[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
19 เมษายน 2567 08:58:30 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การระวัง โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี  (อ่าน 644 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 06 มิถุนายน 2565 19:23:29 »



การระวัง
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี


       ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้วพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอโอกาสพระเถรานุเถระ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่เพื่อนสหธรรมิกตลอดถึงญาติโยมผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน

          วันนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดีอีกวันหนึ่ง ที่กระผมได้มีโอกาสมาบรรยายธรรมประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรม ของคณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลาย

          ก่อนอื่นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้นั่งสมาธิฟัง เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติของเราให้ดี ฟังไปด้วยแล้วก็ประพฤติปฏิบัติธรรมไปด้วย วันนี้อาตมภาพก็จะน้อมนำเอาธรรมะในเรื่อง การระวัง มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านตามสมควรแก่โอกาสและเวลา

          การประพฤติปฏิบัติธรรมของคณะครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมมา นี้ก็ถือว่าเป็นราตรีที่ ๕ แล้ว ประพฤติมานัตมา ๒ ราตรี การประพฤติปฏิบัติธรรมผ่านไปแล้ว ๕ วัน การเดินจงกรม การนั่งภาวนา การสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ การสำรวมอินทรีย์ การฝึกศีล ฝึกสมาธิ ฝึกปัญญาก็ถือว่าผ่านมาเป็นเวลา ๕ วันแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างคงจะเข้ารูปเข้ารอย สภาวะธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็คงจะดำเนินไปตามวาสนาบุญบารมี

          เพราะฉะนั้นการที่คณะครูบาอาจารย์ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น จำเป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือการระวัง การระวังก็คือการสำรวม ความสำรวมก็คือการตั้งใจ เราพยายามตั้งใจทางกาย ตั้งใจทางวาจา ตั้งใจทางใจของเรา ไม่ให้ผิดพลั้ง ไม่ให้พลาด ไม่ให้ประมาทในศีล ในสมาธิ ในปัญญา เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราขาดการระวังเสียแล้วการประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็อาจจะไม่ได้ผล หรือว่าได้ผลก็ได้ผลน้อย ไม่คุ้มค่า ไม่สมควรแก่สมาธิ สมาบัติ ไม่สมควรแก่การบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นการที่สำรวมนั้นก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

          ญาติโยมทั้งหลาย คณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม ล้วนแล้วอยากจะได้รับความสุขพ้นไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง มีความทุกข์เป็นแดนเกิด มีความทุกข์เป็นที่ตั้งอยู่ ทุกคนมีทุกข์กาย ทุกข์วาจา มีทุกข์ใจด้วยกันทั้งนั้น เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจึงมาประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมที่จะได้ผลนั้นต้องมีการระวัง ดังที่ท่านกล่าวไว้เป็นคำกลอนว่าเป็นการระวัง ๔ ประการ

         อยู่คนเดียวให้ระวังยั้งความคิด       อยู่กับมิตรให้ระวังยั้งคำขาน

         อยู่ร่วมราษฎร์เคารพตั้งระวังการณ์   อยู่ร่วมพาลให้ระวังทุกอย่างเอย.

          อันนี้เป็นคำกลอนว่า อยู่คนเดียวให้ระวังยั้งความคิด คือ ขณะที่เรามาปฏิบัติธรรม เราอยู่ด้วยกันหลายคนหลายรูป ญาติโยมก็หลายท่าน คณะครูบาอาจารย์ก็หลายรูป แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เหมือนเรายืนอยู่คนเดียว เหมือนเราเดินอยู่คนเดียว เหมือนเรานั่งอยู่คนเดียว เพราะอะไร เพราะว่าเราเป็นผู้มีกายวิเวก เป็นผู้มีจิตวิเวก เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับว่าเราอยู่คนเดียว

          เวลาเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เราไม่ได้ส่งจิตส่งใจไปที่อื่น เรามีจิตใจอยู่กับอัตภาพร่างกายอันยาววาหนาคืบกว้างศอก ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผม จากปลายผมถึงพื้นเท้า เรามีจิตใจ มีสติพิจารณาอยู่ที่ร่างกายของเรา ไม่ส่งจิตไปหาบุคคลอื่น ไม่ส่งใจไปหาวัตถุอื่น เรียกว่าไม่ส่งจิตออกไปภายนอก ก็เปรียบเสมือนกับว่าเรานั้นอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้นเราอยู่คนเดียวด้วยกรรมฐานภาวนา เราก็ควรที่จะระวังจิตระวังใจ

          แต่ก่อนโน้นเราไม่มาประพฤติปฏิบัติธรรม เวลาเราไปทำการทำงานไปทำไร่ไถนาทำสวนเป็นพ่อค้าต่างๆ เราก็ปล่อยจิตให้คิดไปตามอารมณ์ตามที่จิตมันพาไป บุคคลมีความโลภก็คิดไปอีกแบบหนึ่ง บุคคลมีความหลงก็คิดไปอีกแบบหนึ่ง บุคคลผู้มีราคะมากก็คิดอีกแบบหนึ่ง บุคคลผู้มีมานะทิฏฐิตัณหาอุปาทานต่างๆ ก็คิดไปอีกแบบหนึ่ง ปล่อยจิตปล่อยใจไปตามธรรมชาติ อันนี้เรียกว่าบุคคลไม่มีกรรมฐาน

          แต่เมื่อเรามาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมแล้วท่านให้เรานั้นมีสติระวังจิต เรียกว่ามีสติคอยคุ้มครองจิต จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ จิตที่ฝึกดีแล้วนำสุขมาให้ จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ จิตที่บุคคลคุ้มครองดีแล้วนำสุขมาให้

          เพราะฉะนั้นที่เรามาเจริญวิปัสสนากรรมฐานเราก็ต้องคุ้มครองจิต ขณะที่เรานั่งภาวนา “พองหนอ” “ยุบหนอ” หรือว่าเดินจงกรม “ขวาย่างหนอ” “ซ้ายย่างหนอ” ก็เกิดความโกรธขึ้นมา เราก็รู้ว่าจิตของเรานั้นมีความโกรธ เราก็ต้องกำหนดลงไปที่จิตใจของเราว่า “โกรธหนอๆ” นี้เรียกว่าเราก็พิจารณาดูความโกรธ ว่าขณะที่เรามีสติพิจารณาดูความโกรธ มีสติกำหนดว่า “โกรธหนอๆ” จี้ลงไปที่หัวใจของเราความโกรธนั้นมันหายไปไหม หรือว่าความโกรธมันตั้งอยู่อย่างไรแล้วมันจึงดับไป อันนี้เรียกว่าเป็นจิตวิปัสสนา คือ การเจริญภาวนาทางจิต

          หรือว่าขณะที่เราเกิดความโลภขึ้นมา เราก็กำหนดลงไปที่จิตใจของเราว่า “โลภหนอๆ” หรือ “อยากได้หนอๆ” เป็นต้น เราก็พิจารณาดูความโลภที่มันเกิดขึ้นมาในใจของเรา ว่าขณะที่ความโลภเกิดขึ้นมาในใจของเราแล้วจิตใจของเรากระสับกระส่ายอย่างไร จิตใจของเราร้อนรุ่มอย่างไร จิตใจของเรากระวนกระวายอย่างไร อาการเหล่านั้นมันตั้งอยู่อย่างไร แล้วมันดับไปอย่างไร เรากำหนดกี่ครั้งมันจึงดับไป เป็นการกำหนดจิตตานุปัสสนาเหมือนกัน

