[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
28 เมษายน 2567 04:21:57 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ชัมบาลา: พุทธธรรมโลกวิสัย (โอม มณีปัทเมหุม เขียน )  (อ่าน 123 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5068


ระบบปฏิบัติการ:
Linux Linux
เวบเบราเซอร์:
Chrome 104.0.0.0 Chrome 104.0.0.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 21 ธันวาคม 2566 17:47:20 »

ชัมบาลา: พุทธธรรมโลกวิสัย

โอม มณีปัทเมหุม เขียน



ในสังคมสมัยใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม วัตถุนิยม และความรู้เชิงเหตุผล พลังศาสนธรรมมักถูกตั้งคำถามว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์หรือไม่? อดีตสอนเราว่า ศาสนาไม่ได้ช่วยให้คนเป็นคนดีและไม่จำเป็นต้องช่วยปลดปล่อยมนุษย์เสมอไป เพราะบางทีศาสนาก็มอมเมา กดขี่ ทำให้คนโง่เขลาดักดาน ศาสนาเป็นชนวนก่อสงครามและความรุนแรงต่อมนุษย์ด้วยกันเองในหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะเมื่อศาสนาพัฒนาไปสู่ “ความเชื่อหนึ่งเดียวสูงสุด” ที่ไม่อาจถูกตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ เมื่อใดที่สถานะความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันศาสนาถูกผูกเข้ากับสถาบันทางการเมือง ก็ยิ่งทำให้ศาสนากลายเป็นอาวุธพลานุภาพสูงของชนชั้นมีอำนาจ

อีกด้าน การพยายามทำให้ศาสนาย้อนกลับไปหาความดั้งเดิมเพียวบริสุทธิ์ ก็ดูน่ากลัวไม่แพ้กัน เมื่อเข้ากับสังคมสมัยใหม่ไม่ได้ การพยายามแยกตัวออก เพื่อคงไว้ซึ่งสังคมอุดมคติแบบศาสนา อย่างน้อยก็ทำให้ศาสนามีที่ทางของตัวเอง ตามโลกไม่ทัน ก็ช่างโลกมันปะไร …มันจะไม่มีปัญหาอะไรเลย หากรัฐไม่ยกศาสนานั้นๆ ให้เป็นศาสนาของรัฐที่มีอำนาจและบทบาทมากกว่าศาสนาอื่น กระทั่งอุดมคติอนุรักษ์นิยมแบบถอยหนีจากโลกกลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองหลักที่ถูกสนับสนุนด้วยความเชื่อทางศาสนา กระทั่งประชาชนถูกหลอกว่า โลกสมัยใหม่เป็นภัย และไม่ใช่ความจริง…

แล้วมันจะมีไหม ศาสนาที่คุยกับโลกสมัยใหม่รู้เรื่อง? ศาสนาที่มีเหตุมีผลและโลดแล่นบนการแข่งขันเสรีของโลกทุนนิยมได้? ความเป็นไปได้เกิดขึ้นจากการลงมาคลุกคลีและสัมพันธ์กับบริบทใหม่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “การกำเนิดเกิดใหม่” ที่พร้อมจะถอดความเป็นศาสนาแบบเดิมๆ อันเทอะทะทิ้ง

ทิเบตน่าสนใจตรงนี้ สถานการณ์ทำให้พุทธศาสนาทิเบตจำต้องเคลื่อนย้ายจากโลกก่อนสมัยใหม่สู่โลกสมัยใหม่อย่างไม่ทันตั้งตัว ด้วยความที่คนทิเบตต้องหนีตาย ไม่มีบ้านให้กลับ พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกที่จะถอยหนีจากโลกสมัยใหม่มากนัก

ตรุงปะ รินโปเช เคยกล่าวไว้ว่า “เราต้องขอบคุณกองทัพจีน ถ้าทิเบตไม่โดนจีนบุก พุทธศาสนาก็จะยิ่ง corrupt เละเทะ ใน bubble ที่ลอยตัวอยู่เหนือความเปลี่ยนแปลงของโลกนั่นแหละ”

