ทำไมแอฟริกาใต้ถึงฟ้องอิสราเอลต่อศาลโลก และทำไมอียูถึงยังเพิกเฉยต่อเรื่องนี้
<span class="submitted-by">Submitted on Sat, 2024-01-20 14:34</span><div class="field field-name-body field-type-text-with-summary field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even" property="content:encoded"><p>แอฟริกาใต้ทำการฟ้องร้องต่อศาลโลก กล่าวหาว่าอิสราเอลกระทำการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ในปฏิบัติการโจมตีกาซ่า หลังจากที่กลุ่มฮามาสก่อเหตุโจมตีอิสราเอล ทำไมแอฟริกาใต้ถึงเป็นประเทศที่ฟ้องร้องในเรื่องนี้ และในขณะที่หลายประเทศมีจุดยืนสนับสนุนหรือคัดค้านการฟ้องร้องนี้ แต่ทำไมสหภาพยุโรปถึงยังคงสงวนท่าทีหรือไม่ก็วางตัวเป็นกลาง</p>
<p style="text-align: center;"><img alt="" src="
https://live.staticflickr.com/65535/53460931819_607fbdc418_k_d.jpg" />
<span style="color:#f39c12;">ที่มาภาพ: CIJ_ICJ</span></p>
<p>เมื่อไม่นานนี้ แอฟริกาใต้ได้ไปยื่นฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยเป็นการฟ้องร้องกล่าวหาว่าอิสราเอลทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวปาเลสไตน์</p>
<div class="more-story">
<p><strong>ข่าวที่เกี่ยวข้อง</strong></p>
<ul>
<li>
'แอฟริกาใต้' ฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกล่าวหา 'อิสราเอล' ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใน 'กาซา'</li>
</ul>
</div>
<p>เคลย์สัน มอนเยลา โฆษกของกรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความร่วมมือของแอฟริกาใต้ แถลงถึงเรื่องนี้ว่า "มีรายงานที่ยังคงมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม รวมถึงรายงานที่ (อิสราเอล) กระทำถึงระดับที่นับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือเป็นอาชญากรรมตามนิยามของ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 2491 ซึ่งมีการก่อเหตุตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอาจจะยังคงเกิดขึ้นภายใต้บริบทของการสังหารหมู่ในกาซ่า"</p>
<p>ทั้งแอฟริกาใต้และอิสราเอลต่างก็เป็นผู้ลงนามลงนามให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 2491 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวว่าการทำคดีเพื่อพิสูจน์ว่าอิสราเอลมีความผิดจริงฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั้นอาจจะกินเวลาหลายปี แต่ในการพิจารณาคดีที่มีขึ้นเมื่อช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือน ม.ค. นั้น นับเป็นมาตรการฉุกเฉินเพื่อให้มีคำสั่งอย่างเร่งด่วนต่ออิสราเอลออกมาบังคับใช้ไปก่อน</p>
<p>ทนายความระบุว่าถ้าหากแอฟริกาใต้ชนะคดีนี้ได้ในศาลโลกมันก็จะสร้างความอับอายต่ออิสราเอลไปทั่วโลก อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าคำตัดสินของศาลโลกจะมีผลผูกมัด แต่บางครั้งก็มีประเทศที่ไม่ปฏิบัติตาม เช่น รัสเซียยังคงไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกที่ออกมาเมื่อปี 2565 ระบุให้พวกเขายุติการรุกรานยูเครน</p>
<p>มีอา สวาร์ต ศาสตราจารย์รับเชิญด้านกฎหมายนานาชาติที่มหาวิทยาลัยแห่งวิตวอเตอร์สแรนด์ในแอฟริกาใต้กล่าวว่า การบังคับกฎหมายเป็นจุดอ่อนของกระบวนการยุติธรรมจากศาลโลก มันมีความเป็นไปได้สูงมากที่อิสราเอลจะยังคงไม่ยอมยุติปฏิบัติการทางทหารของตัวเองต่อให้มีคำสั่งจากศาลออกมา และเรื่องนี้จะต้องถูกส่งต่อไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ</p>
