[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 21:29:53 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระเป็นเจ้าของพราหมณ์ พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (อ่าน 1076 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 100.0.4896.75 Chrome 100.0.4896.75


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 12 เมษายน 2565 15:49:09 »

หนังสือเรื่อง “พระเป็นเจ้าของพราหมณ์” เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีต้นฉบับเป็นลายพระราชหัตถเลขาเก็บรักษาไว้ที่แผนกค้นคว้า กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ พระราชประสงค์เดิมเห็นจะทรงตั้งพระราชหฤทัยจะพิมพ์ไว้ข้างต้นพระราชนิพนธ์เรื่องนารายน์สิบปาง ดังปรากฏว่าได้ทรงอ้างถึงเรื่องนารายน์สิบปางไว้ในเรื่องนี้หลายแห่ง แล้วภายหลังจะทรงด้วยเห็นว่าเนื้อความละเอียดพิสดารเกินไปหรืออย่างไรไม่ปรากฏ จึงได้ทรงงดเสีย ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ ย่อให้สั้นลงกว่าเดิม โปรดฯ ให้พิมพ์ไว้เป็นคำนำพระราชนิพนธ์เรื่องนารายน์สิบปาง ดังปรากฏในฉบับนั้นแล้ว ฉบับพิสดารนี้จึงค้างอยู่ ต่อมากรมศิลปากรได้นำมาตัดตอนตีพิมพ์ในวารสารศิลปากรเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ ให้ชื่อเรื่องว่า พระเป็นเจ้าของพราหมณ์ แต่ไม่จบ และนับแต่นั้นก็ยังหาได้เคยตีพิมพ์ ณ ที่แห่งใดไม่

กรมศิลปากร
๑๗ เมษายน ๒๕๐๓
 


ขอขอบคุณ วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี (ที่มาภาพวาดประกอบ)

พระเป็นเจ้าของพราหมณ์
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนารายน์

​พระเป็นเจ้าซึ่งมักจะออกนามว่านารายน์นั้น คือผู้ที่มีนามโดยเฉพาะว่า วิษณุ หรือ พิษณุ พวกพราหมณ์นับถือเป็นองค์ ๑ ในพระเป็นเจ้าทั้งสามของเขา และพราหมณ์บางเหล่า ก็ยกย่องว่าเป็นใหญ่กว่าพระเป็นเจ้าทั้งปวง พราหมณ์ผู้นับถือพระนารายน์ว่าเป็นใหญ่ยิ่งเช่นนี้ ได้นามว่า ไพษณพ (ไวษ์ณว)

ในชั้นต้น เมื่อพระไตรเพทยังเป็นคัมภีร์หลักแห่งลัทธิไสยศาสตร์นั้น พระวิษณุมิได้เป็นเทวดาอันมีฤทธานุภาพมากมายปานใดนัก เช่นในพระฤคเวทกล่าวถึงพระวิษณุว่าเป็นองค์แห่งกำลังตะวัน และว่าดำเนินผ่านสัปตภูมิ (ภูมิทั้ง ๗) โดยย่างสามย่าง และว่าหุ้มห่อสรรพสิ่งทั้งปวงด้วยรัศมีของพระองค์ ย่างทั้งสามซึ่งกล่าวในที่นี้ อรรถกถาจารย์อธิบายว่ามุ่งเอาองค์แห่งแสงสว่าง ๓ ประการ กล่าวคือไฟ ๑ แสงฟ้าแลบ ๑ ดวงตะวัน ๑ หรืออีกนัยหนึ่ง ๑ ก็ว่ามุ่งเอาอาการแห่งตะวัน กล่าวคือเวลาขึ้น ๑ เวลาเที่ยง ๑ เวลาตกหนึ่ง ๑ กับในพระเวทและในหนังสืออื่นๆ ซึ่งแต่งในยุคเดียวกันนั้น มีกล่าวถึงพระวิษณุว่าเป็นมิตรกับพระอินทร ซึ่งในยุคไตรเพทนี้เป็นเทวราชผู้มีฤทธานุภาพเป็นชั้นที่ ๑ พระวิษณุเป็นแต่เทวดาชั้นรองลงมาเท่านั้น แต่ถึงแม้ในสมัยนั้นก็ได้นามอยู่แล้วว่า “พระผู้สงวนอันไม่มีผู้ชำนะได้”

​ครั้นต่อ ๆ ลงมา มีคณาจารย์สอนลัทธิไสยศาสตร์ต่างคนต่างคิดแผลงกันออกไป เรื่องราวแห่งพระเป็นเจ้าทั้งหลายวิจิตรพิสดารขึ้นทุกที จึงมีข้อความผิดแผกแปลกไปจากข้อความที่มีอยู่ในตำหรับพระเวทเดิม ทั้งเกิดแบ่งแยกเป็นสาขาเป็นนิกายต่างๆกันไป ต่างนิกายก็ต่างยกย่องนับถือพระเป็นเจ้าองค์ ๑ ว่าเป็นใหญ่ยิ่งยวด และบรรดาสิ่งใดๆ ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์ก็เก็บเอามายกให้แก่พระเป็นเจ้าผู้ที่ตนนับถือนั้นทั้งสิ้น เช่นการสร้างโลก ตามความนิยมกันในชั้นต้นก็ว่าเป็นหน้าที่พระพรหมา แต่พวกที่นับถือพระวิษณุเก็บเอามายกให้พระวิษณุ โดยอธิบายไปต่าง ๆ เช่นว่าพระวิษณุแบ่งภาคเป็นพระพรหมาและสร้างโลกขึ้นในน้ำ หรืออีกนัย ๑ ว่า พระพรหมานั้นกำเนิดในดอกบัว ซึ่งผุดขึ้นมาจากพระนาภีแห่งพระวิษณุ เพราะฉะนั้นจึ่งควรนับว่าพระวิษณุนั้นแลเป็นผู้สร้างโลก เพราะพระองค์ได้สร้างพระพรหมาขึ้นก่อน พระพรหมาจึ่งได้สร้างโลกขึ้น ในหนังสือปัทมปุราณะยังอธิบายยิ่งไปกว่านั้น คือแสดงว่าพระวิษณุคือพระปรพรหมผู้เป็นปฐมบรมมูลแห่งโลกตามคำในคัมภีร์นั้นมีอยู่ว่า “ในเมื่อจำเดิมเริ่มรังสรรค์โลก พระมหาวิษณุมีพระหฤทัยปรารถนาจะใคร่ทรงสร้างโลกทั้งหมด จึ่งบันดาลพระองค์ให้เป็นสามภาค กล่าวคือเป็นผู้สร้าง ๑ ผู้สงวน ๑ ผู้ล้าง ๑ พระมหาบุรุษได้ทรงสร้างพระพรหมาขึ้นจากบั้นพระองค์เบื้องขวา เพื่อสร้างโลกนี้ ทรงสร้างพระวิษณุขึ้นจากบั้นพระองค์เบื้องซ้ายเพื่อสงวนโลกนี้ แล้วจึ่งสร้างพระศีวะมหากาลขึ้นจากกลางพระองค์เพื่อล้างโลกนี้ คนเราไซร้บางคนก็บูชาพระพรหมา บางคนก็บูชาพระวิษณุ บางคนก็บูชาพระศีวะ แต่พระวิษณุเป็นเจ้า พระองค์ผู้เป็น ๑ แบ่งภาค ๓ นั้นไซร้ ทรงสร้าง สงวน และล้างโลก เหตุฉะนี้ผู้มีศรัทธาแท้จริงจง​อย่าได้บูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนั้นให้แปลกกันไปเลย”

ในหนังสือวิษณุปุราณะ (ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปอีกมากในหนังสือนี้) เป็นตำหรับสำหรับแสดงเรื่องพระวิษณุเป็นเจ้าเป็นอาทิ มีข้อสรุปความไว้แห่ง ๑ ว่า “โลกนี้ไซร้ ได้บังเกิดมาแต่พระวิษณุ โลกนี้มีอยู่ในพระองค์ พระองค์เป็นผู้บันดาลให้โลกนี้คงอยู่และสูญไป พระองค์ไซร้คือโลกนี้แล้ว” ดังนี้ ก็ตรงกับคำในโองการแช่งน้ำ ซึ่งมีอยู่ว่า “แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน” นั้นแล

ในหนังสือวิษณุปราณะนั้น ต่อจากวรรคที่กล่าวแล้วข้างบนนี้ มีข้อความเป็นคำสรรเสริญไว้ว่า “ข้าขอไหว้พระองค์ไม่มีความเปลี่ยนแปลง ผู้ควรเคารพ ผู้ไม่มีดับ พระวิษณุผู้เป็นใหญ่ยิ่ง ผู้มีลักษณะอัน ๑ อันเดียวทั่วไป ผู้มีฤทธิอำนาจเหนือสรรพสิ่งทั่วไป ข้าขอไหว้พระองค์ผู้เป็นหิรัณยะครรภ เป็นหะริ และเป็นสังกร คือผู้สร้าง ผู้สงวน และผู้ล้างโลก” ขอจงสังเกตว่า “หิรัณยะครรภ” นั้น เป็นนามใช้เรียกพระพรหมาผู้สร้างซึ่งมีกำเนิดจากไข่ “หริ” เป็นนามแห่งพระนารายน์ แปลว่า “สงวน” ตรงตามหน้าที่ “สังกร” นั้นเป็นนามแห่งพระศีวะ

พระวิษณุนั้นโดยมากมักเรียกกันว่า นารายน์ ซึ่งบางอาจารย์ก็แปลว่ามาจาก “นร”-น้ำ “อายน”-กระดิก สนธิเป็น “นารายน” แปลว่าผู้กระดิกในน้ำ อธิบายว่าที่เรียกเช่นนี้เพราะในเวลาที่สร้างนั้น สร้างในน้ำและบรรทมในน้ำ เมื่อขณะที่สร้าง แต่เดิมนามว่านารายน์นี้ก็เป็นของพระพรหมา แต่ครั้นเมื่อมีความนับถือพระวิษณุกันมากขึ้น จึ่งยกนามนารายน์นี้มาให้พระวิษณุ ๆ ก็เลยครอบครองเป็นเจ้าของต่อมาทีเดียว ผู้ที่นับถือพระนารายน์นั้น มักเรียกพระศีวะว่าพระมหาเทพ และศัพท์ “อิศวร” ​(พระผู้เป็นใหญ่) นั้น ก็ใช้เรียกพระนารายน์ แต่ตามความนิยมแห่งคนโดยมาก นามอิศวรเป็นของพระศีวะเป็นเจ้า เรียกพระศีวะเป็นเจ้าว่าอิศวรทั่วกันแล้ว จึ่งเป็นอันจะตู่ไปใช้เป็นนามพระนารายน์ไม่ได้ถนัดนัก

ในคัมภีร์จำพวกปุราณะต่างๆ ซึ่งพวกพราหมณ์ไพษณนิกายแต่ง มีเรื่องราวอยู่หลายแห่งสำหรับแสดงความเป็นใหญ่ของพระนารายน์ เช่นมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

ในหนังสือจำพวกภาควัตปุราณะ มีเรื่องว่า;- ในกาลครั้ง ๑ พระฤษีเจ้าทั้งปวงกำลังกระทำพิธีพลีกรรมอยู่ที่ริมฝั่งน้ำสะรัสวดี ได้เกิดมีข้อเถียงกันขึ้นในระหว่างพระฤษีเจ้าว่า อันพระเป็นเจ้าทั้งสามนั้น องค์ใดจะประเสริฐยิ่งกว่าองค์อื่น จึ่งพร้อมกันแต่งให้พระภฤคุมุนีพรหมบุตรเป็นผู้สอบสวนในข้อนี้ พระภฤคุมุนีตรงไปยังพรหมโลกก่อนและเดินตรงเข้าไปในวิมานพระพรหมาโดยมิได้แสดงกิริยาเคารพตามประเพณีเลย พระพรหมาทอดพระเนตรเห็นพระมุนีประพฤติกิริยาหยาบเช่นนั้นก็ทรงพระโกรธแต่ทรงรำลึกขึ้นได้ว่าผู้ผิดนั้นเป็นโอรสแห่งพระองค์เอง จนสู้ดับโทษะสงบลงได้ พระภฤคุได้แลเห็นดังนั้นแล้วจึ่งไปยังเขาไกรลาศ ครั้นเมื่อพระมเหศวรรีบเสด็จลุกมากอดอย่างฉันพี่น้อง พระภฤคุก็หันหน้าหนีเสีย พระอิศวรมีความขัดพระทัยในความประพฤติแห่งพระมุนี จึ่งฉวยพระแสงตรีศูลเงื้อง่าจะฆ่าพระมุนี แต่นางบรรพตี (พระอุมา) เข้าไปกราบแทบพระบาทและทูลทัดทานพระสามีไว้ พระภฤคุก็ไปยังไวกูนฐ์ (ที่สถิตพระนารายน์) เห็นพระนารายน์บรรทมหลับอยู่ที่ตักพระลักษมี พระมุนีก็ยกเท้าขึ้นถีบกลางพระทรวง พระเป็นเจ้าเสด็จลุกขึ้น นมัสการพระภฤคุแล้วตรัสว่า “ข้ายินดีขอต้อนรับท่านมหาพราหมณ์ ขอเชิญท่านจงนั่งลงพัก​ผ่อนกาย และขอจงให้อภัยแก่ข้าพเจ้า ผู้ได้กระทำผิดไปแล้วโดยความโฉดเขลา (คือในการที่มิได้ลุกขึ้นต้อนรับแขกโดยเร็ว) และขออภัยซึ่งทำให้เท้าอันอ่อนของท่านต้องเจ็บเพราะข้าพเจ้า” ตรัสเช่นนั้นแล้ว ก็เอาพระหัตถ์นวดฟั้นเท้าพระภฤคุ และตรัสต่อไปว่า “วันนี้ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ได้มีบุญยิ่งนัก เพราะพระคุณเจ้าได้เอาธุลีละอองพระบาทแห่งพระองค์อันเป็นเครื่องล้างบาปได้นั้น แตะแล้วบนหน้าอกแห่งข้า” เมื่อพระวิษณุเป็นเจ้าได้ตรัสฉะนี้แล้ว พระภฤคุมุนีมีความปีติเต็มตื้นไปจนพูดไม่ออกจึ่งมิได้ทูลตอบประการใด ทูลลากลับจากที่เฝ้า และตาก็เต็มไปด้วยน้ำตาอันบังเกิดมาเพื่อความศรัทธาหาที่สุดมิได้ ฝ่ายพระฤษีเจ้าทั้งหลายบรรดาที่สโมสรประชุมอยู่ริมฝั่งสะรัสวดีนั้น ครั้นได้ฟังคำพระภฤคุแถลงเหตุการณ์ต่างก็มีความแน่นอนใจ ว่าพระวิษณุเป็นใหญ่ยิ่งในพระเป็นเจ้าทั้งสาม เพราะพระองค์นั้นปราศจากโทษะและความโกรธ

ในหนังสือปัทมปุราณะมีข้อความเล่าไว้ถึงเรื่องพระอิศวรยอมยกย่องพระนารายน์ว่าเป็นใหญ่กว่าพระองค์ คือมีเป็นถ้อยคำดำรัสแก่พระอุมามหาเทวีว่า “ตูข้าจะแสดงให้เจ้าเข้าใจมูลและรูปแห่งพระวิษณุ เจ้าจงรู้เถิดว่าแท้จริงพระองค์คือนารายน์ คือมหาบุรุษ และปรพรหมไม่มีที่เริ่มและไม่มีที่สุด ทรงรอบรู้ทั่วไป อยู่ในที่ทั้งปวง ยั่งยืนมีไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นบรมสุข พระองค์คือศีวะ คือหิรัณยะครรภ และสูรยะ พระองค์ประเสริฐกว่าเทวดาทั้งหลาย แม้ตูข้าเองก็ไม่เทียมเท่า แต่ที่แท้นั้นเป็นการพ้นวิสัยที่ตูข้า หรือพระพรหมา หรือเทวดาอื่น ๆ จะแสดงพระคุณแห่งพระวาสุเทพ ผู้ประเดิมโลกและเป็นอธิบดีแห่งสากลโลกนี้” ฯ

​ในหนังสือวราหะปุราณะ ซึ่งเป็นคัมภีร์สำหรับแสดงคุณพระนารายน์ในหน้าที่ผู้สงวนโลกนั้น มีข้อความกล่าวไว้ว่า:-พระนารายน์มหาเทพ เมื่อได้ทรงรำพึงถึงการสร้างโลกนี้ ได้ทรงรำพึงด้วยว่า เมื่อได้สร้างโลกขึ้นแล้วจำจะต้องสงวนไว้ต่อไปด้วย “แต่โดยเหตุที่ผู้ไม่มีตัวจะกระทำกิจการอันใดมิได้ไซร้ จำเราจะต้องสร้างสิ่งมีตัวขึ้นจากเชื้อแห่งเราเอง และใช้ให้เป็นผู้สงวนโลกสืบไป” เมื่อทรงดำริฉะนั้นแล้ว พระนารายน์สวยัมภูจึ่งได้ทรงสร้างเทวดาขึ้นองค์ ๑ จากเชื้อแห่งพระองค์ และประทานพรว่า “ดูกรวิษณุ เจ้าจงเป็นผู้รังสรรค์สิ่งทั้งปวง เจ้าจงเป็นผู้สงวนภพทั้งสาม และเปนที่รักใคร่แห่งชนทั่วไป เจ้าจงเป็นผู้รอบรู้ในสิ่งสรรพ และทรงอานุภาพใหญ่ยิ่ง และเจ้าจงเป็นผู้ประพฤติตามความปรารถนาแห่งพรหมาและทวยเทพทุกเมื่อ เทอญ” แล้วพระมหาบุรุษก็กลับกลายเป็นพืชไปอย่างเดิม (คือไม่มีตัว มีแต่คุณธรรม) ฝ่ายพระวิษณุเมื่อทรงคำนึงถึงสาเหตุที่พระองค์ได้มีกำเนิดมานั้น ก็บรรทมหลับไป และในขณะที่บรรทมหลับอยู่นั้น ทรงสุบินนิมิตเห็นการสร้างของต่าง ๆ จึ่งบันดาลให้มีดอกบัวหลวงผุดขึ้นมาจากพระนาภี ในกลางดอกบัวนั้น พระพรหมาได้บังเกิดขึ้น และพระวิษณุเป็นเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นสิ่งซึ่งได้บังเกิดมาจากพระองค์ฉะนั้น ก็ทรงโสมนัสยิ่งนัก

ข้อความที่กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ ก็เป็นแต่หัวข้อพอเป็นสังเขป เพื่อให้สังเกตเห็นได้ว่า พวกพราหมณ์ยกย่องนับถือพระนารายน์กันอย่างสูงปานใด ถ้าจะเก็บข้อความอธิบายให้ละเอียดก็จะกินที่มากนัก เพราะข้อความมีอยู่เป็นอย่างวิจิตรพิสดารมาก ยกตัวอย่างเช่นในวิษณุปุราณะแห่งเดียวเท่านั้นก็จะต้องการสมุดเล่มหนาพอใช้กว่าจะเก็บความได้หมด แต่​ในที่นี้ข้าพเจ้ามิได้มุ่งหมายที่จะแต่งสำหรับไสยศาสตร์ ความปรารถนามีอยู่อย่าง ๑ ต่างหาก คือจะอธิบายเรื่องพระนารายน์พอเป็นเค้า ๆ เพื่อให้ผู้อ่านทราบลักษณะแห่งพระนารายน์ไว้บ้าง ก่อนที่จะอ่านเรื่องนารายน์สิบปาง ซึ่งจะมีต่อไปนี้ เพราะฉะนั้นข้อความที่กล่าวถึงพระนารายน์ในส่วนที่เป็นองค์ ๑ ในพระเป็นเจ้าทั้งสามนั้น เท่าที่กล่าวมาข้างต้นนี้ดูก็จะเพียงพออยู่แล้ว จะได้เหลือที่ไว้กล่าวถึงนารายน์สิบปางให้ละเอียดต่อไป

บัดนี้จะได้กล่าวถึงข้อความสำคัญอันเนื่องด้วยพระนารายน์ โดยย่อพอเป็นสังเขปดังต่อไปนี้

ที่สถิตของพระนารายน์เรียกว่า “ไวกูนฐ์” ในคัมภีร์มหาภารตะว่าเป็นทองทั้งแผ่น กว้างแปดหมื่นโยชน์ วิมานล้วนแล้วไปด้วยรัตนะเสาและฉ้อฟ้าใบระกาเป็นเพชรพลอย น้ำพระคงคาตกลงมาจากสวรรค์ลงตรงธรุวะ (ยอดโลก หรือดาวเหนือ) แล้วไหลลงทางผมแห่งสัปตฤษี (คือฤษี ๗ ตน ซึ่งนิยมกันว่าบัดนี้แลเห็นเป็นดาว ๗ ซึ่งไทยเรียกว่าดาวจระเข้) แล้วและตกจากนั้นเป็นลำน้ำใหญ่ ณ ที่นี้มีสระโบษขรณีทั้ง ๕ อันเต็มไปด้วยบัว ๕ อย่าง มีดอกจงกลนีสีขาวสะอาด เป็นที่ประทับแห่งพระวิษณุเป็นเจ้า และข้างขวาแห่งพระองค์นั้นคือพระลักษมี อันมีราศีสว่างกระจ่างเหมือนแสงฟ้า และมีกลิ่นบัวหลวงหอมฟุ้งมาจากพระกายแห่ง​นางนั้น กลิ่นไกลไปได้ถึงระยะแปดร้อยโยชน์

ในรูปสมัยใหม่นี้ ในมัธยมประเทศมักเขียนพระนารายน์เป็นชายหนุ่ม สีดำหรือม่วงแก่ และมีสี่กร แต่ส่วนสีกายพระนารายน์นั้น ตามมหาภารตะว่าไม่เป็นสีดำอยู่เสมอ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุค คือในยุคที่ ๑ ซึ่งเรียกว่ากฤตายุคหรือสัตยะยุคนั้น ชนย่อมปฏิบัติดีงามอยู่เป็นพื้นตั้งอยู่ในศีลในธรรมสม่ำเสมอ กายพระนารายน์จึ่งเป็นสีขาวเพราะความบริสุทธิ์ย่อมจับพระฉวีพระเป็นเจ้า กฤตายุคนี้ย่อมคงอยู่ได้ ๔,๘๐๐ ปีสวรรค์ (๑ ปีมนุษย์เป็น ๑ วันสวรรค์ คำนวณตามจันทรคติ นับ ๓๖๐วันเป็น ๑ ปี ก็เป็นอันได้ความว่า อายุแห่งกฤตายุคคงเป็น ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปีมนุษย์) ครั้นสิ้นยุคนี้แล้ว ถึงยุคที่ ๒ ซึ่งเรียกว่าเตรตายุค ความดีในโลกลดลงไปส่วน ๑ ใน ๔ สีกายพระนารายน์ก็เปลี่ยนเป็นแดง ครั้นครบกำหนด ๓,๖๐๐ ปีสวรรค์ (๑,๒๙๖,๐๐๐ ปีมนุษย์) ขึ้นยุคที่ ๓ ซึ่งเรียกทวาบรยุค ความดีในโลกลดลงไป ๒ ส่วนใน ๔ สีกายพระนารายน์ก็เปลี่ยนไปเป็นเหลือง ครั้นครบกำหนด ๒,๔๐๐ ปีสวรรค์ (๘๖๔,๐๐๐ ปีมนุษย์) ขึ้นยุคที่ ๔ ซึ่งเรียกว่ากะลียุค ยังคงเหลือความดีอยู่ในโลกเพียงส่วน ๑ ใน ๔ เท่านั้น สีกายพระนารายน์ก็กลายเป็นดำ สมกับความมืดมัวแห่งโลก กะลียุคนี้มีกำหนด ๑,๒๐๐ ปีสวรรค์ (๔๓๒,๐๐๐ ปีมนุษย์) ครั้นเมื่อสิ้นกะลียุคนี้แล้ว พระเป็นเจ้าจึ่งจะล้างโลกและสถาปนาขึ้นใหม่ กลับเริ่มเป็นกฤตายุคใหม่อีกต่อไป ในกาลบัดนี้เราอยู่ในกะลียุค ซึ่งตามความนิยมข้างไสยศาสตร์ว่าได้เริ่มต้นตั้งแต่ ๒๕๕๙ ปีก่อนพุทธศักราช เพราะฉะนั้นปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ นี้ ก็ตรงกับปีที่ ๕๐๑๖ แห่งกะลียุค เหตุฉะนี้ถ้าจะเขียนรูปพระนารายน์ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ นี้ (และต่อไปอีก ๔๒๖,๙๘๔ ปี) เขียนสีกายดำ​หรือสีดอกอัญชันเป็นถูก

ส่วนการแต่งพระองค์นั้น ตามรูปมักแต่งเป็นกษัตริย์ กรทั้ง ๔ นั้นมีของถือต่าง ๆ กัน ตามความในโองการแช่งน้ำว่า “สี่มือถือสังข์จักรคทาธรณี” ดังนี้ คือกล่าวถึงของที่มักถือโดยปรกติ สังข์นั้นชื่อปาญจะชันยะ ซึ่งเรียกตามนามแห่งอสูรตน ๑ ชื่อปัญจะชน อสูรตนนี้ได้ลักเอาตัวบุตรแห่งพราหมณ์สานทีปนี้ผู้เป็นอาจารย์แห่งพระกฤษณไป พระกฤษณตามลงไปพบในมหาสมุทร ปัญจะชนได้เข้าอยู่ในเปลือกหอยสังข์ พระกฤษณฆ่าอสูรแล้วก็เอาเปลือกหอยสังข์นั้นมาใช้เป่าสืบไป จักรที่ถือนั้นชื่อสุทรรศนะ หรือวัชรนาภะ คทานั้นชื่อเกาโมทกี (ปลายเป็นรูปบัวตูม) ส่วนในมือที่ ๔ ซึ่งว่าถือ “ธรณี” นั้น มักทำเป็นดอกบัว เพราะพวกพราหมณ์มักเปรียบพื้นแผ่นดินนี้ด้วยดอกบัวหลวง นอกจาก ๔ อย่างซึ่งกล่าวแล้วนั้น พระนารายน์ยังมีอาวุธอีก ๒ อย่าง คือธนูศรชื่อศารนคะและพระขรรค์ชื่อนนทก ที่บนพระทรวงมีขนชนิด ๑ เรียกว่าศรีวัตสะ มีทับทรวงเป็นแก้วชื่อเกาสุตุภ และมีวไลยฝังด้วยแก้วชื่อส๎ยมันตกะ เรื่องราวแห่งอาวุธที่พระนารายน์ถือ และเรื่องแก้วส์ยมันตกะนั้น มีข้อความอธิบายไว้พิสดารในวิษณุปราณะ แต่เป็นเรื่องที่เนื่องด้วยพระกฤษณ (เพราะฉะนั้นได้จัดลงไว้ต่างหากแล้ว)

ในหน้าที่ผู้สงวนโลก หรือโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ อันเป็นผลแห่งอกุศลกรรมหรือความประพฤติพาลแห่งมนุษย์หรืออมนุษย์นั้นไซร้ พระนารายน์จำเป็นต้องเสด็จอวตารลงมาดับความร้อนให้เย็น ในการที่ลงมาเช่นนี้ ย่อมทรงรูปต่าง ๆ จึ่งเรียกว่าอวตารนั้นอวตารนี้ หรือเรียกตาม​ภาษาไทยแท้ว่าปางนั้นปางนี้ ส่วนจำนวนปางนั้น ไม่แน่ว่าเท่าใด บางตำหรับว่า ๑๐ บางตำหรับว่า ๒๔ และบางตำหรับก็ว่านับไม่ถ้วน แต่โดยมากนิยมกันว่ามีสิบปาง ส่วนเรื่องอวตารหรือปางนี้ ได้กล่าวไว้ในบท ๑ ต่างหากแล้ว

ผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระนารายน์นั้น จะได้ผลานิสงส์สำคัญอัน ๑ ซึ่งมีกล่าวอยู่เป็นหัวข้อสำคัญในโองการแช่งน้ำ กล่าวคือ “โอม ! สิทธิ สรวงศรีแกล้วแผ้วมฤตยู” ดังนี้ มุ่งเอาความว่า ผู้ที่มีความศรัทธามั่นคงอยู่ในพระนารายน์แล้ว จะพ้นจากอำนาจพระยมได้ ข้อนี้มีคำอธิบายพิสดารอยู่ในหนังสือวิษณุปุราณะ กัณฑ์ที่ ๓ ปริจเฉทที่ ๗ ณ ที่นี้พราหมณ์ไมเต๎รยะมีปุจฉาถามพระปราศรมุนี ใจความว่า ทำอย่างไรชนจึ่งจะพ้นจากเงื้อมมือพระยมไปได้ พระปราศรจึ่งวิสัชนาดังนี้

