[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
29 มีนาคม 2567 20:14:35 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปัจจัตตัง โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)  (อ่าน 213 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 992


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 23 เมษายน 2566 15:25:51 »




ปัจจัตตัง
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี

          ต่อไปก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้ทำความสงบนั่งสมาธิภาวนาร่วมกัน ญาติโยมทั้งหลายที่ขึ้นมานั่งบนลานธรรมอาจจะแออัดกัน เพราะว่าต่างคนก็ต่างมา ต่างท่านก็ต่างมาสถานที่ลานธรรมก็คล้ายๆ ว่ามันจะคับแคบไป อันนี้ก็ขอให้ญาติโยมทุกท่านได้อาศัยกัลยาณมิตรได้ขยับเขยื้อนให้ลงรูปลงรอย อย่าให้ชิดกันเกินไป

          การนั่งภาวนานั้นให้ห่างกันอย่าให้เนื้อตัวมันถูกกัน ถ้าเนื้อตัวถูกกันแล้ว บางรูปบางท่านอาจจะหัวเข่ากระดุกกระดิก อาจจะแขนขาเคลื่อนไหวก็จะทำให้คนที่อยู่ใกล้ชิดกันนั้นเกิดความสะดุ้งตกใจแล้วก็จะทำให้พรากออกจากสมาธิ

          บางครั้งก็ไม่เจตนาว่าอยากจะให้มันเป็นบาป แต่มันก็เป็นไปเพราะว่าเรากำลังเข้าสมาธิจิตใจกำลังคล้อย จิตใจกำลังละเอียดลงไปๆ เมื่อเรามีสติกำหนดบทพระกรรมฐาน มีสติกำหนดอาการพองอาการยุบ เมื่อเรามีสติพิจารณาเห็นต้นพองกลางพองสุดพอง ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐานแล้วจิตมันก็จะเริ่มละเอียด

          เมื่อจิตเริ่มละเอียดสมาธิก็เริ่มก่อตัว เมื่อสมาธิมันเริ่มก่อตัวจิตของเรามันดิ่งลงไปๆๆ ในสมาธิในลักษณะอย่างนั้น เรากำลังประคับประคองให้จิตของเรามุ่งตรงสู่สมาธิอยู่นั้น ก็มีคนมากระทำให้เราสะดุ้งตกใจ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้ขวางทางแห่งสมาธิของบุคคลอื่น ไม่อยากเป็นบาปมันก็เป็นเองเรียกว่าบาปโดยไม่เจตนา

          บางครั้งบางรูปบอกว่าไม่มีเจตนาไม่เป็นไร เราเหยียบมดก็ดีเหยียบแมงก็ดีไม่มีเจตนาบาปมันไม่มาก อันนั้นมันเป็นส่วนแห่งมดแห่งแมง แต่ว่าส่วนแห่งจิตถ้าเราไม่มีเจตนาแต่ว่าจิตของบุคคลนั้นเป็นมหัคคตาจิต บางครั้งไม่มีเจตนาเราทำเช่นนั้นไปก็ทำให้เรานั้นไม่สามารถเข้าสู่สมาธิได้ เราเองก็พลอยฟ้าพลอยฝนเข้าสมาธิกับเขาไม่ได้ในลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้นก็ขอให้คณะญาติโยมคณะครูบาอาจารย์พยายามหาความสัปปายะเป็นของของตน

          เพราะว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ถ้าสรุปแล้วเป็นศาสนาปัจจัตตัง เป็นศาสนาเฉพาะตน ถึงว่าเราจะอาศัยสงฆ์เป็นเครื่องยังพระศาสนาให้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้ พระศาสนานั้นไม่ได้มอบให้แก่พระสารีบุตร ไม่ได้มอบให้แก่พระมหากัสสปะ ไม่ได้มอบให้แก่พระอานนท์แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงมอบให้แก่สงฆ์ทั่วทั้งมณฑลเป็นผู้รักษาพระศาสนา เพราะฉะนั้นการอุปสมบท การยกบุคคลธรรมดาให้เข้าสู่ภาวะของภิกษุในพระพุทธศาสนานั้นจึงอาศัยสงฆ์ สงฆ์นั้นเป็นผู้สืบหน่อสืบแนว เป็นเมล็ดพันธุ์คอยที่จะสืบพระศาสนาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์มาถึงขนาดนี้