<p>สหรัฐฯ เป็นประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นซึ่งมีอำนาจในการโหวตยับยั้งมติ ในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็เป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นของอิสราเอล ทางการสหรัฐฯ แสดงจุดยืนแบบเดียวกับอิสราเอลในเรื่องการฟ้องร้องของแอฟริกาใต้โดยบอกว่าเป็นการฟ้องร้องที่ "ไม่มีมูล"</p>
<h2><span style="color:#3498db;">อะไรทำให้แอฟริกาใต้ฟ้องร้องอิสราเอล</span></h2>
<p>เกอฮาร์ด เคมป์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชาวแอฟริกาใต้จากมหาวิทยาลัยเวสต์ออฟอิงแลนด์ กล่าวว่า แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่สนับสนุนข้อเรียกร้องของปาเลสไตน์มาเป็นเวลานานแล้ว</p>
<p>เคมป์กล่าวว่า "นอกจากนี้ยังมีเหตุผลในแง่ของประวัติศาสตร์ด้วย พรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (ANC) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของแอฟริกาใต้ มีความสัมพันธ์มายาวนานกับกาซ่า, ปาเลสไตน์ และขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ ... ดังนั้นแล้วการที่แอฟริกาใต้เป็นผู้นำการฟ้องร้องอิสราเอลต่อศาลโลกจึงมีเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย"</p>
<p>พรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา หรือ ANC เองเคยเป็นขบวนการปลดปลอยที่ถูกแบนมาก่อน พวกเขาเป็นกองกำลังติดอาวุธที่ต่อสู้กับรัฐบาลแบ่งแยกสีผิวของคนขาวในแอฟริกาใต้ ทาง ANC ระบุว่าพวกเขามองเห็นภาพสะท้อนของตัวเองเวลาเห็นความทุกข์ยากที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญ</p>
<p>อดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา ของแอฟริกาใต้ ยังเป็นเพื่อนสนิทกับอดีตผู้นำปาเลสไตน์ ยัสเซอร์ อาราฟัต ด้วย นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวของแมนเดลาที่มีชื่อเสียงระบุว่าอิสรภาพของแอฟริกาใต้จะไม่สมบูรณ์จนกว่าชาวปาเลสไตน์จะได้รับอิสรภาพด้วย</p>
<h2><span style="color:#3498db;">ทำไมกลุ่มประเทศอียูถึงเงียบเฉยต่อการฟ้องร้องของแอฟริกาใต้</span></h2>
<p>อนุสัญญาปี 2491 นั้นระบุให้ประเทศที่เป็นสมาชิก ซึ่งมีอิสราเอลและแอฟริกาใต้รวมอยู่ด้วย มีสิทธิในฐานะกลุ่มบุคคลที่จะสามารถป้องกันและยับยั้งอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ ซึ่งในอนุสัญญานี้มีการนิยามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เอาไว้ว่าเป็น "การก่อเหตุโดยเจตนาที่จะทำลายกลุ่ม สัญชาติ, ชนชาติ, เชื้อชาติสีผิว หรือศาสนาหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยบางส่วนหรือทั้งหมด"</p>
<p>การฟ้องร้องคดีในครั้งนี้ยังถือเป็นครั้งแรกที่อิสราเอลจะต้องให้การในศาลในฐานะจำเลยจากการที่พวกเขาโจมตีฉนวนกาซ่า นับตั้งแต่ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 การฟ้องร้องดำเนินคดีนี้ยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์อย่างมากสำหรับประเทศอิสราเอลทีอ้างว่าสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีซึ่งนับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์</p>
<p>ในขณะที่ปฏิบัติการที่อิสราเอลทำการโจมตีปาเลสไตน์ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2566 จนถึงตอนนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 23,000 รายแล้วจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์</p>
<p>ในขณะที่ประเทศพันธมิตรตะวันตกอย่างสหรัฐฯ กับอังกฤษวิพากษ์วิจารณ์การที่แอฟริกาใต้ฟ้องร้องอิสราเอล แต่ประเทศอื่นๆ อย่าง โบลิเวีย, บราซิล, โคลอมเบีย, จอร์แดน, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, ตุรกี, เวเนซุเอลา และ 57 ประเทศจากองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) สนับสนุนการที่แอฟริกาใต้ฟ้องร้องอิสราเอล</p>
