[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
18 เมษายน 2567 16:09:31 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หม้อตาหม้อยาย สัญลักษณ์นับถือ-เซ่นไหว้ผีประจำตระกูลในชนโบราณที่สืบสายถึงปัจจุบัน  (อ่าน 362 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
ใบบุญ
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 12
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 2319


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 01 พฤษภาคม 2566 10:55:08 »


หม้อ หม้อตาหม้อยาย
“หม้อไหม” หม้อเซ่นไหว้ผีบรรพชนของชุมชนมอญบ้านเขาทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์


“หม้อตาหม้อยาย” สัญลักษณ์นับถือ-เซ่นไหว้ผีประจำตระกูลในชนโบราณที่สืบสายถึงปัจจุบัน

ที่มา - ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2558
ผู้เขียน - องค์ บรรจุน
เผยแพร่ - วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ.2566


แวบแรกที่ได้ยินคำว่า “ยาย” คนบ้านหนองขาวไม่ได้นึกถึง “แม่ของแม่” แต่จะนึกถึงวิญญาณบรรพชนผู้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจปกป้องดูแลลูกหลานให้มีความสุข และไม่ใช่เพียงวิญญาณต้นตระกูลทางฝ่ายหญิงเท่านั้น แม้ฟังแล้วอาจให้ความรู้สึกคล้ายสังคมผู้หญิงเป็นใหญ่ หรือมาตาธิปไตย (Matriarchy) อย่างสมัยบรรพกาลก็ตาม แต่ยายในที่นี้หมายรวมถึงวิญญาณปู่ย่าตาทวดผู้ล่วงลับทั้งข้างพ่อข้างแม่ ที่มีสถานะเป็น “สถาบัน” (Institute) ไม่จำเพาะเจาะจงใครคนใดคนหนึ่ง เพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งคำว่า “ยาย” นี้ย่นย่อมาจากคำว่า “หม้อยาย” และ “หม้อตาหม้อยาย” อีกชั้น ที่ใช้เรียกสัญลักษณ์การนับถือเซ่นไหว้ผีประจำตระกูล (Totem)

สัญลักษณ์การนับถือเซ่นไหว้ผีประจำตระกูล (Totem) ของคนบ้านหนองขาวที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณโดยมากจะเป็นหม้อดิน ที่มาของชื่อเรียก “หม้อตาหม้อยาย” ยังมีสัญลักษณ์อื่นๆ อีกบ้างไม่มากนัก เช่น ตะกร้า กระบอก ถ้วย ชาม จาน และบ้าน โดยจะเรียกชื่อสัญลักษณ์ผีประจำตระกูลของตนเหล่านี้ว่า ตะกร้ายาย กระบอกยาย ถ้วยยาย ชามยาย จานยาย และบ้านยาย เป็นต้น เป็นสัญลักษณ์ที่จะแสดงให้รู้ว่าคนผู้นั้นสืบเชื้อสายตระกูลมาจากไหน




บรรยากาศภายในชุมชนบ้านหนองขาว ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

คนบ้านหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เชื่อกันว่าพวกตนเป็นคนไทยแท้แต่โบราณ ไม่ได้อพยพมาจากไหน อยู่อาศัยกันมาที่นี่แต่โบราณ อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นคนไทยที่ไม่มีเชื้อสายคนชาติใดปน ในขณะที่นักวิชาการระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีเชื้อมอญ เพราะสำเนียงพูดเหน่อต่ำต่างจากคนท้องถิ่นเมืองกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี หรือนครปฐม ที่ต่างก็เหน่อไปคนละแบบ รวมทั้งความเชื่อเรื่อง “หม้อตาหม้อยาย” ที่คล้ายกับความเชื่อเรื่องผีบรรพชนของมอญ