          หรือว่าขณะที่จิตใจของเราเกิดราคะครอบงำโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม เวลาเรานั่งไปๆ จิตใจของบุคคลผู้เป็นเจ้าราคะมันก็จะพยายามชักจิตชักใจของเรานั้นแหละไปสู่อารมณ์ที่จะให้เกิดราคะความกำหนัดได้ มันก็จะพาให้เรานึกถึงอารมณ์ที่ล่วงมาแล้ว ที่ทำให้เกิดความกำหนัด ก็ทำให้เราเห็นอารมณ์ที่จะก่อให้เกิดความกำหนัด ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราเหม่อลอยไปตามอำนาจของราคะ ไม่ตั้งอยู่ในปัจจุบันธรรม วิปัสสนาญาณก็ไม่เกิด สมาธิก็ไม่เกิด การบรรลุมรรคผลนิพพานก็เป็นไปไม่ได้ ปฏิบัติทั้งวันก็มีบาปทั้งวัน อันนี้เพราะอะไร เพราะจิตใจของเราเหม่อลอยไปตามอำนาจของราคะ

          เพราะฉะนั้นเราจึงกำหนดลงไปที่จิตใจของเรา กำหนดว่า “ราคะหนอๆ” จี้ลงไปที่จิตใจของเราให้เราพิจารณาดูว่าราคะที่กำเนิด ที่เกิดขึ้นในใจของเรานั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีความทุกข์อย่างไร มีความร้อนรุ่มอย่างไร มีความกระวนกระวาย มีความเดือดร้อนอย่างไร ไฟของราคะกับไฟของโทสะนั้นเหมือนกันไหม เวลาจิตใจของเราถูกโทสะครอบงำความที่ใจของเรามันร้อน มันร้อนอย่างไร เวลาราคะมันครอบงำใจของเรามันร้อนอย่างไร

          ร่างกายของเราร้อนเหมือนกัน แต่ว่าไม่เหมือนกัน คล้ายๆ ว่าโทสะนั้นเหมือนกับเราจับก้อนถ่านไฟมันร้อน เราก็ทิ้งมันไป ราคะก็เหมือนกับเราจับก้อนน้ำแข็งที่มันเย็น แต่มันก็ก่อให้เกิดความทุกข์ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากราคะก็ดี ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากโทสะของเราก็ดี ให้ทุกข์แก่จิตแก่ใจของเราอย่างไร ให้เราพิจารณากำหนดว่า “ราคะหนอๆ”

          เมื่อเรากำหนดไปๆ ราคะมันตั้งอยู่อย่างไรแล้วมันตัดไปอย่างไร เราคิดอย่างไรราคะจึงเกิดขึ้น เรากำหนดอย่างไรราคะจึงดับไป นี้เรากำหนด “คิดหนอๆ” เราเห็นราคะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เรียกว่าอาศัยราคะละราคะ อาศัยโทสะละโทสะ อาศัยมานะละมานะ อาศัยทิฏฐิละทิฏฐิ นี้ก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้

          เพราะฉะนั้นเวลาเราเกิดกิเลสครอบงำ กิเลสนั้นก็ถือว่าเป็นกรรมฐานเพราะฉะนั้นคณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขออย่าได้ย่อท้อ อย่าได้ลำบาก อย่าได้กังวล ก็ขออย่าทิ้งกรรมฐาน

          หรือว่าในขณะที่จิตใจของเรามีมานะทิฏฐิก็ดี มีความง่วงเหงาหาวนอนก็ดี เราก็ต้องกำหนด “ง่วงหนอๆ” หรือว่าจิตใจของเราเกิดอาการฟุ้งซ่าน รำคาญเพื่อน ครูบาอาจารย์ รำคาญกรรมฐานที่จะต้องกำหนดอยู่ตลอดเวลา เราก็ต้องกำหนดที่ใจของเราว่า “รำคาญหนอๆ” กำหนดลงไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้มันก็จะลดลงไปหมดลงไปแล้วก็หายไปเอง

          หรือว่าจิตใจของเราเกิดความสงสัย สงสัยในพระพุทธ สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป สงสัยในเรื่องนรก สวรรค์ สงสัยการประพฤติปฏิบัติธรรมว่า เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วสมาธิมีจริงไหม วิปัสสนาญาณมีจริงไหม บุคคลประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทา อนาคา เป็นพระอรหันต์จริงไหม เกิดความสงสัยขึ้นมา อันนี้เราต้องกำหนดที่ปัจจุบันธรรม กำหนดที่ใจของเรา “สงสัยหนอๆ” จี้ลงไปที่ใจของเรา “สงสัยหนอๆ” ความสงสัยมันก็จะหายไป เพราะอะไร เพราะว่าที่สุดแห่งความสงสัยนั้นอยู่ที่ ปัจจุบันธรรม ไม่ใช่ว่าอยู่ที่ตำรับตำรา ไม่ใช่เป็นการสงสัยภายนอก ไม่ใช่สงสัยในเรื่องโลก แต่เป็นสงสัยในเรื่องธรรม

          สงสัยในเรื่องธรรมนั้นเราควรที่จะกระทำให้กระจ่างแจ้งด้วยการทำให้แจ้งที่จิตใจของเรา อย่างที่เราสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องโลกนี้โลกหน้าหรือว่าเรื่องสมาธิ สมาบัติ มรรคผลนิพพาน เราก็ต้องรู้แจ้งที่ใจของเราถ้าใจของเราได้สมาธิสมาบัติ เราก็หมดความสงสัย ถ้าใจของเราได้บรรลุมรรคผลนิพพานนับตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไป เราก็หมดความสงสัยในเรื่องการประพฤติปฏิบัติธรรม

          เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดความสงสัยขึ้นมาเราต้องกำหนดที่ใจของเรา “สงสัยหนอๆ” หรือว่าถ้าจิตใจของเรามีสมาธิเราก็ต้องกำหนดรู้ว่าขณะนี้ใจของเรามีสมาธิ สมาธินั้นเป็นขณิกสมาธิ หรือเป็นอุปจารสมาธิ หรือเป็นอัปนาสมาธิ ขณะนี้เรามีความรู้สึกตัวไหม เราก็ต้องรู้ ขณะนี้เราได้บริกรรม “พองหนอ” “ยุบหนอ” ได้บริกรรม “พุทโธๆ” ไหม เราก็ต้องมีความรู้ตัวทั่วพร้อม

          ขณะนี้ความรู้สึกตัวของเรานั้นมีมากขนาดไหน ขณะนี้ความรู้สึกตัวของเรามันหมดไปแล้ว เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาเราก็ต้องกำหนดรู้ร่างกายของเราต่อ กำหนดรู้อาการของกาย ของเวทนา ของจิตของเราต่อ อันนี้ถือว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

          เพราะฉะนั้นอยู่คนเดียวต้องระวังจิต อยู่คนเดียวให้ระวังยั้งความคิด เพราะว่าใจของเรานั้นถือว่าเป็นใหญ่ ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ

          ถ้าบุคคลใดมีใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว คือมีกิเลสประทุษร้ายแล้วบุคคลนั้นก็ย่อมถูกความทุกข์ติดตามไป เหมือนกับเกวียนหมุนไปตามรอยเท้าโคคือโคมันลากแอกลากเกวียนไป โคจะเดินไปที่ไหนก็ตามล้อเกวียนก็หมุนไปตาม จะเดินไปทางซ้ายทางขวาทางหน้าทางหลังล้อเกวียนก็ต้องหมุนไปตาม

