติปฏิบัติ สำรวม เหมือนกับว่าเราปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย เหลือแต่ใจของเรา ในขณะนี้เรากำลังนิ่ง กายของเราก็นิ่ง วาจา หู อะไรทุกอย่างของเรานิ่งหมด เหลือแต่ใจของเราที่กำหนดรู้อาการพองอาการยุบ อันนี้เรียกว่าเราปิตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย เหลือแต่ใจอันเดียว

          บาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงจะเป็นความชอบใจ ความไม่ชอบใจทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันจรเข้ามา เราก็สามารถที่จะกำหนดรู้ทันได้ เมื่อเรากำหนดรู้ทันบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นได้ บาปนั้นมันไม่เข้าไปในจิตในใจของเรา จิตใจของเราก็จะเริ่มขาวขึ้นๆ บริสุทธิ์ขึ้น ผ่องใสขึ้น ในที่สุดก็เกิดปัญญา อันนี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา

          ธรรมะที่แท้จริงในพุทธศาสนานั้นไม่ใช่อยู่ที่อื่น ธรรมะนั้นอยู่ที่ความบริสุทธิ์ ถ้าเราบริสุทธิ์น้อยเราก็เข้าถึงธรรมะในพุทธศาสนาได้น้อย แต่ถ้าเราบริสุทธิ์มากเราก็เข้าถึงพระพุทธศาสนาได้มาก เพราะพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นคือความบริสุทธิ์ จุดจบของการปฏิบัติธรรมก็คือการบรรลุเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสขาดจากขันธสันดาน คือไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความหลง พูดตรงๆ ก็คือจิตใจบริสุทธิ์ บริบูรณ์นั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราทำจิตทำใจของเราให้บริสุทธิ์ก็ถือว่าเรานั้นเข้าถึงพุทธศาสนามาก

          ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นเราจึงมีความกระตือรือร้น มีการสังวร สำรวม ระวัง ไม่ให้บาปนั้นเข้าไปสู่จิตสู่ใจของเรา ดังที่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า สติ เตสํ นิวารณํ สติเป็นเครื่องป้องกันบาป คือเรามีสติกำหนดทางตา มีสติกำหนดทางหู มีสติกำหนดทางกลิ่น การลิ้มรส การถูกต้องสัมผัส เราจะยืนก็ดี จะเดินก็ดี จะนั่งก็ดี จะนอนก็ดี เราอย่าปล่อยกาย ปล่อยวาจา ปล่อยใจของเรานั้นให้เป็นอิสระ ให้เรามีสตินั้นควบคุมอยู่ตลอดเวลา

          เราไม่ต้องเดินช้าๆ เราเพียงแต่เดินไปเป็นปกติ ถ้าเราเดินช้าๆ คนอื่นอาจจะว่าเรานั้นเดินผิดปกติ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนที่เขาไม่ศรัทธาเขาโจมตีได้ ศาสนาอื่นเขาก็จะกล่าวหาได้ว่า การประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องยกช้าๆ เดินช้าๆ กินช้าๆ ฉันช้าๆ ดื่มช้าๆ ต้องไม่พูดไม่จากับใครหรืออย่างไร เขาก็จะหาว่าเรานั้นผิดปกติไป ถ้าอย่างนั้นพวกอเจลกะก็ดี พวกอาชีวกก็ดี ก็ย่อมติเตียนพระพุทธเจ้า

          ท่านกล่าวไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงมีร่างกายเหมือนพรหม มีร่างกายตรงสง่างาม และพระองค์นั้นจะไม่เดินเร็วเกินไป ไม่เดินช้าเกินไป พระองค์จะไม่ฉันช้า แล้วก็จะไม่ฉันเร็ว พระองค์จะไม่ลุกช้า จะไม่ลุกเร็ว อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะหาการตำหนิติเตียนพระองค์ไม่ได้ พระองค์จะลุกก็ดี เดินก็ดี นั่งสำรวมก็ดี การเหลียวซ้ายเหลียวขวาก็ดี การวางพระเนตรของพระองค์จะไม่ทอดพระเนตรเกินก็ดี อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงประพฤติปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง

          เพราะฉะนั้นเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้เรานั้นเดินพอดี นั่งพอดี คุยพอดี ให้มีสติกำหนดรู้อยู่ตลอดเวลา อันนี้เรียกว่าการสำรวม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า กายสังวโร สาธุ การสำรวมกายเป็นความดี การสำรวมวาจาเป็นการดี แล้วก็การสำรวมใจเป็นการดี บุคคลใดสำรวมได้ทุกทางบุคคลนั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม คณะครูบาอาจารย์ต้องสำรวม เราจะประพฤติปฏิบัติธรรมในกาลที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ตาม หรือการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานก็ตาม หรือในขณะนี้ปัจจุบันนี้ก็ตาม เราต้องสำรวม ถ้าเราอยากจะเข้าถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่มีมายา ไม่มีการโอ้อวด ไม่มีการเสแสร้ง ไม่มีการทำผักชีโรยหน้า การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นสัจธรรม ถ้าผู้ใดประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยความมุ่งหวัง ด้วยความตั้งใจจริง ด้วยความเด็ดเดี่ยว ด้วยการที่จะพ้นไปจากความทุกข์ อยากได้ถึงสันติสุขคือการบรรลุมรรคผลนิพพานจริงๆ แล้วบุคคลนั้นไม่เกินความปรารถนาได้ บุคคลนั้นแหละจะเข้าถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไว

          ในครั้งหนึ่งกระผมมาอยู่ที่วัดพิชโสภาราม อยากจะบรรลุมรรคผลนิพพาน คิดว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานมันยากหนักหนาคงจะเกินความสามารถของเรา ฟ้ากับดินคิดว่ามันไกลกันมาก มันก็ยังมองเห็นกันอยู่ แต่โลกีย กับโลกุตตร นี้ไกลกันเหลือเกิน เรายังไม่สามารถที่จะจินตนาการนึกถึงได้ อีกสิบชาติอีกร้อยชาตินี้เราจะบรรลุพระโสดาบันหรือไม่ คิดแล้วคิดอีกๆ ก็เกิดความฟุ้งซ่าน เดินจงกรมอยู่ในโบสถ์ เดินทั้งวัน เดินแล้วก็นั่ง นั่งแล้วก็เดิน แต่มันก็ไม่สงบ แต่ก็เดินอยู่อย่างนั้นแหละ ทำความเพียรอยู่อย่างนั้นแหละ

          วันนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อออกมา แล้วก็มานั่งอยู่ข้างนอกก็เลยเข้าไปกราบเรียนพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อครับ ทำอย่างไรจึงจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานไวๆ จะได้บรรลุเป็นพระโสดา สกิทา อนาคาไวๆ” พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านว่า “ต้องปฏิบัติธรรมด้วยจิตแรงใจแรง” ตอบคำเดียวเท่านี้แหละ ก็เลยปฏิบัติธรรมด้วยความมุ่งมั่น ปฏิบัติด้วยความจริงจัง ปฏิบัติด้วยความไม่มีมายา โอ้อวด สาไถยต่างๆ

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องปฏิบัติด้วยความจริงใจ ปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นจริงๆ เราจึงจะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ถ้าเราตั้งใจจริงประพฤติปฏิบัติจริงแล้วสภาวธรรมต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นมาตามลำดับ ครูบาอาจารย์อาจจะคิดว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมันยาก มันลำบาก มันเหน็ด มันเหนื่อย มีอุปสรรคมากมายหลายประการ แต่เมื่อเราตั้งใจจริงๆ แล้วนั้น เมื่อเราประพฤติปฏิบัติไป เมื่อจิตใจของเราสงบ วิปัสสนาญาณมันแก่กล้าขึ้นมา เรานั่งไปมันสงบ นั่งไปรู้สึกตัวขึ้นมาบริกรรมต่อ สงบวับไปรู้สึกตัวบริกรรมต่อ สภาวธรรมต่างๆ นาๆ นั้นมันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา เราก็เกิดโอภาสแสงสว่างเกิดขึ้นมา เราไม่เคยเห็นโอภาสแสงสว่างมันก็เกิดขึ้นมา