“โลกวิสัย” คือดินแดนแห่งใหม่ที่ทิเบตเดินทางเข้าไปพึ่งพิง การเคร่งศาสนาไม่ใช่เรื่องคูลในดินแดนแห่งนี้ เผลอๆ พล่ามเรื่องศาสนามากไปอาจกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจด้วยซ้ำ ชีวิตโลกย์ๆ สำคัญกว่าชีวิตทางธรรม (จึงเรียกว่าโลกวิสัย) ฆราวาสสำคัญกว่านักบวช (จึงเรียกว่า ฆราวาสวิสัย)  มันคือดินแดนที่ศาสนาถูกกำหนดให้ปรับตัว ลดทอนสถานะอำนาจของตนลง เพื่อมาสัมพันธ์กับโลกอย่างเท่าเทียม




ประวัติศาสตร์และที่มาของ “ชัมบาลา”  

“ชัมบาลา” คือดินแดนในตำนาน เรื่องเล่าขานถึงสังคมในอุดมคติ ที่ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกนำไปปฏิบัติจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตการอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข จะว่าไปตำนานแบบนี้เราก็เคยได้ยินกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น “โลกพระศรีอาริย์” “สุขาวดี” หรือกระทั่ง “นิพพาน” เอง ที่นอกจากสะท้อนถึงเป้าหมายทางศาสนา ยังมีภาพอุดมคติเป็นดินแดนที่ผู้ศรัทธาใฝ่ฝันจะไปถึง

ตำนานชัมบาลาสามารถย้อนกลับไปยังสมัยพุทธกาล ว่ากันว่าคำสอนนี้ถูกถ่ายทอดโดย ศายมุนีพุทธะ ต่อกษัตริย์อินเดียองค์หนึ่งชื่อ “ดาวา ซังโป” กษัตริย์องค์นี้ได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธะ จึงถามท่านว่ามีคำสอนใดที่จะนำเขาไปสู่การรู้แจ้งโดยสมบูรณ์ โดยที่เขายังสามารถใช้ชีวิตเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง อย่างที่เป็นอยู่นี้ได้หรือไม่?

พระพุทธะพยักหน้า แต่ก่อนที่เขาจะถ่ายทอดคำสอนนั้นต่อดาวา ซังโป ภิกษุทุกรูปถูกเชิญให้ออกจากห้อง และคำสอนที่มีชื่อว่า “กาลจักรตันตระ” ก็ได้ถูกถ่ายทอดตัวต่อตัว ระหว่างพระพุทธเจ้ากับกษัตริย์ดาวา ซังโป นั่นเอง

คำสอนชัมบาลามีที่มาจากคำสอนกาลจักรตันตระที่กษัตริย์ดาวา ซังโปได้รับ ตำนานกล่าวต่อว่า ดาวา ซังโป นำคำสอนดังกล่าวไปปฏิบัติจนรู้แจ้ง และอาณาจักรของเขาพบแต่สันติสุข ผู้คนเคารพกันและกันบนพื้นฐานของความเมตตากรุณาและการเคารพซึ่งกันและกัน สังคมดังกล่าวถูกแปรเปลี่ยนไปสู่อีกมิติหนึ่งของความจริงแท้ และในตำนานบอกว่าชัมบาลายังคงดำรงอยู่ที่ไหนสักแห่งในเทือกเขาหิมาลัย
 