          เพราะฉะนั้นเราอาศัยสงฆ์เป็นอยู่แต่แนวทางประพฤติปฏิบัติตามหลักของพระธรรมวินัยจริงๆ แล้วเป็นปัจจัตตัง เป็นของเฉพาะตน ให้คณะครูบาอาจารย์ญาติโยมทุกท่านที่มาร่วมกันประพฤติปฏิบัตินั้นอย่าพะว้าพะวงถึงอารมณ์รอบข้างจนเกินไป

          เราอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก อาจจะมีคนมามากหลายอำเภอหลายจังหวัด เมื่อมาแล้วก็เกิดความคุ้นเคยเกิดความสนทนาเกิดความต่างอารมณ์ต่างๆ ก็ทำให้จิตใจฟุ้งไปตามอารมณ์นั้นๆ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเราพะว้าพะวงกับสิ่งที่อยู่รอบข้างจนเกินไป

          แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสพระธรรมวินัยตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง จนถึงที่สุด กระผมก็พิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วก็คิดว่าพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นปัจจัตตังทั้งหมด เป็นของเฉพาะตนทั้งหมด

          อย่างเช่นเราพิจารณาเรื่องศรัทธา ศรัทธานี้เกิดจากการฟังเทศน์ก็ดี เกิดจากการฟังธรรมก็ดี แต่ศรัทธานั้นมันเกิดขึ้นในใจ เราต้องตั้งใจฟัง เราต้องขวนขวายฟัง เราต้องเงี่ยหูฟัง เราต้องน้อมใจฟัง นี้มันเป็นความเพียรส่วนตัวของเราที่จะต้องน้อมใจฟังที่จะตั้งใจฟังที่จะส่งจิตส่งใจพิจารณาการฟังธรรมนั้นโดยแยบคาย ศรัทธาจึงเกิด

          ศรัทธานั้นมันเกิดขึ้นมาเพราะความเป็นปัจจัตตังของเรา เป็นของเฉพาะตน บุคคลอื่นจะเทศน์ดีขนาดไหนก็ตาม จะมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ขนาดไหนก็ตาม ถ้าใจของเราไม่เลื่อมใส ใจของเราไม่คล้อยตามมันก็ไม่เกิดศรัทธา เพราะฉะนั้นศรัทธาจึงเกิดขึ้นมาจากจิตของเรา เกิดขึ้นมาจากความน้อมใจเชื่อของเรา จากการพิจารณาด้วยธรรมะของเรา

          เพราะฉะนั้นศรัทธานั้นจึงเป็นปัจจัตตังเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำให้เกิดขึ้นมาเอง เป็นเหตุให้เรานั้นต้องทำให้ปรากฏขึ้นมาเอง หรือเราพิจารณาในเรื่องศีล ศีลนี้ก็เป็นปัจจัตตัง ญาติโยมสมาทานศีล ๘ ก็ดี คณะครูบาอาจารย์อุปสมบทยกตนขึ้นสู่ภาวะของพระภิกษุ รักษาศีล ๒๒๗ ข้อ การรักษาศีลก็เป็นของเฉพาะตน บุคคลจะล่วงศีลต่างๆ ก็ล่วงเฉพาะตน บาปเฉพาะตนบุญเฉพาะตนอันนี้มันเป็นของเฉพาะตนบริสุทธิ์เฉพาะตน ถ้าภิกษุใดรักษาไม่ดีก็เป็นบาปเฉพาะภิกษุนั้น แต่ถ้าภิกษุใดรักษาดีภิกษุนั้นก็บริสุทธิ์บริบูรณ์เฉพาะภิกษุนั้นเรียกว่าเป็นของเฉพาะตน

