[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 14:12:21 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ - พระภาวนาสุตาภิรัต(ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลฯ  (อ่าน 545 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 104.0.5112.102 Chrome 104.0.5112.102


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 26 สิงหาคม 2565 15:59:01 »



ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์
(22/07/2019)
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี


           ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเศียรเกล้า ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลจงบังเกิดมีแก่คณะญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้

            วันนี้อาตมภาพได้มีโอกาสมาแสดงพระสัทธรรมเทศนา กล่าวธรรมะเพื่อเสริมการประพฤติปฏิบัติธรรมของญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย ตามสมควรแก่กาลเวลา ก่อนอื่นก็จะขออนุโมทนาสาธุการกับคณะอาจารย์กรรมซึ่งได้เสียสละเวลาอันมีค่า ได้นำพาญาติโยมทั้งหลาย ตลอดถึงคณะครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นมีโอกาสได้เดินจงกรม มีโอกาสได้นั่งภาวนา เรียกว่าเป็นบุญล้นฟ้าล้นดิน

            แล้วก็ขออนุโมทนาสาธุการกับเจ้าคณะตำบล คือท่านพระครูสิริปัญญาวิกรม หรือท่านพระอาจารย์มหาสมจิต ซึ่งเคยเป็นศิษย์วัดพิชโสภาราม ในสมัยก่อนโน้นท่านได้ไปเรียนประโยค ๓ ประโยค ๔ ประโยค ๕ ที่วัดพิชโสภาราม หลังจากนั้นท่านก็ได้เข้าประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภารามเป็นระยะเวลา ๒ ปี ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีทั้งปริยัติ มีทั้งปฏิบัติ นอกจากนั้นก็ขออนุโมทนาสาธุการกับท่านพระอาจารย์ปลัดบุญเลิศ อคฺคปุญฺโญ ซึ่งได้นำพาญาติโยมให้ประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งพระอาจารย์บุญเลิศก็มีโอกาสได้ไปจำพรรษาที่วัดพิชโสภารามหลายปี ๓ ปี ๔ ปี หรือ ๕ ปี ประมาณนั้น นี่เรียกว่าได้ไปประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภารามก็หลายปี

            แล้วก็ได้มาตั้งสำนักสร้างวัดสร้างวาเพื่อที่จะพัฒนาญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงนั้นให้เข้าถึงพระธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้ก็ขออนุโมทนาสาธุการ เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เรียกว่ายากมากที่จะมีการประพฤติปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ก่อนอื่นก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้นั่งสมาธิฟัง ตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายให้นั่งสมาธิฟัง การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก

            เพราะบุคคลผู้ที่จะมาแนะนำพร่ำสอนในทางประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องเป็นคนผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างขวาง มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา มีความปรารถนาความสุขให้บุคคลอื่นนั้นได้รับความสุขพ้นไปจากความทุกข์ บุคคลนั้นจึงสามารถสอนกรรมฐานได้ บุคคลผู้ที่ปรารถนาให้บุคคลอื่นมีความสุขพ้นไปจากความทุกข์นั้น ต้องมีจิตใจที่มีความสุขเสียก่อน ต้องมีจิตใจที่ประกอบไปด้วยเมตตาธรรม กรุณาธรรม มุทิตาธรรม แล้วก็อุเบกขาธรรมเสียก่อน จึงสามารถที่จะแนะนำพร่ำสอนบุคคลอื่นได้ ตนเองจึงจะไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง อันนี้จึงเป็นบุคคลผู้ที่หาได้ยากมาก เรียกว่าหายากมากสำหรับในยุคปัจจุบันนี้ แต่ก็ยังพอมีให้เราได้เดินจงกรมนั่งภาวนา

            ญาติโยมครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ขอให้ได้อนุโมทนาสาธุการ คิดว่าเรามาพบของหายากแล้ว เราก็ควรที่จะทำจิตทำใจให้เกิดความเลื่อมใส ให้เกิดความเพียร ให้เกิดความมุมานะ ให้เกิดความบากบั่น เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ถือว่าเป็นวิถีทางแห่งความพ้นทุกข์ เป็นวิถีทางแห่งการสลัดทุกข์ เป็นวิถีทางแห่งการออกไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เรียกว่าเป็นวิถีทางที่เราทั้งหลายนั้นจะก้าวล่วงซึ่งความทุกข์ ก้าวล่วงซึ่งวัฏฏสงสาร ก้าวล่วงซึ่งโอฆะแหล่งแก่งกันดาร ก้าวล่วงซึ่งความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ไปถึงฝั่งคือพระนิพพาน ก็คือการประพฤติปฏิบัติธรรม

            เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เป็นของเลิศ เป็นของประเสริฐ เป็นของวิเศษ เป็นของอุดมด้วยคุณต่าง ๆ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีมรรค มีผล เป็นปริโยสาน เพราะฉะนั้น การที่คณะญาติโยมตลอดถึงครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น จึงถือว่าเป็นวิถีทางออกจากความทุกข์อย่างแท้จริง เราเกิดขึ้นมาล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น บางครั้งก็ทุกข์กาย บางครั้งก็ทุกข์ใจ บางครั้งก็ทุกข์ทั้งกายทั้งใจ บางครั้งก็ลำบากทั้งกายทั้งใจ อันนี้เรียกว่าความทุกข์

            เมื่อเราเกิดขึ้นมาแล้วความทุกข์มันก็ติดตามเราไป เรียกว่าทุกข์ประจำสังขาร คือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็ประจำเหมือนเงาติดตามตัว เราไปไหน ๆ ความแก่ก็ติดตามเราไป เราไปไหน ๆ ความเจ็บก็ติดตามตัวเราไป เราไปไหน ๆ ความตายก็ติดตามเราไป อันนี้เรียกว่าความทุกข์ประจำสังขาร มันเกิดมันมีอยู่กับบุคคลทุกตัวทุกตน สัตว์ทุกประเภทก็มีความแก่มีความเจ็บมีความตายด้วยกันทั้งนั้น