ดูกรมุนีผู้เจริญ อันปุจฉานี้ไซร้พระนกูลได้เคยถามพระภีษมะผู้เป็นอัยกา และตูข้าจะแสดงความซึ่งท่านวิสัชนาครั้งนั้นให้ฟัง ฯ พระภีษมะนั้นไซร้ได้ว่าแก่พระกุมารว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง มีพราหมณ์ผู้ ๑ มาจากกะลิงคะราษฎร์มาหาเรา เขาได้เล่าให้เราฟังว่า ครั้งหนึ่งเขาได้ถามปัญหาแก่พระมุนีตน ๑ ซึ่งรำลึกชาติได้ และซึ่งเป็นผู้รอบรู้ในกิจการทั้งที่ล่วงไปแล้วและจะมีมา ณ เบื้องหน้า เมื่อเราผู้มีความเชื่อถือในถ้อยคำแห่งพราหมณ์นั้น ได้วิงวอนให้พราหมณ์แสดงความตามที่มหาฤษีได้กล่าวมานั้นไซร้ พราหมณ์จึ่งเล่าให้เราฟัง และสิ่งซึ่งพราหมณ์เล่าให้เราฟังนั้น​เรายังมิได้เคยพบแห่งอื่นอีกเลย เมื่อเราได้ถามปัญหาแก่พราหมณ์เหมือนอย่างที่สูเจ้าได้ถามเรานี้ไซร้ พราหมณ์กะลิงค์จึ่งเล่าความตามที่พระมุนีได้เล่าให้เขาฟัง คือข้อสำคัญอันพระฤษีผู้รำลึกชาติได้นั้นได้แสดงแล้ว เป็นคำสนทนาระหว่างพระยมกับยมทูตตน ๑ ฯ ครั้ง ๑ พระยมแลเห็นยมทูตผู้ ๑ ถือบ่วงอยู่ในมือ พระยมจึงกระซิบบอกกับเขานั้นว่า “เจ้าจงหลีกให้ไกลจากผู้ศรัทธาในพระมธุสูทน์ (นารายน์) กูนี้ไซร้เป็นใหญ่เหนือชนทั้งปวง เว้นเสียแต่พวกไวษณพเท่านั้น กูนี้ไซร้ได้รับเทวบัญชาแห่งพระธาดาเป็นเจ้า อันเป็นที่เคารพแห่งอมรรตยะเทพทั้งหลายให้เป็นผู้เหนี่ยวรั้งมนุษย์ และให้เป็นผู้ตรวจตราผลแห่งกุศลและอกุศลในสากลโลก แต่ผู้ใดที่ปฏิบัติโดยอาศัยพระหริเป็นเจ้าเป็นธรรมุเทศไซร้ ผู้นั้นแลจะรอดพ้นจากอำนาจกู เพราะเหตุว่าพระวิษณุย่อมมีฤทธิอำนาจอาจครอบงำและเหนี่ยวรั้งกูได้ เปรียบเหมือนทองคำ ถึงแม้จะทำขึ้นรูปให้เป็นกำไลก็ดี มงกุฎก็ดี หรือต่างหูก็ดี คงยังมีเนื้ออยู่อย่างเดิม ดังนี้ฉันใด แม้พระหรินั้น จะทรงรูปเป็นเทวดา สัตว์ หรือมนุษย์ก็ดี ก็ยังเป็นพระหริอยู่อย่างเดิมฉันนั้น อันว่าหยาดน้ำทั้งหลาย ซึ่งลมได้หอบขึ้นไปแล้วจากพื้นดิน ครั้นเมื่อลมสงบแล้ว น้ำนั้นก็จะกลับตกลงยังพื้นดินอีกฉันใด อันว่านานาประเภทแห่งเทวดา มนุษย์ และสัตว์ ซึ่งกระจัดกระจายไปแล้วเพื่อความกวนขุ่นแห่งอุปนิสัย เมื่อสิ้นกรรมแล้วก็จะกลับรวมกันเข้าในความสูญยิ่ง (นิรพาน) อย่างเดิมฉันนั้น บุคคลใดมีปัญญาอุตสาหะนบนอบแทบพระบาทบงกชแห่งพระหริ อันเป็นที่เคารพแห่งทวยเทพไซร้ ผู้นั้นย่อมจะรอดพ้นจากบรรดาบ่วงบาป บุคคลเช่นนั้นแลสูเจ้าจงหลีกให้ไกล เหมือนหลีกจากไฟอันหยอดแล้วด้วยน้ำมันฉะนั้นเทอญ” ฯ ครั้นได้ฟังคำดำรัสแห่ง​พระยมฉะนั้นไซร้ ยมทูตจึงทูลพระธรรมราช (พระยม) ความว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ ขอจงได้โปรดทรงแนะแก่ตูข้า ว่าทำไฉนข้าจึ่งจะรู้จักผู้ที่เลื่อมใสในองค์พระหริ อันเป็นผู้ครอบงำสรรพสัตว์” ฯ พระยมจึ่งตรัสตอบว่า “ผู้ที่เลื่อมใสในพระวิษณุนั้นไซร้ คือผู้ที่ไม่ลดละจากกิจปฏิบัติอันควรแก่วรรณแห่งตน ผู้ที่แลดูทั้งมิตรและอมิตรด้วยจิตอุเบกขาเสมอกัน ผู้ที่ไม่ถือเอาของใด ๆ (ซึ่งมิใช่ของตน) และไม่ทำร้ายสัตว์ใด ๆ เจ้าจงรู้จักเถิดว่าผู้ที่จิตปราศจากมลทินนั้นแลเป็นผู้เลื่อมใสในพระวิษณุ ผู้ที่มีศรัทธาแท้จริงในพระหริไซร้ เขาย่อมเอาพระชนรรทนะ (นารายน์) ตั้งไว้เป็นกรรมัษฐานในดวงจิต ซึ่งเขาได้กระทำแล้วให้แผ้วจากความมัวเมา และผู้นั้นเป็นผู้มีมโนอันปราศจากความแปดเปื้อนด้วยมลทินแห่งกะลียุค เจ้าจงรู้เถิดว่า อันคนดีที่เป็นผู้นับถือพระวิษณุนั้น คือผู้ซึ่งถึงแม้จะได้เห็นทองอยู่ในที่ลับ ก็นึกเสียว่าทรัพย์ของผู้อื่นเหมือนต้นหญ้า แล้วตั้งจิตมุ่งอยู่แต่ที่ตรงพระเป็นเจ้า คนผู้นั้นผ่องแผ้วเหมือนภูเขาแก้วอันใสสะอาด เพราะเหตุว่าพระวิษณุจะเสด็จอยู่อย่างใดในดวงใจแห่งชนผู้มีความโกรธ ความริษยา และอคติอย่างอื่น ๆ อันความรุ่มร้อนแห่งไฟจะอยู่ได้ในกองรัศมีอันเย็นแห่งดวงเดือนไฉนได้ ผู้ใดยังชีพอยู่โดยตั้งอยู่ในมโนสุจริต มีอโกรธะ (ความไม่ปองร้าย) และสันโดษ (มักน้อย) เป็นอาทิ ตั้งอยู่ในกายสุจริต มีอหึศา (ไม่ทำร้ายแก่ผู้อื่น) เป็นอาทิ ตั้งอยู่ในวจีสุจริต กล่าววาจาอันไพเราะและดี ไม่โอ้อวด และพูดตามจริงใจ ผู้นั้นไซร้ย่อมมีพระวาสุเทพเป็นผู้กำกับดวงใจอยู่เป็นนิตย์ อันว่าต้นเต็งรัง (ศาละ) ย่อมสำแดงด้วยความงามว่าได้ดูดรสอันดียิ่งแล้วจากพื้นแผ่นดินฉันใด เมื่อพระอนันตะเทวราชได้เสด็จสถิตอยู่ในดวงใจแห่งผู้ใดแล้ว ผู้​นั้นก็จะมีความงามในท่ามกลางประชุมชนในโลกนี้ฉันนั้น ดูกรทูต เจ้าจงรีบหลีกเสียให้ห่างไกลจากบรรดาบุคคล ผู้ที่ได้ชำระบาปกรรมได้แล้วโดยยมและนิยมปฏิบัติ และผู้ซึ่งมีจิตตั้งมั่นอยู่ในพระอัจยุต (คือพระนารายน์) และซึ่งปราศจากความเย่อหยิ่ง ความริษยา และความปองร้าย ฯลฯ”

ตามที่ได้แปลมาไว้ส่วน ๑ เท่านี้ ก็พอเป็นที่สังเกตได้แล้วว่าความมุ่งหมายแห่งพราหมณ์คณาจารย์นั้น มีอยู่อย่างไร ความปรารถนาก็ให้ชนพยายามประพฤติชอบไว้ จะได้เป็นผู้ที่ต้องพระอัธยาศัยแห่งพระนารายน์ และพระนารายน์จะได้คุ้มกันรักษามิให้ตกไปในเงื้อมมือพระยม คือไม่ให้ตกนรกเท่านั้น

พระนารายน์เป็นที่นับถือแห่งชนในมัธยมประเทศเป็นอันมาก ดังมีพยานปรากฏอยู่คือ เทวสถานอันเป็นที่บูชาพระนารายน์นั้นมีอยู่มากกว่าศาลพระเป็นเจ้าองค์อื่น ๆ

พระนารายน์มีพระนามตั้งพัน และมีมนตร์อัน ๑ เรียกว่า “สหัสรนาม” ถือกันว่าเป็นมนตร์สำคัญ ใครว่าได้ตลอดได้บุญนัก ในนามทั้งพันแห่งพระนารายน์นั้น นอกจากวิษณุและนารายน์ ยังมีที่พบใช้อยู่บ่อย ๆ ​อีกหลายนาม ดังเก็บมาลงไว้ในที่นี้บ้างพอเป็นสังเขป ดังต่อไปนี้.-



              ไวกูนฐนาถ     - จอมไวกูนฐ
              เกศวะ   - มีผมอันงาม
              มัธวะ    - ประกอบด้วยน้ำผึ้ง หรือ เกิดแต่มธุ
              สวยภู    - เกิดเอง
              ปิตามวร (ปิตามพร)   - นุ่งเหลือง
              ชนรรททนะ   - ผู้ทำให้คนไหว้
              วิษวัมวร (วิษวัมพร)   - ผู้คุ้มครองโลก
              หริ       - ผู้สงวน
              อนันตะ   - ผู้ไม่มีที่สุด
              มุกุนทะ       - ผู้ช่วย
              บุรุษ       - ชาย
              บุรุษโษตตม (บุรุโษดม)   - ยอดชาย  
              ยัญเญศวร       - เป็นใหญ่เหนือการบูชา
              อัจยุต (อจุตตะ)   - ไม่มีเสื่อม
              อนันตะไศยนะ   - นอนบนหลังอนันตะนาค
              จัตุรภุช   - สี่แขน
              ชลไศยิน   - นอนในน้ำ
              ลักษมีปติ   - ผัวนางลักษมี
              มธุสูทน   - ผู้สังหารมธุ (อสูร)
              นร   - คน
              นารายน์   - ผู้กระดิกในน้ำ
​               ปัญจายุธ (ปัญจาวุธ)   - ผู้ถือเอาอาวุธ ๕ อย่าง
              ปัทมนาภ   - สะดือบัว
              ศารนคิน หรือ ศารนคิปาณี   - ผู้ถือศรศารนคะ
              จักรปาณี   - ถือจักร
              วาสุเทพ   – ลูกวสุเทพ
(เป็นนามพระกฤษณะแต่มักเลยใช้เรียกพระนารายน์เองด้วย)
              ทาโมทร   - มีเชือก (ทาม) ผูกพุง
              โคบาล   - เลี้ยงโค
              --------------------------------   


อาวุธพระนารายน์

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ พระนารายน์มีอาวุธ ๕ อย่าง ต่างมีเรื่องราวบอกเล่าว่ามาแต่ที่ใดบ้าง ดังนี้เก็บมาไว้ดังต่อไปนี้

๑. สังข์ปาญจะชันยะ เป็นเปลือกหอยสังข์อันหุ้มกายอสูรตน ๑ ชื่อปัญจะชน อสูรตนนี้เมื่อขึ้นบกมีรูปคล้ายมนุษย์ แต่พอลงทะเลกลายเป็นหอยสังข์ ครั้ง ๑ ปัญจะชนได้ลักเอาบุตรแห่งพราหมณ์สานทีปนี ผู้เป็นอาจารย์พระกฤษณนั้นลงไปไว้ พระกฤษณตามลงไปช่วยบุตรอาจารย์ฆ่าอสูรตาย แล้วจึ่งเอาเปลือกสังข์นั้นมาใช้สำรับเป่าในการสงครามสืบไป

ตามธรรมเนียมกษัตริย์โบราณต้องมีสังข์สำหรับตัว เพื่อใช้เป็นเครื่องให้อาณัติสัญญาแด่พล เพราะฉะนั้นจึ่งจัดเข้าเป็น “อาวุธ” อย่าง ๑ คือเป็นเครื่องใช้ในการสงคราม สังข์ของกษัตริย์มักมีชื่อ สังข์ของพระกฤษณชื่อปาญจะชันยะแล้วก็คงเลยแต่งเรื่องราวประกอบขึ้นให้พิสดาร

​อนึ่ง ควรสังเกตว่า เรื่องพระกฤษณลงไปรบกับอสูรซึ่งเป็นสังข์อยู่ในมหาสมุทรนี้ ดูคล้ายกับเรื่องในหนังสือนารายน์สิบปางของไทยเรา ซึ่งกล่าวว่าพระนารายน์อวตารเป็นปลาลงไปรบกับสังข์อสูร ผู้ลักเอาพระเวทลงไปซ่อนไว้ เรื่องนี้จะได้กล่าวถึงในตอนกล่าวด้วยมัตสยาวตารสืบไป

๒. จักรสุทรรศน์ หรือ วัชรนาภ - มีเรื่องราวเล่ามาในมหาภารตว่า ใจความว่า ครั้ง ๑ พระกฤษณไปเยี่ยมท้าวยุธิษเฐียร และปาณฑพกุมารในนครอินทรปรัสถ์ พระอรชุนได้ชวนพระกฤษณไปเที่ยวไล่สัตว์ในป่าปาณฑพ (ขาณ์ฑว) ซึ่งอยู่ริมนครนั้น เผอิญในเวลานั้นพระเพลิงกำลังปรารถนาจะกินป่าขาณฑพ แต่พระอินทรไม่ยอม จึ่งเกิดวิวาทกัน พระกฤษณกับพระอรชุนเข้าข้างพระเพลิง ๆ จึ่งชำนะได้กินป่าตามปรารถนา พระเพลิงจึ่งให้จักรวัชรนาภกับคทาเกาโมทกีแด่พระกฤษณเป็นบำเหน็จ

๓. คทาเกาโมทกี - มีเรื่องอยู่ข้างบนนี้แล้ว

๔. ธนูศารนคะ - ตามศัพท์แปลว่า “ทำด้วยเขาสัตว์”

๕. ขรรค์นนทก - ตามศัพท์แปลว่า “ชื่นใจ”

อนึ่งในที่นี้ควรชี้แจงว่า ตรีสูลนั้น ไม่ใช่อาวุธของพระนารายน์ เป็นของพระอิศวร ในการที่ข้างเรามาเกณฑ์ให้เป็นอาวุธของพระนารายน์นั้น น่าจะเป็นไปโดยความเข้าใจผิดโดยแท้.


--------------------------------

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 เมษายน 2565 16:08:43 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 100.0.4896.75 Chrome 100.0.4896.75


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 12 เมษายน 2565 15:56:47 »



พระเป็นเจ้าของพราหมณ์
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระนารายน์ (ต่อ)

อาภรณ์พระนารายน์
(แก้วสำคัญ ๒ อย่าง)
แก้วเกาสตุภ


นี้เป็นแก้ว ซึ่งทรงที่พระทรวง เป็นอย่างทับทรวง เป็นแก้วซึ่งได้มาจากเกษียรสมุทรเมื่อกวนน้ำอมฤต (ดังจะได้กล่าวถึงต่อไปในปางที่ ๒) รูปร่างจะเป็นอย่างไรก็ไม่ปรากฏชัด แต่ในพจนานุกรมสังสกฤตของโมเนียรวิลเลียมส์มีข้อความอยูว่า “เกาสตุภเป็นวิธีประสานนิ้วอย่าง ๑ ในพิธีไหว้พระ” ซึ่งถ้าจะให้เดาก็เห็นจะเป็นรูปอย่างมือประนม


แก้วสยมันตกะ

แก้วนี้สำคัญมาก ทรงที่พระกร ฝังไว้ที่วไลยหรือเกยูร เป็นรัตนะวิเศษ มีตำนานยืดยาว มีข้อความพิสดารอยู่ในหนังสือวิษณุปุราณะกัณฑ์ที่ ๔ ปริจเฉทที่ ๑๓ มีความดังคำแปลต่อไปนี้

ท้าวสัตราชิต กษัตรีย์จันทรวงศ์ สกุลยาทพ (สกุลเดียวกับพระกฤษณ แต่คนละสาขา) เป็นผู้ที่มีศรัทธาในองค์พระสุริยเทวราชเป็นอันมาก อยู่มาวัน ๑ ท้าวสัตราชิตไปดำเนินอยู่ที่ริมฝั่งมหาสมุทร รำลึกถึงพระสุริยะ และสวดสรรเสริญอยู่ ทันใดนันเทพเจ้าก็เสด็จลงมาเฉพาะหน้า ท้าวสัตราชิตแลดูพระสุริยะไม่เห็นรูปถนัด จึงทูลว่า “เทวะ ตูข้าได้เคยเห็นพระองค์แล้วในนภากาศ เป็นดวงไฟ บัดนี้ขอพระองค์จงโปรดตูข้าให้ได้แลเห็นพระรูปอันแท้จริงแห่งพระองค์เถิด” ทันใดนั้นพระอาทิตย์ก็ทรงเปลื้องแก้วชื่อสยมันตกะจากพระศอ และวางไว้แห่ง ๑ ท้าว. สัตราชิต​จึ่งแลเห็นพระรูป เป็นคนเตี้ย พระกายเหมือนสีทองแดงอันขัดแล้ว และมีพระเนตรสีแดงเรื่อ ครั้นท้าวสัตราชิตได้กระทำสักการตามสมควรแล้ว พระอาทิตย์จึ่งตรัสว่าให้ขอพรอัน ๑ ได้ ท้าวสัตราชิตก็ทูลขอแก้วสยมันตกะเป็นของตน พระอาทิตย์ประทานแก้วนั้นแก่ท้าวสัตราชิตแล้ว ก็เสด็จกลับขึ้นไปยังนภากาศ ฯ ฝ่ายท้าวสัตราชิตครั้นได้แก้วอันประเสริฐหามลทินมิได้นั้นแล้ว ก็ผูกไว้ที่พระศอ และโดยอำนาจแห่งแสงแก้วนั้นจับพระองค์มีรัศมีกระจ่างไปในทิศานุทิศคล้ายพระอาทิตย์ฉะนั้นแล้ว ท้าวสัตราชิตก๊กลับเข้าไปยังนครทวารกา ฯ ฝ่ายชาวนครนั้น ครั้นเห็นเธอมาใกล้ ก็พากันไปเฝ้าองค์พระปุรุโษดม ซึ่งได้ทรงอวตารลงมาเอารูปเป็นมนุษย์ (คือพระกฤษณ) เพื่อทรงภาระแห่งโลกนี้ และกราบทูลแด่พระองค์ว่า “เทวะ พระสุริยะเป็นเจ้าจะเสด็จมายังราชสำนักแห่งพระองค์แน่แล้ว” แต่พระกฤษณทรงยิ้มแล้วตรัสตอบว่า “นั้นหาใช่พระสุริยะเป็นเจ้าไม่ แต่หากเป็นท้าวสัตราชิตซึ่งพระอาทิตย์ได้ประทานแก้วสยมันตกะแล้ว และเธอประดับแก้วนั้นอยู่ จงไปดูเธอโดยปราศจากความกลัวเถิด” เขาทั้งหลายก็พากันไป ฯ ฝ่ายท้าวสัตราชิตครั้นไปถึงที่อยู่แล้วก็เก็บแก้วนั้นไว้ ณ ที่นั้น และแก้วนั้นก็บันดาลให้บังเกิดทรัพย์ขึ้นทุกวัน คือทองคำแปดภาร (ชั่ง) และโดยอำนาจแห่งแก้วนั้น ก็เป็นเครื่องคุ้มกันบรรดาภยันตราย กันสัตว์ร้าย อัคคีภัย โจรภัย และทุพภิกขภัย ฯ

ฝ่ายพระอัจยุต (คือกฤษณ) มีความปรารถนาจะให้แก้ววิเศษนั้นเป็นของพระภูบดี แต่ถึงแม้เธอมีอำนาจที่จะชิงเอาแก้วนั้นจากท้าว​สัตราชิตก็จริงอยู่แล เธอก็หาได้ชิงเอาไม่ เพราะเธอไม่ปรารถนาจะให้บังเกิดความผิดใจกันในสกุล ฯ ฝ่ายท้าวสัตราชิตนั้น เกรงว่าพระกฤษณจะตรัสขอแก้วนั้น จึ่งมอบให้แก่พระประเสนผู้อนุชาฯ ก็อำนาจสำคัญแห่งแก้วนี้มีอัศจรรย์อยู่ คือเป็นมูลอันหาที่สุดมิได้ แห่งความสุขแก่บุคคลสุจริตซึ่งประดับ แต่ถ้าบุคคลผู้ทุจริตประดับ ก็กลับเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ฯ พระประเสนรับแก้วนั้นไป และผูกไว้ที่คอแล้ว ก็ขึ้นม้าและเข้าป่าไปไล่เนื้อ ในขณะไล่เนื้อนั้น มีราชสีห์ตัว ๑ ได้ฆ่าเธอตาย ฯ ฝ่ายราชสีห์นั้นพอคาบแก้วได้แล้ว กำลังจะไป ก็เผอิญพญาชามพวาน ผู้เป็นกฤษราช (จอมหมี) แลเห็นและฆ่าสิงห์นั้นตาย แล้วก็ฉวยเอาแก้วนั้นกลับเข้าสู่ถ้ำ และให้แก้วนั้นแก่สุกุมารผู้เป็นบุตรเพื่อเป็นของเล่น ฯ ครั้นอยู่มานานเวลา และพระประเสนมิได้กลับ พวกกษัตริย์ยาทพก็พากันซุบซิบแก่กันว่า “นี้เป็นเหตุ เพราะพระกฤษณเธออยากได้แก้วนั้น และเมื่อไม่ได้แล้ว เธอจึ่งได้ปลงชีพประเสนเสีย เพื่อถือเอาแก้วนั้นเป็นของตน” ฯ

ครั้นความนินทาอันนี้ทราบถึงพระภควัต (กฤษณ) เธอก็ชวนกษัตริย์ยาทพหลายองค์ และพร้อมกันสะกดรอยตามพระประเสนไป โดยเดินตามรอยเท้าม้า โดยการสะกดรอยนี้แลจึ่งปรากฏว่า พระประเสนและม้าได้ถูกสิงห์ฆ่าตายแล้ว บรรดาชนทั้งหลายก็ยกโทษเธอ (พระกฤษณ) ในข้อที่ปลงชีพพระประเสน ฯ เธอยังมีความปรารถนาต่อไปที่จะได้แก้วนั้นคืน ​เธอจึ่งสะกดรอยตามสิงห์ไป และในระยะทางไม่ห่างไกลนัก ก็ถึงที่ซึ่งพญาหมีได้ฆ่าสิงห์ตาย เธอจึ่งสะกดรอยตามหมีไปอีก ฯ ครั้นถึงเชิงเขาเธอจึงสั่งให้กษัตริย์ยาทพคอยอยู่ ณ ที่นั่น แล้วเธอก็สะกดรอยต่อไปจนไปพบถ้ำ และพอย่างเข้าปากถ้ำ ก็ได้ยินเสียงนางนมแห่งสุกุมารพูดปลอบว่า “สิงห์มันฆ่าพระประเสน สิงห์นั้นถูกพญาชามพวานฆ่าตายแล้ว อย่าร้องไห้เลยสุกุมาร สยมันตกะนี้เป็นของเธอแน่แล้ว” ฯ ครั้นเมื่อเป็นที่แน่พระทัยฉะนั้นแล้ว พระกฤษณก็เข้าไปในถ้ำ และทอดพระเนตรเห็นแก้วอันมีแสงอยู่ในมือนางนม ซึ่งกำลังจะส่งให้สุกุมารเพื่อเป็นของเล่น ฯ ครั้นนางนมเห็นพระกฤษณเข้าไป ทั้งแลเห็นเนตรเธอจ้องดูแก้วนั้นด้วยอาการอยากได้ นางก็ร้องตะโกนด้วยเสียงอันดังเรียกให้ผู้อื่นมาช่วย ฯ ฝ่ายพญาชามพวานได้ยินนางร้อง ก็มีความโกรธรีบเข้าไปในถ้ำ แล้วก็เกิดมีการยุทธระหว่างพญาหมีกับพระอัจยุต ซึ่งรบกันอยู่ถึง ๒๑ วัน ฯ ฝ่ายพวกกษัตริย์ยาทพซึ่งได้ไปกับพระกฤษณนั้น ก็คอยอยู่แล้วได้ ๗ หรือ ๘ วันเพื่อรอเสด็จกลับ แต่ครั้นไม่เห็นพระมธุสูทน์ (กฤษณ) กลับออกมา ก็พากันเข้าใจว่าคงจะได้สิ้นพระชนม์ชีพเสียแล้วในถ้ำนั้น เขาทั้งหลายคิดกันว่า “การที่จะเอาชำนะศัตรูใด ๆ ก็คงจะไม่กินเวลานานถึงปานนี้” และคิดฉะนั้นแล้วเขาก็พากันกลับคืนเข้าสู่นครทวารกา และเล่าว่าพระกฤษณได้เสียพระชนม์ชีพเสียแล้ว ฯ

ฝ่ายพระญาติวงศ์แห่งพระอัจยุตเมื่อได้ทราบข่าวฉะนั้น ก็จัดการกระทำศราทธพรตตามประเพณี ฯ อันภักษาหารและน้ำซึ่งเขาได้เซ่นถวายในการศราทธพรตนั้นไซร้ ก็ได้เป็นเครื่องยังพระชนม์ชีพและชูพระกำลังแห่งพระกฤษณ ในขณะซึ่งทรงกระทำยุทธอยู่นั้น แต่ฝ่ายศัตรูนั้นไซร้​มีความเหน็ดเหนื่อยด้วยการยุทธ ซึ่งต้องกระทำด้วยผู้มีกำลังมากอยู่ทุก ๆ วันมีความชอกช้ำและยับเยินทั่วทุกอวัยวะเพราะถูกอาวุธ ทั้งมีความอ่อนเพลียด้วยอดอาหาร จึ่งมิสามารถจะต่อสู้ได้ต่อไป เมื่อพ่ายแพ้แก่ศัตรผู้มีฤทธิ์ฉะนั้นไซร้ พญาชามพวานก็ลงกราบแล้วทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงฤทธิ์ พระองค์นี้น่าจะไม่แพ้บรรดาอสูรทั้งหลาย และบรรดาอมนุษย์อันสิงสถิตในบาดาล ในพื้นพสุธา และในสวรรค์ ยิ่งเป็นผู้ที่มีรูปเป็นมนุษย์อันต่ำต้อยน้อยกำลังด้วยแล้วไหนจะชำนะพระองค์ได้ และยิ่งเป็นผู้มีกำเนิดเป็นเดียรฉานอย่างตูข้าด้วยแล้วก็จะยิ่งซ้ำร้าย ข้ามีเชื่อแน่แล้วว่าพระองค์คือภาค ๑ แห่งองค์พระนารายน์ผู้เจ้าแห่งตูข้า และเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนโลกนี้” ฯ ฝ่ายพระกฤษณครั้นได้ทรงฟังคำชามพวานทูลฉะนั้น ก็ตรัสอธิบายว่า พระองค์ได้เสด็จลงมาเพื่อทรงภาระแห่งโลกไว้ และพระองค์ก็ทรงพระกรุณา ทรงลูบกายพญาหมี เพื่อให้ทายความชอกช้ำในการยุทธ ฯ พญาชามพวานกราบถวายบังคมพระกฤษณอีกครั้ง ๑ แล้วก็ถวายนางชามพวดีผู้เป็นบุตรีเป็นบรรณาการ ทั้งส่งแก้วสยมันตกะถวายด้วย ฯ ถึงแม้ของบรรณาการจากผู้ต่ำต้อยเช่นนั้นไม่เป็นของที่สมควรจะทรงรับก็ดี แต่พระอัจยุตก็ได้ทรงรับแก้วนั้น เพื่อจะแสดงความบริสุทธิ์แห่งพระองค์ แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับคืนเข้ายังนครทวารกาพร้อมด้วยนางชามพวดี ฯ

ฝ่ายชาวนครทวารกา ครั้นเห็นองค์พระกฤษณยังคงพระชนม์อยู่และเสด็จกลับเข้ามา ต่างก็เต็มไปด้วยความโสมนัส จนแม้ผู้ที่มีอายุมากแล้วก็กลับมีแรงเหมือนเป็นหนุ่มดังเก่า และบรรดากษัตริย์ยาทพทั้งชายและหญิง ก็พากันแวดล้อมพระอานะกะทุนทุภี (ผู้เป็นพระบิดาพระกฤษณ) ​และช่วยกันยินดีด้วย ฯ พระภควัตก็ตรัสเล่าสรรพเหตุการณ์แด่ยาทพสมาคม ตรัสเล่าความตามที่เป็นมาแล้วทุกประการ และเมื่อได้ทรงส่งแก้วสยมันตกะคืนให้แด่ท้าวสัตราชิตแล้ว ก็เป็นอันได้พ้นจากการถูกใส่ความในข้อประพฤติชั่วร้าย แล้วพระองค์ก็ตรัสชวนนางชามพวดีเข้าไปภายในปราสาท ฯ