สอดคล้องกับพระครูถาวรกาญจนนิมิต (จีระศักดิ์ อึ้งตระกูล) อดีตเจ้าอาวาสวัดอินทาราม ที่เชื่อว่าคนบ้านหนองขาวเป็นไทยแท้ แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมนั้นอาจเป็นมอญ เช่น การแต่งกายนาคก่อนบวช ความเชื่อเรื่อง “หม้อยาย” ซึ่งเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผีบรรพชน แต่เนื่องจากไม่หลงเหลือภาษาพูด โบราณวัตถุ และโบราณสถาน รวมทั้งเรื่องเล่าของปู่ย่าตายายที่เกี่ยวกับมอญจึงไม่สามารถสรุปให้ชัดเจนลงไปได้




วัดอินทาราม วัดประจำชุมชนบ้านหนองขาว

เป็นไปได้หรือไม่ว่าชาวบ้านหนองขาวเป็นคนไทยแท้ไม่มีการผสมกลมกลืนทางสายเลือดกับคนชาติอื่น ทั้งที่ชุมชนแห่งนี้อยู่บนเส้นทางเดินทัพแต่โบราณระหว่างหงสาวดี ด่านเจดีย์สามองค์ และกรุงศรีอยุธยา ทั้งกองทัพพม่ายกเข้าโจมตีอยุธยา และกองทัพอยุธยาโจมตีกลับ การเป็นชุมชนบนเส้นทางเดินทัพ และทางผ่านของการกวาดต้อนเชลยศึก รวมทั้งการเดินทางของพ่อค้าวาณิช นักบวช ตลอดจนชาวบ้านตามแนวชายแดนในยามว่างเว้นสงคราม จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่คนบ้านหนองขาวสามารถธำรงความเป็นชาติพันธุ์ไทยแท้บริสุทธิ์เอาไว้ได้ ทั้งที่นักวิชาการเองก็ไม่อาจให้คำจำกัดความคำว่า “ไทยแท้” ได้อย่างชัดเจน แต่การที่ไม่เคยมีเรื่องเล่าว่าปู่ย่าตายายชาวบ้านหนองขาวเป็นใคร มาจากไหน จึงทำให้คนบ้านหนองขาวยืนยันว่าตนเป็นไทยแท้

อย่างไรก็ตาม คนไทยแท้บ้านหนองขาวก็ได้ซึมซับรับเอาวัฒนธรรมของผู้คนต่างๆ ที่ผ่านไปมาบนเส้นทางเดินทัพ เส้นทางการค้า และเผยแผ่ศาสนาเข้าไว้ในตัวเอง ทั้งด้านศาสนา ภาษา ความเชื่อ การแต่งกาย และอาหารการกิน ตั้งแต่ในอดีตกระทั่งปัจจุบัน ที่ยังมีคนชาติพันธุ์อื่นเข้ามาปฏิสัมพันธ์ด้วยหลากหลายตลอดเวลา เช่น มอญ พม่า กะเหรี่ยง จีน อินเดีย และลาว




(ซ้่าย) ใต้ถุนเรือนคือที่วางตั่งนั่งสนทนา ทอผ้า และเลี้ยงหลานของผู้หญิงสูงอายุในชุมชนบ้านหนองขาว,
(ขวา) ประเพณีแห่นาคบนหลังม้าชุมชนบ้านหนองขาว


ความเป็นมาของชุมชนบ้านหนองขาวมีเรื่องเล่าร่วมสมัยกับรัชกาลพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์องค์สุดท้ายในแผ่นดินอยุธยา เมื่อพม่ายกกองทัพเข้าโจมตีจนต้องเสียกรุงเป็นครั้งที่ ๒ ขุนนางนักปราชญ์ราชบัณฑิตช่างศิลป์ไพร่บ้านพลเมืองถูกกวาดต้อนไปพม่าจำนวนมาก

ในส่วนของราษฎรบ้านดงรังและบ้านดอนกระเดื่อง (ปัจจุบันทั้ง ๒ หมู่บ้านได้รวมเป็นบ้านหนองขาว) อยู่บนเส้นทางผ่านกองทัพ ได้รวมกำลังรับมือพม่า ดังปรากฏคูรบเป็นหลักฐานให้เห็นร่องรอยการต่อสู้ในครั้งนั้น ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “ทุ่งคู” มาจนถึงในราวปี พ.ศ.๒๕๓๐ ได้มีชาวบ้านขยายพื้นที่ทำนาเข้าไปครอบคลุมพื้นที่ทุ่งคู

ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวได้ถูกไถแปรเป็นนาข้าวไปหมดสิ้น ส่วนทางทิศใต้ของบ้านหนองขาวปัจจุบัน เดิมเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านดงรัง ยังคงปรากฏซากปรักหักพังของเจดีย์ อุโบสถ พระพุทธรูป กำแพงแก้ว และใบเสมา ปัจจุบันได้รับการบูรณะเป็นวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า วัดใหญ่ดงรัง (วัดส้มใหญ่)

แม้เรื่องเล่าการมีส่วนร่วมในสงครามครั้งนั้นจะมีโครงเรื่องคล้ายวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน และมีจุดจบแบบเดียวกัน ด้วยกำลังเพียงหยิบมือจึงไม่สามารถต้านกองทัพพม่าได้ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งล้มตาย บางส่วนถูกกวาดต้อนเป็นเชลย ที่เหลือเล็ดลอดแตกฉานซ่านเซ็น บ้างหลบซ่อนตัวอยู่ตามป่าเขา และวัดวาอารามบ้านเรือนถูกเผาทำลาย




(ซ้าย) หม้อดินเสี่ยงทายในพิธีกรรม “ชักอะโลน” หรือพิธีส่งลูกสาว เพื่อส่งตุ๊กตาบอกกล่าว
พ่อปู่ประจำหมู่บ้านหลังแต่งงานออกเรือนของชาวมอญอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ,
(ขวา) ศาลพ่อแม่ (ไม้แกะสลักรูปอวัยวะเพศหญิงและชาย) ภายในชุมชนบ้านหนองขาว


ภายหลังเมื่อบ้านเมืองกลับเป็นปกติแล้ว ราษฎรทั้ง ๒ หมู่บ้านออกจากการซ่อนตัว ได้รวมกันตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ใกล้กับหนองน้ำ เรียกกันว่าหนองหญ้าดอกขาว เนื่องจากมีหญ้าออกดอกสีขาวปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำ ต่อมาชื่อหนองน้ำนั้นได้กลายเป็นชื่อหมู่บ้าน ทว่าเกิดการกร่อนเสียงเหลือเพียงบ้านหนองขาว ปัจจุบันร่องรอยของหนองน้ำแห่งนี้ยังอยู่ในหมู่ที่ ๓ บ้านหนองคอกวัว แม้หนองน้ำแห่งนี้จะถูกกลบกลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือน แต่ไม่ว่าจะถมหนองน้ำแห่งนี้อย่างไร ก็ยังมีสภาพเป็นหนองน้ำอยู่ เพราะเมื่อทิ้งไว้สักระยะหนึ่งก็มักจะมีน้ำเอ่อขึ้นมาเสมอ

บ้านหนองขาวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ กระทั่งมีคำกล่าวกันว่า “หมู่บ้านใหญ่ไก่บินไม่ตก” จึงเป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการหลายแห่ง ได้แก่ สถานีอนามัย สถานีตำรวจ และโรงเรียนประถมขนาดใหญ่ มีถนนหลวงสายสุพรรณบุรี-กาญจนบุรีตัดผ่าน เป็นเส้นทางเดินทางไปยังตัวเมืองกาญจนบุรี ที่สำคัญคือบ้านหนองขาวมีวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่น่าสนใจมากมาย เช่น การโกนจุก บวชนาค ทรงเจ้า แห่นางฟ้า สวดพระมาลัย การทำศพ การเล่นเพลงเหย่ย ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านย่านนี้ และความเชื่อเรื่องหม้อตาหม้อยาย เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องหม้อตาหม้อยายถือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านหนองขาวที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต กระทั่งเป็นจุดเด่นที่เป็นจุดแข็งทางการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งในปัจจุบัน




