จดหมายจากท่าน ว.วชิรเมธี กับ คุณโดม วุฒิชัย

<< < (2/3) > >>

หมีงงในพงหญ้า:
เนื้อหานานแล้วนะครับ ตั้งแต่ปี 50 สมัยที่จตุคามกำลังดัง

เป็นการตอบจดหมายที่ดีมาก ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปหลาย ๆ อย่าง เลยอยากให้ลองอ่านกันดูครับ

หมีงงในพงหญ้า:
(๔) คุณโดมเขียนไว้อีกว่า “...ผมชอบใจที่ท่าน (ว.วชิรเมธี) บอกว่า ทุกวันนี้ คนไม่ขาดที่พึ่งกันหรอก พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่พึ่งนั้น ยังอยู่ครบ แต่สิ่งที่ชาวบ้านทั่วไปขาดคือ “ความรู้” ...เมื่อรู้ผิด ก็ไม่อาจเรียกว่า ความรู้ได้ใช่ไหมครับ”

วิสัชนา : ถึงนาทีที่เขียนจดหมายตอบนี้ ผู้เขียนก็ยังคงยืนยันว่า สิ่งที่สังคมไทยขาดอย่างยิ่งก็คือ “ความรู้” เราไม่ได้ขาดที่พึ่งในลักษณะที่จะทำให้คนเกิดความอบอุ่นมั่นใจ แต่ที่พึ่งที่เราขาดไปก็คงเป็น “ที่พึ่งทางปัญญา” นั่นแหละ ไม่ใช่ที่พึ่งทางจิตใจอย่างแน่นอน และอาการขาดความรู้ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดที่พึ่งทางปัญญานั้น เป็นกันระบาดอยู่ทั่วไปในทุกวงการของสังคมไทยทั้งทางการเมือง การศาสนา การเศรษฐกิจ และสังคม

การขาดที่พึ่งทางปัญญาด้านการเมืองนั้น ก็สังเกตได้จากคุณภาพของนักการเมืองไทย ที่จนป่านนี้ เราก็ยังมองไม่เห็นนักการเมืองระดับรัฐบุรุษเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา หากทอดตามองนักการเมืองไทยเราจะพบแต่นักเลือกตั้งซึ่งเล่นการเมืองเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง และนักธุรกิจการเมืองซึ่งเล่นการเมืองเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง

เรามองไม่เห็นนักการเมืองที่มีวิธีคิดระดับรัฐบุรุษอยู่ในวงการเมืองของไทย วันนี้ การเมืองไทยคงมีแต่นักการเมืองสองประเภทเท่านั้นคือนักการเมืองกลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มอำนาจใหม่ ทางเลือกทางการเมืองจึงมีเพียงสองทางตามประเภทของกลุ่มผู้ถือครองอำนาจ ในการเมืองไทย เรายังไม่เคยเห็นนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกลในระดับที่สามารถมองภาพรวมของสังมคมไทยในระยะยาวไกลออกไปถึง ๑๐๐ ปีข้างหน้าได้

เมื่อปีที่แล้ว (๒๕๕๐) ผู้เขียนเดินทางไปสหรัฐอเมริกาและได้แวะเยือนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกมายาวนาน ระหว่างนั้นมีการประชุมกันเพื่อสร้างตึกใหม่หลายหลัง ในการสร้างตึกของมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งนี้มีการถกเถียงกันยาวนานร่วมปี เพราะพวกเขาคิดกันว่า ๑๐๐ ปีที่แล้วฮาร์วาร์ดเป็นอย่างไร ๑๐๐ ปี ที่เป็นอยู่เป็นอย่างไร และอีก ๑๐๐ ปี ข้างหน้าควรจะเป็นอย่างไรต่อ แค่สร้างตึกไม่กี่หลัง เขาคิดกันอย่างน้อย ๓๐๐ ปี มองอดีต มองปัจจุบัน และคาดการณ์ถึงอนาคตอย่างลึกซึ้งรอบคอบ เพื่อการสร้างตึกคราวนี้เขาระดมนักวิชาการ ปัญญาชน ศิษย์เก่าของฮาร์วาร์ดมาถกกันอยู่เป็นปีและประชุมกันหลายอาทิตย์

นี่คือสิ่งที่เรียกกันว่า “วิสัยทัศน์” และการรู้จัก “มองภาพรวม” ของสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เพราะคิดกันยาวไกลขนาดนี้ใช่หรือไม่ จึงทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ กลายเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกมาอย่างยาวนาน และอเมริกันชนจึงเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของโลกในแทบทุกภูมิภาค

จนกล่าวกันในวงการการตลาดระดับโลกว่า แบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดของโลกไม่น่าจะใช่เบนซ์ เป๊บซี่ โค้ก หรือไมโครซอฟ หากแต่เป็น “ฮาร์วาร์ด” ต่างหาก ฮาร์วาร์ดจึงมีค่าเท่ากับปัญญา (ฮาร์วาร์ด=ปัญญา) เมื่อไหร่สังคมไทยจะสามารถสร้างแบรนด์ทางปัญญาเช่นนี้ได้บ้าง ทั้งๆ ที่เรามีต้นทุนที่ดีที่สุดทางปัญญาคือพุทธศาสนา แต่คำถามคือ เราใช้ต้นทุนทางปัญญานี้กันอย่างไร ? และทำไมเมื่อคนไทยนับถือพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาแห่งปัญญา จึงเอาประโยชน์จากพุทธศาสนาได้เพียงระดับกากหรือกระพี้ คือ ติดอยู่เพียงเครื่องรางของขลังและลาภสักการะอย่างหน้ามืดตามัว ?

ในเมืองไทย ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นนักการเมืองไทย ที่เคยมีวิสัยทัศน์ในการมองอนาคตของสังคมไทยไกลเกิน ๑๐๐ ปีเลย เคยเห็นแต่นักการเมืองที่คิดถึงแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด (เฉพาะหน้า) และครั้งต่อไป และคิดกันแต่เพียงว่า รัฐบาลหน้าจะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวหรือรัฐบาลผสม ไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยินนักการเมืองคนไหนลุกขึ้นมาประกาศว่า อีก ๓๐ ปี ๕๐ ปี จากนี้เป็นต้นไป สังคมไทยจะก้าวไปเป็นผู้นำทางปัญญา วิชาการ เทคโนโลยี่ เศรษฐกิจ หรือสันติภาพของโลกเลย

จำได้ว่า เมื่อสมัยที่สองของการเลือกตั้ง (หากจำผิดก็ขออภัย) บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีที่อเมริกันชนรักมากที่สุดคนหนึ่งเคยวางวิสัยทัศน์ว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เด็กระดับประถมทุกคนจะต้องรู้จักการใช้อินเทอร์เน็ตเป็น และนั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้วในสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ แม้จะยังไม่เป็นความจริงที่ครอบคลุมทั้งหมด แต่สิ่งซึ่งเราได้เห็นก็คือ เขาเป็นนักการเมืองที่คิดถึง “คนรุ่นต่อไป” ของประเทศในรอบ ๕๐ หรือ ๑๐๐ ปี ข้างหน้าเรียบร้อยแล้ว

ส่วนอดีตรองประธานาธิบดีของเขาคืออัล กอร์ ตอนนี้ มีวิสัยทัศน์ไกลถึงขนาดเสนอแผน “กู้โลก” ไม่ใช่ในรอบ ๑๐๐ ปี แต่เป็นล้านปีข้างหน้าเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่ในสังคมไทยของเรา วิธีคิดที่สะท้อนการวางวิสัยทัศน์ยาวไกลในการพัฒนาประเทศไม่เคยหลุดออกมาจากปากของนักการเมืองไทยเลย และนี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเมืองไทย ไม่มั่นคง ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนา เต็มไปด้วยคอรัปชั่น และแทนที่การเมืองจะเป็นเวทีแก้ปัญหา กลับกลายเป็นรากฐานที่มาของการพัฒนาประเทศในแทบทุกด้านเสียด้วยซ้ำ

การขาดที่พึ่งทางปัญญาด้านเศรษฐกิจ ก็คงเห็นแล้วว่า เราเคยมีประสบการณ์เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ (ค่าเงินบาทผันผวน) ในปี ๒๕๒๗ และปี ๒๕๔๐ แต่แล้วเหตุการณ์แบบนี้ก็ย้อนกลับมาเล่นงานเราอีกครั้งในปี ๒๕๕๐ ซึ่งค่าเงินบาทเกิดการผันผวนครั้งใหญ่จนโรงงานปิดกันระนาว ภาวการค้าขาย การลงทุนงะงักงัน คำถามก็คือ ประสบการณ์เก่าๆ ไม่ทำให้เราได้รับบทเรียนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเลยอย่างนั้นหรือ ?