ฝ่ายท้าวสัตราชิตมาคำนึงว่า ตนได้เป็นสาเหตุให้พระกฤษณต้องถูกนินทา ก็มีความตกใจ และเพื่อจะมิให้เธอนั้นขัดพระทัย ท้าวสัตราชิตจึงยกนางสัตยภามาผู้เป็นธิดาให้เป็นมเหสีพระกฤษณ ฯ นางนี้ไซร้ได้มีกษัตริย์ยาทพขอแล้วหลายองค์ มีอาทิคือพระอก๎รูระ พระกฤตวรรมัน และพระศตะธันวัน (หรือศตะธนูก็เรียก) ซึ่งต่างมีความโกรธเคืองเป็นอันมากในข้อที่นางได้ไปเป็นชายาแห่งผู้อื่นฉะนั้น พวกที่เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยอกรูระและกฤตวรรมัน จึ่งกล่าวแก่พระศตะธนูว่า “สัตราชิตผู้ชั่วร้ายนี้ ได้หมิ่นประมาทเธอเป็นหนักหนา ทั้งหมิ่นประมาทเราทั้งหลาย ซึ่งได้ขอบุตรีเขาแล้วนั้น เขากลับไปยกให้แก่กฤษณ อย่าให้เขามีชีวิตอยู่อีกต่อไปเลย เหตุใดเล่าเธอจึงไม่ฆ่าเขาเสียและชิงเอาแก้ว ถ้าแม้พระอัจยุตจะวิวาทกับเธอเพื่อเหตุนั้นไซร้ เราทั้งหลายจะเข้ากับเธอ” เมื่อได้รับคำรับรองเช่นนั้น พระศตะธนูก็รับว่าจะฆ่าท้าวสัตราชิต ฯ

ครั้นเมื่อมีข่าวมาว่ากษัตริย์ปาณฑพทั้ง ๕ ได้ถูกเผาตายในชตุคฤห​พระกฤษณทรงทราบความจริงอยู่ (คือรู้ว่ากษัตริย์ปาณฑพมิได้ตายจริง) จึ่งเสด็จไปยังตำบลวารนาวัต (อันเป็นที่ซึ่งพวกปาณฑพไปอยู่เมื่อถูกเนรเทศจากนครหัสดิน) เพื่อจะบรรเทาความปองร้ายแห่งพระทุรโยธนะ แเละกระทำกิจอันสมควรแก่ญาติ๑๐ ฯ ฝ่ายพระศตะธนูถือเอาโอกาสที่พระกฤษณไม่อยู่นั้น จึ่งลอบฆ่าท้าวสัตราชิตในขณะที่นอนหลับอยู่ แล้วก็ถือเอาแก้วไปเป็นของตน ฯ ครั้นข่าวนี้ทราบไปยังนางสัตยภามานางก็มีความเคืองแค้นในข้อที่พระบิดาเสียพระชนม์ชีพนั้นยิ่งนัก นางจึ่งขึ้นรถในฉับพลัน รีบขับตรงไปยังตำบลวารนาวัต และทูลพระสามีให้ทรงทราบเรื่องซึ่งพระศตะธนูได้ฆ่าท้าวสัตราชิต เพื่อแก้แค้นในการที่นางมาเป็นชายาพระกฤษณ และว่าพระศตะธนูได้เอาแก้วไปเสียด้วยแล้ว และนางทูลขอให้ทรงรีบจัดการแก้แค้นลงโทษผู้ที่ผิดอย่างร้ายกาจเช่นนั้น ฯ พระกฤษณซึ่งเป็นผู้ที่มีพระหฤทัยเย็น ครั้นเมื่อได้ทรงฟังเหตุการณ์ฉะนั้น พระเนตรเขียวด้วยความทรงพระพิโรธ และตรัสแก่นางสัตยภามาว่า “การที่ทำร้ายเช่นนั้น เป็นเหตุอันฉกรรจ์แท้จริง ที่จะยอมนิ่งให้คนชั่วเช่นนั้นทำร้ายดังนี้มิได้ ผู้ใดปรารถนาจะฆ่านกซึ่งทำรังอยู่ในต้นไม้ใด ก็ต้องโค่นต้นไม้นั้น น้องจงคลายความโศกาดูรภาพเถิด ไม่ต้องปริเทวะอีกต่อไป​เพื่อเสื่อมความโกรธอีกแล้ว” ฯ ทันใดนั้นพระวาสุเทพก็รีบเสด็จกลับยังทวารกา ตรัสชวนพระพลเทพ (ผู้เป็นพระเชษฐา) ไปโดยเฉพาะ แล้วตรัสแก่เธอว่า “สิงห์ตัว ๑ ได้ฆ่าประเสนซึ่งไปไล่เนื้อในป่า และ ณ บัดนี้สัตราชิตได้ถูกศตะธนูปลงชนม์ชีพเสียแล้ว เมื่อทั้งสองนั้นล่วงลับไปแล้ว แก้วซึ่งเป็นของเธอทั้ง ๒ ก็ควรที่จะเป็นของเราทั้ง ๒ จงลุกขึ้นเถิดจงขึ้นรถทรง และตามไปประหารชีวิตศตะธนูเสียเถิด” ฯ

ครั้นพระอนุชาส่งเสริมฉะนั้น พระพลราม (คือพลเทพนั้นเอง) ก็รับอาสาอย่างแข็งแรง ฯ แต่พระศตะธนูได้ทราบความคิดจะทำร้ายเช่นนั้น จึงไปหาพระกฤตวรรมันขอให้ช่วย แต่พระกฤตวรรมันหายอมช่วยไม่ โดยอ้างว่าตนไม่สามารถจะสู้รบทั้งพลเทพและพระวาสุเทพ ฯ ศตะธนูไม่สมปรารถนาเช่นนั้น จึงไปหาพระอกรูระ แต่พระอกรูระตอบว่า “เธอจงไปหาที่พึ่งแห่งอื่นเถิด เราจะป้องกันเธอได้อย่างไร ถึงแม้ในหมู่อมรรตยะเทพ ผู้มีชนสรรเสริญอยู่ทั่วโลก ก็ไม่มีเลยที่จะสามารถจะต้านทานพระจักริน๑๑ ซึ่งแม้แต่กระทืบพระบาทก็หวั่นไหวไปทั้งไตรภพ ผู้มักทำให้นางอสุรเป็นหม้ายและมีอาวุธอันกองทัพมีกำลังก็มิอาจจะต่อสู้ได้ อนึ่งใครเล่าจะสามารถต่อสู้พระสีริน๑๒ ผู้สามารถอาจทำลายความเข้มแข็งแห่งศัตรูได้แม้โดยชำเลืองด้วยพระเนตร อันกลาดไปมาด้วยอำนาจแห่งสุรา๑๓ และซึ่งมีไถอันใหญ่เป็นเครื่องสำแดงอานุภาพ สามารถ​อาจจับและสังหารศัตรูอันเก่งที่สุด” ฯ พระศตะธนูจึ่งตอบว่า “ถ้าเช่นนั้นท่านจะช่วยเรามิได้แล้ว อย่างน้อยก็ขอให้ท่านรับและรักษาแก้วนี้ไว้ด้วย” พระอกรูระจึ่งว่า “เราจะยอมรับเช่นนั้น ถ้าเธอจะรับปากว่า ถึงแม้จะถึงที่อับจน เธอก็จะไม่แสดงว่าแก้วนั้นอยู่ที่เรา” พระศตะธนูยอมรับปากเช่นนั้นแล้ว พระอกรูระก็รับแก้วไปไว้ และพระศตะธนูจึ่งขึ้นทรงนางม้าอันมีฝีตีน สามารถอาจวิ่งได้วันละร้อยโยชน์และหนีไป ฯ

ฝ่ายพระกฤษณเมื่อทรงทราบว่าพระศตะธนูหนีไปแล้ว จึ่งทรงผูกรถเทียมด้วยม้าทั้ง ๔ อันมีนามปรากฏว่า ไศพยะ ๑ สุครีพ ๑ เมฆบุษปะ ๑ พลาหก ๑ และเสด็จติดตามไป พร้อมด้วยพระพลเทพ ฯ ฝ่ายนางม้า (ซึ่งพระศตะธนูทรงนั้น) วิ่งไปได้ร้อยโยชน์ แต่พอถึงแดนมิถิลาก็ล้มลงตาย พระศตะธนูจึงลงจากม้าเดินหนีต่อไป ฯ ฝ่ายพระกฤษณ (ครั้นเมื่อพบศพม้า) จึ่งตรัสแก่พระพลภัทร์ (พลเทพ) ว่า “พระเชษฐาจงประทับในรถนี้ น้องจะเดินตามคนร้ายไปและสังหารมัน พื้นแถวนี้ไม่ราบคาบ ม้าคงจะลากรถผ่านไปไม่ไหว” พระพลภัทร์จึ่งรออยู่ในรถ และพระกฤษณก็ดำเนินตามพระศตะธนูไป ครั้นเมื่อไล่ไปได้สองโกส (ไร่ ?) พระองค์ก็ขว้างจักร และถึงแม้ขณะนั้นพระศตะธนูอยู่ห่างก็จริง แต่จักรก็ไปต้องศีรษะขาดลง พระกฤษณเข้าไปค้นหาแก้วสยมันตกะในตัว ก็หาพบไม่ จึ่งเสด็จกลับไปยังพระพลภัทร์และตรัสแจ้งว่า การที่ได้ปลงชีพพระศตะธนูแล้วนั้น หาผลมิได้เลย เพราะเหตุว่าแก้วอันมีค่า เป็นเชื้อแห่งโลกนั้นไซร้ หาได้อยู่ที่ผู้ตายนั้นไม่ ๆ ฝ่ายพระพลภัทร์เมื่อได้ฟังดังนั้นก็มีความพิโรธยิ่งนัก และตรัสแก่พระวาสุเทพว่า น่าอายจริง ๆ หนอ ​ซึ่งเจ้ามีความโลภถึงปานนี้ กูไม่นับเจ้าเป็นพี่น้องกันอีกต่อไปแล้ว อันทางแห่งกูไปทางนี้ เจ้าจะไปทางใดก็ตามใจเถิด กูขอขาดจากนครทวารกาจากบรรดาญาติวงศ์ และจากตัวเจ้าแล้ว การที่จะมากล่าวเท็จลวงกูนั้นหาประโยชน์มิได้เลย” ฯ พระพลภัทร์ได้พูดจาว่าพระอนุชา ผู้พยายามที่จะแก้ให้หายโกรธนั้นแล้ว เธอก็เข้าไปสู่วิเทหนคร ท้าวชนกก็รับรองพระพลรามโดยแข็งแรง และเธอก็เลยอาศัยในนครนั้นต่อไป ฝ่ายพระวาสุเทพนั้นเสด็จกลับไปยังทวารกา ฯ ในขณะที่พระพลภัทร์อยู่ในราชสำนักท้าวชนกนั้นไซร้ พระทุรโยธนะโอรสท้าวธฤตราษฎร์ได้เรียนวิชารบด้วยคทาต่อพระพลภัทร์ฯ ครั้นเมื่อเวลาล่วงไปได้สามปี ราชาอุครเสนและผู้ใหญ่ในสกุลยาทพต่างมีความเชื่อแน่แล้วว่าแก้วนั้นมิได้อยู่ที่พระกฤษณ จึ่งพากันไปยังวิเทหบุรี และแก้ความสงสัยแห่งพระพลเทพ แล้วพากลับคืนมายังนคร ฯ

ฝ่ายพระอกรูระ อุตสาหะถนอมสุวรรณอันได้มาด้วยอำนาจแห่งแก้วประเสริฐนั้นแล้ว ก็กระทำการบูชายัญเนือง ๆ และโดยอาศัยอำนาจแห่งมนตร์ จึ่งได้อยู่กินโดยบริบูรณ์ถึง ๕๒ ปี และด้วยอำนาจแห่งแก้วนั้นอันทุพภิกขภัยและพยาธิทุกข์ก็หามีไม่เลยทั่วทั้งอาณาเขต ฯ ครั้นเมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้นแล้ว พะเอินพวกกษัตริย์สกุลโภชะได้ฆ่าพระศัตรุฆน์หลานท้าวสัตวัตตาย และโดยเหตุที่อกรูระเป็นสัมพนธมิตรกับพวกโภชะไซร้ อกรูระจึงหนีไปจากทวารกากับเขาด้วย ฯ จำเดิมแต่อกรูระได้หนีไปแล้วก็บังเกิดมีลางร้ายต่าง ๆ มีงูร้าย มีมรณภัย มีห่าลง และเหตุร้ายอื่น ๆ พระอุรคาริเกตน์๑๔ จึ่งตรัสเรียกกษัตริย์ยาทพมาชุมนุม พร้อมด้วยพระ​พลภัทร์และราชาอุครเสน แล้วและเชิญให้พิจารณาดูว่า เหตุไฉนจึ่งมีลางร้ายมาพร้อมกันหลายประการเช่นนี้ ฯ จึ่งพระอันธกผู้เป็นผู้ใหญ่ผู้ ๑ ในหมู่ยาทพ จึงกล่าวว่า “อันที่ใดเป็นที่สถิตแห่งพระศ๎วผลกะผู้บิดาพระอกรูระนั้นไซร้ ที่นั้นย่อมปราศจากทุพภิกขภัย พยาธิทุกข์ ความแห้งแล้งและเหตุร้ายอื่น ๆ ครั้ง ๑ เมื่อฝนแล้งในแคว้นกาศิราช เขาได้อัญเชิญพระศวผลกะไปยังที่นั้น และเทพเจ้าก็ให้ฝนลงมาโดยทันที ฯ อีกประการ ๑ พะเอินพระราชินีกาศิราชทรงพระครรภ์พระบุตรี แต่ครั้นเมื่อถึงกำหนดที่ควรประสูติ พระบุตรีนั้นก็หาประสูติไม่ เวลาก็ล่วงไปถึง ๑๒ ปี แต่พระบุตรีก็ยังหาประสูติไม่ ท้าวกาศิราชจึ่งตรัสแด่พระบุตรีว่าลูกเอย เหตุไฉนการประสูติของเจ้าจึ่งรอช้าไปเช่นนี้ เจ้าจงประสูติมาเถิด พ่ออยากจะใคร่ได้เห็นลูก เหตุไฉนลูกจึงทำให้มารดาของเจ้าต้องทนทุกขเวทนาอยู่ช้านานเช่นนี้ พระบุตรีจึ่งตอบ (จากในพระครรภ์) ว่า ถ้าพระบิดาจะประทานโควันละตัวเป็นทักษิณาแด่พราหมณ์ไซร้ ต่อไปอีก ๓ ปีลูกก็จะประสูติ ฯ เพื่อเหตุนั้นแล พระราชาจึ่งประทานโคเป็นทักษิณาแด่พราหมณ์วันละตัว จนครบกำหนด ๓ ปี พระธิดาก็ประสูติ พระบิดาจึ่งขนานนามประทานนางนั้นว่า คานทินี และนางนี้พระราชายกประทานแด่พระศวผลกะ เมื่อเธอนั้นมายังราชสำนักนั้น๑๕ ฯ ฝ่ายนางคาทินีนั้นไซร้ ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ได้ให้โคเป็นทักษิณาแด่พราหมณ่วันละตัวเสมอไป ฯ อกรูระไซร้เป็นบุตรแห่งนี้ซึ่งเกิดแต่ศวผลกะ เพราะฉะนั้นนับว่าเธอนั้นเป็นผู้ที่มีกำเนิดอันเป็นมงคลเลิศ เมื่อบุคคลอย่างเช่นเธอนั้นไซร้อยู่ห่างไกลพวกเรา จึ่งบังเกิดมีอุปัทวเหตุ เช่นทุพภิกขภัย พยาธิภัย ​และอุบาทว์อื่น ๆ ขอจงได้ไปเชิญเธอนั้นกลับมาเถิด อันความผิดแห่งบุคคลผู้ประเสริฐไม่ควรที่เราจะเพ่งเล็งดูให้ละเอียดเกินไปเลย” ฯ

ตามคำแนะนำแห่งพระอันธกผู้เป็นกุลเชษฐาแห่งยาทพนั้นไซร้ สมาคมยาทพจึ่งแต่งทูต มีพระเกศวะ (กฤษณ) ราชาอุครเสน และพระพลภัทร์เป็นหัวหน้าไปแสดงแก่พระศวาผลกี (คืออกรูระ) ว่า อันความผิดใด ๆ ที่เธอได้กระทำมาแล้ว เขาทั้งหลายจะไม่ถือโทษเลย และเมื่อพระอกรูระได้รับคำมั่นสัญญาแล้วว่าจะไม่มีอันตรายแก่ตน ก็ยอมให้ทูตนำกลับไปยังนครทวารกา พอเธอนั้นกลับมาถึง อันความไข้ ความแห้งแล้งและทุพภิกขภัย และอุปัทวันตรายทั้งปวงก็เหือดหายไป ด้วยอานุภาพแห่งแก้ววิเศษฯ ฝ่ายพระกฤษณครั้นได้เห็นเช่นนั้น จึงทรงคำนึงว่า การที่พระอกรูระมีกำเนิดมาแต่นางคานทินีและพระศวผลกะนั้น เป็นเหตุอันไม่เพียงพอแก่ผลที่ปรากฏนั้นเลย และน่าจะมีอานุภาพสิ่งอื่นอันสำคัญกว่าซึ่งบันดาลให้ความไข้และทุพภิกขภัยสงบไป พระจึ่งรำลึกในพระทัยว่า “แก้วสยมันตกะอันสำคัญนั้น น่าจะอยู่ที่เธอนั้นแน่แล้ว เพราะเราได้เคยทราบอยู่ว่าแก้วนี้มีอานุภาพเช่นนั้น อนึ่งพระอกรูระนี้ไซร้ได้กระทำยัญกรรมมาแล้วเป็นหลายคราวติด ๆ กัน อันสมบัติของเธอนั้นไซร้หาเพียงพอที่จะใช้สอยเพื่อกิจเช่นนั้นไม่ ไม่ต้องสงสัยเลยเธอคงจะได้แก้วนั้นไว้” ฯ ครั้นทรงพระดำริฉะนี้แล้ว จึ่งตรัสนัดบรรดากษัตริย์ยาทพให้ไปสมาคม ณ ตำหนักแห่งพระองค์ โดยอ้างว่าจะมีงานอย่างใดอย่าง ๑ ครั้นเมื่อมาพร้อมกันแล้ว และได้ทรงอธิบายเหตุซึ่งนัดมาสมาคมแล้ว และได้กระทำกิจสำเร็จแล้ว พระชนรรทนะ (กฤษณ) จึ่งตรัสสนทนาด้วยพระอกรูระและเมื่อได้ตรัสเล่นพอสมควรแล้ว จึ่งตรัสขึ้นว่า “ดูกรท่านผู้เป็นญาติ​สนิท ท่านนี้ไซร้เป็นผู้ที่มีหฤทัยเผื่อแผ่ยิ่งนัก แต่เรารู้อยู่ดีว่า แก้ววิเศษซึ่งศตะธนูได้ลักไปนั้น ศตะธนูได้ส่งให้แก่ท่าน และบัดนี้ท่านก็รักษาไว้เพื่อประโยชน์อันใหญ่ยิ่งแห่งราชอาณาจักรนี้ ขอให้แก้วนั้นคงอยู่แก่ท่านต่อไปเถิด เราทั้งหลายย่อมได้รับผลอันดีจากอานุภาพแห่งแก้วนั้นทั่วกัน แต่พระพลภัทร์สงสัยว่าตูข้าเป็นผู้ได้แก้วนั้นไว้ เพราะฉะนั้นเพื่อความเมตตาแด่ตูข้า ขอให้ท่านขยายแก้วนั้นให้เห็นทั่วกันเถิด” ฯ ฝ่ายพระอกรูระซึ่งขณะนั้นแก้วอยู่กับตัว ครั้นเมื่อถูกถามตรงๆ เช่นนั้น ก็ยั้งอยู่มิรู้ที่จะทำอย่างไรดี เธอคำนึงว่า “ถ้าแม้เราจะไม่รับว่ามีแก้วนั้นอยู่เขาทั้งหลายก็จะพากันค้นในตัวเรา และคงจะพบแก้วนั้นอยู่ในผ้าของเรา เราจะยอมให้เขาค้นมิได้เลย” เมื่อดังนั้นแล้วอกรูระจึ่งว่าแก่พระนารายน์ ผู้เป็นมูลแห่งสากลโลกนี้ว่า “จริงอยู่ อันแก้วสยมันตกะนั้นไซร้ ศตะธนูได้ฝากตูข้าไว้ เมื่อเธอนั้นไปจากที่นี้ ตูข้าได้นึกอยู่ทุกวันว่าท่านคงจะร้องเรียกเอาจากข้า และตูข้าได้เก็บแก้วนั้นไว้จนบัดนี้ด้วยความไม่สะดวกใจเลย การรักษาแก้วนี้ไว้ทำให้บังเกิดความหนักใจแก่ข้าเป็นอันมากจนข้าหาความสุขมิได้เลย และมิได้มีความโปร่งใจสักขณะเดียว ข้าเกรงอยู่ว่าท่านจะเห็นตูข้าเป็นผู้ไม่สมควรจะเป็นผู้รักษาแก้วอันเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความเจริญแห่งอาณาจักร์ฉะนี้ไซร้ ข้าจึ่งเว้นเสียมิได้กล่าวว่าอยู่ที่ตูข้า แต่บัดนี้ขอท่านจงรับแก้วไปเอง และมอบให้ผู้ใดรักษาก็ตามใจท่านเถิด” ฯ ครั้นกล่าวฉะนั้นแล้ว พระอกรูระก็หยิบสมุคทองคำใบย่อม๑๖ ออกมาจาก​ในผ้าห่มและหยิบแก้วออกมาจากสมุคนั้น เมื่อชูแก้วนั้นขึ้นในท่ามกลางยาทพสมาคมไซร้ อันห้องที่ชุมนมนั้นก็สว่างไปด้วยรัศมี ฯ พระอกรูระจึ่งกล่าวว่า “นี้แลคือแก้ว ซึ่งศตะธนูได้มอบให้ตูข้า แม้เป็นของผู้ใดก็ให้ผู้นั้นรับไปเถิด” ฯ

บรรดากษัตริย์ยาทพเมื่อได้แลเห็นแก้วนั้น ต่างก็มีความประหลาดใจและต่างเปล่งอุทานวาจาด้วยยินดี ฯ ฝ่ายพระพลภัทร์ก็ร้องอ้างขึ้นว่าเป็นของเธอกับพระอัจยุตรวมกัน ดังได้ตกลงกันไว้แต่เดิม แต่ฝ่ายนางสัตยภามาก็มาร้องขอเป็นของนาง โดยเหตุที่เดิมเป็นของพระบิดาแห่งนาง ฯ ในระหว่างพระพลกับนางสัตยานี้ไซร้ พระกฤษณรู้สึกพระองค์ประหนึ่งว่าเป็นโคอันอยู่หว่างล้อทั้งสองแห่งเกวียน และตรัสแก่พระอกรูระต่อหน้ากษัตริย์ยาทพทั้งหลาย ดังนี้ว่า “อันแก้วนี้ไซร้ท่านได้เปิดขึ้น ณ ท่ามกลางที่ชุมนุมเพื่อแก้ชื่อแห่งข้า แก้วนี้นัยว่า ๆ เป็นของข้าและพระพลภัทร์รวมกัน และเป็นมฤดกส่วนพระราชบิดานางสัตยภามาด้วย แต่แก้วนี้ เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ดีแก่ราชอาณาจักรทั่วไป ควรจะอยู่ในความปกปักรักษาแห่งบุคคลผู้เลี้ยงชีพเป็นพรหมจรรย์เสมอไป ส่วนตูข้านี้ไซร้มีเมียถึงหมื่นหกพันคน๑๗ เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่ไม่สมควรจะรักษาแก้วนั้น ส่วนนางสัตยภามานั้นก็น่าจะไม่ยินยอมถือข้อสัญญาซึ่งหล่อนจะต้องปฏิบัติเพื่อเป็นเจ้าของแก้วนี้๑๘ และส่วนพระพลภัทร์นั้นไซร้ เธอก็ชอบเสวยสุราและมักเพลิดเพลินในทางกามคุณารมณ์มากเกินกว่าที่จะปฏิบัติอย่างพรตได้ โดยเหตุฉะนี้เรา​ทั้งสามไม่ควรเป็นผู้ควรคำนึงถึง และบรรดากษัตริย์ยาทพทั้งหลาย พร้อมทั้งพระพลภัทร์ นางสัตยาและตูข้าเอง จึ่งขอให้อกรูระผู้มีเมตตาเป็นผู้รับรักษาแก้วนั้นไว้ เหมือนอย่างที่ท่านได้กระทำมาแล้วแต่ปางหลัง เพื่อประโยชน์แห่งเราทั้งหลายทั่วไป เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้สมควรรักษาแก้วนั้น และในขณะที่อยู่ที่ท่าน แก้วนั้นได้นำผลดีมาสู่บ้านเมืองแล้ว ขอท่านจงอย่าได้อิดเอื้อนไม่รับตามคำของแห่งเรานี้เลย” ฯ ฝ่ายพระอกรูระครั้นได้รับส่งเสริมฉะนั้น ก็รับแก้วไป และต่อนั้นไปก็ประดับแก้วนั้นไว้โดยเปิดเผยที่พระศอ ดูรัศมีส่องสว่างจนลานตา และพระอกรูระนั้นจะไปแห่งใดก็ดูประหนึ่งพระอาทิตย์ อันทรงสังวาลแสงสว่างฉะนั้น ฯ

เรื่องแก้วสยมันตกะนี้ มีในหนังสือปุราณะอื่น ๆ และในหนังสือหริวํศอีกด้วย แต่ในวิษณุปราณะนี้มีข้อความพิสดารกว่าแห่งอื่น ที่ข้าพเจ้าแปลมาไว้ตลอดเช่นนี้ เพราะเห็นว่าในส่วนเนื้อเรื่องก็ออกจะสนุก ทั้งแสดงให้เห็นด้วยว่าการปกครองในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ฯ ตามที่สังเกตดูเห็นได้ว่าการปกครองในหมู่กษัตริย์ยาทพนั้น ดูคล้ายแบบที่พวกมลกษัตริย์หรือกษัตริย์ลิจฉวีใช้กันในพุทธกาลนั้นเอง คือไม่มีราชาที่สืบสันตติวงศ์เป็นผู้ทรงราชย์และถืออำนาจสิทธิ์ขาด ผู้ที่เรียกว่าราชานั้นก็คือผู้ที่ได้รับสมมติให้เป็นประธานชั่วตลอดอายุเท่านั้น และจะวินิจฉัยการใด ๆ ก็สิทธิขาดได้แต่ในท่ามกลางสมาคมแห่งญาติวงศ์ บรรดากษัตริย์ในสกุลเดียวกันคงมีอิสริยะเสมอกันหมด ถ้าหากผู้ใดจะเป็นผู้นับถือผิดกว่าคนอื่นก็โดยมีอภินิหารส่วนตัวเท่านั้น ฯ ส่วนการปกครองนั้น ดูก็ไม่สู้เรียบร้อยนัก เพราะดูมีฆ่าฟันกันและแก้แค้นกันอยู่เนือง ๆ การฆ่ากันหรือแก้แค้นแทนกัน​ดูเหมือนจะถือเป็นกิจส่วนตัว คดีเช่นนั้นจึ่งไม่ใคร่จะเข้าสู่ญาติสมาคม ต่อเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญอันจะมีผลซึ่งจะต้องได้รับทั่วถึงกัน จึ่งจะเป็นคดีที่นำปรึกษาในสมาคม ฯ ลักษณะปกครองเช่นนี้มักมีผลร้ายอย่างไร ก็ปรากฏอยู่ในเรื่องกษัตริย์ลิจฉวีในพุทธกาล ซึ่งเสียเมืองเพราะเกิดความกินแหนงซึ่งกันและกันนั้น เป็นตัวอย่างเรื่อง ๑ แล้ว และส่วนกษัตริย์ยาทพที่อยู่ในนครทวารกานี้ ในที่สุดก็ถึงแก่พินาศ ดังจะได้กล่าวโดยพิสดารต่อไปในเรื่องพระกฤษณาวตารข้างหน้านี้ ฯ.๑๙
----------------------------

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 เมษายน 2565 16:11:56 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 100.0.4896.75 Chrome 100.0.4896.75


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 12 เมษายน 2565 16:10:55 »

เชิงอรรถ (อ้างอิงคำอธิบาย)

พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ พระราชประสงค์เดิม เห็นจะทรงตั้งพระราชหฤทัยจะพิมพ์ไว้ข้างต้น พระราชนิพนธ์เรื่องนารายน์สิบปาง แล้วภายหลังจะเป็นด้วยทรงเห็นว่าเนื้อความละเอียดพิสดารเกินไป หรืออย่างไรไม่ปรากฏ จึงได้ทรงงดเสีย ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ ย่อให้สั้นลงกว่าเดิม โปรดให้พิมพ์ไว้เป็นคำนำพระราชนิพนธ์เรื่องนารายน์สิบปาง.

ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖

พระนกูลเป็นเจ้าพวกปาณฑพ คือลูกท้าวปาณฑุ ผู้ครองนครหัสดิน เป็นผู้มีชื่อเสียงในหนังสือมหาภารต เพราะเป็นผู้ ๑ ซึ่งได้กระทำมหาภารตยุทธ์ ส่วนพระภีษมะนั้น เป็นลุงท้าวปาณฑุ และนับว่าเป็นผู้มีความรอบรู้ในธรรมะและราชประเพณีมาก พวกหลาน ๆ จึ่งนับถือ.