มิติทางสังคมของชัมบาลา

ความน่าสนใจของตำนานของชัมบาลา ไม่ได้อยู่ที่การมีกษัตริย์เป็นตัวเอกของเรื่อง (ซึ่งในแง่นึงภาพและตำนานธรรมราชาลักษณะนี้ ก็มีให้ได้ฟังบ่อยๆ อยู่แล้ว) แต่อยู่ที่คำถามพื้นฐานที่ว่า “จะเป็นไปได้ไหมที่ฉันจะปฏิบัติพุทธธรรมในชีวิตโลกย์ๆ แบบที่เป็น?” แทนที่จะถูกเรียกร้องให้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตไปสู่ความเป็นนักบวชและปฏิเสธความจริงแบบโลกย์ๆ ว่าไม่ใช่ความจริงแท้ เราจะสามารถเข้าสู่สัจธรรมในการใช้ชีวิตทุกๆ แบบในแบบที่เป็นได้หรือไม่?  เราจะสามารถปฏิบัติคำสอนสูงสุดโดยไม่ต้องหลีกเร้นไปจากโลกที่เรามีชีวิตอยู่ได้หรือไม่? คำถามเหล่านี้น่าจะเป็นคำถามท้าทายต่อพุทธศาสนา และเป็นคำถามที่ดูจะสอดคล้องกับความเป็นสมัยใหม่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ไม่ว่าเราจะมองตำนานชัมบาลาว่าเป็นแค่เรื่องขานหรือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงก็ตาม สิ่งสำคัญที่ตำนานนี้ต้องการจะสื่อก็คือ “ความเป็นได้” ที่การเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกในระดับสังคมสามารถเกิดขึ้นได้ นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นว่าแนวคิดแบบ secular enlightenment นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ เชอเกียม ตรุงปะ ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ แต่เป็นคำสอนที่มีที่มาทางประวัติศาสตร์ที่สามารถย้อนกลับไปถึงสมัยพุทธกาล

คำสอนชัมบาลาพูดถึงความใฝ่ฝันที่จะเห็นสังคมอุดมคติ ซึ่งทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจตามมาก็คือ เราจะตีความคำสอนพุทธศาสนาไปสู่อุดมคตินั้นอย่างไร??  เราต่างเคยได้ยินถึงการพยายามตีความพุทธศาสนาให้มาสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ศีลธรรมพุทธ การศึกษาแนวพุทธ การออกกฏหมายห้ามดื่มเหล้า ค่านิยมเรื่องความดี คนดี ธรรมาธิปไตย เผด็จการโดยธรรม ฯลฯ

สังคมในอุดมคติแบบพุทธคือสังคมที่ทุกคนเข้าวัด ทำบุญ อย่างนั้นหรือไม่?
สังคมในอุดมคติแบบพุทธคือสังคมที่ทุกคนปฏิบัติธรรม ฝึกสติอยู่เสมออย่างนั้นหรือเปล่า?

หากการนำอุดมคติดังกล่าวไปปฏิบัติ หมายถึงการที่อำนาจรัฐออกกฏหมายบังคับให้คนปฏิบัติตาม การควบคุมบังคับทางศีลธรรมดังกล่าวจะยังได้ชื่อว่าเป็นกระบวนการที่นำไปสู่อุดมคติแบบพุทธหรือไม่???? อันนี้เป็นคำถามที่น่าสงสัยอยู่ไม่น้อย

ความดีพื้นฐาน  (ฺBASIC GOODNESS: The First Principle of Shambhala)

หลักการข้อแรกของสังคมในอุดมคติแบบชัมบาลา คือ ผู้คนไม่กลัวที่จะเป็นตัวเอง พื้นฐานคำสอนตั้งอยู่บนการตระหนักรูัในธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์และสรรพสิ่งที่เรียกว่า BASIC GOODNESS หรือ “ความดีพื้นฐาน”

เราสามารถเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ความเป็นมนุษย์ที่โดยปกติแล้วมีสติปัญญา มีความรักความกรุณา และมีความเป็นปกติสุขในจิตใจอยู่เป็นพื้นฐาน เราไม่จำเป็นต้องไปมองหาหรือออกตามหาที่ไหน เพราะธรรมชาติดังกล่าวมีอยู่ในตัวคนทุกคนอยู่แล้ว อีกทั้งไม่มีสิ่งใดจะมาทำลายหรือขโมยธรรมชาติพื้นฐานอันนี้จากเราไปได้