          บางคนก็เห็นโอภาสแสงสว่างเกิดขึ้นมา บางคนนั่งไปๆ บริกรรมไปๆ โอภาสแสงสว่างนั้นมันพุ่งออกจากหน้าอก แล้วก็ลอยขึ้นไปบนขื่อแล้วก็แตกออกเป็นหลายๆ สีก็มี บางคนนั่งไปแสงสว่างมันก็อยู่ที่อาการพองอาการยุบ บริกรรมไปแสงสว่างมันปรากฏชัดเจนเหมือนกับดวงแก้ว บางครั้งมันก็เลื่อนขึ้นมาที่แผ่นหลังก็มี บางครั้งมันก็เลื่อนมาที่คอก็มี บางครั้งก็เลื่อนมาที่จมูกก็มี บางครั้งก็เลื่อนลงมาที่อาการพองอาการยุบกำหนด “พองหนอ ยุบหนอ” มันดับฟึบลงไปก็มี แสงสว่างแล้วแต่มันจะเกิดขึ้นมา

          บางคนเดินจงกรมไปเดินจงกรมมาแสงสว่างมันปรากฏชัดเจนขึ้นมา จนไม่สามารถที่จะเดินจงกรมในที่มืดได้ เพราะแสงสว่างนั้นมันสะท้อนกลับมาหาตา ต้องเข้าไปเดินจงกรมในห้องเปิดไฟให้สว่าง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผู้เกิดโอภาสนั้นมีกำลังใจในการเดินจงกรมนั่งภาวนา หรือว่าขณะที่เราปฏิบัติไปๆ ปีติยังไม่เกิด มันก็เกิดความเหน็ดเหนื่อย เกิดความเมื่อยล้า เกิดความใจอ่อนต่างๆ นาๆ

          แต่เมื่อเรานั่งไปๆ เกิดปีติขึ้นมา ปีตินั้นมันมีอยู่หลายอย่าง มีขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพักๆ อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน ถ้าปีติมันเกิดขึ้นมาในลักษณะนิดหน่อย เราก็จัดเข้าเป็นขุทฺทกาปีติ อย่างเช่นเรานั่งไปๆ มันมีแสงสว่างแวบมาเหมือนกับแสงหิ่งห้อย หรือว่ามันซู่ขึ้นมาแล้วก็หายไป หรือว่าเรานั่งไปๆ มันเย็นยะเยือกแล้วก็หายไป ถ้ามันมีนิดๆ หน่อยๆ อย่างนี้ ถือว่าเป็นขุททกาปีติ ปีตินิดหน่อย แต่ถ้ามันตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งก็ถือว่าเป็นขณิกาปีติ

          แต่ถ้าเรานั่งไปปีติมันเป็นพักๆ มีความสุขเป็นพักๆ เย็นยะเยือกไปเป็นพักๆ ไป หรือว่าตัวของเรานั่งโอนเอน โยกเยกไปมา หรือว่าเราภาวนาไปพองหนอยุบหนอของเรามันเป็นพักๆ เวลาเรายุบลงเป็นพัก สองพัก สามพัก เวลาเราพองออกเป็นพัก สองพัก สามพัก หรือว่าร่างกายของเราโยกไป เอนมา หรือว่าร่างกายของเราหมุน เรานั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ลืมตาขึ้นหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เวลาหันไปทางซ้ายลืมตาขึ้นมาหันไปทางขวา หรือว่าเรานั่งไปๆ เรือนของเรามันหมุนไปหมุนมา หมุนไปโดยอัตโนมัติด้วยกำลังของสมาธิ ด้วยอำนาจของปีติ อันนี้เรียกว่าโอกกันติกาปีติ

          หรือว่าเรานั่งไปๆ จนมันโลดโผน ตัวของเราเหมือนจะลอยออกไปจากพื้น เหมือนกับก้นของเรานี้ไม่ติดอยู่กับพื้น บางครั้งค่อยๆ ลืมตามองดูแต่เราก็นั่งอยู่กับพื้นอยู่ บางคนมีปีติสูงมาก นั่งไปๆ เหมือนตัวของเรามันลอยขึ้นๆ พอลอยขึ้นมาแล้วก็เกิดความสงสัยว่ามันลอยจริงหรือเปล่าลืมตา แต่ตัวของเราก็นั่งอยู่กับพื้น มันเป็นเพียงแต่อาการของอุพเพงคาปีติเฉยๆ บางคนก็นั่งไปๆ มันลอยขึ้นมา ลืมตาขึ้นมาดูว่ามันลอยจริงหรือเปล่า แต่ลืมตามันก็นั่งอยู่ที่เดิมเหมือนเดิม แต่คิดว่าอยากจะให้มันลอยไปทางโน้นมันก็ลอยไป ลอยมาดูซิว่าอาจารย์มหาชอบทำอะไรอยู่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อทำอะไรอยู่ ญาติโยมกำลังจัดข้าวปลาอาหารกันอยู่ก็ลอยมา มันก็ลอยมาจริงๆ เพราะเห็นญาติโยมกำลังสาละวนวุ่นวายกับการจัดอาหาร แต่พอลืมตาตนเองก็นั่งอยู่ที่เดิม ก็เกิดความฉงนสนเท่ห์ว่าอันนี้มันเป็นอะไรหนอ มันเป็นปีติอะไร มันเป็นญาณอะไร มันเป็นสภาวะอะไร ในลักษณะอย่างนี้

          ถ้าบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติไปๆ เกิดสภาวะอย่างนี้ขึ้นมา ก็เกิดความอุตสาหะ เกิดความพยายาม ว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นดีจริง ปฏิบัติแล้วเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความอัศจรรย์ใจต่างๆ นาๆ ก็จะเกิดความอุตสาหะพยายาม ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ไม่เห็นแก่ความเมื่อยล้า ไม่เห็นแก่ยุง ไม่เห็นแก่ร้อน ไม่เห็นแก่หิว แก่ความกระหาย ปฏิบัติได้ตลอดเวลา มีความเพียร มีแต่ครูบาอาจารย์จะข่มปรามไว้ให้อยู่ในความพอดี ให้อยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา หรือคณะครูบาอาจารย์ปฏิบัติไปๆ เกิดผรณาปีติ เกิดปีติซาบซ่าน มันจะเกิดขึ้นมาหลายลักษณะ บางครั้งมันก็เกิดที่หัวใจของเราก็แผ่ซ่านไปทุกขุมขน เหมือนกับเส้นเอ็นของเรานี้มีปีติแผ่ไปทุกขณะ ขนหัวของเรา ขนตัวของเราลุก ซู่ซ่าไปหมด บางครั้งก็พุ่งออกจากหัวใจของเราแล้วก็พุ่งออกไปทางเท้า บางคนเกิดขึ้นที่หัวใจแล้วก็พุ่งออกไปทางหู ทางหลังก็มี อันนี้เป็นในลักษณะของผรณาปีติ

          พระเดชพระคุณหลวงพ่อว่าในครั้งหนึ่งมันเกิดผรณาปีติ ด้วยอำนาจบุญที่ท่านปล่อยปลาไหล คือกำลังขุดบ่อน้ำขุดไปๆ ลึกได้ประมาณเมตรกว่าๆ เห็นปลาไหลตัวใหญ่ชาวบ้านกำลังจะเอาไปฆ่ากิน พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ไปป้องกันไว้ ไปขอไว้ปล่อยลงไปในน้ำ ขณะที่มันเกิดซู่ขึ้นมานั้น เกิดปีติซู่ขึ้นมาใจก็นึกถึงปลาไหลที่ตนเองปล่อยลงไปในน้ำ ท่านว่าบุญกุศลที่บุคคลผู้มีบุญวาสนาบารมีทำอย่างไรมันจะให้ผลเร็ว บาปก็ตามที่บุคคลผู้มีบารมีไปทำแล้วมันจะให้ผลเร็ว เหมือนกับพระสงฆ์สามเณรเรา ที่อยู่ในศีลในธรรมดีๆ ไม่เคยทำบาปทำกรรมสักที แต่วันใดวันหนึ่งหลงไปทำบาปทำกรรม อันนี้มันจะให้ผลเร็ว