เวลามีปัญหาทางการเงินการคลัง เราจึงได้เห็นแต่คนที่เคยทำให้ประเทศล้มกลุ่มเดิมนั่นเอง ออกมาเป็นแนวหน้าในการแก้ปัญหาแบบเดิมๆการขาดที่พึ่งทางปัญญาด้านศาสนา แทบไม่มีอะไรให้พูดถึง เพราะความจริงนั้น มันสะท้อนความจริงอย่างเปิดเผยเสียจนไม่จำเป็นต้องยกตัวอย่าง

การขาดที่พึ่งทางปัญญาด้านสังคม ก็เช่นเดียวกันกับทางศาสนาซึ่งไม่ต้องการคำอธิบายมากนัก คิดกันง่ายๆ แค่เพียงว่า มีคนเป็นห่วงการใช้ภาษาไทยในระดับ “แอ๊บแบ๊ว” ว่าเป็นต้นทางแห่งความหายนะของประเทศแล้วกลายเป็นข่าวครึกโครมใหญ่โตทุกสื่อมวลชน ในขณะที่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นซึ่งกัดกินสังคมไทยมาอย่างยาวนานอย่างค่านิยมบริโภคนิยม วัตถุนิยมที่ทำให้คนทั้งประเทศมุ่งไปบูชาเงินกันจนเป็นสรณะอย่างใหม่ และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินโดยไม่ถามถึงคำว่า “จริยธรรม”

และการที่รายงานการวิจัยระบุว่า คนไทยรุ่นใหม่ยอมรับการโกงหรือคอรัปชั่นว่าเป็นเรื่องสามัญ ใครๆ เขาก็ทำกัน ไม่เห็นเสียหาย รวมทั้งสถาบันครอบครัวไทยเคยรายงานว่าปีหนึ่งๆ มีวัยรุ่นไทยทำแท้งอย่างน้อย ๓๐๐,๐๐๐ รายต่อปี สภาพเสื่อมโทรมของสังคมไทยอย่างลึกซึ้งที่กินลึกถึงขั้น “เคลื่อยย้ายกระบวนทัศน์” ของคนทั้งสังคมอย่างนี้ คนใหญ่คนโตในสังคมไทยไม่น้อยซึ่งมีอำนาจอยู่ในรัฐบาลกลับไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ ทว่ากลับไปให้ความสนใจกับเรื่องเล็กๆ ระดับปลาซิวปลาสร้อย เช่นเรื่องภาษาและการตั้งชื่อเล่นเด็กๆ เกิดใหม่ นี่ไม่สะท้อนภาวะขาดปัญญาทางสังคมแล้วจะเรียกว่าอะไร

สังคมไทยของเรา เป็นสังคมอุดมอวิชชามาอย่างยาวนาน ความข้อนี้ปรากฏอยู่แม้แต่ในพระราชนิพนธ์แปล “พระมหาชนก” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่มีกี่คนที่ตระหนักรู้ เราพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมไทยด้วยการ “รักษาตามอาการ” แต่มีน้อยคนที่มากที่คิดถึงการยกเครื่องสังคมไทยในระดับการยกเครื่องทั้งระบบ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเรายังขาดที่พึ่งทางปัญญาอย่างที่กล่าวมานั่นเอง

หมีงงในพงหญ้า:
(๕) คำถามสุดท้ายของคุณโดมก็คือ “...ตอนที่พระโมคคัลลาน์กับพระสารีบุตรยังเป็นพราหมณ์ศึกษาอยู่กับอาจารย์สัญชัย ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิ เมื่อทั้งสองได้พบกับสาวกของพระพุทธเจ้าและได้รับคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงอยากชวนอาจารย์ของตนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน ...อาจารย์สัญชัยปฏิเสธและกล่าวว่า “ในโลกนี้ มีคนโง่มากกว่าหรือคนฉลาดมากกว่า” ลูกศิษย์ก็ตอบว่า “ก็คนโง่นะสิครับท่านอาจารย์” อาจารย์สัญชัยตอบไปทันทีว่า “ถ้าเช่นนั้น คนโง่จงมาสำนักเรา คนฉลาดจงไปสำนักพระพุทธเจ้า”

ท่าน (ว.วชิรเมธี) มีความคิดเห็นต่อคนเป็นอาจารย์สัญชัยในเรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ ?