<p>ที่เหลือคือกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ที่มีคำถามว่าพวกเขามีจุดยืนอย่างไรต่อเรื่องนี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วยังคงสงวนท่าทีต่อเรื่องนี้ ทั้งนี้อียูยังเคยมีความพยายามที่จะเป็นตัวกลางเจรจาสงครามอิสราเอล-ฮามาส แต่ก็ประสบปัญหาที่ว่าจุดยืนของประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศไม่สอดคล้องกัน</p>
<p>ปีเตอร์ สตาโน โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรปแถลงยืนยันว่าทางอียูสนับสนุนศาลโลกแต่ไม่ได้ถึงขนาดพูดว่าจะสนับสนุนการดำเนินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีการฟ้องร้องต่ออิสราเอล โดยระบุว่า ประเทศต่างๆ มีสิทธิที่จะฟ้องร้อง แต่ทางสหภาพยุโรปไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องร้องอิสราเอลในครั้งนี้ "พวกเรา(อียู)ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้" สตาโนกล่าว</p>
<p>มีการตั้งข้อสังเกตจากสื่อยูโรนิวส์ว่าทางอียูพยายามวางตัวไม่เข้าข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งกาซ่า พวกเขาสนับสนุนสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้มีการคุ้มครองชีวิตของพลเรือนในฉนวนกาซ่าและมีมาตรการชั่วคราวเพื่อให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนในกาซ่า</p>
<p>ทั้งนี้อียูยังเพิ่งจะเรียกร้องให้มี "ข้อตกลงหยุดยิงถาวร" ในกาซ่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 312 เสียง คัดค้าน 131 เสียง งดออกเสียง 72 โหวต แต่ก็เป็นมติที่ออกมาในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นไม่ได้มีน้ำหนักทางกฎหมาย อย่างไรก็ตามทางอียูยังได้วิพากษ์วิจารณ์ฮามาสอย่างหนักด้วย โดยมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมด และเรียกร้องให้ "รื้อทิ้ง" กลุ่มติดอาวุธฮามาส</p>
<p>อันโตนิโอ โลเปซ-อิสตูริซ ส.ส. พรรคประชาชนยุโรป (EPP) ซึ่งเป็นพรรคสายขวากลางกล่าวว่า "สันติภาพที่ยั่งยืนจะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่กลุ่มฮามาสและกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ยังคงอ้างใช้ข้อเรียกร้องของปาเลสไตน์และคุกคามการมีอยู่ของอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยประเทศเดียวในภูมิภาค"</p>
<p>ช่วงหลังๆ กลุ่มประเทศอียูจะเริ่มแสดงท่าทีเรียกร้องให้อิสราเอลยับยั้งความรุนแรงมากขึ้น เช่น ประเทศส่วนใหญ่ของอียูโหวตในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสนับสนุนการเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการโจมตีกาซ่า ในเดือน ธ.ค. ประเทศอียูรวมถึงประเทศที่เป็นพันธมิตรตัวยงของอิสราเอลอย่างประเทศเยอรมนีก็ประณามรัฐบาลขวาจัดของอิสราเอล ในเรื่องที่รัฐบาลอิสราเอลเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์อพยพออกจากฉนวนกาซ่าไปตั้งรกรากที่อื่น</p>
<p>แต่ทว่าในกรณีแอฟริกาใต้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่ออิสราเอลนั้น กลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรตัวยงของอิสราเอลอย่าง เยอรมนี, ออสเตรีย, สาธารณรัฐเช็ก ต่างก็แสดงความกังขาต่อการฟ้องร้องคดีนี้</p>
<p>โรเบิร์ต ฮาเบค รองนายกรัฐมนตรีเยอรมนีแถลงว่า "คุณสามารถวิพากษ์วิจารณ์ว่ากองทัพอิสราเอลกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุที่ฉนวนกาซ่าได้ แต่มันก็ไม่นับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" และอ้างว่าพวกที่อยากฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จริงๆ คือพวกฮามาส โดยบอกว่า "เป้าหมายของพวกนั้นคือการกวาดล้างชาติอิสราเอล"</p>