          หรือเรากล่าวถึงความเพียร ความเพียรนั้นมีอยู่มากมายแต่ว่าการที่จะมีความเพียรนั้นก็เป็นของเฉพาะตนอีก บุคคลอื่นจะมากล่าวความเพียรมากมายขนาดไหนก็ตาม วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ความเพียรอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น ผู้ใดมากด้วยความเพียรปริยัติจัดเจน เรียนค่ำเช้า ปฏิบัติบ่พาเหียรพร่ำพิสูจน์เสมอนา ปฏิเวธย่อมนำเข้าสู่แคว้นแดนเกษม

          เราจะกล่าวขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าจิตใจของบุคคลนั้นไม่คล้อยไม่พิจารณาธรรมจริงๆ แล้วความเพียรมันไม่เกิดขึ้นมาในใจ เพราะว่าความเพียรนั้นมันก็เป็นปัจจัตตัง เป็นสิ่งที่เราทำให้เกิดเฉพาะตน นั่งอยู่รอบข้างกันบางรูปอาจจะเกิดความเพียร บางรูปอาจจะเกิดความเกียจคร้าน อันนี้ก็แสดงว่าความเพียรนั้นมันเป็นปัจจัตตังอยู่แล้ว เราพิจารณาถึงสติ สตินี้ก็เป็นปัจจัตตัง ผู้ใดหมั่นกำหนด หมั่นตั้งสติ พิจารณาตามอาการของการคู้ การเหยียด การก้ม การเงย การกิน การดื่ม การพูด การคิด การทำกิจอะไรๆ ก็ตาม

          ถ้าบุคคลนั้นมีสติหมั่นตั้งสติอยู่ตลอดเวลา เผลอแล้วตั้งใหม่ในลักษณะอย่างนี้สติก็จะปรากฏชัดอยู่กับบุคคลนั้น เพราะฉะนั้นบุคคลใดไม่ตั้งสติไม่หมั่นกำหนด ปล่อยจิตปล่อยใจให้ไปตามธรรมชาติ มันอยากพูดก็พูด มันอยากคุยก็คุย มันอยากคิดอะไรต่างๆ ก็ปล่อยให้มันไปตามธรรมชาติ สติก็ไม่ตั้งมั่นแก่บุคคลนั้น

          เพราะฉะนั้นสติจึงเป็นของปัจจัตตัง เป็นของเฉพาะไม่ได้ทั่วไปไม่เป็นของสาธารณะธรรม แต่ว่าเป็นของบุคคลผู้มีความเพียรบากบั่นจึงจะสามารถยังตัวนั้นให้เกิดขึ้นมาได้ ไม่ใช่ว่าเราเข้ามาบวชแล้วสติมันจะสมบูรณ์เลย มาเข้ากรรมฐานนั้นสติมันสมบูรณ์เลยนั้นไม่ใช่ ต้องเป็นผู้ขยันหมั่นเพียรตั้งสติอยู่เป็นประจำ หมั่นกำหนดอยู่เป็นประจำ เผลอแล้วตั้งใหม่ๆ ในลักษณะอย่างนี้สติจึงจะสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นสติก็เป็นปัจจัตตัง

          แล้วถ้าเรากล่าวถึงสูงขึ้นไปอีก กล่าวถึงเรื่องสมาธิ สมาธินั้นเป็นอะไร สมาธินั้นก็เป็นปัจจัตตังเหมือนกัน ถึงว่าครูบาอาจารย์จะแสดงธรรมเรื่องสมาธิมากมาย พระเดชพระคุณหลวงพ่อจะแสดงอุปมาอุปไมยมากมายกว้างขวาง แต่ถ้าคณะครูบาอาจารย์ไม่น้อมเอาธรรมะที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในเรื่องสมาธิต่างๆ ไปประพฤติปฏิบัติแล้วสมาธิมันก็ไม่เกิด