โอเค… ชัมบาลาไม่ใช่สังคม “แนวพุทธ” แบบที่เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ (อย่างหมู่บ้านศีล ๕ )  ณ ตรงนี้ จุดเริ่มต้นคือมุมมองที่ว่า มนุษย์นั้นดีโดยพื้นฐาน ดังนั้นเราจึงสามารถให้อิสระทุกคนที่จะเป็นตัวเอง มิติทางสังคมของชัมบาลาไม่ใช่การสร้างความรู้สึกผิดหรือความกลัว แต่คือการสร้างพื้นที่ของการเคารพ “สิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น” โดยมองเห็นถึงคุณค่าของการมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นในแบบของมัน

แทนที่จะมองว่าความดีคืออุดมคติบางอย่าง และคนดีสามารถอ้างความดีเพื่อใช้ในการควบคุมคนเพื่อบรรลุถึงอุดมคติของตนได้ ชัมบาลารื้อถอนมายาคติของสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวดังกล่าว และตระหนักว่าคนทุกคนนั้นมีธรรมชาติพื้นฐานที่ควรค่าแก่การเคารพ



Empowerment : การตระหนักถึงพลังอำนาจภายใน

ธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีอยู่แล้วโดยพื้นฐาน คำสอนศาสนาเพียงเข้ามาชี้ให้ตระหนักและเชื่อมั่นในศักยภาพนั้น ศาสนาไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอนให้มนุษย์มองเห็นความชั่วร้ายเป็นธรรมชาติพื้นฐานแล้วให้มนุษย์มีศาสนาเพื่อที่จะถูกช่วยให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายนั้น โอ้.. หรือนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของคุณค่าศาสนธรรมที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ก็เป็นได้

ง่ายมาก ที่เราจะตกสู่กับดักของ Guilt หรือความรู้สึกผิดที่ศาสนามอบให้ เรารู้สึกว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์ “เป็นบาป” การมีอารมณ์ทางเพศ “เป็นบาป” การไม่เชื่อฟังพ่อแม่ “เป็นบาป” ฯลฯ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์ข้อผิดพลาดในชีวิตอื่นๆ ที่ไม่อาจให้อภัยตัวเองได้จาก “บาปกรรม” ที่ตนเคยกระทำมาในอดีต

สังคมที่มีศาสนาเป็นความเชื่อหลักมาเป็นเวลายาวนาน ได้ใช้อำนาจศาสนาลักษณะนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครอง มนุษย์เกิดมาไม่สมบูรณ์และมีบาปติดตัว ดังนั้นมนุษย์จึงต้องมีศาสนา คนไม่มีศาสนาเป็นคนไม่ดี การมีศาสนาช่วยขัดเกลาให้มนุษย์เป็นคนดีและปกครองได้ คำว่า “อิสรภาพ” จึงเป็นคำที่อันตราย เพราะการให้อิสรภาพคือการให้อิสระแก่กิเลสตัณหา และศาสนาต้องทำหน้าที่ควบคุมสัญชาตญาณอันชั่วร้ายของมนุษย์

เมื่อเป็นเสียแบบนี้ เราก็มอบ inner authority ให้นักบวชทางศาสนาไปจนหมด ศาสนาไม่เคยบอกว่าเราสามารถเป็นตัวเองหรือรักตัวเองอย่างที่เป็นได้



จริงอยู่ที่มนุษย์มีกิเลสตัณหา มีความต้องการ ความอยาก ซึ่งนำเราไปสู่ปัญหาและความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด…

กระนั้นชัมบาลาก็ยืนยันว่า กิเลสตัณหาหรือความสับสนเหล่านั้นไม่อาจทำให้ธรรมชาติของความดีพื้นฐานในตัวคนเราแปรเปลี่ยนไปได้ มันเป็นเพียงแค่เมฆหมอกที่มาบดบังแสงอาทิตย์ชั่วคราว ทว่าผืนฟ้าหรือดวงอาทิตย์ก็จะคงอยู่ตรงนั้นเสมอไม่ไปไหน

การฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณคือการฝึกฝนให้เรามีความเชื่อมั่นในธรรมชาติความดีพื้นฐานนั้นที่มีอยู่ในตัวเรา “อยู่แล้ว”…