เป็นกิจปฏิบัติสำหรับพราหมณ์ ตามคำอธิบายแห่งอรรถกถาจารย์มีไว้ว่า ยมปฏิบัติมีองค์ ๕ คือ (๑ ) อหึศา ความไม่เบียดเบียนคนหรือสัตว์อื่น (๒) สัต๎ย ความจริง (๓) อัส๎เตย ( อสาเถย์ย) ความไม่โกง (๔) พ๎รห๎มจร๎ย ความเว้นจากกาม (๕) อปร์ริค๎รห ความไม่อยากได้ ไม่อยากมั่งมี ฯ นิยมปฏิบติมีองค์ ๕ คือ (๑) เศาจ ความผ่องแผ้วจากมลทิน (๒) สัน์โตษ ความพอใจในของ ๆ ตนที่มีอยู่แล้ว (๓) ตปัส ความบำเพ็ญเผากิเลศ (๔) ส๎วาธ๎ยาย (สาธยาย) เล่าเรียนพระเวท (๕) อีศ๎วรป๎รณิธา

อีกนัย ๑ เรียกว่าทวาราวดี เป็นนครซึ่งพระกฤษณะได้สร้างขึ้นเป็นที่สำนักแห่งกษัตริย์ยาทพ มีข้อความพิสดารอยู่ในเรื่องพระกฤษณาวตาร (ปางที่ ๘).

คือราชาอุครเสน ผู้เป็นตาทวดพระกฤษณ (ดูที่กฤษณาวตาร).

คือที่เรียกในรามเกียรติ์ว่าชมพูพานนั้นเอง.

ที่ป่าซึ่งพระกฤษณตามพระประเสนไปนี้ ในวายุปุราณะกล่าวว่า ชื่อเขาฤกษวัต หรืออีกนัย ๑ เรียกว่า เขาวินธยะ.

“ชตุคฤห”- เรือนชัน ฯ เรื่องนี้มีมาในมหาภารต อาทิบรรพ คือเล่าถึงเรื่องพระทุรโยธนะลูกท้าวธฤตราษฎร์คิดร้ายต่อกษัตริย์ปาณฑพผู้เป็นลูกของอา ยุให้พระบิดาเนรเทศไปแล้วยังไม่พอใจ ตามจองผลาญไปอีก ไปทำเรือนทาชันขึ้นไว้และคิดจะล่อให้กษัตริย์ปาณฑพทั้ง ๕ กับมารดาแห่งกษัตริย์นั้นเข้าไปอยู่ในเรือนและเผาเสีย แต่พวกปาณฑพรู้กลจึ่งรอดได้.

๑๐ พระกฤษณเป็นญาติกับพวกกษัตริย์ปาณฑพอย่างสนิท พระนางกุนตีผู้เป็นมารดาพระยุธิษเฐียร พระอรชุน และพระภีมเสนนั้น เป็นขนิษฐภคินีแห่งพระวสุเทพผู้เป็นพระบิดาแห่งพระกฤษณ เพราะฉะนั้นนางกุนตีก็เป็นอาพระกฤษณ ฯ ฝ่ายพวกโอรสท้าวธฤตราษฎร์ มีพระทุรโยธนะเป็นอาทิ ซึ่งออกนามรวมกันว่ากษัตริยโกรพนั้นพระกฤษณนับว่าเป็นญาติเหมือนกัน คือประการ ๑ เป็นจันทรวงศ์ด้วยกัน อีกประการ ๑ ท้าวธฤตราษฎร์เป็นเชษฐาแห่งท้าวปาณฑุ และท้าวปาณฑุเป็นสามีนางกุนตี จึงนับว่าท้าวปาณฑุนั้นเป็นอา และนับถือท้าวธฤตราษฎร์ผู้พี่เป็นลุง ฯ โดยเหตุฉะนี้พระกฤษณจึ่งเข้าได้ทั้งปาณฑพและโกรพ และได้พยายามได้ ๒ ฝ่ายนั้นดีกัน แต่ทำสำเร็จไม่ ในที่สุดจึงถึงแก่กระทำยุทธกัน (ดูที่กฤษณาวตารต่อ) ฯ

๑๑ “จักริน” ก็คือนามเดียวกับ “จักรี” แปลว่าผู้ถือจักร เป็นนามพระนารายน์ แต่ในที่นี้ใช้เรียกพระกฤษณ.

๑๒ “สีริน” แปลว่าผู้ถือไก (สีระ) เป็นนามพระพลเทพ ผู้ถือไถเป็นอาวุธใช้อย่างพลอง.

๑๓ พระพลเทพนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ชอบสุรา เพราะในกาลครั้ง ๑ ได้ไปพบสุราอยู่ในค่าคบไม้ ดื่มสุรานั้นก็มีใจกำเริบ เรียกให้แม่พระยมนาไหลมาหา ครั้นแม่พระยมนาไม่ยอม พระพลรามก็แผลงอิทธิฤทธิ์ลากลำน้ำนั้นออกมาจากร่องจนได้.

๑๔ “อุรคาริเกตนะ” แปลวา “ผู้มีอุรคาริเป็นเครื่องหมาย” คือพระนารายน์ ฯ คำว่า “อุรคาริ” มาจาก “อุรค” “อริ” แปลว่าเป็นข้าศึกแก่งู เป็นนามแห่งพญาครุฑ

๑๕ นางคานทินีนี้ เมื่อเกิดก็มีอายุได้ ๑๕ ปีแล้ว จึ่งตกแต่งให้มีผัวได้ทีเดียว

๑๖. ที่ข้าพเจ้าแปลไว้ในที่นี้ว่า “สมุคใบย่อม” คือตามคำภาษาสังกฤตว่า “สมุท์คกะ” ซึ่งมาจากคำ “สมุท์คะ” และคำนี้ถ้าจะเขียนเป็นภาษามคธก็เป็น “สมุค์ค” ส่วนคำแปลนั้น ตามพจนานุกรมโมเนียรวิลเลี่ยมส์ว่า “หีบรูปกลม” ดังนี้ ดูก็ตรงกับรูปภาชนะซึ่งไทยเราเรียกว่า “สมุก” นั้นเอง เพราะฉะนั้นมีข้อควรสันนิษฐานว่าเป็นคำเดียวกัน ข้าพเจ้าจึ่งแก้ตัวสะกดเป็น “ค” เพื่อให้ถูกมูลเดิม – ว.ป.ร.

๑๗ ที่พระกฤษณว่ามีเมีย ๑๖,๐๐๐ คนในที่นี้ เป็นนักสนม นอกจากนี้ยังมีมเหสีอีก ๓ คน คือนางรุกมิณี บุตรีราชาวิทรรภ ๑ กับนางชามพวดีและนางสัตยภามา ซึ่งได้กล่าวถึงในเรื่องแก้ววิเศษนี้

๑๘ ข้อสัญญาเหล่านี้ จะเปนอย่างไรบ้างไม่ปรากฏ เพราะไม่มีมาในต้นฉบับเดิม.

๑๙ ดูนารายน์สิบปาง พระราชนิพนธ์ ร. ๖
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 24 เมษายน 2565 13:33:44 »



พระเป็นเจ้าของพราหมณ์
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระลักษมี

เมื่อได้กล่าวมาแล้วถึงพระนารายน์ ก็ควรที่จะกล่าวถึงพระลักษมีผู้เป็นมเหสีคู่พระทัย และพระลักษมีนั้น ในเมื่อพระนารายน์อวตาร ลงมาในมนุษย์โลกก็มักจะได้ตามเสด็จลงมาด้วย ถ้าจะพูดกันอย่างชนสามัญก็จะต้องกล่าว พระนารายน์และพระลักษมีนั้นเป็นคู่ผัวเมียกันโดยแท้ เพราะพระนารายน์นั้นมีมเหสีองค์เดียวแต่พระลักษมีเท่านั้น บางคนก็เข้าใจไปว่าพระนารายน์มีมเหสี ๒ องค์ คือพระศรี ๑ พระลักษมี ๑ แต่อันที่จริง “ศรี” เป็นนามอัน ๑ แห่งพระลักษมีนั้นเอง เช่นภควดีก็เป็นนามอัน ๑ แห่งพระลักษมีฉะนั้น

นอกจากพระลักษมีนี้ ยังมีเข้าใจผิดกันอยู่ในเรื่องมเหสีพระเป็นเจ้าเช่นนี้อีก คือในหนังสืออิศวรพงศ์ ซึ่งรวบรวมพิมพ์ขึ้นเมื่อครั้งเขียนพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น มีข้อความกล่าวอยู่ว่า “มเหสี​พระอิศวร คือ พระมเหศวรี ๑ พระอุมา ๑ พระสุรัสวดี ๑” แท้จริงพระมเหศวรีก็คือพระอุมานั้นเอง ฝ่ายพระสุรัสวดีนั้น หาใช่มเหสีพระอิศวรไม่ เป็นมเหสีพระธาดาพรหม การที่ผิดไปเช่นนี้เป็นด้วยเหตุ ๒ ประการ กล่าวคือ ประการที่ ๑ นางเดียวซึ่งมีหลายนามไปแยกออกเป็นหลายนางไป เช่นพระมเหศวรีและพระอุมา กับพระลักษมีและพระศรีเป็นต้น ซึ่งผิดโดยไม่พอที่ ประการที่ ๒ เป็นด้วยฉงนในส่วนตัวพระเป็นเจ้า คือพระธาดาพรหมนั้น มีนามเรียกว่า ปรเมษฐ จึ่งเข้าใจไปว่าเป็นพระอิศวร ซึ่งมีนามว่า ปรเมศวร จึ่งได้ยกพระสุรัสวดีซึ่งเป็นมเหสีพระปรเมษฐ์ (ธาดา) ไปให้แก่พรประเมศวร (อิศวร) เป็นอันผิดทั่วไปเพราะความฉงน โดยมิได้ตรวจตราแบบฉบับให้ละเอียด ความผิดเช่นนี้ เมื่อมีความรู้มากขึ้น อาจค้นคว้าหาแบบฉบับได้แล้ว ก็ควรแก้ไขไปให้ถูกต้อง ไม่ควรจะปล่อยให้ผิดคลาดเคลื่อนอยู่อย่างเดิม ข้าพเจ้าจึ่งนำข้อความเหล่านั้มาลงแซกไว้ ณ ที่นี้ด้วยความมุ่งหมายเช่นนี้

ส่วนกำเนิดแห่งพระลักษมีนั้น มีข้อความเล่ามาต่าง ๆ กัน ข้าพเจ้าได้เก็บมากล่าวไว้ในที่นี้แต่ ๒ ความ พอเป็นตัวอย่าง

ในรามายณะมีเรื่องกำเนิดพระลักษมีอยู่ในพาลกัณฑ์ ตอนที่พระวิศวามิตรมุนีเล่าเรื่องกวนเกษียรสมุทร เพื่อหาน้ำอมฤตให้พระรามและพระลักษมณ์ฟัง ในระหว่างที่เดินทางไปยังนครมิถิลา ฯ เรื่องนี้ถ้าจะเล่าในที่นี้ให้พิสดารก็ไม่จำเป็น เพราะจะได้กล่าวต่อไปในเรื่องกูรมาวตาร (ปางที่ ๒) แล้วนั้น จึ่งควรกล่าวไว้ในที่นี้แต่พอเป็นสังเชป มีข้อความว่า ในกฤตายุคไซร้ อันพวกอาทิตย์ (เทวดา) และแทตย์ (อสูร) ต่างมี​ฤทธาศักดาอานุภาพมาก และแข่งฤทธิ์กันอยู่เนือง ๆ อยู่มาครั้ง ๑ ทั้งเทวดาและอสูรพร้อมใจกันว่าจะกวนเกษียรสมุทรเพื่อหาน้ำอมฤต เพื่อจะได้กินให้อยู่คงไม่มีเวลาแก่และตาย จึ่งเอาเขามนทรคีรีเป็นไม้กวน เอาพญาวาสุกีนาคราชเป็นเชือกผูกเขา และเทวดากับอสูรก็พากันชักให้เขาหมุนไปมา พญานาคพ่นพิษออกมา เป็นที่เดือดร้อนทั่วไป พระนารายน์จึ่งอัญเชิญพระอิศวรให้เสวยพิษ พระอิศวรก็กลืนพิษเสียสิ้น เทวดาและอสูรชักเขามนทรหมุนกวนไปจนเขานั้นทะลุลงไปยังบาดาล ทวยเหพและสิทธาจารย์จึ่งพร้อมกันไปทูลพระนารายน์ให้ช่วย พระนารายน์จึงอวตารเป็นเต่า (กูรมะ) ไปรองไว้ใต้เขามนทร เขาจึ่งไม่กัดพื้นทะเลต่อไป การกวนก็กระทำได้ต่อไป ในที่สุดจึงมีผลวิเศษผุดขึ้นมาแต่เกษียรสมุทรเป็นลำดับคือ (๑ ) พระธันวันตรี เทวะแพทย์พิเศษ (๒) เทพอัปสร ๖ โกฏินาง (๓) นางสุรา อีกนัย ๑ เรียกว่านางวารุณี (๔) ม้าสำคัญ ชื่ออุจไฉห์ศ๎รพ (๕) แก้วเกาสตุภ (๒) พระโสม คือพระจันทร (๗) พระลักษมี (๘) น้ำอมฤต ฯ ครั้นเมื่อได้นำอมฤตขึ้นมาจากเกษียรสมุทรแล้ว เทวดาและแทตย์เกิดวิวาทรบพุ่งชิงน้ำอมฤตกันอย่างไร จะขอผัดไว้กล่าวโดยพิสดารในเรื่องกูรมาวตารสืบต่อไป แต่ส่วนตอนที่กล่าวด้วยกำเนิดพระลักษมีนั้น ควรจะกล่าวให้พิสดารอีกหน่อยในที่นี้ จึ่งขอนำความพิสดารตามที่นายเร๊ฟ ตี. เอช. คริฟฟิถ ได้แปลและประพันธ์เป็นกาพย์ไว้แล้ว ดังต่อไปนี้ ฯ

“ครั้นเวลาล่วงไปได้หลายปีแล้ว จึ่งมีดอกบัวหลวงดอก ๑ ลอยขึ้นมา ในกลางดอกบัวนั้น มีนางงามอยู่นาง ๑ พึ่งแรกรุ่น รูปร่างแน่งน้อยผุดผ่องทั่วสรรพางค์กาย ประดับด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์อย่างนางกษัตริย์ ทรงทองกรกอบแก้วนพรัตน์ทั้งสองข้าง บนเศียรนางนั้นมีมงกุฎประดับ​เพชรรัตน ภายใต้มงกุฎนั้นเห็นเกษาอันยาวงามยิ่งนัก ทรงสร้อยสังวาลแก้วมุกดา แลดูนางนั้นผิวพรรณผุดผ่องเหมือนทองทา ฯ ครั้นบัวลอยมาใกล้ฝั่ง เทวีก็ก้าวขึ้นฝั่ง หัตถ์ถือดอกบัวหลวง และนางปัทมา (ลักษมี) ก็ตรงเข้าไปเฝ้าพระปัทมปาณี (นารายน์) โดยความจงรักภักดียิ่ง ฯ อันนางนี้ไซร้ทวยเทพในเมืองแมนและฝูงชนในแดนมนุษย์ พร้อมกันสมมุติพระนามว่าพระลักษมีภควดี ฯ”

ในวิษณุปราณะ กำเนิดแห่งพระลักษมีกล่าวไว้เป็น ๒ นัย คือนัย ๑ ว่าเป็นบุตรีพระภ๎ฤคมุนีประชาบดีกับนางข๎ยาติ (ขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๘) อีกนัย ๑ ว่าเกิดแต่เกษียรสมุทร (ขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๙) ฯ การที่มีกำเนิดเป็น ๒ นัยเช่นนี้ ในขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๘ มีอธิบายไว้ คือพระไมเตรยะตั้งบัญหาถามพระปราศรมุนีว่า “ตามคำที่ชนมักกล่าวกันนั้น ว่าพระศรีมีกำเนิดจากเกษียรสมุทรเมื่อกวนน้ำอมฤต ก็เหตุไฉนเล่าท่านจึ่งกล่าวว่าเทวีนั้นเป็นบุตรีพระภฤคุกับนางข๎ยาติ” ฯ พระปราศรจึ่งวิสัชนาว่า “พระศรีผู้เป็นมเหสีพระวิษณุ ผู้เป็นพระมารดาโลกนั้นไซร้ ย่อมเป็นผู้คงอยู่ไม่มีเวลาดับ ดูกรพราหมณ์อันประเสริฐ อันพระเป็นเจ้าย่อมสถิตอยู่ในที่ทั้งปวงฉันใด เทวีก็ย่อมอยู่ทั่วไปฉันนั้น ฯ พระวิษณุเป็นอรรถ เทวีเป็นวาจ (คำพูด) พระหริเป็นนัย เทวีเป็นนิติ พระวิษณุเป็นปัญญา เทวีคือวุทธิ (ความฉลาด) พระเป็นเจ้าเป็นธรรม นางเป็นกรียา พระเป็นผู้สร้าง นางเป็นภูติ พระศรีเป็นภูมิ พระหรีเป็นภูธร (ผู้จุนโลก) พระเป็นเจ้าคือ สันโดษ พระอมรรตยลักษมีคือดุษฎี (ความไม่ทะเยอทะยาน) พระเป็นความอยากได้ นางเป็นความคิด พระเป็นยัญกรรม นางเป็นทักษิณา เทวีเป็นอาชยาหุตี (คือการพลีด้วยเนยใส) พระชนรรทนะเป็นปุโรฑาส (เข้าเภา) พระลักษมี​เป็นห้องฝ่ายใน (ที่ผู้หญิงนั่งในงานพิธี) พระมธุสูทน์เป็นห้องฝ่ายหน้า (ที่ผู้ชายนั่ง) พระลักษมีคือเวที (แท่นที่บูชาไฟ) พระหริคือยูปะ (หลักผูกสัตว์บูชายัญ) พระศรีคือเชื้อเพลิง พระหริคือกุศะ (หญ้าคา) พระคือองค์แห่งพระสามะเวท กมลาศนะเทวีคือสำเนียงที่สวด พระลักษมีคือสวาหา (คำมงคลบูชาไฟ) พระวาสุเทพโลกนารถคือไฟที่บูชา พระเสารี (นารายน์) คือพระศังกร (อิศวร) พระภูติ (ลักษมี) คือพระมเหศวรี ฯ ดูกรไมเตรยะ พระเกศวะ (นารายนณ์) คือดวงอาทิตย์ และแสงสว่างไซร้ก็คือพระปัทมาลัยเทวี (ลักษมี) พระวิษณุคือปิต๎ฤคณะ (ฝูงบิดาโลก) พระปัทมาคือชายา (ส๎วธา) ผู้ให้ความอิ่ม พระศรีคือสวรรค์ พระวิษณุผู้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งทั้งปวงคือนภากาศ พระศรีบดี (นารายน์) คือดวงจันทร์ นางคือแสงอันไม่เหือดหาย นางนั้นได้นามว่าเป็นผู้บันดาลให้โลกกระดิก พระคือลมซึ่งพัดทั่วไป พระโควินท์ (นารายน์) คือมหาสมุทร พระลักษมีคือฝั่ง พระลักษมีคือพระอินทราณี (มเหสีพระอินทร์) พระมทุสูทน์คือพระเทเวนทร (อินทร) พระจักรินคือพระยม พระกมลาศนเทวีคือนางธูโมรณา (มเหสีพระยม) พระศรีเป็นทรัพย์ พระศรีธร (นารายน์) คือพระกุเวร ฯ ดูกรมหาพราหมณ์ พระลักษมีคือนางเคารี พระเกศวะคือพระชลบดี (พระวรุณ) พระศรีคือเทวเสนา พระหริคือเทวเสนาบดี พระคทาธรคือการต่อสู้ พระศรีคือศักดิ์ (กำลัง) พระลักษมีคือกาษฐาและกลา พระหริคือนิเมษและมุหูรตะ (ดูคำอธิบายข้างล่างนี้) พระลักษมีคือแสงสว่าง พระหริผู้เป็นสิ่งทั้งปวงและเป็นวิศวบดี (เป็นใหญ่เหนือสิ่ง​ทั้งปวง) คือประทีป พระโลกมาตาคือเถาวัลย์ พระวิษณุคือต้นไม้ซึ่งเถาวัลย์นั้นพันอยู่ นางคือกลางคืน พระเป็นเจ้าผู้ทรงจักรคทาคือกลางวัน พระผู้จำแนกสุข (นารายน์) เป็นสวามี พระกมลาศนเทวีคือภรรยา เทพเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลำน้ำปุลึงค์ (คือที่มีนามเป็นตัวผู้) เทวีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลำน้ำอิถีลึงค์ พระปัทมเนตร (นารายน์) คือธวัช พระปัทมาลัยคือเกตุ (ธง) พระลักษมีคือกาม พระนารายน์โลเกศคือโลภ ฯ ดูกรท่านผู้รอบรู้ในทางธรรม พระโควินท์คือราค พระลักษมีผู้เป็นสุขุมาลยชายาคือรติ (ความรื่นเริง) ฯ แต่เหตุไฉนเล่าจะต้องกล่าวถึงคุณต่าง ๆ แห่งพระองค์ฉะนั้น สิริรวมกล่าวได้โดยสังเขปว่า ในบรรดาเทวดา สัตว์ และมนุษย์ พระหริย่อมเป็นองค์แห่งเพศชาย พระลักษมีย่อมเป็นองค์แห่งเพศหญิง นอกจากพระองค์ทั้งสองนี้แล้ว จะมีสิ่งใดได้ก็หาไม่เลย ฯ”

ส่วนเรื่องกำเนิดพระลักษมีจากเกษียรสมุทรนั้น มีมาในวิษณุปุราณะขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๙ เรื่องราวก็คล้ายกับที่มีอยู่ในรามายณะ ดังได้กล่าวมาแล้ว มีแปลกหน่อยแต่สาเหตุที่เกิดจะต้องกวนเกษียรสมุทรนั้น เป็นเพราะพระทุรวาสมุนีโกรธพระอินทร์ แช่งให้พระอินทร์หมดฤทธิ์ จึ่งแพ้พวกแทตย์และทานพ ต้องจัดการกวนเกษียรสมุทรเอาน้ำอมฤต และของสำคัญที่เกิดขึ้นมาจากเกษียรสมุทรนั้น ก็มีแปลกกับรามายณะ และลำดับผิดกัน คือ (๑) นางโคสุรภี (๒) นางวารุณี คือสุรา (๓) ต้นปาริชาต (๔) อัปสร (๕) พระโสม (๖) พิษ ซึ่งนาคพากันกิน งูจึ่งมีพิษ (๗) ธันวันตรี ถือขันน้ำอมฤต (๘) พระลักษมี ฯ เรื่องกวนเกษียรสมุทรจะได้งดไว้กล่าวถึงในเรื่องกูรมาวตารต่อไป ในที่นี้จะเก็บข้อความแต่เฉพาะที่กล่าวถึงเรื่องกำเนิดพระลักษมีมาลงไว้ ดังต่อไปนี้ ฯ

​“คราวนี้พระศรีเทวี ผู้เปล่งปลั่งโสภาคย์ จึ่งผุดขึ้นมาจากคลื่น ประทับบนดอกบัวบาน พระหัตถ์ถือดอกบัว ฯ อันพระสิทธาทั้งหลายพากันมีความโสมนัส ก็พร้อมกันสรรเสริญพระองค์ด้วยศรีสูกต์ (คือบทสรรเสริญพระศรี) ฯ วิศวาวสุและคนธรรพทั้งหลายก็ขับร้อง และนางฆฤตาจีและเทพอัปสรก็ฟ้อนรำต่อหน้าเทวี ฯ พระคงคาและมหานทีอื่น ๆ ต่างพากันมาชำระสระสนาน และเทพหัสดินก็พากันตักน้ำใสสะอาดด้วยหม้อทองมารดถวายพระเทวีผู้เป็นโลกราชินี ฯ พระเกษียรสมุทรนำพวงมาลัยดอกไม่รู้โรยมาถวายโดยตนเอง และพระเทพศิลปิน (วิศวกรรม) ก็ประดับพระองค์ด้วยทิพยาภรณ์ ฯ ครั้นเสร็จสระสรงทรงเครื่องแล้ว นางก็เข้าไปกอดพระหริต่อหน้าทวยเทพ และในขณะที่นางอิงแอบแนบพระองค์อยู่นั้นนางก็ชำเลืองดูทวยเทพ ซึ่งพากันมีความโสมนัสยินดียิ่ง แต่ฝ่ายพวกแทตย์มีท้าววิประจิตติเป็นนายก หารู้สึกเช่นนั้นไม่ แต่กลับมีความพิโรธเมื่อพระวิษณุเป็นเจ้าผันพระพักตร์ไปจากเขาทั้งหลาย และพระลักษมีก็ทอดทิ้งเขาทั้งหลายเสียแต่บัดนั้น ฯ”

พระลักษมีนั้น ข้างพราหมณ์นับถือว่าเป็นเทวีผู้เป็นแบบแผนแห่งนางงามทั่วไป ทั่งถือกันว่าเป็นเจ้าแห่งความรัก ความมั่งคั่ง และความเจริญ เพราะฉะนั้นจึ่งเป็นที่เคารพนับถือมาก จนมีคำพูดกันว่า ถ้าใครมั่งคั่งและเจริญเรียกว่าพระลักษมีโปรด ถ้าใครอับจนและได้ทุกข์ก็ว่าพระลักษมีทิ้งเสียแล้ว

ในรูปมักเขียนพระลักษมีเป็นนางงาม มีสีกายเป็นทอง นั่งบนดอกบัวมือถือดอกบัว บางตำหรับก็ว่ามี ๔ กร แต่โดยมากมักเขียน ๒ กรเท่านั้นเพราะ ๕ กรรงรังนัก

​พระลักษมี มีนามเรียกกันต่าง ๆ มาก ที่ใช้บ่อย ๆ นอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างบนนี้) คือ หริปรียา (ที่รักแห่งพระหริ) ชลธิชา (เกิดแต่น้ำ) อินทิรา (งาม) โลกมาตา (มารดาโลก).


-------------------------------------

วิษณุปุราณะ ขัณฑ์ที่ ๑ วรรคที่ ๓ มีมาตราเวลาอยู่ว่า:-
          ๑๕ นิเมษ (พริบตา ) - ๑ กาษฐา
          ๓๐ กาษฐา - ๑ กลา
          ๓๐ กลา - ๑ มหูรตะ
          ๓๐ มหูรตะ - ๑ วันกับคืน.