          เวลาสมาธิเกิดมันก็เกิดต่างคนต่างอารมณ์ เพราะอะไร เพราะบุญวาสนาบารมี ศรัทธา ความเพียร สติของแต่ละบุคคลนั้นมันต่างกัน เมื่อเหตุคือศรัทธา เหตุคือความเพียร เหตุคือสติ เหตุคือบุญวาสนาบารมีมันต่างกัน สมาธิที่เกิดขึ้น ผลที่เกิดขึ้นในจิตใจของบุคคลนั้นมันก็มีลักษณะต่างกัน เมื่อความต่างแห่งเหตุมันปรากฏขึ้น ความต่างแห่งผลมันก็ปรากฏขึ้น ความต่างแห่งเหตุความต่างแห่งผลนั้นมันก็เป็นปัจจัตตัง เป็นของเฉพาะบุคคลนั้น

          เพราะฉะนั้นเรามาเข้าวัดพิชโสภาราม ได้มากราบพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าสมาธินั้นมันจะไปเกิดขึ้นแก่บุคคลทุกคนเลยไม่ใช่ เพราะสมาธินั้นต้องทำให้เหตุผลสมบูรณ์เสียก่อน ให้เหตุแห่งสมาธิมันสมควรเสียก่อนสมาธิจึงจะเกิดขึ้น เหตุสมควรแห่งอุปจารสมาธิหรือว่าเหตุสมควรแห่งขณิกสมาธิเสียก่อน ถ้าเราทำเหตุให้มันสมควรแก่ขณิกสมาธิ ขณิกสมาธิก็จะเกิดขึ้น ถ้าเราทำเหตุสมควรแห่งอุปจารสมาธิสมบูรณ์แล้ว อุปจารสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น ถ้าเราทำเหตุแห่งอัปนาสมาธิให้สมบูรณ์แล้วอัปนาสมาธิมันก็จะเกิดขึ้น ถ้าเราทำเหตุทำปัจจัยอันสมควรแก่ปฐมฌานสามารถตัดอารมณ์วิตกวิจารทั้งหลายทั้งปวงได้ ปฐมฌานก็จะเกิดขึ้นแก่เรา

          แต่ถ้าเราทำเหตุทำปัจจัยสมควรแก่ทุติยฌาน สามารถละวิตกวิจารสามารถยังปีติให้เกิดขึ้นมาได้ ทุติยฌานก็จะเกิดขึ้นแก่เรา หรือว่าเราทำเหตุทำปัจจัยให้สมควรแก่ตติยฌานสามารถที่จะยังปีติอย่างละเอียดยังความสุขให้เกิดขึ้นมาได้ตติยฌานมันก็เกิดขึ้นมาแก่เรา

          หรือว่าเรายังจตุตถฌานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเราเป็นเอกัคคตารมณ์ นิ่ง ใจก็ไม่รู้ หูก็ไม่ได้ยิน หรือว่าลมหายใจมันหมดไปเป็นอารมณ์ของจตุตถฌานอย่างนี้ ถ้าเรามีเหตุมีปัจจัยมีผลที่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้มันก็เกิดขึ้นมา มันเป็นการค้นคว้าค้นพบด้วยปัจจัตตังด้วยตนเองคนอื่นจะยังบุคคลอื่นให้ค้นพบไม่ได้ บุคคลอื่นจะยังบุคคลอื่นให้เข้าถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานเป็นต้นไม่ได้ เพราะอะไร เพราะแต่ละบุคคลนั้นต้องอาศัยศรัทธา อาศัยความเพียร อาศัยสติ แล้วก็อาศัยบุญวาสนาบารมีของตน ยังตนให้เข้าถึงด้วยตนเองเรียกว่าเป็นปัจจัตตัง เพราะฉะนั้นสมาธิก็เป็นของปัจจัตตัง

          หรือว่าเรากล่าวสูงขึ้นไปกว่านั้นเป็นเรื่องของวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณก็เป็นของปัจจัตตัง พระเดชพระคุณหลวงพ่อเทศน์ว่ามีคนมาประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วบางรูปก็ปิดประตูอบายภูมิได้ บรรลุเป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เป็นพระอรหันต์อะไรทำนองนี้