<p>มีบางประเทศในอียูที่มีนักการเมืองที่สนับสนุนปาเลสไตน์และน่าจะสนับสนุนการฟ้องร้องของแอฟริกาใต้อยู่บ้าง แต่พวกเขาก็แสดงออกได้ไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเพราะระบบการเมืองในประเทศหรือเพราะมองว่าการฟ้องร้องเรื่องนี้ต้อง "ใช้ความระมัดระวัง" และมองว่าสิ่งที่ฮามาสทำก็อาจจะนับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้เช่นกัน</p>
<p>เช่นในเบลเยียม รองนายกรัฐมนตรี เพตรา เดอ ซุตเตอร์ เรียกร้องให้เบลเยียมสนับสนุนแอฟริกาใต้อย่างเป็นทางการ ซุตเตอร์ทำงานให้กับรัฐบาลที่ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่สนับสนุนปาเลสไตน์มากที่สุดในยุโรป แต่พรรคร่วมรัฐบาลในเบลเยียมที่มีความซับซ้อนและมาจาก 7 พรรค ก็ยังไม่ได้แสดงออกสนับสนุนตามที่ซุตเตอร์ต้องการ แต่มีการบริจาคเงินให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) 5 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนการสืบสวนอาชญากรรมสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการสู้รบของอิสราเอลกับฮามาส</p>
<p>ในไอร์แลนด์ นายกรัฐมนตรี เลโอ วารัดการ์ ทำงานในรัฐบาลที่เป็นหนึ่งในรัฐบาลที่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์มากที่สุด แต่ก็บอกว่าไอร์แลนด์จะไม่ร่วมในการฟ้องร้องถึงแม้ว่ากลุ่มส.ส.ในไอร์แลนด์จะกดดันเขาก็ตาม วารัตการ์บอกว่าพวกเขาต้อง "ระมัดระวังอย่างมาก" ในเรื่องนี้ โดยอ้างถึงเหตุการณ์ที่ฮามาสใช้กำลังบุกเข้าไปสังหารประชาชนราว 1,400 คนที่อิสราเอล วารัตการ์มองว่าคนเหล่านี้ถูกสังหาร "เพราะเป็นชาวยิว เพราะอาศัยในอิสราเอล" และตั้งคำถามว่า "เรื่องนี้ไม่นับว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรอกหรือ"</p>
<p>สเปนที่เป็นประเทศที่วิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลอย่างเปิดเผยในกรณีสงครามกาซ่า ก็สงวนท่าทีในเรื่องนี้เช่นกัน ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย 250 ราย ได้ทำการเข้าชื่อเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการฟ้องร้องของแอฟริกาใต้</p>
<p>ฟิลิปเปอ แดม ผู้อำนวยการสาขายุโรปด้านการรณรงค์ขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว้า รัฐบาลอียูควรจะให้การสนับสนุนการฟ้องร้องและกระบวนการทางกฎหมายในคดีนี้ และใช้มาตรการเพื่อบีบให้อิสราเอลทำตามคำสั่งศาล ซึ่งจะเป็นโอกาสที่อียูจะสามารถ "ย้ำจุดยืนในเรื่องข้อผูกมัดทางด้านความยุติธรรมและภาระความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง" ในบริบทของความขัดแย้งในกาซ่า</p>
<p><strong>เรียบเรียงจาก</strong>
Why South Africa Has Taken Israel to the World Court, VOA, 10-01-2024Why is the EU mostly silent on South Africa's genocide case against Israel?, Euronews, 12-01-2024Israel Hamas war: In a first, the European Parliament calls for a 'permanent ceasefire', Euronews, 19-01-2024</p>
</div></div></div><div class="field field-name-field-variety field-type-taxonomy-term-reference field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><a href="/category/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9" typeof="skos:Concept" property="rdfs:label skos:prefLabel" datatype="">รายงานพ
https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์
https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai</div></div></div>
https://prachatai.com/journal/2024/01/107706