แทนที่เราจะมองว่าการปฏิบัติทางจิตวิญญาณเป็นไปเพื่อ “แก้” หรือ “เปลี่ยน” นิสัยหรือสิ่งที่ไม่ดีในตัวเราเพื่อให้เรากลายเป็นคนที่ “ดีขึ้น” เรากลับให้พื้นที่สำหรับการยอมรับและทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่เป็น ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความโกรธ ความอยาก อารมณ์หรือสภาวะจิตต่างๆ โดยที่ผลลัพธ์ของการปฏิบัติยิ่งทำให้เราเชื่อมั่นว่าโดยพื้นฐานแล้วมีท้องฟ้าอันกว้างใหญ่และดวงอาทิตย์ส่องสว่างอยู่หลังเมฆหมอกเสมอ…

การปฏิบัติทางจิตวิญญาณเพื่อเข้าถึง BASIC GOODNESS ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน เพราะความไม่ไว้วางใจในธรรมชาติของมนุษย์นี่เองที่ทำให้เราต้องใช้กำลัง ควบคุม ออกคำสั่ง หรือกดขี่มนุษย์ด้วยกัน เพื่อเป้าหมายของการปกครองสังคมให้มีสันติสุข พื้นฐานของการฝึกใจเพื่อการเข้าถึงความดีอันเป็นสากลของมนุษยชาติส่งผลต่อความเปิดกว้างและการเปิดใจที่เราสามารถมีต่อกันได้ และนั่นคือหัวใจของมนุษย์ที่มีศักยภาพที่จะรัก

ความอยากที่จะออกจากปัญหา แก้ไขตัวเอง แก้ไขคนอื่น หรือความหวังที่จะพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนดีขึ้น คือตัวอย่างของความคิดที่จำเป็นจะต้องถูกปล่อยวางในการฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณ เราไม่จำเป็นต้องพยายามทำให้ตัวเองเป็นคนพิเศษหรือทำให้มีประสบการณ์ที่พิเศษเกิดขึ้นในการภาวนา ทว่าด้วยความเต็มใจที่จะ “ปล่อย” และ “stay present” หรืออยู่ตรงนั้นกับตัวเอง อย่างปราศจากเป้าหมายหรือสิ่งเร้าใจ นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการมีประสบการณ์ของการเป็นตัวเองอย่างแท้จริง

การพัฒนาความอ่อนโยนกับตัวเองทำให้เรามองเห็นทั้งปัญหาและศักยภาพของเรา เราไม่จำเป็นต้องเพิกเฉยปัญหาหรืออวดโอ่ศักยภาพที่มีเกินจริง ความสามารถในการอ่อนโยนกับตัวเองและชื่นชมสิ่งที่เราเป็นได้เสมอ เป็นพื้นฐานที่จำเป็นมากๆ ต่อการช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น




ความจริงแท้ในตนเอง

การปฏิบัติทางจิตวิญญาณบนหลักความดีพื้นฐานไม่ได้เรียกร้องให้เรา “เป็นคนดี” หรือ “เป็นคนดีขึ้น” แต่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความจริงแท้ในตนเอง” (Authenticity)  ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความกล้าอย่างมาก ในทุกลมหายใจเข้าออก เราพร้อมที่จะเปิดต่อทุกสภาวะจิต ทุกอารมณ์ ทุกความคิดที่ผ่านเข้ามา เรานั่งเฉยๆ และทำความรู้จักมันอย่างที่เป็น พร้อมที่จะปล่อยให้มันเป็นไป แล้วกลับมาอยู่กับร่างกายและลมหายใจอีกครั้ง ความกล้ายังสะท้อนอยู่ในความเต็มใจที่จะปล่อยวางจากการยึดมั่นทางความคิดทั้งหลาย ทั้งที่เรามีต่อโลกและต่อตัวเราเองอีกด้วย