          หรือว่าเราอ่านในพระไตรปิฎกที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวารสิบสองหมื่น ได้บรรลุดวงตาเห็นธรรมสิบเอ็ดหมื่น อีกหนึ่งหมื่นเป็นกัลยาณชนตั้งมั่นในศีล ๕ เราอ่านแล้วเราคิดว่าเหมือนกับว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงเสด็จไปแจกพระโสดาบันให้คนทั้งหลายทั้งปวงเหมือนมันง่ายในลักษณะอย่างนั้น   

          แต่เมื่อเราอ่านเจาะความลึกเข้าไปอีก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ไปแจกเหมือนกับแจกข้าวถุงหรือว่าแจกอาหารกล่องอะไรทำนองนี้ แต่พระองค์ทรงไปแจกธรรม พระองค์ทรงแสดงอนุปุปพิกถา พรรณนาเรื่องทานเรื่องศีลเป็นต้นให้คนทั้งสิบสองหมื่นนั้นฟัง เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พิจารณาตามแล้วก็ตรัสรู้ของตนเอง

          เฉพาะคนทั้งสิบเอ็ดหมื่นนั้นเป็นผู้ที่ตรัสรู้ธรรมเฉพาะตน คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเฉพาะตน ไม่ได้บรรลุแทนกัน ต่างรูปก็ต่างบรรลุของตนเอง ก็เป็นการบรรลุเป็นพระโสดาบันสิบเอ็ดหมื่น อันนี้ก็เป็นการแทงตลอดเป็นของเฉพาะตน นี้ถ้าเราพิจารณาจะเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น ถ้าสามารถที่จะแจกแจงทั่วกันหมดได้อีกหนึ่งหมื่นที่เป็นกัลยาณชนก็น่าจะได้เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน แต่หนึ่งหมื่นสุดท้ายนั้นเป็นผู้มีบารมียังไม่แก่กล้า เป็นดอกบัวที่ต้องรอแสงอรุณแสงอาทิตย์อีกวันหนึ่งบ้างสองวันบ้างสี่วันห้าหกวันบ้างดอกบัวนั้นจึงจะโผล่ขึ้นมาบาน ต้องฟังแล้วฟังอีกซ้ำอีกสักระยะหนึ่งบ่มอินทรีย์จนแก่กล้าขึ้นมาอีกระยะหนึ่งจึงจะได้ดวงตาเห็นธรรม

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมของพวกเราทั้งหลายที่อยู่รวมกัน ถ้าเราอยู่ร่วมกันแล้วเราไม่ทำความเป็นปัจจัตตังให้เกิดขึ้นแก่เรา ไม่ทำกายวิเวกของตนเองให้เกิดขึ้น ไม่ทำจิตวิเวกของตนให้เกิดขึ้น อุปธิวิเวกคือความสงัดจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันก็เกิดขึ้นมาไม่ได้

          เมื่อเราเจาะลึกลงไปแม้แต่วิปัสสนาญาณ แม้แต่การบรรลุมรรคผลนิพพานมันก็เป็นปัจจัตตัง วิปัสสนาญาณที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติอยู่ เราอยากให้วิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๙ ตลอดไปถึงญาณ ๑๖ รอบหนึ่งบ้าง  สองรอบบ้าง สามรอบบ้าง สี่รอบบ้างเกิดขึ้นจิตในใจในขันธสันดานของเรา เราอยากให้มันเกิดแต่ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นปัจจัตตังเป็นของเฉพาะตนไม่ทั่วไป