วิสัชนา : ผู้เขียนมีความเห็นว่า คนอย่างอาจารย์สัญชัย ยังคงมีอยู่มากมายในสังคมไทย ในวันนี้ กล่าวคือ อาจารย์สัญชัย = คนไทยที่มองเห็น “ความด้อยการศึกษา” ของเพื่อนร่วมชาติและเพื่อนร่วมโลก แล้วคิดด้วยกโลบายว่า นั่นเป็น “จุดแข็ง”

(แทนที่จะมองว่าเป็น “จุดอ่อน” ของสังคมไทยหรือของเพื่อนมนุษย์ที่ยังจมอยู่ในอวิชชาแล้วคิดหาทางแก้ไขร่วมกัน) ที่จะทำให้ตัวเองร่ำรวยมั่งคั่งต่อไปได้อย่างยาวนานจากการ “หลอก” เพื่อนร่วมชาติด้วยกันให้ “งมงาย” หนักข้อขึ้นไปอีก ทั้งเป็นความงมงายทางการเมืองด้วยการหลอกว่าการเลือกตั้งมีค่าเท่ากับประชาธิปไตย งมงายทางการบริโภค (ผ่านการตลาด)ด้วยการกระตุ้นให้อยากแล้วหลอกให้ซื้อและปลูกฝังกันว่าชีวิตที่ดีงามคือชีวิตที่มีเงินสูงสุดโดยที่ไม่มีการถามถึงคุณภาพของเงิน งมงายทางสังคมด้วยค่านิยมที่ว่า การโกงนั้นเป็นเรื่องธรรมดาเพราะ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” และงมงายทางจิตวิญญาณ ด้วยการสร้างเครื่องรางของขลัง และเทพอีกสารพัดชนิดที่จะเสด็จอุบัติตามจตุคามรามเทพกันขึ้นมาในอนาคตอันใกล้ออกมาเผยแผ่ให้แก่ชาวพุทธและเพื่อนร่วมชาติ แล้วบอกว่านั่นคือ ความเจริญของพุทธศาสนาและนั่นคือการทำให้คนหันหน้าเข้าหาพระและวัดมากขึ้น)*1

อาจารย์สัญชัยที่เป็นศาสดาเก่าของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์ตายไปกว่าสามพันปีแล้ว แต่ “วัฒนธรรมคนอย่างอาจารย์สัญชัย” ที่คอยหากินจากคนที่ด้อยโอกาสกว่าตนด้วยตัณหาและเล่ห์เพทุบายนั้น ยังคงเฟื่องฟูและมีชีวิตชีวาอย่างยิ่งในสังคมไทย และที่น่าตกใจที่สุดก็คือ เดี๋ยวนี้คนอย่างอาจารย์สัญชัย อยู่ในเสื้อคลุมของพระสงฆ์ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน

คุณโดม ขึ้นต้นจดหมายว่า “จดหมายจากยุคสมัยอันเศร้าหมอง” ก็เพราะมองเห็นแต่ปัญหามากมายที่ครอบงำสังคมไทยอยู่โดยทั่วไป ซึ่งนั่นเป็นสิทธิที่เราทุกคนควรจะรู้สึกไปในทำนองนั้นได้เป็นธรรมดา เพราะสภาพการณ์แวดล้อมประจักษ์อยู่แก่ตาของเราเช่นนั้น แต่ในทัศนะของผู้เขียนกลับเชื่อมั่นว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาในยามที่สังคมอินเดียโบราณเข้าถึงจุดที่วิกฤติที่สุด และท่านพุทธทาสเคยกล่าวว่า “จุดเยือกแข็งยังคงมีอยู่ท่ามกลางเตาหลอมเหล็ก” หลวงพ่อชาเคยกล่าวว่า “ในสังสารวัฏก็มีนิพพาน ในความสกปรกก็มีความสะอาด” ด้วยเหตุดังนั้น ผู้เขียนจึงมองโลกในแง่ดีว่า ท่ามกลางยุคสมัยอันหม่นหมองนี้เอง หากรู้จักมองอย่างลึกซึ้ง เราจะค้นพบทางออกอันผ่องใสจากวิกฤติของสังคมไทอย่างแน่นอน

อย่างน้อยที่สุด วิกฤติจตุคามรามเทพ ก็ช่วยให้เราได้เรียนรู้ว่า ภาวะด้อยการศึกษาของชาวพุทธซึ่งหมายรวมถึงคนไทยทั้งประเทศ มีความเข้มข้นแค่ไหนเพียงไร รู้แค่นี้ เห็นแค่นี้ หากความรู้นี้นำเราไปสู่การปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์และการศึกษาของคนไทยโดยรวม ก็นับว่า เราค้นพบนิพพานกลางสังสารวัฏระดับหนึ่งแล้ว