          บุคคลผู้ทำบาปนั้น จะทำบาปในที่ลับก็ดี ทำบาปในที่แจ้งก็ดี บุคคลอื่นจะรู้ก็ดี หรือบุคคลอื่นไม่รู้ก็ดี ทวยเทพไวยากรณ์เทพทั้งหลายผู้มีหูทิพย์มีตาทิพย์ บุคคลผู้มีญาณวิเศษย่อมหยั่งรู้สิ่งเหล่านั้นได้ หรือบุคคลเหล่านั้นจะไม่รู้ เทวดามารพรหมทั้งหลายไม่รู้ แต่ว่าบาปกรรมก็จะต้องติดตามบุคคลนั้นไป เหมือนกับล้อเกวียนหมุนไปตามรอยเท้าโค เราจะไปอยู่ที่แห่งหนตำบลใด บาปกรรมมันก็คอยราวีเรา เหมือนกับหมาที่ไล่เนื้อมันตามทันเมื่อไรมันก็ต้องกัดเมื่อนั้น    บาปกรรมก็เหมือนกันถ้าตามเราทันเมื่อไรมันก็ให้ผลเมื่อนั้น

          เราเคยฆ่ากบ ฆ่าเขียด ฆ่าปู ฆ่ากุ้ง ฆ่าหอย เคยทำบาปกรรมต่างๆ เราอย่ากระหยิ่มใจ อย่าคิดว่าบาปกรรมเหล่านั้นจะไม่ติดตามเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้ทำบาปนั้น เมื่อบาปมันยังไม่ให้ผลก็เหมือนกับน้ำนมที่ยังไม่แปรสภาพ เรียกว่าน้ำนมยังไม่เป็นนมส้มยังไม่แปรสภาพ บุคคลนั้นก็ยังเห็นว่าบาปนั้นยังเป็นความดี มีรสชาติที่อร่อย แต่ว่าเมื่อน้ำนมนั้นแปรสภาพ บาปนั้นมันให้ผล บุคคลจึงจะเห็นว่าบาปนั้นเป็นของร้อน

          เหมือนกับบุคคลผู้เอาถ่านไฟมาวางแล้วก็เอาขี้เถ้ากลบ เราก็ไม่เห็นถ่านไฟว่ามันมีความร้อน แต่เมื่อขี้เถ้ามันออกมาเมื่อไร เราไปจับก็ไม่ได้ถ่านไฟมันก็ต้องไหม้มือเรา ข้อนี้ฉันใด เมื่อบาปกรรมมันให้ผลแล้วบุคคลนั้นย่อมได้รับความทุกข์ หรือว่าได้ทุกข์ปางตาย หรือว่าถึงซึ่งความตาย อันนี้เป็นลักษณะของบาปกรรมที่มันตามแผดเผา

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลใดมีใจผ่องใสแล้วความสุขย่อมติดตามบุคคลนั้นไป ฉายาว อนุปายินี เหมือนกับเงาติดตามตัว บุคคลจะไปอยู่แห่งหนตำบลใดเงามันก็ติดตามบุคคลนั้นไป เพราะฉะนั้นบุคคลนั้นควรทำดี ถ้าบุคคลใดทำดีแล้วความสุขจะติดตามบุคคลนั้นไปในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ในที่สุดบุคคลนั้นก็จะต้องได้บรรลุมรรคผลนิพพาน พ้นจากชาติกันดาร พยาธิกันดาร มรณกันดาร ถึงพระนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโอฆะทั้งหลายทั้งปวง ดังเรื่องของพระเถระชื่อว่า พระจิตตคุตเถระ

          พระจิตตคุตเถระนี้เป็นผู้มีความระวังจิตของตนเป็นอย่างยิ่ง คือพระจิตตคุตเถระนี้เป็นผู้สำรวมระวังจิต ไม่ปล่อยจิตไปตามอารมณ์ต่างๆ ไม่ปล่อยจิตไปตามรูป ตามเสียง ตามกลิ่น ตามรส ตามสัมผัส ตามอารมณ์ที่ยั่วยวนต่างๆ เป็นผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เมื่อบวชมาแล้วในพระพุทธศาสนาก็ไม่ไปทำเวรทำบาปทำกรรม ไม่ผิดศีลอะไรต่างๆ บวชเข้ามาในพระศาสนาแล้วก็ปลีกวิเวกไปเจริญสมณธรรมอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง

          ท่านพระจิตตคุตเถระนั้นอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งเป็นเวลา ๖๐ ปี เป็นเวลา ๖๐ พรรษา เดินจงกรมนั่งภาวนาอยู่ตลอด มีการสำรวม ไม่จำเป็นไม่หันซ้าย ไม่จำเป็นไม่หันขวา มีสติตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์พระกรรมฐานอยู่ตลอดเวลา

          จนวันหนึ่งมีภิกษุกลุ่มหนึ่งเข้ามาเยี่ยมท่าน แล้วก็ได้ไปดูผนังถ้ำที่ท่านพระจิตตคุตเถระอาศัยอยู่ตั้ง ๖๐ ปี พระเถระทั้งหลายก็มองดูผนังถ้ำ มองไปมองมาก็เห็นรูปภาพอันวิจิตรที่ช่างภาพที่มีฝีมือ ได้จารึกบันทึกพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ไว้ที่ผนังถ้ำ

          เมื่อเห็นแล้วก็เกิดความอัศจรรย์ในฝีไม้ลายมือ ในการเขียนพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ ก็ไปเล่าให้พระจิตตคุตฟัง พระจิตตคุตบอกว่า มีรูปภาพอย่างนั้นหรือ ข้าพเจ้าได้มาอยู่ในถ้ำนี้ ๖๐ ปี ไม่เคยได้แหงนหน้ามองดูเลย

          นี้เรียกว่าความสำรวมของท่าน เพื่อปรารถนาการบรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีค่ามากกว่าการบรรลุมรรคผลนิพพาน

          แล้วที่ปากถ้ำนั้นก็มีต้นบุนนาคต้นหนึ่ง พระเถระก็ไม่เคยแหงนหน้ามองดูต้นบุนนาคแม้แต่ครั้งหนึ่งตลอดระยะเวลา ๖๐ ปี เพราะการสำรวมกลัวกรรมฐานนั้นจะขาด กลัวกรรมฐานนั้นจะด่างจะพร้อย กลัวกรรมฐานนั้นจะไม่ได้ผล กลัวจะไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน มีจิตใจระมัดระวังเป็นอย่างดี แต่เมื่อต้นบุนนาคนั้นออกดอก ดอกมันร่วงลงมาจึงรู้ว่าหน้าถ้ำนั้นมีต้นบุนนาคอยู่

