ทรงมหาดไทย (ทรงผมตามประเพณีโบราณ) : สยามในอดีต

(1/1)

Kimleng:
Tweet



ทรงมหาดไทย (ทรงผมตามประเพณีโบราณ)



เพจ “มหาดไทยชวนรู้” ของกระทรวงมหาดไทย ได้ชวนรู้ที่มาของ “ทรงผมมหาดไทย” ทรงผมยอมฮิตหลายศตวรรษของคนไทยในอดีต โดยอ้างข้อเขียนของ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยว่า ทรงผมนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ซึ่งพระนามของพระเจ้าแผ่นดินก็ดี สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นล้วนเกี่ยวพันกับพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์อุทัยทั้งนั้น

กษัตริย์พระองค์แรกยังทรงพระนามว่า ศรีอินทราทิตย์ เมืองหลวงก็มีนามว่า สุโขทัย มาจากคำว่า สุข + อุทัย และพระนามของกษัตริย์ต่อมา คือ เลอไทย ลิไทย ไสยลือไทย ก็ล้วนมาจากคำว่า “อุทัย” ทั้งสิ้น

ส่วนที่เกี่ยวกับทรงผมก็คือ เมื่อคนไทยถอยร่นลงมาจากดินแดนที่เป็นประเทศจีนในขณะนี้ ต่างไว้ผมยาวเกล้ามวยทั้งชายหญิงเหมือนกับคนจีนในยุคนั้น แต่เมื่อมาตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นก็เปลี่ยนทรงผมใหม่เป็นวงกลมกลางกระหม่อม โกนรอบข้างจนเกรียน ทำให้ผมตรงกลางมีรูปเหมือนพระอาทิตย์ และเรียกชื่อผมทรงที่ตัดใหม่นี้ว่า “มหาอุไทย”

นานไปการเขียนสระอุ ก็กลายเป็น ฤ กลายเป็น “มหาฤทัย” ต่อไปเขียน ฤ เป็น ฎ เลยกลายเป็น “มหาฎไทย” ก่อนจะมาใช้ ด แทน เลยกลายเป็น “มหาดไทย” อย่างในทุกวันนี้

“ทรงมหาดไทย” เป็นทรงผมตามประเพณีโบราณ เรียกกันอีกอย่างว่า “ทรงหลักแจว”  คือ ผู้ชาย จะโกนผมรอบศรีษะเกลี้ยง เว้นตรงกลางศีรษะ ปล่อยผมไว้ให้ยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร แล้วจึงหวีหรือแต่งทรงผมที่ยาวตามแต่จะเห็นงาม ส่วนมากผู้ชายที่ไว้ผมทรงมหาดไทยจะแสกกลาง ตกแต่งให้อยู่ทรงด้วยวิธี “จับเขม่า”

ผู้หญิง จะไว้ผมที่เรียกว่า “ผมปีก” มีลักษณะคล้ายผู้ชาย คือ ไว้ผมยาวกลางศีรษะ ถอนไรผมเป็นวงรอบปอยผมยาวนั้น ส่วนรอบศีรษะแทนที่จะโกลนเกลี้ยง ก็ไว้ผมคลุม บางยุคอาจไว้ยาวประบ่า บางยุคก็ตัดสั้น บางยุคเป็นพู่อยู่ริมหู สำหรับเกี่ยวดอกไม้หรือประดับผมอื่นๆ เรียกผมทรงชนิดว่าว่า “ผมทัด”

ทรงผมดังกล่าวเป็นทรงผมของคนไทยมาแต่โบราณจนยึดถือกันเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ และทรงผมมหาดไทยได้เริ่มหมดความนิยมไปหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๑๓ ทรงประกาศให้เลิกไว้ผมทรงมหาดไทยมาเป็นไว้ผมยาวแบบฝรั่ง ทรงให้เหตุผลว่าทรงมหาดไทยอย่างโบราณทำให้ฝรั่งดูหมิ่นคนไทยว่าเป็นค่านิยมล้าหลังและป่าเถื่อน

เมื่อทรงเริ่มไว้ผมยาวตามแบบฝรั่งด้วยพระองค์เอง พระเจ้าน้องยาเธอและข้าราชการที่มีอายุใกล้ชิดกับพระองค์จึงพากันเปลี่ยนทรงผมตามพระราชนิยม ส่วนข้าราชสำนักที่มีอายุมากก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตามอย่างช้าๆ เกิดทรงผมแบบครึ่งๆ กลางๆ ขึ้น คือ ตัดผมรอบศีรษะให้สั้น ไว้ผมข้างบนยาวคล้ายผมทรงมหาดไทยเดิม เรียกผมทรงนี้ว่า “ผมรองทรง” อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้นิยมไว้ผมแบบฝรั่งมากขึ้น ผมทรงนี้จึงกลายเป็นผมทรงปกติในเวลาต่อมา

ข้อมูลจาก  - เพจ หอยสังข์ สำนักประชาสัมพันธ์ เขต ๑ กรมประชาสัมพันธ์
             - เว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์
ภาพจากหนังสือ The Country and People of Siam โดย Karl Döhring

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