            ญาติโยมสาธุชนทั้งหลายเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีทุกข์ประจำสังขาร แล้วก็มีทุกข์ที่จรมา ทุกข์ที่จรมาอย่างเช่น ทุกข์เพราะลม ทุกข์เพราะฝน ทุกข์เพราะแดด หรือว่าทุกข์เพราะความโกรธ ทุกข์เพราะความโลภ ทุกข์เพราะความหลง ทุกข์เพราะราคะ มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปาทานต่าง ๆ อันนี้มันเกิดขึ้นมา จรมา เรียกว่าเป็นอาคันตุกะ เป็นสิ่งที่จรมา เมื่อจรมาแล้วก็มาทำร้ายจิตใจของเรา ทำให้จิตใจของเราร้อนรุ่มกลุ้มใจ ทำให้จิตใจของเรากระวนกระวาย ทำให้จิตใจของเรานั้น หลงใหลมัวเมาในสิ่งที่เพลิดเพลิน แล้วก็ทำให้จิตใจหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น นี้เป็นลักษณะของความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา

            เราทำอย่างไรเราจึงจะพ้นไปจากความทุกข์ด้วยกัน เราจึงจะสามารถพ้นไปจากความทุกข์ได้ เพราะคณะครูบาอาจารย์ก็ดี ญาติโยมก็ดี ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมที่นี่ด้วยกัน ก็ล้วนมีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น จะทุกข์มากทุกข์น้อย ทุกข์เพราะราคะ ทุกข์เพราะโทสะ ทุกข์เพราะมานะ ทุกข์เพราะทิฏฐิอะไรต่าง ๆ ก็มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น บางคนเกิดมานานก็ทุกข์ด้วยความแก่ มีความแก่มีความชรา มีตาฟ่าฟาง มีหูตึง มีฟันหลุด มีหนังเหี่ยว ก็เกิดความลำบาก มองเห็นอะไรก็ไม่ค่อยชัด จะฟังอะไรก็ไม่ได้ยินเท่าที่ควร จะรับประทานอาหาร ลิ้นก็ไม่สามารถที่จะรับรสอะไรต่าง ๆ ได้ทั่วถึง เรียกว่าประสาทตาก็ดี ประสาทหูก็ดี ประสาทลิ้นประสาทกายเริ่มแก่เริ่มชราเริ่มคร่ำคร่าแล้ว จะทำอะไรก็งก ๆ เงิ่น ๆ

            เหมือนกับที่เราสวด “เหมือนดอกไม้โรย ไม่มีเกสร จะลุกก็โอย จะนั่งก็โอย” เป็นสิ่งที่เรานั้นควรพิจารณา เพราะฉะนั้น ความทุกข์เหล่านี้แหละเป็นความทุกข์ที่ตีตราสำหรับบุคคลผู้เกิดขึ้นมา เมื่อบุคคลใดเกิดขึ้นมาแล้วจะต้องมีตราทุกข์คือความแก่ ตราทุกข์คือความเจ็บ ตราทุกข์คือความตายนั้นประทับไว้ที่บุคคลนั้น จะหลีกจะหนีจะหลุดจะพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้นั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นความทุกข์เป็นภัยใหญ่ที่สรรพสัตว์ทั้งหลายจะต้องเผชิญหน้า จะต้องรบจะต้องสู้ หลีกเร้นหนีไม่ได้

            พวกเราทั้งหลายที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น เรามาเพื่อที่จะหนีออกไปจากความทุกข์ เราจะหนีออกจากความทุกข์อย่างไร ? เราจะหนีออกจากความทุกข์ด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นแหละ เราจึงจะหนีออกจากความทุกข์นั้นได้ แต่ก่อนที่เราจะหนีออกจากความทุกข์ ให้เรามาพิจารณาว่า ความทุกข์มันเกิดขึ้นมาจากสิ่งใด ความทุกข์นั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงตรัสว่าเกิดขึ้นมาเพราะความโกรธ ถ้าบุคคลใดเกิดความโกรธ ก็แสดงว่าความทุกข์ย่ำยีใจของบุคคลนั้นแล้ว เพราะว่าความโกรธนั้นมีสภาพที่ร้อน มีสภาพที่วุ่นวาย มีสภาพที่เผาจิตใจของบุคคลนั้นให้ร้อนรุ่มกลุ้มใจ บุคคลผู้มีความโกรธ ท่านอุปมาอุปมัยว่าเหมือนกับนรก เพราะอะไร ?

            เพราะว่าความโกรธนั้นเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นไปสู่อบายภูมิคือนรก เรียกว่ามนุษย์สัตว์นรก คือร่างกายของบุคคลที่มีความโกรธนั้นเป็นมนุษย์อยู่ก็จริง แต่ว่าจิตใจของเขานั้นเกิดความโกรธ คล้าย ๆ กับว่าถูกไฟนรกนั้นเผาไหม้ เพราะฉะนั้นบุคคลผู้มีความโกรธนั้นท่านจึงอุปมาอุปมัยว่าบุคคลนั้นกำลังที่จะเดินทางไปสู่นรก หรือว่าเป็นบุคคลผู้กำลังแย้มประตูที่จะก้าวเข้าไปสู่นรก คือถ้าบุคคลมีความโกรธไม่พอใจกำหมดกัดฟันตีรันฟันแทงอะไรต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ทำอย่างนี้เรื่อย ๆ คนพูดอะไรก็ไม่พอใจไปหมัด ได้ยินอะไรก็ไม่พอใจไปหมด คนอื่นทำก็มีความหงุดหงิดมีความรำคาญ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ที่มีโทสะเป็นเจ้าเรือน