          พระเถระทั้งหลายที่ไปเยี่ยมพระจิตตคุตเถระได้ทราบความสำรวมระวังอินทรีย์ของท่านเป็นอย่างดี ก็เกิดความเลื่อมใสไปประชาสัมพันธ์ ไปบอกกล่าวให้ชาวบ้านชาวเมืองรู้ พระราชาได้ทราบข่าวก็เกิดศรัทธาเกิดความเลื่อมใสอยากจะทำบุญทำทาน อยากกราบ อยากจะไหว้ท่าน เพื่อเป็นบุญเป็นกุศล ก็ส่งทหารนั้นไปนิมนต์ท่าน ๒ ครั้ง ๓ ครั้งท่านก็ไม่ไป เพราะว่าท่านสันโดษไม่จำเป็นก็ไม่อยากจะไป ไปสู่นครก็ย่อมเห็นช้าง เห็นม้า เห็นรถรา เห็นคนเดินไปมามากมาย ท่านก็ไม่อยากจะไป กลัวอินทรีย์ของท่านจะเศร้าหมอง ท่านก็ไม่อยากไป

          พระราชาก็รู้ความสำรวมของท่านก็เลยสั่งให้หญิงแม่ลูกอ่อนในเมืองนครทั้งหมดมารวมกัน แล้วก็สั่งให้ทหารนั้นเอาผ้ารัดถัน คือ เอาผ้ารัดนมของหญิงที่มีลูกอ่อนทั้งหลายนั้นไว้ แล้วก็ประทับตราของพระราชาไว้ ถ้าพระเถระไม่มาสู่ที่นิมนต์ตราบใดก็อย่าได้เปิดผ้านั้นให้เด็กได้ดูดนมได้ ปิดไว้อย่างนั้นแหละ

          พระเถระได้เกิดความการุณ เกิดความเมตตาต่อเด็กทั้งหลายก็ต้องเดินทางมา เมื่อเดินทางมาแล้วพระราชาก็สั่งให้เปิดผ้าได้ เด็กทั้งหลายก็ได้ดื่มน้ำนม เมื่อมาถึงแล้วพระราชาก็ได้ถวายอาหารอยู่ตั้ง ๗ วัน กราบไหว้ตลอด ๗ วันสมอกสมใจแล้ว ขณะที่กราบไหว้นั้น มาถวายภัตตาหารนั้น จะเป็นพระราชาก็ดี อัครมเหสีก็ดี พระเถระก็พูดอยู่คำเดียวว่า “ขอมหาบพิตรนั้นจงมีความสุขในทุกอิริยาบถเถิด”

          จะเป็นพระราชาเข้ามาก็ขอให้มหาบพิตรมีความสุขทุกอิริยาบถเถิด จะเป็นพระอัครมเหสีมาถวายก็ให้พรเหมือนกันว่า “ขอมหาบพิตรจงมีความสุขทุกอิริยาบถเถิด” ไม่สำคัญว่าเป็นพระราชา ไม่สำคัญว่าเป็นอัครมเหสี ไม่สำคัญว่าเป็นหญิง ไม่สำคัญว่าเป็นชาย สำคัญว่าเป็นสัตว์ ตัวตน บุคคล เรา เขา สิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้นเอง อันนี้เป็นความสำรวมที่น่าเลื่อมใสน่าศรัทธาของพระเถระชื่อว่า จิตตคุตเถระ

          เมื่อท่านอยู่ในพระราชวัง ๗ วันก็กลับมาสู่ถ้ำ เทวดาที่อาศัยต้นบุนนาคนั้นอยู่ก็เกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส ตื่นเช้ามาท่านก็ไปเดินจงกรม เทวดาก็จุดเทียนบูชาท่าน ท่านเกิดปีติ แล้วก็เดินจงกรมปลงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน อันนี้ความสำรวมมันจะเป็นไป โอนไป เอนไป น้อมไป เพื่อให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นการที่สำรวมจิตนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ

          ประการที่ ๒ ท่านกล่าวว่าสำรวมวาจา คือ อยู่กับมิตรให้ระวังยั้งคำขาน คำขานก็คือ ให้สำรวมวาจา การสำรวมวาจานั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เราอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ต่างพ่อ ต่างแม่ ต่างครูบาอาจารย์ ต่างอุปนิสัยใจคอต่างๆ มีจิตใจไม่เหมือนกันเมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้วบางครั้งบางคราวอาจจะกระทบกระทั่งกัน

          บุคคลที่เป็นเจ้าโทสะอาจจะพูดจาโผงผาง ทำให้บุคคลอื่นนั้นได้รับความไม่สบายใจก็มี หรือบุคคลบางคนมีกิริยามารยาทนุ่มนวลละมุนละไม หรือว่ามีความสุขุมลุ่มลึกก็อยู่อีกแบบหนึ่ง

          เพราะฉะนั้นเราต่างครูบาอาจารย์ ต่างสำนัก ต่างบ้าน ต่างตำบล ต่างจริตนิสัยใจคอต่างๆ เมื่อมาอยู่รวมกันนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ต้องระวังวาจา อย่าพูด เรียกว่าปากเป็นเอก เลขเป็นโท หนังสือเป็นตรี ชั่วดีเป็นปราชญ์ ปากเป็นเอกเพราะว่าปากนั้นสำคัญ ปากนั้นก็ถือว่าเป็นการเจริญพระกรรมฐานเหมือนกัน การเจริญกรรมฐานด้วยการพูดถือว่าเป็นการเจริญพระกรรมฐานเหมือนกัน เป็นกายานุปัสนากรรมฐานเหมือนกัน ดังที่ท่านกล่าวไว้ในวิมุตตายตนสูตร บรรลุมรรคผลนิพพานนั้นบรรลุได้ด้วยการแสดงธรรม หรือว่าบรรลุได้ด้วยการสาธยายธรรม อันนี้เรียกว่าการสาธยายทางวาจา

          เราทำวัตรสาธยายคุณของพระพุทธ คุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ ก็ถือว่าเราระลึกนึกถึงมีสติพิจารณาตั้งสติไว้ที่ริมฝีปากของเรา ตั้งสติไว้ที่กรามของเรา เราก็พิจารณาไปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิเหมือนกัน

          เหมือนภิกษุรูปหนึ่งที่อยู่วัดพิชโสภารามมีความสงสัยในเรื่องการกำหนด ว่าเวลาทำวัตรนั้นเราจะกำหนดอย่างไรดีหนออาจารย์ เวลาทำวัตรนั้นส่วนมากสติมันจะเผลอ เราจะกำหนดอย่างไรดีหนอ เราควรจะตั้งสติไว้ที่ริมฝีปากหรือตั้งสติไว้ที่ขากรรไกร หรือเราจะส่งจิตส่งใจไปตามพระธรรมเทศนาที่เราสวด นี้เกิดความสงสัยขึ้นมา ก็เลยแนะนำแล้วแต่ความถนัด แต่ว่าเราตั้งสติไว้ที่ริมฝีปากก็ได้ ที่ขากรรไกรก็ได้ หรือว่าเราจะตั้งสติไว้ที่หูของเรากำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” นั่งภาวนาโดยที่เราไม่ทำวัตรก็ได้ ให้หลักการไปภิกษุรูปนั้นก็เอาสติไปตั้งที่ขากรรไกรสวดทำวัตรไป สวดทำวัตรมาก็เข้าสมาธิ พนมมือแล้วก็เข้าสมาธิไปในลักษณะอย่างนั้นแหละ บางครั้งก็ ๑๐ นาที บางครั้งก็ ๕ นาที บางครั้งก็ ๑๕ นาที บางครั้งเราทำวัตรไป ก็รู้สึกตัวขึ้นมาสังโฆจบไปแล้ว อันนี้เป็นลักษณะของการสาธยายธรรม