ดู นารายน์สิบปาง พระราชนิพนธ์ ร. ๖




พญาครุฑ

พญาครุฑเป็นพาหนะแห่งพระนารายน์ และมักกล่าวถึงอยู่ด้วยกันเนืองๆ เพราะฉะนั้นจึ่งสมควรที่จะกล่าวถึงกำเนิดและเรื่องราวไว้ในที่นี้บ้าง พอเป็นสังเขป

เรื่องที่กล่าวถึงพญาครุฑนั้น มีกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง แต่ปราชญ์อังกฤษผู้ ๑ ชื่อดับลยู. เย. วิลกินส์ ได้รวบรวมเรื่องพญาครุฑไว้ในหนังสือชื่อ “ฮินดูมิธอโลยิ” แสดงด้วยเรื่องเทวดาต่าง ๆ ในไสยศาสตร์ ข้าพเจ้าเก็บข้อความจากหนังสือฉบับนี้บ้าง จากหนังสืออภิธานนามในไสยศาสตร์ ของอาจารย์ ยอน เดาสัน อีกฉบับ ๑ เลือกสรรที่จุใจมาลงไว้ในที่นี้ ฯ

พระกัศยปประชาบดีมีชายาหลายนาง แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่ ๒ นาง ซึ่งมีนามเนื่องในเรื่องพญาครุฑ คือนางวินะตา ๑ นางกัทรุ ๑ เป็นพี่น้องกัน นางวินะตานั้นเป็นมารดาพญาครุฑกับพระอรุณ นางกัทรุเป็นมารดาแห่งนาคทั้งหลาย ฯ นางทั้ง ๒ นั้นไม่ชอบกัน และลูกต่อลูกก็เป็นอริกันด้วย ฯ สาเหตุที่จะวิวาทกันใหญ่นั้น คือ ๒ นางนั้นเกิดเถียงกันขึ้นถึงเรื่องสีม้า ซึ่งผุดขึ้นมาจากเกษียรสมุทรเมื่อครั้งกวนอมฤต ถึงแก่ท้า​พนันกันว่า ถ้าใครแพ้ต้องยอมเป็นทาสี เผอิญนางวินะตาแพ้ จึ่งต้องเป็นทาสีให้นางกัทรุและนาคผู้เป็นลูกใช้ ฯ ในมหาภารตมีเรื่องราวพิสดารกล่าวด้วยการที่พญาครุฑได้ช่วยมารดาให้พ้นจากกรรมกร เนื้อเรื่องเล่าโดยย่อมีอยู่ดังต่อไปนี้ ฯ

เหล่านาคมีความปรารถนาที่จะได้กินน้ำอมฤต เพื่อจะได้ไม่ตาย จึงตั้งข้อสัญญาไว้ว่า ถ้าพญาครุฑไปเอาพระจันทร์ ซึ่งมีน้ำอมฤตอยู่เป็นบ่อ ๆ นั้นมาให้เป็นค่าไถ่ จึ่งจะปล่อยตัวนางวินะตาให้พ้นจากกรรมกร พญาครุฑรับคำแล้วก็ไปหามารดาเพื่อขอเสบียงไปกินในกลางทาง นางก็สอนว่าให้ไปเที่ยวหากินตามริมฝั่งมหาสมุทร แต่กำชับว่าให้ระวังอย่ากินพราหมณ์ ให้กินแต่ผู้ที่ประกอบมิจฉาชีพ มีชาวประมงเป็นต้น ฯ พญาครุฑรับคำมารดาแล้วก็ลาไป จนถึงที่แห่ง ๑ เป็นหมู่บ้านชาวประมง พญาครุฑก็สูดเอาบ้านเรือน ต้นไม้ ปศุสัตว์ มนุษย์ และของอื่น ๆ ในที่นั้นกินเข้าไปหมด แต่ในหมู่คนที่อยู่นั้น เผอิญมีพราหมณ์อยู่คน ๑ ซึ่งพอพญาครุฑกลืนเข้าไปแล้วก็รู้สึกเร่าร้อนเป็นกำลัง รู้ได้ว่าได้กลืนพราหมณ์เข้าไปแล้ว จึงร้องบอกแก่พราหมณ์ว่าให้ออกมาเสียเถิด พราหมณ์ตอบว่ามีภรรยาอยู่คน ๑ เป็นลูกสาวชาวประมง ต้องให้นางนั้นออกมาด้วยพราหมณ์จึ่งจะยอมออกมา พญาครุฑก็ยอมตาม ฯ พญาครุฑบินต่อไปจนถึงพระกัศยปผู้เป็นบิดา ซึ่งเป็นดาวสถิตในนภากาศ พระบิดาก็ชี้ทางให้ไปหาอาหารที่ทะเลสาบแห่ง ๑ พญาครุฑไปก็พบเต่ากับช้างกำลังต่อสู้กันอยู่ เต่านั้นตัวยาว ๘๐ โยชน์ และช้างยาว ๑๖๐ โยชน์ พญาครุฑคีบเต่าด้วยตีน ๑ คีบช้างอีกตีน ๑ แล้วก็ไปจับบนต้นไม้ต้น ๑ สูง ๘๐๐ โยชน์ แต่ต้นไม้นั้นทนน้ำหนักไม่ไหว กิ่งก็ลั่นจะหัก และเผอิญ​บนค่าคบไม้นั้น มีพราหมณ์คนรูกำลังประชุมกันบูชายัญอยู่หลายพันคน พญาครุฑเกรงว่าพราหมณ์จะเป็นอันตราย จึ่งคาบกิ่งไม้ที่พราหมณ์ประชุมอยู่นั้นด้วยปาก คงถือช้างและเต่าไว้ด้วยตีน และบินไปจนถึงภูเขาแห่ง ๑ ในที่ไกลถิ่นมนุษย์ วางกิ่งไม้ลงโดยดีแล้ว จึ่งกินเต่าและช้างได้โดยสะดวก ฯ ต่อนี้ไปพญาครุฑได้ข้ามพ้นอันตรายต่าง ๆ อีกหลายอย่าง จนในที่สุดจึงไปถึงพระจันทร์ ฉวยพระจันทร์ได้แล้วก็เอาซ่อนใต้ปีกและบินกลับ ฯ มากลางทางพบพระอินทร์และทวยเทพซึ่งทราบเหตุว่าพญาครุฑลักน้ำอมฤตไปได้ เทวดาก็พากันเข้ารบพญาครุฑเพื่อชิงน้ำอมฤตคืน แต่พญาครุฑมีฤทธิ์มาก ทำลายวัชระของพระอินทร์เสียได้ แม้แต่พระนารายน์ก็เอาชำนะพญาครุฑมิได้ แต่พญาครุฑจะหนีพระนารายน์ก็ไม่พ้นเหมือนกัน ในที่สุดจึงตกลงทำสัญญาเป็นไมตรีกัน พระนารายน์ประทานพรให้พญาครุฑไม่ตายและสัญญาว่าจะให้นั่ง ณ ที่สูงกว่า ฝ่ายพญาครุฑยอมเป็นพาหนะแห่งพระนารายน์ ฯ เพื่อเหตุนี้แล พระนารายน์จึ่งทรงครุฑ และส่วนพญาครุฑก็ได้อยู่ในธงที่งอนรถพระนารายน์ อันเป็นที่นั่งที่สูงกว่า ๆ เรื่องนี้ในรามายณะก็มีเหมือนกัน ฯ

พญาครุฑกับพวกนาคนั้น เลยเป็นอริกันไม่มีที่สุด และจนชั้นบุตรหลานก็ยังคงเป็นศัตรูต่อกัน เพราะเหตุฉะนั้นพวกพราหมณ์เมื่อกลัวงูจึ่งออกนามพญาครุฑเพื่อให้งูกลัว ฯ

ส่วนรูปครุฑนั้น ตามตำหรับว่ามีศีรษะ ปีก และตีนเป็นนก แต่มีตัวเป็นคน หน้าสีขาว ปีกสีแดง ตัวเป็นทอง ฯ

พญาครุฑมีชายาชื่ออุนนะตี หรือวินายกา มีบุตรชื่อสัมปาตี (ซึ่ง​ในรามเกียรติ์ของเราเรียก “สัมพาที”) กับชดายุ (ซึ่งในรามเกียรติ์เรียก “สดายุ”)

ส่วนนามแห่งพญาครุฑนั้น มีอยู่เป็นอันมาก แต่ที่ใช้อยู่บ่อย ๆ ได้เก็บมารวบรวมไว้ต่อไปนี้ คือ -

              สุบรรณ ม     ปีกงาม
              ครุตมัน     จอมนก
              ทักษายะ     พอใจในความคล่องแคล่ว
              ศาลมลิน     ผู้อยู่ต้นศาลมะลิ (งิ้ว)
              ตรรกษยะ     (คำแปลเคลือบคลุม)
              วินายก     ผู้ปัดเป่า (ความขัดข้อง)
              สีตานน       หน้าขาว
              รักตะปักษ์     ปีกแดง
              เศวตะโรหิต     ขาวแดง
              สุวรรณกาย     ตัวทอง
              คัคเนศวร     จอมฟ้า
              ขะเคศวร     จอมนก
              นาคานตก     ทำลายนาค
              ปันนัคนาศน์     ผลาญงู
              สรรปาราติ       ศัตรูกับงู
              อุรคาริ       อริแห่งงู
              ตรัศวิน     ผู้ไปเร็ว
              รสายน       วิ่งเหมือนปรอท
              กามะจาริน     ผู้เที่ยวไปตามใจ
              กามายุส     ผู้อยู่ตามสบาย
              จิราท     กินนาน
              วิษณุรถ     ยานพระวิษณุ
              วิษณุวาหน             พาหนะพระวิษณุ
              สุเรนทรชิต     ผู้ชำนะพระอินทร์
              วัชระชิต     ผู้ชำนะวัชระ
              ไวนะเตยะ     เกิดแต่นางเวนะตา



พญาอนันตนาคราช

​เมื่อกล่าวถึงพญาครุฑแล้ว ก็นำให้นึกถึงพญานาค เพราะฝ่าย ๑ เป็นพาหนะพระนารายน์ อีกฝ่าย ๑ ก็เป็นบัลลังก์ ฯ เรื่องราวเที่ยวกระจัดกระจายอยู่หลายแห่ง แต่อาจารย์ยอน เดาสัน ได้เก็บรวบรวมไว้โดยสังเขปในอภิธานของเขา ข้าพเจ้าจึ่งสามารถเกิบข้อความคัดมาไว้ได้ดังต่อไปนี้ ฯ

พญาอนันตนาคราช หรือเศษนาค และวาสุกีก็เรียก เป็นอธิบดีแห่งนาคทั้งหลาย และเป็นใหญ่เหนือแคว้นบาดาล เป็นบัลลังก์ที่พระนารายน์บรรทมพักในระหว่างสร้างโลก มีศีรษะพัน ๑ ฯ บางตำหรับก็ว่าพญาเศษนาคเป็นผู้แบกโลกไว้ และบางแห่งก็ว่ารองบาดาลทั้ง ๗ ชั้น เมื่อหาวครั้งใดแผ่นดินก็ไหวครั้งนั้น ฯ เมื่อสิ้นกัลปก็พ่นพิษเป็นเปลวไฟไหม้โลกหมดสิ้น ฯ เมื่อครั้งเทวดากวนเกษียรสมุทรเพื่อหาน้ำอมฤตนั้น ได้ใช้พญาเศษนาคเป็นเชือกพันรอบมันทรคีรีและชักภูเขานั้นให้หมุนไป ฯ

ในรูปภาพ พญาเศษนาคแต่งกายผ้าสีม่วง สวมสังวาลขาวมือ ๑ ถือผาลไถ และมือ ๑ ถือสากตำข้าว ฯ (ที่ถือผาลไถและสากนี้เพราะกล่าวว่าในปางพระกฤษณาวตาร พญานาคนี้เป็นพระพลเทพ) ฯ

ในหนังสือปุราณะต่าง ๆ กล่าวว่า พญาอนันตนาคราชเป็นลูกพระกัศยปกับนางกัทรุ ฯ บางตำหรับว่าเป็นพระลักษมณ์ในปางพระรามาวตาร และเป็นพระพลเทพในปางพระกฤษณาวตาร ฯ

พังพานแห่งพญาอนันตนาคราชนั้น เรียกว่ามณีทวีป แคว้นชื่อบาดาล นครหลวงชื่อโภควดี วังชื่อมณีภีตติ ที่อยู่ชื่อมณีมณฑป มเหสีชื่ออนันตศีรษา.

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 เมษายน 2565 14:08:46 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 24 เมษายน 2565 14:24:39 »



พระเป็นเจ้าของพราหมณ์
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

อวตาร

​คำว่าอวตารใช้เป็นศัพท์ ซึ่งแปลว่าการลงมาก็ได้ หรือใช้เรียกผู้วิเศษซึ่งสมมติว่าเป็นพระเป็นเจ้าแบ่งภาคลงมาก็ได้ และพระเป็นเจ้าองค์ใด ๆ หรือเทวดาใด ๆ แบ่งภาคลงมาก็นับว่าเป็นอวตารทั้งนั้น แต่โดยมากคำว่าอวตารมักใช้สำหรับพระนารายน์ เพราะเรื่องพระนารายน์อวตารย่อมมีอยู่มากกว่าเรื่องพระเป็นเจ้าหรือเทวดาองค์อื่นๆ

เรื่องอวตารต่าง ๆ นั้น ตามความสันนิษฐานน่าจะเห็นว่า ในชั้นเดิมน่าจะเป็นเรื่องซึ่งผูกขั้นเพื่ออธิบายกิจการที่อัศจรรย์อันได้เป็นไปในโลกและซึ่งคนในโบราณสมัยอธิบายไม่ถูกว่าเป็นไปเพื่อเหตุใด จึ่งนึกขึ้นว่าน่าจะมีผู้ซึ่งเป็นใหญ่และมีอานุภาพยิ่งกว่ามนุษย์ ได้เป็นผู้บันดาลให้กิจการนั้น ๆ เป็นไป การอวตารก็เกิดขึ้นมีขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้ ฯ ครั้นต่อ ๆ มา กิจการใด ๆ ที่เป็นไปแล้ว แลเห็นเป็นอัศจรรย์ก็เลยเรียกว่า พระเป็นเจ้าอวตารบันดาลให้เป็นไปเช่นนั้น จนในที่สุดบุคคลใด ๆ ที่เป็นอัจฉริยบุคคล คือมือภินิหารผิดกว่าชนสามัญ ก็เลยพากันนิยมยกย่องกล่าวกันว่าพระเป็นเจ้าอวตารลงมากำเนิดเป็นอัจฉริยบุคคลนั้น ๆ อวตารแห่งพระนารายน์จึ่งบังเกิดมีเป็นหลายปางขึ้น ฯ

ตามที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อวตารแห่งพระนารายน์มีเป็นอันมาก ไม่เฉพาะแต่สิบปาง เรื่องนิทานต่าง ๆ ซึ่งพวกพุทธศาสนิกชนเก็บเอามายกให้เป็นเรื่องของพระโพธิสัตว์และเรียกว่า “ชาดก” นั้น ข้างฝ่ายพราหมณ์เขาก็ยกให้เป็นเรื่องอวตารของพระนารายน์ทั้งนั้น แต่แท้จริงเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องซึ่งมีอยู่แล้วในพื้นเมืองแต่ก่อนพุทธกาล และก่อน​สมัยซึ่งยกย่องพระนารายน์ขึ้นเป็นใหญ่ในหมู่เทวดา ฯ เช่นเรื่องซึ่งเกี่ยวแก่การเลิกบูชายัญด้วยมนุษย์ อย่างเช่นทุมเมธชาดกในเอกนิบาต เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระพรหมทัตกุมารในนครพาราณสี ทรงมีพระหฤทัยปรารถนาที่จะให้ชนเลิกประเพณีบูชายัญด้วยสัตว์ จึงเสด็จไปยังต้นไม้สำคัญอัน ๑ และทรงปฏิญญาไว้แด่รุกขเทวดาว่า เมื่อได้ทรงราชย์เมื่อใด จะบูชายัญด้วยคนผู้ประพฤติบาปอกุศลต่าง ๆ มีการฆ่าสัตว์เป็นต้น ครั้นเมื่อได้ทรงราชย์จริงแล้วก็ประกาศข้อที่ทรงปฏิญญาไว้นั้นให้ปรากฏ และกำหนดไว้ว่า ตั้งแต่วันที่ทรงราชย์นั้นไป ถ้าผู้ใดกระทำบาปมีฆ่าสัตว์เป็นอาทิ จะให้เอาตัวฆ่าบูชายัญ แต่วันนั้นไปก็มิได้มีใครฆ่าสัตว์บูชายัญอีกเลย ดังนี้ ถ้าหากจะแลดูแต่เผิน ๆ ก็น่าจะคิดว่าเป็นเรื่องของพุทธศาสน์แท้ เพราะเป็นเรื่องแสดงความไม่เห็นด้วยในการบูชายัญด้วยมนุษย์ หรือด้วยสัตว์ที่ทำประโยชน์แก่มนุษย์นั้น มีมาแต่ในโบราณสมัยก่อนพุทธกาลแล้ว มีพยานอยู่คือในพระเวทมีข้อความ อยู่หลายแห่ง ซึ่งติเตียนชนซึ่งอริยกะเรียกว่าทัสยุ คือเป็นคนดำซึ่งอยู่ในพื้นเมืองมัธยมประเทศ แต่เมื่อก่อนพวกอริยกะได้อพยพเข้ามา ติเตียนกันว่าพวกทัสยุเป็นผู้ที่มีความเชื่อถือลัทธิผิดและประพฤติกิจลามกต่าง ๆ มีฆ่ามนุษย์และโคบูชายัญเป็นต้น ฯ เรื่องนี้ยกมากล่าวพอเป็นพยานให้เห็นว่า เรื่องชาดกก็ดี อวตารต่าง ๆ ก็ดี ย่อมเป็นนิทานที่มีอยู่ในพื้นเมืองแล้วแต่โบราณกาล แต่หากคณาจารย์ชั้นหลังเก็บเอามาใช้เพื่อประโยชน์ในการสั่งสอนลัทธิของตน และยกเอาคนสำคัญในเรื่องนั้น ๆ เป็นโพธิสัตว์หรืออวตาร เพื่อปลูกความเลื่อมใสให้ยิ่งขึ้นเท่านั้น ฯ

ตามความนิยมข้างฝ่ายพุทธศาสน์ ว่าพระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติ​หลายร้อยพระชาติ แต่คงยกขึ้นเป็นสำคัญแต่สิบพระชาติ ดังนี้ฉันใด ข้างฝ่ายพราหมณ์ก็กล่าวว่า พระนารายน์ได้อวตารมาหลายร้อยปางแล้ว แต่คงยกขึ้นเป็นสำคัญแต่สิบปาง ฉันนั้น ฯ

เรื่องนารายน์สิบปางตามที่ไทยเราเล่า ๆ กันมา และซึ่งได้เคยพิมพ์แล้วที่โรงพิมพ์หลวงแต่ต้นรัชกาลที่ ๕ นั้น เป็นเรื่องที่เก็บเล็กผสมน้อยไม่สู้จะได้ข้อความที่ดี ๆ ของเขามาไว้ ทั้งสังเกตดูตามเนื้อเรื่องและสำนวนโวหารก็ดูอยู่ข้างจะต่ำ ในส่วนเนื้อเรื่องที่ไม่สู้จะละเอียดและมักมีแต่ข้อความที่ไม่มีแก่นสารนั้น จะเป็นด้วยได้ฉบับไม่ดีมา หรือเป็นแต่ฟังพราหมณ์ด้วยปากแล้วจดไว้หรือประการใดก็ไม่แน่ แต่ดูอยู่ข้างจะเสื่อมเสียเกียรติยศแห่งหนังสือไทยที่ปล่อยให้เป็นอยู่เช่นนั้น ข้าพเจ้าได้พยายามรวบรวมขึ้นเสียใหม่ เก็บข้อความตามหนังสือที่พอหยิบค้นได้ในเวลานี้ ฯ

อนึ่งสิบปางตามที่ชาวมัธยมประเทศเขานิยมกันว่าเป็นปางสำคัญนั้นไม่ตรงกันกับที่มีอยู่ในหนังสือนารายน์สิบปางของไทยเรา ซึ่งได้พิมพ์ไว้แล้วแต่ก่อนนี้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอนำมาวางลงเทียบกันไว้ ดังต่อไปนี้:-

ฝ่ายมัธยมประเทศ
          ๑. มัตสยาวตาร (เป็นปลา)
          ๒. กูรมาวตาร (เป็นเต่า)
          ๓. วราหาวตาร (เป็นหมู)
          ๔. นรสิงหาวตาร (เป็นนรสิงห์)
          ๕. วามนาวตาร (เป็นคนเตี้ย)
          ๖. ปรศุรามาวตาร (เป็นปรศุราม)
          ​๗. รามจันทราวตาร (เป็นพระราม)
          ๘. กฤษณาวตาร (เป็นพระกฤษณ)
          ๙. พุทธาวตาร (เป็นพระพุทธเจ้า)
          ๑๐. กัลก๎ยาวตาร (เป็นมหาบุรุษขี่ม้าขาว)

ตามหนังสือไทย
          ๑. วราหาวตาร (เป็นหมู)
          ๒. กัจฉปาวตาร (เป็นเต่า)
          ๓. มัจฉาวตาร (เป็นปลา)
          ๔. มหิงษาวตาร (เป็นควาย)
          ๕. สมณาวตาร (เป็นสมณะ)
          ๖. นรสิงหาวตาร (เป็นนรสิงห์)
          ๗. ทวิชาวตาร (เป็นพราหมณ์น้อย)
          ๘. กฤษณาวตาร (เป็นท้าวบรมจักรกฤษณ์)
          ๙. อัจฉราวตาร (เป็นนางปราบนนทุก)
          ๑๐. รามาวตาร (เป็นพระราม)

เมื่อเทียบกันดูแล้วเช่นนี้ จะแลเห็นได้ว่า ข้างฝ่ายเราคงมีตรงกับของเขาอยู่ ๗ ปาง คือ วราหะ ๑ กัจฉปะ (ตรงกับกูรมะ) ๑ มังฉะ ๑ นรสิงห ๑ ทวิช (ตรงกับวามน) ๑ กฤษณ ๑ ราม ๑ ฯ แต่ถึงที่ตรงกันเช่นนั้นแล้ว ก็วางลำดับผิดกัน และการที่ลำดับผิดกันเช่นนี้ จะอ้างอวดว่าถึงลำดับอย่างของเราก็ถูกเหมือนกันนั้นไม่ถนัด เพราะถ้ากล่าวเช่นนั้นก็จะเป็นอันสำแดงออกมาว่าไม่รู้จริง ดังจะยกอุทาหรณ์แต่เพียง ๒ ปางก็พอ​แล้ว คือปางวราหาวตารนั้น จะมาก่อนปางมัตสยาวตารไม่ได้ เพราะในปางมัตสยาวตารกล่าวถึงการสิ้นกัลปก่อนนี้และเริ่มกัลปใหม่ ซึ่งยังคงอยู่จนทุกวันนี้ เมื่อเริ่มกัลปใหม่ก็เหมือนเริ่มสร้างโลกใหม่อีกครั้ง ๑ เพราะฉะนั้นเมื่อโลกยังมิได้สร้างใหม่ หิรัณย์ก็มาม้วนแผ่นดินไปไม่ได้อยู่เอง ฯ แต่ถ้าแม้อ่านแต่ฉบับไทยที่ได้พิมพ์แล้ว ก็จะไม่รู้สึกได้เลยว่าลำดับผิด เพราะในปางมัจฉาวตารมิได้กล่าวถึงน้ำท่วมโลกเลย มีกล่าวแต่เรื่องพระมัจฉาวตารไปปราบอสูรเอาพระเวทกลับคืน ซึ่งเป็นส่วนอันน้อยส่วน ๑ แห่งเรื่องพระมัตสยาวตารเท่านั้น และเรื่องนี้เป็นตัวอย่างอัน ๑ ซึ่งเห็นได้ว่า ผู้รวบรวมเรื่องนารายน์สิบปางของเราชอบเก็บแต่ข้อความเบ็ดเตล็ดเป็นพื้น ข้อความสำคัญกลับทิ้งเสีย ถึงในปางอื่น ๆ ก็เป็นเช่นนี้เหมือนกันดังข้าพเจ้าจะได้อธิบายต่อไป เมื่อกล่าวถึงปางนั้น ๆ โดยเฉพาะ ฯ

การชอบเรื่องเบ็ดเตล็ดเช่นนี้แล ทำให้ไปเก็บเอาเรื่องเบ็ดเตล็ดมายกขึ้นเป็นปางใหญ่ขึ้นได้ถึง ๓ ปาง คือมหิงษะ ๑ สมณะ ๑ อัจฉระ ๑ ฯ ส่วนปางสมณะนั้น แท้จริงมีเรื่องพระนารายน์อยู่น้อยนิดเดียว และที่มีอยู่ก็ดูไม่สู้เป็นพระเกียรติยศแก่พระนารายน์นัก และที่ข้าพเจ้าไม่ใคร่จะอยากยอมนับเป็นอวตารด้วยซ้ำ ดูเป็นการจำแลงมากกว่า ฯ เรื่องราวแห่งปางสมณะนั้น มีใจความว่า ท้าวอสูรตรีบุรัมได้บำเพ็ญตะบะอยู่ช้านาน พระอิศวรโปรดปรานจึงทรงอนุญาตให้ขอพรตามปรารถนา ท้าวตรีบุรัมก็ขอพรว่า ถ้าตราบใดมีพระศีวลึงค์ทูนหัวอยู่ อย่าให้เทวดา อสูร สัตว์หรือมนุษย์ใด ๆ ฆ่าตายได้ ต่อไปท้าวตรีบุรัมกำเริบ พระอิศวรเสด็จกรีธาทัพไปปราบ จึ่งเอาเขาพระสุเมรุเป็นคันศร เอาพญาวาสุกีเป็นสายธนู เอาพระนารายน์เป็นลูกศร ครั้นแผลงไปศรก็ไปตกดินเสีย เพราะพระ​นารายน์บรรทมหลับเสียกลางทาง พระนารายน์จึ่งรับอาสาจำแลงเป็นสมณะไปพูดจาหลอกลวงท้าวตรีบุรัม เอาพระศีวลึงค์จากท้าวตรีบุรัมได้ แล้วพระอิศวรก็ทรงสังหารอสูรนั้นได้ ฯ เรื่องเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึ่งเห็นว่าไม่ควรเรียกว่าอวตาร เพราะตามความเข้าใจว่า อวตารแปลว่าลงมาเกิด เสวยพระชาติเป็นอะไรบ้าง ๑ เป็นพิเศษ และลงมาต่อเมื่อมีทวยเทพสิทธาไปอัญเชิญเป็นพิเศษ กับข้าพเจ้ายังมีความสงสัยต่อไปว่า เรื่องสมณาวตารนี้น่าจะได้ชักเอาเข้ามาพอให้ครบ ๑๐ ปาง และคงจะเอาเข้ามาแทนพุทธาวตารกระมัง แต่ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่ยืนยัน ฯ ส่วนเรื่องมหิงษาวตารกับอัจฉราวตารนั้น ข้าพเจ้าออกจะเชื่อแน่ใจว่า ว่าชักเอาเข้ามาให้เต็มจำนวน ๑๐ ปางเป็นแน่ คือปรศุรามนั้น คงจะเหลือที่จะเข้าใจได้ว่าเป็นพระนารายน์อวตาร เพราะปรศุราม (รามสูร) นั้น เราว่าเป็นยักษ์เสียแล้ว กับกัลกีนั้น เป็นปางซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้างเราแลไม่เห็นว่าจะนับเป็นปางอย่างไรได้ ก็เป็นอันสูญไป ๒ ปาง ต้องไปกระชากเอาเรื่องเบ็ดเตล็ดมาเดิมเข้าอีก ๒ เรื่องตามแต่จะหาได้และเท่าที่มีความรู้เท่านั้นฯ

ในหนังสือภาควัตปุราณะ ซึ่งเป็นหนังสือสำแดงพระเกียรติคุณพระนารายน์เป็นอาทินั้น มีจำนวนอวตารเป็น ๒๒ ปาง คือ (๑) บุรุษ เป็นมหาบิดรผู้สร้างมนุษย์และสัตว์ทั่วไป (๒) วราห (๓) พระนาราทมหามุนี (๔) นรและนารายน์ (๕) พระกปิลมหามุนี (๖) พระทัตตาเตรยะมุนี (๗) ยัชญ คือ การบูชา (๘) ฤษภ เป็นธรรมราชผู้ ๑ (๙) ปฤถุ เป็นราชาองค์ ๑ (๑๐) มัตสยะ (๑๑) กูรมะ (๑๒) และ (๑๓) ธันวันตรีเทวแพทย์ผู้ถือน้ำอมฤตขึ้นมาจากเกษียรสมุทร (๑๔) นรสิงห์ (๑๕) วามน ​(๑๖) ปรศุราม (๑๗) เวทะว๎ยาสะ มุนีผู้รจนาพระเวท (๑๘) พระราม (๑๙) พระพลเทพ (๒๐) พระกฤษณ (๒๑) พระพุทธเจ้า (๒๒) พระกัลกี ฯ ยี่สิบสองปางนี้ว่าเป็นปางใหญ่ ต่อนั้นไปจึ่งมีความกล่าวไว้ว่า “แต่อวตารแห่งพระวิษณุไซร้เหลือที่จะคณนา เปรียบประดุจลำธารน้อย ๆ อันไหลจากทะเลใหญ่ อันฤษี มนู เทวดา มนุษย์ และประชาบดี ย่อมเปนส่วน ๑ ๆ แห่งพระองค์ทั้งสิ้น

การที่จะเที่ยวเก็บค้นเอาเรื่องอวตารแห่งพระนารายน์มาสำแดงให้หมดนั้น ก็ดูไม่สู้จะเป็นการจำเป็นปานใดนัก ในที่นี้จึ่งจะกล่าวแต่เฉพาะถึงสิบปางซึ่งชาวมัธยมประเทศถือกันว่าเป็นปางสำคัญ พอให้ประดับความรู้แห่งชาวเราบ้างพอสมควร และจะได้กล่าวถึงทีละปาง ตามลำดับที่ชาวมัธยมประเทศเขานิยมใช้อยู่นั้นสืบไป ฯ


เทวดา

​๑. พระนารายน์ เป็นพระเป็นเจ้าองค์ ๑ ในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ในศาสนาพราหมณ์ มีพระนามปรากฏหลายอย่าง ที่ใช้อยู่มากคือนารายน์ วิษณุ ฤๅ พิษณุ หริ ฤๅ หริรักษ์ มธุสูทนะ (ผู้สังหารมธุ) ไกตะราชิต (ผู้ชำนะไกตะภะ มธุกับไกตะภะทั้ง ๒ นี้เป็นอสูร ซึ่งได้เกิดขึ้นจากพระกรรณพระนารายน์ ขณะเมื่อบรรทมอยู่เหนือพญาเศษนาคเมื่อสิ้นกัลป และกำลังจะผลาญพระพรหมาซึ่งอยู่ในดอกบัวอันผุดขึ้นมาจากพระนาภีพระนารายน์นั้น ก็พอพระนารายน์ตื่นบรรทมขึ้นสังหารอสูรเสียทัน) ไวกูณฐนารถ (ไวกูณฐคือที่สถิตของพระนารายน์) เกศวะ (ผู้มีเกศาอันงาม) มธวะ (เกิดแต่มธ) สวยัมภู (เกิดขึ้นเอง) ปิตัมวร ฤๅ ปิตัมพร ​(ผู้ทรงเครื่องสีเหลือง) ชนรรททนะ (ผู้ทำให้ชนบูชา) วิษวัมวร (ผู้คุ้มเกรงโลก) อนันตะ (ไม่มีที่สุด) ทาโมทร (มีเชือกคาด) มุกุนท (ผู้ช่วยให้รอดพ้น) ปุรุษ ฤๅ มหาบุรุษ ปุรุโษตมะ ฤๅ ปุรุโษดม ยัชเนศวร (ผู้เป็นใหญ่ในพลีกรรม) ตริโลกนาถ ฤๅ ไตรโลกนาถ เหล่านี้เป็นต้น