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าเราตั้งใจจริงประพฤติปฏิบัติจริงเมื่อวิปัสสนาญาณมันเกิดขึ้นมาแล้ว มันจะปวัตติไปตามอารมณ์ของมันเอง มันจะเกิดความเพียร เกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญาขึ้นมา ผลักดันจิตใจของเราให้เข้มแข็งขึ้นมาเอง ขอให้คณะครูบาอาจารย์จงตั้งใจจริง ประพฤติปฏิบัติจริง

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติจะให้เกิดสภาวะเหล่านี้ขึ้นมาได้นั้น ต้องมีการสำรวม คือต้องสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปิดไม่ให้บาปธรรมทั้งหลายทั้งปวงมันเกิดขึ้นมา ไม่ให้เรานั้นคิดถึงบาป ไม่ให้เราคิดถึงบุญ ให้จิตใจของเรามีสติอยู่กับปัจจุบันธรรม ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นได้เกิดความรู้ในทางพุทธศาสนาขึ้นมา ก็จะเข้าใจรู้แจ้งแทงตลอดเฉพาะตัวของเราเอง

          เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า เรานักประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ให้เราติดอยู่ที่ฝั่งนี้ ไม่ให้เราติดอยู่ที่ฝั่งโน้น ไม่ให้เราจมอยู่ในท่ามกลาง ไม่ให้เราเกยอยู่บนบก ไม่ให้เรานั้นถูกมนุษย์ดึงไป ไม่ให้เราถูกอมนุษย์ดึงไป ไม่ให้เรานั้นถูกดูดจมลงในท่ามกลาง หรือไม่ให้เรานั้นเป็นผู้เน่าใน พระองค์จึงตรัสเปรียบเหมือนกับขอนไม้ที่ไหลไปตามแม่น้ำคงคา

          คือในสมัยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงประทับยืนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคา พระองค์ก็ทรงตรัสชี้ให้ภิกษุทั้งหลายดูท่อนไม้ที่ไหลไปตามแม่น้ำคงคา ว่า ท่อนไม้ที่ไหลไปตามแม่น้ำคงคานี้ ถ้าไม่ติดอยู่ที่ฝั่งนี้ ไม่ติดอยู่ที่ฝั่งโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยอยู่บนบก ไม่ถูกอมนุษย์ลากขึ้นฝั่ง ไม่ถูกน้ำวนดูดลงไป ไม่เน่าในเสียก่อน ขอนไม้นี้ย่อมไหลเรื่อยไหลเอื่อยลงไปถึงทะเลแน่นอน

          องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้นแล้วภิกษุทั้งหลาย ก็ทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฝั่งนี้คืออะไร ฝั่งโน้นคืออะไร” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงอธิบายไปตามลำดับ ว่าฝั่งนี้ก็คือ อายตนภายใน คือตา คือหู คือจมูก คือลิ้น คือกาย คือใจ ถ้าภิกษุไม่ติดอยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เข้าถึงพระนิพพานได้

          แล้วฝั่งโน้นคืออะไร ฝั่งโน้นก็คือ อายตนภายนอก คือรูป คือเสียง คือกลิ่น คือรส คือสัมผัส คืออารมณ์ที่มากระทบใจของเรา ถ้าภิกษุไม่ติดอยู่กับอารมณ์ภายนอก ย่อมไปถึงพระนิพพาน

          แล้วจมอยู่ในท่ามกลางคืออะไร จมอยู่ในท่ามกลางก็คือ เมื่อตาเห็นรูป ไม่เกิดความยินดีขึ้น ไม่เกิดความเสียใจขึ้น ไม่เกิดความโลภ ความโกรธ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อวิชชาขึ้น ถ้าบุคคลใดเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้นมานี้เรียกว่าจมอยู่ในท่ามกลาง จมไปตามอำนาจความโกรธ ความหลง

          เกยอยู่บนบกก็คือ ประพฤติปฏิบัติธรรมไปแล้วเกิดมานะทิฏฐิ คือ มานะทั้ง ๙ ตัว ตนเองเป็นคนเลวกว่าเขาก็จริงสำคัญว่าตนเสมอกับเขา ตนเลวกว่าเขาก็คิดว่าตนนั้นเลิศกว่าเขา ตนเสมอเขาก็คิดว่าตนเลวกว่าเขา ตนเสมอเขาก็คิดว่าตนนั้นเลิศกว่าเขา ตนดีกว่าเขาก็คิดว่าตนเสมอเขา ตนดีกว่าเขาก็คิดว่าตนเลวกว่าเขา มานะทั้ง ๙ ตัวนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การประพฤติปฏิบัติธรรมของเรานั้นไม่ได้ผล

          แล้วก็ถูกมนุษย์นั้นลากขึ้นฝั่งก็หมายความว่า เราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ประพฤติปฏิบัติไปๆ สำรวมไป เมื่อเดินจงกรม นั่งภาวนา อินทรีย์มันก็ผ่องใสขึ้นมา จริยาวัตรก็น่าศรัทธา น่าเลื่อมใส ก็มีโยมมาศรัทธา มาเลื่อมใส มากราบมาไหว้ เมื่อโยมมากราบ มาไหว้ มาถวายสักการะต่างๆ เอาเงินเอาทองมาถวาย มาปวารณากุฏิให้อยู่ ปวารณาทุกอย่าง ก็เกิดความลุ่มหลง เกิดความเอนเอียงไปตามลาภ ตามสักการะ ตามสรรเสริญ ตามความเยินยอที่ญาติโยมทั้งหลายประเคนให้ ในที่สุดก็ถูกมนุษย์นั้นลากขึ้นฝั่ง ศีลก็เสื่อม สมาธิก็เสื่อม วิปัสสนาญาณก็เสื่อม ในที่สุดก็ไปสู่พระนิพพานไม่ได้ หรือว่าข้อที่ท่านกล่าวไว้ว่า

          ถูกอมนุษย์ลากขึ้นฝั่ง ก็หมายความว่า บุคคลที่มาประพฤติปฏิบัติไปๆ แล้วก็เกิดนิมิตขึ้นมา ก็ไปเห็นวิมานของเทวดา เห็นเครื่องทรงของเทวดา เห็นสวนดอกไม้ของเทวดา เห็นอาหารอันเป็นทิพย์ เห็นอารมณ์อันเป็นทิพย์ ได้ยินเสียงทิพย์ เมื่อได้ยินเสียงทิพย์อะไรต่างๆ นาๆ แล้วก็เกิดความผูกพัน เกิดความอยากจะไปเกิดในวิมานแดนสวรรค์ เหมือนภิกษุรูปหนึ่ง

          มีภิกษุไปธุดงค์ไปพบอยู่ที่ภูกระดึง ท่านรูปนี้อยู่ในถ้ำ จะทานอาหารก็ทานอยู่ในถ้ำ ไม่ยอมออกไปไหนเดินจงกรมนั่งภาวนาอยู่ในถ้ำ หันหน้าเข้าฝาแล้วก็ภาวนาอยู่ตลอดเวลา ท่านนั่งไปๆ จะเห็นวิมานของเทวดา สามารถคุยกับเทวดา อยู่ชมวิมานของเทวดา ใครจะไปตักเตือนว่าท่าน มันเป็นอุปกิเลส มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นธรรมปลอม มันเป็นสัทธรรมปฏิรูป มันไม่ใช่ของจริง มันเป็นของเก๊ ไม่ใช่ของจริง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน นิพพานนั้นไม่มีขันธ์ ๕ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งไม่มี รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ นั้นไม่มี จึงจะชื่อว่านิพพาน อันนั้นมันไม่ใช่ บอกอย่างไรท่านก็ไม่เชื่อ ท่านเถียงกับผมหรือ ถ้าท่านไม่เห็นท่านอย่ามาบอกผมเลย ท่านรู้ไหมว่าสรรค์นั้นมันดีอย่างไร มีกลิ่นหอมอย่างไร มีรสอย่างไร มีสภาวะ รูปที่ละเอียดลอออย่างไร ใครๆ ไปตักเตือนก็ไม่ฟัง อันนี้เรียกว่าเป็นผู้ถูกอมนุษย์ดึงเข้าไปแล้ว ปรารถนาที่จะไปเกิดในเทวดาชั้นใดชั้นหนึ่ง ปรารถนาที่ไปอยู่บนพรหมชั้นใดชั้นหนึ่งเรียกว่า เป็นเมถุนสังโยชน์ คือประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะไปเกิดเป็นเทวดา อมนุษย์ลากขึ้นฝั่ง

          หรือว่าบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติธรรมไปถูกความยินดีในกามคุณ ๕ คือรูป คือเสียง คือกลิ่น คือรส คือสัมผัสนั้นมันปรากฏชัดเจนขึ้นมา เมื่อกามคุณ ๕ คือรูป คือเสียง คือกลิ่น คือรส ปรากฏชัดเจนขึ้นมา จิตใจของภิกษุก็จะเกิดราคะขึ้นมา จิตใจของผู้ปฏิบัติธรรมก็เกิดโทสะขึ้นมา ก็เกิดความลุ่มหลงขึ้นมา เมื่อเกิดความลุ่มหลงปรากฏชัดเจนขึ้นมาก็ถูกน้ำวนคือกามคุณนี้ดูดลงไป

          เพราะว่าบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เมื่อประพฤติปฏิบัติไปๆ แล้วไม่มีอะไรก็มีแต่ความโลภ มีแต่ความโกรธ มีแต่ความหลง มีแต่ราคะเท่านั้นแหละ ที่ปรากฏอยู่ในจิตในใจของเราไม่มีอะไรเลย มีแต่ราคะ มีแต่โทสะ มีแต่โมหะนี้ปรากฏ ๓ ตัวใหญ่ๆ นี้แหละ สิ่งอื่นไม่ปรากฏเลย ถ้าเราประพฤติปฏิบัติธรรมสูงขึ้นไปๆ ไม่มีอะไร เพราะอย่างอื่นเราผ่านมาหมดแล้ว เราพ้นมาหมดแล้ว เหลือแต่การที่เราจะละราคะนี้แหละ เราจะละได้ไหม เหลือแต่การที่เราจะละโทสะนี้แหละเราจะละได้ไหม ถ้าเราละเราก็ได้ แต่ถ้าเราละไม่ได้เราก็กรรมฐานแตก เรียกว่าแพ้

          คือเราประพฤติปฏิบัติไป ราคะมันจะปรากฏชัดเจนมาก บางคนก็เดินจงกรมไม่ได้ บางคนน้ำสุกกะไหลออกมา บางคนต้องนุ่งผ้า ๒ ชั้น ๓ ชั้น บางคนก็เกิดความโกรธ มองอะไรก็โกรธไปหมด มองเห็นตาตุ่มเพื่อนก็ยังโกรธ มองเห็นรองเท้าเพื่อนที่จอดไว้หน้ากุฏิก็ยังโกรธ มองเห็นสบงเพื่อนตากไว้ก็ยังโกรธ ได้ยินเสียงเพื่อนพูดก็ยังโกรธเลย ได้ยินเขาพูดถึงคนโน้นคนนี้ก็ยังโกรธเลยขณะที่เรายังไม่เห็น คิดดูสิว่าความโกรธมันปรากฏชัดเจนมากขนาดไหน

          มันปรากฏขึ้นมานั้นมันดี คือปรากฏขึ้นมาให้เราละ ให้เราเกิดปัญญา ถ้ามันไม่ปรากฏชัดขึ้นมาอย่างนั้นเราจะพิจารณาเห็นโทษมันได้อย่างไรในที่สุดก็โกรธไปหมด ในที่สุดก็ไม่อยากจะออกไปไหน อยากจะนั่งอยู่คนเดียว อยากพิจารณาธรรม อยากจะเดินจงกรม นั่งภาวนา ไม่เห็นเพื่อน ไม่เห็นฝูง ไม่เห็นอะไรที่จะดีเลย มีแต่อยากจะเดินจงกรมนั่งภาวนา ในที่สุดเราก็สามารถที่จะชนะมันได้ แต่ถ้าเราชนะมันไม่ได้เราก็แพ้มัน

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมไปเมื่อถูกความโกรธ ความโลภ ความหลง ถูกราคะอะไรมันครอบงำแล้วสู้มันไม่ได้ เราก็ถูกน้ำวนนั้นดูดลงไป เหมือนกับบุคคลผู้ว่ายน้ำข้ามฝั่ง ไม่รู้ว่าที่นั่นเป็นน้ำวนก็ถูกน้ำวนมันดูดลงไปจมตายไป ภายใต้น้ำวนก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพภพสงสารต่อไป

          แต่ถ้าบุคคลใดเป็นผู้เน่าใน คือผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นผู้เน่าในนี้หมายถึงว่าบุคคลผู้ต้องอาบัติปาราชิก ไม่สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมชั้นสูงได้ เปรียบเสมือนกับตาล เปรียบเสมือนกับต้นมะพร้าวยอดอ้วน ตาลยอดอ้วน ไม่สามารถที่จะงอกเงยต่อยอดออกมาได้ เหมือนกับต้นไม้ที่ตายแล้ว เราจะรดน้ำพรวนดินขนาดไหนมันก็ไม่เจริญเติบโตขึ้นมา เปรียบเสมือนแผ่นศิลาที่มันแตก แก้วที่มันแตก เพชรนิลจินดาอะไรที่มันแตก เราไม่สามารถที่จะเอามาต่อให้มันเป็นเนื้อเดียวกันได้

          บุคคลผู้ต้องอาบัติปาราชิกเป็นผู้แพ้ในพระศาสนานี้เหมือนกัน ไม่สามารถที่จะเกิดในพระศาสนาได้ ไม่สามารถที่จะยังสมาธิ สมาบัติ ไม่สามารถยังวิปัสสนาญาณ ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานชั้นใดชั้นหนึ่งได้ เป็นมัคคาวรณ์ สัคคาวรณ์ กั้นทั้งมรรค กั้นทั้งพระนิพพาน กั้นทั้งสวรรค์ เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบเสมือนกับผู้เน่าใน ย่อมมีแต่ที่จะจมลงไปสู่ก้นของแม่น้ำ ไม่สามารถที่จะไหลไปสู่ทะเลคือ อมตมหานฤพานได้

          เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเธอไม่ติดอยู่ที่ฝั่งนี้ ไม่ติดอยู่ที่ฝั่งโน้น ไม่จมอยู่ในท่ามกลาง ไม่เกยอยู่บนบก ไม่ถูกอมนุษย์ดึงขึ้นฝั่ง ไม่ถูกน้ำวนดูดไป หรือว่าไม่เป็นผู้เน่าใน เธอย่อมไหลเรื่อย ไหลเอื่อยลงไปสู่ทะเล ไม่ช้าก็เร็ว เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมในพระธรรมวินัยนั้น ย่อมเอียงลงไปตามลำดับ ย่อมลาดลงไปตามลำดับ ย่อมละเอียดลงไปตามลำดับ ไม่โกรกชันเหมือนกับภูเขาขาด เพราะฉะนั้นขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายจงอย่าท้อ ให้เพียรพยายามประพฤติปฏิบัติธรรมเรื่อยไป อันนี้เป็นประการที่ ๑ ในอินทรีย์สังวร