          ถ้าเราสาธยายธรรมด้วยสติก็สามารถที่จะให้เกิดสมาธิ สามารถให้เกิดวิปัสสนาญาณ สามารถให้เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานได้

          หรือการแสดงธรรม เมื่อเราแสดงธรรม ขณะที่แสดงธรรมถ้าเราแสดงธรรมด้วยอำนาจของปีติ ด้วยอำนาจของปัสสัทธิ ด้วยอำนาจของสมาธิแล้ว ตั้งจิตตั้งใจให้เป็นบุญกุศล ไม่แสดงธรรมกระทบบุคคลอื่น ไม่แสดงธรรมยกตน ไม่ยกตนข่มท่านอะไรต่างๆ ตามหลักการของการแสดงธรรมเกิดปีติขึ้นมา เมื่อเกิดปีติขึ้นมาแล้วปัสสัทธิมันเกิดขึ้นมา ก็ทำให้ร่างกายของเรามันเย็น ร่างกายของเรามันแข็ง ร่างกายของเราทุกส่วนมันแข็งไปหมด เหลือแต่ริมฝีปากกับสมองที่มันสั่งการ เรียกว่าจิตใจของเรามันสั่งตามความคิด เห็นริมฝีปากของเรามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป บางครั้งมันก็เงียบไป เรียกว่าแสดงธรรมก็หยุดไปเฉยๆ ก็มี  มันนิ่งไปแล้วค่อยรู้สึกตัวขึ้นมา ว่าแสดงธรรมไปถึงไหนแล้ว

          นี่ถ้าเราสามารถที่จะทำให้มันดับไป ด้วยอำนาจของสมาธิไป ถ้าดับไปด้วยอำนาจของมรรคญาณ พิจารณาเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะที่แสดงธรรม ดังที่ท่านกล่าวไว้ในวิมุตตายตนสูตรได้

          เพราะฉะนั้นการแสดงธรรมก็ดี การพูดการจาก็ดี เราต้องสำรวมระวัง อย่าพูดให้คนอื่นเจ็บใจ เวลาเราจะพูดควรพูดด้วยเมตตา ดังที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมข้อหนึ่งว่า เราควรเข้าไปตั้งกายกรรม ประกอบด้วยเมตตา เข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบไปด้วยเมตตาในเพื่อนสหธรรมิกทั้งหลายทั้งปวง

          คือเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ถือว่าเป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ถึงเราจะไม่เป็นลูกพ่อแม่เดียวกัน ไม่เป็นญาติพี่น้องกัน แต่เราก็ถือว่าเป็นญาติธรรม เป็นผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายร่วมกัน เราควรที่จะเข้าไปตั้งวจีกรรมไว้ในเพื่อนสพรหมจรรย์ทั้งหลายทั้งปวง

          อันนี้การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็จะเป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน เราเข้าไปตั้งกายไว้ดี ตั้งวาจาไว้ดีก็ถือว่าเป็นผลดี แต่ถ้าเราเข้าไปตั้งวาจาไว้ไม่ดีก็เป็นผลไม่ดีเหมือนกัน เหมือนกับเรื่องของพระเถระ ๓ รูป

          พระเถระ ๓ รูปนั้นไปเรียนพระกรรมฐานจากสำนักขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเรียนพระกรรมฐานเสร็จแล้วก็ไปแบกกลดธุดงค์ ไปปลีกวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร ตามสถานที่วิเวก ตามหัวไร่ปลายนา ตามป่าต่างๆ ที่เหมาะแก่การทำสมณธรรม

          วันหนึ่งภิกษุ ๓ รูป ก็ไปอาศัยอยู่ในริมสระแห่งหนึ่งเจริญสมณธรรม เอกทิวสัง ทาริกา อยู่มาวันหนึ่งมีหญิงสาวคนหนึ่งได้มาเก็บดอกบัว ขณะที่มาเก็บดอกบัวนางก็เกิดความแช่มชื่นจิตใจ อารมณ์เบิกบาน ก็ร้องเพลงขับ

          เพลงขับมีใจความว่า ดอกบัวหลวงก็ดี ดอกบัวขาวก็ดีที่บานอยู่ในสระยามเช้านั้น ย่อมสดชื่นแจ่มใสสดสวยงดงาม แต่พอครั้นถึงเวลาสายแสงอาทิตย์แผดเผาดอกบัว ก็ทำให้ดอกบัวนั้นเหี่ยวแห้งโรยราไป อุปมานี้ฉันใด สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มนุษย์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นมาแล้ว ตอนเป็นหนุ่มก็มีร่างกายสดสวยงดงามเต่งตึง เมื่อแก่แล้วก็ร่วงโรยราเหี่ยวแห้งไปฉันนั้นเหมือนกัน มีใจความของเพลงไปในทำนองนี้

          ภิกษุทั้งหลายกำลังเจริญสมณธรรมอยู่ก็พิจารณาเสียงของนางเป็นอารมณ์ เมื่อได้พิจารณาเสียงของนางเป็นอารมณ์ ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน อันนี้เรียกว่าบุคคลผู้มีบารมี ก็สามารถที่จะใช้วาจานั้นให้เป็นประโยชน์ได้

          เพราะฉะนั้นเราจะพูดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ขอให้มีธรรมะนั้นเป็นเครื่องชักนำไป อย่าให้ความโกรธนั้นมาชักนำวาจาของเราให้พูด อย่าให้ความโลภ ความหลง มาชักนำวาจาของเราให้พูดไปให้เสียศีลเสียธรรม ถ้าบุคคลใดพูดไม่ดี ถูกมานะทิฏฐิชักนำไปให้พูด ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดบาปได้ เหมือนกับภิกษุรูปหนึ่งที่ถูกความโลภชักนำจะพูดไปในทางที่ไม่ถูกต้อง  

          คือ มีเรื่องเล่าไว้ว่าในสมัยพุทธกาลโน้น ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ มีพระเถระรูปหนึ่ง และพระอนุเถระอีกรูปหนึ่ง เรียกว่ามีพระภิกษุ ๒ รูป รักใคร่เคารพนบน้อมกัน พระเถระท่านกล่าวไว้ว่ามีพรรษาอยู่ ๖๐ พรรษา พระอนุเถระนั้นมีพรรษาอยู่ ๕๙ พรรษา อยู่ด้วยกันมาประมาณเกือบ ๖๐ ปี ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกัน มีความรักใคร่ มีความเคารพกัน

          พอถึงเวลาบิณฑบาตพระอนุเถระซึ่งมีพรรษา ๕๙ ปี ก็ไปรับบาตรของพระเถระที่มีพรรษา ๖๐ ปี รับผ้าจีวรไปยืนรออยู่ทางเข้าบ้าน เมื่อพระเถระมาก็ถวายผ้าจีวรให้ห่ม แล้วก็ถวายบาตรแล้วก็ไปบิณฑบาต ขากลับมาก็รับบาตร รับจีวร ปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ถวายเหมือนกับสามเณรน้อยผู้อุปถัมภ์อุปฐากรักใคร่กันมาเป็นเวลาถึง ๖๐ ปี ญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงก็เกิดความเลื่อมใส เกิดความศรัทธาก็มาถวายอาหารเป็นอย่างดี

          อยู่มาวันหนึ่งมีภิกษุผู้เป็นพระนักเทศน์ เป็นพระธรรมกถึก เมื่อมาถึงแล้วก็แสดงธรรม เมื่อแสดงธรรมแล้วก็ได้รับไทยธรรม ได้รับจตุปัจจัยต่างๆ จากญาติโยมก็เลยเกิดความโลภขึ้นมา ก็เลยยุยงให้พระเถระนั้นแตกร้าวสามัคคีกัน แล้วก็ไปบิณฑบาต