          อย่างเช่นเราพิจารณาเห็นรูปเห็นนาม เห็นแทนกันไม่ได้ พระเดชพระคุณหลวงพ่อเทศน์ว่า รูปก็คือมหาภูตรูป ๔ คือดิน คือน้ำ คือไฟ คือลม รูปก็คือสิ่งที่เราสัมผัสได้ด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย สิ่งใดที่เราสัมผัสได้ด้วยหูด้วยตาด้วยลิ้นด้วยกายสิ่งนั้นเป็นรูป สิ่งใดที่เกิดขึ้นมาจากดินจากน้ำจากไฟจากลมสิ่งนั้นก็เป็นรูป แม้แต่อัตภาพของเราตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผมจากปลายผมถึงพื้นเท้าสิ่งนี้ก็เป็นรูป

          สิ่งที่เป็นนามก็คือสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยใจเช่นความโกรธ ความโลภ ความหลง บุญ บาป ตัณหา มานะ ทิฏฐิ อุปาทานเป็นต้น สิ่งนี้ก็ถือว่าเป็นนาม แต่เราจะรู้แจ้งเห็นนามแยกรูปแยกนามออกจากกันนั้น เราจะแยกออกจากกันได้อย่างไร การแยกรูปแยกนามวิปัสสนาญาณที่ ๑ นั้นมันเป็นอะไร มันเป็นปัจจัตตังเป็นของเฉพาะตน บุคคลนั้นต้องทำความเพียรต้องกำหนดกายของเรา กำหนดจิตของเรา ขณะที่เราเดินจงกรมขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือว่าพองหนอ ยุบหนอ

          ขอให้เรามีสติทันปัจจุบันธรรม ปัญญาคือการแยกรูปแยกนามมันจะเกิดขึ้นมาเอง ขอให้บุคคลนั้นมีความเพียรสม่ำเสมอ เรียกว่าเสมอต้นเสมอปลาย มีสติกำหนดเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบ หรือว่าต้นย่าง กลางย่าง สุดย่าง เห็นละเอียด เราจะคู้ เราจะเหยียด เราจะก้ม เราจะเงย เราก็มีสติเห็นต้นคู้ กลางคู้ สุดคู้ ในลักษณะอย่างนี้อยู่เป็นประจำ ถ้าเราเห็นอยู่ในลักษณะอย่างนี้มันจะรู้เองว่าอะไรเป็นรูปอะไรเป็นนาม

          เพราะในขณะที่เรากำลังเดินจงกรมอยู่ภาวนาอยู่จิตของเรามันก็จะคิดขึ้นมา เราจะรู้ว่าในขณะที่มีสติกำหนดอาการขวาย่างซ้ายย่าง แต่ว่าจิตของเรามันก็อีกอย่างหนึ่ง กายของเรามันก็อีกอย่างหนึ่ง จิตกับกายนี้มันคนละอย่างกัน นี้มันเริ่มแยกรูปแยกนามออกมาแล้ว เริ่มเข้าใจแล้ว

          เวลาเราเดินจงกรมขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ใจมันโกรธขึ้นมา ความโกรธกับกายของเรามันคนละอันกัน รูปกับนามนี้มันเริ่มแยกออกจากกันแล้ว สิ่งเหล่านี้มันเป็นปัจจัตตังคือบุคคลนั้นต้องค้นคว้าทำการวิจัยด้วยสติ ด้วยความเพียร ด้วยศรัทธาที่กายของแต่ละท่านแต่ละคนมันจึงจะเกิดอย่างนี้ขึ้นมา ถ้าสติไม่สมบูรณ์เราจะทำการวิจัยทั้งปี นามรูปปริจเฉทญาณมันก็ไม่เกิด

              ถ้าเราเกิดมาแล้วเราไม่กำหนดรูปนามเราเกิดมาเป็นร้อยปีมันก็ไม่เห็นรูปเห็นนาม เพราะอะไร เพราะเราไม่เอาสตินั้นมาพิจารณาร่างกาย

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นจึงเป็นปัจจัตตัง เป็นของเฉพาะตน บุคคลผู้มารวมกันประพฤติปฏิบัติธรรมมากก็ตาม น้อยก็ตาม ถ้าผู้ใดมีความเพียรบุคคลนั้นก็สามารถเป็นปัจจัตตังได้ เราอ่านพุทธพจน์ อ่านธรรมบท บางครั้งพระพุทธเจ้าพระองค์ทรงนั่งเทศนาโปรดคนทั้งหลายทั้งปวงเป็นห้าร้อยบ้างเป็นพันบ้างเป็นหลายๆ หมื่นหลายๆ โกฏที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฏก

          แต่มีคนคนหนึ่งมีบุญวาสนาบารมี มีบุปเพกตปุญญตาที่สั่งสมไว้มาก พระองค์ก็ทรงแสดงโปรดเฉพาะบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นได้ดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรมขึ้นมาก็มี คนจำนวนมากนั้นแต่บรรลุธรรมเพียงคนหนึ่งหรือสองคนนี้ในลักษณะอย่างนั้น

          เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพุทธศาสนาของเรานั้นจึงเป็นของปัจจัตตังเป็นของเฉพาะตน ผู้ใดอยากจะเกิดสติเกิดสมาธิเกิดวิปัสสนาญาณก็ต้องกำหนดบทพระกรรมฐานให้เหตุและผลนั้นมันคู่ควรกัน

          วิปัสสนาญาณที่ ๒ ก็เหมือนกันที่ ๓ ก็เหมือนกันที่ ๔ ที่ ๕ ก็เหมือนกันเกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของสติ เกิดขึ้นมาด้วยอำนาจของความบริบูรณ์ของสัมปชัญญะ ถ้าสติสมบูรณ์ สัมปชัญญะสมบูรณ์ ปัจจยปริคหญาณคือญาณที่ ๒ ไม่อยากให้มันเกิดมันก็เกิดขึ้นมา มันจะรู้ปัจจัยของรูปของนามเอง ไม่ได้อาศัยปริยัติมากมาย เพียงแต่อาศัยสติกับสัมปชัญญะของเรานั้นแหละกำหนดรู้

          แต่ถ้าอาศัยปริยัติมากมายแล้ว ๗ ปีอย่างนางวิสาขานั้นจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างไร เพราะยังไม่รู้ปริยัติ ยังไม่เรียนปริยัติแม้แต่คำเดียว หรือว่าสามเณรบรรลุเป็นพระอรหันต์ก็ดีอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนานั้นเป็นการศึกษาปริยัติภายใน คือน้อมกายน้อมใจของเราให้มีสติสัมปชัญญะพิจารณาอยู่ที่กายกับใจของเรานี้เอง

          เพราะปริยัติทั้งหลายทั้งปวงทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นเกิดขึ้นมาจากการพิจารณากายกับใจนี้เอง ปริยัติทั้งหมดทั้งปวงที่เราศึกษาเล่าเรียนนั้น เกิดขึ้นมาจากการฝึกฝนอบรมกายวาจาใจของเรานี้เอง เอาออกไปจากนี้ไปเขียนตำรับตำรา พระพุทธเจ้าทรงแสดงโปรดอบรมกายวาจาใจสถานที่โน้นบ้างสถานที่นี้บ้าง รวมแล้วก็ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็ออกมาจากกายวาจาใจ

          เพราะฉะนั้นบุคคลใดพิจารณากายวาจาใจด้วยสติด้วยสัมปชัญญะบุคคลนั้นก็จะเป็นปัจจัตตัง เป็นการศึกษาปริยัติโดยรวบรัดภายในแล้วก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นของปัจจัตตัง วิปัสสนาญาณทุกอย่างก็เป็นของปัจจัตตัง

          แล้วก็พิจารณาสูงขึ้นไปอีกนิดหนึ่ง คือการที่เราจะยังพระไตรลักษณ์ให้เกิดขึ้นมา พระไตรลักษณ์นั้นเป็นจุดสูงสุดของการประพฤติปฏิบัติ ถ้าพระไตรลักษณ์ไม่เกิดวิปัสสนาญาณที่ ๓ ก็ไม่เกิด ถ้าพระไตรลักษณ์ไม่เกิดวิปัสสนาญาณที่ ๔ ก็ไม่เกิด ถ้าพระไตรลักษณ์ไม่เกิดอนุโลมญาณคือญาณที่ ๑๒ ก็ไม่เกิด เมื่อญาณที่ ๑๒ ไม่เกิดโคตรภูญาณก็ไม่เกิด มรรคญาณไม่เกิด ผลญาณก็ไม่เกิด ปัจจเวกขณญาณก็ไม่เกิด