            ถ้าบุคคลใดมีโทสะเป็นเจ้าเรือนอย่างนี้แหละ เวลาโกรธขึ้นมาจิตใจร้อนรุ่มกลุ้มใจ ก็เท่ากับว่าบุคคลนั้นกำลังเดินทางไปสู่นรกแล้ว ถ้าบุคคลนั้นจิตดับลงไปคือตายลงไป ขณะที่จะตายนั้นแหละ ด้วยบาปกรรมที่ตนเองเคยโกรธบ่อย ๆ เคยโมโหบ่อย ๆ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตนเองนั้นได้เกิดกรรมขึ้นมา คิดถึงกรรมที่ตนเองเคยประหัตประหาร กรรมที่ตนเองเคยขู่เคยฆ่าบุคคลอื่นก็ปรากฏขึ้นมา จิตมันก็ไปยึดเอา เมื่อจิตใจยึดเอาแล้วมันก็ดับลงไป และเมื่อจิตดับลงไปก็ไปสู่นรกทันที เรียกว่าไปเกิดในนรก เมื่อไปเกิดในนรกแล้วก็ถูกไฟเผาไหม้ เหมือนกับที่เราได้ศึกษาได้ฟังเทศน์ฟังธรรมนั้นแหละ

            เหมือนกับพระเทวทัตที่ถูกไฟนรกเผาไหม้ได้รับความทุกข์ทรมานเป็นอนันตกาล ไม่รู้จะสิ้นสุดตรงไหน เหมือนนายจุนทสูกริกที่ฆ่าหมูอยู่ ๕๕ ปี จนไฟอเวจีมหานรกปรากฏขึ้นมาแล้วก็จิตดับลงไปก็ไปหมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน อันนี้เป็นเพราะอะไร ? เป็นเพราะว่าร่างกายเป็นมนุษย์ก็จริงอยู่ แต่ว่าใจเป็นสัตว์นรกแล้ว เพราะอะไร ? เพราะว่าความโกรธเป็นหนทางไปสู่นรก เป็นการเปิดประตูเพื่อไปสู่นรก แต่เมื่อบุคคลตกไปอยู่ในนรกนั้นเป็นอนันตกาลสิ้นกาลนานสิ้นกัปป์สิ้นกัลป์ เมื่อพ้นไปจากนรกแล้ว เศษกรรมที่ทำ บาปกรรมที่ทำ ก็อาจจะทำให้ไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือว่าเป็นสัตว์ดิรัจฉานได้ หรือว่าเรามีบุญกุศลที่สั่งสมมามันให้ผลในขณะนั้น เราก็อาจจะเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ได้

            แต่เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วก็ทำให้เราเป็นคนใบ้บ้าหนวกบอดพิกลพิการ อาจขาขาดแขนขาด อาจแขนเป๋ขาเป๋อะไรเป็นต้น อันนี้ก็คือตราประทับของนรกที่ประทับไว้ให้เรารู้ สิ่งที่เป็นอัปปมงคลเหล่านี้ก็คือเศษกรรมที่เกิดขึ้นมาจากบาปกรรม เรียกว่าเศษกรรมที่มาจากนรก เป็นสิ่งที่เป็นอัปปมงคล เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี เป็นตราประทับของนรก เป็นเศษบาปที่มันเกิดขึ้นมา อันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายทั้งปวงที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม

            สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเกิดความทุกข์ก็คือความโกรธ เพราะฉะนั้น เวลาที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เราก็ควรที่จะยับยั้งความโกรธ ไม่ควรโกรธคนโน้น ไม่ควรโกรธคนนี้ ชั่วชั่งชี ดีชั่งสงฆ์ นี่เรียกว่า ชั่งหัวมัน ชั่งเขาเถอะ อะไรทอนองนี้ หรือว่าเราจะกำหนดคิดหนอ ๆ โกรธหนอ ๆ ก็สามารถที่จะบรรเทาความโกรธ บรรเทาความเดือดร้อนของจิตของใจได้ นี่เราก็จะพ้นไปจากบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง

            หรือว่าเราเกิดความทุกข์เพราะเกิดความโลภ บางคนเป็นประเภทราคจริต หรือโลภจริต เห็นอะไรก็อยากได้ อยากได้โน้นอยากได้นี้มีความอยากอยู่เป็นประจำ มีความอยากประจำสันดาน มีความอยากประจำจิตประจำใจ มีจิตใจครุ่นคิดอยู่ว่าไม่มี ๆ มีจิตใจครุ่นคิดอยู่ว่า ไม่พอ ๆ เรียกว่ามีความอยาก มีความต้องการอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน

            ในลักษณะอย่างนี้ก็เท่ากับว่าเรานั้นเปิดประตูแย้มเพื่อที่จะเข้าไปสู่ภูมิคือเปรตอสุรกายภูมิแล้ว เราสร้างหนทางแห่งเปรตแห่งอสุรกายภูมินั้นให้ปรากฏอยู่ในจิตใจของเราแล้ว จิตใจของเรานั้นก็จะรับอารมณ์นั้นลงไปในห้วงภวังคจิต เราอยากบ่อย ๆ เรายินดีบ่อย ๆ เราโลภบ่อย ๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อุปนิสัยของเรานั้นกลายเป็นเปรตโดยไม่รู้ตัว เรียกว่าเปรตเดินดิน เรียกว่า มนุสฺสเปโต เรียกว่ามนุษย์เปรต เรียกว่าร่างกายนั้นเป็นมนุษย์ แต่ใจของเรานั้นเข้าสู่ภูมิเปรตแล้ว เพราะว่าภูมิของเปรตนั้นหิวอยู่เป็นประจำ กระหายอยู่เป็นประจำ มีความไม่อิ่ม มีความไม่พอ มีคำว่าไม่มี ๆ ไม่พอ ๆ อยู่ในจิตในใจตลอดเวลา นี่ลักษณะอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราทั้งหลายนั้นร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ว่าใจของเรานั้นเป็นเปรตแล้ว