          พระอนุเถระก็ไม่ไปรับบาตรไม่ไปรับจีวร พระเถระก็บอกว่าท่านนี้ประสงค์ร้ายแก่เรา ก็เกิดความทะเลาะกัน พระเถระผู้มีพรรษา ๖๐ ได้บาตรจีวรก็เดินหนีจากวัด พระอนุเถระได้บาตรได้บริขารก็เดินหนีออกจากวัดในวันเดียวกัน พระเถระไปในตอนเช้า พระอนุเถระไปในตอนบ่าย พระที่เป็นนักเทศน์พระธรรมกถึกก็อยู่ในวัดนั้น

          ภิกษุทั้งหลายที่จากกันไปประมาณเกือบ ๔๐ ปี ไม่เคยได้ข่าวคราวกันเลย วันหนึ่งไปพักอยู่ในอารามแห่งหนึ่ง พระเถระที่แจกเสนาสนะก็จัดให้พระเถระทั้งสองนั้นไปพักด้วยกันโดยที่ไม่รู้จักมาก่อน เมื่อไปพักด้วยกันก็เห็นหน้าคุ้นๆ กันก็เลยไหว้กันถามกันว่า เป็นอย่างไร มาอย่างไร ไปอย่างไร ตลอด ๔๐ ปีไม่เคยเห็นกัน เมื่อคุยกันแล้วก็เกิดความเข้าใจว่า พระนักเทศน์พระธรรมกถึกนั้นไปยุยงให้เราแตกกัน ผมไม่ได้ว่าให้ท่าน ท่านก็ไม่ได้ว่าให้ผม ก็เกิดความปลงธรรมสังเวชก็พากันกลับมาสู่วิหารแล้วก็ไล่พระธรรมกถึกนั้นออกไปจากวัด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 มิถุนายน 2565 19:26:49 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1006


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 06 มิถุนายน 2565 19:26:19 »


การระวัง (จบ)
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี

          พระธรรมกถึกนั้นประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นานแต่ว่าไม่เกิดผลประโยชน์อะไร ตายไปแล้วก็ตกอเวจีมหานรก พ้นจากอเวจีมหานรกขึ้นมาแล้วก็มาเกิดเป็นเปรต มีหัวเป็นสุกรมีร่างกายเหมือนคนมีหางงอกออกมาที่ปาก มีหนอนชอนไชส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่วภูเขาคิชฌกูฏ พระโมคคัลลานะเห็นเปรตนั้นก็กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้เรียกว่าบาปกรรมที่กล่าวไม่ดี ถูกความโลภชักนำ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้กล่าวผิดศีลผิดธรรมไป

          หรือกปิลเถระอาศัยทิฏฐิมานะของตนด่าทอภิกษุผู้มีศีล ตายไปแล้วก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก พ้นจากอเวจีมหานรกก็มาเกิดเป็นปลามีสีเหมือนทองคำแต่ว่ามีปากเหม็น ที่แม่น้ำชื่อว่า อจิรวดี พออ้าปากขึ้นเท่านั้นแหละส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วเมืองราชคฤห์ อันนี้เพราะอะไร เพราะบาปกรรม

          เพราะฉะนั้นการที่พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ควรที่จะสำรวมวาจาให้ดี ถ้าบุคคลใดสำรวมวาจาได้การประพฤติปฏิบัติธรรมก็น้อมไป เอียงไปเพื่อจะให้เกิดวิปัสสนาญาณ เพื่อให้เกิดการบรรลุมรรคผลนิพพานอันนี้เป็นการระวังข้อที่ ๒

          ระวังข้อที่ ๓ ท่านว่า อยู่ร่วมราษฎร์ เคารพตั้งระวังการณ์ อยู่ร่วมราษฎร์คือ อยู่ร่วมกับคนเป็นจำนวนมากนั้น เราควรเคารพสังคม ควรเคารพสงฆ์ เราอยู่ต่อหน้าสงฆ์ควรไม่คะนองมือ ไม่คะนองไม้ พระเถระท่านพูดเราควรที่จะอ่อนน้อมถ่อมตน

          บุคคลผู้เจริญในธรรมย่อมเคารพพระเถระ บุคคลที่เจริญยิ่งในธรรมนั้นย่อมเคารพในธรรม ย่อมเคารพในสงฆ์ ถึงสงฆ์จะเป็นปุถุชน สงฆ์จะเป็นโคตรภูสงฆ์ก็ตาม เราก็ต้องเคารพในสงฆ์เพราะว่า สงฆ์นั้นเป็นผู้ที่รักษาพระพุทธศาสนา เป็นการรักษาพุทธศาสนา ไม่ใช่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งแต่เป็นสงฆ์ เพราะฉะนั้นเราควรเคารพ

          หรือว่าเราอยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลต่างๆ อำเภอต่างๆ จังหวัดต่างๆ เราก็ควรเคารพประเพณี ควรเคารพวัฒนธรรม ควรเคารพสิ่งที่เขาสืบกันมาหลายๆ ชั่วคน เรียกว่าเข้าเมืองตาหลิ่ว เราก็ต้องหลิ่วตาตาม ถ้ามันหลิ่วตามธรรมเราก็ต้องหลิ่ว เพราะว่าสิ่งใดที่มันเกิดประโยชน์แล้วเราก็ควรที่จะทำตาม ไม่ควรที่จะขัดประเพณี

          เพราะฉะนั้นการที่เราเข้ามาในพระพุทธศาสนาก็เข้ามาประพฤติปฏิบัติธรรมเราก็ต้องมีระเบียบในการประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะญาติโยม ระเบียบคือศีล ๕ ระเบียบของอุบาสกอุบาสิกาที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็คือ ศีล ๘ ระเบียบของสามเณรก็มี ศีล ๑๐ ระเบียบของพระภิกษุสงฆ์ก็มีถึง ๒๒๗ ข้อ อันนี้ก็ถือว่าเป็นระเบียบวินัย วินัยของพระภิกษุสงฆ์ก็มีถึง ๒๒๗ ข้อ

          วินัยนั้นแปลว่านำไปโดยวิเศษ คือ นำเราไปให้ถึงความเป็นมนุษย์ ให้ถึงความเป็นสวรรค์ ให้ถึงความเป็นพรหม นำไปให้ถึงพระนิพพาน

          วินัยนั้นแปลว่า นำไปต่าง คือ ต่างจากคนที่ไม่มีวินัย ต่างจากคนที่ไม่ศึกษาวินัย

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ไม่มีวินัยนั้นท่านอุปมาอุปไมยเหมือนกับโคตาบอด โคตาบอดนั้นท่านกล่าวว่า ย่อมไม่รู้จักที่หากิน ว่าที่หากินที่ไหนมันมีน้ำ ที่ไหนมันมีหญ้าเขียวอุดมสมบูรณ์ ไม่รู้ว่าที่ไหนมันมีเสือ มีช้าง ที่จะเป็นอันตรายไม่รู้ เดินไปเขาชนไปหัวชนไปถึงไหนก็แล้วแต่บุญกรรมบาปกรรม ตามยถากรรม เรียกว่าโคตาบอดย่อมไม่รู้ที่อุดมสมบูรณ์ ย่อมไม่รู้ที่มีอันตรายฉันใด