ชามยาย บ้านยาย และหม้อยายบนหิ้งในห้องนอนชาวชุมชนบ้านหนองขาว

การเซ่นไหว้หม้อตาหม้อยาย หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆ เป็นที่รู้กันว่า “ยาย” นั้นสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ชาวบ้านหนองขาวเชื่อว่ายายจะเป็นผู้ปกปักรักษาให้ทุกคนในบ้านมีความสุข ยายจะช่วยเหลือดูแลให้ทุกคนพ้นภยันตรายทั้งปวง ดังนั้น เมื่อลูกหลานแต่งงานและแยกครัวออกไปเป็นของตนเองก็จะต้องรับยายไปอยู่ด้วย

เมื่อแต่งงานกัน ผู้หญิงจะต้องรับผีตามฝ่ายชาย แต่ก็จะรับยายของตัวไปอยู่ด้วย โดยนำหม้อฝ่ายชายและหญิงรวมกัน (หากนับถือผีเดียวกัน) เช่น ฝ่ายชาย ๕ ใบ ฝ่ายหญิง ๔ ใบ เป็น ๙ ใบ เพิ่มของฝ่ายหญิงอีก ๑ ใบ ก็จะต้องซื้อหม้อใหม่ ๑๐ ใบ

ดังนั้น ในบางบ้านจึงอาจมีหม้อเป็นร้อยใบ เพราะเป็นตระกูลเก่าแก่สืบทอดกันมาหลายชั่วคน ในแต่ละปีก็จะต้องนำหม้อลงมาทำความสะอาด หากแตกร้าวก็ซื้อเปลี่ยนใหม่ โดยทั่วไปจะมีการเซ่นไหว้ในเดือน ๖ ของทุกปี ซึ่งตกราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม (เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คนมอญไหว้ผีบรรพชน) เครื่องเซ่นไหว้และช่วงเวลาในการเซ่นไหว้อาจไม่เหมือนและไม่ตรงกัน แล้วแต่ว่าตระกูลของใครจะทำสืบทอดกันมาอย่างไร




หม้อยาย กระบอกยาย บ้านยาย และตะกร้ายายบนหิ้งในห้องนอนชาวชุมชนบ้านหนองขาว

ในการรับยายไปอยู่ด้วยต้องเตรียมสิ่งของดังต่อไปนี้ คือ หม้อดินเท่ากับจำนวนหม้อยายของพ่อแม่  ผ้าขาวสำหรับปิดปากหม้อ ด้ายดิบสำหรับผูกปากหม้อและเชือกสำหรับแขวน ขี้ผึ้งสำหรับให้พ่อแม่ปั้นหุ่นยาย หมากพลู เท่ากับจำนวนยาย มะพร้าวเท่ากับจำนวนตะกร้า (สำหรับยายตะกร้า) ตะกร้าสาน ตามจำนวนยาย ชาม บ้านไม้ ๒ หลัง ดาบไม้ (เจว็ด) เท่ากับของพ่อแม่ หัวข้าวหัวแกง (ข้าวแกงปากหม้อตักแบ่งมาทันทีที่หุงข้าวต้มแกงสุกโดยยังไม่มีใครตักไปกินก่อน และห้ามชิมอาหารทุกชนิดที่ทำเซ่นไหว้ยายขณะปรุง เพราะจะถือว่าเป็นการกินก่อนยาย) ขนมต้มแดงต้มขาว น้ำ และดอกไม้ธูปเทียน




บ้านยาย ตะกร้ายาย หม้อยาย และเจว็ดในห้องนอนชาวชุมชนบ้านหนองขาว

กำหนดการรับยายจะทำกันในเดือน ๖ และต้องเป็นวันศุกร์ ผู้รับยายจะหาบสิ่งของต้องใช้ไปบ้านพ่อแม่ พ่อแม่จะจัดเตรียมมอบยายให้กับลูก โดยนำขี้ผึ้งปั้นเป็นรูปคนเท่าจำนวนยายใส่หม้อ ตะกร้า ชาม หรือใส่บ้าน จัดเตรียมใส่หาบให้เรียบร้อย และบอกกล่าวกับยายว่า “ปู่ย่าตายายไปอยู่กับลูกหลาน ให้ลูกหลานทำมาหากินร่ำรวย มีโชคมีลาภอยู่เย็นเป็นสุข” จากนั้นลูกจะหาบหม้อยายกลับบ้านโดยมีแม่เดินมาส่งที่บ้าน