ความกล้าที่จะยอมให้โลกเข้ามาสัมผัสใจเราอย่างไม่ต่อต้านขัดขืน คือหนทางแห่งนักรบชัมบาลา โดยปกติแล้ว ความกลัวได้สร้างโลกจากการยึดมั่นทางความคิด เราสร้างโลกในหัวจาก conceptual framework  ซึ่งซ้อนทับโลกแห่งความเป็นจริงอยู่อีกชั้นหนึ่ง เราไม่ต้องการสัมพันธ์กับโลกที่มีชีวิตเพราะมันคาดไม่ถึง เดาไม่ได้ แล้วกลไกดังกล่าวก็ย้อนกลับมาเราใช้ชีวิตอย่างน่าเบื่อหน่าย จำเจ ซังกะตาย จากการพยายามควบคุมบงการให้โลกเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น

ยิ่งทำเช่นนี้ เราก็ยิ่งค้นพบว่าเราต้องเผชิญหน้ากับความกลัวภายใน เป็นความกลัวต่อ unknown หรือความไม่รู้ ผลของการปฏิบัติภาวนาจะนำพาเราไปสู่โลกอีกแบบนึง เป็นโลกที่ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยความหวังและความกลัว หรือความเคยชิน สำหรับอัตตา unknown เป็นสิ่งที่น่าหวั่นกลัว แต่สำหรับนักรบชัมบาลา ความกล้าที่จะสัมพันธ์กับ unknown นำไปสู่โลกแห่งการตื่นรู้และอิสรภาพ  

หนทางอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนักรบ

วิสัยทัศน์แห่งชัมบาลาสะท้อนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้ฝึกตนที่เชื่อมั่นในความดีพื้นฐานของมนุษย์ พวกเขาไม่กลัวที่จะเป็นตัวเองและมีความจริงแท้ต่อทุกประสบการณ์อย่างเปลือยเปล่า เราเรียกผู้คนที่มีความจริงแท้ในตัวเองเช่นนี้ว่า “นักรบ” ไม่ใช่นักรบที่ใช้ความรุนแรงหรือเอาอาวุธไปสู้รบกับใคร แต่มีความอ่อนโยนและกล้าหาญในการเผชิญตัวเองอย่างถึงที่สุด และด้วยความจริงแท้นี่เองที่ทำให้นักรบชัมบาลามีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยู่

การสัมพันธ์กับสถานการณ์ชีวิตบนพื้นฐานของการเปิดใจต่อ unknown ทำให้นักรบชัมบาลาค้นพบเวทมนตร์ “MAGIC” ซึ่งเป็นธรรมชาติอีกประการหนึ่งของสังคมแห่งการตื่นรู้ เมื่อเปิดใจ เราก็ค้นพบความเป็นไปได้ในทุกสถานการณ์ที่เปิดกว้างไปพร้อมๆ กัน ราวกับมีเวทมนตร์หรือความมหัศจรรย์เกินกว่าที่จะคาดคิดได้ล่วงหน้า

การปฏิบัติทางจิตวิญญาณไม่ได้เป็นการกดข่มหรือควบคุม sense perception แต่กลับช่วยทำให้การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสมีความละเอียดอ่อนและปราศจากเครื่องกั้นขวางทางความคิดยิ่งขึ้น โลกภายนอกผ่านการเปิดตาเปิดใจจะยิ่งเป็นสิ่งที่เข้ามา “ช่วย” ปลุกให้เราตื่น ดังนั้นการภาวนา แม้จะไม่ใช่อะไรที่เร้าใจ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ตายซากน่าเบื่อ เพราะเราเปิดประสาทรับรู้ต่อโลกตามที่เป็นจริงให้เข้ามาปลุกเราอยู่ตลอดเวลา



DECONSTRUCT เป้าหมายการตรัสรู้

วิถีชัมบาลารื้อสร้างเป้าหมายการตรัสรู้ ที่อาจถูกมองว่าเป็นการปล่อยวางจากโลกและถอยห่างไม่สัมพันธ์กับชีวิตทางโลกย์ๆ โดยสิ้นเชิง ด้วยการเชื้อเชิญให้เรา “ใส่ใจ” ต่อรายละเอียดของการดำเนินชีวิตเราในแต่ละขณะยิ่งขึ้น ไม่มีสิ่งใดจำเป็นต้องถูกปฏิเสธหรือผลักออกไป เพราะหากสามารถสัมพันธ์กับโลกปรากฏการณ์ทั้งหลายด้วยใจที่เปิดกว้าง โลกก็จะมีชีวิตราวกับเวทมนตร์ เป็นโลกอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยปลุกเราให้ตื่นอย่างเหมาะเจาะ