            แต่ถ้าจิตใจของเรามันดับลงไปก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เครื่องหมายของเปรตนั้นปรากฏขึ้นมา เรียกว่ากรรมนิมิต คตินิมิตนั้นปรากฏขึ้นมา ด้วยอาการแห่งความโลภที่เราเคยโลภ ด้วยอาการแห่งขโมยทีเราเคยขโมย บางคนก็มีความทะเยอทะยานอยาก ไม่อิ่มในรูป ไม่อิ่มในเสียง ไม่อิ่มในกามารมณ์ บางครั้งก็ไปทำชู้สู่สมอะไรต่าง ๆ นา ๆ อันนี้ก็เป็นเพราะเรามีความหิวมีความกระหายในกามคุณอยู่ตลอดเวลา มีความไม่อิ่ม มีความไม่พอ มีความไม่หยุดไม่ยั้งในการเสพกามารมณ์ต่าง ๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นขาดสติขาดการยับยั้งขาดการระวังจิตระวังใจ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ทำผิดศีลผิดธรรม ก็ไปเกิดในภูมิของเปรตของอสุรกายได้ บางคนไม่พอในวัตถุ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดการฉ้อการโกงการปล้นการลักการขโมยต่าง ๆ เกิดขึ้นมา อันนี้เพราะอะไร ? เพราะความไม่พอ เรียกว่าไม่พอในวัตถุ เรียกว่าไม่มีสิ้นสุดในวัตถุอยากได้อยู่เป็นประจำ อันนี้ก็ทำให้เรานั้นไปเกิดเป็นเปรตได้

            หรือบางคนไม่พอในทรัพย์สมบัติก็ดี ไม่พอในรูปในเสียงในกลิ่นในรส มีความทะเยอทะยานอยากอยู่เป็นประจำ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พูดเท็จ หลอกลวง ต้มตุ๋น กอบโกย โกงเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นมาเป็นของตัวเอง ในลักษณะอย่างนี้ก็ถือว่าเป็นหนทางแห่งการไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านกล่าวว่าบุคคลผู้ตายด้วยอำนาจของโลภะนี่แหละ ก็จะไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ตลอดสิ้นกัปสิ้นกัลป์ กว่าจะพ้นกรรม เป็นภูมิที่ไม่กล้าปรากฏต่อสาธารณชน หลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ในลักษณะอย่างนั้นตลอดกาลนาน จนกว่าจะสิ้นกรรม เมื่อสิ้นกรรมแล้ว เศษบาปยังมีอยู่ ท่านก็ยังกล่าวว่าไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือมีบุญพอที่จะสนับสนุนให้มาเกิดเป็นคนก็จะมาเกิดเป็นคน

            เมื่อเกิดเป็นคนแล้วก็จะเป็นคนยากจน เป็นคนถือกระเบื้องขอทานถือกะลาขอข้าว เป็นคนผู้ที่อาภพไร้ญาติขาดมิตร เป็นคนผู้ที่หากินไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เป็นคนที่ลำบากต้องขุดต้องคุ้ยเขี่ยอาหารกิน ทั้ง ๆ ที่คนอื่นนั้นเขาอุดมสมบูรณ์ แต่ตนเองเกิดขึ้นมาแล้วก็ไม่มีความสมบูรณ์ เรียกว่าเกิดขึ้นมาแล้วก็อด ๆ อยาก ๆ ไปที่ไหนก็ไม่มีคนเมตตา ไม่มีคนกรุณา ไม่มีคนสงสาร เพราะผลวิบากกรรมที่ตนเองเคยเป็นคนโลภ ไร้เมตตา ไร้ปรานี ในภพก่อนชาติก่อนโน้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ เกิดความทรมาน อันนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นอัปปมงคล เป็นตราบาปของบุคคลผู้ที่ถูกความโลภครอบงำแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ เรียกว่าตราบาปมันประทับไว้ ให้เรารู้ว่าคนจนทั้งหลายทั้งปวงหากินลำบากในลักษณะดังนี้ ก็ถือว่าเป็นเศษบาปที่เขาได้เคยกระทำมาในภพก่อนชาติก่อนตามที่กล่าวมา อันนี้ก็ถือว่าเป็นความทุกข์ของคนที่เกิดขึ้นมาในทุกวันนี้ เรียกว่าความทุกข์ของคนนั้นก็อาศัยความโลภความโกรธนี่แหละเป็นสมุฏฐาน

            แล้วท่านกล่าวว่าบางคนเป็นประเภทโมหจริต คือเป็นผู้ที่ชอบลุ่มหลง โมหะนั้นก็คือบุคคลผู้มืดมนอนธการ ไม่รู้หนทางแห่งความดีความงาม ไม่รู้หนทางแห่งความสุขความทุกข์ ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือบุคคลผู้ที่มืดมนอนธการ ไม่รู้บุญไม่รู้ทาน ไม่รู้ศีล ไม่รู้ภาวนา ไม่รู้การประพฤติปฏิบัติ ไม่รู้หนทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน นี่เรียกว่าเป็นประเภทโมหะ ตายไปแล้วก็จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เรียกว่าผู้ที่มืดมนอนธการ เขาให้ทานก็ไม่รู้จักให้กับเขา เขารักษาศีลก็ไม่รู้จักยินดี ไม่รู้จักอนุโมทนา เขาเดินจงกรม เขานั่งภาวนา ก็ไม่เกิดปีติ ไม่เกิดความพอใจ มีจิตใจมืดมนอนธการไปด้วยราคะ ด้วยมานะ ด้วยทิฏฐิ ด้วยตัณหา อะไรต่าง ๆ เพราะฉะนั้น บุคคลนี้ ท่านกล่าวว่าร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว เหมือนกับว่าเป็นปฏิปทา เป็นหนทาง ที่จะเดินไปสู่ภูมิแห่งดิรัจฉาน เรียกว่า มนุสฺสติรจฺฉาโน กายเป็นมนุษย์ก็จริงอยู่ แต่ว่าจิตใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน นี่เรียกว่าความมืดมนอนธการ