          ประการที่ ๒ ที่ท่านกล่าวไว้ในอปัณณกปฏิปทาก็คือ การรู้จักรับประทานอาหาร เรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา คือรู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร เราอย่ารับประทานมาก ถ้าเรารับประทานมากหนังท้องตึงมันก็ดึงหนังตา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นเข้าสู่นิทราฌาน คือนอนหลับไป แต่ถ้าเราฉันน้อยมันก็เกิดความหิว เมื่อเกิดความหิวแล้วก็เกิดความฟุ้งซ่านก็มี บางคนเกิดความหิวแล้วก็เกิดความอ่อนอกอ่อนใจ บางคนเกิดความหิวแล้วก็เกิดความท้อแท้ ใจน้อยก็มี แล้วแต่สภาวะของแต่ละคน

          เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติธรรมนั้นต้องรู้ประมาณของตนเอง อย่าไปดูคนอื่น บางคนก็ฉันมาก บางคนก็ฉันน้อย บางคนตัวอ้วนๆ แต่ฉันนิดเดียวก็มี บางคนตัวผอมๆ ฉันเท่าไหร่ก็ไม่เต็มก็มี แล้วแต่ความพอดีของแต่ละคน เราดูเรา เราฉันขนาดนี้พอดีไหม พอถึงเวลา ๔ โมง ๕ โมง เราฉันขนาดนี้มันหิวไหม ถ้ามันหิวแล้ว เราไปดื่มน้ำปานะแก้วหรือ ๒ แก้วพอดีมันหายหิว อย่างนี้เรียกว่าเราฉันพอดี

          แต่ว่าถ้าถึง ๔ โมง ๕ โมงแล้วมันไม่หิวเลย อิ่มอยู่เหมือนเดิมแสดงว่าเราทานมากเราลดลงหน่อยหนึ่ง เพื่อที่จะให้กายของเราเบาก็เป็นเหตุให้จิตใจของเราเบากายของเราเบา เราเดินจงกรมนั่งภาวนาก็มีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรม จะก้าว จะเดิน จะคู้ จะเหยียดอะไร เราสามารถกำหนด คู้หนอ เหยียดหนอ ก้มหนอ เงยหนอ ทัน

          แต่ถ้าเราฉันมากเกินไปเรากำหนดผิดกำหนดถูก บางครั้งก็กำหนดขวาไปเป็นซ้าย กำหนดซ้ายไปเป็นขวา เดินจงกรมฟุ้งซ่านอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราบริหารกายบริหารใจ เรากำหนดถูก ทันปัจจุบันธรรมอย่างนี้ก็มี สมมุติว่าบางคนบริหารกาย บริหารใจ ได้เบาคล่องแคล่วแล้วเบาแล้วก็เกิดปีติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญาได้ไว

          แต่บางคนฉันมาก นั่งไปแล้วก็โงกง่วง ไม่เห็นอาการพอง ไม่เห็นอาการยุบ นั่งไปก็ทุกขเวทนาครอบงำปวดตรงโน้น เจ็บตรงนี้ รู้สึกตัวขึ้นมาก็จะหมดชั่วโมงพอดีอย่างนี้ก็มี

          เพราะฉะนั้นการฉันนั้นเราต้องรู้จักประมาณของตัวเอง ฉันประมาณ ๔-๕ คำ จะอิ่มเราก็พอ ดื่มน้ำตาม อันนี้ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่าเหลืออีก ๔-๕ คำอิ่มเราก็พอ ท่านกล่าวไว้ว่าควรจะเว้นอาหารที่แสลงต่อโรค บางคนฉันไปแล้วร้อนในอย่างเช่น ฉันทุเรียนอย่างนี้นั่งภาวนาฟุ้งซ่านเราก็อย่าฉัน ฉันแล้วเป็นเหตุให้เกิดราคะ เช่น ฉันกระเทียมก็ดี ฉันไข่ดาวก็ดี ฉันของหวานๆ ก็ดี พวกนี้ ฉันพวกนม พวกเนย ฉันแล้วเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดราคะ สำหรับบุคคลผู้เป็นราคะจริต ฉันพวกนี้ไม่ได้ เราต้องรู้ว่าเราเป็นราคจริตหรือโทสจริต หรือเป็นโมหจริต พุทธิจริต หรือว่าเป็นศรัทธาจริต วิกลจริต เราต้องรู้

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 เมษายน 2565 16:42:42 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 24 เมษายน 2565 16:44:47 »


การปฏิบัติไม่ผิด ๓ ประการ
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี

          เมื่อเรารู้ว่าเราเป็นราคะจริต ฉันนิดฉันหน่อยแล้วเกิดราคะขึ้นมาเราต้องเบรคไว้ เราต้องห้ามไว้ ต้องหยุดไว้ อย่าเลยเถิด หรือว่าเรารู้ว่าเราเป็นโทสจริต ฉันพวกอาหารเผ็ดจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด พวกนี้ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ธาตุของเรานั้นทำงานหนักก็เกิดโกรธ เราก็ควรที่จะเว้นจากอาหารเหล่านี้

          หรือว่าเราเป็นคนโมหจริต หรือชอบลุ่มชอบหลง ไม่เห็นอาการพอง ไม่เห็นอาการยุบ ไม่เห็นอาการขวาย่างซ้ายย่าง พิจารณาธรรมไม่ออก ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา พิจารณาไม่ได้ อันนี้จัดเป็นประเภทโมหจริต เราก็ควรที่จะรู้ว่าอาหารที่มันหวานจัด อย่างเช่นบัวลอยไข่หวาน หรือว่าพวกขนมหม้อแกง หรือว่าข้าวเหนียวสังขยาอะไรอย่างนี้เป็นต้น ที่มันหวานๆ เราควรเว้น อันนี้ถือว่าเรารู้จักประมาณในการฉัน

          แล้วเราก็ควรที่จะรู้จักประมาณในการนอน ถ้าเรานอนน้อยเกินไปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สติของเรานั้นไม่พอไม่สมบูรณ์โงกง่วงไปมา จับอารมณ์ไม่มั่น จับอาการพองอาการยุบไม่มั่นคง จับอาการขวาย่างซ้ายย่างไม่มั่นคง ถ้าเรานอนน้อยสติของเรามันก็เบาไม่มีกำลัง ไม่มีสมรรถภาพอานุภาพ

          แต่ถ้าเรานอนพอดีเรากำหนดอาการพองอาการยุบ เหมือนกับว่าอาการพองอาการยุบมันแน่น พองหนอ เห็น ยุบหนอ แน่น สมาธิมันก็รวมเข้ามามือของเรามันก็ตึง ตัวของเรามันก็เบา อาการพองอาการยุบปรากฏชัดเจนขึ้นมาในไม่ช้าไม่นาน แล้วก็เป็นสมาธิ วิปัสสนาญาณมันก็เกิดขึ้นมาได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

          เพราะฉะนั้นครูบาอาจารย์นั้นต้องพยายามรู้การบริโภค การฉัน รู้จักการนอน ถ้าเรานอนน้อยเกินไปก็โงกง่วงไป นอนมากเกินไปก็ลดลงมา ถ้ารู้จักพอดีอย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติด้วยปัญญา อันนี้เป็นลักษณะของการรู้จักการฉันใน โภชเนมัตตัญญุตา

          ข้อที่ ๓ ท่านกล่าวไว้ว่า ชาคริยานุโยค คือเป็นผู้ตามประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ คือให้เราตามพิจารณาธรรมเป็นเครื่องตื่นอยู่ คือต้องประกอบความเพียรอยู่ตลอดเวลา เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน จะกิน จะดื่ม จะพูด จะคิด จะทำกิจใดๆ ก็ตามเราต้องกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม

          คณะครูบาอาจารย์อาจจะคิดว่าอาจารย์พูดไปมากไปหรือเปล่า พูดง่ายไปหรือเปล่า จะยืน จะเดิน จะนอน จะกิน จะดื่ม จะพูด จะคิด อะไรเราต้องมีสติทันปัจจุบันธรรมนั้น มันจะเป็นไปได้หรือ คณะครูบาอาจารย์อาจจะคิดอย่างนั้น แต่เมื่อเราต้องการที่จะพ้นทุกข์จริงๆ เราต้องประพฤติปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น

          เพราะบุคคลผู้จะพ้นไปจากความทุกข์จริงๆ นั้น ต้องมีสติแก่กล้าถึงขนาดนั้น คิดดูซิว่าบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติถึงอุทยัพยญาณ ญาณที่ ๔ นั่งภาวนาไปๆ พองหนอ ยุบหนอ พอมันเร็วขึ้นๆๆ เผลอแวบไปนึดหนึ่ง ชั่วขณะจิตหนึ่งมันขาดวับไป แล้วก็รู้สึกตัวขึ้นมา อาการพองอาการยุบเป็นปกติ แล้วก็อาการพองยุบก็เร็วขึ้นๆๆ แล้วก็ขาดแวบไปหนึ่งขณะจิต ชั่วเราว่าฟ้ามันแล่บมันก็ยังช้ากว่า หรือว่าเราฉีดน้ำลงไปในน้ำ เอาดาบฟันลงไปในน้ำ น้ำมันกลับเข้าหากันเร็วมันก็ยังช้ากว่าความรู้สึกที่เรายังมีอยู่ เพราะอะไร เพราะว่าสติที่มันตัดลงไปนั้นมันแวบเดียวเท่านั้นเอง อันนี้เรียกว่ามันดับลงไป ๑ ขณะจิตมันเร็วถึงขนาดนั้น

          แต่ว่าอุทยัพยญาณที่เรามีสติทันถึงขนาดนั้นมันก็ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นวิปัสสนาญาณแค่ ๙๙ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยังดับกิเลสไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่าเผลอไป ๑ ขณะจิต แต่ว่าอนุโลมญาณ โคตรภูญาณ หรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้มันเกิดในอนุโลมญาณ โคตรภูญาณนี้แหละมันเกิดขึ้นมา ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เราต้องมีสติให้ชัดเจนถึงขนาดนั้น

          เพราะฉะนั้นเรายืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด เราเผลอไปด้วย คิดถึงเรื่องนั้นไปด้วย คิดถึงเรื่องนี้ไปด้วย ก็ถือว่าเรายังห่างไกลต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นเราต้องสปีดตัวเอง ต้องบังคับตัวเอง ต้องพยายามที่จะทำให้ตัวเองนั้นมีไฟขึ้นมา มีการสำรวมเพิ่มขึ้นมา แต่ถ้าเราเผลอไปก็ไม่รู้ว่าเราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานหรือไม่

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราจะต้องเอาใจใส่จริงๆ ต้องมีความเพียรจริงๆ ต้องมีความมุมานะจริงๆ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า วิริเยน ทุกฺขมจิเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร คือต้องมีความเพียรทุกอิริยาบถนั้นแหละ เราจึงสามารถที่จะพ้นจากความทุกข์ได้

          เรื่องนี้มีเรื่องของพระมหาสีละ ประกอบความเพียรอยู่ ๖๐ ปีจึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ หรือเรื่องของพระเรวตะที่ปลีกวิเวกไปอยู่คนเดียวเดินจงกรมนั่งภาวนา แม้แต่ดอกไม้ที่อยู่หน้าถ้ำของท่าน ท่านก็ไม่เคยเงยหน้ามองสักที จะรู้ว่ามันเป็นดอกฤดูไหนท่านก็ดูเวลามันบาน เวลามันร่วงลงมาหน้าถ้ำ ท่านจึงรู้ว่าดอกไม้ที่มันบานเป็นฤดูนั้นฤดูนี้ ท่านก็ดูดอกไม้ที่มันร่วงลงมา

          ฝาผนังของถ้ำที่ท่านอยู่นั้นเป็นภาพวาดที่วิจิตรงดงามท่านก็ไม่เคยมองขึ้นดู ท่านมีแต่สำรวมแล้วก็เดินจงกรม นั่งภาวนาจนท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาร มีความเพียรอยู่ตลอดเวลา พระมหาสิวะนั้นมีความเพียรอยู่ตั้ง ๖๐ ปี ไม่มีการนอนมีแต่ยืนกับนั่ง ไม่ล้างเท้าตลอด ๖๐ ปี จึงได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

          เพราะฉะนั้นการทำความเพียรนี้เราต้องทำความเพียรให้ต่อเนื่อง ทำความเพียรให้ติดต่อ ทำความเพียรให้เป็นเหมือนกับกระแสน้ำไม่ให้ขาดสาย เพราะกำลังของวิปัสสนาญาณที่แก่กล้า ที่จะประหารกิเลสให้หมดไปจากจิตจากใจ ให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นต้องเป็นวิปัสสนาที่เป็นกระแสเหมือนกับกระแสน้ำ มันติดต่อกันไป มันมีพลังไม่เผลอ ถ้าเผลอแพบนึงมันก็มีสติขึ้นมากลับมาทันที รู้ว่าตนเองเผลอแป๊ปเดียวเท่านั้นแหละมีสติกลับมาทันที จนเรามีสติติดต่อกันไปๆ เราจะก้าวไปเปิดประตูห้องน้ำเราก็มีสติ เราจะอาบน้ำเราก็มีสติ เราจะเทน้ำ อาบน้ำ น้ำมันไหลชำระร่างกายของเราเย็นอย่างไรก็มีสติ เราจะนุ่งสบงคาดผ้าปะคดเอวก็ตาม นุ่งผ้าอังสะก็ดี สบงจีวรก็ดี เรามีสติ เราก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานในขณะที่อาบน้ำก็มี

          อย่างที่เราเห็นพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเทศน์ว่า ในสมัยนั้นสามเณรประมาณ ๑๐ รูปอาบน้ำ ขณะนั้นพระอาจารย์เกรียงศักดิ์ซึ่งอยู่ถ้ำผาพิรุณ เป็นคนสอนสามเณร หลังจากฝึกสมาธิแล้วก็ไปอาบน้ำร่วมกันประมาณ ๑๐ รูปได้ ขณะที่อาบน้ำขณะนั้นก็แปรงฟัน ตกลงกันว่าให้เรากำหนดแข่งกัน พอกำหนดไปๆๆ เข้าสมาธิในขณะที่แปรงฟัน คิดดูซิน่าอัศจรรย์ใจหรือเปล่าสามเณรเกือบ ๑๐ รูปเข้าสมาธิในขณะที่แปรงฟัน อันนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านได้ยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์ประจำ ถ้าเรามาพิจารณาว่าถ้าสามเณรนั้นดับไปคือ สงบไปด้วยอำนาจของฌานชวนวิถีก็ถือว่าเป็นฌาน แต่ว่าถ้าสามเณรดับไปด้วยอำนาจของวิปัสสนาญาณ ดับไปด้วยอำนาจของมรรควิถีก็คือบรรลุมรรคผลนิพพานในขณะที่แปรงฟัน คิดดูซิ

          เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสติทันปัจจุบันธรรมเราสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานอยู่ตลอดเวลา ขอให้เรามีสติอย่าประมาท ถึงเราจะประสบกับความทุกข์หรือว่าเราประสบกับความสุขเราก็อย่าประมาท ให้เรามีสติทันปัจจุบันธรรมเราก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เหมือนกับพระปีติมัลละเถระ

          พระปีติมัลละเถระนั้นเป็นบุคคลผู้มากไปด้วยปีติ ท่านเป็นเศรษฐีมาออกบวช แล้วน้องชายก็ได้ภรรยา ภรรยาของน้องชายก็เกิดความโลภอยากได้ทรัพย์สมบัติของพี่ชาย ถ้าพี่ชายออกบวชไปถ้าท่านตายไปสมบัติทั้งหมดก็ตกเป็นของน้องชาย ก็เป็นของเรา อย่ากระนั้นเลยเราจ้างพวกโจรไปฆ่าท่านดีกว่า ท่านก็ไปเดินจงกรม

          ขณะที่เดินจงกรมทำความเพียรนั้นแหละ เดินจงกรมกลับไปกลับมาๆ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ จนเหนื่อยจนเท้าแตกแล้วท่านก็คลานเดินจงกรมเอา คลานกลับไปคลานกลับมา ขณะที่คลานอยู่นั้นนายพรานคนหนึ่งคิดว่าท่านเป็นเนื้อก็เอาหอกนั้นซัดไปถูกกลางหลังของท่าน แล้วก็ทะลุออกไปหน้าท้องของท่าน ทำให้ไส้ของท่านนั้นทะลักออกมา ท่านก็ต้องจับไส้ของท่านยัดเข้าไปแล้วก็เอาหญ้าแห้งนั้นยัดไว้ ก็ถามว่าใครหนอเอาหอกพุ่งมาแทงเรา ภิกษุทั้งหลายก็วิ่งมา

          เมื่อภิกษุวิ่งมาแล้วท่านก็ให้ภิกษุทั้งหลายนั้นประคองให้นั่ง แล้วก็ขอให้ภิกษุทั้งหลายนั้นออกไป ท่านขอว่าขอเวลาเจริญสมณธรรมเจริญกรรมฐาน ท่านบริกรรม “เจ็บหนอ” “ปวดหนอ” ในไม่ช้าไม่นานท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ อันนี้ก็เป็นเพราะว่าท่านมีความเพียรอยู่ตลอดเวลา

          หรือในเรื่องที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย เรื่องของพระโพธิกะ พระโพธิกะนี้เป็นผู้ที่ทำบาปไว้แต่ชาติปางก่อน คือยุให้ภิกษุในพระศาสนาให้เขาสึก เมื่อเขาจะสึกแล้วก็อยากได้บริขารของเขา พอท่านมาบวชในชาตินี้แล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ฌานของท่านที่ได้นั้นแหละเสื่อม เสื่อมแล้วก็กลับได้ ได้แล้วก็กลับเสื่อม ท่านก็เบื่อหน่ายขณะที่ท่านได้ฌานแล้วท่านก็คิดว่าขอฌานของเราอย่าได้เสื่อมเลย ก็เอามีดโกนนั้นแหละปาดคอตัวเอง ขณะที่เชือดคอตนเองนั้นยังไม่ตายมีสติกำหนดทันก็กำหนด “ปวดหนอๆ” “เจ็บหนอๆ” ไปในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน แต่ถ้าท่านไม่มีสติท่านก็อาจจะไปเกิดในอเวจีมหานรก ฆ่าคนอื่นก็เหมือนฆ่าตนเองนั้นก็เท่ากัน แต่ว่าท่านกลับเป็นสัมมาทิฏฐินึกถึงกรรมฐานที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ กำหนด “เจ็บหนอๆ” “ปวดหนอๆ” ก็เหมือนกับว่าท่านกลับมาเป็นสัมมาทิฏฐิยังเวทนานุปัสสนากรรมฐานให้เกิดขึ้นมาก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้

          เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมนั้นต้องประกอบไปด้วยความเพียร เราจะหนาวให้เราคิดว่าประพฤติปฏิบัติ หนาวเพียงแค่นี้ถ้าเราไปหนาวในโลกันตมหานรกไม่มีแสงสว่างเราจะหนาวขนาดไหน หนาวแค่นี้ยังพอทนเราควรที่จะปฏิบัติไปในขณะนี้ ถ้ามันร้อนก็คิดว่าถ้าเราตกนรกไป ถ้าเราคิดว่าตามฝั่งมหานรกเต็มไปด้วยเปลวเพลิงทั้งหลายทั้งปวงลุกขึ้นมา เปลวเพลิงทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นกำแพงล้อมรอบสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีก้อนเพลิง มีภูเขาเพลิงไหลบดกลิ้งทับสรรพสัตว์ทั้งหลายในมหาตาปนนรก เราจะได้รับความทุกข์ทรมานขนาดไหน เพราะฉะนั้นเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้ว ร้อนแค่นี้เราจะทนไม่ได้เชียวหรือ เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน เพื่อเราจะพ้นไปจากความเวียนว่ายตายเกิด สิ้นไปจากความโกรธความโลภความหลงให้ถึงสันติสุขคือพระนิพพานเราจะทนไม่ได้เชียวหรือ

          เมื่อเราคิดอย่างนั้นเราก็ควรที่จะเดินจงกรมนั่งภาวนาในขณะนี้ เราถูกยุงกัดก็ดี ถูกอะไรกัดก็ดี เราต้องอดทน คิดว่าถ้าเราถูกนายนิรยบาลเอาหอกแหลมแทง ถูกนายนิรยบาลเอาคีมดึงลิ้นออกมาแล้วก็ตัด ถูกนายนิรยบาลเอาค้อนใหญ่ทุบในทำนองนี้ มันจะได้รับความทุกข์ทรมานขนาดไหน ถ้าเราพิจารณาอย่างนี้ก็เกิดความอุตสาหะความพยายามขึ้นมา ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมให้เราพิจารณาถึง นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ว่าเราไม่เคยทำบุญอย่างเดียว เราทำบาปทางกายบ้าง ทำบาปทางวาจาบ้าง ทำบาปทางใจไว้บ้าง เมื่อเราทำบาปต่างๆ นาๆ แล้วเรายังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน คติของบุคคลผู้ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นย่อมไม่เที่ยง ถ้าจิตใจของเราเผลอแป๊ปเดียวเราก็อาจจะไปสู่อบายภูมิได้ จิตดวงสุดท้ายของเราก็อาจไปสู่อบายภูมิได้

          เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายเกิดความเพียร เกิดความอุตสาหะอย่าท้อแท้ ถ้าเราจะเดินทางในวันพรุ่งนี้ เราจะประพฤติปฏิบัติในวันนี้เสียดีกว่า ถ้าเราจะอัพภานในพรุ่งนี้ก็ให้เราคิดว่าพรุ่งนี้เราจะอัพภานแล้ว พรุ่งนี้เราจะไม่มีโอกาสปฏิบัติ เราจะปฏิบัติวันนี้มากๆ ถ้าเราเดินทางอยู่เราก็คิดเสียว่าขณะที่เราเดินทางแล้วมันเหนื่อย หรือว่าเรากลับไปถึงที่แล้วเราไปคุยกับญาติกับโยมทำการงานอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่มีเวลาเราปฏิบัติในขณะที่เดินทางนี้ดีกว่า เมื่อเราเดินทางถึงแล้ว ก็ให้คิดว่าขณะนี้เราเดินทางถึงแล้วมีห้อง มีที่อยู่อาศัยดี เราควรจะรีบประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะทำที่สุดให้ถึงโดยเร็ว อันนี้เรียกว่าเราพิจารณาให้เกิดความเพียรในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราบรรลุมรรคผลนิพพาน หรือว่าทำให้แจ้งในธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เร็ว

          ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมันจะเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่ที่คณะครูบาอาจารย์ แต่ถ้าคณะครูบาอาจารย์รูปไหนมัวแต่คุย ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมคนไหนมัวแต่เล่นมัวแต่ส่งจิตส่งใจไปอย่างโน้นอย่างนี้ เดี๋ยวก็ไปประพฤติปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์รูปนั้น อาจารย์รูปนี้ อาจารย์รูปนี้เทศน์ดี อาจารย์รูปนี้เทศน์ไม่ดี มัวแต่ไปพิจารณาปัจจัยภายนอก ไม่พิจารณาปัจจัยภายใน การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นมันก็ยากดังอุปมาอุปไมยเหมือนกับเรื่องภิกษุ ๒ สหาย

          คือในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ในสมัยนั้นมีภิกษุ ๒ รูปมาเรียนกรรมฐานในสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนเพียงพอต่อการบรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อเรียนแล้วก็ชวนกัน ชวนเพื่อนชวนฝูงไปอยู่ในราวป่าเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ว่าภิกษุรูปหนึ่งนั้นเป็นผู้ประมาทเมื่อไปถึงป่าแล้วก็ไปเก็บฟืน แล้วเอาฟืนมากองรวมกันไว้แล้วอาบน้ำ หาน้ำปานะอะไรมาดื่มมาชงกันแล้วก็ก่อไฟขึ้น คุยกับภิกษุ สามเณรน้อยสรวลเสเฮฮากันเพลิดเพลินไป

          ส่วนภิกษุรูปหนึ่งไม่ประมาท ภิกษุรูปที่ประมาทนั้นก็คุยกันพอถึงมัชฌิมยามแล้วก็ไปนอน แต่ภิกษุผู้ไม่ประมาทก็ไปกล่าวตักเตือนว่า “ท่าน ท่านอย่าทำอย่างนี้สิ อบายภูมิคือนรกเปรตอสุรกายสัตว์เดรัจฉาน ย่อมเป็นเรือนนอนของบุคคลผู้ประมาท บุคคลผู้โอ้อวดย่อมไม่ยังพระพุทธเจ้าให้ยินดีได้ ขอท่านอย่าได้ประมาทเลย” ภิกษุผู้ประมาทก็ว่า “ท่านอย่ามาตักเตือนผมเลย” ภิกษุรูปนั้นก็ไม่ฟัง ประมาทคุยกันดื่มน้ำปานะคุยกันเฉยไม่ประพฤติปฏิบัติ ภิกษุผู้ไม่ประมาทก็บอกว่า “ท่านไม่เชื่อคำผม ต่อไปผมก็จะไม่ตักเตือนท่านแล้ว” ภิกษุผู้ประมาทก็ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นเรื่อยไป

          ส่วนภิกษุผู้ไม่ประมาทนั้นก็รีบประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนา กำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม กำหนดอยู่ตลอดเวลา ประพฤติปฏิบัติไปๆ พอถึงตอนมัชฌิมยามท่านก็ไปนอน ส่วนภิกษุผู้ที่ประมาทหลังจากผิงไฟไปแล้วก็เดินเข้าไปในห้องหาภิกษุผู้ไม่ประมาท ไปปลุกว่า “ท่านๆ ท่านจะมานอนอยู่ที่นี่ทำไม ท่านเรียนกรรมฐานจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ท่านจะมานอนหรือ ท่านเข้าป่ามาเพื่อหลับนอนอย่างเดียวหรือ” ก็ไปปลุก ไปดึง ไปกระชากภิกษุรูปนั้นให้ลุกขึ้นมา แล้วตนเองก็เดินเข้าห้องแล้วก็นอนหลับเฉยเลย ในลักษณะอย่างนั้นเป็นลักษณะของคนประมาท

          ส่วนภิกษุผู้ไม่ประมาทก็ตื่นขึ้นมาในปัจฉิมยามแล้วก็เดินจงกรม นั่งภาวนา กระทำความเพียรกำหนดติดต่ออยู่ตลอดเวลา ในไม่ช้าไม่นานท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ พอออกพรรษาแล้วภิกษุสองสหายที่เป็นเพื่อนกัน ภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระอรหันต์ ภิกษุรูปหนึ่งเป็นปุถุชนก็ชวนกันมากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พอมาถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทำปฏิสันฐาน “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออยู่ที่นั่นอาหารพอได้ฉันอยู่หรือ พอมีญาติมีโยมมาถวายมาอุปถัมภ์อุปฐากอยู่หรือ พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาทกระทำสมณธรรมแล้วหรือ กิจในบรรพชิตของเธอทั้งหลายทั้งสอง ถึงที่สุดแลหรือ” ภิกษุผู้ประมาทนั้นก็กล่าวว่า “ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ความไม่ประมาทจะมีกับภิกษุนี้แต่ที่ไหน ภิกษุนี้ไปในป่าแล้วมีแต่จะหลับจะนอน ปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปเปล่า”

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็หันพระพักตร์มาถามภิกษุรูปนี้ว่า “แล้วเธอล่ะภิกษุ เธอเป็นอย่างไรเล่า” “กระผมไม่ประมาท กระผมไปถึงป่าแล้วก็เก็บไม้เก็บฟืนมากองรวมกันแล้วก็ก่อไฟขึ้น แล้วก็คุยกันกับพระภิกษุสงฆ์สามเณรน้อย ปล่อยให้กาลเวลาล่วงไป โดยวิเศษ” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุ เธอเป็นผู้ประมาทแล้ว ปล่อยกาลเวลาให้ล่วงไปเปล่าประโยชน์ เธอยังจะมากล่าวว่าเธอเป็นผู้ไม่ประมาท แล้วยังจะมาทำบุคคลผู้ไม่ประมาทให้ประมาท เธอเปรียบเสมือนกับม้าที่มีฝีเท้าเลว อยู่ในสำนักของบุตรของเรา บุตรของเราเปรียบเสมือนกับม้าที่มีผีเท้าดี อยู่ในสำนักของเธอ”

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า “อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สุตฺเตสุ พหุชาคโร” เป็นต้น ซึ่งแปลเป็นใจความว่า บุคคลผู้มีปัญญาดีเมื่อบุคคลอื่นประมาทแล้วไม่ประมาท เมื่อบุคคลอื่นหลับแล้วตื่นอยู่โดยมากย่อมละบุคคลผู้มีปัญญาทรามไป เหมือนกับม้าตัวมีฝีเท้าเร็ว ย่อมละม้าตัวมีฝีเท้ากระจอกไปฉะนั้น

          อันนี้ก็แสดงว่าบุคคลผู้ที่มีความเพียรนั้นสามารถที่จะละบุคคลคือ ทิ้งบุคคลที่มีความเพียรเร็วนั้นไว้ในภพนี้ ไว้ในโลกนี้ ไว้ให้เวียนว่ายตายเกิด ส่วนบุคคลผู้มีปัญญาดี ไม่มีความประมาทนั้นย่อมไปสู่พระมหาอมตนฤพาน สิ้นจากความทุกข์ สิ้นจากราคะ สิ้นจากโมหะ พ้นไปจากชาติกันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

          เพราะฉะนั้นธรรมะ ๓ ข้อที่กระผมได้นำมาเรียนถวายคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายก็ขอให้น้อมนำไปพินิจพิจารณาพอกับการประพฤติปฏิบัติธรรม เพื่อที่จะถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์

          กระผมได้กล่าวธรรมะมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมที่นี้ก็ขอให้เป็นผู้สมบูรณ์ไปด้วยสติ สมบูรณ์ไปด้วยสมาธิ สมบูรณ์ไปด้วยปัญญา ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายจงมีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้คณะครูบาอาจารย์จงหายจากทุกข์ หายจากโศก หายจากโรค หายจากภัย ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายจงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของญาติโยมทั้งหลาย ขอให้คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายจงเป็นผู้มีกุศลจิตสถิตมั่นในพระสัทธรรมนำตนให้พ้นจากทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์กล่าวคือมรรคผลนิพพานด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1064 กระทู้ล่าสุด 22 สิงหาคม 2564 13:35:37
โดย Maintenence
อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 757 กระทู้ล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2564 16:22:04
โดย Maintenence
การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลเร็ว โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 737 กระทู้ล่าสุด 22 ธันวาคม 2564 15:47:35
โดย Maintenence
การปฏิบัติไม่ผิด ๓ ประการ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 788 กระทู้ล่าสุด 13 มกราคม 2565 20:36:59
โดย Maintenence
การปฏิบัติไม่ผิด ๓ ประการ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 148 กระทู้ล่าสุด 10 กันยายน 2566 12:45:31
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.814 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 24 กันยายน 2566 18:13:05