          บุคคลไม่มีวินัยระเบียบปกครองตนก็เหมือนกัน ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันมีโทษขนาดไหน เราทำไปแล้วมันเป็นบาปขนาดไหน ทำไปแล้วเราจะตกในอเวจีมหานรก เราจะไปเกิดเป็นเปรตอสุรกายหรือไม่ หรือว่าเราทำไปแล้วเราจะมาเกิดเป็นคนหูหนวก ตาบอด เป็นคนเสียจริตวิสัย เป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถาหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่าเราทำไปแล้วเราจะไปนรกสวรรค์อะไรไม่รู้ เรียกว่าคนไม่มีวินัย ก็ไม่รู้ว่าการกระทำของตนเองนั้นถูกหรือผิด

          แต่ถ้าบุคคลใดเป็นผู้มีวินัย รู้ดี รู้ทางดีเปรียบเสมือนกับบุคคลตาดี รู้ว่าทางไหนมีขวากมีหนามมีตมมีเลน ทางไหนมีโจรผู้ร้ายชุกชุม มีเสือมีอสรพิษต่างๆ รู้ก็หลีกเร้นเว้นไปจากทางนั้น ก็ย่อมพบทางอันเกษม คือ ไม่ไปเกิดในเปรต นรก อสุรกาย ตายแล้วก็มาเกิดบนมนุษย์ สวรรค์ พรหมโลก นิพพาน อันนี้เรียกว่าบุคคลผู้มีวินัย

          เหมือนกับพวกเราทั้งหลาย รู้พระธรรมวินัยแล้วก็มาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเดินจงกรมนั่งภาวนา เข้าปริวาสกรรมประพฤติวุฏฐานวิธี ชำระจิต ชำระใจ ชำระกาย ชำระบาปที่มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจ ให้เบาไป ให้หมดไป ให้สิ้นไป เพราะว่าพระธรรมวินัยตั้ง ๒๒๗ ข้อ บางอย่างมันก็บริสุทธิ์ด้วยการปลงอาบัติ บางอย่างมันก็บริสุทธิ์ด้วยการที่พวกเราทั้งหลายได้เสียสละปาจิตตีย์ เรียกว่าทำลายไป ไปทุบ เสียสละไป ศีลของเราก็บริสุทธิ์ได้ บางครั้งบางคราวเราก็ต้องประพฤติวุฏฐานวิธี คือประพฤติอยู่ปริวาสกรรม

          คนเรามีความผิดพลาดได้ ๔ เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เรายังไม่ได้บรรลุคุณธรรม ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เราก็มีความผิดพลาดเป็นธรรมดา เมื่อผิดพลาดแล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ให้เรานั้นปลงอาบัติ หรือว่าเสียสละปาจิตตีย์ หรือว่าปริวาสกรรมก็สามารถที่จะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้

          เราจะรู้ว่าการประพฤติปริวาสนั้นบริสุทธิ์ได้อย่างไร เราพยายามเดินจงกรม นั่งสมาธิ บางครั้งพระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านกล่าวไว้ว่า การประพฤติปริวาสนั้นเรายังไม่ขึ้นมานัต เรายังไม่ได้ออกอัพภาน แต่ว่ามันบริสุทธิ์ก่อนแล้วก็มี เหมือนกับบุคคลที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ก่อนโน้นก็ไม่เข้าใจว่าบุคคลต้องอาบัติแล้วยังไม่ได้ออก ยังไม่ได้ขึ้นมานัต ยังไม่ออกอัพภาน พระเดชพระคุณหลวงพ่อบอกว่า บางครั้งมันบริสุทธิ์ก่อนแล้ว ก็เกิดความสงสัยหลวงพ่อท่านพูดอาศัยเหตุอะไรเป็นเหตุหนอ แต่ก็เคารพในตัวของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ว่าท่านพูดแล้วต้องมีเหตุมีผล ก็เอาไปพินิจพิจารณาก็เป็นจริงอย่างที่ท่านพูด

          เราบริสุทธิ์ก่อนที่เราจะขึ้นมานัต เราบริสุทธิ์ก่อนที่เราจะออกอัพภาน เพราะอะไร เพราะขณะที่เราอยู่ปริวาสกรรมเราได้สมาธิแล้ว บางคนก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันในขณะที่ปริวาส ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ในขณะที่ประพฤติปริวาสก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วในขณะที่ประพฤติวุฒฐานวิธี

          เพราะฉะนั้นการที่เราเข้าปริวาสแล้วเราอยู่ประพฤติวุฒฐานวิธีด้วย จึงถือว่าเป็นการเพิ่มความบริสุทธิ์ให้มันไวเข้า ให้มันบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น แล้วก็ให้เป็นความกระจ่างแจ้งแก่บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เข้าปริวาสมันบริสุทธิ์จริงหรือว่ารู้ได้ด้วยตนเองไม่ต้องมีครูบาอาจารย์บุคคลอื่นมาบอกมากล่าว มาแนะ มานำ เรารู้ว่าตนเองบริสุทธิ์เองเป็นปัจจัตตัง เรียกว่าเป็นของชำระคือ ปุถุชนรู้ได้ด้วยตนเอง

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมเข้าปริวาสกรรมก็คือ การกระทำตามระเบียบวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าบุคคลใดมีระเบียบมีวินัยแล้วบุคคลนั้นก็คงจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามที่กระผมได้กล่าวมา อันนี้เป็น การระวังข้อที่ ๓ ไม่ผิดพลาดในเรื่องของศีล

          ประการที่ ๔ ท่านกล่าวไว้ว่า อยู่ร่วมพาลให้ระวังทุกอย่างเอย คือ อยู่ร่วมคนพาลนั้นให้ระวังทุกอย่าง เรามีอะไร มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เราต้องระวัง เพราะว่าเราอยู่ร่วมคนพาล บางครั้งเราเห็นคนพาลเราไม่สำรวมตา เราก็อาจจะทำเหมือนคนพาลก็ได้ คนพาลคะนองมือเราก็อาจจะคะนองมือได้

          เหมือนกับคนเลี้ยงม้าของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นคนขากระเผลก เดินไปก็กระเผลก เขย่ง เป็นคนขาเขย่ง เวลาจูงม้าก็เดินจูงม้าเดินนำหน้าม้าไปก็เดินกระเผลกๆ ไป ม้าคิดว่าสอนให้มันเดินกระเผลก ม้าขาดีๆ ก็เดินขากระเผลกๆ ไป พระเจ้าพิมพิสารก็เกิดความสงสัยว่าม้าดีๆ ทำไมต้องเป็นม้าขากระเผลก ก็เลยพิจารณาว่าคนเลี้ยงม้าขากระเผลกก็เปลี่ยนคนเลี้ยงม้าใหม่ ม้านั้นก็หายไป อันนี้เรียกว่ามองเห็นคนพาลก็ยังทำตามคนพาลได้

          เพราะฉะนั้นเห็นคนพาลนั้น เราต้องเว้น เว้นหมาให้ห่างศอก เว้นวอกให้ห่างวา เว้นพาลาเว้นคนพาลนั้นต้องห่างไกลตั้งแสนโยชน์ อย่าได้เห็นได้ยินเลยดีกว่า