            เมื่อจิตดับ เมื่อถึงคราวที่จะตาย เรียกว่ามรณาสันนกาล เมื่อจิตที่ใกล้ต่อความตายมันปรากฏขึ้นมา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลนั้นเกิดนิมิตขึ้นมา เห็นตมเห็นโคลน เห็นเครื่องมือของการประหัตประหารด้วยอำนาจของโมหะแล้วก็ตายไป ตายไปด้วยอำนาจของกรรมของนิมิตของคตินิมิตที่เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของโมหะอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจิตของเราไปจับปั๊บ จิตของเราก็จะดับแล้วก็ไปเกิดในภูมิของสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานนั้นท่านกล่าวว่าเป็นสัตว์ที่ไปขวางคือไม่ตรง เรียกว่าไปขวาง คือขวางศีลขวางธรรมขวางมรรคขวางผลขวางพระนิพพาน คือจะไม่รู้ศีล ไม่รู้คุณงามความดี ไม่รู้มรรค ไม่รู้ผล ไม่รู้พระนิพพาน มีกินมีกามมีเกียจ เรียกว่ากินแล้วก็สืบพันธุ์เท่านั้นเอง แล้วก็หลับแล้วก็นอน นี่เป็นลักษณะของสัตว์เดรัจฉาน

            แม้พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมา พุทฺโธ อุปฺปนฺโน พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา สัตว์เดรัจฉานก็ไม่รู้ไม่ตื่น ไม่เกิดความพอใจ ไม่เกิดความที่อยากจะเข้าเฝ้า เหมือนกับพญานาคในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงลอยถาดเป็นพระโพธิสัตว์แสวงหาพระสัพพัญญู ไปลอยถาดอยู่ที่แม่น้ำเนรัญชรา เมื่อไปลอยถาดแล้วถาดนั้นก็ไปจมลงทับถาดของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ พญานาคก็ตื่นขึ้นมาครั้งหนึ่ง นี่คือความมืดมนอนธการของสัตว์เดรัจฉาน ในลักษณะอย่างนั้น เมื่อตนเองไปเกิดในภูมิของสัตว์เดรัจฉานแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นก็ไม่เกิดความดีใจ พระธรรมอุบัติขึ้น พระสงฆ์อุบัติขึ้นก็ไม่เกิดความดีใจ ไม่รู้มรรครู้ผล เรียกว่าเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นก็ปิดโอกาสที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ปิดโอกาสที่จะได้สร้างสมอบรมคุณงามความดี เรียกว่ามรรคผลนิพพานนั้นเป็นสิ่งที่สัตว์เดรัจฉานนั้นไม่สามารถที่จะทำให้เกิดขึ้นมาได้ เรียกว่าขวางมรรค ขวางผล ขวางพระนิพพาน

            เมื่อเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วก็ต้องเกิดความทุกข์ เกิดความลำบาก ด้วยการที่ถูกสัตว์ใหญ่นั้นเบียดเบียน บางครั้งสัตว์ใหญ่ก็เบียดเบียน บางครั้งสัตว์ที่อยู่ด้วยกันก็เบียดเบียน บางครั้งเขาก็เอาไปทำอาหาร บางครั้งเขาก็เอาไปใช้การใช้งาน เหมือนกับวัวกับควายที่เขาเอาไปใช้การใช้งาน ต้องลำบากตรากตรำต่าง ๆ ในภูมิของสัตว์เดรัจฉาน บางครั้งต้องไปเป็นอาหารของคน เขาต้องเอาไปฆ่า อย่างหมู อย่างวัว อย่างควาย เวลาเขาเลิกใช้งานแล้ว เขาเอาไปเชือด เหมือนเป็ดเหมือนไก่ เอาไปเชือด เอาไปเป็นอาหาร ต้องตายอย่างอนาถ ตายด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะอะไร ? เพราะว่าภูมิสัตว์เดรัจฉานนั้น เป็นภูมิที่ทำบาปทำกรรมไว้เยอะ ฆ่าเขาไว้เยอะ ก็เลยถูกเขาฆ่าคืน ถูกเขาเชือดคืน ถูกเขาทุบหัวคืน อันนี้เป็นบาปกรรมของสัตว์เดรัจฉาน

            บางครั้งก็ลำบากเพราะลมเพราะฝน วัวควายเวลาเกิดความหนาวก็ไม่มีผ้าที่จะห่ม เวลาเกิดความร้อนก็ไม่รู้จักที่จะหลบที่จะซ่อน ต้องทำงานตรากตรำอยู่อย่างนั้นแหละ หรือว่าถูกเหลือบยุงลมแดดก็ต้องเป็นทุกข์ตามอาการอย่างนั้น ไม่สามารถที่จะพ้นไปจากสิ่งเหล่านั้นเหมือนมนุษย์ได้ ไม่เข้าไปอยู่ในห้อง ไม่เข้าไปอยู่ในมุ้งลวด หรือว่าเข้าไปอยู่ในบ้านในเรือนได้ นี่เป็นความทุกข์ของสัตว์เดรัจฉาน บางครั้งเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว แทนที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วก็ไปทำบาปกรรมหยาบช้าลงไปอีกในภพภูมิของตนที่เป็นสัตว์เดรัจฉาน แล้วก็ไปเกิดในภพภูมิที่ต่ำลงไป

            เราเคยเกิดเป็นช้างอาจจะไปเกิดเป็นม้า เคยเกิดเป็นม้าอาจจะไปเกิดเป็นควาย หรือว่าอาจจะไปเกิดเป็นวัว อาจไปเกิดเป็นหมู หรือว่าอาจจะไปเกิดเป็นหมาเป็นแมวเป็นลิงค่างบ่างชะนี เป็นเป็ดเป็นไก่ หรือว่าอาจเป็นกุ้งหอยปูปลา เป็นกิ้งกือเป็นไส้เดือน อะไรทำนองนี้ หรือว่าเป็นจุลินทรีย์ต่าง ๆ อันนี้ก็ถือว่าเป็นจิตวิญญาณดวงหนึ่ง ถ้าเราไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้ว บางครั้งภพภูมิของเราอาจจะต่ำลงไป ๆ ด้วยความประมาท เพราะอะไร เพราะว่า เมื่อเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วย่อมไม่รู้ดีไม่รู้ชั่ว ไม่รู้เหตุรู้ผล เราอาจเกิดเป็นกิ้งกือ ไส้เดือน หรือเป็นจุลินทรีย์ เป็นหมู่หนอนหมักหมมอยู่ในสิ่งปฏิกูลโสโครกก็ได้ อันนั้นก็ถือว่าเป็นจิตดวงหนึ่งที่ไปเกิดในภพภูมิด้วยอำนาจของบาปกรรมอกุศลกรรมที่ได้สร้างสมอบรม บางครั้งหนอนตัวหนึ่ง ไส้เดือนตัวหนึ่ง เขาก็อาจจะเกิดเป็นพระเหมือนกันกับเรานี่แหละ หรือว่าอาจจะเคยเกิดเป็นแม่ชี อาจจะเคยเกิดเป็นอุบาสกเหมือนกันกับเรา หรืออาจจะเคยเกิดเป็นพระเคยแสดงธรรมอย่างองอาจกล้าหาญก็มี เพราะว่าวิถีชีวิตของบุคคลผู้ยังไม่ได้บรรลุธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่การันตีไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงถือว่าเป็นความทุกข์ที่เราทั้งหลายควรพิจารณา

            เมื่อเราพ้นไปจากสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาแล้ว ท่านยังกล่าวว่า เมื่อพ้นจากสัตว์เดรัจฉานขึ้นมาแล้ว เรามีบุญได้ทำไว้แต่ปางก่อนโน้นมันให้ผล ก็อาจจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่น่าอนาถใจ เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมาแล้วก็เป็นประเภทที่เซ่อซ่าโง่เง่า เรียกว่าเป็นคนที่มีสติไม่เต็ม มีสติไม่ครบ นับสิบไม่ถ้วน หรือว่ามีสติไม่สมบูรณ์ เดินหัวเราะ เดินร้องเพลง ไม่นุ่งผ้านุ่งแพร อะไรต่าง ๆ เดินไปเดินมา คนในลักษณะอย่างนี้ไม่สามารถที่จะมีสติมีสัมปชัญญะพอที่จะหาทรัพย์สมบัติเลี้ยงตัวเอง หรือไม่สามารถที่จะยังความสุขให้เกิดขึ้นแก่ตนเองและครอบครัว หรือไม่สามารถที่จะให้ความสุขแม้แก่แม่บังเกิดเกล้าได้ เพราะอะไร ?

            เพราะว่าตนเองนั้นมีร่างกายไม่ดี มีสติมีสัมปชัญญะไม่ดี อันนี้เป็นเพราะอะไร ? เป็นเพราะตราบาปที่เราเคยลุ่มหลงมัวเมาด้วยอำนาจของความมืดมนอนธการ ด้วยอำนาจของโมหะ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายนั้นควรไตร่ตรองให้เข้าใจ ให้คิดว่าสิ่งเหล่านี้แหละเป็นความทุกข์ของสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงถูกความโกรธ ถูกความโลภ ถูกความหลงนี่แหละ ทำให้ไปเกิดในภพภูมิต่าง ๆ แล้วก็ได้รับความทุกข์ทรมานตลอดกาลนานก็อาศัยสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเรามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็เพื่อที่จะให้พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ ให้สิ่งเหล่านี้ตายไปจากจิตจากใจของเราด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน บุคคลที่เกิดขึ้นมาแล้วมีความทุกข์ หันซ้ายแลขวาขึ้นข้างบนลงข้างล่าง ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย ไปเกิดในภพนั้นภพนี้ก็เพราะอำนาจของความโกรธความโลภความหลงนี่แหละเป็นมูลเหตุเป็นสมุฏฐานแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

            พวกเราทั้งหลายมีโอกาสได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มีโอกาสได้มาเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จึงถือว่าพวกเรานั้นมีบุญล้นฟ้ามีบุญล้นแผ่นดินแล้ว เพราะฉะนั้นก็ขอให้เรานั้นเกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา ดังที่โบราณท่านกล่าวไว้ว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ พรหมโลกอยู่ในจิต นิพพานอยู่ในมโน” เรียกว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็อยู่ที่อัตภาพร่างกายอันยาววา หนาคืน กว้างศอก ของเรานี่แหละ เรามาประพฤติปฏิบัติเพื่อฝึกเพื่อฝนเพื่ออบเพื่อรมใจของเรา อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย ตามที่กล่าวมา ก็คือใจของเรานี่แหละเป็นมูลเหตุ เป็นสมุฏฐาน

            ท่านจึงกล่าวว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ พรหมโลกอยู่ในจิต นิพพานอยู่ในมโน” ก็คืออยู่ที่จิตใจของเรานี่เอง หรือว่าเราจะไปสวรรค์ เราก็ต้องอาศัยจิตใจของเราที่สร้างสมอบรมคุณงามความดี บุคคลผู้จะไปสู่สวรรค์นั้นต้องมีเทวธรรม ดังที่พระท่านสวดว่า “หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา” ที่เราสวดอยู่เป็นประจำ หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา นี่แหละ ถ้าบุคคลใดถึงพร้อมด้วยหิริโอตตัปปะ บุคคลนั้นก็จะมีความละอายบาป มีความเกรงกลัวต่อบาป ไม่พยายามทำบาปให้มากขึ้น พยายามลด พยายามหลีก พยายามเว้น จากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่กล้าทำบาป เหมือนกับบุคคลผู้รู้ว่าอันนี้มันเป็นมูตรเป็นคูถก็ไม่อยากเอามือไปแตะต้อง พยายามที่จะถอยห่าง ๆ ออกไปเรื่อย ๆ เพราะอะไร ?

            เพราะรู้ว่านั่นเป็นกองมูตรเป็นกองคูถน่าเกลียด มีกลิ่นเหม็น ก็พยายามห่างออกไป ๆ บุคคลผู้มีหิริโอตตัปปะ มีความละอายมีความเกรงกลัวต่อบาปก็เหมือนกัน ย่อมถอยห่างแล้วก็ถอยห่าง ถอยห่างออกไปจากบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้บุคคลนั้นได้ไปเกิดในเทวโลกอันเป็นแดนสุขาวดี แดนแห่งความสุข มีอาหารอันเป็นทิพย์ มีอารมณ์อันเป็นทิพย์ มีเครื่องทรงอันเป็นทิพย์ มีทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทิพย์ แม้แต่ร่างกาย วิมาน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทิพย์ เป็นของละเอียดอ่อน เป็นของประณีต เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็นแดนสุขาวดี เป็นแดนแห่งความสุข หรือท่านกล่าวว่าเป็นแดนที่บุคคลทั้งหลายจะพึงถึงด้วยกรรมอันดีอันงาม ถึงด้วยกรรมอันชอบ ถึงด้วยกรรมอันเป็นกุศล คือบุคคลใดทำบาปแล้ว ทำอย่างไร ๆ จะไปเกิดในสวรรค์นั้นไปเกิดไม่ได้ บุคคลจะไปเกิดในสวรรค์นั้นต้องเคยให้ทาน เคยรักษาศีล เคยเจริญภาวนา จึงสามารถที่จะไปเกิดในสวรรค์ได้ เรียกว่าต้องมีคุณงามความดีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเครื่องพาให้ไปเกิดในสวรรค์

            ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “สัตว์บางจำพวกผู้มีกรรมอันลามกย่อมเกิดในครรภ์ สัตว์บางจำพวกมีกรรมอันลามกย่อมไปเกิดในนรก สัตว์บางจำพวกมีกรรมอันดีงามย่อมไปเกิดในสวรรค์ บุคคลผู้ไม่มีกิเลสแล้วย่อมปรินิพพาน” ท่านกล่าวไว้ในลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราอยากจะไปเกิดบนสวรรค์เราก็สร้างสมอบรมคุณงามความดี เราไปสวรรค์ได้ก็ด้วยการอบรมจิตของเราให้สวยงาม นี่เรียกว่าสวรรค์อยู่ในอก ส่วนท่านกล่าวว่าพรหมโลกอยู่ในจิตก็หมายความว่า พรหมโลกนั้นไม่ได้อยู่ในที่อื่น พรหมโลกจะเป็นชั้นพรหมปริสัชชาก็ดี หรือว่าเป็นพรหมปโรหิตา หรือว่าเป็นมหาพรหมา ไล่ไปจนถึงอสัญญีสัตว์ หลังจากนั้นก็เป็นพรหมชั้นที่ ๑๒ คืออวิหา อตัปปา สุทัสสี สุทัสสา อกนิฏฐพรหม ไล่ไปโน้น อยู่ที่ไหน ? อยู่ที่จิตของเรา เรียกว่าพรหมโลกนั้นอยู่ในจิต ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น ? เพราะว่าบุคคลผู้จะไปเกิดในพรหมโลกนั้นต้องอาศัยการเจริญฌาน

            ถ้าบุคคลใดไม่ได้สมาธิไม่ได้ฌานเกิดขึ้นมาในจิตในใจแล้ว อยากจะไปเกิดในพรหมโลกอย่างไร ๆ ก็ไม่สามารถที่จะไปเกิดได้ ถึงบุคคลนั้นจะให้อาหารอันประณีตแก่พระขีณาสพ แก่พระอรหันต์เต็มบาตร ให้ทานอันประณีตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ให้อาหารอันประณีตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าที่ยืนติด ๆ กันตั้งแต่มนุษย์โลกจนถึงเทวโลก ตั้งแต่เทวโลกจนถึงขอบปากจักรวาล ตั้งแต่ขอบปากจักรวาลจนถึงพรหมโลก ก็ไม่สามารถที่จะไปเกิดในพรหมได้ ถึงเราจะให้ทานมากมายขนาดไหนก็ตาม ไม่สามารถที่จะไปเกิดในพรหมโลกได้ หรือเราจะสร้างโบสถ์สร้างวิหาร สร้างกฐินร้อยกองพันกอง เราก็ไปเกิดในพรหมโลกไม่ได้

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 สิงหาคม 2565 16:00:53 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 104.0.5112.102 Chrome 104.0.5112.102


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 26 สิงหาคม 2565 16:00:21 »


ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ (จบ)

            แต่เมื่อเราอยากไปเกิดในพรหมโลก เรามาเดินจงกรมนั่งภาวนาเหมือนกับคณะครูบาอาจารย์เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายนี่แหละ ถ้าจิตใจของบุคคลใดเข้าถึงอารมณ์ของสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เมื่อบุคคลใดมีจิตใจเข้าถึงอารมณ์ของฌานอย่างนี้แหละ บุคคลนั้นเรียกว่ามีกายเป็นมนุษย์แต่ว่ามีใจเข้าถึงภูมิพรหมแล้ว เมื่อจิตดับลงไปก็จะไปเกิดในพรหมโลกทันทีตามอานุภาพของฌาน ถ้าเราได้ปฐมฌานอย่างหยาบ เราก็ไปเกิดในพรหมปาริสัชชา แต่ถ้าเราได้ปฐมฌานอย่างกลาง เราก็ไปเกิดในพรหมปโรหิตา แต่ถ้าเราได้ปฐมฌานอย่างละเอียด อย่างประณีต อย่างสุขุมลุ่มลึก เราก็จะไปเกิดในชั้นมหาพรหมา นี่เรียกว่าไปเกิดตามลำดับของฌาน แต่ถ้าเราได้ทุติยฌานก็ดี ตติยฌานก็ดี จตุตถฌานก็ดี ก็จะไปเกิดในพรหมชั้นที่ละเอียดลออขึ้นไปอีก

            แต่ถ้าเราได้อรูปฌาน คือได้อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เราก็จะไปเกิดในอรูปพรหมที่ละเอียด ที่ประณีต ที่สุขุมลุ่มลึก คัมภีรภาพมากขึ้นไปกว่านั้นอีก เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าพรหมโลกอยู่ในจิต แล้วท่านกล่าวว่านิพพานอยู่ในมโน มโนนั้นก็คือใจ ทำไมจึงกล่าวว่ามโนนั้นคือใจ เพราะมโนนั้น ท่านกล่าวว่ามโนนั้นแปลว่าม้า สำเร็จได้เร็วดังใจ เรียกว่ามโนมัย เพราะฉะนั้น มโนนั้นท่านจึงแปลว่าใจ เรียกว่ามนะ มนธาตุ เพราะฉะนั้น นิพพานก็อยู่ที่ใจของเรานี่แหละ นิพพานไม่ได้อยู่ที่ตา ไม่ได้อยู่ที่หู ไม่ได้อยู่ที่จมูก ไม่ได้อยู่ที่ลิ้น ไม่ได้อยู่ที่กาย แต่นิพพานอยู่ที่ใจ เพราะกิเลสมันเกิดขึ้นที่ใจ เมื่อกิเลสมันดับลงไป ราคะมันดับลงไป โทสะมันดับลงไป โมหะมันดับลงไป ก็ถึงซึ่งพระนิพพาน แต่ถ้ากิเลสคือราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี มันไม่ดับ นิพพานก็ยังไม่ปรากฏ เรียกว่ามรรคที่หนึ่งคือโสดาปัตติมรรคยังไม่เกิดนิพพานก็ไม่ปรากฏ มรรคที่สองไม่เกิดนิพพานก็ไม่ปรากฏ มรรคที่สามมรรคที่สี่ไม่เกิดนิพพานก็ไม่ปรากฏ

            ผู้ใดอยากเห็นพระนิพพาน ผู้นั้นก็เจริญวิปัสสนากรรมฐาน เหมือนกันพวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นีแหละ เดินจงกรมนั่งภาวนาอยู่นี่แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นถึงซึ่งพระนิพพาน เพราะฉะนั้น นิพพานนั้นอยู่ในจิตในใจในมโนของเรานี้เอง เพราะฉะนั้น เราจะสุขก็ดี เราจะทุกข์ก็ดี เราจะไปเกิดในนรก เปรต อสุรกาย ไปเกิดบนสวรรค์ ไปเกิดในพรหมโลก หรือเราจะไปนิพพาน ก็ต้องอาศัยจิตของเรานี่แหละเป็นตัวการเป็นมูลเหตุ เพราะฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเดินจงกรมนั่งภาวนา ก็ถือว่าเรามีโอกาสที่จะได้ฝึกฝนอบรมจิตใจของเรานั้นให้ดีให้งามให้เลิศให้ประเสริฐ เพราะท่านกล่าวไว้ว่า “ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์เป็นอันมาก บุคคลผู้ฝึกตนนั่นแหละ เป็นผู้ประเสริฐที่สุด”

            คือบุคคลจะดีกว่าคนก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะเลิศกว่าคนก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะวิเศษกว่าคนก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะประเสริฐจะอุดมสมบูรณ์ก็ด้วยการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะรู้มรรครู้ผลเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนาก็เพราะการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะได้เป็นพระอรหันต์ก็เพราะการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็เพราะการประพฤติปฏิบัติ บุคคลจะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพราะการประพฤติปฏิบัติ เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัตินั้นจึงเป็นทางของอริยวงศ์ เป็นปฏิปทา เป็นการเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แท้จริง

            ถ้าเราตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจริญรอยด้วยการประพฤติปฏิบัติ ก็เหมือนกับเราเดินตามรอยของพระองค์ท่าน ไม่เหมือนเราไปสังเวชนียสถานประเทศอินเดีย ไปที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่ปรินิพพาน ก็ไปเพื่อเป็นการยังบุญให้เกิดขึ้นมา เพราะพระองค์ตรัสว่า “ถ้าบุคคลใดได้ไปกราบได้ไปไหว้สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ตำบลใด ตำบลหนึ่ง บุคคลนั้นมีการกราบการไหว้มีศรัทธานั้นเป็นนิมิตเป็นอารมณ์ บุคคลนั้นก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ” พระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น เพียงแต่ว่าเป็นบันไดไต่เต้าไปสู่สวรรค์ ป้องกันอบายภูมิ ในเมื่อเราคิดถึงสังเวชนียสถาน แต่ไม่สามารถที่จะทำให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้

            แต่การเจริญรอยตามเบื้องยุคลบาทด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับเราเดินตามรอยของพระองค์ เห็นรอยของพระองค์เดินไปเมื่อตะกี้นี้เราก็เดินตามพระองค์ไปด้วยการเดินจงกรมนั่งภาวนากำหนดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กำหนดอาการพองอาการยุบ เรียกว่าเราเดินตามรอยพระองค์ไป ตามไป ๆ ในที่สุดก็สามารถที่จะได้บรรลุเป็นพระโสดาบันได้ ในที่สุดก็สามารถบรรลุเป็นพระสกทาคามีได้ ในที่สุดก็สามารถบรรลุเป็นพระอนาคามีได้ ในที่สุดก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” ตัวธรรมนั้นเป็นตัวเดียวกัน ผู้ใดเห็นธรรมก็เท่ากับเห็นพระพุทธองค์ ถึงพระองค์จะทรงปรินิพพานไปแล้ว ตัวธรรมที่พระองค์ได้ค้นพบแต่ก่อนโน้น ในสมัยสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้วก็เหมือนกับตัวธรรมที่เราค้นพบในปัจจุบันนี้ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม” นี่เรียกว่าเราเดินตามรอยของพระพุทธองค์ในลักษณะของการประพฤติปฏิบัติ เราก็จะถึงพระองค์ แล้วเราก็จะเห็นพระองค์ แล้วเราก็จะทราบชัดว่าธรรมะที่พระองค์ทรงตรัสนี้สามารถที่จะนำเราให้พ้นไปจากความทุกข์ ถึงสันติสุขกล่าวคือมรรคผลพระนิพพานได้จริง.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 1065 กระทู้ล่าสุด 22 สิงหาคม 2564 13:35:37
โดย Maintenence
อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 758 กระทู้ล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2564 16:22:04
โดย Maintenence
การเกิดดับของรูปนาม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลฯ
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 816 กระทู้ล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2564 14:58:34
โดย Maintenence
ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลฯ
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 1 664 กระทู้ล่าสุด 07 กรกฎาคม 2565 13:17:00
โดย Maintenence
ปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 55 กระทู้ล่าสุด 12 มกราคม 2567 15:57:57
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.685 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 12 มีนาคม 2567 11:57:51