พระนารายน์มีอวตารสำคัญ ๑๐ ปาง คือ (๑) มัตสาวตาร เป็นปลา (๒) กูรมาวตาร เป็นเต่า (๓) วราหาวตาร เป็นหมู ลงมาสังหารหิรัญอักษะอสูร (๔) นรสิงหาวตาร เป็นนรสิงห์ ลงมาสังหารหิรัญกสิปุอสูร ทั้ง ๔ ปางนี้อยู่ในสัตยยุค คือยุคที่ ๑ แห่งกัลป (๕) วามนาวตาร เป็นคนค่อม ลงมาลวงเอาไตรโลกคืนจากพลิราชอสูร (๖) ปรศุรามาวตารเป็นปรศุราม (คือรามสูร) (๗) รามจันทราวตาร เป็นพระรามจันทร์ในรามายณะ (๘) กฤษณาวตาร เป็นพระกฤษณ ฤๅที่เรียกว่าท้าวบรมจักรกฤษณ์ ในเรื่องอุณรุท ฤๅอีกนัยหนึ่งเรียกว่า พลรามาวตาร คือเป็นพระพลราม (พระพลเทพ) น้องพระกฤษณ (๙) พุทธาวตาร เป็นพระพุทธเจ้า (๑๐) กัลกยาวตาร เป็นคนขี่ม้าขาว ปางนี้จะมีมาต่อเมื่อปลายกาลียุค (คือยุคที่ ๔ ปัตยุบันนี้) พระกัลกยาวตารจะได้ล้างโลกนี้ทั้งสิ้นแล้วจะได้เริ่มกัลปใหม่ เป็นสัตยยุคต่อไป

รูปพระนารายน์มีสี่กร โดยมากถือสังข์ ๑ จักร ๑ คทา ๑ ก้อนดินเป็นเครื่องหมายแห่งโลก (ฤๅดอกไม้เป็นเครื่องหมายแห่งของเกิดแต่ดิน) ๑ นอกจากนี้บางทีถือธนู ลูกศร ตรี เป็นต้น พญาเศษนาค อีกนัยหนึ่งเรียกว่า อนันตนาคราช เป็นบัลลังก์บรรทมลอยอยู่ในกลางเกษียรสมุทร พญาครุฑเป็นพาหนะ

​สีกายพระนารายน์นั้น ต่างกันตามยุค คือในสัตยยุคเป็นสีขาว ในไตรดายุคเป็นสีแดง ในทวาบรยุคเป็นสีเหลือง ในกาลียุคเป็นสีดำ (แต่สีดำช่างคงจะเห็นว่ามืดไม่งาม จึ่งยักเยื้องแก้ไขเป็นสีดอกตะแบก)

๒. พระลักษมี อีกนัยหนึ่งเรียกว่าพระศรี (พระศรีกับพระลักษมีไม่ใช่เป็น ๒ องค์ เป็นองค์เดียวกันเรียกนาม ๒ อย่าง ๆ) เป็นพระอัครมเหสีของพระนารายน์ “และเมื่อพระนารายน์ได้อวตารลงมาบังเกิดในมนุษย์โลกคราวใด พระลักษมีก็ได้โดยเสด็จทุกครั้ง เมื่อเป็นพระวามน พระลักษมีได้บังเกิดจากดอกบัว และมีนามปรากฏว่าปทมา ฤๅ กมลา เมื่อพระองค์เป็นปรศุราม พระลักษมีเป็นนางธรานี เมื่อพระองค์เป็นพระราม พระลักษมีเป็นนางสีดา เมื่อพระองค์เป็นพระกฤษณ พระลักษมีเป็นนางรุกมินี ในปางอื่นพระลักษมีก็ได้เป็นผู้อุปฐากพระวิษณุนารถทุกครั้ง ถ้าแม้พระองค์ทรงถือเอาเทวรูป พระลักษมีก็คงมีเทวรูป ถ้าแม้พระองค์ทรงถือเอามนุษรูป พระลักษมีก็คงมีมนุษรูป คงจะให้พระองค์ของเทวีเป็นที่เหมาะกันกับพระรูปแห่งพระวิษณุนารถเสมอไป” (กล่าวตามคัมภีร์วิษณุปราณะ)

ในเรื่องรามายณะ พาลกัณฑ์มีเล่าถึงเรื่องกำเนิดของพระลักษมี ใจความว่าเมื่อขณะที่เทพยเจ้าทั้งหลายกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต ได้มีดอกบัวหลวงผุดขึ้นมาจากกลางทะเล ในดอกบัวนั้นมีนางอยู่นาง ๑ อันงดงามหาที่ติมิได้ จึงมีนามว่าลักษมี (แปลว่ามีความถึงพร้อม ฤๅงามพร้อม) และมีสิริอันประเสริฐ จึงได้นามว่า ศรี พอชึ้นมาจากทะเลน้ำนมนางก็ได้ตรงเข้าไปยังพระนารายน์ พระนารายน์จึ่งยกให้เป็นพระมเหสีแต่บัดนั้น

​ในรูปเขียน พระลักษมีมีสีกายเป็นทอง นั่งบนดอกบัวหลวง มีพวงมาลาสวมคอ พวงมาลานี้ทำด้วยดอกไม้อันไม่มีเวลาร่วงโรย ได้มาแต่เกษียรสมุทร

นอกจากนามว่าลักษมีและศรี ยังมีที่เรียกกันอีกว่า หริปรีย (เป็นที่รักใคร่แห่งพระหริ) ปัทมา (นางบัวหลวง) ปัทมาลัย (ผู้สถิตในบัวหลวง) ชลธิชา (เกิดแต่ทะเล) โลกมาตะ (มารดาโลก) เป็นต้น (จงดูเรื่องพระสรัสวดีด้วย)

๓. พระอิศวร เป็นพระเป็นเจ้าองค์ ๑ ในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ไนศาสนาพราหมณ์ถือว่าเป็นผู้ล้างฤๅทำลาย แต่โดยเหตุที่ในศาสนาพราหมณ์ถือว่าสัตว์ไม่หายสูญเลย คงท่องเที่ยวอยในวัฏสงสาร จึ่งไม่ถือว่าพระอิศวรเป็นผู้ผลาญอย่างเดียว ทั้งเป็นผู้สร้างขึ้นใหม่ด้วย เพราะฉะนั้นนับว่าเป็นที่เปลี่ยนแปลงของเก่าให้เป็นใหม่ดีขึ้น และโดยเหตุนี้จึ่งมักปน ๆ กับพระพรหมผู้สร้างอยู่บ้าง

พระอิศวรมีนามกว่าพันนาม นามว่า “อิศวร” นี้ เป็นนามที่พราหมณ์จำพวก ๑ ใช้เรียก แปลว่า “พระเป็นเจ้า” เท่านั้น แต่ใช้ว่า ““พระศิวะ” ฤๅ “พระสังกร” ก็มี เดิมในคัมภีร์ไตรเพทไม่มีพระอิศวร พวกพราหมณ์ชั้นหลังที่นับถือพระอิศวรจึ่งอ้างว่า พระอิศวรก็คือ “รุทระ” ในคัมภีร์ไตรเพทนั้นเอง นอกจากนามที่กล่าวมาแล้ว ยังมีนามที่ใช้อยู่อีกบ่อย ๆ คือ

          (๑) “นิลกัณฐ์” คอน้ำเงินตามเรื่องว่าเมื่อพระเป็นเจ้าทั้งหลายกวนมหาสมุทรทำน้ำอมฤต พระรุทระได้ดื่มน้ำเที่เหลือจากน้ำอมฤต น้ำนี้เป็นพิษทำให้คอเขียวไป
          ​(๒) “มหาเทวะ” ฤๅ “มหาเทพ”
          (๓) “ภวะ”
          (๔) “สามภู” ฤๅ “สยมภู” เกิดเอง
          (๕) “หะระ” ผู้นำไป
          (๖) “มเหศวร” ฤๅ “ปรเมศวร” พระผู้เป็นใหญ่ยิ่ง
          (๗) “จันทรเษกระ” ผู้มีจันทร์อยู่บนนลาต (ดูเรื่องพระจันทร์)
          (๘) “ภูเตศวร” ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ภูต
          (๙) “มฤตุญชัย” ผู้ชำนะความตาย
          (๑๐) “ศรีกัณฐะ” คองาม
          (๑๑) “สมรหร” สังหารสมร คือกาม
          (๑๒) “คังคธร” ผู้ทรงไว้ซึ่งคงคา (ในเกษา-ดูเรื่องแม่พระคงคา)
          (๑๓) “สถานุ” ตั้งมั่น
          (๑๔) “คิริษะ” เจ้าแห่งภูเขา (จอมไกรลาศ)
          (๑๕) “ทิคัมพร” มีอากาศเป็นเครื่องปกปิด
          (๑๖) “ภาควัต” ผู้เป็นเจ้า
          (๑๗) “อิสาน” ผู้ปกครอง
          (๑๘) “มหากาล”
          (๑๙) “ตรยัมพกะ” สามตา
          (๒๐) “ปัญจานนะ” ห้าหน้า (สำหรับบูชาให้หายไข้)

พระอิศวรสถิตบนเขาไกรลาศ ฤๅ ถ้าเสด็จลงมายังมนุษย์โลกก็สถิต ณ เมืองพาราณสี โคผู้เผือก เรียกว่าอุศุภราชบ้าง นันทิราชบ้างเป็นพาหนะ

​สีกายพระอิศวรเป็นสีขาว คอสีนิล เกษาสีเจือแดงมุ่นอย่างฤๅษี กรมีเป็น ๒ บ้าง ๔ บ้าง ๕ บ้าง ๑๐ บ้าง พักตรมี ๑ โดยมาก (นอกจากในปางที่เรียกนามว่าปัญจนะนั้นมี ๕ พักตร) มีเนตร ๓ เนตรกลางอยู่ที่กลางนลาตและตั้งขึ้นตรง ๆ เหมือนทรงข้าวบิณฑ์ หัตถ์ถือกรี ทรงหนังเสือ มีพระจันทร์เสี้ยวติดเหนือนลาต ทรงสังวาลเป็นงู ๑ สาย ทรงประคำทำด้วยกระโหลกศีร์ษะมนุษย์ ๑ สาย ธุหร่ำ ๑ สาย บางทีเครื่องอาภรณ์ทั้งหลายก็ใช้เป็นงูล้วน

๔. พระอุมา มเหสีพระอิศวร มีนามต่าง ๆ ตามปางต่าง ๆ หลายปางคือเช่นนี้ คือ

          (๑) “อุมา” เป็นบุตรีทักษะโอรสพระพรหมธาดา ในชั้นต้นทักษะไม่สมัครยกให้พระอิศวร แต่พระพรหมขอให้จึ่งตกลง ในปางนี้มีเรื่องว่าครั้งหนึ่งทักษะได้มีการสมโภชใหญ่ แต่ไม่อัญเชิญพระอิศวรไป ณ ที่นั้น เพราะดูถูกว่าเป็นยาจกโสมม พระอุมาเสียใจจึ่งโดดเข้ากองกูณฑ์เผาตัวตาย แล้วได้นามว่า
          (๒) “สตี” คือเป็นหญิงที่ซื่อตรงดี ต่อมาหญิงที่เข้ากองไฟขณะเผาศพสามี จึ่งเรียกว่า “สตี”
          (๓) “ปรรวตี” ฤๅ “อุมาไทมะวตี” เป็นบุตรีท้าวหิมวัต (คือเขาหิมาลัย) กับนางเมนาบุตรีแห่งเมรุ นี่คือเมื่อเผาตัวเป็นสตีแล้ว มาเกิดใหม่
          (๔) “เคารี” นี้เป็นปางเดียวกับปรรวตี ตามเรื่องว่าสีกายดำ พระอิศวรเย้าเรื่องสีกาย พระปรรวตีจึ่งออกไปอยู่ป่าและเข้าฌานอยู่จนพระพรหมประทานพรให้สีกายกลายเป็นทอง

​ที่กล่าวแล้วข้างบนนี้ พระอุมาเป็นเทวีแท้ และเป็นองค์มเหสีพระอิศวร แต่นอกจากนี้ยังมีปางของพระอุมา ซึ่งดูเหมือนจะเป็นของที่มาพ่วงเข้าภายหลัง เช่นทุรคาและกาลีเป็นต้น ซึ่งมีลักษณะผิดกับพระอุมาบางทีมาก ๆ และไม่เกี่ยวแก่เรื่องรามายณะ จึ่งมิได้กล่าวถึงในที่นี้

๕. พระคเณศร์ ฤๅ วิฆเนศร์ เรียกว่าโอรสของพระอิศวรและพระอุมา (ปรรวตี) พราหมณ์นับถือว่าเป็นเจ้าแห่งวิทยาการต่าง ๆ เรื่องราวที่กล่าวถึงกำเนิดของพระคเณศร์มีต่าง ๆ หลายอย่างและเรื่องที่เล่าว่าเหตุไรเศียรจึ่งเป็นเศียรช้างก็มีต่าง ๆเหมือนกัน นอกจากคเณศร์ เรียกว่า “คณปติ” (คณบดี) ซึ่งแปลความอย่างเดียวกันก็ได้ “วินัยกะ” (พินายของไทยเรา) ก็เรียก “เอกทันตะ” ก็เรียก เพราะมีงาเดียว เดิมมี ๒ งาบริบูรณ์ แต่ครั้งหนึ่งปรศุราม (รามสูร) ขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรที่เขาไกรลาศ พระอิศวรบรรทมหลับอยู่ พระคเณศร์จึ่งห้ามมิให้เข้าไป ปรศุรามถือว่าเป็นคนโปรดจะเข้าไปให้ได้ เกิดวิวาทกันถึงรบกัน พระคเณศร์จับปรศุรามด้วยงวงปั่นขว้างไปจนปรศุรามสลบ ครั้นฟื้นขึ้นปรศุรามจึ่งจับขวานขว้างไป พระคเณศร์เห็นขวานจำได้ว่าเป็นของพระอิศวรประทานจึงไม่ต่อสู้ แต่ก้มลงรับไว้ด้วยงาข้างหนึ่ง งานั้นก็สะบั้นไปทันใด ฝ่ายพระปรรวตีกริ้วปรศุราม กำลังจะทรงแช่ง ก็พอพระนารายน์ซึ่งเป็นที่เคารพแห่งปรศุรามแปลงเป็นกุมารมาวิงวอนขอโทษ พระปรรวตีจึ่งประทานโทษให้ (เรื่องนี้มาจากคัมภีร์พรหมาไววรรตะปุราณะ วิลสันแปล)

รูปพระคเณศร์ที่มักทำ มีเศียรเป็นศีร์ษะช้าง โดยมากมี ๔ กร แต่ ๖ กร ๘ กร ฤๅ ๒ กรก็ใช้ กายอ้วนใหญ่ หนูเป็นพาหนะ

๖. พระขันทกุมาร เรียกตามสังสกฤตว่า “สกันทะ” ฤๅ ​“กรรติเกยะ” อีกนัยหนึ่งเรียกว่า “พระอรชุน” เป็นจอมพลแห่งทัพสวรรค์ตามคัมภีร์ปุราณะต่าง ๆ ว่าเป็นโอรสพระอิศวรและพระปรรวตี ครั้นว่าจะนำเรื่องเหล่านี้มาเล่าไว้ก็จะฟั่นเฝื่อ จึ่งจำต้องงดไว้

รูปที่ทำโดยมาก กายเป็นสีทอง บางทีมี ๖ เศียร ๑๒ กร นกยูงเป็นพาหนะ

๗. พระพรหมา เป็นพระเป็นเจ้าองค์ ๑ ในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ในศาสนาพราหมณ์ นับถือว่าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวง เป็นสยัมภู คือเกิดขึ้นเองอีก กำเนิดของพระพรหมนี้ ตามคัมภีร์ต่าง ๆ ข้างศาสนาพราหมณ์มีเรื่องเล่าไว้ต่าง ๆ กันหลายอย่าง พระมนุูกล่าวว่าแรกบังเกิดนั้นเป็นไข่ฟองใหญ่ก่อน ไข่แตกออกแล้วจึ่งเป็นองค์พระพรหม แต่หนังสือมหาภารตะ และคัมภีร์ปุราณะบางฉบับว่าพระพรหมาได้เกิดขึ้นในดอกบัวหลวง ซึ่งผุดขึ้นมาจากนาภีพระนารายน์ พรหมาปุราณะกลับว่าพระพรหมา ฤๅในที่นี้เรียกว่า “อาปวะ” ได้แบ่งพระองค์เป็น ๒ ภาค เป็นชายภาค ๑ หญิงภาค ๑ และพระนารายน์ได้เกิดมาแต่ภาคทั้ง ๒ นี้ แล้วพระนารายน์จึ่งสร้างพระวิราช ซึ่งเป็นผู้ได้เป็นบิดาของมนุษย์คนแรก แต่ในคัมภีร์นี้เองมีฎีกาอธิบายไว้ว่า ในชั้นต้นพระนารายน์ได้สร้างพระอาปวะฤๅ วิศิษฎ ฤๅ วิราชขึ้น โดยอาศัยกำลังพระพรหมา แล้วพระวิราชจึ่งสร้างพระมนูซึ่งเป็นบิดาแห่งมนุษย์ทั้งหลายอีกชั้น ๑ ข้อความที่นำมากล่าวไว้โดยสังเขปเช่นนี้ ก็พอจะแสดงให้เห็นได้แล้ว ว่าการที่จะเล่าเรื่องพระพรหมามิใช่ง่ายนัก และพระพรหมากับพระนารายน์ดูแย่ง ๆ กันเป็นผู้สร้างอยู่ มิหนำซ้ำพระอิศวรกับพระพรหมาก็แก่งแย่งกันอีก ว่าใคร​สร้างใคร ในคัมภีร์ปุราณะอัน ๑ กล่าวว่า แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่จะมีโลกทั้งหลายขึ้น มีแต่มหากาล (คือพระอิศวร) อยู่องค์เดียว พระมหากาลได้ถูพระกรซ้ายด้วยนิ้วพระหัตถ์ จนเกิดพองขึ้นเป็นรูปไข่มีสีคล้ายทอง ไข่นี้พระมหากาลได้ต่อยเป็น ๒ ภาค ภาคบนทำเป็นสวรรค์ ภาคล่างเป็นแผ่นดิน ในกลางเป็นพระพรหมา ซึ่งพระมหากาลได้มอบธุระให้เป็นผู้สร้างต่อไป ดังนี้ แต่ข้อที่ว่าพระพรหมาเป็นผู้สร้างพระอิศวรนั้น คือสร้างพระรุทระขึ้นจากหน้าผาก แต่เรื่องราวของพระพรหมามีอีกมากมายเกินกว่าที่จะนำมาลงไว้ในที่นี้

พระพรหมาเป็นพระเจ้าองค์ ๑ ก็ดี แต่มีผู้บูชาน้อยนัก ทั่วทั้งมัชฌิมประเทศมีเทวสถานที่บูชาพระพรหมโดยเฉพาะอยู่แห่งเดียวที่ตำบลปุษกะระ ในแขวงอาชมีรเท่านั้น พวกพราหมณ์นิยมกันว่าพระพรหมาเป็นผู้สร้างได้กระทำกิจสำเร็จแล้ว จึ่งไม่ต้องมีสถานไว้ให้มาสถิต และบำบวงเฉพาะวันเพ็ญมาฆมาสปีละครั้งเป็นพื้น

นามพระพรหมาที่ใช้อยู่อย่างมากนอกจากพรหมา คือ:-
          (๑) “ธาตา” (ธาดา) ผู้สร้าง
          (๒) “อาตมภู” เป็นขึ้นด้วยตนเอง
          (๓) “ประชาปติ” (ประชาบดี) เป็นใหญ่ในประชา
          (๔) “โลเกษ” เป็นเจ้าโลก
          (๕) “หิรัณยครรภ” เกิดแต่ท้อง (ไข่) ทอง
          (๖) “กมลาศน์” นั่งบนดอกบัวหลวง
          (๗) “สวิตฤปติ” ภัศดาแห่งนางสวิตฤ
          (๘) “อทิกวิ” กระวีที่ ๑

​รูปพระพรหมา มีสีกายแดง สี่เศียร ทรงเครื่องขาว หัตถ์ ๑ ถือไม้เท้า อิกหัตถ์ ๑ ถือถาดสำหรับอามิสพลี มีห่าน (ฤๅหงส์) เป็นพาหนะ

๘. พระสรัสวดี (สะรัสวติ) เป็นมเหสีพระพรหมธาดา พวกพราหมณ์นับถือว่าเป็นเจ้าของปัญญาและวิทยาทั้งหลาย เป็นมารดาแห่งพระเวท และเป็นผู้คิดหนังสือเทวนาครี พระสรัสวดีนี้พระพรหมาได้สร้างขึ้น คือแบ่งภาคจากพระองค์ (ดูเรื่องพระพรหมา) เพราะฉะนั้นบางทีก็เรียกว่าพรหมบุตรี บางทีก็พระสรัสวดีเป็นมเหสีพระนารายน์ ตามความนิยมของพวกพราหมณ์ไวษณวะนิกาย (คือพวกนับถือพระนารายน์) มีเรื่องเล่าว่า เดิมพระนารายน์มีมเหสี ๓ องค์ คือพระลักษมี ๑ พระสรัสวดี ๑ พระคงคา ๑ แต่ไม่เป็นที่ปรองดองกัน พระนารายน์จึ่งยกพระสรัสวดีให้พระพรหม ยกพระคงคาให้พระอิศวร คงไว้แต่พระลักษมี

พระสรัสวดีนับว่าเป็นเทพธิดาแม่น้ำ ในมัชฌิมประเทศมีลำน้ำชื่อสรัสวดี (ซึ่งชาวอินเดียเดี๋ยวนี้เรียกว่า “สูรสูตี”) ข้างประจิมทิศแห่งแม่น้ำยมนา ในคัมภีร์พระเวทกล่าวถึงแม่น้ำสรัสวดีมากกว่าแม่น้ำคงคา จึ่งเข้าใจได้ว่า ในโบราณสมัยนับถือลำน้ำนี้มากกว่าแม่พระคงคา ในคัมภีร์ปุราณะต่าง ๆ มีนามมเหสีพระพรหมหลายนาม แต่ดูตามข้อความในมัตสาปุราณะทำให้เข้าใจว่าองค์เดียวมีหลายนาม คือพระพรหมได้แบ่งภาคพระองค์เองออกเป็นพระเทวีองค์ ๑ อันมีนามปรากฏว่า ศตรูปาบ้าง สวิตฤบ้าง สรัสวดีบ้าง พราหมณีบ้าง ดังนี้ แต่มีเรื่องราวในสกันทะปุราณะเล่าถึงเรื่องพระวิตสฤมีความหึงหวงกับพระคายะตฤซึ่งเป็นชายาพระพรหมอีกองค์ ๑ ในปัทมะปุราณะก็มีเรื่องคล้าย ๆ กันอีก แต่ในวราหะ​ปุราณะกล่าวถึงพระสรัสวดี เรียกนามว่า คายะตฤบ้าง สรัสวดีบ้าง มเหศวรี (ซึ่งเป็นนามของพระอุมาอันหนึ่ง) บ้าง สวิตฤบ้าง แต่โดยมากเรียกว่าสรัสวดี

รูปพระสรัสวดีเป็นหญิงสาว สีกายขาวนวล มี ๔ กร หัตถ์เบื้องขวาถือดอกไม้ บูชาพระพรหมหัตถ์ ๑ ถือคัมภีร์ใบลานอีกหัตถ์ ๑ หัตถ์เบื้องซ้ายถือสายสร้อยไข่มุก เรียกว่าศิวมาลาแทนประคำหัตถ์ ๑ ถือกลองเรียกว่า “ทมรรวะ” (ที่ไทยเราเรียกว่าบัณเฑาะว์) อีกหัตถ์ ๑ แต่ที่ทำเป็นถือพิณและนั่งบนดอกบัวหลวงก็มี

บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 24 เมษายน 2565 14:27:19 »

เทวดา (ต่อ)

​๙. พระอินทร์ ในคัมภีร์ไตรเพท ซึ่งเป็นมูลรากแห่งศาสนาพราหมณ์นั้น พระอินทร์เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งกว่าเทพยทั้งหลาย นับว่าเป็นเจ้าแห่งฟ้า เป็นผู้ถือไว้ซึ่งอสุนีบาต และเป็นผู้บันดาลให้ฝนตกเพื่อบำรุงพืชผลทังปวงในแผ่นดิน ต่อมาภายหลังเกิดมีพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ขึ้น พระอินทร์จึ่งนับถือลดหย่อนลงมาเป็นชั้นรอง พระอินทร์นั้นมิได้นับว่าเป็นสยัมภู คือมิได้เกิดขึ้นเอง มีบิดามารดา ที่ว่าเป็นโอรสแห่งเท๎ยาส (ฟ้า) กับปฤถวี (ดิน) และเป็นเชษฐาแห่งอัคนีก็มี แต่กล่าวเป็นอย่างอื่นก็มี เป็นเจ้าผู้ครองสวรรค์ มีกำหนด ๑๐๐ ปีสวรรค์ ครั้นเมื่อครบกำหนดแล้วก็ต้องละทิพยสมบัติ มีเทวดาอื่นขึ้นเสวยทิพยสมบัติแทน บางทีมนุษย์ที่ได้บำเพ็ญตะบะฌานกล้าพอ ก็สามารถจะได้ครองสวรรค์เหมือนกัน

นามของพระอินทร์มีต่าง ๆ หลายอย่าง เหลือที่จะเก็บรวบรวมมาให้หมดได้แต่ที่ใช้อยู่บ่อย ๆ คือ
          (๑) “อมรินทร์” เป็นใหญ่ในหมู่อมร
          (๒) “เทวปติ” “เทวเทวะ” เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา
​          (๓) “สุรปติ” (สุรบดี สุรบดินทร์ สุรินทร์ ฯลฯ) เป็นใหญ่ในหมู่สุร
          (๔) “มเหนทร” ฤๅ “มหินทร” ใหญ่ยิ่ง
          (๕) “สักระ” ฤๅ “สักรินทร์ ” ผู้มีความสามารถยิ่ง
          (๖) “วัชรี” ฤๅ “วัชรินทร์” ผู้ถือเพชราวุธ
          (๗) “สวรรคปติ” (สวรรคบดี) จอมสวรรค์
          (๘) “เมฆวาหน” ผู้ทรงเมฆ
          (๙) “วฤตระหา” ผู้สังหารวฤตระ คือความแห้งแล้งในแผ่นดิน
          (๑๐) “ทิวัสปติ” เจ้าแห่งอากาศ
          (๑๑) “วาสวะ” (วาสพ) เป็นใหญ่ในหมู่วสุเทพทั้ง ๘ มีพระเพลิงเป็นต้น
          (๑๒) “ศตกรตุ” ฤๅ “ศตมขะ” เจ้าแห่งการบวงสรวงมีกำหนดได้ร้อย (คือ พิธีอัศวเมธ ๑๐๐ ครั้ง ซึ่งเป็นผลให้ผู้ที่กระทำได้เป็นพระอินทร์)
          (๑๓) “สหัสรากษะ” ฤๅ “สหัสนัย” พันตา
          (๑๔) “ศจีปติ” ภัสดาแห่งนางศจี

รูปพระอินทร์บางทีมี ๔ กร ๒ หัตถ์ถือหอก หัตถ์ที่ ๓ ถือเพชราวุธ หัตถ์ที่ ๔ ว่าง แต่โดยมากมักมีแต่ ๒ กร มิีตาทั่วกาย ทรงช้าง หัตถ์ขวาถือเพชราวุธ หัตถ์ซ้ายถือธนู

พาหนะมีช้างชื่อไอราวัต (ไอยราพต) ฤๅ เอราวัณก็เรียก กับมีม้าขาวชื่อ อุจไฉหศระวัส มีรถคัน ๑ สารถีชื่อมาตลี วิมานเรียกว่าไวชยันตะ (ไพชยนต์ ) ฤๅ เวชยันต์ มีสวนนันทนะอุทยาน นครที่สถิตชื่ออมรวดี ซึ่งอยู่บนเขาเมรุ

​ตามหนังสือมหาภารตะกล่าวว่า เมือง (อมรวดี) นี้ มีวิมานอันงดงามเป็นที่อยู่ของชาวเมือง ไม่มีนครใดที่จะงดงามเสมอเหมือนได้ ในสวนมีต้นไม้หลายพรรณอันเป็นที่ร่มรื่น บ้างมีผลอันมีโอชารสเลิศ บ้างมีดอกอันส่งกลิ่นหอมหวาน เหล่าอัปสรอันรูปงามอย่างยิ่งทำให้เป็นที่จำเริญเนตรชาวนคร ทั้งมีผู้ชำนาญในการขับร้องและสรรพดุริยางค์หาที่เปรียบมิได้ ต่างทำให้เป็นที่เพลิดเพลินใจด้วยสำเนียงอันไพเราะ นครนี้พระวิศุกรรมเป็นผู้สร้าง วัดโดยรอบ ๘๐๐ โยชน์ สูง ๔๐ โยชน์ บรรดาเสาทำด้วยเพชร์ และวิมาน บัลลังก์ ทั้งเครื่องประดับประดาทั้งปวง ล้วนทำด้วยทองนพคุณ