          พระไตรลักษณ์คือการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นอนิจจัง เห็นแทนกันไม่ได้ ไม่ใช่ว่าเห็นด้วยตำรับตำรา ไม่ได้เห็นด้วยสัญญา แต่เห็นด้วยปัญญา คือเห็นด้วยสติกับสัมปชัญญะ เห็นมันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปต่อหน้าต่อตาของเรา ในจิตในใจของเรา เราเห็นด้วยใจของเรา เรียกว่าเห็นอนิจจัง เห็นความเปลี่ยนแปลงของรูปนาม

          ผู้ใดมีบารมีในทางทุกขังก็จะเห็นทุกขังชัด ผู้ใดมีบารมีทางอนัตตาก็จะเห็นอนัตตาชัด อันนี้มันเป็นการเห็นด้วยศรัทธาด้วยความเพียรด้วยสติด้วยสมาธิด้วยบุญวาสนาบารมีของแต่ละท่านแต่ละคน

          เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาของเรานั้นจึงเป็นพระศาสนาที่เป็นปัจจัตตัง แทงตลอดเรียนรู้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างนั้นด้วยความเป็นปัจจัตตัง ถ้าเรามีความเป็นปัจจัตตังรู้อย่างใดอย่างหนึ่งชัดแล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็เหมือนกัน ร่างกายของเราเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาอย่างไร ร่างกายของบุคคลอื่นก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเหมือนกัน

          กิเลสคือความโกรธมันเกิดขึ้นกับเราแล้วมันเดือดร้อนอย่างไร เกิดขึ้นกับบุคคลอื่นก็เหมือนกัน ราคะมันเกิดขึ้นกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างไร เมื่อเกิดขึ้นกับบุคคลนั้นมันก็เร่าร้อนทุกข์ทวีอย่างนั้นเหมือนกัน ความหลงเกิดขึ้นแก่บุคคลใดบุคคลทั้งหลายทั้งปวงก็ลุ่มหลงในรูป ในเสียงเป็นต้น เหมือนกัน

          แต่ถ้าสมาธิ วิปัสสนาญาณ มรรค ผล มันเกิดขึ้นแก่บุคคลใด บุคคลนั้นก็ย่อมได้รับความสุขตามอานุภาพของสมาธิ ตามอานุภาพของวิปัสสนาญาณ ตามอนุภาพของมรรคผลนิพพานอย่างนั้นเหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า นิพพานนั้นมีรสเดียว มีรสเค็ม          วันนี้เห็นว่าเวลาพอสมควรก็ขอกล่าวธรรมประคับประคองคณะครูบาอาจารย์เพียงเท่านี้ ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ได้ขยับขยายคลายอิริยาบถกำหนดออกเพื่อเตรียมตัวแผ่เมตตา.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ปัจจัตตัง โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
Maintenence 0 603 กระทู้ล่าสุด 01 ตุลาคม 2564 20:25:24
โดย Maintenence
พื้นฐานของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 274 กระทู้ล่าสุด 13 มีนาคม 2566 16:05:59
โดย Maintenence
เรารักษาธรรม ธรรมรักษาเรา โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 0 262 กระทู้ล่าสุด 03 พฤษภาคม 2566 17:36:55
โดย Maintenence
การประพฤติพรหมจรรย์ โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 223 กระทู้ล่าสุด 01 มิถุนายน 2566 11:42:30
โดย Maintenence
อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
Maintenence 1 206 กระทู้ล่าสุด 04 มิถุนายน 2566 15:32:49
โดย Maintenence
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.584 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 19 กุมภาพันธ์ 2567 09:09:13