ในระหว่างทางหากมีใครทักทายห้ามพูดคุยด้วยจนกว่าจะถึงบ้าน เมื่อถึงบ้านให้นำหม้อยายไปแขวนไว้ข้างฝาบ้านตามทิศทางที่พ่อแม่บอก เสร็จแล้วจุดเทียนและธูป ๓ ดอก บอกกล่าว “ขึ้นปีใหม่เดือนใหม่ ลูกหลานได้รับปู่ย่าตายายมาอยู่ด้วย ขอให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข” โดยจะต้องจุดธูปเทียนติดต่อกัน ๓ วัน หลังจากรับยายมาอยู่ด้วย

จากนั้นก็จะเป็นพิธีเซ่นไหว้ประจำปี โดยจะทำกันในเดือน ๖ ของทุกปี ข้าวของเครื่องใช้ประกอบด้วย บายศรีปากชาม ขนมต้มแดงต้มขาว หัวข้าวหัวแกง หมากพลู น้ำ และดอกไม้ธูปเทียน และเครื่องเซ่นไหว้ยายของแต่ละครอบครัวอาจจะแตกต่างกัน ขึ้นกับแต่ละตระกูลจะปฏิบัติกันมาดังกล่าวแล้วข้างต้น




ป้ายท่องเที่ยว “หม้อยาย” สถานที่สำคัญในรายการการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองขาว

ในการรับผียายไปอยู่ด้วย ผู้เป็นลูกจะต้องหาบไปจากบ้านพ่อแม่เท่านั้น ไม่เช่นนั้นเชื่อกันว่ายายจะไม่ไปอยู่ด้วยและจะต้องกลับมารับใหม่ ในกรณีที่บ้านอยู่ไกลก็อาจต้องทำเป็นหาบออกจากบ้านพ่อแม่เป็นพิธีแล้วนำขึ้นรถ โดยจะต้องอุ้มกระจาดไว้กับตัวตลอดทาง เมื่อใกล้ถึงบ้านจึงลงจากรถแล้วหาบเข้าบ้าน ที่สำคัญจะต้องถึงบ้านก่อนเพล ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะต้องกลับไปรับยายมาใหม่ภายหลัง

นอกจากนี้ยังเชื่อว่า ห้ามรับยายมาด้วยการใส่กระสอบ ใส่ลัง หรือภาชนะอื่นใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยายไม่ชอบและยายจะไม่มาอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์การนับถือผีประจำตระกูล (Totem) ที่ต่างกัน มีชื่อเรียกและรายละเอียดในการปฏิบัติเซ่นไหว้ยายแตกต่างกันไปด้วย นั่นคือ

ยายในหม้อ ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ โดยมากเรียกว่า “ยาย” อยู่ในหม้อดินขนาดเล็ก และมีตุ๊กตาปั้นด้วยขี้ผึ้ง ๑ ตัว ปิดฝาหม้อด้วยผ้าขาวมัดด้วยด้ายดิบ แขวนไว้บนข้างฝาในห้องนอน แต่ละบ้านจะมีหม้อไม่เท่ากัน ขึ้นกับการสืบทอดกันมาในตระกูลดังกล่าวแล้ว โดยจะต้องรับยายมาหากแยกครัวออกไปอยู่ต่างหาก ถ้ายังอยู่ในบ้านพ่อแม่ก็ไม่ต้องรับ เมื่อถึงเดือน ๖ ก่อนเข้าพรรษาจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้ยาย  และใส่หมากพลูลงหม้อหม้อละ ๑ คำ โดยจะต้องคอยเปลี่ยนหมากพลูใหม่ทุก ๖ เดือน

ยายในตะกร้า มีชื่อว่า “ยายตลับสี” อยู่ในตะกร้า ๒ ใบ ในตะกร้าใส่มะพร้าวแห้งทั้งเปลือกและมีขั้ว (เช่นเดียวกับมะพร้าวที่คนมอญเซ่นไหว้บรรพชน ซึ่งจะเรียกว่า มะพร้าวหางหนู) พร้อมเจว็ด เป็นแผ่นไม้ยาว ๑ ศอก เขียนรูปพระรามไว้ปลายไม้ จะเซ่นไหว้ในวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ ต่างจากยายอื่นๆ ในการเซ่นไหว้ทุกปีจะต้องเปลี่ยนมะพร้าวและใส่หมากพลูลงตะกร้า ๑ คำ และหากมะพร้าวนั้นงอกก็จะถือว่าลูกหลานทำมาค้าขึ้นเจริญงอกงาม เป็นนิมิตหมายที่ดี

ยายในชาม มีชื่อต่างๆ กันไป เช่น “ยายเอี้ยง” “ยายใจ” “ยายกุเลา” “ยายทอง” “แม่ย่าท้าวทอง” และ “หลวงตำรวจ” แล้วแต่ว่าตระกูลไหนนับถือสืบต่อกันมาอย่างไร ภายในชามมีเพียงรูปคนปั้นด้วยขี้ผึ้งใส่ไว้ก้นชาม ส่วนการเซ่นไหว้ประจำปีจะทำเช่นเดียวกับยายในหม้อ

บนหิ้งหรือข้างฝาห้องของแต่ละบ้านจะประกอบด้วยบ้านหลังเล็ก ๒ หลังติดกัน โดยบ้าน ๒ หลังนี้ทำขึ้นง่ายๆ จากไม้กระดาน ๒ แผ่น ประกบกันเป็นหน้าจั่ววางบนฐานไม้อีกแผ่นหนึ่ง ในบ้านแต่ละหลังมีเจว็ดและธูป ๓ ดอก เป็นที่อยู่ของ “ปู่เขียวแม่สาคู” ซึ่งมีลูกชายชื่อ “พ่อหลวงน้อย” และ “พ่อหลวงใหญ่” ปู่เขียวเป็นเทพารักษ์ของบ้านหนองขาว มีเมียมาก เมียคนอื่นๆ นอกจากแม่สาคูจะต้องอยู่ในตะกร้า เชื่อกันว่ายาย ๒ หลังนี้ดุกว่ายายอื่นๆ ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีหม้อ ๒ ใบวางคู่กันเรียกว่า “ยายตา” การเซ่นไหว้ประจำปีจะทำเช่นเดียวกับยายในหม้อ

ในวันเซ่นไหว้ยาย หากเป็น “ยายพระ” หมายถึงพ่อครูฤๅษีที่เป็นพ่อครูของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในบ้านหนองขาว ปู่เขียวเองก็ต้องเรียก “ยายพระ” ว่า “พ่อครู” ด้วย สิ่งของเซ่นไหว้นอกจากบายศรีปากชาม หมากพลู น้ำ และดอกไม้ธูปเทียนแล้ว จะต้องมีขนมเปียกปูนด้วย เมื่อเซ่นไหว้แล้ว ห้ามนำขนมเปียกปูนนั้นมากินโดยเด็ดขาด จะต้องนำไปถวายพระทั้งหมด




หม้อยาย ตะกร้ายาย เจว็ด และบ้านยาย แขวนบนผนังของชาวชุมชนบ้านหนองขาว

ในเวลาปกติ เมื่อมีการทำอาหารชนิดซึ่งเป็นที่โปรดปรานของยายก็จะต้องแบ่งไปเซ่นไหว้บอกกล่าวและเรียกให้ยายกินก่อน เช่น ยายบางบ้านชอบกินแป้งจี่ ทุกครั้งที่ทำขนมจีนก่อนจะบีบเป็นเส้น ต้องแบ่งไปปิ้งเป็นแป้งจี่ชิ้นเล็กๆ เซ่นไหว้ยายก่อนเสมอ ในกรณีที่หลงลืม การบีบเส้นขนมจีนในครั้งนั้นๆ มักจะออกมาไม่เป็นเส้น ยายบางบ้านชอบกินกระต่าย หากลูกหลานนำกระต่ายมาแกงกินในบ้านต้องให้ยายกินก่อน หากไม่แล้วลูกหลานอาจมีอันเป็นไปได้ เมื่อรู้ตัวแล้วต้องไปหากระต่ายมาแกงและนำมาให้ยายกินเพื่อเป็นการไถ่โทษ

ส่วนยายบางบ้านชอบกินเต่า คนบ้านหนองขาวรุ่นเก่าๆ เมื่อเห็นเต่าซึ่งรู้ว่ายายชอบกินทั้งที่ไม่อยากฆ่าเต่าจึงมักจะพูดว่า “เต่าเน่า เต่าเหม็น” และไล่เต่าไป แต่หากเจอแล้วเจออีกถี่ๆ แสดงว่าเป็นความต้องการของยายก็จะต้องนำเต่ามาฆ่าแกงให้ยายกินจนได้ ซึ่งความเชื่อเรื่องเต่าและการปฏิบัติต่อผีมอญที่ว่าด้วยเต่าก็เป็นแบบเดียวกับชาวบ้านหนองขาวทุกประการ

ในกรณีที่มีบุคคลภายนอกมาพักอาศัยค้างแรมด้วย ตลอดจนการจัดงานบวชงานแต่งงานศพทุกชนิดก็จะต้องจุดธูปบอกกล่าวยายเสมอ ไม่เช่นนั้นเชื่อกันว่างานที่จัดขึ้นมักจะประสบกับอุปสรรคนานาประการ

มีเรื่องเล่ากันว่า ในลูกหลานบางรายที่ออกเรือนไปโดยไม่รับยายไปอยู่ด้วยมักจะมีอันเป็นไปเสมอ เช่น คนในบ้านล้มเจ็บโดยไม่รู้สาเหตุ การทำมาหากินฝืดเคือง เป็นต้น

การนับถือผีบรรพชนหรือผีปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับเป็นความเชื่อของคนอุษาคเนย์ทั่วไป ไม่ว่าตระกูลมอญ-เขมร หรือไท-ลาว โดยเฉพาะมอญที่มีข้อสันนิษฐานบางประการว่าอาจมีความใกล้เคียงทางวัฒนธรรมกับบรรพชนชาวบ้านหนองขาว อย่างน้อยเห็นได้จากรูปแบบการนับถือผี การใช้หม้อดินเผาเป็นสัญลักษณ์ในผีมอญบางกลุ่มในจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท และนครนายก

คนมอญในบางชุมชนเห็นว่าการนับถือผีบรรพชนเป็นภาระที่หนักด้วยมีข้อปฏิบัติละเอียดปลีกย่อยต้องระมัดระวังมาก รวมทั้งบทลงโทษที่รุนแรงเมื่อฝ่าฝืน ขณะที่คนบ้านหนองขาวมีทัศนคติเกี่ยวกับผีบรรพชนหรือยายว่า “ยาย” เป็นผู้ปกป้องดูแลลูกหลานมากกว่าที่จะเป็นภาระให้ลูกหลานต้องดูแล “ยาย” อย่างไรเสีย “ยาย” ที่ดูเหมือนสิ่งนามธรรม ก็ดูจะเป็นรูปธรรมที่เห็นได้จากการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ย่อมแสดงว่าประโยชน์ (Function) ทางสังคมของ “ยาย” ยังคงอยู่

โดยเฉพาะการคงอยู่ที่หมายถึงการพิจารณาอย่างเท่าทันและเลือกรับประโยชน์จาก “ยาย” อย่างสร้างสรรค์

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 พฤษภาคม 2566 10:58:46 โดย ใบบุญ » บันทึกการเข้า
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.549 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 06 พฤศจิกายน 2566 12:01:36