๑๐. มเหสีพระอินทร์ มเหสีพระอินทร์นั้น ตรวจดูตามหนังสือต่าง ๆ ว่า มีองค์เดียว และโดยมากเรียกว่า “อินทราณี” ฤๅ “ศจี” แต่มีนามอีกหลายอย่าง โปรเฟสเซอร์โมเนียร์วิลเลียมส์ในหนังสือพจนานกรมอังกฤษสังสกฤตได้กล่าวไว้ว่า “มเหสี (ของพระอินทร์) มีนามเรียกว่าศจี อินทราณี ศักราณี มโฆนิ อินทรศักติ ปุโลมชา และเปาโลมี” ดังนี้ ในคัมภีร์ฤคเวทมีกล่าวว่า “ตามบรรตดาสตรีทั้งหลาย อินทราณีมีโชคดียิ่งกว่าหญิงทั้งสิ้น เพราะว่าภัสดาของนางจะมิได้สิ้นชีพลงด้วยชราภาพเลยในเบื้องหน้า” ข้อนี้มิสเตอร์วิลกินส์อธิบายว่า เพราะพระอินทร์จะเปลี่ยนไปกี่องค์ ๆ นางอินทราณีก็คงยังเป็นอัครมเหสีของผู้เป็นพระอินทร์ต่อ ๆ ไป ในสวรรค์คงจะต้องมีผู้ใดผู้หนึ่งเป็นใหญ่ปกครองโลกสวรรค์ และนางอินทราณี ขอเป็นอัครมเหสีของจอมสวรรค์เสมอ เพราะฉะนั้นจึ่งนับว่าไม่มีเลยที่ภัสดาของนางอินทราณีจะต้องสิ้นชีพลงเพราะชราภาพ

​โปรเฟสเซอร์โมเนียร์วิลเลียมส์กล่าวว่า พระอาทิตย์กับพระอินทราณี มีโอรสองค์ ๑ ชื่อชยันตะ แต่มิสเตอร์วิลกินส์ว่าเทพบุตรนี้ชื่อจิตรคุปตะ และว่าเกิดมาจากครรภ์นางโค เพราะพระอุมาได้สาปนางฟ้าทั่วไปมิให้มีบุตรได้ นางอินทราณีบำเพ็ญกุศลกรรมต่าง ๆ เพื่อขอพรให้มีบุตร จึ่งได้จิตรคุปตะเทพบุตรมาสมประสงค์ แต่จะทรงครรภ์เองมิได้ จึ่งให้นางโคทรงครรภ์แทน และเมื่อนางโคคลอดบุตรนั้น นางอินทราณีก็รู้สึกเจ็บเหมือนหนึ่งคลอดบุตรเอง

๑๑. พระปรรชันย์ อธิบายยากว่ามีลักษณะและหน้าที่อย่างไร ตามคำสรรเสริญก็มีต่าง ๆ ว่าเป็นฝนบ้าง เป็นพายุบ้าง เป็นเมฆบ้าง เป็นฟ้ากัมปนาทบ้าง เพราะฉะนั้นดูแย่ง ๆ หน้าที่กับพระอินทร์อยู่ ในรามายณะกล่าวชัดว่ามีตัวต่างหากจากพระอินทร์ แต่กำเนิดเป็นอย่างไร รูปร่าง สีสรร เป็นอย่างไร ค้นหาไม่พบ

๑๒. พระอาทิตย์ เป็นโอรสพระกสปประชาบดีกับนางอทิติในคัมภีร์ฤคเวท กล่าวถึงพระอาทิตย์ว่าเป็นโอรสนางอทิติองค์ ๑ และเรียกนามว่าสุริยะ ว่าเป็นองค์เดียวกับพระอัคนีก็ว่า ในคัมภีร์ที่กล่าวแล้วนั้นมีว่านางอทิติมีโอรส ๘ องค์ แต่องค์ ๑ พิการ นางจึ่งทิ้งเสีย พี่น้องมีความสงสารจึ่งช่วยแก้ไขให้หายพิการ และให้นามว่าวิวัสวัต ต่อมากล่าวพระอินทร์ ๑ พระสุรยะ ๑ พระอัคคี ๑ รวม ๓ นี้ได้บำเพ็ญตะบะต่าง ๆ มาก จนได้เป็นใหญ่กว่าเทพยเจ้าทั้งหลาย ตามที่ว่ามาแล้วว่า พระอาทิตย์เป็นโอรสนางอทิตินั้น บางทีก็มีกล่าวว่าเป็นโอรสพระเท๎ยาส บางแห่งว่านางอุษัสเป็นมเหสีแห่งสุรยะ แต่บางแห่งก็ว่าเป็นมารดา แต่ในคัมภีร์ปุราณะโดยมากว่าเป็นโอรสพระกสปกับนางอทิติ ในวิษณุปราณะมีเรื่องเล่าถึงพระ​อาทิตย์ว่าได้นางสังคนา บุตรีพระวิศุกรรมเป็นมเหสี มีเรื่องราวยืดยาว แต่จะนำมาเล่าในทีนี้ก็จะฟั่นเฝือนัก จึ่งงดไว้ (ดูในเรื่องพระเสาร์ด้วย)

นามของพระอาทิตย์ ถ้าจะกล่าวถึงในหมู่เทวดานพเคราะห์เรียกว่า “ระวิ” (ระพี) นอกจากนามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ ยังมีที่เรียกอยู่มากอีก คือ “ทินกร” “ทิวากร” “ภาสกร” “ประภากร” “อาภากร” เป็นต้น

ตามคัมภีร์ไตรเพทว่าพระสุรยะนั้น “เนตรทอง กรทอง ชิวหาทอง ทรงรถเทียมม้าเท้าด่างขาว” ตามคัมภีร์ปุราณะบอกรูปพระอาทิตย์ว่า สีกายแดงแก่ มี ๓ เนตร ๔ กร ถือดอกบัวเผื่อน ๒ หัตถ์ หัตถ์ที่เหลืออีก ๒ หัตถ์นั้น หัตถ์ ๑ ให้พร หัตถ์ ๑ กวักให้บูชา นั่งบนดอกบัวหลวงมีรัศมีเปล่งปลั่งทั้งกาย มีสารถีคือพระอรุณ

๑๓. พระจันทร์ ฤๅโสมเทพ - ในชั้นต้นโสมเทพเป็นเทวดาองค์หนึ่ง ซึ่งมิใช่พระจันทร์ แต่มาภายหลังจึ่งกลายเป็นพระจันทร์ไปด้วย ในฤคเวทว่าพระโสมเป็นเจ้าแห่งน้ำโสม ซึ่งนับถือกันว่าเป็นโอสถวิเศษ โสมเป็นชื่อไม้เถาชนิด ๑ เรียกชื่อตามภาษาละตินว่า “อัสเคล์ปิอัส อซิดะ” (Asclepias acida) มีใบน้อย ดอกสีขาวเล็ก ๆ อยู่ปลาย ๆ เถา มียางขาว ๆ รสฝาด ชาวมัชฌิมประเทศนับถือกันมาก ในคัมภีร์ฤคเวทกัณฑ์ที่ ๙ เต็มไปด้วยคำสรรเสริญต้นโสมและพระโสมเทพ ตามคัมภีร์เวทนั้น กล่าวว่าพระโสมเทพได้บุตรี ๓๓ องค์ของพระประชาบดีเป็นชายา แต่พระโสมโปรดนางโรหินีมากกว่านางอื่น ๆ นาง ๓๒ มีความหึงจึ่งกลับไปหาบิดา พระโสมวิงวอนขอรับคืนไปและรับว่าจะเลี้ยงดูให้เสมอกัน แต่แล้วลืมคำนี้เสีย พระประชาบดีจึ่งสาปพระโสมให้เป็นโรคฝีในท้อง (เพราะเหตุฉะนี้​พระจันทร์จึ่งได้ผอมลงทุกวันจนดับหายไป แล้วจึ่งค่อยเกิดขึ้นใหม่อีก ซึ่งมนุษย์เห็นปรากฏอยู่เป็นข้างขึ้นข้างแรมจนกาลบัดนี้)

ในวิษณุปราณะซึ่งเป็นหนังสือชั้นใหม่กว่าไตรเพท กล่าวว่าพระโสมเทพ (คือพระจันทร์) เป็นโอรสพระอตฤมุนีพรหมบุตร แต่ว่าเกิดมาจากมหาสมุทรเมื่อกวนน้ำอมฤตก็ว่า กับมีเรื่องต่อไปว่าพระจันทร์ได้กระทำพิธีราชสุยะมีบุญญาธิการมาก เกิดกำเริบขึ้นจึ่งไปลักพานางดารามเหสีพระพฤหัสบดีไป พระพฤหัสบดีจะพูดว่ากล่าวอย่างไร พระโสมเทพก็ไม่ฟัง พระพรหมว่ากล่าวก็ไม่ฟัง เทพฤๅษีทั้งหลายไปว่ากล่าวก็ไม่ฟัง จนเกิดมีสงครามขึ้น พระอินทร์กับเทวดาฝ่าย ๑ พระโสมกับอสูรอีกฝ่าย ๑ จนนางดาราเองได้ความเดือดร้อนร้องขอบารมีพระพรหมธาดาเป็นที่พึ่ง พระพรหมธาดาจึ่งบังคับให้พระโสมคืนนางดารา แต่นางดารามีครรภ์อยู่แล้ว พระพฤหัสบดีจึ่งสั่งให้บุตรคลอดออกมา บุตรนี้คือพระพุธ ฝ่ายพระพฤหัสบดี ครั้นเมื่อนางดาราได้สารภาพแล้วว่าพระจันทร์เป็นบิดาแห่งกุมารนั้น ก็มีความพิโรธ จึ่งเผานางเสียจนเป็นเถ้า (เพราะพระพฤหัสบดีนี้ว่าเป็นองค์เดียวกับพระอัคนี) แต่พระพรหมได้ชุบนางขึ้นใหม่ และโดยเหตุนางได้ล้างบาปแล้วด้วยเพลิง พระพฤหัสบดีจึ่งรับไว้เป็นมเหสีอย่างเดิม ฝ่ายพระสมุทรมีความพิโรธพระโสมผู้เป็นโอรส จึ่งตัดรอนเสีย แต่พระลักษมีผู้เป็นภคินีได้ช่วยวิงวอนขอหย่อนโทษบ้าง พระสมุทรจึ่งยอมถอนคำสาปให้ส่วน ๑ แล้วพระลักษมีได้ช่วยวิงวอนพระอุมา ขอให้พระโสมได้กลับขึ้นไปบนสวรรค์ พระอุมาทูลวิงวอนพระอิศวร ๆ จึ่งเอาพระจันทร์ติดเหนือนลาตของพระองค์ แล้วเสด็จไปในสมาคมแห่งเทวดาทั้งหลาย พระพฤหัสบดีเห็นเช่นนั้นก็มีความ​ขุ่นเคืองยิ่งนัก จนพระพรหมต้องไกล่เกลี่ยว่า ให้พระจันทร์อยู่เสียนอกสวรรค์ แต่ให้เป็นเจ้าแห่งดาวและพฤกษชาติทั้งหลาย

รูปพระจันทร์เป็นมนุษย์ สีกายขาว ๒ กร ทรงรถเทียมม้าขาว

๑๔. พระอังคาร “มังคละ” ก็เรียก “ภุมมะ” ก็เรียก ไม่ปรากฏว่ากำเนิดเป็นอย่างไร (ค้นยังไม่พบ) มิสเตอร์วิลกินส์กล่าวว่า เป็นเทวดาองค์เดียวกับพระขันทกุมาร รูปเป็นคน สีกายแดง ๔ กร ภูษาอาภรณ์แดง ทรงแกะเป็นพาหนะ

๑๕. พระพุฒ (ฤๅพุธ) โอรสพระจันทร์ กับนางดารา (ดูในเรื่องพระจันทร์)

๑๖. พระพฤหัสบดี เป็นครูแห่งเทวดาทั้งหลาย ตามไตรเพทว่าเป็นองค์เดียวกับพระอัคนี แต่มาภายหลังจึ่งนิยมกันว่าเป็นฤๅษี โอรสพระอังคีรสพรหมบุตร (ดูในเรื่องพระจันทร์ด้วย)

๑๗. พระศุกร์ เป็นโอรสพระภฤคุมุนีพรหมบุตร เป็นครูแห่งพวกแทตย์ และว่าเนตรบอดข้าง ๑ ที่เนตรบอดนั้น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระนารายน์เป็นพระวามนาวตาร ไปยังที่พิธีการของพลิราชจอมแทตย์ ศุกรได้ห้ามพลิราชมิให้ๆ สิ่งใดแก่พระวามนาวตาร แต่พลิราชได้ลั่นวาจาแล้วว่าจะยกแผ่นดิน ๓ ย่างให้แก่พระวามนาวตาร จึงตกลงเป็นจะให้และเป็นหน้าที่ของพระศุกร์ผู้เป็นปโรหิตของพลิราชที่จะอ่านมนต์และเทน้ำกรดให้หลั่ง แต่พระศุกร์ทราบแล้วว่า ถ้าแม้ให้ตามพระวามนาวตารขอก็แผ่นดินก็คงจะตกไปเป็นของพระวามนาวตารทั้งสิ้น จึ่งหายตัวลงไปสิงอยู่ในกลดน้ำ และกันไว้มิให้น้ำนั้นไหลออกมาได้ ฝ่ายพระวามนาวตารเล็งเห็นว่าพระศุกร์ลงไปกันน้ำไว้ จึ่งหยิบฟางหญ้าคาแยงลงไปในกรดถูก​เนตรพระศุกร์เจ็บปวดทนมิได้ จึ่งต้องเปิดให้น้ำไหล และเนตรพระศุกร์จึ่งบอดข้าง ๑ พระศุกร์นี้นับถือกันว่ามีวิทยาขลังสามารถจะชุบคนตายให้ฟื้นขึ้นได้

สีกายเลื่อมประภัสสร ภูษาอาภรณ์สีเช่นกัน

๑๘. พระเสาร์ ว่าเป็นโอรสพระอาทิตย์กับนางฉายา ฤๅอีกนัยหนึ่งว่าเป็นโอรสพระพลรามกับนางเรวะดี ตามเรื่องที่ว่าเป็นโอรสพระอาทิตย์กับนางฉายานั้น มีข้อความกล่าวไว้ในวิษณุปุราณะว่า นางสังคณา (ฤๅนัยหนึ่งเรียกว่า สรัณยา) บุตรีพระวิศุกรรมเป็นมเหสีพระสุรยะ อยู่ด้วยกันจนมีเทพบุตร ๓ องค์ แล้วนางสรัณยาทนรัศมีพระอาทิตย์มิได้ จึ่งจำต้องหลบหนีไป ให้นางฉายาอยู่แทน พระสุรยะก็ไม่รู้สึกอยู่หลายปีว่าสับตัวกัน จนอยู่มาวัน ๑ นางฉายามีความโกรธพระยมผู้เป็นโอรสพระสุรยะกับนางสังคณา นางจึ่งกล่าววาจาแช่งพระยม และผลก็มีแก่พระยมตามคำแช่ง ตตามธรรมดาคำแช่งของมารดาจะมีผลอันใดแก่บุตรก็หามิได้ เพราะฉะนั้นพระสุรยะจึ่งทราบได้ว่านางฉายามิใช่มารดาของพระยม

พวกพราหมณ์ถือว่าพระเสาร์เป็นเทวดาเคราะห์ร้าย ดังปรากฏอยู่ในหนังสือพรหมาไววรรตะปุราณะ เล่าเรื่องพระคเณศร์ว่า เมื่อพระคเณศร์ประสูติแล้วเทพยดาทั้งหลายได้พากันไปเฝ้าพระอิศวรกับพระปรรวดี และได้เข้าไปชมพระคเณศร์เรียงองค์กัน พระเสาร์ก็ไปในที่นั้นด้วยแต่ก้มหน้าอยู่ ตาหาดูพระกุมารไม่ พระปรรวดีตรัสถามว่า เหตุไฉนจึ่งไม่แลดูพระกุมาร พระเสาร์ตอบว่าวัน ๑ พระเสาร์กำลังเข้าฌานรำลึกถึงคุณพระนารายน์ มเหสีของพระเสาร์เข้ามา พระเสาร์ก็หาได้ปราศรัยฤๅสำแดงความชื่นชมโสมนัสอย่างใดไม่ นางมีความโกรธจึ่งสาบไว้ว่า ถ้าพระ​เสาร์แลดูผู้ใดให้ผู้นั้นพินาศ ฝ่ายพระปรรวดีได้ทราบเรื่องแล้ว ก็ยังขืนวิงวอนให้พระเสาร์ดูพระกุมาร พระเสาร์เรียกพระธรรมราชา (พระยม) ให้เป็นพยานว่าได้รับอนุมัติแล้ว จึ่งมองดูพระคเณศร์ ทันใดนั้นเศียรพระคเณศร์ก็หลุดจากกายลอยไปยังไวกูณฐ์และเข้าบรรจบกับองค์พระนารายน์ จนพระนารายน์ต้องขึ้นทรงครุฑไปยังลำน้ำปุษปะภัทร์ ตัดศีร์ษะช้างที่นอนหลับอยู่ริมลำน้ำนั้นมาติดแทนเศียรพระคเณศร์ที่สูญไป พระอิศวรกับพระปรรวดีมีความยินดีประทานพรต่างๆ แก่บรรดาเทวดาและฤๅษีชีพราหมณ์ที่ไปเฝ้า เว้นแต่พระเสาร์นั้นพระปรรวดีได้แช่งให้ขาเขยกต่อมา

รูปพระเสาร์ สีกายดำ มี ๔ กร ภูษาอาภรณ์ดำ และมิสเตอร์วิลกินส์ว่า ทรงนกแร้งเป็นพาหนะ ตามตำราโหรของไทยว่าทรงเสือ

๑๙. พระราหู ว่าเป็นโอรสพระพฤหัสบดีกับนางสิงหิกา ตามความที่นิยมกันว่าพระราหูอมพระอาทิตย์และพระจันทร์ในเวลาอุปราคานั้น มีเรื่องเล่ามาว่า เดิมพระราหูเป็นอสูร แต่เมื่อเวลากวนน้ำอมฤตนั้น ได้แปลงรูปเป็นเทวดา พระอาทิตย์กับพระจันทร์ซึ่งนั่งอยู่ด้วยกันได้ทูลท้วงแก่พระนารายน์ว่า มีอสูรตน ๑ ได้กินน้ำอมฤตแล้ว พระนารายน์จึ่งตัดเศียรอสูรนั้นเพื่อลงอาญา แต่อสูรนั้นได้น้ำอมฤตแล้ว เพราะฉะนั้นทั้งเศียรทั้งกายก็มิได้ตาย พระนารายน์จึ่งตั้งนามภาคเศียรว่าราหู ให้อยู่ทางที่ลับแห่งจันทรโคจร ตั้งนามกายภาคว่าเกตุ ให้อยู่ทางที่แจ้งแห่งจันทรโคจร กับอนุญาตว่าเพื่อแก้แค้น ให้ราหูมีเวลาได้เข้าใกล้พระอาทิตย์พระจันทร์และกระทำให้มัวมล ร่างกายซูบผอมและดำไป

รูปพระราหู สีกายดำ มิสเตอร์วิลกินส์ว่าขี่สิงห์เป็นพาหนะ แต่ตำราโหรไทยเราว่าขี่ครุฑ

๒๐. พระเกตุ เป็นภาคกายแห่งอสูรราหูเมื่อถูกพระนารายน์ฟันเป็น ๒ ภาค (ดูในเรื่องพระราหู)

รูปพระเกตุ มิสเตอร์วิลกินส์ไม่กล่าวว่าเป็นอย่างไร ตำราโหรไทยว่ากายสีทอง ทรงนาคเป็นพาหนะ

๒๑. พระเพลิง (อัคนี) เป็นที่นับถือของพวกพราหมณ์โบราณมาก จึ่งมีเรื่องเล่าถึงมาก นัยหนึ่งว่าเป็นโอรสแห่งอากาศและปฤถวี นัยหนึ่งว่าเป็นโอรสพระพรหมาธิราช และเรียกนามว่าพระอภิมาณี นัยหนึ่งว่าเป็นโอรสพระกัสปกับนางอทิติ จึ่งนับว่าเป็นอาทิตยะองค์ ๑ นัยหนึ่ง (ในหนังสือชั้นหลัง) ว่าเป็นโอรสพระอังคีรส ราชาแห่งปิตรีทั้งหลาย (คือบิดาของมนุษย์) อีกนัยหนึ่งว่าเป็นองค์เดียวกับพระพฤหัสบดี คำสรรเสริญบท ๑ ซึ่งโปรเฟสเส้อร์โมเนียร์ วิลเลียมส์ได้แปลลงไว้ในหนังสือชื่อ “อินเดียนวิสดอม” บอกลักษณะพระเพลิงแจ่มแจ้งดี มีใจความตามคำสรรเสริญนั้นว่า “มีแสงสว่าง รัศมี ๗ แฉก มีรูปแปลกๆ น่าชม กายสีเป็นทองคำ มีเศียร ๓ เกษา กระจ่างโพลน และโอษฐ์ทั้ง ๓ มีคางและทนต์อันร้อนจัด เสวยสรรพสิ่งปวง บางทีพระองค์ก็มีเขานับด้วยพัน ล้วนรุ่งโรจน์ มีเนตรนับด้วยพันอันฉายรัศมีกระจ่างจ้า ทรงรถทองลอยละลิ่วเฉียดลม เทียมม้าอันแดงจัด”

รูปที่เขียนโดยมาก มักมีสีกายแดง มีชงค์ ๓ กร ๗ เนตร ขนง และเกศาสีม่วงแก่ ทรงแกะผู้เป็นพาหนะ คล้องสังวาลธุหร่ำอย่างพราหมณ์ และมีสังวาลผลไม้ร้อยกรองเป็นพวง มีเปลวไฟออกมาจากโอษฐ์ และมีรัศมีเป็น ๗ แฉก ถือขวาน

นามพระเพลิงที่ใช้เรียกกันในมัชฌิมประเทศ นอกจาก “อัคนี” และ “อภิมาณี” ที่กล่าวแล้วนั้นมี
          (๑) “พราหมณัศปติ” เป็นผู้ใหญ่ในหมู่พราหมณ์ (มุ่งว่ากองกูณฑ์)
          (๒) “วาหนี” ผู้รับเครื่องพลีกูณฑ์
          (๓) “ธนัญชัย” ผู้ชำนะทรัพย์
          (๔) “ชิวลนะ” ผู้ลุกสว่าง
          (๕) “ธูมเกตุ” ผู้มีควันเป็นที่กำหนด
          (๖) “ฉาคะรถะ” ผู้ทรงแกะผู้
          (๗) “สัปตะชิวหา” ผู้มีชิวหา ๗

๒๒. พระวรุณ (พิรุณ) เป็นที่นับถือของชาวมัชฌิมประเทศมาก ถือว่าเป็นเจ้าแห่งน้ำทั้งหลาย เป็นผู้รักษาความสุขสวัสดีแห่งมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง มีมเหสีนามว่า วรุณี และพระสมุทร พระคงคาเทวี ทั้งลำน้ำสระและพุทั้งหลาย เป็นบริพาร

มีนามอีกว่า “ประเจตัส” (มีปัญญา) “ชละปติ” (เจ้าแห่งน้ำ) “ยาทะปติ” (เจ้าแห่งสัตว์น้ำ) “อัมพุราช” (เจ้าแห่งน้ำทั้งหลาย) “ปาศี” (ผู้ถือบ่วง)

รูปพระวรุณ สีกายขาว หัตถ์ขวาถือป่วง ฤๅถือธนูศรก็มี ทรง “มกระ” คือเหราเป็นพาหนะ (ไทยเราว่าทรงนาค)

๒๓. พระอัศวิน เป็นเทวดา ๒ องค์แฝด เรียกนามรวมนามเดียวว่าอัศวิน หาเรื่องราวที่จะเล่าถึงให้แจ่มแจ้งยาก และจะกล่าวชัดเจนว่าเป็นเจ้าแห่งอะไรก็ยาก เพราะมีคำอธิบายต่าง ๆ กันหลายประการนัก มิสเตอร์มิยัวร์ (J. Muir D.C.L., LL.D.) ในหนังสือชื่อ “หนังสือสังสกฤตฉบับเดิม” (Original Sankskrit Texts) กล่าวพระอัศวิน “เป็นผู้เริ่มนำแสงสว่างมาในฟากฟ้าเวลาเช้า เป็นผู้เร่งเมฆที่บังแสงอรุณให้เลื่อนพ้นไป และผู้นำทางให้พระอาทิตย์เดิน” ในคำสรรเสริญมีกล่าวว่าเป็นโอรสพระสุรยะบ้าง ว่าเป็นโอรสแห่งฟ้าบ้าง ว่าเป็นโอรสแห่งสมุทรบ้าง

ที่ว่าเป็นโอรสพระอาทิตย์นั้น มีเรื่องเล่าในหนังสือวิษณุปราณะว่า เมื่อครั้งนางสรัณยาได้หนีจากพระอาทิตย์ไปแล้วนั้น (ดูเรื่องพระเสาร์) นางได้ออกไปอยู่ป่า พระอาทิตย์เล็งทิพเนตรเห็นว่านางอยู่แห่งใดแล้วจึ่งตามออกไป พบนางกลายรูปเป็นนางม้าอยู่ในป่า พระอาทิตย์ก็จำแลงเป็นม้าผู้ไปอยู่ด้วย จนเกิดพระอัศวินทั้งคู่นี้มา (และบางทีจะเป็นด้วยเหตุนี้เอง กุมารทั้งสองจึ่งได้นามว่าอัศวิน คือมูลรากของนามมาจากอัศวะนั้นเอง)

พระอัศวินทั้ง ๒ นี้นับถือกันว่าเป็นแพทย์พิเศษ สามารถเยียวยารักษาคนตาบอดให้แลเห็น คนขาเขยกให้ขาตรง และพิการต่างๆ ให้กลับเป็นคนดีได้

รูปนั้นทราบได้แต่ว่าเป็นอย่างมนุษย์ และขี่ม้าแข็ง นัดปราชญ์เยอรมันชื่อโปรเฟสเส้อร์โคลด์สติคเกอร (goldstiicker) แสดงความเห็นไว้ว่า เดิมพระอัศวินนี้เป็นมนุษย์ จึ่งมีเรื่องราวกล่าวถึงว่าท่องเที่ยวอยู่ในมนุษย์โลกเพื่อรักษาคนไข้โดยมาก ต่อ ๆ มาจึ่งยกย่องกันขึ้นเป็นเทวดา

๒๔. พระวายุ (พายุ) คือเจ้าลม ตามคัมภีร์ไตรเพทไม่ปรากฏว่ามีกำเนิดอย่างไร แต่ตามหนังสือปุราณะกล่าวว่าเป็นโอรสพระกสปกับนางอทิติ เพราะฉะนั้นนับว่าเป็นอาทิตยะองค์ ๑ เหมือนกัน

นอกจากวายุ ยังมีนามเรียกอีกว่า “วาตะ” “ปวนะ” “มารุต” “สปรรศนะ” “คันธวาห”

ลักษณะตามไตรเพท ว่ามีรูปร่างงดงามยิ่งนัก ทรงรถเทียมม้าสีแดงฤๅม่วงแดง ม้านั้นโดยมากเทียมคู่เดียว แต่บางทีมีเทียมถึงเก้าสิบเก้า ร้อย ฤๅพันก็มี แล้วแต่กำลังลมอ่อนฤๅแรง ในรูปเขียนชั้นหลัง ๆ มีสีกายขาว ทรงมฤคเป็นพาหนะ หัตถ์ถือธงสีขาวบ้าง เขนงฤๅแตรสำหรับเป่าบ้าง

๒๕. พระยม ว่าเป็นโอรสพระสุริยะกับนางสรัณยา อีกนัยหนึ่งในฤคเวทว่าเป็นโอรสของคนธรรพ์ ในชั้นต้นตามคัมภีร์ไตรเพท มิได้นับถือว่าพระยมเป็นเจ้านรก เป็นแต่นับถือว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ถึงแก่ความตาย และเป็นผู้ที่ได้ดำเนินทางไปโลกที่อยู่แห่งคนตายก่อนผู้อื่น จึ่งเป็นผู้นำทางของผู้ตายทั่วไป ครั้นเมื่อตายไปถึงสถานแห่งพระยมแล้ว ก็ได้รับความสุข จึ่งนับถือว่าเป็นเจ้าแห่งผู้ตายทั้งหลาย แล้วจึ่งกลายเป็นนับว่าพระยมคือตัวมฤตยู (ความตาย) นั้นเอง แต่อย่างไร ๆ ก็ดี คงถือว่าการที่ไปถิ่นพระยมนั้นเป็นอันไปสู่สถานอันเปนสุข ครั้นมาในชั้นหลัง คือตามหนังสือปุราณะต่าง ๆ พระยมจึ่งมาเป็นตุลาการแห่งคนตายและเป็นเจ้านรก เช่นในปทมะปุราณะเป็นต้น กล่าวว่าพระยมเป็นตุลาการของผู้ตาย และเป็นเจ้าแห่งผู้ตกนรก บรรดาคนที่ตายไปแล้วต้องไปเฉพาะพักตร์พระยมเพื่อฟังข้อความที่พระจิตรคุปตะเทพบุตรได้จารึกไว้ในเรื่องกุศลและอกุศลกรรมของตน ๆ ผู้ที่ได้ทำบุญพระยมก็ส่งไปยังสวรรค์ ผู้ที่ได้ทำบาปก็ไล่ไปลงนรกเพื่อรับทัณฑกรรมต่อไป ตามวิษณุปุราณะมีกล่าวไว้ว่า บรรดาคนที่ตายต้องตกไปอยู่ในเงื้อมหัตถ์พระยมทั้งสิ้น และจะต้องทนทุกข์เวทนาต่าง ๆ เว้นเสียแต่ผู้ที่นับถือและบูชาพระวิษณุอยู่เป็นนิตย์เท่านั้น” และตามความนิยมของพวกพราหมณ์ว่า วิญญาณแห่งผู้ตายจะออกจากร่างไปถึงถิ่นพระยมได้ภายใน ๔ ชั่วโมง ๔๐ นาที เพราะฉะนั้นจะเผาศพก่อนที่คนตายไปแล้วเกินเวลาที่กำหนดนั้นไม่ได้” (วิลกินส์)