ขออนุโมทนาที่คุณโยมโดม เขียนจดหมายอันทรงคุณค่าเช่นนี้มาถึงอาตมา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โอกาสหน้าคงได้อ่านจดหมายเช่นนี้อีกบ่อยๆ




ขอเจริญพร

ว.วชิรเมธี

พรรษกาล  / ๓ สิงหาคม ๒๕๕๐

หมีงงในพงหญ้า:
*1 มีอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบจากจตุคามรามเทพแล้วสรุปด้วยความยินดีว่า กระแสจตุคามรามเทพ ทำให้วัยรุ่นไทยหันหน้าเขาวัดมากขึ้น งดการมั่วสุมตามแหล่งอบายมุขแต่มาชุมนุมกันด้วยเรื่องเทพแทน

ผู้เขียนสงสัยต่อตัวผู้วิจัยว่า งานวิจัยเช่นนี้ ก่อให้เกิดความยินดีทางวิชาการได้อย่างไร ในเมื่อวัยรุ่นไทยเหล่านั้นเข้าวัดก็จริง แต่ไม่ได้เข้าไปหาพระเพื่อฟังและศึกษาธรรม ทั้งไม่ได้เข้าวัดด้วยศรัทธาปสาทะในศาสนา หากแต่เข้าไปหา “เทพที่อยู่ในวัด” ต่างหาก

การที่คนเข้าวัด แต่ไปศรัทธาพ่อมดหมอผีในวัดโดยแทบแยกไม่ออกว่าอย่างไหนพระอย่างไหนผี และการที่คนศรัทธาในเทพของต่างศาสนาอย่างงมงายซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดพุทธศาสนา คือ ภาวะที่สะท้อนความวิปริตทางเชื่อของชาวพุทธไทย

อาการผิดสำแดงทางพุทธศาสนาอย่างนี้ ทำไมงานวิจัยชิ้นนั้นจึงมองไม่เห็น นี่เป็นข้อน่าเป็นห่วงมากว่า คุณภาพการศึกษาของไทยและคุณภาพของครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ เป็นอย่างไร ?

หมีงงในพงหญ้า:
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก : เวบบล๊อก พ่อพเยีย

ภาพประกอบไม่ได้ลงนะครับ

เป็นภาพท่าน ว. เฉยๆ

sometime:
อ้างจาก: Mckaforce ที่ 18 พฤษภาคม 2553  00:01:13

*1 มีอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบจากจตุคามรามเทพแล้วสรุปด้วยความยินดีว่า กระแสจตุคามรามเทพ ทำให้วัยรุ่นไทยหันหน้าเขาวัดมากขึ้น งดการมั่วสุมตามแหล่งอบายมุขแต่มาชุมนุมกันด้วยเรื่องเทพแทน




จดหมายจากท่าน ว.วชิรเมธี กับ คุณโดม วุฒิชัย




(:SHOCK:)ใช่เลย (:SHOCK:)



ผู้เขียนสงสัยต่อตัวผู้วิจัยว่า งานวิจัยเช่นนี้ ก่อให้เกิดความยินดีทางวิชาการได้อย่างไร ในเมื่อวัยรุ่นไทยเหล่านั้นเข้าวัดก็จริง แต่ไม่ได้เข้าไปหาพระเพื่อฟังและศึกษาธรรม ทั้งไม่ได้เข้าวัดด้วยศรัทธาปสาทะในศาสนา หากแต่เข้าไปหา “เทพที่อยู่ในวัด” ต่างหาก

การที่คนเข้าวัด แต่ไปศรัทธาพ่อมดหมอผีในวัดโดยแทบแยกไม่ออกว่าอย่างไหนพระอย่างไหนผี และการที่คนศรัทธาในเทพของต่างศาสนาอย่างงมงายซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดพุทธศาสนา คือ ภาวะที่สะท้อนความวิปริตทางเชื่อของชาวพุทธไทย

อาการผิดสำแดงทางพุทธศาสนาอย่างนี้ ทำไมงานวิจัยชิ้นนั้นจึงมองไม่เห็น นี่เป็นข้อน่าเป็นห่วงมากว่า คุณภาพการศึกษาของไทยและคุณภาพของครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ เป็นอย่างไร ?
[/color]

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว