ประกาศเลิกใช้ธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ ยุคเงินเฟ้อ ใครถือไว้มีค่าแค่เป็นเงินฝาก

(1/1)

Kimleng:
Tweet







ประกาศเลิกใช้ธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ ยุคเงินเฟ้อ! ใครถือไว้มีค่าแค่เป็นเงินฝาก!!

ไม่น่าเชื่อว่าในยุคแรกที่เราเริ่มใช้ธนบัตรสมัยรัชกาลที่ ๕ เรามีธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาทออกใช้กันแล้ว ซึ่ง ๑,๐๐๐ บาทในยุคนั้นนับว่ามีค่ามหาศาล เพราะในสมัยรัชกาลที่ ๘ มีข้อมูลว่า ข้าราชการระดับอธิบดียังมีเงินเดือนเพียง ๖๐๐ บาทเท่านั้น และยังพิมพ์ใช้ตลอดมาทุกรัชกาลจนถึงปัจจุบัน แสดงว่าธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาทใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ไม่ใช่พิมพ์มาโชว์เล่นโก้ๆ

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการให้ตรา “พระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.๑๒๑” ให้ธนบัตรใช้แทนเงินเพื่อสะดวกต่อการนับและพกพาของประชาชน โดยธนบัตรรุ่นแรกได้สั่งพิมพ์มาจากบริษัทโทมัส เดอ ลา รู ประเทศอังกฤษ มีราคา ๑, ๕, ๑๐, ๒๐, ๕๐, ๑๐๐ และ ๑,๐๐๐ บาท เป็นธนบัตรแบบพิมพ์หน้าเดียว เริ่มออกใช้ในวันที่ ๗ กันยายน ๒๔๕๕

จนในปี ๒๔๘๘ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลได้ประกาศโดยไม่ให้เวลาตั้งตัวว่า ให้ยกเลิกการใช้ธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาท ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ตามกฎหมายได้ต่อไป แต่ผู้ที่ครอบครองสามารถนำไปจดทะเบียนที่คลังทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อขอเปลี่ยนเป็น “พันธบัตรออมทรัพย์” มีดอกเบี้ยปลอบใจให้ร้อยละ ๑ ต่อปี และจะไถ่ถอนไม่ได้จนกว่าจะครบระยะเวลา ๑ ปี

ทั้งนี้ในระยะสงครามมหาเอเชียบูรพา ไทยต้องเผชิญปัญหาการเงินอย่างหนัก โดยญี่ปุ่นมหามิตรได้บังคับให้ประกาศลดค่าเงินบาทลงเท่ากับเงินเยน จากอัตราแลกเปลี่ยน ๑๕๕.๗๐ เยนต่อ ๑๐๐ บาท เหลือ ๑๐๐ เยนต่อ ๑๐๐ บาท ทำให้ค่าเงินบาทลดลงประมาณ ๓๖ เปอร์เซ็นต์ โดยญี่ปุ่นจะชดเชยลดค่าเงินเปียส์ของอินโดจีนซึ่งมีราคาสูงกว่าไทยให้เท่ากับเงินบาทด้วย ซึ่งก็เท่ากับลดค่าเงินเปียส์ให้เท่ากับเงินเยนแบบเงินบาทนั่นแหละ

อีกทั้งญี่ปุ่นจะขอพิมพ์ธนบัตรไทยเพื่อใช้ในการทหารเอง แต่ไทยไม่ยอม ขอเป็นพิมพ์เองแล้วให้ญี่ปุ่นกู้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพิมพ์ธนบัตรออกมาเพื่อชดเชยกับค่าเงินที่ลดลงไปแล้ว ยังต้องพิมพ์ธนบัตรให้ญี่ปุ่นใช้ในกิจการสงครามในประเทศไทยด้วย ทำให้ประเทศไทยมีปริมาณเงินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในระยะเวลาไม่ถึง ๓ ปี อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยพุ่งขึ้นถึง ๑๐ เท่า ราคาน้ำตาลทรายในปี ๒๔๘๘ สูงกว่าตอนก่อนเกิดสงครามถึง ๓๙ เท่า เหล็กกล้าสูงขึ้น ๖๙ เท่า ผ้าฝ้ายสูงขึ้น ๔๓ เท่า

ทั้งนี้เพราะสินค้าที่เคยมาจากยุโรปอเมริกามาไม่ได้เลย อีกทั้งสินค้าที่อยู่ในโกดังก็ถูกญี่ปุ่นยึดเอาไปหมด ถือเป็นทรัพย์สินของชาติศัตรู เครื่องอุปโภคบริโภคหลายอย่างจึงขาดตลาด ส่วนจังหวัดที่อยู่ห่างไกลออกไปยิ่งประสพปัญหาหนัก การขนส่งติดขัดเพราะญี่ปุ่นเอารถไฟไปขนทหารและยุทธปัจจัยหมด ทำให้สินค้าแพงกว่ากรุงเทพฯยิ่งขึ้นไปอีก อย่างในปี ๒๔๘๗ ราคาเกลือในกรุงเทพฯถังละ ๖ บาท แต่ที่ลำปางถังละ ๑๐๐-๑๒๐ บาท ซ้ำยังมีพ่อค้าฉวยโอกาสกักตุนสินค้าเพื่อขึ้นราคา รัฐบาลจึงใช้กฎหมายเข้าควบคุม กำหนดให้ผู้มีสิ่งของไว้เพื่อจำหน่ายจะต้องรายงานปริมาณสินค้าไปยังอำเภอ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทหรือจำคุกไม่เกิน ๕ ปี แต่ก็ยังมีคนกล้าเสี่ยงหวังเป็นเศรษฐีสงคราม จึงต้องเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน ๒๐ ปี หรือตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถแก้ความทุกข์ยากให้ประชาชนได้ เพราะต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่สงคราม

ในปลายสงคราม เมื่อกลุ่มเสรีไทยวางแผนโค่นจอมพล ป.พิบูลสงครามให้ได้ก่อนสงครามสงบ เพื่อไม่ให้ไทยต้องตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม และได้ชักชวน ส.ส.ที่เห็นแก่ประเทศชาติรวมหัวกันคว่ำพระราชกำหนดพุทธมณฑลบุรีที่รัฐบาลเสนอต่อสภา ทำให้จอมพล ป.ต้องลาออก นายควง อภัยวงศ์เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตอบกระทู้ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า “...ภาวะการเงินของเราเวลานี้ เปรียบเหมือนคนไข้หนัก การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องใช้การผ่าตัด...”

การผ่าตัดครั้งนี้ก็คือยกเลิกการใช้ธนบัตรใบละ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งเรียกว่าวิธี “แช่เย็นธนบัตร” ดึงเงินในมือประชาชนออกจากระบบไปเก็บไว้ได้ ๓๗๑.๕ ล้านบาท และยังยับยั้งการซื้อสินค้ากักตุนเพื่อเก็งกำไร เป็นผลให้ราคาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมีราคาลดลงบ้าง แต่กระนั้นก็ยังไม่หมดปัญหา เพราะตราบที่สงครามยังไม่เลิก ก็ต้องพิมพ์ธนบัตรให้ญี่ปุ่นใช้จนเงินเฟ้อต่อไป

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตรา “พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๘๙” ให้รัฐบาลมีอำนาจเข้ากำกับการประกอบกิจธนาคารเป็นครั้งแรก กำหนดให้ทุกธนาคารจะต้องตั้งเงินสดสำรองไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของเงินฝาก และอย่างน้อยร้อยละ ๑๐ ต้องนำไปฝากไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ป้องกันไม่ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ออกไปหมุนเวียนในระบบมากเกินไป

นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์การแก้ปัญหาการเงินในยุคที่ย่ำแย่ที่สุดของไทย ก่อนที่จะกลับมาสู่ความมั่นคงทางการเงินในวันนี้

ขอขอบคุณที่มา (เรื่อง/ภาพ) : เพจ มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