นามพระยมมีที่เรียกกันอยู่มาก ๆ ยังมีอยู่อีกดังต่อไปนี้
          (๑) “ธรรมราชา”
          (๒) “ปิตฤปติ”เป็นใหญ่ในหมู่บิดา (คือบรรพบรุษ)
          (๓) “สมวุรติ” ผู้ตัดสินเที่ยง
          (๔) “สะมะนะ” ผู้สงบ
          (๕) “กาละ” เวลา (ที่ใช้พูดกันอยู่ว่าพระกาลมาผลาญ)
          (๖) “ทัณฑะธร” ผู้ถือไม้ (สำหรับลงอาญา)
          (๗) “ศรัทธะเทวะ” เจ้าแห่งการทำศพ
          (๘) “ไววัสวตะ”เกิดแต่พระวิวัสวัต (พระอาทิตย์)
          (๙) “อันตะกะ” ผู้ทำให้ถึงที่สุด (แห่งชีพ)
          (๑๐) “มหิเษส” ผู้ทรงมหิงษ์

ตามรูปเขียน สีกายเขียว ภูษาแดง ทรงมงกุฎและมาลาประดับเกษา ถือคทา ทรงกระบือเป็นพาหนะ แต่ข้างไทยเราว่าทรงสิงห์เป็นพาหนะ

๒๖. พระวิศุกรรม ฤๅเรียกตามภาษาสังสกฤตว่า “วิศวกรรม” และ ต๎วัสตฤ” ก็เรียก นับว่าเป็นศิลปีเอกในหมู่เทวดา

ในรูปชาวมัชฌิมประเทศ เขียนพระวิศุกรรมมีสีกายขาว มี ๓ เนตร ทรงชฎาและอาภรณ์ทอง ถือคทา (ของไทยเราเป็นสีเขียวโพกผ้า)

๒๗. ท้าวกุเวร ฤๅท้าวเวศวัณ และพระไพรศพณ์ก็เรียก ท้าวกุเวรนี้เป็นพรหมพงศ์ ดังปรากฏอยู่ในเรื่องราวที่เล่ามา ที่มีเรื่องราวละเอียดอยู่ ๒ แห่ง คือ ในอุตตรกัณฑ์แห่งรามายณะแห่ง ๑ ในมหาภารตะแห่ง ๑ เรื่องราวคล้าย ๆ กัน ที่ผิดกันเป็นข้อใหญ่คือ ในรามายณะว่าท้าวกุเวรเป็นนัดดาของพระปุลัศต๎ยะ แต่ในมหาภารตะว่าเป็นโอรสพระปุลัศต๎ยะ ในที่นี้จะได้เล่าเรื่องตามข้อความที่มีมาในรามายณะ ดังนี้

ในสัตย์ยุคครั้ง ๑ พระปุลัศต๎ยะมุนีพรหมบุตรได้ถูกนางฟ้าและนางมนุษย์รบกวนให้เป็นที่รำคาญด้วยการร้องรำทำเพลงต่าง ๆ พระปุลัศต๎ยะจึ่งประกาศแช่งไว้ว่า ถ้าแม้หญิงใดได้มาให้แลเห็นอยู่ใกล้อาศรมของเธอแล้ว ให้หญิงนั้นต้องมีบุตร แต่นางธิดาของราชฤษีตริณะวินทุมิได้ทราบประกาศนี้ จึ่งได้เดินไปทางที่ห้าม ก็บังเกิดมีครรภ์ขึ้นตามคำแช่ง พระตริณะวินทุได้ทราบเหตุเช่นนั้น ก็ไปยังพระปุลัศต๎ยะยกธิดาให้ ต่อมานางจึ่งคลอดบุตร อันได้นามว่าวิศรวัส (ฤๅอีกนัยหนึ่งเรียกว่าเปาลัศต๎ยัน คือ เกิดแต่ปุลัศต๎ยะ) วิศรวัสได้เล่าเรียนวิทยาอาคมจนเป็นมุนีเช่นบิดา และได้นางธิดาแห่งพระภารทวาชมุนีเป็นชายา มีบุตรด้วยกัน นามว่ากุเวรฤๅไวศรวัณ (เวสวัณ คือเกิดแต่วิศรวัส) พระกุเวรได้บำเพ็ญตะบะอยู่หลายพันปี พระพรหมธาดาจึ่งทรงพระเมตตาประทานพรให้เป็นเทวดาเจ้าแห่งทรัพย์ทั้งหลาย และให้เป็นโลกบาลผู้ ๑ ด้วย กับทั้งประทานบุษบกสำคัญอัน ๑ ซึ่งจะใช้ขี่ลอยไปได้ทุกแห่ง พระวิศรวัสจึ่งแนะให้พระกุเวรไปอยู่ ณ เมืองลงกา ซึ่งพระวิศุกรรมได้สร้างขึ้นให้พวกรากษส แต่ซึ่งพวกรากษสได้ทิ้งเสียเพราะความเกรงพระนารายน์ ขณะนั้นมีพญารากษสตน ๑ ซึ่งมีนามว่าสุมาลี อันได้ถูกขับลงไปอยู่ ณ บาดาลนั้น ได้ขึ้นมาเยี่ยมแผ่นดิน ได้เห็นท้าวกุเวรขี่บุษบกไปเยี่ยมพระบิดา สุมาลีมีความริษยาและอยากจะใคร่ให้พวกรากษสได้กลับไปอยู่ ณ กรุงลงกาตามเดิม จึ่งใช้ให้นางไกกาสีผู้เป็นธิดาขึ้นไปยั่วยวนพระวิศรวัสมุนี ๆ ก็เป็นที่พอใจจึ่งรับนางไว้เป็นชายา มีโอรสธิดาด้วยนางคือ ราพน์ ๑ กุมกรรณ ๑ สูรปนขา ๑ วิภีษณะ (พิเภก) ๑ อยู่มานางไกกาสีมีความริษยาท้าวกุเวร จึ่งยุยงราพน์ให้แข่งพี่บ้าง ราพน์กับอนุชาทั้ง ๓ จึ่งพากันไปศึกษาในสำนักพระโคกรณมุนี (ที่เราเรียกว่าพระโคบุตร) ได้เข้าฌานและบำเพ็ญทุกรกิริยาต่าง ๆ อยู่พันปี จนพระพรหมธาดาทรงพระเมตตาประทานพรหลายประการ (ซึ่งกล่าวไว้ในตอนว่าด้วยทศกรรฐ์ต่างหาก) แล้วราพน์จึ่งชิงเอาลงกาและบุษบกจากท้าวกุเวร

ตามข้อความที่ได้มาเช่นนี้ จึ่งปรากฏว่าท้าว “กุเปรัน” ในเรื่องรามเกียรติ์ของไทยเรา คือท้าวกุเวรนี้เอง

ข้อที่ว่ากุเวรเป็นโลกบาลนั้น ปรากฏตามรามายณะว่า โลกบาลมี ๔ องค์ คือพระอินทร์อยู่ทิศบูรพา พระยมอยู่ทิศทักษิณ พระวรุณอยู่ทิศปรัศจิม พระกุเวรอยู่ทิศอุดร แต่บางแห่งว่าโลกบาลมี ๘ องค์ นอกที่รักษาทิศใหญ่อันกล่าวแล้ว มีที่รักษาทิศเฉียงคือ พระอัคนีทิศตะวันออกเฉียงใต้ พระสุรยะทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระโสมตะวันออกเฉียงเหนือ พระวายุตะวันตกเฉียงเหนือ

ท้าวกุเวรนั้นเป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ทั้งหลาย เมืองนั้นตามมหาภารตะว่าชื่อคันธมรรทนะ มีอุทยานอันเป็นที่สำราญและงดงามยิ่งนัก และมีกล่าวถึงในรามายณะบ่อย ๆ พระภารทวาชมุนีเมื่อรับพระราม นางสีดา และพระลักษมณ์ ก็ได้กล่าวว่า “ขอสวนแห่งท้าวกุเวร อันอยู่ห่างไกลเหนือกุรุรัฐนั้น จงมาบังเกิดมีขึ้น ณ ที่นี้ ขอผ้าและอาภรณ์อย่างดีจงเกิดมีมาแทนใบไม้ และนารีแทนผล” ซึ่งปรากฏว่าในสวนนั้นมีต้นนารีผล

นอกจากถูกแย่งเมืองลงกาและบุษบก ท้าวกุเวรมิหนำซ้ำต้องไปรับใช้ท้าวราพน์อยู่คราว ๑ ในตำแหน่งขุนคลัง แต่ไม่ใช่ต้องไปรับใช้ผู้เดียว เทวดาอื่นก็ต้องไปรับใช้อยู่ด้วย เช่นพระอินทร์ต้องไปรับใช้เป็นผู้ร้อยกรองพวงมาลัย พระเพลิงต้องไปเป็นพ่อครัว พระอาทิตย์ต้องไปให้แสงสว่างในกลางวัน และพระจันทร์ในกลางคืนเป็นต้น

รูปท้าวกุเวร ชาวมัชฌิมประเทศจะได้เคยเขียนฤๅปั้นไว้อย่างไร ยังค้นไม่พบ แต่ในชั้นหลัง ๆ นี้ ไม่มีใครเขียนฤๅปั้นเสียอีกแล้ว แต่ตามข้อความปรากฏอยู่ว่าเดิมเป็นมนุษย์ แล้วพระพรหมยกขึ้นเป็นเทวดามียักษ์เป็นบริวาร ช่างไทยจึ่งมักเขียนท้าวกุเวรเป็นยักษ์

๒๘. พระสมุทร เป็นเจ้าแห่งทะเลทั้งหลาย แต่หาเรื่องราวที่กล่าวถึงกำเนิดไม่ได้ มีแต่เรื่องเล่าในรามายณะ ถึงเรื่องแม่น้ำคงคาเกิดมาในมนุษยโลกอย่างไร และว่าหลุมที่โอรสพระสัคราชได้ขุดนั้น คือห้วงทะเล (ดูในเรื่องแม่พระคงคา)

ในเรื่องรามายณะลังกากัณฑ์ ตอนจองถนน มีบอกลักษณะและอาภรณ์ของพระสมุทรว่าสีกายน้ำเงินแก่แกมทอง ทรงสังวาลประดับด้วยแก้ววิเศษต่าง ๆ ทรงมงกุฎประดับไข่มุกและแก้วทะเลหลายประการ มีมาลัยดอกไม้สวรรค์อันไม่รู้จักเหี่ยวแห้ง

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 เมษายน 2565 14:40:29 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5392


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 24 เมษายน 2565 14:45:32 »

เทวดา (ต่อ)

๒๙. แม่พระคงคา ได้ความตามพาลกัณฑ์แห่งหนังสือรามายณะว่า พระหิมาลัยมีมเหสีชื่อนางเมนา บุตรีแห่งพระเมรุ ทั้ง ๒ นี้มีบุตรี ๒ องค์ คือพระคงคา ๑ พระอุมา ๑ เทพยดาทั้งหลายได้ขอพระคงคาไปไว้เพื่อล้างบาป ลำน้ำคงคาจึ่งมีอยู่ในเทวโลก ต่อมามีพระมหากษัตริย์องค์ ๑ ทรงพระนามว่าสัครฤๅสาคร (ดูเรื่องพระสัครราชด้วย) ท้าวสัครราชนี้ไม่มีโอรสจึ่งกระทำการสักการะด้วยการทรมานพระองค์ต่าง ๆ ต่อหน้าพระภฤคุมุนีช้านานจนพระภฤคุมีความเมตตาจึ่งให้พรให้มีโอรส คือมเหสีองค์ ๑ ให้มีกุมารแต่องค์เดียว แต่อีกองค์ ๑ ให้มีกุมาร ๖ หมื่นองค์ การก็เป็นไปตามพระภฤคุได้ประสาทพรไว้ โอรสที่เกิดมาแต่นางเกศินีมเหสีขวานั้น มีมาเฉพาะองค์เดียว นามว่าอังศุมาน นางสุมดีมเหสีซ้ายมีโอรสหกหมื่น แล้วท้าวสัครราชจะกระทำพิธีอัศวเมธ แต่พระอินทร์ลงมาลักม้าตัวนั้นไปเสียก่อน ท้าวสัครราชจึ่งตรัสใช้ให้พระโอรสหกหมื่นองค์ไปเที่ยวตามหาม้า พระกุมารได้ขุดแผ่นดินลงไปองค์ละโยชน์จนถึงกลางพิภพ ก็หาได้พบม้านั้นไม่ ฝ่ายพวกเทวดามีความตกใจจึ่งไปทูลวิงวอนพระพรหมาให้ช่วย พระพรหมาตรัสว่า พระนารายน์จะทรงแปลงเป็นกะปิลลงไปแก้ไขเหตุร้อนของเทวดา พระนารายน์เป็นกะปิลลงไปยืนขวางทางพวกกุมารทั้งหกหมื่น ครั้นกุมารจะจับว่าเป็นผู้ร้ายลักม้า พระกะปิลก็บันดาลให้บังเกิดไฟไปผลาญกุมารเป็นเถ้าไป ไม่มีสิ่งไรจะทำให้กุมารเหล่านี้จะพ้นทุกข์ได้นอกจากที่กระแสแม่พระคงคาจะมาล้างให้หมดมลทิน ท้าวสัครราชก็ดี และต่อมาพระอังศุมานก็ดี จะพยายามปานใดก็ไม่สามารถจะให้พระคงคาไหลลงมาจากเทวโลกได้ พระทิลิปะราชโอรสพระอังศุมานก็ได้พยายามอีก แต่ก็ไม่สำเร็จอีก จนถึงคราวพระภาคิรัถโอรสพระทิลิปะจึ่งสำเร็จตามประสงค์ พระภาคิรัถไม่มีโอรส จึ่งบำเพ็ญการทรมานองค์ต่าง ๆ จนพระพรหมาทรงพระเมตตา ตรัสว่าจะขอพรอันใดจะประสาทให้ พระภาคีรัถจึ่งทูลขอให้พระคงคาลงมาล้างสาครกุมารทั้งหกหมื่นให้หมดมลทิน จะได้ขึ้นไปสวรรค์ได้ กับขอโอรสองค์ ๑ พระพรหมาก็ประสาทพระพรให้ และตรัสสำแดงอุบายให้ว่า ให้พระภาคิรัถไปทูลวิงวอนพระอิศวรให้ช่วยเหนี่ยวรั้งแม่พระคงคาไว้บ้าง เพราะถ้ามิฉะนั้นน้ำจะท่วมโลกมนุษย์หมด พระภาคิรัถก็ตั้งกระทำกิจบูชาพระอิศวรจนสมประสงค์ ฝ่ายพระคงคามีความพิโรธว่ามนุษย์บังอาจมาขอลงไป จึ่งกล่าวว่าจะไหลลงไปให้ท่วมโลก พระอิศวรเข้ารับกระแสพระคงคาและรวบไว้ด้วยพระเกษา จนแม่พระคงคาค่อยคลายพิโรธแล้ว กระแสคงคาจึ่งตกลงในสระวินทุ อันเป็นที่เกิดแห่งสัปตะมหานที น้ำคงคาสายหนึ่งได้หลั่งไหลตามพระภาคิรัถไป จนถึงมหาสมุทรและดำเนินลงไปในหลุมที่สาครกุมารทังหกหมื่นได้ขุดไว้นั้น พอน้ำพระคงคาตกต้องกองเถ้าล้างมลทิน สาครกุมารทั้งหกหมื่นก็พ้นทุกข์กลายเป็นเทพบุตรเหาะไปสู่เทวโลก และแม่พระคงคาก็ยังคงหลั่งไหลอยู่ในมนุษย์โลกภาค ๑ จนตราบเท่าทุกวันนี้ เพราะเหตุฉะนี้ชาวมัชฌิมประเทศจึ่งนิยมกันว่า แม้ผู้ใดได้ลงแช่ในกระแสพระคงคาจะหมดมลทินสิ้นบาปได้

รูปพระคงคาเขียนสีกายสีน้ำไหล สี่กร กรขวาทั้ง ๒ ถือก้อนศิลา กรซ้ายถือใบไม้กร ๑ ถือหม้อน้ากร ๑ ทรงมัจฉาเป็นพาหนะ

หมายเหตุ - นอกจากแม่พระคงคา ยังมีลำน้ำอีกหลาย ซึ่งกล่าวถึงในเรื่องรามายณะ แต่กล่าวถึงเป็นลำน้ำแท้ ๆ มากกว่าเป็นตัวเป็นตน จึ่งมิได้นำมารวมไว้ในแผนกเทวดานี้)

๓๐. พระหิมาลัย ฤๅหิมพานและหิมวัตก็เรียก ไม่มีเรื่องราวปรากฏในรามายณะว่ากำเนิดมาอย่างไร มีแต่กล่าวว่าเป็นบิดาพระคงคากับพระอุมา และว่าเป็นราชาแห่งภูเขาทั้งหลายในมนุษยโลก มีมเหสีชื่อนางเมนา รูปพระหิมาลัยเป็นอย่างไรก็ไม่ปรากฏชัด ช่างไทยใช้เขียนสีกายเป็นสีบัวโรย.

--------------------------------------
ในพระราชนิพนธ์ นารายน์สิบปาง ใช้ว่า มัตสยาวตาร
ในพระราชนิพนธ์ นารายน์สิบปาง ใช้ว่า กลียุค
หน้า ๕๙
๔. หน้า ๖๗


ฤษี

​๑. วาลมีกิ (เรียกในรามเกียรติ์ว่าวัชมฤคี) เป็นลูกพระวรุณผู้เป็นใหญ่ในน้ำทั้งหลาย พระวาลมีกินี้เกิดในตระกูลพราหมณ์ก็จริง แต่ในชั้นต้นพอใจสมาคมกับพวกชาวป่าและโจร ครังหนึ่งได้ยกเข้าปล้นสะดมพระฤษีทั้ง ๗ ตน ท่านฤษีทั้ง ๗ ตนได้ว่ากล่าวชี้แจงให้แลเห็นบาป แล้วได้สอนมนต์ให้เล่าบ่น มนต์นี้มีคำเดียวว่า “มรา” คือนามของพระรามหวนดังนี้ พระวาลมีกิได้น่งบ่นมนต์นี้อยู่หลายพันปี และครั้นเมื่อพระมุนีทั้ง ๗ กลับมายังที่นั้น ก็ได้พบอยู่ที่เดิม แต่ตนกลายเป็น “วัลมีกะ” คือจอมปลวก จึ่งได้นามต่อมาว่า “วาลมีกิ” ดังนี้

พระวาลมีกินี้ สมมติว่าเป็นผู้รจนาเรื่องรามายณะ ฤๅรามเกียรติ์ เหตุที่จะแต่งขึ้นนั้น ได้มีกล่าวไว้โดยละเอียดในพาลกัณฑ์ คือกัณฑ์ที่ ๑ แห่งรามายณะ กล่าวโดยย่อคือ เมื่อเสร็จสงครามในลงกาแล้วได้ ๑๖ ปี พระรามครองสิริราไชยสวรรย์ในกรงศรีอยุธยาอยู่แล้ว พระวาลมีกิได้พบพระนารท ได้ตั้งปัญหาถามพระนารทว่า ในโลกนี้ใครจะเป็นผู้ที่น่านิยม และสรรเสริญบารมียิ่งกว่าชนทั้งปวง พระนารทตอบว่าพระรามเป็นผู้ที่สมควรจะนิยมและสรรเสริญเช่นนั้น และเล่าเรื่องของพระรามโดยย่อจนตลอด พระวาลมีกิได้ฟังแล้วก็เป็นที่จับใจ ครั้นพระนารทกลับไปสวรรค์แล้ว พระวาลมีกิจึ่งลงไปสรงน้ำกับพระภารทวาช ณ ลำน้ำตะสา ในเมื่อไปลงสรงอยู่นั้น ได้เห็นนกนางนวลคู๋ ๑ เล่นอยู่ริมฝั่ง ขณะนั้นมีนายพรานผู้ ๑ ได้ยิงนกนางนวลผู้ตายตกลงริมที่พระฤษีสรง นกเมียก็แสดงอาการกิริยาเศร้าโศกต่าง ๆ พระมุนีมีความสลดจิตยิ่งนัก จึ่งได้รำพันเป็นถ้อยคำ​แช่งด่านายพราน ถ้อยคำที่ได้รำพันนั้นก็เป็นวรรคตอนครลหุไพเราะเป็นที่น่าพิศวง พระวาลมีกิจึ่งได้ตั้งนามลักษณ์พจนประพันธ์เช่นนี้ว่า “โศลก” เพราะเหตุที่บังเกิดขึ้นแต่แต่ความโศก ครั้นเมื่อกลับไปยังกุฎีแล้ว พระพรหมธาดาได้เสด็จลงมาเฉพาะหน้าพระวาลมีกิ พระมุนีก็ลุกขึ้นรีบไปกระทำสักการบูชาตามควร แต่ในใจยังคงนึกถึงถ้อยคำที่รำพันถึงนายพรานนั้น ท่าวจตุรพักตรจึ่งตรัสสั่งพระวาลมีกิให้รจนา เรื่องรามายณะประพันธ์เป็นโศลกคาถา เพื่อเรื่องนี้จะได้ยั่งยืนอยู่ชัวกัลปาวสาน พระวาลมีกิรับเทวโองการแล้วเข้าฌาน จึ่งเล็งเห็นเหตุการณ์ทั้งปวงแต่ต้นจนปลาย และประพันธ์ไว้เป็นโศลกคาถาตลอดเรื่อง ครั้นจบลงแล้ว จึ่งได้สอนให้พระกุศกับพระลพราชโอรสแฝดแห่งพระราม ซึ่งได้มาสำนักอยู่ด้วย ณ ที่นั้น ให้เล่าบ่นจนจำได้ตลอดทั้งเรื่องรามายณะ ผู้ที่ได้ฟังก็มีความปีติยิ่งนัก จนความเลื่องลือไปถึงพระกรรณพระราม จึ่งตรัสให้หาเข้าไปให้พระกุศและพระลพเล่าเรื่องรามายณะนี้ ในขณะเมื่อพระองค์กำลังทรงกระทำพิธีอัศวเมธแล้ว เรื่องรามายณะจึ่งมีผู้กำหนดจดจำไว้ได้มั่นคงต่อมาจนกาลบัดนี้

ส่วนนามที่กลายจากวาลมีกิเป็นวัชมฤคีไปนั้น คงจะเป็นด้วยฟังไม่ถนัด จึ่งเขียนเดา ๆ ไปเช่นนั้นเอง

๒. นารท เป็นเทพฤษี โอรสพระพรหมธาดา เป็นเทวทูตและชำนาญในการดุริยางค์ เป็นผู้เริ่มคิดทำพิณขึ้น ในหนังสือว่าเป็นตริกาลัชณะ คือผู้รอบรู้ในกาลทั้ง ๓ กล่าวคืออดีต ปัจจุบัน และอนาคต อีกนัยหนึ่งเรียกว่าตริโลกัชณะ คือผู้รู้จักโลกทั้ง ๓ สามารถสอดส่องเห็นทั่วไปด้วยอำนาจตะบะ ตามความนิยมมีอยู่ว่า พระนารทนี้เป็นผู้ที่ได้เล่าเรื่องรามายณะให้แก่พระวาลมีกิก่อน แล้วพระวาลมีกิจึ่งได้รจนาเรื่องขึ้นตามเทวโองการของพระพรหม

​๓. วสิษฐ์ เป็นพรหมฤษี ปุโรหิตประจำพระองค์ท้าวทศรฐ่ในรามายณะ เรียกว่าโอรสพระพรหม โปรเฟสเส้อรมักซมุลเลอรกล่าวว่าเป็นหัวหน้าพวกชีผ้าขาว (คือแต่งขาวล้วน) ก่อนที่ได้มาเป็นปุโรหิตท้าวทศรฐได้เป็นปุโรหิตของพระราชาธิบดีในโบราณกาลมาแล้วหลายองค์ และได้เคยวิวาทกับพระวิศวามิตร์ เพราะแย่งที่ปุโรหิตกันครั้ง ๑ แต่ไม่เกี่ยวแก่เรื่องรามายณะ พระวสิษฐ์มีชายานามว่าอรุนธตี

๔. สนัตกุมาร พรหมฤษี เป็นผู้ทำนายเรื่องพระนารายน์จะมาอวตารในสุริยวงศ์กรุงอยุธยา

๕. กสป ฤๅเขียนตามสังสกฤตว่า “กศ๎ยป” เป็นนัดดาแห่งพระพรหมาธิราช ได้มีบุตรเป็นเทวดาหลายองค์ (ดูในเรื่องเทวดาต่าง ๆ และเป็นบิดาพญาครุฑกับอรุณ (ดูเรื่องพญาครุฑ) มีพรหมฤษีเป็นเผ่าพงศ์สืบมาอีกมาก

๖. วิภาณฑก พรหมฤษี วงศ์พระกสป มีชื่อเสียงในรามายณะ เพราะเป็นบิดาพระฤษยศฤงค์

๗. ฤษ์ยศฤงค์ (เขียนตามบาลีว่า “อิสีสิงค์”- ยอดฤษี) พรหมฤษี โอรสพระวิภาณฑกมุนี ตามพาลกัณฑ์แห่งรามายณะ สุมันตร์เป็นผู้เล่าเรื่องพระฤษยศฤงค์ ถวายท้าวทศรฐก่อน คือเรื่องฝนแล้งในเมืองอังครัฐ และท้าวโลมบาทได้ตรัสใช้ให้นางระบำไปล่อลวงพระฤษยศฤงค์ซึ่งไม่เคยพบสตรี จนได้พระฤษยศฤงค์เข้าไปนคร และท้าวโลมบาทยกพระธิดาให้พระฤษยศฤงค์ ฝนจึ่งตกตามประสงค์ เรื่องตอนนี้ตรงกับเรื่องพระกไลยโกฎ ในพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์เล่ม ๖ สมุดไทย แต่ของไทยเรา​เล่าเป็นเรื่องราวของพระกไลยโกฏโอรสพระอิสีสิงค์ ในรามายณะเล่าเป็นเรื่องตัวพระอิสีสิงค์เอง พระฤษยศฤงค์นี้ท้าวทศรฐได้นิมนต์เข้าไปช่วยทำพิธีอัศวเมธขอให้มีราชโอรส (ซึ่งเราเรียกว่าพิธีกวนข้าวทิพย์)

อนึ่ง ฤษีกไลยโกฎ ไทยเราว่าหน้าเป็นเนื้อ จึ่งทำรูปเป็นเช่นนั้น แต่ในรามายณะกล่าวแต่ว่าพระฤษยศฤงค์เกิดในป่าและเติบโตขึ้นในหมู่เนื้อ มิได้เห็นรูปมนุษย์ใดนอกจากพระวิภาณฑกมุนีผู้บิดา เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้ถูกเห็นว่าน่าจะให้ครองหนังเนื้อ ซึ่งตรงกับแผนของฤษีที่อยู่ป่า และมีศีร์ษะเนื้อครอบแทนชฎา

๘. สุยัชนา

๙. วามเทพ

๑๐. ชาวาลี สามตนนี้เป็นฤษีอยู่ในแดนศรีอยุธยา ท้าวทศรฐได้นิมนต์ไปเข้าพิธีอัศวเมธพร้อมด้วยพระฤษยศฤงค์และ พระวสิษฐ์ พระชาวาลีนั้นเป็นวงศ์พระกสป อีก ๒ ตนไม่ปรากฏเผ่าพงศ์

ในรามเกียรตี์ของเรา ฤษี ๕ ตนที่เข้าพิธีกวนข้าวทิพย์นั้น คือพระกไลยโกฎ ๑ พระวสิษฐ์ ๑ พระสวามิตร์ ๑ พระวัชอัคคี ๑ พระภารทวาช ๒ (รามเกียรติ์เล่ม ๖ สมุดไทย) ไม่ตรงกับในหนังสือรามายณะ จะผิดไปด้วยเหตุใดก็เหลือคะเน



พระเป็นเจ้าของพราหมณ์
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
จบเพียงเท่านี้


ขอขอบคุณที่มา : ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 เมษายน 2565 14:49:34 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
“มนต์ปราบเสนียด” พระราชนิพนธ์ใน ร.4 ที่เจ้านายหลายพระองค์สนใจใช้ไล่สิ่งอัปมงคล
บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
ใบบุญ 0 211 กระทู้ล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2566 19:11:45
โดย ใบบุญ
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.304 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 26 มีนาคม 2567 15:23:56