          หรือว่าเราได้ยินคนพาล บางครั้งเราได้ยินคนพาลพูดด้วยความโกรธ พูดด้วยมานะทิฏฐิ ครูบาอาจารย์พูดให้ฟัง สงฆ์พูดให้ฟัง ถือทิฏฐิมานะของตนเอง อวดดี อวดเก่งต่างๆ คนอื่นได้ฟังภิกษุรูปนั้นพูดก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เอาคำพูดของภิกษุรูปนั้นไปใช้ก็มี เป็นคนหยาบคนกระด้างเหมือนภิกษุรูปนั้นก็มี ถือทิฏฐิตามภิกษุรูปนั้นไปก็มี

          เหมือนกับเรื่องของพระเจ้าปเสนธิโกศล ท่านกล่าวไว้ว่า มีช้างต้นของพระเจ้าปเสนธิโกศลอยู่ที่เรือนของช้างต้น เรือนของช้างต้นนั้นอยู่ข้างนอกชานเมือง พอดีมีโจรไปปล้นเวลาโจรไปปล้นแล้วก็มาประชุมปรึกษาหารือที่ข้างๆ โรงช้าง พูดว่าเราจะไปท่านอยู่ต้นยาม ผมจะไปดูตรงนั้น ผมไปหาเจ้าของบ้านแล้วถ้ามันต่อสู้ผมจะฆ่ามัน ตัดคอมันอย่างโน้นอย่างนี้ ประหัตประหาน หรือว่าตัดแขนตัดขา หรือว่าปล้นเอาทรัพย์พูดแต่คำหยาบๆ

          เมื่อกลับมาแล้วก็มาแบ่งปันทรัพย์สมบัติว่า เราได้ฆ่าคนมาอย่างโน้นอย่างนี้ต่อสู้กันอย่างไร ช้างที่เป็นช้างมงคลได้ฟังเสียงของคนที่ปรึกษากันอยู่เป็นประจำ ก็เกิดเป็นช้างที่โหดร้ายดุร้ายขึ้นมา พระราชาก็พิจารณาว่า ช้างเราเป็นช้างมงคลทำไมหนอจึงเป็นอย่างนี้ได้ ก็พิจารณาไปก็สืบสาวราวเรื่องก็รู้เหตุรู้ปัจจัย ช้างนั้นก็กลายเป็นช้างดีขึ้นมาได้ อันนี้เรียกว่าแม้หูของเราได้ยินคำคนพาลพูดก็ยังไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นการเว้นคนพาลนั้นต้องเว้นให้ไกลตั้งแสนโยชน์ ไม่ได้เห็นไม่ได้ยิน

          บางครั้งเราอยู่ร่วมกับคนพาล เรามีจิตใจฟุ้งซ่าน มาอยู่ร่วมกับคนที่มีโทสะก็พูดมีแต่จะให้เราเกิดความโกรธ ปลุกระดมจิตใจของเราให้เกิดความโกรธขึ้นมา เป็นฝักเป็นฝ่ายขึ้นมา คนที่ชอบเที่ยวก็ชวนเราอยากจะเที่ยวโน้นเที่ยวนี้ ชักชวนจิตใจของเราไปตามอำนาจของสิ่งเหล่านั้น

          เพราะฉะนั้นเราอยู่ร่วมกับคนพาลนั้นเราต้องระวัง ระวังทั้งตา ระวังทั้งหู ระวังจมูก ระวังลิ้น ระวังกาย ระวังใจ บางครั้งก็ชักชวนเราไปกินเหล้าเมายา ชักชวนเราสูบบุหรี่ สูบกัญชา เสพม้าผงขาวอะไรต่างๆ อันนี้ต้องระวังให้ดีๆ

          หรือว่าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมภิกษุใดไม่สำรวมกาย ภิกษุใดไม่สำรวมวาจา ภิกษุใดไม่สำรวมใจ ภิกษุนั้นชื่อว่าพาลในอริยวินัย ภิกษุใดไม่สำรวมวาจา ภิกษุใดไม่สำรวมใจ ภิกษุนั้นชื่อว่าห่างไกลจากการบรรลุมรรคผลนิพพาน

          เพราะฉะนั้นการประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมนั้น ภิกษุใดมีกายอ่อนน้อม มีวาจาอ่อนโยน มีจิตใจละเอียดอ่อน เราควรเข้าไปหาภิกษุผู้เช่นนั้น

          ภิกษุใดเป็นผู้มีสมาธิเราควรเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น เราก็จะได้สมาธิเหมือนท่าน

          ภิกษุใดเป็นผู้มีปัญญา มีวิปัสสนาญาณ เราควรเข้าไปหาท่านแล้วเราก็จะเกิดปัญญา เกิดความเข้าใจในปัญญาที่ท่านมีแล้ว

          ภิกษุใดมีมรรคมีผลเป็นพระโสดาบัน สกิทา อนาคา เป็นพระอรหันต์ เราควรเข้าไปหาภิกษุผู้เช่นนั้น เพราะเมื่อเราเข้าไปหาภิกษุผู้เช่นนั้น ภิกษุผู้เช่นนั้นจะแนะนำเราให้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทา อนาคา เป็นพระอรหันต์

          เพราะฉะนั้นภิกษุควรเข้าไปหาภิกษุผู้ที่ไม่ใช่พาล เรียกว่าเป็นบัณฑิต เราควรเข้าไปหาบัณฑิต ถ้าเราเข้าไปหาคนพาลก็เหมือนพระเจ้าอชาตศัตรูเข้าไปหาพระเทวทัต ในที่สุดพระเจ้าอชาตศัตรูผู้มีบารมีที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็พลาดจากการบรรลุมรรคผลนิพพาน แล้วก็ทำปิตุฆาต ฆ่ามารดากับบิดาของตนเองตายไปแล้วก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก

          เพราะฉะนั้นการที่พวกเราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ควรที่จะระวังอยู่ ๔ ประการ คือ

         อยู่คนเดียวให้ระวังยั้งความคิด       อยู่กับมิตรให้ระวังยั้งคำขาน

         อยู่ร่วมราษฎร์เคารพตั้งระวังการณ์   อยู่ร่วมพาลให้ระวังทุกอย่างเอย.

          วันนี้อาตมภาพได้กล่าวธรรมะมาก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายที่มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมในวันนี้ จงเป็นผู้ที่มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้โชคลาภร่ำรวย มั่งมีศรีสุข เงินไหลนองทองไหลมา ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุปสรรคอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายจงเป็นผู้สมบูรณ์ไปด้วย ศรัทธา สมบูรณ์ไปด้วยความเพียร สมบูรณ์ไปด้วยสติ สมบูรณ์ไปด้วยสมาธิ สมบูรณ์ไปด้วยปัญญา ได้บรรลุมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
อุปาทาน โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 0 1152 กระทู้ล่าสุด 17 กุมภาพันธ์ 2563 15:52:49
โดย Maintenence
ปกิณณกธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 936 กระทู้ล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2563 13:55:19
โดย Maintenence
ความหมายของธรรมะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1007 กระทู้ล่าสุด 02 ธันวาคม 2563 14:20:54
โดย Maintenence
โอวาทปาฏิโมกข์ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1167 กระทู้ล่าสุด 14 ธันวาคม 2563 14:29:31
โดย Maintenence
การระวัง โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 108 กระทู้ล่าสุด 17 ตุลาคม 2566 15:16:24
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.755 วินาที กับ 33 คำสั่ง

Google visited last this page 08 เมษายน 2567 10:24:24