ตัวอย่างเช่น หากเราเดินเข้าไปในห้องห้องหนึ่งที่มีการจัดวางสิ่งต่างๆ ไว้อย่างเป็นระเบียบ สิ่งแวดล้อมในห้องนั้นก็จะมีผลกระทบต่อจิตใจเรา อาจทำให้เราใจเย็นลงหรือรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น หรือการที่เรารักษาความสะอาดร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าที่มีกลิ่นหอมและสะอาด ก็จะมีผลต่อสภาวะจิตของเราในวันนั้นด้วยเช่นกัน เราแต่ละคนสามารถแสดงออกซึ่งการดำเนินชีวิตอย่างสง่างามในแบบของเราเอง เป็นการแสดงออกซึ่งความใส่ใจต่อโลก ผู้คน และสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่

แม้คำสอนชัมบาลาจะพูดถึงเรื่องการฝึกตน แต่ท้ายที่สุดมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวกับเราทั้งหมดเสียทีเดียว ด้วยความเชื่อมั่นในความดีพื้นฐานและความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้คนและต่อโลก เราตระหนักได้ถึงความเร่งด่วนของการมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่โลกใบนี้ เราสามารถทำอะไรบางอย่างในแบบของเรา ช่วยเหลืออะไรบางอย่างแก่ผู้คนและแก่โลกใบนี้  การช่วยเหลือของเราไม่ได้ถูกขับเคลื่อนจากความคิดที่ว่า เราต้องเป็นอะไรบางอย่างเสียก่อนจึงจะไปช่วยคนอื่นได้ เช่น ถ้าเรารวย… ถ้าเรามีเงิน… ถ้าเราจบด็อกเตอร์ ถ้าเรามีความสามารถกว่านี้… ถ้าเราเข้มแข็งกว่านี้… เราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเองดีกว่านี้ จึงจะมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้ได้ ด้วยการตระหนักในความดีพื้นฐาน เรามีทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นอยู่ในตัวเองอยู่แล้วตอนนี้ การเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและต่อสังคมที่เราอยู่ คือ การเริ่มต้นจากสิ่งที่เราเป็น


จาก https://www.vajrasiddha.com/article-shambhala/

http://www.tairomdham.net/index.php/topic,16181.0.html

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 ธันวาคม 2566 17:51:52 โดย มดเอ๊ก » บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน


หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้
หัวข้อ เริ่มโดย ตอบ อ่าน กระทู้ล่าสุด
ชัมบาลา หนทางอันศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
มดเอ๊ก 14 11282 กระทู้ล่าสุด 29 มิถุนายน 2553 08:36:26
โดย มดเอ๊ก
ชัมบาลา : บทที่ ๕ ประสานจิตกับกาย
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
เงาฝัน 0 1337 กระทู้ล่าสุด 22 พฤศจิกายน 2554 12:54:28
โดย เงาฝัน
ชัมบาลา : บทที่ ๖ รุ่งอรุณแห่งอาทิตย์อุทัยอันยิ่งใหญ่
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
เงาฝัน 0 1825 กระทู้ล่าสุด 22 พฤศจิกายน 2554 13:40:45
โดย เงาฝัน
เด็ก ป.3 เขียน Mind Map เรื่อง "ทำอย่างไรไม่ให้ภาชนะหล่น"
จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
Band-Home-PC 0 6227 กระทู้ล่าสุด 06 กรกฎาคม 2555 18:43:34
โดย Band-Home-PC
ชัมบาลา อยู่หนใด ?
ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
ฉงน ฉงาย 0 799 กระทู้ล่าสุด 29 มิถุนายน 2563 12:50:22
โดย ฉงน ฉงาย
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.515 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 10 เมษายน 2567 15:19:53